--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2557

เปิดแผนปฏิรูป การเมืองไทย สมัย คสช. เลือกนายกฯทางตรง !!?


พิมพ์เขียวการปฏิรูปด้านการเมือง จาก เอกสารข้อมูลปฏิรูปของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม แจกให้แก่ สปช. ซึ่งจัดทำโดยคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม โดยมี พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ เป็นประธาน แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)  หลังจากที่ได้รับฟังความคิดเห็นและรวบรวมเป็นกรอบความเห็นร่วมมาแล้วนั้น

ใจความสำคัญของเอกสารดังกล่าวบางส่วน โดยเฉพาะการปฏฺิรูปในด้านการเมือง คือ

1.รูปแบบของรัฐสภา

- รัฐสภาแบบเลือกตั้งนายกฯ โดยตรง ด้วยการเลือกนายกฯ จากรายชื่อของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกรัฐสภาคราวเดียวกัน

- รัฐสภาแบบการเลือกตั้งนายกฯ รัฐมนตรีโดยอ้อม  ถูกเสนอ 3 แบบ ได้แก่ แบบแรกสภาเดี่ยว มีเฉพาะสภาผู้แทนราษฎร แบบที่สองคือสภาคู่ โดยมีการเสนอ 2 รูปแบบ ได้แก่ แบบสภา ส.ส.-ส.ว. และแบบสภาผู้แทนราษฎร กับสภาประชาชนที่มาจากกลุ่มวิชาชีพ, กลุ่มจังหวัด, กลุ่มข้าราชการ และแบบที่สาม คือแบบ3 สภา ได้แก่ สภาผู้แทนราษฎร, วุฒิสภา และสภาประชาชน

2.พรรคการเมือง

- การจัดตั้งพรรคการเมืองต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภูมิภาคเข้าสู่ระบบพรรคการเมืองได้ง่ายและปราศจากการครอบงำของทุน

-  การคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง เสนอให้มีกระบวนการกลั่นกรองโดยพรรคการเมืองที่มีหลักเกณฑ์ คือมีความสามารถ ซื่อสัตย์ สุจริต รวมถึงเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม เช่น การเสนอชื่อบุคคลหรือคัดค้านบุคคลที่มีชื่อส่งแข่งขัน เป็นต้น

- ต้องมีระเบียบห้ามพรรคการเมืองจ่ายเงินพิเศษให้ ส.ส.เพื่อออกเสียงสนับสนุนหรือเข้าร่วมประชุม

-กกต.มีบทบาทกำหนดนโยบายหาเสียงของแต่ละพรรค ต้องไม่ให้เป็นประชานิยม  สร้างความเสียหาย รวมถึงผลกระทบกับประชาชน

- นโยบายของพรรคที่ใช้หาเสียงต้องมีวงเงินใช้จ่ายรวมกันไม่เกินกรอบวงเงินงบประมาณในช่วง 4 ปีข้างหน้า

3.สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

-    ให้คนที่อายุ 20 ปีขึ้นไปเป็นผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้ง เนื่องจากเกณฑ์อายุ 20 ปีถือเป็นผู้บรรลุนิติภาวะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

-    คุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้ง ไม่สังกัดพรรคการเมือง เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถลงสมัครได้ง่าย เพิ่มความหลากหลาย

-    ผู้สมัครรับเลือกตั้งควรมีอายุ 30 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 70 ปี

-    ระดับการศึกษาไม่มีข้อกำหนด เพื่อเปิดโอกาสให้ปราชญ์ชาวบ้านมีสิทธิ์รับเลือก

-    ให้มีการกลั่นกรองบุคคลก่อนลงสมัครรับเลือกตั้ง ด้วยวิธี Primary Vote จากประชาชนในพื้นที่

-    ต้องได้รับใบรับรองจากนายทะเบียนว่ามีผู้สนับสนุนในเขตเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 200 คน เพื่อเป็นการคัดกรองคนดีเข้าสู่สภา

-    จำกัดวาระดำรงตำแหน่ง ส.ส. ไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน และห้ามไม่ให้บุคคลที่เคยกระทำผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ลงสมัครรับเลือกตั้ง

-    นำคะแนน Vote No มาเปรียบเทียบกับคะแนนของผู้ที่ได้รับเลือกตั้งมากที่สุด ถ้าคะแนน Vote No มากกว่าให้เลือกตั้งใหม่

-    ยกเลิกการลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรและนอกเขตจังหวัด เพราะมีช่องทำให้เกิดทุจริตได้ง่าย

-    ให้มีการเลือกตั้ง 2 รอบ โดยการเลือกรอบแรก ผู้สมัครคนใดได้เสียงข้างมากเกินร้อยละ 50 ของผู้ออกเสียงเลือกตั้ง ถือว่าผู้นั้นได้รับเลือกตั้งทันที แต่หากคะแนนเลือกตั้งไม่ถึงร้อยละ 50 ของผู้ออกเสียงเลือกตั้ง ให้นำผู้ที่ได้คะแนนลำดับที่ 1 และ 2 แข่งขันกันอีกครั้ง หากใครได้เสียงข้างมากเกินร้อยละ 50 ให้ถือว่าเป็นผู้ชนะ

4.สมาชิกวุฒิสภา

- ส.ว.มาจากการเลือกตั้งและสรรหา โดยเสนอวิธีสรรหาจากกลุ่มอาชีพ ขณะที่จำนวนต้องเท่ากับ ส.ส.เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลที่เหมาะสม

-  ให้กำหนดอายุผู้ที่ดำรงตำแหน่ง ส.ว. ระหว่าง 50-70 ปี ไม่จำกัดระดับการศึกษา และไม่สังกัดพรรคการเมือง

5. นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี

-  มีข้อเสนอรูปแบบการคัดเลือกนายกฯ 2 วิธี 1.จากการเลือกตั้ง ผ่านระบบบัญชีรายชื่อ จากการเลือกตั้งโดยตรงหรือเลือกตั้งโดยอ้อม คือให้ ส.ส.โหวตเลือกนายกฯ และ 2.จากการแต่งตั้งบุคคลภายนอก ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ขณะที่การตรวจสอบและถอดถอนให้ใช้มาตรการเดียวกับ ส.ส.และ ส.ว.

6. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

-    ด้านโครงสร้างองค์กรตุลาการทางการเมือง มีข้อเสนอให้จัดตั้งศาลเลือกตั้ง และศาลทุจริต ส่วนศาลฎีกาต้องมีข้อกำหนดและกรอบการดำเนินคดีทางการเมือง และไม่จำกัดอายุความคดีทางการเมือง และยกเลิกมาตรการคุ้มครองนักการเมืองในระหว่างสมัยประชุม

7.ศาลรัฐธรรมนูญ

- ปรับโครงสร้างศาลรัฐธรรมนูญ ให้ทำในรูปแบบตุลาการพระธรรมนูญ ที่มีอำนาจพิจารณาเป็นเรื่องๆไม่ควรจัดในรูปศาลที่มีอายุ 9 ปี

-  แบ่งองค์คณะของศาลรัฐธรรมนูญเป็น 2 องค์คณะ โดยแยกเป็น 2 ส่วน คือ พิจารณาความทั่วไป และวิธีพิจารณาเฉพาะ

-  กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจชี้ถูกชี้ผิดในกรณีพิพาทระหว่างองค์กร แต่ทำหน้าที่ตีความทางกฎหมายที่มีข้อสงสัยขัดรัฐธรรมนูญเท่านั้น

8.คณะกรรมการการเลือกตั้ง

- ปรับโครงสร้าง กกต.ให้มีบุคคลจากหลายฝ่าย เช่น ตุลาการ, ฝ่ายการเมือง, ผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้เชี่ยวชาญจากสายอาชีพเข้ารับการสรรหาเป็น กกต.

-  กกต.จังหวัดต้องประกอบด้วยผู้พิพากษาประจำศาลจังหวัดหรือตุลาการศาลปกครองในเขตเลือกตั้งนั้นๆ

9.คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

-  เพิ่มสัดส่วนกรรมการสรรหา ป.ป.ช.จากสายการเมืองที่ไม่น้อยกว่าคณะกรรมการสรรหาจากสายอื่น

10. การเมืองภาคพลเมือง

- เสนอให้เปิดพื้นที่ให้เข้าร่วมกับภาครัฐในด้านตรวจสอบ มีส่วนร่วมการพัฒนา

ที่มา.มติชนออนไลน์
///////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น