--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2557

นายกฯย้ำ..... ที่ประชุมสภากลาโหม ต้องปฏิบัติกับประชาชนอย่าง เสมอภาคเท่าเทียมทุกกลุ่ม !!

หลังจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมสภากลาโหม ประจำเดือนมี.ค. โดยมีผบ.สส.และผบ.เหล่าทัพเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Yingluck Shinawatra มีเนื้อหาระบุว่า วันนี้ในที่ประชุมสภากลาโหมได้เน้นย้ำกับหน่วยขึ้นตรงของกระทรวงกลาโหม และผบ.เหล่าทัพ ให้ดูแลเรื่องความมั่นคงในพื้นที่ทุกจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความสุ่มเสี่ยงที่จะกระทำความผิดกฎหมายและที่อยู่นอกเหนือกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยได้เน้นย้ำว่าจะต้องร่วมมือกันและไม่ให้เกิดเหตุการณ์การแบ่งแยกดินแดนเพื่อที่จะนำความสงบความสามัคคีมาสู่ประเทศไทย

ประเด็นต่างๆตอนนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน การที่จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงความเข้าใจของประชาชนก็จะเกิดปัญหาต่าง ๆ ดังนั้นจะต้องดำเนินการทางกฎหมาย พร้อมกับควบคู่กับการทำความเข้าใจกับประชาชนและจะต้องปฏิบัติด้วยความเสมอภาคและเท่าเทียมกันของทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่เช่นเดียวกัน โดยไม่เลือกปฏิบัติว่าพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นสิ่งที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาคและจังหวัดต้องช่วยกันดูแลอย่างเต็มที่ค่ะ" นายกฯ ระบุ

ที่หอประชุม 80 ปี บก.ทอ. พ.อ.ปภาธิป สว่างแสง โฆษกกห. แถลงผลการประชุมสภากลาโหม ประจำเดือนมี.ค. ซึ่งมีน.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นประธานการประชุม มีผบ.สส.และผบ.เหล่าทัพเข้าร่วม โดยกล่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ขอให้หน่วยขึ้นตรงและเหล่าทัพที่รับผิดชอบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พยายามสร้างความเข้าใจ ความมั่นใจ ในชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยยึดถือยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และ “เศรษฐกิจพอเพียง” รวมทั้งให้นำแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยสันติวิธีของรัฐบาล มาใช้อย่างจริงจัง ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ทั้งยังฝากชมเชยกำลังพลทุกนาย ซึ่งทุ่มเทเสียสละปฏิบัติหน้าที่


ที่มา.ข่าวสด
//////////////////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2557

ประวัติศาสตร์ : การแบ่งแยกดินแดนของประเทศไทย !!?

สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน จากการเกิดกระแสของการแบ่งแยกดินแดน แบ่งแยกประเทศ ในทางเหนือ หรือแม้กระทั่งปัญหาของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีมาอย่างยาวนาน หากดูประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เรื่องการแบ่งแยกประเทศไทยนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด หากแต่มีมานานแล้ว

นัยยะทางภูมิรัฐศาสตร์ของไทย (Thai Geopolitics implication) ที่ต้องการคงศูนย์อำนาจไว้ที่กรุงเทพฯ ซึ่งสามารถพิจารณาได้จากการคุมอำนาจทางเศรษฐกิจ ทหาร การเมือง เอาไว้ที่กรุงเทพฯ (GDP ของกรุงเทพฯ มีสัดส่วนเป็นครึ่งหนึ่งของทั้งประเทศ) สอดคล้องกับการที่มีข้าราชการที่ขึ้นกับส่วนกลาง (อย่างเช่นกระทรวงมหาดไทย) แทรกตัวไปยังการปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วไปประเทศ และการระบุเอาไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 1 ของทุกฉบับว่ามาตรา ๑ ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้
 

อย่างไรก็ตามในระยะหลังเริ่มมีการพูดถึงการกระจายอำนาจไปยังการปกครอง ส่วนท้องถิ่น รวมทั้งรูปแบบที่เป็นไปได้ในการจัดตั้งเขตปกครองที่หลากหลาย ที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมของคนในท้องที่ หรือกรณีอย่างเขตเศรษฐกิจพิเศษ (แบบเดียวกับจีนที่มีเขตปกครองพิเศษในฮ่องกง หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ต่างๆ) และความสำคัญของการเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจในภูมิภาค แบบคลัสเตอร์จังหวัดมากขึ้น

แต่จากประสบการณ์ของรัฐไทยที่ผ่านการแบ่งแยกและรวมศูนย์อำนาจมายาวนาน รัฐไทยมีประสบการณ์ไม่ค่อยดีกับการกระจายอำนาจออกไปให้ส่วนท้องถิ่น ดังนั้นในระยะยาว รัฐไทยจะต้องหาสมดุลระหว่าง การกระจายอำนาจและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับส่วนท้องถิ่น และการควบคุมองคาพยพต่างๆในส่วนท้องถิ่นจากศูนย์กลางอำนาจในกรุงเทพฯ ซึ่งบางครั้งการมีแนวทางแบบอนุรักษ์นิยมมากเกินไป ก็จะมีการผ่อนคลายจากการบีบบังคับจากมหาอำนาจโลกที่มีความเสี่ยงต่อการสูญเสียอำนาจของศูนย์กลางอำนาจรัฐไทยทั้งระบบ เช่นกรณีสนธิสัญญาเบอร์นี และสนธิสัญญาเบาริ่งในสมัยรัชกาลที่ 4[1] หรือกรณีการเข้าร่วมกับญี่ปุ่นในกรณีสงครามโลกครั้งที่สอง การร่วมกับสหรัฐฯในการต่อต้านฝ่ายคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็น และการเข้าร่วมกับสหรัฐฯในการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ขั้วอำนาจใหม่ที่เป็นคู่ขัดแย้งจากขั้วอำนาจเก่าในศูนย์กลางอำนาจที่กรุงเทพฯก็อาจอาศัยสถานการณ์แบบนี้ให้เป็นประโยชน์ในการช่วงชิงอำนาจได้

ความจำเป็นในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ของรัฐไทย ที่มีลักษณะเช่นนี้เพราะการเปลี่ยนผ่านจากการรวมศูนย์อำนาจของรัฐคู่ในสมัย สุโขทัย-อโยธยา และการแบ่งส่วนอำนาจให้กับหัวเมืองฝ่ายเหนือ อโยธยา-พิษณุโลก[2] และความจำเป็นในการต้องการพื้นที่ป้องกันศูนย์อำนาจจากการขยายอิทธิพลจากรัฐคู่แข่ง ทางเหนือคือรัฐล้านนา, ทางตะวันออกคือพื้นที่แถบอีสาน (ยังคงมีช่องว่างในดินแดนภาคตะวันออก-กัมพูชาที่ยังไม่มีพื้นที่จำเป็นป้องกัน), ทางตะวันตกจะมีแนวพรมแดนธรรมชาติ ส่วนทางใต้คือรัฐมลายู แต่มีปัญหาจากการบุกรุกจากทะเลฝั่งอ่าวไทย และอันดามัน ปัญหาจุดอ่อนจากพื้นที่ฝั่งตะวันออก และภาคใต้ สอดคล้องกับแผนที่ประเทศญี่ปุ่นบุกไทยในสงครามโลกครั้งที่สอง แนวทางเคลื่อนทัพของประเทศญี่ปุ่นเดินทัพมาจากสองทิศทางนี้

แนวพรมแดนเหล่านี้ในประวัติศาสตร์มีการเคลื่อนตัวเข้าและออกไปจากแนวชายแดนของประเทศไทยปัจจุบัน ตามความจำเป็นทางประวัติศาสตร์ เช่นสมัยต้นรัตนโกสินทร์มีพื้นที่ไกลไปถึงรัฐไทยใหญ่ ตะวันออกจดเวียดนาม และทางใต้ตลอดแหลมมลายู แต่ในช่วงการล่าอาณานิคมรัฐไทยต้องเสียดินแดนเหล่านี้ให้กับอังกฤษและฝรั่งเศส ในขณะที่รัฐไทยในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ทำสงครามอินโดจีน กับฝรั่งเศสได้ดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงคืนมา เข้าร่วมกับญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง ส่งทหารยึดเมืองเชียงตุง และได้เขตสี่จังหวัดในแหลมมลายูคืนมาจากอังกฤษ
ลักษณะสำคัญ

นัยยะทางภูมิรัฐศาสตร์ของไทย จึงว่าด้วยความจำเป็นจากลักษณะทางภูมิรัฐศาสตร์ และจะมีอิทธิพลสำคัญกับการกำหนดนโยบายของรัฐไทย ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ หรืออุดมการณ์ของรัฐไทยไปอย่างไรก็ตาม ลักษณะเด่นของนัยยะภูมิรัฐศาสตร์ไทย ประกอบด้วยแนวทางดังต่อไปนี้
การรวมศูนย์อำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจไว้ที่กรุงเทพฯ
การสร้างสมดุลการกระจายอำนาจทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจให้กับส่วนท้องถิ่น ในขณะที่ศูนย์กลางอำนาจในกรุงเทพฯ ยังคงสามารถควบคุมและผูกพันรัฐไทยเอาไว้ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
การคงพื้นที่ป้องกันศูนย์อำนาจจากกรุงเทพฯจากการขยายอิทธิพลจากรัฐคู่แข่ง ทางเหนือคือรัฐล้านนา, ทางตะวันออกคือพื้นที่แถบอีสาน (ยังคงมีช่องว่างในดินแดนภาคตะวันออก-กัมพูชาที่ยังไม่มีพื้นที่จำเป็นป้องกัน), ทางตะวันตกจะมีแนวพรมแดนธรรมชาติ ส่วนทางใต้คือรัฐมลายู แต่มีปัญหาจากการบุกรุกจากทะเลฝั่งอ่าวไทย และอันดามัน ปัญหาจุดอ่อนจากพื้นที่ฝั่งตะวันออก และภาคใต้ สอดคล้องกับแผนที่ประเทศญี่ปุ่นบุกไทยในสงครามโลกครั้งที่สอง แนวทางเคลื่อนทัพของประเทศญี่ปุ่นเดินทัพมาจากสองทิศทางนี้
การใช้แนวทางดุลอำนาจหากเผชิญมหาอำนาจที่มีอิทธิพลระดับโลก โดยใช้คู่แข่งอำนาจที่มีความทัดเทียมกัน แต่ในที่สุดจะคงความเป็นตัวของตัวเองเอาไว้
การเป็นรัฐค้าขายมากกว่ารัฐทางทหาร

กบฏในต่างจังหวัด
กบฏในต่างจังหวัด หรือ กบฏหัวเมือง มักเกิดจากการที่รัฐบาลที่กรุงเทพฯ เพิ่มอำนาจการควบคุมชาวบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบังคับภาษีใหม่ๆ เช่นภาษีรัชชูปการ บางครั้งกบฎได้รับแรงหนุนจากเจ้าเมืองหรือกรมการที่ถูกลดอำนาจไป ในบางกรณีผู้ก่อกบฎจงใจต่อต้านคนสยามหรือการก้าวก่ายจากศูนย์กลางอำนาจที่กรุงเทพฯ โดยตรง หรือไม่ก็เกิดจากการที่กรุงเทพฯ พยายามเข้ามาควบคุมท้องถิ่น ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชนชนบทกับกรุงเทพฯ นอกจากนี้ยังมักมีปัญหาจากความแปลกแยกในด้านเชื้อชาติเดิมฝังรากลึกอยู่แล้ว ซึ่งบ่อยครั้งที่ผู้ก่อเหตุกบฎจะยกเอาสาเหตุนี้มาเป็นข้ออ้างหลักในการปลุกระดมมวลชน


กบฎในเขตภาคเหนือ


ปี 2432-2422 เกิดกบฏพญาผาบ เกิดการประท้วงที่เชียงใหม่ นำไปสู่การปะทะกันระหว่างชาวบ้านกว่าสามพันคนกับกองทหารของทางการ ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้านหลายคนสนับสนุนพวกกบฏ รัฐบาลกรุงเทพฯ เชื่อว่าเจ้าเมืองเชียงใหม่สนับสนุนพวกกบฏอยู่ในที
ปี 2440 ชาวบ้านในหมู่บ้านภาคเหนือทำร้ายข้าราชการจากรุงเทพฯ คนแรกที่เข้ามาเพื่อเก็บภาษีจนเสียชีวิต
ปี 2445 เกิด กบฏเงี้ยว มีการลุกขึ้นสู้ของชาวนาที่จังหวัดแพร่ มีคนงานรัฐไทยใหญ่ชักชวนให้เจ้าผู้ครองเมืองและขุนนางสนับสนุนพวกเขาขับไล่ข้าราชการสยามออกไป รัฐบาลที่กรุงเทพฯ สงสัยว่าเจ้านายเหล่านี้วางแผนคบคิดก่อกบฏตั้งแต่ต้น
ปี 2453 พระสงฆ์นำขบวนก่อกบฏที่ลำปางหลายครั้ง
ปี 2467 ชาวบ้านก่อกบฏที่จังหวัดเลย เพื่อต่อต้านการเก็บภาษีรัชชูปการ

กบฎในเขตภาคอีสาน


ปี 2438 เกิด กบฏสามโบก บางหมู่บ้านที่ขอนแก่นก่อกบฏและสามารถสร้างเขตปลอดข้าราชการในท้องถิ่นที่หมู่บ้านของตนได้เป็นเวลานานถึงสามปี
ปี 2445 เกิด กบฏผู้มีบุญ มีกบฏชาวนาอย่างกว้างขวางในอีสาน การกบฏครั้งใหญ๋ที่สุดมีชาวนาประมาณสองพันห้าร้อยคน รวมตัวกันยึดหัวเมืองเอาไว้ได้ หลังจากรัฐบาลที่กรุงเทพฯ เก็บภาษีรัชชูปการเมื่อปี พ.ศ. 2442
ปี 2491 กบฎแบ่งแยกดินแดน โดย ส.ส.อีสานกลุ่มหนึ่ง ต่อรัฐบาล นายควง อภัยวงศ์

กบฎในเขตภาคใต้


ปี 2445 เกิดกบฏรัฐมลายู มีการประท้วงขึ้นที่เขตชายแดนภาคใต้ โดยมีกรมการระดับล่างที่มองว่าอำนาจของตนถูกดึงไปโดยรัฐบาลศูนย์กลางเป็นผู้นำ กบฏนี้ยังได้รับการสนับสนุนอย่างลับๆ จากเจ้าเมืองรัฐมลายูต่างๆ
25 – 28 เมษายน พ.ศ. 2491 เกิด กบฏดุซงญอ เป็นเหตุการณ์การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐไทยกับกลุ่มชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู ที่ หมู่บ้านดุซงญอ ตำบลจะแนะ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส
28 เมษายน พ.ศ. 2547 เกิดกรณีกรือเซะ[1]
25 ตุลาคม พ.ศ. 2547 เกิด กรณีตากใบ

กรณีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย



อาจพิจารณา “ยุทธศาสตร์ชนบทล้อมเมือง” ของ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่เคลื่อนไหวทั้งในเขตภูเขาในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ว่าอาศัยจุดอ่อนตรงนี้ของรัฐไทยในการขับเคลื่อนการต่อต้านศูนย์อำนาจรัฐได้ด้วย ที่มั่นสำคัญของพคท. ในเขตภาคเหนือคือ แพร่, น่าน, และตาก[2], ภาคอีสานคือ เลยและภูพาน (และหลายแห่งในอีสานใต้), ภาคใต้คือสุราษฎรธานี
ปฏิกิริยาจากศูนย์อำนาจที่กรุงเทพฯ

รัฐบาลสามารถปราบปรามการกบฏทั้งหลายได้สำเร็จ แต่กบฏที่เกิดึ้นหลายครั้งทำให้รัฐบาลเห็ฯความจำเป็นที่จะก่อตั้งกองทหารประจำการ ขยายข่ายงานของตำรวจ และก่อตั้งระบบศาลสถิตยุติธรรมที่ส่วนกลาง พร้อมกันนั้นคิดโครงการสร้างรัฐชาติ โดยใช้ระบบการศึกษา ศาสนา และอุดมการณ์จากศูนย์กลางเป็นเครื่องมือ



พระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีทรงเป็นแม่ทัพกองทัพสยาม ในสมัยรัชกาลต้นๆ มีทหารประมาณเจ็ดหมื่นนาย ปลายพุทธศตวรรษที่ 24 กิจกรรมทางการทหารลดความสำคัญลง ชื่อเสียงของกองทัพเสื่อและระบบเกณฑ์แรงงานประสบปัญหาหลายประการ จนพระมหากษัตริย์ทรงมีทหารประจำการน้อยกว่าสองพันคน และส่วนมากจะเป็นคนประเภทจรจัด โครงการปฏิรูปกองทัพใช้วิธีการเดียวกับกรณีของการคลังและมหาดไทยในช่วงที่ีผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงก่อตั้งมหาดเล็กหลวงภายในวังและให้ได้รับการฝึกฝนในระบบกองทัพยุโรป

พ.ศ. 2423 ทรงใช้หลักเกณฑ์เดียวกันจัดตั้งทหารประจำการขึ้นที่กรุงเทพฯ ทรงใช้วิธีอาสาสมัครแทนการเกณฑ์ ทหารประจำการดังกล่วมีประมาณห้าพันนาย ส่วนใหญ่เป็นคนลาว เขมร และมอญที่ไม่ถูกสักเลขโดยหลีกหนีการเกณฑ์แรงงาน รัฐบาลใช้ทหารประจำการเหล่านี้ควบคุมชายแดนลาวใน พ.ศ. 2428 – 2429

พ.ศ. 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเข้าดูแลกลาโหมโดยตรง พระองค์ทรงแต่งตั้งพระเจ้าน้องยาเธอและผู้ใกล้ชิดจำนวนหนึ่ีงให้มีตำแหน่งสำคัญในกองทัพ และทรงสัญญาที่จะปฏิรูประบบการทหารตามแนวยุโรป แผนการดังกล่าวประสบปัญหาทางการเงินและการคัดค้านจากลุ่มขุนนางที่เคยมีอำนาจอยู่เดิม อย่างไรก็ตาม กองทหารประจำการสมัยใหม่ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นก็สามารถปราบปรามโจรผู้ร้ายในเขตชนบท และในบางครั้งรัฐบาลส่งไปปราบปรามการจราจลของคนจีน และต้านทานการรุกรานจากฝรั่งเศสทางชายแดนตะวันออกและชายแดนภาคเหนือได้

ในช่วงแรกความพยายามปฏิรูปกองทัพยังไม่เห็นผลชัดนัก แต่ภายหลังเมื่อเกิดกบฏใน พ.ศ. 2445 ทั้งเหนือ อีสาน และใต้ ก็กระตุ้นให้ทรงตัดสินพระทัยแน่นอนให้มีการปฏิรูปกองทัพ เพราะเมื่อเกิดกบฏขึ้นครั้งใด ทรงต้องใช้กองทหารประจำการจำนวนน้อยจากกรุงเทพฯ ปราบ โดยเกณฑ์ทหารเพื่อภารกิจดังกล่าวเป็นคราวๆไป นายกองไม่กี่นายที่มีประสบการณ์ปราบปรามโจรในภาคกลางเป็นผู้นำ กองทหารรัฐบาลมักเป็นฝ่ายพ่านแพ้ในตอนต้น และต้องใช้เวลานานกว่าจะดึงกองทหารให้กลับมาอยู่ในวินัยอีกครั้ง แม่ทัพนายกองจึงเสนอว่า ควรจะมีกองทัพประจำการใกล้เขตกบฏเพื่อปราบปรามได้ทันท่วงที หนึ่งปีจากนั้น เจ้าฟ้าซึ่งเป็นผู้ดูแลการทหารเสนอให้มีระบบเกณฑ์ทหารแบบบังคับ

สถานการณ์ดังกล่าวจึงทำให้รัฐบาลก่อตั้งทหารประจำการได้สำเร็จเมื่อต้นทศวรรษ 2440 เนื่องจากรัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายทางด้านการทหารเพิ่มขึ้นจากสองล้านเก้าแสนบาท เมื่อ พ.ศ. 2441 เป็น 13.8 ล้านบาทใน พ.ศ. 2448 ในปีเดียวกันนั้นเองรัฐบาลประกาศยกเลิกระบบแรงงานเกณฑ์และก่อตั้งกองทัพอย่างเป็นทางการ

พ.ศ. 2453 สยามมีกองทหารประจำการประมาณสองหมื่นนาย และมีทหารสำรองอีกสามถึงสี่หมื่นนาย มีกองทัพเรือประจำการห้าพันนาย มีทหารเรือสำรองประมาณสองหมื่นนาย

ดูเพิ่มเติม : กองพลที่ 1 รักษาพระองค์
ตำรวจ

รัฐบาลเริ่มขยายระบบตำรวจจากศูนย์กลาง ซึ่งในขณะนั้นกล่าวกันว่ามักมีพื้นเพเป็นโจร ทาสหนีนาย ขี้ยา ขี้เหล้า และนักเลงหัวไม้มาก่อน รัฐบาลมักใช้กองทหารเพื่อปราบจราจลมากกว่าตำรวจ หลังจากปี 2440 รัฐบาลก็เริ่มมีการปฏิรูปและก่อตั้งกรมตำรวจเพื่อดูแลตำรวจในเขตหัวเมือง และต่อมาก็มีการก่อตั้งระบบศาลยุติธรรมขึ้น[3]
แนวคิดสันติวิธีจากพลังเสรีนิยมใหม่
แนวคิดสิทธิมนุษยชน
แนวคิดการกระจายอำนาจ
แนวคิดพหุนิยม แบบหลังสมัยใหม่
แนวคิดการแข่งขันแบบไม่ใช่ศัตรู (agonistic pluralism) ของ Chantal Mouffe (ตรงข้ามกับแนวคิด มาคีเวลเลียน)
แนวคิดสมานฉันท์ (อิงวิธีคิดเชิงพุทธ)
ข้อมูลเพิ่มเติม
ผาสุก พงษ์ไพจิตร และ คริส เบเกอร์, เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ, SILK WORM BOOKS
ข้อมูลอ้างอิง
 สังเกตเห็นว่าใกล้เคียงกับการกบฏในช่วง 2445, ดูเพลงสปท. ” ฝั่งแม่น้ำน่าน
 ผาสุกและคริส, ibid, pp. 292-293
ที่มา.Siam Intelligence Unit
////////////////////////////////////////////////////////

วันอาทิตย์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2557

คนกลาง พร้อมชิงอำนาจ !!?

พลากร สุวรรณรัฐ หนึ่งในแคนดิเดต “นายกฯคนกลาง”คุยกับคนใกล้ชิดระหว่างบินเชียงใหม่ ฉากจบส่อเว้นวรรค ปชต.ส่งสัญญาณทำใจ “กระทบ-เจ็บ-ตาย”นับ “หมื่น”!!ข่าวพาดหัวโล้ชิงช้า ! — 01 March 2014 “คนกลาง”พร้อมชิงอำนาจ!! หึ่ง “พลากร สุวรรณรัฐ”หนึ่งในแคนดิเดต “นายกฯคนกลาง”คุยกับคนใกล้ชิดระหว่างบินเชียงใหม่ ฉากจบส่อเว้นวรรค ปชต.ส่งสัญญาณทำใจ “กระทบ-เจ็บ-ตาย”นับ “หมื่น”!!

แม้ “ม็อบกบฏ กปปส.” ที่ชุมนุมยืดยาวมากว่า 120 วัน จะต้องครึ่งคราว ที่ประสบภาวะถดถอย มวลชนลดน้อย กระแสตก กระสุนฝืด จน “สุเทพ เทือกสุบรรณ” หัวหน้าม็อบกบฏ จำใจต้องตัดสินใจ “ยุบเวทีชุมนุม” เหลือเวทีเดียว ไปซุกตัวตั้งหลักอยู่ใน “สวนลุมพินี” แล้วก็ตาม แต่ “เครือข่ายกบฏ กปปส.” ก็ใช่ว่าจะยุติเคลื่อนไหว โดยเฉพาะ “เครือข่ายอำมาตย์” ที่ยังคงขยับอย่างต่อเนื่อง แม้โอกาสที่จะไปถึงฝั่งฝัน “เว้นวรรคประชาธิปไตย” จะลดน้อยถอยลงก็ตาม !

ก่อนที่ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” จะประกาศยุบเวทีการชุมนุม มีรายงานว่า ช่วง 09.20 น. “พลากร สุวรรณรัฐ” องคมนตรี ขึ้นเครื่องบินสายการบินยักษ์ใหญ่ เที่ยว กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ด้วย ที่นั่งชั้นพิเศษ  11A และ 11B คู่ไปกับ ข้าราชการผู้ใหญ่คนใกล้ชิด

ตลอดระยะเวลาเดินทางกว่าชั่วโมง มีรายงานว่า มีการพูดคุยกันออกรสออกชาด เรื่องสถานการณ์การเมืองไทย ไปจนถึงความคาดหวังต่อเก้าอี้ “นายกรัฐมนตรีคนกลาง” ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ต้องห่วงอะไร เพราะสุดท้ายจะสงบราบรื่นไปได้ ทุกฝ่ายมีความเป็นห่วงเป็นใยต่อสถานการณ์บ้านเมืองอยู่แล้ว แต่สุดท้ายก็จะมีทางออกจนได้”

เนื้อหาการสนทนา ส่วนหนึ่งออกมาว่า หลายคนพร้อมที่จะเสียสละเข้ามาช่วยคลี่คลายวิกฤติของบ้านเมือง พร้อมที่จะเข้ามาเป็น “คนกลาง” ที่จะมาแก้ไขสถานการณ์ต่างๆในขณะนี้ให้ดีขึ้น พร้อมที่จะมาเป็น “ผู้นำ” ในการสร้างความสามมัคคี แม้อาจจะต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งในการควบคุมสถานการณ์
มีเสียงบอกว่า “ท่านเองก็เป็นหนึ่งคนที่ เหมาะสมอย่างยิ่ง ในการเสียสละเข้ามาแก้ไขวิกฤติ” !!!

นอกจากนี้ในระหว่างการสนทนา มีการพูดถึง การสูญเสียระหว่างเกิดวิกฤติการเมืองครั้งนี้ เพราะระยะเวลาแค่ 100 กว่าวัน  ที่มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บไปแล้วนับร้อยราย

โดยเสียงตอบรับจากหนึ่งในคู่สนทนาออกมาว่า อาจจะมีผู้ได้รับผลกระทบบ้าง ครั้งนี้อาจจะมีคนได้รับผลกระทบเป็น “พันคน” หรือเป็น “หมื่นคน” แต่วิกฤติครั้งนี้ก็จะผ่านไปได้ เมื่อมี “คนกลาง” เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง เมื่อถึงจุดนั้นทุกอย่างก็จะคลี่คลายไปได้เอง
และ “ถ้าจะช่วยให้วิกฤติของบ้านเมืองคลี่คลายไปได้ ก็พร้อมที่จะเข้ามาเป็น “คนกลาง” ช่วยแก้ปัญหา” !!!

ข้อมูลล่าสุดกระทรวงสาธารณสุข ได้สรุปข้อมูล การชุมนุมของม็อบกบฏ กปปส. ตั้งแต่ 30 พฤศจิกายน 2556-28 กุมภาพันธ์ 2557 เสียชีวิตไปแล้ว 23 ราย บาดเจ็บรวม 765 ราย
คำถามสำคัญก็คือ ถึง “นายกฯคนกลาง” หรือ “ใคร” ก็ตามที่จะอาศัยวิกฤติแทรกเข้ามาครอบครองอำนาจในการกำหนดทิศทางของประเทศ แทนอำนาจของประชาชนตามที่กฎหมายกำหนด คือ “ประชาชนผู้บริสุทธิ์” จะต้องสังเวยให้ “คนกลาง” และ “ผู้นำ” ในสร้างความสามัคคี นับ “พันคน” นับ  “หมื่นคน” เลยหรือ ???

สำหรับ “นายพลากร สุวรรณรัฐ” องคมนตรีนั้น มีปรากฎชื่อทั้งในสื่อสารมวลชน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาว่า เป็นหนึ่งในผู้ที่เหมาะสมจะเข้ามารับตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรีคนกลาง” ร่วมกับรายชื่อของบุคคลอื่นๆ อาทิ “พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์” องคมนตรี , นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี , พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีต รมว.กลาโหม รวมไปถึง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีต ผบ.ทบ. ที่มีการกล่าวถึงกันก่อนหน้านี้ !!!

ที่มา.พระนครสาส์น
/////////////////////////////////////////////

วันเสาร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2557

ขายข้าว จีทูจี ล็อตแรก 4 แสนตัน !?

เผย กรมการค้าต่างประเทศเตรียมเซ็นสัญญาขายข้าวจีทูจีให้จีนล็อตแรก 4 แสนตัน คาดส่งมอบได้เดือนเม.ย. นี้

นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการเจรจาขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) กับรัฐบาลจีนจำนวน 1 ล้านตันต่อปีว่าได้รับรายงานจากนายสุรศักดิ์ เรียงเครือ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ซึ่งเพิ่งเดินทางกลับจากประเทศจีนว่ากรมการค้าต่างประเทศได้ตกลงในเบื้องต้นที่จะลงนามในการขายข้าวแบบจีทูจีกับรัฐบาลจีนล็อตแรกจำนวน 4 แสนตัน โดยคาดว่าจะมีการลงนามในสัญญากับรัฐบาลจีนภายในเดือนมี.ค.นี้

นายนิวัฒน์ธำรง คาดว่าจะมีการส่งมอบข้าวในจำนวนดังกล่าวให้กับจีนได้ในเดือนเม.ย.นี้ โดยรัฐบาลจีนยอมรับการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขในสัญญาที่กำหนดว่าจะไม่ผูกพันกับรัฐบาลต่อไปและในอนาคตอาจมีการเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกสัญญาได้ในส่วนข้าวที่ยังไม่ได้ส่งมอบให้กับรัฐบาลจีน หากรัฐบาลต่อไปไม่เห็นด้วยกับสัญญานี้

นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวว่าในเดือนก.พ. ได้ระบายข้าวไปแล้ว 8 แสนตัน จากเป้าหมาย 1 ล้านตันต่อเดือน เพื่อให้ได้เงิน 8,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการระบายในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า (เอเฟท) ได้อีกในปริมาณ 1.1 แสนตัน ส่วนเงินจะทยอยเข้ามาตามการส่งมอบข้าวให้กับเอกชน ซึ่งมั่นใจว่าระหว่างเดือนม.ค.-มี.ค. 2557 จะมีเงินเข้ามาจากการระบายข้าวเดือนละประมาณ 8,000 ล้านบาท รวมเงินจากการระบายข้าว 2.4 หมื่นล้านบาท

เมื่อรวมกับเงินที่รัฐบาลขอยืมจากงบกลางนำไปจ่ายค่ารับจำนำข้าวอีก จำนวน 2 หมื่นล้านบาท และอีก 712 ล้านบาท ที่จะจ่ายให้กับเกษตรกรจำนวน 3,900 ราย ซึ่งค้างจ่ายมาตั้งแต่ปีการผลิต 2555/2556 ก็จะมีเม็ดเงินที่จ่ายให้กับชาวนาในเดือนมี.ค.นี้ ประมาณ 4.5 - 5 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้อนุมัติให้สำนักงบประมาณดำเนินการจัดเงินให้กับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 712 ล้านบาท เพื่อนำเงินไปจ่ายชาวนา เนื่องจากเห็นว่าเป็นเงินที่ค้างชำระจากโครงการเก่า

สถานทูตจีนแจงซื้อข้าวช่วยไทย

ด้าน สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ส่งอีเมลตอบคำถาม เกี่ยวกับการซื้อข้าวว่า จะเร่งซื้อข้าวตามข้อตกลงเดิมคือปีละ 1 ล้านตันเป็นเวลา 2 ปี เพื่อช่วยเหลือชาวนาไทย

ข้อมูลจากสถานทูตจีนระบุว่า “จีนนำเข้าข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และสินค้าเกษตรอื่นๆ จากประเทศไทยทุกปี เมื่อเดือนพ.ย. ปีที่แล้ว บริษัท คอฟโก (COFCO) ของจีนและกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ไทยได้ลงนามในข้อตกลงเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างรัฐบาลที่ว่า จีนจะซื้อข้าวจากไทยปีละ 1 ล้านตัน เป็นเวลา 2 ปี

ประเทศจีนกับประเทศไทย เป็นบ้านใกล้เรือนเคียงที่มีความสนิทชิดเชื้อกัน เพื่อที่จะบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรและชาวนาไทย และช่วยเหลือชาวนาไทยอย่างแท้จริง ทั้งสองฝ่ายจะเร่งปฏิบัติตามข้อตกลงนี้ให้เกิดผลโดยเร็ว ส่วนรายละเอียด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่ายต้องหารือกันต่อ”

แจงขายข้าวจีนแบ่ง2ล็อต

นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ตามที่ได้ตกลงกับรัฐบาลจีนไทยจะขายข้าวแบ่งเป็นล็อตแรก 4 แสนตัน และล็อตที่สอง 6 แสนตัน รวมเป็น 1 ล้านตัน และปีต่อไปอีก 1 ล้านตัน จะเป็นแบบค่อยๆ ทยอยรับมอบ ซึ่งเป็นวิธีการธรรมดาของการขายข้าวทั่วไป

อย่างไรก็ตาม การซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) กับจีนครั้งนี้ ทางการจีนน่าจะให้ซื้อขายผ่านรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลกลาง คือ คอฟโก เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา หลังจากที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ตั้งข้อสังเกตก่อนหน้านี้ว่า การซื้อขายจีทูจีต้องซื้อขายโดยรัฐวิสาหกิจจากรัฐบาลกลางเท่านั้น

นายสุรศักดิ์ กล่าวว่าในสัญญามีการระบุด้วยว่า หากไทยมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ก็อาจยกเลิกสัญญาได้ ซึ่งฝ่ายจีนยินยอม เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เคยให้คำแนะนำมาก่อนหน้านี้ว่าในระหว่างรัฐบาลรักษาการ กระทรวงพาณิชย์ยังสามารถขายข้าวในสต็อกรัฐแบบจีทูจีได้ แต่ต้องไม่เป็นภาระผูกพันถึงรัฐบาลชุดใหม่

ทั้งนี้ จีนเสนอจะซื้อข้าวจากไทยต่อเนื่อง 5 ปีๆ ละ 1 ล้านตัน แต่ในระยะเร่งด่วนนี้ จีนจะขอซื้อก่อน 2 ล้านตัน หรือภายในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งจะมีข้าวหลายชนิด ทั้งข้าวขาว 5% ข้าวขาว 100% ข้าวหอมมะลิ เป็นต้น

"สมชัย"ระบุไม่อยู่ในอำนาจกกต.

ด้าน นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวว่าการลงนามเอ็มโอยูเพื่อขายข้าวให้กับรัฐบาลจีนนั้น ไม่เกี่ยวกับกกต.และไม่อยู่ในอำนาจที่กกต.จะต้องตีความ เนื่องจากเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะดำเนินการ ซึ่งรัฐบาลก็ต้องคำนึงว่าการจะลงนามทำสัญญาอะไรต้องไม่มีผลผูกพันกับรัฐบาลชุดต่อไปด้วย

นายสมชัย กล่าวว่ากรณีนี้จะเข้าข่ายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 ที่ต้องให้กกต.รับพิจารณาหรือไม่นั้น ไม่ขอตอบ เพราะไม่มีอำนาจไปตีความข้อกฎหมาย และคิดว่ารัฐบาลก็คงไม่ยื่นเรื่องดังกล่าวมาให้กกต.พิจารณา

ไทยส่งออกข้าวเดือนม.ค. เพิ่ม 19.9%

สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย รายงานว่าการส่งออกข้าวในเดือนม.ค. 2557 มีปริมาณทั้งสิ้น 696,558 ตัน มูลค่า 12,372 ล้านบาท โดยปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น 19.9% ขณะที่มูลค่าส่งออกลดลง 0.9% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2556 ที่มีการส่งออกปริมาณ 580,983 ตัน มูลค่า 12,487 ล้านบาท

การส่งออกข้าวในเดือนม.ค. 2557 มีปริมาณเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน เนื่องจากมีการส่งออกข้าวขาว เพิ่มขึ้นมากจากเดือนก่อน ในขณะที่การส่งออกข้าวหอมมะลิ และข้าวนึ่งลดลงจากเดือนก่อนพอสมควร

สถานการณ์ราคาส่งออกข้าวในช่วงนี้ ราคาข้าวของไทยในตลาดต่างประเทศยังคงมีแนวโน้มอ่อนตัวลงและอยู่ในระดับที่ไม่ห่างจากคู่แข่งมากนัก โดยในขณะนี้ราคาข้าวของไทยห่างจากประเทศคู่แข่งประมาณ 50 ดอลลาร์ต่อตัน โดยสมาคมฯคาดว่าในเดือนก.พ. นี้ จะมีการส่งออกข้าวประมาณ 600,000 ตัน เนื่องจากราคาข้าวของไทยสามารถแข่งขันได้

กรมบัญชีกลางรอกกต.-พร้อมจ่ายงบกลาง

นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ใช้งบกลาง 2 หมื่นล้านบาทไปใช้ในโครงการรับจำนำข้าวว่า ครม.ได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ยื่นเรื่องเสนอขอใช้งบกลาง ดังนั้นขณะนี้ ก็ต้องรอขั้นตอนการหารือกับทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และสำนักงบประมาณก่อน เพราะกรมบัญชีกลางจะจ่ายเงินตามที่สำนักงานงบประมาณจัดสรรงบประมาณ ซึ่งกรณีดังกล่าว หากกกต.มีคำตอบชัดเจน สำนักงบประมาณจะเป็นผู้จัดสรรวงเงินดังกล่าวให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อให้ ธ.ก.ส.เป็นผู้ตั้งเบิกจ่ายเข้ามา

นายมนัส กล่าวในฐานะ กรรมการ ธ.ก.ส. ว่า ในส่วนของการจ่ายเงินให้กับเกษตรกรที่นำข้าวมาเข้าโครงการรับจำนำข้าวก็ยังมีการจ่ายเงินเป็นระยะๆ เพียงแต่ไม่มากนัก เพราะมีเงินที่ได้จากการระบายข้าวทยอยส่งเข้ามา และจากนี้ไปก็จะมีเงินที่มีความต้องการช่วยเหลือเกษตรกรนำเงินมาบริจาคสมทบเข้ากองทุนช่วยเหลือชาวนา ตามที่ธ.ก.ส.ได้จัดตั้งขึ้น โดยจะเริ่มในวันที่ 3 มี.ค.นี้ และเชื่อว่าน่าจะถึง 2 หมื่นล้านบาทตามเป้าหมาย

สำหรับกรณีที่ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้เชิญชวนรัฐวิสาหกิจ เข้าร่วมประมูลตั๋วสัญญาใช้เงิน (พีเอ็น) และปิดรับไปเมื่อวันที่ 27 ก.พ. นั้น นายมนัสกล่าวว่า เท่าที่ทราบมีรัฐวิสาหกิจยื่นเข้ามาเพียง 1 ราย จึงได้ล้มประมูลไป ดังนั้น เงินที่จะนำมาจ่ายให้เกษตรกรที่ยังค้างอยู่ก็คงเป็นเงินจากกองทุนและระบายข้าวไปก่อน

สปส.ยันไม่ซื้อพันธบัตรจำนำข้าว

นางอำมร เชาวลิต เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่ากองทุนประกันสังคมจะไม่เข้าไปลงทุนในโครงการรับจำนำข้าว เพราะขณะนี้ได้จัดสรรเงินลงทุนพันธบัตรตามกรอบการลงทุนหมดแล้ว และในปีนี้จะไม่เข้าไปลงทุนด้านการเกษตร

"ปีนี้ลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์และด้านโภคภัณฑ์ โดยให้ความสนใจเฉพาะลงทุนซื้อทองคำเท่านั้น ส่วนการลงทุนด้านพลังงานและเกษตรไม่มีการลงทุน เนื่องจากเห็นว่าให้ผลตอบแทนน้อย และหากการลงทุนทางเลือกในส่วนของทองคำได้ผลตอบแทนน้อย ก็สามารถปรับสัดส่วนไปเพิ่มการลงทุนในส่วนอสังหาริมทรัพย์แทนได้"

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
-----------------------------------------------

วันพุธที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ป้ายสุดท้าย !!?

โดย. ฐากูร บุนปาน

จะด้วยการสร้างสถานการณ์ ด้วยความคับแค้น ด้วยอุบัติเหตุ หรืออะไรก็ตามที

จากวันเริ่มชุมนุมประท้วงรัฐบาลมา เพื่อนร่วมชาติร่วมสังคมของเราไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน ไม่ว่าจะประชาชนหรือเจ้าหน้าที่ เสียชีวิตเพราะเหตุที่เกี่ยวเนื่องกับการเมือง-การชุมนุมนี้ไปแล้วกว่า 20 ราย และได้รับบาดเจ็บอีกกว่า 700 คน

ในจำนวนนี้มีเด็ก สตรี และคนชราตกเป็นเหยื่อสงครามอยู่ด้วย

ถ้าไม่ช่วยกันหยุดยั้ง ไม่ช่วยกันเรียกสติกลับคืนมา ตัวเลขผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจะเพิ่มมากขึ้นกว่านี้อีก

ในภาวะที่ความเกลียดชังถูกสุมเข้าไปทุกวัน การกระทำรุนแรงต่ออีกฝ่าย (หรือฝ่ายเดียวกันก็อาจเป็นได้) มากขึ้นทุกที ความรุนแรงและความเกลียดถูกปั่นให้พุ่งสูงขึ้นไปเรื่อยๆ และเขม็งเกลียวรอวันใกล้ระเบิดครั้งใหญ่

ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น

หรือใครจะเป็นศพต่อไป?

ยังไม่นับความพินาศฉิบหายทางอื่นที่จะตามมา ไม่ว่าเศรษฐกิจ การปกครอง กฎหมาย สังคม การต่างประเทศ ฯลฯ
ถ้าการ "เจรจา" ระหว่างชนชั้นนำของทั้งสองฝ่ายมีอยู่จริง ก็ต้องเร่งให้การเจรจานี้มีผลในทางปฏิบัติโดยเร็ว

ที่จะไปหวังเรื่องอำนาจนอกระบบอะไรนั้น พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. เขาเพิ่งออกมาพูดชัดๆ ว่า
จะไม่มีการปฏิวัติ

และไม่เชื่อด้วยว่าการใช้กำลังจะสามารถสยบระงับสถานการณ์ได้

คนคุมกำลังพลติดอาวุธมากที่สุดในประเทศนี้เห็นว่า การเจรจาเท่านั้นจะเป็นทางออกของปัญหา

ซึ่งจริง

แต่จะเจรจากันอย่างไร ถ้าฝ่ายที่ "ลงทุนลงแรง" ไปแล้วไม่ยอมรับเงื่อนไขกติกาใดๆ ทั้งสิ้น

และสามารถทำอะไรก็ได้ โดยมีคนโอบอุ้มราวกับไข่ในหิน

ปิดสถานที่ราชการก็ไม่ผิด ยกขบวนไปแบล๊กเมล์ชาวบ้านก็ไม่ผิด เชื้อเชิญให้กองกำลังติดอาวุธมาร่วมรับประทานอาหารก็ยังเป็นการชุมนุมแบบสันติ อหิงสา

ได้เปรียบมหาศาลอย่างนี้ใครจะเจรจา

อยากให้การเจรจาเกิดขึ้นได้ ต้องให้ทั้งสองฝ่ายอยู่บนพื้นที่เสมอกัน

และวิธีการที่จะคืนความปกติให้บ้านเมืองในเบื้องต้นได้เร็วที่สุด คือการยุติการชุมนุม

ไม่ต้องกลัวไปว่า ม็อบถอยแล้วรัฐบาลจะชนะ

รัฐบาลปัจจุบันมีชนักปักหลังอยู่หลายเรื่อง มีสัญญาค้างจ่ายกับสังคมก็อีกหลายเรื่อง ตั้งแต่เงินจำนำข้าวไปถึงการปฏิรูป

ถามว่ารัฐบาลแบบนี้จะทำอะไรได้ นอกจากทำตามความต้องการของสังคม

ขนาดกองทัพที่ว่ารักกันนักหนา เอาเข้าจริงแล้วการ "เป็นกลาง" แบบไม่ทำอะไร อีกด้านก็คือให้ท้ายความไม่สงบ ความรุนแรงให้เพิ่มระดับหนักข้อยิ่งขึ้น

แค่พูดไม่พอ ต้องลงมือปฏิบัติอะไรบางอย่างด้วย

พร้อมทำหรือกล้าทำไหมเล่าครับ

กลับมาถามตัวเองกันใหม่ ว่ายังอยากให้ความสงบ สันติ ความเป็นปกติกลับคืนมาหรือไม่

เรามาถึงจุดที่ต้องตัดสินใจจริงๆ แล้ว

ที่มา:มติชนรายวัน

---------------------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ความไม่แน่นอน !!?

โดย.สรกล อดุลยานนท์

คำถามที่ว่า "เมื่อไรจะจบ" กลายเป็นคำถามยอดฮิต เพราะไม่มีใครรู้ว่าความขัดแย้งการเมืองไทยจะจบลงเมื่อไร

ความอึมครึมของการเมืองไทยทำให้ผมนึกถึงคำของนักธุรกิจใหญ่คนหนึ่ง

เขาบอกว่าสถานการณ์ที่เขาไม่ชอบที่สุด

คือ "ปลาไม่รู้เป็นไม่รู้ตาย"

ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร

วันนี้นักธุรกิจส่วนใหญ่สนใจว่าจะจบ "เมื่อไร"

มากกว่าจะจบ "แบบไหน"

คือ ยอมแล้ว... จบแบบไหนก็ได้

ขอให้จบเสียที

ต่อให้เลวร้ายที่สุดก็ยังดี เพราะจะได้รู้ว่าถึงก้นเหวแล้ว

จะได้เริ่มต้นใหม่

แต่ในระยะยาว... ต้องขอเตือนว่า การ "จบแบบไหน" สำคัญพอๆ กับ "จบเมื่อไร"

เพราะถ้าจบแบบไม่มีหลักการจะสร้างปัญหาที่ใหญ่ยิ่งกว่าในอนาคต

เหมือนรัฐประหาร 2549 ที่คิดว่าจะจบ

สุดท้ายก็ไม่จบ

เราคิดว่า "ม็อบพันธมิตร" ใหญ่ที่สุดแล้ว "ม็อบเสื้อแดง" ใหญ่กว่า

คิดว่า "ม็อบเสื้อแดง" ใหญ่แล้ว

และสุดท้าย "ม็อบ กปปส." ใหญ่กว่า

นี่คือ พัฒนาการของความเลวร้ายที่เกิดขึ้นในเมืองไทย

คุยกับนักธุรกิจใหญ่คนหนึ่ง... เขาบอกว่าสถานการณ์เศรษฐกิจวันนี้กำลังเข้าสู่วงจรอุบาทว์

เรื่องชาวนาไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ทางการเมือง

ผลกระทบจากที่ชาวนาไม่ได้เงินกำลังจะลามไปทั่ว

เงินแสนกว่าล้านที่ไม่ถึงมือ "รากหญ้า" ส่งผลสะเทือนเป็นลูกโซ่

เพราะเงินก้อนนี้ในมือคนจนจะหมุนในระบบเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 3 รอบ

ตัวเลขยอดค้าปลีกทุกค่ายเมื่อเดือนที่แล้ว ลดลงระดับ 2 หลักทุกแห่ง

คือ หลักสิบ... ไม่ใช่หลักหน่วย

ตัวเลขเอ็นพีแอลของแบงก์เริ่มขยับ

นั่นคือ เหตุผลที่ "อานันท์ ปันยารชุน" ออกมาให้สัมภาษณ์วันก่อน

เพราะรู้แล้วว่าการนำเรื่องชาวนามาเล่นเกมการเมืองจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อระบบเศรษฐกิจไทย

ฟังนักธุรกิจใหญ่คนนี้วิเคราะห์สถานการณ์จบ... ผมก็อดถามคำถามยอดฮิตไม่ได้

"แล้วมันจะจบเมื่อไร"

เขาส่ายหน้า... เป็นคำตอบเดิม ๆ

ไม่รู้เหมือนกัน

ครับ... พอประเมินไม่ได้ว่าเรื่องจะจบเมื่อไร... เราก็วางแผนธุรกิจยาก

นึกถึงรุ่นพี่คนหนี่ง... ตอนที่เขาเผชิญกับวิกฤตที่ไม่รู้เป็นไม่รู้ตายคล้ายๆ แบบนี้

สิ่งที่เขาทำก่อนเลย... คือ ไปดูหมอ

ทั้งที่ไม่ใช่คนที่เชื่อเรื่องนี้

รุ่นพี่คนนี้เขาต้องการใครสักคนหนึ่งมาบอกว่า เรื่องนี้จะจบลงเมื่อไร

ต้องให้มีใครสักคนหนึ่งฟันธง

คนรอบข้างก็มีความรู้ความสามารถเรื่องธุรกิจเหมือนกัน

จะให้เชื่อกันก็ทำใจไม่ได้

ไปหาหมอดูดีกว่า

เพราะเป็นศาสตร์ที่เขาไม่รู้

พอหมอดูบอกว่าเรื่องจะจบเมื่อไร...

เขาเอาวันนั้นเป็น "ธง"

วางแผนธุรกิจตาม "ธง" นั้นเลย

จริงไม่จริงไม่รู้

แต่ก็ดีกว่าอยู่เฉย ๆ

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////

วันเสาร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ก้าวย่าง.. กปปส. การทวงคืน มิใช่แย่งชิง อำนาจ...

หากถือว่าการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอันเท่ากับเป็นการปูทางและสร้างเงื่อนไขไปสู่การรัฐประหารเดือนกันยายน 2549

เกิด รายรับŽอันทรงค่าแต่ก็มีรายจ่ายอันมหาศาล

รายจ่าย 1 ก็อย่างที่เห็นๆ กันในการเลือกตั้งเดือนธันวาคม 2550 และในการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2554
คือ ความพ่ายแพ้ของ ประชาธิปัตย์

รายจ่าย 1 ก็เห็นได้จากการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม ถึงขั้นยึดทำเนียบ

รัฐบาล ยึดสนามบินดอนเมือง ยึดสนามบินสุวรรณภูมิ

และยุติลงโดย ตุลาการรัฐประหารŽ ในเดือนธันวาคม 2551

และเห็นได้จากความจำเป็นต้องเคลื่อนไหว ใหญ่Žโดยเชิดชัดพรรคประชาธิปัตย์ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ให้เป็น "ร่างทรง"Ž ผ่าน กปปส.

และหวังว่าจะยุติลงโดย ตุลาการรัฐประหาร ก่อนเดือนเมษายน 2557

ทั้งๆ ที่เด่นชัดยิ่งกว่า รายจ่ายŽ จากรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 ก็สูงอย่างยิ่งแล้ว เหตุใดจึงต้อง "ผลิตซ้ำŽ" อีกคำรบ 1 ในปี 2557

มิเท่ากับเอา รัฐประหาร แก้ รัฐประหารŽ หรอกหรือ
ภายหลังจากความพยายามทำรัฐประหารแล้วบังเกิดความล้มเหลวอย่างซ้ำซากในเดือนเมษายน 2524 ในเดือนกันยายน 2529
ได้นำไปสู่ความคิด มึนชาŽ ต่อการรัฐประหาร

ยิ่งในยุคเปลี่ยนผ่านจากประชาธิปไตย ครึ่งใบ..Žไปสู่ประชาธิปไตยเต็มใบในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นับแต่เดือนสิงหาคม 2531

มีความเข้าใจว่ารัฐประหารเป็นเรื่องล้าสมัย

แต่แล้วก็เกิดรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2534 อันนำไปสู่สถานการณ์นองเลือดในเดือนพฤษภาคม 2535

อันทำให้เกิดความมึนชาอีกครั้งว่า ไม่น่าจะมีรัฐประหารอีก

แต่แล้วก็เกิดการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอันเท่ากับเป็นการปูทางและสร้างเงื่อนไขไปสู่รัฐประหารเดือนกันยายน 2549

ที่คิดว่ารัฐประหาร "ล้าสมัย"Ž ถือว่าเป็นความคิดที่ผิดพลาดŽ

เพราะเป็นความคิดจากมุมของฝ่ายประชาธิปไตย มองโลกอย่างสดสวยและอย่างด้านเดียว ขณะที่ฝ่ายที่ต้องการรัฐประหารมิได้คิดในกระบวนการเดียวกัน หากคิดเพียงต้องการเอาชนะ ต้องการบดขยี้ปรปักษ์ทางการเมืองของตน

คิดแต่ด้านชัยชนะคิดแต่ด้านรายรับŽ

ต้องยอมรับว่าภายหลังการเกิดขึ้นของรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 แนวโน้มและความต้องการเห็นการรัฐประหารยังดำรงอยู่

ตราบเท่าที่ เครือข่ายรัฐประหาร 2549 ยังดำรง อยู่

ตราบเท่าที่ เครือข่ายŽ รัฐประหาร 2549 ยังมิได้กำชัยชนะ ยึดครองอำนาจรัฐได้อย่างเบ็ดเสร็จและเด็ดขาด

การเลือกตั้งเดือนธันวาคม 2550 นั่นแหละคือ หนามยอก อก

การเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2554 นั่นแหละคือ หนามยอก อก

การขับเคลื่อนขบวนการแช่แข็งประเทศอันนำโดยองค์กรพิทักษ์สยามเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 คือปฏิมา 1
ต่อเนื่องมาถึงการขับเคลื่อนอีกคำรบหนึ่งนับแต่เดือนเมษายน 2556

จากนั้นก็ค่อยก่อรูปและรวมศูนย์ผ่านการเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กปปส.ตั้งแต่เดือนสิงหาคม เรื่อยมาจนข้ามปี ชัตดาวน์กรุงเทพมหานคร ในเดือนมกราคม 2557

ความเข้มเป็นอย่างสูงสัมผัสได้ในเดือนกุมภาพันธ์ และทำท่าว่าอาจจะเผด็จศึกได้ภายในเดือนมีนาคม

ไม่ว่าโดย กองทัพไม่ว่าโดย ตุลาการ

ถามว่าความน่าสนใจของการเคลื่อนไหวจากเมื่อปี 2549 กระทั่งมาถึงปี 2557 คืออะไร

คำตอบ 1 เป็นการเคลื่อนไหวโดยฝ่ายที่ยึดครองและกุมกลไกอำนาจรัฐอยู่แล้วเพียงแต่เพลี่ยงพล้ำโดยผ่านกระบวนการเลือกตั้งในลักษณะ ชั่วคราว..

คำตอบ 1 จึงเท่ากับเป็นการทวงคืนŽมิได้เป็นการแย่งชิงŽ.

ที่มา:มติชนรายวัน

----------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

กรมศุลฯเรียก โตโยต้า แจงปม เลี่ยงภาษี หมื่นล้าน..!!

กรมศุลฯ เรียกบริษัท โตโยต้า ชี้แจงขอเก็บย้อนหลังภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ โตโยต้า พรีอุส เลี่ยงภาษีกว่า 10,000 ล้านบาท หลังตรวจสอบการนำเข้าชิ้นส่วนสำเร็จรูปตามข้อตกลงเจเทปา ไม่ได้ขออนุญาตนำเข้าอย่างเป็นทางการเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี ซ้ำรอยเก่า 5 ปีที่แล้ว โดยเรียกภาษีเพิ่ม 800 ล้านบาท
( http://www.thairath.co.th/content/eco/404785 )

นายราฆพ ศรีศุภอรรถ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมศุลกากรอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กรณีที่บริษัท โตโยต้านำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นพรีอุส (Prius) ระหว่างปี 2554-2555 เสียภาษีไม่ถูกต้องตามกฎหมายศุลกากรซึ่งมีมูลค่าที่เสียภาษีไว้ไม่ครบถ้วนถึง 10,000 ล้านบาทโดยคดีนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการอุทธรณ์ของกรมศุลกากร เนื่องจากบริษัท โตโยต้ามีข้อโต้แย้งและอ้างว่า ได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายศุลกากรแล้ว

ที่ผ่านมา กรมศุลกากรมีประเด็นที่ต้องการตรวจสอบผู้ประกอบการตลอดเวลาอยู่แล้ว เนื่องจากมีการสำแดงภาษีไม่ถูกต้องตามกฎหมายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประเด็นเหล่านี้อาจพิจารณาได้ว่า ผู้ประกอบการไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีเพราะเกิดจากความเข้าใจผิดในข้อกฎหมายจึงทำให้เสียภาษีไว้ไม่ถูกต้อง หรืออีกกรณีหนึ่งคือรู้ว่า สิ่งดำเนินการอยู่นั้นผิดแต่มีเจตนาที่จะเสียภาษีไม่ถูกต้อง เพราะต้องการหลีกเลี่ยงภาษีเพื่อทำให้ราคาสินค้าที่ผลิตหรือจำหน่ายถูกกว่าคู่แข่งหรือต้องการเพิ่มกำไรจากการดำเนินธุรกิจ”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2551 บริษัท โตโยต้า ถูกกรมศุลกากรดำเนินคดีทางภาษีมาแล้ว โดยบริษัทโตโยต้าต้องเสียภาษีเพิ่มให้แก่กรมศุลกากรเพื่อนำส่งเข้าคลังมากกว่า 800 ล้านบาท เนื่องจากในช่วงนั้น บริษัท โตโยต้า ได้แจ้งการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์จากต่างประเทศไม่ถูกต้อง โดยอ้างว่า การเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทยกับอินเดีย กรณีที่มีการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ที่ผลิตจากอินเดียจะเสียภาษีในอัตราต่ำ แต่บริษัท โตโยต้า กลับนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์จากประเทศสิงคโปร์ โดยอ้างว่า ชิ้นส่วนรถยนต์เหล่านี้มาจากอินเดีย ซึ่งมีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงภาษีอย่างชัดเจน โดยเหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้บริษัท โตโยต้า ต้องเสียภาษีและบวกเงินค่าปรับให้แก่กรมศุลกากรเป็นเงินมากกว่า 800 ล้านบาท



ส่วนกรณีล่าสุด เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.55 สำนัก งานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ได้ทำหนังสือแจ้ง บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ใบขนสินค้าเลขที่ A001 05402 07638 โดยตรวจพบผู้นำเข้าสำแดง TOYOTA CKD COMPOMENT PARTS โดยแยกสำแดงชนิดสินค้าและประเภทพิกัดขั้นตอน และใช้สิทธิยกเว้นอากรและอัตราอากรตามาตรา 12 และยกเว้นอากรและลดอัตราอากรสำหรับของที่มีถิ่นกำเนิดจากญี่ปุ่นนั้น ไม่ถูกต้อง

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่า สินค้าที่นำเข้าเป็นชิ้นส่วนรถยนต์ นำเข้าโดยแยกเป็นชิ้นส่วนต่างๆ ในลักษณะ CKD (COMPLETE KNOCK DOWN) และปริมาณสอดคล้องต้องกัน เมื่อประกอบเข้าด้วยกันแล้ว สามารถประกอบเป็นรถยนต์สำเร็จรูปได้ จำนวน 160 คัน กรณีดังกล่าว ไม่สามารถแยกชำระอากรตามรายชนิดสินค้าได้ เมื่อตรวจสอบข้อมูลในส่วนของเครื่องยนต์พบว่า รหัสของเครื่องยนต์ขึ้นต้นด้วย 2ZR นั้น เป็นรหัสเครื่องยนต์ที่มีความจุของกระบอกสูบ 1,797 ลบ.ซม.ของรถยนต์ TOYOTA รุ่น พรีอุส

ดังนั้น จึงเห็นควรให้สินค้าตามรายการดังกล่าว จัดเข้าเป็นประเภทพิกัด 8703.23.41 เสียภาษีในอัตรา 80% ในฐานะรถยนต์ที่เป็นชิ้นส่วนครบชุดสมบูรณ์ที่ความจุกระบอกสูบไม่เกิน 1,800 ลบ.ซม. ตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรข้อ 2 (ก) ประเภทที่ระบุถึงของใดให้หมายรวมถึงของนั้นที่ยังไม่สมบูรณ์ หรือยังไม่สำเร็จ หากว่า ในขณะนำเข้ามีลักษณะอันเป็นสาระสำคัญของของที่ครบสมบูรณ์หรือสำเร็จแล้ว ให้หมายรวมถึงของที่ครบสมบูรณ์หรือสำเร็จแล้ว ที่นำเข้ามาโดยถอดแยกออกจากกันหรือยังไม่ได้ประกอบเข้าด้วยกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้กรมศุลกากรได้หารือกับบริษัท โตโยต้าอย่างใกล้ชิด เพราะการแจ้งการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ของในครั้งนี้ เมื่อรวมค่าภาษีที่ขาดหายไป เช่น อากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิต ภาษีเพื่อมหาดไทย ภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว รวมเป็นเม็ดเงินที่เสียไว้ไม่ครบถ้วนสูงถึง 10,000 ล้านบาท

สำหรับการนำเข้าชิ้นส่วนของ TOYOTA รุ่น Prius ในครั้งนี้ ทางบริษัทโตโยต้า ได้ดำเนินการภายใต้ข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (เจเทปา) ซึ่งในกรณีนี้ หากนำเข้าชิ้นส่วนสำเร็จรูป (CKD) ที่สามารถนำชิ้นส่วนเข้ามาประกอบเป็นรถยนต์ได้ทั้งคันนั้น หากขออนุญาตจากกรมศุลกากรก่อนนำเข้า จะเสียภาษีในอัตราภาษีเพียง 30% ขณะที่โตโยต้านำเข้ารถรุ่น Prius โดยไม่ได้ขออนุญาตทำให้ต้องถูกเรียกเก็บภาษีในอัตรา 80%

ที่มา.พระนครสาส์น
-------------------------------------

อย่าให้ สงครามกลางเมือง : กลายเป็นคำขู่ให้เรายอมจำนน !!

โดย.ใจ อึ๊งภากรณ์

ช่วงนี้นักวิชาการ แกนนำเอ็นจีโอ และผู้ที่มองตัวเองว่าเป็นหลักผู้ใหญ่หรือคนดีในสังคม ต่างประโคมภัยของ “สงครามกลางเมือง” แล้วนำความชอบธรรมจอมปลอมใส่ตัวเอง เพื่อเสนอให้ทั้งสองฝ่ายหันหน้าเข้าหากันและประนีประนอม บางคนเสนอว่าควรมี “นายกรัฐมนตรีคนกลาง” บางคนเสนอให้มี “รัฐบาลผสม” ที่ประกอบไปด้วยฝ่ายสุเทพและเพื่อไทย บางคนบอกว่าต้องมีรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเพื่อให้สถานการณ์สงบลง และทุกคนพูดว่าต้องมี “การปฏิรูปการเมือง” โดยไม่พูดถึงการปฏิรูปที่จะขยายพื้นที่ประชาธิปไตยแต่อย่างใด เพราะมุ่งไปที่การกำจัดตระกูลเดียวในการเมืองไทย

ถ้าจะหา “นายกรัฐมนตรีคนกลาง” มาบริหารประเทศ คงต้องไปหาลาโง่จากคอกสัตว์มาดำรงตำแหน่ง เพราะ “คนกลาง” คงต้องเป็นคนที่ไม่เข้าข้างประชาธิปไตยหรือเผด็จการ ไม่เลือกฝ่ายเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ หรือทหาร และไม่มีความคิดทางการเมืองเลย หรือถ้าไม่นำลาโง่มานั่งเก้าอี้นายก ก็คงต้องเอาคนจอมโกหกที่บอกว่าตนเอง “เป็นกลาง” แต่เอียงเข้าข้างฝ่ายเผด็จการจนเกือบตกเก้าอี้ ตัวอย่างที่ดีคือพวกตุลาการ

คนที่เสนอรัฐบาลผสม ยกตัวอย่างประเทศเยอรมัน ที่มีรัฐบาลผสมระหว่างพรรคนายทุนกับพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย แต่ผู้เสนอละเว้นที่จะบอกว่าสถานการณ์ดังกล่าวเกิดจากการที่ไม่มีพรรคไหนได้เสียงข้างมากในสภา ซึ่งไม่ตรงกับกรณีไทยแต่อย่างใด รัฐบาลผสมในเยอรมันนำความหายนะมาสู่การเมืองของพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยด้วย เพราะพรรคนี้ถูกลากไปสนับสนุนนโยบายฝ่ายขวา และเสี่ยงกับการเสียคะแนนเสียงในอนาคต จริงๆ ตัวอย่างจากเยอรมันที่มาจากข้ออ้างในการ “แก้วิกฤต” มีดีกว่านั้นคือ ในปี 1933 ประธานาธิบดี ฮินเดนเบอร์ค แต่งตั้งผู้นำจากพรรคที่ได้คะแนนเสียงส่วนน้อย ให้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นประชาธิปไตยเยอรมันก็ดับหายไปเพราะนายกรัฐมนตรีคนนั้นชื่อ ฮิตเลลอร์

ส่วนการเสนอว่านายกรัฐมนตรีไทยไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง “เพื่อแก้วิกฤต” เป็นข้ออ้างของการเข้ามาของเผด็จการทหารและเผด็จการฟาสซิสต์ทั่วโลก

เวลาพวกนักวิชาการ แกนนำเอ็นจีโอ และผู้หลักผู้ใหญ่คนดีในสังคม เสนอให้ปฏิรูปการเมือง เราต้องอ่านตัวหนังสือตัวเล็กๆ ที่ตามมา ที่เขาไม่อยากให้เราพิจารณา เพราะจะมีแต่มาตรการเพื่อลดเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ และเพิ่มสิทธิพิเศษของพวกมันเองและชนชั้นกลางฟาสซิสต์ เพื่อกำจัดอิทธิพลของทักษิณเท่านั้น ไม่มีอะไรอีก ไม่มีการเสนอการเก็บภาษีจากคนรวยเพื่อสร้างรัฐสวัสดิการ ไม่มีการเสนอให้ยกเลิก 112 ไม่มีการเสนอให้ปล่อยนักโทษการเมือง ไม่มีการเสนอให้ปลดตุลาการลำเอียงและยกเลิกองค์กรที่ “อิสระ” จากประชาธิปไตย ไม่มีข้อเสนออะไรทั้งสิ้นให้ลดบทบาททหารในการเมืองและสังคม และไม่มีข้อเสนอเพื่อสร้างมาตรฐานสิทธิมนุษยชน โดยนำทหารและนักการเมืองที่ฆ่าประชาชนมาขึ้นศาล

สรุปแล้วพวกนี้ล้วนแต่เป็นคนโกหกตอแหล ที่สร้างภาพว่า “เป็นห่วงประเทศไทย” แต่ความจริงมันตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง

ประเด็นที่เราต้องนำมาอุดปากพวกนี้คือ ถ้าเกิดสงครามกลางเมืองในไทย พวกเขานั้นเอง พวกนักวิชาการ แกนนำเอ็นจีโอ และผู้ที่หลักผู้ใหญ่คนดีในสังคม รวมถึงชนชั้นกลางรักเผด็จการ เป็นผู้สร้างเงื่อนไข ปลุกระดม ถือหาง และก่อกองไฟสนับสนุนให้เกิดสงครามกลางเมืองแต่แรกเพราะอะไร?

เมื่อมีการก่อตัวของกลุ่มพันธมิตรฟาสซิสต์ ก่อนรัฐประหารปี 2549 พวกเขาไปร่วมชุมนุมและขึ้นเวทีพันธมิตรฯ และมักจะสร้างความชอบธรรมกับตนเองโดยการวิจารณ์ “การซื้อเสียงของทักษิณ” และการด่านโยบาย “ประชานิยม” ที่ช่วยคนจนว่าเป็นเรื่องที่จะทำให้ “บ้านเมืองพัง” และที่แย่ที่สุดคือเขาเหล่านั้นพูดเป็นประจำว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศที่เลือกไทยรักไทย เป็นคนที่ขาดการศึกษา “เข้าไม่ถึงข้อมูล” และโง่ ประชาชนจึงไม่มีวุฒิภาวะพอที่จะมีสิทธิ์ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง สำหรับพวกเอ็นจีโอที่มีความคิดแบบนี้ มันตลกร้ายยิ่งนัก เพราะพวกนี้เคยท่องคำขวัญ “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” แต่ตอนนั้นหันขวาท่องคำขวัญขอรัฐบาลพระราชทานแทน

เราไม่ควรลืมว่าพวกนี้เกือบทั้งหมด เคยหลงใหลเชียร์ทักษิณ ในขณะที่ชาวสังคมนิยมเตือนตลอดว่าพรรคไทยรักไทยเป็นพรรคของนายทุนใหญ่เพื่อประโยชน์นายทุน

ถ้าพูดถึง เอ็นจีโอ อีกเรื่องที่ต้องเข้าใจคือ แกนนำส่วนใหญ่เคยเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์สาย “สตาลินเหมา” ที่ไม่เคยมีอุดมการณ์ประชาธิปไตย

ในขณะที่พวกนั้นยกเรื่องการซื้อเสียงมาพูด ไม่มีใครยอมรับว่านโยบายรูปธรรมของไทยรักไทยมีผลในการลดการซื้อเสียง ซึ่งต่างจากพรรคที่ไม่มีนโยบายเลย เช่นประชาธิปัตย์ ในขณะที่เขาวิจารณ์นโยบายที่ช่วยคนจน ไม่มีใครพูดถึงการใช้เงินรัฐมหาศาลที่มาจากภาษีประชาชน เพื่ออุดหนุนทหาร ในขณะที่เขาพูดถึงการโกงกิน ก็พูดด้านเดียวเสมอ เงียบเฉยกับการคอร์รับชั่นของนักการเมืองทุกฝ่าย และของทหาร

พวกนั้นมีการโกหกว่ารัฐบาลไทยรักไทยใช้ “นโยบายเศรษฐกิจทักษิณ” (Taksinomics) ทั้งๆ ที่ไทยรักไทยใช้นโยบายคู่ขนาน คือแนวกลไกตลาดเสรี บวกกับเศรษฐกิจแนว “เคนส์” รากหญ้า การพูดแบบนี้ก็เพื่อสร้างภาพว่าไทยรักไทยเป็น “กรณีเลวร้ายพิเศษ”

พวกนั้นมีการโกหกว่าการที่พรรคหนึ่งมีเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภา ซึ่งเป็นเรื่องปกติในประชาธิปไตยสากล เป็น “เผด็จการรัฐสภา” เพื่อปูทางไปสู่รัฐประหาร เหมือนกับว่ามันไม่ใช่เผด็จการ หรือเป็นการ “กำจัดเผด็จการ”

ตลอดเวลาที่มีการวิจารณ์ทักษิณในหมู่เสื้อเหลือง ไม่มีใครวิจารณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเลวร้ายของทักษิณในสงครามยาเสพติด และที่ตากใบ พวกนักวิชาการ แกนนำเอ็นจีโอ และผู้หลักผู้ใหญ่คนดี ไม่ได้สนใจสิทธิมนุษยชน และไม่มีวันสนับสนุนเสรีภาพของชาวมาเลย์มุสลิมเลย

เมื่อมีการก่อรัฐประหาร 19 กันยา ซึ่งเป็นอาชญากรรมทางการเมืองอันเลวร้าย พวกนักวิชาการ แกนนำเอ็นจีโอ และผู้หลักผู้ใหญ่คนดีเหล่านี้ก็ออกมาสนับสนุน บางคนเต้นไปเต้นมาด้วยความดีใจ บางคนเข้าไปร่วมในรัฐบาลเผด็จการ หรือร่วมในสภาที่ทหารแต่งตั้ง บางคนสงวนท่าทีโดยการบอกว่ากึ่งสนับสนุนรัฐประหาร และส่วนใหญ่ก็ไปร่วมมือในการร่างรัฐธรรมนูญทหาร ซึ่งร่างขึ้นหลังจากที่เผด็จการฉีกรัฐธรรมนูญปี 40 ทิ้ง

ในปลายปี 2551 เมื่อมีการปิดสนามบินและใช้ตุลาการอนุรักษ์นิยม เพื่อล้มรัฐบาลพรรคพลังประชาชนที่ชนะการเลือกตั้ง พวกนักวิชาการ แกนนำเอ็นจีโอ และผู้หลักผู้ใหญ่คนดี ก็ไปร่วมกับพันธมิตรฯ หรือไม่ก็เงียบเฉย ปล่อยให้อันธพาลครองเมืองแล้วลอยนวล

เมื่อมีการแต่งตั้งรัฐบาลเผด็จการของประชาธิปัตย์ในค่ายทหาร พวกเขาก็เงียบหรือให้การสนับสนุนโดยโกหกว่า “เป็นไปตามกระบวนการกฏหมาย”

เมื่อมีการเรียกร้องโดยคนเสื้อแดง ให้ยุบสภาและจัดการเลือกตั้ง พวกนักวิชาการ แกนนำเอ็นจีโอ และผู้ใหญ่คนดี มองว่ามันเป็นการประท้วงที่ใช้ความรุนแรงและขาดความชอบธรรม

ดังนั้นเมื่อทหารและพรรคประชาธิปัตย์เข่นฆ่าคนเสื้อแดงที่ปราศจากอาวุธ พวกนักวิชาการ แกนนำเอ็นจีโอ และผู้ใหญ่ตอแหล ก็ออกมาเตือนว่าคนเสื้อแดงควรหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง แต่เงียบเฉยกับความรุนแรงของทหารและรัฐบาลทหารประชาธิปัตย์ ไม่มีใครสักคนเสนอว่าต้องนำฆาตกรมาขึ้นศาล ไม่มีใครสักคนเสนอว่ารัฐบาลควรตัดสินใจสนับสนุนให้ศาลอาญาระหว่างประเทศ เข้ามาใช้อำนาจในไทยกับอาชญากรรัฐ

เมื่อมีการใช้กฏหมาย112 เพื่อกลั่นแกล้ง และจำคุกคนที่คัดค้านเผด็จการ พวกนี้ก็เงียบเฉย ไม่เคยมองว่าเป็นปัญหา มีแต่นักวิชาการก้าวหน้า เช่นคณะนิติราษฏร์ที่พูดถึงเรื่องนี้ และเมื่อคณะนิติราษฏร์มีข้อเสนอให้ล้มล้างผลพวงจากรัฐประหาร 19 กันยา พวกนักวิชาการ แกนนำเอ็นจีโอ และผู้ใหญ่คนดีตอแหล ก็ไม่เอาด้วย

เมื่อตุลาการรัฐธรรมนูญปกป้องระบบการแต่งตั้ง สว. และใช้อำนาจเหนือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยคิดว่าตนมีสิทธิ์ออกนโยบายเศรษฐกิจ มีน้อยคนนักในกลุ่ม พวกนักวิชาการ แกนนำเอ็นจีโอ และผู้ใหญ่คนดีตอแหล ที่ออกมาวิจารณ์และเสนอให้ยุบตุลาการรัฐธรรมนูญ

เมื่อม็อบสุเทพใช้ความรุนแรงเพื่อล้มการเลือกตั้งและข่มขู่ประชาชนที่อยากใช้สิทธิ์ พวกนักวิชาการ แกนนำเอ็นจีโอ และผู้ใหญ่คนดีตอแหล บางคนออกมาพูดว่า “ไม่ชอบ” แต่ในขณะเดียวกัน ไม่เคยออกมาประกาศว่าม็อบสุเทพทำผิดและควรถูกลงโทษ ไม่เคยยืนขึ้นเหมือนคนเสื้อขาว และประกาศว่าต้องมีการเคารพเสียงของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน มีแต่การถือหางให้กับแนวคิดของม็อบสุเทพ

เมื่อ กกต. ขยันในการพยายามล้มการเลือกตั้ง ทำงานคู่ขนานกับม็อบสุเทพ พวกนักวิชาการ แกนนำเอ็นจีโอ และผู้ใหญ่คนดีตอแหล เงียบเฉย แต่หลังจากนั้นมีการเตือนภัยว่ากำลังจะเกิด “สงครามกลางเมือง” แล้วเสนอให้ทั้งสองฝ่ายหันหน้าเข้าหากันและประนีประนอม มีการเสนอว่าควรมี “นายกรัฐมนตรีคนกลาง” มีการเสนอให้มี “รัฐบาลผสม” ที่ประกอบไปด้วยฝ่ายสุเทพและเพื่อไทย มีการเสนอว่าต้องมีรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเพื่อให้สถานการณ์สงบลง

สรุปแล้วพวกนักวิชาการ แกนนำเอ็นจีโอ และผู้ใหญ่คนดีนี้ เป็นผู้สร้างสถานการณ์ความรุนแรงมาตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร 19 กันยาเรื่อยมา เขาช่วยสร้างเงื่อนไขของสงครามกลางเมือง เสร็จแล้วหันมาบอกเราว่า “ไม่มีทางเลือก” และเรา“ต้อง”ยอมรับการประนีประนอมกับฝ่ายที่อยากทำลายประชาธิปไตย ซึ่งในรูปธรรมหมายถึงการลดพื้นที่ประชาธิปไตย

ถือว่าเป็นการ “แบล็คเมล์” ประชาชนอย่างไม่รู้จักอาย ถึงเวลาที่พวก นักวิชาการ แกนนำเอ็นจีโอ และผู้ใหญ่คนดี ต้องหัดรับผิดชอบกับความหายนะที่เขานำมาสู่พื้นที่ประชาธิปไตยไทย แต่ผมจะไม่ตั้งความหวังอะไรกับพวกนี้

ที่มา.ประชาไท
-----------------------------------

สื่อนอกชี้ รบ.ใกล้หมดหนทางจัดการ ม็อบ หลังคำสั่งศาลแพ่ง..!!

วอชิงตันโพสต์ และเว็บไซต์ข่าวต่างประเทศหลายแห่ง  เสนอข่าวที่รายงานโดยสำนักข่าวเอพีในหัวข้อ  "ศาลไทยสั่งห้ามใช้ความรุนแรงกับผู้ชมนุม"  (  Thai court bans use of violence against protesters) เมื่อวันที่ 19 ก.พ.ว่า  ศาลได้สั่งห้ามรัฐบาลใช้กำลังต่อผู้ชุมนุมขับไล่นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  1 วันหลังจากเกิดการปะทะระหว่างตำรวจกับผู้ชุมนุม ทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 คน และบาดเจ็บจำนวนมาก

คำสั่งศาล ทำให้นายกฯยิ่งลักษณ์ที่อยู่ในความยุ่งยากอยู่แล้ว เหลือทางเลือกน้อยลงในการจัดการกับม็อบ ที่ปักหลักประท้วงอยู่บนถนนหลักกลางเมืองหลวงเสมือนไม่เป็นความผิด  เพื่อกดดันให้นายกฯลาออก
   
เอพีระบุว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังอาจถูกถอดถอนจากการดำเนินการโดยป.ป.ช. ในความผิดจากโครงการจำนำข้าว และในวันที่ 19 ก.พ.ผู้ชุมนุมได้ล่อมสำนักปลัดกลาโหม อันเป็นสำนักงานชั่วคราวของนายกฯ เรียกร้องให้ทหารห้ามนายกฯใช้สถานที่่แห่งนี้ หลังจากที่ทำเนียบรัฐบาล ถูกปิดกั้นโดยม็อบและมีการเทปูนปิดประตูทำเนียบไว้ด้วย
   
ศาลแพ่ง ยังสั่งด้วยว่า คำสั่งของศรส. ภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นั้นขัดต่อกฏหมาย เพราะกระทบต่อสิทธิตามรัฐธรรมนูญของผู้ชุมนุม อาทิ การห้ามขุมนุมเกิน 5 คน การเข้าไปในสถานที่บางแห่ง การห้ามเข้าไปในถนนบางสาย และยังห้ามใช้กำลังอีกด้วย
     
อย่างไรก็ตาม ศาลได้ยกคำร้องของฝ่่ายผู้ชุมนุม ที่ให้ยกเลิกประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยระบุว่า เป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร
   
ครม.ยิ่งลักษณ์์ได้ประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา หลังจากผู้ชุมนุมขู่ปิดกรุงเทพด้วยปิดทางแยกหลัก และยึดทำเนียบ
   
รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในชนบททางเหนือของประเทศ ได้หลีกเลี่ยงที่จะใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม  เพื่อป้องกันมิให้กองทัพเข้าแทรกแซง ประเทศไทยได้รับความเสียหาย จากความไม่สงบทางการเมืองนับจากปี  2549  เมื่อกองทัพทำรัฐประหารขับไล่รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษฺิณ พี่ชายของน.ส.ยิ่งลักษณ์ หลังจากกล่าวหาว่าทุจริตและใช้อำนาจโดยมิชอบ

ที่มา.มติชนออนไลน์
------------------------------------------

วันอังคารที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

กบฏกระฎุมพี

โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

ในทางการเมือง กระฎุมพีอาจเคยต่อสู้กับเผด็จการทหารมาแล้ว ทั้งใน 14 ตุลาและพฤษภามหาโหด แต่เผด็จการทหารที่กระฎุมพีไทยรับไม่ได้ คือเผด็จการทหารแบบอำนาจเบ็ดเสร็จอย่างระบอบสฤษดิ์ หรือความพยายามจะรื้อฟื้นระบอบนั้นกลับคืนมาใหม่ของ รสช. เพราะเผด็จการแบบนั้นไม่เอื้อต่อการเติบโตอย่างอิสระของกระฎุมพี ไม่ว่าในทางเศรษฐกิจ, วัฒนธรรม หรือการเมือง แต่กระฎุมพีไทยไม่รังเกียจระบอบปกครองที่อยู่ภายใต้การชี้นำและกำกับของทหาร ในทรรศนะของพวกเขา ระบอบนี้เท่านั้นที่จะดำรงรักษาระเบียบสังคมที่เอื้อต่อความเจริญก้าวหน้าของพวกเขา เพราะเป็นระบอบที่เปิดให้

ปัจเจกบุคคลมีเสรีภาพได้มาก ตราบเท่าที่ไม่ใช้เสรีภาพไปบั่นรอนโครงสร้างอำนาจและผลประโยชน์ของสังคม ทุกคนมีตำแหน่งแหล่งที่ของตนเอง และตำแหน่งแหล่งที่ของกระฎุมพี ก็หาใช่ตำแหน่งแหล่งที่อันต้อยต่ำแต่อย่างใด ทั้งยังสามารถเขยิบขึ้นได้อีกด้วย (หากใช้เส้นสายให้เป็นและถูก) คนอย่างทักษิณ ชินวัตร นั่นแหละคือวีรบุรุษ "อัศวินคลื่นลูกที่สาม" ของพวกเขา เพราะใช้เส้นสายเป็นและถูกจนเขยิบขึ้นมาเป็นอภิมหาเศรษฐี

กระฎุมพีไทยคือผู้ต้องการรักษาสถานะเดิม(status quo) ซึ่งทำให้เขาได้เปรียบ จึงพร้อมจะต่อสู้อย่างไม่คิดชีวิตและกฎกติกาใดๆ เพื่อรักษาสถานะเดิมไว้

ในคำว่าสถานะเดิมนี้ หมายถึงระเบียบสังคมประเภทใด สรุปให้เหลือสั้นๆ คือความลดหลั่นเป็นช่วงชั้นของสังคมนั่นเอง คนมีสถานะที่สูงต่ำโดยกำเนิด โดยการศึกษา และที่สำคัญที่สุดคือโดยทรัพย์สมบัติ เพราะทรัพย์สมบัติคือตัวกลางความสัมพันธ์ทางสังคมที่สำคัญที่สุดที่กระฎุมพีรู้จักและคุ้นเคย

และด้วยเหตุดังนั้นกระฎุมพีไทยจึงมีความผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์สูง(ส่วนจะจงรักภักดีหรือไม่เป็นคนละเรื่อง) เราต้องไม่ลืมว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยมีบทบาทและอิทธิพลสูงมากขึ้น อย่างรวดเร็วหลังการรัฐประหารใน พ.ศ.2500 เป็นต้นมา (ไม่เฉพาะในทางการเมืองเท่านั้น แต่รวมถึงด้านวัฒนธรรม, สังคม และเศรษฐกิจด้วย) อันเป็นช่วงที่กระฎุมพีขยายตัวอย่างรวดเร็ว ผมคิดว่าคนไทยที่เกิดก่อน 2500 และหลัง 2500 มีญาณทัศน์ (perception) ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ต่างกันอย่างมาก

สถาบันพระมหากษัตริย์จึงเป็นสัญลักษณ์ที่ชัดเจนที่สุดของระเบียบสังคมหรือสถานะเดิมที่กระฎุมพีไทยส่วนใหญ่ต้องการเหนี่ยวรั้งไว้ให้ดำรงอยู่สืบไป

นับตั้งแต่ 14 ตุลาเป็นต้นมา กระฎุมพีมีอำนาจต่อรองทางการเมืองสูงขึ้นอย่างชัดเจน เพราะกระฎุมพีคือลูกค้าของสื่อหลักแบบเดิม (หนังสือพิมพ์กระดาษ, ทีวีเสาอากาศ, วิทยุเสาอากาศ) กระจุกตัวในพื้นที่แคบๆ คือเมือง จึงอาจถูกกระตุ้นให้รวมตัวกันแสดงพลังต่อรองทางการเมืองได้ง่ายและเร็ว เมื่อดึงความร่วมมือจากกลุ่มอื่นในเขตเมืองด้วยกันมาได้ เช่น ธุรกิจอุตสาหกรรม, สื่อ, นักวิชาการ และปัญญาชน ก็อาจกำหนดวิถีทางการเมืองและนโยบายสาธารณะได้เกือบเด็ดขาด

น่าสังเกตด้วยว่า การเลือกตั้งหรือการรณรงค์เพื่อสนับสนุนนโยบายสาธารณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่เคยเป็นเครื่องมือสำคัญทางการเมืองของกระฎุมพี (ก่อน 2540 สถิติผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของกรุงเทพฯ มักต่ำกว่าจังหวัดอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด)

การเป็นคนฉลาดจำนวนน้อยที่คอยดูแลปกครองคนโง่จำนวนมาก จึงรู้สึกเป็นภาระหน้าที่ของกระฎุมพี และเป็นความมีระเบียบของสังคมไปพร้อมกัน (นายกรัฐมนตรีที่ได้รับการแต่งตั้งหลัง 6 ตุลา คิดว่าเพลโตคือผู้วางรากฐานประชาธิปไตย สะท้อนว่า "ประชาธิปไตย" ในทรรศนะของกระฎุมพีคือระบอบปกครองของคนฉลาด โดยคนฉลาด เพื่อประชาชน)

ผมควรกล่าวด้วยว่า ทัศนคติของกระฎุมพีเช่นนี้ไม่ได้เกิดกับกระฎุมพีไทยเพียงฝ่ายเดียว แต่เคยเกิดแก่กระฎุมพีอังกฤษ, ฝรั่งเศส, สหรัฐ, ฯลฯ มาแล้ว เดอ ต๊อคเคอวิลล์ ผู้ให้อรรถาธิบายแก่ประชาธิปไตยอเมริกันที่ดีที่สุดคนหนึ่ง เคยแสดงความวิตกว่า เมื่อประชาธิปไตยอเมริกันซึ่งมีแนวโน้มพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยมวลชนมากขึ้น ข้อดีและพลังของประชาธิปไตยอเมริกันที่เขาชื่นชมก็จะเสื่อมลงไป แต่ในยุโรปตะวันตกและสหรัฐ กระฎุมพีสามารถก้าวข้ามปรัชญา "คนไม่เท่ากัน" ไปได้ เพราะมีปัจจัยอื่นๆ ช่วยสนับสนุน ผมอยากพูดถึงปัจจัยเหล่านี้ในเมืองไทย

หลายคนมักนึกถึงเศรษฐกิจที่พัฒนาได้ทั่วถึงจนฐานะทางเศรษฐกิจของคนส่วนใหญ่ดีขึ้นแต่ความจริงแล้วนี่คือสิ่งที่เกิดในเมืองไทยเวลานี้ซึ่งกลับทำให้เกิดความแตกแยกทางการเมืองมากขึ้น ผลจากการพัฒนาเศรษฐกิจสืบเนื่องมาหลายปี ทำให้คนจำนวนมากต้องเข้าสู่ตลาดอย่างเต็มตัวมากขึ้นแม้อย่างเสียเปรียบ แต่ก็ทำให้รายได้ของเขาเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การเข้าสู่ตลาดบังคับให้เขาต้องเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรง เพราะนโยบายสาธารณะของรัฐกระทบชีวิตของเขา

ตรงกันข้ามกับที่เห็นในเมืองไทย ประชาธิปไตยอังกฤษและฝรั่งเศสขยายตัวไปสู่การมีส่วนร่วมของประชาชนวงกว้างขึ้น (แม้ไม่ใช่ผ่านสิทธิเลือกตั้ง) ในขณะที่สังคมอังกฤษและฝรั่งเศสยังมีความข้นแค้น (pauperism) อยู่ดาษดื่นด้วยซ้ำ การต่อสู้เพื่อล้มเลิกกฎหมาย The Poor Law และ Corn Law ในอังกฤษนั้น แม้มีกระฎุมพีเป็นผู้นำ (เพราะกฎหมายเหล่านี้กีดกันมิให้แรงงานกลายเป็นสินค้าเต็มตัว จึงขัดขวางความก้าวหน้าของทุนนิยม) แต่ก็มีคนจนและคนข้นแค้นจำนวนมากหนุนช่วยอยู่เบื้องหลัง ทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา (เช่นก่อจลาจลด้วยความหิวอยู่บ่อยๆ)

เหตุใดในที่สุดแล้วกระฎุมพีอังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐจึงยอมรับความเสมอภาคทางการเมืองของเพื่อนๆ โอลิเวอร์ ทวิสต์, พวก sans coulotte, และ hilly-billy ในเคนตักกี้ ปัจจัยทางเศรษฐกิจก็มีความสำคัญ แต่ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญเด็ดขาดเพียงปัจจัยเดียวอย่างแน่นอน

ผมอยากให้คำตอบโดยสรุปแก่คำถามข้างต้นว่าปัจจัยสำคัญที่สุดนั้นอยู่ที่สองด้านหนึ่งคือการลดความแปลกแยกของกระฎุมพีกับสังคมลง และอีกด้านหนึ่งคือการยอมให้ชนชั้นล่างได้เคลื่อนไหวเพื่อต่อรองทางการเมืองได้

การขยายการศึกษาคงมีส่วนสำคัญในการลดความแปลกแยกทางสังคมของกระฎุมพีลูกหลานของชนชั้นล่างได้เรียนหนังสือที่มีคุณภาพไม่ด้อยกว่ากันจนจำนวนไม่น้อยมีโอกาสได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยระดับสูง กระฎุมพีและคนอื่นสามารถพูดภาษาเดียวกันได้ ในเมืองไทยแม้มีการขยายการศึกษาตลอดมา แต่เรามักเอาเป้าหมายทางเศรษฐกิจเป็นตัวนำ เช่นผลิตแรงงานฝีมือเพิ่มขึ้น จึงแยกการศึกษาระหว่างลูกหลานกระฎุมพีไว้ในโรงเรียนดังเพื่อเตรียมนักบริหาร ส่วนคนอื่นเรียนในโรงเรียนทั่วไปซึ่งด้อยคุณภาพกว่ากันมาก ถูกเตรียมเพื่อเป็นแค่แรงงานฝีมือ กระฎุมพีไทยจึงยังแปลกแยกจากสังคมเหมือนเดิม

การศึกษากำหนดประสบการณ์ของกระฎุมพีให้ต้องมีวิถีชีวิตที่แปลกแยกต่อไปเพราะแทบไม่ได้สัมพันธ์กับคนต่างสถานภาพอื่นอีกนอกจากในฐานะนาย-บ่าว คำพูดของปัญญาชนกระฎุมพีคนหนึ่งที่ว่า คนอีสานเป็นได้แค่เด็กปั๊มและคนรับใช้สะท้อนประสบการณ์แห่งความแปลกแยกทางสังคมที่ชัดเจนที่สุด

นอกจากวิถีชีวิตแล้วอุดมการณ์ชีวิตในวัฒนธรรมไทยก็ไม่ส่งเสริมสำนึกความเสมอภาคมากนัก เช่นพุทธศาสนาที่ถูกปฏิรูปในสมัย ร.5 เป็นต้นมา เน้นหลักบุญทำกรรมแต่งซึ่งทำให้ต้องยอมรับความไม่เสมอภาคของบารมีหรือความดีที่ได้สั่งสมมาในอดีตชาติของแต่ละคนในขณะที่หลักของพุทธศาสนาที่เน้นศักยภาพของมนุษย์ทุกคนซึ่งสามารถเข้าถึงสิ่งสูงสุดในชีวิตได้เหมือนกัน ไม่เคยถูกเน้นเลยจนถึงคำสอนของท่านพุทธทาส

อาจเป็นเพราะความแปลกแยกดังกล่าวนี้ ทำให้กระฎุมพีไทยไม่เป็นปราการให้แก่สิทธิการเคลื่อนไหวต่อรองของชนชั้นล่าง รัฐทุนนิยมไทยใช้กำลังและมาตรการนอกกฎหมายนานาชนิดในการปราบปรามการเคลื่อนไหวเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นกรรมกรในโรงงานอุตสาหกรรม ชาวบ้านที่ต่อต้านทุนในการแย่งยื้อทรัพยากร หรือทำลายทรัพยากรท้องถิ่น เกษตรกรที่เรียกร้องราคาผลผลิตที่เป็นธรรม ฯลฯ ในขณะที่กระฎุมพีไทย ไม่รู้สึกหวงแหนสิทธิเสรีภาพของชนชั้นล่างเหล่านั้น ตรงกันข้ามเสียอีก กระฎุมพีไทยอาจรู้สึกปลอดภัยมากขึ้นที่มีรัฐคอยรักษาระเบียบสังคมของความไม่เท่าเทียมหรือสถานะเดิมไว้ให้อย่างเข้มแข็ง

และแล้ววันหนึ่งโลกทรรศน์และจินตนาการทางการเมืองเช่นนี้ก็เป็นไปไม่ได้ในสังคมไทยอีกต่อไปเพราะความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-สังคมที่เกิดขึ้น โลกที่ปลอดภัยมั่นคงของกระฎุมพีกำลังสลายลงต่อหน้า จะหยุดยั้งความแปรเปลี่ยนของระเบียบสังคมที่กระฎุมพีไทยคุ้นเคยได้อย่างไร ดูจะไม่มีวิธีอื่นเลยนอกจากสองทาง หนึ่งคือปรับตัวเองให้เข้ากับระเบียบสังคมใหม่ที่ต้องยอมเปิดพื้นที่ให้แก่คนแปลกหน้าจำนวนมากเข้ามาต่อรองอย่างเท่าเทียมกัน(ซึ่งผมก็ยอมรับว่าประสบการณ์และทักษะของกระฎุมพีไทยในด้านนี้มีไม่มากนัก ทั้งๆ ที่กระฎุมพีมี "ทุน" ทางการเมือง, เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมสูงกว่าคู่แข่งมาก) หรือสองคือหยุดยั้งความแปรเปลี่ยนของระเบียบสังคมนี้ทุกวิถีทาง

น่าเศร้าที่กระฎุมพีไทยเลือกหนทางที่สองและนี่คือที่มาของกบฏกระฎุมพีที่เรากำลังเผชิญอยู่

ที่มา.มติชน
--------------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ตะลึง..ประธานต้านคอรัปชั่น จ่อ โกง ซะเอง !!?


ตะลึง “บริษัท”ประธานต้านคอรัปชั่น จ่อ “โกง”ซะเอง! เอกสารศุลากรมัด “โตโยต้าไทย”ที่ “ประมนต์ สุธีวงศ์”เป็นประธาน ส่อเลี่ยงภาษีนำเข้ารถยนต์พรีอุส 1.1หมื่นล้าน!!
 เอกสารศุลากรมัด โตโยต้าไทย ที่  ประมนต์ สุธีวงศ์เป็นประธาน ส่อเลี่ยงภาษีนำเข้ารถยนต์พรีอุส 1.1หมื่นล้าน

สังคมไทย อยู่ยากขึ้นทุกวัน … บางคน รู้หน้า ก็...ไม่รู้ใจ บางคน ข้างนอกสุกใน แต่ ข้างในกลับเป็นโพรง ซ้ำร้าย บางคน ป่าวประกาศว่า ต่อต้านกระบวนการโกง บางครั้งบางที ตัวตน ที่แท้จริงอาจจะ สวนทาง กับ ภาพภายนอก ชนิด หน้ามือกับหลังเท้า ก็เป็นได้

ทีมงาน ได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอบการรถยนต์จำนวนมากมาระยะหนึ่งว่า ผู้ประกอบการรถยนต์รายใหญ่บางรายได้ ดำเนินการทางธุรกิจด้วยการเอาเปรียบสังคมและประชาชนอย่างรุนแรง ด้วยการพยายามที่จะหลบเลี่ยงการจะต้องเสียภาษีบางประเภทในอัตราที่ถูกต้องตามกฎหมาย ในการประกอบธุรกิจเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของบริษัทของตัวเอง จึงได้พยายามตรวจสอบอย่างหนักตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

ล่าสุดตรวจสอบพบว่า สำนักงานศุลากรท่าเรือแหลมฉบัง ได้ดำเนินการตรวจสอบและสอบสวน กรณี บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด” นำเข้าชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ TOYOTA รุ่น Prius จำนวนมากจากการนำเข้าสินค้าต่างล็อต-ต่างครั้ง ซึ่งพบว่ามีปริมาณและส่วนส่วน ที่นำมาประกอบเข้ากันเป็นรถยนต์สำเร็จรูปได้จำนวนมาก โดยในการนำเข้านั้นเป็นการแยกสำแดงชนิดสินค้าและประเภทพิกัดตามของนั้นๆและใช้สิทธิยกเว้นอากรและลดอัตราอากรตามมาตรา 12 และยกเว้นอากรและลดอัตราอากรสำหรับของที่มีถิ่นกำเนิดจากญี่ปุ่นนั้นไม่ถูกต้อง

โดยพบว่า ในช่วงเดือนมิถุนายน 2555 “ฝ่ายปฏิบัติการตรวจสอบ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแฉลมฉบัง” ได้ตรวจสอบพบความผิดปกติดังกล่าวและได้จัดทำ “ใบทักท้วงการตรวจสอบอากร” ระบุว่า สินค้าที่นำเข้าโดย “บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด” ซึ่งเป็นชิ้นส่วนรถยนต์นำเข้าโดยแยกเป็นสิ้นส่วนต่างๆ ในลักษณะ CKD (COMPLETE KNOCK DOWN) และมีปริมาณสอดคล้องต้องกัน เพื่อประกอบเข้าด้วยกันแล้วสามารถประกอบเป็นรถยนต์สำเร็จรูปได้เป็นจำนวนมาก โดยกรณีดังกล่าวไม่สามารถแยกชำระอากรตามรายชนิดสินค้าได้ เมื่อตรวจสอบข้อมูลในส่วนของเครื่องยนต์พบว่ารหัสเครื่องยนต์ขึ้นต้นด้วย 2ZR นั้นเป็นรหัสเครื่องยนต์ที่มีความจุของกระบอกสูบ 1,797 ลบ.ซม. ของรถยนต์ TOYOTA รุ่น Prius ดังนั้น จึงเห็นควรให้สินค้าตั้งแต่รายการที่ ( …เลขที่รายการสินค้า… ) จัดเข้า
ประเภทพิกัด 8703.23.41 อัตรา 80% ในฐานะรถยนต์ ที่เป็นชิ้นส่วนครบชุดสมบูรณ์ที่ความจุของกระบอกสูบไม่เกิน 1,800 ลบ.ซม. ตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรข้อ 2 (ก) ประเภทที่ระบุถึงของใด ให้หมายรวมถึงของนั้นที่ยังไม่ครบสมบูรณ์หรือยังไม่สำเร็จ หากว่าในขณะนำเข้ามีลักษณะอันเป็นสาระสำคัญของของที่ครบสมบูรณ์หรือสำเร็จแล้ว และให้หมายรวมถึงของที่ครบสมบูรณ์ หรือสำเร็จแล้ว (หรือที่จำแนกเข้าประเภทของที่ครบสมบูรณ์หรือสำเร็จตามนัยแห่งหลักเกณฑ์นี้) ที่นำเข้ามาโดยถอดแยกออกจากกัน หรือยังไม่ได้ประกอบเข้าด้วยกัน



( ตัวอย่าง “ใบทักท้วงการตรวจสอบอากร” 2 ใน 240 ใบทักท้วงฯ สินค้า 240 ครั้ง ครั้งละนับพันรายการแตกต่างกันไป)



โดยมีการประเมินมูลค่าในจำนวนที่ชำระไม่ถูกต้องและเรียกเก็บ “ค่าอากรขาเข้า,ค่าภาษีสรรพสามิต,ค่าภาษีเพื่อมหาดไทย และค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม” ตามจำนวนที่ขาดไปทั้งหมด

จากการตรวจสอบพบว่า เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบพบความผิดปกติของสินค้าที่นำเข้าในลักษณะข้างต้นจำนวนมากกว่า 240 ครั้งและมีนำเข้าครั้งละนับพันรายการ!!!

จากนั้น “สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง” ได้ดำเนินการตรวจสอบตามการ “ทักท้วง” ดังกล่าวเพื่อประเมินมูลค่าความเสียหายและเรียกเก็บอัตราภาษีต่างๆที่ขาดไป ซึ่งต่อมาในเดือน “พฤศจิกายน 2555″ ได้มีการออก “แบบแจ้งการประเมิน/เรียกเก็บอากรขาเข้า/ขาออกภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีอื่นๆ” เพื่อแจ้งกับ “บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด” จำนวนกว่า 240 ฉบับ ตามจำนวนสินค้าที่ได้มีการนำเข้าและเสียภาษีไม่ถูกต้อง



( ตัวอย่าง”ใบแจ้งการประเมิน/เรียกเก็บอากรฯ” 1ใน240 ใบแจ้งฯ ตามจำนวนการนำเข้า )

โดยแบ่งเป็น “อากรขาเข้า” ที่ขาดไป จำนวน 7,411,906,701.31 บาท (เจ็ดพันสี่ร้อยสิบเอ็ดล้านเก้าแสนหกพันเจ็ดร้อยหนึ่งบาทสามสิบเอ็ดสตางค์)

เป็น “ค่าภาษีสรรพสามิต” ที่ขาดไป จำนวน 2,685,234,718.87 บาท (สองพันหกร้อยแปดสิบห้าล้านสองแสนสามหมื่นสี่พันเจ็ดร้อนสิบแปดบาทแปดสิบเจ็ดสตางค์)

เป็น “ค่าภาษีเพื่อมหาดไทย” ที่ขาดไป จำนวน 211,930,500.39 บาท (สองร้อยสิบเอ็ดล้านเก้าแสนสามหมื่นห้าร้อยบาทสามสิบเก้าสตางค์)

และเป็น “ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม” ที่ขาดไป จำนวน 1,386,459,717.96 บาท (หนึ่งพันสามร้อยแปดสิบหกล้านสี่แสนห้าหมื่นเก้าพันเจ็ดร้อยสิบเจ็ดบาทเก้าสิบหกสตางค์)

ซึ่งเท่ากับว่า “บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด” ถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติม ในการนำเข้าสินค้าและเสียภาษีไม่ถูกต้องครั้งนี้จำนวนมากถึง 11,695,531,638.53 บาท (หนึ่งหมื่นหนึ่งพันหกร้อยเก้าสิบห้าล้านห้าแสนสามหมื่นหนึ่งพันหกร้อยสามสิบแปดบาทห้าสิบสามสตางค์)

จากการตรวจสอบพบว่า “บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ไทยแลนด์ จำกัด” นั้นมี “นายประมนต์ สุธีวงศ์” ประธานองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น (ประเทศไทย) เป็น “ประธานคณะกรรมการบริษัทฯ”

องค์กรต่อต้านคอรัปชั่น (ประเทศไทย)” เจ้าของ สปอตโฆษณาต่อต้านคอรัปชั่น “อย่าให้คนโกงมีที่ยื่น” อันลือลั่น !!

บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย” ที่มี “ประมนต์ สุธีวงศ์” เป็น “ประธานคณะกรรมการบริษัท” กลับ ถูกเรียกเก็บภาษี จากการกระทำที่อาจจะเข้าข่ายหลบเลี่ยงภาษีและชำระภาษีไม่ถูกต้องตามกฎหมาย 
มูลค่า 1.1 หมื่นล้านบาท

กรณีดังกล่าวที่เกิดขึ้น “ประมนต์ สุธีวงศ์ ระวัง
ระวัง…ไม่มีที่ยืน 

ที่มา.พระนครสาส์น
--------------------------------------------