--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ปากชักศึก

คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

อ่านข่าวนายกษิต ภิรมย์ พูดในงานสัมมนา "ประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เหตุการณ์ปกติ?"

ไม่น่าเชื่อแต่ละคำแต่ละประโยคจะออกจากคนเป็นรมว.การต่างประเทศ และอดีตทูตไทยประจำประเทศใหญ่ๆ

ไม่เพียงประกาศท้ารบตลอดแนวชายแดน ยังข่มขู่กัมพูชาด้วยว่าถ้ายังทำตัวเป็นเด็กเกเรก็มีแต่เจ็บตัวลูกเดียว

ยิ่งกว่านั้น รัฐมนตรีกษิต ยังกล่าวหารัสเซีย อินเดีย ฝรั่งเศส 3 ประเทศยักษ์ใหญ่ว่าอยู่เบื้องหลังสนับสนุนกัมพูชาเปิดศึกสู้รบกับไทย

แถมระบุเครื่องยิงจรวดบีเอ็ม 21 ที่กัมพูชาใช้ยิงถล่มบ้านภูมิซรอลของไทยก็ได้มาจากสหรัฐ จีน และบัลแกเรีย

ส่วนได้มาวิธีใด ซื้อขายหรือได้มาฟรีๆ ยังอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูล

ไม่รู้ว่าสติของอดีตทูตกษิต ยังดีอยู่หรือเปล่าถึงได้พูดออกมาอย่างนั้น

เพราะนอกจากเป็นการพูดจาโดยไม่มีหลักฐาน

ยังเสี่ยงต่อการทำให้สถานการณ์ที่เริ่มสงบเกิดปะทุรุนแรงขึ้นมาอีกรอบ

ความเสียหายจากศึกปะทะทหารไทยกับกัมพูชา

ประชาชนในพื้นที่เป็นฝ่ายรับเคราะห์ สูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ลูกเด็กเล็กแดง คนเฒ่าคนแก่ต้องวิ่งหลบลูกปืน ทิ้งบ้านช่องไปอยู่ในศูนย์อพยพ

ภาพเหล่านี้ไม่เป็นที่รับรู้ของรัฐมนตรีกษิต เลยหรืออย่างไร

ทั้งยังผิดวิสัยนักการทูตเก่า ที่ต้องยึดหลักแก้ไข ปัญหาขัดแย้งระหว่างประเทศด้วยวิธีการพูดจาภาษาดอกไม้ ไม่ใช่ภาษาม็อบคลั่งชาติ

ที่เอะอะก็เอาแต่ท้าตีท้าต่อย

ที่สำคัญเมื่อแก้ปัญหาไม่ได้ก็ยังโทษข้าราชการ หาว่ากระทรวงการต่างประเทศเป็นแดนสนธยา ถูกครอบงำจากอดีตข้าราชการประจำและอดีตนักการเมือง

ไม่ยอมส่องกระจกดูตัวเองเลยว่า

ตั้งแต่เข้ามาทำงาน 2 ปี ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน และมหาอำนาจอีกหลายประเทศ ดีขึ้นหรือเลวลงอย่างไร

มิตรรักษาไว้ไม่ได้ เก่งแต่เพาะศัตรู

แถมยังมีหน้ามาบอกว่าไม่ได้อยากมาเป็นรัฐมนตรีแต่แรกเพราะอยู่บนเวทีพันธมิตรฯก็สนุกสนานดีอยู่แล้ว

ก็แล้วแต่ ถ้าคิดว่าการยึดทำเนียบ ยึดสนามบินเป็นเรื่องสนุกสนาน อาหารดี ดนตรีไพเราะ

เชิญลาออกไปร่วมด้วยตอนนี้ยังทัน

เพราะดูแล้วม็อบแถวๆ สะพานมัฆวานฯ ยังต้องการกำลังคนอีกมาก

และท่าทางจะไม่เลิกบ้าง่ายๆ

ที่มา.ข่าวสดรายวัน
////////////////////////////////////////////////////////////

พธม.เคลื่อนไปลานพระรูป ก่อนกลับมาชุมนุมที่เดิม

"สุุเทพ" ยังมั่นใจ ขอช่องจราจรคืนจาก พธม. ได้ "จิตตนาถ" ถาม "เปลว สีเงิน" พันธมิตรฯ รักชาติ "มันหนักหัวหรือไง" ส่วน "สนธิ" อัด "มาร์ค" เหมือนคนได้หลังลืมหน้า พร้อมถาม "นิธิ" เขียนบทความเรื่องซูสีไทเฮาทำไม

สุุเทพมั่นใจ ขอช่องจราจรคืนจาก พธม. ได้

เช้าวานนี้ (11 ก.พ.) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการเจรจาขอคืนพื้นที่จากกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ว่า จะดูสถานการณ์วันเดียวกันนี้อีกหน่อย ตนมั่นใจว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะขอคืนพื้นที่ถนนราชดำเนินได้อย่างน้อยก็ต้องบางส่วนเพื่อให้การจราจรรื่นไหลได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ทำงานหนัก และต้องขออภัยพี่น้องประชาชนที่ยังแก้ปัญหาจราจรได้ไม่ทันออกทันใจ แต่ตนเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะแก้ไขได้

พันธมิตรเคลื่อนไปลานพระรูปฯ ลั่นปกป้องแผ่นดินก่อนเคลื่อนกลับ

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ซึ่งชุมนุมบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ เมื่อเวลา 9.30 น. ได้เคลื่อนขบวนมุ่งหน้าไปยังลานพระบรมรปทรงม้า ตัวจากที่ชุมนุม

จากนั้น เวลาประมาณ 09.50 น. แกนนำพันธมิตรฯ นำโดย พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ นายประพันธ์ คูณมี และ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ได้นำผู้ชุมนุมถวายคำปฏิญาณต่อพระบรมรูปทรงม้า ว่าจะปกป้องแผ่นดิน พร้อมวางดอกกุหลาบแดง ก่อนประกาศให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนกลับสถานที่ชุมนุม

ส่วนความเคลื่อนไหวของกลุ่มเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ แกนนำของกลุ่มแถลงว่า จะส่งตัวแทน 20 คนไปที่รัฐสภา เพื่ออ่านแถลงการณ์คัดค้านการผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ในวาระที่ 3 จากนั้นในช่วงบ่ายจะเดินทางไปองค์การยูเนสโกเพื่อให้รับผิดชอบต่อเหตุปะทะระหว่างไทยกับกัมพูชา

จิตตนาถถามเปลว พันธมิตรฯ ไปปฏิญานว่ารักชาติ "มันหนักหัวหรือไง รักชาติมันผิดหรือ"

ส่วนบรรยากาศการปราศรัยบนเวทีพันธมิตรฯ ช่วงเย็น นายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทไทยเดย์ ด็อท คอม ได้ปราศรัยว่าวันนี้มีคนมาแขวะเราอีกแล้ว เจ้าเก่า ก็คือหมอดูประจำไทยโพสต์ คุณเปลว สีเงิน ไม่เข้าใจว่าแกเป็นเดือดเป็นร้อนอะไรนักหนากับการที่พวกเราไปที่พระบรมราชานุสาวรีย์ของรัชกาลที่ 5 ไปปฏิญาณว่าเรารักชาติ โดยนายจิตตนาถถามเปลว สีเงินว่า "มันหนักหัวหรือไง รักชาติมันผิดหรือ"

สนธิอัดมาร์คเหมือนคนได้หลังลืมหน้า

ส่วนเมื่อเวลา 21.45 น. นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ขึ้นกล่าวปราศรัย โดยได้กล่าวถึงคำพูดของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งเป๋นผู้นำฝ่ายค้านเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2551 ซึ่งได้ด่าประณามรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ว่าทำให้ประชาชนบาดเจ็บล้มตาย แล้วยังยัดเยียดความผิดให้อีก รัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อการสูญเสียที่เกิดขึ้น และอยากเห็นรัฐบาลมีบทบาทในการคุ้มครองประชาชนมากกว่านี้ ซึ่งน่าเสียดายที่นายอภิสิทธ์ความจำเสื่อม เหมือนคนได้หลังแล้วลืมหน้า

ถามนิธิทำไมเขียนเรื่องซูสีไทเฮา

หลังจากนั้นนายสนธิ ได้กล่าวถึงหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ ซึ่งได้ลงบทความของนายนิธิ เอี่ยวศรีวงศ์ ซึ่งลงบทความในมติชนสุดสัปดาห์เกี่ยวกับเรื่องราชวงศ์ชิง สมัยพระนางซูสีไทเฮา โดยนายสนธิถามว่า เป็นการจงใจเปรียบเทียบอะไรกันแน่ เพราะมติชนสุดสัปดาห์ เคยนำเรื่องการล้มราชวงศ์เนปาลขึ้นปกและบอกว่าเป็นกรณีศึกษามาแล้ว

อัดนักการเมือง ไม่เคยเป็นเสาหลักให้สถาบันกษัตริย์

นายสนธิ กล่าวต่อว่า ชาติบ้านเมืองกำลังมีอันตรายอย่างยิ่งใหญ่ การเสียอธิปไตยให้เขมรไม่ใช่แค่เรื่องเสียดินแดน แต่เป็นความอ่อนแอของสถาบันทหารที่ถูกการเมืองครอบงำ จนทหารบางคนแปรเปลี่ยนเป็นนักการเมือง ซึ่งสถาบันทางการเมืองไม่เคยเป็นเสาหลักให้สถาบันกษัตริย์ นอกจากเป็นตัวจัญไรแห่งชาติ ยกตัวอย่างเมื่อวันก่อน ซึ่งเป็นวันเกิดของนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ มีคนไปที่บ้านมากมาย ทั้งที่เป็นนักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิ์ และมีข้อครหาทุจริตบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน คนใกล้ชิดหากินกับการนำน้ำมันปาล์มไปทำไบโอดีเซล มีข้อครหาเรื่องเอางบจาก ปตท.ไปจัดแข่งเทนนิสที่โรงแรมของตัวเอง

ลั่นยอมไม่ได้หากเสียดินแดน เพราะสะท้อนว่าทหารอ่อนแอ

ดังนั้น สถาบันเกษัตริย์ต้องพึ่งทหาร ด้วยคำถวายสัตย์ปฏิญาณที่ทหารได้สาบานต่อธงชัยเฉลิมพลมีความลึกซึ้งอยู่ในใจ เมื่อเวลาผ่านไป จนถึงยุค พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา การถวายสัตย์สาบานคือการท่องจำแค่นั้นเอง การเสียดินแดนเป็นภาพสะท้อนความอ่อนแอของทหาร ถ้าไม่อ่อนแอจะไม่ยอม แม้นายกฯ รองนายกฯ ไม่สั่ง แต่ทหารจะต้องตบเท้าไปบอกนายกฯ ว่าเรื่องนี้ผมยอมไม่ได้ แต่ไม่มีทหารคนไหนกล้าหาญพอ ทหารจึงเป็นเสาค้ำจุนสถาบันที่ง่อนแง่น เรื่องชายแดนจึงไม่ใช่เรื่องของนายฮุนเซน หรือเรื่องผลประโยชน์ แต่เป็นความอ่อนแอของทหาร ที่จะส่งผลต่อราชบัลลังก์ต่อไป

นายสนธิ กล่าวต่อว่า นักการเมืองไม่มีวันที่ปกป้องสถาบัน เพราะเข้ามาเพื่อสูบทุกอย่างเข้ากระเป๋าตัวเอง บางคนมีเครื่องบินส่วนตัว ส่งลูกไปเรียนมเองนอกซื้อบ้านหลายร้อยล้านให้ลูกอยู่ นักการเมืองจึงเป็นสัตว์นรกทางการเมือง นายอภิสิทธิ์ก็เป็นหัวหน้าแก๊งสัตว์นรก เพราะเขาเชื่อมั่นว่าทุกอย่างต้องตกลงกันในสภา ซึ่งเป็นที่แลกเปลี่ยนผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน

ที่มา: เรียบเรียงบางส่วนจาก เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////

UN ออกแถลงการณ์หลังมูบารัคลงจากตำแหน่ง

เลขาธิการสหประชาชาติ นายบัน คี มูน กล่าวว่า “ผมได้รับทราบข่าวการตัดสินใจลงจากตำแหน่งของประธานาธิบดีมูบารัค และผมยังได้ติดตามพัฒนาการของสถานการณ์ในอียิปต์อย่างต่อเนื่อง ผมเคารพมูบารัคกับการตัดสินใจที่ยากยิ่ง จะนำไปสู่ผลประโยชน์มหาศาลแก่ประชาชนชาวอียิปต์”

ช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์นี้ ผมอยากจะย้ำว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงค่ำคืนที่ผ่านมานี้ เกิดขึ้นอย่างโปร่งใส ห้วงเวลาแห่งสันติภาพเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่เป็นแรงปรารถนาอันชอบธรรมของประชาชนชาวอียิปต์ รวมทั้งเสรีภาพ ความยุติธรรม และการเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือจะนำไปสู่การปกครองโดยพลเรือน ผมขอให้ผู้รักษาราชการแทนเร่งกำหนดหนทางสู่การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนอย่างชัดเจน

Ban Ki-moon

ในกระบวนการนี้  จำเป็นต้องเคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพของพลเมืองซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด และต้องเป็นการหารือที่ครอบคลุมและสร้างความเชื่อมั่นโดยแท้ เสียงของประชาชนชาวอียิปต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสียงจากคนวัยหนุ่มสาว (ที่ออกมาประท้วงอย่างเนืองแน่น) ได้รับการฟังแล้ว และพวกเขาจะได้กำหนดอนาคตของประเทศเอง

ผมขอยกย่องสันติภาพแด่ประชาชนชาวอียิปต์ ที่มาจากความหาญกล้า ตั้งมั่นอยู่ในความสงบ และแสดงออกตามสิทธิอันชอบธรรม ผมขอให้ทุกฝ่ายมีสปิริตไปในแนวทางเดียวกัน
ที่มา.Siam Intelligence Unit

///////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ขุดค้นรากเหง้า..รู้ทัน‘ฮุนเซน’

กลายเป็นประเด็นร้อนในเวทีอาเซียนรวมไปถึงเวทีโลกเสีย แล้ว สำหรับข้อพิพาทเรื่องดินแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา ที่กัมปนาท แห่งเสียงระเบิดดังแรงไปถึงยมโลก ส่งผลให้ทหาร ประชาชน และทรัพย์สินบนระนาบชายขอบไทย-กัมพูชา ต้องแตกดับอย่างน่าสลด หดหู่หัวใจยิ่งนัก

สงครามข่าวสารเพื่อชิงความได้เปรียบ ประเดประดังออกจาก กระบอกเสียงของรัฐบาลกัมพูชามาอย่างต่อเนื่อง ในทางตรงกันข้าม กลับไม่มีท่าทีในการตอบโต้ของรัฐบาลไทยเป็นการเปิดเผยสู่สาธารณชน เท่าที่ควร

จะเป็นด้วยเหตุผลทางยุทธศาสตร์ทางการทหาร หรือเป็นความ ลับๆ ล่อๆ อะไรก็แล้วแต่ มันได้ทำให้ประชาชนไทยส่วนหนึ่ง ตกอยู่ใน ภวังค์แห่งความอึดอัดกระอักกระอ่วน จากแนวทางการทูตของรัฐบาล ไปโดยอัตโนมัติ ยิ่งหากเทียบกับความช่ำชองโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการ เข้าสู่สงครามระหว่างไทยกับกัมพูชา มันล้วนมีผลในทางจิตวิทยา และทำให้คนไทยอดคิดไม่ได้ว่า..

ชั้นเชิงทางการทูตและการทหารของไทยดูห่างชั้นจากกัมพูชา ทั้งที่เป็นประเทศที่มีศักยภาพทุกด้านสูงกว่าและห่างจากเขมรแบบลิบลับ ยิ่งจับจากประวัติศาสตร์การต่อสู้ทั้งฆ่ากันเองและฆ่าคนอื่น มันย่อมสะท้อน ให้เห็นประสบการณ์อันเกิดจากรากเหง้าของชนชาติเขมรที่ไม่ธรรมดา

ย้อนรอยกลับไปเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2518 กองทัพเขมรแดง นำโดย “พอลพต” ได้กรีธาทัพเข้ายึดกรุงพนมเปญจากรัฐบาล “สมเด็จนโรดม สีหนุ” แล้วกวาดต้อนคนเขมรออกจากพนมเปญ และเปลี่ยนสังคมกระฎุมพีเป็นสังคมกสิกรรม ตามแนวทางลัทธิคอมมิวนิสต์

ส่งผลให้ประชาชนที่ประสบภัยสงครามต้องหนีทะลักเข้ามาขอ ความช่วยเหลือจากประเทศไทย นั่นรวมไปถึง “สมเด็จนโรดม สีหนุ” ด้วย กระทั่งทอดยอดเป็นที่มาแห่งเหตุการณ์สังหารหมู่ “Killling Field” ซึ่งว่ากันว่า การประหัตประหารกันครั้งนั้น มีการล้างเผ่าพันธุ์ ชาวกัมพูชา ทั้งนักวิชาการ นักศึกษา นักคิดชนชั้นสูง ชนชั้นกระฎุมพี รวมไปถึงคนจนและทาสไปกว่า 3 ล้านชีวิต

คล้อยหลังมาอีก 4-5 ปี ในวันที่ 7 มกราคม 2523 กองทัพเวียดนาม ที่มี “ฮุนเซน” และ “เฮงสัมริน” ออกหน้า ได้ร่วมมือกันกวาดล้างกองทัพเขมรแดงของ “พอลพต” อันเป็นที่มาของเหตุกรุงพนมเปญ แตก ครั้งที่ 2 และเป็นอีกครั้งที่ฝ่ายไทยยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือภัยสงครามในกัมพูชา ซึ่งขณะนั้น กองทัพเขมรแดง ไทย จีน สหรัฐอเมริกา ร่วมกันต่อต้านกองทัพ “ฮุนเซน-เฮงสัมริน” และเวียดนาม

สุดท้ายการอพยพรอบสองครั้งใหญ่ ก็เกิดจาก “ฮุนเซน-เฮงสัมริน” และเวียดนาม ยึดกรุงพนมเปญจากกองทัพเขมรแดง และจากเหตุการณ์กรุงพนมเปญแตกทั้งสองครั้งส่งผลให้ไทยไม่ต่างจากอาศรม ที่ให้ความช่วยเหลือผู้อพยพชาวกัมพูชา อย่างไรก็ดี จากการเปลี่ยนแปลงในกัมพูชาทั้ง 2 ครั้ง จะพบว่าแนวคิดของผู้นำทั้ง 2 รุ่น แทบไม่ได้แตกต่างจากกัน

นั่นคือแนวทางลัทธิ “คอมมิวนิสต์” ที่ใช้ยุทธวิธี “รุก” และ “ยึดครอง” เพื่อต่อรอง “ผลประโยชน์” เพราะหากลองพลิกปูมไปดู รากเหง้าของ “ฮุนเชน” และ “พอลพต” จะพบว่า ทั้งคู่เป็นคอมมิวนิสต์ แบบเข้าเส้น แต่เหตุที่ต้องมาแตกหักกัน เนื่องจากยืนอยู่กันคนละแนว คิดระหว่าง “คอมมิวนิสต์แบบจีน” และ “คอมมิวนิสต์แบบเวียดนาม”

อีกนัยหนึ่ง หากมองกันตามเงื่อนไขทางภูมิศาสตร์ จะพบว่า ดินแดนกัมพูชาตั้งอยู่ระหว่างเขาควาย นั่นคือไทยและเวียดนาม ซึ่งใน อดีตมีการโรมรันพันตูทำสงครามระหว่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง อันมีหลักฐานสะท้อนให้เห็นคือ ในอดีตกัมพูชา จะมีทั้งฝ่ายฝักใฝ่ไทยและ ฝักใฝ่เวียดนาม ก่อนขั้วดังกล่าวจะถูกสลายลง หลังการย่างกรายเข้า มาล่าอาณานิคมของฝรั่งเศสในแถบอินโดจีน

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ กลายเป็นปัญหาเรื่องเอกราชที่ถูกไล่ล่ามาโดย ตลอด และสะสมกลบทับซ้อนก่อนที่กัมพูชาจะมีเอกราชเท่าทุกวันนี้ และเงื่อนไขต่างๆ เหล่านั้น จึงไม่ต่างจากเบ้าหล่อหลอมบุคลิกของผู้นำ กัมพูชา ที่ถูกถ่ายทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น อันเกาะกุมอยู่บนยุทธศาสตร์ “รุก” และ “ยึดครอง” เพื่อต่อรอง “ผลประโยชน์” ทั้งที่ได้กระทำเขาและถูกกระทำ

ด้วยแนวทางที่เป็นมรดกบาปตกทอดมากระทั่งปัจจุบัน ดูไปไม่ต่างจากการประยุกต์ในทางยุทธวิธีมาปรับใช้กับเหตุพิพาทชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา ที่รัฐบาลไทยไม่ควรมองข้ามเงื่อนไขดังกล่าวเป็นอันขาด

ยิ่งกรณีที่ “ฮุนเซน” เล่นตีสองหน้า ใช้แนวปะทะที่ไม่ติดอาวุธ หนัก ตรึงกำลังในพื้นที่ที่ใช้ระวางแผนที่ 1 ต่อ 200,000 และแสร้งทำ เป็นเจรจาหยุดยิง แต่ในแนวหลังกลับให้กองทัพของลูกชายระดมยิงอาวุธหนักเข้าสู่หมู่บ้านคนไทยในแนวชายแดน ล่อเป้าให้กองทัพไทยตอบโต้ด้วยอาวุธหนักยิงกลับไปในตำแหน่งอันเป็นที่มาของห่ากระสุน ซึ่งกองทัพกัมพูชาซ้อนแผนเอาไว้ ด้วยการวางจุดยิงเหล่านั้นไปซุ่มไว้ในหมู่บ้านแหล่งชุมชน

กระทั่งในที่สุดปรากฏเป็นภาพความเสียหายของผู้บริสุทธิ์จาก ทั้งสองฝ่าย อีกด้าน “ฮุนเซน” ก็ตีฆ้องร้องป่าว เรียกร้องให้ยูเอ็นเข้ามาเคลียร์ปมสงคราม ที่ฝ่ายกัมพูชาได้ตรึงกำลังส่วนหน้าบนเขตขันธ์อันปรากฏตามระวางแผนที่ 1 ต่อ 200,000 ที่เขมรฟ้องโลกมาโดยตลอดว่า “MOU 43” นั่นคือใบเสร็จชั้นดีชี้ให้เห็นว่า ฝ่ายไทยเห็นด้วยกับระหว่าง แผนที่ดังกล่าว

และด้วยกลยุทธ์ “รุก” และ “ยึดครอง” เพื่อต่อรอง “ผลประโยชน์” หากรัฐบาลไทยนิ่งนอนใจและปล่อยให้เรื่องราวลุกลามบานปลาย จนกระทั่งยูเอ็นต้องยื่นมือเข้ามามีเอี่ยว

ถึงบรรทัดนี้บอกได้คำเดียว ด้วยผลประโยชน์มหาศาลในกัมพูชา ที่ชาติมหาอำนาจจ้องตาเป็นมัน มันล้วนก่อเกิดคุณูปการอันไม่เป็นคุณ...หากอธิปไตยชาติไทยต้องถูกโยนเข้าสู่โต๊ะเจรจา!!!

ที่มา.สยามธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////////////

แกว่งเท้าหาเสี้ยน !!!??

แน่นอนว่า...ในสงครามที่...ฝ่ายหนึ่งมีกำลังเพียง 7 หมื่นนาย...สามารถเอาชนะ...กองทัพที่มีพลรบถึง 1 แสน 4 หมื่น 4 พันนาย..เป็นเรื่องควรจดจำไว้ดีใจ...เป็นความภาคภูมิใจของ...เผ่าพันธ์ุผู้ชนะ เป็นเรื่องบาดใจและควรแก่การลืมของ...ผู้พ่ายแพ้

ในปีพุทธศักราช...2328 พระเจ้าปดุง ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์พม่า...จำต้องสำแดงกฤษดาภินิหาร...กว้างใหญ่ขึ้นมา ครอบคลุมแว่นแคว้นทั้งหลายให้ศิโรราบ...กรุงรัตนโกสินทร์... ซึ่งกำลังก่อร่างสร้างอาณาจักรขึ้นมาใหม่...หลังจากพินาศวอดวาย จนไม่สามารถฟื้นฟูได้...จากการล่มสลายของกรุงศรีอยุธยา...จึง เป็นเป้าหมายเอก

พม่าจัดทหารเป็น 5 ทัพ...ยาตราเข้าพิฆาตไทย...ย่ำเหยียบ ตั้งแต่นครศรีธรรมราช...ราชบุรี เมืองเชียงแสน เชียงใหม่...เมือง ตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก...ทัพใหญ่ไพร่พล 5 หมื่น...บุกผ่าน เจดีย์ 3 องค์ตรงเข้าโอบล้อมกรุงรัตนโกสินทร์...

ประเมินด้วย...แทบทุกหลักวิชา...กรุงรัตนโกสินทร์...ต้อง แหลกลาญ มหาราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์...แบ่งทัพออกสกัดพม่าทุก แนวบุก...ให้พระบวรเจ้ามหาสุรสิงหนาท...ตั้งรับทัพกษัตริย์ ปดุง...ที่ทุ่งลาดหญ้า...และนำนักรบไทยเผชิญหน้าเอาชนะพม่า... จนถอยร่น..ทัพใหญ่พม่า...รวมพลกั้นไม่ติดทัพไทยสกัดตัดการส่งเสบียงทั่วทุกด้าน...ทัพพม่าแม้นมีไพร่พลรบมากกว่า แต่ทว่า รวมกันไม่ติด...เพราะแผนการรบไทยเหนือกว่า..จึงล่าถอย...แต่ นั่นมัน 225 ปีมาแล้ว...

วันนี้ไทยได้รับก๊าซจากพม่า...มาผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย... พม่ากำลังเปิดแผ่นดินให้ไทยสร้างถนนใหญ่ผ่านไปสู่ทวายเพื่อใช้ ลำเลียงสินค้านานาชนิดไปมหาสมุทรอินเดีย... พม่าคือทรัพยากรดิบมากมาย เพื่อให้ไทยแปลงรูปเป็นสินค้า ที่มีมูลค่าเพิ่ม สร้างกำไรให้กับพลเมือง 2 ชาติ...บริษัทไทยได้สัมปทานและงานก่อสร้างราคาหมื่นล้านในพม่า...

แต่...วันที่ 17 ถึง 25 กุมภาพันธ์...ปีนี้...กระทรวงกลาโหมกับจังหวัดกาญจนบุรี...จะเอาความพ่ายแพ้ของกองทัพพม่ามา... ประจาน...โดยจัดเป็นการแสดงประกอบที่เพียบพร้อม ด้วยแสง-สี-เสียง

แน่นอนว่า...สถานทูตพม่า..ที่ประจำอยู่ในประเทศไทย... ชาวพม่าที่ทำมาหากินอยู่ในเมืองไทย...คงไม่สนุกไปด้วยกับสิ่งที่ เกิดขึ้น... รัฐบาลพม่า..ที่ปรารถนาจะได้ความรักจากมหาชนชาวพม่า...คงจะนิ่งเฉยอยู่ไม่ได้...กับการย่ำยีเสียดสีบรรพบุรุษของเขาเมื่อ 225 ปีที่แล้ว...

นอกจากความสนุกสนานของพวกเราคนไทย...ที่ได้รู้ว่าครั้ง หนึ่งเราเคยรบชนะพม่าที่ทุ่งลาดหญ้า จังหวัดกาญจนบุรี...แล้วคน ไทยเรา..คงจะจำได้ถึงความพินาศฉิบหายใต้ย่ำตีนของกองทัพพม่า...คราวที่กรุงศรีอยุธยาล่มถึง 2 ครั้ง 2 คราว

เราคนไทย...น่าจะรู้กันโดยทั่วไปว่า...จำนวนมากในทองคำ ที่ห่อหุ้มเจดีย์ชเวดากอง..ในเมืองร่างกุ้งนั้น..มันถูกหลอมละลาย ไปจากทองคำที่หุ้มองค์พระมงคลบพิตร...ครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา ล่มสลาย...มหานครที่เคยยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ของโลก...สูญ-หายไปเหลือไว้แต่ซากหักปรักพัง...เพราะแพ้สงครามพม่า

ปัญหาอยู่ที่ว่า...วันนี้ในชายแดนด้านตะวันออก.. ไทยกับกัมพูชา..กำลังมีปัญหาในเรื่องการแก่งแย่งในเรื่องเส้นแบ่งแผ่นดิน... แสนยานุภาพกองทัพของ 2 ชาติ...หันปากกระบอก ปืนเข้าสู้กัน...ไม่รู้ว่า...วันใดวันหนึ่ง...กระสุนจะลั่นใส่..

กัมพูชา...กับชาติเวียดนามและลาว...ลงสัตยาบรรณต่อ กัน..ที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลในยามสงคราม.. ผู้บัญชาการทหารบกไทย...ให้ความรู้กับพวกเราคนไทยว่า... หากมีสงครามกับกัมพูชา...เราจะเป็นประเทศเดียวดายในภูมิภาค นี้...กองทัพไทยให้คำเตือนมาแล้วว่า...ทหารเขมรกับทหารทั้ง 2 ชาติ...เป็นมิตรต่อกันและไม่ปรารถนาจะทำสงครามเข่นฆ่า

ชายแดนตะวันออก...สงครามกำลังรอวันเริ่ม...ปัญญา นิ่มขนาดไหน..จะไปสร้างบรรยากาศแห่งสงครามขึ้นมาใน ชายแดนตะวันตก ในขณะที่ชายแดนด้านใต้...ก็ร้อนเป็นไฟอยู่กับการทำสงครามกับที่เรียกกันว่า..สงครามแบ่งแยกดินแดน..

กระทรวงกลาโหม...เป็นกระทรวงสงครามนั่นก็ใช่... แต่การ ไม่ทำให้เกิดสงคราม...ก็เป็นหน้าที่ของกระทรวงกลาโหมเช่นกัน... กระทรวงมหาดไทย...หน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขเป็นหน้าที่ ของท่าน...แต่สงครามและความตึงเครียดระหว่าง 2 ชาติ.. มันคือ ความทุกข์ยากและทำลายความมั่งมีศรีสุขของประชาชนของทั้ง 2 ประเทศตลอดชายแดน

จะมีอะไรเกิดขึ้นกับประเทศไทย...หากพม่าตัดก๊าซไม่ให้เข้า ทำไฟในประเทศไทย...คำตอบก็คือ...ความหายนะหลายแสน.. ประเทศไทยจะขาดโอกาสที่จะร่ำรวยมหาศาลจากการเป็นทางผ่าน ของสินค้าในชาติเอเชียผ่านไปสู่มหาสมุทรอินเดีย..นักท่องเที่ยว ทั้ง โลกที่บินมาเมืองไทยเพื่อไปเที่ยวต่อเมืองพม่าจะมีปัญหา..ฯลฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ...นายกรัฐมนตรี..เรื่องนี้เป็นหน้าที่ ของท่าน..

ที่มา.สยามธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////////////

มหาอำนาจ "กษิต" เปิดศึก "จีน-อินเดีย-รัสเซีย" และชะตากรรม "ไทย" ในเวทีโลก


ใครจะไปนึกว่าเพียงแค่ 1 วัน "กษิต ภิรมย์" จะเปลี่ยนไป

วันที่เขามาปัจฉิมกถาในงานสัมมนาวิชาการอุษาคเนย์ ครั้งที่ 8 ประจำปี 2554 ในหัวข้อ "สยาม-ขะแมร์ คู่รัก คู่ชัง คู่กรรม คู่เวร" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

"กษิต" พูดถึงความเสมอภาคของเพื่อนบ้าน และอยากให้มองไปข้างหน้ามากกว่ารื้อฟื้นประวัติศาสตร์

"เป็นภาระของผู้นำสองประเทศเพื่อหาจุดร่วม ต้องเคารพประเทศเพื่อนบ้าน  ลัทธิการดูแคลนจะได้หมดไป"

แต่ผ่านไปแค่วันเดียว เมื่อนายกษิต ไปร่วมสัมมนาหัวข้อ "ประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เหตุการณ์ปกติ ?" ที่จัดโดยกรรมาธิการการต่างประเทศวุฒิสภา

ท่าทีของเขาก็เปลี่ยนไป

เปลี่ยนจาก "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ" ที่ไม่ดูแคลนประเทศเพื่อนบ้าน กลายมาเป็น "กษิต" บนเวทีพันธมิตรฯคนเดิม

คนที่เคยเรียก "ฮุนเซน" ว่า "กุ๊ย"

แต่ครั้งนี้เบาลงมาเพราะเรียก "ฮุน เซน" ว่า "เด็กเกเร"

"แม้เขมรจะแสดงให้เห็นภาพว่าเป็นผู้ถูกกระทำ ขอความเห็นอกเห็นใจว่าผ่านการสู้รบมาตลอดเพื่อให้ได้สิทธิเสรีภาพ แต่ความเห็นใจเหล่านี้ไม่อนุญาตให้สมเด็จฯฮุน เซน เป็นเด็กเกเรกับประเทศไทย ต้องชี้แจงว่าตอนนี้มีเด็กเกเรตอแยอยู่ข้างบ้าน แต่เราก็เป็นผู้ใหญ่ที่มีมิตรจิตมิตรใจกับชาวกัมพูชาที่ยากจนทุกคน"

"กัมพูชา" คือ "เด็ก"  ส่วน "ไทย" เป็น "ผู้ใหญ่ใจดี"

และยังยกตัวอย่างเรื่องการสร้างทางรถไฟจากสระแก้วไปกรุงพนมเปญ ให้คนกัมพูชาเข้าไทยโดยไม่ต้องใช้วีซ่า         
           
"เราต้องชี้แจงกับสหประชาชาติว่าพร้อมให้เงิน ให้ความหวังดี แม้จะมีเด็กเกเรอยู่ข้างบ้าน"

เป็นความใจดีที่ดูเหมือนลำเลิกบุญคุณอย่างยิ่ง

เหมือนกับลืมคำพูดของตัวเองเมื่อวาน

"ลัทธิการดูแคลนจะได้หมดไป"

"กษิต" กลับมาเป็น "กษิต" คนเดิมอีกครั้ง 

...........

ลำพังแค่พูดถึง "ฮุน เซน" นั้นไม่ใช่เรื่องน่าตกใจนัก

แต่ที่น่าตระหนกมากกว่า คือ การพูดถึง จีน อินเดีย และรัสเซีย

"อย่างเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่กัมพูชาทำสำเร็จ โดยอาจจะมีประเทศอื่นสนับสนุน อย่างเช่น รัสเซีย อินเดีย จีน แล้วจึงฟ้องคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ"

ถ้าดูแค่เนื้อหา โดยไม่รู้ว่าคนที่พูดเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศไหน
           
คนส่วนใหญ่คงคิดว่าเป็นประเทศมหาอำนาจ ระดับ สหรัฐอเมริกา
           
ไม่ใช่ประเทศไทย

เพราะการกล่าวหา 3 ประเทศยักษ์ใหญ่ว่าอยู่เบื้องหลัง "กัมพูชา" ในการปะทะกับไทยนั้นถือเป็น "เรื่องใหญ่" ในวงการทูต

กล่าวหาโดยไม่มีหลักฐานยืนยัน

เป็นการเพาะศัตรูโดยไม่จำเป็นอย่างยิ่ง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพูดถึง "รัสเซีย" ว่าโกรธไทยเพราะไม่ยอมซื้ออาวุธ และดูถูกว่าไม่ได้เป็นประเทศมหาอำนาจเหมือนเดิม แต่เป็นแค่ประเทศขนาดกลาง

นอกจากนั้นยังเปิดไพ่ชัดเจนว่าไทยมี "สหรัฐ" เป็นพันธมิตร

"ผมจะทวงสัญญากับสหรัฐ ในฐานะที่เป็นพันธมิตรกันและมีสัญญาระหว่างกันมากมายเพื่อช่วยแก้ปัญหาไทยกับกัมพูชาด้วย"

ยิ่งพูด ยิ่งทำให้คนนึกถึงกรณี "วิกเตอร์ บูท"

เหมือนกับมีเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไรบางอย่าง ที่ทำให้รัฐบาลไทยส่งตัว "บูท" ให้สหรัฐอเมริกา

นอกจากสถานการณ์ที่เป็นรองในเวทีระหว่างประเทศแล้ว 

การที่ไทยมี "กษิต" เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ไปเจรจากับกัมพูชาต่อหน้าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ยิ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก
           
เพราะไม่รู้ว่าเขาจะคุมอารมณ์ของตนเองได้หรือเปล่า

"กษิต" นั้นประกาศแล้วว่าเขาจะถามนายฮอ นัม ฮง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของกัมพูชาแบบเปิดอกว่าจะรักษาอาเซียนและความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ

"หรือสู้รบฟาดฟันกันตลอดแนวชายแดนก็ได้ แต่ที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าอย่ามาต่อกรกับไทย  เพราะหากยังเกเรมีแต่เจ็บลูกเดียว"

ถามว่าคณะมนตรีความมั่นคงฯที่นั่งฟังอยู่  เขาจะรู้สึกอย่างไร

ประเทศไทยเป็น "ผู้ใหญ่ใจดี"

หรือเป็น "เด็กเกเร" กันแน่

นี่คือ ชะตากรรมของประเทศไทยที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

ที่มา.มติชนออนไลน์
///////////////////////////////////////////////////////////////////////

ปัญหาระหว่างไทยกับกัมพูชา: ผลกระทบต่อความร่วมมือระหว่างประเทศ

นรุตม์ เจริญศรี
สำนักวิชาการระหว่างประเทศ
คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาที่กำลังดำเนินอยู่นั้น ไม่ได้ส่งผลแค่ต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเท่านั้น หากแต่ยังส่งผลกระทบต่อความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความคลั่งชาติของกลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยที่ปรากฏให้เห็นในสาธารณะนั้นรุนแรง ก้าวร้าว และขาดสติ ข้อเสนอที่น่ากังวลมากคือการที่ผู้นำกลุ่มพันธมิตรเสนอให้มีการบุกเข้าไปยึดพื้นที่ในกัมพูชาจนกว่าจะมีการคืนปราสาทเขาพระวิหารให้กับประเทศไทย ราวกับว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ก้าวร้าว บ้าคลั่ง และรุกราน

แน่นอนว่าความขัดแย้งระหว่างสองประเทศนั้นจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพียงแค่สองประเทศเท่านั้น หากแต่ยังจะส่งผลกระทบเป็นโดมิโนไปยังประเทศและความร่วมมืออื่นๆ เพราะในกรณีของไทยกับกัมพูชานั้น ทั้งสองเป็นสมาชิกของอาเซียน และโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือจีเอ็มเอส

แน่นอนว่าอาเซียนซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ย่อมได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย เพราะอาเซียนต้องเผชิญกับคำถามในมิติทางความมั่นคงที่ว่า ทำไมอาเซียนถึงไม่มีบทบาทต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และอาเซียนควรมีการปรับเปลี่ยน “วิถีอาเซียน” (ASEAN Way) หรือไม่

วิถีอาเซียน คือ แนวทางในการแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศภายในอาเซียน มันเป็นคำที่ใช้เรียกกระบวนการแก้ไขปัญหาตามที่ระบุไว้ใน “สนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (Treaty of Amity and Cooperation: TAC) ซึ่งเกิดขึ้นในปี ค.ศ.1976 สนธิสัญญานี้กำหนดหลักการสำคัญๆในการแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศไว้ คือ การเคารพซึ่งความเท่าเทียม อำนาจอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน และอัตลักษณ์ของแต่ละชาติ หลักการไม่ถูกแทรกแซงกิจการภายใน การแก้ไขปัญหาด้วยวิธีสันติ และการไม่ใช้กองกำลังทางทหาร วิถีดังกล่าวได้ถูกเรียกรวมกันว่าวิถีอาเซียนและใช้ในการเป็นแนวทางในการจัดการเรื่องราวภายในอาเซียนตลอดมา

ในกรณีของความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชา สิ่งที่เห็นและมีหลายฝ่ายตั้งคำถาม คือ แล้วอาเซียนมีบทบาทอย่างไร

เราจะเห็นได้ว่า ตลอดเวลาที่มีปัญหาระหว่างสองประเทศนั้น อาเซียนมีท่าทีและการพูดถึงปัญหาดังกล่าวน้อยมาก ล่าสุด เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ได้แสดงความวิตกกังวลต่อความรุนแรงที่ปะทุขึ้นจากเหตุการณ์ยิงปะทะกันระหว่างสองประเทศเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ โดยเสนอให้สองประเทศหันมาตกลงกันบนโต๊ะเจรจาแบบวิธีการทางการทูตแทนการใช้กองกำลังทหาร

ดูเหมือนว่านี่ก็เป็นวิธีการเดียวที่อาเซียนจะทำได้ คือ การแสดงความคิดเห็น เพราะอาเซียนเองนั้นไม่ได้มีกองกำลังในการรักษาสันติภาพเป็นของตนเองแบบที่นาโต (NATO) ของยุโรปมีไว้ใช้จัดการหรือช่วยเหลือเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในยุโรป หรือออกไปช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในที่ต่างๆ

ในทางตรงกันข้าม จากข้อจำกัดของอาเซียนในการเข้าไปแทรกแซงกิจการระหว่างประเทศเช่นนี้ ส่งผลให้อาเซียนซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศที่มีเป้าหมายหนึ่งในการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ถูกตั้งข้อสังเกตถึงบทบาทที่กำลังเป็นอยู่ และ/หรือบทบาทที่ควรจะเป็นต่อไปในอนาคต ว่าควรมีแนวทางการปรับปรุงวิถีอาเซียนหรือไม่ อย่างไร

วิถีอาเซียนยังถูกตั้งคำถามต่อไปอีกว่า ถ้าเช่นนั้นแล้ว การแก้ไขปัญหาระหว่าสองประเทศ และกัมพูชาเสนอให้องค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น (United Nations: UN) เข้ามาเป็นตัวกลางในการแก้ไขปัญหานั้น ควรเป็นไปเช่นนั้นหรือไม่

เพราะหากพิจารณาแล้ว เราคงต้องตั้งคำถามว่า ถ้านี่เป็นเรื่องความขัดแย้งภายในภูมิภาคหรือบ้านของเรา เราจะยินดีให้คนนอกบ้านเข้ามาแก้ไขปัญหาอย่างนั้นหรือ ข้อเสนอในลักษณะนี้อาจได้รับการสนับสนุน เพราะยูเอ็นถูกเชื่อว่าเป็นกลางและน่าจะให้ความเป็นธรรมได้ แต่หลักการการให้ประเทศคู่ขัดแย้งเจรจาและแก้ไขกันเองก่อนนั้นก็ยังเป็นข้อที่ทำให้ยูเอ็นไม่อาจเข้ามาได้

อาเซียนเองซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ควรมีบทบาทในการแก้ไขปัญหานี้มากกว่าที่จะปล่อยให้องค์การระหว่างประเทศอื่นๆเข้ามามิใช่หรือ เพราะเราควรคิด ถกเถียง และเปิดเวทีระหว่างประเทศเพื่อนำไปสู่แนวทางว่าในกรณีเช่นนี้แล้ว เราจะส่งเสริมหรือพัฒนากลไกของอาเซียนที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพ มีอำนาจ และสามารถเข้ามาจัดการเรื่องราวในภูมิภาคได้อย่างไม่ต้องโดนตราหน้าจากประเทศในภูมิภาคกันเองว่า “อย่ามาแส่” หรือจะมีการตัดลด เพิ่มเติมกลไกที่ดี มีประสิทธิภาพได้อย่างไร

อาจเป็นที่เข้าใจได้ว่าประเด็นเรื่องการไม่ต้องการให้เกิดการแทรกแซงกิจการภายในประเทศนั้น เกิดขึ้นเพราะรัฐหลายรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่งเป็นรัฐชาติสมัยใหม่มาได้ไม่นาน เพราะรัฐชาติหลายรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นเพิ่งเกิดขึ้นอันเป็นผลพวงจากสงครามโลกครั้งที่สอง มันไม่ได้มีวิวัฒนาการการต่อสู้ แย่งชิง ร่วมมือกันมายาวนานเฉกเช่นเดียวกับรัฐชาติสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นในยุโรปที่ผ่านการต่อสู้แย่งชินดินแดน การสร้างเมือง การทำสงครามระหว่างกัน จนมาถึงสร้างความร่วมมือและบูรณาการทางเศรษฐกิจและการเมือง จนจินตนาการของเส้นเขตแดนได้เลือนหายไปจนเกือบหมดสิ้น ในขณะที่รัฐชาติสมัยใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังอยู่ในช่วงที่หวงแหนสิ่งที่เพิ่งได้มา ซึ่งนั่นก็คือ เส้นเขตแดน และอธิปไตย

สิ่งที่พอจะทำได้ในปัจจุบัน คือ การรอคอยว่าเมื่อใดที่มือที่กุมกำความหวงแหนเหล่านั้นจะค่อยๆคลาย และมองว่าเส้นเขตแดนเป็นเพียงสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น เป็นจินตนาการร่วมกันของคนในรัฐ และเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญของนักการเมืองที่หยิบขึ้นมาใช้ได้เพื่อปลุกความเป็นชาตินิยม

ล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซีย นายมาร์ตี นาตาเลกาวา (Marty Natalegawa) ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นประธานของอาเซียน ได้เสนอว่าจะเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยปัญหา ความหวังของอาเซียนจึงได้บังเกิดขึ้นในฐานะที่อาเซียนได้ทำอะไรเสียที เพราะในเมื่ออาเซียนเป็นองค์การของภูมิภาค เราก็ควรคาดหวังอย่างมากให้อาเซียนมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาภูมิภาค เพื่อใช้อาเซียนให้เป็นประโยชน์ มิใช่เป็นเพียงองค์การระหว่างประเทศที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเป้าหมายทางเศรษฐกิจ และทำอะไรอย่างอื่นไม่ได้ แต่เราควรเสนอให้อาเซียนมีบทบาทในการเข้ามาจัดการ ดูแล และเสนอทางแก้ไขต่อปัญหาในภูมิภาคได้

และแม้ไม่มีอะไรจะรับประกันถึงความสามารถในการแก้ไขปัญหาของอาเซียน แต่อย่างน้อยเราก็ได้ใช้เครื่องมือที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ ไม่ใช่ละทิ้งสิ่งที่มีอยู่แล้วไปใช้กลไกอื่น ความหวังต่อองค์การระหว่างประเทศให้ทำหน้าที่จึงยังพอมีให้เห็น และแม้อาจกล่าวโต้เถียงอีกว่า แล้วเมื่ออาเซียนออกมาแล้ว แล้วหากไทยและกัมพูชาไม่แยแสต่อความเห็น ข้อเรียกร้องของอาเซียน มันก็ทำให้เราคิดต่อไปอีกว่า ท้ายที่สุดแล้วเรามีวัฒนธรรมในการยอมรับและปฏิบัติกฎหมายมากพอหรือไม่ เพราะนอกจากจะไม่สนใจกฎหมายในประเทศอยู่บ่อยครั้งแล้ว ไฉนเลยกฎหมายระหว่างประเทศจะมาบังคับประเทศเราได้ เพราะหากมันไม่ช่วยให้เราได้สิ่งที่เราต้องการ เด็กเอาแต่ใจตัวเองอย่างเราก็จะขอประกาศกระทืบเท้า รุกราน เกรี้ยวกราด และร้องขออย่างไร้สติต่อไป ชาตินิยมของเราก็ทำให้ระบบระหว่างประเทศปั่นป่วน สับสน และไร้ซึ่งทางออก เพราะเมื่อทางออกได้มีมาแล้ว ก็ไม่มีคนฟัง เราไม่เอา เราไม่ยอม

หากจะกล่าวสรุปต่อบทบาทของอาเซียน เราจะเห็นได้ว่า อาเซียนแม้จะเป็นองค์การระหว่างประเทศที่ทุกประเทศคาดหวังให้เป็นตัวกลางในการประสานความร่วมมือในมิติต่างๆ แต่อาเซียนเองก็ยังมีกลไกการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ เพราะยังไม่สามารถเข้าไปแทรกแซง แสดงความเห็น หรือใช้กองกำลังในการจัดการแก้ไขปัญหา บรรเทา เยียวยา หรือให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ได้ แม้อาจโต้เถียงว่า เพราะอาเซียนมิได้มีกองกำลังเป็นของตนเอง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า อาเซียนจะมีกองกำลังที่ไว้บรรเทาทุกข์ไม่ได้ บางทีเราอาจจะต้องดูตัวแบบจากสหภาพยุโรปในการมีกองกำลังไว้เป็นของตนเอง เพียงแต่เปลี่ยนร่างแปลงรูปและบทบาทของกองกำลังไม่ได้ให้มีอำนาจในการรุกรานหรือไปทำร้ายใคร แต่มีไว้เพื่อรักษาความสงบสุข ไว้ให้ความช่วยเหลือแก่พื้นที่ต่างๆ

เพราะหากแม้เราไม่มีความขัดแย้งถึงขั้นเลือดตกยางออกอันเกิดจากความขัดแย้งระหว่างประเทศ แต่เราก็ยังอาจใช้ประโยชน์ในการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์อันเกิดจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในโลกที่กำลังมีสภาพอากาศที่แปรปรวน หรือใช้ส่งไปให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เพื่อนร่วมโลกที่กำลังประสบปัญหาในพื้นที่ต่างๆ โดยอาจเสนอว่ามิใช่เพื่อส่งไปร่วมรบ หากแต่ส่งไปเพื่อช่วยบรรเทา รักษา เยียวยา ก่อสร้าง ขนส่งอาหาร ยา และขอใช้ที่สำคัญ ซึ่งอาหารจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีมาก มิตรไมตรีของพลเมืองอาเซียนที่จะเป็นเป็นกองกำลังด้านมนุษยธรรมก็เป็นที่ประทับใจ เป็นมิตร และห่วงใยผู้คนที่ตกทุกข์ได้ยากเป็นแน่

นอกจากนั้น อาเซียนเองก็มิใช่ความร่วมมือเพียงความร่วมมือเดียวที่ควรพิจารณา บนภาคพื้นทวีปของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เองนั้นยังมีอีกหนึ่งความร่วมมือที่ควรได้รับความสนใจ คือ โครงการจีเอ็มเอส (The Greater Mekong Subregion Economic Cooperation: GMS) โครงการจีเอ็มเอสเป็นโครงการที่อยู่ภายใต้การดูแลของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือเอดีบี (Asian Development Bank: ADB) โครงการจีเอ็มเอสถือกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ.1992 หนึ่งปีหลังความวุ่นวายในลุ่มแม่น้ำโขงซึ่งได้แก่ปัญหาในอินโดจีนได้สิ้นสุดลง โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายในการสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศ เสริมสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้เกิดขึ้นกับประเทศสมาชิก ปัจจุบันมีมณฑลกวางสีและมณฑลยูนนาน พม่า ไทย ลาว เวียดนาม และกัมพูชาเป็นสมาชิก

โครงการจีเอ็มเอสในปัจจุบันมีโครงการย่อยๆรวมสิบเอ็ดโครงการที่มีเป้าหมายในการสนับสนุนให้เกิดความเจริญร่วมกัน อาทิ การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ (Economic Corridors) โทรคมนาคม พลังงาน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การเกษตร เป็นต้น

ระเบียงเศรษฐกิจดูเหมือนจะเป็นโครงการที่ได้รับความสนใจและได้รับการตอบสนองจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจากประเทศสมาชิกมากที่สุด โดยพิจารณาจากความกระตือรือร้นในการทำการศึกษาแนวทาง ผลกระทบ และความคืบหน้าของโครงการ รวมไปถึงงบประมาณที่แต่ละประเทศสนับสนุน โครงการระเบียงเศรษฐกิจประกอบไปด้วยระเบียงเศรษฐกิจจำนวนสามเส้นทางที่สำคัญ คือ ระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor: NSEC) ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor: EWEC) และระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ (Southern Economic Corridor: SEC)

ระเบียงเศรษฐกิจที่ไทยและกัมพูชามีส่วนร่วมโดยตรง คือ ระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ เส้นทางนี้เชื่อมโยงกรุงเทพมหานครไปยังกัมพูชาและเวียดนาม เป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าเส้นหนึ่งที่สำคัญ เพราะเป็นการเชื่อมต่อเส้นทางการขนส่งสินค้าจากเขตอุตสาหกรรมในชลบุรีและระยองให้ส่งไปยังท่าเรือในเวียดนาม อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการขนส่งสินค้าจากจีนตอนใต้ให้ผ่านมายังพม่าหรือลาวและเข้าสู่ประเทศไทย ก่อนจะลงมายังเส้นทางดังกล่าว

อีกทั้งยังมีความร่วมมือระหว่างไทยกับกัมพูชาในประเด็นการสื่อสาร พลังงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อีกมาก ความร่วมมือในกรอบมิติต่างๆนี้สะท้อนอยู่ในงานของ พวงทอง ภวัครพันธุ์ ที่มีชื่อว่า “สงคราม การค้า และชาตินิยมในความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา” (2552, หน้า 93-131) บทความนี้จึงจะไม่แจกแจงรายละเอียดดังกล่าวแต่ขอให้ผู้อ่านไปตามอ่านรายละเอียดได้ที่งานของพวงทอง

งานของพวงทองสะท้อนให้เห็นภาพความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชา โดยประเด็นที่สำคัญคือการที่ไทยยังมองว่าตัวเองเป็น “พี่” ของกัมพูชาที่เป็น “น้อง” มโนทัศน์ “บ้านพี่เมืองน้อง” จึงเป็นเรื่องของการมองใครใหญ่กว่าใคร ไม่ได้มองว่าเขาและเราเป็น “เพื่อนบ้าน” กัน พวงทองชี้เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า เราสำคัญตัวว่าเรามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของกัมพูชา โดยไม่ได้ตระหนักเลยว่าแท้ที่จริงแล้วประเทศจีน ญี่ปุ่น และเวียดนามต่างหากที่มีบทบาทกับกัมพูชามาก

ความร่วมมือในกรอบจีเอ็มเอสจะได้รับผลกระทบอันเกิดจากความขัดแย้งระหว่างสองประเทศนี้อย่างแน่นอน เพราะมันเป็นเรื่องของทั้งการเมืองและการค้าระหว่างสองประเทศ อีกทั้งยังส่งผลต่อบรรยากาศที่ไม่ดีในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระดับภูมิภาค ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ แต่เป็นปัญหาอันเกิดจาก “ชาตินิยม” ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองภายในประเทศ

ชาตินิยมที่ถูกใช้จากจุดศูนย์กลางของประเทศ ได้กลายเป็นเครื่องมือในการทำลายผู้คนที่อาศัยในพื้นที่ที่ถูกเรียกว่า “ชายแดน” เส้นเขตแดนที่ถูกสร้างจากส่วนกลาง ได้ทำลายและทำร้ายสิ่งที่เรียกว่า “คนชายแดน”

ปัญหาความขัดแย้งระหว่างเมืองหลวงได้ส่งผลให้บรรยากาศในภูมิภาคอึมครึม ก้าวต่อไปไม่ได้ และอาจถอยหลัง เพียงเพราะผู้คนบางกลุ่มตกอยู่ในห้วงที่ถูกทำให้เชื่อว่า “การเสียดินแดนแม้เพียงตารางนิ้วเดียวนั้นยอมไม่ได้” จนกลายเป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ และความชะงักงันของภูมิภาคที่ทุกส่วนหันมาจับจ้องบทบาทของไทยที่เชื่อว่าตนเองเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ เป็นผู้นำ และศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ว่าจะมีบทบาทอย่างไร มีจุดยืน หรือแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างประเทศที่มีสติ เป็นอารยะ และมีวัฒนธรรมของรัฐชาติที่เจริญและพัฒนาสืบทอดมายาวนานแบบที่รัฐไทยเชื่อหรือไม่

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ก็เป็นเพียงมุมมองของผู้ศึกษาด้านการเมืองระหว่างประเทศ ผู้คาดหวังให้คนไทยและพลเมืองอาเซียนตระหนักถึงการใช้องค์การระหว่างประเทศให้เป็นประโยชน์ เรามีอาเซียน เราเป็นพลเมืองของอาเซียนแล้ว ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ก็ตาม คุณจะเห็นความสำคัญของมันหรือไม่ก็ตาม แต่อาเซียนมันเกิดขึ้นแล้ว มันมีตัวตนแล้ว และมันกำลังจะส่งผลต่อชีวิตของผู้คนในรัฐต่างๆไม่มากก็น้อย ไม่ทางตรงก็ทางอ้อมเป็นแน่ แต่เราควรตระหนักว่าเรามีอาเซียนและควรใช้อาเซียนให้เป็นประโยชน์

นอกจากนี้ ผู้เขียนมิใช่ผู้ต่อต้านชาตินิยม ชาตินิยมเป็นสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ในบางเรื่อง แต่เราควรตระหนักว่า เรากำลังใช้มันในแง่ใด หรือใครกำลังใช้มันเพื่ออะไร หากเราใช้เพื่อสร้างความมั่นคง ความรักชาติ และพยายามส่งเสริมให้คนอุทิศตนทำงานให้กับชาติบ้านเมืองก็คงเป็นสิ่งดี แต่หากชาตินิยมได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เราในฐานะผู้ถูกพยายามทำให้เชื่อ ก็ควรระมัดระวัง พิจารณาตามหลักวิชาการ กฎหมาย และบรรทัดฐานที่ประเทศต่างๆมีใช้ร่วมกัน มิใช่ใช้อารมณ์และ “สามัญสำนึก” จนกระทั่งไม่พิจาณาประเด็นอื่น หรือปฏิเสธบรรทัดฐานที่ไทยมีร่วมกับประเทศอื่น จนเหมือนเราเป็นอันธพาล ผู้หลงคิดและถูกทำให้เชื่อว่าเรายิ่งใหญ่ สำคัญ และต้องเป็นผู้ได้เสมอ จนทำให้บ้านเมืองอื่น และระบบระหว่างประเทศเดือดร้อนกันไปตามๆกัน

และที่สำคัญ ขอให้คิดเสมอว่า เส้นเขตแดนที่กำลังทะเลาะกัน มันถูกขีดขึ้นโดยคนอื่น มันมาทีหลัง มันเป็นจินตนาการและสิ่งสร้างในฝันที่ดูเหมือนจะสวยงาม ดังที่ เกษียร เตชะพีระ เคยกล่าวไว้ว่า ชาตินิยมจะมองเห็นก็ต่อเมื่อหลับตาลง เพราะแท้ที่จริงแล้วเส้นเขตแดน มันพาดผ่านทอดทับหมู่บ้าน ผู้คน กลุ่มชน และครอบครัวที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นๆมานานแล้ว มันแบ่งแยกเราเขาที่พูดภาษาเดียวกัน เคยเป็นครอบครัวเดียวกัน เคยไปมาหาสู่ซื้อขายสินค้า พบปะสังสรรค์ มันอาจมีความสำคัญกับรัฐชาติสมัยใหม่ แต่ไม่ได้มีความสำคัญมากมายกับชีวิตผู้คนที่เขาอยู่ตรงนั้นมานานแล้ว ดังนั้น อย่าให้สิ่งที่มันเป็นเพียงจินตนาการที่มีประโยชน์ไม่มากมาทำลายชีวิตผู้คน การทำมาหากิน การได้ใช้ชีวิตปกติ ครอบครัว และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเลย

ที่มา.ประชาไท
////////////////////////////////////////////////////////

สนธิ อัด มาร์ค. อย่าทวงถนน 2 เลน - ไล่ให้ไปทวงที่ 4.6 ตร.กม.

ชี้ "อภิสิทธิ์" ปกป้องผลประโยชน์เขมร หวังสวมตอผลประโยชน์ทางทะเลแทน "ทักษิณ" ด้าน "จำลอง" ลั่นเป็นนักไล่นายกฯ มืออาชีพ ถามมาร์คอยากเป็นคนที่ 5 หรือ พร้อมนัดผู้ชุมนุมเคลื่อนใหญ่ศุกร์นี้

ตามที่เมื่อช่วงบ่ายวานนี้ (10 ก.พ.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้สัมภาษณ์ขอพื้นที่การจราจรคืนจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจำนวน 2 ช่องจราจรโดยระบุว่า "ผมก็อยากจะย้ำอีกครั้งว่าให้ส่วนรวมเพียงแค่ 2 ช่องจราจรทำไมให้ไม่ได้ มีเหตุผลอะไรนอกจากอยากจะให้บ้านเมืองวุ่นวายหรืออย่างไร" นั้น (อ่านข่าวย้อนหลัง)

จำลองอัดนายกฯ ไม่ฉลาด ขี้ขลาด ตอแหล
ล่าสุดมีปฏิกิริยาตอบโต้มาจากพันธมิตรฯ โดยเมื่อคืนวานนี้ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ปราศรัยบนเวทีว่า "ทำไมเหตุการณ์บ้านเมืองเป็นแบบนี้ เป็นเพราะเราโชคร้ายได้นายกฯที่ยอดแย่ ยอดแย่อย่างไร 3 อย่างก็พอแล้ว ไม่ฉลาด ขี้ขลาด ตอแหล ไม่ฉลาด พี่น้องไปแปลเอาเอง"

พล.ต.จำลอง กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 5 ที่เรามาออกเสียงเป็นเอกฉันท์ เราให้เวลามานานแล้วให้ต่อไปไม่ได้แล้ว ไม่อย่างนั้นเสียดินแดนแน่นอน เพราะฉะนั้นออกไป ๆ เขามีอยู่ 2 ทาง คือ ออกไป หรือแกล้งเรา วันนี้เขาเลือกวิธีที่ 2 คือมาแกล้งเรา หาเหตุผลมาตอแหลเหลือเกิน ตอแหลว่า 2 ช่องทางจราจรมันจะเสียแดนได้อย่างไร เรามากดดันนายกฯก็ต้องอยู่ข้างที่ทำงานนายกฯ ไม่งั้นก็เข้าไปในทำเนียบน่ะสิ

ลั่นเป็นนักไล่นายกฯ มืออาชีพ ถามมาร์คอยากเป็นคนที่ 5 หรือ
ที่นายกฯ ออกมาพูดว่าพล.ต.จำลอง ออกมาร่วมมือกับประชาชนทีไรจบไม่สวย ไม่สวยสำหรับนายกฯใช่หรือไม่ หารู้ไม่ว่าประชาชน ถ้ามีพล.ต.จำลองไปร่วมด้วยคือมืออาชีพ มืออาชีพในการไล่นายกฯ ไล่มาแล้ว 4 คน จะเอาอีกคนเป็นคนที่ 5 หรือไง

พล.ต.จำลอง กล่าวว่า ตนได้ร่วมกับพี่น้องประชาชนบางกลุ่มบางเหล่า ต่อต้านคัดค้านเพื่อบ้านเมืองมาแล้วทั้งหมด 8 ครั้ง แต่ละครั้งแทบไม่เห็นชัยชนะ แต่ไม่รู้เป็นไงชนะทุกครั้ง และครั้งที่ 9 นี้แพ้ไม่ได้ ครั้งนี้ถ้าแพ้หมายถึงคนไทยทั้งหมดแพ้ เพราะดินแดนเป็นของคนไทย 63 ล้านคน เพราะฉะนั้นคราวนี้ไม่มีทางแพ้ สู้ที่นี่ สู้ตรงนี้ สู้จนชนะ

พล.ต.จำลอง ยังกล่าวอีกว่า พรุ่งนี้ 10 นาฬิกา เราจะเดินไปพร้อมๆกัน จะเดินสวนสนามกันอย่างเท่ห์ๆ เลย และผู้กล่าวนำปฏิญาณคือนายทหารผ่านศึกที่ผ่านสมรภูมิมากที่สุดในประเทศไทย พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ พี่น้องต้องภูมิใจนะ ทหารปฏิญาณต่อธงชัยเฉลิมพล แต่เรา ปฏิญาณเพื่อปกป้องแผ่นดิน ส่วนที่จะส่งของไปที่ชายแดน พี่น้องไม่ต้องไป ถ้าจะไปเราต้องไปกันเยอะๆ โอกาสหน้ายังมี คราวนี้ส่งของไปช่วยเขาก่อน

สนธิชี้กัมพูชายึดแผนที่ 1 ต่อ 200,000 เพื่อเขตแดนทางทะเล
ด้านนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ขึ้นปราศรัยที่เวทีสะพานมัฆวานฯ เช่นกัน โดยกล่าวว่าสาเหตุของปัญหาเขตแดนไทย-เขมรขณะนี้เกิดจากความพยายามของฝ่ายกัมพูชา ที่จะใช้แผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 ให้ได้ เนื่องจากแผนที่ดังกล่าวจะส่งผลต่อตำแหน่งของหลักเขตที่ 73 ซึ่งจะส่งผลต่อการลากเส้นแบ่งในทะเลด้วย ดังนั้นนายฮุนเซน นายกฯ กัมพูชา จึงพยายามจะเอาพื้นที่ 4.6 ตร.กม.รอบปราสาทพระวิหารให้ได้ เพราะถ้าได้พื้นที่ตรงนี้ ก็เท่ากับว่าไทยเรายอมรับแผนที่ 1 ต่อ 200,000 นายฮุนเซนก็จะเอาเป็นตัวตั้งเพื่อไปอ้างว่าในเมื่อไทยยอมรับตามที่ยอมรับต่อ คณะกรรมการมรดกโลก เพราะฉะนั้นการปักหลักเขตต่อไปจะต้องใช้แผนที่ 1 ต่อ 200,000 ตลอดไป นี่คือวัตถุประสงค์แรกที่ต้องสู้กันอย่างถึงพริกถึงขิง

อัดนายกฯ ปกป้องผลประโยชน์เขมร คิดสวมตอผลประโยชน์ทางทะเลแทนทักษิณ
นายสนธิ กล่าวต่อว่า แต่นายกฯ ไทยขี้ขลาดที่จะปกป้องผลประโยชน์ของคนไทย แต่ไม่ขี้ขลาดที่จะปกป้องผลประโยชน์เขมร ปล่อยให้มีการสวมตอผลประโยชน์ทางทะเลที่ทักษิณ ชินวัตรกับนายฮุนเซน ตกลงกันเอาไว้ก่อนแล้ว เพียงแต่รอเรื่องมรดกโลก ซึ่งถ้าฝ่ายกัมพูชาได้ 4.6 ตารางกิโลเมตรการแบ่งปันผลประโยชน์ทางทะเลก็จะเริ่มทันที ด้วยเอ็มโอยู.2544 ที่มีที่มาจากเอ็มโอยู 2543 แต่บังเอิญว่า ทักษิณ ชินวัตร ถูกขับไล่ออกนอกประเทศก่อน เอ็มโอยูจึงไม่สามารถเดินหน้าต่อได้

อย่างไรก็ตาม หลังจากนายสมัคร สุนทรเวช เข้ามาเป็นนายกฯ ก็เดินหน้าต่อ ด้วยการออกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาเพื่อสนับสนุนการจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งนายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศเป็นผู้ลงนาม ซึ่งพันธมิตรฯ ได้ออกมาคัดค้าน ทั้งนี้ นายนพดลถือเป็นตัวการที่ทักษิณวางตัวไว้ให้เดินเรื่องมรดกโลก สานต่อเอ็มโอยู 2543 เอ็มโอยู 2544 และต่อไปยังอ่าวไทยที่มีก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน เนื่องจากนายนพดลเป็นทนายความที่ทักษิณสั่งซ้ายหันขวาหันได้

เมื่อนายอภิสิทธิ์เข้ามา ทั้งที่เคยพูดตอนเป็นฝ่ายค้านว่าไม่เอาแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน แต่ความที่ต้องการเอาตัวรอดไปวันๆ ก็พยายามให้เราเชื่อว่ายังยึดหลักสันปันน้ำ แต่พฤติกรรมของเขาตั้งแต่เป็นนายกฯ ก็เปลี่ยนไปทุกด้าน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงไปคุยกระหนุงหระหนิงกับนายฮุนเซน แล้วกลับมาบอกว่าพื้นที่ 4.6 ตร.กม.แค่แมวดิ้นตาย เแสดงว่าไปตกลงจะให้นาฮุนเซนไดเพื้นที่ 4.6 ตร.กม. เพื่อเอาไปหาเสียงกับคนเขมรใช่หรือไม่ นอกจากนี้มีคนบางคนไปพบนายซกอาน รองนายกฯ เขมรที่ฮ่องกง ซึ่งตนพอรู้คร่าวๆ ว่า มีการตกลงจะให้มีสันติภาพ ด้วยการยก 4.6 ตร.กม.ให้เขมร แล้วฝ่ายเขมรจะให้ผลประโยชน์ทางทะเล นั่นคือกระบวนการสวมตอนั่นเอง

ไล่มาร์คพ้นนอกประเทศ เพราะเคยบอกว่าถ้าเสียดินแดนจะไม่อยู่เมืองไทย
นายสนธิกล่าวต่อว่า เมื่อมีหลายฝ่ายออกมาทักท้วงนายอภิสิทธิ์ว่าไทยเสียดินแดน นายอภิสิทธิ์ก็ไปพูดกับประชาชนที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นดินแดง เมื่อวันที่ 8 ส.ค.53 ว่า ถ้าตนทำให้เสียดินแดนอย่าว่าแต่เป็นคนไทยเลย แผ่นดินไทยก็ไม่ควรจะอยู่ ซึ่งด้วยข้อเท็จจริงขณะนี้ นายอภิสิทธิ์ ต้องลาออกจากคนไทยแล้วและไปอยู่ต่างประเทศ เพราะไทยได้เสียเดินแดน 4.6 ตร.กม.ให้เขมรแล้ว นายอภิสิทธิ์พูดที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นว่า จะใช้ทั้งการทูตและการทหารในการผลักดันคนกัมพูชาที่บุกรุกดินแดนออกไป แต่ 7 เดือนผ่านไป นายอภิสิทธิ์ไม่ได้ใช้มาตรการอะไรเลย นอกจากยื่นหนังสือประท้วงให้นายฮุนเซนเอาไปเช็ดก้น

ย้อนมาร์คขอคืนพื้นที่จราจร แต่ไม่เคยขอคืนพื้นที่ 4.6 ตร.กม.
นายสนธิ กล่าวอีกว่า วันนี้ นายอภิสิทธิ์มายื่นคำขาดให้พันธมิตรฯ คืนพื้นที่จราจร 2 ช่อง แต่ไม่เคยยื่นคำขาดให้เขมรคืนพื้นที่ 4.6 ตร.กม. นี่คือสาเหตุที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ทนไม่ได้ถึงกับบอกว่าตอแหล คนถือศีลจะไม่พูดจาต่อว่าใคร นอกจากเหลืออดจริงๆ และทั้งชีวิต ตนไม่เคยเห็น พล.ต.จำลองโกรธใคร เพิ่งมาเห็นโกรธรัฐบาลเรื่องดินแดนนี้เอง

นายสนธิ กล่าวว่า นอกจากมีการตกลงผลประโยขน์กับนายฮุนเซนแล้ว ทหารบางคนมีเมียน้อยถึง 4 คน ที่ส่งสินค้าอุปโภคบริโภคขายให้เขมร พวกเราจึงต้องมานั่งเหงื่อแตกอยู่ตรงนี้ เพราะรัฐบาลไม่ทำงาน ตรงกันข้าม การแสดงออกทั้งของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม กลับเร่งให้ไทยเสียดินแดน เมื่อคนไทย 7 คนถูกจับ ก็รีบออกมาพูดว่าอยู่ในดินแดนเขมร จนพวกเราต้องไปหาหลักฐานมา เอาชาวบ้านที่เป็นเจ้าของที่มายืนยันว่าอยู่ในเขตไทย

ที่มา: เรียบเรียงจาก เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์
/////////////////////////////////////////////////////////////////

พร้อมพงศ์"เปรย พท.ยื่นอภิปราย-ถอดถอน "กษิต

โฆษกเพื่อไทย บอก ทีมซักฟอกยื่นอภิปราย-ถอดถอน กษิต เล็งล่า 50,000 ชื่อร่วมด้วยเริ่มวันนี้(11กพ.)

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ระบุว่า ประเทศรัสเซีย อินเดีย และฝรั่งเศสเป็นพี่เลี้ยงให้กับประเทศกัมพูชา และยังระบุอีกว่าประเทศจีนเป็นผู้สนับสนุนอาวุธให้กับประเทศกัมพูชาฟรีว่า พรรคเพื่อไทยกังวลใจต่อการกระทำของนายกษิตที่แกว่งปากหาเรื่อง ชักน้ำเข้าลึกชักศึกเข้าบ้านเพิ่มเข้ามาอีก คำพูดดังกล่าวนอกจากจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ แล้วยังทำลายมิตร สร้างศัตรู เป็นการพูดที่ไร้วุฒิภาวะ ปราศจากหลักฐาน เอาแต่ความมันสะใจ ขณะนี้ไม่ใช่เฉพาะคนไทยทั่วไป แม้แต่ข้าราชการในกระทรวงการต่างประเทศก็ยังรู้สึกอึดอัดใจ นักการฑูตเองก็ยังอับอายที่ประเทศเรามีรัฐมนตรีที่ก้าวร้าว ถือเป็นยุคที่ตกต่ำที่สุดของกระทรวงการต่างประเทศ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ควรทบทวนบทบาทและหน้าที่ของนายอภิสิทธิ์ได้แล้ว เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน มีแต่ทำให้ประเทศแย่ลง เสียโอกาสที่จะทำอะไรในเวทีนานาชาติมากมาย

ทั้งนี้ตนทราบว่าทีมงานอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยจะยื่นอภิปรายและถอดถอนนายกษิตด้วย แต่ขณะเดียวกันตนก็จะร่วมกับภาคประชาชนล่ารายชื่อ 5 หมื่นรายชื่อเพื่อยื่นถอดถอนนายกษิตอีกทางหนึ่งด้วย โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 11 ก.พ.เป็นต้นไป

ที่มา.เนชั่น
////////////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ศาลอุทธรณ์ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำคุก 18 ปี ‘ดา ตอร์ปิโด’ ส่งตีความ "พิจารณาคดีลับ" ขัด รธน.หรือไม่

ศาลอุทธรณ์ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำคุก 18 ปี ‘ดา ตอร์ปิโด’ สั่งศาลชั้นต้นต้องส่งเรื่องให้ศาล รธน. ตีความว่าการพิจารณาคดีลับขัด รธน. หรือไม่

ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ผู้พิพากษานั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ คดีที่นางสาวดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ได้ยื่นอุทธรณ์ หลังศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 18 ปีในคดีดูหมิ่นและหมิ่นประมาท องค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี หรือองค์รัชทายาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

โดยศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยถึงคำร้องของจำเลยที่ระบุว่าการสั่งพิจารณาคดีลับของศาลชั้นต้นตามที่โจทก์ร้องขอตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 โดยอ้างเหตุว่าเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์และกระทบต่อความมั่นคงของประเทศนั้นอาจขัดกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ในมาตรา 29 และ 40 จึงขอให้ศาลชั้นต้นส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ และให้ศาลรอการพิพากษาไว้ก่อน ตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 211 แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งภายในวันยื่นคำร้อง (25 มิ.ย.52) ยกคำร้องดังกล่าวโดยระบุว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญเพราะจำเลยมีทนายแก้ต่าง และสามารถนำหลักฐานมายังศาลได้ ศาลอุทธรณ์ประชุมหารือกันแล้วมีความเห็นว่า การวินิจฉัยว่ากฎหมายใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่เป็นอำนาจวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และเรื่องดังกล่าวยังไม่เคยมีแนววินิจฉัยมาก่อน จึงชอบที่ศาลชั้นต้นจะต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเสียก่อน ศาลอุทธรณ์จึงยกคำพิพากษาจำคุก 18 ปีของศาลชั้นต้น โดยให้ศาลชั้นต้นส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเสียก่อน

ด้านนายประเวศ ประภานุกูล ทนายความของ น.ส.ดารณี กล่าวว่า ขั้นตอนต่อจากนี้จะยื่นขอประกันตัวดารณีอีกครั้งหลังจากถูกจำคุกมาแล้วเกือบ 3 ปี และศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวมาแล้วหลายครั้ง นอกจากนี้คงต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งยังไม่ทราบว่าเมื่อใด หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าการพิจารณาคดีลับขัดต่อหลักของรัฐธรรมนูญก็จะทำให้ต้องเริ่มกระบวนการสืบพยานใหม่ทั้งหมด แต่หากว่าศาลรัฐธรรมนูญเห็นชอบด้วยศาลชั้นต้นก็เพียงแต่พิพากษาใหม่

ที่มา.ประชาไท
/////////////////////////////////////////////////////////////

นายกฯแย้มกำหนดวันเลือกตั้ง หลังรธน.วาระ3ผ่าน

"อภิสิทธิ์"อุบวันเลือกตั้งอ้างกลัวส.ส.ตกใจ แย้มแก้รธน.ผ่านวาระ3 ถกปฏิทินกับกกต. ด้าน"สดศรี"ระบุพร้อมออกประกาศข้อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงความชัดเจนในการจัดการเลือกตั้งว่าจะมีการเลือกตั้งในเดือนเมษายนได้หรือไม่ เพราะนายกฯได้พูดในเวทีสัมมมนา ASEAN - CLSA Forum ระบุให้มีการเลือกตั้งภายในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ ว่า "ผมบอกว่าปีนี้จะมีการเลือกตั้ง และขณะนี้กระบวนการก็มีความคืบหน้าไป"

ผู้สื่อข่าวถามว่าปลายเดือนเมษายนนี้จะชัดเจนหรือไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ นายอภิสิทธิ์ หัวเราะแล้วกล่าวว่า "เดี๋ยวดูเรื่องรัฐธรรมนูญเรียบร้อย ดูสถานการณ์เหตุการณ์บ้านเมือง แล้วเดี๋ยวก็จะมาตัดสินใจกัน ซึ่งหลังจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาในวาระ 3 เรียบร้อยแล้ว ก็จะมีการประสานกับทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่วนจะใช้เวลาเท่าไหร่ก็ต้องถามกกต."

เมื่อถามว่าหากสภาผ่านความเห็นชอบวาระแรกของ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมกลางปี 2554 ก็สามารถเตรียมการเลือกตั้งได้เลยใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ความจริงเรื่องของงบประมาณกลางปีฯ ในกระบวนการน่าจะเสร็จประมาณกลางเดือนมีนาคม เพราะไม่ได้มีเรื่องสลับซับซ้อนอะไร เมื่อถามว่าจะเป็นช่วงเวลาที่สอดรับกันพอดีที่กติกาใหม่จะได้ใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จังหวะน่าจะใกล้ๆกัน เมื่อถามย้ำว่าจังหวะสามารถตัดสินใจได้พอดีใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ ยิ้มก่อนกล่าวติดตลกว่า"เดี๋ยว ส.ส.ตกใจ"

ด้านนางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งกรณีที่นายกรัฐมนตรีระบุว่าจะมีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ว่า กกต.เตรียมทุกอย่างไว้พร้อมแล้ว ซึ่งในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราสุดท้ายบัญญัติว่าในกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญผ่านการพิจารณาของสภาในวาระ 3 แล้ว และการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว.ยังกระทำไม่แล้วเสร็จ หากจะต้องมีการเลือกตั้งก็ให้อำนาจกกต.ออกประกาศข้อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งได้ ซึ่งก็ถือว่ากกต.ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข

ทั้งนี้ มีข้อกังวลว่าการออกประกาศฯของกกต.อาจจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเกิดปัญหากับการทำงานของกกต. ตรงนี้กกต.เห็นว่าเพื่อให้พรรคการเมืองคลายกังวล ไม่ให้การออกประกาศฯกลายเป็นข้อโต้แย้ง รัฐบาลก็น่าจะผลักดันให้มีการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว.ให้แล้วเสร็จก่อน ซึ่งที่กกต.เตรียมไว้เพียง 20 กว่ามาตรา หากรัฐบาลมีการประสานงานกับสมาชิกรัฐสภาและเป็นไปตามที่สมาชิกแต่ละพรรคการเมืองพูดว่าถ้าผ่านสภาคงใช้เวลาไม่นาน เชื่อว่าการแก้ไขน่าจะแล้วเสร็จได้ภายใน 1 เดือน เพราะประเด็นที่จะต้องมีการแก้ไขก็ไม่ได้มีอะไรมาก

นางสดศรี กล่าวว่า ในส่วนของการครบวาระของส.ว.สรรหา 74 คนในวันที่ 18 ก.พ.นี้ และอาจมีส.ว.บางส่วนลาออกก่อนครบวาระ เพื่อเข้ารับการสรรหาใหม่ อาจจะเป็นปัญหาต่อการพิจารณาผ่านร่างแก้ไขพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และ การได้มาซึ่งส.ว.ได้ แต่ก็คิดว่าจำนวนเสียงส.ว.ที่จะผ่านร่างกฎหมายก็เพียงแค่กึ่งหนึ่ง และการสรรหาส.ว.ก็คาดว่าจะเสร็จสิ้นในเดือนมี.ค.นี้ ดังนั้นถ้าจะผลักดันให้มีการผ่านร่างแก้ไขกฎหมายลูกก็ไม่น่าจะมีปัญหา

เมื่อถามว่า หลายฝ่ายกังวลว่าอาจจะไม่มีการเลือกตั้ง และเกิดการเปลี่ยนแปลงกกต.นางสดศรี กล่าวว่า เป็นไปได้ทั้งนั้น เพราะเหตุการณ์หลายอย่างที่เกิดขึ้นขณะนี้ผสมปนเปกันไปมา จึงอาจทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นก็ได้ เรื่องการเปลี่ยนแปลงนั้นกกต.ทราบดีว่ากกต.ต้องยึดโยงกับการเมือง แต่การจะมีปฎิวัติ รัฐประหาร แล้วทำให้ไม่มีกกต. แทนที่จะเป็นผลดีกับประชาธิปไตย มองว่าน่าจะทำให้ถูกมองว่าถอยหลังมากกว่า

"กกต.ยืนยันว่าไม่ยึดติดกับตำแหน่งถ้ากกต.ต้องพ้นไป เพราะมีการรัฐประหารก็ไม่เป็นไร แต่การเลือกตั้งก็ควรต้องมี เพราะเป็นการคืนอำนาจให้ประชาชน เนื่องจากไม่มีอำนาจไหนที่มีประโยชน์ และเที่ยงธรรมเท่ากับอำนาจที่มาจากประชาชน"นางสดศรี กล่าว

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////////////

บ้านเมืองเรามีกฎมีระเบียบ ไม่อาจมีอำนาจนอกระบบได้

ชั่วเวลาเพียงไม่กี่นาที มี "ข้อความ" ส่งตรงเข้าโทรศัพท์มือถือของนายกรัฐมนตรีมากกว่า 30 ข้อความ

นาทีนี้มีแต่ข้อความ "ด่า" ที่ถูกจุดชนวนมาจากพันธมิตร ว่าด้วยเรื่องแนวรบที่ชายแดน

นายกรัฐมนตรีเปิดดูข้อความอ่านแบบเร็ว ๆ มีทั้ง

"...คนไม่รักชาติ" และ "...ฯลฯ"

ถ้อยคำที่รุนแรงมีทั้งส่งตรงถึงหน้าจอ และเสียงตะโกนที่หน้าทำเนียบรัฐบาลได้ยินเข้าไปถึงในห้องโดมทองในตึกไทยคู่ฟ้า

เฉพาะอย่างยิ่งเสียงที่เย็นยะเยือกของ "จำลอง ศรีเมือง"

นักข่าวแทรกคำถาม ในเสียงตะโกนด่าผ่านโสตประสาท "ทุกครั้งที่จำลองออกมา มักมีฉากจบที่เลวร้าย หรือไม่ก็เกิดรัฐประหาร นายกรัฐมนตรีหวั่นไหวกับฉากจบรอบนี้หรือไม่"

นายกรัฐมนตรีตอบว่า "ผมมองประเทศไปข้างหน้า ยังไม่เห็นว่าหากเกิดปฏิวัติ จะช่วยประเทศอย่างไรในขณะนี้ การปฏิวัติทุกครั้งก็จะมีบาดแผลตกค้าง"

"กรณีเสื้อแดงก็เป็นบาดแผลที่ยัง ไม่จบ แล้วต้องถามคนที่ต้องทำงานหลังการปฏิวัติว่าเหนื่อยแค่ไหน ดังนั้น จึงเข้าใจยาก ว่าทำไมจึงมีการเสนอข้อเรียกร้องอย่างนี้"

นายกรัฐมนตรีตอบด้วยคำถามกลับด้วยว่า "หากไม่ชอบ และเห็นว่ารัฐบาลนี้ไม่ดี อีกไม่กี่เดือนจะได้เลือกตั้งแล้ว ถ้าไม่เชื่อระบบการเลือกตั้ง คุณจะเป็นประชาธิปไตยแบบไหน ถ้าไม่เป็นประชาธิปไตย จะอยู่ในโลกนี้ ยุคนี้อย่างไร"

ท่ามกลางข่าวลือ-ลับ-ลวง ที่ปล่อยออกมาว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลแบบพิเศษ และคนปล่อยข่าว ไม่ต้องการให้ "อภิสิทธิ์" มีอำนาจอีกต่อไป นายกรัฐมนตรีบอกว่า "แน่นอนครับ เพราะมันเป็นไปไม่ได้หรอกที่มีการรัฐประหารแล้วผมจะได้อยู่ในอำนาจต่อ"

ถามย้ำอีกครั้งก่อนจากว่า นายกรัฐมนตรีมีความเชื่อเรื่องอำนาจพิเศษหรือไม่ คำตอบที่ได้ ยังอิง "หลักการ" แข็งขัน

"ไม่ครับ บ้านเมืองเรามีกฎมีระเบียบ ไม่อาจมีอำนาจนอกระบบได้"

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////////////////