--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2553

เปลี้ยลง !!!??

ข่าวสดรายวัน
คอลัมน์ เหล็กใน

ผลการเลือกตั้งส.ก.-ส.ข. บ่งชี้ว่าประชาธิปัตย์ ไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากเสียงประณาม

ว่าด้วยการสลายม็อบเสื้อแดง จนมีตายเกือบร้อย บาดเจ็บเป็นพันๆ

อันเป็นเรื่องที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกของรัฐบาล

นี่เป็นพื้นที่เมืองกรุง ซึ่งว่าไปแล้ว ใช่ว่าเป็นฐานเสียงของประชาธิปัตย์อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

หากแต่เป็นพื้นที่ที่ช่วงชิงกัน ผลัดกันยึด ผลัดกันแพ้ กันมาโดยตลอด ระหว่างประชาธิปัตย์กับเพื่อไทย (รวมไปถึงยุคไทยรักไทยกับพลังประชาชนด้วย)

ในยุคเฟื่องฟูของไทยรักไทยนั้น ประชาธิปัตย์แทบจะสูญพันธุ์มาแล้ว

นาทีนี้ คนรากหญ้าในเมือง ก็ถูกมองว่า"น่าจะ"ให้การสนับสนุนเพื่อไทยมากกว่า

ยิ่งเป็นช่วงที่ประชาธิปัตย์ มีชนักปักหลังเรื่องคนเจ็บคนตาย หลังการชุมนุม

แถมเป็นชนักที่ปักแน่น ประชาธิปัตย์ตอบสังคมได้ไม่เต็มปาก ได้แต่อู้ๆ อี้ๆ ซื้อเวลาไป

คนรากหญ้าทั้งหลายก็ยิ่งน่าจะแพ็กเสียงกันให้หนาแน่น เพื่อ"สั่งสอน"ประชาธิปัตย์ให้รู้สำนึก

น่าจะเป็นนาทีทองของเพื่อไทย ที่จะเกาะกระแส"มือเปื้อนเลือด"ของอีกฝ่าย เป็นกระดานหกดีดตัวแรงๆ

ไปๆ มาๆ กลับแป้ก ผลการลงคะแนนบ่งชี้ว่า นอกจากประชาธิปัตย์ไม่สะดุ้งสะเทือนแล้ว

ยังได้รับความนิยมจากคนกรุง ในจำนวนที่มากกว่าอีกต่างหาก

ถึงขนาดผู้รับผิดชอบการเลือกตั้งของประชาธิปัตย์ ประกาศอย่างฮึกเหิม

เลือกตั้งสนามใหญ่อย่างส.ส.งวดหน้า จะกวาดพื้นที่ในกทม.ให้เรียบ!

เพื่อไทยแสดงอาการเพลี่ยงพล้ำทางการเมือง ออกมาเป็นระยะ

ตั้งแต่เล่นการเมืองข้างถนน สลับกับในสภาให้วุ่นไปหมด

การบริหารภายในก็เริ่มมีปัญหาโวยวาย เรื่องเงินๆ ทองๆ

ส.ส.โดน"ดูด"ไปหาพรรคอื่นที่ล่ำซำกว่า

จะดุด่าประณามลูกพรรคทรยศของตัวเอง หรือคู่แข่งที่มาตีท้ายครัวอย่างไร ก็ทำไม่ถนัดปาก

เพราะตัวเองตอนเจิดจ้าราวกับดาวฤกษ์ ก็มีพฤติกรรม "ดูด" และสนับสนุนการย้ายพรรคแบบเดียวกันนี้มาก่อน

ฝ่ายนปช. ที่เป็นหมากของเพื่อไทย ก็กำลังโดน"อ้อมกอดอำมหิต"บีบรัด ราวกับงูเหลือมรัดเหยื่อ

นอกจากนายวีระ มุสิกพงศ์ ที่เป็น "สายพิราบ" และคุยกับรัฐบาลรู้เรื่องที่สุดตอนปิดราชประสงค์

คนอื่นแทบจะไร้วี่แววได้ประกันตัวออกจากคุก!

พวกที่เตลิดหนีไปต่างประเทศ ก็ใจไม่ด้านพอจะกลับมา

สอดรับกับบทบาทของ "นายใหญ่" ที่เงียบหายไปอย่างผิดปกติ แม้จะวนเวียนอยู่แถวๆ เมืองไทยก็ตาม (ตามที่นายกฯว่า)

พรรคก็ขาดหัว ม็อบก็ขาดหัว ท่อน้ำเลี้ยงก็ตีบตัน

กราฟกำลังปักหัวลงตามลำดับ!

***************************************************************************

วันพฤหัสบดีที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2553

แมลงสาบสังคม

ชัยพงษ์ สำเนียง

1
“...สิ่งที่มนุษย์เราหวงแหนที่สุดคือชีวิต และก็เป็นสิ่งที่ให้แก่เขาเพื่อดำรงอยู่ได้แต่เพียงครั้งเดียว เขาจักต้องดำรงชีวิตอยู่เพื่อที่ว่าจะไม่ต้องทรมานใจด้วยความโทมนัสว่า วันเดือนปีที่ผ่านไปนั้นปราศจากจุดหมาย จักต้องไม่มีความรู้สึกอับอายว่าตนมีอดีตอันต่ำต้อยด้อยคุณค่า ชีวิตเช่นนี้เมื่อตายลงก็สามารถพูดได้ว่า ชีวิตของฉันและพลังกายพลังใจทั้งหมดของฉันได้อุทิศให้แก่อุดมการณ์ที่ดีงามที่สุดแล้วในโลกนี้ นั้นคือการต่อสู้เพื่อกอบกู้อิสรภาพของมนุษย์...”

คำรำพัน ณ สุสานสหายผู้เสียสละในการต่อสู้ปฏิวัติ
จากนวนิยายโซเวียตยอดนิยมเรื่อง เบ้าหลอมวีรชน
นิโคไล ออสตร๊อฟสกี้ เขียน ค.ศ. 1933
เทิด ประชาธรรม(ทวีป วรดิลก) แปล พ.ศ. 2518 [1]

2
ความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยอย่างสำคัญที่ถือว่าเป็น จุดเปลี่ยนที่ไม่อาจหวนคืนได้อีกแล้ว และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ที่แลกมาด้วยชีวิต เลือดเนื้อ หยาดน้ำตา รวมถึงมูลค่าที่คิดเป็นตัวเลข(เงิน)ได้ และเป็นตัวเงินไม่ได้อย่างมหาศาล คือ การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทางการเมืองของ “คนชายขอบ” ที่เรียกตัวเองว่า “ไพร่”(จะมีแดงหรือไม่ก็ตาม) และไม่อาจสยบยอมต่อ “อำนาจ” ที่มากดขี่ข่มแหง เบียดขับ ดูถูกเหยียดหยามได้อีกต่อไป อันนำมาสู่เหตุการณ์ในเดือนเมษายน พ.ศ.2552 และเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 อาจกล่าวได้ว่า “ชีวิต เลือดเนื้อ และจิตวิญญาณที่เสรี” ได้ถูกทำลาย และด้อยค่า อย่างไม่มีอะไรเทียบเทียมได้ ดั่งอาจกล่าวว่า “ชีวิต หนึ่งที่เกิดมาช่างด้อยค่ายิ่งกว่าสัตว์(เดรัจฉาน)เสียอีก”

อาจกล่าวได้ว่า “มนุษย์” หนึ่งที่เกิดมาช่างด้อยค่าไร้ราคาอย่างไม่อาจเปรียบได้กับ “อะไร”? “การทำร้าย ทำลาย เข่นฆ่า ประณาม หยามเหยียด เบียดขับ” อย่างไม่เห็นค่าความเป็นมนุษย์ “แมลงสาบสังคม”ที่เข่นฆ่าได้อย่างอำเภอใจ ไม่อาจอธิบายอะไรในสังคมไทยได้
เราจะอธิบายคำพูดเหล่านี้ได้อย่างไร เช่น “ความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นเพราะไปเชื่อคำพูดของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยุแหย่ให้คนเสื้อแดงเผาบ้านเผาเมือง ถ้านางศิณีนาถแน่จริงลองเผาบ้านตัวเองดู เป็นพวกหนักแผ่นดินไม่รู้จักแยกแยะความถูกความผิด ลงชื่อผู้ส่งมาจาก อ.เมือง จ.ลำปาง แต่ประทับตราไปรษณีย์เขตอ้อมใหญ่...ถึงศิณีนาถโดนยิงบาดเจ็บ...คงดีใจที่ได้ค่าชดเชยจากภาครัฐ ไปร่วมชุมนุมเผาศาลากลางถึงจะไม่ได้เผาก็ไปร่วมชุมนุม ก็เท่ากับเผามันบาปนะ ตอนเจ็บตอนตายขึ้นมาก็จะขอค่าชดเชยมันน่าจะตายให้พ้นจากประเทศไทย พวกหนักแผ่นดิน ขายชาติเห็นแก่เงิน ..."[2]

กล่าวได้ว่าคนในสังคมไทยที่มีความคิดความเชื่อที่เห็นคนอื่นเป็น “สัตว์” ไม่มีราคาค่างวดอะไรเลย ได้ขยายกว้างออกอย่างน่าตกใจ ดังกรณี มาร์ค V 11 ที่ “หลังถูกกระแสกดดันจากการโพสต์ข้อความแสดงความเห็นทางการเมืองในเฟสบุ๊ก ด้วยการใช้ถ้อยคำรุนแรงตำหนิการทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จนทำให้ "มาร์ค วี 11" หรือนายวิทวัส ท้าวคำลือ หนุ่มวัย 17 ปี จากเชียงใหม่ ต้องหยุดปฏิบัติการล่าฝันถอนตัวออกจากการแข่งขัน ทรู อะคาเดมี แฟนเทเชีย ซีซั่น 7 ท่ามกลางความเสียดายของแฟนคลับที่เทคะแนนโหวตให้เป็นที่ 1 มาตลอด ซึ่งแม้เจ้าตัวจะแสดงความรับผิดชอบด้วยการสละสิทธิ์ถอนตัวไปแล้ว แต่เรื่องราวยังคงเป็นประเด็นให้พูดถึงทั้งด้านการเมือง และเส้นทางชีวิตหลังตกเป็นเหยื่อความขัดแย้งทางความคิดของคนในสังคมปัจจุบัน”[3] และ “ตำรวจ สภ.เมือง จ.เชียงราย ได้เรียกนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ไปให้ปากคำในคดีเดียวกันเพิ่มอีก 2 คน คือ นายเอกพันธ์ ทาบรรหาร และนายสาทิตย์ เสนสกุล อายุ 19 ปีเท่ากัน จึงทำให้คดีนี้มีผู้ต้องหาทั้งหมด 6 คน ขณะที่นายนิติ เมธพนฎ์ กล่าวว่าไม่ได้รู้สึกหวาดหวั่นที่ต้องถูกดำเนินคดี เพราะพวกเราไม่ได้ทำความผิดทางอาญา แต่เกี่ยวกับ พ.ร.ก. ซึ่งเรื่องนี้ต้องดูกันที่เจตนาว่าเราทำไปเพราะหวังจะให้เกิดความหวาดกลัวหรือไม่ เพราะในความเป็นจริงคือไม่ได้หวังเช่นนั้น อย่างไรก็ตาม

ยอมรับว่าหลังถูกดำเนินคดีแล้วก็มีคนในครอบครัว เช่น พ่อแม่ ญาติพี่น้อง ฯลฯ แสดงความเป็นห่วงกันถ้วนหน้า ส่วนใหญ่ห่วงในอนาคตหลังการเรียนของพวกตนว่าจะไม่สดใส เพราะเป็นคนต้องคดี ซึ่งตนอธิบายว่าสังคมน่าจะเข้าใจ เพราะเราไม่ได้ถูกดำเนินคดีอาญา แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน...นายนิติ เมธพนฎ์ เปิดเผยด้วยว่า หลังถูกดำเนินคดีทุกคนไม่ได้ถูกข่มขู่คุกคาม ยังคงใช้ชีวิตไปตามปกติ ส่วนการอยู่ในสังคมทั้งการเรียนและทั่วไปไม่มีการเปลี่ยนแปลง มีแต่คนคอยห่วงใยและไต่ถามด้วยความเป็นห่วง แต่ยอมรับว่าก่อนจะถูกหมายเรียกดำเนินคดี พวกเรา 1 ใน 5 คน เคยถูกคนข่มขู่ด่าว่าและถูกตำรวจเข้าไปค้นบ้านรวมทั้งตรวจสอบเครื่องคอมพิวเตอร์โดยไม่มีหมายค้นใดๆ แต่ไม่กล้าออกมาเปิดเผยตัว เพราะเกรงกลัว กระทั่งถูกดำเนินคดีด้วยกันทั้งหมด”[4] เราท่านไม่อาจให้ความเห็นต่างดำรงอยู่ในสังคมได้ ต้องประหัตประหารทำลายล้าง ให้สิ้นซาก โดยถือว่า “คน” เหล่านั้น เป็นกาฝาก กากเดน สังคม อย่างไม่ให้อภัยอย่างนั้นหรือ

3
นำมาสู่คำถามว่าเกิดอะไรขึ้น ในสังคมไทย เราขาดความอนาทรร้อนใจ “นิ่งเฉย” “เฉยเมย”“ละเลย” ต่อความเป็นตายของเพื่อนมนุษย์ เราไม่ “ละอาย” ที่ออกมาร้องกู่ก้องให้ “ฆ่าๆๆๆๆๆๆๆๆและฆ่า” กระนั้นหรือ ผมพยายามหาคำอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้นในสังคม และคำตอบที่ผมครุ่นคิด กับพบว่าเราไม่อาจหาคำอธิบายอะไรที่แน่น้อยชนได้ ที่พอตอบได้ ผมว่ามี 3-4 ประการ คือ

ประการที่หนึ่ง เราท่านมีความเข้าใจต่อ “ประชาธิปไตย”ที่ “สัมพัทธ์”(เป็นธรรมดาที่ประชาธิปไตยมีความหลากหลายในแง่ที่บริบทของการเกิดใช้ต่างบริบทกัน แต่สิ่งที่ไม่อาจลดทอนได้ หลักการสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ที่เป็นหัวใจของการปกครองระบอบประชาธิปไตย) คือ เราท่านตีความประชาธิปไตย ในมุมมองของตนเองอย่างอคติ โดยไม่ให้ที่ว่าง ต่อความเห็นต่าง ถ้าใครมีความเห็นต่างจากเราท่านต้องออกมาประหัตประหาร ฆ่าผลาญชีวิต และจิตวิญญาณ รวมถึงความคิด “เขา” ที่ต่างจาก “เรา” เหมือนไม่ใช่ “คน” และเขาผู้นั้นไม่อาจร่วมโลกเราได้อีกแล้ว

เราท่าน “ไม่สงสัย” เลยว่าทำไม? “เขา” จึงแตกต่างจาก “เรา” หรือว่าประชาธิปไตยที่เราท่านยึดถือนี้ “ไม่ต้องสงสัย” “ไม่ต้องตั้งคำถาม” “ไม่ต้องงง” หรือในท้ายที่สุด “ไม่ต้องคิด” อะไรที่แตกต่าง ไม่ว่าเกิดอะไร ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่า การไม่ตั้งคำถาม ต่ออำนาจ หรืออะไรก็ตาม เป็น “ประชาธิปไตย” ใช่หรือไม่ หรือแค่เห็นต่างไม่อาจร่วมโลก ฉะนั้น “ประชาธิปไตย” ที่เราท่านยึดถือก็คือ “การสยบยอม” “การยอมจำนน” “ผู้นำที่เป็นโอรสสวรรค์” มาช่วยนำพา แค่นั้นนะหรือ

ประการที่สอง จากข้อความใน (2) เราจะเห็นว่าประเทศไทยเราช่างมี “ผีใหญ่” ที่น่ากลัวเสียเหลือเกิน ทั้ง “ผีแดง” “ผีเหลือง” เราท่านต่างมีผีต้นสังกัดที่ไม่อาจให้ใครแตะต้องได้ “ผี” เหล่านี้ช่างมีฤทธานุภาพชักนำ ชี้นำให้ผู้คนไปตายแทนตนได้อย่างที่เราท่านไม่ต้องคิด ซึ่งก็น่าแปลกว่า “ผี” เหล่านั้นมีจริงหรือไม่

แต่ที่น่าแปลกแต่จริง คือ “ผีเหลือง” และเหล่าบริวาร กลับมีความศักดิ์สิทธิ์ อิทธิฤทธิ์ อิทธิเดช อย่างไพศาลเสียจนไม่อาจให้ผู้ใดอาจเอื้อมแตะต้องได้ ภายใต้ผ้าคลุมของ “คนดี” ที่ดีจริงหรือไม่ดีจริง หรือจริงแบบเทาดำก็ไม่อาจทราบได้ เพราะ “คนดี” ไม่ต้องตรวจสอบ ไม่อาจตั้งคำถามได้

ในทางตรงกันข้าม “ผีแดง” ช่าง “เลว” “ทราม” “ต่ำช้า” แม้อาจจะชื่นชม หรือกล่าวถึง “คนผู้นั้น” ก็อาจกลายเป็นสมัครพรรคพวกของ “ผีแดง” หรือ “เลวทรามต่ำช้า” ไม่ต่างจาก “ผีแดง” แม้ผู้นั้นจะติชมด้วยความบริสุทธิ์ใจก็ตามที ดังคำกล่าวที่ว่า

“... คนเหนือคือพี่น้องที่ไอ้ทักษิณพูด คนอีสานคือขี้ข้าไอ้ทักษิณพูด สงสารคนอีสานจังโง่ เห็นแก่เงินเป็นคำพูดของคนส่วนมาก แม่ไรอันทำไมไม่ให้ศิณีนาถและพวกเผาบ้านยายหอม บ้านไรอัน ไปเผาของคนอื่นทำไม เลว โง่ ชาติชั่ว ชาติหมาทั้งตระกูล...ขอให้คนชั่วตระกูลนางศิณีนาถจงตายโหงตายห่าขี้ข้าทักษิณ ทำไมไม่ไปขอมันมันหนีไปเสวยสุขเมืองนอก มันไม่ผิดมันจะหนีทำไม หลักฐานความชั่วมันเยอะแยะพวกโง่อีสาน ไม่ลืมหูลืมตาบ้าง สนับสนุนคนชั่วมันบาปทำให้บ้านเมืองเดือดร้อน เมื่อสมัยก่อนคนเหนือใจง่าย ปัจจุบันคนอีสานทั้งใจง่าย โง่ ขายตัวให้เขาหลอกเห็นแก่เงิน ขายชาติ ช่วยเหลือคนผิดสมองไม่มี พวกมึงจะส่งลูกหลานเรียนสูงก็แค่สมองหมา มักติดมาจากบรรพบุรุษไม่สั่งสอนแยกแยะถูกผิดเลวทั้งตระกูล ขี้ข้าทักษิณขอให้พวกมึงจงลงนรกกันไวๆ พวกหนักแผ่นดิน เลียตูดดูดไอ้ทักษิณ เหยียบแผ่นดินอยู่ได้ไง เสียดายเกิดมาครบ 32 ยกเว้นสมองไม่มี...”[5] (การเน้นคำเป็นความตั้งใจของผู้เขียนเอง)

ประการที่สาม เรา(คนชั้นกลางเมือง)มองว่าคนในชนบท ไม่ว่าเหนือ อีสาน กลาง หรือใต้ ช่าง “โง่” “จน” “เจ็บ” อย่างไม่น่าให้อภัย ถูกหลอกใช้ได้เหมือน(ควาย) ช่างน่าสงสาร โดยไม่เข้าใจว่าการที่เขาต้องร่อนเร่ พเนจร จากเหย้าจากเรือนมาแสวงหา “ความยุติธรรม ความเสมอภาค และเสรีภาพ” ที่มันยิ่งใหญ่กว่าชีวิตของเขาเหล่านั้น มาเพรียกหา “ความเท่าเทียม”ในสังคม ที่เขาเหล่านั้นถูกเบียดขับ กีดกัน มาอย่างยาวนาน ภายใต้ความลำเอียงของรัฐไทยที่สนใจ “เมือง” มากกว่าชนบท

และก็ไม่ใช่คนเมืองนั้นเองหรือที่ดูดซับส่วนเกินจากชนบทอย่างน่าละอาย เสวยสุขบนความทุกข์ยากของคนชนบท และวันใดที่คนชนบทออกมาเรียกร้องหาความ “เท่าเทียม” คุณ(คนในเมือง) ก็ตราหน้าเขาเหล่านั้นว่าถูกหลอกบ้าง โง่บ้าง รับข้อมูลข่าวสารด้านเดียวบ้าง ท้ายสุดเขาเหล่านั้นก็ไม่สมควรเป็น “คน” ถูกฆ่าได้ ทำร้ายได้ ขังคุกได้ โดยผู้ที่กระทำต่อเขาเป็น “อภิ(สิทธิ์)วีรบุรุษ” ท่ามกลางซากศพของ “คน” ที่ต่างจากตน

คนในเมือง(คนชั้นกลาง)เหล่านี้ไม่อาจให้อภัยได้หรอกครับ เพราะเขาเหล่านี้เป็นผู้ “ออกใบอนุญาตให้ฆ่า” แก่ผู้กุมอำนาจรัฐ มีคนตายมากมาย คนกลุ่มนี้กับยินดีปรีดา สุขใจท่ามกลางศพของพี่น้องร่วมชาติที่เขาไม่ถือว่าเป็นคน

เขาเหล่านั้นดูเบาคนชนบท ที่ “สำนึกทางการเมือง” ของเขาเหล่านั้นได้แปรเปลี่ยน ผันแปร คนชนบทไม่ได้ “โง่” “จน” “เจ็บ” จนนักการเมืองจากไหนมาหลอกใช้ได้อีกแล้ว เขาเหล่านั้นที่ออกมาต่อสู้ก็เพื่อลูกหลาน คนในรุ่นถัดไป หรือรุ่นเขาเองก็ตาม จะได้สลัดแอกความเป็น “ชายขอบ” ของการพัฒนาที่ลำเอียงของรัฐไทยเสียที

จะว่าตามจริงคนชนบทมีปะสาทางการเมืองมากกว่า “คนเมือง/คนชั้นกลาง” ด้วยซ้ำ เขาเหล่านั้นรู้จักเลือก และใช้นักการเมืองที่เป็นตัวแทนของเขาได้อย่างชาญฉลาดภายใต้เงื่อนไขของการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง หรือต่อรองผ่านหัวคะแนนเองก็ตามที ต่างจากคนเมืองที่เลือกผู้แทน “ตามกระแส” ท้ายที่สุดก็ไม่สามารถใช้นักการเมืองได้ แล้วนี่คนในเมือง หรือคนชนบทโง่ก็น่าฉงนอยู่

ประการที่สี่ ความอัดอั้น กดดัน ต่อโครงสร้างอันไม่เป็นธรรมต่อสังคมไทย ดูได้จากการถือครองทรัพย์สินของคนในประเทศนี้ที่ทรัพย์สิน(เงินฝาก เงินลงทุน ที่ดิน)เป็นของคนไม่กี่หยิบมือเดียว แม้แต่ที่เรียกว่า “หัวขบวนไพร่”เองก็ตามมีเงินเป็นแสนล้าน การกระจายตัวของทรัพยากรกระจุกตัวอยู่ในเมือง อยู่ในมือของ “อภิสิทธิ์ชน” คนเล็กคนน้อย “จนทั้งเงิน จนทั้งอำนาจ” ดังมีคำกล่าวที่เป็นเสมือนตลกร้ายว่า “คุกมีไว้ขังคนจน” ก็จริงอย่างน่าสมเพดในบ้านนี้เมืองนี้

เราต้องยอมรับความจริงในบ้านนี้เมืองนี้ว่าเรามีปัญหาการแย่งชิง เบียดขับทรัพยากร(ดิน น้ำ ป่า ภาษี(เงินงบประมาณ) ความเป็นธรรม เสรีภาพ สิทธิฯลฯอะไรอีกมากมาย) อย่างไพศาล คนที่มีโอกาส(โดยมากก็คือชนชั้นนำ หรือแม้แต่ลูกตาสีตาสาที่กลืนกลายเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนำก็ทรยศต่อชนชั้นตัวเองกลายเป็นผู้ขูดรีดอย่างน่าอัศจรรย์) ได้ฉกฉวย ช่องใช้ทรัพยากรอย่างมโหฬาร คนชั้นล่างถูกกดทับเบียดขับอย่างน่าอเนจอนาถ การ “ลุก”ขึ้นมาเรียกร้องความเป็นธรรมถูกมอง(ใส่ป้าย)ว่าป่าเถื่อน ไร้อารยะ ซึ่งก็น่าคิดว่าการปิดสนามบิน การยึดทำเนียบรัฐบาลของม็อบพันธมิตรมันอารยะตรงไหน ผมพยายามใช้เท้าก่ายหน้าผากคิดก็คิดไม่ออก

กรณีม็อบพันธมิตร กับม็อบ นปช. เป็นประจักษ์พยาน หรือใบเสร็จอย่างดีของความไม่เป็นธรรม ความไม่เท่าเทียมของสังคมไทยได้อย่างชัดแจ้ง ไม่ต้องอธิบาย ชี้แจงอะไรให้มากความ

รวมถึงคำเยาะเย้ย ถากถาง(ดู 2) ที่คนชั้นล่างได้รับจาก ผู้ที่ให้คำนิยามตนเองว่าเป็นผู้มีการศึกษา เป็นผู้มีความรู้ เป็นชนชั้นกลาง/นำ/อภิสิทธิ์ชน ถ้อยคำหยามหมิ่นนี้แหละที่เป็นพลัง/แรงขับ/แรงกดทับ/ของชนชั้นล่างในการต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมในสังคม
การแย่งชิง การสร้างความหมาย ต่อปฏิบัติการทางการเมืองของคนกลุ่มต่างๆ สุดท้ายนำมาสู่การ “ออกใบอนุญาตให้ฆ่า” ฝ่ายตรงกันข้ามได้ไม่ว่าฝั่งพันธมิตร หรือ นปช.(ดูคำสัมภาษณ์ของจตุพร พรหมพันธุ์ ช่วงพันธมิตรชุมนุมในเหตุการณ์ 7 เมษายน 2550) ซึ่งก็น่าตั้งคำถามว่าเราท่านยอมให้เกิดเหตุการณ์นี้ได้อย่างไร

ประการสุดท้าย ชนบทไทยได้เปลี่ยนไปแล้วรวมถึงสังคมไทยเองด้วย เราไม่อาจหวนกลับไปสู่สังคมแห่งชนชั้นที่ไม่เท่าเทียมได้อีกแล้ว นโยบายของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร หรือแม้แต่นโยบายรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเอง ก็ได้เปลี่ยนชนบทไทย ให้เป็นชนบทที่ต่างจากเดิม เช่น นโยบายสามสิบบาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน หรือ SME (ทักษิณ ชินวัตร) เรียนฟรี 15 ปี เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เงินเดือน อ.ส.ม. (ท) น้ำไฟรถฟรี (อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ได้ทำให้เขาเหล่านั้นได้รับทรัพยากรจากรัฐอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทำให้เขาได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง เขาเหล่านั้นได้สร้างสำนึกทางการเมืองใหม่(ที่ไม่ใช่พรรคการเมืองใหม่)ที่วางอยู่บนฐานของ “ความเท่าเทียม”ไม่อาจทนต่อความลำเอียงของรัฐไทย ไม่อาจยินยอมต่อ “คนชนบทตั้งรัฐบาล คนเมืองล้มรัฐบาล” ได้อีกต่อไป

แต่ในทางตรงกันข้ามคนในเมือง กับเคยชิน คุ้นเคยกับการเมือง และสำนึกทางการเมืองแบบเก่า ที่คนชนบทไม่มีสิทธิ์มีเสียง โดยใส่ป้ายให้ว่า “โง่” และไอ้โง่นี้แหละกลับมาเย้วๆๆใน “พื้นที่” กู ทำให้รถติด ห้างไม่เปิด ทำให้วิถีชีวิตกู(คน กทม.)เป็นอัมพาต มาเรียกร้องให้กูกับมึง(เรากับเขา) อยู่ในระนาบเดียวกัน ทั้งที่มึง หูนาตาเถื่อนเสียไม่มี จึงเป็นที่มาของการ “ออกใบอนุญาตให้ฆ่า” อย่างไม่อนาทรร้อนใจของคนในเมือง อย่างไม่ใช่ “คน” อย่างด้านชา เสียไม่มี
4
“คน” คนหนึ่งได้ทอดร่าง สิ้นใจตายท่ามกลางห่ากระสุนที่สาดใส่เขาเหล่านั้น “อย่างกับเป็นแมลงสาบสังคม” ที่ไร้ค่าไร้ราคา ท่ามกลางการอนุญาตให้ฆ่าได้ของคนบางกลุ่ม ชีวิตเหล่านั้นได้ทำให้สังคมไทยที่เปลี่ยนไปแล้ว ไม่อาจหวนคืนได้อีกแล้ว คนชนบท หรือคนชั้นกลางในชนบท (คำของ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์) ได้สร้างสำนึกทางการเมืองของตน เห็นค่าของ “เสรีภาพ เสมอภาค เท่าเทียม ยุติธรรมฯลฯ” อย่างที่คนชั้นกลาง/นำ/อภิสิทธิ์ชน ไม่คุ้นชินได้อีกแล้ว แม้จะ “ฆ่า” เขาเหล่านั้นสักกี่ศพก็ตาม จะมองเขาเป็นแมลงสาบสังคม หรืออะไรก็ดี เข็มนาฬิกามันได้หมุนไปข้างหน้าแล้วพี่น้อง

ท้ายสุดคนชั้นกลางเมืองต้องหันมาทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อย่างจริงจัง และเข้าใจ “เขา” เหล่านั้นอย่างเข้าใจ หรือจำใจก็ดี ไม่เพียงแต่โครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เองก็ตามทีต้องมีการปรับตัว เปลี่ยนแปลงให้สอดรับ แม้จะใช้เวลานานเท่าไหร่ก็ตาม เราไม่อาจหยุดนิ่ง เพื่อรอความล่มสลายของสังคมไทยได้อีกต่อไป คนชั้นกลาง /นำ/อภิสิทธิ์ชนต้องยอมรับ ปรับตัว เปลี่ยนแปลงกับกระแสธารการปฏิวัติของ “คนชั้นล่าง” อย่างไม่อาจปฏิเสธได้ ต้องยอมลดทอนอภิสิทธิ์(ที่ไม่ได้หมายถึงเวชชาชีวะ) ที่เคยมีเคยได้ กระจายทรัพยากร หรือ “ความเป็นธรรม” ที่แก่คนกลุ่มอื่นอย่างเท่าเทียม ต้องปฏิวัติโครงสังคมที่ไม่เป็นธรรมของคนทุกกลุ่มในสังคมอย่างจริงจัง

แต่ในทางกลับกันคนชั้นล่างเองก็ต้องให้เวลา และทำความความเข้าใจ ทั้งสังคมวัฒนธรรม ทัศนคติ วิถีชีวิตของคนชั้นกลาง /นำ/อภิสิทธิ์ชน ด้วย รวมถึงดึงคนเหล่านั้นมาสร้างการปฏิวัติที่ “ไม่สังเวยชีวิตเลือดเนื้อ”(หรือภาษาฝ่ายซ้ายว่า สามัคคีชนชั้น : ผมพูดอย่างกระแดะทั้งที่ไม่รู้ทฤษฎี หรือแนวคิดฝ่ายซ้ายเลยแม้แต่กระพี้เดียว) ของใครก็ตาม เราไม่อาจยอมให้ใครทั้งล่าง กลาง สูง ตายได้อีกแล้ว ดังคำกล่าวของ อ.เกษียร เตชะพีระที่ว่า “ไม่มีหลักการนามธรรมอันใดในโลกมีค่าพอให้เราไปเอาชีวิตผู้อื่นมาสังเวย ไม่ว่าสังคมนิยม-คอมมิวนิสต์ หรือประชาธิปไตย”[6] ผมขอปิดท้ายด้วยโครงที่ชื่อว่า “โลก” โลกที่หลากหลายแตกต่าง และอยู่ร่วมพึงพาอาศัยกันได้ โลกที่ไม่ใช่ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ที่ถือสิทธิ์เป็นเจ้าของแต่เพียงฝ่ายเดียว โลกที่หลากหลายจึงเป็นโลกที่น่าอยู่ครับ
โลก[7]

โลกนี้มิอยู่ด้วย มณีเดียว
ทรายและสิ่งอื่นมี ส่วนสร้าง
ปวงธาตุต่ำกลางดี ดุลยภาพ
ภาคจักรพาลมิร้าง เพราะน้ำแรงไหนฯ

ภพนี้มิใช่หล้า หงส์ทอง เดียวเอย
กาก็เจ้าของครอง ชีพด้วย
เมาสมมุติจองหอง หินชาติ
น้ำมิตรแล้งโลกม้วย หมดสิ้นสุขศานต์ฯ

หมายเหตุจากผู้เขียน

บทความนี้ได้รับแรงบันดารใจจาก อ.ไชยันต์ รัชชกูล ที่ให้ความกรุณา แลกเปลี่ยน ซักถาม โต้แย้งอย่างเท่าเทียม กับศิษย์คนนี้เสมอมา อ.สรัสวดี อ๋องสกุล ครูผู้เมตตา และกรุณาอย่างไม่ขาดแคลน ขอบคุณ อ.มนตรา พงษ์นิล อ.ชัยณรงค์ ศรีมันตระ อ.ชาญ พนารัตน์ แห่ง ม.นเรศวรพะเยา ที่เอื้อเฟื้อในหลายโอกาส อ.ทรงศักดิ์ ปัญญา คุณสิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์ คุณชัยนุวัฒน์ ปูนคำปีน และคุณขันติชัย รวมสุข ที่คอยแลกเปลี่ยนให้ความคิดความเห็นอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงคุณรุ่งเกียรติ กิติวรรณ ที่ช่วยเก็บข้อมูลเบื่องต้นในเขต อ.ป่าซาง จ.ลำพูนบางส่วนให้ แต่อย่างไรก็ตามความรับผิดชอบต่อความคิดความเห็นข้างต้นย่อมเป็นของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว ถ้างานชิ้นเล็กๆ นี้จะมีค่าบ้างผู้เขียนขออุทิศให้แก่พี่น้องที่ได้ล้มตายท่ามกลางห่ากระสุน ของความไร้เสรีภาพ ความไม่เท่าเทียม ความ อยุติธรรม ของสังคมไทย ขอให้ดวงวิญญาณของเขาเหล่านั้นรับรู้ว่า “เราท่านทั้งหลาย” จะเป็นผู้รับไม้อุดมการณ์ของท่านต่อไปอย่างอดทน เพื่อให้ถึงสังคมที่เป็นธรรมให้จงได้ ด้วยจิตคารวะ

อ้างอิง

[1] อ้างใน, เกษียร เตชะพีระ. ทางแพร่งและพงหนามทางผ่านสู่ประชาธิปไตยไทย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2551, หน้า 335.
[2] ข่าวสดรายวัน ประจำวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 20 ฉบับที่ 7175
[3] ไทยรัฐออนไลน์ วันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ.2553
[4] ข่าวสดรายวัน ประจำวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 20 ฉบับที่ 7175
[5] ข่าวสดรายวัน ประจำวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 20 ฉบับที่ 7175
[6] เกษียร เตชะพีระ. ทางแพร่งและพงหนามทางผ่านสู่ประชาธิปไตยไทย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2551, หน้า 207.
[7] อังคาร กัลยาณพงศ์, “โลก” ใน กวีนิพนธ์ของอังคาร กัลยาณพงศ์,ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 7, กรุงเทพฯ: กินรินทร์,2548, หน้า 31 อ้างใน ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์, ความหลากหลายทางวัฒนธรรมจากหลอมรวมเป็นหนึ่ง สู่ผสมผสานพันทาง, ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม 2550, หน้า 162.

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

หักเหลี่ยมโหด

นิ่งก็ตาย!..ดิ้นก็ตาย!

ก้อ.. “โครงการรถเมล์เอ็นจีวี 4 พันคัน”..ที่ถือเป็นการเดิมพันระหว่าง ประชาธิปัตย์ กับ ภูมิใจไทย ที่กำลังวัดดวงว่าใครจะเหนียวหนึบและทรงพลังกว่ากัน

ถึงตรงนี้มันเป็นเรื่องของ “ศักดิ์ศรี” ไปแล้ว

ถ้า โสภณ ซารัมย์ เจ้าของฉายา “ผีเห็นคร้าม” จะเปลี่ยนสเปค หรือลดตัวเลขลงบ้าง เพื่อ“ขอทางผ่าน”..ตามภาษานักเลงก็ต้องบอกว่า “เสียหมา”!!

ในขณะที่ ประชาธิปัตย์ โดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยอมให้ผ่านด้วย สเปคเดิมๆทั้งหมด นายกฯ หล่อฮังก้วย ก็ต้อง “เสียคน”!!

ทั้งที่ในความเป็นจริง อภิมหาโปรเจ็กต์ ต่างๆ รวมทั้งการ ขับเคลื่อนองคาพยพในการโยกย้ายข้าราชการตามที่ต้องการนั้น “ภูมิใจไทย” สะเด็ดน้ำไปแล้ว

ถ้าจะทิ้งโครงการ “รถเช่าโคตรแพง” นี้ซะมันก็จบ!!

แต่ว่ามันจะจบแบบ “ศพไม่สวย”..จบแบบ “แพ้ทางมวย” เรื่องนี้จะถูกนำไปพูดต่อไป-พูดต่อไปอย่างไม่มีวันจบสิ้น!!

เพราะยังตอบไม่ได้ในอนาคตว่า ..จะคงความเป็นมิตรกันอยู่ หรือ เป็นศัตรูคู่ใหม่

ที่แน่ๆ บนเวทีปราศรัยในการ “หาเสียง” ของ ประชาธิปัตย์ คงเอ็นจอยปาก
ด้วยการนำเรื่องนี้มาประจานเพื่อตีกินในความซื่อสัตย์ของพรรคแบบเดิมๆ

ส่วน ภูมิใจไทย นั้นก็ “เจ๊กอั้ก” โดนหอกปักเป็น “ชนักติดหลัง” ไปจนตาย!!

ภาษิตจอมยุทธกล่าวว่า หมา เซวี่ย ปู้ เหนิง เจอ เยี่ยน จี เฟย.

แปลเป็นไทยว่า “นกกระจอกมิอาจบินไปกับนกนางแอ่น”

ป่านนี้ “โสภณ” คงคิดถึง “งาช้างคู่นั้น”และเริ่มรู้สึกเสียดายขึ้นมาตะหงิดๆ

แม้ “ผีเห็นคร้าม” จะเจ็บปวดแค่ไหน? ..ก็ยังไม่เท่าความเจ็บใจของ เนวิน ชิดชอบ ที่เป็น “คนชง” และอยู่เบื้องหลังในรายการรถเมล์เช่านี้

เพราะพลันที่ “อภิสิทธิ์” เข้ามาสวมกอดหมับ!..ความคิดเรื่อง“รถเมล์นรก” ก็จี๊ดวิ่งผ่านวูบเข้ามาในสมองทันที

แต่ขณะนี้สมองพุ่งจี๊ดเหมือนกันแต่จี๊ดเพราะอักเสบ..หากพลิกแก้เกมนี้ไม่ได้โอกาสที่ “ภูมิใจไทย” จะเติบใหญ่ต่อไปคงยากส์..ไม่ใช่เพราะต้องต่อสู้กับ “ทักษิณ”

แต่กำลังจะถูก “สตาร์ฟ” จาก “ประชาธิปัตย์” นี่เอง!!

คอลัมน์.ก็โลกมันเบี้ยวหนุ่ม ชิงชัย
ที่มา.บางกอกทูเดย์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ขวางศอฉ.ปิดสื่อจี้แจ้งดำเนินคดีกฎหมายปรกติ

จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้

“องอาจ-สมาคมนักข่าวฯ” ขวาง ศอฉ. ใช้อำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไล่ปิดสื่อ ระบุทำไม่ได้เพราะขัดข้อกำหนดรัฐธรรมนูญ หากเห็นว่าผิดควรดำเนินคดีตามกฎหมายปรกติ เตือนหากยังให้ข่าวในลักษณะข่มขู่จะมีมาตรการตอบโต้แน่นอน “สุเทพ” ยืนยันไม่คิดปิดยักษ์ใหญ่ ทางไทยรัฐแค่ให้ชี้แจงการเสนอข่าวบางเรื่องที่อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิด แต่หนังสือพิมพ์เรดพาวเวอร์ของคนเสื้อแดงต้องถูกปิดแน่นอน อ้างเสนอข่าวบิดเบือนทำให้เกิดความแตกแยก

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) จะสั่งปิดหนังสือพิมพ์เพิ่มเติม และเตือนหนังสือพิมพ์หัวสียักษ์ใหญ่ให้ระมัดระวังการเสนอข่าวที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า สื่อที่เป็นมืออาชีพ เสนอข่าวตรงไปตรงมา เราไม่เข้าไปยุ่งแน่นอน จะจัดการเฉพาะพวกที่แอบแฝงมาเป็นสื่อ ทำตัวให้เหมือนสื่อแต่ให้ข้อมูลข่าวสารบิดเบือน ประสงค์ให้เกิดความแตกแยกวุ่นวายก็จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย และจะกำชับให้ตำรวจจับกุมมาดำเนินคดีให้ได้

“มันไม่ใช่เรื่องคุกคามสื่อ ในที่ประชุม ศอฉ. พิจารณาเห็นว่ามีสื่อฉบับหนึ่งที่พยายามทำตัวเป็นสื่อ แต่สิ่งที่นำเสนอไม่ใช่ข่าวสารทั่วไป เป็นการยุยงให้คนเกลียดกันจึงต้องดำเนินการตามกฎหมาย หากจำไม่ผิดคิดว่าจะเป็นเรดพาวเวอร์” นายสุเทพกล่าวและว่า ส่วนสื่อหัวสีคือไทยรัฐแต่ไม่ได้สั่งให้ปิด เพียงแต่ให้ ศอฉ. ไปชี้แจงกรณีเสนอข่าวการตายของคนเสื้อแดงในเชียงใหม่ที่ระบุว่ามีคนมีสีตั้งหน่วยไล่ล่า ซึ่งคนมีสีในประเทศไทยก็มีแค่ 2 สีคือทหารกับตำรวจ การเสนอข่าวแบบนี้อาจทำให้สังคมเข้าใจผิด จึงให้ ศอฉ. ไปชี้แจงไม่ได้สั่งปิด

นายสุเทพยืนยันว่า ไม่ได้ทำอะไรตามอำเภอใจหรือลุแก่อำนาจ เพราะสื่อที่ตามสัมภาษณ์อยู่ทุกวันก็มีความเห็นแตกต่างกันเยอะ บางคำถามฟังแล้วเจ็บ บางครั้งก็ทำให้ได้สติ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ แต่สื่อที่เจตนาร้ายต่อบ้านเมืองนั้นยอมรับไม่ได้

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีนโยบายปิดสื่อ หากทำไม่ถูกต้องก็ต้องตักเตือนและดำเนินการไปตามกฎหมายปรกติ ถ้าจะถึงขั้นต้องสั่งปิดไม่เห็นด้วย

นายเสด็จ บุนนาค อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ศอฉ. ควรระบุออกมาให้ชัดเจนว่าสื่ออะไรมีพฤติกรรมอย่างไรที่ว่าเข้าข่ายกระทำความผิด หากเห็นว่ามีความผิดตามที่กล่าวอ้างจริงก็มีสิทธิดำเนินคดีได้ แต่ที่บอกว่าจะสั่งปิดนั้นไม่น่าจะทำได้ เพราะขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 วรรค 3 ที่ระบุว่าการสั่งปิดหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเพื่อลิดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้จะกระทำมิได้ ทำได้เฉพาะการเซ็นเซอร์เนื้อหาในส่วนที่ขัดต่อกฎหมายเท่านั้น

“โฆษก ศอฉ. พูดคลุมเครือทำให้เกิดความรู้สึกว่า ศอฉ. มุ่งใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อ ทั้งที่กฎหมายที่เกี่ยวกับการจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อได้ถูกยกเลิกไปหมดแล้ว” นายเสด็จกล่าวและว่า หาก ศอฉ. ยังแถลงในลักษณะการข่มขู่ว่าจะใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินสั่งปิดหนังสือพิมพ์ในลักษณะที่ทำให้เกิดความสับสน คณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยจะหารือมาตรการที่จะดำเนินการร่วมกับองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนอื่นๆต่อไป

**********************************************************************

ส.ส.ปากน้ำจ่อย้ายพรรคยกทีมเข้าภท.-พชน.

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ

"ประชา-ประเสริฐ"เผยนัดคุย"เนวิน"แกนนำภท. "สมศักดิ์"แกนนำ ชทพ. ก่อนตัดสินใจย้ายพรรค ยก"กรุง-จิรพันธ์"'ถูกไล่เป็นหมูหมา เผยโทรลา"ทักษิณ"แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานหลังจาก นายนที สุทินเผือก หรือกรุง ศรีวิไล และนายจิรพันธ์ ลิ้มสกุลศิริรัตน์ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ย้ายไปอยู่พรรคภูมิใจไทย โดยมีเสียงด่าจากคนในพรรคเพื่อไทย ล่าสุด นายประชา ประสพดี นายประเสริฐ ชัยกิจเด่นนภาลัย ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ได้หารือกันตกลงว่าช่วง 2-3 วันนี้จะไปพรรคภูมิใจไทย เพื่อหารือกับนายเนวิน ชิดชอบ และนายอนุทิน ชาญวีรกูล แกนนำพรรคภูมิใจไทย ถึงสถานการณ์การเมืองต่าง ๆ และจะเดินทางไปพูดคุยกับนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา ด้วย

ทั้งนี้ ช่วง 2-3 วันที่ผ่านมากลุ่ม ส.ส.สมุทรปราการ ได้ปรับทุกข์กับนายกรุง และนายจิรพันธ์ ถึงท่าทีแสดงออกของพรรคเพื่อไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานวันเดียวกันนี้ ที่รัฐสภา นายประชาได้ยืนพูดคุยกับนายจิรพันธ์อย่างเคร่งเครียดบริเวณบ่อปลาคาร์พ เมื่อเห็นผู้สื่อข่าวเดินผ่านมาและเข้าไปทักทาย นายประชาเอ่ยปากขึ้นมาด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า “ไปหมดแล้ว อยู่ได้อย่างไร ด่ากันอย่างนี้ผมไม่เอาด้วยหรอก”

เมื่อผู้สื่อข่าวถาม ตกลงจะไปกันทั้งจังหวัดเลยหรือ นายประชากล่าวว่า “ไม่รู้คุยกันอยู่ แต่ปกติเราก็แท็กทีมกันอยู่แล้ว”

จากนั้นนายประชาให้สัมภาษณ์ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรู้สึกเห็นใจนายกรุงกับนายจิรพันธ์ จริงๆ เขาจะย้ายไปก็เป็นเรื่องของเขา ไปด่าเขารุนแรงเหมือนหมูเหมือนหมา เป็นตะกวดบ้าง เป็นตัวเหี้ยบ้าง ตนไม่เห็นด้วย วันหน้าเราเป็นส.ส.ก็ต้องเจอกันอยู่ ทำไมไม่ทบทวนตัวเองดูบ้าง เรามีข้อด้อยอะไร พรรคอื่นมีข้อดีอะไร ใช้เหตุและผลมาคุยกัน มาด่ากันอย่างนี้เป็นตัวอย่างไม่ดีต่อคนรุ่นใหม่ ไอ้พวกที่ออกมาพูดกันมากนัก อยากถามว่าในจิตใจแกว่งกันบ้างไหม และมาเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส.สมุทรปราการ กันทันทีทันควัน ถามว่าได้ปรึกษา ส.ส.สมุทรปราการกันบ้างหรือยัง ถ้าเห็นเป็นแค่หัวหลักหัวตอ ไม่บอกให้รับรู้ ตนก็ไม่อยู่ การคัดเลือกผู้สมัครต้องผ่านบอร์ดของพรรคพิจารณา โดยไม่มีคนในตระกูลชินวัตรเข้ามาเกี่ยวข้อง วันนี้มีคนต่อแถวลงสมัคร 8-9 คน ส.ส.ในพื้นที่ต้องมีส่วนคิดด้วย ถ้าคัดเลือกกันแบบนี้ จะไปบอกชาวบ้านอย่างไร ถ้ายังเกิดเหตุการณ์นำไปสู่ความแตกแยกแบบนี้อีก ไม่เอาด้วยแน่

"คนเป็นส.ส.ก็ต้องการช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ ผมเป็นคนหนึ่งที่รับฟังเสียงชาวบ้านมากที่สุด ถามว่าพรรคจะช่วยเหลือเราได้มากเท่าไหร่ ตัวเราก็ต้องช่วยตัวเองให้มากที่สุด พรรคไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แต่ผมเป็นคนไปลามาไหว้ ผมคาใจอย่างเดียว คุณกรุงกับคุณจิรพันธ์ไปไม่บอกผม จะไปไม่บอกกันเลย" นายประชา กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ช่วงหลังๆ ได้ติดต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี บ้างหรือไม่ นายประชาตอบว่า เร็ว ๆ นี้ก็เพิ่งคุยกัน ผมได้โทรไปหาท่านและก็ลาท่านแล้ว และได้นัดนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา คุยกันในอีกไม่กี่วันนี้แล้วด้วย
**********************************************************************

ชำแหละสัมปทาน "สุวรรณภูมิสแควร์" เครือข่ายลึกลับ "แป้งร่ำ รีเทล" ทอท.ทำเพื่อใคร ?

ประชาชาติธุรกิจ

บทสรุปง่ายของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) "ทอท." จู่ ๆ ก็ยกสัมปทานให้บริษัท แป้งร่ำ รีเทล จำกัด 15-20 ปี บริหารพื้นที่ลานจอดรถระยะยาว (long term parking) ในสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิโซน A, B, C ขนาด 62,380.50 ตารางเมตร สร้างความตื่นตะลึงแก่วงการธุรกิจและผู้รับผิดชอบหลายแผนกที่เกี่ยวข้อง

ตรวจสอบมติของคณะกรรมการพิจารณารายได้ ทอท.ที่มี "นายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์" กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ลงนามเมื่อ 19 สิงหาคม 2553 เห็นชอบให้ ทอท.ทำสัญญากับบริษัท แป้งร่ำ รีเทล จำกัด เป็นเวลา 15-20 ปี

สัมปทานโครงการนี้เป็นซีรีส์มหัศจรรย์ ซึ่งเริ่มต้นจากให้เช่าพื้นที่แก่ผู้ประกอบการเพียงรายเดียวที่เสนอขอทำ "ธุรกิจศูนย์รถยนต์ครบวงจร" บริเวณลานจอดรถสาธารณะ ฝั่งทิศตะวันออก 6,000 ตารางเมตร จากนั้นก็ขยายผลทำมาสเตอร์แพลน 4 โปรเจ็กต์ ย้ายพื้นที่ไปทางฝั่งตรงข้ามศูนย์ขนส่งสุวรรณภูมิ และ แปลงร่างเฉพาะเจาะจงทำโครงการคอมมิวนิตี้มอลล์บริเวณลานจอดรถระยะยาว (long term parking) ก่อนจะลงเอยที่อภิมหาโปรเจ็กต์ "สุวรรณภูมิสแควร์" เต็มพื้นที่ 62,380.50 ตารางเมตร

จุดเริ่มจากเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2553 ผู้ได้สัมปทานได้ทำหนังสือแจ้งประธานคณะกรรมการรายได้และ ทอท.ว่า เดิมเคยใช้บริษัท คอน-พลัส พร็อพเพอร์ตี้ แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด ขอเช่าพื้นที่เพื่อประกอบกิจการด้านรถยนต์ในสุวรรณภูมิพื้นที่ขนาด 6,000 ตารางเมตร แต่ตอนนี้เปลี่ยนชื่อใหม่แล้วเป็น บริษัท แป้งร่ำ รีเทล จำกัด ซึ่งมีความประสงค์ขอเช่าพื้นที่ลานจอดรถระยะยาวใน สุวรรณภูมิเพื่อพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ขนาด 62,380.50 ตารางเมตร มูลค่าการลงทุน 350-450 ล้านบาท

จากนั้นเพียง 10 วัน ทอท.รีบอนุมัติให้บริษัท แป้งร่ำ รีเทล จำกัด ระบุวันส่งมอบพื้นที่แบบเร่งด่วนภายในวันที่ 1 กันยายน 2553 เป็นต้นไป และ ทำสัญญาอย่างรวดเร็ว 15 ปี ระหว่าง 1 ธันวาคม 2553-30 พฤศจิกายน 2568

ฝ่ายพาณิชย์นำเสนอคณะกรรมการรายได้โดยอ้างถึงเรื่องเดิมตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2552 ว่า บริษัท คอน-พลัส พร็อพเพอร์ตี้ แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด แจ้งความประสงค์ขอเช่าพื้นที่ว่างบริเวณด้านหลังลานจอดรถรับจ้างสาธารณะ (แท็กซี่) ติดกับรั้วอาคาร บริษัท ครัวการบินกรุงเทพ จำกัด 6,360 ตารางเมตร ระยะเวลาประกอบการ 12 ปี เพื่อดำเนินการศูนย์ธุรกิจรถยนต์ครบวงจร ได้แก่ คาร์แคร์ ศูนย์ซ่อมรถยนต์ โชว์รูมรถยนต์ ร้านเครื่องเสียงและประดับยนต์ ร้านเปลี่ยนยางแม็ก โชว์รูมอุปกรณ์คาร์แคร์พร้อมสำนักงาน

จากนั้นคณะกรรมการพิจารณารายได้ ทอท.ประชุมครั้งที่ 3/2552 เมื่อ 20 มีนาคม 2552 มีมติเห็นชอบทันทีให้บริษัท คอน-พลัสฯเช่าพื้นที่ดำเนินธุรกิจได้ ต่อมามีการประชุมฯครั้งที่ 5/2552 เมื่อ 28 เมษายน 2552 มีมติให้ฝ่ายพาณิชย์ทำหนังสือถึงบริษัท ครัวการบินกรุงเทพ จำกัด ถ้าหากต้องการจะขยายพื้นที่ครัวการบินในอนาคตจะต้องไปเจรจากับผู้ดูแลพื้นที่รายใหม่คือ คอน-พลัสฯที่ได้สิทธิการเช่าทำศูนย์ธุรกิจรถยนต์ครบวงจรในพื้นที่ว่างเปล่าฝั่งทิศตะวันออก ทางผ่านเข้า-ออก ถนนลาดกระบัง ด้านหลังติดลานจอดรถแท็กซี่

มติคณะกรรมการพิจารณารายได้ ทอท. วันที่ 28 เมษายน 2552 ระบุเงื่อนไขให้คอน-พลัสฯได้สิทธิทำศูนย์ธุรกิจรถยนต์ ครบวงจร 10 ปี ต้องจ่าย ทอท.ทั้งหมด 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ค่าตอบแทน 15% ของรายได้ต่อเดือน ก่อนหักค่าใช้จ่ายใด ๆ ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ปีแรกจ่ายค่าตอบแทนขั้นต่ำเดือนละ 111,780 บาท ปีต่อไปเพิ่มปีละ 10% ส่วนที่ 2 ค่าเช่าที่ดิน 60 บาท/ตร.ม./เดือน

ผ่านไป 3 เดือน คณะกรรมการพิจารณารายได้ ทอท.ประชุมเมื่อ 14 กรกฎาคม 2552 แก้ไขมติแบบพลิกสุดขั้ว เปลี่ยนมติจากเดิม "อนุญาตให้บริษัท คอน-พลัส พร็อพเพอร์ตี้ แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด ดำเนินธุรกิจศูนย์รถยนต์ครบวงจร" ปรับมติใหม่เป็น "เปิดโดยวิธีประมูลทั่วไป" และให้ใช้พื้นที่แห่งใหม่บริเวณด้านทิศเหนือฝั่งตรงข้ามศูนย์ขนส่งสุวรรณภูมิ ขนาด 6,000 ตารางเมตร เพื่อทำโครงการศูนย์รถยนต์ครบวงจร โดยให้ฝ่ายพาณิชย์จัดทำมาสเตอร์แพลนพื้นที่ดังกล่าวเพื่อพัฒนาทำกิจกรรมเชิงพาณิชย์

วันที่ 31 สิงหาคม 2552 ฝ่ายพาณิชย์ ทอท.เสนอที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณารายได้เกี่ยวกับมาสเตอร์แพลนพื้นที่ด้านทิศเหนือฝั่งตรงข้ามศูนย์ขนส่งสุวรรณภูมิทั้งหมด มติที่ประชุมเห็นชอบให้กำหนดกิจกรรมต่าง ๆ ตามแผนธุรกิจมี 4 โครงการ คือ โครงการศูนย์ให้บริการรถยนต์ครบวงจร โครงการศูนย์กีฬา โครงการศูนย์ให้บริการด้านสุขภาพ โครงการศูนย์จำหน่ายสินค้าจากโรงงาน

แล้วจู่ ๆ ก็ยกการประชุมคณะกรรมการพิจารณารายได้ย้อนกลับไปเมื่อ 19 มกราคม 2552 อ้างวาระ 6.15 เรื่อง ขอเสนอโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณด้านหลังลานจอดรถสาธารณะ (แท็กซี่) เพื่อทำกิจกรรมเชิงพาณิชย์ในสุวรรณภูมิ ครั้งนั้นมติที่ประชุมให้ดำเนินกิจกรรม "Community Mall" บริเวณลานจอดรถระยะยาว โดยคัดเลือกด้วยวิธีพิเศษ (shortlist) จากผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์เข้ามาทำกิจกรรมเชิงพาณิชย์ในสุวรรณภูมิ

ระบุชัดว่า "ห้างหุ้นส่วนจำกัด บางนาอุปกรณ์ และสหกรณ์บริการวิสาหกิจชุมชนหนองปรือสมุทรปราการ" ได้รับสิทธิทำโครงการคอมมิวนิตี้ มอลล์ ในลานจอดรถระยะยาวสุวรรณภูมิ สัญญา 5 ปี จ่ายค่าตอบแทน 15% ของรายได้ต่อเดือน ก่อนหักค่าใช้จ่ายใด ๆ และปีต่อไปจ่ายเพิ่มปีละ 10% จ่ายค่าเช่าที่ดิน 60 บาท/ตารางเมตร/เดือน เปลี่ยน "ผู้เล่นใหม่" อีกครั้ง

จากนั้นที่ประชุมฯได้ยกมติวันที่ 14 พฤษภาคม 2552 วาระ 3.3 เรื่อง การพิจารณาคัดเลือกผู้ประกอบการโครงการคอมมิวนิตี้ มอลล์ คณะกรรมการพิจารณารายได้ ทอท.มีมติให้ดำเนินการเปลี่ยนชื่อโครงการ "การให้สิทธิประโยชน์โครงการคอมมิวนิตี้ มอลล์" เป็น "การให้สิทธิประกอบการเชิงพาณิชย์ บริเวณลานจอดรถระยะยาวในสุวรรณภูมิ" ขยายสัญญาจาก 5 เป็น 10 ปี ตัดคำว่าคอมมิวนิตี้ มอลล์ ออกไป โดยอ้างเหตุผลเป็นการเฉพาะเจาะจงรูปแบบบริการมากเกินไป

กระทั่งล่าสุดเมื่อ 19 สิงหาคม 2553 (ดูชาร์ตประกอบ) ทอท.ก็อนุมัติสัมปทานโครงการนี้ให้แก่ "บริษัท แป้งร่ำ รีเทล จำกัด" มี "นายพีรยศ วงศ์วิทวัส" เป็นเจ้าของคนเดียวปรากฏอยู่ในอีก 2 บริษัท ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัดบางนาอุปกรณ์และบริษัท บางนาอุปกรณ์การค้า จำกัด ส่วนบริษัท คอน-พลัส พร็อพเพอร์ตี้ แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด นั้น ตรวจสอบข้อมูลกับกรมทะเบียนธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ไม่มีชื่อและข้อมูลปรากฏอยู่แต่อย่างใด

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันพุธที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2553

91 ปีในพายุประชาธิปไตย

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
คอลัมน์ มนุษย์การเมือง
โดย อิสรินทร์ หนูเมือง

นับจากวันคล้ายวันเกิด พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี

นับจากวันที่ 26 สิงหาคม 2553 วันที่ "พล.อ.เปรม" ก้าวย่างเข้าสู่วัย 91 อีก 9 ปี มีอายุครบ 100 ปี

นับเป็น 100 ปี ที่ประเทศก้าวผ่านทั้งจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ถึงระบอบประชาธิปไตย

นับอีก 23 วันจะครบรอบ 4 ปี รัฐประหาร 19 กันยา 2549

นับเป็นวันที่คณะผู้ก่อการปฏิรูป การปกครอง ตั้งใจจะก้าวข้ามจากระบอบทักษิณ

นับเป็นรอบ 4 ปี ที่มีการต่อต้าน-ตีโต้ระบอบอำมาตยาธิปไตย อย่างถึงราก

ทั้งหัวหอกฝ่ายระบอบทักษิณและ หัวหอกฝ่ายอำมาตยาธิปไตย ต่างเปิดหน้าไพ่เล่นทุกรูปแบบ

ทั้งใต้ดิน-บนดิน ทั้งสงครามตัวแทน และสงครามตัวจริง ทั้งแบบเรื่องจริงผ่านจอ วิดีโอลิงก์ และเรื่องจริงผ่านปากคำคู่ขัดแย้ง

ฝ่ายทักษิณ-ครอบครองมวลชน ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในตารางคะแนนระบบปาร์ตี้ลิสต์ไม่น้อยกว่า 12 ล้านเสียง

ฝ่ายอำมาตยาธิปไตย-ครอบครอง-ครอบคลุม-เกาะกุมจิตใจผู้คน ผ่านระบบข้าราชการ ไม่น้อยกว่า 2 ล้านคน และโครงการพัฒนานับ 1,000 โครงการทั่วประเทศ

เฉพาะ "พล.อ.เปรม" ที่เคยครอบครองเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 16 และก้าวขึ้นสู่สำนักประธานองคมนตรี มีเครือข่ายในครอบครองเป็นเบอร์โทรศัพท์-สำหรับติดต่อข้าราชการระดับสูง-สายตรงไม่น้อยกว่า 500 เลขหมาย

เฉพาะชื่อ "พล.อ.เปรม" ครอบครองสถาบัน-มูลนิธิไว้ไม่น้อยกว่า 20 แห่ง

รัฐบุรุษ-พล.อ.เปรม ในวัยย่าง 91 ปี มี "มูลนิธิพลเอกเปรม" เป็นเครือข่ายมา ตั้งแต่ปี 2538

แจกทุนการศึกษาให้เด็กไทยมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 3,221 คน ผ่าน มูลนิธิพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ทุกหัวเมือง-ทุกภาค-ทั่วประเทศ ทั้ง จ.สงขลา-นครศรีธรรมราช-นครราชสีมา-ขอนแก่น-เชียงใหม่ ฯลฯ

สัญลักษณ์-รูปเคารพ ของเครือข่าย-มูลนิธิรัฐบุรุษ นอกจากภาพถ่าย "พล.อ.เปรม" แล้ว ยังมีวัตถุประสงค์กำกับให้ "ส่งเสริมความซื่อสัตย์ สุจริต เสียสละ และจงรักภักดีของคนในชาติ"

วาระก้าวขึ้นปีที่ 91 ของ "รัฐบุรุษ" มีอดีตนักเรียนทุน-คนแรก เข้าคารวะ- รับโอวาท ที่ยังคงวาทกรรม "ตอบแทนคุณแผ่นดิน"

"วันนี้ถือเป็นวันแห่งความรักและความศรัทธาที่มีต่อกัน คนที่มูลนิธิให้ความช่วยเหลือ เป็นเพราะได้ยึดมั่นตอบแทนบุญคุณแผ่นดินที่เราอาศัยเกิดมา คนแรกที่รับทุนวันนี้ก็มา คือ นายไพโรจน์ ราวานุช ขณะนี้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์"

"ผมเชื่อในพระสยามเทวาธิราช เชื่อว่าพระสยามเทวาธิราชมีจริง และเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาติบ้านเมือง เชื่อว่าพระสยามเทวาธิราชจะปกป้องคุ้มครองคนที่ประกอบคุณงามความดี และสาปแช่งคนที่คิดไม่ดีต่อชาติบ้านเมือง" พล.อ.เปรมย้ำคำเดิม

ย้ำคำที่เคยอธิบายความหมาย "การตอบแทนคุณแผ่นดิน" กับสื่อไทย- ต่างชาติ ว่า

"การเป็นทหารทำให้ได้รับใช้ชาติได้โดยตรง อย่างที่ชาวอเมริกันและชาวยุโรปกล่าวว่า ทหารแก่ไม่เคยตาย นายพลดักลาส แม็คอาเธอร์ บอกว่า เมื่อคุณอยู่ในกองทัพ คุณก็จะต้องอยู่ไปตลอดชีวิตจนกว่าจะตาย ร่างกาย หัวใจ และจิตวิญญาณต้องอุทิศให้ชาติให้กองทัพ"

"ในประเทศนี้ เราถือว่าเราเป็นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เราถือน้ำพิพัฒน์สัตยาว่าเราเป็นของในหลวง คุณรู้จักการแข่งม้าไหม ? ในการแข่งม้า มีคอก และเจ้าของคอกเป็นเจ้าของม้า จ๊อกกี้เป็นคนขี่ม้าตอนแข่ง แต่จ๊อกกี้ไม่ได้เป็นเจ้าของม้า"

และในฐานะ "ประธานองคมนตรี" ที่มีหน้าที่ตาม พระราชดำรัส พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เคยพระราชทานเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2547 ความว่า

"องคมนตรีไม่ได้เป็นที่ปรึกษาของคนอื่น เป็นที่ปรึกษาของฝ่ายพระมหากษัตริย์เท่านั้นเอง ถ้าแนะนำคนอื่น เป็นการแนะนำเป็นส่วนตัว ไม่ใช่ฐานะองคมนตรี"

ดังนั้น ทั้งฐานะแห่งประธานองคมนตรี-รัฐบุรุษ-อดีตนายกรัฐมนตรี-อดีตนายทหารแห่งกองทัพ และเครือข่ายแห่งมูลนิธิ- คอนเนกชั่น "ลูกป๋า" ในกองทัพ จึงถูก สปอตไลต์จากทุกเครือข่ายจับจ้องทุกจังหวะก้าวแห่งชีวิต

ในสถานภาพที่ทั้งทรงอิทธิพล ทรงอำนาจ และมีบารมี จึงถูกฝ่ายเสื้อแดง-ทักษิณ "จัดให้" ชื่อของ "พล.อ.เปรม" เป็นฝ่ายคู่ขัดแย้ง ในฐานะหัวขบวนอำมาตย์

เช่นเดียวกับขบวนการ "เสื้อแดง" ที่จัดตั้งขึ้น โดยมี "หัวขบวน-รูปเคารพ" เป็นอดีตนายกรัฐมนตรี "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" ที่ทั้งมีเครือข่าย-มีอำนาจเงินจากอำนาจใหม่ จึงถูกเครือข่าย "อำนาจเก่า" จับจ้องทุกจังหวะก้าว

ทั้งหัวขบวนอำมาตยาธิปไตย และหัวขบวนทักษิณ ยังคงดำเนินไปอย่างเข้มข้น

หัวขบวน "เสื้อแดงทั้งแผ่นดิน" ที่ถูกก่อตั้ง-ก่อตัว-ก่อการ มาตั้งแต่ปี 2544 พร้อมกับเครือข่ายพรรคไทยรักไทย-พลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย ยังไม่หยุดต่อสู้ทางการเมือง

ขณะที่ "พล.อ.เปรม" อายุย่าง 91 ก็ประกาศไม่หยุด...ตอบแทนคุณแผ่นดิน

ชีวิต "พล.อ.เปรม" ก้าวผ่านมาแล้ว ทั้งระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์-ระบอบอำมาตยาธิปไตย-ประชาธิปไตย ในวัย 78 ปี และระบอบทักษิณ 12 ปี

ก่อนล่วงเข้าสู่วัย 91 "พล.อ.เปรม" เคยถูกต่อต้าน-ถูกถวายฎีกา-ประท้วง ให้พ้นจากตำแหน่ง "องคมนตรี"

แต่ "ตำแหน่ง" ที่มีมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในนามของคำว่า "ปรีวีเคาน์ซิล" หรือ "ที่ปฤกษาในพระองค์" นั้น "ต้องรับตำแหน่งที่อยู่จนสิ้นแผ่นดิน"

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

‘สิงห์ห้อย’พรึ่บใหญ่คับมหาดไถ!

ที่มา.ไทยโพตส์

แต่งตั้งระดับรองปลัด-อธิบดีของ มท.โผไม่พลิก เด็ก "สิงห์ห้อย" ผงาดยึดอธิบดีกรมปกครอง "ชวรัตน์" อ้างดูที่ความเหมาะสม ยกพระเวสสันดรยังมีคนเกลียด จับตา! แต่งตั้งผู้ว่าฯ ล็อตใหญ่ข้ามขั้น-ข้ามห้วย "มาร์ค" ยันย้ำใน ครม.ให้ยึดระบบคุณธรรม โถ! ปัญหามหาดไทยให้ "เทือก" กลั่นกรองแล้ว "เหลิม" ได้ทีจวกกระทรวง "สร้างทุกข์ บำบัดสุข"

เมื่อวันอังคาร คณะรัฐมนตรีอนุมัติแต่งตั้งข้าราชการประเภทบริหารระดับสูงกระทรวงมหาดไทย ตามที่นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้เสนอชื่อแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 9 ราย โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2553

โดยข้าราชการ 9 ราย ประกอบด้วย 1.นายสุรพล พงษ์ทัดศิริกุล พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง 2.นายวัลลภ พริ้งพงษ์ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง 3.นายชนม์ชื่น บุญญานุสาสน์ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี ให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง

4.นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ พ้นจากตำแหน่งรองปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 5.นายขวัญชัย วงศ์นิติกร พ้นจากตำแหน่งรองปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 6.นายวิเชียร ชวลิต พ้นจากตำแหน่งอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการปกครอง

7.นายสุรชัย ขันอาสา พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน 8.นายสุเมธ แสงนิ่มนวล พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง 9.นายขจรศักดิ์ สิงโตกุล พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่งเป็นรองอธิบดีกรมการปกครอง

นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ว่า การแต่งตั้งดังกล่าวกระทรวงหมาดไทยได้ทำการคัดเลือกตามความเหมาะสม ส่วนเรื่องอาวุโสนั้นก็เป็นองค์ประกอบที่ได้นำมาพิจารณาด้วย แต่ความเหมาะสมมาเป็นอันดับแรก

ผู้สื่อข่าวถามว่า การแต่งตั้งอธิบดีกรมการปกครองมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันมาก นายชวรัตน์บอกว่า เรื่องเสียงวิจารณ์เป็นธรรมดา พระเวสสันดรยังมีคนเกลียด เป็นธรรมดา

ซักว่าแล้วที่ว่ามีการแต่งตั้งคนใกล้ชิดของนายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย เข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญในกระทรวง ท่านจะชี้แจงอย่างไร รมว.มหาดไทยกล่าวว่า สามารถชี้แจงได้ ต้นไม้ใหญ่ต้องรับลม อย่างไรก็ตามการวิจารณ์ก็มักจะเป็นประวัติศาสตร์อยู่แล้ว
นายมานิต วัฒนเสน ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่นายพงศ์โพยม วาศภูติ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ออกมาระบุเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในกระทรวงมหาดไทยไม่เหมาะสมจนกลายเป็นกระทรวงน้ำเน่าว่า ตอนที่นายพงศ์โพยมเป็นผู้ว่าฯ ภูเก็ต ตนเป็นรองผู้ว่าฯ อยู่ ใครทำอะไรไว้ก็รู้กันหมด เราเป็นสุภาพบุรุษนักเลง ไม่อยากไปวิจารณ์ให้ร้ายผู้เคยเป็นผู้บังคับบัญชา

นายมานิตกล่าวต่อว่า ส่วนข้อกล่าวหาว่าผู้ได้รับการโยกย้ายขึ้นตำแหน่งระดับสูงเป็นผู้ใกล้ชิดฝ่ายการเมืองนั้น ก็ให้บอกมาว่าตำแหน่งไหนที่ใกล้ชิด และลองไปศึกษาดูว่าตอนนายพงศ์โพยมขึ้นเป็นปลัดนั้น นายพงศ์โพยมอาวุโสระดับที่เท่าไหร่ ลองไปถามผู้อาวุโสกว่าอย่างนายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) หรือนายชัยฤกษ์ ดิษฐ์อำนาจ อดีตรองปลัดกระทรวงดู

เมื่อถามว่า แสดงว่านายมงคล สุระสัจจะ มีความเหมาะสมที่จะเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทยแล้วใช่หรือไม่ นายมานิตกล่าวว่า ที่สื่อลงไปบางครั้งไม่ได้มีฐานข้อมูลพอ คนที่จะเป็นปลัดกระทรวงได้ต้องเคยดำรงตำแหน่งอธิบดีหรือรองปลัดกระทรวง เท่ากับมีแค่ 11 คน อาวุโสข้ามกันไม่กี่คน ที่นายพงศ์โพยมไปพูดว่ามีคนอาวุโสกว่านายมงคลถึง 35 คนนั่นไปเอาบัญชีผู้ว่าราชการมาดูหมด ซึ่งยืนยันว่าเราพิจารณาดีแล้วว่านายมงคลจะเป็นผู้พาทีมเราไปได้ ตนทำงาน ตนต้องดีพอสมควร ถ้าเลวคงไม่ขึ้นถึงขนาดนี้

ถามว่าท่านและนายมงคลถูกมองว่ามีความใกล้ชิดกับนายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย นายมานิตกล่าว่า ตนก็เคยทำงานกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี, นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี หรือตำแหน่งอื่นๆ พอมาถึงงานม้วนสุดท้ายมาเห็นว่าใกล้ชิดกับนายเนวิน ก็เหมาว่าตนเป็นคนใกล้ชิดนายเนวิน อย่าไปด่วนสรุป

ส่วนการแต่งตั้งโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดที่จะเข้าสู่ ครม.เร็วๆ นี้ จะทำให้สังคมกังขาอีกหรือไม่ นายมานิตกล่าวว่า ปีนี้ระวังมากที่สุด ให้ทำวิสัยทัศน์มาเสนอ ตั้งช้าแต่รอบคอบ พยายามดูแลให้ดี ทั้งนี้ ก.พ.มีเกณฑ์เดิม คนจะเป็นผู้ว่าฯ ได้ต้องเป็นรอง 3 ปีขึ้นไป แต่เกณฑ์ใหม่คือ 1 ปีขึ้นไปก็มีสิทธิ์เป็นได้ เราก็ยึดมาตรฐาน ก.พ.เป็นหลัก ทำตามระเบียบปฏิบัติ

นายพงศ์โพยม วาศภูติ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงการที่ ครม.มีมติเห็นชอบแต่งตั้ง 4 อธิบดี และผู้ตรวจราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทยว่า ไม่อยากจะพูดอะไรมากมาย เพราะได้พูดทุกสิ่งทุกอย่างไปหมดแล้ว และผลที่ออกมาก็เป็นอย่างที่คาดเดาไว้ สะท้อนให้เห็นว่าการแต่งตั้งครั้งนี้ไม่ได้ฟังเสียงสะท้อนอะไร เพราะถือว่าตนเองมีอำนาจ ซึ่งเรื่องนี้ควรปล่อยให้สังคมพิจารณา

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีตนได้กำชับเรื่องนี้ไปแล้ว เพราะมีหลายองค์กรที่เกี่ยวข้องกับราชการได้แสดงความห่วงใยมา โดยกำชับให้รัฐมนตรีทุกท่านยึดหลักของคุณธรรมในการเสนอโยกย้ายแต่งตั้งข้าราชการ

ส่วนกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันหนักถึงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในกระทรวงมหาดไทยว่าเป็นคนของนายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทยทั้งหมดนั้น นายกฯ กล่าวว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในกระทรวงมหาดไทยมีจำนวนหนึ่ง โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงเป็นผู้กลั่นกรอง และเมื่อได้มีการสอบถามก็บอกว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร

เมื่อถามว่า มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าการแต่งตั้งโยกย้ายในกระทรวงมหาดไทย ระบบคุณธรรมหายไปแล้วในกระทรวงนี้ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ในที่ประชุม ครม.ได้ย้ำไปแล้ว การแต่งตั้งโยกย้ายในส่วนที่เหลือที่จะเข้า ครม.ก็ต้องปฏิบัติตามหลักที่พูดกันในที่ประชุม ครม.
ถามว่า ข้าราชการก็อาจจะไม่กล้าไปร้องศาลปกครอง แต่ก็มีหลายกรณีที่ไปร้องแล้วมีปัญหา ควรจะใช้บทเรียนที่เกิดขึ้นแล้วมาปฏิบัติ นายกฯ กล่าวว่า คำวินิจฉัยไม่ว่าจะเป็นของศาลปกครอง คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม ก.พ.ค. หรือหน่วยงานใดๆ ทำนองนี้ ตนได้กำชับว่าทางฝ่ายการเมืองฝ่ายนโยบายต้องนำไปปฏิบัติ เมื่อมีการวินิจฉัยออกมาแล้วมันเป็นการชี้แนวในเรื่องของบรรทัดฐานในเรื่องต่างๆ ก็ต้องปฏิบัติให้เร็วที่สุด

ซักว่า ในฐานะที่นายกฯ เป็นผู้นำรัฐบาลด้วย คิดว่าเป็นช่วงที่เลวร้ายที่สุดในกระทรวงมหาดไทยหรือไม่ ที่มีการแต่งตั้งอย่างที่มีการวิพากษ์วิจารณ์หรือเปล่า นายกฯ กล่าวว่า คิดว่ามันก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ตนก็รับคำวิพากษ์วิจารณ์นั้นมาและแสดงความห่วงใย และคิดว่าทางกระทรวงมหาไทยต้องรับไปพิจารณา

ถามว่า แล้วท่านในฐานะนายกฯ เป็นผู้นำรัฐบาลทำอะไรได้มากกว่าความห่วงใย นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เรื่องของการบริหารงานบุคคลเป็นเรื่องที่ต้องมีความพอดีในเชิงการบริหาร คือถ้าเป็นเรื่องนโยบาย โครงการ มาตรการต่างๆ เราจะร่วมกันพิจารณาอย่างเต็มที่ แต่พอเป็นเรื่องการบริหารจัดการภายในมันก็มีเรื่องที่ต้องให้เป็นดุลพินิจของเจ้ากระทรวง

"แต่ว่าถ้าหากมีสิ่งที่ไม่ถูกต้องมันก็มีระบบที่จำกัดอยู่ หลายเรื่องเป็นเรื่องของดุลพินิจ ได้ย้ำไปแล้วว่าการใช้ดุลพินิจต้องระมัดระวังอย่างไร เพราะว่ามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มา ก็ต้องฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้นด้วย กับนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็ไม่ได้มีการชี้แจงอะไรในเรื่องนี้ต่อที่ประชุม ครม." นายกฯ กล่าว

ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.สัดส่วนพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการกระทรวงมหาดไทยว่า ตั้งแต่มีนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล เป็น รมว.มหาดไทย การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในกระทรวงก็ค่อนข้างพิสดาร ไม่ยึดระบบอาวุโสและความสามารถ แต่เป็นการแต่งตั้งตามใจชอบและคนใกล้ชิด หากคนใดเคยรับราชการใน จ.บุรีรัมย์ มักจะเติบโตแบบตอนกิ่งที่ไม่โตจากเมล็ด

"สมัยที่ผมเป็น รมว.มหาดไทย ยึดหลักว่าคนที่จะเป็นผู้ว่าฯ ได้นั้นต้องเป็นรองผู้ว่าฯ มาแล้ว 2 ปี มีผลงานความสามารถ ไม่เคยคิดว่าจะเป็นคนของใคร หรือเป็นศัตรูใคร แต่วันนี้หลักการนี้หายไปหมด บางคนเป็นรองผู้ว่าฯ ปีเดียวก็นำมาพิจารณาให้เป็นผู้ว่าฯ ได้แล้ว กระทรวงมหาดไทยยุคนี้เปลี่ยนจากบำบัดทุกข์ บำรุงสุข มาเป็นสร้างทุกข์ บำบัดสุข หากข้าราชาการเติบโตด้วยการวิ่งเต้นและแสวงหา บ้านเมืองจะลำบาก" ร.ต.อ.เฉลิมกล่าว.

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

การเมืองอัปลักษณ์

โดย หนังสือพิมพ์โลกวันนี้รายวัน

ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) และและสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) อย่างไม่เป็นทางการ ปรากฏว่าพรรคประชาธิปัตย์ยังคงได้รับคะแนนจากคนกรุงเทพฯมากที่สุด ขณะที่พรรคการเมืองใหม่ไม่ได้เลยแม้แต่คนเดียว

โดยการเลือกตั้ง ส.ก. 50 เขต จำนวนทั้งสิ้น 61 คน พรรคประชาธิปัตย์ได้ 45 คน พรรคเพื่อไทย 15 คน และผู้สมัครอิสระ 1 คน ส่วนการเลือกตั้ง ส.ข. จำนวนทั้งสิ้น 256 คน พรรคประชาธิปัตย์ได้ 210 คน พรรคเพื่อไทย 39 คน และผู้สมัครอิสระ 7 คน

ที่น่าสนใจคือจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แยกเป็น ส.ก. มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง 1,703,206 คน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4,139,075 คน คิดเป็นร้อยละ 41.15 จากเดิมร้อยละ 41.94 ส่วนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ส.ข. 36 เขต มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งสิ้น 1,151,483 คน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 2,737,054 คน คิดเป็นร้อยละ 42.07 จากเดิมร้อยละ 42.70

เห็นได้ว่ามีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งเพียง 42% เท่านั้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าคนกรุงเทพฯที่ถือเป็นกลุ่มผู้ที่มีความรู้และมีฐานะทางสังคมสูงยังไม่ให้ความสนใจกับการเลือกตั้งเหมือนที่ผ่านมา แต่เป็นตัวชี้วัดสถานการณ์ทางการเมือง แม้วันนี้คนรากหญ้าที่เรียกตัวเองว่า “ไพร่” จะแสดงให้เห็นถึงพลังที่มีต่อการเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะคำว่าประชาธิปไตยและความยุติธรรม

ดังนั้น การเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นสนามเล็กหรือสนามใหญ่ในกรุงเทพฯ จึงมีความหมายต่อการเมืองในภาพรวมไม่น้อย โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่อึมครึมจนไม่มีใครมั่นใจว่าจะมีการเลือกตั้งหรือไม่ หรือถ้ามีการเลือกตั้งจะมีความยุติธรรมหรือไม่

เพราะหลายฝ่ายเห็นว่าการเมืองไทยวันนี้ไม่ต่างอะไรกับรัฐประหารเงียบหรือเผด็จการซ่อนรูปที่รัฐบาลอยู่ภายใต้กองทัพ ซึ่งคนกรุงเทพฯส่วนใหญ่ถูกมองว่าสนใจเรื่องปากท้องของตัวเองมากกว่าเรื่องของประชาธิปไตยหรือความยุติธรรมของสังคมไทย ซึ่งมีความเหลื่อมล้ำกันอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำทางการเมืองหรือเศรษฐกิจ

จึงไม่แปลกที่สื่อและนักวิชาการจะวิเคราะห์กันว่า ผลการเลือกตั้ง ส.ก. และ ส.ข. ถือเป็นความพ่ายแพ้ของภาคประชาชนทั้งสีเหลืองและสีแดง

แต่ถ้ามองในแง่ของประชาธิปไตยที่แท้จริง ประชาธิปไตยเป็นของประชาชน มาจากประชาชน และเพื่อประชาชน ไม่ว่าการเคลื่อนไหวของสีใดจะผูกโยงกับบุคคลใดหรือกลุ่มใดก็ตาม แต่ทุกสีต้องการเห็นประชาธิปไตยที่เป็นของประชาชน และเพื่อประชาชน

ไม่ใช่ประชาธิปไตยภายใต้การเมืองที่อัปลักษณ์อย่างทุกวันนี้

**********************************************************************

รัฐบาลก้าวไม่ทันโลก นโยบายบิดเบี้ยว...ช่องว่างที่ต้องเติมเต็ม

ประชาชาติธุรกิจ

1 ปีของกลุ่มจับตานโยบายรัฐบาล (Policy watch) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเริ่มติดตามการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2552 จนถึงมิถุนายน 2553 ได้นำเสนอประเด็นทางนโยบาย 11 ข้อ กับอีกหนึ่งบทสรุปที่ได้จากการ จับตานโยบายรัฐบาล

"จากการจับตานโยบายรัฐบาลมาเป็นระยะเวลา 1 ปี พบว่ารัฐบาลยังก้าวช้ากว่าปัญหาหนึ่งก้าวเสมอ การทำงานเป็นเชิงตั้งรับมากกว่ามองไปข้างหน้าและป้องกันปัญหาที่จะ เกิดขึ้น" ดร.ปัทมาวดี ซูซูกิ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะหัวหน้ากลุ่มจับตานโยบายรัฐบาลกล่าวในการแถลงครบรอบ 1 ปี ของกลุ่มจับตานโยบายรัฐบาลเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ดร.ปัทมาวดีอธิบายเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจสังคมไทย เศรษฐกิจโลก รวมถึงกติกาในประเทศและกติการะหว่างประเทศก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วจนภาคการเมืองและรัฐไทยก้าวตามไม่ทัน

ตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 มีลักษณะก้าวหน้าและสะท้อนภาพของสังคมในอุดมคติเกี่ยวกับสิทธิชุมชน สวัสดิการสังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งยังคาดหวังต่อบทบาทของรัฐที่พึงปรารถนาในการบริหารจัดการประเทศ แต่เมื่อรัฐไทยไม่สามารถปรับตัวก้าวตามได้ทัน การเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ เช่น มาตรา 67 วรรค 2 จึงไม่มีกฎหมายลูกออกมารองรับ และมีจุดอ่อนในการกำกับดูแลจนเกิดปัญหากรณีมาบตาพุด

ช่องว่างนโยบายจึงเกิดขึ้นจากการที่รัฐไม่สามารถปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ในขณะที่ปัญหาเก่าก็ยังสะสมเรื้อรังพร้อมที่จะปะทุขึ้นมาได้ ดังเช่นกรณีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นที่สนใจหลังวิกฤตการเมือง

ดร.ปัทมาวดีย้ำว่า ช่องว่างนโยบายเกิดจากปัญหาด้าน "ทิศทาง" คือเป็นนโยบายที่ไม่ถูกต้องอันเกิดจากสมมติฐานผิด ข้อมูลไม่เป็นจริง การแสวงหาผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในนโยบาย การมองภาพย่อยไม่เห็นภาพรวม

นโยบายที่มีปัญหาด้าน "ขนาด" ของช่องว่างจะก้าวไม่ทันสถานการณ์ มีสาเหตุเกิดจากขาดการบริหารจัดการที่ดี มีข้อจำกัดด้านงบประมาณ ขาดหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบชัดเจน หน่วยงานขาดความรู้และขาดประสิทธิภาพ ขาดการประสานงานระหว่างหน่วยงาน และกฎกติกาที่ไม่ทันการ หรือกติกาทำให้เกิดความล่าช้าในการปฏิบัติ รวมถึงขาดความต่อเนื่องของนโยบาย

ข้อสรุปข้างต้นของกลุ่มจับตานโยบายรัฐบาล ได้จากการจัดสัมมนา "วิเคราะห์ช่องว่างของนโยบายเศรษฐกิจไทย" หลังจากติดตามการดำเนินนโยบายรัฐบาลมาครบ 1 ปี ซึ่งจัดขึ้นช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2553

โดยมีนักวิจัยนำเสนอผลการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการ ภาคราชการ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อสรุปปัญหาในการดำเนินนโยบายรัฐบาล 5 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจมหภาค ด้านการคลัง ด้านการศึกษาและสวัสดิการแรงงาน ด้านอุตสาหกรรม และด้านเกษตร ข้อสรุปโดยรวมของประเด็นปัญหาคือการดำเนินนโยบายมี "ช่องว่าง" ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ขณะเดียวกันในเวทีสัมมนามีข้อเสนอแนะที่น่าสนใจเพื่อปิดช่องว่างนโยบายดังนี้

ด้านมหภาค ควรปรับลดรายจ่ายประจำและรายจ่ายผูกพันระยะยาว เพื่อเป็นการรักษาวินัยการคลัง เนื่องจากไทยมีความเสี่ยงจะมีปัญหาหนี้สาธารณะหากไม่ระมัดระวังและยังทำให้สามารถจัดสรรงบประมาณร่ายจ่ายด้านอื่น ๆ ได้มากขึ้น ให้มีการจัดเรียงลำดับความสำคัญของโครงการลงทุนอย่างเป็นระบบ และควรให้ความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการของรัฐและรัฐวิสาหกิจ

ด้านการคลัง มีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มภาษี 1-2% ของจีดีพี โดยควรให้มีการจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดก ภาษีสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีรายได้เพิ่มขึ้น การปรับปรุงด้านรายจ่ายรัฐบาลและ อปท. ตามแนวทางการเพิ่มพลังคนจน เช่น จัดสวัสดิการ และขยายระบบประกันสังคมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานที่ไม่เป็นทางการ สนับสนุนให้มีการวิจัยนโยบายสาธารณะอย่างจริงจัง เพื่อขยายพรมแดนความรู้ ช่วยให้เข้าใจว่าใครได้ใครเสีย

ด้านการศึกษา เสนอว่าควรประเมินความคุ้มค่าของการทุ่มเท งบประมาณเพื่อการศึกษาในเชิงปริมาณ และทบทวนคุณภาพการศึกษาอย่างเร่งด่วน โดยเร่งเสริมสร้างศักยภาพของครู และพัฒนาอุปกรณ์สื่อการสอน เช่น วิชาคณิตศาสตร์ รวมทั้งวางแผนการผลิตแรงงานอย่างบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม และภาคธุรกิจ ที่สำคัญต้องศึกษาแนวทางจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพระหว่างการศึกษาในระดับชั้นและรูปแบบต่าง ๆ โดยมีโอกาสให้เอกชนรวมทั้ง อปท.เข้ามาร่วมจัดการการศึกษาอย่างมีคุณภาพ

ด้านสวัสดิการ ควรรณรงค์ให้เกิดวัฒนธรรมการออมและลงทุนในระยะยาว โดยรัฐต้องสร้างเครื่องมือหรือองค์กรเพื่อกำกับสถาบันการเงิน (กองทุน) ให้ดำเนินการอย่างเหมาะสม เตรียมพร้อมเพื่อการสร้างอาชีพและการสะสมทุนมนุษย์ หรือให้แรงงานมีโอกาสในการเปลี่ยนย้ายที่ทำงานได้ตามความเหมาะสมความรู้และสภาพร่างกายในวัยสูงอายุ ต้องหาแนวทางให้เศรษฐกิจนอกภาคทางการเข้ามาอยู่ในภาคทางการเพื่อเพิ่มภาษีและดูแลสวัสดิการได้ดีขึ้น รวมถึงการสร้างระบบหรือวัฒนธรรมการพึ่งพาตนเองมากที่สุดในการสร้างหลักประกันในยามเกษียณ เพราะสังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งในอีก 40 ปีโครงสร้างประชากรไทยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นมากกว่าวัยแรงงาน

ด้านอุตสาหกรรม ต้องส่งเสริมให้เกิดสถาบันอุตสาหกรรมเฉพาะทาง รายสาขาให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงการผลิต การวิจัย และการพัฒนาตลาด มีการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการไทยเรื่องมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี และมองทิศทางเกี่ยวกับ "นโยบายอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน" ในอนาคต และ ส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมที่มีความเชื่อมโยงกับภาคเกษตรและฐานทรัพยากรในท้องถิ่น ส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) กับกิจการขนาดใหญ่อย่างเป็นธรรม

ด้านการเกษตร ควรจัดให้มีคลัสเตอร์ (cluster) หรือกลุ่มสินค้าในระดับนโยบาย เพื่อพิจารณาทั้งการผลิตและการตลาดจากต้นทางถึงปลายทางแบบครบวงจร และมีการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นก่อนกำหนดนโยบาย โดยกระทรวงพาณิชย์ต้องทำงานประสานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้การบริหารจัดการด้านการเกษตรมีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ ที่สำคัญการแทรกแซงตลาดสินค้าเกษตรควรทำเท่าที่จำเป็น สำหรับทางออกในการระบายสต๊อกข้าว ควรนำข้าวในสต๊อกมาทำข้าวบรรจุถุงแจกให้กับคนยากจน นอกจากนี้การจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชาวนา ควรเน้นเรื่องการประกันความเสี่ยงอย่างเดียว และควรครอบคลุมเกษตรกรทั้งหมดเพื่อความเป็นธรรม

ดร.ปัทมาวดีบอกว่า ถ้าให้จัดลำดับความสำคัญของนโยบายต้องทำเร่งด่วนเพื่อปิดช่องว่างนโยบาย มี 4 เรื่องพื้นฐาน ได้แก่ พื้นฐานอันดับแรกที่ต้องทำคือ "กติกา" โดยเฉพาะการจัดทำคู่มือประเมินโครงการและผลกระทบโครงการที่กำหนดแนวทางการประเมินตัวแปรและค่าพารามิเตอร์ที่เหมาะสม (เช่น อัตราคิดลด) เพื่อไม่ให้ผู้ประเมินมีความลำเอียงที่จะเลือกใช้ตัวแปรและพารามิเตอร์ที่จะส่งผลเป็นบวกหรือเป็นลบตามที่โครงการมีความต้องการ เช่น โครงการเขื่อนปากมูล หากมีการประเมินถึงประโยชน์และต้นทุนที่แท้จริงตรงไปตรงมาตามมาตรฐานหลักวิชาการ โครงการนี้อาจไม่เกิดขึ้นก็ได้ เป็นต้น

กลุ่มจับตานโยบายเสนอว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ควรเป็นหน่วยงานที่จัดทำคู่มือประเมินโครงการ ทั้งนี้ในการประเมินโครงการผู้ที่ทำการศึกษาส่วนใหญ่ คือ นักวิชาการ ซึ่งต้องยอมรับว่ามีบางโครงการไม่เหมาะสมแต่ผ่านการประเมินให้ดำเนินการได้ สิ่งที่เกิดนี้ทำให้แวดวงนักวิชาการบางท่านเรียกสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์นี้ว่า "นักวิชาการขายตัว" ดังนั้นเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันจึงควรมีคู่มือประเมินโครงการ

นอกจากนี้ กติกาที่เร่งด่วนอีกเรื่อง คือ การกำหนดให้มีการประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม การกำหนดมาตรฐานปลายทาง (Ambient standard) เพื่อไม่ให้ปล่อยมลพิษออกรวม ๆ กันแล้วมากเกินกว่าความสามารถที่ธรรมชาติจะรองรับและบำบัดได้ ซึ่งในบางประเทศมีการกำหนดแล้ว

พื้นฐานอันดับที่ 2 คือ เรื่องคุณภาพของคน ในส่วนนี้ต้องมุ่งไปที่เรื่องการศึกษาของไทยที่มีข้อด้อยเยอะมาก ที่ผ่านมายิ่งพัฒนายิ่งถดถอย เห็นได้จากการสอบ แข่งขันคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ของไทยเทียบกับต่างประเทศในภูมิภาคเมื่อปี 2006 ได้คณิตศาสตร์ 417 คะแนน วิทยาศาสตร์ 421 คะแนน แต่พอ ปี 2007 ได้คณิตศาสตร์ 441 คะแนน วิทยาศาสตร์ 471 คะแนน

ดังนั้น ต้องปรับปรุงเรื่องการศึกษา เช่นควรทบทวนเรื่องเรียนฟรี 15 ปี เห็นว่าควรปรับลดระยะเวลาเรียนฟรีเหลือเพียง 12 ปี จากนั้นชั้นอุดมศึกษาก็ใช้ช่องทางต่าง ๆ ของรัฐบาลที่มีอยู่ เช่น กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา เป็นต้น ทั้งนี้เรื่องการศึกษาต้องทำควบคู่ไปกับเรื่องสวัสดิการและแรงงาน เนื่องจากเป็นเรื่องคุณภาพของคน เพราะคนที่มีคุณภาพจะเป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาในอนาคต

พื้นฐานอันดับที่ 3 คือ ภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร จะต้องมีสถาบันเฉพาะทางเป็นรายสาขามากขึ้น จากปัจจุบันยังมีจำนวนน้อยมาก เช่น อ้อย มันสำปะหลัง เป็นต้น

พื้นฐานอันดับที่ 4 คือ การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น หากประเทศพัฒนาแบบรวมศูนย์ยากที่จะตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ เพราะฉะนั้นแผนการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นจะเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำอย่างจริงจัง

สุดท้าย ดร.ปัทมาวดีย้ำว่า ช่วงติดตามนโยบายรัฐบาลมา 1 ปียังไม่ค่อยเห็นการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินนโยบายเท่าไร โดยทิศทางนโยบายส่วนใหญ่ยอมรับว่า เป็นทิศทางถูกต้อง เช่น การช่วยเหลือคนยากจน แต่การนำนโยบายไปปฏิบัติใช้หลาย ๆ ครั้ง "หมิ่นเหม่" ว่าเป็นประชานิยมหรือไม่ เช่น โครงการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ที่มีคำขวัญว่า "บัตรลดหนี้ วินัยดีมีวงเงิน"

โครงการนี้ดูเหมือนจะดี ช่วยเหลือคนระดับรากหญ้า แต่ ดร.ปัทมาวดีให้ข้อสังเกตจากประสบการณ์โครงการกองทุนหมู่บ้านที่มีโครงการคล้าย ๆ กัน คือ เมื่อผ่อนชำระครบตรงเวลาจะสามารถกู้เพิ่มได้ในอัตราดอกเบี้ยถูกลง ทำให้มีการกู้ยืมเงินนอกระบบเพื่อมา "หมุนหนี้" เพื่อจะได้มีเครดิตในการกู้ยืมครั้งต่อไปในอัตราดอกเบี้ยถูกลง ดังนั้นต้องระวังเรื่องนี้ด้วย ไม่เช่นนั้นจะ กลายเป็นปัญหาซ้ำซาก

ที่สำคัญคำจำกัดความ "วินัยดี" แคบไป เน้นแต่เรื่องการลดหนี้ ซึ่งก็ถูก แต่ควรรวมถึงการออมเข้าไปด้วย โดยให้มีการเปิดบัญชีเงินออมควบคู่กันไปด้วย ซึ่งจะตอบโจทย์การพัฒนาเพื่อความยั่งยืนในระยะยาวได้มากกว่า

"การทำนโยบายช่วยเหลือคนยากจน หรือกลุ่มคนด้อยโอกาส รัฐบาลควรนำประเด็นเรื่องความยั่งยืนทำควบคู่ไปด้วย เพื่อให้เกิดนโยบายที่ยั่งยืนในระยะยาว"

*****************************************************************************

งบแสนล้าน! หนามยอกอก‘กองทัพ’

บางกอกทูเดย์

“สมัยที่ผมเป็นรมว.กลาโหม การจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ เป็นไปอย่างโปร่งใส ไม่มีนายหน้า ไม่มีค่าคอมมิชชั่น”

เสียงยืนยันจาก “พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ” พี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์ ต่อข้อครหาจากส.ส.ในสภาที่รุมยำงบประมาณ 1.7 แสนล้านบาทของกระทรวงกลาโหม ในช่วงที่มีการประชุมร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2554 ที่ผ่านมา

รายการนี้ว่ากันว่า...กระทรวงกลาโหมถูกจองกฐินมากที่สุด และส.ส.ฝ่ายค้านอภิปรายมาราธอนยาวนานกว่า 7 ชั่วโมง

จนทำให้การอภิปรายในช่วงที่ 2 ระหว่างวันที่ 24-25 ส.ค.ที่ผ่านมา เกือบจะไม่ได้ถ่ายทอดสด เพราะสภากลายเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจย่อยๆ

นอกจาก “บิ๊กป้อม”จะออกมาปฏิเสธ เสียงแข็งยืนยันนอนยันแล้วว่างบประมาณ ก้อนนี้ไม่มีอะไรในกอไผ่ “ทายาทบูรพาพยัคฆ์”อย่าง “บิ๊กป๊อก”พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ก็ออกมายืนยันเช่นกันว่า...พร้อมให้ตรวจสอบในทุกโครงการที่กองทัพจัดซื้อ

การออกมาชี้แจงของพี่น้องบูรพาพยัคฆ์ครั้งนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางข้อสงสัยว่า...มีการงุบงิบ แบ่งเค้กก้อนโตเพียงไม่กี่คนจริงมั่วชัวร์หรือไม่?

แถมการชี้แจงของ “บิ๊กป๊อก”ยังออกแนวหวานไม่ดุดันเหมือนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ข้อสงสัยเรื่องการทุจริตงบประมาณจัดซื้ออาวุธ และกลิ่นที่โชยตามมานั้นมักเป็นของคู่กันมานาน

เพราะเมื่อใดที่กองทัพขยับจัดซื้ออาวุธครั้งใด “นายหน้าค้าอาวุธ” ก็เริ่มเปิดพื้นที่เพื่อหวังเข้ามาร่วมวงไพบูลย์ขอเศษเค้กจากนายทหารใหญ่ในกองทัพ

วันนี้จึงไม่แปลกที่กองทัพจะถูกมองว่าจัดซื้อไม่โปร่งใส แม้จะชี้แจงจนปากจะฉีกถึงหูก็ตาม...ประเด็นสงสัยเหล่านี้ยังเป็น “หนามยอกอก” ให้บิ๊กสีเขียวต้องออกมาชี้แจงในทุกครั้งไป

ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงกลาโหมเปิดเผยกับ ว่า...งบประมาณจำนวน 1.7 แสนล้านบาท ที่ถูกส.ส.อภิปรายในสภา ไม่เป็นงบประมาณที่จัดซื้ออาวุธเพียงอย่างเดียว

แต่งบประมาณจำนวนดังกล่าว...เป็นที่ใช้สำหรับเบี้ยเลี้ยงข้าราชการจำนวนกว่า 5 แสนคนทั่วประเทศ ตามมติ ครม.ที่ขึ้นเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงข้าราชการ 5 เปอร์เซ็นต์

“งบประมาณในการจัดซื้ออาวุธมีเพียง 20-25 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถูกจัดในส่วนของงบพัฒนากองทัพ และการจัดซื้อทุกโครงการต้องผ่านความเห็นจากคณะกรรมการหลายชุดกว่าจะมาถึงกระทรวงกลาโหม ใช่ว่าจะจัดซื้อแล้วจัดซื้อได้เลย”

แหล่งข่าวคนเดิม ยังกล่าวด้วยว่า...กระทรวงกลาโหมยืนยันว่า โครงการทุกโครงการมีความโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้

**************************************************************************

ไม่ได้เกิด

ข่าวสดรายวัน
เหล็กใน

พรรคการเมืองใหม่ ที่แปลงร่างมาจากกลุ่มพันธ มิตรหรือม็อบเสื้อเหลือง

ได้โอกาสชิมลางลงรับสมัครเลือกตั้งครั้งแรก

ด้วยการลงสนามประเดิมการเมืองตามระบอบประชา ธิปไตย

ชิงเก้าอี้สมาชิกสภาเขต(ส.ข.) และสมาชิกสภากรุง เทพมหานคร(ส.ก.)

สำหรับผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาเขตนั้น ปรากฏว่า

พรรคประชาธิปัตย์กวาดที่นั่งเป็นส่วนใหญ่

พรรคเพื่อไทยได้บางส่วน

นอกจากนี้ยังมีผู้สมัครอิสระ ที่แย่งเก้าอี้ไปได้บ้าง

ส่วนพรรคการเมืองใหม่ ไม่ได้รับเลือกตั้งแม้แต่คนเดียว

ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร จำนวน 61 เขต

ปรากฏว่าพรรคประชาธิปัตย์ กวาดไป 45 เก้าอี้ พรรคเพื่อไทย 15 เก้าอี้

ผู้สมัครอิสระ(ความจริงก็คือนอมินีพรรคภูมิใจไทยนั่นเอง) ได้ 1 เก้าอี้

พรรคการเมืองใหม่ พ่ายแพ้อย่างหมดรูป

ที่น่าสนใจก็คือคะแนนที่ได้มา ก็ไม่เป็นกอบเป็นกำ มากนัก

ผู้สมัครบางคน นอกจากอาศัยเสื้อพันธมิตรแล้ว ยัง อ้างความเป็นน้องชายอดีตประธานรัฐสภาด้วย

คะแนนก็แค่ปลายแถวอยู่ดี

นอกจากนี้ ยังมีอดีตนักเคลื่อนไหวเดือนตุลา ที่ขันอาสาลงสู้ศึกในครั้งนี้

ได้ไม่ถึง 5 พันคะแนน

เป็นอันว่าการลงสนามเลือกตั้งครั้งแรกของพรรค การเมืองกลุ่มพันธมิตร ได้รับการตอบรับจากชาวกรุงเทพฯน้อยมาก

เมื่อเทียบกรณีพรรคประชากรไทย พรรคพลังธรรม และพรรคไทยรักไทย ตอนเกิดใหม่ๆ และส่งคนลงสนามเลือกตั้งในอดีต ยังได้รับเลือกตั้งบ้าง

แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ มีผู้ใช้สิทธิ์เพียง 41 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

พรรคการเมืองใด กลุ่มการเมืองใดที่มีเสียงจัดตั้งอย่างเหนียวแน่น ย่อมมีโอกาสชนะสูง

จึงไม่อาจประเมินว่าที่พรรคประชาธิปัตย์ชนะ และพรรคเพื่อไทยพ่ายแพ้

สะท้อนภาพทางการเมืองในระดับชาติหรือไม่

แต่เท่าที่ดูแนวโน้มในช่วงนี้ พรรคการเมืองใหม่ไม่น่าจะเป็นทางเลือกของชาวกรุง

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายสุริยะใส กตะศิลา รักษาการเลขาธิการพรรค แสดงความมั่นใจว่าน่าจะได‰ที่นั่งส.ก.ประมาณ 7-8 ที่นั่ง

เมื่อผลออกมา ปรากฏว่าพ่ายหมดรูปทั้งส.ก.และส.ข.

นายสุริยะใส ก็ประกาศไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ พร้อมอ้างตัวเลขคนที่ลงคะแนน ว่าสะท้อนให้เห็นถึงจำนวนผู้สนับสนุนพรรคอย่างแท้จริง

และยืนยันด้วยว่าพร้อมที่จะทำงานหนัก เพื่อต่อสู้ในระดับชาติต่อไป

ถึงตอนนั้น ก็ขอให้แกนนำเสื้อเหลืองแปลงร่าง ลงสนามสู้ตามวิถีประชาธิปไตยให้พร้อมหน้าด้วย

เพื่อให้ประชาชนได้ตัดสิน

**********************************************************************