--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2556

สภาปฏิรูป ประเทศ !!?

โดย เอกชัย ไชยนุวัติ

หมายเหตุ : บทความวิชาการส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องกับ องค์กรใด

นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มอบของขวัญวัน คริสต์มาส ให้ กับประชาชนชาวไทย ด้วยการออกทีวี แถลงจัดตั้ง "สภาปฏิรูปประเทศ" ซึ่งเป็นท่าทีล่าสุดของ รัฐบาลรักษาการ พรรคเพื่อไทย ที่มีต่อสถานการณ์บ้านเมือง ในขณะที่มีการยุบสภา และมุ่งหน้าสู่การเลือกตั้ง ในวันที่ 2 ก.พ. พ.ศ.2557

ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดสภาปฏิรูปประเทศ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1.ขัดเจตนารมณ์ รัฐธรรมนูญ มาตรา 181  มาตรานี้ เป็นผลจากการยุบสภา โดยผู้นำฝ่ายบริหาร ที่ใช้อำนาจ ยุบสภา ตาม มาตรา 108 โดยเมื่อมีการยุบสภา จะทำได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น และจะต้องยุบ เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ รวมทั้ง มาตรา 108 นี้ บังคับว่า การจัดการเลือกตั้งใหม่จะต้องกระทำภายใน 45 ถึง 60 วันเท่านั้น

ในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ การยุบสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็น ตัวแทนของประชาชนในการใช้อำนาจออกกฎหมาย คือการคืนอำนาจของประชาชนกลับไปยังประชาชนทุกคนให้ได้ใช้อำนาจนั้นอีกครั้งในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ดังนั้นในสายตาของกฎหมาย ฝ่ายบริหาร คือ คณะรัฐมนตรี รวมถึง นายกรัฐมนตรี ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี อีกต่อไป เพียงแต่ มาตรา 181 บังคับไว้อย่างชัดเจน ให้ “คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่” รวมทั้งในรายงานการประชุม ของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 33/2550 หน้า 28 ถึง 32 ก็มีการอภิปรายประเด็นนี้อย่างชัดเจนว่า ให้ รัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรี ต้องอยู่ในหน้าที่ต่อไป แต่ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเข้ามาควบคุมการทำงาน ตาม (1) ถึง (4) ซึ่งเป็นเรื่อง ห้ามปลด โยกย้ายข้าราชการ และใน  “(3)ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการหรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป”

จากคำแถลงของนายกรัฐมนตรีที่กล่าวว่า

“ทั้งนี้ เมื่อสภาปฏิรูปประเทศได้ดำเนินการในข้อใดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้ทำรายงานเสนอนายกรัฐมนตรี และให้สภาปฏิรูปประเทศเปิดเผยรายงานดังกล่าวต่อสาธารณชน เพื่อที่จะได้ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการตามเจตนารมณ์ต่อไป โดยกรอบของเวลาการดำเนินการขึ้นอยู่กับสภาปฏิรูปประเทศเป็นผู้กำหนดให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด

เอกชัย ไชยนุวัติ

สำหรับผู้ที่เป็นห่วงถึงความต่อเนื่องเมื่อมีการเลือกตั้งในวันที่2 กุมภาพันธ์ 2557 และมีรัฐบาลหลังการเลือกตั้งแล้วนั้น จะมีการกำหนดไว้ด้วยว่าเมื่อคณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดิน ให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบให้การปฏิบัติงานตามคำสั่งนี้ดำเนินต่อไปอย่างสืบเนื่องตามเจตนารมณ์และแนวทางที่ทุกฝ่ายให้ความเห็นชอบแล้ว”

ถ้อยแถลงดังกล่าวเห็นได้ชัดเจนว่า รัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศต่อไป ภายหลังได้รับการเลือกตั้ง จากประชาชน จะต้องมีการพิจารณา การทำงาน และประเด็นที่สภาปฏิรูปเสนอ ถึงแม้จะไม่ได้ใช้ถ้อยคำว่า จะต้องรับทราบถึงผลการทำงานของสภาปฏิรูปเท่านั้น แต่ ผู้เขียนมั่นใจว่า ไม่มีผู้นำคนไหน จะปฏิเสธการมีอยู่หรือประเด็นของสภาปฎิรูปได้

2.สภาปฏิรูป ไม่มีความยึดโยงกับอำนาจประชาชน  สิ่งที่เรียกว่า สภาปฏิรูปประเทศ ก็เพื่อให้มีผลในทางกฎหมายที่ ชัดเจน มีน้ำหนักมากขึ้น เพื่อแสดงให้เห็นถึงความจริงใจของรัฐบาลในการปฏิรูปประเทศ  แต่ ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับ คณะกรรมการสรรหา สภาปฏิรูปที่ประกอบด้วย ตัวแทน 11 คน ที่ คนแรก คือตัวแทนของฝ่ายทหาร และ ตัวแทนของหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวง อีก 2 คน

กรรมการทั้ง 11 คนนี้ จะเข้ามากำหนด องค์ประกอบและวิธีการสรรหาสมาชิกสภาปฎิรูปประเทศ 499 คน โดย สมาชิก 499 คนนี้จะเข้ามาศึกษาและจัดทำข้อเสนอและแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ รวมทั้ง จัดทำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ด้วย

การให้อำนาจ คณะกรรมการ 11 ท่านนี้ในการกำหนด รูปร่างหน้าตา ของสมาชิกสภาปฏิรูปประเทศ โดยไม่ได้เปิดโอกาสโดยตรง เหมือนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่ พรรคเพื่อไทยได้เสนอเมื่อมีการเสนอแก้ มาตรา 291 เมื่อปี พ.ศ.2555 แต่ถูกศาลรัฐธรรมนูญ มีคำแนะนำให้ทำประชามติ ก่อนที่จะมีการแก้ทั้งฉบับ เป็นการไม่ยึดโยงกับประชาชน เหมือนการสรรหา สมาชิกวุฒิสภา ที่กำหนดให้คณะกรรมการสรรหา วุฒิสมาชิก ทั้ง7 คนมาจากองค์กรศาล และ องค์กรอื่นๆที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนเข้ามาทำหน้าที่คัดเลือก วุฒิสมาชิกเช่นกัน ผู้เขียน ถึงเรียกว่า "สภา(อำมาตย์)ปฏิรูปประเทศ" เพราะไม่มีหนทาง ให้ คนอย่าง แม่บ้านทำความสะอาด ของ มหาวิทยาลัย ผู้เขียนที่จบ ป.4 มีสิทธิมีเสียง ในการกำหนดวาระ การ ปฏิรูปประเทศ แต่อย่างใด

3.วาระการปฏิรูป ประเทศ เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดของประเทศ ที่ประชาชนทุกคนควรมีสิทธิได้แสดงความคิดเห็นหรือ กำหนดประเด็นได้ ผู้เขียนเห็นว่าวาระปฏิรูปประเทศ ต้องให้ประชานได้ตัดสินใจทางการเมืองโดยผ่านการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. พ.ศ.2557 เพื่อเป็นการสร้างความชอบธรรมของ ผู้ที่ได้รับเสียงจากประชาชนไปกำหนดวาระปฏิรูปประเทศได้ เพราะ ถือว่า รัฐบาลนั้นได้รับ อาณัติมาจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ  รัฐบาลที่ทำหน้าที่รักษาการ ต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับ ประเด็นทางการเมืองนี้ เพราะท่านได้พ้นจากหน้าที่ไปแล้ว

สรุป หน้าที่ของรัฐบาล คือจะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. พ.ศ.2557 นี้ให้ได้ ต้องจัดให้มีการสมัครรับเลือกตั้งเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และจะต้องให้ความสะดวกและกำชับ คณะกรรมการการเลือกตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ในการจัดการเลือกตั้ง และบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การเลือกตั้งดำเนินไปได้ แต่การจัดตั้งสภาปฏิรูป เพื่อกำหนดประเด็นที่สำคัญที่สุดของประเทศในระยะเวลา แค่ 1 เดือน ไม่มีทางที่จะทำสำเร็จในระยะเวลานี้ได้ และจะส่งผลให้รัฐบาลต่อไปต้องมีผลผูกพันที่อย่างน้อยก็ต้องให้ สภาปฏิรูปนี้ ดำเนินการจนแล้วเสร็จและนำผลของการทำงานมาพิจารณาในรัฐบาลต่อไปอย่างแน่นอน

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
---------------------------------------------

ยิ่งลักษณ์ เสนอแนวทางปฎิรูปประเทศ ถอย หรือ รุก !?


เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2556 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการณ์นายกรัฐมนตรี และ รมต.กลาโหม แถลงการณ์ผ่าน โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เสนอแนวทางการ ”ปฏิรูปประเทศไทย” โดยคำสั่งของคณะรัฐมนตรีและสำนักนายกรัฐมนตรี

ให้คัดเลือกตัวแทนจากทุกสาขาอาชีพ จำนวน 2,000 คน คัดเลือกสมาชิกสภาปฏิรูป 499 คน

ส่วนคุณสมบัติและ ระเบียบทุกอย่างจะถูกกำหนดโดยคณะกรรมการ 11 คน โดยมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้
ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผบ.สส. หรือตัวแทนที่คัดเลือกมาจาก ผบ.เหล่าทัพ ที่ ผบ.สส. แต่งตั้ง
หัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวง หรือเทียบเท่า 2คน
สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
อธิการบดีแห่งประเทศไทย เลือกกรรมการ 1 คน จากที่ประชุมอธิการบดี
ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายกสมาคมธนาคารทหารไทย
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน

มีหน้าที่
ศึกษาและจัดทำข้อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจรวมไปถึงการจัดเตรียมร่างแก้ไขรับธรรมนูญ
ศึกษาและจัดทำข้อเสนอและปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ศึกษาและจัดทำข้อเสนอให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารภาครัฐ
ศึกษาและจัดทำข้อเสนอ การจัดให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม หรือการยกเลิก กฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งต่างๆ -เพื่อให้มีการเลือกตั้งทุกระดับ การสรรหา การแต่งตั้ง การใช้อำนาจรัฐ และการตรวจสอบอำนาจรัฐ เป็นไปอย่างสุจริตและเที่ยงธรรม
ศึกษาและจัดทำข้อเสนอ การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงข้าราชการ ทั้งฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำ เพื่อให้มีการดำเนินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ศึกษาและจัดทำข้อเสนอ การปรับปรุงการกระจายอำนาจ การสร้างความรู้ ความเข้าใจ กฎหมาย การเตรียมความพร้อม และการสร้าง ความเข้มแข็งแก่ ชุมชน และท้องถิ่น โครงสร้างการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินในทุกระดับ การปรับปรุงระบบ และวิธีการงบประมาณ และบริหารงานบุคคลภาครัฐ

เมื่อสภาปฏิรูปจัดทำเสร็จในข้อใดเสร็จแล้ว ให้ทำรายงานเสนอนายกรัฐมนตรีและเปิดเผยรายงานต่อสาธารณะชน เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการต่อไป ส่วนกรอบระยะเวลาให้ขึ้นอยู่กับการดำเนินการของสภาปฏิรูป ภายหลังการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 เมื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามาบริหาร ให้เลขาธิการ เสนอนายกรัฐมนตรีเสนอเห็นชอบให้สภาปฏิรูปได้ดำเนินการต่อเนื่องต่อไป ข้อเสนอนี้หากทุกฝ่ายเห็นชอบ คณะรัฐบาลจะจัดสภาปฏิรูปดังกล่าวภายในสิ้นปีนี้

หากติดตามการเมืองในช่วงที่ผ่านมาจากการชุมนุมของ กปปส. จนกระทั่งรัฐบาลยุบสภา แต่นั้นก็ยังไม่เป็นที่พอใจแก่ผู้ชุมนุม เพราะข้อเสนอคือให้นายกลาออกจากรักษาการณ์ หากมองตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ฝ่ายกองเชียร์ฝั่งรัฐบาลมองว่า “ รัฐบาลถอย”” ถอยจนไม่รู้จะถอยยังไง” “ถอยสุดซอย”

แต่ถ้าดูข้อเสนอแนวทางปฏิรูปของรัฐบาลในครั้งนี้มองได้ว่า คือการการ ตอบโต้ หรือรุกทาง กปปส. เพื่อยืดระยะเวลาเล่นตามกระแสการปฏิรูป ตาม กปปส. ข้อเสนอของรัฐบาลในครั้งนี้ หากดูตามความเป็นจริงแล้ว เกิดขึ้นได้ยากมากเพราะข้อเสนอและแนวทางไม่ได้เป็นไปตามที่ กปปส. ต้องการ และไม่สามารถทำให้กปปส.หยุดการเคลื่อนไหวเพื่อกลับเลือกตั้งแน่นอน เพราะมองว่ารัฐบาลกำลัง ยืดระยะเวลา ถ่วงกระแสการชุมนุม โดยที่เป้าหมายก็ยังคงยึดหลักการเดิมคือการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้

ที่มา.Siam Intelligence Unit
-------------------------------------------------------------

วันพุธที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ต้อง ขจัดคอร์รัปชั่น !!

โดย ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

ไม่ ว่าจะเลื่อนการเลือกตั้งหรือไม่เลื่อนเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ แต่ประเด็นที่ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็น กปปส. หรือ 7 องค์กรภาคเอกชน แม้กระทั่งเวทีประเทศไทยจะไปทางไหนของรัฐบาล ต่างเห็นพ้องต้องกันในการปฏิรูปประเทศไทยก็คือ การขจัดปัญหาคอร์รัปชั่น ที่ฝังรากลึกทั้งในระบบการเมืองและระบบราชการมาอย่างยาวนาน จากที่พูดกันเมื่อ 20 ปีที่แล้วว่า ทุกโครงการขอหัก 10% มาในปัจจุบันตัวเลขพุ่งขึ้นไปถึงขอหัก 50/50

ความร้ายแรงของการคอร์รัปชั่นถูกแสดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมจากดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น (CPI) ที่จัดทำโดย องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ในรายงาน ผลคะแนนภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นโลกประจำปี 2556 ปรากฏประเทศไทยถูกจัดลำดับได้ที่ 102 ผลคะแนน 35 คะแนน (เต็ม 100 คะแนน) จาก 177 ประเทศทั่วโลกเท่ากับเอกวาดอร์ มอลโดวา ปานามา และอยู่ในอันดับที่ 16 จาก 28 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

หันมาดูสโคปที่แคบลง เอาเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน ที่ประเทศไทยพยายามอย่างเหลือเกินที่จะเป็นประเทศผู้นำในกลุ่มก็ปรากฏว่า มีเพียง 3 ประเทศ ได้แก่ ประเทศสิงคโปร์ (86 คะแนน), บรูไน (60 คะแนน) และมาเลเซีย (50 คะแนน) เท่านั้น ที่มีผลคะแนนเกินกว่าครึ่งหนึ่ง ส่วนประเทศที่เหลือมีคะแนน "ต่ำกว่าครึ่ง" หมายถึงเต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่นอย่างน่ารังเกียจ

ในส่วนของประเทศ ไทย จริงอยู่ที่คะแนนของเราดีขึ้นจาก 37 คะแนนในปี 2555 มาเป็น 35 คะแนนในปี 2556 หรือดีขึ้นเพียง 2 คะแนน แต่เมื่อพิจารณาจากสถิติการจัดลำดับคะแนนย้อนหลังไปถึงปี 2538 ถึงปี 2554 ซึ่งใช้คะแนนเต็ม 10 คะแนน ก็จะพบว่าพัฒนาการให้การจัดการกับปัญหาคอร์รัปชั่นของประเทศไม่ได้ก้าวไปถึง ไหน กล่าวคือผลคะแนนตลอด 17 ปีที่ผ่านมา อยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย 3 คะแนน หรือต่ำกว่าครึ่ง หมายถึงยังแย่มาก

พอมาถึงปี 2555-2556 ที่เปลี่ยนการให้คะแนนเต็มจาก 10 คะแนน เป็น 100 คะแนน ซึ่งหมายถึงมีปัจจัยการพิจารณาปัญหาคอร์รัปชั่นมากขึ้น ประเทศไทยก็ยังคงมีคะแนนป้วนเปี้ยนอยู่ระหว่าง 35-37 คะแนน เหมือนเดิม ยังไปไม่ถึงไหน

จนอาจพูดได้ว่าเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ทุกรัฐบาลไม่ว่าจะมาจากเผด็จการทหาร การทำรัฐประหาร (ชอบอ้างปัญหาคอร์รัปชั่นเป็น 1 ในเงื่อนไขที่ต้องทำรัฐประหาร) รัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้ง ล้วนเต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่น ยิ่งโครงการใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการก่อสร้างของภาครัฐ มากแค่ไหน การคอร์รัปชั่นก็เกิดขึ้นมากตามไปด้วย กินกันตั้งแต่อิฐ หิน ปูน ทราย ยันตะปู ลวดเหล็ก และมาในช่วงปีหลัง ๆ การคอร์รัปชั่นแนบเนียนไปถึงการคัดเลือกเทคโนโลยี และนโยบายประชานิยม ที่เต็มไปด้วยการวิพากษ์วิจารณ์คอร์รัปชั่นตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ ไปจนกระทั่งถึงโครงการสำเร็จ กินกันเป็นทอด ๆ กินกันเป็นตระกูล กินกันเป็นพรรคการเมือง

ตัวอย่าง ที่เห็นได้อย่างชัดเจนในรัฐบาลชุดนี้ (ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ก็คือ การทุจริตคอร์รัปชั่นในโครงการรับจำนำข้าวเปลือก 2 ฤดูกาลที่ผ่านมา ใช้เงินไปแล้วไม่ต่ำกว่า 400,000 ล้านบาท ในการรับซื้อข้าวทุกเมล็ดภายในประเทศ เกิดการคอร์รัปชั่นทุกขั้นตอนตั้งแต่ซื้ิอไปจนกระทั่งถึงขาย

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้สรุปข้อเท็จจริงในการสอบสวนกรณีข้อกล่าวหา นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ "ทุจริต" โครงการรับจำนำข้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขายข้าวรัฐต่อรัฐ หรือที่รู้จักกันดีว่า G to G

เบื้องต้นจากพยานหลักฐานที่ปรากฏ ป.ป.ช.พบว่า ยัง ไม่มีการขายข้าวแบบ G to G ตามที่นายบุญทรง และข้าราชการในอดีตและปัจจุบันกล่าวอ้าง จากวาทกรรมฮิตติดปากกระทรวงพาณิชย์ในขณะนั้นว่า "การขายข้าว G to G เป็นความลับ บอกใครไม่ได้"

ความลับอันนี้กำลังจะถูกเปิดเผยจากการสอบสวนของ ป.ป.ช. ถึงขั้นที่จะชี้มูลความผิดได้หรือไม่ในช่วงต้นปี 2557
สะท้อนให้เห็นว่า ทำไมดัชนีคอร์รัปชั่นของไทยถึงไม่ไปถึงไหน

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
----------------------------------------

ม็อบหรือกบฏ !!?

โดย.พญาไม้

ตลอดมา....อานุภาพของม็อบคือการบุกรุกเข้าในสถานที่ต่างๆ ฝ่ายตรงกันข้ามกับม็อบก็จะใช้การปิดกั้น..เกิดการประจัญหน้าแล้วก็มีการต่อสู้กัน..มีการบาดเจ็บล้มตายมีการนำตัวไปคุมขังดำเนินคดี

แต่ปรากฏการณ์ของม็อบประเทศไทยกับการเปิดทางให้ม็อบจะเข้าไปยึดจะเข้าไปอยู่ในสถานที่ใดๆ ก็ได้จะเป็นวิทยาการใหม่ให้รัฐบาลทั้งหลายในโลกนำไปใช้

ภายใต้เงื่อนไขทางการเมือง..ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน

กลับมาดูม็อบสุเทพ เทือกสุบรรณ..ไม่ใช่ของง่ายที่จะคงผู้คนเรือนหมื่นเรือนแสนให้คงที่ต่อเนื่องกันตลอดเวลาในสถานที่สนามหญ้าหรือบนท้องถนน

จึงประเมินได้ตั้งแต่บัดนี้ว่า..หากปล่อยไว้ให้ม็อบคงอยู่ต่อไป..ม็อบก็จะโรยราลงไปเอง ปัญหาของม็อบจึงไม่ใช่ปัญหาของรัฐบาลแต่เป็นปัญหาของม็อบเอง

ประเทศมีกฏหมาย..กฏหมายมีข้าราชการเป็นผู้ดูแล..การทำผิดกฏหมายของม็อบหรือคนในม็อบจึงเป็นเรื่องต้องติดตามตัวมารับโทษในอนาคต

เพราะรัฐธรรมนูญประกาศิตไว้ว่า..การชุมนุมทำได้แต่ต้องเป็นไปตามครรลองของกฏหมาย
รัฐบาลจึงไม่ต้องทำอะไรให้เป็นประโยชน์เป็นตัวอย่างกับรัฐบาลทั่วโลกในการต่อสู้กับม็อบแอบแฝงที่แปลงร่างมาเพื่อช่วงชิงอำนาจรัฐ

เพราะม็อบที่รัฐธรรมนูญมีเจตนารมย์ให้ชุมนุมเรียกร้องสำหรับประชาชนที่เดือดร้อนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล

ไม่ใช่เพื่อแย่งอำนาจจากรัฐบาล

การแย่งอำนาจจากรัฐบาลการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจนต้องมาจากประชาชนบนการหย่อนบัตรเลือกตั้ง

ไม่มีวิธีอื่น

ผิดจากนั้นเป็นอาชญากรรมเป็นการทำร้ายทำลายความผาสุขของประชาชนและเป็นกบฏต่อราชอาณาจักรเป็นการทรยศต่อแผ่นดิน

แล้วมันเป็นใคร

ที่มา.บางกอกทูเดย์
-----------------------

วันอังคารที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2556

การเคลื่อนไหวเพื่อสร้างพื้นที่ทางการเมือง: เมื่อคนชนบทไม่เท่ากับ ≠ โง่ จน เจ็บ.

โดยชัยพงษ์ สำเนียง
สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ ม.เชียงใหม่

พื้นทางการเมืองของประชาชนขององค์กรกึ่ง: องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นองค์กรทางการ (รัฐ) ที่ปกครองโดยคนที่ไม่เป็นทางการรัฐ (ตอนที่ 2)

ครั้งที่แล้วผมพูดถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแง่โครงสร้างที่มีการปรับเปลี่ยนไปมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ รวมถึงทำให้องค์กรของรัฐอยู่ในสถานะองคาพยพของประชาชนในท้องถิ่น ที่มีสิทธิที่จะเข้าเป็นผู้บริหารและผู้เลือก ซึ่งสร้างอำนาจต่อรองให้ประชาชนในท้องถิ่นในการกำหนดทิศทางขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ในที่นี้ผมจะกล่าวถึงมิติของการเปลี่ยนผ่านขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีพัฒนาการเนื่องด้วยความเปลี่ยนแปลของสังคม หรือการเมืองภาคประชาชน ที่เข้ามาเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่เข้ามามีส่วนในการต่อรองและสร้างพื้นที่ผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
การเคลื่อนไหวภาคประชาชนเพื่อสร้างพื้นที่ทางการเมือง

ความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยมีมาอย่างต่อเนื่องก่อนทศวรรษที่ 2540 ทั้งทางด้านเศรษฐกิจที่ผู้คนพึ่งพาระบบเศรษฐกิจนอกภาคการเกษตรมากขึ้น เราเห็นได้จากการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม ภาคการส่งออกที่ผลิตผลทางการเกษตรมีมูลค่าการส่งออกน้อยกว่าภาคอุตสาหกรรม เกิดคนชั้นกลางทั้งในเมืองและชนบทอย่างกว้างขวาง ระบบราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคไม่สามารถสนองตอบความเปลี่ยนแปลงได้ ไม่สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง

ทำให้มีการเรียกร้อง “การปกครองตนเอง” เช่น เสนอให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด มีการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน เช่น สมัชชาคนจน สมาพันธ์เกษตรกรรายย่อยภาคเหนือ กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติชนิดต่างๆ เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในการสะท้อนปัญหา และแสวงหาหนทางในการแก้ไขปัญหาทำให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง และมีสำนึกของความเป็นพลเมืองมากขึ้น (ประภาส ปิ่นตบแต่ง 2541; เสกสรรค์ ประเสริฐกุล 2548) มีความต้องการ “ปกครองตนเอง” จัดการแก้ไขปัญหาของตนเองในระดับท้องถิ่น เพื่อให้คนในท้องถิ่นที่เข้าใจปัญหาเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารและกำหนดทิศทางของท้องถิ่น




แม้ว่าการปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยจะล้มลุกคลุกคลานมาหลายครั้ง (ดูเพิ่มในบทที่ 2) ความเปลี่ยนแปลงของสังคม และการปรับโครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับต่างๆ ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นองค์กรที่มีความใกล้ชิดประชาชน และผลการกระทำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม และทำให้ประชาชนต้องเข้าไปมีส่วนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และมีแนวโน้มที่ประชาชนจะเข้าไปกำหนดทิศทางขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มากขึ้นเป็นลำดับ (ดูเพิ่มใน เอนก เหล่าธรรมทัศน์ 2552ก; 2552ค)

ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาภายใต้ “วาทกรรมการพัฒนา” ได้ทำให้เกิดช่องว่างของชนบทกับเมืองมากขึ้น ซึ่งเมืองกลายเป็นศูนย์กลางการพัฒนาในทุกๆ ด้าน ส่วนชนบทเป็นแหล่งรองรับการพัฒนาของเมือง มีการ “ดูด” ใช้ทรัพยากร เช่น ดิน น้ำ ป่า คน ฯลฯ จากชนบทสู่เมือง ทำให้ชนบทหลุดลอยจากการพัฒนา ที่สำคัญของการกระจายของทรัพยากรที่เมืองได้มากกว่าเมืองชายขอบหรือชนบท รวมถึงเมืองมีแรงดึงดูดด้านแรงงานทำให้มีการอพยพผู้คนจากชนบทเข้าสู่เมืองเป็นจำนวนมาก

ทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ถือว่าเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของการทำเกษตรกรรม และส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ทศวรรษที่ 2500 เป็นต้นมามีการแย่งชิงทรัพยากรจากรัฐ และกลุ่มทุน ทำให้ทรัพยากรจำนวนมากหลุดลอยจากชาวบ้าน ชาวบ้านกลายเป็นชาวนาไร่ที่ดิน หรือมีน้อยจนไม่สามารถทำกินให้คุ้มทุนได้

รวมถึงทรัพยากร “ส่วนร่วม” (Common property) เช่น ป่าไม้ ได้ถูกรัฐยึดครอง และสงวนหวงห้ามไม่ให้ประชาชนได้เข้าไปเป็นเจ้าของ และเกิดปัญหาคนกับป่าเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันและมีแนวโน้มการแย่งชิงทรัพยากรในปัจจุบันยิ่งมีความรุ่นแรงเพิ่มขึ้น เนื่องจากการขยายตัวของทุน รัฐ และประชากร (ชัยพงษ์ สำเนียง 2554: กำลังจะพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือเกษียณอายุราชการ ศ.ดร.สรัสวดี อ๋องสกุล)

ช่องว่างของการเข้าถึงทรัพยากรของคนกลุ่มต่างจะมีความเลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงช่องว่างของนโยบายรัฐที่เอื้อต่อกลุ่มคนที่มีทุน และการศึกษา ทำให้ “ชนบท” กับ “เมือง” แตกต่างกันอย่างไพศาล (ชัยพงษ์ สำเนียง 2556)

ทำให้คนหลากหลายกลุ่มเห็นความไม่เท่าเทียมและความไม่เป็นธรรมในสังคมในหลายหลายมิติทำให้เกิดการต่อสู้เรียกร้อง และที่สำคัญคือ การต่อสู้ในเรื่องการเข้าถึงทรัพยากร เช่น ที่ดิน ป่าไม้ ฯลฯ ซึ่งเป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญของการผลิต จากการศึกษาของกนกศักดิ์ แก้วเทพ (2530 : 22-23) พบว่า “มีเกษตรกรที่ต้องสูญเสียที่ดินทำกินในช่วงปี พ.ศ. 2502-2509 จำนวน 172,869 ไร่ จากโฉนดที่ดินจำนวน 7,016 แปลง คิดเป็นมูลค่าในขณะนั้น 347.3 ล้านบาท

ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการขายฝากและการจำนอง และมีอัตราการเพิ่มขึ้นประชากรจำนวนมากทำให้ที่ดินไม่เพียงพอต่อการผลิต และการถือครองที่ดินมีขนาดเล็กลง ทำให้การผลิตไม่เพียงพอ (ดูเพิ่มใน อานันท์ กาญจนพันธุ์ 2547; จามะรี เชียงทอง 2530, 2554ข) และต้องออกไปรับจ้างหรือแสวงหาทางเลือกอื่นๆ เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้

การต่อสู้เรียกร้องการเข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมมีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ยุค 14 ตุลาคม 2516 ที่เป็นยุคของความเบ่งบานของประชาธิปไตย เกิดจากความเดือดร้อนของเกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ ทีมีมาอย่างต่อเนื่องในนาม “สมาพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย” แต่ไม่ได้รับการแก้ไขจากรัฐบาลเท่าที่ควร

ความคับแค้นอย่างไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเกิดขบวนการเคลื่อนไหวของเกษตรกรกลุ่มต่าง ๆ เพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐแก้ไข เพราะปัญหาของเกษตรกรมิใช่ปัญหาของ “ปัจเจก” แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างเท่าเทียม ขบวนการเคลื่อนไหว เช่น เครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.) สมัชชาคนจน สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ สมัชชาชาวนาชาวไร่ภาคอีสาน สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ เครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก และเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจนภาคใต้ ฯลฯ (ดูบทบาทกลุ่มนี้อย่างละเอียดใน ประภาส ปิ่นตบแต่ง 2541; วิเชิด ทวีกุล 2548; เสกสรรค์ ประเสริฐกุล 2548)

ความเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาชนเป็นการรวมตัวเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยแก้ไขปัญหา อาทิเช่น ในกรณีของ นกน. สกยอ. และสมัชชาคนจน นอกจากนี้ก็ยังมีกลุ่มประชาชนเล็กๆ ในท้องถิ่นต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของรัฐหรือการขยายตัวของทุนอีกเป็นจำนวนมหาศาล ส่วนปัญหาร่วมของกลุ่มต่างๆ คือ ปัญหาดิน น้ำ ป่า แต่พบว่าไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร

หลังปี พ.ศ. 2523 การเคลื่อนไหวทางการเมืองของภาคประชาชนนับว่าเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วแทนที่ขบวนปฏิวัติด้วยกำลังอาวุธที่เสื่อมสลายไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ซึ่งให้สิทธิประชาชนในการจัดตั้งรวมตัว และมีส่วนร่วมทางการเมืองไว้อย่างชัดเจน

แต่สิ่งที่แตกต่างกันอย่างยิ่งระหว่างการเมืองภาคประชาชนกับขบวนการปฏิวัติ คือการเคลื่อนไหวของกลุ่มย่อยที่ค่อนข้างกระจัดกระจาย เป็นไปเองโดยปราศจากศูนย์บัญชาการและมีจุดหมายในการแก้ปัญหาเฉพาะเรื่อง มากกว่าต้องการยึดอำนาจรัฐเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่โครงสร้างใหม่ทั้งหมด อาจกล่าวได้ว่าไม่ยินยอมให้รัฐและทุนเป็นฝ่ายกำหนดข้างเดียว ทำให้การเมืองภาคประชาชนเป็นขบวนการประชาธิปไตยที่หัวรุนแรง ในสายตาของภาครัฐ และผู้มีผลประโยชน์แวดล้อม (เสกสรรค์ ประเสริฐกุล 2548)




ภาพจาก www.ezytrip.com

แม้ว่าการเมืองภาคประชาชนจะมีแนวคิดใหม่ที่เน้นการจำกัดอำนาจรัฐไปพร้อมกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของฝ่ายประชาชน [ในประเทศไทยแนวคิดนี้มีความชัดเจนหลังจากสงครามกลางเมือง (2516-2519) เป็นส่วนหนึ่งของโลกาภิวัตน์ ในช่วงสี่ทศวรรษสุดท้ายของ ค.ศ. ที่ 20 จำนวนองค์กรประชาสังคมแบบข้ามชาติเพิ่มขึ้นมากกว่าสิบเท่าโดยมีประมาณ 17,000 องค์กร และ (ดู เสกสรรค์ ประเสริฐกุล 2548)]

สัมพันธ์กับการเกิดขึ้นขององค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอ มีการเคลื่อนไหวในประเด็นสำคัญ เช่น การพัฒนา ระบบนิเวศ สันติภาพ และสิทธิมนุษยชน แม้ว่าผู้ปฏิบัติงานเอ็นจีโอส่วนใหญ่จะถูกฝึกมาให้เป็นผู้สันทัดเรื่องการเจรจา

แต่บริบทในประเทศไทย ได้ทำให้เขาเหล่านั้นคลุกคลีกับผู้ยากไร้และเห็นปัญหาจากการกระทำจากฝ่ายรัฐและทุน จนออกมาเคลื่อนไหวหรือกลายเป็นแกนนำของการเคลื่อนไหวในการเมืองภาคประชาชนไป ดังกรณี เขื่อนปากมูน สมัชชาคนจน สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ เป็นต้น

การเคลื่อนไหวอยู่ในลักษณะกระจัดกระจายไม่มีทิศทางเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สามารถแบ่งกลุ่มการทำงานของเอ็นจีโอได้เป็น แบบสังคมสงเคราะห์ แบบสนับสนุนรัฐบาล และแบบสนับสนุนกระแสทางเลือก หรือมองว่าเอ็นจีโอเป็นเหมือนตำรวจดับเพลิงของทุนนิยม มีการแก้ไขปัญหาเป็นจุดๆ แต่ก็มีการพัฒนาไปสู่การคิดที่เป็นระบบมากขึ้นเป็นลำดับ จนถึงกับวิพากษ์แนวคิดของเอ็นจีโอโดยผู้นำชาวนาว่า “ไม่กล้าแตะโครงสร้างที่เป็นอยู่ ซึ่งสำหรับชาวนาไร้ที่ดินอย่างพวกเขา ไม่น่าจะเป็นทิศทางการเคลื่อนไหวที่ถูกต้อง” (เสกสรรค์ ประเสริฐกุล 2548 : 163 – 164)

การเมืองภาคประชาชนเกี่ยวข้องกับพัฒนาการทางการเมือง คือการค้นหาความสมดุลในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม ซึ่งสามารถเคลื่อนจุดความพอดีได้ตามเงื่อนไขที่เปลี่ยนไป รัฐบาลที่มาจากพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง เนื่องจากเป็นตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ที่ผูกพันอยู่กับนโยบายพัฒนาอันมีมาแต่เดิมภายใต้ระบอบอำนาจนิยม และต่อมายังเป็นตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ที่เชื่อมโยงกับระบบทุนโลกาภิวัตน์ จึงมีแนวโน้มที่จะคงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมไว้เพียงเท่านี้ แล้วยังต่อยอดให้มีการเปิดโครงสร้างให้เข้าไปยึดกุมอำนาจรัฐโดยตรง (เสกสรรค์ ประเสริฐกุล 2548)

อย่างไรก็ตาม แม้กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) จะมีบทบาทอย่างมากในช่วงกลางทศวรรษที่ 2520 – ต้นทศวรรษที่ 2540 แต่ภายใต้การ “อุปถัมภ์” โดยผ่านนโยบาย “ประชานิยม” ช่วงรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มีหลากหลายรูปแบบ เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน โครงการ SME ฯลฯ ได้เพิ่มช่องทางให้ประชาชนเข้าถึงทรัพยากรภาครัฐมากขึ้น

ทำให้บทบาทของ NGOs ลดลงอย่างมาก จากเดิมเคยเป็นตัวกลางระหว่างรัฐกับประชาชนไม่สามารถทำได้อีกต่อไป ทำให้พื้นที่ตรงกลางที่ NGOs เคยเป็นตัวประสาน (actor) ที่สำคัญไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะต่อรองกับรัฐและทุนได้อีกต่อไป ทำให้ประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ สร้างพื้นที่ทางการเมือง เพื่อใช้ต่อรองกับรัฐและทุนในลักษณะอื่น เช่น ผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับต่างๆ ที่เป็นพื้นที่ทางการเมืองที่สำคัญ รวมถึงการสร้างเครือข่ายผ่าน พอช. สสส. สกว. นักวิชาการ ฯลฯ ซึ่งเครือข่ายองค์กรเหล่านี้ได้เพิ่มบทบาทกลายเป็นพื้นที่ในการต่อรองของประชาชนพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น (ชัยพงษ์ สำเนียง 2554)


ความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ สังคมในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมาทำให้เกิด “คนชั้นกลางในชนบท” ที่มีความตื่นตัวทางการเมือง การดำเนินชีวิตของเขาเหล่านั้นมีความสัมพันธ์กับเมืองอย่างแนบแน่นกับเมืองและชนบท ทำให้ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับชาติสร้างผลกระทบไม่มากก็น้อยต่อการดำเนินชีวิตของเขา

“คนชั้นกลางในชนบท” มี “สำนึกทางการเมือง” ที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง โดยเฉพาะผ่าน “การเลือกตั้ง” เพราะมีผลอย่างสำคัญต่อการกำหนด “นโยบายสาธารณะ” มีผลต่อการดำเนินชีวิตเขาอย่างมาก เขาเหล่านั้นได้เข้าสู่พื้นที่ทางการเมืองในฐานะ “ผู้ประกอบการทางการเมือง” (agency politic) ที่กระตือรือร้น (นิธิ เอียวศรีวงศ์ 2554)

การผลิตในภาคนอกเกษตรกรรมในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาเป็นการผลิตเพื่อขาย ทำให้คนในภาคการผลิตนั้นๆ สัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และเศรษฐกิจ ที่ใหญ่กว่าในท้องถิ่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และระบบความสัมพันธ์แบบเดิม (รวมถึงระบบอุปถัมภ์แบบเดิม) ไม่อาจแก้ไขปัญหาให้คนในสังคมได้อีกแล้ว

การ “ถักทอ” สายใยความสัมพันธ์แบบใหม่ทั้งในระบบอุปถัมภ์ใหม่ ระบบพาณิชย์ ฯลฯ ได้สร้างจินตนาการใหม่ของชาวชนบท หรือที่ Keyes (2553) เสนอว่าเป็น “ชาวบ้านผู้รู้จักโลกกว้าง” (Cosmopolitan villager) เพราะว่าการดำเนินชีวิตของชาวชนบทสัมพันธ์กับเศรษฐกิจมหภาคอย่างแยกไม่ออก



ภาพจาก http://board.trekkingthai.com/

เขาเหล่านั้นบางส่วนเป็นคนงานในนิคมอุตสาหกรรม เป็นแรงงานในโรงงานทอผ้าขนาดเล็ก เป็นแรงงานก่อสร้าง หรือเป็นเกษตรกรปลอดสารพิษ ปลูกข้าวเพื่อขาย ทำสวนลำไย ฯลฯ ซึ่งใช้หมู่บ้านเป็นแต่เพียง “ที่นอน” หรือ “กลับเฉพาะในช่วงเทศกาล” ทำให้เขาเหล่านั้นประสบพบเจอปัญหา และโอกาสของชีวิตนอกหมู่บ้าน ทำให้ “จินตนาการทางการเมือง” ของนักการเมืองท้องถิ่น หรือชาวบ้านที่เลือกแตกต่างจากรุ่นพ่อรุ่นแม่อย่างไม่อาจเทียบกันได้ คนกลุ่มนี้สะท้อนให้เห็นว่าชนบทไทยไม่ได้มีแต่เกษตรกรอย่างที่ใครๆ เข้าใจ (ดูเพิ่มใน จามะรี เชียงทอง 2554)

และพบว่าคนที่มาเล่นการเมืองท้องถิ่นมีความหลากหลาย ทั้งผู้นำตามประเพณี นายทุนน้อย กลุ่มอาชีพอิสระ ข้าราชการเกษียณ ฯลฯ คนกลุ่มนี้สะท้อนให้เห็นความหลากหลายของกลุ่มคนผ่านนักการเมืองท้องถิ่น ที่ฉายภาพให้เห็นกลุ่มผลประโยชน์ที่หลากหลาย ซึ่งแต่ละคนต้องรักษา “พันธะสัญญา” กับประชาชนในท้องถิ่นที่เลือกตนเข้ามาทำงาน เพื่อที่จะได้กลับเข้ามาในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่า “เขา” เหล่านั้นจะมีความสนใจ “ทางการเมือง” มากน้อยแค่ไหน แต่การเข้าสู่ “การเมืองในระดับนโยบาย” หรือ “ระดับชาติ” ย่อมมีทำนบกีดขวางมหาศาล ทั้งทุน และเครือข่ายฯลฯ ฉะนั้นพื้นที่ที่ “เขา” จะเข้าไปมีส่วนในทาง “การเมือง” ได้ คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับต่างๆ ที่ “เขา” เหล่านั้นพอจะมีศักยภาพในการเข้าไปมีส่วนร่วมได้ ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกลายเป็น “พื้นที่ทางการเมือง” ใหม่ของคนกลุ่มต่างๆ

พื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับต่างๆ จึงเป็น “สนาม” ที่คนชั้นกลางใหม่นี้ใช้ในการขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงสังคมในมิติต่างๆ อย่างไพศาล และไม่เพียงแต่คนกลุ่มใหม่ที่เข้ามาสู่การเมืองท้องถิ่น ที่มีอายุอยู่ในช่วง 30 – 50 ปี และมีการศึกษาที่สูงขึ้นถึงระดับปริญญาตรีถึงร้อยละ 25 มีอาชีพนอกภาคเกษตรกรรมถึง ร้อยละ 50 (กกต. เชียงใหม่ 2555) ท

ทำให้คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนที่ไม่ใช่คนกลุ่มเดิมที่มีการผลิตในภาคเกษตรกรรม แต่คนกลุ่มใหม่นี้สัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับเศรษฐกิจ และการเมืองในระดับชาติ ที่ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบไม่มากก็น้อย ตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง เขาย่อมมีความสัมพันธ์กับความเติบโตของเศรษฐกิจในระดับมหภาค ถ้าเศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องก็ทำให้เขามีงานทำ และสามารถ “หล่อเลี้ยง” แรงงานในเครือข่ายได้อย่างต่อเนื่อง

หรือแม้แต่การผลิตอุตสาหกรรมในครัวเรือน เช่น การตัดเย็บเสื้อผ้าเองก็สัมพันธ์กับความเติบโตของเศรษฐกิจในระดับมหภาคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะถ้าเศรษฐกิจซบเซา ยอดการสั่งซื้อย่อมมีปริมาณที่ลดลง และคนในเครือข่ายย่อมขาดรายได้ ฉะนั้นการเติบโตของท้องถิ่นในแง่มุมต่างๆ ย่อมสัมพันธ์กับเศรษฐกิจระดับมหภาคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

กลุ่มคนที่เข้ามาสู่การเมืองท้องถิ่น มีความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ คือ เป็นพื้นที่ที่คนกลุ่มต่างๆ สามารถเข้ามาใช้เพื่อขับเคลื่อน “วาระส่วนตัว” และ “วาระสาธารณะ” ได้อย่างกว้างขวาง พบว่าคนกลุ่มใหม่ เช่น นายทุนน้อยในท้องถิ่น ผู้ประกอบการขนาดเล็ก หรือชนชั้นกลางระดับต่างๆ (ดูเพิ่มใน นิธิ เอียวศรีวงศ์ 2555) ได้เข้ามามีบทบาทใน “สนามการเมืองใหม่” นี้ สะท้อนให้เห็นกลุ่มผลประโยชน์ที่หลากหลาย เพราะการเมือง หรืออำนาจท้องถิ่นในอดีตมักผูกขาดอยู่ในกลุ่มผลประโยชน์แคบๆ

เช่น ตระกูลใหญ่ในพื้นที่ นักเลง พ่อค้าคนกลาง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พระ ครู ฯลฯ (ดูเพิ่มใน แอนดรู เทอร์ตัน 2533) ที่เป็นกลุ่มอำนาจในท้องถิ่นเดิม ที่ผูกขาดการเข้าถึงทรัพยากรในท้องถิ่น โดยผูกโยงกับข้าราชการและนักการเมืองระดับชาติ ทำให้เกิด “ระบบอุปถัมภ์ที่ขูดรีด”

แต่ในปัจจุบันความเปลี่ยนแปลงได้เห็นการเข้ามาของ “ผู้ประกอบการขนาดเล็ก” ที่ต่างเป็นคน “ใหม่” ที่เข้ามาสู่สนามการเมืองท้องถิ่นด้วยวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน และสร้างสายสัมพันธ์ในหลากหลายเป็นรูปแบบของความเปลี่ยนแปลงในการเมืองท้องถิ่นในระดับที่น่าสนใจ

ไม่เพียงแต่ตัวนักการเมืองท้องถิ่นที่เป็น “คนชั้นกลางในชนบท” หรือ “ผู้ประกอบการขนาดเล็ก” “นายทุนน้อย” แต่ชาวบ้านในชนบทเองก็เป็นผู้ที่มีสำนึกทางการเมือง ที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางท้องถิ่น รวมถึงการที่เขาได้สัมผัสความเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ ของการเมืองท้องถิ่น ที่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้ชนบทไทยอย่างไพศาล และเป็นสิ่งที่ไม่อาจได้จาก “รัฐราชการ” ทำให้ประชาชนในท้องถิ่นเกิดความตื่นตัวทางการเมือง และให้ความสำคัญกับการเมืองท้องถิ่นอย่างมาก

“การเมือง” ในสำนึกของคนชั้นใหม่นี้จึงต้อง “เป็นธรรม” “เท่าเทียม” “เข้าถึง” “เป็นพื้นที่เปิด”รวมถึง “ตรวจสอบ ถ่วงดุล” ได้ ทำให้การเมืองในระดับท้องถิ่นเป็นพื้นที่ที่ “ชาวบ้าน” เข้าไป “เล่น” และกำหนดทิศทางได้ เช่นคำพูดที่ว่า “ไม่พอใจเราก็ไม่เลือก ถ้าแพ้ครั้งหน้าก็เลือกใหม่ได้” และนับวันประชาชนยิ่งสร้างองค์กรเครือข่ายในรูปแบบที่หลากหลายและยืดหยุ่นเพื่อต่อรองกับอำนาจรัฐ และอำนาจทุน ภายใต้ “ระบอบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง” ที่ประชาชนมีอำนาจในการต่อรองเพิ่มมากขึ้นอย่างไพศาล

ในที่นี้อาจสรุปได้ว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีจุดเด่นที่เหนือกว่าองค์กรที่เป็นทางการอื่นๆ คือ เป็นองค์กรที่มีความใกล้ชิดชาวบ้าน ทำให้มีส่วนอย่างสำคัญที่จะขับเคลื่อน และสนองตอบความต้องการของประชาชน และในหลายปีที่ผ่านมานี้ตัวแทนที่เข้าไปมีบทบาทในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีความหลากหลาย และเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก

การเลือกใช้คนของชาวบ้านและควบคุมตัวแทนเข้าไปทำงานของชาวบ้าน มีความสลับซับซ้อนอยู่ภายใต้เงื่อนไขความสัมพันธ์ในหลายๆ มิติ เช่น ความสัมพันธ์เชิงเครือญาติ พวกพ้องเพื่อนฝูง ลูกน้อง-นาย เป็นต้น การเลือกตัวแทนของชาวบ้านสามารถกำหนด และควบคุมคนเหล่านั้นได้ในระดับหนึ่ง

การเข้าใจการเมืองของชาวบ้านจะเป็นการทำลายมายาคติ ที่ว่า “ชาวบ้านถูกซื้อ หรือ โง่ จน เจ็บ เลือกคนไม่เป็น” การเมืองของชาวบ้านในที่นี้จะเป็นเครื่องชี้วัดว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะสามารถพัฒนาเป็นที่พึ่งของประชาชนได้หรือไม่ในอนาคตต่อไปข้างหน้า

การเปลี่ยนแปลงขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นพื้นที่ของประชาชนเกิดภายใต้ความเปลี่ยนแปลง 2 มิติ โดยในมิติแรก เป็นการขับเคลื่อนและเติบโตของภาคประชาชนที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ต้องการปกครองตนเอง อาทิเช่น การรณรงค์ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นต้น (ธเนศวร์ เจริญเมือง 2536)

มิติที่สอง นำมาสู่การเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายเพื่อกระจายอำนาจ ส่งผลให้มีการกำหนดเป็นนโยบายของพรรคการเมืองเพื่อใช้หาเสียงในช่วงกลางทศวรรษที่ 2530 แม้ไม่ประสบผลสำเร็จ แต่ก็ทำให้มีการจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล และมีอิสระในการกำหนดนโยบาย เป็นความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งของการกระจายอำนาจ (นันทวัฒน์ บรมานันท์ 2549)

นำมาสู่การแก้ไข ปรับเปลี่ยนกฎหมายในภายหลังอีกหลายฉบับ ซึ่งเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างการขับเคลื่อนของภาคประชาชน ที่ส่งผลต่อการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สอดรับกับบริบท และเหตุการณ์ พื้นที่ทางการเมืองผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงเกิดขึ้นได้จาก 2 ปัจจัยข้างต้น เอาไว้ต่อคราวหน้าค่อยมาต่อกันครับ

ที่มา.Siam Intelligence Unit
-----------------------------------------------------

ศาล รธน.ไม่มีอำนาจวินิจฉัยร่างแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญที่นำทูลเกล้าฯ !!?

โดยสมลักษณ์ จัดกระบวนพล

 อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาและกรรมการ ป.ป.ช. อาจารย์พิเศษผู้บรรยายวิชาระบบศาล และการพิจารณาคดี (พระธรรมนูญศาลยุติธรรม) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โต้แย้งต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนี้

"ผู้เขียนได้พิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ประกอบเจตนารมณ์ของ ส.ส.ร.ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้ว มีความเห็นโดยสุจริตใจว่า

1.ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม ที่มีการแก้ไขที่มาของสมาชิกวุฒิสภา เพราะว่า เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มีบทบัญญัติไว้เป็นเฉพาะในหมวด 15 มาตรา 291 สรุปได้ว่า การพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมจะต้องมีการพิจารณาโดยที่ประชุมร่วมของทั้ง 2 สภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 136 (16) และไม่มีบทบัญญัติมาตราใดในหมวดนี้ที่บัญญัติให้ทำร่างที่แก้ไขเพิ่มเติมไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบก่อน ก่อนจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ

หากเป็นร่างกฎหมายอื่นที่มิใช่ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หากกฎหมายรัฐธรรมนูญต้องการให้มีการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เช่น ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ กฎหมายรัฐธรรมนูญจะบัญญัติไว้ชัดเจนว่า ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบเสียก่อนภายใน 30 วัน ตามมาตรา 141 หรือกรณีที่เป็นร่าง พรบ.อื่นๆ ในกรณีที่สมาชิกของทั้ง 2 สภาจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนทั้งหมดเห็นว่าร่าง พรบ.ดังกล่าวมีความขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ สามารถเสนอความเห็นต่อประธานรัฐสภา เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่าง พ.ร.บ.นั้น ได้ตามมาตรา 154 วรรค 2

จะเห็นได้ว่ากรณีที่รัฐธรรมนูญต้องการให้ส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ รัฐธรรมนูญจะบัญญัติไว้ชัดเจน ส่วนเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น เนื่องจากรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด การออกแบบกฎหมายรัฐธรรมนูญให้มีรูปร่าง สาระสำคัญ อย่างไร จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจที่จะวินิจฉัยร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของ 40 ส.ว. และ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จึงเป็นกรณีที่ฝ่ายตุลาการก้าวล่วงเข้ามาในอำนาจนิติบัญญัติ ขัดกับหลักการแบ่งแยกอำนาจ เป็นการกระทำผิดรัฐธรรมนูญอย่างเห็นได้ชัด

2.กระบวนการที่ยื่นคำร้องตามมาตรา 68 ไม่ถูกต้อง เพราะไม่ผ่านการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยอัยการสูงสุดก่อนตามมาตรา 68 วรรค 2 เรื่องนี้เป็นประเด็นที่รัฐสภากำลังดำเนินการแก้ไขมาตรา 68 ให้มีความชัดเจนไม่คลุมเครือ เพราะตามเจตนารมณ์ของ ส.ส.ร. ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้บัญญัติเรื่องการใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญไว้ตามมาตรา 68 วรรค 1 ซึ่งเป็นเรื่องการกระทำของบุคคลหรือพรรคการเมือง มิใช่การกระทำของรัฐสภา แต่เมื่อมีบุคคลธรรมดายื่นคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญโดยไม่ผ่านการตรวจสอบของอัยการสูงสุด

ศาลรัฐธรรมนูญก็ตีความแบบขยายความ รับคำร้องจากบุคคลธรรมดา โดยตนเองไม่มีอำนาจ ซึ่งผิดไปจากเจตนารมณ์เดิมของการร่างกฎหมายฉบับนี้เพราะเป็นการนำอำนาจนิติบัญญัติไปให้ฝ่ายตุลาการวินิจฉัย โดยไม่มีบทบัญญํติกำหนดให้อำนาจไว้ในรัฐธรรมนูญ และไม่กระทำตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดโดยไม่ผ่านอัยการสูงสุดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรค 2 เท่ากับศาลรัฐธรรมนูญกระทำผิดรัฐธรรมนูญเสียเอง

3.ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของ 40 ส.ว. และ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์นั้น เกินกำหนดเวลาที่ศาลจะรับไว้พิจารณาแล้ว เพราะนายกรัฐมนตรีได้นำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว เพราะการนำร่างกฎหมายส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญตามมาตรา 141 และ 154 เขียนไว้โดยชัดแจ้งว่า จะต้องดำเนินการ ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ในกรณีร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับนี้ นายกรัฐมนตรีได้นำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยภายใน 120 วันนับแต่ได้รับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจากรัฐสภา ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 150 ครบถ้วนแล้ว ฉะนั้น นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันจึงเป็นผู้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญโดยเคร่งครัดตามมาตรา 281 (7) ประกอบมาตรา 150

4.เป็นคำวินิจฉัยที่คลุมเครือ คือ การที่ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีคำวินิจฉัยว่าผู้ถูกกระทำ กระทำผิดมาตรา 68 วรรค 1 แต่ไม่สั่งให้ผู้ถูกร้องกระทำการแก้ไขอย่างไรตามวรรค 2 เป็นเหตุให้ผู้เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นรัฐสภา, นายกรัฐมนตรี ก็ไม่ทราบจะปฏิบัติอย่างไรต่อไป ซึ่งโดยหลักแล้วเมื่อมีการล้มล้างการปกครองตามวรรค 1 หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่ามีการกระทำดังกล่าวจริง ต้องมีคำสั่งให้เลิกดำเนินการตามวรรค 2 แต่คำวินิจฉัยในเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ปรากฏว่าศาลมิได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ได้แก่ รัฐสภา หรือนายกรัฐมนตรีจะต้องปฏิบัติอย่างไร

5.ไม่มีผลบังคับตามมาตรา 216 วรรค 5 กล่าวคือ เมื่อเป็นการวินิจฉัยโดยศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจที่จะรับคำร้อง จึงเป็นคำวินิจฉัยที่มิชอบด้วยกฎหมาย ถือเป็นโมฆะ ไม่มีผลผูกพันต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลและองค์กรของรัฐอื่นๆ ตามมาตรา 136 วรรค 5

การวินิจฉัยที่ผิดพลาดของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างกว้างขวาง เช่น มีผู้นำคำวินิจฉัยนี้อ้างเพื่อปลุกเร้าอารมณ์ของมวลชน ว่ารัฐบาลหมดความชอบธรรม เพราะไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทั้งๆ ที่เป็นกรณีที่ฝ่ายตุลาการเข้าไปก้าวล่วงนิติบัญญัติ เพราะถ้าศาลมีอำนาจเข้าไปวินิจฉัยเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่ผ่านวาระ 3 ไปแล้ว บุคคลที่ไม่ต้องการให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไม่ว่าฉบับใดๆ ก็จะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบทุกระยะไป ไม่ว่าในวาระ 1 วาระ 2 วาระ 3 ผลแห่งการนี้จึงดูเสมือนว่าศาลรัฐธรรมนูญคุมอำนาจในการร่างหรือการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นอำนาจของรัฐสภาไว้อย่างเบ็ดเสร็จ"

ที่มา:มติชน
------------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2556

สรรพากรเล็ง หมอ-ครูกวดวิชา รายได้สูงแต่เสียภาษีไม่ครบ ชงรัฐบาลใหม่กวาดเข้าระบบ !!

สรรพากรเดินหน้าขยายฐานภาษี พบหลายอาชีพรายได้สูงแต่กรอบคำนวณภาษีไม่ชัด ทำให้เกิดการหลบเลี่ยง จับจ้องกลุ่มแพทย์-แม่ค้า-ครูกวดวิชา-นายหน้าประกัน

นายสุทธิชัย สังขมณี อธิบดีกรมสรรพากรเปิดเผยว่า กรมสรรพากรกำลังพิจารณาขยายฐานภาษีให้ครอบคลุมผู้มีรายในกลุ่มอาชีพอื่นๆ นอกเหนือจากที่มีผู้ยื่นแบบในปัจจุบัน 10 ล้านราย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้อิสระ และที่ยังไม่เข้ามาอยู่ในระบบ ทั้งที่มีรายได้ถึงเกณฑ์หรือตั้งใจจะหลบเลี่ยงภาษีภาษี เพื่อเตรียมเสนอให้รัฐบาลชุดใหม่พิจารณาเห็นชอบต่อไป โดยกลุ่มที่กำลังพิจารณา เช่น กลุ่มแม่ค้า-พ่อค้า ร้านอาหาร ตามตลาดนัด ตลาดสด ซึ่งปัจจุบันบางแห่งได้เสียเงินในรูปแบบค่าธรรมเนียม โดยมีเทศกิจเป็นผู้จัดเก็บเป็นรายวัน ซึ่งกลุ่มนี้ยอมรับว่าค่อนข้างยากเพราะต้องพิจารณาด้วยว่ามีที่ค้าขายเป็น หลักแหล่งอย่างไรและเจ้าหน้าที่สรรพากรเองอาจจะเข้าไม่ถึงคนกลุ่มนี้ จึงอาจต้องหาวิธีประเมินเพื่อจัดเก็บภาษีที่ต่างจากการยื่นแบบปกติ

นายสุทธิชัยกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มแพทย์ ที่อาจมีกรอบรายได้ในการยื่นเสียภาษีไม่ครบถ้วน เพราะหากพิจารณาดูการให้บริการของโรงพยาบาลเอกชนในปัจจุบัน พบว่าทำหน้าที่เหมือนกับอพาร์ตเมนต์ในการให้เช่าบริการทางการแพทย์ ทั้งห้องผู้ป่วย เครื่องมืออุปกรณ์ ห้องผ่าตัด เพื่อจ่ายให้กับแพทย์ผู้มารักษา แต่โรงพยาบาลเหมือนกับทำหน้าที่จำหน่ายยารักษาโรคเท่านั้น ซึ่งอาจเป็นการทำสัญญาระหว่างหมอกับโรงพยาบาล จึงต้องศึกษาแนวทางดูว่าจะเก็บภาษีจากกลุ่มแพทย์อย่างไร นอกจากนั้น ยังมีการตั้งคณะบุคคลขึ้นมากระจายการเสียภาษีออกไปให้ต่ำกว่าความเป็นจริง ด้วย โดยการแก้ไขกฎหมายในเรื่องดังกล่าวยังไม่ผ่านสภาทำให้ปีนี้กรมฯจะเข้มงวดใน การตรวจสอบการยื่นแบบของกลุ่มอาชีพนี้เป็นพิเศษ

นอกจากนั้น กลุ่มที่ให้ความสนใจเป็นพิเศษคือ กลุ่มอาจารย์ที่สอนในโรงเรียนกวดวิชา ที่นับว่าเป็นกลุ่มมีรายได้สูงและพยายามจะเข้าไปตรวจสอบการเสียภาษี แต่ก็ถูกคัดค้านมาโดยตลอด เพราะปัจจุบันโรงเรียนกวดวิชาได้รับการยกเว้นภาษีรายได้จากการประกอบธุรกิจ ด้านการศึกษา ตามกฎหมายของกระทรวงศึกษาธิการ

"การสอนในโรงเรียนกวดวิชาบางแห่งใช้วิดีโอจากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียง เพื่อส่งไปเปิดตามโรงเรียนกวดวิชาต่างจังหวัดด้วยซ้ำ กรมจึงจะเข้าไปดูส่วนของรายได้ของอาจารย์กวดวิชาแทนที่จะดูจากตัวสถาบันกวด วิชาว่ามีการแจ้งเสียภาษีถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ คาดว่าในส่วนนี้น่าทำได้จริงในปีหน้าหลังจากที่กรมพยายามมานาน" นายสุทธิชัยกล่าว และว่า ยังมีกลุ่มตัวแทนนายหน้าขายประกัน แม้ว่าได้จดทะเบียนเป็นคณะบุคคล แต่หากรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีต้องจดทะเบียนเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ยังมีผู้หลีกเลี่ยงด้วยแนวทางต่างๆ จึงต้องหาแนวทางดูแลให้ชัดเจนและครอบคลุมมากขึ้น

ที่มา : นสพ.มติชน
-----------------------------------

เปิดโฉม 61 พรรคการเมือง มีสิทธิส่งส.ส.

โดย : ธวัชชัย อินทรประดิษฐ์

ส่งผู้สมัครชิงเก้าอี้ ส.ส. 2 ก.พ.57

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั่วไป คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดไว้ในวันอาทิตย์ที่ 2 ก.พ.2557 และทางกกต.ได้กำหนดเปิดรับสมัครส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ระหว่างวันที่ 23-27 ธ.ค.นี้ ส่วนส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง รับสมัครระหว่าง วันที่ 28 ธ.ค.- 1 ม.ค. 2557 กำหนดเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 26 ม.ค.

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคเก่าแก่อย่าง "ประชาธิปัตย์" ได้มีมติเอกฉันท์ว่า จะไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง โดยอ้างเหตุผลว่าการเมืองได้อยู่ในภาวะล้มเหลวไม่ต่ำกว่า 8-9 ปี กระบวนการประชาธิปไตยได้ถูกบิดเบือนโดยคนบางกลุ่ม ทำให้ประชาชนขาดศรัทธาระบอบการเมืองและการเลือกตั้ง หากสภาพดำรงต่อไป การเมืองไม่เปลี่ยนแปลง ไม่มีการปฏิรูป ก็จะตกในความขัดแย้งเสี่ยงต่อความรุนแรงและการทุจริตคอร์รัปชัน พรรคจึงต้องการหยุดภาวะการเมืองขณะนี้

แม้พรรคประชาธิปัตย์จะบอยคอตการเลือกตั้ง แต่ "รัฐบาล" ก็ยังยืนยันจะให้มีการจัดเลือกตั้งต่อไป ท่ามกลางความกังวลของ กกต.ที่หวั่นไหวว่าอาจจะเกิดปัญหาความวุ่นวายตามมา

แต่ "กกต." ก็คงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องเดินหน้าจัดการเลือกตั้งต่อไปให้ดีที่สุด

ทั้งนี้ในสารบบพรรคการเมืองไทย เมื่อ"ประชาธิปัตย์"ไม่ลงเลือกตั้ง ก็ยังมีอีกถึง 61 พรรค ที่สามารถส่งผู้สมัครลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.ครั้งนี้ได้

เพราะจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ณ วันที่ 19 ก.ย.2556 พบข้อมูลพรรคการเมืองที่ยังดำเนินกิจการอยู่มีจำนวนทั้งสิ้น 64 พรรคการเมือง ประกอบด้วย

พรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชากรไทย พรรคกิจสังคม พรรคมหาชน พรรคคนขอปลดหนี้ พรรคกสิกรไทย พรรคเพื่อฟ้าดิน พรรคความหวังใหม่ พรรคประชาราช พรรคดำารงไทย พรรคเครือข่ายชาวนาแห่งประเทศไทย พรรคชาติสามัคคี พรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อแผ่นดิน

พรรคชาติพัฒนา พรรคแทนคุณแผ่นดิน พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคอนาคตไทย พรรคธรรมาภิบาลสังคม พรรคมาตุภูมิ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาสันติ พรรคพลังพัฒนา พรรคประชาธรรม พรรคสังคมประชาธิปไตยไทย พรรคไทยรวมพลัง

พรรคพลังคนกีฬา พรรคเสรีนิยม พรรครักประเทศไทย พรรคไทยพอเพียง พรรคประชาสามัคคี พรรคไทยมหารัฐพัฒนา พรรคเพื่อธรรม พรรคบำรุงเมือง พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรครักษ์สันติ พรรคเพื่อประชาชนไทย พรรคพลังชล พรรคสร้างไทย พรรคยางพาราไทย พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคพลังสหกรณ์ พรรคท้องถิ่นไท พรรคพลังเครือข่ายประชาชน

พรรคถิ่นกาขาว พรรคชูชาติไทย พรรคพลังเศรษฐกิจไทย พรรคทวงคืนผืนป่า พรรคพลังอุดร พรรคพลังงานไทย พรรคเพื่อประชาธิปไตย พรรคเสียงประชาชน พรรคพัฒนาคุณภาพชีวิต พรรคไทยถาวร พรรครักไท พรรคชาติประชาธิปไตยก้าวหน้า พรรคเพื่อสันติ พรรคพลังประเทศไทย พรรคไทยรักธรรม พรรคเสรีรวมไทย พรรคอาสาสมัครไทย พรรครักษ์ธรรม พรรครวมพลังไทย พรรคเพื่อชาติ

โดยในจำนวน 64 พรรคการเมืองดังกล่าว มีประชาชนที่สมัครเป็นสมาชิกพรรครวมทั้งสิ้น 5,110,325 คน

พรรคที่มีสมาชิกเกินจำนวนหนึ่ง 100,000 คน มี 4 พรรคการเมือง ประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ มีสมาชิกพรรคมากที่สุดจำนวน 2,890,232 คน ตามด้วย พรรคมหาชน จำนวน 1,182,742 คน พรรคภูมิใจไทย จำนวน 153,950 คน และ พรรคเพื่อไทย จำนวน 117,955 คน

อย่างไรก็ตาม สำหรับพรรคการเมืองที่นายทะเบียนการเมือง รับจดแจ้งจัดตั้งพรรคแล้ว จะต้องดำเนินการตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 26 โดยจะต้องหาสมาชิกพรรคให้ได้ 5,000 คนภายใน 1 ปี นับแต่วันที่นายทะเบียนฯ รับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมือง และต้องมีสาขาพรรคอย่างน้อย 4 สาขา ถ้าไม่เป็นไปตามที่กำหนดนายทะเบียนฯ ก็จะเรื่องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง ที่ไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

และจากข้อมูลพบว่า พรรคการเมืองที่ยังมีสมาชิกพรรคไม่ครบ 5,000 คน ซึ่งต้องดำเนินการภายใน 1 ปี มีจำนวน 19 พรรคการเมือง ประกอบด้วย พรรคชูชาติไทย จดทะเบียนจัดตั้งพรรค เมื่อวันที่ 18 ต.ค.2555 มีสมาชิกพรรคอยู่แค่ 217 คน พรรคพลังเศรษฐกิจไทย จดทะเบียนเมื่อวันที่ 19 ต.ค.2555 มีสมาชิกพรรคอยู่ 1,000 คน

พรรคทวงคืนผืนป่า จดทะเบียนจัดตั้งพรรคเมื่อวันที่ 9 ม.ค.2556 มีสมาชิกพรรค 4,372 คน พรรคพลังอุดร จดทะเบียนพรรคเมื่อ 28 ก.พ.2556 มีสมาชิก 516 คน พรรคพลังงานไทย จดทะเบียน เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2556 มีสมาชิก 18 คน พรรคเพื่อประชาธิปไตย จดทะเบียนเมื่อวันที่ 20 มี.ค.2556 มีสมาชิก 87 คน พรรคเสียงประชาชน จดทะเบียนเมื่อวันที่ 29 มี.ค.2556 มีสมาชิก 15 คน

พรรคพัฒนาคุณภาพชีวิต จดทะเบียนเมื่อ 17 เม.ย.2556 มีสมาชิกพรรรค 20 คน พรรคไทยถาวร จดทะเบียนเมื่อ 1 พ.ค.2556 มีสมาชิก 261 คน พรรครักไท จดทะเบียนเมื่อ 15 พ.ค.2556 มีสมาชิก 28 คน พรรคชาติประชาธิปไตย จดทะเบียนเมื่อ 28 มิ.ย.2556 มีสมาชิก 21 คน พรรคเพื่อสันติ จดทะเบียนเมื่อวันที่ 18 ก.ค.2556 มีสมาชิก 16 คน พรรคพลังประเทศไทย จดทะเบียนเมื่อวันที่ 31 ก.ค.2556 มีสมาชิก 16 คน

พรรคไทยรักธรรม จดทะเบียนเมื่อวันที่ 16 ส.ค.2556 มีสมาชิก 16 คน พรรคเสรีรวมไทย จดทะเบียนเมื่อวันที่ 29 ส.ค.2556 มีสมาชิก 18คน พรรคอาสาสมัครไทย จดทะเบียนเมื่อวันที่ 4 ก.ย.2556 มีสมาชิก 15 คน พรรครักษ์ธรรม จดทะเบียนเมื่อวันที่ 4 ก.ย.2556 มีสมาชิก 15 คน พรรครวมพลังไทย จดทะเบียนเมื่อวันที่ 11 ก.ย.2556 มีสมาชิก 15 คน และ พรรคเพื่อชาติ จดทะเบียนเมื่อวันที่ 18 ก.ย.2556 มีสมาชิก 16 คน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มี 2 พรรคการเมืองคือ พรรคชูชาติไทย กับพรรคพลังเศรษฐกิจไทย อยู่ในข่ายถูกกกต.สั่งยุบพรรค เพราะมีปัญหาไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายได้

ดังนั้น ในการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.2557 จึงมี 61 พรรคการเมืองที่สามารถส่งผู้สมัครลงแข่งขันชิงเก้าอี้ส.ส.ได้

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
////////////////////////////////////////////

วันเสาร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2556

นักการเมืองเลว ต้องโล๊ะ ทิ้ง !!?

การเมืองไทย วันนี้ ชัดเจนแล้วว่า “จบไม่ลง” ดังนั้น ป่วยการที่จะมาถามกันอีกต่อไปว่า จะจบอย่างไร
ถ้าห่วงกันจริงๆต้องถามแค่ว่า สุดท้ายแล้วประเทศชาติ เศรษฐกิจ สังคม จะย่อยยับสักเพียงใดจากการต่อสู้ทางการเมืองในครั้งนี้

เพราะนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ก็ได้ยืนยันด้วยการโพสต์ข้อความในเฟสบุ๊กส่วนตัวแล้วว่า เหตุที่จะต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ก็เพราะ 1. การปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีต้องยึดหลักความรับผิดชอบร่วมกันในการบริหารราชการแผ่นดินและเมื่อมี พรฎ.ยุบสภา ความรับผิดชอบของครม.ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ยังมีต่อไปจนกว่าครม.ชุดใหม่จะเข้ารับหน้าที่ทั้งนี้เพื่อให้มีความต่อเนื่องในการบริหารราชการแผ่นดินอันเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา171 และ 181

2.ในฐานะนายกรัฐมนตรีที่ได้ขอพระราชทานพระบรมราชวินิฉัยการยุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อมีพระราชกฤษฎีกาแล้ว จึงต้องถือว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามพระบรมราชโองการนั้นอย่างสุดความสามารถ คือการให้ความร่วมมือกับ กกต.ในการจัดการเลือกตั้งตามกำหนดในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557

และ3. ทั้งหมดไม่ได้หมายความว่าจะไม่ยอมลาออกหรือยึดติดกับตำแหน่ง และยินดีรับฟังเสียงของประชาชนทั้งเสียงส่วนใหญ่และเสียงส่วนน้อย แต่ทั้งหมดต้องเป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและอยู่ภายใต้หลักนิติรัฐ

ชัดเจนว่าไม่ลาออก แต่จะทำตามโปรดเกล้าฯ พรฏ.ยุบสภา คือ เลือกตั้งใหม่ 2 กุมภาพันธ์ 2557
สอดรับกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ยืนยันเช่นกันว่า อันดับแรก กกต.ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย รัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้งว่าต้องดำเนินการให้มีการเลือกตั้ง เนื่องจากขณะนี้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งส.ส. เป็นการทั่วไป ในวันที่ 2 ก.พ.57
หากไม่ปฏิบัติตามคงไม่ได้

ส่วนที่แต่ละฝ่ายอ้างกันอย่างนั้นอย่างโน้น จริงๆแล้ว กกต. ก็เพียงแต่ระบุว่าหากใครเสนอแนวทางกฎหมายที่สามารถจะให้เลื่อนการเลือกตั้งได้ก็ให้เสนอมายัง กกต. ซึ่งยินดีที่จะรับฟัง เพราะหลายฝ่ายมีการตีความข้อกฎหมายออกไปหลายทาง

หากจะแปลก็น่าจะหมายถึงว่า ตอนนี้สังคมไทยล่อกันสนุกจนเละไปหมดแล้วว่างั้นเถอะ
ทั้งๆที่ กกต. ยืนยันว่าต้องดูตามพระราชกฤษฎีกาที่มีพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย
หากจะให้มีการเลื่อนวันเลือกตั้งนั้น ต้องเป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีที่ต้องนำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯซึ่ง กกต.ไม่มีอำนาจในส่วนนี้

หรืออีกส่วนหนึ่งที่เจอหนักไม่น้อยกว่า กกต. ก็คือ กองทัพ เพราะทั้งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ และกลุ่มผู้ชุมนุม ก็พยายามทุกวิถีทางจะให้ทหารเข้ามาเคลียร์ก็ไม่ยอมทำเสียที แม้แต่จะให้มาเลือกข้าง ก็ไม่ตัสินใจ เลยกลายเป็นเป้ากระสุนตกในแง่ของการวิพากษ์วิจารณ์สารพัด

ซึ่ง พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฎิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) ก็ยังยืนยันว่าใครจะคิดอย่างไรก็ตาม แต่ยังยืนยันว่าเราทำตามหน้าที่ให้การสนับสนุนอย่างมีเหตุผล

“การเลือกตั้งทำได้ก็ดี แต่ถามว่าผมสั่งว่าต้องมีการเลือกตั้งได้หรือไม่ ผมสั่งไม่ได้ เพราะกฎหมายมีอยู่แล้วตามกติกา ส่วนใครจะพอใจหรือไม่พอใจต้องมาพูดคุย ถ้าคุยได้ ก็ไปได้ดี คือ วิน-วิน ได้ประโยชน์”
ส่วนข้อเสนอในการตั้งคนกลางมาดูแลการเลือกตั้ง โดยกองทัพคอยสนับสนุนนั้น พล.อ.ธนะศักดิ์ บอกว่าปกติใครขออะไรมา กองทัพทำให้อยู่แล้ว ถ้าขอมาเป็นช่องทาง เพราะกองทัพถือเป็นกลไกของรัฐ
“แต่ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆเราจะไปทำโน่นทำนี่ จะต้องมีการขอมา ซึ่งผมยังยึดหลักว่า งานที่รับผิดชอบต้องไม่ให้เสีย ต้องเดินหน้าไปเรื่อย ส่วนรายละเอียดทางการเมืองก็ว่ากันไป ที่ผ่านมาถือเป็นเรื่องดีที่ประชาชนออกมาแสดงความเห็นเป็นจำนวนมาก หากใครมีเหตุผลดีก็จะเป็นประโยชน์กับประเทศ”ผบ.สส. ระบุ
เมื่อทิศทางค่อนข้างชัดว่าฝ่ายที่ยึดตามหน้าที่ ตามกฎหมาย ก็พยายามจะเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง ในขณะที่นายสุเทพ กับบรรดาแกนนำ และผู้ชุมนุม ยืนยันว่า จะต้องปฏิรูปก่อน โดยนายกรัฐมนตรีจะต้องลาออก ไม่เช่นนั้นจะคว่ำการเลือกตั้งทุกวิถีทาง

โดยยกเหตุผลว่า ก็รู้ๆ กันอยู่ว่า เลือกตั้งภายใต้กติกาเดิม กกต.แบบเดิม ระบอบทักษิณก็กลับมาใหม่ ปฏิรูปประเทศไม่ได้แน่นอน

แถมปลุกเร้าด้วยการงัดประเด็นที่จุดติดม็อบมาแล้ว คือเรื่อง พรบ.นิรโทษกรรม ว่าหากเขาชนะเลือกตั้งและได้เป็นรัฐบาลสิ่งแรกที่จะทำคือยก ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมขึ้นมาพิจารณา ซึ่งจะทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับบ้านทันที และจะอ้างว่าประชาชนรู้อยู่แล้ว

ฉะนั้นนายสุเทพจึงประกาศให้มวลมหาประชาชนลุกขึ้นต้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทั้งประเทศ

“การต่อสู้ต่อไปนี้ตรงไปตรงมา ชัดเจน คือไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากตำแหน่ง เราจะไล่ทุกวัน ไล่ไม่เลิก ไล่จนกว่าจะไป ไม่ต้องมีกำหนด ไล่เป็นระลอกๆให้ขาดใจตาย ให้เป็นลมไปเลย”
โดยนายสุเทพนัดหมายแสดงพลังขับไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในวันที่ 22 ธ.ค. ชนิดเป็นศึกใหญ่อีกครั้ง

ฉะนั้นเมื่อภาพของแต่ละฝ่ายออกมากันชัดเจนเช่นนี้แล้ว คำว่า “จบไม่ลง”จึงเหมาะสมที่สุด
ปัญหาจึงย้อนกลับมาตกที่สังคมไทย ที่ประชาชนคนไทยทั้ง 67 ล้านคนจะต้องคิดกันอย่างจริงจังว่าในเมื่อทางการเมืองจบไม่ลง แล้วประชาชนที่แท้จริงจะสรุปจบกันอย่างไร???

เพราะต้องยอมรับความเป็นจริงว่า ในคนไทย 67 ล้านคนนั้น แน่นอนว่า จะต้องมีคนที่คลั่งไคล้แต่ละฝ่ายไม่แพ้กันแน่นอน เท่าที่เห็นในตอนนี้ นั่นแปลว่าหากให้ 2 ฝ่ายหาข้อสรุปคงเป็นไปไม่ได้ แถมอาจจะเกิดการปะทะกันได้ทุกเมื่อ เพราะล้วนแต่เพาะบ่มอารมณ์เกลียดชังกันมาเต็มที่

คนกลางๆ ที่ถูกเรียกเป็น “พลังเงียบ”บ้าง เป็น “ไทยเฉย”บ้าง หรือเป็น “ไทยอดทน” เป็น “ไทยเซฟ” ก็แล้วแต่จะว่ากัน หรือเหน็บแนมเสียดสีก็เถอะ บรรดาคนตรงกลางเหล่านี้แหละที่จะต้องตัดสินใจ เพราะแน่นอนว่ามีพลังมากกว่ามวลชนของแต่ละฝ่ายอย่างแน่นอน

คนตรงกลางๆ ที่จะต้องกลางจริงๆ ไม่กลางแบบอีแอบมีใจให้ขั้วใดขั้วหนึ่ง แล้วพยายามแอ๊บอำพราง กลายเป็นกลางแบบเอียงๆ รอจังหวะชัยชนะจะได้เสนอหน้ารับรางวัล อะไรแบบนั้นก็ไม่ถือว่าเป็นคนกลางที่จะแก้ไขวิกฤตคราวนี้ได้

ต้องเป็นคนกลางจริง ที่กล้าออกมานำสังคมไปสู่ข้อยุติให้ได้ เพราะตอนนี้ต่างฝ่ายต่างก็หวาดระแวงกันชนิดสุดลิ่มทิ่มประตู

สุเทพก็ระแวงว่า หาก “เลือกตั้ง” แล้วเพื่อไทยชนะ จะต้องมีการปลุกผีงัดนิรโทษกรรมมาอีก
อีกฝั่งก็ระแวงว่า หากให้ “เทือกตั้ง” อะไรจะการันตีว่าไม่ได้ตั้งซ้ำรอย คตส. ที่เลือกคัดเอาแต่เฉพาะกลุ่มอคติ ชิงชัง เกลียดแค้น มากำหนดกติกา

วันนี้ถึงได้บอกว่า ถึงเวลาที่คนเป็นกลางจริงๆต้องแสดงบทบาท ถ้าหากผู้ใหญ่ คนรุ่นเก่าๆ พากันเลือกข้าง เลือกที่รักมักที่ชัง จนไม่เหลือกลางจริงๆ ก็ต้องให้คนรุ่นใหม่ๆนั่นแหละที่ต้องออกมาแสดงพลัง
ซึ่งชื่อคนรุ่นใหม่ๆ ที่แนะนำเข้ามาที่ บางกอก ทูเดย์ ก็อย่าง หม่อมปลื้ม หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล ลูกชายหม่อมอุ๋ยนั่นแหละ เพราะแม้หม่อมอุ๋ยจะเลือกข้าง ยืนอยู่ฝ่ายเกลียดชังทักษิณ โดยเฉพาะประเด็นนโยบายรับจำนำข้าว ซึ่งหม่อมอุ๋ยสนิทกับบรรดาผู้ส่งออกข้าวมาชั่วชีวิต ก็คงว่ากันไม่ได้

แต่ที่ผ่านมาก็เห็นว่าหม่อมปลื้มมีความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ได้คล้อยตามหม่อมอุ๋ย
แถมเป็นคนรุ่นใหม่ ก็เลยมีคนถามว่า ถ้าออกมาเป็นแกนนำคนตรงกลางจะเหมาะหรือไม่?

และก็มีคนแนะนำชื่อของ สรยุทธ สุทัศนะจินดา เข้ามาด้วยเช่นกัน ซึ่งถามว่าบนหน้าจอช่อง 3 ที่มีแฟนคลับมากมายนั้น หากกล้าจะออกมานำสังคม ดึงพลังคนตรงกลางออกมานั้น ต้องถือว่าทำได้ เพราะหากดูจากที่จัดกิจกรรมรับบริจาคในทุกๆครั้ง ได้กระแสตอบรับมาก

แต่หากเป็นประเด็นการเมือง 2 ขั้วแบบนี้ โอกาสที่ออกมาแล้วจะโดนถล่มมีสูง และเชื่อว่าม็อบนายสุเทพ ไม่เอาแน่ เพราะแค่ยังไม่ได้แสดงพลัง แค่รายงานข่าวยังเจอยกพลไปล้อมไปกดดันแล้วเลย
ฉะนั้นไม่ง่าย แต่ก็ใช่ว่าจะทำไม่ได้ หากประกาศให้ชัดไปเลยว่า ต้องการวัดพลังคนกลางจริงๆ
งานนี้มีลุ้น... ปัญหาอยู่ที่ว่า สรยุทธ จะกล้าเสี่ยงเพื่อปลดล็อกให้ประเทศหรือไม่

การเมืองเลือกข้างในเวลานี้ จึงกดดันและทำให้ทุกอย่างวุ่นวายไปหมด ทั้งๆที่หากสังคมไทยตั้งสติ และมองด้วยสายตาของความเป็นจริงที่ปราศจากอคติแล้ว จะพบว่าความจริงว่า

ไม่ว่านักการเมืองขั้วเพื่อไทย หรือนักการเมืองขั้วประชาธิปัตย์ ก็แหลกเหลวพอกันนั่นแหละ!!!

เพราะฉะนั้น บางกอก ทูเดย์ ถึงได้ยืนยันว่า หากมีการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์เกิดขึ้นได้โดยไม่สะดุด บรรดากลุ่มคนที่คลั่งไคล้แต่ละฝ่ายนั้นก็ปล่อยไปเถอะ เพราะรณรงค์ให้ตายยังไงก็ไม่มีทางไม่เลือกฝ่ายที่ตนเองคลั่งไคล้แน่ๆ

แต่คนกลางๆนี่ต่างหากที่ต้องแสดงพลังให้นักการเมืองที่เหลวแหลกได้รู้ว่า ถ้าพลังประชาชนที่แท้จริง ที่ไม่ใช่มวลมหาประชาชนของใคร ลงคะแนนเลือกใครแล้วนั่นคือ “ฉันทานุมัติบริสุทธ์” ที่ตัดสินให้พรรคทางเลือกใหม่เข้ามาทำหน้าที่

ให้นักการเมืองดีๆ พรรคการเมืองดีๆ ที่ไม่ใช่ขั้วความขัดแย้ง มาช่วยทำให้ปัญหายุติ
2 กุมภาพันธ์ 2557 คนกลางๆต้องกล้าแสดงพลังกันแล้ว

ที่มา.บางกอกทูเดย์
------------------------

อดุลย์ ผบ.ข้าวกล่อง - คำรณวิทย์ แจ๊ด กลับลำ !!?



สมาคมผู้สื่อข่าวย-ชางภาพอาชญากรรมฯตั้งฉายา "อดุลย์"ผบ.ข้าวกล่อง คำรณวิทย์"แจ๊ดกลับลำ "ปิยะ"โฆษกขายยา "ธาริต"นกหวีด...ปรี๊ดแตก

นายไพโรจน์ เทศนิยม นายกสมาคมผู้สื่อข่าวและช่างภาพอาชญากรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สมาคมผู้สื่อข่าวและช่างภาพอาชญากรรมแห่งประเทศไทย ได้มีการประชุมคณะกรรมการบริหาร ประกอบด้วย รองนายกฯ กรรมการ ที่ปรึกษาสมาคมฯ เพื่อหารือกันถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐในรอบปีที่ผ่านมา แล้วมีการตั้งฉายาให้กับองค์กร นายตำรวจและข้าราชการ ที่เป็นข่าวและเป็นที่สนใจของสังคมเพื่อสะท้อนแง่คิด ติชม และยกย่องให้เห็นถึงผลงานที่ผ่านมา

โดยในปีนี้ มีการให้ฉายา องค์กร 1 แห่ง คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และบุคคล 12 ท่าน โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับฉายาว่า เสือกระดาษ เพราะถือว่าเป็นหน่วยงานหลักที่มีการบังคับใช้กฎหมาย เป็นที่น่าเกรงขามต่อผู้กระทำผิดต่างๆ แต่ในช่วงสถานการณ์การชุมนุมของกปปส.นั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้จริงจัง ทำได้เพียงแค่แถลงข่าว เจรจาและตักเตือนไม่ให้มีการกระทำผิด จึงถูกมองว่าการทำงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในช่วงสถานการณ์วิกฤตทางการเมืองนั้น เป็นเพียงเสือกระดาษเท่านั้น

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ได้รับฉายาว่า ผบ.ข้าวกล่อง เพราะว่า ในฐานะที่เป็นผู้นำหน่วยตำรวจที่ต้องรับมือกับสถานการณ์การชุมนุมต่างๆของมวลมหาประชาชนนั้น พล.ต.อ.อดุลย์ ได้ลงพื้นที่ไปดูแลความเรียบร้อยและให้ขวัญกำลังใจกับลูกน้องอย่างใกล้ชิด และเกือบทุกครั้งก็จะร่วมรับประทานอาหารกล่องในพื้นที่การชุมนุมไปพร้อมๆกับตำรวจที่ปฏิบัติงานอยู่ด้วย ถึงแม้ว่าข้าวกล่องดังกล่าวจะถูกตรวจสอบว่าราคาแพงเกินกว่าความเป็นจริงไปก็ตาม

พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น. ได้รับฉายาว่า แจ๊ด...กลับลำ เนื่องจากช่วงสถานการณ์การชุมนุมของ กปปส.ที่นำมวลมหาประชาชนมาประชิดบริเวณทำเนียบรัฐบาลและกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ในฐานะผู้นำหน่วยและควบคุมกำลังเจ้าหน้าที่ได้สั่งให้ตำรวจสกัดกั้นกลุ่มผู้ชุมนุมด้วยการยิงแก๊สน้ำตาใส่หากมีการเข้ามาในพื้นที่หวงห้าม โดยเหตุการณ์ปะทะกันของตำรวจและมวลชนยาวนานถึง 2 วัน และเมื่อเข้าสู่วันที่ 3 นั้น ทุกฝ่ายคิดว่าจะมีการปะทะกันหนักอีก แต่กลับกลายว่าในช่วงเช้านั้นเอง ผบช.น. ได้มีคำสั่งให้หยุดยิง รื้อลวดหนามและแท่งแบริเออร์ออกแล้วให้มวลมหาประชาชนเข้ามาภายในทำเนียบรัฐบาลและบช.น.ได้อย่างง่ายดาย

พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย รอง ผบช.สกพ. และโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับฉายา โฆษกขายยา เพราะการทำงานของพล.ต.ต.ปิยะ ในฐานะโฆษกของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ ศอ.รส.ในช่วงสถานการณ์ม็อบกปปส.ชุมนุมขับไล่รัฐบาลนั้นมีการแถลงข่าวบ่อยครั้งและในทุกๆครั้งก็เป็นการแถลงข่าวที่ไม่มีสาระสำคัญหรือมีประโยชน์ต่อการสร้างความสงบในพื้นที่ แต่กลับเป็นการจุดประเด็นหรือโจมตีฝั่งผู้ชุมนุมจนมีการปิดล้อมสำนักงานตำรวจแห่งชาติบ่อยครั้ง จนทำให้การให้ข่าวหรือแถลงข่าวแต่ละครั้งของพล.ต.ต.ปิยะ เป็นเสมือนโฆษกขายยาที่คั่นรายการหรือฉายภาพยนตร์เท่านั้นเอง

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ได้รับฉายาว่า นกหวีด...ปรี๊ดแตก เพราะช่วงสถานการณ์การชุมนุมของกปปส.นั้นมีการให้มวลชนนำนกหวีดเป่าไล่รัฐบาลและข้าราชการที่อยู่ใต้ระบอบทักษิณ ซึ่งนายธาริต เป็นคนหนึ่งที่ประกาศตัวชัดเจนว่าทำงานให้กับรัฐบาลทั้งๆที่ในอดีตเคยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับแกนนำกปปส.จึงทำให้ถูกเป่านกหวีดใส่ในห้างย่านแจ้งวัฒนะ ทำให้นายธาริต ไม่พอใจออกมาแถลงข่าวให้ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ดีเอสไอจับกุมคนเป่านกหวีดใส่ในฐานะความผิดก่อความรำคาญ ซึ่งสร้างความฮือฮากับแนวคิดดังกล่าวมาก

ร.ต.ต.แชน วรงคไพสิฐ รองหัวหน้าชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด ภ.จว.นราธิวาส ได้รับฉายาว่า ผู้กล้า...บาเจาะ เนื่องจากหมวดแชน หรือ ดาบแชน เป็นนายตำรวจในชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดในพื้นที่มายาวนาน ทำงานด้วยความเสียสละมาอย่างต่อเนื่องจนได้รับการชื่นชมจากสังคมตำรวจ สื่อมวลชนและบุคคลทั่วไป แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ต้องมาเสียชีวิตระหว่างที่มากู้ระเบิดบริเวณบ้านส้มป่อย ต.กาเยาะมาตี อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ซึ่งในครั้งนั้นมีตำรวจที่เสียชีวิตไปพร้อมกับหมวดแชน อีก 2 นาย คือ ร.ต.ต.จรูญ เมฆเรือง และ จ.ส.ต.นิมิตร ดีวงร์

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
---------------------------------

วันศุกร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2556

อนาคต 10 อย่าง ที่กำลังจะหายไป !!?

สวัสดีผู้อ่านทุกกท่าน รายงานข่าวจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากกรุงวอชิงตัน ฉบับนี้เป็นฉบับส่งท้ายปี พ.ศ. 2556 ปีนี้เป็นอีกปีหนึ่งที่มีการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหลายๆ อย่าง ซึ่งเราก็จะพยายามรวบรวมและนำเสนอให้แก่ท่านผู้อ่านอย่างต่อเนื่องให้ได้ติดตามต่อไป

นี้กำลังจะผ่านไป ปีใหม่กำลังจะเริ่มต้นขึ้นเช่นเดียวกันเมื่อมีการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นก็ต้องมีส่วนที่ล้าสมัยและกำลังจะหายไป รายงานข่าววิทยาศาสตร์ฯ ฉบับนี้ ขอนำเสนอบทความชิ้นหนึ่งจากนิตยสาร The Futurist ที่นักอนาคตศาสตร์ได้คาดการณ์ไว้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รูปแบบการดำรงชีวิตที่อาจจะเปลี่ยนแปลงหรือหายไปในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเนื่องจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต นักอนาคตศาสตร์ได้คาดการณ์ไว้อย่างไรบ้าง เชิญติดตามอ่านได้เลยครับ

อันดับที่1. ความเหลื่อมล้ำทางวัฒนธรรม ภาษา และการศึกษา

สมาร์ทโฟนทำให้คนรุ่นใหม่ในปี ค.ศ. 2020 สามารถเข้าถึงข้อ้อมูลข่าวสารได้จากทั่วโลกอย่างทั่วถึง ซึ่งเป็นการศึกษาที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาครูผู้สอน เยาวชนในยุคนั้นจะใช้ภาษาของประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นหลัก เช่น ภาษาอังกฤษและภาษาจีน และจะซึมซับวัตนธรรมที่คล้ายคลึงกัน ทำให้ความเหลื่อมล้ำต่างๆ หายไป แต่ในข้อดีก็มีข้อเสียปนอยู่ นั่นคือ ในปี 2030 ภาษาจำนวน 3 พัน ภาษาจากที่มีอยู่ทั้งหมดในปัจจุบัน 6 พันภาษาจะหายสาบสูญไป รวมถึงคนรุ่นต่อๆ ไปอาจจะไม่มีความเข้าใจและความอดในความแตกต่างด้านวัฒนธรรม



อันดับที่ 2. ระบบการศึกษาในปัจจุบัน

เทคโนโลยีจะลบล้างระบบการศึกษาที่แบ่งกลุ่มนักเรียนตามอายุการเลื่อนระดับชั้นเรียนจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการเรียนรู้ของแต่ละบุคคล นักเรียนจะมีโอกาสในการค้นพบและเลือกสาขาความเชี่ยวชาญได้เร็วขึ้น (เช่นเดียวกับนักกรีฑาในปัจจุบัน ที่นักกรีฑาสามารถเลือกสาขากีฬาที่ตนชอบได้ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก) แม้ว่า การเปลี่ยนแปลงนี้อาจจะฟังดูดี แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ บริษัทผู้นำด้านโทรคมนาคมบางแห่งอาจจะกลายเป็นผู้ควบคุมการศึกษาของคนในอนาคต เพราะพวกเขามีเครื่องมือสื่อสารทั้งหมดอยู่ในมือ



อันดับที่ 3 รูปแบบของสหภาพยุโรป

ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและการค้าในประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปจะแตกต่างไป โดยข้อจำกัดต่างๆ จะถูกทำลายลงและจะมีการปกครองแบบรัฐบาลเดียว สหภาพยุโรปจะกลายเป็นสหรัฐยุโรป (United Europe)และพูดภาษาเดียวกัน

อันดับที่ 4 งาน

ในปี ค.ศ. 2030 งานกว่า 2 พันล้านตำแหน่งจะหายสาบสูญไป เทคโนโลยีที่เป็นปัจจัยสำคัญคือ เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต เทคโนโลยีหุ่นยนต์ เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ เทคโนโลยีการจัดแต่งพันธุกรรม และอื่นๆ อย่างไรก็ตามแม้เทคโนโลยีเหล่านี้จะทำลายงานแบบดั้งเดิม ขณะเดียวกันก็สร้างงานรูปแบบใหม่ๆ ที่เราอาจจะคิดไม่ถึงขึ้นเช่นกัน

อันดับที่ 5 ร้านค้า

ห้างร้านต่างๆ ในปี 2030 จะไม่ใช่ห้างร้านในรูปแบบที่เรารู้จักอีกต่อไป ผู้บริโภคจะใช้อินเตอร์เน็ตในการศึกษาคุณสมบัติ ความสามารถ และราคาของสินค้า จากนั้นก็แวะไปที่ห้างร้านเพื่อทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ซึ่งจะมีเพียงหุ่นยนต์คอยให้บริการ และตอบคำถามพื้นฐานของผู้ที่สนใจ จากนั้นผู้บริโภคก็จะสั่งซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ เมื่อพวกเขากลับถึงบ้าน ก็จะพบกับสินค้าที่เพิ่งสั่งไว้ตั้งรออยู่ที่หน้าประตู



อันดับที่ 6 หมอ

ในปี 2030 เทคโนโลยีจะทำให้การตรวจวินิจฉัยโรคบางอย่างสามารถทำได้เองที่บ้านของคุณ สมาร์ทโฟนและเทคโนโลยี Cloud computing จะสามารถตรวจระดับน้ำตาลระดับออกซิเจน ระดับการเต้นของหัวใจ และอื่นๆ ได้ หุ่นยนต์จะเข้ามาแทนที่แพทย์ผ่าตัด แพทย์จะมีจำนวนน้อยลงและจะต้องเป็นแพทย์ที่มีความสามารถสูงเท่านั้น พวกเขาจะสามารถปฏิบัติงานได้จากทุกแห่งทั่วโลกผ่านระบบควบคุมทางไกล จะมีเพียงบุคคลสำคัญๆ หรือผู้ที่มีความสามารถทางการเงินสูงที่ได้รับสิทธิพิเศษในการรับการรักษาจากแพทย์จริงๆ



อันดับที่ 7 กระดาษ

นอกจากหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และเอกสารต่างๆ ที่พิมพ์ลงบนกระดาษจะหายไปแล้ว ธนบัตรก็จะหายไปด้วย ทุกอย่างจะอยู่ในรูปแบบดิจิตอล โรงพิมพ์จำนวนมากต้องปิดกิจการหนังสือที่เป็นรูปเล่มพิมพ์บนกระดาษแม้จะไม่หายสาบสูญไปโดยสิ้นเชิง แต่ที่จะพบได้จะเป็นหนังสือที่พิมพ์โดย Self-Publishing หรือการจัดพิมพ์ด้วยตนเอง

อันดับที่ 8 ประสบการณ์แบบดั้งเดิมของมนุษย์

ในอนาคตจะไม่มีคำว่า “ข้อมูลส่วนบุคคล” เพราะข้อมูลของเราทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นวันเดือนปีเกิด ประวัติการศึกษาหมายเลขบัตรเครดิต ประวัติการรักษาพยาบาล จะถูกบันทึกและบุคคลอื่นๆ จะสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ต่อไป เราจะขาด “การไตร่ตรอง” เพราะสมาร์ทโฟนและเทคโนโลยีการสื่อสารอื่นๆ ทำให้เราสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ทุกที่ทุกเวลา นอกจากนั้น เทคโนโลยีในอนาคตจะสามารถตรวจรับการรับรู้ต่างๆ ของร่างกายเราได้ เช่น จังหวะการเต้นของหัวใจระหว่างการออกกำลังกาย และคอยให้คำแนะนำว่าเราควรจะหยุดหรือเร่งการออกกำลังกายเทคโนโลยีเหล่านี้จะทำให้เราไม่มีโอกาสที่จะครุ่นคิดและสื่อสารกับร่างกายของเรา “การรอคอย” จะกลายเป็นสิ่งที่เราไม่คุ้นเคย เพราะทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นการฝาก-ถอนเงิน สั่งอาหารจองบัตรโดยสารต่างๆ สามารถทำได้ทันทีผ่านระบบคอมพิวเตอร์ และ เทคโนโลยียังสามารถบอกเราได้อีกว่า ขณะนี้ที่สนามบินมีผู้โดยสารมากน้อยแค่ไหนและเราควรมาถึงสนามบินเวลาใดเพื่อหลีกเลี่ยงการรอคอย นอกจากนั้นเราก็จะไม่ “หลงทาง” เพราะเทคโนโลยีจะคอยบอกตำแหน่งของเราและแนะนำเส้นทางได้อยู่ตลอดเวลา

อันดับที่ 9 สมาร์ทโฟน

เทคโนโลยีทุกวันนี้มีอายุสั้น สมาร์ทโฟนเองก็จะกลายเป็นเทคโนโลยีล้าสมัยในอนาคตอันใกล้เช่นกัน เทคโนโลยีในยุคต่อไปจะเป็นเทคโนโลยีที่สามารถสวมใส่ได้ เช่นที่เราได้เห็นกันเมื่อไม่นานที่ผ่านมา คือ Google glasses ยิ่งไปกว่านั้นเราเตรียมบอกลาคีย์บอร์ดหรือเม้าส์ไปได้เลย นักอนาคตได้คาดการณ์ไว้ถึงเทคโนโลยีที่จะเป็นที่นิยมในอนาคต คือ Intelligent Web (2017 – 2020), Intelligent Interface และ Virtual Reality (2019 – 2023), Thought power และ AI หรือ Artificial Intelligence (2024 – 2031)



อันดับที่10 ความไม่ปลอดภัย

ต่อไปเราจะไม่มีอุบัติเหตุบนถนน เพราะยานพาหนะจะสามารถสื่อสารกันได้และหลีกเลี่ยงการปะทะกันได้การโจรกรรมจะสิ้นสุดลง เพราะของมีค่าทุกอย่างจะถูกติดตั้งเครื่องมือติดตามตัว ซึ่งจะมีขนาดเท่ากับอนุภาคเล็กๆที่สามารถใส่ไว้กับวัสดุใดก็ได้
ที่มา
สำนักงานที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน
http://ostc.thaiembdc.org/13th/?p=1577
----------------------------------

วิเคราะห์ : จังหวะก้าวขวางการเลือกตั้ง ของ กปปส.- ปชป

จังหวะก้าวทางการเมืองที่กำลังเดินไปสู่การ "คัดค้านการเลือกตั้ง" ตามที่คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ได้ประกาศไว้ ถูกเพ่งมองจากนักวิชาการหลายคนว่าอาจเป็นเกมเสี่ยงของทั้ง กปปส. และพรรคประชาธิปัตย์ที่ยังไม่แสดงท่าทีชัดๆ ว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่

เป็นความเสี่ยงที่อาจส่งผลลึกล้ำทั้งๆ ที่ยังถือธงนำเรื่องการปฏิรูปประเทศและปฏิรูปการเมืองอยู่!

เพราะแม้การเลือกตั้งจะไม่ใช่ทั้งหมดของประชาธิปไตย แต่การเคลื่อนไหวขัดขวางการเลือกตั้งย่อมอธิบายให้เข้าใจได้ยากว่าเป็นแนวทางที่ไม่ได้สวนทางกับหลักการประชาธิปไตยอย่างไร เห็นได้จากความสับสนมึนงงของตัวแทนสถานเอกอัครราชทูต 2 ประเทศที่ไปพบปะกับแกนนำ กปปส.เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา...

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มองว่า การเคลื่อนไหวของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และ กปปส.ด้วยการจะทำทุกวิถีทางไม่ให้มีการเลือกตั้ง คือการทำลายความชอบธรรมการเคลื่อนไหวของ กปปส.เอง เพราะประชาชนโดยทั่วไปที่เข้าร่วมชุมนุมกับ กปปส. ไม่ว่าจะเป็น 24 พ.ย. หรือ 9 ธ.ค. (การนัดชุมนุมใหญ่ 2 ครั้งล่าสุด) ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ทำลายระบอบประชาธิปไตย เพียงแต่มองว่ารัฐบาลได้กระทำผิดพลาดหลายประการจนไม่สามารถยอมรับได้

"สถานการณ์ในวันที่ 9 ธ.ค.เป็นการทำลายความชอบธรรมแผนยื้อบนท้องถนนของคุณสุเทพและ กปปส.ลงไปมาก ทั้งการตัดสินใจยุบสภาของนายกรัฐมนตรี และการเปิดประตูสถานที่ราชการให้เข้าได้ตามสบาย ทำให้ประเด็นของการชุมนุมเพื่อขับไล่อะไรก็ไม่รู้ลดระดับของความสำคัญลงไป ด้วยเหตุนี้แกนนำ กปปส.จึงไม่มีทางออกทางอื่น จะปล่อยให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะการเลือกตั้งนั้นจะทำให้แกนนำ กปปส.หมดอำนาจทางการเมืองไปทันที เพราะการเลือกตั้งจะกลายเป็นความชอบธรรมทางการเมืองที่สำคัญ"

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ วิเคราะห์ต่อว่า นายสุเทพและคณะได้ทิ้งไพ่สำหรับการเลือกตั้งจนหมดหน้าตักไปแล้ว ถ้าการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.57 เกิดขึ้นได้จริงๆ กลุ่มของนายสุเทพจะกลายเป็นประวัติศาสตร์ไปเลย คือหมดบทบาททางการเมืองไป

"ตอนนี้ก็เหลือเพียงพรรคประชาธิปัตย์นำโดย คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าจะเลือกเส้นทางไหน ระหว่างการร่วมรณรงค์บนท้องถนนกับคุณสุเทพ กับการกลับเข้าสู่กระบวนการรัฐสภาด้วยการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส่วนตัวค่อนข้างเห็นปัจจัยที่สำคัญว่าพรรคประชาธิปัตย์จะลงสมัครรับเลือกตั้ง เพราะการพลาดการเลือกตั้งครั้งนี้มีความหมายว่า หากการเลือกตั้งดำเนินต่อไป พรรคประชาธิปัตย์จะหมดบทบาทในระบบการเมืองแบบรัฐสภาทันที"

"เท่ากับว่าพรรคประชาธิปัตย์จะกลายเป็นพรรคที่ไม่มีพื้นที่ทางการเมืองในปีหน้า จะต้องเล่นการเมืองบนท้องถนนรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งกระแสสังคมคงพลิกกลับทันที หากปีหน้าพรรคประชาธิปัตย์กลับมาเล่นการเมืองบนท้องถนนอย่างไรเหตุผล ก็จะกลายเป็นคนพาลในระบอบประชาธิปไตยทันที"

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวด้วยว่า เครือข่ายของนายสุเทพต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์เล่นตามเกมของตน คือเกมบนท้องถนน ซึ่งจะทำให้นายสุเทพไม่ถูกโดดเดี่ยวทางการเมือง เพราะยิ่งใกล้วันเลือกตั้ง นายสุเทพก็จะยิ่งถูกโดดเดี่ยว ทั้งด้านเงินทุนในการชุมนุมและอื่นๆ เพราะกลุ่มธุรกิจที่สนับสนุนนายสุเทพ นอกเหนือจากความชอบส่วนตัวแล้ว การจะทำให้ภาคธุรกิจเห็นด้วยกับการสร้างความปั่นป่วนในกรุงเทพฯช่วงไฮซีซั่นของภาคธุรกิจ คงจะต้องคิดหนัก

"ผมคิดว่าต้องจับตาพรรคประชาธิปัตย์ว่าจะมองอนาคตของพรรคอย่างไร เป็นเรื่องที่พรรคต้องตัดสินใจ" ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ ระบุ

นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ ประเมินสถานการณ์คล้ายๆ กันว่า การเลื่อนการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.57 เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว กปปส.ต้องเข้าใจว่ามีคนอีกเป็นจำนวนมากที่ต้องการไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง การที่จะมีกระบวนการซึ่งนำไปสู่การเลื่อนการเลือกตั้งด้วยวิธีแบบที่ กปปส.จะทำ จึงไม่เป็นธรรมกับประชาชนที่ต้องการไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ วิธีการที่ กปปส.จะทำให้เลื่อนการเลือกตั้งหรือไม่ให้เกิดการเลือกตั้งมีอยู่ไม่กี่อย่าง เช่น ไปกดดันให้ กกต.ลาออก 3 ใน 5 หรือไปล้อมสถานที่รับสมัคร เพื่อไม่ให้สมัครรับเลือกตั้งได้ แต่ไม่ว่า กปปส.จะใช้ทางไหน ก็เป็นแนวทางหรือการต่อสู้ทางการเมืองที่เลยกรอบสันติวิธีและไม่มีความชอบธรรม

"ส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของ กปปส.ที่จะให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง เพราะความหมายของคำว่าปฏิรูป ตอนนี้แต่ละกลุ่มยังนิยามและมีความเข้าใจที่แตกต่างกัน แต่ไม่ว่าจะความหมายไหน ปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ หรือเรื่องใดก็ตาม จำเป็นต้องใช้เวลา ฉะนั้นการเอาการเลือกตั้งที่ถือเป็นการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยไปโยงกับเรื่องปฏิรูปซึ่งเป็นเรื่องระยะยาว อาจจะเป็น 10 ปี จึงไม่ถูกต้อง และผลที่จะเกิดขึ้นคือการไม่มีการเลือกตั้งไปโดยปริยาย การเลือกตั้งก็จะถูกเลื่อนไปเรื่อยๆ"

นายศิโรตม์ บอกด้วยว่า ทางออกที่มองเห็นในขณะนี้คือการเลือกตั้ง แต่ว่าเลือกตั้งอย่างไรแล้วจะนำไปสู่การปฏิรูป เป็นเรื่องที่ต้องคุยกัน เช่น เมื่อมีการเลือกตั้งแล้ว ต้องมีการลงสัตยาบันว่าจะทำการปฏิรูป ซึ่งแนวทางนี้เป็นทางออกที่น่าจะดีที่สุดกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ขณะ นายเอกชัย ไชยนุวัติ รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า มีเพียง 2 ปัจจัยที่จะทำให้การเลือกตั้งไม่เกิดขึ้น หนึ่ง คือ การรัฐประหาร และ สอง คือ การเสียชีวิตเป็นจำนวนมากของประชาชน ซึ่งจะนำไปสู่รัฐประหาร แต่ปัจจัยที่ 2 ตอนนี้ไม่เกิด เพราะรัฐบาลตัดสินใจไม่ใช้ความรุนแรงกับประชาชน หมายความว่าแทนที่จะใช้ความรุนแรง แต่รัฐบาลกลับเปิดทางให้หมดเลย ดังนั้นการเดินขบวนในวันที่ 22 ธ.ค.นั้นสามารถทำได้ แต่จะนำไปสู่ผลตามที่ผู้เดินขบวนหวังหรือไม่ คงตอบยาก

"การเลือกตั้งคือวิธีการยุติและแก้ไขความขัดแย้งด้วยสันติวิธี หากมีการเลื่อนการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.57 ออกไป ต้องถามกลับว่าการเลือกตั้งในวันนั้นจะทำให้ฝ่ายใดเสียเปรียบ และเป็นการทำตามกฎหมายหรือไม่ เราจะเอาปัญหามาตั้ง แล้วเอากฎหมายมาปรับไม่ได้ ต้องเอาข้อเท็จจริงมาตั้ง แล้วใช้กฎหมายไปตามหลักการ

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////