--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ประชาธิปไตยในมือ “คนอย่างทักษิณ”



ที่มา ประชาไท
นักปรัชญาชายขอบ

ทำไมคุณทักษิณจึงตอบรับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจของสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาที่ยกย่องคุณทักษิณว่าเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเสมอดั่ง ออง ซาน ซูจี?
หากย้อนมองภูมิหลังของเขา เราจะไม่แปลกใจเลย

คุณทักษิณนั้นเป็นบุคคลที่มีคุณลักษณะ (Character) ที่โดดเด่นคือ “ทำทุกอย่างไม่ว่าจะถูกหรือผิดเพื่อให้บรรลุจุดหมายที่ตนต้องการ” เอาแค่ตัวอย่างบางตอน เช่น เขาเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงเมื่อได้รับสัมปทานดาวเทียมไทยคมในยุคที่ รสช.เรืองอำนาจ ซึ่งเราได้ทราบต่อมาว่า พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ประธาน รสช.ในขณะนั้นที่มีส่วนช่วยอย่างสำคัญให้ทักษิณได้สัมปทาน มีทรัพย์สินกว่า 3,000 ล้านบาท

พูดตรงๆ คือคุณทักษิณตีสนิทกับอำมาตย์ หรือใช้อำมาตย์เป็นเครื่องมือเพื่อความสำเร็จทางธุรกิจ แต่ภายหลังขัดแย้งกับอำมาตย์ คุณทักษิณก็แสดงบทของนักประชาธิปไตยที่เป็นหัวหอกในการโค่นอำมาตยาธิปไตยด้วยการเปิดโปง “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ”
ในขณะที่เมื่อแรกเข้าสู่การเมืองคุณทักษิณเลือกสังกัดพรรคพลังธรรม ซึ่งเป็นพรรคการเมืองน้ำดีที่โจมตีนักการเมืองน้ำเน่าอย่างรุนแรง แต่เมื่อพรรคพลังธรรมไม่อาจส่งให้ถึงฝั่งฝันได้ คุณทักษิณก็ตั้งพรรคไทยรักไทยกวาดต้อนอดีต ส.ส.น้ำเน่า หรือพวกเสือ สิงห์ กระทิง แรด เข้ามาอยู่ในสังกัดอย่างหนาแน่น โดยมีเจ้าพ่อวังน้ำเย็นอย่าง นายเสนาะ เทียนทอง เป็นประติมากรปั้นคุณทักษิณให้เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยได้สำเร็จ

จากนั้นเพื่อให้อยู่ในอำนาจยาวนานที่สุด คุณทักษิณก็ทำทุกอย่าง เช่น ควบรวมพรรคหรือให้พรรคการเมืองอื่นๆ ยุบรวมเข้ามาอยู่ภายใต้ชายคาของไทยรักไทย การแทรกแซงองค์กรตรวจสอบและวุฒิสภา การแต่งตั้งนายทหาร ตำรวจรุ่นเดียวกับตนเอง และหรือญาติของตนเองให้มีตำแหน่งคุมกำลังในกองทัพ ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในกระทรวงยุติธรรม เป็นต้น

แต่เมื่อถึงเวลาเพลี่ยงพล้ำทางการเมืองคุณทักษิณกลับเทขายหุ้นชินคอร์ปฯ ไอทีวี และสัมปทานดาวเทียมไทยคมให้ต่างชาติ โดยการขายหุ้นกว่าเจ็ดหมื่นล้านไม่ต้องเสียภาษีแม้แต่บาทเดียว และขายในช่วงเวลาที่แก้กฎหมายขยายเปอร์เซ็นการถือหุ้นของชาวต่างชาติได้สำเร็จเพียงชั่วข้ามคืน

สิ่งที่คุณทักษิณกระทำหลังจากได้ให้สัญญาประชาคมก่อนมาเป็นนายกฯ ว่า “ผมรวยพอแล้ว ชีวิตที่เหลือต้องการทำงานรับใช้พี่น้องประชาชน” และหลังการประกาศ “สงครามกับคอร์รัปชัน” นั้น ผลช่างตรงกันข้าม เพราะการกระทำต่างๆ ข้างต้นนั้นสะท้อนความงกที่ไม่รู้จักพอ และสงครามกับคอรร์รัปชันก็จบลงด้วยมหกรรมคอร์รัปชันจนนำมาสู่การเดินขบวนประท้วงของประชาชนเรือนแสน และการรัฐประหารในที่สุด

แล้ววันนี้คุณทักษิณก็เลือกที่จะอยู่ข้างกัมพูชา หรือเลือกใช้กัมพูชามาอยู่ข้างตนเอง ในสถานการณ์ความขัดแย้งทั้งระหว่างไทย-กัมพูชา และระหว่างทักษิณ-กับรัฐบาลประชาธิปัตย์ อำมาตย์ และคนเสื้อเหลือง ทั้งๆที่รู้แก่ใจว่าการเลือกดังกล่าวอาจเสี่ยงต่อการทำลายความร่วมมือทางเศรษฐกิจของรัฐและภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ หรือแม้กระทั่งเกิดสงครามระหว่างประเทศก็ตาม

จึงยิ่งชัดเจนว่าไม่มีอะไรที่คุณทักษิณทำไม่ได้เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตนต้องการ แต่ประเด็นปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าคุณทักษิณเท่านั้นคือตัวปัญหา ปัญหาอยู่ที่ประชาธิปไตยในบ้านเราตกอยู่ในมือของ “คนอย่างทักษิณ” มานาน และจะยังเป็นเช่นนี้ไปอีกนาน

เพราะความจริงคือทุกฝ่ายที่ปฏิเสธคุณทักษิณ ต่างก็เป็น “คนอย่างทักษิณ” ทั้งนั้น คือเป็นคนที่ทำได้ทุกอย่างไม่ว่าถูกหรือผิดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่ตนต้องการ เช่น ทำรัฐประหารเพื่อประชาธิปไตย ใช้สถาบันกษัตริย์ทำลายศัตรูทางการเมือง อยู่ในสถานะที่กฎหมายห้ามยุ่งการเมืองก็เข้ามายุ่งอย่างไร้ยางอาย โจมตีทักษิณว่าโกหก คอร์รัปชัน ฝ่ายตนก็ทำอย่างเดียวกัน ฯลฯ

นี่อาจเป็นคำตอบว่า ทำไมคุณทักษิณจึงกล้าเสี่ยงที่จะทำอะไรก็ได้เพื่อบรรลุเป้าหมาย แม้กระทั่งเลือกอยู่ข้างต่างชาติหรือใช้ต่างชาติมาอยู่ข้างตัวเอง เพราะจริงๆ แล้วคุณทักษิณอาจประเมินแล้วว่า คนไทยชอบ “คนอย่างทักษิณ” หรือไม่มีตัวเลือกอื่นในทางการเมืองนอกจากต้องเลือกคนอย่างทักษิณ

และเมื่อสังคมนี้หนีไม่พ้นคนอย่างทักษิณ ทางชนะคือเป็นคนอย่างทักษิณให้มันสุดๆไปเลย ไม่ต้อง “เหนียม” อีกต่อไป
คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เป็นคนอย่างทักษิณเช่นกัน จะเห็นได้จากการยอมจูบปากกับเนวินไปตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร และการดำเนินนโยบายแบบยอมงอไม่ยอมหักกับพรรคร่วมรัฐบาล เช่นการให้เช่ารถเมล์ 4,000 คัน และอื่นๆ แต่คุณอภิสิทธิ์เป็นคนอย่างทักษิณแบบดัดจริตว่าตนเองไม่ได้เป็น เมื่อเจอกับคนอย่างทักษิณแบบไม่ต้องดัดจริต คุณอภิสิทธิ์จึงต้องตกอยู่ในฝ่ายตั้งรับที่เจียนจนจะถูกเขี่ยตกเวทีเข้าไปทุกที

ความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศที่กำลังลามไปเป็นความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ จึงเป็นภาพสะท้อนของปัญหาประชาธิปไตยในมือคนอย่างทักษิณ ทุกฝ่ายคือคนอย่างทักษิณ แม้แต่ตัวเราเองที่อ้างว่าไม่สังกัดสีใดฝ่ายใดก็อาจเป็นคนอย่างทักษิณด้วยเช่นกัน

สังคมเราต้องการประชาธิปไตยที่พ้นไปจากเงื้อมมือคนอย่างทักษิณ แต่เราก็ไม่มีทางขจัดคุณทักษิณหรือคนอย่างทักษิณให้หมดไปได้ วิธีคิดตามแผนบันไดสี่ขั้นที่เชื่อว่าไม่มีคุณทักษิณคนเดียวปัญหาทุกอย่างก็จบ เป็นวิธีคิดที่หลอกตัวเองสุดๆ เพราะพวกที่คิดเช่นนี้ก็คือคนอย่างทักษิณที่ดัดจริตว่าตนเองไม่ได้เลวอย่างคุณทักษิณทั้งนั้น

ทางออกคือเราต้องทำความเข้าใจ “คนอย่างทักษิณ” ให้ชัดเจน แล้วร่วมกันคิดว่าจะวางระบบการเมืองอย่างไรที่จะกำจัดจุดอ่อนและส่งเสริมจุดแข็งของคนอย่างทักษิณได้ เลิกพูดว่าระบบเลือกตั้งไม่เหมาะกับสังคมไทย แต่ต้องให้ความไว้วางใจประชาชน

ให้ประชาชนได้มีสิทธิเลือกและเรียนรู้ จนสามารถพัฒนาไปสู้การสร้างพลังอำนาจของภาคประชาชนในการกำกับตรวจสอบ และใช้คนอย่างทักษิณให้ตอบสนองต่อประโยชน์สุขของส่วนรวมมากที่สุด

หรือกระทั่งประชาชนสามารถสร้างสรรค์ประชาธิปไตยด้วยตนเอง ให้เป็นประชาธิปไตยที่พ้นไปจากเงื้อมมือของคนอย่างทักษิณ!

เด็กก็แย่คนแก่ยิ่งไปกันใหญ่


Posted by ภีรเดช โกตมวรีสุรนารถ
รัฐบาลไทยโดยนายกรัฐมนตรีนายอภสิทธิ์ เวชชาชีวะได้สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศปกป้องศักดิ์ศรีและผลประโยชน์ของไทยต่อกัมพูชา โดยกระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการเรียกตัวเอกอัครราชฑูตไทย ณ กรุงพนมเปญกลับประเทศไทย เพื่อตอบโต้กัมพูชาในกรณีที่มีการแต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีประเทศกัมพูชาและรัฐบาลกัมพูชา เพื่อเป็นมาตรการปกป้องศักดิ์ศรีของประเทศไทยและเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทย

ศักดิ์ศรีประเทศไทยในเรื่องนี้คืออะไร? และผลประโยชน์ของประเทศไทยในกรณีนี้เป็นอย่างไร?

การดำเนินการของรัฐบาลกัมพูชาในกรณีนี้โดยนายกรัฐนตรีฮุนเซนนั้นเป็นการ “ตบหน้า” นายอภสิทธิ์ เวชชาชีวะนายกรัฐมนตรีของไทย หลังจากที่นายอภิสิทธิ์ โดนนายกรัฐมนตรีกัมพูชาตบหน้ามาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อก่อนการประชุมอาเซียนที่หัวหิน คราวนั้นเป็นการตบแก้มขวา คราวนี้เป็นการตบแก้มซ้าย สำหรับนายอภิสิทธิ์ ดูเหมือนว่าครั้งนี้คงจะ “เจ็บ” เพราะนายกฯ ฮุนเซน ถนัดขวา จึงคิดหาทางตอบโต้ “นายกฯ ฮุนเซน” ด้วยการเรียกเอกอัครราชฑูตไทย ณ กรุงพนมเปญกลับไทยโดยด่วน
เรื่องนี้จะเห็นว่าเป็นเรื่องของคนสองคน มีบุคคลที่สามที่อ้างถึงคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเป็นประเด็นในการกล่าวอ้าง

เป็นธรรมดาอยู่เองที่หากมีใครมาด่าพ่อล่อแม่เรา เราก็สมควรโกรธหรืออาจเกลียด แต่หากเป็นบุคคลทั่วไปการกระทำที่แสดงออกอย่างมากคือไม่มองหน้าไม่พูดคุยด้วย หรือที่เรียกว่า “ผีไม่เผาเงาไม่เหยียบ” แต่ในกรณีที่คนที่โดนเป็นถึงนายกรัฐมนตรีของประเทศอาการฟาดงวง ฟาดงาจึงมีผลกระทบในการกำหนดนโยบายไปด้วย ข้าพเจ้าเข้าใจและเห็นใจนายอภิสิทธิ์ในกรณีนี้ แต่ไม่เห็นด้วยกับอาการฟาดงวง ฟาดงาที่ได้กระทำการอยู่ในเวลานี้

เมื่อเช้าวันอาทิตย์ (๐๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๒) นายอภิสิิทธ์ เวชชาชีวะจึงได้ออกมาชี้แจงประเด็นนี้ต่อสาธารณะ เพื่อสร้างความเข้าใจต่อประชาชนภายในประเทศ ซึ่งเนื้อหาข้าพเจ้าฟังแล้วต้องบอกว่าการทำความเข้าใจประเด็นนี้ของนายอภิสิทธิ์ เป็นการมา “ฟ้อง” ประชาชนที่รับชมมากกว่าจะเป็นการทำความเข้าใจ และเนื้อหาก็ชัดเจนว่าเรียกคะแนนมากกว่าจะมองได้เป็นอย่างอื่น กรณีนี้คือหาแนวร่วม

นายอภิสิทธิ์จะเจ็บแค้นนายกฯ ฮุนเซนมากขนาดใหน ข้าพเจ้าคงไม่สามารถรับรู้ได้ แต่เท่าที่จับอาการคงจะ “โกรธมาก” เพราะบุคลิกเด็กดื้อที่ใครๆ ก็รู้ของนายอภิสิทธิ์นั้นต้องเอาชนะให้ได้ และหากเอาชนะไม่ได้ก็จะ “แถ” เพื่อหลบที่จะตอบคำถามต่อสังคม ตอนนี้นายอภสิิสิทธิ์ พยายามเอาชนะอยู่ ต่อไปต้องดูกันว่าจะชนะหรือไม่ หากไม่ก็ต้องตามดูว่าจะแถหรือเปล่า?

ประเทศนี้ดำรงระยะเวลามากว่า ๗๐๐ ปีมีเมืองขึ้นและเมืองบริวารมากมาย ขยายอาณาเขตไปจนถึงพม่า กัมพูชาและมาเลเซียในปัจจุบัน แต่ก่อนเราเป็นศูนย์กลางในแถบภูมิภาคนี้ ใครตั้งตนเป็นเจ้าก็ต้องมีบรรณาการมาถวายกษัตริย์ไทยเพื่อเป็นการเจริญสัมพันธไมตรี เราเคยชินในรับบรรณาการมาแต่ใหนแ่ต่ไร และประเทศแถบนี้ก็คิดกันแบบนี้ไปหมดกระทั่งจีน ประเทศหนึ่งอาจเป็นเมืองขึ้นของอีกหลายเมืองก็เป็นได้ เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดี เพราะหากไม่เช่นนั้นประเทศที่ใหญ่กว่าและมีกำลังกว่าย่อมมา “ตี” เพื่อขยายอาณาจักรจของตน หลักคิดนี้มีอยู่ในความคิดของเจ้าผู้ครองรัฐหรือประเทศในอดีตกันทุกคน

แต่ความคิดดังกล่าวก็มลายหายไปเพราะวิวัฒนาการของมนุษย์ก้าวผ่านเวลาในการไปทะเลาะเบาะแว้งเพื่อขยายดินแดน มาเป็นการสร้างความเจริญให้กับประเทศของตน และภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองจบลง เรื่องต่างๆ ก็เป็นอันยุติ รวมถึงอาณาจักรไทยด้วย

แต่ก็มีหลายคนในปัจจุบันที่หลงยุคคิดว่าประเทศอื่นต้องบรรณาการตน ไม่เช่นนั้นถือว่าเป็นศัตรู รัฐบาลไทยโดยนายอภิสิทธิ์ในเวลานี้ก็กำลังคิดว่ากัมพูชา “แข็งเมือง” จึงได้พยายามดำเนินการเพื่อตอบโต้กัมพูชาให้กำหราบจำ เพราะประเทศไทยในเวลานี้หากมองกันในแง่ความสามารถทางเศรษฐกิจนั้นมีสูงกว่ากัมพูชา และเขตเศรษฐกิจของไทยก็ใหญ่กว่ากัมพูชาหลายเท่า พูดง่ายๆ คือกัมพูชาต้องพึ่งไทยมากกว่ที่ไทยจะต้องพ่งกัมพูชา

การเรียกเอกอัครราชฑูตไทยกลับประเทศนั้น เพื่อกดดันนายกฯ ฮุนเซน ให้ทบทวนการกระทำที่ได้ทำลงไปแล้วและข้พเจ้าก็เห็นว่าอาจจะได้ผล เพราะนายอภิสิทธิ์ กำลังรุกคืบการกดดันด้วยการ “ขู่” ว่าไทยจะพิจารณาในเรื่องการลงทุนและการตกลงทางการค้ากับกัมพูชาใหม่ และกำหนดเป้าหมายทั้งหมดใหม่

นายกฯ ฮุนเซนคงอ่อนข้อให้นายอภิสิทธิ์ เพราะนายกฯ ฮุนเซนรู้ว่าเสียเปรียบและรู้ว่าบทบาทที่ตนเองควรเล่นในตอนนี้นั้นต้องรักษาผลประโยชน์ของประชาชนชาวกัมพูชา โดยเฉพาะการค้บริเวณชายแดนไทยกัมพูชา เพราะหาไม่แล้วประชาชนกัมพูชานั่นแหละที่จะเป็นคนมากดดันนายกฯ ฮุนเซนอีกที

เรื่องต่างๆ ต้องดูักันต่อไปเพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ ข้าพเจ้าได้อ่านบทความของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ว่ารัฐบาลไทยพร้อมแล้วหรือที่จะรบกับกัมพูชายืดเยื้อ ซึ่งข้าพเจ้าเห็นด้วยในประเด็นนี้ แต่ข้าพเจ้าไม่คิดว่านายอภิสิทธิ์จะทำสงครามกับกัมพูชาเพราะกรณีนี้ เพราะนี่เป็นการ “ฟาดงวง ฟาดงา” ของนายอภิสิทธิ์เท่านั้น

แต่ต่อไปนี้นี่แหละสำคัญ เพราะหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร หากนายอภิสิทธิ์กดดันนายกฯ ฮุนเซนได้แล้ว นายกฯ ฮุนเซนจะทำอย่างไร? หากถามนายอภิสิทธิ์ก็ต้องได้คำตอบว่าไม่ใช่เรื่องของตนให้ไปถามนายกฯ ฮุนเซน นายกฯ ฮุนเซนอาจไปกราบบังคมทูลสมเด็จเหนือหัวแห่งกัมพูชาให้ตราพระราชกฤษฎีกายกเลิกประกาศอันเก่าก่อนหน้า แล้วทุกอย่างก็กลับมาปกติสุขเหมือนเดิม?

มันเป็นไปไม่ได้ไม่ว่ากรณีใด รัฐธรรมนูญไทยกับกัมพูชานั้นคล้ายกัน คือกษัตริย์กับการเมืองนั้นแยกกัน แต่รายละเอียดนั้นข้าพเจ้าไม่ทราบแต่ก็คงเหมือนกันอยู่บ้างในหลักการ และหากเรามองย้อนในมุมกลับ เกิดวันดีคืนดีนายอภิสิทธิ์แต่งตั้งนายฟีเดล คาสโตรอดีตประธานาธิบดีคิวบาเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลและของนายกรัฐมนตรีไทยเพราะคิดว่ามีความรู้ความสามารถ โดยใช้เกณฑ์เดียวกันกับกัมพูชานั่นคือต้องตราพระราชกฤษฏีกา ให้กษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และอีกเช่นกันสหรัฐอเมริกาบอกว่าจะทบทวนความสัมพันธ์ทางการฑูตและการค้ากับไทยใหม่นายอภิสิทธิ์จะทำอย่างไร?

ที่ถามนี่รู้คำตอบว่านายอภิสิทธิ์จะต้องบอกว่า “เป็นไปไม่ได้ ตนจะไม่ทำอย่างนั้น ถึงสมมติก็เป็นไปไม่ได้” แต่ข้าพเจ้าก็ยังคงถามต่อไป

มาตรการต่อไปของนายอภิสิทธิ์นั้นคงจะกดดันนายกฯ ฮุนเซนต่อไปคือทำทุกอย่างให้มันอึมครึมเข้าไว้ แต่คงไม่ถึงขั้นปิดด่านเพราะจะกระทบคะแนนจากพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของบริเวณชายแดน นายอภิสิทธิ์สามารถทำได้อย่างมากก็แค่ขอร้องนักพนันชาวไทยให้กลับตัวกลับใจเลิกเล่นการพนันยังบ่อนกัมพูชาและหันหน้ามาช่วยกันพัฒนาประเทศชาติบ้านเมืองให้เจริญรุดหน้าทันชาวโลก

ทั้งหมดนี้คือเรื่องจริง และเรื่องจริงจะจบลงได้ดีกว่านี้หากนายอภิสิทธิ์คิดถึงผลกระทบต่อประชาชนและประเทศชาติ “จริงๆ” ตามที่ได้ระบุไว้ในแถลงการณ์ เพราะหากนับนิ้วมือข้อได้ข้อเสียแล้ว ไม่มีใครได้อะไรเลยกับการกระทำครั้งนี้ของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ นายอภิสิทธิ์อาจโยนเรื่องนี้ไปให้อดีตนากฯ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรว่าเป็นตัวต้นเรื่องของเรื่องทั้งหมด ซึ่งนายอภิสิทธิ์สามารถคิดแบบนั้นได้ เพราะมันง่ายที่สุดที่จะคิดแล้ว แต่อย่าลืมว่าตนเองเป็นรัฐบาลของประเทศไทย การกระทำทุกอย่างต้องตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่าผลประโยชน์ของประชาชนต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง หากการกระทำใดๆ ทำลงไปแล้วประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไรก็ไม่สมควรทำ

ข้าพเจ้าขอยกคำของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์มาอ้าง “ดังนั้นอยากให้รัฐไทยมองกัมพูชาเท่ากับเรามองสหรัฐฯ หรือจีนได้หรือไม่? ไม่ต้องมองเป็นลูกน้องที่จะต้องยอมเราตลอด เพราะว่าหากเรามองตามความจริงแบบนี้ จะำทำให้เรากลับมาคิดว่าเราจะต้องวางแผนอย่างไรกับเรื่องที่เกิดขึ้น และจะต้องทำอย่างไรถึงจะไม่เสียเปรียบกัมพูชา เพราะหากรัฐไทยยังมองกัมพูชในทัศนคติเช่นนี้ ก็ไม่แน่ใจว่ารัฐไทยจะสามารถรักษาผลประโยชน์ของรัฐไ้ทยได้หรือไม่?”

เรื่องของศักดิ์ศรีนั้นเป็นเรื่องใหญ่ข้าพเจ้าเห็นด้วยและยอมรับ แล้วเรื่องของประชาชนล่ะ “เรื่องใหญ่” หรือไม่?

ความสัมพันธ์ของคนเรานั้นใช้เวลาไม่นานเราก็หักสะบั้นมันลงได้ แต่หากเราจะสร้างมันขึ้นมานี่ต่างหากเป็นเรื่องยาก หากจำประเทศซาอุดิอาระเบียได้ก็จะรู้ว่าเรื่องราวมันยากเย็นขนาดใหน

ถึงเวลาหรือยังที่คนใหญ่คนโต “ตัวจริง” จะคุยกันในเรื่องทั้งหมดนี้ หรือจะให้มันแบบนี้ “เด็กก็แย่ คนแก่ยิ่งไปกันใหญ่”

สัมภาษณ์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ: “ตอนนี้เป็นคนไทยกี่ฝ่ายที่ต่อสู้กัน ขณะที่กัมพูชาเหลืออยู่ฝ่ายเดียว”


ประชาไท : ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ประเมินความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา จะกลายเป็นความรุนแรงภายในประเทศไทยเองเพราะการตอบโต้ระหว่างขั้วการเมืองในไทยทีรุนแรงทั้งฝ่ายทักษิณและอภิสิทธิ์ ขณะที่ภาพลักษณ์ประเทศไทยกำลังตกต่ำในเวทีโลกพร้อมฉุดให้อาเซียนกลายเป็นตัวตลก ติงสื่อใช้วาทกรรมชาตินิยมแบบเก่า

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ผู้บุกเบิกโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นสถาบันที่มุ่งสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจประเทศเพื่อนบ้านของไทยในภูมิภาคอุษาคเนย์ ให้สัมภาษณ์ประชาไทถึงกรณีความขัดแย้งระหว่างไทยและกัมพูชา ซึ่งชาญวิทย์แสดงความวิตกกังวลว่า จะบานปลาย ขณะเดียวกันมีแนวโน้มว่าความรุนแรงจากความขัดแย้งจะขยายวงเป็นความรุนแรงในประเทศไทย เพราะขณะนี้ ไทยแตกเป็นหลายฝ่าย ขณะที่กัมพูชาไม่มีฝักฝ่ายทางการเมืองผนวกกับการเมืองระหว่างประเทศคงไม่สนับสนุนความขัดแย้งในภูมิภาคอาเซียน


ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
และผู้ก่อตั้งโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มธ.


จากกรณีความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชา ไทยใช้มาตรการรุนแรงเกินไปหรือไม่ และจะเกิดผลกระทบอย่างไร
ในเบื้องต้นผมคิดว่าการเรียกทูตกลับนั้นรุนแรงเกินไป เพราะมีมาตรการอื่นๆ ทางการทูตที่ยังทำได้ก่อนขั้นตอนเรียกทูตกลับ ดังนั้นในเบื้องต้น เรื่องนี้ถูกทำให้เป็นการเมืองภายใน ที่เริ่มต้นจากการเมืองภายในประเทศไทยเอง คือระหว่างคุณอภิสิทธิ์ กับคุณทักษิณ ซึ่งขยายไปเป็นการเมืองระหว่างประเทศ แล้วก็เป็นมาตรการซึ่งมองแต่ทางด้านของการเมือง โดยไม่เอาเรื่องเศรษฐกิจมาพิจารณา และไม่เอาเรื่องภูมิภาคมาพิจารณาด้วย คือ อาเซียน ดังนั้น ผมก็มองว่าทุกอย่างถูกทำให้เป็นการเมืองไปหมด

เราไม่ได้มองถึงผลเสียหายระยะยาวที่ตามมา ผมคิดว่าในกรณีนี้เป็นการใช้ชาตินิยมแบบเก่ามาใช้ในบริบทที่มีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว

ในขณะนี้ขนาดของการลงทุนในกัมพูชามีมากมายมหาศาลเป็นจำนวนเงินกว่าพันล้านบาท และมีการลงทุนขนาดใหญ่มากๆ ตังแต่บริษัทใหญ่ๆ เช่น ปูนซีเมนต์ ธนาคารไทยพาณิชย์ โรงแรมขนาดใหญ่ก็ดี ไล่ลงมาถึงระดับกลาง ประเภทโรงงานอุตสาหกรรม หรอธุรกิจการค้า จนกระทั่งระดับเล็กน้อยที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนโดยคนระดับเล็กๆ

ผมว่านี่เป็นสถานการณ์ใหม่ ที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในอดีต ความขัดแย้งเรื่องเขาพระวิหารใน พ.ศ. 2505 ไม่มีบริบทพวกนี้เลย แต่ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปมาก


อาจารย์มองบทบาทของสื่อไทยต่อกรณีนี้อย่างไร
สื่อตกอยู่ในวาทกรรมชาตินิยมเดิม เป็นชาตินิยมเก่า ผมว่าการมองเรื่องนี้เป็นเรื่องเกียรติภูมิศักดิ์ศรีของประเทศนั้นเป็นวิธีการมองแบบเก่า เป็นการมองแบบการเมือง แต่ไม่ได้มองมิติทางเศรษฐกิจ หรือความร่วมมือในภูมิภาค

ผลการประชุมที่ประเทศญี่ปุ่น พบว่าทั้งญี่ปุ่นและสิงคโปร์ แม้แต่เลขาธิการอาเซียน คุณสุรินทร์ พิศสุวรรณ ก็แสดงความวิตกกังวลและเป็นห่วงเป็นใย ซึ่งความขัดแย้งครั้งนี้จะกระทบต่ออาเซียน ทำให้องค์กรอาเซียนกลายเป็นตัวตลกไป เพราะนี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลังเมื่อประชาคมอาเซียนมีกฎบัตรอาเซียนได้ไม่นาน ภาพของไทยต่อโลกในฐานะเป็นประเทศใหญ่ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองสูงก็จะตกต่ำในวงการระหว่างประเทศ

เมื่อมองในแง่นี้ ในเบื้องต้นผมคิดว่าประชาธิปัตย์ได้แต้มในตอนแรก ในแว่บแรกดูเหมือนเป็นมาตรการที่คนทั่วไปพอใจ แต่ระยะยาวเมื่อมีผลกระทบรุนแรง ผมไม่แน่ใจ มันอาจจะพิสูจน์ได้เมื่อมีการเลือกตั้งอีกครั้ง และผลสำรวจความคิดเห็น หรือโพลล์ก็จะเปลี่ยนในเวลาอีกไม่นาน ผมดูจากคอลัมน์ต่างๆ ในหนังสือพิมพ์ภายในเวลาสองวันเสียงติติงก็เริ่มเกิดขึ้นแล้ว

ฝ่ายไทยจะลดระดับความขัดแย้งนี้ลงได้หรือไม่ อย่างไร
ต้องพยายามไม่ให้เรื่องบานปลาย แล้วไม่ให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องที่บานปลายไปถึงเรื่องของความมั่นคง แต่จากการสังเกตผมคิดว่า ทหารของทั้งสองประเทศยังไม่เล่นด้วย ผู้นำทหารทั้งสองฝ่ายยังไม่ลงมาเล่นในเกมนี้ ไม่ว่าจะเป็นท่าทีของกองทัพบกฝ่ายไทย หรือกระทรวงกลาโหมของกัมพูชาก็ดี แต่นี่ก็เป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจมากว่าในการเมืองระหว่างเหลืองแดง สีเขียวยืนอยู่ตรงไหน

กลับมาประเด็นที่ว่าในที่สุดแล้ว ถ้าเราประเมินจริงๆ ถามว่านี่เป็นมาตรการที่รุนแรงเกินไปหรือไม่ และจะบานปลายหรือไม่ ผมเห็นว่าเป็นอย่างนั้น

แต่ในขณะนี้ทางนายกรัฐมนตรีไทยยังมีท่าทีแข็งกร้าว และยืนยันว่าเป็นปัญหาที่ทางกัมพูชาสร้างขึ้นกัมพูชาก็ต้องแก้ไข
เขาก็ต้องพูดอย่างนั้น ผมคิดว่าคุณทักษิณและคุณชวลิตเล่นแรง และคุณอภิสิทธิ์ก็เล่นแรงตอบ ก็ต้องแปลว่าเกมนี้เข้าทางประชาธิปัตย์หรือเข้าทางทักษิณ ผมคิดว่าเบื้องต้นประชาธิปัตย์อาจจะได้คะแนน แต่เราสามารถฟังธงได้ไหมว่าชาตินิยมเก่าที่ใช้กันมาประมาณ 100 ปีจะได้ผล ถึงจุดนี้ชาตินิยมแบบที่เรารู้จักอยู่กับที่หรือกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนใหม่ ชาติคืออะไรและเป็นของใครกันแน่

ผมเชื่อว่าปัญหามันใหญ่โตและรุนแรงมาก ฝ่ายคุณอภิสิทธิ์จะแรง และคุณทักษิณและคุณชวลิตก็แรง ก็จะนำไปสู่การขัดแย้ง การนองเลือดหรือจลาจลในที่สุด ความเสียหายจะมีมาก


อาจารย์มองว่าความรุนแรงจะเกิดขึ้นในประเทศไทยมากกว่าจะเป็นความรุนแรงระหว่างประเทศอย่างนั้นหรือ
ตอนนี้เป็นคนไทยกี่ฝ่ายที่ต่อสู้กันขณะที่กัมพูชาเหลืออยู่ฝ่ายเดียว การ์ตูนเกาเหลาชามเล็ก (หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 6 พ.ย. 2552 ) พูดได้ชัดเจนมากว่าคนไทยคงลืมไปแล้วว่าเมื่อตอนที่เขมรแตกเป็นหลายฝ่ายนั้น คนไทยสนับสนุนเขมรแดงอย่างลับๆ อยู่หลายปี ตอนนี้เราก็ต้องเผชิญกับเขมรที่สนับสนุนไทยแดง

สำหรับความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชานั้น เนื่องจากกรณีความขัดแย้งครั้งนี้มีตัวแปรมาก ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น จีน ซึ่งยังคงให้การสนับสนุนความร่วมมือการลงทุนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ล่าสุดหลังการประชุมที่ญี่ปุ่นก็อนุมัติความช่วยเหลือการลงทุนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงกว่าสองแสนล้านบาท นี่ยังพอทำให้อุ่นใจว่า การเมืองระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ภูมิภาคอาเซียนก็ดี จีน ญี่ปุ่น หรือสหรัฐอเมริกาก็ดี คงจะไม่ให้ความร่วมมือด้วย ปัญหาก็ไม่น่าจะบานปลาย สิ่งที่ผมคิดว่าน่าวิตกก็คือการใช้กำลังทางทหาร แม้ว่าโดยอาวุธยุทโธปกรณ์ของไทยอาจจะเหนือกว่ากัมพูชา แต่เราไม่พร้อมที่จะรบในระยะยาว และไม่พร้อมหากจะต้องรบแบบสงครามกองโจร

สิ่งที่รัฐบาลไทยทำจะไม่มีผลบีบบังคับกัมพูชาเลยหรือ
สิ่งที่ฮุน เซน ทำเหมือนกับเป็นการวางแผนอย่างยืดยาวทีเดียว เพราะฉะนั้นแปลว่า ก็คงไปบีบกัมพูชายากมาก เอาเข้าจริงแล้ว คนที่รู้ประวัติศาสตร์สักหน่อยก็จะรู้ว่าปกติไทยมักจะเข้าไปแทรกแซงการเมืองภายในกัมพูชา แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่กัมพูชาเข้ามาแทรกแซงการเมืองภายในของไทย โดยมีลาวและเวียดนามเป็นพันธมิตร นี่เป็นครั้งแรกในมิติประวัติศาสตร์ เพราะจากประวัติศาสตร์ ที่เรียกว่า ‘อันนัมสยามยุทธ์’ ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่จะเห็นศึกระหว่างเวียดนามกับไทยที่พยายามเข้าไปแทรกแซงการเมืองกัมพูชา โดยต่างฝ่ายต่างต้องการให้คนของตัวได้เป็นจักรพรรดิ ในตอนนี้ กัมพูชาเข้ามาแทรกแซงการเมืองที่แตกแยกของไทย ก็แสดงว่าไทยนั้นแตกแยกกันเหลือเกิน

ผมคิดว่าเราต้องไม่ปล่อยสถานการณ์ดำเนินไปอย่างนี้ ต้องช่วยกันกระตุก หยุดยั้ง โดยเฉพาะสื่อมวลชน ซึ่งต้องทำการบ้านให้มากทีเดียวคือการเห็นสถานการณ์แล้วก็ใช้ Common Sense (สามัญสำนึก) มาวิเคราะห์นั้นทำไม่ได้แล้ว ต้องทำการบ้านหนัก ต้องรู้ประวัติศาสตร์ และการเมืองระหว่างประเทศด้วย

วันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

“มาร์ค”สะดุด เกมแห่ง”โอกาส”


ข่าวสด : แม้ว่าเซียนเศรษฐกิจจะชี้ตรงกันว่า ขณะนี้ เศรษฐกิจโลก รวมถึงเศรษฐกิจไทย ได้ผ่านจุดวิกฤตที่สุดไปแล้ว

ต่อไปนี้คือการฟื้นตัวของประ เทศใครประเทศมัน

จะช้าหรือเร็วขึ้นกับปัจจัยต่างๆ รวมถึง “กึ๋น” และ “ฝีมือ” ของแต่ละรัฐบาล

ในแง่ของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แม้แนวโน้มเศรษฐกิจ เป็นปัจจัยอันเป็นคุณ หรืออาจจะเรียกว่า “ตัวช่วย” อย่างดี

นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาแล้ว มีการโหวตให้ประเทศไทยเป็นเมืองน่าเที่ยวและคุ้มค่าระดับท็อปของเอเชีย

แต่การจะขยายปัจจัยที่ดี ให้เป็นผลสำเร็จที่ชัดเจน ยังมีอุปสรรคขวากหนามกองโตมโหฬาร ตั้งขวางทางอยู่

เรียกว่ามีโอกาส มีจังหวะ แต่ยิงไม่ได้ เพราะสถานการณ์จริง ไม่เหมือนฟุตบอลกระชับมิตร ที่มีตัวช่วยป้อนลูกให้ทำแฮตทริก

แต่ชีวิตจริง มีด่านสกัดที่เล่นเสียบเอาถึงตาย ทั้งภายนอกรัฐบาล ภายในพรรคร่วมรัฐบาล และภาย ในพรรคประชาธิปัตย์ด้วยกันเอง

ในขณะที่นายกฯอภิสิทธิ์เอง ก็เดินหมากผิดพลาด

ตั้งแต่ความโน้มเอียงไปทางกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิป ไตย ในขณะที่สีเหลืองสีแดง ยังไม่ยุติการเผชิญหน้า

การข่าวผิดพลาดอย่างรุนแรง ทำให้ตัดสินใจผิดพลาดจากการแต่งตั้งผบ.ตร.

กลายเป็นปัญหาสั่นสะเทือนอย่างลึกซึ้ง ข้ามปีงบประมาณ เดินหน้าไม่ได้ถอยหลังก็ไม่ได้

บุคคลสำคัญในพรรคประชาธิ ปัตย์ อย่าง นายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ ต้องลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการนายกฯ

ขณะที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ก็ออกอาการเหน็ดหน่ายกับหัวหน้ารัฐบาลเต็มที

จากนักการเมืองต้นทุนสูง ที่หลายฝ่ายในสังคมให้การสนับสนุน ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป

หลังจากดิ้นรนหาทางแก้ไขปัญหามาพักใหญ่ แต่ไม่เป็นผล

ขณะนี้ เริ่มมีกระแสข่าวจากภายในรัฐบาลว่า นายอภิสิทธิ์จะตัดสินใจยุบสภาในต้นปีหน้า 2553 นี้

จุดแข็งของนายอภิสิทธิ์ คือเรื่องการต่างประเทศ ซึ่งทำให้เสียงคุยโม้ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่าตัวเองเป็นบุคคลที่ต่างประเทศซูฮกยกนิ้ว ต้องเงียบเหงาไปหลายเดือน

ก่อนจะกลับมาอีกครั้ง โดยประกบคู่มากับสมเด็จฮุนเซน

จุดแข็งของนายอภิสิทธิ์ กลายเป็นเป้าถล่มของฮุนเซนและพ.ต.ท.ทักษิณ

ตีไปที่ความอ่อนไหวต่อการยั่วยุของนายอภิสิทธิ์ และได้ผลระดับหนึ่ง

โดยเฉพาะกรณีล่าสุดคือการที่สมเด็จฮุนเซน มีประกาศ ตั้งพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวและที่ปรึกษา ประเทศกัมพูชา

ไทยใช้มาตรการแข็งกร้าว เรียกทูตกลับ เข้าทางกัมพูชาซึ่งเรียกทูตกลับเช่นกัน

ในครั้งนี้ เหตุเกิดก่อนที่นายอภิสิทธิ์จะไปราชการ ต่างประเทศครั้งสำคัญ ซึ่งจะเป็นไฮไลต์ในแง่ข่าวของรัฐบาลในห้วงเดือนพฤศจิกายน

คือไปเยือนญี่ปุ่น ไปประชุมผู้นำเอเปกที่สิงคโปร์ และเป็นประธานการประชุมผู้นำอาเซียน กับประธานาธิบดีบารัก โอบามา

คล้ายๆ ก่อนหน้านี้ การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ชะอำ-หัวหิน ถูกบดบังด้วยเกมการเมืองจากสมเด็จฮุนเซนและพ.ต.ท.ทักษิณ

ครั้งนี้ เป็นจุดตกต่ำสุดอีกครั้งของความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา

ปัญหาไทย-กัมพูชาในครั้งนี้ แยกไม่ออกจากความเคลื่อน ไหวของพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และพ.ต.ท.ทักษิณก็จริง

แต่พล.อ.ชวลิตและพ.ต.ท.ทักษิณ ถือเป็นศัตรูทางการเมืองของรัฐบาล แม้จะไปจับมือกับผู้นำต่างประเทศ ก็ยังถือเป็นปัญหาการเมืองระหว่างรัฐบาล

การจะนำเอาชื่อประเทศไทยไปตอบโต้ ยกฐานะบุคคลเหล่านี้เป็นศัตรูของประเทศ จะต้องใคร่ครวญอย่างรอบคอบ

อาจจะต้องผ่านกระบวนการให้ความเห็นชอบของตัวแทนประชาชน โดยนำเข้าหารือในสภาด้วยซ้ำ

แม้จะมีโพลระบุว่า ประชาชนสนับสนุนการตัดสินใจของนายอภิสิทธิ์ แต่รัฐบาลจะต้องพิจารณาปัญหาทั้งหมดจากผลประโยชน์ของประเทศไทยทั้งประเทศ ไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลเท่านั้น

รัฐบาลที่ดี นอกจากจะต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับชาติมหาอำนาจ ชาติห่างไกล เพื่อนร่วมทวีปแล้ว

กับเพื่อนบ้านที่มีรั้วติดกัน ต้องคุยกันให้รู้เรื่องยิ่งกว่า

เพื่อประโยชน์ในการทำมาหา กินและไปมาหาสู่ของประชาชน และเพื่อเป็นพลังต่อรองร่วมกันของชาติจากภูมิภาคเดียวกัน

หากประโยชน์นี้เสียไป ก็ย่อมหมายถึงความเสียหายทางการเมืองของผู้นำรัฐบาลนั่นเอง

ในขณะที่จุดอ่อนของรัฐบาลนับวันยิ่งขยายใหญ่

จุดอ่อนของรัฐบาลผสม คือความ ขัดแย้งทางด้านผลประโยชน์ที่แตกต่างกันอยู่แล้วโดยพื้นฐาน

เพียงแต่ตอนที่มาจับมือร่วมกันตั้งรัฐบาล ปัญหานี้จะถูกเก็บซุกไว้ก่อน แต่จะค่อยๆปรากฏตัวออกมา และเพิ่มความรุนแรง แล้วแต่ความสามารถในการบริหารจัดการของพรรคแกนนำ

เวลาผ่านไป 10 เดือน สภาพที่เรียกกันว่า “เตะจานข้าว” ในวงรัฐบาล เพิ่มความถี่มากขึ้นเรื่อยๆ

ตั้งแต่เรื่องรถเมล์ 4 พันคัน ที่แม้จะอนุมัติแล้ว แต่พรรคแกนนำรัฐ บาลก็ตั้งเงื่อนไขวางยาเอาไว้

มาจนถึงเรื่องมันสำปะหลังในกระทรวงพาณิชย์ การหยุดเดินรถของสหภาพแรงงานการรถไฟฯ ที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์กับพรรคภูมิใจไทยงัดข้อกันอย่างรุนแรง

การกลับจากแคนาดามาสู่คุกไทยของนายราเกซ สักเสนา จำเลยระดับคีย์แมนของคดีธนาคารบีบีซี ที่เคยมีกลุ่ม 16 เป็นลูกค้ารายใหญ่ ก็สร้างบรรยากาศหวาดระแวงขึ้นภายในพรรครัฐบาล

ความแตกแยกในพรรคร่วมรัฐ บาล ผูกประสานกันไว้อย่างหลวมๆ ด้วยโอกาสในการเป็นรัฐบาล

มีอำนาจสั่งราชการ มีอำนาจสั่งใช้งบประมาณแผ่นดิน

ประกอบกับความไม่พร้อมที่จะเลือกตั้งในเร็ววัน เพราะพรรคเพื่อไทยยังครองความได้เปรียบในสนามเลือกตั้ง

ทำให้ต้องอยู่กันแบบวันต่อวันไปก่อน

ขณะที่ภายในพรรคประชาธิปัตย์เอง ก็เกิดความแตกร้าวจากความไม่พอใจวิธีการนำ วิธีการบริหารของนายอภิสิทธิ์

สภาพจึงกลายเป็นว่า นายอภิสิทธิ์ยังดำรงสถานะผู้นำอยู่ได้ ไม่ใช่เพราะผลงานหรือความนิยม

แต่เพราะทุกฝ่ายมีศัตรูร่วมคือพ.ต.ท.ทักษิณ หากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์มีอันเป็นไป ก็จะเข้าทางพ.ต.ท. ทักษิณ

เกมในขณะนี้ จึงได้แก่การเร่งรัดเผด็จศึก จากอดีตผู้นำในแดนไกลอย่างพ.ต.ท.ทักษิณ

ขณะที่ขั้วรัฐบาลตั้งรับอย่างสะเปะสะปะ

วันเสาร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

แถลงการณ์ฉบับแปล(ไทย)โดย จักรภพ-คลิปเสียงการให้สัมภาษณ์"ไทย-กัมพูชา"


แถลงการณ์ฉบับแปล(ไทย)โดย จักรภพ-คลิปเสียงการให้สัมภาษณ์"ไทย-กัมพูชา"
โดย : Nangfa

เมื่อ เวลา 19.30 น. ของวันศุกร์ที่ 6 พ.ย. 52 เว็บไซต์คนไทยยูเค โดย DJ. Shanamy ได้ขอสัมภาษณ์สด "คุณจักรภพ เพ็ญแข" ในประเด็นวิเคราะห์การเมืองที่กำลังเป็นข่าวสั่นสะเทือนไปทั่ว ทั้งในไทยและต่างประเทศ เกี่ยวกับเบื้องหลังการแต่งตั้ง "พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร" เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวของนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ควบตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลแห่งชาติ... ซึ่งหลายท่านคงได้รับฟัังสดๆ กันแล้วทางสถานีวิทยุออนไลน์ของคนไทยยูเค หรือ www.konthaiuk.com

Nangfa เห็นว่าการให้สัมภาษณ์มีประโยชน์ จึงขอนำประเด็นโดยย่อ คำแปลแถลงการณ์ของกัมพูชา ที่แปลความโดย "คุณจักรภพ" เอง และคลิปเสียงการให้สัมภาษณ์ตั้งแต่ต้นจนจบ มาใส่ไว้ให้ได้อ่านและโหลดฟังกันค่ะ

ประเด็นโดยย่อ เรื่อง "ไทย-กัมพูชา" ในวันศุกร์ที่ ๖ พ.ย. ๒๕๕๒

- การยกเลิกความตกลงเกี่ยวกับการสำรวจน้ำมันและพลังงานในอ่าวไทยที่นายกษิตฯ ประกาศ ถือเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งของฝ่ายประชาธิปไตย รัฐบาลอภิสิทธิ์และฝ่ายอำมาตย์พยายามติดสินบนกัมพูชาด้วยเรื่องนี้ โดยแลกกับการเลิกคบและงดให้ความช่วยเหลือกับนายกทักษิณในทุกด้าน แต่กัมพูชากลับแต่งตั้งนายกทักษิณสู่ตำแหน่งที่ปรึกษาสำคัญถึง ๒ ตำแหน่ง เท่ากับปฏิเสธการลวงล่อของรัฐบาลไทยและย้ำจุดยืนทางการเมืองของตัวเอง

- ตำแหน่งทั้งสองเรียกเป็นทางการว่า:
๑. Personal Advisor to Prime Minister of the Kingdom of Cambodia หรือ ที่ปรึกษาส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา
๒. Advisor to the Royal Government in charge of economic affairs หรือ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลแห่งชาติ
- การแต่งตั้งนี้เป็นพระราชกฤษฎีกาที่ลงพระนามโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสีหโมนี ตั้งแต่เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๒
- กัมพูชาใช้ประกาศเดียวกันยืนยันว่านายกทักษิณเป็นผู้บริสุทธิ์ และถูกกล่าวโทษเอาผิดต่างๆ เพราะการเมืองหลังรัฐประหาร พ.ศ.๒๕๔๙ รัฐบาลของเขาจึงเห็นว่าเป็นเรื่องสมควรและมีประโยชน์ที่จะเชิญนายกทักษิณเข้ามาช่วยบริหารราชการแผ่นดินของกัมพูชา และประกาศแต่งตั้งดังกล่าว พูดง่ายๆ คือทั้งสองเรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวกันในทัศนะของกัมพูชา

คำประกาศนี้ไม่มีเสียงคัดค้านจากฝ่ายค้านหรือฝ่ายใดๆ ในกัมพูชาเลย...

แถลงการณ์ของกัมพูชาเรื่องแต่งตั้ง "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" (ฉบับแปลจากภาษาอังกฤษ)

แปลโดย คุณจักรภพ เพ็ญแข

เนื่องมาจากเหตุการณ์ในวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๒ ที่เกี่ยวข้องกับ ฯพณฯ พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ผู้นำไทยส่วนหนึ่งได้แสดงปฏิกิริยาอย่างต่อเนื่องบนบรรทัดฐานของสนธิสัญญาส่งตัวระหว่างกัมพูชาและไทยว่า จะร้องขอให้มีการส่งตัวอดีตนายกรัฐมนตรีไทยกลับ หากเดินทางเข้ามายังกัมพูชา สำนักอัยการสูงสุดของไทยได้ยกประเด็นขึ้นว่าทางราชอาณาจักรกัมพูชามีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธคำขอดังกล่าว แต่ต้องอธิบายความและให้เหตุผลอันสอดคล้องกับหลักปฏิบัติระหว่างประเทศ ในอีกกรณีหนึ่ง รองนายกรัฐมนตรีของไทยกล่าวว่าไทยมีสิทธิ์ที่จะขอให้ส่งตัวคุณทักษิณกลับไทยตามหลักการของสนธิสัญญาส่งตัวระหว่างกัมพูชาและไทย ตลอดจนหลักกฎหมายระหว่างประเทศ (แหล่งข่าวจาก: เอเอสทีวี เมเนเจอร์ ออนไลน์ ที่ขึ้นข้อความข่าวนี้เมื่อ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๒ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ที่ตีพิมพ์เมื่อ ๒๗ และ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๒ และในหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นเมื่อ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๒)

หลังได้พิจารณาประเด็นดังกล่าวแล้ว รัฐบาลกัมพูชาขอตั้งข้อสังเกตต่างๆ ดังนี้:

๑. โดยมาตรา ๓ แห่งสนธิสัญญาส่งตัวระหว่างกัมพูชาและไทยที่ลงนามในกรุงเทพมหานครเมื่อ ๖ พฤษภาคม ๒๕๔๑ และให้สัตยาบรรณพร้อมประกาศใช้ในพระราชบัญญัติที่ N CS/RKM/0799/08 ลงวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๔๒ ผู้ได้รับการร้องขอคือกัมพูชาสามารถพิจารณาได้ก่อนว่า กรณีของคุณทักษิณเป็นเรื่องการเมืองหรือไม่

๒. อ้างถึงกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะมาตรา ๓ ในอนุสัญญายุโรปเกี่ยวกับการส่งตัว ที่ลงนามใช้เมื่อ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ และมาตรา ๓ ของต้นแบบสนธิสัญญาส่งตัวในกรอบองค์การสหประชาชาติเมื่อ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๓๓ การส่งตัวจะกระทำมิได้เลยภายใต้เงื่อนไข ๒ ประการต่อไปนี้:

a. หากคดีความอันเป็นเหตุให้เกิดข้อเรียกร้องส่งตัว มีลักษณะเป็นคดีการเมืองตามความเห็นของประเทศที่ได้รับการร้องขอ

b. หากประเทศผู้ถูกร้องขอมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าการขอให้ส่งตัวเป็นไปโดยจุดประสงค์เพื่อเอาผิดหรือลงโทษกับบุคคลนั้นๆ ในเรื่องที่เกี่ยวกับเชื้อชาติ สัญชาติ เผ่าพันธุ์ ทัศนะทางการเมือง เพศ ศาสนา หรือสถานภาพทางสังคม จนบุคคลนั้นๆ อาจถูกตัดสินอย่างมีอคติได้

๓. นอกจากนั้นแล้ว เพื่อเน้นหลักปฏิบัติระหว่างประเทศให้ชัดเจนขึ้นอีก โฆษกรัฐบาลขอยกกรณีตัวอย่างจำนวน ๒ กรณีจากคดีที่มีอยู่มากมายและเป็นที่รับรู้ทั่วไปในระดับระหว่างประเทศ นั่นคือคดีระหว่างญี่ปุ่นและเปรู และคดีระหว่างอังกฤษและรัสเซีย ญี่ปุ่นได้ปฏิเสธคำขอของเปรู และอังกฤษก็ได้ปฏิเสธคำขอของรัสเซีย บนหลักการว่าคำร้องขอทั้งสองกรณีนั้นเกี่ยวข้องกับการเมือง

ในกรณีของ ฯพณฯ ทักษิณ กัมพูชาเห็นว่ามีเหตุทางการเมืองอย่างชัดแจ้งในการโค่นผู้นำผู้นี้ลงจากตำแหน่งด้วยการรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ในขณะที่ท่านอยู่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ที่องค์การสหประชาชาติ คดีความมากมายที่ตามมาหลังจากนั้น รวมทั้งการตัดสินลงโทษต่อตัวท่านทั้งสิ้น ล้วนเป็นเรื่องการเมืองทั้งสิ้น

จากข้อพิจารณาทางกฎหมายดังกล่าวทั้งหมด และโดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศทั้งมวล เราจึงขอย้ำอย่างเด็ดขาดว่า ไม่ว่าจะในกรณีใดๆ ก็ตาม ราชอาณาจักรกัมพูชาจะไม่ส่งตัว ฯพณฯ ทักษิณกลับตามคำร้องขอจากประเทศไทย ไม่ว่าในขณะที่ท่านตัดสินใจเข้ามาพำนักหรือเดินทางผ่านกัมพูชาไปยังประเทศอื่นๆ ก็ตาม เพื่อให้เป็นไปตามความในพระราชกฤษฎีกาที่ NS/RKT/1009/1018 ลงวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๒ ที่ได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งท่านเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวของสมเด็จฮุนเซ็นผู้เป็นนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา และเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจของรัฐบาลแห่งชาติกัมพูชา

โฆษกรัฐบาลขอแสดงเจตนารมย์ด้วยว่า รัฐบาลกัมพูชาจะไม่เปลี่ยนแปลงท่าทีในการธำรงรักษาความสัมพันธ์อันดีและความร่วมมือในทุกๆ ด้าน ระหว่างราชอาณาจักรกัมพูชาและราชอาณาจักรไทย การเชิญ ฯพณฯ ทักษิณ มายังกัมพูชา เกิดจากความตระหนักในธรรมเนียมโบราณของเราที่ว่า “เพื่อนในยามยาก คือเพื่อนยากที่แท้จริง” (“a friend in need is a friend in deed”)

กรุงพนมเปญ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๒

เขมรยันไทยยกเลิก MOU ที่ทับซ้อนทะเลไม่ได้


นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ซึ่งอยู่ในระหว่างการปฏิบัติภารกิจที่ประเทศญี่ปุ่น ว่า จากกรณีที่รัฐบาลไทยได้ประกาศท่าที่ทบทวนพันธกรณีต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับฝ่ายกัมพูชาในช่วงที่ผ่านมา ขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศได้ทบทวนแล้ว 1 เรื่อง คือ บันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อน ฉบับวันที่ 18 มิถุนายน 2544 ซึ่งทำในสมัย รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

นายกษิต กล่าว่า กระทรวงการต่างประเทศได้พิจารณาถึงที่มาของบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อน บัดนี้สังคมไทยทั้งหมดได้รับทราบว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชา ฉะนั้นกระทรวงการต่างประเทศก็ได้มีข้อยุติของการพิจารณา เกี่ยวกับตัวเอ็มโอยูนี้ และจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาแจ้งการบอกเลิกเอ็มโอยู ฉบับดังกล่าวกับฝ่ายกัมพูชา ในวันที่ 10 พฤศจิกายนนี้ ด้วยเหตุผลดังนี้ 1.กระทรวงการต่างปะรเทศเห็นว่าการที่รัฐบาลกัมพูชาแต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจจะส่งผลกระทบโดยตรง ต่อการเจรจาระหว่างไทยและกัมพูชา ภายใต้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการผลักดันให้รัฐบาลไทยในขณะนั้นจัดทำบันทึกความเข้าใจดังกล่าว

“พ.ต.ท.ทักษิณ รับรู้ท่าทีในการเจรจาของฝ่ายไทย ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงไม่อาจดำเนินการเจรจากับฝ่ายกัมพูชาบนพื้นฐานของบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ได้” นายกษิต กล่าว

นายกษิต กล่าวว่า 2.กระทรวงการต่างประเทศเห็นว่าเรื่องพื้นที่เขตทางทะเลที่ไทยกับกัมพูชา อ้างสิทธิทับซ้อนกัน เป็นเรื่องสำคัญยิ่งต่อผลประโยชน์ของชาติ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่กว่าสองหมื่นหกพันตารางกิโลเมตรและมีศักยภาพอย่างยิ่งทางทรัพยากรธรรมชาติอย่างสูงคือก๊าซ การเจรจาเรื่องนี้จึงมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศอย่างกว้างขวาง กระทรวงการต่างประเทศจึงเห็นสมควรให้ดำเนินการเรื่องนี้ โดยจะให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม ตามแนวทางประชาธิปไตยตามที่ปรากฏในบทบัญญัติ ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน 3.การเจรจากรอบ เอ็มโอยู 2544 นี้ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ไม่มีผลคืบหน้าเป็นรูปธรรมตามวัตถุประสงค์ของเอ็มโอยูกระทรวงการต่างประเทศจึงเห็นควรให้ทั้งสองประเทศ ใช้แนวทางการเจรจาอื่นตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อให้ได้ทางออกที่เป็นธรรมต่อไป

ด้านนายธานี ทองภักดี รองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ท่าทีของไทยที่ให้เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญ เดินทางกลับประเทศ ไม่ใช่เป็นการตัดความสัมพันธ์ เพราะยังมีอุปทูตไทย อยู่ที่สถานทูตไทย ประจำกรุงพนมเปญ และที่สถานทูตกัมพูชา ในไทย ก็ยังมีเจ้าหน้าที่ทำงานอยู่ ดังนั้นรัฐบาลทั้งสองฝ่ายยังมีพันธะดูแลความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่และสถานทูต

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้บริหารประเทศในขณะที่ทำเอ็มโอยู ทำให้ได้รับทราบแนวทางการเจรจา ท่าทีและความลับที่มีอยู่ในขณะนั้น และขณะนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ไปเป็นที่ปรึกษาให้กับกัมพูชา อาจมีผลเปลี่ยนแปลงสภาพการณ์อย่างสำคัญ จึงเป็นเหตุให้รัฐบาลต้องยกเลิกเอ็มโอยูดังกล่าว ส่วนเอ็มโอยูอื่นๆ ที่ไทยทำกับกัมพูชา ในสมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ อนาคตอาจมีการพิจารณายกเลิกอีก

เมื่อถามว่า หาก พ.ต.ท.ทักษิณ ไปเป็นที่ปรึกษาประเทศอื่นๆ จะต้องพิจารณายกเลิกบันทึกข้อตกลง หรือไม่ นายชวนนท์ กล่าวว่า ต้องดูความจริงจังว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นที่ปรึกษาระดับไหน มีผลกระทบต่อไทยอย่างไรบ้าง ทั้งนี้เมื่อกระทรวงการต่างประเทศนำเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจาณาของคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบยกเลิกแล้ว จะใช้เวลาในกระบวนการยกเลิกประมาณ 3 เดือนจึงจะมีผล ส่วนการพิจารณาปิดด่านตามชายแดนไทย-กัมพูชา เป็นเรื่องของฝ่ายความมั่นคงพิจารณา กระทรวงการต่างประเทศยังไม่ได้เสนอ

เมื่อถามว่า การยกเลิกบันทึกความเข้าใจ ซึ่งทำให้ไม่มีเอกสารกำกับการตกลงระหว่างสองฝ่าย จะส่งผลให้ทั้งสองฝ่ายต่างดำเนินการหาประโยชน์ในพื้นที่ที่ต่างอ้างสิทธิทับซ้อนได้หรือไม่ นายชวนนท์ กล่าวว่า หากไม่มีการตกลงทั้งสองฝ่ายไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ จนกว่าจะมีการตกลงกันได้

กัมพูชายืนยันไทยเลิกเอ็มโอยูไม่ได้

ทางด้านนายวาร์ คิมฮง หัวหน้าคณะเจรจาชายแดนของกัมพูชา กล่าวถึงท่าทีล่าสุดของไทยที่จะยกเลิกเอ็มโอยูพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ว่า ภายใต้ข้อตกลงที่ทำไว้ทั้ง 2 ฝ่ายไม่สามารถยกเลิกคำมั่นที่จะพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลดังกล่าวได้ "ผมไม่เห็นว่าจะมีวรรคหรือประโยคใดที่เปิดทางให้ 2 ฝ่ายระงับเอ็มโอยู โดยทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงนี้ จนกว่าเราจะหาทางออกในการอ้างสิทธิเหนือพื้นที่ทับซ้อนได้"

ที่มา:คมชัดลึก

วันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

"บิ๊กจิ๋ว-พท."ติงอย่าตกหลุมพรางรบ.ปลุกกระแสคลั่งชาติ กลบทำงานล้มเหลว ไร้วุฒิภาวะการทูตแรงเกินเหตุ


เพื่อไทยแถลงการณ์ซัด รบ.ไร้วุฒิภาวะการทูต ทำรุนแรงเกินกว่าเหตุ กมธ.ตปท.เรียกร้องทบทวน ยุส.ว.เข้าชื่อจี้ครม.แถลงข้อเท็จจริง อัดนายกฯทำให้อาเซียนล่มสลาย "บิ๊กจิ๋ว"ติงอย่าตกหลุมพรางรัฐบาล ดึงเข้าสู่กระแสชาตินิยม "แดง"ถล่มคลั่งชาติ-แผนกลบ"ทำงานล้มเหลว"

กมธ.ตปท.เรียกร้องรบ.ทบทวน

นายอิทธิเดช แก้วหลวง ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎรจาก พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ถึงปัญหาความร้าวฉานระหว่างไทยกับกัมพูชา ภายหลังไทยเรียกทูตประจำกัมพูชากลับประเทศ เนื่องจากไม่พอใจกรณีสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาแต่งตั้งพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐบาล และที่ปรึกษาส่วนตัวฮุนเซน ขณะที่ทางกัมพูชาก็ได้เรียกทูตประจำประเทศไทยกลับเพื่อเป็นการตอบโต้เช่นกันว่า การที่รัฐบาลเลือกใช้วีธีตอบโต้ด้วยการเรียกเอกอัครราชฑูตไทย กลับมาเลยนั้นถือว่ารุนแรงเกินไป ทั้งที่มีวิธีการอื่นๆ ที่รุนแรงน้อยกว่านี้เช่นการเขียนจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีกัมพูชา เรียกร้องให้ทบทวน หรือตำหนิการกระทำยังถือว่าเป็นการรักษาสถานะความสัมพันธ์ทางการทูต รัฐบาลไทยทำเช่นนี้ ส่งผลให้เกิดความตรึงเครียดบริเวณชายแดน และกระทบกับความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่ชายแดน ดังนั้นคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการดำเนินการดังกล่าว

“ประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่ใหญ่กว่าควรแสดงความนิ่งในฐานะผู้ใหญ่ แล้วยืนอย่างสง่างามมากกว่าที่จะเต้นตามเกมของกัมพูชาแบบเด็กๆ เพราะนอกจากกัมพูชาวันนี้จะไม่ต้องพึ่งพาไทยแล้ว เนื่องจากมีเพื่อนบ้านเข้าไปจับจ้องลงทุนอยู่แล้ว และความสามารถด้านการต่างประเทศยังทำให้กัมพูชามีมิตรประเทศมากกว่าไทย ดังนั้นรัฐบาลไทยควรดำเนินการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านต่างประเทศ ไม่อย่างนั้นประเทศไทยจะเสีย” นายอิทธิเดชกล่าว

ยุส.ว.เข้าชื่อจี้ครม.แถลงข้อเท็จจริง

คณะกรรมการประสานงานพรรคฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) นำโดยนายวิทยา บุรณะศิริ นายประเกียรติ นาสิมมา ส.ส.สัดส่วน และนายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.สัดส่วน พท.พร้อมด้วยนายพิทยา พุกะมาน อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำชิลี ในฐานะคณะทำงานต่างประเทศ พท.ร่วมแถลงข่าว โดยนายวิทยา กล่าวว่า วิปฝ่ายค้านจะเรียกร้องให้ส.ว.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของสมาชิกที่มีอยู่ทั้งหมดของวุฒิสภา เข้าชื่อตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 เพื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภาเพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จริงหรือชี้แจงเรื่องดังกล่าวโดยไม่มีการลงมติ เนื่องจากการกระทำของนายกรัฐมนตรี และรัฐบาล เป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 82 และมาตรา 190 ซึ่งทำให้เกิดความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระหว่างไทยและกัมพูชา

“รัฐบาลไปใช้อภิสิทธิแทนประชาชน62 ล้านคน โดยไม่ได้มาหารือผ่านระบบของรัฐสภาตามที่กฎหมายกำหนดไว้ จนทำให้เกิดผลกระทบทั้งทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและเศรษฐกิจอยู่ในขณะนี้ ทั้งนี้จึงขอให้ทางวุฒิสภาใช้สิทธิ์ในการตรวจสอบและเรียกนายกฯมาชี้แจงต่อสภาในเรื่องนี้โดยด่วน”นายวิทยากล่าว

ว่ารัฐบาลทำรุนแรงเกินกว่าเหตุ

นายพิทยา กล่าวว่า สถานการณ์ที่ตึงเครียดระหว่างไทย-กัมพูชาสะท้อนว่ารัฐบาลทำเกินกว่าเหตุเพราะปกติการดำเนินการทางการทูตจะมีมาตราการระดับเบาไปหาหนัก ซึ่งในความเห็นของตนมีวิธีการอื่นที่ดีกว่าการเรียกทูตกลับประเทศไทยอย่างที่รัฐบาลทำ เช่น รัฐบาลสามารถการเรียกทูตเขมรมาประท้วงหรือทำบันทึกช่วยจำ แต่การที่รัฐบาลเลือกวิธีตอบโต้ที่รุนแรงในทางการทูตเช่นนี้ ชัดเจนว่ารัฐบาลใช้ความรู้สึกส่วนตัวมาดำเนินนโยบายต่างประเทศเปลี่ยนสนามการค้าเป็นสนามรบ

เมื่อถามว่า พท.กังวลหรือไม่ที่กระแสอาจตีกลับและถูกตั้งคำถามว่าเป็นคนไทยแต่ทำไมไปเดือดเนื้อร้อนใจแทนกัมพูชา นายวิทยาได้นิ่งไปชั่วครูพร้อมตอบคำถามด้วยน้ำเสียงไม่พอใจว่า เรื่องนี้คงต้องไปถามรัฐบาล เพราะเรื่องที่น่ากลัวกว่าคือการที่รัฐบาลขาดวุฒิภาวะ ไปดำเนินนโยบายต่างประเทศจนเกิดความเสียหาย

แถลงการณ์สับไร้วุฒิภาวะการทูต

ทั้งนี้ พท.ยังออกแถลงการณ์ของพรรคต่อกรณีท่าทีรัฐบาลสั่งลดความสัมพันธ์กับกัมพูชาโดยเรียกทูตไทยประจำกัมพูชากลับประเทศไทย ดังนี้
1.รัฐบาลได้ทำเกินกว่าเหตุกำลังนำผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศไปสู่ภาวะสุ่มเสี่ยง ถือเป็นการตอบโต้ไร้วุฒิภาวะทางการทูต จะส่งผลให้เกิดความตึงเครียดในทางการฑูตทั้งสองประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
2.รัฐบาลต้องรับผิดชอบในความเสื่อมทราบของความสัมพันธ์ ความเสียหายทางเศรษฐกิจ ตลอดจนความตึงเครียดตามแนวชายแดน ถ้าแก้ไม่ได้ อาจนำไปสู้ข้อพิพาทระหว่างประเทศ
3.การแต่งตั้งพ.ต.ท.ทักษิณ โดยพระมหากษัตริย์ของกัมพูชา เป็นการออกกฎหมายภายในกัมพูชา ถือเป็นกิจการภายในของกัมพูชา การที่รัฐบาลจะอ้างเหตุผลนี้มาตอบโต้ ก็คงฟังไม่ขึ้น และเชื่อว่าประชาชนจะไม่เห็นกับที่รัฐบาลกล่าวอ้าง
4.ความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชาและไทย เสื่อมทรามลงมาตลอด ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีตั้งนายกษิต เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เอาคนที่เคยยึดสนามบิน เป็นคนที่เคยไปด่าผู้นำกัมพูชา ด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย ทำให้เกิดความกินแหนงแคลงใจมาตลอด
5.ตลอด10เดือนรัฐบาลไม่มีมาตรการในการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับกัมพูชาอย่างเป็นรูปธรรม ตรงกันข้ามนายกรัฐมนตรีได้ไปพูดตำหนิ เหยียดหยามผู้นำกัมพูชาในช่วงการประชุมอาเซียนที่ผ่านมา
6.การดำเนินการของรัฐบาลไม่ได้กระทำตามขั้นตอนจากมาตรการขั้นตอนจากมาตรการขั้นเบาไปหาหนัก ถือว่าผิดธรรมเนียมปฎิบัติทางการฑูต
7.รัฐบาลไม่มีความชอบธรรมแอบอ้างว่าได้ดำเนินการประท้วงกัมพูชาในนามคนไทยทั้งประเทศ เพราะคนไทยส่วนใหญ่ไม่ยอมรับรัฐบาลชุดนี้ ที่มีที่มาไม่ชอบธรรมและไม่เห็นด้วยกับการทำลายความสัมพันธ์กับกัมพูชา
8.รัฐบาลไร้ความรับผิดชอบในการนำประเด็นการเมืองภายใน ไปกดดันประเทศเพื่อนบ้าน และขอเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการพยายามปลุกกระแสรักชาติ เพื่อกลบเกลื่อนความล้มเหลวในการทำงานและปัญหาการทุจริตที่เกิดขึ้น
นายกฯทำให้อาเซียนล่มสลาย
9.พท.ถือว่าเพื่อนบ้านคือเพื่อนที่ต้องอยู่ด้วยกันอย่าง สันติสุขและรุ่งเรือง เราต้องเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกันทุก พรรคจะเร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเร่งด่วน ตามแนวนโยบาย ไทยร่มเย็น เป็นมิตรกับเพื่อนบ้าน
10.รัฐบาลดำเนินนโยบายต่างประเทศผิดพลาด เป็นการทำลาย จิตวิญญาณและปณิธานของสมาคมอาเซียนที่ต้องการอยู่อย่างสันติ วันนี้ นายกฯกำลังทำให้อาเซียนล่มสลาย
11.ปรากฎข้อเท็จจริงว่ามีหลายประเทศได้ตั้งพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นที่ปรึกษาฯอย่างเช่นประเทศฮอนดูรัส นิคารากัว จึงถามว่าทำไมรัฐบาลจึงไม่ดำเนินการเช่นเดียวกับรัฐบาลกัมพูชาไม่ใช่เลือกปฎิบัติเฉพาะกับนายกฯกัมพูชา
12.การที่นายกฯอ้างว่า จำเป็นต้องตอบโต้นายกฯฮุนเซนเพราะได้วิจารณ์ระบบกระบวนการยุติธรรมของไทยนั้น พรรคเห็นว่าเป็นการพูดแบบแก้เกี้ยว พยายามหาเหตุผลเท่านั้น หากเห็นว่าเรื่องนี้สำคัญก็ควรดำเนินการเมื่อ 1เดือนมาแล้ว ไม่ใช่มาตอบโต้เมื่อมีการตั้งพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นที่ปรึกษาฯ

"จิ๋ว" ติงอย่าตกหลุมพรางรัฐบาล ดึงเข้าสู่กระแสชาตินิยม

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.สัดส่วน พท. คนสนิทพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพท. กล่าวว่า มีโอกาสพูดคุยกับพล.อ.ชวลิต เมื่อช่วงเช้าของวันเดียวกันนี้ โดยพล.อ.ชวลิต แสดงความเป็นห่วงในกรณีดังกล่าวและเตือนให้พวกตนอย่าไปอยู่ในวังวนหลุมพรางที่รัฐบาลจะดึงเข้าสู่กระแสชาตินิยม รัฐบาลพยายามสร้างเรื่องเพื่อกลบกระแสการบริหารประเทศที่ล้มเหลวในทุกด้าน นอกจากนี้สิ่งที่พล.อ.ชวลิต เป็นห่วงอย่างมากคือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์ไทย-กัมพูชา ที่มีมาอย่างยาวนาน เนื่องจากการออกพระราชกฤษฎีกากัมพูชาแต่งตั้งพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจนั้นสมเด็จเจ้านโรดม สีหมุนี พระมหากษัตริย์ของกัมพูชา เป็นผู้ทรงลงพระปรมาภิไธย รวมไปถึงปัญหาการค้าบริเวณแนวชายแดนที่จะได้รับผลกระทบด้วย

พล.ท.พิรัช สวามิวัศดุ์ นายทหารคนสนิทพล.อ.ชวลิต ว่า พล.อ.ชวลิต ไม่ได้แสดงความเห็นต่อกรณีที่เกิดขึ้นมากนัก เพราะรัฐบาลเอาความหวังดีของไทยไปเล่นเละเทะหมด อย่างไรก็พล.อ.ชวลิต รู้สึกเป็นห่วงว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่สงครามประชาชาติ หรือการปะทะระหว่างประเทศต่อประเทศ และเป็นห่วงกรณีที่นายกรัฐมนตรีไปพูดที่ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างร่วมประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขงว่าอาเซียนต้องเป็นหนึ่งเดียว แต่กลับมาทำให้เกิดความแตกแยกในอาเซียน เมื่อเกิดความขัดแย้ง ต้องใช้เวลานานในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ ที่สำคัญคือไทยต้องเสียเวลาในการทำประโยชน์ไปเปล่าๆ

"แดง"ถล่มคลั่งชาติ-แผนกลบ"ทำงานล้มเหลว"

นายวีระ มุสิกพงศ์ แกนนำ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน แถลงว่า รัฐบาลชุดนี้มาจาการยึดอำนาจ 19 กันยายน และเป็นรัฐบาลอนุรักษ์นิยม ที่มาพร้อมกับลัทธิคลั่งชาติ ดังนั้นคนไทยจึงควรพิจารณาให้ดีหากจะฟังถ้อยคำอะไรจากรัฐบาลชุดนี้ แต่สำหรับคนเสื้อแดงนั้นวิเคราะห์ว่าการที่รัฐบาลเรียกตัวเอกอัครราชฑูตไทยประจำกรุงพนมเปญ กลับประเทศนั้นเป็นความพยายามที่จะสร้างเรื่องมากลบปัญหาของตัวเองที่แก้ไม่ตก คือ
1. รัฐบาลชุดนี้ไม่สามารถแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจได้
2. ปัญหาการทุจริตภายในรัฐบาลมีมาอย่างต่อเนื่องและ
3. นายกรัฐมนตรี ไม่สามารถแก้ไขปัญหาภายในพรรคร่วมรัฐบาล จนส่งผลกระทบให้ความนิยมในรัฐบาลลุดต่ำลงอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญคือ ขณะนี้เรื่องที่พรรคประชาธิปัตย์เคยไปเซ็นเอ็มโอยูกับกัมพูชาไว้เมื่อปี 2543 กำลังจะปะทุขึ้นและวิจารณ์กันว่า ประเทศไทยกำลังจะเสียดินแดนจากเอ็มโอยูดังกล่าว

นอกจากนี้ความผิดพลาดของรัฐบาลที่ไปคัดค้านการขึ้นทะเบียนพระวิหารเป็นมรดกโลกและดึงดันที่จะคัดค้านต่อไป จนทำให้พื้นที่ชายแดนมีปัญหา จึงมีการพยายามสร้างความขัดแย้งที่ใหญ่กว่ามากลับเรื่องดังกล่าว

ที"โกร่ง"ยังเป็นที่ปรึกษารบ,ลาวได้

นายวีระกล่าวว่า สำหรับการที่กัมพูชาแต่งตั้งพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและรัฐบาลกัมพูชาด้านเศรษฐกิจนั้น คนเสื้อแดงมองว่า เรื่องนี่ไม่ใช่เรื่องแปลกและเรื่องใหม่ เพราะในอดีต สาธารรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวก็เคยแต่งตั้ง นายวีระพงษ์ รามางกูร อดีตรัฐมนตรีว่าการ( รมว.)คลังเป็นที่ปรึกษารัฐบาลลาวที่สร้างความยินดีให้กับประชาชนทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ในช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลปี 2540-2544 ก็เคยว่าจ้างบริษัทเอกชนของต่างชาติเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งแม้สุดท้ายบริษัทต่างชาติจะรวมหัวกับคนในรัฐบาลทำประเทศชาติเสียหายมหาศาลก็ไม่เคยมีใครยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

"ทักษิณ"เล็งส่งจม.เปิดผนึกให้"มาร์ค" กรณีกัมพูชา อัดรบ.ทำเกินกว่าเหตุ โต้"ชวน"ไม่ใช่บุญคุณต้องทดแทน


"ทักษิณ" เป็นห่วงท่าทีรบ.ไทยต่อกัมพูชา ชี้รบ.ทำเกินกว่าเหตุ เตรียมส่งจม.เปิดผนึกถึง "อภิสิทธิ์" ชี้สาเหตุความขัดแย้งมาจากการแต่งตั้ง "กษิต" ลั่นไม่ทบทวนการนั่งที่ปรึกษาเขมร โต้ "ชวน" ไม่ใช่บุญคุณต่างตอบแทน

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 6 พฤศจิกายน ที่พรรคเพื่อไทย นายนพดล ปัทมะ อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะอดีตที่ปรึกษากฎหมายของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวถึงกรณีที่ทางการไทยเรียกตัวเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา กลับประเทศไทยเพื่อประท้วงกรณีรัฐบาลกัมพูชาได้แต่งตั้งพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ค่อนข้างเป็นห่วงในแง่ของการดำเนินการทางการทูตที่สุ่มเสี่ยงว่าจะทำให้ประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเสียหาย ซึ่งเรื่องดังกล่าวถือว่ารัฐบาลทำเกินกว่าเหตุและนำประเด็นการเมืองภายในประเทศไปกดดันประเทศเพื่อนบ้านจนความสัมพันธ์เสื่อมทรามลง ทั้งนี้ขอเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหันไปมองตัวเองสักนิดหนึ่งว่าสาเหตุที่แท้จริงที่เกิดขึ้นจากอะไร โดยเฉพาะการแต่งตั้งนายกษิต เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ออกจดหมายเปิดผนึกเพื่อส่งถึงนายกรัฐมนตรีถึงความเห็นและท่าทีต่างๆ และการทำงานในฐานะที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของพ.ต.ท.ทักษิณ

“เรื่องดังกล่าวจะนำไปสู่ความตึงเครียดตามแนวชายแดน จะทำให้การแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนบานปลาย และมีการยกระดับเรื่องนี้ไปสู่เวทีสากล โดยเฉพาะเวทีสหประชาชาติ ซึ่งจะทำให้ปัญหาแก้ยากมากขึ้น ความเสียหายตามแนวชายแดนได้รับผลกระทบแล้ว เราต้องเรียกร้องให้นายกฯได้ใช้ความยับยั้งชั่งใจ และหาทางเจรจากับทางกัมพูชา แต่ท่าทีล่าสุดของนายกฯที่ประเทศญี่ปุ่น แสดงให้เห็นว่านายกฯไม่มีความสามารถ เพราะเมื่อมีการทะเลาะกันคุณต้องหาโอกาสให้กระทรวงการต่างประเทศทาบทามขอเวลาหารือทวิภาคี เพื่อหาพูดคุยกัน ขอให้นายอภิสิทธิ์อย่าปลุกกระแสชาตินิยม”นายนพดลกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าพ.ต.ท.ทักษิณ จะทบทวนการดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจให้กับรัฐบาลกัมพูชาหรือไม่ นายนพดล กล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ตอบรับไปแล้ว ซึ่งการดำรงตำแหน่งดังกล่าวไม่ได้รับเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจให้กับกัมพูชาเท่านั้นแต่รับเป็นที่ปรึกษาให้อีกหลายประเทศ อาทิ นิการากัว และหลายประเทศ

เมื่อถามว่าปัญหาดังกล่าวเหมือนกับพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้ชักศึกเข้าบ้านพ.ต.ท.ทักษิณ นายนพดล กล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้ชักศึกเข้าบ้าน การกล่าวหาคนอื่นว่าชักศึกเข้าบ้านเป็นการกล่าวหาที่ง่าย เป็นการกล่าวหาคล้ายวาทะกรรมในช่วงสงครามเย็น ที่ปลุกระดมว่าคนไหนเป็นคอมมิวนิสต์ สำนวนอย่างนี้เป็นสำนวนของนักการเมืองแบบเก่าที่ใช้โจมตีคนอื่น พ.ต.ท.ทักษิณ รักประเทศไทย และสมเด็จฯฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรี ก็ยังเป็นเพื่อนของประชาชนไทย แต่อาจจะทำงานกับรัฐบาลชุดนี้ไม่ราบรื่นนัก

เมื่อถามว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ได้มองตัวเองหรือไม่ว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดความบาดหมางของทั้ง 2 ชาติ นายนพดล กล่าวว่า อันนั้นน่าจะเป็นข้อกล่าวหาของรัฐบาล พยายามที่จะตำหนิพ.ต.ท.ทักษิณแต่จริงๆไม่ใช่ปัญหาของประเทศไทยมาจากการยึดอำนาจโดยทหาร ทำให้ประเทศไม่มีประชาธิปไตย คดีความต่างๆเกิดขึ้นหลังการยึดอำนาจรัฐบาลนี้พยายามที่จะใช้ทุกกลไกไล่ล่าพ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งไม่เป็นธรรม

เมื่อถามว่าล่าสุดนายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่าสมเด็จฯฮุนเซ็น ตอบแทนพ.ต.ท.ทักษิณ เนื่องจากพ.ต.ท.ทักษิณเคยให้ความช่วยเหลือสมเด็จฯฮุนเซ็น ในการเลือกตั้งที่กัมพูชา นายนพดล กล่าวว่า ตนไม่เชื่อว่าแต่งตั้งที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจจะมีลาภยศอะไรให้พ.ต.ท.ทักษิณ ที่จะถือเป็นการตอบแทนหรือปูนบำเน็จให้พ.ต.ท.ทักษิณ แต่เป็นเรื่องที่กัมพูชาต้องการใช้ความรู้ความสามารถของพ.ต.ท.ทักษิณเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน

สนิมกินเนื้อใน..

ดูเหมือนเวลานี้รัฐบาลประชาธิปัตย์ จะตกอยู่ในสถานการณ์ "สนิมกินเนื้อใน" เข้าอย่างจังหลังจากประคับประคองตัวมานานจนเกือบจะชนขวบปีในอีกไม่กี่วันนี้

ในขณะเดียวกันก็เป็นขวบปีที่เต็มไปด้วยอุปสรรค ขวากหนาม ที่คอยทิ่มแทงมาโดยตลอด โดยเฉพาะจากฝ่าย "ขบวนการทักษิณ"

กระนั้นก็ยังพูดได้ไม่เต็มปากซะทีเดียวนัก หากจะบอกว่า "ขบวนการทักษิณ" เป็นอุปสรรคทั้งหมดของรัฐบาล

เพราะความจริงแล้ว "ปัจจัยภายใน" ต่างหากที่เป็นตัวบ่อนทำลายความเชื่อมั่น และเสถียรภาพในรัฐบาลเอง

ต้องไม่ลืมว่า เสียงตอบรับรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในระยะเริ่มแรกนั้นจัดอยู่ในขั้นดีทีเดียว

และดีมากขึ้นจนถึงจุดสูงสุด เมื่อ "อภิสิทธิ์" ได้แสดงภาวะผู้นำให้เป็นที่ประจักษ์ในการบัญชาการสถานการณ์ "สงกรานต์เลือด" โดยฝีมือของขบวนการทักษิณ จนอยู่หมัด

แต่สถานการณ์หลังจากนั้นมา เส้นกราฟของ "อภิสิทธิ์" และรัฐบาลก็เริ่มตกลงทีละน้อยๆ จนลดต่ำในช่วงเดือนที่ผ่านมา

ต้นสายปลายเหตุใหญ่น่าจะมาจากการไม่สามารถคุมสถานการณ์ต่อรองทางการเมืองของพรรคร่วมรัฐบาลได้ดีเท่าที่ควร จนเกิดความสับสนอลหม่านแทบทุกครั้ง

โดยเฉพาะ "เกมต่อรอง" ที่แม้แต่ในพรรคประชาธิปัตย์เองก็มองว่า "อภิสิทธิ์" ปล่อยให้พรรคภูมิใจไทยขี่มากเกินไป
ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง รถเมล์เอ็นจีวี หรือโผโยกย้ายในตำแหน่งสำคัญ

ที่สำคัญเรตติ้งตกลงมากเมื่อ "อภิสิทธิ์" ตัดสินใจลงมาคุมเกมลอบสังหาร สนธิ ลิ้มทองกุล ด้วยตัวเอง

กระทั่งต่อเนื่องมาถึงการตั้งรักษาการ ผบ.ตร. แทน พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ กระทั่งจนบัดนี้ก็ยังตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไม่ได้

การสูญเสีย "ภาวะผู้นำ" ในครั้งนั้น ทำให้ "อภิสิทธิ์" เสียรังวัดพะเรอเกวียน เพราะไม่เพียงแค่จัดการกับปัญหาในสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ได้

หากแต่ยังเกี่ยวพันกับการถูกบีบทั้งจากพรรคร่วมรัฐบาลอย่าง "ภูมิใจไทย" รวมถึงคนในพรรคเอง อย่างเลขาธิการนายกฯ นิพนธ์ พร้อมพันธุ์ และรองนายกฯ ความมั่นคง สุเทพ เทือกสุบรรณ ด้วยอ้าง "เงื่อนไขพิเศษ"

เมื่อรัฐบาลอภิสิทธิ์ มีสถานะง่อนแง่นโดยเนื้อแท้ของตัวเอง จึงยิ่งป็นการง่ายที่ "ขบวนการทักษิณ" จะตอกลิ่มความขัดแย้งให้ร้าวลึกหนักขึ้นไปอีก

บวกกับการเดินยุทธศาสตร์ "โลกล้อมประเทศ" ที่แม้หลายคนจะประเมินว่าผลเสียจะตกแก่ฝ่าย "ทักษิณ"

แต่ในเมื่อฝ่ายโน้นจำเป็นต้องสู้ในแบบที่เรียกว่า "เสียจนไม่มีอะไรจะเสียแล้ว" ก็ยิ่งเห็นได้ชัดว่ารัฐบาลคุมเกมลำบากมากยิ่งขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นการเดินเกมผ่าน "บิ๊กจิ๋ว" พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ กระทั่งล่าสุด ผู้นำเขมรรับลูกถึงขนาดแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวและที่ปรึกษารัฐบาล

ขณะเดียวกัน เมื่อต้องเผชิญกับ "ทุกขลาภ" อย่างคดี ราเกซ สักเสนา ที่ประชาธิปัตย์ หวังนำมาเป็นตัวต่อรองสยบความแข็งกร้าวพรรคร่วมรัฐบาลได้บ้าง

แต่กลับปรากฏถูก "ขบวนการทักษิณ" ชิงนำไปเป็นประเด็นตอกลิ่มขยายผล ด้วยการงัดข้อมูลอภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา ที่นำทีมโดย "สุเทพ" เมื่อสิบกว่าปีก่อน มาแฉกลางสภา

พร้อมกับเรียกร้องมาตรฐานของพรรคประชาธิปัตย์ในการจัดการกับพรรคร่วมรัฐบาลที่เกี่ยวพันกับ "คดีราเกซ" ซึ่งดูท่าจะลุกลามมากขึ้น เมื่ออ้างกันว่าคดีนี้พันไปถึงการรับเงินสนับสนุนต่างชาติของพรรคชาติไทยในอดีต

ไม่เพียงการตอกลิ่มของ "ขบวนการทักษิณ" หากแต่เนื้อในของพรรคประชาธิปัตย์เอง ก็เรียกได้ว่า "พรรคแทบแตก"

เพราะหลายครั้งหลายหน กระแสข่าวในทำนอง "ผู้ใหญ่ในพรรค" ไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาล และโดยเฉพาะสมาชิกพรรคไม่พอใจ "สุเทพ" เป็นอย่างมาก โทษฐานที่เอาใจพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะคนชื่อ เนวิน ชิดชอบ มากเกินไป
รวมถึงโครงการสำคัญอย่าง "ไทยเข้มแข็ง" ที่เพิ่งถูกแฉโดย "คนใน" อย่าง พิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.กระบี่ ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าในพรรคไม่เห็นด้วย

โดยเฉพาะจากคำพูดที่ว่า "...เอาความอยู่รอดของเราไปอยู่ในกำมือคนอื่น"

"...ผมก็เบื่อสถานการณ์กดดันมามากๆ ส.ส.ก็เหนื่อยล้า อย่าว่าแต่พรรคร่วมเลย พรรคประชาธิปัตย์ก็มีคนเบื่อหน่ายและอึดอัดเยอะ”

เสียงสะท้อนของ "พิเชษฐ" ยังทำให้เห็นถึงความแตกร้าวทางความคิดในพรรคได้อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

โดยเฉพาะประเด็นกู้เงินทำโครงการใหญ่โต แต่กฎหมายยังไม่ผ่านสภา

ฟังจากน้ำเสียงแล้ว แม้แต่คนในพรรคประชาธิปัตย์เองก็นับอายุรัฐบาลถอยหลังกันหมดแล้ว เพราะสถานการณ์การเมืองนับจากนี้ไป กระทั่งต้นปีหน้า อยู่ในอาการ "น่าเป็นห่วง"

น่าห่วงทั้ง "ในสภา" และ "นอกสภา"

เพราะหากเกมในสภา รัฐบาลไม่สามารถผ่านกฎหมายอันเกี่ยวเนื่องกับการเงิน โดยเฉพาะ "พ.ร.ก.เงินกู้ 4 แสนล้านบาท" ไปได้

ทางเลือกก็มีแค่ 2 ทางเท่านั้น คือ ยุบสภา หรือลาออก

แต่หากว่าสถานการณ์ "นอกสภา" รุนแรงกว่านั้น ก็เสี่ยงอีกเหมือนกันว่าจะมี "มือที่สาม" เข้ามาห้ามสถานการณ์และยุติความรุนแรง

ถึงตอนนั้น...เกมจะพลิกทั้งกระดาน !!!

โดย : โต๊ะข่าวการเมือง

'สุเทพ' ยอมรับหาก "เขมร" ยังแข็งกร้าวอาจต้องปิดด่านชายแดน ซัด "แม้ว" อย่าเอาประเทศเป็นของเล่น

"สุเทพ" อัด "ทักษิณ" อย่าเอาประเทศเป็นของเล่น ฝากให้ช่วยพูดดูแลทรัพย์สินไทยในเขมรด้วย ปิดทางเจรจาด้วย ฝากทูตบอก "ฮุนเซน" ทำเพราะจำเป็น คาด "มาร์ค" อาจะได้ถกกันที่ญี่ปุ่น ยืนยันนายกฯ พม่า-ลาวยืนเคียงไทยกรณีลดสัมพันธ์เขมร รับหากเขมรยังแข็งกร้าวต้องปิดด่านแน่

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 6 พฤศจิกายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ในฐานะรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงมาตรการในการตอบทางการกัมพูชาด้วยการลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูต หลังรัฐบาลกัมพูชาแต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ ว่า ที่ผ่านมาฝ่ายไทยพยายามใช้ความอดทนมาตลอด แต่เมื่อเห็นแถลงการณ์ของทางการกัมพูชาก็ชัดเจนว่าเป็นการก้าวล่วงต่อกิจการภายในของไทย โดยเฉพาะท่าทีเรื่องการไม่ส่งตัว พ.ต.ท.ทักษิณให้ทางการไทย โดยให้เหตุผลว่าถูกเล่นงานทางการเมือง ทั้งที่ตนเคยชี้แจงเรื่องนี้ต่อสมเด็จฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ตั้งแต่ต้นแล้วว่า พ.ต.ท.ทักษิณหนีคดีอาญา จึงจำเป็นที่ไทยต้องตอบโต้ทางการทูต อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ไม่มีความประสงค์จะทำให้ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านมีปัญหา แต่เมื่อรัฐบาลกัมพูชาทำขนาดนี้ ก็เป็นความจำเป็น ส่วนการลดระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชาจะยืดเยื้อแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับฝ่ายกัมพูชาว่าจะคิดได้หรือไม่


ผู้สื่อข่าวถามว่า ล่าสุด ทางการกัมพูชาได้เรียกเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยกลับประเทศไปแล้ว แสดงให้เห็นว่าจะไม่มีการปรับท่าทีหรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า ก็ต้องรอดูกันต่อไป ถ้าเขาไม่ฟังเราก็มีปัญหา อย่างไรก็ตาม ฝ่ายความมั่นคงจะระมัดระวังไม่ให้การปรับลดความสัมพันธ์ทางการทูต มีผลต่อการแก้ไขปัญหาตามแนวชายแดน ซึ่งจนขณะนี้ยังไม่พบปัญหาอะไร ส่วนกองกำลังทหารกัมพูชาที่ตรึงชายแดนอยู่ก็เป็นกองกำลังเดิม


นายสุเทพกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ดีได้สั่งการให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) จัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจไปคอยอารักขาสถานทูตกัมพูชาในประเทศไทยเป็นพิเศษ อีกทั้งยังได้โทรศัพท์พูดคุยกับเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย เพื่ออธิบายข้อเท็จจริงต่างๆ ให้ฟัง และฝากให้นำความไปเรียนสมเด็จฮุนเซ็นว่าสิ่งที่รัฐบาลกัมพูชาทำกระทบต่อความรู้สึกและจิตใจของคนไทย แต่เราจะทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด ให้ความคุ้มครองนักการทูตที่อยู่ในไทยอย่างดีที่สุด


เมื่อถามว่า เป็นห่วงสถานทูตไทยในกัมพูชาหรือไม่ เพราะเคยเกิดเหตุถูกลอบวางเพลิงมาแล้ว นายสุเทพกล่าวว่า "เป็นเรื่องรัฐบาลกัมพูชาจะต้องดูแล ความจริงทั้งหมดเป็นเรื่องของดร.ทักษิณที่อาจจะคิดใช้รัฐบาลกัมพูชา ใช้สถานที่ในกัมพูชาเป็นฐานปฏิบัติการในทางการเมือง จึงคิดว่าดร.ทักษิณควรรู้จักที่จะพูดจาบอกกล่าวให้รัฐบาลกัมพูชาได้ช่วยดูแลกิจการ ทรัพย์สิน และสถานทูตไทยในกัมพูชาด้วย"


เมื่อถามว่า หลายฝ่ายวิจารณ์ว่าพ.ต.ท.ทักษิณต้องการให้รัฐบาลรบกับเพื่อนบ้าน ขณะนี้ถือว่าเป็นการเดิมตามเกมพ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า มีหลายฝ่ายหลายคนให้ความเห็นตนเช่นนี้ว่าทั้งหมดนี้สงสัยจะเป็นแผนการของพ.ต.ท.ทักษิณ ที่ต้องการทำให้สถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีปัญหารุนแรงขึ้น แต่คิดว่า พ.ต.ท. ทักษิณก็เคยเป็นนายกฯ น่าจะมีความรู้ผิดชอบชั่วดี ไม่ทำร้ายประเทศไทยเช่นนั้น


ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่พ.ต.ท. ทักษิณวิจารณ์ว่ารัฐบาลโอเวอร์รีแอ็ค นายสุเทพกล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ควรเอาประเทศชาติมาทำเหมือนเป็นของเล่น เหมือนต้องการช่วงชิงอำนาจ ยังใช้วิธีการอื่นได้ตั้งเยอะแยะ


ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความเป็นไปได้แค่ไหนที่จะนำตัวพ.ต.ท.ทักษิณกลับมาดำเนินคดีในไทย นายสุเทพกล่าวว่า "ก็ต้องดูกันต่อไปครับ ผมคิดว่าอาจจะมีคณะทำงานร่วม 3 ฝ่ายประกอบด้วย อัยการสูงสุด ตำรวจ และกระทรวงการต่างประเทศ มาทำงานเป็นทีมติดตามกรณีการจัดส่งผู้ร้ายข้ามแดน"


เมื่อถามว่า คิดจะพูดคุยกับพ.ต.ท. ทักษิณบ้างหรือไม่ นายสุเทพไม่ตอบแต่แต่ส่ายหน้าแทนคำพูด



เมื่อถามว่า วิเคราะห์ว่าเหตุใดนายกฯ กัมพูชาถึงเลือกซื้อหวยข้างพ.ต.ท.ทักษิณ นายสุเทพได้แต่หัวเราะ แต่ปฏิเสธจะให้ความเห็น เมื่อถามว่า เป็นเพราะผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนหรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า ไม่ทราบ พูดไม่ได้


เมื่อถามว่า ถึงตอนนึ้คิดว่าจำเป็นต้องเลิกคบกับสมเด็จฮุนเซ็นหรือยัง นายสุเทพกล่าวว่า ยัง ตนมีหน้าที่เจรจา ถ้าไปเลิกคบ ไปตัดสะพานแล้วจะเอาทางไหนเดินล่ะ


เมื่อถามว่า จะเรียกประชุมฝ่ายความมั่นคงเพื่อประเมินสถานการณ์ หลังการออกมาตรการตอบโต้ทางการกัมพูชาหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ก็จะพูดคุยกับฝ่ายความมั่นคงเพื่อเตรียมการทุกอย่าง ซึ่งก่อนนายกฯ จะเดินทางไปร่วมประชุมกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงที่ประเทศญี่ปุ่น ได้มอบหมายให้ตนปรึกษากับฝ่ายความมั่นคง เพื่อดูแลไม่ให้สถานการณ์ชายแดนเกิดความฉุกเฉิน เพราะเป็นห่วงว่าประชาชนจะตื่นตระหนกตกใจ


ส่วนที่หลายฝ่ายวิจารณ์ว่าความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา อาจนำมาสู่การยื่นมือเข้ามาจัดการปัญหาของกลุ่มอาเซียนนั้น นายสุเทพกล่าวว่า อันนี้เป็นเรื่องของ 2 ประเทศ ซึ่งต้องพยายามหาทางออกให้ได้ ซึ่งนายกฯ อาจมีโอกาสพูดคุยกับสมเด็จฮุนเซ็นในระหว่างประชุมประเทศลุ่มน้ำโขงที่ประเทศญี่ปุ่น แม้ตามกำหนดการจะไม่มีกำหนดหารือทวิภาคีระหว่างนายก 2 ประเทศ แต่เมื่อไทยแสดงปฏิกิริยาไปเช่นนี้ หากกัมพูชาเห็นว่าควรคุยกันก็น่าจะได้คุยกัน


เมื่อถามว่า คิดว่าประเทศเพื่อนบ้านจะเข้าใจบทบาทของไทยหรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า คิดว่าประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่จะเข้าใจ เมื่อคืนวันที่ 5 พฤศจิกายน ตนมีโอกาสไปต้อนรับนายกฯ พม่าและลาว ทั้ง 2 ประเทศก็ได้แสดงความเข้าใจหลังตนอธิบายเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมดให้ฟัง ซึ่งตนได้เรียนนายกฯ พม่าและลาวว่าความจริงหลายฝ่ายเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ไม่ให้ไปประชุมกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง เพราะมีสมเด็จฮุนเซ็นอยู่ด้วย แต่นายกฯ อธิบายว่าการประชุมดังกล่าวมีหลายประเทศ และความร่วมมือนี้จะเกิดประโยชน์แก่ลุ่มน้ำโขง แม้แต่โครงการที่รัฐบาลไทยให้ความช่วยเหลือกัมพูชา ก็เป็นการช่วยเหลือประชาชน จึงเชื่อว่าผู้นำทั้ง 2 ประเทศจะเข้าใจสถานการณ์ดี


ผู้สื่อข่าวถามว่า มีโอกาสพูดคุยกับสมเด็จฮุนเซ็นบ้างหรือยัง นายสุเทพกล่าวว่า ยังไม่ได้คุย ไม่ได้ติดต่อกัน ตนต้องประเมินท่าทีทุกอย่างให้ชัดเจนก่อน มันเหมือนกับเป็นหวัด ถ้าเป็นน้อยๆ ทานยาก็หาย แต่ถ้าเป็นมากๆ ก็ต้องทำอะไรมากกว่านั้น


ส่วนความเป็นไปได้ในการออกมาตรการตอบโต้ทางการกัมพูชาเพิ่มเติมถึงขั้นปิดด่านชายแดนนั้น นายสุเทพกล่าวว่า ต้องดูท่าที ถ้ากัมพูชาแข็งกร้าวโต้ตอบมาแบบไม่ประนีประนอม ระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็ต้องลดไปเรื่อยๆ อาจถึงขั้นต้องปิดด่านชายแดน แต่ยืนยันว่านี่ไม่ใช่การเปิดศึก การยิงกันกับการปิดด่านถือเป็นคนละเรื่องกัน อย่างไรก็ตาม อย่าไปคิดเรื่องนี้สนุกตามอารมรณ์ ไอ้เรื่องรบนั่นไม่ใช่เรื่องยาก แต่รบกันมันมีคนเจ็บคนตาย ซึ่งเป็นทหาร เป็นชาวบ้านที่ถูกลูกหลง เป็นญาติพี่น้องเราทั้งนั้น ดังนั้นเรื่องสงครามต้องหยุดไว้ ต้องใช้วิธีอื่นไปก่อน

เรียกทูตกลับ ...กัมพูชาไม่เดือดร้อน..เพราะเขาไม่ได้พึ่งไทยทั้งหมด

นั่งอ่านข้อความที่นายก ฯ ทักษิณ ท่านพูดว่า ทำไมเด็กจัง ต่อกรณีที่อภิสิทธิ์เรียกทูตไทยกลับ

ผมก็เลยนึกถึงเรื่องสองสามเรื่อง จะมาทวนความจำให้ทุกท่าน

1). สมัยพล.อ.สุรยุทธ์ ดร.ทักษิณ บินจากฮ่องกง ไปสิงคโปร์ เพื่อไปตีกอล์ฟกับ รองนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ รัฐบาลสุรยุทธ์โมโหมาก..เลยเรียกทูตสิงคโปร์ไปด่า เขาก็บอกว่า มันเป็นเรื่องของเขา ที่เขาจะให้ใครไปสิงคโปร์ก็ได้..เขาบอกว่า "ขอให้ไทยเคารพในอธิปไตยของเราด้วย"

เสร็จแล้วก็มีการเรียกทูตไทยกลับ..แล้วกระแสเรียกร้องให้เอาดาวเทียมไทยคมกลับมา ก็โหมแรงมากช่วงนั้น แต่จนถึงป่านนี้..น็อตสักตัวก็ยังไม่ได้เลย

ต่อมา..สิงคโปร์มาขอต่อเช่าสนามบิน..

รัฐบาลสุรยุทธ์กระดี๊กระด๊า บอก มันเป็นคนละเรื่องกับที่ด่าเขาไป

ทุกวันนี้ ทูตไทยก็ยังทำงานเป็นปรกติที่สิงคโปร์

2). คุณทักษิณได้รับพาสปอร์ตพิเศษจากมอนตาเนโกร (ใครที่ไม่รู้จัก ให้ไปดู เจมส์ บอนด์ ภาค คาสิโนโรเยล) รัฐบาลชุดนี้ ไม่มีปัญญาจะทำอะไรเขาได้

เพราะตั้งแต่ตอนที่คุณนิตย์ พิบูลสงครามเป็น รมว.ต่างประเทศ เคยถูก สหภาพยุโรป ตั้งแง่ไม่ต้อนรับมาแล้ว อธิบดีกรม ๆ หนึ่งในกระทรวงต่างประเทศ เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ (ถ้าจำไม่ผิด น่าจะเป็นบางกอกโพสต์) พูดเรื่องโน้นเรื่องนี้ ทำให้ทูตโปรตุเกส (ถ้าจำไม่ผิด) ในฐานะประธาน EU บอกว่า ท่านอธิบดี เข้าใจเสียใหม่ (ลองหาข่าวเก่า ๆ อ่านดู)

ทุำกวันนี้ทักษิณสามารถไปโน่นไปนี่ได้อย่างสบาย ยกตัวอย่างเช่น มาเลยเซีย อย่างที่รู้กัน เพราะทักษิณนั้นเป็นเพื่อนกับอดีตนายก ฯ มหาเธ่ย์

เพียงแต่ว่าเขาอยากจะไปหรือไม่ไปเท่านั้น

เ้อาแค่สองเรื่องนี้..จะสรุปว่า

ที่เรียกทูตกลับมานั้น เป็นการ "แก้เกี้ยว" เพราะเสียหน้ามาก ๆ ของรัฐบาลสัปะรังเคเท่านั้น

้เ้พราะต่อให้ตัดสัมพันธ์กันจริง ๆ เขาก็ไม่สนใจประเทศไทย

ทุกวันนี้ คนไทยเอาเงินไปเล่นในบ่อนเขมร เสียเงินเยอะแยะ มีแต่พวกคุณหญิงคุณนาย ไฮโซไฮซ้อ เมียนายทหารตำรวจ ฯลฯ เขมรไม่ขาดรายได้หรอก

ทุกวันนี้ เขมรได้รับสิทธิพิเศษจากประเทศฝรังเศส ตอนวันชาติครั้งที่ผ่านมา ได้รับเกียรติให้ไปร่วมพิธี จนมีการลงนามให้บริษัทน้ำมัน TOTAL มาทำสัมปทานขุดน้ำมัน ในที่ของเขมร

แถมประเทศเกาหลีใต้ เข้าไปวางระบบสาธารณูปโภค พวกอุปกรณ์ไอที ต่าง ๆ มีพนักงานจากเกาหลีเดินเต็มพนมเปญ

ประเทศไทยน่ะหรือ? แค่สัมปทานสายการบินบางกอกแอร์เวย์ เขายังไม่ต่อสัญญาให้ แล้วใครล่ะเสีย?

ผมว่า จึงเหมาะสมแล้วที่คุณทักษิณเขาบอกว่า "เด็กจัง"
------------------------------------------------


เขมรได้บทเรียน และได้เรียนรู้ว่า การทำสงครามไม่เกิดประโยชน์อะไร จึงหันมาสร้างชาติ โดยในยุค พล.อ.ชาติชาย ที่มีนโยบาย "เปลี่ยนสนามรบ เป็นสนามการค้า" ได้ช่วยให้ไทยกับเขมร ไม่ต้องมาไล่ยิงกันแถวชายแดนอรัญประเทศเหมือนเดิม (สมัยก่อนใครจำได้ เขมรยิงกันทีไร เด็กนักเรียนไทยวิ่งกันตับแล่บ..เข้าบังเกอร์หลุบกระสุน)

สมัยบรรหารเป็นนายก ฯ ก็ไปเที่ยวเขมร แล้วไปดึงมือของฮุนเซนกับเจ้ารณฤทธิ์ (ถ้าจำไม่ผิด) มาจับมือกันแล้วหัวเราะฮ่า ๆ ..(สองคนนั้นยิ้มเจื่อน ๆ)

เขมรจึงไม่ใส่ใจมากกับเรื่อง "ศักดิ์ศรี" แต่สนใจเรื่องปากท้องของผู้คน..ถนนหนทางเริ่มปรับปรุงให้ทันสมัย ราดยางมะตอย ไฟฟ้าเริ่มเข้่าถึงทุกหมู่บ้าน

ระบบการศึกษา จากเมื่อก่อน มหาวิทยาลัยพนมเปญ มีชื่อเสียงมาก ได้รับการปรับปรุง ชาวขะแมร์..พูดภาษาฝรั่งเศสเป็นไฟ ได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษเพิ่มเติม ชาวเขมรตื่นตัวที่จะปรับตัวให้เข้ากับสังคมโลก..

ผมดูรายการของเกาหลี เห็นชาวเกาหลีใต้รุ่นใหม่ ไปวางรากฐานให้รัฐบาลเขมร ปรับปรุงระบบต่าง ๆ ขนาดจอมอนิเตอร์ ตอนนี้ก็เป็นจอ LCD หมดแล้ว..ไม่เหมือนของไทย งบไทยเข้มแข็ง เห็นกระทรวงหนึ่งบอกว่า เอาไปซื้อคอมพิวเตอร์ให้โรงเรียนสเป๊คราคาเป็น 7-8 หมื่นบาท

เขมรเดี๋ยวนี้เปลี่ยนไปเร็วมาก

จาก:นายขนมตัม

วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

เมื่อไหร่จะเลิก....

ผิดอย่างแรงที่รัฐบาลทำการต่อต้านเขมร ถึงกับถอนฑูต ออกกรณีที่แต่งตั้งคุณทักษิณเป็นที่ปรึกษาเศรฐกิจ

มองแล้วเป็นเรื่องไร้สาระ แทนที่จะใช้วิธีทางการฑูตเจรจา หรือปล่อยวาง แล้วคอยดูว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

กลับใช้อารมณ์ในการตัดสินใจ ผลที่ตามมาจะไม่คุ้มกับอารมณ์ชั่ววูบที่ตัดสินใจไป ผมชอบคุณทักษิณเพราะ

คุณทักษิณเป็นนักธุรกิจที่เข้ามามีส่วนในการเมือง มองเห็นจุดอ่อน จุดแข็งของเศรษฐกิจของประเทศ แต่นาย

อภิสิทธิ์ เป็นนักการเมืองมาตลอด มองทุกอย่างเป็นการเมือง ตัดสินใจแบบนักการเมือง ทำให้ไปไม่ถึงไหนซะที



คุณทักษิณ ทำงานบริหารประเทศในลักษณะที่เป็นทั้ง ประธานกรรมการบริหาร และผู้จัดการในบุคคลเดียว แต่

นายอภิสิทธิ์ เป็นแค่ผู้จัดการ ที่ต้องคอยรับฟัง คอยการตัดสินใจจากประธานฯ ก่อน ถึงจะลงมือทำอะไรได้

ดังนั้นไม่ว่าจะทำอะไร คุณทักษิณจะสามารถตัดสินใจได้เร็วกว่า และกล้าตัดสินใน แต่นายอภิสิทธิ์ไม่

แม้แต่การกู้เงินตปท. มาเพื่อแจกชาวบ้านบางส่วน ผมเชื่อว่าคุณทักษิณไม่ทำ แต่ถ้ากู้มาเพื่อการพัฒนาประเทศ

และสร้างงาน กระจายรายได้ เพื่อที่จะได้ ความเจริญ และเงินภาษีกลับมา ผมเชือคุณทักษิณจะทำ และ

ประชาชนก็ได้รับผล ทั้งความเจริญ และการจ้างงาน ถ้าคุณทักษิณไปเริ่มงาน เป็นที่ปรึกษาให้เขมรจริงๆ

เขมรคงจะก้าวกระโดดในเรื่องเทคโนโลยี่ และเศรฐกิจ และประชาชนเขมรก็จะจนน้อยลง เพราะการสร้างงาน

จากการพัฒนาประเทศ...สรุป อย่าไปมัวแต่ทะเลาะกันเลย หันมาร่วมมือ ร่วมใจพัฒนาประเทศกันเถอะ