โดย ชัยพงษ์ สำเนียง
สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ ม.เชียงใหม่
ประวัติศาสตร์ชาตินิยม เรื่องเล่าและความทรงจำ
ภายใต้กรอบคิดแบบ “ประวัติศาสตร์ชาตินิยม” ที่แพร่หลายกว้างขวางในช่วง 2 -3 ทศวรรษนี้แต่ในขณะเดียวกันความเป็นท้องถิ่น หรือความสำนึกในบ้านเกิดเมืองนอนก็แพร่หลายและขยายตัวอย่างต่อเนื่องเช่นกัน กอปรกับการคลี่คลายของกระแสประวัติศาสตร์ชาติที่เปิดช่องให้มีการศึกษาท้องถิ่นมากขึ้นภายหลังทศวรรษที่ 2520 จึงทำให้มีพื้นที่แก่ “เรื่องเล่า” (Narrative) และ “ความทรงจำ” (Memory) ของคนในท้องถิ่นเข้าในการอธิบายประวัติศาสตร์
แต่ในขณะเดียวกันก็จะเห็นความไม่ลงรอยระหว่างประวัติศาสตร์ชาติที่ผลิตสร้างโดย “รัฐ” กับเรื่องเล่าของ “ชาวบ้าน” “ที่มีเรื่องเล่าและความทรงจำอีกชุดหนึ่ง” แต่เราจะเห็นชาวบ้านที่มีเรื่องเล่าเพื่อสร้างหรือรักษาอัตลักษณ์ของตน

แพร่ ประวัติศาสตร์ชาตินิยม ท้องถิ่นนิยม ภาพจากเว็บไซต์จังหวัดแพร่
ประวัติศาสตร์ที่คลี่คลายมาในระยะหลังนี้เห็นความสอดคล้องต้องกันระหว่างประวัติศาสตร์ชาตินิยม คือ การเสียสละและยินยอมเพื่อบ้านเมือง เพื่อพระมหากษัตริย์ เป็นการสร้างความชอบธรรมให้แก่การกระทำของบุคคล บ้านเมือง เพื่อจัดวาง “ตำแหน่งแห่งที่” ของตนภายใต้ประวัติศาสตร์ชาติ
ในขณะเดียวกันก็ผสมกับเรื่องเล่าในท้องถิ่น หรือ “ท้องถิ่นชาตินิยม” เข้าไปด้วย เพื่ออธิบายวีกรรมของคนในท้องถิ่น หรือวีรบุรุษ วีรสตรี ของท้องถิ่นเข้าไปในประวัติศาสตร์ชาตินั้นๆ อาทิ วีรกรรมของท้าวสุรนารี (ย่าโม) ที่สามารถปกป้องการรุกรานของเจ้าอนุวงศ์กษัตริย์ลาว (ที่ถูกทำให้เป็นผู้ร้ายในประวัติศาสตร์ไทย แต่เป็นวีรบุรุษในประวัติศาสตร์ลาว (ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์ 2555))
แม้ว่าเหตุการณ์นี้จะมีจริงหรือไม่แต่ท้าวสุรนารีได้กลายเป็น “ความทรงจำร่วม” ของคนโคราช และแสดงให้เห็นถึง “วีรกรรม” อันห้าวหาญ ปกบ้าน คุ้มเมือง และนำมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อแสดงให้เห็น “อัตลักษณ์ร่วมของชาวโคราช” กลายเป็น “ผีประจำเมือง” (ดู สายพิน แก้วงามประเสริฐ 2538) ซึ่งไม่อาจ “ลบหลู่ได้”
แม้ว่าจากการศึกษาของสายพิน แก้วงามประเสริฐ (2538) จะชี้ให้เห็นการ “ผลิตซ้ำ” “สร้างใหม่” เกี่ยวกับเรื่องราววีกรรมของท้าวสุรนารี ด้วยเหตุผลบางประการแต่ก็ไม่อาจทัดทานความเชื่อ หรือ “การรับรู้” (Perception) ของประชาชนได้ เรื่องเล่า การรับรู้ผสมผสานโครงเรื่องต่างๆ เข้าด้วยกันเกิดภายใต้บริบทของ “ความเป็นท้องถิ่นนิยม” ที่สัมพันธ์อย่างแนบชิดกับ “ประวัติศาสตร์ชาตินิยม” ทำให้เกิดประวัติศาสตร์ในสกุล “ท้องถิ่นชาตินิยม”ที่แพร่หลายกว้างขวาง
อย่างไรก็ดี “เรื่องเล่าจากท้องถิ่น” อย่างเดียวไม่สามารถสถาปนาการรับรู้ได้กว้างขวาง เนื่องด้วยพลานุภาพของ “ประวัติศาสตร์กระแสหลัก” ยังคงมีอิทธิพลอย่างมากในสังคมไทย จึงทำให้ต้องมีการผลิตโครงเรื่องที่ประสานระหว่าง “ชาติ” และ “ท้องถิ่น” จึงจะสถาปนาโครงเรื่องนั้นๆ ได้ และสามารถจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของโครงเรื่องที่สร้างใหม่ได้ต้องมี “ชาติ” เข้ามาเกี่ยวพันด้วย
“โครงเรื่อง” (Plots) ของ “ท้องถิ่น” อย่างเดียวไม่มีพลานุภาพในการสร้างการรับรู้ และจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของประวัติศาสตร์ได้ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในปัจจุบันจึงต้องอิงแอบกับ “ประวัติศาสตร์ชาติไทย”
‘โครงเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชาตินิยม’ ทำให้เห็นถึงอิทธิพลของ “รัฐ” ที่สามารถกำหนดการรับรู้ของคนท้องถิ่นโดยคนในท้องถิ่นไม่สามารถสร้างความหมายที่แตกต่าง แยกขั้ว แสดงให้เห็นถึงการกล่อมเกลาของรัฐผ่านช่องทางต่างๆ ที่ได้ผลต่อการรับรู้เหตุการณ์และประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภายใต้อุดมการณ์ “ชาตินิยม” หรือมุมมองแบบรัฐ (ดูเพิ่มใน
ประวัติศาสตร์ — การสร้างประวัติศาสตร์ชาตินิยม ท้องถิ่นนิยม ท้องถิ่นชาตินิยม)
นอกจากนี้ภูมิหลังของผู้ผลิตงานประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ผ่านการศึกษาจากรัฐหรือไม่ก็เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือข้าราชการ ทำให้มุมมองของผู้ผลิตงานมองผ่านสายตาของ “รัฐ” เป็นหลัก
สกุลความคิด ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชาตินิยม
เพื่อความเข้าใจต่อสกุลความคิด “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชาตินิยม” ผมจะยกตัวอย่างประวัติศาสตร์ ‘กบฏเงี้ยวเมืองแพร่’ พ.ศ. 2545 ที่เป็นประวัติศาสตร์บาดแผลของคนเมืองแพร่ ที่ก่อกบฏในปี พ.ศ. 2445 โดยการกบฏครั้งนี้เป็นการ “กบฏ” “ลุกขึ้นสู้” ของ “เงี้ยว” (ไทใหญ่) และชาวเมืองแพร่ โดยมีเจ้าหลวงเมืองแพร่ (เจ้าเมือง) เข้าร่วมการ “กบฏ” ต่อการปฏิรูปของรัฐกาลที่ 5 และได้รับการปราบปรามอย่างเด็ดขาด
เหตุการณ์ครั้งนี้ได้รับการบรรจุในแบบเรียนเพื่อไม่ให้เอาเป็นเยี่ยงอย่าง และลดทอนให้เป็นการกระทำของ “เงี้ยว” เจ้าเมืองแพร่ โดนละเลยบริบทของเหตุการณ์ที่ซับซ้อนลง ทำให้เกิดการรับรู้อย่างกว้างขวางว่า “เมืองแพร่เป็นเมืองกบฏ” (ดูรายละเอียดใน ชัยพงษ์ สำเนียง 2550)
แม้เรื่องนี้จะผ่านมาร้อยกว่าปี แต่เป็น “ประวัติศาสตร์บาดแผล” ที่ยากจะลบออกจากความทรงจำของคนแพร่ แม้ว่าจะมีการสร้างคำอธิบายใหม่ เช่น เกิดจากการกดขี่ภาษีของทางการทำให้คนเมืองแพร่ลุกขึ้นสู้ (ดู ยอดยิ่ง รักษ์สัตย์ 2532) หรือการให้ข้อมูลเหตุการณ์นี้เกิดอย่างกว้างขวาง ไม่เฉพาะแต่เมืองแพร่ (พระธรรมวิมลโมลี 2545)
แม้แต่งานของผู้เขียนที่อธิบายเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์ในครั้งนี้ในหลายมิติ (ชัยพงษ์ สำเนียง 2550) แต่การรับรู้ประวัติศาสตร์ในเรื่องนี้ก็ไม่อาจหลุดพ้นจาก “เมืองกบฏ” ไปได้
ดังนั้น ในทศวรรษที่ 2540 จึงมีการ ‘ผลิตสร้าง’ ‘ให้ความหมายใหม่’ เพื่อจัดวาง ‘ตำแหน่งแห่งที่’ (Position) ของคนกลุ่มต่างๆ ที่ต่างได้รับ “ผล” จาก “อดีต” ของเรื่องนี้ไม่มากก็น้อย การปรากฏขึ้นของ “เรื่องเล่า” และ “ความทรงจำ” ของคนท้องถิ่น ในโครงเรื่องกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ นำไปสู่การให้ความหมาย และการจัดวาง “ตำแหน่งแห่งที่” ของโครงเรื่องกบฏเงี้ยวเมืองแพร่แบบต่างๆ เรื่องเล่าเหล่านี้เป็นหน่ออ่อนของความคิดท้องถิ่นชาตินิยมที่มีอิทธิพลต่อการผลิตสร้างประวัติศาสตร์เมืองแพร่ช่วงเกิดกบฏเงี้ยวอย่างกว้างขวางและมีชีวิตชีวา
โดยเฉพาะการสร้างคำอธิบาย “ในการกระทำของเจ้าหลวงเมืองแพร่” เพราะการที่เจ้าหลวงร่วมก่อกบฏทำให้เป็น “ตัวการสำคัญ” ที่ราชการสร้างการรับรู้เรื่องนี้
งานในท้องถิ่นเสนอเหตุการณ์ “การหนี” หรือ “การปลด” เจ้าพิริยะเทพวงศ์ เจ้าหลวงเมืองแพร่ออกจากตำแหน่ง เนื่องจาก 1. ถูกปลดและหลบหนีออกจากเมืองไป 2. เสนอว่าออกไปโดยความยินยอมพร้อมใจของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี แม่ทัพใหญ่ และมีกองเกียรติยศส่งออกนอกเมือง
ประวัติศาสตร์ “โจรเงี้ยวปล้นจังหวัดแพร่” หรือ ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค ให้ภาพการหนีของเจ้าหลวงเมืองแพร่ว่าเกิดจากการ ‘หนีราชการ’ ด้วยทำผิดระเบียบต่อราชการเจ้าหลวงจึงถูกปลด
“…ทางราชการได้พิจารณาเห็นว่า เจ้าพิริยะเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่ ได้ละทิ้งหน้าที่ราชการ ประกอบทั้งเป็นเวลาที่บ้านเมืองกำลังอยู่ในระหว่างเกิดการจราจลด้วย จึงได้ให้พวกญาติติดต่อให้เจ้าพิริยะเทพวงศ์กลับมาเสีย เป็นเวลาหลายวันก็ไม่กลับมา จึงได้ประกาศถอดเจ้าพิริยะเทพวงษ์ จากตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครแพร่ลงเป็นไพร่ คือ ให้เป็น “น้อยเทพวงษ์” ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน ร.ศ. 121…” (จังหวัดแพร่2501)

เจ้าพิริยเทพวงศ์ ภาพจาก องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่
การ “ปลด” เนื่องด้วยละเลย หนีราชการ แต่ไม่ได้กล่าวถึงการมีส่วนร่วมในการก่อการ “กบฏ” ครั้งนี้แต่อย่างใด ทำให้ละเลย ลดทอน ภาพกบฏลงไปได้อย่างมาก
แต่ถ้าเป็นงานของท้องถิ่นจะมีกลิ่นอายของเรื่องเล่าเจือปน เช่นงานของ เลิศล้วน วัฒนนิธิกุล (มปป.) เรื่อง ประวัติศาสตร์เมืองแพร่ 800 ปี หรืองานของ เสรี ชมพูมิ่ง (มปป.) เรื่องเจ้าพิริยะเทพวงษ์ ผู้นิราศเมืองแพร่ท่ามกลางกองเกียรติยศ ใน เมืองแป้ปื้น แห่งเมืองโก๋ศัย ความว่า
“…เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีใช้วิธีปล่อยข่าวให้เจ้าเมืองแพร่รู้ว่าจะมีการจับตัวเจ้าเมืองแพร่และเจ้าราชบุตร ข่าวลือนี้ได้ผลเพราะตอนดึกคืนนั้น เจ้าเมืองแพร่พร้อมด้วยคนสนิทอีก 2 คน ก็ลอบหนีออกจากเมืองแพร่ทันที… การหลบหนีของเจ้าเมืองแพร่ในคืนนั้น ได้รับการสนับสนุนจากเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี โดยมีคำสั่งลับมิให้กองทหารที่ตั้งอยู่รอบเมืองแพร่ขัดขวาง จึงทำให้เจ้าเมืองแพร่หลบหนีออกไปได้โดยสะดวก…”
หรือ “…ท่านแม่ทัพคือ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีจะเชือดไก่ให้ลิงดู คือ จับพวกสมรู้ร่วมคิดกับพวกเงี้ยวไปยิงเป้า เพื่อจะให้เจ้าหลวงกลัว จะได้หาทางหลบหนีออกนอกราชอาณาจักรไป แต่จนแล้วจนรอดเจ้าหลวงก็ไม่กลัวไม่ยอมหนีถึงต้องใช้วิธีเชิญออกจากเมืองโดยกองเกียรติยศ”
“เหตุการณ์ก่อการจลาจลในเมืองแพร่ข้อเท็จจริงจะมีประการใด ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัด โดยเฉพาะเกี่ยวกับเจ้าพิริยะเทพวงศ์อุดรฯ…ไม่มีกล่าวถึงในตอนนี้เลยผู้อ่านอาจเข้าใจได้หลายกรณี และอาจเป็นผลเสียหายก็ได้ จึงขอกล่าวตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ที่ยังพอจะจำเหตุการณ์ได้…
ได้ความว่า เมื่อเจ้าพิริยะเทพวงศ์อุดรฯทราบว่า ทางกรุงเทพฯ ยกกองทัพมาปราบ เจ้าผู้ครองนครก็ยังคงพำนักอยู่ในคุ้ม…ส่วนพลโทเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี แม่ทัพใหญ่ ก็มิอาจพิจารณาปรับโทษลงไปได้ว่าเป็นความผิดเจ้าผู้ครองนคร เพราะเจ้าผู้ครองนครไม่ทราบแผนการของพวกเงี้ยวมาก่อน…เจ้าพิริยะเทพวงศ์อุดรฯมิได้เป็นผู้มีส่วนรู้เห็นเป็นใจด้วยเลย…
ภายหลังจากการปราบจลาจลสงบลงแล้ว ท่านยังคงพำนักอยู่ในคุ้มหลวงของท่านตามปกติเป็นเวลานานถึง 3 เดือนเศษ…เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีก็มิอาจจับตัวเจ้าผู้ครองนครโดยปราศจากเหตุผลอันควรได้…ทางกองทัพที่ยกมาปราบ จะให้เจ้าผู้ครองนครรับผิดชอบ ทั้งยังส่งคนไปติดต่อแนะนำให้เจ้าผู้ครองนครหนีออกจากเมืองแพร่ไปเสีย…
เมื่อเจ้าผู้ครองนครแพร่ได้รับความกระทบกระเทือนเช่นนี้จึงได้ตัดสินใจหนีออกจากเมืองแพร่ไป…การที่เจ้าพิริยะเทพวงศ์อุดรฯหนีไปคราวนี้ กล่าวกันว่าเพราะความเกรงกลัวพระราชอาญา แต่ยังมีหลายท่านกล่าวว่า ท่านมิได้หนีเพราะความเกรงกลัวพระราชอาญาเลย เพราะท่านถือว่าตนเองเป็นผู้บริสุทธิ์ มิได้คิดคดทรยศต่อแผ่นดิน…
เหตุที่ท่านตัดสินใจหนีไปนั้นก็เพื่อตัดปัญหาความกดดันในขณะนั้น และเพื่อจะให้เหตุการณ์ในเมืองแพร่สงบราบรื่นโดยเร็ว เพื่อมิให้ไพร่ฟ้าประชาชนชาวแพร่ต้องพลอยรับความเดือดร้อน”
การที่ออกโดยความยินยอมของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ภายใต้กองเกียรติยศ เนื่องด้วยไม่สามารถ “หาความผิด” ของเจ้าหลวงได้ ก็ทำให้ภาพของการกบฏเลือนราง พร่ามัว จนสุดท้ายความเป็นกบฏได้รับการชำระสะสางด้วยการถวาย “เกียรติ” ด้วยกองทหารเกียรติยศ มิใช่การขับไสไล่ส่ง หรือทรยศต่อชาติบ้านเมือง แต่เป็นการเสียสละเพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้า
เจ้าเมืองแพร่จึงมิใช่กบฏอย่างที่ใครต่อใครล่ำลือกัน การกบฏเป็นการกระทำของเงี้ยวที่เป็นคนนอกที่เข้ามาสร้างความวุ่นวายปั่นป่วน เงี้ยวจึงกลายเป็น “แพะ” เพียงตัวเดียวโดยไม่ต้องหาคำอธิบายใดๆ ทั้งสิ้น เพราะความรัก “ชาติ” ไม่ต้องการคำอธิบาย (ช่างเหมือนพันธมิตรก็มิปาน)
เรื่องเล่าของเจ้าหลวงเมืองแพร่ (พิริยเทพวงษ์) ที่ครั้งหนึ่งได้ถูก ‘ตรา’ ว่าเป็น ‘กบฏ’ (ดูเพิ่มใน ชัยพงษ์ สำเนียง 2550) ถูก ‘สร้างใหม่’ ว่าได้รับเกียรติยศจวบจนวาระสุดท้ายก่อนออกจากเมืองแพร่ คือ ออกไปโดยทหารเกียรติยศ หรือได้รับการสนับสนุนจากเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีแม่ทัพใหญ่ขณะนั้น หรืออีกนัยหนึ่งเป็นการตอบโต้วาทกรรมฝ่ายรัฐที่มองว่าเป็น “กบฏ” แต่ ‘ชาวบ้าน’ ถือว่าเจ้าหลวงเมืองแพร่ คือ “ผู้บริสุทธิ์”
ถ้าอธิบายแบบท้องถิ่นนิยมอย่างเดียว เช่น ยอดยิ่ง รักษ์สัตย์ (2532) พระธรรมวิมลโมลี (2545) หรือประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนิยม ที่อ้างการกำเนิดที่ยาวนาน การมีตัวตนที่เก่าแก่ของเมือง หรือความสำคัญของเมืองตั้งแต่โบราณกาล (ชัยพงษ์ สำเนียง 2550) ไม่อาจสร้างการรับรู้ใหม่ หรือจัดวาง “ตำแหน่งแห่งที่” ใหม่ได้
แต่การสร้างให้เจ้าหลวงแนบชิดกับประวัติศาสตร์ชาติในมิติใดมิติหนึ่งกลับสร้าง “โครงเรื่องใหม่” ที่สร้างผลกระเทือนต่อการรับรู้ แสะจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของประวัติศาสตร์เมืองแพร่ในประวัติศาสตร์ชาติใหม่ (ชัยพงษ์ สำเนียง 2553)
นอกจากนี้ ในปัจจุบันคนเมืองแพร่ได้สร้างในฐานะ “เจ้าหลวงผู้อาภัพ” “เจ้าหลวงผู้เสียสละ” “เจ้าหลวงวีรบุรุษ” ได้รับการรับรู้ในคนกลุ่มนี้อย่างกว้างขวาง เพราะมีการตีพิมพ์หนังสือในท้องถิ่นที่สร้างการรับรู้ใหม่นี้อย่างกว้างขวาง เช่น สาวความเรื่องเมืองแพร่, ศึกษาเมืองแพร่, อนุสรณ์เจ้าพิริยเทพวงศ์ เจ้าหลวงองค์สุดท้ายผู้ครองเมืองแพร่, เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์บิดาแห่งพิริยาลัย, และ ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าไข่มุก วงค์บุรีประชาศรัยสรเดช ณ ฌาปนสถานประตูมาร เป็นต้น (จะกล่าวในบทความหน้า)
กระแสประวัติศาสตร์ชาตินิยม–การจัดวางโครงเรื่องของประวัติศาสตร์ใหม่
ในท้ายที่สุดท่ามกลางกระแสประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชาตินิยมคนในกลุ่มต่าง ๆ ก็ยังวนเวียนอยู่ในกระแสของชาติที่ยังมีความคิดเรื่องชาติเป็นตัวนำ ในสถานการณ์ที่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่มองจากจุดยืนและผลประโยชน์ของคนในท้องถิ่นเองไม่สามารถสถาปนาตำแหน่งแห่งที่ สร้างการรับรู้ และการยอมรับได้
จึงทำให้เกิดโครงเรื่องแบบ “ท้องถิ่นชาตินิยม” ปรากฏในการเขียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอย่างแพร่หลาย การรับรู้เรื่องกบฏเงี้ยวเมืองแพร่เป็นเรื่องรางหนึ่งที่เกิดขึ้น และมีมิติการอธิบายต่างๆ อย่างหลากหลายและจะส่งผลต่อต่อไปในอนาคต
ท่ามกลางกระแสประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชาตินิยมจะทำให้เกิดการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของประวัติศาสตร์ใหม่ (กบฏเงี้ยวฯ) แม้ในปัจจุบันจะแพร่หลายเฉพาะในเมืองแพร่ก็ตาม แต่แสดงให้เห็น “พลวัตร” และพลังของกระแส “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชาตินิยม” ที่มีอิทธิพลอย่างสูงในปัจจุบัน
ที่มา.Siam Intelligence
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++