--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2556

นี่แหละเหตุและผล !!?



ฟังข่าว..บริษัทที่รับประมูลสร้างบ้านให้กับกองบัญชาการตำรวจแห่งชาติ..ออกข่าวจะฟ้องตำรวจหากถูกบอกเลิกสัญญา..แล้วก็ได้แต่สงสัยว่า..ประเทศนี้มันคงกำลังเพี้ยนกันใหญ่
เรื่องแบบนี้หากเกิดขึ้นในประเทศจีน..ก็มีแต่คนทำกับคนรับจ้าง จะต้องถูกเอาตัวไปยิงเป้าประจานกันกลางเมือง

หากเกิดในประเทศเกาหลีใต้..คนสั่งการคนให้สัญญาหากไม่โดดตึกตาย..ก็ต้องติดคุกยาวนาน
เพราะโดยสามัญสำนึกเพียงอย่างเดียว..มันก็แทบจะ พิพากษาได้แล้ว
เขาทำสัญญาแยกไว้..มันเอาไปรวมเป็นสัญญาเดียว

มีการตระเตรียมคนเซ็นสัญญาไว้ล่วงหน้าโดยการให้เป็นรักษาการยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์..เพราะหากตั้งคนอื่นขึ้นไปเขาก็คงไม่กล้าอนุมัติ

ไม่เชื่อก็ลองถาม พลตำรวจเอก จุมพล มั่นหมาย..คนที่จะได้เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแล้วไม่ได้เป็น..ว่าจะลงนามว่าจ้างหรือไม่กับสัญญาแบบนี้

และหากเอารูปแบบแห่งคดีไปเปรียบเทียบกับคดีที่เอานายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ไปเป็นจำเลยแล้วลงโทษพิพากษาจำคุกเขาสองปีแล้ว..ผู้ก่อการในคดีนี้ทั้งหมดจะมีโทษแค่สองสถานไม่ประหารก็จำคุกตลอดชีวิต

เพราะคดีของนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชิณวัตร ภริยาของเขาเอาเงินจากบ้านมาซื้อที่ดินที่ทางราชการยึดมา..เขาให้ราคาแพงกว่ารายอื่นๆ ในลักษณะเดียวกัน..และแล้วในที่สุดศาลสถิตยุติธรรม อันเป็นสากลก็ประกาศคำพิพากษาว่า..การซื้อขายถูกต้อง

แต่แปลกวันนี้โทษจำคุกสองปียังกลายเป็นของทักษิณ.

นี่แหละคือเหตุและผลที่ทำให้ประชาชนต้องไปยืนฝั่งยืนข้างทักษิณ..เพราะเขาเข้าใจและเชื่อว่า อำนาจที่มีเจ้าของนั้นเป็นอำนาจที่เขาไม่สามารถจะต่อสู้ด้วยได้..ไม่ว่าเขาจะกระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม
นี่แหละคือเหตุและผลที่ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่..ลงคะแนนให้กับทุกพรรคที่ ทักษิณ. ชิณวัตร บอกให้เลือกให้ลง..รวมไปถึงใครก็ได้ที่ ทักษิณ ชิณวัตร อยากให้เป็นนายกรัฐมนตรี

นี่เองแหละคือเหตุและผลที่..พรรคการเมืองของประชาชนทั้งหลายต้องรวมตัวกัน..เพื่อสร้างอำนาจของประชาชนขึ้นมา

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น..ประชาชนไม่ได้ปรารถนาอำนาจเพื่อการแก้ไขเปลี่ยนแปลงใดๆ..แต่เขาแค่อยากจะมีอำนาจนั้นไว้เพียงเพื่อจะคุ้มครองครอบครัวและตัวเขา..จากความอำมหิตของอำนาจที่ปราศจากมาตราฐานและไร้คุณธรรม

โดย.พญาไม้,บางกอกทูเดย์
/////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2556

และแล้วยามอัศดง ของ พีซี ก้อมาถึง !!?


คอลัมน์ IT. Talentz

ถึงตอนนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ชัดเจนแล้วว่าพีซีเริ่มเข้าสู่ยุคโรยราอย่างแท้จริง เมื่อตัวเลขยอดส่งพีซีจากโรงงาน

รายไตรมาสที่รายงานโดยไอดีซีและการ์ตเนอร์ออกมาตรงกัน นั่นคือการหดตัวอย่างรุนแรงของตลาดพีซีทั่วโลก

เป็นความตกต่ำหนักที่สุดเท่าที่ทั้งสองบริษัทเริ่มจัดทำรายงานยอดพีซีรายไตรมาสมาเลยก็ว่าได้

ไตรแรกของปีนี้ ตัวเลขของไอดีซีระบุว่ายอดส่งจากโรงงานของพีซีทั่วโลกลดลงถึงร้อยละ 14 จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ว่าจะลดลงร้อยละ 7.7 นับเป็นความตกต่ำที่หนักหน่วงที่สุดตั้งแต่ไอดีซีเริ่มติดตามข้อมูลรายไตรมาสมาตั้งแต่ปี 1994 และเป็นการลดลงต่อเนื่องกันมาเป็นไตรมาสที่สี่แล้ว

เช่นเดียวกันกับข้อมูลของการ์ตเนอร์ที่แสดงให้เห็นว่า ยอดส่งออกจากโรงงานของพีซีทั่วโลกในไตรมาสแรกของปีนี้ลดลง

ร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว คิดเป็นจำนวนต่ำกว่า 80 ล้านเครื่องเป็นครั้งแรกนับแต่ไตรมาสที่สองของปี 2009 เป็นต้นมา

ยอดพีซีตกต่ำลงในทุกภูมิภาคทั่วโลก แม้ว่าบางภูมิภาคเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นมาบ้างแล้วก็ตาม

ขณะที่แต่เดิมหวังกันว่าวินโดวส์ 8 ระบบปฏิบัติการยกเครื่องใหม่ของไมโครซอฟท์จะมีส่วนช่วยหนุนตลาด ในความเป็นจริงกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น ระบบสัมผัสของวินโดวส์ 8 กลับโดนละเลยจากผู้บริโภคที่เห็นว่าแพงเกินไป เมื่อเทียบกับทางเลือกที่ถูกกว่าอย่างแท็บเลต แนวโน้มที่คนหันเหจากพีซีไปหาแท็บเลตหรืออุปกรณ์โมบายนั้นเห็นกันได้อย่างชัดเจน

จากข้อมูลของ "ไอดีซี" สหรัฐ และเอเชีย-แปซิฟิก ยกเว้นญี่ปุ่น ยอดพีซีลดลงร้อยละ 13 ยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ลดลงเป็นเลขสองหลัก ขณะที่ตลาดญี่ปุ่นก็ยังอ่อนยวบยาบ

แม้ว่าเมื่อพิจารณาจากผู้ผลิต จะมีอยู่สองสามบริษัทที่ทำได้ดีขึ้นบ้างในตลาดสหรัฐ นั่นคือ เลอโนโว ซัมซุง และเอซุส แต่ก็ถือว่าเป็นรายเล็กในสหรัฐ โดยมีเพียงเลอโนโวเท่านั้นที่ติดอันดับ 1 ใน 5

ยอดขายของเลอโนโวในไตรมาสเดียวกันในสหรัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 แต่ยอดทั่วโลกก็ทรงตัว

นั่นหมายความว่าเลอโนโวเอาชนะคู่แข่งได้ภายใต้สภาพตลาดที่กำลังดำดิ่งลง ขณะที่ซัมซุงทำได้ดีจากโครมบุ๊ก ที่ใช้ระบบปฏิบัติการโครมของกูเกิล แต่ก็ยังเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของตลาด

ส่วนผู้ผลิตพีซีเจ้าอื่น ๆ ทั้งเอชพี, เดลล์ และเอเซอร์เผชิญกับปัญหาหนัก ยอดส่งจากโรงงานของเอชพีทั่วโลกจากข้อมูลของไอดีซีลดลงถึงร้อยละ 24 และเอเซอร์ลดลงร้อยละ 31

ที่น่าสนใจก็คือในตลาดผู้บริโภคทั่วไป ยังไม่เห็นสัญญาณของการฟื้นตัวของตลาดพีซี

หรือว่านี่คือการเข้าสู่ยุคอัสดงของมันหลังจากที่เบ่งบานต่อเนื่องกันมายาวนาน

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
//////////////////////////////////////////////////////////

หายนะ (ทอง) !!?


    ประมาณ 3-4 ปีที่ผ่านมา คนไทยตกอยู่ในภาวะตื่นทอง ปริมาณนักเก็งกำไร “ทองคำ” เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงมาก แต่วันนี้ คนที่แห่เล่นทองทั้งหลายกำลังหมดเนื้อหมดตัว
     
       ช่วงที่ประเทศไทยกำลังเฉลิมฉลองงานในเทศกาลสงกรานต์ ร้านค้าทองปิดทำการ 4 วันติด ราคาทองคำในตลาดโลกดิ่งลงเหว ตั้งแต่คืนวันศุกร์และต่อด้วยคืนวันจันทร์ รวมสองวันราคาทองคำในตลาดตกลงไปเกือบ 200 ดอลลาร์ต่อออนซ์
     
       จากระดับ 1,560 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ลงไปต่ำสุดที่ประมาณ 1,320 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนจะดีดตัวขึ้นมายืนอยู่แถว 1,370 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในคืนวันอังคาร
     
       ส่วนราคาทองคำแท่งในประเทศ ปิดเมื่อวันศุกร์ที่บาทละ 21,250 บาท ในราคาที่ร้านทองเสนอซื้อ และเสนอขายบาทละ 21,350 บาท แต่ล่าสุดเช้าวันพุธเสนอซื้อบาทละ 18,900 บาท เสนอขายบาทละ 19,000 บาท
     
       เพียงชั่วข้ามไม่กี่คืน ราคาทองคำรูดมหาราชถึงบาทละ 2,350 บาท และไม่มีใครขายหนีตายได้ทัน ใครที่ซื้อทองไว้ขาดทุนกันป่นปี้ ยิ่งกักตุนมาก ยิ่งเจ็บมาก
     
       คนที่เก็บทองคำแท่งไว้ ยังพอมีทางออก เพราะถือทองคำไว้ลูบๆ คลำๆ เพื่อปลอบประโลมใจได้ และเมื่อยังไม่ขายก็ยังไม่ขาดทุน
     
       แต่คนที่เล่นทองคำกระดาษหรือโกลด์ฟิวเจอร์ส ต้องหมดเนื้อหมดตัวในทันที เพราะจะถูกโบรกเกอร์บังคับขาย หากลูกค้าไม่นำเงินมาวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพิ่ม เนื่องจากหลักทรัพย์ที่วางค้ำประกันไว้ ไม่สามารถครอบคลุมราคาทองคำที่ร่วงลงไป
     
       ราคาทองคำที่ถล่มทลายลงครั้งนี้ ทำให้คนไทยจำนวนมากเสียหายหนักต้องสูญเงิน เนื่องจากสินทรัพย์ทองคำด้อยค่าลง
     
       การที่คนไทยตื่นไปเล่นทองกัน เพราะแรงกระตุ้นจากหลายด้าน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคาทองคำพุ่งขึ้น โดยไม่กี่ปีราคาทองคำแท่งเพิ่มขึ้นจากระดับประมาณบาทละ 8,000 บาท พุ่งขึ้นไปสูงสุดที่บาทละประมาณ 27,000 บาท
     
       ราคาทองคำที่พุ่งขึ้นอย่างหวือหวา ทำให้คนอยากรวยและแห่ไปเก็งกำไร
     
       นอกจากนั้น การจัดตั้งตลาดอนุพันธ์หรือ “ทีเฟค” โดยมี “ทองคำ” เป็นสินค้านำร่อง เปิดการซื้อขายทองคำกระดาษหรือโกลด์ฟิวเจอร์ส ก็ทำให้เกิดการโหมกระพือการเล่นทอง
     
       ทองคำกระดาษซื้อขายกันด้วยรูปแบบสัญญา โดยอายุสัญญาไม่เกิน 6 เดือน เริ่มต้นด้วยสัญญาซื้อขายทองคำน้ำหนัก 50 บาท วางเงินค้ำประกัน 50,000 บาท ซึ่งเงิน 50,000 บาท ปกติจะซื้อทองคำแท่งได้ประมาณ 2 บาท แต่เมื่อซื้อขายทองคำกระดาษ จะซื้อขายทองคำได้ถึง 50 บาท
     
       ทองคำกระดาษได้แตกสัญญาการซื้อขาย จากสัญญาซื้อขายทองคำน้ำหนัก 50 บาท เหลือสัญญาละ 10 บาท เพื่อดึงให้นักลงทุนที่มีเงินน้อยสามารถเข้ามาเล่นได้ โดยเป็นแผนขยายฐานผู้เล่น เพื่อที่จะมีค่าต๋งหรือค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น
     
       เพราะคนที่มีเงินวางค้ำประกันเพียง 10,000 บาทเศษ สามารถซื้อขายทองคำน้ำหนัก 10 บาทได้
     
       โบรกเกอร์ตลาดโกลด์ฟิวเจอร์สเริ่มต้นมีเพียงไม่กี่ราย แต่ล่าสุดมีถึง 41 ราย โดยได้ค่าต๋งจากการซื้อขายทองคำกระดาษสัญญาละ 500 บาท สำหรับการซื้อขายทองคำ 50 บาท และสัญญาละ 100 บาท จากการซื้อขายทองคำ 10 บาท
     
       ตลาดอนุพันธ์และโบรกเกอร์ค้าทองคำ ร่วมมือกันโหมกระพือประชาสัมพันธ์ โฆษณาจูงใจปลุกเร้าให้ประชาชนเข้ามาเล่นทองคำกระดาษ โดยอ้างว่าเป็นทางเลือกใหม่ของการลงทุน และบรรยายสรรพคุณของความร่ำรวยจากการเก็งกำไรทองไว้อย่างสวยหรู
     
       ทั้งที่รู้ว่า ทองคำกระดาษ คือ การเล่นพนัน เป็นการเดิมพันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย มีฝ่ายหนึ่งได้ จะต้องมีฝ่ายหนึ่งเสีย แต่คนที่ได้แน่ๆ คือ โบรกเกอร์และตลาดอนุพันธ์ ซึ่งเป็นเสือนอนกินรอชักค่าต๋ง
     
       ช่วงราคาทองคำขาขึ้น ทองคำกระดาษซื้อขายวันละประมาณ 15,000 สัญญา แต่เมื่อราคาทองคำอ่อนตัว ปริมาณการซื้อขายลดฮวบ ล่าสุดซื้อขายประมาณวันละ 2,000 สัญญา
     
       ใครก็ตามที่เป็นต้นคิดการเปิดตลาดซื้อขายทองคำกระดาษ ควรต้องเป็นผู้ที่ถูกรุมประณาม เพราะทองคำกระดาษ ไม่มีประโยชน์ต่อประชาชนและระบบเศรษฐกิจ นอกจากการเปิดบ่อนพนันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ส่งเสริมให้คนมาเล่นได้เสีย โดยหวังรวยบนความเพ้อฝัน
     
       ไม่มีตัวเลขแน่ชัดว่า ประเทศไทยมีทองคำอยู่ในจำนวนเท่าใด กี่ร้อยหรือกี่พันตัน แต่ทุกตันมูลค่าลดลงไปแล้วประมาณตันละ 180 ล้านบาท
     
       ราคาทองคำที่ดิ่งลงมาในช่วงเวลาไม่กี่วัน ทำให้สินทรัพย์ทองคำของประเทศไทยด้อยค่านับแสนล้านบาท
     
       คนที่ครอบครองทองคำไว้ ไม่ว่าจะเป็นทองคำแท่งหรือทองคำกระดาษ ต้องบาดเจ็บล้มตายกันเป็นเบือ
     
       แม้แต่โบรกเกอร์ทองคำกระดาษ ก็จะเจ๊งไปด้วย เพราะถูกลูกค้าชักดาบ ไม่ยอมจ่ายส่วนต่างราคาทองคำที่ขาดทุน
     
       ร้านค้าทองที่มีทองไว้เต็มตู้ ก็ขาดทุนกันบานเบอะ หรือโรงรับจำนำก็อยู่ในข่ายเจ๊งเป็นลูกโซ่ เพราะลูกค้าที่นำทองมาจำนำไว้ คงไม่มาไถ่คืน
     
       ราคาทองคำโลกถล่มทลายครั้งนี้ นำไปสู่โศกนาฏกรรมนักเก็งกำไรครั้งใหญ่ ธุรกิจค้าขายทองคำพังแทบทั้งระบบ
     
       อย่าถามใครว่า แนวโน้มราคาทองคำจะเป็นอย่างไร จะขึ้นหรือลงเมื่อไหร่ เพราะประเทศไทยไม่มีใครรู้จริงเรื่องราคาทองคำ มีแต่คนขี้โม้และอวดรู้เท่านั้น เพราะถ้ามีคนรู้จริง คนไทยคงไม่เจ๊งกันทั้งประเทศ
     
       วิกฤตทองคำที่ประเทศและประชาชนได้รับ เป็นผลพวงของการส่งเสริมลัทธิเก็งกำไร มอมเมายั่วยุให้คนไทยอยากรวยรัด โดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยงและผลกระทบต่อสังคม
     
       ถ้ายึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ไม่โหมกระพือการเก็งกำไร จนเกิดการหมกมุ่นไขว่คว้าความร่ำรวยอย่างเพ้อฝัน คนไทยจำนวนมากคงไม่ตกเป็นเหยื่อของทองคำ
     
       แต่ลัทธิเก็งกำไรระบาดไปทุกหัวระแหงแล้ว เล่นทั้งบ่อนและบอล เล่นทั้งหวยและหุ้น เล่นทั้งที่ดินและคอนโดฯ เล่นทั้งทองและน้ำมัน
     
                 จะปลุกให้คนไทยตื่นจากการแสวงหาช่องทางรวยรัดอย่างเพ้อฝันกันอย่างไรดี เพราะเห็นแล้วว่า การเก็งกำไรอย่างบ้าคลั่ง กำลังนำประเทศและประชาชนไปสู่หายนะ

ที่มา.ผู้จัดการออนไลน์
/////////////////////////////////////////////////////////////////////

ฝึกแก้ปัญหา ในสิ่งที่ยาก !!?


โดย : สกุณาประยูรศุข

ก่อนหน้านี้สักปีสองปี จำได้ว่าระหว่างสัมภาษณ์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่เคารพนับถือกันเสมือนครูอาจารย์ คำพูดหนึ่งของท่านนั้นบอกว่า

"จงทำในสิ่งที่ยาก เพราะไม่มีคนทำ แต่สิ่งที่ง่ายนั้นใคร ๆ ก็แย่งกันทำ"

ตอนนั้นไม่ใคร่ใส่ใจอะไรมากนัก เพราะเห็นว่าคนเราย่อมมีความเห็นที่แตกต่าง และแสวงหาในสิ่งที่ตัวเองพึงพอใจ แต่เมื่อนานวันเข้ากลับเห็นว่า สิ่งที่ผู้ใหญ่ท่านนั้นชี้แนะ คือขุมทรัพย์อันประเสริฐ

สิ่งที่ท่านกล่าวมันเป็น "ของจริง" และ "รู้" กันเป็นส่วนใหญ่ เพียงแต่ไม่เคยใคร่ครวญและ "ยอมรับ" โดยมากจะปล่อยผ่านเลยไป รวมทั้งตัวเองเมื่อครั้งโน้นด้วย

กระทั่งวันหนึ่ง มีน้องนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มาฝึกงานกับกองบรรณาธิการ ได้เวลาฝึกเสร็จมาสวัสดี ลากลับ เลยมีโอกาสถามน้องคนนั้นว่า คิดจะเป็น "นักข่าว" หรือไม่ ? หลังจากมาฝึกงาน

น้องผู้หญิงยิ้มพยักหน้าบอกว่า "หนูชอบค่ะ"

เธอตอบไม่ตรงคำถาม เลยต้องถามย้ำกลับไปว่า

"ชอบเป็นนักข่าว ?" คราวนี้น้องต้องพยักหน้าซ้ำบอกว่า "ค่ะ"

ถามกลับไปอีกว่า "ทำไม เป็นนักข่าวแล้วได้อะไร ?" น้องผู้หญิงคนเดิมบอกเล่าได้ความรู้ ความสนุกสนานแบบไม่ซ้ำซาก จำเจ สนุกที่ได้พบปะเจอะเจอผู้คนไม่ซ้ำหน้า ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และอื่น ๆ อีกหลายอย่างแต่พอถามว่า แล้วอยากเป็นนักข่าวสายไหน คราวนี้น้องนิ่ง ไม่ตอบคำถาม

ใจเธอคงกำลังเรียบเรียงความคิด ว่าจะตอบอย่างไรดี เพราะจากข้อเท็จจริงแล้ว เธอเองก็ยังไม่รู้ความแตกต่างของสายงานข่าวแต่ละสายว่ามันเป็นอย่างไร เพราะการฝึกงานของเธอนั้น ฝึกอยู่เพียงสายเดียว ยังไม่ได้โยกย้ายหรือไปทำความรู้จักกับสายงานสายอื่น ๆ

ให้เวลาเธอคิด แต่เธอก็ยังเงียบ ในที่สุดเลยต้องบอกกลับไปว่า อยากทำงานนักข่าวน่ะดีแล้ว เพราะเรียนมาทางด้านนี้ การได้ทำงานตรงกับสิ่งที่เรียนมา น้อยคนที่จะ "ได้ทำ"

"แต่ขอไว้อย่างหนึ่งว่า-ไม่ว่างานอะไรก็ตาม หากจะต้องทำ ขอให้หัดทำในสิ่งที่ยาก อย่าทำในสิ่งที่ง่าย"

แววตาฉงนปรากฏบนใบหน้าของเธอทันที เลยต้องอธิบายกันต่อว่า ความหมายของคำพูดที่พูดให้ฟัง ไม่มีอะไรมากไปกว่าอยากบอกให้เธอได้รู้เพิ่มเติมอีก ว่า นอกเหนือจากความรู้ที่ร่ำเรียนมา ไม่ว่าจากตำราในห้องเรียน หรือที่มาฝึกงาน มันยังไม่เพียงพอที่จะนำพาชีวิตในปัจจุบันไปสู่จุดหมายปลายทางอย่างที่คิดฝัน

มันยังต้องมี "ความขยัน อดทน อดกลั้น ความมุ่งมั่น" ที่จะเอาชนะอุปสรรค ปัญหาต่าง ๆ ที่ถาโถมเข้ามาเป็นบททดสอบ และสร้างความแข็งแกร่งให้ชีวิต

ถ้ารักสบาย เลือกทำแต่สิ่งที่ง่าย ๆ ก็ไม่ได้ฝึกฝนความคิด ไม่ได้ฝึกฝนการแก้ปัญหา ในระยะยาวก็จะมีแต่ความอ่อนด้อย อ่อนแอ สุดท้ายก็อยู่ไปวัน ๆ ไม่รู้สึกถึงคุณค่าตัวเอง

การที่บอกกับน้องฝึกงานเช่นนี้ เพราะทุกครั้งหรือเกือบจะทุกครั้งที่รับสมัครนักข่าวใหม่เข้าทำงาน เมื่อถึงขั้นตอนสัมภาษณ์ คำถามเบสิกว่า อยากทำงานสายไหน ร้อยทั้งร้อยตอบว่า อยากเป็นนักข่าวสารคดีท่องเที่ยว อยากเขียนเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ หรือข่าวบันเทิง

ขอทำงานแบบชิล ชิล ชอบชีวิตชิล ชิล

น้อยมากหรือแทบไม่มีเลยที่จะบอกว่า อยากทำสายการเงิน การคลัง เศรษฐกิจมหภาค ฯลฯ

เหตุผลของคนเหล่านั้น คือข่าวเศรษฐกิจยากเกินไป ทำแล้วเครียด ปวดหัว ไม่เข้าใจ มีแต่ตัวเลข

ที่สำคัญงานยากแล้วยังได้เงินน้อย

ฟังแล้วก็ต้องอึ้ง กับความคิดของคนรุ่นใหม่สมัยนี้ส่วนมากที่เขาคิดกัน

เงินสำคัญก็จริง แต่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ในชีวิต และชีวิตก็ไม่ควรจะอยู่ไปวัน ๆ

หัดทำสิ่งที่ยาก เพราะไม่มีคนทำ แต่สิ่งที่ง่ายนั้น ใคร ๆ

ก็แย่งกันทำ !

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
//////////////////////////////////////////////////////

SME ประเมิน 3 เดือน เจ็บ-เจ๊ง เสนอรัฐ ตั้งกองทุน !!?


ถึงขณะนี้ ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมยังตกอยู่ในสภาพเหมือนถูกเคราะห์ซ้ำกรรมซัด จากสารพัดปัญหาที่รุมเร้าไล่ ทั้งการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะกิจการที่จำเป็นต้องใช้แรงงานเป็นหลักในการผลิต ตลาดส่งออกที่ซบเซาลง ผลพวงจากวิกฤตหนี้ในสหภาพยุโรป และสหรัฐ รวมทั้งความผันผวนและการแข็งค่าของค่าเงินบาท ฯลฯ ปัจจัยลบเหล่านี้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ส่วนใหญ่เพิ่งฟื้นจากวิกฤตน้ำท่วมปี 2554 ขณะที่มาตรการช่วยเหลือเยียวยาที่ภาครัฐทยอยประกาศออกมาหลายระลอกไม่สามารถช่วยแบ่งเบาภาระได้ สาเหตุมาจากเอสเอ็มอีส่วนใหญ่เข้าไม่ถึง

เอสเอ็มอีประเมินผลงานรัฐบาลช่วง 3 เดือน หลังการขึ้นค่าแรง 300 บาท ได้ข้อสรุปว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่อยู่ในสภาพที่ยังเจ็บหนัก เพราะนอกจากต้องรับภาระต้นทุนสูงขึ้นแล้ว ยังต้องเผชิญกับปัญหาค่าเงินบาทแข็ง ทำให้ไม่สามารถแข่งกับคู่แข่งได้ ขณะเดียวกันก็มีปัญหาขาดแคลนแรงงาน ปัญหาไม่สามารถเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือกว่า 10 มาตรการ ทั้งเรื่องของภาษี กองทุน ตลอดจนการปล่อยกู้ผ่านสถาบันการเงิน

อุตฯรองเท้าเข้าไม่ถึงแหล่งทุน

นายครรชิต จันทนพรชัย นายกสมาคมส่งเสริมอุตสาหกรรมรองเท้าไทย กล่าวว่า ปัญหาที่พบในสามเดือนก็คือเรื่องการเข้าถึงแหล่งทุน เพราะกองทุนต่าง ๆ ที่ต้องผ่านมาทางบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) โดยให้ บสย.เป็นผู้ค้ำประกันและแบงก์รัฐเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อนั้น ผู้ประกอบการซึ่งมีในสมาคมถึง 300 รายเข้าไม่ถึง โดยเฉพาะเอสเอ็มอี เพราะแบงก์มองว่าอุตสาหกรรมรองเท้าเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ไม่มีการเติบโต

และส่วนใหญ่ไม่มีความพร้อม ไม่เข้าเกณฑ์ ธนาคารจึงไม่ปล่อยกู้ เพราะมองว่ามีความเสี่ยง ซึ่งหากเอสเอ็มอีมีความพร้อมก็จะไม่มาเข้าโครงการ ตนจึงมองว่าหากภาครัฐจะช่วยในกองทุนต่าง ๆ จริง น่าจะมีการเจาะจงลงไปเลยว่าจะช่วยในอุตสาหกรรมอะไร และมีเงื่อนไขที่ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรมนั้น ๆ

ตอนนี้ในกลุ่มอุตสาหกรรมรองเท้าระดับล่าง ๆ มีความสามารถในการผลิต แต่หาตลาดไม่ได้ หากภาครัฐให้ความสนใจ การหาตลาดให้เอสเอ็มอีเป็นสิ่งแรกที่ควรจะทำ ขณะที่การช่วยเหลือตัวเองภายในกลุ่มมีการออกงานแสดงสินค้ากันภายในกลุ่มอยู่แล้ว ปีละ 3 ครั้ง โดยที่ทางสมาคมเป็นคนดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะช่วยผู้ประกอบการได้

เครื่องหนัง หลายเด้ง ยอดตก

ขณะที่ ดร.เนาวรัตน์ ทรงสวัสดิ์ชัย นายกสมาคมเครื่องหนัง กล่าวว่า ตอนนี้ได้รับผลกระทบหลายด้านทั้งค่าเงินบาท ต้นทุน แม้ค่าแรงขึ้น แต่ค่าครองชีพก็ขึ้นตาม ไม่ได้ช่วยให้ขายกระเป๋าได้มากขึ้น เพราะการที่ค่าครองชีพขึ้น คนมีเงินเท่าเดิม ก็ต้องหันมาซื้อของที่จำเป็นก่อน ส่วนกระเป๋าไม่ใช่ของจำเป็น คนก็ไม่ซื้อ ยอดขายภายในประเทศของกลุ่มขณะนี้หายไปกว่า 30% ซึ่งถือว่าอันตรายมาก

ในส่วนตลาดต่างประเทศการเปิดตลาดใหม่ในเออีซี หรือในประเทศ CLMV อย่างที่ภาครัฐแนะนำ ก็ใช่ว่าจะได้ออร์เดอร์มาเลย เพราะตลาดเหล่านั้นก็มีเศรษฐกิจใกล้เคียงกับตลาดไทย และต้องใช้เวลาในการสร้างแบรนด์ สร้างความน่าเชื่อถือซึ่งไม่ต่ำกว่าปี

ทั้งนี้ ตนมองว่าที่พอจะช่วยได้คือ โครงการ SMEs Pro-Active โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ที่เริ่มเมื่อเดือนเมษายน 2556 ที่ผ่านมา เงื่อนไขคือผู้ประกอบการจะต้องออกเงินไปก่อนแล้วไปขอรับคืนตอนหลัง ในการออกงานต่างประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการเองไม่มีเงินพอในช่วงเวลานี้

ในส่วนของภาษีนิติบุคคลที่ปรับเหลือร้อยละ 20 ก็เช่นเดียวกัน ตนมองว่าถ้าเอสเอ็มอีมีกำไร ก็สามารถที่จะจ่ายภาษีได้ แต่ถ้าเอสเอ็มอีไม่ได้รับการสนับสนุน ไม่มีการขายสินค้า การลดภาษีก็ไม่ได้ช่วยผู้ประกอบการมากนัก

อุตฯแม่พิมพ์ขอ "วันสต็อปเซอร์วิส"

ด้าน นายวิโรจน์ ศิริธนาศาสตร์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย กล่าวว่า หลังจากขึ้นค่าแรง 300 สมาชิกในกลุ่มอุตสาหกรรม แม่พิมพ์เอง มีการลดต้นทุนโดยหากมีคนงานลาออก จะไม่มีการจ้างเพิ่ม และหันไปใช้แรงงานเดิมให้มีคุณภาพมากขึ้น ในรูปแบบที่ 2 คือมีการปรับใช้เครื่องจักรกลมาทดแทนคน แต่ปัญหาคือการใช้เครื่องจักรก็ต้องใช้ระยะเวลาเป็นปีในการปรับตัว เพราะการปรับจากแรงงานคนมาใช้เครื่องมือกล แขนกล ต้องมีการอบรมเรียนรู้ ซึ่งภาครัฐไม่มีการเตรียมความพร้อมตรงนี้ให้กับเอสเอ็มอี

ส่วนเรื่องกองทุนที่จะให้เอสเอ็มอี ตนมองว่าอุปสรรคสำคัญก็คือ ขั้นตอนที่ภาครัฐใช้ตรวจสอบเอสเอ็มอี ก่อนที่จะอนุมัติเงินทุน เช่น การไปดูโรงงาน รวมทั้งการอนุมัติมีระยะเวลานาน ซึ่งการที่เอสเอ็มอีไปกู้เอง ยังรู้สึกว่าง่ายกว่าการเข้าถึงกองทุนดังกล่าว

จึงอยากเสนอว่า หากภาครัฐต้องการแก้ปัญหาดังกล่าว ก็ควรปรับกระบวนการโดยอนุมัติไปก่อน แล้วไปตรวจสอบทีหลังแบบระบบภาษี และควรจะมีระบบ "วันสต็อปเซอร์วิส" คือ ถ้าเอสเอ็มอี

ติดต่อผ่านทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จะต้องมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในส่วนของกรมสรรพากร หน่วยงานกระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน อยู่ในที่เดียวกัน เพื่อช่วยให้การดำเนินการรวดเร็วขึ้น ที่ผ่านมาเอกชนต้องไปหลายที่เสียเวลา

ขณะที่ปัญหาแรงงาน ภาครัฐควรมีการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาฝีมือแรงงานในอาชีวศึกษา เพื่อป้อนอุตสาหกรรมต่าง ๆ
ที่ขาดแคลนด้วย

5 มาตรการช่วยเอสเอ็มอี

เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว นางเพ็ญทิพย์ พรจะเด็ด นายกสมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ สสวท. กล่าวว่า ทางสมาคมมีการหารือร่วมกับรัฐบาล โดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

นายนิวัฒน์ธำรง เป็นประธานการทำงานในการออกมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ขณะนี้มีเรื่องอยู่ในกระบวนการทำงาน 5 เรื่อง คือ

1.การจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเอสเอ็มอีในรูปแบบคล้ายกับสหกรณ์ เป็นกองทุนที่รัฐออกให้ส่วนหนึ่ง และมีเอกชนมาเป็นสมาชิกร่วม โดยรัฐมีงบประมาณผูกพัน 5 ปี ปีละ 2 หมื่นล้านบาท อยู่ในระหว่างการเขียนแผนว่ารูปแบบจะออกมาอย่างไร

รูปแบบนี้จะช่วยให้เกิดความยั่งยืน แก้ปัญหาเรื่องของกฎเกณฑ์ที่ภาคเอกชนเข้าไม่ถึง เพราะภาคเอกชนที่เข้ามาใช้กองทุนจะต้องเป็นสมาชิกของกองทุน และมีหุ้นในกองทุน เมื่อมีการนำเงินของกองทุนไปใช้ ภาคเอกชนก็จะต้องนำมาคืนด้วย

2.ด้านการตลาด การโรดโชว์ของคณะนายกรัฐมนตรีในต่างประเทศจะต้องมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไปด้วย 3.สมาคมเตรียมการที่จัดงานเอสเอ็มอี เอ็กซ์โป ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งจะต้องมีการจัดขึ้นทุกปีเพื่อให้คนจดจำได้ 4.มีการพัฒนาทักษะแรงงาน โดยการปรับปรุงหลักสูตรให้เหมาะสมกับเออีซีเพื่อแก้ปัญหาแรงงาน และ 5.เรื่องการค้าชายแดน มีการเสนอจัดตั้งศูนย์ประสานงานการค้าชายแดนโดยมีภาคเอกชนเป็นผู้ดำเนินการ 6.จะมีการจัดทำระบบข้อมูลของเอสเอ็มอี เพื่อให้ภาครัฐเข้าถึงได้มากขึ้น

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////////////

วันพุธที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2556

เอกอัครราชทูตไทยประจำเนเธอร์แลนด์ ฝากถึงคนไทยให้มั่นใจ สู้เต็มที่ - สนุกแน่ !!?


นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทยประจำเนเธอร์แลนด์ ในฐานะตัวแทนประเทศไทย ในการอธิบายชี้แจงด้วยวาจาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ กรณีที่กัมพูชาขอให้ศาลตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร ปี 2505 เปิดเผยกับคณะสื่อมวลชนไทยว่า สิ่งที่กัมพูชาพูดเมื่อวันที่ 15 เม.ย.ที่ผ่านมา มีเรื่องใหม่น้อย ส่วนใหญ่อยู่ในข้อเขียน สิ่งที่ใหม่คือ เรื่องแผนที่ ที่นอกเหนือจากแผนที่ภาคผนวกหนึ่ง ซึ่งเป็นผนวกคำฟ้องเมื่อปี 2505 แต่ไม่ใช่ผนวกคำพิพากษา โดยเขายึดแผนที่อันเดียวมาตลอด แต่เมื่อวานเขาบอกว่ามีแผนที่อื่นๆ ซึ่งในการพิจารณาคดีเก่า มีการนำแผนที่มาใช้อ้างอิง 60 ฉบับ ซึ่งศาลได้นำมาผลิตแนบเข้ามาในประมวลคดี 6 ฉบับ ซึ่งแผนที่อื่นๆ กัมพูชาไม่ได้มีท่าทีออกมาชัดเจนในข้อเขียน จนกระทั่งเมื่อวันที่ 15 เม.ย.

นายวีรชัย กล่าวด้วยว่า อันหนึ่งที่เป็นของใหม่ คือเรื่องข้อเท็จจริงหลังคำพิพากษา คือพฤติกรรมของคู่คดีจาก 2505 ถึงปัจจุบัน ช่วงต้นกัมพูชาเสนอหลักฐานเพียงนิดหน่อยในช่วงข้อเขียน แต่เมื่อวานได้ออกมาแสดงท่าที ซึ่งมีเพียง 2 ประเด็นที่เป็นเรื่องใหม่ ซึ่งเราก็ได้ศึกษาและเตรียมการที่จะโต้ตอบเขา และคิดว่าพอจะโต้ตอบได้

ระหว่างพักกลางวันเมื่อวาน เราอยู่ในห้องฝ่ายถูกฟ้อง ได้นั่งไล่ทีละประเด็นที่คิดว่าจำเป็นต้องตอบในวาจานี้ เพราะหลายประเด็นได้ตอบไปแล้วในข้อเขียน ซึ่งเราใช้วิธีอ้างก็ได้ แต่บางประเด็นเราต้องพัฒนาข้อโต้แย้งข้อต่อสู้ เมื่อตกลงกันเสร็จ ก็ต้องแจกลูกกันว่า ใครจะเป็นคนทำระหว่างผมและที่ปรึกษาอีก 4 คน หลังช่วงบ่ายก็ทำประเด็นและแจกกันอีกครั้ง เมื่อวาน 6 โมงเย็น ก็แยกย้ายกันไปเขียนใหม่ค่อนข้างเยอะ เหมือนกังฟูว่าเราต้องปรับให้เข้ากับที่เขาออกอาวุธมาก เมื่อคืนจึงนอนน้อยมาก เพราะวันที่เขากล่าว ยากที่สุด ฟังแล้วต้องมาคิดและเขียนออกมา เมื่อคืนเขียนใหม่และส่งร่างใหม่ในวันนี้ ตอนนี้เป็นขั้นแก้ขั้นสุดท้าย ของผมตอนนี้ 99.99% คืนนี้ก็จะไปซักซ้อมการพูดอีกครั้ง" นายวีรชัย กล่าว

นายวีรชัย กล่าวว่า ประเด็นที่เป็นไฮไลท์สำคัญมากๆ คือเรื่องแผนที่ โดยศาลไม่ได้ดูแผนที่ฉบับเดียวแต่มีแผนที่อื่นๆมากมาย แต่กัมพูชาก็จำเป็นต้องพูดเช่นนั้น เพราะมันเป็นท่าทีของเขา แต่เราจะมีอะไรให้ศาลดูเยอะ เชิญชวนดูช่วงแผนที่ จะมีการนำเสนอแผนที่มาใช้หลายฉบับ

เมื่อถามว่าฝ่ายกัมพูชาอ้างว่า มีการประท้วงคัดค้านเกี่ยวกับการดำเนินการตามคำตัดสินของศาล ไทยจะหักล้างว่าไม่ควรรับตีความอย่างไร นายวีรชัย กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นส่วนใหม่ที่ออกมาเมื่อวาน เพราะในข้อเขียนของเขา เขาบอกว่ามันไม่เกี่ยวและไม่เข้าใจว่าไทยต้องมาเสนอเอกสารมากมาย ซึ่งเป็นการไม่เคารพศาล ในที่สุดเขาก็ออกมาในส่วนนี้ ซึ่งเราเชื่อว่าเราพอจะโต้แย้งเขาได้ นอกจากนี้แผนที่มีหลายฉบับ ไม่ได้มีฉบับเดียว และไม่ได้พูดถึงแผนที่ซึ่งเกิดขึ้นหลังประเด็นอื่นๆ ที่ศาลใช้เป็นเหตุผลในการตัดสิน ซึ่งแผนที่เป็นหนึ่งในเหตุผล จะมีการโต้ตอบตรงนี้ที่ว่ามีเหตุผลอื่นด้วย

นายวีรชัย กล่าวด้วยว่า ฝ่ายไทยที่จะขึ้นพูดเรื่องแผนที่ คือ ทนายความหญิงอลินา มิรอง ผู้ช่วยของ ศ.อแลน แปลเล่ต์ เพราะเป็นผู้ที่ทำงานเรื่องแผนที่โดยเฉพาะกว่า 60 ฉบับ ซึ่งตนกับอลินา ทำงานเรื่องแผนที่ด้วยกันมาถึง 3 ปี และมีผู้เชี่ยวชาญด้านแผนที่จากมหาวิทยาลัยเดอรัมอีก 2 คน ซึ่งตนเห็นว่าเก่งที่สุดในโลก คือ นายมาร์ติน แครป และ นายอสาสแตร์ เม็กโคนัล สำหรับวันที่ 17 เม.ย.นี้ ตนจะขึ้นพูดเป็นลำดับแรก จากนั้น ศ.โดนัล เอ็ม แม็คเรย์ น.ส.อลินา มิรอง ศ.เจมส์? ครอว์ฟอร์ด และสุดท้ายคือ ศ.แปลเล่ต์ ส่วนที่มีการสลับลำดับขึ้นพูดหลายครั้ง ก็เพื่อให้ตรงกับสถานการณ์

ผู้สื่อข่าวถามว่า ภารกิจครั้งนี้ถือเป็นความรับผิดชอบค่อนข้างใหญ่ จะฝากอะไรถึงคนไทยที่ติดตามดู นายวีรชัย กล่าวว่า "ผมไม่เคยพูดว่าเราชนะแน่ ปกติผมจะตอบสามคำ "สู้เต็มที่" แต่วันนี้ขอเพิ่มสองคำ "สนุกแน่" และสำหรับวันที่ 17 เม.ย.นี้ ตนก็สวมชุด "มอร์นิ่ง โค้ต" ซึ่งเป็นชุดทางการของเนเธอร์แลนด์

ที่มา.เนชั่น
/////////////////////////

ลูกหลาน เผด็จการ-มหาเศรษฐี อาเซียนซุกบริษัทลับนับร้อยบนเกาะคุก บริติช เวอร์จิ้น !!?


พบนักการเมือง-มหาเศรษฐีหลายประเทศอาเซียนพฤติกรรมใกล้เคียง ตั้งบริษัทกว่าร้อยบนเกาะสวรรค์ปลอดภาษี ลูกชายมหาเธร์- ลูกสาวมาร์กอส- 6 ตระกูลธุรกิจการเมืองเส้นสายเผด็จการซูฮาร์โต อื้อหมู่เกาะคุก บริติช เวอร์จิ้น

  ฐานข้อมูลของบริษัทผู้ให้บริการจดทะเบียนบริษัทนอกอาณาเขตรายใหญ่สองบริษัทคือ พอร์ตคูลลิสต์ ทรัสต์เน็ต (Portcullis TrustNet) คอมมอนเวลธ์ ทรัสต์ ลิมิดเต็ด (Commonwealth Tru Limited) ซึ่งได้มาโดยเครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (International Consortium of Investigative Journalists: ICIJ) ร่วมกับการสืบค้นขององค์กรสื่อในประเทศมาเลเซีย, อินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์ ระบุรายชื่อผู้ถือครองบริษัทนอกอาณาเขตซึ่งรวมกันแล้วกว่า 4,000 รายในสามประเทศ ทั้งยังบ่งชี้พฤติกรรมของลูกหลานเผด็จการและตระกูลมหาเศรษฐีเส้นสายนักการเมืองที่นิยมตั้งบริษัทลับในบริติช เวอร์จิ้น, หมู่เกาะคุก และเกาะลาบวน ของมาเลเซีย

มาเลเซีย

หนังสือพิมพ์ออนไลน์ Malaysiakini.com ร่วมกับ ICIJ รายงานว่ามีบุคคลและบริษัทในประเทศมาเลเซียกว่า 1,500 ราย รวมทั้งนักการเมือง, มหาเศรษฐี, สมาชิกในครอบครัวของสุลต่านบางรัฐ เป็นเจ้าของบริษัทนอกอาณาเขตส่วนใหญ่แล้วอยู่ที่เกาะบริติช เวอร์จิ้น และประเทศสิงคโปร์ หนึ่งในนั้นคือนาย เมียร์ซาน มหาเธร์ บุตรชายคนโตของอดีตนายกรัฐมนตรี มหาเธร์ โมฮัมหมัด นาย เมียร์ซาน เป็นผู้อำนวยการและผู้ถือหุ้นของบริษัทนอกอาณาเขตบนเกาะลาบวน ประเทศมาเลเซีย 3 บริษัท คือบริษัท เครเซ้นท์ เอเนอร์จี จำกัด ในปี 2546 , บริษัท อุตตระ แคปปิตอล จำกัด ในปี 2540  และบริษัท อัล ซาอาด อินเวสต์เม้นท์ พีทีอี จำกัด ซึ่งตั้งในปี 2552

นาย เมียร์ซาน มหาเธร์ เป็นหนึ่งในมหาเศรษฐีที่ติดอันดับร่ำรวยระดับชาติของฟอร์ปส์  มีตำแหน่งเป็นประธานและซีอีโอของบริษัทเครเซ้นท์ แคปิตอล ซึ่งทำธุรกิจด้านการลงทุนและให้คำปรึกษาทางการเงิน  นอกจากนั้นเขายังลงทุนส่วนหนึ่งในบริษัทเบียร์ ซาน มิเกล

นาย มหาเธร์ โมฮัมหมัด บิดาของ นายเมียร์ซาน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นเวลา 22 ปี ก่อนจะลาออกจากใน พ.ศ. 2546 นายมหาเธร์และพรรคอัมโนของเขาได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นผู้ดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่อิงแนวคิดแบ่งแยกทางเชื้อชาติ โดยเอื้อประโยชน์ให้ชาวมาเลเซียเชื้อสายมลายูมากกว่าชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนและอินเดีย

อินโดนีเซีย

ฐานข้อมูลบริษัท พอร์ตคูลิส ทรัสต์เน็ต ระบุชื่อสมาชิกตระกูลมหาเศรษฐี 9 ใน 11 ตระกูลของอินโดนีเซีย เป็นเจ้าของทรัสต์และบริษัทลับทั้งสิ้น 190 บริษัท โดยรายชื่อสมาชิกในตระกูลมหาเศรษฐีเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของรายชื่อที่พบทั้งหมดเกือบ 2,500 ชื่อของบุคคลและบริษัทในประเทศอินโดนีเซียซึ่งถือครองบริษัทนอกอาณาเขตผ่านบริการของพอร์ตคูลิส ทรัสต์เน็ต

ในบรรดามหาเศรษฐีทั้ง 9 ตระกูลดังกล่าว มี 6 ตระกูลซึ่งมีความใกล้ชิดเป็นพิเศษกับพลเอกซูฮาร์โต้ อดีตประธานาธิบดีผู้ล่วงลับไปแล้วของอินโดนีเซีย พลเอกซูฮาร์โต้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดียาวนานถึง 31 ปี ก่อนจะถูกโค่นล้มจากอำนาจหลังการประท้วงใหญ่ทั่งประเทศใน พ.ศ. 2541 โดยยุคของซูฮาร์โต้เป็นยุคที่อินโดนีเซียได้รับการกล่าวขวัญทั่วโลกว่ามีการทุจริตโกงกินและเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องอย่างสูง

ตระกูลดังทั้ง 6 ตระกูลที่พบ อาทิ ตระกูลริยาดี (Riyady) เจ้าของกลุ่มลิปโป้ (Lippo Group) ซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติ ทำธุรกิจหลากหลายโดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์และห้างสรรพสินค้า สมาชิกครอบครัวนี้เป็นเจ้าของทรัสต์และบริษัทนอกอาณาเขตอย่างต่ำ 11 บริษัทโดยหลายบริษัทตั้งอยู่ที่หมู่เกาะคุก โดยบริษัท พอร์ตคูลิส ทรัสต์เน็ต จัดระดับการให้บริการสมาชิกตระกูลริยาดีเป็น “ลูกค้า A” (Client A) ซึ่งหมายถึงลูกค้าผู้ต้องการปกปิดตัวตนอย่างเคร่งครัด

นอกจากนั้นยังมีตระกูลซามปอเอร์นาเเศรษฐีอันดับ 10 ของอินโดนีเซีย อดีตเจ้าของบริษัทบุหรี่รายใหญ่ ซามปอเอร์นา สมาชิกรายหนึ่งของตระกูล จดทะเบียนก่อตั้งทรัสต์ชื่อว่า สตรอง คาสเทิล ทรัสต์ ที่หมู่เกาะคุก เพียงสองสัปดาห์หลังจากที่ ตระกูลซามปอเอร์นาขายหุ้น 97% ของบริษัทให้กับบริษัทฟิลิป มอริสของสหรัฐฯ ในราคา 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2548   นอกจากนั้นยังมีเศรษฐีในวงการยาสูบรายอื่นเช่นนาย สุสิโล โวโนวิดโจโจ และนาย ปีเตอร์ ซอนดาคฮ์ ยังเป็นเจ้าของบริษัทนอกอาณาเขตหลายบริษัทเช่นเดียวกัน

กลุ่มมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยจากสัมปทานตัดไม้ในยุคซูฮาร์โต้จำนวนหนึ่ง คือนายเอ็กก้า จิบตา วิดจาจา, สมาชิกตระกูลซาลิม, นายซูกานโต้ ทาโนโต้ และนาย ปราโจโก ปังเกอสตู มีบริษัทนอกอาณาเขตรวมกันแล้วกว่า 140 บริษัท ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่บริติช เวอร์จิ้น

ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2540 – 2541 ซึ่งเป็นเวลาที่อำนาจทางการเมืองของอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โตกำลังสั่นคลอน พบว่าบริษัทพอร์คูลิส ทรัสเน็ตมีลูกค้าจากอินโดนีเซียที่รุดเข้าจดทะเบียนเป็นเจ้าของบริษัทนอกอาณาเขตมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือ นายธาเรค เคมาล ฮาบีบี บุตรชายคนรองของอดีตประธานาธิปดี บีเข ฮาบีบี ผู้เข้ารับตำแหน่งแทนซูฮาร์โต้ในปี 2541 นายธาเรค จดทะเบียนเป็นเจ้าของบริษัทสองแห่งที่บริติช เวอร์จิ้น ในช่วงเวลาไม่กี่สัปดาห์ก่อนการพ้นอำนาจของซูฮาร์โต้ นาย อิลฮาม บุตรชายอีกคนหนึ่งของ ฮาบีบี ยังตั้งบริษัทนอกอาณาเขตไม่ต่ำกว่า 7 บริษัทในปี 2551  เพื่อเป็นฐานนอกประเทศในการทำธุรกิจในอินโดนีเซียรวมทั้งธุรกิจเหมืองและขุดเจาะน้ำมัน

นอกจากนั้นยังมีนายมาริมูตู สินิวาซาน ประธานบริษัทสิ่งทอเท็กซ์มาโก (Texmaco) ผู้มีความใกล้ชิดเป็นพิเศษกับประธานาธิบดี นายสินิวาซานได้เงินกู้จากธนาคารของรัฐจำนวนรวมกันประมาณ 2,200 ล้านเหรียญสหรัฐ ในพ.ศ. 2540 เขาจดทะเบียนเป็นผู้ถือหุ้นแต่เพียงผู้เดียวของบริษัท ไปปไลน์ ทรัสต์ คอมปานี ลิมิดเต็ด ที่หมู่เกาะคุก

ในเดือนกันยายน 2541 พบว่าพอร์คูลิส ทรัสเน็ต ได้ จดทะเบียนตั้งบริษัท พิโก้ เทรดดิ้ง ลิมิดเต็ด โดยไม่มีบันทึกชื่อผู้ถือหุ้นและเจ้าของที่แท้จริง อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากฐานข้อมูลระบุว่ามีการโอนเงินจากบัญชีของบริษัทนี้จำนวนหลายครั้งหลักหมื่นเหรียญสหรัฐฯ จำนวนหนึ่งโอนไปยังบุคคลชื่อ นางยานติ รักมานา ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับบุตรสาวคนโตของประธานาธิบดีซูฮาร์โต้ อย่างไรก็ตาม การปกปิดความลับของบริษัททำให้ไม่สามรถยืนยันตัวตนผู้รับเงินได้

ฟิลิปปินส์

สอบทรัพย์สินลูกสาวมาร์กอส หลังพบซุกบริษัทลับนอกประเทศ

การตรวจสอบของ ICIJ ร่วมกับผู้สื่อข่าวจาก Philippine Center for Investigative Journalism  พบชื่อนางมาเรีย อิเมลด้า มาร์กอส มาโนต็อค หรือ อีมี่ มาร์กอส นักการเมืองท้องถิ่นบุตรสาวคนโตอดีตประธานาธิบดี เฟอร์ดินาน มาร์กอส ผู้ล่วงลับ เป็นเข้าของบริษัทนอกอาณาเขต 3 บริษัท ไม่ยอมแจ้งทรัพย์สินตามกฎหมาย

นางอีมี่ มาร์กอส ซึ่งขณะนี้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด Ilocos Norte ของประเทสฟิลิปปินส์ มีชื่อเป็นเจ้าของผู้รับผลประโยชน์ของ ซินตร้า ทรัสต์ ซึ่งตั้งขึ้นที่บริติช เวอร์จิ้น ใน พ.ศ. 2545 ร่วมกับสมาชิกในครอบครัว นอกจากนั้นยังมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาด้านการเงินของบริษัท คอมเซ็นเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ที่บริติช เวอร์จิ้น ซึ่งตั้งใน พ.ศ. 2545 ซึ่งเป็นบริษัทที่ซินตร้า ทรัสต์ เป็นผู้ถือหุ้นรายหนึ่ง อิมี่ มาร์กอส ยังมีชื่ออยู่ในบริษัทลับบริษัทที่ 3 คือ บริษัท เอ็มทรัสต์ ซึ่งตั้งในปี 2540 ที่เกาะลาบวน ประเทศมาเลเซียและปิดตัวลงในปี 2542

อีมี่ มาร์กอส ไม่ได้รายงานบริษัทเหล่านี้ในการแจ้งบัญชีทรัพย์สินนักการเมืองตามกฎหมายฟิลิปปินส์

นายเฟอร์ดินาน มาร์กอส ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิปดียาวนานถึง 21 ปี หลบหนีจากประเทศฟิลิปปินส์พร้อมครอบครัว ใน พ.ศ. 2529 นางอิเมลด้า มาร์กอสและบุตรธิดาสามคนได้เดินทางกลับหลังจากที่เขาเสียชีวิตใน พ.ศ.  2532 โดยสมาชิกครอบครัวรมาร์กอสรุ่นลูกรวมทั้งนางอีมี่ลงเล่นการเมืองนับแต่นั้น ในขณะนี้ รัฐบาลฟิลิปปินส์ยังคงเดินหน้าติดตามทรัพย์สินที่ได้จากการโกงกินของมาร์กอสที่ซ่อนอยู่ต่างประเทศ ที่ประมาณว่ามีราว 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่ายังคงเหลือบางส่วนซุกซ่อนอยู่ในต่างประเทศ  ข้อมูลที่ ICIJ เปิดเผยในครั้งนี้ นำไปสู่ข้อสงสัยว่า นางอีมี่ อาจมีส่วนรู้เห็นในการซุกซ่อนทรัพย์สินส่วนหนึ่งของนายมาร์กอส

ผลจากการตีพิมพ์ข้อมูลดังกล่าวผ่านสื่อมวลชนในฟิลิปปินส์และในเว็บไซด์ของ ICIJ ทำให้ขณะนี้รัฐบาลฟิลิปปินส์ทำการการตรวจสอบการถือครองบริษัทนอกอาณาเขตของนางอีมี่ มาร์กอส โดยคาดว่าผลการตรวจสอบจะแล้วเสร็จใน 2 สัปดาห์

ที่มา.สำนักข่าวอิศรา
////////////////////////////////////////////////////////////

ขวากหนาม ปมร้อน แก้ รธน.-พ.ร.บ. 2 ล้านล้าน !!?


เพียงแค่ที่ประชุมร่วมรัฐสภารับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ ที่ฝ่าย ส.ส.เสียงข้างมาก ผนึกกำลังกับ ส.ว.สายเลือกตั้งร่วมกันเสนอต่อประธานรัฐสภา จนมีเสียงสนับสนุนเกินครึ่งของ 2 สภา แต่กลับถูกแรงค้าน แรงต้านตั้งแต่ยกแรก

ไม่ต่างจากร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศวงเงิน 2 ล้านล้านบาท หรือ พ.ร.บ. 2 ล้านล้าน เพียงแค่สภาผู้แทนราษฎรรับหลักการวาระที่ 1 ก็ถูกจองกฐิน เตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญไว้ล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราทั้ง 3 ฉบับ

ไม่ว่าจะเป็นร่าง พ.ร.บ. 2 ล้านล้าน ล้วนถูกฝ่ายค้านและ ส.ว.สายสรรหา-ตั้งธงใช้ช่องทางยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความทั้งสิ้น ทำให้บรรทัดสุดท้าย

ชะตากรรมของร่างกฎหมายที่รวมกันเป็น 4 ร่าง ต้องอยู่ในอุ้งมือของศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาดว่าจะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็น 2 ขวากหนามที่ไม่ปล่อยให้ร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านสภาได้โดยสะดวก

ขวากหนามที่ 1.ส.ว.สายสรรหา โดย "สมชาย แสวงการ" ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าประธานรัฐสภาและคณะ กระทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญอันขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่

ขวากหนามที่ 2 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์-ส.ว.สายสรรหา เตรียมร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยตีความร่าง พ.ร.บ. 2 ล้านล้าน หลังกระบวนการพิจารณากฎหมายผ่านชั้นพิจารณาของ ส.ส.และ ส.ว. ในวาระที่ 3 แล้วเสร็จ โดยจะยื่นให้ศาลตีความก่อนประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา

เนื่องจากขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 169 ที่กำหนดว่า การใช้จ่ายเงินแผ่นดินจะทำได้เฉพาะที่ได้รับอนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย เว้นแต่กรณีเร่งด่วน ทั้ง 2 ขวากหนาม แม้ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย จะประเมินว่า "ไม่น่าห่วง"

แต่ก็พูดไม่เต็มปาก

เพราะทีมกฎหมายเห็นว่าการตัดสินขององค์กรอิสระส่วนใหญ่มักวินิจฉัย "เป็นโทษ" มากกว่า "เป็นคุณ" กับพรรคเพื่อไทย

และเมื่อจับใจความของฝ่ายที่จองกฐิน-คาดโทษ พรรคร่วมรัฐบาลและ ส.ว.เลือกตั้งที่ร่วมลงชื่อ-ขานชื่อโหวตให้กับการแก้ไข-ออกกฎหมาย ล้วนแสดงเจตนาชัดเจนว่าจะค้านจนวินาทีสุดท้าย

เช่น "กรณ์ จาติกวณิช" ขุนคลังแห่งพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าจะค้านจนถึงที่สุด "เราแพ้เสียงข้างมากในสภา แต่ผมได้พูดไว้ว่าผมจะค้านการกู้นี้จนถึงที่สุด ผมจะเข้าไปทำหน้าที่ในกรรมาธิการ และจะค้านต่อไปในวาระการพิจารณาที่สอง และถ้ากฎหมายในรูปปัจจุบันผ่านสภาไปได้ ผมก็ยังมั่นใจว่า กฎหมายนี้ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญอยู่ดี"

ขณะที่ "วิรัตน์ กัลยาศิริ" มือกฎหมายของพรรคประชาธิปัตย์ ฟันธงว่า พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ล้านล้านขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 169 เช่นเดียวกับการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเรื่องการแก้ไขมาตรา 68

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มแนวร่วมพร้อมรบกับฝ่ายค้าน และ ส.ว.สายสรรหา อย่างกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่เตรียมเคลื่อนไหวคัดค้านทั้งบนดินและใต้ดินทันที

โดย "พล.ต.จำลอง ศรีเมือง" แกนนำพันธมิตรฯ กล่าวว่า จะติดตามสถานการณ์บ้านเมืองอย่างใกล้ชิด หากเกิดสถานการณ์เข้าขั้นวิกฤตจริงจะเรียกประชุมด่วน และเคลื่อนไหวออกชุมนุมทันที เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 มาตรา และการเสนอร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน เราไม่เห็นด้วยแน่นอน พร้อมคัดค้านและดำเนินการทางกฎหมายถึงที่สุด

ทั้งหมดเป็น 2 ขวากหนามที่ต้องเผชิญ

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
///////////////////////////////////////////////////////////

4 ปัจจัย ทุบราคาทองดิ่งต่ำสุดในรอบ 30 ปี !!?


4 ปัจจัยเสี่ยงทุบราคาทองคำในตลาดโลก ดำดิ่งวันเดียวหนักสุดในรอบ 30 ปี "เงินเฟ้อต่ำ-ความเสี่ยงศก.โลกลด-หุ้นพุ่ง-ดบ.จ่อขยับขึ้น"

ราคาทองคำร่วงภายในวันเดียวหนักสุดในรอบกว่า 30 ปี ราคาลดลงไปถึง 140.30 ดอลลาร์ หรือ 9% มาอยู่ที่ 1,361 ดอลลาร์ ในการซื้อขายที่ตลาดนิวยอร์ก สหรัฐ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (15 เม.ย.) แม้ราคาจะค่อยๆ ปรับตัวลงมา นับแต่พุ่งไปแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เมื่อเดือนส.ค. 2554 แต่กระแสการเทขายอย่างหนักเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

ก่อนราคาในตลาดโลกจะร่วงลงมาอย่างหนัก ราคาทองคำไต่ระดับขึ้นมาทุกปี เนื่องจากนักลงทุนพากันเข้าซื้อทองคำ เพื่อเป็นเกราะป้องกันจากเงินเฟ้อ และในฐานะที่เป็นสินทรัพย์ที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งสวรรค์สำหรับการลงทุนอย่างปลอดภัย

ราคาทองคำพุ่งขึ้นไปทำสถิติสูงสุดเมื่อครั้งที่รัฐสภา สหรัฐกำลังงัดข้อกันในเรื่องการเพิ่มเพดานหนี้ จนทำให้เกิดความเสี่ยงว่า สหรัฐ ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุดของโลกจะผิดนัดชำระหนี้

แต่การชะลอตัวของเงินเฟ้อ ประกอบกับกระแสคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กำลังพิจารณาลดการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จุดชนวนให้บรรดานักลงทุนพากันเทขายทองคำ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (12 เม.ย.) ตลาดยังได้แรงกระตุ้นจากรายงานข่าวที่ว่า ไซปรัสอาจเทขายทองคำสำรองบางส่วน เพื่อหาเงินมาจ่ายหนี้ หลังจากได้รับการอัดฉีดจากนานาประเทศแล้ว

สาเหตุที่ทำให้ราคาทองคำร่วงลง และการปรับตัวลดลงที่อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ อาจเป็นไปได้ดังต่อไปนี้

1. เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ

นักลงทุนเข้าซื้อทองคำ เพราะเกรงว่าเงินเฟ้อจะพุ่งสูงขึ้นเร็วเกินไป จากการที่เฟดดำเนินความพยายามกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมา ผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล โดยต้นทุนสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น จะบั่นทอนกำลังการซื้อของเงินดอลลาร์

อย่างไรก็ดี จนถึงขณะนี้ เงินเฟ้อยังคงอยู่ภายใต้การควบคุม แม้เศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นแล้วก็ตาม ทั้งเมื่อเร็วๆ นี้ เงินดอลลาร์ ยังแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ทำให้ทองคำกลายเป็นแหล่งลงทุนที่มีความน่าสนใจน้อยลง

2. ความกังวลเศรษฐกิจโลกลดลง

การเข้าซื้อทองคำ ยังเกิดจากการที่ทองคำเป็นแหล่งลงทุนที่ปลอดภัย เป็นเสมือนสินทรัพย์ที่สร้างความอุ่นใจให้กับนักลงทุน ในช่วงเวลาที่เกิดความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะเกิดการล่มสลายในผลิตภัณฑ์การเงินต่างๆ

สถานการณ์ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดความวิตกต่างๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น วิกฤติการเงิน ความเป็นไปได้ที่สหรัฐจะผิดนัดชำระหนี้ หรือการล่มสลายในยุโรป ซึ่งล้วนแต่เป็นแรงกระตุ้นที่ทำให้เกิดการเข้าลงทุนในทองคำมากขึ้น จนดันให้ราคาพุ่งสูงขึ้น

แต่เมื่อความกังวลเริ่มหายไป หลังธนาคารกลางประเทศต่างๆ พากันเข้าอัดฉีดเศรษฐกิจที่มีปัญหารายแล้วรายเล่า จึงทำให้การเข้าซื้อทองคำลดลง

นายนิโคลาส บรูคส์ หัวหน้าฝ่ายวิจัย และกลยุทธ์การลงทุน จากอีทีเอฟ ซิเคียวนริตีส์ ระบุว่า ทองคำเป็นเหมือนหลักทรัพย์ค้ำประกัน เมื่อสถานการณ์การลงทุนอยู่ในสภาวะย่ำแย่อย่างหนัก และตอนนี้ที่ราคาลดลง ก็เป็นเพราะผู้คนรู้สึกว่า ไม่จำเป็นต้องมีการค้ำประกันในขณะนี้แต่อย่างใด

3. ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น

แม้ตลาดหลักทรัพย์เกือบทั่วโลก จะปรับลดลงเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา แต่ตลอดทั้งปีนี้ ตลาดหุ้นอยู่ในขาขึ้นเป็นส่วนใหญ่ เพราะนักลงทุนต่างมองแง่ดีว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะหลุดพ้นจากภาวะซบเซา หลังหลุดพ้นจากภาวะถดถอยครั้งใหญ่ ซึ่งก่อนหน้าที่จะเกิดการเทขายทองคำครั้งใหญ่นั้น ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปรับขึ้นมาแล้วถึง 11%

นายปีเตอร์ ชิฟฟ์ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) จากยูโร แปซิฟิก แคปิตัล แสดงความเห็นว่า ในโลกของเงินร้อนนั้น ผู้คนมักไม่ค่อยมีความอดทน และเมื่อดาวโจนส์ เริ่มขยับขึ้นทำสถิติใหม่ ทำให้นักลงทุนเริ่มคิดว่า การอยู่ในตลาดทองคำ ทำให้พวกเขาพลาดโอกาสไป จึงเกิดการเทขายทองคำ เพื่อนำเงินมาลงทุนในตลาดหุ้น

4. ดอกเบี้ยจ่อขยับขึ้น

ธนาคารกลางสหรัฐ เริ่มพิจารณาถึงการปรับลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจลงมา ถ้าหากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจรวมถึง การปรับขึ้นดอกเบี้ย เพื่อรักษาสภาพเศรษฐกิจไม่ให้ร้อนแรงจนเกินไป ซึ่งนักวิเคราะห์ชี้ว่าการถือครองทองคำในช่วงเวลาที่ดอกเบี้ยใกล้ถึงระดับ 0% เหมือนในขณะนี้ เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล เพราะเงินฝากในบัญชีจะไม่ได้ให้ผลตอบแทนใดๆ

แต่หากดอกเบี้ยสูงขึ้น ก็จะทำให้ความน่าสนใจในทองคำลดลง

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2556

อสังหาฯ โตต่อเนื่อง ร้อนแรง แห่เปิดใหม่ โกยรายได้เพิ่ม !!?


ผ่านไตรมาสแรกของปี 2556 ไปแล้ว ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่เติบโตได้ดี รวมไปถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มร้อนแรงตั้งแต่กลางปี 2555 เป็นต้นมา ปี 2556  จึงเป็นอีกปีหนึ่งที่ผู้ประกอบการคาดหวังว่าธุรกิจดังกล่าวจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะมีปัจจัยบวกเข้ามาสนับสนุนหลายประการ แต่ขณะเดียวกันก็มีปัจจัยลบเข้ามาฉุดรั้งด้วยเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นค่าแรง 300 บาท แรงงานขาดแคลน
    แต่สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แค่ช่วงไตรมาสแรก สามารถทำยอดขายได้เกินเป้ากันแล้ว
           
กูรูด้านอสังหาริมทรัพย์ อย่าง มานพ  พงศทัต อาจารย์พิเศษ  คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาคาดการณ์เกี่ยวกับภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ว่า “ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะกลับมาคึกคักอีกครั้ง ตัวเลขเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 15% ตลาดกรุงเทพฯ และปริมณฑลฟื้นตัวเร็ว กรุงเทพฯ และปริมณฑลจะมีจำนวนไม่น้อยกว่า 85,000  ยูนิต ทั่วประเทศจะมีจำนวน 160,000-170,000  ยูนิต บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์จะโตน้อยลง แต่คอนโดมิเนียมสำหรับคนชั้นกลาง ติดรถไฟฟ้าจะเติบโตขึ้นมากที่สุด ส่วนตลาดต่างจังหวัดนั้นในจังหวัดใหญ่ เช่น นครราชสีมา และจังหวัดท่องเที่ยวอย่างภูเก็ตและพัทยา  ตลาดอสังหาริมทรัพย์จะโตมากขึ้น นอกจากนี้เมืองชายแดนอย่างอุดรธานี  ระนอง จะเติบโตจากการค้าชายแดนที่เป็นผลมาจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ในปี 2558”
           
สำหรับภาพรวมของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในส่วนของบริษัทรับสร้างบ้านก็มีแนวโน้มเติบโตด้วยเช่นกัน ซึ่ง สิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน ได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในปีนี้ว่า ปี 2556 ภาพรวมอสังหาริมทรัพย์เติบโตต่อเนื่อง และรวมไปถึงแนวโน้มมูลค่าตลาดรับสร้างบ้านจะขยายตัวออกไปยังภูมิภาคอย่างชัดเจน
   
สำหรับตลาด “บ้านสร้างเอง” ทั่วประเทศปี 2555 มีมูลค่าประมาณ 120,000 ล้านบาท โดยแชร์ส่วนแบ่งตกเป็นของผู้รับเหมารายย่อย ในขณะที่ตลาด “รับสร้างบ้าน” ทั้งใน กทม. และปริมณฑล รวมทั้งต่างจังหวัด มีมูลค่ารวมประมาณ 9,000 ล้านบาท และในปี 2556  สมาคมประเมินว่า ตลาดรับสร้างบ้านน่าจะมีมูลค่าประมาณ 9,500-10,000 ล้านบาท หรือเติบโตประมาณร้อยละ 5-10 โดยปัจจัยหลักๆ  เป็นเพราะการขยายตลาดออกไปทั่วประเทศมากขึ้น ในส่วนของสมาคมเองตั้งเป้าไว้จะผลักดันให้มูลค่าตลาดรับสร้างบ้านในอีก 3 ปีข้างหน้า  หรือภายในปี 2558 มีมูลค่าเพิ่มเป็น 15,000 ล้านบาท“
           
จะเห็นได้ว่าในภาคส่วนของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หรือแม้แต่บริษัทรับสร้างบ้าน ก็มีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีทั้งสิ้น ทั้งนี้ เชื่อได้เลยว่าภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยได้กลับฟื้นตัวแล้ว ถึงจะมีแรงกดดันในเรื่องของค่าแรงและแรงงานขาดแคลน แต่ก็ไม่ใช่อุปสรรคหรือปัญหาสำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เลย
         
 สำหรับผู้ประกอบการเชื่อว่าปีนี้น่าจะเป็นปีทองสำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็ว่าได้ เพียงแค่ผ่านไตรมาสแรกก็สามารถโกยยอดขายกันเกินเป้าหมายเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
   
โอภาส ศรีพยัคฆ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN เปิดเผยว่า แนวโน้มของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปี 2556 คาดการณ์ผู้ประกอบการจะหันมาพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยประเภทแนวราบในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมากขึ้น หลังจากที่ได้มีการชะลอการเปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2555 เนื่องมาจากสาเหตุที่ได้รับผลกระทบมาจากน้ำท่วมตั้งแต่ปลายปี 2554 ทำให้ผู้ประกอบการต้องมีการชะลอการเปิดโครงการและปรับผังเกี่ยวกับโครงการใหม่ให้สามารถที่จะรองรับกับปัญหาน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้
           
ทั้งนี้ คาดว่าจะมีคอนโดมิเนียมเปิดใหม่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยประมาณ  60,000-70,000 หน่วย แต่จะมีการพัฒนาคอนโดมิเนียมในต่างจังหวัดมากขึ้น โดยที่ราคาอสังหาริมทรัพย์ก็คงขยับขึ้น ส่วนจะมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการ ภาวะตลาด และกำลังซื้อ แต่ปกติจะปรับขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อที่ 3-5% ส่วนการขึ้นราคาของ LPN ขึ้นอยู่กับภาวะตลาด
   
ด้านปัจจัยเสี่ยงของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้ คือการประกาศผังเมืองใหม่ของกรุงเทพฯ ในเดือนพฤษภาคม 2556 ซึ่งจะมีผลกระทบต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั้งระบบ แต่ต้องรอดูผลของการบังคับใช้ต่อไปว่าจะทำให้เกิดข้อจำกัดของการใช้พื้นที่มากน้อยแค่ไหน
   
การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ ในปีนี้ไม่มีผลกระทบมากนัก เนื่องจากส่งผลกระทบไปแล้วเมื่อปีก่อน เพราะโครงการก่อสร้างส่วนใหญ่ยังอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ แต่การขาดแคลนแรงงานจะเป็นปัญหามากกว่า ซึ่งในส่วนของ LPN อาจได้รับผลกระทบไม่มาก เนื่องจากมีพันธมิตรในการรับงานก่อสร้างโครงการ ผู้ประกอบการรายใหม่จะเกิดขึ้นได้ยากเพราะไม่มีผู้รับเหมาในมือ ต่อไปตลาดคอนโดมิเนียมจะตกเป็นของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สามารถเจรจากับผู้รับเหมารายใหญ่ได้”
           
ส่วนปี 2556 บริษัทมีแผนพัฒนาโครงการใหม่ 13 โครงการ ทั้งใน  กรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด รวมมูลค่า 20,000 ล้านบาท ซึ่งโครงการในกรุงเทพฯ ยังเน้นทำเลที่เป็นชุมชนหนาแน่นไม่ไกลจากเมือง  เช่น สุขสวัสดิ์ ลาดกระบัง-อ่อนนุช  ศรีนครินทร์-พัฒนาการ เป็นต้น ส่วนในต่างจังหวัดจะเปิดโครงการที่หัวหิน ชะอำ
   
ขณะที่เป้ายอดขายตั้งไว้ที่ 20,000 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 10%  จากปี 2555 ส่วนเป้ารายได้ตั้งไว้ที่ 15,000 ล้านบาท จากปี 2555 มีรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 13,000 ล้านบาทเล็กน้อย เนื่องจากไม่สามารถโอนคอนโดมิเนียมให้ลูกค้าได้ทันตามกำหนด
   
สำหรับยอดขายรอรับรู้รายได้ (backlog) ในปัจจุบันมีประมาณ  18,000 ล้านบาท รับรู้ในปี 2556 ประมาณ 12,500 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 5,500 ล้านบาท รับรู้ในปี 2557 ส่วนปี 2556 บริษัทตั้งงบซื้อที่ดินรวม  4,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อที่ดินในช่วงครึ่งปีหลังและในปี 2557 เพื่อพัฒนาโครงการทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
   
นอกจากนี้ บริษัทยังไม่มีแผนระดมเงินโดยการออกหุ้นกู้ แต่แหล่งทุนในการพัฒนาโครงการจะมาจากเงินกู้สถาบันการเงิน 50% ที่เหลือเป็นเงินทุนหมุนเวียน
           
ด้าน เศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)  หรือ SIRI เปิดเผยว่า ภาพรวมของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปี 2556 แม้จะต้องเผชิญหน้ากับปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงาน ต้นทุนการก่อสร้างปรับตัวสูงขึ้น อาทิ ค่าจ้างแรงงาน ค่าขนส่ง พลังงาน วัสดุก่อสร้าง และราคาที่ดินที่แพงขึ้น แต่ยังคงมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยปัจจัยจากอัตราดอกเบี้ยอยู่ในสภาวะทรงตัว อีกทั้งดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีการปรับตัวสูงขึ้น ย่อมส่งผลให้โครงการคอนโดมิเนียมในหัวเมืองต่างจังหวัด รีสอร์ต และบ้านพักตากอากาศ มีแนวโน้มการเติบโตมากขึ้นเช่นกัน ตลอดจนสำนักงานให้เช่าก็มีแนวโน้มเติบโตดีขึ้น เนื่องจากบริษัทต่างๆ มีการขยายธุรกิจเพิ่มขึ้น จึงมีความต้องการอาคารสำนักงานให้เช่าเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของบริษัทต่อไป
   
ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจในช่วงไตรมาสแรกของปี 2556 บริษัทมียอดขาย 21,000 ล้านบาท ซึ่งสูงเกินกว่าไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมาซึ่งมียอดขาย 16,245 ล้านบาท
   
ทั้งนี้ จากการดำเนินธุรกิจตามเป้าหมายใน 6 กุญแจสำคัญ ที่เคยได้ประกาศไว้ในช่วงต้นปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการขยายการลงทุนในการพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ตอบรับทุกความต้องการที่อยู่อาศัย ครอบคลุมทุกกลุ่มลูกค้า รวมทั้งขยายการพัฒนาโครงการเพื่อตอบรับความต้องการของกลุ่มลูกค้าในตลาดต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น โดยเห็นได้จากความสำเร็จจากการปิดการขายโครงการใหม่ในตลาดต่างจังหวัดมากยิ่งขึ้น
           
อย่างไรก็ตาม สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ บริษัทยังคงมุ่งมั่นต่อเนื่องในการพัฒนาธุรกิจตามแผน 6 กุญแจสำคัญ โดยเฉพาะในด้านการวางเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนการตลาดในกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติเพิ่มมากขึ้นจากสัดส่วนที่มีอยู่ในปัจจุบัน
   
ทั้งนี้ บริษัทเตรียมกลับมารุกพัฒนาโครงการบ้านเดี่ยว และการขยายตลาดให้ครอบคลุมทุกเซ็กเมนต์มากขึ้น รวมทั้ง การเพิ่มสัดส่วนการพัฒนาโครงการด้วยระบบพรีคาสท์ให้มากยิ่งขึ้น โดยในช่วงกลางปีนี้ บริษัทมีแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตสำหรับการพัฒนาโครงการแนวสูง โดยเฉพาะแบรนด์ ดีคอนโด ภายใต้กำลังการผลิตที่ 42,000 ตารางเมตร/ปีหรือคิดเป็นประมาณ 10 ตึก/ปี รวมถึงโครงการทาวน์เฮาส์ภายใต้แบรนด์ใหม่ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้อีกด้วย เพื่อก้าวสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายยอดขายที่ตั้งไว้ในปีนี้ 48,000 ล้านบาท
           
ฟาก ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ PS  กล่าวว่า ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของไทยในปี 2556 ยังคงมีทิศทางเชิงบวก โดยจะกลับมาดีในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2556 จากปัจจัยกระตุ้นต่างๆ เช่น อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีสัญญาณที่ดีขึ้น ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น อัตราดอกเบี้ยเริ่มผ่อนคลายลงเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนออกมาจับจ่ายใช้สอย ซึ่งจะสนับสนุนอุปสงค์ในประเทศเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างต่อเนื่องได้
   
ในปี 2556 นี้ บริษัทจะเน้นการลงทุนทาวน์เฮาส์เพิ่มขึ้น 50% เพื่อให้สามารถส่งมอบบ้านได้เร็วขึ้น โดยตั้งเป้าเปิดโครงการใหม่ 78 โครงการ มูลค่ารวม 55,000 ล้านบาท
   
ถึงตรงนี้แล้ว จะเห็นได้ว่า ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แต่ละราย..มั่นใจ..มั่นใจ และก็ มั่นใจ พร้อมรับรู้รายได้และกำไรที่จะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน.

ที่มา.ไทยโพสต์
///////////////////////////

มองต่างมุมเงินบาทแข็งค่า มีทั้งเสียและได้ประโยชน์ !!?


ทุกอย่างในโลกนี้มีสองด้านเสมอ เหมือนเหรียญที่มีสองด้าน เมื่อมีผู้ได้ประโยชน์ก็ต้องมีผู้เสียประโยชน์

เช่นเดียวกัน เรื่องนี้สามารถนำมาอธิบายในเชิงพลวัตของเศรษฐกิจได้ด้วย ทั้งในเรื่องดอกเบี้ย และประเด็นร้อนที่ยังถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างเข้มข้นมาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา นั่นคือ กรณีการแข็งค่าอย่างต่อเนื่องของเงินบาท จนหลุด 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และยังคงเดินหน้าแข็งค่าต่อไปจนกระทั่งลงมาแตะระดับ 28 บาทต่อดอลลาร์หลายต่อหลายครั้ง เพียงแต่มีแรงซื้อขายเข้ามาผลักดันให้กลับไปยืนปริ่มที่ระดับ 29.00-29.03 บาทต่อดอลลาร์ได้อยู่

หลายสำนักทั้งนักวิชาการ สำนักที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยเศรษฐกิจ ประเมินว่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นไปถึงระดับ 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ระดับเดียวกับก่อนเกิดวิกฤตฟองสบู่แตกเมื่อปี 2540 จนทำให้ประเทศไทยต้องประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในที่สุด

จริงอยู่เมื่อบาทแข็งค่า ส่งออกในรูปดอลลาร์นำกลับเข้ามาแลกเป็นบาทได้เงินน้อยลงย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกสูงถึงร้อยละ 60 ของจีดีพี

ส่งออกคือ หนึ่งในสี่ เครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการลงทุนภาครัฐ การใช้จ่ายในประเทศ และการลงทุนทางตรงจากนักลงทุนต่างชาติ

...ทว่า อีกด้านยังมีอีกมุมของเหรียญในมิติของผู้นำเข้า!!

ห้วงบาทแข็งค่าเป็นเวลาที่ดีสุดในการนำเข้าเครื่องจักรมาปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตให้ทันสมัย และผู้นำเข้าประเภทสินค้าแบรนด์เนม ยังได้ประโยชน์จากการแข็งค่าของเงินบาทจากต้นทุนนำเข้าในรูปดอลลาร์ที่ถูกลง

ซีพีแนะส่งออกปรับตัวผลิตสินค้า′มูลค่าเพิ่ม′

รายแรก ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับต้นๆ ของเมืองไทย บริษัท ซี.พี. อินเตอร์เทรด จำกัด ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี ปีก่อนหน้ามีสัดส่วนการส่งออกคิดเป็นร้อย 60% หรือส่งออกข้าวไปต่างประเทศ 6 แสนตัน ขายในประเทศ 4 แสนตัน การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทจึงมีผลอย่างยิ่งกับการส่งออกของ ซี.พี อินเตอร์เทรด

นายสุเมธ เหล่าโมราพร ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ สายธุรกิจข้าวและอาหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ซี.พี. อินเตอร์เทรด จำกัด ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี เห็นว่า หากค่าเงินแข็งค่าขึ้นไปแตะที่ 28 บาทต่อดอลลาร์ ยังอยู่ในวิสัยที่สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้ แต่หากแข็งค่าขึ้นไปมากกว่านั้น จนไปแตะที่ระดับ 26-27 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐจะส่งผลกระทบกับการส่งออกได้

สุเมธให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทุกๆ การแข็งค่าของเงินบาทจะทำให้ไทยสูญเสียเงินตราต่างประเทศ 20,000 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 2.4 แสนล้านบาทต่อปี เทียบเคียงจากปีก่อนหน้าไทยมีการส่งออก 2.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเฉลี่ยต่อเดือน 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

สุเมธเห็นว่าเอกชนจึงควรปรับตัวโดยการหันไปส่งออกสินค้ามูลค่าเพิ่ม เช่นเดียวกับที่ ซี.พี. อินเตอร์เทรด พยายามปรับเพิ่มมูลค่าโดยหันไปส่งออกสินค้ามูลค่าเพิ่ม ทั้งเส้น แป้ง และเพิ่มคุณภาพผลิตภัณฑ์ในการเพาะปลูกข้าวเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกเหนือจากการปรับตัว ปรับระบบการผลิตเน้นสินค้ามูลค่าเพิ่มแล้ว ช่วงบาทแข็งค่าสุเมธเห็นว่า ยังเป็นโอกาสดีในการนำเข้าเครื่องจักรเข้ามาปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต รวมทั้งการมองหาโอกาสในการลงทุนต่างประเทศ ในประเทศเพื่อนบ้านที่ค่าเงินอ่อนกว่าบาทและค่าแรงถูกกว่า ไทย เช่น เวียดนาม พม่า เป็นมาตรการเดียวกับที่ญี่ปุ่นนำมาใช้ช่วงการแข็งค่าของเงินเยนจาก 100 เยน เป็น 70 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐเมื่อหลายปีก่อนหน้า

เมื่อพลวัตเศรษฐกิจหลายด้านกำลังเปลี่ยนไป หน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่ส่งเสริมการลงทุนและช่วยเหลือผู้ส่งออกอย่าง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์ ควรปรับบทบาทตามเช่นกัน

สิ่งที่ผู้ส่งออกรายใหญ่อย่าง ซี.พี. อินเตอร์เทรดอยากเห็นคือ การส่งเสริมให้เอกชนไทยไปลงทุนต่างประเทศ เพื่อใช้เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการบริหารจัดการค่าเงิน ควบคู่กับการส่งเสริมให้ต่างชาติมาลงทุนในไทย และกฎเกณฑ์ในการปล่อยกู้ของเอ็กซิมแบงก์ควรมีความยืดหยุ่นให้มากขึ้น

แบรนด์เนมยิ้มต้นทุนลด30%

มองในมุมผู้เสียประโยชน์จากผู้ส่งออกแล้ว มาดูเหรียญอีกด้านในมุมของผู้นำเข้ารายหลักที่นำสินค้าแบรนด์เนมทั้งเสื้อผ้า เครื่องหนัง จากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเซ็นทรัล มาร์เก็ตติ้ง หรือซีเอ็มจี รวมทั้งผู้นำเข้าแบรนด์เนมที่ขายในสยามเซ็นเตอร์ สยามพารากอน และสยามดิสคัฟเวอรี่ เห็นว่าผู้นำเข้าจะได้ประโยชน์จากต้นทุนนำเข้าถูกลง และจะส่งต่อผลประโยชน์นี้ไปให้กับผู้บริโภคอีกต่อหนึ่งในเรื่องราคาสินค้า

ในมุมมองของนายชาญชัย เชิดชูวงศ์ธนากร รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด และกรรมการผู้จัดการ บริษัท สยาม สเปเชียล ลิตี้ จำกัด ผู้นำเข้าสินค้าลอฟท์จากประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน อเมริกา เยอรมนี ฝรั่งเศส ฮ่องกง จีน เห็นว่าการแข็งค่าของเงินบาทผู้ส่งออกจะได้ประโยชน์ในแง่ต้นทุนนำเข้าถูกลง หากเงินบาทแข็งค่าขึ้นไปแตะที่ 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐตามที่ผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายได้ประเมินไว้ต้นทุนนำเข้าจะถูกลงถึง 30% เมื่อเทียบกับช่วงค่าเงิน 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ในส่วนนโยบายราคาของลอฟท์เอง ปล่อยยืดหยุ่นตามค่าเงินบาท หากเงินถูกต้นทุนต่ำราคาต่ำลง เช่นเดียวกับช่วงบาทอ่อนค่าต้นทุนนำเข้าแพง ราคาก็จะปรับเพิ่มตาม แต่เมื่อมีการหักลบ นำราคาช่วงบาทแข็งกับอ่อนมาถัวเฉลี่ยกันแล้ว ช่องว่างกำไรยังเท่าเดิม ไม่ได้เพิ่มขึ้นเพราะสินค้านำเข้ายังมีต้นทุนในเรื่องภาษีที่ต้องจ่ายอีกเฉลี่ยประมาณ 30% ของนำเข้าหากขายแพง จะมีภาษีนำเข้าอีกรอบหากทำกำไรเยอะขายของไม่ได้ ปกตินำเข้ามาจะเสียภาษีประมาณ 30%

ประโยชน์เรื่องที่สอง ชาญชัยมองว่า ต้นทุนที่ถูกลง ยังเอื้อให้ผู้นำเข้าสามารถมองหาสินค้ารายการใหม่ เข้ามาทำตลาด เป็นทางเลือกของผู้บริโภค และจากนี้ไปโอกาสทางธุรกิจของญี่ปุ่นในไทยก็จะมีมากขึ้นเช่นเดียวกันเพราะไทยถือเป็นประเทศเป้าหมายในการขยายธุรกิจแบรนด์เนมหลังภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่นอยู่ในภาวะถดถอยและพยายามปรับแนวทางด้วยการไปลงทุนต่างประเทศ

ในมุมมองของชาญชัยยังเห็นว่า ต้นทุนนำเข้าที่ถูกลงจากบาทแข็งค่ายังช่วยเอื้อกับการท่องเที่ยว ราคาสินค้าที่ถูกลงเมื่อเทียบกับราคาของลอฟท์ในประเทศใกล้เคียงทำให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจซื้อสินค้าในเมืองไทยได้ง่ายขึ้น

เอสเอ็มอีวอนรัฐช่วยลดต้นทุนสู้บาทแข็ง

ถึงจะมีทั้งมุมได้เสีย ทว่า ในความเป็นจริงต้องเลือกในฝั่งที่เอื้อประโยชน์สูงสุด เรื่องแข็ง-อ่อนของบาทเช่นเดียวกัน เมื่อนำเรื่องจีดีพีเป็นตัวตั้งและส่งออกเป็นภาคหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยไปควบคู่กับอีก 3 เครื่องยนต์หลักข้างต้น ภาครัฐต้องเข้ามาช่วยเหลือผู้ส่งออกโดยเฉพาะผู้ส่งออกรายเล็ก สายป่านสั้นอย่างกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี เพราะเอสเอ็มอีคือธุรกิจรากฐานที่จะกลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่มีผลกับการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในอนาคต

ในมุมมองของ นายจิรบูลย์ วิทยสิงห์ ประธานกิตติมศักดิ์สมาคมของขวัญของชำร่วยไทย เห็นว่า การแข็งค่าของเงินบาทเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการกำหนดราคาขายสินค้า และกำหนดราคาเปิดรับคำสั่งซื้อล่วงหน้า

สิ่งที่อยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือคือ เร่งเข้ามาดูแลและช่วยเหลือผู้ประกอบการในเรื่องส่วนต่างซื้อประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า เพื่อทำให้การเจรจาการค้าไม่สะดุดกระทบกับคำสั่งซื้อไตรมาสสอง

ให้ภาครัฐช่วยเพราะเอสเอ็มอีสายป่านสั้น แตกต่างจากผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่การแข็งค่าของเงินบาทมีผลกระทบน้อยเพราะสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้โดยการซื้อประกันความเสี่ยงล่วงหน้า

ทั้งหมดคือ มองต่างมุมเรื่องบาท-อ่อนแข็ง มีทั้งฝ่ายได้และเสียประโยชน์ และจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ส่งออกทั้งรายเล็ก-กลาง-ใหญ่ ต้องมีการปรับตัวหันมาเน้นประสิทธิภาพการผลิตในลักษณะสินค้าเพิ่มมูลค่า รับเสรีการค้าตามข้อผูกพันที่กำลังจะเกิดขึ้นหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเสรีการค้าไทย-อียู ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี

ต้องปรับตัวเพราะการค้ากำลังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านจากยุคนโยบายการกำกับดูแลให้เงินบาทอ่อนค่า เพื่อส่งเสริม เอื้อประโยชน์ สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับผู้ส่งออกไปในตลาดการค้าโลก มาเป็นการปล่อยให้เป็นไปตามกลไกอย่างแท้จริง

เป็นความท้าทายในยุคเปิดเสรี!!

ที่มานสพ.มติชน
/////////////////////////////////////////////

เปิดเอกสารฝ่ายไทย สู้คดีปราสาทพระวิหาร !!?


กองเขตแดน กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงต่างประเทศ เผยแพร่เอกสารสรุปสาระสำคัญของคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรของฝ่ายไทยกรณีกัมพูชายื่นคำขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร ปี 2505 ผ่านเว็บไซต์ www.phraviharn.org  โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.คำฟ้องของกัมพูชา เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2554 กัมพูชายื่นคำขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตีความคำพิพากษา คดีปราสาทพระวิหารปี 2505 สรุปสาระสาคัญได้ ดังนี้

1.1 กัมพูชาระบุว่า ไทยและกัมพูชามีความเห็นต่างกันเกี่ยวกับความหมายและขอบเขตของคำพิพากษาปี 2505 ดังนี้

1.1.1 กัมพูชาเห็นว่า คำพิพากษาศาลในคดีเดิมอยู่บนพื้นฐานของการมีอยู่แล้วของเส้นเขตแดนระหว่างประเทศ ซึ่งถูกกำหนด และได้รับการยอมรับโดยประเทศทั้งสองแล้ว

1.1.2 ตัดสินกัมพูชาเห็นว่า เส้นเขตแดนดังกล่าวถูกกำหนดโดยแผนที่ที่ศาลได้อ้างถึงในหน้า 21 ของคำพิพากษา " แผนที่ภาคผนวก 1" ซึ่งแผนที่ดังกล่าวทำให้ศาลสามารถได้ว่า อธิปไตยกัมพูชาเหนือปราสาทเป็นผลโดยตรงและอัตโนมัติของอธิปไตยกัมพูชาเหนือดินแดนอันเป็นที่ตั้งของปราสาท

1.1.3 กัมพูชาเห็นว่า พันธกรณีของไทยในการถอนทหารและเจ้าหน้าที่ ออกจากบริเวณใกล้เคียงปราสาทบนดินแดนของกัมพูชา เป็นพันธกรณีที่มีลักษณะทั่วไปและต่อเนื่อง และเป็นผลมาจากอธิปไตยแห่งดินแดนของกัมพูชา ที่ศาลได้ยอมรับในบริเวณดังกล่าว

1.2 กัมพูชาอ้างว่า โดยที่ “ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในดินแดนภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา” (วรรคปฏิบัติการที่ 1 ของคาพิพากษาปี 2505) เป็นผลจากข้อเท็จจริงที่ว่าปราสาทตั้งอยู่ในฝั่งกัมพูชาของเส้นเขตแดนที่ศาลได้ยอมรับในคำพิพากษาเดิม กัมพูชาจึงขอให้ศาลตัดสินในคดีตีความนี้ว่า พันธกรณีสาหรับไทยในการ “ถอนกองกาลังทหาร หรือตำรวจ หรือผู้เฝ้ารักษา หรือผู้ดูแลซึ่งประเทศไทยได้ส่งไปประจำอยู่ที่ปราสาท หรือในบริเวณใกล้เคียงปราสาทบนดินแดนกัมพูชา (วรรคปฏิบัติการที่ 2 ของคาพิพากษาปี 2505) เป็นผลโดยเฉพาะของพันธกรณีทั่วไป และต่อเนื่องในการเคารพซึ่งบูรณภาพแห่งดินแดนของกัมพูชา โดยดินแดนดังกล่าวได้รับการกำหนดในบริเวณปราสาท และบริเวณใกล้เคียงปราสาทโดยเส้นแผนที่ภาคผนวก 1 ซึ่งศาลใช้เป็นพื้นฐานของคำพิพากษา

โดยสรุป กัมพูชาอ้างว่าคำพิพากษาเดิมไม่ชัดเจน และไทยยังไม่ได้ปฏิบัติตาม โดยยังมิได้ถอนกำลังทหาร หรือตำรวจออกจากบริเวณใกล้เคียงปราสาท โดยกัมพูชาให้เหตุผลว่า วรรคปฏิบัติการที่ 2 ของ คำพิพากษาเดิมไม่ระบุชัดเจนว่า “บริเวณใกล้เคียงปราสาท” ครอบคลุมพื้นที่แค่ไหน ดังนั้น กัมพูชาจึงขอให้ศาลตัดสินว่า ขอบเขตของ “บริเวณใกล้เคียงปราสาท” จะต้องเป็นไปตามเส้นเขตแดนที่ปรากฏบน “แผนที่ภาคผนวก 1” ซึ่งแนบท้ายคำฟ้องของกัมพูชาในคดีเดิม
ตามที่กัมพูชาถ่ายทอดเส้นดังกล่าวในปัจจุบัน ซึ่งฝ่ายกัมพูชาเห็นว่าบริเวณดังกล่าว มีขนาด 4.6 ตารางกิโลเมตร

2. ข้อสังเกตเป็นลายลักษณ์อักษร (Written Observations) ของไทย เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2554 ไทยได้ยื่นข้อสังเกตเป็นลายลักษณ์อักษรแก่ศาล โดยข้อสังเกตดังกล่าวแบ่งออกเป็น 7 บท สรุปสาระสาคัญได้ ดังนี้

2.1. บทที่ 1 : บทนำ ระบุเกี่ยวกับ

2.1.1 ลำดับกระบวนพิจารณาของศาล ตั้งแต่กัมพูชายื่นคาขอตีความ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2554 การออกคาสั่งมาตรการชั่วคราว เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2554 และการที่ศาลกำหนดให้ไทยยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรภายในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2554

2.1.2 ข้อบทปฏิบัติการของคำพิพากษาปี 2505 และคำขอตีความของกัมพูชาในปี 2554 โดยชี้ว่า คำขอตีความของกัมพูชามีความวกวน และมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อให้ศาลตัดสินในประเด็น ที่ศาลได้ปฏิเสธอย่างชัดแจ้งแล้วที่จะตัดสิน ในคดีเดิมเมื่อปี 2505 ว่า เส้นเขตแดนเป็นไปตาม “แผนที่ภาคผนวก 1” หรือไม่

2.1.3 การปฏิบัติตามคำพิพากษาปี 2505 ของไทย ซึ่งรวมถึงการออกมติคณะรัฐมนตรี ปี 2505 และการก่อสร้างรั้วลวดหนามพร้อมป้ายที่แสดงขอบเขตของ “บริเวณใกล้เคียงปราสาท” อันเป็นการกำหนดพื้นที่ที่ถอนกองกำลังไทยออกแล้วและกองกำลังไทยจะต้องอยู่ภายนอกพื้นที่นี้ในอนาคต ซึ่งกัมพูชาล้วนตระหนักดีเกี่ยวกับการดำเนินการดังกล่าวของไทย

2.1.4 การจัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก (เอ็มโอยู) ปี 2543 ซึ่งไม่มีการอ้างถึงคำพิพากษาปี 2505 จึงเป็นการบ่งชี้ที่ชัดเจนว่าคำพิพากษาไม่มีความเกี่ยวข้องกับการกำหนดเขตแดน แต่ต่อมากัมพูชาได้ละทิ้งท่าทีดังกล่าว รวมทั้งท่าที
ที่กัมพูชายึดถือมาตั้งแต่ปี 2505 ว่า ไทยได้ปฏิบัติตาม คำพิพากษาปี 2505 แล้ว เนื่องจากกัมพูชาต้องการพื้นที่เพิ่มเติมสำหรับการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร เป็นมรดกโลกฝ่ายเดียวของกัมพูชา

2.1.5 เหตุการณ์ปะทะบริเวณชายแดนที่เกิดขึ้นในช่วงไม่นานมานี้ไม่มีครั้งใดที่ปรากฏว่า มีการรุกล้ำของกองกำลังไทยเข้าไปใน “ปราสาทหรือบริเวณใกล้เคียงบนดินแดนกัมพูชา” จึงไม่ใช่หลักฐาน การไม่ปฏิบัติตามคาพิพากษาปี 2505 ของไทย ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดจากการที่กัมพูชามุ่งที่จะเข้ามา มีอำนาจเหนือพื้นที่ซึ่งกว้างใหญ่กว่าที่กัมพูชาเคย
พึงพอใจในอดีต

2.2 บทที่ 2 : ข้อพิพาทในกระบวนการพิจารณาในคดีเดิม (2502-2505) ในบทนี้ ไทยได้วิเคราะห์ขอบเขตของข้อพิพาทในกระบวนการพิจารณาในคดีเดิม ทั้งในชั้นข้อคัดค้านเบื้องต้น (Preliminary Objections Phase) และในชั้นเนื้อหาสาระของคดี (Merits Phase) โดยชี้ให้เห็นว่า ขอบเขตของข้อพิพาทดังกล่าวจำกัดเฉพาะประเด็นอธิปไตยเหนือปราสาท
พระวิหาร โดยไม่เกี่ยวกับเรื่องเขตแดน ดังนี้

2.2.1 หนังสือประท้วงของฝรั่งเศสในปี 2492 รวมทั้งหนังสือประท้วงของกัมพูชาใน ปี 2497 ต่างต้องการให้ไทยถอนกำลังออกจาก “ซากหักพังของปราสาทพระวิหาร” โดยอ้างว่าซากหักพังดังกล่าวอยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา

2.2.2 คำร้องเริ่มคดีของกัมพูชาในปี 2502 มีความชัดเจนว่า กัมพูชาได้กำหนดขอบเขตของข้อพิพาทเฉพาะอธิปไตยบน “ ดินแดนผืนหนึ่ง...ซึ่งซากหักพังของปราสาทตั้งอยู่” และไม่ได้ขอให้ ศาลตัดสินเรื่องเขตแดน

2.2.3 คำให้การของคู่ความทั้งที่เป็นข้อเขียนและทางวาจา และคำพิพากษาของศาลในชั้นข้อคัดค้านเบื้องต้นต่างชี้ว่า ข้อพิพาทในคดีเดิมจำกัดเฉพาะอธิปไตยเหนือปราสาท

2.2.4 เป็นหลักการที่ยอมรับโดยทั่วไปว่า ศาลไม่สามารถพิพากษาเกินกว่าคำขอของคู่ความที่ศาลรับไว้พิจารณา (non ultra petita) ดังนั้น การประเมินประเด็นคำขอตามที่ศาลรับไว้พิจารณา (petitum) ในคดีเดิมจึงจำเป็นสาหรับการเข้าใจขอบเขตของประเด็นที่ได้รับการตัดสินไปแล้วให้ผูกพันคู่ความ (res judicata) ซึ่งจาเป็นสำหรับการพิจารณาว่ากัมพูชามี
อำนาจฟ้องในคดีตีความนี้หรือไม่

2.2.5 คำให้การของคู่ความทั้งที่เป็นข้อเขียนและทางวาจาในชั้นเนื้อหาสาระในคดีเดิม ต่างชี้ว่า ประเด็นแห่งข้อพิพาทในปี 2502-2505 จากัดเฉพาะอธิปไตยเหนือปราสาท และประเด็นดังกล่าว ไม่เกี่ยวข้องกับเขตแดน โดยศาลนำ “แผนที่ภาคผนวก 1” มาใช้เพียงเพื่อชี้ตาแหน่งที่ตั้งของปราสาท และไม่ใช่เพื่อกำหนดเส้นเขตแดนในบริเวณดังกล่าว

2.2.6 ขอบเขตของข้อพิพาทในคดีเดิมตามที่กัมพูชาได้ยื่นให้ศาลพิจารณาตั้งแต่แรกเริ่ม ได้เปลี่ยนแปลงในช่วงสุดท้ายของกระบวนการพิจารณา โดยกัมพูชาได้พยายามที่จะขยายขอบเขตคำขอของตนให้ครอบคลุมเรื่องเขตแดนด้วย ซึ่งศาลฯ ก็ได้ปฏิเสธคำขอดังกล่าวไว้อย่างชัดเจนแล้ว

2.3 บทที่ 3 : ความหมายและขอบเขตของคาพิพากษาปี 2505 ในบทนี้ ไทยชี้ให้เห็นว่า คำพิพากษาปี 2505 และสิ่งที่ศาลฯ ตัดสินครอบคลุมเพียงอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารเท่านั้น และศาลไม่ได้ตัดสินเรื่องเส้นเขตแดน หรือสถานะของแผนที่ภาคผนวก 1 ดังนี้

2.3.1 ในคำพิพากษาศาลเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2505 ในชั้นเนื้อหาสาระของคดี (Merits Phase) ศาลได้ตอบคำขอที่กัมพูชายกขึ้นในคำร้องเริ่มคดี (เรื่องอธิปไตยเหนือปราสาทและเรื่องการถอนเจ้าหน้าที่ทหารไทยออกจากบริเวณสิ่งหักพังของปราสาท) และตอบคำขอเพิ่มให้ในประเด็นที่ให้ไทยคืน “วัตถุทางวัฒนธรรม” ซึ่งเป็นประเด็นที่กัมพูชายกขึ้นในภายหลังระหว่างกระบวนการพิจารณาคดี แต่ศาลปฏิเสธอย่างชัดแจ้งที่จะตอบคำขอของกัมพูชาที่จะขยายประเด็นแห่งคดีให้รวมถึงการกำหนดเขตแดนระหว่างไทย กับกัมพูชา และสถานะของแผนที่ภาคผนวก 1

2.3.2 ขอบเขตและเนื้อหาของบทปฏิบัติการของคำพิพากษาปี 2505 ชี้ให้เห็นว่า โดยผลลัพธ์นั้น ศาลตัดสินเพียงประการเดียวว่าปราสาทตั้งอยู่บนดินแดนซึ่งอยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา (วรรคปฏิบัติการที่ 1) ส่วนพันธกรณีในการถอนทหาร (วรรคปฏิบัติการที่ 2) และพันธกรณีในการคืนวัตถุทางวัฒนธรรม (วรรคปฏิบัติการที่ 3) นั้น เป็นผลที่เกิดขึ้นตามมาโดยอัตโนมัติของการที่กัมพูชามีอธิปไตยเหนือปราสาท ไม่ว่ากัมพูชาจะขอศาลตัดสินในประเด็นดังกล่าวด้วยหรือไม่ก็ตาม

2.3.3 ในคำพิพากษาปี 2505 ศาลได้จำกัดขอบเขตของข้อพิพาทไว้เพียงอธิปไตยเหนือปราสาท เส้นเขตแดนและแผนที่ต่างๆ เกี่ยวข้องเพียงเท่าที่สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างความกระจ่างเกี่ยวกับประเด็นอธิปไตยนี้ แต่ไม่อาจยกขึ้นมาเป็นประเด็นที่ศาลต้องตัดสินชี้ขาด

2.3.4 ขอบเขตและเนื้อหาของบทปฏิบัติการถูกจากัดโดยคำขอตามที่ศาลรับไว้พิจารณา (petitum) และคำขอที่ศาลรับไว้พิจารณาในคดีนี้คือ อธิปไตยเหนือปราสาท ตามที่ปรากฏในคำแถลง สรุปสุดท้ายของกัมพูชาข้อ 3 และในคำร้องเริ่มคดี (“ดินแดนผืนหนึ่งซึ่งบริเวณสิ่งหักพังของปราสาทตั้งอยู่”) ซึ่งกัมพูชาเองต้องเห็นว่า “ดินแดนผืนหนึ่งของกัมพูชา” มีพื้นที่จำกัด มิเช่นนั้นก็คงไม่มีเหตุผลประการใด ที่กัมพูชาจะขอขยายประเด็นแห่งคดีให้รวมถึงเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา และสถานะของแผนที่ภาคผนวก 1

ด้วยเหตุนี้ เนื้อหาของวรรคปฏิบัติการที่ 1 ของคำพิพากษา (ปราสาทตั้งอยู่ในดินแดนภายใต้อธิปไตยกัมพูชา) จึงมีขอบเขตที่จำกัด และพันธกรณีในการถอนทหารและคืนวัตถุโบราณ (วรรคปฏิบัติการที่ 2 และ 3) ซึ่งเป็นผลที่ตามมาของวรรคปฏิบัติการที่ 1 จึงมีขอบเขตพื้นที่ที่จำกัดด้วยเช่นกัน

2.3.5 นอกจากนี้ พันธกรณีในการถอนกำลังตามวรรคปฏิบัติการที่ 2 ศาลฯ นั้น ก็ระบุด้วยว่า เป็นการยอมรับตามคำแถลงสรุปสุดท้ายของกัมพูชาข้อ 4 ซึ่งขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดให้ไทยถอนกำลังทหารจาก “บริเวณสิ่งหักพังของปราสาทพระวิหาร” ดังนั้น คำว่า “ณ ปราสาทหรือบริเวณใกล้เคียงบนดินแดนกัมพูชา” ในวรรคปฏิบัติการที่ 2 จึงหมายความถึง “บริเวณสิ่งหักพังของปราสาทพระวิหาร” นั่นเอง

2.3.6 การวิเคราะห์ถ้อยคำต่างๆ ที่ศาลใช้ในคำพิพากษาปี 2505 ได้แก่ “ปราสาท” ในวรรคปฏิบัติการที่ 1 “ณ ปราสาทหรือบริเวณใกล้เคียงบนดินแดนกัมพูชา” ในวรรคปฏิบัติการที่ 2 และ “พื้นที่ปราสาท” ในวรรคปฏิบัติการที่ 3 ต่างแสดงให้เห็นถึงขอบเขตพื้นที่ที่จากัดและเป็นการยืนยันว่าคำพิพากษา ปี 2505 มีขอบเขตทางพื้นที่ที่จากัด

2.3.7 ศาลใช้เส้นแผนที่ภาคผนวก 1 ในส่วนเหตุผลของคำพิพากษาเพียงเพื่อชี้ว่าปราสาทเป็นของกัมพูชาหรือของไทย

2.4 บทที่ 4 : ศาลไม่มีอำนาจพิจารณาและกัมพูชาไม่มีอานาจฟ้อง ไทยชี้ให้ศาลเห็นว่า ศาลไม่มีอานาจในการตีความและไม่ควรรับคดีไว้พิจารณา การที่ศาลวินิจฉัยว่า ศาลมีอำนาจเบื้องต้น ในชั้นคำสั่งออกมาตรการชั่วคราวไม่ได้หมายความว่าศาลจะมีอานาจในการพิจารณาคำขอตีความอันเป็นคดีหลัก โดยยกเหตุผล ดังนี้

2.4.1 ไทยและกัมพูชาไม่มีข้อพิพาทเรื่องความหมายและขอบเขตของคำพิพากษาปี 2505 เนื่องจากคาพิพากษาดังกล่าวมีความชัดเจนอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการวินิจฉัยว่า ไทยหรือกัมพูชามีอธิปไตยเหนือปราสาท ศาลไม่จาเป็นต้องวินิจฉัยเรื่องขอบเขตของดินแดนของแต่ละฝ่าย และขอบเขตของพันธกรณีในการถอนทหาร ณ ปราสาทหรือบริเวณ
ใกล้เคียงบนดินแดนกัมพูชา ในวรรคปฏิบัติการที่ 2 ซึ่งเป็นผลมาจากอธิปไตยเหนือปราสาทในวรรคปฏิบัติการที่ 1 ย่อมไม่อาจเกินขอบเขตของวรรคปฏิบัติการที่ 1 ได้

2.4.2 ไม่มีข้อพิพาทระหว่างคู่กรณีในประเด็นว่าไทยได้ปฏิบัติตามคาพิพากษาแล้ว และกัมพูชาได้ยอมรับแล้ว โดยมีหลักฐานหลายประการ อาทิ เอกสารต่างๆ ในปี 2505 โดยเฉพาะถ้อยแถลงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชาต่อสมัชชาสหประชาชาติเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2505 ว่าไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาแล้ว การเสด็จยังปราสาทของเจ้าสีหนุในวันที่ 5 มกราคม 2506 และพฤติกรรมของกัมพูชาในภายหลังที่แสดงว่าพอใจกับการปฏิบัติตามคำพิพากษาของไทยแล้ว

นอกจากนี้ ข้อพิพาทเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำพิพากษา หากปรากฏอยู่จริง ก็อยู่นอกขอบเขตของข้อ 60 ของธรรมนูญศาลเกี่ยวกับ การตีความ

2.4.3 วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของกัมพูชาที่ยื่นคำขอต่อศาลในครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อการตีความ แต่เพื่อให้ศาลตัดสินประเด็นเรื่องเขตแดน ซึ่งเป็นประเด็นที่ศาลไม่ได้ตัดสินไว้ในคำวินิจฉัยเมื่อปี 2505

2.5 บทที่ 5 : การตีความที่ผิดของกัมพูชาเกี่ยวกับความหมายและขอบเขตของคำพิพากษาปี 2505 ไทยชี้ให้ศาลฯ เห็นว่า กัมพูชาเข้าใจความหมายของคำพิพากษาผิดในประเด็นที่สาคัญต่าง ๆ 3 ประเด็น ซึ่งในบทนี้ ฝ่ายไทยมุ่งโต้แย้งการตีความคำพิพากษาของกัมพูชา โดยยืนยันว่า

2.5.1 การที่กัมพูชาตีความคำพิพากษาในประเด็นว่า ศาลตัดสินเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตย เหนือดินแดนเป็นการตีความที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง และแผนที่ไม่ใช่เหตุผลสาคัญที่ไม่อาจแยกออกจากบทปฏิบัติการ

2.5.2 พันธกรณีของไทยที่จะต้องถอนกำลังเจ้าหน้าที่ไม่ใช่พันธกรณีต่อเนื่อง (Continuing Obligation) หากแต่เป็นพันธกรณีที่เฉพาะเจาะจงและในทันที “specific and immediate obligations” และ

2.5.3 ไทยได้ถอนกำลังเจ้าหน้าที่แล้วเมื่อปี 2505

2.6 บทที่ 6 : รายงานของผู้เชี่ยวชาญแผนที่ของฝ่ายไทย รายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่า

2.6.1 การถ่ายทอดเส้นบนแผนที่ภาคผนวก 1 ลงในแผนที่สมัยใหม่หรือลงในภูมิประเทศจริง จะเกิดความผิดพลาด ไม่ว่าจะใช้วิธีการใด และไม่สามารถเชื่อถือได้ เนื่องจากเทคนิคในการถ่ายทอดมีหลายวิธี ซึ่งจะทาให้เกิดเส้นผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน และไม่มีเหตุผลสนับสนุนว่า วิธีการถ่ายทอดวิธีใดเหมาะสมกว่าวิธีอื่น ซึ่งความแตกต่างที่เกิดขึ้นจากการใช้วิธีการต่าง ๆ กันอาจเป็นผลให้เกิดความแตกต่างในพื้นที่กว้างหลายกิโลเมตร ดังนั้น หากศาลจะตัดสินให้ใช้แผนที่ภาคผนวก 1 แทนที่จะเป็นการแก้ไขปัญหา กลับจะสร้าง ข้อพิพาทใหม่ให้คู่กรณี โดยเฉพาะในการเลือกจุดอ้างอิง

2.6.2 International Boundary Research Unit (IBRU) ค้นพบแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 อีกฉบับหนึ่งซึ่งแตกต่างจากแผนที่ภาคผนวก 1 ที่กัมพูชายื่นต่อศาล

2.6.3 ดังนั้น ศาลจึงไม่ควรตัดสินว่า ให้เส้นเขตแดน หรือเส้น “บริเวณใกล้เคียง (vicinity)” เป็นไปตามแผนที่ภาคผนวก 1

2.7 บทที่ 7: บทสรุปและคำแถลง

ไทยขอให้ศาลตัดสินว่า

2.7.1 ศาลไม่มีอานาจที่จะตีความและไม่สามารถรับคดีไว้พิจารณา

2.7.2 หรือหากศาลเห็นว่า ศาลมีอำนาจและสามารถรับคดีไว้พิจารณาได้ ก็ไม่มีเหตุผลใดที่ศาลฯ จะตีความคำพิพากษา ปี 2505

2.7.3 หรือหากศาลเห็นว่าตนเองมีเหตุผลที่จะตีความคาพิพากษาดังกล่าวแล้ว ก็ขอให้ศาลตัดสินว่า คำพิพากษาศาล ในปี 2505 มิได้ตัดสินว่าเส้นเขตแดนเป็นไปตาม “แผนที่ภาคผนวก 1”

3. คำตอบ (Response) ของกัมพูชา เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2555 กัมพูชาได้ยื่นคำตอบแก่ศาล โดยคาตอบดังกล่าวแบ่งออกเป็น 5 บท สรุปสาระสาคัญได้ ดังนี้

3.1 บทนำ กัมพูชาระบุว่า ข้อสรุปของฝ่ายไทยในข้อสังเกตเป็นลายลักษณ์อักษรไม่ถูกต้อง บิดเบือนข้อเท็จจริง และเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ถึง 5 ประการ ได้แก่

3.1.1 กัมพูชาขอให้ศาลตีความคำพิพากษา ปี 2505 แต่ไทยกลับหยิบยกเรื่องการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลเป็นข้อต่อสู้ ซึ่งเป็นคนละประเด็น

3.1.2 ไทยกล่าวหาว่า คำขอของกัมพูชามีนัยเป็นการอุทธรณ์คำพิพากษา หรือขอให้ศาล ทบทวนคดี ทั้ง ๆ ที่กัมพูชากล่าวย้ำเสมอว่าต้องการขอตีความคำพิพากษา ซึ่งแตกต่างกัน

3.1.3 ไทยยกข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นภายหลังจากคำพิพากษา เพื่ออ้างว่ากัมพูชาได้ยอมรับ การปฏิบัติตามคำพิพากษาแล้ว และไม่สามารถขอให้ศาลตีความได้ ทั้งๆ ที่การตีความคำพิพากษาจะต้องพิจารณาจากตัวบทของคำพิพากษาเท่านั้น

3.1.4 กัมพูชาไม่ได้กล่าวอ้างว่า ศาลในปี 2505 ได้ปักปันเขตแดนบนพื้นฐานของเส้น บนแผนที่ภาคผนวก 1 ตามที่ไทยกล่าวหา และศาลไม่ได้ปักปันเขตแดนระหว่างไทยและกัมพูชาขึ้นใหม่ เพียงแต่ยอมรับเส้นเขตแดนระหว่างประเทศที่มีอยู่แล้ว

3.1.5 ไทยหลีกเลี่ยงที่จะอธิบายว่าเพราะเหตุใดแผนที่ภาคผนวก 1 ไม่ใช่เหตุผลสำคัญ ที่ไม่อาจแยกจากคำพิพากษาได้ และไม่สามารถตีความได้

นอกจากนี้ กัมพูชาต่อสู้ว่า การที่ไทยนาเสนอว่า ศาลต้องจำกัดขอบเขตของคำพิพากษาตามที่คู่ความคิดหรือกระทำเป็นการแทรกแซงบูรณภาพและความเป็นอิสระของการดำเนินกระบวนการยุติธรรมของศาล

3.2 บทที่ 2: ข้อเท็จจริงที่แสดงว่ากัมพูชาไม่เคยยอมรับการตีความฝ่ายเดียวของไทย กัมพูชาชี้ให้เห็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงของไทยในข้อสังเกตเป็นลายลักษณ์อักษร และนำเสนอข้อมูลเพื่อแสดงให้เห็นว่ากัมพูชาไม่เคยยอมรับการตีความฝ่ายเดียวของไทย นอกจากนี้ การประท้วงต่าง ๆ ของกัมพูชาเกี่ยวกับรั้วลวดหนามตามมติคณะรัฐมนตรีไทยปี 2505 ในหลายโอกาส สะท้อนให้เห็นว่ากัมพูชาปฏิเสธที่จะยอมรับการปฏิบัติตาม คำพิพากษาของไทยมาอย่างต่อเนื่อง และความขัดแย้งในการยื่นขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกตั้งแต่ปี 2550 ทำให้สามารถสรุปได้ว่า มีข้อพิพาทเกี่ยวกับความหมายและขอบเขตของคาพิพากษา ซึ่งข้อพิพาทดังกล่าวคือเหตุผลที่กัมพูชาได้ขอให้ศาลตีความในครั้งนี้

3.3 บทที่ 3 อำนาจศาลและอานาจฟ้อง: เงื่อนไขสำหรับศาลในการตีความคไพิพากษามีครบถ้วนในคดีนี้กัมพูชานำเสนอเหตุผลสนับสนุนว่า ศาลมีอำนาจที่จะพิจารณาคาขอตีความคำพิพากษาฯ ของกัมพูชา ซึ่งสอดคล้องกับเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่ศาล และศาลสถิตยุติธรรมระหว่างประเทศได้กำหนดไว้ในคดีก่อน ๆ ทั้งในประเด็นอำนาจของศาล (Jurisdiction) และอำนาจฟ้อง (admissibility) กล่าวคือ มีข้อพิพาทเกี่ยวกับความหมายและขอบเขตของคำพิพากษา ปี 2505 ทั้งนี้ ระยะเวลาที่ล่วงเลยกว่า 50 ปีไม่ทาให้สิทธิในการขอตีความคำพิพากษาเสียไป และกัมพูชาไม่ได้ยื่นขอให้ศาลตีความในประเด็นที่ศาลไม่ได้รับพิจารณา ในปี 2505

3.4 บทที่ 4: การตีความที่มีความจำเป็นตามคำขอของกัมพูชา กัมพูชานาเสนอเหตุผลความจำเป็นในการตีความคำพิพากษา และแนวทางการตีความคำพิพากษาที่กัมพูชาเห็นว่าถูกต้อง โดยวิเคราะห์ ความเชื่อมโยงระหว่างบทปฏิบัติการกับส่วนเหตุผลของคำพิพากษา ตามแนวทางคาตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการและศาลระหว่างประเทศอื่น ๆ ซึ่งนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า แผนที่ภาคผนวก 1 เป็นเหตุผลที่ไม่อาจแยกจากบทปฏิบัติการได้และมีสถานะเป็นสิ่งที่ศาลได้ตัดสินให้มีผลผูกพัน (res judicata) ดังนั้น ศาลฯ จึงสามารถตีความได้

นอกจากนี้ กัมพูชาได้ยืนยันการตีความคำพิพากษา ตามคำขอของกัมพูชาวันที่ 28 เมษายน 2554 พร้อมกับโต้แย้งการตีความคำพิพากษาของไทยว่า

3.4.1 กัมพูชาไม่ได้ขอให้ศาลทบทวนคำพิพากษา

3.4.2 กัมพูชาไม่ได้ขอให้ศาลชี้ขาดเรื่องเขตแดน และการที่ฝ่ายไทยแยกประเด็นข้อพิพาทเรื่องเขตแดนกับข้อพิพาทเรื่องอธิปไตยเหนือดินแดนว่าเป็นคนละประเด็นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเพราะข้อพิพาท ทั้งสองประเภทมีความสัมพันธ์กันโดยตรง

3.4.3 การปฏิบัติตามคำพิพากษาของไทยเป็นการตีความฝ่ายเดียวที่ไม่ผูกพันกัมพูชา

3.4.4 พันธกรณีในการถอนทหารตามวรรคปฏิบัติการที่ 1 ของคำพิพากษาฯ เป็นพันธกรณี ที่ต่อเนื่อง

3.5 บทที่ 5: บทสรุปและคำแถลง

ไทยเป็นฝ่ายที่พยายามโน้มน้าว ให้ศาลทบทวนและอุทธรณ์คำพิพากษา อีกทั้งข้อสังเกต เป็นลายลักษณ์อักษรและเอกสารภาคผนวกของไทยมีเนื้อหาสาระไม่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาของศาล ในการตีความคำพิพากษาปี 2505 ซึ่งไม่สามารถลบล้างเหตุผลของกัมพูชาที่แสดงให้เห็นว่า ศาลสามารถตีความคำพิพากษาได้ และการตีความที่ถูกต้องอยู่บนพื้นฐานของแผนที่ภาคผนวก 1

4. คำอธิบายเพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษร (Further Written Explanations) ของไทย เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2555 ไทยได้ยื่นคำอธิบายเพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษรแก่ศาล โดยคำอธิบายดังกล่าวแบ่งออกเป็น 5 บท สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

4.1 บทที่ 1 : บทนำ ฝ่ายไทยได้กล่าวถึงจุดอ่อนที่สาคัญของคำอธิบายเป็นลายลักษณ์อักษรของกัมพูชา ได้แก่

4.1.1 คำขอตีความคำพิพากษาปี 2505 ของกัมพูชามีความสับสน และขาดความสอดคล้องกัน อาทิ เดิมใช้บทปฏิบัติการที่ 2 ของคำพิพากษาฯ ปี 2505 เป็นพื้นฐานในการขอให้ศาลตีความคำพิพากษาปี 2505 ต่อมาก็เปลี่ยนเป็นมาใช้บทปฏิบัติการที่ 1 เป็นพื้นฐานด้วย

4.1.2 ข้อต่อสู้ของกัมพูชาเกี่ยวกับแผนที่ภาคผนวก 1 (Annex I) ที่ว่าแผนที่ฉบับดังกล่าวเป็นเหตุผลสำคัญประการเดียวของผลคำพิพากษา ซึ่งไม่มีความเป็นเหตุเป็นผล และไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศ

4.1.3 กัมพูชาไม่ตอบบทวิเคราะห์คำพิพากษาและบริบทของการตัดสินของศาลในปี 2505 และประเด็นข้อเท็จจริงเรื่องแผนที่ระวางดงรักที่ไทยได้นำเสนอในข้อสังเกตเป็นลายลักษณ์อักษรของไทย

4.1.4 กัมพูชาบิดเบือนข้อเท็จจริงหลายประการ อาทิ

4.1.4.1 อ้างว่าไทยขอให้ศาล แก้ไขคำพิพากษาปี 2505

4.1.4.2 อ้างว่าแผนที่ภาคผนวก 1 เป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษา และสร้างหลักฐานทางแผนที่ที่ไม่ถูกต้อง

4.1.4.3 พยายามชี้นำว่า การที่ศาลในปี 2505 ไม่รับพิจารณาประเด็นเส้นเขตแดนและสถานะของแผนที่ภาคผนวก 1 เป็นเพียงเพราะเหตุผลทางกระบวนการพิจารณาคดี (ขอช้าไป) ทั้งที่จริงแล้วมีนัยด้านสารัตถะที่สาคัญ (ขอเพิ่มนอกขอบเขตคาฟ้อง)

4.2 บทที่ 2 : สาระสาคัญของข้อพิพาทปี 2505 และข้อพิพาทที่กัมพูชาเสนอต่อศาล ในปี 2554

4.2.1 นำเสนอความแตกต่างระหว่างข้อพิพาทที่ศาลได้ตัดสินในปี 2505 และข้อพิพาท ที่กัมพูชาเสนอต่อศาลในปัจจุบัน กล่าวคือ ข้อพิพาทเมื่อปี 2505 เป็นเรื่องอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหาร ซึ่งศาลได้ตัดสินไปแล้ว แต่ประเด็นที่กัมพูชาเสนอให้ศาลตีความเป็นพื้นที่นอกเหนือจากตัวปราสาท พระวิหารและตาแหน่งของเส้นเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชา

4.2.2 เมื่อข้อพิพาทในปี 2505 กับประเด็นที่กัมพูชาขอให้ศาลตีความไม่ใช่เรื่องเดียวกัน ศาลก็ไม่สามารถตีความได้

4.3 บทที่ 3 : อำนาจศาล

4.3.1 ไม่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับขอบเขตและความหมายของคำพิพากษา ในปี 2505 ซึ่งเป็นเงื่อนไขสาคัญในการขอตีความ ดังนั้น กัมพูชาไม่มีอานาจฟ้อง และศาลไม่สามารถตีความคำพิพากษาตามที่กัมพูชาร้องขอได้

4.3.2 ศาลในปี 2505 ไม่รับพิจารณาประเด็นสถานะของแผนที่ภาคผนวก 1 และตาแหน่งของเส้นเขตแดน ซึ่งมีผลทำให้ประเด็นดังกล่าวทั้งสองไม่เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ศาลสามารถตีความได้ กล่าวคือ สิ่งที่ศาลได้ตัดสินให้มีผลผูกพัน

4.3.3 ความพยายามของกัมพูชามีผลเสมือนเป็นการอุทธรณ์ให้ศาลในปัจจุบันกลับมาให้สถานะแผนที่ภาคผนวก 1 และพิจารณาเรื่องเส้นเขตแดน ซึ่งไม่สามารถกระทำได้

4.4 บทที่ 4 : ประเด็นที่ศาลได้ตัดสินให้มีผลผูกพัน

4.4.1 แม้ศาลพิจารณาว่ามีอานาจในการตีความคำพิพากษาปี 2505 ศาลจะสามารถตีความได้เฉพาะประเด็นที่ได้ตัดสินให้มีผลผูกพันแล้ว ซึ่งปรากฏอยู่ในส่วนบทปฏิบัติการของคำพิพากษาเท่านั้น

4.4.2 การนำส่วนเหตุผลของคำพิพากษามาพิจารณาประกอบการตีความนั้น จะกระทำได้ต่อเมื่อบทปฏิบัติการมีความคลุมเครือ อย่างไรก็ดี บทปฏิบัติการของคำพิพากษา ปี 2505 มีความชัดเจน ในตัวอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องพิจารณาแผนที่ภาคผนวก 1 ประกอบการตีความ

4.4.3 แผนที่ภาคผนวก 1 ไม่ใช่เหตุผลที่แยกออกจากคำพิพากษาไม่ได้ แต่เป็นเพียงเหตุผลหนึ่งที่ศาลพิจารณาเลือกใช้เท่านั้น ซึ่งในกรณีดังกล่าวศาลได้ใช้เหตุผลอื่นในการพิจารณาด้วย ได้แก่ การเสด็จฯ เยือนปราสาทพระวิหารของสมเด็จกรมพระยาดารงราชานุภาพ การที่ไทยไม่ได้ยกประเด็นเรื่องปราสาทพระวิหารในที่ประชุมคณะกรรมการประนอมฝรั่งเศส-สยาม ที่ กรุงวอชิงตันใน ปี ค.ศ.1947 การที่ไทยผลิตแผนที่ของตนเอง 2 ฉบับที่แสดงว่าปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในฝั่งกัมพูชา

การที่ไทยนิ่งเฉยต่อหนังสือประท้วงของฝรั่งเศสและของกัมพูชาซึ่งระบุว่าอธิปไตยเหนือปราสาทเป็นของฝรั่งเศส -กัมพูชา นอกจากนี้ กัมพูชาต้องการให้ตีความแผนที่ภาคผนวก 1 เส้นเขตแดน (อธิปไตยเหนือปราสาท) กัมพูชาจึงไม่สามารถนาแผนที่ภาคผนวก 1 มาใช้ประกอบการตีความบทปฏิบัติการ ของคำพิพากษาได้

4.4.4 ฝ่ายไทยนาเสนอการตีความคำพิพากษาปี 2505 ที่ถูกต้อง ดังนี้ กระบวนพิจารณาคดีเมื่อปี 2505 ที่ฝ่ายไทยได้ถอนทหารออกไปแล้ว

4.4.4.2 พันธกรณีในการถอนทหารเป็นพันธกรณีแบบทันทีทันใดและปฏิบัติได้ครั้งเดียว ซึ่งไทยได้ปฏิบัติโดยสมบูรณ์แล้ว

4.5 บทที่ 5 : บทสรุปและคำแถลง

ชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นที่ศาลต้องระบุว่า ศาลฯ ไม่ได้ตัดสินเรื่องเขตแดนในปี 2505 โดยในคำแถลงสรุป ไทยขอให้ศาลตัดสินว่า

4.5.1 ศาลไม่มีอานาจที่จะตีความและไม่สามารถรับคดีไว้พิจารณา

4.5.2 หรือหากศาลเห็นว่า ศาลมีอำนาจและสามารถรับคดีไว้พิจารณาได้ ก็ไม่มีเหตุผลใดที่ศาลจะตีความคำพิพากษา ปี 2505

และ 4.5.3 ขอให้ศาลตัดสินว่า คำพิพากษาศาลในปี 2505 มิได้ตัดสินว่าเส้นเขตแดนเป็นไปตาม “แผนที่ภาคผนวก 1”

ที่มา.นสพ.ฐานเศรษฐกิจ
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////