--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2557

บ้านเมืองไม่ได้เอาไว้เดิมพัน !!?

การชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตามอุดมการณ์ที่แต่ละฝ่ายยึดถือ มีแนวโน้มละทิ้งกฎเกณฑ์เข้าไปทุกขณะ ล่าสุดนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ได้ออกมาแจงถึงเหตุผลที่ออกมาประกาศยึดอำนาจประเทศไทย ตั้งตัวเองเป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์ หรือการมีอำนาจอธิปไตย เพื่อออกคำสั่งตั้งนายกฯโดยตนจะเป็นผู้สนองรับพระบรมราชโองการเอง เมื่อเร็วๆนี้ว่า ไม่ใช่ทำตัวเป็นเผด็จการดังที่ฝ่ายตรงข้ามประดิษฐ์วาทกรรมขึ้นมากล่าวหาตน แต่ทำในฐานะร่างทรงของประชาชนและยืนยันว่าทำอย่างถูกต้องเมื่ออำนาจอธิปไตยกลับมาเป็นของปวงชนและต้องการให้จัดการประเทศอย่างไร
   
พร้อมกันนั้นยังได้ส่งข้อความกลับไปยังกลุ่มแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ว่าถ้าแน่จริง ให้ระดมมวลชนมาเลย ถ้าน้อยกว่าก็เอาประเทศไป พวกเราจะยอมเป็นทาสแล้วชาติหน้าค่อยมาต่อสู้กันใหม่ ขณะเดียวกัน นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ได้กล่าวว่านปช.จะนัดชุมนุมวันเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสถานะความเป็นนายกรัฐมนตรีของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และยังบอกด้วยว่า การที่นายสุเทพรับคำท้าเป็นเรื่องดีใครมีเพื่อนร่วมขบวนการมากกว่ากัน ก็มาวัดกันในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
   
การที่มวลชนทั้ง 2 ขั้วการเมืองต่างเห็นพ้องในการระดมมวลชนและใช้ปริมาณเป็นเครื่องชี้วัดว่า ฝ่ายใดจะได้เมืองไปครอง หรือได้อำนาจรัฐไป ถือเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะการระดมมวลชนมาเผชิญหน้ากัน นอกจากสุ่มเสี่ยงต่อการนำไปสู่ความรุนแรงแล้ว ยังมีโอกาสที่จะเกิดผลอันไม่พึงปรารถนาต่อบ้านเมืองอีกด้วย นอกจากนี้ แม้สิทธิการชุมนุมทางการเมืองได้รับประกันตามรัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้สิทธิ์บุคคล หรือกลุ่มบุคคลนำบ้านเมืองมาเป็นเดิมพัน ดังที่แกนนำ 2ขั้วการเมืองแสดงออกมา
   
ที่ผ่านมาแม้แกนนำไม่ว่าขั้วการเมืองไหน อ้างเสมอว่า อำนาจเป็นของปวงชน แต่ในหลักความจริง ปวงชนมิได้หมายถึงกลุ่มบุคคลที่มาร่วมชุมนุมเท่านั้น หากยังหมายรวมไปถึงบุคคลอื่นที่อาจมีความคิดและวิธีแสดงออกถึงความต้องการทางการเมืองที่แตกต่างออกไปอีกด้วยฉะนั้นการยกเอาจำนวนมวลชนที่ระดมมาชี้ผลแพ้ชนะเพื่อกำหนดอนาคตประเทศไทยไม่ต่างจากการหันหลังให้ระบอบประชาธิปไตย ที่ยึดมั่นในความมีส่วนร่วม และเท่าเทียม อย่างแน่นอน และวิธีการดังกล่าว ซึ่งไม่ได้อิงกับหลักกฎหมายใด หรือแนวปฏิบัติที่เคยมีมา อาจจะซํ้าเติมสถานการณ์บ้านเมืองให้สลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้นไปอีก
   
ทั้งนี้การที่ประเทศไทยมีรัฐบาลรักษาการมากว่า 4 เดือน และมีการชุมนุมทางการเมืองยืดเยื้อมาเกือบครึ่งปี ได้ส่งผลกระทบในหลายด้านโดยเฉพาะภาคเศรษฐกิจ หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หน่วยงานทางเศรษฐกิจทั้งของรัฐและเอกชนได้ออกมาประกาศปรับลดประมาณการอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจกันโดยถ้วนหน้า เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งการบริโภคและลงทุนอยู่ในภาวะชะงักงันถึงชะลอตัว จากสภาวะความไม่แน่นอนทางการเมือง
   
กับวิกฤติการเมืองที่คงอยู่และมีแนวโน้มลุกลามไปยังภาคส่วนอื่น เรามองว่าถึงเวลาแล้วที่คู่กรณีต้องมองหาหนทาง ที่จะพาบ้านเมืองออกจากกับดักทางการเมืองที่กำลังทำร้ายคนไทยทุกคนไม่ใช่ออกมาประกาศท้าทายเอาบ้านเอาเมืองมาเป็นเดิมพัน ดังที่ปรากฏอยู่เวลานี้

ที่มา.นสพ.ฐานเศรษฐกิจ
///////////////////////////////////////////////

ใครคือ"รัฏฐาธิปัตย์"

หนึ่งคือการลงมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติกรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวตามนโยบายของรัฐบาลว่านางสาวยิ่งลักษณ์ชินวัตรนายกรัฐมนตรีจะมีความผิดไปด้วยตามมาตรา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่

หนึ่งคือการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีการโยกย้ายนายถวิลเปลี่ยนศรีอดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)ว่าจะมีผลให้สถานภาพรัฐมนตรีของนางสาวยิ่งลักษณ์สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 (7) ประกอบมาตรา 268 หรือไม่

ทั้ง 2 กรณีไม่ว่าจะมติของป.ป.ช. หรือการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหากมีผลออกมาว่าผิดการทำหน้าที่ในการเป็นรักษาการนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก็จะต้องสิ้นสุดลง
นั่นแปลว่าโอกาสที่จะเกิดสุญญากาศทางการเมืองจะมีขึ้นทันที

เพราะต่อให้พรรคเพื่อไทยไปร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นเรื่องสถานภาพสิ้นสุดลงเฉพาะตัวไม่ใช่คณะรัฐมนตรีทั้งหมดแต่หากดูการวินิจฉัยขององค์กรอิสระที่เป็นขั้วตรงข้ามรัฐบาลจะเห็นว่าผลการวินิจฉัยแทบจะไม่เคยเป็นคุณกับพรรคเพื่อไทยเลยสักครั้ง

มีแต่พรรคประชาธิปัตย์เท่านั้นที่เป็นฝ่ายโชคดีมาโดยตลอดและได้เฮทุกครั้ง

ครั้งนี้แม้แต่อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ที่ออกมาเล่นการเมืองข้างถนนคือนายสุเทพเทือกสุบรรณก็ยังมั่นใจว่ามติและคำวินิจฉัยของป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นคุณกับฝ่ายตนเอง

ถึงขนาดที่กล้าประกาศเลยว่าวันที่มีผลวินิจฉัยออกมาวันนั้นนายสุเทพจะประกาศความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ใช้อำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่และแต่งตั้งสภาประชาชนแทนประชาชนคนไทยทั้งประเทศในทันที

น้ำหนักชัดเจนว่าขั้วตรงข้ามรัฐบาลใจจรดใจจ่อไปที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีของนายถวิลเป็นหลักมากเสียยิ่งกว่ากรณีการมีมติของป.ป.ช.เรื่องทุจริตรับจำนำข้าวเสียอีก

ถามว่าทำไมการโยกย้ายข้าราชการที่ชื่อนายถวิลเปลี่ยนศรีจากตำแหน่งเลขาฯสมช. ไปเป็นที่ปรึกษานายกฯระดับ 11 เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2554 แล้วให้พล.ท.ภราดรพัฒนถาบุตรเข้ามาเป็นเลขาฯสมช. แทนจึงกลายเป็นเรื่องใหญ่คอขาดบาดตายถึงขนาดที่ศาลรัฐธรรมนูญรับเอามาเป็นประเด็นในการให้สถานภาพการเป็นรัฐมนตรีของนางสาวยิ่งลักษณ์สิ้นสุดลงหรือไม่เช่นนั้นเชียวหรือ?

หรือว่าในอดีตที่ผ่านมาไม่เคยมีรัฐบาลใดโยกย้ายข้าราชการโดยเฉพาะไม่เคยมีการย้ายเขาฯสมช. ไปเป็นที่ปรึกษานายกฯเลยหรืออย่างไรเพิ่งจะมีรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเช่นนั้นใช่หรือไม่ที่ทำ

คำตอบคือไม่ใช่เลยมีการโยกย้ายในลักษณะนี้เกิดขึ้นมาโดยตลอดที่สำคัญไม่ต้องย้อนไปไกลแค่สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์เวชชาชีวะก็ได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 30 มิถุนายน 2552  ให้พล.ท.สุรพลเผื่อนอัยกาพ้นจากเลขาธิการสมช.ไปเป็นที่ปรึกษานายกฯแล้วก็ตั้งนายถวิลนั่นแหละขึ้นมาแทน...ทำไมทำได้
ซ้ำรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ยังย้ายนายพีรพลไตรทศาวิทย์จากปลัดกระทรวงมหาดไทยไปเป็นที่ปรึกษานายกฯก็ทำได้อีกเช่นกัน

เหตุผลที่รู้กันทั้งประเทศว่าเป็นที่มาของการสั่งย้ายพล.ท.สุรพลก็คือการเป็นเตรียมทหารรุ่น 10 รุ่นเดียวกับพ.ต.ท.ทักษิณชินวัตรอดีตนายกฯทำให้รัฐบาลไม่ไว้วางใจที่จะให้ทำหน้าที่สำคัญต่อไป
เช่นเดียวกับกรณีย้ายนายพีรพลก็เพราะแค่ลูกของนายพีรพลเป็นเพื่อนกับลูกพ.ต.ท.ทักษิณ
นี่คือความจริงที่เกิดขึ้นแล้วในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ซึ่งในวันนั้นนายถวิลที่วันนี้พูดว่าที่ต่อสู้ไม่ใช่เพราะต้องการตำแหน่งคืนแต่เพราะต้องการความยุติธรรมเกียรติศักดิ์ศรีของข้าราชการนั้นไม่เคยพูดถึงศักดิ์ศรีข้าราชการของพล.ท.สุรพลที่ตัวเองขึ้นไปนั่งเก้าอี้แทนเลยสักนิดเดียว

นายถวิลไม่เคยพูดให้พล.ท.สุรพลลุกขึ้นต่อสู้เพื่อความยุติธรรมเกียรติศักดิ์ศรีของข้าราชการเลย
หรือความยุติธรรมเกียรติศักดิ์ศรีของข้าราชการของพล.ท.สุรพลกับนายถวิลนั้นแตกต่างกัน
หรือการที่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ไม่ไว้วางใจนายถวิลที่ใกล้ชิดกับประชาธิปัตย์และไปขึ้นเวทีขั้วตรงข้ามรัฐบาลพรรคเพื่อไทยมาโดยตลอดนั้นมีน้ำหนักน้อยกว่าแค่การที่พล.ท.สุรพลเป็นตท.10

เพราะเรื่องเหมือนกันแต่องค์กรอิสระทำให้กลายเป็นคนละเรื่องเดียวกันใช่หรือไม่จึงทำให้คำว่า 2 มาตรฐานไม่เคยจบไปเสียทีและทำให้วลี“ความยุติธรรมไม่มีความสามัคคีไม่เกิด”ยังดังก้องในประเทศนี้
วันนี้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเกิดขึ้นหลังสงกรานต์กำลังถูกจับตามองจากทุกฝ่ายว่าจะนำอะไรมาสู่ประเทศไทยความแตกแยกความเสียหายหรือว่าจะทำให้ไฟที่กำลังจะลุกโชนดับลง

นายสุเทพรอคำตัดสินด้วยความมั่นใจและกระหยิ่มถึงขั้นประกาศจุดยืนจะเป็นรัฏฐาธิปัตย์โดยไม่กระมิดกระเมี้ยนอีกต่อไปซึ่งหากตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาตรงกับธงของนายสุเทพจริงๆนั่นแปลว่ารัฏฐาธิปัตย์เกิดขึ้นแน่เพราะมีการประกาศล่วงหน้าเอาไว้แล้วศาลรัฐธรรมนูญก็รู้แล้ว
ก็เท่ากับตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเข้าทางเพื่อให้นายสุเทพเป็นรัฏฐาธิปัตย์

สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาจากฝั่งของคนรักประชาธิปไตยไม่เอาการทำรัฐประหารทุกรูปแบบจะยอมรับการเป็นรัฏฐาธิปัตย์ของนายสุเทพแต่โดยดีหรือไม่คงไม่มีใครบอกได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นจะมีการนองเลือดตามมาหรือไม่

สิ่งที่บอกได้คือความไม่เข้าใจว่าทำไมนายสุเทพจึงกล้าย่ามใจจนประกาศตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์
เพราะที่ผ่านมาแม้นายสุเทพจะเลือกเล่นการเมืองนอกเกมรัฐสภาออกมาเล่นการเมืองต่อสู้ข้างถนนนาน 4-5 เดือนสู้ไม่ถอยก็ยังต้องชมว่าเป็นนักต่อสู้ที่เข้มแข็งคนหนึ่งแต่พอมาประกาศตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์นี่มันไม่ใช่แล้ว

เพราะการปฏิวัติประชาชนถ้าประชาชนทั้งประเทศเอาด้วยนั่นคือการปฏิวัติประชาชนที่แท้จริง
แต่นี่นายสุเทพรู้อยู่แก่ใจว่าไม่ใช่... ผู้คนตั้งครึ่งค่อนประเทศไม่ได้เอาด้วยกับวิธีการของนายสุเทพ
มีเพียงมวลมหาประชาชนของนายสุเทพเท่านั้นที่นายสุเทพกล่าวอ้างว่าเป็นมติของคนเหล่านั้นที่จะให้นายสุเทพเป็นรัฏฐาธิปัตย์

ซึ่งหากมวลมหาประชาชนของนายสุเทพมีมากเกินครึ่งค่อนประเทศจริงๆมีมากกว่าคนที่ไม่เห็นด้วยกับนายสุเทพจริงๆทำไม่นายสุเทพไม่สนับสนุนให้มีการเลือกตั้งไปเลยเพราะถ้ามวลมหาประชาชนมีมากมายมหาศาลจริงจะต้องชนะเลือกตั้งแน่จะต้องกลัวพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งไปทำไม

การเลือกเป็นรัฏฐาธิปัตย์ด้วยวิธีพิสดารต่างหากที่นายสุเทพจะตอบคนทั้งประเทศจะตอบลูกหลานไทยจะตอบนิสิตนักศึกษาที่เรียนนิติศาสตร์รัฐศาสตร์อย่างไร

คำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญจากประเด็นนายถวิลจะทำให้เกิดการ “เปลี่ยนสีเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมือง”ตามมาหรือไม่

หรือจะเลวร้ายถึงขั้นเปลี่ยนประเทศไทยไปสู่โหมดของการแตกหักทางการเมืองอย่างรุนแรง


หากเกิดขึ้นจริงก็ต้องถือเป็นตราบาปของกลุ่มคนที่คิดจะ“เปลี่ยนสี”ทั้งหลายนั่นแหละ

ที่มา.บางกอกทูเดย์
///////////////////////////////////////////

วันพุธที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2557

เชื่อผู้นำชาติบรรลัย !!?

โดย : พระพยอม กัลยาโณ

ความเป็นห่วงของท่าน พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) เรื่องการนัดชุมนุมใหญ่ของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ในวันตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญชี้ชะตาคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี กรณีแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี จากเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไปเป็นที่ปรึกษานายกฯ เพราะเชื่อว่าจำนวนมวลชนจะมีมากกว่าที่เคยชุมนุมมาและมีความเสี่ยงเกิดเหตุความรุนแรงขึ้นได้

การแสดงความเป็นห่วงของท่าน พล.ต.อ.วรพงษ์ไม่ผิดกับประชาชนทั่วไปหรือคนส่วนใหญ่ที่เป็นห่วงว่าจะต้องเกิดความรุนแรง ถ้าทุกคนประกาศตรงกันว่าวันตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ขึ้นมา แต่ไม่มีใครพูดเลยว่าจะเป็นไปในทางสงบ สันติ มีแต่ว่าจะต้องเจอกัน ต้องห้ำหั่นกัน ต้องสู้กัน จะเอาชนะกัน ซึ่งหากเป็นแบบนี้คงยากต่อการที่จะไม่ให้มีการบาดเจ็บล้มตาย

เวลานี้เราเห็นว่าหลายคนหลุดอะไรต่ออะไรออกมากันอย่างชนิดที่เมามัน เวลาพูดเรียกว่าเกิดอารมณ์ของคนที่โห่ฮา ส่งเสริมให้นึกถึงคำอะไรที่ไม่น่าจะหลุดจะพลาดก็ออกมา เมื่อหลุดออกมาแล้วก็ไปเร้าจิต เร้าอารมณ์ เร้าใจ ให้ฝ่ายหนึ่งเกลียดชัง อีกฝ่ายหนึ่งชื่นชม ฝ่ายที่ชื่นชอบก็เชียร์ ช่วย เชื่อ และพอเชียร์ ช่วย เชื่อ ก็จะไปช่วยกันทำอะไร ไปช่วยกันให้บ้านเมืองสงบก็ดีไป ช่วย เชื่อ และทำตามผู้นำอย่างที่โบราณเราเคยได้ยินกันมาว่า “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” แต่คราวนี้อาตมาว่า “เชื่อผู้นำชาติจะบรรลัย”

เพราะแต่ละฝ่ายของการเป็นผู้นำมองดูท่าทีแล้วล้วนแต่หลุดอะไรออกมาแรงๆ แสลงต่ออีกฝ่ายหนึ่งทั้งคู่ จะเป็นม็อบไหนก็ตาม ไม่ได้หลุดออกมาให้อีกฝ่ายหนึ่งเย็นใจ สบายใจ แต่หลุดออกมาแล้วให้อีกฝ่ายหนึ่งคับแค้น หมองใจ สะเทือนใจ และไม่สบายใจ คนเราลองคับแค้น สะเทือนใจ ไม่สบายใจ ลองเดาทางดูซิว่าสิ่งที่เขาทำนั้นจะต้องทำกับอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งสุขกายสบายใจ หรือให้อีกฝ่ายหนึ่งต้องเดือดร้อนใจ และจะเดือดร้อนคนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ไปด้วย เพราะเวลาพูดกันนั้นเขาเรียกว่าต่างคนต่างก็ “อารมณ์สยดสยอง”

อารมณ์สยดสยองในการหลุดคำต่างๆนานาออกมา หลายคนก็เอาไปยำต่อก็มี นักวิชาการ นักจัดรายการเอาไปวิพากษ์วิจารณ์ต่อ และมีบางคนเติมเสริมใส่ให้อีกฝ่ายหนึ่งรับรู้ รับทราบด้วยความขุ่นข้องหมองใจ ด้วยการอัดอั้นตันใจ แล้วก็ระบายอะไรต่ออะไรออกมา ซึ่งเป็นไปในทางที่ไม่สร้างสรรค์ เป็นไปในทางที่ห้ำหั่นกันมากกว่า ตรงนี้แหละที่อยากบอกว่าน่าหวาดเสียว น่าหวาดหวั่น น่าเป็นห่วงอย่างที่นายตำรวจใหญ่ๆออกมาเป็นห่วง และความห่วงนี้สะทกสะท้านสะเทือนให้คนอื่นเหมือนกัน ขนาดตำรวจยังเป็นห่วง แล้วประชาชนจะหายห่วงกันได้ยังไง

ต่อจากนี้คงต้องเกิดอาการหวาดหวั่นพรั่นพรึง อกสั่นขวัญเสีย การทำมาหากินจะสะดุด เศรษฐกิจความเจริญคงเดินต่อไปได้ยาก ฟัง อ.สุขุม นวลสกุล ท่านพูดไว้ว่า พวกที่ทะเลาะกันทุกวันนี้ลองเหลียวไปดูชาวบ้านที่ทำมาหากินกันบ้างเถอะว่าเขาลำบาก อดอยากข้นแค้นกันอย่างไร ตั้งแต่เราทะเลาะกัน ท่านทั้งหลายทะเลาะกันมาชาวบ้านชาวช่องได้ทำมาหากินได้อย่างคล่องตัว คล่องปาก คล่องใจกันหรือไม่ มีแต่ความติดขัด การจราจรก็ติดขัด แล้วจะไปค้าไปขายได้อย่างไร

ขอให้เหลียวดูบ้าง ถ้าเหลียวดูแล้วเกิดฉุกคิดอะไรดีๆขึ้นมา เกิดโยนิโสมนสิการ เกิดวิจารณญาณ จะทำอะไรกับบ้านเมืองนี้ต่อไปยังไง ขอให้เหลียวดูคนที่ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการช่วงชิงแย่งอำนาจ ใครเป็นคนต้นเหตุก่อหวอดให้เกิดความเกลียดชัง แตกแยก จะเป็นคนใหม่ คนเก่า คนแก่ จะเป็นอำมาตย์ เป็นไพร่อะไรก็ตาม ขอให้เหลียวดูสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่ตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากินที่ไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตาทะเลาะ หาเรื่องกัน เขาอยู่อย่างไร เขาไม่ได้ออกไปด่าไปทะเลาะกับใคร แต่ต้องถูกขัดขวางการทำมากินไม่ราบรื่น แถมยังทำให้ต้องเสียโอกาสในการทำมาหากินอีก

มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายต้องกิน แล้วก็ต้องหากิน ใครที่ขัดขวางการทำมาหากิน จะให้เขาไปเป็นมิจฉาชีพประกอบอาชีพยังไง เขาทำมาหากินสุจริต แต่ท่านทั้งหลายมาทำให้เขาติดขัด ยังไงอาตมาต้องขอบิณฑบาตให้เหลียวดูความทุกข์ยากของคนอื่นบ้าง ดูผลกระทบที่คนอื่นได้รับจากที่ท่านเป็นต้นเหตุ ใครจะเป็นต้นเหตุก็ตาม ยังไงขอให้เหลียวดูแล้วก็สลดหดหู่ ถ้าจบกันได้ก็จบเถอะ เปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้ทำมาหากินอย่างราบรื่นเป็นปรกติ

เจริญพร
------------------------------------------------------

ขวัญชัย ไพรพนา : บอกครั้งต่อไป เจอกัน...!!?

โดย : สมถวิล เทพสวัสดิ์

ม็อบครั้งหน้า'ผมมาแน่' ขวัญชัย ไพรพนา ท่ามกลางกระแสข่าว "ความขัดแย้ง" ระหว่างแกนนำ นปช.ส่วนกลาง และ แกนนำ นปช.ส่วนภูมิภาค

ต่างประกาศรับคำท้าทายผ่าน "สื่อ" กันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" เลขาธิการ กปปส. กับ "จตุพร พรหมพันธุ์" ประธาน นปช. จากนี้ไปก็คอยจับตาดูว่าฝ่ายไหนจะสามารถระดม "มวลชน" มาชุมนุมได้มากกว่ากัน

การประลองกำลังที่วัดจาก "พลังมวลชน" โดยไม่เกิดเหตุปะทะหากทำได้ก็ถือว่าเป็นเรื่องดี แต่ทำแล้วจะก่อเกิดประโยชน์มากน้อยเพียงใดเป็นเรื่องน่าคิด เพราะการเผชิญหน้าถือว่ามีความสุ่มเสี่ยงจะเกิดเหตุลุกลามบานปลาย

ขณะนี้ทั้งสองฝ่ายรอสัญญาณจาก "ศาลรัฐธรรมนูญ" จะตัดสินวันไหนหลังจากมีมติรับวินิจฉัย "สถานะ" ของ นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตามที่วุฒิสภาได้เข้าชื่อกันร้องขอ เนื่องจาก "ศาลปกครอง" ได้มีคำพิพากษาว่า การโยกย้าย "ถวิล เปลี่ยนศรี" จากตำแหน่ง "เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ" (สมช.) มิชอบ

ต่างฝ่ายมั่นใจ "มวลชน" ของตัวเองจะมาร่วมในกิจกรรมครั้งนี้อย่างล้นหลาม

โดยเฉพาะ "จตุพร" ปรับแผนให้ "กรรมการ นปช.ส่วนกลาง" ลงพื้นที่พบปะกับมวลชนในจังหวัดต่างๆ หลังจากถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึง "ยอดผู้ชุมนุม" เมื่อวันที่ 5-7 เมษายน ที่ระดมคนมาไม่ได้ตามเป้า 5 แสนคน

มีแกนนำ นปช.หลายคนในต่างจังหวัดไม่ได้เดินทางมาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ เช่น "แรมโบ้" สุภรณ์ อัตถาวงศ์, "ขวัญชัย ไพรพนา" ประธานชมรมคนรักอุดร

ท่ามกลางกระแสข่าว "ความขัดแย้ง" ระหว่างแกนนำ นปช.ส่วนกลาง และ แกนนำ นปช.ส่วนภูมิภาค

ในเรื่องนี้ "ขวัญชัย ไพรพนา" ได้อธิบายโดยยอมรับว่า มีความน้อยใจเกิดขึ้นจริงระหว่างแกนนำ นปช.ส่วนกลางกับแกนนำ นปช.ภูมิภาค มีแกนนำใกล้ตัวนายจตุพร พูดไม่เข้าหู ไม่ให้เกียรติแรมโบ้ ทั้งที่เป็นเพื่อนร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่มาด้วยกัน เราไม่ได้ถือสาอะไร แต่อยากให้นายจตุพรไปเตือนแกนนำคนใกล้ตัวด้วย

"ขวัญชัย" บอกว่า การชุมนุมที่ถนนอักษะ เมื่อวันที่ 5-7 เมษายน ที่ผ่านมา ตนกับแรมโบ้ (สุภรณ์) ไม่ได้ไปร่วมกิจกรรมด้วย เพราะติดขัดปัญหาเรื่องสุขภาพและปัญหาเรื่องภรรยา (อาภรณ์ ไพรพนา) ลงสมัคร ส.ว. จึงไม่ได้เดินทางไปร่วมทำกิจกรรม แต่ส่งการ์ดมาช่วย 1,000 คน เพื่อมาดูแลผู้ชุมนุม

"การชุมนุมที่ถนนอักษะ ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่ได้ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง หากผมเคลื่อนไหวทางการเมืองภรรยาผมอาจมีปัญหาได้ ผมจึงหยุดการเคลื่อนในช่วงที่มีการเลือกตั้งส.ว. แต่หลังจาก กกต.ประกาศรับรองเรียบร้อยแล้ว การชุมนุมครั้งหน้าผมกับแรมโบ้จะเดินทางไปร่วมชุมนุมพร้อมกับมวลชนอย่างแน่นอน"

สำหรับการมาชุมนุมที่กรุงเทพฯ ครั้งหน้าของ นปช. "ขวัญชัย" ตั้งเป้าเฉพาะในส่วน 20 จังหวัดภาคอีสานที่ตัวเองดูแลอยู่ จะมีมวลชนมาร่วมชุมนุมอย่างน้อย 1 หมื่นคน และจะมีการ์ดที่เคยฝึกไว้จังหวัดละ 200 คน มาช่วยดูแลความปลอดภัยให้แก่มวลชนรวมทั้งหมด 4,000 นาย

"ขวัญชัย" ได้พูดถึงจำนวนคนที่มาชุมนุมที่ถนนอักษะ ระหว่างวันที่ 5-7 เมษายน น้อยกว่าเป้า เป็นเพราะสถานการณ์การเมืองยังไม่สุกงอม เดินทางมาแล้วก็กลับ ดูแล้วไม่เกิดประโยชน์ แกนนำท้องถิ่นใน จ.อุดรธานี ก็ไม่ขยับต่างคนต่างไป เพราะตนเองก็ไม่ได้เคลื่อนไหวในครั้งนี้ ทำให้มีคนในพื้นที่ 20 จังหวัดภาคอีสานคนไปร่วมชุมนุมน้อย และนายจตุพรก็ไม่ได้ประสานมา คงเพราะตนยังบาดเจ็บอยู่

นอกจาก "ขวัญชัย" ยังกล่าวถึง "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ไม่ได้วิดีโอลิงค์มาทักทายมวลชนในที่ชุมนุมว่า ช่วงนี้นาย (ทักษิณ) เก็บตัวไม่อยากเคลื่อนไหวไม่อยากให้เป็นเป้าถูกโจมตี

เมื่อถามถึงการประกาศตัวร่วมเคลื่อนไหวครั้งนี้ "กลัวมั้ย" ทาง "ขวัญชัย" ถามกลับว่า "กลัวใคร กลัวอะไร ตอนนี้ผมเลยความกลัวไปแล้ว เล่นผมเป็น 100 นัด ไม่เอาลง พี่ไม่มีกลัว ชีวิตจากนี้ไปถือว่าวัดดวง"

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2557

วิเคราะห์:แนวรบ แนวต้าน รัฐบาล - ตุลาการ - นายกฯ ม.7 !!?

อ.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงความพยายามใช้คำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อเสนอนายกฯคนกลาง ตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งถูกมองว่าเป็นการรัฐประหารแบบหนึ่งพร้อมกันนี้ยังประเมินแนวต้านจากคนเสื้อแดง พลังที่ 3 และต่างประเทศต่อกรณีดังกล่าว

มองความพยายามที่จะผลักดัน "นายกฯคนกลาง" ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

เบื้องหลังของความพยายามจากบางฝ่ายที่จะเสนอนายกฯคนกลาง เป็นเพราะสู้ด้วยเกมเลือกตั้งไม่ได้ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา จึงต้องยกเลิกระบบเลือกตั้งชั่วคราว เพื่อจัดการกับสิ่งที่เขาเรียกว่า "ระบอบทักษิณ" ให้หมดไปก่อน ให้เหลือเพียงแค่พรรคการเมืองที่ไม่เป็นภัยต่อเขา แล้วจึงจะปล่อยให้มีการเลือกตั้งใหม่ ดังนั้น การจะล้มรัฐบาลได้มี 2 วิธี คือ "รัฐประหารโดยกองทัพ" กับ "รัฐประหารโดยตุลาการ" ซึ่งเมื่อปี 49 ใช้ทหารแต่ก็ไม่สามารถจัดการกับระบอบทักษิณได้ พอมาคราวนี้ก็มีความพยายามที่จะใช้ทหารเหมือนกัน แต่ไม่ง่ายเหมือนเมื่อปี 49 เพราะขณะนี้มีเสื้อแดงแล้ว ทหารเองก็ไม่อยากทำด้วย เพราะมีบทเรียนและมีประสบการณ์ที่แย่มากจากปี 53 ถูกกล่าวหาว่าฆ่าประชาชน ขณะเดียวกันก็รู้ว่าหากมีการรัฐประหารจะมีการปะทะกับคนเสื้อแดงอย่างแน่นอน ซึ่งจะหลีกหนีการนองเลือดได้ยาก อีกทั้งต่างชาติก็รู้ชัดและแสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่เอาการรัฐประหาร ดังนั้น การรัฐประหารโดยกองทัพจึงเกิดขึ้นได้ยาก แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เกิด จึงต้องใช้รัฐประหารโดยวิธีอื่นแทน และขณะนี้มี 2 คดีที่เตรียมไว้ คำร้องโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี โดยมิชอบ ซึ่งอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ กับคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งอยู่ที่ ป.ป.ช. สุดท้ายหากมีการชี้มูลก็ต้องส่งให้วุฒิสภาถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงปล่อยให้มีการเลือก ส.ว.ได้โดยง่ายเพื่อให้ ส.ว.เข้ามารับลูกต่อ และจากนั้นก็จะมีกระบวนการที่จะทำให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นไปด้วย ไม่มีใครขึ้นรักษาการต่อได้ ซึ่งธงข้างหน้าค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า ภายในเดือนเมษายน-พฤษภาคมนี้คงจะต้องมีคำวินิจฉัยอย่างแน่นอน

ประเมินแนวทางการต่อสู้ของฝ่ายต่อต้านนายกฯคนกลางไว้อย่างไรบ้าง

พรรคเพื่อไทยกับตระกูลชินวัตรจะสู้อย่างไรไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ คนเสื้อแดงจะต้องออกมาอย่างแน่นอน แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า แกนนำ นปช.ยังยึดติดอยู่กับการต่อสู้ในรูปแบบเก่า กล่าวคือ ทำได้เพียงการชุมนุมแสดงพลังระดมคนให้ออกมาชุมนุมให้ได้มากที่สุด เพื่อข่มไม่ให้อีกฝ่ายหนึ่งทำรัฐประหาร ซึ่งวิธีการเช่นนี้ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ใหม่แล้ว ไม่ว่าจะออกมาชุมนุมที่ถนนอักษะ จำนวนเท่าไรก็ตาม จะไม่สามารถหยุดรัฐประหารได้ เพราะองค์กรเหล่านี้อยู่ใน กทม.ซึ่งขณะนี้มีม็อบ กปปส. มี คปท. ชุมนุมอยู่ ขณะเดียวกันมีพรรคประชาธิปัตย์คอยสนับสนุน และมีทหารออกมาคุ้มครองด้วยการตั้งบังเกอร์เต็มไปหมด เพื่อคอยกดการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงไม่ให้เข้ามาใน กทม. ดังนั้น การเคลื่อนไหวก็ทำได้เพียงรอบนอกเท่านั้น ขณะเดียวกัน มวลชนกลุ่มอื่น อย่าง คปท. กปปส. รู้ว่าเขาเองไม่สามารถระดมมวลชนที่สามารถอยู่ได้ยาวได้ ที่ผ่านมาจึงใช้วิธีตั้งเป็นมวลชนขนาดเล็กแล้วมีการติดอาวุธแทน

การเคลื่อนไหวใหม่ของ นปช.ควรจะเดินไปในแนวทางไหน

ควรเน้นการเคลื่อนไหวในพื้นที่คนเสื้อแดงมีเครือข่ายที่เข้มแข็งอยู่แล้ว สนับสนุนให้เขาเคลื่อนไหวในพื้นที่ของเขาเองจะดีกว่า กดดันหน่วยราชการ กดดันทหารในพื้นที่ที่สนับสนุนพวกเผด็จการ สนับสนุนให้มีเครือข่ายที่เข้มแข็งเพื่อเตรียมรับมือกับการรัฐประหาร ซึ่งจะเป็นแนวทางที่ดีกว่าที่ระดมคนมาชุมนุม แล้วก็มีปัญหาเรื่องของการรักษาความปลอดภัย เพราะระหว่างการเดินทางที่อาจจะถูกดักโจมตีจากฝ่ายตรงข้ามอีก แม้จะมีการ์ดคอยดูแลเท่าไรก็ไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง ที่สำคัญยังจะไม่สามารถหยุดยั้งการรัฐประหารโดยตุลาการได้ด้วย

วิธีที่ว่าจะมีพลังเพียงพอที่จะถ่วงดุลกับฝ่ายตรงข้ามได้แค่ไหน

การสร้างเครือข่ายในพื้นที่เพื่อรอเวลาจะสามารถเคลื่อนไหวในพื้นที่ได้ทันทีที่มีการรัฐประหารโดยตุลาการ ส่วนใน กทม.ก็ปล่อยไป แล้วรัฐบาลก็ย้ายตัวเองออกไปอยู่ต่างจังหวัด โดยใช้เครือข่ายที่สร้างขึ้นไว้ล่วงหน้าเหล่านี้เป็นเกราะคุ้มครองรัฐบาล ขณะเดียวกันนายกฯต้องประกาศไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และของ ป.ป.ช.ด้วย และยืนยันว่าตนเองยังเป็นรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งมาอย่างชอบธรรม และพร้อมจะออกจากตำแหน่งด้วยกระบวนการประชาธิปไตยเท่านั้น ซึ่งการที่รัฐบาลยืนยันว่าไม่ออก ทั้งๆ ที่มีคำวินิจฉัยไปแล้ว จะเป็นปัจจัยให้มีข้ออ้างให้ทหารทำรัฐประหารได้ ดังนั้น หากรัฐบาลไปอยู่ต่างจังหวัดก็จะมีมวลชนเป็นผนังคุ้มกันได้อีกทางหนึ่งหากมีรัฐประหารจริงๆ

แต่ทางพรรคเพื่อไทยกับตระกูลชินวัตรมักจะเล่นเกมประนีประนอมเสมอมา

เขายังหวังว่าจะต่อรองได้ หวังจะเกี้ยเซี้ย ซึ่งเป็นนิสัยก็ให้เขาทำไป แต่คราวนี้เขาจะเล่นงานตระกูลชินวัตรอย่างหนัก จะไม่ใช่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ คนเดียวที่โดน อย่างน้อย น.ส.ยิ่งลักษณ์ และคนอื่นๆ ด้วย ถ้ามีรัฐบาลใหม่ได้ ก็จะตั้ง คตส.ใหม่ขึ้นมาเพื่อสอบสวนตระกูลชินวัตรทั้งหมด จะมีการจำคุกยึดทรัพย์กันอย่างถ้วนหน้า และถ้ายังอยู่ในเมืองไทยก็ต้องเข้าคุก ดังนั้น จึงต้องไปรวมตัวกันอยู่ที่ประเทศดูไบหมด อยู่นานแค่ไหนก็ไม่รู้ จากประวัติศาสตร์นายปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกฯ และลูกๆ แต่ละคนกว่าจะกลับได้บางคนก็แก่แล้ว ส่วนนายปรีดีก็กลับมาแต่กระดูก ที่พูดแบบนี้ก็หมายความว่า เขาจะเล่นงานคุณ แต่คุณไม่สู้ หวังจะมีการต่อรองกัน โดยให้คุณออกจากการเมืองไปก่อนแล้วมีเคลียร์กันได้ เชื่อได้เลยว่าสุดท้ายเขาจะเล่นงานคุณอีกแน่นอน เพราะจาก 8 ปีที่ผ่านมาชี้ให้เห็นแล้วว่า ถ้ามันเกี้ยเซี้ยกันได้คงจบไปนานแล้ว

จะได้เห็น "พลังที่ 3" ที่จะลุกขึ้นมาต้านถ้ามีการชะลอการเลือกตั้งออกไปแล้วหรือไม่

ถ้ามีการล้มระบอบเลือกตั้งไปเลย แล้วนำนายกฯที่ไม่มาจากการเลือกตั้ง พลังที่ 3 เหล่านี้ก็จะมารวมตัวกัน จะกลายเป็นกลุ่มต่อต้านที่ไม่เอานายกฯคนกลางแน่นอน แล้วจะไม่ได้มีแต่คนเสื้อแดงด้วย เพราะคนทั่วไปที่ไม่ชอบ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่เขาก็ไม่เอารัฐประหารและระบบการแต่งตั้งมีเยอะมาก เพราะจุดยืนคนเหล่านี้ต้องการการเลือกตั้ง

พลังที่ 3 จะมีพลังพอที่จะหยุดหรือชะลอนายกฯม.7 ได้หรือไม่

รัฐประหารมีแน่ แล้วคงมีความพยายามที่จะตั้งนายกฯคนกลางที่ไม่ใช่คนกลางจริง และจะต้องมีแรงต่อต้าน ส่วนวิธีการขึ้นอยู่กับฝ่ายตรงข้าม อาจจะเป็นแรงต่อต้านที่ซึมลึก อย่างใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่รัฐบาลใหม่อาจจะปกครองโดยมีการก่อกวนอยู่เสมอๆ ขณะเดียวกันต่างชาติจะไม่ยอมรับด้วย หรือ อีกรูปแบบหนึ่งก็อาจจะมีกองกำลังอย่างเปิดเผยก็เป็นได้ กล่าวคือเกิด "สงครามกลางเมือง" นั่นเอง ซึ่งขณะนี้มีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง เพราะดูจากการเคลื่อนไหวจาก 4-5 เดือนที่ผ่านมา มีการใช้อาวุธกันมากมาย ตำรวจตรวจจับได้เป็นจำนวนมาก แม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ยังออกมาพูดอยู่เสมอๆ ว่ามีอาวุธอยู่ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่ายด้วยตัวเอง เพียงแต่ที่ผ่านมายังอยู่ในขอบเขตที่จำกัด

มองสถานการณ์ทางการเมืองและแนวทางของการต่อสู้ต่อจากนี้อย่างไร

มองในลักษณะ 2 ซีเนริโอ คือ "ซีเนริโอแรก" ถ้าพรรคเพื่อไทยกับตระกูลชินวัตรไม่สู้ ยอมออกจากการเมืองไป แล้วหวังว่าจะมีเลือกตั้งในอนาคตแล้วค่อยกลับมา หรืออาจจะมีการเกี้ยเซี้ยกัน โดยสัญญาว่าถ้าออกไปจากการเมืองดีๆ จะไม่เอาคดีมาให้ แล้วจะจบ ซึ่งตระกูลชินวัตรก็อาจจะยอมก็เป็นได้ ขนาด พ.ร.บ.นิรโทษกรรมยังเชื่อเลย จากนั้นก็ปล่อยให้รัฐบาลใหม่ที่มีทหารเป็นแบ๊กอัพเข้ามาบริหารได้อย่างราบรื่น แต่ที่สุดก็จะย้อนเกล็ดกลับมาเล่นงานตระกูลชินวัตรอยู่ดี เขาไม่ปล่อยไว้หรอก เป็นการจัดการให้ชินวัตรไม่กลับมายุ่งอีก จากนั้นก็ให้อำนาจทหารกวาดจับกุมแกนนำคนเสื้อแดงทั้งหมดทั่วประเทศ เพราะขณะนี้ในพื้นที่ต่างๆ มีสายของ กอ.รมน.ลงพื้นที่เก็บข้อมูลแล้ว เพราะเขาเชื่อว่าถ้าจับหัวแล้วหางจะไม่ส่าย แต่ไม่จริงหรอก ต่อให้กวาดล้างอย่างไรก็จะมีตัวแทนในที่สุด เพราะมวลชนยังอยู่ ความไม่พอใจยังอยู่ รากฐานของปัญหาคือความอยุติธรรมยังไม่หายไป ที่สุดถ้าเป็นซิเนริโอแรกก็จะมีมวลชนคนเสื้อแดงเคลื่อนไหวใต้ดินก่อกวนต่อไป แต่ถ้าเป็น ซีเนริโอที่สองŽ ถ้ามีการใช้ช่องทางวุฒิสภาเสนอชื่อนายกฯคนกลาง หลังการรัฐประหาร แล้วพรรคเพื่อไทยและตระกูลชินวัตรตัดสินใจสู้ ด้วยการออกไปตั้งรัฐบาลอยู่ในต่างจังหวัดท่ามกลางมวลชนที่สนับสนุน สถานการณ์จะแหลมคมกว่ามาก เท่ากับว่าจะมี 2 รัฐบาลเผชิญหน้ากันอย่างชัดเจน

สมมุติว่าถ้าเกิดมี 2 รัฐบาลเผชิญหน้ากัน "ตัวชี้ขาด" จะเป็นปัจจัยใด

ต่างประเทศคือตัวชี้ขาดแรก ตัวชี้ขาดตัวที่สอง คือใครจะมีประชาชนมากกว่ากัน ส่วนกำลังทหารเป็นปัจจัยรอง ต่อให้รัฐบาลในซีเนริโอที่สอง ไม่มีทหารเลยแต่สุดท้ายอาจจะชนะได้ ถ้าต่างชาติกับประชาชนหนุนมากพอ ผมเคยเสนอให้ตั้งอาสาสมัครปกป้องประชาธิปไตย ในรูปแบบที่ทำได้ถูกกฎหมาย คือ อาสาสมัครตำรวจบ้าน ที่ทำแล้วใน จ.พะเยา ซึ่งเป็นรูปแบบที่ทำได้อย่างถูกต้อง เพราะเป็นหน่วยงานที่มีกฎหมายรองรับ มีตำรวจมาควบคุมอีกที ไม่ใช่กองกำลังอิสระที่ตั้งขึ้นมาเถื่อนๆ เพราะยังอยู่ในระบบ และไม่ได้ติดอาวุธ แต่เป็นอาสาสมัครประชาธิปไตยที่สนับสนุนรัฐบาลในแง่ของสวัสดิการ เศรษฐกิจ กำลังคน ข้อมูลข่าวสาร การรณรงค์ เป็นต้น

ปัจจัย "ภายนอกประเทศ" จะช่วยชะลอกระบวนการ "รัฐประหาร" ได้หรือไม่

ก่อนหน้าที่ปัจจัยทางด้านการต่างประเทศช่วยยื้อได้พอสมควร แต่ในช่วงระยะเวลา 1-2 เดือนที่ผ่านมา ต่อให้มีข้อมูลจากสื่อมวลชนต่างชาติมาตีแผ่กระบวนการในการโค่นล้มประชาธิปไตยแค่ไหน คิดว่าฝ่ายที่จ้องล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเขาไม่สนกระแสแล้ว เพราะมีคำสั่งให้เดินหน้าอย่างเดียว ต่อให้ต่างชาติกดดันอย่างไร คนเสื้อแดงออกมากี่ล้านก็ไม่มีผลแล้ว

ล่าสุดที่นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ปฏิบัติหน้าที่รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ออกมาจุดกระแสเรื่องให้ศาลอาญาระหว่างประเทศเข้ามาตรวจสอบการสลายชุมนุมในปี 53

ขอให้ทำจริงๆ ซึ่งผลที่ออกมาอาจมี 2 ทาง คือ ทางหนึ่ง อาจจะเป็นการต่อรองช่วยให้มีการชะลอการรัฐประหาร แต่อีกทางหนึ่ง ก็อาจจะเป็นตัวเร่งให้มีการทำรัฐประหารโดยเร็วยิ่งขึ้นก็ได้ เพราะรัฐบาลจะได้ลงนามในหนังสือรับรองเขตอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศไม่ทัน เพราะตลอด 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลพรรคเพื่อไทยไม่กล้าลงนามในหนังสือรับรองเขตอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศ ให้เข้ามาตรวจสอบกรณีดังกล่าว ทั้งๆ ที่มีคนเสื้อแดงออกมาเรียกร้อง เพราะกลัวจะเป็นตัวเร่งให้มีการล้มรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เร็วขึ้น สำหรับผมรีบทำได้จะดีมาก เพราะเห็นแล้วว่าจะลงนามหรือไม่ ฝ่ายที่จ้องล้มรัฐบาลก็เดินหน้าจัดการคุณอยู่ดี เพราะการลงนามรองรับดังกล่าวจะเป็นการช่วยอำนวยในเรื่องกระบวนการยุติธรรมได้ หากมีการฆ่าประชาชนอีก สุดท้ายคนสั่งจะต้องโดนลงโทษ ทั้งจากกฎหมายภายในประเทศแล้ว และจากกฎหมายระหว่างประเทศด้วย

ที่มา:มติชน
//////////////////////////////////////////////////////

ว่าที่ ป.ป.ช. ถูก ป.ป.ช. สั่งสอบปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ปมร่วมทุจริตประมูลโฆษณา ขสมก.ปี43 !!?


ต้องยอมรับว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  ชุดปัจจุบัน เป็นชุดที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดคณะหนึ่ง

เพราะไม่เพียงข้อครหาเกี่ยวกับ มาตรฐาน การทำหน้าที่และคำตัดสินที่ออกมาหลายๆคดีแล้ว ประเด็นเรื่อง ที่มา ของ ป.ป.ช. ทั้งคณะ ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก คณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ในนาม คปค. และ ที่มา ของ กรรมการ ป.ป.ช. แต่ละคนล้วน แต่เป็นสิ่งที่ได้รับการกล่าวขานถึงอยู่ตลอดเวลา

แน่นอนสิ่งเหล่านี้มีผลต่อ ความน่าเชื่อถือ ของ ป.ป.ช. เองโดยตรง
ซึ่งในขณะนี้ ก็กำลังมี กระบวนการสรรหา ป.ป.ช. แทน นายใจเด็ด พรไชยา กรรมการ ป.ป.ช. ที่หมดวาระดำรงตำแหน่งลง เนื่องจากมีอายุครบ 70 ปี

โดยกระบวนการสรรหาล่าสุด คือ เพิ่งผ่านพ้นขั้นตอนของ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ซึ่งเป็นฝ่ายธุรการในการเปิดรับสมัครบุคคลผู้มีคุณสมบัติเข้ารับการสรรหาเป็น กรรมการ ป.ป.ช. ไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2557 โดยมีผู้สมัครเข้ารับการสรรหา รวมทั้งสิ้น 14 คน คือ

1.ศ.ดร.วิชัย ศรีคำ ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากร
2.นายวันชัย รุจนวงศ์ อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์
3.นายวชิร สงบพันธ์ อดีตรองเลขาธิการ ป.ป.ช.
4.น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง
5.นายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร
6.นายวิทยา อาคมพิทักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.
7.ศ.ดร.จงจิตร์ หิรัญลาภ อดีตคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.กรุงเทพธนบุรี
8.นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์
9.พล.อ.สถาพร เกียรติภิญโญ อดีตหัวหน้าสำนักตุลาการและตุลาการพระธรรมนูญ หัวหน้าศาลทหารสูงสุด
10.นายชั่งทอง โอภาสศิริวิทย์ อดีตเลขาธิการสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
11.นายชาติชาย สุทธิกลม เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษย์ชนแห่งชาติ
12.นายไพโรจน์ โพธิไสย รองเลขาธิการวุฒิสภา
13.นายสมเกียรติ เจริญสวรรค์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา
14.พล.ท.ศานิต สร้างสมวงษ์ หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร

ซึ่งเบื้องต้น คาดว่าในวันที่ 9 เมษายน 2557 คณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช ก็จะมีการประชุม เพื่อพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่สมัครเข้ารับการสรรหาเป็น กรรมการ ป.ป.ช. ตามรายชื่อที่ สำนักเลขาธิการวุฒิสภา ได้ส่งมา เพื่อเลือกเป็น กรรมการ ป.ป.ช. เพียง 1 คน เสนอต่อประธานวุฒิสภา จากนั้นก็จะมีการนำเข้าสู่ที่ประชุมวุฒิสภาเพื่อให้ความเห็นชอบ ตามกระบวนการ ลากตั้ง ต่อไป

โดยมีรายงานข่าวหลายกระแสแจ้งตรงกันว่า เต็งหนึ่ง ที่ได้รับการคาดหมายว่าจะได้รับการสรรหาเป็น ป.ป.ช. ในครั้งนี้ก็คือ สุภา ปิยะจิตติ อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง เนื่องจากได้รับเสียงสนับสนุนจากกลุ่ม กปปส. และกองเชียร์พรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งตัวแทนองค์กรอิสระในคณะกรรมการสรรหา รวมไปถึง กรรมการ ป.ป.ช. บางคนเองก็แอบส่งใจเชียร์ไม่ใช่น้อย

แต่จากการตรวจสอบพบว่า สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง นั้นถูก คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติสั่งให้ไต่สวนว่ามีส่วนร่วมหรือสนับสนุนการกระทำความผิดให้มีการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ในกรณีการประกวดราคาให้เช่าเนื้อที่โฆษณารถโดยสารปรับอากาศ 1,109 คัน โดยมิชอบ ซึ่งมีการแก้ไขรายละเอียดของแบบสัญญาทำให้รายได้หายไปไม่ต่ำกว่า 32 ล้านบาท และการประกวดราคาให้เช่าเนื้อที่โฆษณารถโดยสารปรับอากาศรุ่น ยูโรทู 750 คัน โดยมิชอบ ซึ่งมีการแก้ไขสัญญาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน ในเดือนเมษายนและสิงหาคม พ.ศ.2543 ขณะที่ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารกิจการ ขสมก.

ซึ่งอาจจะเข้าข่ายฐานความผิด เป็นพนักงานกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ (พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานรัฐ พ.ศ.2502) และเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานงานรัฐกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ (พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ.2542)



โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 527-92/2556 เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2556 ได้มีมติให้คณะอนุกรรมการไต่สวน ดำเนินการไต่สวน น.ส.สุภา ปิยะจิตติ ในฐานะ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 11 ในฐานะเป็น กรรมการบริหารกิจการ ขสมก. และเป็นผู้มีส่วนร่วมในการกระทำผิด ร่วมกับผู้ถูกกล่าวหาอื่นๆ
 
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า หาก น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็น 1 ใน 14 ผู้เข้าร่วม การสรรหา เป็น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ผ่านกระบวนการสรรหา และเข้าไปเป็น กรรมการ ป.ป.ช. สมดั่งใจ คดีนี้จะจบ ลงอย่างไร.
น่าจับตา….

ที่มา.พระนครสาส์น
///////////////////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2557

รบกันดีกว่า ให้มันสิ้นคดี !!?

โดย.พญาไม้

อยากจะเร่งให้แตกหัก..ก็อย่าชักช้า..

การเมืองเรื่องแย่งอำนาจของประเทศไทย..ทำประเทศนี้วอดวายไปแล้วเป็นแสนล้านล้านล้าน..
มันเรื่องของคนไม่กี่คน..แต่คนทั้งแผ่นดินต้องประสพกับหายนะไปด้วย..

แล้วก็ไอ้คนไม่กี่คนนี้แหละ..ที่ต่างคนต่างฝ่ายต่างก็คือผู้มั่งคั่งมั่งมีของแผ่นดิน..ที่ทำมาหากินกอบโกยกันมาช้านานจากรุ่นถึงรุ่น..

ก็ไอ้คนไม่กี่คนนี่แหละที่ใช้อำนาจการเมืองผูกขาด..กำหนดข้อห้ามสัมปทาน..ให้มีแต่พวกมันเท่านั้นที่ทำได้..คนไทยคนอื่นทำไม่ได้..

มันออกกฏหมาย..เอาอาชีพดีๆรวยง่ายเอาไว้ให้พวกมันทำกิน

ก็แค่คนไทยจะทำน้ำประปา...กว่าร้อยปีวันนี้แค่เพิ่งให้อนุญาติทำได้..แต่ต้องไม่ไปแข่งกับที่พวกมันทำอยู่มีอยู่..

จะเอาแสงแดดมาทำไฟฟ้าขายถูกให้ชาวบ้าน..มันก็ห้ามทำขายต้องทำส่งให้มันเอาไปค้ากำไรอีกต่อ..แถมแดดกับแสงอาทิตย์ที่เป็นของฟรีในโลก..มันยังยกให้ไปเป็นสมบัติของมัน..ใครฝ่าฝืนไปทำขาย..กลายเป็นโทษถึงคุก

มันเอาการศึกษาของชาติไปจากวัดวาอาราม..มันกำหนดใครจะสร้างโรงเรียนต้องขออนุญาติ..แล้ววันนี้การศึกษาของชาติ..ล้าหลังที่สุดในเอเซีย..

มันประกาศจะสร้างชาติให้เป็นอารยะ..มันตั้งแผนพัฒนาขึ้นมา 5ปี 1 แผน..พัฒนากันมาแล้วครึ่งร้อยปี..วันนี้คนในชาติยังนั่งไหว้หัวปลีงอกกลางต้นกล้วย..กับก้มกราบสัตว์พิการสองหัวสามหาง..
รบๆกันซะที..ประเทศนี้จะได้รู้ดีรู้ชั่ว..ว่าจะเติบโตต่อไปหรือจะนั่งเน่ายืนตายอยู่กับการกราบไหว้ต้นไม้แปลกกับสัตว์ป่วย..

มันประกาศจะสร้างชาติให้ศิวิไลย์..มันใช้ความป่าเถือ่นเป็นขื่อแปประกอบสร้าง..มันประกาศสร้างรัฐธรรมนูญของมหาประชาชน..โดยเอามหาโจรมารุมร่าง..

รบๆกันให้มันจบเรื่องจบราวกันไปซะทีก็ดี..จะให้มันจมปลักอยู่กับที่..หรือก้าวไปข้างหน้า..
               
ที่มา.บางกอกทูเดย์
-------------------------

รู้ว่าแพ้..แต่ไม่จบ !!?

นปช.กับสงครามยืดเยื้อ? "กองทัพเข้ามาจัดการเหตุจลาจลกลางเมืองหลวง ประกาศกฎอัยการศึกและยึดอำนาจ"

พลันที่ กปปส. วาดฝัน "ซีนาริโอ" ยึดอำนาจประเทศไทย โดย 2 ขั้นตอนแรกคือ ป.ป.ช. ตัดสินชี้มูลคดีจำนำข้าว กับกรณีศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยเรื่องย้ายถวิล เปลี่ยนสี

ถ้าศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสินวันไหน กปปส.จะระดมพลครั้งใหญ่ ประกาศยึดอำนาจเลย ตั้งนายกรัฐมนตรีและตั้งคณะรัฐมนตรี

ขั้นตอนกระบวนการยึดอำนาจโดยประชาชน จะต่างจากกองทัพนำรถถังเข้ายึดทำเนียบ 3 ชั่วโมงก็จบ แต่ กปปส. ตั้งเป้าไว้ 15 วันเป็นอย่างน้อย

เพราะสุเทพ เทือกสุบรรณ เชื่อว่าจะมีคนไม่เห็นด้วย และออกมาต่อต้าน!

แน่นอนว่า จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ประกาศทันทีว่า "ถ้านายสุเทพ จะใช้เส้นอำมาตย์ หรือทหาร ยึดอำนาจได้ เราคนไทยก็ไม่ต้องคิดอะไร เราจะสู้ ถ้าเราไม่ยอมจำนน มันไม่มีวันชนะโดยเด็ดขาด"

ดังนั้น ประธาน นปช. จึงนัดหมายมวลชนคนเสื้อแดงว่า วันใดที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีถวิล เปลี่ยนสีก็จะจัดการชุมนุมใหญ่ในกรุงเทพฯ และพร้อมเผชิญหน้ากับ "ม็อบ กปปส."

มีรายงานข่าวว่า แกนนำ นปช. ประเมินการชุมนุม "ซ้อมใหญ่" ที่ถนนอักษะว่า ยอดผู้ชุมนุมไม่เข้าเป้า 5 หมื่นคน (ส่วนเป้า 5 แสน เป็นตัวเลขในการปฏิบัติงานด้านข่าวสาร) ซึ่งสองวันที่ผ่านมา คนเสื้อแดงจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล เข้าร่วมน้อย จึงมีแต่คนเสื้อแดงต่างจังหวัดประมาณ 3 หมื่นคน

เมื่อสุเทพ และ กปปส. แถลงนัดชุมนุมใหญ่ และเตรียมสถาปนาเป็นองค์รัฎฐาธิปัตย์ ก็กลายเป็นประเด็นที่แกนนำ นปช.เชื่อว่า จะปลุกคนเสื้อแดงให้ออกจากบ้านมาชุมนุมใหญ่ในเร็ววันนี้แน่นอน

"ขอเรียกร้องให้ นปช. ออกมาในวันเดียวกันกับ กปปส. ในวันศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน โดยให้ชุมนุมถนนคนละเส้น วัดกันไปให้โลกเห็นว่า ใครมากกว่ากัน ใครชนะเอาประเทศไป" จตุพร พรหมพันธ์ กล่าว

จตุพร ย้ำว่า เป็นเรื่องดีที่จะมีการชุมนุมโดยวัด "จำนวนผู้ชุมนุม" ซึ่งไม่ต้องเผชิญหน้าฆ่าฟันกัน

แต่ในความเป็นจริง ใครจะเชื่อว่า มวลชนสองฝ่าย ถูกปลุกระดมกันเต็มที่ และมาชุมนุมในจุดที่ใกล้เคียงกัน จะไม่เกิดเหตุปะทะกัน เหมือนกรณีเสื้อแดงชุมนุมที่สนามกีฬาราชมังคลาฯ เมื่อปลายปีที่แล้ว

นักวิเคราะห์สถานการณ์การเมือง ชี้ว่า มันเป็นสงครามกลางเมืองชัดๆ คล้ายว่าถูกออกแบบมา เพื่อให้กองทัพเข้ามาจัดการกับเหตุจลาจลกลางเมืองหลวง ด้วยการประกาศกฎอัยการศึก ก่อนจะเข้ายึดอำนาจในท้ายที่สุด

"นี่เป็นจุดเปลี่ยนของประเทศไทย ขอให้ นปช. เดิมพันด้วยชีวิต เดินไปให้ถึงเส้นชัย ต้านอำนาจระบอบอำมาตยาธิปไตย ทวงคืนประชาธิปไตย โดยคนเสื้อแดงขอตายพร้อมนางสาวยิ่งลักษณ์ในสนามประชาธิปไตย"

คำประกาศของประธาน นปช. ที่เหมือนรู้ว่าจะแพ้..แต่ไม่ยอมจบโดยง่าย!

ที่มา.กรุงเมพธุรกิจ
-----------------------------------

วันเสาร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2557

พ.ร.ฎ.แบ่งส่วนราชการ-กำหนดหน้าที่ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ฯ



วันนี้ ๕ เมษายน ๒๕๕๗ ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พระราชกฤษฎีกา แบ่งส่วนราชการและกำหนดหน้าที่ของส่วนราชการ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ กระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๕๕๗

เปิดดูที่นี่

พ.ร.ฎ. ดังกล่าวมี ๘ มาตรา ดังนี้

มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการและกำหนดหน้าที่ ของส่วนราชการหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ กระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๕๕๗”

มาตรา ๒ พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป( ๖ เมษายน ๒๕๕๗ )

มาตรา ๓ ให้แบ่งส่วนราชการหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ กระทรวงกลาโหม ดังต่อไปนี้

(๑) ส่วนบัญชาการ
(๒) สำ นักงานนายทหารปฏิบัติการพิเศษในพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร
(๓) สำนักงานฝ่ายเสนาธิการในพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร
(๔) หน่วยทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์

มาตรา ๔ ส่วนบัญชาการ มีหน้าที่วางแผน อำนวยการ ประสานงาน บังคับบัญชา ควบคุม และกำกับดูแล การปฏิบัติงานในการถวายอารักขาและถวายพระเกียรติสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินีพระรัชทายาท และพระบรมวงศานุวงศ์ รวมทั้งปฏิบัติหน้าที่ทางพระราชพิธีตามที่ได้รับมอบหมาย และรักษาความสงบเรียบร้อยภายในเขตพระราชฐาน ตลอดจนวางแผน อำนวยการ ประสานงาน ดำเนินการและกำกับงาน ในหน้าที่ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร มีผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ

มาตรา ๕ สำนักงานนายทหารปฏิบัติการพิเศษในพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร มีหน้าที่วางแผน อำนวยการ ประสานงาน ดำเนินการ และกำกับดูแล ในเรื่องของการประสานสนองตอบความต้องการของผู้บังคับบัญชา ตลอดจนปฏิบัติงานโดยตรงต่อสมเด็จพระบรม โอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร และสายงานที่เกี่ยวข้อง มีหัวหน้าสำนักงานนายทหารปฏิบัติการพิเศษ ในพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ

มาตรา ๖ สำนักงานฝ่ายเสนาธิการในพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร มีหน้าที่วางแผน อำนวยการ ประสานงาน และดำเนินการ ตามภารกิจที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มอบหมาย ถวายงานในการสนับสนุนพระราชกรณียกิจและพระราชกิจทั้งปวง ตลอดจนควบคุมอำนวยการปฏิบัติ เพื่อให้ภารกิจบรรลุผลสำเร็จและเป็นไปด้วยความเรียบร้อยตรงตามพระราชบัณฑูรหรือพระราชประสงค์ มีหัวหน้าสำนักงานฝ่ายเสนาธิการในพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ

มาตรา ๗ หน่วยทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ มีหน้าที่เกี่ยวกับการถวายพระเกียรติการถวายความปลอดภัย การถวายอารักขา และการปฏิบัติตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระบรม โอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในโดยรอบเขตพระราชฐานในพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ตลอดจนการปฏิบัติภารกิจอื่นตามที่ได้รับ มอบหมาย มีกองบังคับการหน่วยทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ทำหน้าที่ปกครองบังคับบัญชาอำนวยการ ประสานงาน และกำกับดูแล หน่วยขึ้นตรงของหน่วยทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อยเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม มีผู้บัญชาการ หน่วยทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ

มาตรา ๘ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้


ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี

ที่มา.มติชน
-------------------------------------------------

ภารกิจแรก พล.ต.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ..!!?

เบื้องลึก:สมรภูมิแดงที่อักษะ ภารกิจแรกของ "ผู้การแดง" นายทหารสาย "วงศ์เทวัญ" แต่กลับเป็นที่รักของหัวแถวของ "บูรพาพยัคฆ์"

ช่างเป็นภารกิจแรกที่เหมือน "ฟ้าลิขิต" ของ พล.ต.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ในตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ฯ (ผบ.พล.1 รอ.) ในการเข้ามาดูแลความสงบเรียบร้อยในการชุมนุมของ นปช.ที่ถนนอักษะ วันที่ 5-6 เมษายนนี้

ว่ากันว่า "ผู้การแดง" พล.ต.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ จะเข้าร่วมการบัญชาการเหตุการณ์กับ ศอ.รส. ที่ร้านอาหารชื่อดัง บนถนนอักษะ

เอ่ยชื่อ "ผู้การแดง" ถือว่าเป็นไม้เบื่อไม้เมากับแกนนำ นปช. และคนเสื้อแดง เนื่องจากในเหตุการณ์การชุมนุมของ นปช.เมื่อปี 2553 ในฐานะผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ฯ (ผบ.ร.11 รอ.) "ผู้การแดง" จัดว่าแม่ทัพเอก ในการจัดการกับม็อบของเครือข่ายระบอบทักษิณ

บนเส้นทางปืน "ผู้การแดง" เป็นนายทหารสาย "วงศ์เทวัญ" แต่กลับเป็นที่รักของหัวแถวของ "บูรพาพยัคฆ์"

อย่าง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผู้บัญชาการทหารบก และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)

หลังการเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2554 พรรคเพื่อไทย กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง "ผู้การแดง" ต้องขยับออกไปติดยศ "พล.ต." เป็นผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 11 (ผบ.พล.ร.11) จ.ฉะเชิงเทรา และย้ายไปเป็นผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 15 (ผบ.มทบ.15) จ.เพชรบุรี

เหมือนว่าชะตาชีวิตของ "ลูกชายบิ๊กจ๊อด" พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ จะต้องระหกระเหินอยู่บ้านนอกบ้านนา จนกระทั่ง เกิดการชุมนุมใหญ่ของ กปปส. ส่งผลให้นายกฯยิ่งลักษณ์ ต้องยุบสภา และมีรัฐบาลรักษาการชั่่วคราว

จังหวะนี้เอง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงพา "ผู้การแดง" เข้าพบนายกฯยิ่งลักษณ์ เพื่อเคลียร์ใจกันและกัน ก่อนจะโยกผู้การแดง จากเพชรบุรี เข้าสู่เมืองหลวง คุมเหล่าทหารวงศ์เทวัญสมใจ ผบ.ทบ.

ที่น่าสนใจ "ผู้การแดง" เป็นเตรียมทหาร รุ่นที่ 20 (จปร.รุ่น 31) นายทหารรุ่นนี้ถือว่าเป็น "ยังเติร์ก 2014"

เพื่อนรักของผู้การแดงคือ "ตู่เล็ก" พล.ต.กู้เกียรติ ศรีนาคา ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ฯ (ผบ.พล.ร.2 รอ.) จ.ปราจีนบุรี คือผู้สืบทอด "ขุนศึกบูรพาพยัคฆ์" ตัวจริงเสียงจริง

ขุมกำลัง "พล.ร.1 รอ." และ "พล.ร.2 รอ." คือทัพหลวงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หากว่า สถานการณ์เรียกร้องให้ทหารต้องออกมาดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
-------------------------------------------




วันศุกร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2557

มติเหล่าทัพ !!?

มติเหล่าทัพ ภายหลังการประชุมร่วมกันของ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฎิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) ,พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการหารบก (ผบ.ทบ.), พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) และพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2557 ถึงสถานการณ์การเมืองที่กลุ่มการเมืองใหญ่ 2 กลุ่มจะชุมนุมในวันที่ 5 เมษายน 2557  ออกมาว่า ผบ.เหล่าทัพ และ ผบ.ตร.มีมติร่วมกัน จะทำให้ประชาชนทุกฝ่ายเกิดความปลอดภัย และร้องขออย่าใช้ความรุนแรงในการชุมนุม โดยให้ทุกฝ่ายเคารพกฎหมาย

โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ให้สัมภาษณ์ถึงผลการประชุมเสียงดังฟังชัด พร้อมกับ ย้ำ ว่า ไม่ต้องการที่จะเป็น พระเอก เพียงคนเดียว

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า เพราะเหตุใด พล.อ.ประยุทธ์ จึงไม่ต้องการรับ บทพระเอก
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า บทพระเอก ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องประกาศปฏิเสธ นั้น ใคร เป็นผู้พยายามหยิบยื่นให้

และน่าสนใจยิ่งกว่าคือ คำว่า พระเอกใน ความหมาย ของ พล.อ.ประยุทธ์ นั้นคืออะไร

สถานการณ์การเมืองขณะนี้ ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า เมื่อ ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ.2557 ถือว่าเป็น โมฆะ…สังคมไทยแทบจะไม่มีทางออกใดๆ ให้ผ่านพ้น สุญญากาศ ที่เกิดขึ้นไปได้
ทางออกเดียว ที่ชัดเจน และมองเห็นว่าเป็น ทางออกที่สันติวิธีที่สุด ในบรรยากาศอึมครึมเช่นนี้ ก็ยังจำเป็นที่จะต้องจัดให้มี “การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย”

ซึ่งถ้าทุกฝ่ายยอมรับและกลับมาเดินไปตามกติกาประชาธิปไตย … ก็นับว่า การเลือกตั้ง ยังคงเป็น ทางออก ที่ทำให้ประเทศบอบช้ำน้อยที่สุด

การจะอ้างว่าต้อง ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง นั้นแม้จะเป็นสิ่งที่ คิดได้-พูดได้-เสนอได้ แต่ ต้องตอบให้ได้”เสียก่อนว่า หนทางที่จะนำไปสู่ “การปฏิรูป” ดังที่พูดพร่ำกันมาระยะเวลาหนึ่งนั้น จะสามารถเป็นไปได้ด้วยวิธีการใด

โดยเฉพาะ ด้านกฎหมาย เนื่องจาก รัฐธรรมนูญ 2550 ที่ยกร่างโดย คณะปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 นั้นชัดเจนว่า ไม่ได้มีบทบัญญัติมาตราใด ที่เปิดทางให้สามารถ ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ได้

หนทาง ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ที่ ท่องจำ ตามกันมานั้น หากจะทำให้ได้จริงๆ อาจจะต้อง งดเว้นการใช้รัฐธรรมนูญ หรือ ยกเลิกการใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ไปเลยหรือไม่

ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น…ก็ไม่ต่างอะไรกับ ฉีกรัฐธรรมนูญ โดย คณะบุคคล ที่อ้าง ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ทั้งๆ ประเทศไทยเพิ่งผ่าน การรัฐประหาร-ฉีกรัฐธรรมนูญ โดยอ้าง ปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน กันมาได้ไม่กี่ปี

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น คือกรณีที่บางฝ่ายพยายาม สร้างทางตัน เพื่อเปิดช่องให้ นายกรัฐมนตรีคนกลาง โดยใช้หนทาง นายกฯ มาตรา7 ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน

แม้ บุคคล ที่จะได้รับการเสนอชื่อ ให้ขึ้นเป็น นายกฯคนกลาง หรือ นายกฯมาตรา 7 จะได้รับยืนยันว่าเป็น คนดีที่เลิศเลอเหนือมนุษย์ปุถุชนคนทั่วไปมากแค่ไหน แต่เส้นทาง นายกฯมาตรา 7 นั้นค่อนข้างชัดเจนว่าอาจจะ ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2550 ที่กำหนดให้ นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ซึ่งถ้าเป้าหมาย นายกฯคนกลาง แล้วเดินตามทาง นายกฯ มาตรา 7 ก็อาจจะต้อง งดเว้นการใช้รัฐธรรมนูญ หรือ ฉีกรัฐธรรมนูญ อีกหรือไม่

เหล่านี้คือ คำถามเบื้องต้น ที่ผู้สนับสนุน ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง และร่วมผลักดัน นายกฯมาตรา7 ควร ตอบ ให้ชัดเจนเสียก่อนที่จะออกมาเรียกร้อง เสนอหนทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

เพราะหากสามารถยืนยันได้ว่า จะสามารถไปสู่ “การปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” และ “นายกฯมาตรา 7” ได้โดยตาม “กติกาประชาธิปไตย” และ “ไม่ต้องฉีกรัฐธรรมนูญ” … ก็จะทำให้คนไทย ใจชื้นได้ระดับหนึ่งว่า จะไม่มีบุคคลกลุ่มใด มาผลักดันให้ “ความหมาย” ของคำว่า “พระเอก” ของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ผบ.ทบ. ไปสู่หนทางที่ ไม่เป็นประชาธิปไตย

ประการต่อมาคือถ้ากลุ่มอ้าง ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง และพยายามผลักดัน นายกฯคนกลาง มาตรา 7 ไม่สามารถยืนยันได้ว่าการไปสู่ความต้องการเหล่านั้น จะต้อง ฉีกรัฐธรรมนูญ หรือไม่

ก็เท่ากับว่า สังคมไทย มี ความเสี่ยง อย่างมาก ที่จะเกิดปฏิบัติการณ์ ทำลายประชาธิปไตย ไม่หนทางใดก็หนทางหนึ่ง

และหนทางที่รวดเร็วที่สุดและเป็นไปได้มากที่สุด ก็คือการพยายามปั่นกระแสให้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เลือก “คำจำกัดความ” ของคำว่า “พระเอก” ให้โน้มเอียงไปในทางที่ใกล้ชิดกับ “เผด็จการ”!!
เพียงแต่การเลือกที่โน้มเอียงไปในหนทางที่ “ไม่เป็นประชาธิปไตย” ดังกล่าวนั้น จะต้องพบเจอกับ “กระแสเรียกร้องการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย” ที่เพิ่มมากขึ้นๆ ทุกวันๆ

ยิ่ง ไม่มีการเลือกตั้ง ยาวนานแค่ไหน พลังแห่งความต้องการประชาธิปไตย ของประชาชนก็จะยิ่งมากขึ้นๆ … เป็นธรรมชาติ

ซึ่ง “พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน” อดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่เคยเลือกที่จะเล่น “บทพระเอก” ด้วยการ “รัฐประหาร 19 กันยายน2549” และได้ลิ้มรส “ความพ่ายแพ้” ไปแล้ว แบบไม่เหลือสารรูปของ พระเอก

บทเรียนความพ่ายแพ้ ลักษณะนี้ พร้อมเกิดขึ้นกับ เผด็จการ ตลอดเวลา … แม้บางครั้งมันจะแฝงมาในคราบ พระเอก ก็ตาม

ที่มา.พระนครสาส์น
/////////////////////////////////////////////////

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล : หนุนปฏิรูปคุมประชานิยม.!!?

ประสาร.ผู้ว่าฯธปท.มองทางออกประเทศ แนะ2ฝ่ายเปิดใจเจรจานำไปสู่การเลือกตั้งเพื่อปฏิรูป เตือนทุกฝ่าย ใช้สติ

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ : เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของแบงก์ชาติ ในท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ตลอดจนความเห็นของผู้ว่าการแบงก์ชาติที่มีต่อการปฏิรูป และการเลือกตั้ง

ตอนนี้มีข้อเสนอให้มีการปฏิรูปไม่ใช่แต่เฉพาะด้านการเมือง แต่รวมถึงระบบเศรษฐกิจ และข้าราชการด้วย โดยรัฐบาลบอกว่าต้องเลือกตั้งก่อนปฏิรูป แต่ในอีกฟากก็เรียกร้องให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เพราะถ้ายังเลือกตั้งภายใต้กติกาเดิมจะมีปัญหา... ประเด็นนี้ แบงก์ชาติ ในฐานะที่ต้องวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ มองว่า ควรเลือกตั้งก่อนหรือหลังปฏิรูป จึงจะช่วยให้เศรษฐกิจไม่ย่ำแย่อย่างที่คิด

มันเป็นไปได้ทั้ง 2 แบบว่า จะเลือกตั้งก่อนปฏิรูปหรือปฏิรูปก่อนเลือกตั้งก็ได้ เพราะทั้ง 2 คำเป็นเพียงกระบวนการหรือกลไก โดยการเลือกตั้ง คือ การเลือกผู้แทนมาทำงานบางอย่าง ถ้าเป็นสูตรเลือกตั้งก่อนแล้วค่อยปฏิรูปก็น่าจะทำได้เหมือนกัน

ความจริง 2-3 เดือนมานี้ ผมก็พยายามคิดว่า ประเทศจะมีทางออกอย่างไร ซึ่งทางออกอันหนึ่งที่ผมค่อนข้างชอบ คือมีการตกลงกันระหว่างผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ที่สำคัญ ถ้าเป็นพรรคการเมืองก็เป็นพรรคใหญ่ทั้ง 2 พรรค แต่แน่นอนก็ต้องคิดถึงภาคส่วนอื่นๆ ด้วย

ถ้าเป็นสูตรเลือกตั้งก่อนปฏิรูป ก็อาจจัดให้มีการเลือกตั้ง แต่ก็ต้องมีข้อตกลงว่า หลังเลือกตั้งแล้ว รูปแบบของการจัดตั้งรัฐบาล หรือโจทย์ของรัฐสภา คืออะไร ยกตัวอย่างเช่น ต้องทำเรื่องปฏิรูปต่างๆ และหลังจากเมื่อทำเสร็จแล้ว ก็ต้องนำไปสู่การเลือกตั้งอีกครั้ง ซึ่งการเลือกตั้งครั้งใหม่นี้ ใครชนะก็ต้องเป็นผู้ชนะ แต่แน่นอนว่า ผู้ชนะจะเป็นผู้ชนะแบบใหม่ โดยเป็นผู้ชนะที่ฟังเสียงข้างน้อยด้วย

ซึ่งการเลือกตั้งครั้งหลังจะต้องเป็นการเลือกตั้งที่สามารถแข่งขันกันได้อย่างเต็มที่ และนำไปสู่การบริหารประเทศเต็มรูปแบบ ส่วนการเลือกตั้งครั้งแรกอาจมีโจทย์เฉพาะที่ต้องทำก่อน ซึ่งวิธีนี้ดูจะสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และสายตาของชาวโลกก็น่าจะรับได้ และภายในผมคิดว่าก็น่าจะลดแรงกระหึ่มของฝ่ายต่างๆ ลงได้

แต่ทั้งหมดนี้ท้ายสุด คงต้องอยู่ที่เนื้อหาว่า การปฏิรูปที่ว่านี้ ปฏิรูปอะไร รูปแบบกลไกที่เห็นไม่ตรงกัน จะนำไปสู่การตัดสินใจอย่างไร

ส่วนการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ก็ต้องกลับมาที่เนื้อหาว่า ใครที่จะมาเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องนี้ เพราะเวลานี้ฝ่ายที่ประท้วงยังเปิดเผยตรงนี้ออกมาไม่ชัดว่า ใครที่จะมาเป็นผู้ดำเนินการ และคนที่มาตรงนี้มายังไง ซึ่งเวลานี้โจทย์ปัญหาในบ้านเมืองมีเต็มไปหมด จะทำอะไรก่อนหรือหลัง ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่า ท้ายที่สุดคงต้องเลือกลำดับความสำคัญ จะทำทุกอย่างพร้อมกันคงไม่ได้

สำหรับแบงก์ชาติเอง ก็พยายามช่วยคิดในเรื่องนี้เช่นกัน ที่ผ่านมาเราได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อศึกษาเรื่องการปฏิรูป โดยดูว่าโจทย์อะไรที่ดูแล้วเรามีความถนัด ดูแล้วเราสามารถช่วยคนอื่นได้ ในลักษณะที่เพิ่มเติมจากที่คนอื่นทำ และไม่เป็นการไปทำอะไรที่ซ้ำกับเรื่องที่คนอื่นทำโดยที่เขามีความถนัดมากกว่าเรา

ที่แบงก์ชาติทำเน้นเรื่องอะไร

เราเน้นเรื่องการคลัง พวกนโยบายประชานิยม ว่าต่อไปควรมีกรอบอย่างไรที่จะไม่มาสร้างความเสี่ยงภัยให้กับประเทศ รวมทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่จะไม่ถูกใช้เป็นกลไกทางการเมืองเพื่อไปทำโน่นทำนี่ เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หรือธนาคารออมสิน เป็นต้น โดยโจทย์พวกนี้เป็นอะไรที่แบงก์ชาติมีความถนัด

อีกอันหนึ่งที่อยากทำ คือ การต่อต้านคอร์รัปชั่น แน่นอนว่าเรื่องนี้มีคนมาชวนเราเยอะ เพียงแต่เราคิดว่ามันไม่มีความหมายอะไรที่แบงก์ชาติจะไปขึ้นเวทีเพื่อเซ็นคำแถลงการณ์ร่วมต่างๆ ในเรื่องเหล่านี้ เพราะหากแบงก์ชาติคิดที่จะทำเรื่องพวนี้ จะต้องมีเนื้อหาที่มากกว่านั้น เช่น การกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ พวกนี้ก็เป็นโจทย์ที่เรากำลังคิดว่าจะทำมากน้อยแค่ไหนอย่างไร

สำหรับคณะกรรมการชุดที่ดูเรื่องเหล่านี้ จะเป็นการทำงานโดยอิงสายงานเดิมของแบงก์ชาติเป็นส่วนใหญ่ ขณะเดียวกันก็จะมีการทำงานร่วมกับสายงานที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานข้างนอกเพิ่มเติมด้วย ไม่ใช่แค่เราคิดฝ่ายเดียว

ตอนนี้ได้ข้อสรุปบ้างแล้วหรือยัง

มีบ้าง ซึ่งเวลานี้เราอยู่ในขั้นตอนที่คิดว่า การดำเนินการอาจไม่ได้ทำเฉพาะแบงก์ชาติหน่วยงานเดียว เรากำลังคิดถึงความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นจากภายนอก เช่น กระทรวงการคลัง หรือ สภาพัฒน์ ตลอดจนองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและอยากทำ ซึ่งพวกนี้เป็นอะไรที่สามารถปรึกษาหารือกันได้

กลับมาที่โจทย์เรื่องการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ตรงนี้ก็ต้องคิดว่าจะปฏิรูปอะไร กลไกไหนจะเป็นคนทำ และที่ต้องระวัง คือ กระบวนการเหล่านี้ ถ้าจะเดินไปมันสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมทั้งฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลจะมีความรู้สึกอย่างไร เรารับฟังเสียงเขาอย่างไร พวกนี้เป็นโจทย์ในมิติการเมือง ซึ่งเราเองไม่ถึงกับถนัด แต่เท่าที่เราดูเหตุการณ์จากประเทศต่างๆ ที่คล้ายๆ กับเรา เช่น แอฟริกาใต้ หรือ อินเดีย เขาก็มีความขัดแย้งคล้ายๆ กับเรา แต่สุดท้าย ทุกคนไม่สามารถที่จะยืนอยู่บนข้อเรียกร้องของตัวเองทั้ง 100% ซึ่งต้องมีฝ่ายที่ยอมถอยบ้าง ซึ่งก็นำไปสู่อะไรที่มีความยั่งยืนพอประมาณ

ผมไม่ได้ไปยึดติดกับการเลือกตั้งก่อนปฏิรูป หรือปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เพราะเราควรจะคิดถึงเนื้อหาสาระซักนิดหนึ่งว่า ปฏิรูปอะไร อะไรคือลำดับสำคัญ และหากความเห็นไม่ตรงกันจะตัดสินใจอย่างไร เราควรให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้มากกว่า

สูตรนายกฯ คนกลางมองอย่างไร

อันนี้ก็คิดหนัก โจทย์อันนี้มันเป็น Trade-off คือ มันมีได้มีเสีย ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ใจผมชอบแบบแรกมากกว่า โดยผู้มีส่วนได้เสียตกลงกันแล้วนำไปสู่การเลือกตั้ง

หากเป็นการ Compromise (เจรจาประนีประนอม) ของทั้ง 2 ฝ่ายล่ะ

ถ้าเป็นกรณีนี้ ถือว่าน่าสนใจ แต่ถ้าเป็นลักษณะจู่โจมอยู่ข้างเดียว ผมก็เกรงๆ อยู่ ในเรื่องความไม่สงบที่จะเป็นวัฏจักรที่ไม่สิ้นสุด ทำให้ต่างชาติที่จะมาลงทุนในประเทศไทยเขาก็ไม่สนใจ แต่ถ้าเป็น Compromise แล้วสร้างการปฏิรูปที่ชัดเจน ตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียสำคัญยอม และได้คนที่ทุกคนยอมรับ กรอบเวลาไม่เนิ่นนาน มีภารกิจชัดเจน ก็มีความเป็นไปได้ ดีกว่าสถานการณ์ที่ทหารจะเข้ามายึดอำนาจ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นถือว่าหนักเลย ต่างประเทศเขาไม่เอาเลย เนื่องจากโลกเวลานี้เปลี่ยนแปลงไปเยอะ จะทำให้การบริหารเศรษฐกิจติดขัดไปด้วย

มีใครเคยมาชวนพูดคุยนอกรอบเรื่องทางออกประเทศชาติหรือไม่

เรื่องคุยกันมีอยู่แล้ว แต่ประเภทที่เลยไปจนเป็นข่าวลือ อันนั้นเป็นการหยอกล้อทีเล่นทีจริงมากกว่า

แต่ก็มีการเอ่ยชื่อ ดร.ประสาร ในฐานะนายกฯ คนกลางด้วย ถ้ามีการทาบทามมาจะทำอย่างไรดี

คิดว่าเวลาจะเลือกเข้าทำงานอะไรซักอย่าง ผมมักจะถามตัวเองว่า Up to it (ฝีมือถึง) หรือไม่

แต่ในภาวะบ้านเมืองวิกฤติอาจไม่ได้อยู่ที่ว่าฝีมือถึงอย่างเดียว อาจจะอยู่ที่ความเชื่อถือ หรือผลงานที่เคยทำมา

แต่เราก็ต้องมีความรับผิดชอบ เพราะหากจะรับอะไรมาก็ต้องรับผิดชอบในสิ่งนั้นด้วย

แปลว่าไม่ปฏิเสธซะทีเดียวหากมีการทาบทามมา

ผมว่า ค่อนไปในทางปฏิเสธนะ คือ หนึ่งเราไม่ได้ up to it เท่าไร มันต่างจากเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว ที่มีคนทาบทามมาเป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติ คิดว่าจะทำมั้ย เราคิดว่าถ้าเรารับแล้วเราทำอะไรได้หรือไม่ ซึ่งการเข้าสู่ตำแหน่งอะไรก็แล้วแต่เป็นเรื่องหนึ่ง แต่อันที่ยากกว่า คือ เมื่อเราได้ตำแหน่งแล้วจะทำอะไร สถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ ผมไม่คิดว่าผม up to it เพราะมันมีมติอื่นๆ อีกมาก เช่น มติในเรื่องของความมั่นคง

โจทย์ง่ายๆ คือ จะไปแก้ปัญหาภาคใต้อย่างไร จะคุยกับนายพลทั้งหลายอย่างไร จะดูแลอำนาจการปกครองผ่านมหาดไทยอย่างไร ซึ่งเยอะมาก

ตอนที่เขาทาบทามให้เป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติไม่ลังเล แต่ถ้าทาบทามมาเป็นนายกฯ คนกลางลังเล

ลังเล เพราะอันนั้น Gap (ความห่าง) ระหว่าง up to it หรือไม่ up to it มันไม่สูง เรารู้ว่าจะทำอะไร ซึ่งผมก็เห็นใจ หากใครจะขึ้นมา (เป็นนายกฯ คนกลาง) เพราะภารกิจก็หนักเอาการอยู่ แต่หัวใจสำคัญของเรื่องนี้คือการจัดลำดับความสำคัญ อะไรเป็นเรื่องระยะสั้น ระยะยาว และต้องอธิบายกับสาธารณชน ซึ่งจะให้กำลังใจเต็มที่ และหากยังอยู่ในตำแหน่งผู้ว่าการแบงก์ชาติ ก็จะสนับสนุนตามกำลังของเรา หรือมติที่เราทำได้

สุดท้าย ในสถานการณ์บ้านเมืองของเราอย่างนี้ อยากจะบอกอะไรกับคนไทยบ้าง

เรื่องความมี “สติ” เวลานี้ถือเป็นหัวใจสำคัญ ผมดูทีวี ดูการปราศรัยต่างๆ ก็เป็นห่วงเหมือนกันว่า ถึงจุดหนึ่งเราจะขาดตรงนี้ไป แน่นอนว่าการสู้รบกันบางทีต้องหวังชนะ แต่ก็หวังว่าผู้นำเหล่านี้เขายังมีสติอยู่ แต่ถึงจุดหนึ่งเขาอาจจะต้องใช้ให้มากขึ้น และลักษณะที่โจมตีกัน ก็ต้องระวังไม่ให้เกินเลยไป เพราะหากเกินเลยไปมันไม่ดี มองลึกๆ กับคำพูดที่ว่า “เราอยากทำดีเพื่อบ้านเมือง” ซึ่งเราควรต้องซีเรียสกับมัน ไม่ใช่เป็นเพียงวาทกรรม

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
-------------------------------------------------