--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ทวนความจำ 16 สำนวนผู้เสียชีวิตปี 53 และกรณีนำร่อง มูราโมโต-มานะ-ชาญณรงค์ !!?

ทวนความจำเขาคือใคร ในโอกาสที่มีความคืบหน้า 1 คดีส่งอัยการแล้ว 2 คดีใกล้เสร็จ พร้อมเปิดรายชื่อ 16 ศพที่คาดว่าเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.ต.ต.อนุชัย เล็กบำรุง รอง ผบช.น. ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีชันสูตร 16 ศพ ซึ่งเชื่อว่าเสียชีวิตเพราะเจ้าหน้าที่รัฐออกมาเปิดเผยว่าว่า สำนวนที่พนักงานสอบสวนทำใกล้เสร็จสิ้นแล้ว 2 คดี คือ นายมานะ อาจราญ ถูกยิงกลางดึกในสวนสัตว์ดุสิต (เขาดิน) และ นายฮิโรยูกิ มูราโมโต ช่างภาพชาวญี่ปุ่น ส่วนที่ส่งให้อธิบดีอัยการแล้ว 1 คดี คือ นายชาญณรงค์ พลศรีลา ซึ่งถูกยิงที่หน้าปั้มเชลล์ ถนนราชปรารภ
ชาญณรงค์ พลศรีลา จากคำบอกเล่าของบุตรสาวซึ่งเป็นพนักงานราชการ กองทัพอากาศ ระบุว่า พื้นเพเดิมชาญณรงค์เป็นคนจังหวัดสกลนคร โดยเข้ามาทำงานที่กรุงเทพฯ ก่อนจะพาลูกและภรรยามาอยู่ย่านสายไหม ชาญณรงค์มีอาชีพขับแท็กซี่ ขณะที่ภรรยาเป็นแม่บ้าน ปีที่แล้วทั้งสองไปร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงโดยตลอด โดยตอนเย็นชาญณรงค์จะขับรถไปส่งภรรยาที่เวทีชุมนุม พอเช้าก็ไปรับภรรยากลับบ้าน สำหรับเหตุการณ์ที่ถูกยิงนั้น นิค นอสติทช์ ช่างภาพอิสระชาวเยอรมัน เป็นผู้เห็นเหตุการณ์ในที่เกิดเหตุ ได้ให้ปากคำกับตำรวจและบอกเล่าเรื่องราวแก่บุตรสาวนายชาญณรงค์ไว้โดยละเอียด
อ่านเพิ่มเติมได้ใน http://www.prachatai3.info/journal/2010/06/30026
มานะ อาจราญ วัย 20 เศษ ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ในสวนสัตว์ดุสิต กลางดึกวันเกิดเหตุ 10 เม.ย.53 เขาและน้าชายเข้าเวรดูแลบ่อเต่ายักษ์ ขณะที่เกิดเหตุชุลมุนและทหารที่เข้าไปพักด้านในสวนสัตว์ดุสิต วิ่งจากลานจอดรถด้านนอกเข้าไปด้านใน เขาและน้าชายกำลังออกเวร กระทั่งถูกกระสุนปืนความเร็วสูงเข้าที่ศรีษะด้านหลังทะลุด้านหน้าจนกะโหลกศีรษะ
ฮิโรยูกิ มูราโมโต เป็นช่างภาพ ทำงานให้กับรอยเตอร์มาได้ 15 ปี ก่อนหน้าที่จะมาเป็นช่างภาพของรอยเตอร์เขาเคยเข้าร่วมงานกับสำนักข่าว ABC (Australian Broadcasting Corporation) สาขากรุงโตเกียวมาก่อน จากนั้นจึงมาเป็นช่างภาพอิสระให้รอยเตอร์เมื่อปี 2535 และเข้าทำงานที่รอยเตอร์เต็มเวลาในปี 2538 เคยมีประสบการณ์เดินทางในประเทศเสี่ยง ๆ อย่างเกาหลีเหนือและฟิลิปปินส์ (ในช่วงที่การเมืองวุ่นวาย) มาก่อน ซึ่งนอกจากเรื่องการเมืองแล้ว มูราโมโตยังรายงานเรื่องราวปกิณกะที่น่าสนใจหลายเรื่อง
อ่านเพิ่มเติมในหนังสือ วีรชน 10 เมษา คนที่ตายมีใบหน้า คนที่ถูกฆ่ามีชีวิต จัดพิมพ์โดย มูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย (2554)


16 สำนวนคดีชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิตจากเหตุชุมนุมระหว่าง เม.ย. - พ.ค.2553
ซึ่งต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ และมีการส่งจากดีเอสไอให้ บช.น.เป็นผู้ชันสูตร
1.นายฮิโรยูกิ มูราโมโต้ (10 เม.ย.) หน้า รร.สตรีวิทยา ถนนดินสอ ถูกยิงหน้าอกด้านขวาทะลุไหล่ซ้าย 1 นัด
2.นายรพ สุขสถิต (19 พ.ค.) หน้าวัดปทุมวนาราม ถ.พระราม 1 ถูกยิงหัวไหล่ขวาทะลุถึงหน้าอกขวา 1 นัด
3.นายมงคล เข็มทอง (19 พ.ค.) หน้าวัดปทุมวนาราม ถ.พระราม 1 ถูกยิงบริเวณหน้าอกขวา 1 นัด
4.นายสุวัน ศรีรักษา (19 พ.ค.) หน้าวัดปทุมวนาราม ถ.พระราม 1 ถูกยิงหน้าอกซ้าย 1 นัด
5.นายชาติชาย ชาเหลา (13 พ.ค.) หน้าอาคารอื้อจื่อเหลียง ถ.พระราม 4 ถูกยิงบริเวณหน้าผากด้านหน้า 1 นัด
6.นายบุญมี เริ่มสุข (14 พ.ค.) หน้าร้านอาหารระเบียงทอง บ่อนไก่ ถูกยิงบริเวณหน้าท้อง 1 นัด
7.นายชาญณรงค์ พลศรีลา (15 พ.ค.) บริเวณหน้าปั๊มเชลล์ ถนนราชปรารภ ถูกยิงบริเวณหน้าท้อง 1 นัด
8.พลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ (28 เม.ย.) หน้าอนุสรณ์สถาน ถ.วิภาวดีรังสิต ถูกยิงบริเวณศีรษะซีกซ้าย 1 นัด
9.ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ (15 พ.ค.) ซอยโรงหนังโอเอ ถ.ราชปรารภ ถูกยิงเข้าหลังทะลุท้อง 1 นัด
10.นายพัน คำกอง (15 พ.ค.) หน้า คอนโด IDO ใกล้แอร์พอร์ตลิงค์ ถูกยิงต้นแขนซ้ายตัดเส้นเลือดใหญ่ 1 นัด
11.นายมานะ อาจราญ (10 เม.ย.) ภายในสวนสัตว์ดุสิต เขตดุสิต กทม. ถูกยิงศีรษะซีกขวาด้านหลัง 1 นัด
12.นายเกียรติคุณ ฉัตร์วีระสกุล (16 พ.ค.2553) บริเวณใต้ทางด่วน ถ.พระราม 4 ถูกยิงบริเวณหน้าอกซ้าย 1 นัด
13.นายประจวบ ประจวบสุข (16 พ.ค.) บริเวณใต้ทางด่วน ถ.พระราม 4 ถูกยิงบริเวณหน้าอกซ้าย 1 นัด
14.นายอัฐชัย ชุมจันทร์ (19 พ.ค.) หน้าวัดปทุมวนาราม ถ.พระราม 1 ถูกยิงเข้าหลังทะลุหน้าอก 1 นัด
15.น.ส.กมนเกด ฮัคฮาด (19 พ.ค.) หน้าวัดปทุมวนาราม ถ.พระราม 1 ถูกยิงด้านหลังกระสุนทะลุฝังศีรษะ 1 นัด
16.นายอัครเดช ขันแก้ว (19 พ.ค.) หน้าวัดปทุมวนาราม ถ.พระราม 1 ถูกยิงต้นแขนขวาทะลุโหนกแก้มขวา 1 นัด

ที่มา.ประชาไท
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

จรัล ดิษฐาอภิชัย. ยกกรณีพระราชทานอภัยโทษผู้หนีคดีในกัมพูชาเทียบคดี ทักษิณ..!!?

จรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และอดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ผู้กลับมาปรากฏตัวในประเทศเมื่อปลายเดือนกันยายน 2554 นับแต่เขาเดินทางออกนอกประเทศเมื่อปีที่แล้วไม่กี่วันหลังเหตุการณ์ “19 พฤษภา 53” รวมเวลาในการเดินสายสื่อสารสถานการณ์การเมืองไทยต่อคนไทยในต่างแดนและชาวต่างชาติ ทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกาเป็นเวลากว่าปี

ถึงวันนี้ “จรัล” ยังอยู่บนถนนการเมืองแม้จะไม่ได้เป็น ส.ส. แต่มีภารกิจเดินทางเข้ารัฐสภาในฐานะที่ปรึกษากรรมาธิการต่างประเทศ ที่มี “สุนัย จุลพงศธร” ส.ส.บัญชี่รายชื่อ พรรคเพื่อไทยเป็นประธาน

ในสัปดาห์ที่น้ำเริ่มลด ลมหนาวเริ่มโชย กระแสการเมืองกำลังกลับมากระพือ เมื่อมีประเด็น “คนแดนไกล” จะกลับเข้าประเทศได้อีกหรือไม่ “จรัล ดิษฐาอภิชัย” ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติออนไลน์” พร้อมเปรียบเทียบกรณีการพระราชทานอภัยโทษที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา

@ร่างพระราชกฤษฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ จะเป็นเหตุทำให้รัฐบาลนี้อยู่ต่อไปไม่ได้หรือไม่

สถานการณ์พื้นฐานคนก็แบ่งความเห็นออกเป็น 2 ฝ่ายอยู่แล้ว และยังดำรงอยู่ คือ ฝ่ายล้มรัฐบาลและฝ่ายหนุนรัฐบาล จนกระทั่งน้ำท่วมก็มีการเมืองของน้ำท่วม ที่ดำรงอยู่อยู่แล้ว ผมและคนเสื้อแดง ก็เชื่อว่าหลังน้ำลด ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลก็คงก่อกระแสขับไล่รัฐบาล เขาก็ประกาศทุกวัน ฉะนั้น เมื่อมีปัญหาร่างพระรากฤษฎีกา ขอพระราชทานอภัยโทษ ในวโรกาส 84 พรรษา เราต้องเข้าใจว่า แม้การพระราชทานอภัยโทษ เป็นอำนาจของพระมหากษัตริย์ แต่ในทางปฏิบัติ หรือวิธีการ ก็ต้องมีผู้เสนอขึ้นไป คือ ครม. เพราะเป็นหน้าที่ฝ่ายบริหาร ซึ่งอาจจะทูลเกล้ารายชื่อแต่ละปีจำนวนไม่เท่ากัน บางวโรกาสก็ 2 หมื่นรายชื่อ หรือ 3 หมื่นรายชื่อ ฉะนั้น ทางฝ่ายบริหาร คือ ครม. ก็ต้องทำร่างพระราชกฤษีกา เพื่อกราบบังคมทูล

@ แบบนี้รัฐบาลกำลัง เกี้ยเซี๊ย กับอำมาตย์ หรือเปล่า

เท่าที่ผมอ่านความเห็นตามบทความที่บอกว่า ถ้าทำแบบนี้เท่ากับทรยศหักหลังคนเสื้อแดงที่ติดคุก แต่ผมว่าความคิดแบบนี้ก็เป็นหตุผลที่แปลกๆ เพราะถ้าคนเสื้อแดงที่ติดคุกอยู่ในข่ายได้รับอภัยโทษ ก็ต้องได้รับพระราชทานอภัยโทษด้วย

@ คิดว่ารัฐบาลตั้งใจช่วยคุณทักษิณคนเดียวหรือไม่

ผมคิดว่า ไม่ใช่ช่วยคุณทักษิณคนเดียว แต่เป็นการช่วยนักโทษ 20,000 กว่าคน ในวโรกาสนี้ อาจทำร่างกราบบังคมทูลถึง 25,000 -27,000 รายชื่อ ผมเชื่อว่าน่าจะครอบคลุมคนเสื้อแดงทุกคน ส่วนหลักการของการอภัยโทษ ปกติก็ไม่ใช่ทุกคนได้รับเพราะบางครั้งก็ทุกคดีหรือเว้นบางคดี นอกจากนั้นยังมีการแบ่งเป็นนักโทษชั้นดี หรือเหลือโทษอีกไม่กี่ปี ผมยังไม่เห็นร่างพระราชกฤษฎีกา แต่เท่าที่ผมติดตามข่าว มีเนื้อหาเกี่ยวกับอายุนักโทษ ทำให้ถูกตีความว่าหลักการเรื่องอายุนั้น กำหนดเพื่อให้ครอบคลุมถึง ดร.ทักษิณ ชินวัตร อย่างที่อีกฝ่ายเขาว่า

@ปัญหาว่าคุณทักษิณ ยังไม่เคยรับโทษ

ประเทศไทยไม่เคยมีประเพณี แต่ในทางหลักการทำได้ เพราะเป็นเรื่องพระราชอำนาจ ผมคิดว่า สมเด็จนโรดมสีหนุ กษัตริย์ กัมพูชา เคยให้อภัยโทษกับคนที่เกี่ยวข้องในการทำรัฐประหารแต่ล้มเหลวในเดือน กรกฎา-สิงหาคม ปี 1997 โดยคนเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศไทย ผมยังเคยไปพบเขาเลย กลุ่มสมเด็จนโรดม รณฤทธิ์ กลุ่มพระพุทธะเสรี กลุ่ม ซอนซาน

เวลานั้นกัมพูชามีนายกฯ 2 คน อีกคนคือ สมเด็จรณฤทธิ์ บริหารไปมา ก็เกิดความขัดแย้ง จึงทำรัฐประหารมีการยิงกัน แต่ล้มเหลว แล้วหนีมาอยู่ไทย ผมยังไปเยี่ยมเขา

ต่อมาสมเด็จฮุนเซน ก็เห็นว่าเพื่อความปรองดองชาติ จึงกราบทูลให้ สมเด็จสีหนุ พระราชทานอภัยโทษ ต่อมาสมเด็จนโรดม รณฤทธิ์ เคยถูกฟ้อง ศาลตัดสินจำคุก ก็หนีไปอยู่ประเทศอื่น สมเด็จนโรดม สีหมุณี ก็พระราชทานอภัยโทษ แม้ว่า สมเด็จนโรดม รณฤทธิ์ จะไม่ได้อยู่ในคุก

ฉะนั้น โดยหลักการ ก็คลุมถึงคนที่หลบหนีก็ได้ แต่ประเทศไทย ไม่เคยมีประเพณีนี้

@ น้องสาวเป็นนายกรัฐมนตรี ของ ครม. ที่กำลังชงเรื่องให้คุณทักษิณกลับบ้าน จะเป็นการเพิ่มปัญหาต่อคุณยิ่งลักษณ์หรือไม่

เท่าที่ผมได้ยิน ผมว่า ดร.ทักษิณ คงไม่อยากกลับ แต่มีคนอยากให้กลับ ส่วนเรื่องพี่กับน้อง ก็อย่างที่ผมพูด สมเด็จนโรดม สีหนุ เคยพระราชทานอภัยโทษให้ สมเด็จรณฤทธิ์ซึ่งเป็นลูกชาย พ่อให้อภัยโทษลูกชาย เพียงแต่คนเสนอ คือสมเด็จฮุนเซน ซึ่งเป็นคู่ปฏิปักษ์ทางการเมือง หรือกรณี สมเด็จสีหมุณี ให้อภัยโทษ สมเด็จรณฤทธิ์ ก็เป็นพี่กับน้องกัน แต่ตอนนั้น สมเด็จฮุนเซน เป็นผู้เสนอเช่นเดียวกัน

@ การขอพระราชทานอภัยโทษ สร้างแรงต้านเกิดขึ้นกับ“รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ควรเสี่ยงต่อไปหรือไม่

รัฐบาลมี 2 ทาง คือ 1 เขียนให้ชัดเจนว่าอายุ 60 ปีขึ้นไป แล้วยังติดคุกไม่เกิน 3 ปี อีกทางหนึ่งคือ 2) เดินหน้าต่อไป แต่ถ้าพูดแบบไม่กลัวถูกด่านะ ผมคิดว่าทีคนสูงอายุที่ติดคุกโทษหนักเพราะเป็นฆาตรกร หรือเป็นโจรอะไรต่างๆ ยังได้รับพระราชทานอภัยโทษ แล้ว ดร.ทักษิณ ซึ่งเคยทำคุณงามความดีให้ประเทศชาติ แม้ยังไม่ได้ติดคุก แต่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสิน ก็น่าจะได้รับเช่นเดียวกัน

@ เป็นสัญญาณความรุนแรงทางการเมืองปีหน้าหรือไม่

ผมอาจจะมองโลกในแง่ดี ตั้งแต่เลือกตั้งเสร็จก็มีไม่กี่คนที่บอกว่ารัฐบาลนี้อยู่ไม่ยาว แต่ผมคาดว่าอยู่ยาว เพราะมาจากการเลือกตั้ง และเป็นผู้หญิง นอกจากนั้นยังมีคนเสื้อแดงสนับสนุน และในทางสากล ในศตวรรษที่ 21 นานาชาติชอบผู้หญิง ศตวรรษนี้มีความเปลี่ยนแปลงทางอำนาจมาที่ผู้หญิง

สำหรับฝ่ายต่อต้านทั้งในสภาและนอกสภา อย่างพรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย-เสื้อเหลือง ถ้าจะขับไล่รัฐบาลก็ต้องเคลื่อนไหวมวลชน แต่เขาจะเอาคนที่ไหนมาชุมนุม เพราะถ้าชุมนุม 20,000-30,000 คน ก็เก่งมากแล้ว เขาจะเอาคนที่ไหน ขณะที่เขาขัดแย้งแตกแยกกันระหว่าง พันธมิตรฯ กับประชาธิปัตย์ ซึ่งแตกต่างจากเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว แล้วการไล่รัฐบาลหลังน้ำท่วม ยิ่งเป็นไปได้ยาก

@ คะแนนนิยมของรัฐบาลจะลดลงเพราะการบริหารจัดการน้ำหรือไม่

คะแนนนิยมลดลงเฉพาะในกรุงเทพฯ ส่วนต่างจังหวัด ยิ่งเห็น นายกฯ ร้องไห้ คนยิ่งเห็นใจ แม้ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลจะบอกว่านายกฯ อ่อนแอ แต่พอ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่า กทม. ร้องไห้ ก็ไม่เห็นมีใครว่าอะไร

ผมเองก็ร้องไห้นับครั้งไม่ถ้วน ชุมนุมสะเทือนใจผมก็ร้องไห้ ดูละคร ดูหนังอินเดีย ดูฟุตบอล หรือตอนเข้าป่าแล้วสหายต้องไปอยู่เขตอื่น ผมก็ร้องไห้ ด้วยความสะเทือนใจ ฉะนั้น การร้องไห้กับนักต่อสู้ ไม่ได้แสดงว่าอ่อนแอ แต่แสดงว่า เขามีอารมณ์ต่อความทุกข์สุขของประชาชน

@ การต่อต้านรัฐบาลครั้งนี้ จะส่งผลอย่างไร

ถ้ามีการชุมนุมขับไล่รัฐบาลแล้วทหารจะโหนกระแสล้มรัฐบาลหรือไม่นั้น ผมคิดว่าทหารคงไม่โหน เพราะสภาก็ตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางปรองดองคนในชาติ เพิ่งตั้งขึ้นมา บรรยากาศปรองดอง น้ำท่วม มาร่วมกันทำงาน แล้วถ้าดูองค์ประกอบตัวบุคคล คณะกรรมการยุทธศาตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ(กยน.) องค์ประกอบก็ชี้บ่งบอกส่งเมสเสจว่านี่คือการปรองดอง ทีนี้ทหารจะทำได้ยังไง ถ้าทหารจะทำรัฐประหาร ก็อาจจะเกิดสงครามการเมือง เพราะคนไม่ยอมก็ลุกมาต่อต้านแบบประเทศลิเบียแน่นอน

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ประยุทธ์. ลงนามแต่งตั้งโยกย้ายผู้พันทบ. หลานทักษิณ. วืด !!?

รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาผบ.ทบ. ลงนามในคำสั่ง ทบ.ที่ 298/2554 ลงวันที่ 18 พย.2554 แต่งตั้งโยกย้ายนายทหารระดับ พันเอก และพันโท หรือผู้บังคับกองพัน จำนวน 221 นาย โดยมีการเปลี่ยนตัว ผบ.หน่วยคุมกำลังหลักทั้งเหล่าทหารราบ ทหารม้า ทหารปืนใหญ่ ทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน และรบพิเศษ ซึ่งมีการผลักดันนายทหารที่เป็นสายตรงของพล.อ.ประยุทธ์ และ เพื่อนเตรียมทหาร 12 ขึ้นคุมกำลัง

สำหรับตำแหน่งที่น่าสนใจ ในส่วนของกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1รอ.) ซึ่งเป็นหน่วยคุมกำลังหลักในกรุงเทพฯ นั้น พ.ท.จักรกฤษณ์ ศรีนนท์ ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ผบ.ร.1พัน2รอ.) ซึ่งเป็นอดีตนายทหารคนสนิท(ทส.) ของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีต รมว.กลาโหม ขึ้นเป็น พันเอก ในตำแหน่ง เสนาธิการกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ( เสธ.ร.1รอ.) ซึ่งถือเป็นคนแรกของ เตรียมทหาร 32 โดยมี พ.ท.ปรมาภรณ์ ฉายเหมือนวงศ์ (ตท.30) หน.ฝ่ายกำลังพล กองพลที่ 1รักษาพระองค์ (หน.ฝพ.พล.1รอ.) ขยับเป็น ผบ.ร.1พัน2รอ.แทน ขณะที่พ.ท.นรภัทร กังวานไกล ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ผบ.ร.11พัน3 รอ.) (ตท.28)เป็น เสนาธิการกรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ (เสธ.ร.31รอ.) พ.ท.เผ่าพันธุ์ เจนนุวัตร (ตท.33) รองเสนาธิการกรมทหารราบที่ 11รักษาพระองค์ (รองเสธ.ร.11รอ.) ขึ้นเป็น ผบ.ร.11พัน3 รอ.แทน

ด้านกองพลทหารราบที่ 9 (พล.ร.9 ) จ.กาญจนบุรี พ.ท.วินิจ สว่างเนตร (ตท.29) หัวหน้าฝ่ายกิจการพลเรือน กองพลทหารราบที่ 9 (หน.ฝกร.พล.ร.9) เป็น ผู้บังคับกองพันที่ 2 กรมทหารราบที่ 19 (ผบ.ร.19 พัน2) พ.ท.ธวัชชัย วรรณดิลก (ตท.31) เป็น ผบ.ป.พัน102 รอ. พ.ท.วรรธ อุบลเดชประชารักษ์ (ตท.34) ผช.ฝ่ายยุทธการกองทัพภาค1 เป็น ผบ.ร.19 พัน 3 ส่วนกองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน (พล.ปตอ.) นั้น พ.ท.วีรยุทธ วุฒิศิริ (ตท.30) ผบ.ปตอ.พัน1รอ. (ผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน ที่1) เป็น พันเอก ฝ่ายเสธ.ประจำผบช. โดยมี พ.ท.ประภัทร์ ล้อมสมบูรณ์ (ตท.32) นายทหารส่งกำลังบำรุง นปอ. นายทหารฝ่ายเสนาธิการของ พล.ท.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ผบ.นปอ. เพื่อนตท.12 ของ ผบ.ทบ. ขึ้นเป็น ผบ.ปตอ.พัน1รอ. แทน ส่งผลให้ พ.ท.สราวุธ ชินวัตร (ตท.32) หัวหน้าฝ่ายกิจการพลเรือน พล.ปตอ. หลานชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่ได้ขึ้นเป็น ผู้บังคับกองพัน แม้ในหน่วยจะมีการคาดกันว่า จะจ่อคิวขึ้นมาเป็นผบ.พันก็ตาม นอกจากนี้ มีการขยับ พ.ท.ศุภฤกษ์ เกตุพันธุ์ (ตท.32)เป็น ผบ.ปตอ.พัน5 พ.ท.ชัยณรงค์ เดือนแรม (ตท.29 ) เป็น ผบ.ปตอ.พัน3

ส่วนของทหารม้า เปลี่ยนตัว ผบ.พันหลายตำแหน่ง เช่น พ.ต.รณฤทธิ์ หวัดสูงเนิน (ตท.35) รองผบ.ม.พัน29รอ. เป็น ผบ.ม.พัน29 รอ. พ.ท.ชายธนัธชา วาจรัตน์ (ตท.32 ) นายทหารคนสนิท พล.ท.วิลาส อรุณศรี ผช.เสธ.ทบ.ฝ่ายข่าว อดีตผบ.พล.ม.2รอ. เพื่อนตท.12 ของ ผบ.ทบ. ขึ้น เป็น ผบ.ม.พัน27 พ.ท.วิทัย ลายถมยา (ตท.30) เป็น ผบ.ม.พัน20 พ.ท.ศรัณย์ รอดบุญธรรม (ตท.30) เป็น ผบ.ม.พัน25 รอ. พ.ท.จักเรศ ศิริพงษ์ (ตท.31 ) เป็น ผบ.ม.พัน7พ.ท.สุทธิเขตต์ ศรีนิลทิน (ตท.31) เป็น ผบ.ม.พัน26 พ.ท.ธงชัย มีอนันต์ (ตท.27) เป็น ผบ.กรมทหารพรานที่ 32 พ.ท.ธรรมรัตน์ เหรียญทอง (ตท.30) เป็น ผบ.ม.พัน13 ส่วนหน่วยรบพิเศษ ที่น่าจับตาคือ พ.ท.วีรฉัตร คำคุณ (ตท.33) หัวหน้ายุทธการ กองพลรบพิเศษที่ 1 เป็น ผบ.กองพันจู่โจม พ.ท.สิรวิชญ์ แข็งขัน (ตท.32) เป็น ผบ.พันรบพิเศษ ศสพ.(ศูนย์สงครามพิเศษ) พ.ท.ณัฏฐ์ กาญจนโหติ (ตท.29) เป็นผู้บังคับกองพันที่2 กรมรบพิเศษที่ 4 ( ผบ.รพศ.4พัน2)

ขณะที่ กองทัพภาค 2 พ.ท.ศิวดล ยาคล้าย (ตท.33) เป็น ผบ.ร.3 พัน 3 พ.ท.ภาคภูมิ นภากาศ (ตท.33)เป็น ผบ.ร.23พัน1 พ.ท.ครรชิต ประสันสอย (ตท.31) เป็น ผบ.ป.พัน3 พ.ต.ณัฐดนัย ผาคำ (ตท.34)เป็น ผบ.ร.6 พัน2 พ.ท.ธนาธิป เรียงอิศราง (ตท.31) ผบ.ร.23 พัน4 พ.ท.อาร์ม ยศสุนทร (ตท.32) เป็น ผบ.พันร.23 พัน4 กองทัพภาค4 พ.ท.เกรียงศักดิ์ วัฒนเกริก (ตท.28) เป็น ผบ.ร.15 พัน4 พ.อ.เปรียว ติณสูลานนท์ (ตท.26) หลานชาย ป๋าเปรม ขยับจาก เสธ.ร.25 เป็น รองเสธ.พล.ร.5 พ.ท.อายพันธุ์ กรรณสูตร (ตท.31) เป็น ผบ.ร.15 พัน1 พ.ท.ชนาธิป ทองเชี่ยว (ตท.34) ผบ.ร.152 พัน1 พ.ท.วินัย จันทร์ละเอียด (ตท.30) ผบ.ร.151พัน3


ที่มา: มติชนออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

นิติรัฐ กับ นิติแห่งรัฐ !!?

คำว่า.. “นิติรัฐ” ถูกนำมาใช้อีกครั้งหนึ่ง ทันทีที่ข่าวเล็ดลอดออกมาว่า..รัฐบาลพรรคเพื่อไทย..จะออกพระราชกำหนด..อภัยโทษ..คนอายุเกิน 60 และโทษไม่เกิน 3 ปี..

และไม่จำเป็นต้องได้รับโทษหรือได้รับการจองจำ

สเปคนี้..เป็นสเปคที่ฝ่ายตรงกันข้ามกับ ทักษิณ ชินวัตร รับไม่ได้..ความหวาดหวั่นพรั่นพรึงในศักยภาพแห่งอำนาจในตัวทักษิณ..ทำให้..ผู้ที่เคยก่อกรรมทำเวรไว้กับเขา ต้องออกมาออกแรงต้านครั้งใหม่..

คำว่า “นิติรัฐ” ถูกนำออกมาใช้..อย่างกับว่าประเทศนี้ไม่เคยมีการอภัยโทษหรือนิรโทษกรรมเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งๆ ที่ในรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้กันอยู่ในทุกวันนี้..ก็มีเรื่องราวอย่างนี้บรรจุอยู่และนำมาใช้ไปแล้ว

คำว่า.. “นิติรัฐ” จะใช้ได้อยู่หรือในประเทศนี้..ในเมื่อนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมาอีก 20 ปีจะครบ 100 ปี..

เราฉีกทำลาย “นิติแห่งรัฐ” ที่เรียกว่า “รัฐธรรมนูญ” กันมาแล้ว เกือบ 20 ฉบับ..ใช้อาวุธเยี่ยงโจร..ปล้นรัฐบาลที่ประชาชนเลือกมาแล้ว 10 กว่าครั้ง..พยายามแต่กระทำการไม่สำเร็จอีก 10 กว่าครั้ง

และดูเหมือนว่า...ท่านที่กำลังชื่นชมกับคำว่า “นิติรัฐ” ทั้งหลาย..คือผู้มีส่วนในการ..สนับสนุนการทำลาย “นิติแห่งรัฐ”..และรื่นเริงกับการใช้.. “นิติกรรมอำพราง” ในการทำลายล้างและสร้างความชอบธรรมให้กับตนเอง

ถ้าจะถามว่า..หาก ทักษิณ ชินวัตร..ประกาศจะไม่กลับประเทศไทย..หรือพระราชกำหนดฉบับนี้..จะระบุว่าผู้ได้รับอภัยโทษ..จะต้องอยู่ในประเทศไทยเกินกว่า 3 เดือน6 เดือน..

พวกท่านทั้งหลาย..จะขัดขวางพระราชกำหนดฉบับนี้หรือไม่..มันจะเป็นการทำลาย “นิติรัฐ” ของพวกท่านหรือไม่..

คำตอบก็รู้กันอยู่ในจิตใจ.. หากว่าพวกท่านไม่ใช่อมนุษย์

จึงเกิดคำถามว่า...ใครที่กำลังสู้เพื่อคนๆ เดียว..ใครกำลังขัดขวางสุดกำลังเพื่อไม่ให้..ทักษิณ ชินวัตร ได้รับการอภัยโทษ..

ใครที่ทำลาย “นิติแห่งรัฐ” ทั้งในอดีต ปัจจุบัน..และอนาคต..และคำฟ้องที่มาจากอัยการปฏิวัติและคำพิพากษาที่ไม่ได้มาจาก..กระบวนการอันเป็นปรกตินั้น..จะเรียกมันว่า “นิติรัฐ” ได้ละหรือ..

โดย:พญาไม้ทูเดย์,บางกอกทูเดย์

///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ญี่ปุ่นส่งรถสูบน้ำ ผู้เชี่ยวชาญกู้นิคม 7 แห่ง เริ่ม 19 พ.ย. !!?

ญี่ปุ่นส่งรถสูบน้ำ-ผู้เชี่ยวชาญกู้นิคม7แห่ง เริ่ม 19 พ.ย.

ญี่ปุ่นตอบแทนบุญคุณคนไทยช่วยสึนามิ ให้ยืมรถปั๊มระบายน้ำประสิทธิภาพสูง 10 คัน มูลค่า 200 ล้าน กู้นิคมอุตสาหกรรม 7 แห่งเริ่ม 19 พ.ย. พร้อมส่งผู้เชี่ยวชาญร่วมทำงานวิศวกรไทยปฏิบัติภารกิจภายใน 10 วัน วอนคนไทยสามัคคีกัน...

นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เป็นประธานพิธีปล่อยขบวนรถปั๊มระบายน้ำในโครงการความช่วยเหลือระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่นกับรัฐบาลไทย ที่ลานพระราชวังดุสิต โดยมีนพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายเซอิจิ โคจิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และนายคาซูฮิโระ โยเนะดะ หัวหน้าคณะผู้แทนองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (ไจก้า) ประจำประเทศไทย เข้าร่วมพิธีดังกล่าวด้วย

นพ.วรรณรัตน์ กล่าวว่า รัฐบาลญี่ปุ่นจัดส่งรถปั๊มระบายน้ำและอุปกรณ์จำนวน 10 คัน มูลค่า 200 ล้านบาท ซึ่งเป็นการให้ยืมและส่งคืนเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ ขณะเดียวกันทางญี่ปุ่นได้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญและวิศวกรของญี่ปุ่น มาทำงานร่วมกับคณะเจ้าหน้าที่และวิศวกรของไทยในการปฏิบัติภารกิจครั้งนี้ โดยรถปั๊มระบายน้ำแต่ละคันมีกำลังการสูบ 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง หรือ 43,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งจะถูกนำไปใช้เร่งระบายน้ำในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 7 แห่งที่ประสบภัยน้ำท่วม โดยตั้งแต่วันที่ 19 พ.ย.นี้เป็นต้นไปจะเริ่มการระบายน้ำในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมไฮเทคและสวนอุตสาหกรรมโรจนะ ในจ.พระนครศรีอยุธยา แห่งละ 10 วัน

ทั้งนี้หลังจากเสร็จภารกิจดังกล่าว อาจมีการนำรถปั๊มระบายน้ำไปใช้สูบน้ำในพื้นที่สาธารณะอื่นๆ ที่ประสบภัยน้ำท่วมด้วย นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงสาธารณสุข ยังทำหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพน้ำที่ถูกสูบออกจากพื้นที่อย่างสม่ำเสมอเพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อประชาชน

ด้านนายโคอิจิ ฟูนะยะมะ หัวหน้าคณะผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่น กล่าวเป็นภาษาไทยว่า เราได้รับมอบภารกิจให้นำรถปั๊มระบายน้ำ 10 คัน มาช่วยระบายน้ำประมาณ 10 วัน ซึ่งแม้จะรู้สึกหนักใจ แต่จะใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการดำเนินการดังกล่าว เพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณของคนไทยที่มีน้ำใจช่วยเหลือญี่ปุ่นที่ประสบภัยสึนามิที่ผ่านมา โดยรถปั๊มระบายน้ำมีความสามารถสูบระบายน้ำได้มากเท่ากับปริมาณน้ำในสระว่ายน้ำขนาด 25 เมตร ในเวลา 10 นาที อย่างไรก็ตามขอให้คนไทยทุกคนมีสามัคคีช่วยกันพยายามทำให้ชีวิตความเป็นอยู่กลับเข้าสู่สภาวะปกติเหมือนเดิม

ต้นฉบับ: http://www.thairath.co.th/content/pol/217611

ที่มา: ไทยรัฐ

////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

สำเนียงส่อภาษา : ส.ส. หญิงกับการอภิปรายในสภาไทย !!?

โดย:อติภพ ภัทรเดชไพศาล

มีผู้ตั้งข้อสังเกตไว้น่าสนใจว่า ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีลำดับชั้นในทางโครงสร้าง โดยหลักฐานที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือกรณีของคำแทนตัวหรือคำสรรพนามที่เรามีใช้อย่างหลากหลาย ทั้งผม คุณ กู มึง ข้าพเจ้า ท่าน ข้าพระพุทธเจ้า ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เป็นต้น

ลำดับชั้นของคำสรรพนามเหล่านี้ทำให้การสนทนานั้นมีลักษณะของการจำแนกลำดับสูง-ต่ำ ของผู้พูด-ผู้ฟังอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่เหมือนกับภาษาอังกฤษ ซึ่งมีเพียง I กับ You เท่านั้น จึงนับว่าเป็นภาษาที่มีคุณลักษณะเป็นประชาธิปไตยมากกว่าภาษาไทย ซึ่งผมเห็นด้วยเป็นอย่างมาก

แต่ยังนอกจากเรื่องของคำสรรพนามแล้ว ที่จริงในการใช้ภาษายังมีอีกประเด็นหนึ่งที่สมควรพูดถึง นั่นคือเรื่องของสำเนียง (intonation) หรือท่วงทำนองและจังหวะในการพูดจา ซึ่งเป็นตัวกำหนดอารมณ์และบทบาทหน้าที่ของข้อความต่างๆ ที่มนุษย์ใช้สื่อสารในลักษณะที่แตกต่างกัน

ข้อความว่า “สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล” เป็นข้อความที่ชนชั้นสูงใช้แยกแยะกลุ่มบุคคลที่แตกต่างออกไปจากตน (ซึ่งมักแปลว่าอยู่ “ต่ำ” กว่า) สำเนียงในการพูดหมายถึงท่วงทำนองในการพูด หมายถึงลักษณะการทำเสียงสูงๆ ต่ำๆ การเน้นคำ และรวมไปถึงการเว้นจังหวะจะโคนในการพูดด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้ฟังสามารถรู้ได้ว่า กำพืดของผู้พูดนั้นเป็นอย่างไรและมาจากท้องถิ่นไหน

เพราะภาษาไม่ได้หมายถึงเพียง “ภาษา” อย่างที่เราเข้าใจในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงความเป็นกลุ่มชน และ “เกี่ยวพันกับ ‘วัฒนธรรม’ และ ‘อำนาจ’ หรือ ‘ชนชั้น’ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” (ดูบทความ ภาษาดี ภาษาสวย ภาษาราชการ? ของ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับประจำวันที่ 5-11 ส.ค. 54)

สำเนียงและวิธีการพูดจา จึงมีส่วนกำหนดท่าทีของการสื่อสารหรือภาพลักษณ์ของผู้พูดได้ไม่น้อยไปกว่าสารที่ผู้พูดนำเสนอ

การที่นายบัณฑูร สุภัควณิช เลขานุการนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์กับสื่อเครือเนชั่นเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมาถึงการที่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร มักพูดผิดๆ ถูกๆ ว่าเป็นเพราะความที่ท่านเป็น “คนบ้านนอก” นั้น (ดู http://www.suthichaiyoon.com/detail/16432) ส่วนหนึ่งอาจเป็นการขอความเห็นใจจากคนบ้านนอกจำนวนมากที่เป็นฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยก็จริงอยู่ แต่ก็ต้องถือว่าเป็นการตั้งข้อสังเกตที่ตรงประเด็นอย่างที่สุด

เพราะในสังคมที่ควบคุมด้วยรัฐราชการแบบในประเทศไทย เมืองหลวงย่อมถือว่าเป็นสุดยอดของความศิวิไลซ์ และคนที่พูดภาษาด้วยสำเนียงคนกรุงเทพฯ ได้ชัดเจนเท่านั้นจึงจะถือว่าเป็นผู้มีการศึกษา ดังนั้นเราจึงดูถูกดูแคลนสำเนียงบ้านนอกมาแต่ไหนแต่ไร เราดูถูกสำเนียงสุพรรณ ดูถูกสำเนียงทองแดง และดูถูกชาวเขาที่พูดไทยไม่ชัด

เรามักดูถูกคนที่เขียนภาษาไทยไม่ได้ พูดไทยไม่ชัด และใช้ภาษาราชการไม่เป็น โดยไม่เคยตั้งข้อสังเกตเลยว่าแท้จริงแล้ว “ภาษาราชการ” นั้นมีรากเหง้าเดียวกันกับภาษาในราชสำนัก (เพราะเป็นภาษาของ “ข้า” ราชการ) และในความเป็นจริงแล้ว ภาษาแบบราชสำนักนั้นไม่เคยมีที่ทางอย่างกว้างขวางในสังคมไทยมาก่อนเลย โดยเฉพาะในสังคมชนบท

เช่นภาษาราชการแบบในกฏหมายตราสามดวงนั้นก็เห็นชัดๆ ว่าไม่ได้เขียนไว้ให้คนทั่วๆ ไปอ่านอยู่แล้ว

กรณีสำเนียงการพูดจาและลักษณะการใช้ภาษาของนักการเมืองไทยนั้น เท่าที่ผมลองสืบค้นและฟังดูจากการประชุมสภาในหลายๆ ครั้ง (ผมจะจำกัดเฉพาะตัวอย่างการพูดของ ส.ส. หญิงเท่านั้นในที่นี้) พบว่าเราอาจจัดกลุ่มสำเนียงและลักษณะการพูดจาของ ส.ส. หญิงออกได้คร่าวๆ เป็นสามกลุ่ม

(การแบ่งกลุ่มในที่นี้ไม่มีนัยยะเชิงเปรียบเทียบว่ากลุ่มไหนดีกว่ากลุ่มไหน)

1) กลุ่มที่พูดจาฉาดฉาน ชัดเจน มีความเป็นสำเนียงเมืองหลวงเต็มที่ พูดจาด้วยภาษาที่รัดกุมและเป็นแบบ “ราชการ” และที่สำคัญคือ จะไม่เน้นการเน้นเสียงเบาเสียงดังหรือใช้สำเนียงสูงๆ ต่ำๆ มากนัก ซึ่งแสดงให้เห็น “วุฒิภาวะทางอารมณ์” ที่มั่นคง (คือมีความเป็นผู้ดีตามนิยามของระบบการศึกษาไทยสูง) แต่มีการแบ่งวรรคตอนในการพูดที่เหมาะสมและเป็นจังหวะจะโคน ส.ส. ในกลุ่มนี้มีตัวอย่างที่ชัดเจนคือคุณสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แลคุณฐิติมา ฉายแสง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร เพราะทั้งสองคนนี้เป็นนักการเมืองอาชีพและผ่านเวทีปราศรัยมาแล้วอย่างมากประสบการณ์

2) กลุ่มนี้ตรงกันข้ามกับกลุ่มแรกอย่างสิ้นเชิง นั่นคือมักจะพูดจาไม่ราบรื่นนักเมื่อเทียบกับกลุ่มแรก (ขอเน้นทำความเข้าใจตรงนี้อีกครั้งหนึ่งว่านี่ไม่ใช่ข้อตำหนิ แต่เป็นข้อสังเกต) มักมีปัญหากับการเรียงประโยคตามหลักไวยากรณ์ อีกทั้งยัง “ใส่อารมณ์” ในการพูดค่อนข้างมาก มีการเน้นเสียงสูงต่ำอย่างเป็นธรรมชาติเช่นเดียวกับที่ชาวบ้านร้านตลาดทั่วๆ ไปพูดคุยกัน แล้วเผลอๆ ยังแอบหลุดสำเนียงท้องถิ่นมาให้ผู้ฟังได้ยินอีกด้วย กรณีแบบนี้มีตัวอย่างเช่นคุณรังสิมา รอดรัศมี เป็นต้น

3) กลุ่มสุดท้ายมีจำนวนมากที่สุด และจัดอยู่ในประเภทกลางๆ คือไม่ถึงกับพูดฉาดฉานสมบูรณ์แบบเช่นในกลุ่มแรกนัก แต่ก็ควบคุมสำเนียงและลีลาการพูดให้มีความเป็นทางการได้ในระดับหนึ่ง ตัวอย่างในกลุ่มนี้มีคุณวิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ ที่ยังติดถ้อยคำแบบที่ไม่ใช่ภาษาราชการ เช่นการลากเสียงคำว่า “เนี่ย” แบบที่ชาวบ้านทั่วๆ ไปพูดกัน หรือบางครั้งอาจไม่สามารถจัดวรรคตอนและการหายใจได้เหมาะสม และยังไม่ใส่ใจกับการควบกล้ำหรือ ร เรือ ล ลิงมากนัก เช่นเดียวกับคุณนาถยา เบญจศิริวรรณ ที่ยังคงมีอาการตะกุกตะกักบ้าง และบางครั้งก็เรียงประโยคผิดไวยากรณ์ ที่น่าสนใจคือ ส.ส. ทั้งสองคนนี้ จัดอยู่ในกลุ่มกลางๆ ในซีกที่ค่อนไปในทางที่ใช้ท่วงทำนองการพูดแบบมีสำเนียงสูง-ต่ำ และความหนัก-เบาที่บ่งบอกถึง “อารมณ์ความรู้สึก” ในการอภิปรายด้วยอยู่มาก

ขณะที่กลุ่มกลางๆ อีกซีกหนึ่งนั้นค่อนข้างจะมีความจงใจควบคุมสำเนียงการพูดให้เป็นไปอย่างเรียบๆ มากกว่า ซึ่งมีตัวอย่างเช่นคุณรสนา โตสิตระกูล (ส.ว.) คุณอนุสรา ยังตรง และคุณอรุณี ชำนาญยา เป็นต้น การอภิปรายของ ส.ส. ซีกนี้มีความเป็นราชการค่อนข้างสูงขึ้นมาอีก (จึงทำให้คนส่วนมากรู้สึกว่าออกจะน่าเบื่อ) แต่ก็ยังมีการพูดผิด พูดซ้ำๆ เว้นวรรคผิด เรียงประโยคกลับกันบ้าง แต่ประเด็นสำคัญคือ - ลักษณะการพูดจาอภิปรายจะเป็นไปด้วยน้ำเสียงที่เรียบๆ ไม่เน้นการใช้เสียงหนัก-เบา สูง-ต่ำ เพื่อแสดง “อารมณ์ความรู้สึก” นัก ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้เอง

(แต่ถ้าสังเกตการตอบคำถามหรือการให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ดูดีๆ โดยเฉพาะในรายการของคุณจอม เพชรประดับ หรือคุณสรยุทธ สุทัศนจินดา ในช่วงก่อนเลือกตั้ง จะพบว่า ว่าที่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ (ในขณะนั้น) สามารถตอบคำถามต่างๆ ได้อย่างคล่องแคล่วและเป็นธรรมชาติมากทีเดียว ซึ่งสื่อให้เห็นว่า นายกรัฐมนตรีน่าจะคุ้นเคยกับการแสดงความคิดในลักษณะที่ไม่เป็นทางการนักมากกว่า)

เป็นที่รู้ๆ กันว่าการอภิปรายหรือการปราศรัยนั้นเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของนักเลือกตั้ง แต่ก็เป็นที่รู้ๆ กันอีกว่าคุณสมบัติข้อนี้ไม่เกี่ยวกับสติปัญญาในการบริหารบ้านเมืองแต่อย่างใด เพราะที่จริงแล้วเราอาจเห็นคนมีความสามารถอีกหลายๆ คนที่พูดไม่เก่งหรือพูดไม่เป็นเลย - ซึ่งก็มีอยู่เป็นจำนวนมาก

จริงอยู่ที่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์อาจเป็นคนที่พูดไม่เก่ง พูดผิดๆ ถูกๆ บ้างในบางครั้ง แต่โดยรวมๆ แล้วย่อมไม่ถึงกับจัดเป็นคนที่พูดไม่รู้เรื่อง และว่าที่จริงถ้ากล่าวถึงการคุมประเด็นและรักษาเนื้อความที่ต้องการนำเสนอแล้วยังควรจัดว่าอยู่ในขั้นค่อนข้างดีด้วยซ้ำ

แน่นอนว่าการฝึกฝนให้สามารถพูดจาแบบคนภาคกลางและด้วยภาษาราชการสวยๆ หรูๆ นั้นย่อมเรียนรู้และฝึกฝนกันได้ เพียงแต่อาจต้องใช้เวลาบ้างเท่านั้น แต่แน่ใจหรือ - ว่าการสื่อสารด้วยสำเนียงและภาษาแบบราชการนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องสมบูรณ์ที่สุดเพียงหนึ่งเดียว

ลองถามตัวเองดูก่อนว่าทุกวันนี้ เราอยากอ่านหนังสือราชการหรืออยากจะอ่านหนังสือที่เขียนขึ้นด้วยภาษาชาวบ้านธรรมดาที่เข้าใจกันได้ง่ายๆ มากกว่ากัน

ที่มา:ประชาไท
//////////////////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

เบื้องหลัง..อภัยโทษ เข้า ครม. !!?

ตกเป็นข่าวใหญ่ไม่แพ้น้ำท่วม แต่คนละความหมาย คนละอารมณ์ คนละความรู้สึก เรื่องที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)

เมื่อ 15 พฤศจิกายน 2554 ซุ่มพิจารณา "วาระจรลับ" เกี่ยวกับพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. ....

เขาว่ากันว่า เป็นการกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับคุณสมบัติของนักโทษที่จะเข้าข่ายได้รับพระราชทานอภัยโทษในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา 5 ธันวาคม 2554

ซ้ำร้ายเนื้อหาของ พ.ร.ฎ. ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ต้องเป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี แถมมีการตัดคำแนบท้ายของ พ.ร.ฎ.อภัยโทษ พ.ศ. 2553 ที่มีเนื้อหาระบุว่า ผู้ที่เข้าข่ายได้รับอภัยโทษ ต้องเป็นโทษที่ไม่เกี่ยวกับยาเสพติด และไม่เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันออก นี่เป็นเนื้อหาสาระที่สื่อนำมาเผยแพร่กันสนั่นเมือง

หากเรื่องที่ว่าทั้งหมดเป็นจริง จะไปเอื้อให้ คุณทักษิณ ชินวัตร อยู่ในเกณฑ์ที่ว่าด้วยหรือไม่? สังคมไทยพิจารณากันเอาเอง ที่สำคัญต้องพิจารณาให้ถ่องแท้ว่า เรื่องนี้สำคัญมากน้อยแค่ไหน หากเทียบกับวิกฤติน้ำท่วมที่พี่น้องประชาชนกำลังได้รับความเดือดร้อนอยู่ในเวลานี้...

สิ่งที่น่าคิด การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2554 มัน "กลับตาลปัตร" คนที่ควรจะอยู่ในที่ประชุม แต่กลับไม่อยู่ อย่าง นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รองนายกฯ ยงยุทธ วิชัยดิษฐ ซึ่งจะไม่อยู่ด้วยความบริสุทธิ์ใจหรือไม่ นายกฯ เท่านั้น ที่ควรจะมีคำตอบ

สิ่งที่เกิดขึ้น ถามว่า นายกฯ จะปฏิเสธความรับผิดชอบ ไม่รู้ไม่เห็นได้หรือไม่? ในฐานะผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในคณะรัฐมนตรี ยิ่งเป็นวาระจรด้วยซ้ำ นายกฯ จะไม่รับรู้เลยหรือ

ปกติการเสนอวาระจรเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายกฯ ก็ไม่ได้ให้เสนอเข้าได้ง่ายๆ ไม่ใช่หรือ? ทุกเรื่องที่เข้าคณะรัฐมนตรี นายกฯ ต้องเซ็นรับทราบก่อนหรือไม่?

ตามกฎระเบียบราชการเวลาจะเสนอเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี กระทรวงต้นสังกัดต้องทำเรื่องเสนอไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรีพิจารณาข้อกฎหมายและความถูกต้อง เมื่อพิจารณาเสร็จต้องส่งกลับไปให้รองนายกฯ ที่รับผิดชอบในสายงานของตัวเองลงนาม สุดท้ายเอกสารก็ต้องกลับมาที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง เพื่อบรรจุเป็นวาระเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

เป็นปกติที่ทุกเรื่องก่อนจะบรรจุเป็นวาระเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ต้องเสนอเรื่องให้นายกฯ พิจารณา หรือรับทราบ เรียกว่า "นายกฯ ก็ต้องรับรู้ทุกเรื่อง"

เช่นเดียวกับเรื่องพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. ....ที่เจ้าของเรื่องอย่าง กระทรวงยุติธรรม แม้จะเป็นวาระจรลับ เรื่องนี้ก็ต้องแจ้งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อทำบันทึกว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน เห็นสมควรเสนอเป็นวาระจร นายกฯ เองก็ต้องเห็นชอบ ฉะนั้นเรื่องนี้ทั้งนายกฯ และเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จะไม่รู้เลยหรือ

ฉะนั้น แม้ว่า นายกฯ จะไม่อยู่ร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี แต่เป็นเรื่องสำคัญ ยังไงเสีย นายกฯ ก็ปฏิเสธความรับผิดชอบ ไม่รับ..ไม่รู้..ไม่ได้

แต่ถ้าเป็นเรื่องที่นายกฯ ไม่รู้เรื่องนี้มาก่อนจริงๆ น่าจะเป็นเรื่องของการบกพร่องการบริหารราชการแผ่นดินที่รองนายกฯ ปฏิบัติการเอง จะเป็นการ "สอดไส้" วาระหรือไม่ เรื่องนี้นายกฯ ต้องออกมาชี้แจงสังคมให้ได้

นายกฯ ลืมเรื่องนี้หรือยัง...เมื่อ 25 สิงหาคม 2554 อำพน กิตติอำพน บอกชัดเจนว่า นายกฯ ได้เสนอกฎระเบียบการเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ควรเป็นไปตามพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการเสนอเรื่องต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า วาระจร ต้องน้อยที่สุด เรื่องต่างๆ ที่เสนอต้องรอบคอบ เชื่อมโยงกับส่วนราชการต่างๆ หากเรื่องที่ไม่มีความเร่งด่วน "นายกฯ จะไม่ให้เสนอเป็นวาระจร เพื่อให้ ครม.นำไปพิจารณาก่อน"

ดังนั้น แม้การ พ.ร.ฎ. จะเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรีก็ตาม สำคัญยิ่ง ต้องเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ถูกกาลเทศะ ต้องเปิดเผย "ไม่ใช่งุบงิบทำกัน" อย่างที่เป็นอยู่ ถ้าจะงุบงิบ หรือไม่ต้องการให้สังคมรับรู้ มันน่าจะเป็นเรื่องของความมั่นคงประเทศ หรือวางแผนจะไปสู้รบกับประเทศใดก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่สิ่งที่ทำไม่น่าจะใช่

สำหรับการอภัยโทษ ปกติก็มีการกระทำกันอย่างเปิดเผยอยู่แล้ว เป็นประเพณีปฏิบัติ เป็นการกระทำเพื่อสาธารณะ แต่ไม่ใช่เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง นายกฯ ต้องออกมาชี้แจง อย่าปล่อยให้สังคมสับสนจนกลายเป็นวิกฤติรอบใหม่สำหรับประเทศไทยอีกเลย

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
////////////////////////////////////////////////////////////////

วันพุธที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

โกร่ง. ตั้ง 4 อรหันต์ พันศักดิ์-ประเสริฐ-วิษณุ-ศุภวุฒิ เดินหน้าตามแผน กยอ. !!?

ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มีการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ที่มีนายวีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ซึ่งถือเป็นการประชุมครั้งที่ 1 โดยมีกรรมการเข้าร่วมประชุมประกอบไปด้วย นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาฯ สศช. นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ นายวิษณุ เครืองาม นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ นายศุภวุฒิ สายเชื้อ เป็นต้น

ทั้งนี้ นายวีรพงษ์ กล่าวภายหลังการประชุม ว่า ที่ประชุมมีการพิจารณากรอบการทำงานของ กยอ. โดยมีเป้าหมายสำคัญในหลายประเด็น ประการแรก ได้มีการวางเป้าหมายระยะสั้นที่จะต้องสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงเป้าหมายระยะยาวที่จะทำงานเชื่อมโยงกับชุดคณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย (กฟย.) ที่มีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทยเป็นประธาน เพื่อวางแนวทางพัฒนาประเทศที่จะต้องนำปัจจัยเสี่ยงเรื่องอุทกภัยเข้ามาพิจารณาในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้วย โดยจะลงรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องลักษณะภูมิศาสตร์ โครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ระบบทางน้ำ รวมทั้งการพัฒนาบ้านเมืองในเขตอุตสาหกรรม เขตเกษตรกรรม และเขตทางน้ำไหลต่างๆ

ส่วนประการที่สอง คือ การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะที่ปรึกษา 4 ชุด ดังนี้ คณะที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และต่างประเทศ มีนายพันศักดิ์ วิญญูรัตน์ เป็นประธาน คณะอนุกรรมการด้านการประสานความร่วมมือและสร้างความมั่นใจกับภาคเอกชน มีนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ เป็นประธาน คณะอนุกรรมการด้านการจัดตั้งองค์กรถาวรและแนวทางการปฏิบัติราชการแผ่นดิน มีนายวิษณุ เครืองาม เป็นประธาน และคณะอนุกรรมการด้านการเงินและตลาดทุน มีนายศุภวุฒิ สายเชื้อ เป็นประธาน

ทั้งนี้ในส่วนการทำงานด้านธุรกิจและฝ่ายเลขานุการ ที่ประชุมได้มอบหมายให้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการ สศช. พร้อมอัตรากำลัง 30 คน เพื่อปฏิบัติหน้าที่กับ กยอ.โดยเฉพาะ ส่วนสถานที่ตั้งสำนักงานนั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้

นายวีรพงษ์ กล่าวต่อว่า ด้านการสร้างความเชื่อมั่นให้กับธุรกิจประกันภัยที่วิตกกังวลกัน ว่า สำนักงานบริษัทประกันภัยจะไม่รับประกันอุทกภัย ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการเจรจากันอยู่ ว่า สถานการณ์อุทกภัยคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของภัยธรรมชาติทั้งหมด หากตกลงกันได้แล้วก็จะต่อรองเรื่องค่าธรรมเนียมเงื่อนไขต่างๆ โดยฝ่ายรัฐบาลให้ความมั่นใจได้ว่าจะดำเนินการป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมซ้ำ โดยเรื่องนี้ตนได้อาสาที่จะเป็นตัวกลางระหว่างภาคเอกชนและรัฐบาล ในการสร้างความมั่นใจให้บริษัทเหล่านั้นสามารถรับประกันได้ โดยเบื้องต้นได้รับแจ้งว่า บริษัทเหล่านี้รับประกันอุทกภัยแล้ว แต่ว่ามีค่าธรรมเนียมแพงขึ้น ก็ยังพยายามเจรจาให้ราคาเท่าเดิมหรือแพงขึ้นจากเดิมไม่มาก

สาเหตุที่บริษัทต่างชาติไม่กล้ารับประกันภัยน้ำท่วม เพราะกลัวว่าบริษัทแม่ระดับโลกจะไม่รับต่อนั้น ผมจะเดินทางไปให้ความมั่นใจกับเขาที่ลอนดอนเอง ว่าจะดูแลเรื่องนี้ให้ดีที่สุด ขออย่าได้กังวล ส่วนจะเดินทางวันไหนผมจะบอกอีกครั้ง แต่เบื้องต้นได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังรับเรื่องไปดูแลแล้ว โดยมีกรอบที่จะต้องทำให้เขารับประกันอุทกภัยให้ได้ ในราคาที่เป็นธรรมที่สุด ในส่วนภาครัฐจะต้องทำทำอย่างไรบ้างนั้น ก็จะให้นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลังเป็นผู้พิจารณาอีกครั้ง

นายวีรพงษ์ กล่าวต่อไปว่า ก่อนหน้านี้ตนได้มีโอกาสพบกับคณะผู้แทนธุรกิจญี่ปุ่นที่อยู่ในประเทศไทย โดยได้พบกับประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) ประธานหอการค้าญี่ปุ่น (เจซีซี) และประธานบริษัทโตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด โดยล่าสุดประธานเจโทร ได้ให้ความมั่นใจว่า ญี่ปุ่นมีความปรารถนาที่จะอยู่กับประเทศไทย และขยายกำลังการผลิตในอุตสาหกรรมสาขาต่างๆ ต่อไป เพราะไทยมีความได้เปรียบในหลายเรื่อง โดยเฉพาะแรงงานที่มีคุณภาพ และสามารถที่จะรับวัฒนธรรมการจ้างแบบญี่ปุ่นได้ โดยในขั้นตอนการซ่อมแซมโรงงานนั้น ได้ขอให้อนุญาตให้แรงงานที่ได้รับผลกระทบ สามารถเดินทางไปทำงานในบริษัทญี่ปุ่นในประเทศอื่นได้ ซึ่งตนคิดว่าก็ไม่น่าจะมีอะไรขัดข้อง

"สิ่งที่เร่งด่วนที่สุดตอนนี้ คือ การส่งวิศวกรญี่ปุ่นเข้ามาดูแลเครื่องจักร เขาก็ขอให้รัฐบาลไทยออกใบอนุญาตทำงานชั่วคราวให้ เพื่อจะได้ยกกำลังคนมาซ่อมแซมโรงงาน ผมก็ได้รับปากแล้วว่า จะดำเนินการอำนวยความสะดวกให้ เพื่อให้โรงงานเปิดทำการให้เร็วที่สุด"

นายวีรพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนั้น ญี่ปุ่นยังมีความต้องการที่จะลงทุนเพิ่มเติมในส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยต้องการที่จะขยายฐานะการผลิตจากเดิม 1 ล้านคันต่อปี เป็น 2.5ล้านคันต่อปี เพื่อให้ไทยกลายเป็นศูนย์การผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดรองจากญี่ปุ่นในอนาคต หากไทยมีการลงทุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม นอกจากนั้นยังได้หารือกับประธานเจโทรอีกว่า ในอนาคตมีความจำเป็นที่จะต้องแบ่งโซนอุตสาหกรรม เพราะจะไปคิดว่าไทยน้ำไม่ท่วมอย่างเก่าไม่ได้อีกแล้ว ซึ่งเขาก็ยินดีที่จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่

"อย่างไรก็ตาม ประธานเจโทรได้บอกว่า ญี่ปุ่นมีความพร้อมทางด้านการเงิน ด้านเทคนิคที่จะเข้ามาช่วยเหลือไทยอย่างเต็มที่ เพราะญี่ปุ่นมีประสบการณ์ในเรื่องภัยธรรมชาติมากมาย โดยเฉพาะเรื่องน้ำท่วม เป็นเรื่องที่เขาชอบมานาน เพราะว่าเจอสถานการณ์แบบนี้มากว่า 1,000 ปี จึงมีประสบการณ์มาก โดยในวันที่ 28 พ.ย.นี้ เขาได้เชิญผม และคุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ไปพูดคุยกับรัฐบาลญี่ปุ่น และสภาหอการค้าญี่ปุ่นอีกด้วย"

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาฯ สศช. กล่าวว่า สำหรับแผนแก้ไขปัญหาระยะสั้นไม่ให้น้ำท่วม ในส่วนยุทธศาสตร์คงแบ่งเป็น 2 ระยะคือ ในฤดูฝนปีหน้าจะต้องมีระบบป้องกันอย่างน้อย 2 ระบบ คือ ระบบในเขตนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ เรื่องนี้ผู้ประกอบการจะต้องปรับปรุงแก้ไข ทางรัฐบาลได้มีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ประกอบการกู้ไปลงทุนในเรื่องเขื่อนป้องกันในนิคม นอกจากนั้นยังมีกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่เป็นแหล่งเงินทุนที่สามารถใช้ได้

ในระดับที่สอง ก็จะเป็นเรื่องของการป้องกันน้ำท่วมนอกนิคม บริเวณรอบนอก และชุมชน เป็นการลงทุนของภาครัฐ คงจะต้องรอในเรื่องของการออกแบบ และรอการพิจารณาของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ( กยน.) ด้วยว่า วิเคราะห์ทางน้ำ ที่จะมาต่อยอดว่าจะออกแบบโครงสร้างพื้นฐานอย่างไร

ส่วนนายวีรพงษ์ กล่าวว่า การดำเนินงานเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน จะต้องมีการทำโครงการขึ้นมา และมีการประมูลมูลค่าของราคากลางราคาเท่าไร เพื่อนำเข้าสู่ระบบราชการประจำต่อไป ส่วนเรื่องการลงทุนเพื่อป้องกันอุทกภัยในระยะยาว จะต้องสอดคล้องเชื่อมโยงกับโครงสร้างพื้นฐานด้านอื่น ที่จะยกระดับการพัฒนาประเทศให้สูงขึ้นไป จะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะในคณะกรรมการ กยน. ซึ่งหากตนได้รับผลประเมินแล้วก็จะมาดูเรื่องการดำเนินการให้ลุล่วงไป ถึงตอนนั้นจะรู้ว่ามีอะไรบ้าง ราคาเท่าไร ใช้เงินที่ไหน ซึ่งการประชุม กยอ. จากนี้ไป จะประชุมเดือนละ 2 ครั้ง

เมื่อถามว่า จะหาแหล่งเงินจากไหนมาลงทุน นายวีรพงษ์ กล่าวว่า อยากให้นึกไปถึงสมัยป๋าเปรม (พลเอกเปรม ติณสูลานนท์) เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ช่วงนั้นเกิดวิกฤตทางการเงิน ดุลการค้าขาดดุล ดุลบัญชีเดินสะพัดก็ขาดดุล สมัยนั้นเราเจ็บป่วย โดยมีฐานะยากจน แต่ตอนนี้เราเจ็บป่วย โดยไม่ได้ยากจนอย่างเก่า ภาคเอกชนก็มีเงินออมจำนวนมาก บัญชีเดินสะพัดก็ยังเป็นบวกอยู่ คนเรานี่ก็แปลกเวลาจนไม่มีใครอยากให้กู้ แต่เวลารวยก็มีคนวิ่งมาให้กู้จัง ส่วนจะใช้เงินบาท เงินเหรียญสหรัฐ ก็ค่อยมาคุยกันอีกทีหนึ่งว่าจะใช้อย่างไร

เมื่อถามว่า จะเอาเงินสำรองระหว่างประเทศมาใช้หรือไม่ นายวีรพงษ์ กล่าวว่า ก็เอามาบางส่วน แทนที่จะให้อเมริกากู้ถูกๆ ก็เอามาให้รัฐบาลไทยกู้ อาจจะให้ดอกเบี้ยดีกว่า หากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่อยากให้กู้ ก็ต้องไปจี้เขาว่าทำไมปล่อยให้อเมริกากู้ได้

เมื่อถามว่า แผนระยะสั้น จะเห็นเป็นรูปธรรมเมื่อไร นายวีรพงษ์ กล่าวว่า "ต้องทำให้เร็วที่สุด ผมเป็นคนใจร้อน ผมอายุมากก็อยากเห็นผลงานของตัวเองเหมือนกัน"

ที่มา:ประชาชาติธุรกิจ
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

กุ๊ย !!?

เศร้า...ไม่ใช่เศร้าเพราะน้ำท่วม...เพราะน้ำท่วมได้ก็ลดได้...เพราะจะเอาน้ำขังไว้มันยากกว่าเอาน้ำทิ้งอย่างแน่นอน
ใครได้ดูนักฟุตบอลทีมชาติไทย...ไปแข่งขันกับนักฟุตบอลต่างชาติในโลก...ถึง 2 นัดซ้อนด้วยกันแล้ว...ไม่ว่าจะเป็นคนคลั่งชาติขนาดไหน...ก็รับไม่ไหว
เพราะมันไม่ใช่ ฟุตบอลทีมชาติไทย...แต่มันมี "กุ๊ย" เข้าไปสวมใส่เสื้อ...ทีมชาติไทย...เข้าไปรวมอยู่ด้วย...
สำหรับการต่อสู้แล้ว...มันมีอยู่แค่ 3 กรณี...ชนะ แพ้ และเสมอ
สำหรับฟุตบอลกับการแข่งขันก็เช่นกัน...เอาชนะไม่ได้ก็พยายามให้เสมอเข้าไว้...แต่หากสู้เขาไม่ได้...ก็ต้องก้มหน้ายอมรับความพ่ายแพ้และกลับไป...ศึกษาและหาวิธีกลับมาเอาชัยชนะให้ได้...
แค่นั้นจริงๆ สำหรับการต่อสู้หรือการเล่นกีฬา...

ท่ามกลางคนดูมหาศาลและถ่ายทอดออกไปในหลายๆ ประเทศด้วยแล้ว...สปิริตของนักกีฬา...คือสิ่งที่ต้องแสดงออก...แต่สำหรับ...บางคนในทีมฟุตบอลไทย...มันไม่ควรจะได้กลับเข้าไปสวมเสื้อทีมชาติไทยด้วยซ้ำ...
แพ้คนไทยไม่อับอาย...แต่ความเป็นอันธพาลของ...นักฟุตบอลไทย ต่างหากที่...รับไม่ได้...และน่าเศร้า...สมาคมฟุตบอลไทย...ท้ายชื่อสมาคมของท่านนั้นมีคำว่า...ในพระบรมราชูปถัมภ์...
ท่านคงแปลเป็นแปลได้...
ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง...เราไม่ปรารถนาที่จะเห็น...ธีราทร บุญมาทัน...ในเสื้อทีมชาติไทย...ไม่ว่ามันจะแข้งเทวดาขนาดไหน...

และผู้พากย์ฟุตบอลในวันแข่งขันทั้ง 2 วัน...วิธีคิดของท่านมันฉ้อฉล...สิ่งเลวร้ายที่ปรากฏในจอทีวี...เป็นสิ่งที่ควรตำหนิติเตียน...เพราะมีเยาวชนของชาติจำนวนมาก...จับจ้องมองอยู่...ผิดก็ต้องผิด...ถูกก็ต้องถูก
ถ้าเห็นด้วยกับความกักขฬะ...ก็ไปหาสนามกัดหมา...ไว้พากษ์...
เราคนไทยส่วนใหญ่...ยิ้มรับความพ่ายแพ้ได้...แต่...เรารับไม่ได้กับ...อันธพาลในสนามกีฬา


โดย:พญาไม้ทูเดย์,บางกอกทูเดย์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เริ่มได้.. กระดูก !!?

แรงเสียดสี เสียดทาน ที่หยาดหยัน ทำให้ “นายกฯปู” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คนสู้ชีวิต สู้ปัญหา จึงไม่ยอมแพ้อะไรง่าย ๆ แม้จะมีคนเปิดเกมบุก??
ยิ่งเรียกร้องให้ลาออก...จึงมีแรงฮึด ที่จะอยู่ทำหน้าที่ต่อไป
และ “นายกฯปู” ก็รู้ว่านี่ไม่ใช่ธรรมชาติ...แต่เป็นการอุปโลกน์ เพื่อผลักไส ไล่เธอให้พ้นไป
จึงอยากบอก “มือที่มองไม่เห็น” ที่ปั่นป่วนคนไทย ให้เกลียด “นายกฯปู” คงไม่มีวันสำเร็จ..เพราะงานนี้อ่านเกมพลาด
“นายกฯปู”คนนี้...ไปดูประวัติที่ผ่านมาสิ?...ใครยิ่งตีเธอยิ่งไม่ยอมก้มหัวให้เด็ดขาด??

++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่ได้เล่ห์ก็เอาด้วยกล
“มือที่มองไม่เห็น” กลับไปใช้เล่ห์เพอุบาย เหมือนเก่ากันอีกหน
ด้วยการ “ยุบพรรคเพื่อไทย” ตัดแขนตัดขา ตัดเศียร ตัดมือ ไม่ให้ “พรรคเพื่อไทย” เป็นรัฐบาลได้
ไปหยิบประเด็น “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” มายุบพรรค ให้เหี่ยวแห้งตาย
เหมือนที่ “อดีตนายกฯสมัคร สุนทรเวช” และ “อดีตนายกฯท่านสมชาย วงศ์สวัสดิ์” ถูกประกาศิต ให้ตกเก้าอี้
แต่ “นายกฯปู”ไม่ใช่ละอ่อน...งานนี้มีการย้อนศร?...ถอนแค้นคืนกันมั่ง โปรดคอยดูให้ดี

++++++++++++++++++++++++++++++++

“รอด”มาได้ทุกจังหวะ
“พรรคประชาธิปัตย์” ของ “อดีตนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชีวะ”
ถูกฟ้องให้ “ยุบพรรค” สู้หลุดมาได้อย่างสง่า
แต่ขอให้เชื่อเถิดมิตรรักนักเพลง ไม่มีใครอยู่ชั่วยามดินสลาย สักวันหนึ่ง ก็ต้องคว่ำ
ดูความเคลื่อนไหว ก็ “ทนายอัมสเตอร์ดัม” ที่ฟ้องต่อสาธารณะชนโลก ให้ลบชื่อบางพรรคออกไปจากสาระบบ
ไม่รู้ว่าเมื่อไม่มี “ตัวช่วย”....บางพรรคจะไปได้สวย?...หรือต้องมอดม้วย พบกับจุดจบ??

++++++++++++++++++++++++++++++++

ประวัติศาสตร์ สอนให้จำ
เหตุที่ “อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร” ผู้พลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน ทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นมาสูงปรี๊ด ..แต่แล้วก็ต้องคว่ำ
อยากให้ “นายกฯปู” ยิ่งลักษณ์ ชินวัต ย้อนเกร็ดไปดูเรื่องเก่า กันบ้าง
ชนวนเหตุ ที่ทำให้เกิด “รัฐประหาร ๑๙ กันยาฯ” เพราะคนข้างเคียง ที่เป็นเหล่ากระโถนท้องพระโรง ทำให้ “อดีตนายกฯทักษิณ” ต้องพัง
เหมือนกับ “รัฐบาล”ปู” ตอนนี้ มีเหล่าที่ “ปรึกษาบ้านกรกฏ” ที่สร้างความปั่นป่วนจนดูไม่ดี
ไม่อยากทับรอย “ท่านทักษิณ”....ต้องยุบที่ปรึกษานี้ให้สิ้น?...ข้อหานินทา จะได้หมดกันเสียที

++++++++++++++++++++++++++++++++

“ควักค่าต๋ง”กันมานานปี
งาบหัวคิว กินค่าต๋ง จากเปอร์เซ็นต์การขายน้ำมัน ก้อน่ะซี่
ว่ากันว่า บางยุค บางรัฐบาล กินเปอร์เซ็นต์น้ำมันลิตรละ ๑ บาทสบายแฮ
เป็น “เงินกินเปล่า” ที่คนนั่งกำกับอยู่ด้านหลัง อดีตรัฐมนตรีพลังงาน?.. และ ผู้จัดการรัฐบาล?... ฟาดกันมาต่อเนื่อง....แต่ชาวบ้านกระเป๋าแฟบ ย่ำแย่
งานนี้ที่หยิบขึ้นมาแฉ อยากให้ “ท่านพิชัย นริพทะพันธ์ุ” รมว.กระทรวงพลังงาน ตามแกะดมดูเรื่องนี้หน่อย
ประเทศชาติเสียประโยชน์.....แต่พวกนี้กับงาบเงินสด?...โดยที่ไม่ได้รับโทษ เห็นแล้ว ชักไม่เอ็นจอย??

คอลัมน์:ตอดนิดตอดหน่อย,บางกอกทูเดย์
////////////////////////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ปรับลดงบ - แก้ พ.ร.บ.กลาโหม ปมอ่อนไหว รัฐ - กองทัพ หลังน้ำลด !!?

วัดปรอทความสัมพันธ์ "รัฐ-กองทัพ" กับเงื่อนไข 2 ประเด็นใหญ่หลังน้ำลด ทั้งการปรับลดงบทหารและการแก้ไข พ.ร.บ.กลาโหม

"จะทำอย่างไรได้ในเมื่อมีความจำเป็น เมื่อประเทศชาติมีภัยและมีการใช้จ่ายงบประมาณ ดังนั้นการที่จะถูกลดงบประมาณลงบ้างก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ต้องขอชี้แจงว่างบประมาณของกองทัพบกถูกลดไปร้อยละ 10 แต่เมื่อลดไปแล้วก็ต้องยอมรับความจริงว่ามันจะเกิดอะไรบ้าง จะต้องยอมรับสภาพกัน...ผมไม่ได้ว่าอะไรแต่ต้องกระเบียดกระเสียนกัน หากเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น เราก็ทำงานได้ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่คิดว่าทุกคนเข้าใจ เพราะใจพวกเราเกินร้อยอยู่แล้ว"

เป็นเสียงบ่นดังๆ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เมื่อถูกนักข่าวถามเรื่องงบกองทัพถูกปรับลดลงถึง 3 พันล้านบาท ซึ่งแน่นอนว่าย่อมไม่ใช่เสียงแห่งความพึงพอใจ

พลิกดูเอกสารร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2555 ที่เพิ่งผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรวาระแรกไปเมื่อวันที่ 10 พ.ย.ที่ผ่านมา จะพบว่าในส่วนที่ตั้งไว้เป็นงบกองทัพนั้น "ถูกปรับลด" อย่างชัดเจน โดยงบประมาณรายจ่ายของกระทรวงกลาโหม ตั้งเอาไว้ที่ 167,446 ล้านบาทเศษ เทียบกับตัวเลขงบประมาณเมื่อปี 2554 ที่ได้รับการจัดสรรทั้งสิ้น 170,258 ล้านบาท เท่ากับลดลงไปเกือบๆ 3 พันล้านบาท

หน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหมเกือบทุกหน่วยถูกปรับลดงบประมาณเกือบจะถ้วนหน้า เริ่มจากสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม งบปี 2555 ตั้งไว้จำนวน 5,904 ล้านบาทเศษ ขณะที่ปี 2554 ได้รับการจัดสรร 6,129 ล้านบาทเศษ, กองบัญชาการกองทัพไทย งบปี 2555 ตั้งไว้ที่ 13,230 ล้านบาทเศษ ขณะที่ปี 2554 ได้รับ 13,676 ล้านบาทเศษ ถือว่าลดลงเล็กน้อย

กองทัพบก ตั้งงบไว้ที่ 81,716 ล้านบาทเศษในปี 2555 ส่วนปีที่แล้วได้รับการจัดสรร 83,508 ล้านบาทเศษ ลดลงไปเกือบ 2 พันล้านบาท, กองทัพเรือ ตั้งงบปี 2555 ไว้ที่ 32,905 ล้านบาทเศษ ขณะที่ปี 2554 ได้รับการจัดสรร 33,506 ล้านบาทเศษ มีเพียงกองทัพอากาศเท่านั้นที่ตั้งงบประมาณเอาไว้สูงขึ้น กล่าวคือ ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2555 ตั้งงบไว้ 32,174 ล้านบาทเศษ ขณะที่ปี 2554 ได้รับการจัดสรรจำนวน 31,817 ล้านบาทเศษ

แม้แต่ในส่วนของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ที่ตั้งงบรวมเอาไว้ที่ 6,747 ล้านบาท แยกเป็นงบดับไฟใต้ 6,100 ล้านบาทนั้น เมื่อปี 2554 กอ.รมน.ได้รับงบประมาณถึง 8,792 ล้านบาท (แยกเป็นงบดับไฟใต้ 8,019 ล้านบาทซึ่งมีทิศทางเพิ่มขึ้นทุกปี) เท่ากับปีนี้หายไปถึง 2 พันล้านบาท โดยส่วนหนึ่งถูกโยกไปเป็นงบของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.ที่เพิ่งมีกฎหมายรองรับองค์กรและเสนองบประมาณเองเป็นปีแรกจำนวน 1,422 ล้านบาท

ขณะที่ยอดรวมงบดับไฟใต้ในปีงบประมาณ 2555 เองก็ลดลงจากเดิมราว 3 พันล้านบาท กล่าวคือ จาก 19,102 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2554 เหลือตั้งไว้เพียง 16,277 ล้านบาทในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2555

เป็นที่ทราบกันดีว่า "งบดับไฟใต้" ในรอบหลายปีที่ผ่านมา เป็นงบของฝ่ายความมั่นคงกว่าครึ่ง โดยส่วนใหญ่เป็นงบเบี้ยเลี้ยง เงินเพิ่มพิเศษ และงบทรงชีพ หรืองบสนับสนุนการปฏิบัติของหน่วย ฉะนั้นเมื่อเม็ดเงินถูกปรับลดลง ย่อมส่งผลสะเทือนถึงหน่วยงานด้านความมั่นคง โดยเฉพาะกองทัพบกซึ่งเป็นดั่งเสาหลักใน กอ.รมน.

ทั้งๆ ที่ กอ.รมน.เพิ่งได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็น "องค์กรหลัก" ในภารกิจดับไฟใต้ซึ่งเพิ่งจัดทำพิมพ์เขียวกันใหม่...

คิดในเชิงการเมือง หากกองทัพไม่มีส่วนร่วมอะไรเลยหรือมีส่วนร่วมแต่ไม่มากนักกับงบปกติที่ใช้ฟื้นฟูหลังน้ำลดซึ่งรัฐบาลตั้งไว้ราว 1.2 แสนล้านบาท และยังอาจไม่มีส่วนร่วมกับงบประมาณที่จะเสนอผ่านคณะกรรมการยุทธศาสตร์ 2 ชุดที่รัฐบาลตั้งขึ้นเพื่อฟื้นฟูประเทศและวางระบบบริหารจัดการน้ำใหม่ ซึ่งจะใช้งบราว 8 แสนล้านบาท หนำซ้ำยังถูกตัดลดงบประมาณของกองทัพเองอีกด้วย ก็น่าคิดว่ากองทัพจะรู้สึกอย่างไร

ทั้งๆ ที่กองทัพเพิ่งรับบท "พระเอก" ของประชาชนในภารกิจช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนจากมหาอุทกภัย...

เป็นบท "พระเอก" ที่แลกมาด้วยความเหนื่อยยาก เพราะรัฐบาลแทบไม่มีแผนงานอะไรชัดเจนในช่วงแรกๆ ของการรับมือกับมวลน้ำ กลายเป็นว่านึกอะไรไม่ออกก็เรียกใช้ "ทหาร" เล่นเอากำลังพลจำนวนมหาศาลต้องรับผิดชอบภารกิจมากมายเสียจนอ่อนเปลี้ยเพลียแรง กระทั่งมีข่าวทหารตั้งวงประเมินรัฐบาล "สอบตก"

แม้ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพบกจะออกเอกสารปฏิเสธข่าวนี้ แต่ก็เป็นที่รู้กันดีว่าในวงสนทนาหลายๆ ระดับของบรรดาคนในเครื่องแบบวิจารณ์รัฐบาลกันอย่างดุเดือดเพียงใด

อีก 30 วันของการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบบประมาณ ในชั้นแปรญัตติ น่าติดตามว่างบกองทัพจะถูกรุมซักและเสนอให้ปรับลดอีกขนาดไหน โดยเฉพาะจาก ส.ส.บางปีกบางฝ่ายที่ยังฝังใจกับปฏิบัติการของกองทัพในการสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง

ขณะที่ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมี ส.ส.จากพรรคเพื่อไทยนั่งเป็นประธานและรองประธานกมธ. ก็รับเรื่องที่มีการเสนอศึกษาเพื่อแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 เอาไว้ เพื่อเปิดทางให้ฝ่ายการเมืองเข้าไปทลาย "กฎเหล็ก" การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารระดับนายพลซึ่งปัจจุบันฝ่ายการเมืองแทบไม่มีส่วนร่วมได้เลย

พล.ต.อ.วิรุฬ ฟื้นแสน ประธาน กมธ.จากพรรคเพื่อไทย บอกว่า จะมีการพิจารณาเรื่องนี้ในราวๆ เดือน ธ.ค. โดยให้ผ่านห้วงวิกฤติจากมหาอุทกภัยไปเสียก่อน ซึ่งก็สอดรับกับท่าทีของขุนพลพรรคเพื่อไทยอีกหลายๆ คน รวมไปถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้อย่างชัดเจนว่าต้องรื้อกฎหมายฉบับนี้

ประเด็นการปรับลดงบประมาณท่ามกลางภารกิจมากมายที่ยังต้องใช้ทหาร กับการแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม จะเป็นปรอทวัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพหลังน้ำลดว่าจะยังคงราบรื่นดีอยู่หรือไม่...

ในห้วงที่การเมืองไทยยังคงพลิกผันได้ทุกนาที!

ที่มา:กรุงเทพธุรกิจ
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

เปิดใจ.วีรพงษ์ รามางกูร ขอ 1 ปี ปรับโฉมประเทศฟื้น เชื่อมั่นเศรษฐกิจ !!?




ทันทีที่ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2554 แต่งตั้งคณะกรรมการ 2 ชุดขึ้นมาวางแผนอนาคตเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายขึ้นอีกในระยะยาว  ดร.วีรพงษ์ รามางกูร" หรือ "ดร โกร่ง" ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ซึ่งยืนยันจะใช้เวลาไม่เกิน 12 เดือน ดึงความเชื่อมั่นจากทั่วโลกกลับมา ด้วยการวางระบบ จัดทำโครงสร้าง เตรียมความพร้อมประเทศ เพื่อสร้างฐานรากอันมั่นคงเพื่อการป้องกันภัยธรรมชาติในอนาคต ดูแลนักลงทุน เศรษฐกิจให้พ้นความเสี่ยง ควบคู่กับเยียวยาเต็มรูปแบบ

- 1 ปีทุกเรื่องเห็นผล ฟื้นความเชื่อมั่นกลับมาทั้งหมด

การสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนต่างชาติผมรับดูแลเอง ระยะเร่งด่วนคือทำแผนปีหน้า ไม่ว่าปีไหนไทยจะต้องไม่เกิดเหตุการณ์อย่างนี้อีก สิ่งที่ต้องทำระยะเริ่มต้นตอนนี้คือ ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่เสียหายให้เสร็จเร็วที่สุด ระยะต่อไปคงจะต้องลงทุนขนานใหญ่ ต้องเริ่มศึกษาพิจารณา คิดโครงการต่าง ๆ วางระบบเรื่องบริหารจัดการน้ำให้ครบ เท่าไรก็ต้องลงทุน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหล่านี้อีก

ทั้ง 2 อย่างเมื่อชัดเจน ผมเข้าใจว่าจะเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนทั่วโลกมาลงทุนในไทยได้

ส่วนแผนงานระยะสั้น 1 ปี ตลอดปีหน้า ผมคิดไว้ในใจคือให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่จมน้ำ หรือยังไม่ได้จมน้ำ พิจารณาลงทุนเพิ่มเติมเรื่องการป้องกันน้ำ เสริมคู ขุดร่องระบายน้ำ หรืออื่น ๆ แต่ละนิคมต้องใช้เงินแห่งละเป็นพันล้านบาท หากเป็นเขื่อนดินก็เปลี่ยนเป็นดินเหนียวที่รับน้ำอยู่

ภายใน 12 เดือนนี้แต่ละนิคมต้องเร่งทำ หากต้องการเงินเท่าไร ทางรัฐบาลจะจัดสินเชื่อถูกหรือดอกเบี้ยต่ำให้ ตอนนี้รัฐมนตรีกระทรวงการคลังกรุณาจัดให้แล้ว 1.5 หมื่นล้านบาท เพื่อให้นิคมนำไปดำเนินการสร้างแนวป้องกันถาวร

1 ปีของผมคือจะต้องไม่มีน้ำท่วมอย่างนี้อีกแล้ว ดังนั้นเงินที่เตรียมไว้ให้เอกชนกู้ 5 หมื่นล้านบาท น่าจะเพียงพอ

ช่วงนี้ผมจะไปหารือกับญี่ปุ่น เพราะเป็นกลุ่มประเทศที่มีนักลงทุนรายใหญ่อยู่ในไทย ทั้งการผลิตและส่งออก หากเขาต้องการเห็นอะไรก็จะช่วยทุกเรื่อง หรือบริษัทประกันภัยในญี่ปุ่นซึ่งรับประกันอุตสาหกรรมในไทย ถ้าจะรับประกันภัยร่วมกัน ต้องการเห็นหรืออยากได้อะไรก็บอกมา

ผมขอท่านทูตญี่ปุ่นจัดให้ไปพบและฟังข้อเสนอจากนักลงทุนญี่ปุ่นที่อยู่ในไทยและในญี่ปุ่น เพื่อถามเขาว่าช่วง 1 ปีข้างหน้า เมื่อการฟื้นฟูประเทศกลับมาสู่ภาวะปกติได้ บริษัทต่าง ๆ จะต้องรับแรงงาน 8 แสนคน กลับมาทำงานอย่างเดิมได้ จะให้ผมทำอะไรบ้าง จะไปหาไจก้าหรือรัฐบาลญี่ปุ่น ถามเขาว่าจะช่วยด้านเทคนิค หรือการเงิน ทางไหนได้บ้าง เรื่องเงินทองเท่าไรก็ต้องลง เพราะเราไม่ได้มีปัญหาด้านความมั่นคงทางการเงินการคลังเหมือนสมัยก่อนแล้ว

ผมเชื่อว่าถ้าเราทำสุดความสามารถอย่างนี้ เขาคงจะเห็นความตั้งใจกอบกู้สถานการณ์อย่างแท้จริง ให้ความเชื่อมั่นว่าเขาสามารถอยู่ประเทศไทยได้ต่อไป ไม่ต้องย้ายไปที่อื่น

ภารกิจที่ 2 ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เป็นที่ปรึกษาคณะ

กรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จะต้องดูเรื่องระบบบริหารน้ำ ทางด้านเทคนิค การลงทุนต่าง ๆ ต้องจัดการทั้งระบบ ทั้งประเทศ ว่าจะต้องทำอะไร ที่ไหนบ้าง ทางรัฐบาลต้องสนองตอบหาสินเชื่อกับการเงินมาสนับสนุน ส่วนเรื่องการประมูล จัดซื้อ จัดจ้างให้เป็นของระบบราชการทำไป การก่อสร้างจะกี่ปีก็ต้องว่ากันไป เมื่อทำเสร็จจะได้เป็นระบบที่ถาวรไปถึงรุ่นลูกหลานของเรา

ทุกเรื่องต้องทำทันที พอน้ำลด การสร้างเขื่อน สะพาน ทำให้เสร็จเลย อาจจะต้องยืดหยุ่นทางการเงิน สินเชื่อมากขึ้น เอกชนสามารถซ่อมบำรุงต่าง ๆ ได้ทันที

เรื่องความช่วยเหลือผมเน้นญี่ปุ่น เพราะมีนักลงทุนอยู่ในไทยปาเข้าไป 70-80% รองลงมามีไม่มากเป็นสิงคโปร์ ไต้หวัน หากโมเดลญี่ปุ่นดีก็จะนำไปใช้กับนักลงทุนประเทศอื่นด้วย และพร้อมจะตอบสนองทุกฝ่ายทั้งทางด้านเทคนิค โครงการต่าง ๆ และการเงิน เพราะประเทศเราเกินดุลการค้ามา 20 ปี สะสมสมบัติไว้เพียงพอจะกู้วิกฤต

ผมเองมาทำหน้าที่นี้โดยไม่มีเรื่องหนักใจอะไรเลย สามารถทำงานกับใครก็ได้ ขออย่างเดียวคือให้รู้ว่าจะต้องทำอะไร

- จะเสนอโซนนิ่งพื้นที่เกษตร-อุตสาหกรรม

ผมคิดเองเรื่องการทำโซนนิ่งพื้นที่เกษตรและอุตสาหกรรม น้ำท่วมครั้งนี้ทางโรงงานอุตสาหกรรมคงจะเข็ดแล้ว ต่อไปคงไม่เลือกที่น้ำท่วมควรจะหาที่อยู่ใหม่ แผนผมจะเสนอนายกรัฐมนตรีทำเรื่องนี้ โดยรัฐบาลนำทางจัดสาธารณูปโภค ถนน ระบบไฟฟ้า ประปา เชื่อว่านักลงทุนก็คงจะตามไปกับเรา

ครั้งนี้ภาคเกษตรเสียหายเพราะเป็นเรื่องเฉพาะหน้าเป็นส่วนใหญ่ พื้นที่นาภาคกลางเป็นข้าวนาปรังอยู่ในระบบชลประทานก้าวหน้า มักจะทำปีละ 3-4 ครั้ง หรืออย่างน้อย 2 ครั้ง ใช้ข้าวเบา พอน้ำลด ชาวนาหว่านไถได้ทันที ใช้เวลา 90 วัน ข้าวออกรวงเก็บเกี่ยวได้ สิ่งที่ต้องทำคือเยียวยาเฉพาะหน้า ซ่อมแซมบ้านเรือน เครื่องมืออุปกรณ์ที่เสียหายจากน้ำท่วม

ภาคอุตสาหกรรมคือส่วนที่หนักมาก ในอนาคตเราสามารถทำแผนให้กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมต่อไปคงต้องย้ายจากที่ลุ่มไปอยู่ที่ดอน ส่วนรัฐบาลมีหน้าที่สร้างระบบโครงสร้างพื้นฐาน ถนน ไฟฟ้า น้ำประปาให้ไปถึงก่อน เพื่อให้เอกชนตามไปลงทุน

เราจะต้องทำให้ได้จริงเพื่อสร้างความมั่นคง ลดความเสี่ยง เพราะนักลงทุนเสี่ยงในเรื่องตลาดต่างประเทศตามภาวะเศรษฐกิจเดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลง เสี่ยงทางการเงินแล้วยังต้องมาเสี่ยงเรื่องน้ำท่วม เอกชนก็คงไม่ไหวเหมือนกัน

แต่การปรับระบบครั้งนี้ก็ไม่ถึงขั้นจะเปลี่ยนโฉมหน้าประเทศไทยเสียเลยทีเดียว ผมว่า old Thailand ยังใช้ได้อยู่ แต่ทำให้ดีกว่าตอนนี้ เพียงแต่น้ำท่วมครั้งนี้ไม่มีใครตั้งตัวทัน

ส่วนปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องขนส่งถูกตัดขาด ปีหน้าคงจะไม่เกิดเหตุการณ์นี้ ตอนนี้ต้องมาสรุปแล้วว่า ถนนเส้นไหนควรจะยกระดับขึ้น หรือทำอะไร เพราะเห็นกันแล้วครั้งนี้ ตรงไหนบ้างที่เกิดปัญหาท่วมหรือไม่ท่วม หรือแม้แต่ความบกพร่องต่าง ๆ เช่น เครื่องสูบน้ำทำงานหนักก็เสียสูบน้ำไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ต้องแก้ไขอย่างเป็นระบบทั้งหมด

- ตั้ง สศช.เป็นกองงานดูแลระยะยาว

ผมจะตั้งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และตั้งกองใหม่ขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะอย่างถาวร สมัย ดร.เสนาะ อูนากูล เป็นเลขาธิการ ได้ทำหน่วยอีสเทิร์นซีบอร์ด ผมก็จะใช้แนวทางนี้เป็นโมเดลการวางอนาคตประเทศเรื่องภัยพิบัติธรรมชาติ

ส่วนหัวใจของกองใหม่คือเป็นหน่วยขับเคลื่อนเรื่องการทำระบบ ทั้งการเงิน โครงสร้าง ติดตาม ประเมินผลงาน จะต้องเข้าสู่ระบบปกติของราชการ

เราจะต้องใช้วิกฤตอัพเกรดตัวเองสู่ระดับที่มีความมั่นคง

ไม่เสียหายจากการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติ ภัยพิบัติ โชคดีที่ไทยไม่ค่อยมีภัยพิบัติแผ่นดินไหว เหลือแต่เรื่องน้ำ เรื่องฝน การรักษาและปกป้องภัยธรรมชาติที่จะเกิดนั้น ผมคิดว่าแผ่นดินไหวแก้ลำบาก แต่น้ำแก้ได้ เราคงจะไม่ไปขัดขวางธรรมชาติ คงจะไปกับธรรมชาติมากกว่า ที่ไหนลุ่มน่าจะทำนา ที่ไหนดอนก็น่าจะตั้งโรงงาน เรื่องเหล่านี้เอกชนรู้อยู่แล้ว

ส่วนภาคธุรกิจเอง ผมต้องฟังจากผู้ประกอบการที่จะมา

บอกเรา เพราะมีสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นตัวแทนอยู่ กยอ.

ผมจะประชุมคณะกรรมการวันอังคารหน้า (15 พ.ย. 54) หารือ 2 เรื่องใหญ่ เรื่องแรก จัดตั้งฝ่ายเลขานุการ กำหนดหน้าที่ให้ชัดเจน เรื่องที่ 2 งานเร่งด่วนที่จะต้องเตรียมตอนนี้ไว้สำหรับปีหน้า หากเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ ทุกฝ่ายจะต้องทำอะไรบ้าง ใช้เงินเท่าไร ใช้เงินอะไร อย่างไร

ส่วนการจัดตั้งคณะอนุกรรมการชุดย่อย ยังคงจะรอพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนถึงจะประชุมแบ่งงานกันอีกครั้ง

ดร.วีรพงษ์กล่าวพร้อมเสียงหัวเราะอย่างมีความสุขด้วยประโยคที่ว่า ผมเข้ามามีส่วนร่วมแก้วิกฤตประเทศในรัฐบาลแต่ละสมัย 4 ครั้ง ครั้งแรก สมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ วิกฤตการเงินตอนนั้นประเทศเกือบล้มละลาย ครั้งที่ 2 พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีสงครามอ่าวเปอร์เซีย ราคาน้ำมันพุ่งไม่หยุด ครั้งที่ 3 พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เกิดต้มยำกุ้ง ค่าเงินบาทลอยตัว และครั้งที่ 4 คือตอนนี้ ยุค น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ผมจะเข้ามาวางระบบโครงสร้างปีเดียวก็จะไป ที่เหลือเป็นงานของหน่วยปฏิบัติภาคราชการต้องสานต่อไป

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////