--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2557

วัฏจักร ราคาน้ำมัน !!?

โดย. วีรพงษ์ รามางกูร

สถานการณ์ ราคาพลังงาน นำโดยราคาน้ำมันดิบในระยะ 1-2 ปีมานี้มีแนวโน้มที่ชัดเจนว่าจะลดลงอย่างรวดเร็วและเป็นเวลานาน สถานการณ์ที่โลกประสบกับราคาน้ำมันและพลังงานแพงคงจะสิ้นสุดลงแล้ว ต่อไปนี้สถานการณ์จะกลับกัน กล่าวคือจะเป็นสถานการณ์น้ำมันและพลังงานอย่างอื่นล้นตลาดและมีราคาลดลง กลับกันกับเมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว

เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ประเทศผู้ผลิตน้ำมันออกรายใหญ่ที่สุดของโลกคือประเทศในคาบสมุทรอาหรับ ได้ตกลงร่วมมือกันจัดตั้งองค์การประเทศผู้ส่งออกปิโตรเลียม หรือ OPEC ประกาศลดปริมาณการผลิตลงในปี 1973 ต่อมาในปี 1979 เกิดปฏิวัติอิสลามขึ้นที่ประเทศอิหร่าน สหรัฐ และยุโรป สามารถผ่านมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติคว่ำบาตรอิหร่าน ทำให้ปริมาณน้ำมันดิบของอิหร่านซึ่งมากเป็นที่ 2 รองจากซาอุดีอาระเบีย หายไปจากตลาดโลก

ผลของการลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปคและ การคว่ำบาตรอิหร่าน ทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จากที่เคยมีราคาอยู่ประมาณ 2-3 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล พุ่งขึ้นไปถึงกว่า 40-45 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สร้างความปั่นป่วนให้กับชาวโลกโดยทั่วไป

วิกฤตการณ์ น้ำมันทั้ง 2 ครั้ง ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อและเศรษฐกิจชะงักงันไปทั่วโลก ทำให้ความต้องการน้ำมันลดลงอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันก็เกิดปรากฏการณ์อีก 2-3 อย่าง กล่าวคือ เกิดการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมทั่วไปหมด ทั้งเครื่องมือ เครื่องจักร รถยนต์ ให้มีการประหยัดพลังงานทั่วโลก ญี่ปุ่นสามารถปรับตัวได้เร็วกว่าประเทศอื่นๆ จึงสามารถฝ่าวิกฤตการณ์น้ำมันไปได้ ขณะเดียวกันก็เกิดการลงทุนค้นหาแหล่งน้ำมันกันอย่างขนานใหญ่ รวมทั้งการใช้พลังงานอื่นทดแทนน้ำมัน อันได้แก่ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติมากขึ้น

ใน ที่สุดก็พบแหล่งน้ำมันขนาดใหญ่แห่งใหม่ที่ทะเลเหนือและสามารถนำเอามาใช้ได้ ทำให้ราคาน้ำมันทรุดลงทันที แม้ประเทศในกลุ่มโอเปคจะพยายามลดการผลิตน้ำมันลง แต่ก็ไม่สามารถยับยั้งการลดลงของราคาน้ำมันได้

เมื่อราคาน้ำมันดิบ เริ่มสั่นคลอน ความสามัคคีในกลุ่มโอเปคก็เริ่มมีปัญหา หลายๆ ประเทศในกลุ่มแอบลักลอบผลิตน้ำมันในอัตราสูงกว่าโควต้ามากขึ้น ซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ก็ลดปริมาณการผลิตลงเรื่อยๆ จากที่เคยผลิตได้วันละ 10 ล้านบาร์เรลมาเหลือ 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ราคาน้ำมันก็ยังไม่ขึ้น ค่อยๆ ทรุดตัวลงไปเรื่อยๆ เพราะความต้องการน้ำมันของโลกลดลง ขณะเดียวกันการผลิตนอกกลุ่มโอเปคก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

ในที่สุด กลุ่มโอเปคก็ทนไม่ได้ ประกาศยกเลิกมาตรการกำหนดเพดานการผลิต เมื่อข่าวชิ้นนี้ออกไปก็ทำให้ราคาน้ำมันดำดิ่งลงทันทีอย่างรวดเร็ว จาก 35 เหรียญต่อบาร์เรล มาเหลือเพียง 10 เหรียญต่อบาร์เรล

ที่ราคาน้ำมัน กลับมาพุ่งสูงขึ้นก็เพราะการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีน อินเดีย และประเทศในภูมิภาคเอเชีย การขยายตัวด้วยตัวเลข 2 หลักของเศรษฐกิจจีนเป็นเวลายาวนานกว่า 15 ปี เป็นเหตุให้ราคาสินค้าขั้นปฐมโดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาน้ำมัน ราคาแร่ธาตุต่างๆ ถีบตัวสูงขึ้น

การที่ราคาน้ำมันถีบตัวสูงขึ้น เป็นเหตุให้ราคายางเทียมซึ่งเป็นผลผลิตจากน้ำมันดิบแพงขึ้นไปด้วย เมื่อราคายางเทียมสูงขึ้น ราคายางพาราก็แพงขึ้นไปด้วย นอกจากยางพาราแล้ว พืชน้ำมันต่างๆ เช่น น้ำมันปาล์ม ถั่วเหลือง อ้อยและน้ำตาล รวมทั้งพืชประเภทแป้งที่สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบผลิตแอลกอฮอล์นำมาผสมกับ น้ำมันเบนซิน เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง และอื่นๆ ก็พลอยมีราคาแพงตามกันไปหมด

นอกจากนั้น การที่พืชน้ำมันมีราคาแพงขึ้น จึงมีการขยายการผลิตพืชเหล่านี้มากขึ้น การขยายตัวการผลิตพืชน้ำมันก็มาแย่งพื้นที่การเพาะปลูกของพืชชนิดอื่นๆ มากขึ้น พลอยทำให้พืชชนิดอื่นๆ มีราคาแพงขึ้นตามกันไปหมด

ถึงขณะนี้ สถานการณ์ได้เปลี่ยนไป เศรษฐกิจของสหรัฐและยุโรปชะลอตัวมาเป็นเวลาหลายปี อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนและเอเชียได้ชะลอตัวลง ดังนั้น อัตราการเพิ่มของการใช้พลังงานจึงลดลงและบัดนี้ได้ลดลงในอัตราเร่งอย่างรวด เร็ว

ระยะเวลาตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ที่ราคาพลังงานถีบตัวสูงขึ้นเพราะความต้องการของจีนและเอเชียสูงขึ้น ราคาของพลังงานที่สูงขึ้นมากจึงทำให้สหรัฐอเมริกาทุ่มเทเงินทุนพัฒนาแหล่ง หินน้ำมันใต้พิภพจนสามารถผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ รัสเซียก็สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติในเชิงพาณิชย์ได้โดยการสร้างท่อส่งก๊าซเข้า ไปในยุโรปตะวันตก จนทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันและก๊าซของโลกเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล คล้ายๆ กับที่เคยเกิดขึ้นในปี 1985-1986 ขณะเดียวกันกลุ่มประเทศโอเปคก็คงจะไม่ลดปริมาณการผลิตเพื่อพยุงราคาน้ำมัน เหมือนกับคราวก่อน ราคาน้ำมันน่าจะลดลงอย่างรวดเร็วอีกในคราวนี้ ส่วนจะลงมาถึงระดับเท่าใดก็น่าจะต้องคอยดู แต่น่าจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 70 เหรียญต่อบาร์เรล และอาจจะลงมาถึง 50 เหรียญต่อบาร์เรลก็ได้ใน 2-3 ปีข้างหน้า ถ้าสหรัฐอเมริกา รัสเซีย นอร์เวย์ อังกฤษ ไม่สามารถร่วมมือกับกลุ่มโอเปคลดปริมาณการผลิตลงได้

ครั้งนี้จะเป็น การพิสูจน์อีกครั้งหนึ่งว่า ราคาของสินค้าโภคภัณฑ์นั้น ไม่มีประเทศใดประเทศหนึ่งหรือผู้ผลิตผู้ใดผู้หนึ่ง จะฝืนหรือตั้งราคาสินค้านั้นได้โดยการลดปริมาณการส่งออกของตัวลง หรือรวมกลุ่มกันลดปริมาณการผลิตและการส่งออกของตนลง การทำเช่นนั้น ผู้ที่ลดการผลิตหรือลดการส่งออกของตัวลงโดยการเก็บสต๊อกก็จะต้องรับภาระเป็น ผู้เสียหายอย่างมหาศาล แต่เป็นประโยชน์ของคู่แข่ง โครงการรับจำนำข้าว ยางพารา มันสำปะหลังของประเทศไทยก็อยู่ในกฎเกณฑ์อันนี้ ความคิดเรื่องมูลภัณฑ์กันชนหรือ Buffer Stock ตามที่ลอร์ด เคนส์ เคยเสนอนั้น บัดนี้ได้เลิกคิดกันแล้ว เพราะทำแล้วไม่เคยได้ผลตามที่ต้องการ

ถ้าสถานการณ์ราคาพลังงานเป็นช่วงขาลง อย่างที่กล่าวแล้ว ผลกระทบต่อประเทศของเราคงจะมีทั้งสองด้าน เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่ต้องนำเข้าพลังงานสุทธิ กล่าวคือ กว่า 85 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานที่เราใช้อยู่ทั้งหมดต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ แม้แต่ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยเราก็ต้องจ่ายเป็นเงินตราต่างประเทศที่ปากหลุม

การ ที่ราคาพลังงานมีราคาลดลงอย่างรวดเร็ว หากดูตามพื้นฐานของประเทศไทยและประเทศอื่นๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลี ไต้หวัน ประเทศในภูมิภาคนี้น่าจะได้รับประโยชน์ เพราะรายจ่ายจากการใช้พลังงานน้อยลง ทำให้รายได้ที่แท้จริงของประชาชนสูงขึ้น กำลังซื้อของตลาดก็น่าจะเพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนของภาคอุตสาหกรรมบริการลดลง

การลดลงอย่างรวดเร็วของราคา พลังงาน อาจจะมีผลต่อราคาสินค้าเกษตรที่สามารถนำมาผลิตเป็นพลังงานทางเลือก เช่น อ้อย น้ำมันปาล์ม พืชน้ำมันอื่นๆ รวมทั้งสินค้าประเภทแป้งที่อาจจะนำมาใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตเป็นแอลกอฮอล์ ที่ใช้ผสมกับน้ำมันเบนซินได้ รวมทั้งยางพารา เพราะราคายางเทียมซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดหนึ่งของน้ำมันปิโตรเลียม แต่ในระยะยาวการผลิตก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

ใน อนาคตข้างหน้า เมื่อโครงสร้างการผลิตและการใช้พลังงานเปลี่ยนไป ความสำคัญของภูมิภาคต่างๆ อันเป็นผลต่อการเมืองระหว่างประเทศก็น่าจะเปลี่ยนไป

ตะวันออกกลาง คาบสมุทรอาระเบีย ซึ่งเคยเป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญในฐานะแหล่งผลิตน้ำมันมากที่สุดในโลกก็คง จะลดความสำคัญลง ยิ่งปริมาณน้ำมันจะล้นตลาด ทำให้ราคาน้ำมันและพลังงานอื่นมีราคาลดลง สหรัฐอเมริกาคงให้ความสำคัญต่อการรักษาเสถียรภาพในตะวันออกกลางน้อยลง และคงมอบให้ยุโรปเป็นผู้รับภาระในการรักษาเสถียรภาพในภูมิภาคนี้แทนตน

จีน อินเดีย ญี่ปุ่น น่าจะได้รับประโยชน์จากสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันลดลงมากกว่าประเทศอื่น เพราะต่างก็เป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันมากที่สุดในโลก ขณะเดียวกันจีนและอินเดียที่กำลังอยู่ในช่วงเศรษฐกิจกำลังจะชะลอตัว การลดลงของราคาพลังงานอาจจะทำให้เศรษฐกิจของจีน อินเดีย และญี่ปุ่น เปลี่ยนทิศทางก็อาจจะเป็นไปได้ จะต้องติดตามดูกันต่อไป

ประเทศกำลัง พัฒนาอย่างเราควรจะคิดไว้ล่วงหน้าว่า ถ้าราคาสินค้าส่งออกที่เป็นสินค้าเกษตรหรือสินค้าอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องจาก สินค้าเกษตรมีราคาลดลง เราจะทำอย่างไร จะใช้วิธีชดเชยอย่างเดิมคงจะไม่ไหว เพราะบัดนี้สินค้าเหล่านี้มีปริมาณมากกว่าเมื่อก่อนประมาณ 10 เท่าตัว

รัฐบาลทหารอาจจะรับสถานการณ์สินค้าเกษตรมีราคาตกต่ำได้ดีกว่ารัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งก็ได้ ใครจะไปรู้

ขอให้โชคดี

ที่มา. นสพ.มติชนรายวัน
////////////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2557

อึ้ง..? มาตรฐาน ป.ป.ช. กับข่าวลือ ยุบ-ปรับ !!?


หนึ่งในองค์กรอิสระที่สร้างความตื่นตะลึง แกมทึ่งและอึ้งให้กับคนทั่วไปได้มากที่สุดองค์กรหนึ่งก็คือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

เพียงตัวอย่างล่าสุดก็เรียกเสียงวิพากษ์ได้มากมาย

เริ่มต้นจากการประกาศอย่างชัดถ้อยชัดคำหลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ผ่านไปเพียงไม่กี่วันว่า

ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจที่จะตรวจสอบทรัพย์สินคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพราะกฎหมายมิได้ให้อำนาจไว้

จนเมื่อ คสช.บางรายเสียสละเข้ามารับตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีนั่นหรอก สาธารณชนจึงได้มีโอกาสรับรู้ว่าอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และเทคโนแครตท่านใดบ้างมีทรัพย์สินอยู่เป็นจำนวนเท่าใดและอะไรบ้าง

ตรวจแต่แม่ไม่ตรวจพ่อก็ดูแปลกๆ อยู่แล้ว

มาถึงรุ่นลูกยิ่งประหลาดกว่า

ป.ป.ช.ประกาศมาตั้งแต่ต้นว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีสถานภาพเช่นเดียวกันกับสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา

ฉะนั้น จะต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน

เป็นเหตุให้ สนช.กลุ่มหนึ่งทำหนังสือสอบถามขอความชัดเจน จนกลายเป็นหัวข้อวิพากษ์วิจารณ์ของสังคม

แต่กรณีล่าสุดกับสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นายวิชา มหาคุณ ป.ป.ช.คนสำคัญที่มีปฏิสัมพันธ์กับสังคมภายนอกมากที่สุด พูดอย่างชัดเจนว่า ไม่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สิน

เพราะ สปช.เข้ามาทำงานด้านวิชาการ

เรียกเสียงวิพากษ์ได้มากยิ่งกว่า ว่าการรวบรวมข้อมูลเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบ โครงสร้าง กฎหมาย ไปจนกระทั่งถึงรัฐธรรมนูญนี่นะ

เป็นงานวิชาการ?

ยิ่งเมื่อนำเอาคดีอื่นๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ป.ป.ช.มาวางเทียบเคียง ก็จะเห็นภาพได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

ขณะที่ลงแรงทุ่มชนิดสุดตัวโครงการรับจำนำข้าวและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถึงขนาดที่ไปนำเอาผลงานวิจัยเมื่อ 10 ปีก่อนมาเป็นเอกสารประกอบการตั้งข้อหา

สำนวนคดีโครงการรับจำนำข้าวและ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีผู้ร้องเอาไว้ก่อนหน้าเป็นเวลาหลายปี ยังไม่คืบหน้าไปไหน

ด้วยเหตุผลว่าหลักฐานหลายประการหายไปเมื่อน้ำท่วมใหญ่ปี 2554

เช่นเดียวกับความเอาจริงเอาจังอย่างยิ่งที่จะผลักดันให้ถอดถอน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภาและสภาผู้แทนราษฎร และ นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา

ในข้อหาเป็นผู้บรรจุวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

จนเกิดระลอกใน สนช.ว่าจะสามารถดำเนินการตามที่ ป.ป.ช.ร้องมาได้หรือไม่ ในวันที่รัฐธรรมนูญ 2550 ที่มีข้อกำหนดเรื่องการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ดำรงอยู่แล้ว

เทียบกับความล่าช้าในการจัดการคดีที่เกิดขึ้นก่อนหรือไล่เลี่ยกันอย่างการสังหารประชาชนเมื่อปี2553การทุจริตก่อสร้างโรงพักที่มีหลักฐานชัดอยู่ทั่วประเทศ หรือคดีทุจริตอื่นๆ ที่เกิดขึ้นก่อนรัฐบาลชุดที่แล้ว ฯลฯ

ไม่ปรากฏว่าในช่วง 8 ปี ที่มีคดีอยู่ทั้งสิ้น 34,528 เรื่อง ดำเนินการเสร็จ 25,012 เรื่อง หรือทำได้เฉลี่ยปีละ 3,000 เรื่อง

จะมีคดีเหล่านี้รวมอยู่ด้วย

จึงไม่แปลกใจที่มีเสียงเรียกร้องจากคนจำนวนไม่น้อย ขอให้ทบทวนความจำเป็นความเหมาะสมในการดำรงอยู่ของ ป.ป.ช.

ประการหนึ่ง ยังจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมี ป.ป.ช.

ประการหนึ่ง หากในทางหลักการยังเห็นว่าจำเป็น ในทางปฏิบัติจะทำอย่างไรให้ ป.ป.ช.ดำเนินการไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและได้รับการยอมรับจากคนส่วนใหญ่มากกว่าที่เป็นอยู่

เสียงเรียกร้องเช่นนี้ย่อมมิใช่เสียงนกเสียงกาหรือเสียงกระซิบแผ่วๆอยู่ในสายลม

ไม่เช่นนั้นกรรมการใหญ่ป.ป.ช. อย่างนายวิชา คงไม่ออกมาพูดเสียงดังฟังชัดว่า

ที่ต้องการจะยุบ ป.ป.ช.นั้น มีการสอบถามประชาชนบ้างหรือยัง

เป็นภาพที่ดูเหมือนว่า ป.ป.ช.แอบอิงนิ่งแนบกับประชาชนอย่างยิ่ง

น่าสนใจและน่าสอบถามประชาชน อย่างที่ท่านกรรมการใหญ่ ป.ป.ช.ว่าไว้จริงๆ


ที่มา.มติชนรายวัน
///////////////////////////////////////////////////////

วันพุธที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ธุรกิจแฟรนไชส์ใน เออีซี !!

โดย. ณกฤช เศวตนันท์

ในปัจจุบันธุรกิจแฟรนไชส์ถือเป็นหนึ่งในสาขาธุรกิจที่สําคัญ และมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในประเทศไทย เนื่องจากเป็นสาขาธุรกิจที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ อีกทั้งยังเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่

ในการเริ่มต้นธุรกิจ ได้ด้วยตนเอง มีโอกาสประสบความสําเร็จมากกว่าธุรกิจทั่วไป เพราะมีผู้ให้สิทธิ์คอยช่วยเหลือและให้คำแนะนำ ธุรกิจแฟรนไชส์ เป็นธุรกิจที่สามารถพัฒนาและขยายตัวได้อย่างรวดเร็วและอย่างมีระบบ อีกทั้งยังสามารถลดข้อจํากัดทางการค้าและสร้างความได้เปรียบในด้านแหล่งทุน

ประการ ที่สำคัญคือสร้างรายได้ให้เจ้าของแฟรนไชส์ได้เป็นอย่างมาก จากสถิติการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ไทย พบว่าในประเทศไทยมีธุรกิจแฟรนไชส์รวมถึง 446 กิจการ ประมาณ 83,622 สาขา

เคย มีผู้แบ่งประเภทธุรกิจแฟรนไชส์ไว้เป็น 11 ประเภท ได้แก่ อาหาร เครื่องดื่ม และไอศกรีม เบเกอรี่ บริการ การศึกษา ความงาม ค้าปลีก งานพิมพ์ หนังสือ อสังหาริมทรัพย์ และโอกาสทางธุรกิจ อาทิ ธุรกิจขายตรง ธุรกิจออนไลน์

จากการสำรวจพบว่าธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ อาหาร เครื่องดื่ม กับไอศกรีม และบริการ

แนว โน้มของธุรกิจแฟรนไชส์ในปี 2557 น่าจะยังเติบโตในเกณฑ์ดี โดยด้านยอดขายน่าจะขยายตัวอยู่ที่ประมาณร้อยละ 10 หรือคิดเป็นมูลค่าตลาดรวมไม่ต่ำกว่า 260,000 ล้านบาท และแนวโน้มจากปี 2556 คาดการณ์ว่าจะส่งผลให้ธุรกิจแฟรนไชส์มีนักลงทุนเพิ่มขึ้น 30% ยังมี นักลงทุนที่มีความสนใจระบบแฟรนไชส์และพร้อมที่จะลงทุนไม่น้อยกว่า 40,000 ราย ตามผลรายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ส่งผลให้จํานวนและประเภทธุรกิจมีการพัฒนาเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา

การ ลงทุนธุรกิจแฟรนไชส์ในไทยยังมีโอกาสอีกมาก โดยเฉพาะในตลาดต่างจังหวัด ในแต่ละภูมิภาค ที่มีแนวโน้มเติบโตตามการขยายตัวของความเป็นเมือง และกำลังซื้อภาคประชาชนที่เพิ่มสูงขึ้น ความนิยมเป็นจำนวนมากทำให้มีการแข่งขันที่สูง ทั้งจากแฟรนไชส์ของไทยเองและแฟรนไชส์ต่างชาติ แน่นอนว่าจะมีแบรนด์ต่างชาติเข้ามาบุกตลาดไทยเป็นจำนวนมาก

ปัจจุบัน ผู้ประกอบกิจการแฟรนไชส์ของไทยไม่ต่ำกว่า 20 ราย ได้เข้าไปบุกเบิกตลาดแฟรนไชส์ในกลุ่มประเทศต่าง ๆ มากขึ้น สามารถเข้าไปเจาะตลาดต่างประเทศในกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ อาทิ ธุรกิจแฟรนไชส์อาหาร และเครื่องดื่มในประเทศพม่า เพราะชาวพม่าต่างคุ้นเคยสินค้าไทยเป็นอย่างดี และคู่แข่งในตลาดยังมีไม่มาก

ผู้ประกอบการไทยเข้าไปขยายธุรกิจแฟรนไชส์อาหาร เครื่องดื่มสุขภาพ ความงามในประเทศกัมพูชา โดยปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์อาหาร และเครื่องดื่มเป็นที่ต้องการ เนื่องจากธุรกิจการท่องเที่ยวของประเทศกัมพูชามีการเติบโต ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ส่งผลให้เกิดความต้องการในธุรกิจอาหาร และเครื่องดื่ม ผู้ประกอบการไทยยังเข้าไปลงทุนธุรกิจแฟรนไชส์อาหาร เครื่องดื่ม การศึกษา สุขภาพ ความงาม และบริการในประเทศเวียดนาม

สาเหตุที่ผู้ประกอบการ ไทยให้ความสำคัญในการเข้าไปลงทุนในประเทศเวียดนาม เนื่องจากชาวเวียดนามมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลทำให้มีอำนาจการซื้อเพิ่มขึ้น ชาวเวียดนามยังมีการศึกษาสูงขึ้น กับมีพฤติกรรมการบริโภคแบบชาวตะวันตกเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ประเทศเวียดนามได้มีการปรับแก้กฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ในด้านธุรกิจ แฟรนไชส์ให้ดีขึ้น อีกทั้งยังเปิดเสรีการค้าปลีกให้แก่นักลงทุนต่างชาติ ทำให้ประเทศเวียดนามมีความน่าสนใจในการลงทุนเพิ่มมากขึ้น

การเลือก ประเภทธุรกิจแฟรนไชส์สำหรับการลงทุน จึงควรพิจารณาให้สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจ สภาพสังคมและพฤติกรรมของผู้บริโภคในแต่ละภูมิภาค ไม่ควรลงทุนกับธุรกิจตามกระแสนิยมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้งควรใช้ความระมัดระวังในการเลือกลงทุนชนิดหรือประเภทธุรกิจของแฟรนไช ส์ให้ดี

นอกจากนี้ ควรพิจารณาอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต หรือธุรกิจที่ผู้ประกอบการมีความถนัด การบริหารจัดการแฟรนไชส์ให้เป็นไปตามมาตรฐานระบบการค้าที่ได้กำหนดไว้ โดยผู้ให้สิทธิ์มีส่วนอย่างมากต่อความสำเร็จของธุรกิจในระยะยาว จึงเป็นปัจจัยที่ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้าม

หากนักธุรกิจแฟรนไชส์ ของไทยมีการเตรียมตัวที่ดี ศึกษาลู่ทางการดำเนินธุรกิจและพฤติกรรมของผู้บริโภค และนำกลยุทธ์การแข่งขันมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจของตน เพื่อสร้างความแตกต่าง ก็อาจทำให้เกิดความสำเร็จในการขยายตัวได้เป็นอย่างดีในการขยายธุรกิจแฟรนไชส์

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
///////////////////////////////////

หมดเวลา ฮันนีมูน !!?

โดย. ชลาทิพย์ ถิรสุนทรากุล

ข่าวสื่อสัมภาษณ์นายกรัฐมนตรีหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทีไร มีประเด็นสีสันดราม่าระหว่างสื่อกับนายกฯร่ำไป ทั้งเรื่องรูปแบบการพูดของนายกฯที่สื่ออาวุโสในทำเนียบได้แชร์ไอเดียต่อหน้านายกฯที่ยืนอยู่ที่โพเดียม โดยเสนอให้พูดกระชับ ไม่ต้องอธิบายที่มาพื้นฐานบางเรื่องมาก แต่ก็ถูกนายกฯแจงกลับแบบเข้มข้นดุดันกันไป

นายกฯยังสวนกลับบรรดาผู้ที่วิจารณ์ว่าให้สัมภาษณ์ทุกวันไม่มีเวลาทำงานกันพอดี โดยใช้วิธีพูดเชิงประชด ให้แปลความแบบเรียบ ๆ ก็คือ นายกฯยืนยันว่าการให้สัมภาษณ์ทุกวันไม่ได้กระทบกับเวลาบริหารงาน ส่วนประโยคที่โควตคำพูดดุดันของนายกฯ ใครว่างต้องไปหาดูตามคลิปในโซเชียลมีเดียกันเอง

แม้ที่จริงสื่อเสนอด้วยความหวังดีเพื่อขอโฟกัสประเด็นในข่าว เพราะมีสถิติที่นายกฯก็เคยให้สัมภาษณ์ยาวนานเกือบชั่วโมง บางทีก็แทบจะเท่ากับเวลาที่นายกฯพูดในรายการคืนความสุขให้คนในชาติทุกวันศุกร์

ที่ว่ามาเป็นประเด็นข่าวการเมืองแบบหยิกเล็บเจ็บเนื้อรายวัน กระนั้นด้านหนึ่งสิ่งที่สื่อรายงานเป็นประเด็นใหญ่ คือ เรื่องร้อนของแท้ การรับมือกับภาวะเศรษฐกิจซบเซา

ดัชนีตัวเลขเศรษฐกิจที่สรุปและคาดการณ์ออกมาหลายตัวไม่สวยเอาซะเลย โดยเฉพาะตัวเลขส่งออกที่หวาดเสียว ตัวเลขจากภาคธุรกิจท่องเที่ยวทรง ๆ ที่ คสช.ยังคงประกาศกฎอัยการศึก

ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังประเมินแบบมองบวกอยู่ และภาคค้าปลีกที่หวังว่าไตรมาส 4 เป็นช่วงเทศกาลท่องเที่ยวหยุดยาวจะช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในขึ้นมาได้

กระนั้น นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ระบุก่อนนี้ไม่นานว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2557 ยังฟื้นตัวได้ไม่ดีเท่าที่คาด โดยลูกค้าของธนาคารที่เป็นกลุ่มคนรวยสามารถกลับตัวได้เร็วและเข้าลงทุนต่อได้ อาทิ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มสินค้าหรู แต่ในส่วนของชาวนาและคนจนกลับไม่มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น เพราะเงินที่ได้จากการช่วยเหลือของรัฐบาลต้องนำไปชำระหนี้ที่ค้างไว้ ส่วนเศรษฐกิจในต่างจังหวัดมองว่ายังไม่ดีเช่นกัน ยังมีความกังวลในด้านกำลังซื้อ

"ข้อมูลทางเศรษฐกิจของไทยยังคงขัดแย้งกันเอง เพราะยังมีความเหลื่อมล้ำกันอยู่ในด้านของคนรวยสามารถกลับตัวได้เร็วและลงทุนต่อ แต่ขณะเดียวกัน ฝั่งของชาวนาและคนจนกลับไม่มีกำลังซื้อ มองว่าทางภาครัฐเองควรกระตุ้นด้วยนโยบายการคลัง"

หลังมีแผนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทยอยลงมือทำ ทุกฝ่ายรอตัวเลขเศรษฐกิจที่อาจจะผงกหัวกราฟเด้งขึ้นบ้าง แผนกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 แสนล้านบาทที่ประกาศออกมา โดยส่วนหนึ่งกว่าแสนล้านเป็นงบฯที่ดึงมาจากงบฯค้างท่อปี57 ด้วยคอนเซ็ปต์แบบที่ "บิ๊กตู่" บอกว่า "เน้นซ่อม (แซม) ไม่เน้นสร้าง"

ฟากหม่อมอุ๋ย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ที่ได้ส่งสัญญาณให้ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจว่า งบฯลงทุนที่เหลือจากปี 57  นี้ หากมีการเบิกจ่ายและใช้สัก 20% เศรษฐกิจก็จะกระเด้ง ซึ่งภาครัฐตั้งเป้าให้ปี 2558 การลงทุนภาครัฐเป็นกลจักรสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

จังหวะนี้ของรัฐบาล "บิ๊กตู่" เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่มรสุมเศรษฐกิจ-ปากท้องมีผลแบบสายฟ้าแลบ และสะท้อนความเชื่อมั่นที่มีต่อผู้นำประเทศ เพราะเรื่องปากท้องมีผลกระทบเร็ว บางครั้งยิ่งกว่าประเด็นการเมืองด้วยซ้ำ เฉกเช่นที่รัฐบาลก่อนหน้าหรือรัฐบาลไหน ๆ ก็ต้องรับมือปัญหานี้ เพราะวันนี้หลายฝ่ายยังห่วงว่าการบริโภคของประชาชนยังไม่น่าจะเพิ่มขึ้น งบฯที่ลงไปช่วยชาวนาหรือชาวสวนยางพารายังไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจการบริโภคภายในได้ ทั้งยังห่วงเรื่องเก็บภาษีที่ยังไม่เข้าเป้า

เศรษฐกิจขณะนี้จึงยังถูกจับตาประคองใกล้ชิดว่าจะสาหัสไปเรื่อย ๆ มากขึ้นหรือไม่ และที่สำคัญประเด็นเศรษฐกิจจะเป็นตัวตัดสินความสำเร็จของรัฐบาลชุดนี้เช่นกัน เพราะหมดช่วงฮันนีมูนคืนความสุขจากสถานการณ์การเมืองกันไปแล้ว

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////

วันเสาร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2557

เศรษฐกิจของจีนชะลอ !!?


โดย. วีรพงษ์ รามางกูร

ในขณะที่เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาแม้จะยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน แต่ก็เป็นที่ทราบกันว่า เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาน่าจะถึงจุดต่ำสุดแล้วและเริ่มฟื้นตัวอย่างช้าๆ อัตราการว่างงานลดลง จากที่เคยสูงสุดเกือบร้อยละ 10 ลงมาเหลือประมาณร้อยละ 5.7 โดยที่อัตราเงินเฟ้อยังไม่เป็นปัญหา ธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกาจึงดำเนินนโยบายการเงินโดยลดอัตราการเพิ่มปริมาณเงินลงทุกๆ เดือนเรื่อยๆ มา

เหตุที่เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเริ่มกระเตื้องขึ้น อาจจะเป็นเพราะสหรัฐอเมริกาสามารถผลิตพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันจากใต้พื้นพิภพที่ลึกลงไปได้ เพราะสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศเดียวที่มีวิทยาการการผลิตหรือเทคโนโลยีที่จะทำเช่นนั้นได้ แค่มีข่าวว่าอเมริกาสามารถพึ่งพาแหล่งพลังงานภายในประเทศได้แล้ว แค่มีแนวโน้มว่าจะสามารถลดค่าขนส่งลงจนทำให้สามารถส่งออกได้ ข่าวเช่นว่านี้ก็ทำให้ตลาดการเงินของสหรัฐอเมริกาเริ่มดีขึ้น ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเริ่มดีขึ้น

ส่วนยุโรปนั้นยังไม่เห็นสัญญาณอะไรที่ชัดเจนว่าจะมีปัจจัยอะไรที่จะดึงเศรษฐกิจของยุโรปขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวหรือภาวะซบเซาได้ แม้ว่าจะมีสัญญาณว่าเศรษฐกิจของเยอรมนีและอังกฤษน่าจะถึงจุดต่ำสุดและเริ่มที่จะฟื้นตัวอยู่บ้าง แต่สำหรับฝรั่งเศส สแกนดิเนเวีย รวมทั้งประเทศยุโรปตอนใต้ เช่น อิตาลี สเปน โปรตุเกส ไอร์แลนด์ ก็ยังไม่มีทีท่าว่าเศรษฐกิจจะเริ่มขยับเขยื้อนขึ้น จากภาวะเศรษฐกิจซบเซาที่ดำรงมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ภาวะหนี้สินของประเทศเหล่านี้ก็ยังคงเป็นปัญหาที่หนักอยู่เช่นเดิม ส่วนญี่ปุ่นนั้นรู้สึกว่าไม่มีใครพูดถึงมากนัก อาจจะเป็นเพราะยังไม่เห็นสัญญาณอะไรที่จะบ่งชี้ว่า 2 ทศวรรษที่หายไปของญี่ปุ่นได้จบสิ้นแล้ว เศรษฐกิจของภูมิภาคดังกล่าวของประเทศที่พัฒนาแล้วค่อนข้างเห็นภาพที่ชัดเจน

ที่ยังไม่ชัดเจนคือเศรษฐกิจของจีน จะมีทิศทางไปทางไหน ตัวเลขทางการของจีนยังตั้งเป้าหมายอัตราการขยายตัวของรายได้ไว้ในอัตราที่สูง กล่าวคือ ทางการจีนตั้งเป้าหมายอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไว้ที่ร้อยละ 7.5 ต่อปี ซึ่งถ้าหากเศรษฐกิจของจีนขยายตัวได้ในอัตรานี้ ก็เท่ากับว่าเศรษฐกิจของจีนยังขยายตัวได้ในอัตราที่สูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ ของโลกเป็นอันมาก

นักเศรษฐศาสตร์ในสหรัฐอเมริกาและยุโรปเริ่มตั้งข้อสงสัยว่าจีนจะสามารถทำได้อย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่ ในเมื่อการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในอดีตนั้นเติบโตได้โดยอาศัยการส่งออกเป็นตัวนำ อาศัยความได้เปรียบจากอัตราค่าจ้างแรงงานที่ต่ำ มีแรงงานเหลือเฟือ แต่ความได้เปรียบดังกล่าวได้หมดไปแล้ว แรงงานเริ่มขาดแคลน ค่าแรงงานได้ถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้นของประสิทธิภาพของแรงงาน แม้ว่าจีนจะรีบเร่งพัฒนาระบบขนส่งและคมนาคมทางบก เพื่อเปิดพื้นที่ที่อยู่ลึกเข้าไปในทิศตะวันตกและทิศใต้ของประเทศก็ตาม เพื่อเปิดตลาดแรงงานในภาคตะวันตกและภาคใต้พร้อมๆ กับลดค่าขนส่งทางบกลง

นักสังเกตการณ์ตะวันตกพากันวิตกว่า ถ้าหากเศรษฐกิจของจีนชะลอตัวลงอย่างรวดเร็ว ก็อาจจะมีผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของโลกได้อย่างมากและอย่างรวดเร็ว ถ้าหากมีธนาคารขนาดกลางสักแห่งหรือสองแห่งล้มลง ความตระหนกก็จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะเงินออมของชาวอเมริกันและยุโรปได้ไปลงไว้ที่จีนเป็นจำนวนมหาศาล จีนเป็นประเทศใหญ่ประเทศเดียวในโลกที่ยังมีอัตราการขยายตัวในอัตราที่สูงอยู่ สินเชื่อที่สถาบันการเงินในจีนปล่อยให้ทั้งรัฐบาลและเอกชนกู้มีสูงกว่า 200 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ประชาชาติ

ทางการจีนก็ตระหนักในเรื่องการลดลงของการได้เปรียบในการส่งออก รวมถึงกำลังซื้อของตลาดส่งออกของตน เช่น อเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น จีนจึงเร่งในเรื่องการลงทุนในประเทศให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเร่งการลงทุนของรัฐบาลในการสร้างระบบถนน ระบบราง ท่าอากาศยาน ท่าเรือ เร่งการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งขณะนี้รัฐบาลยังมีบทบาทอยู่มาก เพราะบริษัทใหญ่ๆ ที่เป็นผู้นำในการผลิตและการส่งออกยังเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อชดเชยอัตราการขยายตัวที่ลดลงของการส่งออก การจะรักษาอัตราการขยายตัวในอัตราสูงขนาดร้อยละ 7.5 ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะฐานที่ใช้คำนวณบัดนี้สูงขึ้นมากแล้ว ไม่เหมือนเมื่อระดับการพัฒนายังต่ำ อัตราการขยายตัวที่สูงทำได้ง่ายกว่า

สัญญาณที่บ่งบอกว่าเศรษฐกิจของจีนเริ่มชะลอตัวลงมากกว่าตัวเลขของทางการจีนมีอยู่หลายตัว กล่าวคือ การที่เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวลง ทำให้ตลาดการส่งออกของจีนมีกำลังซื้ออ่อนตัวลง ข้อมูลอันนี้ค่อนข้างชัดเจน แต่ขณะเดียวกันประเทศผู้ส่งออกวัตถุดิบให้จีน เช่น ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย บราซิล ก็เริ่มรู้สึกว่าจีนสั่งซื้อสินค้าที่เป็นวัตถุดิบเหล่านี้น้อยลง จึงเป็นเหตุให้ราคาวัตถุดิบ เช่น ยางพารา พืชน้ำมัน รวมทั้งแร่ธาตุต่างๆ ลดลงอย่างรวดเร็ว อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน กรณีการชุมนุมประท้วงที่ฮ่องกงก็อาจจะสร้างปัญหาซ้ำเติมให้กับการส่งออกของจีนมากยิ่งขึ้น

นอกจากนั้น ประเทศที่เคยเป็นผู้ส่งออกสินค้าประเภททุน อันได้แก่ เครื่องยนต์ เครื่องจักร ให้แก่จีน เช่น เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ การส่งออกของตนไปยังจีนก็ลดลง

อัตราการขยายตัวของการใช้ไฟฟ้าในประเทศจีนก็ลดลงอย่างฮวบฮาบ กล่าวคือ คาดว่าในปีนี้การใช้ไฟฟ้าคงจะขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่า 4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นอัตราต่ำสุดตั้งแต่จีนเปิดประเทศเป็นต้นมา ปกติอัตราการขยายตัวของความต้องการใช้ไฟฟ้าจะสูงกว่าอัตราการขยายตัวของรายได้ประชาชาติเสมอมา

นอกจากนั้น จากรายงานการสำรวจราคาบ้านและอสังหาริมทรัพย์ก็ลดลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน ปกติแล้วภาวะของตลาดอสังหาริมทรัพย์จะเป็นเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจที่ดี ประเทศต่างๆ ใช้เป็นเครื่องมือในการวัดทิศทางของเศรษฐกิจ การที่ราคาอสังหาริมทรัพย์อ่อนตัวลงจึงเป็นสัญญาณสำคัญว่าเศรษฐกิจของจีนได้เริ่มเป็นเศรษฐกิจขาลง

แต่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนกลับมีความเห็นว่า การที่เศรษฐกิจของจีนเริ่มอ่อนตัวลงกลับจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของโลก เพราะทำให้คลายกังวลได้ว่าเศรษฐกิจของจีนจะไม่เป็นฟองสบู่ที่อาจจะแตกหรือล่มสลายลงอย่างรวดเร็วแบบวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง หรือวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ที่เกิดในเอเชียและอเมริกาในปี 1997 และปี 2008 ซึ่งถ้าเป็นกรณีเช่นนั้นก็น่าจะเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจของโลก

ขณะนี้จีนพยายามอย่างยิ่งที่จะทำให้เศรษฐกิจของตนค่อยๆ ลดระดับความร้อนแรงลง หรือที่เรียกว่า "soft landing" การชดเชยการลดลงของอัตราการขยายตัวของการส่งออกโดยการใช้จ่ายภายในประเทศให้มากพอ การใช้จ่ายภายในประเทศมิได้ทำเฉพาะการลงทุนอย่างขนานใหญ่อย่างรวดเร็วภายในประเทศในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น แต่ยังกระตุ้นให้การบริโภคของประชาชนภายในประเทศเพิ่มขึ้น การยกระดับคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ ให้สูงขึ้น

ถ้าเราเดินทางไปเมืองจีนก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬาร เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาและเกิดขึ้นทั่วไปทั้งประเทศ ตั้งแต่ชายฝั่งทะเลลึกเข้าไปในใจกลางไปจนถึงมณฑลซินเกียงซึ่งอยู่ที่ภาคตะวันตกของประเทศ ตั้งแต่ภาคเหนือลงไปถึงมณฑลยูนนานซึ่งอยู่ที่ภาคใต้ของประเทศ

แต่การที่จีนจะประคับประคองการลดระดับลงของเศรษฐกิจเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจล่มสลายกลายเป็นวิกฤตการณ์ของโลกก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเพิ่มการใช้จ่ายในการลงทุนและการบริโภคให้มากและรวดเร็วพอจึงจะประสบความสำเร็จ เพื่อรอเวลาที่เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและเศรษฐกิจของยุโรปฟื้นตัว โชคดีที่จีนสะสมทุนสำรองไว้เป็นจำนวนมากจึงสามารถดำเนินนโยบายเช่นว่านี้ได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อค่าเงินและเงินเฟ้อ

ภาวะเศรษฐกิจของจีนจะหักเหไปในทางใดจึงเป็นที่สนใจของนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลก เพราะเศรษฐกิจของประเทศจีนเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และกำลังจะกลายเป็นอันดับ 1 ของโลกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เป็นประเทศเดียวที่ภาพยังไม่ค่อยชัดว่าจะชะลอตัวลงอย่างไรในสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน จะเป็น "soft landing" หรือ "hard landing"

ทั้งหมดคงอยู่ที่การบริหารจัดการของจีนเอง เศรษฐกิจของโลกเป็นอย่างไรก็ชัดเจนแล้ว

ที่มา.มติชนออนไลน์
////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ขาลงของจริง ไม่มีพระเอกขี่ม้าขาว !!?

โดย. สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

ภาพเศรษฐกิจไทยเวลานี้มีสัญญาณการชะลอตัวอย่างชัดเจน ทั้งชาวบ้าน ผู้ประกอบการเล็กใหญ่ทั้งหลายต่างได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่หดหาย จากช่วงต้นปีที่หลายฝ่ายคาดหวังว่า "ภาคส่งออก" จะเป็นพระเอก (จำเป็น) ช่วยพยุงเศรษฐกิจไทย

แต่ก็กลายเป็น "พระเอกตกยาก" เพราะจากต้นปีที่คาดหวังปีนี้ส่งออกจะโต 3-5% แต่ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์รายงานตัวเลขการส่งออกของไทยช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ติดลบ 1.36%

โดยที่ยังต้องลุ้นว่าสิ้นปีจะโผล่พ้นน้ำหรือไม่ เพราะศูนย์วิจัยกสิกรไทยก็ฟันธงว่า ปีนี้ตัวเลขส่งออกทั้งปีจะติดลบ 0.3% ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ว่าปีนี้อย่างเก่งการเติบโตของภาคส่งออกอยู่ที่ 0%

เรียกว่าความหวังจากภาคส่งออกที่จะเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้มีอันหายวับ

ทำให้เวลานี้เหลือเครื่องยนต์หลักที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยเวลานี้เพียงตัวเดียวคือ "การลงทุนและใช้จ่ายภาครัฐ"

แต่การทำงานของภาครัฐภายใต้รัฐบาลเฉพาะกิจของ "บิ๊กตู่" ที่ชูนโยบาย Zero Corruption ทำให้ทุกหน่วยงานระแวดระวังมากขึ้น ดังนั้นการใช้จ่ายภาครัฐที่พยายามกระตุ้นออกมาในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้คงไม่รวดเร็วทันใจรัฐบาลหรือใคร ๆ ได้

แม้ว่า "อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" เลขาธิการสภาพัฒน์ ซึ่งเป็น Think-Tank ของรัฐบาล นั่งควบเก้าอี้ รมช.คมนาคมให้สัมภาษณ์ว่า "ลงทุนภาครัฐ" จะเป็นพระเอกของปี 2558

แต่ก็คงแค่ช่วยประคองไม่ให้เกิดอาการหัวทิ่มเท่านั้น

เพราะ "ส่งออก" ซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักที่มีสัดส่วน 70% ของจีดีพียังเป็นจุดตายสำคัญของประเทศ เพราะนอกจากปัญหาเศรษฐกิจของคู่ค้าหลักทั้งหลายแล้ว อีกด้านก็คือปัญหาภายในของไทย รวมทั้งในแง่ของความสามารถในการแข่งขันที่อาจกดดันให้โอกาสการเติบโตของภาคการส่งออกไม่สดใสเหมือนเช่นในอดีต

และหากดูจากตัวเลขการส่งออกในอดีตจะพบว่าการเติบโตลดลงมาอย่างต่อเนื่อง

จากปี 2553 ตัวเลขส่งออกไทยมีการเติบโต 28.5% ปี 2554 เหลือ 16.4% ปี 2555 โต 3.2% และปี 2556 ที่ผ่านมาเติบโตติดลบ 0.2% ซึ่งคงต้องลุ้นกันว่าปีนี้จะติดลบเท่าไหร่

ทำให้ล่าสุดเวิลด์แบงก์ปรับลดคาดการณ์จีดีพีของไทยปีนี้อยู่ที่ราว 1.5% และปีหน้าอยู่ที่ 3.5% ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตต่ำสุดในอาเซียน

ขณะที่อีกด้านการเติบโตของตัวเลขกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ก็อยู่ในทิศทางขาลงเช่นกัน

เห็นได้จากปี 2553 อยู่ที่ 575,927 ล้านบาท เติบโต 43% ปี 2554 อยู่ที่ 591,405 ล้านบาท เติบโต 3% ปี 2555 กำไรสุทธิ 710,114 ล้านบาท เติบโต 20% และปี 2556 กำไรสุทธิ 776,900 ล้านบาทเติบโต 9%

และสำนักวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้คาดการณ์ว่า ปีนี้บจ.ไทยจะมีกำไรสุทธิประมาณ 7.9 แสนล้านบาท เติบโตเพียง 3% จากปีก่อน ทำให้มีโอกาสกำไรต่ำสุดในรอบ 5 ปี หรือเท่ากับปี 2554 ที่ประเทศไทยเกิดน้ำท่วมใหญ่จนทำให้ภาคธุรกิจต่าง ๆ ประสบปัญหาอย่างหนัก

โดย ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัส อธิบายว่า อัตราการเติบโตกำไรของ บจ.ไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานกำไร บจ.ในปัจจุบันที่ใหญ่มากแล้วและเริ่มอิ่มตัวในหลายอุตสาหกรรม และหลายธุรกิจก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองและภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

สัญญาณแรงจัดชัดเจนในทิศทาง "ขาลง" ทุกทางแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวกลับมาเฟื่องฟูเหมือนเช่นอดีต เพราะ "ส่งออก" ที่เป็นฐานหลักเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในสถานการณ์ลูกผีลูกคน โดยเฉพาะปีหน้ามีสินค้าอีกหลายรายการจะถูกตัดสิทธิ์จีเอสพี นี่คือความจริงที่คนไทยต้องเผชิญ

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2557

การเมือง ของ NGO.

โดย.นิธิ เอียวศรีวงศ์

เอ็นจีโอไทยเดินทางมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ผมคิดเกี่ยวกับคำถามนี้มาหลายปี แต่ก็ไม่สามารถลงไปศึกษาค้นคว้าได้ เพียงแต่นึกคำตอบเอาเองซึ่งไม่น่าพอใจแก่ตนเองนักตลอดมา

แต่บัดนี้มีนักวิชาการไทยคือคุณสมชัยภัทรธนานันท์(หากถอดชื่อและชื่อสกุลจากอักษรโรมันผิด ก็ขออภัยด้วย) ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้และตีพิมพ์ผลงานของตนเป็นหนังสือเล่มมาแล้ว อีกทั้งได้สรุปเป็นบทความสั้นๆ ในวารสาร Cultural Anthropology ฉบับที่ว่าด้วย "กงล้อแห่งวิกฤตของไทย" ร่วมกับนักวิชาการไทยคดีศึกษาอีกหลายท่าน ในบทความชื่อ "Civil Society against Democracy"

ผมอ่านบทความนี้ด้วยความกระตือรือร้น ได้รับความรู้ความเข้าใจหลายอย่าง แต่คำอธิบายของคุณสมชัยเป็นคำอธิบายเชิงปรากฏการณ์ กล่าวคือ ไล่ประวัติของเอ็นจีโอย้อนหลังไปตั้งแต่เมื่อทักษิณ ชินวัตร นำพรรคไทยรักไทยเข้าสู่อำนาจ ความขัดแย้งระหว่างเอ็นจีโอและค่ายคุณทักษิณค่อยๆ พัฒนามาเป็นลำดับอย่างไร และในที่สุดเอ็นจีโอก็เลื่อนไหลไปสู่จุดยืนที่ต่อต้านประชาธิปไตยร่วมกับกลุ่มเสื้อเหลือง สนับสนุนการรัฐประหารใน พ.ศ.2549 และโดยนัยยะก็คือสนับสนุนการรัฐประหารของกองทัพในครั้งนี้

แนวทางตอบคำถามแบบนี้ (แม้มีข้อดีที่สามารถอ้างอิงหลักฐานเชิงประจักษ์ได้มากมาย เช่น คำให้สัมภาษณ์ของเอ็นจีโอเอง) ไม่ใช่แนวทางที่ผมพยายามหาคำตอบ ซึ่งพยายามจะมองหาจุดอ่อนในเชิงโครงสร้างของขบวนการเอ็นจีโอไทย ที่ทำให้ต้องเลื่อนไหลไปสู่การเป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตยอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

ทำไมจึงมุ่งไปสู่แนวคำตอบแบบนี้ ไม่มีเหตุผลอะไรมากไปกว่าอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัว เพราะเมื่อสิบกว่าปีก่อน และก่อนหน้าชัยชนะของพรรค ทรท. ผมสนิทสนมกับเอ็นจีโออยู่มาก ในช่วงนั้นผมก็รู้สึกอยู่แล้วว่ามีอะไรทะแม่งๆ ทั้งในวิธีคิดและกระบวนการทำงานของเอ็นจีโอ แต่มันคืออะไรผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน ซ้ำฉันทาคติที่มีต่อเอ็นจีโอในช่วงนั้น ยังทำให้ไม่คิดวิเคราะห์ความทะแม่งนั้นอย่างจริงจังเสียอีก

จากบทความของคุณสมชัย (ผมไม่เคยอ่านตัวงานวิจัยที่ออกมาเป็นหนังสือเล่ม) ทำให้ผมคิดว่าผมควรเสนอคำตอบแบบหลวมโพรกของผมเสียที อย่างน้อยอาจกระตุ้นให้บางคนวิพากษ์วิจารณ์ อันจะเป็นหนทางทำให้ผมได้ความรู้มากขึ้น

สิ่งแรกที่ผมออกจะสงสัยอย่างมากก็คือ ขบวนการเอ็นจีโอไทยนั้นได้รับอิทธิพลจาก พคท.ค่อนข้างมาก ไม่แต่เพียงผู้นำเอ็นจีโอระยะแรกๆ คือคนที่ออกจากป่าเท่านั้น แม้การไม่เข้าป่าเลยก็หลีกหนีวิธีคิดและกระบวนการทำงานของ พคท.ได้ยาก โดยเฉพาะในหมู่คนหนุ่มคนสาว เคยมีคนบอกว่า ขบวนการเอ็นจีโอในระยะแรกนั้นเป็นทางออกของหนุ่มสาวจากมหาวิทยาลัย เพราะบรรยากาศทางการเมืองไม่อำนวยให้ยืนอยู่ข้างประชาชนได้อย่างก่อน 6 ตุลาฯ

อิทธิพลของความเคลื่อนไหว พคท.เป็นทั้งพลังและความอ่อนแอ เฉพาะในส่วนหลังนี้ผมอยากพูดถึง "ประชาธิปไตยรวมศูนย์" ผมหมายถึงการเปิดให้อภิปรายกันได้ในปัญหาเล็กปัญหาน้อยต่างๆ แต่ไม่มีการอภิปรายกันในประเด็นหลักๆ ที่เป็นแนวทางดำเนินงาน (เช่น สังคมไทยยังเป็นกึ่งเมืองขึ้น กึ่งศักดินาจริงหรือไม่ การต่อสู้ด้วยอาวุธเป็นหนทางเดียวหรือไม่ ฯลฯ) ของขบวนการ

ขบวนการเอ็นจีโอไทยไม่มีอำนาจบังคับบัญชาเท่าองค์กรกลางของ พคท. แต่ความสัมพันธ์ภายในของเอ็นจีโอดูเหมือนจะเป็นความสัมพันธ์ของ "สหาย" รุ่นพี่กับ "สหาย" รุ่นน้องอย่างเหนียวแน่น ไม่แต่เพียงความอาวุโสหรือความ "น่ารัก" อื่นๆ ของ "สหาย" รุ่นพี่เท่านั้น พวกเขายังมีทั้งประสบการณ์และเครือข่ายเชื่อมโยงไปถึงแหล่งทุน (เมื่อ 20 ปีที่แล้วคือต่างประเทศ ปัจจุบันคือองค์กรที่เกิดจากภาษีของคนไทย แต่บริหารอย่างเป็นอิสระโดยคนกลุ่มหนึ่งที่ได้ฐานสนับสนุนจากเอ็นจีโอด้วย) คำแนะนำของรุ่นพี่จึงมีประโยชน์อย่างยิ่งแก่โครงการและการดำเนินโครงการของ "สหาย" รุ่นน้อง

ผมขอยกตัวอย่างเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เมื่อแนวคิดวัฒนธรรมชุมชน - "คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน" - ยังเป็นกระแสหลักของแนวทางการพัฒนา ผมได้ยินนักวิชาการจำนวนหนึ่ง (ไม่ใช่ผม เพราะผมไม่ฉลาดถึงแค่นั้น) พยายามเตือนเอ็นจีโอว่า หมู่บ้านในโลกปัจจุบัน (หรือแม้แต่ในอดีต) ที่ตัดขาดจากรัฐไปโดยสิ้นเชิงแล้วผลิตเพื่อเลี้ยงตนเองเป็นหลักนั้น ไม่มีอยู่จริง และเกิดขึ้นในความเป็นจริงไม่ได้ เอ็นจีโอพยักหน้าเชิงเห็นด้วย แต่ก็กลับไปทำทุกอย่างเหมือนเก่าอีกนั่นเอง

ในแนวทางการทำงานของเอ็นจีโอช่วงนั้นเอง ดูเหมือนจุดอ่อนของแนวคิดเช่นนี้ก็ปรากฏให้เห็นในการทำงานด้วย โครงการต่างๆ ที่เอ็นจีโอเข้าไปทำในชุมชนหมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นเกษตรอินทรีย์, สหกรณ์ออมทรัพย์, การศึกษาทางเลือก, ฯลฯ (ซึ่งล้วนเป็นการปลีกออกจากกระแสหลักที่นำโดยรัฐทั้งสิ้น) ล้วนมีสมาชิกในหมู่บ้านเป็นคนข้างน้อยเสมอ แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากองค์กรพัฒนาที่ชาวบ้านสร้างขึ้นเอง

โดยเฉพาะเมื่อได้ผู้นำทางการที่มีหัวก้าวหน้า (บางครั้งเพราะได้รับอิทธิพลจากเอ็นจีโอ) กลับสามารถรวบรวมสมาชิกในหมู่บ้านเป็นคนส่วนใหญ่ได้ และที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ องค์กรชาวบ้านมักวางจุดมุ่งหมายที่ไม่ขัดกับประโยชน์ของคนหลากหลายประเภทในหมู่บ้าน เมื่อเกษตรกรได้ประโยชน์ พ่อค้าแม่ค้า, ช่างทำผม, คนงานของผู้รับเหมา, ข้าราชการ, ช่างซ่อมเครื่องไฟฟ้า, นายทุนเงินกู้ ฯลฯ ก็ไม่เสียประโยชน์ และอาจได้ประโยชน์ในระยะยาวด้วย

โครงการพัฒนาขององค์กรชาวบ้านยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในหมู่บ้านไทยมานานแล้วนั่นคือหมู่บ้านไม่ได้ประกอบด้วยเกษตรกรรายย่อยล้วนๆแต่มีความหลากหลายมาก และมากขึ้นทุกทีจนหลายแห่งด้วยกันแทบไม่ต่างจากสังคมเมืองไปแล้ว

ผมคิดว่าเอ็นจีโอไทยแตกกับคุณทักษิณ ชินวัตร ไม่แต่เพียงเพราะคุณทักษิณผิดคำพูดกับสมัชชาคนจน และดึงเอาชาวบ้านเข้ามาเป็นผู้ใต้อุปถัมภ์โดยตรงของรัฐไทยเท่านั้น แต่คุณทักษิณพยายามผลักดันเศรษฐกิจสมัยใหม่อันมีการประกอบการของเอกชนเป็นหลักเข้าไปในหมู่บ้านเท่ากับทำลายปรัชญาพื้นฐานของแนวทางพัฒนาแบบเอ็นจีโอเลยทีเดียวคำบริภาษของคุณทักษิณต่อเอ็นจีโอว่าเป็น "นายหน้าค้าความจน" นั้น ไม่ใช่คำเหยียดหยามธรรมดา แต่มีนัยยะที่ท้าทายปรัชญาการพัฒนาของเอ็นจีโอไปพร้อมกัน เพราะคุณทักษิณกำลังหมายความว่า การแก้ปัญหาความยากจนแบบเอ็นจีโอ คือเปลี่ยนคนจนให้จนอย่างทระนงเท่านั้น

ผมไม่ได้หมายความว่าคุณทักษิณถูกและเอ็นจีโอผิด แต่พื้นฐานทางปรัชญาของเอ็นจีโอกำลังถูกท้าทาย ซึ่งต้องการการทบทวน วิพากษ์ตนเอง และทำงานทางความคิดกับตนเองอย่างหนัก เพื่อตอบโต้การท้าทายนี้ในทางใดทางหนึ่ง แต่ผมสงสัยว่าการจัดองค์กรของขบวนการ (ประชาธิปไตยรวมศูนย์) ทำให้ทำอย่างนั้นไม่ได้ จึงเหลือทางออกอยู่อย่างเดียวคือโค่นทักษิณ และจองล้างจองผลาญกับตระกูลชินวัตรตลอดไป กลายเป็นเข้าทางของชนชั้นนำไทย ที่ต้องการขจัดนายกฯ ที่ได้รับเสียงสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากประชาชนพอดี

จะว่าขบวนการเอ็นจีโอไทยไม่ทบทวนตนเองเสียเลยก็อาจไม่ตรงนักก่อนหน้าพรรคทรท.จะเข้ามาบริหารประเทศ มีความคิดที่แพร่หลายมากขึ้นจากปัญญาชนชั้นนำที่สนับสนุนเอ็นจีโอ คุณสมชัยเรียกว่าความคิด "ประชาคม" ผมขอเรียกว่าความคิด "สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา" นั่นคือการประสานร่วมมือกันระหว่างรัฐ, ประชาชน (โดยนัยยะคือมีเอ็นจีโอเป็นผู้นำ), และภาคธุรกิจ เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่มีรากฐานอยู่ที่ประชาชนระดับรากหญ้า ผมคิดว่าแนวคิด "สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา" ให้คำตอบแก่แนววิพากษ์ของนักวิชาการต่อเอ็นจีโอ ทำให้ขบวนการเอ็นจีโอที่ทำงานกับชาวบ้านเชื่อมโยงกับรัฐและความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศ

ทฤษฎี "สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา" ทำให้เอ็นจีโอไทย หรือภาคประชาสังคมไทย ไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจอะไรในการร่วมมือกับภาคเอกชนและบางส่วนของภาครัฐ ต่อต้านขัดขวางพัฒนาการของประชาธิปไตย

ปัจจัยภายนอกอีกอย่างหนึ่งซึ่งคุณสมชัยก็พูดถึงคือ แหล่งทุน ซึ่งต้องเปลี่ยนจากแหล่งทุนต่างประเทศมาเป็นแหล่งทุนภายในประเทศ ผ่านองค์กรอิสระที่ได้ส่วนแบ่งภาษีเป็นอัตราตายตัว (จึงเป็นอิสระจากรัฐ)

ไม่ว่าจะเป็นแหล่งทุนจากที่ใด ย่อมมีเป้าหมายทาง "การเมือง" อยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น แต่การเมืองของแหล่งทุนต่างประเทศคือหลักการบางประการ เช่น สิทธิมนุษยชน, ประชาธิปไตย, สิทธิเข้าถึงทรัพยากรพื้นฐาน เช่น น้ำสะอาด, การรักษาพยาบาล, อาหาร, การศึกษา, อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรืออะไรอื่นที่แหล่งทุนต่างประเทศคิดว่าประชาชนในโลกปัจจุบันควรเข้าถึง ในสมัยที่เอ็นจีโอยังต้องอาศัยแหล่งทุนจากต่างประเทศ "การเมือง" ของเอ็นจีโอจึงเป็นการเมืองของหลักการบางประการ ไม่ใช่การเมืองประเภทเลือกข้าง แต่เลือกจะยืนอยู่กับหลักการบางอย่าง

แต่ในทางปฏิบัติ โครงการของเอ็นจีโอต้องลงไปปฏิบัติการในพื้นที่ กว่าจะแทรกตัวลงไปในชุมชนได้ต้องใช้ความอดทน และทำงานด้านความคิดกับชาวบ้านเป็นเวลานาน กว่าจะเริ่มขับเคลื่อนหลักการที่ตนสมาทานตามแหล่งทุนได้ จึงไม่แปลกที่เอ็นจีโอไทยต่างยึดเอาชุมชนหมู่บ้านที่ลงไปทำงานเหมือนเป็น "ฐาน" ส่วนตัวของตนเอง เป็นสมบัติส่วนตัวที่ไม่อยากให้ใคร (ไม่ว่ารัฐหรือโครงการอื่นของเอ็นจีโอด้วยกัน) เข้าไปชิงเอาฐานนั้นไป

ผลก็คือ เอ็นจีโอขยายฐานการทำงานได้ยาก เกษตรอินทรีย์อาจมีผู้ทำอยู่จำนวนหนึ่งในหมู่บ้านของเอ็นจีโอ แต่ก็ไม่เคยขยายไปยังหมู่บ้านใกล้เคียง ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ส่วนใหญ่ของโครงการไม่ได้ถูกถ่ายไปให้เป็นโครงการของชาวบ้านเอง (ซึ่งต้องได้ทุนสนับสนุนจากต่างประเทศเหมือนกัน) แล้วเอ็นจีโอเคลื่อนย้ายออกไปสู่หมู่บ้านอื่น ทำเลอื่น หรือแม้แต่ประเด็นอื่น

เอาเข้าจริง ผมสงสัยอย่างยิ่งว่าอิทธิพลของเอ็นจีโอต่อการเมืองของชาวบ้านมีจำกัดมาก เพราะคงกระจายอยู่ตามหมู่บ้านไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของหมู่บ้านไทย ชัยชนะของพรรค ทรท.ในครั้งแรกนั้น น่าจะมาจากนโยบายของพรรคเองมากกว่าจากการสนับสนุนของเอ็นจีโอ

อิทธิพลอันจำกัดทางการเมืองของเอ็นจีโอทำให้เมื่อเอ็นจีโอตัดสินใจเข้ามาเป็นผู้เล่นเองในการเมืองเรื่องแย่งอำนาจเอ็นจีโอย่อมอยู่ภายใต้แนวโน้มของการเมืองชนชั้นนำโดยอัตโนมัติ นั่นคือชิงและรักษาอำนาจทางการเมืองของคนส่วนน้อยที่ฉลาดและดีไว้เหนือการมีส่วนร่วมของประชาชน

เมื่อทุนต่างประเทศแห้งเหือดไปเพราะประเทศไทยได้พัฒนาไปไกลพอที่จะใช้ทรัพยากรภายในเพื่อสนับสนุนเอ็นจีโอได้เองแล้วเอ็นจีโอไม่ประสบความสำเร็จในการดึงการอุดหนุนจากภาคธุรกิจเอกชนได้มาตั้งแต่ต้น (ยกเว้นโครงการ CSR ซึ่งกลายเป็น PR ของธุรกิจไทย) แหล่งทุนภายในที่เกิดขึ้นคือองค์กรอิสระดังที่กล่าวแล้ว (อพช.และองค์กรตระกูล ส. ทั้งหลาย)

องค์กรเหล่านี้ถูกคุมโดยชนชั้นนำกลุ่มหนึ่ง ทำตัวประหนึ่งเป็นภาครัฐในทฤษฎี "สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา" องค์กรเหล่านี้ก็มี "การเมือง" ของตนเอง ด้านหนึ่ง การเมืองของพวกเขาคือหลักการบางอย่างไม่ต่างจากแหล่งทุนต่างประเทศ แต่มีอีกส่วนหนึ่งของการเมืองอยู่ด้วย คือการเลือกข้างทางการเมือง ต่างใช้เงินจำนวนมหาศาลที่ได้จาก พ.ร.บ.จัดตั้งองค์กรเหล่านี้ เพื่อสร้างเครือข่ายทางการเมืองแบบเลือกข้างของตนขึ้น เอ็นจีโอก็เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย

ไม่ว่าขบวนการเอ็นจีโอจะมีจุดยืนทางการเมืองอย่างไร การผลักดันตนเองเข้าไปอยู่ในเครือข่ายการเมืองขององค์กรอิสระเหล่านี้ ทำให้เอ็นจีโอต้องต่อต้านการเมืองแบบประชาธิปไตยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ร้ายยิ่งไปกว่านั้น ดังที่ผมได้ชี้ให้เห็นข้างบนแล้วว่าโดยเงื่อนไขที่แวดล้อมเอ็นจีโออยู่ก็ตาม โดยวิธีคิดของเอ็นจีโอก็ตาม เอ็นจีโอไทยเป็นพันธมิตรโดยธรรมชาติกับชนชั้นนำอยู่แล้ว

ที่จริงผมยังมีเรื่องที่จะวิเคราะห์ต่อแนวโน้มทางการเมืองของเอ็นจีโออีกหลายเรื่องอันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับโครงสร้างของขบวนการแต่เนื้อที่จำกัด ผมจึงขอหยุดเพียงเท่านี้ อันพอให้เห็นแนวการวิเคราะห์ที่ผมสนใจ และพอจะได้รับคำสั่งสอนจากท่านผู้รู้

ที่มา.มติชนออนไลน์
/////////////////////////////////////////////

วันศุกร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2557

เปิดแผนปฏิรูป การเมืองไทย สมัย คสช. เลือกนายกฯทางตรง !!?


พิมพ์เขียวการปฏิรูปด้านการเมือง จาก เอกสารข้อมูลปฏิรูปของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม แจกให้แก่ สปช. ซึ่งจัดทำโดยคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม โดยมี พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ เป็นประธาน แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)  หลังจากที่ได้รับฟังความคิดเห็นและรวบรวมเป็นกรอบความเห็นร่วมมาแล้วนั้น

ใจความสำคัญของเอกสารดังกล่าวบางส่วน โดยเฉพาะการปฏฺิรูปในด้านการเมือง คือ

1.รูปแบบของรัฐสภา

- รัฐสภาแบบเลือกตั้งนายกฯ โดยตรง ด้วยการเลือกนายกฯ จากรายชื่อของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกรัฐสภาคราวเดียวกัน

- รัฐสภาแบบการเลือกตั้งนายกฯ รัฐมนตรีโดยอ้อม  ถูกเสนอ 3 แบบ ได้แก่ แบบแรกสภาเดี่ยว มีเฉพาะสภาผู้แทนราษฎร แบบที่สองคือสภาคู่ โดยมีการเสนอ 2 รูปแบบ ได้แก่ แบบสภา ส.ส.-ส.ว. และแบบสภาผู้แทนราษฎร กับสภาประชาชนที่มาจากกลุ่มวิชาชีพ, กลุ่มจังหวัด, กลุ่มข้าราชการ และแบบที่สาม คือแบบ3 สภา ได้แก่ สภาผู้แทนราษฎร, วุฒิสภา และสภาประชาชน

2.พรรคการเมือง

- การจัดตั้งพรรคการเมืองต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภูมิภาคเข้าสู่ระบบพรรคการเมืองได้ง่ายและปราศจากการครอบงำของทุน

-  การคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง เสนอให้มีกระบวนการกลั่นกรองโดยพรรคการเมืองที่มีหลักเกณฑ์ คือมีความสามารถ ซื่อสัตย์ สุจริต รวมถึงเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม เช่น การเสนอชื่อบุคคลหรือคัดค้านบุคคลที่มีชื่อส่งแข่งขัน เป็นต้น

- ต้องมีระเบียบห้ามพรรคการเมืองจ่ายเงินพิเศษให้ ส.ส.เพื่อออกเสียงสนับสนุนหรือเข้าร่วมประชุม

-กกต.มีบทบาทกำหนดนโยบายหาเสียงของแต่ละพรรค ต้องไม่ให้เป็นประชานิยม  สร้างความเสียหาย รวมถึงผลกระทบกับประชาชน

- นโยบายของพรรคที่ใช้หาเสียงต้องมีวงเงินใช้จ่ายรวมกันไม่เกินกรอบวงเงินงบประมาณในช่วง 4 ปีข้างหน้า

3.สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

-    ให้คนที่อายุ 20 ปีขึ้นไปเป็นผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้ง เนื่องจากเกณฑ์อายุ 20 ปีถือเป็นผู้บรรลุนิติภาวะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

-    คุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้ง ไม่สังกัดพรรคการเมือง เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถลงสมัครได้ง่าย เพิ่มความหลากหลาย

-    ผู้สมัครรับเลือกตั้งควรมีอายุ 30 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 70 ปี

-    ระดับการศึกษาไม่มีข้อกำหนด เพื่อเปิดโอกาสให้ปราชญ์ชาวบ้านมีสิทธิ์รับเลือก

-    ให้มีการกลั่นกรองบุคคลก่อนลงสมัครรับเลือกตั้ง ด้วยวิธี Primary Vote จากประชาชนในพื้นที่

-    ต้องได้รับใบรับรองจากนายทะเบียนว่ามีผู้สนับสนุนในเขตเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 200 คน เพื่อเป็นการคัดกรองคนดีเข้าสู่สภา

-    จำกัดวาระดำรงตำแหน่ง ส.ส. ไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน และห้ามไม่ให้บุคคลที่เคยกระทำผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ลงสมัครรับเลือกตั้ง

-    นำคะแนน Vote No มาเปรียบเทียบกับคะแนนของผู้ที่ได้รับเลือกตั้งมากที่สุด ถ้าคะแนน Vote No มากกว่าให้เลือกตั้งใหม่

-    ยกเลิกการลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรและนอกเขตจังหวัด เพราะมีช่องทำให้เกิดทุจริตได้ง่าย

-    ให้มีการเลือกตั้ง 2 รอบ โดยการเลือกรอบแรก ผู้สมัครคนใดได้เสียงข้างมากเกินร้อยละ 50 ของผู้ออกเสียงเลือกตั้ง ถือว่าผู้นั้นได้รับเลือกตั้งทันที แต่หากคะแนนเลือกตั้งไม่ถึงร้อยละ 50 ของผู้ออกเสียงเลือกตั้ง ให้นำผู้ที่ได้คะแนนลำดับที่ 1 และ 2 แข่งขันกันอีกครั้ง หากใครได้เสียงข้างมากเกินร้อยละ 50 ให้ถือว่าเป็นผู้ชนะ

4.สมาชิกวุฒิสภา

- ส.ว.มาจากการเลือกตั้งและสรรหา โดยเสนอวิธีสรรหาจากกลุ่มอาชีพ ขณะที่จำนวนต้องเท่ากับ ส.ส.เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลที่เหมาะสม

-  ให้กำหนดอายุผู้ที่ดำรงตำแหน่ง ส.ว. ระหว่าง 50-70 ปี ไม่จำกัดระดับการศึกษา และไม่สังกัดพรรคการเมือง

5. นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี

-  มีข้อเสนอรูปแบบการคัดเลือกนายกฯ 2 วิธี 1.จากการเลือกตั้ง ผ่านระบบบัญชีรายชื่อ จากการเลือกตั้งโดยตรงหรือเลือกตั้งโดยอ้อม คือให้ ส.ส.โหวตเลือกนายกฯ และ 2.จากการแต่งตั้งบุคคลภายนอก ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ขณะที่การตรวจสอบและถอดถอนให้ใช้มาตรการเดียวกับ ส.ส.และ ส.ว.

6. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

-    ด้านโครงสร้างองค์กรตุลาการทางการเมือง มีข้อเสนอให้จัดตั้งศาลเลือกตั้ง และศาลทุจริต ส่วนศาลฎีกาต้องมีข้อกำหนดและกรอบการดำเนินคดีทางการเมือง และไม่จำกัดอายุความคดีทางการเมือง และยกเลิกมาตรการคุ้มครองนักการเมืองในระหว่างสมัยประชุม

7.ศาลรัฐธรรมนูญ

- ปรับโครงสร้างศาลรัฐธรรมนูญ ให้ทำในรูปแบบตุลาการพระธรรมนูญ ที่มีอำนาจพิจารณาเป็นเรื่องๆไม่ควรจัดในรูปศาลที่มีอายุ 9 ปี

-  แบ่งองค์คณะของศาลรัฐธรรมนูญเป็น 2 องค์คณะ โดยแยกเป็น 2 ส่วน คือ พิจารณาความทั่วไป และวิธีพิจารณาเฉพาะ

-  กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจชี้ถูกชี้ผิดในกรณีพิพาทระหว่างองค์กร แต่ทำหน้าที่ตีความทางกฎหมายที่มีข้อสงสัยขัดรัฐธรรมนูญเท่านั้น

8.คณะกรรมการการเลือกตั้ง

- ปรับโครงสร้าง กกต.ให้มีบุคคลจากหลายฝ่าย เช่น ตุลาการ, ฝ่ายการเมือง, ผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้เชี่ยวชาญจากสายอาชีพเข้ารับการสรรหาเป็น กกต.

-  กกต.จังหวัดต้องประกอบด้วยผู้พิพากษาประจำศาลจังหวัดหรือตุลาการศาลปกครองในเขตเลือกตั้งนั้นๆ

9.คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

-  เพิ่มสัดส่วนกรรมการสรรหา ป.ป.ช.จากสายการเมืองที่ไม่น้อยกว่าคณะกรรมการสรรหาจากสายอื่น

10. การเมืองภาคพลเมือง

- เสนอให้เปิดพื้นที่ให้เข้าร่วมกับภาครัฐในด้านตรวจสอบ มีส่วนร่วมการพัฒนา

ที่มา.มติชนออนไลน์
///////////////////////////////////////////

คุณสมบัติใหม่ของนายกฯ ไทย !!?

โดย.นิธิ เอียวศรีวงศ์

ความโง่กลายเป็นคุณสมบัติที่ขาดไม่ได้ของนายกรัฐมนตรีไทยไปเสียแล้ว อย่างน้อยตลอดเวลาเกือบสี่ปีที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีไทยก็ถูกกล่าวหาว่าโง่สืบมาจนถึงทุกวันนี้

"โง่" พจนานุกรมแปลว่า "ไม่ฉลาด" เลยไม่รู้ว่าความหมายที่แท้จริงเมื่อคนไทยกล่าวหาใครว่าโง่นั้น หมายความว่าอย่างไรกันแน่

มีคำในภาษาอังกฤษคำหนึ่งคือ ignorant หมายถึงไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร คงใกล้กับคำว่า "เขลา" ซึ่งพจนานุกรมท่านแปลว่าไม่รู้เท่าทัน แต่ก็ไม่ตรงทีเดียวนัก เพราะคนเราอาจรู้เรื่องรู้ราวอะไรมากมาย แต่ก็ยังรู้ไม่เท่าทันเขาอีกก็ได้ (ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด)

เป็นไปได้เหมือนกันที่ความหมายของคำโง่ที่ใช้ในภาษาไทยปัจจุบันจะหมายถึงความไม่รู้เรื่องรู้ราว

คุณยิ่งลักษณ์ชินวัตร นั้น ถูกกล่าวหาว่าโง่มาตั้งแต่เพิ่งรับตำแหน่งนายกฯ ได้ไม่นาน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกกล่าวหามาตั้งแต่ยังไม่ได้รับตำแหน่งนายกฯ ด้วยซ้ำ

ผมนึกอย่างไรก็นึกไม่ออกว่าสองคนนี้มีอะไรที่เหมือนกันบ้าง ยกเว้นอย่างเดียวคือไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองมาก่อน แต่นายกฯ ที่ไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองมาก่อนดำรงตำแหน่ง ก็ไม่เคยถูกกล่าวหาว่าโง่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการมหาดไทยในระยะสั้นมาก ก่อนจะถูกผลักดันขึ้นเป็นนายกฯ คุณอานันท์ ปันยารชุน ไม่เคยเยี่ยมกรายมาในการเมือง (ภายใน) ก่อนดำรงตำแหน่งเลย แต่ทั้งสองท่านที่กล่าวถึงนี้ก็ไม่เคยถูกใครกล่าวหาว่าโง่

จะว่านายกฯ ที่ถูกกล่าวหาว่าโง่ทั้งสองท่านนี้เรียนหนังสือมาไม่มาก ก็ไม่น่าจะใช่ เพราะที่จริงแล้วทั้งสองท่านเรียนหนังสือมามากกว่าคนไทยส่วนใหญ่ (คือจบระดับปริญญาโทหรือเทียบเท่า) ถ้าวัดกันด้วยปริญญา ก็สูงกว่านายกรัฐมนตรีไทยอีกหลายคน ซึ่งไม่เคยถูกกล่าวหาว่าโง่เลย เพียงแต่ท่านเหล่านั้นมีประสบการณ์ทางการเมืองมานานเท่านั้น

ฉะนั้น ความหมายของคำว่าโง่ที่คนไทยปัจจุบันใช้ จึงไม่น่าจะหมายถึง ignorant หรือไม่รู้เรื่องรู้ราว และถ้าว่ากันด้วยปริญญาและประสบการณ์ชีวิต ทั้งสองท่านก็น่าจะรู้เรื่องรู้ราวมากทีเดียว แม้ไม่เกี่ยวกับการเมืองก็ตาม (แต่หนึ่งในความรู้ทางการเมืองที่สำคัญคือการบริหารคน ทั้งสองท่านก็น่าจะรู้จักส่วนนี้ของการเมืองดีพอทีเดียว) ตกลงเลยไม่รู้ว่า "โง่" ที่ใช้กันนั้นหมายความว่าอย่างไรกันแน่

ดังนั้น ความไม่รู้เรื่องรู้ราวอาจไม่ได้มาจากประวัติทางการศึกษาหรือประสบการณ์การทำงาน แต่มาจากคำพูดและการกระทำของท่านเอง เช่นพูดอะไรที่ดูไร้เหตุผล พูดผิด หรือพูดแบบไม่ค่อยเข้าใจว่ากลไกทางเศรษฐกิจ, สังคม, การเมืองของไทยนั้นมันเป็นมาอย่างไร และกำลังเป็นอย่างไรในปัจจุบัน

หากไม่นับการเสกสรรปั้นแต่งเรื่องราวใส่ไคล้คุณยิ่งลักษณ์แล้ว ผมยังนึกไม่ออกเลยว่า เคยมีนายกฯ คนไหนที่ไม่เคยพูดอะไรที่สะเหล่อแบบนี้ หน้าที่หนึ่งของโฆษกรัฐบาลทุกคนคือการแก้ต่างให้นายกฯ ว่า ท่านไม่ได้หมายความแบบนี้ แต่หมายความแบบโน้น ท่านไม่ได้พู้ด ไม่ได้พูด ท่านพูดในเงื่อนไขอย่างนี้ ไม่ใช่อย่างนู้น ฯลฯ แต่ไม่เคยมีนายกฯ ท่านใดที่ถูกกล่าวหาว่าโง่สักราย ยกเว้นสองคนท้ายนี้

ฉะนั้น การพูดอะไรสะเหล่อๆ จึงเป็นคุณสมบัติธรรมดาของนายกรัฐมนตรีไทย และว่าที่จริงของนักการเมืองทั้งโลก

ดังนั้น แม้ว่า "โง่" อาจเกิดขึ้นจากคำพูดและการกระทำ แต่เราก็เคยผ่านคำพูดและการกระทำที่ "โง่" ของนายกฯ มาเกือบทุกคน โดยไม่เคยประณามนายกฯ คนไหนว่าโง่สักที

ยังมีความหมายของคำว่า "โง่" อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งผมเหมือนได้ยินแผ่วๆ แทรกมาทุกครั้งที่คนไทยปัจจุบันใช้คำนี้ นั่นคือเป็นข้อบกพร่องทางชีววิทยา เกิดมาก็โง่เลย (เช่นเดียวกับ "ฉลาด" ก็ดูเหมือนมีความหมายนี้แทรกอยู่ด้วย)

ความหมายนี้แรงนะครับ แรงขนาดที่เราหลีกเลี่ยงจะใช้คำนี้กับคนพิการ แต่ใช้ศัพท์วิชาการเช่นปัญญาอ่อน บกพร่องทางสติปัญญา พัฒนาการช้า ฯลฯ แทน ดังนั้น เมื่อเอามาใช้กับคนปรกติ จึงเชื้อเชิญให้ประกบด้วยไอ้-อี ข้างหน้าอย่างที่หลายคนอาจไม่ทันรู้สึกถึงความหยาบคาย

แต่จะบอกว่าคนไทยเห็นความโง่เป็นความพิการ ซึ่งควรได้รับการปกป้องดูแล ก็ไม่ถึงขนาดนั้น เพราะดูเหมือนคนไทยจะจัดคนโง่เข้าไปในช่วงชั้นทางสังคมที่ด้อยเสมอ โง่ได้แต่อย่าสะเออะ ตราบเท่าที่เป็นคนเล็กคนน้อยก็พึงได้รับความเอ็นดู

เมื่อผมมาอยู่เชียงใหม่แรกๆ ผมได้ยินคนเชียงใหม่ชอบเล่าเรื่องความ "โง่" ของขมุ ซึ่งเข้ามาเป็นแรงงานในอุตสาหกรรมป่าไม้ของอังกฤษจำนวนมาก (อย่างที่เล่าใน "ฟ้าบ่กั้น" ของ ลาว คำหอม) แต่เล่าเพื่อให้เห็นตลก มากกว่ารังเกียจเดียดฉันท์ ตรงกันข้ามรู้สึกเอ็นดูด้วยซ้ำ และมักชื่นชมกับความซื่อ (จนเซ่อ) ของขมุ

ก็ขมุเป็นแค่แรงงานในกิจการที่คนไทย (คนเมือง) ไม่คิดจะไปทำนี่ครับ ความ "โง่" ของเขาจึงน่ารัก (ความ "โง่" ที่น่ารักนี้คือภาพที่นักเรียนไทยในสหรัฐจำลองตนเองด้วย เมื่อเรียกกันเองว่าเป็น "กะเหรี่ยง")

แต่ความโง่ที่น่ารักของขมุจะหมดไปทันที เมื่อขมุไปเป็นคู่แข่งความรักกับ ม.ร.ว.ป่ายปีน ราชพฤกษ์ (ผมชอบชื่อตัวละครนี้จริงๆ ให้ตายเถอะ) อย่างใน "ฟ้าบ่กั้น" ต่างหาก ที่ขมุจะกลายเป็น "ไอ้โง่" ในสังคมไทยไป

ตลอดชีวิตของผมซึ่งเข้าใจว่ารวมถึงคนไทยอีกจำนวนมากด้วย ได้ยินผู้ใหญ่ดุเด็กว่า "โง่" อยู่เสมอ และเด็กที่ถูกดุอย่างนั้นก็มักเป็นลูกหลาน ซึ่งใช้อะไรไม่ได้อย่างใจผู้ใหญ่เท่านั้น ไม่ได้หมายถึง "ไม่ฉลาด" จริง

ทั้งหมดนี้แปลว่า "โง่" เป็นคำตำหนิที่มีช่วงชั้นทางสังคมแฝงอยู่ แม้เป็นคำแรง แต่ใช้ได้กับคนที่ต่ำต้อยในทางสังคมกว่า และไม่จำเป็นจะต้องมีความหมายไปในทางด่าว่าอย่างรุนแรงก็ได้ เพราะโง่อย่างน่าเอ็นดูก็มี

แต่ "โง่" ที่คนไทยแต่ก่อนมักซุบซิบถึงคนบางคนก็มีใช้ในภาษาไทย และมีความหมายที่แตกต่างจาก "โง่" แบบที่ผู้ใหญ่ดุเด็กแน่ ที่ต้องซุบซิบกันก็เพราะเป็นคำแรง จึงมักไม่พูดดังๆ เจ้าตัวได้ยินแล้วคงโกรธ ถึงไม่ได้ยินก็ดูหยาบคายแก่ผู้ฟัง และ "โง่" อย่างนี้แหละครับ ที่ผมคิดว่าเขาหมายถึงความบกพร่องทางชีววิทยา

ผมไม่ทราบหรอกว่า ความโง่เป็นความบกพร่องทางชีววิทยาจริงหรือไม่ แต่หากโง่ในที่นี้หมายถึงการเรียนรู้ได้ช้ากว่าคนทั่วไป ก็ให้น่าสงสัยอย่างยิ่งว่าไม่เกี่ยวกับชีววิทยา เพราะปัจจัยที่ทำให้คนเรียนรู้ได้เร็วหรือช้านั้นมีมากกว่าปัจจัยทางชีววิทยาเป็นอย่างยิ่ง นับตั้งแต่การอบรมเลี้ยงดูตั้งแต่เล็ก ขึ้นมาถึงระบบการศึกษาที่ส่งเสริมแต่ความรู้ หากไม่ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ หรือความจำเป็นในชีวิตการงานที่กีดกันการเรียนรู้ คิดไปเถอะครับ มีปัจจัยที่ทำให้คนเรียนรู้ช้าหรือไม่เรียนรู้มากทีเดียว

ผมขอยกตัวอย่างจากท่านนายกฯ คนปัจจุบันก็ได้นะครับ เมื่อท่านบอกนักข่าวว่าท่านพบคำถามในแบบเรียนของนักเรียน ป.1 แล้วตอบไม่ได้นั้น ผมไม่คิดว่าท่าน "โง่" มาแต่กำเนิดเลย หากเป็นเพราะไม่ได้เรียนรู้มากกว่า

ผมเองไม่เคยเจอคำถามอย่างนั้น แต่เชื่อว่าหากนั่งลงอ่านคำถามในแบบเรียน ป.1 ไปเรื่อยๆ ก็ต้องเจอเข้าจนได้ เพราะนักเรียน ป.1 ในปัจจุบัน เรียนอะไรที่แตกต่างจากสมัยที่ผมเรียนมากมายพอสมควร ทั้งด้านเนื้อหาและกระบวนการคิด (เช่นคณิตศาสตร์ในปัจจุบัน) หากเป็นเนื้อหาที่เราไม่เคยรู้มาก่อนเลย ก็ไม่มีใครตอบได้หรอกครับ เว้นแต่ไม่หยุดการเรียนรู้ (เช่นดาวเคราะห์ในระบบสุริยจักรวาลมีกี่ดวงกันแน่) หากเป็นกระบวนการคิดก็ต้องให้เวลาตัวเองในการคิดตามวิธีที่เราเคยชิน ซึ่งอาจงุ่มง่ามมาก

ฉะนั้น หากเจอคำถามในแบบเรียน ป.1 ที่ตอบไม่ได้ จึงไม่จำเป็นต้องหมายความว่าหลักสูตร ป.1 ยากเกินไป แต่อาจหมายความว่าเราต้องย้อนกลับไปดูการศึกษาหลัง ป.1 ทั้งหมดจนจบมหาวิทยาลัย ว่าอะไรทำให้เราหยุดการเรียนรู้หรือเรียนรู้ได้ช้า เพราะจะหวังให้สถาบันการศึกษาสอนเนื้อหาความรู้ที่งอกงามอย่างรวดเร็วของโลกปัจจุบัน ย่อมเป็นไปไม่ได้

ผมเชื่อว่าการเรียนรู้ช้าแบบท่านนายกฯ นั้น ไม่ได้เป็นสมบัติของท่านนายกฯ คนเดียว แต่เป็นของคนไทยอีกมากทีเดียว คือก้าวตามไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของโลกและของสังคมไทยเอง ยังใช้แว่นเบอร์เก่ามองโลกและสังคมไทย หรือใช้รองเท้าเบอร์เก่าสวมเท้าที่เปลี่ยนรูปร่างไปแล้ว ทีแรกก็นึกว่าต้องเฉือนเท้าออกนิดหน่อย แต่นับวันก็ยิ่งต้องเฉือนลึกเข้าไปทุกทีจนจะทำให้ใช้เท้าเดินไม่ได้แล้ว ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ "โง่" (บกพร่องทางชีววิทยา) นะครับ แต่เพราะไม่เรียนรู้ หรือเรียนรู้ช้าต่างหาก

กลับมาถึงคุณสมบัติความโง่ซึ่งมีแก่นายกรัฐมนตรีไทยสืบมา ผมออกจะเชื่อว่าคนที่ด่านายกรัฐมนตรีว่า "อีโง่" หรือ "ไอ้โง่" ไม่ได้คิดจริงๆ ว่าหญิง-ชายคู่นี้ "โง่" หรือ "ไม่ฉลาด" ตามนิยามของพจนานุกรม แต่เพราะรู้ว่าคำนี้เป็นคำแรงในภาษาไทย จึงตั้งใจใช้คำนี้ให้สะใจ

แต่นี่ก็ไม่ได้เป็นผลมาจากโทสวาทหรือ hate speech ที่แพร่หลายในเน็ต อันที่จริงในเน็ต เขาใช้คำแรง (และหยาบคาย) กว่านี้เสียอีก แต่ไม่ติดตลาดเท่ากับ "โง่" ทั้งนี้ ก็เพราะที่สำคัญกว่าความแรงของคำที่ใช้ ก็คือการข้ามช่วงชั้นทางสังคมต่างหาก

นายกรัฐมนตรีเป็นผู้บริหารสูงสุดของรัฐ พูดแบบเก่าคือเป็นผู้ใหญ่ที่สุดของประเทศ เราจะตำหนิผู้ใหญ่ขนาดนี้อย่างไรก็ได้ (ท่ามกลางเสรีภาพของสื่อซึ่งสื่อไม่ให้ความสำคัญ) แต่ต้องมุ่งโจมตีแต่ตัวบุคคลคือนายกฯ ไม่ได้มุ่งหมายจะประกาศการข้ามกำแพงแห่งช่วงชั้นทางสังคม เพราะผู้ตำหนิเองก็ยังอยากรักษากำแพงนั้นไว้สำหรับความปลอดภัยของตนเอง

ไม่ว่าจะน่าเอ็นดูหรือไม่ นายกรัฐมนตรี ก็ไม่ใช่เด็ก

การโจมตีนายกฯ ว่า "โง่" จึงสะท้อนความปั่นป่วนของสังคมไทยซึ่งกำลังเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ปั่นป่วนอย่างไร้ระเบียบเสียเลยนะครับ แต่ปั่นป่วนเพราะรากฐานสำคัญอย่างหนึ่งของระเบียบคือช่วงชั้นทางสังคม หรือรองเท้าเก่าที่เราใช้มาสักร้อยปีที่ผ่านมา กำลังถูกตั้งคำถาม หรือกำลังถูกถอดทิ้งไป แม้แต่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็หาความมั่นคงในช่วงชั้นไม่ได้

ช่วงชั้นทางสังคมมันรวนไปหมดแล้วล่ะครับแต่คนไม่เรียนรู้เอง จึงพากัน "โง่" ในความหมายนี้กันอย่างกว้างขวาง

ดังนั้น ผมจึงไม่เชื่อว่านายกฯ สองคนนี้เท่านั้นที่ถูกกล่าวหาว่าโง่ นายกฯ คนต่อไป ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย, เลือกตั้งแบบเผด็จการ หรือแต่งตั้งกันหน้าตาเฉย ก็จะถูกกล่าวหาว่าโง่เหมือนกัน เพราะเขาหรือเธอต้องเป็นนายกฯ ท่ามกลางความแปรปรวนของช่วงชั้นทางสังคมที่มีมาตามประเพณีอย่างแน่นอน

ที่มา มติชน
/////////////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2557

สแกน 173 สปช. และ เปิดโฉม สปช.77 จังหวัด !!?


สปช.xสแกนxสภาปฏิรูปประเทศ
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่รายชื่อสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง จำนวน 250 คน เมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมาโดยในจำนวน 173 คนที่มาจากการเสนอขององค์กรไม่แสวงหากำไร และได้รับการแต่งตั้งนั้น จำแนกแต่ละด้าน 11 ด้าน ได้ดังนี้

ด้านการเมือง

1.นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ 2.นายชัยอนันต์ สมุทวณิช 3.พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร 4.นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ 5.นางตรึงใจ บูรณสมภพ 6.นายดำรง พิเดช 7.นายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา 8.พล.ร.อ.สุรินทร์ เริงอารมณ์ 9. นายประสาร มฤคพิทักษ์ 10.พล.อ.วิชิต ยาทิพย์

11.นายชัย ชิดชอบ 12.นายสุธรรม ลิ้มสุวรรณเกษม 13.นายอมร วณิชวิวัฒน์ 14.พล.ท.ฐิติวัจน์ กำลังเอก 15.นายไพบูลย์ นิติตะวัน 16.นายชูชัย ศุภวงศ์ 17.นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์

ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

1.นายอุดม เฟื่องฟุ้ง 2.นายอนันตชัย คุณานันทกุล 3.พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป 4.พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์ 5.ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ 6.รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ สายสุนทร 7.นายอดิศักดิ์ ภาณุพงศ์ 8.นายวรรณชัย บุญบำรุง 9.นายวันชัย สอนสิริ 10.นายคำนูณ สิทธิสมาน

11.นายเสรี สุวรรณภานนท์ 12.พล.อ.อ.มนัส รูปขจร 13.รศ.เจริญศักดิ์ ศาลากิจ 14.นายจีระรัตน์ นพวงศ์ ณ อยุธยา 15.นายประสิทธิ์ ปทุมารักษ์

16.เข็มชัย ชุติวงศ์ 17.พล.ต.ท.อาจิณ โชติวงศ์ 18.นายบัญชา ปรมีศณาภรณ์ 19.นายวิวรรธน์ แสงสุริยฉัตร 20.นายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์

ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน

1.นายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ 2.นายขจัดภัย บุรุษพัฒน์ 3.พล.อ.วัฒนา สรรพานิช 4.นายประมนต์ สุธีวงศ์ 5.น.ส.อรพินท์ สพโชคชัย 6.พล.อ.ท.เจษฎา วิจารณ์ 7.นางผาณิต นิติทัณฑ์ประกาศ 8.นายพลเดช ปิ่นประทีป

9.นายธรรมรักษ์ การพิศิษฎ์ 10.นางเบญจวรรณ สร่างนิทร 11.นายชัยวัฒน์ ลิมป์วรรณธะ 12.นายศุภชัย ยาวะประภาษ 13.นางถวิลวดี บุรีกุล14.พ.ต.ต.ยงยุทธ สาระสมบัติ

ด้านการศึกษา

1.อมรวิชช์ นาครทรรพ 2.นายศักรินทร์ ภูมิรัตน 3.พล.ท.พอพล มณีรินทร์ 4.นายกมล รอดคล้าย 5.นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ 6.นายเขมทัต สุคนธสิงห์ 7.นายณรงค์ วรงค์เกรียงไกร 8.นางประภาภัทร นิยม 9.นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา 10.นายชิงชัย หาญเจนลักษณ์

11.นายมีชัย วีระไวทยะ 12. นางทิชา ณ นคร 13.พล.อ.วุฒินันท์ ลีลายุทธ 14.นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร 15.นางชัชนาถ เทพธรานนท์ 16.นายปิยะวัติ บุญ-หลง 17.นายณรงค์ พุทธิชีวิน 18.นายสมเกียรติ ชอบผล

ด้านการปกครองท้องถิ่น

1.นายวุฒิสาร ตันไชย 2.นายจรัส สุวรรณมาลา 3.นายไพโรจน์ พรหมสาสน์ 4.นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ 5.พ.ต.อาณันย์ วัชโรทัย 6.นายวัลลภ พริ้งพงษ์ 7.นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง 8.นายอุดม ทุมโฆสิต 9.นายเชื้อ ฮั่นจินดา 10.นายสรณะ เทพเนาว์11.นายพงศ์โพยม วาศภูติ 12.นายสยุมพร ลิ่มไทย 13.นายธีรศักดิ์ พานิชวิทย์ 14.นางสีลาภรณ์ บัวสาย 15.นายทะนงศักดิ์ ทวีทอง

ด้านเศรษฐกิจ

1.นายสมชัย ฤชุพันธ์ 2.นายธวัชชัย ยงกิตติกุล 3.นางนรีวรรณ จินตกานนท์ 4.น.ส.พจนีย์ ธนวรานิช 5.นายพิสิฐ ลี้อาธรรม 6.นายไพบูลย์ นลินทรางกูร 7.นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ 8.นายสายัณห์ จันทร์นิวาสวงศ์ 9.นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี 10.นายเกริกไกร จีระแพทย์ 11.นายสุทัศน์ เศรษฐ์บุญสร้าง 12.นายกงกฤช หิรัญกิจ 13.นางอัญชลี ชวนิชย์ 14.นายมนู เลียวไพโรจน์ 15.นายไกรฤทธิ์ บุณยเกียรติ 16.นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล

ด้านพลังงาน

1.นายทองฉัตร หงส์ลดารมย์ 2.นายคุรุจิต นาครทรรพ 3.นายมนูญ ศิริวรรณ 4.นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ 5.นายดุสิต เครืองาม 6.นายวิบูลย์ คูหิรัญ7.นายพรายพล คุ้มทรัพย์ 8.นายอลงกรณ์ พลบุตร 9.นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล 10.พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช 11.พล.อ.ประสูติ รัศมีแพทย์ 12.น.ส.รสนา โตสิตตระกูล 13.นายอนนต์ สิริแสงทักษิณ 14.นายเจน นำชัยศิริ

ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม

1.นายประเสริฐ ศัลย์วิวรรธน์ 2.น.ส.ทัศนา บุญทอง 3.นาวาอากาศเอก ไพศาล จันทรพิทักษ์ 4.นายสุวัฒน์ วิริยพงศ์สุกิจ 5.นายณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา 6.นางพรพันธุ์ บุณยรัตนพันธุ์ 7.นายบัณฑูร เศรษศิโรตม์ 8.น.ส.สุภัทรา นาคะผิว

9.นายสุชาติ นวกวงษ์ 10.นายสุวัช สิงหพันธุ์ 11.นายปราโมทย์ ไม้กลัด12.นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ 13.นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ 14.พล.ร.อ.ชาญชัย เจริญสุวรรณ 15.นางอรพินท์ วงศ์ชุมพิศ 16.พล.อ.ชูศิลป์ คุณาไทย

ด้านสังคม

1.นายกิตติภณ ทุ่งกลาง 2.นางกูไซหม๊ะวันซาฟีหน๊ะ มนูญ 3.นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง 4.พล.ต.เดชา ปุญญบาล 5.นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์6.นายวิทยา กุลสมบูรณ์ 7.นายวินัย ดะห์ลัน 8.นายวิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์

9.นางศิรินา ปวโรฬารวิทยา 10.นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ 11.น.ส.สมสุข บุญญะบัญชา 12.นายสังสิต พิริยะรังสรรค์ 13.น.ส.สารี อ๋องสมหวัง14.นายสิระ เจนจาคะ 15.นายอำพล จินดาวัฒนะ 16.นางอุบล หลิมสกุล

ด้านสื่อสารมวลชน

1.พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร 2.นายมานิจ สุขสมจิตร 3.น.ส.อ่อนอุษา ลำเลียงพล 4.นางสุกัญญา สุดบรรทัด 5.นายพนา ทองมีอาคม 6.นางภัทรียา สุมะโน 7.นายวสันต์ ภัยหลีกลี้

8.นางเตือนใจ สินธุวณิก 9.นายบุญเลิศ คชายุทธเดช 10.นายนิพนธ์ นาคสมภพ 11.นางประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด 12.นายจุมพล รอดคำดี13.นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์

ด้านอื่นๆ

1.พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ 2.พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา 3.นายเทียนฉาย กีระนันทน์ 4.พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา 5.นายปรีชา เถาทอง 6.พล.ร.อ.อภิวัฒน์ ศรีวรรธนะ 7.พล.ร.อ.ศุภกร บูรณดิลก

8.นางพรรณวีรินทร์ รัตนวานิช 9.นางพรรณี จารุสมบัติ 10.นายเกษมสันต์ จิณณวาโส 11.พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์ 12.นายนิรันดร์ พันทรกิจ 13.นายเทียนชัย ปิ่นวิเศษ 14.พล.อ.ภูดิศ ทัตติยโชติ

....................

เปิดโฉมสปช.77จังหวัด

ในจำนวนสปช.ที่ได้รับการแต่งตั้ง 250 คนนั้น มาจากการสรรหาแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ 77 จังหวัด 77 คน ซึ่งแต่ละจังหวัดมีผู้ได้รับการแต่งตั้ง เรียงตามตัวอักษร ดังนี้

1.นายกษิดิ์เดชธนทัต เสกขุนทด จ.นครราชสีมา 2.นายกาศพล แก้วประพาฬ จ.กาญจนบุรี 3.นายกิตติ โกสินสกุล จ.ตราด 4.นางกัญญ์ฐญาณ์ ภู่สวาสดิ์ จ.พิษณุโลก 5.นางกอบกุล พันธ์เจริญวรกุล จ.พระนครศรีอยุธยา 6.นางกอบแก้ว จันทร์ดี จ.อ่างทอง 7.นายกิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ จ.มหาสารคาม 8.นายโกเมศ แดงทองดี จ.ราชบุรี 9.นายโกวิทย์ ทรงคุณ จ.สุโขทัย 10.นายโกวิท ศรีไพโรจน์ จ.สุราษฎร์ธานี

11.นายไกรราศ แก้วดี จ.สกลนคร 12.พล.ต.ต.ขจร สัยวัตร์ จ.บึงกาฬ 13.พล.อ.อ.ขวัญชัย เอี่ยมรักษา จ.อุดรธานี 14.นายคณิศร ขุริรัง จ.หนองบัวลำภู 15.นายจรัส สุทธิกุลบุตร จ.พะเยา 16.นายจรูญ จึงยิ่งเรืองรุ่ง จ.สระบุรี 17.พล.อ.จิรพันธ์ เกษมศานติ์สุข จ.กระบี่ 18.พล.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะ มกดาธนพงศ์ จ.มุกดาหาร 19.ว่าที่ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์ จ.เพชรบุรี 20.นางจุรี วิจิตรวาทการ กรุงเทพมหานคร

21.นายจิรวัฒน์ เวียงด้าน จ.นครพนม 22.นางจุไรรัตน์ จุลจักรวัฒน์ จ.เชียงใหม่ 23.นายจุมพล สุขมั่น จ.เชียงราย 24.นายจำลอง โพธิ์สุข จ.ชัยนาท 25.นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน จ.อุตรดิตถ์ 26.นายเฉลิมพล ประทีปะวณิช จ.ลำปาง 27.นายเฉลิมศักดิ์ อบสุวรรณ จ.พังงา 28.นายชัยพร ทองประเสริฐ จ.อำนาจเจริญ 29.นายชาลี เจริญสุข จ.ฉะเชิงเทรา

30.นายชาลี เอียดสกุล จ.พัทลุง 31.นายชาลี ตั้งจีรวงษ์ จ.สิงห์บุรี 32.นายชิตชัย จิวะตุวินันท์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ 33.นายชูชาติ อินสว่าง จ.สุพรรณบุรี 34.นายเชิดชัย วงศ์เสรี จ.ภูเก็ต 35.นายฐิติ วุฑฒิโกวิทย์ จ.หนองคาย 36.นางฑิฆัมพร กองสอน จ.น่าน 37.นายดิเรก ถึงฝั่ง จ.นนทบุรี 38.นายดุสิต ลีลาภัทรพันธุ์ จ.ยะลา 39.นายเดชฤทธิ์ ปัญจะมูล จ.ปราจีนบุรี 40.นายถาวร เฉิดพันธุ์ จ.ปทุมธานี

41.นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ จ.ตาก 42.นายทิวา การกระสัง จ.บุรีรัมย์ 43.นายทรงชัย วงศ์สวัสดิ์ จ.ลำพูน 44.พ.อ.ธนศักดิ์ มิตรภานนท์ จ.ศรีสะเกษ 45.นายธวัช สุวุฒิกุล จ.ชัยภูมิ 46.นายธวัชชัย อุ่ยพานิช จ.ระยอง 47.นายธำรง อัศวสุธีรกุล จ.กำแพงเพชร 48.พล.ท.นคร สุขประเสริฐ จ.ร้อยเอ็ด 49.นายนิฟาริด ระเด่นอาหมัด จ.ปัตตานี 50.นายนิคม มากรุ่งแจ้ง จ.สมุทรสาคร

51.นายนิพนธ์ คำพา จ.แม่ฮ่องสอน 52.นายนิมิต สิทธิไตรย์ จ.อุบลราชธานี 53.นายนิอาแซ ซีอุเซ็ง จ.นราธิวาส 54.นายนำชัย กฤษณาสกุล จ.สตูล 55.นายบุญถิ่น มั่นเกษวิทย์ จ.อุทัยธานี 56.นายประชา เตรัตน์ จ.ชลบุรี 57.นายประทวน สุทธิอำนวยเดช จ.ลพบุรี 58.นางประภาศรี สุฉัยทบุตร จ.ยโสธร 59.นายประเสริฐ ชิตพงศ์ จ.สงขลา 60.นายปรีชา บุตรศรี จ.เลย61.พล.ต.ต.ปรีชา สมุทระเปารยะ จ.สมุทรปราการ

62.นายเปรื่อง จันดา จ.เพชรบูรณ์ 63.นายพรชัย มุ่งเจริญพร จ.สุรินทร์ 64.นายเพิ่มศักดิ์ เชื้อชาติ จ.แพร่ 65.นายไพฑูรย์ หลิมวัฒนา จ.ชุมพร 66.นายวรวิทย์ พรรรณสมัย จ.นครนายก 67.นายวิชัย ด่านรุ่งโรจน์ จ.พิจิตร 68.นายวีระศักดิ์ ภูครองหิน จ.กาฬสินธุ์ 69.นายไวกูณฑ์ ทองอร่าม จ.จันทบุรี 70.นายศานิตย์ นาคสุขศรี จ.สระแก้ว

71.นายศักดา ศรีวิรยะไพบูลย์ จ.ระนอง 72.นายสมเดช นิลพันธุ์ จ.นครปฐม 73.สมศักดิ์ โล่สถาพรพิพิธ จ. ตรัง 74.พ.อ.สิรวิชญ นาคทอง จ.นครสวรรค์ 75.นายสืบพงศ์ ธรรมชาติ จ.นครศรีธรรมราช 76.นายสุพร สุวรรณโชติ จ.สมุทรสงคราม 77.นายเอกราช ช่างเหลา จ.ข่อนแก่น

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2557

บนยุทธภูมิ ทางวัฒนธรรม !!?


โดย. นิธิ เอียวศรีวงศ์

หมอเหวง โตจิราการนำเอาคลิปของการรวมตัวของฝูงชนอย่างสั้นๆ (flash mob) ในประเทศหนึ่งมาเผยแพร่ มีการแชร์กันกว้างขวาง จนผมได้พบเข้าโดยบังเอิญ จึงลองคลิกเข้าไปดูและฟัง

เป็นการรวมตัวของนักดนตรีและนักร้องในจัตุรัสเล็กๆ แห่งหนึ่ง ซึ่งมีคนเดินไปเดินมา เดินเล่น เด็กวิ่งเล่น สุนัขไล่หยอกล้อกัน แล้วก็มีคนแบกดับเบิลเบสตัวใหญ่ออกมาสีนำ ตามด้วยคนแบกเชลโลออกมาเสริมอีกสองคน บัสซูนอีกคนเดินตามมา ไวโอลินอีกมากเดินตามมาเรื่อยๆ พร้อมกับเครื่องลมและเครื่องทองเหลืองอีกเป็นแถว

เพลงที่เขาเล่นคือท่อนหนึ่งของกระบวนที่ 4 ของซิมโฟนีหมายเลข 9 ของบีโธเฟน ซึ่งรู้จักกันว่าซิมโฟนีเสียงประสาน เพราะในท่อนนี้จะมีเสียงประสานคำร้องซึ่งเอามาจาก "กาพย์แด่ปิติสุข" (An die Freude-Ode to Joy) ของจินตกวีฟรีดริช ชิลเลอร์ อันเป็นท่อนที่รู้จักกันไปทั่วโลก เอามาเป็นทำนองหลักในหนังหลายเรื่อง แปลงเป็นเพลงร็อก ใช้เปิดกีฬาโอลิมปิก เป็นเพลงสัญลักษณ์ของ EC (ประชาคมยุโรป) และ EU สหภาพยุโรปในปัจจุบัน แสดงในวันปีใหม่เป็นร้อยๆ วงทั่วประเทศญี่ปุ่นมาตั้งแต่สมัยสงคราม ถูกเปิดผ่านลำโพงแก่ผู้ประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน

ผมฟังเพลงนี้มาในชีวิตน่าจะเกิน 100 ครั้งแล้ว เล่นโดยวงดนตรีชั้นนำระดับโลกไม่รู้จะกี่วง กำกับโดยวาทยกรเด่นดังหลายต่อหลายคน แต่ไม่มีครั้งไหนเลยที่น้ำตาจะไหลพรากอย่างไม่ยอมหยุดเท่าครั้งนี้ อาจเป็นเพราะภาพปฏิกิริยาของผู้คนในบริเวณที่มีการรวมตัว จากความไม่ค่อยใส่ใจนักกลายเป็นการล้อมวงฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ บดบังเด็กน้อยที่ผู้ใหญ่ถูกมนตร์ของดนตรีสะกดจนลืมนึกถึงไปชั่วขณะ พ่อหนูน้อยจึงต้องปีนเสาไฟข้างถนนขึ้นไปดูและฟัง พร้อมทั้งแสดงท่าเป็นวาทยกรไปพร้อมกัน เมื่อคณะนักร้องที่แทรกอยู่ในฝูงชนเริ่มร้อง ผู้คนซึ่งไม่เคยเรียนร้องเพลงเลยก็เปล่งเสียงตาม หรือบางคนทำปากขมุบขมิบตามเนื้อร้อง

สำนึกที่ท่วมท้นจิตใจขณะนั้น คือพลังของความเป็นมนุษย์ในท่ามกลางเสรีภาพ อย่างที่กุหลาบ สายประดิษฐ์เรียกว่ามนุษยภาพ

อันที่จริง ความเป็นอมตะของ "กาพย์แด่ปิติสุข" ของชิลเลอร์คงไม่เกิดขึ้น หากบีโธเฟนไม่ได้นำมาใช้ในซิมโฟนีหมายเลข 9 ของเขา แม้แต่ตัวชิลเลอร์ในวัยชราเองก็บอกกับเพื่อนว่ากาพย์บทนี้ไม่มีคุณค่าต่อโลก เพราะมันไม่สัมพันธ์กับความเป็นจริง ความหมายตามตัวบทจึงแคบมาก คือความเป็นผองน้องพี่ของเหล่ามวลมนุษย์ ซึ่งอาจเสพย์ความปิติสุขจากธรรมชาติที่พระเจ้าประทานมาได้อย่างดื่มด่ำที่สุด แต่เพราะซิมโฟนีหมายเลข 9 ต่างหาก ที่ทำให้นัยยะอันลึกซึ้งอีกมากมายของกาพย์บทนี้ถูกสร้างเสริมเข้าไปแก่ตัวบท จนมีนัยยะที่ลึกซึ้งเป็นอย่างยิ่ง

เพียงไม่ถึง 10 ปีหลังมรณกรรมของบีโธเฟน นักวิจารณ์เยอรมันก็เริ่มอธิบายแล้วว่า "ปิติสุข" หรือ Freude นั้นที่จริงแล้ว คือ Freiheit (อิสรภาพ-Freedom) เพราะจะทำให้มีความหมายแฝงที่ลึกซึ้งกว่ากันมาก เช่นในท่อนท้ายที่ว่าปิติสุขย่อมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตและเป็นพลังผลักดันของมนุษย์ (ซึ่งมีนัยยะในเชิงศาสนาเพียงอย่างเดียว) หากเข้าใจว่าคือเสรีภาพ (ตามคำที่ผมอยากใช้มากกว่าอิสรภาพ) คือชีวิตและพลังผลักดันให้ชีวิตมีความหมาย กาพย์บทนี้ก็จะจับใจคนสมัยใหม่ (สมัยนั้น) ได้ลึกซึ้งกว่า

เลโอนาร์ด เบิร์นสไตน์ ถึงกับอธิบายแก่ผู้ฟังเลยว่า ชิลเลอร์ต้องการจะให้หมายถึงเสรีภาพนั่นแหละ แต่เนื่องจากมีนัยยะทางการเมืองแรงเกินไปในสมัยที่เขาแต่ง จึงเลี่ยงมาใช้คำว่า ปิติสุข หรือ Freude แทน การตีความและการกำกับซิมโฟนีหมายเลข 9 ของเขา ก็จะเป็นไปตามการตีความเช่นนี้

น้ำตาผมอาจไหลด้วยการตีความตามแนวของเบิร์นสไตน์ก็ได้กระมัง

ท่วงทำนองในกระบวนที่4ของซิมโฟนีหมายเลข9ท่อนนี้ เป็นที่คุ้นเคยแก่คนไทยจำนวนมาก ผมได้ยินคนฮำตามอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะออกมาในรูปซิมโฟนีหรือเพลงร็อก จึงอยากให้กวี (ที่มีศรัทธาต่อเสรีภาพจริงๆ ไม่ใช่ช่างประกอบคำ) ร่วมมือกับนักดนตรี แปล "กาพย์แด่ปิติสุข" (ตามที่บีโธเฟนตัดและต่อไว้) ออกเป็นภาษาไทย (กวีที่ผมนึกถึงคือคุณสุขุม เลาหพูนรังสี ส่วนครูเพลง ผมนึกถึงอาจารย์อติภพ ภัทรเดชไพศาล) เผื่อสักวันหนึ่ง จะมีการรวมตัวของฝูงชนอย่างสั้นๆ ที่นำโดยนักดนตรีในเมืองไทยอย่างนั้นบ้าง ผู้คนจะได้ร้องตามโดยพร้อมเพรียงกัน

บทเพลงที่ทรงพลังนั้น จะได้มีพลังมากขึ้นในสังคมไทย

แต่การรวมตัวของฝูงชนอย่างสั้นๆ เช่นนั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างไร จริงๆ แล้วผมก็ไม่รู้คำตอบเหมือนกัน เพราะแม้ว่าไม่อาจเล่นได้เต็มวง แต่อย่างน้อยก็ต้องมีตัวแทนเสียงเครื่องดนตรีได้ครบพอสมควร จึงไม่ง่ายทั้งการหาคนและการขนย้าย (เช่นกลองทิมพานี กลองเบส เป็นต้น และท่อนนี้ขาดกลองที่ทรงพลังไม่ได้เสียด้วย) การรวมตัวเช่นนั้นจึงจะเกิดขึ้นได้โดยคนที่มีความพร้อมเท่านั้น

บัดนี้ อาจารย์สุกรี เจริญสุขไม่จำเป็นต้องเอาปี๊บคลุมหัวอีกแล้ว เพราะสภามหาวิทยาลัยมหิดลได้ลงมติแล้วว่าอธิการบดีต้องตัดสินใจเลือกเอาตำแหน่งเดียว หากอาจารย์สุกรีซึ่งมีความพร้อมทั้งในด้านนักดนตรีและนักร้อง จะจัดคอนเสิร์ตอย่างสั้นๆ แต่กินใจที่ได้ยินท่อนนี้เล่นในรูปออเคสตราเป็นครั้งแรก จำนวนมากในคนเหล่านั้นจะประทับใจกับเสียง, ท่วงทำนอง, ฮาร์โมนิก, พัฒนาการของเพลงด้วยการแปรเปลี่ยน, ฯลฯ ของดนตรีตะวันตก จนกลายเป็นผู้ฟังหรือผู้เล่นดนตรีคลาสสิกสักวันหนึ่งข้างหน้า

นี่ไม่ใช่ความมุ่งหมายที่อาจารย์สุกรีได้ทุ่มเทความพยายามตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาหรอกหรือ

ระหว่างการแสดงดนตรีในห้องดนตรีเชิญแขกผู้มีเกียรติมาฟังพร้อมกับขายบัตรให้ผู้ที่ชอบดนตรีคลาสสิกตะวันตกกับการนำดนตรีมาเล่นกลางฝูงชนอย่างไหนจะทำให้ประชาชนเข้าถึงดนตรีคลาสสิกตะวันตกได้มากกว่ากัน

ไม่ใช่เข้าถึงเพียงเพราะได้ฟังด้วยแต่เข้าถึงเพราะดนตรีเข้าถึงชีวิตจริงที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่ทั้งด้วยเสียงและภาพของฝูงชนที่ได้ใช้ชีวิตร่วมกันแม้เพียงช่วงสั้นๆแต่อย่างที่เป็นมนุษย์เหมือนกัน ผู้ชาย, ผู้หญิง, คนแก่, เด็ก, คนรวย, คนจน, คนมีอำนาจ, คนไร้อำนาจ ฯลฯ ต่างเกิดสำนึกถึงแก่นแท้ของความเป็นมนุษย์ร่วมกัน อันเป็นสิ่งที่บรรลุได้ในกลิ่นอายของเสรีภาพ แม้เป็นช่วงสั้นๆ ก็ตาม แต่จะเป็นช่วงสั้นๆ ที่ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปชั่วนิรันดร์

และนี่คืออำนาจของศิลปะ ในยามมืดมิด ศิลปะคือดวงดาวที่ส่องประกายเจิดจำรัส ในยามอ่อนล้า ศิลปะคือพลังที่ชุบชูความหวังและความฝันไม่ให้เสื่อมสลาย

ไม่จำเป็นต้องซิมโฟนีหมายเลข 9 เพลงไทยที่เราคุ้นหูก็มีอำนาจไม่ต่างจากกัน เราจะหอบเครื่องปี่พาทย์ไปยังที่สาธารณะซึ่งพลุกพล่านที่ไหนก็ได้ เพื่อสร้างช่วงเวลาสั้นๆ ร่วมกันกับคนอื่น ร้องเพลง "เจ้าหนุ่มสาวเอย เจ้าเคยแล้วหรือยัง" อันมีทำนองที่ใครๆ ก็ร้องตามได้เพราะนำมาจากทำนองเพลงลาวเฉียงในตับพระลอ ซึ่งถูกแปลงเป็นเพลงไทยสมัยปัจจุบันไปหลายครั้งแล้ว

เพลง "แสงดาวแห่งศรัทธา" ของคุณจิตร ภูมิศักดิ์ก็คุ้นหูคนไทย พอที่เริ่มต้นแห่งใด ก็จะมีคนร้องตามได้มากมาย เพื่อสร้างช่วงสั้นๆ แห่งเสรีภาพที่จะตราตรึงใจของคนต่อไปอีกนานเท่านาน

เพลงจากภาพยนตร์ที่ตรึงใจคนทั่วโลกอีกเพลงหนึ่งคือDoyouhearthe people sing? ก็มีทำนองที่คุ้นหูคนไทย (และคุณสุขุม เลาหพูนรังสีได้แปลไว้อย่างดีเลิศแล้ว) หากไม่อาจเปล่งเนื้อร้องได้ ก็อาจใช้การฮัมหรือร้องลัลล้าร่วมกันได้

ในไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีเกมใหม่ที่เลียนแบบไอซ์บัคเกต คือท้าร้องเพลง "บทเพลงของสามัญชน" ลงคลิปและเผยแพร่ บัดนี้มีเพลงที่ร้องโดยผู้รับคำท้าจำนวนมากแล้ว ด้วยลีลาที่แตกต่างกันหลากหลาย

เสรีภาพซึ่งขาดหายไปในพื้นที่สาธารณะทุกประเภท ควรถูกครอบคลุมด้วยศิลปะ ดนตรี จิตรกรรม ประติมากรรม กวีนิพนธ์ ศิลปะจัดวาง ศิลปะอุบัติการณ์ ฯลฯ เพื่อหล่อเลี้ยงความหวังและความฝันของคนไทยสืบไป

นี่คือยามมืดมิดที่ท้าทายศิลปิน หรือผู้ถือดาวอยู่ทั่วท้องฟ้า ท่านอยากสิงสถิตในวิมานของศิลปินแห่งชาติ หรือส่องแสงแก่ผู้คนในความมืด

ที่มา:มติชน
////////////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2557

อวสาน นักวิชาการ !!?

โดย.นิธิ เอียวศรีวงศ์

นักวิชาการในมหาวิทยาลัยอเมริกันคนหนึ่ง เคยตั้งข้อสังเกตกับผมว่า นักวิชาการอเมริกันนั้นไม่ค่อยมีอิทธิพลทางการเมืองเท่ากับนักวิชาการไทย ไม่ว่าเขาจะพูดอะไร ไม่ว่าจะพูดดีหรือเฮงซวยแค่ไหน ก็แทบจะหาสื่อมารายงานสิ่งที่เขาพูดไม่ได้ ถึงมีสื่อรายงาน ก็ไม่เคยพาดหัวหนังสือพิมพ์ ซ้ำรายงานสั้นจนจับเหตุผลข้อเสนอของเขาไม่ได้ และที่ร้ายไปกว่านั้นคือสังคมอเมริกันไม่สนใจเลย

ศาสตราจารย์ George McT. Kahin นักรัฐศาสตร์ผู้โด่งดังของมหาวิทยาลัยคอร์แนล เล่าใน Southeast Asia : A Testament ว่า ในการรณรงค์ต่อต้านสงครามเวียดนามของท่านนั้น ท่านต้องเที่ยวตระเวนพูดและสอนเกี่ยวกับสงครามเวียดนามไปตามแคมปัสต่างๆ ของหลายมหาวิทยาลัยทั่วสหรัฐ แม้แต่เข้าร่วมประท้วงกับนักศึกษาในบางครั้ง จนในที่สุด ก็กลายเป็นนักวิชาการที่ต่อต้านสงครามเวียดนามตัวเด่น สภาคองเกรสจึงเชิญท่านไปให้การเกี่ยวกับสงครามเวียดนามแก่คณะกรรมาธิการ แต่สื่อส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ลงคำให้การของท่าน หรือลงเหมือนเป็นข่าวเหตุการณ์มากกว่าการชี้แจงแสดงเหตุผล หรือร้ายไปกว่านั้นบางฉบับก็ลงผิดเสียอีก

ดังนั้น สังคมอเมริกันจึงแทบไม่ได้เรียนรู้ความเห็นต่างเกี่ยวกับนโยบายของสหรัฐที่พึงมีต่อเวียดนาม อย่างน้อยก็ไม่ได้เรียนรู้จากนักวิชาการโดยตรง แต่อาจรับรู้โดยทางอ้อมผ่านการประท้วงขนาดใหญ่ต่างๆ (แต่ในขณะเดียวกัน คนอเมริกันก็อ่านหนังสือมากกว่าไทย จึงอาจรู้ความเห็นทางวิชาการได้ผ่านสื่ออื่นที่ไม่ใช่รายวัน)

ผมจึงเห็นจริงตามที่นักวิชาการอเมริกันตั้งข้อสังเกตกล่าวคือหากนำมาเปรียบเทียบกับนักวิชาการไทยแล้วอิทธิพลทางการเมืองของนักวิชาการอเมริกันมีน้อยมากแต่ในหมู่นักวิชาการไทยไม่ว่าจะพูดอะไร ดีหรือเฮงซวยแค่ไหน ก็มักมีข่าวปรากฏให้ได้รู้กันในสื่อ อย่างน้อยก็ในหน้าหนังสือพิมพ์ และมาในระยะหลังๆ ก็มีแม้แต่ในข่าวทีวีด้วย ยิ่งหากเป็นนักวิชาการใหญ่ ข่าวคำพูดของเขาอาจถูกนำไปพาดหัวหนังสือพิมพ์เอาเลย

อันที่จริง คนที่ถูกจัดว่าเป็นนักวิชาการในเมืองไทยนั้นมีน้อยมาก เช่น อาจารย์เกษียร เตชะพีระ เพิ่งยกตัวเลขมาให้ดูเร็วๆ นี้ว่า เรามีศาสตราจารย์อยู่เพียงเก้าร้อยกว่าคน แต่มีนายพลเข้าไปพันสี่ น่าสังเกตว่าในพันสี่นั้น มีนายพลเพียงไม่ถึง 10 คนกระมังที่พูดอะไรแล้ว สื่อนำไปขยายต่อ แต่มีศาสตราจารย์หรือนักวิชาการที่ยังไม่ได้ตำแหน่งนั้นอีกเป็นร้อย ที่พูดอะไรปับ ก็มีข่าวในสื่อทันที

ไม่เพียงแต่เสียงดังกว่าคนทั่วไปเท่านั้น นักวิชาการยังมักถูกเลือกหรือได้รับเชื้อเชิญให้เข้าไปนั่งตำแหน่งสาธารณะต่างๆ อยู่เสมอ ในรัฐธรรมนูญสองฉบับที่ถูกฉีกทิ้งไป แม้แต่ได้ชื่อว่าเป็นนักวิชาการก็ได้อภิสิทธิ์ขึ้นมาทันที เพราะจะเป็นผู้เลือกบุคคลเข้าไปดำรงตำแหน่งสาธารณะอื่นๆ ได้อีก

"สัตว์ประหลาด" พวกนี้โผล่มาจากไหน และได้อิทธิฤทธิ์เช่นนี้มาอย่างไร

อันที่จริงคำว่า "นักวิชาการ" เป็นคำใหม่ เพิ่งเกิดขึ้น (ผมเข้าใจว่า) หลังนโยบายพัฒนาใน 2504 เป็นต้นมา ใครจะเป็นคนคิดขึ้น และใช้กันครั้งแรกจริงๆ เมื่อไรกันแน่นั้น ผมไม่อยู่ในฐานะจะเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้

ข้อนี้ก็ไม่แปลกประหลาดอะไรนะครับ การที่สังคมหนึ่งๆ เข้าสู่ความทันสมัย ย่อมทำให้เกิดอาชีพเฉพาะด้านใหม่ๆ ขึ้นเยอะแยะ ต้องสร้างศัพท์ใหม่หรือเอาศัพท์เก่ามาใช้ในความหมายใหม่เพื่อเรียกคนในอาชีพเหล่านี้ ทนายความก็ใช่ หมอก็ใช่ ดาราก็ใช่ ตำรวจก็ใช่ และว่าที่จริงทหารก็ใช่ด้วย เพราะคำไทยแต่เดิมทหารเป็นเพียงหมวดหมู่ของไพร่เท่านั้น ไม่ได้หมายถึง "ทหาร" อย่างที่เราใช้ในปัจจุบัน

ข้อแตกต่างของศัพท์ "นักวิชาการ" อยู่ตรงที่มันเกิดหลังจากศัพท์ใหม่ๆ ที่ยกตัวอย่างไปแล้ว ซ้ำหลังมากเสียด้วย แปลว่าตั้งแต่ ร.5 ลงมาถึงสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เราไม่มีสำนึกถึงคนประเภทหนึ่งซึ่งจะถูกเรียกในภายหลังว่า "นักวิชาการ" เลย เพราะเราเรียกคนเหล่านี้ว่า "อาจารย์" ซึ่งในสมัยหนึ่งสงวนไว้สำหรับเรียกครูในมหาวิทยาลัยเป็นส่วนใหญ่ แม้เป็น "อาจารย์" จะโก้ดี แต่ไม่มีอิทธิพลอะไรทางการเมืองนะครับ ผมนึกอย่างไรก็นึกไม่ออกว่า ก่อน 2505 มีอาจารย์มหาวิทยาลัยท่านใดบ้าง ที่สามารถพูดอะไรเป็นสาธารณะ เพื่อให้มีผลต่อนโยบายของรัฐบาล หากจะมีคนอย่างหลวงวิจิตรวาทการ หรือ ดร.หยุด แสงอุทัย ซึ่งแน่นอนว่าความคิดเห็นของท่านเหล่านั้น มีผลต่อนโยบายสาธารณะไม่มากก็น้อย ผมก็อยากเดาว่าคนเหล่านั้นไม่ได้อยากเป็นแค่อาจารย์มหาวิทยาลัยแน่ คนหนุ่มในช่วงนั้นที่พูดอะไรให้พอดังออกมาได้บ้าง คือคุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ซึ่งไม่เคยเรียกตัวเองเป็น "นักวิชาการ" แต่ดูเหมือนจะพอใจให้เรียกว่า "ปัญญาชน" มากกว่า

เป็นหลวงวิจิตรฯ เป็นดร.หยุด หรือเป็นคุณสุลักษณ์ มีนัยยะสำคัญกว่าเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยแน่ และท่านก็ไม่ได้เป็น "นักวิชาการ" เพราะสมัยนั้นยังไม่มีคำนี้ไว้สำหรับเรียกอภิสิทธิ์ชนกลุ่มใด

ไม่แปลกอะไรที่ "นักวิชาการ" จะเกิดหลังนโยบายพัฒนาของสฤษดิ์ ในระหว่าง พ.ศ.2504-2515 นักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นจาก 15,000 คน เป็น 100,000 คน จำนวนของบัณฑิตเพิ่มขึ้นในสังคมไทยอย่างรวดเร็ว สิ่งที่อาจารย์มหาวิทยาลัยพูดมีคนฟังมากขึ้น สิ่งที่เขียนก็มีคนอ่านมากขึ้นเหมือนกัน ซ้ำคนที่ฟังและอ่านยังเป็นคนที่มีรายได้สูงกว่าคนทั่วไป มีสำนึกทางการเมืองและสังคม กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ๆ เป็นผู้บริโภคหลักของสินค้าที่ลงโฆษณาในสื่อ และเป็นลูกค้าหลักของสื่อ

หากคนเหล่านี้ฟังหรืออ่านใคร คนนั้นย่อมไม่ใช่คนสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยธรรมดาเสียแล้ว เขาจึงมีสถานะใหม่คือเป็น "นักวิชาการ" ซึ่งไม่ได้กีดกันไว้เฉพาะผู้มีอาชีพสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่อาจรวมถึงใครก็ได้ที่สามารถแสดงความเห็นทางสังคมหรือการเมือง โดยอ้างอะไรที่เป็นวิชาการ (ตำราหรืองานวิจัยหรือการวิเคราะห์ทางสถิติ ฯลฯ) ก็ล้วนถูกเรียกว่าเป็นนักวิชาการ

ใครเรียกหรือครับ สื่อเริ่มเรียกก่อน เพื่อทำให้ความเห็นซึ่งสื่อก็รู้ว่าจะไม่เป็นที่พอใจของอำนาจเผด็จการ ได้มีโอกาสแสดงออกผ่านสื่อบ้าง อย่างน้อยสื่อไม่ได้พูดเอง แต่คนอื่นเป็นคนพูด ซ้ำคนอื่นนั้นก็ไม่ใช่อ้ายเบื๊อกที่ไหนด้วย แต่เป็นนักวิชาการซึ่งก็น่าจะพูดไปตามหลักวิชา ไม่เจตนาประจบใคร ไม่เจตนาโจมตีใคร "วิชาการ" (ไม่ว่าจะหมายความถึงอะไร) จึงเป็นเกราะป้องกันสื่อ

ไม่ได้เป็นเกราะป้องกันสื่อเท่านั้น ผมคิดว่านักวิชาการเองก็อ้างอะไรที่เป็นวิชาการเพื่อปกป้องตนเองเท่าๆ กัน "ผมไม่ได้พูดเองนะ แต่ "วิชาการ" เป็นคนพูดมาก่อน"

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นท่ามกลางความไร้เสรีภาพในการพูดและแสดงออกภายใต้เผด็จการทหารที่ครองประเทศมาตั้งแต่2500-2516คิดไปก็เป็นการไขว่คว้าหาเสรีภาพของสังคมไทยที่ชาญฉลาดทีเดียวเพราะในวัฒนธรรมไทยความรู้ (วิชชา) มีอยู่หนึ่งเดียว ไม่ว่าใครพูดก็จะตรงกันทั้งสิ้น ในขณะที่ความเห็นอาจมีได้หลายอย่าง อีกทั้งความรู้ยังสัมพันธ์กับความจริงทางศาสนาด้วย ฉะนั้นจึงมีศักดิ์สูงกว่าอะไรหมดทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นคำแถลงของรัฐบาล, ประกาศสำนักนายกฯ, นโยบายของสภาพัฒน์, หรือคำแก้ตัวของท่านรัฐมนตรี

(ผมคิดเสมอว่า นี่คือเหตุผลที่ต้องเรียกว่า "นักวิชาการ" แทนที่จะเป็น "นักวิทยาการ" เพราะศัพท์บาลีขลังกว่าศัพท์สันสกฤต ซึ่งมักถูกใช้เป็นศัพท์ทางโลกย์ในภาษาไทย มากกว่าบาลี)

อย่างไรก็ตาม จุดที่เป็นพลังทางการเมืองของ "วิชาการ" เช่นนี้ กลับเป็นจุดอ่อนทางการศึกษาและภูมิปัญญาไทยในโลกสมัยใหม่ เพราะหากความรู้หรือความจริงมีหนึ่งเดียว จะมีวิธีเรียนรู้มันด้วยวิธีอะไรดีไปกว่า ทำความเข้าใจแล้วจำเอาไว้ แทนที่จะทำความเข้าใจ แล้ววิพากษ์เพื่อหาจุดอ่อนของความรู้นั้นๆ ว่า มันจริงได้เฉพาะในเงื่อนไขจำกัดบางอย่าง หากพ้นออกไปจากเงื่อนไขนั้น มันก็อาจไม่จริงหรือจริงไม่หมดก็ได้

ผลก็คือทำให้การศึกษาและภูมิปัญญาไทยยืนอยู่กับที่ตลอดมา ในขณะที่เพื่อนบ้านอาจรุดหน้าไปอย่างช้าๆ จนเลยเราไป

ภายใต้ระบอบเผด็จการของสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส เสียงของนักวิชาการเป็นเสียงเดียวในสังคมที่ดูเหมือนจะมีเสรีภาพสูงสุด ทั้งดูเหมือนเป็นอิสระที่สุดด้วย เพราะไม่เกี่ยวข้องกับทหาร, นักการเมือง, หรือทุน กลุ่มใดเป็นพิเศษ ทำให้อิทธิพลทางการเมืองของนักวิชาการยิ่งเพิ่มขึ้น

แต่หลัง 14 ตุลาเป็นต้นมา เสรีภาพในสังคมไทยเปิดกว้างขึ้น แม้จะมีการรัฐประหารและยึดอำนาจในหลายๆ รูปแบบตามมาก็ตาม แต่ผู้ยึดอำนาจจะไม่ลิดรอนเสรีภาพอย่างออกหน้า หรืออย่างไร้ขีดจำกัดอย่างแต่ก่อน (ยกเว้นรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งถึงอย่างไรก็มีอายุอยู่เพียงปีเดียว) เสียงของนักวิชาการก็เริ่มจะดังน้อยลงตามลำดับ ความเป็นอิสระของนักวิชาการก็เริ่มถูกพิสูจน์ว่าไม่จริง หลายคนลาออกจากราชการไปสมัครผู้แทนราษฎรในนามพรรคการเมืองบางพรรค และกลายเป็นนักการเมืองเต็มตัว บางคนไปเป็นที่ปรึกษาของบริษัทโบรกเกอร์ในตลาดหุ้น บางคนเข้าใกล้ทหารอย่างออกหน้า บางคนสังกัดอยู่ในสถาบันพระมหากษัตริย์เชิงเครือข่าย

ก่อนจะถึงสงครามเสื้อสี ผมคิดว่าทรรศนะของสังคมไทยต่อนักวิชาการได้เปลี่ยนไปแล้ว กล่าวคือไม่เชื่ออีกแล้วว่านักวิชาการเป็นอิสระ (ทั้งๆ ที่คนเป็นอิสระจริงๆ ก็ยังมี) ถึงไม่สังกัดกลุ่มผลประโยชน์หรือกลุ่มอำนาจใดเลย ก็มีความลำเอียงหรืออคติเข้าข้างหรือเป็นปฏิปักษ์ต่ออุดมการณ์บางอย่างเป็นพิเศษ

สถานะของนักวิชาการในสังคมไทยได้เปลี่ยนไปแล้วความเห็นทางวิชาการของคนเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่พึงรับฟังเป็นพิเศษอีกต่อไปเพราะคนเหล่านี้ล้วนมีสังกัดสังกัดนี้ก็ต้องพูดอย่างนี้แหละสังกัดนั้นก็ต้องพูดอย่างนั้นแหละ ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการหรือไม่ ความไม่เป็นอิสระของนักวิชาการทำให้ไม่น่าเชื่อถือ นับว่าสอดคล้องกับทรรศนะต่อความรู้ที่มีมาในวัฒนธรรมไทยด้วย เพราะความรู้ (หรือวิชชา) นั้นเกิดขึ้นได้จากการรู้ยิ่งที่ปราศจากการครอบงำของอคติสี่

เมื่อนักวิชาการมีอคติ ก็ไม่มีทางรู้ยิ่งได้สิ่งที่เขาอ้างว่าเป็นวิชาการจึงเป็นเพียงความเห็นที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน

ความเสื่อมอิทธิพลทางการเมืองของนักวิชาการไทยเห็นได้ชัดในคสช. หรือคณะรัฐประหารชุดท้ายสุดนี้ คสช.เป็นคณะรัฐประหารคณะแรกที่เรียก "นักวิชาการ" เข้าไปรายงานตัวบางคนก็ถูกกักตัวไว้ บางคนก็ถูกสร้างให้มีคดีติดตัว ยิ่งกว่านี้ คสช.สั่งตรงไปตรงมาเลยว่า นักวิชาการเป็นหนึ่งในกลุ่มบุคคลที่ห้ามมิให้โทรทัศน์สัมภาษณ์หรือนำไปออกรายการ ร่วมกับนักการเมือง หรือผู้นำม็อบ การกระทำต่อนักวิชาการเช่นนี้ของ คสช. ไม่ได้ทำให้ความชอบธรรมของ คสช.ในสังคมไทยลดลง (แม้อาจไม่เพิ่มขึ้น) อย่างน้อยก็ไม่มีใครสะดุ้งสะเทือนในสังคมไทย

ที่น่าสังเกตก็คือ ในคำแถลงขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชนของต่างประเทศ นักวิชาการ (academicians) จะถูกยกเป็นหนึ่งใน "เหยื่อ" ของการละเมิดของคสช.เสมอ ผมไม่ได้หมายความว่านักวิชาการเป็นที่ยกย่องในโลกตะวันตก แต่ผมคิดว่าในทรรศนะของเขา นักวิชาการเป็นพวกที่ไม่มีอันตรายต่อใคร เพราะฤทธิ์เดชของนักวิชาการนั้นอาจสกัดขัดขวางได้ง่าย เนื่องจากนักวิชาการเพียงแต่เสนอความเห็นเชิงวิชาการ หากเราไม่เห็นด้วยก็แสดงความเห็นเชิงวิชาการคัดค้าน หากทำได้ดี นักวิชาการนั้นๆ ก็ต้องเงียบไปเอง หรืออย่างน้อยก็หมดเสียง เพราะไม่มีใครสื่อความเห็นนั้นอีก

บัดนี้สถานะอภิชนของนักวิชาการในสังคมไทยได้สิ้นสุดลงแล้ว ผมมองความเปลี่ยนแปลงนี้ด้วยความยินดี เพราะจะนำไปสู่ข้อสรุปที่สังคมไทยจะต้องเรียนรู้เสียทีว่า ที่เรียกว่าความรู้นั้นที่จริงก็คือความเห็น ไม่ได้มีอะไรต่างกัน ดังนั้น การศึกษาเล่าเรียน คือการทำความเข้าใจความเห็นของคนอื่นอย่างถึงแก่น แล้วพยายามมองหาจุดแข็ง จุดอ่อนของความเห็นนั้น โดยไม่เกี่ยวว่าความเห็นนั้นเป็นของคนที่ได้รับยกย่องให้เป็นปราชญ์หรือไม่ เป็น "บิดา" ของวิชาโน้นวิชานี้หรือไม่ หรือสวมเสื้อสีอะไร

ในขณะเดียวกัน ใครก็ตามที่จะนำเสนอความเห็นของตนต่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการหรือช่างตัดผม ต้องไตร่ตรองและค้นคว้าหาข้อมูลที่เพรียบพร้อมขึ้น เพื่อทำให้ความเห็นนั้นได้ถูกรับฟัง ไม่ใช่เพราะสถานะของตนเองเท่านั้น

ทั้งหมดนี้ก็ดีแก่ภูมิปัญญาไทยไม่ใช่หรือ

การทำลายสถานะอภิชนของนักวิชาการนั้นดีแก่สังคมแน่แต่ที่น่าวิตกก็คือ "วิชาการ" เล่าจะถูกลดสถานะลงไปด้วยหรือไม่ เช่นผู้มีอำนาจอาจเสนอนโยบายสาธารณะได้ โดยไม่ต้องห่วงว่าขัดแย้งกับความเป็นจริง ตัวเลขสถิติ ประสบการณ์ในสังคมอื่น ตรรกะและเหตุผล ฯลฯ อำนาจดิบเพียงอย่างเดียวคือผู้ตัดสินใจในนโยบายสาธารณะต่างๆ ไม่มีข้อมูลหรือความเห็นแย้งใดๆ มาขัดเกลาให้นโยบายนั้นมีทางทำได้สำเร็จ และส่งผลดีแก่ส่วนรวมเลย

ดังเช่นนโยบายผักตบชวา, ขึ้นภาษีแวต, ภาษีมรดกและที่ดิน, เลิกรถไฟความเร็วสูง, สอนประวัติศาสตร์ที่มีเนื้อหายกย่องวีรบุรุษแก่นักเรียน, ฯลฯ

ที่มา.มติชน
////////////////////////////////////////////////