การที่ชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ที่สุดของโลก เริ่มส่อให้เห็นผลกระทบในหลายด้านแล้ว โดยเฉพาะดีมานด์ต่อวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิต เห็นได้จากการขนส่งสินค้าจำพวกถ่านหินและแร่เหล็ก มีอัตราการขนส่งต่ำสุดในรอบ 29 ปี
วอลล์สตรีต เจอร์นัล รายงานว่า ดัชนีบอลติกดราย (Baltic Dry Index) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ที่ราว 577 จุด ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่การขนส่งทางเรือคึกคักที่สุดเมื่อเดือน ก.ค. 2551 ที่ 11,793 จุด จะสะท้อนได้ชัดเจนว่าการขนส่งสินค้าโภคภัณฑ์ทางเรือลดลงถึงกว่า 20 เท่า
ปี 2551 นี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะถือเป็นปีเศรษฐกิจโลกพุ่งทะยานถึงขีดสุด และเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ยังคงส่งให้เห็นถึงผลกระทบมาจนถึง ทุกวันนี้ โดยก่อนหน้าปี 2551 นั้น ด้วยดีมานด์ต่อสินค้าและการขนส่งที่เพิ่มขึ้นมาก ทำให้มีการสั่งต่อเรือเพื่อการขนส่งสินค้าโภคภัณฑ์แบบแห้ง (อาทิ แร่ หิน ดิน ทราย) ออกมาเป็นจำนวนมาก แต่หลังดีมานด์ลดลงทำให้ตอนนี้มีเรือเกินความต้องการอยู่ถึง 20%
ด้าน นายรุย เกา นักวิเคราะห์จากบริษัท ICAP Shipping ระบุว่า ในปี 2551 มีการเพิ่มระวางขับน้ำของเรือที่ใช้ในการขนส่งสินค้าโภคภัณฑ์แบบแห้งถึง 85% แม้ว่าในช่วงเวลานั้นจะเริ่มเห็นสัญญาณของดีมานด์ที่ลดลงแล้ว แต่ก็ไม่มีใครคาดคิดว่าเศรษฐกิจโลกจะมาถึงจุดนี้
อย่างไรก็ตาม นายเกามองว่าดัชนีบอลติกดรายที่ลดลงต่ำสุดในรอบ 29 ปีนั้น มี "เวลา" เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดีมานด์ของการขนส่งสินค้าทางเรือลดลง เช่น ช่วงนี้เป็นช่วงหมดฤดูกาลส่งออกสินค้าเกษตรในสหรัฐ รวมทั้งเทศกาลตรุษจีนที่ชาวจีนไม่นิยมทำงาน และเชื่อว่าดีมานด์ของการขนส่งสินค้าทางเรือน่าจะกระเตื้องขึ้นในช่วงหลังตรุษจีนอีกครั้ง
นอกจากเรื่องเวลาแล้ว ระยะทางก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ โดยตอนนี้บริษัทเหมืองใหญ่ๆ เช่น BHP Billiton และ Rio Tinto ของออสเตรเลียได้เข้ามาครองส่วนแบ่งตลาดแร่เหล็กในจีนแล้วกว่า 60% ทำให้ประเทศผู้ส่งออกสินค้าชนิดเดียวกัน เช่น แคนาดา สวีเดน และแอฟริกาใต้ ซึ่งอยู่ไกลจากจีนและต้องใช้ต้นทุนการขนส่งมากกว่า มีแนวโน้มจะส่งออกน้อยลง
ผู้ประกอบการรายหนึ่งระบุว่า หากตลาดยังดำเนินไปแบบนี้บริษัทด้านขนส่งที่ไม่ปรับตัวเพิ่มช่องทางในการขน ส่งแบบอื่น อาจจะต้องล้มเลิกกิจการไปในที่สุด ทำให้ปัจจุบันนี้มีผู้บริการขนส่งจำนวนมากเปลี่ยนไปให้บริการขนส่งสินค้า ประเภทของเหลวมากขึ้นแล้ว
เรียบเรียงโดย ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น