--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2553

‘งานใหม่’กองทัพ!

หลังเสร็จสิ้นภารกิจขอคืนพื้นที่ นปช. ที่ดูเหมือนงานครั้งนี้ “กองทัพ”จะสอบผ่านในสายตาประชาชนที่ต้องการความสงบกลับคืนมา แต่ในเนื้อแท้แล้วงานของกองทัพยังไม่จบเฉกเช่นการสั่งให้ทหารกลับกรมกอง ทั้งนี้ เพราะว่าเหตุการณ์บ้านเมืองที่กำลังอยู่ในภาวะฟื้นฟูนั้น ยังไม่อีกหลายเรื่องที่ “กองทัพ”ต้องทำงานหนักขึ้นอีกหลายเท่า งานแรก คือ การสร้างความเข้าใจกับประชาชนและการสร้างภาพลักษณ์ทหารที่ออก

มาเข่นฆ่าประชาชน ให้ออกไปจากความคิดของคนไทย ซึ่งเรื่องนี้นับว่าเป็นงานอันดับต้นๆที่กองทัพ มอบหมายให้ กอ.รมน.จังหวัดทุกจังหวัด เร่งเครื่องทำความเข้าใจกับประชาชนทั้งในชุมนุมต่างๆ โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคอีสาน ที่ต้องยอมรับว่าเป็น “พื้นที่สีแดง” ของจริง อย่างไรก็ตาม งานทำความเข้าใจที่ต้อง

เข้าหามวลชน แม้จะเป็นงานที่ถนัดของกอ.รมน. แต่ในยามที่บ้านเมืองเพิ่งเสร็จสิ้นเหตุจลาจลกลางเมืองไปและมีผู้คนจำนวนไม่น้อยเสียชีวิตนั้น การจะปรับความเข้าใจของประชาชนจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะทุ่มงบประมาณจำนวนหลายล้านบาทลงมาก็ตาม ล่าสุด พบว่า ศอฉ.หรือศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิก

ได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย เป็นเจ้าภาพขอคืนอาวุธปืน จากประชาชนที่มาร่วมชุมนุมนำอาวุธสงครามของกองทัพเก็บไว้ในครอบครอง เพื่อส่งคืนให้กองทัพโดยไม่เอาผิด นับเป็น “ไม้อ่อน” ที่กองทัพงัดออกมาใช้เพื่อเคลียร์พื้นที่ให้ขาวสะอาดดังที่ตั้งใจไว้ แต่ก็ต้องจับตาดูว่าอาวุธสงครามที่หายไประหว่าง

การเข้าสลายการชุมนุมตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. เป็นต้นมานั้น จะได้คืนกี่กระบอก งานที่ 2 ที่กองทัพกำลังเร่งทำคือการสร้างความเชื่อมั่นต่อสายตาชาวโลก กรณีประชาชนเสียชีวิต 6 ศพ ในวัดปทุมวานาราม ซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียงกันว่า “ชายชุด”หรือ“ไอ้โม่ง” ซึ่งอยู่ในคลิปที่ส.ส.ฝ่ายค้านเปิดกลางสภานั้นเป็นใคร? งานนี้

รัฐบาลและกองทัพต้องตอบคำถามนี้ให้ได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ได้มาจากระบอกปืนของทหาร แม้เรื่องนี้นายกรัฐมนตรีและนายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะออกมาปฏิเสธ ทันทีที่ส.ส.ฝ่ายค้านเปิดคลิปนี้ในสภา แต่มาจนถึงวันนี้ เรื่องนี้ก็ยังไม่ได้รับคำตอบเป็นที่พอใจของญาติผู้เสียชีวิต ทำให้วันก่อน ผบ.ทบ. ที่ใกล้เกษียณ

อย่าง “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” ออกมาพูดถึงกรณีนี้เป็นครั้งแรก ผบ.ทบ. ยืนยันว่า ในวันที่ 19 พ.ค.ทหารไม่ได้อยู่ในบริเวณวัดปทุมวานาราม พร้อมระบุด้วยว่า...ในการชี้แจงข้อเท็จจริงมีช่องว่าง ซึ่งเจ้าหน้าที่ของเราได้เรียนไปแล้วว่า...ในเวลานั้นอยู่ที่ใด ตนก็อยากจะบอกกับสื่อมวลชนว่าอย่าไปตามกระแส

สื่อจะต้องดูข้อเท็จจริง “ ถ้าถามเรื่องกระแสตนคงไม่สามารถที่จะตอบได้ แต่ถ้าให้พูดตามข้อเท็จจริงทางเจ้าหน้าที่เขายืนยันว่าในช่วงเวลานั้นไม่ได้ อยู่ตรงนั้น และมีการตรวจสอบแล้วว่าไม่มีใครใช้อาวุธกับประชาชนนั่นคือข้อเท็จจริง” ทั้ง 2 เรื่องที่ “กองทัพ”กำลังเผชิญนี้ ยังไม่รวมกับข้อสงสัยเกี่ยวกับการจัดสรร

งบประมาณปี 2554 ที่เพิ่มขึ้นหลายเท่า และการจัดซื้อจัดจ้างอาวุธในกองทัพ ที่มีหลายรายการที่ซื้อแล้วใช้งานไม่ได้หรือกำลังจะซื้อแต่ถูกคัดค้าน จากนี้ไป “กองทัพ”ยังต้องเจอศึกหนักหลายระลอก เพราะสงคราม(รอบใหม่)เพิ่งเริ่มต้น!

ที่มา.บางกอกทูเดย์
......................................................

‘จากนี้ไปเราต้องอยู่กับความรุนแรง’2 ทัศนะจากเหลือง–แดงปักษ์ใต้

ทัศนะทางการเมืองไทยของ 2 แกนนำเสื้อเหลืองและเสื้อแดงปักษ์ใต้ ต่อมุมมองสถานการณ์หลังเหตุการณ์เมษา – พฤษภาวิปโยคที่เกิดขึ้นใจกลางกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทยแห่งปี 2553 ที่ผ่านมานั้น เส้นทางความขัดแย้งจะดำเนินต่อไปอย่างไรและมีจุดบรรจบอย่างไร นี่คือมุมมองจาก 2 ฟากฝั่งอุดมการณ์ที่อยู่ในแผ่นดินเดียวกัน

เอกชัย อิสระทะ
ระยะยาวจะเป็นการต่อสู้เชิงอุดมการณ์

ในห้วงแห่งความขัดแย้งทางการเมืองตลอด 4 ปีกว่า “เอกชัย อิสระทะ” เป็นอีกบุคคลหนึ่ง ที่มีบทบาทอยู่ในระดับนำของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือกลุ่มคนเสื้อเหลืองภาคใต้ โดยเฉพาะในจังหวัดสงขลา

เมื่อความขัดแย้งทางการเมือง ระหว่าง 2 ซีกฝ่าย ยกระดับความรุนแรง จนนำไปสู่การเข่นฆ่ากันกลางกรุงเทพมหานคร จนมีผู้บาดเจ็บและล้มหายตายกันไปมากมายมหาศาล

ความคิดเห็นต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ของคนที่เคลื่อนไหวทางการเมือง ในท่ามกลางความขัดแย้งรุนแรงมาอย่างต่อเนื่องหลายปี ย่อมมิอาจมองข้ามได้

ต่อไปนี้ เป็นความคิดความเห็นต่อสถานการณ์บ้านเมือง ผ่านสายตาและความคิดของ “เอกชัย อิสระทะ”

………………………………………………..

เราต้องเตรียมใจยอมรับความขัดแย้งทางความคิด ที่จะอยู่กับเราไปอีกนับ 10 ปี อาจจะไม่รุนแรง หรืออาจจะรุนแรงกว่าคราวนี้ คงต้องดูปัจจัย 2 – 3 ตัวประกอบ

ข้อแรก ความขัดแย้งทางความคิดที่เริ่มชัดเจนขึ้นระหว่าง 2 ชุดความคิด

ชุดความคิดแรก เป็นความคิดของประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ในกลุ่มคนที่สมาทานชุดความคิดนี้ มีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันอยู่

ชุดความคิดที่สอง เป็นประชาธิปไตยในอีกแบบที่ยังแลเห็นรายละเอียดไม่ชัด แต่จะพัฒนาก้าวข้ามพ้นจากตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ส่วนนี้เรายังไม่รู้ว่า เขาออกแบบรายละเอียดอย่างไร โครงสร้างสังคมไทยใหม่จะเป็นแบบไหน

การปะทะกันของสองชุดความคิดนี้ มีลักษณะที่ก้าวหน้ากว่าการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ผ่านมา เพราะที่ผ่านมาเป็นประชาธิปไตยของนักเลือกตั้ง กรอบคิดของนักการเมืองทั้งหมด เป็นแบบทุนนิยมเสรีโลกาภิวัตน์ รายละเอียดทางความคิดของนักการเมืองแต่ละพรรคไม่แตกต่างกันคือ นำพาประเทศไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรม

หลังจากนี้รูปแบบประชาธิปไตยที่แต่ละกลุ่มเสนอมา จะมีกรอบชัดเจนมากขึ้น จะเป็นชุดความคิดประชาธิปไตยเสรีนิยมสนับสนุนทุนข้ามชาติ หรือจะเป็นสังคมนิยมตะวันออกแบบพอเพียง หรือประชาธิปไตยสีเขียวกินได้ หรือประชาธิปไตยที่เป็นธรรม นี่คือรายละเอียดของการต่อสู้ที่จะชัดเจนขึ้น

บทบาทของนักการเมืองชุดเก่าจะลดลง เฉพาะหน้าจำนวนก็น่าจะลดลงถึงร้อยละ 50 ที่เหลืออยู่ในสภา จะมีทั้งฝ่ายเสื้อเหลือง และฝ่ายเสื้อแดง

ภาคประชาชนเอง กรอบคิดของกลุ่มคนเสื้อแดงจะชัดเจนขึ้น ในส่วนของกลุ่มคนเสื้อเหลือง รวมทั้งที่ออกมาเคลื่อนไหวกับพรรคการเมืองใหม่ กรอบคิดก็จะชัดเจนขึ้นเช่นกัน ผมคิดว่าคนส่วนนี้น่าจะก้าวข้ามพ้นการเมืองแบบเก่าไปได้ ทิศทางการเมือง จะเปลี่ยนแปลงพอสมควร

หลังจากนี้ การเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างสงบจะลำบากมากขึ้น เพราะคู่ความขัดแย้งจะใช้ความรุนแรงตอบโต้ ถ้าแต่ละฝ่ายลดความเคืองแค้นลงได้ เหตุการณ์อาจจะสงบ แต่เป็นไปได้ยาก เพราะฉะนั้นการชุมนุมทางการเมืองแบบเดิมๆ ตั้งเครื่องเสียงขึ้นเวทีปราศรัย เป็นไปไม่ได้อีกแล้ว

ในส่วนการเคลื่อนไหวเรื่องปากท้องของชาวบ้าน ที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง น่าจะยังใช้รูปแบบเดิมๆ ที่เคยใช้ต่อไปได้

ผมคิดว่า การหลีกเลี่ยงความรุนแรงในช่วง 10 ปีนี้ยากมาก เพราะความแค้นถูกฝังเอาไว้ลึกเกินกว่าจะพูดคุยกันได้ด้วยดี

คนภาคใต้เราที่มีสีสันทางการเมืองติดตัวอยู่ คงไม่สามารถไปเยี่ยมเยียนพี่น้องทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ แบบสบายอกสบายใจได้อีกต่อไปแล้ว

ผมได้แต่หวังว่า เราจะข้ามผ่านความรุนแรง ก้าวข้ามผ่านความคิดเดิมๆ ไปได้ ซึ่งนั่นหมายความว่า เราต้องร่วมกันยกการเมืองไปอีกระดับหนึ่ง ถ้าก้าวผ่านไม่ได้ ก็เป็นชะตากรรมของประเทศ

ส่วนจะก้าวข้ามผ่านไปได้หรือไม่ อาจจะผ่านไปได้ หรืออาจจะติดกับดัก อันนี้ยังดูไม่ออก ใจลึกๆ ยังอยากเห็นทิศทางที่นำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ความพยายามที่จะก้าวข้ามไปให้ได้ นับว่ายากลำบากมาก เพราะขณะนี้ความเคียดแค้นชิงชังสูงมาก แต่คนไทยอาจจะลืมง่ายก็ได้

เฉพาะหน้าควรจะเรียกร้องให้กระบวนการศาลยุติธรรม เข้ามาเป็นกลไกในการสร้างความยุติธรรมให้กับทุกฝ่าย ถ้าทำได้ปัญหาอาจจะคลี่คลายลงไปได้ระดับหนึ่ง ยกตัวอย่างการปิดสื่อ ควรให้ศาลยุติธรรมเป็นผู้พิจารณา ไม่ควรปล่อยให้รัฐใช้อำนาจปิดสื่อ โดยไม่ผ่านศาล

ประการต่อมา ต้องกระจายอำนาจให้กับองค์กรปกครองท้องถิ่น ลดอำนาจ หรือยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคลง ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น จะได้แก้ที่ท้องถิ่น ปัญหาจะได้ไม่ต้องไปกระจุกอยู่ที่ส่วนกลาง นักเลือกตั้งหน้าเดิมๆ จะหายไป

ถ้ากลไกศาลยุติธรรม และการปกครองท้องถิ่นเป็นจริง ความตึงเครียดในสังคมน่าจะลดลง เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองลดลง การต่อสู้ทางการเมืองจะไปอยู่ที่การต่อสู้ทางความคิด ไม่ออกมาในรูปของความขัดแย้ง ที่จะนำไปสู่การปะทะกันอย่างรุนแรง

ความผิดพลาดในช่วงที่ผ่านมา อยู่ตรงความไม่เป็นธรรม กระบวนการยุติธรรมไม่เป็นอิสระ ศาลซึ่งเป็นกลไกที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ ถูกมองว่าโดนแทรกแซงจากอำนาจภายนอก โดยเฉพาะจากนักเลือกตั้ง

สื่อ 80 เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถยกระดับความคิดความอ่านให้กับสังคมได้ แถมยังนำสังคมไปติดกับดักของทุน สื่อมีข้อมูลมากก็จริง แต่ไม่สามารถนำออกมาเสนอให้สังคมมีสติปัญญาแยกแยะอะไรได้เลย

กระบวนการการศึกษาทั้งระบบก็เป็นปัญหา เพราะไม่สามารถสร้างคนให้วิเคราะห์แยกแยะอะไรได้ ไม่สามารถสร้างนักคิด สร้างผู้นำที่มีขีดความสามารถนำพาสังคมได้ การศึกษาในทุกระดับ จึงเป็นปัญหาใหญ่อีกโจทย์หนึ่งในขณะนี้

ผมคิดว่าการต่อสู้ขณะนี้ถูกยกระดับไปเป็นการต่อสู้ในเชิงอุดมการณ์แล้ว อย่างน้อยก็ในระดับหนึ่ง แต่ผมไม่ได้หมายความว่าแกนนำการต่อสู้ที่ผ่านมาทุกคน จะออกมาต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ ขณะที่ผู้เข้าร่วมชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อย ต้องการล้มระบบอำมาตย์จริงๆ คนส่วนนี้ก้าวข้ามพ้นการต่อสู้เพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเองไม่รู้ตัว

ผมคิดว่า จนถึงวันนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังเชื่อว่าเงินกำกับทิศทางการเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศไทยได้

ถึงกระนั้นชุดความคิดเชิงอุดมการณ์ ก็ยังไม่แข็งแรงพอที่จะเข้าไปกุมการนำ เพื่อนำพาขบวนก้าวข้ามพ้นการเคลื่อนไหวเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรได้

ผมเชื่อว่าภาพของพรรคเพื่อไทย ไม่ได้เป็นภาพฝันของกลุ่มคนเสื้อแดงในซีกอุดมการณ์ เพราะฉะนั้นในอนาคต กลุ่มคนเสื้อแดงจะแตกเป็น 2 กลุ่มความคิด ตอนนี้ยังมีความจำเป็นต้องอยู่ร่วมกัน เพราะทั้งสองฝั่งยังต้องพึ่งพากันและกัน

อีก 10 ปีข้างหน้า ระบบอำมาตย์จะหายไปจากประเทศนี้อยู่แล้ว มันต้องหมดไปจากประเทศไทยโดยธรรมชาติ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ระบบอำมาตย์แบบเดิมหายไปแล้ว ระบบอำมาตย์ในรูปแบบใหม่จะไม่เกิดขึ้นมาแทนที่ เป็นไปได้มากว่า ระบบอำมาตย์ในรูปแบบใหม่จะไม่เกิดขึ้นอีก ถึงแม้กลุ่มเสื้อแดงซีกอุดมการณ์ จะชนะจนสามารถสถาปนาขึ้นครองอำนาจได้เองก็ตาม

ทำไมผมคิดเช่นนี้ เพราะเท่าที่ดูๆ แล้ว สังคมไทยโดยรวมยังก้าวข้ามไม่พ้นกรอบคิดเดิม ล้มอำมาตย์แบบเดิมไปได้ ก็เป็นไปได้ว่าจะเรียกหาอำมาตย์หน้าใหม่ขึ้นมาอีก

การจะก้าวข้ามพรมแดนตรงนี้ไปได้ นับว่าเป็นเรื่องยากมาก

เฉพาะหน้านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี อาจจะคุมสถานการณ์ได้ แต่กลุ่มคนเสื้อแดงจะกลับมาอีก ตรงนั้นอาจจะเกิดความรุนแรงอีกครั้ง ซึ่งอาจจะนำไปสู่จุดเปลี่ยนทางการเมืองของไทยก็ได้

ถึงแม้คราวนี้ ดูเหมือนคนจะยอมรับความรุนแรงได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า คนจะยอมรับความตายของผู้คนได้ เหตุที่คราวนี้ยอมรับกันได้ เพราะความชอบธรรมในการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงมีไม่มากพอ

วันนี้ การต่อสู้ของกลุ่มคนเสื้อแดง โดยชูพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ชูพรรคเพื่อไทยจบลงโดยสิ้นเชิงแล้ว กลุ่มคนเสื้อเหลืองถ้าออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไป ก็ต้องชูอุดมการณ์ที่ชัดเจน พรรคการเมืองต่างๆ รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ ก็ต้องบอกให้ได้ว่า จะนำพาสังคมไทยไปสู่ทิศทางไหน

การต่อสู้ในระยะยาว จะเป็นการต่อสู้ในเชิงอุดมการณ์

------------------------------------

สัมพันธ์ ละอองจิตต์
นับจากนี้ไปเราต้องอยู่กับความรุนแรง

ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองกว่า 4 ปี ถึงแม้ภาคใต้จะถูกมองว่า เป็นฐานที่มั่นของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือกลุ่มคนเสื้อเหลือง แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏก็มิอาจปฏิเสธได้ว่า มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงอยู่ในภาคใต้เช่นกัน

“สัมพันธ์ ละอองจิตต์” เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่เข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มคนเสื้อแดงในจังหวัดสงขลา ถึงกระนั้นก็ปฏิเสธไม่เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดง หรือแนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ในชื่อย่อ “นปช.” ที่กรุงเทพมหานครฯ

แม้ในระหว่างการชุมนุม จะเดินทางไปทำภารกิจที่กรุงเทพมหานครฯ นานหลายวัน ก็ไม่ยอมเฉียดกรายไปยังสถานที่ชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งในที่สุดก็ลงเอยที่ความรุนแรง จากการเผชิญหน้าระหว่างผู้กุมอำนาจรัฐกับกลุ่มผู้ชุมนุม

ต่อไปนี้ เป็นความคิดความเห็นต่อสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น จากบุคคลที่หน่วยงานความมั่นคงระบุว่า เป็นหนึ่งในแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงภาคใต้ นาม “สัมพันธ์ ละอองจิตต์”

……………………………………

ความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้ น่าจะใช้เวลาพอสมควรถึงจะลงเอยกันได้ แต่คงจะไม่ถึง 10 ปี

ถ้านำไปเปรียบเทียบกับความขัดแย้งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อปี 2475 เป็นต้นมา ความรุนแรงเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 จนมาถึงสถานการณ์ที่ราชประสงค์ นับเป็นปฐมบทของความขัดแย้งที่รุนแรงครั้งสำคัญของสังคมไทย

เนื่องจากนัยสำคัญของความขัดแย้งครั้งนี้ เกิดจากโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง เป็นความขัดแย้งที่นำพาปริมณฑลทางเศรษฐกิจ มาหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับปริมณฑลทางความคิดและอุดมการณ์ทางการเมือง

ความขัดแย้งในระดับนี้ เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เมื่อปี 2475 ระหว่างขุนนางสมัยใหม่กับระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ครั้งต่อมาคือ เหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ระหว่างนักศึกษา ปัญญาชน กับเผด็จการทหาร

รวมทั้งความขัดแย้งระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกับรัฐไทย ที่ยาวนานกว่า 30 ปี

ความขัดแย้งครั้งล่าสุด มีลักษณะที่ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะแตกต่างกันอย่างมาก เมื่อนำไปเปรียบเทียบความขัดแย้งในอดีต

เนื่องจากฐานความขัดแย้งในสังคมไทยที่ผ่านมา มีลักษณะแคบ อย่างปี 2475 ฐานความขัดแย้งเป็นแค่ขุนนางกลุ่มหนึ่ง ที่จบการศึกษาจากต่างประเทศ กับระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ความขัดแย้งเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ฐานความขัดแย้งจำกัดอยู่ที่ปัญญาชน โดยเฉพาะนิสิตนักศึกษา กับเผด็จการทหาร

ส่วนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย สถาปนาตัวเองเป็นแค่ตัวแทนชนชั้นกรรมาชีพ ลุกขึ้นมาต่อสู้กับอำนาจรัฐ

ขณะที่ความขัดแย้งหลังวันที่ 19 กันยายน 2549 ฐานความขัดแย้งกระจายตัวออกสู่วงกว้าง ตั้งแต่คนอ่านหนังสือไม่ออก หรือพออ่านออกเขียนได้คิดเลขเป็น ไปจนถึงคนที่มีการศึกษาสูง เป็นครูบาอาจารย์ เป็นศาสตราจารย์ ผนวกรวมกับผู้ใช้แรงงาน ชาวนาชาวไร่ ไปจนถึงมหาเศรษฐี มีทั้งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และความเชื่อทางการเมือง ผนวกรวมเข้าด้วยกัน

กระทั่งยกระดับความคิดทางการเมืองขึ้นมา ถึงขั้นอุดมการณ์

ต้องยอมรับว่า ในรอบไม่กี่ปีมานี้ กลุ่มทุนใหม่ได้เติบโตขึ้นอย่างมาก คนกลุ่มนี้เข้ามามีบทบาท ทั้งในพื้นที่ทางเศรษฐกิจ และพื้นที่ทางการเมือง รุกเข้ามาแทนที่กลุ่มทุนเก่า เช่น ทุนน้ำเมา ทุนป่าไม้ ทุนธนาคาร ที่ทำธุรกิจโดยอาศัยการคุ้มครองจากอำนาจรัฐเดิม ที่บัดนี้บทบาทค่อยๆ หมดไป หลีกทางให้กลุ่มทุนใหม่ในภาคสื่อสารและภาคบริการ เข้ายึดพื้นที่ไปเกือบหมด

เห็นได้จากบทบาททางการเมืองของกลุ่มทุนใหม่เหล่านี้ ที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540

การเติบโตของกลุ่มทุนใหม่ ก่อให้เกิดความขัดแย้งกับกลุ่มทุนเก่า หลังปี 2540 เป็นต้นมา กลุ่มทุนเก่าสูญเสียทั้งอำนาจทางการเมือง และอำนาจทางเศรษฐกิจ โดยเริ่มสูญเสียสถานะทางเศรษฐกิจมาก่อนหน้านี้แล้ว

ในด้านการเมืองหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ส่งผลให้ภาคประชาสังคมเติบโต มีพัฒนาการด้านจิตสำนึกทางการเมืองอย่างก้าวกระโดด ทำให้เกิดการปฏิรูปการเมืองครั้งสำคัญ ผ่านรัฐธรรมนูญปี 2540

รัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เกิดขึ้นท่ามกลางความก้าวหน้าของเทคโนโลยี กระทั่งรัฐไม่สามารถจำกัดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนภาคส่วนต่างๆ ได้ ทำให้ความไม่ชอบมาพากลของการรัฐประหาร ได้รับการเปิดเผยอย่างกว้างขวาง ส่งผลลึกซึ้งอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

จุดนี้ทำให้เกิดภาวะก้าวกระโดดครั้งสำคัญในทางการเมือง กระทั่งนำไปสู่การเรียกร้องให้มีการปฏิรูปประเทศ ถึงขั้นปรับรื้อโครงสร้างสังคมไทย ภายใต้คำขวัญล้มระบบอำมาตย์ สร้างระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง

อันที่จริงความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง ทั้งในทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ ดำรงอยู่ในสังคมไทยมายาวนานนับสิบปีแล้ว โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 เป็นต้นมา จนคาดการณ์กันว่าสักวันหนึ่งสังคมไทยจะเกิดความขัดแย้งอย่างหนัก ถึงขั้นมีการปะทะกันครั้งใหญ่ ซึ่งก็มาถึงแล้ว

แนวโน้มจะจบลงอย่างไร คงคาดเดาได้ยาก เพราะความขัดแย้งจะจบก็ต่อเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอ่อนกำลัง ความขัดแย้งคราวนี้ มิอาจจบลงด้วยความสมานฉันท์ โดยละเลยข้อเท็จจริงทางภววิสัย

จากนี้เป็นต้นไป เราจะเข้าสู่บรรยากาศความรุนแรง เนื่องจากความขัดแย้งหนนี้ ถูกยกระดับขึ้นเป็นความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์อย่างเข้มข้น ทุกอย่างจึงไม่ได้เรียบง่ายเหมือนอย่างแต่ก่อน

วันนี้มีคนจำนวนหนึ่งเชื่อว่าระบบอำมาตย์ เป็นอุปสรรคต่อระบอบประชาธิปไตย ฉะนั้นต้องจำกัดอำนาจของระบบอำมาตย์ ซึ่งเขามองไม่เห็นวิธีอื่น นอกจากต้องใช้ความรุนแรง

ขณะที่ฝ่ายอำมาตย์เองก็มองว่า ฝ่ายตรงกันข้ามเป็นศัตรูหลักที่ต้องกำจัดให้สูญสิ้น

เมื่อทั้ง 2 ฝ่าย ต่างมองอีกฝ่ายเป็นศัตรูสำคัญ ต้องกำจัดให้หมดไป ความรุนแรงขนานใหญ่จึงหลีกเลี่ยงได้ยาก เห็นได้จากขณะนี้มีการดึงบางสถาบันในสังคมไทยมาเป็นเครื่องมือ เพื่อสร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงกับฝ่ายตรงกันข้ามอย่างโจ่งแจ้ง

ถึงแม้ชนชั้นนำในสังคมไทย จะมีความขัดแย้ง ทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมือง แต่โครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นนำกับประชาชนทั่วไป ไม่ได้มีผลต่อกันมากนัก ที่สำคัญสังคมไทยสามารถพึ่งพาตัวเองด้านอาหารได้ โดยไม่ต้องพึ่งพิงพ่อค้านำเข้า ผู้คนในท้องถิ่นจึงน่าจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

ส่วนที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด คงจะเป็นด้านการเมืองมากกว่า

อันดับแรก ความไม่มั่นคงของรัฐจะสูงขึ้น คนจะเคารพกฎหมายน้อยลง อาชญากรรมโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ที่เป็นศูนย์กลางของความขัดแย้งจะพุ่งสูงขึ้น

ในส่วนของภาคใต้ น่าจะได้รับผลกระทบน้อยมาก เพราะไม่ได้เป็นพื้นที่ขัดแย้งรุนแรง เศรษฐกิจภาคใต้พึ่งพาการส่งออก ที่ค่อนข้างเป็นอิสระจากเศรษฐกิจศูนย์กลาง

ทางออกจากความขัดแย้งครั้งนี้ คงต้องเรียกร้องให้ประชาชนออกมาคัดค้านการใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการรัฐประหาร การปราบปราม การตอบโต้ฝ่ายตรงกันข้ามด้วยวิธีการรุนแรง

เราต้องปล่อยให้การเมืองดำเนินไปตามกระบวนการ เปิดให้มีการเลือกตั้งโดยทุกฝ่ายต้องยอมรับผลที่ออกมา เพื่อให้รัฐสภาได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่

ภาคประชาชนเอง ต้องยุติการเรียกร้องใดๆ ที่นำไปสู่การใช้ความรุนแรง เพราะไม่มีใครฆ่าฝ่ายใดได้หมด ถ้าปล่อยให้ฆ่ากันต่อไป บ้านเมืองจะเกิดกลียุค

การปล่อยให้มีการเลือกตั้ง อาจจะเป็นทางออกที่ดีก็ได้ ถ้าทุกคนยอมรับกติกา อย่าเอาปัญหาเล็กมาเป็นปัญหาใหญ่ มาถึงขั้นนี้แล้ว มีทางออกเดียวเท่านั้นคือ การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม ไว้วางใจได้ โดยทุกฝ่ายยอมรับผลที่ออกมา ทางออกอื่นไม่มี ถ้าไม่ยอมรับทางออกนี้ ก็ต้องยอมรับสภาพกลียุค เดือดร้อนกันถ้วนหน้า

ข้อเรียกร้องนี้อาจจะเป็นไปได้ยาก แต่ก็เป็นทางออกเดียวที่เหลืออยู่

ที่มา.ประชาไท
#############################################

"ณัฐวุฒิ" ขึ้นศาลคดีดักฟัง "ท่านเจี๊ยบ"

คอมมานโดกองปราบคุมตัว "ณัฐวุฒิ" เดินทางจากชะอำมาขึ้นศาลคดีดักฟังโทรศัพท์ปลัดสำนักนายกฯกับ "ท่านเจี๊ยบ" วิรัช ชินวินิชกูล โดย "จตุพร" ขึ้นเบิกความด้วย ส่วน "จักรภพ" อยู่ระหว่างหลบหนี ด้านแฟนคลับ นปช. แห่ให้กำลังใจ

9.00 น. วันนี้ (4 มิ.ย.) ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดสืบพยานโจทก์ คดีหมายเลขดำ อ.177/2551 ที่ พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ฟ้องนายจักรภพ เพ็ญแข นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และ นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. เป็นจำเลยที่ 1- 3 ในความผิดฐานร่วมกันกระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อดักรับไว้ใช้ประโยชน์ หรือเปิดเผยข้อความข่าวสาร หรือข้อมูลอื่นใดที่มีการสื่อสารทางโทรคมนาคม โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 มาตรา 74

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างเดินขึ้นศาลอาญา นายณัฐวุฒิซึ่งเดินคู่มากับนายจตุพรมีสีหน้ายิ้มแย้ม นายณัฐวุฒิสวมกางเกนยีนส์สวมเสื้อเชิตสีขาวลายตารางปล่อยชายเสื้อ ส่วนนายจตุพรสวมสูท โดยนายจตุพรกอดคอพูดคุยกับนายณัฐวุฒิ และมีแฟนคลับ นปช. จำนวนหนึ่งรอจับมือทักทายและมอบดอกไม้ให้กำลังใจด้วย

โดยกรณีนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 มิ.ย.50 จำเลยกับพวกได้ร่วมกันนำข้อความถ้อยคำสนทนาที่มีการติดต่อกันทางโทรศัพท์ อันเป็นการสื่อสารทางคมนาคม ซึ่ง พล.ต.ต.พีระพันธุ์ เปรมภูมิ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี พูดติดต่อสนทนากับนายวิรัช ชินวินิชกูล อดีตเลขานุการศาลฏีกา หรือ "ท่านเจี๊ยบ" และนายไพโรจน์ นวานุช ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ประจำสำนักประธานศาลฏีกา ไปใช้ประโยชน์ในการปราศรัย ของจำเลยทั้งสาม โดยนำเสียงการสนทนาของบุคคลทั้งสาม ดังกล่าวที่ถูกแอบบันทึกไว้ไปเปิดเผยแก่ประชาชน ผู้เข้าร่วมรับฟังปราศรัย ที่จำเลยได้เข้าร่วมกันจัดเวทีปราศรัยที่ท้องสนามหลวงได้รับฟัง อันเป็นการกระทำด้วยประการใดๆ เพื่อใช้ประโยชน์และเปิดเผยข้อความ ข่าวสารหรือข้อมูลอื่นใดที่มีการติดต่อทางโทรศัพท์ หรือที่มีการสื่อสารทางโทรคมนาคม โดยไม่มีอำนาจและโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สำหรับคดีนี้นายจักรภพ เพ็ญแข หลบหนีระหว่างได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ศาลได้ส่งหมายจับไปยังกองบัญชาการตำรวจนครบาล และสำนักงานอัยการสูงสุดอยู่ระหว่างติดตามตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน จึงมีเพียงนายจตุพร เดินทางมาศาลแต่เช้า ส่วนนายณัฐวุฒิ ถูกคอมมานโดกองปราม คุมตัวมาจากกองบังคับการตำรวจพลร่ม โดยศาลนัดพิจารณาตลอดทั้งวันเช้า-บ่าย ด้านอัยการได้เตรียมพยานโจทก์ไว้ 5 ปาก

ทั้งนี้ปากแรกเป็นตำรวจฝ่ายสืบสวนชั้นประทวนสังกัด กองบัญชาการตำรวจนครบาล มาเบิกความในประเด็นว่าได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา ไปสืบสวนหาข่าวในม็อบเสื้อแดง ที่สนามหลวง และพบการกระทำความผิด จากนั้น อัยการจึงเริ่มนำพยานปากพนักงานสอบสวนมาเบิกความ คาดว่าจะใช้เวลาเบิกความ จนถึงเวลา 16.30 น. แล้วอาจจะเลื่อนการพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้เมื่อวานนี้ (3 มิ.ย.) ที่ศาลอาญา มีการนัดสืบพยานคดีดังกล่าว โดยนายจตุพร เดินทางไปร่วมฟังการพิจารณาคดี ขณะที่ทนายความนายณัฐวุฒิ จำเลยที่ 2 แถลงต่อศาลขอเลื่อนการพิจารณาคดีไปก่อนเนื่องจากนายณัฐวุฒิ ถูกควบคุมตัวอยู่ค่าย ตชด. ค่ายนเรศวร อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ในคดีที่เป็นผู้ต้องหาคดีอาญาตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ขณะที่อัยการโจทก์แถลงว่ามีพยานพร้อมเข้าสืบจำนวน 2 ปาก ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าเนื่องจากเป็นการพิจารณาคดีต่อเนื่อง โดยนัดสืบพยานในวันที่ 4 มิ.ย.53 ไว้ล่วงหน้าแล้วนั้น จึงเห็นควรให้โจทก์นำตัว นายณัฐวุฒิ จำเลยที่ 2 มาอยู่ในการควบคุมของศาลอาญา เพื่อการสืบพยานต่อเนื่อง จึงมีคำสั่งเลื่อนการสืบพยานโจทก์ไปเป็นวันที่ 4 มิ.ย.53 ดังกล่าว
ที่มา.ประชาไท
-----------------------------------------------

ไม่ใช่ข้อแก้ตัว

ข่าวสดรายวัน

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ในการลุกขึ้นตอบโต้ฝ่ายค้านระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ชี้แจงเรื่องการตัดสินใจเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงว่า ได้พยายามทำให้เกิดความสูญเสียให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

แต่สิ่งที่รัฐบาลต้องประสบก็คือแรงกดดันจากภายนอกให้เลิกการชุมนุม และมีปัจจัยหลายประการที่คาดไม่ถึงมาแต่ต้น ทำให้สถานการณ์ออกมาดังที่เห็น

ซึ่งรัฐบาลยืนยันความตั้งใจว่าจะแสดงถึงสำนึกของความรับผิดชอบ

ไม่ว่าผลการสอบสวนของคณะกรรม การอิสระที่จะตั้งขึ้นมาออกมาอย่างไรก็จะยอมรับ

คําชี้แจงดังกล่าวอาจน่าเห็นใจและเข้าใจได้ในฐานะของนายอภิสิทธิ์ที่เป็นปัจเจกชน แต่ในฐานะนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล คำชี้แจงดังกล่าวไม่มีน้ำหนักพอแก่การรับฟัง

เพราะสังคมยอมเสียสละทรัพยากรส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจตามกฎหมายหรืองบประมาณ ก็เพื่อให้รัฐสร้างกลไกที่จะป้องกันมิให้เกิดความสูญเสียจากความขัดแย้งในสังคมนั้นเอง

หากไม่ตระหนักหรือขาดประสิทธิภาพเพียงพอที่จะรักษามาตรฐานนี้ รัฐบาลก็พึงพิจารณาตนเองว่าเหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่หรือไม่

ข้อจำกัดหรือแรงกดดันอันเป็นเรื่องปกติธรรมชาติของการทำงาน

มิใช่ประเด็นที่จะหยิบยกขึ้นมาเป็นข้อแก้ตัวได้

เพราะในฐานะรัฐบาลที่กุมอำนาจและกลไกรัฐทุกชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองกำลังติดอาวุธอย่างตำรวจและทหารเอาไว้

การตัดสินใจผิดพลาดตั้งแต่ก้าวแรก จะนำไปสู่ความเสียหายมหาศาลในลำดับต่อๆ มา

ฉะนั้น เมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้นในช่วงต้นของปฏิบัติการ ในขณะที่มีการทักท้วงทัดทานทั้งจากข้าราชการที่ร่วมทำงานอยู่ด้วยกัน ไปจนกระทั่งถึงจากสังคมภายนอก แล้วยังเลือกที่จะเดินหน้าในสิ่งที่ตนเองเชื่อมั่นต่อไป

การแสดงออกถึงความรับผิดชอบกับสิ่งที่ตนเองตัดสินใจ ไม่จำเป็นจะต้องให้มีผู้อื่นมาชี้เท่านั้น

แต่รัฐบาลจะต้องสำนึกและตระหนักเองเป็นเบื้องต้น

สปิริตของผู้นำ..ที่ไม่เคยมี

"ทางเท้า"

...ผมคิดว่าการเรียกร้องให้ผู้นำประเทศได้แสดงความรับผิดชอบที่มากกว่าเพียง กล่าวคำว่า “เสียใจ” ต่อชีวิตของผู้บริสุทธิ์ที่สูญเสียไปนั้น คงมิได้เป็นสิ่งที่เกินเลยไปนัก และหวังอย่างยิ่งว่าผู้คนในสังคมไทยจะได้กันร่วมเรียกร้องความรับผิดชอบดัง กล่าวด้วย เพราะผมเชื่อว่าผู้คนในสังคมของเรานั้นคงมีความตระหนักและมีสำนึกในคุณค่า ของชีวิตมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ในฐานะเพื่อนร่วมแผ่นดินบ้าง..

ผมได้อ่านข่าวใหญ่สองข่าวในห้วงเวลาเดียวกัน ข่าวแรก เรื่องนายยูกิโอะ ฮาโตยามะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการแล้ว ในระหว่างการประชุมสมาชิกพรรคเดโมเครติค พาร์ตี ออฟ เจแปน (DPJ) เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2553 หลังไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องการย้ายฐานทัพของสหรัฐออกไปจากเกาะโอกินาวาตามที่เขาสัญญาไว้ได้โดยการตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งของนายฮาโตยามะมีขึ้นในช่วงระหว่างที่เขากำลังเผชิญวิกฤตศรัทธาท่ามกลางคะแนนนิยมในคณะรัฐมนตรีที่ลดน้อยลง และการตัดสินใจดังกล่าวยังมีขึ้นหลังจากที่พรรคสังคมประชาธิปไตยถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เพราะไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงเรื่องการคงฐานทัพสหรัฐไว้บนเกาะโอกินาวา

อีกข่าวหนึ่ง ได้แก่ ข่าวการประชุมเพื่อการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ของประเทศไทยเรานี่เอง โดยประเด็นสำคัญของการอภิปราย ได้แก่ การตัดสินใจใช้กำลังทหารในการสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ที่มาชุมนุมเรียกร้องให้ยุบสภาและคืนอำนาจให้กับประชาชน ในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้เกิดการสูญเสียชีวิตจำนวน 87 ราย และบาดเจ็บรวมทั้งสิ้น 1,406 ราย (สรุปจำนวนจากศูนย์เอราวัณ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2553 http://www.ems.bangkok.go.th/report/final-1-6-53.pdf ) ตลอดจนการเผาทำลายสถานที่ต่าง ๆในเขตกรุงเทพมหานครและศาลากลางจังหวัดหลายแห่ง โดยผลการลงมติ คือ นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ นายกรัฐมนตรี , นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง รวมทั้งรัฐมนตรีอีกสามราย ทั้งหมดได้รับเสียงโหวตไว้วางใจจากพรรคร่วมรัฐบาล โดยยืนยันที่จะอยู่เป็นรัฐบาลและเดินหน้าแผนปรองดองแห่งชาติต่อไป ซึ่งหลาย ๆ คนคงได้รับทราบข่าวนี้แล้ว

หลังจากอ่านสองข่าวนี้จบ ผมรู้สึกสะทกสะท้อนใจอย่างยิ่งกับภาวะและสำนึกของผู้นำทางการเมืองไทย ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่สร้างความแตกแยกอย่างรุนแรงที่สุดในรอบ 30 ปีของสังคมการเมืองไทยขณะนี้

ผมเชื่ออย่างยิ่งว่า การเป็นผู้นำที่ดีนั้น นอกจากจะต้องมีความรู้ความสามารถในการบริหารประเทศแล้ว สิ่งสำคัญอีกประการนั่นคือ “ความรับผิดชอบ” ในฐานะที่เป็นผู้นำต่อประชาชนด้วย

------------------------------------
รัฐบาลไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินที่เกิดขึ้นนั้นส่วนหนึ่งเกิดจากการตัดสินใจใช้กำลังทางการทหาร ในการสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. หรือที่เรียกด้วยภาษาใหม่ที่สละสลวยกว่าเดิมว่าเป็นการ “ขอคืนฟื้นที่” หรือ “กระชับวงล้อม” ทั้งที่ผ่านฟ้าและราชประสงค์

ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะมีเหตุผลมากมายในการชี้แจงต่อสาธารณชนถึงการตัดสินใจดังกล่าว ไม่ว่าจะเพื่อคืนความสงบสุขให้แก่ประชาชนชาวกรุงเทพ เพื่อลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ เพื่อจัดการกับ “ผู้ก่อการร้าย” หรือ ”กองกำลังไม่ทราบฝ่าย” ที่แฝงตัวอยู่ตามยุทธวิธีแยกปลาออกจากน้ำ เพื่อการปกป้องชีวิตของเจ้าหน้าที่ที่เข้าปฏิบัติการ หรือเหตุผลอะไรร้อยแปดพันประการก็ตาม เหตุผลความจำเป็นต่างๆ ที่รัฐบาลยกอ้างขึ้นนั้นไม่อาจปิดบังหรือลบเลือน “ความจริง” ที่ว่าการดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้มี “ประชาชนผู้บริสุทธิ์” ต้องสูญเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บไปได้

และถึงแม้ว่าการชุมนุมของ นปช. ที่ผ่านมาอาจจะไม่ใช่การชุมนุมที่สามารถพูดได้อย่าง เต็มปากว่าเป็นไปอย่างสงบ สันติ และอหิงสา อย่างที่แกนนำ นปช. ได้เอ่ยอ้างมาตลอดก็ตาม

แต่อย่าลืม....ว่าก่อนหน้าที่จะมีการตัดสินใจใช้กำลังทหารในการขอคืนพื้นที่หรือกระชับวงล้อมนั้น ไม่ได้มีการสูญเสียชีวิตของผู้บริสุทธิ์ด้วยอาวุธสงครามในพื้นที่ของการชุมนุม และไม่ได้มีการเผาทำลายอาคารบ้านเรือนแต่อย่างใด

รัฐบาลไม่สามารถเอ่ยอ้างได้ว่า ความรุนแรงและการลอบยิงระเบิดตามสถานที่สำคัญต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาในช่วงก่อนที่จะมีการตัดสินใจสลายการชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นที่กองบัญชาการทหารบก พล ร. 11 กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม พรรคประชาธิปัตย์ ฯลฯ แม้กระทั่งในเหตุประทะบริเวณสี่แยกคอกวัว เมื่อวันที่ 10 เมษายน และเหตุปะทะบริเวณแยกศาลาแดงระหว่างกลุ่มผู้อ้างว่าเป็นผู้อยู่อาศัยในถนนสีลมกับกลุ่ม นปช. นั้น เกิดจากกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. เพราะแม้ในขณะนี้เองรัฐบาลก็ยังไม่สามารถจับกุมตัวผู้กระทำความผิดดังกล่าวและนำเข้าสู่กระบวนการสืบสวนสอบสวนได้เสร็จสิ้นตามกระบวนการยุติธรรม โดยมีหลักฐานที่ระบุแน่ชัดถึงขนาดที่จะบ่งชี้และเชื่อมโยงได้ว่านั่นเกี่ยวข้องกับการชุมนุมของ นปช.

“ความจริง” ต่างๆ เกี่ยวกับการสูญเสียที่เกิดขึ้นตามข้อมูลหลักฐานที่ปรากฏในสื่อมวลชนและคลิปวิดีโอจำนวนมากที่แพร่หลายในอินเตอร์เน็ต ยังคงสร้างความเคลือบแคลงสงสัยแก่ประชาชนทั่วไป โดยฝ่าย นปช. อ้างว่า ความสูญเสียของประชาชนผู้บริสุทธิ์เกิดจากการที่ฝ่ายทหารได้ใช้กระสุนจริงยิงทำร้ายประชาชน แต่ฝ่ายรัฐบาลอ้างว่า เป็นการกระทำของกองกำลังไม่ทราบฝ่ายหรือผู้ก่อการร้ายที่แฝงตัวอยู่ในการชุมนุมที่ฉกฉวยสถานการณ์ดังกล่าวในการสร้างความวุ่นวายให้เกิดขึ้น ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็มีข้อมูลเพื่อยืนยันและปกป้อง “ความจริง” ของตนเอง ซึ่งผมเคยได้กล่าวไว้แล้วว่า นั่นเป็นเพียงการ “เลือก” หยิบข้อมูลในส่วนที่เป็นประโยชน์และสร้างความชอบธรรมต่อฝ่ายของตนเอง อันเป็นเพียงส่วนเสี้ยวเดียวของ “ความจริง”ทั้งหมด เท่านั้น

หรือแม้กระทั่ง การถูกลอบสังหารของ เสธ. แดง ที่ถึงวันนี้ก็ยังไม่ทราบว่าเกิดจากการกระทำของฝ่ายใด เพื่อหวังผลในสิ่งใดอย่างแน่ชัด และยังจับมือใครดมไม่ได้..

สุดท้าย ”ทฤษฎีมือที่สาม” ก็ยังคงถูกนำมาใช้ประโยชน์สำหรับการอธิบายสถานการณ์ที่ทั้งสองฝ่ายไม่อยากจะรับผิดชอบได้อย่างทรงพลังเสมอ

จึงไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง ที่จะกล่าวอ้างและสรุปว่าเหตุความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำของกลุ่ม นปช. และเพื่อลดการสูญเสียของทุกฝ่ายและปกป้องผู้บริสุทธิ์ จึงต้องนำกำลังทางการทหารและอาวุธจริงมาใช้ในปฏิบัติการดังกล่าว ดังที่นายกรัฐมนตรีและ ศอฉ. ได้แสดงออกผ่านแถลงการณ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่ตัวนายกรัฐมนตรีเองก็ได้กล่าวในแถลงการณ์ว่าทราบดีว่าผู้ชุมนุมส่วนใหญ่นั้นเป็นประชาชนผู้บริสุทธิ์โดยตลอด?

และเหตุการณ์ที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง คือ ได้มีความพยายามจากหลายกลุ่มที่จะสร้างเจรจารอบใหม่ โดยเฉพาะการเจรจาซึ่งนำโดยกลุ่ม สว. กลุ่มหนึ่ง เมื่อคืนวันที่ 18 พฤษภาคม และฝ่ายแกนนำ นปช. ได้ประกาศว่าพร้อมที่ยุติการใช้กำลังและเข้าสู่การเจรจาโดยไม่มีเงื่อนไข แต่ฝ่ายรัฐบาลและ ศอฉ. กลับเลือกตัดสินใจใช้มาตรการทางการทหารเข้าสลายการชุมนุมในเช้าวันที่ 19 พฤษภาคม ซึ่งนำมาสู่ความแปลกประหลาดใจของทุกฝ่าย

ดังนั้น ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม การตัดสินใจของรัฐบาลในครั้งนี้ จึงเป็นการตัดสินใจที่มิได้คำนึงถึงความสูญเสียของชีวิตประชาชนผู้บริสุทธิ์อย่างเพียงพอ..ยิ่งไปกว่านั้นรัฐบาลได้ประเมินหรือไม่ว่าหากดำเนินตามมาตรการดังกล่าวแล้ว อาจนำไปสู่การจลาจลและเผาทำลายบ้านเมืองดังที่ได้เกิดขึ้นซึ่งได้สร้างความตื่นตระหนกและเศร้าสลดใจให้แก่ผู้คนทั้งประเทศ รวมทั้งยังสร้างความโกรธแค้นและย้ำรอยแตกร้าวลึกของสังคมไทยอย่างยากยิ่งที่จะปรองดองได้ตามที่รัฐบาลคาดหวัง..
----------------------------------
จากที่ได้กล่าวมา จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำรัฐบาล จะต้องแสดงความรับผิดชอบจากการตัดสินใจดำเนินมาตรการดังกล่าว ด้วยการประกาศ “ยุบสภา” หรืออย่างน้อยที่สุด คือการ “ลาออก” จากการเป็นนายกรัฐมนตรี

ในแง่นี้ การลาออก อาจไม่ได้เป็นสิ่งบ่งชี้หรือยอมรับว่าสิ่งที่รัฐบาลได้ดำเนินการไปนั้นเป็นความผิดพลาดเสียทั้งหมด แต่นี่คือการแสดงสปิริตของผู้นำประเทศและแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง เพื่อเปิดโอกาสให้มีกระบวนการสอบสวนและตรวจสอบสามารถดำเนินไปได้อย่างปราศจากข้อสงสัยและเคลือบแคลงใจในความเป็นกลาง เพื่อให้ “ความจริง” ต่าง ๆ ได้ปรากฏและเป็นที่ยอมรับได้ของทุกฝ่าย พร้อมทั้งแสดงความบริสุทธิ์ใจในการเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบตามกระบวนการทางกฎหมายในฐานะผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง

และเมื่อนายกรัฐมนตรีได้ประกาศลาออกแล้ว ต่อไปจึงเป็นกระบวนการของรัฐสภาในการสรรหาและเสนอชื่อผู้ที่สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยเปิดโอกาสให้พรรคต่างๆ ได้ตัดสินใจที่จะเลือกข้างจับขั้วจัดตั้งรัฐบาลใหม่อีกครั้งโดยปราศจากแรงกดดันในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลที่ยังคงผลประโยชน์ร่วมกันอยู่ (ซึ่งผมเองก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะมีปาฏิหาริย์ใดๆ ที่จะทำให้พรรคร่วมรัฐบาลของไทยในขณะนี้มีสปิริตทางการเมืองจนถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลเหมือนพรรคสังคมประชาธิปไตยของญี่ปุ่นหรอกนะครับ)

พรรคการเมืองต่างๆ อาจเลือกที่จะจับขั้วกันเช่นเดิมในการจัดตั้งรัฐบาล และรัฐสภาอาจเสนอชื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งก็ได้ ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องที่เกินความคาดหมายใดๆ สำหรับระบบรัฐสภาไทยที่ยังคงยึดติดกับตัวบุคคลและเสียงตอบรับจากประชาชนมากกว่าจริยธรรมทางการเมือง และสิ่งเหล่านี้ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในประวัติศาสตร์การเมืองของไทย ซึ่งกรณีนี้อาจไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองใด ๆ ที่ดำรงอยู่ได้

แต่อย่างน้อย การแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองของผู้นำต่อสาธารณชนในสิ่งที่เกิดขึ้นบ้าง ย่อมดีกว่าการยึดถือว่าตนเองนั้นเป็นฝ่ายที่ถูกต้องเป็นฝ่ายธรรมะและป้ายสีให้อีกฝ่ายเป็นอธรรม แล้วพยายามดำเนินแผนการปรองดองที่ไม่ทางที่จะเป็นจริงได้เลย พร้อมกับลากลู่ถูกังประเทศไปแบบไร้ความรับผิดชอบเช่นนี้
--------------------------------------------

ในวันนี้ ผมคงไม่ถกเถียงถึงความชอบธรรมและความสง่างามของการเข้ามาเป็นรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์อีก ไม่ว่ารัฐบาลนี้จะเป็นผลพวงจากการรัฐประหาร หรือเป็นผลมาจาก” อำนาจพิเศษ” ใดๆ หรือไม่ก็ตาม เพราะผมคิดว่าประเด็นเหล่านี้ย่อมขึ้นอยู่กับมุมมองทางการเมืองที่แตกต่างกันของแต่ละฝ่าย ซึ่งผมเคารพในความคิดของทุกคนทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นเสื้อสีใดที่อาจคิดต่างจากผมไปบ้างก็ตาม

แต่โดยส่วนตัว ผมคิดว่ารัฐบาลนี้ได้หมดความชอบธรรมไปแล้วตั้งแต่ปล่อยให้เกิดเหตุการณ์สูญเสียตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 เมษายน เป็นต้นมา

และผมคิดว่าการเรียกร้องให้ผู้นำประเทศได้แสดงความรับผิดชอบที่มากกว่าเพียงกล่าวคำว่า “เสียใจ” ต่อชีวิตของผู้บริสุทธิ์ที่สูญเสียไปนั้น คงมิได้เป็นสิ่งที่เกินเลยไปนัก และหวังอย่างยิ่งว่าผู้คนในสังคมไทยจะได้กันร่วมเรียกร้องความรับผิดชอบดังกล่าวด้วย เพราะผมเชื่อว่าผู้คนในสังคมของเรานั้นคงมีความตระหนักและมีสำนึกในคุณค่าของชีวิตมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ในฐานะเพื่อนร่วมแผ่นดินบ้าง..

แต่เมื่อมาถึงวันนี้...ผมคิดว่าบางทีสิ่งที่ผมหวังนั้นอาจสูงเกินไป..

ที่มา.ประชาไท
************************************************

ทนายสืบสวนความจริงเหตุปราบผู้ชุมนุมเสื้อแดง เขียนบทความโต้บทบรรณาธิการเดอะ เนชั่น

บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น ชื่อ "ทนายของทักษิณมีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ" ซึ่งเตือนไม่ให้ ศาตราจารย์ เกอธ-แจน อเล็กซานเดอร์ นูปส์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอาชญากรรมสงครามร่วมทีมสืบสวนของทนายความ โรเบิร์ท อัมสเตอดัม โดยในบทบรรณาธิการฉบับนี้บอกว่าทีมทนายของโรเบิร์ทได้รับการจ้างวานมาจากอดีตนายกฯ ทักษิณ อีกทั้งยังกล่าวหาอีกว่าโรเบิร์ท เป็นปากกระบอกเสียงให้ทักษิณและก่อนหน้านี้เคยทำตัวเป็นนักล็อบบี้ที่เรียกตัวเองว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฏหมาย อีกทั้งยังแสดงความเห็นว่าทีมกฏหมายที่เข้ามาสืบสวนพิสูจน์หลักฐานการปราบปรามผู้ชุมนุมเสื้อแดงนั้นไม่น่าจะทำงานด้วยความสุจริต

ในเว็บไซต์ของโรเบิร์ท อัมสเตอดัม ตีพิมพ์บทความตอบโต้ชื่อ "ภาวะล้ำจริง (Hyperreality) ของโฆษณาชวนเชื่อสื่อไทย : โต้ตอบเดอะ เนชั่น" ซึ่งกล่าวถึงการที่เนชั่นพาดพิงถึงตนและนูปส์ โดยชวนให้นึกถึงสื่อไทยที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลที่พยายามสร้างความสมจริงในรูปแบบของตัวเองขึ้นมาและชวนให้คนรับสื่อเชื่อโดยทำให้พวกเขาแยกระหว่างเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับเรื่องแต่งออกจากกันไม่ได้

โดยโรเบิร์ท ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มทนายที่จะเข้ามาสืบสวนการปราบปรามผู้ชุมนุมเสื้อแดงของรัฐบาล เป็นทนายผู้มีชื่อเสียงจากการทำคดีระดับโลก เช่นคดีของบริษัท Yukos-Group MENATEP ในรัสเซีย นิตยสาร เดอะ ลอว์เยอร์ ของอังกฤษเคยจัดอันดับให้โรเบิร์ทติดหนึ่งในร้อยอันดับทนายร้อนแรงของอังกฤษ

ภาวะล้ำจริง (Hyperreality) ของโฆษณาชวนเชื่อสื่อไทย : โต้ตอบเดอะ เนชั่น
บทบรรณาธิการวันนี้ ของหนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น ที่ถูกควบคุมโดยรัฐบาลไทย ได้พาดพิงถึงงานของผมและของเพื่อนผมคือทนาย เกอธ-แจน อเล็กซานเดอร์ นูปส์ นอกเหนือจากการกล่าวหาโจมตี การกล่าวเท็จ และหมิ่นประมาทตามปกติแล้ว ยังมีส่วนพูดถึงเรื่องทางการเมืองอย่างเลวร้ายด้วย บทบรรณาธิการดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายตั้งไว้ล่วงหน้าอยู่แล้วในการลดคุณค่าของผลการสืบสวนเชิงสิทธิมนุษยชนต่อเรื่องการที่รัฐบาลไทยละเมิดกฏหมายอาชญากรรมสงครามในการใช้ความรุนแรงช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมที่ผ่านมา

จริงผมไม่ค่อยเน้นถึงเรื่องพวกนี้เท่าไหร่ เพราะจะทำให้ดูเป็นการจงใจหลีกเลี่ยงการพูดถึงประเด็นที่สำคัญจริง ๆ แต่เรื่องดังกล่าวนี้ชวนให้ไตร่ตรองถึงผู้อ่านต่างชาติ ในฐานะที่มันได้แสดงให้เห็นแนวทางที่รัฐบาลใช้จัดการ การปั่นกระแส (spin) ของข้อเขียนดังกล่าวแสดงตัวตนออกมาอย่างชัดเจน (พวกเขาแม้กระทั่งใช้คำว่า "ชั่ว") [1] แต่น้ำหนักของมันออกไปในทางการหลีกเลี่ยงการพูดถึงประเด็นอย่างการกักขังโดยอำนาจเบ็ดเสร็จ การสังหารโดยใช้ศาลเตี้ย และการใช้กำลังอย่างไม่เลือกเป้าหมายในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมที่ผ่านมา นี่เป็นประเทศที่เพิ่งจะมีประชาชน 88 คนถูกสังหารโดยทหารบนท้องถนนไปหมาด ๆ แต่บรรณาธิการหนังสือพิมพ์กลับใช้เวลาไปกับการโจมตีทนายอย่างเป็นส่วนตัวและด้วยข้อกล่าวหาที่สร้างขึ้นมาเอง เวลาที่เหลือนอกจากนั้นพวกเขาอุทิศให้กับการโจมตี CNN อย่างไม่มีเหตุผล ไม่มีที่ภาพแทนใด ๆ อีกแล้ว ทีจะแสดงให้เห็นธรรมชาติของรัฐบาลเผด็จการทหารได้น่าเศร้าไปกว่านี้

ก่อนที่จะนำเสนอบทบรรณาธิการเช่นนี้ออกมา นักข่าวหลายคนและบรรณาธิการควรหาแหล่งข้อมูลประกอบในเรื่องที่ตั้งคำถาม แต่ผมไม่เห็นมีการติดต่ออะไรเลย ทั้งนูปส์และผมไม่เคยได้รับโอกาสได้แสดงความเห็นกับ เดอะ เนชั่น ซึ่งอาจทำให้พวกเขาได้แสดงออกอย่างชัดเจนเลยว่าจุดประสงค์ของพวกเราคือการแสดงให้เห็นถึงสิทธิโดยพื้นฐานของผู้ชุมนุม นปช. และพิสูจน์หลักฐานความจริงที่ถูกปิดกั้นไว้ กลุ่มเฝ้าระวังอย่างองค์กรนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) และฮิวแมนไรท์วอทช์ ก็เคยวิจารณ์เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนไว้ และการเรียกร้องของพวกเราก็ใกล้เคียงกันมาก พวกเราสนับสนุนอย่างเต็มที่ให้มีการเรียกร้องการตรวจสอบอย่างเป็นอิสระของคณะกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ นาวี พิลเลย์ และยินดีอย่างยิ่งหากมีการช่วยเหลือในการตรวจสอบ

อย่างไรก็ตามพวกเรามีสิทธิโดยชอบธรรมในการสืบสวนอย่างเป็นอิสระ ไม่ว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์จะยอมรับหรือไม่ก็ตาม เมื่อรัฐบาลเผด็จการทหารปฏิเสธข้อเสนอเจรจาของ นปช. โดยไม่มีเงื่อนไขและเมื่อพวกเขาบอกปัดข้อเสนอให้มีตัวกลางในการเจรจา ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่ารัฐบาลนี้ทำตัวเหมือนกำลังซ่อนอะไรบางอย่างอยู่ ผมเป็นผู้เห็นเหตุการณ์คนหนึ่งจากในที่ชุมนุมของเสื้อแดงวันสุดท้าย

พวกเราเริ่มตั้งคำถามเมื่อได้เห็นการโกหกอย่างหน้าด้าน ๆ ของสื่อรัฐ พวกเขากลัวว่าพวกเราจะเจออะไรหรือ? ถ้าหากมีความไม่แน่ชัดเกิดขึ้นมากมายเช่นที่เสียงของคนกลาง ๆ ว่าเอาไว้จริง ดังนั้นจะไปกลัวอะไรกับการสืบสวนข้อเท็จจริงอย่างอิสระ แต่แทนที่จะเป็นแบบนั้นพวกเรากลับได้เห็นอะไรที่ดูเหมือนแสดงออกเกินจริง (Hysteria) จากการที่รัฐบาลพูดเน้นย้ำอย่างออกหน้าออกตาเรื่องความไม่สงบทุกครั้ง เพื่อเบี่ยงเบนไม่ให้ถูกความจริงที่เจ็บปวดทิ่มแทง พวกเขาไม่อาจทนรับกับการถกเถียงอย่างเสรีและเปิดกว้างได้ ทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จ ตั้งแต่เสียงของคนชายขอบที่สุดไปจนถึงทนายความและผู้เชี่ยวชาญ ผู้ที่แค่ทำงานของตนเท่านั้น

แต่ก็โชคดีว่าทุกคนสามารถอ่านข้อเขียนเต็ม ๆ ของบทบรรณาธิการนี้ได้ เพราะไม่มีรัฐบาลเผด็จการที่ไหนมาสั่งปิด โชคดีจริง ๆ ที่ทุกคนได้รับรู้ถึงความบริสุทธิ์ผุดผ่องของพวกกองทัพที่กำลังยิ้มร่าไปกับนักเรียนอ็อกฟอร์ตที่มาเป็นนายกฯ โดยไม่ได้รับการเลือกตั้ง เพราะไม่มีใครเลยที่ส่งข้อความข่มขู่ทนายของเขาและให้ที่อยู่ของพวกเขากับพวกกลุ่มเสียบประจาน จากที่เคยทำงานในรัสเซีย ไนจีเรีย และ เวเนซุเอลลามาแล้ว ผมก็ยังไม่เคยเห็นอะไรที่หยาบช้าเท่านี้มาก่อนเลย

ปัญหาก็คือ พอรัฐบาลเผด็จการทหารควบคุมสื่อและใช้เป็นเครื่องมือปราบปรามแล้ว พวกชนชั้นนำในกรุงเทพฯ ก็เริ่มสูญเสียความสามารถในการแยกแยะระหว่างความจริงที่แท้และสิ่งที่ดูสมจริงอย่างมาก (Hyperreality) [2] พวกเราเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในรัฐสภาเมื่อกรณ์ จาติกวาณิช คนเดียวกับที่เคยปฏิเสธมาตรฐานประชาธิปไตยแบบตะวันตก บอกว่า "ต้องมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นแน่นอน คือการที่กองกำลังติดอาวุธของเสื้อแดงจงใจยิงพวกเดียวกันเองเพื่อใส่ร้ายรัฐบาล" พูดอีกอย่างหนึ่งคือ พวกเราถูกชวนเชื่อว่าเสื้อแดงยิงพวกเดียวกันเอง

ถ้าหากพวกชนชั้นนำกองทัพเชื่อคำโกหกเหล่านี้จริง ๆ พวกเขาจะต้องเตรียมพร้อมอย่างมากในการปกป้องปฏิบัติการของตนเองก่อนจะมีการสืบสวนอย่างอิสระเกิดขึ้น ไม่ต้องพูดถึงเลยว่าพวกเขาจะคืนความน่าเชื่อถือให้ตัวเองได้อย่างไร เมื่อมีการพบเจอหลักฐานจากการปฏิบัติการของพวกเขา



เชิงอรรถ
[1] มาจากประโยค ....Furthermore, Thaksin's hiring of a lawyer (or a team of lawyers) to gather evidence to support his own case is one thing. Even the most evil person has that right....

"...นอกจากนี้แล้ว ทักษิณ ยังได้จ้างทีมทนายเพื่อเก็บหลักฐานสนับสนุนคดีของตัวเขาเอง แม้แต่คนที่ชั่วร้ายที่สุดก็มีสิทธิ์นั้น..."

[2] คำว่า Hyperreality (ไม่มีศัพท์เฉพาะในภาษาไทย) มาจากแนวคิดสัญวิทยาและปรัชญาหลังสมัยใหม่ อธิบายถึงการที่จิตสำนึกของคนเราอยู่ในสภาพไม่สามารถแยกแยะโลกความจริงกับโลกแฟนตาซีได้ โดยเฉพาะในภาวะหลังสมัยใหม่ คำว่า Hyperreality จึงหมายถึงวิธีการที่จิตสำนึกของเราเป็นผู้ให้ความหมายว่าอะไรคือ "ความจริง" ภายในโลกที่มีสื่อมากมายหลายระดับคอยดัดแปลงรูปร่างและกลั่นกรองเหตุการณ์หรือประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริง

Jean Baudrillard นักคิดคนสำคัญของแนวคิดนี้ให้ความหมายของ Hyperreality ไว้ว่า "เป็นการจำลองบางสิ่ง ที่ไม่เคยมีอยู่จริง"
ที่มา.ประชาไท
-------------------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ชาญชัย! นายแน่มาก

การเกาะเกี่ยว จับมือกัน ด้วยผลประโยชน์เฉพาะหน้า คงเป็นได้เพียงความสัมพันธ์ที่เปราะบางเท่านั้น ยิ่งหากเจอความสัมพันธ์ประเภท จ้องหาผลประโยชน์ใส่ตัว จ้องเอาดีใส่ตัวโยนชั่วให้คนอื่น หรือแม้กระจ้องเอาภาพลักษณ์ของอีกฝ่ายมาเป็นยาฟอกขาวให้สังคมเลิกยี้เลิกส่ายหน้า สุดท้ายเมื่อผลประโยชน์ขัดกันก็ยากจะไปด้วยกันได้อย่างราบรื่นแน่ วันนี้แม้ผลการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล อีก 5 คนของพรรคฝ่ายค้าน แม้ว่าจะไม่สามารถชนะโหวตได้ เพราะมีเสียงน้อยกว่า แต่ก็สามารถ

สร้างแรงกระเพื่อมได้เต็มๆ 3 ดอก ดอกแรก ก็คือ ความรู้สึกของสังคม ความรู้สึกของประชาชน จากที่ได้รับฟังข้อมูลอีกด้านหนึ่งจากฝ่ายค้าน หลังจากที่ต้องทนรับรู้แต่ข้อมูลของ ศอฉ. ผ่านทางช่องหอยม่วงเป้นหลักมาระยะหนึ่ง การอภิปรายจึงเป็นเหมือนการเปิดโลกอีกด้าน พลิกเหรียญอีกด้านขึ้นมาให้เห็น...

ซึ่ง ก็ได้พร่ำติงเตือน นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯมาตลอดว่า อะไรที่ยิ่งปิดๆบังๆคนยิ่งอยากดูอยากรู้ และในวันที่ได้รู้ความจริง ก็ให้ระวังไว้ว่า ความรู้สึกมันจะพลิกผัน ส่วนดอกที่ 2 ก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง ก็จะอยู่ในอาการพะอืดพะอม

เนื่องจากตลอดมาจะเห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง ถือเป็นคีย์แมนหลักในการดับเครื่องชนกับการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ไปจนกระทั่งเกิดการสลายการชุมนุม ซึ่งหากสังเกตุให้ดีให้ลึกๆ นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ

ควรจะเห็นอาการของพรรคร่วมรัฐบาล ที่เล่นบท...เชียร์เสียงดัง หน้าแดง แต่แรงไม่ออก... คอยอยู่แต่ข้างหลัง ปล่อยให้นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ไปตายเอาดาบหน้าเพียงลำพัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักการเมืองรุ่นเก๋าอย่างนายบรรหาร ศิลปอาชา ผู้กุมกลไกพรรคชาติไทยพัฒนาตัวจริงนั้น พลิ้ว เต้น ติ๊ดชึ่ง

ไม่ได้ดาหน้าเข้าลุยคนเสื้อแดงเหมือนกับนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพเลยสักนิด พรรคร่วมรัฐบาลก็เลยไม่โดนข้อหามือเปื้อนเลือดเหมือนที่นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพโดนกระหน่ำ นายบรรหาร โดนด่าก็แค่ว่า ปลาไหลอีกแล้ว... ซึ่งก็ไม่ได้สะดุ้งสะเทือนหรือเปลืองตัวอะไร เพราะสังคมนั้นรู้อยู่แล้วว่า นายบรรหารนั้น “ปลาไหลตัวพ่อ”อยู่แล้ว

สำหรับดอกที่ 3 ที่รุนแรงที่สุดก็คือ ผลคะแนนโหวตที่ออกมาแบบไม่รักษาหน้ารัฐบาลเลยสักนิด เพราะถ้านับรวมจำนวนคะแนนของรัฐบาลทั้งหมด ก็คือ 275 เสียง แต่สูงสุดที่ได้คะแนนก็คือนายอภิสิทธิ์ ที่ได้ 246 เสียง น้อยที่สุดก็คือ นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ได้แค่ 234 เสียง

ยังดีนะว่า ไม่ได้นับกึ่งหนึ่งของจำนวนส.ส.ทั้งสภาที่มีอยู่ 475 เสียง ซึ่งจะต้องหมายถึง 238 เสียง แต่ว่านับกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.ที่เข้าประชุม นายโสภณ กับนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงรอดเฉียดฉิว เช่นเดียวกับนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ที่ได้ 239 เสียงก็ผ่านแบบหวุดหวิดเหมือนกัน แต่ผลคะแนนเช่นนี้แหละที่ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลมองหน้ากันไม่ติดทันที เพราะคะแนนสนับสนุนหายยังไม่เท่าไหร่ แต่คะแนนไม่ไว้วางใจยังเพิ่มขึ้นด้วยนี่สิ ทั้งนายโสภณ นายชวรัตน์ และนายกษิต แทบจะเอาหน้าตั้งบนบ่าโดยไม่ต้องหาอะไรมาบิดๆบังๆได้ลำบาก

ก็คะแนนไม่ไว้วางใจนายอภิสิทธิ์ คือ 186 เสียง นายสุเทพ ไม่ไว้วางใจ 187 เสียง แต่นายกษิต โดนไม่ไว้วางใน 190 เสียง ในขณะที่นายชวรัตน์ ถูกไม่ไว้วางใจ 194 เสียง ยิ่งนายโสภณออกทะเลเลย เพราะเสียงไม่ไว้วางใจมีมากถึง 196 เสียง นี่รักษาหน้ากันโดยไม่บวกคะแนนงดออกเสียง และไม่ลงคะแนนเสียงแล้วนะ

ไม่งั้นคงได้หน้าชากันมากกว่านี้อีก คะแนนแบบนี้ไม่แปลกที่ พรรคภูมิใจไทย ที่มีนายชวรัตน์ เป็นหัวหน้าพรรค และมีนายเนวิน ชิดชอบ “ยี้ห้อยร้อยยี่สิบ” ทำหน้าที่เป็นซีอีโอตัวจริงที่ตัดสินใจในทุกเรื่อง แม้ว่าจะถูกศาลสั่งให้เว้นวรรคทางการเมือง 5 ปี ก็ตาม... ต่างพากันเต้นเร่าๆด้วยความคั่งแค้น ยิ่งพบว่า

คะแนนที่ฉีกหน้าภูมิใจไทยให้สังคมได้รับรู้ครั้งนี้ มาจากพรรคเพื่อแผ่นดิน เพราะส.ส.พรรคเพื่อแผ่นดิน ลงคะแนนไม่ไว้วางใจนายโสภณ ถึง 14 เสียง และไม่ไว้วางใจนายชวรัตน์ 10 เสียง คะแนนโหล่เปรตอย่างนายโสภณ ย่อมต้องแค้นจัด ออกมาซัดเต็มๆว่า “ขาดมารยาท” แถมยังขู่ด้วยว่า จากนี้ไปการทำงานร่วมกันในรัฐบาล

แม้ทำได้ แต่คงไม่ราบรื่น... ต้องใส่หน้ากากเข้าหากัน ที่สำคัญทั้งนายเนวิน กับนายชวรัตน์ ถึงกับออกมาขีดเส้นตาย 1 สัปดาห์ ให้นายอภิสิทธิ์ ตัดสินใจเลือกระหว่าง พรรคภูมิใจไทย กับพรรคเพื่อแผ่นดิน... ประกาศชัดกันแบบสิ้นเยื่อใย จะไม่สิ้นเยื่อใยได้อย่างไร เพราะนอกจากจะลงคะแนนไม่ไว้วางใจกันแล้ว

พรรคเพื่อแผ่นดินยังมีความเห็นว่า นายอภิสิทธิ์ ควรจะดึงเอากระทรวงมหาดไทย และกระทรวงคมนาคม ออกมาจากการกำกับดูแลของพรรคภูมิใจไทยด้วย เป็นข้อเสนอทุบหม้อข้าว เผาอู่ข้าวอู่น้ำกันแบบซึ่งๆหน้า จะไม่ให้นายเนวิน และพรรคภูมิใจไทยแค้นจนกระอักเลือดได้อย่างไร ถึงขนาดรู้สึกว่า

ฟ้าอุตส่าห์ส่งให้นายเนวินมากอดเอวนายอภิสิทธิ์กลับมามีบารมีทางการเมืองได้ หลังถีบหัวส่งพรรคไทยรักไทยแบบไม่มีเยื่อใยไปแล้ว อะไรๆก็น่าจะฉลุย แต่ทำไมฟ้าจึงส่งให้ ว่าที่ รต.ไพโรจน์ สุวรรณฉวี แห่งพรรคเพื่อแผ่นดิน มาทำให้สะดุดจนคะมำเช่นนี้ด้วย ทั้งๆที่จริงๆแล้ว นายเนวิน กับ ว่าที่ รต.ไพโรจน์

ก็เคยมีวีรกรรม(ที่น่าจะเรียกว่าวีรเวร)“กลุ่ม 16” ที่โด่งดังในอดีตมาด้วยกันแท้ๆ... แต่ก็กลายเป็นรู้เชิง หรือไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่ จนเมื่อบาดหมางแล้ว ก็เลยไม่มีใครด้อยกว่าใคร แต่ที่แน่ๆงานนี้ นายเนวิน ด้อยกว่าเยอะ เพราะเจอสอนมวยทางการเมืองด้วยคะแนนไว้วางใจบ๊วยและรองบ๊วย แถมไม่ไว้วางใจมากที่สุดแบบนี้...

แต้มต่อในสนามการเมืองหล่นวูบไปเลยในสายตาของสังคม เลือกตั้งเที่ยวหน้าถ้าพรรคภูมิใจไทยไม่เปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนซีอีโอ เปลี่ยนหัวหน้าพรรค ไม่รู้ว่าจะได้สักกี่เก้าอี้ เพราะแผลลึกจากการสลายการชุมนุมในจิตใจของคนในพื้นที่ภาคเหนือภาคอีสาน ก็มีการเอาปูนหมายหัวภูมิใจไทยไว้ด้วยแล้วเช่นกัน

นายเนวิน ซึ่งเก๋าเกมการเมืองอย่างยิ่ง ย่อมรู้ซึ้งถึงสถานการณ์เป็นอย่างดี ถึงได้ขีดเส้นให้นายอภิสิทธิ์ ต้องเป็นฝ่ายวิ่งวุ่นบ้าง ว่าจะเลือกรักใครกอดใคร?? ซึ่งลำพังด้วยประสบการร์การเมืองอย่างนายอภิสิทธิ์ ที่ยังไม่เก๋าเกมพอ ก็ต้องโยนต่อไปให้นายสุเทพ ช่วยเล่นบท เทพประทานให้อีกหน ช่วยเป็นกาวใจระหว่างพรรคภูมิใจไทย

กับพรรคเพื่อแผ่นดินให้หน่อย ลดแรงกดดันได้มากเท่าไหร่ ก็เท่ากับยืดลมหายใจให้กับรัฐบาลได้นานเท่านั้น นายอภิสิทธิ์ จึงได้กำชับนายสุเทพ เร่งประสานงานกับพรรคร่วมรัฐบาลให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว ส่วนจะหมายถึงการตัดสินใจครั้งนี้ ต้องมีพรรคการเมืองหนึ่งพรรค ออกจากการร่วมรัฐบาลหรือไม่ อันนี้น่าคิด

เพราะนายอภิสิทธิ์ เลี่ยงที่จะพูดชัดเจน แต่ออกตัวว่าให้นายสุเทพ ไปคุยให้เรียบร้อยก่อน ว่าจะเอาอย่างไร เนื่องจากลึกๆล้วนรู้ดีว่า ปมคาใจของพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่เฉพาะพรรคเพื่อแผ่นดินเท่านั้น ที่ไม่แฮปปี้กับพรรคภูมิใจไทย ก็เพราะนายเวินนั้นคะนองในเพาเวอร์มากไป จนกดปุ่มทั้งกระทรวงคมนาคม

ได้โปรเจคท์ได้งบประมาณมาอื้อซ่า ในขณะที่พรรคอื่นๆได้น้อยกว่าเยอะ แถมยังกดปุ่มกระทรวงมหาดไทย ข้ามหัวนายชวรัตน์ในเรื่องโยกย้ายแต่งตั้งข้าราชการจนป่วนไปหมด ถึงขั้นข้าราชการในกระทรวงมหาดไทยเสียดสีว่า “ยุคนี้หากใครไม่จบสยาม แล้วไม่ผ่านเนฯ โยกย้ายไม่มีวันได้ดี”

นี่คือบาดแผลลึกในพรรคร่วมรัฐบาล ที่ไม่แน่ใจว่านายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ จะสามารถเยียวยาบาดแผลได้เพียงใด แต่ที่น่าจับตามองก็คือ ในขณะที่ในพรรคภูมิใจไทยแค้นจนเต้นเร่าๆ ในขณะที่นายสุเทพต้องวิ่งพล่านในฐานะผู้จัดการรัฐบาล และนายอภิสิทธิ์ต้องรับเผือกร้อนไปเต็มๆกับการที่ต้องซื้อเวลาให้รัฐบาลไม่ล่ม

หรือไม่ต้องยุบสภาก่อนสิ้นปีนี้ ปรากฏว่า สังคมกลับปรบมือให้ นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน แบบดังสนั่น กับผลการลงคะแนนไม่ไว้วางใจรอบนี้ จนกลายเป็นขวัญใจของคนรักประชาธิปไตยที่แท้จริงไปเลย เพราะก่อนหน้านั้น นายชาญชัย ได้มีการออกมาระบุอย่างชัดเจนว่า ให้เอกสิทธิ์

ส.ส.ในการโหวต หากรัฐมนตรีคนใด ชี้แจงไม่เคลียร์ก็ไม่ต้องโหวตให้ ไม่เพียงเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ แต่ยังเป็นการให้ดุลพินิจในการโหวตตามเนื้อผ้าอีกด้วย ต้องบอกว่างานนี้นายชาญชัย... นายแน่มาก เพราะได้คะแนนไปเต็มๆในสายตาประชาชน
ที่มา.บางกอกทูเดย์
.......................................................

ความจริงอีกด้านของ “คนห่มเหลือง”

โดย.สุรพศ ทวีศักดิ์

ขณะที่คนของรัฐบาลพูดถึงพระที่มาร่วมชุมนุมกับเสื้อแดงเป็นเพียง 'คนห่มเหลือง' อย่างดูแคลน สุรพศ ทวีศักดิ์ ได้ลงพื้นที่ทำวิจัยกับพระสงฆ์ในการชุมนุม ทำให้ทราบว่าพระสงฆ์เหล่านี้มาเพื่อเตือนสติทั้งฝ่ายผู้ชุมนุมและรัฐบาล ย้ำเตือนถึงวิธีการสันติและเมตตาธรรม ขณะเดียวกันก็มีพื้นเพอยู่ใกล้ชิดกับชาวบ้าน เข้าใจปัญหาความไม่เป็นธรรมที่ชาวบ้านได้รับ

เห็นภาพพระสงฆ์ถูกจับมัดมือไพล่หลังติดกับเก้าอี้ (ดูจากหน้า 1 มติชน จะเห็นชัดกว่าดูจากช่อง “หอยม่วง”) ที่ ร.ต.ท.เชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ นำมาใช้ประกอบการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม แล้วรู้สึกหดหู่อย่างบอกไม่ถูก นึกไม่ถึงว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐจะทำได้เช่นนั้น

ในทางกฎหมายเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจะจับกุมผู้กระทำความผิดที่เป็นนายทหารสัญญาบัตรใน “เครื่องแบบ” จะต้องดำเนินการโดยละมุนละม่อม เช่น ไม่ใส่กุญแจมือ ให้มีนายทหารพระธรรมนูญเข้าร่วมฟังการสอบปากคำของเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย เป็นต้น แต่ทหารซึ่งได้รับ “สิทธิพิเศษ” ดังกล่าวนี้ กลับปฏิบัติต่อพระสงฆ์อย่างไม่เคารพต่อ “ผ้ากาสาวพัตร์” ซึ่งชาวพุทธถือว่าเป็นเสมือน “ธงชัยของพระอรหันต์”

จริงอยู่ แม้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติอาจคิดเหมือน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งเป็นผู้ให้นโยบายในฐานนะรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และประธาน ศอฉ.ว่า ผู้ที่ถูกจับกุมไม่ใช่พระเป็นเพียง “คนห่มเหลือง” เพราะหากเป็นพระต้องอยู่ที่วัด ไม่ใช่มาอยู่ในสถานที่ “อโคจร” หรือในที่ชุมนุมทางการเมืองที่มีกลุ่มผู้ก่อการร้ายแฝงอยู่ แต่การปฏิบัติหากไม่เคารพความเป็นพระ ก็ควรเคารพ “ความเป็นมนุษย์” และ “ผ้ากาสาวพัตร์” มากกว่านี้

โดยที่ผู้เขียนได้ลงพื้นที่ทำวิจัยเกี่ยวกับการชุมนุมของพระสงฆ์กลุ่มดังกล่าว ได้ทราบข้อมูลบางด้านจากปากของพระสงฆ์เอง จึงอยากนำเสนอสู่ผู้อ่านเพื่อให้พิจารณาความจริงอีกด้านของกลุ่มพระสงฆ์ที่นายสุเทพพิพากษาว่าเป็นเพียง “คนห่มเหลือง”

พระที่ปรากฏในภาพประกอบการอภิปรายของ ร.ต.ท.เชาวริน ชื่อ พระศรี อริยวังโส จำพรรษาอยู่ที่ธรรมสถานศรีอริยธรรม ตำบลวังเพิ่ม อำเภอศรีชมพู จังหวัดขอนแก่น ท่านมาร่วมชุมนุมด้วยเหตุผลคล้ายกับพระรูปอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากจังหวัดภาคอิสานภาคเหนือ (ภาคกลาง ภาคใต้ก็มีบ้าง และมีพระนิสิตจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ แต่มาเป็นส่วนตัว)

เหตุผลที่คล้ายกันคือ พระในชนบทจะผูกพันกับชาวบ้าน โดยปกติจะมีกิจกรรมหลายอย่างที่กระทำร่วมกัน เช่น งานบุญประเพณี การพัฒนาวัด พัฒนาชุมชน การมีส่วนร่วมปรึกษาหารือปัญหาต่างๆ ของชุมชน ในช่วงกว่าสี่ปีมานี้ปัญหาการแบ่งฝ่ายทางการเมืองไม่ได้มีการสนทนาถกเถียงกันเฉพาะในหมู่บ้านเท่านั้น แต่มีการไปพูดคุยกันในวัด หรือปรับทุกข์กับพระสงฆ์ และพระสงฆ์เองก็ซึมซับปัญหาต่างๆ ที่ชาวบ้านเขารู้สึกกัน เช่น ความไม่เป็นธรรม สองมาตรฐาน ความเหลื่อมล้ำ การสูญเสียสิทธิทางการเมืองที่เลือกรัฐบาลที่เขาชอบนโยบายแล้วต้องถูกล้มไปด้วยวิธีรัฐประหาร ฯลฯ

ฉะนั้น เมื่อเห็นชาวบ้านเดินทางมาเผชิญความยากลำบาก เสี่ยงชีวิตเพื่อทวงความเป็นธรรม และสิทธิอำนาจของตนเอง พระท่านจึงตัดสินใจเดินทางมากับชาวบ้าน โดยเชื่อว่าการมาของท่านจะช่วยเป็นขวัญกำลังใจให้กับชาวบ้าน แต่เมื่อมาถึงสะพานผ่านฟ้า สนามหลวง ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2553 มีพระมาจากที่ต่างๆ กว่า 2,000 รูป จึงมีการจัดเต้นท์ให้พระสงฆ์ส่วนใหญ่รวมตัวกันอยู่ที่สนามหลวง มีบางส่วนอยู่เต้นท์ทางด้านประตูผี และมีการประชุมจัดตั้งกลุ่มของพระสงฆ์เป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มอาสาพัฒนาสันติวิธี และกลุ่มสังฆสามัคคี

มีพระระดับผู้บริหารของมหาวิทยาลัยสงฆ์บางรูป และอาจารย์มหาวิทยาลัยสงฆ์ที่เป็นฆราวาสบางคน มาคอยประสาน ดูแลให้การชุมนุมของพระสงฆ์เป็นไปด้วยความเรียบร้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยข้อตกลงของพระสงฆ์ที่มาร่วมชุมนุมที่สำคัญมี 3 ประการ คือ

1. ต้องการให้สติแก่ทั้งฝ่ายรัฐบาลและกลุ่มผู้ชุมนุม

2. เรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายมีจิตเมตตาต่อกันในฐานะเป็นคนไทยด้วยกัน

3. เรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายไม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน

มีการแสดงออกตามข้อตกลงดังกล่าว เช่น การขึ้นแถลงการณ์บนเวที ไปบิณฑบาตไม่ให้ฝ่ายรัฐบาลใช้ความรุนแรงที่กรมทหารราบที่ 11 ที่แยกราชประสงค์ ที่สี่แยกคอกวัว (ก่อนสลายการชุมนุมวันที่ 10 เมษายน) เมื่อเกิดเหตุปะทะคืนวันที่ 10 เมษายนมีการนำศพไปที่ด้านหลังเวทีให้พระสวดขณะที่เสียงปืนยังดังอยู่ และในเหตุการณ์คับขันที่ผู้ชุมนุมแตกตื่นบางครั้งพระสงฆ์ต้องขึ้นไปสวดมนต์บนเวทีเพื่อเรียกสติกลับคืน ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ในการเคลื่อนไหวไปตามจุดต่างๆ ของกลุ่มผู้ชุมนุม บางครั้งเราได้เห็นภาพของพระสงฆ์บางรูปที่แสดงออกอย่างไม่สำรวม เช่น นั่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ถือตีนตบ ถือเสาธง ฯลฯ แต่นั่นไม่ใช่การแสดงออกตามมติของกลุ่มพระสงฆ์ส่วนใหญ่ (เปรียบเทียบกับสันติอโศก จะเห็นว่าสมณสันติอโศกจะกำกับดูแลให้อยู่ในระเบียบได้ง่ายกว่า เพราะมาจากสำนักเดียวกัน)

ปัญหาว่า พระสงฆ์มาร่วมชุมนุมขัดต่อพระธรรมวินัย และคำสั่งมหาเถรสมาคมหรือไม่? เป็นเรื่องที่ถกเถียงได้ หรือเป็นเรื่องที่องค์กรที่รับผิดชอบจะพิจารณา แต่สำหรับพระสงฆ์ที่มาชุมนุมท่านมองว่า ที่ออกมาชุมนุมไม่ใช่เพื่อผลทางการเมืองที่จะเป็นประโยชน์แก่ตัวบุคคลหรือพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งโดยเฉพาะ แต่มาชุมนุมเพราะเห็นว่าเป็นปัญหาของบ้านเมือง ชาวบ้านที่เป็นคนชั้นล่างเดือดร้อน ไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกเหยียดหยามว่าโง่ เป็นม็อบรับจ้าง ไม่มีอุดมการณ์ ฯลฯ

ท่านจึงเห็นว่าการมาชุมนุมของท่านจะช่วยเป็นขวัญกำลังใจให้คนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นผู้เสียเปรียบ ให้รัฐบาลและสังคมเห็นว่า ปัญหาความแตกแยกของบ้านเมืองจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขด้วยสันติวิธี คือการปฏิบัติตาม “ครรลอง” ของระบอบประชาธิปไตย

แต่ในที่สุดความรุนแรงและสงครามกลางเมืองก็เกิดขึ้น ข้อตกลง 3 ประการ ของพระสงฆ์ที่ออกมาชุมนุมไม่บรรลุผล ทว่าภาพของ “พระสงฆ์ที่ถูกจับมัดมือไพล่หลัง” และคำพิพากษาที่ว่าท่านเหล่านั้นเป็นเพียง “คนห่มเหลือง” ยิ่งสะท้อนทัศนะของฝ่ายผู้กุมอำนาจรัฐที่มองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่า ปัญหาความแตกแยกทางความคิดไม่เพียงแต่สนทนาถกเถียงกันในหมู่บ้านเท่านั้น แต่ถูกนำไปสนทนาถกเถียง ปรับทุกข์ในวัดจำนวนมากในภาคเหนือและอิสาน

“ม็อบพระ” ที่เราเห็นผ่านสื่ออาจไม่น่าเลื่อมใสในสายตาของคนชั้นกลางในเมือง แต่สำหรับคนเสื้อแดง พระเหล่านั้นคือพระร่วมสุขร่วมทุกข์ที่พวกเขานับถือ ภาพของพระที่เดินไปมาในที่ชุมนุมของคนเสื้อแดงไม่ต่างอะไรกับพระที่เดินไปมาในงานวัดทางภาคเหนือ ภาคอิสาน กลมกลืนและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับชาวบ้าน พวกเขานับถือพระเหล่านั้น ทำบุญกับพระเหล่านั้น ผูกพัน ดูแลเอาใจใส่เหมือนเมื่ออยู่บ้านที่จากมา

บางทีเราไม่อาจตัดสินปรากฏการณ์ทางสังคมการเมืองด้วยทัศนะที่ยึดถูก-ผิด ขาว-ดำได้ การจะสร้างความปรองดองเราจำเป็นต้องมองความจริงหลายแง่มุม พระหนึ่งรูปถูกจับกุมราวผู้ก่อการร้าย ทำให้ชาวบ้านอีกเท่าไรที่เจ็บปวด พระคุณเจ้าระดับผู้บริหารของมหาวิทยาลัยสงฆ์ท่านหนึ่งเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า กว่าร้อยละ 90 ของพระนิสิตมหาวิทยาลัยสงฆ์ “มีใจ” ให้กับคนเสื้อแดง เนื่องจากท่านเหล่านั้นมีพื้นเพเดิมมาจากครอบครัวคนชั้นกลางระดับล่างและคนรากหญ้าเป็นส่วนใหญ่

ฉะนั้น ไม่ว่าใครจะเรียกท่านเหล่านั้นว่าเป็น “พระสงฆ์” หรือ “คนห่มเหลือง” ก็ตาม แต่ท่านเหล่านั้นคือพลเมืองของ “รัฐประชาธิปไตย” แสดงออกถึง “ความเป็นมนุษย์” ที่รู้สึกผูกพัน เห็นอกเห็นใจชาวบ้านที่มีปัญหา ยอมเสียสละมาลำบากร่วมทุกข์ร่วมสุขและเสี่ยงตายกับชาวบ้าน หากไม่เห็นด้วยกับการออกมาชุมนุมของท่านเหล่านั้น ก็ควรเปิดใจรับฟังความเห็นของท่านบ้าง

ไม่ควรด่วนตัดสินอย่างหมิ่นแคลน เพราะนอกจากจะทำให้การปรองดองเป็นไปไม่ได้แล้ว ความแตกแยกยิ่งจะขยายกว้าง และร้าวลึกถึงจิตวิญญาณ!
ที่มา.ประชาไท
***********************************************

ยกคำร้อง หมายจับ นปช.ข้อหาก่อการร้าย


ที่มา.Voice TV
*********************************************

ทนายผู้เชี่ยวชาญอาชญากรรมสงครามให้สัมภาษณ์สื่อเนเธอแลนด์

"เลาะรั้วเสื้อแดง" ตอนแรก พาไปคลุกวงในแดงแนวหลังที่ยังคุกรุ่นในแววตา บนใบหน้ายิ้มแย้มแต่แห้งแล้งกับคนต่างสี

"เลาะรั้วเสื้อแดง" ตอนแรก พาไปคลุกวงในแดงแนวหลังที่ยังคุกรุ่นในแววตา บนใบหน้ายิ้มแย้มแต่แห้งแล้งกับคนต่างสี

หากการ "มองไปข้างหน้า" และ "ความร่วมมือร่วมใจ" จะเป็น "เทรนด์" ของคนเมืองช่วงนี้ "ความสงสัย" ก็ถือเป็นอีกกระแสที่คนภูธรกำลัง "อิน" ไม่น้อยไปกว่ากัน

"สายลับหรือเปล่า?" คำถามทำนองนี้มักมีมาฝาก "คนแปลกหน้า" ที่โฉบผ่านมายังพื้นที่สีแดงแถบที่ราบสูง...เสมอ

ฟังดู อาจจะเป็นตลกร้าย แต่มันกลับสะท้อนถึงความรู้สึกข้างในที่ทั้งไม่ปลอดภัยและหวาดระแวง แม้พี่น้องเพื่อนฝูงที่ไปต่อสู้เรียกร้องถึงเมืองกรุง จะกลับมาแล้วก็ตาม

"ข่าวลือ" หรือ "เรื่องจริง"

"มาจากกรุงเทพเหรอ?"

ไม่ทันฟังคำตอบ เจ้าของคำถามก็หันกลับไปบรรเลงเครื่องปรุงตามออเดอร์อย่างคล่องแคล่ว ร้านเล็กๆ ริมข้างทางของ กี (สงวนชื่อจริง) ถึงจะตั้งอยู่เป็นร้านสุดท้ายของหมู่บ้าน แต่ก็มีลูกค้าแวะเวียนมาสั่งอยู่ไม่ขาด เธอ และเชน (สงวนชื่อจริง) สามีมาทำร้านส้มตำอยู่ที่บ้านโคกสี อ.เมือง จ.ขอนแก่น มาเกือบๆ 2 ปีแล้ว

"ถามไปทำไมล่ะ?" รอยยิ้มของกีผุดขึ้นที่มุมปากเมื่อถูกถามถึง "สีเสื้อ" ที่เลือกใส่

หลังสงวนท่าทีฟังคำอธิบายจากคนถาม เธอจึงให้คำตอบแบบภาพรวมว่า แถบอีสานนี้เชื่อขนมกินได้ว่า "แดง" ทั้งบาง

"คนที่นี่ร้อยคนจะมีสักคนที่ไม่ใช่" เชนเปรียบเทียบให้เห็นภาพ

เขายอมรับว่า ความกินดีอยู่ดีเมื่อครั้งรัฐบาลทักษิณ คือความประทับใจที่ทำให้คนส่วนใหญ่ทางนี้ "เลือกข้าง" เมื่อเปรียบเทียบกับภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำลงอย่างเห็นได้ชัดในวันนี้

"เมื่อก่อนราคาวัวขายได้เป็นแสนเลยนะ แต่เดี๋ยวนี้แค่สามหมื่นยังไม่รู้เลยว่าจะมีคนเอาหรือเปล่า" เชนยกบางตัวอย่างขึ้นมาอธิบาย ซึ่งตัวเขายืนยันว่าช่องทางทำกินอื่นๆ ก็ครือกัน

"ตอบพอดีๆ พูดเยอะไปแล้ว" เสียง "แตะเบรก" จากกี และลูกค้าขาประจำของเธอดังขึ้น เตือนให้รู้ว่าคนที่เขาคุยอยู่ด้วยนั้น "แปลกหน้า"

ความคิด มุมมอง กระทั่งทัศนะทางการเมืองดูจะเป็นเรื่อง "ต้องห้าม" สำหรับคนต่างถิ่น ที่เป็นแบบนั้นก็เพราะมีเสียงเล่าลือถึง "สายลับ" ที่ทั้ง "ฝ่ายราชการ" และ "เสื้อสีตรงข้าม" ส่งมา "ล้วงความลับ" กระทั่งสร้าง "ความปั่นป่วน" ในชุมชนก็เคย

"เขาลือกันเยอะว่ามีสายจากทหารเข้ามาหาข้อมูลจับคนที่เคยไปชุมนุม แล้วก็มีฝ่ายตรงข้ามที่เข้ามาปล่อยข่าว หมู่บ้านอื่นเขาเคยมีคนมาเอาข้อมูลไปออกข่าวช่องนั้นไง แล้วก็อะไรอีกสารพัด" เธออธิบาย

เหมือนที่ ไพรรัตน์ โพธิ์เศษ เจ้าของร้านซ่อมมอเตอร์ไซด์ในหมู่ 2 บ้านโคกสี และณี (สงวนชื่อจริง) ภรรยาของเขา เลือกจะส่งรอยยิ้มให้แทนการออกความเห็น หรือไม่ก็ยืนกรานว่า "ไม่รู้เรื่อง ไม่เกี่ยว ไม่เข้าใจ"

สถานการณ์ที่ยังไม่ถือว่า "นิ่ง" หลังคนเสื้อแดงแยกย้ายกลับบ้าน และยังมีข่าวคราวการเคลื่อนไหวแบบ "ใต้ดิน" แว่วมาให้ได้ยินอยู่สม่ำเสมอ ยิ่งทำให้ คำบอกเล่า เข้าเค้าความจริงมากขึ้นเรื่อยๆ

"คนแปลกหน้า" จึงเป็น "ผู้ต้องสงสัย" ทำให้การพูดคุยถูก "รักษาระยะ" ยิ่งเมื่อเข้าประเด็น "การเมือง" คำตอบ รวมทั้งความเห็นโดยทั่วไป หรือถ้าเป็นไปได้ ก็พยายามบ่ายเบี่ยงมากกว่าที่จะตอบ

"จะเป็นนักข่าวจริงหรือเปล่าก็ยังไม่รู้หรอก ถ้าข้อมูลเอาไปทำอย่างอื่นพวกเราก็เสียหาย" กีเปรยขึ้นด้วยรอยยิ้มตามภาษาคนค้าขาย หลังจากมองดู "หลักฐาน" ยืนยันตัวตน ของคนที่กำลังโยนคำถามมากมายใส่เธอ และคำพูดเหล่านั้นแสดงให้เห็นว่า "การ์ด" ของแม่ค้าส้มตำรายนี้ "ยังไม่ตก"

จนกระทั่ง...

"เมื่อกี๊ตอนที่เธอไม่อยู่ ลูกค้าคนหนึ่งเขามาแล้วบอกว่าคุ้นหน้าอยุ่ เหมือนเคยเห็นในทีวี เชื่อแล้วล่ะว่าเป็นนักข่าวจริงๆ"

"นักข่าว" คนนั้นได้แต่ส่งยิ้มตอบกลับ พลางปาดเหงื่อในใจถึง "ส้มหล่น" ที่ไม่ได้เห็นบ่อยๆ โดยเฉพาะสถานการณ์หมิ่นเหม่ต่อความเชื่ออย่างนี้

เปิดใจ "แดงอีสาน"

หากมองย้อนกลับไปถึงเหตุผลในการ "เลือกข้าง" ของชาวบ้านในต่างจังหวัดภาคอีสาน กระทั่งถูกขนานนามว่าเป็น "ฐานที่มั่นเสื้อแดง" นั้น ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องปากท้องที่พวกเขาวัดความรู้สึกจากตัวเองได้เมื่อมีการเปลี่ยนจากรัฐบาลหนึ่งไปเป็นอีกรัฐบาลหนึ่ง

ราคาผลผลิตที่งดงามเมื่อวันวานถูกตัดทอนลงจนรายได้หักลบแทบไม่พอรายรับที่เชนพูดถึงจะกลายเป็นภาพที่จับต้องได้ในความรู้สึกของคนอีสานโดยรวมก็ตาม แต่ผลข้างเคียงจากมาตรการที่รัฐสั่งปิดเคเบิลทีวี และสถานีวิทยุชุมชนเสื้อแดงนั้น ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่ารัฐอยุติธรรม

"เราก็ติดตามบ้าง แต่ก็ไม่ได้ฟันธงอะไรนะ" ไพรรัตน์ เล่าถึงกิจวัตรกับการเปิดรับข้อมูลข่าวสารจาก "สื่อ" ของเขาและครอบครัวก่อนหน้านี้

สิ่งที่กระตุกความคิดของทั้งคู่เริ่มให้เริ่มรู้สึกว่าถูกปิดหูปิดตาจากรัฐบาล ก็คือ การหายไปของเคเบิลทีวี หรือกระทั่งคลื่นวิทยุท้องถิ่น ซึ่งถือว่าเป็นคนพูด "ภาษาเดียวกัน"

"ข่าววันนี้ดูเถอะ ไม่มีความเป็นกลาง ส่วนหนึ่งมันก็อาจจะเป็นอคติส่วนตัวของเราด้วย ตรงนี้เราก็ยอมรับ แต่วันนี้มีการสื่อสารด้านเดียว บางครั้งเราก็ทำใจให้เป็นกลาง ก็พอจะฟังได้นะ ข่าวที่ออกมาข้างเดียว ขณะที่เราอยากรู้ความเห็นจากอีกด้านด้วยก็ไม่มีให้ดู" เขาให้เหตุผล

ธนพงษ์ กองไตร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 บ้านโคกสี เปิดเผยถึงพฤติกรรมการรับสื่อของชาวบ้านทั่วไปว่า คนที่ชอบเสื้อแดงที่มีอยู่กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ในพื้นที่นั้นฟังวิทยุชุมชน และดูเคเบิลทีวีเป็นหลัก

"การปิดสื่อส่งผลมาก เพราะคล้ายๆ รัฐพยายามปิดข่าว คนจะไม่ค่อยทราบเรื่อง ก็ยิ่งเชื่อ ยิ่งเชียร์เสื้อแดงมากขึ้น"
ความนิยมชมชอบอย่างไม่มีข้อสงสัยเหล่านี้ ถูกแสดงออกมาอย่างชัดเจนจนมีเรื่องเล่าทำนองว่า หากเข้ามาออกอาการ "ต่างสี" ในพื้นที่จะต้อง "โดนดี" ทุกรายไป กีเล่าเรื่องแม่ค้าร้านส้มตำรายหนึ่งใน อ.เขาสวนกวางไปแสดงอาการไม่ "สบอารมณ์" เรื่องการชุมนุมของเสื้อแดงที่กรุงเทพฯ อย่างออกนอกหน้า เธอจึงถูกบรรดาลูกค้า (เสื้อแดง) "ล้มโต๊ะ" ด้วยความไม่พอใจ

"คนสีอื่นเขามาที่นี่ได้นะ ไม่มีปัญหา แต่นั่งฟังนิ่งๆ อย่างเดียว" เชนสรุป

ความเหนียวแน่นของมวลชนในพื้นที่สำหรับคนทำงานสื่ออย่าง ชาติชาย ชาธรรมา นายกสมาคมสื่อมวลชน จ.ขอนแก่น วิเคราะห์ว่า เป็นเพราะกลุ่มคนเสื้อแดงกับสื่อค่อนข้างเปิดรับสารจำกัด และสอดรับกับความเชื่อส่วนบุคคลเป็นหลักอยู่แล้ว

"ความชื่นชอบส่วนตัว ทำให้เสื้อแดงรับสื่อเฉพาะทาง คือเคเบิลทีวี และวิทยุของเขาเอง ยิ่งเป็นทีวีสาธารณะที่นำเสนอข้อมูลคนละทาง เขาจะไม่เชื่อ"

ความรักและศรัทธาในตัว "ผู้แทน" ที่ตัวเองลงคะแนนสนับสนุนนั้นจึงกลายการต่อต้านการ "รัฐประหาร" เมื่อ 4 ปีก่อนอย่างชัดเจน และจากคติความเชื่อดังกล่าวจึงทำให้วิธีการตอบโต้ของเหล่า "แดงแนวหลัง" กับสื่อของรัฐจะคล้ายๆ กันทั่วภูมิภาคก็คือ "ถ้าไม่ได้ดู ก็ไม่เชื่อ"

"เขาปิดเรา เราก็ปิดเขา" ณีอธิบายสั้นๆ ถึงการ "เอาคืน" สื่อรัฐที่พวกเขามองว่าไม่เป็นธรรม และไม่เป็นกลาง ซึ่งไม่ต่างกันกับกีและเชนที่มองว่าวิทยุชุมชนให้ความจริงกับพวกเขามากกว่า

"ตั้งแต่มีวิทยุชุมชนยิ่งทำให้ความสนใจของชาวบ้านในเรื่องข่าวสารบ้านเมืองขยายวงกว้างอย่างมาก พอเขามาปิดทีวี ปิดวิทยุ มันก็เท่ากับปิดหูปิดตาประชาชน เรื่องนี้เรายอมไม่ได้ การที่คนออกไปแสดงออกนั่นเขาก็ไม่ได้ทำเพื่อเขาเองหรอก เขาทำเพื่อลูกหลานเขา ทำเพื่ออนาคต ไม่ได้หวังจะได้เงินได้ทองกลับมาหรอก วันนี้เขาทำอย่างนี้กับเราได้ แล้วอนาคตล่ะ ลูกหลานชาวบ้านจะไม่ถูกกดขี่เหรอ" เชนสะท้อนมุมมอง

เสื้อแดง (ไม่มีทาง)แสลงใจ

เสียงฟ้า และเม็ดฝนที่พรั่งพรูลงมาเป็นระยะนั้นได้เปลี่ยนภาพของอีสานที่แห้งแล้งให้ดูชุ่มชื่นขึ้นทันตา และยังช่วยคลายความร้อนของอากาศไปได้บ้าง แต่อุณหภูมิในจิตใจของเหล่า "เสื้อแดง" ไม่ว่าจะ "ทัพหน้า" หรือ "แนวหลัง" ที่กรุ่นอยู่ ยังไม่มีใครรู้ว่าจะเย็นลงได้อย่างไร

"พูดไปก็เท่านั้น เหนื่อย พูดไปมันก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา" ไพรรัตน์ตัดพ้อถึงรัฐบาลในวันนี้

เหมือนกับเสื้อแดงอีกหลายๆ คนที่มองเห็นถึงความไม่ยุติธรรมในการเข้าสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ทั้งไพรรัตน์ และเชนต่างก็ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นล้วน "เกินกว่าเหตุ" และ "สองมาตรฐาน"

"เรื่องอาวุธ มันเป็นการใส่ร้ายเพื่อสร้างสถานการณ์ปราบผู้ชุมนุม มันต้องมีเครือข่าย มีองค์กรชัดเจน ไม่ใช่แบบนี้ คนในนั้นก็มีแต่มือเปล่า ถ้าผู้ชุมนุมใช้อาวุธจริงๆ ทหารยิงเข้ามา เขาก็ยิงสวนแล้ว" ช่างซ่อมมอเตอร์ไซด์เปิดประเด็น

"เรามองการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง มองทางเหลืองมากกว่า ถ้าเหลืองทำได้ แล้วทำไมแดงจะทำไม่ได้" เชนเสริม

ย้อนกลับไปตั้งแต่เริ่ม พวกเขาไม่มีใครคิดว่าเรื่องทั้งหมดจะลงเอยแบบนี้ แม้การเคลื่อนไหวจะเป็นการเรียกร้องเพื่อให้ทักษิณกลับมา แต่จนถึงวันนี้ประเด็นของการเรียกร้อง แนวหลังต่างก็มองว่ามันไปไกลเกินกว่านั้นมาก ถ้าเปรียบเทียบเศรษฐกิจประเทศระหว่างก่อนรัฐประหารและหลังรัฐประหาร ก็ยิ่งเหมือนฉายหนังคนละม้วน ดังนั้นการเคลื่อนไหวในระยะหลังจึงเกิดขึ้นเพื่อประชาธิปไตยของประชาชนเป็นหลัก

ทั้งคนตาย ความวุ่นวายของผู้คน และซากเมืองที่ถูกเพลิงไหม้หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุม ทุกคนต่างยอมรับว่าเสียใจ และไม่เห็นด้วยกับความรุนแรง เพราะไม่เกิดผลดีกับใครทั้งนั้น

"เราก็เสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งๆ ที่ฝ่ายหนึ่งถืออาวุธ แต่อีกฝ่ายหนึ่งมีมือเปล่า แต่การเผาสถานที่ราชการ เผาเมือง ก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีในการตอบโต้ มันก็เป็นแค่ความสะใจชั่วครู่ แต่เราก็ต้องเสียงงบประมาณมาซ่อมแซมดูแลอีกไม่รู้เท่าไหร่" ไพรรัตน์บอก

..............................................

"มันก็เป็นการต่อสู้ที่ไม่จบสิ้นน่ะ ถ้ารัฐบาลทำงานมีประสิทธิภาพ ทำอะไรเด็ดขาด แล้วเห็นผลจริงๆ เศรษฐกิจดีขึ้น ชุมชนก็ดี ปัญหาทุกอย่างมันก็จบ" เชนมองเผื่อถึงทางออก แต่เขาก็เห็นด้วยว่าหากมีการรวมชุมนุมกันอีก คนอีสานส่วนใหญ่ก็พร้อมจะออกไปร่วมอีก

เมื่อชั่งน้ำหนัก และดูปัจจัยแวดล้อม ชาติชายยอมรับว่า แรงกระเพื่อมระลอกสองย่อมจะมีตามมาแน่นอน เพียงแต่รอเวลา และแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงก็พร้อมจะกลับมาอีกครั้ง ทั้งยังมีแนวโน้มแรงกว่าครั้งแรกด้วย

ไพรรัตน์ให้ความเห็นว่าหากไม่ถึงที่สุดจริงๆ มวลชนคงไม่มีทางลุกขึ้นมาเรียกร้องอะไรแบบนี้เป็นอันขาด

"การที่ผลักประชาชนออกไปตรงนั้นได้มันก็ต้องเป็นอะไรที่สุดๆ แล้วนะ ไม่อย่างนั้นเขาไม่ออกไปหรอก"

"สาร" จากฝั่งชาวบ้าน "แดงจริง" จึงเป็นอีกข้อสังเกตหนึ่งที่ควรรับฟัง ถ้าสังคมไทยต้องการ "ความปรองดอง" ที่ "ชัดเจน" และ "ยั่งยืน" อย่างแท้จริง

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
.................................................

วันพุธที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เพื่อไทยเปิดคลิปนอกสภา



พรรคเพื่อไทย แถลงเปิดคลิปเหตุการณ์สลายการชุมนุมวันที่ 19 พ.ค.ต่อหน้าสื่อมวลชนทั้งไทยและเทศ รวมทั้งต่อหน้าญาติผู้เสียชีวิต
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึง การที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคเพื่อแผ่นดินบางคน แสดงสิทธิลงคะแนนไม่ไว้วางใจ และงดออกเสียงให้รัฐมนตรีฝั่งรัฐบาลที่ถูอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมาในครั้งนี้ของพรรคร่วมรัฐบาลนั้น ทางพรรคเพื่อไทยจึงขอให้นายชวรัตน์ ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย , นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ มีความสำนึกทางการเมืองว่า ในวันนี้ขาดความชอบธรรมแล้ว และควรลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง เพื่อเป็นบรรทัดฐานทางการเมืองให้กับคนรุ่นหลังต่อไป

นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า ตนทราบข่าวมาว่าขณะนี้มีการประชุมลับระหว่างพรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัต ย์ เพราะมีผู้มีอิทธิพลนอกสภาของพรรคภูมิใจไทย กำลังบีบให้พรรคประชาธิปัตย์เลือกระหว่างพรรคภูมิใจไทยหรือพรรคเพื่อแผ่น ดิน ซึ่งต้องดูกันต่อไปว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเห็นแก่ผลประโยชน์ทางการเมืองและ พวกพ้องของตน มากกว่าประเทศชาติหรือไม่

ด้านกลุ่มญาติของผู้เสีย ชีวิตทั้ง 36 คนได้เข้ายื่นหนังสือต่อพรรคเพื่อไทย กรณีรู้สึกไม่เป็นธรรม เพราะวันนี้ผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจไปแล้ว แต่รัฐบาลยังคงสามารถบริหารราชการแผ่นดินต่อไปได้ จึงทำให้บรรดาญาติผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บ กลัวว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐบาล ทั้งเรื่องคดีความตามสืบหาข้อเท็จจริง เพราะจนถึงบัดนี้ยังไม่มีความรับผิด ชอบทางการเมืองใดๆ รวมทั้งที่ผ่านมามีผู้ชุมนุมบางคนถูกจับกุม กักขัง และญาติพี่น้องก็ถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ และหน่วยงานความมั่นคง จึงเดินทางมาขอความเป็นธรรมให้ทางพรรคเพื่อไทยเป็นตัวแทน ช่วยติดตามตรวจสอบหาข้อเท็จจริงจากการกระทำของรัฐบาล และกองทัพ

หลังจากนั้นนายพร้อมพงศ์ และทีมโฆษก พรรคเพื่อไทย ก็ได้ทำการเปิดคลิปเหตุการณ์การสลายชุมนุมในวันที่ 19 พ.ค. 53 พร้อมทั้งนำพยานในที่เกิดเหตุคือนายวศันต์ สายรัศมี และน.ส.ณัฏฐธิดา มีวังปลา อาสาสมัครหน่วยพยาบาลมาร่วมอธิบายคลิปวีดิโอและภาพนิ่งแต่ละภาพโดยละเอียด ซึ่งในระหว่างที่กำลังอธิบายนั้น ได้มีสื่อบางสำนักที่มีข้อมูล ทำการโต้แย้งเรื่องข้อเท็จจริงของรูปภาพ และในที่สุดจึงได้ข้อสรุปเป็นที่แน่ชัดว่า ภาพที่เห็นชายผูกผ้าพันคอสีเขียวถูกยิง นอนกางแขนอยู่บนฟุตบาท และอีกภาพมีกลุ่มผู้ชมุนุมผู้ชายประมาณ 4-5 คน เข้าไปช่วย และอีกภาพคือ ผู้ที่เข้าไปช่วย ถูกยิงได้รับบาดเจ็บเช่นกัน โดยทางการ์ดนปช.ผู้ที่เข้าช่วยเหลือพยายามนำศพออกมาด้วยความทุลักทุเล แต่นำออกมาได้เพียง 2 ศพ จากทั้งหมด 4 ศพ แต่เมื่อกลับไปดูที่เกิดเหตุ พบว่าศพที่เหลืออีก 2 ศพได้หายไปแล้ว โดยผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ต่างยืนยันว่า ทหารเป็นคนนำศพออกไป และคาดว่าจะมีอีกหลายศพที่หายไปอย่างเช่นกรณีนี้

พร้อมกันนี้ นายวศันต์ กล่าวยืนยันว่า เวลาประมาณ 18.00 น.เศษ ซึ่งขณะนั้นยังสามารถเห็นทุกอย่างได้ชัดเจน ว่ากลุ่มผู้ชุมนุมส่วนใหญ่หนีเข้าวัดปทุมฯ ก่อนที่ไฟจะไหม้โรงหนังสยาม และอาคารต่างๆ และมีคลิปของช่างภาพอิสระที่ถ่ายภาพอยู่บนยอดตึกของโรงพยาบาลตำรวจยืน ยัน ว่ามีทหารอยู่บนรางรถไฟฟ้าBTSจริง และนำปืนที่เป็นอาวุธสงครามเล็งเข้าไปในวัดปทุมฯ โดยปืนนี้เป็นปืนความเร็วสูงเสียงปืนในคลิปจึงยังไม่ดังมาก แต่คนในวัดปทุมยืนยันได้แน่นอน เพราะเสียงปืนที่ยิงเข้าวัดตลอดเวลานั้น ดังจนทำให้แก้วหูคนแตกได้

ส่วนการที่ทางรัฐบาลยืนยันว่าภาพทหารบน รางBTSนั้น เป็นของวันที่ 20 พ.ค. 53 นายวศันต์ ยืนยันว่าวันที่ 20 พ.ค. 53 มีเจ้าหน้าที่ทหารเดินตรวจบนรางBTSจริง แต่ไม่ได้เล็งปืนและยิงเข้าไปในวัดปทุมเหมือนวันที่ 19 พ.ค. 53 และคลิปที่เปิดในวันนี้สามารถยืนยันได้อย่างแน่นอนว่า ในคลิปมีควันไฟจากการที่ไฟไหม้ตึกในละแวกนั้นจริง ตรงกับที่ทางนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ส.ส.เพื่อไทย จ.แพร่ พยายามนำมาเปิดในระหว่างการอภิปรายฯ

ด้าน นายวรวัจน์ ยังได้ตั้งข้อสังเกตุว่า ถ้าในขณะเกิดเหตุมีกองกำลังทหารพยายามนำผู้บาดเจ็บที่แต่งตัวคล้ายทหารขึ้น รถหุ้มเกราะ เพื่อไปส่งที่โรงพยาบาลจริงอย่างในบางคลิป เหตุใดจริงปล่อยให้มีกลุ่มผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสอยู่ในวัดปทุมฯนอน รอความตาย โดยที่ไม่ทำการช่วยเหลือ และทหารที่เข้าสลายการชุมนุมครั้งนี้มีหน้าที่เก็บศพผู้เสียชีวิตด้วยหรือ เพราะขณะนี้มีข้อมูลการรับแจ้งคนหายจากทางมูลนิธิกระจกเงาแล้วกว่า 45 คน รวมทั้งที่พรรคเพื่อไทยอีก 13 คน วันนี้ทางรัฐบาลจึงควรเลิกใช้สื่อและหน่วยงานของรัฐเป็นเครื่องมือในการโกหก ประชาชน
ที่มา.Voice TV