--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2557

กลไกตลาด !!?

โดย. วีรพงษ์ รามางกูร

สิ่งมหัศจรรย์อย่างหนึ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นโดยตั้งใจหรือโดยธรรมชาติก็คือ "ตลาด" อันเป็นที่ผู้ต้องการซื้อกับผู้ต้องการขายสินค้าและบริการมาพบกัน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน ทำให้เกิดราคาที่ซื้อขายกันได้ ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้มนุษย์ไม่จำเป็นต้องผลิตของทุกอย่างที่ตนต้องการใช้อุปโภคบริโภคได้ แต่สามารถผลิตได้ แล้วนำไปซื้อขายแลกเปลี่ยนกับบุคคลอื่นที่มีความสามารถในการผลิตของอย่างอื่นได้

เมื่อความต้องการซื้อสามารถมาพบกับการต้องการขายได้ทำให้เกิดราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ มากมาย ไม่ใช่แต่เฉพาะชนิดของสินค้า แต่ลึกลงไปถึงคุณภาพสินค้าสีสันรูปแบบต่าง ๆ มากมาย

ตลาดไม่จำเป็นต้องมีสถานที่ใดที่หนึ่งที่เป็นพื้นที่ที่เป็นรูปธรรม อาจจะไม่มีสถานที่ใดเลยก็ได้ เพียงแต่ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ ไม่ว่าจะเป็นทางจดหมาย ทางโทรเลข ทางโทรศัพท์ ทางอินเทอร์เน็ต หรืออื่น ๆ ก็สามารถเป็นตลาดซื้อขายได้

การค้นพบการใช้เงินโลหะแล้วพัฒนามาเป็นเงินกระดาษ ตลอดจนระบบธนาคารและระบบการชำระเงินผ่านทางสถาบันการเงิน ก็ทำให้ตลาดสามารถพัฒนาก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น

การปล่อยให้กลไกตลาดทำงานอย่างเสรี ทำให้ตลาดสินค้าและบริการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

ในระบบเศรษฐกิจก็เหมือนกัน ในระบบตลาดเสรี กลไกตลาดก็จะเป็นตัวกำหนด หรือมี "มือที่มองไม่เห็น" เข้ามาจัดการว่าสังคมนั้น ระบบเศรษฐกิจนั้น หรือประเทศนั้น ควรจะผลิตอะไร สิ่งไหน ที่ตนได้เปรียบ เช่น ประเทศที่มีแรงงานมากเมื่อเทียบกับทุน ก็ควรจะผลิตสินค้าที่ใช้แรงงานมากเมื่อเทียบกับทุน ประเทศที่มีทุนมากเมื่อเทียบกับแรงงาน ก็ควรจะผลิตสินค้าที่ใช้ทุนมากเมื่อเทียบกับแรงงาน แล้วก็นำมาซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน ทำให้เกิดการค้าระหว่างประเทศ และถ้าปล่อยให้ประเทศต่าง ๆ มีการซื้อขายกันอย่างเสรีภายในภูมิภาคเดียวกัน

โดยการขจัดอุปสรรคกีดขวางการค้าซึ่งกันและกัน อันได้แก่ ภาษีขาเข้า ภาษีขาออก ข้อจำกัด กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ตลาดก็จะขยายใหญ่ขึ้น สามารถรองรับการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพได้ เหตุผลดังกล่าวจึงก่อให้เกิดการรวมตัวของประเทศต่าง ๆ เข้าเป็นประชาคมเศรษฐกิจ เริ่มจากประชาคมเศรษฐกิจยุโรป ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมเศรษฐกิจในภูมิภาคต่าง ๆ

การรวมตัวกันของประเทศต่าง ๆ ภายในภูมิภาคเพื่อลดภาษีขาเข้าขาออกและข้อจำกัดกีดขวางการค้าต่าง ๆ ระหว่างกันเท่านั้นยังไม่พอ ยังมีกระแสความกดดันให้เกิดระบบการค้าเสรีทั่วโลก โดยมี "องค์การค้าโลก" เป็นแกนกลางที่จะกดดันประเทศต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกให้เปิดตลาดการค้าสินค้าและบริการ รวมทั้งเปิดตลาดการลงทุนได้อย่างเสรี นอกจากนั้น การเปิดตลาดการเงินเพื่อให้เงินทุนไหลเข้าออกอย่างเสรี ก็เป็นกระแสกดดันที่สำคัญในเวทีการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศเพื่อให้กลไกตลาดสามารถทำงานได้ทุกระดับตลาดทุกชนิดสินค้าและบริการ ทั้งในระดับประเทศ ในระดับภูมิภาค เรื่อยไปถึงในระดับโลก ซึ่งเป็นแนวโน้มที่กดดันประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกอยู่ในขณะนี้

ความจริงแล้วระบบตลาดเสรี หรือการให้กลไกตลาดทำงานอย่างเสรี ก็มีจุดอ่อนและปัญหามากมาย จุดอ่อนที่สำคัญก็คือตลาดที่เสรีอย่างเต็มที่จะก่อให้เกิด "วัฏจักร" ซึ่งเริ่มตั้งแต่วัฏจักรของสินค้าแต่ละชนิด เช่น วัฏจักรหมู ก็เกิดขึ้นเพราะเมื่อราคาหมูแพงขึ้น คนเลี้ยงหมูก็จะเพิ่มการผลิตหมูเพราะราคาดี เมื่อทุกคนเพิ่มการผลิต ปริมาณหมูมากขึ้นราคาก็ตก พอราคาตกทุกคนก็ขาดทุนก็ลดการผลิต เมื่อปริมาณหมูเข้าสู่ตลาดน้อยราคาก็ถีบตัวสูงขึ้น วนเวียนอยู่อย่างนประมาณ 3-4 ปีมีครั้งหนึ่ง แล้วแต่วงจรการผลิต สินค้าเกษตรอย่างอื่นก็ประสบปัญหาเช่นว่านี้ แม้แต่สินค้าอุตสาหกรรมก็มีวัฏจักร

"วัฏจักร" เช่นว่ามิได้เกิดขึ้นเฉพาะสินค้าและบริการชนิดใดชนิดหนึ่งเท่านั้น แต่อาจจะเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจทั้งระบบ ซึ่งเรามักจะได้ยินอยู่เสมอว่า ขณะนี้เป็นช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น หรือเศรษฐกิจขาลง

เนื่องจากโลกในปัจจุบันเปิดกว้างถึงกันมากขึ้นเป็นลำดับ ตลาดสินค้าและบริการ ตลาดการเงินก็เชื่อมโยงถึงกันมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงของราคาค่าเงินก็ดี อัตราดอกเบี้ยก็ดี สินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมัน แร่ธาตุที่เป็นวัตถุดิบก็ดี

โดยกลไกตลาดก็จะมีผลเชื่อมโยงไปถึงกันทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะตลาดสินค้าบริการ ตลาดการเงินเท่านั้นที่มีการเชื่อมโย′ถึงกัน แม้แต่ตลาดแรงงานซึ่งปกติก็จะมีข้อจำกัดทั้งในตัวแรงงานเอง ที่ปกติถ้าไม่มีมูลเหตุจูงใจมากจริง ๆ หรือมีมูลเหตุผลักดันมากจริง ก็ไม่น่าจะมีใครอยากเคลื่อนย้ายตนเองไปทำงานในถิ่นที่อยู่ที่ตนไม่คุ้นเคย หรือโยกย้ายไปสู่ที่อื่นที่ตนไม่อาจจะมีสิทธิเสรีภาพ หรือฐานะทางสังคมที่ต่ำต้อยกว่าคนอื่น นอกเสียจากมีเหตุจูงใจ เช่น ค่าจ้างแรงงานที่สูงกว่ามาก ฐานะความเป็นอยู่ รวมทั้งสุขภาพชีวิตที่ดีกว่า และมั่นคงกว่า รวมทั้งอนาคตของบุตรหลานของตน ทั้งในด้านการศึกษา สาธารณสุข และสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ด้วย

พลังของกลไกตลาดมีอยู่สูงมาก แม้ว่าจะมีข้อเสียที่ทำให้เกิดวัฏจักรระบบเศรษฐกิจไม่มีเสถียรภาพ แต่ก็ไม่มีใคร หรือประเทศใดฝ่าฝืนต่อต้านพลังของ "กลไกตลาด" ได้

ครั้งหนึ่ง หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ความคิดทางสังคมนิยมแพร่หลายมากขึ้น เพื่อที่จะแก้ไขภาระขึ้นลงทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ มีความมั่นคง ไม่ขึ้นลงตามภาวะเศรษฐกิจ ประเทศหลายประเทศกลายเป็นประเทศที่จัดระบบเศรษฐกิจในรูปแบบ "คอมมิวนิสต์" หรือไม่ก็เป็นแบบสังคมนิยมโดย "รัฐ" เข้ามาแทรกแซงระบบตลาดและระบบเศรษฐกิจตั้งแต่แบบอ่อนเรื่อยไปจนถึงแบบที่เข้มข้น แต่ไม่ถึงกับเป็นระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ เช่น ประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย อังกฤษ และประเทศอื่นในยุโรปตะวันตก แต่ในที่สุดก็ไปไม่รอด เมื่อนายกรัฐมนตรีมาร์กาเรต แธตเชอร์แห่งอังกฤษ ประกาศต่อสู้กับสหภาพแรงงานเหมืองถ่านหิน ประกาศขายกิจการรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินการโดยรัฐบาล จนกลายเป็นรูปแบบสำคัญ กลายเป็นกระแสการแปรรูปรัฐวิสาหกิจกระจายไปทั่วโลกมาจนทุกวันนี้

การปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในทศวรรษ1980 ที่กระจายไปทั่วโลกและเป็นสาเหตุหนึ่งในหลาย ๆ สาเหตุที่ทำให้เกิดการล่มสลายของค่ายระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์และค่ายสังคมนิยม อันเป็นเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจทางการเมืองของโลก

สำหรับจีนและอินเดีย แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองดูจะไม่ค่อยรุนแรงเหมือนกับค่ายของสหภาพโซเวียตและยุโรปตะวันออก แต่การเปลี่ยนแปลงความคิดทางเศรษฐกิจก็รุนแรงไม่แพ้กัน เพราะระบบคอมมิวนิสต์ในจีนและระบบสังคมนิยมของพรรคคองเกรสของอินเดียก็ล่มสลายทั้ง 2 ประเทศ และหันกลับมาใช้ระบบตลาดหรือ "กลไกตลาด" ในการจัดการระบบการผลิตและระบบการจัดสรรทรัพยากรของประเทศมากขึ้น เพราะครั้งหนึ่งถ้าใครพูดถึง "กลไกตลาด" ในสหภาพโซเวียตหรือในจีน อาจจะถูกกล่าวหาว่าเป็น "คนบ้า" ต้องเอาไปล้างความคิดให้หมด

สำหรับจีนนั้นประสบความสำเร็จในด้านการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สามารถผลิตอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย รวมทั้งบริการทางด้านการศึกษา การสาธารณสุข และอื่น ๆ ซึ่งเคยเป็นสิ่งที่ขาดแคลนอย่างยิ่ง สมัยที่ยังไม่ได้ใช้ระบบตลาดหรือกลไกตลาดเป็นเครื่องมือในการตัดสินใจผลิตอะไร ผลิตอย่างไร และผลิตเพื่อใคร เป็นสมัยที่สังคมไม่อาจจะให้คำตอบได้เพราะ "รัฐ" เข้ามาแทรกแซงจัดการเสียเอง

ตัวอย่าง "กลไกตลาด" ที่เห็นได้ชัด คือระบบบริการทางการแพทย์ของเราที่เป็นระบบผสม มีระบบที่จัดบริการโดยรัฐโดยแท้ ให้บริการโดยใช้สถานที่เครื่องไม้เครื่องมือโดยรัฐ บุคลากรของรัฐ คิดราคาค่าบริการได้ แต่ก็ไม่สูงเท่ากับราคาตลาด ซึ่งเป็นระบบบริการทางการแพทย์ที่จัดโดยเอกชน โรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลของเอกชน

ผู้ใช้บริการสามารถเลือกได้ตามแต่ฐานะทางเศรษฐกิจของตน ผู้ที่รายได้ไม่มากก็อาจจะใช้บริการของรัฐในเวลากลางวัน  แต่ถ้าไม่ต้องการรอเข้าแถวที่ยาว หรือไม่ต้องการเสียเวลารอที่นาน เพราะเวลาของตนมีค่ามากกว่าจะต้องมาต่อแถวรอ อาจจะมาใช้บริการทางการแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐนอกเวลาราชการ โดยมีค่าบริการที่สูงขึ้น หรืออาจจะเลือกใช้สถานบริการของเอกชนที่มีบริการครบถ้วนมากกว่า สะดวกสบายมากกว่า แต่ก็ต้องจ่ายในราคาตลาด เป็นต้น

บทบาทของกลไกตลาดยังมีอีกมาก

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////

วันพุธที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2557

เปิดพิมพ์เขียว : คณะรักษาความสงบแห่งชาติ !!?

เล็งตั้งสนช.200คน-สภาปฏิรูปจากองค์กรวิชาชีพ140คน มอบ"วิษณุ"นำทีมยกร่างรธน.ชั่วคราว จ่อคืนชีพพรรคการเมือง

คสช.ตั้ง"วิษณุ เครืองาม"เป็นหัวหน้าทีมยกร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว แย้มพิมพ์เขียว ตั้งสนช. 200 คน มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด ส่วนสภาปฏิรูป 150 คน คัดจากองค์กรวิชาชีพ-การศึกษา 140 คน และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย 10 คน เผยเตรียมสั่งคืนชีพ "พรรคการเมือง" หลังสิ้นสภาพไปตามรธน. ด้านตำรวจออกหมายจับ 7 มือบึ้มเวทีกปปส.ตราดแล้ว

ในขณะที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กำลังเร่งขับเคลื่อนงานในกลุ่มงานการบริหารราชการแผ่นดิน และกลุ่มงานรักษาความสงบเรียบร้อยนั้น อีกด้านหนึ่งก็มีความคืบหน้าการเตรียมการยกร่างธรรมนูญการปกครอง หรือรัฐธรรมนูญชั่วคราว และการกำหนดพิมพ์เขียวสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รวมทั้งสภาปฏิรูปด้วย

แหล่งข่าวจาก คสช.เปิดเผยว่า ในการแถลงต่อประชาชนของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าคสช.เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ พูดค่อนข้างชัดเจนว่า หลังจากดูแลความสงบเรียบร้อยและทำให้สังคมไทยยุติความขัดแย้งและการใช้ความรุนแรงได้ระดับหนึ่งแล้ว จะเร่งดำเนินการเรื่องยกร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว จัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาปฏิรูป พร้อมทั้งมีรัฐบาลชุดใหม่ก่อนเริ่มปีงบประมาณ 2558 (ก่อน 1 ต.ค.2557)

แหล่งข่าวกล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการมอบหมายให้ นายวิษณุ เครืองาม นักกฎหมายชื่อดัง ซึ่งปรากฏชื่อเป็นหนึ่งในทีมที่ปรึกษา คสช. เป็นหัวหน้าคณะยกร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว

ส่วนสภานิติบัญญัติแห่งชาตินั้น ได้วางพิมพ์เขียวคร่าวๆ แล้วว่า จะมีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. จำนวน 200 คน มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด

ขณะที่สภาปฏิรูป ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ให้นโยบายว่าจะต้องทำงานเชื่อมโยงกับศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป หรือ ศปป.ซึ่งได้ตั้งศูนย์ฯย่อยๆ ขึ้นทั่วประเทศนั้น สภาปฏิรูปจะมีสมาชิก 150 คน ที่มาแยกเป็น 2 ส่วน คือ คัดเลือกจากองค์กรวิชาชีพและองค์กรการศึกษา จำนวน 140 คน ส่วนอีก 10 เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย แต่งตั้งโดย คสช. ทั้งหมดนี้คาดว่าจะเรียบร้อยลงตัวตามกรอบเวลาที่หัวหน้า คสช.กำหนดไว้

คสช.จ่อออกก.ม.คืนชีพพรรคการเมือง

อีกด้านหนึ่งผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ทำหนังสือสอบถามมาที่ คสช. ถึงสถานะพรรคการเมือง หลัง คสช.มีประกาศฉบับที่ 11 ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 ส่งผลให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองสิ้นสภาพการบังคับใช้ไปด้วย เช่นเดียวกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และพ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ได้มีประกาศรับรองการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว

แหล่งข่าวจากทีมกฎหมาย คสช.เปิดเผยว่า เมื่อมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 ไปแล้ว ส่งผลให้ พ.ร.บ.พรรคการเมืองสิ้นสภาพการบังคับใช้ไปด้วย ดังนั้นพรรคการเมืองที่มีอยู่ก็ต้องสิ้นสภาพไปตามรัฐธรรมนูญ แต่ขณะนี้หัวหน้าคสช.ได้สั่งการให้ทีมที่ปรึกษากฎหมายไปศึกษาข้อดีข้อเสียของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับที่สิ้นสภาพไปแล้วว่าควรจะมีการประกาศใช้ต่อไปหรือไม่ หากเห็นว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวส่งผลดีก็อาจจะออกเป็นประกาศหรือบรรจุลงในธรรมนูญปกครองชั่วคราว

“ในกรณีที่เห็นว่าพ.ร.บ.พรรคการเมืองควรมีผลบังคับใช้ เพราะเห็นว่ามีประโยชน์มากกว่าผลเสีย และคิดว่าควรจะออกเป็นประกาศ เราก็จะให้มีผลย้อนหลังให้กฎหมายคงสภาพไปเหมือนก่อนประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550”

ตั้ง"วิษณุ"นำทีมยกร่างรธน.ชั่วคราว

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า ในขณะนี้นายวิษณุ เป็นหัวหน้าคณะดำเนินการ ซึ่งทีมกฎหมายอยู่ระหว่างการร่างธรรมนูญการปกครองชั่วคราวอยู่ เป็นไปตามที่หัวหน้า คสช.เคยบอกว่ากรอบในการร่างเป็นไปตามประเพณี ซึ่งการประกาศใช้เป็นไปตามห้วงระยะเวลาที่ต้องให้สิ้นสุดสถานการณ์ในระยะที่ 1 ในการดูแลสถานการณ์ให้สงบก่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามประกาศคสช.ฉบับที่ 11 ในการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 ทำให้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 9 ฉบับสิ้นสภาพไปด้วย ได้แก่ 1. พ.ร.บ.ว่าการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ 2.พ.ร.บ.ว่าด้วยกรรมการการเลือกตั้ง 3. พ.ร.บ.ผู้ตรวจการแผ่นดิน 4. พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาความคดีอาญา 5.พ.ร.บ.ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 6.พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการเลือกตั้ง สว. 7. พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง 8.พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ 9.พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ แต่มีประกาศ คสช.ให้คงบังคับใช้กฎหมาย 5 ฉบับแรก ส่งผลให้กฎหมาย 4 ฉบับหลังสิ้นสภาพการบังคับใช้ลง

คสช.ตั้งคณะทำงานลุยปฏิรูป

ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ คณะทำงานโฆษกคสช. กล่าวถึงเรื่องการสร้างความปรองดองว่า มีการประชุมโดยมี พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เลขาธิการคสช.เป็นประธาน ได้ตั้งโครงสร้างปรองดองสมานฉันท์สองขา ขาแรกคือการตั้งศูนย์ปรองดอง ซึ่งเป็นงานสร้างบรรยากาศความเป็นมิตร โดยจะมีการประสานหน่วยงานต่าง ๆ มาทำงานร่วมกัน และอีกขามีการตั้งคณะเตรียมการทำงานปฏิรูป เพื่อให้ได้ข้อยุติเรื่องการปฏิรูปในอนาคตต่อไป

มอบกรมประชาฯทำสปอตสร้างความเข้าใจ

ขณะที่น.ส.ปัฐมาภรณ์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณะทำงานทีมโฆษกคสช. กล่าวว่า ขณะนี้หลายหน่วยงานกำลังดำเนินงานเรื่องความปรองดอง โดยในส่วนของกรมประชาสัมพันธ์จะจัดตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป ที่ใช้งบประมาณปกติของกรมประชาสัมพันธ์ในการสื่อสารทำความเข้าใจระหว่างคสช.กับประชาชน โดยจะผลิตและเผยแพร่สปอตโฆษณาต่าง ๆ ผ่านสื่อวิทยุกระจายเสียง ทีวี ทีวีดาวเทียม สื่อออนไลน์ทุกช่องทางของกรมประชาสัมพันธ์

นอกจากนี้ทุกเย็นวันพฤหัสบดีที่สวนหย่อมภายในกรมประชาสัมพันธ์ จะมีการแสดงดนตรีในสวนโดยวงดนตรีของกรมฯ เพื่อสร้างความปรองดอง โดยเริ่มเย็นวันพฤหัสบดีนี้เป็นต้นไป

มท.เปิดแผน4เดือนลุยงาน4ด้าน

ที่กระทรวงมหาดไทย นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวภายหลังประชุมหารือข้อราชการร่วมกับผู้บริหารระดับสูงในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ถึงความคืบหน้าการสนับสนุนแนวนโยบายของ คสช.ว่า ได้รวบรวมความคิดจากรองปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดี ผู้ว่าฯ และรัฐวิสาหกิจ 5 แห่ง โดยทุกคนทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงโรดแมพของกระทรวงมหาดไทย มีทั้งหมด 4 เรื่องคือ การสร้างความปรองดองสมานฉันท์, การรักษาความสงบเรียบร้อยความมั่นคง, การกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และการแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนของประชาชน

"เราจะแยกออกเป็นระยะๆ จากนี้ไปจนถึงสิ้นปีงบประมาณ ตั้งแต่เดือนมิ.ย.-ก.ย.แค่ 4 เดือน ทุกเรื่องที่เป็นภารกิจตามปกติ ไม่ว่าเรื่องที่มีการใช้งบประมาณ และที่ไม่ใช้งบประมาณ เหล่านี้จะทำในทุกกรม ทุกรัฐวิสาหกิจ แล้วจึงจะลงไปยังพื้นที่ในระดับ จังหวัด อำเภอ และตำบล หมู่บ้าน โดย 4 เรื่องนี้กระทรวงมหาดไทยเราจะได้นำเสนอต่อ คสช."

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในการดำเนินการต่างๆ ทางกระทรวงมหาดไทย จะไม่ใช้งบประมาณ จะใช้วิถีชีวิตแบบที่เคยปฏิบัติมา เพราะมีหลายเรื่องที่สามารถร่วมมือกันทำสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์ได้ โดยเป็นกิจกรรมที่เสริมสร้างความรัก ความเข้าใจกันทางด้านสังคม วัฒนธรรม

ซึ่งการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ในส่วนอื่นๆ ที่ได้สั่งไปก็คือ ขอให้จังหวัดตั้งศูนย์ที่อำเภอ ทางกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด ได้ตั้งศูนย์รองรับในส่วนนี้ ส่วนการปฏิบัติจะได้รับนโยบายอีกทางหนึ่งจาก กอ.รมน. แล้วผู้ว่าฯ กับกระทรวงมหาดไทย กับองคาพยพต่างๆ จะได้ทำงานร่วมกันไป

"ผมได้คุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดไปหลายส่วนแล้ว ในขณะนี้ขอให้วิเคราะห์สภาพภายในพื้นที่ว่า มีการขัดแย้งกันเรื่องอะไร หนักหนาขนาดไหน แล้วใครที่จะเป็นคนที่มาร่วมในการที่จะพูดคุย หรือพูดให้เป็นหนึ่งเดียวกัน เลิกสลายสีเสื้อไม่ให้มี เพื่อให้สังคมสงบสุข และเป็นหลัก เป็นรากฐานในการพัฒนาต่อไป

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////

วันอาทิตย์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ประชานิยมพลังงาน สูญรายได้ไม่แพ้ จำนำข้าว !!?

ประชานิยมพลังงาน สูญรายได้ไม่แพ้จำนำข้าว ยันไทยไม่ใช่ซาอุฯตะวันออก จี้รัฐงดแทรกแซง รสก.พลังงาน

การปฏิรูปพลังงาน ถูกกล่าวถึงว่าเป็นหนึ่งในแนวทางที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเข้าไปดูแลให้เกิดความโปร่งใส โดยเฉพาะการปรับกรรมการ (บอร์ด) "รัฐวิสาหกิจพลังงาน" ซึ่งเป็นเป้าหมายในอันดับต้นๆ จากผลประโยชน์มหาศาลในธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ กับข้อกังขาการ "ล้วงลูก" ของฝ่ายการเมืองผ่านการส่งคนของตัวเองเข้าไปนั่งเป็นบอร์ด

ด้าน "นโยบายพลังงาน" ยังเป็นอีกประเด็นที่มีข้อขัดแย้ง โดยเฉพาะการกำหนด "ราคาพลังงาน" จาก "ชุดข้อมูล" ที่ต่างกันของบุคคลหลายฝ่าย สังคมจึงจำเป็นต้องแสวงหาข้อเท็จจริง กลายเป็นที่มาของ "กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน" ที่เกิดจากการรวมตัวของเหล่า "กูรูพลังงาน" และผู้ที่เกี่ยวข้องกว่า 32 ชีวิต เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเหล่านี้สู่สาธารณะ เป็นการปฏิรูปในสิ่งที่เข้าใจผิดๆ ให้ถูกต้อง

กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน นำทีมโดยปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย (ดีดีการบินไทย) เขาบอกว่า ที่ผ่านมามีความ "ไม่ถูกต้อง" ในการให้ข้อมูลด้านพลังงาน ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งเข้าใจสถานการณ์พลังงานไทยบิดเบือน คลาดเคลื่อน

เช่น ไทยเป็นผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของโลก เหตุใดจึงยังคง "ขายน้ำมันแพง" ข้อเท็จจริงคือปัจจุบันไทยยังต้องนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศมากถึง 50% เมื่อเทียบกับปริมาณความต้องการใช้ในประเทศ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต้องนำเข้าน้ำมัน 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน คิดเป็นเงินนำเข้าพลังงานปีละกว่า 1 ล้านล้านบาท

ไทยจึงไม่ได้เป็น "ซาอุดิอารเบียตะวันออก" อย่างที่หลายฝ่ายกล่าวอ้าง

ปิยสวัสดิ์ อธิบายว่า สิ่งที่กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืนต้องการนำเสนอ คือ การปฏิรูปพลังงานใน 6 หัวข้อ ประกอบด้วย

1.การปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ให้นำไปสู่การใช้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความเป็นธรรมต่อผู้ใช้น้ำมันประเภทอื่น โดยเฉพาะผู้ใช้น้ำมันเบนซิน จะต้อง "ลดการอุดหนุน" ราคาพลังงาน เพราะถือเป็นการบิดเบือนโครงสร้างราคาพลังงาน

ช่วงที่ผ่านมา ไทยอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ผ่านกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล กำหนดไว้ว่าราคาหน้าสถานีบริการน้ำมันต้องจำหน่าย "ไม่เกินลิตรละ 30 บาท" ผ่านการลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลจนแทบจะไม่มีการจัดเก็บ เมื่อเทียบกับการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซินที่จัดเก็บในอัตราสูงกว่าลิตรละ 5 บาท

การดำเนินการดังกล่าวทำให้ประเทศสูญรายได้จากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต "ปีละไม่ต่ำกว่าแสนล้าน" ขณะที่การอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม 4 ปีที่ผ่านมาคิดเป็นเงินกว่า "1.7 แสนล้านบาท"

ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาไทยจึง "สูญเสีย" รายได้จากการอุดหนุนราคาพลังงาน "ไม่น้อยกว่า" ความสูญเสียจากการขาดทุนโครงการรับจำนำข้าว

ปิยสวัสดิ์ ยังเสนอว่า หากรัฐต้องการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย สามารถดำเนินการได้ผ่านการ "ตั้งงบประมาณ" ให้ชัดเจน ถือเป็นการช่วยเหลือ "เฉพาะกลุ่ม" ไม่ควรนำเงินจากผู้ใช้น้ำมันเบนซินไปอุดหนุนผู้ใช้น้ำมันดีเซลทั้งประเทศเช่นนี้

2.เสนอให้เพิ่มการแข่งขันในธุรกิจพลังงาน ทำให้ตลาดน้ำมันมีการแข่งขันมากขึ้น โดยเสนอให้ พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 (หมวดการมีอำนาจเหนือตลาด) บังคับใช้ครอบคลุม "รัฐวิสาหกิจ" อย่าง บมจ.ปตท.เพื่อสร้างการแข่งขันให้เท่าเทียมกันระหว่างบริษัทน้ำมันเอกชน กับ ปตท.

เขายังเสนอด้วยว่า กระทรวงการคลังควรลดการถือหุ้นใน ปตท.ให้พ้นสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจอย่างแท้จริง และลดการถือหุ้นบริษัทพลังงานอื่นๆ เช่น ใน บมจ.บางจากปิโตรเลียม ในโรงกลั่นสตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง (เอสพีอาร์ซี) เพื่อแยกผู้กำหนดนโยบายออกจากการดำเนินธุรกิจ ทำให้การแข่งขันเป็นธรรมมากขึ้น

ในส่วนของธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ผูกขาดโดยธรรมชาติ ควรแยกธุรกิจนี้ออกจาก ปตท.ออกไปตั้งบริษัทใหม่ เพื่อให้สะดวกในการกำกับดูแล โดยเฉพาะการให้ "บุคคลที่สาม" (Third Party Access) เข้ามาใช้บริการส่งก๊าซฯผ่านท่อฯ

3.รัฐควรลดการแทรกแซงการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจพลังงาน รวมถึงรัฐวิสาหกิจอื่นๆ เช่น การขออนุมัติการลงทุนจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือส่งคนมาเป็นบอร์ด มีการแต่งตั้งโยกย้าย และกำหนดผลตอบแทนให้เหมาะสม

"รัฐวิสาหกิจบางแห่งรัฐไม่จำเป็นต้องถือหุ้น ถ้ารัฐเข้าไปก้าวก่ายกิจการอาจเจ๊ง ปตท.ตอนนี้ผลดำเนินงานยังไม่มีปัญหา แต่ถ้าปล่อยให้การเมืองเข้าไปแทรกแซงมากๆ อนาคตก็อาจจะเป็นเหมือนการบินไทยที่ขาดทุนติดต่อกัน 4 ไตรมาส และจะเป็น 6 ไตรมาสในอนาคต โดยไตรมาสแรกปีนี้ขาดทุนครั้งแรกในรอบ 54 ปี เทียบกับที่ผ่านมาไตรมาสแรกจะเป็นไตรมาสที่กำไรดีที่สุด"

4.ปรับปรุงการกำหนดนโยบายและการขออนุญาตให้โปร่งใส โดยเฉพาะใบอนุญาตตั้งโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งต้องขอทั้งใบอนุญาต รง.4 จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม และใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้า จากกระทรวงพลังงาน ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ซึ่งถือเป็นการขอใบอนุญาตที่ซ้ำซ้อน

5.เร่งหาข้อสรุปพื้นที่ทับซ้อนด้านพลังงานระหว่างไทยกับเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-กัมพูชา เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศอย่างเร่งด่วน เนื่องจากสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเดิมกำลังจะหมดอายุลง ขณะที่ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมาไม่สามารถออกสัมปทานใหม่ได้ สวนทางกับปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

หากระยะเวลา 10 ปีจากนี้ ไทยยังไม่มีการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมเพิ่มเติม จะเกิดผลกระทบต่อ "ค่าไฟ" อย่างรุนแรงและต่อเนื่อง จากการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) จำนวนมหาศาล หากนำเข้าไม่ได้ก็ต้องใช้น้ำมันเตามาปั่นไฟแทน ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมาก

6.ส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนให้เป็นทางเลือกในการผลิตและการใช้ไฟฟ้า เช่น การใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ และการใช้เชื้อเพลิงประเภทอื่นในยานพาหนะ หรือแม้แต่รถยนต์ขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้า (ไฮบริด) คาดว่าจะมีใช้แพร่หลายในระยะ 10-20 ปีนับจากนี้

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
//////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

กองทัพแจงสื่อต่างประเทศ ลั่นไม่ได้ทะเยอทะยานยึดอำนาจ !!?

ที่ห้องนราธิป กระทรวงการต่างประเทศ นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยพล.ท.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข รองเสนาธิการทหารบก ได้ชี้แจงต่อสื่อมวลชนต่างประเทศ ถึงสถานการณ์ของประเทศไทย และกรณีที่กองทัพเข้าควบคุมอำนาจการปกครอง รวมถึงจัดตั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ทั้งนี้การชี้แจงสื่อต่างชาติไม่อนุญาตให้สื่อไทยเข้าร่วมรับฟัง

โดยพล.ท.ฉัตรเฉลิม กล่าวว่า ประเทศไทยมีความขัดแย้งมานานกว่า 10 ปี และกระจายหลายพื้นที่ โดยมีมวลชน 2 ฝ่ายที่พร้อมจะปะทะกันเพื่อช่วยเหลือฝ่ายที่ตนสนับสนุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา สถานการณ์ยิ่งตึงเครียด ไม่มีแนวโน้มว่าจะคลี่คลาย ซึ่งทางทหารก็ยังพยายามแก้ไขด้วยการเชิญแกนนำของแต่ละฝ่ายมาพูดคุยกันโดยตรง แต่ไม่เป็นผล รวมถึงรัฐบาลบริหารประเทศไม่ได้เพราะมีอำนาจจำกัด ขณะเดียวกัน เราสามารถจับกุมผู้สะสมอาวุธสงครามจำนวนมากได้ที่จ.ขอนแก่น และลพบุรี เพื่อเตรียมต่อสู้กัน หน่วยงานความมั่นคงจึงไม่สามารถปล่อยให้มีการปะทะกัน เพราะแม้จะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะ ก็จะเกิดสงครามทั่วประเทศตามมา คล้ายกับประเทศซีเรีย ลิเบีย หรืออิรัก ซึ่งเราเชื่อว่าประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น กองทัพทราบดีว่าการควบคุมอำนาจการบริหารแทนรัฐบาลนั้น เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย และทำให้ถูกตั้งข้อหากบฏได้ แต่เราได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว เพราะทนไม่ได้ที่จะเห็นความขัดแย้งทางการเมืองส่งผลกระทบกับด้านต่าง ๆ กองทัพจึงต้องเสียสละออกมาทำเรื่องนี้

กองทัพไม่ได้มีความทะเยอทะยานที่จะออกมายึดอำนาจ เพราะเรายังมีภารกิจต้องทำอีกมาก แต่เราจำเป็นต้องยุติสถานการณ์ มิฉะนั้นจะทำให้ประเทศย่ำแย่ ไม่ปลอดภัย คนไม่เคารพกฎหมาย และออกมาทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่เชื่อรัฐบาล ดังนั้นสิ่งที่กองทัพทำไปจะช่วยยุติปัญหาและทำให้ประเทศก้าวหน้าไปได้ ขอยืนยันว่าจะมีการเลือกตั้งขึ้นอย่างแน่นอน แต่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด แต่ตอนนี้ขอให้คนที่ยังออกมาประท้วง กลับบ้านไปก่อน พล.ท.ฉัตรเฉลิม กล่าว..

ที่มา.เนชั่น
-----------------------

รองโฆษก ตร.แจงแนวคิดการปฏิรูปตำรวจ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพฯ !!?


ปฏิรูปตำรวจ,พล.ต.ต.อนุชา รมยะนันทน์

พล.ต.ต.อนุชา รมยะนันทน์ รองโฆษก ตร. กล่าวถึง แนวคิดเรื่องการปฏิรูปตำรวจว่า ได้เกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งตั้งแต่องค์กรตำรวจได้ก่อตั้งขึ้นมา ก็มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงองค์กรเพื่อให้สอดคล้องและสนองตอบกับสภาพปัญหาสังคมและความต้องการของพี่น้องประชาชนมาหลายครั้ง รวมทั้งมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดโครงสร้างองค์กรตำรวจมาแล้วหลายฉบับ

สำหรับแนวคิดการปฏิรูปองค์กรตำรวจในครั้งนี้ ยังคงยืนอยู่บนหลักการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน ตลอดจนความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง โดยมีเป้าหมายคือการกระจายอำนาจจากส่วนกลาง ไปยังหน่วยตำรวจที่รับผิดชอบพื้นที่เพื่อมีอำนาจบริหารจัดการหน่วยได้อย่างเบ็ดเสร็จ ซึ่งในชั้นนี้ มีแนวคิดที่จะปรับรูปแบบให้กองบัญชาการต่างๆ เป็นนิติบุคคล เพื่อที่จะทำให้เกิดความคล่องตัวในการกำหนดนโยบายความจำเป็นเร่งด่วนที่จะตอบสนองต่อปัญหาที่มีลักษณะเฉพาะในแต่ละพื้นที่ พร้อมทั้งยังสามารถบริหารจัดการด้านงบประมาณและกำลังพลของตนเองได้ โดยมีส่วนบังคับบัญชาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะเป็นหน่วยงานกลางในด้านการวางแผนยุทธศาสตร์และการกำกับดูแลการบริหารในภาพรวม

ทั้งนี้ แนวทางการกระจายอำนาจดังกล่าว ได้มีการกำหนดเป็นหลักการไว้อยู่แล้วใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ซึ่งแนวคิดการปฏิรูปในครั้งนี้ก็จะเป็นไปตามแนวทางของกฎหมาย และสอดคล้องกับหลักการบริหารราชการแผ่นดินด้วย จึงขอให้ประชาชนได้มั่นใจว่าหากมีการปรับเปลี่ยนใดๆก็จะทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นหลัก

สำหรับข้าราชการตำรวจเองก็ขออย่าได้หวั่นไหวและมั่นใจได้ว่าการปรับเปลี่ยนก็เพื่อจะลดการแทรกแซงจากปัจจัยภายนอกและเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลพี่น้องประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม "รองโฆษก ตร.กล่าว.

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////////

วันพุธที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

คาดเศรษฐกิจไทย ปีนี้โต 2 %

7 องค์กรเสนอ 7 กรอบวางแผนศก.ระยะยาว คาดความมั่นใจต่างชาติเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 6 เดือน คาดจีดีพีโต 2%

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลัง การหารือของ 7 องค์กรภาคธุรกิจ ที่ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สมาคมธนาคารไทย, สภาธุรกิจท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, สภาธุรกิจตลาดทุนไทย, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเสนอให้กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า การหารือในครั้งนี้เพื่อหาแนวทางว่าภาคธุรกิจจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างไร เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยมองแนวทางการฟื้นฟูไว้ 7 ด้าน ได้แก่ 1.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 2.การปฏิรูปการลงทุนของภาครัฐและเอกชน 3.การยกระดับการศึกษาและนวัตกรรม 4.การแก้ปัญหาสังคมและความเหลื่อมล้ำ 5.ธรรมาภิบาลและแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น 6.การพัฒนาระเบียบต่างๆของภาครัฐ และ7.การพัฒนาโครงสร้างใหม่ในระบบเศรษฐกิจไทย

"เราตั้งใจทำแผนที่ คสช. นำไปไปใช้ได้เลย ส่วนที่เป็นแผนระยะยาวก็อยากให้นำไปอยู่ในแผนพัฒนาประเทศของสภาพัฒน์ได้ เราก็คาดหวังว่าในวิกฤตนี้จะเป็นโอกาส คสช.เปิดให้ทำอะไรได้เราก็จะทำ ส่วนว่าจะพบกับ คสช.อีกเมื่อไหร่นั้นเราจะดูก่อนว่า คสช.จะเรียกไปพบเมื่อไหร่ หากไม่เรียกเราก็จะนำเสนอแผนเข้าไป"นายสุพันธุ์ กล่าว

ประธานส.อ.ท. กล่าวว่า ที่ค่อนข้างกังวลและต้องเร่งดำเนินการโดยเร็วขณะนี้คือเรื่องของความเชื่อมั่น ที่ขณะนี้ความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยหายไปพอสมควร ซึ่งในส่วนของความเชื่อมั่นจากนักลงทุน ส.อ.ท.และหอการค้าไทย จะมีการเชิญหอการค้าและสภาธุรกิจต่างประเทศที่อยู่ในประเทศไทยประมาณ 30 แห่งมา สื่อสารเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า รวมถึงสื่อให้คู่ค้าในต่างประเทศมั่นใจว่าผู้ประกอบการในไทยยังสามารถผลิตและส่งสินค้าได้ตามปกติ

"การสร้างความเชื่อมั่นนั้นจะเกิดขึ้นได้เร็วเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐว่าจะออกมาในแนวทางใด รวมถึงความชัดเจนในมาตรการการใช้จ่ายภาครัฐที่จะออกมา ซึ่งคาดว่าความเชื่อมั่นต่างชาติน่าจะกลับมาอยู่ในภาวะปกติภายในไม่เกิน 6 เดือน" นายสุพันธุ์ กล่าว

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการส่งออกไทยหลายรายเตรียมที่จะเจรจากับลูกค้าเพื่อสร้างความมั่นใจในสถานการณ์ทางการเมืองและการเจรจาเรื่องคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) ในไตรมาสที่ 4 ดังนั้นหากองค์กรเอกชนและตัวแทนของประเทศไทยสามารถชี้แจงและสร้างความมั่นใจแก่ต่างชาติได้เชื่อว่าการส่งออกในปีนี้น่าจะเป็นไปตามปกติ แต่หากไม่สามารถชี้แจงให้ต่างชาติได้ก็จะมีผลต่อออเดอร์ในไตรมาสที่ 4 แน่นอน

นายอิสสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่าสำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันภายใต้การบริหารงานของ คสช. คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ(จีดีพี)น่าจะสามารถเติบโตประมาณ 2% เนื่องจากมีความคืบหน้าในการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 ที่ล่าสุดได้เร่งจ่ายเงินชาวนาในโครงการรับจำนำข้าวที่มีวงเงินค้างกว่า 9.2 หมื่นล้านบาท

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
--------------------------------------

วันจันทร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

มาทำความรู้จัก : ศาลทหารในเวลาไม่ปกติ !!



พลันที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกประกาศฉบับที่ 37/2557 เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร โดยมีสาระสำคัญ คือ ให้บรรดาคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ได้แก่ ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตั้งแต่มาตรา 107-112 และความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา 113-118 และความผิดตามประกาศหรือคำสั่ง คสช. ให้การกระทำผิดเกิดขึ้นในเขตราชอาณาจักร และในระหว่างที่ประกาศนี้ใช้บังคับ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลงนั้น

หลายคนที่ได้ฟังคำประกาศของ คสช.อาจจะไม่เข้าใจว่า "ศาลทหาร" คืออะไร ไม่ได้บังคับใช้เฉพาะกับทหารหรือ

พลิกดูพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 พบอำนาจศาลทหารบัญญัติอยู่ในมาตรา 13 ระบุว่า ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาวางบทลงโทษผู้กระทำผิดต่อกฎหมายทหารหรือกฎหมายอื่นในทางอาญา ในคดีซึ่งผู้กระทำผิดเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารในขณะกระทำผิด และมีอำนาจสั่งลงโทษบุคคลใดๆ ที่กระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

กล่าวให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ศาลทหารก็เหมือนศาลพลเรือน แต่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีกับผู้ที่กระทำผิดกฎหมายทหาร หรือกับบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือทหารประจำการระดับต่างๆ นั่นเอง ยกเว้นคดีที่กระทำผิดร่วมกับพลเรือน คดีที่ต้องดำเนินคดีในศาลเด็กและเยาวชน และคดีที่เกี่ยวพันกับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลพลเรือน

ศาลทหารดังกล่าวนี้ เรียกว่า "ศาลทหารในเวลาปกติ" ซึ่งยังไม่ใช่ศาลทหารตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 37 เพราะศาลทหารที่ คสช.ประกาศ คือ "ศาลทหารในเวลาไม่ปกติ" ซึ่งตาม พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหารฯ มาตรา 36 บัญญัติว่า "ในเวลาไม่ปกติ" คือ ในเวลาที่มีการรบหรือสถานะสงคราม หรือได้ประกาศใช้กฎอัยการศึก ศาลทหารซึ่งมีอยู่แล้วในเวลาปกติคงพิจารณาพิพากษาคดีอาญาได้ตามอำนาจ แต่ถ้าผู้มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกได้ประกาศ หรือผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้สั่งตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึกให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาใดๆ อีก ก็ให้ศาลทหารพิจารณาพิพากษาคดีอาญาตามประกาศหรือคำสั่งนั้นได้ด้วย

ทั้งนี้ เมื่อหมดภาวะการรบหรือสถานะสงคราม หรือเลิกใช้กฎอัยการศึก ศาลทหารยังคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่ค้างอยู่ในศาลหรือที่ยังมิได้ฟ้อง...

กล่าวให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ "ศาลทหารในเวลาไม่ปกติ" คือศาลทหารที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีบุคคลที่มิได้อยู่ในอำนาจศาลทหาร แต่กระทำผิดในความผิดที่ผู้มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีด้วย

สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาที่ประกาศ คสช.ให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารนั้น ในกลุ่มแรก คือ คดีหมิ่นสถาบัน ซึ่งสังคมไทยคงรู้จักกันดีอยู่แล้ว ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง คือ ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา 113-118 ประกอบด้วย

ความผิดฐานกบฏ, สะสมกำลังพลหรืออาวุธ หรือสมคบกันเพื่อเป็นกบฏ, ยุยงทหารหรือตำรวจให้หนีราชการ, ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบขึ้นในบ้านเมือง, ยุยงให้ร่วมกันหยุดงาน และกระทำต่อธงหรือเครื่องหมายอื่นใดอันมีความหมายถึงรัฐ เพื่อเหยียดหยามประเทศชาติ

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
----------------------------------------------

วันเสาร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

คนสองซิม !!?

โดย.พญาไม้

เพราะ คนสองซิม คนเดียวทำเรื่อง..

เรื่องไม่เป็นเรื่องถึงกลายเป็นเรื่องขึ้นมา

เพราะมนุษย์สองซิม..มันไปเปิดปากเปิดโปงมาว่า..ที่กำลังเดินขบวนกันเป็นรายเดือนและกำลังจะเป็นรายปีนั้น..เป็นพวกเดียวกันกับพวกที่เป็นกรรมการเป็นคนกลางจัดการเลือกตั้งให้กับประเเทศ

ฝ่ายตรงกันข้ามที่กำลังหาช่องหามุมเข้าโจมตี..ก็เลยเจอจุดอ่อนช่องโหว่มหึมา..จะเอามาฟ้องต่อโลกต่อประชาชน

ว่า..ประชาธิปไตยของประเทศ..กำลังอ่อนแอมีปัญหา..เพราะพวกแพ้เลือกตั้งกลับใช้ขบวนการนอกประชาธิปไตย..มาล้มรัฐบาล

ถ้าฝ่ายตรงกันข้าม..กระทำโฆษณาสำเร็จ..

เลือกตั้งประเทศไทย..เลือกกี่ครั้งกี่ครั้งมันก็จะมีพรรคเดียวครองเมือง..เรื่องแบบนี้หากว่าเกิดในประเทศที่เจริญแล้ว..เขาก็ว่าเป็นเรื่องดี..เพราะรัฐบาลที่บริหารประเทศได้ยาวนาน..ก็จะทำโครงการใหญ่ยักษ์ให้ลุล่วงไปได้..

แต่ในประเทศที่ล้าหลังโบราณ..เขาว่าเป็นเผด็จการรัฐสภา..ต้องหาทางล้มล้างแก้ไข
เสียงประชาชนทั่วไปเป็นเสียงพวกโง่เง่าล้าหลัง..และรับจ้างใส่บัตรเลือกตั้ง..

อีกทั้ง..กรรมการเลือกตั้งตัวตรง..ก็น่ามึนงงในสติปัญญา..ดันไปบอกออกเรื่องราวว่า..ที่ต้องเดินเอียงเอาสีข้างเข้าถูนั้น..เพราะมีงานใหญ่..ต้องเอียงไว้รับงาน
คุยกันในที่ลับแล้วเอามาประกาศกันในที่แจ้ง..

พวกคนที่วางแผนกันไว้แน่นหนาก็ทำท่าจะเสียท่า..จะพากันไปไม่ถึงเป้าหมาย..ไปไม่ถึงดวงดาว..
เรื่องของเรื่อง..จึงต้องรวบรัดตัดความ..ถึงจะไม่ใช่ทางเรียบทางตรง..ถึงจะต้องขึ้นลงภูเขาข้ามห้วย..ก็ต้องเสี่ยงก็ต้องไป..เพราะช้าไว้ช้าเท่าไหร่..พวกสมองหมาปัญญาควายแต่ปากเบาจะทำพัง..
นั่นแหละปัจจุบันเหตุ..

แล้วเรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป..ก็เป็นเรื่องจนปัญญาจะหาคำตอบหาตอนจบของเรื่อง..จนปัญญาไม่รู้แม้แต่กระทั่งว่า..มันเป็นหนังชีวิตหรือหนังบู๊ล้างผลาญ..แต่ที่แน่ๆ นั้น..มันเป็นหนังผี เพราะมีคนตายไปแล้วมากมายเกินร้อยศพ..

แต่เป็นหนังผีแนวใหม่..เพราะเป็นเรื่อง “คนเป็นหลอกคนตาย” ..และจะหลอกกันไปอีกนาน..ส่วนจะตายเป็นร้อยเป็นพันหรือเป็นหมื่นศพหรือไม่..ใครก็ทายไม่ถูก..

ไม่รู้ว่าอะไรจะน่าสงสารกว่ากัน..ระหว่าง..คนไทย กับ ประเทศไทย

ที่มา.บางกอกทูเดย์
////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

กอ.รส. วางกรอบ10วัน จบไม่จบ !!?

กอ.รส.ก็คงจะดูเกมนี้ไว้แล้วตั้งแต่ต้น จึงได้เดินหมากใช้กฎอัยการศึกเพื่อรวบเอาอำนาจสั่งการมาไว้ในมือ..

ต้องจับตาว่า การประกาศวาทกรรม นับหนึ่งใหม่ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ผอ.รส.) ในการหาทางออกของประเทศจะสามารถทำได้สำเร็จหรือไม่ และเมื่อไหร่

แม้จะมีสัญญาณตอบรับกฎอัยการศึกที่ดีในช่วงวันสองวันแรก แต่ถ้าทอดเวลานานออกไปคงไม่เป็นผลดีเท่าใดนัก

วันแรกของประกาศกฎอัยการศึกได้มีการเชิญหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ รวมทั้งรัฐวิสาหกิจ และภาคประชาชนเข้ามาระดมสมองหาทางออกประเทศ วันต่อมา คือ วันที่ 21 พฤษภาคม ได้มีการเชิญฝ่ายที่เกี่ยวข้องและคู่ขัดแย้ง ได้แก่ กลุ่มกปปส., นปช., พรรคเพื่อไทย, พรรคประชาธิปัตย์, วุฒิสภา มาพูดคุยกันเพื่อเร่งผ่าทางตันโดยเร็วที่สุด

นอกจากนี้ กอ.รส. ยังเป็นห่วงเรื่องปฏิกิริยาจากนานาชาติที่อาจมีความไม่เข้าใจต่อการทำหน้าที่ของกองทัพ ทางผอ.รส. จึงสั่งการให้มีการชี้แจงไปยังต่างประเทศใน 2 แนวทาง

1. ผอ.รส. ได้มีการสั่งการไปยัง "ผู้ช่วยทูตทหาร" ทั้ง 3 เหล่าทัพ ที่ประจำการอยู่ใน 100 กว่าประเทศทั่วโลกให้ไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางของกองทัพ และสถานการณ์ในประเทศ และ 2.เชิญ "เอกอัครราชทูต" ทุกประเทศที่ประจำการอยู่ในประเทศไทยมารับฟังการชี้แจงแนวทางการปฏิบัติของ กอ.รส. ในวันศุกร์ที่ 23 พฤษภาคมนี้ ที่สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดี

ส่วนแนวทางในการบริหารจัดการประเทศหลังจากนี้ กองทัพแสดงให้เห็นว่า ยังคงยึดกรอบของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ในการเชิญคู่ขัดแย้งหลักของประเทศเข้ามาเจรจา เพื่อเร่งหาทางออกโดยเร็วที่สุด

หากการพูดคุยเจรจาไม่ประสบผลสำเร็จ และมีการปลุกระดมให้มีการต่อต้านการปฏิบัติหน้าที่ของ กอ.รส. ทางกองทัพก็อาจจำเป็นต้องแสวงหาทางเลือกใหม่ในการแก้ไขปัญหาของประเทศ ซึ่งอาจหมายถึงการ "รัฐประหาร"

ภาพของกองทัพภายใต้การประกาศใช้กฎอัยการศึกที่ปรากฏให้เห็นก็คือ

1.กองทัพทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชิญคู่ขัดแย้งทุกฝ่ายมาพูดคุย เพื่อหาทางออกโดยสันติวิธี โดยมีกรอบระยะเวลาดำเนินการ 10 วัน ซึ่งผลการหารือ ทางออกอาจจะไปลงที่ "รัฐบาลเฉพาะกาล" ก็เป็นไปได้ โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) อาจนำมาจากตัวแทนของคู่ขัดแย้งทุกฝ่าย และหลังจากนั้นอาจมีการลงสัตยาบันร่วมกัน

2.หากเงื่อนไขนี้ไม่ได้รับการยอมรับ กองทัพอาจจำเป็นต้องใช้วิธีการ "นอกกรอบรัฐธรรมนูญ" เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จ เพราะนับตั้งแต่กองทัพเข้ามาประกาศกฎอัยการศึก และเข้ามาปฏิบัติภารกิจด้านความมั่นคงแทนศอ.รส. ก็เท่ากับว่า แรงกดดันทั้งหมดจะถูกผ่องถ่ายมายังกองทัพแทน และกองทัพคงไม่สามารถปฏิเสธแนวทางนี้ได้ แม้จะไม่ต้องการให้เกิดขึ้นก็ตาม

ทิศทางของประเทศจึงขึ้นอยู่กับการพูดคุยระหว่างตัวแทนฝ่ายต่างๆ อันประกอบด้วย ผู้บัญชาการเหล่าทัพ, พรรคเพื่อไทย, พรรคประชาธิปัตย์, คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), วุฒิสภา, กปปส. และนปช. ว่าจะสามารถหาข้อสรุปในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธีร่วมกันโดยแท้

แต่ท่าทีของฝ่ายรัฐบาลซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะคลี่คลายปัญหา กลับดูจะไม่ค่อย "ปลื้ม" กับการเข้ามาบริหารจัดการของกองทัพเท่าใดนัก สังเกตได้จากการที่ นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐฒนตรี ปฏิเสธที่จะเดินทางไปพบปะพูดคุยตามคำเชื้อเชิญของ กอ.รส.

เพราะถึงแม้จะแก้ปัญหาได้ทีละเปลาะๆ แต่ส่วนที่ใหญ่ที่สุด แน่นที่สุด กลับอยู่ตรงจุดที่ยังคงมีรัฐบาลรักษาการอย่างถูกกฎหมาย หากยังมีตรงนี้ การจะเดินไปสู่การสรรหานายกรัฐมนตรีคนกลาง หรือ เฉพาะกาล จึงเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงที่จะขัดต่อกฎหมาย

อธิบายในอีกมุมก็คือ นี่คือข้อต่อรองเดียวของฝ่ายรัฐบาล

ซึ่งก็ไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมายของทุกฝ่ายนัก รวมทั้ง กอ.รส.ก็คงจะดูเกมนี้ไว้แล้วตั้งแต่ต้น จึงได้เดินหมากใช้กฎอัยการศึกเพื่อรวบเอาอำนาจสั่งการมาไว้ในมือ แล้วจัดการเรียกทุกฝ่ายมาพูดคุย เนื่องจากว่าการใช้กฎหมายปกติ ไม่ได้ให้อำนาจมากขนาดนั้น

น่าสนใจว่า ด้วยอำนาจมากมายขนาดนี้ การเจรจาต่อรองระหว่างคู่ขัดแย้งท่ามกลางความเสียหายของประเทศจะจบลงอย่างไร

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////////////

วันพุธที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับบทบาทราชองครักษ์ผู้ค้ำจุนรัฐ

ในยามที่บ้านเมืองต้องแตกร้าวระส่ำระส่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมของกลุ่มประเทศโลกที่สาม การแผ่อำนาจทางการเมืองของทหาร มักถือเป็นเรื่องปกติ จนมักมีการเรียกขานทหารที่ตัดสินใจเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองว่า "องครักษ์ผู้ค้ำจุนรัฐ" หรือ "เพรโตเรี่ยน การ์ด/ Praetorian Guard"

ในทางประวัติศาสตร์ คำๆ นี้มักหมายถึง หน่วยทหารที่ทำหน้าที่คุ้มครององค์จักรพรรดิโรมัน หากแต่ว่า กองทหารเหล่านี้ก็อาจจะแอบลอบสังหารผู้ปกครองที่ประสบความล้มเหลวในการบริหารบ้านเมือง หรืออาจหันมาให้ความคุ้มกันต่อคณะสภาซีเนทเพื่อให้การคัดเลือกองค์อธิปัตย์ตนใหม่ เต็มไปด้วยความสงบราบรื่น

อย่างไรก็ตาม เวลาต่อมา คำว่า "เพรโตเรี่ยน การ์ด" ได้กลายมาเป็นศัพท์เทคนิคทางรัฐศาสตร์ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมักถูกนำมาใช้อธิบายถึงการแทรกแซงทางการเมืองของทหาร ควบคู่ไปกับคำศัพท์วลีอื่นๆ อย่างเช่น "The Man on Horseback" หรือที่อาจแปลเป็นภาษาไทยว่า "ชายบนหลังม้า" "บุรุษอาชาไนย" หรือ "อัศวินขี่ม้าขาว"



ปกหนังสือของ Finer นักรัฐศาสตร์ชื่อดังด้านทหารกับการเมือง เรื่อง "The Man on Horseback" จัดพิมพ์โดย Penguin ปี 1976 แสดงภาพชายบนหลังม้า บุรุษผู้เข้ามากู้วิกฤติให้กับบ้านเมือง เพียงแต่ข้าพเจ้าอยากจะตีความเอาเองว่า ในประวัติศาสตร์ของรัฐโลกที่สาม ถือว่ามีอยู่หลายครั้งที่ทหารมิสามารถจะนำสันติภาพกลับคืนสู่สังคมได้อย่างแท้จริง ซึ่งก็ทำให้อัศวินผู้กล้ากลับต้องขับขี่อาชาไนยสีเลือด แทนที่จะเป็นอัศวยุทธสีขาวอันทรงเกียรติและปราศจากมลทินทางการเมือง แต่กระนั้น ก็กลับมีอดีตบุรุษลายพรางบางกลุ่มที่พยายามทุ่มพละกำลังเพื่อเข้าแก้ไขวิกฤติของบ้านเมืองได้อย่างน่าประทับใจอยู่เช่นกัน อาทิ อดีตนายพลเต็ง เส่ง ของพม่า และ อดีตนายพล ซูซิโล บัมบัง ยูโดโยโน ของอินโดนีเซีย


จากนิยามดังกล่าว การตัดสินใจประกาศกฎอัยการศึกของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อเข้าระงับความขัดแย้งในบ้านเมือง พร้อมกระชับอำนาจให้กองทัพบกกลายมาเป็นแกนกลางหลักแห่งโครงสร้างการเมืองไทย จึงถือเป็นพฤติกรรมที่เข้าข่ายลักษณะขององครักษ์ผู้ค้ำจุนรัฐ ซึ่งนับเป็นประเพณีการพัวพันทางการเมืองในแบบปกติของรัฐกำลังพัฒนาทั้งหลายทางแถบเอเชีย อัฟริกา และละตินอเมริกา

โดยกลิ่นอายแห่งความเป็นเพรโตเรี่ยน การ์ด สามารถสังเกตได้จากท่วงทำนองการประกาศอำนาจของตัวผู้บัญชาการทหารบก ที่ใช้พระบรมราโชวาทของรัชกาลที่ห้า เป็นฉากหลังขณะกำลังนั่งอ่านแถลงการณ์ ซึ่งมีข้อความสำคัญ เช่น "ทหารคือสุภาพบุรุษผู้ถืออาวุธเพื่อป้องกันประเทศ" หรือ "ทหารเป็นผู้เสียสละประโยชน์สุขส่วนตัวเพื่อความผาสุกของประชาชน และ ความอยู่รอดของชาติ”

นอกจากนั้น ภูมิหลังของพลเอกประยุทธ์ที่เติบโตมาจากกลุ่มทหารสายบูรพาพยัคฆ์ซึ่งรับมอบภารกิจเป็นกองทหารราชองครักษ์เพื่อถวายความคุ้มครองแด่องค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ก็อาจเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบหลักที่ช่วยตอกย้ำภาพลักษณ์ของความเป็นเพรโตเรี่ยน การ์ด ให้ตราตรึงอยู่ในมโนทัศน์ทางการเมืองของพลเอกประยุทธ์

สำหรับเรื่องของศิลปะการใช้อำนาจ จะเห็นว่า การประกาศกฎอัยการศึกครั้งล่าสุด อาจยังผลดีหรือช่วยอวยประโยชน์ทางการเมืองให้กับขั้วอำนาจขององครักษ์ผู้คำจุนรัฐ โดยในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน โครงสร้างอำนาจการปกครองตามแบบปกติของพลเรือน จะถูกแทนที่ด้วยโครงสร้างบังคับบัญชาของกองทัพ เช่น การเข้ามามีอำนาจของศาลทหารในการตัดสินคดีความด้านความมั่นคง หรือ การถ่ายระดับกลไกอำนาจรัฐจากกองอำนวยการส่วนกลาง ลงสู่กองทัพภาค กองพล กองพัน และ กองร้อย ตลอดจนการแทรกตัวของเจ้าหน้าทหารเข้าไปในโครงข่ายการบริหารปกครองสายมหาดไทย เช่น จังหวัด อำเภอ ตำบลและหมู่บ้าน

การขยับปริมณฑลการใช้อำนาจเช่นนี้ ย่อมส่งผลให้ ผบ.ทบ. กลายเป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์เฉพาะกิจซึ่งมีอำนาจแทนที่รัฐบาลในการจัดการปกครองประเทศ ขณะเดียวกัน การสถาปนากองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) ยังทำให้เกิดการเปลี่ยนดุลอำนาจภายในกองทัพ ซึ่งถือเป็นความพยายามกระชับอำนาจของทหารสายคุมกำลังรบให้มีอยู่เหนือกลุ่มทหารฝ่ายวางแผนและธุรการ อย่างเช่นจากขั้วปลัดกระทรวงกลาโหม หรือ จากขั้วชนชั้นนำพลเรือนภายในศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ ศอ.รส.

ในอีกแง่มุมหนึ่ง การประกาศกฎอัยการศึกครอบคลุมทั่วประเทศ ยังเป็นการเสริมสร้างความเหนียวแน่นให้กับกองทัพภาคแต่ละแห่ง ซึ่งจะมีลักษณะเป็นการดึงให้หน่วยขึ้นตรงต่างๆ สามารถประสานหรือประกอบกำลังกันเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในแต่ละพื้นที่ พร้อมเปิดโอกาสให้แม่ทัพประจำหน่วยรบระดับกองพลหรือกองพัน มีโอกาสแสดงความพร้อมหรือทักษะการปฏิบัติการในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น กองพลทหารราบที่ 9 จากค่ายสุรสีห์ ที่เคลื่อนย้ายกำลังอย่างรวดเร็วจากกาญจนบุรีเข้าสู่ถนนอักษะเพื่อตรึงแนวชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง หรือ การเตรียมกำลังรักษาความสงบของกองพลทหารราบที่ 7 ค่ายขุนเณร จังหวัดเชียงใหม่ และกองพลทหารราบที่ 6 ค่ายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ จังหวัดร้อยเอ็ด

แต่อย่างไรก็ตาม แม้พลเอกประยุทธ์ จะประสบความสำเร็จในการประกาศใช้กฎอัยการศึก แต่ก็มิใช่ว่าเส้นทางการสร้างเอกภาพภายในประเทศ จะปราศจากซึ่งขวากหนาม โดยยังต้องจับตามองกันต่อไปว่าการสำแดงบทบาทเป็นองครักษ์ผู้ค้ำจุนรัฐในคราบของทหารผู้ไกล่เกลี่ย (Moderator) จะสามารถดึงให้คู่ขัดแย้งขั้วต่างๆ ยอมตัดสินใจลดเงื่อนไขทางการเมืองพร้อมเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการปรองดองอย่างจริงจัง ได้มากน้อยเพียงไร

ซึ่งถ้าหากขั้นตอนดังกล่าวประสบความล้มเหลว หรือมีแนวโน้มว่าจะยืดเยื้อสืบต่อไป การเพิ่มพลังของบุรุษอาชาไนย ขึ้นสู่การเป็นทหารผู้ปกครองแบบเต็มพิกัด (Ruler) ผ่านการยึดอำนาจหรือการทำรัฐประหารเต็มรูป ก็อาจกลายเป็นฉากทัศน์ที่ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของ ผบ.ทบ. หรือ กองทัพไทยโดยรวมอยู่มิใช่น้อย ในอีกกรณีหนึ่ง แม้ขุมพลังของกองทัพภาคที่ประกอบด้วยป้อมค่ายซึ่งตั้งเรียงรายอยู่ตามจังหวัดยุทธศาสตร์ต่างๆ จะสามารถยึดโยงให้กองทหารสามารถเปิดปฏิบัติการเพื่อควบคุมฝ่ายปรปักษ์ได้อย่างค่อนข้างมีประสิทธิภาพ



พลเอกประยุทธ์ ในพิธีสวนสนามวันกองทัพไทย

หากแต่ว่า ทหารเองนั้นย่อมถือเป็นส่วนหนึ่งของผลผลิตทางสังคม ซึ่งหากสังคมหรือภูมิภาคต่างๆ ภายในประเทศ ล้วนเต็มไปด้วยการแตกแยกทางความคิดหรือสภาวะขัดแย้งทางชนชั้น การคุมกำลังพลระดับล่างซึ่งเริ่มมีการรับรู้ข่าวสารที่มาจากนอกค่ายทหารมากขึ้นเรื่อยๆ หรือมีเครือญาติซึ่งเป็นคนที่ชอบต่อต้านอิทธิพลทางการเมืองของทหารอยู่เนืองๆ ก็อาจกลับกลายเป็นขั้วปัจจัยที่สร้างความยากลำบากให้กับการรวมเอกภาพภายในกองทัพ หรือ การสานเอกภาพระหว่างกองทัพกับประชาชน

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น กองทัพญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 1920 ที่กำลังพลระดับบนมักเป็นชนชั้นสูงสายอนุรักษ์นิยม ขณะที่กำลังพลระดับล่างกลับเป็นชนชั้นกลางและชนชั้นชาวนา หรือกรณีความระส่ำระส่าของกองทัพฝรั่งเศสในอัลจีเลียช่วงทศวรรษ 1950 ที่การเกณฑ์กำลังพลจากหลายพื้นที่ ได้ทำให้ทหารระดับล่างถูกแยกกลุ่มหรือสนับสนุนกลุ่มอำนาจที่มาจากภูมิภาคต่างๆ จนทำให้การรวมศูนย์ของกองทัพต้องสั่นคลอน

นอกจากนั้น ประเด็นที่เหล่าองครักษ์เพรโตเรี่ยนในโลกการเมืองปัจจุบัน จำเป็นจะต้องให้ความสำคัญกันอย่างจริงจังคือการคืนความสงบแก่บ้านเมืองให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้พร้อมจัดการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรม ควบคู่ไปกับการประกันความปลอดภัยให้กับผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งก็นับเป็นประเด็นที่หาความสำเร็จได้ยากในหมู่กองทัพของรัฐกำลังพัฒนาทั้งหลาย เช่น ความล้มเหลวของทหารพม่าในการจัดการเลือกตั้งที่โปร่งใสเที่ยงธรรมเมื่อช่วงปี 1990 และ 2010 หรือแม้แต่การจัดเลือกตั้งหลังการยึดอำนาจของนายพลปัก จุงฮี ของเกาหลีใต้ ช่วงต้นทศวรรษ 1960 เป็นอาทิ

ท้ายที่สุด คงต้องภาวนาให้ราชองครักษ์ผู้ค้ำจุนรัฐไทย สามารถใช้ทักษะด้านความมั่นคง เข้าคลี่คลายสถานการณ์เพื่อนำพาประเทศกลับคืนสู่สภาวะปกติ พร้อมนำกำลังกลับเข้ากรมกอง แล้วปล่อยให้สังคมเดินหน้าไปตามระบบและกรอบกฎหมายที่เต็มไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์และยุติธรรม ซึ่งถ้าหากพลเอกประยุทธ์สามารถจบภารกิจได้ในระยะเวลาอันสั้น ก็เท่ากับเป็นความสำเร็จส่วนหนึ่งในการปฏิรูปภาคทหาร (Military Reform) ของกองทัพไทย

เพียงแต่ว่า โอกาสแห่งความสำเร็จในบ้านเมืองนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับกลุ่มพลังภาคพลเรือนดุจเดียวกันกัน โดยต้องจับตามองว่าเขาเหล่านั้นจะสามารถเจรจาประนีประนอมเพื่อหาข้อยุติทางการเมืองได้มากน้อยเพียงใด

อนึ่ง การต่อสู้ห้ำหั่นกันอย่างรุนแรงและสุดโต่งของกลุ่มการเมืองแต่ละฝ่าย รวมถึงจำนวนผู้เสียชีวิตที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมๆ กับการตะแบงและสาดโคลนกันไปมาอย่างยาวนานของบรรดานักการเมือง ก็นับเป็นอีกหนึ่งข้อบกพร่องที่ทำให้การยอมรับความเหนือกว่าของพลเรือน หรือที่เรียกในทางวิชาการว่า "Civilian Supremacy” ยังมิอาจหยั่งรากลึกหรือซึมซาบเข้าไปในจิตใจของชนชั้นนำทหารไทยได้อย่างจริงจัง

ผลที่ตามมา คือความไม่เชื่อมั่นของผู้นำทหารเกี่ยวกับสมรรถนะทางการปกครองของพลเรือนและวัฏจักรการเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองของทหารในฐานะองครักษ์ผู้คำจุนรัฐหรืออัศวินขี่ม้าขาว ซึ่งอาจจะยังคงเกาะติดแทรกซึมเข้าไปในกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยของรัฐไทย สืบต่อไป

ดุลยภาค ปรีชารัชช

สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
................................................

รายการอ้างอิง

Finer, S.E. The Man Horseback: The Role of Military in Politics. Baltimore [etc]: Penguin, 1976.

Huntington, S.P. The Soldier and the State: The Theory and Politics of Civil-Military Relations. New York: Vintage Book, 1957.

Nordlinger, E.A. Soldiers in Politics: Military Coups and Governments. New Jersey: Prentice-Hall, 1997.


- See more at: http://blogazine.in.th/blogs/dulyapak/post/4802#sthash.ezjAaG4x.dpuf



ที่มา.ประชาไท
-----------------------------------------


วันอังคารที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

อนาคตประเทศไทยในมือ พล.อ.ประยุทธ์ หลังประกาศเคอร์ฟิว..


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ในทางกฎหมายแล้ว การประกาศ กฎอัยการศึก เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ถือว่ามีความถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ เพราะใช้อำนาจตาม “พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457″ และไม่ได้ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งเหมือนการรัฐประหาร

แต่ในทางปฏิบัติ กฎอัยการศึก ก็มีความใกล้เคียงกับ รัฐประหารซ่อนรูป หรือ รัฐประหารครึ่งใบ (ตามแต่จะเรียกกัน) เพราะ “ฝ่ายทหาร” ภายใต้การบังคับบัญชาของกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกเป็นผู้อำนวยการ ได้มีอำนาจด้านความมั่นคงภายในเหนือ “รัฐบาล” ที่ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 (ซึ่งมีศักดิ์ต่ำกว่ากฎอัยการศึก) ผ่าน ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ที่มีฝ่ายการเมืองและตำรวจเป็นกำลังสำคัญ

นอกจากนี้ การประกาศกฎอัยการศึกครั้งนี้ยังมีการควบคุมสื่อ เฝ้าระวังจุดยุทธศาสตร์ในกรุงเทพ รวมถึงเรียกหัวหน้าส่วนราชการและทูตต่างชาติเข้ามาชี้แจง ในรูปแบบเดียวกับการรัฐประหารครั้งก่อนในปี 2549 แทบจะทุกประการ

สิ่งที่ต่างไปมีเพียงแค่รัฐธรรมนูญและรัฐบาลรักษาการณ์ยังอยู่ เพียงแต่ว่าจะยังอยู่แบบมีความหมายหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ประเมินว่าความเคลื่อนไหวของฝ่ายทหาร ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของม็อบ กปปส. โดยตรง แต่ในแง่ฟากฝั่งทางการเมืองนั้นมีความเชื่อมโยงและสนับสนุนกัน อย่างไรก็ตาม การประกาศกฎอัยการศึกของฝ่ายทหารถือเป็น “ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้” ถ้ามองจากม็อบทั้งสองฝ่าย ทำให้ม็อบทั้งสองฝ่ายเลือกจะอยู่ในที่ตั้งและ “ประเมินสถานการณ์” ก่อนวางแผนเคลื่อนไหวในขั้นต่อไป

ผลกระทบของการประกาศกฎอัยการศึกครั้งนี้ สามารถแบ่งได้เป็น 3 ระยะดังนี้

ระยะสั้น (ภายในสัปดาห์นี้) กฎอัยการศึกจะทำให้ม็อบทั้งสองฝ่ายไม่กล้าขยับตัว และลดแรงปะทะของมวลชนทั้งสองฝ่ายลงได้ชั่วคราว อย่างไรก็ตาม การประกาศกฎอัยการศึกจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบทันที

ระยะกลาง (1-2 เดือน) กฎอัยการศึกไม่ได้แก้ปัญหา “สุญญากาศทางการเมือง” ที่ขาดรัฐบาลตัวจริงและสภาผู้แทนราษฎรมาปฏิบัติหน้าที่ขับเคลื่อนประเทศ แต่เป็นการเพิ่ม “คนกลาง” ที่มีอำนาจปลายกระบอกปืนเข้ามาเร่งให้เกิดการเดินหน้าต่อเพื่อแก้ปัญหา “สุญญากาศทางการเมือง” ได้เร็วขึ้น

ระยะยาว (1-3 ปี) กฎอัยการศึกไม่ได้แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของการเมืองไทยในระยะยาว ที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านและแสวงหา “สถาปัตยกรรมใหม่ทางการเมืองไทยในอนาคต” และอาจเป็นปัจจัยลบที่บั่นทอนอนาคตของประเทศไทยในเชิงประชาธิปไตยด้วยซ้ำ

กฎอัยการศึกเป็นกฎหมายที่มีอายุครบ 100 ปีในปี 2557 นี้พอดี กฎหมายฉบับนี้ออกในสมัยรัชกาลที่ 6 ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเล็กน้อย ประเทศกำลังอยู่ในช่วงสงคราม ทำให้กฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจฝ่ายทหารในการตรวจสอบหรือค้นหา “ศัตรู” ได้ทันที

คำถามคือ “ศัตรู” ของทหารไทยในปี 2457 และ “ศัตรู” ของทหารไทยในปี 2557 เป็นคนกลุ่มเดียวกันหรือไม่

ความเก่าแก่ของกฎอัยการศึกฉบับนี้อีกประเด็นหนึ่งคือ การเลิกกฎอัยการศึกนั้น ฝ่ายทหารไม่สามารถทำเองได้ ต้องอาศัย “พระบรมราชโองการ” เท่านั้น (เพราะในช่วงที่ออกกฎอัยการศึก ประเทศไทยยังปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช กษัตริย์มีอำนาจเต็มที่)

การประกาศกฎอัยการศึกปี 2457 ในปี 2557 จึงหมายความว่า พลเอกประยุทธ์ไม่มี “ทางลงด้วยตัวเอง” เหลือแล้ว และต้องเดินหน้าแก้ปัญหาของประเทศต่อไปให้สำเร็จ ก่อนจะอาศัย “พระบรมราชโองการ” ยกเลิกกฎอัยการศึกเมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้ว

ระหว่างที่ทั้งโลกกำลังจับตา “อนาคตประเทศไทยในมือประยุทธ์
ประเมินว่าทางเลือกของ พล.อ.ประยุทธ์ สามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 แนวทางใหญ่ๆ

แนวทางแรก

พล.อ.ประยุทธ์ สามารถอาศัยสถานะ “คนกลาง” และอำนาจตามกฎอัยการศึก หารือกับหน่วยงานทางการเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลรักษาการณ์ ฝ่ายค้าน วุฒิสภา กกต. รวมถึงมวลชนทั้งสองฝ่าย ในการกำหนด “วันเลือกตั้งใหม่” เพื่อให้ประเทศไทยมีสภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มโดยเร็ว

ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ เลือกแนวทางนี้ พรรคเพื่อไทยจะยินดีไม่ส่งคนของตระกูลชินวัตรลงเลือกตั้งเพื่อเลี่ยงการเผชิญหน้า พรรคประชาธิปัตย์จะกลับคืนสู่สนามเลือกตั้ง ส่วนม็อบ กปปส. ถึงแม้ไม่เห็นด้วยเต็มที่ แต่ก็น่าจะยินดีสนับสนุนการเลือกตั้งที่อยู่ภายใต้กฎอัยการศึกมากกว่าการเลือกตั้งตามปกติ ส่วนคนเสื้อแดงก็น่าจะยอมรับได้ถ้าได้รับคำสัญญาว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น

หลังการเลือกตั้งแล้ว รัฐบาลพรรคเพื่อไทย (ที่น่าจะชนะการเลือกตั้งมากที่สุด) จะเสนอกระบวนการปฏิรูปการเมืองและแก้รัฐธรรมนูญตามที่มีหลายฝ่ายเสนอมาก่อนหน้า และใช้เวลาอีก 1-2 ปีแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ก่อนยุบสภาเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนอีกครั้งหนึ่ง

แนวทางที่สอง

แต่ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ยึดโยงกับการเลือกตั้งว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการแก้ปัญหาของประเทศ และหาทางตั้ง “นายกรัฐมนตรีคนกลาง” ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง (เช่น อาจใช้อำนาจตาม ม. 7 หรือ เสนอชื่อโดยวุฒิสภา) ถึงแม้จะสามารถตั้งรัฐบาลใหม่ได้สำเร็จ ก็ย่อมจะต้องเผชิญกับการต่อต้านจากคนเสื้อแดงอย่างรุนแรง การใช้กฎอัยการศึกจะเป็นตัวเร่งให้คนเสื้อแดงหันไปใช้ยุทธศาสตร์ใต้ดิน และอาจนำมาซึ่งความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน จนลุกลามกลายเป็น “สงครามกลางเมือง” ที่ยืดเยื้อยาวนานตามที่หลายฝ่ายเคยทำนายกันไว้

สถานการณ์ในประเทศไทยตอนนี้ต้องถือว่าอยู่บน “ทางแพร่ง” ว่าจะไปในทิศทางใด และท้ายที่สุดแล้ว อำนาจการตัดสินใจเลือกอนาคตประเทศไทย ก็อยู่ในมือของผู้ชายชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เพียงคนเดียวเท่านั้น

ที่มา.Siam Intelligence Unit
--------------------------------

วันจันทร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

หน้าที่ กกต.


เปิด(อีกครั้ง) รธน.-กฎหมาย พิสูจน์ “สมชัย ศรีสุทธิยากร” แทรกแซงสื่อฯ–ห้ามเห็นต่าง–อิดออดจัดเลือกตั้ง…“หน้าที่ กกต.” หรือ??

สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านบริการจัดการการเลือกตั้ง สอดขึ้นกลางวิกฤตการเมืองอีกครั้ง ด้วยการเสนอให้ กกต. ทำหนังสือดำเนินการตรวจสอบกรณีที่ช่อง 11 ถ่ายทอดการอภิปรายของกลุ่มนักวิชาการ ที่มีขึ้นในวันเสาร์ที่ 16 พ.ค.2557 ระหว่างเวลา 18.00 – 19.00 น. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต 

โดยอ้างว่าเนื้อหาทางวิชาการ ที่เหล่านักวิชาการได้นำเสนอ ต่อสถานการณ์การเมืองไทยในขณะนี้ เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล มีการเสนอข้อมูลที่สร้างความแตกแยกและความสับสนต่อประชาชน โดยเฉพาะการที่นักวิชาการยืนยันด้วยหลักการทางกฎหมายว่ารัฐบาลสามารถทูลเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกำหนดวันเลือกตั้งได้เอง

ซึ่งแน่นอนว่าความคิดเห็นของ นักวิชาการ เหล่านั้นย่อมไม่ตรงกับความคิดเห็นของ สมชัย ศรีสุทธิยากร ที่อ้างมาตลอดว่า รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี นั้นไม่มีอำนาจในการทูลเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกำหนดวันเลือกตั้ง ทั้งๆที่ปรากฏข้อมูล-หลักฐาน อย่างชัดเจนว่า นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รักษาการรองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ในช่วงปลายปี 2551 ภายหลัง “พรรคพลังประชาชน” ถูกสั่งให้ยุบพรรค นั้นเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎร” ในเขตที่ว่างลง ซึ่งกำหนดให้มีการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 11 มกราคม 2552
 คลิกอ่านข้อมูลที่เกี่ยวข้อง : เปิด พระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ส.ส. 2552 พบ ชวรัตน์ ชาญวีรกูล ขณะ ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี” เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการฯ

คำถามก็คือ สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. มีหน้าที่ อะไรไปสั่งให้มีการตรวจสอบการทำงานของสื่อสารมวลชนและนักวิชาการที่แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกับ กกต. ทั้งๆที่เป็นความคิดเห็นทางวิชาการและเป็นไปโดยสุจริต

คำถามก็คือ สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. มี หน้าที่ อะไรไปกระทำการอันสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการ แทรกแซงการทำงานและอิสรภาพของสื่อสารมวลชน
และ คำถามก็คือ สิ่งที่ สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ประกาศว่าจะกระทำนั้นเป็น หน้าที่หลัก ที่ กกต. พึงกระทำ ในขณะนี้หรือไม่

ซึ่งก่อนหน้านี้  ได้นำเสนอเรื่อง เปิด รธน.-กฎหมาย ดูพฤติกรรม กกต. ขอ เลื่อนเลือกตั้ง คำประกาศ เป็นกลาง(ข้างกบฎ) ไว้แล้วครั้งหนึ่ง แต่เมื่อ “สมชัย ศรีสุทธิยากร” กกต.หญ่าย แสดงออกซึ่งการทำ “หน้าที่” ที่ชวนให้ สังคม ตั้งข้อสงสัย จึงขออนุญาตนำข้อมูลหลักฐาน มานำเสนออีกครั้ง เพื่อให้สังคมได้ร่วมกับพิจารณาว่า แท้ที่จริงแล้ว หน้าที่ ของ กกต. ที่สำคัญที่สุดนั้นคืออะไร

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ซึ่งยกร่างโดย คนของ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)
มี ประสงค์ สุ่นศิริ เป็นประธาน คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 และ สมคิด เลิศไพฑูรย์ เป็นเลขาธิการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนดัง ร่วมกันทำคลอดออกมา ภายหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
ใน มาตรา 235 กำหนด หน้าที่หลัก ของ กกต. เอาไว้ว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้ควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มี การเลือกตั้งหรือการสรรหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหาร ท้องถิ่น แล้วแต่กรณี รวมทั้งการออกเสียงประชามติ ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

พร้อมกับระบุใน มาตรา 236 กำหนดว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) ออกประกาศหรือวางระเบียบกำหนดการทั้งหลายอันจำเป็นแก่การปฏิบัติตามกฎหมาย ตามมาตรา ๒๓๕ วรรคสอง รวมทั้งวางระเบียบเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งและการดำเนินการใดๆ ของพรรคการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินการของรัฐในการสนับสนุนให้การเลือกตั้งมีความเสมอภาค และมีโอกาส ทัดเทียมกันในการหาเสียงเลือกตั้ง
(2) วางระเบียบเกี่ยวกับข้อห้ามในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ขณะอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 181 โดยคำนึงถึงการรักษาประโยชน์ของรัฐ และคำนึง ถึงความสุจริต เที่ยงธรรม ความเสมอภาค และโอกาสทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง
(3) กำหนดมาตรการและการควบคุมการบริจาคเงินให้แก่พรรคการเมือง การสนับสนุน ทางการเงินโดยรัฐ การใช้จ่ายเงินของพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้ง รวมทั้งการตรวจสอบบัญชี ทางการเงินของพรรคการเมืองโดยเปิดเผย และการควบคุมการจ่ายเงินหรือรับเงินเพื่อประโยชน์ในการ ลงคะแนนเลือกตั้ง
(4) มีคำสั่งให้ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ปฏิบัติการทั้งหลายอันจำเป็นตามกฎหมาย ตามมาตรา 235 วรรคสอง
(5) สืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้น ตามกฎหมายตามมาตรา 235 วรรคสอง
(6) สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือออกเสียงประชามติใหม่ในหน่วยเลือกตั้งใด หน่วยเลือกตั้งหนึ่งหรือทุกหน่วยเลือกตั้ง เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งหรือการออกเสียง ประชามติในหน่วยเลือกตั้งนั้น ๆ มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
(7) ประกาศผลการเลือกตั้ง ผลการสรรหา และผลการออกเสียงประชามติ
(8) ส่งเสริมและสนับสนุนหรือประสานงานกับหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือสนับสนุนองค์การเอกชน ในการให้การศึกษาแก่ประชาชน เกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และส่งเสริมการมี ส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน
(9) ดำเนินการอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ

นอกจากนี้ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 ซึ่งออกมารองรับการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ใน มาตรา 10 ก็ระบุถึง หน้าที่หลัก ของ กกต. เอาไว้ว่า ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) ควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้งหรือสนับสนุนการสรรหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่นแล้วแต่กรณีรวมทั้งการออกเสียงประชามติ ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
รวมทั้ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 ใน มาตรา 6 ก็ถึง หน้าที่หลักของ กกต. ว่า ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการเลือกตั้ง ดังต่อไปนี้
(1) การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งเท่าจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีได้ในเขตเลือกตั้งนั้น
(2) การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วน ซึ่งเป่นการลงคะแนนเลือกพรรคการเมือง ที่จัดทําบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งในแต่ละเขตเลือกตั้ง โดยเลือกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเพียงพรรคการเมืองเดียว
กกต. มี “หน้าที่และ หน้าที่หลัก ของ กกต. ก็คือ จัดการเลือกตั้งให้ บริสุทธิ์และเที่ยงธรรม

การกระทำจำพวก  แทรกแซงสื่อมารมวลชน , แสดงความต้องการ จำกัดกรอบความคิดเห็นของประชาชนและนักวิชาการ, แสดงออกซึ่งความ ไม่พึงพอใจ เมื่อมีผู้แสดงความคิดที่แตกต่าง ซ้ำร้ายยัง ออกอาการ  อิดๆออดๆ ไม่อยากจะจัดการเลือกตั้ง ด้วย ข้ออ้าง มากมาย + เงื่อนไขแปลกประหลาดๆนั้น อาจจะ ไม่ใช่ หน้าที่หลัก ของ กกต.

ซึ่งอาจจะเป็น กก.ตรวย สาวก กรวย กปปส. ก็เป็นได้


ที่มา.พระนครสาสน์
-----------------------------------------------