--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอาทิตย์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

รัฐเช็กบิล สำนักบัญชีแต่งภาษี สรรพากร ขู่เจอคุก !!?

อธิบดีสรรพากรคนใหม่ ประสงค์ พูนธเนศ เข้มสั่งทั่วประเทศสแกนยิบบริษัทเสียภาษีไม่ถูกต้อง กดดัน สำนักงานบัญชี ช่วยแต่งข้อมูลเสียภาษีต่ำ มีโทษสูงสุดจำคุก 7 ปี ไล่บี้ภาษีทั้งปีไม่ต่ำกว่า 1.8 ล้านล้านบาท เผย 7 เดือนแรกต่ำเป้ากว่า 3 หมื่นล้าน ร่อนหนังสือเชิญสำนักงานบัญชีแจง 30 ก.ค.นี้

แหล่งข่าวจากกรมสรรพากรเปิดเผยว่า หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้งนายประสงค์ พูนธเนศ เป็นอธิบดีกรมสรรพากรคนใหม่ เมื่อวันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา นายประสงค์ได้มีการเรียกประชุมมอบนโยบายผู้บริหาร สรรพากรภาคและสรรพากรพื้นที่ โดยสั่งให้สรรพากรพื้นที่ทุกแห่งเข้าไปสุ่มตรวจบริษัทนิติบุคคลในแต่ละพื้นที่พิจารณาดูแล้วน่าจะเสียภาษีไม่ถูกต้อง โดยให้สรรพากรพื้นที่ส่งรายชื่อมาที่ส่วนกลาง โดยส่วนกลางจะตรวจสอบสำนักงานบัญชีที่ทำบัญชีภาษีให้บริษัทดังกล่าวอย่างเข้มข้น เพราะถือว่ามีความเสี่ยงสูง

โดยสรรพากรจะตั้งสมมติฐานว่าหากมีบริษัทหนึ่งบริษัทใดที่อยู่ในการดูแลของสำนักงานบัญชีแห่งนั้นทำไม่ถูกต้อง ก็เชื่อได้ว่าบริษัทนิติบุคคลอื่น ๆ ที่สำนักงานบัญชีแห่งนั้นทำบัญชีให้ก็น่าจะเกเรด้วย หากพบบริษัทใดทำไม่ถูกต้อง ก็ต้องสมมติฐานว่าผู้ที่ทำบัญชีมีส่วนร่วมทำผิดด้วย วิธีการนี้จะเป็นมาตรการกดดันให้ทุกบริษัทต้องทำบัญชีให้ถูกต้อง" แหล่งข่าวกล่าวและว่า

แม้ว่าสำนักงานบัญชีจะมีสภาวิชาชีพการบัญชีดูแลควบคุมจริยธรรมกันเอง แต่ที่ผ่านมาเมื่อกรมสรรพากรมีการส่งชื่อสำนักงานบัญชีที่ถูกแบล็กลิสต์ไปให้ ทางสภาวิชาชีพก็ไม่ให้ความร่วมมือในการถอดถอนสำนักงานบัญชีนั้น โดยอ้างว่าบัญชีภาษีเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่บัญชีทั้งหมด ดังนั้นสรรพากรก็ต้องใช้มาตรการเข้มงวด

"อธิบดีกำชับทุกพื้นที่ว่า ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ 2557 นี้ ต้องเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บให้เต็มที่ เพื่อไม่ให้รายได้ทั้งปีหลุดเป้าหมายมากเกินไป โดยต้องไม่เกิน 9 หมื่นล้านบาท จากประมาณการจัดเก็บทั้งปีที่ 1.89 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะภาษีนิติบุคคลที่กำลังจะยื่น ภ.ง.ด.51 ในเดือน ส.ค.นี้" แหล่งข่าวกล่าวและว่า

เนื่องจากกรมสรรพากรกังวลว่าการจัดเก็บรายได้ภาษีนิติบุคคลที่จะต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ในช่วงเดือน ส.ค. ซึ่งจะเป็นตัวเลขที่สะท้อนภาพการทำธุรกิจในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2557 (ม.ค.-ส.ค.) จะออกมาต่ำกว่าประมาณการมาก เช่นเดียวกับการเก็บเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ที่สะท้อนผลประกอบการนิติบุคคลรอบครึ่งหลังปี 2556 ที่จัดเก็บต่ำกว่าเป้าถึง 31,348 ล้านบาท หรือ 10% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 3.1% ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการปรับลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 20% บวกกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอ ทำให้ไม่สามารถขยายฐานภาษีเพิ่มขึ้นได้

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สรรพากรจะเชิญสำนักงานบัญชีมาหารือ เพื่อขอความร่วมมือ ว่าทำอย่างไรจะให้บริษัทนิติบุคคลที่สำนักงานบัญชีนั้น ๆ ดูแลอยู่จะเสียภาษีอย่างถูกต้องครบถ้วน เนื่องจากสำนักงานบัญชีถือเป็นคนกลางที่มีสภาวิชาชีพควบคุมอยู่ และแต่ละสำนักงานบัญชีจะมีลูกค้าที่เป็นบริษัทนิติบุคคลอยู่ในมือหลายบริษัท ดังนั้นเชื่อว่ามาตรการนี้จะช่วยให้สามารถตรึงรายได้ปีนี้ให้หลุดเป้าไม่เกิน 9 หมื่นล้านบาทได้

อันดับแรกได้ทำหนังสือเชิญสำนักงานบัญชีในเขตกรุงเทพฯ ที่มีลูกค้าผู้เสียภาษีอยู่ในมือหลาย ๆ บริษัทเข้ามาหารือ ในวันที่ 30 ก.ค.นี้ ส่วนต่างจังหวัดทางสรรพากรภาคจะดำเนินการในลักษณะเดียวกัน โดยสำนักงานบัญชีทั่วประเทศที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์มีมากกว่า 10,000 ราย แต่กรมสรรพากรคงเลือกเชิญรายสำคัญ ๆ ที่มีลูกค้าในมือเยอะ ๆ มาคุยกัน ก็คงทยอยทำทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด

"การเรียกสำนักงานบัญชีมาคุยหนึ่งรายก็จะได้ลูกค้าผู้เสียภาษีอีกหลายราย เพราะเขาเป็นตัวกลาง มีลูกค้าในมือเยอะ ซึ่งถ้าทำไม่ดีเราก็จะแบล็กลิสต์ จริง ๆ ก็เป็นมาตรการที่ทำอยู่แล้ว เพียงแต่ตอนนี้จะเข้มขึ้น" ผู้บริหารกรมสรรพากรกล่าว

ทั้งนี้สำนักงานบัญชีถือว่าเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้บริษัทนิติบุคคลหลบภาษี ซึ่งหากตรวจสอบพบว่าเป็นตัวการในการร่วมกันหลีกเลี่ยงภาษี จะมีโทษจำคุก 3 เดือน สูงสุดถึง 7 ปี

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า การเรียกสำนักงานบัญชีมาหารือนั้น เป็นมาตรการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่จะทำให้ได้เม็ดเงินภาษีเพิ่มขึ้นในช่วงนี้เท่านั้น แต่การแก้ปัญหาระยะยาวจะต้องปรับโครงสร้างภาษีในภาพรวม

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า หลังจากการเปลี่ยนอธิบดีกรมสรรพากรคนใหม่แล้ว คาดว่าหลาย ๆ เรื่องคงต้องมีการทบทวน อาทิ การเพิ่มลดหย่อนค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลอีก 60,000 บาท ตามนโยบายอธิบดีกรมคนก่อนที่อาจจะไม่คุ้มค่า เพราะกรมสรรพากรมีภาระต้องตรวจสอบการยื่นแบบมากขึ้น ขณะเดียวกันยังมีการปรับปรุงการเก็บภาษีคณะบุคคลที่ต้องแก้ไขกฎหมาย รวมถึงการลงทุนระบบการรายงานภาษีซื้อ-ภาษีขาย ที่ยังไม่ค่อยมีความคืบหน้า ก็คงต้องทบทวนเช่นเดียวกัน

ส่วนการปรับโครงสร้างภาษีที่ก่อนหน้านี้ได้เสนอไว้ในโรดแมปต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั้น ยังคงเดินหน้าต่อไปตามแนวทางเดิม

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้นายประสงค์ได้ยกเลิกนโยบายให้ตรวจสอบภาษีผู้ครอบครองรถหรูราคาเกิน 3 ล้านบาท และบ้านราคาแพงตั้งแต่ 40 ล้านบาทขึ้นไป หลังจากที่เข้ารับตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากร โดยระบุว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่อ่อนไหว การเก็บภาษีต้องมองภาพรวม โดยดูตามศักยภาพความสามารถในการเสียภาษี เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมไม่เลือกเฉพาะเจาะจงที่กลุ่มใดเป็นพิเศษ และต้องพิจารณาจากเอกสารข้อเท็จจริงที่มี โดยเจ้าหน้าที่สรรพากรต้องตรวจสอบการเสียภาษีให้ถูกต้อง ไม่ให้มีการสร้างรายจ่ายเทียม

ข้อมูลจากกรมสรรพากรระบุว่า รายได้จากการจัดเก็บภาษีนิติบุคคล จะสูงเป็นอันดับสองรองจากรายได้จากการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) โดยในปีงบประมาณ 2554 มีสัดส่วนรายได้จากการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลอยู่ที่ 37.87% ของรายได้ภาษีทุกประเภท ปี 2555 มีสัดส่วน 33.67% และ ปี 2556 มีสัดส่วน 33.57% โดยในปีงบฯ 2554 มีตัวเลขรายได้จากการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลอยู่ที่ 574,152.10 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนหน้า 46.40% ต่อมาในปีงบประมาณ 2555 ที่มีการลดอัตราภาษีจาก 30% เหลือ 23% จัดเก็บได้ 544,590.66 ล้านบาท หรือลดลงไป 5.15% จากปีก่อนหน้า และปีงบประมาณ 2556 ที่มีการลดอัตราภาษีเหลือ 20% จัดเก็บได้ 592,345.96 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 8.77% จากปีก่อนหน้า

นางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย กรรมการสภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ขณะนี้ทางสภาวิชาชีพฯยังไม่ได้รับหนังสือหรือจดหมายจากกรมสรรพากรให้เข้าร่วมการหารือหรือขอให้ความร่วมมือส่งข้อมูลของนิติบุคคลให้กับสรรพากร อีกทั้งได้สอบถามไปที่สำนักงานบัญชีในสังกัด ต่างยืนยันว่ายังไม่ได้รับหนังสือเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม การส่งข้อมูลของนิติบุคคลที่เป็นลูกค้านั้น ผู้สอบบัญชีสามารถให้ข้อมูลเฉพาะที่เป็นความเห็นที่ลงชื่อไว้ในการแสดงงบดุลบัญชีเท่านั้น และหากจะมีการขอความร่วมมือให้ส่งข้อมูลนอกเหนือจากนี้ ก็ต้องเป็นข้อมูลที่ได้รับความยินยอมจากลูกค้า ซึ่งผู้สอบบัญชีหรือสำนักงานบัญชีจะให้เองไม่ได้ เนื่องจากผิดจรรยาบรรณ นอกจากว่าผู้ขอข้อมูลจะต้องเป็นผู้ที่มีอำนาจตามกฎหมายเท่านั้น

"การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีมีหลายวิธี ส่วนการรับผิดชอบต่อการแสดงงบการเงินก็อาจใช้ได้ แต่อันนี้ก็เป็นเรื่องของฝ่ายบริหารในธุรกิจด้วย เพราะผู้สอบบัญชีก็เข้าไปดูได้ปีละครั้งสำหรับนิติบุคคลทั่วไป ส่วนบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯก็รายไตรมาสเท่านั้น" นางสาวโสภาวดีกล่าว

ด้านนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในการประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ระบุถึงการติดตามและเป็นห่วงต่อการดำเนินนโยบายการคลังที่มีรายจ่ายมากกว่ารายได้ และการใช้เงินนอกงบประมาณมากขึ้น ส่วนหนึ่งก็เพราะเห็นว่าการเพิ่มรายได้ของประเทศไม่ตอบรับกับการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายโดยยกตัวอย่างข้อจำกัดของการเพิ่มรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ฐานภาษีปัจจุบันมีความหลากหลายน้อย และเป็นฐานภาษีจากรายได้มากกว่าฐานจากสินทรัพย์ ซึ่งในยามเศรษฐกิจไม่ดี รายได้ภาษีก็จะลดลง ดังนั้น นอกจากการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี ก็อาจต้องหาวิธีการขยายฐานภาษีด้วย

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น