--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2556

ธีระชัย โพสต์อีก ผลพวงกู้เงิน 2 ล้านล.ท้ายสุดต้องขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มหารายได้ใช้หนี้ !!?


alt
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุถึง การกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท

เมื่อรวมกับดอกเบี้ย รวมเป็น 5 ล้านล้านบาท แต่รัฐบาลมีนโยบายเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีบุคคลธรรมดาต่ำ เพื่อให้แข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน และไม่ผลักดันเก็บภาษีทรัพย์สินและที่ดิน สุดท้ายเหลือช่องทางเดียว คือเพิ่ม VAT

ข้อความที่โพสต์ระบุว่า "ผมให้ข้อมูลเพิ่ม เพื่อประชาชนจะสามารถวิเคราะห์กันได้เอง

1 ระบบรางคู่อาจจะทำให้การรถไฟขาดทุนน้อยลง เพราะจะมีการขนส่งสินค้ามากขึ้น แต่ธุรกิจที่ใช้บริการจะต้นทุนต่ำลง เศรษฐกิจขยายตัวได้ จึงจะเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มได้บ้าง เก็บภาษีบุคคลธรรมดาเพิ่มได้บ้าง

2 รถไฟกรุงเทพจะมีคนใช้มาก จะมีกำไรพอใช้หนี้ คงไม่ต้องพึ่งรัฐบาลมากนัก

3 รถไฟความเร็วสูงขนแต่ผู้โดยสาร (ไม่เห็นประเทศใดใช้ขนสินค้า) จะเพิ่มผลผล...ิตของประเทศให้มากกว่าที่ low cost airline ทำอยู่แล้วได้หรือไม่ ในระดับเงินเดือนและค่าจ้างปัจจุบัน คาดว่าจะไม่มากนัก เพราะหากไม่มีระบบนี้ ค่าเสียโอกาสที่การเดินทางจะช้าไปบ้าง หรือที่ต้องใช้ low cost airline แทนนั้น ไม่รุนแรง ถามต่อว่าจะเพิ่มการท่องเที่ยวจากต่างประเทศได้หรือไม่ คาดว่าไม่มากนัก เพราะจากต่างประเทศเขาบินตรงเข้าเชียงใหม่และอู่ตะเภากันอยู่แล้ว

4 เมื่อโครงการไม่มีกำไร ไม่มีเงินจากโครงการมาเพื่อใช้หนี้ 5 ล้านล้านโดยตรง การใช้หนี้ก็ต้องอาศัยรัฐบาลเก็บภาษีในรูปแบบต่างๆ เพื่อมาชำระหนี้ แต่รัฐบาลมีนโยบายเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีบุคคลธรรมดาต่ำ เพื่อให้แข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน และไม่ผลักดันเก็บภาษีทรัพย์สินและที่ดิน จึงเหลือช่องทางเดียว คือเพิ่ม VAT

5 ผมได้ฟัง ดร. พิสิฐ ลี้อาธรรมในฐานะนักวิชาการตั้งคำถามน่าคิด หากรัฐบาลเพิ่ม VAT จนสูงเท่าประเทศในยุโรป บางประเทศร้อยละ 23 บางประเทศร้อยละ 28 ประชาชนจะคิดอย่างไร จะกระทบคนจนหรือคนรวยมากกว่ากัน

6 รัฐบาลจึงควรให้สภาพัฒน์และกระทรวงการคลัง ประเมินตัวเลขไปข้างหน้าตลอดระยะเวลาชำระหนี้ และให้หน่วยงานทั้งสองชี้แจงต่อสาธารณะ ว่าโครงการลงทุนจะเพิ่มรายได้เท่าใด จะมีกำไรมาชำระหนี้หรือไม่ ประเทศจะมีรายได้จากภาษีต่างๆ เท่าใด และจะต้องเก็บภาษีใดเพิ่มขึ้นหรือไม่เพื่อมาชำระหนี้ ซึ่งทำตัวเลขได้ไม่ยากครับ แต่ตัวเลขต้องอาศัยหลักวิชาการ ต้องไม่ใช่การขายฝัน

7 ดร.พิสิฐเคยเป็นกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ เขาเปรยว่าเสียดายที่ไม่ได้กำหนดในรัฐธรรมนูญเอาไว้ ให้รัฐบาลต้องแสดงแหล่งเงินที่จะใช้ชำระหนี้สำหรับโครงการกู้เงินต่างๆ เพราะการวางนโยบายที่เป็นยุทธศาสตร์ชาติเช่นนี้ ประชาชนควรได้ข้อมูลครบทุกด้าน ทั้งด้านประโยชน์ที่จะได้รับ และด้านค่าใช้จ่ายที่จะต้องร่วมกันควักกระเป๋า

8 ในโลกนี้ ไม่มีอะไรที่เป็นของฟรี แต่ต้องมาจากเงินของพวกเราทั้งนั้นแหละครับ
ที่มา.นสพ.ฐานเศรษฐกิจ
/////////////////////////////////////////////////

บอร์ด กนง.มีมติด้วยเสียง 5:1 คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.75%


altที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันนี้ (3 เม.ย.) มีมติด้วยเสียง 5 : 1 เสียง คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.75% ต่อปี

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันนี้ ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมทั้งแนวโน้มในระยะต่อไป เพื่อกำหนด
แนวนโยบายการเงินที่เหมาะสม โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้

เศรษฐกิจโลกยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นบ้างนับจากการประชุมครั้งก่อนจากวิกฤตเศรษฐกิจการเงินในกลุ่มประเทศยูโร ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจยูโรหดตัวมากกว่าที่คาดไว้เดิมขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน แต่ปัญหาทางการคลังยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ถ่วงการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น จากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการเงินและการคลัง เศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจเอเชียยังขยายตัวดีต่อเนื่อง จากอุปสงค์ในประเทศเป็นสำคัญ ในขณะที่แนวโน้มการส่งออกดีขึ้นเล็กน้อย

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 คาดว่าจะขยายตัวลดลงเข้าสู่แนวโน้มปกติ หลังจากที่เร่งขึ้นมากในช่วงก่อนหน้า คาดว่าในระยะต่อไปอุปสงค์ในประเทศจะยังเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากรายได้ภาคครัวเรือนและการจ้างงานที่อยู่ในระดับสูง ภาวะการเงินและสินเชื่อที่ผ่อนคลาย และแรงกระตุ้นทางการคลังที่จะทยอยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการบริหารจัดการน้ำและโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่คาดว่าจะเริ่มในช่วงกลางปีถึงปลายปี และมีผลกระตุ้นการลงทุนต่อเนื่องของภาคเอกชน ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นช้าๆ ตามภาวะเศรษฐกิจโลก สำหรับอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย แต่แรงกดดันเงินเฟ้อที่อาจเกิดจาก
ข้อจำกัดด้านอุปทานและต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้นยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม

คณะกรรมการฯ มีความเห็นว่า ภายใต้ภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังมีความเปราะบาง การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนปรนต่อไปยังคงมีความเหมาะสม แต่จะต้องระมัดระวังความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงิน รวมทั้งความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนที่เคลื่อนย้ายอย่างรวดเร็ว คณะกรรมการฯ จึงมีมติ 5 ต่อ 1 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.75 ต่อปี โดยกรรมการ 1 ท่านเห็นสมควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 ต่อปี

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยและความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะปรับนโยบายการเงินตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง

ในการประชุมครั้งนี้ กรรมการ 1 ท่าน ติดภารกิจในต่างประเทศจึงไม่สามารถเข้าร่วมประชุม
ที่มา.นสพ.ฐานเศรษฐกิจ
///////////////////////////////////////////////////////////

องค์กรรัฐสภาสากลออกคำสั่ง ประวัติศาสตร์กรณีประเทศไทย !!?


หลังจากเป็นเวลาเกือบ 3 ปีที่ผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยกว่า 90 รายถูกสังหารโดยกองกำลังของรัฐบาลบนท้องถนนในกรุงเทพฯ กลุ่มคนเสื้อแดงก็ได้รับชัยชนะอันยิ่งใหญ่จากองค์การพหุภาคีที่สำคัญ ซึ่งได้ฉายแสงให้เห็นถึงความอยุติธรรมอันแผ่ซ่านในระบบการเมืองไทย
หลังจากการประชุมครั้งล่าสุดในประเทศเอกัวดอร์ องค์กรรัฐสภาสากล (ไอพียู) -ซึ่งเป็นองค์กรที่มีสถานะเป็นผู้สังเกตการณ์ถาวรในยูเอ็น และได้รับการยอมรับจากยูเอ็นว่าเป็นองค์กรชั้นนำในด้านรัฐสภา ได้ออกมติแห่งประวัติศาสตร์ประณามการตัดสิทธิ์อันมิชอบด้วยกฎหมายของสมาชิกรัฐสภา นายจตุพร พรหมพันธุ์
เมื่อแกนนำเสื้อแดงคนสำคัญในรัฐสภา นายจตุพรถูกตัดสิทธิ์จากการเป็นสส.โดยคำสั่งผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญซึ่งแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม ปี 2555 อันเนื่องมาจากการเข้าร่วมการชุมนุมในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม ปี 25553 ของเขา ซึ่งหลังจากนั้นได้นำไปสู่การคุมขังและทำให้นายจตุพรไม่สามารถไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้
มติของไอพียูคงไว้ซึ่งหลักการที่ว่า การที่นายจตุพรถูกตัดสิทธิ์ถือ “เป็นการละเมิดพันธกรณีของประเทศไทยที่มีต่อสิทธิมนุษยชนโดยตรง” ในขณะเดียวก็ย้ำถึงความกังวลเรื่องการจับกุมนายจตุพรทซึ่งเกิดขึ้นภายใต้การใช้อำนาจฉุกเฉินอันมิชอบด้วยกฎหมายของรัฐบาลที่แล้ว รวมถึงข้อหาก่อการร้ายซึ่งมีเหตุจูงใจจากเรื่องทางการเมือง
ตามมติ TH/183 ของไอพียู ซึ่งยื่นในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2556 ที่นั่งในรัฐสภาของนายจตุพรถูกเพิกถอนในเวลาที่ “มิได้มีการพิสูจน์ว่าเขากระทความผิดใด” และรายละเอียดคำปราศรัยปรากฎว่า “เป็นการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก” มติยังระบุว่าการกระทำซึ่งยับยั้งมิให้บุคคลผู้ถูกกล่าวหาทางอาญาจากสิทธิการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งถือ “เป็นข้อจำกัดอันมิสมเหตุสมผล” โดยเฉพาะตามบทบัญญัติของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมืองซึ่งรับรองสิทธิของบุคคลผู้ถูกกล่าวหาทางอาญาในการให้ถูกสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะได้รับการพิสูจน์เป็นอย่างอื่น
ไอพียูกล่าวถึงความกังวลเกี่ยวกับหลักสำคัญทางกฎหมายและเหตุผลเบื้องหลังการถอนประกันและคุมขังนายจตุพร โดยร้องขอสำเนารายละเอียดข้อหาของนายจตุพร ในขณะเดียวกันก็ร้องขอให้สำนักงานเลขาธิการใหญ่ “เดินทางไปเยือนประเทศไทยเพื่อหยิบยกประเด็นดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่รัฐสภา รัฐบาลและตุลาการผู้มีประสิทธิภาพ รวมถึงมองหาถึงความเป็นไปได้ที่จะให้ความช่วยเหลือในเรื่องดังกล่าว”
ท่านใดที่สนในสามารถดาวน์โหลดมติของไอพียูได้ที่นี่
ข้างล่างคือคำแปลภาษาไทยบางส่วนของคำสั่งไอพียู
โปรดระลึกว่านายจตุพรถูกตัดสินลงโทษในวันที่ 10 กรกฎาคม และ 27 กันยายน พ.ศ. 2555 ในคดีอาญาสองกระทง โดยถูกตัดสินจำคุก 6 เดือน (รอลงอาญา 2 ปี) และปรับ 50,000 บาท ตามลำดับในข้อหาหมิ่นประมาทนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในขณะนี้ทั้งสองคดีอยู่ในระหว่างการอุทรณ์; โปรดระลึกว่าผู้ตรวจการพิเศษองค์การสหประชาชาติส่งเสริมและปกป้องสิทธิในเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก ซึ่งเน้นย้ำในรายงาน (A/HRC/17/27 ของวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2554) โดยเรียกร้องให้ทุกประเทศยกเลิกโทษทางอาญาในคดีหมิ่นประมาท
โปรดระลึกว่าประเทศไทยลงนามในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง ดังนั้นจึงมีพันธกรณีที่จะต้องคุ้มครองสิทธิที่รับรองไว้ในกติกาดังกล่าว
เมื่อพิจารณาว่า ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2556 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะเริ่มอภิปรายเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญซึ่งคาดว่าจะกระทบต่อรายละเอียดทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองและการยุบพรรค; โปรดระลึกว่า ที่มาของความหวาดกลัวว่าการตัดสิทธิ์ทางการเมืองของนายจตุพรอาจถูกพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามใช้โต้เถียงว่าพรรคผู้นำรัฐบาลเพื่อไทย “ส่งนายจุตพรลงสมัครเลือกตั้งในสส.ระบบบัญชีรายชื่อโดยมิชอบ”จึงเป็นเหตุให้การเลือกตั้งเป็นไปในลักษณะที่ “ไม่ซื่อสัตย์และยุติธรรม” ดังนั้นพรรคการเมืองที่เขาสังกัดควรถูกยุบ
1.ไอพียูขอขอบคุณสำนักงานเลขาธิการใหญ่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสำหรับจดหมายและความร่วมมือ
2.ไอพียูยืนยันว่าจดหมายดังกล่าวมิได้ทำให้ไอพียูคลายความกังวลใจกรณีที่นายจตุพรถูกตัดสิทธิ์ด้วยเหตุผลซึ่งขัดต่อพัธกรณีที่ประเทศไทยมีต่อมาตราฐานสิทธิมนุษยชนสากลโดยตรง
3.เมื่อพิจารณาว่า แม้ว่ารัฐธรรมนูญไทยจะบัญญัติไว้โดยเฉพาะถึงเรื่องการตัดสิทธิ์ทางการเมืองของบุคคลที่ “ถูกคุมขังโดยคำสั่งทางกฎหมาย” ในวันเลือกตั้ง โดยยับยั้งมิให้บุคคลผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางอาญาใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ซึ่งขัดกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง ในมาตรา 25 ที่รับรองสิทธิในการ “เข้าร่วมทำกิจกรรมสาธารณะ” รวมถึงการ “ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งและลงสมัครรับเลือกตั้ง” โดยปราศจากการ “ข้อจำกัดอันไม่สมเหตุสมผล”
4.เมื่อพิจารณาในแง่ดังกล่าว การปฎิเสธมิให้สส.ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากเรือนจำเพื่อไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งตั้งจึงเป็น “ข้อจำกัดอันไม่สมเหตุสมผล” โดยเฉพาะในบทบัญญัติของกติกาที่รับรองว่าบุคคลซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางอาญาให้ถือเป็นผู้บริสุทธิ์ (มาตรา 14) และ ให้ได้รับ “การปฎิบัติที่แตกต่างจากบุคคลผู้ถูกตัดสินว่ามีความผิดแล้ว” (มาตรา 10 (2)(a) ); ไอพียูระบุว่าการตัดสิทธิ์ของนายจุตพรยังปรากฎว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญไทยมาตรา 102(4) ซึ่งบัญญัติว่าผู้ที่ถูกตัดสินว่าว่ากระทำความผิดทางอาญาเท่านั้น ที่จะสูญเสียสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยไม่รวมผู้ถูกกล่าวหาทางอาญา
5.ซึ่งไม่ต่างจากกรณีที่ความเป็นสมาชิกพรรคการเมืองของนายจตุพรถูกเพิกถอนในเวลาที่ยังมิได้มีการระบุว่าเขากระทำความผิดใด และในกรณีของคำปราศรัยอันปรากฎว่าเป็นการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก ได้ย้ำเตือนถึงความกังวลว่า ศาลสามารถตัดสินกรณีพิพาทเกี่ยวกับความเป็นสมาชิกพรรคการเมืองซึ่งเป็นเรื่องส่วนบุคคลระหว่างนายจตุพรและพรรคการเมืองนั้นโดยอันที่จริงก็มิได้มีข้อพิพาทใดระหว่างนายจตุพรและพรรคการเมืองนั้นเลย
6.จากข้อเท็จจริงข้างบน ไอพียูจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เจ้าหน้าที่รัฐไทยจะทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อพิจารณาการตัดสิทธิของนายจตุพรอีกครั้งและรับรองว่าบทบัญญัติกฎหมายในปัจจุบันจะมีความสอดคล้องกับมาตราฐานสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้อง ทางไอพียูประสงค์ที่จะได้รับแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับผลลัพธ์ของกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้
7.ทางไอพียูยังคงกังวลเกี่ยวกับข้อกล่าวหาทางกฎหมายและข้อเท็จจริงซึ่งอ้างอิงอันเกี่ยวกับข้อหาของนายจตุพร และความเป็นไปได้ที่ศาลอาจสั่งถอนประกันนายจตุพร; ดังนั้นไอพียูจึงประสงค์ที่จะขอสำเนาซึ่งเกี่ยวกับข้อกล่าวหาดังกล่าว และพิจารณาว่า ในกรณีนี้อาจเป็นเป็นประโยชน์ที่จะส่งผู้สังเกตการณ์เพื่อเข้าร่วมการพิจารณาคดีในศาล และร้องขอให้เลขานุการใหญ่จัดการการนัดหมายที่จำเป็น
8.ความกังวลของไอพียูต่อกรณีที่นายจตุพรถูกสั่งฟ้อง ตัดสินและลงโทษในความผิดหมิ่นประมาท; ในกรณีนี้ ความเห็นของผู้ตรวจการพิเศษขององค์การสหประชาชาติระบุว่า ความผิดหมิ่นประมาทมิควรที่จะเป็ความผิดทางอาญา ดังนั้น ไอพียูจึงประสงค์ที่จะเห็นเจ้าหน้าที่รัฐไทยพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้อง และประสงค์ที่จะได้รับสำเนาเกี่ยวกับการพิจารณาดังกล่าว รวมถึงได้รับแจ้งถึงขั้นตอนการอุทรณ์ในคดีดังกล่าว
9.ทางไอพียูพิจารณาว่า คดีในปัจจุบันมีการแตกกิ่งการสาขานอกเหนือจากกรณีของนายจตุพร และยังเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางรัฐธรรมนูญและระบบระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและศาล; ทางไอพียูจึงร้องขอให้เลขาธิการใหญ่เดินทางไปเยือนประเทศไทยเพื่อหยิบยกประเด็นดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่รัฐสภา รัฐบาลและตุลาการที่ทรงประสิทธิภาพ รวมถึงค้นหาถึงความเป็นไปได้ว่าทางไอพียูจะสามารถช่วยเหลืออะไรได้บ้างในกรณีดังกล่าว
10.ทางไอพียูร้องขอให้เลขาธิการใหญ่ส่งมตินี้ไปยังเจ้าหน้าที่รัฐที่ทรงประสิทธิภาพและผู้ให้ข้อมูล
11.ทางไอพียูร้องขอให้คณะกรรมาธิการตรวจสอบคดีนี้อย่างต่อเนื่อง และรายงานให้ทางไอพียูทราบต่อไปในระบะเวลาที่เหมาะสม



ม็อบเครือข่ายแรงงานไม่พอใจสภาโหวต พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับประชาชนตก !!?


รายงานจากบริเวณหน้ารัฐสภา ว่า เวลา 10.00 น. กลุ่มเครือข่ายแรงงานประมาณ 400 คน ได้ชุมนุมเพื่อคัดค้านกรณีที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวาระแรกไม่รับร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับที่ประชาชนร่วมกันลงชื่อเสนอจำนวน 14,264 คน ที่เน้นให้เกิดความเป็นอิสระของสำนักงานประกันสังคม น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวถึงกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่รับร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ที่เสนอโดยประชาชน ว่า เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ไม่ให้ความสำคัญและไม่ยอมรับในสิทธิและกฎหมายของภาค ประชาชน จึงขอปฏิเสธการเป็นตัวแทนภาคประชาชนเข้าไปนั่งเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ในวาระที่ 2 เพราะไม่ใช่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับของภาคประชาชน จึงไม่มีประโยชน์อะไรที่จะเข้าไปเป็นกรรมาธิการ

นายทวีป กาญจนวงศ์ ประธานมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวสะท้อนว่าไม่ว่ากฎหมายฉบับใดที่ประชาชนเสนอแล้วไม่ถูกใจ ส.ส. กฎหมายฉบับนั้น จะถูกปิดกั้นไม่ถูกนำมาพิจารณาในทันที ถือว่าเป็นการกีดขวางการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยแท้ ทางเครือข่ายแรงงานทั่วประเทศจึงต้องการแสดงออกเพื่อประท้วงกระบวนการฉ้อฉลของรัฐสภา และประณามการทำหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

นายชาลี ลอยสูง เลขาธิการสหพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิคประเทศไทย อ่านแถลงการณ์ตอนหนึ่งว่า การรวมตัวชุมนุมครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการแสดงออกในการไม่เห็นด้วยกับการทำหน้าที่ของ ส.ส.ในสภา และหลังจากนี้ทางเครือข่ายจะลงพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อทำความเข้าใจกับแรงงานในพื้นที่ต่างๆ และจะมีการรวมตัวชุมนุมอย่างต่อเนื่อง

ที่มา.มติชน
///////////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2556

3 เหตุผลทำไมเราไม่ควร ชะล่าใจเรื่องฐานะการคลังและหนี้สาธารณะ !!?




โดย ศิริกัญญา ตันสกุล

1. “พอหนี้เริ่มเพิ่มขึ้น มันจะพุ่งขึ้นแบบก้าวกระโดด”

เราคิดว่าสัดส่วนภาระหนี้ต่อ GDP ที่ 40% อยู่ในระดับที่รับได้ แต่ประเทศอื่น ๆ อย่างสเปน หรือไอร์แลนด์ ก็เคยมีภาระหนี้อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 40% เมื่อไม่นานมานี้ แต่เมื่อเผชิญปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ไอร์แลนด์ซึ่งมีสัดส่วนภาระหนี้ต่อ GDP อยู่ที่ 25% ในปี 2007 กลับมีสัดส่วนนี้กระโดดขึ้นไปเป็น 106% ภายใน 4 ปี (ดูภาพที่ 1)

หนี้ก้อนโต ภาระหนี้ยิ่งเพิ่มเร็ว เฉพาะภาระดอกเบี้ยอย่างเดียวก็คิดเป็น 5 เท่าของรายจ่ายชำระคืนเงินต้นแล้ว ตอนนี้อัตราดอกเบี้ยเราต่ำมาก แต่ถ้าดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีก 2 % จะทำให้ภาระหนี้เพิ่มขึ้นไปถึง 60% (ดูภาพที่ 2)

2. “ยังมีหนี้ที่ซ่อนอยู่”
ตัวเลขสัดส่วนภาระหนี้ต่อ GDP ของไทยที่ระดับ 43.3% (ข้อมูล ณ ปี 2011) นั้นรวมเฉพาะ หนี้รัฐบาล หนี้กองทุนฟื้นฟู หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงินทั้งหมด และหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินเฉพาะที่รัฐค้ำประกัน แต่ที่ยังไม่ได้รวมคือหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (ส่วนที่รัฐไม่ได้ค้ำประกัน) ซึ่งประเทศไทยมักใช้ SFI (โครงการเชื่อมโยงบริการการเงินระหว่างสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ) เป็นเครื่องมือด้านงบประมาณของรัฐบาล เช่น กู้เงินจากธกส. เพื่อใช้ในโครงการจำนำข้าว เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังไม่รวม “ภาระผูกพัน” ในอนาคต อาทิเช่น งบสำหรับโครงการรถคันแรกที่จะเป็นภาระผูกพันไปจนถึงงบประมาณปี 2557 ซึ่งงบก้อนใหญ่ที่สุดคือ งบในปี 2557 ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 24,000 ล้านบาท

3. “บีบงบลงทุนหมด”
ถึงแม้ว่าภาระหนี้ของไทยในตอนนี้อาจจะยังไม่อยู่ในระดับวิกฤตก็ตาม แต่ภาระหนี้เหล่านี้จะส่งผลให้ไทยมีงบประมาณเหลือเพื่อการจัดสรร (Fiscal Space) น้อยลง จะทำให้รัฐบาลยิ่งต้องทำงบประมาณขาดดุลเพิ่มจนเกือบเต็มเพดานการก่อหนี้ตามกฎหมาย ส่งผลให้งบลงทุนถูกจำกัดตามไปด้วย






ที่มา.thailandfuturefoundation
///////////////////////////////////////////////////////////////

8 คนร้ายแต่งตัวคล้ายทหาร-บุกอุ้มนาวิกฯ สังกัดหน่วยวิสามัญ16ศพ-หายออกจากบ้านพัก !!?


น.ส.ดารีซะ อายุ 22 ปี ชาว ต.สุวารี อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เข้าแจ้งความต่อ ร.ต.ท.รัชสิทธิ์ ลือลั่น ร้อยเวร สภ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ว่า พลทหารมะอีลา โตะลู อายุ 24 ปี สังกัดกองพันทหารราบที่ 7 กรมทหารราบที่ 3 กองพลนาวิกโยธินภาคใต้ ค่ายจุฬาภรณ์ ถูกกลุ่มคนร้ายจำนวน 8 คน แต่งกายเลียนแบบเจ้าหน้าที่ทหารมีอาวุธปืนครบมือ บุกจี้ตัวพลทหารมะอีลา หายออกจากบ้านไปในช่วงคืนที่ผ่านมา

โดย น.ส.ดารีซะ ภรรยาของพลทหารมะอีลา ให้การว่า ช่วงเวลา 19.00 น. ของคืนที่ผ่านมา ขณะที่ตนขี่รถ จยย.ออกไปซื้ออาหารในหมู่บ้าน สามีซึ่งลาพักราชการกลับมาบ้าน 6 วัน ได้อยู่กับนายยาการียา ซอพี อายุ 20 ปี ซึ่งเป็นน้องชายตามลำพัง 2 คน ต่อมามีคนร้าย 8 คน ขับรถยนต์กระบะไม่ทราบสียี่ห้อและแผ่นป้ายทะเบียนเป็นพาหนะ มาจอดหน้าบ้านพัก โดยคนร้ายจำนวน 2 คน ยืนคุมเชิงอยู่ที่หน้าบ้าน ส่วนอีก 6 คน ได้เดินตรงเข้าไปในบ้านพัก 1 ในนั้นได้ใช้อาวุธปืนเอ็ม16 จี้ที่ศรีษะของนายยาการียาซึ่งเป็นน้องชาย แล้วพูดเป็นภาษายาวีว่า บ้านนี้ใครเป็นทหาร แล้วคนร้ายได้เดินไปใช้เชือกที่เตรียมมา มัดมือพลทหารมะอีลา แล้วใช้ปืนจี้คุมตัวขึ้นรถยนต์กระบะหายไป โดยที่คนร้ายไม่ได้ทำร้ายนายยาการียา ซึ่งเป็นน้องชายแต่อย่างใด

นอกจากนี้ น.ส.ดารียะ ภรรยาของพลทหารมะอีลา ยังให้การกับพนักงานสอบสวนอีกว่า โดยปกติพลทหารมะอีลา ซึ่งเป็นสามีไม่เคยมีเรื่องขัดแย้งและบางหมางกับผู้ใดในพื้นที่เมื่อลาพักจากราชการก็จะกลับมาอยู่บ้านโดยที่ไม่ออกไปไหนมาไหน เพราะเกรงจะตกเป็นเป้าถูกคนร้ายลอบดักสังหาร และสามีได้พูดให้ฟังบ่อยครั้งว่า ทหารทุกนายที่ปฏิบัติหน้าที่ที่กองร้อยปืนเล็กที่ 2 บ้านยือลอ ต้องระมัดระวังเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากมีกระแสข่าวหลังจากเจ้าหน้าที่วิสามัญคนร้ายเสียชีวิต 16 ราย เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 56 ที่ผ่านมา กลุ่มคนร้ายจะทำทุกวิถีทางเพื่อเอาคืนชีวิตเจ้าหน้าที่เป็น 2 เท่า คือตาย 16 คน จะเอาคืนชีวิต เจ้าหน้าที่ 32 คน เพื่อแก้แค้นให้กลับสมาชิกในกลุ่มที่ถูกวิสามัญ

ซึ่งหลังจากรับแจ้งความแล้วเสร็จ ร.ต.ท.รัชสิทธิ์ พนักงานสอบสวนและเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะเดินทางไปยังบ้านเกิดเหตุ เพื่อตรวจสอบหาหลักฐานของกลุ่มคนร้ายอย่างละเอียดอีกครั้ง ในการรวบรวมเป็นประจักษ์พยานหลักฐานเพื่อนำไปสู่การสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงและติดตามกลุ่มคนร้ายมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ที่มา.ข่าวสด
////////////////////////////////////////////////////

กู้ 2 ล้านล้านบาท รถไฟความเร็วสูง..ผักไม่เน่า !!?


โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์

คนไทยเวลานี้ที่สนอกสนใจเรื่องการเมืองใจจดใจจ่ออยู่กับเรื่องเมกะโปรเจ็กต์ เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ของเงินกู้เป็นเรื่องรถไฟคาวมเร็วสูง มีความกังวลเรื่องภาระหนี้ที่ยาวนานชั่วรุ่นคน กังวลเรื่องความโปร่งใส และมีข้อทักท้วงเรื่องวิธีการกู้

ขณะเดียวกันก็มีดราม่าสนุกสนานเรื่อง "ขนผัก" ด้วยรถไฟความเร็วสูง

จำได้ว่าก่อนพระราชบัญญัติเงินกู้ 2 ล้านล้านจะเข้าไปอภิปรายในสภาไม่กี่วัน มีหนังสือพิมพ์สัมภาษณ์เด็กหนุ่มคนหนึ่งชื่ออะไรจำไม่ได้ แต่นามสกุลวิญญรัตน์ เป็นลูกชายของพันศักดิ์ วิญญรัตน์ เสธ.ใหญ่เบื้องหลังแนวนโยบายของทักษิณมาแต่ไหนแต่ไร เคยเป็นหนึ่งในทีมบ้านพิษณุโลกสมัยนายกฯชาติชาย ชุณหะวัณ เคยเป็นอะไรอีกหลายๆ อย่างที่คนในวงการสื่อรู้จักกันดี แต่ไม่ออกมาเบื้องหน้า

ลูกชายคุณพันศักดิ์รับงานวิจัยมาทำซึ่งในบท สัมภาษณ์นั้นเกี่ยวกับเรื่อง "ผัก" ที่ระบบโลจิสติกส์แย่มาก เกิดความสูญเสียร้อยละสามสิบเป็นอย่างน้อย โดยยกตัวอย่างกะหล่ำปลี

ถ้าขนด้วยรถไฟความเร็วสูง ระยะเวลาการขนลดลงไปมหาศาล จาก 8-10 ชั่วโมง เหลือแค่ 3 ชั่วโมง ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องดี หากทำได้ และผมคิดว่านั่นเป็นส่วนหนึ่งของวาทกรรมขนผักของนายกฯปูในสภา ที่ผู้คนบนอินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะเฟซบุ๊กเห็นเขาเสียดสีกันสนุกสนาน

ผมนึกถึงหนังสือเล่มหนึ่งที่เคยแปลไว้ชื่อเรื่อง "กล้วยไม่ใช่เรื่องกล้วย" หนังสือเล่มนี้เล่าความเป็นมาของกล้วย (ส่วนใหญ่คือกล้วยหอม) ว่ามันเข้าไปในอเมริกาซึ่งไม่มีกล้วย ปลูกกล้วยเองไม่ได้ จนกลายเป็นอาหารประจำโต๊ะอาหาร แล้วแพร่ระบาดไปจนกลายเป็นผลไม้ที่คนกินมากที่สุดในโลกได้อย่างไร

การขนส่งกล้วยจากอเมริกาใต้ไปยุโรปหรืออเมริกา ต้องไปทางเรือ แต่กล้วยมีระยะเวลาสุกงอมของมันชัดเจน อาทิตย์เดียวก็เปลือกคล้ำจนไม่มีใครแล บริษัทข้ามชาติที่ทำธุรกิจขนส่งทางเรือหาวิธีจนให้กำเนิดห้องเย็นบนเรือ ซึ่งสมัยก่อนใช้น้ำแข็งก้อนๆ ธรรมดา

หาวิธีที่จะทำให้กล้วยออกมาจาก สวนกล้วยในอเมริกาใต้แบบไม่บอบช้ำ ในเวลาที่จำกัดมาก ด้วยการสร้างวิธีบรรจุหีบห่อจากพื้นที่ แล้วถึงจะขนออกมาใส่ตู้คอนเทนเนอร์ มีการลงเลขทะเบียนกล้วยแต่ละกล่องจนกลายมาเป็นบาร์โค้ดในปัจจุบัน

กระบวนการทั้งหมดนี้ไม่ได้มีรถไฟความเร็วสูงเข้ามาเกี่ยวข้อง

คำถามมันย้อนกลับมาว่ารถไฟความเร็วสูงในโลกนี้ที่เขามีกันใช้กันมีที่ไหนใช้ขน ส่งสินค้ากันบ้าง ในเวลาอันจำกัดและข้อมูลอันจำกัดเท่าที่ค้นหาได้

คำตอบคือไม่มี รถไฟความเร็วสูงตอบโจทย์การขนส่งสินค้าไม่ได้ แต่พวกเจ้าของเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงขายไอเดียนี้นะครับ และโปรเจ็กต์รถไฟความเร็วสูงของหลายๆ ประเทศก็จะบรรจุข้อดีเรื่องนี้เอาไว้ เพียงแต่ว่าเท่าที่พยายามสืบค้น ยังไม่มีที่ไหนทำได้จริง

เดือนมีนาคม ปี 2011 มีการสาธิตการขนส่งสินค้าด้วยรถไฟความเร็วสูงจากอังกฤษกับยุโรป ที่เขาว่าเป็นครั้งแรกที่เคยลองกัน

แต่สินค้าที่ทดลองกันคือสินค้าประเภทพัสดุส่งด่วนของบริษัทที่ลงท้ายด้วยเอ็กซ์ ที่หมายถึงเอ็กซเพรส รับรองว่าไม่ใช่ "กะหล่ำปลี" แน่ๆ มีการถกกันในยุโรปด้วยนะครับว่ามันคุ้มหรือเปล่ากับการขนส่งสินค้าด้วยรถไฟ ความเร็วสูง มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เท่าที่ผมอ่านมา ความเป็นไปได้เกือบเท่ากับ 0

ที่จริงผมไม่ได้มีปัญหาอะไรกับรถไฟความเร็วสูงที่จะขนผักแล้วไม่เน่า ทำได้ก็ดี เท่าที่พยายามค้นแล้วเหมือนว่าไม่เคยมีใครทำได้

ถ้าทำไม่ได้ก็ตัดประเด็นนี้ออกไปเท่านั้นเอง "บ่องตง" ไม่เห็นต้องดราม่าเลย แค่เอาข้อเท็จจริงมาคุยกัน

ที่มา มติชนรายวัน
///////////////////////////////////////////////////

กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน ตั้ง กิตติรัตน์ เป็นประธาน !!?

กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ตั้งนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธาน โดยจะตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของร่างก่อนศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน พร้อมกำหนดประชุมทุกวันจันทร์และอังคาร



นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ... (ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท) แถลงภายหลังการประชุมนัดแรก โดยระบุว่า ที่ประชุม กมธ. มีมติเลือก นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธานคณะ กมธ. พร้อมแต่งตั้งรองประธานคณะ กมธ. คนที่ 1 - 6 ซึ่งมาจากตัวแทนพรรคการเมืองต่าง ๆ ประกอบด้วย นายวราเทพ รัตนากร นายจาตุรนต์ ฉายแสง นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล นายกรณ์ จาติกวานิช นายไพจิต ศรีวรขาน นายวิทยา แก้วภารดัย ตามลำดับ โดยมีนายพิชิต ชื่นบาน เป็นเลขานุการฯ นายสมเกียรติ ศรลัมภ์ และ นายอนุชา บูรพชัยศรี เป็นผู้ช่วยเลขานุการ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ นายประภัสร์ จงสงวน และนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ เป็นโฆษกคณะกรรมาธิการ ส่วนที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ ประกอบด้วยนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ นายชัย ชิดชอบ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค และนายเทวัญ ลิปตพัลลภ

ทั้งนี้ มีกำหนดประชุมทุกวันจันทร์ และอังคารของสัปดาห์ โดยจะพิจารณาตามลำดับในเรื่อง การตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของพระราชบัญญัติ เหตุผล ความจำเป็นในการกู้ยืมเงิน ความพร้อม และประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ระเบียบวิธีการคลัง แหล่งเงิน กระบวนการตรวจสอบการใช้งบประมาณ พิจารณาโครงการและบัญชีแนบท้าย และสรุปกฎหมายรายมาตรา อย่างไรก็ตามกรณีที่มีการร้องเรียนและตั้งข้อสังเกตว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ท้ายที่สุดแล้วจะต้องถูกตัดสินโดยศาลรัฐธรรมนูญ

ที่มา.สำนักข่าวอิศรา
/////////////////////////////////////////////////

ฟัน. ฉาย บุนนาค-พวก 13 ราย ปั่นหุ้น !!?



ก.ล.ต. กล่าวโทษ ฉาย บุนนาค กับพวก  รวม 13 ราย ต่อดีเอสไอ ปั่นหุ้น "ไมด้า ลิสซิ่ง-แมกซ์ เมทัล คอร์ปอเรชั่น" "วรพล"เตือนนลท.ดูปัจจัยพื้นฐาน

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษนักลงทุน 13 ราย ร่วมกันสร้างราคาหุ้น ซึ่งเป็นคดีแรกในรอบปีนี้ จากที่ก่อนหน้านี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ออกมาตรการป้องกันการสร้างราคาและเตือนนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง หลังจากตลาดหุ้นปรับขึ้นอย่างร้อนแรง โดยเฉพาะหุ้นขนาดเล็ก

ก.ล.ต. แจ้งว่าได้กล่าวโทษ นายฉาย บุนนาค กับพวกรวม 13 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2556 กรณีเป็นผู้รู้เห็นและผู้สนับสนุนในการสร้างราคาหลักทรัพย์บริษัท ไมด้า ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ ML ในปี 2551 และ 2553 และบริษัท แมกซ์ เมทัล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MAX ในปี 2553

รายชื่อบุคคลอื่นอีก 12 คน ได้แก่ นายสรศักดิ์ วงศ์ชินศรีสกุล นางมะลิวัลย์ วงศ์ชินศรี นางสาววทันยา วงษ์โอภาสี นายสุพิชยะ ฉายเหมือนวงศ์ นายปัณณทัต กล่อมสมร นายพาวิตต์ นาถะพินธุ นายศรัณย์ ส่งโชติกุลพันธ์ นายเทพฤทธิ์ สีหิสราภิสิทธิ์ นางสาวดวงกมล เกียรติสุขเกษม นายมีศักดิ์ มากบำรุง นางสาวสุรัสวดี เกตุทัต และนายไท บุญปราศภัย

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมในคดีนี้เกิดขึ้นก่อนที่ ตลท.จะออกมาป้องปรามการซื้อขายในตลาดหุ้น และระบุว่าได้ส่งให้ ก.ล.ต. ตรวจสอบกรณีการซื้อขายผิดปกติ

คดีนี้ ทาง ก.ล.ต. ได้รับแจ้งจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า พบสภาพการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ผิดปกติในหุ้น ML ในช่วงระหว่างเดือนมี.ค. 2551 ถึงเดือนพ.ค. 2551 และในช่วงเดือนส.ค. 2553 และหุ้น MAX ในช่วงเดือนก.ย. 2553
จากการตรวจสอบเพิ่มเติมพบพยานหลักฐานน่าเชื่อว่า นายฉายกับพวก ได้สั่งซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของบุคคลต่างๆ จำนวนมาก โดยมีพฤติกรรมอำพรางในลักษณะการเข้าไปส่งคำสั่งซื้อขายในปริมาณมากหลายระดับราคา มีการครอง bid และ offer ผลักดันราคา จับคู่ซื้อขายกันเองภายในกลุ่ม กระตุ้นการซื้อขายด้วยการทยอยส่งคำสั่งซื้อหรือเคาะซื้อด้วยจำนวนย่อยๆ ที่ระดับราคาเดียวกัน หลายรายการ ตลอดจนพยุงราคาหลักทรัพย์

การซื้อขายดังกล่าวเพื่อให้บุคคลทั่วไปหลงผิดไปว่าหลักทรัพย์นั้นมีการซื้อขายกันมากหรือราคาเปลี่ยนแปลงไป โดยมีพฤติกรรมการซื้อขายในลักษณะต่อเนื่อง ส่งผลให้การซื้อหรือขายหลักทรัพย์นั้นผิดไปจากสภาพปกติของตลาด เพื่อชักจูงให้บุคคลทั่วไปทำการซื้อขายหลักทรัพย์นั้น

ก.ล.ต. เห็นว่าการกระทำของนายฉายกับพวกมีหลักฐานน่าเชื่อว่าเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 243 (1) (2) และ มาตรา 244 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ประกอบมาตรา 83 และ มาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

นอกจากนี้ การซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านบัญชีของบุคคลต่างๆ น่าเชื่อว่าเป็นการซื้อขายเพื่อประโยชน์ของนายฉาย แต่ไม่พบว่านายฉาย ได้เคยรายงานการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งหลักทรัพย์ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดแต่อย่างใด เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 246 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯด้วย

ก.ล.ต.จึงกล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ ดังนี้

(1) หุ้น ML ในช่วงปี 2551 กล่าวโทษนายฉาย บุนนาค นายสรศักดิ์ วงศ์ชินศรีสกุล และ นางมะลิวัลย์ วงศ์ชินศรี ในฐานะมีส่วนรู้เห็นหรือตกลงร่วมกันในการสร้างราคาหลักทรัพย์ และนางสาววทันยา วงษ์โอภาสี ซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัทหลักทรัพย์ ซีมิโก้ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ให้การสนับสนุนช่วยเหลือนายฉายในการส่งคำสั่งซื้อขายที่เป็นการสร้างราคาหลักทรัพย์

(2) หุ้น ML ในเดือนส.ค. 2553 กล่าวโทษนายฉาย บุนนาค นายสุพิชยะ ฉายเหมือนวงศ์ ในฐานะมีส่วนรู้เห็นหรือตกลงร่วมกันในการสร้างราคาหลักทรัพย์ และนายปัณณทัต กล่อมสมร นายพาวิตต์ นาถะพินธุ นายศรัณย์ ส่งโชติกุลพันธ์ นายเทพฤทธิ์ สีหิสราภิสิทธิ์ และนางสาวดวงกมล เกียรติสุขเกษม ในฐานะเจ้าของบัญชีที่ให้การสนับสนุนช่วยเหลือนายฉายในการสร้างราคาหลักทรัพย์ และนายไท บุญปราศภัย ขณะเกิดเหตุเป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัทหลักทรัพย์ คันทรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ให้การสนับสนุนช่วยเหลือนายฉายในการสร้างราคาหลักทรัพย์

(3) หุ้น MAX ในเดือนก.ย. 2553 กล่าวโทษนายฉาย บุนนาค ในฐานะมีส่วนรู้เห็นหรือตกลงร่วมกันในการสร้างราคาหลักทรัพย์ ตลอดจนนางสาววทันยา วงษ์โอภาสี ซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัทหลักทรัพย์ ซีมิโก้ จำกัด (มหาชน) นายปัณณทัต กล่อมสมร นายพาวิตต์ นาถะพินธุ นายศรัณย์ ส่งโชติกุลพันธ์ นายเทพฤทธิ์ สีหิสราภิสิทธิ์ นางสาวดวงกมล เกียรติสุขเกษม นายมีศักดิ์ มากบำรุง และนางสาวสุรัสวดี เกตุทัต ในฐานะเจ้าของบัญชีที่ให้การสนับสนุนช่วยเหลือนายฉาย ในการสร้างราคาหลักทรัพย์ และนายไท บุญปราศภัย

ขณะเกิดเหตุเป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัทหลักทรัพย์ คันทรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ให้การสนับสนุนช่วยเหลือนายฉาย ในการสร้างราคาหลักทรัพย์

การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นอำนาจและดุลพินิจของศาลยุติธรรม

ราคาหุ้น ML ปิดตลาดวานนี้ (1 เม.ย.) ที่ 1.46 บาท ไม่เปลี่ยนแปลงจากวันก่อน มูลค่าการซื้อขาย 27.45 ล้านบาท ขณะที่ราคาหุ้น MAX ปิดไม่เปลี่ยนแปลงที่ 0.31 บาท มูลค่าการซื้อขาย 3.22 ล้านบาท

"วรพล"เตือนนักลงทุนรอบคอบ

นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต. สัมภาษณ์กับ "กรุงเทพธุรกิจทีวี" ว่าตลาดหุ้นไทยตอนนี้มีสัดส่วนของการปั่นหุ้นมากน้อยแค่ไหน ยังไม่สามารถตอบได้ในขณะนี้

"ต้องเรียนว่าทาง ก.ล.ต. เอง ก็ดำเนินตามกระบวนการของ ก.ล.ต. โดยตลาดหลักทรัพย์เป็นด่านแรกการดูแลหลักทรัพย์ซื้อ-ขายหลักทรัพย์ต่างๆ ให้เป็นไปตามระบบระเบียบและความโปร่งใส เชื่อถือได้ พบสิ่งผิดปกติใดๆ ก็จะแจ้งมาที่ ก.ล.ต.ดำเนินการ เราก็ดำเนินการกระบวนการของเราต่อไป ต้องเรียนว่านักลงทุนต้องใช้ความรอบคอบ ระมัดระวังในการลงทุนเสมอ"

นายวรพล กล่าวว่า หลักทรัพย์นั้นปรับขึ้นปรับลงได้ตามภาวะตลาด ราคาจะเป็นไปอย่างไรนั้น ขอให้ศึกษาว่ามีพื้นฐานผลประกอบการรองรับหรือไม่ ฉะนั้นต้องใช้ความรอบคอบในการลงทุน ว่าราคาเหมาะสมกับผลประกอบการหรือไม่ ถ้าหากว่าไม่เหมาะสมเราก็จะเสียเปรียบ จะมีคนเห็นว่าราคานั้นแพงเกินไป เกินกว่าพื้นฐานรองรับได้ก็จะขายออกมา ราคาก็จะลงมา เรื่องเกี่ยวกับความไม่เรียบร้อยของราคาหรือความไม่เหมาะสมของราคาอันเนื่องจากมีผู้เข้าไปแทรกแซง

"อยากให้นักลงทุนระมัดระวัง เพราะเราเองก็ระมัดระวัง ตลาดหลักทรัพย์ก็ดูแลเรื่องนี้อยู่ หากพบสิ่งเหล่านี้ก็จะมีกระบวนการต่อไปในการดูแลเหล่านี้"

เมื่อถามว่ามีคดีที่อยู่ในการตรวจสอบของ ก.ล.ต. และอยู่ในข่ายที่ต้องสงสัยมากน้อยแค่ไหน นายวรพลกล่าวว่าเรื่องที่อยู่ระหว่างดำเนินการ โดยหลักการแล้ว ก.ล.ต.เปิดเผยไม่ได้ แต่เมื่อเสร็จขั้นตอน ก.ล.ต. ก็จะมีการเสนอข่าวให้ทราบ อย่าง ปัจจุบัน เห็นๆ กันอยู่ว่าการตรวจสอบกระทำความผิดนั้น เราทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงาน เช่น ก.ล.ต. กับ ตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น

"ตลาดหลักทรัพย์เป็นด่านแรกมีหน้าที่ศึกษาการวิเคราะห์ ในการหาข้อมูลการรับข้อมูล แล้วส่งผลต่างๆ หลังจากที่ คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ พิจารณาเรื่องนี้แล้วก็จะส่งให้ ก.ล.ต. ส่วนเรื่องจำนวนนั้น คงเป็นเรื่องภายใน แต่เสร็จสิ้นขั้นตอน เราก็แถลงข่าวให้ทราบ"

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2556

ศึกแห่งศักดิ์ศรี 2 ตระกูลใหญ่ !!?



การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เชียงใหม่ เขต 3 ที่ประกอบได้ด้วย 3 อำเภอ คือ สันกำแพง แม่ออน และดอยสะเก็ด ที่จะมีการเลือกตั้งซ่อมในวันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน 2556 นี้ ภายหลังจากที่ นายเกษม นิมมลรัตน์ ได้ลาออกจาก ส.ส. ด้วยเหตุผลที่ใครๆ ต่างก็มองออกว่า เป็นการลาออกเพื่อเปิดทางให้ "เจ้าของพื้นที่ตัวจริง" คืนสนามภายหลังจากถูกปลดล็อกจากพันธนาการในบ้าน 111 !!!

ซึ่งทางพรรคเพื่อไทยได้ประกาศตัวล่วงหน้า โดยส่ง "เยาวภา วงศ์สวัสดิ์" น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ และพี่สาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้มาป้องกันแชมป์ในพื้นที่นี้ เพราะต้องไม่ลืมว่า พื้นที่นี้เป็นบ้านเกิดของคนตระกูลชินวัตร และตั้งแต่ปี 2544 วาทกรรม "นายกฯคนเมือง(เชียงใหม่)" ทำให้พื้นที่ดังกล่าวคนตระกูลชินวัตรและเครือข่ายก็ยึดครองพื้นที่เป็น ส.ส. โดยตลอด ซึ่งนางเยาวภา ก็เคยเป็น ส.ส. ในพื้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม่และอำเภอสารภี เมื่อปี 2544–2548 โดยการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคเพื่อไทยต้องการรักษาเก้าอี้นี้เอาไว้ให้ได้ เพราะเนื่องจากลูกสาว "ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์" ถูกอุบัติเหตุทางการเมืองโดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี ในข้อหาแจ้งบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2555 ในครั้งนั้น "เจ๊แดง"อยากจะลงสนามแทนลูกใจจะขาด แต่วันเลือกตั้งคล้อยหลังวันได้รับอิสรภาพทางการเมืองแค่ 2 วัน จึงต้องดัน "คนขับรถ" มาลงแทน เมื่อเวลาประจวบเหมาะบวกกับสถานการณ์ทางการเมืองที่น้องสาวดูท่าจะ "เอาไม่อยู่" ทำให้นางเยาวภา ต้องลงสนามแข่งขัน เพื่อรักษาตำแหน่งแทนลูกสาวและเพื่อเป็นไปตามยุทธศาสตร์ของ "พี่ชายและนายใหญ่" ได้วางเอาไว้แล้ว

สำหรับทางพรรคประชาธิปัตย์นั้น ก็ได้มีการประกาศเปิดตัว "กิ่งกาญจน์ ณ เชียงใหม่" อดีต ส.ส. เชียงใหม่หลายสมัย ลงสมัครติดโลโก้พระแม่ธรณี ลงสู้ศึกครั้งนี้ สำหรับ นางกิ่งกาญจน์ นั้น เป็นนักการเมืองที่เคยเป็น ส.ส. และมีฐานเสียงใน จ. เชียงใหม่หนาแน่นคนหนึ่ง โดยในอดีตก็ถือว่า เป็นคนใกล้ตัวที่เคยทำงานกับนางเยาวภา และตระกูลชินวัตรร่วมกันมาก่อน โดยเฉพาะการร่วมมือกันผลักดันให้ "เจ้าหนุ่ย-ธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่" สามีของนางกิ่งกาญจน์ เป็นนายกฯ อบจ. เชียงใหม่ เมื่อปี 2547 แต่ต่อมาเกิดขัดแย้งกันอย่างหนักในเรื่องการจัดตัวผู้สมัคร ส.ส. ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2548 เพราะทางพรรคไทยรักไทยขณะนั้น ตัดชื่อ นางกิ่งกาญจน์ ออกจากบัญชีรายชื่อผู้สมัคร และเอาน้องชาย "พายัพ ชินวัตร" มาเสียบแทน ซึ่งสร้างความแค้นให้กับตระกูล ณ เชียงใหม่ มาถึงทุกวันนี้ และที่สำคัญตระกูล ณ เชียงใหม่ ใครๆ ก็ทราบดีว่า สืบเชื้อสายเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ซึ่งปกครองดูแลเชียงใหม่มานานหลายร้อยปี ซึ่งมีลูกหลานในตระกูลนี้ยังคงทำงานสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ซึ่งศึกเลือกตั้งซ่อมที่ จ.เชียงใหม่ในครั้งนี้ ถือเป็นศึก "แดง" ชน "แดง" เนื่องมาจากทั้งคู่มีชื่อเล่นว่า "แดง" ชาวบ้านในเชียงใหม่ต่างก็เรียกว่า "เจ๊แดง – แม่แดง" กันทั้งคู่ นอกจากนี้ เป็นการวัดบารมี 2 ตระกูลใหญ่ทางการเมืองใน จ.เชียงใหม่ โดยทั้งคู่ต่างมีบัญชีแค้นที่จะต้องชำระสะสางกันอยู่ ซึ่งทาง "เจ๊แดง เยาวภา" พอทราบว่า "แม่แดง กิ่งกาญจน์" ลงสมัครในครั้งนี้ ก็เริ่มแสดงอาการหวั่นไหวให้เห็น เนื่องจากว่า นางกิ่งกาญจน์ ถือเป็นคู่ต่อสู้ที่คู่คี่สูสี มากกว่า นางกัลยกรณ์ เจียมกิจวัฒนา ที่ทางเจ๊แดงเห็นว่า จะเอาชนะได้ไม่ยาก รวมทั้ง ปัญหาการบริหารงานของรัฐบาลน้องสาวของตัวเองนั้น คนเชียงใหม่ ก็เริ่มทราบถึงความล้มเหลวมากยิ่งขึ้น ถือเป็นปัจจัยชี้ขาดแพ้ชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ของเจ๊แดงด้วย ซึ่งอุณหภูมิทางการเมืองในพื้นที่ดังกล่าวเริ่มมีความร้อนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของทั้งสองพรรคใหญ่ ที่ต่างประกาศสู้ตายเพื่อเอาชนะในเขตนี้ ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้ประกาศว่า "แพ้ไม่ได้" ส่วนทางพรรคประชาธิปัตย์ ทางแกนนำพรรค ได้ระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่า จะ "เอาจริง" และ "จัดหนัก" เหมือนกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชกรุงเทพมหานคร เพื่อปักธงประชาธิปัตย์ในพื้นที่บ้านเกิดของนายใหญ่แห่งพรรคเพื่อไทยมาให้ได้

ศึกครั้งนี้ พรรคเพื่อไทยจะรักษาเก้าอี้เพื่อผลักดันให้ เจ๊แดง เยาวภา กรุยทางเข้าสภา เพื่อเป็นนายกฯสำรองตามคำบัญชาของนายใหญ่ หรือ พรรคประชาธิปัตย์จะอาศัยกระแสเพื่อให้ เจ๊แดง กิ่งกาญจน์ เป็น ส.ส. เพื่อเป็นการส่งสัญญาณตบหน้านายใหญ่คนแดนไกลว่าอย่าดูประชาชน ใครจะเป็นฝ่ายชนะ ก็ต้องให้ชาวเชียงใหม่เขต 3 เป็นผู้ตัดสินใจกำหนดอนาคตตัวเองในวันที่ 21 เมษายนนี้

ที่มา.นสพ.แนวหน้า
///////////////////////////////////////////////////////////////////

เจรจาดับไฟใต้ กับทางสองแพร่งระหว่างการให้อภัยและความยุติธรรม !!?

Philosopher Saves the Day โดย กิตติภัต แสนดี [randoma.wordpress.com]

เป็นเวลากว่าหนึ่งเดือนแล้ว นับจากวันที่เลขาธิการสมช. ลงนามข้อตกลงร่วมเจรจาแก้ไขความขัดแย้งในภาคใต้กับกลุ่มขบวนการแนวร่วมปฎิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (บีอาร์เอน) โดยที่มีมาเลเซียเป็นตัวกลางคู่เจรจา ความมุ่งหมายของการเจรจากับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่เก่าแก่นี้ มีเพื่อปูทางให้กับการเจรจากลุ่มขบวนการขัดแย้งในพื้นที่ภาคใต้อื่นๆ สนใจเข้าร่วม

กระบวนการพูดคุยลักษณะนี้ สะท้อนภาพชวนฝันของ “คณะกรรมการความจริงและการปรองดอง” ที่ตั้งขึ้นในประเทศแอฟริกาใต้ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงการเหยียดสีผิวและการละเมิดสิทธิมานุษยชนในช่วงปี 1960 ถึง 1994

แม้โครงสร้างวิธีจัดตั้งของกลุ่มเจรจาทั้งสอง รวมถึงเนื้อหารูปแบบความขัดแย้งจะต่างกัน แต่สาระสำคัญของทั้งสองโครงการนี้ คิอการรับฟังปัญหาระหว่างคู่ขัดแย้ง และหาทางออกที่เป็นทางเลือกนอกจากวิธีทางกระบวนการยุตธรรมแบบดั้งเดิม

และทุกครั้งที่มีการนำกระบวนการพิเศษเหล่านี้มาใช้กับความขัดแย้ง สิ่งที่เป็นปัญหาในมุมมองปรัชญาคือคำถามที่ว่า การใช้หลักการให้อภัย ความเข้าใจกันและกัน ขัดแย้งกับหลักยุติธรรมหรือไม่ และหากขัดแย้งแล้ว วิธีใดจะดีกว่ากันในการแก้ไขความขัดแย้ง บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อตอบทั้งสองคำถามนี้ในมุมมองของแนวคิดทางปรัชญา



เจรจา BRN/ ภาพจาก MThai News
การให้อภัยและความยุติธรรม ขัดแย้งกันหรือไม่?

การให้อภัยคือการกระทำที่ฝ่ายผู้ถูกกระทำ มอบให้แก่ผู้กระทำ ผู้ถูกกระทำรับรู้ว่าตนได้รับผลของการกระทำอย่างไรบ้างจากผู้กระทำ แต่กระนั้นก็ยังแสดงความยินยอมที่จะละไปซึ่งสิทธิในการได้รับชดใช้ หรือยินยอมที่ผู้ถูกกระทำจะถูกละไปซึ่งภาระหน้าที่ใดๆ ที่อาจมีตามมาเนื่องมาจากการกระทำนั้น

ส่วนความยุติธรรมนั้น หากย้อนไปยังต้นกำเนิด สามารถสืบค้นได้จากประมวลกฎหมายฮัมมูราบี ซึ่งใจความของมัน ถูกสรุปอยู่ในวลีที่แสนจะคุ้นเคยว่า “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” ความหมายของมันยืนยันถึงความจำเป็นที่ผู้กระทำ ต้องได้รับความทุกข์ร้อนแบบเดียวกับที่ไปก่อกับผู้อื่นไว้

การลงโทษทางกฎหมายจึงเหมือนการให้ผู้ถูกกระทำ “ชดใช้” ให้กับผู้กระทำ ซึ่งจิตวิญญาณและกลิ่นอายของพื้นฐานความคิดเช่นนี้ ยังสิงสู่วนเวียนกับทฤษฎีความยุติธรรมร่วมสมัย ที่มองว่าการให้ผู้กระทำผิดต้องรับโทษฑัณฑ์ติดคุกติดตาราง ก็เพื่อเป็นการ “ชดใช้” ภาระที่ก่อไว้กับสังคม

การให้อภัย ต้องการให้ผู้ถูกกระทำ ยินยอมให้ผู้กระทำหลุดพ้นจากภาระที่เกิดจากการกระทำ แต่ความยุติธรรมมุ่งหมายให้ผู้ถูกกระทำ ชดใช้ให้ผู้ถูกกระทำ (ซึ่งอาจหมายถึงผู้ถูกกระทำโดยตรง หรือเป็นรัฐก็ได้) ดังนั้น การให้อภัยและความยุติธรรมไม่ได้เพียงแต่ไม่สอดคล้องกัน แต่ยังขัดแย้งตัดขวางซึ่งกันและกัน เรียกว่า ถ้าให้อภัยก็จะไม่เกิดความยุติธรรม และถ้าใช้ความยุติธรรมก็จะไม่เกิดการให้อภัยอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ดี มีความคิดเกี่ยวกับความยุติธรรมแนวใหม่ ที่มองว่าควรมุ่งเน้นที่การเยียวยาฟื้นฟูให้เหมือนเดิมตามความพึงพอใจของคู่กรณี (Restorative) มากกว่าเน้นที่การลงโทษ ชดใช้ (Retributive) ซึ่งแนวคิดนี้ไม่ขอกล่าวถึงในบทความ และการกล่าวถึงความยุติธรรมในบทความนี้ จะหมายถึงความยุติธรรมในความหมายดั้งเดิมอย่างที่กล่าวไปเท่านั้น



Desmond Tutu/ photo by Dale Frost, Port of San Diego
วิธีใดที่ควรเน้น ในการแก้ไขความขัดแย้ง?

“ไม่มีอนาคต ถ้าไม่มีการให้อภัย” คือชื่อหนังสือของเดสมอนด์ ตูตู ประธานคณะกรรมการความจริงและการปรองดอง ที่เล่าถึงวิธีการและผลลัพธ์ของการก้าวข้ามปัญหาความขัดแย้งในแอฟริกาใต้ ผ่านการรับฟังเรื่องเล่าของผู้ถูกกระทำ และเปิดเผยตัวตนของผู้กระทำผ่านสื่อที่เผยแพร่ทั่วไปอย่างกว้างขวาง

แต่เป็นความจริงหรือไม่ที่หากไม่มีการให้อภัย จะไม่มีอนาคต?

การให้อภัย ถูกพูดถึงในทางศาสนาหลายศาสนาว่า เป็นวิธีที่ดีกว่าการใช้กระบวนการยุติธรรม ศาสนาพุทธชี้ว่าการแก้แค้น จะนำมาสู่วงเวียนความรุนแรงที่ต่างฝ่ายต่างจะทำร้ายซึ่งกันและกันมากขึ้นอย่างไม่จบสิ้น เมตตาธรรมยังเป็นหนึ่งในคุณลักษณะของพระพุทธเจ้าที่ถูกอธิบายในทศชาติชาดก ในตอนที่พระสุวรรณสามถูกพระราชากบิลยักขราชยิงด้วยธนูระหว่างที่ไปหอบน้ำ หาอาหารให้บิดามารดาที่ตาบอด พระสุวรรณสามยังมีจิตเมตตาพูดจาดีงามกับพระราชาก่อนสิ้นใจ จนพระราชาต้องรับหน้าที่การหอบน้ำกลับมาให้ยังบิดามารดาของพระสุวรรณสาม

คำสอนทางพุทธศาสนานี้ สามารถตีความในทางปรัชญาได้ว่า หากมีการใช้ความรุนแรงที่มากขึ้นตอบกลับ บทบาทผู้กระทำ และผู้ถูกกระทำก็จะกลับข้างกัน และกระบวนการชดใช้ที่รุนแรงกว่าก็จะต้องเกิดขึ้นอีก การให้อภัยจึงเป็นโอกาสเดียวที่จะทำให้ความขัดแย้งจบลง

เดสมอนต์ ตูตู ให้อีกหนึ่งความเห็นที่มองว่าการให้อภัย ดีกว่าการถือแค้นซึ่งกันและกัน เขาเห็นว่าศักดิ์ศรีของผู้ถูกกระทำ ไม่จำเป็นต้องเรียกคืนด้วยวิธีการทำร้ายผู้กระทำอย่างเดียว แต่ยังสามารถเรียกคืนผ่านการรับฟังเรื่องเล่าของผู้ถูกกระทำอย่างเข้าใจก็ได้ (จุดนี้เองที่ตูตูมองว่าการให้อภัย ไม่ขัดแย้งกับการยุติธรรม เพราะการ “ชดใช้” สามารถทำได้ด้วยการทำให้ประชาชนรู้การกระทำของผู้กระทำ โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรงเพิ่มเติม)

แต่กระนั้น วิธีการให้อภัยก็ยังมีสถานะที่น่ากังขาในทางปรัชญา



Lucius Annaeus Seneca/ photo from Calidius

นักปรัชญากรีกอย่างลูเซีนส แอนเนอุส เซเนก้า ระบุว่ามนุษย์ฉลาด คือคนที่ทำในเรื่องที่ต้องทำ และไม่ทำในเรื่องที่ไม่ควรทำ การงดเว้นการลงโทษให้แก่อาชญากรรมที่ควรต้องมีการลงโทษ จึงไม่ใช่วิถีทางของมนุษย์ที่ฉลาด



Immanuel Kant

ส่วนอิมมานูเอล ค้านท์ชี้ว่าการไม่ลงโทษคนทำผิดตามกฎหมายที่มีอยู่ เท่ากับการไม่บังคับใช้กฎหมาย ทั้งที่มันมีลักษณะของการบังคับ เท่ากับทำให้เกิดปัญหาว่า ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว ระบบกฎหมายในประเทศจะดำรงอยู่เพื่อการใด



Jacques Derrida/ photo by Richard Melloul/ Sygma/ Corbis

สำหรับฌาคส์ แดร์ริด้าใช้วิธีการรื้อสร้าง ชี้ให้เห็นว่าคำว่า “การให้อภัย” เป็นคำที่มีความขัดแย้งในตัวมันเอง เพราะในตัวมันหมายถึงการให้อภัยกับทุกสิ่งทุกอย่างที่สามารถรวมถึงสิ่งที่ไม่อาจให้อภัยได้ (เช่น การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ฯลฯ) การใช้คำนี้ในแต่ละครั้งจึงมีทั้งความหมายในเชิงยืนยัน (ว่ามีการให้อภัย) ไปพร้อมกับความหมายเชิงปฎิเสธ (ว่าการให้อภัยนั้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้ตามตรรกะ)

แต่การพิสูจน์ว่าความยุติธรรมควรถูกเน้นมากกว่าการให้อภัยที่ดีที่สุด ข้าพเจ้าเห็นว่าควรย้อนกลับไปที่ความหมายของการให้อภัยนั้นเอง เพราะในตัวมันระบุชัดเจนว่าเป็นการกระทำที่ผู้ถูกกระทำ มอบให้กับผู้กระทำ ดังนั้น คำกล่าวของตูตูในเรื่องที่ว่าการรับฟังเรื่องเล่าก็เพียงพอแล้วกับการชดใช้นั้น จึงชวนให้สงสัยว่าเป็นความจริงหรือไม่? ผู้ถูกกระทำทุกคนคิดเช่นนั้นจริงหรือไม่ ที่จะปล่อยให้ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษทางระบบยุติธรรม? เพราะการให้อภัยหากพิจารณาจากความหมาย จะพบว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของผู้ถูกกระทำ

การเจรจาระหว่างคู่ขัดแย้งในเรื่องภาคใต้ จึงควรคำนึงถึงประเด็นความเป็นส่วนตัวดังกล่าว: การให้อภัย ให้แทนกันโดยไม่มีการยินยอมไม่ได้ ครู สงฆ์ และชาวบ้านในพื้นที่ความรุนแรงบางท่านอาจไม่พร้อมให้อภัย เช่นเดียวกัน ชาวมุสลิมที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐทำร้ายอย่างไม่เป็นธรรม อาจไม่พร้อมให้อภัย การให้อภัยจึงไม่ควรกำหนดเป็นนโยบายรัฐเชิงบังคับจากการเจรจาโดยคนไม่กี่คน

ส่วนข้ออ้างที่ว่าความยุติธรรมเชิงชดใช้ จะนำไปสู่ความรุนแรงที่มากขึ้นเรื่อยๆ นั้น ก็เป็นเป็นข้ออ้างที่น่าสงสัย หากกลับไปดูกฎหมายฮัมมูราบี จะพบว่าวลี “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” ไม่ได้มีความหมายเฉพาะว่าผู้ทำผิดต้องชดใช้เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมขอบเขตการชดใช้ว่า ต้องสมเหตุสมผลกับความเสียหาย คือ ไม่ใช่ชดใช้ฟันด้วยตา หรือชดใช้ตาด้วยฟัน ความสมเหตุสมผลนี้เองที่จะเป็นกรอบป้องกันความรุนแรงที่มากขึ้น ต่างจาก “ความแค้น” ที่จะไม่มีกรอบนี้ ทำให้เกิดความรุนแรงเกินสัดส่วนจนควบคุมไม่ได้

การเจรจาระหว่างสมช. และกลุ่มบีอาร์เอนก็ควรต้องคำนึงถึงหลักการนี้ และใส่ใจในการเปิดเผยข้อเท็จจริงว่าฝ่ายใดกระทำอย่างไรไว้กับผู้ถูกกระทำบ้าง เพื่อให้มีการวางโทษของแต่ละคนได้สมส่วนกับสิ่งที่แต่ละคนทำไว้

ดังนั้น ด้วยเหตุผลที่ว่าการให้อภัยเป็นเรื่องส่วนตัว และระบบยุติธรรมมีกลไกควบคุมการชดใช้ที่เหมาะสมอยู่แล้ว ทำให้น่าเชื่อว่าในการแก้ไขความขัดแย้ง ควรต้องเน้นที่เรื่องความยุติธรรมมากกว่าการให้อภัย

ที่มา.Siam Intelligence Unit
//////////////////////////////////////////////////////////////

บอส ปตท. ไพรินทร์ เคลียร์ปมร้อน พลังงานไทย !!?


หลัง ถูกสังคมออนไลน์กระหน่ำหนัก วิพากษ์วิจารณ์สารพัดประเด็นเรื่องพลังงาน โดยเฉพาะการตั้งคำถามเกี่ยวกับรายได้และผลกำไรจากการดำเนินการ พร้อมหยิบยกข้อมูลแจกแจงในทำนองว่า บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ประกอบธุรกิจในลักษณะไม่เป็นธรรมและเอาเปรียบ ส่งผลกระทบทำให้คนไทยเสียประโยชน์ เนื่องจากต้องจ่ายค่าพลังงานในราคาแพง ทั้ง ๆ ที่พลังงานส่วนใหญ่มาจากแหล่งผลิตภายในประเทศ ที่สำคัญหลากหลายประเด็นร้อนเหล่านี้กำลังเป็นที่สนใจ และถูกนำไปขยายต่อในวงกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ

ข้อเท็จจริงจะเป็นอย่าง ไร "ไพรินทร์ ชูโชติถาวร" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. เปิดใจชี้แจงและตอบคำถามทุกข้อสงสัย

บิ๊ก ปตท.เปิดประเด็นด้วยการตั้งข้อสังเกตกระแสวิพากษ์ด้านลบในโลกออนไลน์ว่า โดยส่วนตัวมองว่าน่าจะมีเจตนาเพื่อที่จะโจมตี แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ข้อมูลที่เผยแพร่มีความถูกต้องเพียงครึ่งหนึ่ง และค่อนไปไปทางเป็น "ข้อมูลเท็จ" มากกว่า

โดยข้อเท็จจริงที่เป็นเหตุผลของการส่งออกน้ำมันดิบและนำเข้าน้ำมัน มาจากภายในประเทศสามารถผลิตปิโตรเลียมซึ่ง รวมเอาทั้งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันได้ทั้งสิ้น 800,000 บาร์เรล/วัน ในจำนวนนี้เมื่อแยกออกมาจะแบ่งเป็นน้ำมันเพียง 100,000 บาร์เรล/วัน ส่วนที่เหลือคือก๊าซที่ประมาณ 4,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน สาเหตุที่ต้องแยกทั้งสองประเภทออกจากกันเพราะมันคนละเรื่องกัน

ขณะ ที่ความต้องการใช้น้ำมันของประเทศอยู่ที่ 1 ล้านบาร์เรล/วันมากกว่าที่ผลิตได้เองภายในประเทศ เฉพาะปริมาณน้ำมันดิบที่ผลิตในประเทศมีแค่เพียง 140,000 บาร์เรล/วัน ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับการใช้ดังนั้น การให้ข้อมูลว่าไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำมันอันดับ 33 ของโลก ผลิตได้มากกว่าบรูไน น่าจะส่งออกได้มากกว่าด้วย

แล้ว ตั้งคำถามว่าทำไมคนไทยต้องซื้อน้ำมันแพง ต้องลองมาเปรียบเทียบกันดู จริง ๆ แล้วสาเหตุที่ประเทศบรูไนซึ่งผลิตน้ำมันได้น้อยกว่าไทย แต่กลับส่งออกมากกว่าไทย เป็นเพราะความต้องการใช้น้ำมันของบรูไนมีน้อยเมื่อเทียบกับการผลิต เพราะประชากรมีเพียง 500,000 คน

"เขาลดราคาน้ำมันให้ถูกที่สุดก็ขาย ไม่ได้จึงต้องส่งออก ในขณะที่ไทยผลิตได้มากกว่า แต่ประชากรมากถึง 67 ล้านคน จึงต้องนำเข้าน้ำมัน ถือเป็นเรื่องปกติ การผลิตน้ำมันติดอันดับของโลกไม่ได้แปลว่า ไทยมีน้ำมันดิบมหาศาล ประเด็นมันอยู่ที่ว่าผลิตออกมาแล้วมีคนใช้หรือไม่"

"ไพรินทร์" ชี้แจงว่า ไทยมีการส่งออกน้อยมากเพียง 40,000 บาร์เรล/วัน เหตุผลคือปิโตรเลียมที่ได้จากอ่าวไทยในบางแปลงสัมปทานไม่ตรงตามคุณสมบัติที่ โรงกลั่นต้องการ โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่กระบวนการกลั่นแล้ว จะได้ปริมาณเบนซินมากกว่าน้ำมันอื่น ๆ ในขณะที่ในประเทศต้องการใช้น้ำมันดีเซลมากกว่า อย่างไรก็ตาม การส่งออกไม่ได้เป็นตัวบ่งบอกว่าราคาขายน้ำมันในประเทศจะแพงขึ้นได้

เมื่อ ถามถึงว่าราคาน้ำมันในประเทศมีแต่จะแพงขึ้นหรือไม่ เขาบอกว่า จะถูกหรือแพงขึ้นอยู่ที่ว่าเปรียบเทียบกับใคร ถ้าเทียบกับเพื่อนบ้านอย่างลาว เขมร พม่า ที่ไม่มีโรงกลั่นในประเทศ ราคาน้ำมันในไทยมีราคาถูกกว่าแน่นอน แต่หากไปเปรียบเทียบกับประเทศผู้ส่งออกน้ำมันแล้วราคาในไทยย่อมแพงกว่า เช่น ประเทศมาเลเซีย หรือบรูไน

ขณะเดียวกัน สาเหตุที่ราคาน้ำมันในประเทศถูกมองว่าแพง ต้องย้อนไปดูที่โครงสร้างราคาพลังงาน ซึ่งกำหนดโดยกระทรวงพลังงาน จะเห็นว่าในทุกลิตรจะมีส่วนประกอบที่เรียกว่าภาษีทั้งหมดรวมร้อยละ 20 เช่น ภาษีสรรพสามิต, เทศบาล, มูลค่าเพิ่ม

และการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน เชื้อเพลิง ฯลฯ ส่วนที่ผู้ค้าน้ำมันอย่าง ปตท.ได้รับจริง ๆ คือค่าการตลาด (Margin) อยู่ที่เฉลี่ย 1 บาทกว่าเท่านั้น

ฉะนั้น ราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นและลงไม่ได้ขึ้นอยู่ที่บริษัท ปตท. และหากจะมองว่าค่าการตลาดอยู่ในระดับสูงทำให้น้ำมันแพง หากภาพเป็นแบบนั้นคงจะไม่ได้เห็นการเลิกกิจการของบริษัทน้ำมันต่างชาติ ล่าสุดก็คือบริษัทปิโตรนาส ดังนั้นราคาน้ำมันจะขึ้นหรือลงยังขึ้นอยู่ที่นโยบายรัฐด้วย

สำหรับ ประเด็นที่โลกออนไลน์ตั้งคำถามอีก คือ ปตท.ได้กำไรจากน้ำมัน 100,000 ล้านบาทนั้น เขาบอกว่า ผู้ที่จะกำหนดทิศทางราคาพลังงานในประเทศคือกระทรวงพลังงาน และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) ปตท.ถือเป็นแค่เพียง Operater รายหนึ่งเท่านั้น กำหนดราคาเพื่อให้ได้กำไรมากไม่ได้

หรือ แม้แต่ในประด็นที่ว่า ปตท. ผูกขาดธุรกิจน้ำมัน ก็ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะในความเป็นจริงผู้บริโภคสามารถเลือกได้ว่าจะใช้น้ำมันรายใด การระบุว่า ปตท.ขายน้ำมันได้กำไรระดับ 100,000 ล้านบาท หากมันคือข้อเท็จจริง ผู้ค้าน้ำมันรายอื่น ๆ ก็ต้องมีกำไรที่ไม่แตกต่างกันมากเช่นกันในส่วนของผลประกอบการนั้น ปตท.มียอดขายที่ 2 ล้านล้านบาท กำไรอยู่ที่ 100,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3-4 ของยอดขายเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงนำเงินฝากแบงก์คงได้รายได้ระดับนี้

แต่สำหรับ ปตท.มีความเสี่ยงทางธุรกิจมากกว่า ลงทุน 100 บาทเท่ากับว่าได้กำไรแค่ 4 บาท ในส่วนของกำไร 100,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังต้องจ่ายเป็นเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นอีกร้อยละ 30 ส่วนที่เหลือยังต้องไปลงทุนเพิ่มเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานในอนาคต โดยเฉพาะล่าสุดแผนลงทุน 5 ปีของ ปตท. ปี"56-60 ต้องลงทุนสูงถึง 400,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของ ปตท.ที่จะต้องผลักดันเศรษฐกิจไปข้างหน้า

แต่ เมื่อโฟกัสไปเฉพาะกำไรที่เกิดจากธุรกิจน้ำมันนั้น ปตท.มีกำไรจากน้ำมันแค่ 10,000 ล้านบาท จากรายได้ที่ 600,000 ล้านบาท ในส่วนนี้ไม่ใช่เฉพาะขายน้ำมันเท่านั้น แต่ยังมาจากธุรกิจเสริมอื่น ๆ ภายในสถานีบริการอีก เช่น ร้านสะดวกซื้อ และร้านกาแฟ กำไรระดับดังกล่าวถือว่าไม่มาก ปตท.มองว่าในบรรดา 6-7 ธุรกิจของ ปตท. น้ำมันถือว่าเป็นโปรดักต์ที่ใกล้ชิดผู้บริโภคมากที่สุด จึงเกิดการโจมตีได้ง่ายที่สุดเช่นกัน

ส่วนกรณีที่ก๊าซธรรมชาติจาก พม่าจากแหล่งยาดานาหยุดส่งมาไทยในช่วง 5-14 เมษายนนี้ "ไพรินทร์" มองว่าจะกระทบโรงไฟฟ้าโดยตรง จึงต้องแก้ไขด้วยการใช้เชื้อเพลิงอื่น ๆ เสริมเป็นเชื้อเพลิง

ส่วนที่ว่า ปตท.เป็นผู้ถือหุ้นในโครงการดังกล่าว แต่กลับไม่ได้เรียกร้องให้ผู้ผลิตก๊าซรับผิดชอบต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และภาระตกอยู่ที่ผู้ใช้ไฟฟ้านั้น การดำเนินการดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิตามสัญญา และมีการวางแผนล่วงหน้า ปัญหาที่เกิดขึ้นน่าจะมาจากประเทศไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่มานาน ในขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทุกปี และยังพึ่งพาก๊าซมากที่สุด ซึ่งถือว่าเป็นระบบที่ไม่สมดุล หากยังต้องการใช้ไฟฟ้าต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม

ถามถึงการทยอยไป ลงทุนในต่างประเทศจะช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และให้ประเทศได้ใช้ราคาพลังงานระดับที่เหมาะสม บิ๊กบอส ปตท.ยืนยันว่า ยังอยู่ในช่วงระหว่างดำเนินการ โดยเฉพาะในบริษัท Cove Energy ต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าที่จะนำพลังงานกลับมารองรับการใช้ในประเทศ อย่างไรก็ตาม ในฐานะเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติ จะพยายามลงทุนเพื่อให้คนไทยได้ใช้พลังงานภายใต้ต้นทุนที่ต่ำ นั่นคือเป้าหมายของ ปตท.

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////