--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2557

การลงทุนภาครัฐ ฯ


โดย.วีรพงษ์ รามางกูร

การลงทุนโดยภาครัฐบาลเป็นตัวแปรที่สำคัญในการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะปานกลางความต่อเนื่องจากทั้งสองระยะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจระยะยาวก้าวไปข้างหน้าต่อไปขณะเดียวกันก็เป็นการเปลี่ยนเงินออมของประชาชนให้เป็นทุนของสังคม เป็นฟันเฟืองที่สำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ไม่เพียงแต่ในระบบการคมนาคมและการขนส่ง แต่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสาขาเศรษฐกิจอื่น ๆ เช่น การโทรคมนาคม การสื่อสาร การผลิต รวมทั้งสาขาบริการด้านอื่น

ในทุกขั้นตอนของการพัฒนา ในระยะเริ่มต้น ขณะที่การสะสมทุนของภาคเอกชนกำลังก่อตัวขึ้น ความแน่ใจหรือความมั่นใจของผู้ร่วมทุนต่างชาติ รวมทั้งความมั่นใจของตลาดทุนยังไม่แน่นอนครบถ้วน การเริ่มด้วยการลงทุนโดยภาครัฐบาลจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญ เมื่อรัฐบาลเป็นผู้เริ่มลงทุนแล้ว ภาคเอกชนก็จะเป็นผู้ลงทุนตามมา จนทำให้ระบบเศรษฐกิจเจริญขึ้นสู่ระดับพัฒนาขั้นต่อไป

ในขณะที่ประเทศที่ระบบการเมืองยังไม่พัฒนาอย่างประเทศไทยความหวาดระแวงของคนเมืองหลวงต่อพรรคการเมืองที่ตนไม่ได้เลือกการสร้างกระแสต่อต้านการลงทุนของภาครัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในโครงการใหญ่จะสามารถทำได้อย่างไร แม้ว่าข้อมูลที่ถูกปล่อยให้กับสาธารณชนเป็นข้อมูลที่ไม่จริง เป็นข้อมูลที่ไม่ได้วิเคราะห์ แม้ว่าพรรคการเมืองฝ่ายค้านมีหน้าที่ตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ ฝ่ายรัฐบาลมีหน้าที่อธิบาย มีหน้าที่ชี้แจง ฝ่ายองค์กรอิสระมีหน้าที่ตรวจสอบว่ามีการกระทำผิดการกระทำมิชอบหรือไม่ เมื่อรัฐบาลได้ทำก็ดูเหมือนทุกฝ่ายจะเชื่อว่า ถ้ามีการลงทุนลงไป ก็จะมีการทุจริตปฏิบัติไม่ชอบเกิดขึ้นแน่

การตราพระราชกำหนดก็ดี การตราพระราชบัญญัติให้อำนาจกู้ยืมเงินจากประชาชนคนไทยเพื่อนำมาลงทุน ก็ถูกโจมตีว่าสร้างหนี้ให้กับลูกหลาน ทั้ง ๆ ที่เป็นการกู้เงินบาท กู้จากประชาชนภายในประเทศ ไม่ใช่การกู้จากต่างประเทศ รัฐบาลเป็นผู้ออกพันธบัตรเป็นลูกหนี้ ประชาชนคนไทยเป็นเจ้าหนี้ แต่ไม่มีใครนำมาพูดกัน ทุนสำรองก็มั่นคง เมื่อกู้เงินบาทมาแล้ว หากจะต้องชำระเงินเพื่อการนำเข้าเครื่องจักร อุปกรณ์ต่าง ๆ ก็เอาเงินบาทซื้อเงินตราต่างประเทศจากตลาดภายในประเทศ ตลาดและธนาคารกลางก็จะปรับไปตามระบบเอง ไม่มีอันตรายอะไร แต่ในระบอบการปกครองในรูปแบบที่ผ่านมา รวมทั้งโครงสร้างของผู้ออกเสียงเป็นอย่างที่เป็น กล่าวคือคนกรุงเทพฯ ยังมีเสียงดัง มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นกระบอกเสียง โครงการพัฒนาขนาดใหญ่คงจะไม่เกิด ที่จะเกิดได้ก็มีโครงการรถไฟฟ้าหรือรถใต้ดินในกรุงเทพฯและชานเมืองเท่านั้น เพราะคนกรุงเทพฯได้ประโยชน์

คุณูปการที่คณะรัฐประหารจะทำได้และน่าทำ ก็คือผลักดันโครงการพัฒนาประเทศขนาดใหญ่ เช่น โครงการบริหารจัดการน้ำ โครงการรางรถไฟความกว้างมาตรฐาน 1.435 เมตร เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จีน อินเดีย เวียดนาม และมาเลเซีย ส่วนระบบราง 1 เมตร น่าจะเลิก รื้อทิ้งไปเสียดีกว่า เพราะเป็นระบบเก่า ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาซ่อมแซม ก็น่าจะไม่ต่างกันมาก ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าจะเก็บรักษาเอาไว้ทำไมกัน เคยไปเห็นระบบขนคนโดยระบบรางของอังกฤษ ของยุโรป รวมทั้งของญี่ปุ่น ที่เขาทำเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงกันหมด แล้วเขาก็เลิกใช้หัวรถจักรดีเซลที่ใช้น้ำมัน เปลี่ยนไปใช้ระบบไฟฟ้าทั้งหมด เป็นการประหยัดพลังงานไปในตัวด้วย

ถ้าสามารถผลักดันโครงการต่าง ๆ ที่เป็นโครงการจัดการบริหารน้ำและโครงการพัฒนาในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานในการคมนาคมขนส่ง ทั้งท่าเรือน้ำลึก สนามบิน ระบบโทรคมนาคม 3 จี 4 จี ระบบขนส่งทางราง รวมทั้งรถไฟความเร็วสูง เพราะถ้าพ้นจากนี้ไป เมื่อมีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ก็คงไม่มีทางจะเกิดขึ้นได้อีก เพราะการคัดค้านของฝ่ายค้านที่ค้านทุกเรื่องไป แต่คงไม่กล้าค้านการปกครองระบบทหาร หรือ "Military Junta" ดูแล้วเหมือน ๆ จะชอบเสียด้วย เพราะถ้าสามารถผลักดันโครงการคมนาคมขนส่งสมัยใหม่ให้เกิดขึ้นได้ ก็จะเปลี่ยนโฉมการพัฒนาของประเทศไทยไปอีกแบบหนึ่งเลย

เท่าที่ได้ยินมา ที่เห็นจะเป็นเรื่องใหญ่ ๆ ก็คือการปฏิรูประบบภาษีอากรที่ไม่ใช่ภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่จะเป็นภาษีอากรอย่างอื่น เช่น ภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดา ภาษีทรัพย์สิน เช่น ภาษีอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งภาษีมรดก เรื่องภาษีเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและสลับซับซ้อน และมีวิวัฒนาการมาเรื่อย ๆ ตามกลไกของโลก สำหรับหลักการความคิดในเรื่องภาษีอากร รวมทั้งหน้าที่ของภาษีอากรแต่ละอัน

การคิดเอาอย่างง่าย ๆ ตามกระแสการเมือง ที่มิได้มาจากรากฐานตามหลักการ การจะตั้งเป้าหมายทางเศรษฐกิจโดยจะใช้ภาษีอากรเป็นเครื่องมือ ดูเผิน ๆ ก็อาจจะดี ภาษีเป็นเครื่องมือที่เลวที่สุดที่จะใช้เพื่อเป้าหมายในการกระจายรายได้ ได้มีหลักฐานพิสูจน์กันแล้วว่า ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นภาษีที่มีลักษณะถดถอยที่สุด กล่าวคือ ส่วนใหญ่ของผู้ที่เสียภาษีเงินได้คือผู้ที่มีรายได้เป็นเงินเดือนและค่าจ้าง ซึ่งไม่ใช่คนที่รวยที่สุด ส่วนคนที่รวยที่สุดคือผู้ที่มีรายได้เป็นดอกเบี้ย เงินปันผล ค่าเช่า และ Capital Gains คือจากการที่ทรัพย์สินของเขามีมูลค่าสูงขึ้น ซึ่งรายได้ประเภทนี้ไม่ต้องเสียภาษี หรือไม่ก็เสียภาษีในอัตราต่ำ เพราะประเทศต่าง ๆ เขาไม่เก็บกัน ถ้าเราเก็บในอัตราสูงอยู่ประเทศเดียว เงินทุนก็ไหลออกไปนอกประเทศหมด ฉะนั้น เป้าหมายของภาษีเกือบทุกชนิดคือการสร้างความสามารถที่จะแข่งขันได้

ภาษีที่ไม่เกี่ยวกับการแข่งขันกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่งคือภาษีมูลค่าเพิ่มแต่ก็เป็นภาษีที่ได้รับการต่อต้านจากนายทุนผู้ผลิตและผู้ขายส่งขายปลีกรวมทั้งสื่อมวลชนด้วย จึงเป็นภาษีที่แตะต้องไม่ได้

ถ้าฝ่ายทหารจะหันมาดูโครงสร้างภาษี ก็คงต้องตระหนักถึงเรื่องต่าง ๆ หลายเรื่อง ต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะจะมีผลกระทบรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจ ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ประสิทธิภาพของการบริหารการจัดเก็บภาษี ที่สำคัญก็คือความซื่อสัตย์สุจริตของพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดเก็บ ต้องพยายามให้มีการใช้ดุลพินิจของพนักงานจัดเก็บภาษีให้น้อยที่สุด เพราะถ้าให้เจ้าพนักงานใช้ดุลพินิจในการประเมินมูลค่าก็ดี ประเมินจำนวนเงินภาษีก็ดี ประเมินข้อยกเว้นลดหย่อนภาษีก็ดี ซึ่งล้วนเป็นช่องโหว่ของกฎหมายภาษีทั้งสิ้น และถ้ามีช่องโหว่ทางกฎหมายทำให้บางคนหนีภาษีได้ บางคนเลี่ยงภาษีได้ ก็จะเกิดความไม่เป็นธรรมในการเสียภาษี ความไม่เป็นธรรมในการเสียภาษี ก็ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน ผู้ที่เสียภาษีโดยสุจริตก็จะอยู่ไม่ได้ ในที่สุดก็จะถูกบังคับให้หนีหรือเลี่ยงภาษีเช่นเดียวกับคู่แข่งของตน อย่างที่เคยเป็นมาในกรณีภาษีการค้าในสมัยก่อน

ทางที่ดี เรื่องสำคัญทางเศรษฐกิจที่ต้องตราเป็นกฎหมาย ก็น่าจะรอให้มีสภานิติบัญญัติช่วยกลั่นกรองเสียอีกที แม้ว่าจะเสียเวลาไปบ้าง แต่ก็คิดว่าไม่น่าจะนานเกินรอ แต่ก็ไม่ควรจะนานเกินไปจนหมดอายุสภา

ถ้าทำได้อย่างนี้ ก็น่าจะเป็นคุณูปการพอแล้ว

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2557

อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา โพสต์ใช้มือถือขณะรถติดรอสัญญาณไฟไม่ผิดกฎหมาย !!?



นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก  Chuchart Srisaeng วันที่ 8 สิงหาคมว่า

....การที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีนโยบาย จับจริง จอมแชต คือการจับกุมผู้ขับขี่รถใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นเรื่องที่ดีเพราะเป็นการป้องกันอุบัติเหตุให้แก่ผู้ขับขี่รถและผู้ร่วมใช้รถใช้ถนนทุกคนรวมทั้งจะฝึกให้ผู้ขับขี่รถมีวินัยในการขับขี่รถและปฏิบัติตามกฎหมายจราจรซึ่งจะช่วยให้การจราจรลดการติดขัดลงได้มาก

.....ผู้ใช้รถใช้ถนนส่วนใหญ่คงเห็นด้วยอย่างไรก็ดี การปฏิบัติงานหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องเป็นตามบทบัญญัติของกฎหมาย

.....พระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ.๒๕๒๒ บัญญัติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ คือ
.....มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้ ฯลฯ (๒๘) “ผู้ขับขี่” หมายความว่า ผู้ขับรถ
.....มาตรา ๔๓ ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถ
.......ฯลฯ
.......(๙) ในขณะใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ เว้นแต่การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โดยใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนาโดยผู้ขับขี่ไม่ต้องถือหรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น
.....มาตรา๑๕๗ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๓ (๙) ฯลฯ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ ๔๐๐ บาทถึง ๑,๐๐๐ บาท

.....เนื่องจาก พ.ร.บ.จราจรทางบก ไม่ได้ให้คำนิยาม คำว่า ขับ และ ขับขี่ ไว้ จึงต้องดูความหมายจากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔
.....คำว่า ขับ หมายความว่า บังคับให้ไป, บังคับให้เคลื่อนไป เช่น ขับรถ ขับเรือ
.....คำว่า ขับขี่ หมายความว่า สามารถบังคับเครื่องยนต์ให้ยานพาหนะเคลื่อนที่ไปได้

.....เมื่อดูบทบัญญัติของกฎหมายและพจนานุกรมแล้วก็สรุปได้ดังนี้
.....ห้ามไม่ให้ผู้ที่กำลังขับขี่รถใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เว้นแต่การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โดยใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนาโดยผู้ขับขี่ไม่ต้องถือหรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น
.....การขับขี่รถก็คือการบังคับเครื่องยนต์ให้ยานพาหนะคือรถเคลื่อนที่ไป
.....ถ้ารถไม่เคลื่อนที่คือจอดอยู่เฉยๆ ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดๆ เช่น รถเสีย จอดรอผู้ที่นัดกันไว้ จอดรอสัณญาณจราจร หรือการจราจรติดขัดจนต้องจอดอยู่กับที่ ย่อมไม่ใช่การขับขี่รถ

.....การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะจอดรถ จึงสามารถกระทำได้เพราะในขณะนั้นไม่ใช่การขับขี่รถ ย่อมไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ครับ

ที่มา.มติชน
///////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2557

จับตาสงครามโลกครั้งใหม่ ในมหาสงคราม 3 ฝ่าย !!?

หลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกาก็สถาปนาตนเองเป็นผู้นำโลกเสรีนิยมยุคใหม่ กลุ่มทุนเหนือรัฐได้กำกับให้รัฐบาลยกเลิกการใช้ทองคำค้ำประกันการพิมพ์ธนบัตร และเป็นชาติเดียวในโลกที่สามารถทำเช่นนั้นได้จนถึงวันนี้ เพราะการค้าขายในตลาดโลกขณะนั้นต่างอ้างอิงเงินตราสหรัฐ จนอเมริกาสามารถใช้เงินสกุลดอลลาร์ของตนเองเป็นมาตรฐานรองรับเทียบเท่าทองคำในเวลาต่อมา



เหมือนกับว่าที่ผ่านมานั้น ระบบการเงินของโลกจะมีเสถียรภาพหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับเงินสกุลดอลลาร์และเศรษฐกิจของอเมริกาด้วยเช่นกัน ภายหลังจากโลกของเราเคยใช้ระบบป้องกันเงินเฟ้อด้วยการใช้ทองคำที่มีจำกัดเป็นสินทรัพย์หนุนหลังเงินกระดาษ และอังกฤษเป็นประเทศแรกที่ใช้มาตรฐานดังกล่าวจนเป็นสกุลเงินตราที่ทรงมูลค่าที่สุดในยุคนั้น ก่อนสหรัฐอเมริกาจะขึ้นมาเป็นผู้นำโลกใหม่

อย่างไรก็ตาม กลุ่มนายทุนที่มีศักยภาพเหนือรัฐในสมัยแรกๆ คือนายธนาคารตระกูล Rothschild ซึ่งส่งลูกหลานไปตั้งธนาคารกลางทั่วยุโรป ว่ากันว่าปัจจุบันเครือข่ายของพวกเขาน่าจะมีสินทรัพย์มากกว่าทรัพย์สินครึ่งหนึ่งบนโลกใบนี้รวมกัน ภายหลังได้เข้าครอบครองระบบการเงินของอังกฤษ และแผ่ขยายสินทรัพย์มหาศาลไปยังดินแดนอเมริกา จนกลายเป็นเจ้าของตลาดการค้าทองคำลอนดอนตัวจริงที่มีอำนาจเหนือตลาด สามารถปรับราคาขึ้น-ลงเป็นรายวัน และเป็นเจ้าของอุตสาหกรรมการรถไฟในอเมริกาและยุโรป เหมืองแร่ทองคำและเพชร DeBeers, Rio tino ธนาคารขนาดใหญ่ เช่น Goldman Sachs, GE Capital และ Lehman Brother รวมถึงอุตสาหกรรมอาวุธ อุตสาหกรรมน้ำมัน อุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมสื่อสารมวลชน และอื่นๆ อีกมากมาย

จะว่าไปแล้ว พวกเขาเติบโตมาจากการยึดครองระบบการเงินของโลกจากเศรษฐกิจสงคราม โดยการตั้งธนาคารกลางและเป็นนายทุนการเงินให้ทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเขาร่ำรวยขึ้นจากสงครามที่นำโดย นโปเลียน ของฝรั่งเศส และ ลอร์ดเวลลิงตัน ของอังกฤษ ในปี 1815 จากการที่พวกเขาปั่นราคาซื้อขายพันธบัตรของอังกฤษจนเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ และสามารถเข้ายึดครองธนาคารกลางในเวลาต่อมา จนสำนักสมคบคิดเชื่อกันว่า เครือข่ายของพวกเขากำกับเศรษฐกิจทุนนิยมโลกเกือบทั้งใบในเวลานี้

แต่อีกด้านหนึ่งเมื่อเศรษฐกิจโลกเติบโตขึ้น ท่ามกลางวิกฤติการเงินของสหรัฐอเมริกาที่ยากแก่การหลีกเลี่ยง จากการเปลี่ยนแปลงเสถียรภาพทางการเงินโดยการใช้อุปสงค์-อุปทานในการควบคุมการพิมพ์ธนบัตรโดยไร้หลักประกัน ทำให้ความคล่องตัวของตลาดสินเชื่อทั่วโลกและระบบธนาคารลดลง ทำให้เห็นความอ่อนแอในระบบการเงินทั่วโลกจากผลิตผลของสหรัฐ ทำให้ผู้นำเศรษฐกิจโลกที่กำลังเติบโตขึ้นใหม่ท่ามกลางทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมหาศาล จึงได้เข้าต่อรองอำนาจทางเศรษฐกิจโลกครั้งใหม่ในรอบร้อยปี ซึ่งนั่นคือการชิงความเป็นใหญ่ของรัฐมหาอำนาจ ที่อาจทำให้เกิดสงครามเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในไม่ช้านี้



แนวรบด้านหนึ่ง พันธมิตรทางการเมืองอย่าง BRICS กลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว อันประกอบด้วยบราซิล (Brazil) รัสเซีย (Russia) อินเดีย (India) จีน (China) และแอฟริกาใต้ (South Africa) ได้รวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง เตรียมปฏิวัติเงินตราโลก เพื่อย้ายอำนาจฐานเศรษฐกิจโลกจากกลุ่มพัฒนาแล้วอย่าง G7 มาสู่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยให้ศูนย์กลางอำนาจทางเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตอยู่เปลี่ยนไปสู่อำนาจการเมืองทางภูมิภาคต่างๆ ของโลกบ้าง นอกจากพวกเขากำลังเปลี่ยนการซื้อขายระหว่างประเทศด้วยเงินอื่นที่ไม่ใช่สกุลดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเปลี่ยนทุนสำรองระหว่างประเทศเป็นค่าเงินอื่นแล้ว พวกเขายังกำลังวางแผนตั้งธนาคารกลางใหม่ของกลุ่มประเทศ BRICS โดยตรงอีกด้วย

ก่อนหน้านี้นั้น รัสเซียจับมือกับจีนประกาศท้าทายอำนาจทางเศรษฐกิจของสหรัฐเมริกา ด้วยการประกาศยกเลิกการใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐในการซื้อ-ขายพลังงานร่วมกัน และรัสเซียผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดของโลก ได้ประกาศยกเลิกการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐในทางบัญชีอย่างสิ้นเชิงในอุตสาหกรรมก๊าชและพลังงาน ท่ามกลางสงครามตัวแทนในดินแดนยูเครนซึ่งแบ่งเป็นสองขั้วข้าง และทำสงครามพื้นที่กันอยู่ในขณะนี้

กลุ่มประเทศ BRICS ได้ประกาศเรียกร้องให้ระเบียบโลกใหม่มีหลายขั้วอำนาจ ซึ่งแน่นอน ท้าทายมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างกลุ่มทุนเหนือรัฐที่พยายามกำกับสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และสหภาพยุโรปโดยตรง อาจจะคล้ายเรื่องความขัดแย้งกลุ่มทุนเก่าและกลุ่มทุนใหม่ในประเทศไทย แต่เรื่องนี้เป็นปัญหาทุนนิยมโลกาภิวัตน์ที่ต้องกระทบโดยรวมต่อประเทศไทยโดยตรงทุกกลุ่มอย่างแน่นอน

แนวรบอีกด้านหนึ่ง ในกลุ่มประเทศอาหรับซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมาของมหาอำนาจโลกตะวันตกมานาน ท่ามกลางสงครามความเชื่อทางศาสนาและการต่อต้านจักรวรรดินิยมทางเศรษฐกิจ ซึ่งล่าสุดในการประชุม กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันส่งออก หรือโอเปก (OPEC) อิหร่านได้เสนอให้ตั้งธนาคารโอเปก และขอให้เลิกซื้อขายน้ำมันในตลาดโลกด้วยเงินสกุลดอลลาร์ ซึ่งทั้งหมดนั้นคือการคุกคามต่อเศรษฐกิจสหรัฐโดยตรง



การเปลี่ยนสกุลเงินถือครองในเงินสำรองระหว่างประเทศนั้น อาจเป็นจุดเริ่มต้นความล่มสลายของระบบเศรษฐกิจสหรัฐในอนาคตเพราะเมื่อแต่ละประเทศเลิกใช้เงินดอลลาร์เป็นสกุลอ้างอิง ระบบเงินดอลลาร์ก็อาจจะพังทลายลงได้ โดยเงินสกุลใหม่ไม่ว่าจะเป็นรูเบิล, หยวน หรือยูโร ก็อาจจะถูกอ้างอิงแทนทองคำในเวลาต่อมา แน่นอนก่อนหน้านั้นคงมีการต่อสู้ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ การโจมตีค่าเงินอาจจะเกิดขึ้นไปทั่วโลก ท้ายที่สุด เมื่อไม่มีใครยอมใคร และมหาอำนาจใหญ่ไม่มีวันยอมแพ้ เศรษฐกิจสงครามก็อาจถูกสร้างขึ้นใหม่บนซากปรักหักพัง

วันก่อนนั้นผู้นำรัสเซียออกมาให้สัมภาษณ์อย่างเจ็บแปลบแสบคันว่า เวลานี้สถานะและความน่าเชื่อถือของสหรัฐอเมริกาในเวทีโลกกำลังเสื่อมถอยลงอย่างมาก และเป็นสัญญาณเตือนว่าทั่วโลกกำลังหันหลังให้อเมริกา เป็นที่น่าสังเกตว่าแนวรบอีกด้านหนึ่งกำลังปะทุขึ้นอย่างช้าๆ เป็นจังหวะพอดีกับโน้ตดนตรีทางเศรษฐกิจครั้งใหม่ เมื่อสงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาสในแผ่นดินปาเลสไตน์ ได้ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่าพันคนแล้วในสัปดาห์ที่ผ่านมา และอาจมีการขยายวงลุกลามตามมาเมื่อรัฐบาลอเมริกาประกาศขายอาวุธให้อิสราเอลเพิ่มเติมเมื่อสองวันก่อน

อย่าลืมว่าเศรษฐกิจสงครามเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่จะช่วยสร้างความมั่งคั่งให้นายทุนเหนือรัฐผู้กำกับตลาดโลก ซึ่งไม่เว้นแม้แต่ในตลาดสงคราม พวกเขาช่วงชิงชัยชนะต่อความมั่งคั่งและเงินตราด้วยความสูญเสียของผู้คนมาโดยตลอด นับตั้งแต่สงครามแย่งชิงดินแดนอาณานิคมในอดีต ยกตัวอย่างเรื่องสงครามอิรัก ที่รัฐบาลสหรัฐเข้าโจมตีภายหลังที่อิรักประกาศขายน้ำมันของตนด้วยเงินยูโรแทนดอลลาร์ ในปี 2000 และเปลี่ยนเงินสำรองประเทศของตนเป็นยูโรด้วย ทำให้หลายประเทศที่ซื้อน้ำมันจากอิรักต้องเปลี่ยนตามไปด้วย จนสหรัฐสามารถเข้าไปควบคุมการผลิตและส่งออกน้ำมันปริมาณมหาศาลในอิรักได้ และควบคุมกลไกการกำหนดราคาน้ำมันของโลกได้มากขึ้น เพื่อลดบทบาทของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) ลงนอกจากนี้ สงครามยังได้สร้างมูลค่าของเศรษฐกิจสงครามในอุตสาหกรรมอาวุธและยุทโธปกรณ์หลายแสนล้านดอลลาร์อีกด้วยเช่นกัน

มีความเป็นไปได้สูงว่า นายทุนเหนือรัฐบาลสหรัฐอาจพยายามสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ เพื่อขยายวงไปสู่โลกอาหรับ โดยเฉพาะซีเรียและอิหร่าน กลายเป็นสงครามระหว่างพวกเขากับอิหร่านโดยตรง ที่เป็นเป้าหมายในเศรษฐกิจสงครามในอนาคต เพื่อสถาปนาอำนาจนำของโลกอย่างแท้จริง

ดูเหมือนว่า สถานการณ์โลกตอนนี้อาจจะเผชิญวิกฤติครั้งใหม่ไม่เร็วก็ช้า เมื่อสหรัฐอเมริกาหวังสถาปนาอำนาจนำของโลกอีกครั้งหลังจากบาดเจ็บจากพิษเศรษฐกิจ และอาจกลายเป็นมหาสงคราม 3 ฝ่าย นั่นคือสงครามระหว่าง อาหรับ &อิหร่าน VS สหรัฐอเมริกา &อังกฤษ VS รัสเซีย &จีน.

ที่มา.Siam Intelligence Unit
//////////////////////////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2557

คุณค่าทางเศรษฐกิจ กับคุณค่าความเป็นมนุษย์ !!?



โดย. นิธิ เอียวศรีวงศ์

เช้าวันหนึ่ง ในรายการของ คุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา มีข่าวเล็กๆ ที่ได้จากคลิปวิดีโอที่ผู้ชมส่งให้ อุบัติเหตุทางรถยนต์เกิดขึ้นบนถนนแห่งหนึ่ง รถบัสชนท้ายมอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนขี่ตกไปถูกล้อรถบัสทับตาย ส่วนผู้โดยสารเป็นผู้หญิง ตกจากรถขาซ้ายหักและคงจะสลบไป จึงนอนอยู่กลางสี่แยกแห่งหนึ่ง ส่วนรถบัสขับต่อไปโดยไม่หยุด

สี่แยกนั้นไม่ถึงกับรถติด แต่การจราจรขวักไขว่พอสมควร มีรถยนต์นั่งหลายชนิด, กระบะตู้, มอเตอร์ไซค์ส่วนบุคคล และอื่นๆ ขับผ่านตลอด ต่างหลบหลีกไม่ทับร่างของหญิงผู้นั้น แต่ไม่มีคันใดหยุดให้ความช่วยเหลือเลย ซึ่งคุณสรยุทธอุทานออกมาดังๆ ว่า อ้าว ทำไมไม่หยุด

แล้วก็มีมอเตอร์ไซค์รับจ้างคันหนึ่ง ขับฝ่าการจราจร (คงจากมุมใดมุมหนึ่งของสี่แยก) ออกมาจอดขวางร่างหญิงผู้นั้นไว้ แล้วลงจากรถเพื่อให้ความช่วยเหลือ ทันใดก็มีมอเตอร์ไซค์รับจ้างอีก 2 คันตามมาทำอย่างเดียวกัน คือเอารถของตนเองช่วยจอดล้อมวงร่างของผู้หญิง เพื่อเป็นสัญญาณให้รถคันอื่นระมัดระวัง ลงจากรถเพื่อให้ความช่วยเหลือร่วมกัน

พวกเขาจะช่วยอย่างไรไม่ทราบได้ เพราะคลิปหมดแค่นั้น คุณสรยุทธก็รู้ดีว่าไม่จำเป็นต้องพูดอะไรอีก เพราะภาพเล่าไว้โดยไม่ต้องใช้เสียงหมดแล้ว

เป็นปรากฏการณ์ที่ปกติธรรมดามากสำหรับคนที่อยู่เมืองไทยมากว่า70 ปีอย่างผม เราจะเห็นสำนึกคุณค่าความเป็นมนุษย์ของคนเล็กคนน้อยที่ถูกเรียกว่าควาย มากกว่าคนนั่งรถเก๋งเสมอ แม้กระนั้นคำถามเชิงอุทานของคุณสรยุทธก็ยังก้องอยู่ในใจ

ผมพยายามหาคำตอบที่ตัวเองพอใจอยู่นานและในที่สุดก็มาลงเอยที่มิติทางเศรษฐกิจ

คนขับกระบะตู้จอดให้ความช่วยเหลือไม่ได้เพราะบริษัทมีกำหนดส่งของไว้แน่นอนแล้ว หากลงมาให้ความช่วยเหลือก็ไม่สามารถทำตามกำหนดเวลาของบริษัทได้ บางบริษัทมีจีพีเอสติดบนรถส่งของด้วย ฉะนั้น ผู้จัดการฝ่ายโลจิสติกส์ของบริษัทย่อมรู้ว่าเขาหยุดรถเป็นเวลานานระหว่างทาง คำอธิบายของคนขับว่าเพื่อช่วยคนบาดเจ็บจะเป็นที่ยอมรับของผู้จัดการหรือไม่ก็ไม่แน่ จึงถือว่าเสี่ยงต่ออาชีพการงานของตน

คำอธิบายนี้คงใช้ได้หมดกับแท็กซี่และตุ๊กตุ๊กซึ่งมีผู้โดยสาร,จักรยานยนต์ของพ่อค้าแม่ขาย ฯลฯ แต่จะใช้อธิบายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล โดยเฉพาะคันใหญ่ๆ ได้หรือไม่?

ผมคิดว่าไม่ได้โดยตรง แต่ก็ใกล้ๆ ล่ะครับ การหยุดให้ความช่วยเหลือต้องใช้เวลามากพอสมควร สมมุติว่าใช้รถยนต์หรือคนขับรถกันการจราจรเพื่อความปลอดภัยของผู้หญิงคนนั้น แล้วโทรศัพท์เรียกตำรวจหรือหน่วยงานสาธารณกุศล ก็ต้องรอจนกว่าเขาจะมา หากถึงกับเอาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลเอง ก็ยิ่งเสียเวลาหนักขึ้นไปอีก เพราะต้องแจ้งความด้วย ทั้งหมดนี้อาจหมดไปครึ่งวัน

ครึ่งวันหรือสี่ชั่วโมงสำหรับคนทำงานระดับนั้น หมายถึงขาดทั้งรายได้และ "โอกาส" ไปไม่รู้เท่าไร ("โอกาส" ในทางเศรษฐกิจแปลว่าความเป็นไปได้ที่จะทำรายได้เพิ่มขึ้นในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งเป็นการให้ความหมายที่แคบมาก เพราะ "โอกาส" ช่วยชีวิตคนอื่น ไม่นับรวมอยู่ใน "โอกาส" ทางเศรษฐกิจ) ดังนั้น การหยุดให้ความช่วยเหลือจึงมีต้นทุนที่สูงมาก (อย่างน้อยก็ในการประเมินของตนเอง) ต้องคิดไตร่ตรองและชั่งน้ำหนักให้ดี รถมันผ่านไปเร็วครับ คิดไม่ทัน แต่เมื่อผ่านไปแล้ว ก็ถือเป็นคำตอบไปในตัว

อันที่จริงมอเตอร์ไซค์รับจ้างก็เสีย "โอกาส" ทางเศรษฐกิจไปไม่น้อยเหมือนกัน โดยเฉพาะแทนที่จะคิดจากเม็ดเงินที่ต้องเสียไปในการหยุดให้ความช่วยเหลือ แต่คิดถึงสัดส่วนของรายได้ว่าเขาต้องสละไปกี่เปอร์เซ็นต์ ก็จะเห็นว่าเขาสูญเสียเพื่อให้ความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์มากกว่าคนนั่งรถเก๋งหลายเท่า แต่มอเตอร์ไซค์รับจ้างคิดได้เร็ว เพราะเขาไม่ทันประเมิน "โอกาส" ทางเศรษฐกิจของเขาเอง มันมีปุ่มอัตโนมัติที่พ่อแม่และสังคมของพวกเขาสอนมาแต่อ้อนแต่ออกว่า คุณค่าความเป็นมนุษย์ย่อมสูงกว่าคุณค่าอื่นใดทั้งสิ้น

(น่าเสียดายที่พวกเขาคงไม่ถูกเชิญไปร่วมในการปฏิรูปการศึกษาซึ่งสนใจที่จะปลูกฝัง "ความเป็นไทย" มากกว่า "ความเป็นคน")

เมื่อคิดได้อย่างนี้ ผมจึงอดไม่ได้ที่จะนำประเด็นนี้ไปคุยกับเพื่อนที่เป็นนักธุรกิจ แต่อาจเป็นเพราะคำอธิบายจากมิติทางเศรษฐกิจของผมดูน่ารังเกียจชิงชังเกินไปหรืออย่างไรไม่ทราบ เขากลับพยายามยกปัจจัยที่ไม่ใช่เศรษฐกิจมาอธิบายแทน

เขาบอกว่าคนนั่งรถเก๋งคงยังจำได้กระมังว่า ดาราทีวีท่านหนึ่งที่หยุดรถไปช่วยผู้บาดเจ็บ กลับถูกรถอื่นชนจนพิการ จึงไม่อยากลงไปช่วยใคร ผมท้วงว่านั่นมันบนทางหลวง ไม่ใช่สี่แยกกลางกรุงอย่างนั้น และการที่ดาราท่านนั้นได้รับการยกย่องจากสังคมอย่างกว้างขวาง ก็แสดงอยู่แล้วไม่ใช่หรือว่า คนนั่งรถเก๋งไม่ค่อยหยุดรถไปช่วยใคร

เขาจึงยกอีกปัจจัยหนึ่งขึ้นมาว่า ด้วยเหตุใดก็ตาม คนมีฐานะและมีการศึกษามักไม่ค่อยมีทักษะชีวิตในเรื่องเหล่านี้ เช่นลงไปแล้วจะควรทำอย่างไรต่อไป เป็นต้น ฝากความหวังไว้กับรัฐว่าเดี๋ยวตำรวจและหน่วยสาธารณกุศลคงมาเอง เขาอาจยกโทรศัพท์ไปแจ้งหน่วยงานเหล่านั้นแล้วก็ได้ ผมยอมรับว่าผมไม่รู้ว่าเขาได้โทร.แจ้งหรือไม่ และยอมรับว่าหากขาดทักษะชีวิตในเรื่องเช่นนี้ เขาคงไม่รู้ว่า เมื่อเขาหยุดรถลงมาช่วย จะมีคนอีกมากมา "มุง" และให้คำแนะนำว่าควรทำอย่างไรต่อไป

แม้ว่าเพื่อนผมไม่สนใจปัจจัยที่เป็นมิติทางเศรษฐกิจ แต่เมื่อเราคุยถึงความยั่งยืนของอำนาจ คสช. เขากลับพูดว่า ปัจจัยเดียวที่จะตัดสินว่า คสช.จะดำรงอำนาจของตนสืบไปได้หรือไม่ คือปัจจัยทางเศรษฐกิจ หมายความว่าหากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว คสช.ก็จะได้รับการยอมรับจากคนต่างๆ มากขึ้น จนกระทั่งอาจตั้งอยู่ต่อไปได้อีกนาน เหมือนสมัยสฤษดิ์

ผมไม่เห็นด้วยกับความเห็นนี้กว่าครึ่ง คือยอมรับเหมือนกันว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจมีความสำคัญ และ คสช.เองก็รู้ว่าสำคัญ แต่อำนาจใดก็ตามที่จะดำรงอยู่ได้อย่างสืบเนื่องยาวนานนั้น ต้องอาศัยปัจจัยอื่นๆ อีกมากกว่าความจำเริญทางเศรษฐกิจ และปัจจัยอื่นๆ ที่ผมคิดถึงนั้น สรุปให้เหลือสั้นๆ ก็คือ ปัจจัยของความเป็นคน หรือคุณค่าความเป็นมนุษย์นั่นเอง เพราะเป็นปัจจัยของระบอบปกครองนานาชนิดที่เราพบตั้งแต่สมัยหินลงมา

ผมไม่ได้แจกแจงปัจจัยเหล่านั้นแก่เพื่อนนักธุรกิจ(เพราะคิดไม่ทัน) แต่ขอแจกแจงในที่นี้

ปัจจัยแรกที่จะทำให้อำนาจใดดำรงอยู่ได้ก็คือ การใช้อำนาจอันประณีต น่าประหลาดที่ว่าไม่ว่าจะมีอำนาจเด็ดขาดสักเพียงไร การใช้อำนาจกลับต้องทำโดยประณีตอย่างยิ่ง คนจำนวนมากมักเข้าใจว่า สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปกครองด้วยความเด็ดขาด แต่ผมคิดว่าเราต้องแยกระหว่างบุคลิกภาพของสฤษดิ์ กับวิธีปกครองของสฤษดิ์ เขาใช้กลวิธีอันประณีตหลายอย่างมาก เพื่อให้คนยอมรับอำนาจของเขา เช่น หลังจากการปกครองแบบประชาธิปไตย (อย่างน้อยโดยรูปลักษณ์) ต่อเนื่องกันมา 25 ปี การเปลี่ยนไปสู่ระบอบเผด็จการเต็มรูปแบบไม่ใช่เรื่องง่าย เขาใช้คนมีฝีมือจำนวนไม่น้อย ในการทำลายความชอบธรรมของประชาธิปไตย จริงอยู่บริวารของเขามีโอกาสพูดฝ่ายเดียวก็จริง แต่การพูดฝ่ายเดียวนั้นยากนะครับ เพราะถึงคนอื่นไม่กล้าเถียงดังๆ เขาก็อาจเถียงในใจได้ บริวารของสฤษดิ์ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่เถียง และยอมรับ (มาจนบัดนี้) ว่า ประชาธิปไตยแบบตะวันตกไม่เหมาะกับสังคมไทย ต้องสร้างระบอบปกครองขึ้นมาใหม่และตั้งชื่อว่าประชาธิปไตยแบบไทย (ซึ่งไม่ได้เป็นประชาธิปไตยตรงไหนเลย)

นี่คือความประณีตของการใช้อำนาจอย่างหนึ่งครับ

จอมพลป.พิบูลสงคราม นั้น ถืออำนาจเด็ดขาดต่อเนื่องกันหลายปีเมื่อก่อนและระหว่างสงคราม แต่ใครที่ได้มีโอกาสพบท่านต่างเห็นตรงกันว่า ท่านเป็นคนอ่อนหวาน มีเสน่ห์ในการพูดโน้มน้าวใจคนมาก โดยไม่ต้องมีมาตรา 17 (ของสฤษดิ์) ศัตรูทางการเมืองของท่านถูกพิพากษาประหารชีวิต และเนรเทศไปอยู่ในดินแดนกักกัน โดยศาลยุติธรรมจำนวนมาก... จะสั่งเองหรือให้ศาลสั่ง ก็ได้ผลเท่ากัน แต่เป็นการใช้อำนาจอย่างประณีตกว่ากันมาก

"พิธีกรรม" เป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญมากในการใช้อำนาจอย่างประณีต สฤษดิ์รื้อฟื้นพิธีกรรมเก่า เพื่อเสริมสร้างความชอบธรรมแห่งอำนาจที่ไม่ชอบธรรมของตนได้อย่างแนบเนียน จอมพล ป.สร้างสรรค์พิธีกรรมใหม่อีกหลายอย่าง เพื่อทำให้อำนาจของท่านเป็นอำนาจแห่งความเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นอารยะ นั่นคือการให้เหตุผลแก่อำนาจที่อาจละเมิดรัฐธรรมนูญ แต่เพื่อเป้าประสงค์ที่เราทุกคนต้องการร่วมกัน เราอาจชอบหรือไม่ชอบ "พิธีกรรม" เหล่านั้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมีผลยั่งยืนไปยาวนานกว่าระบอบปกครองของคนทั้งสองด้วยซ้ำ อำนาจดิบถูกทำให้ประณีตจนใครๆ ก็ลืมไปว่านั่นคืออำนาจดิบ แต่จดจำและใช้พิธีกรรมที่อำนาจดิบสร้างขึ้นสืบมา

นอกจากการใช้อำนาจอย่างประณีตแล้ว ยังมีปัจจัยที่สำคัญอื่นๆ อันจะทำให้อำนาจปกครองใดๆ ยั่งยืนได้ ความคาดการณ์ได้ของกฎหมายและการดำเนินชีวิตเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ความกลัวของมนุษย์นั้นเกิดขึ้นจากการคาดไม่ได้ เช่นกลัวผีเพราะไม่แน่ใจว่ามันจะมาใบ้หวยหรือจะมาแลบลิ้นปลิ้นตาให้เราช็อกตาย เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับระบอบปกครองเป็นเผด็จการหรือไม่นะครับ ถึงเป็นเผด็จการอย่างไรก็ตาม ประชาชนต้องคาดการณ์ได้ว่าทำอะไรแล้วผิด รวมทั้งผิดแล้วจะโดนอะไรบ้าง ทั้งนี้ยังไม่พูดถึงธุรกิจนะครับว่า อัตราการรีดไถต้องคาดการณ์ได้ ไม่อย่างนั้นทำธุรกิจไม่ได้ เพราะไม่รู้จะคำนวณการลงทุนและผลกำไรอย่างไร

ผมไม่ปฏิเสธนะครับว่า ระบอบเผด็จการที่รักษาความคาดการณ์ไม่ได้เพื่อทำให้อำนาจของตนเป็นที่หวาดกลัวของประชาชน แล้วยังรักษาอำนาจสืบมาได้นานๆ เช่น สตาลิน, ฮิตเลอร์ หรือเหมา เป็นต้น ก็มีอยู่ แต่จะทำอย่างนั้นได้ต้องมีอะไรแลกครับ และสิ่งที่จอมเผด็จการเหล่านี้เอามาแลกคือ "ความสำเร็จ" หนึ่ง กับอุดมการณ์อีกหนึ่ง ในท่ามกลางความล่มสลายของเศรษฐกิจสังคมรัสเซีย, เยอรมันหลังสงคราม และจีน เราปฏิเสธไม่ได้ว่าจอมเผด็จการทั้ง 3 สร้างความแข็งแกร่งอันใหม่ให้บนความหวาดกลัวของผู้คน

ทางด้านอุดมการณ์ก็ปฏิเสธไม่ได้อีกเหมือนกันว่าทั้ง 3 กรณีต่างอ้างอุดมการณ์ของความเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากถึงโคนทั้งสิ้น พูดอีกอย่างหนึ่งคือ ในนามของการ "ปฏิวัติ" ทุกคนต้องเสียสละที่ไม่สามารถคาดการณ์อะไรได้เลย ต้องยอมรับว่าชีวิตในสังคมปฏิวัติคือ ชีวิตที่ถูกปิดล้อมทุกด้าน เพื่อให้ลูกหลานได้พบสังคมใหม่ที่ดีกว่าเก่า ผมไม่คิดว่าอุดมการณ์ที่จะนำสังคมย้อนกลับไปหาอดีตมีพลังพอจะรักษาความคาดการณ์ไม่ได้ไว้เป็นเครื่องมือของอำนาจได้นานๆแน่

นอกจากเศรษฐกิจแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกหลายอย่างที่จะทำให้ระบอบอำนาจใดๆ สามารถดำรงอยู่ได้ ผมคิดว่าการวิเคราะห์การเมืองไทยในปัจจุบัน โดยดูจากความสำเร็จหรือความล้มเหลวด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอที่จะทำให้เราเข้าใจหรือคาดการณ์อะไรได้

 ที่มา.มติชน
-------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ความงุนงง !!?

โดย. วีรพงษ์ รามางกูร

ความงุนงงเกิดขึ้นได้เสมอแม้ว่าเหตุการณ์หรือเรื่องราวนั้นเกิดขึ้นแล้วหรือกำลังเกิดขึ้น เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ความงุนงงอาจจะเกิดขึ้นได้เสมอกับบุคคล เป็นประสบการณ์ชีวิต และสังคมใดสังคมหนึ่งก็เกิดความงุนงงขึ้นได้เสมอ

ความงุนงง หรือความประหลาดใจ เกิดขึ้นเพราะปัจจัยอย่างน้อย 2 อย่าง อย่างแรก คือการไม่มีข้อมูลข่าวสาร หรือมีข้อมูลข่าวสารแต่ไม่สมบูรณ์ หรือมีข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จ เป็นข้อมูลข่าวสารที่ไม่จริง ประการที่สอง คือความไม่มี "เหตุผล" หรือความไม่สอดคล้องกับ "ตรรกะ"

บุคคลไม่ว่าจะมีความฉลาดเฉลียวมากน้อยขนาดไหน หรือแม้แต่บุคคลที่เป็นที่ยอมรับว่าเป็นอัจฉริยะ บางครั้งก็เกิดความงุนงงได้ ถ้าตั้งสติไม่ทัน

เคยได้ยินเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งผู้ที่ไปเยี่ยมอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ที่บ้าน เห็นเจ้าของบ้านกำลังเจาะฝาบ้านเป็นสองรู รูหนึ่งเป็นรูเล็ก อีกรูหนึ่งเป็นรูใหญ่ เพื่อนผู้ที่ไปเยี่ยมถามว่าเจาะรู 2 รูนี้ไว้ทำไม ได้ความว่า เจาะไว้ให้แมวผ่านได้ จะได้ไม่ต้องเปิดปิดประตูใหญ่ ทำไมต้องเจาะ 2 รู ได้รับคำตอบว่า รูใหญ่เจาะเอาไว้ให้แมวที่เป็นตัวแม่ออกเพราะเป็นแมวตัวใหญ่ ตอนนี้มันมีลูกก็เลยต้องเจาะรูเล็กไว้ให้ลูกแมวลอดเข้าออกได้ เพื่อนที่ฟังไอน์สไตน์กล่าวก็หัวเราะแล้วก็บอกว่า บางทีอัจฉริยะอย่างไอน์สไตน์ก็เกิดความงุนงงได้เหมือนกัน เพราะลูกแมวตัวเล็กก็ลอดเข้าออกรูใหญ่ที่แม่ของมันใช้ลอดเข้าออกได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเจาะรูเล็กเพื่อลูกแมวโดยเฉพาะก็ได้

ความงุนงงแล้วตัดสินใจ เพราะการขาดข้อมูลข่าวสาร หรือได้รับข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จนั้นเกิดขึ้นได้อยู่เสมอในทุกสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการเมืองและวงการปกครอง ความงุนงงจากเหตุการณ์ในอดีตกับความงุนงงจากเหตุการณ์ปัจจุบันนั้น บางทีก็ทำให้เกิดความงุนงงไปถึงเหตุการณ์ในอนาคต ทั้งที่เป็นอนาคตอันใกล้

สาเหตุที่มีเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแล้วทำให้เกิดความงุนงง เพราะเกิดขึ้นอย่างกะทันหันบ้าง เกิดอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยบ้าง ถึงแม้จะมีคำพังเพยที่กล่าวว่า "มีไฟจึงมีควัน" แต่ปรากฏการณ์หลายอย่าง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงที่เห็นได้ทั่วกันกลับไม่ได้เป็นผู้วางแผนให้เกิดขึ้นมาก่อน ในกรณีอย่างนี้ ความงุนงงก็จะเกิดขึ้นไปทั่ว จะรับเคราะห์ผลดีผลเสียอย่างไร จะใช้ตรรกะอย่างไรก็คิดไม่ออก กับการไม่ลงตัว

แต่หลายเหตุการณ์ที่เกิดก็เป็นไปตามตรรกะ มีควันก็ต้องมีไฟ มีไฟก็ต้องเกิดควัน มีการวางแผนมาก่อนล่วงหน้า มีการแบ่งงานกันทำ งานที่ทำมาแต่ละขั้นตอนก็กำหนดเวลา สถานที่ที่แน่นอน เพื่อให้สอดคล้องกัน มีแผนรุกและแผนรับที่แยบคาย ถ้าการดำเนินงานแต่ละส่วนแต่ละขั้นตอนมีอุปสรรคติดขัด ก็สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแผนให้เดินหน้าต่อไป เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายสุดท้ายของแผนได้

การที่ผู้ดำเนินการตามแผนที่วางไว้ จะทำให้การดำเนินการเพื่อบรรลุถึงเป้าหมายมีโอกาสที่จะล้มเหลวเสียกลางคันน้อยลง โอกาสที่จะบรรลุถึงเป้าหมายขั้นสุดท้ายมีสูงขึ้น ดังนั้น ถ้าฝ่ายตรงกันข้ามหรือผู้สังเกตการณ์สังเกตให้ดี ใช้ข้อมูลข่าวสารเท่าที่มีร่วมกับการใช้ตรรกะก็อาจจะเดาได้ เหตุการณ์จะพัฒนาไปในทางใด

แม้ว่าจะเป็นสังคมที่ขึ้นชื่อว่ามีความโปร่งใส เช่น สหรัฐอเมริกาและยุโรป ความลับลมคมในก็มีอยู่เสมอ เพียงแต่ว่าในสังคมดังกล่าว สื่อมวลชนที่เข้มแข็งจะเป็นผู้ที่สืบเสาะและนำเสนอต่อสาธารณชน แม้ในสถานการณ์สู้รบในภาวะสงคราม เช่น สงครามเวียดนาม กองทัพสหรัฐก็ไม่สามารถปิดบังการกระทำหลายอย่างของตนต่อสาธารณชนของโลกได้ ก็ต้องยอมรับความจริงและต้องถอนตัวออกจากสงครามในที่สุด

ความงุนงงสงสัยจะมีมากขึ้นสำหรับสังคมที่ระบอบการเมืองยังไม่พัฒนา ยังเป็นสังคมที่มีความลับลมคมในอยู่ทั่วไป เป็นสังคมที่อึมครึมไปหมด ฉะนั้นแล้ว "ข่าวลือ" จะมีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดในการสร้างกระแส สร้าง "คุณค่า" ใหม่ให้กับสังคมได้มาก

ในโลกสมัยใหม่ที่เทคโนโลยีสารสนเทศมีความสะดวกและรวดเร็ว การสร้างข่าวร้าย ปล่อยข่าวเท็จ เสพข่าวลือ ให้กลายเป็นกระแสจนผู้คนเชื่อว่าเป็นความจริงเกิดขึ้นได้เสมอ และอาจจะสร้างความเสียหายให้กับบุคคลหรือครอบครัว และแม้แต่สังคมโดยส่วนรวมได้ง่ายๆ การป้องกันสถานการณ์ดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่ทำได้ยากแต่ก็ต้องทำ เพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้เสมอ

เมื่อเกิดความงุนงงขึ้น ทำอย่างไรถึงจะมีกลไกที่สังคมสร้างขึ้นมาเพื่อขจัดความงุนงงเหล่านั้นอย่างทันท่วงที อย่างมีประสิทธิภาพ ความจริงน่าจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สังคมโดยส่วนรวมจะได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแท้จริงและไม่ถูกเบียดเบียน และน่าจะเป็นหน้าที่ของ "รัฐ" เสียด้วยซ้ำ

ถ้า "รัฐ" ไม่ทำหน้าที่อันสำคัญนี้ หรือทำได้แต่ไม่มีประสิทธิภาพ ก็คงจะต้องเป็นหน้าที่ขององค์กรประชาชนที่ไม่ใช่องค์กรรัฐบาล ทำหน้าที่นี้แทน แต่อย่างไรก็ตาม ในบรรดาประเทศที่การพัฒนาทางการเมืองยังต่ำ สิ่งเหล่านี้ก็ยังไม่เกิดขึ้น ดังนั้น บางครั้งองค์กรระหว่างประเทศก็ยังจำเป็นที่จะต้องทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงแทน

บางครั้งปัญหาเกิดขึ้นในทิศทางที่ตรงกันข้าม กล่าวคือ รัฐบาลนั้นกลับไม่ได้รับความเชื่อถือ แม้จะมีข้อมูลข่าวสารมากมายแต่ประชาชนฝ่ายต่อต้านก็ไม่รับฟัง แต่พร้อมที่จะเลือกเชื่อข้อมูลข่าวสารที่ตนพอใจอยากจะเชื่อ สถานการณ์ดังกล่าวเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะแยกประชาชนออกเป็น 2 ฝ่าย เหตุการณ์ดังกล่าวกำลังเกิดขึ้นในประเทศยูเครน ที่ประชาชนแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งต้องการแยกตัวกลับไปรวมกับรัสเซีย เพราะยูเครนเคยร่วมอยู่ในจักรวรรดิรัสเซียมานาน มีคนเชื้อสายรัสเซียอยู่เป็นจำนวนมาก แม้ภาษาที่พูดกันในยูเครนกับภาษารัสเซียก็ใกล้เคียงกันมาก

สิ่งที่น่าจะงุนงงอีกเรื่องหนึ่งก็คือ สังคมของเราได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่า 40 ปีในการสถาปนาระบอบการปกครองที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่โดยย้อนกลับไปที่เดิมได้อย่างสงบเงียบเรียบร้อย เหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นไม่กี่เดือนสถานการณ์ราวกับว่าประเทศไทยกำลังจะแตกออกเป็นเสี่ยงๆ

หลายๆ เรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องพลังงาน โครงการพัฒนาต่างๆ เป็นเรื่องร้อนที่ราวกับว่าถ้าเกิดขึ้นประเทศจะเสียหายล่มสลาย แต่บัดนี้มีการประกาศโครงการที่มีมูลค่ามากกว่าเดิมกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ โดยที่ยังไม่รู้เลยว่าข้างในนั้นมีโครงการอะไรบ้าง ที่งุนงงเพราะบัดนี้เงียบสนิททั้งพรรคฝ่ายค้านและสื่อมวลชน

จะว่าเป็นเรื่องระยะสั้นชั่วคราว เหมือนรัฐธรรมนูญฉบับย่อ หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูป หรือรัฐบาลก็คงไม่ใช่ เพราะโครงการต่างๆ เหล่านี้คือนโยบายทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมมากมายต่างๆ จะมีผลต่อไปในระยะยาว ชั่วลูกชั่วหลาน

ถ้าไม่งุนงงก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร

ที่มา:มติชน
////////////////////////////////////////

วันพุธที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

กับดักสภาพคล่อง ยุโรปและอเมริกา !!?



โดย วีรพงษ์ รามางกูร

บัดนี้เป็นเวลากว่า 6 ปีแล้วที่ธนาคารกลางสหรัฐและยุโรปประกาศใช้นโยบายเพิ่มปริมาณเงินจำนวนมหาศาลเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ เพื่อให้สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจมีปริมาณมากกว่าความต้องการในตลาด ใช้คำศัพท์ที่หรูหราว่าเป็น "นโยบายผ่อนคลายทางปริมาณ" จุดประสงค์ก็เพื่อกระตุ้นความต้องการ ทั้งการบริโภคและการลงทุนในระบบเศรษฐกิจ ไม่ให้มีภาระดอกเบี้ยแพงและภาวะเงินตึงตัวในระบบเศรษฐกิจ ประเทศญี่ปุ่นเองในที่สุดก็ประกาศใช้นโยบายเพิ่มปริมาณเงินเข้ามาในระบบเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน

ช่วงหลังเกิดความกลัวว่าเมื่อเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินยุโรปมีปริมาณเพิ่มถึงจุดหนึ่งแล้ว ความเชื่อมั่นในเรื่องค่าเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินยูโรจะสั่นคลอน

ขณะนี้สัดส่วนของความต้องการเงินสกุลต่างๆ เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการนั้น เงินดอลลาร์สหรัฐก็ยังมีสัดส่วนสูงที่สุด คือประมาณ 82 เปอร์เซ็นต์ แต่เงินเยนของญี่ปุ่นมีสัดส่วนน้อยลง กล่าวคือ มีสัดส่วนเพียง 1.4 เปอร์เซ็นต์ เงินหยวนของจีนกลับมีความสำคัญเพิ่มขึ้นถึง 8.7 เปอร์เซ็นต์ กลายเป็นสกุลสำคัญอันดับที่ 2 ในการเป็นเงินที่ใช้ในการชำระหนี้การค้าระหว่างประเทศ ในขณะที่เงินยูโรมีสัดส่วนในการชำระหนี้เพียงร้อยละ 6.7 เท่านั้น

แต่ถ้ารวมความต้องการถือเงินดอลลาร์ ในฐานะที่เป็นเงินสกุลเดียวที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการเก็งกำไร และความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ แม้จะเป็นประเทศที่มีฐานะเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดกับสหรัฐแล้วก็ตาม เงินดอลลาร์ก็ยังถือได้ว่าเป็นเงินสกุลเดียวที่มีความสำคัญมากที่สุด ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา และคงจะยังมีความสำคัญต่อไปในอนาคตอีกด้วย

การที่ธนาคารกลางของสหรัฐประกาศเพิ่มปริมาณเงินอย่างมหาศาลในระบบโดยหวังว่าจะเป็นการกระตุ้นทั้งการบริโภคและการลงทุน เพราะอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำสุดมาเป็นเวลานาน

เมื่อเวลาผ่านมาถึง 6-7 ปี เศรษฐกิจของสหรัฐเองก็ยังไม่สามารถจะกล่าวว่าได้ฟื้นตัวอย่างยั่งยืน เพียงแต่บางครั้งมีความรู้สึกว่าฟื้นตัวขึ้นบ้าง แล้วก็ฟุบตัวลงไปอีก การขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐอเมริกา แม้จะมีปัญหาน้อยลงบ้าง แต่ก็ยังเป็นปัญหา ยังแก้ไม่ตก

ในบรรดากลุ่มประเทศในยุโรปตะวันตกก็เหมือนกัน ดูจะยิ่งย่ำแย่ยืดเยื้อกว่าสหรัฐเสียอีก อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับที่สูง และดูท่าจะไม่มีทางกระเตื้องขึ้นเลย ในขณะที่อัตราการว่างงานในสหรัฐอเมริกา บางครั้งบางตอนก็มีอาการกระเตื้องขึ้นมาบ้าง แล้วก็กลับฟุบตัวลงอีก

มาตรฐานความเป็นอยู่ของคนอเมริกันนั้น อยู่ในระดับที่สูงที่สุดในโลก รองลงไปก็เห็นจะเป็นยุโรปตะวันตกและญี่ปุ่น เมื่อประเทศกำลังพัฒนา เช่น จีน บราซิล รัสเซีย อินเดีย และแอฟริกาใต้ เปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจให้เสรีมากขึ้น ประเทศพัฒนาเดิมก็สูญเสียความสามารถในการแข่งขันในการผลิตสินค้าและบริการให้

กับภูมิภาคในเอเชียไปจนหมดสิ้นรายได้ของคนอเมริกันส่วนใหญ่จึงอยู่ที่ทรัพย์สินทางปัญญา อาศัยที่อเมริกายังสามารถผูกขาดการเป็นเจ้าของตลาดทุนและตลาดเงินได้อยู่ การระดมทุนก็ดี การเป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการระดมทุนก็ดี ยังอยู่ในมือของบริษัทอเมริกันเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนั้นสหรัฐอเมริกายังเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ นิมิตสิทธิ์ และอื่น ๆ อยู่บ้าง

เมื่ออเมริกาประกาศว่าสามารถใช้เทคโนโลยีของตนเจาะพื้นพิภพลึกลงไปกว่า 10 กม. เพื่อนำเอาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมาใช้ได้ ก็ทำให้เศรษฐกิจของอเมริกากระเตื้องขึ้น ทำให้ราคาหุ้นของบริษัทต่าง ๆ ในสหรัฐกระเตื้องขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่ยั่งยืน

ราคาหุ้นในตลาดสหรัฐจึงขึ้นลงไปตามกระแสข่าวในระยะสั้น มากกว่าจะเป็นการฟื้นตัวอย่างยั่งยืน นับเป็นเวลากว่า 6-7 ปีมาแล้ว เศรษฐกิจของยุโรปก็อยู่ในลักษณะอาการอย่างเดียวกัน

เมื่อทศวรรษที่แล้ว จีน อินเดีย รัสเซีย และบราซิล กลายเป็นกลุ่มประเทศที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง เพราะความสามารถในการแข่งขันที่เหนือกว่ายุโรปและอเมริกา แต่ความสามารถก็ทำให้ฐานะทางการเงินของภูมิภาคอื่น ๆ อ่อนแอลง

การที่สหรัฐอเมริกา ยุโรป รวมทั้งญี่ปุ่น ใช้นโยบายเพิ่มปริมาณเงินจนกลัวว่าจะท่วมตลาด ดึงดอกเบี้ยต่ำลงจนเกือบจะเข้าใกล้ศูนย์ แต่ภาวะเศรษฐกิจทั้งของสหรัฐและยุโรปก็ยังซบเซาซึมอยู่ เป็นเวลานานจนกระทั่งบัดนี้

ที่หลายคนเกรงว่าในระยะยาว นอกจากนโยบายเพิ่มปริมาณเงินของธนาคารกลางสหรัฐจะไม่ได้ผลแล้ว น่าจะมีความเสี่ยงในระยะยาวว่าจะเกิดภาวะเงินเฟ้อ เงินดอลลาร์และเงินยูโรจะกลายเป็นเศษกระดาษ แต่การณ์ก็มิได้เป็นไปอย่างที่นักเศรษฐศาสตร์หลาย ๆ คนเป็นห่วง ค่าเงินดอลลาร์ก็ยังทรงตัวอยู่ได้ แม้จะมีความผันผวนอยู่มากก็ตาม เมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลักอื่นและราคาทองคำ

บัดนี้มีคำวิพากษ์วิจารณ์อย่างค่อนข้างรุนแรงจากธนาคารเพื่อการชำระเงินระหว่างประเทศว่ามาตรการเพิ่มปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ และการตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ใกล้ ๆ ระดับศูนย์เปอร์เซ็นต์ อาจจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาได้บ้างในระยะสั้น แต่เป็นผลเสียในระยะยาว เพราะตลาดการเงินถูกบิดเบือน ทั้งปริมาณเงินและอัตราดอกเบี้ยไม่เป็นไปตามธรรมชาติหรือกลไกตลาด ทำให้ตลาดใช้เงินทุนจากเงินออมของสังคมอย่างไม่มีประสิทธิภาพในการลงทุน จึงเท่ากับเป็นการยืดระยะเวลาของการตกต่ำทางเศรษฐกิจของสหรัฐและยุโรปให้ยาวนานเกินกว่าความจำเป็น

ปัญหาที่ถกเถียงกันอยู่ตลอดมาตั้งแต่สหรัฐอเมริกาและยุโรปประกาศใช้นโยบายเพิ่มปริมาณเงินในระบบ เพื่อนำมาซื้อพันธบัตรของรัฐบาลและของเอกชนที่มีคุณภาพดีกลับคืนไป เริ่มจากเดือนละ 85,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อมาลดลงเหลือเดือนละ 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน และจะหยุดเพิ่มปริมาณเงินดังกล่าวในเดือนตุลาคมปีนี้เป็นต้นไป หลังจากนั้นอัตราดอกเบี้ยอาจจะปรับขึ้นไปอยู่ที่อัตราที่สูงขึ้นแต่ไม่เกิน 1 เปอร์เซ็นต์

ทันทีที่นางเยลเลนประกาศ แทนที่ราคาหุ้นในตลาดสหรัฐจะลดลง ราคาหุ้นกลับดีดสูงขึ้น สร้างความแปลกใจให้กับนักลงทุนในตลาดหุ้นเป็นอันมาก ความเป็นไปได้ว่าตลาดหุ้นของสหรัฐตอบสนองต่อท่าทีของผู้ว่าการธนาคารกลางในระยะสั้น เพราะปฏิกิริยาของนักเก็งกำไรในตลาดหุ้นเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก แต่ในระยะปานกลางและระยะยาว ดัชนีราคาหุ้นก็คงจะปรับตัวลง

ข้อถกเถียงในเรื่องนโยบายคิวอีของสหรัฐ ยังเป็นที่ถกเถียงกันในแง่ทฤษฎีมหเศรษฐศาสตร์ว่า นโยบายการเงินนั้น ไม่น่าจะมีประโยชน์ในการกระตุ้นในภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาให้ฟื้นตัวได้ เป็นแต่เพียงพยุงระบบเศรษฐกิจไม่ให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง แต่ขณะเดียวกันการบิดเบือนตลาดดังกล่าว ทำให้ยืดอายุของการตกต่ำทางเศรษฐกิจให้ยืดยาวออกไปนานกว่าที่ควรจะเป็น

การคาดหวังว่าเศรษฐกิจของสหรัฐยุโรป และญี่ปุ่น จะฟื้นตัวในระยะเวลาอันใกล้นี้ คงจะยังไม่จริง ต้องรอกันต่อไป

ที่มา.ปรชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////

วันศุกร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

9 สิ่งมีชีวิต บางทีอาจจะอาศัยอยู่ ในตัวคุณ !!?

เคยได้ยินหรือไม่ คำกล่าวที่ว่า “เราจะกลืนลูกแมงมุมตัวเล็กๆตอนเราหลับ” คำกล่าวนี้ไม่เป็นจริงอีกต่อไป เรานักวิทยาศาสตร์ค้นพบ 9 สิ่งมีชีวิต ที่อาศัยอยู่ในร่างกายเราจริงๆ เหมียวบอกตามตรงว่า ให้แมงมุมให้ไปอยู่ในร่างกายเราดีกว่า

1. พยาธิตัวตืด – อาศัยอยู่แถวๆทางเดินอาหาร มีหน้าที่เป็นปรสิต



2. ตัวหิด – ไอ่ตัวจิ๋วนี่ฤทธิ์ร้ายแรงมากนะจ๊ะ โดนทีอาจเป็นผื่นแสบคันได้เลย



3. ปีเตอร์ หรือ แมลงสาบ – ระวัง มันจะเข้าไปในหูคุณตอนหลับ!!



4. พยาธิตัวกลม – สุดยอดแห่งความน่ากลัว ดูจากภาพก็สยองละ



5. แมลงหางหนีบ – ถึงแม้ว่ามันจะหาได้ยาก แต่มันก็พร้อมที่จะมุดเข้าไปในรูหูของคุณ




6. แคนดิรู – ผู้ชื่นชอบฉี่เป็นพิเศษ เป็นปรสิตที่อยู่ในน้ำ ใครที่ชอบเล่นน้ำบ่อยก็ระวังมันเลื้อยเข้าไปนะ



7. พยาธิปากขอ – มันคือแวมไพร์ในคราบพยาธินี่เอง แต่ไม่ต้องห่วง เวลาคุณโดนกัดคุณจะไม่ได้กลายเป็นพยาธิหรอกนะ





8. ผีเสื้อกลางคืน – ในความสวยงามย่อมมีอันตรายแฝง เข้าหูทีนี่เอาออกยากมาก



9. หนอนแมลง – ส่วนใหญ่พบในอาหารที่เน่าเสีย ไม่น่าเชื่อว่าจะพบในร่างกายมนุษย์ด้วย



ที่มา viralnova
/////////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

พลิกปูม : พรเพชร วิชิตชลชัย - วิษณุ เครืองาม มือกฎหมายเบื้องหลัง คสช.


พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายาxวิษณุ เครืองามxพรเพชร วิชิตชลชัยxรัฐธรรมนูญชั่วคราวxเนติบริกรxตุลาการxมือกฎหมาย

แหล่งข่าวในแวดวงตุลาการ เล่าว่า นายพรเพชรอยู่ในตระกูลตุลาการ เพราะบิดาก็เป็นผู้พิพากษา

ในการแถลงข่าวเพื่อชี้แจง "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557" ครั้งนี้ หลายคนคงคุ้นหน้าคุ้นตา พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผู้ช่วย ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษา คสช. เจ้าของสมญานาม "เนติบริกร" เป็นอย่างดี

แต่กับนายพรเพชร วิชิตชลชัย ซึ่งนั่งร่วมโต๊ะแถลงความเป็นมาของการจัดทำกฎหมายสูงสุดของประเทศในครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งแรกที่มีการเปิดตัวต่อสาธารณะ จึงทำให้เกิดความกระหายใคร่รู้ว่าผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายผู้นี้เป็นใคร

และที่สำคัญเหตุใดเขาจึงได้รับความไว้วางใจจาก คสช.ให้เป็นหนึ่งในผู้ร่วมจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้ รวมทั้งได้รับมอบหมายให้เป็นหนึ่งในผู้ร่วมชี้แจงเรื่องสำคัญๆ อย่างนี้ต่อสังคม

คลิ๊กเปิดแฟ้มประวัตินายพรเพชร จากเว็บไซต์สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พบประวัติการศึกษา และประวัติการทำงานแล้วบอกได้คำเดียวว่าคุณภาพคับแก้ว

นายพรเพชร จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจาก วชิราวุธวิทยาลัย ส่วนในระดับอุดมศึกษาจบนิติศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนติบัณฑิตไทย ได้รับทุนรัฐบาล (ก.พ.) ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สหรัฐ ต่อมาได้รับการโปรดกล้าฯ เป็นศาสตราจารย์พิเศษ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นอกจากนี้ ยังผ่านการฝึกอบรมได้รับประกาศนียบัตรชั้นสูงวิธีดําเนินคดีแพ่ง และวิธีดําเนินคดีอาญาจากสหรัฐ และประกาศนียบัตรทรัพย์สินทางปัญญา หลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.41) และสถาบันพระปกเกล้า (ปปร.11)

ด้านหน้าที่การงานเขาเริ่มรับราชการตำแหน่งนิติกรตรี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อปี 2516 จากนั้นปี 2519 เป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา ก่อนมาเป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อปี 2521

เริ่มเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำกระทรวงยุติธรรม เมื่อปี 2530 รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลอุทธรณ์ภาค 5

ต่อมาปี 2547เป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา จากนั้นเป็นประธานศาลอุทธรณ์ภาค 4 ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ตามลำดับ ปัจจุบันเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินแทนนายประวิช รัตนเพียร ที่ลาออกไปดำรงตำแหน่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

ทั้งนี้ในช่วงวิกฤตการเมืองปี 2549 สมัยเคยดำรงตำแหน่ง สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่วนหน้าที่การงานในตำแหน่งอื่นๆ นั้นก็ได้รับเลือกให้เป็นกรรมการปรับปรุงกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา รวมทั้งสวมหมวกอาจารย์สอนกฎหมายให้กับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง

ในการทำหน้าที่ผู้พิพากษา เขาเป็นผู้พิพากษาในคดีแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต เอื้อประโยชน์ธุรกิจ ชินคอร์ป ทำให้รัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท เคยเป็นองค์คณะในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีทุจริตกล้ายาง

แหล่งข่าวในแวดวงตุลาการ เล่าว่า นายพรเพชรอยู่ในตระกูลตุลาการ เพราะบิดาก็เป็นผู้พิพากษา ขณะที่ตัวเขาเองรับราชการเป็นผู้พิพากษาจนกระทั่งเกษียณอายุ

ด้วยเหตุที่จบการศึกษาคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงมีความสนิทสนมเป็นพิเศษกับ นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และนายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อดีตอัยการสูงสุด ซึ่งจบนิติศาสตร์ จุฬาฯ เช่นเดียวกัน

แหล่งข่าวคนเดิม เล่าอีกว่า นายพรเพชรเป็นผู้พิพากษาน้ำดี ไม่มีประวัติในทางเสื่อมเสีย จุดเด่นคือมีมนุษยสัมพันธ์ดี ชอบทำกิจกรรม จึงเป็นคนกว้างขวาง รู้จักคนมาก เมื่อครั้งเป็นผู้พิพากษาอาวุโส เคยสมัครเป็นกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในสายที่คัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาแต่ไปไม่ถึงฝั่งฝัน กระทั่งไปจบที่ตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน

อย่างไรก็ดี ในปี 2549 นายพรเพชร เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งเป็นสภาที่จัดตั้งขึ้นหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2549 จึงรู้จักและมีสายสัมพันธ์อันดีกับทหารหลายกลุ่ม กระทั่งได้รับเชิญให้เป็นที่ปรึกษาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ในการรัฐประหารอีกครั้งในปีนี้

สำหรับ นายวิษณุ เครืองาม เจ้าของสมญา "เนติบริกร" ได้รับความไว้วางใจจาก คสช. ให้เป็นหัวหน้าทีมยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 เพราะนอกจากมีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายแล้วยังเป็นที่ไว้วางใจของกลุ่มชนชั้นนำ และมีความสัมพันธ์อันดีกับผู้นำทางการเมืองและนักธุรกิจระดับชาติ

ทบทวนความจำเกี่ยวกับประวัติของนายวิษณุ เริ่มจากการเป็น "โฆษกรัฐบาล" เมื่อปี 2535 ในรัฐบาลยุค พล.อ.สุจินดา คราประยูร เขาวนเวียนอยู่ในตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรีให้กับนายกรัฐมนตรีถึง 7 คนจากทั้งหมด 10 รัฐบาล

ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลสมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายอานันท์ ปันยารชุน พล.อ.สุจินดา คราประยูร นายชวน หลีกภัย นายบรรหาร ศิลปอาชา พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ไม่เพียงแต่ในรัฐบาลในภาวะปกติอย่างเดียว กับช่วงภาวะการปกครองบ้านเมืองไม่ปกติ นายวิษณุก็เป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนในฐานะ "มือกฎหมาย" คู่ใจคณะรัฐประหารมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2534 สมัยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ปี 2549 ยุคคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และกับการรัฐประหารโดย คสช.ในครั้งนี้

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
///////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

คสช.เคาะร่างกฎหมาย 42 ฉบับ..

แก้พ.ร.บ.บีโอไอ-ลงทุนต่างด้าว-ทวงหนี้ ชง สนช.วาระแรกทันที

คสช.พิจารณาร่างกฎหมาย 42 ฉบับวันนี้ พร้อมเสนอ สนช. ในวาระแรก แบ่ง 4 กลุ่ม "แก้คอร์รัปชัน-ปัญหาความเดือดร้อน-เศรษฐกิจ-แรงงาน" พร้อมเตรียมล้างท่อทั้งหมดรวมกว่า 100 ฉบับ ขณะด้านเศรษฐกิจ เตรียมแก้กฎหมายบีไอ -การประกอบธุรกิจต่างด้าว-ทวงหนี้บัตรเครดิต

การประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อบริหารราชการแผ่นดินที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.เป็นประธาน พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม จะนำร่างกฎหมายที่ค้างการพิจารณาอยู่กว่า 42 ฉบับเข้าสู่การพิจารณา

หากที่ประชุมคสช.เห็นชอบ ก็จะส่งร่างกฎหมายให้กับสำนักคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจร่างก่อนจะเตรียมบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่จะจัดตั้งขึ้นตามขั้นตอนตามกฎหมาย โดยการแต่งตั้งสนช.จะดำเนินการภายในเดือนก.ค.นี้ตามโรดแมพที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้

นอกจากร่างกฎหมายดังกล่าวแล้ว สนช.กำหนดจะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ในวันที่ 6 ส.ค.นี้

วานนี้ (21 ก.ค.) พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร เลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยทุกส่วนงานได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานในหลายส่วนงาน

ฝ่ายความมั่นคงได้รายงานการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ ซึ่งได้มีการเปิดศูนย์จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จไปแล้วนั้น ล่าสุดมีแรงงานต่างด้าวมาลงทะเบียนแล้วกว่า 180,000 คน ฝ่ายสังคมจิตวิทยา ได้มีการเตรียมที่จะจัดทำโรดแมพแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยในพื้นที่วิกฤติ

นอกจากนี้ ฝ่ายเศรษฐกิจที่ได้รายงานความคืบหน้าการประชุมของคณะอนุกรรมการส่งเสริมการลงทุนตามแผนงานในปี 2558-2562

ฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่ระบุจะได้เสนอร่างพระราชบัญญัติที่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขจำนวนกว่า 42 ร่างเข้าสู่ที่ประชุมคณะ คสช. ในวันอังคารที่ 22 ก.ค.นี้

ทั้งนี้ส่วนขึ้นตรงหัวหน้า คสช.ที่ได้แจ้งความก้าวหน้าการดำเนินการตามคำสั่ง คสช.ที่ 64/66 ว่าล่าสุดในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานสามารถนำผู้บุกรุกพื้นที่ป่าออกมาได้ 100% ส่วนในพื้นที่ป่าดงใหญ่ ซึ่งเป็นผืนป่าผืนเดียวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยยูเนสโกที่ถูกบุกรุกกว่า 23,000 ไร่ นั้น ล่าสุดเจ้าหน้าที่ได้ใช้มาตรการละมุนละม่อมจนสามารถแก้ไขปัญหาได้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายแล้ว ขณะที่ในส่วนของอุทยานแห่งชาติปางสีดาอยู่ระหว่างดำเนินการ

เคาะร่างก.ม.42ฉบับเข้า สนช.ล็อตแรก

แหล่งข่าวจาก คสช. เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช. โดย พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผู้ช่วย ผบ.ทบ.) ได้ประชุมร่วมกับฝ่ายกฎหมาย และได้มอบนโยบายเกี่ยวกับกฎหมายที่ คสช.มีนโยบายเร่งผลักดัน รวมถึงให้ตรวจสอบร่างกฎหมายที่ค้างการพิจารณาของรัฐสภาชุดที่ผ่านมา เพื่อดูว่ามีร่างกฎหมายใดที่เป็นประโยชน์กับประชาชน สมควรหยิบขึ้นมาเร่งผลักดันบ้าง

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ร่างกฎหมายที่ คสช.ให้ทีมงานเข้าไปพิจารณา มีทั้งสิ้นราว 140 ฉบับ และได้คัดกรองเหลือประมาณ 40-50 ฉบับที่มีความจำเป็นเร่งด่วน น่าจะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทันทีในวาระแรกเมื่อมี สนช. ซึ่งล่าสุดมีการเคาะตัวเลขเหลือ 42 ฉบับ

สั่งกฤษฎีกา-องค์กรอิสระทบทวนร่าง ก.ม.

อย่างไรก็ดี คสช.ยังได้มอบหมายให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปตรวจสอบร่างกฎหมายที่สำคัญที่ยังคั่งค้างหรือเคยศึกษาว่าจะแก้ไขเพิ่มเติมอีกด้วย พร้อมทั้งมอบหมายให้องค์กรอิสระต่างๆ เสนอแก้ไขหรือยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับขอบเขตงานของตนเพิ่มเติม เพื่อประสิทธิภาพในการทำงาน เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นต้น โดยกฎหมายที่องค์กรอิสระเสนอ บางส่วนที่เป็นประเด็นทางการเมือง เช่น ร่างกฎหมายเลือกตั้ง จะถูกส่งไปยังสภาปฏิรูปแห่งชาติก่อน

ขณะที่กฎหมายอีกบางส่วนอาจสอดคล้องกับร่างกฎหมายที่ คสช.จะเร่งผลักดันอยู่แล้ว ก็จะนำมารวมกันเพื่อเสนอต่อสนช.ทันที เช่น ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน เป็นต้น

เปิดร่าง ก.ม.4กลุ่มจ่อเข้าสนช.

สำหรับร่างกฎหมายที่ คสช.จะเร่งผลักดัน รวมกับร่างกฎหมายที่คณะกรรมการกฤษฎีกาไปตรวจสอบเพิ่มเติม แบ่งเป็นกลุ่มๆ อย่างน้อย 4-5 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน เสนอแก้ไขร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542, แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ให้คดีทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐและข้าราชการการเมืองไม่มีอายุความ, แก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และยกร่าง พ.ร.บ.พิสูจน์หลักฐานทางการเงินและบัญชี ซึ่งในส่วนนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะรวมกับกฎหมายฟอกเงินหรือไม่

2.กลุ่มบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน เช่น เสนอให้ยกร่าง พ.ร.บ.ทวงถามหนี้ เพื่อแก้ปัญหาการทวงถามหนี้ที่ไม่เหมาะสม ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างรุนแรง หรือการใช้กำลังประทุษร้าย, ยกร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อจัดระบบการค้ำประกันและการจำนองเสียใหม่ เพื่อแก้ปัญหาเจ้าหนี้ใช้ความได้เปรียบทางเศรษฐกิจบังคับทำสัญญาให้ผู้ค้ำประกันหรือจำนองต้องรับผิดในลักษณะลูกหนี้ชั้นต้นเช่นเดียวกับลูกหนี้ ทั้งที่ฐานะทางกฎหมายของผู้ค้ำประกันกับผู้จำนองต้องเป็นลูกหนี้ลำดับรอง

นอกจากนั้นยังมี ร่าง พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ เพื่อควบคุมงานการให้ใบอนุญาตแก่ภาคเอกชนในเรื่องต่างๆ ด้วยการตั้งศูนย์รับคำขออนุญาต เพื่ออำนวยความสะดวกแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ ลดความซ้ำซ้อน ลดปัญหาการเรียกรับสินบน โดยจะมีการแก้ไข พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ควบคู่กันไป เพื่อควบคุมให้ผู้มีอำนาจต้องพิจารณาคำขอของภาคเอกชนอย่างรวดเร็ว

3.กลุ่มเศรษฐกิจ เช่น เสนอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520, แก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 เป็นต้น และ 4.กลุ่มแรงงาน เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ไทยถูกขึ้นบัญชีค้ามนุษย์ ได้แก่ ยกร่าง พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล เพื่ออนุวัตรตามอนุสัญญาแรงงานทางทะเลที่จะก่อให้เกิดสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบการเดินเรือทางทะเลที่ใช้ธงชาติไทย พร้อมสร้างมาตรฐานคุ้มครองแรงงานในกิจการทางทะเลให้มีมาตรฐานไม่น้อยกว่าการคุ้มครองแรงงานในภาคอื่นๆ ขณะเดียวกัน ยังมี ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อพัฒนาแรงงานที่ทำงานอันเป็นอันตรายต่อสาธารณะด้วย

วางกรอบพิจารณาทุกสัปดาห์

ทั้งนี้ คสช. ได้ใช้แนวทางในการพิจารณาร่างกฎหมาย คือ 1.กฎหมายที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง ซึ่งในกลุ่มนี้จะมีการนำมาพิจารณาและออกเป็นประกาศหรือคำสั่งของคสช.เท่าที่จำเป็น

2.กฎหมายที่ค้างอยู่ในกระบวนการนิติบัญญัติ หมายถึงกฎหมายที่เคยนำเสนอผ่านมติ ครม.และค้างอยู่ในขั้นตอนของกฤษฎีกา หรือการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา โดยได้มีการสั่งการให้ทุกส่วนราชการจัดทำข้อมูลมาอีกครั้งเพื่อพิจารณาความเหมาะสม ประเด็นที่อาจมีการแก้ไข ก่อนที่จะนำขึ้นสู่กระบวนการนิติบัญญัติต่อไป

3.กฎหมายที่อยู่ในส่วนราชการที่เตรียมการยกร่างเสนอ ซึ่งในส่วนนี้ได้มีการขอให้ทุกส่วนราชการได้จัดเตรียมข้อเสนอเหตุผลและความจำเป็นในการออกกฎหมาย หลักการและสาระสำคัญของร่างกฎหมายมาเสนอถึงความจำเป็นอีกครั้ง โดย คสช.จะพิจารณาร่างกฎหมายที่มีความจำทุกสัปดาห์ในการประชุม คสช.เพื่อบริหารราชการผ่านดินเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมก่อนเสนอให้ สนช.พิจารณาเห็นชอบต่อไป

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
///////////////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ปัญญาชนไทยกับความทันสมัย !!?

โดย.นิธิ เอียวศรีวงศ์

ปฏิกิริยาของคนไทยบางพวกต่อการกดดันของ "ฝรั่ง" (สหรัฐ, อียู และออสเตรเลียเป็นสำคัญ) ในทำนองให้ตอบโต้ด้วยการเลิกใช้สินค้าฝรั่ง หรือเลยไปถึงการทำให้ความสัมพันธ์เย็นชาลง ไม่สร้างความแปลกใจอะไรให้ผม เพราะเคยชินเสียแล้วที่จะได้เห็นคนเหล่านี้วิ่งตามเส้นทางของผู้มีอำนาจ และมักวิ่งให้เลยหน้าไปหนึ่งก้าวเสมอ เพราะอยู่ข้างหน้า ท่านจะได้เห็น อยู่ข้างหลังท่านอาจไม่เหลียวไปมองก็ได้

แต่ผมตระหนกและออกจะวิตกเมื่อปัญญาชนชั้นนำบางท่าน ออกมาโจมตีฝรั่งอย่างเมามัน บางท่านในบุคคลเหล่านี้เป็นที่นับถือของผมตลอดมา (และก็ยังนับถืออยู่เหมือนเดิมแม้จนบัดนี้) ไม่ใช่ผมตระหนกที่ฝรั่งถูกโจมตี หรือวิตกว่าฝรั่งจะตกที่นั่งลำบากในเมืองไทย แต่ตระหนกและวิตกแทนคนไทยต่างหาก เพราะเราจะเอาตัวรอดต่อไปในโลกของฝรั่งได้อย่างไร หากความเข้าใจต่อฝรั่งของปัญญาชนชั้นนำตื้นเขินและหยาบเช่นนี้

ที่ผมเรียกว่าโลกของฝรั่งนั้น ที่จริงคือความทันสมัย ไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์ผิวขาว ฝรั่งที่เรารู้จักในรอบร้อยกว่าปีที่ผ่านมานั้น ไม่เหมือนฝรั่งที่เข้ามาในสมัยอยุธยา เพราะฝรั่งรุ่นนี้เป็นตัวแทนของความทันสมัย (modernity) พวก "มัน" เองก็คิดว่าตัวเป็นความทันสมัย คนไทยทั้งชนชั้นนำและสามัญชนก็เข้าใจ (ไม่ว่าอย่างผิดๆ หรืออย่างถูกต้อง) ว่า "มัน" คือความทันสมัย ชนชั้นนำเลือกคบกับฝรั่งไม่ใช่เพราะความจำเป็นอย่างเดียว แต่เพราะอยากได้ความทันสมัยมาครอบครองบ้างต่างหาก (นับตั้งกำปั่นไฟ, ปืนกล, กล้องดูดาว, วิธีคำนวณดาราศาสตร์, การปกครองแบบรวมศูนย์ ฯลฯ)

แต่ความทันสมัยไม่ใช่หอดูดาว หรือเรือนก่ออิฐสองชั้น อย่างที่เราเคยรับจากฝรั่งในสมัยพระนารายณ์ โดยสรุปก็คือความทันสมัยไม่ใช่มีเพียงวัตถุ แต่มีการจัดองค์กรทางสังคม, ทางเศรษฐกิจ และทางการเมือง รวมทั้งความคิดและวิธีคิดที่เปลี่ยนไปจากเดิมด้วย ความทันสมัยเป็นเรื่องการเปลี่ยนรูปทางสังคม (Social Transformation) ไม่ใช่เรื่องวัตถุและวิธีการใหม่ๆ ที่อำนวยอำนาจ, ทรัพย์ และความสะดวกแก่มนุษย์เท่านั้น

และเพราะความทันสมัยไม่ใช่วัตถุเพียงอย่างเดียว การเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมสมัยใหม่ จึงหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องเปลี่ยนส่วนอื่นๆ ที่เป็นนามธรรม เช่นการจัดองค์กรทางเศรษฐกิจ-สังคม, การเมือง, การถ่ายทอดและแสวงหาความรู้, ฯลฯ รวมแม้แต่ระบบคุณค่าก็ถูกกระทบไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะวัตถุกับการจัดองค์กรทางด้านต่างๆ มันแยกออกจากกันไม่ได้

พลานุภาพของปืนไฟในสงครามเกิดขึ้นได้ ก็เพราะการสร้างกำลังยิงที่หนาแน่นและต่อเนื่อง จะทำอย่างนี้ได้ก็ต้องฝึกทหาร จะฝึกทหารได้ก็ต้องมีกองทัพประจำการ จะมีกองทัพประจำการได้ก็ต้องเลิกการควบคุมประชาชนด้วยระบบไพร่ จะเลิกระบบไพร่ได้ ชนชั้นปกครองก็ต้องมีแหล่งรายได้ทางอื่น จะมีรายได้ทางอื่น สังคมก็ต้องเปลี่ยนเข้าสู่เศรษฐกิจที่ผลิตป้อนตลาด ต่อเนื่องเป็นห่วงโซ่ต่อไปอีกมาก จนกระทั่งสังคมไม่คงรูปอย่างเดิมอีกต่อไป อยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ก็มีปืนไฟใช้ จำนวนมากเสียด้วย แต่การจัดองค์กรทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ไม่อนุญาตให้เราใช้ปืนไฟอย่างมีพลานุภาพได้ จึงได้แต่แจกให้ราชองครักษ์ถือในขบวนเสด็จ เพราะไม่ไว้ใจให้คนอื่นถือ เพราะถึงอย่างไรปืนไฟก็เป็นอาวุธร้ายแรง

นี่เป็นปัญหาใหญ่ของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม กล่าวคืออยากได้ความทันสมัยเฉพาะส่วนที่เป็นวัตถุ แต่ไม่อยากได้ส่วนที่เป็นนามธรรมกว่านั้น โดยเฉพาะการจัดองค์กรทางสังคม, การเมืองและเศรษฐกิจวัฒนธรรม ร.5 บอกเจ้านายและขุนนางซึ่งกราบทูลให้เปลี่ยนแปลงการปกครองว่า สยามยังไม่พร้อม การเปลี่ยนไปสู่ระบบปาลีเมนต์มีแต่จะทำให้เกิดความแตกสามัคคี ร.6 ยืนยันอย่างเดียวกัน ซ้ำยังทรงตำหนิการใช้ชีวิตของคนไทย "รุ่นใหม่" ว่าเอาอย่างฝรั่งอย่างมืดบอด (วิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่แสดงลักษณะเสมอภาคชัดเจนเกินไป เช่นในคาบาเรต์ สถานะของแขกอยู่ที่เงินในกระเป๋า ไม่ใช่กำเนิด) ร.7 ทรงตระหนักดีถึงปัญหาของสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม แต่ก็ทรงเห็นว่าสยามยังไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนไปสู่ระบอบปกครองแบบอื่นอยู่นั่นเอง และในที่สุดก็เกิดการอภิวัฒน์

ปัญญาชนของสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม ก็เหมือนปัญญาชนชั้นนำบางท่านในปัจจุบัน คืออยากมีความทันสมัย (หรืออยากเป็นฝรั่ง) ทางวัตถุเท่านั้น แต่พยายามดึงสังคมไว้มิให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ความทันสมัยจริง และไม่ต่างกันอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในที่สุดแล้ว ก็พากันอิงอาศัยอุดมการณ์ชาตินิยมหรือ "ความเป็นไทย" เพื่อหน่วงให้สังคมไทย "ทันสมัย" เฉพาะแต่ด้านวัตถุ

ผมพูดประหนึ่งว่าชาตินิยมกับความเป็นไทยนั้นเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ความจริงแล้วแตกต่างกันมาก ลัทธิชาตินิยมตั้งอยู่บนสมมติฐานว่าพลเมืองทุกคนเท่าเทียมกัน เป็นเจ้าของชาติร่วมกันอย่างเสมอหน้า อิสรภาพของชาติมีความสำคัญไม่แต่เพียงเพราะ"ใครมาเป็นเจ้าเข้าครอง คงจะต้องบังคับขับไส"เท่านั้น แต่เพราะการยึดครองของข้าศึก ย่อมทำลายความเสมอภาคที่เป็นฐานของชาติไป ความรักชาติจึงจะหมายถึงอย่างอื่นไม่ได้นอกจากรักความเสมอภาคของเพื่อนร่วมชาติทุกคน

แต่ความเป็นไทยไม่ได้มีความหมายใกล้เคียงอย่างใดกับชาตินิยมเลย เพราะความเป็นไทยแทบจะประกาศอย่างเปิดเผยว่าเป็นปฏิปักษ์กับความเสมอภาค ความเป็นไทยต้องการรักษาอัตลักษณ์ไทยไว้ให้คงเดิมทุกอย่าง ทั้งส่วนที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม เช่นพื้นที่ 4.6 ต.ร.กม.บนแผนที่ หรือการนั่งพับเพียบ และความเป็นสังคมช่วงชั้นที่เคร่งครัดและค่อนจะขึงตึง ความเป็นไทยจึงเครื่องมือสำคัญในการตรึงโครงสร้างอำนาจ, โครงสร้างผลประโยชน์, โครงสร้างช่วงชั้นทางสังคม, โครงสร้างความสัมพันธ์ ฯลฯ ไว้ให้หยุดนิ่งกับที่ โดยไม่ยอมให้เปลี่ยนแปลงเลย

(ผมควรกล่าวไว้โดยไม่ต้องอ้างฝรั่งให้รำคาญใจว่า อัตลักษณ์เป็นเรื่องสมมติ ทั้งคนอื่นสมมุติให้เราและเราสมมติตัวเองและคนอื่นไปพร้อมกัน แต่อัตลักษณ์เป็นสมมติที่มีพลังกำหนดวิธีคิด วิธีปฏิบัติ และการดำเนินชีวิตของผู้คนอย่างสูง ด้วยเหตุดังนั้น อัตลักษณ์จึงมักถูกสร้างขึ้นเป็นอุดมคติ เพื่อการจัดสรรอำนาจ, โภคทรัพย์ และเกียรติยศในทุกสังคม รวมทั้งสังคมไทย)

ผ่านมาเกินศตวรรษแล้ว ปัญญาชนไทยจำนวนหนึ่งก็ยังง่วนกับการรักษาความเป็นไทยเพื่อต่อต้านความทันสมัย เหมือนกับปัญญาชนเมื่อร้อยปีที่แล้ว

ทั้งนี้ผมไม่ได้หมายความว่า ไม่มีอะไรดีๆ ในอุดมคติความเป็นไทยเอาเสียเลย แต่ต้องเข้าใจด้วยว่า สิ่งที่เราเห็นว่า "ดี" นั้นมีอยู่สองอย่าง หนึ่งคือ "ดี" โดยมีเงื่อนไข เช่นเหมาะกับกาลสมัยหรือความเป็นจริงของสังคมสมัยหนึ่งหรือสถานการณ์หนึ่งๆ กับสองคือ "ดี" อย่างอกาลิโก ดีมาตั้งแต่โบราณและยังดีอยู่แม้ในปัจจุบัน (ในฐานะลูกเจ๊ก ก็ขอยกตัวอย่างเช่นความกตัญญูเป็นต้น)

แต่อย่าลืมสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนนะครับว่า อะไรดีหรืออะไรชั่วนั้น เกิดจากการปรุงแต่งของกิเลสเราเอง จึงไม่มีอะไรดีอย่างเดียวหรืออะไรชั่วอย่างเดียว เพราะดีชั่วล้วนเป็นสังขตธรรม คือเป็นความจริงที่มีเงื่อนไข ดังนั้น จะสืบทอดสิ่งดีๆ เหล่านั้นให้เป็นทางเลือกของสังคมไทยต่อไป จึงต้องคำนึงถึงเงื่อนไขต่างๆ ของสังคม "ทันสมัย" ที่เปลี่ยนไปแล้ว หนึ่งในวิธีที่จะทำอย่างนั้นได้ คือไม่ฟูมฟายกับอะไรที่ถือว่าเป็น"ไทยๆ" แต่ต้องศึกษาจนจับหัวใจของมันได้ คือจับได้ว่าในเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ, สังคม, การเมืองอะไร ที่ทำให้สิ่งนั้นมันดีหรืองดงามหรือเหมาะสม และหนึ่งในปัญญาชนชั้นนำที่ออกมาด่าฝรั่งในตอนนี้ ก็ได้สร้างคุณูปการอย่างใหญ่หลวงในงานวิชาการของท่านไว้แล้ว ด้วยการชี้ให้เห็นเงื่อนไขอันสลับซับซ้อนเบื้องหลังระบบคุณค่าแบบไทยๆ

ผมไม่คิดว่า การเปลี่ยนผ่านทางสังคมเข้าสู่ความ "ทันสมัย" เป็นความดีในตัวเอง ก็เหมือนสังคมประเภทอื่นๆ สังคม "ทันสมัย" ก็มีการเอารัดเอาเปรียบกันระหว่างคนในสังคมเดียวกัน และคนต่างสังคม หรือระหว่างชาติเหมือนกัน (ก็อย่างที่ว่าไม่มีอะไรดีอย่างเดียวหรือเสียอย่างเดียวตามคำสอนของพระพุทธเจ้าไงครับ) เมื่อเราเปลี่ยนเข้าสู่สังคมเกษตรกรรมในสมัยหินใหม่ คนที่หาเลี้ยงชีพด้วยการล่าสัตว์และเก็บของป่าก็เสียเปรียบ จำนวนมากของพวกเขาไม่ต้องการทำเกษตร เพราะชีวิตแบบเดิมทำงานน้อยกว่าและอิ่มกว่า (นักมานุษยวิทยาพิสูจน์เรื่องนี้มาหลายกรณีแล้ว) แต่เงื่อนไขทางการเมือง, สังคม และวัฒนธรรมไม่เอื้ออำนวยให้ล่าสัตว์และเก็บของป่าเป็นหลักอีกต่อไป ในที่สุดจำนวนมากก็ต้องหยุดเคลื่อนย้าย ตั้งภูมิลำเนาถาวรเพื่อปลูกธัญพืช สะดวกแก่รัฐซึ่งมีอำนาจมากขึ้นสามารถเก็บส่วยได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย

ความ "ทันสมัย" ทำให้คนไปมาหาสู่ถึงกันได้กว้างขึ้นไกลขึ้น ในเวลาอันสั้นลงด้วย โอกาสนี้ถูกใช้ไปทั้งในทางดีและไม่ดี เช่นจะเอาเปรียบกันก็เอาเปรียบได้กว้างไกลกว่าเก่ามาก (และลึกลงไปกว่าเก่ามากด้วย) ครอบงำกันก็ง่ายขึ้น จะขุดโคตรอเมริกัน อังกฤษ ฝรั่งเศส หรือออสซี่มาด่าอย่างไรก็ได้ ล้วนเป็นเรื่องจริงทั้งนั้น แต่เราจะหลุดรอดจากการเอารัดเอาเปรียบและการครอบงำจากเขาอย่างไร เอาแต่ด่าแบบถูลู่ถูกังไปแบบนี้ไม่ช่วยอะไร

ผมคิดว่าเราจำเป็นต้องเข้าใจความ "ทันสมัย" ให้ลึกและรอบด้านกว่านี้มากนัก ในขณะที่ต้องสำนึกถึงความบกพร่องของความ "ทันสมัย" ก็ต้องสำนึกถึงพลังใหม่ๆ ที่ความ "ทันสมัย" มอบให้เราด้วย จะใช้ประโยชน์จากความรู้เหล่านี้อย่างไร สิ่งที่ต้องเสียก็ต้องเสีย (เช่นค่าลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร) แต่จะเสียอย่างไรให้คุ้มค่าเป็นเรื่องสำคัญกว่า ในขณะเดียวกันก็อย่าลืมพลังใหม่ๆ ที่ความ "ทันสมัย" มอบให้ด้วย เช่น ประชาธิปไตย เพราะมันเป็นกลวิธีที่สามารถระดมพลังกายและพลังสมองของพลเมืองทุกคนได้อย่างทั่วถึง

ระหว่างประชาธิปไตยกับความเป็นช่วงชั้นที่แข็งโป๊กของไทย ต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเลือกอย่างใดก็มีคนได้กับคนเสียทั้งนั้น ด้วยเหตุดังนั้น วิธีการเลือกจึงควรเปิดให้ทุกฝ่ายสามารถเข้ามาต่อรองอย่างเท่าเทียมกัน และไม่ว่าเสียงส่วนใหญ่จะตัดสินใจอย่างไร การต่อรองอย่างเท่าเทียมยังเปิดโอกาสให้เสียงข้างน้อยได้ต่อรองกระบวนการเปลี่ยนผ่านและแม้แต่ต่อรองการชดเชยต่อความสูญเสียของพวกเขา

ด้วยเหตุดังนั้น เมื่อฝรั่งคัดค้านการทำรัฐประหารในประเทศไทย จึงมีคนเห็นด้วยกับฝรั่งอยู่ไม่น้อย ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเขาเป็น "ขี้ข้า" อเมริกัน พวกเขารู้ดีถึงพิษภัยของฝรั่งหรือความ "ทันสมัย" แต่เขาเลือกที่จะรับฝรั่งในเรื่องที่เขาเห็นว่าสำคัญแก่บ้านเมือง เขาอาจเลือกผิดได้เท่ากับที่ท่านอาจเลือกผิด แต่เราจะรู้ผิดรู้ถูกได้อย่างไร โดยไม่มีเสรีภาพที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างอิสระ

ทั้งหมดที่พูดมานี้ ปัญญาชนชั้นนำที่ผมนับถือก็รู้ ซ้ำรู้ดีกว่าผมด้วยซ้ำ แต่ในฐานะปุถุชนด้วยกัน เราคงถอนอคติออกไปให้หมดไม่ได้ อย่างมากที่ทำกันด้วยความนับถือเหมือนเดิมได้ก็คือ กราบเรียนเตือนให้รู้ตัวว่านั่นคืออคติ

ที่มา:มติชน
------------------------------------------------------

ปิดฉาก คดีไร่ส้ม คณะทำงาน ร่วมฯได้ข้อยุติส่งอัยการ !!?



คณะทำงานร่วม อสส.-ป.ป.ช. มีมติสิ้นสุดคดีไร่ส้ม-สรยุทธ กรณียักยอกเงินโฆษณา อสมท ส่งสำนวนให้ อสส. เป็นผู้ฟ้องคดี หลังสอบปากคำจนท.อสมท 3 รายเสร็จสิ้น – “ภักดี” ยันสำนวนครบถ้วนสมบูรณ์ทุกอย่าง

จากกรณีคณะทำงานร่วมระหว่างอัยการสูงสุด (อสส.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเรียกเจ้าหน้าที่บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ที่เกี่ยวข้องในคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดพนักงาน อสมท, บริษัท ไร่ส้ม จำกัด และนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรชื่อดังกับพวก กรณียักยอกเงินโฆษณาจากบริษัท อสมทฯ กว่า 138 ล้านบาท มาสอบปากคำเพิ่มเติมจำนวน 3 ราย นั้น

(อ่านประกอบ : เผยมติเรียก"จนท.อสมท."สอบปากคำเพิ่ม ก่อนส่งฟ้องคดี “ไร่ส้ม –สรยุทธ”)

กรณีดังกล่าวว่า ในการประชุมคณะทำงานร่วมครั้งล่าสุด ได้สอบสวนเจ้าหน้าที่ อสมท จำนวน 3 รายเสร็จสิ้นแล้ว และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็เห็นด้วยที่จะส่งเรื่องให้กับ อสส. เป็นผู้ฟ้องคดี

ขณะที่นายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. ผู้รับผิดชอบสำนวนคดีนี้ เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศราถึงกรณีดังกล่าวว่า คณะทำงานร่วมฯได้ดำเนินการสอบสวนเจ้าหน้าที่ อสมท เสร็จสิ้นแล้ว และมีความเรียบร้อยครบถ้วนสมบูรณ์ในสำนวนทุกอย่าง ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ส่งเรื่องให้กับ อสส. เป็นผู้ฟ้องคดีดังกล่าวเอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในคดีดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดพนักงาน อสมท, บริษัท ไร่ส้ม จำกัด และนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรชื่อดังกับพวก ในคดียักยอกเงินโฆษณาจากบริษัท อสมทฯ กว่า 138 ล้านบาท ในการร่วมกันผลิตรายการ คุยคุ้ยข่าว

ที่มา.สำนักข่าวอิศรา
----------------------------------

วันอาทิตย์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

รื้อระบบปั้น เอสเอ็มอี เปิดทางโล่งเข้าถึงแหล่งเงินทุน !!?



ปลัดอุตฯ เผยแผนบูรณาการหน่วยงานส่งเสริมเอสเอ็มอีเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า เชื่อช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการรวดเร็วและตรงมากยิ่งขึ้น ด้านภาคธุรกิจขานรับ “กฎหมายหลักประกัน” เชื่อหนุน “เอสเอ็มอี” เข้าถึงแหล่งเงินทุนง่ายขึ้น ขณะที่ตัวแทนผู้ส่งออก-หอการค้าระบุฟื้นเอสเอ็มอีเป็นงานหินของคสช. ระบุความสำเร็จ SMEs มีมากกว่าเงิน

หลังจากที่ประชุมคณะกรรม-การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (บอร์ดเอสเอ็มอี) ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานได้เห็นชอบกำหนดให้การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นวาระแห่งชาติ ด้วยการปรับโครงสร้างการบริหาร จัดการทั้งระบบโดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมเอสเอ็มอีเพิ่มนั้น

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. มอบนโยบายในที่ประชุมบอร์ดเอสเอ็มอีโดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมเอส เอ็มอี เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมหารือกับหน่วยงานต่างๆ ทำแผนการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาศักยภาพเอสเอ็มอีได้อย่างรอบด้าน โดยคาดว่า แผนดังกล่าวจะเสร็จเรียบร้อยภายใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า

นายวิฑูรย์กล่าวว่า การส่งเสริม และสนับสนุนเอสเอ็มอีตอนนี้มีหลายหน่วยงานดำเนินการ จึงเห็นสมควรบูรณาการการให้ความช่วยเหลือให้รวดเร็วและตรงประเด็นที่ภาคเอกชนต้องการ และเห็นผลลัพธ์เป็นรูปธรรมมากที่สุด เช่น การเข้าถึงแหล่งเงินทุน การให้ความช่วยเหลือด้านการเงินเพื่อเพิ่มสภาพคล่องและเงินหมุนเวียน การลงทุนเพื่อขยายกิจการ การตลาดเพื่อหาช่องทางใหม่ๆ และการพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านต่างๆ เป็นต้น

แนวทางการส่งเสริมและสนับ-สนุน จะแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ ภาคการผลิต ภาคการค้า ภาคบริการ และ ภาคเกษตร ซึ่งแต่ละกลุ่มมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันไปโดยจะหารือทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดกรอบส่งเสริมได้ถูกต้องเหมาะสม

ขณะที่นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.) กล่าวในงานเสวนา “กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจจะช่วยให้ไทยเข้มแข็งทางเศรษฐกิจได้จริงหรือ” ว่า กฎหมายฉบับนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ต่อไปในอนาคตเพราะจะทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ สะดวกขึ้น

ปัจจุบันเอสเอ็มอีมีประมาณ 2.7-2.9 ล้านราย มีการจ้างงานรวมกว่า 11 ล้านคน แต่พบว่าสามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อจริงได้เพียง 7-9 แสนรายเท่านั้น ขณะที่เอสเอ็มอีส่วนใหญ่เกือบ 2 ล้านราย ยังเข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้ยาก เพราะติดปัญหาในเรื่องหลักประกันที่นำมาใช้ในการขอสินเชื่อ

“กฎหมายตัวนี้ทำให้ผู้ประกอบการมีหลักประกันที่หลากหลายขึ้นในการนำไปใช้ขอสินเชื่อจากทางธนา-คารพาณิชย์ ซึ่งกฎหมายตัวนี้ช่วยให้ เอสเอ็มอี เหมือนกับมีกองหลักที่แข็งแกร่งขึ้น เพราะมีหลักประกันมาทำให้แบงก์มั่นใจที่จะปล่อยสินเชื่อให้” นายประสารกล่าว

ขณะที่นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย อดีตรองประธานวุฒิสภา กล่าวว่า กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจจะช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้ง่ายขึ้น เพียงแต่ด้วยกฎหมายอย่างเดียวคงไม่ได้ แต่ต้องได้รับการสนับสนุนจากภาคสถาบันการเงินด้วย

อย่างไรก็ตาม มีประเด็นกฎหมายบางข้อที่น่าเป็นห่วงเนื่องเพราะกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเพียงอย่างเดียว แต่ยังให้อำนาจคุ้มครองผู้ปล่อยสินเชื่อด้วย สะท้อนผ่านข้อกฎหมายในบางข้อที่อนุญาตให้ผู้ปล่อยสินเชื่อสามารถยึดเอาทรัพย์สินขายทอดตลาดได้โดยที่ไม่ต้องผ่านกระบวนการฟ้องร้องตามศาล ดังนั้น กฎหมายฉบับนี้จะเกิดประโยชน์ได้ คู่สัญญาต้องมีความเป็นธรรมและมีความเสมอภาคกันในการทำสัญญา

นางสาลินี วังตาล ผู้ช่วย ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจว่า จะส่งผลดีต่อธุรกิจเอสเอ็มอีให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้นจากหลักประกันที่เพิ่มขึ้น ซึ่งหลักประกันในกฎหมายไทยมีอยู่น้อยมาก หากออกกฎหมายฉบับนี้จะทำให้มีหลักประกันเพิ่มขึ้น อาทิ สัญญาเช่า สินค้าคงคลัง รวมถึงสิทธิบัตร เอามาเป็นหลักประกันตามกฎหมาย ได้ จะช่วยให้เอสเอ็มอีที่ใช้หลักประกันครบเต็มวงเงิน แต่ยังมีศักย-ภาพในการเติบโตให้มีเงินทุนเพิ่มขึ้น

“ที่ผ่านมา คสช.ได้เชิญสมาคมธนาคารไทย โดยสมาคมขอให้ดำเนินการในเรื่องนี้เร่งด่วนที่ควรจะทำโดยคนที่ได้รับประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้มากที่สุดคือเอสเอ็มอี เพราะปัจจุบันเวลาจะกู้เงิน ธนาคารต้องเรียกหลักประกันให้เยอะไว้ก่อน” นางสาลินี กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้ทำหน้าที่ ร่างกฎหมายจนแล้วเสร็จ แต่ติดขัดในเรื่องการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เพราะเชื่อมโยงกับหลายฝ่าย ทั้งฝ่ายเจ้าหนี้ ฝ่ายธนาคาร ฝ่ายลูกหนี้ และฝ่ายกรมบังคับคดี

ขณะที่นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า การที่เอสเอ็มอีสามารถนำสินค้าคงคลังมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อขอสินเชื่อได้นั้น น่าจะช่วยให้ธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยเงินกู้ได้สะดวกขึ้น ทำให้การเข้าถึงแหล่งเงินทุนก็น่าจะดีขึ้น จึงเชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้จะมีส่วนช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศไทยได้มาก

ด้านนางเพ็ญทิพย์ พรจะเด็ด นายกสมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย กล่าวว่า สนับสนุนการยกร่างกฎหมายดังกล่าวจะทำให้ธุรกิจรายเล็กที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น ซึ่งเอสเอ็มอี หวังว่าธนาคารพาณิชย์จะช่วยสนับ-สนุนให้เอสเอ็มอีกู้ได้ง่ายขึ้น

ในมุมมองของนักธุรกิจอย่าง ไพบูลย์ พลสุวรรณา ที่ปรึกษาสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศ ไทย มองว่าการแก้ปัญหาเอสเอ็มอีคืองานที่ “โหด” และ “หิน” ที่สุดชิ้นหนึ่งของ คสช. เนื่องจากปัญหาของธุรกิจ SMEs เกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงแรงงาน, คลัง, พาณิชย์ ฯลฯ การประกาศเป็น “วาระแห่งชาติ” เป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่จะทำอย่างไรจึงจะบูรณาการการทำงานทั้งระบบให้เป็นเนื้อเดียวกัน

เขายกตัวอย่างแค่การบริหารจัดการสินเชื่อเรื่องเดียวทุกรัฐบาลยังไม่สามารถแก้ได้ แม้จะมีแคมเปญ ส่งเสริมสินเชื่อออกมานับไม่ถ้วน แต่กลับไม่มีธนาคารใดกล้าปล่อยเงินให้กับ SMEs ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพราะทุกธนาคารมองว่าการปล่อยกู้ให้กับ SMEs มีความเสี่ยงสูง และหากมีการปล่อยกู้จริงดอกเบี้ย ก็แพงกว่าการปล่อยกู้ให้กับธุรกิจขนาดใหญ่ เป็นเหตุให้ SMEs ส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงสินเชื่อ การออกกฎหมาย หลักประกันธุรกิจ เพื่อให้เข้าถึงสินเชื่อ ง่ายขึ้น น่าจะแก้ปัญหาได้ส่วนหนึ่ง

“ผมคงวิจารณ์ไม่ได้ว่าวาระแห่งชาตินี้จะประสบความสำเร็จหรือเปล่า เพราะต้องให้เวลา คสช.ทำงาน แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นโรดแมปที่เป็นรูปธรรมว่าจะแก้ปัญหาของ SMEs อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปล่อยสินเชื่อ การเข้าถึงเทคโนโลยี การช่วยเรื่องการตลาด หรือการเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน โครงการยังค่อนข้างกว้าง ต้องรอดูแผนงานที่จะออกมา” ไพบูลย์ กล่าว

ขณะที่พงษ์ศักดิ์ อัสสกุล อดีตประธานหอการค้าแห่งประเทศไทย แสดงความเห็นว่าหอการค้าเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ให้ความช่วยเหลือธุรกิจ SMEs มาอย่างต่อเนื่อง เพราะสมาชิกส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันหอฯก็ให้ความร่วมมือนำเสนอปัญหาและหาทางออกแก่ คสช. ซึ่งทางรอดของ SMEs ไม่ได้อยู่ที่เงินอย่างเดียว แต่จะทำอย่างไรเมื่อได้เงินมาแล้วจะอยู่รอดอย่างยั่งยืน ซึ่งเจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่ไม่เข้าใจเรื่องการตลาด ไม่รู้จักการปรับตัวเพื่อรับการเปลี่ยนแปลง ทำให้เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งต้องปิดกิจการลง เพราะแข่งขันไม่ได้ โดยหอการค้าฯ จะมีทีมเซอร์เวย์เข้าไปพูดคุยกับเจ้าของกิจการเพื่อทราบปัญหาและช่วยแก้ไข บางธุรกิจต้องการผู้เชี่ยวชาญก็จะจัดหาผู้รู้ในแขนงนั้นๆ ไปช่วยเป็นติวเตอร์ เมื่อ คสช.มีนโยบายยก SMEs เป็นวาระแห่งชาติจึงถือเป็นเรื่องดีที่จะทำงานร่วมกัน

ที่มา.สยามธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////