--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2555

รฟท.ปลื้มประเดิมบริหารตลาดนัดจตุจักรไร้ปัญหา !!?



รฟท.ปลื้มประเดิมบริหารตลาดนัดจตุจักรไร้ปัญหา
รักษาการ ผอ.ตลาดนัดจตุจักร เผยไร้ปัญหามาเฟียหลัง รฟท.เข้ามาดูแลแทน กทม.และอาจขึ้นค่าเช่าแผงเล็กน้อย ประสานตำรวจเข้าดูแลความปลอดภัยในพื้นที่ พร้อมเปิดโอกาสผู้ค้าเก่ามาลงทะเบียนจนถึง 15 ม.ค.นี้...

 นายจรัสพันธ์ วัชโรทัย รักษาการผู้อำนวยการตลาดนัดจตุจักร กล่าวว่า ภายหลังจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เข้ามาดูแลตลาดนัดจตุจักรอย่างเป็นทางการ ทุกอย่างเรียบร้อยดีไม่พบปัญหาร้องเรียนเรื่องของมาเฟียในตลาด และ รฟท. ยังได้เปิดให้ผู้ค้าตลาดนัดไม่ต้องจ่ายค่าเช่าแผงเป็นเวลา 60 วัน ตั้งแต่เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2555 ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านการโอนอำนาจบริหารจัดการระหว่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) และ รฟท. และจากการเปิดให้ผู้ค้าเดิมลงทะเทียนเพื่อยืนยันเป็นเจ้าของแผงค้าเช่นเดิม ขณะนี้มีผู้ค้ามาลงทะเบียนแล้ว 8,500 แผง จากผู้ค้าทั้งหมดในตลาด 8,807 แผง โดย รฟท.จะเปิดให้ผู้ค้าเก่ามาลงทะเบียนยืนยันไปจนถึงวันที่ 15 มกราคมนี้

สำหรับการคิดค่าธรรมเนียมเช่าแผงใหม่นั้น รฟท. จะมีการเก็บค่าเช่าแผงในราคาที่เหมาะสมที่ผู้ค้าและ รฟท.รับได้ โดยอาจมีการขึ้นค่าเช่าเล็กน้อย แต่ยังอยู่ระหว่างการหารือ ส่วนเรื่องของสิ่งปลูกสร้างอาคารสถานที่ที่เป็นของ กทม.อยู่ระหว่างการหารือร่วมกันระหว่างคณะกรรมการทั้งสองฝ่าย สำหรับปัญหาการจัดเก็บขยะในตลาดนัดจตุจักร รฟท.ได้ประสานสำนักสิ่งแวดล้อมให้ร่วมช่วยเหลือการจัดเก็บขยะเช่นเดิม

นายจรัสพันธ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของการรักษาความปลอดภัยซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ค้ากังวล เกี่ยวกับทรัพย์สินของร้านค้าภายในตลาดนัด ระหว่างนี้ได้ประสานให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ทั้งบางซื่อ จตุจักร ร่วมดูแล และจะนำเจ้าหน้าที่ตำรวจรถไฟมาให้การช่วยเหลือดูแลความปลอดภัยในพื้นที่ด้วย ก่อนที่จะมีการจ้างบริษัทมาดูแล ส่วนสาธารณูปโภค ห้องน้ำ ได้ใช้บริษัทที่ดูแลความสะอาดห้องน้ำเดิมของ กทม. และระหว่างนี้ได้มีการงดการจัดเก็บค่าเช่า และค่าบริการ.
ที่มา: ไทยรัฐ
////////////////////////////////////////////////////

วันเสาร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2555

เหรียญสองด้าน โมเดลนิติราษฎร์...

โมเดลนิติราษฎร์ ในแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ออกมา จากกลุ่มนักวิชาการซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน ที่ จะว่าไปแล้ว ถือเป็นอีกพาร์ตของการเคลื่อนไหวแห่ง “เรดแมป” ฉบับมวลชนคนเสื้อแดง ที่กำลังถูกกล่าวขวัญและกลายเป็นประเด็นบริภาษในสังคมอย่างกว้างขวางทั้งแง่บวกและแง่ลบ

เนื่องด้วยจิ๊กซอว์ 4 ชิ้น ที่คณะนิติราษฎร์ วางธงจะนำมาประกอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูตาม “โมเดลนิติราษฎร์” อันประกอบด้วย รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2475 รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 รัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2489 โดยมีรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 เป็น แกนกลาง

หากลงรายละเอียดไปถึงลายลักษณ์อักษรในตัวบทกฎหมายสูงสุดของประเทศที่ถูกยกมาอ้างอิง มันก็ล้วนปรากฏซึ่งเหตุผลแห่ง ความอ่อนไหวและเปราะบาง ยิ่งนำมาประกอบกับการเคลื่อนไหวของคณะนิติราษฎร์ ที่มีแผนรณรงค์แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 112 ผ่าน “คณะรณรงค์แก้ไขเพิ่มเติม ม.112” หรือ ครก.112 ในการรวบรวมรายชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขมาตรา 112 เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา..มันก็ล้วนสะท้อนให้เห็นนัยยะสำคัญทางการเมืองที่ไม่ธรรมดาเช่นกัน!!!

การเคลื่อนตามโมเดลนิติราษฎร์ครั้งนี้ จะเกิดปรากฏการณ์อะไรทางการเมืองตามมายังไม่มีใครทราบ แต่หากว่ากันตามมุมมอง ทางวิชาการทางกฎหมาย ย่อมปรากฏมิติแห่งชุดความคิดของกลุ่ม สนับสนุนและกลุ่มคัดค้าน ที่น่าจะเป็นกรณีศึกษาที่สามารถหยิบยก ไปใช้ทางวิชาการ ซึ่งน่าจะนำไปสู่จุดตกผลึกในอนาคตข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยเป็นข้อถกเถียงที่อ่อนไหวเปราะบาง “โต๊ะข่าวการเมือง” จึงขอยกเอาใจความสำคัญของ “ประกาศคณะนิติราษฎร์” ที่เผยแพร่ออกสู่สาธารณชนมาประกบกับบทความของ “คำนูน สิทธิสมาน” ที่ถูกตีพิมพ์ในคอลัมน์หน้ากระดานเรียงห้า (ผู้จัดการ ออนไลน์) มาเป็นข้อมูลเชิงเปรียบเทียบ เพื่อให้เห็นข้อดีข้อด้อยของทั้ง 2 มุมมอง โดยเฉพาะในปมบริภาษ..รัฐธรรมนูญ ฉบับใต้ตุ่ม!!!

l>> ประกาศคณะนิติราษฎร์ที่เผยแพร่ต่อสาธารณะเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2554

คณะนิติราษฎร์ เห็นว่า รัฐธรรมนูญที่จะนำมาใช้เป็นต้นแบบ ในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่สมควรเป็นพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475, รัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 และอาจนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ในส่วนของการประกันสิทธิและ เสรีภาพตลอดจนโครงสร้างสถาบันการเมืองและองค์กรทางรัฐธรรมนูญเท่าที่สอดคล้องกับพัฒนาการในยุคร่วมสมัยมาเป็นแนวทางในการยกร่าง

เหตุที่คณะนิติราษฎร์เจาะจงมุ่งเน้นไปที่รัฐธรรมนูญ 3 ฉบับแรก ก็เนื่องจากพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกเป็นรัฐธรรมนูญที่จัดวางระบอบประชาธิปไตยและหลักความเป็นราชอาณาจักรซึ่งกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ส่วนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 เป็นรัฐธรรมนูญที่สืบเนื่องต่อมา ตามกระบวนการปกติ โดยที่ไม่มีการล้มล้างรัฐธรรมนูญนอกวิถีทาง ประชาธิปไตย

การรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเกิดขึ้นครั้งแรกใน วันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ต่อมา คณะรัฐประหารได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 9 พฤศจิกายน 2490 การรัฐประหารครั้งนั้นเป็นจุดเริ่มต้น ของ “วงจรอุบาทว์” ในระบอบการเมืองไทย นับแต่นั้น รัฐธรรมนูญฉบับที่สืบเนื่องต่อมา ก็เป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกตัดตอนจากอุดมการณ์ ประชาธิปไตยของคณะราษฎร ข้อเสนอคณะนิติราษฎร์ให้นำรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับแรกมาเป็นต้นแบบในการยกร่าง จึงเป็นความพยายาม นำระบอบการเมืองการปกครองในปัจจุบันกลับไปเชื่อมโยงอุดมการณ์ประชาธิปไตยของคณะราษฎร์ นอกจากนี้ เราอาจพิจารณาความเห็นของนายปรีดี พนมยงค์ ต่อรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ได้อีกด้วย

นายปรีดี เห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม (รัฐธรรมนูญ 9 พฤศจิกายน 2490) เป็นโมฆะ ระบบการเมืองและรัฐธรรมนูญฉบับ 2492 และฉบับต่อๆ มา ก็เป็นโมฆะ นอกจาก “มิใช่ระบบการเมืองประชาธิปไตยตามวิถีทางรัฐธรรมนูญโดยชอบ” แล้วยัง “มิใช่เป็นระบบปกครองที่สมบูรณ์ในตัวของรัฐธรรมนูญนั้นเอง” ด้วยเหตุผลสามประการ ดังนี้

ประการแรก การลงนามของกรมขุนชัยนาทนเรนทรในรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มเป็นโมฆะ เพราะหัวเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว เขียนตำแหน่งผู้ลงนามแทนพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ “คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” ซึ่งในภาษาไทยคำว่า “คณะ” หมายถึงบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป แต่เหตุใดจึงมีผู้ลงนามเพียงคนเดียว คือ “รังสิต กรมขุนชัยนาทนเรนทร”

หลายคนที่มีจิตใจสังเกตก็แสดงความเห็นว่า เมื่อก่อนหน้าวันที่ 8 พฤศจิกายน เคยได้ฟังวิทยุกรมโฆษณาการอ่านประกาศกฎหมาย หลายฉบับ คือ เมื่ออ่านคำว่า “คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” แล้ว ก็อ่านต่อไปถึงชื่อคณะนั้นที่ลงนาม ซึ่งผู้ลงนาม 2 ท่าน คือ “รังสิต กรมขุนชัยนาทนเรนทร” และ “มานวราชเสวี” (พระยามานวราชเสวี) แสดงว่า คณะนั้นประกอบด้วยบุคคล 2 คน ฉะนั้น ผู้ใช้ความสังเกตจึงเห็นได้ทันทีว่า รัฐธรรมนูญ (ฉบับใต้ตุ่ม) ดังกล่าว เริ่มแสดงถึงการเป็นโมฆะตั้งแต่หัวเรื่องของรัฐธรรมนูญฉบับนั้น

นายปรีดี ยังได้ชี้ชวนให้พิจารณาประกาศตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2489 อีกด้วยว่า เนื่อง จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ยังทรงพระเยาว์ รัฐสภาจึงลงมติตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประกอบด้วย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทรเป็นประธาน และพระยามานวราชเสวี โดยมีข้อตกลงว่าในการลงนามเอกสารราชการนั้น ให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทั้งสองเป็นผู้ลงนาม ดังนั้น รัฐธรรมนูญ ฉบับใต้ตุ่มซึ่งกรมขุนชัยนาทฯองค์เดียวเป็นผู้ลงนามจึงเป็นโมฆะ เพราะฝ่าฝืนข้อกำหนดในประกาศแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทน พระองค์ ฉบับวันที่ 16 มิถุนายน 2489

ประการที่สอง ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ปฏิญาณตนต่อรัฐสภาว่าจะรักษาและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ไทย นายปรีดีฯ เห็นว่า “...ผู้สำเร็จราชการที่ตั้งโดยรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 นี้ก็ได้ปฏิญาณตนต่อรัฐสภาว่า จะรักษาและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ดังนั้น ถ้ากรมขุนชัยนาทฯ ได้ปฏิบัติตามที่ปฏิญาณและไม่ยอมลงพระนามในรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม ระบอบแห่งรัฐธรรมนูญใต้ตุ่มอันเป็นบ่อเกิด ให้ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญต่อมาอีกหลายฉบับ จนมวลราษฎรจำกันไม่ได้ว่ามีกี่ฉบับก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้...”

ประการที่สาม ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม เป็นตำแหน่งที่ไม่มีกฎหมายรองรับ นายปรีดี อธิบายว่า ผู้ลงนามรับสนองฯในรัฐธรรมนูญ 2490 คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย เป็นตำแหน่งที่คณะ รัฐประหาร ตั้งให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งผิดต่อกฎหมาย และ ผู้นั้นไม่มีอำนาจตามที่กฎหมายที่จะลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

l>> “คำนูณ สิทธิสมาน” สมาชิกวุฒิสภา ระบบสรรหาหากดูข้อความในแถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ประเด็นที่ระบุว่า..

“...เห็นว่ารัฐธรรมนูญที่จะนำมาใช้เป็นต้นแบบในการจัดทำ รัฐธรรมนูญใหม่สมควรเป็นพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครอง แผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 และอาจนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ในส่วนของการประกันสิทธิและเสรีภาพตลอดจนโครงสร้างสถาบันการเมืองและองค์กรทาง รัฐธรรมนูญเท่าที่สอดคล้องกับพัฒนาการในยุคร่วมสมัยมาเป็น แนวทางในการยกร่าง”

จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2540 ถูกลดคุณค่าไปแค่ “อาจนำ” มาร่วมพิจารณาเฉพาะส่วนโครงสร้างสถาบันทางการเมืองและองค์กรทางรัฐธรรมนูญเท่านั้น ไม่ใช่ปรัชญาและแนวทางหลักแล้วพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 หรือที่ผมขอเรียก ณ ที่นี้ว่ารัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475 มีอะไรโดดเด่นเป็นพิเศษหรือ?

ความโดดเด่นเป็นพิเศษคือเป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้น 3 วันหลัง คณะราษฎรทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองจากในหลวงรัชกาล ที่ 7 โดยคณะราษฎรเป็นผู้จัดทำฝ่ายเดียวแล้วนำมาถวายพระองค์ ท่าน แม้พระองค์อาจไม่ทรงเห็นด้วยในเนื้อหาบางประการ แต่ด้วย พระราชปณิธานสูงสุดที่ไม่ต้องการให้แผ่นดินนองเลือดจึงทรงยินยอม แต่ก็ลงพระอักษรกำกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไว้ว่า “ชั่วคราว”

อันเป็นผลให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่พระองค์ท่าน มีส่วนร่วมพระราชทานความเห็นด้วยออกมาประกาศใช้ในอีก 5 เดือน เศษต่อมาในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ซึ่งมีเนื้อหาบางประการแตกต่างออกไป

ในรัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475 ไม่มีคำว่า “พระมหากษัตริย์” เหมือนรัฐธรรมนูญทุกฉบับต่อๆ มา โดยใช้คำว่า “กษัตริย์” เฉยๆ หลักการสำคัญอันเป็นเสมือนการแสดงเจตนารมณ์ปฏิบัติประชาธิปไตยเปลี่ยนระบอบบรรจุอยู่ในมาตรา 1 ด้วยข้อความที่สั้น กระชับ เมื่อพูดถึงอำนาจสูงสุดของประเทศก็มีแต่คำว่า “ราษฎร” เท่านั้น ไม่มีข้อความต่อมาที่ระบุถึง “พระมหากษัตริย์” ไว้ในมาตราเดียวกันเหมือนรัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มา “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” ไม่ใช่แต่เพียงภาษาเท่านั้นแต่ฐานภาพของ “กษัตริย์” ตามรัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475 ไม่เหมือน “พระมหากษัตริย์” ในรัฐธรรมนูญฉบับต่อมาทุกฉบับต่อจากนั้น อ่านหมวด 1 ข้อความทั่วไป และหมวด 2 กษัตริย์ ดูก็พอจะ รับรู้อารมณ์และเจตนารมณ์ได้ ที่สำคัญและดูเหมือนจะเชื่อมโยงไปถึงประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่คณะนิติราษฎร์และคนเสื้อแดงบางกลุ่มเสนอให้ทบทวนด้วยก็คือ รัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475 ไม่มีหลักการสำคัญที่รัฐธรรมนูญทุกฉบับต่อมาบัญญัติคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์และองค์พระมหากษัตริย์ไว้เด็ดขาด ดังเช่นความในมาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งก็เหมือนฉบับ 2540 และฉบับอื่นๆ ก่อนหน้า...“องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพ สักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้/ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้”

หลักการนี้มีที่มาที่ไปที่แสดงลักษณะเฉพาะเป็นพิเศษของประเทศไทย และเพราะมีหลักการนี้บรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญ จึงเป็น เหตุให้มีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถ้าหลักการนี้ไม่คงอยู่ในรัฐธรรมนูญ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ก็ไม่มีฐานรองรับ
แน่นอนว่ารัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475 ก็ยังคุ้มครองฐานภาพของ “กษัตริย์” แต่ไม่ได้คุ้มครองไว้เด็ดขาดเหมือนรัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มาทุกฉบับจนถึงปัจจุบัน รัฐธรรมนูญฉบับนี้บัญญัติไว้ในมาตรา 6 ว่า...

“กษัตริย์จะถูกฟ้องร้องคดีอาญาไปยังโรงศาลไม่ได้ เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรจะวินิจฉัย” แม้คณะนิติราษฎร์ไม่ได้ระบุออกมาตรงๆ ว่ารัฐธรรมนูญใหม่ ควรจะต้องร่างอย่างนี้ แต่การหยิบยกให้นำแต่เฉพาะรัฐธรรมนูญของ คณะราษฎร 3 ฉบับ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475 ที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างออกไปจากรัฐธรรมนูญทุกฉบับ มาเป็น ต้นแบบ โดยลดความสำคัญของรัฐธรรมนูญ 2540 ลงไป..มันชวนให้คิด ชวนให้คาดการณ์ได้ไม่ใช่หรือ???

ขอย้ำว่านี่คือข้อถกเถียงในทางความคิดผ่านแง่มุมวิชาการ ด้านกฎหมาย ส่วนผลกระทบในทางการเมืองจากประเด็นดังกล่าว จะตามมาในรูปแบบใด..สังคมและสาธารณชนจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ต้องเฝ้าติดตาม อย่างมีสติ..ขอรับ!!!

ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
///////////////////////////////////////////////////////////////

บนทางแยกประชาธิปไตย ของกองทัพและการเมือง !!?

ภายใต้ภาพเบลอแห่งโหราศาสตร์และดวงดาว ที่มีการทำนายทายทักให้เห็นอนาคตประเทศไทยในปีมะโรง..ที่ว่ากันไปต่างๆ นานา ทั้งเป็นคุณและไม่เป็นคุณต่อบรรยากาศ แห่งความสมานฉันท์ภายในประเทศ ปรากฏเป็นความสับสนจนสังคมจับต้นชนปลายไม่ถูก

จับจากตรรกะความเป็นจริง จังหวะก้าวทาง การเมืองที่ได้ดำเนินมาและมีแนวโน้มจะดำเนินไปผ่านมุมมองของ “รศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข” อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มอง ข้ามช็อตไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง

“ก่อนอื่นต้องมองภาพรวมของการเมืองในปี 2555 ก่อนว่า น่าจะเกิดความร้อนแรงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการตกผลึกของการเมืองเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งมีสภาพแบบแลหลังดูหน้า จากหลายๆ เรื่อง อย่างกรณีอากง-ม.112 ส่งผลมาถึงกรณีแก้รัฐธรรมนูญ คดี 91 ศพ นิรโทษกรรม รวมถึงตุลาการภิวัฒน์ โดยผลจากเรื่องราว เหล่านี้ทำให้เชื่อได้ว่าการเมืองไทยปี 55 ร้อนแรงขึ้นแน่”

“โดยเฉพาะเรื่องที่ต้องโฟกัสเป็นพิเศษ เพราะเป็นเรื่องที่เปราะบางมาก คงไม่พ้นเรื่องของมาตรา 112 ซึ่งตอนนี้ต้องถือว่า เป็นประเด็นสาธารณะไปแล้วและเชื่อว่าในปีนี้ฝ่ายนิติราษฎร์ น่าจะต้องจุดประเด็นขึ้นมาอีกซึ่งแน่นอนว่าคงทำให้ฝั่งทหารไม่พอใจแน่ เพราะเขาประกาศไว้ชัดเจนว่า ใครไม่เอา ม.112 ก็ไปอยู่ต่างประเทศก็แล้วกัน แต่ถ้าหากประชาชนบางส่วนต้องการและ ออกมาเคลื่อนไหว จะส่งผลให้ประเด็นนี้เป็นเรื่องใหญ่แน่นอน”

“ในด้านความเป็นเอกภาพของกองทัพ ขณะนี้ต้องยอมรับ ว่าเราสูญเสียไปตั้งแต่มีการรัฐประหารปี 49 แล้ว แม้จะยังควบคุม ได้แต่ขาดเอกภาพไปเยอะ หากพิจารณาจากการไปเยือนพม่าของ ผู้นำสหรัฐ เชื่อได้ว่าเขาเปิดรับพม่ามากขึ้น ซึ่งแน่นอนถ้าประเทศไทย ยังมีความรุนแรงทางการเมืองจากการใช้กำลังของทหาร ทำให้ ภาพลักษณ์ออกมาขัดแย้งกับระบอบประชาธิปไตย เขาอาจจะไม่เอา กับเราด้วย ฉะนั้น การทำรัฐประหารต่อไปคงไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะ นานาชาติไม่รับ กลุ่ม EU ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเขาไม่เอาด้วยตั้งแต่รัฐประหารรอบที่แล้ว”

“แม้ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะนำพาไปสู่ความขัดแย้ง แต่โดยหลักใหญ่ไม่ใช่เรื่องของตัวบทกฎหมาย แต่เนื้อแท้กลับเป็น เรื่องของการเมืองเสียมากกว่า ที่เราเคยพูดกันถึงการปรองดอง สมานฉันท์ หรืออะไรก็แล้วแต่ จะไม่มีผลเลยถ้ายังใช้กฎหมายที่มา จากการทำรัฐประหาร ฉะนั้น ถ้าเราอยากก้าวไปข้างหน้าต้องพิจารณา ผลพวงใหญ่ที่มาจากการทำรัฐประหาร นั่นคือรัฐธรรมนูญปี 50”

“ส่วนที่มองว่าทหารอาจได้รับผลจากความผิดในคดี 91 ศพ หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นแรก คงต้องพิจารณา การให้ปากคำของฝ่ายการเมืองในรัฐบาลชุดที่แล้ว และหากเชิญทหารไปให้ปากคำที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล อันนี้อาจนำมาซึ่งปัญหาเรื่องศักดิ์ศรี คือ สีเขียว กับสีกากี อันนี้น่าห่วงมาก แต่ก็อาจเป็นไปได้ว่าจะกันฝ่ายทหารไว้เป็นพยาน เพราะเป้าประสงค์อยู่ที่ฝ่ายการเมืองมากกว่า เชื่อว่าน่าจะมีการ ประนีประนอมระหว่างรัฐบาลกับทหาร แต่ก็เหมือนทุ่นระเบิด แม้ผ่านไปได้ลูกหนึ่งก็ต้องเจออีกลูกหนึ่ง”

“เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพจึงถือเป็นตัวแปรสำคัญ จากประวัติศาสตร์ยังไม่เคยมีปรากฏการณ์ ว่านายกรัฐมนตรีคนใดตรวจเยี่ยมกองทัพถึงที่แบบนายกฯ ยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร) ซึ่งก็มองได้ว่าเป็นการไปขอบคุณที่ทหาร มาช่วยเหลือในสถานการณ์น้ำท่วม แต่ก็ถือว่าเป็นการลดความ บึ้งตึงระหว่างทหารกับรัฐบาล หรือเป็นการถอดชนวนระเบิดได้ด้วยดี จากนี้คงต้องดูท่าทีของฝ่ายชาตินิยมว่าจะแสดงท่าที อย่างไร เชื่อว่าถ้าไม่รุนแรงทหารเอาอยู่แน่”

“สุดท้าย สิ่งที่ต้องคำนึงไว้เสมอคือประเทศไทยไม่ได้ตั้งอยู่โดดเดี่ยวในโลก ทหารจึงต้องระมัดระวังหากจะต้องมีเรื่องขึ้นถึงศาลโลก อย่าลืมว่าแม้แต่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ว่ายิ่งใหญ่ยังต้องเชื่อฟังคำสั่งของศาลโลกอย่างดุษฏี”

ทีี่มา.สยามธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////////////////

สภาเดือดกลางดึก.ซัดกันนัวสร้างสภาใหม่ !!?




สภาเดือดกลางดึก! ศึกประธาน อดีตประธาน ซัดกันนัว เรื่องสร้างสภาใหม่ "ปู่ชัย"ลั่นไม่มีเอี่ยวบริษัทประมูลก่อสร้าง

ในระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณา ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 ในส่วมาตรา 26 ส่วนรัฐสภา ซึ่งนายชัย ชิดชอบ อดีต ประธานรัฐสภา ได้ลุกขึ้นทวงถามถามถึงวการจัดทำสภาใหม่โดยเฉพาะ ตามสัญญาเดิมที่จะให้เปิดประมูลในเดือน ธ.ค. 2554 ที่ผ่านมา แต่เหตุใดทำไม่ได้ ทำให้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ชี้แจงว่า ที่ผ่านมามีการทำเรื่องทุกอย่างเอาไว้เรียบร้อยและมีบริษัทรอเข้าประมูล 4 บริษัท โดยที่ตนทำอะไรไม่ได้เลย ซึ่งตนรับไม่ได้ อีกทั้งยังมีการเพิ่มเงื่อนไขต่างๆจากหน่วยงานที่ไปขอพื้นที่มา ดังนั้นตนจึงต้องพิจารณา

ซึ่งมาถึงช่วงนี้ก็ดุเดือดมากขึ้น โดยนายสมศักดิ์กล่าวว่า "หากเป็นอย่างนี้จะกลายเป็นสภา 3 ชั่วโคตร ผมเป็นวิศวกรผมรู้ ท่านชัยครับ อย่าให้ผมพูดมากไปกว่านี้เลยเดี๋ยวท่านจะเจ็บตัวไปมากกว่านี้"

ทำให้นายชัย ลุกขึ้นสวนทันทีว่า "ท่านพูดเหมือนผมมีส่วนเกี่ยวข้องกับทั้งสี่บริษัท ขอยืนยันว่าตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง หากผมมีส่วนเกี่ยวข้องขอให้ผมมีอันเป็นไป แต่หากใครกล่าวหาโดยไม่มีข้อเท็จจริงก็ขอให้มีอันเป็นไปเช่นกัน"

ซึ่งทำให้นายสมศักดิ์ตัดบทและผ่านไปพิจารณาในมาตราต่อไป

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
//////////////////////////////////////////////////////

จงถามประชาชน !!?

อีก 8 เดือน หรือว่า...วันนี้

ไม่มีอะไรแตกต่างไปจากกัน สำหรับการคิดจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ...เมื่อพรรคเพื่อไทยจะแก้ไข...เรื่องจะไม่มีใครคิดต่อต้านนั้นอย่าหวัง...

เพียงแต่ว่ามันจะหนักหนาสาหัสหรือไม่...จะนำไปสู่การเผชิญหน้าแบบไหน...จะกลายเป็นสงครามใหญ่หรือย่อม...ไม่มีใคร...คาดหมายได้หรือแม้แต่เดาไว้ล่วงหน้า...เพราะพรรคเพื่อไทยไม่ใช่พรรคประชาธิปัตย์...พรรคเพื่อไทย...ไม่เหมือนกับพรรคชาติไทยหรือพรรคชาติพัฒนา...

พรรคเพื่อไทยเป็นการพัฒนาไปอีกก้าวของการเมืองไทย...เป็นส่วนผสมกลมกลืนระหว่าง...ความรู้สึกของประชาชนกับกระบวนการรับรู้เกี่ยวกับการเมือง...

ถ้าความรู้สึกนึกคิดของประชาชนเกี่ยวกับการเมืองเป็นต้นตำลึง...พรรคเพื่อไทยเป็นนั่งร้านสำหรับให้ตำลึงเกี่ยวพันเติบโตขึ้นมา...และแน่นอนว่า...นั่งร้านก็คือนั่งร้าน...ต้นตำลึงก็คือต้นตำลึง...มันดูกลมกลืนเกาะเกี่ยว แต่มันก็ไม่ใช่หนึ่งเดียวกัน

พรรคเพื่อไทยบอกกับประชาชนว่า...จะแก้รัฐธรรมนูญหากชนะเลือกตั้ง...สิ่งที่ต้องทำอย่างแน่แท้แปรผันไม่ได้...ก็คือ...ต้องเอารัฐธรรมนูญมาแก้...ดึงให้นานออกไปก็ต้องมีคำอธิบายที่สมเหตุสมผล...ใครฟังแล้วเจือสม...ว่าไม่ใช่ระวังหัวโขนกลัวหล่นจากหัว...

ไม่มีการเมืองไหนๆ ที่ไม่มีการต่อสู้...ไม่มีการเมืองไหนๆ ที่ไม่มีฝักฝ่าย...

มีวันนี้กันขึ้นมาได้ก็เพราะมีการต่อสู้...ไม่มีอะไรที่ได้มาเปล่าๆ ของฟรีไม่มีในโลก...บุพการีเลี้ยงดูให้เติบโตแข็งแกร่ง...แล้วก็ต้องกลับไปเลี้ยงดูในยามที่บุพการีเรี่ยวแรงโรยรา...

อย่ารักหัวโขนมากไปกว่าการทำในสิ่งที่ต้องทำ...ผัดวันประกันพรุ่ง...มีแต่จะทำให้การแก้ไขยุ่งยากยิ่งขึ้น...เสี่ยงต่อความวิบัติวอดวายมากขึ้น...

เก็บเผด็จการให้พ้นไปจากประชาธิปไตย...ก็เหมือนเด็ดเหาออกจากหัว...อย่าให้ความกลัวทำให้เสื่อม...ประชาชนเลือกพวกท่านมาให้ทำหน้าที่...ทำประเทศให้ดีและน่าอยู่

ไม่กล้าก็ทำประชาพิจารณ์กันอีกครั้งหรือไม่...ถามคนไทยทั้งชาติว่า...จะเอารัฐธรรมนูญ 2540 รัฐธรรมนูญ 2550 มาเป็นต้นแบบแก้ไข...

ประชาชนตอบอย่างไร...ทำไปอย่างนั้น...

โดย:พญาไม้,บางกอกทูเดย์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2555

สลัดภาพ อภิสิทธิ์ ไม่หลุด !!?

มาตะเภาเดียวกัน..แล้วเช่นนี้ “กรณ์ จาติกวณิช” จะโล้สำเภาเป็น “หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์” เพื่อก้าวเป็น “นายกรัฐมนตรี” คงหัวคะมำกันอย่างสุด...สุด
มองทุกด้านเป็นตัวปัญหา
แท้ที่จริงแล้ว พลพรรคประชาธิปัตย์ และนักการเมืองของพรรคนี้ นี่แหละเป็นจุดเสื่อมของปี ๕๕
ไม่ใช่ภัยธรรม หรือ นักการเมืองรัฐบาล ที่ทำให้การเมืองดิ่งเหว ล้มเหลว อย่างเหลือคณานับ
เริ่มต้นก็บ่ท่าเหมือน “อภิสิทธิ์”แล้ว.....ช่างเป็นบุรุษที่ไร้แวว?..ยากที่จะต่อแถว เป็นนายกฯสิครับ

+++++++++++++++++++++++++++++++++++

“ทหาร”ฆ่าใครไม่ได้
ถ้าไม่มี “คนสั่ง” เขาไม่มีอำนาจยกพล เข้ามาใจกลางเมืองหลวงกรุงเทพฯ จนเกิดเหตุฆ่าประชาชนตาย
ถึงเวลาแล้ว ที่ คณะกรรมการ ปปช. ของ “ท่านปานเทพ กล้าณรงค์ราญ” เรียก “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตนายกรัฐมนตรี และ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” รองนายกฯ ฐานะ ผอ.ศอฉ. ใครใช้อำนาจทหารสั่งยิงประชาชน
เรื่องที่หมกเม็ดมานาน จะได้แตกดังโพล๊ะ ..รู้ฆาตกรตัวจริงกันซักหน
ถึง “ทหาร” จะถือปืนอาวุธสงคราม ถ้าไม่มีคำสั่งเบื้องบนแล้ว เขาก็ไม่ปฏิบัติการณ์อย่างเหี้ยมโหด
อยากเห็น ปปช.สอบให้ถึงแก่น...ว่าใครใช้อำนาจอย่างคลั่งแค้น?..เดินแผนฆ่าประชาชนจนกลัวกันแทบหัวหด

++++++++++++++++++++++++++++++++++

เจาะยาง
เก่งนักกับเรื่องพูดอย่าง แต่ทว่าทำอีกอย่าง
เมื่อ “พรรคเพื่อไทย” ชนะมา ได้ “นายกฯปู” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นมาเบอร์หนึ่งบริหารประเทศ
ย่อมชอบธรรม ที่จะแก้รัฐธรรมนูญ มรดกบาปเผด็จการ ตามที่ได้สัญญาประชาคม กับประชาชนรากหญ้า กันเอาไว้เบ็ดเสร็จ
“ประชาธิปัตย์” โดย “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” และลูกกระจ๊อก พากันยำจนเละ ว่าจะพาชาติไปสู่วิกฤติ
แก้รัฐธรรมนูญฉบับทรราช....เพื่อให้คนไทยเท่าเทียมกันในชาติ...หัดคิดในแง่นี้บ้างเถอะ “ท่านอภิสิทธิ์”

++++++++++++++++++++++++++++++++++

แผนล้มเจ้า
ปูดขึ้นมา ขาดหลักฐานอ้างอิง..คิดขึ้นมา เพียงเพื่อที่จะเล่นงานเขา
จึงเชียร์ “ธาริต เพ็งดิษฐ์” อธิบดีกรมดีเอสไอ ผู้เป็นกล่องดวงใจ สมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ สาวต้นตอ สืบให้ถึงความจริง
เรียก “เทพเทือก” สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฐานะ ผอ.ศอฉ. น่ารู้เรื่องทุกสิ่ง
ใครเป็นผู้ที่เสกสรรปั้น หยิบเรื่องนี้ขึ้นมากลั่นแกล้งทางการเมือง จนเกิดเรื่องวุ่น
ถ้าเรื่องนี้ไม่จริง...ต้องเอาตัวคนที่อ้างอิง....เข้าปิ้งเป็นการด่วนด้วยนะครับ

++++++++++++++++++++++++++++++

พรรษา-บารมี ล้วนไม่ถึง
เป็น “เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์” เพียงพักเดียว...ก็มีเสียงด่า “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” กันให้ตึง
กลุ่ม สส.ยังเติร์ก สส.หนุ่ม-สาว ที่หนุนให้ขึ้นมาล้ม “สุเทพ เทือกสุบรรณ” เลขาธิการพรรคคนเก่า ยังด่ากันเช็ด
คนที่หนุนกันมาแน่ๆ ยังหันมาลงแส้ ด่ากันเบ็ดเสร็จ
เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ล้วนเป็นกระบี่มือหนึ่ง ที่คุมเกมการเมืองเอาไว้เสร็จสรรพ
ส่วน,”เสี่ยเฉลิมชัย ศรีอ่อน”....มีแต่ถูกเขาต้อน....เป็นละอ่อนการเมืองจริงๆสิครับ

คอลัมน์:ตอดนิดตอดหน่อย,บางกอกทูเดย์
///////////////////////////////////////////////////

ผู้นำฝ่ายค้าน พยากรณ์ ศก.55 ไม่หมกมุ่นไล่ล่า ทักษิณ.ไม่คิดเรื่องเพื่อไทย (ไม่)ไว้ใจยิ่งลักษณ์ !!?


2555 อุณหภูมิการเมือง เศรษฐกิจ ร้อนแรงทะลุปรอท

ร้อนแรงทั้งวาทกรรม "ปรองดอง" ที่แฝงนัยยะการนำ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับประเทศไทย

ร้อนแรงทั้งฝีมือบริหารประเทศของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้นำฝ่ายค้าน-อดีตนายกรัฐมนตรี วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ เศรษฐกิจ การเมือง และ "ทักษิณ" ภายใต้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย

- ประเมินเศรษฐกิจปีหน้าอย่างไร

ทุกสำนักยังมองว่าปัญหาเศรษฐกิจในยุโรปยังไม่จบ ต่อให้พยายามอย่างไรพื้นฐานของปัญหาก็ยังอยู่ ถ้ายุโรปคิดจะอุ้มประเทศที่มีปัญหาไว้ก็จะเป็นปัญหากับตัวยุโรป และมีปัญหาทางการเมืองรวมอยู่ด้วย ขณะเดียวกันหากยุโรปไม่อุ้มประเทศเหล่านั้นก็จะกระทบกับความน่าเชื่อถือในเรื่องของสกุลเงิน แต่ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ตาม ปัญหาหนี้สิน ปัญหาระบบการเงินมันไม่ได้หายไป รักษาตามอาการไปเรื่อย ๆ

แต่ประเทศเราไม่ได้มีเศรษฐกิจโลกเป็นปัจจัยเสี่ยงเพียงอย่างเดียว แต่ยังเจอภัยพิบัติเรื่องน้ำท่วม จึงจำเป็นที่ต้องเรียกความเชื่อมั่นกลับคืน รวมกับเรื่องของการเมืองที่ยังทำให้งานหลายอย่างไม่เดินหน้า

ฉะนั้นเศรษฐกิจในปี"55 หากมองในเชิงตัวเลข หลายคนคงคาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ดีกว่าปี"54 เพราะปีนี้เจอภัยพิบัติ ก็จะทำให้ตัวเลขในปี"55 อยู่ในแดนบวก แต่ในเชิงชีวิตจริงนั้นยังมีความยากลำบากพอสมควร และในปี"55 ช่องว่างระหว่างตัวเลขและชีวิตจริงจะมีมากขึ้น เพราะตัวเลขที่โตทางเศรษฐกิจเป็นการใช้จ่ายเงินเพื่อซ่อมแซม ฟื้นฟู เพื่อให้ทรัพย์สินที่ สูญเสียไปกลับสู่สภาพเดิม

ยิ่งถ้านำไปรวมกับสิ่งนักลงทุนยังไม่มีความมั่นใจคืออะไร วันนี้หากมองไปข้างหน้าก็ยังไม่รู้แน่ชัดว่าเราจะขยายธุรกิจต่อในไทยหรือไม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะผูกพันใกล้ชิดกับการทำงานของรัฐบาล

- การบริหารเศรษฐกิจส่วนรวม ครึ่งปีแรกจะยังคงสาละวนเรื่องน้ำท่วม

ถ้าเอาหลายปัจจัยมารวมกันก็จะมีผลกระทบจากน้ำท่วมหลายเรื่อง ทั้งการชะลอการลงทุน การกระจายฐานการผลิตเพื่อกระจายความเสี่ยง ตรงนี้เกิดขึ้นแน่ ขณะที่ภาคประชาชนยังประสบปัญหารายได้หาย รายจ่ายเพิ่ม และภาครัฐนอกจากจะต้องทำนโยบายตามที่ได้หาเสียงไว้ อีกทั้งยังต้องทำนโยบายฟื้นฟูเยียวยาที่ยังไม่ตอบโจทย์ว่าจะทำได้หรือไม่ ก็ยังเป็นปัญหามาก

ยกตัวอย่างนะ ตอนนี้ผมยังมองไม่เห็นว่าเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท จะเกิดขึ้นได้อย่างไร นอกจากจะต้องเป็นศรีธนญชัยคือ ไม่ขึ้นเงินเดือน แต่นับรวมอย่างอื่นให้ได้ตามอัตรา 15,000 บาท ส่วนค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ที่วันนี้ทำได้เพียง 7 จังหวัดนำร่องในเดือนเมษายนปี"55 แต่เรายังได้ยินเสียงตามมาว่า มีการลดภาษีเงินได้นิติบุคลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555

ล่าสุด เหมือนกับว่ามาตรการดูแลควบคุมราคาสินค้าจะทำน้อยลง พร้อมให้เหตุผลว่าจะพึ่งพาตลาดมากขึ้น ทำนองเดียวกันกับทฤษฎี 2 สูง แต่ทั้งหมดเหมือนจะสูงทางด้านรายจ่ายก่อน ส่วนรายได้จะสูงเท่าที่สัญญาไว้ ส่วนนโยบายมหภาคทั้งจำนำข้าวหรือ รถคันแรกซึ่งทำกันแบบไม่สนใจว่าน้ำจะท่วมหรือดินถล่ม ก็จะมีภาระในงบประมาณสูงมาก

ผมไม่ปฏิเสธเลยว่าโครงการทั้งหมดจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่ต้องถามว่าใช้เงินคุ้มค่าที่สุดหรือยัง

มีบางเรื่องที่ทำได้เลย ไม่ต้องรอแล้ว สมมติจะทำแก้มลิง อุโมงค์ผันน้ำ สิ่งที่ต้องทำแน่นอนวันนี้คือ ปรับผังเมือง เราไม่สามารถให้ กทม. ปทุมธานี หรืออยุธยาทำผังตัวเองได้อีกต่อไป มันต้องมีผังใหญ่ก่อนว่าน้ำจะมาทางไหน ไม่อย่าง นั้นเป็นไปไม่ได้เลยว่าจะทำให้พื้นที่ ฟลัดเวย์ของปทุมธานีเชื่อมต่อกับ กทม.

สิ่งที่ประชาธิปัตย์กำลังบอกคือ เราต้องเผชิญปัญหาที่แท้จริง ไม่ใช่ว่าเราเอาแต่ชี้หน้าด่าคุณว่าทำผิด แต่ถ้าคุณไม่เผชิญสิ่งเหล่านี้ คำตอบที่ว่าปีหน้าจะไม่เกิดเรื่องเหล่านี้มันจะไม่มีน้ำหนัก วันนี้คุณไม่เคยส่งสัญญาณเลยว่าจะมีการแก้ปัญหาอย่างไร

ข้อเท็จจริงต่างชาติบอกเลยว่า สิ่งที่จะทำให้มีความมั่นใจกับเขามากที่สุดคือประโยคที่บอกว่า เราจะให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาบริหารน้ำ ไม่ใช่ให้นักการเมืองบริหารน้ำ ซึ่งความจริง ศปภ.ไม่เคยตอบโจทย์ตรงนี้เลย

- แผนแก้น้ำท่วมของนายวีรพงษ์ รามางกูร จะเป็นเป็นทางออกทั้งหมด

ก็ยังไม่เห็นนะครับ ที่ผมเห็นมีในลักษณะที่ว่าต้องย้ายฐานการผลิตหรือต้องมีฐานสำรอง ผมก็ต้องถามต่อนะว่า หากจะมีฐานสำรอง เราก็ต้องมีอะไรในกระเป๋าที่บอกต่างชาติได้ว่าฐานสำรองควรจะอยู่ในไทยนะ เพราะเขาจะไปสำรองที่ไหนก็ได้

ซึ่งการเดินทางไปการันตีกับบริษัทประกันภัยนั้นก็เป็นดัชนีชี้วัดเลยว่าเขาจะมั่นใจเราหรือไม่ แต่ปัญหาวันนี้คือ ในปี"55 ใครจะซื้อประกันเรื่องน้ำท่วมได้บ้าง และก็หนีไม่พ้นที่รัฐบาลเองจะต้องมีกลไกในการรับประกันภัยต่อ หากเขาจะทำกองทุนก็ต้องเร่งออกกฎหมาย เพราะการมีองค์กรที่มาทำประกันภัยต่อ หากไม่ทำกฎหมายใหม่ก็จะไม่สามารถเอาเงินงบประมาณออกมาใช้ได้

ผมได้พูดกับท่านวีรพงษ์ด้วยตัวเองนะว่าเป็นเรื่องที่ต้องรีบทำ เพราะกว่าจะเป็นรูปเป็นร่างได้มันจะช้ามาก ดังนั้น ยิ่งเริ่มต้นเร็วเท่าไรก็จะเป็นผลดีเท่านั้น วันนี้รัฐบาลต้องรีบฟันธงเสียทีว่าจะทำหรือไม่ทำ

- ในที่สุดทุกประเด็นจะถูกลากกลายเป็นปัญหาการเมือง

ก็ส่วนหนึ่ง เพราะผมคิดว่าครั้งนี้ที่เสียหายมากกว่าที่ควรจะเป็นเพราะมีการเมืองเข้าไปยุ่ง ที่เราอภิปรายไม่ไว้วางใจเที่ยวนี้ก็คือประเด็นหลักที่พยายามบอกกับสังคม และเราไม่ได้ต้องการอะไร ไม่ได้ต้องการล้มรัฐบาล แต่หวังที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงปรับปรุง และผมค่อนข้างมั่นใจว่ารัฐมนตรีไม่รอดหรอกในเรื่องถอดถอน เพราะเห็นทำผิดกฎหมายชัดเจน

- หากรัฐบาลจะออก พ.ร.บ.เงินกู้ พ.ร.ก.เงินกู้ ขยายวงเงินธนาคาร เฉพาะกิจ และให้แบงก์ชาติออกซอฟต์โลน แก้ปัญหาน้ำท่วม

ผมประเมินไว้ว่าจะมีเงินทั้งหมด 1.6 ล้านล้านบาท ซึ่งจะกระทบฐานะของเราเหมือนกัน แต่ถ้าวันนี้ยังตอบไม่ชัดเจนว่าการบริหารเงินตรงนี้เป็นไปตามหลักการที่ควรจะเป็นหรือไม่ เพราะผมดูวิธีบริหารขณะนี้ก็แปลกใจว่า เงินที่เกี่ยวกับน้ำท่วม 1.2 แสนล้านบาท น้ำลดแล้ว ความเสียหายทางเศรษฐกิจก็หยุดแล้ว แต่ยังตอบไม่ได้ว่าจะเอาเงินตรงนี้ไปใช้ทำอะไรบ้าง แล้วคุณจะหาเพิ่มอีก 1.6 ล้านล้านบาท จะเอาไปทำอะไรได้บ้าง

วันนี้เงิน 1.2 แสนล้านบาท เพิ่งอนุมัติงบประมาณไปเพียง 2 หมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งมีงบประมาณตายตัวในการจ่ายเงิน 5,000 บาทไปแล้ว 1.3 หมื่นล้านบาท ที่เหลือต้องถามว่า รัฐบาลจะเอาเกณฑ์อะไรมาอนุมัติโครงการ คำตอบคือ เป็นโครงการที่คาดว่าจะใช้เงินได้ทันเดือนมกราคม ผมยืนยันได้ว่าไม่ได้อนุมัติตามความจำเป็นเร่งด่วน แต่เป็นการอนุมัติเงินตามความสะดวก เพราะงบประมาณที่จะใช้ได้ทันเดือนมกราคมนั้นจะทำได้เพียงโครงการฟื้นฟูเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น

- ปัญหาประชาธิปัตย์-คดีราชประสงค์ ในปี"55 จะเป็นอย่างไร

ผมคิดว่าไม่มีปัญหาอะไร ปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมทำงานไป ผมกับคุณสุเทพ (เทือกสุบรรณ) ก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ปัญหาการเมืองไม่ใช่ตรงนั้น แต่มันอยู่ตรงที่ว่ารัฐบาลไม่ควรทำอะไรให้เกิดความขัดแย้ง หากยังมุ่งมั่นอยู่แต่กับการทำเพื่อคนคนเดียว เหมือนเรื่องพาสปอร์ต มันก็เป็นความเสี่ยงที่รัฐบาลสร้างขึ้นเอง เพราะเขาเลือกได้ที่จะไม่ทำ

- ขณะที่ประชาธิปัตย์มองว่าเป็นปัญหา แต่เพื่อไทยอาจมองว่าเป็นโอกาสที่จะเดินหน้าหน้าปรองดอง แก้รัฐธรรมนูญ หรือนิรโทษกรรม

มันทำได้หมด แต่ต้องถามว่าทำเพื่ออะไร ถ้าออก พ.ร.บ.ปรองดอง แล้วทำให้คนในชาติสามัคคีกันผมก็ดีใจ แต่ถ้าทำให้คนฆ่ากันอีกก็อย่าออกดีกว่า มันไม่ได้อยู่ที่ว่าจะออกหรือไม่ออก พ.ร.บ.ปรองดอง แต่ขึ้นอยู่กับว่าสามารถทำให้คนปรองดองกันได้จริงหรือไม่

- แต่รัฐบาลเดินหน้าปูทางจนถึงการตั้งกรรมาธิการในสภา

เขาก็ทำอยู่แล้ว แต่ก็มีปัญหาว่าสุด ท้ายหลักของคุณคืออะไร เช่น พยายามจะอ้างว่ามันมีปัญหาเรื่องความเห็นทางการเมือง ใครไปชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินก็คือความผิดทางการเมือง แต่ คนเอาอาวุธมาทำร้ายผู้คน วางเพลิง ลักทรัพย์ แล้วคุณบอกว่ามันเกิดขึ้นในช่วงชุมนุมหรือเกี่ยวโยงกับผู้ชุมนุม อาจต้องแยกคุมขังหรือได้รับนิรโทษกรรม ผมก็บอกว่าถ้าคุณเชื่ออย่างนี้ วันข้างหน้าบ้านเมืองจะหาความสงบสุขไม่ได้เลย

เหมือนกับว่า ถ้าใครจะไปขโมยของ ก็แนะนำให้ใส่เสื้อแดงไปขโมย ถ้าถูกจับก็จะบอกว่าผมไม่ได้ทำผิด แต่ผมทำตามอุดมการณ์ทางการเมือง การเมืองคุณคิดต่างได้ ถ้าคุณมีปัญหานั่นคือความผิดทางการเมือง ไม่ใช่ว่าคุณจงใจทำผิดกฎหมายทางอาญา แต่อ้างว่าใช้แรงจูงใจทางการเมือง สิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรองคือ สงบ ปราศจากอาวุธ เหมือนเสรีภาพในการแสดงออกที่เขารับรองคือ มีสิทธิเสรีภาพโดยไม่ไปละเมิดสิทธิผู้อื่น สุดท้ายเขาก็ทำเพื่อประโยชน์ของคน ของเขา สุดท้ายการทำเพื่อพวกก็ไม่ใช่คำตอบของการปรองดอง

- เพื่อไทยบอกว่าทำเพื่อทุกคน และ "ทักษิณ" จะเป็นคนสุดท้าย

มีใครบ้างครับที่ทำผิดกฎหมายทุจริตแล้วหนีศาลอยู่ อย่าไปลากคนอื่นที่ไม่เกี่ยวกับคุณทักษิณ แล้วจะมาบอกว่าฉันจะให้เธอด้วย เหมือนที่บอกว่าจะใช้คำสั่ง 66/23 ผมก็บอกว่าทำได้ เพราะเขาบอกคอมมิวนิสต์ว่า คุณวางอาวุธแล้วหันมาพัฒนาชาติไทย คุณจะไม่มีความผิด ผมก็บอกว่า ถ้าทำอย่างนั้น ก้าวแรกที่รัฐบาลต้องบอกคนเสื้อแดงคือให้ถอดเสื้อแดง สลายหมู่บ้านเสื้อแดง เลิกการเป็นเสื้อแดงสิ แต่เกี่ยวอะไรกับการที่บอกว่าต้องมานิรโทษกรรมคุณทักษิณ

- คำสั่ง 66/23 จะกลายเป็นรากความคิดที่จะนำไปสู่แนวทางอื่น

ผมไม่มีข้อขัดข้องกับการเมืองนำการทหาร ผมไม่มีข้อขัดข้องกับความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน ผมไม่มีข้อขัดข้องว่าความผิดทางการเมืองที่ต้องแก้ด้วยการเมือง แต่ผมถามว่า ในปีที่ผ่านมาประเทศอังกฤษถือคดีก่อจลาจลเป็นคดีการเมืองหรือไม่ ที่เขาเผากันอย่างนี้ ผมเห็นก็เข้าคุกเข้าตะรางเป็นความผิดอาญากันทั้งนั้น เขาบอกหรือไม่ว่าบังเอิญทุกคนเผากันหมดเลยไปเผาด้วย เลยเป็นความผิดทางการเมือง แล้วทำไมเราจะไปดึงให้เป็นการเมือง ถ้าจะอ้างหลักสากลต้องดูด้วยว่าระดับสากลเขาทำกันอย่างไร

- มองในมุมเพื่อไทย เขาบอกว่าพยายามที่จะสร้างความปรองดอง แต่ฝ่ายค้านต่างหากที่ไม่เข้าใจ จึงเกิดความขัดแย้ง

ผมถามง่าย ๆ ว่า วันที่เขาไม่พูดเรื่องปรองดอง อภัยโทษ นิรโทษ รัฐธรรมนูญ และเขาเดินหน้าแก้ปัญหาประเทศ ถามว่าบ้านเมืองขัดแย้งหรือไม่ และวันที่พูดกับไม่พูดอันไหนขัดแย้งมากกว่ากัน ฉะนั้นคุณไปดูแลประชาชน อย่าแบ่งแยกประชาชน ส่วนใครไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ให้ คอป.เป็นผู้ดูแลไป

- มีการโฆษณาว่า หากแผนปรองดองออกมา ทุกสีจะได้หมดอย่างเท่าเทียม

มันเป็นเรื่องของประเทศ ไม่ใช่เรื่องของสี ผมพูดถูกไหมครับ

- เรื่องปรองดองที่สุดจะนำไปสู่ความขัดแย้งใหญ่หรือไม่

ผมถึงต้องบอกว่า จะทำปรองดองต้องเลิกปลุกระดม คุณก็ต้องให้โอกาส เราก็เปิดโอกาส วันที่ตั้งอาจารย์คณิต (ณ นคร) คุณก็ไม่ยอมรับ แต่วันที่มีข้อเสนอที่ใช้ประโยชน์ได้คุณก็ยอมรับ แต่ถ้ามีข้อเสนอที่ไม่ถูกใจคุณก็จะไม่ยอมรับอีกหรือ สรุปแล้วคุณจะบอกว่าปรองดอง แปลว่าต้องตามใจคุณใช่หรือไม่ ผมตั้งอาจารย์คณิต ท่านเสนอมาบางเรื่องผมไม่เห็นด้วย แต่ผมก็พยายามทำ เพราะท่านเป็นคนกลาง

- หาก พ.ร.บ.ปรองดอง ทำไปพร้อมกับแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร

ผมไม่มีปัญหาเรื่องการแก้ไขมาตรา 291 และถ้าเป้าหมายสูงสุดจะทำให้รัฐธรรมนูญดีขึ้นก็ไม่ขัดข้อง แต่ถ้าคุณพยายามทำทั้งหมดเพื่อลบล้างคดีคุณทักษิณ ผมก็ต้องบอกว่าไม่ใช่

ถ้ากระบวนการมีเหตุมีผล ผมก็รับได้ แต่ถ้าจะตั้งธงล่วงหน้าว่าจะช่วยคุณทักษิณ ผมก็ว่ามันไม่ใช่ แต่ถ้าคุณบอกว่าทั้งหมดจะให้เป็นเรื่องของ ส.ส.ร. ก็ต้องให้เขาทำ ให้เขามีอิสระ ไม่ใช่มีแต่สมัครพรรคพวกของคุณ อย่างนั้นก็ไม่ถูกต้อง

- ประชาธิปัตย์ระแวงแต่ว่า "ทักษิณ" จะได้รับประโยชน์

ผมถามว่าที่ผ่านมา การอภัยโทษ การยกเว้นกฎหมาย ป.ป.ช.มันเคยมีหรือไม่ ทำไมในอดีตเขาไม่ทำ ทำไมวันนี้ต้องทำ จะมีกี่คนที่ทำผิดกฎหมาย ป.ป.ช. แล้วมีปัญหาอยู่ตอนนี้ มันไม่ใช่เรื่องระแวง แต่ต้องเอาข้อเท็จจริงมาพูดกัน

วันนี้คนที่หมกมุ่นเรื่องคุณทักษิณคือเพื่อไทย เรามีแต่บอกว่าให้ไปแก้น้ำท่วมนะ ไปฟื้นฟูเศรษฐกิจนะ ไปทำเรื่องค่าแรง 300 บาท เงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาทให้สำเร็จนะ แต่เขากลับไม่ทำ จะทำแต่เรื่องคุณทักษิณ ก็มีแต่ปัญหา ถ้าคุณเลิกทำแล้วก็จบ

ผมไม่ได้สนใจเลยว่าคุณทักษิณจะอยู่อย่างไร จะอยู่ต่างประเทศก็อยู่ไป หากอยากกลับมาก็มารับอำนาจศาลไทยก่อน หากไม่อยากรับก็อยู่นอกประเทศต่อไป วันนี้ผมไม่ได้เรียกร้องให้คุณ ยิ่งลักษณ์ไปไล่ล่าให้คุณทักษิณมาติดคุก ผมบอกแต่ว่าคุณยิ่งลักษณ์ทำงานให้ ประชาชนได้ไหม อย่าคิดจะทำให้คุณทักษิณมีสิทธิ์เหนือกฎหมายก็เท่านั้น

- หมายความว่าการไล่ล่า "ทักษิณ" ของประชาธิปัตย์จบแล้ว

ผมไม่ได้ไปไล่ล่า เพียงแต่บอกว่าเป็นหน้าที่รัฐบาลไทยนะครับ ทำผิดกฎหมายไทยก็ต้องมารับโทษ แต่คงไม่ได้ไล่ล่าเหมือนกับการตั้งทีมพิเศษไปติดตาม แต่มันเป็นเรื่องปกติ ใครทำผิดกฎหมายไทย ศาลตัดสินว่าผิด ก็ปฏิบัติอย่างนั้น คำว่า ไล่ล่า มันเป็นวาทกรรมที่เพื่อไทยสร้างขึ้น

------------------
@@@ ถ้ารัฐบาลไม่ยุ่งเรื่องคุณทักษิณ ก็อยู่ได้ 4 ปี"

นัก รัฐศาสตร์ ทั้งสำนักท่าพระจันทร์ สำนักจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ตรงกันว่า ประชาธิปัตย์ต้องยืนเป็นฝ่ายค้านอีกนานกว่าครึ่งทศวรรษ

อภิสิทธิ์-บอกว่าโดยทางการศึกษา เขาก็เป็นนักรัฐศาสตร์เหมือนกัน

ขณะที่สำนักคิดด้านรัฐศาสตร์ ในเมืองไทย มองเรื่องการกลับมา เป็นรัฐบาลของประชาธิปัตย์ แต่ "อภิสิทธิ์" สวนว่า

"ผม ไม่ได้มองตรงนั้น เราเป็นพรรคการเมือง จะฝ่ายค้านหรือรัฐบาลก็ต้องทำหน้าที่ จะเป็นรัฐบาลเมื่อไรก็อยู่ที่ประชาชน วันนี้ใครเขากล้าทำนายการเมืองล่วงหน้าได้ขนาดนั้น ลองมองย้อนกลับไป 8 ปีที่แล้ว ตอนปี 2546 มีใครทำนายถูกไหมว่าการเมืองจะเป็นเหมือนวันนี้ หรือตอนปี 2548 จะมีใครคิดหรือไม่ว่าบ้านเมืองปี 2554 จะเป็นอย่างนี้"

"การ วิเคราะห์ก็ทำไป แต่ผมก็มีความคิด ความเชื่อที่แตกต่างกันไป แต่ถามว่าผมเชื่อหรือไม่ ผมไม่เชื่อ มีคน อื่น ๆ ทำนายด้วยซ้ำว่า จะยุ่งวุ่นวายจนไม่รู้เรื่องก็มี"

ข้อวิเคราะห์ของ "ผู้นำฝ่ายค้าน" คือ "ผมเห็นเพื่อไทยมีความได้เปรียบสูง แต่ก็น่าเป็นห่วงว่าสังคมไทยยังยอมรับการสร้างความได้เปรียบแบบนี้ วันข้างหน้าการเมืองก็จะรุนแรงขึ้น"

ดังนั้นเพื่อไทยจะเป็นรัฐบาลจนจบสมัย หรือจากไปก่อนเวลาอันควร ล้วนขึ้นอยู่กับ "ทักษิณ"

"ถ้ารัฐบาลไม่ยุ่งเรื่องคุณทักษิณ ก็อยู่ได้ 4 ปี แต่ก็อยู่ที่รัฐบาล ส่วนจะทำได้หรือไม่ก็ต้องไปถามเขา"

"เวลา นี้ความขัดแย้งที่เริ่มต้นจากปัญหาของคุณทักษิณ มันถูกกลไกของพรรคเพื่อไทยขยายให้เป็นปัญหาของประเทศ และจะไปไกลถึงปัญหาของระบบ ผมเพียงแต่ถามว่า อยากทำอย่างนั้นต่อไปใช่หรือไม่ ก็ต้องอยู่ที่ว่าเขาอยากทำงานตอบโจทย์ประเทศ หรือตอบโจทย์คุณทักษิณ แต่เท่าที่เห็นผ่านมา 6 เดือน ผมเห็นว่ายังไม่ได้ตอบโจทย์ใครได้เลย"

ข้อ สรุปง่าย ใช้ตรรกะการเมืองแบบประเทศไทย "อภิสิทธิ์" เห็นว่า "การเมืองไม่มีอะไรเลย...เลือกตั้งก็เลือกแล้ว เพื่อไทยชนะแล้ว คุณก็ไปบริหารตามนโยบายไป ทำอย่างนี้ก็อยู่ไปเลย 4 ปี ไม่มีอะไร นอกจากจะทำเรื่องอื่น เช่น อยากให้คนบ้านเลขที่ 111 มาเป็น ส.ส. ก็ต้องยุบสภาแล้วเลือกตั้งให้เร็วขึ้น ทั้งหมดวันนี้ไม่มีเรื่องอะไรที่เป็นปัญหาจากฝ่ายค้านเลย"
ที่มา.ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
///////////////////////////////////////////////////////////////

เหี้ยม !!?

โดย.ปราปต์ บุนปาน

ปีใหม่ 2555 อาจเริ่มต้นขึ้นอย่างสุขสันต์ ลั้ลลา สำหรับคนไทยหลายคน

แต่คงไม่ใช่ทุกคน

อย่างน้อยก็สำหรับนักศึกษาธรรมศาสตร์คนหนึ่งผู้ใช้นามแฝงว่า "ก้านธูป"

"ก้านธูป" เคยทำ เคยโพสต์ข้อความอะไรไว้ในโลกอินเตอร์เน็ต

ควรปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมเป็นผู้พิสูจน์ "ความถูก-ผิด" ของเธอ

ตามประจักษ์พยาน ข้อเท็จจริง และบริบทของสังคม

หลังจากมีผู้แจ้งความเด็กสาวใน "ข้อหาร้ายแรง"

และเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ออกหมายเรียกให้เจ้าตัวเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2555 เรียบร้อยแล้ว

ที่อยากฝากไว้ให้คิดเกี่ยวกับกรณีนี้ ก็คือ

เมื่อ "ก้านธูป" ต้องเข้าไปพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองในระบบกระบวนการยุติธรรม

บรรดา "ศาลเตี้ย" ตลอดจน "กระบวนการล่าแม่มด" นอกระบบ ที่คอยคุกคามสิทธิเสรีภาพ

เช่น การเปิดโปง "ข้อมูลส่วนตัวที่พึงปกปิด" ของเยาวชนรายนี้ ให้โหมกระพือไปอย่างลุกลามรวดเร็ว ในหมู่ผู้เกลียดชังหรือรับไม่ได้กับทรรศนะของเธอ

ก็ไม่ควรจะบังเกิดขึ้น และหากเกิดขึ้นมาแล้ว ก็สมควรยิ่งที่จะยุติลงไป

ที่สำคัญคือ สื่อมวลชนเองก็ไม่ควรเข้าไปร่วมวง "ไล่ล่าแม่มด" ด้วยท่าที "โหดเหี้ยม" กับเขาเสียเอง

อีกประเด็นหนึ่งซึ่งคงต้องย้ำเตือนกันก็ได้แก่

ข้อเท็จจริงที่ว่ากระบวนการยุติธรรมผ่าน "ตำรวจ-อัยการ-ศาล-เรือนจำ" นั้น

ถือเป็นกลไกหนึ่ง ที่รัฐชาติต่างๆ ใช้จัดการ-กล่อมเกลาทางอุดมการณ์ต่อผู้คนหรือสมาชิกของตน

ไม่ต่างอะไรกับ "สถาบันการศึกษา" ซึ่งทำหน้าที่คล้ายคลึงกัน

ทว่าระดับการบังคับควบคุมอาจ "รุนแรง-เข้มงวด" น้อยกว่า

ด้วยอัตรา "ความลึกซึ้ง-ซับซ้อน" ทางความคิดจิตใจที่มากกว่า

ในกรณีละม้ายกัน ซึ่งเคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้

ดูเหมือน "ครู" ในมหาวิทยาลัยไทยบางแห่ง จะไม่เชื่อมั่นกับศักยภาพของตนเองในฐานะ "กลไกรัฐ" มากนัก

ยามต้องเผชิญหน้ากับ "ศิษย์" ที่คิดต่างจากอุดมการณ์รัฐ/อุดมการณ์หลัก

นำไปสู่การผลักภาระให้กลไกอื่น อาทิ กระบวนการยุติธรรม

หรือหนักกว่านั้น ก็ตัดหาง "ศิษย์" ปล่อยวัด จนต้องลอยเคว้งคว้างกลางกระแสความขัดแย้งอันเชี่ยวกรากไปเลยอย่างน่าเสียดาย

อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีของ "ก้านธูป" ดูเหมือนว่า "ครูใหญ่ๆ" หลายคนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะเชื่อมั่นกับศักยภาพของตนเองมากกว่า "ครู" ในมหาวิทยาลัยอื่นๆ

เมื่อ "ครูๆ" เขาเชื่อกันเช่นนั้น

สังคมไทยและกลไกรัฐส่วนอื่นๆ ก็คงไม่จำเป็นต้องลงมือกับ "ศิษย์" โดย "โหดเหี้ยม" แต่อย่างใด

อนึ่ง คนเป็น "นักศึกษา" ล้วนมีพันธะยากหลีกเลี่ยง ในการเรียนรู้หรือปรับตัวเข้าหา"อำนาจ" ที่ "เหนือ" และ "มาก" กว่า (เช่น อาจารย์ หรือ เพื่อนฝูงในมหาวิทยาลัย เป็นต้น)

แต่หากเรา "เหี้ยม" กับ "นักศึกษา" เสียแล้ว

เขาและเธอก็อาจจะไม่อยากเป็น "นักศึกษา" อีกต่อไป

(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 5 มกราคม 2555)
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2555

สลิ่ม.. ชักดิ้นชักงอ หลัง ยะใส.. ออกวู้ดดี้ รีบชี้แจงผ่าน ASTV !!?



หลังจากทางฝ่ายประชาสัมพันธ์รายการวู้ดดี้ แจ้งกำหนดการออกอากาศรายการ เช้าดูวู้ดดี้ ปรากฏว่าในโลกออนไลน์ และ กระทู้ต่างๆ ได้วิพากษ์วิจารณ์กันมากมาย โดยออกมาต่อว่า นายสุริยะใส

กระทั่ง นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน และผศ.ทวี สุรฤทธิกุล ประธานสาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัย ต้องไปออกรายการ "คนเคาะข่าว" ทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV

นายสุริยะใส กล่าวถึงกรณีไปออกรายการทีวี "เช้าดูวู้ดดี้" ร่วมกับนายจตุพร ว่า จริงๆหลายรายการ หลายช่องพยายามเชิญตนกับนายจตุพรไปหลายครั้งแล้วแต่ปฏิเสธไป แต่ปีนี้รับปากเพราะเป็นต้นปีใหม่ และจะได้ประเมินสถานการณ์ ฟังนายจตุพรมองในปีกคนเสื้อแดง และฝั่งเรามองอย่างไร

คอนเซ็ปต์รายการคือคุยเรื่องอดีตของตนกับนายจตุพร ซึ่งเรารู้จักกันมาเกือบ 20 ปี ตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ แต่ว่าตั้งแต่วิกฤตการเมืองยุคทักษิณ 6-7 ปีมานี้ ตนเจอกับนายจตุพรเพียง 3 ครั้ง และเจอโดยบังเอิญทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นงานเปิดร้านเพื่อน งานแต่ง งานบวชของพรรคพวกที่เป็นเครือเดียวกัน

นายสุริยะใส กล่าวต่อว่า ในรายการช่วงแรกจะพูดเรื่องเบาๆ พูดถึงเรื่องในอดีต ซึ่งเราสนิทกันจริงปฏิเสธไม่ได้ แต่วันนี้จุดยืนทางการเมืองต่างกัน ตนก็พูดชัดในรายการ ว่าเรายืนกันคนละข้าง ปีนี้ก็ต้องยืนกันคนละข้าง เพราะปีนี้วาระทักษิณชัดมาก ตนก็ทักท้วง คัดค้าน ว่าถ้ารัฐบาลจะเอาวาระทักษิณมาเป็นวาระใหญ่ รัฐบาลเอาไม่อยู่แน่ เพราะจะเจอแรงต้านจากมวลชน แต่เผอิญตอนท้ายผู้จัดรายการให้จับมือกัน พี่น้องพันธมิตรฯเห็นก็เป็นกังวล ขอยืนยันว่าจุดยืนตนเหมือนเดิม แต่อดีตตนกับนายจตุพรเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ และเรารู้จักกันมาจริง

ซึ่งตนก็พูดกับนายจตุพร ว่าปรองดองจะเกิดได้ต้องเริ่มที่พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องเสียสละกลับมารับโทษ ถ้าเริ่มตรงนั้นได้ พ.ต.ท.ทักษิณจะกลายเป็นผู้นำในการปรองดองด้วยซ้ำ แต่วันนี้ไม่เข้ารับคำพิพากษาและด่ากระบวนการยุติธรรมไทย มันนับหนึ่งไม่ได้ จะออกกฎหมายชื่ออะไรก็ตามมันไปไม่ได้

นายสุริยะใส กล่าวอีกว่า ได้คุยกับนายจตุพรก็เห็นแนวคิดว่านิรโทษกรรมเกิดไม่ง่าย เรื่องนี้ นายจตุพรมองว่าพวกเขาเจ็บ ติดคุก แต่อีกฝ่าย นายสุเทพ นายอภิสิทธิ์ ไม่โดน ถ้าจะนิรโทษกรรมต้องเท่ากันหน่อย แสดงว่าก็ไม่ง่ายที่จะนิรโทษกรรมให้นักโทษการเมืองทั้งหมด

เมื่อกล่าวถึงประเด็นที่ว่ามีเพื่อนหลายคนที่เคยเดินบนถนนสายประชาธิปไตยมาด้วยกัน แต่ก็ต้องมาเจอทางแยก นายสุริยะใส กล่าวว่า คิดว่าอดีตตนกับนายจตุพร ต่อต้าน ขับไล่เผด็จการ แต่วันนี้เป็นสถานการณ์การสร้างประชาธิปไตย ซึ่งความหมายประชาธิปไตยของตนกับนายจตุพรอาจคนละความหมาย

การต่อต้านเผด็จการมันง่ายมากที่จะบอกว่าใครเป็นเผด็จการ แต่คำว่าประชาธิปไตย ตนรู้สึกว่ามันน่ากลัวพอๆกับคำว่าเผด็จการ เพราะประชาธิปไตยเสื้อแดงคืออะไร เสื้อเหลืองคืออะไร ประสบการณ์คนเดือนตุลา หรือพฤษภา มันไม่มีทางที่จะอธิบายสถานการณ์วันนี้ได้เลย มันซับซ้อนมากกว่าเหตุการณ์ที่ผ่านมาเยอะเลย การขับไล่เผด็จการยาก แต่การรวมตัวในการสร้างประชาธิปไตยยากยิ่งกว่า

ด้านผศ.ทวี กล่าวถึงบทบาทของสื่อในกรณีที่นายวุฒิธร มิลินทจินดา (วู้ดดี้) เชิญบุคคลที่มีจุดยืนการเมืองต่างกันไปร่วมรายการ ว่า ตนรู้จักกับวู้ดดี้ เป็นลูกศิษย์ตนที่สถาบันพระปกเกล้า เขาเป็นคนที่ค่อนข้างรำคาญบ้านเมืองที่วุ่นวาย อันนี้ถ้าไม่มีใบสั่ง ก็คงมาจากความคิดวู้ดดี้เองที่อยากให้มีภาพแบบนี้เกิดขึ้น เขาเคยรณรงค์เคลื่อนไหวเข้าร่วมในกระบวนการปรองดองต่างๆ ซึ่งสถาบันพระปกเกล้าฯถือว่าเป็นวาระแห่งชาติที่สำคัญ เราพยายามจะบอกนักศึกษาว่าต้องดำเนินการต่างๆไม่ให้มีการแตกแยก มาเรียนไม่ว่าฝ่ายไหนอย่ามาทะเลาะกัน วู้ดดี้บุคลิกส่วนตัวเป็นอย่างนั้น

แต่หากมองในภาพรวมของสื่อประเทศไทย สื่อยังมองประเด็นนี้น้อยไปหน่อย ความจริงสื่อควรที่จะชี้ชัดอะไรคือธรรมะ อะไรคืออธรรม แต่สื่อพยายามขายสิ่งชั่วร้ายหรืออธรรมตลอด เพราะเรื่องดีๆขายไม่ได้ เลยเอาความเลวร้ายมาขาย สื่อต้องเป็นเข็มทิศ ชี้นำสภาวะบ้านเมือง อันนี้สื่อต้องปรับทัศนะ

อย่างไรก็ตาม หลังจากข่าวนี้เผยแพร่ออกไป มีบรรดาพวกสลิ่ม ออกมาด่า สุริยใส มากมาย เช่น คุณคงต้องทำอะไรสักอย่าง มากกว่าการแค่พูดแล้วล่ะ ยะใส

1 อย่าทำให้ผมคิดว่า ถ้าผมอยู่ในระดับเดียวกับพวกคุณ ป่านนี้ไอ้ตู่ตายไปนานแล้ว แต่มันยังมีลมหายใจอยู่ได้ ตอนนี้ ทำไม ??

2 อย่าทำให้ผมคิดว่า การที่คุณจับมือกับมันได้ เพียงเพราะ คุณแบ่งงานกันทำ คุณแยกมาอยู่ต่างขั้ว เพียงเพื่อควบคุมมวลชนฝั่งตรงข้าม เพื่อจะบอกให้มวลชนออกมา หรือ ไม่ออกมา ตามเวลาที่คุณต้องการที่จะสมประโยชน์กัน เท่านั้น!!!!!

3 อย่าทำให้ผมคิดว่า สิ่งที่คุณวิเคราะห์ ว่าควรทำอะไรตอนไหน เมื่อก่อนนี้ เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง/ ถูกวิธีมาหลายครั้ง เป็นเพราะว่าคุณฮั้วกันมาตั้งนานแล้ว ต่างหาก

คุณแย่จริงๆ มากๆด้วย ในสายตาผมตอนนี้ เมื่อก่อนแค่ผมโทรคุยกับเพื่อนสมัยเรียนด้วยกัน แล้วเพื่อนผมพูดในทำนองว่า มันไม่สนใจ มันสีขาว ไม่ยุ่ง ไม่อยากทะเลาะ เพียงแค่นี้ ผมยังว่ามันเห็นแก่ตัวเลย ผมแทบจะเลิกคบมันด้วยซ้ำ แต่กับคุณ คุณไม่เลิกคบ แต่ยังไปจับมือกันออกสื่อได้ คุณทำได้ คุณนี่มันเหยียบย่ำน้ำใจกันเกินไปนะ

ที่มา.บางกอกทูเดย์
//////////////////////////////////////////////////////////

ร่างพ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟู เปิดทางรัฐล้วงทุนสำรอง !!?

เปิดร่างพ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย รับผิดชอบทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย จำนวน 1.14 ล้านล้านบาท ที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 4 ม.ค.2555 แต่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติให้ไปทบทวนใหม่

แหล่งข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีกล่าวว่า ร่างพระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.....ที่นายกิตติรัตน์เสนอนั้น ประเด็นหลักอยู่ที่ มาตรา 7 ที่กำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องรับผิดชอบชำระหนี้ทั้งหมด และยังเป็นการเปิดช่องให้รัฐบาลดึงเงินทุนสำรองมาใช้

แหล่งข่าวระบุว่า ในมาตรา 4 ของร่างพ.ร.ก.นี้ กำหนดให้กองทุนมีหน้าที่และรับผิดชอบเกี่ยวกับการชำระคืนต้นเงินกู้และการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ ในส่วนที่เกี่ยวกับหนี้เงินกู้ ได้แก่หนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ 2541 ที่ยังคงมีอยู่

และหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 2 พ.ศ 2545 ที่ยังคงมีอยู่

ยอดหนี้ทั้ง 2 ก้อนนี้ มียอดรวมกันประมาณ 1.14 ล้านล้านบาท

ต่อมาในมาตราที่ 5 บัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนเงินต้นกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งจัดตั้งโดยพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 2 พ.ศ 2545 มีวัตถุประสงค์เพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ตามมาตรา 4 และการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ที่เกิดจากหนี้เงินกู้ดังกล่าว โดยกำหนดให้เงินหรือสินทรัพย์ตามมาตรา 7 มาตรา 8 มาตรา 9 มาตรา 11 และดอกผลของเงินหรือสินทรัพย์ ให้นำส่งเข้าหรือรับขึ้นบัญชีสะสมดังกล่าว

ทั้งนี้ใน มาตรา 7 กำหนดว่า ในระหว่างการชำระหนี้ต้นเงินกู้นั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยมีพันธะต้องดำเนินการ 3 ประการ ได้แก่ (1)ในแต่ละปีให้ธนาคารแห่งประเทศไทยนำส่งเงินกำไรสุทธิเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 เข้าบัญชีตามมาตรา 5

(2)ให้โอนสินทรัพย์คงเหลือในบัญชีผลประโยชน์ประจำปีตามกฎหมายว่าด้วยเงินตราหลังจากการจ่ายเมื่อสิ้นปีเข้าบัญชีตามมาตรา 5 โดยไม่ต้องเข้าบัญชีสำรองพิเศษ

(3)ให้โอนเงินหรือสินทรัพย์ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือกองทุนเข้าบัญชีตามมาตรา 5 ตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

ขณะที่ มาตรา 8 ให้สถาบันการเงินนำส่งเงินให้แก่กองทุนตามอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด แต่เมื่อรวมอัตราดังกล่าวกับอัตราที่กำหนดให้สถาบันการเงินนำส่งเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝากตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝากแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 1 ต่อปีของยอดเงินฝากถัวเฉลี่ยของบัญชีที่ได้รับการคุ้มครองเงินฝาก

มาตรา 9 สถาบันการเงินใดไม่นำส่งเงินตามาตรา 8 หรือนำส่งไม่ครบภายในระยะเวลาที่กำหนด ต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราไม่เกินร้อยละ 2 ต่อเดือนของจำนวนเงินที่ไม่นำส่งหรือนำส่งไม่ครบ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

ในกรณีที่สถาบันการเงินใดไม่นำส่งเงินตามมาตรา 8 หรือนำส่งไม่ครบและไม่เสียเงินเพิ่ม ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจออกคำสั่งเรียกให้สถาบันการเงินนั้นชำระเงินดังกล่าวภายในระยะเวลาที่กำหนด

มาตรา 11 ให้กระทรวงการคลังโอนเงินของกองทุนเพื่อการชำระคืนเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินในกระทรวงการคลัง ซึ่งจัดตั้งโดยพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2541 เข้าบัญชีตามมาตรา 5

เมื่อดำเนินการตามวรรคหนึ่งเสร็จสิ้นแล้ว ให้ยุบเลิกกองทุนเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งจัดตั้งโดยพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2541

ทั้งนี้มาตรา 13 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพ.ร.ก.นี้

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
///////////////////////////////////////////////////////

กระหน่ำยิง13นัด ลูกน้องคนสนิท ตระกูล ฉายแสง..!!?

คนร้ายควบ จยย. กระหน่ำยิงลูกน้องคนสนิทตระกูล "ฉายแสง" อดีต ส.ส.ฉะเชิงเทรา 13 นัด ดับคารถก่อนเผ่นหนี ตำรวจฉะเชิงเทราตั้งปมชู้สาว-แค้นส่วนตัว แต่ไม่ทิ้งประเด็นการเมืองท้องถิ่น...

เมื่อเวลาประมาณ 23.30 น. วันที่ 4 ม.ค. 55 ร.ต.ท.ธนากร ธรรมเมธา ร้อยเวร สภ.เมืองฉะเชิงเทรา รับแจ้งเหตุมีผู้ถูกยิงเสียชีวิต ที่ร้านปะยางรถจักรยานยนต์ ฝั่งตรงข้ามร้านหมุน 5 ลาว ถนนสายฉะเชิงเทรา-บางน้ำเปรี้ยว หมู่ 14 ต.บางขวัญ จึงรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ และรุดไปตรวจสอบพร้อมด้วย พ.ต.อ.วินัย จิตต์ปรุง รอง ผบก.ภ.จว.ฉะเชิงเทรา พ.ต.อ.ธนู พวงมณี ผกก.สส.ภ.จว.ฉะเชิงเทรา พ.ต.อ.จิระวัสส์ เชื้อจันทร์อัตถ์ รอง ผกก.สภ.เมืองฉะเชิงเทรา พ.ต.อ.ธนายุทธ สีดา สว.สส. เจ้าหน้าที่ตำรวจกองวิทยาการ แพทย์เวร รพ.พุทธโสธร และหน่วยกู้ภัยฉะเชิงเทรา

ที่เกิดเหตุอยู่บริเวณข้างร้านปะยางดังกล่าว ซึ่งสร้างเป็นเพิงสังกะสี ไม่มีเลขที่ และอยู่ต่ำกว่าระดับพื้นผิวถนน พบศพชายรูปร่างท้วม ใส่เสื้อเชิ้ตแขนยาวลายทางสีฟ้า-ขาว สวมทับด้วยเสื้อยืดคอกลมสีขาว นุ่งกางเกงยีนส์ขายาวสีดำ ใส่รองเท้าหนังหุ้มส้นสีน้ำตาล นอนหงายจมกองเลือด ติดอยู่กับรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้า คลิก สีแดง-ดำ หมายเลขทะเบียน กษว 850 ฉะเชิงเทรา ซึ่งพลิกคว่ำทับขาของผู้ตาย สภาพศพติดคาอยู่กับรถจักรยานยนต์คันดังกล่าว

จากการตรวจสอบพบว่า ผู้ตายถูกยิงด้วยอาวุธปืนขนาด 9 มม. คมกระสุนเจาะเข้าที่หน้าอกซ้าย หน้าท้อง ข้างลำตัว และกลางหลัง รวม 13 รู ในที่เกิดเหตุพบปลอกกระสุนปืนขนาด 9 มม. จำนวน 7 ปลอก หัวกระสุนทองแดง 1 หัว ตรวจดูภายในกระเป๋ากางเกงของผู้ตายพบโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง กล่องยาอมโบตัน 1 กล่อง และธนบัตรใบละ 20 บาท 1 ใบ นอกจากนี้ ยังพบใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ของ น.ส.วรญา สันเจริญ อายุ 36 ปี อยู่บ้านเลขที่ 15/288 หมู่ 2 ต.บางขวัญ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา แต่กลับไม่พบหลักฐานระบุว่าผู้ตายเป็นใคร

ภายหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการตรวจสอบจนทราบว่า ผู้ตายคือ นายสัญชัย หรือ ปัง เชื่อมทอง อายุ 45 ปี อยู่บ้านเลขที่ 100/1 หมู่ 14 ต.บางปะกง อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เป็นลูกน้องคนสนิทและเป็นคนขับรถของ นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง อดีต ส.ส.ฉะเชิงเทรา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ

จากการสอบสวน นายวิชา วัจนเจริญ อายุ 45 ปี เจ้าของร้านปะยาง ได้ความว่า ขณะนอนอยู่ภายในร้านได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด จากนั้นก็ได้ยินเสียงรถจักรยานยนต์ขับขี่มาด้วยความเร็ว แล้วพุ่งชนถังน้ำมัน ขนาด 200 ลิตร ที่ตั้งอยู่บริเวณหน้าร้าน ต่อมาได้ยินเสียงรถจักรยานยนต์อีกคันขับขี่มาจอดติดเครื่องอยู่ข้างร้าน จากนั้นก็ได้ยินเสียงปืนดังสนั่นติดต่อกันอีกกว่าสิบนัด พอสิ้นเสียงปืนดังกล่าวก็ได้ยินเสียงรถจักรยานยนต์ขับขี่ออกจากที่เกิดเหตุในทันที แต่ตนไม่กล้าออกไปดู เพราะกลัวว่าจะโดนลูกหลง จนกระทั่งเวลาผ่านไปประมาณ 10 นาที ก็ทราบว่ามีพลเมืองดีโทรศัพท์ไปแจ้งตำรวจ จึงรู้ว่ามีคนถูกยิงเสียชีวิตอยู่ข้างร้านดังกล่าว

ด้าน พ.ต.อ.วินัย จิตต์ปรุง เปิดเผยว่า ในเบื้องต้น ตำรวจได้มุ่งปมการสังหารโหดในครั้งนี้ โดยให้น้ำหนักไปที่เรื่องชู้สาว หรือเกิดจากความแค้นส่วนตัว เพราะผู้ตายมีนิสัยเจ้าชู้ ทั้งที่แต่งงานแล้วและมีลูก 2 คน แต่ก็ยังมีสาวๆ มาติดพันผู้ตายหลายคน ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ตายเป็นลูกน้องคนสนิทของนายวุฒิพงศ์ ฉายแสง จึงยังไม่ทิ้งประเด็นการเมืองท้องถิ่นด้วยเช่นกัน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเร่งสืบสวนเพื่อคลี่คลายคดีและหาตัวคนร้ายมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป.

ที่มา: ไทยรัฐ
////////////////////////////////////////////////

วันพุธที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2555

2 หมายเรียกผิด ม.112 นักศึกษาธรรมศาสตร์-อาจารย์ราชภัฏ !!?

ตำรวจออกหมายเรียกนักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ อาจารย์ ม.ราชภัฏสวนดุสิต เข้ารับข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตั้งข้อสังเกตเริ่มเอาผิดคนในแวดวงการศึกษามากขึ้นนักวิชาการนิติราษฎร์เชื่อการเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขมาตรา 112 จะมีความเข้มข้นมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะท่าทีจากต่างประเทศที่เห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน

+++++++++++++++

น.ส.สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในแกนนำคณะนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร ประเมินการขับเคลื่อนของกลุ่มนักวิชาการและภาคประชาชนเพื่อให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในปี 2555 ว่าเท่าที่ประเมินเชื่อว่าการเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการปฏิรูปดังกล่าวจะมีความเข้มข้นมากทั้งภายในและภายนอกประเทศ แต่ต่างประเทศคงไม่ถึงขั้นเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของไทย อย่างน้อยก็กำลังแสดงท่าทีและสังเกตการณ์การใช้บังคับมาตรานี้อยู่ว่าล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนเกินไปหรือไม่ ตรงนี้ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีอำนาจหน้าที่อยู่เฉยไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือใครก็ตาม จะต้องมาดูว่ามาตรา 112 มีปัญหาอย่างไร ดังนั้น มั่นใจว่าการขับเคลื่อนเพื่อให้แก้ไขมาตรานี้คงมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะการตัดสินแต่ละคดีมีอัตราโทษที่รุนแรงเกินไป

น.ส.สาวตรีกล่าวว่า มี 2 ประเด็นสำคัญในการแก้คือ 1.ผู้มีอำนาจในการกล่าวโทษหรือร้องทุกข์ และ 2.เรื่องอัตราโทษ ซึ่งต้องทำให้สมเหตุสมผลกว่านี้ และให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย ส่วนจะฝากความหวังไว้กับรัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้หรือไม่นั้น คิดว่าจะฝากความหวังให้รัฐบาลชงเรื่องขึ้นมาเองคงไม่ได้ เพราะรัฐบาลมีข้อจำกัด ทำให้ไม่กล้า เนื่องจากเกรงว่าจะถูกกล่าวหาว่าไม่จงรักภักดี การขับเคลื่อนน่าจะเริ่มที่ภาคประชาชนก่อน โดยการรวบรวมรายชื่อจำนวน 10,000 ชื่อ เพื่อเสนอแก้กฎหมายต่อสภา แล้วพยายามขับเคลื่อนในเชิงสังคมไปพร้อมๆกันเพื่อกดดันรัฐบาลให้ขยับเรื่องนี้

“การรวบรวมรายชื่อแล้วเสนอร่างแก้ไขอย่างเดียวคงไม่เกิดผลหากไม่มีการขับเคลื่อนเพื่อกดดันไปพร้อมๆกัน โดยต้องพยายามเรียกร้องให้คนที่เสียงดังในสังคมออกมาพูดถึงปัญหาของมาตรา 112 พร้อมกับข้อเสนอว่าเห็นควรปรับแก้อย่างไร สุดท้ายมาตรา 112 จะถูกปฏิรูปหรือไม่ จะแก้ไขอย่างไร หรือจะยกเลิก เชื่อว่าเรื่องนี้คุยกันได้ เพราะถึงเวลาที่จะต้องมาคุยกันแล้ว”

ด้านเฟซบุ๊คส่วนตัวของนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แจ้งข้อมูลว่า “ก้านธูป” นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บางเขน ออกหมายเรียกตัวในคดีการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เมื่อช่วงสิ้นเดือน ต.ค. 2554 ที่ผ่านมา มีกำหนดเข้ารายงานตัววันที่ 11 ม.ค. นี้ เวลา 10.00 น.

นายสมศักดิ์ตั้งข้อสังเกตว่าในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล มีการตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพิ่มอีก 2-3 กรณี และผู้ถูกกล่าวหาในทุกกรณีล้วนเป็นคนที่อยู่ในแวดวงการศึกษาหรือในรั้วมหาวิทยาลัยทั้งสิ้น โดยผู้ต้องหาคดี 112 อีกรายหนึ่ง ซึ่งถูกตั้งข้อหาและได้รับหมายเรียกตัวเมื่อต้นเดือน ธ.ค. 2554 คือ นายสุรพศ ทวีศักดิ์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต หัวหิน

ที่มา.หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
**********************************************************************