
Posted by ภีรเดช โกตมวรีสุรนารถ
ที่มา : จลาจลทางปัญญา “เสกสรรค์ ประเสริฐกุล”
ห้วงปี ๒๕๓๗ สมัยที่ผมยังเป็นคณบดีรัฐศาสตร์ เคยมีนักศึกษาปริญญาโทกลุ่มหนึ่งขอให้เปิดวิชาทฤษฎีการเมืองและสังคม ซึ่งพวกเขาจำเป็นต้องเรียนตามหลักสูตร แต่ไม่มีอาจารย์คนไหนอยากสอน
ในฐานะที่ต้องรับผิดชอบชีวิตทางปัญญาของนักศึกษาซึ่งก็เปรียบได้ดัง “ประชาชน” ของมหาวิทยาลัย ผมจึงต้องยอมเหนื่อยเพิ่ม เปิดวิชานี้ให้ลูกศิษย์ได้ร่ำเรียน
ถ้าจำไม่ผิด ช่วงนั้นก็มีการชุมนุมประท้วงรัฐบาล ซึ่งไม่ใช่รัฐบาลอื่นไกลที่ไหน หากเป็นคนหน้าเดียวกับชุดปัจจุบันนี่เอง
เพื่อให้การศึกษาเชื่อมร้อยเข้ากับความเป็นจริงในบ้านเมือง วันหนึ่งผมจึงแกล้งถามนักศึกษาว่าเรามีสิทธิที่จะขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรืไม่?
ปรากฏว่าคำตอบของทั้งห้องเรียนคือ มีสิทธิอย่างแน่นอน
ผมเองได้ฟังความคิดเห็นของลูกศิษย์แล้วยังรู้สึกตกใจ เพราะนี่ไม่ใช่เด็กๆ ที่เพิ่งจบมัธยมมาเรียนต่อปริญญาตรี หากเป็นนักศึกษาปริญญาโทที่มีวุฒิภาวะสูงงพอสมควร ส่วนหนึ่งก็เป็นข้าราชการ ทั้งในสายทหารและพลเรือน
แสดงว่าพวกเขาคงเชื่อในหลักการข้อนี้อย่างแน่นแฟ้นทีเดียว
อย่างไรก็ตามเนื่องจากผมเป็นครู จึงต้องทักท้วงนักศึกษาไม่ให้คิดอ่านสุดขั้วเกินไป ผมบอกกับพวกเขาว่า เราต้องจำแนกระหว่างรัฐบาลเผด็จการกับรัฐบาลประชาธิปไตย ฝ่ายแรกนั้นเราขับไล่เพราะไม่มีทางเลือก ส่วนฝ่ายหลังเรามีวิธีการมากมายในการให้ผู้นำลงจากตำแหน่ง หรือผลัดเปลี่ยนรัฐบาลได้ โดยไม่ต้องทะเลาะกัน
คุณสมบัติวิเศษอย่างหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยก็คือ ให้มีการเปลี่ยนตัวผู้กุมอำนาจได้โดยกระบวนการที่สันติและชอบด้วยกฎหมาย ไม่เช่นนั้นก็ไม่รู้จะมีประชาธิปไตยไว้ทำไม แค่ตั้งกลุ่มรบกัน… ใครชนะเอาอำนาจไปก็หมดเรื่อแล้ว
ครับ…. หลายวันมานี้ ประเด็นที่ผมเคยถามนักศึกษาได้หวนกลับมาในห้วงนึกอยู่เป็นระยะๆ เพราะสภาพบ้านเมืองก็เป็นแบบที่ญาติโยมทั้งหลายเห็นอยู่… มีคนออกมาชุมนุมประท้วงด่าทอรัฐบาล และมีคนของฝ่ายรัฐบาลออกมาตอบโต้อย่างไม่ยอมลดราวาศอกใดๆ
ผมฟังน้ำเสียงจากทุกฝ่ายแล้วก็อดรู้สึกไม่ได้ว่าเรื่องทั้งหมดมันผิดประเด็น โดยเฉพาะทางฝ่ายรัฐบาลนั้น ผมคิดว่าเถียงผิดประเด็นไปอย่างสิ้นเชิง
การที่ผู้ทุกข์ร้อนในสังคมอย่างชาวบ้านปากมูลมาชุมนุมประท้วงอยู่หน้าทำเนียบ ไม่ว่าจะพูดจาอย่างไร หรือใช้อารมณ์แค่ไหน แต่โดยพื้นฐานที่สุดแล้วก็เป็นเรื่องการร้องทุกข์ธรรมดา เพียงแต่ทุกข์มันมาก และที่ผ่านมาไม่ค่อยได้รับการเหลียวแล จึงหันมาใช้รูปแบบของการประท้วง
แต่การประท้วงไม่ใช่การขับไล่ ยิ่งเป็นการร้องทุกข์ยิ่งไม่ใช่ใหญ่
ในกรณีการชุมนุมของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าองค์กรประชาธิปไตยก็เช่นเดียวกัน แม้ว่าจะมีรูปแบบการเคลื่อนไหวที่หวือหวาสักหน่อย แต่เนื้อแท้ของข้อเรียกร้องก็เป็นแค่การยุบสภา ซึ่งไม่ใช่การขับไล่กันแบบอยู่ร่วมแผ่นดินไม่ได้
สำหรับกลุ่มประชาธิปไตยเพื่อประชาชน หรือ ปxป ที่ผมเป็นหัวหน้า ยิ่งไม่ใช่เรื่องขับไล่รัฐบาลแม้แต่น้อย หากเป็นข้อเสนอแนะด้วยเหตุผลและด้วยความสุภาพ ว่าการยุบสภาน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาทั้งปวง
ทั้งหมดนี้ผมไม่คิดว่าเป็นประเด็นความชอบธรรมของรัฐบาล เพราะถ้าหากรัฐบาลไม่มีความชอบธรรมก็คงไม่มีใครมาขอให้ยุบสภาตามอำนาจที่รัฐบาลมีอยู่ และถ้าหากมีความชอบธรรมจริงๆ พวกเราก็คงต้องใช้วิธีอื่นกันแล้ว
เพราะฉะนั้นผมจึงไม่เข้าใจว่าทำไมผู้คนในวงการรัฐบาลจึงต้องออกมาพูดกันเรื่องฐานะความชอบธรรมของรัฐบาลและความไม่ชอบธรรมของฝ่ายประท้วงมากกว่าเรื่องอื่นใด
เช่นบอกว่า เสียงของผู้เสนอให้ยุบสภานั้นเป็นคนแค่หยิบมือเดียว ถ้าจะยุบสภาต้องเอาคนหกสิบกว่าล้านคนมายืนยัน หรือไม่ก็บอกว่าพวกชุมนุมสนามหลวงและหน้าทำเนียบ รับจ้างมาบ้าง ตกเป็นเครื่องมือของพรรคฝ่ายค้านบ้าง อะไรทำนองนี้
และที่แย่ที่สุดก็คือมีการโต้แย้งแถลงข่าวกันแบบรายวัน ในหัวข้อจุกจิกหยุมหยิมสารพัด ราวกับว่าการเมืองเรื่องของชาติมีฐานะเป็นแค่เวทีลำตัด
ผมรู้และผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ก็รู้ว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้น ผิดพลาดอย่างไรก็ยังมีความชอบธรรมทางกฎหมาย (Legal Legitimacy) ในการปกครองบ้านเมือง
แต่ความชอบธรรมที่จะเป็นรัฐบาลกับความสามารถที่จะเป็นรัฐบาลนั้นไม่เหมือนกัน
ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าเป็นคนละเรื่องกับสปิริตและวัฒนธรรมทางการเมือง
จริงอยู่ คนหกสิบสองล้านคนในประเทศไม่ได้ออกมาเสนอให้รัฐบาลยุบสภา และที่ออกมารวมทั้งประเทศแล้วบางทีก็อาจจะยังไม่ถึงหนึ่งล้านเสียด้วยซ้ำ…. แต่ใครเล่าในประเทศนี้ ที่จะสามารถชวนประชากรทั้งหมดออกมาพูดจาพร้อมกันแม้แต่รัฐบาลเองก็เถอะ ผมไม่เชื่อว่ามีปัญญาหามาได้ถึงห้าแสนคน
การพูดถึงคนทั้งประเทศอย่างเป็นนามธรรมนั้น จริงๆ แล้วนับเป็นเรื่องอันตรายสำหรับระบอบการเมืองทุกชนิดอย่าว่าแต่ระบอบประชาธิปไตย เพราะมันทำให้ไม่มีการแก้ปัญหารูปธรรมอย่างเป็นรูปธรรม…. กลุ่มนี้เป็นคนส่วนน้อย กลุ่มนั้นก็หยิบมือเดียว ไล่เรียงไปทั้งประเทศแล้วก็เลยกลายเป็นว่าไม่มีคนส่วนใหญ่ดำรงอยู่เป็นตัวตน
ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม รัฐศาสตร์กับคณิตศาสตร์นั้นเป็นคนละวิชากัน
ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยเต็มรูปมากกว่าเรา บางครั้งแม้รัฐบาลสร้างทุกข์ร้อนโดยไม่เป็นธรรมให้กับราษฎรเพียงคนเดียว ผู้รับผิดชอบก็ต้องลาออกตากตำแหน่ง เนื่องเพราะพวกเขารู้สึกเสียใจ
บางทีดำเนินนโยบายผิดพลาด รัฐบาลก็อาจจะต้องลาออกทั้งชุด เพราะความรู้สึกอับอาย
มันไม่มีหรอกครับที่รัฐบาลประชาธิปไตยจะต้องทำให้คนทั้งประเทศเคียดแค้นก่อน หรือก่อความผิดพลาดให้ครบทุกเรื่องก่อนจึงค่อยแสดงความเสียใจออกมา
ถามว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ผมอาจจะตอบได้ว่านี่เป็นเรื่องของกริยามารยาททางการเมือง ในระบอบที่สอนให้คนเคารพตัวเอง
แต่ถ้าจะให้ผมตอบลึกไปกว่านั้นก็คงต้องบอกว่ารัฐบาลเป็นสถาบันของชาติที่แตกต่างจากพรรคการเมือง แม้ว่าตัวระบบจะอนุญาตให้พรรคการเมืองเข้าไปกุมรัฐบาลได้ แต่ทั้งสององค์กรนี้ไม่เหมือนกัน ที่ว่างสำหรับการทำผิดของรัฐบาลมีน้อยกว่าพรรคการเมืองมาก เพราะเป็นสถาบันที่คนทุกฝ่าย ไม่ว่าโดยส่วนตัวจะสนับสนุนพรรคไหน จำเป็นต้องถือว่าเป็นสถาบันของตน
เรามีพรรคการเมืองหลายพรรค แต่เรามีรัฐบาลแค่หนึ่งเดียว
พูดเช่นนี้แล้ว ผมก็อดหวนนึกถึงความคิดของลูกศิษย์ปริญญาโทไม่ได้ ที่พวกเขาเชื่อว่าการขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นเป็นเรื่องถูกต้องและทำได้ ผมไม่ได้เห็นด้วยกับความคิดของนักศึกษากลุ่มนี้ แต่ก็เข้าใจว่าเพราะอะไรพวกเขาจึงมีความคิดดังกล่าว
คนไทยเราแต่ไหนแต่ไรมานับถือคนอยู่สามประเภทคือนักบวช นักปราชญ์ และนักรบ แต่ยังไม่ค่อยเคยชินกับการนับถือนักการเมือง
นอกจากนี้แล้ว พวกเขายังอยู่ภายใต้การปกครองของระบอบอำนาจนิยมมานาน ไม่พอจะไรก็แสดงออกราวกับว่าระบอบนั้นยังดำรงอยู่ กระทั่งบทสนทนาวาทกรรมก็คล้ายคลึงกับสมัยโกรธรัฐบาลเผด็จการทั้งสิ้น
เช่นนี้แล้วมันจึงขึ้นอยู่กับว่านักการเมืองเองจะทำให้อาชีพตนเป็นที่เคารพยกย่องได้อย่างไร?
เช่นนี้แล้ว มันจึงขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยจะทำให้ประชาชนเห็นชัดว่าแตกต่างจากระบอบเดิมแค่ไหน?
สมัยผมเป็นคณบดีรัฐศาสตร์ เมื่อค้นพบว่าตัวเองไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องอาจารย์ทิ้งการสอนผมก็ลาออกทั้งๆ ที่ไม่มีใครไล่ และถ้าจะอยู่ในตำแหน่งต่อไปจริงๆ ก็มีสิทธิจะอยู่ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย
กล่าวสำหรับข้อเสนอจากกลุ่มต่างๆ ให้รัฐบาลยุบสภาก็เช่นกัน จริงๆ แล้วรัฐบาลจะไม่ยุบก็ได้ และหากอยู่ต่อไปจนครบวาระก็คงไม่มีใครกล้ากล่าวหาว่ารัฐบาลสูญเสียความชอบธรรม
แต่สิ่งที่พรรคร่วมรัฐบาลจะต้องสูญเสียอย่างยิ่ง ก็คือโอกาสในการสร้างประเพณีใหม่ๆ ของการเมืองในระบอบประชาธิปไตย โอกาสในการสร้างศรัทธาสาธารณะให้กับอาชีพนักการเมือง และระบอบการเมืองแบบรัฐสภา
ได้โปรดเถอะครับ….. อย่าส่งใครมาโต้แย้งกับผมในประเด็นนี้เลย |