--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2556

เปิดขุมทรัพย์ : เจ๊แดง (กิ่งกาญจน์) VS เจ๊แดง (เยาวภา)


พลิกขุมทรัพย์คู่ชิงเก้าอี้เลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 3 เชียงใหม่ เจ๊แดง-กิ่งกาญจน์ ณ เชียงใหม่ แห่ง ปชป. VS เจ๊แดง-เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ นายกฯสำรอง เพื่อไทย รวยที่ดินทั้งคู่



นางกิ่งกาญจน์ ณ เชียงใหม่ ว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เชียงใหม่ เขต 3 พรรคประชาธิปัตย์ เป็นเจ้าของที่ดินมูลค่านับร้อยล้านบาทเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ขณะที่นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ คู่แข่งจากพรรคเพื่อไทย เป็นเจ้าของที่ดินกว่า 20 ล้านบาท

ทั้งนี้ ตอนเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังยุครัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ วันที่ 10 พ.ย.2540 นายธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่ ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ระบุว่า นางกิ่งกาญจน์ ณ เชียงใหม่ คู่สมรส มีทรัพย์สินทั้งสิ้น 193,622,234.11 บาท ประกอบด้วย

เงินฝากในบัญชีธนาคารพาณิชย์ 1,109,334.11 บาท เงินลงทุนหลักทรัพย์จดทะเบียนและรับอนุญาต 1,574,900 บาท มีที่ดิน 137,973,000 บาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง ได้แก่ บ้านพักอาศัย 16,000,000 บาท ยานพาหนะ 3,605,000 บาท และทรัพย์สินอื่นๆ อีก 33,360,000 บาท

หนี้สินรวมทั้งสิ้น 149,557,316.50 บาท ประกอบด้วย เงินเบิกเกินบัญชีและเงินกู้ยืมจากธนาคาร 105,409,503.51 บาท เงินกู้จากสถาบันการเงินอื่น 44,147,812.99 บาท

มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 44,064,917.61 บาท

นายธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่ มีทรัพย์สินรวมทั้งสิ้น 2,273,184.74 บาท ประกอบด้วย เงินฝากในบัญชีธนาคารพาณิชย์ 54,984.74 บาท เงินลงทุนหลักทรัพย์จดทะเบียนและรับอนุญาต 718,200 บาท มีทรัพย์สินที่ดิน 1,500,000 บาท

มีหนี้สินรวมทั้งสิ้น 2,870,746.06 บาท ประกอบด้วย เงินเบิกเกินบัญชีและเงินกู้ยืมจากธนาคาร 2,870,746.06 บาท มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน 597,561.32 บาท

รวมมีทรัพย์สิน 195,895,418.85 บาท มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินรวม 43,467,356.35 บาท


ขณะที่นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ตอนนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครบ 1 ปี วันที่ 2 ธ.ค.2552 แจ้งว่านางเยาวภา ภรรยา มีทรัพย์สินรวมทั้งสิ้น 40,038,132.49 บาท ประกอบด้วย เงินฝากในบัญชี 731,407.49 บาท ทรัพย์สินที่ดิน 21,755,725 บาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 2,000,000 บาท ยานพาหนะ 401,000 บาท ทรัพย์สินอื่น 15,150,000 บาท หนี้สินรวมทั้งสิ้น 158,072.58 บาท (เบิกเกินบัญชี)

นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ มีทรัพย์สินรวมทั้งสิ้น 43,281,999.97 บาท ประกอบด้วย เงินฝากในบัญชี 11,926,099.97 บาท ทรัพย์สินที่ดิน 9,255,900 บาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 4,000,000 บาท ทรัพย์สินอื่น(ราคาตั้งแต่สองแสนบาทขึ้นไป) 18,100,000 บาท มีหนี้สินรวมทั้งสิ้น 6,903.95 บาท (เงินเบิกเกินบัญชี)

รวมมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้ 83,320,132.46 บาท

ก่อนหน้านี้ ตอนรับตำแหน่ง นายกฯคนที่ 26 วันที่ 25 กันยายน 2551 นายสมชาย ระบุว่ามีทรัพย์สิน 54,977,816.50 บาท หนี้สิน 89,441.09 บาท นางเยาวภา มีทรัพย์สิน 39,991,512.07 บาท หนี้สิน 54,702.43 บาท

รวมทรัพย์สิน 2 คน 94,969,328.57 บาท หนี้สิน 144,143.52 บาท มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 94,825,185.05 บาท

นางกิ่งกาญจน์และนางเยาวภามีชื่อเล่นว่า“แดง”ทั้งคู่

นางเยาวภาถูกคาดหมายว่าอาจเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์เกิดอุบัติทางการเมืองต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ

ทั้งนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดให้มีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เชียงใหม่ เขต 3 ในวันที่ 21 เมษายน 2556 และเลือกตั้งล่วงหน้าวันที่ 12 เมษายน 2556

ที่มา.สำนักข่าวอิศรา
//////////////////////////////////////////////////////

บิ๊กพาณิชย์ฯ ส่อพันข้าวถุง พบมีชื่อหน้าห้องเคยนั่งบอร์ด 1 ใน 3 บริษัทฯ นายหน้า !!?


บริษัทนายหน้าค้าข้าวถุง อคส.ยอมเปิดปาก ผู้บริหาร"สยามรักษ์" ยันค้าขายปกติ ไม่รู้จักใครในกระทรวงพาณิชย์เป็นพิเศษ พร้อมการันตีมีช่องทางจัดจำหน่ายแน่นอน จับกลุ่มลูกค้าจังหวัดเล็ก  "คอน-ไซน์ เทรดดิ้ง"อ้อมแอ้มโยนลูกอคส.ตอบ อ้างทราบเรื่องทุกอย่าง ขณะผลตรวจสอบข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแย้งคำให้การ  1 ใน 3บริษัทพันหน้าห้องบิ๊กพาณิชย์ โยงใยบอร์ดอคส.

จากที่ได้ติดตามการตรวจสอบเรื่องความไม่ชอบมาพากลในการระบายข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลปีการผลิต 2554/55 และปีการผลิตนาปรัง 2555 เพื่อผลิตเป็นข้าวถุงแบรนด์ อคส.ออกจำหน่ายผ่านช่องทางร้านถูกใจ โครงการธงฟ้า และร้านค้าทั่วไปมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดพบว่า 1 ใน 3 บริษัท ที่ได้รับการจัดสรรโควตาจำนวน 3 แสนตัน ต่อเดือน ( มกราคม-มิถุนายน 2556) รวมปริมาณทั้งสิ้น 1.8 ล้านตัน คิดเป็นข้าวถุง 360 ล้านถุง(ขนาด 5 กก.)นั้น มีอดีตกรรมการของ 1 ใน 3 บริษัท ปัจจุบันเป็นคณะกรรมการ(บอร์ด) อคส.และเป็นผู้ใกล้ชิดนักการเมือง

-หน้าห้องบิ๊กพณ.พันบริษัทฯค้าข้าว  
   
ล่าสุดได้ตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า(พค.)ในสังกัดกระทรวงพาณิชย์(พณ.) พบว่า 1 ใน 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท สยามรักษ์ จำกัด (บจก.) ได้แจ้งไปยังกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2553 ว่าได้มีกรรมการเข้าใหม่ 4 คน ได้แก่ 1.นางสุภาพร เชิงเอี่ยม 2.พันตรีวีระวุฒิ วัจนะพุกกะ (ปัจจุบันเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์) 3.นายกณวรรธน์ อรัญ และ 4.รศ.พ.อ.น.พ.เกรียงชัย ประสงค์สุกาญจน์  (ปัจจุบันเป็นรองประธานกรรมการ อคส.)
   
ต่อมาบริษัทได้แจ้งไว้เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2554 ว่า มีกรรมการลาออก ได้แก่ พ.ต.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ ในฐานะกรรมการ โดยมีหนังสือลาออกจากตำแหน่งกรรมการลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2554 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2554  ส่วนทางด้าน รศ.พ.อ.น.พ. เกรียงชัย ประสงค์สุกาญจน์ ได้ลาออกจากกรรมการ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2555 พร้อมกับอีก 2 คนที่เข้ามานั่งในกรรมการของบริษัท ได้แก่ นางสุภาพร เชิงเอี่ยม และนายกณวรรธน์ อรัญ
   
อย่างไรก็ดีทีมข่าวได้พยายามติดต่อไปยัง รศ.พ.อ.น.พ.เกรียงชัย ประสงค์สุกาญจน์  เพื่อขอคำชี้แจง แต่ได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่ว่า ท่านไม่อยู่ไปทำธุระข้างนอก    ส่วนด้านพ.ต.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้พยายามติดต่อไป สายว่างแต่ไม่มีคนรับสาย โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่าอาจจะอยู่ที่รัฐสภา
   
อนึ่ง คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2555  ได้แต่งตั้งประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการอื่น ในคณะกรรมการองค์การคลังสินค้า (อคส.) ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ เพื่อทดแทนตำแหน่งของกรรมการเดิมที่ลาออกไป ประกอบด้วย 1.พ.ต.ท.ไพโรจน์ ปัญจประทีป ประธานกรรมการ 2.รศ.พ.อ. น.พ.เกรียงชัย ประสงค์สุกาญจน์ รองประธานกรรมการ 3.นายสุวรรณชาติ สูตรสุวรรณ กรรมการ
   
นอกจากนี้ยังมีกรรมการผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ ได้แก่ นางปราณี ศิริพันธ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กรรมการผู้แทนจากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ นายโอฬาร พิทักษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กรรมการผู้แทนจากกระทรวงการคลัง ได้แก่ นางพรกมล ประยูรสิน ผู้อำนวยการสำนัก สำนักมาตรฐานด้านการบัญชีภาครัฐ (สบร.)  และนายชนุตร์ปกรณ์ วงศ์สีนิล เป็นกรรมการ และเลขานุการรักษาการผู้อำนวยการ อคส.

-สยามรักษ์ยันไม่รู้จักใคร-ค้าขายปกติ
   
ด้านนายทวีศักดิ์ หิรัญรักษ์ ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจลงนามใน บจก.สยามรักษ์  1 ใน 3 บริษัทนายหน้าที่ได้มาซื้อข้าวถุงกับ อคส. เพื่อไปจำหน่ายผ่านช่องทางร้านค้าทั่วไป ได้เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ในเวลาต่อมาว่า ครอบครัวประกอบธุรกิจค้าข้าวมาตั้งแต่ปี 2500 จนถึงปัจจุบันกว่า 50 ปีแล้ว อยู่ในจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นลูกคนเล็กอยากจะมีกิจการเป็นของตนเอง  จึงได้มาเปิดบริษัทธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องหอมเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา โดยมีพื้นเพค้าขายข้าวอยู่แล้ว มีประสบการณ์ เติบโตมากับธุรกิจค้าข้าวโดยตรง เพียงแต่คนภายนอกมักจะไม่ค่อยทราบ
   
เห็นประกาศองค์การคลังสินค้า (อคส.)ผ่านหน้าเว็บไซต์ จึงเห็นว่าอย่างน้อยน่าจะได้ช่วยเหลือชาวนาทางอ้อม อีกทั้งทราบว่าโกดังกลางของรัฐบาลพื้นที่จำกัด จึงได้สนใจไปสมัครเพื่อที่จะขายข้าวให้กับ อคส.ถุงละไม่เกิน 70 บาท(5 กก.เป็นข้าวขาว 5%)  ยอมรับว่าทางบอร์ดของ อคส.เขี้ยวมากกว่าจะผ่านด่านได้แต่ละขั้นตอน ต้องถูกกลั่นกรองหลายรอบ ที่สำคัญจะต้องจ่ายเป็นเงินสด ซึ่งในตอนแรกคิดว่าเหมือนบริษัทเอกชนทั่วไปที่นำสินค้าไปก่อนแล้วค่อยจ่ายภายใน 15 วันหรือ 30 วัน แต่ไม่ใช่ และคำสั่งซื้อขั้นต่ำอย่างน้อยต้อง 1 รถบรรทุกเล็ก ขออุบไม่บอกปริมาณ"
   
นอกจากนี้นายทวีศักดิ์ ยังกล่าวยอมรับว่า ข้าวขาวของ อคส. คุณภาพจะต่ำกว่าข้าวขาวทั่วไป ดังนั้นช่องทางจัดจำหน่ายของบริษัทนอกจากจะเป็นคนที่เคยค้าขายกับครอบครัวแล้ว ยังมีเครือข่ายที่มารับข้าวถุงอคส.โดยตรงไปจำหน่าย เพราะข้าวขาวคุณภาพดังกล่าวเหมาะสำหรับกับคนต่างจังหวัด ในอำเภอที่อยู่ห่างไกล มากกว่าที่จะค้าขายในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่  แต่ไม่ขอเปิดเผยว่าได้กระจายที่ไหนบ้าง เพราะถือเป็นความลับทางการค้า
   
จริงๆ แล้วมาร์จิน กำไรน้อยมาก หรืออาจจะขาดทุนด้วยซ้ำไป เพราะตอนที่ตกลงกัน ค่าขนส่ง (น้ำมัน) อีกราคาหนึ่ง พอรับจริง น้ำมันปรับราคาขึ้นไปอีก และยิ่งมาโดนข่าวแบบนี้ด้วย คนทางบ้านก็ตกใจใหญ่ โดยเฉพาะคนที่เคยติดต่อด้วย เพราะคิดว่าเราไปทำอะไร เกิดอะไรขึ้น อยากจะใช้เวทีนี้ชี้แจงว่าเป็นการค้าขายปกติ และไม่รู้จักใครที่กระทรวงพาณิชย์ หรือในบอร์ดของอคส.เลย "

- "คอน-ไซน์" โยน อคส.ตอบ
   
ขณะที่นางอันนา เตชะอัครเกษม กรรมการผู้มีอำนาจลงนามในบจก.คอน-ไซน์ เทรดดิ้ง (อีก 1 ใน 3 บริษัท)ทางทีมข่าวได้พยายามติดต่อทางโทรศัพท์ไปหลายครั้ง เพื่อสอบถามถึงเส้นทางการจัดจำหน่ายข้าวถุง อคส.ของบริษัท เธอตอบแบบอ้อมแอ้ม และสุดท้ายได้โยนกลับให้ไปถามที่ อคส. โดยระบุ อคส.ทราบเรื่องเป็นอย่างดี

-บอร์ดย้ำข้าวถุงไม่ได้ล่องหน
   
ส่วนพ.ต.ท. ไพโรจน์ ปัญจประทีป ประธานบอร์ด อคส. กล่าวว่า ข้าวถุงจำนวน 5.8 แสนตัน จาก 6 แสนตันในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.พ.56) ไม่ได้ล่องหนหายไปไหน และที่นายสมศักดิ์ วงศ์วัฒนศานต์ รองผู้อำนวยการ อคส.ที่ได้ชี้แจงเรื่องดังกล่าวไปก่อนหน้านี้มีเหตุผลและน้ำหนักที่น่าเชื่อถือ ซึ่งตนเองอยู่ในฐานะบอร์ด ไม่อยากจะชี้แจงอะไร เพราะอำนาจนั้นอยู่ที่ฝ่ายบริหารมากกว่า ซึ่งความจริงทางบอร์ดไม่ต้องรับรู้เรื่องดังกล่าวก็ได้ และถ้าหากคณะอนุกรรมาธิการ การเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา ตรวจพบอะไร ท้ายสุดแล้วจะต้องแจ้งมายังบอร์ดเพื่อพิจารณาต่อไป

"ขณะนี้กำลังรอทางคณะอนุกรรมาธิการ สรุปผลอีกครั้ง จึงยังไม่อยากจะชี้แจงอะไรมาก"

-ข้าวถุงช่องทางรายได้หนึ่งเลี้ยง อคส.
   
แหล่งข่าวจากกรมการค้าภายใน (คน.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงโครงการโชห่วยช่วยชาติ ร้านค้าถูกใจ ปัจจุบันมีกว่า 7 พันแห่ง จากเดิมมีกว่า 1 หมื่นแห่งทั่วประเทศ โดยสินค้าที่ขายดีที่สุดคือข้าวถุงขนาด 5 กิโลกรัม มีทั้งข้าวขาว 5% และข้าวเหนียว 10% จำหน่ายไม่เกินถุงละ 70 บาท โดยด้านหน้าถุงจะมีโลโก "ร้านถูกใจ" ส่วนด้านหลังจะมีตราสินค้าของ อคส.  และด้านล่างถุงจะพิมพ์ข้อความว่าผลิต และบรรจุโดยบริษัท ... นับเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายและรายได้ของ อคส.อีกช่องทางหนึ่ง ส่วนอีกด้านหนึ่งจะเป็นข้าวถุงยี่ห้อ อคส. เพื่อจำหน่ายในร้านค้าสวัสดิการของ อคส. มีข้าวหลากหลายชนิด อาทิ ข้าวหอมมะลิ เป็นต้น ราคาจะเป็นอีกระดับหนึ่ง แต่หากเป็นข้าวขาว 5% ขนาด 5 กิโลกรัม จะขาย 70 บาทเช่นกัน
   
ปกติร้านถูกใจ จะมีคำสั่งซื้อข้าวถุงขนาด 5 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ จำนวน 1 ล้านถุง แต่ทาง อคส.ไม่สามารถผลิตได้ทัน จึงจัดส่งได้สัปดาห์ละ 5 แสนถุงเท่านั้น ปัจจุบันตั้งแต่เริ่มโครงการตั้งแต่เดือนเมษายน 2555 จนถึง 31 มีนาคม 2556   สามารถส่งข้าวถุงถุงละ 5 กิโลกรัมได้ จำนวน 15.5 ล้านถุง คิดเป็น 67% ของรายได้ร้านถูกใจ รองลงมาเป็นน้ำมันพืช 14% น้ำตาล 7% และอื่นๆ 12%  รวมมูลค่ายอดขายทั้งหมด  1.5 พันล้านบาท ช่วยลดค่าครองชีพให้กับผู้บริโภคได้ 550 ล้านบาท "
   
ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินโครงการโชห่วยช่วยชาติ "ร้านถูกใจ" โดยได้รับอนุมัติงบดำเนินการ 1.3 พันล้านบาท เป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าอุปโภค-บริโภคจำเป็นต่อการครองชีพราคาต่ำกว่าท้องตลาด 10-20% ได้เปิดรับสมัครร้านค้า และสหกรณ์ทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2555 ที่ผ่านมา ซึ่งล่าสุดทางกรมการค้าภายในได้เตรียมโอนให้ อคส.เป็นผู้ดำเนินการต่อ

ที่มา:นสพ.ฐานเศรษฐกิจ
////////////////////////////////////////

ความเป็นมาของการให้สัมปทานปิโตรเลียมในประเทศไทย !!?


การสำรวจปิโตรเลียมในประเทศไทยเริ่มต้นกันอย่างจริงจังในปี 2510 ซึ่งรัฐบาลขณะนั้นมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้เอกชนมาลงทุน จึงได้ร่างกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมขึ้นมาเพื่อใช้กับการให้สัมปทานปิโตรเลียมโดยเฉพาะแทนการใช้กฎหมายเหมืองแร่

และประกาศใช้เรียกว่า พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 โดยมีหลักการให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนและเมื่อมีกำไร ให้แบ่งปันผลประโยชน์ตอบแทน แก่รัฐผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรในอัตราครึ่งหนึ่ง โดยเรียกระบบการแบ่งปันผลประโยชน์นี้ว่า ระบบ Thailand 1 ที่มีข้อกำหนด ได้แก่ การเก็บค่าภาคหลวงในอัตราร้อยละ 12.5 ของรายได้จากการขายหรือจำหน่ายปิโตรเลียม การเก็บภาษีเงินได้ปิโตรเลียมในอัตราร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิ
   
จะเห็นได้ว่าการแบ่งปันรายได้ตามระบบ Thailand 1 นี้ รัฐจะได้ส่วนแบ่งรายได้สูงกว่า 50% ของกำไรสุทธิของผู้ประกอบการอย่างแน่นอน
   
ต่อมาในปี 2524 ราคาน้ำมันในตลาดโลกได้พุ่งขึ้นสูงมาก และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ประเทศไทยก็มีการค้นพบแหล่งปิโตรเลียมมากขึ้น ทั้งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ ทั้งบนบกและในทะเล จึงเกิดความคิดที่จะเรียกเก็บผลประโยชน์จากการให้สัมปทานปิโตรเลียมให้มากขึ้น โดยกำหนดให้ผู้ยื่นขอสัมปทานรายใหม่ตั้งแต่ปี 2525 เป็นต้นไป ต้องเสนอผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษให้รัฐเพิ่มขึ้นจากระบบ Thailand 1 เรียกว่าระบบ Thailand 2 โดยมีเงื่อนไขเพิ่มเติมคือ ผู้รับสัมปทานจะหักค่าใช้จ่ายในแต่ละปีได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของรายได้ในปีนั้น (ของเดิมหักได้ตามจริง)

ผู้รับสัมปทานต้องจ่ายเงินเพิ่มพิเศษ (นอกเหนือจากค่าภาคหลวง) ตามปริมาณน้ำมันดิบที่ผลิตเพิ่มขึ้นดังนี้ ส่วนที่ผลิตเฉลี่ยวันละ 10,000-20,000 บาร์เรล/วัน จ่ายร้อยละ 27.5 ผลิตเฉลี่ยวันละ 20,000-30,000 บาร์เรล/วัน จ่ายร้อยละ 37.5 แ ละผลิตเฉลี่ยวันละ 30,000 บาร์เรล/วันขึ้นไป จ่ายร้อยละ 43.5
 
 ระบบ Thailand 2 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2525 มีผู้ได้รับสัมปทานภายใต้ระบบนี้ 7 ราย แต่ปรากฏว่าไม่มีผู้รับสัมปทานรายใดสามารถพัฒนาแหล่งผลิตปิโตรเลียมภายใต้ระบบนี้ได้เลย เนื่องจากแหล่งปิโตรเลียมในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป็นแหล่งขนาดเล็ก (marginal fields) ซึ่งมีต้นทุนการผลิตต่อหน่วยค่อนข้างสูง หลายแหล่งที่สำรวจพบไม่สามารถพัฒนาการผลิตในเชิงพาณิชย์ภายใต้ระบบ Thailand 2 ได้ เนื่องจากผู้รับสัมปทานต้องจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่รัฐมากจนกระทั่งไม่มีกำไร ดังนันจึงไม่มีการเรียกเก็บผลประโยชน์ภายใต้ระบบ Thailand 2 แต่อย่างใด
   
ดังนั้นเพื่อให้ได้ระบบที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุดกับลักษณะทางกายภาพของแหล่งสำรองปิโตรเลียมในประเทศไทย รวมทั้งมีระบบแบ่งปันผลประโยชน์ที่ยืดหยุ่นและสามารถจัดสรรผลประโยชน์แก่รัฐและผู้ลงทุนอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม จึงได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายปิโตรเลียมอีกครั้งหนึ่ง
   
โดยในปี 2532 ได้ออกเป็นพ.ร.บ.ปิโตรเลียม และพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 4) หรือที่เรียกว่า ระบบ Thailand 3 ซึ่งใช้มาจนถึงปัจจุบัน มีข้อกำหนดเพื่อกระตุ้นการลงทุน โดยการปรับปรุงอัตราค่าภาคหลวงจากเดิมที่กำหนดในอัตราตายตัวที่ร้อยละ 12.5 เป็นอัตราก้าวหน้าแบบขั้นบันไดตามปริมาณการขาย คือ ผลิต 0-6 หมื่นบาร์เรล/เดือนจ่าย ร้อยละ 5 ผลิต 6 หมื่นบาร์เรล/เดือนถึง 1.5 แสนบาร์เรล/เดือนจ่ายร้อยละ 6.25 ผลิต 1.5-3 แสนบาร์เรล/เดือนจ่าย ร้อยละ 10 ผลิต 3-6 แสนบาร์เรล/เดือนจ่ายร้อยละ 12.50 และผลิต 6 แสนบาร์เรล/เดือนขึ้นไปจ่ายร้อยละ 15

เพิ่มการเรียกเก็บผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษเข้ารัฐ (Special Remuneration Benefit     หรือ SRB) ในลักษณะของการเรียกเก็บ Windfall Profit Tax โดยมีหลักการว่า เมื่อผู้ลงทุนมีกำไรมากแล้ว รัฐก็ควรได้รับส่วนแบ่งเพิ่มเติม (SRB) ในสัดส่วนที่สูงขึ้น นอกเหนือไปจากค่าภาคหลวงและภาษีที่ได้รับอยู่ตามปกติ ซึ่งหลักการดังกล่าวนี้จะช่วยให้รัฐได้รับประโยชน์มากขึ้น ในกรณีที่มีการพบแหล่งปิโตรเลียมขนาดใหญ่ หรือราคาเพิ่มสูงขึ้นอย่างผิดปกติ และในส่วนของภาษีเงินได้ปิโตรเลียมนั้น ยังคงไว้ในอัตราเดิมคือร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิ ซึ่งระบบ Thailand 3 ที่ใช้มาตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2532 เป็นต้นมาทำรายได้เข้าประเทศปีที่แล้วเป็นเงิน 161,000 ล้านบาท
   
จะเห็นได้ว่าประเทศไทยไม่ได้เสียเปรียบผู้รับสัมปทาน ตามตัวเลขของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เราได้ส่วนแบ่งรายได้รวมกันทั้งสิ้นถึง 60% ในขณะที่ผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ลงทุนทั้งหมดนั้นได้ส่วนแบ่งรายได้ไปเพียง 40% เท่านั้น
   
ดังนั้น การตั้งเงื่อนไขในการขอแบ่งปันผลประโยชน์ก็ต้องตั้งอย่างสมเหตุสมผลไม่ให้เสียเปรียบต่างชาติ แต่ไม่ใช่ตั้งบนสมมติฐานที่เป็นไปไม่ได้ ซึ่งจะทำให้เราเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่า

 ที่มา.นสพ.ฐานเศรษฐกิจ
//////////////////////////////////////////

เก็บภาษีที่ดินฯ เพิ่มรายได้โปะหนี้ 2 ล้านล้าน !!?


การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ...หรือร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ในวาระที่ 1 ของสภาผู้แทนราษฎร

เมื่อ 28-29 มีนาคมที่ผ่านมา ดูเหมือนทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศเป็นสิ่งจำเป็น และต้องผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด

ที่ยังมองต่างมุม และอาจไม่เชื่อมั่นส่วนใหญ่เป็นเรื่องประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเงินกู้ หลักประกันความโปร่งใสในการดำเนินการ รวมทั้งการชำระหนี้ ที่พรรคฝ่ายค้านตลอดจนสาธารณชนหวั่นเกรงว่าจะกลายเป็นภาระหนักกับคนรุ่นลูกหลาน

ผ่านพ้นวาระแรกเข้าสู่การพิจารณาวาระที่ 2 และ 3 ซึ่งคณะกรรมาธิการจะพิจารณารายละเอียดร่างกฎหมาย ก็เริ่มมีกระแสข่าวว่ากระทรวงการคลังกำลังเตรียมปรับอัตราภาษีบางประเภทขึ้นเพื่อหารายได้เพิ่ม นำไปชำระหนี้โครงการ 2 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือแวต (VAT) ที่ปัจจุบันจัดเก็บในอัตรา 7% จนทำให้รองนายกฯ และ รมว.คลัง กิตติรัตน์ ณ ระนอง ต้องออกมาปฏิเสธ

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์ที่กำลังถูกรุกไล่จากพรรคฝ่ายค้าน จำต้องชี้แจงให้เห็นถึงที่มาของรายได้ที่จะนำไปชำระหนี้เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทให้กระจ่างชัด การจะปรับขึ้นแวตหรือหารายได้เพิ่มจากการจัดเก็บภาษีประเภทอื่นอาจเป็นสิ่งจำเป็น แม้ในทางการเมืองรัฐบาลอาจตัดสินใจได้ลำบาก

สิ่งที่รัฐบาลควรจะเร่งดำเนินการในขณะนี้ คือการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ด้วยการนำทางเลือกในการเพิ่มรายได้หลาย ๆ แนวทางมาพิจารณา ควบคู่กับการทบทวนขยับเพดานอัตราการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสินค้าฟุ่มเฟือยบางรายการ อาทิ ภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ที่ปัจจุบันจัดเก็บเพียง 0.005 บาท/ลิตร จากอัตราเต็ม 5.31 บาท/ลิตร

ขณะเดียวกันก็ผลักดันร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ...ซึ่งค้างเติ่งมาหลายยุคสมัยมาบังคับใช้จากเดิมที่ไม่มีรัฐบาลชุดใดกล้าดำเนินการจริงจัง เพราะหวั่นเกรงจะถูกต่อต้านจากกลุ่มธุรกิจและคนระดับบนที่มีอำนาจทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองทั้ง ๆ ที่โดยข้อเท็จจริงแล้ว ผู้ถือครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะได้รับประโยชน์โดยตรงจากมูลค่าที่ดินและทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) รถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ ถนน ทางด่วน ท่าเรือ ตลอดจนเส้นทางการคมนาคมทั้งทางน้ำ อากาศ และโครงสร้างพื้นฐานซึ่งอำนวยความสะดวกสบายอื่น ๆ

ดังนั้น นอกจากจะผลักดันร่าง พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาทประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมาย และเดินหน้าลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้สัมฤทธิผลตามเป้าหมายที่วางไว้ พร้อมกับอุดช่องโหว่รูรั่วการใช้จ่ายงบประมาณไม่ให้เกิดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น เพื่อให้การลงทุนมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติในรอบหลายสิบปีให้ผลตอบแทนกลับคืนมาคุ้มค่ามากที่สุดแล้ว รัฐบาลอาจต้องตัดสินใจครั้งสำคัญว่า ในส่วนของภาระหนี้ที่เกิดขึ้นจะให้แต่ละภาคส่วนในสังคมรับภาระอย่างไร ให้เหมาะสม และเป็นธรรมมากที่สุดด้วย

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////////////

ทักษิณ โผล่ ACD ปลุกเอเชียสร้างทางสายไหม !!?


เว็บไซต์คนรัฐบาลโพสต์"ทักษิณโผล่ประชุมACD ที่ทาจิกิสถานปลุกเอเชียสร้างทางสายไหม 8 พันกิโลเมตรอีกครั้ง

ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของบุคคลในรัฐบาลพรรคเพื่อไทยจัดทำขึ้น ได้เผยเเพร่ข้อมูลในเว็บไซต์ดังกล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้รับเชิญจากนายเอมอมาลี ราห์มอน ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐทาจิกิสถาน เป็นแขกเกียรติยศปาฐกถาในพิธีเปิดการประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมืออาเซีย (ACD) ครั้งที่ 11 ณ เมืองดูชานเบ สาธารณรัฐทาจิกิสถาน เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2556

โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ปาฐกถาตอนหนึ่งว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญมาร่วมการประชุม ACD ครั้งที่ 11 ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรก ณ สาธารณรัฐทาจิกิสถาน ประเทศซึ่งเปี่ยมล้นไปด้วยแหล่งอารยธรรม และศิลปวัฒนธรรมอันเลอค่า และขอขอบคุณรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐทาจิกิสถานที่ให้เกียรติเชิญมาปาฐกถาในวันนี้ ซึ่งในโอกาสที่ได้กลับมาเมืองดูชานเบ ในครั้งนี้ทำให้อดหวนคิดถึงอดีตไม่ได้ โดยเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2549 เป็นวันที่ผมเดินทางมาเยี่ยมเยียน สาธารณรัฐทาจิกิสถานอย่างเป็นทางการประเทศสุดท้าย ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งสิบวันหลังจากนั้นก็เกิดการรัฐประหารขึ้นในประเทศไทย ขณะที่ผมยังปฏิบัติราชการในต่างประเทศ

ACD ถือกำเนิดที่ประเทศไทย ในเดือนมิถุนายน 2545 ซึ่งในครั้งนั้นมีประเทศผู้ร่วมก่อตั้ง ACD 18 ประเทศมาร่วมประชุมด้วยกัน ทำให้บรรยากาศอบอุ่นมากสำหรับความตั้งใจในการที่จะรวมตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หากมองย้อนกลับไปเกือบ 10 ปีก่อน ที่เป็นช่วงเวลาที่ท้าทาย เพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือกันในภูมิภาคแห่งนี้ ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน ในเวลานั้นประเทศต่างๆ ในทวีปอื่นเริ่มมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มแล้ว แต่ประเทศในทวีปเอเชียยังไม่ได้คิดถึงการรวมตัว โชคดีที่ว่ากลุ่มประเทศอาเซียนมีการรวมศูนย์กันอยู่แล้ว ประกอบกับการยอมรับ และได้รับการสนับสนุนจากมิตรประเทศในแถบเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกกลาง ทำให้เอเชียของเราสามารถหลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้จากทุกมุมทวีป จากเหนือจรดใต้ จากตะวันออกจรดตะวันตก และนั่น จึงก่อเกิด ACD ขึ้นมา

นับตั้งแต่วันที่มีความหมายนั้นเป็นต้นมา ผมยินดีที่จะบอกว่าองค์กรของพวกเราเติบโตขึ้นด้วยความมั่นคงและทรงพลัง นับตั้งแต่ปี 2545 มีประเทศสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว โดยในเวลานี้มีประเทศสมาชิกแล้ว 32 ประเทศ ซึ่งได้แก่ประเทศสมาชิกจากโซนเอเชียตะวันออกกลางและเอเชียใต้ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันเป็นกลุ่มที่มีขนาดครอบคลุมไปทั้งทวีป

ซึ่งการรวมตัวเป็นกลุ่มประเทศ อย่าง ACD มีความจำเป็น สำหรับภูมิภาคของเรา และผมเชื่อว่ามีความสำคัญไม่มากก็น้อยจึงขออนุญาตนำมาพูดซ้ำอีกครั้งในวันนี้

ทวีปเอเชีย มีประชากรมากกว่าสี่พันล้านคน นับเป็น 60% จากจำนวนประชากรทั้งโลก มีตลาดการค้าขายที่ใหญ่ มหึมาและเป็นแหล่งรวมทรัพยากรมนุษย์อันมีค่า ที่นี่คือที่ที่มีดินแดนกว้างใหญ่ ขนาดราว 30% ของเปลือกโลก และที่นี่มีความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติปริมาณมหาศาล และยังเป็นดินแดนที่เศรษฐกิจเติบโตสูงที่สุดในโลก เป็นภูมิภาคหลักที่ผลักดันความเจริญของโลกในตลอดหลายสิบปีมานี้ ปริมาณการส่งสินค้าของออกของภูมิภาคนี้ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดหลายสิบปีมานี้ และปัจจุบันมูลค่าการค้าขายของเอเชียมีปริมาณ 30% ของการค้าขายทั้งโลก

ในระยะเริ่มต้นของการก่อตั้ง ACD เอเชียมีทุนสำรอง สะสมรวมกันประมาณหนึ่งล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณครึ่งหนึ่งของทุนแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ แต่วันนี้เปอร์เซ็นต์ของจำนวนดังกล่าวสูงขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ

ไม่เพียงแต่ขนาดของเศรษฐกิจในเอเชียที่มีการขยายตัวอย่างมาก แต่การขยายตัวยังรวมไปถึงการขยายตัวในมิติอื่นๆ เช่น ศาสนาและศิลปวัฒนธรรม เอเชียเป็นแหล่งกำเนิดของศาสนาสำคัญ รวมไปถึงมีสิ่งมหัศจรรย์ของโลกโบราณ สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่หลายสิ่ง และเอเชียก็ยังเป็นหนึ่งในดินแดนที่เป็นต้นกำเนิดของอารยธรรมโบราณนับย้อนหลังได้หลายพันปี

หากมองข้ามฉากหลังของความมั่งคั่ง เราก็ต้องยอมรับว่าในอีกหลายๆ พื้นที่ในเอเชีย ประชากรของเรายังคงมีฐานะยากจนอยู่ และมันรบกวนความรู้สึกของผมที่ว่าจำนวนประชากรที่ยากจนนั้น มีอยู่จำนวนมากและไม่ได้รับการเอาใจใส่ แม้ว่าเรามีการแลกเปลี่ยนอารยธรรมระหว่างกันและกันมาตั้งแต่โบราณกาล แต่เอเชียก็ยังคงแข่งขันระหว่างกัน และหลายครั้งที่พาให้ประเทศพัวพันกับความขัดแย้งระหว่างกัน ซึ่งน่าเสียดายเพราะเราน่าจะทำให้เกิดความพยายามที่จะร่วมมือกัน และนำพาความเข้มแข็งมาสู่ภูมิภาคนี้

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ผมเล็งเห็นว่าการรวมตัวเป็นกลุ่มลักษณะนี้จะช่วยทำให้เกิดการเจรจาต่อรองและร่วมมือระหว่างกัน เป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงความขัดแย้ง ความแตกต่างไปสู่ผลประโยชน์ที่ต่างฝ่ายต่างยอมรับได้ ซึ่งจะเป็นหนทางสร้างความเข้มแข็งในหมู่ประเทศสมาชิกและขยายฐานพันธมิตรต่อไปยังภูมิภาคอื่น

ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย ผมมีความภาคภูมิใจที่ได้เห็นการเติบโตก้าวหน้าและการเพิ่มจำนวนประเทศสมาชิกใน ACD ตลอดระยะเวลาที่ผมดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย อย่างไรก็ตามหลังจากที่พ้นตำแหน่งในปี 2549 ผมพบว่ามีความกระตือรือร้นลดลงและมีประเทศสมาชิกมาเพิ่มใหม่เพียง 2 ประเทศ ดังนั้นในวันนี้ จึงขอให้พวกท่านทั้งหลายหันมาฟื้นฟู ACD ให้เป็นพลวัตใหม่ให้กับทุกชีวิต

ในช่วงเวลานี้ จะเห็นว่าประเทศหลายๆ ประเทศในภูมิภาคอื่นของโลกประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจและการเงินอย่างหนัก แต่เอเชียของเรายังคงมีความแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพดีอยู่มาก ดังที่เห็นว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นผลมาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจจากเอเชีย แต่ถึงแม้ว่าการขยายตัวในภูมิภาคนี้ของเรายังเป็นไปด้วยดีอยู่ ก็ยิ่งควรที่จะรวมกลุ่มกัน เพราะช่วยกันเสริมสร้างความแข็งแกร่งระหว่างกัน จะได้เป็นการเพิ่มโอกาสในการแข่งขันต่อภูมิภาคอื่นด้วย

พวกเราส่วนใหญ่ล้วนเป็นผู้ผลิตสินค้าหลักให้กับผู้บริโภคในภูมิภาคอื่น แต่ก็ต้องยอมรับว่าเรายังอ่อนด้อยเรื่องการสร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้าที่ส่งออก ดังนั้นแทนที่เราจะต้องมาแข่งขันตัดราคากันเอง การรวมตัวเป็น ACD จะช่วยทำให้ลดการแข่งขันและลดความขัดแย้งในหมู่ประเทศสมาชิกได้

เอกอัครราชทูต ผู้มีเกียรติ สุภาพสตรีและสุภาพบุรุษทุกท่าน สองพันปีก่อน บรรพบุรุษของพวกเราได้ทำการค้าขายตามเส้นทางโบราณอันเลื่องชื่อ เส้นทางสายไหม บนถนนแห่งประวัติศาสตร์ที่มีความยาวกว่า 8,000 กิโลเมตรสายนี้ เริ่มต้นจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ทอดผ่านบางส่วนของสาธารณรัฐทาจิกิสถาน ไปสู่ตะวันออกกลาง เมดิเตอร์เรเนียน ยุโรป และแอฟริกา เส้นทางการค้านานาประเทศสายนี้เป็นถนนสำคัญของการแลกเปลี่ยนสินค้า ความรู้และเทคโนโลยี รวมไปถึงศาสนา ปรัชญาและศิลปวัฒนธรรม

การที่เรามีโอกาสพูดคุยเชื่อมโยงกันในภูมิภาคในวันนี้ เปรียบได้กับว่าพวกเรากำลังสร้างเส้นทางสายไหมยุคใหม่ โดยการเชื่อมโยงประเทศสมาชิก ACD แล้วโยงต่อไปยังภูมิภาคอื่น ผ่านระบบถนน ระบบทางรถไฟ การเดินเรือและการเดินทางทางอากาศ ซึ่งถือเป็นฮาร์ดแวร์หลัก อย่างไรก็ตาม ก็ต้องไม่ละเลย ซอฟต์แวร์ ซึ่งมีความสำคัญระดับเดียวกัน คำว่าซอฟต์แวร์ก็หมายถึง วัฒนธรรม ศาสนา อารยธรรมที่สืบเนื่องมาอย่างยาวนานของหมู่ประเทศสมาชิก ซึ่งทั้งสององค์ประกอบนี้จะช่วยสร้างให้เราได้เส้นไหมที่สุดพิเศษ ที่มีความยืดหยุ่นสูง สง่าและประเมินค่าได้ยาก

และขอถือโอกาสนี้เรียนเชิญทุกท่านร่วมเดินทางบนเส้นทางสายไหมยุคใหม่ ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งบนถนนแห่งความเกียรติยศ ยิ่งใหญ่ และเจริญรุ่งโรจน์ตลอดไป

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////////

วันพุธที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2556

10สมาชิกอาเซียนร่วมใช้ One ban all ban หนุนไทยผู้นำเดินหน้า ประเทศปลอดแร่ใยหิน !!?


ไม่ใช่เรื่องธรรมดาอีกต่อไปแล้ว สำหรับการทะลักเข้ามาของสินค้าหลากหลายชนิด ที่มีสารประกอบของ “แอสเบสตอส” (Asbestos) หรือ “แร่ใยหิน” ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นปัจจัยของการให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับปอด อาทิ ปอดอักเสบ เนื้องอกในเยื่อหุ้มปอด น้ำในเยื่อหุ้มปอด มะเร็งปอด มะเร็งเยื่อหุ้มปอดและเยื่อบุช่องท้อง...!!

และ “แร่ใยหิน” ที่วันนี้จะไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป หลังจากที่พูดกันมามากในช่วงก่อนหน้านี้

เพราะหลากหลายชนิดสินค้า ทั้ง กระเบื้องมุงหลังคา ผ้าเบรกรถ ฝ้าเพดาน ฉนวนกันความร้อนท่อน้ำซีเมนต์ กระเบื้องยางไวนิลปูพื้น และอุตสาหกรรมสิ่งทอ

ไม่เว้นแม้แต่สินค้าใกล้ๆ ตัว อย่าง ไดร์เป่าผมล้วนแล้วแต่มีส่วนผสมของ “แร่ใยหิน” ทั้งสิ้น!

เป็นสินค้า “มฤตยูเงียบ” ที่แพร่หลายในประเทศไทย และภูมิภาคอาเซียนมานาน จนตัวเลขผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจที่เกิดจากแร่ใยหินเฉพาะในประเทศไทย มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น กว่า 1 พันรายต่อปี ในเร็วๆ นี้ หากไม่มีมาตรการใดๆ มาหยุดยั้ง

แม้ว่าจะมีมติ ครม.เมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา จะให้มีการยกเลิกการนำเข้า “แร่ใยหิน” เพื่อหวังหยุดยั้งจำนวนผู้ป่วยที่มีสถิติสูงขึ้น แต่ในช่วงปี 2555 ที่ผ่านมาแต่ก็ยังคงมีการนำเข้าแร่ใยหินมากถึงกว่า 8 หมื่นตัน!!

รศ.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้จัดการแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ปฏิบัติงานด้านการคัดค้านการใช้แร่ใยหิน เปิดเผยว่า  โดยเฉลี่ยแล้วคนไทยบริโภคแร่ใยหิน 3 กก.ต่อคนต่อปี นับเป็นอัตราการใช้ต่อประชากรอันดับ 2 ของโลก ซึ่งหากนับรวมทั้งภูมิภาคอาเซียนแล้วตัวเลขของการใช้แร่ใยหินนับว่าอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลกเลยทีเดียว

แม้จะมีคำประกาศกรุงเทพฯเพื่อการยกเลิกการใช้แร่ใยหิน ในการประชุมนานาชาติในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.2549 และมติ ครม.ในการห้ามใช้ออกมา แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งการนำเข้าลงได้

สิ่งที่น่าเป็นห่วงในอนาคต และอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงที่สุด คือการรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ที่จะถึงนี้  สมาชิกหลายประเทศยังคงเปิดให้นำเข้าโดยเสรี และยังไม่มีมาตรการรองรับในเรื่องนี้ที่ชัดเจน จึงยากจะหลีกเลี่ยงที่จะมีผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีส่วนผสมของแร่ใยหิน ทะลักเป็นสินค้าเข้าในกลุ่มประเทศอาเซียนโดยมีอัตราภาษี 0%

ด้วยเหตุผลเพื่อสุขภาพอนามัยของประชาชนในกลุ่มประเทศอาเซียน และแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยซึ่งมีสาเหตุมาจากแร่ใยหิน ทั้งในทางสถิติ        

โดยเฉพาะจากรายงานในผู้ป่วยตามกลุ่มอายุ ที่วันนี้ มีรายงานถึงกลุ่มเด็ก ในหลายประเทศ ที่มีอัตราเสี่ยงที่จะป่วยต่อแร่ใยหินในหลายประเทศ จากสินค้าประเภท กระเบื้อง ผ้าเบรก และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านอย่าง “ไดร์เป่าผม” ที่ “เด็กๆ ได้รับผลจากการใช้จากแม่ พี่สาว และญาติๆ ที่เป็น ผู้หญิง”

รวมถึงการต่อเติมบ้านที่เด็กๆ ที่อาศัยอยู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะรับแร่ใยหินเข้าไปเต็มๆ!!

ด้วยเหตุนี้ ทั้ง 10 ประเทศในอาเซียน จึงหารือกันเพื่อให้มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของแร่ใยหินและสินค้าที่มีส่วนผสมของแร่ใยหิน โดยองค์กรที่เทียบเท่ากับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ.ในประเทศไทย ของทั้ง 10 ประเทศ ภายใต้การดูแลของ Southeast Asian Consumer Council หรือสภาผู้บริโภคอาเซียน ซึ่งมี “รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์” เป็นประธาน ได้กำหนดมาตรการร่วมกันที่จะใช้ระบบ “One ban all ban” ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันในการแบนสินค้าร่วมกันของทุกประเทศ ตามกติกาที่ว่า “หากประเทศใดมีการแบนสินค้าใดแล้ว ทุกประเทศในภูมิภาคก็จะร่วมแบนด้วยกันทั้งหมด” ที่ดูเหมือนจะเป็นทางออกในการหยุดการแพร่ระบาดของสินค้าที่มีส่วนผสมของแร่ใยหินจากในภูมิภาคอาเซียน

ตามรอยอีกกว่า 50 ประเทศทั่วโลก ที่ห้ามนำเข้าและห้ามใช้ผลิตภัณฑ์จากแร่ใยหินไปแล้วก่อนหน้านี้

และเป็นอีกหนึ่งในความหวังร่วมกันของชาวอาเซียน ที่ต้องการจะให้ทุกประเทศในภูมิภาค “ปลอดจากแร่ใยหินอย่างสิ้นเชิง หลังการเข้าสู่ AEC”  ในอีก 2 ปี ข้างหน้า

ซึ่งเมื่อ “อาเซียน” ทั้ง 10 ประเทศ ต่างเห็นพ้องต้องกันแล้วว่า“แร่ใยหิน” มีอันตรายมากมายเพียงใด ประเทศก็น่าจะเดินหน้าให้สินค้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน “ปลอดแร่ใยหิน” ไปนับตั้งแต่วันนี้ ไม่ต้องรอให้ไปถึงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558

เพราะย้อนกลับไปดูจากสถิติที่ รศ.ดร.วิทยา ได้กล่าวไว้แล้วเกี่ยวกับผู้ป่วย และกลุ่มเสี่ยง ที่แต่ละปี เพิ่มขึ้นทั้งจำนวน และกลุ่มอายุที่น้อยลง อย่างน้อยหากประเทศไทยนำร่องในการเป็นประเทศปลอดสินค้าแร่ใยหิน นอกจากจะเป็นหนึ่งในผู้นำของประเทศอาเซียนแล้ว ยังช่วยเซฟสุขภาพให้กับเด็กๆ ที่เป็นหนึ่งในกลุ่มเสี่ยงได้อีกมากโข

และควรหรือไม่? ที่ไทยจะเป็นประเทศแรกที่จะเป็น “ประเทศปลอดแร่ใยหิน” เดินหน้าเป็นผู้นำ“One ban all ban” ในฐานะหนึ่งใน “ผู้นำ” ของภูมิภาคอาเซียน ที่ก้าวก่อนใคร ก่อนจะเข้าสู่ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ที่มา.นสพ.แนวหน้า
/////////////////////////////////////////////////////

ธีระชัย โพสต์อีก ผลพวงกู้เงิน 2 ล้านล.ท้ายสุดต้องขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มหารายได้ใช้หนี้ !!?


alt
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุถึง การกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท

เมื่อรวมกับดอกเบี้ย รวมเป็น 5 ล้านล้านบาท แต่รัฐบาลมีนโยบายเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีบุคคลธรรมดาต่ำ เพื่อให้แข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน และไม่ผลักดันเก็บภาษีทรัพย์สินและที่ดิน สุดท้ายเหลือช่องทางเดียว คือเพิ่ม VAT

ข้อความที่โพสต์ระบุว่า "ผมให้ข้อมูลเพิ่ม เพื่อประชาชนจะสามารถวิเคราะห์กันได้เอง

1 ระบบรางคู่อาจจะทำให้การรถไฟขาดทุนน้อยลง เพราะจะมีการขนส่งสินค้ามากขึ้น แต่ธุรกิจที่ใช้บริการจะต้นทุนต่ำลง เศรษฐกิจขยายตัวได้ จึงจะเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มได้บ้าง เก็บภาษีบุคคลธรรมดาเพิ่มได้บ้าง

2 รถไฟกรุงเทพจะมีคนใช้มาก จะมีกำไรพอใช้หนี้ คงไม่ต้องพึ่งรัฐบาลมากนัก

3 รถไฟความเร็วสูงขนแต่ผู้โดยสาร (ไม่เห็นประเทศใดใช้ขนสินค้า) จะเพิ่มผลผล...ิตของประเทศให้มากกว่าที่ low cost airline ทำอยู่แล้วได้หรือไม่ ในระดับเงินเดือนและค่าจ้างปัจจุบัน คาดว่าจะไม่มากนัก เพราะหากไม่มีระบบนี้ ค่าเสียโอกาสที่การเดินทางจะช้าไปบ้าง หรือที่ต้องใช้ low cost airline แทนนั้น ไม่รุนแรง ถามต่อว่าจะเพิ่มการท่องเที่ยวจากต่างประเทศได้หรือไม่ คาดว่าไม่มากนัก เพราะจากต่างประเทศเขาบินตรงเข้าเชียงใหม่และอู่ตะเภากันอยู่แล้ว

4 เมื่อโครงการไม่มีกำไร ไม่มีเงินจากโครงการมาเพื่อใช้หนี้ 5 ล้านล้านโดยตรง การใช้หนี้ก็ต้องอาศัยรัฐบาลเก็บภาษีในรูปแบบต่างๆ เพื่อมาชำระหนี้ แต่รัฐบาลมีนโยบายเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีบุคคลธรรมดาต่ำ เพื่อให้แข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน และไม่ผลักดันเก็บภาษีทรัพย์สินและที่ดิน จึงเหลือช่องทางเดียว คือเพิ่ม VAT

5 ผมได้ฟัง ดร. พิสิฐ ลี้อาธรรมในฐานะนักวิชาการตั้งคำถามน่าคิด หากรัฐบาลเพิ่ม VAT จนสูงเท่าประเทศในยุโรป บางประเทศร้อยละ 23 บางประเทศร้อยละ 28 ประชาชนจะคิดอย่างไร จะกระทบคนจนหรือคนรวยมากกว่ากัน

6 รัฐบาลจึงควรให้สภาพัฒน์และกระทรวงการคลัง ประเมินตัวเลขไปข้างหน้าตลอดระยะเวลาชำระหนี้ และให้หน่วยงานทั้งสองชี้แจงต่อสาธารณะ ว่าโครงการลงทุนจะเพิ่มรายได้เท่าใด จะมีกำไรมาชำระหนี้หรือไม่ ประเทศจะมีรายได้จากภาษีต่างๆ เท่าใด และจะต้องเก็บภาษีใดเพิ่มขึ้นหรือไม่เพื่อมาชำระหนี้ ซึ่งทำตัวเลขได้ไม่ยากครับ แต่ตัวเลขต้องอาศัยหลักวิชาการ ต้องไม่ใช่การขายฝัน

7 ดร.พิสิฐเคยเป็นกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ เขาเปรยว่าเสียดายที่ไม่ได้กำหนดในรัฐธรรมนูญเอาไว้ ให้รัฐบาลต้องแสดงแหล่งเงินที่จะใช้ชำระหนี้สำหรับโครงการกู้เงินต่างๆ เพราะการวางนโยบายที่เป็นยุทธศาสตร์ชาติเช่นนี้ ประชาชนควรได้ข้อมูลครบทุกด้าน ทั้งด้านประโยชน์ที่จะได้รับ และด้านค่าใช้จ่ายที่จะต้องร่วมกันควักกระเป๋า

8 ในโลกนี้ ไม่มีอะไรที่เป็นของฟรี แต่ต้องมาจากเงินของพวกเราทั้งนั้นแหละครับ
ที่มา.นสพ.ฐานเศรษฐกิจ
/////////////////////////////////////////////////

บอร์ด กนง.มีมติด้วยเสียง 5:1 คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.75%


altที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันนี้ (3 เม.ย.) มีมติด้วยเสียง 5 : 1 เสียง คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.75% ต่อปี

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันนี้ ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมทั้งแนวโน้มในระยะต่อไป เพื่อกำหนด
แนวนโยบายการเงินที่เหมาะสม โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้

เศรษฐกิจโลกยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นบ้างนับจากการประชุมครั้งก่อนจากวิกฤตเศรษฐกิจการเงินในกลุ่มประเทศยูโร ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจยูโรหดตัวมากกว่าที่คาดไว้เดิมขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน แต่ปัญหาทางการคลังยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ถ่วงการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น จากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการเงินและการคลัง เศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจเอเชียยังขยายตัวดีต่อเนื่อง จากอุปสงค์ในประเทศเป็นสำคัญ ในขณะที่แนวโน้มการส่งออกดีขึ้นเล็กน้อย

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 คาดว่าจะขยายตัวลดลงเข้าสู่แนวโน้มปกติ หลังจากที่เร่งขึ้นมากในช่วงก่อนหน้า คาดว่าในระยะต่อไปอุปสงค์ในประเทศจะยังเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากรายได้ภาคครัวเรือนและการจ้างงานที่อยู่ในระดับสูง ภาวะการเงินและสินเชื่อที่ผ่อนคลาย และแรงกระตุ้นทางการคลังที่จะทยอยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการบริหารจัดการน้ำและโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่คาดว่าจะเริ่มในช่วงกลางปีถึงปลายปี และมีผลกระตุ้นการลงทุนต่อเนื่องของภาคเอกชน ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นช้าๆ ตามภาวะเศรษฐกิจโลก สำหรับอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย แต่แรงกดดันเงินเฟ้อที่อาจเกิดจาก
ข้อจำกัดด้านอุปทานและต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้นยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม

คณะกรรมการฯ มีความเห็นว่า ภายใต้ภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังมีความเปราะบาง การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนปรนต่อไปยังคงมีความเหมาะสม แต่จะต้องระมัดระวังความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงิน รวมทั้งความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนที่เคลื่อนย้ายอย่างรวดเร็ว คณะกรรมการฯ จึงมีมติ 5 ต่อ 1 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.75 ต่อปี โดยกรรมการ 1 ท่านเห็นสมควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 ต่อปี

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยและความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะปรับนโยบายการเงินตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง

ในการประชุมครั้งนี้ กรรมการ 1 ท่าน ติดภารกิจในต่างประเทศจึงไม่สามารถเข้าร่วมประชุม
ที่มา.นสพ.ฐานเศรษฐกิจ
///////////////////////////////////////////////////////////

องค์กรรัฐสภาสากลออกคำสั่ง ประวัติศาสตร์กรณีประเทศไทย !!?


หลังจากเป็นเวลาเกือบ 3 ปีที่ผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยกว่า 90 รายถูกสังหารโดยกองกำลังของรัฐบาลบนท้องถนนในกรุงเทพฯ กลุ่มคนเสื้อแดงก็ได้รับชัยชนะอันยิ่งใหญ่จากองค์การพหุภาคีที่สำคัญ ซึ่งได้ฉายแสงให้เห็นถึงความอยุติธรรมอันแผ่ซ่านในระบบการเมืองไทย
หลังจากการประชุมครั้งล่าสุดในประเทศเอกัวดอร์ องค์กรรัฐสภาสากล (ไอพียู) -ซึ่งเป็นองค์กรที่มีสถานะเป็นผู้สังเกตการณ์ถาวรในยูเอ็น และได้รับการยอมรับจากยูเอ็นว่าเป็นองค์กรชั้นนำในด้านรัฐสภา ได้ออกมติแห่งประวัติศาสตร์ประณามการตัดสิทธิ์อันมิชอบด้วยกฎหมายของสมาชิกรัฐสภา นายจตุพร พรหมพันธุ์
เมื่อแกนนำเสื้อแดงคนสำคัญในรัฐสภา นายจตุพรถูกตัดสิทธิ์จากการเป็นสส.โดยคำสั่งผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญซึ่งแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม ปี 2555 อันเนื่องมาจากการเข้าร่วมการชุมนุมในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม ปี 25553 ของเขา ซึ่งหลังจากนั้นได้นำไปสู่การคุมขังและทำให้นายจตุพรไม่สามารถไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้
มติของไอพียูคงไว้ซึ่งหลักการที่ว่า การที่นายจตุพรถูกตัดสิทธิ์ถือ “เป็นการละเมิดพันธกรณีของประเทศไทยที่มีต่อสิทธิมนุษยชนโดยตรง” ในขณะเดียวก็ย้ำถึงความกังวลเรื่องการจับกุมนายจตุพรทซึ่งเกิดขึ้นภายใต้การใช้อำนาจฉุกเฉินอันมิชอบด้วยกฎหมายของรัฐบาลที่แล้ว รวมถึงข้อหาก่อการร้ายซึ่งมีเหตุจูงใจจากเรื่องทางการเมือง
ตามมติ TH/183 ของไอพียู ซึ่งยื่นในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2556 ที่นั่งในรัฐสภาของนายจตุพรถูกเพิกถอนในเวลาที่ “มิได้มีการพิสูจน์ว่าเขากระทความผิดใด” และรายละเอียดคำปราศรัยปรากฎว่า “เป็นการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก” มติยังระบุว่าการกระทำซึ่งยับยั้งมิให้บุคคลผู้ถูกกล่าวหาทางอาญาจากสิทธิการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งถือ “เป็นข้อจำกัดอันมิสมเหตุสมผล” โดยเฉพาะตามบทบัญญัติของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมืองซึ่งรับรองสิทธิของบุคคลผู้ถูกกล่าวหาทางอาญาในการให้ถูกสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะได้รับการพิสูจน์เป็นอย่างอื่น
ไอพียูกล่าวถึงความกังวลเกี่ยวกับหลักสำคัญทางกฎหมายและเหตุผลเบื้องหลังการถอนประกันและคุมขังนายจตุพร โดยร้องขอสำเนารายละเอียดข้อหาของนายจตุพร ในขณะเดียวกันก็ร้องขอให้สำนักงานเลขาธิการใหญ่ “เดินทางไปเยือนประเทศไทยเพื่อหยิบยกประเด็นดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่รัฐสภา รัฐบาลและตุลาการผู้มีประสิทธิภาพ รวมถึงมองหาถึงความเป็นไปได้ที่จะให้ความช่วยเหลือในเรื่องดังกล่าว”
ท่านใดที่สนในสามารถดาวน์โหลดมติของไอพียูได้ที่นี่
ข้างล่างคือคำแปลภาษาไทยบางส่วนของคำสั่งไอพียู
โปรดระลึกว่านายจตุพรถูกตัดสินลงโทษในวันที่ 10 กรกฎาคม และ 27 กันยายน พ.ศ. 2555 ในคดีอาญาสองกระทง โดยถูกตัดสินจำคุก 6 เดือน (รอลงอาญา 2 ปี) และปรับ 50,000 บาท ตามลำดับในข้อหาหมิ่นประมาทนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในขณะนี้ทั้งสองคดีอยู่ในระหว่างการอุทรณ์; โปรดระลึกว่าผู้ตรวจการพิเศษองค์การสหประชาชาติส่งเสริมและปกป้องสิทธิในเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก ซึ่งเน้นย้ำในรายงาน (A/HRC/17/27 ของวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2554) โดยเรียกร้องให้ทุกประเทศยกเลิกโทษทางอาญาในคดีหมิ่นประมาท
โปรดระลึกว่าประเทศไทยลงนามในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง ดังนั้นจึงมีพันธกรณีที่จะต้องคุ้มครองสิทธิที่รับรองไว้ในกติกาดังกล่าว
เมื่อพิจารณาว่า ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2556 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะเริ่มอภิปรายเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญซึ่งคาดว่าจะกระทบต่อรายละเอียดทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองและการยุบพรรค; โปรดระลึกว่า ที่มาของความหวาดกลัวว่าการตัดสิทธิ์ทางการเมืองของนายจตุพรอาจถูกพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามใช้โต้เถียงว่าพรรคผู้นำรัฐบาลเพื่อไทย “ส่งนายจุตพรลงสมัครเลือกตั้งในสส.ระบบบัญชีรายชื่อโดยมิชอบ”จึงเป็นเหตุให้การเลือกตั้งเป็นไปในลักษณะที่ “ไม่ซื่อสัตย์และยุติธรรม” ดังนั้นพรรคการเมืองที่เขาสังกัดควรถูกยุบ
1.ไอพียูขอขอบคุณสำนักงานเลขาธิการใหญ่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสำหรับจดหมายและความร่วมมือ
2.ไอพียูยืนยันว่าจดหมายดังกล่าวมิได้ทำให้ไอพียูคลายความกังวลใจกรณีที่นายจตุพรถูกตัดสิทธิ์ด้วยเหตุผลซึ่งขัดต่อพัธกรณีที่ประเทศไทยมีต่อมาตราฐานสิทธิมนุษยชนสากลโดยตรง
3.เมื่อพิจารณาว่า แม้ว่ารัฐธรรมนูญไทยจะบัญญัติไว้โดยเฉพาะถึงเรื่องการตัดสิทธิ์ทางการเมืองของบุคคลที่ “ถูกคุมขังโดยคำสั่งทางกฎหมาย” ในวันเลือกตั้ง โดยยับยั้งมิให้บุคคลผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางอาญาใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ซึ่งขัดกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง ในมาตรา 25 ที่รับรองสิทธิในการ “เข้าร่วมทำกิจกรรมสาธารณะ” รวมถึงการ “ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งและลงสมัครรับเลือกตั้ง” โดยปราศจากการ “ข้อจำกัดอันไม่สมเหตุสมผล”
4.เมื่อพิจารณาในแง่ดังกล่าว การปฎิเสธมิให้สส.ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากเรือนจำเพื่อไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งตั้งจึงเป็น “ข้อจำกัดอันไม่สมเหตุสมผล” โดยเฉพาะในบทบัญญัติของกติกาที่รับรองว่าบุคคลซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางอาญาให้ถือเป็นผู้บริสุทธิ์ (มาตรา 14) และ ให้ได้รับ “การปฎิบัติที่แตกต่างจากบุคคลผู้ถูกตัดสินว่ามีความผิดแล้ว” (มาตรา 10 (2)(a) ); ไอพียูระบุว่าการตัดสิทธิ์ของนายจุตพรยังปรากฎว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญไทยมาตรา 102(4) ซึ่งบัญญัติว่าผู้ที่ถูกตัดสินว่าว่ากระทำความผิดทางอาญาเท่านั้น ที่จะสูญเสียสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยไม่รวมผู้ถูกกล่าวหาทางอาญา
5.ซึ่งไม่ต่างจากกรณีที่ความเป็นสมาชิกพรรคการเมืองของนายจตุพรถูกเพิกถอนในเวลาที่ยังมิได้มีการระบุว่าเขากระทำความผิดใด และในกรณีของคำปราศรัยอันปรากฎว่าเป็นการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก ได้ย้ำเตือนถึงความกังวลว่า ศาลสามารถตัดสินกรณีพิพาทเกี่ยวกับความเป็นสมาชิกพรรคการเมืองซึ่งเป็นเรื่องส่วนบุคคลระหว่างนายจตุพรและพรรคการเมืองนั้นโดยอันที่จริงก็มิได้มีข้อพิพาทใดระหว่างนายจตุพรและพรรคการเมืองนั้นเลย
6.จากข้อเท็จจริงข้างบน ไอพียูจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เจ้าหน้าที่รัฐไทยจะทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อพิจารณาการตัดสิทธิของนายจตุพรอีกครั้งและรับรองว่าบทบัญญัติกฎหมายในปัจจุบันจะมีความสอดคล้องกับมาตราฐานสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้อง ทางไอพียูประสงค์ที่จะได้รับแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับผลลัพธ์ของกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้
7.ทางไอพียูยังคงกังวลเกี่ยวกับข้อกล่าวหาทางกฎหมายและข้อเท็จจริงซึ่งอ้างอิงอันเกี่ยวกับข้อหาของนายจตุพร และความเป็นไปได้ที่ศาลอาจสั่งถอนประกันนายจตุพร; ดังนั้นไอพียูจึงประสงค์ที่จะขอสำเนาซึ่งเกี่ยวกับข้อกล่าวหาดังกล่าว และพิจารณาว่า ในกรณีนี้อาจเป็นเป็นประโยชน์ที่จะส่งผู้สังเกตการณ์เพื่อเข้าร่วมการพิจารณาคดีในศาล และร้องขอให้เลขานุการใหญ่จัดการการนัดหมายที่จำเป็น
8.ความกังวลของไอพียูต่อกรณีที่นายจตุพรถูกสั่งฟ้อง ตัดสินและลงโทษในความผิดหมิ่นประมาท; ในกรณีนี้ ความเห็นของผู้ตรวจการพิเศษขององค์การสหประชาชาติระบุว่า ความผิดหมิ่นประมาทมิควรที่จะเป็ความผิดทางอาญา ดังนั้น ไอพียูจึงประสงค์ที่จะเห็นเจ้าหน้าที่รัฐไทยพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้อง และประสงค์ที่จะได้รับสำเนาเกี่ยวกับการพิจารณาดังกล่าว รวมถึงได้รับแจ้งถึงขั้นตอนการอุทรณ์ในคดีดังกล่าว
9.ทางไอพียูพิจารณาว่า คดีในปัจจุบันมีการแตกกิ่งการสาขานอกเหนือจากกรณีของนายจตุพร และยังเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางรัฐธรรมนูญและระบบระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและศาล; ทางไอพียูจึงร้องขอให้เลขาธิการใหญ่เดินทางไปเยือนประเทศไทยเพื่อหยิบยกประเด็นดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่รัฐสภา รัฐบาลและตุลาการที่ทรงประสิทธิภาพ รวมถึงค้นหาถึงความเป็นไปได้ว่าทางไอพียูจะสามารถช่วยเหลืออะไรได้บ้างในกรณีดังกล่าว
10.ทางไอพียูร้องขอให้เลขาธิการใหญ่ส่งมตินี้ไปยังเจ้าหน้าที่รัฐที่ทรงประสิทธิภาพและผู้ให้ข้อมูล
11.ทางไอพียูร้องขอให้คณะกรรมาธิการตรวจสอบคดีนี้อย่างต่อเนื่อง และรายงานให้ทางไอพียูทราบต่อไปในระบะเวลาที่เหมาะสม



ม็อบเครือข่ายแรงงานไม่พอใจสภาโหวต พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับประชาชนตก !!?


รายงานจากบริเวณหน้ารัฐสภา ว่า เวลา 10.00 น. กลุ่มเครือข่ายแรงงานประมาณ 400 คน ได้ชุมนุมเพื่อคัดค้านกรณีที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวาระแรกไม่รับร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับที่ประชาชนร่วมกันลงชื่อเสนอจำนวน 14,264 คน ที่เน้นให้เกิดความเป็นอิสระของสำนักงานประกันสังคม น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวถึงกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่รับร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ที่เสนอโดยประชาชน ว่า เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ไม่ให้ความสำคัญและไม่ยอมรับในสิทธิและกฎหมายของภาค ประชาชน จึงขอปฏิเสธการเป็นตัวแทนภาคประชาชนเข้าไปนั่งเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ในวาระที่ 2 เพราะไม่ใช่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับของภาคประชาชน จึงไม่มีประโยชน์อะไรที่จะเข้าไปเป็นกรรมาธิการ

นายทวีป กาญจนวงศ์ ประธานมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวสะท้อนว่าไม่ว่ากฎหมายฉบับใดที่ประชาชนเสนอแล้วไม่ถูกใจ ส.ส. กฎหมายฉบับนั้น จะถูกปิดกั้นไม่ถูกนำมาพิจารณาในทันที ถือว่าเป็นการกีดขวางการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยแท้ ทางเครือข่ายแรงงานทั่วประเทศจึงต้องการแสดงออกเพื่อประท้วงกระบวนการฉ้อฉลของรัฐสภา และประณามการทำหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

นายชาลี ลอยสูง เลขาธิการสหพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิคประเทศไทย อ่านแถลงการณ์ตอนหนึ่งว่า การรวมตัวชุมนุมครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการแสดงออกในการไม่เห็นด้วยกับการทำหน้าที่ของ ส.ส.ในสภา และหลังจากนี้ทางเครือข่ายจะลงพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อทำความเข้าใจกับแรงงานในพื้นที่ต่างๆ และจะมีการรวมตัวชุมนุมอย่างต่อเนื่อง

ที่มา.มติชน
///////////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2556

3 เหตุผลทำไมเราไม่ควร ชะล่าใจเรื่องฐานะการคลังและหนี้สาธารณะ !!?




โดย ศิริกัญญา ตันสกุล

1. “พอหนี้เริ่มเพิ่มขึ้น มันจะพุ่งขึ้นแบบก้าวกระโดด”

เราคิดว่าสัดส่วนภาระหนี้ต่อ GDP ที่ 40% อยู่ในระดับที่รับได้ แต่ประเทศอื่น ๆ อย่างสเปน หรือไอร์แลนด์ ก็เคยมีภาระหนี้อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 40% เมื่อไม่นานมานี้ แต่เมื่อเผชิญปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ไอร์แลนด์ซึ่งมีสัดส่วนภาระหนี้ต่อ GDP อยู่ที่ 25% ในปี 2007 กลับมีสัดส่วนนี้กระโดดขึ้นไปเป็น 106% ภายใน 4 ปี (ดูภาพที่ 1)

หนี้ก้อนโต ภาระหนี้ยิ่งเพิ่มเร็ว เฉพาะภาระดอกเบี้ยอย่างเดียวก็คิดเป็น 5 เท่าของรายจ่ายชำระคืนเงินต้นแล้ว ตอนนี้อัตราดอกเบี้ยเราต่ำมาก แต่ถ้าดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีก 2 % จะทำให้ภาระหนี้เพิ่มขึ้นไปถึง 60% (ดูภาพที่ 2)

2. “ยังมีหนี้ที่ซ่อนอยู่”
ตัวเลขสัดส่วนภาระหนี้ต่อ GDP ของไทยที่ระดับ 43.3% (ข้อมูล ณ ปี 2011) นั้นรวมเฉพาะ หนี้รัฐบาล หนี้กองทุนฟื้นฟู หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงินทั้งหมด และหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินเฉพาะที่รัฐค้ำประกัน แต่ที่ยังไม่ได้รวมคือหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (ส่วนที่รัฐไม่ได้ค้ำประกัน) ซึ่งประเทศไทยมักใช้ SFI (โครงการเชื่อมโยงบริการการเงินระหว่างสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ) เป็นเครื่องมือด้านงบประมาณของรัฐบาล เช่น กู้เงินจากธกส. เพื่อใช้ในโครงการจำนำข้าว เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังไม่รวม “ภาระผูกพัน” ในอนาคต อาทิเช่น งบสำหรับโครงการรถคันแรกที่จะเป็นภาระผูกพันไปจนถึงงบประมาณปี 2557 ซึ่งงบก้อนใหญ่ที่สุดคือ งบในปี 2557 ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 24,000 ล้านบาท

3. “บีบงบลงทุนหมด”
ถึงแม้ว่าภาระหนี้ของไทยในตอนนี้อาจจะยังไม่อยู่ในระดับวิกฤตก็ตาม แต่ภาระหนี้เหล่านี้จะส่งผลให้ไทยมีงบประมาณเหลือเพื่อการจัดสรร (Fiscal Space) น้อยลง จะทำให้รัฐบาลยิ่งต้องทำงบประมาณขาดดุลเพิ่มจนเกือบเต็มเพดานการก่อหนี้ตามกฎหมาย ส่งผลให้งบลงทุนถูกจำกัดตามไปด้วย






ที่มา.thailandfuturefoundation
///////////////////////////////////////////////////////////////

8 คนร้ายแต่งตัวคล้ายทหาร-บุกอุ้มนาวิกฯ สังกัดหน่วยวิสามัญ16ศพ-หายออกจากบ้านพัก !!?


น.ส.ดารีซะ อายุ 22 ปี ชาว ต.สุวารี อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เข้าแจ้งความต่อ ร.ต.ท.รัชสิทธิ์ ลือลั่น ร้อยเวร สภ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ว่า พลทหารมะอีลา โตะลู อายุ 24 ปี สังกัดกองพันทหารราบที่ 7 กรมทหารราบที่ 3 กองพลนาวิกโยธินภาคใต้ ค่ายจุฬาภรณ์ ถูกกลุ่มคนร้ายจำนวน 8 คน แต่งกายเลียนแบบเจ้าหน้าที่ทหารมีอาวุธปืนครบมือ บุกจี้ตัวพลทหารมะอีลา หายออกจากบ้านไปในช่วงคืนที่ผ่านมา

โดย น.ส.ดารีซะ ภรรยาของพลทหารมะอีลา ให้การว่า ช่วงเวลา 19.00 น. ของคืนที่ผ่านมา ขณะที่ตนขี่รถ จยย.ออกไปซื้ออาหารในหมู่บ้าน สามีซึ่งลาพักราชการกลับมาบ้าน 6 วัน ได้อยู่กับนายยาการียา ซอพี อายุ 20 ปี ซึ่งเป็นน้องชายตามลำพัง 2 คน ต่อมามีคนร้าย 8 คน ขับรถยนต์กระบะไม่ทราบสียี่ห้อและแผ่นป้ายทะเบียนเป็นพาหนะ มาจอดหน้าบ้านพัก โดยคนร้ายจำนวน 2 คน ยืนคุมเชิงอยู่ที่หน้าบ้าน ส่วนอีก 6 คน ได้เดินตรงเข้าไปในบ้านพัก 1 ในนั้นได้ใช้อาวุธปืนเอ็ม16 จี้ที่ศรีษะของนายยาการียาซึ่งเป็นน้องชาย แล้วพูดเป็นภาษายาวีว่า บ้านนี้ใครเป็นทหาร แล้วคนร้ายได้เดินไปใช้เชือกที่เตรียมมา มัดมือพลทหารมะอีลา แล้วใช้ปืนจี้คุมตัวขึ้นรถยนต์กระบะหายไป โดยที่คนร้ายไม่ได้ทำร้ายนายยาการียา ซึ่งเป็นน้องชายแต่อย่างใด

นอกจากนี้ น.ส.ดารียะ ภรรยาของพลทหารมะอีลา ยังให้การกับพนักงานสอบสวนอีกว่า โดยปกติพลทหารมะอีลา ซึ่งเป็นสามีไม่เคยมีเรื่องขัดแย้งและบางหมางกับผู้ใดในพื้นที่เมื่อลาพักจากราชการก็จะกลับมาอยู่บ้านโดยที่ไม่ออกไปไหนมาไหน เพราะเกรงจะตกเป็นเป้าถูกคนร้ายลอบดักสังหาร และสามีได้พูดให้ฟังบ่อยครั้งว่า ทหารทุกนายที่ปฏิบัติหน้าที่ที่กองร้อยปืนเล็กที่ 2 บ้านยือลอ ต้องระมัดระวังเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากมีกระแสข่าวหลังจากเจ้าหน้าที่วิสามัญคนร้ายเสียชีวิต 16 ราย เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 56 ที่ผ่านมา กลุ่มคนร้ายจะทำทุกวิถีทางเพื่อเอาคืนชีวิตเจ้าหน้าที่เป็น 2 เท่า คือตาย 16 คน จะเอาคืนชีวิต เจ้าหน้าที่ 32 คน เพื่อแก้แค้นให้กลับสมาชิกในกลุ่มที่ถูกวิสามัญ

ซึ่งหลังจากรับแจ้งความแล้วเสร็จ ร.ต.ท.รัชสิทธิ์ พนักงานสอบสวนและเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะเดินทางไปยังบ้านเกิดเหตุ เพื่อตรวจสอบหาหลักฐานของกลุ่มคนร้ายอย่างละเอียดอีกครั้ง ในการรวบรวมเป็นประจักษ์พยานหลักฐานเพื่อนำไปสู่การสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงและติดตามกลุ่มคนร้ายมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ที่มา.ข่าวสด
////////////////////////////////////////////////////