--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2554

มองไกล เกินการณ์.!!!

สมเพชกับบทบาท ‘พนิช’มือไม่ถึง ทำเกินหน้าที่ การเมืองป่วน ‘ความมั่นคง’ศักดิ์ศรีประเทศชาติยับเยิน

เห็นข่าว “พนิช วิกิตเศรษฐ” ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ถูกทางการกัมพูชา จับกุมตัว พร้อม “วีระ สมความคิดเรือตรีแซมดิน เลิศบุศย์” กับพวก รวม 7 คน ฐานรุกล้ำชาย-แดนกัมพูชา บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 46 บ้านหนองจาน ต.โนนหมากมุ่น อ.โคกสูง จ. สระแก้ว...บอกได้คำเดียวว่า “สมเพช”

โดยเฉพาะ “พนิช” ในฐานะเป็นส.ส.ฟากรัฐบาล...คงปฏิเสธความรับผิดชอบในเรื่องนี้ไม่ได้ ต้องรับไว้เต็มๆ คนเดียว เพราะ “ภาคประชาชนรายอื่นๆ” เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า มีเป้าประสงค์ อย่างไรกับเรื่อง “เขตแดน”

แต่กับ “พนิช” นั้น เป็นถึง “ส.ส.” และเป็น ถึง “อดีตผู้ช่วยรมว.ต่างประเทศ” จะไม่รู้เชียวหรือ ว่า “การข้ามเขตแดน” เป็นเรื่องที่สำคัญ และต้อง ปฏิบัติตัวอย่างไร

แม้ “พนิช” จะอ้างว่า “เขา” เป็นหนึ่งในคณะ กรรมาธิการร่วมพิจารณาบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดน ร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) 3 ฉบับรัฐสภา จึงต้องการลงพื้นที่เพื่อสืบหาข้อเท็จจริง แต่ “เจริญ คันธวงศ์” ประธานกมธ.ชุดนี้ จากพรรคประชาธิปัตย์ด้วยกัน ก็บอกชัดว่า “ไม่ได้มอบหมาย ให้นายพนิชเข้าไปในพื้นที่ทับซ้อน”

ทั้งนี้ “พนิช” ไม่มีสิทธิ์ไปรุกล้ำและทำผิดกฎหมาย รวมถึงการสร้างปัญหามาให้ “หน่วยความมั่นคง” งานนี้บอกได้คำเดียวว่า มีคนพยายามเอา “การเมือง” ไปเล่นกับ “ความมั่นคง” และเอา “ประเทศ” และ “ศักดิ์ศรีของประเทศ” ไปเล่นเป็น “ประเด็นการเมือง”

ที่ผ่านมา “เรา” เกิดปัญหาเช่นนี้บ่อยมาก เพราะไม่ใช้กฎหมายและกระบวนการในการแก้ปัญหา แต่ “เรา” มักใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวที่มีต่อ “ผู้นำกัมพูชา” เพื่อแก้ปัญหาในแต่ละครั้งที่เกิดเรื่องเสมอ ซึ่งถ้าเป็น “ชาวบ้านธรรมดา” ไม่มีอะไรที่กระทบกับความมั่นคง ของประเทศ ก็ไม่เป็นไร

แต่ครั้งนี้ “พนิช” ในฐานะส.ส.ซีกรัฐบาล กลับทำเรื่อง “ผิดพลาด” และ “กระทบความมั่นคง” เอง...ซึ่ง “ประเทศไทย” ต่างหากที่ “เสียหาย” และ “โดนลูบคม”

แถมมี “คลิปเด็ด” เป็นหลักฐานชัด... งานนี้จึงต้องมี “คนรับผิดชอบ” โดยเฉพาะกับ ตัว “พนิช” เอง ส่วนคนอื่นๆ นั้น...คงได้แต่รอ “จิตสำนึก” ของ “คน” ว่าใครจะแอ่นอก ร่วมแสดงความรับผิดชอบหรือไม่...แต่ “คงไม่มีแน่ๆ”

แต่มีข้อน่าสังเกตว่า...ในคลิปเด็ดที่ว่านี้ “พนิช” โทรศัพท์บอก “คิว-อิทธิศักดิ์ สังขมัย ผู้ช่วย ส.ส.ของนายพนิช” ว่า ให้โทร.ไปบอก “สมเกียรติ” (ครองวัฒนาสุข เลขานุการส่วนตัว นายกรัฐมนตรี) ว่า “เราข้ามเข้ามาที่เขตกัมพูชา แล้ว เดี๋ยวถ้าเกิดมีอะไรจะได้ประสานเข้าไปใหม่ บอกเขาหน่อย เพราะว่านี่เราเข้ามาในเขตกัมพูชาแล้ว แต่อย่าให้ใครรู้นะ เพราะมีนายกฯรู้อยู่คนเดียว”

ของแบบนี้ ส่ง “คนมือไม่ถึง” ไปทำงาน แถมทำเกินหน้าที่ เอาศักดิ์ศรีประเทศไปเสี่ยงให้ เกิดความเสียหาย...ก็สมควรแล้ว...ที่โดนแบบนี้ และคราวนี้ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” นายกรัฐมนตรี จะว่าอย่างไร???

ที่มา.สยามธุรกิจ
*****************************************************

คำพูดย่อมเป็นนายตัวเอง..และกรรมเวรประเทศชาติ

บังเกิดข้อพิพาทไปต่างๆ นานา หลังจาก คนไทยทั้ง 7 ถูกทหารกัมพูชาจับกุมที่ชายขอบ ด้วยข้อหาอะไรก็แล้วแต่???

มันไม่ผิดที่ทัพพันธมิตรฯ โดยแก่นภายใต้การนำ ของชนชั้นกลาง จะตีธงเดินนำเรียกร้องอธิปไตยในพื้นที่ ทับซ้อนที่ครั้งหนึ่งในทางพฤตินัยมันคือหลักเขตประเทศไทย

มันไม่ผิดที่ชาวบ้านชั้นรากหญ้าบนชายขอบที่ดำรงตนอยู่บนโลกอันโหดร้ายทั้งชีวิตด้วยการทำมาค้าขายเลี้ยงชีพโดยการไปมาหาสู่ข้ามแนวตะเข็บชายแดน จะลุกฮือขึ้นมาต่อต้านการกระทำของทัพเหลือง ที่ กำลังจะเข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตดั้งเดิมไปชั่วกาลนานหาก เส้นบางๆ ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต้องขาดผึงลง

> รั้วผุพังของชาติ

มันไม่ผิดที่ขุนทหาร โดยเฉพาะแม่ทัพใหญ่ภาคไหนคงไม่ต้องบอก แต่ที่แน่ๆ คือภาคอวตารที่ได้เปลี่ยน หน้าแปรพักตร์แปรมาเป็นพ่อค้าวาณิชทำมาหารับประทานบนสัมปทานเมืองเขมร..จะแสร้งทำเป็นไม่หือไม่อือ กับคำสัตย์ปฏิญาณที่ให้ไว้ต่อหน้าพระพักตร์ว่าจะปกปักษ์รักษาอาณาเขตประเทศเอาไว้จนกว่าชีวิตจะหาไม่!!!

มันไม่ผิดที่เขมรจะอาศัยความขัดแย้งภายในประเทศไทย วางหลุมพรางในการจับคนไทย เพื่อสมอ้างต่อ นานาอารยประเทศในการเปลี่ยนแผนที่ประเทศใหม่และรุกคืบอาณาเขตเข้ามาบนพื้นที่ทับซ้อน 15 ล้านไร่ หรืออีกนัยเพื่ออำพรางกรรมเก่า ที่ครั้งหนึ่งอีกฟากของ เขมรโดนประเทศเพื่อนบ้านที่เปรียบเสมือน “พ่อ” เวน คืนที่ดินไปอย่างหน้าตาเฉยถึง 11 จังหวัด

มันไม่ผิดอีกเช่นกัน ที่ใครๆ จะเข้าใจว่า กลเกมระหว่างประเทศจะมีการยึดโยงชื่อของ “อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร” ในฐานอำนาจเก่าแห่งสยามประเทศ เข้าไปเกี่ยวพันในเรื่องยุทธศาสตร์อันมีผลไปถึงการประชุมชี้ชะตากรณีเขาพระวิหารและพัฒนาการในอนาคต ของคณะกรรมการมรดกโลกในช่วงกลางปีที่จะถึงนี้ด้วย

> นักการเมืองปากมันพูดไม่รับผิดชอบ

แต่มันผิดและผิดอย่างเต็มประตู ในทุกคำพูดที่ไม่รับผิดชอบต่ออธิปไตยของฝ่ายบริหารประเทศ

“7 คนไทยโดนจับในแผ่นดินเขมร” นี่คือท่วงทำนองแห่งคำพูดในเบื้องแรกของ “นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” และ “รองนายกฯ สุเทพ เทือกสุบรรณ” รวมไปถึง “รัฐมนตรีกษิต ภิรมย์” หรือแม้กระทั่งแกนนำระดับโทรโข่งของพรรคประชาธิปัตย์

มิหนำซ้ำ เมื่องัวเงียตื่นหลังจากเผลอพูดด้วยอาการ “มันปาก” และ “ปากมัน” ท่านทั้งหลายก็จัดการ กลับหลังหัน 360 องศา โดยไม่พูดเรื่องเหยียบแผ่นดิน ของใคร หักมุกเปลี่ยนวลีมาพูดแค่ว่าเราจะหาวิธีช่วย 7 คนไทยในรูปแบบใดบ้าง แต่ตามประสาขยันแต่ “โง่” หรือ “จงใจโง่” ก็ตาม

มันจึงรวมศูนย์มาสู่การประกันตัวคนไทยในชั้นศาล เขมร..จะช่วยได้หรือไม่ได้ไม่รู้ แต่การยื่นประกันครั้งนี้จะ เป็นหลักฐานชั้นดีในการปักปันหลักเขตใหม่ภายใต้กรอบ “MOU 43” (รายละเอียดอยู่ในคอลัมน์ชานชาลาการเมือง)

> ร้อยเล่ห์ชั้นเชิงการทูตมนต์แขมร์

ถึงบรรทัดนี้ ข้อถอดความเฉพาะบางตอนในบท ความเก่าของ “ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล” เรื่อง “เขาทำอะไรที่เขาพระวิหาร” ซึ่งแสดงให้เห็นชั้นเชิงทางการ ทูตของฝ่ายเขมรไว้ได้น่าสนใจอย่างยิ่งยวด

“ข้อเท็จจริงที่ว่าการอนุมัติให้ปราสาทพระวิหาร และพื้นที่รอบปราสาท เป็นมรดกโลก มิได้หมายความว่า พื้นที่ดังกล่าวตกเป็นของกัมพูชา แต่จะเป็นหลักฐานชัดเจนว่า กัมพูชาเพียงฝ่ายเดียวเป็นผู้ยื่นขอขึ้นทะเบียน ปราสาทและพื้นที่รอบปราสาทต่อคณะกรรมการมรดก โลก โดยประเทศไทยไม่ได้แสดงตนในความเป็นเจ้าของ พื้นที่ทับซ้อนด้านทิศตะวันตกและทิศเหนือไว้เป็นหลักฐานเลย เป็นพื้นฐานที่ดีที่กัมพูชาอาจใช้ในการเรียกร้อง สิทธิเหนือดินแดนในพื้นที่ดังกล่าวได้ในอนาคต และมีข้อ เท็จจริงเช่นกันว่า ขณะนี้ในพื้นที่ทับซ้อนบนเขาพระวิหารนั้น มีชาวเขมรไปตั้งบ้านเรือนจนเป็นชุมชนและมีร้านค้าขายของเป็นตลาดสำหรับนักท่องเที่ยวอยู่แล้ว โดยไม่มีคนไทยเข้าไปอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนนี้เลย”

“กัมพูชายังถือว่า เส้นประเป็นเส้นเขตแดน และถือว่าพื้นที่ทับซ้อนทั้งหมดอยู่ในเขตแดนเขา หลังจากได้ รับอนุมัติให้ปราสาทและพื้นที่โดยรอบเป็นมรดกโลกแล้ว เขาคงจะทิ้งช่วงเวลาไว้อีกระยะหนึ่ง จนถึงจุดที่อ้างได้ว่า ในทางปฏิบัติเขาได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ทับซ้อนส่วนนี้ มานานแล้ว ทั้งในด้านครอบครองเป็นที่อยู่อาศัยของชาวเขมร และในด้านที่เป็นส่วนประกอบของมรดกโลก ที่เขาเป็นผู้เสนอแต่ฝ่ายเดียว เมื่อถึงเวลานั้นคนกลางที่ตัดสินอาจจะไม่สามารถปฏิเสธการเรียกร้องสิทธิดังกล่าวได้”

> ระวัง! คู่กรณีที่น่าเกรงขาม

นั่นรวมไปถึงคำทิ้งท้ายในบทความเรื่อง “บทเรียน จากกรณีขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร” ของ “หม่อมอุ๋ย” เช่นกัน ที่บ่งบอกวิชั่นทางการทูตแบบที่ประชาธิปัตย์เคย เรียกว่า “กุ๊ย” ไว้ได้อย่างน่าสนใจยิ่ง

“ท่านนายกฯ (สมัคร สุนทรเวช) ครับ ผมเขียนบทความนี้ โดยไม่มีความตั้งใจที่จะสอนหนังสือสังฆราช เพียงแต่ต้องการให้ข้อมูลที่บางคนอาจจะยังมองไม่เห็น การพยายามเอาผิดกับผู้ที่ทำให้เราพลาดในเรื่องนี้ มีคน ทำกันอยู่มากแล้ว ผมกลัวว่าเราจะลืมต่อสู้คู่กรณีที่แท้จริง ซึ่งอยู่ที่ต่างประเทศ และเป็นคู่กรณีที่น่าเกรงขาม ต่อกรด้วยค่อนข้างยาก จึงได้พยายามหาวิธีรับมือกับเรื่องนี้เสนอมาให้ท่านได้พิจารณาด้วย หวังว่าท่านจะไม่มองข้าม เรื่องสำคัญของชาติเรื่องนี้”

หรือแม้กระทั่ง หากมองย้อนไปถึงเอกสารที่ทาง กัมพูชายื่นขอขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่ เพียงฝ่ายเดียวมันย่อมทราบถึงฐานแท้แห่งการทูตชั้นครู นอกตำราของเขมรเป็นอย่างดี

> ประมวลภาพคนระดับนำของไทยเสียค่าโง่

โดยในเอกสารที่เขมรยื่น ได้แนบภาพเหตุการณ์ ต่างๆ พร้อมคำบรรยายที่ชี้ให้เห็นว่า ตัวแทนผู้มีอำนาจ ของไทยได้ให้การสนับสนุนในการขึ้นทะเบียนมรดกโลก แต่เพียงฝ่ายเดียวไว้อย่างต่อเนื่องดังนี้

1.ภาพนายกฯสมัคร ไปร่วมประชุมกับนายกฯ ฮุนเซน ที่กรุงพนมเปญเมื่อวันที่ 3-4 มีนาคม 2551 พร้อมคำบรรยายว่า ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะให้ความร่วมมือกันในเรื่องต่างๆ ซึ่งเรื่องหนึ่งที่ระบุไว้ก็คือ การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก

2.ภาพการประชุมระหว่างรองนายกฯสก อาน และปลัดกระทรวงต่างประเทศ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2551 พร้อมข้อความที่แถลงต่อสื่อมวลชนว่าทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะให้กัมพูชาได้ยื่นขึ้นทะเบียน Temple of Preah Vihear อย่างเป็นทางการในการประชุมครั้งที่ 32 ในเดือนกรกฎาคม 2551

3.ภาพการร่วมพิธีตัดริบบิ้นเพื่อเปิดทางหลวง หมายเลข 48 ของกัมพูชา พร้อมคำบรรยายว่ามีการพบปะกันระหว่างรัฐมนตรีนพดล และรองนายกฯ สก อาน ในระหว่างงานนี้ ซึ่งในการพบปะนั้นฝ่ายไทยได้ยืนยันที่ จะสนับสนุนการขึ้นทะเบียนมรดกโลกของกัมพูชา

4.ภาพการประชุมในกรุงปารีสเมื่อ 22 พฤษภาคม 2551 พร้อมคำบรรยายสรุปของที่ประชุม

จากที่ลำดับความตามเอกสารและข้อเท็จจริงมา ตั้งแต่ต้น มันได้แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไทยไม่ว่าจะเปลี่ยน มากี่ยุคกี่สมัย โดยไม่นับรวมข้อครหาเรื่องการมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่???

มันได้ปรากฏภาพการประนีประนอมเรื่องอธิปไตย ทางการทูตอย่างมีนัย ที่เผอิญทางการทูตของอีกฝ่ายกลับเทกแอ็กชั่นในเรื่องเขตแดนในทุกตารางนิ้วที่สบช่อง

> คำพูดย่อมเป็นนายตัวเอง

และเมื่อนึกย้อนกลับไปถึงการอภิปราย “อดีตรัฐมนตรีนพดล ปัทมะ” ของ “นายกฯ อภิสิทธิ์” ในอดีต แล้ว มันล้วนทำให้เข้าใจอย่างถ่องแท้และเห็นภาพ “นักการเมืองสันดานกา” ชัดและถนัดถนี่ขึ้นมาทันตา

“ทำไมต้องเป็นสปิริตของการประนีประนอม ก็ของ เรานี่ครับ แต่จำได้ใช่ไหมเวลาเขาบันทึกมาถึงเรา เขาไม่ได้แม้แต่เรียกว่าทับซ้อน เขาบอกของเขา แล้วท่านก็ไปเขียนแถลงการณ์ร่วมอย่างนี้ ฉะนั้น ไม่ใช่แค่ตัวขอบ ปราสาทแล้ว ปัญหาก็คือว่า การบริหารจัดการพื้นที่ซึ่ง ไทยถือว่าเป็นของไทยในปัจจุบันตามสันปันน้ำต่อไปนี้ เขามีสิทธิ์เข้ามาร่วมบริหารจัดการ และบริหารจัดการอย่างไร ยูเนสโกคุยกับกัมพูชาครับ ไม่ต้องคุยกับไทย”

ลีลาหน้าโพเดี้ยมในวันนั้น สะท้านคมขวานทองมาถึงทุกวันนี้ คำพูดของท่านในวันวานย่อมเป็นนายตัว เองในวันนี้ และก็จะเป็นเวรกรรมระยะยาวของประเทศ ชาติในอนาคต

แม้การสร้างภาพทางการเมืองของท่านมันจะ ยังไม่จบ แต่ขอเรียนด้วยความเคารพมันใกล้จบแล้ว ขอรับ..“ท่านนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”

ที่มา.สยามธุรกิจ
-------------------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

ไอ้หนุ่มผมยาว มองการเมืองจากมุม "โพสต์โมเดิร์น" "พท.จะคืนชีพยิ่งใหญ่-ปชป.จะเป็นไพ่ที่ฝ่ายมั่นคงเลือกเล่น"

กระดานหกการเมืองไทยทั้ง หกสูง-หกต่ำสลับไม่เป็นจังหวะ

คนการเมืองนั่งอยู่บนกระดานหก ด้วยความระทึก ก่อนลงสนามเลือกตั้งใหญ่

ภายใต้สิ่งแวดล้อม-ลีลาการเคลื่อนไหวของมวลชนหลากสี

ไชยันต์ ไชยพร" สิงห์ดำจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้มีแบรนด์ติดตัว "นักวิชาการฉีกบัตรเลือกตั้ง" เขาวิเคราะห์กระดานการเมือง-กองทัพ ลงลึกไปถึงท่วงท่าของพรรคประชาธิปัตย์-พรรคเพื่อไทย และตัวแปรพรรคภูมิใจไทย

- แนวโน้มการเมืองปี 2554 จะเป็นอย่างไรหลังความวุ่นวายหลายปีที่ผ่านมา

ผมขอฟังธงว่าภายใน 6 เดือนแรกจะต้องมีการยุบสภา ผมไม่คิดว่าจะมีอุบัติเหตุทางการเมืองเกี่ยวกับเรื่องรัฐประหารอะไรด้วย ผมไม่เชื่อและผมไม่คิดว่าเป็นเรื่องดีสำหรับรัฐบาลประชาธิปัตย์ที่จะยื้อไปครึ่งปีหลังด้วยซ้ำไป แต่ถ้าจะเล็งผลเลิศถึงขนาดอยู่จนกว่าจะพ้นปีงบประมาณอีกปี ผมคิดว่าจะกลายเป็นความประมาทของประชาธิปัตย์นะ เพราะวันนี้จนถึงครึ่งปีแรกการโยกย้ายทหารยังมีอีกรอบสองรอบ คุณก็ทำไปเถอะ

ผมคิดว่าครึ่งปีแรกคงไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เพราะประเด็นสำคัญคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นตัวกำหนดว่าจะมีการยุบสภา ถ้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 มาตราผ่าน 3 วาระ เมื่อมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ส.ส.ในสภาก็จะมีสถานะที่มาไม่สอดคล้องตรงกับรัฐธรรมนูญที่แก้ เพราะเขตเล็กแล้ว ส.ส.จะไม่ตรง ก็จะต้องมีการยุบสภา

การยุบสภาต้องเกิดขึ้นภายในครึ่งปีแรก แต่ถ้าแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน นายกฯก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตัวเองเสนอ แล้วสภาไม่ไว้วางใจตรงนี้ นายกฯมีเงื่อนไขคือลาออกหรือยุบสภา เชื่อว่านายกฯเลือกยุบสภามากกว่า

คาดว่าจะยุบสภาราว ๆ เดือนเมษายน ซึ่งปกติพี่น้องเสื้อแดงจะชุมนุมใหญ่ในเดือนเมษายนมาตลอด รวมทั้งปีนี้เขาอาจจะชุมนุมครั้งใหญ่เช่นกัน แต่ถ้ายุบสภาเขาก็ไม่มีเหตุผลในการชุมนุมใหญ่เพราะต้องรอเลือกตั้งหลังยุบสภา

ส่วนเดือนมกราคมซึ่งจะมีการชุมนุม ทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดง จะเป็นการชุมนุมครั้งแรกโดยที่ไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็อาจจะมีความพยายามที่จะชุมนุมยืดเยื้อ ซึ่งบทเรียนทุกฝ่ายมีมาแล้ว และหาก เสื้อแดงเพลี่ยงพล้ำก็จะส่งผลกระทบถึงพรรคเพื่อไทย ทำให้พรรคมีปัญหา ฉะนั้นถ้าเขาทำอะไรนอกกรอบการชุมนุมอาจทำให้พี่น้องเสื้อแดงกับพรรคเพื่อไทยแยกทางกันเดินละมั้ง

- สถานะพรรคเพื่อไทยดูเหมือนไม่มีเอกภาพในการเคลื่อนไหว

มันเป็นผลพวงที่คุณทักษิณทำกับพรรคการเมืองนี้ด้วยตัวของเขาเอง เขาทำลายพรรคไทยรักไทยมาแล้ว ทำลายพรรคพลังประชาชน แล้วก็ยังจะทำลายพรรคเพื่อไทยอีก เขาให้คนแต่ละคนติดต่อกับเขาเอง แล้วเขาก็ไม่ไว้วางใจให้ใครเป็นหัวหน้าพรรคได้อย่างจริง ๆ จัง ๆ ที่จะให้เขาอิสระในการดูแลพรรค ไม่แฟร์พอที่จะให้การตัดสินใจเป็นของคนอื่น ถ้ามีอุดมการณ์เพื่อพี่น้องรากหญ้าจริง ๆ คุณทักษิณก็ต้องคิดว่านโยบายสำคัญกว่าตัวบุคคล

- เป็นปัญหาภายในพรรคมากกว่าปัญหาภายนอกที่บอกว่าถูกปฏิบัติอย่าง 2 มาตรฐาน

ถ้าอดีต ส.ส.ที่ถูกตัดสิทธิ 111 กลับมาพวก ส.ส.นกแลก็ตาย หรือดาวฤกษ์ที่ เลื่อนขั้นขึ้นมาก็ตายหมด มันเป็นปัญหาของเขากันเองที่จะจัดลำดับยังไง ซึ่งปัญหานี้แม้ไม่มีการยุบพรรคก็เกิดขึ้นอยู่ดี เพราะคนอยากจะขึ้นมาทั้งนั้น คุณทักษิณใช้วิธีการปกครองแบบ divide and rule (แบ่งแยกแล้วปกครอง)

แต่ผมเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยจะปรับตัวได้ เขายังมีภาษีอยู่เยอะที่จะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง แล้วในปี"55 บรรดา 111 ออกมาก็จะได้ขุนพลระดับมีความรู้ความสามารถที่จะขับเคลื่อนอย่างมีคุณภาพได้อีกครั้งหนึ่ง ผมเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยมีความเป็นสถาบันได้หากละทิ้งเรื่องตัวบุคคลและคิดถึงประโยชน์ประชาชนจริง ๆ น่าจะเป็นอย่างนั้น

- ประชาธิปัตย์จะพบแรงเสียดทานอะไรอีกหลังผ่านคดียุบพรรคประชาธิปัตย์มาแล้ว

แรงเสียดทานภายในรัฐบาลเอง ปัญหาพรรคร่วม พรรคภูมิใจไทย อีกอย่างหนึ่งก็คือ แรงเสียดทานที่จะเกิดจากประชาชนส่วนหนึ่งมองว่าประเด็นที่พี่น้องเสื้อแดงเรียกร้องก็เป็นปัญหา เช่น เรื่องความชัดเจน 91 ศพรวมกรณีในวัดปทุมฯ ซึ่งเมื่อกราฟความพอใจพรรคประชาธิปัตย์เลยจุดพีกไป กราฟก็จะตกเป็นเรื่องปกติ มีขาลงแล้วปัจจัย 6 เดือนหลังอาจจะเพิ่มขึ้นยิ่งอยู่นานสถานการณ์ยิ่งเปลี่ยน

ความเสียหายของภาพลักษณ์พรรคประชาธิปัตย์มันถึงที่สุดแล้ว มันจะไม่มีแย่ไปกว่านี้อีกแล้วในสายตาพี่น้องเสื้อแดง อย่างไรก็ตามที่เขายังไม่ออกมาก็แสดงว่า ยังมีเหตุผลพอที่เขาจะไม่ก่อจลาจล ก็แสดงว่าเขายังฟังกันอยู่

- เหตุจลาจลรอเงื่อนไขอื่นหรือเปล่า

ภายใน 6 เดือนข้างหน้ามันยังเซฟอยู่ คงไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ แต่หลังจากนั้นเราไม่รู้เงื่อนไขในอนาคตว่าจะมีใครในรัฐบาลทำอะไรออกมาหรือเปล่า เท่าที่เห็นตอนนี้คงไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่านี้ เช่น เป็นรัฐบาลมือเปื้อนเลือดในภาวะปกติอยู่ไม่ได้แล้ว รวมถึงเรื่องยุบพรรค แต่เขาอยู่มาได้แสดงว่ามีเสียงประชาชนสนับสนุนเขาอยู่และมากพอ

- บทบาทของพรรคประชาธิปัตย์

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ก็พยายามเล่นบทตรงกลาง บอกว่าเข้าไปคุยกับเสื้อแดงและกล้าหักกับเสื้อเหลือง ในที่สุดแล้วประชาธิปัตย์ได้เปรียบในการเป็นพรรค ตรงกลาง ซึ่งจะเป็นไพ่ที่ฝ่ายความมั่นคง จะเลือกเล่น...เล่นนักการเมืองที่เป็นกลางได้จริงระหว่าง 2 ขั้วการเมืองแดง-เหลือง ถ้ามีการเล่นชักเย่อแล้วสามารถเข้าไปเล่นได้หมดทุกฝ่าย เป็นเรื่องปกติ 2 ขั้วเขาทะเลาะกันแล้วพรรคประชาธิปัตย์สามารถอยู่ตรงกลางได้ จะทำให้ 2 ขั้วเกรงใจหรือโดนเกลียดจากทั้ง 2 ขั้ว

- บทบาทกองทัพกับการเมือง

ถ้าไม่มีความขัดแย้งในกองทัพ ก็คงจะเล่นบทบาทควบคุมความมั่นคงภายใน แต่ถ้ามีความขัดแย้งภายในกองทัพก็จะมีปัญหา ผมคิดว่าความขัดแย้งภายใน กองทัพสัมพันธ์กับบุคคลใกล้ชิดสถาบัน และโยงใยกับนักการเมืองด้วย ซึ่งตอนนี้พรรคประชาธิปัตย์กับพรรคภูมิใจไทย ก็แข่งกันเล่นบทบาทเดินสายกลาง อย่างภูมิใจไทย ก็พยายามตอบโจทย์ เกี่ยวกับเรื่องสถาบัน แล้วบอกว่าฉันคือ ทางเลือกระหว่างสีแดง กับสีเหลืองแล้วพยายามจะให้พรรคประชาธิปัตย์กับ เหลืองอยู่ด้วยกัน

- บทบาทพันธมิตรกับพรรคการเมืองใหม่

ผมไม่เห็นด้วยเรื่องตั้งพรรค ควรเป็นภาคประชาชนแบบนี้ และให้เหตุผลต่าง ๆ ข้อแรกคุณสนธิ ลิ้มทองกุล มีธุรกิจอยู่แล้ว ข้อ 2 คุณอย่าเมากับประชาชน มวลชน มันเยอะจริงแต่กระจัดกระจาย คุณเห็น เขามาร่วมแต่คุณไม่รู้หรอกว่าจริง ๆ เขาเป็นยังไง ถ้าจะมาชูนโยบายชาติศาสนาพระมหากษัตริย์อย่างนั้น พรรคการเมืองมันทำอะไรไม่ได้แล้ว ทำอะไรไม่เป็นก่อนจะเป็นพรรคต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่าตกลงจะขับเคลื่อนด้วยนโยบายอะไรเป็นเสรีนิยมใหม่หรือเป็นอนุรักษนิยม หรือเป็นอะไร

- พรรคการเมืองใหม่ตอบสนองในเชิงอุดมคติได้ไหมว่าเป็นพรรคของมวลชน

มันเป็น...แต่ไม่มีหลักการของพรรคการเมืองว่าจะขับเคลื่อนแบบไหน แตกต่างจากพรรคอื่นอย่างไร อย่างถ้า สมมติบอกว่าจะขึ้นภาษีมรดก ภาษีที่ดินแล้วเคยคุยกับพี่น้องพันธมิตรฯหรือเปล่า หรือเรื่องเกย์ เรื่องทำแท้ง จะให้ทำแท้งโดยเสรีดีไหมจะได้ไม่มีปัญหาเรื่องนี้... มหาจำลองท่านก็คงไม่ยอมอยู่แล้วพอแตกประเด็นที่เป็นรายละเอียดแบบนี้ก็อยู่กันไม่ได้ ฉะนั้นพรรคการเมืองใหม่จึง โตลำบาก

- แนวโน้มผลการเลือกตั้งครั้งหน้า

ผมเชื่อว่าการเลือกตั้งในครั้งหน้าจะไม่มีพรรคไหนได้คะแนนเสียงเกินครึ่ง เพราะจะขับเคี่ยวกันระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทย ใครได้เยอะกว่ากันและจะแข่งกันจัดตั้งรัฐบาล

- การเคลื่อนไหวที่เข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูงจะมีประเด็นเข้มข้นขึ้นหรือไม่

เข้มข้นขึ้น 100 เปอร์เซ็นต์ ขยายผล 100 เปอร์เซ็นต์ ซึมลึกขึ้น 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีทางแก้ไขได้ง่าย ๆ ถ้าไม่เปิดเสรีภาพให้มีการพูดคุยกันแบบเป็นเหตุเป็นผลกัน ต้องมีการตกลงกันในระยะยาว เราต้องมาคุยกันเรื่องรูปแบบการปกครอง หลักการปกครองว่าจะเอาอย่างไร

เพราะสถาบันภายใต้รัฐธรรมนูญกำหนดเรื่องทรงลงพระปรมาภิไธย ถ้าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วสถาบันก็ไม่ต้องทำงานเยอะหรอก แต่ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยอยู่ในช่วงพัฒนา มีปัญหาความยากจนเยอะแยะ ฉะนั้นสถาบันก็ลงไปทำงาน ซึ่งความจริงไม่ต้องทำงานหนักอย่างที่บางคนกล่าวหาว่าสถาบันไม่ได้ทำงานหนัก ซึ่งนั่นไม่ใช่ประเด็นหลัก

ในอังกฤษเป็นต้นแบบของประชาธิปไตย ก็มีสถาบันกษัตริย์ ซึ่งระยะเวลาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองของอังกฤษมีมานานกว่าไทย จึงมีระยะเวลาการปรับตัวและความก้าวหน้าของการเมืองต้องค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งของเราก็ไม่ได้ช้านะ

- ประเด็นเรื่องความไม่จงรักภักดีจะ ถูกนำมาใช้ทางการเมืองในปีหน้ามากขึ้น อีกหรือไม่

คิดว่าน้อยลง เพราะต่างคนต่างมีบทเรียนกันมาแล้ว ตอนนี้ทหารก็พูดอะไรระมัดระวัง เขาพูดว่าใครทำผิดกฎหมายก็ว่ากันไป ผบ.ทบ.เห็นว่าทุกคนต้องรักษาสถาบัน แต่ก็ไม่ได้ไปกล่าวหาใครว่าไม่จงรักภักดี หลังจากเขาขึ้นมาตำแหน่งนี้แล้ว เขาก็จะบอกว่าใครทำผิดกฎหมายก็ว่ากันไป ทุกคนต้องเรียนรู้บทเรียนอันนี้ ไม่ว่า ผบ.ทบ.หรือดารานักร้อง ถึงแม้จะมี ความหวังดี แต่การพูดตรงนั้นจะทำให้สถาบันเสียหายด้วย


ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ

ฟังชัด ๆ เสียง “น้าแม้ว” โฟนอินเวทีราชประสงค์

เมื่อเวลาราว 20.00 น. พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ได้ทำการโฟนอินเข้ามาที่เวที โดยผ่านโทรศัพท์มือถือที่นายจตุพรถืออยู่เป็นเวลาราว 5 นาที โดยบางช่วงมีสัญญาณขัดข้อง

พ.ต.ท. ทักษิณ ได้โฟนอิน โดยเริ่มต้นกล่าวว่าขอให้ปีนี้เป็นปีดีของคนไทยทุกคน และขอชื่นชมคนเสื้อแดงที่แสดงจิตใจอันเด็ดเดี่ยวให้เห็น พ.ต.ท. ทักษิณยังกล่าวด้วยว่า หากสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริง ของดลบันดาลให้ผู้ที่เอาประชาธิปไตยจากประชาชนไป และสร้างความเป็นสองมาตรฐาน ทำการคืนอำนาจให้กับประชาชน บ้านเมืองจะได้กลับสู่ความสงบ





ทั้งนี้ พ.ต.ท. ทักษิณยังกล่าวอีกด้วยว่าในปี 2554 นี้จะตามหาประชาธิปไตยจนเจอให้ได้ และตนจะ “นำความเป็นธรรม ความยุติธรรม ความผาสุก และความมั่งคั่ง จะต้องกลับคืนสู่พี่น้องคนไทย” โดยเขายังกล่าวด้วยว่าขณะทำการโฟนอินตนได้อยู่บนเครื่องบิน ซึ่งกำลังเดินผ่านทวีปยุโรป และขออวยพรให้กำลังใจและขอให้ผู้ชุมนุมทุกคนมีความสุข และจบการโฟนอินโดยบอกว่า “สบายดี ไม่ต้องเป็นห่วง”
SIU พบว่ามีผู้ใช้ชื่อว่า “ไทยสุริยะ” ได้ทำคลิปเสียงการโฟนอินของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เอาไว้ที่ ftp://baygon5.no-ip.org/savefiles/thaiya/2011-01-09.TK.mp3 จึงได้นำมาทำการเผยแพร่ที่นี่ โดยท่านผู้ฟังสามารถคลิกที่ media player ด้านล่าง หรือสามารถดาวน์โหลดได้ที่ 2011-01-09.TK_.mp3

หมายเหตุ : อ่านรายงานและภาพเหตุการณ์การเดินขบวน ราชดำเนิน-ราชประสงค์ ของกลุ่มคนเสื้อแดงนปชได้ที่นี่

วันอาทิตย์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2554

เกมเสี่ยงของ "อภิสิทธิ์"

โดย สรกล อดุลยานนท์

ในยุค พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี "น้าชาติ" มีกลุ่มที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลกเป็น "มันสมองส่วนตัว"

ทำหน้าที่คิด และทำงานลับบางอย่าง รายงานตรงกับ "น้าชาติ"

นายกรัฐมนตรีในแต่ละยุคก็มี "ทีมส่วนตัว" ที่ทำหน้าที่หาข้อมูลทางลับ

ถามว่า "จำเป็น" หรือไม่

ตอบได้เลยว่า "จำเป็น"

เพราะคนระดับ "นายกรัฐมนตรี" ควรต้องมีข้อมูลอีกด้านหนึ่งเพื่อถ่วงดุลข้อมูลจากฝ่ายราชการ

"อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ก็เช่นกัน

เพียงแต่ "จุดอ่อน" ของ "อภิสิทธิ์" คือ รู้จักคนน้อย

เขาไปเรียนต่างประเทศตั้งแต่เด็ก และบุคลิกค่อนข้างปิดตัว ทำให้มีเพื่อนน้อย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากในเมืองไทย

ยิ่งเป็นนายกรัฐมนตรี ยิ่งสำคัญ

ดังนั้น ทีมงานส่วนตัวของ "อภิสิทธิ์" จึงค่อนข้างจำกัด

มีบางส่วนเป็น ส.ส.หนุ่ม แต่ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มไฮโซ "นักเรียนนอก"

อย่างเช่น "ศิริโชค โสภา" และ "พนิช วิกิตเศรษฐ์"

ในเรื่อง "ข้อมูล" ทีมนี้ไม่มีปัญหา เพราะเป็นคนฉลาด

แต่เรื่อง "การหาข้อมูล" ซึ่งเป็นเรื่อง "ประสบการณ์"

ทีมงานของ "อภิสิทธิ์" ...มีปัญหามาก

เมื่อครั้งที่ "ศิริโชค โสภา" ไปคุยกับ "วิคเตอร์ บูท" ในเรือนจำ เพื่อหาข้อมูลเรื่องการค้าอาวุธว่าเกี่ยวพันกับ "ทักษิณ ชินวัตร" หรือไม่

"อภิสิทธิ์" เกือบพลาด

เขาลืมไปว่ากรณี "วิคเตอร์ บูท" นั้นเป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่าง 2 มหาอำนาจ คือ สหรัฐอเมริกาและรัสเซีย

เมื่อ "บูท" ปูดข่าวว่า "ศิริโชค" แนะนำตัวเองว่าเป็น "ผู้ช่วยรัฐมนตรี" และยื่นเงื่อนไขต่อรองบางประการ ฝั่งรัสเซียก็ไม่พอใจ

โชคดีที่ไม่มีใครอัดเทปการสนทนา "อภิสิทธิ์" จึงรอดตัวไป

เพราะ "ศิริโชค" อ้างว่าเขาไปเป็นการส่วนตัว

"อภิสิทธิ์" ไม่รู้และไม่เกี่ยว

แต่กรณี "พนิช วิกิตเศรษฐ์" ไม่ใช่

เพราะมีหลักฐานวิดีโอการโทรศัพท์คุยกับเลขานุการส่วนตัวของ "พนิช" ที่บอกว่า "อย่าให้ใครรู้นะ เพราะมีนายกฯรู้อยู่คนเดียว"

งานนี้ "อภิสิทธิ์" จึงปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้เลย

นี่คือ ความผิดพลาดในเรื่องการเมืองระหว่างประเทศระดับ "กิ้งกือตกท่อ" ของ "อภิสิทธิ์" แล้ว

ไม่มีใครนึกว่า "อภิสิทธิ์" จะใช้ "น้ำมัน" ดับไฟ

รู้ว่า "ฮุน เซน" รู้สึกอย่างไรกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ "วีระ สมความคิด" แต่ "พนิช" ก็ยังบุกเข้าพื้นที่พร้อมกับ "วีระ-แซมดิน" อีก

ไม่แปลกที่มีคนจำนวนไม่น้อยเริ่มย้อนคิดถึงกรณี "ศิริโชค-วิคเตอร์ บูท"

จริงหรือที่ "อภิสิทธิ์" ไม่รู้เรื่อง???

สมมุติว่า "อภิสิทธิ์" รู้เรื่อง และมีใครอัดเทปการสนทนาระหว่าง "ศิริโชค" กับ "บูท" ไว้ และมีการเผยแพร่

ประเทศไทยจะเป็นอย่างไร

"รัสเซีย" จะรู้สึกอย่างไรกับประเทศไทย

การเล่นอะไรเสี่ยงๆ อาจถือเป็นเรื่องส่วนตัวของ "อภิสิทธิ์"

ถ้าเขาไม่ใช่ "นายกรัฐมนตรี" ของเมืองไทย

เพราะ "ประเทศ" ...เสี่ยงไม่ได้

(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน)

ข้อเรียกร้องท้องถิ่น มากไปจะไม่งาม

ป. โนปิตะ

กระแสข่าวคนองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บางตำแหน่ง อาทิ เลขนุการนายก อบต.และสมาชิก อบต.บางส่วน นัดรวมพลเปิดศึกกับกระทรวงมหาไทย กรณีนายชวรัตน์ ชาญวีรกุล รมว.มหาดไทย ลงนามขึ้นค่าตอบแทนให้กับผู้บริหารและสมาชิก อบต. มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 นั้น

กลุ่มผู้เรียกร้องเห็นว่าสัดส่วนเงินค่าตอบแทนของนายก อบต.ได้รับเพิ่ม 100 % แต่ตำแหน่งอื่นๆ ได้รับเพิ่มเพียงเล็กน้อย เฉพาะในส่วนของ สมาชิก อบต. เลขานุการนายก อบต. และเลขานุการสภา อบต.ได้รับปรับเพิ่มสูงสุด 140 บาท และต่ำสุดเพียง 40 บาท เลขานุการนายก อบต.รายได้ตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไปไม่ได้รับเงินเพิ่มเลยแม้แต่บาทเดียว

ล่าสุดเสียงเรียกร้องให้กระทรวงมหาไทยทบทวนการขึ้นค่าตอบแทนได้ขยายวงกว้างขึ้น ถึงขั้นเครือข่ายสมาชิกสภา อบต.ทั่วประเทศประกาศขึ้นป้าย "มหาดไทยปฏิบัติสองมาตรฐาน ไม่ใส่ใจดูแลคนท้องถิ่น" หน้าที่ทำการ อบต.ทุกแห่งทั่วประเทศ

การกระทำดังกล่าวเท่ากับเป็นการประกาศว่า คน อบต. เอาจริง การผนึกกำลังครั้งนี้ บางฝ่ายมองว่าเป็นแรงกระเพื่อมที่อาจทำให้สังคมหันกลับมามองว่า คน อบต. กำลังทำอะไร และเพื่อใคร ชุมชนท้องถิ่นจักได้อะไร การแสดงท่าทีขึงขังเอาจริงที่ว่านี้ จะส่งผลต่อภาพลักษณ์โดยรวมของท้องถิ่นไปในทิศทางใด

อย่าลืมว่าก่อนหน้านี้ การปรับเงินเดือนค่าตอบแทน อบต.เป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ถึงความขัดแย้งระหว่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย เมื่อครา รมว.มหาดไทยเสนอต่อที่ประชุม ครม.ให้พิจารณา แต่นายกฯ อภิสิทธิ์กลับสั่งระงับให้กลับไปศึกษารายละเอียดถึงสองครั้ง และกำชับว่าควรยึดโยงกับบุคลากรภาครัฐส่วนอื่นด้วย โดยเฉพาะ ส.ก. และ ส.ข. เพราะรู้กันอยู่ว่าพรรคประชาธิปัตย์กำลังวางฐานสำคัญในเขตพื้นที่ กทม.

หลายฝ่ายมองว่าการขึ้นเงินเดือน อบต. เป็นเกมการเมืองที่พรรคภูมิใจไทยใช้เป็นนโยบายเพื่อหาเสียงในการเลือกตั้งครั้งต่อไป พรรคประชาธิปัตย์เองแม้จะติดดิสเบรคไว้บ้าง แต่ก็ต้านกระแสไม่ไหว เพราะ อบต. เริ่มฮึม ฮึม จะขึ้นป้ายต่อต้านอยู่รอมร่อ

การขึ้นค่าตอบแทนครั้งนี้ แม้ไม่ปรากฏชัดว่าได้สะท้อนวิสัยทัศน์การกระจายอำนาจ การปฏิรูป และการพัฒนา อบต. ให้มีประสิทธิภาพประจักษ์ชัดอย่างไร แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันได้ เพราะเป็นเงินของ อบต.เอง

อีกทั้งก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายให้ท้องถิ่นเป็นไม้เป็นมือในการให้บริการสาธารณะและฝากงานสำคัญๆ ให้ท้องถิ่นทำอย่างสมประสงค์ เช่น การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ผู้ด้วยโอกาส คนพิการ ผู้ป่วยเอดส์ ฯ อีกทั้งยังให้ค่าตอบแทนอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน และขึ้นค่าตอบแทนให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านไปแล้ว 100%

การประกาศดำเนินนโยบายประชาภิวัฒน์ของรัฐบาลเพื่อช่วงชิงประชาชนให้ลืมนโยบายประชานิยม และยิ่งเร่งกระสุนชุดใหม่ๆ ทั้งขึ้นเงินเดือนผู้บริหาร 3 สถาบัน ส.ส. ส.ว. นโยบายช่วยเหลือรถแท็กซี่ หาบเร่ รถจักรยานยนต์ ฯลฯ ยิ่งจะทำให้เห็นว่าในโอกาสอันสุกงอมเช่นนี้ องค์กรไหน ตำแหน่งใดขออะไรก็จำต้องสนอง ขณะที่ค่าครองชีพของระบบฐานรากพุ่งปู้ดปาดทะลุเพดาน เพียงแค่ราคาน้ำมันปาล์มแม่บ้านก็แทบสำลัก

ท่ามกลางกระแสข่าวขอให้กระทรวงมหาดไทยทบทวนการขึ้นค่าตอบแทนของ อบต. เพื่อเพิ่มเงินให้ เลขานุการนายก อบต. และสมาชิก อบต. ทางด้านองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปลุกพลังขู่เคลื่อนใหญ่ของเงินเพิ่ม ประกาศต่อสู้เพื่อสิทธิอันชอบธรรม นัดประชุมหารือแสดงเจตนารมณ์ ในวันที่ 19 มกราคมนี้ เพื่อกดดันรัฐบาล

การเรียกร้องเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิอันชอบธรรมที่เห็นว่าตนเอง หรือองค์กรควรได้รับ เป็นการแสดงออกขั้นพื้นฐาน ย่อมทำได้ภายใต้การปกครองแบบประชาธิปไตย

แต่ถ้าเสียงเรียกร้องไม่สอดคล้องกับสภาพการทำงานของแต่ละตำแหน่ง และอารมณ์ของประชาชน ระวัง...กระแสจะตีกลับ

อาจเตรียมรับกันไปถ้วนหน้า ทั้งนักการเมืองระดับชาติ และนักการเมืองระดับท้องถิ่น

ว่าไหมครับ..

ที่มา.ประชาไท

วันเสาร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2554

อย่าเสียค่าโง่

เป็นเรื่อง...แกว่งเท้าออกไปหาเสี้ยนอย่าง
ตั้งอกตั้งใจ...สำหรับคนไทย 7 คนที่...โดนทหารเขมรจับกุมตัวในพื้นที่รอยต่อระหว่างประเทศ กัมพูชา
กับ ประเทศไทย

เป็นเรื่องที่คนทั้งประเทศต้องตำหนิ...สำหรับคน
กลุ่มนี้...เพราะเหตุที่เขากระทำนั้นเป็นพฤติกรรมที่สามารถก่อให้เกิดสงครามระหว่างประเทศได้
หากว่าในระหว่างที่ทหารเขมรดำเนินการจับกุมนั้น หากมีกองกำลังของไทยผ่านเข้าไปพบเหตุ...ก็จะต้องมีการเข้าปะทะป้องกันหรือช่วงชิง

ก็จะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวก่อให้เกิดสงครามระหว่างชาติ
ความเสียหายในด้านสงครามนั้นย่อมประมาณไม่ได้...แต่ความเสียหายทางเศรษฐกิจระหว่างประชาชน 2 ชาติใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี...1 ในคน
เหล่านั้นเป็นผู้แทนราษฎรในสังกัดของพรรคท่าน...ความเดือดร้อนที่เกิดกับท่านนั้น...ก็หนักหนาสาหัส...
การไม่ต่อสู้ให้กัมพูชาส่งตัวกลับ...ก็เท่ากับการยอมรับบูรณภาพเหนือดินแดนที่คนเหล่านี้ย่ำเหยียบเข้าไป...และหากว่าที่คนไทยเหล่านั้นย่ำเหยียบอยู่...เป็น
แผ่นดินไทย...

เขาเหล่านั้นก็ไม่ได้กระทำผิด...
ดูเหมือนว่า...นายกรัฐมนตรี และรัฐบาล
ของท่าน...ขาดอย่างสิ้นเชิงในเรื่องสติปัญญา...
เมื่อเจอกับวิกฤติการณ์แบบนี้
ท่านรั้งรอและเงียบงัน...ในสิ่งที่ต้องการความฉับพลันและการเคลื่อนไหว...
กัมพูชาเขาเก่งกว่า...เขานำเรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการทางศาล...ผลักภาระจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ให้ไปอยู่กับ
ฝ่ายตุลาการ...

อำนาจที่เป็นอิสระจากอำนาจบริหาร...ปิดหนทางเจรจาไม่ว่าระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับกระทรวงการต่างประเทศ...ปิดหนทางเจรจาระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล...หรือแม้แต่กระทั่ง ระหว่างกองทัพกับกองทัพ
อ้ายอีพวกนี้...เจตนาที่จะเข้าไปสร้างวิกฤติการณ์สงคราม...ระหว่าง กัมพูชา กับ ไทย...คำถาม
คือว่า...ทำไม...

พื้นที่ดังกล่าว...ไม่มีเหตุการณ์ใดๆ ก่อนหน้า...ไม่ใช่พื้นที่ที่เขาพระวิหาร...เขาไปสร้างสถานการณ์ขึ้นมาทำไม...
นายกรัฐมนตรีต้องหาเหตุผลให้ได้...ก่อนจะไปเจรจากับทางกัมพูชาและรัฐบาลพนมเปญ...มิฉะนั้น...จะเท่ากับท่านไปยอมรับว่าพื้นที่ทับซ้อน...เป็นแผ่นดินกัมพูชา
ระวังท่านจะโง่เหมือนบรรพบุรุษของพรรค...ที่แพ้ศาลโลกเสียเขาพระวิหาร

โดย.พญาไม้ทูเดย์พญาไม้,บางกอกทูเดย์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

สื่อแคนาดาสัมภาษณ์ทักษิณ-แนะอีก อภิสิทธิ์เจรจา นปช

เว็บไซต์หนังสือพิมพ์โตรอนโตสตาร์ สื่อแคนาดา รายงานบทสัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไทย พร้อมด้วยนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความชาวแคนาดา โดยระบุว่าเป็นการให้สัมภาษณ์พิเศษขณะที่ทักษิณยังคงอยู่ในระหว่างการลี้ภัย ในประเทศแถบตะวันออกกลาง แต่มิได้ระบุแน่ชัดว่าเป็นประเทศใด

“เทรซีย์ ไทเลอร์” ผู้สื่อข่าวของโตรอนโตสตาร์ ระบุว่าทักษิณได้ให้สัมภาษณ์ถึงชีวิตในช่วงที่ผ่านมาว่ามีความผ่อนคลาย และมีผู้คนมากมายมาขอเข้าพบ แต่ทักษิณได้เว้นระยะห่างทางการเมือง โดยระบุว่าตนมิได้ให้คำแนะนำใดๆ โดยตรงในกรณีที่มีรายงานข่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าสมาชิกพรรคเพื่อไทยส่วนหนึ่งได้เดินทางไปขอเข้าพบ เพื่อหารือเกี่ยวกับการคัดเลือกบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค
นอกจากนี้ ทักษิณยังย้ำด้วยว่าตนไม่รู้จักกับแกนนำ นปช. และไม่เคยให้คำแนะนำด้านการเคลื่อนไหวทางการเมืองกับกลุ่ม นปช. แต่อย่างใด แต่ยอมรับว่าปัญหาการเมืองทำให้ชีวิตของคนไทยที่สนับสนุนตนต้องเปลี่ยนแปลงไป และความสุขของคนไทยถูกพรากไป พร้อมทั้งระบุว่าคนเสื้อแดงอยากให้ตนกลับประเทศไทย แต่คำตัดสินลงโทษจำคุกตนในประเทศไทยเป็นประเด็นทางการเมือง ซึ่งรัฐบาลทหารเป็นผู้วางแผนกีดกันมิให้ตนกลับประเทศ

ขณะเดียวกัน ทักษิณได้กล่าวพาดพิงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีไทย โดยระบุว่าการปรองดองหมายถึงการเจรจาและหาทางแก้ไขปัญหา เพื่อนำระบอบประชาธิปไตยกลับคืนมาสู่สังคมไทย พร้อมระบุว่าอภิสิทธิ์ควรจะเจรจากับกลุ่ม นปช. และการกำจัดแกนนำหรือไล่ตามจับกุมกลุ่มคนเสื้อแดงเข้าคุกไม่ใช่หนทางแห่งการปรองดอง
ส่วนนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่กลุ่ม นปช.ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศให้ดำเนินการพิจารณาไต่สวนรัฐบาลไทย ในข้อหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ สืบเนื่องจากการใช้กำลังล้อมปราบและสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในเดือน เม.ย.และ พ.ค.2553 ซึ่งอัมสเตอร์ดัมระบุว่าทักษิณมิได้ลงชื่อยื่นฟ้องด้วย แต่ให้ความสนับสนุนเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทางกฎหมาย


ที่มา http://www.thestar.com/news/article/917674--thailand-s-deposed-prime-minister-relaxes-and-waits

วันศุกร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2554

ใช้อำนาจใดห้ามชุมนุม‘จตุพร’ยื่นศาลเคลียร์เงื่อนไขประกันตัว

“จตุพร” อึดอัดเงื่อนไขประกันตัวที่ไม่มีความชัดเจนทำให้ยากต่อการปฏิบัติตัว ส่งทนายยื่นคำร้องขอความกรุณากำหนดกรอบข้อห้ามตามเงื่อนไขให้ชัดเจน ถามห้ามร่วมชุมนุมเกิน 5 คนเป็นไปตามกฎหมายใด เพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินถูกยกเลิกใช้ไปแล้วและสิทธิการชุมนุมก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ร่วมกิจกรรมไว้อาลัยผู้เสียชีวิต 91 ศพเข้าข่ายทำให้เกิดความวุ่นวายหรือขัดขวางการพิจารณาคดีหรือไม่ ทนายระบุเพื่อป้องกันความคลาดเคลื่อนในการปฏิบัติตัวจนนำไปสู่การถอนประกัน โฆษกประชาธิปัตย์ซัดเคลื่อนไหวดึงองค์กรต่างชาติแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมไทย แนะใช้ช่องทางร้องเรียนผ่าน คอป. ไม่ต้องถึงศาลโลกร่วมฟังพิจารณาคดี “สุเทพ” ปลอบแกนนำวันนี้ยังไม่ได้ประกันตัวก็ยังมีโอกาสยื่นใหม่ได้อีก แต่ต้องไปหาเหตุผลเพิ่มเติมให้ศาลเชื่อว่าออกมาแล้วจะไม่หนี ไม่ก่อเรื่องวุ่นวาย

ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นายคารม พลทะกลาง ทนายความนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ( นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน เข้ายื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้อธิบายเงื่อนไขการให้ประกันตัวนายจตุพรในคดีก่อการร้ายให้ชัดเจน

“ศาลกำหนดเงื่อนไขเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. ที่ผ่านมาว่าห้ามเข้าไปเกี่ยวข้องกับการชุมนุมหรือร่วมกิจกรรมที่เกินกว่า 5 คน ซึ่งอาจเป็นอุปสรรค หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงาน หรือการดำเนินคดีในศาล หรือทำการเผยแพร่ข่าวสารต่อบุคคล กลุ่มบุคคล หรือต่อสาธารณะในเรื่องที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายในทำนองเดียวกัน เว้นแต่เป็นการพูดหรืออภิปรายในรัฐสภาในฐานะเป็น ส.ส. การกำหนดเงื่อนไขเช่นนี้กระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพและอิสรภาพของจำเลยที่จะเข้าร่วมกิจกรรมกับประชาชนภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ก่อให้เป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการพิจารณาคดีในศาล จึงขอความกรุณาต่อศาลให้คำจำกันความที่ชัดเจนเกี่ยวกับเงื่อนไขเพื่อให้ง่ายต่อการปฏิบัติ ไม่ให้เกิดความคลาดเคลื่อนจนนำไปสู่การถอนประกันจำเลย”

ต้องคำนึงถึงหน้าที่ ส.ส.ฝ่ายค้าน

นายคารมกล่าวว่า การพิจารณาครั้งนี้อยากให้ศาลคำนึงถึงสถานะความเป็น ส.ส. ของนายจตุพร โดยเฉพาะหน้าที่ของนักการเมืองฝ่ายค้านที่ต้องทำหน้าที่ทั้งในและนอกสภา และขอให้คำนึงถึงสถานะความเป็นประชาชนที่เข้าร่วมเรียกร้องประชาธิปไตยและเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคมมาตลอด

ทั้งนี้ ศาลรับคำร้องไว้พิจารณาเพื่อมีคำสั่งต่อไป

เงื่อนไขประกันไม่ชัดยากปฏิบัติ

ด้านนายจตุพรกล่าวว่า ที่ต้องยื่นให้ศาลให้คำจำกัดความเกี่ยวกับเงื่อนไขการประกันตัวเพราะเห็นว่าเงื่อนไขที่กำหนดไม่ชัดเจน ยากต่อการปฏิบัติ

“ผมต้องการให้ศาลกำหนดขอบเขตให้ชัดเจน เพื่อจะได้รู้ว่าจะไปร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงในวันที่ 9 ม.ค. นี้ได้หรือไม่ การไปร่วมกิจกรรมรำลึกถึงผู้เสียชีวิตถือว่าขัดขวางหรือเป็นอุปสรรคต่อการพิจารณาคดีหรือไม่ โดยเฉพาะคำสั่งห้ามร่วมชุมนุมเกินกว่า 5 คน อยากทราบว่าเป็นไปตามกฎหมายใด เพราะว่า พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินถูกยกเลิกบังคับใช้ไปแล้ว” นายจตุพรกล่าว

ยื่นนายกฯดำเนินคดี 3 บิ๊ก

ที่ทำเนียบรัฐบาลนายวรวุฒิ วิชัยดิษฐ โฆษก นปช. พร้อมแนวร่วมจำนวนหนึ่ง เข้ายื่นหนังสือผ่านเจ้าหน้าที่ถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้ดำเนินคดีกับบุคคลที่เข้าข่ายกระทำความผิดต่อองค์รัชทายาท ประกอบด้วย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา องคมนตรี และนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี โดยนำข้อมูลที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์วิกิลีกส์มาเป็นหลักฐานที่อ้างว่าทั้ง 3 คน ร่วมสนทนากับนายเอริค จี. จอห์น อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ซึ่งมีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูง โดยจะให้เวลานายกรัฐมนตรีดำเนินการตามความเหมาะสม หากไม่ดำเนินการจะแจ้งความเอาผิดกับนายกฯในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

“สุเทพ” ยันศาลไทยมีมาตรฐาน

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ รักษาการประธาน นปช. ทำหนังสือถึงศาลอาญาระหว่างประเทศหรือศาลโลก ให้ส่งตัวแทนเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในการพิจารณาคดีของคนเสื้อแดงว่า จะทำอะไรก็ทำไป แต่ยืนยันได้ว่าการดำเนินการของศาลไทยมีมาตรฐาน เรื่องไม่ให้ประกันตัวแกนนำก็พิจารณาไปตามเหตุผล

“วันนี้ยังไม่ได้ประกันตัวก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ได้ตลอดไป ฝ่ายผู้ต้องหาต้องไปหาเหตุผลมาแสดงต่อศาลใหม่เพื่อให้ศาลเชื่อว่าหากได้ออกมาแล้วจะไม่สร้างความยุ่งยากหรือทำให้เกิดปัญหาต่อพยานหรือรูปคดี” นายสุเทพกล่าว

ซัดดึงองค์กรนอกแทรกแซงไทย

นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การพิจารณาคดีเป็นเอกสิทธิ์ในกระบวนการยุติธรรมของแต่ละประเทศ เป็นกิจการภายในที่ทั่วโลกให้ความเคารพซึ่งกันและกัน ไม่มีการก้าวก่ายแทรกแซง

“ไม่ต้องไปพึ่งศาลโลก นปช. ควรใช้ช่องทางที่มีอยู่ เช่น ร้องเรียนผ่านคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ไม่ควรเคลื่อนไหวเพื่อนำองค์กรต่างชาติเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในประเทศ”

ที่มา.จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้

**********************************************************************

มา "อ่าน" หนังสือกันเถอะ : เมื่อสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช "ฮุน เซน" บอกว่า "รักนะ เด็กโง่ จุ๊บ จุ๊บ"



มติชนสุดสัปดาห์ฉบับประจำวันที่ 7-13 มกราคม 2553 นำภาพสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช "ฮุน เซน" นายกรัฐมนตรีกัมพูชามาขึ้นปก พร้อมคำโปรยสุดแสบสันต์และขบขัน "รักนะ เด็กโง่ จุ๊บ จุ๊บ" อย่างเข้ากับสถานการณ์ 7 คนไทย (1 ในนั้น เป็น ส.ส.ประชาธิปัตย์) ถูกจับกุมตัวโดยเจ้าหน้าที่เขมร

รายงานข่าวในประเทศประจำฉบับ ประกอบไปด้วย รักนะ...เด็กโง่ จุ๊บ จุ๊บ, "เสื้อแดง" สวัสดีปีเถาะ ชุมนุมใหญ่ 9 ม.ค. "นปช." ยกเครื่องใหม่ ใช้ "ความจริง" เป็นอาวุธ, ปั่นสูตร "375+125" ป่วนแก้ รธน. "พรรคร่วม" ระทึก "เพื่อไทย" ระทวย ปชป. ได้เปรียบทั้งขึ้น ทั้งล่อง, ยุบสภา เกมในมือ "ประชาธิปัตย์" ชิงความได้เปรียบ "พรรคร่วม-ฝ่ายค้าน", "ซัคเคอร์เบิร์ก" แวบเยือนไทย มั่นใจว่าล้านคนไม่พอใจ "น.ส.เอ" คนละเรื่องเดียวกันบนจอ "เฟซบุ๊ก" และ เปิดยุคการตลาด "บนเน็ต" ไอโฟน-แบล๊กเบอร์รี่-เฟซบุ๊ก กลยุทธ์ธุรกิจสุดฮ็อต ปีกระต่าย โดย ศัลยา ประชาชาติ

ส่วนรายงานและสัมภาษณ์พิเศษน่าสนใจ ได้แก่ จาก "สี่เสาฯ" ถึง "คลองสี่" สัจธรรมแห่งอำนาจ "ป.เปรม" กับ 3 ป. - 3 P และตราบาป "ชินวัตร" และ "วิเชียร ชวลิต" ปลัด มท.คนใหม่ เปิดชีวิตเรียบง่าย "งาน-ครอบครัว" "ไม่เคยมีใครเข้าหลังบ้าน" โดย ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

บทความน่าอ่าน มีอาทิ ชุมชนนอกความฝัน โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์, การเมืองไทยหลังปี 2554 เริ่มยุคสามก๊ก (จบ) โดย มุกดา สุวรรณชาติ, จะแก้ปัญหาเขตแดน-ปราสาทและเขาพระวิหาร พื้นที่ของเรา-ของเขา-ทับซ้อนกันได้อย่างไร โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ข้อเสนอในการปฏิรูปการเมือง โดย แพทย์ พิจิตร, เมล็ดข้าวในกองแกลบ โดย วิษณุ โชลิตกุล

เรื่องของตระกูลคิมที่ต้องขยาย โดย นกุล ว่องฐิติวงศ์, เมื่อฉันไม่มีขน ฉันจึงเป็นศิลปะ (11) โดย ธเนศ วงศ์ยานนาวา และ จดหมายวันเด็ก ถึงท่านนายกรัฐมนตรี โดย คำ ผกา ซึ่งมีตัวอย่างเรียกน้ำย่อย ดังนี้

"...อย่างแรกที่หนูอยากจะบอกท่านคือ คำขวัญของท่านที่มีให้กับเด็กๆ มันไม่เร้าใจเอาเสียเลย "รอบคอบ รู้คิด มีจิตสาธารณะ" หนูว่ามันเป็นคำขวัญที่นอกจากจะดูถูกสติปัญญาเด็กแล้ว ยังขาดซึ่งตรรกะอย่างรุนแรง มันเหมือนคิดอะไรไม่ออกก็สักแต่หยิบคำอะไรก็ไม่รู้มาต่อๆ กัน..."

คอลัมนิสต์สาวสุดฮ็อตจากเชียงใหม่จะชำแหละคำขวัญวันเด็กของท่านนายกฯ เละเทะถึงเพียงไหนนั้น ติดตามอ่านได้ในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้

สำหรับคอบอล ห้ามพลาดคอลัมน์ "ซูเปอร์สตาร์" ที่มีเนื้อหาว่าด้วยสงครามระลอกล่าสุดในสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ระหว่าง "วีเจ" วิจิตร เกตุแก้ว กับอดีตศิษย์รัก "วีวี" วรวีร์ มะกูดี

ปิดท้ายด้วยของฝากแก่คอกวี บทกวีไม่ควรพลาดในสัปดาห์นี้ ได้แก่ เธอ ผู้สวมอาภรณ์สีดำ โดย เฉินซัน และ โศลกโพกผ้า โดย ไพบูลย์ วงษ์เทศ

ศิลปวัฒนธรรม



ศิลปวัฒนธรรม ฉบับประจำเดือนมกราคม 2554 มีเรื่องเด่นประจำฉบับได้แก่ เลี้ยงโต๊ะปีใหม่ : เรื่องเหล้าของเจ้านาย โดย นนทพร อยู่มั่งมี ซึ่งจะบอกเล่าเรื่องราวการปรับตัวตามธรรมเนียมการกินเลี้ยงแบบใหม่ของเจ้านายชนชั้นนำในสมัยรัชกาลที่ 5

ส่วนบทความน่าอ่านอื่นๆ มีอาทิ นางนากพระโขนง : ตายเพราะอะไร โดย นายแพทย์เอกชัย โควาวิสารัช, พระราชชายานารีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดย เล็ก พงษ์สมัครไทย, แกะรอย เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ มหาอำมาตย์แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง โดย ปวัตร์ นวะมะรัตน และ กรณีพิพาทที่ดินบางบ่อ-บางพลี : นายทุนเจ้าที่ดิน, จอมพล ป. และการเมือง ในกฎหมายสำรวจการออกโฉนดที่ดินช่วงปลายทศวรรษ 2490 โดย ศรัญญู เทพสงเคราะห์

ขออนุญาตปิดท้ายการแนะนำนิตยสารน่าอ่านประจำสัปดาห์นี้ ด้วยคำคมที่กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรมมักนำมาฝากผู้อ่านกันอยู่เสมอ โดยในฉบับล่าสุด เป็นคำคมของ "นรินทร์กลึง" หรือ นายนรินทร์ ภาษิต (อดีตพระพนมสารนรินทร์ เจ้าเมืองนครนายก) ซึ่งเขียนไว้ในหนังสือ "ชวนฉลาด" เมื่อเดือนกันยายน 2491 ความว่า

"...จะขอเปรียบเทียบสักที มนุษย์เรานี้ก็ดังประหนึ่งสัตว์ที่อยู่ในโลกนรก! ก็เห็นจะได้ ฯ
แต่ไอ้พวกสัตว์ตัวโตๆ มันสบายดังกับได้อยู่ในโลกสวรรค์! เพราะมันมีอำนาจเหนือราษฎร์ที่มันจะเบียดเบียฬสัตว์ตัวเล็กๆ (พวกเราๆ ผู้น้อยๆ ได้ตามใจชอบของมัน ฯลฯ) หรือก็เพราะมันไม่รู้จักคำสอนของพระที่ดีเสียเลย - แม้น้อยฯ มันจึงได้พากันประพฤติเบียดเบียฬ หรือเอาเปรียบแต่ผู้น้อยดังที่ได้เห็นๆ อยู่ด้วยกันนี้ ได้ตามสบายใจของมัน ฯลฯ"


ที่มา.มติชนออนไลน์

วันพฤหัสบดีที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2554

7 ปีไฟใต้ วัดใจ'ปกครองพิเศษ'ปชป.งัดโมเดลใหม่สู้'นครปัตตานี'

โดย : ปกรณ์ พึ่งเนตร

เหตุการณ์ปล้นปืนค่ายกรมหลวงนราธิวาสฯในปัตตานี นับเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามก่อการร้ายที่ยืดเยื้อมา7ปี โดยฝ่ายการเมืองพยายามเสนอโมเดลแก้ปัญหา

4 ม.ค.2553 เป็นวันครบรอบ 7 ปีเหตุการณ์ปล้นอาวุธปืนจำนวน 413 กระบอก จากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ซึ่งหลายคนใช้เป็น "หลักไมล์" ในการนับเวลาของปัญหา"ไฟใต้คุโชนรอบใหม่" กลายเป็นสงครามก่อการร้ายรายวันยืดเยื้อมานานถึง 7 ปี

เป็น 7 ปีที่มีผู้สังเวยชีวิตจากความรุนแรงไปแล้ว 4,122 ราย บาดเจ็บ 7,225 ราย เด็กกำพร้ากว่าครึ่งหมื่น หญิงหม้าย 2,188 คน โดยที่รัฐทุ่มงบประมาณลงไปแก้ไขปัญหาแล้วไม่น้อยกว่า 1.44 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ดี พลวัตของสถานการณ์ ณ วันนี้ต้องยอมรับกันก็คือ ปัญหาภาคใต้ได้ก้าวข้ามวาทกรรมเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็น...การเมืองนำการทหาร, การสะสางความอยุติธรรม หรือการมุ่งปราบปรามกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบโดยใช้กำลังทหารมากกว่า 3 หมื่นนายและกฎหมายพิเศษหลายฉบับเข้าไปกดทับพื้นที่ไปแล้ว

เพราะประเด็นที่พูดกันให้แซ่ดอยู่ในปัจจุบันก็คือ แนวคิดการจัดรูปการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีโมเดลที่ติดหูติดตาและได้รับการกล่าวขานมากที่สุดคือ"นครปัตตานี"

หรือ"นครรัฐปัตตานี" ที่จุดพลุโดย "บิ๊กจิ๋ว" พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย เมื่อปลายปี 2552 และถูก"รับลูกต่อ" จากเครือข่ายภาคประชาสังคม 23 องค์กรในพื้นที่ ถึงขั้นเดินสายเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนจากทุกอำเภอในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา รวม 37 อำเภอ โดยการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า

แต่กระนั้น ประเด็นนี้ได้ถูกผลักให้เป็นประเด็นการเมืองอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะการเลือกตั้งใหญ่ที่คาดว่าจะมีเกิดขึ้นภายในปี 2554 นี้ เพราะล่าสุดพรรคเพื่อไทยได้ขึ้นป้ายหาเสียงโดยชูประเด็น “นครปัตตานี” พร้อมภาพ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ติดหราอยู่ริมทางหลวงและในเขตชุมชนทั่วทั้งสามจังหวัดไปแล้ว

คำถามก็คือ พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งครองที่นั่ง ส.ส.มากที่สุดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นรัฐบาลอยู่ในปัจจุบัน จะแก้เกมนี้อย่างไร?

เปิดโมเดล"นครปัตตานี"
รูปแบบของ “นครปัตตานี” จากวาทะของ พล.อ.ชวลิต ไม่ค่อยชัดเจนนักว่าเป็นอย่างไรแน่ แต่รูปแบบที่ได้จากเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ดำเนินการโดยเครือข่ายภาคประชาสังคม 23 องค์กร มีกรอบกว้างๆ อยู่ 8 ข้อ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

เป็นรูปแบบการปกครองที่ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 1 คือ "ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้" (ข้อเสนอนี้ปรากฏขึ้นมาเพื่อลดกระแสต่อต้านว่าเป็นความพยายามแบ่งแยกดินแดน หรือตั้งรัฐอิสระ หรือตั้งเขตปกครองพิเศษ)
- ต้องมีผู้บริหารที่มีอำนาจสูงสุดทางการปกครองเป็นคนในพื้นที่ มีจำนวนข้าราชการไทยพุทธและไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูในสัดส่วนที่สอดคล้องกับจำนวนประชากร
- ควรต้องใช้ภาษาไทยและภาษามลายูปัตตานีควบคู่กันไปบนสถานที่และป้ายต่างๆ ของทางราชการ รวมทั้งใช้หลักสูตรการศึกษาที่บูรณาการระหว่างสายสามัญและสายศาสนา รวมทั้งมีการเรียนการสอนวิชาภาษามลายูในโรงเรียนของรัฐ
- ควรต้องมีการบังคับใช้ระบบกฎหมายอิสลามกับคนมุสลิมในพื้น โดยเน้นไปที่กฎหมายว่าด้วยครอบครัวและมรดกซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต โดยตรงมากที่สุด
นอกจากนั้น ยังมีการยกร่างกฎหมายขึ้นมาเป็นตุ๊กตาโดย อัคคชา พรหมสูตร สมาชิกสภาพัฒนาการเมือง เพื่อเตรียมเสนอเป็นร่างของประชาชนบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาของรัฐสภาโดยใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญด้วย ร่างกฎหมายฉบับนี้ชื่อว่า “ร่างพระราชบัญญัติปัตตานีมหานคร” มีหลักการคล้ายๆ กับพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร โดยผนวก จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของ จ.สงขลามาอยู่ด้วยกัน กลายเป็น “ปัตตานีมหานคร” มีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น

ฝ่ายสนับสนุนแนวคิด “นครปัตตานี” บอกว่า หากแก้ปัญหาด้วยการจัดรูปแบบการปกครองใหม่ให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และวิถีชีวิตของผู้คน (รวมหมดทั้งเรื่องภาษา ศาสนา การศึกษา และวัฒนธรรม) รวมถึงได้ผู้นำที่มาจากคนในพื้นที่เองแล้ว ปัญหาความอยุติธรรม การละเมิดสิทธิมนุษยชน และอื่นๆ ก็จะหมดไปเอง ที่สำคัญ “ทหาร” ก็ต้องถอนกำลังกลับไปโดยปริยาย เนื่องจากได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุทั้งหมดแล้ว

แต่ฝ่ายที่คัดค้านแนวคิดนี้ ซึ่งประกอบด้วยผู้นำฝ่ายปกครองท้องที่ (นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัด) ผู้นำฝ่ายปกครองท้องถิ่นบางส่วน ส.ส.และ ส.ว.ในพื้นที่บางกลุ่ม มองว่า ทั้งรูปแบบ โครงสร้าง และเหตุผลที่ฝ่ายสนับสนุนยกมาอ้าง ทำให้ “นครปัตตานี” คล้ายเป็น “ยาวิเศษ” มากเกินไป และในความเป็นจริงไม่น่าจะแก้ปัญหาได้ขนาดนั้น

หนำซ้ำยังอาจสร้างปัญหาใหม่ตามมา คือความขัดแย้งจากการเลือกตั้งและการต้องยุบเลิกโครงสร้างของฝ่ายปกครองท้องที่กับฝ่ายปกครองท้องถิ่นบางส่วนด้วย

เปิดโมเดล ปชป.
นิพนธ์ บุญญามณี ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ และประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตามงบประมาณแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร มองว่า ประเด็นที่กลุ่มผู้สนับสนุนแนวคิดเรื่อง “นครปัตตานี” ยังไม่ได้ตอบก็คือ หากจัดให้มีการเลือกตั้ง “ผู้ว่าการนคร” แล้ว จะเอาอำนาจมาจากที่ไหน เพราะเป็นเสมือนการสร้างอำนาจใหม่ขึ้นมา ขณะที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ นายก อบจ.ก็มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งจังหวัดอยู่ในปัจจุบัน
ฉะนั้นทางออกของเรื่องนี้จึงควรลดอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นอำนาจการปกครองส่วนภูมิภาคลง แล้วนำไปเพิ่มให้ นายก อบจ.แทน ก็จะแก้ปัญหาได้

"ประเด็นที่มีการเรียกร้องกันคือ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่เดิมไม่มีอำนาจเพียงพอใช่หรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้นก็เพิ่มอำนาจให้ท้องถิ่นไป ปัญหาก็จบ โดยไม่ต้องกระทบกับโครงสร้างที่มีอยู่เดิมด้วย เพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้ง"

นิพนธ์ อธิบายว่า ที่ผ่านมานโยบายของรัฐบาลชุดก่อนๆ ไปขยายให้การปกครองส่วนภูมิภาคโตขึ้น เช่น นโยบายผู้ว่าฯซีอีโอ ซึ่งสวนทางกับการกระจายอำนาจ ฉะนั้นแนวทางที่ถูกต้องคือถ่ายโอนอำนาจเพิ่มเข้าไปให้ท้องถิ่น จะได้ไม่ต้องไปยุบเลิกโครงสร้างที่มีอยู่เดิมบางส่วน ก็จะไม่ทำให้เกิดความขัดแย้ง เพราะหากเสนอให้เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ว่าการนคร จะนำไปสู่ความขัดแย้งแน่นอน

"ถามว่าถ้าเลือกตั้งผู้ว่าการนครรัฐปัตตานี โดยรวม จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นนครรัฐ แล้วผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีอยู่เดิม 3 คนจะให้ไปอยู่ที่ไหน นายก อบจ.อีก 3 คน นายกเทศบาลเมืองหรือเทศบาลนครอีก ถ้าต้องยุบเลิกตำแหน่งพวกนี้ จะสร้างความขัดแย้งตามมาอีกมาก”

เมืองพิเศษชายแดน
นิพนธ์ อธิบายต่อว่า โมเดลของพรรคประชาธิปัตย์คือ การเพิ่มอำนาจให้ อบจ.และเมืองต่างๆ ตามแนวชายแดนทั่วประเทศ ให้สามารถบริหารจัดการและดูแลตัวเองได้อย่างแท้จริง ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น แต่รวมถึงเมืองชายแดนอื่นๆ ที่มีความพร้อมด้วย

"พรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้ชูธงให้เกิดเทศบาล อบจ.และ อบต. (องค์การบริหารส่วนตำบล) โดยได้รับการพัฒนาต่อมาเรื่อยๆ กระทั่งตอนนี้คือรูปแบบเมืองพิเศษ เช่น แม่สอด (อ.แม่สอด จ.ตาก) ภูเก็ต และสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเมืองเหล่านี้มีปัญหาด้านความมั่นคง แต่ในขณะเดียวกันก็มีมูลค่าทางเศรษฐกิจขนาดมหึมาจากการค้าตามแนวชายแดน จึงต้องมีการบริหารจัดการรูปแบบพิเศษเข้ามาดูแล เพราะลำพังเพียงเทศบาล หรือ อบจ.ตามกรอบอำนาจเดิมไม่สามารถบริหารจัดการได้"

"จากแนวทางนี้ เมืองชายแดนทั้งหมดจะมีรูปแบบการปกครองลักษณะพิเศษ ขณะเดียวกันก็ไม่ก่อปัญหาความขัดแย้ง เพราะผู้ว่าราชการจังหวัดก็ยังมีอยู่ แต่ลดอำนาจให้เหลือเพียงกำกับดูแลเป็นเรื่องๆ ไป และเป็นผู้ทำหน้าที่ประสานกับส่วนกลางเท่านั้น"

"สำหรับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รูปแบบจะเป็นอย่างไรก็มาระดมความคิดความเห็นกัน อาจจะเป็นเมืองชายแดนด้านวัฒนธรรมก็ได้ แล้วก็กำหนดขอบเขตอำนาจและความสัมพันธ์ระหว่างเมืองพิเศษกับส่วนกลาง ไม่ใช่อยู่ๆ ไปเสนอนครรัฐขึ้นมา โดยไม่รู้ว่ามีอำนาจหน้าที่อย่างไร และจะมีความสัมพันธ์กับราชการส่วนกลางอย่างไร"

นิพนธ์ ย้ำว่า การจะสร้างรูปแบบการปกครองพิเศษขึ้นมา ต้องตอบคำถามให้ได้ก่อนว่าภารกิจของเมืองพิเศษคืออะไร อำนาจหน้าที่มีอะไรบ้าง และที่สำคัญคือความสัมพันธ์ระหว่างเมืองพิเศษกับราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาคจะเป็นอย่างไร ซึ่งส่วนตัวเห็นว่า “นครปัตตานี” ยังไม่ได้ตอบคำถามเหล่านี้เลย เช่น ถ้ามีปัญหาด้านการต่างประเทศ จะให้ใครเป็นผู้เจรจา งานด้านความมั่นคง การศึกษา จะดูแลเองทั้งหมดหรือบางส่วน เป็นต้น

"เวลาพูดเรื่องกระจายอำนาจต้องพูดให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างท้องถิ่นกับส่วนกลางด้วย ไม่ใช่แค่คิดแต่ชื่อเป็นหัวขึ้นมา ส่วนรายละเอียดข้างล่างไม่มี ถ้าเป็นอย่างนั้นจะทำให้เกิดความไม่มั่นใจ และเกิดแรงต้าน"

"ยกตัวอย่างเวลาสร้างบ้านใหม่ ต้องบอกให้ได้ก่อนว่าบ้านจะมีกี่ชั้น กี่ห้อง และใช้งบเท่าไหร่ ไม่ใช่สร้างไป ทำไป คิดไป สุดท้ายอาจได้แต่เสา และที่สำคัญที่สุดคือต้องถามคนที่จะอยู่ในบ้านด้วยว่าอยากให้บ้านเป็นอย่างไร เพราะถ้าสร้างแล้วไม่มีคนอยู่ก็จะกลายเป็นบ้านร้าง"

ส่วนแนวทางการรวม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็น “นครรัฐ” หรือ “มหานคร” นั้น ส.ส.ประชาธิปัตย์ผู้นี้ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วย เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ควรมีขนาดใหญ่มาก มิฉะนั้นจะอุ้ยอ้าย เทอะทะ สวนทางกับหลักการกระจายอำนาจ คิดว่าใช้รูปแบบ 1 จังหวัด 1 องค์กรดีกว่า เพราะจะมีความคล่องตัวในการบริหาร และมีโครงสร้าง อบจ.รองรับอยู่แล้ว

"สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องถามประชาชนเสียก่อนว่าอยากอยู่ในนครรัฐ หรือ อบจ.ที่ได้รับการถ่ายโอนอำนาจเข้ามาอย่างเพียงพอ อาจทำประชาพิจารณ์อย่างเป็นกิจจลักษณะ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดประเด็นขัดแย้งใหม่ๆ ตามมา”

นับเป็นโจทย์ท้าทายทุกฝ่ายในสังคมไทย ในวาระ 7 ปีปัญหาภาคใต้ที่เปลวไฟยังคงคุโชน!

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
------------------------------------------------------------

ดร.เกษียร เตชะพีระ วิพากษ์รัฐบาล-วิจารณ์กองทัพ-กระชับพื้นที่มวลชน 2554 จับตาจัดแถววางโครงสร้างอำนาจใหม่

สัมภาษณ์


2553 เป็นปีแห่งความขัดแย้งอย่างถึงราก

นักวิชาการ ทหาร ตำรวจ ตุลาการ นักกฎหมายต้องนอนก่ายหน้าผาก-พลิกตำราเก่าแก่รับมือ

ดร.เกษียร เตชะพีระ ในฐานะคอลัมนิสต์-นักรัฐศาสตร์ ฟันธงว่า ปี 2554 จะเป็นปีแห่งการจัดโครงสร้างอำนาจของสถาบันหลักของชาติใหม่

พร้อม ๆ กับการกระชับพื้นที่ให้มวลชนสีแดง-สีเหลืองค้นหาเหตุผลมาต่อสู้กัน แทนการใช้กำลัง ความรุนแรง

หากสีใดยังใช้มวลชนเป็น "เบี้ย" ถือว่าเป็นการกระทำที่ "ทุเรศ" และต้องส่งเสริมให้เกิดการ "ทะเลาะกันโดยสันติ"

บรรทัดจากนี้ไป เป็นคำทำนายข้อวิเคราะห์ บทวิพากษ์ และวิจารณ์ทุกโครงสร้างอำนาจ

สิ่งที่น่าจับตาที่สุดของการเมือง ปี 2554 มีอะไรบ้าง

มันทับซ้อนกัน 2 เรื่อง อันแรก เป็นปัญหาเรื้อรังมาตั้งแต่ช่วงรัฐประหาร 2549 ก็คือจะจัดระเบียบการเมืองยังไงให้ลงตัว เพราะว่ามันมีกลุ่มอำนาจ ซึ่งเขาดำรงอยู่จริงในทางสังคม ในทางเศรษฐกิจ ซึ่งก่อนหน้านี้ มีกระบวนการที่กลั่นกรองทางการเมือง แต่กระบวนการที่กลั่นกรองนั้น ใน 3-4 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ชัดว่า มันก่อปัญหามากกว่าด้วยซ้ำ แปลว่าคุณจะจัดระเบียบการเมืองยังไง ที่จะดึงเอากลุ่มพลังที่ถูกกันออกไป ให้เข้ามามีที่ทางในระเบียบการเมือง และสู้กันในวงการเกมกฎกติกาทางการเมืองได้

ในแง่กลับกัน ในรอบ 3-4 ปีที่ผ่านมา สถาบันสำคัญของประเทศ มีการแสดงบทบาทวางตำแหน่งฐานะที่ลักลั่นเปลี่ยนไปจากเดิม พูดตรง ๆ เช่น สถาบันองคมนตรี สถาบันตุลาการ สถาบันทหารได้ถูกดึงเข้ามา จะเรียกว่าอะไรก็แล้วแต่ แต่เข้ามาพัวพันกับการเมืองมากขึ้น มันก่อให้เกิดปัญหามากขึ้น

ผมคิดว่า ย้อนไป 4 ปีที่ผ่านมา เห็นชัดว่าสถาบันเหล่านี้มีปัญหาเรื่องความชอบธรรมอย่างไม่เคยเกิดขึ้นทั้งสิ้น ลองนึกไปก่อนปี 2549 สถาบันตุลาการมีภาพลักษณ์ที่ดี สถาบันทหารมีภาพลักษณ์ที่ดี สถาบันองคมนตรีไม่มีใครตั้งคำถาม แต่ปัจจุบันเข้าไปพัวพันการเมืองมากขึ้น

ฉะนั้น จะจัดวางบทบาทตำแหน่งแห่งที่บทบาทฐานะของกลุ่มพลังทางการเมืองที่ถูกกันออกไปจากการเมืองนั้นอย่างไร คือการจัดระเบียบการเมืองใหม่ ที่ให้กลุ่มพลังทางการเมืองและสถาบันที่สำคัญของสังคมทั้งหลายมีบทบาทฐานะที่อยู่ในกรอบของระเบียบการเมือง อยู่ในกฎกติกาของระเบียบการเมือง และเล่นบทที่เหมาะสมของตัว

ที่อาจารย์บอกว่า กลุ่มพลังอำนาจที่ถูกกันออกจากการเมืองนั้น ความจริงเขาอยากกันตัวเองออกจากการเมือง หรือ คนอื่นกันเขาออกไป

(หัวเราะ) ตอนต้น เขาก็คงอยากออก มีคนเชิญเขาออกไปหลายรอบใช่ไหม...คือพอพูดแล้ว เขาก็มีเหตุผลบางอย่าง ที่เขาอยากอยู่ หรือเพราะห่วงผลประโยชน์เขา ก็เป็นเรื่องของมนุษย์ธรรมดา แต่พอเราผลักกัน...ในที่สุด ก็ไม่ใช่เรื่องของเขาคนเดียว เพราะในที่สุด คุณไม่ได้ดีลกับตัว คุณทักษิณคนเดียว แต่คุณกำลังดีลกับเครือข่ายอำนาจของคุณทักษิณ จะจัดการกับเครือข่ายอำนาจของคุณทักษิณ ในที่สุด ก็กันออกไปไม่หมด เช่น กลุ่มนักการเมือง กลุ่มมวลชน

ผมคิดว่า วิธีการจัดการที่ผ่านมา มันไม่ได้เรื่อง มันไม่นำไปสู่ความสงบเรียบร้อย ทำให้ทุกคนยอมรับอย่างที่คุณตั้งใจ อันนี้คือปัญหาคาราคาซัง

ทีนี้ ปัญหาเฉพาะหน้าที่ซับซ้อนเข้ามา และทำให้ปัญหาคาราคาซังเรื้อรัง ยิ่งแก้ยากเข้าไปอีก คือการฆ่าคน ตอนเหตุการณ์เมษา-พฤษภาที่ผ่านมา คือปัญหาเดิม ก็แก้ยากอยู่แล้ว แต่เพิ่มเรื่องนี้เข้ามา ก็เหมือนไปเพิ่มล็อกอีกตัวหนึ่ง แล้วทำให้การแก้ปัญหาพื้นฐานแก้ยาก

ทำให้มีแนวโน้มเกิดความรุนแรงปั่นป่วนวุ่นวายทางการเมือง กระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ ยิ่งหนักหนาเข้าไปอีก คือเรื่องทั้งหมด ก็ไม่ใช่เรื่องฝ่ายความมั่นคงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของฝ่ายผู้ชุมนุมด้วย เรื่องแบบนี้ ก็เห็นมาตั้งแต่การล้มรัฐบาลสมัคร (สุนทรเวช) การล้มรัฐบาลสมชาย (วงศ์สวัสดิ์)

ต้องทำอย่างไร

ผมคิดว่า เรื่องด่วนที่สุด คือเรื่องเฉพาะหน้า ปัญหาความยุติธรรม ปัญหาความรุนแรง ที่คาราคาซังมาจากเดือนเมษา-พฤษภา ถ้าไม่มีความยุติธรรม ไม่มีกระบวนการที่โปร่งใส เป็นที่ยอมรับในการหาความจริง โอกาสที่จะเกิดความวุ่นวายและรุนแรงก็จะเกิด เหมือนกับเป็นแผล บ่มหนองไปเรื่อย ๆ

ประสบการณ์ของไทยที่ผ่านมาในอดีต ก็มีตัวอย่างเหมือน 14 ตุลา 16 พฤษภา 35 ขบวนการอย่างนี้ ต้องเปลี่ยนการนำทางการเมือง เปลี่ยนรัฐบาล พอเปลี่ยนการนำทางการเมืองแล้ว คือเปลี่ยนหัวก่อน พูดง่าย ๆ สมัยนั้น ถนอม ประพาส ณรงค์ออกไป สมัยพฤษภา 35 สุจินดาออกไป

อันที่ 2 คือเปลี่ยนการนำของสถาบันหลักในทางความมั่นคงที่เข้าไปเกี่ยวพันกับความรุนแรง ก็คือตัว ผบ.ทบ. หรือใครก็แล้วแต่ที่เข้าไปใช้กำลังตอนนั้น และเปลี่ยนแกนนำหน่วยงานราชการที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการปราบปราม

การเปลี่ยนรัฐบาลและการนำหน่วยงานราชการ เพื่อว่าคนที่มีส่วนเกี่ยวพันไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่จะบล็อกการไต่สวนของกระบวนการยุติธรรมได้ ไม่อยู่ในตำแหน่งที่จะล็อกการค้นหาความจริงได้ นำไปสู่ข้อยุติในระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ยอมรับแล้วหลังจากนั้นค่อยจัดสรรผลประโยชน์อำนาจกันใหม่

แต่ละตำแหน่งมีที่มาตามระบบราชการ หรือมาจากการเลือกตั้ง

มันไม่ง่ายหรอก...คือผมคิดว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ก็น่าจะเป็นโอกาสหนึ่งที่จะเปลี่ยนการนำทางการเมือง...จะเกิดขึ้นหรือเปล่า ผมไม่รู้นะ ก็อยู่ที่ผลการเลือกตั้ง แต่ถ้าไม่ทำสิ่งเหล่านี้ เรื่องไม่จบ

เป็นการเปลี่ยนตัวบุคคลที่เป็นผู้นำหรือเปล่า

ผมใช้คำว่า เปลี่ยนการนำดีกว่า คือพูดด้วยความจริงใจ ในฐานะนักรัฐศาสตร์ จากประสบการณ์การเมืองไทย ถ้าอยากแก้ปัญหาเรื่องนี้ คนที่นั่งอยู่ในอำนาจรัฐบาลตอนเกิดเหตุ ไม่ควรจะนั่งอยู่ในตำแหน่งรัฐบาลอีก อันที่ 2 ก็คือต้องเปลี่ยนการนำของสถาบันหน่วยราชการฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายตุลาการ และองคมนตรี เพื่อให้กระบวนการคลี่คลาย ไม่งั้นมันจะโดนล็อก และกระบวนการไม่คลี่คลาย

คือผมไม่อยากพูดเรื่องตัวบุคคล แต่เป็น การเปลี่ยนการนำ เพราะสถาบันเหล่านี้เข้า ไปพัวพันทางการเมือง โดยเฉพาะเมษา-พฤษภาที่ผ่านมา ทำให้ความชอบธรรมเสื่อมถอยลงทั้ง 3 สถาบัน ไม่เคยมียุคไหน ที่สถาบันตุลาการ สถาบันกองทัพ สถาบันองคมนตรีมีภาพลักษณ์ขนาดนี้มาก่อน

ถ้าแก้ไม่ได้ อย่างเลวร้ายที่สุด ปี 2554 จะเกิดอะไรขึ้น

อย่างเบาที่สุดก็คือ un-governability ก็คือปกครองไม่ได้ ปกครองอย่างอำนวยให้เศรษฐกิจ สังคมดำเนินไปอย่างปกติสุข เป็นไปไม่ได้ ใครก็ตามที่ขึ้นมาเป็นรัฐบาล ก็จะมีแนวโน้มใช้อำนาจอย่างฉุกเฉิน ใช้กฎหมายความมั่นคง อำนาจนิยม ส่วนฝ่ายมวลชน ก็จะมีแนวโน้มต่อต้านการปกครองอำนาจใหม่ที่ขึ้นมา และมีแนวโน้มอนาธิปไตย

ก็คือข้างบนอำนาจนิยม ข้างล่างอนาธิปไตย แล้วก็จะเรื้อรังกันไปแบบนี้ เรื้อรังกันไปเรื่อย ๆ แบบนี้ เพราะเป็นมาตั้งแต่หลังเลือกตั้ง 23 ธันวา 2550 แล้ว

สาเหตุที่เสื้อแดงควบคุมยาก เพราะ แกนนำยังไม่ได้ประกันตัว เรื่องนี้เป็นปัญหาที่แท้จริงหรือไม่

ผมคิดว่า ปัญหาทับซ้อน 2 ส่วน คือในส่วนแกนนำ ก็มีปัญหาการต่อสู้ทางแนวทางของแกนนำที่อยู่ข้างใน จากการเปิดเผยของคุณวีระ มุสิกพงศ์และพี่วิสา คัญทัพ แกนนำ นปช.ในระยะเวลาที่ผ่านมา แล้วในที่สุด ดูเหมือนว่าแนวทางต่อสู้ที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบขาด ฉับพลัน เอาชนะอย่างรวดเร็ว ฉับพลัน เป็นฝ่ายที่แพ้

ผมคิดว่า อันนี้เป็นบทเรียนที่ต้องสรุป คือหลีกเลี่ยงความรุนแรง แล้วมองการต่อสู้อย่างที่เป็นจริง ไม่ใช่อย่างที่ใจตัวเองต้องการ ไม่ว่าใจนั้นจะเป็นใจในประเทศ หรือใจนอกประเทศก็ตาม ต้องเริ่มจากความเป็นจริง

เขากำลังพยายามเปลี่ยนวิธีคิดของคนไทยทั้งประเทศ เกี่ยวกับการเมือง ปัญหาความเสมอภาคในสังคม อันนั้นเป็นเรื่อง ยืดเยื้อยาวนาน คงจะเร่งรัดให้เสร็จภายในระยะเวลาอันสั้น เผด็จศึก...ไม่ได้

ในส่วนของมวลชน ผมยินดีที่สุดเลย ที่คุณสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด เขาทำการเคลื่อนไหว แต่คุณูปการที่ยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุดของการต่อสู้แบบ บก.ลายจุด คือการต่อสู้แบบสันติ

อาจารย์ไม่อยากให้ปฏิเสธกันที่สีเสื้อ แต่อยากให้ปฏิเสธวิธีการรุนแรง

ผมอยากให้เปิดยุคใหม่ของการต่อสู้ในความขัดแย้งทางการเมือง จาก 3-4 ปีที่ผ่านมา ด้วยความเชื่อทางการเมืองอย่างจริงใจจริงจังของคนเสื้อเหลืองแลคนเสื้อแดงได้ทำการต่อสู้อย่างเข้มข้น ในที่สุด ก็ทำให้การต่อสู้ส่งผลไปถึงความรุนแรงทั้ง 2 ฝ่าย

ดูแนวโน้มต่อไปข้างหน้า วันที่เราเจอ จุดความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างแนวคิดที่ต่างกันในเรื่องนี้ ระหว่างเสื้อสี ที่ต่างกันในเรื่องนี้ มันคงไม่เกิดเร็ว เมื่อไม่เกิดเร็ว ก็ต้องสร้างวิธีการต่อสู้ ที่สู้กันได้ โดยไม่ต้องฆ่ากัน มันจะเป็นประโยชน์ต่อคนเสื้อเหลืองเอง และจะเป็นประโยชน์ต่อคนเสื้อแดงเอง

แน่นอน ทางรัฐก็ต้องเข้าใจด้วยว่า คุณพลาดทางยุทธศาสตร์นะ ที่คุณไปปราบ ฆ่าเขารุนแรงขนาดนั้น

ทั้งฝ่ายผู้ฆ่าและฝ่ายผู้ถูกฆ่าก็มีเหตุผลรองรับการกระทำของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐ หรือฝ่ายชุมนุม

ผมคิดว่า ทุกฝ่ายลองหายใจลึก ๆ แล้วถามตัวเองว่า คุณมีคำอธิบายเสมอ ว่าคุณจะต้องทำแบบนี้ ต้องปราบ ต้องใช้ความรุนแรง เพราะ...แล้วอธิบายไป แล้วผลที่ได้มาเนี่ย มันแก้ปัญหาไหม หรือมันเพิ่มปัญหา

ถ้าประเมินแล้ว คิดว่าเพิ่มปัญหาให้ หนักหน่วงยิ่งขึ้น แตกลายปัญหาออกไป อีกกว้างไกลยิ่งขึ้น งั้นก็อย่าทำอีก มันไม่คุ้ม...อะไรจะดีกว่ากัน ระหว่างฆ่าคนที่เห็นต่างจากคุณ หรือชนะใจเขา แล้วเปลี่ยนแปลงความคิดเขาได้

ผู้ชุมนุมถูกปลุกระดมให้เกลียดฝ่ายรัฐ ส่วนฝ่ายรัฐปฏิบัติราวกับผู้ชุมนุมเป็นศัตรู ถือเป็นข้ออ่อนของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือเปล่า

ข้ออ่อนนี้ เป็นกันทุกฝ่ายนะครับ เสื้อเหลืองก็เป็น เสื้อแดงก็เป็น ฝ่ายรัฐก็เป็น ประเทศไทยสัก 100 ปีข้างหน้า เราก็ยังต้องมีกองทัพไทย เราก็ยังมีคนที่เชื่อใน อุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบเสื้อแดง เราก็ยังมีคนที่เชื่อในอุดมการณ์เรื่องสถาบันพระ มหากษัตริย์ เรื่องการรักชาติแบบเสื้อเหลือง มันไม่มีอะไรที่จะหายไปหรอก คุณตั้งใจที่จะทำให้เสื้อแดงหายไปหมดเหรอ ? คุณตั้งใจที่จะทำให้เสื้อเหลืองหายไปหมดเหรอ ? คุณตั้งใจที่จะทำให้กองทัพไทยหายไปจากประเทศไทยเหรอ ? ไม่มี...วันนั้นจะไม่มี

มวลชนทุกสีเสื้อคงทะเลาะกันที่ความคิดเลือกข้าง แต่ระดับนำของทั้ง 2 ฝ่ายมี ผลประโยชน์มหาศาลเป็นเดิมพัน และใช้ชีวิตมวลชนมาต่อรอง

ผมว่า ที่ผ่านมามีการเรียกร้องประชาธิปไตย แต่ภายในองค์กรไม่ค่อยเป็นประชาธิปไตยเท่าไหร่ มีลักษณะนำเดี่ยว หรือนำไปตามใจ หรือพร้อมที่จะเอามวลชนเป็นเบี้ย เพื่อแลกกับชัยชนะ อันนี้พูดด้วยความเคารพ ว่าทุเรศที่สุด ผมนึกคำที่แรงกว่านี้ไม่ได้ มันทุเรศ...อย่าทำแบบนั้น...คือต้องคิดใหม่ในหมู่แกนนำ เรื่องการเอาชีวิตคนเป็นเบี้ย เป็นเครื่องมือ

ในแง่กลับกัน ผมคิดว่า มวลชนก็อย่าได้ปล่อยให้ตัวเองเป็นเครื่องมือของแกนนำ การเข้าไปร่วมเนี่ย คุณก็มีอุดมการณ์ร่วม คุณมีแนวคิดยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีร่วมกับเขา ถ้าเมื่อไหร่ที่คุณคิดว่ามันชอบกล ไม่เข้าท่า มวลชนก็อย่าไปยอม

ทุกครั้งที่มีการชุมนุมของทุกสี ก็ต้องปลุกอารมณ์

ถ้าใช้อารมณ์ คุณก็ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายที่อยากจะใช้คุณเป็นเครื่องมือ คือเราคงไม่สามารถหลีกพ้นสภาวะอันนี้ ในโลกของเราต่อไปข้างหน้า ก็ยังมีคนที่ใช้อารมณ์มวลชนเป็นเครื่องมือ

มวลชนอาจจะบอกว่าเต็มใจ ตายก็ยอม ขณะที่คนได้ประโยชน์คือแกนระดับนำระดับบน

อืม...ม ผมเห็นด้วยนะ คือคนที่เขามีความเชื่อ พร้อมจะเอาชีวิตเข้าแลกและยอมตายเพราะความเชื่อ ผมเคารพนะ แต่ที่ผมกลัว คือพลิกนิดเดียว ไปเป็นเขายอมฆ่าเพราะความเชื่อ สิ่งนี้ผมอยากจะให้คิดซะใหม่ คุณยอมตายเพราะความเชื่อเพื่ออุดมการณ์คุณ ผมนับถือ แต่อย่ายอมฆ่าเพราะความเชื่อ มันต่างกันนิดเดียวจริง ๆ ต้องระวัง

คุณทักษิณเป็นตัวแปรสำคัญของการเมืองไทย เขาควรมีท่าทีอย่างไรต่อมวลชนและฝ่ายตรงข้ามภายในประเทศ

คุณทักษิณในฐานะสิ่งมีชีวิตทางการเมืองอย่างหนึ่ง ซึ่งมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่แน่นอนของตัว จะไม่ให้เขาต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของตัวเขา ก็คงไม่ได้ ในความคิดความเข้าใจของเขา ก็คงรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งก็มีสิทธิที่จะต่อสู้เพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมนั้น

หน้าที่ของพวกเรา ก็คือจะออกแบบระเบียบการเมือง ระเบียบการปกครองอย่างไร ที่จะมีที่ให้คุณทักษิณ รวมทั้งกลุ่มอื่นอยู่ตรงข้าม ต่อสู้แสวงหาความเป็นธรรม โดยไม่ทำให้บ้านเมืองทั้งหมดพังด้วย เพราะมีคนจำนวนหนึ่งรู้สึกว่าถูกคุณทักษิณรังแกเอาเปรียบ เขาคงรู้สึกเหมือนกันว่าในยุคคุณทักษิณ เขาก็ไม่ได้รับความเป็นธรรมเท่าไหร่ เราจะออกแบบอย่างไร เพื่อให้คนเหล่านี้เล่นได้ โดยไม่ทำให้ทั้งหมดฉิบหายไปด้วย อันนี้สำคัญกว่า

ผมคิดว่า ถ้าจะไม่ให้คุณทักษิณมีบทบาททางการเมืองเลย หรือจะไม่ให้คนที่รู้สึกว่าถูกคุณทักษิณรังแกมีบทบาททางการเมืองเลย มันผิดวิสัยมนุษย์ มนุษย์มันก็เป็นสัตว์การเมือง มันก็เคลื่อนไหวแบบนี้แหละ

แต่ว่า เรากำลังปล่อยให้ความขัดแย้งของกลุ่มคนเหล่านี้ทำลายระเบียบการเมืองของเรา ของลูกหลานเรา จนกระทั่งการเมืองแก้ปัญหาไม่ได้ ต้องยิงกัน ต้องมาฆ่ากัน

เราต้องหาวิธีที่ต่อให้คุณทักษิณ หรือฝ่ายตรงข้ามคุณทักษิณ นึกอยากจะใช้วิธีที่เลวร้าย ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ คือระเบียบการเมืองมีความแข็งแรงพอที่จะทำให้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดาในทางผลประโยชน์ของกลุ่มคนเหล่านี้เดินไปตามวิถีของมัน

วิธีคิดที่ว่าทำใจ ทีใครทีมัน จะทำให้บ้านเมืองสงบได้ไหม

เราต้องสร้างระเบียบการเมือง ที่ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนได้ที ก็ต้องไม่ทำร้ายส่วนรวม

ขั้นต่ำ คือมีกติกาแน่นอน ยอมรับว่า ใครชนะแล้ว เล่นเกมใหม่ ไม่ใช่พอฝ่ายตรงข้ามชนะแล้ว บอกว่า กูจะไม่ยอมให้มึงปกครอง แล้วทำทุกวิถีทาง เอามึงลงให้ได้ ซึ่งผมรู้สึกว่า อันนี้มันเล่นกันซะจนบ้านเมืองฉิบบหายหมด แบบนี้ตายทั้ง 2 ฝ่าย กลับไปสู่วงจรอุบาทว์เก่า อำนาจนิยมโดยรัฐบาล อนาธิปไตยโดยมวลชน

การชุมนุมแบบเดิม มักวัดกันที่จำนวนมวลชน เปลี่ยนไปเป็นวัดกันที่ประเด็นความต้องการ

ก็เป็นความก้าวหน้าขึ้น ผมคิดว่า กว่าจะมาถึงปัจจุบัน เริ่มชัดเจนแล้วว่า ความขัดแย้งมันเป็นเรื่องอะไรบ้าง ถึงทุกวันนี้ ผมคิดว่า การเมืองไทย ไม่มีใครคิดล้มเจ้าเพื่อเป็นสาธารณรัฐ แม้แต่อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล แกก็ไม่ได้บอกว่าจะล้มเจ้า

ฉะนั้น ประเด็นสำคัญ ไม่ใช่เรื่องจะ ล้มเจ้า หรือไม่ล้มเจ้า แต่เป็นประเด็นว่า คุณจะสร้างระเบียบการเมืองอย่างไร ที่จะมีที่ทางให้พลังการเมืองฝ่ายต่าง ๆ และสถาบันหลักต่าง ๆ ของสังคมได้วางฐานะตัวเองได้เหมาะสม นี่คือโจทย์ระยะยาว

มีกระแสมวลชนบางกลุ่มคิดว่าต้อง ล้มเจ้าเพื่อแก้ปัญหา

คงมีคนที่คิดแบบนั้นอยู่บ้าง แต่ในแง่กลับกัน ในเมืองไทย มีคนรักสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยเหตุผลที่ดีที่สุด... เราอยู่ในประเทศที่มีคนทั้ง 2 แบบ เอาอย่างงี้ก็แล้วกัน มีช่องทางใดไหมที่จะมา นั่งถกเถียง ด้วยเหตุผล ว่าอะไรคือปัญหาที่ติดขัดข้องใจ อะไรคือฐานะบทบาทตำแหน่งของสถาบันสำคัญของประเทศที่ควร

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
-----------------------------------------------------