--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ธ.ก.ส.อ่วม ส่อวืดเงินจำนำข้าวคืน !!?

ธ.ก.ส.!อ่วม ส่อวืดเงินจำนำข้าวคืน หลังจากใช้เงินดำเนินโครงการเกินมติครม.กำหนดไว้ที่ 5 แสนล้าน

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้รายงานตัวเลขวงเงินที่ใช้ในโครงการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร ช่วงเวลาการผลิตปี 2554/2555 และปี 2555/2556 มีวงเงินสูงกว่า 6.6 แสนล้านบาทแล้ว ซึ่งสูงกว่ากรอบวงเงินดำเนินโครงการ ตามมติครม.เมื่อเดือนต.ค. 2555 โดยแบ่งเป็นเงินกู้ วงเงิน 4.1 แสนล้านบาท และสภาพคล่องของ ธ.ก.ส. วงเงิน 9 หมื่นล้านบาท โดยประมาณการว่าภายในสิ้นปีงบประมาณ 2556 หรือสิ้นเดือนก.ย. วงเงินที่ใช้ดำเนินการจริง อาจจะสูงถึง 7 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ ตัวเลขการดำเนินโครงการที่สูงกว่ามติ ครม. ที่กำหนดไว้ดังกล่าว อาจส่งผลต่อการตั้งงบประมาณชดเชยคืนให้แก่ ธ.ก.ส. ในส่วนของวงเงินที่เกินจากที่วงเงินขายข้าวที่กระทรวงพาณิชย์ต้องจ่ายคืนให้จำนวน 1.5-1.3 แสนล้านบาท เนื่องจากมติครม.กำหนดกรอบวงเงินดำเนินโครงการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรไว้ไม่เกิน 5 แสนล้านบาท หากกระทรวงการคลังจะชดเชยให้ ก็ต้องมีมติครม.รองรับให้ขยายกรอบวงเงินโครงการ เพราะจะผิดกฎหมายทันที

ธ.ก.ส.ผวาไม่ได้รับคืนเงินส่วนเกิน

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า เดิม ธ.ก.ส. มีแผนที่จะขอให้นำส่วนต่างการก่อหนี้ที่ยังไม่เต็มเพดาน โดยให้กระทรวงการคลังจัดหา หรือ ค้ำประกันเงินกู้เพิ่มเติม หรือออกพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งเรื่องนี้จะต้องชี้แจงและอธิบายให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รับทราบและเข้าใจเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว เพราะปัจจุบันทั้งองค์การคลังสินค้า (อคส.) และ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ยังคงออกใบประทวนจำนำข้าวเปลือกนาปี 2555/2556 เกือบจะถึง 15 ล้านตันแล้ว และมีแนวโน้มรับจำนำข้าวนาปรังอีก 7 ล้านตัน ทำให้ ธ.ก.ส.เกรงว่าจะมีวงเงินใช้ดำเนินโครงการไม่เพียงพอ

อย่างไรก็ตาม หาก ครม. ยืนยันว่าจะไม่ขยายกรอบวงเงิน กระทรวงการคลังก็คงไม่สามารถกู้เงิน ทำให้ ธ.ก.ส. มีข้อจำกัดในการกู้เงิน นอกจากนั้น ขณะนี้การก่อหนี้ตาม พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ เกือบเต็มเพดานแล้ว โดยมีส่วนต่างๆ ที่ยังสามารถก่อหนี้หรือกู้เงินได้อีกประมาณ 7 หมื่นล้านบาท แต่กระทรวงการคลังต้องสำรองวงเงินกู้นี้ไว้สำหรับรัฐวิสาหกิจอื่นๆ เพื่อใช้ในโครงการลงทุนอื่นๆ ที่มีความจำเป็นด้วย จะให้ ธ.ก.ส.ดำเนินโครงการจำนำข้าวเปลือกอย่างเดียวคงไม่ได้

"กระทรวงพาณิชย์ จะต้องเสนอ ครม.เพื่อขอขยายกรอบวงเงินดำเนินโครงการเพิ่มเติมอีก ซึ่งล่าสุดมี นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะได้รับมอบหมายให้ดูแลโครงการรับจำนำข้าวด้วย เคยยืนยันมาแล้วว่า จะไม่ขยายกรอบวงเงิน แต่จะให้ใช้เงินหมุนเวียนจากการระบายข้าว มาใช้รับจำนำข้าวรอบใหม่ ฉะนั้นหากไม่มีมติครม.รองรับ วงเงินที่ ธ.ก.ส.จ่ายไปในการรับจำนำข้าวส่วนที่เกินก็อาจไม่ได้รับชดเชยคืน และอาจต้องรับภาระวงเงินนั้นไว้เอง ซึ่งต้องดูว่าจะกระทบต่อสภาพคล่องของ ธ.ก.ส. หรือไม่"

ธ.ก.ส.อ่วมโยกเงินโปะจำนำวุ่น

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) กล่าวว่า ในที่ประชุมกขช.นัดล่าสุด ได้มีรายงานเกี่ยวกับวงเงินที่ใช้ในการดำเนินโครงการจำนำข้าว โดยนาปี 2554/2555 ธ.ก.ส.จ่ายเงินกู้ไปแล้ว 118,576 ล้านบาท เป็นเงินทุนของ ธ.ก.ส.เอง 9 หมื่นล้านบาท เงินกู้จากสถาบันการเงิน 28,576 ล้านบาท ส่วนโครงการจำนำนาปรังปี 2555 ธ.ก.ส. จ่ายเงินกู้ไปแล้ว 218,670 ล้านบาท เป็นเงินกู้จากสถาบันการเงิน 193,910 ล้านบาท เงินจากการระบายข้าว 20,850 ล้านบาท ธ.ก.ส.สำรองจ่าย 3,910 ล้านบาท ขณะที่ ครม.อนุมัติให้นำเงินกู้จำนำข้าวไปใช้ในโครงการมันสำปะหลัง 27,836 ล้านบาท และใช้ในโครงการแทรกแซงยางพารา 15,000 ล้านบาท รวมวงเงินกู้จากสถาบันการเงินปี 2554/2555 เท่ากับ 265,322 ล้านบาท ยังคงเหลือวงเงินกู้ 3,838 ล้านบาท จากที่ ครม.อนุมัติกู้ 269,160 ล้านบาท

วงเงินที่ใช้ในการดำเนินการปี 2555/2556 ครม.อนุมัติกู้เงิน 140,840 ล้านบาท กระทรวงการคลังกู้ถึงเดือนเม.ย. 107,428 ล้านบาท คงเหลือ 33,412 ล้านบาท รวมกับวงเงินกู้คงเหลือปี 2554/2555 จึงเท่ากับมีวงเงินกู้คงเหลือเพียง 37,250 ล้านบาท ขณะที่ ธ.ก.ส.จ่ายเงินจำนำข้าวไปแล้ว 219,738 ล้านบาท เป็นเงินกู้ 107,428 ล้านบาท เงินระบายข้าว 59,154 ล้านบาท ธ.ก.ส.สำรองจ่าย 53,156 ล้านบาท และโครงการจำนำรอบ 2 ปี 2556 จ่ายไปแล้ว 31,724 ล้านบาท รวมวงเงิน ธ.ก.ส. สำรองจ่าย 84,880 ล้านบาท

ธ.ก.ส.สำรองจ่ายพุ่ง1.47แสนล้าน

ในการประชุมเพื่อพิจารณาวงเงินจำนำข้าวที่มีนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รมต.ประจำสำนักนายกฯเป็นประธานทางสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)แจ้งกับที่ประชุมว่าตามพ.ร.บ.บริหารหนี้สาธารณะ กำหนดว่ากระทรวงการคลังค้ำประกันได้ไม่เกิน 20% ของงบรายจ่ายปี 2556 จะกู้ได้แค่ 4.8 แสนล้านบาท ในโครงการจำนำข้าว ณ วันที่ 30 เม.ย.2556 ใช้วงเงินกู้จำนวนทั้งสิ้น 462,750 ล้านบาท คงเหลือวงเงินกู้ 37,250 ล้านบาท เพื่อไม่ให้วงเงินกู้เกิน

สบน. ระบุว่าเมื่อ ธ.ก.ส. ได้รับเงินคืนขายข้าวต้องนำไปชดใช้หนี้เงินกู้ก่อน โดยให้นำไปใช้หนี้เงินกู้สภาพคล่อง ธ.ก.ส. 9 หมื่นล้าน เพราะฉะนั้นเงินจากการขายข้าวคงเหลือ 59,154 ล้านบาท จะต้องส่งคืนเงินกู้ธ.ก.ส.ก่อน ดันนั้นเท่ากับว่า ธ.ก.ส.ต้องสำรองจ่ายเงินในการรับจำนำข้าว ณ วันที่ 14 พ.ค. เป็นเงิน 147,944 ล้านบาท

บีบคลังค้ำประกันเงินกู้-ดอกเบี้ยเพิ่ม

แหล่งข่าวกล่าวว่า ในการแก้ปัญหาเงินทุนจำนำข้าวนั้น กขช. ได้เห็นชอบให้ใช้หนี้เงินกู้ ธ.ก.ส. 9 หมื่นล้านก่อน และนำเงินนั้นมาหมุนเวียนจำนำต่อ และหากยังไม่ได้รับเงินจากการขายข้าว กรณีเต็มวงเงินแล้ว ให้กระทรวงพาณิชย์ตกลงกับ ธ.ก.ส. เป็นคราวๆ เพื่อสำรองจ่ายโดยได้รับชดเชยต้นทุนเงินอัตรา FDR+1

นอกจากนี้ยังให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินต้น ดอกเบี้ย โดยรัฐบาลรับภาระทั้งหมดรวมค่าใช้จ่ายต่างๆ และผลขาดทุนที่เกิดขึ้นทั้งหมดของโครงการรับจำนำข้าว รวมทั้งที่ ธ.ก.ส.สำรองจ่ายระหว่างรอจัดหาเงินกู้

ปัดข้อเสนอ "สุภา" ตั้งงบใช้คืน

อย่างไรก็ตาม ทาง สบน. มีข้อเสนอเพิ่มเติม โดยเฉพาะความเห็นของนางสาวสุภา ที่เสนอให้จำกัดกรอบเงินจำนำข้าว ไม่ว่ากรณีใดๆ กระทรวงพาณิชย์จะต้องดำเนินการให้มีการใช้เงินกู้ไม่เกิน 4.1 แสนล้านบาท และเงิน ธ.ก.ส.ไม่เกิน 9 หมื่นล้านบาท ในวันที่ 30 ก.ย. 2556 และข้อเสนอให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบชำระคืนโครงการจำนำปี 2555/2556 ให้เสร็จภายใน 1 ปี ไม่เกิน 2 ปี โดยไม่ต้องรอระบายผลผลิตให้เสร็จก่อน

ซึ่งส่วนนี้ที่ประชุม กขช. ไม่เห็นชอบด้วย โดยการใช้วงเงินให้หารือกับนายนิวัฒน์ธำรงอีกครั้งหนึ่ง เพื่อขยายกรอบวงเงินและระยะเวลา ขณะที่การใช้คืนใน 1 ปีนั้นมีการระบุในที่ประชุมว่าไม่สามารถทำได้ เพราะต้องให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) รับรองการปิดบัญชีก่อน

ชงครม.4 มิ.ย.ไฟเขียวกรอบงบใหม่

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ในการประชุมครม. วันที่ 4 มิ.ย. กระทรวงพาณิชย์จะเสนอที่ประชุม ครม.พิจารณาเห็นชอบการจัดทำตัวเลขปริมาณและงบประมาณโครงการรับจำนำเป็นรายปี ตามมติคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เห็นชอบในการประชุมเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา แทนมติเดิมที่แยกตัวเลขปริมาณและงบประมาณตามรอบเวลาการรับจำนำนาปีและนาปรัง โดยยังคงตัวเลขปริมาณและงบประมาณที่จะใช้ในโครงการรับจำนำปี 2555/2556 ที่ให้สิทธิเกษตรกรจำนำได้ปีละไม่เกิน 2 ครั้ง

โดยคาดการณ์ข้าวเปลือกเข้าโครงการรับจำนำรอบแรก (นาปี 2555/56) 15 ล้านตัน และรอบ 2 (นาปรัง 2556) อีก 7 ล้านตัน และวงเงินหมุนเวียนสำหรับใช้ในโครงการรับจำนำ 4.1 แสนล้านบาท เพื่อให้การบริหารจัดการโครงการรับจำนำข้าวมีความคล่องตัวขึ้น เดิมกำหนดปริมาณและกรอบใช้เงินเป็นรอบ แต่ยืนยันว่าไม่ได้ของบประมาณเพิ่มหรือปรับตัวเลขคาดการณ์จำนำ ยังคงเป็น 22 ล้านตัน และการปิดบัญชีจะสิ้นสุดวันที่ 15 ก.ย. พร้อมกัน ไม่ว่าจะจำนำรอบ 1 หรือ รอบ 2

ชี้ข้าวหมุนเวียนขายในประเทศ

แหล่งข่าวจากผู้ส่งออกข้าว กล่าวว่า ขณะนี้มีการระบายข้าวของรัฐบาลในหลายรูปแบบ ได้แก่ การระบายผ่านการทำโครงการข้าวถุงธงฟ้า ซึ่งมีการระบายหลายครั้งให้กับผู้ประกอบการหลายราย เพื่อนำข้าวจากโกดังรัฐบาลไปปรับปรุงสภาพและจัดส่งไปยังพื้นที่ ซึ่งพบว่ากระจายอยู่แถบจังหวัดลพบุรี และมีอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่มีการส่งมอบข้าว ตามโครงการข้าวถุงธงฟ้าแต่อย่างใด

นอกจากนี้ มีการระบายผ่านบริษัทเอกชนรายหนึ่ง ที่มีการส่งมอบติดอันดับ 1 ใน 5 ผู้ส่งออกข้าวสูงสุดเมื่อปี 2555 โดยบริษัทดังกล่าวได้ประมูลข้าวในสต็อกรัฐบาลแบบไม่ระบุโกดัง

"ที่บอกว่าขายข้าวเกือบหมดแล้ว ยังเป็นที่น่าสงสัยเพราะถ้ามีข้าวออกมาในตลาดไม่ว่าจะส่งออก แบบรัฐต่อรัฐ หรือข้าวที่ขายในประเทศ คนในวงการต้องรู้ต้องเห็นบ้าง แต่นี้ไม่มีความเคลื่อนไหวอะไรเลย จึงอดสงสัยไม่ได้ว่าที่บอกมีออเดอร์จีทูจีนั้นเป็นจริงหรือไม่ เพราะราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่ง โดยเฉพาะเวียดนามที่ราคาเฉลี่ยประมาณตันละ 360-370 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น จึงไม่น่าจะมีคำสั่งซื้อมาถึงไทย ยกเว้นอิรักที่ยอมสู้ราคา แต่ก็มีบริษัทที่มีสายสัมพันธ์กับรัฐบาลเป็นผู้ขายและส่งมอบให้แล้วไม่ใช่รูปแบบการทำจีทูจีอย่างที่อ้าง"

ป.ป.ช.นำข้อมูลนพ.วรงค์เพิ่มคดีจำนำ

นายกล้านรงค์ จันทิก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะอนุกรรมการไต่สวนคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว กล่าวว่า ขณะนี้เอกสารที่ ป.ป.ช.ได้มา แม้จะมาจากผู้ร้อง เช่น สำเนาเช็ค แต่หากจะสอบจะต้องได้หลักฐานจากธนาคารที่มีการรับรองมาเท่านั้น ขณะที่ในส่วนของพยาน จะประกอบด้วย พยานผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ป.ป.ช.สามารถเชิญมาให้ข้อมูลได้ทันที

ส่วนพยานที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง จะต้องดูจากเอกสารว่าบุคคลดังกล่าวเกี่ยวข้องหรือไม่ มีการเซ็นชื่อในเอกสารหรือไม่ และหากมีการเซ็นจะต้องนำมาดูว่าการเซ็นชื่อดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ ด้านเอกสารต่างๆ ที่ป.ป.ช.ได้มาขณะนี้ก็ต้องมาดูในแต่ละแฟ้มมีเอกสารครบถ้วนหรือไม่ ทั้งนี้ เมื่อไม่นานมานี้อนุกรรมการไต่สวนได้เชิญนางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์มาชี้แจง โดยได้เพียงข้อมูลเบื้องต้น ซึ่งในส่วนรายละเอียดนางวัชรี จะให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงดำเนินการส่งเอกสารมาให้ต่อไป

นายกล้านรงค์ กล่าวอีกว่า คณะทำงานของ ป.ป.ช. ได้รับทราบข้อมูลของการอภิปรายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ของ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์แล้ว เพราะได้ให้เจ้าที่ติดตามการอภิปรายอยู่แล้วและเตรียมนำมาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาต่อไป

อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถบอกได้ว่าคดีนี้ จะพิจารณาได้เสร็จเมื่อไหร่ เพราะขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน และหากมีกรณีใดที่มีผู้เกี่ยวข้องที่ต้องถูกไต่สวนเพิ่มเติม ก็จะต้องดำเนินการไต่สวนอีก

ด้าน พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ได้ถอนตัวจากการเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีโครงการรับจำนำข้าวแล้ว เนื่องจากในอดีตเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติ ได้รับมอบหมายจากกระทรวงพาณิชย์ให้เข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการตรวจสอบและติดตามการรับจำนำข้าว จึงเกรงว่าหากมาทำคดีนี้จะเกิดปัญหาประโยชน์ทับซ้อนได้ ทั้งนี้ ป.ป.ช. ได้แต่งตั้งให้นายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการ ป.ป.ช. มาทำหน้าที่แทน

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
=======================================

วันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ป.ป.ช. ยอมรับ คดี ปรส. เกี่ยวข้องการเมืองแน่นอน เร่งให้เสร็จก่อนหมดอายุความ 30 พ.ย.57

นายใจเด็ด พรไชยา กรรมการป.ป.ช. ในฐานะประธานคณะอนุกรรม การไต่สวนคดี ปรส. ให้สัมภาษณ์ว่า การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่เรียกร้องให้ป.ป.ช.เร่งพิจารณาคดีนี้คิดว่าไม่เป็นการกดดัน คดีดังกล่าวมีที่มาจากการแปรทรัพย์ สินที่เป็นหนี้เน่าเมื่อครั้งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ซึ่งรัฐบาลในขณะนั้นได้ออกกฎระเบียบเพื่อแก้ปัญหาโดยมีข้อกล่าวหาใน 2 เรื่อง คือ 1.การออกข้อกำหนดไม่ถูกต้อง และ 2.การไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์เป็นการเอื้อประโยชน์ โดยแบ่งออกมาเป็น 4 คดีที่ป.ป.ช.ดำเนินการ ขณะนี้ยังมีคดีที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบของป.ป.ช. 2 คดี ซึ่งป.ป.ช. พิจารณาและส่งอัยการไปแล้ว 1 คดี อีกคดีอยู่ระหว่างการตรวจสอบของป.ป.ช. เป็นประเด็นเกี่ยวกับการทำสัญญาเอื้อประโยชน์

ซึ่งป.ป.ช.จะเร่งตรวจสอบให้เสร็จโดยเร็วเพื่อให้ทันอายุความที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 พ.ย. 2557 ไม่ใช่วันที่ 21 มิ.ย.นี้ ตามที่กลุ่ม ผู้ชุมนุมเข้าใจ ต่อข้อถามว่า คดีนี้จะเชื่อมโยงถึงฝ่ายการเมืองหรือไม่ นายใจเด็ดกล่าวว่า ต้องเกี่ยวกับการเมืองแน่นอน เพราะการออกกฎหมายมาจากการเมือง แต่ป.ป.ช.จะดูเฉพาะกรณีการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับบ้านเมือง โดยป.ป.ช.จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง  นายณรงค์ รัฐอมฤต เลขาธิ การป.ป.ช. มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ออกหนังสือชี้แจงสื่อมวลชน เพื่อรายงานความคืบหน้าคดี ปรส.ว่า ตามที่สำนักงานป.ป.ช. รับคดีปรส.ไว้ 6 เรื่อง ดำเนินการเสร็จไปแล้ว 4 เรื่อง และชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 1 เรื่อง (เรื่องอยู่ขั้นตอนส่งสำนักงานอัยการสูงสุดดำเนินคดีอาญา) ยังมีเรื่องที่อยู่ระหว่างดำเนินการอีก 1 เรื่อง ซึ่ง เจ้าหน้าที่คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน (31 ส.ค. 2556) เรื่องนี้ทั้งหมดจะขาดอายุความวันที่ 30 พ.ย. 2557

 กลุ่มภาคีพลังประชาชน (ภปช.) นำโดยนายพงษ์พิสิษฐ์ คงเสนา หรือ เล็ก บ้านดอน ผู้อำนวยการสถานีวิทยุมหาชนคนไทยหัวใจเดียวกัน ชุมนุมกันที่หน้าสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ โดยนายพงษ์พิสิษฐ์เผยว่าการชุมนุมครั้งนี้ใช้ชื่อกิจกรรมว่า "ลากไส้ ป.ป.ช. เคานต์ดาวน์ ปรส. 15 ปี อัปยศประเทศ" เพื่อติดตามทวงถามความคืบหน้าในการดำเนินการเอาผิดนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี และนายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ อดีตรมว.การคลัง ที่ดำเนินการบริหารองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ผิดพลาด จากการนำทรัพย์สินของ 56 สถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการ มูลค่า 851,000 ล้านบาท ไปประมูลขายเพียง 190,000 ล้านบาท และการดำเนินการของ ปรส. ที่ขัดต่อวัตถุประสงค์ของกฎหมาย โดยกรมสอบ สวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เคยชี้มูลความผิดไปแล้ว หากภายในวันที่ 21 มิ.ย.นี้ซึ่งเป็นวันที่คดีหมดอายุความ ป.ป.ช.ยังไม่ดำเนินการเอาผิดบุคคลดังกล่าว กลุ่มภปช.จะแจ้งความดำเนินคดีกับคณะกรรมการป.ป.ช.ทั้งคณะ และเรียกร้องให้ลาออกทันที  นายพงษ์พิสิษฐ์กล่าวต่อว่า คดี ปรส.ผ่านมา 15 ปี ป.ป.ช.ไม่เร่งรัดจะดำเนินการให้แล้วเสร็จเป็นรูปธรรม กลับให้เนิ่นนานจนจะหมดอายุความ เปรียบเทียบกับคดีปล่อยกู้เงิน 30 ล้านของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ป.ป.ช.กลับเร่งรีบดำเนินการไต่สวนเอาผิด อยากให้ป.ป.ช.ตอบคำถามประชาชนทั้งประเทศ เพราะกรณี ปรส.ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ต้องตกงานและขาดทุนเป็นจำนวนมาก

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ข้อสังเกตโดยสังเขป : ต่อการไม่ใช้บังคับกฎหมายด้วยเหตุดาวเทียมอยู่นอกโลก !!?




เนื่องด้วยผู้เขียนมีความสนใจวิชากฎหมายอวกาศ เมื่อได้เห็นมติที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ที่ให้เหตุผลอ้างอิงถึงประเด็นกฎหมายอวกาศ จึงเห็นควรแสดงข้อคิดเห็นบางประการ โดยจะพิเคราะห์ “เหตุผลทางกฎหมาย” ที่ปรากฏในมติดังกล่าว เฉพาะประเด็นเกี่ยวกับเขตอำนาจรัฐของไทยในอวกาศเป็นสำคัญ หาได้มีความมุ่งหมายที่จะพิจารณาความถูกต้องหรือความชอบด้วยกฎหมายของมติดังกล่าวไม่ เพราะเป็นอีกประเด็นหนึ่งซึ่งต้องแยกพิจารณาต่างหากตามหลักกฎหมายปกครอง อันอยู่นอกเหนือความสนใจของผู้เขียน

ข้อเท็จจริง

การประกอบกิจการให้บริการดาวเทียมสื่อสารในประเทศไทยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๓ หน่วยงานหลัก คือ ๑. สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union: ITU) เป็นเวทีกลางเพื่ออำนวยการจัดสรรสิทธิวงโคจร ๒. กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มีสถานะเป็นผู้บริหารจัดการแทนรัฐบาลไทย และ ๓. สำนักงานคณะกรรมกรกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นผู้กำกับดูแลและออกใบอนุญาต

ประเทศไทยได้รับสิทธิวงโคจรจาก ITU โดยจะต้องส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรภายในเวลาที่กำหนด มิฉะนั้นจะเสียสิทธิวงโคจร ช่วงต้นปี ๒๕๕๕ ตำแหน่งวงโคจรที่ ๑๒๐ องศาตะวันออก จะครบกำหนดระเวลาที่ประเทศไทยจะต้องส่งดาวเทียมเพื่อรักษาสิทธิวงโคจร คณะรัฐมนตรีได้มีมติวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๔๔ มอบหมายให้บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการรักษาตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม และการนำเอกสารข่ายงานดาวเทียม (filings) ที่ตำแหน่ง ๑๒๐ องศาตะวันออกให้บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ไปใช้งานสำหรับดาวเทียมที่จะจัดหามา โดยให้กระทรวง ICT ประสานงานกับกสทช. พิจารณาอนุญาตให้บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ประกอบกิจการตามหลักเกณฑ์การกำกับดูแลและการอนุญาตที่สอดคล้องกับกฎหมายต่อไป

บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ได้นำดาวเทียมเอเชียแซท ๖ ของจีนเข้าสู่วงโคจรดังกล่าวแล้ว แต่บริษัทจะต้องสร้างดาวเทียมของไทยขึ้นมาภายใน ๒ ปีแทนดาวเทียมเอเชียแซท ๖ ทำให้บริษัทต้องขอรับใบอนุญาต การให้บริการเพื่อนำบริการลงมาสู่ประเทศไทย ประเภทใบอนุญาตแบบที่สามตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔

ที่ประชุมกทค. ในการประชุมครั้งที่ ๒๒/๒๕๕๕ ได้แบ่งการพิจารณาใบอนุญาตแบบที่สามประเภทผู้ให้บริการช่องสัญญาณดาวเทียม (Satellite Network Operator: SNO) ออกเป็น ๒ แนวทาง คือ ใบอนุญาตสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ใช้เอกสารการจองสิทธิวงโคจรดาวเทียมของประเทศไทย และเป็นเจ้าของดาวเทียมโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการช่องสัญญาณดาวเทียม และใบอนุญาตสำหรับผู้ประกอบการไทยที่มิได้เป็นเจ้าของดาวเทียม แต่สามารถเช่าซื้อช่องสัญญาณดาวเทียม (transponder) จากผู้ประกอบการต่างประเทศ

ต่อมาที่ประชุมกทค. ครั้งที่ ๒๔/๒๕๕๕ วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๕ ได้พิจารณาเรื่องการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สามเพื่อให้บริการโครงข่ายสื่อสารผ่านดาวเทียม รวมถึงประเด็นว่าได้มีการใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคมหรือไม่ มิฉะนั้นจะต้องดำเนินการโดยวิธีการประมูลคลื่นความถี่ตามมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓

มติที่ประชุม

“ที่ประชุมได้พิจารณาด้วยเหตุผลตามที่กลุ่มงานการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ๒ เสนอแนวทางการพิจารณาอนุญาตตามที่คณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข เกี่ยวกับการอนุญาต และกำกับดูแลกิจการบริการดาวเทียมสื่อสาร พิจารณา ประกอบกับ รศ. ดร. สุธี อักษรกิตติ์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารดาวเทียม ได้ให้ข้อมูลในการประชุม กทค. ครั้งที่ ๒๒/๒๕๕๕ เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๕ สรุปได้ว่า เขตอธิปไตยของชาติอยู่ในชั้นบรรยากาศที่ความสูงไม่เกิน ๑๐๐ กิโลเมตร แต่เนื่องจากดาวเทียมที่จะอนุญาตนี้ จะโคจรอยู่ที่ระดับความสูงมากกว่า ๑๐๐ กิโลเมตร จึงถือว่าอยู่นอกเขตอำนาจอธิปไตยของประเทศไทย และถึงแม้ดาวเทียมจะมีการใช้คลื่นความถี่ในการติดต่อสื่อสารก็ตาม แต่เนื่องจากดาวเทียมโคจรอยู่นอกเขตอำนาจอธิปไตยของประเทศไทย จึงไม่เข้าลักษณะตามนัยมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ๒๕๕๓ ประกอบกับบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) มีคุณสมบัติครบถ้วนตามมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว (ผู้เขียนบทความเข้าใจว่าหมายถึงพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔) และมีลักษณะการดำเนินการประกอบกิจการโทรคมนาคมซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการพิจารณาอนุญาตตามที่คณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข เกี่ยวกับการอนุญาต และกำกับดูแลกิจการบริการดาวเทียมสื่อสาร ซึ่ง กทค. ได้รับทราบแล้วในการประชุม กทค. ครั้งที่ ๒๒/๒๕๕๕ เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๕พิจารณา ดังนั้น จึงมีมติดังนี้

๑. อนุมัติให้ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม เพื่อให้บริการโครงข่ายสื่อสารผ่านดาวเทียมทั้งนี้ โดยมีเงื่อนไขให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม เพื่อให้บริการโครงข่ายสื่อสารผ่านดาวเทียม ต้องปฏิบัติตามมาตรการกำกับดูแลที่มีผลบังคับใช้ในอนาคตด้วย

๒. มอบหมายให้กลุ่มงานการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ๑ เร่งรัดดำเนินการตามกระบวนการและขั้นตอนการพิจารณาออกใบอนุญาตให้แก่ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ตามที่ได้รับอนุมัตินี้ต่อไป

เมื่อพิจารณา “เหตุผลทางกฎหมาย” จากมติที่ประชุมข้างต้นแล้ว มีข้อสังเกตโดยสังเขป ดังนี้

(๑) นอกโลกนอกอำนาจ

เหตุผลในมติข้างต้น อ้างว่ากรณีไม่เข้าลักษณะตามนัยมาตรา ๔๕ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งมาตรา ๔๕ ไม่ใช้บังคับ เนื่องจากตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารดาวเทียมแล้ว ดาวเทียมอยู่ที่ระดับความสูงมากกว่า ๑๐๐ กิโลเมตรจึงถือว่าอยู่นอกเขตอำนาจอธิปไตยของไทย อนึ่ง มาตรา ๔๕ กำหนดว่า “ผู้ใดประสงค์จะใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคมต้องได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งต้องดำเนินการโดยวิธีการประมูลคลื่นความถี่” และตามมาตรา ๔ กิจการโทรคมนาคม รวมถึงกิจการซึ่งให้บริการดาวเทียมสื่อสารด้วย อย่างไรก็ดี ประเด็นตามเหตุผลดังกล่าวมิได้อยู่ที่มาตรา ๔๕ จะมีเนื้อหาอย่างไร แต่อยู่ที่มาตราดังกล่าว (และอาจรวมถึงบรรดากฎหมายไทยทั้งหลายด้วย) ไม่อาจใช้บังคับได้เพราะดาวเทียมอยู่ในอวกาศซึ่งนอกเขตอำนาจอธิปไตยของไทย

(๒) ผู้เชี่ยวชาญในปัญหากฎหมาย

ประเด็นที่มีการอ้างอิงผู้เชี่ยวชาญนั้นเป็นปัญหากฎหมายระหว่างประเทศ แต่ กทค. กลับอ้างอิงผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสารดาวเทียม มิใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ทั้งๆ ที่ในวงการกฎหมายระหว่างประเทศเข้าใจกันโดยทั่วไปว่าประเด็นการกำหนดเขตระหว่างห้วงอากาศกับห้วงอวกาศเป็นปัญหาทางกฎหมายและการเมืองระหว่างประเทศ ไม่ใช่ปัญหาทางวิทยาศาสตร์หรือปัญหาทางเทคนิคแต่ประการใด ทั้งนี้คณะอนุกรรมการเทคนิคและวิทยาศาสตร์ของคณะกรรมการว่าด้วยการใช้อวกาศในทางสันติแห่งสหประชาชาติ (COPUOS) ซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิกตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้เคยให้ข้อสรุปไว้ว่า “เป็นไปไม่ได้ในปัจจุบันที่จะกำหนดเกณฑ์ทางเทคนิคและวิทยาศาสตร์ซึ่งจะทำให้ได้นิยามห้วงอวกาศที่ถูกต้องและถาวร” (It is not possible at the present time to identify scientific or technical criteria which would permit a precise and lasting definition of outer space. UN Doc. A/6804, Annex II, para. 36) เหตุดังนี้ต่อมาปัญหาดังกล่าวจึงได้เข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการกฎหมายของ COPUOS แต่ก็ไม่ได้ข้อยุติ และยังคงอยู่ในวาระการพิจารณาของคณะอนุกรรมการกฎหมายดังกล่าว (Report of the Legal Subcommittee on its fifty-first session, held in Vienna from 19 to 30 March 2012, UN Doc. A/AC.105/1003, para. 79) ประเด็นปัญหาดังกล่าวจึงต้องพิจารณาทางปฏิบัติของรัฐ (state practice) เป็นสำคัญ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักนิติศาสตร์ในการก่อตัวของกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ อีกทั้งเรื่องเขตอำนาจอธิปไตยจะมีขอบเขตเพียงใดก็เป็นข้อความคิดทางกฎหมายเช่นกัน ดังนั้น การรับฟังพยานผู้เชี่ยวชาญไม่ว่าในเรื่องใดสมควรอ้างอิงผู้เชี่ยวชาญที่ตรงกับประเด็นของเรื่อง แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญท่านนั้นๆ อาจมีความรู้ข้ามสาขาที่ตนเชี่ยวชาญก็ตาม

(๓) จุดยืนของประเทศไทยต่อเขตแดนอวกาศ

ประเทศไทยเคยแสดงจุดยืนอย่างเป็นทางการต่อสหประชาชาติในเรื่องเขตแดนอวกาศ ดังปรากฏในเอกสารสหประชาชาติ A/AC.105/865/Add.6 ลงวันที่ ๑๑ มกราคม ค.ศ. ๒๐๑๐ (พ.ศ. ๒๕๕๓) ดังนี้ “แม้ว่าประเทศไทยจะยังมิได้พัฒนากฎหมายภายในประเทศหรือทางปฏิบัติของประเทศใดๆ ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมเกี่ยวกับนิยาม และ/หรือการกำหนดเขตของห้วงอวกาศกับห้วงอากาศ แต่ประเทศไทยได้มีจุดยืนสอดคล้องกันตลอดว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นกฎหมายที่คลาสสิกอย่างมิอาจปฏิเสธได้ ซึ่งจำเป็นต้องทำให้กระจ่างชัดโดยด่วน” (Although Thailand has not yet developed any national legislation or national practices that related directly or indirectly to the definition and/or delimitation of outer space and airspace, Thailand has consistently taken the position that there is an undeniably classic legal issue that needs urgent clarification.) จากข้อความนี้จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีจุดยืนที่ยอมรับว่าการกำหนดเขตอวกาศเป็นปัญหามายาวนานไม่เป็นที่ยุติและต้องการทำให้เกิดความชัดเจนในเรื่องนี้ ซึ่งต่างจากคำอธิบายในมติดังกล่าว

นอกจากนี้ก่อนวันมีมติ กทค. ดังกล่าวเพียงไม่กี่เดือนประเทศไทยได้แสดงความเห็นไว้ในเอกสารสหประชาชาติ A/AC.105/865/Add.11 ลงวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๒๐๑๒ (พ.ศ. ๒๕๕๕) ว่า “ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีกฎหมายภายในประเทศหรือทางปฏิบัติของประเทศเกี่ยวกับนิยามและการกำหนดเขตของห้วงอวกาศกับห้วงอากาศ” (Thailand currently does not have national legislation or a national practice relating to the definition and delimitation of outer space and airspace) แสดงให้เห็นเพิ่มเติมว่านอกจากประเทศไทยจะยอมรับถึงปัญหาการกำหนดเขตอวกาศแล้ว ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีทางปฏิบัติในเรื่องดังกล่าว คือไม่เคยกำหนดว่าเขตอธิปไตยในห้วงอากาศของประเทศจำกัดอยู่ที่ใด

(๔) ปัญหาสถานะวงโคจรค้างฟ้า มิใช่ปัญหาการกำหนดเขตแดนอวกาศ

ประเด็นที่อยู่ในการพิจารณาตามมตินั้นเกี่ยวกับดาวเทียมของไทยในวงโคจรค้างฟ้า ซึ่งอยู่เหนือผิวโลกขึ้นไปประมาณ ๓๖,๐๐๐ กิโลเมตร หากจะพิจารณาในแง่เขตแดนอวกาศ ก็ควรตั้งประเด็นเพียงว่า “วงโคจรค้างฟ้าอยู่ในห้วงอวกาศหรือไม่” มิใช่ “ห้วงอวกาศเริ่มต้น ณ จุดใด” ซึ่งเป็นประเด็นที่แตกต่างกันอย่างมาก เพราะเมื่อกล่าวถึงวงโคจรค้างฟ้านั้นเกือบทุกประเทศเห็นตรงกันว่าอยู่ในห้วงอวกาศ จะยกเว้นก็แต่ประเทศโคลัมเบียที่รัฐธรรมนูญระบุให้วงโคจรค้างฟ้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาเขตด้วย ส่วนประเด็นหลังนั้นเป็นที่ถกเถียงกันเหลือเกินว่าอวกาศจะเริ่มต้น ณ จุดใด แม้จะไม่เป็นที่ยุติแต่ที่ชัดเจตคือวงโคจรค้างฟ้าอยู่ในห้วงอวกาศ ด้วยเหตุนี้การให้เหตุผลในมติดังกล่าวจึงมีลักษณะไม่ตรงกับประเด็นที่พิจารณา

(๕) เขตอำนาจรัฐมิใช่เขตอำนาจอธิปไตย

การให้เหตุผลในมตินี้มีความเข้าใจเรื่องการใช้บังคับกฎหมายไทยต่างไปจากหลักการตามกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะขอบเขตการใช้บังคับกฎหมายต้องเป็นไปตามหลักเขตอำนาจรัฐ (state jurisdiction) มิใช่หลักอำนาจอธิปไตย (sovereignty) ทั้งนี้หลักเขตอำนาจรัฐนั้นมีทั้งการบังคับใช้กฎหมายตามหลักดินแดน (territory) ซึ่งจะกล่าวว่าเป็นไปตามหลักอำนาจอธิปไตยก็ได้ และการบังคับใช้กฎหมายตามหลักบุคคล (personality) ซึ่งมีทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ไม่ว่าบุคคลสัญชาติไทยนั้นจะอยู่ในราชอาณาจักรหรือนอกราชอาณาจักร กฎหมายไทยก็มีผลใช้บังคับได้เช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นการไม่ถูกต้องที่จะอ้างการใช้บังคับกฎหมายโดยอิงกับหลักอำนาจอธิปไตยแต่ประการเดียว แม้ประเทศไทยไม่มีอำนาจอธิปไตยแต่ก็อาจมีเขตอำนาจได้ อีกทั้งยังมีเขตอำนาจรัฐในลักษณะอื่นอีก แต่ไม่ขอกล่าวในที่นี้

(๖) เขตอำนาจและการควบคุม

ประเด็นเขตอำนาจรัฐเหนือดาวเทียมนั้น สนธิสัญญาอวกาศ ค.ศ. ๑๙๖๗ ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี ได้กำหนดอย่างชัดเจนว่า “รัฐภาคีสนธิสัญญานี้ซึ่งได้ทำทะเบียนวัตถุที่ส่งไปยังอวกาศไว้ ยังคงมีเขตอำนาจและการควบคุมเหนือวัตถุนั้น ... ในขณะที่อยู่ในอวกาศ” (A State Party to the Treaty on whose registry an object launched into outer space is carried shall retain jurisdiction and control over such object … while in outer space) สาระสำคัญของข้อนี้คือประเทศไทยต้องทำทะเบียนดาวเทียมไว้และในฐานะที่เป็นรัฐเจ้าของทะเบียนย่อมคงมีเขตอำนาจและการควบคุมเหนือดาวเทียมนั้นแม้จะอยู่ในอวกาศก็ตาม หลักกฎหมายข้อนี้แตกต่างไปจากเหตุผลในมติข้างต้น เพราะยอมรับว่าดาวเทียมที่มีทะเบียนไทยยังคงอยู่ภายใต้ “เขตอำนาจและการควบคุม” ของประเทศไทย แม้ดาวเทียมนั้นจะโคจรอยู่ในอวกาศซึ่งนอก “เขตอำนาจอธิปไตย” ของไทยก็ตาม ด้วยเหตุนี้ เหตุผลที่ปรากฏในมติข้างต้นจึงมีผลเสมือนเป็นการลดทอนเขตอำนาจรัฐของประเทศไทยที่มีอยู่เหนือดาวเทียมของไทยในอวกาศ

(๗) กิจกรรมแห่งชาติในอวกาศ

การใช้คลื่นความถี่นอกราชอาณาจักรหรือนอกโลกนั้น นอกจากจะเป็นการใช้สิทธิในคลื่นความถี่ที่ประเทศไทยได้สิทธิมาตามกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินของประเทศไทยแล้ว ยังเป็น “กิจกรรมแห่งชาติในอวกาศที่ดำเนินการโดยองค์กรที่มิใช่รัฐบาล” (national activities in outer space carried on by non-governmental entities) ตามข้อ ๖ ของสนธิสัญญาอวกาศ ค.ศ. ๑๙๖๗ ด้วย บทบัญญัตินี้กำหนดให้ประเทศไทยมีความรับผิดชอบระหว่างประเทศต่อกิจกรรมในอวกาศที่ดำเนินการโดยเอกชนไทย และที่สำคัญกิจกรรมดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้การอนุญาตและการกำกับดูแลอย่างต่อเนื่องของประเทศไทย (The activities of non-governmental entities in outer space… shall require authorization and continuing supervision by the appropriate State Party to the Treaty.) จะเห็นได้ว่ากิจกรรมของไทยที่กระทำนอกโลกเช่นว่านี้ กฎหมายระหว่างประเทศกำหนดให้เป็นหน้าที่ของไทยที่จะต้องดำเนินการอนุญาตและกำกับดูแลอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นหากอ่านข้อ ๖ ของสนธิสัญญาอวกาศ ค.ศ. ๑๙๖๗ ประกอบกับมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ๒๕๕๓ แล้ว ต้องตีความว่าแม้การใช้คลื่นความถี่จะเป็นกิจกรรมในอวกาศซึ่งอยู่นอกราชอาณาจักร แต่ก็ใช้บังคับมาตรา ๔๕ ได้โดยสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่

(๘) ไม่ปรากฏเหตุผลในเชิงเนื้อหา

น่าเสียดายที่มติข้างต้นไม่ได้กล่าวถึงเหตุผลประการอื่นอันจะทำให้ไม่ต้องใช้บังคับมาตรา ๔๕ ไว้ด้วยเลย การอ้างว่าดาวเทียมในอวกาศอยู่นอกเขตอำนาจมีผลเท่ากับว่ายังไม่มีการวินิจฉัยในประเด็นสารบัญญัติ ซึ่งเป็นไปได้ที่โดยเนื้อหาและวัตถุประสงค์ของมาตรา ๔๕ เองจะไม่ใช้บังคับแก่กรณีดังกล่าว ตัวเอย่าง เช่น คำสัมภาษณ์ของ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ที่กล่าวว่า “การประกอบกิจการดาวเทียมอยู่ในขอบเขตของ พ.ร.บ. กสทช. ถือเป็นการดำเนินการด้านโทรคมนาคม การออกใบอนุญาตให้ประกอบกิจการเป็นหน้าที่ กสทช. โดยตรง แต่จะวินิจฉัยว่าคลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการดาวเทียม อาทิ การอัพลิงก์ดาวน์ลิงก์ระหว่างสถานีฐานภาคพื้นดินกับดาวเทียมในอวกาศเป็นการใช้คลื่น เพื่อกิจการโทรคมนาคมหรือวิทยุคมนาคม หากเป็นการใช้คลื่นเพื่อกิจการโทรคมนาคม พ.ร.บ. กสทช. กำหนดให้ต้องจัดสรรคลื่นด้วยการประมูลเท่านั้น ไม่สามารถใช้วิธีการอื่นได้ แต่ถ้ามองว่าเป็นการใช้คลื่นวิทยุคมนาคม กฎหมายไม่ได้ระบุวิธีจัดสรรไว้” (ประชาชาติธุรกิจ, ๑๓ ธ.ค. ๒๕๕๔) หรือ ผศ.ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา ได้อธิบายในทำนองว่า การได้สิทธิในคลื่นความถี่มาจากการประสานงานคลื่นความถี่ตามขั้นตอนของ ITU ย่อมมิใช่เป็นการขอคลื่นความถี่จาก กสทช. จึงไม่ต้องอยู่ภายใต้มาตรา ๔๕ (“ประเด็นกฎหมายเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตและกำกับดูแลกิจการดาวเทียม สื่อสารของไทย” http://www.blognone.com/node/40270) การให้เหตุผลในลักษณะนี้แม้จะถูกจะผิดประการใดแต่อย่างน้อยก็มิได้ส่งผลในเชิงลดทอนเขตอำนาจของไทยในการใช้บังคับกฎหมาย

(๙) ปัญหาอยู่ที่การบังคับวิธีการประมูลคลื่นความถี่เพียงสถานเดียว

ปัญหาทั้งหมดของเรื่องนี้น่าจะอยู่ที่มาตรา ๔๕ กำหนดให้ใช้ “วิธีการประมูลคลื่นความถี่” ไว้เพียงวิธีการเดียว ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ของกิจการดาวเทียม อันเป็นเหตุให้ผู้เกี่ยวข้องต้องพยายามหาแนวทางการตีความกฎหมายเพื่อให้ทางปฏิบัติดำเนินการไปได้ โดยเลี่ยงไม่ต้องอยู่ภายใต้วิธีการประมูลคลื่นความถี่ การตีความเช่นนี้ในแง่หนึ่งเท่ากับเป็นการยืนยันความชอบธรรมของบทบัญญัติดังกล่าว ทั้งๆ ที่เป็นบทบัญญัติที่มีปัญหามาก

สิ่งที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสมควรกระทำ คือ ยืนยันว่าประเทศไทยมีเขตอำนาจในกิจกรรมอวกาศของตน พร้อมทั้งแสดงจุดยืนว่าวิธีการประมูลคลื่นความถี่ไม่เหมาะสมแก่กิจการดาวเทียมในแง่มุมต่างๆ (ดังเช่นกรณีแคนาดาที่วงการดาวเทียมพร้อมใจกันคัดค้านวิธีการประมูล http://www.ic.gc.ca/eic/site/smt-gst.nsf/eng/sf09539.html และหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบการให้ใบอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียมในประเทศต่างๆ ว่าใช้รูปแบบใดบ้าง จนท้ายที่สุดได้ออกกรอบการประมูลคลื่นความถี่ในแคนาดา (Framework for Spectrum Auctions in Canada) โดยได้ให้ระบุถึงกิจการที่ไม่เหมาะสมกับการประมูลซึ่งหนึ่งในนั้นคือกิจการดาวเทียม http://www.ic.gc.ca/eic/site/smt-gst.nsf/vwapj/dgso-001-11-framework-e.pdf/$FILE/dgso-001-11-framework-e.pdf) ทั้งนี้เพื่อผลักดันให้มีการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายต่อไป แต่หากเห็นว่าในระยะสั้นไม่อาจดำเนินการให้แล้วเสร็จได้อันจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างมาก เช่น วิธีการประมูลคลื่นความถี่เป็นอุปสรรคที่อาจทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียสิทธิในตำแหน่งวงโคจรค้างฟ้าและคลื่นความถี่ที่เกี่ยวข้อง (ดังที่เคยปรากฏเป็นข่าว “กสทช.ยันต้องเปิดประมูลดาวเทียม”, กรุงเทพธุรกิจ, ๑๔ มิ.ย. ๒๕๕๔, น.๓; “กสทช.ปริ๊ดแตก! ไอซีทีใช้เป็นแพะเสียโคจร ๑๒๐ องศา”, ข่าวหุ้น, ๒๓ มิ.ย. ๒๕๕๔, น.๘.) หากเป็นกรณี “จำเป็นเร่งด่วน” เช่นนี้ระบบกฎหมายก็เปิดช่องให้รัฐบาลสามารถออกพระราชกำหนดเพื่อแก้ปัญหาได้อยู่แล้ว เพียงแต่เราจะเลือกแนวทางใดเท่านั้น เมื่อเลือกแนวทางตีความเพื่อแก้ปัญหานอกจากจะส่งผลเป็นการสร้างความชอบธรรมให้บทบัญญัติที่มีปัญหาแล้ว ยังมีความเสี่ยงที่จะเป็นการทำผิดกฎหมายเสียเองได้อีกด้วย แต่ทั้งนี้ ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องตระหนักด้วยว่าไม่มีกฎหมายฉบับใดจะมีเจตนารมณ์เพื่อให้เกิดผลร้ายแก่ผู้ที่ดำเนินการรักษาสิทธิในตำแหน่งวงโคจรค้างฟ้าและคลื่นความถี่ที่เกี่ยวข้องของไทย ถ้าการตีความเป็นไปเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ ก็ควรมีการกล่าวถึงสภาพความจำเป็นเร่งด่วน และผลของการตีความก็ควรมีลักษณะเฉพาะกรณี มิใช่วางเป็นบรรทัดฐานทั่วไป

โดยสรุปแล้ว แม้ผู้เขียนจะเห็นด้วยกับผลของมติข้างต้นสักเพียงใดก็ไม่อาจเห็นด้วยกับคำอธิบายเหตุผลทางกฎหมายที่ปรากฏในมติข้างต้นได้เลย ทั้งในเรื่องเขตแดนอวกาศ และการไม่ใช้บังคับกฎหมายไทยแก่ดาวเทียมไทยซึ่งอยู่ในอวกาศ เนื่องจากเป็นคำอธิบายที่มีความแตกต่างจากจุดยืนของประเทศไทยที่แจ้งต่อสหประชาชาติ แตกต่างจากหลักกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับเขตอำนาจรัฐ และแตกต่างจากบทบัญญัติของสนธิสัญญาอวกาศ ค.ศ. ๑๙๖๗ ในเรื่องเขตอำนาจและการควบคุมเหนือวัตถุอวกาศ ตลอดจนการอนุญาตและการกำกับดูแลเอกชนในการดำเนินกิจกรรมอวกาศ ส่วนมติดังกล่าวจะมีความถูกต้องหรือชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้นเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องพิจารณาตามหลักกฎหมายปกครองต่อไป ซึ่งต้องพิจารณาเหตุผลอื่นอีกหลายประการประกอบกัน โดยอาจรวมถึงความจำเป็นเร่งด่วนอันสืบเนื่องจากการรักษาสิทธิตำแหน่งวงโคจรค้างฟ้าและคลื่นความถี่ที่เกี่ยวข้องด้วย


------------
บทความนี้เป็นการแสดงความเห็นทางวิชาการโดยส่วนตัวของผู้เขียน มิได้มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่หรือมีความสัมพันธ์ด้วย ไม่ว่าทางหนึ่งทางใด

ที่มา.ISRA Institute Thai Press Development Foundation
สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2556

สรุป : งบประมาณปี 57

การประชุมสภาฯ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ตามกำหนดเวลา อภิปราย 3 วัน เสร็จสิ้นลงแล้วในวันนี้  โดยสภาฯ รับหลักการในวาระ 1 และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาต่อ

เป็นเวลา 3 วัน ที่สภาผู้แทนราษฎรได้อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2557 จำนวนกว่า 2.5 ล้านล้านบาท โดยในวันสุดท้ายนี้ รัฐบาลยังคงเดินหน้าชี้แจงถึงการจัดสรรงบประมาณรอบนี้ว่าเหมาะกับภาพรวมการพัฒนาประเทศ

แต่ฝ่ายค้านย้ำเช่นกันว่า รัฐบาลบริหารงบประมาณไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่นายกรัฐมนตรีชี้แจงไว้ และมีการปรับลดงบประมาณหลายโครงการที่รัฐบาลแจ้งว่าต้องการพัฒนา

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีชี้แจงว่ารัฐบาลจัดสรรงบประมาณตามยุทธศาสตร์ และตอบสนองความต้องการของส่วนราชการ แต่ที่บางโครงการได้งบประมาณลดลงเนื่องจากเสร็จภารกิจแล้ว

อย่างไรก็ตาม นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปิดท้ายการอภิปรายว่า พร้อมรับข้อสังเกตของ ส.ส. ไปพิจารณาอย่างรอบคอบในชั้นกรรมาธิการ

จากนั้นที่ประชุมมีมติรับหลักการด้วยคะแนน 292 ต่อ 155 เสียง งดออกเสียง 27 เสียง ไม่ลงคะแนน 4 เสียง และตั้งคณะกรรมาธิการ 63 คน ประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี 15 คน ส.ส.รัฐบาลและฝ่ายค้านรวมกัน 48 คน แปรญัตติภายใน 30 วัน

แต่มีข้อสังเกตว่า กรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคเพื่อไทย มีชื่อของ ส.ส. พรรคภูมิใจไทย กลุ่มมัชฌิมา ข้ามห้วยเข้ามาอยู่ด้วย ทำให้เกิดเสียงท้วงติงจาก ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่เห็นว่าผิดข้อบังคับการประชุม และไม่เป็นไปตามที่ตกลง

สำหรับขั้นตอนจากนี้ต้องจับตาการประชุมคณะกรรมาธิการฯ นัดแรก ในวันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน.

ที่มา.สำนักข่าวไทย
-------------------------------------

ชัชวาลย์ แจงคลิปใส่ร้ายลูกชาย จ่อฟ้องเว็บฯหมิ่น !!?

ชัชวาลย์ คงอุดม โต้คลิป"อันธพาลครองเมือง" ใส่ร้าย"แมน"ลูกชาย รุมทำร้ายนักเที่ยวในผับดังย่านเลียบทางด่วนรามอินทรา แจงลูกชายไปเที่ยวจริงแต่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง วอนสังคมเห็นใจครอบครัวไม่ได้รับความยุติธรรม ชี้มือโพสต์ระบุข้อความพยายามโยงการเมือง จี้ตำรวจเรียก 2 ฝ่ายคุย เตรียมฟ้องสื่อออนไลน์ที่โพสต์ข้อความดูหมิ่น
   
กรณีในเว็บไซต์ยูทูป ได้มีผู้ใช้ชื่อว่า "คนดีชอบเที่ยว" โพสต์คลิป"อันธพาลครองเมือง" พร้อมข้อความ โดยอ้างว่า ตนและเพื่อนๆ ไปเที่ยวที่ผับแห่งหนึ่งย่านโชคชัย 4 และได้พบเห็นกลุ่มอันธพาลมีพฤติกรรมชกต่อยคนที่มาเที่ยว ถ้าโต๊ะที่นั่งข้างๆ เสียงดังก็จะโดนแบบนี้ทุกราย พร้อมประกาศว่า "พวกมึงดูไว้เป็นตัวอย่าง มึงรู้มั้ยกูเป็นใคร กูแมน เตาปูน ลูกชัช เตาปูน ขนาดลูกเฉลิมกูยังกระทืบมาแล้ว" ทั้งนี้ผู้โพสต์ฝากเตือนผู้ชอบเที่ยวกลางคืนให้ระวังกลุ่มนี้ และยังฝากถึง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ และพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ให้ช่วยจัดการคนกลุ่มนี้ด้วย
   
ล่าสุด  ที่ชั้น 2 บริษัทสยามรัฐ นายชัชวาลย์ คงอุดม อดีต สว.กทม.และคอลัมนิสต์อาวุโสหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ได้แถลงข่าวกรณีมีผู้โพสต์คลิปดังกล่าว ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยอมรับว่า ลูกชายตนพร้อมกลุ่มเพื่อนได้เข้าไปเที่ยวที่ผับดังกล่าวย่านเลียบทางด่วนรามอินทราจริง เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งขณะที่นั่งดื่มกินกันตามปกติ ได้มีกลุ่มชายตามคลิปชี้มาที่โต๊ะพร้อมพูดขึ้นว่า "แมน เตาปูน" ก่อนเพื่อนในกลุ่มอีกคนตะโกนว่า "เฮ้ย! แมน เตาปูน แล้วงัย" โดยพูดด้วยเสียงดัง 2-3 ครั้ง ก่อนจะมีผู้ใหญ่ที่อยู่ในผับเข้ามาพูดกับกลุ่มชายดังกล่าวว่า "พวกคุณเที่ยวมีมารยาทหน่อย" พร้อมกับเชิญออกจากร้าน แต่กลุ่มชายดังกล่าวก็ไม่ยอมกลับ ซึ่งจังหวะนั้นลูกชายตนรู้สึกไม่สบายใจ จึงเดินทางออกจากร้านไปก่อนหน้าจะเกิดเหตุการณ์ชกต่อยกันขึ้น หลังจากนั้น กลุ่มชายดังกล่าวจึงเดินตามออกไปนอกร้านพร้อมกับตะโกน "มึงแน่มาจากไหนวะ ไอ้..." ก่อนจะมีผู้ใหญ่มาเคลียร์และแยกย้ายกันกลับในที่สุด อย่างไรก็ตาม ได้มีผู้ใหญ่ชื่อ "เฮียเม้ง" ติดต่อมาหาลูกชายตน เพื่อให้กลุ่มชายดังกล่าวเข้าขอโทษกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ลูกชายตนบอกไม่เป็นไร เรื่องนิดเดียว กระทั่งมีคลิปเผยแพร่ออกมา
   
อดีต สว.กทม. กล่าวอีกว่า หลังจากมีการนำคลิปภาพเหตุการณ์ดังกล่าวมาโพสต์ลงยูทูป ใช้ชื่อ "อันธพาลครองเมือง" ทำให้มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นต่อว่าลูกชายตนต่างๆ นานา ลามไปถึงข้อความที่ระบุในคลิปว่า "ขนาดลูกเฉลิมกูยังกระทืบมาแล้ว" ตนอ่านแล้วรู้สึกไม่สบายใจและไม่ยุติธรรมสำหรับครอบครัวของตน วันนี้จึงต้องออกมาชี้แจงให้ทราบข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร และอยากให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเชิญตัวคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่าย และผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ไปพูดคุย ถ้าใครผิดก็ว่ากันไป
   
"ผมได้พูดคุยกับลูกชายแล้วว่า กลุ่มชายดังกล่าวเมาและมีการตะโกนลักษณะหาเรื่อง ลูกชายเห็นท่าไม่ดีก็กลับทันทีเกรงเหตุการณ์จะบานปลาย และเรื่องที่มีการพูดว่าลูกเฉลิมกูยังกระทืบมาแล้วนั้น ลูกชายยืนยันไม่มีการพูด และไม่เคยมีการกระทืบตามที่มีคนโพสต์แต่อย่างใด เชื่อว่าคนคอมเม้นท์พยายามโยงเข้าไปเกี่ยวกับการเมือง จากนี้กำลังพิจารณาจะฟ้องร้องเว็บไซต์ที่มีการโพสต์ข้อความที่รุนแรง และมีการใช้คำหยาบคาย" นายชัชวาลย์ กล่าว
   
ด้าน  พ.ต.อ.ธนวัตร วัฒนกุล ผกก.สน.โชคชัย เปิดเผยเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า จะเรียกคู่กรณีทั้งสองฝ่ายมาสอบปากคำ เพื่อหาข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ที่มา.สยามรัฐ
---------------------------------------

ความมั่นคงไฟฟ้าอยู่ตรงไหน !!?

โดย ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคบุตร

เหมือน จะเป็น "ความซวย" ของ รมต.เพ้ง "พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล" หลังจากนั่งเก้าอี้กระทรวงพลังงาน ก็เจอวิกฤตการณ์ด้านไฟฟ้าของประเทศถึง 2 ครั้ง 2 คราว โดยยังจำกันได้กับวิกฤตการณ์ครั้งที่ 1 ในช่วงเทศกาลงานสงกรานต์เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ที่บริษัท Total เจ้าของสัมปทานขุดเจาะก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยาดานา เมียนมาร์ ประกาศหยุดซ่อมแท่นขุดเจาะเป็นระยะเวลา 9 วัน ส่งผลให้ก๊าซธรรมชาติที่ส่งผ่านท่อเข้าสู่โรงไฟฟ้าราชบุรีหายไปจากระบบ ประมาณ 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน

เล่นเอาวุ่นวายไปทั้งประเทศ เมื่อ รมต.เพ้งออกมาแจงมาตรการฉุกเฉิน ขอให้ช่วยกันประหยัดพลังงานไฟฟ้า เตรียมน้ำมันเตา/ดีเซล ซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มเติม รับมือสถานการณ์ไฟตกดับ เนื่องจากช่วงที่ Total หยุดส่งก๊าซนั้น เป็นช่วงที่สำรองไฟฟ้าของประเทศจะลดลงต่ำสุด เพราะเดือนเมษายนเป็นเดือนที่จะเกิดการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือ Peak เป็นประจำทุกปี

หลังจากนั้นไม่ถึง 2 เดือน รมต.เพ้งต้องเผชิญกับเหตุการณ์ไฟดับ 14 จังหวัดภาคใต้ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา จากการสอบสวนเบื้องต้นพบว่า เกิดจากอุบัติเหตุ "ฟ้าผ่า" เสาไฟฟ้าช่วงจอมบึง-บางสะพาน ในขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ ไทย (กฟผ.) อยู่ในช่วงของการซ่อมแซมสายส่งแรงสูงขนาด 500 Kv วงจรที่ 1 ส่งผลให้สายส่งวงจรที่ 2 ได้รับผลกระทบ มีการจ่ายไฟฟ้าผ่านสายส่งขนาด230 Kv มากจนเกินไป จนเกิดการดึงกันเองในสายส่ง โรง ไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ในภาคใต้ 6 โรงจึงตัดการส่งกระแสไฟฟ้าทันทีโดยอัตโนมัติ ภาคใต้ทั้งภาคจึงต้องเผชิญกับความมืดมิดถึง 4-5 ชั่วโมง สร้างความแตกตื่นตกใจให้กับประชาชน โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มักเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นมาทันที

ทั้ง 2 เหตุการณ์ ได้แสดงให้เห็นถึง "ความเปราะบาง" ในระบบความมั่นคงทางด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทยอย่างชัดเจน จากเหตุผลสำคัญ 4 ประการดังต่อไปนี้

1) ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศมีอัตราการเติบโตสูงมาก ในขณะที่กำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ ๆ มีไม่เพียงพอ ทั้งนี้ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2010) ฉบับปรับปรุงครั้งล่าสุด ที่ กฟผ.ใช้เป็นคัมภีร์ระบุไว้ว่า เมื่อสิ้นแผน PDP ในปี 2573 ประเทศไทยจะมีความต้องการไฟฟ้าสูงสุดถึง 52,256 MW จากปีที่เริ่มแผน (2559) ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 31,808 MW

จึงมีความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องจัดหาแหล่งพลังงานไฟฟ้าใหม่ ๆ เข้ามาชดเชยความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นโดยไม่มีการประหยัด

2) จำนวนโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ ที่จะเข้าสู่ระบบในช่วงของแผน PDP ฉบับปัจจุบัน ได้รับการต่อต้านจากชุมชนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาด 1,000 MW จำนวน 2 โรง หรือโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ กฟผ.ใช้คำว่า ถ่านหินสะอาดอีก 6 โรง กำลังผลิตรวมกัน 4,400 MW ยังไม่สามารถสร้างขึ้น ส่งผลให้กำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ ๆ ที่ "จำเป็น" จะต้องเข้าระบบหายไป

3) ครั้นจะหันมาพึ่งพาโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ทั้งของ กฟผ. และผู้ประกอบการเอกชนรายใหญ่ IPP ก็ต้องเผชิญกับปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ซึ่งมีราคาถูกที่สุดลด ลง และกำลังจะหมดไปในอีก 10 ปีข้างหน้า ส่งผลให้ต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งนอกประเทศ (เมียนมาร์) รวมไปถึงการนำเข้าก๊าซ LNG ที่มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยถึง 4.34 บาท (ถ่านหิน 2.94 บาท/หน่วย-NG 3.96 บาท/หน่วย-กังหันก๊าซ 13.74 บาท/หน่วย-นิวเคลียร์ 2.79 บาท/หน่วย) มีผลทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยของประเทศปรับราคาสูงขึ้นระหว่าง 4-6 บาท/หน่วยในอนาคต

4) การรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านจากโครงการใหม่ ๆ ลดลง ใน สปป.ลาว ไม่มีการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เพื่อขายไฟให้ไทย โครงการโรงไฟฟ้าในเมียนมาร์ยังอยู่ในกระดาษ ที่สำคัญก็คือ แม้มีกำลังไฟฟ้าใหม่ ๆ ทั้งในและนอกประเทศเข้าระบบ แต่ปัญหาสายส่งไฟฟ้าพาดผ่านกรุงเทพฯ-อีสาน-ใต้ ยังไม่ได้รับการพัฒนา

ทั้งหมดนี้จึงกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงให้ประเทศไทยเผชิญกับภาวะไฟตก/ดับได้ในอนาคต

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
---------------------------------------------------------

วันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ฟังชัดๆ ทุจริต ระบายข้าวในประเทศ ใครจริง-เท็จ !!?




ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 วงเงิน 2.525 ล้านบาท ช่วงหัวค่ำวันที่ 29 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา

บรรยากาศเต็มไปด้วยความตรึงเครียด เมื่อ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ที่เคยสร้างวีรกรรมครั้งใหญ่ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เกี่ยวกับปัญหาความไม่ชอบมาพากล การระบายข้าว แบบ รัฐ ต่อรัฐ หรือ จีทูจี ถึงคิวลุกขึ้นอภิปราย

พร้อมนำเอกสารหลักฐานความไม่ชอบมาพากลในการระบายข้าวสต็อกรัฐบาล มาแสดงต่อสภาฯ ผู้แทนราษฎรอีกครั้ง

นพ.วรงค์ ระบุชัดเจนว่า รัฐบาลจะมาขอเงินเป็นแสนล้านบาท ไปทำโครงการรับจำนำต่อ แต่เมื่อไปตรวจสอบข้อมูลการดำเนินงานโครงการนี้ โดยเฉพาะการระบายข้าว ก็พบหลักฐานการกระทำผิดชัดเจน คนที่รวยจากโครงการนี้ มิใช่ชาวนา แต่กลายเป็นกลุ่มนายทุนผู้ขาดข้าว ที่ร่วมมือกับนักการเมืองที่มีอำนาจ ใครจะยอมให้เงินรัฐบาลไปทำโครงการที่ไม่ดีแบบนี้อีก

“ เรื่องนี้อยากให้ทุกคนตั้งใจฟังให้ดี ไม่ว่าจะเป็นส.ส.ฝ่ายค้าน หรือเพื่อนส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ถ้าท่านตั้งใจฟังจะเข้าใจ และมาร่วมมือกับผม ในการคว้า ร่าง พรบ.ฉบับนี้ ”

นพ.วรงค์ กล่าวย้ำหลายครั้งว่า ถึงเวลาแล้วที่จะแสดงพลัง ต่อต้านทุนสามานย์ข้าว ให้หมดไป

ก่อนจะเริ่มต้น อภิปรายว่า การระบายข้าวของรัฐบาล มี 4 รูปแบบ คือ 1. รัฐต่อรัฐ (จีทูจี) 2. ขายให้กับผู้ประกอบ 3. ขายผ่านตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า (เอแฟด) และ 4. นำไปบริจาค ทำข้าวถุง

ในส่วนของการระบายข้าวจีทูจี มีข้อมูลหลักฐานปรากฏชัดเจนแล้วว่า ข้าวไม่ได้มีการส่งออกไปนอกประเทศจริง แต่วนเวียนอยู่ในประเทศ อยู่ในมือของ เสี่ยเปี๋ยง ผู้ใกล้ชิดคนจากแดนไกล ตัวละคร ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง มีทั้งลูกน้อง ส.ส. และคนใกล้ชิดเสี่ยเปี๋ยงเอง

ขณะที่การเข้ามาซื้อข้าวของ บริษัท จีเอสเอสจี ส่อว่าจะมีปัญหาการฝ่าฝืนกฎหมายเพิ่มอีก 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และพ.ร.บ.การค้าข้าว

(อ่านประกอบ : ดูกันจะๆ หลักฐาน “มัด” ระบายข้าว "จีทูจี" (จีเจี๊ยะ - จีโจ๊ก- จีghost) รัฐบาลยิ่งลักษณ์)

ส่วนข้อมูลล่าสุด ที่จะนำมาเปิดเผยในครั้งนี้ คือ การระบายข้าวในประเทศให้กับผู้ประกอบการ

พร้อมระบุว่า บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ มีความใกล้ชิดกับ “เสี่ยเปี๋ยง” ผู้มากบารมี ในวงการค้าข้าวอีกแล้ว

นายแพทย์วรงค์ ได้โชว์เอกสารชิ้นแรก เป็นใบเสร็จขายข้าวของอคส. ที่ออกให้กับ โรงสีโชควรลักษณ์ รุ่งเรืองกิจ ในราคาที่ ตันละ 5,700 บาท


(ดูหลักฐานประกอบ)



ก่อนจะขยายความว่า เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2554 องค์การคลังสินค้า (อคส.) ได้ขายข้าวขาว 8 แสนกิโลกรัม ราคาตันละ 5,700 บาท ให้แก่โรงสีโชควรลักษณ์ รุ่งขึ้น วันที่ 22 ธันวาคม 2554 โรงสีโชควรลักษณ์นำขายข้าวไปขายต่อแก่โรงสีแห่งหนึ่งที่ จ.กำแพงเพชร ในราคาตันละ 12,000 บาท โดยใช้แฟกซ์โอนใบมอบอำนาจแค่ใบเดียวราคา 5 บาท แต่ฟันกำไรถึง 6,300 บาทต่อตัน และเป็นการขายก่อนที่จะได้ข้าวมาจากรัฐบาล

“ตอนแรกผมคิดว่าเรื่องนี้ เกิดขึ้นในยุคนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แต่การขายข้าวดังกล่าว เกิดขึ้นในยุคที่นายนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และโดยส่วนตัวก็ไม่เชื่อว่า คนอย่างนายกิตติรัตน์ ที่ผ่านตำแหน่งสำคัญมามากมาย จะไม่ฉลาดพอที่จะไม่รู้เรื่องพวกนี้”

พร้อมระบุว่า เท่าที่ทราบมีการขายแบบนี้หลายครั้ง เม็ดเงินที่สะพัดในจังหวัดกำแพงเพชร มีไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท

เหตุผลที่มีการขายข้าวให้โรงสีโชควรลักษณ์ ในราคาต่ำเช่นนี้ได้ นพ.วรงค์ ระบุว่า เป็นเพราะเจ้าของโรงสีแห่งนี้ชื่อ “เสี่ยเปี๊ยก” มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด “เสี่ยเปี๋ยง” ที่เป็นนายทุนผูกขาดการค้าขายรายใหญ่และมีความใกล้ชิดนายใหญ่ที่อยู่ต่างประเทศ

ก่อนจะโชว์เอกสารสำคัญชิ้นที่สอง คือ หนังสือสัญญา นาปรัง ไซโล อคส. 1/2555 ซึ่งเป็นสัญญาเช่าไซโลระบบควบคุมบรรยากาศเพื่อจัดเก็บรักษาข้าวสาร (โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2555)

ทั้งนี้ ในสัญญาดังกล่าว เป็นการลงนามร่วมกันระหว่าง พันตำรวจตรี ศราวุฒิ สกุลมีฤทธิ์ ผอ.อคส. "ผู้เช่า" กับนายเอนก ฉัตรไชยศิริ หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วน โรงสี โชควรลักษณ์รุ่งเรืองกิจ “ผู้ให้เช่า”

ในหนังสือสัญญาดังกล่าว ระบุว่า ผู้เช่าตกลงเช่าและผู้ให้เช่าไซโล ระบบรวบคุมบรรยากาศของผู้ให้เช่นจำนวน 24 ถัง ปริมาณความจุรวมทั้งสิ้น 288,000 ตัน เพื่อใช้เป็นสถานที่เก็บรักษาข้าวสารที่สีแปรสภาพจากข้าวเปลือกตามโครงการรับจำนำ ข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2555 ที่ผู้เช่าสั่งให้โรงสีส่งมอบ

โดยปรากฏชื่อ เคทีบี ไซโล ตั้งอยู่เลขที่ 25/3 หมู่ที่ 3 ถนน บางมูลนาก-ตะพานหิน ตำบลหอไกร อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร ในสัญญาดังกล่าวด้วย

(ดูหลักฐานประกอบ)



นายแพทย์วรงค์ กล่าวอ้างด้วยว่า เป็นที่รู้กันในวงการว่า เคทีบี ไซโล เป็นไซโลของ เสี่ยเปี๋ยง ในอดีตใช้ชื่ออื่น ก่อนจะมาเปลี่ยนเป็นชื่อนี้

“ตอนแรกผมก็ไม่รู้ข้อมูลนี้ จนกระทั่งเจ้าหน้าที่อคส.รายหนึ่ง เอาเอกสารฉบับนี้ มาให้ พอเห็นแล้วก็ถึงได้เข้าใจว่า ทุกอย่างมันเชื่อมโยงกันหมด เสี่ยเปี๊ยก กับ เสี่ยเปี๋ยง สองเสี่ย ป. นี่ แท้จริงแล้วมีความใกล้ชิดกัน และอาจเป็นหลักฐานที่ชี้ให้เห็นได้ว่า ทำไม เสี่ยเปี๊ยกถึงสามารถซื้อข้าวจากรัฐบาลได้ต่ำและนำไปขายต่อทำกำไรได้จำนวนมาก

ตรวจสอบข้อมูลที่อยู่ 25/3 หมู่ที่ 3 ถนน บางมูลนาก-ตะพานหิน ตำบลหอไกร อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร จากบริการสอบถามข้อมูล 1133 ได้รับแจ้งว่า เป็นสถานที่ตั้ง บริษัท เคทีบีไซโล จำกัด

ข้อมูลจากการกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า บริษัท เคทีบี ไซโล จำกัด แจ้งจดทะเบียนเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2547 ทุน 750,000,000 บาท ประกอบธุรกิจ ไซโลเก็บพืชผลทางการเกษตร ตั้งอยู่ที่เดียวกับบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด เลขที่ 48/7-8 ซอยรัชดาภิเษก 20 ถนนรัชดาภิเษก แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร

ปรากฏชื่อ นางสาว เรืองวัน เลิศศลารักษ์ และนางรัตนา แซ่เฮ้ง เป็นกรรมการ

นางสุดา คุณจักร ผู้ถือใหญ่ บริษัท สยามอินดิก้า ถือหุ้นใหญ่อยู่

จากการตรวจสอบพบว่า เดิมที่บริษัทแห่งนี้ มีชื่อว่า บริษัท สยามธัญรักษ์ ไซโล ปรากฏชื่อ นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง เป็นผู้ก่อตั้ง

(ดูหลักฐานประกอบ)



มีทุน 100 ล้าน ตั้งอยู่ที่ 557/1 ซอยสุทธิพร ถนนประชาสงเคราะห์ แขวงดินแดง เขตดินแดง นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร เป็นกรรมการ ผู้มีอำนาจ มีผู้ถือหุ้น 7 คน นายอภิชาติ ถือหุ้นใหญ่สุด

ก่อนที่จะมีการแจ้งเปลี่ยนชื่อ ที่อยู่ และกรรมการหลายหน รวมถึงการเพิ่มทุนเป็น 750 ล้านบาท

ขณะที่ นายอภิชาติ ลาออกจากตำแหน่งกรรมการ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2550 และโอนหุ้นไปให้คนใกล้ชิดถือครองแทน

จากการตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2549 บริษัทฯ ได้แจ้งเพิ่มที่ตั้งสำนักงานอีกแห่งหนึ่ง คือ 23/3หมู่ที่3 ถนนบางมูลนาก -ตะพานหิน ตำบลหอไกร อ.บางมูลนาก พิจิตร อีกแห่งหนึ่ง

โดยที่ตั้งดังกล่าว อยู่ใกล้เคียงกับ เลขที่ 25/3 หมู่ที่ 3 ถนน บางมูลนาก-ตะพานหิน ตำบลหอไกร อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร ที่ปรากฏอยู่ในสัญญาเช่าไซโล ระหว่าง อคส. กับ นายอเนก ฉัตรไชยศิริ หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วน โรงสี โชควรลักษณ์รุ่งเรืองกิจ ตามเอกสารที่นายแพทย์วรงค์นำมาเปิดเผย


สำหรับ หจก.โรงสีโชควรลักษณ์รุ่งเรืองกิจ จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2545 มีหุ้นส่วน3 คน นายเอนก ฉัตรไชยศิริ นางสุมาลี. ฉัตรไชยศิริ และนางสาววราภรณ์ ฉัตรไชยศิริ สำนักงานตั้งอยู่ที่ 145 หมู่ที่ 9 ตำบลโพตลาดแก้ว. อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี แจ้งประกอบกิจการโรงสีข้าว และค้าข้าว

เดิมที่มีทุน 5 ล้านบาท ก่อนจะปรับเพิ่มเป็น 100 ล้าน เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2548 โดย นายอเนก ลงหุ้นด้วยเงิน 60 ล้าน ส่วนนางสุมาลี และนางสาววราภรณ์ลงหุ้นด้วยเงิน คนละ 20 ล้าน



ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2556 หจก.ฯ แจ้งทำเรื่องขอแก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ ขอประกอบกิจการให้บริการในการบริหารจัดเก็บสินค้าในคลังสินค้า ปรับปรุงข้าว และบรรจุ

จากการตรวจสอบพบว่า นาย เอนก ฉัตรไชยศิริ มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องอีกจำนวน 3 แห่ง คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด โชควรลักษณ์ ค้าข้าว บริษัท กนก เมทัลแลนด์ จำกัด บริษัท กู๊ด ไรซ์ อินเตอร์เทรดดิ้ง จำกัด

แต่เลิกกิจการไปหมดแล้ว

ไม่ปรากฏข้อมูลความเขื่อมโยงกับ คนบริษัทในเครือข่าย สยามอินดิก้าแต่อย่างใด

จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า นายเอนก ฉัตรไชยศิริ นำสิทธิ์อะไรมาลงนาม ให้ อคส. เช่าไซโล ของบริษัท เคทีบี ไซโล จำกัด ในเครือข่ายเสี่ยเปี๋ยง เก็บข้าวจำนวน 2.8 แสนตัน หลายแสนตัน และเรียกเก็บค่าเช่าได้จำนวนหลายล้านบาทต่อเดือนแบบนี้


ล่าสุด ได้รับการยืนยันจาก นายเอนก ฉัตรไชยศิริ หจก.โรงสีโชควรลักษณ์รุ่งเรืองกิจว่า ข้อมูลที่นายแพทย์วรงค์นำมาอภิปราย ไม่ใช่ความจริง เป็นการจับแพะชนแกะ

“ผมเข้าไปประมูลข้าวตามปกติ ข้าวกองนี้เป็นข้าวเก่า ปี 2549-50 ซื้อมาได้ในราคาต่ำเพราะเป็นข้าวที่มีสภาพไม่ดี แต่ที่สำคัญที่สุดมันเป็นข้าวลม ไม่มีอยู่จริง เพราะโรงสีที่เก็บข้าวนี้ ไว้เอาข้าวออกไปขายก่อนแล้ว เมื่อผมประมูลมาได้ เขาก็กลัวคดีความ ก็เลยมาขอซื้อต่อในราคาตันละ 12,000 บาท”

“ต่อมาภายหลังจากที่มีปัญหาเกิดขึ้น ผมก็ได้ยกเลิกการซื้อข้าวกองนี้ไปแล้ว หากสื่อมวลชนไม่เชื่อขอให้ไปสอบถามข้อมูลจาก อคส.ได้ เขามีบันทึกไว้หมดเลยว่า ข้าวกองไหนมีปัญหา กองไหนเป็นลมบ้าง แต่แล้วมามีเรื่องแบบนี้ เขามาแทงหลังผม ”

ส่วนกรณีที่ปรากฏชื่อของตน ในเอกสารให้เช่าไซโล กับอคส. และมีการระบุข้อมูลว่า ไซโล นี่เป็นของ บริษัทเคทีบี ของเสี่ยเปี๋ยง นายเอนก ยืนยันว่า “ผมไปเช่าโกดัง นี้ มาจากธนาคารกรุงไทย เพราะเจ้าของเดิมมีหนี้อยู่ เช่ามาเกือบปีแล้ว ผมก็ทำธุรกิจของผม ไม่ได้มีอะไรเลย ไปเช็คประวัติผมดูได้ว่าเป็นอย่างไร”

เมื่อถามว่า จะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ต่อไป นายเอนก ตอบว่า "คงจะไม่ทำอะไรอีกแล้ว เพราะทำธุรกิจอยู่ดีๆ ไม่คิดว่าจะต้องมาเจอปัญหาอะไรแบบนี้ กลายเป็นแพะ เป็นจำเลยของสังคม ตอนนี้มีความคิดจะปิดกิจการแล้ว ไม่ทำต่อแล้ว ถอนตัวอำลาวงการข้าวไปเลยดีกว่า”

ด้าน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวยืนยันว่า ตนเชื่อมั่นในข้อมูลที่ตรวจสอบมาได้ เพราะมีการยืนยันจาก โรงสีเป็น 10 แห่ง ว่า เสี่ยเปี๊ยก คือ มือขวาในวงการค้าข้าวของ เสี่ยเปี๋ยง

“ จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ราคาข้าวเก่า ไม่ว่าจะเสื่อมสภาพขนาดไหน ก็ขายอยู่ที่ตันละ 8,000 –9,000 บาท การขายในราคาตันละ 5,700 บาท เป็นราคาที่ต่ำเกินไป ส่วนที่อ้างว่า ขายข้าวให้โรงสีไปในราคาสูง เพราะโรงสีต้องการจะนำไปปกปิดหลักฐานเรื่องสต็อกลม ถ้ามั่นใจในข้อมูลก็ควรจะต้องรีบชี้แจง และต่อสู้ ไม่ใช่คิดที่จะปิดกิจการหนีแบบนี้”

นายแพทย์วรงค์ ยังกล่าวถึงเรื่องการเช่าไซโล บริษัท เคทีบี ว่า จากการสอบถามข้อมูลกับนายธนาคารหลายคน ได้รับการยืนยันว่า ต่อให้บริษัทเคทีบี เป็นหนี้สถานบันเงินกู้อยู่เท่าไร กรรมสิทธิ์ของไซโล ก็ยังเป็นของบริษัทเคทีบีอยู่ ซึ่งทุกคนก็รู้ว่าแท้จริงแล้วบริษัทแห่งนี้เป็นของใคร

“คุณจะมาบอกว่า ไปเช่าจากธนาคารกรุงไทย แล้วบริษัทเคทีบีไม่รู้เรื่องด้วยมันเป็นไปไม่ได้ ถ้าเสี่ยเปี๊ยกไม่ได้มีความสนิทสนมกับ เสี่ยเปี๋ยง เขาจะยอมให้ไปเช่าโกดังรับฝากข้าวจำนวนมากแบบนี้หรือ” นายแพทย์วรงค์ระบุ

นี่คือ ข้อเท็จจริงจาก 2 ด้าน ที่ดูเหมือนจะกลายเป็นหนังคนละม้วน

ส่วนใครจะพูดความจริงหรือพูดเท็จ คงต้องจับตาดูกันต่อไปแบบห้ามกระพริบตา?

ที่มา.สำนักข่าวอิศรา
------------------------------------------------------

ศ.ดร.นิธิ เอี่ยวศรีวงค์ ชี้นโยบายประชานิยมยุค รบ.ปู เริ่มล้วงกระเป๋าคนอื่นแล้ว !!?

ศ.ดร.นิธิ เอี่ยวศรีวงค์  วิเคราะห์ความต่างนโยบายประชานิยมยุคทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ชี้รุ่นน้องสาวมือเริ่มล้วงกระเป๋าคนอื่นมากขึ้น ย้ำชัดจำเป็นต้องกำกับให้มือล้วงถูกกระเป๋า ขณะที่ ดร.อัมมาร มองประชานิยมทำให้การเมืองไทยถูกลง สังคมเปลี่ยน คนไทยแบมือขอรอจากรัฐบาล

 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES)  จัดเสวนาสาธารณะครั้งที่ 2 “คิดใหม่ประชานิยม: จากรัฐบาลทักษิณถึงยิ่งลักษณ์ เราเรียนรู้อะไรบ้าง”  ภายใต้โครงการเสวนาสาธารณะ ‘เศรษฐกิจแห่งวันพรุ่งนี้’ (Economy of Tomorrow) ณ ห้องประชุมชั้น 2 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย  เพื่อทบทวนชวนคิดเรื่อง ‘ประชานิยม’ ในเศรษฐกิจการเมืองไทยว่า 12 ปีผ่านไป นับตั้งแต่รัฐบาลไทยรักไทยในปี 2544 จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยได้เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับนโยบายประชานิยมบ้าง

วิทยากรประกอบด้วย ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์  นักวิชาการอิสระ, ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ  คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา และ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย  ดำเนินรายการโดย ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ openbook

เริ่มต้นศ.ดร.นิธิ กล่าวถึงนิยาม “ประชานิยม”  ในเมืองไทยว่า ค่อนข้างให้ความหมายจำกัดเกินไป  พร้อมสรุปลักษณะประชานิยมที่สำคัญ คือ เอาใจประชาชนระดับล่าง กำปั้นเล็ก เสียงเยอะ โดยวิธีเอาใจก็ทำได้ทั้ง ขวาจัด หรือซ้ายจัด เผด็จการก็ได้ ประชาธิปไตยก็ได้ ตราบใดยังเอาใจประชาชนเพื่อการสนับสนุน

“ยุคหลังของนโยบายประชานิยม ที่พบเห็นเสมอ คือ กระจายทรัพยากรไปถึงประชาชน ถึงมือคนระดับล่างในรูปแบบใดก็ได้ เช่น การทำกองทุนหมู่บ้าน เป็นต้น”

ทำนโยบายประชานิยม มือเริ่มล้วงกระเป๋าคนอื่น

ศ.ดร.นิธิ  กล่าวถึงนโยบายประชานิยมรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทั้งค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท จำนำข้าวทุกเมล็ด 15,000 บาท เริ่มล้วงไปกระเป๋าคนอื่นแล้ว ดีไม่ดียังไม่พูดถึง

“ความแตกต่างสำคัญระหว่างนโยบายประชานิยมยุคทักษิณ กับยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์  คือ  มือเริ่มล้วงกระเป๋าคนอื่นมากขึ้น  ดังนั้นจำเป็นต้องสร้างพลังขึ้นมากำกับมือนั้น หรือสอนมือนั้นให้ล้วงให้ถูกต้อง ล้วงเอาไปใช้ในทางที่ทำให้ประชาชนเข้มแข็งขึ้น”  นักวิชาการอิสระ  กล่าว และพร้อมกับเห็นว่า นโยบายประชานิยม เหมาะอย่างยิ่งในการทำให้เกิดระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ นโยบายประชานิยมทุกประเภทจะมีเชื้อนำเราไปสู่เผด็จการเบ็ดเสร็จได้  หากเราไม่เอาใจใส่ความเป็นธรรม ความชอบธรรมของอำนาจ

ส่วนนโยบายจำนำข้าว ศ.ดร.นิธิ  กล่าวว่า  “ทำก็ได้ ไม่ได้เสียหายมากมาย หากเริ่มต้นด้วยการระมัดระวังเรื่องการโกง การระบายข้าวออก แม้จะทำให้รัฐบาลขาดทุนแน่ แต่เป็นไรไปหากขาดทุน”

อัมมาร ย้ำชัด ประชานิยมทำให้การเมืองไทยถูกลง

ขณะที่ ศ.ดร.อัมมาร กล่าวถึงนโยบายประชานิยมในเชิงเศรษฐกิจ เสน่ห์ของประชานิยมตั้งแต่ยุคทักษิณ ถือว่า เป็นนโยบายระดับชาติที่เอาใจประชาชน ก่อนหน้านั้นนักการเมืองไทย มีแค่ประชานิยมระดับพื้นที่ เช่น นายบรรหาร ศิลปอาชา

“แต่ประชานิยมยุคทักษิณ เป็นนวัตกรรม ด้วยการรวบรวมนโยบายต่างๆ มาทำเป็นระดับชาติ และทำให้ประชาธิปไตยก้าวขั้นไปอีกจุดหนึ่งในทางที่ดีขึ้น โดยสัญญากับประชาชนที่ได้รับเลือกตั้งมา ทักษิณก็ทำตามที่สัญญาไว้เป็นส่วนใหญ่ รวมถึงรับผิดชอบต่อสัญญาที่ให้ไว้” ศ.ดร.อัมมาร กล่าว และว่า ที่ค้านประชานิยมมาโดยตลอดนั่นก็คือรับผิดชอบเพียงครึ่งเดียว พูดว่า มีคนได้ แต่ไม่มีการพูดถึงข้อเสียของประชานิยม

ศ.ดร.อัมมาร กล่าวถึงพรรคฝ่ายค้านอีกว่า ก็อ่อนแอเกินไปที่จะหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาถกเถียงในระหว่างการหาเสียง โดยเฉพาะกับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แย่มาก ที่ทุกพรรคการเมืองแข่งกันออกนโยบายประชานิยม เหมือนแม่ค้าเอาของมาเร่ขาย วางกับดิน

"ผมไม่ชอบประชานิยมแบบที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะทำให้ “การเมืองถูกลง”  ทุกคนพูดกับประชาชนจะได้อันนั้นอันนี้ คนไทยเลยคิดว่า ฉันจะได้อะไรจากรัฐบาล แต่รัฐบาลกลับไม่ได้พูดกับประชาชนจะทำอะไรให้สังคมโดยรวมบ้าง ทั้งๆ ที่ประชานิยมที่ฉลาดต้องไม่ทิ้งส่วนไหนเลยของสังคม"

จำนำข้าว เอื้อประโยชน์ชาวนาระดับบน โรงสี

ส่วนนโยบายจำนำข้าวนั้น นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ในบางโอกาสอาจเห็นด้วย แต่ระบบที่สร้างขึ้นมาปัจจุบันนั้น เป็นระบบที่เอื้อชาวนาระดับบน และบังเอิญชาวนาระดับล่างได้ด้วย ถือเป็นอานิสงส์  ขณะที่คนจำนวนมาก เช่นโรงสี ได้ประโยชน์ และกลายเป็นตัวประกอบสำคัญในระบบการเมืองท้องถิ่น จึงถือเป็นการบริหารจัดการที่ชาญฉลาดของรัฐบาลยุคนี้

“หากรัฐบาลของทักษิณ มีนโยบายชัดเจน สิ่งที่ทำ คือ การเจาะจงนโยบายประชานิยมไปให้คนยากจน  คนพิการ คำนึงถึงคนอ่อนแอที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจก่อน แทนคนที่มีฐานะดีอยู่แล้ว อย่างเช่น จำนำข้าว ชาวนาที่มีฐานะดี ซึ่งเป็นส่วนน้อย (ผลิตข้าวได้เป็นส่วนใหญ่) แต่กลับได้ส่วนแบ่งส่วนใหญ่ที่รัฐบาลโปรยไปให้ ผมถือว่าเป็นการออกแบบนโยบายที่ผิดพลาด”  ศ.ดร.อัมมาร กล่าว และว่า  ตลาดข้าว ครึ่งหนึ่งเป็นตลาดส่งออก หากไม่มีการส่งออกข้าว จะมีข้าวในประเทศเหลือบานตะไท ข้าวจำนวนมากที่ผลิตออกมาเพื่อให้เน่าในโกดัง เหล่านี้ รัฐบาลไม่คิดแก้ตั้งแต่ต้น เพราะเป็นแหล่งที่มาของรายได้ของพ่อค้าข้าวกลุ่มเดียว สร้างล็อบบี้ทางการเมืองที่มีพลังอยู่ในใจกลางของรัฐบาล

ทั้งนี้ ศ.ดร.อัมมาร กล่าวถึงการสร้างความรู้สึกของคนไทยให้เกิดขึ้นกับเงินที่รัฐบาลนำมาใช้ทำนโยบายประชานิยมด้วยว่า ประชาชนทุกคนต้องทราบ ต้องแค้น เวลามีการฉ้อราษฎร์บังหลวงเงินสาธารณะ

ขณะที่ดร.สมเกียรติ กล่าวถึงประชานิยมทางเศรษฐกิจในประเทศไทย 10 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ไม่ได้สร้างความสามารถให้กับประชาชน หรือภาคธุรกิจเลย โดยเฉพาะนโยบายประชานิยมรุ่นที่ 2 ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทั้งด้อยคุณภาพ และมีปัญหามาก

“ รถคันแรก นโยบายลด แลก แจก แถม ที่มีปัญหามาก เกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองนักลงทุนญี่ปุ่น ธุรกิจยานยนต์ข้ามชาติ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ต่างจากนโยบายประชานิยมรุ่นแรก (ยุคทักษิณ) ฐานกว้าง  ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค ที่สร้างขีดความสามารถให้กับประชาชน ขณะที่โอท็อป ก็สร้างความสามารถให้ธุรกิจชุมชน  ผมจึงไม่เรียกนโยบายประชานิยม”

สุดท้าย ดร.เกษียร กล่าวถึงปัญหาแท้จริงของประเทศไทย ไม่ใช่ “นโยบายประชานิยม” แต่คือ “การเมืองแบบประชานิยม”  อำนาจนิยม โดยนโยบายจำนำข้าว รถคันแรก ฯลฯ นโยบายเหล่านี้เป็นปัญหาเพราะเข้าไปอยู่ในการเมืองแบบประชานิยม หากเราไม่แก้ตรงนี้ ก็แตะไม่ถูกจุด

ดร.เกษียร  กล่าวถึงปัญหาการเมืองแบบประชานิยม ปิดแคบ ขีดเส้นจำกัดมาก ฉะนั้นกระบวนการต้องเปิดให้สังคมเข้ามามีส่วนร่วม มีพื้นที่ให้ทะเลาะกันในเชิงนโยบาย

“ หากแก้ปัญหานโยบายประชานิยม ไม่ว่าจะเป็นนโยบายจำนำข้าว รถคันแรก ไม่ใช่นั่งทะเลาะเรื่องนโยบาย แต่ต้องฟันลงไปที่การเมืองแบบประชานิยม  แก้การเมืองประชานิยมด้วยการที่ฝ่ายต่างๆ ต้องวาง ซึ่งหากไม่เปลี่ยนตรงนี้ เราจะไม่สามารถเปิดให้คนต่างๆ เข้ามาถกเถียงได้”

ที่มา.สำนักข่าวอิศรา
-------------------------------------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ยุทธศาสตร์ยิ่งใหญ่ของจีนสร้างเมืองใหม่ ส่งอิทธิพลต่อโลกในศตวรรษ ที่ 21 !!??

คอลัมน์ คิดนอกรอบ

เมื่อไม่นานมานี้ Joseph Stiglitz นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่จะมีอิทธิพลต่อโลกในศตวรรษที่ 21 คือการสร้างเมืองใหม่ของจีน และการพัฒนาเทคโนโลยี่ขั้นสูงในสหรัฐอเมริกา

เมื่อจีนตัดสินใจเปิดประเทศก้าวสู่โลกาภิวัตน์ นักลงทุนจากนานาประเทศต่างหลั่งไหลเข้าไปลงทุน จนมีคำกล่าวว่า "ถนนทุกสายมุ่งสู่จีน" ส่งผลให้จีนมีสภาพเป็นดั่ง "โรงงาน" ของโลกเศรษฐกิจ ติดปีกทะยานจนกลายเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก

ปัจจุบันวงล้อเศรษฐกิจของจีนเริ่มชะลอตัวลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรป จีนจึงไม่สามารถพึ่งพาการส่งออกเหมือนเช่นที่ผ่านมา

"มังกรที่ยิ่งใหญ่อย่างจีน จึงต้องวางแผนเปลี่ยนโฉมรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่ง 1 ในยุทธศาสตร์สำคัญคือการสร้างเมืองใหม่ โดยถือเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่สำคัญแห่งทศวรรษของจีน"

การสร้างเมืองใหม่ของจีนมีความสำคัญมาก เพราะเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนหลายร้อยล้านคน

การสร้างเมืองในรูปแบบใหม่ คือการผลักดันการพัฒนาความเป็นเมืองอย่างมั่นคง เพื่อยกระดับคุณภาพของความเป็นเมือง ลดช่องว่างระหว่างคนในชนบทและคนเมือง

"ที่สำคัญที่สุดนั้น คือการสร้างเมืองใหม่จะเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญที่สุดในการก่อให้เกิดการกระตุ้นอำนาจซื้อภายในประเทศ การจ้างงาน เกิดอุปสงค์ และนำมาซึ่งธุรกิจที่หลากหลาย ทั้งด้านการค้า อสังหาริมทรัพย์ เกษตรกรรม การท่องเที่ยว เทคโนโลยี และการป้องกันประเทศ ซึ่งจะเป็นพลังผลักดันให้เศรษฐกิจจีนทะยานไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนนับจากนี้เป็นต้นไป"

นอกจากนี้ จีนยังถือว่าการสร้างเมืองใหม่ เป็นเรื่องของการประกาศความยิ่งใหญ่ของจีนต่อชาวโลก ดังตัวอย่าง การสร้างเมือง "ผู่ตง" สะท้อนถึงปรัชญาของ "เหมา เจ๋อ ตุง" ที่ว่า "ลมตะวันออกสามารถเอาชนะลมตะวันตก" ทำให้นานาประเทศเห็นว่า แม้แต่เมืองแมนฮัตตันที่ว่าโด่งดังของสหรัฐอเมริกา ก็ยังสู้ "ผู่ตง" ของมังกรจีนไม่ได้

"เพราะจีนได้สร้างผู่ตง (Pu Dong) ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของแม่น้ำหวงผู่ ของนครเซี่ยงไฮ้ ให้เป็นศูนย์กลางทางการเงินและธุรกิจของเซี่ยงไฮ้และจีน ซึ่งเดิมทีพื้นที่บริเวณนี้เป็นเพียงหมู่บ้านชาวนา โกดังเก็บสินค้า"

เขตเมืองใหม่ผู่ตง มีพื้นที่ทั้งหมด 1,210 ตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ 4.12 ล้านคน คิดเป็นประมาณ 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรนครเซี่ยงไฮ้ ผู่ตงมีลักษณะตามภูมิศาสตร์เป็นสามเหลี่ยม ด้านตะวันออกติดกับแม่น้ำหวางผู่ ด้านตะวันตกติดกับปากแม่น้ำแยงซีเกียง และยังเป็นจุดศูนย์กลางของท่าเรือสำคัญของประเทศจีน ที่ซึ่งแม่น้ำแยงซีเกียงไหลลงทะเลจีน อันเป็นดินแดนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีเกียงที่กว้างใหญ่และอุดมสมบูรณ์

สามารถขยายการค้าไปยังประเทศที่อยู่ริมมหาสมุทรแปซิฟิก และประเทศทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เศรษฐกิจพัฒนาแล้วได้อีกด้วย เขตผู่ตงไม่เพียงแต่เป็นที่ตั้งของย่านศูนย์กลางการเงิน ท่าเรือ เขตพัฒนาอุตสาหกรรมจินเฉียวและจางเจียงเท่านั้น แต่จะเป็นที่ตั้งของเขตคลังสินค้าทัณฑ์บนท่าเรือน้ำลึกหยางซาน ซึ่งจะทำให้ผู่ตงกลายเป็นศูนย์รวมแหล่งอุตสาหกรรมการค้าและการเงินสำคัญแห่งใหม่ที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของจีน

รัฐบาลจีนใช้เวลาไม่ถึง 20 ปีในการเนรมิตผู่ตงให้กลายเป็นเมืองใหม่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลจีนระดมทรัพยากรจากทั่วโลก เชิญชวนวิศวกร สถาปนิกชั้นนำของโลก มาช่วยกันสร้างสรรค์ออกแบบอาคารสูง ในสไตล์ใหม่ ๆ ที่แตกต่างไปจากเดิม และเชิญบริษัทใหญ่ ๆ ที่มีชื่อเสียงของโลกในด้านต่าง ๆ ทั้งสถาบันการเงิน ประกันภัย น้ำมัน ฯลฯ เข้ามาลงทุน มีระบบสาธารณูปโภค ระบบขนส่งมวลชน ถนน 8 เลน สิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน

ผู่ตงวันนี้จึงได้กลายเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนแสนยานุภาพของจีนและความทันสมัยทัดเทียมอารยประเทศ

อย่างไรก็ตาม นโยบายการสร้างเมืองใหม่ของจีน ก็มิใช่ว่าจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ ที่ผ่านมาเห็นได้ว่าการสร้างเมืองของจีนก่อให้เกิดปัญหาหลายประการ อาทิ สร้างเสร็จแล้วไม่มีคนอยู่ หรือบางเมืองมีการย้ายคนออกไปแล้ว แต่ยังไม่ได้สร้างหรือพัฒนา เป็นต้น

ทั้งนี้ เพราะความเป็นเมืองไม่ได้หมายถึงจำนวนประชากร หรือขนาดของพื้นที่เท่านั้น หากยังต้องพัฒนาด้านอื่น ๆ ไปพร้อม ๆ กันด้วย ได้แก่ สิ่งแวดล้อม ธุรกิจ การจ้างงาน โดยเฉพาะการจะทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีงานทำ ก็ยังเป็นเรื่องที่ไม่สามารถสั่งการได้ ดังนั้น การสร้างเมืองนี่จึงเป็นสิ่งท้าทายที่ยิ่งใหญ่มากของจีนอีกเรื่องหนึ่ง

อย่างไรก็ดี การสร้างเมืองใหม่ในอดีตที่ผ่านมา อาจจะเป็นบทเรียนที่ดีต่อจีนในเวลานี้ ดังนั้น ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ดูเหมือนว่ามังกรจีนจะไม่เน้นเร่งอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในเชิงตัวเลขเท่าใดนัก

"แต่จะเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างทั่วถึงเป็นแกนหลัก เพื่อนำไปสู่สังคม "เสี่ยวคัง" หรือ "สังคมที่กินดีอยู่ดีอย่างทั่วหน้า""

ดังนั้น เราจึงได้เห็นการให้น้ำหนักของการสร้างเมือง เปลี่ยนจากเมืองใหญ่มาสู่การสร้างเมืองในรูปแบบใหม่ เป็นเมืองในชนบทมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก และจะมีอิทธิพลในอีก 20 ปีข้างหน้าด้วย

นอกจากนี้ เมืองในรูปแบบใหม่ยังคงดำรงไว้ซึ่งอารยธรรมของสังคมเกษตรกรรม การพัฒนาสู่ความเป็นเมืองในรูปแบบใหม่ ต้องไม่เป็นการทำลายนโยบาย "3 เกษตร" (ชุมชนเกษตร การเกษตร และเกษตรกร) หากแต่ต้องมีผลต่อการแก้ไขปัญหา "3 เกษตร" เพื่อให้ประชาชนจีนที่เป็นเกษตรกรกว่า 700-800 ล้านคนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

และการสร้างเมืองใหม่ในทศวรรษนี้จะต้องทำให้เกิดการพัฒนาภาคเกษตรของจีนให้ทันสมัย คือต้องใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การจัดการที่สมัยใหม่ รวมถึงต้องแก้ปัญหากฎหมายที่ดิน เพื่อที่จะเอาที่ทำการเกษตรเข้ามารวมเป็นผืนใหญ่ มาทำภาคเกษตรสมัยใหม่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้รับการท้าทายให้เข้าไปมีบทบาทในการร่วมกับภาครัฐของจีน ดำเนินโครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมทันสมัยหลายแห่ง ผลประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ที่จีนต้องการก็คือความอยู่รอดของประเทศชาติ

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ ก็ทำให้อดที่จะเหลียวดูประเทศไทยของเราไม่ได้ ซึ่งดูเหมือนว่าเราจะไม่มีนโยบายการพัฒนาเมือง ไม่ว่าจะเป็นเมืองใหญ่หรือเมืองเล็ก ที่ชัดเจนเช่นประเทศจีน

หากในแง่การกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต นอกเหนือจากการพึ่งพาการส่งออก การบริโภคภายในประเทศ การลงทุนต่างประเทศแล้ว เราเลือกที่จะลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ หรือเมกะโปรเจ็กต์เท่านั้น

"อย่างล่าสุด โครงการเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เพื่อสร้างระบบคมนาคมขนส่งทั่วประเทศ ต้องดูกันต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร จะพัฒนาประเทศได้อย่างที่กล่าวไว้หรือไม่
  
    โดย ดร.สารสิน วีระผล รอง กก.ผจก.ใหญ่ เครือเจริญโภคภัณฑ์

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
--------------------------------------------------------

โฆสิต มอง กนง.ลดดอกเบี้ยตอบสนองตัวเลขเศรษฐกิจระยะสั้น !!?

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ ในฐานะอดีตรองนายกรฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโนบายลงร้อยละ 0.25 เหลือร้อยละ 2.50 ว่า เป็นเรื่องของการตอบสนองตัวเลขการเติบโตเศรษฐกิจในระยะสั้น

หลังจากในไตรมาสที่ 1 ที่ขยายตัวติดลบเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ ไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยว่าอยู่ในช่วงขาลง

อย่างไรก็ตามมองว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้เป็นเพียงความเชื่อว่าจะสามารถสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่โดยส่วนตัวเห็นว่าหลายประเทศมีการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยต่ำ ก็ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น ซึ่งการดำเนินนโบายอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ จะเกิดความเสี่ยงต่อภาพรวมเศรษฐกิจระยะยาวได้

นอกจากนี้  ยังมองอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงจะมีผลต่อการออมของประเทศให้ลดลง เนื่องจากผลตอบแทนไม่สร้างแรงจูงใจในการออม โดยในอนาคตจะมีปัญหาได้ ดังนั้นการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกรุงเทพจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับผลของกนง.หรือไม่ ต้องพิจารณาอีกครั้งก่อน

ด้านนายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินกรุงเทพ หรือสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส มองว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของกนง.ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของสายการบินมากนัก เนื่องจากสายการมีการดำเนืนธุรกิจโดยอิงค่าดอลลาร์สหรัฐเพียงอย่างเดียว ขณะเดียวกันในภาวะที่ค่าเงินบาทแข็งขึ้น ได้ส่งผลดีต่อต้ยทุนในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะค่าน้ำมันที่มีต้นทุนถึงร้อยละ 30-35 ของต้นทุนการดำเนินงานทั้งหมด รวมถึงลดต้นทุนด้านอุปกรณ์สำนักงาน และอุปกรณ์ภาคธุรกิจการบิน

ที่มา : สำนักข่าวไทย
----------------------------------

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน !!?

alt

IMF ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจจีน ฉุดราคาน้ำมันดิ่งลง
เวสต์เท็กซัสส่งมอบเดือน ก.ค.ปรับลดลง 1.88 เหรียญฯ ปิดที่ 93.13 เหรียญฯ ส่วนเบรนส่งมอบเดือน ก.ค.ปรับลดลง 1.8 หรียญฯ ปิดที่102.43 เหรียญฯ

-  กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์การเจริญเติบโตเศรษฐกิจจีนในปี 2556 ลงจาก 8% สู่ระดับ 7.75% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงจะส่งผลกระทบต่อภาคส่งออก สอดคล้องกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ที่ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจจีนลงเช่นกันจากระดับ 8.5% สู่ 7.8% ในปี 2556 และลดลงจากระดับ 8.9% เหลือ 8.4% ในปี 2557 เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัวและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง

- สถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานของสหรัฐ (API) ) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปิด ณ วันที่ 24 พ.ค. 56 ปรับเพิ่มขึ้น 4.4 ล้านบาร์เรล สวนทางกับนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะลดลง 400,000 บาร์เรล นอกจากนี้ ปริมาณน้ำมันดิบที่คุชชิ่งปรับเพิ่มขึ้น 300,000  บาร์เรล ส่วนน้ำมันเบนซินคงคลังปรับเพิ่มขึ้น 1.9 ล้านบาร์เรลและน้ำมันดีเซลคงคลังเพิ่มขึ้น 3.1 ล้านบาร์เรล ตามลำดับ

- ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ตลาดแรงงานและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความเป็นไปได้ในการปรับลดปริมาณการเข้าซื้อพันธบัตร (QE) ของธนาคารกลางสหรัฐฯก่อนกำหนดมีมากขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยหลักที่จะกดดันสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะตลาดหุ้นและสินค้าโภคภัณฑ์ต่อจากนี้ไป

-/+ การประชุมกลุ่มโอเปกที่จะมีขึ้นในวันศุกร์นี้ที่ ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย นักวิเคราะห์และตัวแทนจากกลุ่มประเทศโอเปกหลายคนได้คาดการณ์ว่าที่ประชุมจะมีมติให้คงปริมาณการผลิตของกลุ่มไว้ที่ 30 ล้านบาร์เรลต่อวันต่อไป เนื่องจากระดับราคาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันที่ระดับ 100 เหรียญฯต่อบาร์เรล อยู่ในระดับที่กลุ่มโอเปกยอมรับได้

+ สถานการณ์ความไม่สงบในซีเรียมีทีท่าว่าจะรุนแรงขึ้นแม้จะมีความพยายามจากสหรัฐฯและรัสเซียที่จะจัดให้มีการประชุมเพื่อหาทางออกในเดือนมิ.ย. อย่างไรก็ตามล่าสุดรัสเซียได้ออกมาประณามมติของสหภาพยุโรปที่จะไม่ต่ออายุสนธิสัญญาห้ามขนถ่ายอาวุธให้กับกลุ่มกบฏซีเรีย โดยรัสเซียเตรียมที่จะส่งขีปนาวุธต่อต้านอากาศยาน S-300 และอาวุธอื่นๆ ไปยังซีเรียเพื่อยับยั้งการแทรกแซงของต่างประเทศ

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากอินเดียและการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นในอินเดีย ช่วยหนุนไม่ให้ราคาปรับลดลงมากนัก

ราคาน้ำมันมันดีเซล ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไป เนื่องจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูร้อนจากตะวันออกกลางและแอฟริกา รวมทั้งน้ำมันดีเซลคงคลังในญี่ปุ่นที่ปรับลดลง

ทิศทางราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นและปัจจัยที่น่าจับตามอง
กรอบการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ คาดว่าเบรนท์จะอยู่ที่กรอบ 98 - 106 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนเวสต์เท็กซัสที่ 90 -98 เหรียญ ติดตามจีดีพีไตรมาส 1(ครั้งที่2) ยอดสัญญาซื้อขายบ้านรอปิดการขายและยอดขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงานสหรัฐฯ รวมทั้งดัชนีชี้วัดภาวะเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นผู้บริโภคยูโรโซน

ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ได้แก่
วันพฤหัส: จีดีพีไตรมาส 1(ครั้งที่2) ยอดสัญญาซื้อขายบ้านรอปิดการขายและยอดขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงานสหรัฐฯ ดัชนีชี้วัดภาวะเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นผู้บริโภคยูโรโซน
วันศุกร์: อัตราว่างงานและดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคลสหรัฐฯ ดัชนีภาคการผลิตเมืองชิคาโก ความรู้สึกของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจ ม. มิชิแกน (Revised)
วันเสาร์: ดัชนีภาคการผลิตโดยทางการจีน

- ติดตามการประชุมกลุ่มโอเปกที่จะจัดขึ้น ณ นครเวียนนา ประเทศออสเตรียว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเป้าหมายปริมาณการผลิตน้ำมันดิบโดยรวมของกลุ่มที่ระดับ 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันดิบดูไบให้อยู่ในระดับ 100 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลหรือไม่

  - ติดตามปฎิกิริยาตอบสนองของตลาดต่อคำแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯว่ามีโอกาสที่จะลดปริมาณการเข้าซื้อพันธบัตรหรือยกเลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หากตลาดแรงงานและตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

- จับตาสถานการณ์ความไม่สงบในซีเรียที่ยังมีการปะทะกันอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดมีความพยายามจากสหรัฐฯและรัสเซีย เรียกร้องให้ซีเรียส่งตัวแทนเข้าร่วมการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงดังกล่าวซึ่งจะจัดขึ้นที่นครเจนีวาในเดือนมิ.ย.นี้

- ติดตามความรุนแรงรายวันในอิรัก ทั้งในเมืองหลวงแบกแดดและเขตปกครองตนเองชาวเคิร์ดทางตอนเหนือที่มีปัญหาข้อพิพาทในการแบ่งผลประโยชน์ด้านน้ำมันกับรัฐบาลอิรัก

- ติดตามสถานการณ์ก่อนการเลือกตั้งในอิหร่านที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 มิ.ย. หลังมีการตัดสิทธิ์ตัวเต็ง 2 คนทั้งนายอัคบาร์ ฮาเชมี ราฟซานจานี อดีตประธานาธิบดีและนายเอสฟานด์ยาร์ ราฮิม มาชาอี คนสนิทประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ทำให้เหลือผู้สมัคร 8 ราย ซึ่งส่วนใหญ่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมและมีความภักดีต่อ อยาตอลลาห์ อาลี คาเมนีผู้นำสูงสุด

ที่มา.นสพ.ฐานเศรษฐกิจ
------------------------------------------------------------------------

คลังแก้กฎคุมเงินทุน หวังกดค่าเงินบาทอ่อน !!?


กฎคุมเงินทุน,เงินไหลเข้า,ค่าเงินบาท,ธปท.,กนง.,

กิตติรัตน์. เผยเตรียมออกประกาศกระทรวงการคลัง ดูแลเงินทุน"เข้า-ออก"หวังเป็นเครื่องมือให้ธปท.ใช้ได้ทันที เพื่อดูแลค่าเงินบาท คาดประกาศใน3วัน

คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบกรอบการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจปี 2556 ตามข้อเสนอของ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยมีมาตรการที่ต้องประสานกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการดูแลค่าเงินบาทเอาไว้ด้วย ในขณะที่จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน วันนี้ (29 พ.ค.)

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังจะมีการแก้ไขร่างประกาศกระทรวงการคลังควบคุมการไหลเข้า-ออกของเงินลงทุนจากต่างประเทศจากเดิมที่มีการควบคุมเพียงเงินทุนไหลออกเพียงอย่างเดียว ซึ่งหากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เห็นถึงความเหมาะสมในควบคุมเงินไหลเข้า-ออกก็สามารถดำเนินการได้ทันที โดยรายงานให้กระทรวงการคลังทราบเท่านั้น

"การแก้ไขร่างประกาศดังกล่าว เพื่อให้ภาครัฐมีเครื่องมือดำเนินการได้ แต่ในการนำมาใช้ปฏิบัติจะต้องมีการนำเสนอจาก ธปท. มาให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเห็นชอบ ซึ่งสามารถทำได้เลยในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ส่วนข้อเสนอในการยกร่างระดับกฎหมาย เช่น การออกเป็นร่างพระราชบัญญัติ เนื่องจากช่วงนี้สภาปิด จึงยังไม่พิจารณานำมาใช้และขอนำข้อมูลเนื้อหาภายในร่างกฎหมายมาศึกษาให้รอบคอบในช่วงนี้ไปก่อน" นายกิตติรัตน์กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี วานนี้ (28 พ.ค.)

ได้ส่งร่างกฎหมายเพื่อควบคุมเงินทุนไหลเข้าประเทศมาในรูปแบบของร่างพระราชบัญญัติ และร่างพระราชกำหนด เพื่อให้กระทรวงการคลังพิจารณาดำเนินการเพื่อให้มีเครื่องมือไว้ใช้เมื่อมีความจำเป็นหากต้องมีการ ขณะนี้กระทรวงการคลังได้เลือกใช้วิธีการแก้ไขร่างประกาศกระทรวงการคลังเพื่อกำกับดูแลเงินทุนไหลเข้าและเงินทุนไหลออก ซึ่งเป็นการแก้ไขประกาศฉบับเดิมที่ไม่กำหนดจำนวนของเงินทุนไหลเข้า เนื่องจากแต่ก่อนประเทศไทยอยากได้เงินไหลเข้า และเมื่อก่อนได้จำกัดเงินทุนไหลออก เพราะไม่อยากให้เงินไหลออก จึงได้มีการแก้ไขไหม้ โดยได้ส่งร่างแก้ไขประกาศฉบับดังกล่าวมายังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาในอีก 2-3 วันข้างหน้าจะมีผลใช้บังคับได้ทันที"นายกิตติรัตน์ กล่าว

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า มาตรการทางการเงินจำเป็นที่จะต้องสอดคล้องกับมาตรการทางการคลัง โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นเท่าไร ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แต่ควรมีความเหมาะสม และไม่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่ง ทั้งนี้เชื่อว่าจากแผนดังกล่าวจะสามารถผลักดันให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตได้ ตามเป้าอย่างมีเสถียรภาพ

"ทุกมาตรการที่ออกมา จะให้ทุกภาคส่วนใช้เป็นกรอบการทำงานร่วมกัน ไม่ใช่พูดกันทีละครั้งสองครั้งเหมือนที่ผ่านมา โดยกรอบดังกล่าวมีต้องทำสอดคล้องกันระหว่าง การสร้างความเชื่อมั่นและทำให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพในระยะสั้น และรักษาอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ นอกจากนี้นายกรัฐมนตรี ยังได้มอบหมายให้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯและรมว.คลัง เป็นหัวหน้าทีม คอยติดตามสถานการณ์ ก่อนสรุปและรายงานให้ครม.รับทราบทุกเดือน"

ด้าน นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่าจากการหารือกันในที่ประชุมครม.มีความสบายใจมากขึ้น เพราะทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีความคิดเห็นที่สอดคล้องกันในเรื่องของการดูแล เสถียรภาพเศรษฐกิจและค่าเงินบาท โดยจะมีมาตรการในการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจออกมาอย่างเหมาะสม ซึ่งจะมีทั้งมาตรการทางการเงิน มาตรการคลังควบคู่กัน โดยไม่ให้มีการหารือกันถึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในที่ประชุมครม.ครั้งนี้แต่อย่างใด

การประชุม ร่วมกับ ครม.ครั้งนี้เป็นการกดดันให้ กนง.ลดดอกเบี้ยหรือไม่ ผู้ว่าการ ธปท.หัวเราะ ก่อนที่จะบอกว่า "พรุ่งนี้ก็จะมีการประชุมแล้วรอฟังผลพรุ่งนี้"

สศช.รายงานครม.ผลกระทบค่าเงิน

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมมีมติรับทราบมาตรการกรอบเสถียรภาพเศรษฐกิจ ปี 2556 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกรอบการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและให้เศรษฐกิจของไทยมีเสถียรภาพเติบโตในระยะยาวที่ระดับ 5% โดยมาตรการทั้งหมดมีการเตรียมความพร้อมด้วยการวางแนวทางในการดูแลเสถียรภาพทาง เศรษฐกิจและค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่ากว่าประเทศในภูมิภาค

ทั้งนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบกรอบเสถียรภาพเศรษฐกิจ 2556 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางเศรษฐกิจทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ

การประชุมในครั้งนี้มีการนำเสนอเรื่องนี้เป็นวาระจรที่ 1 ใช้เวลาในการพิจารณากว่า 1 ชั่วโมง 30 นาที โดยมาตรการทั้งหมดที่ออกมามี 22 ข้อ แบ่งเป็นมาตรการ ด้านการเงิน 7 ข้อ มาตรการด้านการคลัง 7 ข้อ และมาตรการเฉพาะด้าน 8 ข้อ นอกจากนี้ ครม.มอบหมายให้นายกิตติรัตน์ เป็นหัวหน้าทีมในการดำเนินงาน และให้สศช.เป็นฝ่ายเลขานุการ ติดตามรายงานผลการดำเนินการตามมาตรการให้ครม.รับทราบทุกเดือน

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า สศช.ได้รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจ ตลอดจนปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ในปีนี้ โดยมุ่งไปที่ผลกระทบจากทุนไหลเข้าเนื่องจากมาตรการผ่อนคลายทางการเงินหรือคิวอี ส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้น นอกจากนี้ยังเสนอมาตรการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ต่อไปในระยะยาว โดยได้เสนอนโยบายที่เร่งด่วนใน 6 เดือน ซึ่งเป็นข้อสรุปจากนโยบายของรัฐบาลที่ยังไม่ได้ดำเนินการ

"ยิ่งลักษณ์"ยัน'กิตติรัตน์-ประสาร'ไม่ขัดแย้ง

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าในการประชุมครม. ทางกระทรวงการคลังและสศช. ร่วมกับนายกิตติรัตน์ นำเสนอกรอบนโยบายการแก้ไขปัญหาสภาวะเศรษฐกิจในช่วงนี้ ซึ่งการแก้ปัญหาเศรษฐกิจนั้นมีทั้งหมด 3 ด้าน คือ การเงิน การคลัง และมาตรการเฉพาะด้านที่เป็นมาตรการของแต่ละกระทรวง

"วันนี้เราเลยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวบรวมแผนงานที่ให้ทุกกระทรวงดำเนินการ และที่เราได้สั่งการให้ครม.ทั้งหมด เป็นแผนแบบบูรณาการที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบและรับฟัง ซึ่งเราได้เชิญนายประสารเข้ามาฟังด้วย เพราะว่าเป็นผู้ที่ถ้าเห็นพ้องตามแผนก็จะได้นำรายละเอียดนี้ไปปฏิบัติ เพราะขั้นตอนในการปฏิบัติต้องเป็นหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานที่จะต้องไปทำ"

นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของรัฐบาลมีหน้าที่ในการบูรณาการด้านนโยบายภาพรวม แต่ทางด้านธปท.จะเป็นในแง่เทคนิคที่เราไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายได้ ซึ่งตรงนี้เป็นที่มา โดยเบื้องต้นมติครม.และผู้ที่เกี่ยวข้องได้เห็นชอบและรับทราบแผนว่าสอดคล้องต้องกัน ถือว่าเป็นการบูรณาการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในภาพรวม

เมื่อถามว่านายกิตติรัตน์และนายประสาร ไม่มีอะไรติดใจกันแล้วใช่หรือไม่ นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า "ไม่มีค่ะ เพราะเราก็ทำงานกันได้ แต่บางครั้งอาจจะมีการพูดคุยกันไม่ตรงในด้านของเทคนิคมากกว่า แต่มาวันนี้ก็ชัดเจน ในแง่ของนโยบายภาพรวมก็สอดคล้องต้องกัน แต่เทคนิคนั้นก็ถือว่าต้องให้ผู้ที่รับผิดชอบนั้นดำเนินการ แต่เราก็คงคอยติดตามในเรื่องของผลมากกว่า"

ธปท.รับเศรษฐกิจชะลอตามตลาดโลก

นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวสุนทรพจน์เรื่อง "ภาพรวมภาวะเศรษฐกิจไทย" จัดโดย สภาหอการค้าต่างประเทศประจำประเทศไทย ว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกที่ออกมา ธปท.ยอมรับว่าต่ำกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ เพียงแต่ตัวเลขที่ชะลอลงก็ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะเป็นไปทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจโลก แต่อย่างไรก็ตามตัวเลขที่ชะลอลงนั้น ธปท.เองก็ต้องหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร เพื่อดูว่าเศรษฐกิจในระยะต่อไปยังสามารถเติบโตได้หรือไม่

"เรื่องตัวเลขเศรษฐกิจนั้น สิ่งที่เราเห็นในช่วงที่ผ่านมา ตัวเลขการเติบโตของหลายประเทศมีทิศทางที่ชะลอลง ของไทยจึงชะลอตามไปด้วย ทั้งการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดแปลกไปจากประเทศอื่น เราไม่สามารถเดินสวนทางคนอื่นได้ ดังนั้น การชะลอลงจึงเป็นเรื่องปกติ เราก็ยอมรับว่าตัวเลขที่ออกมาชะลอกว่าที่คาด แต่ก็ต้องดูว่าที่ชะลอเกิดจากอะไร เพื่อดูว่าไตรมาส 2 จะไปต่อได้หรือไม่" นางผ่องเพ็ญ กล่าว

นางผ่องเพ็ญ กล่าวว่า เท่าที่ดูก็เห็นว่าการชะลอตัวเป็นผลจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ลดลง แต่การส่งออกยังอยู่ในระดับที่ไปได้โดยขยายตัวได้มากกว่า 8% ซึ่งต้องดูว่าการชะลอลงของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนนั้น ควรต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่

เอกชนย้ำกนง.พิจารณาลดดอกเบี้ย

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า อยากให้ กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.5-1% เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและทำให้อัตราแลกเปลี่ยนของมีเสถียรภาพมากขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา และมองว่าอัตราเงินเฟ้อในขณะนี้ไม่ได้ปรับตัวจนสูงมากนัก จึงถือเป็นเรื่องที่ไม่น่ากังวล แต่หากมีความกังวลปัญหาฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ก็ควรหามาตรการอื่นเข้ามาดูแล

"หากมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลดีกว่าการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.75% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังคงมีการชะลอตัวซึ่งทุกฝ่าย ทั้งรัฐบาล ภาคการเงินและการคลังจะต้องมีการทำงานร่วมกันเพื่อรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้น"

ด้าน นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทแม้จะเริ่มอ่อนค่าลงแต่ ก็ยังถือว่าแข็งค่ากว่าประเทศในภูมิภาคนี้ ซึ่งปัญหาแท้จริงขณะนี้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนเป็นหลักใหญ่ แต่มาจากปัจจัยภายนอกทั้งเศรษฐกิจสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น รวมถึงจีน ที่ยังไม่ฟื้นตัวนัก ทำให้มีผลต่อออเดอร์คำสั่งซื้อลดลง จึงกระทบต่อภาคการส่งออก

บาทอ่อนประเมินกนง.ลดดอกเบี้ย

บาทร่วงลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ขณะที่นักลงทุนจับตาดูการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในวันนี้ เพื่อหาทิศทางระยะใกล้

นักวิเคราะห์คาดว่า กนง. จะลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% มาที่ 2.50% หลังการเปิดเผยข้อมูลจีดีพีที่ต่ำกว่าคาดในไตรมาสแรก ประกอบกับแรงกดดันมากขึ้นจากรัฐบาลให้ผ่อนคลายนโยบายเพื่อสกัดกระแสเงินทุนไหลเข้า และเพื่อช่วยเหลือภาคการส่งออก

ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์ ปิดตลาดวานนี้ (28 พ.ค.) อยู่ที่ 30.01/03 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากช่วงเปิดตลาดเช้า ที่ระดับ 29.90/92 บาทต่อดอลลาร์

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
-----------------------------------------------------------