--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ศาล รธน.ยันกฎหมายให้อำนาจสั่งรัฐสภานัดชี้ขาดกลาง ก.ค. !!!?

ประธานศาลรัฐธรรมนูญยืนยันไม่ได้ทำอะไรนอกเหนือกฎหมายให้อำนาจ ย้ำเรื่องใหญ่โตถึงขั้นพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินปล่อยให้อัยการพิจารณาฝ่ายเดียวไม่ได้ รออีก 1 เดือนไม่มีอะไรเสียหาย อัดพวกโจมตีลุแก่อำนาจจินตนาการไปเอง ด้านฝ่ายกฎหมายสภายืนยันคำสั่งให้ชะลอการลงมติแก้รัฐธรรมนูญวาระ 3 ไม่มีผลผูกพันต่อสภา เพราะไม่ถือเป็นคำวินิจฉัยตามกฎหมาย ส.ส.เพื่อไทย 100 คนเข้าชื่อยื่นถอดถอน 8 ตุลาการ เสื้อแดงนัดชุมนุมหน้าสภาวันที่ 7-8 มิ.ย. ด้านประชาธิปัตย์กังวลลักไก่ลงมติแม้ไม่มีในระเบียบวาระการประชุมวันที่ 8 มิ.ย.

++++++++++++

ที่รัฐสภา นายพิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานและเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของประธานรัฐสภา แถลงว่า คณะกรรมการได้เสนอความเห็นต่อประธานสภากรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ชะลอการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3ใน 6 ข้อ ประกอบด้วย 1.การที่รัฐสภาจะผูกพันต้องปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำวินิจฉัยใดขององค์กรใดต้องมีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งให้ผูกพันหรือปฏิบัติตาม

ยังไม่ใช่คำวินิจฉัย

2.มาตรา 216 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเด็ดขาดมีผลผูกพันรัฐสภา โดยคำวินิจฉัยนั้นต้องทำโดยองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่า 5 คน ซึ่งผู้เป็นองค์คณะทุกคนต้องทำความเห็นในคำวินิจฉัยในส่วนตน และประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ได้ปรากฏว่ามีลักษณะตามมาตรา 216 ไม่ถือเป็นคำวินิจฉัย
อันมีผลผูกพันรัฐสภา

3.รัฐสภามิใช่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นอันอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญ รัฐสภาจึงไม่ผูกพันต้องปฏิบัติตามคำสั่ง

แก้ รธน. เป็นหน้าที่สภา

4.มาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา และการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาต้องเป็นไปตามมาตรา 122 ที่กำหนดว่าสมาชิกรัฐสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยโดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติ มอบหมาย หรือความครอบงำใดๆ

5.คำสั่งศาลดังกล่าวเป็นการออกคำสั่งต่อเลขาธิการสภาให้แจ้งประธานรัฐสภาให้รอการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อน มิใช่เป็นการออกคำสั่งต่อประธานรัฐสภาหรือรัฐสภา

จะเป็นบรรทัดฐานต่อไป

6.การดำเนินการโดยประการใดของประธานรัฐสภาและรัฐสภาในเรื่องนี้ อาจส่งผลต่อบรรทัดฐานการปฏิบัติหน้าที่ในอนาคตของฝ่ายนิติบัญญัติ

“เรื่องนี้เป็นเพียงความเห็นของคณะกรรมการ ซึ่งมีกรรมการมาจากฝ่ายกฎหมายของสภา ส่วนประธานสภาจะตัดสินใจเป็นเรื่องของประธานสภา ยืนยันว่าเสนอความเห็นตามหลักการของกฎหมายไม่ได้ฝักใฝ่ฝ่ายใด”

ศาลยันมีอำนาจรับเรื่อง

ด้านนายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ แถลงยืนยันว่า ผู้ที่ทราบการกระทำการได้มาซึ่งอำนาจรัฐที่ไม่เป็นประชาธิปไตยสามารถฟ้องร้องได้ 2 ช่องทางคือ ผ่านอัยการสูงสุด และยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงเพื่อให้มีคำวินิจฉัย

นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ศาลเพียงรับเรื่องไว้พิจารณา สภาจะเลื่อนลงมติไปสักเดือนหนึ่งก็ไม่มีอะไรเสียหาย

เรื่องพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน

“นี่เป็นเพียงข้อกล่าวอ้างของผู้ร้อง ที่มีการร้องอัยการสูงสุดด้วย แต่เรื่องพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินให้อัยการทำฝ่ายเดียวคงไม่ใช่” นายวสันต์กล่าวและว่า ข้อกล่าวหาว่าศาลใช้อำนาจเกินขอบเขตเป็นการจิตนาการไปเอง ศาลรู้ดีว่าไม่มีอำนาจนอกจากที่รัฐธรรมนูญกำหนด

นายสมฤทธิ์ ไชยวงศ์ รองโฆษกสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า แม้ขบวนการของสภาสะดุดชั่วคราว แต่จะสร้างความเชื่อมั่นให้คนไทยและนานาประเทศว่าไทยมีการใช้อำนาจอธิปไตยถ่วงดุลตามหลักนิติธรรม การรับคำร้องของศาลทำเพื่อตรวจสอบ ถ้าไม่พบความผิดก็ยกคำร้อง กระบวนการต่างๆก็เดินหน้าได้ตามปรกติ

ปชป. ห่วงลักไก่ลงมติ

นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ สงสัยว่าการประชุมสภาวันที่ 8 มิ.ย. อาจมีการลักไก่ลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 หรือนำร่าง พ.ร.บ.ปรองดองเข้าพิจารณา เพราะมีการส่งคนเสื้อแดงมายึดพื้นที่หน้าสภาเพื่อกันไม่ให้กลุ่มอื่นมาต่อต้าน หากรัฐบาลไม่อยากให้เกิดความขัดแย้งควรออกพระราชกฤษฎีกาปิดสมัยประชุมสภา

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ระบุว่า ตามระเบียบวาระการประชุมวันที่ 8 มิ.ย. ไม่มีวาระลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 มีเพียงรับทราบคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ จึงไม่น่ามีการลงมติแน่นอน เพราะประธานสภาคงไม่อยากเสี่ยงเนื่องจากเกรงความผิด

ส.ส.เพื่อไทยเข้าชื่อถอดถอน

นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.พรรคเพื่อไทย แกนนำคนเสื้อแดง กล่าวว่า ขณะนี้มี ส.ส.พรรคเพื่อไทยประมาณ 100 คน ร่วมลงชื่อถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 8 คน ส่วนการประชุมสภาวันที่ 8 มิ.ย. นี้คงยังไม่มีการลงมติ เป็นการเปิดรับฟังความเห็น ส.ส. และ ส.ว. เกี่ยวกับคำสั่งศาล และพิจารณาเรื่องอื่น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แกนนำเสื้อแดงได้นัดชุมที่หน้ารัฐสภาวันที่ 7-8 มิ.ย. นี้ ขณะที่วันที่ 6 มิ.ย. ที่ผ่านมามีคนเสื้อแดงส่วนหนึ่งนำผ้าดำไปผูกที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเพื่อคัดค้านการทำหน้าที่ ด้านตำรวจจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อประเมินสถานการณ์ และมีคำสั่งให้ตำรวจทั่วประเทศเตรียมพร้อมเข้ากรุงเทพฯ เพื่อควบคุมการชุมนุมของประชาชน

ที่มา.หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

สามเกลอคืนจอ กาวใจ ทักษิณ-เสื้อแดง !!?

หวนคืนสู่เวที “คนเสื้อแดง” อย่าง พร้อมหน้าพร้อมตา! เมื่อ “แก๊งสามเกลอ” ได้กลับมาจัดรายการ “ความจริง วันนี้” เป็นครั้งแรกหลังจากห่างหายกัน ไปนาน ซึ่งแต่ละคนล้วนมีสภาพที่ต่างกัน ออกไป ทั้ง “ไข่มุกดำ” วีระกานต์ มุสิกพงศ์ หนึ่งในสมาชิกบ้าน 111 ที่เพิ่งหลุด จากคุกการเมือง รวมทั้ง “เดอะตู่” จตุพร พรหมพันธุ์ ที่สิ้นสภาพ ส.ส.ไปหมาดๆ และขวัญใจแม่ยกเสื้อแดง “เดอะเต้น” ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.กระทรวงเกษตรฯ

การปรากฏตัวของ “แก๊งสามเกลอ” แม้จะเป็นการรวมตัวแบบเฉพาะกิจ แต่ก็เป็นไปตาม “เรดแมป” ที่กำหนดไว้ในวันที่ 2 มิถุนายน...ยิ่งไปกว่านั้นการเป่า นกหวีด! เพื่อเรียกแขกหนนี้ ได้ทำให้อาคาร ธันเดอร์โดม เมืองทองธานี อันเป็นจุดนัดหมายของคนเสื้อแดง คลาคล่ำไปด้วย “มวลชน” ที่ออกมาแสดงพลัง “คัดค้าน” การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ และเป็น การต้อนรับการกลับมาของรายการ “ความ จริงวันนี้” และชาวคณะ “สามเกลอ” โดยมีคนเสื้อแดงหลายหมื่นคน แห่แหนมาร่วม อีเวนต์ใหญ่นี้กันแน่นขนัด ภายใต้ธีมจัดงาน..กึ่งทศวรรษแห่งการต่อสู้ของ “คนเสื้อแดง”

สำหรับเนื้อหาหลักของรายการ เป็น การดับเครื่องชนแก๊งพันธมิตรฯ ที่ออกมา ชุมนุมคัดค้าน พ.ร.บ.ปรองดอง หลังนำมวลชนไปปิดล้อมรัฐสภา พร้อมทั้งแฉ! เป้าหมายที่แท้จริงของ “เสื้อเหลือง” ว่าต้องการให้มีการยึดอำนาจ เพื่อเคลียร์คดี ของตัวเองให้หมด เช่นเดียวกับการลากไส้ “ฝ่ายอำมาตย์” ที่วันนี้กำลังใช้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือทำรัฐประหาร! ซึ่งทางคนเสื้อแดงได้ประกาศแล้วว่า... ยอมไม่ได้เป็นอันขาด สอดรับในอารมณ์ “ขุ่นข้องหมองใจ” ของชาวเสื้อแดง ที่มีต่อท่าทีของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งได้วิดีโอลิงค์เข้ามาในงานรำลึก 2 ปีราชประสงค์ โดย มาดหมายให้คนเสื้อแดงลืมอดีต! และยอม ถอยคนละก้าว เพื่อเดินหน้าปรองดองร่วมกับคณะอำมาตย์

ทั้งหมดทั้งปวง คือเหตุผลสำคัญในการเปิดเวทีความจริงวันนี้ภาคพิเศษ เพื่อ ให้พิธีกร “สามเกลอ” ออกมาเลี้ยงกระแส...เรียกคืนเรตติ้ง! และทำความเข้าใจกับพี่น้องเสื้อแดง หลังจากโดน “แก๊งอำมาตย์” และแนวร่วมฯ ออกมาตอกลิ่มจนเสียขบวน เพื่อปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยกขึ้นภายใน

เมื่อถึงเวลาอันสมควร หลังแกนนำ นปช. และ “คณะสามเกลอ” สลับกันขึ้นไฮด์ปาร์กกันมาพักใหญ่ ก็ถึงคิว “ทักษิณโฟนอิน” ซึ่งระหว่างการรอสัญญาณเข้ามา “เดอะเต้น-ณัฐวุฒิ” ก็หยอดลูกแบบทีเล่นทีจริงว่า กำลังจะเปิดโปงคนที่อยู่เบื้องหลัง แต่ “ทักษิณ” ใจดีโฟนอินเข้ามาขัดจังหวะ! กระนั้นตัวเอกของงานนี้ ก็รับมุกทันควัน ก่อนจะแย้มว่า...ตัวเองเป็น หมูให้เขาหลอกอีกแล้ว

พร้อมกับแฉ...ขบวนการปล้นอำนาจ ประชาชน ที่กำลังคืนชีพกลับมาอีกครั้ง ตลอดจนการเปิดหน้าวิพากษ์วิจารณ์ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ที่ออกมาชะลอร่างแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ให้โหวตวาระ 3 ซึ่ง “ทักษิณ” ก็เอาคืนแบบแสบๆ คันๆ ว่าเป็นการเอาระเบียบอยู่เหนือกฎหมาย ทำให้กติกาบ้านเมืองไม่เหลือแล้ว และยิ่งจะทำให้ “ความแตกแยก” ในบ้านเมืองเลวร้ายลงไปอีก และยิ่งสงครามปรองเดือดในสภาฯ ที่ยืดเยื้อไปสิบกว่าวัน ก็ไม่มีอะไรเลย นอกจากกลัว..ผีทักษิณเท่านั้น!

ส่วนความขัดแย้งระหว่างคนกันเอง นั้น “ทักษิณ” ก็ได้โฟนอินมาขอขมา “คนเสื้อแดง” ที่ยังอยู่ในอารมณ์ขุ่นเคือง! กับวาทกรรมปรองดองฉบับ “เกี้ยเซียะ! ฝ่ายอำมาตย์” ซึ่งเคยหลุดปากไว้บนเวทีรำลึก 2 ปีราชประสงค์ “ทักษิณ” ก็ยืนยันหนักแน่นว่า...ไม่เคยคิดจะย่ำยีหัวใจพี่น้องคนเสื้อแดง

“ไม่คิดจะทอดทิ้งคนเสื้อแดง และยังส่งคนไปช่วยเหลือตลอดเวลา เพราะมีหน้าที่สนับสนุน เราหัวใจถึงกัน ไม่ทิ้งกัน.. ที่พูดว่าอยากให้ปรองดองเพื่อให้ประเทศเดินหน้า แต่วันนี้เห็นแล้วว่าคนเสื้อแดงยังติดคุกอยู่หลายคน เพราะศาลไม่ให้ประกัน ดังนั้นเราต้องไม่ทะเลาะกันเอง ต้องช่วยกันเอาประชาธิปไตยกลับคืนมา แม้จะมีนักเลือกตั้ง แต่ไม่รักประชาธิปไตย จนกลัวว่าไทยจะเป็นเผด็จการแทนที่พม่า.. เราจะไม่ยอมถอยจะต่อสู้ต่อไป รับรองว่า เที่ยวนี้ความสามัคคีพวกเราจะเป็นปึกแผ่น และหากได้กลับบ้านแล้วก็ต้องตอบแทนบุญคุณพี่น้องเสื้อแดง”

ก่อนจะปิดฉากการโฟนอิน “พิธีกรสามเกลอ” ได้ถามย้ำอีกหลายครั้งว่า วันนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังอยู่กับคนเสื้อแดงใช่หรือไม่ ซึ่งเจ้าตัวก็ตอบกลับไปว่า ยังอยู่! ทำให้กองเชียร์เสื้อแดงนับหมื่นที่มาร่วม อีเวนต์ “ความจริงวันนี้” โห่ร้องกันเกรียวกราว...ด้วยความดีใจเช่นที่ว่านี้ การเดินเกมกระชับสัมพันธภาพผ่าน “คณะสามเกลอ” นับเป็นหมากตาสำคัญก่อนจะก้าวไปสู่ปรองดอง! เพราะจำเป็นยิ่งยวดในการผสาน “แก้วร้าว” ให้ได้เสียก่อน เพื่อทำให้ “แบรนด์ทักษิณ!” กลับมาเบ่งบาน อีกครั้งในสายตาคนเสื้อแดง

ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

คอป.ออกจดหมายเปิดผนึกแนะแนวทางสร้างความปรองดองให้กับทุกฝ่าย !!?

นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) จัดทำจดหมายเปิดผนึกเสนอแนะแนวทางการสร้างความปรองดองในชาติที่เหมาะสม เพื่อช่วยคลี่คลายสถานการณ์ทางการเมืองที่ตึงเครียดในปัจจุบันไม่ให้ลุกลามบานปลายจนกลายเป็นความขัดแย้งครั้งใหม่ที่รุนแรงและสร้างความเสียหายมากยิ่งขึ้น โดยระบุว่า

"จากการประเมินสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันโดยเฉพาะช่วงระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2555 ถึงวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2555 คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) มีความกังวลอย่างยิ่งต่อเหตุการณ์ดังกล่าว และเห็นว่า หากกระบวนการสร้างความปรองดองในชาติดำเนินการอย่างไม่เหมาะสมโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้งแล้วสถานการณ์ดังกล่าวอาจบานปลายและนำไปสู่ความขัดแย้งครั้งใหม่ที่นำมาซึ่งความรุนแรงและความสูญเสียที่มิอาจประเมินได้"

เพื่อเป็นการลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมและส่งเสริมให้เกิดความปรองดองของคนในชาติ คอป. ขอเน้นย้ำถึงการยึดถือและปฏิบัติตามหลักการสำคัญที่ปรากฏในข้อเสนอแนะตามรายงานความคืบหน้า คอป.ครั้งที่ 3 โดยเฉพาะข้อ 3.1 ที่ว่า "กระบวนการปรองดองเป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยเวลา ความอดทน และการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายและทุกภาคส่วนในประเทศ…การดำเนินการใดๆ ของผู้ที่เกี่ยวข้องโดยพยายามที่จะรวบรัดหรือเร่งรัดกระบวนการปรองดองนั้นเป็นการกระทำที่ไม่เอื้อต่อบรรยากาศของการปรองดองทำให้สังคมเกิดความหวาดระแวงและไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน และถือเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อความพร้อมในการเจรจาร่วมกันเพื่อหาทางออกไปสู่ความเข้าใจที่ดีของคนในสังคมและการปรองดองในชาติต่อไปดังนั้นการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการปรองดองจึงต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง รอบคอบ โปร่งใส และตั้งอยู่บนหลักประชาธิปไตยโดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย"

นอกจากนี้ คอป.ขอเรียกร้องต่อรัฐบาล นายกรัฐมนตรี ผู้นำฝ่ายค้าน พรรคการเมือง กลุ่มการเมือง ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำกับและควบคุมการใช้อำนาจรัฐ องค์กรตุลาการ กลุ่มบุคคล และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้างความปรองดองในชาติทุกฝ่าย ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 คอป.เห็นว่าการกระทำใดๆ เพื่อเร่งรัดให้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. ... โดยรัฐสภาเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งของคนในสังคม และเป็นการกระทำที่กระทบกระเทือนต่อบรรยากาศของการปรองดองในชาติ อันอาจนำไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรงได้ในอนาคต คอป.จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลและรัฐสภาโดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลและคุมเสียงข้างมากในรัฐสภาทบทวนการเร่งรัดเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อลดกระแสความขัดแย้งและความแตกแยกในสังคม รวมทั้งป้องกันมิให้เกิดการเคลื่อนไหวใดๆ อันอาจเป็นการยั่วยุเพื่อให้เกิดความรุนแรงขึ้นได้

นอกจากนี้ คอป.เห็นว่ารัฐบาล รัฐสภา และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรจัดให้มีเวทีสาธารณะและเวทีประชาเสวนา รวมทั้งการเผยแพร่ข้อมูล เหตุผลความจำเป็น ข้อคิดเห็น และประเด็นข้อโต้แย้งต่างๆ เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนและสังคมทุกภาคส่วนได้รับทราบและมีความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนมีส่วนร่วมในการพิจารณาและแสดงความคิดเห็นประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับร่าง พ.ร.บ.นี้ รวมถึงประเด็นเกี่ยวกับการนิรโทษกรรม สิทธิและหน้าที่ของประชาชนในการใช้สิทธิทางการเมือง และการกระทำความผิดอันเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง อันเป็นเงื่อนไขและเงื่อนเวลาที่สำคัญในการเตรียมความพร้อมของสังคมต่อการก้าวข้ามความขัดแย้งที่เกิดขึ้นร่วมกัน

ข้อ2 คอป.เห็นว่ารัฐสภาเป็นสถาบันหลักของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยพรรคการเมืองและสมาชิกรัฐสภาทุกท่าน จึงมีหน้าที่สำคัญที่จะต้องรักษาไว้ซึ่งกฎ ระเบียบ และข้อบังคับของรัฐสภา คอป.มีความกังวลต่อสถานการณ์และเหตุการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 30-31 พ.ค.55 ว่าจะนำไปสู่การสร้างบรรทัดฐานที่ไม่เหมาะสมต่อการทำหน้าที่ของรัฐสภา คอป.เห็นว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งบรรทัดฐานที่ดีในการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาในฐานะที่เป็นตัวแทนของประชาชน และเป็นการส่งเสริมบรรยากาศอันดีในการสร้างความปรองดองของคนในชาติ

ข้อ 3 คอป.เห็นว่าในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น องค์กรตุลาการเป็นสถาบันที่มีความสำคัญสูงสุด เพราะเป็นสถาบันหลักในการรักษากฎหมายและธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม ในการนี้จึงมีความจำเป็นที่องค์กรตุลาการต้องรักษาไว้ซึ่งหลักความเป็นอิสระและความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายและยึดถือหลักนิติธรรมอย่างเคร่งครัดแม้การกระทำดังกล่าวจะเป็นหน้าที่ซึ่งต้องพึงกระทำอยู่แล้วตามปกติ แต่ในภาวะที่ประเทศชาติมีความขัดแย้งเช่นนี้ องค์กรตุลาการยิ่งต้องใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่งยวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมีบทบาทหน้าที่สำคัญในการพิจารณาวินิจฉัยและมีคำสั่งที่เกี่ยวเนื่องกับรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศในการมีคำสั่ง การวินิจฉัยคำร้อง หรือการพิจารณาพิพากษาคดีใดๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องใช้ความละเอียดรอบคอบและความระมัดระวังเป็นพิเศษในการวินิจฉัยข้อเท็จจริงแห่งคดีและหลักกฎหมายด้วยความเที่ยงธรรมโดยคำนึงถึงหลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษา หลักความเป็นกลาง หลักทฤษฎีการแบ่งแยกอำนาจตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย การใช้อำนาจตุลาการโดยชอบด้วยกระบวนการตามกฎหมาย และการตีความตัวบทกฎหมายอย่างเคร่งครัดตามเจตนารมณ์ เพราะหากสาธารณชนเกิดความเคลือบแคลงสงสัยว่าองค์กรตุลาการมิได้ปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาความถูกต้องตามกฎหมายและประสาทความยุติธรรมให้กับสังคมโดยชอบด้วยกฎหมายและหลักนิติธรรมแล้วอาจนำไปสู่ความเสื่อมศรัทธาของประชาชนต่อองค์กรตุลาการ ระบบกฎหมาย และหลักนิติธรรมของประเทศได้

ข้อ 4 คอป.เรียกร้องให้ประชาชนและสังคมทุกภาคส่วนเคารพกระบวนการตามกรอบของกฎหมายภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและเคารพสิทธิ เสรีภาพ และการแสดงความคิดเห็นตามกรอบรัฐธรรมนูญ โดยใช้กระบวนการทางสันติวิธีเพื่อจัดการความขัดแย้ง และใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษที่จะไม่ดำเนินการใดๆ ซึ่งกระตุ้นให้เกิดความรุนแรง

ข้อ 5 คอป.เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ซึ่งมีบทบาทในการรักษาความสงบเรียบร้อยและการควบคุมฝูงชนดำเนินการโดยเคารพหลักสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามกรอบรัฐธรรมนูญและสอดคล้องกับมาตรฐานสากลอย่างเคร่งครัด

ข้อ6 คอป.เรียกร้องให้พรรคการเมือง กลุ่มการเมือง และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองทุกฝ่าย พึงตระหนักว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่มาจนถึงปัจจุบันได้สร้างความสูญเสียอย่างมหาศาลต่อประเทศไทยฉะนั้นทุกฝ่ายต้องไม่ดำเนินการใดๆ ที่จะเป็นการซ้ำเติมให้สถานการณ์เลวร้ายกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องไม่นำเอาข้อได้เปรียบทางการเมืองมาใช้เป็นประโยชน์ในการยั่วยุให้เกิดความเกลียดชังและความแตกแยกของคนในสังคมเพื่อความได้เปรียบเฉพาะหน้าและขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันประคับประคองสถานการณ์ไม่ให้เหตุการณ์ความรุนแรงและความสูญเสียย้อนกลับมาอีก และร่วมกันนำพาประเทศชาติไปสู่การปรองดองอย่างแท้จริง

ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันพุธที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ถ่อย-เถื่อน-สถุล !!?

“อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตนายกรัฐมนตรี หยุดพฤติการณ์เลวร้าย ได้แล้วนะคุณ
“พรบ.ปรองดอง”ช่วยชำระ สะสางปัญหาของชาติ ให้กลับมา “สามัคคี”
ชาติไทยของเราแตกเป็นเสี่ยง จนตามมิตรประเทศเพื่อนบ้านไม่ทัน ในขณะนี้
อย่าเห็นแก่ตัวนักสิ, อย่าป่วนประเทศ.. คิดหรือว่า “ทหาร” จะปฏิวัติ ให้มาเป็นหัวหน้ารัฐบาล
เหตุที่เมิน”พรบ.ปรองดอง”..กะเป็นนายกฯรอบสอง?.ไม่ผ่านการกลั่นกรองจากชาวบ้าน

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

“ประเทศไทย” ติดหล่ม
“นักการเมืองชั่วช้า” มีพฤติการณ์โสมม
“ลาว” ของ “ท่านทองสิง ทำมะวง” นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว “เขมร” ของ “สมเด็จ ฮุนเซ็น” ก้าวหน้าพัฒนาชาติ เพราะ “ความปรองดอง”
“เมียนมาร์” ของ “ประธานาธิบดีเต็งเส่ง” ก็พัฒนาชาติจนยั่งยืน.. “เวียตนาม” ของ “ประธานาธิบดีเจือง เติ๋น ซาง” ต่างก็ขจัดปัญหา ร่วมนำพาชาติไปอย่างพี่กับน้อง
และในปี “๕๘” ประเทศไทยจะเปิด “เขตการค้าเสรี”..แต่ทว่า “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” กลับทำตัวเป็นสารตั้งต้น ทำให้ผู้คนในประเทศแตกเป็นฝักฝ่าย..แล้วเราจะตามประเทศต่างทันหรือ
ทุกชาติเขาพากันสงบ...แต่ “อภิสิทธิ์” เปิดสนามรบ..สร้างผลกระทบต่อประเทศเอาไว้อื้อ

+++++++++++++++++++++++++++++++++

บัดซบ...
“ท่านพิชัย รัตตกุล” อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าววาจาไม่สมควร แก่ “จอมพลถนอม กิตติขจร” อดีตนายกรัฐมนตรี ต่อหน้าสภาผู้แทนราษฎร..เมื่อรู้ว่าเป็นสิ่งไม่ดี ก็เข้าไปกราบและขอโทษ ..ปัญหาทุกอย่างจึงจบ
แต่ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ยังหนุนความก้าวร้าว ต่อเนื่อง
พฤติการณ์ แข็งข้อกับระบอบประชาธิปไตยเช่นนี้... “ท่านพิชัย” ตำหนิว่าไม่ได้เรื่อง
“ท่านพิชัย รัตตกุล” อาบน้ำร้อนมาก่อน..ยังร่วมประณาม พฤติการณ์ที่ขาดสติ
“อภิสิทธิ์” จงรู้ไว้..อย่าทำสิ่งเหลวไหล?..จนผู้ใหญ่ต้องออกมาด่าเช่นนี้

+++++++++++++++++++++++++++++++++

ยลโฉม “ครม.ยิ่งลักษณ์ ๓”
ปรับย่อย ปรับเล็ก ปรับแบบกะทัดรัด ให้พอดูเด่น พอดูงาม
คราวนี้ถึงคิว “ธีระ วงศ์สมุทร” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องถอยหลัง ออกไป...
ตบมือต้อนรับ “คุณพี่ยุคล ลิ้มแหลมทอง” อดีตอธิบดีกรมปศุสัตว์ อดีตปลัดกระทรวงเกษตรฯ ในฐานะที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ จะกระโดดค้ำถ่อ ก่อมาเป็นในฐานะ “นายคนใหม่”
นอกจากนี้, “มังกรพันปี” บรรหาร ศิลปอาชา” จะจับ “หนูยอด” ศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์” จาก รัฐมนตรีช่วยพาณิชย์ มาเป็น “รัฐมนตรีช่วยเกษตร” สลับตำแหน่ง กับ “เดอะเต้น” ณัฐวุฒิ ใสเกื้อ ที่จะไปเป็น “รมช.พาณิชย์” แทนที่
ส่วน, “จตุพร พรหมพันธุ์”...มีเสียงยืนยัน..ต้องคอยไปก่อนแล้วกัน เพราะโควต้ายังไม่มี

++++++++++++++++++++++++++++++++

เก่งทั้ง “พ่อ “ทั้ง “ลูก”
“สส.ฉลาด ขามช่วง” ผู้แทน จ. ร้อยเอ็ด เขต ๒ พรรคเพื่อไทย แก้ปัญหาให้ราฎรทั้งประเทศ พากันพ้นทุกข์
ในฐานะเป็น “ประธานกรรมาธิการแก้ไขหนี้สินแห่งชาติ” ก็ช่วยรากหญ้าให้อยู่ดีกินดี
ในเขตเลือกตั้งที่ ๒ ร้อยเอ็ด นั้น “สส.ฉลาด ขามช่วง” ก็พักหนี้ให้ชาวบ้านนับหมื่น ๆ คน..นำสิ่งของไปช่วยผู้ถูกน้ำท่วม จนฟื้นคืนสภาพ พากันแฮปปี้
ข้างบุตรชายหัวแก้วหัวแหวน “หนุ่มตุลธร ขามช่วง” ได้รับเสียงสวรรค์เป็น “สจ.” เขตอำเภอโพธิ์ชัย ร้อยเอ็ด ..ขณะนี้ อยู่ระหว่างรอ “กกต.” รับรองกันเสร็จสรรพ
๒ พ่อลูกเป็นคนจริง...เป็นที่พักพิง...ที่ไม่ทอดทิ้งชาวร้อยเอ็ดมาตลอดขอรับ


คอลัมน์:ตอดนิดตอดหน่อย,บางกอกทูเดย์
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ครม.รุมซักเลขาฯกฤษฎีกา กรณีศาล รธน.ชะลอแก้ รธน. !!?

เลขาฯกฤษฎีกา โดนครม.รุมซักกรณีศาลรธน. เบรกสภาฯเเก้รธน. ไม่มีใครในโลกนี้ทำกัน

ที่่ประชุมคณะรัฐมนรตี ( ครม.) ว่า นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ต้องตอบคำถามมากมายต่อครม.กรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้รัฐสภาระงับการพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อน โดยนายอัชพร ระบุว่าได้ชี้แจงกับสื่อมวลชนไปแล้วว่าในโลกนี้ไม่มีใครทำกันแบบนี้ ซึ่งนายชุมพล ศิลปอาชา รองนายกรัฐมนตรี ได้ระบุว่าไม่ได้สนใจว่าโลกนี้จะมีใครทำแบบนี้หรือไม่ แต่สนใจเพียงว่าศาลรัฐธรรมนูญทำแบบนี้ได้หรือไม่เท่านั้น ทำให้นายอัชพร ย้อนถามนายชุมพลว่าเรื่องนี้นายชุมพล จะสอนนักศึกษาหรืออย่างไร ทำให้นายชุมพลหัวเราะ และกล่าวว่ากฤษฎีกาควรตอบให้ชัดว่าข้อเท็จจริงนี้รายละเอียดเป็นเช่นใด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม ครม.แบ่งกลุ่มหารือเรื่องนี้หลายคณะ แต่คณะใหญ่ที่หารืออย่างเข้มข้นประกอบด้วย นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล รมต.สำนักนายกฯ , นายวิทยา บูรณศิริ รมว.สาธารณสุข และนพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รมช.สาธารณสุข โดยสามคนนี้ทำงานเป็นวิปรัฐบาลที่ หารือนอกรอบกับนายอัชพร

"รัฐมนตรีคนหนึ่งในคณะนี้ ระบุว่าศาลรัฐธรรมนูญทำแบบนี้ถือว่า สารภาพกับสังคมว่าพลาด เพราะเป็นการเปิดประตูนำความรุนแรงกลับสู่บ้านเมืองอีกครั้ง เพราะเมื่อรัฐบาลชุดนี้เข้ามาทำงาน บ้านเมืองกลับสู่ความสงบอีกครั้ง แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการแบบนี้ ทำให้คนที่หมดหวัง และฝ่อเริ่มกลับมามีความหวัง การเมืองจากนี้ไปส่อเค้าความรุนแรงขึ้นจากน้ำมือผู้ที่ชี้วัดความถูกต้อง และน่าสงสัยว่านายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯประกาศบนเวทีว่าขอให้รอคำตอบจากศาลรัฐธรรมนูญ และเมื่อคำตอบจากศาลรัฐธรรมนูญออกมาแบบเดียวกับที่นายสนธิระบุไว้ ฉะนั้นรัฐบาลต้องอธิบายให้สังคมเข้าใจข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ด้วย แต่เป็นไปได้ว่าควรเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป "

ผู้สื่อข่าวรายงานาว่า นายวรวัจน์ ยังกล่าวกับครม.ที่หารือกันในเรื่องศาลรัฐธรรมนูญ ถึงวาระการเสนอร่างพระราชกฤษฎีกา ปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร ตามที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอขึ้นมาเพื่อยุติความขัดแย้ง โดยนายวรวัจน์ระบุว่าตนหารือกับวิปรัฐบาลแล้ว คงจะไม่ปิดสมัยประชุมง่ายๆ หากจะชนกับสมัยสามัญก็ต้องชน และจะชี้แจงกับสังคมในเรื่องนี้ว่า เหตุที่เปิดประชุมต่อเพราะมีความจำเป็นในการพิจารณากฎหมายหลายฉบับ เช่น กฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา190 โดยครม.คณะนี้เห็นด้วยกับนายวรวัจน์ เพราะหากรัฐบาลปิดสมัยประชุม ตามที่พรรคประชาธิปัตย์เรียกร้อง ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลคงม้วนเสื่อกลับบ้าน หากรัฐบาลมีอำนาจทางกฎหมายที่ดำเนินการใดๆได้ควรดำเนินการต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวกับที่ประชุมครม.ว่า วาระการเสนอร่างพระราชกฤษฎีกา ปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร มอบให้นายวรวัจน์ เป็นผู้รับผิดชอบ

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

งัดข้อมูลเว็บศาล รธน.ตบหน้าตุลาการไม่มีอำนาจรับตีความ !!?

โฆษกเพื่อไทยงัดข้อมูลในเว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญตบหน้าตุลาการ เพราะเขียนเอาไว้ชัดเจนว่าผู้มีอำนาจส่งเรื่องตีความตามมาตรา 68 คืออัยการสูงสุดเท่านั้น ประธานศาลรัฐธรรมนูญเต้นสั่งเจ้าหน้าที่รวบรวมข้อมูลเตรียมชี้แจงอีกครั้งภายในสัปดาห์นี้ ยันไม่ได้ตอบโต้แต่ต้องการทำความเข้าใจให้ตรงกัน อัยการสูงสุดไม่ก้าวล่วงอำนาจศาลว่าข้ามขั้นตอนหรือไม่ จะเร่งพิจารณาคำร้องให้เสร็จในวันที่ 7 มิ.ย. นี้ เลขาฯกฤษฎีกาแนะรัฐบาลอยู่เฉยๆ เพราะเป็นเรื่องของสภา ผู้ตรวจการแผ่นดินโผล่แจมทำเรื่องถึงสภาให้ทำตามคำสั่งศาลชะลอลงมติวาระ 3 เสื้อแดงล่า 100,000 ชื่อยื่นถอดถอนตุลาการแต่ไม่หวังผลสำเร็จ เพราะ 50% ในวุฒิสภาล้วนเป็น ส.ว.แต่งตั้ง ประธานวิปฝ่ายค้านระบุหากดึงดันลงมติจะไม่ร่วมประชุม

++++++++++++++++

ความเห็นแตกต่างกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องตีความแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับว่าเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญหรือไม่ และคำสั่งให้รัฐสภาชะลอการประชุมเพื่อลงมติวาระ 3 ที่ตามกำหนดจะลงมติเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ที่ผ่านมา

ศาล รธน. เตรียมชี้แจง

เกี่ยวกับเรื่องนี้นายสมฤทธิ์ ไชยวงศ์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ ออกมาระบุว่า ตุลาการบางท่านไม่สบายใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ จึงได้ให้เจ้าหน้าที่รวบรวมเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน

“ยืนยันว่าไม่ใช่การตอบโต้แต่เป็นการชี้แจงข้อเท็จจริงให้เกิดความเข้าใจตรงกัน เข้าใจว่าการชี้แจงจะมีในสัปดาห์นี้”

กฤษฎีกาชี้ไม่เกี่ยวรัฐบาล

นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า แม้รัฐบาลจะเป็นผู้เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ขั้นตอนขณะนี้ถือว่าไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลที่จะดำเนินการในเรื่องนี้แล้ว เพราะเรื่องอยู่ที่รัฐสภา อย่างไรก็ตาม เรื่องแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ต้องไปถกเถียงกันด้วยเหตุผลให้ได้ข้อสรุปต่อไป โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าเหตุใดจึงไม่สามารถดำเนินการตามกฎหมายได้กรณีต้องลงมติวาระ 3 หลังจากผ่านการลงมติวาระ 2 มาแล้ว 15 วัน

อัยการไม่ก้าวล่วงศาล

นายวินัย ดำรงค์มงคลกุล อธิบดีอัยการสำนักคดีพิเศษ ในฐานะโฆษกอัยการสูงสุด กล่าวว่า การกระทำของศาลรัฐธรรมนูญไม่ถือว่าข้ามขั้นตอน เพราะยังไม่มีคำวินิจฉัยและยังเป็นเรื่องรัฐธรรมนูญโดยตรง ซึ่งในส่วนของอัยการจะมีการประชุมเพื่อสรุปข้อร้องเรียนว่าเข้าข่ายมาตรา 68 หรือไม่วันที่ 7 มิ.ย. นี้ หากเข้าข่ายความผิดจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญต่อไป

นายศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ผู้ตรวจการฯเคยทำเรื่องทักท้วงประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อสภา 3 ข้อ และจะยื่นซ้ำไปอีกครั้งเพื่อให้ทบทวนแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนลงมติวาระ 3 ยืนยันว่าไม่ได้ก้าวก่ายแต่เป็นการทำหน้าที่องค์กรอิสระ หากสภายังเดินหน้าลงมติวาระ 3 จะต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่จะตามมา และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งชะลอการลงมติก็ควรปฏิบัติตามคำสั่งศาล

เสื้อแดงล่าชื่อถอดถอน

นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.พรรคเพื่อไทย และแกนนำคนเสื้อแดง แถลงว่า ได้แจกจ่ายแบบฟอร์มลงชื่อยื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกจากตำแหน่งให้ ส.ส. ทุกคนไประดมรวบรวมรายชื่อ เชื่อว่าจะได้ไม่ต่ำกว่า 100,000 คน เมื่อศาลรัฐธรรมนูญลุแก่อำนาจทำเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ก็ต้องถอดถอน

นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.พรรคเพื่อไทย และแกนนำคนเสื้อแดง กล่าวว่า การยื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องยื่นต่อวุฒิสภาที่ต้องใช้เสียง 3 ใน 4 ของ ส.ว. จึงถอดถอนได้ แต่ขณะนี้ในวุฒิสภามี ส.ว. สายแต่งตั้งมากถึง 50% จึงไม่มีทางจะถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้เพราะเสียงไม่พอ

งัดข้อมูลเว็บไซต์โต้ศาล

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงว่า เว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญระบุข้อมูลชัดเจนว่าศาลไม่มีอำนาจรับคำร้องตีความตามมาตรา 68 โดยตรง ต้องรับเรื่องจากอัยการสูงสุดเท่านั้น อย่างไรก็ตาม กังวลว่าเมื่อนำเรื่องนี้มาเปิดเผยจะมีการแก้ไขข้อมูลในเว็บไซต์ของศาล

นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา กล่าวว่า ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ในวันที่ 8 มิ.ย. ตามข้อเสนอของหลายฝ่ายหรือไม่ ต้องรอฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนให้ตกผลึกก่อนตัดสินใจ โดยการตัดสินใจจะยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก

ตุลาการผิดมาตรา 270

นายประสพ บุษราคัม ประธานคณะกรรมการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน สภาผู้แทนราษฎร แถลงว่า คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ชะลอการลงมติวาระ 3 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเข้าข่ายมาตรา 270 ว่าด้วยการจงใจใช้อำนาจหน้าที่ที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ วุฒิสภามีอำนาจถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ จึงเรียกร้องให้ ส.ส. ใช้สิทธิยื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแทนประชาชน

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การโต้เถียงกันในประเด็นกฎหมายเป็นเรื่องปรกติ แต่รัฐบาลควรตอบคำถามของศาลรัฐธรรมนูญให้ได้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และหากรัฐบาลมีความชัดเจนว่าจะคงข้อความในหมวดที่ 1 และ 2 เอาไว้ ศาลรัฐธรรมนูญก็พร้อมยกคำร้อง

“ทำไมรัฐบาลไม่ชี้แจงไม่ยืนยันคงหมวด 1 และ 2 แต่กลับโมโหที่ศาลรับวินิจฉัยเรื่องนี้ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเป็นเพราะต้องล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจริงหรือไม่” นายชวนนท์กล่าวและว่า กรณีนี้หากไม่ฟังอาจมีการลงโทษหรืออาจถึงขั้นยุบพรรค รัฐบาลต้องรับผิดชอบเอง อย่าไปโทษองค์กรอิสระว่ากลั่นแกล้ง หรืออำมาตย์สั่งการ

ฝ่ายค้านไม่ร่วมลงมติวาระ 3

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิป) พรรคฝ่ายค้าน กล่าวว่า สภาควรปฏิบัติตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ หากดึงดันลงมติวาระ 3 ฝ่ายค้านจะไม่ร่วมในการลงมติ เนื่องจากเกรงว่าจะมีปัญหาตามมา ส่วนการเคลื่อนไหวยื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้นคิดว่าตุลาการไม่ควรหวั่นไหวเรื่องนี้

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานวุฒิสภา ให้ความเห็นว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วก็เข้ามาตรา 216 วรรค 5 ที่บัญญัติว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นๆของรัฐ”

ที่มา.หนังสือพิมพ์ดลกวันนี้
//////////////////////////////////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ศาล รธน.ขู่ ส.ส.-ส.ว.ดันทุรังลงมติ วาระ3 ต้องรับผิดชอบ !!?

หัวหน้าโฆษกศาลรัฐธรรมนูญออกโรงปราม ส.ส.-ส.ว. หากฝ่าฝืนคำสั่งประชุมลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ต้องรับผิดชอบต่อผลที่จะตามมาด้วย แต่ยังไม่บอกว่าคืออะไร คณะรัฐมนตรีเตรียมหารือกฤษฎีกาขอความเห็นคำสั่งศาลผูกพันกับสภาหรือไม่ รองประธานวุฒิสภา-คณะนิติราษฎร์เห็นตรงกันศาลว่าทำข้ามขั้นตอน ไม่มีกฎหมายรองรับควรเดินหน้าลงมติวาระ 3 ต่อไป ประธานวิปรัฐบาลเผยจะขอความเห็นในสภาวันที่ 8 มิ.ย. นี้ว่าจะเดินหน้าหรือทำตามคำสั่งศาล ประธานวิปฝ่ายค้านเตือนอย่าดันทุรังให้เกิดความขัดแย้งอีก แกนนำเสื้อแดงประกาศล่า 30,000 รายชื่อ ยื่นถอดถอนตุลาการใน 2 สัปดาห์

++++++++++

คณะนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร ออกแถลงการณ์กรณีศาลรัฐธรรมนูญรับตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 และสั่งให้สภาชะลอลงมติวาระ 3 ไว้ก่อน ระบุว่า ตามที่มีผู้ร้องให้ศาลวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยการยกร่างขึ้นใหม่ทั้งฉบับเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น คณะนิติราษฎร์มีความเห็น 3 ประเด็นดังนี้คือ

1.ข้อความตามมาตรา 68 ต้องเป็นการกระทำโดยบุคคลหรือพรรคการเมือง แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นการกระทำโดยรัฐสภา ซึ่งเป็นการกระทำตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหมวด 15 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตราบเท่าที่การแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวมิได้มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ จะถือว่าการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้

เรื่องต้องผ่านอัยการก่อน

2.มาตรา 68 วรรค 2 ระบุชัดเจนว่าการยื่นคำร้องต้องยื่นผ่านอัยการสูงสุดให้มีการสอบสวนก่อน หากมีมูลจึงส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ไม่อาจส่งเรื่องต่อศาลโดยตรงได้ การที่ศาลตีความว่าทำได้ 2 ช่องทาง ทั้งส่งเรื่องผ่านอัยการสูงสุดและส่งตรงถึงศาลรัฐธรรมนูญ จึงไม่ตรงกับข้อกำหนดของมาตรา 68 วรรค 2 ถือเป็นการกระทำข้ามขั้นตอนของกฎหมาย การตีความมาตรา 68 วรรค 2 ของศาลรัฐธรรมนูญนั้นขัดกับหลักการตีความกฎหมาย ทั้งในแง่ถ้อยคำ ประวัติความเป็นมา เจตนารมณ์ ตลอดจนระบบกฎหมายทั้งระบบ เป็นการตีความกฎหมายที่ส่งผลประหลาดและผิดพลาดอย่างชัดแจ้ง

ไม่มีกฎหมายรองรับ

3.ไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญกำหนด “วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา” แต่ศาลนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 264 มาใช้ โดยอาศัยข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญข้อ 6 ซึ่งวิธีการนี้กระทบต่อการใช้อำนาจขององค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ หากรัฐธรรมนูญประสงค์จะให้ศาลมีอำนาจนี้ต้องกำหนดไว้อย่างชัดแจ้งในรัฐธรรมนูญ หรืออย่างน้อยต้องกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจก่อตั้งอำนาจกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนมีคำวินิจฉัยได้ด้วยตนเอง การที่ศาลมีคำสั่งในลักษณะดังกล่าวจึงเป็นการเข้าแทรกแซงกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยไม่มีอำนาจกระทำได้

อย่าขยายขอบเขตอำนาจ

ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับเรื่องไว้พิจารณาเพราะเป็นการกระทำข้ามขั้นตอน ไม่มีอำนาจสั่งให้สภารอการดำเนินการ คำสั่งจึงไม่มีผลผูกพันต่อสภา หากรัฐสภายอมรับคำสั่งจะส่งผลให้ศาลรัฐธรรมนูญสามารถขยายแดนอำนาจของตนออกไปจนกลายเป็นองค์กรที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ อยู่เหนือองค์กรทั้งปวงของรัฐ และมีผลเป็นการทำลายหลักนิติรัฐและประชาธิปไตยลงอย่างสิ้นเชิง

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิป) พรรคฝ่ายค้าน กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยหากจะมีการประชุมสภาเพื่อพิจารณาเรื่องใดๆอีกในช่วงนี้ เพราะจะเป็นการเพิ่มความขัดแย้ง โดยเฉพาะการละเมิดคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญในการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3

ครม. หารือกฤษฎีกา

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (5 มิ.ย.) จะหารือเพื่อเตรียมทำคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพราะ ครม. เป็นผู้เสนอแก้รัฐธรรมนูญ และจะหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่องคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญว่ามีผลผูกพันต่อสภาหรือไม่

นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า การประชุมรัฐสภาวันที่ 9 มิ.ย. นี้เชื่อว่าประธานสภาจะให้ ส.ส. และ ส.ว. ร่วมกันแสดงความเห็นกรณีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ แต่จะมีการลงมติวาระ 3 เลยหรือไม่คงตอบไม่ได้

เสื้อแดงล่า 3 หมื่นชื่อ

นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคนเสื้อแดง กล่าวว่า จะเร่งรวบรวมรายชื่อประชาชนให้ได้ 25,000-30,000 ชื่อใน 2 สัปดาห์ เพื่อยื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกจากตำแหน่ง เนื่องจากเห็นว่ากระทำลุแก่อำนาจ อย่างไรก็ตาม เห็นว่าฝ่ายนิติบัญญัติควรประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นกับฝ่ายตุลาการ เพราะเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา กล่าวว่า ควรเดินหน้าประชุมเพื่อลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ตามปรกติ เพราะศาลรัฐธรรมนูญกระทำข้ามขั้นตอน การจะยื่นตีความกฎหมายได้ต้องผ่านวาระ 3 ไปก่อน

โฆษกศาลเตือนอย่าฝ่าฝืน

นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่า การยื่นเรื่องต่อศาลทำได้ 2 ช่องทางคือ ผ่านอัยการสูงสุดกับยื่นโดยตรงต่อศาล ส่วนการสั่งให้ชะลอการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ไว้ก่อนตุลาการได้พิจารณาแล้วว่าไม่ทำให้เกิดความเสียหาย หากรัฐสภาฝ่าฝืนคำสั่งเดินหน้าจัดประชุมเพื่อลงมติก็ต้องรับผิดชอบกับผลที่จะตามมาด้วย แต่ยังบอกไม่ได้ว่าหากมีการประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติศาลจะมีท่าทีอย่างไร เพราะเป็นเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น

ที่มา.หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
-----------------------------------------------------------------------

เรืองไกร ย้อนศร ยื่นยุบ ปชป.ต่อศาล รธน.โดยตรง ..!!?
















นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหาเปิดเผยว่า วันที่ 5 มิถุนายนนี้ จะไปถอนคำร้องจากอัยการสูงสุด แล้วนำมายื่นโดยตรงต่อประธานศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและมีคำสั่งยกเลิกผลการใช้อำนาจในการบริหารประเทศของ รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่อาจกระทำขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 20 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 20 วรรคหนึ่ง(5) เนื่องจากเป็นรัฐบาลที่ได้อำนาจการปกครองประเทศมาโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ตามแนวทางที่ศาลรัฐธรรมนูญวางไว้ ในการรับคำร้องไว้วินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญกระทำโดยชอบหรือไม่ ซึ่งกรณีการเสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2551 มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551 เป็นผลให้ส.ส.ของทั้ง 3 พรรคต้องหาพรรคใหม่สังกัดภายใน 60 วันนับจากวันที่มีคำสั่งยุบพรรค

นายเรืองไกรกล่าวต่อว่า แต่จากการตรวจบันทึกการประชุมวันลงมติเลือกนายอภิสิทธิ์ เป็นนายกฯ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ส.ส.ของทั้ง 3 พรรคที่ไปโหวตให้เป็นการบันทึกว่างเอาไว้ ดังนั้น ส.ส.ของทั้ง 3 พรรค ยังมีสถานภาพเป็นสมาชิกพรรคที่ถูกยุบไปอยู่เช่นเดิม จึงมีประเด็นให้พิจารณาว่า การเข้าไปทำหน้าที่ในรัฐสภาของ ส.ส. ของพรรคที่ถูกยุบไป ก็เท่ากับว่ามีการละเมิดต่อคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีผลเป็นเด็ดขาดผูกพันรัฐสภา และทุกองค์กร

อีกทั้ง จำนวน ส.ส.ของทั้ง 3 พรรคมีจำนวนมาก อาจทำให้ผลของมติในวันดังกล่าวมีจำนวนไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ดังนั้นการเข้าใจกันไปเองว่า ส.ส.ของพรรคที่ยุบไป มีความเป็นอิสระสามารถทำหน้าที่เป็นองค์ประชุมในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้นั้น อาจมีความคลาดเคลื่อน ไม่ต้องด้วยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และไม่เป็นไปตามแนวทางที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้ ซึ่งล่าสุดคือ กรณีของนายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย

“จึงขอให้ศาลมีคำสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคและบุคคลที่เกี่ยวข้อง และใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 264 ประกอบข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย ข้อ 6 สั่งให้พรรคประชาธิปัตย์และส.ส.ของพรรค หยุดการดำเนินกิจการและหยุดปฏิบัติหน้าที่ในฐานะส.ส.เอาไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งหรือคำวินิจฉัยเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันตามมติของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2555” นายเรืองไกรระบุว่า

และว่า สาเหตุที่ต้องดำเนินการ เนื่องจากส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดไต่สวนมากว่า 2-3 ปีแล้วยังไม่มีความคืบหน้า ดังนั้น จึงขอใช้สิทธิ์ยื่นเรื่องโดยตรงให้ศาลรัฐธรรมนูญ และหวังว่าจะเร่งพิจารณาโดยเร็วเหมือนกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ที่ตนข้องใจคือ มีคำสั่งแบบนั้นออกมาได้อย่างไร อย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ตนรวมถึงส.ส.พรรคเพื่อไทยเคยยื่นร้องมาแล้ว แต่ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง โดยอ้างว่าเป็นกระบวนการของฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะเสนอเป็นญัตติจึงไม่สามารถรับคำร้องไว้วินิจฉัยได้ แต่คราวนี้ทำไมถึงรับไว้วินิจฉัย

ที่มา.หนังสือพิมพ์แนวหน้า
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ดร.วีรพงษ์ รามางกูร : ความเป็นสูงสุดในการปกครอง !!?

คอลัมน์ : คนเดินตรอก โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

ขณะนี้ข่าวเรื่องการผลักดันให้รัฐสภาผ่านร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา

ประเด็นดังกล่าวมีผู้ที่เห็นด้วยและผู้ที่ไม่เห็นด้วย ผู้ที่ไม่เห็นด้วยแน่นอนก็ต้องเป็นพรรคฝ่ายค้านและกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แต่ที่แปลกก็คือ กลุ่ม นปช.และพรรครัฐบาลเองบางฝ่ายก็ไม่เห็นด้วย แต่ด้วยเหตุผลคนละอย่างพรรคฝ่ายค้านและพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้น มุ่งไปในทางที่ว่าเป็นการนิรโทษกรรมให้กับอดีตนายกรัฐมนตรีในความผิดที่ศาลตัดสินว่า การลงนามยินยอมให้คู่สมรสทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินที่กองทุนฟื้นฟูฯของธนาคารแห่งประเทศไทยขายให้ เป็นการใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีในทางมิชอบ เป็นความผิดตามคำพิพากษาของศาลฎีกา แผนกข้าราชการฝ่ายการเมืองและผู้ที่กระทำการก่อการร้าย

ส่วนฝ่าย นปช.คนเสื้อแดงส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วย เพราะจะเป็นการนิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำการให้เกิดความสูญเสียชีวิตประชาชนถึง 98 ศพ มีผู้บาดเจ็บทั้งสาหัส เช่น สูญเสียอวัยวะกลายเป็นคนพิการ และที่ไม่สาหัสเป็นจำนวนกว่า 2,000 คน

นอกจากนั้น ก็เท่ากับเป็นการปิดเรื่องการสอบสวนหาความจริงว่า โศกนาฏกรรมในปี 2553 เกิดขึ้นได้อย่างไร ใครที่จะต้องรับผิดชอบ ซึ่งเรื่องใหญ่โตขนาดนี้ถ้าเกิดขึ้นในประเทศอื่น ๆ มีผู้เสียชีวิตมากมายเกือบ 100 คน มีผู้คนบาดเจ็บพิการมากมาย จะปล่อยให้ผ่านไปกับสายลมไม่ได้ คงต้องสอบสวนทำรายงานไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์

ในที่สุดการถกเถียงกันมาถึงจุดอีกจุดหนึ่งว่า การผ่านพระราชบัญญัติโดยรัฐสภาจะทำได้หรือไม่ เพราะอาจจะขัดรัฐธรรมนูญสมัยปี 2550 ที่ร่างโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐประหารปี 2549

โดยที่รัฐธรรมนูญปี 2549 มาตรา 309 ที่บัญญัติให้การรับรองการกระทำใด ๆ ของรัฐประหารนั้นเป็นอันชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมถึงการกระทำอันเป็นการต่อเนื่องไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ให้ถือว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ คณะรัฐประหารโดยสภานิติบัญญัติเขียนให้รับรองการกระทำของตัวเองไว้เรียบร้อยแล้ว

โดยที่บทบัญญัติของ พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ที่กำลังจะนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเป็นการลบล้างการกระทำตามรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญก็เลยกลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญไปด้วย

เมื่ออ่านข้อเขียนนี้แล้วก็รู้สึกมีความสับสนในความเป็นสูงสุดในการปกครองประเทศ

โดยที่การปกครองของอังกฤษนั้น ได้รับการยกย่องว่าเป็นแม่บทของระบอบการปกครองระบบรัฐสภา และระบอบการปกครองของสหรัฐอเมริกาก็ได้รับการยกย่องให้เป็นแม่แบบของการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ เวลามีปัญหาในเรื่องความคิดเกี่ยวกับการปกครองระบอบรัฐสภาและการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ ก็มักจะกลับไปดูปรัชญาการปกครองของทั้งสองระบบมาเป็นข้อกล่าวอ้าง

การปกครองระบอบรัฐสภาของอังกฤษนั้น เป็นการปกครองที่ไม่มีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษร ถ้าหากจะมีการบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของรัฐหรืออำนาจของรัฐ หรือโครงสร้างขององค์กรทางการเมืองต่าง ๆ ซึ่งจะกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรของประเทศต่าง ๆ ก็จะตราเป็นพระราชบัญญัติ ซึ่งไม่มีศักดิ์ศรีสูงกว่าพระราชบัญญัติอื่น ๆ แต่สูงกว่าประเพณีปฏิบัติ สูงกว่าคำพิพากษาของศาลฎีกา และสูงกว่าคำวินิจฉัยขององค์กรการเมืองใด ๆ รวมทั้งของรัฐบาลด้วย

ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะประชาชนชาวอังกฤษยึดถือความเป็นสูงสุดของรัฐสภาอังกฤษ หรือ "Supremacy of The British Parliament" รัฐสภาอังกฤษจะมีมติหรือออกกฎหมายอะไรก็ได้ ไม่มีองค์กรใดจะต้องมาวินิจฉัยว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ประชาชนหรือสื่อมวลชนอาจจะวิพากษ์วิจารณ์ว่า เหมาะสมหรือไม่ ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ปฏิบัติได้หรือไม่ บังคับใช้ได้หรือไม่ เช่น รัฐสภาอังกฤษอาจจะออกกฎหมายบังคับให้คนฝรั่งเศสใช้ศีรษะเดินต่างเท้าก็ได้ ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ แต่อาจจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าสติไม่ดี ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนประเทศอื่น และบังคับใช้กับผู้ไม่ปฏิบัติตามไม่ได้ เป็นต้น

มติต่าง ๆ ของสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษก็เป็นแต่เพียงเสียงข้างมากธรรมดาของสภาเท่านั้นเอง ไม่จำเป็นต้องเป็นเสียงข้างมากพิเศษ ไม่ต้องมีการพิจารณาเรื่องใดด้วยวิธีพิเศษมากไปกว่าการลงมติเสียงข้างมากธรรมดา เหมือนกับการพิจารณาพระราชบัญญัติต่าง ๆ โดยทั่วไป

การปกครองของอังกฤษก็อาจจะถือว่าเป็นการปกครองแบบ "เผด็จการโดยรัฐสภา" ก็ได้ แต่เหตุที่ตำรารัฐศาสตร์โดยทั่วไปก็ยังถือว่าเป็นการปกครองของระบอบประชาธิปไตยโดยรัฐสภา เพราะเหตุที่ถือว่ารัฐสภาของอังกฤษเป็นตัวแทนของประชาชน การประชุมของรัฐสภาก็คือการย่อส่วนของการประชุมของประชาชน มติของรัฐสภาก็คือมติของประชาชน

แต่ความเป็นสูงสุดของรัฐสภาอังกฤษก็อาจจะถูกถ่วงดุลจากรัฐบาลได้ กล่าวคือ ถ้ารัฐบาลยังยืนยันความเห็นของตน เช่น กรณีสภาผู้แทนราษฎรไม่ผ่านพระราชบัญญัติสำคัญ หรือพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับการเงิน เช่น พระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี หรือประเด็นทางการเมืองใด รัฐบาลก็อาจจะยุบสภาเพื่อให้ประชาชนเลือกตัดสินว่าเห็นด้วยกับรัฐบาล หรือเห็นด้วยกับสภาผู้แทนราษฎร ถ้าประชาชนเห็นด้วยกับรัฐบาลก็เลือกพรรครัฐบาลเข้ามาใหม่ ถ้าไม่เห็นด้วยก็เลือกพรรคฝ่ายค้านเข้ามาแทน

การที่เป็นอย่างนั้นได้ก็ต้องมีองค์ประกอบบางอย่าง เช่น ประชาชนนิยมเลือกพรรคการเมืองมากกว่าตัวบุคคล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีวินัยต้องออกเสียงตามมติพรรค หากไม่ปฏิบัติตามมติพรรคก็ต้องถูกขับออก หรือลาออกจากพรรค ในการเลือกตั้งพรรคก็ไม่ส่งลงเลือกตั้งในนามของพรรค และโอกาสถูกเลือกเข้ามาใหม่ก็แทบไม่มี

การมีระบอบการปกครองที่ไม่ต้องเขียนรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษรนั้น ไม่มีประเทศใดลอกแบบเอาไปใช้ได้ เพราะลักษณะพิเศษของคนอังกฤษ และการวิวัฒนาการค่อยเป็นค่อยไปของอังกฤษยังใช้เวลานานกว่า 300 ปี จึงเป็นไปอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

เมื่อประเทศต่าง ๆ จะเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบกษัตริย์ หรือจากการปกครองแบบอาณานิคมมาเป็นการปกครองของประเทศเอกราชแบบประชาธิปไตย จะอาศัยจารีตประเพณี คำพิพากษาของศาลสูง หรือค่อย ๆ วิวัฒนาการอย่างอังกฤษก็คงจะทำไม่ได้ รอเวลายาวนานอย่างนั้นไม่ได้

เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เช่น การล้มล้างระบอบเดิมมาเป็นระบอบประชาธิปไตย มีการยอมรับอำนาจอธิปไตยว่าเป็นของปวงชน หรือมาจากปวงชน ก็มีความจำเป็นต้องตรากฎหมายซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด หรือกฎหมายรัฐธรรมนูญ บัญญัติถึงรูปแบบของรัฐ องค์กร ที่ใช้อำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของปวงชนหรือประชาชน หรือมาจากปวงชน หรือประชาชนขึ้นใช้

ที่มักจะอ้างเป็นแบบอย่างก็คือ ธรรมนูญการปกครองของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเริ่มขึ้นด้วยคำประกาศเอกราช และการตรารัฐธรรมนูญขึ้นใช้ รัฐธรรมนูญจึงเป็นสิ่งสูงสุดของการปกครองประเทศ ผู้ที่รักษารัฐธรรมนูญ หรือองค์กรที่จะวินิจฉัยว่ากฎหมายของสหรัฐก็ดี หรือกฎหมายของมลรัฐก็ดี หรือการ

กระทำของรัฐบาลก็ดี ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็เลยกลายเป็นองค์กรสูงสุดไปด้วย ในกรณีของสหรัฐอเมริกาองค์กรที่วินิจฉัยว่ากฎหมายใดหรือการกระทำใดไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ "unconstitutional" หรือไม่ก็คือศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกา ความเป็นสูงสุดในการปกครองสหรัฐก็คือศาลสูงสุดสหรัฐ หรือ "Supremacy of the U.S. Supreme Court"

คณะผู้พิพากษาศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกา แต่งตั้งโดยประธานาธิบดีด้วยความเห็นชอบของวุฒิสภา โดยไม่ต้องเกรงกลัวว่ารัฐบาลแทรกแซงศาล เมื่อ

แต่งตั้งโดยความเห็นชอบของวุฒิสภาแล้วก็อยู่ในตำแหน่งตลอดไปไม่มีวาระ จนกว่าจะถึงแก่กรรมหรือลาออก

มติของรัฐสภาก็ดี การกระทำของประธานาธิบดีก็ดี รัฐมนตรีก็ดี ผู้ว่าการมลรัฐก็ดี สภามลรัฐก็ดี หรือแม้แต่บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล อาจจะถูกศาลสูงสุดวินิจฉัยว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้ คนอเมริกันนั้นให้ความเคารพต่อรัฐธรรมนูญของเขาอย่างยิ่ง และไม่ค่อยอยากให้แก้รัฐธรรมนูญถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ เมื่อศาลสูงสุดวินิจฉัยอย่างใดแล้วก็เป็นที่ยุติ แม้ว่าคำพิพากษาอาจจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้

เมื่อประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในยุโรปที่มีกษัตริย์เป็นประมุขก็ดี หรือประเทศเกิดใหม่ที่พ้นจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษก็ดี เมื่อจะสถาปนาการปกครองระบอบประชาธิปไตย ก็นิยมเลือกการปกครองประชาธิปไตยระบอบรัฐสภาแบบอังกฤษ อาจจะเป็นเพราะความเคยชิน หากเคยมีกษัตริย์ก็ยังคงให้ประมุขของประเทศเป็นกษัตริย์ หากไม่มีกษัตริย์เสียแล้วก็นิยมให้รัฐสภาเลือกบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศ แต่ไม่มีอำนาจบริหารใด ๆ แบบกษัตริย์อังกฤษ อำนาจในการบริหารประเทศอยู่ที่นายกรัฐมนตรีและรัฐสภา

แต่ในขณะเดียวกัน รัฐสภาหรือสภาผู้แทนราษฎรก็ไม่มีความเป็นสูงสุดอย่างอังกฤษ แต่รัฐธรรมนูญและผู้ที่จะวินิจฉัยว่ากฎหมายใด การกระทำใดของรัฐบาลก็ดี หรือองค์กรการเมืองอื่นก็ดี หรือแม้แต่ศาลว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือไม่ก็กลายเป็นผู้ที่มีความเป็นสูงสุด ก็เลยเป็นลูกผสม มีรัฐสภาแบบอังกฤษ มีรัฐธรรมนูญ

สำหรับบ้านเราไม่ค่อยแน่ใจว่าความเป็นสูงสุดในการปกครองของเราอยู่ที่ใด เพราะรัฐธรรมนูญก็ไม่ค่อยสูงสุดในความรู้สึกนึกคิดของประชาชน บางทีกฎหมายอาญาหรือกฎหมายแพ่งยังรู้สึกศักดิ์สิทธิ์กว่า รัฐสภาก็ไม่มีความเป็นสูงสุด ศาลรัฐธรรมนูญผู้คนก็ไม่ค่อยนับถือในความเป็นสูงสุด เพราะรัฐธรรมนูญนั้นจะฉีกทิ้งเมื่อไรก็ได้ พอจะมีการออก พ.ร.บ.ปรองดองผู้คนก็เลยลืมนึกไปว่าเรายังมีรัฐธรรมนูญอยู่ เพราะรัฐธรรมนูญ 2550 ก็เป็นลูกของหัวหน้าคณะรัฐประหาร ผู้เสนอ พ.ร.บ.ปรองดองนั่นเอง ก็ไม่น่าจะมีความเป็นสูงสุด

ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ก็เป็นอย่างนี้

ที่มา.ปะชาชาติธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ปรองดอง บนศพเกลื่อนกลาด !!?

ผมขอเดาว่า พ.ร.บ.ปรองดองผ่านสภาแน่ โดยร่างของ พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน เป็นร่างหลัก อีกทั้งไม่เป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งใหญ่ในสังคม หรือยังไม่เป็นเหตุให้เกิดในตอนนี้หรอก

หากผมเดาถูก ก็ไม่ได้เก่งกาจอะไร ใครที่ติดตามสัญญาณทางการเมืองมา ก็คงเดาได้อย่างเดียวกัน พ.ร.บ.ปรองดองที่มุ่งจะเอาคุณทักษิณกลับประเทศ จะเกิดขึ้นโดยไม่มีการเจรจาต้าอวยกันก่อน อาศัยแต่เสียงข้างมากในสภาเพียงอย่างเดียว ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้

เขาเจรจาต่อรองกันที่ไหน เมื่อไร และอย่างไร ผมไม่ทราบ แต่มีสัญญาณที่ใครๆ ก็เห็นว่า ได้ตกลงกันถึงระดับที่พอใจแก่ทั้งสองฝ่ายแล้ว จู่ๆ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ จะไปงานเลี้ยงที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์จัดขึ้น แสดงไมตรีตอบสนองกันให้สื่อได้เห็น จนแม้แต่เปิดบ้านต้อนรับการเข้าอวยพรในวันสงกรานต์แก่นายกฯยิ่งลักษณ์ และเมื่อเร็วๆ นี้ ยังพูดชมเชยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ว่าเป็นคนดี ย่อมจะร่วมต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นได้ เหตุการณ์อย่างนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร

ทางฝ่ายเสื้อแดงก็หยุดโจมตีพลเอกเปรม แกนนำบางคนถึงกับพูดยกย่อง บางคนไม่ยกย่อง แต่ก็ชี้ให้เห็นว่าเกมส์เปลี่ยนไปแล้ว วาทกรรมอำมาตย์-ไพร่ค่อนข้างเลือนรางลง

ในข้อตกลงกันนี้จะมีรายละเอียดอย่างไร ผมไม่ทราบ แต่อยากเดาว่าคงต้องมีอย่างน้อยคือ

1/ คุณทักษิณกลับประเทศได้ ภาระทางคดีที่ดินรัชดานั้น จะได้รับการนิรโทษกรรม ส่วนคดีอื่นๆ ต้องว่ากันไปในแต่ละคดี ส่วนหนึ่งคงระงับการฟ้องร้อง (เพราะการถูกฟ้องร้องเป็นการกระทำที่เนื่องกับการยึดอำนาจ ในวันที่ 19 ก.ย.49) แต่คุณทักษิณจะไม่กลับเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีก ตรงกับที่คุณทักษิณได้ให้สัมภาษณ์เองก่อนหน้านี้

ข้อตกลงนี้ อย่างน้อยก็ทำความมั่นใจแก่ผู้ที่เคยเป็นปฏิปักษ์ต่อคุณทักษิณว่า จะไม่ถูกปลดจากตำแหน่ง อย่างน้อยก็โดยยังไม่ทันตั้งตัว ส่วนตำแหน่งที่ได้มาเพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราวนั้น เอาไว้ต่อสู้กันใน ส.ส.ร.ต่อไปข้างหน้า

2/ ในส่วนข้าราชการประจำที่สำคัญๆ และเป็นกำลังหลักของฝ่ายปฏิปักษ์คุณทักษิณ น่าจะทำความเข้าใจกันแล้วว่า จะไม่โยกย้ายจนกว่าจะครบอายุเกษียณอายุ

3/ เมื่อเลิกแล้วต่อคุณทักษิณ ก็หมายความว่าต้องเลิกแล้วต่อฝ่ายตรงข้ามคุณทักษิณด้วย โดยเฉพาะทหารที่สังหารหมู่ประชาชน รวมทั้งฝ่ายพันธมิตร ที่ได้ละเมิดกฎหมายมาก่อน ข้อนี้เห็นได้ชัดในร่าง พ.ร.บ.ปรองดองอยู่แล้ว

4/ ฝ่ายคุณทักษิณคงสัญญาว่า จะไม่ทำอะไรที่กระทบต่อโครงสร้างอำนาจที่มีอยู่เดิมในประเทศไทย โดยอีกฝ่ายหนึ่งก็จะยุติการตามล้างตามผลาญฝ่ายคุณทักษิณในทางกฎหมาย (เช่น ละเมิดกฎหมายอาญา ม.112) ด้วย แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงคนอื่นซึ่งไม่ใช่คู่กรณี รัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังมีหน้าที่ปราบปรามผู้ที่อาจสั่นคลอนโครงสร้างอำนาจที่มีอยู่เดิมนี้ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการกระทำที่น่าหวาดระแวงว่าผิดกฎหมายคอมพิวเตอร์, ม.112 หรือทำหนังทำละครที่ดูจะล้ำเส้น พวกนี้ต้องกำราบเอาไว้

เป็นอันว่า "ประเทศไทยจะเดินหน้าต่อไป" เพราะชนชั้นนำทั้งสองกลุ่มสามารถตกลงกันได้ในกติกาของความขัดแย้ง

อันที่จริง ชนชั้นนำไทยเคยขัดแย้งกันตลอดมา แต่ในที่สุดก็ตกลงกันได้ระดับหนึ่งเสมอ (หรือเกือบเสมอ หากไม่นับกรณีท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์) ที่เกิดการนองเลือดเป็นครั้งคราว ก็เพราะมีคนหน้าใหม่ซึ่งไม่ได้อยู่วงในของชนชั้นนำเสนอหน้าเข้ามาร่วมวง จึงต้องใช้วิธีรุนแรงซึ่งทำให้เกี้ยเซี้ยกันยาก

คนหน้าใหม่เหล่านี้ ที่จริงจะว่าเข้ามาเองก็ไม่เชิงทีเดียวนัก ส่วนหนึ่งของเขาได้รับการเชื้อเชิญให้เข้ามาโดยบางกลุ่มของชนชั้นนำ ดังเช่นการลุกฮือขึ้นของประชาชนในวันที่ 14 ต.ค.2516 แต่เครื่องมือที่ใช้จนสำเร็จภารกิจแล้ว ควรกลับไปอยู่ในกล่อง ไม่ใช่มีเสียงของตัวเอง หรือไปดึงคนหน้าใหม่อื่นๆ เข้ามาในวงมากขึ้น ฉะนั้น จึงต้องเกิด 6 ตุลา ให้น่าสะพรึงกลัวเสียยิ่งกว่า 14 ตุลาเสียอีก เช่นเดียวกับพฤษฎามหาโหดใน 2535

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ การเกี้ยเซี้ยของชนชั้นนำเริ่มจะควบคุมความขัดแย้งได้ยากขึ้น เพราะคนหน้าใหม่ที่ถูกดึงเข้ามาร่วมวงในการต่อสู้ (หรือเข้ามาเองก็ตาม) เริ่มมีจำนวนมากขึ้น และที่สำคัญกว่านั้นคือหลากหลายขึ้นด้วย

ดังนั้น การเกี้ยเซี้ยครั้งนี้จึงต้องข้าม "ศพ" คนจำนวนมาก ทั้งที่หายใจไม่ได้แล้ว และศพที่ยังหายใจได้อยู่

92 ศพ (ข้อมูลบางแห่งว่าในปัจจุบันมีถึง 102 ศพเข้าไปแล้ว) ที่เสียชีวิตเนื่องจากการกระทำของรัฐใน 2553 ถูกข้ามไปหน้าตาเฉยอย่างที่เห็นๆ กันอยู่ ยังผู้บาดเจ็บอีกกว่า 2,000 ก็ถูกข้ามไปเหมือนกัน

แต่ไม่ใช่เพียงเท่านั้น กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งยังไม่ได้เป็นศพ ก็ถูกข้ามไปเหมือนกัน แม้พยายามดิ้นรนขัดขวางไม่ให้ข้าม เขาก็ข้ามไปจนได้

พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งได้โอกาสจัดตั้งรัฐบาลมา 2 ปี และโอกาสกู้หนี้อีกก้อนมหึมา ก็ยังอุตส่าห์แพ้การเลือกตั้งแบบถล่มทลาย ถูกข้ามไปเหมือนกัน เพราะถูกพิจารณาว่าเป็น "ศพ" ในทางการเมืองไปเสียแล้ว ยิ่งเล่นการเมืองแบบโต้วาทีเช่นนี้ ก็คงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะฟื้น (หากจะมีโอกาสฟื้น) และถึงจะเปลี่ยนการแสดงเป็นปาหี่ ก็หาทำให้สถานการณ์ดีขึ้นไม่

แม้กระนั้น ศพทั้งสองก็มิได้ถูกกระทำย่ำยีอนาจาร เพราะ พ.ร.บ.ปรองดองได้นิรโทษกรรมไว้ให้เรียบร้อยแล้ว

สมาชิก นปช.ที่ต่อต้านอำนาจอันมาจากการรัฐประหาร และบางคนก็อาจสนับสนุนคุณทักษิณด้วย อย่างน้อยก็เชิงสัญลักษณ์ นี่ก็เป็น "ศพ" ที่ถูกข้ามไปจาก พ.ร.บ.ปรองดองเช่นกัน พวกเขาไม่ได้เสี่ยงชีวิตสู้เพื่อช่วยคุณทักษิณ แต่สู้เพื่อให้คุณทักษิณได้รับความยุติธรรม อย่างที่พวกเขาอยากเห็นสังคมไทยเป็นสังคมที่เคารพความเป็นธรรม หากคุณทักษิณทำผิดกฎหมาย คุณทักษิณก็สมควรได้รับโทษตามกฎหมาย แต่กระบวนการทางกฎหมายที่จะเอาผิดกับคุณทักษิณ ต้องโปร่งใส, เป็นธรรม และให้โอกาสสู้คดีอย่างเต็มที่เท่าที่กฎหมายซึ่งยุติธรรม (อันเปรียบเทียบได้กับนานาอารยประเทศ) มอบให้

โดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนปฏิรูปอะไรในโครงสร้างอันไม่เป็นธรรมเลย คุณทักษิณก็จะเดินข้ามศพคนจำนวนมากกลับบ้าน ดังนั้น พวกเขาจึงเป็น "ศพ" อีกชนิดหนึ่งที่คุณทักษิณต้องก้าวข้าม (แล้วลืมพวกมันไป) เหมือนกัน

คนพวกนี้จะมีสักเท่าไร ผมตอบไม่ได้ แต่รู้แน่ว่ามีจำนวนมาก (อย่างน้อยก็มากกว่าศพพันธมิตรไม่เกิน 5,000 คนที่ชนชั้นนำได้ก้าวข้ามไปแล้ว) ผมประเมินจากปัจจัยสองสามอย่าง อาจารย์ธิดา ประธาน นปช.ในปัจจุบัน ซึ่งมีสามีเป็น ส.ส.สังกัดพรรคเพื่อไทย ได้แสดงจุดยืนให้เห็นว่า ไม่อาจเห็นด้วยกับข้อเสนอนิรโทษกรรมทุกฝ่ายในร่าง พ.ร.บ.ปรองดองได้ วิทยุเสื้อแดงในจังหวัดที่ผมอยู่ระดมสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.เกือบ 24 ชั่วโมง เสียงสะท้อนของคนเสื้อแดงจำนวนมากที่ออกมาในสื่อออนไลน์ และในการประชุมสัมมนาตามที่ต่างๆ รวมทั้งการกลับลำของคุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ

ถ้าคนกลุ่มนี้มีจำนวนไม่มาก ก็ไม่ต้องมีปฏิกิริยาเช่นนี้

แต่คนพวกนี้ ทั้งที่อยู่ในพันธมิตร, ใน นปช. รวมกับคนที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวของเสื้อแดง เพราะคิดว่าจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง จะเป็นศพให้ข้ามไปเฉยๆ กระนั้นหรือ

ขออนุญาตใช้สำนวนของคุณ "ใบตองแห้ง" ที่ว่า คนเหล่านี้เป็นยักษ์ที่ถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมาเสียแล้ว (คงจะกลับลงขวดหรือตะเกียงอีกได้ยาก)

แต่ยักษ์ไม่ได้ตื่นเพียงเพราะเหตุการณ์ชุมนุมใน 6-7 ปีที่ผ่านมา ผมคิดว่าพวกเขาถูกปลุกให้ตื่นจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมที่เกิดในเมืองไทยมากว่า 20 ปีแล้ว จากคนที่ไม่อินังขังขอบทางการเมือง กลายเป็นคนที่กระตือรือร้นจะมีส่วนร่วมทางการเมือง และเมื่อไม่มีพื้นที่ให้เข้าไปมีส่วนร่วมได้มากกว่าหีบบัตรเลือกตั้ง จึงจำเป็นต้องใช้ท้องถนน

ผมไม่ได้ปฏิเสธนะครับว่า การเคลื่อนไหวของยักษ์เหลืองยักษ์แดงเหล่านี้มีชนชั้นนำบางกลุ่มสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง แต่ไม่พอหรอกครับ ไม่ว่าจะสนับสนุนอย่างไร ก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัยบางอย่างที่ช่วยให้เขาเลือกจะตอบสนองต่อการสนับสนุนนั้นด้วย ชนชั้นนำที่คิดว่า เมื่อตนถอนการสนับสนุน ยักษ์ก็ต้องกลับลงขวดหรือลงตะเกียงไปเอง ออกจะคิดตื้นและสั้นไปหน่อย

ผมเห็นด้วยกับคุณ "ใบตองแห้ง" ว่า ยักษ์ไม่กลับลงไปแน่ ไม่ว่าแกนนำจะถอดสีไปอย่างไร เสื้อแดงและเหลืองจำนวนหนึ่ง ย่อมกระเสือกกระสนที่จะมีพื้นที่ทางการเมืองของตนเองต่อไปอย่างแน่นอน แม้อาจต้องเปลี่ยนสีเสื้อไปตามสถานการณ์ก็ตาม

ร่าง พ.ร.บ.นี้จึงไม่นำไปสู่อะไรสักอย่างเดียว นอกจากเอาคุณทักษิณกลับบ้าน (อย่างสง่างามไม่มากไปกว่าการหลบเข้าเมืองสักเท่าไรนัก) ความขัดแย้งยังคงมีอยู่ต่อไป แต่เมื่อขาดการสนับสนุนของชนชั้นนำ ก็อาจไม่บานปลายถึงขนาดยึดทำเนียบ-สนามบิน หรือยึดสี่แยกราชประสงค์ ที่สำคัญก็คือร่าง พ.ร.บ.ไม่ได้สร้างเงื่อนไขใหม่ และกติกาใหม่ สำหรับเปิดให้ความขัดแย้งสามารถดำเนินไปได้ โดยไม่กระทบถึงสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น

ชนชั้นนำเกี้ยเซี้ยกันได้อีกครั้งหนึ่ง บนซากศพนานาชนิดอย่างเคย แต่ครั้งนี้จะไม่สามารถผัดผ่อนความขัดแย้งระดับรากฐานในสังคมได้เสียแล้ว ในที่สุด เมื่อชนชั้นนำลงมาหาประโยชน์จากความขัดแย้ง ก็จะกลับไปสู่การนองเลือดอีกครั้งหนึ่ง


ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันจันทร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2555

จับตาทุนจีน เปิดแผนอภิมหาโปรเจ็คต์ของจีนในพม่า-อาเซียน ..!!?

โดย:ศิริชัย ลีเลิศยุทธ์

จีนกำลังก้าวไปสู่การเป็นนายทุนใหญ่ของโลกมากขึ้นเป็นลำดับ หลังการจีนเปิดประเทศให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนได้ 30 ปี จีนจึงเปลี่ยนนโยบายจาก “เชิญเข้ามา” ไปสู่การ “เดินออกไป” เมื่อปี 1999 สมัยเจียงเจ๋อหมิน โดยนายกฯจูหรงจีผลักดันนโยบายสนับสนุนการออกไปลงทุนในต่างประเทศ

จีนมีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มูลค่าการลงทุนในต่างประเทศ (Outward FDI) ของจีนในปี 2007 คือ 26.51 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ในปี 2008 กราฟสูงขึ้นเท่าตัวเป็น 55.91 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ตัวเลขยังสูงขึ้นเรื่อยๆ ที่น่าสังเกตคือผู้ลงทุนจากจีนนั้นไม่ใช่เอกชนเป็นส่วนใหญ่เหมือนตะวันตก แต่เป็นรัฐวิสาหกิจถึงร้อยละ 70.5 ของการออกไปลงทุนต่างประเทศทั้งหมดของจีน นัยยะสำคัญคือ กำไรจากการลงทุนมหาศาลนั้นไหลเข้ารัฐบาล

เป็นที่น่าสนใจว่า อะไรทำให้จีนเร่งฝีเท้าในการบุกโลกด้วย “ทุน” อย่างหนักหน่วงในระยะหลังนี้? โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาเซียนเป็นภูมิภาคหนึ่งที่ยักษ์ใหญ่กำลังหาทางรุกเข้ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศพม่า ปริมาณการลงทุนของจีนในประเทศพม่าเพียงช่วงระยะเวลา 4 ปี พุ่งสูงขึ้นอย่างน่าตกใจถึง 3800% เกิดอะไรขึ้นกับพม่าในระยะที่ผ่านมา?

ดร.อักษรศรี พาณิชสาส์น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน ได้วิเคราะห์การที่ทุนจีนเดินทางออกต่างประเทศ และเล่าถึงโครงการยักษ์ของจีนที่เกิดขึ้นในพม่าในงานสัมมนาปัญญาภิวัตน์ “อาณาจักรทุนจีนในอาเซียน” ที่โรงแรมทวินทาวเวอร์เมื่อ 30 พ.ค. 55 ที่ผ่านมา

ทุนจีนบุกทั่วโลก มีรัฐบาลอุ้มอยู่เบื้องหลัง


ดร.อักษรศรีสรุปปัจจัยที่ทำให้ทุนจีนเดินออกไปอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีมานี้ไว้ 7 ข้อ

1. จีนต้องการทรัพยากรทางธรรมชาติ และแสวงหาความมั่นคงด้านพลังงาน เพราะจีนเคยประสบปัญหาขาดแคลนพลังงานเมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว ด้วยจำนวนประชากรที่มากที่สุดในโลก และการขยายอย่างรวดเร็วของเมือง ทำให้จำเป็นต้องออกไปแสวงหาแหล่งพลังงานทรัพยากรภายนอก

2. จีนต้องการวัตถุดิบหรือผลผลิตเกษตร เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตภาคอุตสาหกรรม แปรรูปเพิ่มมูลค่า เช่น การซื้อยางพาราถูกๆจากไทยนำไปผลิตยางล้อรถยนต์ในจีน

3. เพื่อเรียนรู้ระบบบริหารจัดการสมัยใหม่ และเทคโนโลยีทันสมัย โดยเฉพาะจากภูมิภาคยุโรป จีนจึงไปลงทุนในยุโรปทั้งที่มีต้นทุนในการลงทุนสูง แต่มองว่าคุ้มในการเรียนรู้

4. กระแสกดดันจากคู่ค้าหลายชาติที่ต่อต้านสินค้า “Made in China” จึงย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น เพื่อสามารถระบุข้อมูลแหล่งผลิตเป็นชื่อประเทศอื่นที่ตนไปตั้งโรงงานได้

5. เพื่อเข้าสู่ตลาดขนาดใหญ่ในต่างประเทศ บางประเทศส่งสินค้าไปขายได้ยาก หากไปตั้งโรงงานที่นั่นได้จะสะดวกกว่า

6. ต้นทุนการผลิตในจีนสูงขึ้น ค่าแรงแพงขึ้นในมณฑลชายฝั่ง จึงต้องการออกไปหาแหล่งผลิตที่มีต้นทุนต่ำกว่า ปัจจุบันค่าแรงในจีนแพงมากขึ้น เนื่องจากกฎหมายแรงงานในจีนมีการเพิ่มค่าแรง จีนจึงสนใจอาเซียนซึ่งเป็นแหล่งแรงงานราคาถูก

7. ค่าเงินหยวนแข็งค่ามากขึ้นตลอดเวลา ทำให้การส่งออกแพงขึ้น การไปซื้อโรงงานถูกๆในต่างประเทศจะคุ้มกว่า

ดร.อักษรศรี กล่าวว่าทุนจีนยังมีมือที่มองไม่เห็นมาช่วย “อุ้ม” ออกไปยังต่างประเทศ รัฐบาลจีนใช้หลายมาตรการเพื่อการสนับสนุนการ “เดินออกไป” ของทุนจีน เช่นการตั้งหน่วยประสานงานเฉพาะเพื่อการออกไปลงทุน สนับสนุนข้อมูลที่จำเป็นต่อการลงทุนในต่างประเทศ ที่สำคัญคือการสนับสนุนทางการเงินโดยให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำระยะยาว หรือกู้โดยปลอดดอกเบี้ยเป็นบางโครงการ รัฐบาลยังส่งเสริมการออกไปลงทุนตั้ง "นิคมเศรษฐกิจการค้า" ของทุนจีนในต่างประเทศ หรือที่รัฐบาลจีนเรียกว่า "China’s National Overseas Trade and Economic Cooperation Zone" เพื่อให้ทุนจีนได้รวมตัว และ "จับมือกัน" เดินออกไป หรือพูดง่ายๆ ว่า เป็นการออกไปสร้าง "คลัสเตอร์ จีน" ในต่างแดน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของทุนจีนในต่างแดน

ตัวอย่างของนิคมจีนในประเทศไทยอยู่ภายในนิคมอมตะ จังหวัดระยอง มีพื้นที่ประมาณ 500 ไร่ บริหารจัดการโดยบริษัท Thai-Chinese Industrial Realty Development หรือชื่อภาษาไทยว่า "บริษัท พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมระยอง (ไทย-จีน) จำกัด" นิคมจีนแห่งนี้เป็นการเข้ามาลงทุนในไทยโดยกลุ่ม Holley Group จากมณฑลเจ้อเจียง ร่วมมือกับกลุ่มอมตะ (ร่วมถือหุ้นประมาณร้อยละ 25) จดทะเบียนในปี 2007 ในขณะนี้ มีนักลงทุนจีนตามเข้ามาตั้งโรงงานในนิคมจีนในไทยดังกล่าวแล้วประมาณ 32 ราย

ภูมิภาคที่จีนออกไปลงทุนมากที่สุดในปี 2010 คือเอเชีย คิดเป็นร้อยละ 46.3 หรือเกือบครึ่งของการลงทุนทั้งหมดในต่างประเทศของจีน ส่วนมากอยู่ที่ฮ่องกง รองลงมาคือแอฟริกา และละตินอเมริกา ส่วนการลงทุนในอเมริกาเหนือและยุโรปยังค่อนข้างน้อย เนื่องจากยังมีอุปสรรคในด้านกฎหมาย การเงิน นโยบายที่ให้การบริการอย่างเป็นระบบ เป็นต้น

เมื่ออาเซียนคือขุมทรัพย์สำหรับจีน ยุทธศาสตร์รุกลงใต้จึงเกิดขึ้น

เป้าหมายหนึ่งที่จีนพยายามจับให้อยู่หมัดคือ อาเซียน อาเซียนอยู่ลำดับที่ 3 ของมูลค่าการลงทุนในต่างประเทศทั้งหมดของจีน รองจากฮ่องกง และออสเตรเลีย สถิติการลงทุนของจีนในแต่ละประเทศแถบอาเซียนมีกราฟที่พุ่งกระโดดอย่างมากในช่วงปี 2008-2010
“การที่จีนเข้ามาลงทุนในอาเซียนไม่ใช่เรื่องบังเอิญ และไม่ใช่กระแสภูมิภาค แต่เป็นความตั้งใจของผู้นำจีนอย่างลุ่มลึก” ดร.อักษรศรีกล่าว

อาเซียนมีอะไรที่ดึงดูดจีน?

ดร.อักษรศรีมองว่ามีเหตุผลหลายอย่างประกอบกัน ในทางการเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับประเทศตอนใต้อย่างอาเซียนดูจะราบรื่นกว่าประเทศเพื่อนบ้านด้านอื่นๆ มีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างอาเซียนกับประเทศต่างๆที่จีนใช้เป็นสปริงบอร์ดได้ ในทางเศรษฐกิจ อาเซียนเป็นตลาดใหญ่ที่มีประชากรเกือบ 600 ล้านคน มีกำลังซื้อมาก มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ มีทั้งปัจจัยการผลิตที่จีนต้องการ มีแรงงานค่าจ้างต่ำฝีมือพอใช้ มีแหล่งทุน พื้นที่สภาพอากาศเหมาะสมกับการเพาะปลูก มีวัตถุดิบหลายชนิด กรณีที่จีนเข้ามาลงทุนสร้างเขื่อนขนาดยักษ์ "มี้ตโสน" กั้นแม่น้ำอิรวดีในพม่า แล้วถูกต่อต้านกระทั่งประธานาธิบดีเตงเส่งสั่งระงับโครงการ ก็เป็นความต้องการทรัพยากรพลังน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้า

ดร.อักษรศรีเรียกการเข้ามาของจีนในอาเซียนว่า “ยุทธศาสตร์รุกลงใต้ของจีน” (China’s Look South Policy) รัฐบาลจีนดำเนินยุทธศาสตร์นี้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน เริ่มจากการเบิกทางการค้าด้วยการ “จีบ” อาเซียนให้ทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีหรือ FTA ค่อยๆลดภาษีการนำเข้าให้เหลือศูนย์

“สิ่งหนึ่งในเชิงสัญลักษณ์ที่ชัดเจนมากในการรุกลงใต้ของจีนคือข้อตกลงการค้าเสรี ASEAN-China FTA ที่นายกรัฐมนตรีจูหรงจีของจีนชักชวนอาเซียนให้ทำเมื่อปี 2000 อาเซียนตกใจงงว่าจะทำไปทำไมเพราะก่อนหน้านั้นอาเซียนไม่ได้สนใจค้าขายกับจีนเลย มีแต่จะแข่งกันด้วยซ้ำ แต่อาเซียนก็ไม่ปฏิเสธที่จะขึ้นขบวนรถไฟนี้ จีนผลักดัน FTA ฉบับนี้มากตั้งแต่ปี 2000 พวกเราทราบดีถึงฤทธิ์เดชของ FTA ฉบับนี้ที่สินค้าจีนเต็มบ้านเต็มเมืองทั้งในไทยและอาเซียน จนจีนผงาดขึ้นเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของหลายประเทศในอาเซียน”

เมื่อเบิกทางให้ค้าขายได้ราบรื่นแล้ว สเต็ปต่อไปของยุทธ์ศาสตร์รุกลงใต้คือเบิกทางด้านการลงทุน จีนไม่ได้นำสินค้ามาอย่างเดียว แต่พ่อค้า นักธุรกิจ โรงงานจีนยังทยอยเข้ามาด้วย ทางการจีนพยายามเพิ่มอิทธิพลของสกุลเงินหยวนโดยเริ่มผลักดันโครงการชำระเงินด้วยสกุลหยวน (RMB Trade Settlement) ในปี 2007 อินโดนิเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทยเข้าร่วม จีนพัฒนาประตูการค้าและการลงทุนกับอาเซียน โดยในปี 2009 รัฐบาลมณฑลกวางสีซึ่งเป็นเกตเวย์สู่อาเซียนผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้ หรืออ่าวตังเกี๋ย ในบริเวณทะเลจีนใต้ (Pan-Beibu Gulf Economic Cooperation: PBG) เพื่อพัฒนาโลจิสติกทางทะเล ขนานไปกับการพัฒนาโลจิสติกทางบกโดยกลุ่มความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Grater Mekong Sub-Region) ที่มีอยู่ก่อนแล้ว

ดร.อักษรศรีเล่าถึงกรณีล่าสุดที่สามีของ กลอเรีย อาโรโย อดีตประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ โดนคดีความเรื่องรับเงินสินบนจากบริษัท ZTE ของจีน ในการทำสัมปทานระบบโทรคมนาคมของฟิลิปปินส์ ในมูลค่าโครงการประมาณ 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีเงินสินบนของสามีอดีตประธานาธิบดีรวมอยู่ราว 70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สิ่งนี้แสดงว่าเวลาจีนไปลงทุนในประเทศที่เรื่องพิพาทกับตนอย่างฟิลิปปินส์ ซึ่งมีข้อพิพาทเรื่องพื้นที่ทับซ้อนในทะเลจีนใต้ บางครั้งการจ่ายเบี้ยใบ้รายทางก็เป็นวิธีการหนึ่งเพื่อทำให้การลงทุนนั้นราบรื่น

สิ่งที่นักธุรกิจชาวจีนต้องระวังเมื่อมาลงทุนในประเทศไทยคือ ถ้าจีนมาแบบใหญ่โตมโหฬารแล้วมีรูปแบบพฤติกรรมด้านเสียมากไปหน่อย อาจจะมีกระแสไม่เอาจีนเกิดขึ้นได้ และตอนนี้เริ่มมีกระแสแบบนี้แล้ว พม่าก็เป็นเช่นกันในบางเมืองอย่างมัณฑะเลย์ที่ชาวจีนอพยพเข้าไปอย่างรวดเร็ว การที่บางบริษัททำผิดพลาดก็อาจทำลายภาพลักษณ์ของคนชาติเดียวกัน เช่น กรณี China City Complex ที่บางนา ถูกคนไทยต่อต้านเพราะโครงการนี้เหมือนเป็นโครงการกำมะลอ มีแต่การแสดงภาพ แสดงโมเดล แต่ที่ดินก็ยังไม่ได้ซื้อ ยังไม่มีหุ้นส่วนตอนที่เปิดตัวโครงการเมื่อ 18 มกราคมเมื่อปีที่แล้ว ดร.อักษรศรีกล่าวว่าตนเองก็ไม่เคยเห็นด้วยกับโครงการนี้ เพราะโครงการนี้เป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่เขาตั้งใจเปิดเพื่อขายของจีนโดยคนจีนในแผ่นดินไทย

ส่วนทุนจีนที่มีความเป็นมืออาชีพและไม่ได้สร้างผลกระทบอะไรกับไทยก็มีหลายราย เช่น บริษัทแนวหน้าจากจีนที่มาผลิตท่อไร้ตะเข็บในทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก มาลงทุนในนิคมจีนในระยองด้วยมูลค่ามหาศาล ใช้ไทยเป็นฐานผลิต แต่ไม่ได้เน้นขายไทย ขายทั่วโลก

“บางคนอาจมองว่าจีนไปเที่ยวดูดทรัพยากรโลก แต่จริงๆแล้วไปว่าจีนไม่ได้ เพราะมหาอำนาจก็ทำกันทั้งนั้น อย่างสหรัฐฯเก็บน้ำมันของตัวเองไว้ดิบดีแต่ไปเที่ยวดูดน้ำมันคนอื่น นั่นคือพฤติกรรมของมหาอำนาจมากกว่า เราต้องรู้ทันว่าเขาทำเพื่อผลประโยชน์ของคนในชาติเขา อย่าไปคิดว่าจีนคือตาแป๊ะใจดี อากงใจดี มาเที่ยวช่วยนู่นช่วยนี่ เขาทำเพื่อคนของเขา และนั่นก็ไม่ผิด เราต่างหากที่จะต้องทำแบบเขาบ้าง คือทำเพื่อคนของเรา เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติตัวเองบ้าง ภาษารัฐศาสตร์เรียกว่า National Interest” อ.อักษรศรีกล่าว

จีนเปิดอภิมหาโปรเจกต์ ผ่ากลางประเทศพม่า สร้างทางลัดสู่ทะเล

หากไปดูสถิติการลงทุนของจีนในพม่า จะพบตัวเลขที่พุ่งกระโดดอย่างน่าทึ่งกว่าทุกประเทศในอาเซียน เมื่อปี 2005 จีนมีมูลค่าการลงทุนเพียง 24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่พอถึงปี 2009 ตัวเลขสูงขึ้นไปเป็น 930 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นประมาณ 3800% ทำให้พม่าติดอันดับ 19 ของประเทศที่จีนไปลงทุนมากที่สุด

อะไรอยู่เบื้องหลังสถิติการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงแบบทะลุเพดานเช่นนี้?

คำตอบคือโครงการยักษ์ของจีนในพม่าเพื่อแก้ปัญหาในการออกสู่ทะเลของจีน ดร.อักษรศรีกล่าวว่าทุกวันนี้จีนออกทะเลได้ข้างเดียวคือทางมหาสมุทรแปซิฟิก ถ้าจะออกมหาสมุทรอินเดียเพื่อไปยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง ต้องไปอ้อมช่องแคบมะละกา ช่องแคบมะลาจึงเป็นชีพจรทางทะเลของจีน มีสถิติว่าเรือจีนผ่านช่องแคบมะละกาเฉลี่ย 140 ลำต่อวัน แต่ช่องแคบมะละกามีโจรสลัดชุกชุม จีนจึงพยายามหาทางออกทะเลโดยลดการพึ่งพาช่องแคบมะละกาโดย “ผ่ากลางพม่า”

“ดิฉันเคยไปสอนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัยยูนนาน เมืองคุนหมิง เมื่อประมาณปี 2005 พบว่า Professor ของเขากำลังศึกษาใหญ่เลยว่าจีนจะออกทะเลทางไหนได้ เขาเน้นศึกษาพม่าทั้งหมด แล้วในที่สุดเขาเคาะว่าจะออกทางนี้ คือออกจากชายแดนจีนที่เมืองรุ่ยลี่ เข้าสู่พม่าที่เมืองมูเซ แล้วไปยังเมืองที่ภาษาพม่าเรียก จ้าวผิ่ว ภาษาจีนเรียก เจียวเพียว พอเขาตัดสินใจได้ตรงนี้ปุ๊บ 4 อภิมหาโปรเจกต์มาทันที "



อักษรศรีอธิบายถึงโครงการยักษ์ 4 โครงการที่รัฐบาลจีนสั่งดำเนินการหลังตัดสินใจเลือกเส้นทางลัดทางน้ำจากมหาสมุทรอินเดียเข้าสู่จีนได้ (โดยไม่ต้องไปอ้อมทางช่องแคบมะละกาอีกต่อไป) จากการที่ตนไปเก็บข้อมูลในคุนหมิง ประเทศจีน และย่างกุ้ง ประเทศพม่า เมื่อปี 2553

โครงการแรก ท่อส่งน้ำมันดิบ น้ำมันดิบที่ขนมาจากตะวันออกกลางจะมาลงท่อที่นี่ แนวท่อทอดจากเมืองเจียวเพียว (เรียกตามสำเนียงจีน) ผ่านมัณฑะเลย์-ลาโช-มูเซ ประเทศพม่า เข้าสู่เมืองมูเซ ไปถึงคุนหมิง ประเทศจีน ความยาวท่อ 1,100 กม. คาดว่าจะขนส่งน้ำมันดิบได้ 22 ล้านตันต่อปี

โครงการที่ 2 ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เชื่อมจากแหล่งก๊าซในพม่า วางแนวขนานกับท่อส่งน้ำมันดิบ คาดว่าจะขนส่งก๊าซได้ถึง 12,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี สี จิ้นผิง รองประธานาธิบดีของจีน ได้มาลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ ตลอดจนการบริหารท่อก๊าซดังกล่าวระหว่างการเยือนพม่าเมื่อมิถุนายนปี 2009

โครงการที่ 3 รถไฟ เจียวเพียว-มูเซ เส้นทางแนวเดียวกับท่อส่งก๊าซและท่อส่งน้ำมัน รถไฟวิ่งได้เร็ว 160 กม./ชม. ความยาวของระยะทางรถไฟคือ 810 กม. หากเปรียบเทียบแล้วจะประหยัดเวลากว่าเส้นทางท่าเรือทวาย-มูเซ ที่มีความยาว 1,700 กม. เมื่อครั้งที่ประธานาธิบดีเตงเส่งไปเยือนจีนเป็นประเทศแรกหลังได้รับตำแหน่ง พม่าได้รับเงินจาก China Development Bank ในปี 2011 เพื่อสร้างรถไฟสายนี้

โครงการที่ 4 นิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึกที่เมืองเจียวเพียว ท่าเรือน้ำลึกสามารถรองรับเรือบรรทุกน้ำมัน 3 แสนตันได้ เมืองนิคมอุตสาหกรรมจะมีทุกอย่างครบวงจร ทั้งสนามบิน โรงงานปิโตรเคมี โรงงานถลุงเหล็ก เรียกได้ว่าเอามาบตาพุดกับแหลมฉบังมารวมกัน
แผนที่นิคมอุตสาหกรรมที่เมืองเจียวเพียว แหล่งที่มา http://econ.tu.ac.th/archan/aksornsri/China_%20High%20Speed%20Train%20in%20GMS_by%20Aksornsri_PDF.pdf
ดร.อักษรศรีอธิบายขั้นตอนการดำเนินโครงการว่า เริ่มจากรัฐบาลเซ็นให้ความช่วยเหลือ จากนั้น บริษัท CITIC Groups ซึ่งเป็นบริษัทลงทุนของรัฐบาลจีนจะรับงานไปดูแลทั้งหมด แล้วไปแบ่งให้บริษัทจีนที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านทำต่อ เช่น ท่าเรือบรรทุกน้ำมันดิบ จะดำเนินการสร้างโดย China National Petroleum Coporation (CNPC) และ CNPC จะไปตั้งบริษัทลูกในพม่ามาดูแลอีกที ในแผนระบุอย่างละเอียดว่าโครงการจะเสร็จวันที่ 23 พฤศจิกายน 2012 งานนี้ได้รับเงินอัดฉีดเต็มที่จากรัฐบาลจีน จึงไม่มีติดขัดเรื่องแหล่งทุน มีแต่รอให้โครงการเสร็จแล้วไปใช้

โครงการยักษ์ 4 โครงการนี้ทำให้มูลค่าการลงทุนของในพม่าพุ่งสูงลิ่ว เราไม่ค่อยรู้เรื่องนี้เพราะทางการจีนเองก็ไม่อยากให้ใครมารู้ เพราะนี่เป็นแผนสำคัญของเขา ถ้าโครงการเหล่านี้เสร็จ ปี 2013 จีนจะเลิกใช้เส้นทางช่องแคบมะละกาในการเดินเรือสินค้า พันอากาศโท Christopher J. Pehrson กองทัพอากาศสหรัฐฯ เรียกโครงการเหล่านี้ว่า “ยุทธศาสตร์สร้อยไข่มุกของจีน” ในบทความ String of Pearls: Meeting the challenge of China’s rising power across the Asian littoral. ซึ่งวิเคราะห์ยุทธศาสตร์การออกทะเลของจีนในมุมการทหาร

ลาวเกือบมีรถไฟที่ล้ำหน้ากว่าไทย แต่กระอักกับเงื่อนไขสุดพิสดารของจีน

ดร.อักษรศรีเล่าถึงบันทึกความเข้าใจ (MOU) รถไฟจีน-ลาว ที่รัฐมนตรีกระทรวงรถไฟของจีน กับรัฐมนตรีลาว ลงนามร่วมกันตั้งแต่ 7 เมษายน 2010 ทางรถไฟมีความยาว 421 กิโลเมตร มี 5 สถานีหลักคือ บ่อเต็น-อุดมไซ-หลวงพระบาง-วังเวียง-เวียงจันทร์ รางแบบทันสมัยกว้าง 1.4 เมตร จีนเป็นผู้ศึกษาความเป็นไปได้โดยใช้เวลาไม่นานนัก แต่จีนมีเงื่อนสารพัด เช่น สัดส่วนลงทุน 70:30 ต้องสร้างโดยบริษัทจีน และใช้เทคโนโลยีของจีนเท่านั้น ลาวก็ยอมทั้งหมด เพราะตอนนี้ลาวมีรถไฟระยะทางเพียง 3.5 กม. รางเล็กๆที่ไทยสร้างให้จากหนองคาย ไปท่านาแร้ง กระทรวงการรถไฟของจีนทำคลิปโมเดลออกโชว์ และจะวางศิลาฤกษ์ปี 2011 กำหนดสร้างเสร็จในปี 2015 ลาวกำลังจะมีรถไฟที่สุดทันสมัย

นี่คือเรื่องราวอันชวนฝัน แต่......... ณ บัดนี้ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น เกิดอะไรขึ้นกับรถไฟสายนี้?

เหตุผลที่ทำให้โครงการนี้ถูกระงับ ดร.อักษรศรีกล่าวว่ามี 4 เหตุผล ข้อแรก หลิว จื้อจวิน อดีตรัฐมนตรีกระทรวงรถไฟจีน ผู้ดูแลโครงการถูกปลดออกจากพรรคคอมมิวนิสต์ข้อหาคอรัปชัน ข้อสอง มูลค่าโครงการถไฟสายนี้ประมาณ 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งสูงกว่า GDP ทั้งประเทศลาว ทำให้ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเซีย (ADB) ไม่สนับสนุน ข้อสาม จีนขอใช้แรงงานจีนสร้างทางรถไฟสายนี้ 50,000 ครอบครัว ถ้าตีว่าครอบครัวละ 10 คน ก็จะมีประมาณ 500,000 คน ซึ่ง “มาแล้วไม่กลับ” ดูได้จากคนงานจีนที่มาสร้างสนามกีฬาซีเกมส์ที่เวียงจันทน์ มีกลับประเทศเป็นส่วนน้อย

ข้อสำคัญที่สุดที่ทำให้ลาวเหลือที่จะรับ คือการขอสิทธิในการใช้ที่ดินเลียบทางรถไฟสายนี้ ข้างขวา 5 กม. และข้างซ้ายอีก 5 กม. ตลอดความยาว 421 กิโลเมตรของทางรถไฟ จีนขอสิทธิในพื้นที่แต่เพียงผู้เดียวทั้งบนฟ้า บนดิน ใต้ดิน เป็นเวลา 50 ปี รัฐบาลลาวตัดสินใจขอศึกษาความเป็นไปได้ใหม่อีกรอบ และเรื่องยังค้างจนถึงบัดนี้



ถ้ารถไฟสายนี้เกิด จะเป็นการลงสู่อาเซียนของจีนโดยใช้ทางรถไฟ ตามภาพคือแนวรถไฟที่จีนวางแผนไว้ตอนแรกสุดหากไม่เกิดปัญหาสะดุดอะไร คือรถไฟลงมาจากคุนหมิงในจีน มาถึงเวียงจันทร์ ประเทศลาว ต่อลงมาที่หนองคายซึ่งอยู่ติดเวียงจันทร์ มายังกรุงเทพฯ แล้วมุ่งลงใต้เป็นแนวที่เชื่อมลงมายังอาเซียน นี่คือสิ่งภาพทางรถไฟที่อยู่ในใจจีน แต่เกิดปัญหาเสียก่อน

จีนจับมือกับไทยสร้างรถไฟความเร็วสูง ต้องช่วยกันจับตามอง

ดร.อักษรศรี กล่าวว่าเมื่อ 17 เมษายน 2555 ที่ผ่านมา นายกฯยิ่งลักษณ์ไปเยือนจีน ตนได้ร่วมคณะของนายกฯไปด้วย มีการเซ็นบันทึกความเข้าใจ (MOU) หลายฉบับ แต่ที่น่าจับตามองที่สุดคือบันทึกความเข้าใจ “รถไฟ ไทย-จีน” ลงนามวันที่ 17 เมษายน 2555 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคมนาคมของไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงรถไฟคนใหม่ของจีน

ดร.อักษรศรีนำภาพถ่ายเอกสารบันทึกความเข้าใจฉบับภาษาอังกฤษดังกล่าวที่ชื่อหัวข้อ Railway Development Corporation between Thailand and China มาแสดง มีข้อความที่ระบุว่า รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-เชียงใหม่ จะเชื่อมไปลาวและประเทศอื่นๆในอาเซียน “…hi-speed rail link from Bangkok to Chiangmai and other rail system to connect to Laos and other Asean…”

“สิ่งที่ติดใจมาก คือมีประโยคที่เขียนว่า การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการจะทำโดยฝั่งจีน The feasibility study will be conducted by Chinese side. ทำไมไม่ศึกษาความเป็นไปได้ร่วมกัน ดิฉันอยากให้ประเทศมีรถไฟความเร็วสูง แต่ต้องรอบคอบ อย่าให้เกิดเหตุเหมือนประเทศเพื่อนบ้าน อย่าอยากได้อะไรบางอย่างจนขาดความรอบคอบ ฝากให้ทุกคนเป็นหูเป็นตา”

ที่มา.ประชาไท
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

พท.เรียกร้องศาล รธน.ทบทวนอำนาจรับวินิจฉัยร่างแก้ไข รธน.

เพื่อไทยเรียกร้องศาล รธน.ทบทวนอำนาจรับวินิจฉัยร่างแก้ไข รธน. พร้อมขอให้อัยการสูงสุดชี้แจงอำนาจหน้าที่ เผยเตรียมรวบรวมหลักฐานยื่นสอบจริยธรรมและถอด ส.ส.ประชาธิปัตย์ กระทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม ระหว่างการประชุมสภาฯ

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทย ได้เรียกประชุม ส.ส. วันที่ 5 มิถุนายนนี้ เพื่อหารือทำความเข้าใจเรื่องการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 คาดว่าประธานรัฐสภาจะเรียกประชุม 8 มิถุนายนนี้ โดยนอกจากจะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วยังมีกรอบความร่วมมือต่างๆ ตามมาตรา 190 พิจารณาด้วย รวมถึงพรรคจะหารือ ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ซึ่งในช่วงวันหยุดได้ให้สมาชิกไปทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ว่าการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ไม่ได้ทำเพื่อใคร

โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เรียกร้องให้นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไปดูรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ให้ดี เพราะระบุชัดว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับวินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ และให้รอการดำเนินการไว้ก่อน และขอให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคนไปดูรายงานแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 เพราะระบุชัดเจนว่าประชาชนต้องยื่นผ่านอัยการสูงสุดเท่านั้น ไม่ใช่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง ดังนั้น ขั้นตอนมิชอบ ไม่มีอำนาจสั่งสภา ก้าวล่วงอำนาจนิติบัญญัติ และศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจชี้ว่ารัฐธรรมนูญขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ และขอเรียกร้องให้อัยการสูงสุดให้ออกมาชี้แจงอำนาจหน้าที่ต่อประชาชน เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน

"ผมขอถามว่าท่านจรัญ ภักดีธนากุล ท่านสุพจน์ ไข่มุกด์ ท่านนุรักษ์ มาประณีต จำการยกร่างรัฐธรรมนูญ ปี 50 ได้หรือไม่ ทำไมอ่านกฎหมายอย่างนี้ไม่เข้าใจ หรือแกล้งทำความจำสั้น รู้ทั้งรู้ว่าไม่มีอำนาจรับไว้ แต่ยังรับไว้ แสดงว่ามีวาระซ่อนเร้นหรือไม่ ตุลาการเสียงข้างมากทั้ง 7 รู้ว่าทำผิดพลาด วันนี้ยังกลับตัวทันเปลี่ยนแปลงคำสั่งได้” นายพร้อมพงศ์ กล่าว

นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญนิติบัญญัติ เพราะห่วงจะขัดแย้ง พร้อมขอให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาขอโทษประชาชน และตั้งกรรมการสอบ ส.ส. ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร หากทำไม่ได้ควรลาออกและถ้าไม่มีการดำเนินการใดๆ จะติดตามชนิดที่ว่ากัดไม่ปล่อย เบื้องต้นอาจรวบรวมหลักฐานยื่นยุบพรรคประชาธิปัตย์ จากกรณีเปิดเวที่ปราศรัยลานคนเมือง และที่จังหวัดภูเก็ตที่สุ่มเสียงขัดรัฐธรรมนูญ กล่าวหาบุคคลอื่นให้เสียหายสุมไฟขัดแย้งรอบใหม่ และในวันที่ 8 มิถุนายนนี้ จะยื่นให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร สอบจริยธรรม ส.ส.ประชาธิปัตย์ นายอภิชาติ สุภาแพ่ง นายพงศ์เวช เวชชาชีวะ น.ส.รังสิมา รอดรัศมี นายธานี เทือกสุบรรณ น.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ที่กระทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม ระหว่างการประชุมสภาฯ และจะยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินถอดถอนบุคคลดังกล่าวต่อไป.-

ที่มา:สำนักข่าวไทย
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++