--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอาทิตย์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

รัฐเช็กบิล สำนักบัญชีแต่งภาษี สรรพากร ขู่เจอคุก !!?

อธิบดีสรรพากรคนใหม่ ประสงค์ พูนธเนศ เข้มสั่งทั่วประเทศสแกนยิบบริษัทเสียภาษีไม่ถูกต้อง กดดัน สำนักงานบัญชี ช่วยแต่งข้อมูลเสียภาษีต่ำ มีโทษสูงสุดจำคุก 7 ปี ไล่บี้ภาษีทั้งปีไม่ต่ำกว่า 1.8 ล้านล้านบาท เผย 7 เดือนแรกต่ำเป้ากว่า 3 หมื่นล้าน ร่อนหนังสือเชิญสำนักงานบัญชีแจง 30 ก.ค.นี้

แหล่งข่าวจากกรมสรรพากรเปิดเผยว่า หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้งนายประสงค์ พูนธเนศ เป็นอธิบดีกรมสรรพากรคนใหม่ เมื่อวันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา นายประสงค์ได้มีการเรียกประชุมมอบนโยบายผู้บริหาร สรรพากรภาคและสรรพากรพื้นที่ โดยสั่งให้สรรพากรพื้นที่ทุกแห่งเข้าไปสุ่มตรวจบริษัทนิติบุคคลในแต่ละพื้นที่พิจารณาดูแล้วน่าจะเสียภาษีไม่ถูกต้อง โดยให้สรรพากรพื้นที่ส่งรายชื่อมาที่ส่วนกลาง โดยส่วนกลางจะตรวจสอบสำนักงานบัญชีที่ทำบัญชีภาษีให้บริษัทดังกล่าวอย่างเข้มข้น เพราะถือว่ามีความเสี่ยงสูง

โดยสรรพากรจะตั้งสมมติฐานว่าหากมีบริษัทหนึ่งบริษัทใดที่อยู่ในการดูแลของสำนักงานบัญชีแห่งนั้นทำไม่ถูกต้อง ก็เชื่อได้ว่าบริษัทนิติบุคคลอื่น ๆ ที่สำนักงานบัญชีแห่งนั้นทำบัญชีให้ก็น่าจะเกเรด้วย หากพบบริษัทใดทำไม่ถูกต้อง ก็ต้องสมมติฐานว่าผู้ที่ทำบัญชีมีส่วนร่วมทำผิดด้วย วิธีการนี้จะเป็นมาตรการกดดันให้ทุกบริษัทต้องทำบัญชีให้ถูกต้อง" แหล่งข่าวกล่าวและว่า

แม้ว่าสำนักงานบัญชีจะมีสภาวิชาชีพการบัญชีดูแลควบคุมจริยธรรมกันเอง แต่ที่ผ่านมาเมื่อกรมสรรพากรมีการส่งชื่อสำนักงานบัญชีที่ถูกแบล็กลิสต์ไปให้ ทางสภาวิชาชีพก็ไม่ให้ความร่วมมือในการถอดถอนสำนักงานบัญชีนั้น โดยอ้างว่าบัญชีภาษีเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่บัญชีทั้งหมด ดังนั้นสรรพากรก็ต้องใช้มาตรการเข้มงวด

"อธิบดีกำชับทุกพื้นที่ว่า ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ 2557 นี้ ต้องเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บให้เต็มที่ เพื่อไม่ให้รายได้ทั้งปีหลุดเป้าหมายมากเกินไป โดยต้องไม่เกิน 9 หมื่นล้านบาท จากประมาณการจัดเก็บทั้งปีที่ 1.89 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะภาษีนิติบุคคลที่กำลังจะยื่น ภ.ง.ด.51 ในเดือน ส.ค.นี้" แหล่งข่าวกล่าวและว่า

เนื่องจากกรมสรรพากรกังวลว่าการจัดเก็บรายได้ภาษีนิติบุคคลที่จะต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ในช่วงเดือน ส.ค. ซึ่งจะเป็นตัวเลขที่สะท้อนภาพการทำธุรกิจในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2557 (ม.ค.-ส.ค.) จะออกมาต่ำกว่าประมาณการมาก เช่นเดียวกับการเก็บเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ที่สะท้อนผลประกอบการนิติบุคคลรอบครึ่งหลังปี 2556 ที่จัดเก็บต่ำกว่าเป้าถึง 31,348 ล้านบาท หรือ 10% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 3.1% ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการปรับลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 20% บวกกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอ ทำให้ไม่สามารถขยายฐานภาษีเพิ่มขึ้นได้

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สรรพากรจะเชิญสำนักงานบัญชีมาหารือ เพื่อขอความร่วมมือ ว่าทำอย่างไรจะให้บริษัทนิติบุคคลที่สำนักงานบัญชีนั้น ๆ ดูแลอยู่จะเสียภาษีอย่างถูกต้องครบถ้วน เนื่องจากสำนักงานบัญชีถือเป็นคนกลางที่มีสภาวิชาชีพควบคุมอยู่ และแต่ละสำนักงานบัญชีจะมีลูกค้าที่เป็นบริษัทนิติบุคคลอยู่ในมือหลายบริษัท ดังนั้นเชื่อว่ามาตรการนี้จะช่วยให้สามารถตรึงรายได้ปีนี้ให้หลุดเป้าไม่เกิน 9 หมื่นล้านบาทได้

อันดับแรกได้ทำหนังสือเชิญสำนักงานบัญชีในเขตกรุงเทพฯ ที่มีลูกค้าผู้เสียภาษีอยู่ในมือหลาย ๆ บริษัทเข้ามาหารือ ในวันที่ 30 ก.ค.นี้ ส่วนต่างจังหวัดทางสรรพากรภาคจะดำเนินการในลักษณะเดียวกัน โดยสำนักงานบัญชีทั่วประเทศที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์มีมากกว่า 10,000 ราย แต่กรมสรรพากรคงเลือกเชิญรายสำคัญ ๆ ที่มีลูกค้าในมือเยอะ ๆ มาคุยกัน ก็คงทยอยทำทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด

"การเรียกสำนักงานบัญชีมาคุยหนึ่งรายก็จะได้ลูกค้าผู้เสียภาษีอีกหลายราย เพราะเขาเป็นตัวกลาง มีลูกค้าในมือเยอะ ซึ่งถ้าทำไม่ดีเราก็จะแบล็กลิสต์ จริง ๆ ก็เป็นมาตรการที่ทำอยู่แล้ว เพียงแต่ตอนนี้จะเข้มขึ้น" ผู้บริหารกรมสรรพากรกล่าว

ทั้งนี้สำนักงานบัญชีถือว่าเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้บริษัทนิติบุคคลหลบภาษี ซึ่งหากตรวจสอบพบว่าเป็นตัวการในการร่วมกันหลีกเลี่ยงภาษี จะมีโทษจำคุก 3 เดือน สูงสุดถึง 7 ปี

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า การเรียกสำนักงานบัญชีมาหารือนั้น เป็นมาตรการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่จะทำให้ได้เม็ดเงินภาษีเพิ่มขึ้นในช่วงนี้เท่านั้น แต่การแก้ปัญหาระยะยาวจะต้องปรับโครงสร้างภาษีในภาพรวม

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า หลังจากการเปลี่ยนอธิบดีกรมสรรพากรคนใหม่แล้ว คาดว่าหลาย ๆ เรื่องคงต้องมีการทบทวน อาทิ การเพิ่มลดหย่อนค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลอีก 60,000 บาท ตามนโยบายอธิบดีกรมคนก่อนที่อาจจะไม่คุ้มค่า เพราะกรมสรรพากรมีภาระต้องตรวจสอบการยื่นแบบมากขึ้น ขณะเดียวกันยังมีการปรับปรุงการเก็บภาษีคณะบุคคลที่ต้องแก้ไขกฎหมาย รวมถึงการลงทุนระบบการรายงานภาษีซื้อ-ภาษีขาย ที่ยังไม่ค่อยมีความคืบหน้า ก็คงต้องทบทวนเช่นเดียวกัน

ส่วนการปรับโครงสร้างภาษีที่ก่อนหน้านี้ได้เสนอไว้ในโรดแมปต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั้น ยังคงเดินหน้าต่อไปตามแนวทางเดิม

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้นายประสงค์ได้ยกเลิกนโยบายให้ตรวจสอบภาษีผู้ครอบครองรถหรูราคาเกิน 3 ล้านบาท และบ้านราคาแพงตั้งแต่ 40 ล้านบาทขึ้นไป หลังจากที่เข้ารับตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากร โดยระบุว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่อ่อนไหว การเก็บภาษีต้องมองภาพรวม โดยดูตามศักยภาพความสามารถในการเสียภาษี เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมไม่เลือกเฉพาะเจาะจงที่กลุ่มใดเป็นพิเศษ และต้องพิจารณาจากเอกสารข้อเท็จจริงที่มี โดยเจ้าหน้าที่สรรพากรต้องตรวจสอบการเสียภาษีให้ถูกต้อง ไม่ให้มีการสร้างรายจ่ายเทียม

ข้อมูลจากกรมสรรพากรระบุว่า รายได้จากการจัดเก็บภาษีนิติบุคคล จะสูงเป็นอันดับสองรองจากรายได้จากการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) โดยในปีงบประมาณ 2554 มีสัดส่วนรายได้จากการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลอยู่ที่ 37.87% ของรายได้ภาษีทุกประเภท ปี 2555 มีสัดส่วน 33.67% และ ปี 2556 มีสัดส่วน 33.57% โดยในปีงบฯ 2554 มีตัวเลขรายได้จากการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลอยู่ที่ 574,152.10 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนหน้า 46.40% ต่อมาในปีงบประมาณ 2555 ที่มีการลดอัตราภาษีจาก 30% เหลือ 23% จัดเก็บได้ 544,590.66 ล้านบาท หรือลดลงไป 5.15% จากปีก่อนหน้า และปีงบประมาณ 2556 ที่มีการลดอัตราภาษีเหลือ 20% จัดเก็บได้ 592,345.96 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 8.77% จากปีก่อนหน้า

นางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย กรรมการสภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ขณะนี้ทางสภาวิชาชีพฯยังไม่ได้รับหนังสือหรือจดหมายจากกรมสรรพากรให้เข้าร่วมการหารือหรือขอให้ความร่วมมือส่งข้อมูลของนิติบุคคลให้กับสรรพากร อีกทั้งได้สอบถามไปที่สำนักงานบัญชีในสังกัด ต่างยืนยันว่ายังไม่ได้รับหนังสือเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม การส่งข้อมูลของนิติบุคคลที่เป็นลูกค้านั้น ผู้สอบบัญชีสามารถให้ข้อมูลเฉพาะที่เป็นความเห็นที่ลงชื่อไว้ในการแสดงงบดุลบัญชีเท่านั้น และหากจะมีการขอความร่วมมือให้ส่งข้อมูลนอกเหนือจากนี้ ก็ต้องเป็นข้อมูลที่ได้รับความยินยอมจากลูกค้า ซึ่งผู้สอบบัญชีหรือสำนักงานบัญชีจะให้เองไม่ได้ เนื่องจากผิดจรรยาบรรณ นอกจากว่าผู้ขอข้อมูลจะต้องเป็นผู้ที่มีอำนาจตามกฎหมายเท่านั้น

"การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีมีหลายวิธี ส่วนการรับผิดชอบต่อการแสดงงบการเงินก็อาจใช้ได้ แต่อันนี้ก็เป็นเรื่องของฝ่ายบริหารในธุรกิจด้วย เพราะผู้สอบบัญชีก็เข้าไปดูได้ปีละครั้งสำหรับนิติบุคคลทั่วไป ส่วนบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯก็รายไตรมาสเท่านั้น" นางสาวโสภาวดีกล่าว

ด้านนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในการประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ระบุถึงการติดตามและเป็นห่วงต่อการดำเนินนโยบายการคลังที่มีรายจ่ายมากกว่ารายได้ และการใช้เงินนอกงบประมาณมากขึ้น ส่วนหนึ่งก็เพราะเห็นว่าการเพิ่มรายได้ของประเทศไม่ตอบรับกับการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายโดยยกตัวอย่างข้อจำกัดของการเพิ่มรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ฐานภาษีปัจจุบันมีความหลากหลายน้อย และเป็นฐานภาษีจากรายได้มากกว่าฐานจากสินทรัพย์ ซึ่งในยามเศรษฐกิจไม่ดี รายได้ภาษีก็จะลดลง ดังนั้น นอกจากการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี ก็อาจต้องหาวิธีการขยายฐานภาษีด้วย

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

คสช. ออกประกาศ อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ !!?


ช่วงแรก ลดภาษีมูลค่าเพิ่ม จาก 7  %  เหลือ 6.3 %
ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2557 ถึง 30 กันยายน 2558

ช่วงสอง เพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 9  %
ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไป

(ฉบับเต็ม)
คณะรักษาความสงบแห่งชาติออกประกาศฉบับที่ 92/2557

เรื่องการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม  โดยคสช.เห็นสมควรลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อเป็นการผลักดันและกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนมีกำลังในการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภค บริโภค อันจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องเเละมั่นคง จึงให้ลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม

1.ให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฏากรว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มฉบับที่ 549 พ.ศ.2555

2.ให้ลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร และให้คงอัตราการเก็บดังนี้

(1)ร้อยละ 6.3 สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณีซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2558

(2) ร้อยละ 9 สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณี ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไป

3.ให้ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับนี้มีผลบังคับใช้เช่นเดียวกับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในมาตรา80 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ฉบับที่ 30 พ.ศ.2534

4.ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับนี้

5.ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่1 ตุลาคม พ.ศ.2557 เป็นต้นไป

ที่มา.มติชน
//////////////////////////////

สภาวิชาชีพสื่อ ตั้ง กล้านรงค์ จันทิก สอบ ซีพีเอฟ จ่ายเงินบิ๊กสื่อ 19 ราย !!?

2 สภาวิชาชีพสื่อ ออกแถลงการณ์ร่วม ตั้ง "กล้านรงค์ จันทิก" ประธานสอบข้อเท็จจริง "ซีพีเอฟ" จ่ายเงินรายเดือนให้สื่อมวลชนอาวุโสเฉพาะรายรวม 19 ราย ปั้นภาพลักษณ์ทางธุรกิจ





ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ในช่วงเย็นวันที่ 14 ก.ค. ที่ผ่านมา สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้ออกแถลงการณ์ร่วม เรื่อง ข้อกล่าวหาสื่อมวลชนรับเงินบริษัทเอกชนเพื่อปฎิบัติหรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ตามวิชาชีพ

โดยระบุว่า จากกรณีที่ศูนย์ข้อมูล & ข่าวสืบสวนสิทธิพลเมือง (TCIJ) ได้เผยแพร่เอกสาร โดยอ้างว่า เป็นของฝ่ายประชาสัมพันธ์บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทำธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารครบวงจร มีเนื้อหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือของสื่อทั้งระบบ โดยเอกสารบางตอนระบุว่า มีการจ่ายเงินเป็นรายเดือนให้กับสื่อมวลชนอาวุโสเฉพาะรายรวม 19 ราย เป็น “งบพิเศษเพื่อสนับสนุนสื่อมวลชน” ทั้งนี้อาจเป็นการให้ในลักษณะต่างตอบแทน ซึ่งขัดต่อหลักการแห่งวิชาชีพ ที่สื่อมวลชนต้องละเว้นการรับอามิสสินจ้างอันมีค่า หรือผลประโยชน์ใดๆ เพื่อให้กระทำการหรือไม่กระทำการใด อันจะขัดต่อการปฎิบัติหน้าที่เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ ข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้องรอบด้าน

นอกจากนี้เอกสารยังปรากฏข้อความ ที่แสดงถึง การละเมิด “ข้อมูลส่วนบุคคล”ของสื่อมวลชน โดยระบุสถานะการทำงาน สภาพที่พักอาศัย ทัศนคติ วิธีการทำงาน และการใช้ชีวิต ซึ่งไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการทำงานตามปกติ

องค์กรวิชาชีพสื่อ ประกอบด้วย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย มีความกังวลและห่วงใยในเรื่องนี้อย่างยิ่ง ไม่แต่เพียงผลกระทบต่อความเชื่อถือในองค์กรสื่อและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อเท่านั้น หากแต่บริษัทเอกชนที่ถูกกล่าวอ้างถึงก็ได้รับผล กระทบและจำเป็นจะต้องให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ต่อสาธารณชนด้วย

เพื่อให้การพิจารณาเรื่องนี้เป็นไปด้วยความโปร่งใส สุจริต ตรงไปตรงมา สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้ตั้ง “คณะกรรมการอิสระ” ขึ้นมาชุดหนึ่งโดยมีนายกล้านรงค์ จันทิก เป็นประธาน ร่วมกับคณะกรรมการประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ และบุคคลภายนอก เพื่อพิจารณาสอบสวนข้อเท็จจริงให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว และจะได้แถลงต่อสาธารณชนทราบต่อไป

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
14 กรกฎาคม 2557

(ดูแถลงการณ์ฉบับเต็ม)



ที่มา.สำนักข่าวอิศรา

------------------------------------

วันอาทิตย์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

FTA ไทย-อียู !!?

โดย ณกฤช เศวตนันทน์

ข่าวใหญ่ของสัปดาห์นี้คงหนีไม่พ้นการที่คณะรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรป หรือ European Union (EU) ได้แถลงผลการประชุมเกี่ยวกับประเทศไทยในการประชุม ณ กรุงลักเซมเบิร์ก ประเทศเบลเยียม เมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา

โดยมีใจความว่า คณะรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรปเรียกร้องให้ผู้นำทหารของไทยดำเนินการเรื่องที่เร่งด่วนที่สุดในการคืนสู่กระบวนการทางประชาธิปไตย และคืนการปกครองตามหลักรัฐธรรมนูญผ่านทางการเลือกตั้ง และเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทหารปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวทางการเมืองทั้งหมด รวมทั้งหลีกเลี่ยงการจับกุมที่มีเหตุผลมาจากทางการเมือง และยกเลิกการควบคุมสื่อ

ซึ่งภายใต้สถานการณ์ของไทยในปัจจุบัน อียูมีความจำเป็นที่จะต้องระงับการเยือนระหว่างกันอย่างเป็นทางการ และอียูกับประเทศสมาชิกจะไม่ลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็น หุ้นส่วนและความร่วมมือ (Partnership and Cooperation Agreement : PCA) กับประเทศไทย จนกว่าจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านการรัฐประหาร

ซึ่ง PCA นี้เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับการกระชับความสัมพันธ์ทั้งทางการเมืองและธุรกิจกับไทย ประกอบกับประเทศสมาชิกอียูได้เริ่มทบทวนความร่วมมือทางทหารกับประเทศไทยแล้ว ดังนั้นคณะรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรปจึงตัดสินใจที่จะดำเนินการทบทวนความสัมพันธ์กับประเทศไทยเช่นกัน และอาจพิจารณาดำเนินมาตรการอื่น ๆ ตามสถานการณ์ต่อไป

จากผลการประชุมดังกล่าวทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องของไทยหลายท่าน อาทิ นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่แข็งไทย ออกมาแสดงความคิดเห็นที่ตรงกันว่า อียูอาจจะชะลอการเจรจาจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี หรือ FTA ที่อยู่ระหว่างการเจรจากับประเทศไทยจนกว่าไทยจะมีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย

แม้ว่าจะไม่ได้กล่าวไว้โดยตรงในแถลงการณ์ก็ตาม ท้ายที่สุดก็เป็นไปตามที่มีการคาดการณ์กันไว้ เพราะในเวลาต่อมาสำนักข่าว AP รายงานเพิ่มเติมถึงแถลงการณ์ของอียูว่า ได้ยกเลิกการเจรจา FTA กับประเทศไทยทั้งหมด ซึ่งตามกำหนดเดิมจะมีขึ้นในเดือนกรกฎาคมปีนี้

สหภาพยุโรปเป็นกลุ่มประเทศที่มีบทบาทความสำคัญในการสร้างกระแสและทิศทางการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจและสังคมระดับโลก มีประเทศสมาชิกที่ตั้งอยู่ในทวีปยุโรป 28 ประเทศ อาทิ ออสเตรีย เบลเยียม เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ ไอร์แลนด์ อิตาลี สเปน เป็นต้น

การเจรจา FTA ระหว่างประเทศไทยและสหภาพยุโรปเริ่มต้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2556 กำหนดแนวทางเจรจาเป็นแบบ Comprehensive คือรวมเรื่องการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจไว้ในความตกลงฉบับเดียว

ในเบื้องต้นตั้งเป้าการเจรจาให้เสร็จภายใน 2 ปี แบ่งเป็น 7 รอบการเจรจา และได้ดำเนินการเจรจาไปแล้ว 3 รอบ โดยเริ่มเจรจารอบที่ 1 เมื่อวันที่ 27-31 พฤษภาคม 2556 รอบที่ 2 วันที่ 16-20 กันยายน 2556

เนื้อหาในการเจรจาทั้ง 2 รอบ ส่วนใหญ่เป็นการอภิปรายเพื่อทำความเข้าใจในร่าง ข้อ บทที่ทางสหภาพยุโรปเสนอ และประเทศไทยได้เสนอ สำหรับการเจรจารอบที่ 3 ในระหว่างวันที่ 9-13 ธันวาคม 2556 นั้นรัฐบาลไทยได้ประกาศยุบสภาทำให้การเจรจาในรอบที่ 3 เป็นการอภิปรายกันระหว่าง 2 ฝ่ายเพื่อทำความเข้าใจร่วมกันในเชิงเทคนิค โดยไม่เจรจาในเรื่องที่ผูกพันในเชิงนโยบาย

การทำ FTA กับอียูเป็นการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยให้อยู่ในระดับโลก เพราะสามารถช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และขยายตลาดการค้าการลงทุนระหว่างกันได้ รวมถึงดึงดูดการลงทุนเข้าประเทศไทยและขยายการค้าการลงทุนไปยังอียู

ประการสำคัญ เป็นการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทางการค้ากับประเทศคู่ค้าอื่น ๆ โดยไม่ต้องพึ่งพิงสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรของอียู (Generalized System of Preference : GSP) ซึ่งไทยจะถูกตัดสิทธิทั้งหมดในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 และจะมีผลกระทบทำให้สินค้าส่งออกของไทยไม่ได้รับการลดหย่อน หรือยกเว้นภาษีนำเข้า ในอันที่จะเป็นแต้มต่อในการแข่งขัน ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าจากประเทศอื่น ๆ ในตลาดสหภาพยุโรปได้

โดยในปี 2554 สินค้าส่งออกของไทยที่ใช้สิทธิพิเศษ GSP ของสหภาพยุโรปมีมูลค่ากว่า 2.97 แสนล้านบาท สินค้าที่สำคัญ เช่น รถยนต์ เครื่องปรับอากาศ อาหารทะเลสด อาหารแช่แข็ง สับปะรดกระป๋อง ถุงมือยาง และยางรถยนต์ เป็นต้น สินค้าเหล่านี้จะไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าจากเวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ รวมทั้งสินค้าจากประเทศอาณานิคมเดิมของสหภาพยุโรปที่ยังคงได้รับสิทธิพิเศษ GSP

ทำให้ประเทศไทยอาจสูญเสียตลาดส่งออกที่สำคัญ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องทำ FTA กับอียูเพื่อจะทำให้สินค้าส่งออกของไทยทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าเป็นแบบถาวร ทดแทนการได้รับสิทธิพิเศษ GSP ซึ่งเป็นการให้สิทธิชั่วคราว

ดังนั้น เมื่อมีการชะลอการเจรจา FTA ระหว่างประเทศไทยและสหภาพยุโรปเช่นนี้ อาจส่งผลกระทบให้ประเทศไทยลงนาม FTA ช้ากว่าประเทศคู่แข่งอื่น ๆ อย่างน้อย 1 ปี-1 ปีครึ่ง

ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปยังอียูอย่างรุนแรง เนื่องจากตามที่ได้กล่าวข้างต้นว่า ในวันที่ 1 มกราคม 2558 ไทยจะถูกตัดสิทธิพิเศษ GSP ทั้งหมด 100% ทำให้สินค้าจากประเทศไทยสู้คู่แข่งไม่ได้ เพราะคู่แข่งยังได้สิทธิพิเศษอยู่และบางประเทศได้ลงนาม FTA กับอียูไปแล้ว เช่น ประเทศสิงคโปร์ ทำให้มีการประเมินว่าการที่ประเทศไทยถูกตัดสิทธิพิเศษ GSP จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเป็นมูลค่า 84,840.27 ล้านบาท แบ่งเป็นผลกระทบรายสินค้าร้อยละ 3 ผลกระทบจากการถูกแย่งส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่งร้อยละ 95

อย่างไรก็ดี หากประเทศไทยสามารถปฏิรูปประเทศ กับจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้อย่างรวดเร็ว และสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนานาประเทศได้เช่นเดิม

การเจรจา FTA ของไทยกับอียูย่อมดำเนินได้ต่อไป และสามารถสรุปผลการเจรจากับนำไปสู่การลงนามได้ในเร็ววันนี้อย่างแน่นอน

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////////

วันศุกร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

แง้มร่าง รธน.ชั่วคราว 57

โดย : โอภาส บุญล้อม

รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ใกล้คลอดเต็มทีแล้ว เพราะขณะนี้ทีมยกร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวนำโดย นายวิษณุ เครืองาม นักกฎหมายมือฉมัง ได้ส่งร่างให้กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรียบร้อยแล้ว เมื่อที่ประชุม คสช.ให้ความเห็นชอบ หัวหน้า คสช.ก็สามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธยได้ทันที

มีหลายประเด็นที่หลายคนกำลังจับตามอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และสภาปฏิรูปแห่งชาติ ว่าจะออกมารูปแบบใด วิธีการได้มาจะออกแบบไว้เป็นแบบไหน

แต่ประเด็นที่ร้อนกว่านั้นก็คือเรื่องของ "การรักษาความมั่นคง" รัฐธรรมนูญชั่วคราวจะกำหนดไว้อย่างไร โดยเฉพาะเมื่อมี "รัฐบาล" มาบริหารประเทศแล้ว

บทเรียนเคยมีมาแล้วเมื่อครั้งรัฐประหารปี 2549 ที่ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค. นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ทำการยึดอำนาจจากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และในเวลาต่อมา คปค.ซึ่งแปลงร่างเป็น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. ไม่ได้คงอำนาจของตัวเองไว้มากเท่าที่ควร

ทำให้เมื่อมี "รัฐบาล" เข้ามาบริหารประเทศภายใต้การนำของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่มีจุดแข็งและมีความเป็นตัวของตัวเองสูง จึงส่งผลให้ คมช.ไม่สามารถทำอะไรได้ดังใจอีกต่อไป ไม่สามารถสานงานบางอย่างต่อให้สำเร็จได้ การยึดอำนาจของ คมช.ในครั้งนั้น จึงถึงกับ "เสียของ" แทบสูญเปล่า เพราะสุดท้ายฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ก็สามารถฟื้นคืนอำนาจมาได้อีก

ในครั้งนี้ คสช.จึงไม่ยอมให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย นำมาซึ่งข่าวที่ว่าร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวจะมีบทบัญญัติมาตรา 17 ที่ให้ อำนาจ คสช.เหนือรัฐบาล ในเรื่องความมั่นคง โดยมีการลอกแบบมาจาก มาตรา 27 ของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2534 ซึ่งออกมาในสมัยที่ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ

ทั้งนี้มาตรา 27 ของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2534 บัญญัติไว้ว่า "ในกรณีเพื่อป้องกันหรือระงับเหตุที่กระทบความมั่นคง ให้ประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือนายกรัฐมนตรี มีอำนาจสั่งการหรือกระทำการใดๆ ได้"

เมื่อดูตามลายลักษณ์อักษรที่ใช้ว่า ประธาน รสช. "หรือ" นายกฯ โดยไม่ได้ใช้คำว่า "และ" ก็สามารถอธิบายความได้ว่า ในกรณีเกิดเหตุที่กระทบต่อความมั่นคง ประธาน รสช. (ซึ่งหากนำมาปรับใช้กับรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ก็คือ ประธาน คสช. ในปัจจุบัน) มีอำนาจสั่งการหรือกระทำการใดๆ เพื่อป้องกันหรือระงับเหตุที่กระทบต่อความมั่นคงได้เอง แม้ว่าในกรณีนั้นหารือกันแล้วนายกรัฐมนตรีจะไม่เห็นด้วย หรือไม่ต้องปรึกษาหารือกับนายกรัฐมนตรีก็ยังได้

ที่ผ่านมาหากเราไปดูหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2549 ครั้งนั้นจะไม่ได้เป็นแบบนี้ กล่าวคือ แม้จะมี คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ แต่รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2549 มาตรา 34 ระบุเพียงว่า "ในกรณีที่เห็นสมควร ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติหรือนายกรัฐมนตรี อาจขอให้มีการประชุมร่วมกันของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี เพื่อร่วมพิจารณาและแก้ไขปัญหาใดๆ อันเกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อย และความมั่นคงแห่งชาติ รวมตลอดทั้งการปรึกษาหารือเป็นครั้งคราวในเรื่องอื่นใดก็ได้"

หมายความว่า สถานะของ คมช.ไม่ได้เหนือกว่ารัฐบาล ทำได้เพียงเทียบเท่าและปรึกษาหารือร่วมกันเท่านั้น หรือแปลให้ง่ายกว่านั้นคือ อำนาจหลุดจาก คมช. ไปแล้ว ทำให้ถูกมองว่าไม่มีอำนาจที่จะสานต่องานบางอย่างให้สำเร็จได้

สำหรับสาเหตุที่ คสช. ต้องการคงอำนาจด้านความมั่นคงไว้ แม้ว่าจะมีรัฐบาลแล้ว ก็เพื่อต้องการรักษาสถานะความเป็น "รัฏฐาธิปัตย์" ผู้มีอำนาจสูงสุดของตนเองเอาไว้นั่นเอง

เพราะว่าเรื่องความมั่นคงจะไว้ใจใครอื่นไม่ได้ นอกจากต้องทำเอง เพราะว่าในภายภาคหน้าอาจเกิดการชุมนุมประท้วงในวงกว้างหรือก่อจลาจลขึ้นก็ได้...ใครจะรู้

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

เพิ่มบทลงโทษประหาร คดีข่มขืน !!?

คณบดีคณะนิติฯ จุฬาฯ ชี้เพิ่มบทลงโทษประหารคดีข่มขืน แก้ปัญหาปลายเหตุ ไม่ช่วยคุมพฤติกรรมมนุษย์ได้ ย้ำชัดสังคมต้องทบทวน หาสาเหตุแท้จริงเกิดจากอะไร ความไม่ปลอดภัยของสถานที่ ดื่มสุรา ฯลฯ



หลังจากเกิดเหตุกรณีฆ่าข่มขืนเด็กสาววัย13 ปี บนรถไฟก่อนจะโยนทิ้งนอกหน้าต่างจนเกิดกระแสรณรงค์ให้คดีข่มขืนต้องมีบทลงโทษประหารชีวิตเป็นวงกว้างในสังคมออนไลน์ แม้กระทั่งมีการประกาศรวบรวมรายชื่อจากอดีตนางสาวไทยอย่างบุ๋ม ปนัดดา วงษ์ผู้ดีสำหรับผู้ที่เห็นด้วยกับบทลงโทษนี้ หรือจะเป็นการรณรงค์ผ่านเว็บไซต์ Change.org

ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ คณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ว่า บทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามีอยู่แล้ว แต่บางทีอาจจะใช้เวลาในการดำเนินการยาวนานก็เป็นไปตามขั้นตอน ซึ่งหากถามว่า คดีข่มขืนแล้วให้ประหารชีวิตก็ทำได้ ประหารแล้วก็จบกันไป แต่ความเจ็บปวดภายในจิตใจของครอบครัวผู้เสียหายก็ยังคงอยู่ไม่ได้หายตามไปด้วย ดังนั้นบทลงโทษจึงเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ จากกรณีที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้สังคมต้องมาช่วยกันทบทวนว่า แท้จริงแล้วสาเหตุมาจากอะไรความไม่ปลอดภัยของสถานที่ ปัญหาการดื่มสุราของพนักงาน หรือแม้กระทั่งทำไมหน้าต่างรถไฟถึงเปิดได้ เพราะโดยปกติอย่างต่างประเทศถ้ารถไฟวิ่งอยู่จะไม่มีการเปิดหน้าต่างโดยเด็ดขาด

"เมื่อเรามองเห็นสาเหตุที่แท้จริงก็เริ่มมาแก้ ถึงตอนนี้จะมีคนออกมาบอกให้ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยลาออกไป ปัญหาก็ไม่จบและยิ่งไม่ได้รับการแก้ไข"

คณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวอีกว่า การเพิ่มบทลงโทษหรือแก้กฎหมายไม่ได้ช่วยควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ได้ทั้งหมด เราต้องมาหาวิธีป้องกันจากต้นเหตุไม่ใช่ปลายเหตุ ตัวบทกฎหมายเรื่องการประหารมีอยู่แล้ว การบังคับใช้กฎหมายเราไม่ได้อ่อนแอขนาดนั้นเพียงแต่การควบคุมพฤติกรรมของคนในสังคมไม่สามารถกระทำการได้ง่ายๆ ต้องดูบริบทหลายอย่างประกอบกัน

"ทุกวันนี้เราก็เห็นข่าวฆ่าตรกรรมทุกวัน ดังนั้นต้องแก้ปัญหาให้ตรงจุด แก้ที่ปลายเหตุก็ไม่ได้ช่วยลดคดีเหล่านี้ได้ เนื่องจากบางทีเกิดจากพฤติกรรมของคน เช่น แต่งกายไม่เหมาะสม ไม่ระมัดระวังตัว รับพนักงานเข้าทำงานโดยไม่ได้คัดเลือกให้ดี สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราต้องมองและแก้ไข ไม่ใช่จะแก้กันที่กฎหมายเพียงอย่างเดียว"


ขอบคุณภาพจาก news.tlcthai.com

ที่มา.สำนักข่าวอิศรา
/////////////////////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ทนาย อดีดนายกฯยื่นคำร้องโต้แย้งมติ ป.ป.ช.ไม่รับสอบพยานเพิ่มคดีจำนำข้าว..!!?




ที่สำนักงานคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความ ผู้รับมอบอำนาจจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้รับผิดชอบคดีโครงการรับจำนำข้าว ได้เข้ายื่นหนังสือโต้แย้งและคัดค้านมติของคณะกรรมการป.ป.ช.ที่ให้งดการสืบสต็อกข้าวและพยาน 8 ปาก

ซึ่งนายนรวิชญ์ ระบุว่า เพราะการงดการไต่สวนทำให้ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการต่อสู้คดี  โดยมีประเด็นที่ขอโต้แย้งและคัดค้าน4 ประเด็น คือ การงดสืบสต็อกข้าวจำนวน 2.977 ล้านตัน และงดสืบพยาน 3ปากที่เกี่ยวข้องโดยตรง ซึ่งประกอบด้วย ผอ.องค์การคลังสินค้า (อคส.) รักษาการณ์ผอ.อตก.และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านงบประมาณ กรมบัญชีกลาง โดยยืนยันว่า ข้าวจำนวน 2.977ล้านตัน ไม่ได้สูญหาย หรือขาดทางบัญชี ตามหนังสือของกระทรวงการคลังที่มีนางสาวสุภา ปิยะจิตติ เป็นประธาน ไม่ยอมบันทึกจำนวนข้าวสารจำนวน 2.977ล้านตัน ลงในบัญชี และยังมีข้อโต้แย้งของอนุกรรมการปิดบัญชีกับอตก.และอคส. ดังนั้นป.ป.ช.จึงไม่สามารถที่จะยืนยันหรือรับรองจำนวนข้าวสารดังกล่าวได้

นอกจากนี้ การคำนวณค่าเสื่อมราคาของข้าวไม่มีหลักการที่แน่นอน เป็นเพียงการคาดคะเนไม่ใช่ข้อเท็จจริงทำให้การปิดบัญชีคาดเคลื่อนปปช.จึงไม่สมควรที่จะนำตัวเลขการปิดบัญชีเป็นประเด็นข้อกล่าวหา ส่วนเรื่องการประเมินผลขาดทุนตามรายงานของอนุกรรมการปิดบัญชี มีความเห็นต่างจากผอ.สนง.เศรษฐกิจการคลังและยังไม่เป็นที่ยุติอีกทั้งข้าวที่ยังอยู่ในโกงดังกลางยังไม่ได้นำออกมาขายทั้งหมด จึงไม่สามารถประเมินความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวได้ดังนั้นการงดไต่สวนพยานทั้งหมด จึงไม่เป็นธรรมต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์  เพราะทำให้สังคมเชื่อว่ามีการทุจริต ก่อนที่ผลการสอบสวนจะยุติโดยเฉพาะการลงพื้นที่ตรวจสอบโกดังข้าวในขณะนี้
       
ด้านนายวิทยา  อาคมพิทักษ์ รองเลขาธิการปปช. ผู้รับหนังสือ กล่าวว่า ป.ป.ช.ได้ร่วมส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบสต็อกข้าวร่วมกับคสช.โดยให้เจ้าหน้าที่ปปช.ประจำจังหวัดไปร่วมสังเกตการณ์ พบว่ามีข้าวสูญหายและเสื่อมสภาพซึ่งหากโกดังใดมีข้าวสูญหายเกิน 5%จะแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ และอตก. อคส.จะส่งให้คณะกรรมการ ปปท.เอาผิด และหากเป็นข้าราชการระดับ 8 ขึ้นไปคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะดำเนินการตรวจสอบ  ทั้งนี้ ยืนยันการตรวจสอบของคสช.ไม่กระทบต่อสำนวนที่ป.ป.ช.ดำเนินการอยู่เพราะถือเป็นคนละส่วน

ที่มา.นสพ.ฐานเศรษฐกิจ
////////////////////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

52 พื้นที่เสี่ยง ฮุบป่า..!!?

โดย. พิเชษฐ์ ณ นคร
ปล่อยเกียร์ว่างมานาน ป่าไม้ถูกทำลายย่อยยับนับล้านไร่ หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ตามด้วยคำสั่ง 66/2557 เรื่อง เพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร ฯลฯ ต้องเร่งสนองนโยบาย เดินหน้าจัดระเบียบการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่าครั้งใหญ่

นอกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จะมีคำสั่งตั้งศูนย์ป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมอบหมายให้ พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน จเรตำรวจแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์ แล้วอดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โชติ ตราชู ซึ่งเพิ่งถูกโยกไปนั่งเป็นที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ตั้งทีมงานเฉพาะกิจ ศูนย์ประสานงานปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ หรือทีมป่าไม้เดนตาย พุ่งเป้าปราบปรามผู้มีอิทธิพลโดยเฉพาะ

ไม่รวมการปฏิบัติการร่วมบูรณาการทำงานหลายหน่วยงาน และการลุยล่าขบวนการโค่นป่า ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ แบบฉายเดี่ยว ทั้งระดับภาคและจังหวัด โดยมีทหารจากกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย กองกำลังป้องกันชายแดนของกองทัพบก กองทัพเรือ คอยสนับสนุน สถิติการจับกุมผู้บุกรุกพื้นที่ป่า ลักลอบตัดไม้ ลักลอบค้าสัตว์ป่า ทำเหมืองแร่ ที่ปรากฏทางสื่อมากอยู่แล้ว ยิ่งมีถี่ยิบมากขึ้น

ชี้ให้เห็นว่าพื้นที่ป่า อุทยานแห่งชาติ ทั้งบนบกและทางทะเล ถูกบุกรุกทำลายไม่เว้นแต่ละวัน ไม่ต่างไปจากการฮุบที่ดินรัฐประเภทอื่น ๆ อาทิ ที่ราชพัสดุ ที่สงวนหวงห้าม ที่สาธารณประโยชน์ ฯลฯ รัฐบาลหลายยุคหลายสมัย แก้ปัญหาไม่ได้สักที

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชระบุว่า ณ ปี 2552 ประเทศไทยมีพื้นที่คงสภาพเป็นป่าไม้ 107.6 ล้านไร่ หรือ 33.6% ของพื้นที่ประเทศ และข้อมูลภาพรวมการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่า ตั้งแต่ปี 2516 ถึงปี 2552 พบว่าช่วง 36 ปีที่ผ่านมา ป่าไม้ของไทยลดลงทั้งสิ้นกว่า 30 ล้านไร่ หรือลดลงเฉลี่ย 8.6 แสนไร่/ปี

สวนทางกับนโยบายป่าไม้แห่งชาติ และเป้าหมายรัฐบาล โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำหนดยุทธศาสตร์การเติบโตของประเทศให้อยู่ภายใต้นโยบายการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Growth) ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 11 โดยมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้ได้ 128 ล้านไร่ หรือ 40% ของพื้นที่ประเทศ 320 ล้านไร่

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากหน่วยงานรัฐร่วมมือกันผลักดันนโยบายจัดระเบียบบุกรุกป่าให้เกิดผลในทางปฏิบัติ เดินหน้าป้องกันปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายด้านป่าไม้ สัตว์ป่า ทรัพยากรแร่ และมลพิษอย่างจริงจัง ก็น่าจะช่วยลดคดีเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ระดับหนึ่ง แม้ไม่อาจหวังผลเลิศว่าจะสามารถปราบโค่นนายทุน ผู้มีอิทธิพล นักการเมืองที่จ้องฮุบป่าได้อย่างราบคาบ

ตามแผนที่วางไว้ ศูนย์ป้องกันปราบปรามฯ กับศูนย์ย่อย ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามสถานีตำรวจภูธรทั่วประเทศ ดีเดย์ออกสตาร์ตยุทธการพิทักษ์แผ่นดิน ปราบปรามการกระทำผิดเป็นระยะเวลา 1 เดือนเต็ม ตั้งแต่ 18 มิถุนายนถึง 18 กรกฎาคมนี้ ทั้งการกวาดล้างจับกุม ปิดล้อม ตรวจค้นผู้กระทำผิดกฎหมาย การจัดกิจกรรมปลูกป่า บวชป่า ไปจนถึงรณรงค์ปลุกจิตสำนึกในการป้องกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติ

ขณะที่ทีมป่าไม้เดนตายยังน่าห่วง เพราะหลังอดีตปลัดกระทรวงทรัพย์ เจ้าของไอเดียโดนโยกย้าย ถึงวันนี้ก็ยังไม่รู้อนาคตว่าจะได้รับไฟเขียวให้รุกต่อ หรือต้องแยกย้ายกันกลับที่ตั้ง หากเป็นอย่างหลัง ขบวนการตัดไม้ทำลายป่าในพื้นที่เฝ้าระวัง 52 จังหวัด ทั้งเหนือ อีสาน กลาง ใต้ คงเฮกันลั่น

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2557

นักวิชาการพระปกเกล้าฯ ชงยุบศาล รธน.



 สถาบันพระปกเกล้าได้จัดงานสัมนาทางวิชาการในหัวข้อ “นำเสนอประเด็นการอภิปราย การปฏิรูปประเทศไทย : ดุลแห่งอำนาจ” ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเมืองการปกครองงแก่ประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ทั้งเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน และเพื่อให้ได้ข้อเสนอเชิงนโยบายที่เป็นรูปธรรมสำหรับข้อมูลประกอบการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้นในอนาคต โดยมีนายลิขิต ธีรเวคิน อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ นายอัษฎางค์ ปาณิกบุตร อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง นายกิตติศักดิ์ ปรกติ คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และนายพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิทยากรผู้บรรยาย

 นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวเปิดงานว่า การสัมมนาทำนองนี้ควรหมดไปจากเมืองไทย เพราะได้มีการพูดลักษณะนี้มา 30 กว่าปีแล้ว รัฐธรรมนูญ 2540 ที่ต่างชาติบอกเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด ในปลายศตวรรษที่ 20 แต่รัฐธรรมนูญนี้ก็มีอายุแค่ถึงวันที่ 19 กันยายน 2549 จนนำมาสู่การร่างใหม่กลายเป็นรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งสุดท้ายก็ถูกยกเลิกไปอีก จนทำให้เรายังต้องมาพูดเรื่องปฏิรูปการเมือง แม้จะเหนื่อยแต่ก็ต้องพูดเพราะปัญหามีอยู่จริง ดุลแห่งอำนาจเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมไทย จำเป็นที่ต้องมานั่งรื้อดูกันว่าดุลแห่งอำนาจที่แท้จริงคืออะไร เกิดมาจากการแบ่งอำนาจของข้าราชการทหารพลเรือน คนมั่งมีระดับบน พรรคการเมือง หรือคนชั้นกลางระดับล่าง หรือไม่ หรือมีมากกว่านั้น ที่ต้องมาหากันใหม่เพราะเห็นว่ามีผู้เสนอให้มีการปฏิรูปประเทศ ไม่ใช่แค่ปฏิรูปการเมือง วันนี้จึงต้องมีการเปิดรับฟังความเห็น และเสนอความรู้ในเรื่องดุลแห่งอำนาจเพื่ออภิปรายว่าข้อเสนอที่รวบรวมมาเป็นอย่างไร แต่ไม่ว่าจะเสนออะไรก็ตามให้นึกเสียก่อนว่าอะไร คือ ปัญหาที่แท้จริงและจะทำอย่างไร จึงจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ เพื่อหาทางออกจากความขัดแย้งและปฏิรูปการเมืองไทยที่เหมาะสมต่อไป

 จากนั้นนายลิขิต กล่าวว่า การที่เกิดความพยายามแบ่งแยกหรือถ่วงดุลอำนาจ ซึ่งในข้อเท็จจริงมันคือการแบ่งอำนาจการปกครอง บางทีทุกวันนี้ฝ่ายนิติบัญญัติทำหน้าที่เหมือนฝ่ายบริหารไปแล้ว พูดตรงๆ ว่ารัฐธรรมนูญ 2540 พยายามทำให้เกิดดุลยภาพที่ได้ก่อตั้งองค์กรอิสระต่างๆ เพื่อจัดแจงการถ่วงดุลอำนาจ แต่การถ่วงดุลนั้นขึ้นอยู่กับตัวแปรคือตัวผู้มีอำนาจ ตัวองค์กร และผู้ที่ตรวจสอบ การถ่วงดุลอำนาจถ้าแข็งระบบจะไม่เป็นระบบ ถ้าคุมจนกระดิกไม่ได้ก็จะแข็งหรือถ้าหลวมไปก็คุมไม่ได้ ดังนั้นการถ่วงดุลที่ดีต้องมีระบบที่มีเสรีภาพแต่ไม่ละเมิดเสรีภาพ ต้องไม่มีคำว่าเผด็จการเสียงข้างมากหรือเสียงข้างน้อย

 นายลิขิต กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการปฏิรูปตนมีข้อเสนอ ได้แก่ จะทำอย่างไรก็แล้วแต่ ระบบการเมืองที่ตั้งขึ้นมาต้องคุยกันก่อนว่าจะเอาอย่างไร ต้องถามก่อนว่าจะเอาประชาธิปไตยหรือไม่และเอาแบบไหน ไม่ใช่อยู่ดีๆ มาร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้นต้องสร้างระเบียบการเมืองให้อยู่ร่วมกันได้โดยสันติซึ่งประชาชนต้องมีความผาสุก ต้องมีคามหวัง สังคมต้องยุติธรรมและมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ถ้าการปฏิรูปไม่มีประเด็นนี้ก็จะกลายเป็นการปฏิวัติ มีการใช้ความรุนแรง โดยการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ต้องคำนึงถึงประเด็นนี้ อีกทั้งสังคมต้องมีความเป็นพลเมืองมีวินัยสิทธิและเสรีภาพ การปฏิรูปมีตัวแปร คือ การปฏิรูปที่คนโดยเฉพาะการปฏิรูปการศึกษา ต้องมีการศึกษาวัฒนธรรมทางการเมือง ไม่รู้ไม่ได้ ทุกคนต้องมีส่วนร่วมทางการเมืองและระบบการเมืองต้องตอบสนองทางการเมืองอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งทุกครั้งที่มีการร่างรัฐธรรมนูญ ควรมีการทำประชามติทุกมาตรา

 ด้านนายณวัฒน์ ศรีปัดถา และ น.ส.ชมพูนุท ตั้งถาวร นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ได้นำเสนอข้อมูลที่สถาบันพระปกเกล้ารวบรวมจากบทความวิชาการ เวทีเสวนา ตลอดจนสื่อต่างๆ แต่ไม่ใช่ข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้าเอง ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจัดดุลอำนาจของสถาบันการเมืองที่เกี่ยวข้องกับระบบรัฐสภาไทย ประเด็นเรื่องงขอบเขตอำนาจ หน้าที่ขององค์กรนั้นๆ และได้นำข้อเสนอมาจัดกลุ่มและวิเคราะห์ผลดีผลเสียเพื่อนำไปสู่ข้อเสนอการปฏิรูป โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า ดุลอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารที่มีปัญหาคือรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ได้ห้าม ส.ส.เป็นรัฐมนตรี เท่ากับถ้าหาก ส.ส.ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีก็จะยังดำรงตำแหน่ง ส.ส.ได้ จึงมีข้อเสนอว่าเมื่อ ส.ส.ได้รับการแต่งเป็นรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. ซึ่งจะมีข้อดีในแง่ทำให้ไม่เกิดผลประโยชน์ขัดกันและสร้างความมีเสถียรภาพให้รัฐบาล แต่ข้อเสีย คือ อาจทำให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจต่อรองมาก เนื่องจากถ้านายกรัฐมนตรีปลดรัฐมนตรีออกแล้ว ก็จะหลุดจากตำแหน่ง ส.ส.ไป

 นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้ากล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญยังกำหนดให้รัฐสภาเป็นผู้เลือกนายรัฐมนตรี โดยต้องเลือกจากผู้ที่เป็น ส.ส. ทำให้ฝ่ายบริหารคือนายกรัฐมนตรีและเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาเป็นพวกเดียวกัน ไมม่สามารถตรวจสอบและถ่วงดุลกันได้อย่างแท้จริงในทางปฏิบัติ โดยมีการเสนอว่าให้ลดทอนความสัมพันธ์ระหว่างนายกและรัฐสภาที่กำหนดให้นายกมาจากการเลือกตั้งโดยตรง ซึ่งข้อดีคือนายกและเสียงส่วนใหญ่ในสภาอาจไม่ใช่พวกเดียวกันและทำให้ได้ฝ่ายบริหารที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง ส่วนข้อเสียจะทำให้ระบบรัฐสภาซึ่งประมุขของรัฐกับประมุขของฝ่ายบริหารเป็นคนละคน การเลือกตั้งนายกฯ ที่เป็นประมุขฝ่ายบริหารโดยตรงอาจทำให้เกิดการนำฐานเสียงประชาชนไปตั้งคำถามกับความขอบธรรมประมุขของรัฐได้ อีกทั้งหากนายกมาจากการเลือกตั้งโดยตรงนั้น นายกฯ ย่อมอ้างได้ว่าตนเป็นตัวแทนประชาชนอย่างแท้จริง อาจทำให้รัฐสภาหมดความชอบธรรมที่จะตรวจสอบฝ่ายบริหารทันที

 ส่วนดุลอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและตุลาการโดยจะเน้นไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญมักถูกมองว่าใช้อำนาจกระทบฝ่ายบริหาร นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้ากล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหลัก คือ ควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย ทั้งนี้การใช้อำนาจในการวินิจฉัยในหลายคดีของศาลรัฐธรรมนูญมักถูกมองว่าก้าวล่วงการใช้อำนาจในส่วนที่เป็นของรัฐสภา จึงมีข้อเสนอให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญและกลับไปใช้รูปแบบคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ โดยมาจากสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี รวมทั้งตุลาการที่มาจากศาลปกครองและศาลฎีกา หรืออีกข้อเสนอหนึ่งคือต้องกำหนดกรอบให้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญว่าเรื่องใดเป็นเรื่องความชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งให้องค์กรอย่างศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบได้ ส่วนเรื่องใดเป็นเรื่องการเมืองก็ให้องค์กรการเมืองเป็นผู้ตรวจสอบและถ่วงดุลกันเอง

ที่มา.ข่าวสด
------------------------------------

วันพุธที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ล้างบาง 104 โครงการ อนุรักษ์พลังงาน 6 พันล้าน !!?


คสช.ลากไส้ กองทุนอนุรักษ์พลังงาน พัวพันนักการเมืองชงเองกินเอง เผยปี 57 ตั้งลำ 104 โครงการ 6 พันล้าน กูรูแนะปลดแอก ออกคำสั่งปฏิวัติตั้งเป็นกองทุนอิสระเหมือนสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เพื่อความโปร่งใส ชงเช็กบิลอีก “ซื้อเครื่องบิน-โซล่าร์เซลล์-สุวรรณภูมิ”

ได้นำเสนอข่าวความไม่โปร่งใสในการใช้จ่ายงบก้อนโตในกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สนใจเข้าไปตรวจสอบ โดยล่าสุดคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ หรือ คตร. ที่มีพล.ท.อนันตพร กาญจนรัตน์ ปลัดบัญชีทหารบก เป็นประธาน ได้ส่งคณะอนุกรรมการเข้าตรวจสอบโครงการดังกล่าว พร้อมกับอีก 7 โครงการที่ใช้งบประมาณเกิน 1,000 ล้านบาท คาดว่าจะตรวจสอบแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้

 แฉ อนุรักษ์พลังงาน เข้าเป้าแค่ 12%

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลการใช้เงินในกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานที่ไม่โปร่งใสยังหลั่งไหลออกมาต่อเนื่อง โดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน เปิดเผย “สยามธุรกิจ” ว่า เนื่องจากการใช้จ่ายเงินในกองทุนดังกล่าวเป็นเงินนอกงบประมาณอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวง พลังงาน ทำให้มีช่องโหว่ในการนำเงินไปใช้อย่างไม่โปร่งใส ซึ่งเมื่อหลายปีก่อนตนเคยทำหน้าที่ในคณะอนุกรรมการประเมินผลการใช้จ่ายเงินในกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานพบว่า มีการดำเนินการนำไปใช้ตรงตามวัตถุประสงค์เพียง 12% เท่านั้น ที่เหลืออีก 88% รั่วไหลออกไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ โดยที่ผ่านมามีนักการเมืองทุกพรรค การเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง

“ที่เกี่ยวข้องกับเงินในกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานมี 2 ชุด คือคณะกรรมการนโยบายและแผน มีรองนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีเป็นผู้กำกับดูแล และคณะอนุกรรมการประเมินผล ซึ่งคณะอนุกรรมการชุดนี้อยู่ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการนโยบาย ทำให้การตรวจสอบความโปร่งใสเป็นไปอย่างยากลำบาก เมื่อมี คสช. เชื่อว่าจะมีการตรวจสอบให้โปร่งใส และควรมีคำสั่งตั้งกองทุนฯ ออกมาจากกระทรวงพลังงาน เพื่อความเป็นอิสระและโปร่งใสในการตรวจสอบ อย่างเช่นที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ และญี่ปุ่น”

104 โครงการ 6 พันล้านระทึก

ด้านแหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2557 กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้รับเม็ดเงินจำนวน 6,524 ล้านบาท โดยที่ประชุมคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2556 ได้เห็นชอบเพื่อดำเนินโครงการด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน รวมทั้งสิ้น 104 โครงการ วงเงิน 6,524 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี (พ.ศ.2554-2573)

สำหรับโครงการสำคัญในการดำเนินการตามแผนอนุรักษ์พลังงานปี 2557 ประกอบด้วย 1.โครงการอนุรักษ์พลังงานสำหรับการเปลี่ยนหลอดไฟฟ้าประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูง (หลอด LED) 2.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเครื่องทำน้ำเย็น (Chiller) ในภาคอุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจ 3.โครงการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในอาคารภาครัฐ เน้นการส่งเสริมในสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา และกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ 4. โครงการส่งเสริมมาตรการอนุรักษ์พลังงาน โดยเน้นการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 5.โครงการส่งเสริมการใช้วัสดุอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงในภาคประชาชน เพื่อช่วยเหลือให้ประชาชนสามารถซื้ออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าประสิทธิภาพสูงในราคาถูก

ส่วนอีก 7 โครงการ ที่ คตร.กำลังตรวจสอบในลำดับแรก ได้แก่ 1.โครงการจัดหารถรุ่นใหม่ สำหรับบริการเชิงพาณิชย์ จำนวน 115 คัน ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) 2. โครงการจัดหารถจักร จำนวน 126 คัน ของ ร.ฟ.ท. 3.โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 ปี 2554-2560 ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. 4.โครงการจ้างให้บริการระบบตรวจสอบ และคัดกรองผู้โดยสารล่วงหน้า ของ ทอท. 5.โครงการสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล(กสทช.) 6.โครงการจัดการเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ของกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 7.โครงการสร้างโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 ของทีโอที

เครื่องบิน-โซล่าร์เซลล์จ่อเช็กบิล

นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศ ไทย) เสนอให้ คสช. เข้าไปตรวจสอบเพิ่มเติมอีก 3 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการจัดซื้อฝูงบินใหม่ของการบินไทย วงเงิน 2.4 แสนล้านบาท 2.โครงการผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ 800 ชุมชน 800 เมกะวัตต์ มูลค่า 4 หมื่นล้านบาท และการขยายสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 ที่จะใช้งบประมาณปี 2558

โครงการเหล่านี้ใช้เงินงบประมาณเป็นจำนวนมาก และอาจทำให้เกิดการคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นได้ จึงเสนอให้ คสช.เข้าไปตรวจสอบเพิ่มเติม เพราะการตรวจสอบโครงการจัดซื้อจัดจ้างขนาดใหญ่ ที่ คสช.กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ถือเป็นประโยชน์ต่อประเทศที่จะทำให้ไม่มีการคอร์รัปชั่นเกิดขึ้น” นายประมนต์ กล่าว

 บิ๊กรัฐวิสาหกิจพลังงานทยอยไขก๊อก

ทางด้านความเคลื่อนไหวของหน่วยงานด้านพลังงานนั้น นางอัญชลี ชวนิชย์ นายกสมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทยและพันธมิตร เปิดเผยว่า ตนเองได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แล้ว เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ที่ผ่านมา เพื่อเปิดทางให้ คสช. ทำการปฏิรูปพลังงานทั้งระบบตามนโยบาย ซึ่งตนขอยืนยันว่า ไม่ได้ถูกกดดันแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ประธานบอร์ดรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานคือ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร ประธานกรรมการ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ก็ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่ง มีผล 16 มิถุนายน 2557 เช่นเดียวกับนายณอคุณ สิทธิพงศ์ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ประธานกรรมการ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ก็ได้ส่งหนังสือถึงตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แจ้งลาออกเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2557 เช่นกัน

ที่มา.สยามธุรกิจ
----------------------------------

วันอังคารที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ปลัด ก.เกษตรฯ ตั้งชุดเฉพาะกิจตรวจจับ ปุ๋ยปลอม -ไม่ได้มาตรฐาน !!?



ปลัดเกษตรฯ ลั่นเอาจริงปราบปรามปุ๋ยและสารเคมีทางการเกษตรปลอม-ไม่ได้มาตรฐาน ตั้งชุดเฉพาะกิจตรวจจับสารเคมีทางการเกษตร ปุ๋ย วัตถุอันตราย และเมล็ดพันธุ์พืชในสถานที่ของผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้นำเข้า หรือผู้มีไว้ในครอบครอง ให้ถูกต้องตามกฎหมาย

 นายชวลิต   ชูขจร  ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญเรื่องการควบคุม ตรวจสอบคุณภาพปุ๋ย และสารเคมีทางด้านการเกษตรที่ถือเป็นต้นทุนที่สำคัญของเกษตรกร จึงได้มีการแต่งตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบและป้องกันการจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่ไม่เป็นไปตามคุณภาพมาตรฐาน โดยมีปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ เช่น กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยปุ๋ยและวัตถุอันตรายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  รวมถึงกำหนดแนวทางการตรวจสอบและป้องกันการจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรปลอมหรือไม่เป็นไปตามมาตรฐาน

โดยล่าสุดทางคณะกรรมการฯ ได้แต่งตั้ง คณะทำงานเฉพาะกิจตรวจสอบปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มีนายวิทยา  ฉายสุวรรณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ ซึ่งคณะทำงานชุดดังกล่าวจะเป็นหน่วยปฏิบัติการในการตรวจสอบสารเคมีทางการเกษตร ปุ๋ย วัตถุอันตราย และเมล็ดพันธุ์พืชในสถานที่ของผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้นำเข้า หรือผู้มีไว้ในครอบครอง ให้เป็นไปตามกฎหมาย  และมีอำนาจในการจัดชุดปฏิบัติการพิเศษ โดยสนธิกำลังจากกรมปศุสัตว์ สารวัตรกรมวิชาการเกษตร หรือเจ้าพนักงานตำรวจในพื้นที่ เพื่อปฏิบัติการตรวจสอบและดำเนินคดีกับผู้ทีกระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับสารเคมีทางการเกษตร ปุ๋ย วัตถุอันตราย และเมล็ดพันธุ์พืช  เนื่องจากหลังจากที่เกษตรกรได้รับเงินจำนำข้าวเรียบร้อยแล้วและจะเริ่มฤดูกาลผลิตใหม่ จึงอาจจะเป็นโอกาสให้ผู้ผลิตปุ๋ยปลอมและสารเคมีการเกษตรใช้ช่วงเวลาดังกล่าวมาเอาเปรียบเกษตรกรได้ พร้อมทั้งได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่เร่งให้ความรู้ที่ถูกต้องในการใช้ปัจจัยการผลิตที่ถูกต้องตามกฏหมาย รวมถึงปริมาณที่ถูกต้องเหมาะสมตามหลักวิชาการด้วยเช่นกัน        

“จากการดำเนินงานปราบปรามผู้ฝ่าฝืนกฎหมายตาม พรบ. ปุ๋ย และ พรบ.วัตถุอันตราย กรมวิชาการเกษตร ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากการขายตรงให้กับเกษตรกรในราคาถูก เป็นปุ๋ยปลอมไม่มีคุณภาพโดยผ่านผู้นำหมู่บ้าน และมีการเร่ขายตรงกับเกษตรกรในราคาถูก  จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตรร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค กรมสอบสวนคดีพิเศษ สืบหาข้อมูลการผลิตและจำหน่าย แล้วเข้าดำเนินการจับกุมผู้ผลิตและจำหน่ายที่ฝ่าฝืนกฎหมายซึ่งผลการดำเนินการในรอบปีที่ผ่านมาพบผู้กระทำผิดจำนวน 32 ราย ของกลาง 7,929 ตัน มูลค่า 196 ล้านบาท เป็นคดีปุ๋ยจำนวน 24 ราย น้ำหนัก 7,884 ตัน มูลค่า 157 ล้านบาท และจับกุมผู้ผลิตวัตถุอันตรายปลอม 8 ราย จำนวน 45 ตัน มูลค่า 39 ล้านบาท”  นายชวลิต กล่าว

  ด้านนายดำรง  จิรสุทัศน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากแหล่งจำหน่ายปุ๋ยและสารเคมีทางการเกษตรส่วนใหญ่กว่า 95 % ผ่านช่องทางสถาบันการเงินที่เกษตรกรกู้ยืมเงินเพื่อทำการเกษตร ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตร (ธ.ก.ส.) และสหกรณ์ต่างๆ  ดังนั้น มาตรการแรกที่กรมวิชาการเกษตรในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบและป้องกันการจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่ไม่เป็นไปตามคุณภาพมาตรฐาน และหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการกำกับ ตรวจสอบคุณภาพสารเคมีทางการเกษตร จะทำหนังสือประสานขอความร่วมมือไปยังสถาบันต่างๆ ในการพิจารณาคัดเลือกปัจจัยการผลิตที่ได้มาตรฐานและคุณภาพมาจำหน่ายให้แก่เกษตรกร รวมถึงพร้อมรับตัวอย่างปัจจัยการผลิตมาตรวจสอบคุณภาพก่อนที่จะนำไปจำหน่ายให้แก่เกษตรกรด้วย

ที่มา.นสพ.ฐานเศรษฐกิจ
///////////////////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ธปท.มึนคนไทยขาดวินัยหนี้ท่วม ยอดขอคำปรึกษาปรับโครงสร้างหนี้สูง !!?

ธปท.หู ชา ประชาชนหนี้ล้นพ้นตัว ขอคำปรึกษา ศคง.ปัญหาสินเชื่อ ปรับโครงสร้างหนี้พุ่ง 3 เท่า จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เหตุเศรษฐกิจซบ คนไทยขาดวินัยการเงิน ตีคู่สถิติเรื่องร้องเรียนพฤติกรรมเจ้าหน้าที่แบงก์เพิ่มเท่าตัว

นาง ชนาธิป จริยาวิโรจน์ ผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) หน่วยงานในสังกัดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากการจัดเก็บข้อมูลการให้ข้อมูล คำปรึกษา และรับเรื่องร้องเรียนในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา พบว่าเรื่องที่ประชาชนขอข้อมูลและคำปรึกษาส่วนใหญ่เป็นเรื่องการไถ่ถอน พันธบัตรตามที่ ธปท. ได้จัดส่งเอกสารคำขอรับคืนต้นเงินพันธบัตร ลำดับต่อมาคือเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ หลังจากมีภาระหนี้สินเพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากหนี้บัตรเครดิต หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล จากที่ขาดสภาพคล่อง มีรายได้ไม่เพียงพอ และเป็นประเด็นที่สอบถามขอคำปรึกษาในจำนวนมากทุกไตรมาส

"ปัญหา ปรับโครงสร้างหนี้มีทุกไตรมาส ในภาวะเศรษฐกิจชะลอ มีส่วนทำให้ความสามารถชำระหนี้ของประชาชนน้อยลง แต่อีกเหตุผลหนึ่งเกิดจากประชาชนใช้จ่ายเกินตัวและไม่มีวิธีรักษาสมดุล ระหว่างหนี้สินกับรายรับ ทำให้ยอดการรูดบัตรเครดิต กดบัตรเงินสดเพิ่มสูงขึ้น พอเต็มวงเงินก็ขาดสภาพคล่อง" นางชนาธิปกล่าว

อย่าง ไรก็ตาม จากสถิติปีนี้ยังพบด้วยว่า มีการขอคำปรึกษาเกี่ยวกับเครดิตบูโรเพิ่มขึ้น เนื่องจากประชาชนต้องการทำความเข้าใจและข้อมูล เพื่อแก้ไขหากติดแบล็กลิสต์ ส่วนแนวโน้มเรื่องร้องเรียนในไตรมาส 2 ก็ยังคาดว่าจะเป็นเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ จากปัญหาเรื่องไม่มีวินัยการเงิน

ทั้งนี้ จากรายงานของ ศคง.ที่เผยแพร่ล่าสุด พบว่าในไตรมาส 1/57 มีประชาชนขอข้อมูล คำปรึกษาและร้องเรียนผ่านช่องทางโทรศัพท์ เว็บไซต์ ฯลฯ รวม 15,490 ราย โดยในจำนวนนี้มี 12,848 เรื่องที่ได้รับการบันทึกข้อมูล แบ่งเป็น เรื่องขอข้อมูลขอคำปรึกษา 12,093 เรื่อง ร้องเรียน 691 เรื่อง แจ้งเบาะแสข้อมูลภัยการเงิน 39 เรื่อง และให้คำเสนอแนะ ธปท. 25 เรื่อง ในจำนวนเรื่องร้องเรียน 691 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องร้องเรียนบริการของสถาบันการเงิน พบว่า 444 เรื่อง อันดับ 1 คือ การร้องเรียนพฤติกรรมเจ้าหน้าที่สถาบันการเงินเพิ่มเป็น 150 เรื่อง จากช่วงเดียวกันปีก่อนมี 75 เรื่อง นอกนั้นเป็นการร้องเรียนการบันทึกข้อมูลเงินต้น ยอดหนี้ ค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ยไม่ถูกต้อง ปัญหาจากเงินฝากและตั๋วเงิน การขายพ่วงผลิตภัณฑ์การเงิน (cross sell) การถูกหลอกลวงทางอีแบงกิ้ง เครดิตบูโรไม่แก้ไขข้อมูลทั้งที่ชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้ว เป็นต้น

ขณะ ที่มีการขอความอนุเคราะห์สถาบันการเงินในเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้มาเป็น อันดับ 1 จำนวน 180 เรื่อง จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีเพียง 61 เรื่อง นอกนั้นเป็นขอลดหรือยกเว้นดอกเบี้ยค่าธรรมเนียม

นอกจากนี้ยังพบ เรื่องร้องเรียนด้านสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อธุรกิจ ใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ เงินต้นและยอดหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสดไม่ถูกต้อง ซึ่งสถาบันการเงินได้แก้ไขโดยปรับปรุงข้อมูลลูกค้า ออกหนังสือยืนยันชำระหนี้รวมทั้งแก้ไขข้อมูลเครดิตให้กับลูกค้า (ยกเว้นกรณีบัตรเครดิตที่ไม่มีการออกหนังสือยืนยัน) หรือเรื่องการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมที่ไม่เหมาะสม การคิดดอกเบี้ยไม่เป็นไปตามข้อตกลง ซึ่งบางกรณีเกิดจากลูกค้าไม่เข้าใจในข้อสัญญาและวิธีคิดดอกเบี้ย ขณะเดียวกันสถาบันการเงินได้ตอบชี้แจงหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณดอกเบี้ยให้ ผู้ร้องเรียนแล้ว

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////