--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ส.ส.เชียงราย โวส.ส.เกินครึ่งสภาฯไปพบ ทักษิณ.


นายสุรสิทธิ์ เจียมวิจักษณ์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ในจังหวัดก่อนที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะเดินทางมาจ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า ซึ่งติดกับชายแดนอ.แม่สาย จ.เชียงราย ว่า ตอนนี้คนเชียงรายเตรียมตัว เตรียมพร้อม ทั้งประชาชนและกลุ่มมวลชน โดยเฉพาะในจ.เชียงราย เข้าใจว่าน่าจะมีนับหมื่นคนที่จะเดินทางไปหาท่าน ยังไม่นับรวมประชาชนในจังหวัดอื่นๆอีก ส่วนส.ส.น่าจะเดินทางไปจำนวนมาก คิดว่าน่าจะไปกันเกินกึ่งหนึ่งของสภาฯด้วยซ้ำ เพราะทุกคนต่างคิดถึงอยากไปพบพ.ต.ท.ทักษิณ

นอกจากนี้ยังเตรียมนำของฝาก อาหารพื้นเมืองไปฝากพ.ต.ท.ทักษิณ ด้วย ส่วนกำหนดการที่จะได้พบพ.ต.ท.ทักษิณ น่าจะเป็นช่วงสายวันที่10พ.ย.ที่จ.ท่าขี้เหล็ก แต่ช่วงเวลาและสถานที่ที่ชัดเจนนั้นยังไม่สามารถบอกได้

นายสุรสิทธิ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ได้ให้สัมภาษณ์ระบุว่าอยากให้พ.ต.ท.ทักษิณ แวะมาเชียงรายสัก 5นาทีว่า ใจจริงอยากให้ท่านมาประเทศไทย อยากให้เครื่องบินท่านแวะมาจอดที่เชียงรายสัก5นาที ถ้าเป็นไปได้ แต่คงเป็นไปไม่ได้ อยากให้เครื่องบินท่านลงมาจอดเติมน้ำมันสัก5นาทีก็ยังดี เพื่อให้พี่น้องจ.เชียงรายได้เห็นท่านว่ายังอยู่ดี มีความสุข แค่นี้คนเชียงรายก็ชื่นใจแล้ว

นายสุรสิทธิ์ กล่าวอีกว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ควรได้กลับบ้านมาตั้งแต่หลายปีที่แล้ว สิ่งที่ทำให้ท่านออกจากอำนาจเป็นเรื่องการเมืองทำให้ต้องไปอยู่ต่างประเทศ ต้องการให้ออกจากอำนาจโดยกระบวนการต่างๆ แต่สุดท้ายก็หนีความจริงไม่พ้น ท่านไม่ได้คิดร้ายต่อบ้านเมือง ประชาชนได้ตัดสินแล้วถึง2รัฐบาล สมัยพรรคพลังประชาชนมาถึงพรรคเพื่อไทย ก็พิสูจน์ให้อำนาจนอกกระบวนการได้เห็น ท่านไม่เคยคิดร้ายต่อบ้านเมือง พวกเราอยากให้ท่านกลับทุกวัน ทุกนาที มาพรุ่งนี้ได้เลยก็ดี จะได้นำความรู้ความสามารถของท่านมาพัฒนาบ้านเมืองให้เดินหน้าไปมากกว่านี้

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
***************************************************************************

3 ก๊ก.ฉบับ เพื่อไทย ไพ่ใหม่ในมือ (ยิ่งลักษณ์) เส้นขนานในเกมอำนาจ !!?


เป็นไปตามปรากฏการณ์สร้าง “ดุลอำนาจใหม่”...สะท้อนผ่านเกมปรับใหญ่คณะรัฐมนตรี “ยิ่งลักษณ์ 1/3” ที่มีการปรับโฉมใหม่ไฉไลกว่าเดิม 23 ตำแหน่ง ทั้งสลับเก้าอี้ และ “เสียบ” เข้ามาใหม่อีก 14 คน ด้วยเส้นทางอำนาจที่ล้วน “แปลกแยก” ได้ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อม ครั้งใหญ่ขึ้นภายในพรรคเพื่อไทย

เริ่มจากความ “ไม่ลงรอยกัน” ระหว่างเครือญาติในตระกูล “ชินวัตร” ซึ่งถือเป็น “ชนวนขัดแย้ง” ระหว่างคนเพื่อไทยด้วยกันเอง และได้สร้างความเคลือบแคลงใจซึ่งกันระหว่าง “ขั้วเก่า-ขั้วใหม่” เอาแค่ “ขาใหญ่บ้าน 111” กับสายตรง “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” ก็ประหนึ่งว่า “ผีไม่เผาเงาไม่เหยียบ” กันไปแล้ว

ภาพความร้าวฉานเหล่านี้ ได้ปรากฏ ชัดผ่านโผ “ครม.ปู 1/3”...!!! การปรับแผงรัฐมนตรีรอบใหม่นี้ จึง สะท้อน “ดุลอำนาจ” ภายในพรรคเพื่อไทยได้ค่อนข้างชัดเจน ยิ่งไปกว่านั้นยังปรากฏให้เห็นถึง “แกนอำนาจ” อันแข็งแกร่ง หลังจาก “โผรัฐมนตรี” ที่เป็นคำตอบสุดท้ายนั้น เป็นการจัดวางตำแหน่ง ไว้อย่างเบ็ดเสร็จ...โดยกลุ่มสตรีแห่งอาณาจักรชินฯ แทบทั้งสิ้น ทำให้ชื่อของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร... เยาวภา วงศ์สวัสดิ์....พจมาน ณ ป้อมเพชร” จึงมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่า “เจ้าของอำนาจตัวจริง”

แม้อำนาจ “แกนหลีก” จะยังคงอยู่ที่ “ทักษิณ” แต่ทว่า “ยิ่งลักษณ์” ยังคง “ดึงเกม” ให้กลับมาอยู่ในทางของตัวเอง ด้วยการจัดวาง “คนใกล้ชิด” และ “ไว้วางใจได้” เข้ามาอยู่ข้างกาย ผสานเข้าจังหวะไปกับ “เบื้องหลัง” การถ่ายทำรายการ “ก๋วยจั๊บมื้อค่ำ... เยาวราช” ก่อนหน้าการปรับทัพใหญ่ ครม. ไม่นาน ซึ่งได้สะท้อนสายสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่าง “นายกฯ ปู-ยิ่งลักษณ์” กับ “เจ๊แดง-เยาวภา” ที่หันมาเล่นบท “เลิฟซีน” ตามประสาพี่น้อง ที่ว่ากันว่า...“เลือด” ย่อมข้นกว่าน้ำ!

ตามรหัสการเมืองที่ออกมา ได้ตอกย้ำ ยุทธศาสตร์ลึกๆ ที่ “ยิ่งลักษณ์” เปิดทอล์กโชว์หลังข่าวร่วมกับ “เจ๊แดง” ซึ่งเท่ากับได้...ขยายขุมข่ายกำลังในมือ เพื่อเป้าหมาย แห่งการ “คานอำนาจ” ระหว่างกลุ่มอำนาจ ในพรรคเพื่อไทย

ซึ่งนอกเหนือไปจากทีม “ปู-แดง” แล้ว...ยังปรากฏเรื่องการ “จัดคิวรัฐมนตรี” ที่มีรายการ “ถึงลูกถึงคน” โดยเจ้าแม่จันทร์ส่องหล้า “คุณหญิงอ้อ-พจมาน” ที่แม้ไม่ได้ตั้งก๊กการเมืองขึ้นมาใหม่ แต่ก็เป็น “สัญญาณ” ที่ทุกฝ่ายในพรรคย่อมรู้กันดีว่า...เป็นการส่งตัวจริง และ “สายตรง” บ้านจันทร์ส่องหล้า เข้าประจำการในพรรค เพื่อเสริมบารมี บีบให้ “ประชากรบ้าน 111” ตกอยู่ในอาการขวัญผวาไปตามๆ กัน เช่นที่ว่านี้ เมื่อทุกองคาพยพแห่งเพื่อไทย ได้ถูก “...แยกส่วนอำนาจ” ออกจากกันโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นทีมยุทธศาสตร์ พรรค ทีมงานตึกไทยคู่ฟ้า หรือทีมงานหลังฉากใต้อาณัติของ “นายใหญ่” ซึ่งล้วนแล้วแต่ “แยกกันทำ...แยกกันเดิน” มีความขัดแย้งกันเองเรื่อยมา จนถูกหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า...จัดวางกำลังคนที่ไม่สอดคล้องกับภารกิจมีตัวอย่างปรากฏชัดในหลายกรณี ทั้งการส่งสัญญาณบีบให้ “ยงยุทธ วิชัยดิษฐ” ไขก๊อก! หรือกระทั่งการเลือกรักษาการหัวหน้าพรรค ที่ไม่ผ่านการกลั่นกรองจากทีมยุทธศาสตร์พรรค หรือทีมงานข้างกาย “นายกฯ ปู” แต่ถูกสั่งการ “ข้ามฟ้า” มาจาก “คนแดนไกล”

และยิ่งปรากฏชัดขึ้นไปอีก เมื่อถึงคราววางตัว “จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ” ขึ้น เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งทั้งหมดได้ถูกกำหนดสเปก! มาจากผู้มากบารมี.. เหนือรัฐบาล อีกทั้งได้มีการจัดแถว “คณะเสื้อแดง” รวมถึงการดึงกลุ่ม “ทหารแก่” ที่เกษียณจากกองทัพ มารวมอยู่ในค่ายเพื่อไทย หรือแม้แต่ “บิ๊กอ๊อบ” พล.ต.อ. เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ พี่ชายคุณหญิงพจมาน ก็ถูก “วางตัว” ให้เข้ามาเดินในเกมอำนาจ...!!! เหล่านี้คือ...แรงสั่นสะเทือนจากภายใน ที่บ่งชี้ถึง “สัญญาณอันตราย” ที่เริ่มก่อตัวขึ้น

ถ้าหากว่ากันตามยุทธศาสตร์ทาง การเมืองแล้ว “เหล่าผู้มากบารมี” ในเพื่อไทย ย่อมต้อง “ตระหนัก” ถึงความจำเป็นยิ่งยวด ที่ต้องประคองสถานการณ์ “ภายใน” มิให้ไหลไปรวมกับแรงกระแทกจาก “ภายนอก”

การปรับใหญ่หนนี้ จึงเสมือนหนึ่งเป็นการ “สกัดวง..สยบกระเพื่อม” ในคิวยกเครื่อง ครม. “ชุด 3” ให้นิ่งและเร็วที่สุดซึ่งในหลายจุดที่ส่อว่าจะป่วนหนัก ก็ดูนิ่งไป หลังการโปรดเกล้าฯ “ทีมเสนาบดีชุดใหม่” ไม่ว่าจะเป็นอาการผิดหวังของ “เดอะตู่” จตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำเสื้อแดง ที่วืดเก้าอี้รัฐมนตรี หรือกระแส “คลื่น ใต้น้ำ” ของกลุ่มก๊วน ส.ส.อีสาน ที่ไม่พอใจหลังถูกหั่นโควตารัฐมนตรี แถมยังมีอาการ หงุดหงิดจากการก้าวข้ามหัวของ “เด็กใหม่”

แต่ทั้งหมดก็ถูกกลบไปสิ้น เมื่อ “ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง” รองนายกรัฐมนตรี ออกมาสยบแรงกระเพื่อมจากคิวปรับ ครม.ในค่ายเพื่อไทย กระตุกกันแรงๆ ว่า...ในพรรคไม่มีกลุ่มไม่มีก้อน ไม่มีสายอีสานหรือสายไหน มีแต่สาย “ทักษิณ” ถ้าใครขัดใจจะเหลือแต่ตัวเองเป็นเงา

ทั้งนี้ทั้งนั้น...ก็น่าวังเวงใจอยู่ว่า วิวาทะของ “เจ้าของบ้านริมคลอง” จะสกัดวงไม่ให้ปัญหาลุกลามออกไป...ได้หรือไม่?! บ้างก็ว่า...นี่เป็นการสงบแค่ชั่วคราว ก่อนมรสุมลูกใหญ่จะพัดถล่มรัฐนาวา และ พรรคเพื่อไทย และที่ยัง “นิ่งสงบ...สยบความเคลื่อนไหว” น่าจะเป็นอารมณ์ของพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะรายของ “หลงจู๊” บรรหาร ศิลปอาชา นายใหญ่พรรคชาติไทยพัฒนา ที่โดนสลับโควตาใหม่จนเหลือ แค่กระทรวงเกษตรฯ กับกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เท่านั้น

ขณะที่ “บอสใหญ่” พรรคชาติพัฒนาฯ อย่าง “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ” ก็เจอคิว “อุ้มบุญ” เมื่อผู้เฒ่าวังน้ำเย็น “ป๋าเหนาะ” เสนาะ เทียนทอง ได้ฝาก “ฐานิสร์ เทียนทอง” หลานชาย เอามาแปะไว้ในเก้าอี้ รมช.กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อแก้ ปัญหาเกลี่ยโควตาในพรรคเพื่อไทย ซึ่งคิว ที่คาบลูกคาบดอกนี้ ก็ทำให้แกนนำพรรคร่วมฯ ต้องก้มหน้ารับ...อย่างหน้าชื่นอกตรม!

แต่กระนั้นแล้ว หากแทงคิวปรับ ครม. ไม่พลาด รอบหน้าคงไม่เกิน 6 เดือนนับจากนี้ ตามโมเดลทักษิณที่จับปรับกันทุก 6 เดือน เพื่อเวียนกันเข้ามาสู่เกมอำนาจ มิให้เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจซึ่งกัน เพราะนั่นอาจเป็น “มะเร็งร้าย” ที่ค่อยๆ ลุกลามอยู่ “ข้างใน” จนยากที่จะรักษาได้ ...!!! ที่เห็นและเป็นไป ก็ล้วนแต่เป็น “ภาพสะท้อน” แห่งเกมอำนาจในรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” จาก...“ปู 2” ต่อเนื่องมาถึง “ปู 3” ซึ่งเป็นการเดินไปข้างหน้าแบบ “เส้นขนาน” ระหว่างบุคคลสำคัญในค่ายเพื่อไทย พลันก่อกำเนิดวาทกรรมที่ว่า “สนิมเกิดแก่เนื้อในตน...”

แต่ยังมี “ข้อปุจฉา” ตามมาว่า... เงื่อนไขแห่งความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เป็นความแตกแยกระหว่างศัตรูคู่อาฆาตที่ต้อง “แตกหัก” หรือไม่..หรือเป็นแค่ “รอยร้าว” ที่ยังพอจัดการซ่อม “ปะ-ผุ” ให้ลงตัวได้ ซึ่งก็พอคาดเดาคำตอบได้ไม่ยากนัก

การปรากฏขึ้นของ “ครม.ปู 1/3” แม้จะมีแรงเฉื่อย หรือมีปัญหาในการจัดตั้ง แต่หากว่าผู้นำหญิง...เอาอยู่! ก็จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญยิ่งในการรื้อฟื้น ศรัทธาทางการเมือง และก้าวเดินต่อไป ข้างหน้าอย่างสง่างามในวาระที่เหลืออีก 3 ขวบปีของรัฐบาลยิ่งลักษณ์?!!

ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

การเมืองร้อนสองฝ่ายพร้อม ตลุมบอน !!?


วิถีการเมืองวันนี้เริ่มปะทุและเดือดพล่านขึ้นทุกขณะ

ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลเริ่มลุกฮือ จับมือกันสหบาทาล้มรัฐบาล เผาหัวด้วยม็อบสนามม้า ส่งไม้ต่อให้พรรคฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา

แถมมีหมัดแย็บให้รำคาญจากเหล่า ส.ว.ลากตั้ง ด้วยการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีของนายวราเทพ รัตนากร

พ่วงยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบจริยธรรม ทั้งตัวนายวราเทพ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่เป็นผู้เสนอแต่งตั้ง

ไม่นับรวมการโหมประโคมความล้มเหลวของโครงการรับจำนำข้าว การแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

หวังสร้างอุปาทานหมู่ว่ารัฐบาลไร้น้ำยา โกงกิน

มองไปนอกสภาก็มีสารพัดม็อบจ่อคิวเข้ามาเคลื่อนไหวในเมืองหลวง ทั้งม็อบกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ม็อบเกษตรกรที่เดือดร้อนจากปัญหาราคาพืชตกต่ำ และอีกสารพัดม็อบ

รัฐบาลงานเข้าพร้อมกัน

หากมัวแต่ตั้งรับไม่ออกหมัดสวนก็มีหวังถูกน็อกง่ายๆ

รัฐบาลจึงสวนหมัดด้วยการเร่งถอดยศ เรียกเงินคืนจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน จากกรณีใช้เอกสารที่ไม่มีอยู่ในสารบบสมัครเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อย จปร.

ต้องสรุปรู้ผลก่อนการอภิปรายไม่วางใจช่วงสิ้นเดือน พ.ย .นี้

ตามด้วยการเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติการยอมรับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศเพื่อให้เข้ามาสอบสวนเอาผิดคนสั่งฆ่ากลางเมือง 98 ศพ ในปี 2553

ออกหมัดสวนไม่ให้ฝ่ายค้านบุกใส่ฝ่ายเดียว อย่างน้อยก็ทำให้ฝ่ายตรงข้ามหยุดความอหังการไปได้สักพัก

แถมเป็นการบลั๊ฟให้ประชาธิปัตย์เสียรังวัดไปได้พักใหญ่ จากที่บุกใส่เพลินๆ ก็ต้องสาละวนอยู่กับการแก้ตัวให้พ้นจากข้อกล่าวหา ขาดสมาธิขับไล่รัฐบาล

ถ้าการถอดยศเรียกเงินคืนรู้ผลก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจจริงจะช่วยลดระดับความร้อนแรงของการอภิปรายลงไปได้มาก

และเป็นอะไรที่ต้องประกาศให้ฝ่ายตรงข้ามรู้ว่าไม่หมูหากคิดจะล้มรัฐบาลนายกฯหญิง กับคิวที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะเดินทางมาป้วนเปี้ยนแถวชายแดนท่าขี้เหล็ก อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

งานนี้ “เจ๊แดง” รับเป็นเจ้าภาพเชิญชวนคนรักทักษิณเดินทางไปพบอดีตนายกฯ

ทำให้เชื่อได้ว่าจะมีแห่แหนข้ามแดนไปพม่ามากนับหมื่นคน มากกว่าตอนที่มาเล่นน้ำสงกรานต์ที่กัมพูชาเมื่อปีที่แล้วหลายเท่า

แสดงพลังให้ว่ารู้ใครคิดทำอะไรคงไม่ใช่เรื่องง่าย

อุณหภูมิการเมืองจึงร้อนสวนทางอากาศในฤดูหนาว

ยิ่งม็อบไล่รัฐบาลหึกเหิมมากเท่าไร ยิ่งเร่งให้คนเสื้อแดงรวมตัวกันกันหนาแน่นเพื่อออกมาปกป้องรัฐบาล

การเมืองเดินมาถึงจุด “กูไม่กลัวมึง” พร้อมปะฉะดะกันได้ทุกเมื่อ

ไม่รู้ว่าจะไปเข้าทางใครให้เข็นรถถังออกปฏิวัติโดยใช้ข้ออ้างไม่ให้คนไทยฆ่ากันหรือไม่

งานนี้ถือว่าวัดใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญการทหารบก (ผบ.ทบ.) ว่าจะยึดคำพูด “ไม่ปฏิวัติ” หรือไม่

ที่มา.หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

จุดติดหรือจุดดับ !!?


บันไดขั้นแรกคือวันที่ 28 ตุลาคม ส่วนขั้นที่ 2 จะตามมาในไม่กี่วัน จะเอาให้จบ ไม่ยืดเยื้อ คิดว่าจะมี 2 ขั้นเท่านั้น ต้องจบ”

น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และแกนนำสำคัญในการต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประกาศในการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยามและภาคีเครือข่าย 30 องค์กร ที่นำโดย พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือ เสธ.อ้าย ประธานองค์การพิทักษ์สยาม ภายใต้ชื่อ “รวมพลัง คนทนไม่ไหว หยุดวิกฤตและหายนะชาติ” ซึ่งที่ผ่านมา น.ต.ประสงค์อยู่เบื้องหลังการชุมนุมของกลุ่มต่อต้าน พ.ต.ท. ทักษิณ รวมถึงกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แต่ครั้งนี้ต้องออกมาอยู่หน้าเวที ทั้งยังประกาศชัดเจนว่าบันไดขั้นที่ 2 หรือการชุมนุมครั้งต่อไปต้องเผด็จศึก คือขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้ได้

ขณะที่ พล.อ.บุญเลิศเรียกร้องให้ผู้ที่มาร่วมชุมนุมกลับไปบอกผู้ที่ไม่ได้มาให้มาร่วมชุม นุมครั้งต่อไป โดย 1 คน ให้ชวนให้ได้ 100 คน หากสรุปยอดผู้ชุมนุมตามที่ พล.อ.บุญเลิศระบุว่ามีประมาณ 30,000 คน มาลงทะเบียน 20,000 คน และอีก 10,000 คนไม่ได้ลงชื่อ การชุมนุมครั้งต่อไปที่คาดว่าจะเกิดขึ้นใน 1 เดือนนี้จะมีผู้มาชุมนุมมากถึง 100,000-200,000 คน โดยจะรวมพลในช่วงเช้าแล้วเคลื่อนไปยังทำเนียบ รัฐบาลเพื่อยื่นรายชื่อผู้คัดค้านรัฐบาลต่อ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ซึ่ง พล.อ.บุญเลิศประกาศว่า

“บันไดขั้นที่ 2 จะต้องจบการชุมนุมในวันเดียว จะเป็นการชุมนุมในนามกลุ่มประชาชนคนรักชาติ องค์การพิทักษ์สยามและภาคีเครือข่าย”

พล.อ.บุญเลิศระบุว่า หากล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้อาจต้องแช่แข็งไม่มีการเลือกตั้ง 5 ปี หยุดเพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้ โดยภายใน 5 ปีจะมีคณะบุคคลทำ 4 ภารกิจคือ 1.การแก้รัฐธรรมนูญ 2.การเพิ่มการศึกษา 3.การเพิ่มความรู้ให้กับประชาชนเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และ 4.นำตัว พ.ต.ท. ทักษิณกลับประเทศไทยเพื่อรับโทษตามกฎหมาย

เงื่อนไขจุดไฟติด?

การชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยามและภาคีเครือข่ายเมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมาทำให้เห็นความแตกต่างจากการชุมนุมของกลุ่มเสื้อหลากสีหรือ “สลิ่ม” ที่นำโดย นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ซึ่งไม่ค่อยมีพลังและได้รับความสนใจจากประชาชนนัก แม้จะพยา ยามออกมาเคลื่อนไหวบ่อยครั้งก็ตาม

ที่น่าสังเกตคือการชุมนุมครั้งนี้แม้จะไม่มีกลุ่มพันธมิตรฯเข้าร่วม แต่บุคคลสำคัญที่ขึ้นเวทีอภิปรายก็เกี่ยวข้องกับกลุ่มพันธมิตรฯและขาประจำที่ต่อต้านทักษิณ โดยเฉพาะกองทัพธรรมของสันติอโศกที่ระยะหลังกลายเป็นกำลังหลักในการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ นอกจากนี้ยังมีนายเสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ กลุ่มกองทัพธรรม นายนิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน นักวิชาการที่ใกล้ชิดกับพรรคประชาธิปัตย์ นายสมบูรณ์ ทองบุราณ อดีตสมาชิกวุฒิสภาและแกนนำเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิท ยาลัย นายพิเชฐ พัฒนโชติ อดีตสมาชิกวุฒิสภาและรองหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ ฯลฯ

แม้ข้อเรียกร้องของการชุมนุมจะซ้ำซาก คือเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลแก้ไขใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ดำเนินการอย่างเด็ดขาดกับการจาบจ้วงสถาบัน 2.ไม่เป็นหุ่นเชิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ และ 3.หยุดการทุจริตคอร์รัปชัน แต่จำนวนผู้ชุมนุมก็ทำให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เสียหน้าที่ระบุก่อนการชุมนุมว่าจะมีประมาณ 1,000-2,000 คน แน่นอนว่าเป็นตัวเลขที่ได้จากการประเมินของหน่วยงานข่าวต่างๆของรัฐบาล เพราะแม้แต่ศูนย์ปฏิบัติการข่าวด้านความมั่นคง กองบัญชาการตำรวจนครบาล ที่เกาะติดความเคลื่อนไหวครั้งนี้ยังสรุปว่ามียอดผู้ชุมนุมประมาณ 7,000 กว่าคน

ประเด็นสำคัญครั้งนี้ไม่ได้อยู่แค่จำนวนผู้ชุมนุม แต่เป็นการเริ่มต้นการขับไล่รัฐบาลที่เป็นรูปธรรม รวมถึงการเรียกร้องให้ทหารทำรัฐ ประหาร แม้กลุ่มพันธมิตรฯอ้างว่าการไม่เข้าร่วม ชุมนุมครั้งนี้เพราะไม่เห็นข้อเรียกร้องที่เป็นการปฏิรูปการเมืองตามที่กลุ่มพันธมิตรฯต้องการก็ตาม แต่การชุมนุมครั้งนี้มีการตั้งคณะกรรม การองค์การพิทักษ์สยามและคณะทำงานอีก 2 ชุดคือ 1.คณะทำงานตรวจสอบการจาบจ้วงสถาบัน และ 2.คณะทำงานที่ดูเรื่องการทุจริต

แม้การชุมนุมใหญ่จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หน่วยข่าวด้านความมั่นคงของรัฐบาลก็ประ เมินการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยามและภาคี เครือข่ายว่า เสธ.อ้ายและแกนนำการชุมนุมเชื่อว่าม็อบครั้งนี้จุดติด จึงประกาศชุมนุมครั้งที่ 2 แต่ต้องมีทุนและเงื่อนไขที่จะโจมตีรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรมมากกว่าครั้งแรก

จุดยืนกองทัพ

เงื่อนไขการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยาม และเครือข่ายจึงอยู่ที่รัฐบาลว่ามีผลงานเข้าตาประชาชนหรือไม่ และต้องไม่สร้างเงื่อนไขใหม่ๆขึ้นมา โดยเฉพาะเรื่องสถาบันที่เป็นประ เด็นอ่อนไหวที่ถูกนำไปบิดเบือนอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันต้องไม่ประมาทม็อบ เพราะกลุ่มทุนและกลุ่มอำมาตย์ที่เกลียด พ.ต.ท. ทักษิณไม่ได้ล้มหายตายจากไปไหน แต่กลุ่มทุนต้องมั่นใจว่าการลงทุนครั้งนี้จะไม่ทำลายตัวเอง แม้แต่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่ถือเป็นเสาหลักของกลุ่มอำมาตย์ ยังเรียกร้องให้คนในชาติกลับมารักกัน การแบ่งฝักฝ่ายเป็นเสื้อสีต่างๆก็ให้ยึดเอาชาติเป็นที่ตั้ง

แม้การตอกย้ำเรื่องความสามัคคีปรองดองของ พล.อ.เปรมจะมีเบื้องหลังหรือไม่ก็ตาม แต่อย่างน้อยก็ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ยืนยันว่าไม่เข้าข้างใครทั้งสิ้น แต่จะยึดถือข้อกฎหมายและวิธีปฏิบัติ

“อย่ามาบอกว่าทหารปล่อยให้ชาติเสียหาย ผมไม่ได้ปล่อยให้ประเทศเสียหาย ถ้าโทษอย่างนั้นต้องโทษคนทั้งประเทศ ถ้าจะช่วยดูแลประเทศชาติ ตอนเลือกตั้งกรุณามาเลือกกันทุกคน ถ้าตัวท่านเองยังไม่เลือกตั้งแล้วอย่ามาโวยวายคนอื่น ต้องทำให้ถูกต้อง เพราะนี่คือการใช้อำนาจที่ถูกต้อง อย่ามาถามผมอีกว่าจะปฏิวัติหรือไม่ปฏิวัติ ใครจะมาชวนผมไปไหน เขาไม่ได้มาชวนผมไปซื้อขนมที่ตลาด ดังนั้น อย่ามาชี้นำผม ผมโตขนาดนี้แล้ว มีวุฒิภาวะพอสมควร และกองทัพต้องเชื่อฟังผม ถ้าไม่อย่างนั้นปกครองกองทัพไม่ได้ ประเทศชาติก็วุ่นวายไปกว่านี้ ต้องไปหาวิธีการที่ถูกต้อง ผมไม่ได้เอาตัวรอด เดี๋ยวจะหาว่าผมเอาตัวรอด ใบปลิวเขียนกันวุ่นวาย อยากให้ความเป็นธรรมกับผมหน่อย ผมทำงานบกพร่องตรงไหนถึงมาว่าผม อย่ามาว่าผมว่าไม่รักชาติ ไม่รักแผ่นดิน วิธีการรักของผมมีอยู่ ผมไม่ให้ใครมาชี้นำผมได้ ไม่อย่างนั้นผมนำไม่ได้”

ขณะที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ กลับเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ใช่ทหาร แต่เป็นนักการเมือง “เป็นถึงผู้บัญชา การทหารบกแต่ไม่มีองค์ความรู้เลยแม้แต่นิดเดียว ไม่มีความฉลาดเฉลียว ไม่ได้ศึกษาสิ่งแวดล้อม ไม่ได้รู้ถึงข่าวสารว่าระหว่างเสื้อแดงกับเสื้อเหลืองนี้ใครทำชั่วให้แผ่นดินไทย”

พลิกแฟ้ม “เสธ.อ้าย”

เมื่อพลิกแฟ้มประวัติ พล.อ.บุญเลิศ ซึ่งนอกจากเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 1 ร่วมกับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี แล้ว ยังมีความสัมพันธ์กับ “เสธ.หนั่น” พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และนายวีระ (วีระกานต์) มุสิกพงศ์ เพราะร่วมเหตุการณ์กบฏ 26 มีนาคม 2520 ซึ่งนำโดย พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ ที่ต้องการล้มรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินของ พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ แต่ทำไม่สำเร็จ พล.อ.ฉลาดจึงกลายเป็นผู้นำกบฏและถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า ขณะที่ พล.อ.บุญเลิศที่เป็นนายทหารติดตาม พล.อ.ฉลาดก็ติดคุกพร้อมกับ เสธ.หนั่นและนายวีระ

เมื่อพ้นโทษ เสธ.อ้ายช่วย เสธ.หนั่นหาเสียงทางการเมืองมาตลอด และได้เป็นหัวหน้าฝ่ายเสนาธิการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลา โหมสมัยนายชวน หลีกภัย ซึ่งควบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย เสธ.อ้ายจึงมีความสนิทสนมกับนักการเมืองจำนวนมาก รวมทั้งคนในพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็นนายสุเทพ เทือกสุบรรณ นายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ และนายนิพนธ์ บุญญามณี แต่ เสธ.อ้ายก็ยืนยันว่าไม่ใช่คนของพรรคประชาธิปัตย์

อย่าปรามาส “เสธ.อ้าย”

อย่างไรก็ตาม การชุมนุมจำเป็นต้องมีเงินทุนสนับสนุน อย่างที่หน่วยข่าวด้านความมั่นคงของรัฐบาลประเมินว่าถ้าไม่มีกลุ่มทุนสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง การชุมนุมก็ทำได้แค่ครั้งสองครั้งและยุติไปเอง เหมือนกลุ่มพันธ มิตรฯที่วันนี้อาศัยกองทัพธรรม แต่ น.ต.ประ สงค์และกลุ่มทุนที่อยู่ตรงข้าม พ.ต.ท.ทักษิณจะไม่ยอมให้ถูกไล่บี้จนไม่มีที่ยืนแน่นอน เหมือนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพที่ขณะนี้ต้องสู้ทุกรูปแบบเพื่อไม่ให้ตกเป็นผู้ต้องหา “ฆ่าคน” ในเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือเล็งหวังผล อย่างที่กรมสอบสวนคดีพิเศษกำลังรวบรวมหลักฐานทั้งหมดในขณะนี้

การที่ น.ต.ประสงค์ประกาศว่าการชุมนุมครั้งต่อไปจะเป็นการเผด็จศึก ซึ่งต้องมีผู้ชุมนุมเป็นแสนนั้น ก็ต้องมีเงื่อนไขหรือสถานการณ์รุนแรงจนประชาชนไม่พอใจรัฐบาล ซึ่งจะต้องเป็นเงื่อนไขหรือปัจจัยก่อนการชุมนุมใหญ่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ยอมรับว่า ขณะนี้มีกระบวนการจ้องล้มรัฐบาลไม่แตกต่างจากเมื่อครั้งรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่ใช้เวลาเพียงเดือนเศษในการปิดเกมเร็ว ขณะนี้มีการข่าวแจ้งมาตลอด เพราะตนอยู่ในซีกฝ่ายความเคลื่อนไหว และเคยมีเพื่อนพ้องในศูนย์อำนวยการแก้ไขสถาน การณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) จึงรับรู้กระบวนการทั้งหมด และได้เตือนมาตลอดว่าอย่าประมาทม็อบที่สนามม้านางเลิ้ง เพราะมาครั้งหน้าอาจมีจำนวนมากกว่าเดิม

นายจตุพรกล่าวว่า สถานการณ์การเมืองตอนนี้ต้องเปรียบเทียบกับประวัติศาสตร์ในอดีต เพราะที่ผ่านมามีการใช้กระบวนการหลายรูปแบบล้มรัฐบาลถึง 3 ครั้ง ทั้งยังมีองค์กรอิสระในรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่มีอำนาจเหนือรัฐ ขึ้นอยู่กับว่าสถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างไร และกลุ่มคนพวกนี้จะเลือกใช้วิธีการใดเป็นเครื่องมือ

เช่นเดียวกับ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า การชุมนุมของกลุ่มองค์การพิทักษ์สยามถือว่าจุดประกายได้แล้ว เพราะมีคนร่วมกว่า 20,000 คน ถ้าการชุมนุมครั้งหน้าที่ให้ชวนคนมาในอัตรา 1 ต่อ 100 นั้นก็มีความเป็นไปได้ ซึ่งโดยส่วนตัวมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับ พล.อ.บุญเลิศตั้งแต่ตอนรับราชการทหาร ถือเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาคนหนึ่ง พล.อ.บุญเลิศถือเป็นคนจริงจัง ทำอะไรมีความมุ่งมั่น ชีวิตก็ประสบความสำเร็จ เป็นประธานสนามม้ามานานนับสิบปี เป็นประธานเตรียมทหารรุ่น 1 รุ่นเดียวกับ พล.อ.สุรยุทธ์ เป็นประธานมวยโอลิมปิก ถือเป็นคนไม่ธรรมดา แม้หลายคนที่ขึ้นเวทีปราศรัยจะเป็นคนกลุ่มเก่าๆ แต่ก็เหมือนมีความเชื่อมโยงเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน

โดยเฉพาะการขึ้นเวทีปราศรัยของ น.ต.ประสงค์ซึ่งไม่ค่อยได้เห็นนั้น แม้ พล.อ. พัลลภมองว่าไม่มีสัญญาณพิเศษ แต่ก็เตือนรัฐบาลว่าอย่าประมาท พล.อ.บุญเลิศ เพราะแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯก็ประกาศว่าพร้อมจะทำ “สงครามครั้งสุดท้าย” หากรัฐบาลพยา ยามแก้ไขรัฐธรรมนูญและออกกฎหมายปรองดองเพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณพ้นผิด

จุดติดหรือจุดดับ?

ดังนั้น แม้วันนี้พรรคเพื่อไทยจะมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนส่วนใหญ่ แต่การต่อสู้ทางการเมืองระหว่างกลุ่มรักทักษิณและกลุ่มเกลียดทักษิณก็ยังเป็นตัวแปรสำคัญที่ “มือที่มองไม่เห็น” และ “มือที่มองเห็น” จะสร้างเงื่อนไขให้เกิดการปะทะกันจนเกิดเหตุการณ์รุนแรงบานปลาย

อย่างที่นายขวัญชัย ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดร แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกาศพร้อมชนกับกลุ่ม เสธ.อ้ายและพันธมิตรฯหากมีการเคลื่อนไหวก๊อกสองเพื่อขับไล่รัฐบาล

อย่างไรก็ตาม วันนี้ประชาชนส่วนใหญ่ “ตาสว่าง” และต้องการเห็นบ้านเมืองสงบสุข ไม่ต้องการให้มีม็อบออกมาไม่ว่าจะสีอะไร รวมถึงการทำรัฐประหาร

ม็อบไม่ว่าสีอะไรก็ตาม หากทะเล่อทะล่าออกมาอย่างไม่มีเงื่อนไขและเหตุผลก็อาจเป็น “จุดดับ” ของม็อบเอง

เช่นเดียวกับทหารกลุ่มใดคิดจะทำ “รัฐ ประหาร” หรือ จะแช่แข็งไม่มีการเลือกตั้ง 5 ปี ก็คือ “จุดดับ” และ“จุดจบ” ประชาธิปไตยตลอดกาล!?

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข
*********************************************************************************

เสียงเรียกร้อง :ประวัติศาสตร์ !!?



รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุลมีแนวโน้มที่จะลงนามในเอกสารซึ่งอาจจะเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ไทย โดยหลังจากที่เจ้าหน้าที่จากศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) มาเยือนกรุงเทพมหานคร ในขณะนี้ รัฐบาลกำลังพิจารณาว่าจะประกาศยอมรับอำนาจพิจารณาคดีไอซีซีในกรณีอาชญากรรมต่อมนุษยชาติก่อขึ้นในประเทศไทยเดือนเมษายนและพฤษภาคม ปี 2553 หรือไม่ (ดูคำอธิบายเรื่องขั้นตอนไอซีซีได้ที่นี่) และนี่อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทยที่มากว่า 80 ปี

ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าว การให้อำนาจพิจารณาคดีไอซีซีต่อการทำร้ายที่เกิดในปี 2553 จะช่วยประกันว่าเหยื่อผู้ถูกลิดรอนชีวิต สิทธิ เสรีภาพ หรือสูญเสียบุลคลในครอบครัวจะได้รับความเป็นธรรมไม่เหมือนเหยื่อความรุนแรงของรัฐในอดีต ตอนนี้มีความเป็นไปได้อย่างแท้จริงว่าการปราบปรามประชาชนอย่างร้ายแรงถึงชีวิตของรัฐบาลในเดือนเมษายนและพฤษภาคม ปี 2553 จะได้รับการสอบสวนอย่างเหมาะสม และคนที่ก่ออาชญากรรมจะต้องรับผิด ซึ่งต่างจากการสังหารหมู่ในปี 2516, 2519 และ 2535

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของประเทศไทยที่มากกว่านั้นในฐานะประเทศคือ ตามที่ศ.ธงชัย วินิจฉกุลอธิบายในจดหมายถึงไอซีซีเมื่อหลายเดือนก่อน การสังหารหมู่พลเรือนเกิดขึ้นเป็นประจำในหลายทศวรรษ และด้วยเป้าหมายเดิม: คือเพื่อจะปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐานในการกำหนดชีวิตตนเองของประชาชนไทย ในทางตรงข้ามการปกปิดอาชญากรรมก่อขึ้นโดยรัฐในปี 2516, 2519 และ 2535 ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ลิดรอนประชาชนไทยจากสิทธิในการรับรู้ความจริงเท่านั้น แต่ยังเป็นการประกันว่าอาชญากรรมอันเลวร้ายจะเกิดขึ้นอีกอย่างแน่นอน

ระบบการทำผิดแล้วลอยนวลทำให้กลุ่มคนที่ไม่ยอมรับความชอบธรรมของกระบวนการทางประชาธิปไตยคุกคามรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทำรัฐประหาร และเมื่อใดก็ตามที่เผชิญกับฝ่ายตรงข้ามที่ได้รับความนิยม พวกเขาก็สังหารผู้ชุมนุมหลายราย  แม้ว่าการปราบปรามประชาชนของทหารจะไม่สำเร็จทุกครั้งไป แต่ ข้อเท็จจริงคือการที่เจ้าหน้าที่รัฐลอยนวลจากการสังหารประชาชนอยู่เสมอทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในวงจรอุบาทว์ของการเลือกตั้ง, รัฐประหาร และการสังหารหมู่มาเป็นเวลา 40 ปี

มีปัญหาว่าการลงนามนี้อาจทำประเทศไทยต้องกลับไปสู่วงจรเดิมอีก เพราะหลังจากจัดตั้งการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล นายทหารนอกราชการ พลเอกบุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ได้กล่าวกับสื่อมวลชนว่าไม่ได้อยากทำแค่รัฐประหารเท่านั้น แต่ต้องการให้จัดการกับฝ่ายตรงข้ามด้วย “การปิดประเทศ” เป็นเวลาหลายปี สันนิษฐานว่าอาจจะต้องปิดจนกระทั่งฝ่ายตรงข้ามรู้สึกหวาดกลัวอย่างมากหรือถูกทำให้หายไป ความเห็นเหล่านี้ยืนยันข้อเท็จจริงที่ว่าการยุติระบบการทำผิดแล้วลอยนวลเท่านั้นที่ความรุนแรงโดยรัฐหลายครั้งในอนาคตจะไม่เกิดขึ้น

การเข้ามาเกี่ยวข้องของไอซีซีให้โอกาสที่ดีที่สุดแก่ประเทศไทยอย่างไม่เคยมีมาในหลายทศวรรษที่ผ่านมาในการเป็นอิสระจากวงจรอุบาทว์นี้ การสอบสวนของไอซีซีไม่ใช่เพียงแค่จะทำให้เจ้าหน้าที่รัฐไทยเห็นว่าพวกเขาจะไม่ได้เสวยสุยจากระบบการทำผิดแล้วลอยนวลที่พวกเขาได้รับมาอย่างยาวนานอีกต่อไป แต่ทำให้ประชาคมโลกหันมาสนใจสถานการณ์ในประเทศไทย มีความเป็นไปได้อย่างมากว่าการเข้ามาเกี่ยวข้องของไอซีซีจะช่วยยับยั้งความพยายามในการล้มล้างประชาธิปไตยซึ่งเกิดขึ้นมาก่อน โดยมีการคาดหมายว่ากองทัพอาจปราบปรามกลุ่มคนที่กล้าหาญพอที่จะลุกขึ้นปกป้องประชาธิปไตยอย่างรุนแรง ในทางกลับกัน การกระทำของกลุ่มอำมาตย์ไทยในการขัดขวางกระบวนการทางประชาธิปไตยอาจสิ้นสุดลง เพราะพวกเขามักบังคับให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทำตามข้อเรียกร้องโดยการพึ่งพาคำข่มขู่แบบโดยนัยว่าจะมีการทำรัฐประหาร

การยอมรับอำนาจพิจารณาคดีของไอซีซีกรณีเหตุการณ์ในเดือนเมษายนและพฤษภาคม ปี 2553 ไม่ใช่การกระทำที่สุดโต่ง เพราะไอซีซีจะเข้ามาสอบสวนกลุ่มบุคคลที่ต้องรับผิดต่อการก่ออาชญากรรมโดยไม่คำนึงว่าจะเป็นสมาชิกรัฐบาล ฝ่ายตรงข้าม หรืออาจจะเป็น “มือที่สาม” เท่านั้น ซึ่งห่างไกลจากการทำให้ประเทศไทยเสื่อมเสียเกียรติ ตามที่ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติซึ่งล้มเหลวในการหาความจริงแนะนำเมื่อไม่นานมานี้ว่า การตัดสินใจที่จะยุติระบบการทำผิดแล้วลอยนวลอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนจะเป็นการยืนยันถึงความยึดมั่นในพันธกรณีที่มีต่อประชาคมโลกของประเทศไทย สิทธิพลเมืองและการต่อสู้พื่อประชาธิปไตยเป็นเวลา 80 ปี ภายใต้สถาวะแวดล้อมนี้ ไม่มีอะไรที่จะแสดงความรักชาติไปมากกว่าการตอบรับเสียงเรียกร้องแห่งประวัติศาสตร์นี้

Read more from โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันเสาร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

กิตติรัตน์ ลุยแยกยื่นภาษี เดินหน้าโครงสร้างภาษีขั้นบันได มั่นใจไม่กระทบจัดเก็บรายได้รัฐ !!?



โต้งลุยแยกยื่นภาษี เดินหน้าโครงสร้างภาษีขั้นบันได มั่นใจไม่กระทบจัดเก็บรายได้รัฐ


 เดินหน้าแยกยื่นภาษี "สามี-ภรรยา" ให้ทันปี 56 พร้อมปรับโครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดาเก็บแบบขั้นบันไดที่ 5-35 % มั่นใจกระทบจัดเก็บรายได้รัฐไม่มาก สั่งสรรพากรเร่งศึกษาลดหย่อนภาษี "บริจาคเพื่อการศึกษา-ค่าใช้จ่ายเพื่อการวิจัยพัฒนา" เพิ่มจาก 2 เท่าเป็น 3 เท่า

     นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยว่า การปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขแยกยื่นภาษีสามีภรรยา และศึกษาการปรับอัตราภาษีใหม่ที่ปัจจุบันอัตราการเสียภาษีอยู่ที่ 10-37% โดยมีผู้เสนอให้กรมสรรพากรปรับลดให้ต่ำลงกว่าเดิม เรื่องนี้ต้องพิจารณาว่า จะกระทบกับรายได้รัฐบาลมากน้อยแค่ไหน

     ส่วนความคืบหน้าในการแยกยื่นภาษีสามีและภรรยา นายกิตติรัตน์ ระบุว่า ขณะนี้รัฐบาลได้เร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในปีนี้ เพื่อให้มีผลทันที ในเดือนม.ค.56 ตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะทำไปพร้อมกับการปรับโครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดาที่จะมีการขยายฐานภาษีให้มีความถี่เพิ่มมากขึ้น จากปัจจุบันที่จัดเก็บอยู่ที่ 10% 20% และ 30% โดยอาจปรับเป็นขั้นบันไดที่ 5-35% โดยจะทำให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ ยอมรับว่ามีผลกระทบกับรายได้การจัดเก็บภาษีของรัฐบาลบ้างเล็กน้อย แต่ยืนยันว่าการปรับโครงสร้างภาษีใหม่ จะทำให้ผู้มีรายได้เสียภาษีน้อยลง และมีความเป็นธรรมมากขึ้น ทั้งนี้จะดำเนินการหารายได้ให้เพียงพอกับรายจ่ายของรัฐ โดยเฉพาะการจูงใจให้นิติบุคคลเข้ามาเสียภาษีให้ถูกต้องตามระบบ เพื่อให้มีรายได้มาชดเชยกับการปรับลดอัตราภาษี

     นอกจากนี้ ได้สั่งการกรมสรรพากรออกระเบียบเงื่อนไขให้บุคคลธรรมดาและภาคเอกชน บริจาคลดหย่อนเพื่อการศึกษาได้คล่องตัวมากขึ้น จากเดิมแม้ว่าจะกำหนดให้หัก 2 เท่าของเงินที่บริจาค แต่มีเงื่อนไขว่าต้องซื้ออุปกรณ์ศึกษาและวัสดุก่อสร้างสถานศึกษาเท่านั้น แต่สำหรับระเบียบใหม่จะเปิดให้บริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษาในรูปแบบใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องซื้อวัสดุอุปกรณ์เช่น บริจาคเงินให้ครูไปอบรมความรู้เพิ่มเติม ก็สามารถทำได้

     อย่างไรก็ตาม ยังให้กรมสรรพากรไปพิจารณาให้บริษัทเอกชนสามารถลดหย่อนภาษีค่าใช้จ่ายเพื่อการวิจัยพัฒนาได้เพิ่มขึ้น จาก 2 เท่า เป็น 3 เท่า รวมทั้งให้กำหนดสถาบันวิจัยและพัฒนาที่ชัดเจน สำหรับการบริจาคเงินเพื่อการวิจัย โดยแนวทางการลดหย่อนภาษีทั้ง 2 ตัว ให้กรมสรรพากรรีบดำเนินการให้แล้วเสร็จทันในต้นปี 2556


ที่มา.สยามรัฐ
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

มาร์ค เพี้ยน !!?


จิตใจคับแคบ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” มีความคิดดักดานเป็นไดโนเสาร์ ไม่เคยเปลี่ยน
“ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารชาติบ้านเมือง
 ภารกิจมุ่งมั่น ทำงานตัวเป็นเกลียว ให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ประเทศชาติรุ่งเรือง
 หน้าที่ประชุมสภาฯเป็น “ฐานะรอง”.. “โอกาสทอง” คือ รับใช้ประชาชนเต็มเวลา
 สภาฯ ต้องไปประชุมนั้นถูก..แต่เรื่องปลดทุกข์..สร้างสุขให้กับประชาชน สำคัญกว่า

++++++++++++++++++++++

 แค่ “เพื่อนกัน” แล้วจบ
 ชิชะ,ใช้อำนาจพิเศษ ให้เป็น “ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน” แบบนี้มันทำลายภาพพจน์
 ใส่ไคล้สาดโคลน “วรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี”บอสแบ็งค์สงเคราะห์ อาวุโสไม่ถึง
 ข้าง “ดร.ธัชพล กาญจนกูล” ลูกหม้อออมสิน ถูกโจมตี มีข้อหา ให้หึ่ง
“คุณชาติชาย พยุหนาวีชัย” จากเคแบ็งค์ จิกตีไม่ถึงระดับ ทั้งที่ผ่านมาตำแหน่งใหญ่มาสุดๆ
 เลือก “ผอ.ออมสิน”...แต่ยัดตำแหน่งให้เพื่อนกิน..คนจะนินทาไม่หยุด

+++++++++++++++++++++

 เขามาแน่..
ฉะนั้น,จึงต้องไล่ “รัฐบาลประชาธิปไตย”ให้ได้.. ไม่เช่นนั้น เห็นที “เผด็จการ” ต้องแพ้
 แต่ “ม๊อบสนามม้า” จะมาก็มาเถิด..แต่การจุดประการไฟให้เกิดการ “ปฏิวัติ”
ต้องล้มเหลว ไม่เข้าล็อคตามที่“เสธ.อ้าย” พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ เค้าจัด
 จ่าฝูงกองทัพบก “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยืนเคียงยืนข้าง “นายกฯปู”
และวันใดที่เกษียณ...อยากจะกราบเรียน..เขาจะเปลี่ยนมานั่งเก้าอี้ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์”โปรดรู้

+++++++++++++++++++++

 ไม่ใช่ “รัฐมนตรีป้ายแดง”
 “พงศ์เทพ เทพกาญจนา” รองนายกฯและ รมว.ศึกษาฯ อย่าให้คนตบตา ด้วยวิธีแผลงๆ
 เห็นแล้วแสลงหัวใจ การจัดพิมพ์ตำรา ของ “กศน”.ที่ไม่เข้าท่า
“ท่านประเสริฐ บุญเรือง” เลขาธิการ กศน. ทำงานไม่เข้าตา
 รู้ทั้งรู้ปีการศึกษา เปิดและปิดเมื่อไหร่..แต่พิมพ์ตำราไม่ทันซัก...ต้อง “จัดจ้างพิเศษ” โดยเฉพาะกลุ่มอีสาน ของ “ช.ย.”ได้งบพิเศษบาน เมื่อลูกชายคน “กศน.”ได้ลูกสาวมาเคียงคู่
 จ่ายใต้โต๊ะ ๔๐ เปอร์เซ็นต์...กินกันน้ำลายกระเซ็น...เห็นทีต้องให้ “ท่านพงศ์เพท”ปราบดู

+++++++++++++++++++++

“รัฐธรรมนูญ”ประชาชน
 เชียร์ “ท่านโภคิน พลกุล” ที่ลุยให้แก้ “รัฐธรรมนูญวาระ๓” กันสักหน
 เร่งดำเนินการด่วนจี๋ไปรษณีย์จ๋า ให้ลุล่วงใน ๓๐ วัน
 ปล่อยรัฐธรรมนูญเผด็จการ “หน้าแหลมฟันดำ”เอาไว้ เป็นอันตรายต่อรัฐบาล
 เดี๋ยวเหมือน “อดีตนายกฯสมัคร สุนทรเวช” และ “อดีตนายกฯสมชาย วงศ์สวัสดิ์” ที่ถูกอำนาจมือที่มองไม่เห็น “กุดหัว” จนยุบพรรค
 อย่าปล่อยให้มารครองเมือง...ใช้รัฐธรรมนูญก่อเรื่อง...มันเปลืองตัวต่อรัฐบาลยิ่งนัก

ที่มา.คอลัมน์ตอดนิดตอดหน่อย,บางกอกทูเดย์
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ข้อหากบฏ ตัดวงจรปฏิวัติ !!?


ยังไม่ได้รับหมายเรียก และคงไม่สามารถเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาได้ เพราะเห็นว่าเป็นการกลั่นแกล้ง...

เสียงปฏิเสธนิ่มๆจากแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นายสนธิ ลิ้มทองกุล

ปฏิเสธไม่ไปตามหมายเรียกของพนักงานสอบสวนกองปราบปราม ที่นัดวันที่ 7 พ.ย. ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา “ยุยงให้ราษฎรเป็นกบฏ ยุยงทหารให้ก่อการปฏิวัติ และแสดงความคิดเห็นไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ”

ไม่ได้ถูกออกหมายเรียกคนเดียว แต่ยังมี พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือ เสธ.อ้าย ประธานองค์การพิทักษ์สยาม ต้องไปรับทราบข้อกล่าวหาด้วย

การเรียก 2 แกนนำฝ่ายต้านรัฐบาลเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ที่ระบุว่า

ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ

(1) ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ

(2) ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ หรือ

(3) แบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร

ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต

การยุให้ทหารออกมายึดอำนาจ หรือการปลุกระดมมวลชนเพื่อทำการปฏิวัติประชาชน

ถือว่าเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 113 เพราะเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ

ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้

การยุยงให้ทหารปฏิวัติ หรือการทำปฏิวัติประชาชน ยังน่าจะเข้าข่ายกระทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ที่ระบุไว้ว่า

“บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้มิได้”
การเรียกร้องให้ทหารยึดอำนาจ ปลุกระดมทำปฏิวัติประชาชน

โดยมีเป้าหมายแช่แข็งประเทศ 5 ปี ไม่ต้องมีการเลือกตั้ง ตั้งรัฐบาลแห่งชาติขึ้นมาออกกฎกติกาประเทศใหม่ตามความต้องการ

น่าจะเข้าข่ายความผิดชัดเจนยิ่งกว่าเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตั้ง ส.ส.ร. ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ของพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล ที่ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้พิจารณาก่อนหน้านี้

แก้รัฐธรรมนูญมีกฎหมายรองรับ

แต่การยึดอำนาจ ตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ไม่มีกฎหมายรองรับ

การออกหมายเรียกผู้ที่มีความคิดอ่านไปในทางที่ไม่มีกฎหมายรองรับเพื่อให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา “กบฏ” ถือเป็นความท้าทายของผู้รักษากฎหมาย

จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานไม่ให้ใครออกมายุยงปลุกปั่นให้เกิดการยึดอำนาจเหมือนก่อนการยึดอำนาจเมื่อปี 2549

การประกาศว่าจะไม่ไปรับทราบข้อกล่าวหานับเป็นความท้าทายของผู้รักษากฎหมายว่าจะทำอย่างไรต่อไป

กล้าเดินต่อตามขั้นตอน คือออกหมายเรียกซ้ำหรือไม่ และหากไม่ไปจะกล้าออกหมายจับหรือไม่

แน่นอนว่าการแจ้งข้อกล่าวหายังไม่ถือว่าทำความผิดเพราะต้องต่อสู้คดีกันตามพยานหลักฐานที่แต่ละฝ่ายมี

แต่การดำเนินคดีคนที่โหยหาการปฏิวัติ โหยหาอำนาจนอกระบบ โหยหาวิธีการนอกรัฐธรรมนูญล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ถือเป็นมิติใหม่ที่จะใช้กฎหมายต่อต้านการปฏิวัติได้ในอนาคต

ที่มา.หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

AEC : เปิดเสรี 4 สาขา กระทบจ้างงานภายในประเทศ !!?




อนาคตเศรษฐกิจและแรงงานไทยภายใต้ประชาคมอาเซียน หวั่นเปิดเสรี 4 สาขา กระทบจ้างงานภายในประเทศ

กระทรวงแรงงาน สถาบันทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ และมูลนิธินิคม จันทรวิทุร ครั้งที่ 10 ประจำปี 2555 หัวข้อ"อนาคตเศรษฐกิจและแรงงานไทยภายใต้ประชาคมอาเซียน" เพื่อวิเคราะห์และวิจารณ์ถึงแนวความคิด ทิศทางระบบเศรษฐกิจไทย และผลกระทบของการดำเนินการทางเศรษฐกิจต่อการประกอบการ ในส่วนของแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวที่คาดว่าจะเกิดขึ้นทั้งมิติการทำงานและคุณภาพชีวิตแรงงาน

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ผลจากการเปิดประชาคมอาเซียนจะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในกลุ่มประชาคมรวมตัวเป็นตลาดเดียวกัน เพื่อสร้างฐานการผลิตเดียวกัน โดยกระทรวงแรงงานถูกจัดเป็น 1 ใน 9 กระทรวง รับผิดชอบงานด้านเศรษฐกิจ ซึ่งในส่วนของภาคแรงงานหลังจากเปิดประชาคมอาเซียน ได้มีข้อตกลงยอมรับการเคลื่อนย้ายอย่างเสรี ถึง 7 สาขาอาชีพ คือ วิศวกรรม พยาบาล สถาปัตยกรรม การสำรวจ แพทย์ ทันตแพทย์ และนักบัญชี จึงมีความกังวลว่าในอนาคตประเทศไทยอาจขาดแคลนแรงงาน ให้กับประเทศที่มีค่าตอบแทนสูงกว่า โดยเฉพาะประเทศสิงค์โปร์ และมาเลเซีย ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องเร่งปรับปรุงสถานการณ์การจ้างงานภายในประเทศให้มีความพร้อม เพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานในอนาคต

นายเผดิมชัย กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงแรงงานได้มีการขับเคลื่อนแนวทางพัฒนาคุณภาพแรงงาน โดยรวมกับกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชาการพลเรือน(ก.พ.) ดำเนินการพัฒนาสมรรถนะหลักเกี่ยวกับการทำงาน และสมรรถนะตามหน้าที่รับผิดชอบ รวมถึงพัฒนาทักษะด้านภาษาโดยเฉพาะภาษาอังกฤษ และภาษาประเทศอาเซียน โดยมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อเน้นคุณภาพแรงงานทั้งในและนอกระบบ เพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานไทยไปต่างประเทศ ให้ไปอย่างยุติธรรมและเหลือเงินกลับมา ทั้งนี้ในแต่ละปีแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศ ส่งเงินกลับมายังประเทศไทย กว่า 8 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นแรงงานในภาคการเกษตร ร้อยละ 40 ภาคบริการ ร้อยละ 40 และภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 20

ค่าแรงขั้นต่ำ 300 ป้องกันแรงงานไหลออกนอก

ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวปาฐกถาหัวข้ออนาคตเศรษฐกิจและแรงงานไทยภายใต้ประชาคมอาเซียน ว่า ในช่วง 10 ปีข้างหน้า หากประเทศไทยสามารถรักษาระดับการเติบโตให้อยู่ในระดับ 4-5 เปอร์เซ็นต์ จะทำให้ประเทศไทยมีความได้เปรียบและกลายเป็นศูนย์กลางตลาดในภูมิภาคอาเซียน แต่ปัญหาการกระจายรายได้และความไม่เป็นธรรมทางด้านเศรษฐกิจ ยังถือเป็นประเด็นสำคัญที่ฉุดการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ทางรัฐบาลได้แก้ปัญหาโดยการพลักดันนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เพื่อกระจายรายได้ไปยังกลุ่มแรงงานให้มากขึ้น

ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า แม้นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท จะมีผลกระทบต่อกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็ก ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับค่าแรงอย่างก้าวกระโดด แต่อย่างไรก็ตามถึงที่สุดแล้วการเพิ่มค่าแรงให้กับแรงงานก็ต้องทำอยู่ดี แต่ขณะเดียวกันทางรัฐบาลจะต้องมีมาตรการรองรับ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ เพราะผลจากการเปิดประชาคมอาเซียนจะทำให้ตลาดแรงงานกว้างมากขึ้น และการเคลื่อนย้ายแรงงานจะทำได้อย่างเสรี ดังนั้นถ้าค่าจ้างในประเทศไทยต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แรงงานไทยก็อาจย้ายออกไปทำงานนอกประเทศจนขาดแคลน

"โอกาสและความเสี่ยงของธุรกิจอุตสาหกรรมในมุมมองของนายจ้างมีหลายลักษณะ เช่น โอกาสที่มากขึ้นในการเลือกจ้างแรงงานที่มีคุณภาพ ทำให้อำนาจในการต่อรองแรงงานลดน้อยลงโดยเฉพาะในกลุ่มอาชีพที่สามารถเคลื่อนย้ายอย่างเสรี ขณะเดียวกันสถานประกอบการก็จะสามารถย้ายการผลิตไปใช้แรงงานที่สอดคล้องกับการผลิตมากกว่า เพราะหากมีการเปิดเสรีแรงงานอย่างเต็มที่จะส่งผลให้อัตราจ้างค่อยๆ ปรับลดลง แต่ในด้านความเสี่ยงของผู้ประกอบการ ประเด็นสำคัญคือนายจ้างอาจสูญเสียแรงงานที่มีคุณภาพให้กับประเทศอาเซียนที่จ่ายค่าตอบแทนสูงกว่า" ดร.อนุสรณ์ กล่าว

ประเทศพัฒนาแล้วกีดกันแรงงานระดับล่าง

ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วต่างต้องการให้ประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะการยกเลิกกฎเกณฑ์การจัดตั้งสาขาบริษัทต่างชาติ เช่น เรียกร้องให้ประเทศไทยยกเลิกกฎหมายห้ามต่างชาติถือหุ้นเกิน ร้อยละ 49 ในธุรกิจของไทย หรือกฎหมายถือครองที่ดิน แต่ขณะเดียวกันกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาต้องการให้ประเทศที่พัฒนาแล้วอนุญาตให้เข้าไปทำงานได้อย่างสะดวก เช่น แรงงานภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง และตัดเย็บ แต่ปรากฏว่าประเทศที่พัฒนาแล้วทำการต่อต้านอย่างเต็มที่ เพราะเกรงว่าแรงงานระดับล่างจะทะลักเข้าประเทศจนทำลายระบบสวัสดิการ ระบบเศรษฐกิจ และสังคมภายในประเทศ การค้าบริการรูปแบบเคลื่อนย้ายแรงงาน จึงมีมูลค่าเพียง ร้อยละ 1.4 ของการค้าบริการระหว่างประเทศทุกรูปแบบ แต่กลับกันการตั้งกิจการในต่างประเทศกลับมีมูลค่าสูงถึง ร้อยละ 56.3 ของมูลค่าบริการทั้งหมด

หวั่นเปิดเสรี 4 สาขา กระทบจ้างงานภายในประเทศ

นายยุทธนา สุระสมบัติพัฒนา ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงผลกระทบด้านแรงงานไทยเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ว่า นอกจากผลกระทบการเคลื่อนย้ายแรงงานในกลุ่มฝีมือ ทั้ง 7 อาชีพแล้วนั้น ผลกระทบทางอ้อมในระยะยาว กลุ่มสินค้า บริการ การลงทุน และเงินทุน ก็น่าจะส่งผลกระทบต่อแรงงานมากขึ้น เนื่องจากการเปิดเสรีใน 4 สาขา จะส่งผลให้รูปแบบการประกอบการในอาเซียนเปลี่ยนไป เช่น การเคลื่อนย้ายสินค้าเสรี ซึ่งจะส่งผลให้ภาษีนำเข้าและส่งออกสินค้าระหว่างประเทศลดลงจนถึงขึ้นไม่เก็บภาษี ทำให้ผู้ประกอบการที่เคยใช้วัตถุดิบภายในประเทศ เปลี่ยนไปสั่งซื้อสินค้าจากประเทศที่ราคาวัตถุดิบที่มีราคาถูกกว่าแทน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานภายในประเทศลดลง

นายยุทธนา กล่าวต่อว่า ส่วนการเปิดเสรีการลงทุนและเงินลงทุน อาจส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า ซึ่งจะกระทบต่อการจ้างงานภายในประเทศเช่นเดียวกัน จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นจนกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของแรงงานภายในประเทศ ทั้งนี้ผู้ประกอบการในประเทศไทยจะต้องปรับเปลี่ยนการจ้างงาน จากเดิมที่เน้นจ้างแรงงานไร้ฝีมือราคาถูก ไปเป็นการประกอบการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและแรงงานฝีมือ เพราะจะช่วยให้สามารถสร้างมูลค่าได้สูงกว่าการประกอบการแบบเดิม

แนะเอสเอ็มอีพัฒนาศักยภาพการผลิต

ดร.วีระชัย กู้ประเสริฐ กรรมการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการเปิดประชาคมอาเซียน ทำขึ้นเพื่อปรับตลาดและปรับฐานการผลิตร่วมกันในภูมิภาค ดังนั้นทั้งตลาดสินค้าและบริการจะมีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งถึงเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการในประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ยกตัวอย่างเช่น การแปรรูปส่งออกอาหารฮาลาลให้กับประเทศมุสลิม หากว่าประเทศไทยมีความสามารถผลิตอาหารมุสลิมป้อนตลาดก็จะถือเป็นโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบที่มีอยู่ นอกจากนี้ประเทศกลุ่มอาเซียนไม่ได้หมายถึงเฉพาะแค่ 10 ประเทศในภูมิภาคเท่านั้น เพราะยังมีอาเซียน+3 +6 จึงอยากให้มองเป็นโอกาส โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็ก ทำการพัฒนาสินค้าและศักยภาพการผลิต

"ประเทศไทยก็ยังมีความได้เปรียบด้านการท่องเที่ยว ในแต่ละปีสามารถนำเงินเข้าประเทศไทยได้มากมาย ขณะเดียวกันในยุคนี้เป็นยุคเศรษฐกิจแบบฐานความรู้ ความด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและงานวิจัยจะถูกนำมาใช้มากขึ้น โดยนำมาต่อยอดเพื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ โดยในขณะนี้ประเทศไทยก็ได้มีสถาบันส่งเสริมวิชาชีพ เพื่อยกระดับมาตรฐานแรงงาน เพราะคุณภาพของแรงงานจะเป็นตัวสะท้อนค่าจ้าง ยิ่งมีทักษะความสามารถสูงก็จะยิ่งได้ค่าแรงสูงตามไปด้วย" ดร.วีระชัย กล่าว

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ทำความเข้าใจเรื่องคำร้องไอซีซีกรณีประเทศไทย !!


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุลจะเข้าพบหัวหน้าอัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) มาดามฟาทู เบนซูดาในวันนี้ ( 1 พ.ย.) เพื่อพูดคุยเรื่องความเป็นไปได้ในการเปิดการสอบสวนกรณีเหตุการณ์การชุมนุมในเดือนเมษายนและพฤษภาคม ปี 2553

รายละเอียดข้างล่างคือคำถามที่มีการถามกันบ่อยครั้งเกี่ยวความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะขยายเขตอำนาจพิจารณาคดีของไอซีซี

คำถามที่ถามบ่อยครั้ง

คำถาม: ไอซีซีคืออะไรและทำไมอัยการถึงมาประเทศไทย?
คำตอบ: ไอซีซีตั้งอยู่ ณ กรุงเฮก และจัดตั้งโดยสนธิสัญญาที่เรียกว่าธรรมนูญแห่งกรุงโรม ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามแต่มิได้ให้สัตยาบัณดังนั้นประเทศไทยจึงมิใช่ภาคีต่อสนธิสัญญาดังกล่าว
ทนายความนปช. นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัมยื่นคำร้องต่ออัยการไอซีซีเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2554 โดยร้องขอให้ไอซีซีเปิดการสอบสวนเบื้องต้นในกรณีเหตุการณ์ชุมนุมที่เกิดขึ้นในประเทศไทยระหว่างเดือนเมษายนและพฤษภาคม พ.ศ. 2553 ซึ่งมีพลเรือน 98 รายถูกสังหารและถูกทำร้ายกว่า 2,000 รายโดยกองทัพไทย

คำร้องระบุว่ามีการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติต่อผู้ชุมนุมที่เป็นพลเรือน และะในคำร้องเกี่ยวกับประเทศไทยได้กล่าวถึงการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติเท่านั้น โดยไม่มีหลักพื้นฐานใดที่กล่าวถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธ์หรืออาชญากรรมสงคราม

คำถาม:เมื่อประเทศไทยมิใช่ภาคีของสนธิสัญญาก่อตั้งไอซีซีแล้ว ไอซีซีจะสอบสวนกรณีการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่อ้างถึงและเกิดขึ้นในประเทศไทยได้อย่างไร?
คำตอบ: ในกรณีนี้ อำนาจพิจารณาของไอซีซีสามารถจัดตั้งขึ้นได้สองประการ
ประการแรก ไอซีซีสามารถใช้อำนาจพิจารณาคดีเหนือบุคคลต่อนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะภายใต้มาตรา 12.2(b) ของธรรมนูญโรม เนื่องจากเขาเป็นพลเมืองอังกฤษ ซึ่งเป็นภาคีกับไอซีซี

ประการที่สอง มาตรา 12.3 ได้ให้อำนาจรัฐที่มิได้เป็นภาคีกับไอซีซี อย่างเช่นประเทศไทย ให้ทำการยอมรับอำนาจพิจารณาคดีของไอซีซีบนหลักการของการยอมรับให้ไอซีซีพิจารณาเป็นเฉพาะคดีไป โดยการประกาศยอมรับอำนาจของไอซีซี ขณะนี้รัฐบาลไทยกำลังพิจารณาว่าจะประกาศยอมรับอำนาจของไอซีซีเพื่อให้ไอซีซีทำการการสอบสวนกรณีการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่กล่วงอ้างในปี 2553 หรือไม่

คำถาม:คำประกาศดังกล่าวเป็นการกล่าวหาผู้ใดว่ากระทำอาชญากรรมหรือไม่?
คำตอบ: ไม่ใช่ มันเป็นเพียงการอนุญาตให้ไอซีซีเข้ามาพิจารณาว่ามีใครหรือกลุ่มบุคคลใดบ่างที่ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาตินับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2553 หรือไม่เท่านั้น

คำถาม: คำประกาศดังกล่าวเป็นการส่งต่อความรับผิดชอบให้แก่ไอซีซีในการสอบสวนอาชญากรรมต่อมนุษยชาติใช่หรือไม่?
คำตอบ: ไม่ใช่ ประเทศไทยจะยังคงต้องรับผิดชอบเป็นลำดับแรกในการสอบสวน และหากเหมาะสม ต้องดำเนินคดีต่อคนที่ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ไอซีซีสามารถสอบสวนหรือดำเนินคดีหากเจ้าหน้าที่รัฐไทยไม่สามารถหรือไม่เต็มใจที่จะทำเช่นนั้นเท่านั้น

คำถาม: แล้วหากเป็นเช่นนั้น เหตุใดจึงต้องยอมรับอำนาจพิจารณาคดีของไอซีซีต่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่กล่าวอ้าง?
คำตอบ: คำประกาศดังกล่าวทำให้อัยการไอซีซีสามารถเปิดการตรวจสอบเบื้องต้นได้ การตรวจสอบดังกล่าวทำให้อัยการสามารถเข้าร่วมกับกระบวนการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่รัฐไทยเกี่ยวกับความคืบหน้าของการสอบสวนและดำเนินคดีในประเทศไทยหากอัยการสรุปว่าความยุติธรรมไม่ได้บังเกิดขึ้นในประเทศไทย อัยการสามารถเข้ามาดำเนินการได้

คำถาม: ดังนั้นอัยการสามารถสอบสวนและดำเนินคดีต่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่กล่าวอ้างได้หรือไม่?
คำตอบ: อัยการสามารถเปิดการสอบสวนเต็มขั้นได้ในสองกรณีเท่านั้น
กรณีแรก อัยการต้องแจ้งต่อประเทศไทยถึงเจตจำนงค์ในการเปิดการสอบสวนเบื้องต้น ประเทศไทยมีเวลาหนึ่งในการตอบรับ ประเทศไทยสามารถเลือกที่จะยอมให้อัยการเข้ามาทำการสอบสวน อีกทางเลือกหนึ่งคือ ประเทศไทยสามารถปฏิเสธและยืนยันสิทธิของเจ้าหน้าที่รัฐไทยในการสอบสวนคดีดังกล่าวก็ได้ ทำให้อัยการไอซีซีไม่มีอำนาจเปิดการสอบสวนแบบเต็มขั้น นอกเสียจากว่า อัยการจะได้รับอนุญาติจากผู้พิพากษาไอซีซี อัยการต้องพิสูจน์ให้ผู้พิพากษาเห็นว่า การสอบสวนในประเทศไทยไม่ได้เป็นไปในแนวทางเพื่อแสวงหาความยุติธรรม ประเทศไทยจะได้รับโอกาสชี้แจงต่อผู้พิพากษาไอซีซีสามคนเพื่อนำเสนอเหตุผลในการปฏิเสธ หากผู้พิพากษาตัดสินตามคำร้องขอของอัยการไอซีซี ประเทศไทยสามารถอุทธรณ์ต่อองค์คณะของผู้พิพากษาชั้นอุทรณ์ของไอซีซี
กรณีที่สอง แม้ประเทศไทยจะไม่ปฏิเสธ อัยการไอซีซียังไม่สามารถเปิดการสอบสวนแบบเต็มขั้นได้ นอกจากอัยการจะได้รับความเห็นชอบจากองค์คณะผู้พิพากษาไอซีซีสามคนเสียก่อน หากไม่มีความเห็นชอบดังกล่าว อัยการสามารถเปิดทำการตรวจสอบเบื้องต้นได้เท่านั้น
โดยสรุปคือ การประกาศยอมรับอำนาจศาลไอซีซีของรัฐบาลภายใต้มาตรา 12.3 เป็นเพียงการเปิดประตูให้กับกระบวนการการพูดคุยอย่างต่อเนื่องระหว่างประเทศไทยและไอซีซีเท่านั้น มันเป็นเพียงแค่การเริ่มต้น ไม่ใช่จุดจบ

คำถาม: อะไรคือการตรวจสอบเบื้องต้น?
คำตอบ: การตรวจสอบเบื้องต้นคือก้าวแรกที่ออกแบบมาเพื่อกำหนดว่าอัยการไอซีซีควรขอความเห็นชอบจากผู้พิพากษาไอซีซีก่อนว่าจะเปิดการสอบสวนแบบเต็มขั้นหรือไม่ ในการตรวจสอบเบื้องต้น อัยการไอซีซีสามารถพิจารณาติดตามความคืบหน้าการสอบสวนและการดำเนินคดีในประเทศไทย อัยการสามารถทำการไต่สวนอย่างจำกัดว่าอาชญากรรมต่อมนุษยชาติเกิดขึ้นจริงหรือไม่ การตรวจสอบเบื้องต้นจะไม่แทรกแซงการสอบสวนหรือดำเนินคดีอาชญากรรมในประเทศไทย กระบวนการในไทยสามารถเดินหน้าไปได้ในเวลาเดียวกัน

คำถาม: หากรัฐบาลไทยประกาศยอมรับอำนาจพิจารณาคดีของศาลไอซีซี อัยการจะเปิดการตรวจสอบเบื้องต้นหรือไม่?
คำตอบ: อัยการจะต้องเป็นผู้ตัดสินเอง อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยยอมรับอำนาจพิจารณาคดีของศาลไอซีซี เราเข้าใจว่าอัยการจะเปิดการตรวจสอบเบื้องต้นต่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่กล่าวอ้างอันเกิดขึ้นในปี 2553

คำถาม: อัยการไอซีซีสามารถทำอะไรได้บ้างในการตรวจสอบเบื้องต้น?
คำตอบ: อัยการสามารถวิเคราะห์ข้อมูลที่ส่งให้อัยการโดยสมัครใจ อัยการสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมบนพื้นฐานของความสมัครใจจากรัฐบาลไทยหรือรัฐบาลต่างชาติ จากองค์กรสหประชาชาติ และจากองค์กรเอกชน หรือองค์กรรัฐบาลสากล นอกจากนี้ อัยการสามารถรับคำให้การที่เสนอให้โดยความสมัตรใจในกรุงเฮก และจากข้อมูลทั้งหมดนี้ อัยการสามารถตัดสินว่ามีหลักพื้นฐานอันสมเหตุสมผลที่จะเปิดการสอบสวนอย่างเต็มขั้นหรือไม่

คำถาม: อัยการไม่มีอำนาจทำอะไรในการตรวจสอบเบื้องต้น?
คำตอบ: ในการตรวจสอบเบื้องต้น อัยการไอซีซีไม่สามารถเรียกร้องให้รัฐบาลส่งตัวพยาน และไม่สามารถสัมภาษณ์หรือทำการสอบสวนในประเทศไทยได้ หากอัยการเชื่อว่า การกระทำดังกล่าวมีความจำเป็น อัยการต้องแจ้งให้ประเทศไทยทราบและขอความเห็นชอบจากผู้พิพากษาไอซีซีให้เปิดการสอบสวนแบบเต็มขั้นตามที่อธิบายในข้างต้น

คำถาม:การตรวจสอบเบื้องต้นใช้เวลานานเท่าไร?
คำตอบ: ไม่มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน อาจใช้เวลาหลายเดือน หากอัยการไอซีซีตัดสินว่าจะให้รัฐไทยทำการสอบสวนดังกล่าวเอง อาจต้องใช้เวลาหลายปี

คำถาม: เป็นไปได้หรือไม่ที่อัยการไอซีซีอาจไม่ร้องขอให้เปิดการสอบสวนแบบเต็มขั้น?
คำตอบ: เป็นไปได้ หากเกิดความยุติธรรมขึ้นในประเทศไทยแล้ว เพราะไม่มีความจำเป็นที่อัยการไอซีซีจะต้องร้องขอให้มีการเปิดการสอบสวนแบบเต็มขั้น

คำถาม: หากอัยการร้องขอให้เปิดการสอบสวนอย่างเต็มขั้น และสรุปว่ามีผู้ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติขึ้น อัยการสามารถแจ้งข้อหาทางอาญาต่อบุคคลเหล่านั้นได้หรือไม่?
คำตอบ: ไม่ได้ ขั้นแรกเลยอัยการต้องขอความเห็นชอบจากผู้พิพากษาไอซีซีเสียก่อน ผู้ที่ถูกกล่าวหาและรัฐบาลไทยจะได้รับโอกาสชี้แจงและปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวต่อศาล หากผู้พิพากษาไอซีซีสามคนตัดสินว่าคำปฏิเสธนั้นฟังไม่ขึ้น พวกเขาสามารถอุทรณ์ต่อองค์คณะผู้พิพากษาอุทรณ์ไอซีซีห้าคนได้

คำถาม: หากผู้พิพาพากษาไอซีซีเห็นชอบให้อัยการแจ้งข้อหาได้ อัยการสามารถสั่งจับกุมบุคคลนั้นได้หรือไม่?
คำตอบ: ไม่ได้ มีเพียงผู้พิพากษาไอซีซีเท่านั้นที่สามารถสั่งให้จับกุมบุคคลที่ถูกกล่าวหาได้

คำถาม: หากผู้พิพากษาไอซีซีออกหมายจับ ประเทศไทยจะต้องจับกุมและส่งตัวบุคคลที่ถูกกล่าวหาให้ไอซีซีใช่หรือไม่?
คำตอบ: ใช่เพราะตามข้อตกลงทางตุลาการ โดยการประกาศว่าจะยอมรับอำนาจพิจารณาคดีของไอซีซีต่อกรณีอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ประเทศไทยจึงยอมรับที่จะให้ความร่วมมือกับไอซีซี อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ถูกจับกุมมีสิทธิที่จะโต้แย้งเรื่องความชอบด้วยกฎหมายของการจับกุมนั้นต่อศาลไทยเป็นลำดับแรก และหลังจากนั้นต่อผู้พิพากษาไอซีซี หลังจากที่เขาถูกส่งตัวไปยังกรุงเฮกแล้ว

คำถาม: การดำเนินคดีของไอซีซีจะเป็นไปอย่างยุติธรรมหรือไม่?
คำตอบ: มีความเป็นธรรม เพราะผู้พิพากษาไอซีซีเป็นผู้เชี่ยวชาญอิสระทางกฎหมายอาญาและกฎหมายระหว่างประเทศ เลือกโดยรัฐบาลจากประเทศมากกว่า 120 ประเทศที่เป็นภาคีกับไอซีซี ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิที่จะแก้ต่างต่อศาลไอซีซีโดยใช้ทนายของตนเอง และจะได้รับความเป็นธรรมในสิทธิการพิจารณาคดีซึ่งกฎหมายระหว่างประเทศให้การยอมรับ ผู้ถูกกล่าวหาทุกรายจะถูกสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ พวกเขาจะไม่ถูกตัดสินว่ามีความผิดได้นอกจากจะมีการพิสูจน์ว่าพวกเขากระทำผิดอย่างแน่แท้ และหากถูกตัดสินว่ามีความผิด ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิที่จะอุทรณ์ต่อองค์คณะผู้พิพากษาอุทรณ์ไอซีซีห้าคน

คำถาม: รัฐบาลไทยต้องได้รับความเห็นชอบจากพระมหากษัตริย์หรือรัฐสภาเพื่อที่จะประกาศยอมรับอำนาจพิจารณาของไอซีซีต่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติในปี 2553 หรือไม่?
คำตอบ: ไม่จำเป็นเพราะภายใต้มาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญไทยระบุว่า การลงนามในสนธิสัญญาทุกอย่างต้องได้รัความเห็นชอบจากพระมหากษัตริย์ และการลงนามในสนธิสัญญาบางประเภทต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐสภา อย่างไรก็ตาม การประกาศยอมรับอำนาจพิจารณาคดีของรัฐบาลไทยในกรณีชั่วคราวตามมาตรา 12.3 แห่งธรรมนูญกรุงโรมไม่ใช่สนธิสัญญา ตามคำนิยามคือ สนธิสัญญาเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับสัญญาสองฝ่ายหรือหลายฝ่ายระหว่างประเทศไทยกับคู่สัญญาหรือคณะสัญญาอื่น สนธิสัญญาจะมีผลทางกฎหมายต่อเมื่อหลังจากที่บุคคลอย่างน้อยสองฝ่ายตกลงที่จะยอมรับข้อผูกพันธ์ทางกฎหมาย
ในทางตรงข้าม การประกาศตามมาตรา 12.3 เป็นการกระทำฝ่ายเดียวโดยประเทศไทย การประกาศมีผลทางกฎหมายทันทีเมื่อประเทศไทยประกาศแจ้งต่อไอซีซี ไม่จำเป็นต้องได้รับการตอบตกลงจากไอซีซีเพื่อให้การกระทำดังกล่าวมีผลทางกฎหมาย คำประกาศไม่ใช่สัญญา แต่เป็นการกระทำใช้อำนาจทางอธิปไตยของประเทศไทย เนื่องจากไม่ใช่สนธิสัญญา จึงไม่ต้องดำเนินตามขั้นตอนในมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญไทย และไม่จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากพระมหากษัตริย์หรือรัฐสภา

คำถาม: การประกาศภายใต้มาตรา 12.3 จะทำให้มีการแก้ไขกฎหมายไทยฉบับใดหรือไม่?
คำตอบ: ยังไม่ต้องในขั้นตอนนี้ และบางทีอาจไม่จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายฉบับใดเลยก็ได้ รัฐบาลสามารถยอมรับคำประกาศตามมาตรา 12.3โดยไม่ต้องออกกฎหมายใหม่ หากอัยการไอซีซีตัดสินใจที่จะเปิดการตรวจสอบเบื้องต้น และเราเชื่อว่าอัยการจะทำเช่นนั้น ในขั้นตอนนี้ยังไม่ต้องมีการออกกฎหมายใหม่เช่นกัน แต่อาจต้องมีการการแก้ไขกฎหมายไทยบางฉบับเท่านั้นหากไอซีซีตัดสินใจที่จะเปิดการสอบสวนแบบเต็มขั้น ซึ่งอย่างอาจต้องใช้เวลาเป็นเดือนหรือหลายปีนับจากนี้ไป

คำถาม: ไอซีซีทำให้พระมหากษัตริย์ตกอยู่ในภัยอันตรายหรือไม่?
คำตอบ: ไม่ ไม่โอกาสที่ไอซีซีจะดำเนินคดีต่อพระมหากษัตริย์ได้เลย

Read more from โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ลาวแซงไทยใช้4Gใครตัวถ่วงพัฒนาชาติ

ลาวเปิดใช้ 4G เทคโนโลยี Long Term Evolution เป็น 4G ระบบที่ 2 หลังจากรัฐวิสาหกิจลาวเทเลคอมทดลองเปิดให้บริการระบบ 4G WiMAX เมื่อเดือน ก.ย. ปีที่แล้ว ในนครเวียงจันทน์
ข่าวดีของคนลาวที่ทำให้คนไทยปวดตับ

บ้านเรายังเถียงกันเรื่อง 3G ไม่จบ ยังไม่รู้อนาคตว่าจะได้ใช้เมื่อไร ทั้งที่เปิดประมูลแล้วและบริษัทที่ประมูลจ่ายเงินมัดจำไปแล้วครึ่งหนึ่ง

ลาวใช้ 3G มาหลายปีแล้ว และ 4G ที่เร็วกว่า 3G ถึง 5 เท่าจะขยายไปยังเมืองและแขวงทั่วประเทศภายในสิ้นปีนี้หรืออย่างช้าต้นปีหน้า

คงได้เห็นภาพหนุ่มสาวไทยไปนั่งริมโขงเพื่อแจมขอใช้ 4G ของเพื่อนบ้านซ้ำรอย 3G ที่เย็นลงมีคนไปนั่งกดโทรศัพท์แถวริมโขงจำนวนมาก

นั่นคือการพัฒนาด้านเทคโนโลยีของเพื่อนบ้านอย่างลาวที่คนไทยเคยเย้ยหยันว่าด้อยกว่าเรา แต่กลับแซงรุดหน้าไปไกลจนทำให้คนไทยอายแทบแทรกแผ่นดิน

หันไปมองทางฝั่งพม่า ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ประกาศแผนพัฒนาประเทศระยะ 2 หลังปฏิรูปการเมือง เน้นพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเพื่อปากท้องประชาชน

ตั้งเป้าที่จะสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้ได้เฉลี่ยร้อยละ 7.7 ต่อปี ตลอดระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป

พม่าเลิกทะเลาะกันทางการเมือง เลิกแย่งชิงอำนาจ หันมาจับมือกันพัฒนาประเทศเพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดี

แม้แต่กัมพูชาก็มุ่งพัฒนาประเทศทุกด้านเพื่อนำความอยู่ดีมีสุขมาให้ประชาชน และหากขุดน้ำมัน ก๊าซ ที่มีอยู่มากมายขึ้นมาใช้ได้เมื่อไร

เชื่อได้ว่าจะพัฒนาไปได้อีกไกล มีโอกาสแซงหน้าไทยได้ไม่ยาก
ขณะที่เวียดนามซึ่งเคยด้อยกว่าไทย แต่วันนี้พัฒนาตัวเองขึ้นมาเป็นคู่แข่งกับไทยเกือบทุกด้าน
ทุกประเทศรีบแต่งตัวพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ในปี 2558

นับจากวันนี้เหลืออีกแค่ 2 ปี แล้วไทยกำลังทำอะไร
ประเทศไทยหยุดชะงักมานานกว่า 6 ปี หลังการรัฐประหารเมื่อปี 2549 วนเวียนอยู่กับการประท้วงเพื่อขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ไม่ถูกใจผู้มีบารมี มีอำนาจนอกระบบ
ขับไล่ทุกวิถีทางโดยไม่คำนึงถึงวิธีการ ไม่สนใจกฎหมาย จริยธรรม คุณธรรม
ขอเพียงไล่รัฐบาลที่ประชาชนเลือกมาให้พ้นจากอำนาจได้อะไรก็ยอมทำ แล้วใช้อำนาจพิเศษคอยให้การช่วยเหลือกันภายหลังในเรื่องคดีความ

ดังที่เห็นว่าถึงวันนี้ยังไม่มีใครติดคุกจากการปิดสนามบิน ยึดทำเนียบรัฐบาล ปิดล้อมรัฐสภาเพื่อไม่ให้ตัวแทนประชาชนได้ทำหน้าที่

เสียเวลาพัฒนาประเทศไป 6 ปี จนประเทศเพื่อนบ้านที่เคยล้าหลังกว่าไทยพัฒนาไล่หลังขึ้นมาในบางเรื่อง

พัฒนาขึ้นมาเท่าเทียมในบางด้าน และล้ำหน้ากว่าไทยไปหลายด้าน
กัมพูชา เวียดนาม ลาว พัฒนาประเทศได้เพราะการเมืองนิ่ง ไม่มีปัญหาขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ ไม่มีอำนาจพิเศษ ผู้มีบารมีนอกระบบ แทรกแซงการตัดสินใจของประชาชนเลือกตัวแทนเข้ามาทำหน้าที่

พม่าก็คิดได้ว่าหากยังขัดแย้งกันอยู่จะกลายเป็นประเทศล้าหลังที่สุดในโลก 2 ฝ่ายที่เคยขัดแข้งขัดขา แย่งชิงอำนาจ ก็หันมาจับมือปฏิรูปการเมืองแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ไม่มีใครได้คืบเอาศอก ได้ศอกเอาวา
ทำให้ประเทศกำลังพัฒนารุดหน้าไปทุกด้าน

แต่ไทยกลับหยุดนิ่ง เพราะมีคนคอยขัดแข้งขัดขารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนไม่ให้ทำงานได้ตามนโยบายที่ประกาศไว้
ค้านทุกเรื่อง ขัดขวางทุกนโยบาย

วันนี้การเมืองก็วนมาสู่จุดเดิมคือ ปลุกม็อบขึ้นมาขับไล่รัฐบาล มีเป้าหมายแช่แข็งประเทศ 5 ปี ให้พวกตัวเองเข้ามาวางกฎกติกาใหม่ตามที่ต้องการที่สุดโต่งยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
คนกลุ่มนี้ไม่สนใจว่าโลกจะพัฒนาไปไกลแค่ไหน

ไม่เคยหันมามองว่าเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา เวียดนาม พม่า ลาว พัฒนาตัวเองขึ้นมามากเพียงใด
ไม่สนใจว่าไทยจะเป็นตัวถ่วงของอาเซียนหลังการรวมกลุ่ม AEC ในปี 2558 หรือไม่ จะเสียโอกาสเก็บเกี่ยวผลประโยน์จากการรวมกลุ่ม AEC อย่างไร

ผู้มีอำนาจทั้งหลายอาจไม่แคร์ เพราะอยู่บนกองเงินกองทอง ไม่ได้รับผลกระทบอะไร แต่ควรเห็นใจประชาชนที่จะได้รับผลกระทบต่อการดำรงชีวิต

วันนี้ฉุดประเทศหยุดอยู่กับที่จนลาวแซงหน้ามี 4G ใช้แล้ว
ถ้ายังไม่กลับใจเลิกก่อม็อบ เลิกใช้อำนาจนอกระบบ แล้วหันมาตรวจสอบกันตามระบบ ตามกติกา
ในอนาคตข้างหน้าคนไทยต้องอับอายขายหน้ายิ่งกว่าถูกลาวแซงหน้าใช้ 4G

ที่มา.หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

หนุนตีความคุณสมบัติ วราเทพ !!?

จากกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์จะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความคุณสมบัตินายวราเทพ รัตนากร ที่อาจขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีเพราะถูกศาลสั่งจำคุกแต่ให้รอลงอาญา 2 ปี ในคดีหวยบนดิน

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า เรื่องแง่มุมกฎหมายคิดเห็นต่างกันเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าจะส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความก็ส่งได้ ไม่ควรวิจารณ์ให้สังคมสับสน

“นักกฎหมายมีมุมมองต่างกันเป็นเรื่องปรกติ ควรให้ศาลตัดสิน คนอื่นอาจมองว่านายวราเทพขาดคุณสมบัติ แต่ผมมองว่าไม่ขาด ส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์ระบุว่าอาจส่งผลให้ยุบพรรคเพื่อไทยได้นั้นก็พูดไปเรื่อย เพราะจ้องแต่จะยุบพรรค”
ที่บ้านพักย่านซอยวัชรพลของนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคนเสื้อแดง มีคนเสื้อแดงจากจังหวัดพิษณุโลกเดินทางมาให้กำลังใจที่พลาดจากเก้าอี้รัฐมนตรี

นายบุญเลิศ เรืองทิม ตัวแทนคนเสื้อแดง กล่าวว่า การที่นายจตุพรไม่ได้ตำแหน่งทำให้คนเสื้อแดงมีความรู้สึกบ้างเพราะร่วมต่อสู้กันมา อย่างไรก็ตาม ถึงไม่มีตำแหน่งแต่ก็ได้ใจคนเสื้อแดง
ด้านนายจตุพรกล่าวกับผู้มาให้กำลังใจว่า อยากให้ทุกคนลืมเรื่องนี้ เพราะไม่ได้ต้องการตำแหน่งอะไรนอกจากการเป็นคนเสื้อแดง

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์นิตยสารฟอร์บส์ว่า ได้รับทรัพย์สินที่ถูกอายัด 30,703 ล้านบาทคืนแล้ว ซึ่งช่วยเพิ่มความมั่งคั่งให้ได้เป็นอย่างมาก

“ผมยังมีชีวิตอยู่เพื่อต่อสู้กับความอยุติธรรม และต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ขาดความถูกต้องชอบธรรม ผมได้พูดคุยกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สัปดาห์ละหลายครั้ง ส่วนมากเป็นการคุยเรื่องภายในครอบครัว ส่วนเรื่องงานหากมีประเด็นร้อนจะคุยกันบ่อยขึ้น เพราะผมรู้จักผู้คน รู้กฎหมาย และรู้เรื่องระหว่างประเทศมากกว่า น้องของผมยังใหม่ต่อเรื่องเหล่านี้ และเมื่อใดก็ตามที่เธอโทรศัพท์มาหาเพื่อขอคำแนะนำ ผมก็สามารถช่วยเธอได้ในทันที” พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวและว่า ได้ให้คำปรึกษาด้านนโยบายหลายเรื่องที่รัฐบาลไทยนำไปใช้ในขณะนี้

ที่มา.หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++