ลงทุนภาครัฐ.. เครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 58 ไม่ขยับ-เบิกจ่ายล่าช้า ส่งผลภาคธุรกิจไม่กล้าลงทุนใหม่ เอกชนร้องขอภาครัฐเร่งเครื่องสร้างความชัดเจนการลงทุน ด้าน รัฐบาลคาดโทษ "ปลัด-อธิบดี" เบิกจ่ายล่าช้า "ทนง พิทยะ" ชี้เศรษฐกิจชนบททรุดหนักจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ
เอกชนยังชะลอลงทุน
จากรายงานผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจเดือน ม.ค. 2558 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ภาวะธุรกิจในไตรมาส 1/58 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในด้านการลงทุนภาคเอกชนยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน เมื่อพิจารณาจากความต้องการขอสินเชื่อที่แม้จะปรับเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังอยู่ในอัตราชะลอตัวจากไตรมาสก่อนหน้า และความต้องการสินเชื่อ
ส่วนใหญ่ยังเป็นสินเชื่อหมุนเวียนระยะสั้น สอดคล้องกับความเห็นของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่ยังชะลอการลงทุนเพื่อรอดู ความสามารถในการเบิกจ่ายงบฯลงทุนของภาครัฐที่จะส่งผลต่อความมั่นใจของผู้ ประกอบการและการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ
อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนในภาคก่อสร้างและจำนวนโครงการที่ได้ รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องดื่ม ธุรกิจปิโตรเลียมและธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ มีแผนการลงทุนสร้างโรงงานใหม่ในประเทศเพื่อนบ้าน
สำหรับการลงทุนภาคเอกชนในเดือนธันวาคม 2557 ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยพบว่าการลงทุนเครื่องจักรชะลอลงตามการนำเข้าสินค้าทุน อย่างไรก็ดี กลุ่มธุรกิจโทรคมนาคม พลังงานหมุนเวียน ค้าปลีกค้าส่ง และอสังหาริมทรัพย์ ยังมีการลงทุนเพื่อตอบสนองต่อความต้องการในประเทศ
รายงานระบุว่า ภาคธุรกิจยังไม่เพิ่มการลงทุนใหม่มากนัก เพราะรอประเมินความชัดเจนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการลงทุนโครงสร้างพื้น ฐานของภาครัฐดังนั้นความต่อเนื่องและความชัดเจนของนโยบายภาครัฐจะเป็นปัจจัย สำคัญที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนให้กับภาคธุรกิจ
อุปโภคบริโภคไม่ฟื้นตัว
ขณะ ที่การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนในเดือนธันวาคม 2557 พบว่าชะลอจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูงและราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำทำให้ครัว เรือนระมัดระวังการใช้จ่าย สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นต่อรายได้ในอนาคตของผู้บริโภคที่ทรงตัวต่อ เนื่อง ประกอบกับความระมัดระวังของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อ ส่งผลให้การใช้จ่ายในสินค้าคงทนโดยเฉพาะในรถยนต์ยังไม่ฟื้น รวมทั้งการใช้จ่ายในสินค้าไม่คงทนที่อ่อนแรงลง หลังจากปรับตัวดีขึ้นก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ตาม คาดว่าแนวโน้มในช่วงต้นปี 2558 จะปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีปัจจัยหนุนจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงมากที่จะช่วยเพิ่มกำลังซื้อภาคครัว เรือน
"ประสาร" ชี้ค่อยเป็นค่อยไป
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันเริ่มมีการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เรื่องการอุปโภคบริโภค การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด ส่วนการลงทุนเริ่มกลับมาเล็กน้อย
ขณะที่ภาคการส่งออกเป็นส่วนที่ยัง ไม่ดี โดยคาดว่าครึ่งแรกของปี"58 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี จะขยายตัวเฉลี่ยกว่า 4% ส่วนครึ่งปีหลังน่าจะเห็นการเติบโตกว่า 3% ทำให้ทั้งปีน่าจะเติบโตตามเป้าหมายที่ ธปท.ตั้งไว้ 4%
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจในระยะต่อไปจะต้องพิจารณาข้อมูลที่สำนักงานคณะกรรมการ พัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ จะประกาศในวันจันทร์ที่ 16 ก.พ.นี้ก่อน ซึ่งจะมีรายละเอียดของแต่ละภาคส่วนเป็นสำคัญ
นายประสารกล่าวว่า ในส่วนข้อกังวลเรื่องภาวะเงินฝืดที่อาจจะเกิดขึ้นจากพฤติกรรมของประชาชนที่ มีการระมัดระวังเรื่องของการใช้จ่ายมากขึ้นเพื่อรอดูทิศทางของเศรษฐกิจ และการดำเนินนโยบายของรัฐบาลนั้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของความรู้สึก แต่เวลาที่ ธปท.พิจารณาก็จะมองในภาพรวมเป็นหลัก ซึ่งจะมองจากการอุปโภคบริโภค โดยเท่าที่รับรู้ข้อมูลก็มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้น แม้จะไม่ได้รวดเร็วมากนัก
ด้านนายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวถึงทิศทางการปล่อยสินเชื่อภาคธุรกิจปี"58 ว่า มีแนวโน้มเติบโตหากเทียบกับช่วงที่ผ่านมา โดยสินเชื่อธุรกิจที่ยังขยายตัวได้ โดยเฉพาะกลุ่มสาธารณูโภคที่ยังสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่องจากที่ยังคงมีความ ต้องการลงทุนด้านพลังงานไฟฟ้า เช่นเดียวกับภาคก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ที่ยังเติบโตได้
"แม้สัญญาณจะเริ่มดีขึ้น แต่ก็ต้องติดตามการลงทุนของภาครัฐด้วยว่าเป็นอย่างไร ขณะนี้ยังเร็วไปที่จะพูดว่าสินเชื่อธุรกิจจะโตหรือไม่"
เบิกจ่ายช้าคาดโทษปลัด-อธิบดี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2558 ที่ยังล่าช้าส่งผลต่อเนื่องต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เนื่องจากเงินหมุนเวียนเข้าไปในระบบน้อย ทำให้รัฐบาลต้องใช้มาตรการเข้มข้นในการเร่งรัดผลักดันให้เกิดการใช้จ่ายงบฯเป็นพิเศษ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน พล.อ.ประวิตร ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของ คสช. ได้สั่งการให้หน่วยงานราชการทุกแห่งเร่งรัดทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างให้แล้ว เสร็จภายในเดือน มี.ค.นี้ เพื่อให้การเบิกจ่ายงบประมาณเป็นไปตามเป้า และให้สำนักงบประมาณรายงานความคืบหน้าต่อ ครม. และ คสช.
ขณะเดียวกัน ให้ 9 หน่วยงาน ประกอบด้วยกรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมโยธาธิการและผังเมือง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งได้รับจัดสรรงบฯรายจ่ายด้านการลงทุนจำนวนมาก รายงานผลการจัดซื้อจัดจ้าง และจัดทำแผนเร่งรัดเบิกจ่ายงบฯเสนอ ครม.พิจารณา วันที่ 18 ก.พ.นี้
พร้อมกับมอบหมายให้ รองนายกฯและ รมต.แต่ละกระทรวงไปเร่งรัดหน่วยงานในการกำกับดูแลให้เร่งเบิกจ่ายงบฯให้เป็น ไปตามเป้าที่วางไว้ หากหน่วยงานใดไม่เร่งรัดติดตามและการเบิกจ่ายยังล่าช้า ผู้บริหารระดับสูงตั้งแต่ระดับอธิบดีขึ้นไป จนถึงรองปลัดกระทรวง ปลัดกระทรวง จะต้องรับผิดชอบ และจะมีผลต่อการพิจารณาประเมินผลการปฏิบัติงานในตำแหน่งดังกล่าวด้วย
ยอดเบิกจ่าย 4 เดือนแรกต่ำเป้า
รายงาน ข้อมูลจากกระทรวงการคลังพบว่า ช่วงต้นปีงบประมาณ 2558 (ต.ค. 2557-ม.ค. 2558) มียอดเบิกจ่ายดังนี้ 1.เงินกันไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปี 2548-2556 มียอดเบิกจ่ายที่ 16,790.5 ล้านบาท ต่ำกว่าวงเงินที่มี 24,892.4 ล้านบาท 2)เงินกันไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปี 2557 มียอดเบิกจ่าย 78,786 ล้านบาท ต่ำกว่าวงเงินวางไว้ที่ 147,050.8 ล้านบาท
3)งบฯลงทุนปีงบประมาณ 2558 เบิกจ่ายได้ 58,082 ล้านบาท ขณะที่มีการตั้งเป้าหมายจะเร่งเบิกจ่ายในไตรมาสแรก 129,522.2 ล้านบาท และ 4)งบฯกลางที่กันไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปีและงบฯไทยเข้มแข็งปี 2552 ส่วนที่เหลือ ซึ่งพบว่ามีการเบิกจ่าย1,426 ล้านบาท จากวงเงินรวมที่มี 23,000 ล้านบาท
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การใช้จ่ายภาครัฐในช่วง 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 ที่ผ่านมา มีการเบิกจ่ายในส่วนงบฯลงทุนยังต่ำ เนื่องจากเป็นเรื่องเทคนิคที่ต้องมีการปรับงบฯลงทุนบางส่วนไปเป็นงบฯประจำ แต่หากมองภาพรวมทั้งงบประมาณ เงินนำส่งรัฐวิสาหกิจ เงินจากโครงการไทยเข้มแข็ง พบว่าถึงสิ้นเดือน ธ.ค. มีการเบิกจ่ายกว่า 9 แสนล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นโมเมนตัมให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีในไตรมาสแรกจากนี้ไป
"เพราะจะมีเงินออกใหม่อีกหลายตัว โดยเฉพาะการลงทุนของภาครัฐในด้านคมนาคม ถึงสิ้นปีจะมีเม็ดเงินออกมาราว 1 แสนล้านบาท" นายวิสุทธิ์กล่าว
สำหรับ การใช้จ่ายบริโภคเอกชนนั้น หากพิจารณาจากตัวเลขภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากการบริโภคในเดือน ม.ค. จัดเก็บได้ 4.2 หมื่นล้านบาท หากคำนวณเป็นตัวเลขการใช้จ่ายด้านบริโภคที่เกิดขึ้นก็จะอยู่ที่กว่า 5 แสนล้านบาท ถือเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง ทำให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) มองว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสูงกว่าในรอบหลายไตรมาสที่ผ่านมา
"ทนง" ห่วง "เศรษฐกิจชนบท"
นายทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2558 นี้ คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตราว 3-3.5% หากวิเคราะห์ในรายละเอียดจะพบว่า เศรษฐกิจในเมืองใหญ่ยังมีทิศทางการขยายตัวที่ดี เนื่องจากมีสัดส่วนของประชากรที่มีรายได้สูงช่วยขับเคลื่อน
ภาคการบริโภค แต่เศรษฐกิจภาคชนบทจะค่อนข้างน่าเป็นห่วง เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรปรับตัวลดลงอย่างมาก ขณะที่รัฐบาลชุดนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการใช้วิธีให้เงินอุดหนุน ซึ่งเป็นแนวทางที่รัฐบาลชุดก่อนหน้าทำได้ ส่งผลให้อัตราการเติบโตเศรษฐกิจไม่ขยายตัวเท่าที่ควร
"เศรษฐกิจชนบท กำลังมีปัญหาเพราะราคาสินค้าเกษตรปรับตัวลดลงอย่างมาก เราต้องหาทางแก้ ไม่อย่างนั้นจะติดกับดักรายได้ ซึ่งหมายถึง ทุกคนในประเทศมีงานทำ การว่างงานในประเทศมีน้อย แต่เศรษฐกิจกลับไม่โต ทั้งที่ความจริงถ้าทุกคนมีงานทำ เราควรจะโตอย่างน้อย 6-8% แต่นี่เรากลับโตแค่ 1-3% เท่านั้น" นายทนงกล่าวว่า
อสังหาฯรายกลางรีวิวแผนลงทุน
นายปรีชา กุลไพศาลธรรม กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทเปี่ยมสุข ผู้พัฒนาโครงการจัดสรรแบรนด์บ้านเปี่ยมสุข เปิดเผยว่า บริษัทได้รีวิวแผนลงทุนปี 2558 เนื่องจากกำลังซื้อที่อยู่อาศัยยังฟื้นตัวช้า และการเบิกจ่ายงบฯภาครัฐที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจยังไม่เห็นผลชัดเจน จากเดิมมีแผนเปิดโครงการใหม่ปีนี้ 4 โครงการ ขณะนี้ปรับลดเหลือ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการทาวน์โฮม3 ชั้น ทำเลกาญจนาภิเษก-พระราม 5 มูลค่า700 ล้านบาท และโครงการบ้านแฝดทำเลทางด่วนศรีสมาน มูลค่า 400-500 ล้านบาท
สำหรับ อีก 2 โครงการ คือ ทาวน์โฮมทำเลรัตนาธิเบศร์ มูลค่าโครงการ 300 ล้านบาท และทาวน์โฮมทำเลบางบัวทอง มูลค่าโครงการ 500 ล้านบาท ตัดสินใจชะลอไปเป็นต้นปีหน้า ยกเว้นกำลังซื้อช่วงครึ่งปีแรกจะกลับมาฟื้นตัวชัดเจน อาจเลือกเปิดขายอีก 1 โครงการ
ด้านนายศุภชัย แจ่มมโนวงศ์ กรรมการบริหาร บริษัท เซ็นจูรี่ 21 (ประเทศไทย) จำกัดที่ปรึกษาการลงทุนและรับบริหารงานขายโครงการอสังหาฯ เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ โครงการคอนโดฯบัดเจ็ท ไบร์ท บนถนนจรัญสนิทวงศ์ได้ชะลอเปิดตัวโครงการเป็นทางการจากไตรมาส 1 เป็นไตรมาส 2 เพื่อรอดูความชัดเจนเศรษฐกิจ นอกจากนี้มีโครงการคอนโดฯอีก 1-2 โครงการที่บริษัทกำลังเจรจารับบริหารงานขาย แต่ยังไม่เซ็นสัญญารับงานเลื่อนเปิดตัวจากต้นปีเป็นครึ่งปีหลัง
เอกชนขอความชัดเจนลงทุนรัฐ
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล กรรมการรองเลขาธิการ หอการค้าไทย กล่าวว่า การที่โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐล่าช้าหรือไม่ชัดเจนก็จะส่งผลต่อ บรรยากาศการลงทุนของภาคเอกชน โดยเฉพาะกลุ่มก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งกลุ่มห้างสรรพสินค้าก็จะได้รับผลกระทบตามมาเช่นกัน ดังนั้นโครงการลงทุนของภาครัฐควรจะมีความชัดเจนในไตรมาส 3/2558 เพื่อจะเห็นการลงทุนและเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่ระบบได้ภายในปีหน้า
ด้าน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) และรองประธานสภาหอการค้าไทย กล่าวว่า ปัจจุบันกำลังการผลิตโดยเฉลี่ยของภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่เพียง 60% เท่านั้นซึ่งยังไม่เพิ่มขึ้น สะท้อนว่าภาคธุรกิจก็ยังไม่มีการลงทุนเพิ่ม
ขณะที่การบริโภคภายในประเทศที่ยังชะลอตัว ในส่วนของศรีไทยฯจึงเน้นขยายการลงทุนไปในต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งการผลิตของบริษัทส่วนใหญ่ก็เป็นสินค้าส่งออก ส่วนที่รองรับตลาดในประเทศค่อนข้างน้อย
อย่างไรก็ตาม มองว่าภาครัฐควรทำให้การลงทุนของภาครัฐมีความชัดเจน เพื่อสร้างบรรยากาศการลงทุน การบริโภคภายในประเทศกลับมา
7-11 มองความหวังครึ่งปีหลัง
นาย ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ซีพี ออลล์ กล่าวว่าสภาพตลาดและเศรษฐกิจครึ่งปีหลังจะดีขึ้น เชื่อว่าภาคธุรกิจยังเดินหน้าลงทุน โดยการเปิดเออีซีก็เป็นโอกาสที่ดี ทำให้เกิดการลงทุน ซึ่งไทยก็จะได้รับโอกาสจากการเป็นศูนย์กลางภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ในแง่ของจิตวิทยาก็มีผลบ้าง คือมองว่าเศรษฐกิจซึม ก็อาจจะทำให้ธุรกิจและผู้บริโภคยังไม่ต้องการใช้เงิน
"เซเว่นฯจะขยาย สาขาใหม่ 700 สาขา จากที่มีอยู่ 8,100 สาขา ปีนี้น่าจะโต 11-12%ปลายปีที่แล้วเราไม่รู้ว่าน้ำมันจะลดลงมกราคมที่ผ่านมาก็ไม่รู้ว่า เงินยูโรจะอ่อนค่าลงมาก มีผลต่อต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวลดลง บรรยากาศตลาดกำลังซื้อลดลง แต่ไม่ได้หมายความว่าเมืองไทยไม่ดี ผมไม่ได้มองทั้งปี แต่มองอีก 6 เดือนจะเปลี่ยนไปดูครึ่งปีหลังว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง"
ที่มา.ปประชาชาติธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////////////////////////////