--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ไม่ใส่ใจ

ไม่รู้ว่าจะดีใจ หรือน้ำตาไหลดี!??

เมื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศตั้งคณะทำงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยใช้ทำเนียบรัฐบาลเป็นศูนย์บัญชาการ!??

ที่เกิดสับสนในความรู้สึกเพราะศูนย์แห่งนี้ เพิ่งตั้งขึ้นมาหลังเกิดเหตุน้ำท่วมมานานนับสัปดาห์แล้ว

ทั้งๆที่ภัยน้ำท่วมเกิดในช่วงนี้เป็นประจำทุกปี และก่อนที่น้ำจะทะลักทะล้นท่วมกันทั่วบ้านทั่วเมือง มีประกาศเตือนล่วงหน้าตั้งแต่ฝนถล่มในภาคเหนือแล้ว

เรียกว่ามีเวลา 2-3 สัปดาห์ในการรับมือ

แต่ให้ตายเถอะโรบิ้น ให้ดิ้นเถอะโรเบิร์ต

ผู้เกี่ยวข้องยังกล้าปล่อยให้น้ำท่วมทะลักทะล้นทั้งภาคอีสานยันภาคกลาง และเข้าสู่กรุงเทพฯเรียบร้อย

จริงๆ แล้วศูนย์นี้ควรจะตั้งขึ้นตั้งแต่ก่อนน้ำเหนือไหลบ่าลงมาภาคกลาง-อีสานด้วยซ้ำ

งบฉุกเฉินของรัฐบาลที่มีอยู่ในมือต้องผ่องถ่ายไปยังหน่วยงานหรือจังหวัดตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว

แต่ทุกอย่างสงบเงียบอย่างยิ่ง!??

จริงๆ แล้วปัญหาน้ำท่วมเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นซ้ำซากทุกปี หน่วยงานของรัฐบาลอย่างสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) มีภาพถ่ายดาวเทียมเปรียบเทียบสภาพน้ำท่วมย้อนหลังได้หลายปี

ภาพจากดาวเทียมฟ้องชัดเจนว่าในทุกๆ ปี น้ำก็มาตามเส้นทางเดิม และท่วมจุดเดิมๆ

อยู่ที่ว่าปีไหนมาก ปีไหนน้อยเท่านั้น

รัฐบาลมีเครื่องมือและบทเรียนในอดีตที่ทำให้รู้ล่วงหน้า แต่กลับไม่ป้องกันอย่างทันท่วงที

แม้ไม่ง่ายที่จะป้องกันแต่เชื่อว่าหากเตรียมการดีกว่านี้ ประชาชนคงไม่เดือดร้อนเท่านี้

หรือการเตรียมตั้งศูนย์ประสานงานตั้งแต่เนิ่นๆ จัดเตรียมงบฯไว้ล่วงหน้า เพราะรู้อยู่แล้วว่าน้ำจะท่วมจุดใดบ้าง

แต่ก็เปล่าเลย ปล่อยให้ชาวบ้านเผชิญชะตากรรมตามลำพัง

แม้ขนาดเกิดเรื่องขึ้นแล้วยังขยับตัวอุ้ยอ้ายอย่างยิ่ง

โดยเฉพาะที่จ.นครราชสีมา ปล่อยให้ท่วมอยู่นานหลายวันแม้กระทั่งร.พ.มหาราช ซึ่งเป็นร.พ.ขนาดใหญ่ ก็ดูเหมือนให้เป็นไปตามยถากรรม

ร้อนถึงพระเนตรพระกรรณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งที่ทรงพักรักษาพระวรกาย ต้องมีพระราชดำริให้เร่งช่วยเหลือ

เมื่อนั้นแหละร.พ.มหาราช จึงกลายเป็นพื้นที่ปลอดน้ำท่วมในเวลาแค่วันเดียว!!!

นี่ก็แสดงว่าหากจะช่วยจริงๆ ก็ทำได้ แต่ไม่ได้ทำ หรือไม่ใส่ใจจะทำ

อย่าให้คนเขานินทาพูดกันได้ว่า ที่เป็นอย่างนี้เพราะภาคเหนือ-อีสาน และภาคกลาง

ไม่ใช่พื้นที่ฐานเสียงของประชาธิปัตย์!??


ที่มา:ข่าวสดรายวัน
เหล็กใน
*****************************************************

วันจันทร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เปิดแผลใหม่ตุลาการตั้งลูก-หลานนั่งเลขาฯกินเงินเดือนไม่ทำงาน

จาก:หนังสือพิมพ์ โลกวันนี้

“พร้อมพงศ์” แฉซ้ำตุลาการตั้งเครือญาติเป็นเลขาฯกินเงินเดือน 40,000 บาท โดยไม่ได้นั่งทำงานจริง ยันเคยมีคนร้องให้สอบเรื่องนี้แล้วแต่เงียบ ซัดประชาธิปัตย์อย่าบิดเบือนโยนเรื่องการถ่ายและเผยแพร่คลิปอื้อฉาวคดียุบพรรคมาให้เพื่อไทย บี้ “วิรัช” ตอบเรื่องสนทนากับบิ๊กสีเขียวที่ห้องอาหารญี่ปุ่นในโรงแรมดัง เตรียมส่ง ส.ส. ยื่นเรื่องทีมสอบข้อเท็จจริงของศาลรัฐธรรมนูญ สืบหาตุลาการเจ้าของเสียงในคลิปที่ 4 เพราะมีเนื้อหาผิดหลักจริยธรรมชัดเจน ดักคออย่ามุ่งสอบแต่ที่มาของคลิปโดยไม่สนใจเนื้อหา โฆษกการเมืองใหม่จี้ประธานศาลรัฐธรรมนูญแค่ขอโทษไม่เพียงพอ ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นมากกว่านี้ ด้าน ส.ส.ประชาธิปัตย์เรียงหน้าโต้กระบวนการทำงานศาลไม่ยอมรามือ เชื่อคดียุบพรรคผลออกแบบไหนก็ไม่จบ จะมีการสร้างหลักฐานใหม่โจมตีทำลายศาลไปเรื่อยๆ

ที่พรรคเพื่อไทย นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรค แถลงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์จะยื่นเรื่องให้ยุบพรรคเพื่อไทย โดยกล่าวหาว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการทำคลิปฉาวการวิ่งเต้นคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ว่า สิ่งที่พรรคเพื่อไทยอยากจะเน้นย้ำคือ นายวิรัช ร่มเย็น ส.ส.ระนอง และทีมกฎหมายต่อสู้คดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ใช่เด็กอมมือที่จะให้ใครหลอกล่อไปถ่ายคลิปได้ง่ายๆ

เพื่อไทยบี้สอบหาตุลาการในคลิป

“นายวิรัชยังไม่ตอบเรื่องห้องที่ไปเปิดที่โรงแรมเรดิสันและเรื่องห้องอาหารญี่ปุ่น แต่กลับพยายามเบี่ยงประเด็นว่าเป็นฝีมือของพรรคเพื่อไทยที่เป็นผู้สร้างเรื่องนี้ขึ้นมา” นายพร้อมพงศ์กล่าวและว่า คณะทำงานฝ่ายกฎหมายของพรรคได้พิจารณาเนื้อหาในคลิปชุดที่ 3-5 ที่เกี่ยวข้องกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่าเนื้อหาของบทสนทนาที่ปรากฏว่าจะผิดจริยธรรม ซึ่งนายเกียรติอุดม เมนะสวัสดิ์ ส.ส.อุดรธานีของพรรค จะไปยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการสอบสวนที่ศาลรัฐธรรมนูญตั้งขึ้นให้พิจารณาประเด็นนี้ด้วย เพื่อให้การพิจารณาคดียุบพรรคประชาธิปัตย์เป็นไปตามหลักนิติธรรม เพื่อคงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของศาลรัฐธรรมนูญ

มีหลายเรื่องพูดจาไม่เหมาะสม

“ประเด็นสำคัญที่จะต้องพิจารณาคือ เนื้อหาที่ปรากฏในคลิปตอนที่ 4 ที่จะต้องตรวจสอบว่ามีการพูดจากันอย่างนั้นจริงหรือไม่ และเสียงที่พูดนั้นเป็นเสียงของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านใด เพราะมีหลายประโยคที่ไม่เหมาะสม เช่น บอกว่านายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อย่าทำตัวเป็นฤาษีหลังม่าน หรือคำพูดที่ว่าให้ผู้สื่อข่าวไปกดดัน ถ้าท่านไม่มาก็เสียคน” นายพร้อมพงศ์กล่าว

โฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าวอีกว่า การยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการตรวจสอบคลิปฉาวของศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้การตรวจสอบครั้งนี้เป็นไปโดยถูกต้อง ไม่ใช่มุ่งสอบแต่ที่มาของคลิปเท่านั้น แต่ควรตรวจสอบเนื้อหาที่ปรากฏด้วย ไม่อย่างนั้นจะได้ความจริงไม่ครบถ้วน

จี้ชี้แจงผลสอบซื้อรถหรูแพงเกินจริง

นายพร้อมพงศ์ระบุอีกว่า พรรคเพื่อไทยได้รับการร้องเรียนจากฝั่งรัฐบาลให้ตรวจสอบข้อมูลเรื่องการซื้อรถยนต์ยี่ห้อเลกซัสของศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 10 คัน ซึ่งพบว่าไม่น่าโปร่งใสและส่อไปในทางมิชอบ เนื่องจากการเสนอซื้อครั้งแรกซื้อในราคาคันละ 2.6 ล้านบาท แต่พอครั้งที่ 2 ราคาขึ้นเป็นคันละ 3 ล้านบาท ซึ่งมีส่วนต่างถึงคันละ 400,000 บาท รวม 10 คัน 4 ล้านบาท ซึ่งเรื่องนี้มีคนร้องเรียนให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าไปตรวจสอบแล้ว จึงอยากให้นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รักษาการผู้ว่า สตง. ออกมาชี้แจงความคืบหน้าในเรื่องนี้ว่าเป็นอย่างไร

แฉตั้งลูก-หลานกินเงินเดือนไม่ทำงาน

นอกจากนี้พรรคเพื่อไทยยังได้รับการร้องเรียนให้ช่วยตรวจสอบการแต่งตั้งเลขานุการในศาลรัฐธรรมนูญ โดยพรรคได้ตรวจสอบแล้วพบว่าเรื่องนี้ได้มีหนังสือร้องเรียนไปยังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2553 ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงหลายเรื่อง เช่น มีตุลาการบางคนนำลูกของตัวเองมาเป็นเลขานุการและกินเงินเดือน 40,000 บาทต่อเดือน ดังนั้น อยากให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญตอบคำถามเรื่องนี้ด้วยว่าจริงหรือไม่ และเมื่อกินเงินเดือนแล้วไม่อยู่ในประเทศไทย แต่ไปศึกษาต่อในต่างประเทศโดยมีบางคนที่มีอำนาจเซ็นให้ และเงิน 40,000 บาทต่อเดือนก็ยังรับอยู่ฟรีๆ ซึ่งตอนนี้กลับมาแล้ว เห็นบอกว่าชื่อ “กล้า” ไม่ทราบว่าชื่อย่อหรือไม่

มีชื่อเป็นเลขาฯแต่ตัวขายกาแฟ

นายพร้อมพงศ์กล่าวอีกว่า ยังมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนเอาหลานชายมาเป็นเลขานุการและได้รับเงินเดือน แต่ไปเปิดร้านขายกาแฟสดอยู่ใต้ถุนศูนย์ราชการ ไม่ได้มาทำงาน และยังอีกคนหนึ่งเอาหลาน 2 คนมาเป็นผู้ช่วยเลขานุการและเป็นเลขานุการด้วย

“ข้อมูลอย่างนี้ฝ่ายค้านไม่รู้หรอก หากคนในรัฐบาลไม่ส่งมาให้ เขาให้ข้อมูลด้วยว่าคนที่ลงชื่อรับหนังสือร้องเรียนเมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2553 ชื่อมยุรี เศวตตาสัย เป็นเจ้าหน้าที่ศาล ผมไม่รู้ว่าคนที่ส่งข้อมูลนี้มาจะเป็นพวกเดียวกันหรือคนละพวกกับนายวิรัช แต่เป็นการแสดงให้เห็นว่ามีการหักกันเองในพรรคประชาธิปัตย์” นายพร้อมพงศ์

“เทพไท” อัดเพื่อไทยเล่นไม่เลิก

ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรค กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยกำลังเล่นไม่เลิกกรณีจะไปแจ้งความกับกองปราบปรามเพื่อเอาผิดกับนายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรค และทำหนังสือถึงกรมสรรพากรเพื่อตรวจสอบภาษีย้อนหลังของพรรค กรณีใช้เอกสารภาษีเท็จหรือหลีกเลี่ยงการเสียภาษีให้กับรัฐ

“การจะยื่นตรวจสอบพรรคเพื่อไทยต้องไปดูก่อนว่าพรรคประชาธิปัตย์ทำผิดตามข้อกล่าวหาจริงหรือไม่ และคดีขาดอายุความไปหรือยัง” นายเทพไทพร้อมยืนยันว่า ภายในพรรคไม่มีความแตกแยก จึงเป็นไปไม่ได้ที่พรรคเพื่อไทยระบุว่าคลิปฉาวต่างๆเป็นเรื่องที่คนในพรรคทำเพื่อทำลายกันเอง ส่วนตัวยังเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยเป็นตัวการในการเผยแพร่คลิป

ท้ามีคลิปคุยในห้องอาหารให้เปิด

“ที่บอกว่ามีคลิปใหม่ โดยมีบุคคล 3 คนภายในคลิปเดิมไปพบกับบิ๊กทหารที่ห้องอาหารญี่ปุ่น โรงแรมเรดิสัน หากมีก็ให้เอามาเปิดเผย ไม่ใช่พูดจาสร้างเรื่องไปวันๆ” นายเทพไทกล่าวและว่า พรรคเพื่อไทยไม่ควรกล่าวอ้างถึงบุคคลภายนอกที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดียุบพรรคในลักษณะจับแพะชนแกะ เพื่อแต่งนิยายให้สังคมเห็นว่ามีกระบวนการให้ความช่วยเหลือพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่รับผิดชอบ ทำให้คนอื่นเสียหาย

นายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง และกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การทำลายกระบวนการยุติธรรมจะไม่ยุติแม้พรรคประชาธิปัตย์จะถูกยุบหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกระบวนการทำลายศาลเริ่มตั้งแต่การตัดสินคดีซื้อที่ดินรัชดาภิเษกของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่พยายามบิดเบือนให้สังคมเข้าใจไขว้เขว

กระบวนการทำลายศาลจะไม่ยุติ

“กระบวนการนี้จะดำเนินการต่อไปเรื่อยๆด้วยการสร้างหลักฐานใหม่และเชื่อมโยงกันอย่างไร้น้ำหนัก เช่น คลิป การพูดถึงคนใกล้ชิดพรรคมีผลต่อคดียุบพรรคเป็นการสร้างเรื่องด้วยการต่อจิ๊กซอว์อย่างไม่มีข้อมูลเพียงพอ และจะดำเนินการจนกว่าจะมีการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง ผมอยากให้ศาลรัฐธรรมนูญมั่นคง รักษาความเป็นกลางในการตัดสินคดี ดำรงไว้ด้วยความยุติธรรมตามข้อเท็จจริงเพื่อเป็นหลักให้กับสังคม” นายสาธิตกล่าว

นายอรรถพร พลบุตร ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เรียกร้องให้ผู้ใหญ่ในพรรคเพื่อไทยควบคุมพฤติกรรมของนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน และแกนนำกลุ่มคนเสื้แดง รวมถึงนายพร้อมพงศ์ที่ร่วมกันให้ข่าวบิดเบือนทำร้ายกระบวนการยุติธรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อหวังกดดันคดียุบพรรคประชาธิปัตย์และใช้เป็นประเด็นปลุกระดมคนเสื้อแดงให้ออกมาก่อความวุ่นวายขึ้นอีกในระยะเวลาอันใกล้นี้

ตรวจสอบได้แต่อย่าสร้างเรื่องเท็จ

“การตรวจสอบความสุจริตยุติธรรมขององค์กรต่างๆเป็นหน้าที่โดยชอบของพรรคการเมือง แต่การสร้างข่าวเท็จและการจัดฉากเหมือนสร้างละครถือเป็นภัยต่อระบอบประชาธิปไตย เป็นการสุ่มเสี่ยงให้อำนาจนอกระบบก้าวเข้ามาแก้ไขปัญหาบ้านเมือง” นายอรรถพรกล่าวและว่า หลายเรื่องที่ผ่านมาสังคมได้พิสูจน์แล้วว่าข้อมูลของนายจตุพรและนายพร้อมพงศ์ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เป็นเท็จเกือบทั้งหมด หากพรรคเพื่อไทยยังไม่ควบคุมพฤติกรรมของคนพวกนี้ หลังการเลือกตั้งหากไม่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พรรคเพื่อไทยจะล่มสลายแน่นอน

หวั่นฆ่าตัดตอน “พสิษฐ์”

ที่พรรคการเมืองใหม่ นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการพรรค แสดงความเป็นห่วงนายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ อดีตเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นตัวละครสำคัญในคลิปฉาวว่า อาจะถูกฆ่าตัดตอนได้ นายพสิษฐ์จึงไม่ควรเงียบหายไป ควรออกมาพูดความจริงกับสังคมว่ามีการจัดฉากใส่ร้ายหรือมีกระบวนการล็อบบี้จริง

“การเงียบหายไปไม่เป็นประโยชน์ต่อนายพสิษฐ์เอง และยิ่งทำให้ประชาชนคลางแคลงใจในกระบวนการวินิจฉัยยุบพรรคประชาธิปัตย์” นายสุริยะใสกล่าวและว่า ขอเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยเอาคลิปชุดที่ 2 ที่ระบุว่ามีบิ๊กทหารเกี่ยวข้องมาเปิดเผยหากมีคลิปดังกล่าวอยู่ในมือจริง เพราะหากตั้งใจปล่อยข่าวโดยไม่มีหลักฐานอยู่ในมือจะเข้าข่ายจ้องทำลายกระบวนการยุติธรรม ขณะเดียว กันพรรคประชาธิปัตย์ก็ควรเร่งตรวจสอบเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ หากพบว่ามีคนของพรรคเข้าไปเกี่ยวข้องต้องลงโทษเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อประชาชน

ระบุ “ชัช” แค่ขอโทษยังไม่พอ

นายสุริยะใสไม่พูดชัดเจนว่านายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ควรแสดงความรับผิดชอบต่อเรื่องที่เกิดขึ้นด้วยการลาออกหรือไม่ โดยระบุว่า เรื่องนี้กระทบต่อความเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญอย่างมาก ไม่ว่านายชัชจะรับรู้ก่ารกระทำของนายพสิษฐ์หรือไม่ แต่ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ การขอโทษตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอ

**********************************************************************

เชื่อมั่นต่อไปกับ..นายกฯ อภิสิทธิ์?

และแล้วก็กลายเป็นประเด็นร้อนก่อนวันพิพากษาขึ้นมาหลังจากมีมือดีปล่อยของลอกแบบคลิปเสียงวงการมายาแต่นี่ดูจะหนักหนาสาหัสกว่าเรื่องผัวๆ เมียๆเพราะมีการเชื่อมโยงเอาเสาหลักสักทองอย่าง “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” ประธานองคมนตรีรวมไปถึงคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

และเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญโดยเดินเรื่องผ่านคนของพรรคประชาธิปัตย์ขมวดปมถึงเจตนาการนำเสนอ 5 คลิปการเมืองร้อนของผู้เผยแพร่ค่อนข้างชัดเจนว่า กำลังต่อจิ๊กซอว์ไปถึงการล็อบบี้เพื่อไม่ให้ยุบสถาบันการเมืองอย่างพรรคประชาธิปัตย์

จริงๆ เท็จๆ เท็จๆ จริงๆ อย่างไรไม่รู้ แต่ที่เซ่นสังเวยไปก่อนพรรคประชาธิปัตย์แล้ว นั่นคือ “พสิษฐ์ ศักดาณรงค์” เลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่เพิ่งโดนคำสั่งปลดไปไม่กี่เพลาก่อนหน้านี้

สำหรับสถานการณ์ของ “วิรัช ร่มเย็น” ส.ส.ระนอง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะคู่สนทนา ยังอยู่ในอาการลูกผีลูกคน!!!แต่ที่น่าจะกลืนไม่เข้า คายไม่ออกกว่าใครเพื่อน คงไม่พ้นสถานการณ์ของผู้พิพากษา อย่างศาลรัฐธรรมนูญ และจำเลยอย่างพรรค ประชาธิปัตย์ เพราะไม่ว่าคำพิพากษาจะออก มาในทิศทางใด มันย่อมมีอาฟเตอร์ช็อกสะท้อน กลับมาที่ 2 องค์กรนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ลำพังแค่คดียังไม่ทันตกผลึก บรรดาเสียงนกเสียงกาก็กัดจิกตราชั่งและพระแม่ธรณีบีบมวยผมจนดังลั่นทุ่งไปทุกหย่อมหญ้าบน ปริมณฑลการเมืองแล้วแม้แต่ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” นายกรัฐมนตรี ยังเข้าใจอย่างถ่องแท้และพูดเลี่ยงๆ เพื่อไม่ให้เข้าตัวว่า การปล่อยของครั้งนี้มีความ พยายามชัดเจนอยู่แล้วว่า ถ้าไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ เป็น 2 มาตรฐาน และอาจจะเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดในการปลุกม็อบคนเสื้อแดง ให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง

ลีลาหน้าไมค์หน้าโพเดี้ยมของท่านนายกฯ ยังไร้ที่ติ แต่ก็ต้องไม่ลืมเช่นกันว่า ท่วงท่าเหล่า นี้ใช้ไม่ได้แม้แต่เศษเสี้ยวเดียวสำหรับชุดความ คิดของคนเสื้อแดงผู้ปักใจรักอย่างมั่นคงต่อ “อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร”

ยิ่งหากนำคดีคลิปมาเทียบเคียงกับคดี ยุบพรรค ที่ได้ดำเนินการยุบ 4-5 พรรคมาก่อนหน้านี้แล้ว คนเสื้อแดงอาจตั้งคำถาม.. “วิรัช” และ “พสิษฐ์” ดำรงอยู่ในทั้ง 2 องค์กรด้วยสถานะอะไรและใช่กรรมการบริหารหรือไม่???

ด้วยมุมเล็กๆ เพียงแค่นี้ ก็สามารถทำ ให้ทั้งหมดทั้งมวลที่ผู้ถูกพาดพิงได้แจกแจงมาตั้งแต่ต้น..มันดูด้อยค่าหรือไร้ค่าไปถนัดตา!!!ยิ่งเหตุมาเกิดในหัวโค้งสำคัญ มันย่อม เป็นเรื่องที่หนักอกหนักใจยิ่งว่า ศาลรัฐธรรมนูญ และพรรคประชาธิปัตย์ จะตั้งรับกับคลิปมหาภัย นี้อย่างไร

แต่สำหรับคนเสื้อแดงที่ได้ดูทั้ง 5 คลิปแบบหมดเปลือก พร้อมกับคำบรรยายอย่างละเอียด..ด้วยอารมณ์ดั่งเดิมที่ไม่ไว้วางใจทั้ง 2 องค์กรนี้อยู่แล้ว คงไม่ต้องเดาว่า หากมีคำ พิพากษาที่ไม่เป็นดั่งใจของพวกเขา

อารมณ์ของเขาจะเตลิดเปิดเปิงไปถึงไหน!!!และด้วยความพร่ามัวทางอุดมการณ์การเมืองอันสับสน มันก็จะชักลากประเทศไทย กลับไปสู่สถานการณ์เดียวกันกับห้วง “เมษา-พฤษภา-ตุลา” อันวังเวงและน่าสลดหดหู่

สุดท้าย คนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ หรือไม่เลือกสี เลือกข้าง ก็จำต้องทนทุกข์กันอีกวาระ ด้วยอารมณ์จำยอม “เชื่อมั่นต่อไปกับนายกฯ อภิสิทธิ์”..เพราะเลือกไม่ได้ และไร้ทางเลือก

ก่อนจะค่อยๆ เคลิ้มหลับไปท่ามกลางสงครามการเมืองที่กำลังจะปะทุขึ้นอีกครั้งบนการต่อสู้อันยืดเยื้อยาวนานระหว่าง “ไพร่แดง” และ “อำมาตย์”จบไม่ลงจริงๆ สงครามครูเสดการเมือง ฉบับสยามประเทศ!!!

ที่มา.สยามธุรกิจ

ลาภมิควรได้ หรือ ลาภลอย กรณีคืนเงิน 823 ล้านคดีที่ดินรัชดา

โดย สุษม ศุภนิตย์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีที่กองทุนฟื้นฟูฟ้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการจด ทะเบียนนิติกรรมการโอนที่ดิน ถนนรัชดาภิเษกให้คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภรรยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพราะนิติกรรมเป็นโมฆะ

ปรากฏว่า มีความเห็นที่แตกต่างหลายแนวโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การคืนเงินพร้อมดอกเบี้ย 7.5% รวมเป็นเงินจำนวน  823 ล้านบาทเศษเพราะเป็นลาภมิควรได้

นักกฎหมายบางท่านเห็นว่า กรณีนี้เป็นเรื่องนิติกรรมเป็นโมฆะเพราะผิดกฎหมายตาม มาตรา 411ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีผลทำให้ไม่สามารถเรียกคืนเงินที่ชำระโดยผิดกฎหมายได้อันเป็นข้อยกเว้นหลักลาภมิควรได้ 

นักกฎหมายอาญาเห็นว่า กรณีเป็นความผิดตามกฎหมายที่มีโทษทางอาญาเงินที่จ่ายเป็นค่าที่ดินเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิด ต้องถูกยึดเป็นของแผ่นดินตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

แต่เหตุผลในคำพิพากษาของศาลแพ่งมิได้อาศัยหลักกฎหมายดังกล่าว

น่าสังเกตว่า หลักกฎหมายลาภมิควรได้ที่ปรับใช้ในคดีนี้มิได้สอดรับกับผลของคดีหลักตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อันเป็นต้นเหตุของการฟ้องคดีเพิกถอนนิติกรรมในคดีนี้

แม้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเห็นว่า คุณหญิงพจมานมิได้มีความผิดและในคดีนี้ทั้งโจทก์และจำเลยต่างสุจริต

แต่ปัญหาน่าคิดอยู่ที่ว่า ถ้านิติกรรมซื้อขายที่ดินต้องห้ามตามกฎหมายที่ประสงค์จะควบคุมผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง(พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542) จนเป็นเหตุให้ พ.ต.ท. ทักษิณ ต้องโทษจำคุก 2ปี การปรับหลักกฎหมายในคดีของศาลแพ่งควรถือเอาข้อเท็จจริงในคดีแรกเป็นสำคัญ ซึ่งผลควรเป็นว่า    

1.นิติกรรมการซื้อขายที่ดินเป็นโมฆะไม่มีผลผูกพันในทางกฎมายถือว่า มิได้เกิดขึ้น มิใช่ถือว่า ให้กลับคืนสู่ที่เดิม เพราะในทางกฎหมายไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆเกิดขึ้นในระหว่างโจทก์และจำเลย

ดังนั้นเมื่อไม่มีนิติกรรมก็มิใช่กรณีผิดนัดผิดสัญญาจึงมิใช่การคืนหนี้เงินที่มีดอกเบี้ย7.5% เพราะผิดนัดตามมาตรา 224 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แต่อย่างใด  

2. เมื่อนิติกรรมเป็นโมฆะเพราะผิดกฎหมายเข้าลักษณะลาภมิควรได้อันเป็นกฎหมายที่ใช้ในกรณีที่มีการได้และเสียทรัพย์ไปโดยมิได้รู้ว่าการได้และเสียนั้นไม่อาจอ้างเอาไว้ได้ตามกฎหมาย

กฎหมายให้ความเป็นธรรมด้วยการคืนสิ่งที่ได้มาแก่กันเฉพาะกรณีที่ มิใช่การทำผิดข้อห้ามตามกฎหมายและ พิจารณาความสุจริตของคู่กรณีเป็นสำคัญ หากต่างก็สุจริตให้คืนทรัพย์เท่าที่ยังคงเหลือ ส่วนดอกผลของทรัพย์ที่ได้มาต้องคืนให้เจ้าของทรัพย์เมื่อถูกเรียกคืน

ในคดีนี้หากโจทก์(กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินผู้ขายที่ดิน)ไม่อ้างมาตรา 411 ในคำฟ้องและต่างสืบได้ว่า ทั้ง 2 ฝ่ายต่างสุจริต(อันเป็นประเด็นที่น่าคิดอย่างยิ่ง) กรณีก็ไม่ใช่หนี้เงินตามมาตรา224 แต่อย่างใด

ศาลแพ่งเห็นว่า เป็นเรื่องคืนเงินตามมาตรา412  แต่มิได้ปรับบทมาตรา 415  ซึ่งเป็นบทบัญญัติเรื่องการคืนดอกผล ในกรณีนี้ดอกผลของเงินคือดอกเบี้ยที่มิใช่ดอกเบี้ย7.5%เพราะผิดนัดแต่อย่างใดเพราะมิใช่เรียกให้ใช้ค่าเสียหายเพราะผิดสัญญา

ดังนั้นที่ถูกก็กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯน่าจะคืนดอกเบี้ยเงินค่าที่ดินที่รับไว้ตามอัตราตลาดในขณะที่ถูกเรียกคืนคงมิใช่คิดง่ายๆ คือ7.5% 

3.  เหตุผลของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯในการยอมคืนเงินแก่คุณหญิงพจมานโดยไม่อุทธรณ์ตามที่ออกประกาศแถลงให้ทราบ หากพิจารณาด้วยหลักกฎหมายดูเหมือนจะมิได้ใช้กฎหมายเล่มเดียวกันกับที่สอนในโรงเรียนกฎหมายในเมืองไทย แม้จะมีการอ้างความเห็นของอัยการฝ่ายคดีแพ่งก็ตาม คงไม่มีข้อสันนิษฐานเป็นประการอื่น

นอกจากจะต้องสรุปว่า อาจถึงเวลาต้องปิดโรงเรียน หรือคณะนิติศาสตร์หรือมิฉะนั้นก็ฉีกตำรากฎหมายทิ้งให้รู้แล้วรู้รอดไป เพราะเราไม่ใช้กฎหมายเป็นหลักในการแก้ปัญหา กลายเป็นว่า หรือนักกฎหมายกลับเป็นปัญหาเสียเอง..........................
หมายเหตุ

มาตรา 411  บุคคลใดได้กระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี ท่านว่าบุคคลนั้นหาอาจจะเรียกร้องคืนทรัพย์ได้ไม่

มาตรา 412 ถ้าทรัพย์สินซึ่งได้รับไว้เป็นลาภมิควรได้นั้นเป็นเงินจำนวนหนึ่งท่านว่าต้องคืนเต็มจำนวนนั้น เว้นแต่เมื่อบุคคลได้รับไว้โดยสุจริต จึงต้องคืนลาภมิควรได้เพียงส่วนที่ยังมีอยู่ในขณะเมื่อเรียกคืน

มาตรา 415  บุคคลผู้ได้รับทรัพย์สินไว้โดยสุจริต ย่อมจะได้ดอกผลอันเกิดแต่ทรัพย์สินนั้นตลอดเวลาที่ยังคงสุจริตอยู่
ถ้าผู้ที่ได้รับไว้จะต้องคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อใด ให้ถือว่าผู้นั้นตกอยู่ในฐานะทุจริตจำเดิมแต่เวลาที่เรียกคืนนั้น

ที่มา.มติชนออนไลน์

ส่องศาลรัฐธรรมนูญ ย้อนรอย 'พสิษฐ์' ตุลาการในพายุอำนาจ

ศาลรัฐธรรมนูญถูกตาชั่ง-ลูกตุ้มแห่งความยุติธรรมเหวี่ยงด้วยจังหวะที่เร่งร้อน

เมื่อปรากฏภาพคลิปวิดีโอ 5 ชุด เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต

ภาพและเสียงทั้ง 5 ตอน ถูกตัดต่อ เชื่อมโยง กระทบภาพลักษณ์แห่งองค์กรอิสระ กระเทือนไปถึงพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค

ชื่อ นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ เลขานุการส่วนตัว ที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากนายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ถูกเอ่ยนามทั้งใน-นอกศาล

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2551 ที่ทำการศาลรัฐธรรมนูญในขณะนั้น ณ บ้านเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (พุ่ม ศรีไชยันต์) เลขที่ 326 ถนนจักรเพชร แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ใช้เวลาประชุมกว่า 2 ชั่วโมง ในการเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญ ท่ามกลางกระแสข่าวภายนอกที่คาดการณ์ว่า ตำแหน่งดังกล่าวน่าจะเป็นชื่อนายจรัญ ภักดีธนากุล

ขณะที่คนในวงการตุลาการ โดยเฉพาะเพื่อนร่วมรุ่นนิติศาสตร์ (ธรรมศาสตร์) ซึ่งมีบทบาทในองค์กรอิสระมาก่อนหน้า ทำนายฟันธงไว้ก่อนล่วงหน้าว่า ผลการลงมติเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญ ต้องออกมาเป็นนายชัช ชลวร แน่นอน

ด้วยกิตติศัพท์ที่รู้กันในวงการตุลาการว่า "นายชัช" ผู้นี้ไม่ธรรมดา แม้ชื่อเสียงใน วงกว้างจะไม่ได้เป็นที่รู้จักของชาวบ้านร้านตลาดมากเท่ากับ นายจรัญ ภักดีธนากุล ผู้มีอดีตเป็นถึงปลัดกระทรวงยุติธรรม

ระหว่างสุญญากาศอำนาจ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญอยู่บนฤดูการผลัดเปลี่ยนคณะตุลาการชุดใหม่ มีนักกฎหมาย- ทีมงานของตุลาการติดตามเป็นเงาตาม ตัวว่าที่ผู้มีอำนาจ

เมื่อสปอตไลต์ฉายไปจับว่าที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งอยู่ระหว่างรอการ โปรดเกล้าฯ อำนาจจากทุกฝ่ายต่าง เคลื่อนตัวเข้าหาผู้มีบารมีหมายเลข 1 ในวงการยุติธรรม

ขณะนั้น ศาลรัฐธรรมนูญเคร่งครัดเรื่องมาตรการการรักษาความปลอดภัยของสำนักงานอย่างยิ่ง ทำให้ "แขก" ของท่านประธานศาลต้องติดต่อผ่าน "เงา" ตามตัวของท่าน ที่ชื่อ นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์

บุคคลที่ต้องการเข้าใกล้ "ประธาน" ได้รับการประสานว่า ให้ติดต่อผ่าน "นายพสิษฐ์"

บทบาท-ภาพลักษณ์ของ "นายพสิษฐ์" เป็นที่ประจักษ์แก่สายสาผู้พบเห็นชัดเจนเป็นรูปธรรมว่า "มีอำนาจ"

นอกจากหน้าที่ "เลขานุการส่วนตัว" เขามีหน้าที่หลักในวง "แถลงข่าว" กิจการ-คดีของศาลรัฐธรรมนูญด้วย

ภาพที่ถูกฉายซ้ำ คือ "นายพสิษฐ์" นั่งเป็น "ตัวจริง" อยู่ตรงกลางเวที ขนาบซ้าย-ขวาด้วยคนมีตำแหน่งจริง อย่าง "นายเชาวนะ ไตรมาส" เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมด้วย "นายปัญญา อุดชาชน" รองเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเลขาธิการและรองเลขาธิการ

เท่านั้นยังไม่พอ "นายพสิษฐ์" ในฐานะเลขานุการประธานศาล ยังมักสวมบทเป็นผู้ดำเนินรายการหน้าเวที ด้วยการจัดคิวให้เลขาธิการสำนักงานตอบคำถามนี้ หรือชี้ให้รองเลขาธิการสำนักงานชี้แจงปัญหาโน้นอยู่บ่อยครั้ง

ยังไม่นับรวมข้อมูลอีกชุดที่โจษขานกันว่า "นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์" อดีตเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ จำต้อง ขยับขยายออกจากศาลรัฐธรรมนูญ เพราะ ฤทธิ์เดชของเลขานุการผู้มากบารมีที่ชื่อ "พสิษฐ์"

ข่าวใน-นอกศาลวิจารณ์กันขรมว่า ปฐมเหตุแห่งความขัดแย้งระหว่างอดีตเลขาธิการสำนักงานกับอดีตเลขานุการประธานศาล อาจมาจากเรื่องในตาราง งบประมาณ

นอกจากสถานะบนดิน เปิดหน้า ได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญแล้ว เขายังใช้ตำแหน่งเช่นนี้ปฏิบัติการ เชื่อมโยงเครือข่ายไปยัง องค์กรอิสระที่มีคดีเกี่ยวพัน ทั้งจากสำนักงาน กกต. เครือข่ายเพื่อนร่วมรุ่นนิติศาสตร์ของ "นายชัช" ที่ดำรงตำแหน่งสำคัญ

1 ในภารกิจลับของเขา คือการนัดพบ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นทีม กฎหมายในคดียุบพรรค ที่ทั้งฉากและ เนื้อเรื่องถูกถ่ายทอดเพิ่มเติมจากคน ในพรรคเพื่อไทย ไปจนถึงเว็บไซต์สาธารณะ

ปรากฏการณ์ความเสื่อมถูกวิเคราะห์ วิจารณ์จากวงการนักฎหมายว่า การแต่งตั้งบุคคลที่มีบทบาทใกล้ชิดผู้เป็นประมุขหมายเลข 1 แห่งบ้านเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์นั้น ย่อมมีความไม่เหมาะสมด้วยเหตุประการทั้งปวง

คดีความที่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง ส.ส. และ ส.ว. ต่างถูกนำมาถกเถียง สนทนา ตั้งสมติฐานว่า อาจมีเรื่องลึก-ลับ เคลื่อนไหวอยู่เบื้องหลังอีกหรือไม่

ผลการปรากฏตัวของคนใกล้ชิดประธานศาลรัฐธรรมนูญถูกตีความจากนักการเมืองฝ่ายค้าน ด้วยตรรกะที่ไม่เหนือความคาดหมาย ว่าอาจส่งผลให้คดี ยุบพรรคประชาธิปัตย์ได้เปรียบทางอ้อม

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
*********************************************************

สุดยอดผู้นำ?

ประเทศไทยกำลังประสบกับปัญหาน้ำท่วมหนักเกือบครึ่งค่อนประเทศ

ตัวเลขปลายสัปดาห์เดือดร้อนแล้วกว่า 450,000 ครัวเรือน เกือบ 1,300,000 คน เสียชีวิต 17 ราย

ไม่ต้องพูดถึงทรัพย์สินบ้านเรือน พืชผลการเกษตร การปศุสัตว์ว่าพินาศย่อยยับขนาดไหน

หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนระดมสรรพกำลังช่วยซับน้ำตากันเต็มที่

ข้าวของเครื่องใช้ เสื้อผ้านุ่งห่ม หยูกยา อาหารแห้ง น้ำดื่ม ฯลฯ ที่ได้จากการบริจาค ถูกนำมาจัดสรรกระจายไปยังพื้นที่ 29 จังหวัดประสบภัย

เห็นแล้วน่าปลื้มใจคนไทยไม่ทิ้งกัน

ขณะเดียวกันในมุมของนักการเมืองไม่ว่ารัฐบาลหรือฝ่ายค้าน

เป็นจังหวะดีที่จะได้ตอบแทนบุญคุณชาวบ้านที่อุตส่าห์เลือกบรรดาทั่นๆ เข้าไปนั่งเป็นผู้แทน

ใครฉวยโอกาสหาเสียงกันตอนนี้คงไม่มีใครใจร้ายต่อว่าต่อขาน แต่ก็อย่าสร้างภาพ'ดราม่า'เกิน

เดี๋ยวจะดู'เฟก'

อย่างกองเชียร์บางพรรคที่พยายามป่าวประกาศว่า

การที่นายกฯอภิสิทธิ์ เดินสายลงตรวจพื้นที่น้ำท่วม เยี่ยมเยียนชาวบ้านที่ประสบความเดือดร้อนติดต่อกันหลายวันในช่วงนี้

แสดงถึงความเป็น'สุดยอดผู้นำ'

พร้อมจะยื่นมือช่วยเหลือชาวบ้านทุกภาคทุกจังหวัดโดยไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ไม่เลือกปฏิบัติว่าเป็นพื้นที่สีแดงหรือสีไหน

ชาวบ้านประชาชนเองก็ต้อนรับอย่างดี

ได้เห็นนายกฯ (มาดคุณหนู) นั่งเรือท้องแบน(ลุยน้ำสูงแค่หัวเข่า) น้ำตาก็ไหลพรากๆๆ

ทั้งที่ความจริงไม่เห็นจะเป็นเรื่องแปลกพิสดารตรงไหน

เพราะการดูแลช่วยเหลือชาวบ้านผู้ตกทุกข์ได้ยาก มันก็เป็นหน้าที่ของนายกฯ และรัฐบาลอยู่แล้ว

ไม่ว่าใครเป็นนายกฯ ทักษิณ สมัคร สมชาย หรือต่อให้สารวัตรเหลิม ก็ต้องทำอย่างที่นายกฯอภิสิทธิ์ทำอยู่ตอนนี้ทั้งนั้น

ถ้าไม่ทำสิถึงแปลก แถมยังจะโดนด่าว่าเป็นนายกฯภาษาอะไร(ฟะ)

ส่วนที่บอกว่านายกฯอภิสิทธิ์ กล้าลงไปพื้นที่จังหวัดภาคอีสานนั้น

ก็น้ำมันท่วมหนักที่ภาคอีสาน ถ้าไม่ไปภาคอีสานแล้วจะให้ไปภาคใต้หรืออย่างไร

แล้วที่บอกว่าไม่มีชาวบ้านมาคอยถือตีนตบขับไล่นายกฯ พร้อมกับทึกทักเอาว่าข้อขัดแย้งทางการเมืองได้สูญสลายหายไปกับสายน้ำแล้วนั้น

ถ้ามั่นใจอย่างนั้น น้ำลดเมื่อไหร่ ชาวบ้านกลับมาทำมาหากินได้อย่างปกติสุข

ก็ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ พิสูจน์ให้เห็นกันจะจะไปเลย

กล้ารึเปล่า?


ที่มา:ข่าวสด
เหล็กใน
*********************************************************

วันอาทิตย์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2553

โพลพบคนอีสานไม่สนับสนุนรัฐบาล

“อีสานโพล” สำรวจพบประชาชนในพื้นที่ลดการสนับสนุนงานด้านการเมืองของรัฐบาลเหลือเพียง 36.40% จากการสำรวจครั้งก่อนซึ่งอยู่ที่ 45% ส่วนการทำงานในด้านอื่นทั้งเศรษฐกิจ สังคม กลุ่มผู้สนับสนุนและไม่สนับสนุนไม่ต่างกันมากนัก “จาตุรนต์” ชี้ประชาธิปัตย์กำลังเล่นเกมโยนเรื่องทุจริตให้ภูมิใจไทยเพื่อกู้ภาพลักษณ์ช่วงโค้งสุดท้ายของการทำงานก่อนยุบสภาเลือกตั้งใหม่ เชื่อสุดท้ายภูมิใจไทยจะถอนตัวออกจากรัฐบาล

“อีสานโพล” ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยผลการสำรวจที่ตอกย้ำว่าคนอีสานส่วนใหญ่ไม่สนับสนุนงานด้านการเมืองของรัฐบาล

ทั้งนี้ เป็นการสำรวจจากประชาชน 697 ราย ในช่วงต้นเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา พบว่ามีกลุ่มตัวอย่างที่สนับสนุนด้านการเมืองแก่รัฐบาลเพียง 36.40% ขณะที่มีผู้ไม่สนับสนุนสูงถึง 63.60% ซึ่งลดลงอย่างมากเพื่อเทียบกับการสำรวจครั้งก่อนที่มีผู้ให้การสนับสนุนอยู่ที่ 45%

อย่างไรก็ตาม หากเป็นการทำงานในภาพรวมยังให้การสนับสนุนอยู่ที่ 54.70% และอีก 45.30% ไม่สนับสนุน ขณะที่การทำงานด้านเศรษฐกิจ กลุ่มตัวอย่างให้การสนับสนุนรัฐบาล 50.20% ไม่สนับสนุน 49.80% ส่วนด้านสังคมให้การสนับสนุน 59.50% ไม่สนับสนุน 40.50%

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์กำลังเล่นเกมเพื่อโยนภาพการทุจริตไปให้กับพรรคภูมิใจไทย เพื่อหวังกอบกู้ภาพพจน์ของพรรคในช่วงสุดท้ายของการทำงาน

“ผมเชื่อว่าเรื่องการทุจริตจะเป็นปัญหาในรัฐบาลจนทำให้บางพรรคแยกตัวออกไป และจะมีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ตามมาในที่สุด แต่หากไม่มีการเลือกตั้งจะต้องมีการรัฐประหารเกิดขึ้น” นายจาตุรนต์กล่าวและว่า โอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะจับมือทำงานร่วมกับพรรคภูมิใจไทยถือว่าเป็นไปได้ยากมาก

รศ.สุขุม นวลสกุล นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์ ให้ความเห็นในทิศทางตรงกันข้ามกับนายจาตุรนต์ โดยเชื่อว่าพรรคภูมิใจไทยจะไม่ถอนตัวออกจากรัฐบาลและจะไม่ถูกปรับให้ออก ยกเว้นมีเหตุสุดวิสัยจริงๆก็อาจเกิดขึ้นได้ โดยมีพรรคเพื่อแผ่นดินเป็นอะไหล่รอเสียบอยู่

“หากมีการเปลี่ยนแปลงผมว่าสิ่งแรกที่จะเกิดคือการเกลี่ยกระทรวงกันใหม่หมด โดยพรรคประชาธิปัตย์จะยึดเอากระทรวงใหญ่มาดูแล ทั้งมหาดไทย คมนาคม พาณิชย์ และอุตสาหกรรม” รศ.สุขุมกล่าวและว่า ยังมีอีกแนวทางหนึ่งที่เป็นไปได้คือการดึงพรรคเพื่อแผ่นดินเข้ามาโดยไม่เอาพรรคภูมิใจไทยออก แต่จะขอโควตารัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทยมาให้พรรคเพื่อแผ่นดิน ซึ่งพรรคภูมิใจไทยคงต้องจำยอมหากยังอยากอยู่ร่วมรัฐบาลต่อไป โดยอาจจะยอมคืนกระทรวงพาณิชย์แต่ไม่คืนกระทรวงมหาดไทย ส่วนกระแสข่าวที่ว่าอาจเอานายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยนั้น แม้จะเป็นไปได้ยากแต่ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ ซึ่งกรณีนี้จะเกิดขึ้นเมื่อพรรคภูมิใจไทยตัดสินใจถอนตัวออกจากรัฐบาล

ที่มา.หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
**********************************************************************

รัฐบาลอังกฤษยืนยันคนไทยได้รับการรับรองสถานภาพผู้ลี้ภัยในประเทศอังกฤษ


เนื่องจากเหตุการณ์ความรุนแรงและปัญหาทางการเมืองในประเทศไทย และการคุกคามทางการเมืองและการจับกุมคุมขังฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง เมื่อไม่นานมานี้ Asian Correspondent ได้เผยแพร่บทความที่ระบุว่ารัฐบาลอังกฤษได้รองสถานภาพผู้ลี้ภัยในอังกฤษ

“ผมได้รับการยืนยันจากรัฐมนตรีของประเทศอังกฤษที่รับผิดชอบและมีอำนาจในการตัดสินใจรับรองสถานภาพผู้ลี้ภัยในประเทศอังกฤษว่า มีคนไทยอย่างน้อยหนึ่งคนได้รับการรับรองสถานภาพผู้ลี้ภัยจริงในประเทศอังกฤษเมื่อปีที่แล้ว”

โดยคำยืนยันดังกล่าวมาจาก โฆษกของสำนักงานตรวจสอบคนเข้าเมือง ซึ่งทำงานให้กับรัฐมนตรีที่มีหน้าที่กำกับสำนักงานคนเข้าเมือง

นอกจากจากนี้ ผู้เขียนยังได้ติดต่อสภาผู้ลี้ภัยในประเทศอังกฤษเพื่อยืนยันข้อมูลดังกล่าว
“นอกจากนี้ ผมยังติดต่อสภาผู้ลี้ภัย ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระหน่วยงานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอังกฤษ ที่ดูแลเรื่องการขอลี้ภัยทางการเมือง เพื่อที่จะสอบถามว่าเอกสารวีซ่าที่สตรีไทยผู้ได้รับการรับรองสถานภาพทางการเมืองแสดงให้ผมดูนั้นเป็นเอกสารจริงหรือไม่ สภาผู้ลี้ภัยกล่าวว่า เอกสารดังกล่าวน่าจะเป็นเอกสารจริง แต่หากจะให้แน่ใจจริงๆ จะต้องส่งเอกสารดังกล่าวไปให้เจ้าหน้าที่ไปให้เจ้าหน้าตรวจสอบคนเข้าเมืองพิจารณา”

และนี้คือหลักฐานภาพถ่ายเอกสารวีซ่าและเรื่องราวของผู้ที่ได้รับการลี้ภัย

วันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สะเทือนบัลลังก์(ข่าวว่า..ยังมีเด็ดกว่านี้)

“ศาลรัฐธรรมนูญปฏิบัติหน้าที่ตามพระปรมาภิไธย ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นกลางกับทุกฝ่าย ไม่มีใครมาก้าวก่ายแทรกแซง ขอให้ประชาชนมั่นใจการทำงานของศาล”

นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมแถลงพร้อมตุลาการรวม 5 คนถึงคลิปลับในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเผยแพร่ทางเว็บไซต์ยูทูบ (YouTube) ว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เกี่ยวข้องกับคลิปที่ถูกแอบถ่าย และประธานศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งปลดนาย พสิษฐ์ ศักดาณรงค์ ออกจากการเป็นเลขานุการส่วนตัวประธานศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา แต่ยังไม่ให้ออกจากราชการ และกำลังตั้งคณะกรรมการสอบสวนภายใน เนื่องจากนายพสิษฐ์มีภาพในคลิป ทำให้ภาพลักษณ์ของศาลรัฐธรรมนูญเสียหาย

นายอุดมศักดิ์กล่าวถึงคลิปภาพ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับการพิจารณาคดี รวมถึงคำวินิจฉัยต่างๆ เพราะเป็นคลิปเมื่อปี 2552 ซึ่งประธานศาลรัฐธรรมนูญได้รับรางวัล “นักกฎหมายดีเด่นสัญญา ธรรมศักดิ์” โดย พล.อ.เปรมเป็นผู้มอบรางวัล

อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญได้เรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องสืบสวนสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะถือว่าผิดกฎหมาย ผิดอาญาต่อแผ่นดิน คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยังจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบภายในเหตุที่เกิดขึ้นอีกทางถ้ามีความคืบหน้าจะแถลงให้สื่อมวลชนทราบ

ปริศนา 5 คลิปฉาว
สำหรับคลิปที่เผยแพร่ทางยูทูบใช้ชื่อว่า “ohmy god3009” มี 5 ตอน ตอนแรกเป็นภาพนิ่งของ พล.อ. เปรม ตอนที่ 2 มีความยาว 8 นาที ตอนที่ 3 มีความยาว 11 นาที ตอนที่ 4 มีความยาว 11 นาที และตอนที่ 5 มีความยาว 11 นาที ซึ่งเนื้อหาของแต่ละตอนเกี่ยวข้องกับคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ดังนี้

ตอนที่ 2 เป็นคลิปและคำสนทนาของนายวิรัช ร่มเย็น ส.ส.ระนอง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานกรรมาธิการส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นและทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์คดียุบพรรค กับนาย พสิษฐ์ ปรึกษาเรื่องนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่จะให้การเป็นคุณกับพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีนายวรวุฒิ นวโภคิน ที่ปรึกษากรรมาธิการส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น สภาผู้แทนราษฎร ร่วมอยู่ด้วย

ตอนที่ 3 เป็นคลิปตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนปรึกษาหารือเพื่ออ้างคำให้การของนายอภิชาตว่ามีอำนาจทำได้และพ่วงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ตอนที่ 4 เป็นคลิปคำพูดปรึกษาหารือของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ซ่อนนัย หากตัดสินไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์เกรงจะมีข้อครหานินทาเรื่องสองมาตรฐาน

ตอนที่ 5 เป็นคลิปทรรศนะของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนที่มีต่อ ส.ส.พรรคเพื่อไทย โดยใช้คำว่า “มัน” ทุกครั้งที่เอ่ยชื่อ และการวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

“อภิชาต” ปมสำคัญยุบ ปชป.

มีคำถามสำคัญว่าทำไมจึงพุ่งเป้าไปที่นายอภิชาต ซึ่งคำตอบน่าจะอยู่ที่นายอภิชาตที่มีฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองโดยตำแหน่งเคยลงมติให้ยกคำร้องไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญต้องการขอเบิกตัวมาเป็นพยานคนสำคัญ เพราะประเด็นยุบพรรคประชาธิปัตย์มีการต่อสู้ใน 2 ประเด็นใหญ่ๆคือ อำนาจของผู้ฟ้องคือ กกต. รวมถึงประเด็นข้อเท็จจริงของเงินสนับสนุนพรรคการเมือง 29 ล้านบาท และการใช้เงินบริจาค 258 ล้านบาท

ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรค การเมือง 2550 มาตรา 95 ระบุว่า หากพบว่าพรรคการ เมืองใดกระทำผิดกฎหมายให้นายทะเบียนพรรคการเมือง โดยความเห็นชอบของ กกต. เสนอเรื่องต่ออัยการสูงสุดเพื่อเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรค ในทางกลับกันถ้านายทะเบียนพรรคการเมืองเห็นว่าพรรค การเมืองนั้นไม่มีความผิดก็ไม่จำเป็นต้องส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดหรือขอความเห็นชอบจากที่ประชุม กกต.

คดียุบพรรคประชาธิปัตย์ กกต. เคยมีมติเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2552 หลังที่ประชุมพิจารณาผลการไต่สวนของคณะอนุกรรมการทั้ง 2 คดี โดยนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงาน กกต. แถลงว่า ที่ประชุม กกต. มีมติเสียงข้างมากให้เป็นดุลยพินิจของนายอภิชาตในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองที่จะพิจารณาส่งคำร้องยุบพรรคนี้ไปยังอัยการสูงสุดหรือไม่ เท่ากับให้อำนาจชี้ขาดอยู่ที่นายอภิชาตเพียงผู้เดียว ซึ่งนายอภิชาตชี้ขาดให้ยกคำร้องคดีเงินบริจาค 258 ล้านบาท เพราะเห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ทำผิดตามผลการสอบของคณะอนุกรรมการไต่สวน กกต.

แต่หลังจากมีการชุมนุมใหญ่ของม็อบเสื้อแดงที่สำนักงาน กกต. ทำให้นายอภิชาตเปลี่ยนใจรื้อฟื้นคดียุบพรรคประชาธิปัตย์กลับมาหารือในที่ประชุม กกต. ใหม่ จนวันที่ 12 เมษายน 2553 ที่ประชุม กกต. มีมติ 4 ต่อ 1 ประเด็นเงินบริจาค 258 ล้านบาท เสนออัยการ สูงสุดส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรค ซึ่ง 1 เสียงที่คัดค้านคือนายอภิชาต ส่วนประเด็นเงินกองทุนเพื่อพัฒนาพรรคการเมือง 29 ล้านบาท กกต. มีมติ 5 ต่อ 0 เสียงให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์

วิกฤตศรัทธา

คลิปฉาวดังกล่าวส่งผลกระทบต่อภาพพจน์ของพรรคประชาธิปัตย์และศาลรัฐธรรมนูญอย่างมาก เพราะคดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ถูกกล่าวหาว่าใช้เงินจากกองทุนสนับสนุนพรรคการเมืองผิดประเภท 29 ล้านบาท

ภาพที่ปรากฏในคลิปจึงไม่ใช่แค่ตัวละคร 3 คนคือ นายวิรัช นายพสิษฐ์ และนายวรวุฒิ แม้พรรคประชาธิปัตย์และนายวิรัชพยายามชี้แจงว่านายวรวุฒิเป็นผู้ประสานให้นายวิรัชพบกับนายพสิษฐ์ที่ร้านอาหารย่านประชาชื่นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2553 เป็นเพียงการจัดฉากหรือวางแผนเพื่อทำลายพรรคประชาธิปัตย์ ก็ยากจะปฏิเสธว่านายวิรัชปรึกษาเรื่องการเตรียมการจะให้นายอภิชาตให้การกับศาลเพื่อเป็นประโยชน์ต่อคดีไม่ให้พรรคประชาธิปัตย์ถูกยุบ

ขณะที่เนื้อหาในคลิปอีกส่วนหนึ่งที่เป็นการปรึกษากันของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญปรากฏชัดเจนว่าเกรงคำให้การของประธาน กกต. จะเกิดข้อครหานินทา เรื่องสองมาตรฐาน นอกจากนี้คำพูดของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่พูดถึง “พรรคเพื่อไทย” ว่า “มัน” ก็ถูกตั้งคำถามว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีอคติหรือไม่?

จิ๊กซอว์ล่องหน?

หลังจากปรากฏคลิปฉาวดังกล่าว นายพสิษฐ์ได้เดินทางออกจากประเทศไทยไปฮ่องกงตั้งแต่วันพุธที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่านาย พสิษฐ์เดินทางก่อนที่นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย จะออกมาแถลงเรื่องคลิปเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ซึ่งนายพสิษฐ์เป็นจิ๊กซอว์ที่รู้เรื่องดีที่สุดว่าใครเป็นต้นคิด และเชื่อมโยงไปถึงใครบ้าง

เหมือนอย่างที่นายวิรัชออกมาให้สัมภาษณ์โยงไปถึงนายพสิษฐ์ว่าเป็นคนนัดทุกครั้ง และเป็นเพื่อนร่วมรุ่นหลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับผู้บริหารระดับสูงของสถาบันพระปกเกล้า (ป.ป.ร.) รุ่น 13 กับนายวรวุฒิ แม้จะอ้างว่าไม่เคยขอให้นายพสิษฐ์ช่วยทำอะไร เพราะเชื่อมั่นว่าไม่สามารถโน้มน้าวศาลรัฐธรรมนูญได้ โดยกล่าวหาพรรคเพื่อไทยว่าจัดฉากถ่ายทำคลิปขึ้นมา

ส่วนกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งคณะ ทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงกับนายวิรัชว่าเข้าไปพัวพันโดยรู้เห็นเป็นใจหรือไม่ แต่นายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กลับออกมาท้วงติงว่าไม่เหมาะสมที่จะต้องตรวจสอบ

ดึงศาลกลับที่ตั้ง

ขณะที่นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมืองและอดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ตั้งคำถามว่า วันนี้ถึงเวลาหรือยังที่จะดึงผู้พิพากษาหรือตุลาการกลับที่ตั้งด้วยการไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง โดยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับคลิปฉาวว่า ไม่อาจปฏิเสธว่ามีความพยายามล็อบบี้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ จึงเป็นห่วงสถาบันตุลาการมาก เพราะ ไม่รู้ว่าขณะนี้กำลังเล่นอะไรกันอยู่ และทำไมพัวพันกับองค์กรที่ถือว่าเราต้องยอมรับในคำวินิจฉัยของท่าน

“เรื่องนี้จะต้องเคลียร์กันให้ชัดเจนก่อน เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่สั่นสะเทือนทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม” นางสดศรียังกล่าวถึงสมัยที่เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ว่าเคยเตือนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวว่าอย่าให้องค์กรเข้าไปยุ่งเกี่ยว เพราะสิ่งไหนที่เป็นเรื่องการเมืองแล้วตุลาการเข้ามาเกี่ยวข้องก็จะแปดเปื้อนไปด้วย

“อะไรที่เกิดขึ้นในศาลก็ต้องเคลียร์ เพิ่งเคยเจอเป็นครั้งแรก อยู่ศาลมานานไม่เคยเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นเลย เห็นเรื่องแบบนี้แล้วน่ากลัวมาก แล้วเรื่องอย่างนี้หลุดออกไปได้อย่างไร”

นางสดศรีกล่าวอีกว่า ตอนนี้กระแสสังคมกดดันให้ศาลยุบพรรคประชาธิปัตย์ หากศาลไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์อะไรจะเกิดขึ้น ไม่อยากให้สถานการณ์บ้านเมือง เป็นเช่นนี้เลย และศาลจะถูกเล่นงานมากขึ้น ตอนนี้เป็นการตีปลาหน้าไซ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญไม่ยุบจะมีปัญหาทันที

ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย

ดังนั้น การค้นหาความจริงของคลิปฉาวของศาลรัฐธรรมนูญจึงเหมือนเกราะป้องกันศาลรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด ไม่เหมือนกรณี 91 ศพในเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” ที่มีทั้งพยานบุคคล ภาพถ่าย และคลิปเหตุการณ์มากมาย แต่รัฐบาลยังไม่สามารถให้ความจริงได้ว่าเสียชีวิตอย่างไร และใครยิง อีกทั้งยังพยายามบิดเบือน ด้วยการใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินไล่ล่าและกวาดล้างคนเสื้อแดง โดยสร้างภาพให้เป็น ผู้ก่อการร้ายและกล่าวหาว่าเป็นเครือข่ายล้มสถาบัน

อย่างล่าสุดที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) อ้างว่ามีข้อจำกัดหลายด้าน ทำให้ไม่สามารถสรุปได้ว่าใครเป็นคนร้ายที่ยิงปืนใส่ประชาชนจนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ การสอบสวนของดีเอสไอจึงทำได้เพียงสรุปสาเหตุการตาย วิถีกระสุน และรายงานความคืบหน้า รวมทั้งการเสียชีวิตของช่างภาพชาวญี่ปุ่นและอิตาลี ซึ่งสถานทูตต้องการคำตอบว่าใครเป็นคนยิง แต่ดีเอสไอและศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) กลับกล่าวหาและจับกุมคนเสื้อแดงเป็นผู้ก่อการร้าย โดยไม่รู้สึกละอายเลยแม้แต่น้อยที่ภาคประชาชนและองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและต่างประเทศประณามว่าเป็นการใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรม เป็นการคุกคามสิทธิมนุษยชนและความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรง

สถาบันศาลรัฐธรรมนูญเองจึงต้องพยายามที่จะค้นหาความจริงว่ามีขบวนการพยายามแทรกแซงศาลรัฐธรรมนูญจริงหรือไม่ และมองเข้าไปถึงเนื้อหาสาระในคลิป ว่าจริงหรือไม่ มิใช่เพียงแค่ปลดเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ หรือมีความพยายามเอาผิดคนถ่ายหรือคนที่นำมาเผยแพร่เท่านั้น เพราะความจริงแล้วต่อให้เป็น การจัดฉากก็เหมือนการล่อซื้อยาเสพติดหรือล่อซื้อบริการทางเพศ หากกระทำผิดจริงต้องมีความผิด แม้ตุลาการส่วนใหญ่จะมีคุณวุฒิ วัยวุฒิสูงส่ง ทั้งประสบการณ์ชีวิตและการทำงาน แต่ก็ต้องยอมรับว่าผู้พิพากษาเองก็เป็นปุถุชน ธรรมดาที่ “กิน-ขี้-ปี้-นอน” มีโลภ โกรธ หลง กิเลส ตัณหา ไม่ใช่ “เทวดา” หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ทำอะไรก็ไม่ผิด

ที่สำคัญคำพิพากษาของศาล ไม่ว่าจะเป็นศาลยุติธรรมหรือศาลรัฐธรรมนูญนั้นปฏิบัติในนาม “พระปรมาภิไธย” ศาลจึงยิ่งต้องระมัดระวังการทำหน้าที่ของตนในการประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรม เพราะศาลถือ เป็นตัวแทนของพระมหากษัตริย์ในการทำหน้าที่ ต้องแสดงให้เห็นว่าไม่มีอคติหรือตั้งธงใดๆ เพราะหากศาลถูกมองว่าไม่ยุติธรรม ไม่เป็นธรรม หรือไม่ชอบธรรม อาจส่งผลกระทบถึงเบื้องสูง ไม่ใช่แค่สถาบันตุลาการเท่านั้น

วันนี้สังคมไทยจึงต้องกลับมามี “สติ” ไม่ใช่เต็มไปด้วย “อคติ” เหมือนธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้ากล่าวถึง “อคติ 4” หรือ “ความลำเอียง 4” ได้แก่ ฉันทาคติ-อคติเพราะรัก, โทสาคติ-อคติเพราะโกรธ, โมหาคติ-อคติเพราะหลง และภยาคติ-อคติเพราะกลัว

เมื่อคนเรามีอคติ จิตก็จะไม่เที่ยง ไม่ตรง และไม่ตั้งอยู่ในธรรม จึงไม่มีสติที่จะคิดใคร่ครวญไตร่ตรองด้วยหลักเหตุและผล

สังคมไทยวันนี้ต้องตั้งสติแล้วค้นหา “ความจริง” ว่าอะไรผิดอะไรถูก โดยเฉพาะกรณีคลิปฉาวที่รัฐบาลประชาธิปัตย์และศาลรัฐธรรมนูญพยายามหาคนผิดที่ถ่ายคลิปหรือเผยแพร่ แต่ควรค้นหาความจริงของต้น ตอทั้งหมด เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าศาลรัฐธรรมนูญมีความยุติธรรมอย่างแท้จริง แม้ความจริงนั้นอาจจะกลับมาทิ่มแทงอย่างเจ็บปวดบ้างก็ตาม

มีแต่ “ความจริง” เท่านั้น...ที่จะนำทางไปสู่ความยุติธรรม

อย่ามัวแต่ยก “ความดี” และจัดตั้ง “คนดี” โดยคณะรัฐประหารอยู่อีกเลย

ในทุกสังคมมีทั้ง “คนดี” และ “คนชั่ว” ไม่เว้นแม้แต่คณะผู้พิพากษา ตุลาการ ศาล เศรษฐี ขอทาน อำมาตย์ หรือไพร่...

แต่สังคมจะอยู่อย่างสุขสงบได้ก็ด้วย “คนที่มีใจเป็นธรรม”

“ความยุติธรรม” เท่านั้นที่จะพาสังคมไทยไปสู่ความปรองดองสมานฉันท์...

มิฉะนั้น... “คลิป” เด็ดกว่านี้คงมีมาอีกเรื่อยๆ...

ถึงวันนั้น...อาจจะสายเกินไป!!

ใช้วิชามาร 3 ตุลาการถอนตัว?

“การที่พรรคประชาธิปัตย์บอกว่า การใช้วิธีชั่วช้าต่างๆเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะ ตำรวจก็ใช้วิธีล่อซื้อแบบนี้เพื่อดักจับผู้ร้าย สิ่งที่สังคมอยากรู้มากที่สุดคือ เนื้อหาการสนทนาในคลิปวิดีโอเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องเท็จ มีการพูดเพื่อเจตนาที่จะทำอะไร ส่วน ที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีการประชุมเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ก็ไม่เห็นมีใครปฏิเสธ คนที่คิดในเรื่องนี้กำลังถูกชักนำให้คิดไปในทางที่ผิดว่าการลอบถ่ายหรือการไปดักฟังเป็นเรื่องผิดหมด ถ้าหากการกระทำที่เขาไปลอบฟังหรือลอบถ่ายมาเป็นความผิด สิ่งที่ไปทำมาก็ถือเป็นหลักฐานว่ามีการกระทำความผิดจริง ประเด็นอยู่ที่ตรงนี้มากกว่า”

นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จังหวัดตาก และอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงคลิปฉาวคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ว่า สิ่งที่ประชาชนอยากรู้คือเรื่องจริงคืออะไร ส่วนที่ว่ามีการหลอกลวงกันหรือหักหลังกันไม่ใช่ประเด็น ประเด็นสำคัญคือเรื่องที่ว่ามีการไปล็อบบี้กันจริงหรือไม่ โดยเฉพาะการพูดว่า ต้องการให้ประธาน กกต. มาให้การศาล ซึ่งไม่ได้พูดระหว่างนายวิรัช ร่มเย็น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กับนายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ อดีตเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ยังพูดในที่ประชุมศาลรัฐธรรมนูญด้วย

นายพนัสกล่าวว่า ขณะนี้มีความพยายามเบี่ยงเบนประเด็นว่า การลอบถ่ายเป็นความผิด เป็นการกระทำที่ชั่วร้าย ขอยกตัวอย่างกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) หรือตำรวจ ถ้าไปดักฟังโทรศัพท์พวกนักค้ายาเสพติด หรือไปลอบถ่ายภาพวงจรปิด ก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อดักถ่ายภาพผู้กระทำความผิด เพราะฉะนั้นการลอบถ่ายหรือการดักฟัง รวมทั้งการวางกับดัก ถ้าหากทำผิดจริง คนผิดจะเอามาอ้างอะไรไม่ได้ เพราะได้ทำผิดจริง

ส่วนกรณีที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติปลดนายพสิษฐ์ออกจากตำแหน่งเลขานุการศาลรัฐ ธรรมนูญนั้น การกระทำของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเหมือนเป็นการปิดปากพยานมากกว่า เพราะนายพสิษฐ์เป็นผู้ที่รู้เรื่องดีที่สุดถึงเหตุที่มีการทำผิด ใครเป็นคนทำ และใครเป็นต้นคิด นายพสิษฐ์เป็นตัวเชื่อมและตัวโยงคนเดียวที่สำคัญที่สุด และอยากให้สืบสวนให้ดีว่าเบื้องหลังของนาย พสิษฐ์เป็นอย่างไร เพราะอดีตเลขานุการคนนี้ในศาลรัฐธรรมนูญตั้งฉายาว่า “กงกง” ทำตัวเหมือนเป็นร่างทรงของประธานศาลรัฐธรรมนูญ

“ผมได้รับข่าวจากวงในศาลรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้มีตุลาการ 3 คน เช่น นายจรัญ ภักดีธนากุล นายจรูญ อินทจาร ได้ขอถอนตัวจากองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากก่อนหน้านี้มีตุลาการถอนตัวไปแล้ว 1 คือ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ซึ่งผมไม่รู้ว่าข่าวนี้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เพราะถ้ามีตุลาการถอนตัวเพิ่มอีก 3 คนจริง จะส่งผลทำให้ศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถวินิจฉัยตัดสินคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ได้ และจะทำให้พรรคประชาธิปัตย์ไม่ถูกยุบในที่สุด”

นายพนัสกล่าวว่า สาเหตุที่มีการใช้วิชามารในลักษณะนี้ เพราะถ้าจะออกไปในแนวการตัดสินคงออกไม่ได้ เนื่องจากเจอแรงบีบและแรงกระแทก ตอนนี้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากต้องยุบพรรคประชาธิปัตย์สถานเดียว จึงมีการใช้วิชามารโดยอาจให้ตุลาการถอนตัว ซึ่งคดีไม่เชิงโมฆะ แต่จะอ้างว่าเป็นคดีที่ศาลไม่อาจตัดสินได้เพราะองค์คณะไม่ครบ ดังนั้น ถ้ากระแสข่าวการถอนตัวของ 3 ตุลาการเป็นจริง ก็จะต้องดูว่ามีเหตุผลอะไรที่ต้องถอนตัว เพราะถ้าหากไม่มีใครไปคัดค้านจะถอนตัวได้อย่างไร

“ผมคิดว่าเป็นการใช้วิชามารและจะยิ่งส่อให้เห็นชัดเจนว่ามีเจตนาที่ไม่สุจริต ถ้าหากใช้ทุกอย่างแล้วพรรคประชาธิปัตย์ไม่ถูกยุบจะเรียกว่าอะไร ขณะนี้สถาบันตุลาการของประเทศไทยพังไปตั้งนานแล้ว เพียงแต่คนภายนอกไม่รู้อะไรเท่านั้น แต่คนวงในเขารู้นานแล้วว่าสถาบันตุลาการยิ่งกว่ากลวง และเน่าเฟะ”

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข

สปิริตประธานศาล รธน.หรือแค่"จ่าเฉย"

โดย ประสงค์ วิสุทธิ์

ถึงเวลานี้ อาจจะยังไม่รู้ว่า ใครเป็นเหยื่อใคร กรณีการเผยแพร่คลิปที่พรรคเพื่อไทยอ้างว่า เป็นการต่อรองในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินภายในปลายปี 2553

แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้สะท้อนถึงความน่าเชื่อถือของทั้งองค์กรและผู้บริหารระดับสูงในศาลรัฐธรรมนูญได้เป็นอย่างดี

ความจริงแล้ววิกฤตที่เกิดขึ้นกับศาลรัฐธรรมนูญมิได้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ในช่วงตัดสินคดี"ซุกหุ้น"ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2544

พฤติการณ์ของตุลาการบาง(หลาย)คนและกระบวนการในการวินิจฉัยคดีที่"ไร้มาตรฐาน"ทำลายความน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญมาแล้ว

แต่น่าเสียดาย มิได้ทำให้ผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการบางคนสำนึกที่ช่วยกันสร้างองค์กรให้มีเข้มแข็งน่าเชื่อถือต่อสาธารณะ

หลังจากการตัดสินคดี"ซุกหุ้น"ผ่านมา 10 ปี คนในศาลรัฐธรรมนูญได้ก่อวิกฤตขึ้นภายในองค์กรอีกครั้งหนึ่ง

การที่นายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ สั่งปลดนายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ ออกจากตำแหน่งเลขานุการฯ หลังจากที่ก่อเหตุการณ์อื้อฉาวแอบอ้างตำแหน่งเลขานุการประธานศาลฯไปเจรจาต่อรองกับ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เรื่องคดียุบพรรค เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว

แต่คำถามที่เกิดขึ้นทันทีคือ นายชัชควรแสดงความรับผิดชอบ(มากกว่านี้)อย่างไร เพราะนายพสิษฐ์ เป็นบุคคลที่นายชัชแต่งตั้งให้เป็นเลขานุการตามระเบียบศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยการแต่งตั้งเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2551 ซึ่งให้"เอกสิทธิ์"นายชัชที่จะแต่งตั้งใครก็ได้ เพราะต้องเป็นบุคคลที่ไว้วางใจ(สามารถปลดออกและพ้นตำแหน่งพร้อมประธานศาลฯ)

เมื่ออยู่ในตำแหน่งเลขานุการฯ นายชัชได้มอบหมายให้นายพสิษฐ์ เป็นตัวแทนในภารกิจหลายอย่างทั้งภายในและภายนอกซึ่งนายพสิษฐ์เองก็ได้แสดงบทบาทอย่างเต็มที่  ทำให้ผู้บริหารสำนักงานศาลอย่างเลขาธิการฯเองก็ให้ความเกรงใจ และสามารถใช้อำนาจดึงสาวคนสนิทในสำนักงานมาอยู่หน้าห้องประธานศาลได้ด้วย

ดังนั้น การที่นายพสิษฐ์อ้างตำแหน่งเลขานุการฯพูดคุยเรื่องคดียุบพรรคกับ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์(ตามเสียงในคลิป)ย่อมทำให้บุคคลภายนอกเข้าใจได้ว่า นายพสิษฐ์มาในฐานะตัวแทนประธานศาลฯได้

แต่น่าแปลกคือ ไม่ค่อยมีใครทราบประวัติความเป็นมาของนายพสิษฐ์มากนัก(ยกเว้นตามคำบอกเล่าของตัวเองซึ่งแสดงถึงความเก่งกาจ) เช่น เปลี่ยนชื่อกลับไปกลับมาถึง 6 ครั้งอย่างพิสดารจาก "กมษศักดิ์ชนะ" เป็น "ชนะ-เกษมศักดิ์ชนะ-พสิษฐ์-กันตินันทน์-พสิษฐ์ "

ที่รู้กันทั่วไปคือ นายชัชหอบหิ้วมาทำงานที่ศาลรัฐธรรมนูญเมื่อได้รับตำแหน่งประธาน ทั้งที่นายพสิษฐ์จบมาทางด้านกายวิภาคศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรังสิต มิใช่ด้านกฎหมายที่น่าจะช่วยงานด้านวิชาการได้มากกว่า

เมื่อนายพสิษฐ์เป็นคนสนิท"ส่วนตัว" ก่อเรื่องขึ้น แทนที่นายชัชจะออกมาแถลงชี้แจงด้วยตนเอง กลับให้ตุลการ 5 คนซึ่งมิได้เกี่ยวข้องด้วย(ยกเว้นกรณีมีการแอบถ่ายคลิปในห้องประชุม)มาแถลงปลดนายพสิษฐ์ออกจากตำแหน่งทั้งที่อำนาจการปลดนายพสิษฐ์เป็นของนายชัชเพียงคนเดียว(ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ตุลาการ5คนออกมารับหน้าแทนทำไม?)

หรือนายชัช ไม่มีความกล้าหาญเพียงพอที่จะสู้หน้าสาธารณชน คิดว่า การหลบหน้าหลบตาจะทำให้เรื่องเงียบไปกับสายลม แล้วไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ

ที่สำคัญการดำเนินการกับนายพสิษฐ์เป็นไปอย่างกล้าๆกลัวๆ เพราะมีข่าวว่า นายพสิษฐ์เดินทางไปต่างประเทศด้วยหนังสือเดินทางของราชการ เมื่อถูกปลดจากตำแหน่งด้วยข้อกล่าวหารุนแรง ทำไมสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญไม่ทำเรื่องถึงกระทรวงการต่างประเทศให้เพิกถอนหนังสือเดินทางราชการของนายพสิษฐ์

ขณะที่นายชัชเองก็ถูกสาธารณชนตั้งคำถามถึง"ความเที่ยงธรรม"ในการตัดสินคดีจากการกระทำของนายพสิษฐ์

ดังนั้นการปลดนายพสิษฐ์ จึงไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดความเชื่อถือต่อตัวนายชัชได้ ตัวอย่างเช่น ถ้านายชัชตัดสินให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ก็จะถูกกล่าวหาว่าต่อรองกับพรรคประชาธิปัตย์ไม่ลงตัว 

ถ้าตัดสินว่าไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ก็จะถูกกล่าวหาว่า ต่อรองกับพรรคประชาธิปัตย์เรียบร้อยแล้ว

ดังนั้น ถามว่า ความรับผิดชอบของนายชัชควรอยู่ในระดับใด

ถ้าเอาระดับสูงสุด ควรลาออกจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ  

ระดับรองลงมา ควรลาออกจากประธานศาลรัฐธรรมนูญ แต่ยังเป็นตุลการอยู่

ระดับต่ำสุด ควรถอนตัวจากองค์คณะคดียุบพรรค

การตัดสินใจของนายชัชจะแสดงถึงสปิริตของคนที่เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญและนักกฎหมายดีเด่นรางวัลศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์

หรือแค่เล่นบท"จ่าเฉย"เพื่อเอาตัวรอดไปเรื่อยๆเท่านั้น
ที่มา.มติชนออนไลน์.

มหาวิทยาลัยเทวดา

โดย:นักปรัชญาชายขอบ

ว่าด้วยบทสนทนาในรั้วมหาวิทยาลัยซึ่งกำลังปรับตัวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ และสิ่งที่ถูกพูดถึงน้อยก็คือคุณภาพบัณฑิตและความเป็นอิสระทางวิชาการ

สองวันมานี้ผมมานั่งฟังการอภิปรายแนวทางการการปรับเปลี่ยมหาวิทยาลัยไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ และแนวทางการพัฒนามหาวิทยาลัยเพื่อก้าวไปสู่ความเป็นสากล แม้จะเห็นด้วยในหลายๆ เรื่อง แต่บางเรื่องก็เหนื่อยใจ

การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ สิ่งที่พูดกันในประชาคมมหาวิทยาลัยก็คือเรื่องเก่าๆ เช่น ความเป็นอิสระ ความคล่องตัวในการบริหารจัดการ ความมั่นคงของอาจารย์ค่าตอบแทนของอาจารย์ที่เพิ่มขึ้นเพื่อกันสมองไหล การไม่ขึ้นค่าเรียน (เพราะสาเหตุการออกนอกระบบ ถ้าจะขึ้นก็เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคม)

แต่เรื่องที่พูดกันน้อยคือ เรื่องคุณภาพบัณฑิตจะดีขึ้นกว่าเดิมอย่างไร มหาวิทยาลัยจะรับผิดชอบหรือรับใช้สังคมมากขึ้นกว่าเดิมอย่างไร

ที่คาใจผมคือการบรรยายของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ปัจจุบันเป็นองคมนตรี) ที่บอกว่า การที่มหาวิทยาลัยจะก้าวไปสู่ความเป็นสากลจะต้องเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย เน้นการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ แล้วก็เอาความรู้นั้นมาพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอน พร้อมกับบริการวิชาการแก่สังคม และ/หรือเสนอทางเลือกใหม่ๆ แก่สังคม ซึ่งตรงนี้ผมเห็นด้วย

แต่พอท่าน ยกตัวอย่างว่า ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมามหาวิทยาลัยแทบไม่ได้ช่วยอะไรเลย แล้วก็ยกตัวอย่างว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยบางคนที่มีชื่อติดสื่อ ออกความเห็นผ่านสื่อทุกเรื่องนั้น ที่จริงก็ไม่ใช่ผู้รู้จริง แล้วท่านก็เสนอว่าการแสดงความเห็นต่อสาธารณะจะต้องรู้จริง และต้องคำนึงว่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมหรือไม่ ต้องมีความเป็นกลาง ตัดอัตตาของตัวเองออกไป

ไม่ควรคิดว่าอาจารย์คนใดคนหนึ่งแสดงความเห็นอะไรออกไปจะเป็นความรับผิดชอบของอาจารย์คนนั้นเท่านั้น ยังไงก็ต้องเป็นความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยด้วย ถ้าจะให้ดีก่อนที่อาจารย์หรือตัวบุคคลจะแสดงความเห็นอะไรออกไป ควรมีการพูดคุยกันภายในก่อน หรือมีการกลั่นกรองกันภายในมหาวิทยาลัยก่อนว่าสิ่งที่จะเสนอต่อสาธารณะมันจริงหรือไม่? เป็นประโยชน์ต่อสังคมหรือไม่?

ผมฟังถึงตรงนี้แล้วก็ได้แต่นึกในใจว่า ท่านผู้เสนอกำลังคิดว่าสถาบันอุดมศึกษาเป็นสถาบันองคมนตรีหรืออย่างไร ท่านกำลังพูดเรื่องการพัฒนามหาวิทยาลัยเพื่อก้าวไปสู่ความเป็นสากล แต่ท่านกลับเสนอให้มี “ระบบเซ็นเซอร์” ความเห็นของอาจารย์ก่อนเสนอต่อสาธารณะ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ไปลดทอน “ความเป็นสากล” คือ “เสรีภาพทางวิชาการ” เสียเอง

แล้วมันก็น่าแปลกนะครับ การพัฒนามหาวิทยาลัยสู่ความเป็นสากล จะต้องทำอย่างโน้นอย่างนี้เยอะแยะไปหมด แต่ไม่ได้พูดถึงเรื่องการสร้าง “วัฒนธรรมประชาธิปไตย” ราวกับว่ามหาวิทยาลัยมีวัฒนธรรมประชาธิปไตยเข้มแข็งดีอยู่แล้ว

พูดซ้ำๆ กันว่าจะต้องพัฒนาให้บัณฑิตมีคุณธรรมจริยธรรม โดยท่านองคมตรียกตัวอย่างคุณธรรมที่ควรส่งเสริม เช่น ความจงรักภักดีต่อแผ่นดิน ความซื่อสัตย์ ไม่ใช่ผลิตคนจบออกไปแล้วไปโกงแผ่นดิน เผาบ้านเผาเมือง

ผมฟังแล้วก็ได้แต่ปลง คือผมเห็นด้วยว่ามหาวิทยาลัยต้องวิจัย ต้องรู้จริง (แต่อย่าไปอวดว่ารู้จริงกว่าคนอื่น รู้จริงกว่าชาวบ้าน) และเรื่องที่มหาวิทยาลัยควรวิจัยอย่างยิ่งคือเรื่องบทบาทของกองทัพ และบทบาทของสถาบันกษัตริย์กับการเมือง ทำอย่างไรจะเอากองทัพออกไปจากการแทรกแซงทางการเมือง บทบาทของสถาบันกษัตริย์อยู่เหนือการเมืองจริงหรือไม่ ควรจะปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมประชาธิปไตยสากลอย่างไร เป็นต้น

มหาวิทยาลัยควรวิจัยเรื่องความตื่นตัวทางการเมืองของชาวบ้าน คนระดับล่างของสังคม คนต่างจังหวัด (ไม่ใช่เอาน้ำลายสื่อบางค่ายมาพูดว่าชาวบ้านถูกหลอกถูกล้างสมองถูกซื้อฯลฯ) เรื่องทัศนะต่อประชาธิปไตยของคนชั้นกลางในเมืองว่าทำไมจึงเรียกร้องต้องการประชาธิปไตยภายใต้การกำกับของอำนาจเผด็จการจารีต เป็นต้น

แต่ว่าที่เร่งด่วนกว่า ควรวิจัยว่าทำไมมหาวิทยาลัยจึงเป็นที่พึ่งในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของชาวบ้านไม่ได้ (แต่อธิการบดีของหลายมหาวิทยาลัยกลับเป็นที่พึ่งของ คมช. หรืออำนาจที่ทำรัฐประหารได้)

ถ้ามหาวิทยาลัยไม่แตะเรื่องสำคัญ เช่น บทบาทของกองทัพ สถาบันกษัตริย์ ต่อพัฒนาการประชาธิปไตย และการตื่นตัวเรียกร้องประชาธิปไตยของชาวบ้าน แล้วเสนอทางออกอย่างเป็นหลักวิชาการ เป็นรูปธรรม มหาวิทยาลัยจะอยู่ในระบบนอกระบบ จะเป็นท้องถิ่นหรือก้าวสู่สากล ก็ไม่มีความหมายอะไรต่อสังคมจริงๆ หรอกครับ

ความหมายจริงๆ ที่มีที่เป็นอยู่คือ ความเป็น “มหาวิทยาลัยเทวดา” ที่เสวยสุขอยู่บนสวรรค์วิมาน ไม่รู้ร้อนรู้หนาวว่าประเทศนี้จะเป็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการ ชาวบ้านที่เรียกร้องประชาธิปไตยจะตายหรือเป็น
อยู่กันแบบมหาวิทยาลัยเทวดาดีว่า ออกนอกระบบแล้วอาจารย์มีความมั่นคงรายได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ ผู้บริหารมีอำนาจเพิ่ม เอางบประมาณมายำได้อย่างอิสระกว่าเดิมหรือไม่ จะมีสิทธิ์ได้เครื่องราชหรือไม่ ก็คุยกันไปถกเถียงกันไปเพราะเราคือมหาวิทยาลัยเทวดา!

วันศุกร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2553

"จตุพร" ซัดตุลาการกุข่าวถูกขู่ฆ่า

ที่พรรคเพื่อไทย นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และแกนนำนปช. กล่าวถึงกรณีที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญระบุว่าถูกโทรศัพท์ขู่ฆ่าว่า ตามหลักการทั่วไปแล้วคนที่ถูกขู่ฆ่าเมื่อได้รับโทรศัพท์สิ่งแรกที่ควรทำคือแจ้งความดำเนินคดี แต่ปรากฏว่าไม่มีการแจ้งความใดๆ ตนไม่เห็นด้วยกับวิธีข่มขู่ แต่กรณีนี้คิดเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากการกุข่าวกลบความเหลวแหลกภายในศาลรัฐธรรมนูญ จึงขอร้องว่าอย่าใช้วิธีการแบบนักการเมืองชั่ว ถ้าเป็นความจริงตำรวจต้องจับกุมตัวให้ได้ อย่าให้เป็นเพียงการสร้างเรื่องกลบเกลื่อน ส่วนเรื่องที่ตนออกมาพูดถึงการทุจริตการสอบเข้าเป็นเจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญนั้น เมื่อเรื่องแดงขึ้นมาก็สุมหัวกันหารือ ไม่คิดว่ามันจะมีเรื่องนี้ แต่คนที่ได้ข้อสอบจากท่าน 2 รายสารภาพและมีการบันทึกเอาไว้เรียบร้อย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก ตนไม่ได้พูดแบบโคมลอย แต่มีหลักฐาน เพียงแต่เปิดไม่ได้ เพราะรู้ดีว่าจะถูกดำเนินคดีฐานนำมาเผยแพร่

นายจตุพร กล่าวว่า เพื่อความสะอาดบริสุทธิ์ในสัปดาห์หน้าตนจะนำคลิปไปมอบให้ศาลรัฐธรรมนูญ และนัดสื่อมวลชนมาเปิดดูพร้อมกัน ตนได้ดูแล้วค่อนข้างยาวแต่ชัดเจนมาก เห็นภาพใครนั่งอยู่บ้าง มีเสียงเรียบร้อย เจ้าหน้าที่ที่สารภาพ 2 คน ทุกวันนี้ก็ยังนั่งทำงานอยู่ในศาล ยืนยันว่าตนไม่ได้แบล็คเมล์อะไร แต่ขอความกรุณาศาลรัฐธรรมนูญนัดหมายตนมาในสัปดาห์หน้า จะได้ไปเปิดเผยความจริงกัน คลิปนี้ตนไม่รู้ว่าใครส่งมาให้ แต่เห็นแล้วมันเป็นทุกขเวทนาจริงๆ มันดูแล้วทำให้เข้าใจว่าทำไมคดียุบพรรคถึงมีปัญหา นอกจากนี้ตนยังทราบด้วยว่ามีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านหนึ่งได้แต่งตั้งลูกชายตัวเองเป็นเลขานุการส่วนตัวกินเงินเดือนๆละ 4 หมื่นกว่าบาท แต่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่เลย เพราะเดินทางไปเมืองนอกเป็นเวลาปีเศษแล้ว ส่วนตัวเห็นด้วยกับนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ที่คิดว่าไม่ควรมีศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ต่อไป เพราะได้ทำผิดคุณธรรม จริยธรรม กรณีที่พรรคประชาธิปัตย์จะฟ้องยุบพรรคเพื่อไทยนั้น ก็เป็นเรื่องของคนทำผิดแล้วถูกจับได้ แต่ถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญยังเป็นอยู่แบบนี้ พรรคเพื่อไทยอาจจะถูกยุบก็ได้

ที่มา.เนชั่น