--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2556

กู้ 2 ล้านล้านบาท รถไฟความเร็วสูง..ผักไม่เน่า !!?


โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์

คนไทยเวลานี้ที่สนอกสนใจเรื่องการเมืองใจจดใจจ่ออยู่กับเรื่องเมกะโปรเจ็กต์ เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ของเงินกู้เป็นเรื่องรถไฟคาวมเร็วสูง มีความกังวลเรื่องภาระหนี้ที่ยาวนานชั่วรุ่นคน กังวลเรื่องความโปร่งใส และมีข้อทักท้วงเรื่องวิธีการกู้

ขณะเดียวกันก็มีดราม่าสนุกสนานเรื่อง "ขนผัก" ด้วยรถไฟความเร็วสูง

จำได้ว่าก่อนพระราชบัญญัติเงินกู้ 2 ล้านล้านจะเข้าไปอภิปรายในสภาไม่กี่วัน มีหนังสือพิมพ์สัมภาษณ์เด็กหนุ่มคนหนึ่งชื่ออะไรจำไม่ได้ แต่นามสกุลวิญญรัตน์ เป็นลูกชายของพันศักดิ์ วิญญรัตน์ เสธ.ใหญ่เบื้องหลังแนวนโยบายของทักษิณมาแต่ไหนแต่ไร เคยเป็นหนึ่งในทีมบ้านพิษณุโลกสมัยนายกฯชาติชาย ชุณหะวัณ เคยเป็นอะไรอีกหลายๆ อย่างที่คนในวงการสื่อรู้จักกันดี แต่ไม่ออกมาเบื้องหน้า

ลูกชายคุณพันศักดิ์รับงานวิจัยมาทำซึ่งในบท สัมภาษณ์นั้นเกี่ยวกับเรื่อง "ผัก" ที่ระบบโลจิสติกส์แย่มาก เกิดความสูญเสียร้อยละสามสิบเป็นอย่างน้อย โดยยกตัวอย่างกะหล่ำปลี

ถ้าขนด้วยรถไฟความเร็วสูง ระยะเวลาการขนลดลงไปมหาศาล จาก 8-10 ชั่วโมง เหลือแค่ 3 ชั่วโมง ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องดี หากทำได้ และผมคิดว่านั่นเป็นส่วนหนึ่งของวาทกรรมขนผักของนายกฯปูในสภา ที่ผู้คนบนอินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะเฟซบุ๊กเห็นเขาเสียดสีกันสนุกสนาน

ผมนึกถึงหนังสือเล่มหนึ่งที่เคยแปลไว้ชื่อเรื่อง "กล้วยไม่ใช่เรื่องกล้วย" หนังสือเล่มนี้เล่าความเป็นมาของกล้วย (ส่วนใหญ่คือกล้วยหอม) ว่ามันเข้าไปในอเมริกาซึ่งไม่มีกล้วย ปลูกกล้วยเองไม่ได้ จนกลายเป็นอาหารประจำโต๊ะอาหาร แล้วแพร่ระบาดไปจนกลายเป็นผลไม้ที่คนกินมากที่สุดในโลกได้อย่างไร

การขนส่งกล้วยจากอเมริกาใต้ไปยุโรปหรืออเมริกา ต้องไปทางเรือ แต่กล้วยมีระยะเวลาสุกงอมของมันชัดเจน อาทิตย์เดียวก็เปลือกคล้ำจนไม่มีใครแล บริษัทข้ามชาติที่ทำธุรกิจขนส่งทางเรือหาวิธีจนให้กำเนิดห้องเย็นบนเรือ ซึ่งสมัยก่อนใช้น้ำแข็งก้อนๆ ธรรมดา

หาวิธีที่จะทำให้กล้วยออกมาจาก สวนกล้วยในอเมริกาใต้แบบไม่บอบช้ำ ในเวลาที่จำกัดมาก ด้วยการสร้างวิธีบรรจุหีบห่อจากพื้นที่ แล้วถึงจะขนออกมาใส่ตู้คอนเทนเนอร์ มีการลงเลขทะเบียนกล้วยแต่ละกล่องจนกลายมาเป็นบาร์โค้ดในปัจจุบัน

กระบวนการทั้งหมดนี้ไม่ได้มีรถไฟความเร็วสูงเข้ามาเกี่ยวข้อง

คำถามมันย้อนกลับมาว่ารถไฟความเร็วสูงในโลกนี้ที่เขามีกันใช้กันมีที่ไหนใช้ขน ส่งสินค้ากันบ้าง ในเวลาอันจำกัดและข้อมูลอันจำกัดเท่าที่ค้นหาได้

คำตอบคือไม่มี รถไฟความเร็วสูงตอบโจทย์การขนส่งสินค้าไม่ได้ แต่พวกเจ้าของเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงขายไอเดียนี้นะครับ และโปรเจ็กต์รถไฟความเร็วสูงของหลายๆ ประเทศก็จะบรรจุข้อดีเรื่องนี้เอาไว้ เพียงแต่ว่าเท่าที่พยายามสืบค้น ยังไม่มีที่ไหนทำได้จริง

เดือนมีนาคม ปี 2011 มีการสาธิตการขนส่งสินค้าด้วยรถไฟความเร็วสูงจากอังกฤษกับยุโรป ที่เขาว่าเป็นครั้งแรกที่เคยลองกัน

แต่สินค้าที่ทดลองกันคือสินค้าประเภทพัสดุส่งด่วนของบริษัทที่ลงท้ายด้วยเอ็กซ์ ที่หมายถึงเอ็กซเพรส รับรองว่าไม่ใช่ "กะหล่ำปลี" แน่ๆ มีการถกกันในยุโรปด้วยนะครับว่ามันคุ้มหรือเปล่ากับการขนส่งสินค้าด้วยรถไฟ ความเร็วสูง มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เท่าที่ผมอ่านมา ความเป็นไปได้เกือบเท่ากับ 0

ที่จริงผมไม่ได้มีปัญหาอะไรกับรถไฟความเร็วสูงที่จะขนผักแล้วไม่เน่า ทำได้ก็ดี เท่าที่พยายามค้นแล้วเหมือนว่าไม่เคยมีใครทำได้

ถ้าทำไม่ได้ก็ตัดประเด็นนี้ออกไปเท่านั้นเอง "บ่องตง" ไม่เห็นต้องดราม่าเลย แค่เอาข้อเท็จจริงมาคุยกัน

ที่มา มติชนรายวัน
///////////////////////////////////////////////////

กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน ตั้ง กิตติรัตน์ เป็นประธาน !!?

กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ตั้งนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธาน โดยจะตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของร่างก่อนศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน พร้อมกำหนดประชุมทุกวันจันทร์และอังคาร



นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ... (ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท) แถลงภายหลังการประชุมนัดแรก โดยระบุว่า ที่ประชุม กมธ. มีมติเลือก นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธานคณะ กมธ. พร้อมแต่งตั้งรองประธานคณะ กมธ. คนที่ 1 - 6 ซึ่งมาจากตัวแทนพรรคการเมืองต่าง ๆ ประกอบด้วย นายวราเทพ รัตนากร นายจาตุรนต์ ฉายแสง นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล นายกรณ์ จาติกวานิช นายไพจิต ศรีวรขาน นายวิทยา แก้วภารดัย ตามลำดับ โดยมีนายพิชิต ชื่นบาน เป็นเลขานุการฯ นายสมเกียรติ ศรลัมภ์ และ นายอนุชา บูรพชัยศรี เป็นผู้ช่วยเลขานุการ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ นายประภัสร์ จงสงวน และนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ เป็นโฆษกคณะกรรมาธิการ ส่วนที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ ประกอบด้วยนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ นายชัย ชิดชอบ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค และนายเทวัญ ลิปตพัลลภ

ทั้งนี้ มีกำหนดประชุมทุกวันจันทร์ และอังคารของสัปดาห์ โดยจะพิจารณาตามลำดับในเรื่อง การตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของพระราชบัญญัติ เหตุผล ความจำเป็นในการกู้ยืมเงิน ความพร้อม และประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ระเบียบวิธีการคลัง แหล่งเงิน กระบวนการตรวจสอบการใช้งบประมาณ พิจารณาโครงการและบัญชีแนบท้าย และสรุปกฎหมายรายมาตรา อย่างไรก็ตามกรณีที่มีการร้องเรียนและตั้งข้อสังเกตว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ท้ายที่สุดแล้วจะต้องถูกตัดสินโดยศาลรัฐธรรมนูญ

ที่มา.สำนักข่าวอิศรา
/////////////////////////////////////////////////

ฟัน. ฉาย บุนนาค-พวก 13 ราย ปั่นหุ้น !!?



ก.ล.ต. กล่าวโทษ ฉาย บุนนาค กับพวก  รวม 13 ราย ต่อดีเอสไอ ปั่นหุ้น "ไมด้า ลิสซิ่ง-แมกซ์ เมทัล คอร์ปอเรชั่น" "วรพล"เตือนนลท.ดูปัจจัยพื้นฐาน

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษนักลงทุน 13 ราย ร่วมกันสร้างราคาหุ้น ซึ่งเป็นคดีแรกในรอบปีนี้ จากที่ก่อนหน้านี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ออกมาตรการป้องกันการสร้างราคาและเตือนนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง หลังจากตลาดหุ้นปรับขึ้นอย่างร้อนแรง โดยเฉพาะหุ้นขนาดเล็ก

ก.ล.ต. แจ้งว่าได้กล่าวโทษ นายฉาย บุนนาค กับพวกรวม 13 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2556 กรณีเป็นผู้รู้เห็นและผู้สนับสนุนในการสร้างราคาหลักทรัพย์บริษัท ไมด้า ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ ML ในปี 2551 และ 2553 และบริษัท แมกซ์ เมทัล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MAX ในปี 2553

รายชื่อบุคคลอื่นอีก 12 คน ได้แก่ นายสรศักดิ์ วงศ์ชินศรีสกุล นางมะลิวัลย์ วงศ์ชินศรี นางสาววทันยา วงษ์โอภาสี นายสุพิชยะ ฉายเหมือนวงศ์ นายปัณณทัต กล่อมสมร นายพาวิตต์ นาถะพินธุ นายศรัณย์ ส่งโชติกุลพันธ์ นายเทพฤทธิ์ สีหิสราภิสิทธิ์ นางสาวดวงกมล เกียรติสุขเกษม นายมีศักดิ์ มากบำรุง นางสาวสุรัสวดี เกตุทัต และนายไท บุญปราศภัย

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมในคดีนี้เกิดขึ้นก่อนที่ ตลท.จะออกมาป้องปรามการซื้อขายในตลาดหุ้น และระบุว่าได้ส่งให้ ก.ล.ต. ตรวจสอบกรณีการซื้อขายผิดปกติ

คดีนี้ ทาง ก.ล.ต. ได้รับแจ้งจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า พบสภาพการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ผิดปกติในหุ้น ML ในช่วงระหว่างเดือนมี.ค. 2551 ถึงเดือนพ.ค. 2551 และในช่วงเดือนส.ค. 2553 และหุ้น MAX ในช่วงเดือนก.ย. 2553
จากการตรวจสอบเพิ่มเติมพบพยานหลักฐานน่าเชื่อว่า นายฉายกับพวก ได้สั่งซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของบุคคลต่างๆ จำนวนมาก โดยมีพฤติกรรมอำพรางในลักษณะการเข้าไปส่งคำสั่งซื้อขายในปริมาณมากหลายระดับราคา มีการครอง bid และ offer ผลักดันราคา จับคู่ซื้อขายกันเองภายในกลุ่ม กระตุ้นการซื้อขายด้วยการทยอยส่งคำสั่งซื้อหรือเคาะซื้อด้วยจำนวนย่อยๆ ที่ระดับราคาเดียวกัน หลายรายการ ตลอดจนพยุงราคาหลักทรัพย์

การซื้อขายดังกล่าวเพื่อให้บุคคลทั่วไปหลงผิดไปว่าหลักทรัพย์นั้นมีการซื้อขายกันมากหรือราคาเปลี่ยนแปลงไป โดยมีพฤติกรรมการซื้อขายในลักษณะต่อเนื่อง ส่งผลให้การซื้อหรือขายหลักทรัพย์นั้นผิดไปจากสภาพปกติของตลาด เพื่อชักจูงให้บุคคลทั่วไปทำการซื้อขายหลักทรัพย์นั้น

ก.ล.ต. เห็นว่าการกระทำของนายฉายกับพวกมีหลักฐานน่าเชื่อว่าเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 243 (1) (2) และ มาตรา 244 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ประกอบมาตรา 83 และ มาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

นอกจากนี้ การซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านบัญชีของบุคคลต่างๆ น่าเชื่อว่าเป็นการซื้อขายเพื่อประโยชน์ของนายฉาย แต่ไม่พบว่านายฉาย ได้เคยรายงานการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งหลักทรัพย์ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดแต่อย่างใด เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 246 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯด้วย

ก.ล.ต.จึงกล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ ดังนี้

(1) หุ้น ML ในช่วงปี 2551 กล่าวโทษนายฉาย บุนนาค นายสรศักดิ์ วงศ์ชินศรีสกุล และ นางมะลิวัลย์ วงศ์ชินศรี ในฐานะมีส่วนรู้เห็นหรือตกลงร่วมกันในการสร้างราคาหลักทรัพย์ และนางสาววทันยา วงษ์โอภาสี ซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัทหลักทรัพย์ ซีมิโก้ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ให้การสนับสนุนช่วยเหลือนายฉายในการส่งคำสั่งซื้อขายที่เป็นการสร้างราคาหลักทรัพย์

(2) หุ้น ML ในเดือนส.ค. 2553 กล่าวโทษนายฉาย บุนนาค นายสุพิชยะ ฉายเหมือนวงศ์ ในฐานะมีส่วนรู้เห็นหรือตกลงร่วมกันในการสร้างราคาหลักทรัพย์ และนายปัณณทัต กล่อมสมร นายพาวิตต์ นาถะพินธุ นายศรัณย์ ส่งโชติกุลพันธ์ นายเทพฤทธิ์ สีหิสราภิสิทธิ์ และนางสาวดวงกมล เกียรติสุขเกษม ในฐานะเจ้าของบัญชีที่ให้การสนับสนุนช่วยเหลือนายฉายในการสร้างราคาหลักทรัพย์ และนายไท บุญปราศภัย ขณะเกิดเหตุเป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัทหลักทรัพย์ คันทรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ให้การสนับสนุนช่วยเหลือนายฉายในการสร้างราคาหลักทรัพย์

(3) หุ้น MAX ในเดือนก.ย. 2553 กล่าวโทษนายฉาย บุนนาค ในฐานะมีส่วนรู้เห็นหรือตกลงร่วมกันในการสร้างราคาหลักทรัพย์ ตลอดจนนางสาววทันยา วงษ์โอภาสี ซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัทหลักทรัพย์ ซีมิโก้ จำกัด (มหาชน) นายปัณณทัต กล่อมสมร นายพาวิตต์ นาถะพินธุ นายศรัณย์ ส่งโชติกุลพันธ์ นายเทพฤทธิ์ สีหิสราภิสิทธิ์ นางสาวดวงกมล เกียรติสุขเกษม นายมีศักดิ์ มากบำรุง และนางสาวสุรัสวดี เกตุทัต ในฐานะเจ้าของบัญชีที่ให้การสนับสนุนช่วยเหลือนายฉาย ในการสร้างราคาหลักทรัพย์ และนายไท บุญปราศภัย

ขณะเกิดเหตุเป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัทหลักทรัพย์ คันทรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ให้การสนับสนุนช่วยเหลือนายฉาย ในการสร้างราคาหลักทรัพย์

การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นอำนาจและดุลพินิจของศาลยุติธรรม

ราคาหุ้น ML ปิดตลาดวานนี้ (1 เม.ย.) ที่ 1.46 บาท ไม่เปลี่ยนแปลงจากวันก่อน มูลค่าการซื้อขาย 27.45 ล้านบาท ขณะที่ราคาหุ้น MAX ปิดไม่เปลี่ยนแปลงที่ 0.31 บาท มูลค่าการซื้อขาย 3.22 ล้านบาท

"วรพล"เตือนนักลงทุนรอบคอบ

นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต. สัมภาษณ์กับ "กรุงเทพธุรกิจทีวี" ว่าตลาดหุ้นไทยตอนนี้มีสัดส่วนของการปั่นหุ้นมากน้อยแค่ไหน ยังไม่สามารถตอบได้ในขณะนี้

"ต้องเรียนว่าทาง ก.ล.ต. เอง ก็ดำเนินตามกระบวนการของ ก.ล.ต. โดยตลาดหลักทรัพย์เป็นด่านแรกการดูแลหลักทรัพย์ซื้อ-ขายหลักทรัพย์ต่างๆ ให้เป็นไปตามระบบระเบียบและความโปร่งใส เชื่อถือได้ พบสิ่งผิดปกติใดๆ ก็จะแจ้งมาที่ ก.ล.ต.ดำเนินการ เราก็ดำเนินการกระบวนการของเราต่อไป ต้องเรียนว่านักลงทุนต้องใช้ความรอบคอบ ระมัดระวังในการลงทุนเสมอ"

นายวรพล กล่าวว่า หลักทรัพย์นั้นปรับขึ้นปรับลงได้ตามภาวะตลาด ราคาจะเป็นไปอย่างไรนั้น ขอให้ศึกษาว่ามีพื้นฐานผลประกอบการรองรับหรือไม่ ฉะนั้นต้องใช้ความรอบคอบในการลงทุน ว่าราคาเหมาะสมกับผลประกอบการหรือไม่ ถ้าหากว่าไม่เหมาะสมเราก็จะเสียเปรียบ จะมีคนเห็นว่าราคานั้นแพงเกินไป เกินกว่าพื้นฐานรองรับได้ก็จะขายออกมา ราคาก็จะลงมา เรื่องเกี่ยวกับความไม่เรียบร้อยของราคาหรือความไม่เหมาะสมของราคาอันเนื่องจากมีผู้เข้าไปแทรกแซง

"อยากให้นักลงทุนระมัดระวัง เพราะเราเองก็ระมัดระวัง ตลาดหลักทรัพย์ก็ดูแลเรื่องนี้อยู่ หากพบสิ่งเหล่านี้ก็จะมีกระบวนการต่อไปในการดูแลเหล่านี้"

เมื่อถามว่ามีคดีที่อยู่ในการตรวจสอบของ ก.ล.ต. และอยู่ในข่ายที่ต้องสงสัยมากน้อยแค่ไหน นายวรพลกล่าวว่าเรื่องที่อยู่ระหว่างดำเนินการ โดยหลักการแล้ว ก.ล.ต.เปิดเผยไม่ได้ แต่เมื่อเสร็จขั้นตอน ก.ล.ต. ก็จะมีการเสนอข่าวให้ทราบ อย่าง ปัจจุบัน เห็นๆ กันอยู่ว่าการตรวจสอบกระทำความผิดนั้น เราทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงาน เช่น ก.ล.ต. กับ ตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น

"ตลาดหลักทรัพย์เป็นด่านแรกมีหน้าที่ศึกษาการวิเคราะห์ ในการหาข้อมูลการรับข้อมูล แล้วส่งผลต่างๆ หลังจากที่ คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ พิจารณาเรื่องนี้แล้วก็จะส่งให้ ก.ล.ต. ส่วนเรื่องจำนวนนั้น คงเป็นเรื่องภายใน แต่เสร็จสิ้นขั้นตอน เราก็แถลงข่าวให้ทราบ"

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2556

ศึกแห่งศักดิ์ศรี 2 ตระกูลใหญ่ !!?



การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เชียงใหม่ เขต 3 ที่ประกอบได้ด้วย 3 อำเภอ คือ สันกำแพง แม่ออน และดอยสะเก็ด ที่จะมีการเลือกตั้งซ่อมในวันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน 2556 นี้ ภายหลังจากที่ นายเกษม นิมมลรัตน์ ได้ลาออกจาก ส.ส. ด้วยเหตุผลที่ใครๆ ต่างก็มองออกว่า เป็นการลาออกเพื่อเปิดทางให้ "เจ้าของพื้นที่ตัวจริง" คืนสนามภายหลังจากถูกปลดล็อกจากพันธนาการในบ้าน 111 !!!

ซึ่งทางพรรคเพื่อไทยได้ประกาศตัวล่วงหน้า โดยส่ง "เยาวภา วงศ์สวัสดิ์" น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ และพี่สาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้มาป้องกันแชมป์ในพื้นที่นี้ เพราะต้องไม่ลืมว่า พื้นที่นี้เป็นบ้านเกิดของคนตระกูลชินวัตร และตั้งแต่ปี 2544 วาทกรรม "นายกฯคนเมือง(เชียงใหม่)" ทำให้พื้นที่ดังกล่าวคนตระกูลชินวัตรและเครือข่ายก็ยึดครองพื้นที่เป็น ส.ส. โดยตลอด ซึ่งนางเยาวภา ก็เคยเป็น ส.ส. ในพื้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม่และอำเภอสารภี เมื่อปี 2544–2548 โดยการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคเพื่อไทยต้องการรักษาเก้าอี้นี้เอาไว้ให้ได้ เพราะเนื่องจากลูกสาว "ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์" ถูกอุบัติเหตุทางการเมืองโดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี ในข้อหาแจ้งบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2555 ในครั้งนั้น "เจ๊แดง"อยากจะลงสนามแทนลูกใจจะขาด แต่วันเลือกตั้งคล้อยหลังวันได้รับอิสรภาพทางการเมืองแค่ 2 วัน จึงต้องดัน "คนขับรถ" มาลงแทน เมื่อเวลาประจวบเหมาะบวกกับสถานการณ์ทางการเมืองที่น้องสาวดูท่าจะ "เอาไม่อยู่" ทำให้นางเยาวภา ต้องลงสนามแข่งขัน เพื่อรักษาตำแหน่งแทนลูกสาวและเพื่อเป็นไปตามยุทธศาสตร์ของ "พี่ชายและนายใหญ่" ได้วางเอาไว้แล้ว

สำหรับทางพรรคประชาธิปัตย์นั้น ก็ได้มีการประกาศเปิดตัว "กิ่งกาญจน์ ณ เชียงใหม่" อดีต ส.ส. เชียงใหม่หลายสมัย ลงสมัครติดโลโก้พระแม่ธรณี ลงสู้ศึกครั้งนี้ สำหรับ นางกิ่งกาญจน์ นั้น เป็นนักการเมืองที่เคยเป็น ส.ส. และมีฐานเสียงใน จ. เชียงใหม่หนาแน่นคนหนึ่ง โดยในอดีตก็ถือว่า เป็นคนใกล้ตัวที่เคยทำงานกับนางเยาวภา และตระกูลชินวัตรร่วมกันมาก่อน โดยเฉพาะการร่วมมือกันผลักดันให้ "เจ้าหนุ่ย-ธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่" สามีของนางกิ่งกาญจน์ เป็นนายกฯ อบจ. เชียงใหม่ เมื่อปี 2547 แต่ต่อมาเกิดขัดแย้งกันอย่างหนักในเรื่องการจัดตัวผู้สมัคร ส.ส. ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2548 เพราะทางพรรคไทยรักไทยขณะนั้น ตัดชื่อ นางกิ่งกาญจน์ ออกจากบัญชีรายชื่อผู้สมัคร และเอาน้องชาย "พายัพ ชินวัตร" มาเสียบแทน ซึ่งสร้างความแค้นให้กับตระกูล ณ เชียงใหม่ มาถึงทุกวันนี้ และที่สำคัญตระกูล ณ เชียงใหม่ ใครๆ ก็ทราบดีว่า สืบเชื้อสายเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ซึ่งปกครองดูแลเชียงใหม่มานานหลายร้อยปี ซึ่งมีลูกหลานในตระกูลนี้ยังคงทำงานสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ซึ่งศึกเลือกตั้งซ่อมที่ จ.เชียงใหม่ในครั้งนี้ ถือเป็นศึก "แดง" ชน "แดง" เนื่องมาจากทั้งคู่มีชื่อเล่นว่า "แดง" ชาวบ้านในเชียงใหม่ต่างก็เรียกว่า "เจ๊แดง – แม่แดง" กันทั้งคู่ นอกจากนี้ เป็นการวัดบารมี 2 ตระกูลใหญ่ทางการเมืองใน จ.เชียงใหม่ โดยทั้งคู่ต่างมีบัญชีแค้นที่จะต้องชำระสะสางกันอยู่ ซึ่งทาง "เจ๊แดง เยาวภา" พอทราบว่า "แม่แดง กิ่งกาญจน์" ลงสมัครในครั้งนี้ ก็เริ่มแสดงอาการหวั่นไหวให้เห็น เนื่องจากว่า นางกิ่งกาญจน์ ถือเป็นคู่ต่อสู้ที่คู่คี่สูสี มากกว่า นางกัลยกรณ์ เจียมกิจวัฒนา ที่ทางเจ๊แดงเห็นว่า จะเอาชนะได้ไม่ยาก รวมทั้ง ปัญหาการบริหารงานของรัฐบาลน้องสาวของตัวเองนั้น คนเชียงใหม่ ก็เริ่มทราบถึงความล้มเหลวมากยิ่งขึ้น ถือเป็นปัจจัยชี้ขาดแพ้ชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ของเจ๊แดงด้วย ซึ่งอุณหภูมิทางการเมืองในพื้นที่ดังกล่าวเริ่มมีความร้อนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของทั้งสองพรรคใหญ่ ที่ต่างประกาศสู้ตายเพื่อเอาชนะในเขตนี้ ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้ประกาศว่า "แพ้ไม่ได้" ส่วนทางพรรคประชาธิปัตย์ ทางแกนนำพรรค ได้ระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่า จะ "เอาจริง" และ "จัดหนัก" เหมือนกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชกรุงเทพมหานคร เพื่อปักธงประชาธิปัตย์ในพื้นที่บ้านเกิดของนายใหญ่แห่งพรรคเพื่อไทยมาให้ได้

ศึกครั้งนี้ พรรคเพื่อไทยจะรักษาเก้าอี้เพื่อผลักดันให้ เจ๊แดง เยาวภา กรุยทางเข้าสภา เพื่อเป็นนายกฯสำรองตามคำบัญชาของนายใหญ่ หรือ พรรคประชาธิปัตย์จะอาศัยกระแสเพื่อให้ เจ๊แดง กิ่งกาญจน์ เป็น ส.ส. เพื่อเป็นการส่งสัญญาณตบหน้านายใหญ่คนแดนไกลว่าอย่าดูประชาชน ใครจะเป็นฝ่ายชนะ ก็ต้องให้ชาวเชียงใหม่เขต 3 เป็นผู้ตัดสินใจกำหนดอนาคตตัวเองในวันที่ 21 เมษายนนี้

ที่มา.นสพ.แนวหน้า
///////////////////////////////////////////////////////////////////

เจรจาดับไฟใต้ กับทางสองแพร่งระหว่างการให้อภัยและความยุติธรรม !!?

Philosopher Saves the Day โดย กิตติภัต แสนดี [randoma.wordpress.com]

เป็นเวลากว่าหนึ่งเดือนแล้ว นับจากวันที่เลขาธิการสมช. ลงนามข้อตกลงร่วมเจรจาแก้ไขความขัดแย้งในภาคใต้กับกลุ่มขบวนการแนวร่วมปฎิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (บีอาร์เอน) โดยที่มีมาเลเซียเป็นตัวกลางคู่เจรจา ความมุ่งหมายของการเจรจากับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่เก่าแก่นี้ มีเพื่อปูทางให้กับการเจรจากลุ่มขบวนการขัดแย้งในพื้นที่ภาคใต้อื่นๆ สนใจเข้าร่วม

กระบวนการพูดคุยลักษณะนี้ สะท้อนภาพชวนฝันของ “คณะกรรมการความจริงและการปรองดอง” ที่ตั้งขึ้นในประเทศแอฟริกาใต้ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงการเหยียดสีผิวและการละเมิดสิทธิมานุษยชนในช่วงปี 1960 ถึง 1994

แม้โครงสร้างวิธีจัดตั้งของกลุ่มเจรจาทั้งสอง รวมถึงเนื้อหารูปแบบความขัดแย้งจะต่างกัน แต่สาระสำคัญของทั้งสองโครงการนี้ คิอการรับฟังปัญหาระหว่างคู่ขัดแย้ง และหาทางออกที่เป็นทางเลือกนอกจากวิธีทางกระบวนการยุตธรรมแบบดั้งเดิม

และทุกครั้งที่มีการนำกระบวนการพิเศษเหล่านี้มาใช้กับความขัดแย้ง สิ่งที่เป็นปัญหาในมุมมองปรัชญาคือคำถามที่ว่า การใช้หลักการให้อภัย ความเข้าใจกันและกัน ขัดแย้งกับหลักยุติธรรมหรือไม่ และหากขัดแย้งแล้ว วิธีใดจะดีกว่ากันในการแก้ไขความขัดแย้ง บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อตอบทั้งสองคำถามนี้ในมุมมองของแนวคิดทางปรัชญา



เจรจา BRN/ ภาพจาก MThai News
การให้อภัยและความยุติธรรม ขัดแย้งกันหรือไม่?

การให้อภัยคือการกระทำที่ฝ่ายผู้ถูกกระทำ มอบให้แก่ผู้กระทำ ผู้ถูกกระทำรับรู้ว่าตนได้รับผลของการกระทำอย่างไรบ้างจากผู้กระทำ แต่กระนั้นก็ยังแสดงความยินยอมที่จะละไปซึ่งสิทธิในการได้รับชดใช้ หรือยินยอมที่ผู้ถูกกระทำจะถูกละไปซึ่งภาระหน้าที่ใดๆ ที่อาจมีตามมาเนื่องมาจากการกระทำนั้น

ส่วนความยุติธรรมนั้น หากย้อนไปยังต้นกำเนิด สามารถสืบค้นได้จากประมวลกฎหมายฮัมมูราบี ซึ่งใจความของมัน ถูกสรุปอยู่ในวลีที่แสนจะคุ้นเคยว่า “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” ความหมายของมันยืนยันถึงความจำเป็นที่ผู้กระทำ ต้องได้รับความทุกข์ร้อนแบบเดียวกับที่ไปก่อกับผู้อื่นไว้

การลงโทษทางกฎหมายจึงเหมือนการให้ผู้ถูกกระทำ “ชดใช้” ให้กับผู้กระทำ ซึ่งจิตวิญญาณและกลิ่นอายของพื้นฐานความคิดเช่นนี้ ยังสิงสู่วนเวียนกับทฤษฎีความยุติธรรมร่วมสมัย ที่มองว่าการให้ผู้กระทำผิดต้องรับโทษฑัณฑ์ติดคุกติดตาราง ก็เพื่อเป็นการ “ชดใช้” ภาระที่ก่อไว้กับสังคม

การให้อภัย ต้องการให้ผู้ถูกกระทำ ยินยอมให้ผู้กระทำหลุดพ้นจากภาระที่เกิดจากการกระทำ แต่ความยุติธรรมมุ่งหมายให้ผู้ถูกกระทำ ชดใช้ให้ผู้ถูกกระทำ (ซึ่งอาจหมายถึงผู้ถูกกระทำโดยตรง หรือเป็นรัฐก็ได้) ดังนั้น การให้อภัยและความยุติธรรมไม่ได้เพียงแต่ไม่สอดคล้องกัน แต่ยังขัดแย้งตัดขวางซึ่งกันและกัน เรียกว่า ถ้าให้อภัยก็จะไม่เกิดความยุติธรรม และถ้าใช้ความยุติธรรมก็จะไม่เกิดการให้อภัยอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ดี มีความคิดเกี่ยวกับความยุติธรรมแนวใหม่ ที่มองว่าควรมุ่งเน้นที่การเยียวยาฟื้นฟูให้เหมือนเดิมตามความพึงพอใจของคู่กรณี (Restorative) มากกว่าเน้นที่การลงโทษ ชดใช้ (Retributive) ซึ่งแนวคิดนี้ไม่ขอกล่าวถึงในบทความ และการกล่าวถึงความยุติธรรมในบทความนี้ จะหมายถึงความยุติธรรมในความหมายดั้งเดิมอย่างที่กล่าวไปเท่านั้น



Desmond Tutu/ photo by Dale Frost, Port of San Diego
วิธีใดที่ควรเน้น ในการแก้ไขความขัดแย้ง?

“ไม่มีอนาคต ถ้าไม่มีการให้อภัย” คือชื่อหนังสือของเดสมอนด์ ตูตู ประธานคณะกรรมการความจริงและการปรองดอง ที่เล่าถึงวิธีการและผลลัพธ์ของการก้าวข้ามปัญหาความขัดแย้งในแอฟริกาใต้ ผ่านการรับฟังเรื่องเล่าของผู้ถูกกระทำ และเปิดเผยตัวตนของผู้กระทำผ่านสื่อที่เผยแพร่ทั่วไปอย่างกว้างขวาง

แต่เป็นความจริงหรือไม่ที่หากไม่มีการให้อภัย จะไม่มีอนาคต?

การให้อภัย ถูกพูดถึงในทางศาสนาหลายศาสนาว่า เป็นวิธีที่ดีกว่าการใช้กระบวนการยุติธรรม ศาสนาพุทธชี้ว่าการแก้แค้น จะนำมาสู่วงเวียนความรุนแรงที่ต่างฝ่ายต่างจะทำร้ายซึ่งกันและกันมากขึ้นอย่างไม่จบสิ้น เมตตาธรรมยังเป็นหนึ่งในคุณลักษณะของพระพุทธเจ้าที่ถูกอธิบายในทศชาติชาดก ในตอนที่พระสุวรรณสามถูกพระราชากบิลยักขราชยิงด้วยธนูระหว่างที่ไปหอบน้ำ หาอาหารให้บิดามารดาที่ตาบอด พระสุวรรณสามยังมีจิตเมตตาพูดจาดีงามกับพระราชาก่อนสิ้นใจ จนพระราชาต้องรับหน้าที่การหอบน้ำกลับมาให้ยังบิดามารดาของพระสุวรรณสาม

คำสอนทางพุทธศาสนานี้ สามารถตีความในทางปรัชญาได้ว่า หากมีการใช้ความรุนแรงที่มากขึ้นตอบกลับ บทบาทผู้กระทำ และผู้ถูกกระทำก็จะกลับข้างกัน และกระบวนการชดใช้ที่รุนแรงกว่าก็จะต้องเกิดขึ้นอีก การให้อภัยจึงเป็นโอกาสเดียวที่จะทำให้ความขัดแย้งจบลง

เดสมอนต์ ตูตู ให้อีกหนึ่งความเห็นที่มองว่าการให้อภัย ดีกว่าการถือแค้นซึ่งกันและกัน เขาเห็นว่าศักดิ์ศรีของผู้ถูกกระทำ ไม่จำเป็นต้องเรียกคืนด้วยวิธีการทำร้ายผู้กระทำอย่างเดียว แต่ยังสามารถเรียกคืนผ่านการรับฟังเรื่องเล่าของผู้ถูกกระทำอย่างเข้าใจก็ได้ (จุดนี้เองที่ตูตูมองว่าการให้อภัย ไม่ขัดแย้งกับการยุติธรรม เพราะการ “ชดใช้” สามารถทำได้ด้วยการทำให้ประชาชนรู้การกระทำของผู้กระทำ โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรงเพิ่มเติม)

แต่กระนั้น วิธีการให้อภัยก็ยังมีสถานะที่น่ากังขาในทางปรัชญา



Lucius Annaeus Seneca/ photo from Calidius

นักปรัชญากรีกอย่างลูเซีนส แอนเนอุส เซเนก้า ระบุว่ามนุษย์ฉลาด คือคนที่ทำในเรื่องที่ต้องทำ และไม่ทำในเรื่องที่ไม่ควรทำ การงดเว้นการลงโทษให้แก่อาชญากรรมที่ควรต้องมีการลงโทษ จึงไม่ใช่วิถีทางของมนุษย์ที่ฉลาด



Immanuel Kant

ส่วนอิมมานูเอล ค้านท์ชี้ว่าการไม่ลงโทษคนทำผิดตามกฎหมายที่มีอยู่ เท่ากับการไม่บังคับใช้กฎหมาย ทั้งที่มันมีลักษณะของการบังคับ เท่ากับทำให้เกิดปัญหาว่า ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว ระบบกฎหมายในประเทศจะดำรงอยู่เพื่อการใด



Jacques Derrida/ photo by Richard Melloul/ Sygma/ Corbis

สำหรับฌาคส์ แดร์ริด้าใช้วิธีการรื้อสร้าง ชี้ให้เห็นว่าคำว่า “การให้อภัย” เป็นคำที่มีความขัดแย้งในตัวมันเอง เพราะในตัวมันหมายถึงการให้อภัยกับทุกสิ่งทุกอย่างที่สามารถรวมถึงสิ่งที่ไม่อาจให้อภัยได้ (เช่น การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ฯลฯ) การใช้คำนี้ในแต่ละครั้งจึงมีทั้งความหมายในเชิงยืนยัน (ว่ามีการให้อภัย) ไปพร้อมกับความหมายเชิงปฎิเสธ (ว่าการให้อภัยนั้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้ตามตรรกะ)

แต่การพิสูจน์ว่าความยุติธรรมควรถูกเน้นมากกว่าการให้อภัยที่ดีที่สุด ข้าพเจ้าเห็นว่าควรย้อนกลับไปที่ความหมายของการให้อภัยนั้นเอง เพราะในตัวมันระบุชัดเจนว่าเป็นการกระทำที่ผู้ถูกกระทำ มอบให้กับผู้กระทำ ดังนั้น คำกล่าวของตูตูในเรื่องที่ว่าการรับฟังเรื่องเล่าก็เพียงพอแล้วกับการชดใช้นั้น จึงชวนให้สงสัยว่าเป็นความจริงหรือไม่? ผู้ถูกกระทำทุกคนคิดเช่นนั้นจริงหรือไม่ ที่จะปล่อยให้ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษทางระบบยุติธรรม? เพราะการให้อภัยหากพิจารณาจากความหมาย จะพบว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของผู้ถูกกระทำ

การเจรจาระหว่างคู่ขัดแย้งในเรื่องภาคใต้ จึงควรคำนึงถึงประเด็นความเป็นส่วนตัวดังกล่าว: การให้อภัย ให้แทนกันโดยไม่มีการยินยอมไม่ได้ ครู สงฆ์ และชาวบ้านในพื้นที่ความรุนแรงบางท่านอาจไม่พร้อมให้อภัย เช่นเดียวกัน ชาวมุสลิมที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐทำร้ายอย่างไม่เป็นธรรม อาจไม่พร้อมให้อภัย การให้อภัยจึงไม่ควรกำหนดเป็นนโยบายรัฐเชิงบังคับจากการเจรจาโดยคนไม่กี่คน

ส่วนข้ออ้างที่ว่าความยุติธรรมเชิงชดใช้ จะนำไปสู่ความรุนแรงที่มากขึ้นเรื่อยๆ นั้น ก็เป็นเป็นข้ออ้างที่น่าสงสัย หากกลับไปดูกฎหมายฮัมมูราบี จะพบว่าวลี “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” ไม่ได้มีความหมายเฉพาะว่าผู้ทำผิดต้องชดใช้เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมขอบเขตการชดใช้ว่า ต้องสมเหตุสมผลกับความเสียหาย คือ ไม่ใช่ชดใช้ฟันด้วยตา หรือชดใช้ตาด้วยฟัน ความสมเหตุสมผลนี้เองที่จะเป็นกรอบป้องกันความรุนแรงที่มากขึ้น ต่างจาก “ความแค้น” ที่จะไม่มีกรอบนี้ ทำให้เกิดความรุนแรงเกินสัดส่วนจนควบคุมไม่ได้

การเจรจาระหว่างสมช. และกลุ่มบีอาร์เอนก็ควรต้องคำนึงถึงหลักการนี้ และใส่ใจในการเปิดเผยข้อเท็จจริงว่าฝ่ายใดกระทำอย่างไรไว้กับผู้ถูกกระทำบ้าง เพื่อให้มีการวางโทษของแต่ละคนได้สมส่วนกับสิ่งที่แต่ละคนทำไว้

ดังนั้น ด้วยเหตุผลที่ว่าการให้อภัยเป็นเรื่องส่วนตัว และระบบยุติธรรมมีกลไกควบคุมการชดใช้ที่เหมาะสมอยู่แล้ว ทำให้น่าเชื่อว่าในการแก้ไขความขัดแย้ง ควรต้องเน้นที่เรื่องความยุติธรรมมากกว่าการให้อภัย

ที่มา.Siam Intelligence Unit
//////////////////////////////////////////////////////////////

บอส ปตท. ไพรินทร์ เคลียร์ปมร้อน พลังงานไทย !!?


หลัง ถูกสังคมออนไลน์กระหน่ำหนัก วิพากษ์วิจารณ์สารพัดประเด็นเรื่องพลังงาน โดยเฉพาะการตั้งคำถามเกี่ยวกับรายได้และผลกำไรจากการดำเนินการ พร้อมหยิบยกข้อมูลแจกแจงในทำนองว่า บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ประกอบธุรกิจในลักษณะไม่เป็นธรรมและเอาเปรียบ ส่งผลกระทบทำให้คนไทยเสียประโยชน์ เนื่องจากต้องจ่ายค่าพลังงานในราคาแพง ทั้ง ๆ ที่พลังงานส่วนใหญ่มาจากแหล่งผลิตภายในประเทศ ที่สำคัญหลากหลายประเด็นร้อนเหล่านี้กำลังเป็นที่สนใจ และถูกนำไปขยายต่อในวงกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ

ข้อเท็จจริงจะเป็นอย่าง ไร "ไพรินทร์ ชูโชติถาวร" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. เปิดใจชี้แจงและตอบคำถามทุกข้อสงสัย

บิ๊ก ปตท.เปิดประเด็นด้วยการตั้งข้อสังเกตกระแสวิพากษ์ด้านลบในโลกออนไลน์ว่า โดยส่วนตัวมองว่าน่าจะมีเจตนาเพื่อที่จะโจมตี แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ข้อมูลที่เผยแพร่มีความถูกต้องเพียงครึ่งหนึ่ง และค่อนไปไปทางเป็น "ข้อมูลเท็จ" มากกว่า

โดยข้อเท็จจริงที่เป็นเหตุผลของการส่งออกน้ำมันดิบและนำเข้าน้ำมัน มาจากภายในประเทศสามารถผลิตปิโตรเลียมซึ่ง รวมเอาทั้งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันได้ทั้งสิ้น 800,000 บาร์เรล/วัน ในจำนวนนี้เมื่อแยกออกมาจะแบ่งเป็นน้ำมันเพียง 100,000 บาร์เรล/วัน ส่วนที่เหลือคือก๊าซที่ประมาณ 4,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน สาเหตุที่ต้องแยกทั้งสองประเภทออกจากกันเพราะมันคนละเรื่องกัน

ขณะ ที่ความต้องการใช้น้ำมันของประเทศอยู่ที่ 1 ล้านบาร์เรล/วันมากกว่าที่ผลิตได้เองภายในประเทศ เฉพาะปริมาณน้ำมันดิบที่ผลิตในประเทศมีแค่เพียง 140,000 บาร์เรล/วัน ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับการใช้ดังนั้น การให้ข้อมูลว่าไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำมันอันดับ 33 ของโลก ผลิตได้มากกว่าบรูไน น่าจะส่งออกได้มากกว่าด้วย

แล้ว ตั้งคำถามว่าทำไมคนไทยต้องซื้อน้ำมันแพง ต้องลองมาเปรียบเทียบกันดู จริง ๆ แล้วสาเหตุที่ประเทศบรูไนซึ่งผลิตน้ำมันได้น้อยกว่าไทย แต่กลับส่งออกมากกว่าไทย เป็นเพราะความต้องการใช้น้ำมันของบรูไนมีน้อยเมื่อเทียบกับการผลิต เพราะประชากรมีเพียง 500,000 คน

"เขาลดราคาน้ำมันให้ถูกที่สุดก็ขาย ไม่ได้จึงต้องส่งออก ในขณะที่ไทยผลิตได้มากกว่า แต่ประชากรมากถึง 67 ล้านคน จึงต้องนำเข้าน้ำมัน ถือเป็นเรื่องปกติ การผลิตน้ำมันติดอันดับของโลกไม่ได้แปลว่า ไทยมีน้ำมันดิบมหาศาล ประเด็นมันอยู่ที่ว่าผลิตออกมาแล้วมีคนใช้หรือไม่"

"ไพรินทร์" ชี้แจงว่า ไทยมีการส่งออกน้อยมากเพียง 40,000 บาร์เรล/วัน เหตุผลคือปิโตรเลียมที่ได้จากอ่าวไทยในบางแปลงสัมปทานไม่ตรงตามคุณสมบัติที่ โรงกลั่นต้องการ โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่กระบวนการกลั่นแล้ว จะได้ปริมาณเบนซินมากกว่าน้ำมันอื่น ๆ ในขณะที่ในประเทศต้องการใช้น้ำมันดีเซลมากกว่า อย่างไรก็ตาม การส่งออกไม่ได้เป็นตัวบ่งบอกว่าราคาขายน้ำมันในประเทศจะแพงขึ้นได้

เมื่อ ถามถึงว่าราคาน้ำมันในประเทศมีแต่จะแพงขึ้นหรือไม่ เขาบอกว่า จะถูกหรือแพงขึ้นอยู่ที่ว่าเปรียบเทียบกับใคร ถ้าเทียบกับเพื่อนบ้านอย่างลาว เขมร พม่า ที่ไม่มีโรงกลั่นในประเทศ ราคาน้ำมันในไทยมีราคาถูกกว่าแน่นอน แต่หากไปเปรียบเทียบกับประเทศผู้ส่งออกน้ำมันแล้วราคาในไทยย่อมแพงกว่า เช่น ประเทศมาเลเซีย หรือบรูไน

ขณะเดียวกัน สาเหตุที่ราคาน้ำมันในประเทศถูกมองว่าแพง ต้องย้อนไปดูที่โครงสร้างราคาพลังงาน ซึ่งกำหนดโดยกระทรวงพลังงาน จะเห็นว่าในทุกลิตรจะมีส่วนประกอบที่เรียกว่าภาษีทั้งหมดรวมร้อยละ 20 เช่น ภาษีสรรพสามิต, เทศบาล, มูลค่าเพิ่ม

และการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน เชื้อเพลิง ฯลฯ ส่วนที่ผู้ค้าน้ำมันอย่าง ปตท.ได้รับจริง ๆ คือค่าการตลาด (Margin) อยู่ที่เฉลี่ย 1 บาทกว่าเท่านั้น

ฉะนั้น ราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นและลงไม่ได้ขึ้นอยู่ที่บริษัท ปตท. และหากจะมองว่าค่าการตลาดอยู่ในระดับสูงทำให้น้ำมันแพง หากภาพเป็นแบบนั้นคงจะไม่ได้เห็นการเลิกกิจการของบริษัทน้ำมันต่างชาติ ล่าสุดก็คือบริษัทปิโตรนาส ดังนั้นราคาน้ำมันจะขึ้นหรือลงยังขึ้นอยู่ที่นโยบายรัฐด้วย

สำหรับ ประเด็นที่โลกออนไลน์ตั้งคำถามอีก คือ ปตท.ได้กำไรจากน้ำมัน 100,000 ล้านบาทนั้น เขาบอกว่า ผู้ที่จะกำหนดทิศทางราคาพลังงานในประเทศคือกระทรวงพลังงาน และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) ปตท.ถือเป็นแค่เพียง Operater รายหนึ่งเท่านั้น กำหนดราคาเพื่อให้ได้กำไรมากไม่ได้

หรือ แม้แต่ในประด็นที่ว่า ปตท. ผูกขาดธุรกิจน้ำมัน ก็ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะในความเป็นจริงผู้บริโภคสามารถเลือกได้ว่าจะใช้น้ำมันรายใด การระบุว่า ปตท.ขายน้ำมันได้กำไรระดับ 100,000 ล้านบาท หากมันคือข้อเท็จจริง ผู้ค้าน้ำมันรายอื่น ๆ ก็ต้องมีกำไรที่ไม่แตกต่างกันมากเช่นกันในส่วนของผลประกอบการนั้น ปตท.มียอดขายที่ 2 ล้านล้านบาท กำไรอยู่ที่ 100,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3-4 ของยอดขายเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงนำเงินฝากแบงก์คงได้รายได้ระดับนี้

แต่สำหรับ ปตท.มีความเสี่ยงทางธุรกิจมากกว่า ลงทุน 100 บาทเท่ากับว่าได้กำไรแค่ 4 บาท ในส่วนของกำไร 100,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังต้องจ่ายเป็นเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นอีกร้อยละ 30 ส่วนที่เหลือยังต้องไปลงทุนเพิ่มเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานในอนาคต โดยเฉพาะล่าสุดแผนลงทุน 5 ปีของ ปตท. ปี"56-60 ต้องลงทุนสูงถึง 400,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของ ปตท.ที่จะต้องผลักดันเศรษฐกิจไปข้างหน้า

แต่ เมื่อโฟกัสไปเฉพาะกำไรที่เกิดจากธุรกิจน้ำมันนั้น ปตท.มีกำไรจากน้ำมันแค่ 10,000 ล้านบาท จากรายได้ที่ 600,000 ล้านบาท ในส่วนนี้ไม่ใช่เฉพาะขายน้ำมันเท่านั้น แต่ยังมาจากธุรกิจเสริมอื่น ๆ ภายในสถานีบริการอีก เช่น ร้านสะดวกซื้อ และร้านกาแฟ กำไรระดับดังกล่าวถือว่าไม่มาก ปตท.มองว่าในบรรดา 6-7 ธุรกิจของ ปตท. น้ำมันถือว่าเป็นโปรดักต์ที่ใกล้ชิดผู้บริโภคมากที่สุด จึงเกิดการโจมตีได้ง่ายที่สุดเช่นกัน

ส่วนกรณีที่ก๊าซธรรมชาติจาก พม่าจากแหล่งยาดานาหยุดส่งมาไทยในช่วง 5-14 เมษายนนี้ "ไพรินทร์" มองว่าจะกระทบโรงไฟฟ้าโดยตรง จึงต้องแก้ไขด้วยการใช้เชื้อเพลิงอื่น ๆ เสริมเป็นเชื้อเพลิง

ส่วนที่ว่า ปตท.เป็นผู้ถือหุ้นในโครงการดังกล่าว แต่กลับไม่ได้เรียกร้องให้ผู้ผลิตก๊าซรับผิดชอบต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และภาระตกอยู่ที่ผู้ใช้ไฟฟ้านั้น การดำเนินการดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิตามสัญญา และมีการวางแผนล่วงหน้า ปัญหาที่เกิดขึ้นน่าจะมาจากประเทศไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่มานาน ในขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทุกปี และยังพึ่งพาก๊าซมากที่สุด ซึ่งถือว่าเป็นระบบที่ไม่สมดุล หากยังต้องการใช้ไฟฟ้าต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม

ถามถึงการทยอยไป ลงทุนในต่างประเทศจะช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และให้ประเทศได้ใช้ราคาพลังงานระดับที่เหมาะสม บิ๊กบอส ปตท.ยืนยันว่า ยังอยู่ในช่วงระหว่างดำเนินการ โดยเฉพาะในบริษัท Cove Energy ต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าที่จะนำพลังงานกลับมารองรับการใช้ในประเทศ อย่างไรก็ตาม ในฐานะเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติ จะพยายามลงทุนเพื่อให้คนไทยได้ใช้พลังงานภายใต้ต้นทุนที่ต่ำ นั่นคือเป้าหมายของ ปตท.

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////

วันเสาร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2556

เครือข่ายประชาชนฯ ร้องหา ‘ผู้รับผิดชอบ’ กรณีปิดซ่อมท่อก๊าซ ทำ ‘ค่าไฟฟ้าขึ้น’

เครือข่ายประชาชนผู้ติดตามสถานการณ์และนโยบายพลังงาน ยื่นหนังสือถึง ‘คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน’ ร้องตรวจสอบหาผู้รับผิดชอบการขึ้น ‘ค่าไฟ’ ผ่าน ‘ค่าเอฟที’ จากการปิดซ่อมท่อก๊าซพม่า จี้เปิดเผยข้อมูลสัญญาซื้อ-ขายก๊าซต่อสาธารณะ

เครือข่ายประชาชนผู้ติดตามสถานการณ์และนโยบายพลังงาน นำโดย นายวินัย กาวิชัย จากเครือข่ายคัดค้านนิวเคลียร์ จ.ตราด เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับพลังงาน ตึกจามจุรีสแควร์ เพื่อเรียกร้อง ให้ตรวจสอบหาผู้รับผิดชอบการขึ้นค่าเอฟที (Ft) จากการปิดซ่อมท่อก๊าซ และเปิดเผยข้อมูลการคิดค่าเอฟที

สืบเนื่องจากกระแส “วิกฤตไฟฟ้าดับ” โดยการแถลงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ถึงการขาดแคลนก๊าซเนื่องจากการปิดซ่อมท่อก๊าซในพม่าในช่วงเวลาที่ประเทศไทยมีความต้องการไฟฟ้าสูงสุด โดยเฉพาะในวันที่ 5 เม.ย.56 ซึ่งอาจส่งผลให้ ‘ไฟดับ’ หรือ ‘ไฟตก’ แม้ภายหลังรัฐมนตรีพลังงานจะออกมาระบุว่าสถานการณ์คลี่คลายลงไปแล้ว เนื่องจากได้รับความร่วมมือในการประหยัดพลังงาน

อย่างไรก็ตาม เครือข่ายประชาชนฯ ตั้งคำถามว่า การหยุดซ่อมท่อก๊าซ ซึ่งปกติจะมีกำหนดซ่อมทุกปีอยู่แล้ว แต่เหตุใดจึงต้องกำหนดทำในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม เป็นเหตุให้ต้องใช้เชื้อเพลิงอื่นที่มีต้นทุนสูงกว่าแทนก๊าซ ทำให้ต้อง ‘ขึ้นค่าไฟ’ ผ่าน ‘ค่าเอฟที’ อันเป็นการผลักภาระให้กับผู้บริโภค ทั้งที่ความจริงแล้ว ต้นตอของปัญหาเกิดจากฝ่ายผู้จัดหาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ

นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้ตรวจสอบว่า ผู้จัดหาก๊าซ ได้ปฎิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาการจัดหาก๊าซหรือไม่ รวมทั้งให้เปิดเผยหลักเกณฑ์ในการคิด ‘ค่าเอฟที’ ว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่เกี่ยวข้อง โดยเครือข่ายประชาชนฯ เรียกร้องให้ทาง กกพ.ชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 15 วัน นับจากวันที่รับหนังสือ

ด้านนายประเทศ สีชมพู ผู้อำนวยการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ผู้แทนประธาน กกพ.รับหนังสือพร้อมกล่าวว่า เรื่องนี้ต้องใช้ข้อมูลหลายระดับในการตรวจสอบและชี้แจง โดยยืนยันว่า กกพ.จะตอบคำถามต่อประเด็นดังกล่าว ส่วนกระแสไฟฟ้าดับที่ออกมาพูดกันก่อนหน้านี้ ก็เป็นการสื่อสารของภาครัฐ ส่วนนี้จะไม่ขอพูดถึง


นายสันติ โชคชัยชำนาญกิจ โครงการจับตาพลังงาน กล่าวว่า มีข้อสงสัยว่า วิกฤตไฟฟ้าครั้งนี้แท้ที่จริงแล้วเป็นวิกฤตธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าหรือไม่ เนื่องจากเป็นการหยุดจ่ายก๊าซพม่าในช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด ซ้ำรอยกับปีที่แล้วที่กระทรวงพลังงานอ้างว่าเกิดวิกฤตไฟฟ้าจากการปิดซ่อมท่อก๊าซพม่าในเดือนเมษายนเช่นกัน

นอกจากนี้ ข้อมูลของ กฟผ.ก็ขัดแย้งกันเองในกรณีที่ระบุว่าการหยุดจ่ายก๊าซพม่าจะทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าหายไป 4,100 เมกะวัตต์ แต่ข้อมูลของ กฟผ.เองก่อนหน้านี้ มีการระบุว่าการหยุดจ่ายก๊าซพม่าจะทำให้กำลังผลิตหายไปเพียง 1,380 เมกะวัตต์ เนื่องจากโรงไฟฟ้าที่รับก๊าซพม่าส่วนใหญ่สามารถใช้น้ำมันเตาและดีเซลทดแทนได้ นั่นหมายความว่าสถานการณ์ไม่ได้วิกฤตจริงดังที่เป็นข่าว เพราะกำลังผลิตอีกหลายพันเมกะวัตต์ไม่ได้หายไปจริง

นายวินัย กาวิชัย จาก จ.ตราด ยังตั้งข้อสังเกตถึงสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติว่า กรณีสัญญาซื้อขายก๊าซแหล่งยาดานา มีการระบุถึงเงื่อนไขในการหยุดซ่อมเพื่อป้องกันความเสียหายว่า ผู้จัดส่งก๊าซยังต้องส่งก๊าซให้ ปตท.ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของก๊าซที่ต้องส่งตามสัญญา แต่ในทางปฏิบัติที่ผ่านมาเป็นการหยุดจ่ายก๊าซโดยสิ้นเชิง ดังนั้น จึงควรมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง และเปิดเผยข้อมูลสัญญาต่อสาธารณะ

“การหยุดจ่ายก๊าซพม่าหรือก๊าซอ่าวไทยเป็นปัญหาในส่วนของผู้จัดหาก๊าซคือ ปตท.ไม่ใช่ความผิดของผู้บริโภค แต่ทุกครั้งที่มีการหยุดจ่ายก๊าซ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ประชาชนต้องเป็นผู้แบกรับภาระจากการขึ้นค่าเอฟทีมาตลอด ดังนั้น กกพ.ควรที่จะตรวจสอบสัญญญาซื้อขายก๊าซทั้งหมดว่ามีการกำหนดความรับผิดชอบของ ปตท.ไว้หรือไม่อย่างไร เป็นสัญญาที่เอาเปรียบผู้บริโภคหรือไม่” นายวินัยกล่าว

นายวินัย เน้นย้ำด้วยว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลกำลังเปิดประมูลโรงไฟฟ้าเอกชนที่ใช้ก๊าซธรรมชาติอีก 6 โรง ซึ่งจะต้องทำสัญญาซื้อขายก๊าซผูกพันไปตลอด 25 ปี หากสัญญาเหล่านี้ไม่เป็นธรรม ประชาชนผู้บริโภคก็ต้องถูกเอาเปรียบเพิ่มขึ้นไปอีก

อนึ่ง เครือข่ายประชาชนผู้ติดตามสถานการณ์และนโยบายพลังงาน เป็นการรวมตัวของประชาชนผู้ติดตามนโยบายพลังงานและผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการด้านพลังงานในภาคต่างๆ ทั่วประเทศไทย อาทิ เครือข่ายเพื่อนตะวันออก เครือข่ายจากจังหวัดราชบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา สระบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ตรัง และกรุงเทพฯ เป็นต้น



ทั้งนี้ หนังสือกับ กกพ.มีรายละเอียดดังนี้


 
29 มีนาคม พ.ศ. 2556
 
เรียน ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)
 
เรื่อง ขอให้ตรวจสอบหาผู้รับผิดชอบการขึ้นค่าเอฟที (Ft) จากการปิดซ่อมท่อก๊าซพม่า และเปิดเผยข้อมูลการคิดค่าเอฟที
 
สิ่งที่ส่งมาด้วย สัญญาซื้อขายก๊าซ (Yadana Export Gas Sales Agreement: GSA) ระหว่างผู้ผลิตก๊าซแหล่งยาดานา กับ ปตท.
 
สืบเนื่องจากกระแสข่าวเกี่ยวกับภาวะวิกฤตพลังงานไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยในวันที่ 5 เมษายน 2556 ได้ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกในทุกภาคส่วนของสังคม โดยเหตุการณ์วิกฤตไฟฟ้า ในครั้งนี้ นับเป็นปีที่สองติดต่อกันที่อ้างว่ามีสาเหตุมาจากการปิดซ่อมท่อก๊าซพม่าในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของปี ถือเป็นการวางแผนบริหารแหล่งเชื้อเพลิงอย่างไม่เหมาะสม
 
แม้ว่าสถานการณ์ขณะนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจงต่อสาธารณะ ว่าความเสี่ยงต่อปัญหาไฟดับ ในวันที่ 5 เมษายน ได้คลี่คลายลงแล้วก็ตาม แต่ผลพวงจากการหยุดจ่ายก๊าซพม่าในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมนี้ ทำให้ต้องมีการใช้น้ำมันเตา และ/หรือ น้ำมันดีเซลในการผลิตไฟฟ้าทดแทน ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าโดยรวมของระบบเพิ่มขึ้น และต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนี้จะถูกส่งผ่านมายังผู้บริโภคผ่านค่าเอฟที ทั้งๆ ที่ต้นตอของปัญหาเกิดจากฝ่ายผู้จัดหาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (ปตท.) ไม่ใช่ปัญหาที่ก่อขึ้นโดยผู้บริโภค
 
ในฐานะที่ท่าน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีอำนาจหน้าที่ตาม พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ทางเครือข่ายประชาชนผู้ติดตามสถานการณ์และนโยบายด้านพลังงาน จึงขอร้องเรียนให้ท่านตรวจสอบหาผู้รับผิดชอบการขึ้นค่าเอฟที (Ft) จากการปิดซ่อมท่อก๊าซพม่า และเปิดเผยข้อมูลการคิดค่าเอฟที พร้อมทั้งชี้แจงต่อสาธารณะ ในประเด็นดังต่อไปนี้
 
1. จากเหตุการณ์ที่อ้างถึงการปิดซ่อมท่อก๊าซดังกล่าวข้างต้น มีผลให้ต้องขึ้นค่าเอฟทีจำนวนเท่าใด และมีที่มาอย่างไร
 
2. ตามสัญญาซื้อขายก๊าซ ระหว่างผู้ผลิตก๊าซพม่าและ ปตท. มีเงื่อนไขว่า ในระหว่างการซ่อมบำรุงแท่นขุดเจาะก๊าซ (ในกรณี Preventative Maintenance) ผู้ผลิตก๊าซยังมีภาระต้องส่งก๊าซให้แก่ ปตท. อย่างน้อยร้อยละ 50 ของปริมาณตามสัญญา แต่ในการหยุดซ่อมท่อก๊าซพม่าที่ผ่านมาทุกครั้ง เหตุใดจึงต้องหยุดจ่ายก๊าซอย่างสิ้นเชิง ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญาข้างต้น
 
3. นอกจากกรณีก๊าซพม่าแล้ว ในกรณีที่ก๊าซอ่าวไทยหยุดส่ง ซึ่งเกิดขึ้นเสมอในทุกปี ผู้บริโภคมักจะต้องเป็นผู้แบกรับค่าเอฟทีที่เพิ่มขึ้นจากการใช้น้ำมันเตาและเชื้อเพลิงทดแทนเสมอ ดังนั้นจึงขอให้มีการเปิดเผยสัญญาซื้อขายก๊าซจากแหล่งอ่าวไทยที่ใช้สำหรับผลิตไฟฟ้าต่อสาธารณะ เพื่อร่วมกันตรวจสอบว่าสัญญาเหล่านี้เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือไม่ และมีการปฏิบัติตามสัญญาหรือไม่
 
4. ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการหยุดจ่ายก๊าซในการผลิตไฟฟ้า ปตท. ในฐานะผู้ผูกขาดการจัดหาก๊าซธรรมชาติ มีส่วนร่วมรับผิดชอบหรือไม่ ด้วยเหตุผลใด และ อย่างไร
 
5. ขอให้เปิดเผยหลักเกณฑ์ในการกำหนดปัจจัยต่างๆ ที่นำมาคิดค่าเอฟที และสูตรคำนวนการคิดค่าเอฟที
 
ทั้งนี้ เครือข่ายประชาชนผู้ติดตามสถานการณ์และนโยบายด้านพลังงาน จึงเรียกร้องขอให้ท่านตรวจสอบข้อเท็จจริงตามประเด็นข้างต้น และชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรมายังเครือข่ายฯ รวมทั้งชี้แจงต่อสาธารณะชน ภายในระยะเวลา 15 วันนับจากที่ท่านได้รับหนังสือฉบับนี้
 
ด้วยความนับถือ
 
รายชื่อ เครือข่ายประชาชนผู้ติดตามสถานการณ์และนโยบายพลังงาน
ตามรายชื่อแนบท้าย
 
รายชื่อเครือข่ายประชาชนผู้ติดตามสถานการณ์และนโยบายพลังงาน
 
1. เครือข่ายเพื่อนตะวันออก
นายสมนึก จงมีวศิน
 
2. เครือข่ายคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน เขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา
น.ส.คำพัน สุพรม
 
3. เครือข่ายชุมชนรักษ์บ้านเกิด อ.กันตัง จ.ตรัง
นายวุฒิชัย หวังบริสุทธิ์
 
4. เครือข่ายรักษ์ละแม อ.ละแม จ.ชุมพร
นายเด่น บุญยะกรณ์
 
5. กลุ่มอนุรักษ์ราชบุรี
นายธวัชชัย พลจันทร์
 
6. เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์
นายพงษ์ศักดิ์ บุตรรักษ์
 
7. กลุ่มอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม อ.หนองแซง จ.สระบุรี
นายตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี
 
8. เครือข่ายคัดค้านนิวเคลียร์ จ.ตราด
นายวินัย กาวิชัย
 


ที่มา.ประชาไท

//////////////////////////////////////

ไทย-บังกลาเทศต่ออายุ MOU ถึงสิ้นปี 2559 ซื้อขายข้าวนึ่งปีละ 1 ล้านตัน !!?


นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเสร็จสิ้นพิธีลงนามในข้อตกลงว่าด้วยการแก้ไขบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการซื้อขายข้าวระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลบังกลาเทศ เมื่อวันที่ 29 มี.ค.2556 ว่า การลงนามครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากการเดินทางเยือนบังกลาเทศร่วมกับคณะนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือน ธ.ค.2555 ซึ่งฝ่ายไทยได้มีการหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาหารและการจัดการภัยพิบัติของบังกลาเทศ ในประเด็นการขยายระยะเวลาสิ้นสุดของ MOU ฉบับดังกล่าว โดยฝ่ายไทยไม่ขัดข้องที่จะขยายระยะเวลาสิ้นสุดของ MOU ตามที่ฝ่ายบังกลาเทศเสนอ
   
ทั้งนี้ การลงนามครั้งนี้เป็นการแก้ไขระยะเวลาการมีผลบังคับใช้ของบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับเดิมที่รัฐบาลไทยกับรัฐบาลบังกลาเทศได้จัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 15 มี.ค.2555 และมีผลบังคับใช้ระหว่างปี 2555-2556 โดยการลงนามต่ออายุ MOU จะขยายระยะเวลาการมีผลบังคับใช้ออกไปอีก 3 ปี เป็นปี 2555-2559 ซึ่งยังคงเนื้อหาเดิมที่เป็นกรอบข้อตกลงกว้างๆ
   
โดยรัฐบาลไทยและบังกลาเทศตกลงที่จะซื้อขายข้าวนึ่งปริมาณไม่เกิน 1 ล้านตันต่อปี โดยมีเงื่อนไขขึ้นอยู่กับสถานการณ์การผลิตข้าวของแต่ละประเทศ และระดับราคาซื้อขายในตลาดโลก ซึ่งในส่วนของการเจรจาซื้อขายข้าว รัฐบาลไทยจะมอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศเป็นหน่วยงานดำเนินการ ขณะที่รัฐบาลบังกลาเทศจะมอบหมายให้หน่วยงานอาหารภายใต้กระทรวงอาหารเป็นหน่วยงานดำเนินการ
   
แต่ละปีบังกลาเทศนำเข้าข้าวจากไทยเฉลี่ยปีละประมาณ 178,000 ตัน ส่วนใหญ่เป็นข้าวนึ่ง ข้าวขาว 100% และข้าวหอมมะลิไทย และเมื่อปี 2554 กระทรวงพาณิชย์ได้ทำสัญญาซื้อขายข้าวนึ่งแบบรัฐต่อรัฐกับบังกลาเทศ 200,000 ตัน.

ที่มา.ไทยโพสต์
////////////////////////////////////

สพก.ภาษีวูบ 9 หมื่นล. ลดนิติบุคคล-แยกยื่น ตั้งทีมประเมินเสี่ยง !!?


สรรพากรโอด!! ลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 20% ทำสูญรายได้ 8.2 หมื่นล้านบาท พ่วงแยกยื่นภาษีผัว-เมียอีก 7 พันล้านบาท ปลัดคลังสั่งเร่งประเมินการเสียภาษีล่วงหน้า เตรียมแผนติดเครื่องรีดภาษีตามเป้า 1.74 ล้านล้านบาท
   
นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยภายหลัง นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง เดินทางมาตรวจเยี่ยมกรมสรรพากร ว่า ได้สั่งการให้กรมสรรพากรทั่วประเทศ ดำเนินการตรวจสอบและประเมินการเสียภาษีล่วงหน้า ว่าจะสามารถเก็บภาษีได้ตามเป้าหมายหรือไม่ หากไม่ได้จะดำเนินการและแก้ไขอย่างไร โดยให้ตรวจสอบผู้ประกอบการที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายของรัฐบาล ทั้งโครงการ 3 จี การกู้เงินบริหารจัดการน้ำ 350,000 ล้านบาท โครงการบ้านหลังแรก รถคันแรก ว่ามีรายได้ต่อเนื่องจากส่วนเหล่านั้นเท่าไร และต้องทำอย่างรอบคอบ อย่าให้ตกหล่นเด็ดขาด
   
นอกจากนี้ กรมสรรพากรยังได้ชี้แจงว่า กรมฯ มีแผนการเก็บภาษีทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อให้การเก็บภาษีได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยระยะสั้นจะให้มีการประเมินภาษีสำหรับผู้ประกอบการก่อนการเสียจริง ว่ามีรายได้เกิดขึ้นเท่าไหร่ และนำไปเปรียบเทียบกับรายได้ 2-3 ปีที่ผ่านมา และประเมินว่าจะมีกำไรเกิดขึ้นเท่าไร เพื่อให้ผู้เสียภาษีจริงตรวจสอบได้ง่ายว่าจะต้องมีการเสียภาษีอยู่ในระดับใด ส่วนระยะยาวจะเชื่อมโยงข้อมูลของผู้เสียภาษีทั้งกรมสรรพากรและหน่วยงานอื่น เพื่อตรวจสอบว่าไปจดทะเบียนดำเนินธุรกิจในที่ต่างๆ หรือธุรกิจใดบ้าง ซึ่งให้แน่ใจว่าเสียภาษีครบถ้วน
   
สำหรับปีงบประมาณ 2556 กรมสรรพากรตั้งเป้าหมายเก็บภาษี 1.74 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา  10% โดยการเก็บภาษี 5 เดือนที่ผ่านมาเก็บได้เกินเป้าหมาย 90,000 ล้านบาท หรือ 20% ของเป้าหมายที่ตั้งไว้
   
อย่างไรก็ดี การเก็บภาษีของกรมสรรพากรจะได้รับผลกระทบจากการลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เป็น 20% ทำให้ในปีภาษีนี้กรมสรรพากรจะสูญเสียรายได้จากนโยบายดังกล่าว ประมาณ 82,000 ล้านบาท และจากการแยกยื่นภาษีสามี-ภรรยาอีก 7,000 ล้านบาท โดยกรมสรรพากรจะต้องเก็บภาษีให้ขยายตัวจากปีที่ผ่านมาไม่น้อยกว่า 20% ถึงจะเก็บภาษีได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
   
ทั้งนี้ กรมสรรพากรได้ตั้งทีมศึกษาหาความเสี่ยงของการเก็บภาษีทุกพื้นที่และส่วนกลาง ว่ามีธุรกิจตรงไหน อะไรบ้าง ที่เสียภาษีที่ไม่ถูกต้อง เป็นจำนวนภาษีที่เสียหายเท่าไร และดำเนินการอย่างไร เพื่อให้เก็บภาษีได้ครบถ้วน โดยดูเป็นรายภาคอุตสาหกรรม และลงไปในรายบริษัทด้วย โดยนายอารีพงศ์ได้ยืนยันที่จะสนับสนุนเพิ่มระบบไอที 2,000 ล้านบาท และกำลังคน 2,000 คน เพื่อให้กรมสรรพากรเก็บภาษีมากขึ้น.

ที่มา.ไทยไพสต์
//////////////////////////////////////

ข้อคิดจากอุตสาหกรรมเสื้อผ้าที่หงสาวดี ประเทศพม่า !!?


ในการเก็บข้อมูลที่เมืองผาอัน (Hpa-An) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐกะเหรียง แต่การไปที่ผาอันนั้น ต้องผ่านเมืองพะโค หรือที่คนไทยรู้จักดีในนามของ “หงสาวดี” ซึ่งมีโรงงานผลิตเสื้อผ้าของต่างประเทศมาลงทุน ในพะโคอยู่หลายโรง

เขตพะโคมีประชากรจำนวน 6 ล้านคน เฉพาะที่เมืองพะโคมีประชากร 3 แสนคน เมืองพะโคอยู่ห่างจากย่างกุ้ง 90 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางโดยรถยนต์ 1.30 ชั่วโมง และจากพะโคไปเมืองพะยายี (Payagyi) ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ ของเขตพะโค ระยะทาง 20 กิโลเมตร จากพะยายีไปยังตะโถ่ง (Thaton) ระยะทาง 150 กิโลเมตร ตะโถ่งเป็นเมืองอยู่ในรัฐมอญ ก่อนที่จะไปที่พะโค ขอนำไปทำความรู้จักกับอุตสาหกรรมเสื้อผ้าของพม่าว่าเป็นมาอย่างไร

อุตสาหกรรมเสื้อผ้าของพม่าเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 1990 ในระยะแรกๆ ของการพัฒนาอุตสาหกรรมเสื้อผ้าของพม่า มีผู้เล่นอยู่ 2 กลุ่มคือ กลุ่มทุนจากรัฐบาลพม่าและกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ รัฐบาลพม่าตั้ง Myanmar Textile Industry หรือ MTIซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจพม่า และตั้งบริษัทUnion of Myanmar Economic Holdings Limited หรือ UMEHLเพื่อทำการร่วมทุนกับกลุ่มทุนของเกาหลีใต้และฮ่องกง จึงไม่แปลกใจว่าทาไมปัจจุบันจึงมีบริษัทเกาหลีใต้ไปเปิดโรงงานผลิตเสื้อผ้าในพม่ามากมายหลายโรง ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวตลาดส่งออกหลักเสื้อผ้าจากพม่าคือ สหรัฐร้อยละ 65 ตามด้วยตลาดยุโรปร้อยละ 10 หลังจากนั้นช่วงปี 1994-1997 รัฐบาลพม่าได้อนุญาตให้บริษัทเกาหลีและฮ่องกงสามารถเข้าถือหุ้นได้ 100% ในช่วงระยะเวลานี้ตลาดส่งออกหลัก ยังคงเป็นสหรัฐ ร้อยละ 55 และตลาดยุโรปร้อยละ 30 และช่วงที่มีอัตราการขยายตัวมากที่สุด ถือได้ว่าเป็น “ยุคทองอุตสาหกรรมเสื้อผ้าของพม่า” คือ ช่วงปี 1998-2001 บริษัทต่างชาติที่มีเข้าทำธุรกิจส่วนใหญ่เน้นการผลิตเสื้อผ้า “แบบ CMP (Cutting Making และ Packaging)” ตลาดส่งออกยังเป็นสหรัฐ ร้อยละ 45 และ ตลาดยุโรปร้อยละ 45

ช่วงนี้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นของโรงงานการผลิตจำนวนมากถึง 400 โรง มีการจ้างแรงงาน 300,000 คน (ปัจจุบันเหลือเพียง 250 โรงงาน จ้างแรงงาน 30,000 คน) แต่หลังจากช่วงนี้แล้ว อุตสาหกรรมเสื้อผ้าของพม่าก็เข้าสู่ “ยุคตกต่ำ” เป็นเพราะถูกสหรัฐ คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ สินค้าพม่าที่ส่งไปขายในตลาดสหรัฐ จึงเป็น “0 %” แต่ยังดีมียังขายในตลาดยุโรปได้อยู่ หลังจากถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ พม่าจึงหันมาให้ความสำคัญในตลาดเอเชียมากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดญี่ปุ่น มูลค่าการขายในตลาดญี่ปุ่นจึงเพิ่มจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 60 ในปัจจุบัน

ปัจจุบันมีโรงงานเสื้อผ้าที่ตั้งอยู่พม่า ส่วนใหญ่ตั้งอยู่รอบๆ เมืองย่างกุ้ง เขตอิระวดี เขตพะโค และเขตกะเหรี่ยงที่ตั้งอยู่ในบริเวณนี้ก็เพราะเหตุผลของการขนส่งที่ไม่ไกลจากท่าเรือย่างกุ้งมากนักในเขตพะโคมีโรงงานเสื้อผ้าทั้งหมด 7 โรงงาน ได้แก่ บริษัท Myanstarบ ริษัท Inlay Shoe บริษัท Sun Star บริษัท Peacock บริษัท Shinshung ทั้ง 4 บริษัทเป็นของนักลงทุนเกาหลี ส่วนอีก 2 บริษัทคือ บริษัท Cap1 และ Top Myanmar เป็นของนักลงทุนท้องถิ่นพม่า

โรงงานที่มีโอกาสเข้าไปเก็บข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสและอุปสรรคของการลงทุนในพม่า ในฐานะนักลงทุนต่างชาตินั้น ก็คือ โรงงานเสื้อผ้าที่ชื่อว่า “Shinshung” ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมพะโคเก่าสำหรับเขตอุตสาหกรรมพะโคใหม่นั้นห่างออกไปจากโรงงานเสื้อผ้าแห่งนี้ 5 กิโลเมตร ยังไม่มีโรงงานตั้งอยู่มีเพียงการปรับพื้นถนนเท่านั้น โรงงาน “Shinshung” แห่งนี้ มีคนงานจำนวน 1,300 คน ทุกตำแหน่งเป็นคนงานชาวพม่า ยกเว้นเจ้าของค่าจ้างที่บริษัทจ่ายให้กับคนงานตัดเย็บเสื้อผ้าอยู่ที่ 125 บาทต่อวัน นอกจากนี้บริษัทยังจัดการที่พักและบริการขนส่งในการเดินทางระหว่างบ้านกันโรงงานอีกต่างหาก

หากนักธุรกิจไทยต้องการลงทุนอุตสาหกรรมเสื้อผ้าที่เมืองพะโค ต้องคิดให้รอบด้าน เพราะขณะนี้ต้นทุนในการทำธุรกิจของพม่าสูงลิ่วมาก สิ่งที่เจ้าของโรงงานแห่งนี้ไม่ได้พูดก็คือ ราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้น 200-300 % แม้ว่าราคาที่ดินจะสูงมากขนาดนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหาที่ดิน หากที่ดินไกลออกไปจากตัวเมือง ความไม่พร้อมด้านน้ำ การขนส่ง และไฟฟ้าก็จะเป็นปัญหาตามมา ทางออกก็ต้องลงทุนในเขตอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ปัจจุบันที่ดินในเขตอุตสาหกรรมไม่รู้พอจะเหลือให้ นักลงทุน SMEs ไทยหรือไม่ เพราะหน่วยงานราชการของพม่าบ่นว่า “นักธุรกิจไทยตัดสินใจช้า”

ที่มา : ผศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ศูนย์ข้อมูลการลงทุนไทยในต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
/////////////////////////////////////////////////

วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2556

ปัญหาก่อนการใช้ 3G


แม้ประเทศไทยจะเริ่มกระบวนการนำคลื่นความถี่ 2.1 GHz (2100 MHz) มาใช้ในกิจการโทรคมนาคมของประเทศ จากการที่คณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ทำการจัดสรรโดยวิธีการประมูลเมื่อเดือนตุลาคม 2555 ที่ผ่านมาเพื่อให้เป็นคลื่นความถี่สำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 3G ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการรับส่งข้อมูลและเสียงผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง

โดยก่อนที่จะมีการจัดสรรคลื่นความถี่ 2.1 GHz ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายหลักในประเทศไทยต่างก็ได้ให้บริการในระบบ 3G บนคลื่นความถี่เดิมในระบบ 2G เช่น 850 MHz 900 MHz และ 1800 MHz กันอยู่ก่อนแล้ว การให้บริการระบบ 3G บนคลื่นความถี่เดิมซึ่งใช้ในการให้บริการระบบ 2G ในขณะที่ผู้ให้บริการแต่ละรายมีฐานลูกค้าระบบเดิมอยู่เป็นจำนวนมาก จึงทำให้การให้บริการ 3G ต้องเข้าไปแย่งชิงหรือลดทอนพื้นที่ให้บริการระบบเดิม ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านคุณภาพการให้บริการ เช่น สายหลุดบ่อยครั้ง หรือระดับความแรงของสัญญาณโทรศัพท์ หรืออินเตอร์เนตมีคุณภาพที่ไม่ดีพอมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน

นอกจากปัญหาที่เกิดจากการให้บริการ 3G ในระบบเดิมแล้ว ในส่วนการเตรียมความพร้อมเพื่อให้บริการภายใต้คลื่น 2.1 GHz ขณะที่ผู้ให้บริการแต่ละรายกำลังเตรียมความพร้อมเพื่อเริ่มการให้บริการในระบบ 3G นั้น ได้เกิดปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพการให้บริการโดยเฉพาะด้านเสียงที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงที่ผ่านมา ทำให้สำนักงานคณะกรรมการ กสทช. ซึ่งได้รับการร้องเรียนจากผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวนมากเกี่ยวกับปัญหาคุณภาพให้บริการ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกไปทำการตรวจวัดคุณภาพการให้บริการโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครทุกพื้นที่และในส่วนภูมิภาคทุกจังหวัด

ปรากฏว่าการให้บริการระบบ 3G ซึ่งมีผู้ให้บริการที่เป็นบริษัทเอกชน 3 ราย และรัฐวิสาหกิจ 1 ราย มีอัตราการโทร.ออกสำเร็จอยู่ระหว่าง 98%-100% มีอัตราสายหลุดอยู่ที่ 0.5% ส่วนระดับความแรงและคุณภาพของสัญญาณอยู่ที่ 55%-85% ซึ่งความแรงสัญญาณของผู้ให้บริการที่เป็นรัฐวิสาหกิจมีอัตราที่ต่ำกว่าของเอกชน เนื่องจากข้อจำกัดของคลื่นความถี่ที่นำมาให้บริการ 3G แต่ก็ถือว่ายังไม่เกินกว่ามาตรฐานที่กสทช. กำหนดไว้ ในส่วนของการให้บริการระบบ 2G ทุกเครือข่ายมีอัตราการโทร.ออกสำเร็จอยู่ในระดับใกล้เคียงกันคือ 97% ถึง 100% อัตราสายหลุด 0% คุณภาพและความแรงของสัญญาณอยู่ที่ 94%-97%

การออกไปตรวจวัดคุณภาพการให้บริการทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดของสำนักงาน กสทช. ดังกล่าว ทำให้เห็นว่าการให้บริการระบบ 2G ซึ่งเป็นการสื่อสารในระบบเดิมที่ใช้มาแต่เดิมทั้งในย่านความถี่ 850 MHz 900 MHz และ 1800 MHz ผู้ให้บริการแต่ละรายได้มีการขยายเครือข่ายจนครอบคลุมไปทั่วประเทศ ส่งผลให้คุณภาพการให้บริการตลอดจนระดับความแรงของสัญญาณสามารถครอบคลุมพื้นที่การให้บริการในเกณฑ์ดี แต่ในส่วนของการให้บริการระบบ 3G พบว่ายังมีปัญหาอยู่บ้าง เพราะการให้บริการ 3G ในปัจจุบันยังมีลักษณะที่เบียดเสียดกันอยู่ สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งคือผู้ให้บริการทุกรายต่างอยู่ระหว่างการเร่งปรับปรุงเครือข่ายของตนเอง เพื่อเริ่มการให้บริการในระบบการใช้เทคโนโลยี 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz อย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลจากการเตรียมความพร้อมเพื่อเริ่มการให้บริการระบบใหม่ จึงส่งผลกระทบต่อคุณภาพการให้บริการของผู้ประกอบการทุกราย

แม้การเปลี่ยนผ่านจากการใช้คลื่นความถี่เดิมไปสู่การใช้คลื่นความถี่ใหม่ เพื่อรองรับกับเทคโนโลยี 3G จะทำให้เกิดปัญหาเรื่องคุณภาพการให้บริการในวงกว้าง แต่ก็อาจต้องให้ระยะเวลาแก่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกรายที่ให้บริการระบบ 3G ได้มีการเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ก่อนเปิดให้บริการระบบ 3G ที่แท้จริงอย่างสมบูรณ์แบบ เมื่อทุกฝ่ายมีความพร้อมเต็มที่ในการบริการ อีกทั้งผู้ให้บริการเอกชนทุกรายต่างอยู่ในฐานะที่ทัดเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นปริมาณคลื่นความถี่ที่ต่างก็มีอยู่รายละ 15 MHz และเทคโนโลยี ส่วนคุณภาพและการให้บริการเป็นเรื่องที่ต้องแข่งขันกันภายใต้ระบบการค้าเสรี ที่ผู้ใช้บริการจะได้ประโยชน์ในที่สุด

ที่มา.นสพ.แนวหน้า
/////////////////////////////////////////////

ตั้งสำนักองค์กร สำรองข้าวฉุกเฉินอาเซียนในไทย !!?


นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดการประชุมคณะมนตรีถาวรขององค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม (ASEAN Plus Three Emergency Rice Reserve: APTERR)  ในโดยมีคณะมนตรีถาวร APTERR จาก 13 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศอาเซียน 10 ประเทศ และ สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี  พร้อมผู้แทนจากสำนักเลขาธิการอาเซียน ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) และหน่วยงานด้านความมั่นคงทางอาหารในอาเซียนเข้าร่วมประชุม

นายยุคล กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการรับรองร่างกฎระเบียบและคู่มือการดำเนินงานต่างๆ  ของ APTERR โดยเฉพาะคู่มือการระบายและเต็มเติมข้าวสำรองฉุกเฉิน เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาค สำหรับประเทศไทย กระทรวงเกษตรฯ ได้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและผลักดันการดำเนินงานของ APTERR เป็นเวลานับสิบปี ตั้งแต่ที่เป็นโครงการนำร่องเพื่อระบบการสำรองข้าวในเอเชียตะวันตะวันออก

ล่าสุด ที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ กับรัฐมนตรีของสาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี (AMAF+3) ได้มีฉันทามติให้จัดตั้งสำนักเลขานุการ APTERR ที่ประเทศไทยตามกฎหมายไทยและตั้งอยู่ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โดยขณะนี้ กระทรวงเกษตรฯ อยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางการรับรองสถานะของสำนักเลขานุการ APTERR แล้วเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาให้มีการออกกฎหมายต่อไป โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็ววันนี้

ส่วนด้านสถานที่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้ปรับปรุงสถานที่สำหรับจัดตั้งสำนักเลขานุการอย่างถาวรเรียบร้อยแล้ว โดยจะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 29 มีนาคมนี้  ซึ่งสำนักเลขานุการแห่งนี้จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก APTERR ทั้ง 13 ประเทศ ในการบริหารจัดการข้าวสำรองฉุกเฉินของภูมิภาค เพื่อช่วยเหลือประเทศสมาชิกที่ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน รวมถึงให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารในระยะยาว

ที่มา.โพสต์ทูเดย์
//////////////////////////////////////////