--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

คุณคัดค้านนิรโทษกรรมแบบไหน !!?

สัปดาห์นี้ใครๆ ก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ต้องออกมาคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หลายคนตัดสินใจออกมาชุมนุมกับกลุ่มต่างๆ มีไม่น้อยที่แสดงออกผ่านทางโซเชียลมีเดียโดยเปลี่ยนภาพในเฟซบุคขึ้นข้อความ “คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม” บรรยากาศการเมืองในจังหวะนี้ เรียกได้ว่า แม้แต่คนที่คิดต่างกันเรื่องการเมืองตลอดมา ต่างก็หันมาพูดเรื่องเดียวกัน
 
อย่างไรก็ดี ภายใต้การคัดค้านเหมือนกัน ทว่าเหตุผลของแต่ละฝ่ายก็แตกต่างกันอยู่มาก
 
“จุดพีค” ของเรื่องนี้เกิดตอนตีสี่ของวันศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2556 เมื่อสภาผู้แทนราษฎรเร่งผ่านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับที่กรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ด้วยคะแนนเสียง 310 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง โดยที่ส.ส.ฝ่ายค้านพากันวอล์คเอาท์จากที่ประชุม
 
ปัญหาสำคัญของเรื่องอยู่ที่มาตรา 3 ของร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ที่เปลี่ยนแปลงไปจากหลักการที่ให้ไว้ในการประชุมวาระแรก เพราะในวาระแรกสภาผู้แทนฯ รับหลักการร่างกฎหมายที่มีใจความสำคัญว่าจะเป็นกฎหมายที่นิรโทษกรรมให้แก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมือง ทว่า เมื่อร่างผ่านการแก้ไขจากกรรมาธิการ เนื้อหาก็ถูกเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพิ่มเติมการนิรโทษกรรมให้กับบุคคลอีกหลายกลุ่ม ดังที่เรียกกันว่าเป็น พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับ “เหมาเข่ง” 
 
 
ก่อนกรรมาธิการหลังกรรมาธิการ

มาตรา 3 ให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่กระทำการนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใด เพื่อเรียกร้องให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือการชุมนุม การประท้วง หรือการแสดงออกด้วยวิธีการใดๆ อันอาจเป็นการกระทบต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 ไม่เป็นความผิดต่อไป และให้การนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง
 
การกระทำในวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำใดๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจหรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าว
มาตรา 3 ให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่กระทำการนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใด เพื่อเรียกร้องให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือการชุมนุมการประท้วง หรือการแสดงออกด้วยวิธีการใดๆ อันอาจเป็นการกระทบต่อชีวิตร่างกาย อนามัย ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่ หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่19 กันยายน 2549 รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมาที่เกิดขึ้นระหว่างพ.2547 ถึงวันที่10 พฤษภาคม 2554 ไม่เป็นความผิดต่อไปและให้การนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำ 8สิงหาคม .. 2556 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำการในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากวามผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง
การกระทำในตามวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำใดๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจหรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าวผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
 
ร่าง พ.ร.บ.เหมาเข่งจึงนำมาสู่กระแสคัดค้านของมวลชนหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มมีจุดยืนการคัดค้านที่แตกต่างกัน ลองสำรวจตัวคุณเองว่า คุณเชื่อแบบไหน และสอดคล้องกับกลุ่มใด
 
 ค้านนิรโทษกรรมให้ผู้สั่งการฆ่าประชาชน และแกนนำ
แม้ตอนแรกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับที่นายวรชัย เหมะ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เสนอเข้าสู่สภาจะมีวรรคหนึ่งเขียนย้ำว่า การนิรโทษกรรมนี้ “ไม่รวมถึง” การกระทำใดๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจหรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งหมายความว่าจะไม่รวมถึงอดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือทหารผู้มีอำนาจสั่งการในเหตุการณ์สลายการชุมนุม และไม่รวมถึงแกนนำสีเสื้อต่างๆ แต่ปรากฏว่าเนื้อหาส่วนนี้ถูกแก้จากหน้ามือเป็นหลังมือ จากเดิมที่เขียนว่า “ไม่” นิรโทษกรรม ก็แก้ไขเป็น “ให้” นิรโทษกรรม
 
กลุ่มที่คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เพราะไม่เห็นด้วยที่จะนิรโทษกรรมให้ผู้สั่งการให้ล้อมปราบและใช้อาวุธกับประชาชน เช่น กลุ่มวันอาทิตย์สีแดง ซึ่งนำโดย บ.ก.ลายจุด, คณะนิติราษฎร์, บางส่วนของกลุ่มญาติผู้เสียหายฯ จากเหตุการณ์ปี 53, นักศึกษากลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย, เครือข่ายกล้าคิด ซึ่งประกอบด้วยนักกิจกรรมนักศึกษาจาก7 สถาบันการศึกษา ภาคใต้, องค์การนักศึกษาและสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, คณะผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กลุ่มแดงเสรีชนอิสระ (คนเสื้อแดงกลุ่มจากเชียงใหม่-ลำพูน), สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน, ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.), เครือข่ายนักวิชาการรับใช้สังคมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) 
 
ค้านนิรโทษกรรม ไม่เอาทักษิณ
ก่อนหน้านี้ ในสังคมไทยมีข้อเสนอต่อร่างกฎหมายสองแบบ คือร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ และร่าง พ.ร.บ.การปรองดองฯ เนื้อหาสำนวนการเขียนกฎหมายของสองเรื่องค่อนข้างคล้ายคลึงกัน แต่ความต่างของสองเรื่องนี้คือ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เน้นการยกเว้นความผิดให้คนจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ มีลักษณะเหมาเข่งที่ให้นิรโทษกรรมให้ทุกฝ่ายตั้งแต่เริ่มต้นวิกฤติความขัดแย้งทางการเมือง รวมถึงนิรโทษกรรมให้ในคดีทุจริตของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีด้วย ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.การปรองดองฯ ยังไม่เคยถูกสภาหยิบมาพิจารณา
 
เมื่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เข้าสภา แม้ในวาระรับหลักการจะเน้นที่การนิรโทษกรรมให้ประชาชน แต่เมื่อเข้าสู่ชั้นกรรมาธิการแล้ว ได้มีการคัดลอกข้อความจากร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ เข้ามา โดยเขียนว่า "บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ให้พ้นจากความผิดได้"
 
ความหมายของประโยคนี้ ส่งผลให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งถูกดำเนินคดีโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งตั้งขึ้นโดยคณะรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 และต่อมาถูกศาลฎีกาแผนกคดีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินว่ามีความผิดฐานทุจริตคอรัปชั่น พ้นจากความรับผิดไปด้วย
 
กลุ่มที่ออกมาค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ด้วยเหตุผลเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน เช่น องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันประเทศไทย, คณาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งนำโดยอธิการบดี, สภาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, เครือข่าย มอ.รักชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่, กลุ่มรวมพลคนรักชาติ เมืองช้าง จังหวัดสุรินทร์, ม็อบสามเสน ซึ่งนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มที่เกี่ยวข้อง เช่น กลุ่มนักธุรกิจย่านสีลม กลุ่มคนจันท์รักชาติ, กลุ่มแดงเสรีชนอิสระ (คนเสื้อแดงกลุ่มจากเชียงใหม่-ลำพูน), คณะผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เครือข่ายนักวิชาการรับใช้สังคมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา, คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.), คณาจารย์และบุคลากร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย จาก 24 สถาบันการศึกษา
 
 
ค้านนิรโทษทักษิณ ให้ทักษิณกลับมาสู้คดีตามปกติ
นอกจากนี้ ยังมีบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมให้กับบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 แต่มีเหตุผลในรายละเอียดต่างกัน เช่น คณะนิติราษฎร์ เพราะเแม้คณะนิติราษฎร์เคยเสนอไว้ว่า ต้องลบล้างผลหรือมติที่เกิดขึ้นจากองค์กรที่ตั้งขึ้นโดยคณะรัฐประหาร แต่คณะนิติราษฎร์เห็นว่า เรื่องดังกล่าวอยู่ในแนวทางแก้ไขเพื่อลบล้างผลพวงของการรัฐประหารซึ่งต้องแก้เป็นระบบ ไม่ใช่การแต่งเติมมาอยู่ในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ซึ่งเป็นคนละประเด็นกัน ทั้งนี้ กลุ่มที่สนับสนุนแนวคิดนี้ร่วมกับคณะนิติราษฎร์ เช่น ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.)
 
 
 
 
 
 
นิรโทษกรรม อย่าลืมคดี 112 
ช่วงแรกของข้อเสนอเรื่องร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ จะมีข้อถกเถียงที่ตีความกันอย่างมากว่า นิยามของคำว่า ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมืองนั้น จะรวมถึงผู้ต้องหาในคดีมาตรา 112 ว่าด้วยการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ด้วยหรือไม่ สุดท้าย ร่างที่ผ่านออกมานั้น พรรคเพื่อไทยซึ่งมีเสียงข้างมากเล่นบทปลอดภัยไว้ก่อนโดยการพยายามแสดงตัวว่าจะไม่ข้องเกี่ยวกับคดีมาตรา 112 และระบุเอาไว้อย่างชัดเจนในร่างเลยว่า การนิรโทษกรรมครั้งนี้ ไม่รวมถึงคดีมาตรา 112
 
ประเด็นนี้นำมาสู่เสียงค้านของนักเคลื่อนไหวและนักวิชาการจำนวนหนึ่ง เพราะเห็นว่าคดีมาตรา 112 จำนวนมากเป็นผลจากการแสดงออกจากความขัดแย้งทางการเมืองอย่างชัดเจนโดยไม่จำเป็นต้องตีความ กลุ่มที่แสดงท่าทีชัดเจนออกมาคัดค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เพราะเลือกปฏิบัติ ไม่รวมคดีมาตรา 112 เช่น คณะนิติราษฎร์, เครือข่ายกล้าคิด (กลุ่มนักกิจกรรมนักศึกษาจาก7สถาบันการศึกษา ภาคใต้), นักศึกษากลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย 
 
 
ค้านนิรโทษกรรม เสื้อแดงเผาบ้านเผาเมือง
ใจความหลักของการนิรโทษกรรมครั้งนี้ คือการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ชุมนุมไม่ว่าสีเสื้อใด ซึ่งจะส่งผลให้ทั้งผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่มีคดีปิดสนามบิน ประชาชนที่ออกมาชุมนุมทั่วประเทศในปี 2553 และอีกหลายๆ เหตุการณ์ ได้รับอานิสงส์จากการนิรโทษกรรมไปด้วย 
 
แต่ยังมีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่ต้องการเห็นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ มีผลให้นิรโทษกรรมแก่ประชาชนที่ออกมาชุมนุมในเหตุการณ์เมื่อปี 2553 โดยเห็นว่าเป็นพวกเผาบ้านเผาเมือง กลุ่มที่คัดค้านนิรโทษกรรมในลักษณะนี้ ปรากฏให้เห็นได้ในบางส่วนของการปราศรัยที่ม็อบสามเสน, กลุ่มรวมพลคนรักชาติ เมืองช้าง จังหวัดสุรินทร์ รวมถึงบางส่วนของการปราศรัยในม็อบของพรรคประชาธิปัตย์ตามจังหวัดต่างๆ 
 
 
ค้านนิรโทษกรรม เกลียดนักการเมืองในสภา
ด้วยโอกาสของการปฏิบัติหน้าที่กับความอุบาทว์ของเหล่านักการเมืองเสียงข้างมากในสภาอันทรงเกียรติ ที่เร่งผ่านกฎหมายโดยไม่ฟังเสียงประชาชน ส่วนฝ่ายค้านเองก็มีเสียงไม่พอที่จะไปสร้างแรงถ่วงดุลอะไรได้ ผลการปฏิบัติงานครั้งนี้จึงนำมาสู่กระแสลุกฮือของมวลชน ที่ใช้เรื่องการค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ มาเป็นสัญลักษณ์ในการต่อต้านรัฐบาล 
กลุ่มที่มีจุดยืนลักษณะนี้ เช่น กลุ่มนักวิชาการประชาชนหาดใหญ่, แฟตเรดิโอ
 
การแก้ไขเนื้อหาร่างแล้วรวบรัดผ่านกฎหมายอย่างน่าแปลกประหลาดของส.ส.พรรคเพื่อไทยครั้งนี้ สร้างกระแส “คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ” ให้ลุกขึ้นอย่างมีนัยสำคัญบนถนนประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยเกมนี้คนใส่สูทในสภามีประชาชนที่นอนอยู่ในคุกเป็นตัวประกัน น่าหวั่นเป็นอย่างยิ่งว่า กระแสการคัดค้านเกมการเมืองเรื่องนิรโทษกรรมครั้งนี้ จะทำให้การเรียกร้องหาความจริง และการเรียกร้องอิสรภาพของ “นักโทษการเมือง” จำนวนมากอันเป็นสาระสำคัญของเรื่องการนิรโทษกรรม กลายเป็นเสียงที่ริบหรี่ กว่าเสียงใดๆ
 
ที่มา.http://ilaw.or.th/
/////////////////////////////////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

สรรพากร ปิ๊งไอเดีย เก็บภาษีแอพพ์มือถือ !!?

สรรพากรอินเทรนด์สุดสุด สั่งศึกษาหาช่องเก็บภาษีอัพโหลดแอพพ์มือถือ ชี้แนวโน้มมูลค่าตลาดสูง บ่นอุบแบงก์ไม่ให้ความร่วมมือ ปิดบังข้อมูลลูกค้า ทำไล่บี้ดึงเข้าระบบเสียภาษีลำบาก ′ไพร้ซฯ′ระบุทำยาก ชี้คนทำแอพพ์อยู่นอกประเทศ มีอนุสัญญาภาษีซ้อนขวางอยู่

นายสุทธิชัย สังขมณี อธิบดีกรมสรรพากรเปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้สำนักแผนภาษีไปศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีที่เกี่ยวกับธุรกิจ การอัพโหลดแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ เพราะเห็นว่าเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าการตลาดสูง และมีแนวโน้มที่จะสร้างมูลค่าการตลาดเพิ่มขึ้นได้อีกมาก ซึ่งจะเป็นหนึ่งในช่องทางเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ เพราะในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 กรมจัดเก็บรายได้อย่างศุลกากรและสรรพสามิตจะมีบทบาทน้อยลง กรมสรรพากรต้องเพิ่มบทบาทและเป็นกรมหลักในอนาคตข้างหน้า

นายสุทธิชัยกล่าวว่า แผนการจัดเก็บภาษีจากธุรกิจการให้บริการแอพพลิเคชั่น ถือเป็นหนึ่งในแนวทางการจัดเก็บภาษีจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ซึ่งมีแนวโน้มรายได้ที่จะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจซื้อขายผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ซึ่งมีมูลค่าสูงมาก แต่ยังไม่ได้มีการแสดงรายการเสียภาษีอย่างถูกต้อง โดยขณะนี้กำลังดูว่าธุรกิจดังกล่าวมีการเสียภาษีในรูปแบบใดได้บ้าง เพราะผู้ให้บริการส่วนใหญ่อยู่ต่างประเทศ การเก็บภาษีจะมีความยาก โดยจะต้องหารือกันในเวทีสัมมนาในต่างประเทศ ซึ่งไทยจะยกขึ้นเป็นประเด็นเพื่อหารือด้วย เพราะในสหรัฐอเมริกาเองก็มีการจัดเก็บภาษีดังกล่าวแล้ว แต่ต้องหารูปแบบที่เหมาะสมกับไทย

"ผมเข้ามารับตำแหน่งในช่วงที่กรมสรรพากรมีปัญหาเรื่องการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากการส่งออกเท็จ จึงต้องพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ในการพัฒนาองค์กรให้มีภาพลักษณ์ที่ก่อให้เกิดความมั่นใจในการเสียภาษี ปรับปรุงให้ประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี โดยการปรับปรุงกฎหมายภาษีอากรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่และ การเข้าสู่เออีซีถือเป็นโจทย์สำคัญ" นายสุทธิชัยกล่าว

นายสุทธิชัยกล่าวว่า ขณะนี้กรมสรรพากรกำลังทำวิจัยว่า การปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% มาเป็น 23% และจะเหลือ 20% นั้นผลตอบรับเป็นอย่างไร ผู้ประกอบการตื่นตัวกับรายได้ที่เปลี่ยนไปหรือไม่ มีการแสดงรายได้ตามข้อเท็จจริงหรือยังมีการหลบเลี่ยงรายได้อยู่ ซึ่งในส่วนของคนที่หลบ แล้วไม่แสดงรายได้ที่แท้จริง จะใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มงวด

"ขณะนี้เราไม่ทราบว่า คนที่ยื่นแสดงรายได้กี่เปอร์เซ็นต์ของรายได้แท้จริง ถ้าเราตั้งเป้าจะแข่งขันกับประเทศสิงคโปร์ พัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงินและการชำระเงิน และเป็นประเทศที่มีคอร์รัปชั่นน้อย เพราะมีทุกคนแสดงรายได้ที่ชัดเจน ไม่มีใต้โต๊ะ ซึ่งทุกคนต้องร่วมมือกัน แต่ปัจจุบัน เราจะเห็นได้ว่า ธนาคารไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลทางการเงินของลูกค้า เพราะกลัวสูญเสียลูกค้า แต่ที่สหรัฐอเมริกามีกฎหมายบังคับ ซึ่งถ้าเราไม่ช่วยกัน เราจะทำประเทศให้โปร่งใสยาก" นายสุทธิชัยกล่าว

นายพีรพัฒน์ โปษยานนท์ หุ้นส่วนในบริษัท ไพร้ซ วอเตอร์เฮ้าส์ คูเปอร์ส ประเทศไทยกล่าวว่า การจัดเก็บภาษีบนธุรกรรมการอัพโหลดแอพพลิเคชั่นนั้น จะต้องมีการหารือในวงกว้าง เพราะธุรกรรมเกิดขึ้นในประเทศ แต่ผู้ให้บริการอยู่ต่างประเทศ ซึ่งปกติแล้วอนุสัญญาภาษีซ้อนจะครอบคลุมเฉพาะการจัดเก็บภาษีบนฐานรายได้ แต่ฐานการบริโภคดังกล่าวนั้น ยังไม่มีข้อตกลงระหว่างกัน

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
------------------------------------

ลือ ล็อบบี้ ส.ว.ผ่านร่าง ก.ม.นิรโทษกรรม !!?

ไพบูลย์ นิติตะวัน ปูดรัฐเดินเกมล็อบบี้ส.ว.ให้รีบผ่านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม หวังปิดจ๊อบทันสมัยประชุมนี้

สมาชิกวุฒิสภากลุ่ม 40 ส.ว. ระบุว่าเริ่มมีความพยายามล็อบบี้จากทางฝั่งรัฐบาลเพื่อให้วุฒิสภาเร่งผ่านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ... หรือร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ให้ทันก่อนปิดสมัยประชุมรัฐสภาปลายเดือนนี้ หลังจากร่าง พ.ร.บ.ผ่านการลงมติวาระ 3 จากสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา

นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ส.ว.ชลบุรี ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) กล่าวเมื่อวานนี้ (2 พ.ย.) ว่า ในการประชุมวิปวุฒิสภาวันที่ 6 พ.ย. จะมีการพิจารณาการบรรจุร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมวุฒิสภา โดยจะเชิญนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เข้าให้ข้อมูลด้วย

นอกจากนั้น รัฐบาลยังได้ส่ง พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี และ นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ร่วมชี้แจงต่อวิปวุฒิสภาหากมีประเด็นซักถาม สำหรับขั้นตอนดังกล่าวคาดว่าจะใชัเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง จากนั้นวิปวุฒิสภาจะหารือเรื่องการกำหนดวันพิจารณาวาระแรก

ส่วนที่ นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ให้ตัวเลือกไว้ 2 วัน คือ วันที่ 8 พ.ย. หรือ วันที่ 11 พ.ย.นั้น นายสุรชัย กล่าวว่า ตามวิธีปฏิบัติปกติ วุฒิสภาจะนัดประชุมวันจันทร์กับอังคาร แต่หากจะนัดพิเศษเพิ่มเติมต้องให้เหตุผลที่ชัดเจน และไม่เป็นปัญหาต่อการปฏิบัติงานในพื้นที่ของสมาชิก โดยส่วนตัวเชื่อว่านายนิคมจะให้เกียรติต่อการตัดสินใจของวิปวุฒิสภา

สำหรับการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นั้น เบื้องต้นจะมาจากตัวแทนของคณะกรรมาธิการสามัญ 22 คณะ คณะละ 1 คน วิปวุฒิสภา 3 คน และจาก กมธ.ของสภา 3 คน โดยคาดว่าจะทราบชื่อ ส.ว.ที่เป็น กมธ.ทั้งหมดอย่างช้าวันที่ 8 พ ย.นี้

ปูดรัฐล็อบบี้ ส.ว.รับร่างนิรโทษ

นายสมชาติ พรรณพัฒน์ ส.ว.นครปฐม กล่าวว่า คาดว่าจะมีการประชุมวุฒิสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในวันที่ 8 พ.ย.เพียงวันเดียว แล้วลงมติรับหลักการทันที จากนั้นจะกำหนดวันแปรญัตติ 7 วัน และ กมธ.พิจารณาไม่เกิน 20 วัน เสร็จแล้วนำเสนอให้ที่ประชุมวุฒิสภาพพิจารณาวาระ 2-3 ก่อนปิดสมัยประชุมนี้ในวันที่ 28 พ.ย.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ท่าทีของ ส.ว.ต่อการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เบื้องต้นคาดว่าจะมีการนำร่างเข้าสู่การพิจารณาวาระแรกในสัปดาห์หน้า โดยรัฐบาลพยายามล็อบบี้ให้ ส.ว.ที่ยังมีความเห็นกลางๆ ให้ร่วมสนับสนุน โดยมีข้อเสนอเรื่องผลประโยชน์ต่างตอบแทนให้พิจารณาด้วย

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ยอมรับว่ามีการล็อบบี้จริง แต่ไม่ทราบว่ามีการเสนอผลประโยชน์ต่างตอบแทนหรือไม่ โดยแนะให้จับตาดูกลุ่มที่ยังไม่มีความเห็น ทั้งนี้จุดยืนของกลุ่ม 40 ส.ว. ยืนยันจะคัดค้านตั้งแต่ชั้นรับหลักการ โดยในการพิจารณาวาระหนึ่งเชื่อว่าจะมีผู้คัดค้านขออภิปรายใช้เวลานานหรืออาจจะข้ามวันข้ามคืนก่อนลงมติ นอกจากนี้ทางกลุ่ม 40 ส.ว.จะเดินสายพูดคุยกับ ส.ว.กลุ่มที่ยังมีความเห็นกลางๆ และอธิบายเหตุผลว่าเหตุใดจึงไม่ควรรับไว้พิจารณา

ส.ว.เลือกตั้งเสียงแตก-ปัดหวังต่อรอง

ขณะที่ความเห็นของ ส.ว.สายเลือกตั้ง ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะลงมติรับหลักการหรือไม่ ถือได้ว่าเสียงแตก ไม่มีความเป็นเอกภาพ โดยมีกระแสข่าวว่าการที่ยังไม่ตัดสินใจเพราะต้องการต่อรองกับรัฐบาล

อย่างไรก็ดี นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง ส.ว.อุทัยธานี ปฏิเสธว่า แม้จะยังไม่ตัดสินใจชัดเจนในขณะนี้ แต่ก็ไม่ใช่เพราะหวังผลที่จะต่อรองอะไรกับรัฐบาล แต่เนื่องจากมองว่าการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ผิดไปจากร่างเดิมของ นายวรชัย เหมะ เป็นสิ่งที่ต้องคิดและประเมินสถานการณ์ก่อน

"เท่าที่ได้คุยกับเพื่อน ส.ว. ส่วนใหญ่อยู่ในภาวะเครียดที่ต้องตัดสินใจระหว่างสำนึกความรับผิดชอบต่อผลประโยชน์ของบ้านเมือง กับบุคคลที่ชื่นชอบเพราะเคยทำประโยชน์ให้กับบ้านเมือง"

ด้าน นายกฤช อาทิตย์แก้ว ส.ว.กำแพงเพชร กล่าวว่า ส่วนตัวยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน เพราะยังไม่ได้ศึกษาอย่างละเอียด แต่โดยส่วนตัวเห็นด้วยกับหลักการที่จะให้นิรโทษกรรม โดยยึดหลักการให้อภัยเพื่อให้บ้านเมืองเดินไปได้ และเห็นด้วยกับการให้อภัยคนทั้งหมด เนื่องจากสมัยที่รับราชการและมีประสบการณ์เกี่ยวกับการนิรโทษกรรมตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/23 (สมัยคอมมิวนิสต์) เมื่อมีคำสั่งดังกล่าวออกมาทำให้เกิดความสงบ ดังนั้นจึงสนับสนุนเพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้า

คปท.เล็งยื่นหนังสือ-ปิดถนนกดดัน ส.ว.

วันเดียวกัน นายอุทัย ยอดมณี ผู้ประสานงานเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ (คปท.) แถลงว่า หลังจากที่ คปท.ออกแถลงการณ์ต่อต้านการตราร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ที่ขัดต่อหลักนิติธรรมและรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบวาระสามของสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว และมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาในวาระรับหลักการในสัปดาห์หน้า ทาง คปท.เตรียมการเคลื่อนไหวกดดันการพิจารณาของวุฒิสภาพ เบื้องต้นอาจมีการออกแถลงการณ์หรือยื่นหนังสือต่อ ส.ว.และอาจมีการปิดการจราจรพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเพื่อเป็นการกดดัน ส.ว.ด้วย แต่รายละเอียดยังไม่สามารถเปิดเผยได้

ส่วนการชุมนุมของ คปท.จะมีนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง และกลุ่มอาชีวศึกษาเข้าร่วม ดังนั้นขอให้จับตาการยกระดับการชุมนุมตั้งแต่วันที่ 3 พ.ย.เป็นต้นไป

เลขาฯ"กรณ์"โดนตีหัว-เจ้าตัวบอกยังสู้

นายพัสณช เหาตะวานิช เลขานุการส่วนตัวของ นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บางรักว่า ถูกทำร้ายร่างกาย เหตุเกิดเวลา 03.00 น.ของวันที่ 2 พ.ย. โดยคนร้ายใช้ของแข็งตีศีรษะได้รับบาดเจ็บระหว่างนั่งรับประทานอาหารในร้านก๋วยจั๊บ ใกล้ห้างสรรพสินค้าโรบินสันสีลม หลังเดินทางกลับจากการชุมนุมต่อต้าน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่สถานีรถไฟสามเสน หลังเกิดเหตุได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ขณะนี้อาการปลอดภัยแล้ว

ต่อมา นายพัสณช ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "Noch Hautavanija" ระบุว่า ถูกคนร้ายตีศีรษะ 3 ครั้ง บริเวณใต้ตาขวา หลังหัวซ้าย และที่ตาอีก 1 ครั้ง โดยหลังก่อเหตุ ผู้เห็นเหตุการณ์ได้พยายามช่วยจับคนร้าย แต่คนร้ายได้ขึ้นรถยนต์โตโยต้า สีทอง ทะเบียน กข 5272 หลบหนีไป

"โดนแค่นี้สบาย สู้เต็มที่อยู่แล้ว พรุ่งนี้เจอกันที่สามเสนเหมือนเดิมนะครับ" นายพัสณช ระบุ

มีรายงานว่าตำรวจ สน.บางรัก กำลังเร่งตรวจสอบรถยนต์โตโยต้าหมายเลขทะเบียนดังกล่าวซึ่งไม่ทราบหมวดจังหวัด ปรากฏว่ามีรถที่ใช้หมายเลขทะเบียนนี้หลายคัน ทั้งกรุงเทพฯและต่างจังหวัด

เวทีต้านนิรโทษคึก-แกนนำ3ม็อบหารือ

สำหรับบรรยากาศเวทีต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่บริเวณหลังสถานีรถไฟสามเสน เริ่มคึกคักขึ้นในช่วงเย็นและค่ำ หลังจากที่ตลอดทั้งวันเป็นไปด้วยความเงียบเหงา เนื่องจากอากาศร้อน

มีรายงานว่า เมื่อช่วงเช้าวันที่ 2 พ.ย. แกนนำผู้ชุมนุมกลุ่มต่างๆ ที่มีจุดยืนต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทั้งกลุ่มสวนลุมพินี กลุ่มอุรุพงษ์ และกลุ่มอดีตแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ได้หารือร่วมกันเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางการเคลื่อนไหว เบื้องต้นเห็นตรงกันว่าขณะนี้ให้แต่ละกลุ่มทำกิจกรรมและจัดเวทีของตัวเองไปก่อน และเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมก็จะมารวมตัวกัน

ทั้งนี้ วันที่ 3 พ.ย.กลุ่มเครือข่ายประชาชน 77 จังหวัดที่เดินทางเข้าร่วมชุมนุมที่สวนลุมพินีตั้งแต่วันที่ 2 พ.ย. จะแถลงจุดยืนและแนวทางการเคลื่อนไหวด้วย ขณะที่สำนักสันติอโศกได้ประชาสัมพันธ์ให้ศิษย์เก่าทุกรุ่นรวมตัวกันที่สวนลุมพินีวันที่ 6 พ.ย.

"กรณ์"โพสต์เฟซบุ๊คชวนต้าน กม.ล้างผิด

นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊คเชิญชวนประชาชนร่วมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย โดยระบุว่า ขอเชิญชวนให้ชาวสีลมที่ไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายล้างผิดให้คนโกง ออกมาเป่านกหวีดพร้อมกัน 1 นาที วันจันทร์นี้ (4 พ.ย.) เวลา 12.34 น. นกหวีดถ้ามีก็เอามาเอง ถ้าไม่มีก็ไปรับแจกหน้างาน

"ผู้จัดบอกให้ยืนตรงไหนก็ได้ระหว่างธนาคารกรุงเทพ กับสถานีบีทีเอสศาลาแดง วันจันทร์นี้กฎหมายไปถึงวุฒิสภา ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันไปยื่นหนังสือถึงประธานสภาฯ มีพี่น้องประชาชนจำนวนมากปักหลักอยู่เวทีต่อต้านต่างๆ" นายกรณ์ ระบุ

สำหรับกิจกรรมเป่านกหวัด จัดโดยชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย ซึ่ง นายสมเกียรติ หอมละออ แกนนำชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย ได้ขึ้นเวทีปราศรัยและประชาสัมพันธ์เรื่องนี้ที่เวทีหลังสถานีรถไฟสามเสนด้วย พร้อมย้ำว่าจะจัดกิจกรรมทุกวันจันทร์จนกว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะถูกยกเลิกไป

"สาทิตย์-ศุภชัย"ลาออก กก.บห.พรรค

ภายหลังจากที่รองหัวหน้าภาคของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ทั้ง 4 คน และกรรมการบริหารพรรคอีก 4 คน ได้ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อเคลื่อนไหวและปราศรัยบนเวทีต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของรัฐบาลนั้น ล่าสุดได้มีคณะกรรมการบริหารพรรคทำหนังสือลาออกจากตำแหน่งเพิ่มอีก 2 คน คือ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง และ นายศุภชัย ศรีหล้า ส.ส.อุบลราชธานี ในฐานะรองเลขาธิการพรรค

เวทีต้านนิรโทษที่เชียงรายหวิดปะทะ

ที่ จ.เชียงราย กลุ่มพลังมวลชนเชียงราย 56 จำนวนกว่า 100 คน ได้ไปรวมตัวชุมนุมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ลานข้างอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช ภายในเขตเทศบาลนครเชียงราย อ.เมือง จ.เชียงราย โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้นำรถติดตั้งเครื่องขยายเสียงไปเปิด และมีแกนนำขึ้นกล่าวปราศรัยโจมตี ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่เห็นชอบให้ร่าง พรบ.นิรโทษกรรม ผ่านสภา

อย่างไรก็ดี ขณะที่กลุ่มผู้คัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม รวมตัวกันอยู่นั้น ได้มีกลุ่มเสื้อแดงเชียงรายกว่า 200 คนไปรวมตัวชุมนุมด้วย และมีการตั้งเวทีเผชิญหน้ากัน จากนั้นก็ด่าทอกันไปมา กระทั่งทั้งสองฝ่ายมีการขว้างปาสิ่งของเข้าใส่กัน ทำให้ พ.ต.อ.ชูวิทย์ กองแก้ว ผู้กำกับการ สภ.เมืองเชียงราย ต้องเรียกตำรวจชุดสลายฝูงชนเข้าไปดูแลความสงบเรียบร้อย

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
----------------------------------------------

วันเสาร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

จากนิติราษฎร์ถึงนิรโทษกรรม


ความเห็นต่อร่างพรบ.นิรโทษกรรมของคณะกรรมการฯ

ความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง และการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. …. และข้อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร

ตามที่นายวรชัย เหมะ กับคณะได้เสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง และการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. …. เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร



พื้นที่ใช้กระสุนจริง ภาพจาก regist53.blogspot.com

โดยมีหลักการและเหตุผลคือ ให้นิรโทษกรรมแก่ประชาชนที่กระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง และการแสดงออกทางการเมือง เพื่อเป็นการให้โอกาสแก่ประชาชนซึ่งเป็นพลเมืองของประเทศ รักษาและคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง อันจะเป็นรากฐานที่ดีของการลดความขัดแย้ง และสร้างความปรองดอง และต่อมาสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติในวาระที่หนึ่งรับหลักการร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว

หลังจากนั้นสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ขึ้นคณะหนึ่งเพื่อพิจารณา คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้พิจารณาและมีมติแก้ไขร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว โดยขยายการนิรโทษกรรมครอบคลุมไปถึง

“บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง ความขัดแย้งทางการเมือง หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙

รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมา ที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. ๒๕๔๗ ถึงวันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๖

ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง” แต่ไม่นิรโทษกรรมให้แก่บุคคลซึ่งกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒…

เมื่อพิจารณาจากร่างพระราชบัญญัติฯ ที่สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติรับหลักการในวาระที่หนึ่งแล้ว พบว่าสภาผู้แทนราษฎรนิรโทษกรรมเฉพาะแก่

“บุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่การกระทำนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง

โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใดเพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือการชุมนุม การประท้วง หรือการแสดงออกด้วยวิธีการใด ๆ อันอาจเป็นการกระทบต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น”
จากถ้อยคำดังกล่าว เมื่อพิจารณาประกอบกับหลักการและเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติ ฯ ที่ถูกเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร จะเห็นได้ว่า สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติรับหลักการให้นิรโทษกรรมเฉพาะประชาชนผู้กระทำการตามที่กล่าวข้างต้นเท่านั้น โดยไม่นิรโทษกรรมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม ทั้งไม่นิรโทษกรรมให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ แต่อย่างใด

และเมื่อพิจารณาประกอบกับชื่อของร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวที่ใช้ชื่อว่า


“ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง และการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ….” แล้ว

ยิ่งทำให้เห็นประจักษ์ชัดว่าร่างพระราชบัญญัติฯ นี้มุ่งหมายนิรโทษกรรมเฉพาะประชาชนเท่านั้น การที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯได้แก้ไขร่างพระราชบัญญัติฯ นี้ให้รวมถึงบุคคลอื่นนอกจากประชาชน จึงเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมที่ขัดกับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติฯ ที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่หนึ่ง

อันเป็นการต้องห้ามตามข้อ ๑๑๗ วรรคสามแห่งข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งทำให้กระบวนการตราพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวนี้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ เพราะข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่ห้ามมิให้การแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติในวาระที่สองขัดกับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ

นอกจากประเด็นปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว คณะนิติราษฎร์เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ยังมีปัญหาในประการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

๑) การนิรโทษกรรมตามที่ปรากฏในร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ซึ่งครอบคลุมไปถึงบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมอันนำไปสู่การบาดเจ็บล้มตายของประชาชนที่เข้าร่วมในการชุมนุมนั้น นอกจากจะไม่เป็นธรรมต่อผู้สูญเสียในเหตุการณ์สลายการชุมนุมแล้ว ยังขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR)

การปล่อยให้เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งกระทำการละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกายของประชาชนรอดพ้นจากความรับผิดดังเช่นที่เคยปฏิบัติมาในอดีตนอกจากจะเป็นการตอกย้ำบรรทัดฐานที่เลวร้ายให้ดำรงอยู่ต่อไปแล้ว ยังสร้างความเคยชินให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทหาร ในการปฏิบัติต่อประชาชนในลักษณะดังกล่าวข้างต้นโดยไม่ต้องกังวลว่าตนจะต้องรับผิดในทางกฎหมายในอนาคต

๒) ร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ซึ่งนิรโทษกรรมให้แก่บุคคลทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมาข้างต้นนั้น กำหนดยกเว้นไม่นิรโทษกรรมให้แก่บุคคลซึ่งกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ถึงแม้ว่าการกระทำความผิดของบุคคลนั้นจะเป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมืองก็ตาม

การบัญญัติกฎหมายในลักษณะเช่นนี้ย่อมขัดหรือแย้งกับหลักแห่งความเสมอภาคที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๓๐ เนื่องจากหลักดังกล่าวเรียกร้องให้รัฐต้องปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระสำคัญเหมือนกัน ให้เหมือนกัน และปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระสำคัญแตกต่างกันให้แตกต่างกันออกไปตามสภาพของสิ่งนั้นๆ

การนิรโทษกรรมตามความมุ่งหมายของร่างพระราชบัญญัตินี้มีสาระสำคัญอยู่ที่การยกเว้นความผิดให้แก่บุคคลที่กระทำความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมือง โดยไม่คำนึงว่าการกระทำนั้นจะเป็นความผิดฐานใด

ดังนั้น การที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ตัดมิให้ผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ที่ได้กระทำไปโดยมีความเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมือง ได้รับประโยชน์จากการนิรโทษกรรมตามร่างพระราชบัญญัตินี้ จึงเป็นการปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระอย่างเดียวกันให้แตกต่างกัน และขัดต่อหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ



ภาพจาก regist53.blogspot.com

๓) เนื่องจากการนิรโทษกรรมในครั้งนี้ มีผลกับการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. ๒๕๔๗ ถึงวันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ซึ่งครอบคลุมเหตุการณ์จำนวนมาก มีบุคคลที่อาจได้รับประโยชน์จากร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้หลายกลุ่ม และบุคคลดังกล่าวถูกดำเนินคดีในขั้นตอนที่แตกต่างกัน

จากเหตุหลายประการดังกล่าวข้างต้น ทำให้เกิดความซับซ้อนจนหลายกรณีไม่อาจระบุลงไปให้แน่ชัดได้ว่าบุคคลใดบ้างเข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรม ในขณะที่ร่างพระราชบัญญัติฯ กำหนดให้พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาล แล้วแต่กรณี มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว จึงอาจทำให้การวินิจฉัยไม่เป็นเอกภาพ ส่งผลให้เกิดความไม่เสมอภาคในชั้นของการบังคับใช้กฎหมายในท้ายที่สุด

๔) ถึงแม้ว่ากระบวนการกล่าวหาบุคคลที่เกิดขึ้นโดยองค์กรหรือคณะบุคคลที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ จะดำเนินไปอย่างไม่ถูกต้องชอบธรรม และบุคคลที่ถูกกล่าวหาและถูกพิพากษาว่ามีความผิดสมควรได้รับคืนความเป็นธรรมก็ตาม แต่โดยที่ร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้มุ่งหมายนิรโทษกรรมให้แก่บุคคลที่กระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งมีสภาพและลักษณะของเรื่องแตกต่างไปจากการกระทำของบุคคลที่ถูกกล่าวหาโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ว่าก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ

ประการสำคัญ ในสภาวการณ์ความขัดแย้งของสังคมขณะนี้ การเสนอให้นิรโทษกรรมแก่บุคคลดังกล่าวอาจเหนี่ยวรั้งให้การหาฉันทามติในการนิรโทษกรรมแก่ประชาชนเป็นไปอย่างล่าช้า หรือไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย ทั้งนี้ การแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมให้กับบุคคลที่ได้รับผลร้ายจากการทำรัฐประหารสมควรกระทำด้วยการลบล้างผลพวงของรัฐประหารตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์

๕) มีข้อสังเกตว่า ร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้กำหนดระยะเวลาเริ่มต้นของการนิรโทษกรรมให้กับการกระทำความผิดใด ๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๔๗ จึงไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติที่ผ่านการรับหลักการในวาระที่หนึ่ง ซึ่งนิรโทษกรรมให้แก่การกระทำใด ๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ถึงวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๔

การกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นของการนิรโทษกรรมตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๔๗ อาจส่งผลให้มีเหตุการณ์หรือการกระทำความผิดบางอย่างที่ไม่สมควรได้รับการนิรโทษกรรม เพราะไม่มีความเกี่ยวเนื่องกับการรัฐประหารเมื่อวันที่ วันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ได้รับประโยชน์จากร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ด้วย

นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตด้วยว่า โดยที่ร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้กำหนดให้บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบต่อเนื่องมา ไม่ว่าบุคคลที่ถูกกล่าวหาดังกล่าวจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้

หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้บุคคลนั้นพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิงนั้น เมื่อพิจารณาจากคดีที่ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว การพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิงย่อมทำให้รัฐต้องคืนสิทธิให้แก่ผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรม เช่น ในคดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เมื่อผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ได้รับนิรโทษกรรมแล้ว รัฐมีหน้าที่ต้องคืนทรัพย์สินที่ยึดมาตามคำพิพากษาให้แก่ผู้ถูกกล่าวหา

ถึงแม้ว่าคณะนิติราษฎร์จะเห็นว่าบุคคลที่ถูกกล่าวหาหรือถูกพิพากษาว่ากระทำความผิดโดยองค์กรหรือคณะบุคคลที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร มีความชอบธรรมอย่างเต็มที่ในการที่จะได้รับคืนทรัพย์สินที่ถูกยึดไปโดยกระบวนการทางกฎหมายที่เชื่อมโยงกับการทำรัฐประหาร แต่การที่จะได้รับคืนทรัพย์สินดังกล่าวนั้นควรจะต้องเป็นไปโดยหนทางของการลบล้างคำพิพากษาตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ว่าด้วยการลบล้างผลพวงรัฐประหาร มิใช่โดยการนิรโทษกรรมตามร่างพระราชบัญญัติฯ นี้

ข้อเสนอคณะนิติราษฎร์

โดยเหตุที่ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ มีปัญหาบางประการดังกล่าวมาข้างต้นคณะนิติราษฎร์ จึงขอเสนอแนวทางแก้ปัญหา ดังต่อไปนี้

๑) ต้องแยกบุคคลซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง ตลอดจนบุคคลที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองแต่กระทำความผิดโดยมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง ออกจากบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙

๒) ให้ดำเนินการนิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง ตลอดจนบุคคลที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองแต่กระทำความผิดโดยมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยไม่นิรโทษกรรมให้กับบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ชุมนุมประท้วง ตลอดจนการสลายการชุมนุมไม่ว่าจะได้กระทำการในฐานะเป็นผู้สั่งการหรือผู้ปฏิบัติการ และไม่ว่าจะกระทำในขั้นตอนใด ๆ ทั้งนี้ ตามร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้ง ที่คณะนิติราษฎร์ได้เคยเสนอไว้



ภาพจาก regist53.blogspot.com

๓) สำหรับบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ให้ลบล้างคำพิพากษา คำวินิจฉัย ตลอดจนการดำเนินกระบวนพิจารณาในทุกขั้นตอนที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการทำรัฐประหาร ทั้งนี้ ตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ว่าด้วยการลบล้างผลพวงรัฐประหาร

๔) อย่างไรก็ตาม โดยเหตุที่ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ ไม่ได้รับการพิจารณานำไปปฏิบัติจากผู้เกี่ยวข้อง ประกอบกับขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการนิรโทษกรรมอยู่ในระหว่างการพิจารณาในวาระที่สองของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้การนิรโทษกรรมแก่ประชาชนซึ่งกระทำความผิดหรือถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอันเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมืองเป็นไปโดยรวดเร็วภายใต้ข้อจำกัดที่เป็นอยู่ คณะนิติราษฎร์จึงเสนอให้พิจารณาดำเนินการดังต่อไปนี้

๔.๑ เนื่องจากคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้แก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติฯ จนขัดกับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติฯ ที่สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติรับหลักการในวาระที่หนึ่ง ทำให้มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ร่างพระราชบัญญัติฯ ของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จึงไม่สามารถใช้เป็นฐานในการพิจารณาในวาระที่สองได้ ด้วยเหตุนี้ สภาผู้แทนราษฎรจึงสมควรแก้ไขความบกพร่องดังกล่าวโดยการลงมติว่ากระบวนการตราพระราชบัญญัติฯ นี้ขัดกับข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรข้อ ๑๑๗ วรรคสาม เพื่อให้ร่างพระราชบัญญัติฯ ของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ตกไป

๔.๒ ให้สภาผู้แทนราษฎรมีมติยกเลิกคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ชุดเดิม และมีมติตั้งคณะกรรมาธิการเต็มสภาเพื่อเริ่มพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ ในวาระที่สองใหม่

คณะนิติราษฎร์: นิติศาสตร์เพื่อราษฎร
๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖

ที่มา.Siam Intelligence Unit
////////////////////////////////////////////////

แถลงการณ์ร่วม ธรรมศาสตร์เสรี !!?

 
แถลงการณ์ร่วม กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มวันใหม่
 
รื่อง การนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งสุดซอย
 
ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ได้มีมติในการประชุมพิจารณาวาระที่สองเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2556 ให้แก้ไขเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติให้มีผลกับการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง ความขัดแย้งทางการเมือง หรือผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมาที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2547 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2556 ไม่ว่าจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ หรือผู้ถูกใช้ แต่ไม่รวมถึงการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งจะทำให้มีผลครอบคลุมไปถึงผู้นำฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหารที่มีอำนาจสั่งการสลายการชุมนุม และแกนนำผู้ชุมนุมประท้วงทุกฝ่ายด้วย และในเช้าวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2556 สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติในการประชุมวาระที่สาม เป็นคะแนนเสียงเห็นชอบ 310 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 314 คน รับร่างพระราชบัญญัติแล้วนั้น
 
กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยมีความเห็นว่าการกระทำดังกล่าวนี้เป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรงต่อเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองและสวัสดิภาพของประชาชน ทั้งยังเป็นการบิดเบือนหลักนิติรัฐและประชาธิปไตย เพราะในสังคมที่ยึดถือไว้ซึ่งหลักนิติรัฐ หลักประชาธิปไตย หลักสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้น ประชาชนย่อมคาดหวังว่าตนจะสามารถแสดงออกและเข้าไปมีส่วนร่วมในทางการเมืองได้โดยได้รับความคุ้มครองโดยรัฐและกฎหมายจากภยันตรายต่างๆ และผู้ใดที่ประทุษร้ายต่อประชาชนก็ผู้นั้นก็จะต้องได้รับโทษ ถ้าหากว่าการนิรโทษกรรมเปิดช่องให้แกนนำผู้ชุมนุมและผู้มีอำนาจสั่งการของภาครัฐได้หลุดพ้นจากความผิดและข้อกล่าวหาทั้งปวงด้วยแล้ว ก็จะไม่มีผู้ใดที่ต้องมาเหลียวแลต่อความเสียหายของประชาชนอีก คนที่ตายก็ตายเปล่า คนที่เจ็บก็เจ็บฟรี คนที่ยังอยู่ก็ต้องอยู่อย่างหัวหด ไม่กล้ามีปากเสียงเพราะไม่มีหลักประกันว่าตัวเองจะไม่ตายเปล่าหรือเจ็บฟรี สังคมที่ขึ้นชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยย่อมไม่อาจยอมรับสภาพเช่นนี้ได้ และยิ่งเมื่อการกระทำดังว่านี้เป็นฝีมือของผู้แทนของประชาชนที่เคยรับปากไว้อย่างเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าจะทวงคืนความเป็นธรรมให้กับผู้เสียหาย และยังเป็นการกระทำโดยอาศัยอำนาจแห่งหลักนิติรัฐและประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญมาใช้อย่างบิดเบือนด้วยแล้ว ยิ่งยอมรับไม่ได้
 
กว่าแปดสิบปีที่ผ่านมา ประเทศไทยของเราได้พยายามที่จะพัฒนาโครงสร้างแห่งระบอบประชาธิปไตยให้ทัดเทียมกับบรรดาประเทศที่เจริญแล้วทั้งหลาย เรามีทั้งรัฐธรรมนูญ มีรัฐสภา มีนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีศาลและองค์กรอิสระที่คอยตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลมากมายเต็มไปหมด มีอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยตั้งโดดเด่นอยู่ใจกลางเมืองหลวง แต่สิ่งหนึ่งที่เราไม่เคยให้ความสำคัญและพัฒนาขึ้นอย่างจริงจังนั่นคือวัฒนธรรมแห่งระบอบประชาธิปไตย วัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจสูงสุด การปกครองด้วยหลักนิติรัฐ การส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการคุ้มครองสิทธิอันพึงมีพึงได้ของประชาชน ประเทศไทยจึงยังคงมีผู้ก่อรัฐประหารที่สามารถเชิดหน้าชูตาอยู่ในแวดวงการเมืองได้ ยังคงมีคนเรียกร้องให้ทหารปกครองประเทศแทนพลเรือน ยังคงมีนักการเมืองที่ลืมคำสัญญาที่ให้กับประชาชนอย่างง่ายดาย ยังคงมีพรรคการเมืองที่เป็นเพียงเครื่องมือพิทักษ์ผลประโยชน์ของผู้นำพรรคเหนือผลประโยชน์ของผู้เลือกตั้งพรรค และยังคงมีการนิรโทษกรรมให้กับแกนนำและผู้สั่งการเพื่อเป็นทางออกสำหรับชนชั้นนำด้วยกันเองโดยไม่เห็นหัวประชาชนผู้เสียหายอยู่ตราบจนทุกวันนี้ วัฒนธรรมประชาธิปไตยจึงเป็นสิ่งที่สังคมประชาธิปไตยขาดไม่ได้ และหนึ่งในวัฒนธรรมที่สังคมที่ขึ้นชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยจะต้องคำนึงถึง คือ การไม่ยอมให้ผู้ใดที่บงการให้เกิดการทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยและประทุษร้ายต่อประชาชนผู้แสดงออกทางการเมืองสามารถลบล้างความผิดที่ตนมีและโทษที่ตนต้องรับได้
 
กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยจึงขอประกาศว่า เราจะไม่ยอมรับร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งสุดซอยฉบับนี้เด็ดขาด ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการพิจารณาหลังจากนี้หยุดยั้งการผ่านร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ให้จงได้ และขอเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยผู้ริเริ่มการนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งสุดซอยในครั้งนี้ ทบทวนถึงบทบาทหน้าที่ของตนในฐานะพรรคการเมืองที่ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้พิทักษ์รักษาระบอบประชาธิปไตยและผลประโยชน์ของประชาชน หากมีโอกาสได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติอีกครั้งจะต้องไม่กระทำการซ้ำรอยเดิม และยุติความพยายามใดๆ ที่จะนิรโทษกรรมให้กับแกนนำผู้ชุมนุม และผู้มีอำนาจสั่งการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนอีก
 
ทั้งนี้ กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยเคยแสดงจุดยืนต่อการนิรโทษกรรมนักโทษทางการเมืองไว้ว่า จะต้องไม่นิรโทษกรรมให้กับแกนนำผู้ชุมนุมและผู้มีอำนาจสั่งการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน เพราะเป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อการกระทำของมวลชนและผู้ใต้บังคับบัญชาจึงต้องรับผิดชอบสูงสุดต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จะต้องนิรโทษกรรมให้กับการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายมาตรา 112 เพราะมาตรานี้ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือโจมตีผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง จะต้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับต่างๆ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมาธิการโดยตรง จะต้องดำเนินการออกกฎหมายนิรโทษกรรมอย่างเร่งด่วนที่สุด และจะต้องมีมาตรการเยียวยาแก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรมในความเสียหายแก่ทรัพย์สิน อิสรภาพ และทางทำมาหาได้ และในวันนี้เรายังคงยืนยันในจุดยืนนี้ไม่เปลี่ยนแปลง
 
ขอให้ทุกท่านอย่ามองแต่เพียงว่าเราเรียกในครั้งนี้เพื่อแก้แค้นหรือเป็นการจองล้างจองผลาญอย่างไม่จบสิ้น สิ่งที่เรามุ่งหวังคือการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ทางการเมือง และการสร้างบรรทัดฐานแห่งสังคมประชาธิปไตยที่จะไม่ยอมให้ผู้ใดบงการประทุษร้ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุด แล้วหาทางนิรโทษกรรมตัวเองในภายหลังอยู่เรื่อยไป เพื่อให้การเมืองไทยมีความเข้มแข็ง เราเชื่อมั่นว่า หากการเรียกร้องในครั้งนี้เป็นผลสำเร็จ จะเป็นการยืนยันถึงความเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดของประชาชน และจะเป็นก้าวที่สำคัญในการสร้างวัฒนธรรมแห่งระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้ประเทศไทยเป็นสังคมประชาธิปไตยที่แท้จริงสืบต่อไป
 
กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มวันใหม่
 
1 พฤศจิกายน 2556
 
 ที่มา.ประชาไท
/////////////////////////////////////////

ปฏิรูปรถไฟไทย กับการสร้างภาพ !!?

โดย สร อักษรสกุล

บ้านเราเดี๋ยวนี้หากมีผู้ใหญ่สนใจในงานที่ตนรับผิดชอบ และลงพื้นที่เพื่อจะได้เห็นและสัมผัสด้วยตนเองแล้ว ก็มักจะถูกฝ่ายตรงข้ามหรือคนที่ไม่ชอบหาว่าสร้างภาพ แต่ถ้าสั่งการอยู่แต่ในสำนักงานหรือนั่งอยู่ในกระทรวงไม่ลงพื้นที่ ก็จะถูกหาว่าอยู่บนหอคอยงาช้างบ้าง ตีนไม่ติดดินบ้างเรียกว่าโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง อย่างไรก็ตาม ยอมให้ถูกกระแนะกระแหนว่า สร้างภาพ แต่ได้เห็นได้สัมผัสข้อเท็จจริงด้วยตาตนเอง และนำมาเป็นข้อมูลในการทำงานหรือสั่งการให้ผู้รับผิดชอบดำเนินการนั้น ย่อมดีกว่านั่งอยู่ในหอคอยงาช้างเป็นแน่

ผู้เขียนกำลังจะพูดถึง "รถไฟไทย" หรือ ร.ฟ.ท. กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมคนปัจจุบัน คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าคุณชัชชาติเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมไม่กี่คนที่สนใจกิจการรถไฟไทยส่วนจะปรับปรุงและพัฒนาได้จริงหรือไม่นั้น ต้องคอยดูกันต่อไป

คุณสมัคร สุนทรเวช ที่ล่วงลับไปแล้วก็เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และชอบเดินทางโดยรถไฟเช่นกัน แต่คุณสมัครเป็นคนที่สังคมรู้จักเป็นอย่างดี เพราะเป็นนักการเมืองที่พูดเก่ง (บางคนว่าพูดมาก) รวมทั้งมีหน้าตา (จมูก) เป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร ไปไหน ๆ คนจึงมักจำได้ ผิดกับคุณชัชชาติที่เพิ่งเข้ามาเป็นรัฐมนตรีได้เพียงปีสองปี และก่อนหน้านั้นก็ไม่ค่อยมีคนรู้จักเพราะความที่เป็นเพียงอาจารย์สอนหนังสือในมหาวิทยาลัย การเดินทางไปไหนมาไหนจึงมีคนที่ยังไม่รู้จักคุณชัชชาติมาก นั่นเป็นข้อดีที่จะเดินทางไปไหน ๆ เพื่อให้รู้ด้วยตาของตนเองโดยไม่มีคนมาสนใจมากนัก




ทำให้ได้รู้ว่าคนที่ยากจน คนที่หาเช้ากินค่ำและอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯนั้น ทุกข์ยากแค่ไหนในการเดินทางด้วยรถเมล์ของ ขสมก. เพราะทั้งช้า (เพราะต้องรอนาน) ทั้งเร็ว (เพราะคนขับที่ขับอย่างเมามัน-ไม่ได้หมายความว่าเมาแล้วขับ) อากาศร้อน และยังเสี่ยงกับอุบัติเหตุที่มักจะเกิดขึ้นบ่อย ๆ ด้วยกี่ปี กี่รัฐบาล กี่ผู้อำนวยการ ขสมก.มาแล้ว รถเมล์กรุงเทพฯก็อีหรอบเดิมทั้งสิ้น และมักจะอ้างว่าเพราะรถเมล์เก่าบ้างล่ะ ขาดงบประมาณในการซ่อมแซมบ้างล่ะ มากมายที่ผู้อำนวยการ ขสมก.แต่ละคนจะหาเหตุมาอ้างกัน ยังไม่เคยเห็น ผอ.ขสมก.คนไหนจะกล่าวโทษตัวเองบ้างเลยว่า เพราะฝีมือในการบริหารจัดการยังไม่ดีพอ

กิจการรถไฟไทย หรือ ร.ฟ.ท.ก็เช่นกัน กี่ปี กี่ปี และกี่ผู้ว่าการรถไฟฯมาแล้วไม่เคยจะดีขึ้น และก็มักอ้างเช่นเดียวกับรถเมล์ คือ ขาดงบประมาณที่จะนำมาพัฒนาและปรับปรุง

ผู้เขียนเองเป็นคนหนึ่งที่ชอบเดินทางด้วยรถไฟ เพราะต้องเดินทางระหว่างกรุงเทพฯและเชียงใหม่บ่อย ๆ ระยะหลังมานี้จะลดการใช้บริการรถไฟลงเพราะสาเหตุ 2 ประการ

ประการแรก เพราะข่าวที่รถไฟเกิดอุบัติเหตุบ่อย โดยเฉพาะ รถไฟสายด่วนนครพิงค์ ที่ถือว่าเป็นขบวนที่ดีที่สุดของการรถไฟไทย มีนักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมใช้บริการกันมาก แต่กลับตกรางบ่อย

ประการที่สอง เครื่องบินต้นทุนต่ำหรือโลว์คอสต์แอร์ไลน์ ที่มีราคาค่าโดยสารไม่แพงนัก จึงมีทางเลือกเพียงแต่ต้องควักกระเป๋ามากขึ้นกว่านั่งรถไฟอีก 2 เท่า

แต่การเดินทางใช้เวลาเพียงชั่วโมงเดียวเท่านั้น ผิดกับรถไฟใช้เวลามากกว่าถึง 12 ชั่วโมง (รถไฟไทยชอบแถมเวลาให้แก่ผู้โดยสารเสมอ ๆ เช่น ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ถึง 14 ชั่วโมง) หลายคนคงทราบแล้วว่า ไทยกับญี่ปุ่นนั้นเป็น 2 ชาติแรกในเอเชียที่มีกิจการรถไฟ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงริเริ่มให้มีกิจการรถไฟแบบชาติตะวันตกมาเมื่อกว่า 100 ปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับสมัยของจักรพรรดิเมจิ (Meiji) ของญี่ปุ่น (กษัตริย์ 2 พระองค์นี้ขึ้นครองราชย์ในเวลาใกล้เคียงกันด้วย)

รถไฟญี่ปุ่นกับรถไฟไทยค่อย ๆ พัฒนามาเป็นลำดับแบบช้า ๆ จนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ญี่ปุ่นเริ่มพัฒนากิจการรถไฟอย่างมาก จนกระทั่งในปี 2507 หรือเมื่อเกือบ

50 ปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นสามารถพัฒนารถไฟเป็น รถไฟความเร็วสูง ชาติแรกของโลก ที่เรียกว่า รถไฟหัวกระสุน (Bullet Train) หรือชินคันเซน ที่วิ่งด้วยความเร็วกว่า 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และได้รับความนิยมมากขึ้นตามลำดับจากคนญี่ปุ่น เพราะรถไฟนอกจากจะปลอดภัยที่สุดแล้ว ยังสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้มากที่สุดด้วย การสร้างมลพิษทางอากาศ (Air Pollution) เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก็น้อยที่สุดหากเปรียบเทียบกับยานพาหนะอื่น ๆ

ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน หลายประเทศต่างพัฒนากิจการรถไฟกันมากขึ้น เพราะหากคิดระยะยาวแล้วคุ้มค่าที่สุด สิงคโปร์และมาเลเซียมีรถไฟหลังประเทศไทยนานมาก รวมทั้ง 2 ชาตินี้เคยมาดูกิจการรถไฟไทย แต่ปัจจุบันรถไฟของทั้ง 2 ชาติเพื่อนบ้านของเรานี้ กิจการรถไฟของเขานำหน้าประเทศไทยไปหมดแล้ว

สมเด็จพระปิยมหาราช ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ผู้ทรงริเริ่มให้มีรถไฟไทยเมื่อกว่า 100 ปีที่ผ่านมา คงจะโทมนัสเป็นอย่างยิ่งหากพระองค์ทรงทราบว่ารถไฟไทยยังพัฒนาไปไม่ถึงไหน

ยังคงเป็นรถไฟวิ่งทางเดียวที่ต้องรอเวลาในการสับหลีกมาก ยังคงเป็นรถไฟที่ยังใช้น้ำมันในการขับเคลื่อนหัวรถจักร ในขณะที่รถไฟของหลายประเทศหันมาใช้ไฟฟ้าเป็นพลังขับเคลื่อนกันนานแล้ว นอกจากนั้นรถไฟไทยยังคงใช้ห้องน้ำที่ผู้โดยสารไม่สามารถใช้ได้ ไม่ว่าจะหนักหรือเบา เมื่อรถไฟจอดที่สถานีระหว่างทางเพราะปัสสาวะและอุจจาระจะลงไปแน่นิ่งที่ขอนรองรถไฟใต้ตู้รถไฟนั่นเอง

เรื่องนี้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเคยโวยวายมาครั้งหนึ่งนานมาแล้วว่า เป็นห้องส้วมที่แย่ที่สุด ขาดความรับผิดชอบที่สุด ไม่ถูกสุขอนามัยที่สุด แต่ไม่นานเรื่องก็เงียบไป ส้วมบนรถไฟก็ยังคงมีสภาพเหมือนเดิม คือถ่ายลงบนรางรถไฟเช่นเดิม

การที่คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หันมาเอาจริงเอาจังกับเรื่องการพัฒนาและปรับปรุงกิจการของรถไฟไทยนั้น ผมว่าจะเป็นสิ่งที่ดีของทั้งประเทศไทยและคนไทยทั้งชาติ

เงิน 2 ล้านล้านบาทที่กระทรวงการคลังกำลังจะกู้นั้น อยากให้นำมาปรับปรุงทั้งหัวรถจักร ตัวรถไฟ (โบกี้) หมอนรองรางรถไฟที่ชำรุดมาก เพิ่มทางคู่ (เทียบขนานกับทางรถไฟเดิม โดยเริ่มจากเส้นทางที่สำคัญ ๆ ก่อน) และดำเนินการสร้างรถไฟสายต่าง ๆ ในกรุงเทพฯที่กำลังดำเนินการอยู่ทั้ง 10 สาย เพื่อแก้ปัญหาจากการจราจรแบบยั่งยืน (การสร้างถนนโดยเฉพาะถนนในกรุงเทพฯนั้น ไม่สามารถแก้ปัญหารถติดอย่างยั่งยืนได้ เพราะจำนวนรถยนต์มากกว่าถนนที่จะรองรับได้กว่า 2 เท่า)

งบประมาณ 7 แสน 8 หมื่นกว่าล้านบาทจาก 2 ล้านล้านบาทที่กระทรวงคมนาคมจะนำมาทำรถไฟความเร็วสูง 4 สาย คือ สายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ สายกรุงเทพฯ-หนองคาย สายกรุงเทพฯ-หัวหิน และขยายเส้นทางแอร์พอร์ตลิงก์จากสนามบินสุวรรณภูมิไปพัทยา-ระยองนั้น เส้นที่ไม่คุ้มค่าที่สุดในทางเศรษฐศาสตร์ คือ สายกรุงเทพฯ-หัวหิน (ผลจากการศึกษา หากจะให้คุ้มค่าจะต้องวิ่งไปถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานี)

ด้วยเหตุและผลดังกล่าว กระทรวงคมนาคมจึงน่าจะรีบดำเนินการปรับปรุงรถไฟเดิมทั้งหมดก่อนทั้งหัวรถจักร ตัวรถ (โบกี้) และที่สำคัญการทำทางคู่ก่อนเป็นอันดับแรก เพราะคนไทยทุกระดับสามารถใช้บริการรถไฟเหล่านี้ได้ไม่ว่าจะเป็นรถชั้น 3 รถไฟชั้น 2 (ชั้น 2 แอร์ สายด่วนนครพิงค์ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ที่นักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมใช้บริการกันมาก)

หากคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมคนปัจจุบัน สามารถดำเนินการปฏิรูปรถไฟไทยในครั้งนี้ได้ จะถือเป็นประโยชน์ต่อกิจการรถไฟไทยเป็นอย่างยิ่ง ที่สำคัญเราน่าจะสามารถลดการนำเข้าน้ำมันดิบที่ซื้อเข้ามากลั่นและบริโภคภายในประเทศได้อย่างมหาศาล
และเรื่องที่ใครเขาหาว่า "สร้างภาพ" จะหายไปเองเมื่อได้ทำจริงและรวดเร็ว

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////

วันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เป้าหลอก หรือสัญญาณจริง !!?

โดย. คณิน บุญสุวรรณ

กรณีที่กรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่ได้มีมติแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 3 ของร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย เหมะ โดยขยายการนิรโทษกรรมให้ "รวมถึงผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด โดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นหลังการรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 รวมถึงองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินเรื่องดังกล่าว สืบเนื่องต่อมาที่เกิดระหว่างปี 2547 ถึงวันที่ 8 ธันวาคม 2556 โดยไม่รวมถึงการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112" นั้น ถือว่าเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมที่ขัดต่อหลักการของร่างพระราชบัญญัติฉบับที่ระบุว่า "ให้มีกฎหมายว่าด้วยนิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ระหว่างวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2554"

เพราะหลักการที่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณารับหลักการในวาระที่หนึ่งไปแล้วก่อนหน้านั้น คือ ให้มีกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่บุคคลที่เคลื่อนไหวและชุมนุมทางการเมืองที่ต่อต้านการรัฐประหารและต่อต้านรัฐบาลที่จัดตั้งในค่ายทหาร รวมทั้งประชาชนที่เคลื่อนไหวชุมนุมต่อต้านรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ แล้วถูกตั้งข้อหา ดำเนินคดี และพิจารณาคดี ตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จนถึงวันที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภา คือ วันที่ 9 พฤษภาคม 2554

ปมนี้อาจกลายเป็นจุดอ่อนและถูกโจมตีหนักกว่าเดิม เมื่อต้องผ่านการพิจารณาของวุฒิสภา หรือถึงแม้จะผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว จะถูก ส.ส.ฝ่ายค้าน และ ส.ว.สรรหายื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 154 (1) อย่างแน่นอน เมื่อถึงตอนนั้น มีหรือที่ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่วินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีผลทำให้ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ตกไปทั้งฉบับ? เรียกว่าตกม้าตายเมื่อถึงปลายทาง นักโทษการเมืองที่ถูกจองจำอยู่ในเรือนจำถึงสามปีเศษ และกำลังรอว่าเมื่อไรจะได้รับอิสรภาพตามร่างเดิมของฉบับนายวรชัย เหมะ ก็จะพลอยซวยไปด้วย

นอกจากนั้น การนิรโทษกรรมที่ไม่รวมถึงการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็ถือเป็นการออกกฎหมายเพื่อให้มีผลใช้บังคับแต่เฉพาะกับคนบางคนบางกลุ่ม และให้ยกเว้นคนบางกลุ่มซึ่งกระทำความผิดทางอาญาเช่นเดียวกันอีกด้วย

เข้าข่ายเป็นการออกกฎหมายที่เลือกปฏิบัติและขัดต่อหลักนิติธรรม เพราะถ้าจะนิรโทษกรรมให้แก่บรรดาแกนนำและคนที่สั่งฆ่าประชาชนก็ต้องเว้นโทษให้แก่ผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วย เพราะเป็นความผิดทางอาญาเหมือนกัน และเป็นการกระทำความผิดที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองเดียวกัน คือ การต่อต้านการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549

การนิรโทษกรรมที่รวมถึงผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด โดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นหลังการรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 รวมถึงองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินเรื่องดังกล่าว หมายรวมถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกดำเนินคดีและพิจารณาคดี และถูกกล่าวหาโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการ คตส.หรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง เหล่านี้ถือว่าไม่เป็นความผิดและให้พ้นจากการกระทำความผิดโดยสิ้นเชิง

ปัญหาว่า เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้รับการนิรโทษกรรมจากการกระทำความผิดซึ่งดำเนินการโดย คตส.อันเป็นองค์กรที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารแล้ว จะถือว่าต้องละเว้นโทษร่ำรวยผิดปกติซึ่งดำเนินคดีโดย คตส.และพิจารณาพิพากษาให้ยึดทรัพย์จำนวนกว่า 46,000 ล้านบาท โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วยหรือไม่ จะขึ้นอยู่กับข้อความในมาตราที่ต้องเพิ่มขึ้นใหม่ ว่าจะให้ครอบคลุมถึงหรือไม่ ถ้าไม่ให้ครอบคลุมถึง โดยให้เหตุผลว่าเป็นทรัพย์สินที่ตกเป็นของแผ่นดินแล้ว จะคืนให้แก่เจ้าของทรัพย์สินเดิมได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็เป็นอันจบไป

แต่ถ้าระบุว่าต้องคืนให้ เพราะในเมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดเสียแล้วทรัพย์สินที่ถูกยึดไปย่อมต้องคืนมาเป็นของเจ้าของเดิม ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะกลายสภาพเป็นกฎหมายเงินทันที และประธานสภาผู้แทนราษฎรต้องส่งให้นายกรัฐมนตรีรับรอง แล้วนายกรัฐมนตรีจะกล้ารับรองหรือ? ถ้ากล้ารับรองก็จะเข้าทางฝ่ายต่อต้านที่โจมตีมาตลอดว่า ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ทำเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คนเดียว แต่ถ้าไม่รับรอง สภาผู้แทนราษฎรก็พิจารณาต่อไปไม่ได้

แล้วคนที่รัก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะว่าอย่างไร? พี่น้องในตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ จะว่าอย่างไร? รัฐบาลและ ส.ส.พรรคเพื่อไทยจะว่าอย่างไร? และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เอง จะว่าอย่างไร? ซึ่งก็จะกลายเป็นเผือกร้อนในมือนายกรัฐมนตรีไปโดยอัตโนมัติ และจะถูกโจมตีทั้งขึ้นทั้งล่อง ไม่ว่าจะตัดสินอย่างไร นอกเหนือจากการที่จะถูกโจมตีว่าทอดทิ้งผู้ถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อีกต่างหาก

สรุปแล้ว ร่างแก้ไขเพิ่มเติมที่กรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่ได้มีมติเห็นชอบ ให้นำเข้าสู่การพิจารณาในวาระสองอย่างที่ปรากฏเป็นข่าวนี้ ไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่อนายกรัฐมนตรี และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รวมทั้งคนเสื้อแดง และที่สำคัญอาจนำไปสู่การชุมนุมต่อต้านโดยฝ่ายที่กำลังจ้องจะล้มรัฐบาลอยู่แล้ว การชุมนุมต่อต้านจะรุนแรงและน่ากลัวแค่ไหน และจะกระทบกระเทือนเสถียรภาพของรัฐบาลหรือไม่ ยากที่จะคาดเดา เรียกว่า เจอศึกสองหน้าที่ถาโถม เข้ามาพร้อมๆ กัน

งานนี้ แม้แต่คนเสื้อแดงด้วยกันซึ่งรณรงค์ให้ปลดปล่อยนักโทษการเมืองในคดีอาญามาตรา 112 มาตลอด ก็จะไม่พอใจและอาจก่อปฏิกิริยาอะไรบางอย่าง ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเสถียรภาพของรัฐบาล ยิ่งถ้าผลของการนิรโทษกรรมเผื่อแผ่ไปถึงการกระทำความผิดในคดีก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผลในเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 2553 ด้วยแล้วละก้อ รัฐบาลอาจมีปัญหาถึงกับ "พัง" ก่อนถึงเวลาอันควรได้เหมือนกัน อย่าทำเป็นเล่นไป เว้นเสียแต่ว่า ต้องการอย่างนั้นอยู่แล้วเป็นทุนเดิม

ลำพังการไม่นิรโทษกรรมให้แก่นักโทษการเมืองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็ทำให้คนเสื้อแดงส่วนหนึ่งไม่พอใจมากพออยู่แล้ว ยิ่งถ้าไปนิรโทษกรรมให้แก่ผู้สั่งฆ่าประชาชน ในเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 2553 ด้วยแล้ว คิดว่าความสัมพันธ์ระหว่างคนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อย กับรัฐบาลคงมีปัญหาแน่

หรือจะคิดสะระตะดีแล้วว่า ไหนๆ ก็ไหนๆ ลุยให้มันสุดซอยไปเลย เจออะไรก็ค่อยไปแก้เอาข้างหน้า?

ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็ดูให้ดีๆ ก็แล้วกัน ว่าเป็น "ซอยไหน?" เพราะถ้าเป็นซอย 31 ถนนสุขุมวิทแล้วละก้อ สุดซอย คือ คลองแสนแสบครับ

น้ำเน่าทั้งนั้นเลย

แต่ถ้า "สุดซอย" แปลว่า "ยุบสภา เลือกตั้งใหม่" ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ที่มา.มติชน
///////////////////////////////////////////

นับถอยหลัง พรรคเพื่อไทย !!?

โดน.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

เคยสงสัยมาก่อนหน้านี้แล้วว่า ความเป็นพันธมิตรระหว่างเครือข่ายทักษิณกับขบวนการประชาธิปไตย และนักวิชาการฝ่ายก้าวหน้าจะพัฒนาไปได้ยั่งยืนเพียงใด แต่จากปัญหาการนำเสนอเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่งในสัปดาห์ที่ผ่านมา น่าจะเป็นสัญญาณว่า ความเป็นพันธมิตรนี้น่าจะใกล้ถึงวาระสิ้นสุดแล้ว

ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ.2548 เมื่อพรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้เสียงข้างมากของประชาชนสนับสนุน แต่องค์กรทางสังคมและนักวิชาการฝ่ายก้าวหน้าส่วนใหญ่ไม่สนับสนุน เหตุผลและความชอบธรรมของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณจึงตกต่ำลงอย่างมาก และกระบวนการนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการรับรองความชอบธรรมของการรัฐประหารกันยายน พ.ศ.2549 ในฐานะวิธีการยุติระบอบทักษิณ

แต่กระนั้น ความไม่ชอบธรรมยิ่งกว่าของการก่อรัฐประหาร และวิธีการอันเหลวไหลของขบวนการฝ่ายขวาและอำนาจตุลาการหลังจากนั้น ช่วยทำให้เกียรติภูมิของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ฟื้นคืนมาใหม่ และกระบวนการต่อสู้ในระยะ 6 ปีที่ผ่านมา ก่อให้เกิดลักษณะพันธมิตรระหว่างฝ่ายของ พ.ต.ท.ทักษิณกับขบวนการประชาธิปไตย กระบวนการต่อสู้ร่วมกันนี้พัฒนามาตั้งแต่ พ.ศ.2550 โดยมีเป้าหมายในการต่อสู้กับระบอบอำมาตยาธิปไตย และต้องถือว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้แสดงบทบาทที่เป็นประโยชน์ในการต่อสู้ตามสมควร ในกระบวนการนี้ ทำให้พลังฝ่ายก้าวหน้ากลายมาเป็นแนวร่วมอย่างหลวมกับฝ่ายทักษิณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาฃีวะ ใช้วิธีการอันไม่ชอบธรรมขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี และใช้วิธีการปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนเพื่อรักษาอำนาจในเดือนเมษายน-พฤษภาคม พ.ศ.2553 และยังใช้อำนาจในการจับกุมและดำเนินคดีคนเสื้อแดงนับพันคน ติดตามมาด้วยการไล่ฟ้องและจับกุมผู้บริสุทธิ์ด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 วิธีการเหล่านี้จึงเป็นการยากที่นักวิชาการที่รักษาความเป็นธรรมทั้งหลายจะยอมรับ

การล่มสลายแห่งความชอบธรรมของรัฐบาลอภิสิทธิ์ และการเสื่อมถอยขององค์กรฝ่ายขวา เช่น พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้สร้างน้ำหนักให้กับฝ่ายพรรคเพื่อไทย ชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2554 อันนำมาซึ่งการจัดตั้งรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นอกเหนือจากเป็นเพราะความนิยมต่อ พ.ต.ท.ทักษิณที่ยังคงอยู่ในหมู่ประชาชนแล้ว ยังมาจากการโอบอุ้มของฝ่ายนักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตย ที่ต้องการเห็นการฟื้นฟูประชาธิปไตยอันแท้จริงในสังคมไทย ชัยชนะของพรรคเพื่อไทย จึงกลายเป็นชัยชนะที่เป็นธรรม เป็นชัยชนะร่วมกันของฝ่ายทักษิณและขบวนการประชาธิปไตย แต่เป็นความพ่ายแพ้ครั้งสำคัญของฝ่ายอำมาตย์และพลังฝ่ายจารีตในสังคมไทย

ปัญหาเริ่มเกิดขึ้นหลังจากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศแล้ว เพราะรัฐบาลกลับปล่อยปละอย่างมากในนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน ยอมจำนนต่อศาลอยุติธรรม และพินอบพิเทาฝ่ายจารีตนิยมจนเกินงาม แต่กรณีที่เป็นที่วิจารณ์อย่างมากก็คือ การละเลยไม่สนใจพี่น้องคนเสื้อแดงที่ถูกดำเนินคดีและติดคุก ทั้งจากคดีการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้เมื่อ พ.ศ.2553 และคดีตามมาตรา 112 ทั้งที่คนเหล่านี้ คือมวลชนที่ต่อสู้เพื่อพรรคเพื่อไทยมาแล้วทั้งสิ้น ความไม่สนใจเช่นนี้ ทำให้กลุ่มขบวนการประชาธิปไตยต้องเคลื่อนไหวเรียกร้องต่อพรรคเพื่อไทยให้มีการปล่อยนักโทษการเมือง เช่น ข้อเรียกร้องเรื่องการนิรโทษกรรมประชาชนของฝ่ายนิติราษฎร์ และการชุมนุมหมื่นปลดปล่อยเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2556 เป็นต้น

กระบวนการเหล่านี้จึงนำมาซึ่งการที่ นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ และ ส.ส.เพื่อไทยกลุ่มหนึ่ง ต้องนำเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเมื่อเดือนมีนาคม ทีผ่านมา โดยมีเนื้อหาให้นิรโทษกรรมให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมืองทุกฝ่ายทั้งฝ่ายเสื้อแดงและเสื้อเหลือง แต่ยกเว้นแกนนำและผู้สั่งการ ประชาชนคนเสื้อแดงจำนวนมากก็สนับสนุนร่างนี้ ด้วยความหวังที่ว่าจะเป็นช่องทางในการปล่อยนักโทษการเมืองให้ได้โดยเร็ว และพรรคเพื่อไทยก็มีมติสนับสนุน ดังนั้น ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมนี้ จึงได้ผ่านการรับหลักการวาระแรก ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา ด้วยคะแนนเสียง 300 ต่อ 124 เพื่อผ่านขั้นตอนไปสู่การตั้งกรรมาธิการพิจารณาในวาระที่สอง

แต่ปรากฏว่า การพิจารณาในขั้นนี้ กรรมาธิการเสียงข้างมากได้ยอมรับการแปรญัตติของนายประยุทธ ศิริพานิชย์ โดยเปลี่ยนเนื้อหาทั้งหมดของร่างเดิม ไปใช้ร่างใหม่ที่นิรโทษกรรมทุกฝ่ายรวมทั้งแกนนำ ซึ่งหมายถึงทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สุเทพ เทือกสุบรรณ และฝ่ายทหาร และที่ร้ายแรงยิ่งกว่านั้น คือ มีการเติมให้ยกเว้นการนิรโทษเหยื่อมาตรา 112 ด้วยข้ออ้างก็คือ การช่วยนำ พ.ต.ท.ทักษิณกลับบ้าน และสร้างความสมานฉันท์เพื่อเริ่มต้นใหม่ประเทศไทย การแปรญัตติเช่นนี้จึงเรียกกันว่าเป็นกฎหมายนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง และเป็นที่ต่อต้านอย่างมากจากกลุ่มเสื้อแดง นปช. ขบวนการประชาธิปไตย และ นักวิชาการฝ่ายก้าวหน้า แต่ฝ่ายพรรคเพื่อไทยก็ยังคงดึงดันที่จะเดินหน้าในญัตตินิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งต่อไป โดยไม่ฟังเสียงคัดค้าน

ปัญหาสำคัญในขณะนี้ก็คือ ฝ่ายพรรคเพื่อไทยยังไม่สามารถที่จะเสนอเหตุผลอันชอบธรรมอันใดเลย ที่จะอธิบายได้ว่าเหตุใดขบวนการประชาธิปไตยจะต้องยอมรับในมาตรการนิรโทษกรรมลักษณะนี้ ข้ออ้างที่ว่า มีความจำเป็นต้องนิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณกลับบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูก แต่ก็สามารถทำได้ง่ายโดยการล้มล้างผลพวงรัฐประหาร ไม่จำเป็นต้องเอามาพ่วงในกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน การอ้างว่า ต้องนิรโทษกรรมให้เสมอภาคกันตามมาตรา 30 ของรัฐธรรมนูญ แต่การยกเว้นเหยื่อมาตรา 112 ก็ชี้ให้เห็นว่าข้ออ้างนี้เป็นเรื่องไร้สาระ ถ้าจะอ้างว่าต้องรีบนิรโทษเพื่อเอาพี่น้องออกจากคุก ก็อธิบายได้ว่า ขบวนการประชาธิปไตยที่ต่อต้านการนิรโทษแบบเหมาเข่ง ก็ไม่ได้คัดค้านเรื่องการปล่อยนักโทษการเมืองเลย ฝ่ายรัฐบาลพรรคเพื่อไทยต่างหากที่สามารถช่วยนักโทษการเมืองได้ตลอดเวลา โดยการออกพระราชกำหนดหรือใช้มาตรการอื่น แต่ที่ผ่านมาไม่เคยคิดจะทำ และที่ดูตลกกว่านั้น คือ ฝ่ายนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพท้าทายเสมอว่าไม่ต้องนิรโทษกรรมให้กับพวกตน และฝ่ายผู้บัญชาการทหารก็ไม่เคยยอมรับว่า ได้กระทำความผิด แต่ด้วยเหตุใดกฎหมายเหมาเข่งจึงไปนิรโทษกรรมให้พวกเขาทั้งหมด เหตุผลเรื่องความปรองดองภายในชาติอาจจะฟังดูดี แต่คงต้องอธิบายเรื่องการจัดการความยุติธรรมต่อประชาชนที่เสียชีวิตและบาดเจ็บในเหตุการณ์เมษายนและพฤษภาคม พ.ศ.2553 ถ้าจะให้นิรโทษกรรมฆาตกรแล้วเลิกแล้วต่อกันเฉยๆ คงไม่ได้

การผลักดันร่างนิรโทษกรรมเหมาเข่งได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างหนักในขบวนการฝ่ายเสื้อแดง และก่อให้เกิดการแยกชัดระหว่างมวลชนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยในทุกเงื่อนไช กับพลังฝ่ายประชาธิปไตย และนักวิชาการฝ่ายก้าวหน้าที่ไมอาจยอมรับการนิรโทษกรรมแบบนี้ได้

เครือข่ายทักษิณและพรรคเพื่อไทยอาจจะไม่สนใจ และประเมินว่า ต่อให้ผลักดันการนิรโทษกรรมหน้าตาอย่างนี้ พรรคก็ยังชนะเลือกตั้งสมัยหน้าอยู่นั่นเอง โดยไม่ต้องอาศัยพวกนักวิชาการและพลังประชาธิปไตย ในที่นี่จะขอบอกว่า ถ้าหากไม่รับฟังและยังดึงดันนิรโทษกรรมเหมาเข่ง ก็จะสิ้นความชอบธรรมเพราะเรื่องเหมาเข่งเป็นเรื่องไร้หลักการทางการเมือง แต่ถ้าหากถอยเรื่องเหมาเข่งแล้วไม่ยอมนิรโทษกรรมประชาชน ให้ชาวบ้านติดคุกต่อไป ก็เป็นเรื่องอมหิตของรัฐบาลยิ่งลักษณ์

การตัดสินใจในเรื่องนี้กลายเป็นระเบียบวาระอันสำคัญ ถ้าตัดสินใจผิดพลาดก็จะเป็นจุดเริ่มต้นนับถอยหลังของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เพราะจะเกิดลักษณะที่พรรคได้คะแนนเสียงแต่ปราศจากความชอบธรรม สถานการณ์ทางการเมืองไทยจึงวังเวงยิ่งนัก

 ที่มา.ประชาไท
////////////////////////////////////////////

ฟองสบู่ที่ดิน !?

โดย พัฒนพันธุ์ วงษ์พันธุ์

ในขณะที่หน่วยงานด้านเศรษฐกิจกำลังวิตกกับตัวเลขต่าง ๆ ซึ่งมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง กระทั่งคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ต้องยอมปรับลดตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้ลง จากเดิมที่คาดการณ์กันไว้ที่ 4.2% ล่าสุดถูก กนง.ปรับลดลงเหลือ 3.7%

จากเหตุผลที่ว่าประชาชนยังระมัดระวังการจับจ่าย โดยเฉพาะสินค้าคงทน กว่าที่การใช้จ่ายจะกลับมาฟื้นตัวดีอีกครั้งอาจเป็นปีหน้าโน่นเลยทีเดียว

น่าคิดตรงที่ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่กำลังขาดความมั่นใจว่า ไม่รู้ว่าเศรษฐกิจไทยภายภาคหน้าจะออกหัวออกก้อย ปรากฏว่าราคาที่ดินทั่วประเทศเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือปรับสูงขึ้นจนน่าตกใจ ด้วยฤทธิ์ของการปั่นราคา เก็งกำไร ซึ่ง "ประชาชาติธุรกิจ" นำเสนอไปก่อนหน้านี้

นอกจากเมืองหลัก ๆ อย่างนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี ราคาที่ดินจะแพงลิบลิ่วไม่แพ้กรุงเทพฯ เนื่องจากเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ระบุชัดเจนว่า ราคาที่ดินในจังหวัดรอง ๆ อย่างมหาสารคาม นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ ยโสธร บึงกาฬ และมุกดาหาร ปรับขึ้นไปพรวดพราดเช่นกัน และก็ไม่ใช่น้อย ๆ บางแห่งปาเข้าไปเป็นสิบเท่า

คุณสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) แจกแจงว่า การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ปี 2558 การลงทุนของผู้ประกอบการส่วนกลาง และการตื่นตัวจากโครงการลงทุน 2 ล้านล้านของรัฐบาล คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ราคาที่ดินสูงขึ้น ยกตัวอย่าง ร้อยเอ็ด หลังจากมีค้าปลีกรายใหญ่เข้ามาเปิดสาขา ที่ดินละแวกใกล้เคียงปรับขึ้นจากไร่ละ 3 ล้าน เป็น 10-12 ล้าน

บึงกาฬ ซึ่งจะมีการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวเกิดขึ้น ราคาที่ดินปรับขึ้นไปแล้ว 3-4 เท่าตัว จากไร่ละ 10-15 ล้าน เช่นเดียวกับมุกดาหาร ราคาที่ดินเขตเมืองริมแม่น้ำโขง จากไร่ละ 3-4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 7-8 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวในพื้นที่บอกว่า ราคาที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่า ๆ ตัวนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในเขตเมืองหรือย่านการค้าเท่านั้น แต่เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ แค่มีข่าวลือการลงทุนใหญ่ ๆ แพร่สะพัด ราคาที่ดินจะทะยานไปรอล่วงหน้า ถ้าเป็นเมื่อก่อนข่าวการลงทุนของค้าปลีกใหญ่ ๆ จะมีน้ำหนักกว่าเรื่องอื่น ๆ

ปัจจุบันข่าวโครงการ 2 ล้านล้านรถไฟความเร็วสูงจะเป็นตัวปั่นราคาที่ร้อนแรงที่สุดบางพื้นที่แค่มีข่าวลือคนก็รีบวิ่งไปเก็บที่ โดยไม่ได้มีการตรวจสอบข่าว ทั้ง ๆ ที่รถไฟความเร็วสูงในภาคอีสานมีอยู่เส้นเดียว คือ กรุงเทพฯ-โคราช ในเฟสแรก โคราช-หนองคาย ในเฟส 2 นอกเหนือจากนั้นคือข่าวลือล้วน ๆ ถามไถ่ยักษ์ใหญ่วงการล้วนรับรู้ข่าวการปั่นราคาที่ดินที่เกิดขึ้น

คุณอธิป พีชานนท์ ผู้บริหารศุภาลัย ซึ่งมีตำแหน่งเป็นนายกสมาคมธุรกิจจัดสรรอยู่ด้วยยอมรับว่า ศุภาลัยมีแผนลงทุนในภาคอีสานต่อเนื่อง แต่จะเลือกพัฒนทำเลบริเวณรอบนอกเพื่อเลี่ยงการแข่งขันซื้อที่ดินในเมืองที่แพงขึ้นมาก

ส่วน คุณทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ประธานใหญ่บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) พูดไว้กลางเวทีเสวนา 2 ล้านล้านที่อุบลราชธานีเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนว่า ถึงจะเคยวนเวียนศึกษาตลาดที่นี่อยู่บ้างแต่ยังไม่มีการตัดสินใจลงทุน เพราะมีรายละเอียดต้องพิจารณาเยอะมาก

ที่สำคัญการซื้อขายที่ดินของผู้ประกอบการระดับนี้จะทำกันเงียบ ๆ ไม่มีการออกข่าวล่วงหน้าใด ๆ ทั้งสิ้น เรื่องแบบนี้จะเชื่อข่าวลือเพื่อปั่นราคาที่ดิน หรือค้นหาให้ได้ความจริง ก่อนตัดสินใจอย่างหนึ่งอย่างใด ต้องตรองดูให้ดี ๆ ครับ

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
////////////////////////////////////////

นิรโทษกรรมผิดซอย มาถูกทิศ แต่เลี้ยวผิดทาง !!?

โดย วีรพัฒน์ ปริยวงศ์

ประเด็นนิรโทษกรรมมีความเป็นมาอย่างไร ?

ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับที่กำลังถกเถียงกันเริ่มต้นจากฉบับที่นายวรชัย เหมะ ส.ส. พรรคเพื่อไทย และคณะได้เสนอให้นิรโทษกรรม "ประชาชน" ทุกกลุ่มที่กระทำความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมและการแสดงออกทางการเมือง ในระยะเวลาที่เริ่มต้นจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มาจนถึงการชุมนุมทางการเมืองในวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 แต่บุคคลดังกล่าวจะต้องไม่มีอำนาจตัดสินใจสั่งการ ซึ่งที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวาระที่ 1 ได้มีมติรับหลักการ กล่าวคือ ให้นำร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมต่อไปโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญ

ต่อมา คณะกรรมาธิการวิสามัญได้มีมติเสียงข้างมากแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎหมาย ส่งผลเปลี่ยนแปลงสำคัญสี่ด้าน

1.ด้านคดี ได้ขยายการนิรโทษกรรมให้รวมไปถึงคดีอื่นที่กล่าวหาโดยองค์กรที่จัดตั้งขึ้นหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 หรือองค์กรอื่นที่ดำเนินการต่อเนื่องมา ซึ่งย่อมหมายรวมถึงคดีทุจริตที่ดำเนินการคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งไม่ได้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการชุมนุม เช่น คดีที่ดินรัชดาฯ และคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

2.ด้านเวลา ได้ขยายช่วงเวลาของการกระทำที่ได้รับการนิรโทษกรรมให้คลุมไปถึง 8 สิงหาคม 2556 ซึ่งย่อมรวมถึงการชุมนุมทางการเมืองของฝ่ายที่ต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่ไม่เกี่ยวเนื่องกับการรัฐประหารโดยตรง

3.ด้านตัวบุคคล ได้ขยายให้นิรโทษกรรมต่อบุคคลเป็นการทั่วไปไม่ว่าจะเป็นผู้ตัดสินใจสั่งการหรือไม่ ซึ่งย่อมรวมถึงแกนนำผู้ชุมนุม ตลอดจนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และนายทหารระดับสูง

4.ด้านผลการนิรโทษกรรม ได้กำหนดให้ผลการนิรโทษกรรมต้องดำเนินการตาม "หลักนิติธรรม" อย่างเคร่งครัด อีกทั้งเปิดช่องให้ผู้ได้รับการนิรโทษกรรมบางรายเรียกร้องสิทธิหรือประโยชน์ได้ ซึ่งมีบางฝ่ายมองว่ามุ่งหมายถึงกรณีการเรียกทรัพย์สินที่ถูกยึดคืน

ทั้งนี้ การแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าวยังไม่สิ้นสุด โดยในขั้นต่อไปร่างฉบับคณะกรรมาธิการจะถูกนำไปพิจารณารายมาตราโดยสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 2 และพิจารณาทั้งฉบับอีกครั้งในวาระที่ 3 ซึ่งหากสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบก็ยังต้องให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไป ดังนั้น เนื้อหาการนิรโทษกรรมจึงยังถูกแก้ไขให้กลับมาแคบดังเดิมได้

ฝ่ายหนึ่งอ้าง รัฐธรรมนูญ มาตรา 30 แต่อีกฝ่ายอ้าง มาตรา 309 ?

มีบางฝ่ายอ้าง รัฐธรรมนูญ มาตรา 30 เรื่องความเสมอภาคว่าจำเป็นต้องนิรโทษกรรมทุกคน เพื่อไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ อย่างไรก็ดี หลักความเสมอภาคหมายความว่าผู้ที่อยู่ภายใต้สภาพหรือเงื่อนไขเดียวกันไม่อาจถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม เช่น กฎหมายกำหนดอัตราภาษีไว้ต่างกัน ถ้ารวยเท่ากัน ก็จ่ายภาษีเท่ากัน ถ้ารวยเท่ากัน แต่ภาระต่างกันก็หักค่าลดหย่อนได้ต่างกัน เรื่องนิรโทษกรรมก็เช่นกัน คดีทุจริตที่ไม่ได้เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองย่อมอยู่ภายใต้สภาพเงื่อนไขต่างกัน จะนำเรื่องความเสมอภาคมาอ้างมิได้ มิเช่นนั้นก็ต้องนิรโทษกรรมทุกคดีที่อ้างความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งก็ไม่มีขอบเขตที่ชัดเจน การอ้าง มาตรา 30 จึงฟังไม่ขึ้น

ส่วนอีกฝ่ายที่อ้างว่า หากสุดท้ายรัฐสภาเห็นชอบให้นิรโทษกรรมคดีทุจริตที่กล่าวหาโดย คตส. ได้ด้วย ก็ถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 ซึ่งบัญญัติว่า บรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้

ผู้ที่อ้างเช่นนี้ หากไม่ได้เลื่อมใสในการรัฐประหาร ก็อาจหลงเข้าใจว่า มาตรา 309 สร้างสภาพบังคับทางรัฐธรรมนูญให้คดี คตส. ถูกแตะต้องไม่ได้เว้นแต่โดยการแก้รัฐธรรมนูญ แต่แท้จริงแล้วสาระของ มาตรา 309 เป็นเพียงบทรองรับความต่อเนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวให้สิ่งที่ คตส. ดำเนินการในยามรัฐประหารนั้น "ให้มีผลใช้บังคับต่อไป" ประหนึ่ง คตส. ดำเนินการไปในฐานะ ป.ป.ช. ในยามปกติ ซึ่งเมื่อรัฐสภาตรากฎหมายนิรโทษกรรมคดีที่ ป.ป.ช. ดำเนินการตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญในยามปกติได้ฉันใด รัฐสภาก็ย่อมมีอำนาจนิรโทษกรรมคดีที่ดำเนินการโดย คตส. ที่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญรองรับได้ฉันนั้น ดังนั้น ข้ออ้างเรื่อง มาตรา 309 จึงฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

นิรโทษกรรมคดีทุจริตเท่ากับขัดต่อวาระรับหลักการ ?

แม้การนิรโทษกรรมคดีทุจริตจะไม่ขัดต่อ มาตรา 309 แต่มีปัญหาต่อว่ากฎหมายฉบับนี้ตราขึ้นโดยขัดต่อหลักการที่สภาเคยมีมติรับไว้พิจารณาในวาระที่ 1 และตราขึ้นโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

ประเด็นดังกล่าวมิได้ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง แต่ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 ข้อ 117 ได้กำหนดว่า คณะกรรมาธิการอาจเพิ่มมาตราขึ้นใหม่หรือตัดทอนหรือแก้ไขมาตราเดิมได้ แต่ต้องไม่ขัดกับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัตินั้น นอกจากนี้ ข้อบังคับการประชุมฯ ข้อ 177 ได้กำหนดต่อว่า ถ้ามีปัญหาที่จะต้องตีความข้อบังคับนี้ให้เป็นอำนาจของสภาที่จะวินิจฉัย และเมื่อที่ประชุมได้ลงมติวินิจฉัยโดยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกในที่ประชุมเป็นประการใดแล้ว ให้ถือว่าคำวินิจฉัยนั้นเป็นเด็ดขาด

ดังนั้น หากมีผู้โต้แย้งว่าสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 1 ได้รับหลักการร่างกฎหมายฉบับนี้ให้นิรโทษกรรมเฉพาะประชาชนระดับทั่วไปที่ร่วมชุมนุมหรือแสดงออกทางการเมืองเท่านั้น แต่คณะกรรมาธิการได้แก้ไขขยายความร่างกฎหมายจนเกินเลยหลักการดังกล่าว ที่ประชุมสภาก็อาจลงมติวินิจฉัยให้เด็ดขาดได้ว่าการแก้ไขที่ขัดต่อหลักการนั้นเป็นอย่างไร

ทั้งนี้ แม้พรรคเพื่อไทยจะมีเสียงข้างมากที่จะลงมติวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวให้เด็ดขาดได้ แต่การฝืนกระแสสังคมนั้นอาจมีผลรุนแรงถึงขั้นเป็นการหักหลังประชาชน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่สูญเสียจากการชุมนุม หรือฝ่ายที่เรียกร้องให้ชำระคดีทุจริตโดย คตส. เพื่อเริ่มดำเนินคดีใหม่อย่างเป็นธรรม ซึ่งจะส่งผลเสียต่อพรรคเพื่อไทยในระยะยาว

ยิ่งไปกว่านั้น หากสุดท้ายมีผู้ไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าร่างกฎหมายดังกล่าวตราขึ้นโดยไม่ถูกต้อง ก็เป็นไปได้ที่ศาลจะรับไว้ตีความ ถึงแม้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 154 จะให้อำนาจศาลพิจารณาการตรากฎหมายที่ขัดต่อ "บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ" โดยไม่ได้ระบุถึงข้อบังคับการประชุมที่กำหนดให้คำวินิจฉัยของฝ่ายสภาผู้แทนราษฎรนั้นเป็นเด็ดขาดก็ตาม แต่หากสุดท้ายศาลรับพิจารณาและวินิจฉัยให้ร่างกฎหมายนี้ตกไป พรรคเพื่อไทยเองก็จะถูกมองว่าเป็นฝ่ายหาเรื่องโดยนำประโยชน์นักการเมืองมาผูกไว้จนทำให้ร่างกฎหมายนี้ตกไปไม่ถึงมือประชาชน

แต่ก็ไม่แน่ หากพรรคเพื่อไทยเดินยุทธศาสตร์อย่างแยบยล ก็อาจใช้โอกาสนี้พิสูจน์ให้สังคมเห็นว่าสมาชิกพรรคเดียวกันสามารถโต้แย้งกันอย่างเปิดเผยเพื่อดึงร่างกฎหมายนิรโทษกรรมให้กลับมาอยู่ในแนวทางที่ยอมรับโดยประชาชน หรือนายกรัฐมนตรีเองก็อาจใช้โอกาสแสดงท่าทีบางอย่างเพื่อพิสูจน์ภาวะความเป็นผู้นำอย่างแหลมคม ซึ่งนอกจากจะแสดงถึงความเป็นประชาธิปไตยและเพิ่มความชอบธรรมให้พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลแล้ว ยังจะเป็นการตอกย้ำความแตกต่างของพลวัตทางความคิดภายในสองพรรคใหญ่ได้อีกด้วย

หากไม่นิรโทษกรรมคดี คตส. เท่ากับยอมรับรัฐประหาร ?

พรรคเพื่อไทยได้ยกประเด็นสำคัญว่าการนิรโทษกรรมคดี คตส. นั้น ถือเป็นการปฏิเสธอำนาจรัฐประหาร เพื่อกอบกู้ประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม ซึ่งความคิดนี้มี "เป้าหมาย" ถูกต้อง แต่ "วิธีการ" ยังมีปัญหา เพราะการนิรโทษกรรมคือการ "ลืม" การทำ โดยถือให้การกระทำนั้นไม่ว่าจะผิดหรือไม่ ก็ถือว่ายุติและไม่มีความผิดเกิดขึ้น คดีและข้อกล่าวหาย่อมจบลงและเริ่มต้นใหม่ไม่ได้ สังคมก็จะไม่รู้ว่านักการเมืองรายใดบริสุทธิ์หรือทุจริต รายใดสังหารหรือดูแลประชาชน ความขัดแย้งก็จะกลับมารุนแรง เป็นวังวนให้เกิดข้ออ้างการรัฐประหารไม่สิ้นสุด และไม่ได้เป็นการ "เซตซีโร่" หรือเริ่มต้นใหม่แต่อย่างใด

กล่าวให้เข้าใจง่ายก็คือ การนิรโทษกรรมคดีทุจริตเพื่อต่อต้านการรัฐประหารนั้น อาจไม่ใช่กรณี "สุดซอย" หรือ "ทะลุซอย" เสียทีเดียว แต่เป็นกรณี "ผิดซอย" คือมาถูกทิศ แต่เลี้ยวผิดทาง เพราะแม้จะพยายามล้างผลคดี คตส. แต่ก็ไม่เอื้อต่อการตรวจสอบการทุจริต ทั้งที่ทั้งสองประเด็นต่างก็เป็นสาระสำคัญของหลักนิติธรรมทั้งสิ้น จะเลือกอย่างแต่เสียอย่างไม่ได้

สิ่งที่นักการเมืองทุกฝ่ายควรทำในเวลานี้ คือการแสดงจุดยืนต่อต้านรัฐประหารและการทุจริตไปพร้อมกัน โดยไม่นำประชาชนไปปนกับนักการเมือง และต้องเริ่มถกเถียงกันอย่างสร้างสรรค์ว่าจะจัดการกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 ที่หักดิบหลักนิติธรรมและตบหน้าประชาธิปไตยอย่างไรโดยไม่ปล่อยให้ผู้ถูกกล่าวหาว่าทุจริตลอยนวลจากการตรวจสอบ

หากพรรคเพื่อไทยจริงใจที่จะชำระคราบรัฐประหาร และมั่นใจในความบริสุทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหา ก็ไม่ควรนำประเด็น คตส. ไปปนกับประเด็นนิรโทษกรรม แต่ควรนำเสนอแนวทางการแก้ไข รัฐธรรมนูญ มาตรา 309 เพื่อล้มล้างกระบวนการ คตส. ให้เสียเปล่ามาแต่ต้น และนำผู้ที่เคยถูก คตส. กล่าวหาว่าทุจริต ตลอดจนผู้กระทำการรัฐประหาร กลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่เริ่มต้นใหม่อย่างถูกต้องในยามปกติ เพื่อ "เซตซีโร่" หรือเริ่มต้นใหม่อย่างแท้จริง

ส่วนหากพรรคประชาธิปัตย์เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และเชื่อว่ามีการทุจริตจริง ก็ไม่ควรสองมาตรฐาน โดยมือข้างหนึ่งยกต้านนิรโทษกรรมนักการเมืองแต่มืออีกข้างกลับยอมแบตาม มาตรา 309 ที่มีผลเลวร้ายยิ่งกว่าการนิรโทษกรรม สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ควรทำ คือ ชิงนำการแก้ไข มาตรา 309 ให้รัดกุม รอบคอบ และเป็นประชาธิปไตย เพื่อพิสูจน์จุดยืนการปฏิรูปพรรคว่าจะต่อสู้เพื่อนำทั้งผู้ทุจริตและผู้รัฐประหารมารับผิดโดยไม่อิงแอบเผด็จการ

มาถึงวันนี้ ทุกฝ่ายควรยอมรับร่วมกันได้แล้วว่า การทุจริตเป็นสิ่งเลวร้าย แต่การทุจริตที่ใหญ่หลวงที่สุดก็คือการรัฐประหาร และการนิรโทษกรรมที่อหังการที่สุดก็คือ มาตรา 309 ทางออกจากวงจรอุบาทว์นี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีการปฏิเสธการทุจริตทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นการทุจริตที่กระทำโดยอ้างรัฐธรรมนูญ หรือโดยล้มรัฐธรรมนูญก็ตาม

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////

ผู้ป่วยแห่งเอเชีย !!?

โดย.ศ.ดร.วรภัทร โตธนะเกษม

การมีผู้นำเผด็จการ และผู้มีอำนาจในสังคมต่างคอร์รัปชันกันอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน

ทำให้ประเทศซึ่งครั้งหนึ่งเคยโดดเด่นกว่าประเทศไทยของเรา กลับต้อง เตี้ยลงๆ จนกลายเป็น “ผู้ป่วยแห่งเอเชีย” (Sick Man of Asia) มาเป็นเวลานานหลายทศวรรษ ประเทศนั้นมีชื่อว่า ฟิลิปปินส์

ประเทศนี้มีความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้นหลายครั้งหลายครา มีทั้งการลอบสังหาร นายนินอย อาคิโน จูเนียร์ อดีตผู้นำฝ่ายค้าน เสียชีวิตทันทีที่ลงจากเครื่องบิน ไปจนถึงการปฏิวัติโดย “พลังประชาชน” (People Power) เพื่อล้มล้างรัฐบาลคอร์รัปชันของนายเฟอดินัล มากอส และการจำคุกอดีตประธานาธิบดีหญิง กลอเรีย มาคาปากัล เป็นต้น ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้ผู้ป่วยรายนี้ ต้องนอนซบเซาด้วยพิษไข้จนแทบโงหัวไม่ขึ้น เข้าโรงพยาบาลมาเป็นเวลานานแสนนาน กลายเป็น “ผู้ป่วยแห่งเอเชีย” ไปอย่างน่าเศร้าใจ

แต่ถ้าหากมีความพยายาม และการเมืองเริ่มสงบ แสงสว่างรำไร ก็เริ่มมาเยือนได้เหมือนกัน เพราะเมื่อปีที่แล้วนี้เอง ในเดือนกรกฎาคม 2555 บริษัทจัดอันดับเครดิต S&P ได้ปรับอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ (ซึ่งตกต่ำอยู่ในระดับ “ขยะ” มานานหลายสิบปี) จาก BB ให้สูงขึ้นเป็น BB+ และถึงแม้จะยังเป็น “ขยะ” อยู่ก็ตาม แต่ถ้าหากได้รับการปรับเพิ่มขึ้นอีกเพียง 1 อันดับเท่านั้น ฟิลิปปินส์ ก็จะเข้าสู่ระดับ “ลงทุนได้” ทำให้ผู้ป่วยรายนี้ มีอาการคึกคักขึ้นมาทันที

ปัจจัยในการปรับอันดับครั้งนั้น มีหลายประการ ที่ชัดเจนก็คือ รัฐบาลสามารถบริหารหนี้สาธารณะให้ลงได้อย่างต่อเนื่อง จาก 80% ในปี 2547 เหลือเพียง 50% ในปี 2555 และเงินสำรอง สูงขึ้นเป็น 77 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเพียงพอที่จะนำสินค้าเข้าได้เป็นเวลานาน 11 เดือน ในขณะที่ GDP เติบโตขึ้นเกินกว่า 6%

อีกเพียง 8 เดือนต่อมา เมื่อเดือนมีนาคม 2556 Fitch ก็ได้ประกาศเพิ่มอันดับเครดิตของฟิลิปปินส์เป็น BBB- ซึ่งถือเป็นการก้าวเข้าสู่ระดับ “ลงทุนได้” เป็นครั้งแรก จากนั้น อีก 2 เดือน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2556 นี้เอง S&P ก็ได้ปรับอันดับของฟิลิปปินส์ เป็น BBB- เช่นกัน จึงถือได้ว่าหมอใหญ่สองราย ได้อนุญาตให้ “ผู้ป่วยแห่งเอเชีย” ออกจากโรงพยาบาลได้แล้ว

นอกจากนั้น เมื่อต้นเดือนกันยายน 2556 บลูมเบิร์ก ก็ได้รายงานผลการสำรวจว่า ฟิลิปปินส์ น่าจะเป็น 1 ใน 5 ประเทศ ที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดในโลก โดยปี 2556 และ 2557 คาดว่าจะเติบโต 6.9% และ 6.4% ตามลำดับ

ล่าสุด เมื่อวันอังคารที่ 29 ตุลาคม สัปดาห์นี้ ธนาคารโลก ก็ได้ออกรายงาน “Doing Business in Asia” ซึ่งระบุว่าฟิลิปปินส์ เป็นประเทศที่อยู่ในอันดับที่ 108 จาก 189 ประเทศทั่วโลก แม้ว่าจะยังเป็นอันดับที่ค่อนข้างต่ำ แต่ธนาคารโลก ก็รายงานว่า ฟิลิปปินส์ เป็น 1ใน 10 ประเทศทั่วโลก ที่ “ไต่อันดับ” ได้ดีเป็นพิเศษ เพราะสามารถ ก้าวได้มากถึง 30 อันดับ จากปีที่ผ่านมา

ช่วงนี้ ประธานาธิบดี อาคิโน ไปไหน ก็เอ่ยปากพูดพร้อมด้วยรอยยิ้มว่า ” ฟิลิปปินส์ ไม่ใช่ผู้ป่วยแห่งเอเชียอีกต่อไปแล้ว” และถ้าดูตัวเลขการเติบโตของ GDP เมื่อสิ้นสุดไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ ซึ่งเติบโตจากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 7.5% และ 7.7% ตามลำดับ นักวิเคราะห์และกองทุนต่างชาติ ก็มองว่ารอยยิ้มของท่านประธานาธิบดีนั้น เป็นรอยยิ้มที่มี “เหตุอันควร”

สำหรับคนไทยเรา ถ้ามองว่าเรื่องราวที่ผมเล่ามานี้เป็นการวิ่งแข่ง ก็สรุปได้ว่า ในลู่วิ่งขณะนี้ ถ้ามองไปข้างหน้า เราไม่เห็นฝุ่นเลย ก็คือสิงคโปร์ ซึ่งอยู่ในกลุ่มอันดับเครดิตสูงสุดในโลกที่ AAA แต่ที่ยังพอเห็นหลังไม่ไกลนักได้แก่ มาเลเซีย ซึ่งมีโอกาสที่เราจะ “สปีด” ให้ทันได้เหมือนกัน แต่ที่ไกลไปอีกพอสมควร คือ เกาหลีใต้ ซึ่งทั้งสองประเทศนี้ ความจริงก็บาดเจ็บสาหัสเท่าเทียมกับเรา หรือหนักหนากว่าเรา เมื่อครั้งวิกฤติต้มยำกุ้งที่ผ่านมา แต่วันนี้ ทั้งสองประเทศวิ่งนำหน้าเราอย่างชัดเจน

ถ้าหันหลังกลับ ก็พอมองเห็นรำไรว่า อยู่ห่างจากเราพอควร แต่ประมาทไม่ได้เหมือนกัน ได้แก่ อินโดนีเซีย และตอนนี้ ก็ควรต้องเพิ่ม ฟิลิปปินส์ เข้าไปด้วย อีกราย

โอ้ละหนอ ในช่วงเวลาข้างหน้านี้ ใครจะทิ้งใคร และการแข่งขันจะน่าตื่นเต้นสักเพียงใด ผมก็มิอาจทราบได้ เพราะว่าหลังจากที่ผมได้ส่งต้นฉบับไปเมื่อบ่ายวานนี้ เข้าใจว่า ยามค่ำคืนวานนี้ จะมีผู้คนจำนวนมากไปรวมกันอยู่ที่สถานีรถไฟสามเสน พวกเขาไม่ได้ไปขึ้นรถไฟ แต่ไปตามเสียงเป่านกหวีด และก็ไม่ทราบว่าจะอยู่ที่นั่นนานสักเพียงใด รวมทั้งผลที่ตามมาจะเป็นเช่นใด

เมื่อนักวิ่งไทย ต้องอยู่ในสถานการณ์บ้านเมืองเช่นนี้ ท่ามกลางเพื่อนบ้าน ที่เริ่มแข็งแรงและมุ่งมั่น เราก็ควรมาช่วยกันปลุกขวัญนักวิ่งไทยอย่างแรงๆ น่าจะดีที่สุด เอ้า...ไทยแลนด์... ไทยแลนด์.... ไทยแลนด์.....

ไม่ปลุกขวัญกันได้ยังไงล่ะ ก็เมื่อฟิลิปปินส์เดินออกมาจากโรงพยาบาลเตียงก็ว่างแล้วนี่

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
/////////////////////////////////////