--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ข้าว กับ เลือกตั้ง !!?

โดย. วรศักดิ์ ประยูรศุข

การเลือกตั้ง 2 ก.พ.ผ่านไป แต่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ที่เป็นเป้าหมายของกลุ่มผู้เคลื่อนไหวยังไม่เกิดขึ้น

โดยเฉพาะคือ การให้นายกฯออกจากรักษาการ เพื่อเปิดทางให้กับนายกฯใหม่จาก "คนกลาง" และการปฏิรูปการเมือง

สถานการณ์ต่างๆ จึงจะยังไม่หมดเพียงเท่านี้

ยังต้องประลองกำลัง ทั้งในแนวรบของการใช้กำลังมวลชน แง่มุมกฎหมาย และการเจรจาต่อรอง

เหตุการณ์ที่หลักสี่ เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ยิงกันหูดับตับไหม้ หลังจากคนเสื้อแดงมากดดันให้พระพุทธะอิสระคืนบัตรเลือกตั้ง แล้วม็อบ กปปส.ที่ลาดพร้าวเคลื่อนพลมาช่วย

ยิงกันต่อหน้าต่อตา กระสุนวิ่งข้ามหัว กระจกป้อมคุมการจราจรของตำรวจแตกเพล้ง คนเจ็บนอนหงายแน่นิ่ง เอาตัวออกมาส่งโรงพยาบาลไม่ได้

เหตุการณ์ทั้งหมด เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตานักข่าว ช่างภาพ ทั้งไทยและเทศ รวมถึงประชาชน บันทึกไว้อย่างครบถ้วนด้วยกล้อง สมาร์ทโฟน และอุปกรณ์อื่น

ทั้งเสียง ภาพ กลายเป็นพยานหลักฐานชั้นดีของเจ้าหน้าที่

พอรู้ตัวบุคคล ก็ไม่ยากที่จะโยงไปถึงหน่วยงาน หรือคนอยู่เบื้องหลังที่ใหญ่กว่านั้น

ตำรวจรายงานว่า ที่วิ่งถือปืน สาธิตการใช้อาวุธด้วยความช่ำชอง เป็น "คนมีฝีมือ" ที่เห็นหน้าเห็นตาก็จำกันได้

ช่วยให้คำตอบที่ชัดขึ้นอีกระดับว่า ใครบ้างที่มีส่วนในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

น่าหวาดหวั่น ชวนสยองขวัญขนาดนั้น แต่ประชาชนก็ยังออกไปเลือกตั้ง ด้วยตัวเลขที่โต้แย้งได้ยาก ว่าประชาชนไม่เอาการเลือกตั้ง

รถไฟยังอยู่บนราง แม้จะพยายามถอดน็อต ถอดไม้หมอนกันเป็นโกลาหล

ขั้นตอนต่อไปนี้ ก็ต้องไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ

จะสมหวังผิดหวังประการใดก็เดาๆ กันไป เปิดคำวินิจฉัยเดิมๆ ก็พอจะคาดการณ์ได้

เป้าหมายของเกมการเมืองรอบนี้ ไม่มีอะไรใหม่

อย่างการประชุมบิ๊กๆ เกษียณที่โปโลคลับที่มีคลิปออกมา บนโต๊ะอาหาร พูดกันชัดเจนว่า จะต้องทำรัฐประหาร ทหารจะต้องทำหน้าที่

การเป็นรัฏฐาธิปัตย์ จะต้องปฏิวัติรัฐบาลนี้เท่านั้น

มีเสียงถามกลางวงว่า ถ้าปฏิวัติ จะต้องสูญเสียชีวิตคนอีกเท่าไหร่ จะต้องตายอีกเป็นร้อยไหม แต่ก็ไม่มีคำตอบ

ถ้าใครจะบอกว่าเป็นเหตุการณ์เก่าๆ หลายปีมาแล้ว ก็คงมีคนเชื่อ

หลังจากนี้ไป อุปกรณ์ที่จะใช้จัดการกับรัฐบาล มีอย่างน้อย 2 ประเด็น คือเรื่องจำนำข้าว ที่ ป.ป.ช.มั่นใจในข้อมูลและความร่วมมือจากฝ่ายต่างๆ ในการสอบสวนมาก

และปัญหาการเลือกตั้ง ที่เดิมกล่าวกันว่า มีปมสำคัญที่ไม่ได้เลือกพร้อมกันทั่วประเทศ ตอนนี้กล่าวกันว่า หวยอาจจะไปออกที่การเลือกตั้งล่วงหน้าที่ไปเลือกทีหลัง ทำให้เกิดส่วนได้เสียแก่ผู้สมัคร

หวยจะออกเลขไหน และมีล็อกหรือไม่ ก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า แล้วจะยังไงต่อ ?!


ที่มา:มติชน
------------------------------------

วันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ศาลให้ออกหมายจับ นายก อบจ.เชียงราย ไม่ไปฟังคำพิพากษา ศาลฎีกา.

ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 14 ศาลจังหวัดเชียงราย นายมหันต์โชค แฉล้มเขตต์ ผู้พิพากษาศาลเชียงราย ได้ขึ้นบัลลังก์เพื่ออ่านคำพิจารณาตามคำสั่งศาลฎีกาต่อกรณีคำร้องของฝ่ายจำเลยคดีหมายเลขดำที่ 2318/2547 คดีหมายเลขแดงที่ 1131/2549 ในชั้นศาลฎีกาคดีแจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานตามมาตรา 137 ประมวลกฎหมายอาญา และกระทำการอันเป็นเท็จตาม พ.ร.บ.เลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือบริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 114 โดยมีโจทย์คือนางรัตนา จงสุทธนามณี อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงราย ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์นายกเทศบาลนครเชียงราย อ.เมือง จ.เชียงราย และจำเลยคือนางสลักจฤฏดิ์ ติยะไพรัช นายก อบจ.เชียงราย คนปัจจุบัน

ก่อนหน้าจำเลยได้ขอเลื่อนการอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาแล้ว 2 ครั้ง คือวันที่ 13 ก.ย. โดยระบุว่าป่วยปวดศีรษะ และวันที่ 2 ส.ค. ได้ยื่นให้ตีความอำนาจการอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาโดยศาลชั้นต้น ก่อนถึงเวลานัดฟังคำพิพากษาทางทนายฝ่ายจำเลยได้ยื่นต่อศาลชั้นต้นเพื่อให้ยื่นต่อศาลฎีกาขอสืบพยานเพิ่มเติมในคดีดังกล่าวโดยให้นำไปสืบในชั้นศาลชั้นต้น ทำให้ทางศาล จ.เชียงราย ได้ยื่นเรื่องไปยังองค์คณะของศาลฎีกาส่งผลทำให้การพิจารณาช้ากว่าเวลานัดหมายช่วงประมาณ 10.00 น. ไปประมาณ 1 ชั่วโมง โดยมีกลุ่มผู้สนับสนุนที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มการเมืองท้องถิ่นของทั้งสองฝ่าย รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจโดย พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รอง ผบช.ภ.นครบาล เดินทางไปฟังคำพิพากษาด้วย

กระทั่งศาลฎีกาได้สอบถามหาตัวโจทย์และจำเลยปรากฏว่าทางทนายฝ่ายโจทย์แจ้งว่าโจทย์ให้ทนายความไปรับฟังแทน สอบถามถึงฝ่ายจำเลยปรากฏว่านางสลักจฤฏดิ์ไม่ได้เดินทางไปฟังคำสั่งศาลฎีกาศาลจึงให้ทนายความโทรศัพท์ไปแจ้งให้ไปรับคำสั่งตามคำร้องดังกล่าวปรากฏว่าทนายแจ้งว่าไม่สามารถติดต่อได้ ทำให้ศาล จ.เชียงราย ได้อ่านคำสั่งกรณีคำร้องของจำเลย

โดยมีเนื้อหาว่าศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาต่อคดีดังกล่าวแล้วจึงไม่จำเป็นต้องส่งคำร้องสนับสนุนคดีดังกล่าวอีก และไม่จำเป็นต้องส่งคดีให้ศาลชั้นต้น ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่มีเหตุอันควรที่จะส่งคำร้องในชั้นศาลฎีกาและไม่อนุญาตให้มีการเลื่อนการอ่านคำพิพากษาในคดี จึงยกคำร้องของฝ่ายจำเลยดังกล่าว ส่วนกรณีที่จำเลยไม่เดินทางไปฟังคำสั่งศาลนั้นเห็นว่าจำเลยได้รับทราบการนัดหมายจากศาลอยู่แล้ว ดังนั้น จึงให้มีการออกหมายจับจำเลยเพื่อนำตัวไปรับฟังคำพิพากษาของศาลฎีกา ในวันที่ 12 มี.ค. เวลา 09.00 น.

ภายหลังจากศาลได้อ่านคำสั่งดังกล่าวแล้วทางฝ่ายทนายนางสลักจฏดิ์ ได้พยายามเข้าไปชี้แจงต่อศาลนานหลายนาที ศาลอธิบายว่าศาลได้มีการพิจารณาจากคำร้องต่างๆ ไปหมดแล้ว และกรณีทนายแสดงความเห็นเป็นการแสดงความเห็นส่วนตัว แต่หากอยากชี้แจงใดๆ ก็ให้ยื่นคำร้องใหม่เข้าไปยังศาลได้ต่อไป

สำหรับคดีระหว่างนางสลักจฤฏดิ์ กับนางรัตนา เกิดขึ้นในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงราย ตั้งแต่ปี 2547 เป็นช่วงที่พรรคไทยรักไทยยังเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยพรรคเพื่อไทยได้ส่งนางสลักจฤฏดิ์เป็นภรรยาของนายยงยุทธ ติยะไพรัช ขณะนั้นเป็นเลขาธิการอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยมีคู่แข่งขันคนสำคัญคือนางรัตนา เป็นภรรยาของนายวันชัย จงสุทธนามณี นายกเทศมนตรีคนปัจจุบัน ผลปรากฏว่านางรัตนาได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ทำให้ทางฝ่ายนางสลักจฤฏดิ์ ได้มีการร้องเรียนและฟ้องร้องกับนางรัตนากันหลายคดี

โดยส่วนมากเป็นคดีที่เกิดจากการร้องเรียนการแจกสิ่งของเพื่อหวังผลการเลือกตั้งในช่วงการเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงราย ปี 2547 จากนั้นได้นำผลเข้าสู่การฟ้องร้องคดี โดยศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาปี 2549 ให้จำคุกนางสลักจฤฏดิ์เป็นเวลา 3 ปี 9 เดือน โดยไม่รอลงอาญา โทษปรับ 75,000 บาท รวมทั้งให้เว้นวรรคทางการเมือง 10 ปี

แต่มีการยื่นประกันตัวออกมาสู้คดีกระทั่งศาลอุทธรณ์ได้ยกฟ้อง จนมาถึงการเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2551 นางรัตนาก็ชนะการเลือกตั้งอีก กระทั่งปี 2555 นางสลักจฤฏดิ์ ได้ลงสมัครอีกครั้งในสังกัดพรรคเพื่อไทยจนมาชนะการเลือกตั้ง แต่คดีนางรัตนาก็ยังมีการร้องต่อศาลฎีกาต่อจนมีการนัดหมายอ่านคำพิพากษาในวันที่ 5 กุมภาพันธ์

ที่มา.มติชนออนไลน์
------------------------------------

การเมืองหลังการเลือกตั้ง !!?

โดย. พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

เมื่อการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ผ่านไป สิ่งที่ตามมายังคงมีเรื่องที่จะต้องพิจารณากันอยู่หลายเรื่อง

เรื่องแรกคือการจัดการเลือกตั้งให้ครบในส่วนที่เหลือ ขณะที่ฝ่ายที่ไม่ต้องการการเลือกตั้งก็คงจะสร้างเงื่อนไขของการไม่ยินยอมพร้อมใจอยู่ในระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยที่ยึดโยงจากการเลือกตั้งต่อไป ทั้งการชุมนุมและการปิดกั้นหน่วยเลือกตั้ง และปิดกั้นการลำเลียงบัตรเลือกตั้ง หรือถ้าจะพูดให้ครบก็คือขัดขวางกระบวนการเลือกตั้งต่อไปเรื่อยๆ

สิ่งที่จะต้องตั้งข้อสังเกตเอาไว้ก็คือ การปฏิเสธการเลือกตั้งในครั้งนี้ มีลักษณะที่ลักลั่นและย้อนแย้งในตัวเอง ดังที่ผมได้เคยชี้แจงไปก่อนหน้านี้แล้ว นั่นก็คือ โดยทั่วไปการเลือกตั้งนั้นจะถูกปฏิเสธ เมื่อการเลือกตั้งนั้นมีลักษณะที่ฝ่ายที่ยึดกุมอำนาจรัฐมีแนวโน้มที่จะทุจริต หรือแทรกแซงกระบวนการเลือกตั้ง ซึ่งทำให้การยอมรับผลการเลือกตั้งของฝ่ายอื่นๆ นั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะตนก็เชื่อว่าตนจะต้องชนะแต่ถูกปล้นชัยชนะ

ขณะที่การต่อต้านการเลือกตั้งครั้งนี้ในประเทศไทยนั้นมีลักษณะที่ย้อนแย้งและลักลั่นมาก ด้วยว่าการปิดกั้นหน่วยเลือกตั้งเองนั้นเกิดขึ้นในพื้นที่ไม่กี่จังหวัด แต่มีลักษณะที่มีแบบแผนอย่างชัดเจน คือบางหน่วยของกรุงเทพฯ และบางจังหวัดในภาคใต้ ในขณะที่ภาพของการเคลื่อนไหวก่อนหน้านั้นคือการอ้างถึงจำนวนของมวลมหาประชาชนที่มากมายมหาศาล แต่เอาเข้าจริงเมื่อนับจำนวนมวลมหาประชาชนแล้ว ก็ไม่สามารถชนะด้วยจำนวนได้อยู่ดี

นอกจากนั้นแล้ว หากคิดดูอีกทีว่าถ้าฝ่ายที่แพ้เลือกตั้งคิดว่าตนไม่น่าจะแพ้ เพราะจำนวนก้ำกึ่งกัน (คราวที่แล้วพรรคฝ่ายค้านแพ้ของสองเก้าอี้ในแบบบัญชีรายชื่อ) ฝ่ายที่ค้านและต้านเลือกตั้งก็ควรจะส่งเสริมให้คนมาเลือกตั้ง ส่งเสริมให้คนมาสังเกตการณ์เลือกตั้ง และส่งเสริมให้หน่วยงานที่เป็นกลางน้ันทำงานในการจัดการกับการทุจริต หรือแม้แต่จะเรียกร้องให้มีองค์กรจากต่างประเทศเข้ามาสังเกตการณ์

การไม่พยายามกระทำสิ่งนี้เพราะอาจจะรู้จริงๆ ว่าสู้ไม่ได้ในเกมส์นี้เสียมากกว่า เพราะเกมส์การเลือกตั้งในวันนี้ไม่ใช่เรื่องการซื้อเสียงเท่านั้น (เพราะการซื้อเสียงจับได้ และจับได้ทุกฝ่าย) แต่เกมส์เลือกตั้งนั้นเรียกร้องให้มีการคิดค้นนโยบาย

ดังนั้น เรื่องที่ง่ายกว่าก็คือการลากสถานการณ์เลือกตั้งให้ยาวนาน เพื่อใช้เรื่องการคอร์รัปชั่นในการจัดการการเมืองแบบนโยบายด้วยองค์กรตุลาการ

นั่นก็คือใช้ข้อกฎหมาย และแนวโน้มของการผิดกฎระเบียบมาจัดการเรื่องนโยบาย และตีความกรอบการจัดทำนโยบายให้ตรงกับรัฐธรรมนูญที่ได้วางไว้หมดแล้ว

หมายถึงกระบวนการทำให้เรื่องนโยบาย "ไม่เป็นเรื่องการเมือง" ทั้งที่การลงโทษนั้นเป็นเรื่อง "การเมืองที่ไม่ตอบโจทย์ทางการเมือง" เป็นอย่างมาก

โดยสรุปปัญหาการเลือกตั้งในรอบนี้จึงไม่ได้มีการร้องเรียนเรื่องกระบวนการ ในแง่ของการทุจริตใน "กระบวนการเลือกตั้ง" แต่จะโดนดำเนินคดีแน่นอนเพราะไปขัดขวางกระบวนการเลือกตั้ง

และปัญหาใหญ่กลับอยู่ที่เรื่องของ "วิกฤตความชอบธรรมของการเลือกตั้ง" เสียมากกว่า เพราะฝ่ายหนึ่งไม่ยอมให้มีการเลือกตั้ง แต่อีกฝ่ายหนึ่งพยายามบอกว่าการเลือกต้ังนั้นเป็นที่มาของความชอบธรรมทั้งหมด

เรื่องที่จะต้องพิจารณาในเรื่องที่สองของการเมืองหลังการเลือกตั้ง ก็คือเรื่องของ "ความรุนแรงหลังจากการเลือกตั้ง" (post-electoral violence) ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใหญ่มากในการศึกษาและปฏิบัติจรรโลงประชาธิปไตยในโลก โดยเฉพาะในช่วงหลังนี้เรื่องสำคัญมักจะอยู่ในทวีปแอฟริกา โดยมีทั้งองค์กรอาสาสมัครที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือเหยื่อของความรุนแรงที่เกิดจากความรุนแรงหลังการเลือกตั้ง และการเข้าไปพยายามจัดการเลือกตั้งใหม่ หรือต่อรองกับแต่ละฝ่ายให้กระบวนการทางการเมืองและกระบวนการทางประชาธิปไตยได้มีโอกาสเดินหน้าในสังคมที่การเลือกตั้งไม่สามารถสร้างความเป็นปึกแผ่นได้

ผลการวิจัยและปฏิบัติการที่น่าสนใจของหน่วยงานด้านการพัฒนาของสหรัฐอเมริกา (USAID) ในปี ค.ศ.2010 ที่ชื่อว่า การป้องกันความรุนแรงหลังการเลือกตั้งในแอฟริกา (Preventing Postelection Violence in Africa) ให้ประเด็นที่น่าสนใจตรงที่ว่า สิ่งที่พบในสังคมที่มีความรุนแรงทั้งในช่วงก่อนเลือกตั้ง ช่วงที่มีการเลือกตั้ง และช่วงหลังการเลือกตั้งนั้น แม้ว่าเราจะเชื่อว่า ปัจจัยของความแตกแยกทางสังคมด้านชาติพันธุ์ ความต้องการประชาธิปไตย ระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และประวัติศาสตร์ทางการเมืองนั้นอาจจะดูเหมือนมีผลต่อการเลือกตั้ง แต่งานวิจัยชิ้นนี้ชี้ว่า ความรุนแรงที่จะเกิดจากการเลือกตั้งนั้นไม่จำเป็นเสมอไปว่าจะต้องเกิดจากสังคมที่มีปัจจัยเช่นนั้น

แต่ปัจจัยที่จะส่งผลจริงๆ ต่อความรุนแรงหลังการเลือกตั้งก็คือการบริหารจัดการเลือกตั้งที่จะไม่ก่อให้เกิดการโกงการเลือกตั้ง และความรุนแรงจากการเลือกตั้ง หรือจะพูดอีกอย่างว่าการทำให้กระบวนการการเลือกตั้งนั้นเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะการที่กลุ่มหรือองค์กรต่างๆ ในประชาสังคมที่พยายามเข้ามาทำให้ฝ่ายต่างๆ ยอมรับการเลือกตั้ง และช่วยกันปกป้องให้องค์กรที่จัดการเลือกตั้งนั้นสามารถจัดการเลือกตั้งได้สำเร็จ

ลองคิดให้ดีถ้าเราลองย้อนพิจารณาปมปัญหาของการเลือกตั้งในครั้งนี้ของบ้านเรา สิ่งที่เราจะพบก็คือ องค์กรกลางที่เราเคยเชื่อว่ามีอำนาจจัดการเลือกตั้งนั้น ไม่สามารถทำงานได้ในหลายพื้นที่ (และตัวผู้บริหารเองก็พยายามทำให้พื้นที่เหล่านั้นมีภาพของพื้นที่ทั้งหมดอยู่บ่อยครั้ง) แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ได้สำเร็จในพื้นที่ส่วนมากนั้นเกิดจากการที่ประชาชนแสดงเจตจำนงในการไปเลือกตั้ง และแสดงเจตจำนงในการใช้การเลือกตั้งในการแก้ปัญหา และแสดงเจตจำนงให้เห็นถึงคุณค่าของการเลือกตั้งโดยการทำให้การเลือกตั้งนั้นเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกับการรักษาประชาธิปไตยเอาไว้ภายใต้เงื่อนไขของความสงบ สันติ

นี่คือความยิ่งใหญ่ของการส่งเสียงของประชาชนที่ไม่ต้องอ้างจำนวนแต่ไม่กล้าสู้ด้วยกฎของการนับเลขแห่งความเท่าเทียมง่ายๆ ผ่านการเลือกตั้ง และชี้ให้เห็นว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้นสำคัญต่อการป้องกันความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีนัยยะสำคัญ

เพียงแต่ว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งของเราไม่ได้มองสิ่งเหล่านี้เป็นโอกาสและพลังสำคัญในการขับเคลื่อนให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นได้ ขณะที่ภาพประชาสังคมที่เป็นทางการกลับแตกแยก หรือหันเหตัวเองออกจากกระบวนการเลือกตั้ง

อาจเป็นไปได้ว่าภาคประชาสังคมของเรานั้นเคยตัวกับการได้อำนาจจากเงื่อนไขนอกประชาธิปไตย หรือภายใต้โครงสร้างประชาธิปไตยที่ทำให้ไม่ต้องยึดโยงกับประชาชน แต่เป็นโครงสร้างอำนาจที่ยึดโยงกันเองผ่านเครือข่ายของการเสนอชื่อ และพิจารณากันภายในเครือข่าย (หรือเปล่า?)

ดังนั้น ภาคประชาสังคมของไทยนั้นจึงมีลักษณะพิเศษ เพราะเป็นภาคประชาสังคมที่สร้างความชอบธรรมผ่านการปฏิเสธการเลือกตั้งเสียมาก แทนที่จะทำงานคู่ขนานกับฝ่ายประชาธิปไตยเลือกตั้ง และต่อรองกับกระบวนการของการเลือกตั้ง

เรื่องสุดท้ายที่น่าตั้งคำถามในส่วนของการเมืองหลังการเลือกตั้งก็คือเรื่องของมุมมองอื่นๆ ที่แตกต่างไปจากเรื่องการปฏิวัติประชาชน และการปฏิรูปการเมือง

ผมนึกถึงคำสอนของครูบาอาจารย์ของผมทั้งหลายที่ครั้งนั้นพวกท่านเคยสมาทานแนวคิดเรื่องของ "การพัฒนาทางการเมือง" (political development) ที่สมัยหนึ่งเคยเป็นที่นิยม ขณะที่สมัยนี้อาจจะไม่มีคนสนใจสักเท่าไหร่

แนวคิดเรื่องการพัฒนาทางการเมืองนั้น เป็นแนวคิดที่มีอิทธิพลหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และเป็นแนวคิดที่ส่วนหนึ่งเป็นคู่ขนาน หรือเป็นการพัฒนาที่เป็นผลตามมาจากแนวคิดเรื่องการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

พูดง่ายๆ ก็คือ แนวคิดการพัฒนาทางการเมืองเชื่อว่าการพัฒนานั้นไม่ได้มีแค่การ (วางแผน) พัฒนาทางเศรษฐกิจ แต่การเมืองก็ต้องมีการวางแผนด้วยและจะต้องสามารถระดมสรรพกำลังต่างๆ มาร่วมกันได้

ในอีกด้านหนึ่งการพัฒนาทางการเมืองก็เป็นสิ่งที่จะต้องเตรียมการเอาไว้ เพราะว่าการพัฒนาทางเศรษฐกิจนั้นอาจจะส่งผลบางอย่างในสังคมที่ทำให้จำต้องร่วมกันดูแลจัดการและพัฒนาสังคมและการเมืองตามมาด้วย

ในอดีตนั้น คู่แข่งสำคัญของแนวคิดการพัฒนาทางการเมืองก็คือการเปลี่ยนผ่านสังคมไปสู่สังคมนิยมคอมมิวนิสต์ เพราะว่าเป็นตัวอย่างสำคัญที่เกิดการรวมศูนย์อำนาจและการทำงานที่แข็งแกร่งมั่นคงของรัฐอย่างจริงจัง ซึ่งโลกเสรีในช่วงแรกก็สั่นสะเทือนเป็นอย่างมากเพราะผลลัพธ์ทางการเมืองของประเทศที่เพิ่งหลุดออกจากอาณานิคม หรือประเทศที่ยากจนนั้นไม่สามารถสร้างผลลัพธ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจที่เป็นที่น่าพอใจได้

ดังนั้น การพัฒนาทางการเมืองจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยเฉพาะเมื่อเผชิญปัญหาว่าเกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ แล้วเกิดชนชั้นใหม่ๆ มีข้อเรียกร้องต่างๆ เข้าสู่ระบบการเมือง มีการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างมากมายมหาศาล (ทั้งการเลือกตั้ง หรือการชุมนุมประท้วง) แต่ผลลัพธ์ทางการเมืองที่ออกมานั้นจะพบว่ารัฐไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลายและรุมเร้าเข้ามาได้

ในอดีตนักรัฐศาสตร์จึงพยายามพัฒนาสถาบันทางการเมืองต่างๆ ขึ้นมาเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนเอาพลังแห่งความต้องการเหล่านี้สามารถเข้ามาอยู่ในระบบการเมืองร่วมกันได้ กล่าวคือการสร้างรัฐนั้นจะต้องกระทำกันเข้มแข็งเพื่อให้สามารถระดมสรรพกำลังต่างๆ มาร่วมกันมุ่งหมายไปสู่การพัฒนาทางการเมือง โดยมีความเชื่อถึงการเสริมสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย และเรื่องของการพัฒนาพรรคการเมืองและระบบเลือกตั้งให้ตอบสนองต่อความหลากหลายและสามารถมีสมรรถภาพในการขับเคลื่อนนโยบายได้ผ่านการออกแบบรัฐธรรมนูญให้สะท้อนความเป็นจริงทางการเมือง และชี้นำการเมืองไปยังทิศทางที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ไม่ให้พังทลายและเสื่อมถอยลงผ่านความรุนแรงและความไร้เสถียรภาพทางการเมือง

ความพยายามของครูบาอาจารย์ของผมหลายท่านนั้นสร้างคุณูปการให้กับการพัฒนาทางการเมืองอยู่มิใช่น้อย เช่นการศึกษาและตั้งคำถามกับระบบราชการ และทหารในฐานะสถาบันหลักที่อาจทำหน้าที่บางอย่างมากจนเกินตัว (การพัฒนาทางการเมืองจะต้องกระจายงานไปตามหน้าที่ที่สมควรทำ) ศึกษาวัฒนธรรมทางการเมืองและพฤติกรรมการเลือกตั้ง ศึกษาบทบาทของวัฒนธรรมและศาสนา ศึกษาการทำงานที่อ่อนแอของพรรคการเมืองและรัฐสภา ศึกษาถึงโครงสร้างของรัฐธรรมนูญ และการรัฐประหาร รวมทั้งในยุคหลังแนวคิดเรื่องของการพัฒนาทางการเมืองเริ่มมีการเสนอให้มองเรื่องของการสร้างสถาบันใหม่ๆ เช่น การประชาสังคม และการสร้างชาติที่รองรับความหลากหลายมากขึ้น เพื่อไม่ให้รัฐที่เป็นทางการนั้นทำงานโดยอาจจะละเลยความหลากหลายของสังคม

อย่างไรก็ตาม ต่อมาแนวคิดการพัฒนาการเมืองเหล่านี้อ่อนแรงลงไป และถูกบดบังโดยกระแส "การปฏิรูปการเมือง" ที่ถ้ามองให้ลึกๆ เป็นเรื่องของการตอบโจทย์ระยะสั้นๆ ของยุคสมัย เช่น การจำกัดอำนาจนักการเมือง การจัดการการคอร์รัปชั่น และทิ้งปมปัญหาในระยะยาวเอาไว้โดยตลอดโดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับอคติทางการเมืองระหว่างชนชั้นต่างๆ และสถาบันต่างๆ ที่ถูกสร้างขึ้น หรือเข้ามาเกี่ยวข้อง

ถ้าคิดว่าการปฏิรูปการเมืองนั้นเป็นเรื่องระดับโครงสร้างและเรื่องระยะยาวจริงทำไมการปฏิรูปที่ผ่านมาจึงไม่ประสบความสำเร็จ? และการอ้างว่าการไม่ประสบความสำเร็จนั้นเป็นเพราะปัจจัยภายนอกที่บ่อนทำลายการปฏิรูปนั้นเป็นการอ้างอิงที่ไร้ความผิดชอบเป็นอย่างยิ่ง หรือมองว่าเพราะคนที่เราต้องการปฏิรูปนั้นยังไม่มีคุณสมบัติพอ (คือโทษว่าคนที่เป็นเหยื่อของระบบเก่า - blaming the victim) ทั้งที่การปฏิรูปการเมืองแบบที่พูดกันนั้นไม่สามารถพิสูจน์ได้จริงว่าการปฏิรูปจะรองรับอำนาจและเปิดให้คนมีส่วนร่วมอย่างไรในระบบการเมือง ขณะที่ทุกคนตื่นตัวเช่นนี้ เว้นแต่จะคิดว่าต้องมีสถาบันอื่นมาทำงานแทนรัฐและมองรัฐเป็นผู้ร้าย?

ดังนั้น แทนที่การปฏิรูปการเมืองจะได้มาซึ่งสถาบันทางการเมืองที่เข้มแข็งที่โอบรับ/รองรับความต้องการที่หลากหลายของสังคมตามจิตวิญญาณของการพัฒนาทางการเมือง การปฏิรูปการเมืองที่พูดๆ กันกลับกลายเป็นถ้อยคำที่นำมาซึ่งความขัดแย้งและแฝงฝังไปด้วยอคติทางชนชั้นของผู้เสนอโดยที่ไม่รู้ตัว และเป็นความพยายามในการช่วงชิงอำนาจของสถาบันและกลุ่มที่ไม่สามารถสร้างความชอบธรรมทางการเมืองได้ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง

ดังนั้น อาจเป็นไปได้ที่แนวคิดเรื่องการพัฒนาทางการเมืองที่ยืดหยุ่นขึ้นจะกลับมาอีกครั้ง และเป็นทางเลือกจากกระแสการปฏิรูปทางเมือง แต่หากการพัฒนาทางการเมืองจะกลับมาอีกครั้งก็คงจะต้องปรับปรุงให้ควบคู่กับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจในโลกที่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพทั้งจากความต้องการและจากความหวาดกลัวด้วย

ไม่ใช่สร้างแต่ความต้องการเทียมๆ ในบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความน่าหวาดกลัวจริงๆ เหมือนอย่างที่เป็นอยู่ (ซึ่งเป็นบรรยากาศความกลัวที่สร้างขึ้นมาเองเสียด้วย)

ที่มา:มติชน
------------------------------------------

เปิดใจข้าราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หลังตัดโซ่ปลดแอก ชัตดาวน์..

ภายหลังจากกลุ่มมวลมหาประชาชน กปปส.ได้เข้าปิดประตู ทางเข้ากรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ที่ถนนพหลโยธิน เขตบางเขน ตั้งแต่วันที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อขอให้ข้าราชการร่วมชัตดาวน์กรุงเทพนั้น

 นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ อธิบดีกรมป่าไม้ พร้อมด้วย นายนิพนธ์ โชติบาล รักษาการอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง และตัวแทนข้าราชการกว่า 30 คนจากทั้ง 2 กรม ได้ร่วมกันเป็นสักขีพยานในเปิดโซ่คล้องประตูอย่างเป็นทางการ เพื่อให้ข้าราชการกลับมาทำงานได้ตามปกติ

โดยการเปิดโซ่ครั้งนี้เกิดขึ้นภายหลังการประชุมร่วมกับทางศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.)เมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อให้กรมต่างๆ ย่านรอบๆ พื้นที่บางเขน ที่ถูกกปปส.ปิดประตูกรม และใช้โซ่คล้องกุญแจไว้ เพื่อขอความร่วมมือไม่ให้ข้าราชการ และเจ้าหน้าเจ้าทำงานตามนโยบายชัตดาวน์กรุงเทพ ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ตั้งแต่วันที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งการเปิดโซ่ประตูกรมป่าไม้ครั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาดูแลสถานการณ์อย่างใกล้ชิดด้วย

สำหรับบรรยากาศการทำงานในวันนี้ พบว่าข้าราชการและเจ้าหน้าที่ ยังคงมาทำงานไม่เต็มที่ และบางตา โดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้างเหมาทีโออาร์ ซึ่งก่อนหน้านี้ต้องหยุดทำงานชั่วคราวเกือบ 2 สัปดาห์ เพราะยังได้รับค่าจ้างแบบรายวัน ในช่วงหลังจากถูกชัตดาวน์ ทำให้กรมอุทยานฯ กรมป่าไม้ ได้ให้บางส่วนหยุดงานชั่วคราวได้

นิพนธ์ บอกว่า การเปิดประตูกรมป่าไม้ครั้งนี้เรียบร้อยดี และสั่งการให้ข้าราชการ ลูกจ้างของกรมอุทยานฯเร่งสะสางงานเร่งด่วนต่างๆ ในทันที เพราะในช่วงที่ถูกชัตดาวน์ยอมรับว่ายังต้องมีการแอบเข้ามาทำงานกัน 50% เพราะมีงานเร่งด่วน เช่น งานด้านกฎหมายและคดีต่างๆ ที่ต้องขึ้นศาล และงานที่มีเงื่อนไขทางด้านเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมถึงหนังสือตรวจสอบพื้นที่ต่างๆ เป็นต้น

" คาดว่าในสัปดาห์นี้เพื่อนข้าราชการจะกลับมาทำงานได้ 100% ทั้งนี้ในช่วงที่ถูกปิดประตู และมีข่าวว่า กปปส.จะเข้ามาตรวจว่ามีข้าราชการแอบมาทำงานที่กรม ผมยังต้องหนีไปนั่งทำงานและเซ็นเอกสารที่คณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์เลย" นิพนธ์ กล่าวพร้อมยอมรับว่าการชัตดาวน์กระทบกับการทำงานที่ไม่สามารถขับเคลื่อนไปได้ ดังนั้นหากจะมีการชัตดาวน์รอบ 2 ตามที่นายสุเทพ ประกาศไว้นั้น อยากให้มีการพูดคุย เจรจา กันมากกว่า

ส่วน บุญชอบ ชี้ว่าที่ผ่านมาถึงจะถูกปิดประตูให้ร่วมชัตดาวน์ แต่ในภาพรวมไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเนื้องานมากนัก มีเพียงการประชุม สัมมนาที่จำเป็นต้องเลื่อนออกไป ส่วนงานสำคัญๆ ที่ยังต้องเดินหน้า ได้มอบหมายให้ระดับผู้อำนวยการสำนักต่างๆ ดำเนินการตามปกติและส่วนมากก็เข้ามาทำงานได้อยู่แล้ว

" เราบอกมาตลอดว่ากรมป่าไม้ ไม่มีหน้าที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองอย่างเด็ดขาด ดังนั้นถึงจะถูกสั่งให้ชัตดาวน์ แต่เรายังคงต้องทำงานตามแผนนโยบาย ไม่ได้หยุดทั้งหมดจนงานชะงัก แต่หากจะมีการชัตดาวน์ ปิดกรมรอบ 2 คงต้องดูท่าทีของทส.และเพื่อนข้าราชการกรมอื่นๆ ด้วย" นายบุญชอบ ระบุ

ในทางกลับกันเสียงจากข้าราชการกรมอุทยานแห่งชาติรายหนึ่งบอกว่า การปิดประตูกรมอุทยาน กับกรมป่าไม้ ตั้งแต่วันที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมา ส่วนตัวมองว่า ไม่มีผลกระทบอะไร หรือมีอะไรผิดปกติ การเข้าทำงานยังสามารถมาทำงานได้ปกติ แต่บางคนอาจต้องปืนรั้วเข้ามาบ้างทางด้านหลังประตูที่ติดกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นเพราะไม่ต้องการอ้อมในการเดินทาง

ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่าการทำงานอาจไม่ได้ครบทั้ง 100% เนื่องจากบางอาคารถูกปิด รวมถึงในแง่การประสานงานก็ต้องยุติไปโดยปริยาย อีกทั้งงานหนังสือราชการก็สะดุดไป แต่ไม่ถึงทำให้ส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายเงินต่างๆ มากนัก

" มองปรากฏการณ์นี้ว่าเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของกลุ่ม กปปส. ที่ต้องการส่งความกดดันไปยังรัฐบาลที่ราชการทำงานไม่ได้ แต่ส่วนตัวเชื่อในแง่ของเสียงสะท้อนที่เกิดขึ้นว่า อยากให้ปฏิรูปก่อน เพราะมองว่าในภาพใหญ่ ประเทศต้องการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ในทิศทางที่ควรจะเป็นในทุกๆ เรื่อง เพราะทะเลาะกันมากมาย ก็ควรต้องเปลี่ยนอะไรบ้าง หากการเคลื่อนไหวครั้งนี้ไม่มีผล ก็รู้สึกมืดมน เพราะทุกอย่างยังอยู่ในวังวนเดิมๆ" เขาสะท้อน

ขณะที่ในส่วนของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งตั้งอยู่ในซอยอารีย์สัมพันธ์ ซึ่งบริเวณรอบๆ ประกอบด้วยกรมสรรพากร กรมประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และด้านหลังติดกับกระทรวงการคลัง ทำให้ถูกชัตดาวน์มาก่อนกรมป่าไม้

เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงานรายหนึ่ง บอกว่า ทุกๆ วันถึงแม้จะต้องปืนรั้วกรมประชาสัมพันธ์ ที่ไม่ได้เปิดประตูเล็กๆ จนบางวันก็เกือบพลัดตกลงไป แต่ทั้งหมดไม่ถือเป็นอุปสรรคที่ต้องเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ที่ ทส.เลย แม้ว่าบางวันก็ต้องเงี่ยหูฟังว่า กปปส.จะมาตรวจสอบว่ามีคนแอบลักลอบมาทำงาน หรือขู่ตัดน้ำตัดไฟหรือไม่

เธอ บอกว่า การชัตดาวน์ในฐานะคนทำงาน โดยเฉพาะข้าราชการ เขาไม่ได้ปิดกั้นว่าใครต้องอยู่ฝั่งไหน แต่ละคนมีจุดยืนของตัวเอง และทุกองค์กรไม่ใช่ของรัฐ ก็เป็นแบบนี้ แต่การแสดงออกทางการเมืองของแต่ละคน ตราบใดถ้าไม่ปะปนกับการทำงาน และความรับผิดชอบของตัวเองก็ไม่ส่งผลกระทบอะไร ทั้งนี้บางรายอาจไม่สะดวกในการเดินทาง ก็อาจทำงานที่บ้านได้

" มองว่าข้าราชการ ยังไม่กระทบ เพราะยังมีเงินเดือนที่รัฐต้องจ่ายให้ โชคดีกว่า อาจจะลำบาก แม้ว่าต้องปืนรั้วความสูงประมาณ 3 เมตร ขณะที่คนกลุ่มอื่นๆ เช่น พ่อค้าแม่ค้า ชาวนา หรืออาชีพอื่นๆ มีผลกระทบมากกว่า ดังนั้นการคล้องโซ่ ปิดกุญแจ จึงไม่ได้สะท้อนว่าข้าราชการ เจ้าหน้าที่จะละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ขณะเดียวกันก็ไม่ได้บอกว่าถ้าเปิดโซ่แล้ว จะทำให้การทำงานดีขึ้นหรือแย่ลง"

และเธอยังย้ำว่า เสียงสะท้อนภายหลังการเปิดโซ่ หรือการชัตดาวน์กรมต่างๆ เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปประเทศตามข้อเรียกร้องของกปปส.นั้น ถ้าถามว่ามันมีหลายสิ่งที่ทุกคน ทุกฝ่ายควรมีส่วนร่วมมากกว่านี้ แต่ไม่ใช้แค่ฝั่งกลุ่ม กปปส. กับรัฐบาล แต่ควรมีกลุ่มอื่นๆ มีคนมากมายในสังคม ทั้งชาวนา นักศึกษา องค์กรอื่นๆ ที่อยู่ในพื้นที่ของสังคม และยังขาดการยอมรับ แต่ทุกฝ่ายควรต้องหันหน้ากลับมาเจรจากันอย่างจริงจังเสียที่ เพื่อปลดโซ่ตรวนครั้งนี้

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
-------------------------------------------------

วันอังคารที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ปฏิรูป พ่นพิษ !!?

โดย ชลาทิพย์ ถิรสุนทรากุล

ช่วงนี้คำว่า "พ่นพิษ" กลายเป็นคำฮิตในหลายพาดหัวข่าวเพราะแทบทุกอย่างได้รับผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ปัญหาการเมืองระลอกนี้กินเวลานานกว่าที่หลายฝ่ายคิด วันนี้การเมืองไทยจึง "พ่นพิษ" กันไปทุกระดับ ตั้งแต่ระดับเศรษฐกิจ ธุรกิจภาคต่าง ๆ ไปจนถึงพ่นพิษกันเองกับคนใกล้ตัว...

วันก่อนคุยกับติวเตอร์ที่ติวเด็ก ๆ เพื่อเตรียมสอบตรงเข้าคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเก็งข้อสอบว่าจะถามเกี่ยวกับปัญหาการเมืองยามนี้ อาทิ ปัญหาการใช้รัฐธรรมนูญ ปัญหานิติรัฐ แต่อาจเพราะสังคมพูดคุยถกเถียงกันจนถึงจุดที่ไม่มีใครยอมรับเหตุผลใครหรือไม่

เป็นอันว่าข้อสอบเลยฉีกแนวออกประเด็นการเมืองต่างประเทศ ประเด็นด้านบริหารรัฐกิจแทน

คุยถึงเรื่องสอบเข้ามหาวิทยาลัย เลยอยากชวนคุยเรื่องการศึกษา การงานอาชีพ มองไปในอนาคตบ้าง ยามที่สถานการณ์บ้านเมืองไม่นิ่ง จะรอให้สงบราบรื่นโดยเร็ว หรือรอใครมาสร้างบ้านเมืองให้เป็นสังคมยูโทเปียก็ดูจะเพ้อฝัน

เอาเป็นว่าหลีกหนีอารมณ์ขุ่นมัวทางการเมืองมาดูว่า เรา ๆ จะอยู่กันอย่างไรในสังคมอนาคต มองไปข้างหน้าเพื่อเตรียมรับกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทั้งในประเทศไทย อาเซียน และในประเทศซีกโลกตะวันตก

ทราบกันดีว่า อีกไม่นานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) จะเริ่มขึ้น มีการพูดถึงอาชีพที่จะขยายวงกว้างและถ่ายเทบุคลากรไปมาในอาเซียน ที่คุ้นกันดีว่าเป็นอาชีพที่น่าจะสร้างงานสร้างรายได้ ข้ามถิ่นฐานไปประกอบอาชีพกันได้ อาทิ แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ นักบัญชี สถาปนิก วิศวกร

อาชีพเหล่านี้ถูกเก็งว่ายอดฮิตแน่นอนหลังเปิดเออีซี แล้ว ในส่วนของประเทศไทยการเตรียมพร้อมบุคลากรด้านภาษาอังกฤษให้สอดรับอย่างทัน ท่วงทีก็จะได้อานิสงส์เต็มเม็ดเต็มหน่วย

นั่นคือในระดับอาเซียน ที่พอจะประเมินได้ว่าจากอาชีพที่น่าจะยอดนิยมในอาเซียนเหล่านี้จะส่งผลให้ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องได้รับประโยชน์กันไปเต็ม ๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงพยาบาล บริษัทก่อสร้าง เป็นต้น

ทีนี้เมื่อมองภาพใหญ่ขึ้นมาอีกในระดับซีกโลกตะวันตกในรายงานประจำปีจาก US News & World Report วิเคราะห์ว่า มีการปรับเปลี่ยนในปีนี้ จากกลุ่มอาชีพและอุตสาหกรรมด้านสุขภาพที่เคยมาแรง เป็นแชมป์อันดับหนึ่งมาตลอด แต่สำหรับ พ.ศ. 2557 จะเป็นเทรนด์ของอาชีพด้านเทคโนโลยีขึ้นมาแทน

บรรดาธุรกิจและ อุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีทยอยไปขึ้นอันดับอาชีพยอดนิยมและอาชีพสร้างรายได้ เป็นกอบเป็นกำ อาทิ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ถูกยกให้เป็นอาชีพยอดเยี่ยมอันดับหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ของปี 2557

แม้หมวดอาชีพด้านเทคโนโลยีจะขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งโดยไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร เพราะมีแนวโน้มที่บูมให้เห็นมาซัก 1-2 ปีแล้ว

ปัจจุบัน บรรดาอาชีพหมวดนี้ถูกระบุว่า มีรายได้ดีและเป็นที่นิยมสำหรับคนรุ่นใหม่ อาทิ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ นักวิเคราะห์งานระบบคอมพิวเตอร์ นักพัฒนาเว็บไซต์ นักวิเคราะห์ข้อมูลด้านความปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์ ผู้ดูแลงานระบบคอมพิวเตอร์ ผู้จัดการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โปรแกรมเมอร์ เป็นต้น

ขณะที่หมวดอื่น ๆ รองลงมาอย่างกลุ่มอาชีพด้านการแพทย์และกลุ่มอาชีพด้านบริการสังคม เป็นต้นว่า ทนายความ ครูในโรงเรียน ช่างทำผม ถัดมาคืออาชีพด้านการก่อสร้าง และตามมาด้วยอาชีพกลุ่มความคิดสร้างสรรค์อย่างสถาปนิก นักออกแบบต่าง ๆ นักประชาสัมพันธ์ เป็นต้น เหล่านี้ยังคงติดอันดับอาชีพรายได้ดี แต่ก็ลดหลั่นกันลงไป

สำหรับประเทศไทยที่การเมืองยังฝุ่นตลบแบบนี้ การเตรียมตัวพัฒนาตลาดแรงงานให้ได้รับอานิสงส์เออีซีและรองรับการหมุนเร็วของโลกก็ไม่รู้จะไปได้ไกลแค่ไหน อยากจะมองถึงอนาคตไกล ๆ เหมือนกัน แต่พอเห็นสถานการณ์ยามนี้ที่น่าจะกระทบยาว เพราะเราก็ยังติดกับดักในประเทศตัวเองกันอยู่ มีคณะผู้อยากจัดระเบียบ อยากปฏิรูป แต่ไม่เข้าสู่กติกากัน สร้างเงื่อนไขให้เขยิบไปไหนไม่ได้ เป็นทางตัน

ก็ไม่รู้ว่าทำไปทำมา วาทะปฏิรูปแบบที่ไม่ฟังประชาชนให้ถ้วนทั่วกันเลย จะกลายเป็นปฏิรูปพ่นพิษเข้าเสียนี่ ?

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
----------------------------------------

วันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

วิบากกรรมกู้เงิน..จ่ายจำนำข้าว !!



เปิดหนังสือสบน.ชี้เสี่ยงผิดรัฐธรรมนูญ วิบากกรรม"กู้เงิน"จ่ายจำนำข้าว "โครงการประชาระทม"รัฐบาลยิ่งลักษณ์

โครงการรับจำนำข้าว ฤดูนาปี 2556/57 ถือว่าเป็นฤดูผลิตที่เผชิญกับปัญหาหนักหน่วงที่สุด

เพราะนอกจากมีปัญหาเรื่องระบายข้าวในสต็อกรัฐบาลได้ล่าช้าแล้ว ยังประสบปัญหาสภาพคล่องอย่าง"รุนแรง" และปัญหาดังกล่าวได้เผชิญกับ"ทางตัน"มากยิ่งขึ้น เมื่อรัฐบาลยุบสภา จนเกิดความล่าช้าแผนกู้เงินเพื่อนำมาใช้ในโครงการ และยังเผชิญแรงกดดันจากการค้างใบประทวนชาวนาทั่วประเทศราว 1.1 แสนล้านบาท

ย้อนกลับไป เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2556 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินโครงการจำนำข้าวเปลือก (นาปี) ปีการผลิต 2556/57 กรอบวงเงิน 270,000 ล้านบาท โดยให้กระทรวงการคลังพิจารณาหาเงินทุนให้แก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการ ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ

ทั้งนี้ ให้กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นจากกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการ

ต่อมาได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2556 ซึ่งมีผลให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งไปปฏิบัติหน้าที่ได้เท่าที่จำเป็น ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้ในมาตรา 181 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ตามรัฐธรรมนูญ รัฐบาลไม่สามารถสร้างภาระผูกพันในการอนุมัติโครงการให้กับรัฐบาลใหม่ได้ แต่รัฐบาลก็ส่งเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) พิจารณาว่าสามารถกู้เงินได้หรือไม่

คำตอบจากกกต.คือไม่มีอำนาจพิจารณา จึงโยนกลับมาให้รัฐบาลเป็นผู้พิจารณาเองว่าจะทำอย่างไร พร้อมกับระบุว่ารัฐบาลต้องรับผิดชอบเอง หากดำเนินการกู้เงิน

รัฐบาลดูเหมือนจะเตรียมตัวไว้ และคาดเดาได้ว่ากกต.จะมีมติเช่นนั้น ทำให้การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 ม.ค.2557 มีมติปรับปรุงแผนการก่อหนี้สาธารณะใหม่

ตามแผนปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2557 ครั้งที่ 1 ที่มีวงเงินปรับลดลง 5,168,92 ล้านบาท จากเดิม 1,361,899.76 ล้านบาท เหลือ 1,316,330.84 ล้านบาท

แต่ได้อนุมัติการค้ำประกันเงินกู้ให้กับรัฐวิสาหกิจภายใต้กรอบวงเงินของแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2557 ปรับปรุงครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการโดยมติคณะรัฐมนตรี และหน่วยงานไว้ก่อนวันที่ ได้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556

นอกจากนี้ อนุมัติให้กระทรวงการคลัง เป็นผู้พิจารณาการกู้เงิน วิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่างๆ ของการกู้เงิน และการค้ำประกันในแต่ละครั้งได้ตามความเหมาะสม และจำเป็นภายใต้แผนบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2557 ปรับปรุงครั้งที่ 1 ทั้งนี้ หากรัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการกู้เงินได้เอง ก็ให้สามารถดำเนินการได้ตามความเหมาะสม และจำเป็นของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ

พร้อมกันนี้ รัฐบาลส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาอีกครั้งว่าสามารถทำได้หรือไม่ แม้ว่าในมติครม.ที่ผ่านการอนุมัติแผนปรับปรุงหนี้สาธารณะ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุว่าสามารถดำเนินการได้ แต่ต้องไม่สร้างภาระผูกพันให้กับรัฐบาลใหม่

แต่ความเห็นของกฤษฎีกาครั้งที่ 2 เห็นว่ารัฐบาลสามารถดำเนินการได้ โดยทำความเห็นส่งให้กระทรวงการคลังในวันที่ 23 ม.ค.

แต่ภาระการกู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อใช้ในโครงการนี้เป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลัง โดยสำนักบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)

หลังจากนั้น สบน.ใช้เวลาศึกษาข้อกฎหมายและรายละเอียดทั้งหมด ก่อนส่งเรื่องให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในวันที่ 27 ม.ค.

สบน.นำความเห็นของกฤษฎีกามาพิจารณา พร้อมกับเสนอความเห็นของสบน.ต่อการกู้เงินครั้งนี้

สบน.ระบุในหนังสือถึงนายกิตติรัตน์ว่าได้พิจารณาข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย ตลอดจนความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยละเอียดรอบคอบแล้ว มีความเห็นดังนี้

1. โครงการรับจำนำข้าวเปลือก (นาปี) ปีการผลิต 2556/57 กรอบวงเงิน 270,000 ล้านบาท คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้ดำเนินการ และให้กระทรวงการคลังพิจารณาจัดหาเงินทุนให้ ธ.ก.ส. เพื่อใช้ในการดำเนินการโครงการดังกล่าว ก่อนที่มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรฯ และในส่วนของการค้ำประกันเงินกู้ของโครงการดังกล่าว คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติภายหลังจากที่ได้มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว แต่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ให้ความเห็นว่า "โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556 /57 ได้ก่อให้เกิดหนี้รัฐบาลมีหน้าที่ต้องชำระตามกฎหมาย โดยโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไว้ก่อนที่มีการตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556"

ดังนั้นการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2557 อนุมัติให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ของรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนมอบหมายให้กระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณาการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่างๆ ของการกู้เงิน และการค้ำประกันในแต่ละครั้ง ได้ตามความเหมาะสม และจำเป็น จึงเป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของกระทรวงการคลัง ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 เพื่อให้สามารถชำระหนี้ของรัฐบาลตามโครงการที่ได้รับอนุมัติก่อนการยุบสภาผู้แทนราษฎร จึงไม่ถือเป็นการกระทำอันมีผลเป็นการอนุมัติงาน หรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป ตามบทบัญญัติมาตรา 181 (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

2. การที่กกต.มีความเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงการกู้ยืมเงิน โดยการปรับลดวงเงินกู้ และค้ำประกันหนี้ของรัฐวิสาหกิจบางแห่งลง และนำวงเงินกู้มาเพิ่มให้แก่ ธ.ก.ส.สำหรับนำมาใช้ในการโครงการรับจำนำข้าวตามนโยบายของรัฐบาลนั้น อาจมีผลกระทบต่อความรับผิดชอบของคณะรัฐมนตรี หากมีการวินิจฉัยชี้ขาดโดยองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ต่อไปว่า การดำเนินการดังกล่าว อาจเป็นการฝ่าฝืน หรือละเมิดบทบัญญัติรัฐธรรมนูญอันอาจมีผลทำให้เกิดความรับผิดชอบในทางกฎหมายและในทางการเมืองตามมาได้

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะจึงมีข้อสังเกตว่า การดำเนินตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 ม.ค.2557 สำหรับโครงการรับจำนำข้าวเปลือก (นาปี) ปีการผลิต 2556/57 ตามมติคณะรัฐมนตรีข้างต้นอาจถูกวินิจฉัยชี้ขาดโดยองค์กรที่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 (3) หรืออาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้

อย่างไรก็ตาม สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ตระหนักดีว่า กระทรวงการคลังยังมีภารกิจที่ต้องดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2556 และ วันที่ 21 ม.ค.2557 ภายใต้พระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ดังนั้น จึงเห็นควรนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาทบทวน หรือ สั่งการยืนยันให้ดำเนินการดังกล่าวต่อไป

ในที่สุด นายกิตติรัตน์ ก็สั่งการให้เดินหน้าต่อไปเปิดประมูลการกู้เงิน จึงต้องรอลุ้นว่าจะมีสถาบันการเงินใดปล่อยกู้นโยบาย"คาบลูกคาบดอก" กับข้อกฎหมายหรือไม่ และชะตากรรมจากนี้ของคนที่เกี่ยวข้องจะเป็นอย่างไร

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
----------------------------------------------

วันศุกร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2557

ก้าวเล็กๆเพื่อ ปชต. ก้าวที่ยิ่งใหญ่เพื่อประเทศ !!

เมื่อครั้งที่สหรัฐอเมริกา ส่งยานอพอลโล 11 ไปลงดวงจันทร์ พร้อมนักบินอวกาศ ได้มีวลีเด็ดประโยคหนึ่งเกิดขึ้นในการเหยีบพื้นดวงจันทร์ครั้งแรกของมนุษย์ นั่นคือ
แม้เป็นก้าวเล็กๆของมนุษย์ แต่เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ

สำหรับประเทศไทยยามนี้ แม้อาจจะไม่ได้มีเหตุการณ์ถึงขั้นก้าวไปยืนบนดวงจันทร์ แต่เหตุการณ์ “ก้าวเดินไปข้างหน้า เพื่อที่จะใช้สิทธิในการเลือกตั้ง”ของผู้หญิงตัวเล็กๆ 2 คน เมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา
ต้องถือว่า มิได้เป็นเพียงแค่ก้าวเล็กๆของสตรีใจกล้า แต่เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่สำหรับอนาคตประชาธิปไตยของประเทศนี้

เป็นก้าวที่กล้าในภาวะที่ประเทศชาติต้องถูกต้อนเข้าสู่มุมอับ เจอทางตันจากการปิดล้อมทางการเมือง ด้วยการปลุกสร้างกระแสเกลียดชังของพลังบริสุทธิ์กลุ่มหนึ่งให้ออกมาขับไล่ระบอบทักษิณ แล้วบานปลายเป็นการแช่แข็งปิดประเทศไทย

แม้ว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะประกาศอ้างตลอดว่า ใช้แนวทางอารยะขัดขืนเพื่อคัดค้านการเลือกตั้ง ด้วยการชุมนุมอย่างสงบ สันติ ปราศจากความรุนแรง

สอดรับกับแนวทางของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ระบุเช่นเดียวกันว่าบอยคอตการเลือกตั้ง แต่ไม่ขัดขวางการเลือกตั้ง

แต่ภาพจริงที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็คือการไปปิดล้อมการรับสมัครเลือกตั้ง เกิดความรุนแรงจากความพยายามที่จะปิดล้อมพยายามที่จะบุกรุกเข้าไปในสถานที่ กระทั่งนำไปสู่ความสูญเสียชีวิตของทั้งผู้ชุมนุม และเจ้าหน้าที่ตำรวจ

แม้ว่าบทเรียนจากความรุนแรงที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง จะทำให้นายสุเทพ ประกาศว่า แม้ไม่สนับสนุนการเลือกตั้ง แต่ก็จะไม่ขัดขวางการเลือกตั้ง

สุดท้ายก็ยังคงมีกรณีที่แตกต่างจากคำประกาศของนายสุเทพ และเกิดความสูญเสียชีวิต และบาดเจ็บกันขึ้นอีกครั้ง

ความจริงถูกฟ้องโดยคลิปเหตุการณ์ 2 เหตุการณ์ที่มีการแชร์กันสนั่นโลกออนไลน์ คลิปแรกคือกรณีที่หญิงสาวคนหนึ่งพยายามรักษาสิทธิของเธอด้วยการฝ่าดงม็อบต่อต้านประชาธิปไตยของกปปส.ราว 500 คน เข้าไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ

ในคลิป สตรีผู้นี้ได้พูดกับม็อบกปปส.ที่หน้าประตูเขตสวนหลวงที่ถูกม็อบปิดล็อกไว้ และใช้ม็อบขวางไว้จำนวนมากว่า “เราต้องรักษาสิทธิของเรา ทำไมต้องขออนุญาตใคร คุณสุเทพพูดไว้แล้วว่าคัดค้านแต่ไม่ขัดขวาง แล้วนี่ไง(เธอชี้ไปที่ประตู จุดที่ม็อบนำผ้าคล้องประตูไว้)ว่า นี่ไงเป็นการขัดขวาง แต่ฉันไม่ยอม ยังไงก็จะเข้าไปใช้สิทธิของฉัน ฉันจะเลือกใครก็สิทธิของฉัน”

จากนั้นเธอก็ตัดสินใจที่จะปีนข้ามประตูรั้วที่ขวางไว้เข้าไปในพื้นที่เลือกตั้ง
วินาทีนั้นได้ปรากฏเสียงโห่ร้องดีใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งรายอื่นๆที่โดนม็อบขัดขวาง พร้อมกับส่งเสียงให้เธอว่า “สุดยอดๆเลย”

เป็นเสียงแสดงความยินดีร่วมให้กำลังใจ ที่ดังลั่นจนกลบเสียงนกหวีด

ต่อมาได้มีการสัมภาษณ์ หญิงสาวผู้นี้ ทำให้สังคมได้รับทราบชื่อของเธอว่า นางสาวสุวินันท์ ชัยปราโมทย์ โดยคำให้สัมภาษณ์ ของหญิงกล้าผู้นี้กับทาง Police News โดยสรุปก็คือ
“วันนี้เป็นวันเลือกตั้งล่วงหน้าที่ใฝ่ฝันมานาน ด้วยใจรักประชาธิปไตยและความยุติธรรม เวลา 08.05 น.โดยประมาณ เสียงม็อบ กปปส.ประกาศเราจะแสดงออกเพื่อคัดค้านการเลือกตั้งโดยสันติอหิงสา เดินเข้ามาอีก100เมตรจะถึงเขตและมีเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยประมาณนึง ก็คิดว่าคงไม่มีอะไรมาก พอเดินมาใกล้ๆ อ้าว ม็อบนกหวีดทั้งนั้นที่มายืนขวางประตูแต่เช้าเลย ทั้งชายฉกรรจ์หน้าตาเหมือนคนใต้หลายคนถือธงชาติด้ามโตหลายอัน ปิดหน้าปิดตาดูน่ากลัวมาก และผู้หญิงเป่านกหวีดอีกหลายคน

ประตูรั้วของเขตปิด เป็นประตูรั้วแสตนเลสสีเงินแบบโปร่ง แต่มองเห็นชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่นั่งทำตาปริบๆว่าผู้ใช้สิทธิ์จะเข้ามายังไง

พอจะเลื่อนเปิดประตู อ้าวเจอผ้าขาวม้าผืนใหญ่มัดประตูไว้แน่นหลายชั้น ยื่นมือเข้าไปแกะท่ามกลางเสียงผู้ชายหน้าโหดหลายคนตะโกนบอก “เข้าไม่ได้ เข้าไม่ได้” เมื่อถามว่าทำไม คำตอบคือ “มีคำสั่งห้ามเข้า” พอถามว่าใครสั่ง คำตอบที่ได้รับคือ “คุณสุเทพ”!!!

เมื่อแย้งว่านายสุเทพบอกคัดค้าน แต่ไม่ขัดขวาง ทางการ์ดก็ยังยืนกรานว่าเข้าไม่ได้ แถมยังดึงมือปัดมือไม่ให้แกะผ้าผูกปิดประตูออก ทำให้วินาทีนั้นรู้สึกถูกริดรอนสิทธิ์อย่างมาก รับไม่ได้เลย แต่ใจไม่มีความกลัวอันธพาลเลยแม้แต่น้อย ตอนนั้นคิดอย่างเดียวว่ายังไงก็ต้องไปใช้สิทธิ์ของเราให้ได้ ก็เราคนไทย ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย แล้วทำไมเราต้องยอมคนแบบนี่

วินาทีนั้นเลยโยนรองเท้าเข้าไปก่อน แล้วปีนรั้วขึ้นข้ามไปโดยไม่สนใจเสียงโห่ของม็อบคนเลวพวกนี้เลย เจ้าหน้าที่หญิงสองสามคนวิ่งเข้ามาหาด้วยความดีใจปรบมือดีใจต้อนรับ รีบพาเข้าไปคูหาเลือกตั้ง เขาบอก “พี่คือผู้ใช้สิทธิ์ในเขตคนแรกเลยน่ะค่ะที่เข้ามาได้ พี่กล้ามากเลยนะคะ”
เลยบอกไปว่า ดิฉันรับไม่ได้กับบ้านป่าเมืองเถื่อนแบบนี้ นี่หรือประเทศไทย

เป็นอันว่าเธอผู้กล้าก้าวข้ามการขัดขวาง สามารถที่จะเข้าไปใช้สิทธิเลือกตั้งเพื่อให้ประชาธิปไตยของไทยเดินหน้าต่อไปตามระบบที่ถูกต้องที่ควรจะเป็น

เมื่อใช้สิทธิเลือกตั้งเสร็จ ตอนจะกลับออกจากหน่วยเลือกตั้ง เธอก็ต้องปีนรั้วอีก แต่เจ้าหน้าที่แนะนำให้ปีนออกด้านหลังเพื่อความปลอดภัย แต่กลายเป็นว่าลำบากกว่าปีนเข้าซะอีก เพราะด้านหลังรั้วกับหลังคาห่างกันแค่หนึ่งฟุต รั้วก็สูงเกือบสองเมตรได้ แถมทางด้านหลังรั้วยังเป็นทางเดินปูนบนทางระบายน้ำอีก เลยต้องปีนพร้อมกับนอนคร่อมรั้วเพื่อออกมาทางด้านหลัง และเดินออกถนนใหญ่เพื่อกลับมาที่รถ
เสร็จสิ้นการใช้สิทธิทางประชาธิปไตย อันแสนทรหดในความรูสึกของเธอ พร้อมกับระบุว่า

 หากมีบุคคลกล้าอย่างดิฉันอีก ก็เชื่อว่า จะสามารถเดินหน้าพาประเทศเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยได้อย่างแน่นอน!!”

และแน่นอนเช่นกันในโลกโซเชี่ยล ในสื่อต่างๆพูดกันแชร์กันสนั่นไปหมด

เช่นเดียวกับอีกคลิปหนึ่งที่สุภาพสครีพยายามเดินเข้าคูหาเลือกตั้ง บริเวณเขตจตุจักร ท่ามกลางกลุ่มผู้ชุมนุมกปปส. ที่พยายามขัดขวางไม่ให้เข้าไปเลือกตั้ง ด้วยวิธีการสารพัดทั้งจากผู้หญิงด้วยกัน และจากผู้ชายร่างใหญ่กว่าแข็งแรงกว่า ที่ทั้งฉุดกระชาก ทั้งเอาธงชาติคลุมหัวเพื่อลากตัวเธอให้เข้าไปเลือกตั้ง ทั้งๆที่เธอเป็นเพียงผู้หญิงวัย 50 ปี ที่มีเพียงไฟฉายในมือเท่านั้น

แต่เธอก็กล้าที่จะเดินฝ่าม็อบเข้าไป และกล้าที่จะบอกเหตุผลของการถือไฟฉายเข้าไปว่า ประเทศไทยมันมืดนัก ไฟฉายจะส่องทางไปแสวงหาประชาธิปไตยได้ ด้วยการใช้สิทธิเลือกตั้ง ประเทศชาติจะได้พ้นความมืดมิดเสียที ซึ่งทราบชื่อในภายหลังว่า นางสาวพิจาริณี รัตนชำนอง

สตรีทั้ง 2 คนใช้ความสงบ สันติ และปราศจากความรุนแรงอย่างแท้จริง เป็นธงนำหน้าในการเดินฝ่าคนในกลุ่ม กปปส. ที่ปิดล้อมหน่วยเลือกตั้งเข้าไปเพื่อที่จะใช้สิ?ตามกฎหมายของเธอ

สำหรับผู้ชายก็ไม่น้อยหน้ากัน ที่จุดเลือกตั้งวัดธาตุทอง ก็เป็นอีกแห่งที่ถูกม็อบ กปปส.ปิดล้อม เพื่อขัดขวางไม่ให้คนเข้าไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เมื่อเข้าไม่ได้ชายผู้หนึ่งซึ่งมาตั้งแต่เช้าเพราะต้องการใช้สิทธิ จึงเลือกที่จะนั่งประท้วงกลางแดด ต่อหน้ากลุ่ม กปปส จนถึงเวลา 10.30 น.

เป็นอีกกรณีของก้าวที่กล้า เพื่อประชาธิปไตยที่น่ายกย่อง เพราะนี่คือสงบ สันติ อย่างแท้จริง
แต่ที่จุดเลือกตั้งจตุจักรอีกเช่นกัน ที่นอกจากจะมีการใช้ควารุนแรงกับนางสาวพิจาริณีแล้ว ยังมีเหตุการณ์ทำร้ายชายคนหนึ่งที่จะเข้าไปเลือกตั้งเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน แถมยังฉวยโอกาสขโมยโทรศัพท์ที่ชายคนนี้ถ่ายภาพเหตุการณ์เอาไว้ไปด้วย

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา ในกรณีของการเลือกตั้งล่วงหน้า ที่ทำให้เกิดภาพลบกับประเทศไทย นั่นหมายความรวมถึงกรณีการยิงจนมีผู้เสียชีวิตที่แถวๆวัดศรีเอี่ยม หรือกรณีของเขตลาดกระบัง ที่ผู้ต้องการใช้สิทธิ ได้ใช้ไม้ตีกลุ่มม็อบ กปปส. ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสลดใจ

เราไม่สนับสนุนความรุนแรงไม่ว่าจากฝ่ายใดทั้งสิ้น รวมทั้งต้องการเห็นการยุติปัญหาทางการเมืองในครั้งนี้โดยสันติ เพราประเทศชาติบอบช้ำมามากแล้ว และที่สำคัญหากยังดันทุรังทำตัวเป็นมะเร็งร้ายของแผ่นดิน ของประเทศกันต่อไป หากเกิดความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่กว่านี้ ใครจะรับผิดชอบ

อยากให้แกนนำใหญ่อย่างนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้พิจารณาถึงความพยายามรักษาสิทธิ์ของสุภาพสตรีทั้ง 2 ท่าน ว่านี่คือสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาธิปไตยและประเทศชาติอย่างแท้จริงมิใช่หรือ
การปาวๆแต่วาจาว่าไม่ได้รุนแรง ไม่ได้ขัดขวางการเลือกตั้งนั้น จนถึงขั้นนี้แล้ว ไม่คิดที่จะแสดงความ
เป็นลูกผู้ชายรับผิดชอบต่อสิ่งที่พูดแล้วทำไม่เคยได้บ้างหรือ???

ไม่อายสุภาพสตรีที่มีใจแกร่ง และรักประชาธิปไตยอย่างแท้จริงเลยหรืออย่างไร!!!

ที่มา.บางกอกทูเดย์
---------------------------------------------

คืน สู่ วันวาน !!?

โดย.พญาไม้

ประเทศมันจะเป็นประเทศต่อไปได้อย่างไร..หากว่ากลไกของประเทศมันผิดเพี้ยนไปจากความเป็นปรกติอย่างเชื่อมกันไม่ติด

หากจะนำประวัติศาตร์ของประเทศไทยที่ยาวนานเกือบหนึ่งพันปีมาตรวจสอบแล้ว..ยกเว้นเหตุการณ์ตอนทำศึกสงครามแพ้พม่าจนเสียกรุง 2 ครั้งแล้ว

ต้องนับว่า..เหตุการในช่วงขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุด
และจนถึงวันนี้ ก็ยังไม่มีใครสามารถตอบได้ว่า..หายนะแห่งแผ่นดินนี้จะจบลงในรูปแบบไหน จะจบลงอย่างไร และจะจบลงเมื่อไหร่

แบบไหน..

ประเทศยังจะเป็นประชาธิปไตยต่อไปหรือไม่ หรือจะเป็นประเทศที่ปกครองโดยคนกลุ่มหนึ่งกับสภาประชาชนของเขา และประกาศไล่ล่ายึดทรัพย์คนฝ่ายตรงกันข้ามและสถาปนาตำแหน่งต่างๆ ทั้งในรูปแบบข้าราชการประจำและการเมืองตามประกาศิตของท่านผู้นำการปฏิวัติ

อย่างไร..

ประชาชนทั้งชาติจะยอมมอบประเทศให้กับคนกลุ่มหนึ่งที่ใช้เครื่องขยายเสียงและรถกระจายเสียงบุกเข้าไปปิดกั้นสถานที่ราชการต่างๆ ไม่ให้บริการประชาชน ไม่ให้ใช้กฏหมายในทุกๆ รูปแบบ ปิดกั้นการทำหนังสือเดินทาง ปิดหนทางรถพยาบาลไม่ให้นำคนไข้เข้าไปรับการรักษา อย่างนั้นหรือ
และหากว่าหลังจากนั้น ประชนชนอีกฝ่ายลุกขึ้นมาทำแบบเดียวกัน รัฐบาลของคนกลุ่มนั้นจะทำอย่างรัฐบาลปัจจุบันหรือไม่หรือจะใช้ความเป็นรัฐบาลสั่งการให้ตำรวจทหารจับกุมคุมขังเอาไปเข้าคุก
ประเทศมันก็จะโคจรอยู่ในวงกลมอุบาทว์ไม่มีวันสิ้นสุดไม่มีวันจบสิ้น

จะจบลงเมื่อไหร่..

เมื่อมันไม่มีวันสิ้นสุด มันก็ไม่มีวันจบสิ้น และอย่าหวังพึ่งอำนาจของกองทัพในตอนนั้น เพราะถึงวันนั้นกองทัพก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะกองทัพก็คือประชาชนสองฝ่ายในเครื่องแบบทหารของชาติ การสั่งการเอนเอียงไปทางหนึ่งทางใด อาจจะเป็นภัยกับกองทัพเสียเอง

ถึงวันนี้ ไทยทั้งชาติต้องกลับไปหาความเป็นจริงที่ว่า..กฏหมายของประเทศจะต้องถูกบังคับใช้ให้เป็นไปตามเจตนารมย์แห่งกฏหมาย

เรื่องจะปฏิรูปจะแก้ไขประเทศ มันไม่ใช่หน้าที่ของคนไทยตนเดียว

ที่มา.บางกอกทูเดย์
----------------------------------------

วันพุธที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2557

สมัชชารัฐสภา อาเซียน !!?

โดย. ณกฤช เศวตนันทน์

ที่ผ่านมาเรามักกล่าวถึงความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจของเหล่าประเทศสมาชิกอาเซียน แต่ท่านผู้อ่านทราบหรือไม่ว่าอาเซียนมีความร่วมมือในด้านนิติบัญญัติหรือ รัฐสภาด้วย

บทความฉบับนี้จะได้มาทำความรู้จัก "สมัชชารัฐสภาอาเซียน" ซึ่งเป็นความร่วมมือในอีกรูปแบบหนึ่งของอาเซียน

"สมัชชา รัฐสภาอาเซียน" หรือ AIPA (ASEAN Inter-Parliamentary Assembly) เริ่มก่อตั้งอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐสภาแห่งชาติในอา เซียนและบูรณาการการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติให้มีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น รวมถึงเพิ่มช่องทางการทำงานร่วมกันของเหล่าประเทศสมาชิกอาเซียน โดย สมัชชารัฐสภาอาเซียนทำหน้าที่เป็นเสมือนเวทีประชุมแลกเปลี่ยนและปรึกษาหารือ กันระหว่างรัฐสภาของประเทศสมาชิก ซึ่งอาจนำไปสู่การปรับแก้กฎหมายของแต่ละประเทศให้เป็นไปตามข้อตกลงต่าง ๆ ของอาเซียน ตลอดจนร่วมกันผลักดันให้อาเซียนก้าวไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียน

ในปี พ.ศ. 2558 ร่วมกันภายใต้หลักของการเคารพสิทธิมนุษยชนตามระบอบประชาธิปไตยและความมั่นคงในอาเซียน
ปัจจุบัน สมาชิกของสมัชชารัฐสภาอาเซียน ประกอบด้วย รัฐสภาแห่งชาติของประเทศจากสมาชิกอาเซียนจำนวน 10 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย กัมพูชา อินโดนีเซีย สปป.ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม บรูไน และพม่า

โดยปกติสมัชชารัฐสภาอาเซียนจะจัดประชุมใหญ่อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง ครั้งล่าสุดคือครั้งที่ 34 ได้จัดขึ้นที่ประเทศบรูไน ระหว่างวันที่ 17-23 กันยายน พ.ศ.2556 ภายใต้หัวข้อ "บทบาทของ AIPA ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน" ผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 300 คน ประกอบไปด้วย รัฐสภาประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ นอกจากนี้ยังมีผู้แทนจากประเทศผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมการประชุมอีกจํานวน 6 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐเบลารุส แคนาดา สาธารณรัฐประชาชนจีน อินเดีย ญี่ปุ่น สหพันธรัฐรัสเซีย และสภายุโรป

ทั้งนี้ในการประชุมสมัชชารัฐสภาอาเซียนนั้น ประธานรัฐสภาของประเทศที่เป็นเจ้าภาพการประชุมในปีนั้น ๆ จะดำรงตำแหน่งเป็นประธานสมัชชารัฐสภาอาเซียน ดังนั้น ประธานของสมัชชารัฐสภาอาเซียนคนปัจจุบัน จึงได้แก่ เปฮิน ดาโต๊ะฮัจยี อีซา อิบราฮิม ประธานรัฐสภาแห่งบรูไน นั่นเอง

การประชุมใหญ่สมัชชารัฐสภา อาเซียนครั้งที่ 34 ที่ผ่านมานั้น มีการพิจารณากันในเรื่องต่าง ๆ อาทิ การสนับสนุนประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน การสนับสนุนการเติบโตและการพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) อย่างยั่งยืน โดยมีข้อเสนอของอินโดนีเซียและเวียดนามในเรื่องการ สนับสนุนบทบาทของสมัชชารัฐสภาอาเซียน ในการตอบสนองต่อความท้าทายของการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อลดช่องว่างการพัฒนาในภูมิภาค การสนับสนุนบทบาทคนรุ่นใหม่เพื่อความพร้อมต่ออนาคตของอาเซียน รวมทั้งข้อเสนอของไทยในเรื่อง

ความ ร่วมมือในการทําให้อาเซียนเป็นเขตปลอดการล่วงละเมิดต่อเด็ก โดยในการประชุมครั้งต่อไปครั้งที่ 35 นั้น สปป.ลาวได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดงานระหว่างวันที่ 14-20 กันยายน 2557 ณ กรุงเวียงจันทน์ โดย เปฮิน ดาโต๊ะ

ฮัจยี อีซา อิบราฮิม ประธานรัฐสภาแห่งบรูไน ได้ทำการมอบตําแหน่งให้กับ นางปรานี ยาท่อตู้ ประธานสภาแห่งชาติ สปป.ลาว เพื่อการรับหน้าที่เจ้าภาพต่อไปอย่างเป็นทางการแล้ว

สมัชชา รัฐสภาอาเซียนที่เราพูดถึงกันอยู่นี้ มีความแตกต่างไปจากรัฐสภาของสหภาพยุโรป (European Parliament) อยู่มาก เนื่องจากรัฐสภาของสหภาพยุโรปเป็นองค์กรที่มีสถานะทางอำนาจเหนือรัฐ (Supranational Power) ที่สามารถบัญญัติกฎหมาย พิจารณา รับรองกฎระเบียบและอนุมัติงบประมาณของสหภาพยุโรปได้ โดยการมีอำนาจ เหนือรัฐของรัฐสภายุโรปเกิดจากความยินยอมที่จะสละอำนาจอธิปไตยเป็นบางส่วน ของประเทศสมาชิก ในขณะที่สมัชชารัฐสภาอาเซียนจะไม่มีอำนาจเหนือประเทศสมาชิก และไม่ได้ทำหน้าที่เป็นรัฐสภาที่จะบัญญัติกฎหมายที่ครอบคลุมอาเซียนทุกประเทศได้ เหตุผล ก็น่าจะมาจากความแตกต่างและความหลากหลายของระบบการเมืองการปกครองของประเทศ สมาชิกที่มีทั้งประชาธิปไตยแบบระบบรัฐสภา เช่น ประเทศไทย กัมพูชา สิงคโปร์ และมาเลเซีย กับประชาธิปไตยแบบ

ระบบประธานาธิบดีอย่างอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และพม่า หรือบรูไนที่ปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทำให้หลายประเทศสมาชิกยังไม่อาจใช้รัฐสภาในระบบเดียวกันได้

อย่างไรก็ดีแม้ว่าอาเซียนจะยังไม่พร้อมที่จะมีระบบรัฐสภาที่มีอำนาจเหนือรัฐสมาชิก ได้อย่างเช่นสภายุโรป แต่สมัชชารัฐสภาอาเซียนที่มีอยู่ในปัจจุบันก็ถือได้ว่ามีประโยชน์ และเป็นอีกหนึ่งเวทีสำคัญที่ช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างรัฐสภาของประเทศสมาชิกอาเซียนให้มีความใกล้ชิดกันมากขึ้นได้เป็นอย่างดี

เชื่อว่าในการประชุมสมัชชารัฐสภาอาเซียนที่กำหนดจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีนั้น จะยิ่งสร้างความร่วมมือที่แน่นแฟ้นให้กับอาเซียน อันจะนำไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนที่สมบูรณ์แบบ

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
-------------------------------------

เช็คขุมกำลังหน่วยปฏิบัติการพิเศษ พร้อมจู่โจม !!?

สำหรับกำลังตำรวจที่มีศักยภาพเพียงพอจะเป็นชุด "จู่โจม" ตามที่ ศรส. ประกาศว่าจะส่งไปจับกุมบรรดาแกนนำนั้น คงหนีไม่พ้นพวก "หน่วยปฏิบัติการพิเศษ" ของตำรวจหน่วยต่างๆ ที่ได้รับการฝึกฝนให้ปฏิบัติการด้านการต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งปัจจุบันนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีหน่วย "พิเศษ" แบบนี้อยู่ 5 หน่วยงาน ได้แก่ 1. นเรศวร 261 กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน 2. อรินทราช 26 กองกำกับการปฏิบัติการพิเศษ กองบัญชาการตำรวจนครบาล 3. สยบไพรี กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด 4. สยบบริปูสะท้าน กองบังคับการปราบปราม กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และ 5.ปราบไพรีอริศัตรูพ่าย กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1

หากมีการใช้หน่วยปฏิบัติการพิเศษเหล่านี้ก็จะอยู่ในความรับผิดชอบของ พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รอง ผบ.ตร. และมี พล.ต.ท.ปริญญา จันทร์สุริยา ผบช.ประจำสำนักงาน ผบ.ตร. ผู้เชี่ยวชาญด้านสืบสวน เป็นรองหัวหน้า และมี พล.ต.ต.ศรกฤษ แก้วผลึก ผบก.ฝรก. เป็นประจำชุด

แหล่งข่าวระดับสูงในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คาดว่า หน่วยปฏิบัติการพิเศษที่จะถูกเลือกมาเป็นลำดับแรกๆ คือ หน่วยปฏิบัติการพิเศษอรินทราช 26 ซึ่งมีความเชี่ยวชาญการใช้อาวุธและยุทธวิธีพิเศษ ได้รับการฝึกมาเป็นอย่างดี มีขีดความสามารถในการปฏิบัติการพิเศษต่อภัยคุกคามที่เป็นอาชญากรรม และการก่อการร้าย ด้วยการแย่งชิงตัวประกัน การจับกุม ตามแนว "การบริหารวิกฤตการณ์" ซึ่งการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม กปปส. ในครั้งนี้อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของหน่วยอรินทราช 26 โดยตรง เพราะอยู่ในพื้นที่เมืองหลวง และปริมณฑล

หน่วยอรินทราช 26 เป็นหน่วยปฏิบัติการพิเศษระดับกองร้อย สังกัดกองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ (191) ขึ้นตรงกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล หน่วยงานนี้ได้รับการฝึกอบรมอย่างเข้มข้นเป็นระยะ มีอุปกรณ์ครบมือ เช่น ปืนยิงแห, ปืนไฟฟ้า, ปืนพก, ปืนลูกซอง, ปืนกลเบา, ปืนไรเฟิล, ระเบิดมือ, รวมถึงอุปกรณ์ต่อต้านการจลาจล

นอกจากสถานการณ์อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบแล้ว การเลือกหน่วยอรินทราช 26 เป็นชุดปฏิบัติการลำดับแรกๆ เนื่องจาก ทั้งพล.ต.อ.วรพงษ์ และ พล.ต.ท.ปริญญา เคยเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของหน่วยอรินทราช 26 มาก่อน ทั้งในตำแหน่งผบช.น. ซึ่งพล.ต.อ.วรพงษ์ เคยทำหน้าที่ และในตำแหน่งรองผบช.น. ที่ พล.ต.ท.ปริญญา เคยทำหน้าที่ ทำให้มีความคุ้นเคยกับทีมปฏิบัติการเป็นอย่างดี

ถัดมาคือหน่วยปฏิบัติการพิเศษนเรศวร 261 เป็นหน่วยที่มีขีดความสามารถในการยุทธ์เคลื่อนที่ทางอากาศ การยุทธส่งทางอากาศ การรบพิเศษ และการปฏิบัติการพิเศษ เพื่อตอบโต้ต่อภัยคุกคามที่เป็นทหาร และไม่ใช่ทหาร ในการสงครามพิเศษ และการแก้ไขปัญหา การก่อความไม่สงบ, การก่อการร้าย ทุกรูปแบบ ด้วยการปฏิบัติการปกปิด มีพื้นที่รับผิดชอบปฏิบัติการทั่วประเทศ มีความเชี่ยวชาญในการจู่โจมทางอากาศ ซึ่งเหมาะกับภารกิจจู่โจมชิงตัวแกนนำโดยวิธีการโรยตัวจากที่สูง ซึ่งหน่วยงานนี้มีการฝึกฝนภารกิจดังกล่าวเป็นระยะ

นเรศวร 261 ประกอบกำลังในลักษณะกองร้อยปฏิบัติการพิเศษ (ร้อย ปพ.) จำนวน 3 กองร้อย, กองร้อยกู้ชีพ และงานเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด ขึ้นตรง บก.สนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ขณะที่ทางยุทธการ ขึ้นตรงกับศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย กองบัญชาการกองทัพไทย

ขณะที่ชุดปฏิบัติการพิเศษ สยบไพรี ของ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) น่าจะเป็นชุดปฏิบัติการถัดมาที่ ศรส. เลือกใช้ เนื่องจากเป็นหน่วยงานในสังกัดซึ่งเป็นที่ตั้งของ ศรส.ในขณะนี้ เดิมที่ชุดปฏิบัติการพิเศษสยบไพรี ก่อตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่กวาดล้างคดีอาชญากรรมและยาเสพติด มีขีดความสามารถในการต่อสู้และปราบปรามผู้ก่อการร้าย ผ่านการฝึกอบรมจากหลายหน่วยงาน อาทิ ศูนย์สงครามพิเศษกองทัพบก กรมนาวิกโยธิน กองทัพเรือ กรมปฏิบัติการพิเศษ หน่วยบัญชาการอากาศโยธินกองทัพอากาศ และหน่วยรบพิเศษจากต่างประเทศ DEA ของหน่วยงานยาเสพติดประเทศสหรัฐอเมริกา

ถัดมา หน่วยปฏิบัติการพิเศษปราบไพรีอริศัตรูพ่าย สังกัดกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 อาจจะถูกเรียกใช้เช่นกัน แม้หน่วยนี้จะยังไม่ค่อยคุ้นชื่อ แต่กองกำลังมีศักยภาพในปฏิบัติภารกิจจู่โจมไม่แพ้กัน ทั้งการจู่โจมทางอากาศ มีความเชี่ยวชาญในการโรยตัวเข้าอาคาร และปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็วในการรักษาความสงบเรียบร้อย ที่ผ่านมามีการฝึกฝนจำลองเหตุการณ์สถานการณ์ความวุ่นวายจากการชุมนุมทางการเมืองมาเป็นระยะ หน่วยนี้มีกำลังประมาณ 2 กองร้อย ปัจจุบันขึ้นตรงต่อ พล.ต.ท.นเรศ นันทโชติ ผบช.ภ.1 ซึ่งมีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับฝ่ายการเมืองขั้วอำนาจในปัจจุบัน

อีกชุดคือ "สยบริปูสะท้าน" ประกอบกำลังจากหน่วยคอมมานโดกองบังคับการปราบปราม เป็นหน่วยงานที่มีขีดความสามารถในการต่อสู้สูง มีขอบเขตการปฏิบัติงานทั่วประเทศ เหมาะกับภารกิจจู่โจมเพื่อระงับเหตุฉุกเฉิน หรือปราบจลาจล การก่อวินาศกรรม การจับกุมคนร้ายที่มีอาวุธร้ายแรง แต่มีการคาดการณ์ว่าหน่วยนี้น่าจะถูกเรียกใช้ในลำดับท้ายสุดของชุดปฏิบัติการพิเศษทั้ง 5 หน่วย เนื่องจากระยะหลังกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางมีนโยบายเน้นงานมวลชน มีการนำทฤษฎีตำรวจผู้รับใช้ชุมชนมาใช้ปฏิบัติงานใกล้ชิดกับประชาชน การปฏิบัติภารกิจจู่โจมที่มีเป้าหมายที่สุ่มเสี่ยงกับการกระทบกระทั่งกับมวลชน หน่วยนี้อาจลดบทบาทลง

อย่างไรก็ตามมีกระแสข่าวหนาหู สะพัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า ภารกิจ "จู่โจม" จับกุมผู้ชุมนุม ที่ ร.ต.อ.เฉลิม ประกาศด้วยท่าทีที่แข็งกร้าวอาจเป็นหมัน เนื่องจากตำรวจระดับผู้ปฏิบัติไม่มั่นใจในสถานะของรัฐบาลรักษาการ อีกทั้งภารกิจการ "จู่โจม" จับกุมผู้ชุมนุม ท่ามกลางมวลชนจำนวนมากนั้น เสี่ยงจะเกิดเหตุการณ์บานปลายจนนำไปสู่ความสูญเสีย

อีกทั้งมีการประเมินว่า ในกลุ่มผู้ชุมนุมเองมีหน่วยงานบางหน่วยที่มีขีดความสามารถในการต่อสู้ พร้อมต่อต้านปฏิบัติการต่างๆ ของตำรวจ หากเกิดปฏิบัติการขึ้นจริง อาจเกิดการปะทะกันอย่างรุนแรง ซึ่งจะนำไปสู่ความสูญเสียทั้งสองฝ่าย

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
------------------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2557

ย่ำสนธยา ที่ ประชาธิปัตย์ !!?

โดย. วีรพงษ์ รามางกูร

อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายชวน หลีกภัย เคยประกาศว่า "ผมเชื่อในระบอบรัฐสภา" ก็เลยเชื่อว่า พรรคประชาธิปัตย์จะเป็นพรรคที่เชื่อมั่น เคารพ และศรัทธาในประชาธิปไตย และเป็นสถาบันการเมืองที่จะพาประเทศชาติสู่ความเป็นชาติผู้นำประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ชาติเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเป็นระบบการเมืองพรรคใหญ่2 พรรค เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษเคยฝันหวานว่า เราจะมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคอนุรักษนิยม ตัวแทนของคนชั้นกลางและคนชั้นสูง ขณะเดียวกันก็มีพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่เป็นตัวแทนของฝ่ายก้าวหน้า และจะเป็นตัวแทนของคนชั้นกลางระดับล่างและคนในระดับรากหญ้าที่ต่างช่วยกันนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ประเทศชาติทั้ง 2 พรรคจะต่อสู้ แข่งขันกัน ในกรอบของประชาธิปไตย ในสนามเลือกตั้ง ผลัดกันแพ้เป็นฝ่ายค้าน ผลัดกันชนะเป็นรัฐบาล ตามแต่กระแสโลกาภิวัตน์ของสังคมโลก

การเป็นพรรคอนุรักษนิยมไม่ได้เสียหายอะไร เพราะคนจำนวนมากที่เป็นคนชั้นกลางในเมืองทุกแห่งในโลกก็มีความเป็นอนุรักษนิยมเป็นจำนวนมาก ไม่แต่คนในเมือง คนต่างจังหวัดก็มีจำนวนไม่น้อยไปกว่าพวกหัวก้าวหน้าที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง แต่จิตวิญญาณของนักการเมืองทั้ง 2 ฝ่ายต้องเป็นประชาธิปไตยเท่านั้น แต่บัดนี้ พรรคประชาธิปัตย์ได้ล้มเลิกความคิด วิสัยทัศน์ ทัศนคติ วาทกรรม และการกระทำ กลายเป็นพรรคที่สนับสนุนทหาร สนับสนุนรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและต่อต้านประชาธิปไตยไปเสียหมด

เริ่มจากเป็นพรรคนำ พรรคแรกของการเป็นพรรคภูมิภาคหรือพรรคภูมิภาคนิยม หาเสียงในภาคใต้โจมตีคู่ต่อสู้ โดยการปลุกเร้าภูมิภาคนิยม ดูถูกดูหมิ่นคู่แข่งทางภาคอีสานและเหนือว่าเป็น "ลาว" ดูถูกหัวหน้าพรรคชาติไทยว่าเป็นจีนเกิดในเมืองจีน ดูถูกว่าหัวหน้าพรรคความหวังใหม่เป็น "ลาว" ใช้การดูหมิ่น "เชื้อชาติ" เป็นยุทธวิธีในการหาเสียง

เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ทำสำเร็จเป็นพรรคของคนภาคใต้ พรรคเพื่อไทยก็ทำตามและทำได้สำเร็จเป็นพรรคภาคอีสานและภาคเหนือ พรรคชาติไทยเป็นพรรคภาคกลาง ซึ่งเป็นอันตรายต่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง

ความที่พรรคประชาธิปัตย์แพ้การเลือกตั้งมาโดยตลอด 30 ปี และแพ้หนักมากในยุคนายอภิสิทธิ์เป็นหัวหน้าพรรค ทั้งที่มีกองทัพและอำนาจเก่ารวมทั้งสื่อมวลชนหลักในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ เป็นตัวช่วยอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังเอาชนะในการเลือกตั้งไม่ได้สักที เพราะความเป็นอนุรักษนิยมของกลุ่มผู้นำพรรคที่ล้าสมัย ไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำงานจริงมาก่อนประชาธิปัตย์จึงกลัวการเลือกตั้ง

การเป็นพรรคการเมืองที่กลัวการเลือกตั้งจึงเป็นสิ่งที่ฝรั่งเขาเรียกว่าเป็น Paradoxy เมื่อกลัวการเลือกตั้งก็ตั้งป้อมหาเรื่อง
ติเตียนประณามการเลือกตั้ง เห็นการเลือกตั้งเป็นศัตรูของพรรค

พฤติกรรมของพรรคประชาธิปัตย์จึงเป็นพฤติกรรมที่พยายามหลีกเลี่ยงการเลือกตั้งอย่างที่สุด เมื่อต่อต้านหลีกเลี่ยงประณามการเลือกตั้ง ตนก็ไม่มีทางเลือก ต้องทำตัวไปสู่การเป็นผู้สนับสนุนระบอบการปกครองที่ใช้การแต่งตั้ง หรือไม่ก็ใช้วิธีสรรหา ซึ่งเป็นลูกเล่นอย่างหนึ่งของระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หันไปสู่การสนับสนุนทหาร พูดจาสนับสนุนองค์กรอิสระที่ใคร ๆ ก็รู้กันทั่วว่า องค์กรอิสระเหล่านี้มีที่มาจากการรัฐประหารของทหาร หรือกระแสกลุ่มอำนาจเดิมซึ่งไม่ต้องการประชาธิปไตยแทนที่จะปฏิรูปตัวเองที่เป็นพรรคอนุรักษนิยม แต่ขณะเดียวกันก็ก้าวหน้าได้ ด้วยการตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของประชาคมโลก ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของคนในต่างจังหวัด เลิกใช้วาทกรรมบิดเบือน กล่าวเท็จในเรื่องข้อกฎหมายและหลักการรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีตัวอย่างให้ยกมาเทียบเคียงได้มากมาย หากต้องการ

ทำไปทำมา "ศัตรูของพรรคประชาธิปัตย์ก็คือประชาธิปไตย" นั่นเอง หนังสือพิมพ์ Washington Post ของอเมริกาพาดหัวตัวใหญ่ว่า "The Enemy of the Democrat party of Thailand is Democracy" ซึ่งเป็นความจริง แม้ว่าแฟนคลับของประชาธิปัตย์อย่างหนังสือพิมพ์กลุ่มเดอะเนชั่นจะออกมาแก้ตัวให้ก็ตาม

การที่พรรคประชาธิปัตย์จัดชุมนุมใหญ่ต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอยโดยวิธีฉ้อฉลของพรรคเพื่อไทย ใคร ๆ ก็เห็นด้วยจนรัฐบาลต้องถอย แต่กลับฉกฉวยโอกาสชุมนุมขับไล่รัฐบาลต่อ โดยอ้างประชาชนจำนวนมากในกรุงเทพฯว่าเป็น "มวลมหาประชาชน" ขับไล่รัฐบาลโดยอ้างว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ซึ่งไม่จริง ผู้ชุมนุมบุกเข้ายึดสถานที่ราชการ ขโมยสิ่งของของราชการ บังคับขู่เข็ญไม่ให้ข้าราชการทำงาน ตัดน้ำตัดไฟสถานที่ทำการ ข่มขู่ คุกคาม ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น เสนอตั้งองค์กรทางการเมืองที่ไม่อยู่ในกรอบของกฎหมายและกรอบของประชาธิปไตย สร้างสถานการณ์รุนแรง ยั่วยุให้มีความรุนแรงเพื่อกรุยทางให้ทหารทำการปฏิวัติรัฐประหาร

การดำเนินการชุมนุมครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีทางหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบได้เลย เพราะดำเนินการโดยแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็นสุเทพ ชวน อภิสิทธิ์ ชินวร ถาวร และผู้นำพรรคคนอื่นที่ยึด "ข้างถนน" เป็นเวทีอภิปราย โจมตีด้วยคำหยาบคายกักขฬะ ใช้วาทกรรมที่โกหกมดเท็จซ้ำ ๆ ซาก ๆปั้นน้ำเป็นตัวครั้งแล้วครั้งเล่าโดยมิได้เกรงใจสมาชิกประชาธิปัตย์ที่เขาเป็น "ผู้ดี" มีจิตใจเป็นธรรมและเป็นนักประชาธิปไตยแม้แต่น้อย

การที่ผู้นำพรรคประชาธิปัตย์เกรงกลัวการ "เลือกตั้ง" และยอมรับว่า "ศัตรูของพรรคประชาธิปัตย์คือประชาธิปไตย" อย่างที่หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์พาดหัวข่าว ประชาธิปัตย์ไม่อาจแก้ตัวได้เลย พฤติกรรมที่แสดงว่ากลัวการเลือกตั้งซ้ำ ๆ ซาก ๆ ก็คือการประกาศ "คว่ำบาตร" การเลือกตั้งปฏิรูปอย่างไร ถ้าประชาชนเขาไม่เลือก ประชาธิปัตย์ก็แพ้อยู่ดี ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ผู้จัดการเลือกตั้ง หรือกฎหมายเลือกตั้ง

ปัญหาอยู่ที่คนส่วนใหญ่ของประเทศเขาไม่เลือกมากกว่า จะให้แก้กฎหมายเลือกตั้งอย่างไรก็ยังแพ้ ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ยังถูกเกาะกุมโดยกลุ่มผู้นำเก่าที่ล้าสมัย ยังคิดแบบเดิม ๆ ยังใช้วิธีเดิม ๆ ในการแข่งขัน ที่สำคัญ เมื่อครั้งเป็นรัฐบาลโดยการช่วยเหลือของกองทัพ ก็พิสูจน์ได้แล้วว่าทำงานไม่เป็น คิดไม่เป็น เป็นแค่ทำความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างต่างประเทศ ทั้งกับเพื่อนบ้านและประเทศอื่น ๆ ภาพพจน์ของประเทศเสียหายเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ

พรรคการเมืองนั้นต้องเอาดีในกรอบของระบอบประชาธิปไตย เงื่อนไขสำคัญของระบอบประชาธิปไตยก็คือการเลือกตั้ง การมีการเลือกตั้งอาจจะไม่เป็นประชาธิปไตย แต่การไม่มีการเลือกตั้งนั้นไม่เป็นประชาธิปไตย เป็นของแท้ถ้าประชาธิปัตย์เห็นการเลือกตั้งเป็นศัตรูและพยายามต่อสู้ขัดขวางไม่ให้มีการเลือกตั้ง โดยการออกตัวไปเป็น "เครื่องมือรับใช้สนับสนุนฝ่ายที่ไม่เป็นประชาธิปไตย" แต่มีอำนาจแฝง เช่น กองทัพ องค์กรอิสระ รวมทั้งการได้ขายจิตวิญญาณประชาธิปไตย เพื่อแลกกับการได้เป็นนายกรัฐมนตรีในระยะเวลาสั้น ๆ ที่ไม่สง่างาม สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ได้ทำลายพรรคประชาธิปัตย์ไปแล้วในระยะยาว

การ "คว่ำบาตร" การเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ เป็นการบังคับตัวเองให้ต่อต้านการเลือกตั้ง ซึ่งถูกประณามไปทั่วโลก จะมีชมเชยบ้างก็สื่อมวลชนที่ล้าหลังภายในประเทศการที่พรรคคว่ำบาตร ทำให้ผู้นำพรรคก็ดี สมาชิกที่ภักดีต่อพรรคก็ดี ถูก "บังคับ" ให้ทำตัวเป็นนักต่อต้านประชาธิปไตยไปโดยปริยาย ดังจะเห็นได้จากวาทกรรมต่อต้านการเลือกตั้ง ต่อต้านประชาธิปไตยไปโดยปริยาย วาทกรรมดังกล่าวอย่างไรเสียก็ต้องเป็นวาทกรรมที่เป็นเท็จทั้งในด้านหลักวิชาและข้อเท็จจริง ที่สำคัญก็คือบังคับตัวเองให้ขัดขวางต่อต้านองค์กรที่จัดเลือกตั้งคือ กกต.และกลุ่มชุมนุมต่าง ๆ ให้ต่อต้านขัดขวางการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการต่อต้านประชาธิปไตยโดยตรง แม้จะพยายามหาเหตุผลมาบิดเบือน อย่างไรก็ตามถ้า กกต.เกิดถูกบังคับ จะโดยกฎหมาย หรือความกดดันจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

ส่วนใหญ่อย่างหนักจนต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ได้ ก็จะไม่มีประชาธิปัตย์อยู่ในสภา จะมีพรรคอื่นมาทำหน้าที่ฝ่ายค้านแทน และถ้าฝ่ายค้านนั้นมีวิสัยทัศน์ มีทัศนคติ มีวาทกรรมที่อยู่ในกรอบของกฎหมาย อยู่ในกรอบของประชาธิปไตย เลือกตั้งคราวต่อไป อย่างน้อยคนกรุงเทพฯอาจจะไม่เลือกพรรคประชาธิปัตย์อีกเลยก็ได้ ถึงเมื่อนั้นประชาธิปัตย์อาจจะกลายเป็นพรรคต่ำสิบไปก็ได้

ถ้ายังยืนกรานไม่เปลี่ยนตัวผู้นำในพรรคที่เกาะกุมอำนาจในพรรคมากว่า 40 ปี ยังมีความคิดเดิม ๆ ทำงานไม่เป็นเหมือนเดิมคิดอะไรไม่เป็นเหมือนเดิม เอาแต่คิดว่าจะพูดจาถากถางเหน็บแนมปั้นน้ำเป็นตัวทำลายผู้อื่นเพื่อให้ถูกใจแฟนคลับ ซึ่งแก่ตัวอายุมากขึ้นทุกวัน ก็เชื่อได้ว่าเลือกตั้งอีกไม่กี่ครั้ง นอกจากจะไม่ได้เป็นรัฐบาลแล้วผู้นำฝ่ายค้านก็อาจจะไม่ได้เป็น

ถ้ายังเป็นพรรคที่เชื่อในตัวบุคคล หรือลัทธิบุคลาธิษฐานอยู่ ไม่ได้เชื่อในระบบ เหมือน ๆ กับพรรคเพื่อไทย ซึ่งสังคมไทยในขณะนี้ก็ยังเป็นอย่างนี้อยู่ แต่ในอนาคตข้างหน้า สังคมไทยน่าจะกำลังเปลี่ยนไป อีกไม่นานความเชื่อในลัทธิบุคลาธิษฐานจะคลายความสำคัญลงไปเรื่อย ๆ เพราะบุคคลไม่อาจดำรงคงอยู่ตลอดกาล และเมื่อถึงจุดนั้น การชูบุคคลเพื่อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้ง ก็น่าจะลดความสำคัญลง พรรคการเมืองทั้ง 2 ขั้ว ควรจะคิดถึงเรื่องนี้ไว้เสียแต่เนิ่น ๆ

การใช้กลเม็ดในการหาเสียงหรือดำเนินการทางการเมืองด้วยการไม่ลงแข่งขันเลือกตั้ง เป็นยุทธวิธีนอกกรอบประชาธิปไตย นอกระบบพรรคการเมือง เท่ากับเป็นการต่อต้านพลวัตทางการเมือง เพราะการเลือกตั้งเป็นบทเรียนและประสบการณ์ของพรรคการเมือง เป็นวิธีการรับ "ความรู้สึก" ของประชาชนฐานเสียงของตัวเองอย่างแท้จริงว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

แล้วอนาคตของพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นอย่างไร

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
-------------------------------------------

วันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2557

มือล่องหน !!?

โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

อนาคตของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ง่อนแง่นเต็มที

"การเลือกตั้ง" ที่เป็นจุดแข็งสุด

ก็อยู่ในภาวะไม่แน่นอน ว่าจะต้อง "เลื่อน" ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไปอีกนานเท่าใด

3 เดือน หรือ 6 เดือน ล้วนมีความหมายทั้งสิ้น

เพราะ "มือล่องหน" กำลังเร่งทำงานพัลวัน เพื่อเช็กบิลรัฐบาลและเพื่อไทย

เหตุระเบิด เหตุลอบยิงม็อบ ที่ทำให้มีคนตายและบาดเจ็บจำนวนมากโดยยังจับมือใครดมไม่ได้นั้น

กดดันให้รัฐบาลตัดสินใจใช้ พ.ร.ก.บริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

ซึ่งกำลังถูกจับตาว่า รัฐบาลได้มากกว่าเสียหรือไม่

เพราะแค่เริ่มต้น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ทำให้สังคมเห็นว่า "กองทัพ" ไม่ได้ยืนข้างรัฐบาล

ไม่ว่ากองทัพบก ที่นอกจากขอยืนอยู่แถวหลังแล้ว

การคงรถหุ้มเกราะไว้ที่ราบ 11 ไม่ยอมเอากลับหน่วยหลังเสร็จสิ้นภารกิจสวนสนามวันกองทัพไทยก็ทำให้คนขี้ระแวงสงสัยว่ามีอะไรมากกว่านั้นหรือไม่

ด้านกองทัพอากาศ การปฏิเสธไม่ให้ตั้งศูนย์ "ศรส." ในพื้นที่ก็ชัดเจนถึงการขอมี "ระยะห่าง" กับรัฐบาล

ส่วนกองทัพเรือ การจับ 3 ทหารหน่วยซีลที่ป้วนเปี้ยนอยู่กับม็อบ ตามด้วย "จุดยืน" ทะลุปรอทของ พล.ร.ต.วินัย กล่อมอินทร์ ผู้บัญชาการหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ ที่เคียงข้างม็อบ กปปส. แบบไม่กลัวหน้าอินทร์หน้าพรหม พร้อมข้อมูลเขย่ารัฐบาล เรื่องการขนต่างชาติ 10 คันรถตู้เข้ามาใน กทม.นั้น

แม้ผู้บัญชาการทหารเรือ จะบอกว่ากองทัพเรือ "เป็นกลาง"

แต่ก็ดูจะเป็นกลางใจในหัวใจม็อบมากกว่า

จึงไม่แปลก ที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะประกาศอย่างมั่นอกมั่นใจ "ผมไม่เชื่อว่าจะสามารถส่งทหารบก เรือ อากาศ เอาอาวุธร้ายแรงมาทำร้ายผู้ชุมนุม"

เป็นการส่งสัญญาณให้มวลมหาประชาชน รับรู้ว่ากองทัพอยู่ข้าง

เพียงแต่ยังไม่เต็มตัว ถึงขั้นออกโทรทัศน์ไล่รัฐบาล อย่างที่นายสุเทพ ร้องขอเท่านั้น

แต่ถามว่า มีโอกาสไหม

ก็คงอย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์บอกนั่นแหละ "แล้วแต่สถานการณ์กำหนด"

ซึ่งหาก "มือล่องหน" เร่งลั่นเสียงปืน เสียงระเบิดให้ "รุนแรง" ขึ้นไม่หยุด

ทั้งต่อฝ่ายม็อบ กปปส.เอง

และทั้งต่อฝ่ายคนเสื้อแดง อย่างกรณีมือมืดถล่มอาก้า นายขวัญชัย ไพรพนา

เชื้อความรุนแรง ถูกฉีดเข้าไปในใจของทุกฝ่าย ที่เข้ามาเล่นหรือถูกบีบให้เข้ามาเล่นในเกมอำมหิตมากขึ้นตามลำดับ

อะไรก็เกิดขึ้นได้ ทุกวินาทีต่อจากนี้

และที่เจ็บปวดไปกว่านั้น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กำลังจะกลายเป็นอาวุธกลับมาเชือดคอรัฐบาลเสียเอง

เมื่อ ส.ว.สรรหาและประชาธิปัตย์ ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ว่าการที่รัฐบาลเพื่อไทยซึ่งส่งคนลงสมัคร ส.ส. แล้วใช้อำนาจประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และยังถือเป็นการเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น

จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยกเลิกคำสั่งดังกล่าวและให้ยุบพรรคเพื่อไทย

ยิ่งไปกว่านั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งก็ยังออกมารับลูก แถลงว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินของรัฐบาล ส่อเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ รวมทั้งระเบียบ กกต.ด้วย

รับลูกเป็นทอดๆ

ซึ่งเมื่อเรื่องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ผลที่ออกมาหวาดเสียวต่อรัฐบาลอย่างยิ่ง

นี่เป็นการจัดการของ "มือล่องหน" อีกหรือไม่ เชื่อว่าหลายคนคงเดาได้ไม่ยาก

จึงไม่แปลกที่พรรคเพื่อไทยจะประเมินว่า การเลื่อนเลือกตั้งออกไป 3-6 เดือน ที่แท้ก็คือการเปิดโอกาสให้องค์กรอิสระทั้งหลายเร่งสะสางคดีความของพรรคเพื่อไทยนั่นเอง

และมีจุดหมายที่การยุบเพื่อไทยนั่นเอง

ที่มา. มติชนรายวัน
///////////////////////////////////////