--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

บรรยากาศเละเทะ อึดอัด !!?


โดย.วีรพงษ์ รามางกูร

ทุกวันนี้จะหยิบปากกามาเขียนอะไร หรือจะเปิดปากคุยอะไรกับใคร ดูจะอึดอัดใจไปหมด เพราะไม่รู้จะเขียนอะไร ไม่รู้ว่าจะพูดอะไรดี ถ้าจะเขียนเรื่องในบ้าน วัตถุดิบที่จะนำมาเขียนหรือนำมาคุยมีค่อนข้างจำกัด แต่ถ้าเป็นเรื่องต่างประเทศก็มีวัตถุดิบมากมายไม่จำกัด ที่สำคัญก็คือไม่รู้ว่าคนที่เรากำลังพูดกำลังคุยอยู่เขาเป็นพวกไหน เขาเชื่ออะไร เช่น เขาชอบอะไร เขาเกลียดอะไร เขาคิดแบบไหน ต้องระวังตัวกันอย่างไม่เป็นปกติ

การจะพูดกันด้วยเหตุผล ข้อเท็จจริง เป็นไปไม่ได้เสียแล้ว ต้องรอฟังเขาพูดเสียก่อน ว่าเขาสังกัดอะไร คุยเรื่องแนวไหน แล้วค่อยพูด ขืนพูดไม่ระมัดระวังไป โอกาสที่จะเสียเพื่อนมีสูงมาก

คนไทยด้วยกันบัดนี้พูดกันคนละภาษา พูดกันคนละเรื่องไปเสียแล้ว จะใช้เหตุผลกันไม่ได้ ต้องใช้ "ศรัทธา" พูดกัน ในวงสนทนาที่มี "ศรัทธา" เดียวกัน ในขณะที่คนไทยด้วยกันพูดกันคนละภาษา ฝรั่งต่างชาติเสียอีกกลับพูดภาษาเดียวกัน สามารถสื่อสารเข้าใจกันได้

ที่ประหลาดก็คือมีข่าว "เขาว่า" เรื่องแปลกๆ ออกมาให้ตื่นเต้นอยู่เสมอ โดยไม่สามารถบอกได้ว่า "เขาว่า" เป็นใคร มาจากแหล่งใด แต่เพราะเป็นข่าวที่ผู้คนสนใจจึงมีผู้พยายามค้นหา แต่ก็ไม่มีทางหาได้ ก็เคยต้องหาเอาจากเฟซบุ๊กหรืออินเตอร์เน็ต แล้วก็เชื่อกันเป็นตุเป็นตะ ทั้งที่เป็นข่าวเท็จ

ความอึดอัดใจเกิดจากสิ่งที่ได้รับการบอกกล่าว สิ่งที่ฟัง สิ่งที่อ่าน แต่สิ่งที่เห็นกลับเป็นสิ่งที่ตรงกันข้าม ยกตัวอย่าง รัฐบาลก็ดี หน่วยราชการก็ดี ต่างก็บอกว่าเศรษฐกิจดี ราคายาง กก.ละ 80 บาท ข้าวเกวียนละ 10,000 บาท อ้อยน้ำตาลราคาดี แต่ความเป็นจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น จะส่งเรื่องบอกกล่าวสื่อมวลชนก็ไม่ลงข่าวให้ แต่ก็อยู่กันได้ ไม่มีปัญหาอะไร สงบเรียบร้อยดี

สหภาพยุโรปตัดสิทธิประโยชน์ทางภาษีขาเข้าและไม่เจรจาเรื่องเขตการค้าเสรี ก็ไม่กระทบการส่งออกของเรา สหรัฐอเมริกายกเรื่องการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานทาส เพื่อตัดสิทธิทางภาษีขาเข้ากับเราและไม่ยอมเจรจาด้วย เพราะประเทศเราไม่มีประชาธิปไตย ก็ไม่เป็นไร ไม่กระทบต่อการส่งออกของเรา ค่าเงินบาทแข็งเพราะธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ยอมลดดอกเบี้ย เพราะดอกเบี้ยไม่มีผลต่อค่าเงิน ก็ไม่เป็นไรไม่กระทบต่อการส่งออก จะวิพากษ์วิจารณ์ก็ไม่ได้ผิดกฎอัยการศึก พ่อค้านักอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของเราก็ต้องพึ่งการส่งออกทั้งนั้น พูดอะไรก็ไม่ได้ ต้องนั่ง "อึดอัดใจ" กันไป

การที่เราถูกตัดจีเอสพี โดยยุโรป อเมริกา ออสเตรเลียและอื่นๆ ย่อมเป็นที่ยินดีของเพื่อนประเทศที่เป็นสมาชิกอาเซียนด้วยกัน เพราะเขาจะได้ส่งออกแทนของไทย ตลาดที่เราเสียไปให้กับเพื่อนอาเซียนนั้นจะเสียไปอย่างถาวร ไม่ใช่ชั่วคราว เพราะเมื่อผู้ซื้อเปลี่ยนผู้ขายแล้วยากที่จะกลับคืนมา

การลงทุน ไม่ต้องพูดถึง ขณะนี้เราผลิตอยู่เพียงครึ่งเดียวของกำลังการผลิต เหตุผลทางเศรษฐกิจจึงไม่มีอยู่แล้ว แต่ยังมีเหตุผลเพิ่มเติม นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศย่อมไม่กล้าลงทุนกับประเทศที่ตลาดยุโรปและอเมริกา หรือที่อื่นๆ เพราะเขาไม่ยอมรับประเทศที่ปกครองด้วยระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หรือประเทศที่ไม่เป็น "นิติรัฐ"

เศรษฐกิจการค้าการขายในทุกวันนี้ล้วนผูกพันกับการเมืองอย่างใกล้ชิด เราเคย "อึดอัดใจ" ที่มีประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า ที่ปกครองด้วยระบอบ "เผด็จการทหาร" แล้วเราก็เป็นผู้นำทางประชาธิปไตยในกลุ่มอาเซียน ได้รับมอบหมายให้ทำงานกับรัฐบาลทหารในพม่า ในการเข้าไปสร้างสรรค์กลวิธีการดำเนินการ สร้างแผนการและกรอบเวลาเพื่อนำไปสู่ระบอบประชาธิปไตย อันเป็นเงื่อนไขของการรับพม่าเข้าเป็นสมาชิกของอาเซียน บัดนี้ต้อง "อึดอัดใจ" ที่ได้ยินผู้นำพม่าเตือนเราว่า ให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว

เรื่องทางเศรษฐกิจการค้าการลงทุนจากต่างประเทศ การดำรงตนอย่างมีศักดิ์ศรีในประชาคมโลก ในฐานะอารยประเทศ มีความสำคัญเท่าๆ กับการอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

ที่ "อึดอัดใจ" มากขึ้น เมื่อเห็นสิ่งแปลกประหลาดเกิดขึ้นในวงการสงฆ์ โดยที่สภาปฏิรูปแห่งชาติเป็นคนจุดพลุริเริ่มขึ้นด้วยเรื่องที่ได้ยุติไปแล้ว มติของมหาเถรสมาคมตั้งแต่ปี 2542 ได้กลับปะทุขึ้นมาอีกครั้ง เกิดการจาบจ้วงหยาบคายต่อองค์กรสูงสุดของคณะสงฆ์ไทยอันได้แก่มหาเถรสมาคม ซึ่งประกอบด้วยพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ชั้นสมเด็จพระราชาคณะชั้นรอง สมเด็จพระราชาคณะและพระราชาคณะ อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนไม่ว่าจะสมัยใด ย่อมเป็นการแสดงอาการป่วยของสังคมไทยที่ "อึดอัด" แปลกใจกับการไม่มีปฏิกิริยาคัดค้านการกระทำดังกล่าวจากคณะสงฆ์อื่นๆ และประชาชนชาวพุทธเลย อึดอัดจนไม่ทราบว่าจะพูดอย่างไร

บรรยากาศแห่งความสับสนอลหม่านที่เกิดขึ้นจากการปะทุขึ้นของเรื่องต่างๆ ที่ปกปิดกันมาเป็นเวลานานกำลังผุดขึ้นเหมือนพลุที่ถูกจุดขึ้นในยามค่ำคืน


เริ่มต้นตั้งแต่ความสับสนของขบวนการใช้กฎหมาย กระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นไปตามปกติ มีความผิดปกติที่วิญญูชนทั่วไปคาดไม่ถึง ความสับสนปนเปเละเทะของหน่วยงานใหญ่ที่เป็นผู้ดูแลความสงบสุขและปราบปรามอาชญากรรม อย่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ การล่มสลายของสถาบันนิติบัญญัติและรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย การปฏิเสธประชาธิปไตย การเรียกร้องให้มีการทำรัฐประหาร รวมทั้งการสนับสนุนรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะคาดได้ ในประเทศที่กำลังจะก้าวข้ามการเป็นประเทศกึ่งพัฒนา แล้วไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วในศตวรรษที่ 21 ความเละเทะ ไม่มีกฎไม่มีเกณฑ์ ไม่มีเหตุผล เต็มไปด้วยอคติและอารมณ์ คงจะดำรงอยู่ในสังคมไทยไปอีกระยะหนึ่ง แม้ว่าจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้ตลอดกาล

ในบรรยากาศที่แสนจะอึดอัดดังกล่าวนี้ ทุกคนอยู่กับความไม่แน่นอน ไม่รู้ว่าวันข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น สังคมที่เละเทะ ไม่คงเส้นคงวา วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ เต็มไปด้วยข่าวลือที่พิสูจน์ไม่ได้ ย่อมคาดการณ์อะไรข้างหน้าได้ยาก

ทุกคนคิดว่าท่ามกลางความไม่แน่นอนนี้ คงจะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ปกติขึ้น ไม่รู้ว่าจะเป็นอะไร รู้แต่ว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นเป็นสิ่งไม่ดี ไม่น่าพึงประสงค์ แต่ก็ไม่ทราบว่าเมื่อไหร่และไม่รู้ว่าจะแก้ไขอย่างไร ไม่ทราบว่าจะป้องกันเหตุการณ์ที่ไม่ดีนั้นได้อย่างไร เพราะยังไม่รู้ชัดว่ามันคืออะไร เพราะการพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์เป็นสิ่งต้องห้าม

บรรยากาศแบบนี้จึงเป็นบรรยากาศที่อึดอัด คนที่มีพลังหนุนหลังจึงแสดงออกอย่างเต็มที่ในการโจมตีทำลายล้างฝ่ายตรงกันข้าม ที่น่ากลัวก็คือจากองค์กรทางการเมืองมาสู่รัฐบาลขณะนี้กำลังคืบคลานเข้าไปสร้างความแตกแยกในวงการศาสนา การเข้าไปในวงการศาสนาเป็นเรื่องที่อันตราย เพราะเป็นการเข้าไปท้าทายต่อศรัทธาของผู้คนจำนวนมาก

ศรัทธาเป็นเรื่องที่แตะต้องไม่ได้ อธิบายไม่ได้ ถ้าไม่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรมอันดีของประชาชนแล้วก็ไม่ควรไปท้าทาย

สถานการณ์ที่น่ากลัวนี้จะพัฒนาไปอย่างไร

ที่มา.มติชน
///////////////////////////////////////////

วันอาทิตย์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

หนี้ครัวเรือน..!?


โดย. วีรพงษ์ รามางกูร

ระยะนี้มีการกล่าวถึงเรื่องหนี้ครัวเรือน หนี้รัฐบาลและหนี้ต่างประเทศกันมาก อาจจะเป็นเพราะประเทศไทยของเรามาถึงจุดที่จะต้องลงทุนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการขนส่งทางบก ทางอากาศ และทางน้ำ เพราะเหตุที่ประเทศของเราได้ว่างเว้นการลงทุนโครงการพื้นฐานมาเป็นเวลานาน จนเป็นเหตุให้ประเทศล้าหลังประเทศอื่น เช่น จีน เกาหลี ไต้หวัน สิงคโปร์ ฮ่องกง หรือแม้แต่อินโดนีเซีย

ประเทศไทยจึงเป็นประเทศที่เกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดมาตลอดตั้งแต่หลังเหตุการณ์ต้มยำกุ้ง ต่อเนื่องมาโดยตลอดเป็นเวลากว่า 17-18 ปีแล้ว จึงมีแรงกดดันให้มีการพูดถึงการลงทุนขนาดใหญ่ เช่น การลงทุนในระบบราง การลงทุนในระบบการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ซึ่งจะต้องใช้เงินทุนจำนวนมหาศาล

การที่เราเกินดุลบัญชีเดินสะพัดทุกปี ก็แปลว่าประเทศของเรา "ออม" มากกว่า "ลงทุน" สะสมมาเรื่อย ๆ หรือจะกล่าวว่าเราลงทุนน้อยเกินไป หรือ "underinvest" มาตลอดเวลาก็ได้

ถ้าเปรียบเทียบกันระหว่างบริษัท 2 บริษัท ที่ผลการดำเนินงานมีกำไรเท่า ๆ กัน บริษัทหนึ่งถือโอกาสนำกำไรไปลงทุนต่อ ขยายตลาดต่อ กับอีกบริษัทนำกำไรไปฝากธนาคารไว้เพื่อความมั่นคง ต่อมาอีก 10 ปี บริษัทที่นำเอากำไรไปลงทุนต่อก็จะมีกิจการใหญ่โต และถ้ารู้จักระมัดระวัง ไม่ลงทุนเกินตัวจนมีหนี้สินมากเกินไป ก็จะมีการเติบโตพร้อม ๆ กับมีความมั่นคงด้วย ส่วนบริษัทที่นำกำไรไปฝากธนาคารเป็นเงินออมของบริษัท แม้จะมีความมั่นคงระดับหนึ่ง แต่ก็จะแคระแกร็นและอาจจะอยู่ไม่ได้ เพราะไม่สามารถแข่งขันกับบริษัทอื่นได้ ประเทศก็เช่นเดียวกัน ถ้าสามารถสร้างเงินออมได้แต่ไม่รู้จักลงทุน อีกทั้งยังนำเงินออมของประเทศไปซื้อพันธบัตรของสหรัฐอเมริกาก็เท่ากับนำเอาเงินออมของตนไปให้อเมริกาใช้ชดเชยการลงทุนของเขา เราไม่ได้ประโยชน์อะไรนอกจากดอกเบี้ย ซึ่งขณะนี้ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์

การลงทุนโครงการใหญ่จึงเป็นของจำเป็น โดยรัฐบาลเป็นผู้ลงทุนจากการกู้ยืม "เงินบาท" จากประชาชน ฉะนั้นจึงไม่มีอันตรายอะไรเลย เมื่อจะนำเข้าสินค้าหรือบริการก็นำเงินบาทไปซื้อเงินตราต่างประเทศในตลาดเงินหรือตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศได้ ไม่มีปัญหาอะไร ในกรณีที่รัฐบาลกู้เงินบาทครัวเรือนก็เป็นเจ้าหนี้

สำหรับหนี้ของรัฐบาลและภาครัฐ ที่เป็นหนี้ภายในประเทศควรจะเกินเท่าใดจึงจะไม่เป็นอันตรายต่อฐานะการเงินการคลังของประเทศนั้น ไม่มีสูตรแน่นอนตายตัว แต่มักจะวัดกันว่ามีสัดส่วนเท่าใดของรายได้ประชาชาติบ้าง เช่น เราตั้งเพดานไว้ว่าไม่ควรเกิน 60 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ประชาชาติ แต่แม้จะเกินก็ไม่เป็นไร มีหลายประเทศที่หนี้สาธารณะมีจำนวนสูงกว่ารายได้ประชาชาติก็มีมาก เช่น ญี่ปุ่นมีสูงกว่า 250 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ประชาชาติ เป็นต้น

ที่สำคัญก็คือ "ภาระการชำระหนี้" ทั้งที่เป็นเงินต้นและดอกเบี้ย เรากำหนดไว้ใน พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณว่าไม่ให้เกินร้อยละ 25 ของงบประมาณรายจ่าย มีบางช่วงหลังวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่ 2 รายได้จากภาษีอากรไม่เข้าเป้า ก็มีการแปลงหนี้โดยการกู้หนี้ใหม่มาใช้หนี้เก่า เพื่อยืดอายุการชำระหนี้ออกไปก็มี เป็นเรื่องที่จัดการได้

หนี้ของรัฐบาลและของรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งหนี้ของบริษัทห้างร้านต่าง ๆ ที่เป็นเงินบาท ในแง่มหภาคหรือเศรษฐกิจของประเทศโดยส่วนรวมจึงเป็นหนี้ของตัวเอง กล่าวคือ ลูกหนี้และเจ้าหนี้ต่างก็เป็นคนที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจอันเดียวกัน ดอกเบี้ยที่ลูกหนี้จ่ายก็เป็นรายได้ของเจ้าหนี้ รวมแล้วรายได้ของคนในระบบมีเท่าเดิม

สำหรับหนี้ของครัวเรือนที่มีการพูดถึงกันมากว่า จะเป็นอันตรายต่อระบบการเงินและเสถียรภาพของครอบครัว โดยมีการรายงานหนี้ของครัวเรือนว่ามีเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้แล้ว รายงานหนี้ของครัวเรือน น่าจะแฝงอคติเข้าไปด้วยว่าการเป็นหนี้ของครัวเรือนเป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นสิ่งที่ชั่วร้าย

ขณะเดียวกันกับความวิตกว่าหนี้ของครัวเรือนหรือหนี้ส่วนบุคคลมีจำนวนสูงขึ้น ก็มีอีกฝ่ายหนึ่งชี้ให้เห็นว่าช่องว่างระหว่างรายได้ของบุคคลหรือครัวเรือนนั้น เป็นเพราะคนในระดับ "รากหญ้า" ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้

เนื่องจากเงินทุนเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต นอกเหนือไปจากแรงงานในประเทศด้อยพัฒนาหรือประเทศกำลังพัฒนา
ที่ค่าตอบแทนต่อแรงงานมักจะต่ำ เพราะปริมาณแรงงานมีมากเมื่อเทียบกับความต้องการ ขณะเดียวกันค่าตอบแทนต่อเงินทุนมีสูง เพราะเงินทุนมีจำกัดเมื่อเทียบกับความต้องการ การเข้าถึงเงินทุนอย่างทั่วถึงเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะทำให้คนในระดับรากหญ้าสามารถเปลี่ยนอาชีพจากผู้ใช้แรงงานมาเป็นผู้ประกอบการรายย่อยได้ เป็นผู้ประกอบการที่สามารถใช้เงินทุนให้ได้ผลตอบแทนในอัตราที่สูงกว่า "ดอกเบี้ย" และในขณะเดียวกันกับหนี้สินในระบบที่อัตราดอกเบี้ยไม่สูง ย่อมจะทำให้ครัวเรือนสามารถสร้างทรัพย์ของครัวเรือนได้

ด้วยเหตุที่ธนาคารพาณิชย์ไม่อาจจะสนองตอบต่อความต้องการของครัวเรือนระดับล่างในการให้กู้ยืมเพื่อการผลิตในระดับครัวเรือนได้ จึงเป็นหน้าที่ของ "รัฐ" ที่จะจัดตั้งสถาบันการเงินภาครัฐ เช่น ธ.ก.ส.ก็ดี ธนาคารออมสินก็ดี ธนาคารอาคารสงเคราะห์ก็ดี หรือแม้แต่ธนาคารเพื่อวิสาหกิจขนาดย่อม เพื่อทำหน้าที่จัดระดมเงินฝากจากครัวเรือนรายย่อยและจัดหาสินเชื่อให้กับครัวเรือนในกรณีที่ตลาดการเงินไม่ทำงาน


คนชั้นสูงมักจะมองว่าคนชั้นล่างไม่ควรเป็นหนี้เพื่อซื้อรถยนต์ จักรยานยนต์ โทรศัพท์มือถือ เครื่องไฟฟ้าในครัวเรือน และอื่น ๆ โดยลืมไปว่าสิ่งของอย่างเดียวกันที่คนระดับล่างซื้อหามาใช้ในครัวเรือนมิใช่เป็นสินค้าเพื่อการบริโภคอย่างเดียว แต่มีลักษณะเป็นสินค้าทุนด้วย เช่น ยานพาหนะที่ใช้ในการประกอบอาชีพเพื่อการขนส่ง โทรศัพท์มือถือก็ใช้ในการประกอบอาชีพ รวมทั้งเครื่องใช้ไม้สอยในครัวเรือนก็อาจจะเป็นเครื่องผ่อนแรง ที่มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่า ค่าแรงงานที่เขาสามารถทำมาหาได้ ความจริงแล้วส่วนใหญ่ต่างก็เป็น "สัตว์เศรษฐกิจ" ทั้งนั้น

การรายงานตัวเลขหนี้สินของครัวเรือนอย่างเดียวโดยไม่ได้ดูทางด้านทรัพย์สินและรายได้ของครัวเรือน จึงเป็นการมองที่ผิวเผินและอาจจะนำไปสู่การดำเนินนโยบายที่ผิด ๆ ด้วย ถ้าเปรียบเทียบหนี้ของครัวเรือนของไทยน่าจะมีอัตราสูงกว่าหนี้ของครัวเรือนในพม่าหรือประเทศอินโดจีน แต่ไม่ได้หมายความว่า เสถียรภาพทางการเงินของครัวเรือนในพม่า ในเวียดนามหรือประเทศอื่นจะดีกว่าเสถียรภาพทางการเงินของครัวเรือนในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม น่าจะมีครัวเรือนบางแห่งที่สมาชิกในครัวเรือนไม่รับผิดชอบ ติดยาเสพติด ติดสุรายาเมา เมื่อถึงเวลาชำระหนี้ก็ผิดนัด กลายเป็นหนี้เสีย แต่น่าจะเป็นส่วนน้อย ในที่สุดกลุ่มคนส่วนนี้ก็อาจจะลงไปพึ่งเงินกู้นอกระบบ ที่มีอัตราดอกเบี้ยแพงและเป็นข่าว ซึ่งน่าจะเป็นคนกลุ่มน้อย แต่ก็เป็นหน้าที่ที่รัฐจะต้องยื่นมือเข้ามาป้องกันการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเหล่านั้น

สังคมที่พัฒนาแล้วเช่นสหรัฐอเมริกาและยุโรป ประชาชนเริ่มต้นชีวิตและครอบครัวโดยการเป็นหนี้ก่อน เพราะในช่วงอายุยังน้อยรายได้ยังต่ำ การเป็นหนี้คือการดึงเอารายได้ในอนาคตมาใช้ก่อน โดยเริ่มจากการกู้ยืมเพื่อการศึกษา ซื้อยานพาหนะ บ้านและที่ดิน แล้วก็ค่อย ๆ ผ่อนส่งไปจนถึงเวลาเกษียณอายุ ความเสี่ยงย่อมเป็นความเสี่ยงของเจ้าหนี้ หรือสถาบันการเงินที่ให้กู้ยืมด้วย ไม่ใช่ของครัวเรือนเท่านั้น ส่วนลูกหลานจบการศึกษาแล้วหาเอาเอง

แต่ค่านิยมของพวกเราชาวตะวันออกมิได้เป็นเช่นนั้น พ่อแม่จึงต้องออมไว้เป็นมรดกสำหรับลูกหลาน

คิดไม่เหมือนกัน ระบบภาษีก็ไม่ควรเหมือนกัน

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ธุรกิจรอเก้อ-ลงทุนรัฐล่าช้า เศรษฐกิจรากหญ้ากระตุ้นไม่ขึ้น..!!?


ลงทุนภาครัฐ.. เครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 58 ไม่ขยับ-เบิกจ่ายล่าช้า ส่งผลภาคธุรกิจไม่กล้าลงทุนใหม่ เอกชนร้องขอภาครัฐเร่งเครื่องสร้างความชัดเจนการลงทุน ด้าน รัฐบาลคาดโทษ "ปลัด-อธิบดี" เบิกจ่ายล่าช้า "ทนง พิทยะ" ชี้เศรษฐกิจชนบททรุดหนักจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ
เอกชนยังชะลอลงทุน

จากรายงานผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจเดือน ม.ค. 2558 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ภาวะธุรกิจในไตรมาส 1/58 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในด้านการลงทุนภาคเอกชนยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน เมื่อพิจารณาจากความต้องการขอสินเชื่อที่แม้จะปรับเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังอยู่ในอัตราชะลอตัวจากไตรมาสก่อนหน้า และความต้องการสินเชื่อ

ส่วนใหญ่ยังเป็นสินเชื่อหมุนเวียนระยะสั้น สอดคล้องกับความเห็นของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่ยังชะลอการลงทุนเพื่อรอดู ความสามารถในการเบิกจ่ายงบฯลงทุนของภาครัฐที่จะส่งผลต่อความมั่นใจของผู้ ประกอบการและการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ

อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนในภาคก่อสร้างและจำนวนโครงการที่ได้ รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องดื่ม ธุรกิจปิโตรเลียมและธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ มีแผนการลงทุนสร้างโรงงานใหม่ในประเทศเพื่อนบ้าน

สำหรับการลงทุนภาคเอกชนในเดือนธันวาคม 2557 ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยพบว่าการลงทุนเครื่องจักรชะลอลงตามการนำเข้าสินค้าทุน อย่างไรก็ดี กลุ่มธุรกิจโทรคมนาคม พลังงานหมุนเวียน ค้าปลีกค้าส่ง และอสังหาริมทรัพย์ ยังมีการลงทุนเพื่อตอบสนองต่อความต้องการในประเทศ

รายงานระบุว่า ภาคธุรกิจยังไม่เพิ่มการลงทุนใหม่มากนัก เพราะรอประเมินความชัดเจนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการลงทุนโครงสร้างพื้น ฐานของภาครัฐดังนั้นความต่อเนื่องและความชัดเจนของนโยบายภาครัฐจะเป็นปัจจัย สำคัญที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนให้กับภาคธุรกิจ

อุปโภคบริโภคไม่ฟื้นตัว

ขณะ ที่การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนในเดือนธันวาคม 2557 พบว่าชะลอจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูงและราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำทำให้ครัว เรือนระมัดระวังการใช้จ่าย สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นต่อรายได้ในอนาคตของผู้บริโภคที่ทรงตัวต่อ เนื่อง ประกอบกับความระมัดระวังของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อ ส่งผลให้การใช้จ่ายในสินค้าคงทนโดยเฉพาะในรถยนต์ยังไม่ฟื้น รวมทั้งการใช้จ่ายในสินค้าไม่คงทนที่อ่อนแรงลง หลังจากปรับตัวดีขึ้นก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตาม คาดว่าแนวโน้มในช่วงต้นปี 2558 จะปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีปัจจัยหนุนจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงมากที่จะช่วยเพิ่มกำลังซื้อภาคครัว เรือน

"ประสาร" ชี้ค่อยเป็นค่อยไป

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันเริ่มมีการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เรื่องการอุปโภคบริโภค การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด ส่วนการลงทุนเริ่มกลับมาเล็กน้อย

ขณะที่ภาคการส่งออกเป็นส่วนที่ยัง ไม่ดี โดยคาดว่าครึ่งแรกของปี"58 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี จะขยายตัวเฉลี่ยกว่า 4% ส่วนครึ่งปีหลังน่าจะเห็นการเติบโตกว่า 3% ทำให้ทั้งปีน่าจะเติบโตตามเป้าหมายที่ ธปท.ตั้งไว้ 4%

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจในระยะต่อไปจะต้องพิจารณาข้อมูลที่สำนักงานคณะกรรมการ พัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ จะประกาศในวันจันทร์ที่ 16 ก.พ.นี้ก่อน ซึ่งจะมีรายละเอียดของแต่ละภาคส่วนเป็นสำคัญ

นายประสารกล่าวว่า ในส่วนข้อกังวลเรื่องภาวะเงินฝืดที่อาจจะเกิดขึ้นจากพฤติกรรมของประชาชนที่ มีการระมัดระวังเรื่องของการใช้จ่ายมากขึ้นเพื่อรอดูทิศทางของเศรษฐกิจ และการดำเนินนโยบายของรัฐบาลนั้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของความรู้สึก แต่เวลาที่ ธปท.พิจารณาก็จะมองในภาพรวมเป็นหลัก ซึ่งจะมองจากการอุปโภคบริโภค โดยเท่าที่รับรู้ข้อมูลก็มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้น แม้จะไม่ได้รวดเร็วมากนัก

ด้านนายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวถึงทิศทางการปล่อยสินเชื่อภาคธุรกิจปี"58 ว่า มีแนวโน้มเติบโตหากเทียบกับช่วงที่ผ่านมา โดยสินเชื่อธุรกิจที่ยังขยายตัวได้ โดยเฉพาะกลุ่มสาธารณูโภคที่ยังสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่องจากที่ยังคงมีความ ต้องการลงทุนด้านพลังงานไฟฟ้า เช่นเดียวกับภาคก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ที่ยังเติบโตได้

"แม้สัญญาณจะเริ่มดีขึ้น แต่ก็ต้องติดตามการลงทุนของภาครัฐด้วยว่าเป็นอย่างไร ขณะนี้ยังเร็วไปที่จะพูดว่าสินเชื่อธุรกิจจะโตหรือไม่"

เบิกจ่ายช้าคาดโทษปลัด-อธิบดี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2558 ที่ยังล่าช้าส่งผลต่อเนื่องต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เนื่องจากเงินหมุนเวียนเข้าไปในระบบน้อย ทำให้รัฐบาลต้องใช้มาตรการเข้มข้นในการเร่งรัดผลักดันให้เกิดการใช้จ่ายงบฯเป็นพิเศษ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน พล.อ.ประวิตร ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของ คสช. ได้สั่งการให้หน่วยงานราชการทุกแห่งเร่งรัดทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างให้แล้ว เสร็จภายในเดือน มี.ค.นี้ เพื่อให้การเบิกจ่ายงบประมาณเป็นไปตามเป้า และให้สำนักงบประมาณรายงานความคืบหน้าต่อ ครม. และ คสช.

ขณะเดียวกัน ให้ 9 หน่วยงาน ประกอบด้วยกรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมโยธาธิการและผังเมือง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งได้รับจัดสรรงบฯรายจ่ายด้านการลงทุนจำนวนมาก รายงานผลการจัดซื้อจัดจ้าง และจัดทำแผนเร่งรัดเบิกจ่ายงบฯเสนอ ครม.พิจารณา วันที่ 18 ก.พ.นี้

พร้อมกับมอบหมายให้ รองนายกฯและ รมต.แต่ละกระทรวงไปเร่งรัดหน่วยงานในการกำกับดูแลให้เร่งเบิกจ่ายงบฯให้เป็น ไปตามเป้าที่วางไว้ หากหน่วยงานใดไม่เร่งรัดติดตามและการเบิกจ่ายยังล่าช้า ผู้บริหารระดับสูงตั้งแต่ระดับอธิบดีขึ้นไป จนถึงรองปลัดกระทรวง ปลัดกระทรวง จะต้องรับผิดชอบ และจะมีผลต่อการพิจารณาประเมินผลการปฏิบัติงานในตำแหน่งดังกล่าวด้วย

ยอดเบิกจ่าย 4 เดือนแรกต่ำเป้า

รายงาน ข้อมูลจากกระทรวงการคลังพบว่า ช่วงต้นปีงบประมาณ 2558 (ต.ค. 2557-ม.ค. 2558) มียอดเบิกจ่ายดังนี้ 1.เงินกันไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปี 2548-2556 มียอดเบิกจ่ายที่ 16,790.5 ล้านบาท ต่ำกว่าวงเงินที่มี 24,892.4 ล้านบาท 2)เงินกันไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปี 2557 มียอดเบิกจ่าย 78,786 ล้านบาท ต่ำกว่าวงเงินวางไว้ที่ 147,050.8 ล้านบาท

3)งบฯลงทุนปีงบประมาณ 2558 เบิกจ่ายได้ 58,082 ล้านบาท ขณะที่มีการตั้งเป้าหมายจะเร่งเบิกจ่ายในไตรมาสแรก 129,522.2 ล้านบาท และ 4)งบฯกลางที่กันไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปีและงบฯไทยเข้มแข็งปี 2552 ส่วนที่เหลือ ซึ่งพบว่ามีการเบิกจ่าย1,426 ล้านบาท จากวงเงินรวมที่มี 23,000 ล้านบาท

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การใช้จ่ายภาครัฐในช่วง 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 ที่ผ่านมา มีการเบิกจ่ายในส่วนงบฯลงทุนยังต่ำ เนื่องจากเป็นเรื่องเทคนิคที่ต้องมีการปรับงบฯลงทุนบางส่วนไปเป็นงบฯประจำ แต่หากมองภาพรวมทั้งงบประมาณ เงินนำส่งรัฐวิสาหกิจ เงินจากโครงการไทยเข้มแข็ง พบว่าถึงสิ้นเดือน ธ.ค. มีการเบิกจ่ายกว่า 9 แสนล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นโมเมนตัมให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีในไตรมาสแรกจากนี้ไป

"เพราะจะมีเงินออกใหม่อีกหลายตัว โดยเฉพาะการลงทุนของภาครัฐในด้านคมนาคม ถึงสิ้นปีจะมีเม็ดเงินออกมาราว 1 แสนล้านบาท" นายวิสุทธิ์กล่าว

สำหรับ การใช้จ่ายบริโภคเอกชนนั้น หากพิจารณาจากตัวเลขภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากการบริโภคในเดือน ม.ค. จัดเก็บได้ 4.2 หมื่นล้านบาท หากคำนวณเป็นตัวเลขการใช้จ่ายด้านบริโภคที่เกิดขึ้นก็จะอยู่ที่กว่า 5 แสนล้านบาท ถือเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง ทำให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) มองว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสูงกว่าในรอบหลายไตรมาสที่ผ่านมา

"ทนง" ห่วง "เศรษฐกิจชนบท"

นายทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2558 นี้ คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตราว 3-3.5% หากวิเคราะห์ในรายละเอียดจะพบว่า เศรษฐกิจในเมืองใหญ่ยังมีทิศทางการขยายตัวที่ดี เนื่องจากมีสัดส่วนของประชากรที่มีรายได้สูงช่วยขับเคลื่อน

ภาคการบริโภค แต่เศรษฐกิจภาคชนบทจะค่อนข้างน่าเป็นห่วง เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรปรับตัวลดลงอย่างมาก ขณะที่รัฐบาลชุดนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการใช้วิธีให้เงินอุดหนุน ซึ่งเป็นแนวทางที่รัฐบาลชุดก่อนหน้าทำได้ ส่งผลให้อัตราการเติบโตเศรษฐกิจไม่ขยายตัวเท่าที่ควร

"เศรษฐกิจชนบท กำลังมีปัญหาเพราะราคาสินค้าเกษตรปรับตัวลดลงอย่างมาก เราต้องหาทางแก้ ไม่อย่างนั้นจะติดกับดักรายได้ ซึ่งหมายถึง ทุกคนในประเทศมีงานทำ การว่างงานในประเทศมีน้อย แต่เศรษฐกิจกลับไม่โต ทั้งที่ความจริงถ้าทุกคนมีงานทำ เราควรจะโตอย่างน้อย 6-8% แต่นี่เรากลับโตแค่ 1-3% เท่านั้น" นายทนงกล่าวว่า

อสังหาฯรายกลางรีวิวแผนลงทุน

นายปรีชา กุลไพศาลธรรม กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทเปี่ยมสุข ผู้พัฒนาโครงการจัดสรรแบรนด์บ้านเปี่ยมสุข เปิดเผยว่า บริษัทได้รีวิวแผนลงทุนปี 2558 เนื่องจากกำลังซื้อที่อยู่อาศัยยังฟื้นตัวช้า และการเบิกจ่ายงบฯภาครัฐที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจยังไม่เห็นผลชัดเจน จากเดิมมีแผนเปิดโครงการใหม่ปีนี้ 4 โครงการ ขณะนี้ปรับลดเหลือ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการทาวน์โฮม3 ชั้น ทำเลกาญจนาภิเษก-พระราม 5 มูลค่า700 ล้านบาท และโครงการบ้านแฝดทำเลทางด่วนศรีสมาน มูลค่า 400-500 ล้านบาท

สำหรับ อีก 2 โครงการ คือ ทาวน์โฮมทำเลรัตนาธิเบศร์ มูลค่าโครงการ 300 ล้านบาท และทาวน์โฮมทำเลบางบัวทอง มูลค่าโครงการ 500 ล้านบาท ตัดสินใจชะลอไปเป็นต้นปีหน้า ยกเว้นกำลังซื้อช่วงครึ่งปีแรกจะกลับมาฟื้นตัวชัดเจน อาจเลือกเปิดขายอีก 1 โครงการ

ด้านนายศุภชัย แจ่มมโนวงศ์ กรรมการบริหาร บริษัท เซ็นจูรี่ 21 (ประเทศไทย) จำกัดที่ปรึกษาการลงทุนและรับบริหารงานขายโครงการอสังหาฯ เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ โครงการคอนโดฯบัดเจ็ท ไบร์ท บนถนนจรัญสนิทวงศ์ได้ชะลอเปิดตัวโครงการเป็นทางการจากไตรมาส 1 เป็นไตรมาส 2 เพื่อรอดูความชัดเจนเศรษฐกิจ นอกจากนี้มีโครงการคอนโดฯอีก 1-2 โครงการที่บริษัทกำลังเจรจารับบริหารงานขาย แต่ยังไม่เซ็นสัญญารับงานเลื่อนเปิดตัวจากต้นปีเป็นครึ่งปีหลัง

เอกชนขอความชัดเจนลงทุนรัฐ

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล กรรมการรองเลขาธิการ หอการค้าไทย กล่าวว่า การที่โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐล่าช้าหรือไม่ชัดเจนก็จะส่งผลต่อ บรรยากาศการลงทุนของภาคเอกชน โดยเฉพาะกลุ่มก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งกลุ่มห้างสรรพสินค้าก็จะได้รับผลกระทบตามมาเช่นกัน ดังนั้นโครงการลงทุนของภาครัฐควรจะมีความชัดเจนในไตรมาส 3/2558 เพื่อจะเห็นการลงทุนและเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่ระบบได้ภายในปีหน้า

ด้าน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) และรองประธานสภาหอการค้าไทย กล่าวว่า ปัจจุบันกำลังการผลิตโดยเฉลี่ยของภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่เพียง 60% เท่านั้นซึ่งยังไม่เพิ่มขึ้น สะท้อนว่าภาคธุรกิจก็ยังไม่มีการลงทุนเพิ่ม

ขณะที่การบริโภคภายในประเทศที่ยังชะลอตัว ในส่วนของศรีไทยฯจึงเน้นขยายการลงทุนไปในต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งการผลิตของบริษัทส่วนใหญ่ก็เป็นสินค้าส่งออก ส่วนที่รองรับตลาดในประเทศค่อนข้างน้อย

อย่างไรก็ตาม มองว่าภาครัฐควรทำให้การลงทุนของภาครัฐมีความชัดเจน เพื่อสร้างบรรยากาศการลงทุน การบริโภคภายในประเทศกลับมา

7-11 มองความหวังครึ่งปีหลัง

นาย ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ซีพี ออลล์ กล่าวว่าสภาพตลาดและเศรษฐกิจครึ่งปีหลังจะดีขึ้น เชื่อว่าภาคธุรกิจยังเดินหน้าลงทุน โดยการเปิดเออีซีก็เป็นโอกาสที่ดี ทำให้เกิดการลงทุน ซึ่งไทยก็จะได้รับโอกาสจากการเป็นศูนย์กลางภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ในแง่ของจิตวิทยาก็มีผลบ้าง คือมองว่าเศรษฐกิจซึม ก็อาจจะทำให้ธุรกิจและผู้บริโภคยังไม่ต้องการใช้เงิน

"เซเว่นฯจะขยาย สาขาใหม่ 700 สาขา จากที่มีอยู่ 8,100 สาขา ปีนี้น่าจะโต 11-12%ปลายปีที่แล้วเราไม่รู้ว่าน้ำมันจะลดลงมกราคมที่ผ่านมาก็ไม่รู้ว่า เงินยูโรจะอ่อนค่าลงมาก มีผลต่อต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวลดลง บรรยากาศตลาดกำลังซื้อลดลง แต่ไม่ได้หมายความว่าเมืองไทยไม่ดี ผมไม่ได้มองทั้งปี แต่มองอีก 6 เดือนจะเปลี่ยนไปดูครึ่งปีหลังว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง"

ที่มา.ปประชาชาติธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันเสาร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เศรษฐกิจจีนทรุด ธุรกิจขนส่งวัตถุดิบ ยวบ !!??


คอลัมน์ เวิลด์มอนิเตอร์

การที่ชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ที่สุดของโลก เริ่มส่อให้เห็นผลกระทบในหลายด้านแล้ว โดยเฉพาะดีมานด์ต่อวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิต เห็นได้จากการขนส่งสินค้าจำพวกถ่านหินและแร่เหล็ก มีอัตราการขนส่งต่ำสุดในรอบ 29 ปี

วอลล์สตรีต เจอร์นัล รายงานว่า ดัชนีบอลติกดราย (Baltic Dry Index) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ที่ราว 577 จุด ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่การขนส่งทางเรือคึกคักที่สุดเมื่อเดือน ก.ค. 2551 ที่ 11,793 จุด จะสะท้อนได้ชัดเจนว่าการขนส่งสินค้าโภคภัณฑ์ทางเรือลดลงถึงกว่า 20 เท่า

ปี 2551 นี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะถือเป็นปีเศรษฐกิจโลกพุ่งทะยานถึงขีดสุด และเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ยังคงส่งให้เห็นถึงผลกระทบมาจนถึง ทุกวันนี้ โดยก่อนหน้าปี 2551 นั้น ด้วยดีมานด์ต่อสินค้าและการขนส่งที่เพิ่มขึ้นมาก ทำให้มีการสั่งต่อเรือเพื่อการขนส่งสินค้าโภคภัณฑ์แบบแห้ง (อาทิ แร่ หิน ดิน ทราย) ออกมาเป็นจำนวนมาก แต่หลังดีมานด์ลดลงทำให้ตอนนี้มีเรือเกินความต้องการอยู่ถึง 20%

ด้าน นายรุย เกา นักวิเคราะห์จากบริษัท ICAP Shipping ระบุว่า ในปี 2551 มีการเพิ่มระวางขับน้ำของเรือที่ใช้ในการขนส่งสินค้าโภคภัณฑ์แบบแห้งถึง 85% แม้ว่าในช่วงเวลานั้นจะเริ่มเห็นสัญญาณของดีมานด์ที่ลดลงแล้ว แต่ก็ไม่มีใครคาดคิดว่าเศรษฐกิจโลกจะมาถึงจุดนี้

อย่างไรก็ตาม นายเกามองว่าดัชนีบอลติกดรายที่ลดลงต่ำสุดในรอบ 29 ปีนั้น มี "เวลา" เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดีมานด์ของการขนส่งสินค้าทางเรือลดลง เช่น ช่วงนี้เป็นช่วงหมดฤดูกาลส่งออกสินค้าเกษตรในสหรัฐ รวมทั้งเทศกาลตรุษจีนที่ชาวจีนไม่นิยมทำงาน และเชื่อว่าดีมานด์ของการขนส่งสินค้าทางเรือน่าจะกระเตื้องขึ้นในช่วงหลังตรุษจีนอีกครั้ง

นอกจากเรื่องเวลาแล้ว ระยะทางก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ โดยตอนนี้บริษัทเหมืองใหญ่ๆ เช่น BHP Billiton และ Rio Tinto ของออสเตรเลียได้เข้ามาครองส่วนแบ่งตลาดแร่เหล็กในจีนแล้วกว่า 60% ทำให้ประเทศผู้ส่งออกสินค้าชนิดเดียวกัน เช่น แคนาดา สวีเดน และแอฟริกาใต้ ซึ่งอยู่ไกลจากจีนและต้องใช้ต้นทุนการขนส่งมากกว่า มีแนวโน้มจะส่งออกน้อยลง

ผู้ประกอบการรายหนึ่งระบุว่า หากตลาดยังดำเนินไปแบบนี้บริษัทด้านขนส่งที่ไม่ปรับตัวเพิ่มช่องทางในการขน ส่งแบบอื่น อาจจะต้องล้มเลิกกิจการไปในที่สุด ทำให้ปัจจุบันนี้มีผู้บริการขนส่งจำนวนมากเปลี่ยนไปให้บริการขนส่งสินค้า ประเภทของเหลวมากขึ้นแล้ว

เรียบเรียงโดย ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันศุกร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ประเทศไทย คนป่วยคนใหม่ ของเอเชีย......!!?

โดย.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

ภาวะเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวแบบนานกว่าที่หลายคนคาดนี่อาจเป็นสัญญาณเตือนภัยว่าเรากำลังเข้าสู่ยุคย่ำแย่ทางเศรษฐกิจหรือเปล่า หลายคนอาจยังไม่รู้ แต่ตอนนี้มีคนเรียกประเทศไทยว่า “คนป่วยคนใหม่ของเอเชีย” (a new sick man of Asia) แทนที่ฟิลิปปินส์ไปเรียบร้อยแล้ว

มาแอบดูกันดีกว่าครับ ว่าเรากำลังเจอปัญหาอะไรอยู่บ้าง

ผมขอมองย้อนกลับไปสักนิด แต่ไม่อยากย้อนกลับไปไกลมาก ขอเอาช่วงไทยยุครุ่งเรืองก่อนวิกฤติปี 2540 ก็พอครับ ตอนนั้นประเทศไทยกำลังรุ่งสุดๆ GDP โตแบบฉุดไม่อยู่ เราโตปีละ 8-13% อย่างต่อเนื่องเกือบสิบปี จนได้รับขนานนามว่าเป็นปาฏิหาริย์ของเอเชีย (the miracle of Asia) เราบอกตัวเองว่าเรากำลังจะเป็นเสือตัวที่ห้า เป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ กำลังแข่งกับพี่ใหญ่ทางเศรษฐกิจอย่างสิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลี ฮ่องกง เลยทีเดียว รายได้ต่อหัวเราตอนนั้นมากกว่าจีนกว่าสามเท่า

เศรษฐกิจรุ่งเรืองยุคนั้นได้จากการลงทุนขนานใหญ่ ทั้งจากการลงทุนภาครัฐ สร้างท่อเรือ ขุดแก๊ส และโรงงานอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก เงินลงทุนจากต่างประเทศจำนวนมากเข้ามาเพื่อสร้างฐานการผลิตในเมืองไทย ค่าแรงที่ค่อนข้างถูกและโครงสร้างพื้นฐานที่ค่อนข้างดีทำให้ไทยรับเอาการลงทุนมาค่อนข้างเยอะ

ก่อนที่ฟองสบู่จะมาเยือน และการลงทุนจำนวนมากไปลงภาคอสังหาริมทรัพย์ สนามกอล์ฟเกิดขึ้นเหมือนดอกเห็ด การก่อสร้างมีให้เห็นอยู่ทั่วไป

ทำให้ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเยอะขึ้นเรื่อยๆ ช่วงแย่สุดๆ เราขาดดุลบัญชีเดินสะพัดกว่า 8% ของ GDP มีการกู้ยืมเงินตราต่างประเทศจำนวนมาก ทำให้เกิดความเสี่ยงขนาดใหญ่ในภาคการเงิน

แล้วฟองสบู่ก็แตกดังโป๊ะ เราต้องลอยตัวค่าเงินบาท และค่าเงินหายไปกว่าครึ่ง แบงก์และธุรกิจล้มกันระเนระนาด จากมูลค่าสินทรัพย์ที่หายไปในพริบตา และหนี้ก้อนมหึมาที่เพิ่มขึ้นแบบไม่รู้ตัว

เราเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยแบบรุนแรงอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนที่ค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงอย่างมากทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศดีขึ้นแบบผิดหูผิดตา เปลี่ยนประเทศไทยจากประเทศที่เน้นการลงทุนและการบริโภคในประเทศ เป็นประเทศที่ถูกขับเคลื่อนด้วยการส่งออก

ในอีกสิบปีถัดมา การส่งออกกลายเป็นเครื่องจักรสำคัญของเศรษฐกิจไทย ความสำคัญของการส่งออกเพิ่มขึ้นจากประมาณ 30% ของ GDP กลายเป็น 65-70% ในไม่กี่ปี มูลค่าการส่งออกที่โตปีละ 10-15% กลายเป็นเรื่องปกติ สินค้าส่งออกสำคัญของไทยเปลี่ยนจากสินค้าโภคภัณฑ์ สินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงาน เช่น สิ่งทอ กลายเป็นสินค้าอุตสาหกรรม ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ และรถยนต์

ในขณะที่การลงทุนในประเทศ ทั้งการลงทุนภาครัฐและเอกชน อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับก่อนวิกฤติ (อาจจะเพราะยังเลียแผลไม่เสร็จ)


ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, ผู้เขียน

ก่อนที่เราจะเจอวิกฤติโลกในปี 2008 ที่ทำให้การส่งออกหยุดชะงักไปพร้อมๆ กับเศรษฐกิจโลก แต่ก็ฟื้นตัวได้ค่อนข้างเร็ว แต่ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เราแทบไม่เจอกับปีปกติอีกเลย เราเจอวิกฤติทางการเมืองในปี 2009-2010 เราเจอน้ำท่วมใหญ่ในปี 2011 ปี 2012 เป็นปีแห่งการฟื้นตัวครั้งยิ่งใหญ่ ก่อนที่จะถูกผลักดันด้วยนโยบายประชานิยมทั้งหลาย ทั้ง รถ บ้าน และโครงการรับจำนำข้าว ที่อัดเงินกว่า 500,000 ล้านบาท เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ทั้งรัฐและประชาชนยืมเงินในอนาคตมาใช้กันยกใหญ่

จุดสูงสุดของเศรษฐกิจไทยน่าจะอยู่ในช่วงปลายปี 2012-ต้นปี 2013 ที่การผลิตรถยนต์เพื่อส่งมอบในโครงการรถคันแรก ดันเศรษฐกิจไทยให้โตแบบไม่เคยรู้สึกมาก่อน แล้วเศรษฐกิจก็ชนกำแพงเอาดื้อๆ เหมือนรถน้ำมันหมด เศรษฐกิจเริ่มชะลอ หนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นเร็วมาก กลายเป็นเนินใหญ่ที่เศรษฐกิจข้ามไม่พ้น

และวิกฤติทางการเมืองก็เริ่มมาเยือนในปลายปี 2013 ก่อนที่จะมีการรัฐประหารในกลางปี 2014

รัฐบาลที่เข้ามาใหม่พยายามสตาร์ทเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจ แต่ก็ดูเหมือนว่าเครื่องจะไม่ยอมติด ราคาสินค้าเกษตรที่ต่ำต่อเนื่องทำให้รายได้เกษตรกรที่เป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจต่างจังหวัด หายไปไม่น้อย การบริโภคในประเทศจึงซบเซาแบบต่อเนื่อง คอนโดต่างจังหวัดที่บูมมากๆ เมื่อปีก่อนเริ่มจะขายไม่ออก

ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจก็ทำให้เอกชนยังไม่อยากลงทุนใหม่ ในขณะที่รัฐก็ยังผลักดันอะไรได้ไม่เต็มที่นัก

การส่งออกก็ไม่มีทีท่าจะดีขึ้น การส่งออกไทยไม่โตเลยต่อเนื่องมากว่าสามปี โดยเฉพาะตั้งแต่น้ำท่วมใหญ่เป็นต้นมา ซึ่งมีเหตุผลสองสามเรื่อง หนึ่ง คือ ปัจจัยจากภาวะเศรษฐกิจโลก ที่ฟื้นตัวแบบไม่สมดุล อุปสงค์ก็ยังฟื้นตัวไม่ดีนัก และความต้องการสินค้าจากต่างประเทศก็ลดลง ทั้งจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปพึ่งพาสินค้าในประเทศและต้องการสินค้าประเภทบริการมากขึ้น

สอง คือ ราคาสินค้าเกษตรที่ซบเซา ทำให้รายได้จากการส่งออกสินค้าเกษตรลดลง

และที่สำคัญคือ สาม ความสามารถในการแข่งขันของไทยที่ดูเหมือนจะแย่ลงไปด้วยค่าแรงที่สูงขึ้น และการแข่งขันจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงต่ำกว่าเยอะ

พูดง่ายๆ คือเราไม่ใช่ประเทศค่าแรงงานต่ำอีกต่อไป เราคงหวังจะแข่งขันด้วยสินค้าแบบเดิมๆ คงไม่ได้แล้ว

แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ เราก็ไม่สามารถขึ้นไปแข่งขันในตลาดที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นด้วยเทคโนโลยีที่ดีขึ้นได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราเป็น “ประเทศรับจ้างผลิต” อย่างแท้จริง คือเราต้องพึ่งพาให้ต่างประเทศมา “เลือก” เราเป็นฐานการผลิต โดยที่เราไม่มีการพัฒนาเทคโนโลยีและคุณภาพทักษะของแรงงานอย่างจริงจัง

ธุรกิจฮาร์ดดิสก์เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ

ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตฮาร์ดดิสก์ที่สำคัญของโลก เราผลิตฮาร์ดดิสก์กว่าหนึ่งในสี่ของการผลิตโลก ถ้าจำกันได้ ตอนน้ำท่วม โรงงานในไทยต้องหยุดการผลิต ทำเอา Apple ขายคอมพิวเตอร์ไม่ได้ไปช่วงหนึ่งเพราะไม่มีฮาร์ดดิสก์ส่งเลยทีเดียว

แต่พอเทคโนโลยีเปลี่ยน คนเปลี่ยนจากคอมพิวเตอร์มาถือ tablet ความต้องการฮาร์ดดิสก์ก็เริ่มหมดไป solid state drive เริ่มกลายเป็นเทคโนโลยีใหม่ ยอดส่งออกฮาร์ดดิสก์ก็เริ่มตกลง แต่เราก็ไม่สามารถดึงเอาเทคโนโลยีใหม่นี้มาผลิตในเมืองไทยได้

โชคดีที่ตอนนี้เรามีรถยนต์เป็นพระเอกตัวใหม่ ไม่อย่างนั้นคงแย่กว่านี้

หลังวิกฤติปี 2008 ค่าเฉลี่ยการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยเหลือแค่ 3% นิดๆ (และเป็น 3% นิดๆ ที่รวมเงินขาดทุนจากจำนำข้าวประมาณ 4-5% ของ GDP ไปแล้วนะครับ) เทียบกับ 8% ก่อนวิกฤติปี 1997 และประมาณ 5% ก่อนวิกฤติปี 2008


ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, ผู้เขียน

ในขณะที่ประเทศอื่นดีวันดีคืน ฟิลิปปินส์น่าจะโตได้ 6% กว่า อินโดนีเซียเศรษฐกิจคงชะลอเหลือ “แค่” 5.3% และเวียดนามก็ดีวันดีคืน คงโตได้สักเกือบๆ 6% จากที่เราเคยเกือบแข่งได้ (หรือได้แข่ง) กับสิงคโปร์ เกาหลี ไต้หวัน ตอนนี้เราเหลือแข่งกับฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม และสำนักข่าว Bloomberg ตั้งคำถามว่า เราจะได้ตำแหน่งคนป่วยแห่งเอเชียแทนฟิลิปปินส์ไปหรือเปล่า ถ้าเราไม่ปรับตัวในด้านความสามารถในการแข่งขันแล้ว อีกไม่นานเราคงโดนแซงไปในไม่ช้า

และผมอยากเน้นอีกครั้งว่า ปัญหาเรื่องประชากร กำลังจะเป็นปัญหาใหญ่ของเมืองไทย ไทยกำลังเข้าสู่ภาวะแก่ก่อนรวย และจำนวนคนวัยทำงานของไทยกำลังจะเริ่มลดลงในปีนี้ เนื่องจากจำนวนเด็กที่เข้าสู่วัยทำงานมีน้อยกว่าคนแก่ที่กำลังเกษียณอายุ เราเป็นไม่กี่ประเทศในเอเชียที่กำลังเจอปัญหานี้ (ประเทศอื่นคือ ญี่ปุ่น เกาหลี จีน และสิงคโปร์ ที่ส่วนใหญ่จะรวยไปหมดแล้ว)



ปัญหาประชากรสูงอายุ ที่นอกจากภาระทางเศรษฐกิจในการเลี้ยงดูผู้สูงอายุ ที่ต้องเก็บจากคนทำงานที่มีน้อยลงเรื่อยๆ ก็คือเรากำลังจะขาดแคลนทรัพยากรแรงงานเพื่อไปสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนไม่มีปัญหานี้ ก็คงไม่ต้องแปลกใจ ถ้าการลงทุนต่างประเทศใหม่ๆ อาจจะไม่มาเมืองไทยเหมือนแต่ก่อน

ปัญหาพวกนี้จึงเป็นปัญหาเร่งด่วนที่เราต้องสุมหัวคิดกันแล้วละครับ เรามีสองทางเลือก ทางง่ายคือเราก็ทำตัวเหมือนเดิม นำเข้าแรงงานพม่า แรงงานกัมพูชา เข้ามาเรื่อยๆ จ่ายค่าแรงที่แพงขึ้นเรื่อยๆ แล้วรอวันที่ประเทศเขาเจริญและย้ายกลับออกไป

หรือเราจะเลือกทางยาก คือพัฒนาคน พัฒนาการศึกษา ส่งเสริมการพัฒนาด้านเทคโนโลยี ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่คุ้มเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเศรษฐกิจ ส่งเสริมการใช้เครื่องจักร ทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรเพื่อลดการใช้แรงงาน

ซึ่งคงไม่ใช่หน้าที่รัฐแต่ฝ่ายเดียว แต่รวมถึงภาคเอกชนที่ควรตระหนักถึงปัญหาอันใหญ่หลวงที่เรากำลังจะเผชิญ และร่วมมือกันอย่างจริงจัง
ที่มา.THAIPUBLICA
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

สัมภาษณ์ : ปริญญ์ พานิชภักดิ์...!!?


จับสัญญาณลงทุน ต่างชาติเปลี่ยนขั้ว ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกรอ เผาจริง !

ท่ามกลางกระแสการแข่ง "ปั๊มเงิน" เข้าสู่ระบบของบรรดา "ธนาคารกลาง" ประเทศเศรษฐกิจหลักทั่วโลก พร้อมกับการผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน ที่เริ่มลุกลามมายังหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย ที่ชิงหั่นอัตราดอกเบี้ยเพื่อกดค่าเงินของตัวเองให้อ่อนลง จนพูดกันว่าทั่วโลกกำลังเล่น "สงครามค่าเงิน" มาตรการเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อความผันผวนของกระแสตลาดทุนโลกอย่างมาก

กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ซี แอล เอส เอ (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้คร่ำหวอดในวงการตลาดทุน มาฉายภาพถึงทิศทางกระแสเงินทุนและเตรียมการลงทุนของต่างชาติในปีนี้ว่าเปลี่ยนไปอย่างไร

- สัญญาณชีพจรตลาดทุนโลกปีนี้เป็นอย่างไร

ปีนี้มีอะไรหลายอย่างที่คล้ายกับปีที่ผ่านมา คือความผันผวนที่ค่อนข้างรุนแรงและหลายระลอก ในแง่ดีก็คือเรื่องสภาพคล่องโลกที่ค่อนข้างมาก ทั้งจากที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ประกาศมาตรการ QE จะเริ่มปั๊มเงินออกมาช่วงเดือน มี.ค.นี้ ก็น่าจะทำให้สภาพคล่องส่วนเกินไหลเข้ามาตลาดภูมิภาคเอเชียในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.นี้ ซึ่งปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณที่นักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาเก็งกำไรในตลาดเอเชียกันบ้างแล้ว

ขณะที่ญี่ปุ่นก็มีการปั๊มเงินออกมาจำนวนมากเช่นกัน เรียกว่าตอนนี้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) เป็นคนที่ปั๊มเงินออกมามากที่สุดก็ว่าได้ จนมีสัดส่วนคิดเป็น 62% ของจีดีพีญี่ปุ่น ขณะที่ของสหรัฐอยู่ที่ระดับ 26% ของจีดีพี ยุโรปเพิ่งเริ่มประมาณ 20% ของจีดีพี และจะขยายออกไปเรื่อย ๆ แม้ว่าจะดีต่อตลาดหุ้น แต่จากที่แข่งกันปั๊มเงินทำให้ค่าเงินอ่อนก็จะส่งผลต่อภาคส่งออกโดยตรง

ส่วนปัจจัยที่มีผลทำให้ตลาดผันผวนในแดนลบคือการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ ซึ่งมีผลต่อทิศทางกระแสเงินทุนค่อนข้างมาก แต่คาดว่าการปรับดอกเบี้ยขาขึ้นของสหรัฐรอบนี้ คงไม่ขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ แม้เศรษฐกิจสหรัฐจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ แต่จากที่เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐที่ยังแข็งค่าค่อนข้างมาก ก็อาจกระทบต่อภาคส่งออกได้ ประกอบกับราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงแรง อาจมีผลแง่ลบต่อบริษัทผลิตน้ำมันจำนวนมากของสหรัฐ จึงคิดว่าปีนี้เศรษฐกิจสหรัฐคงไม่สดใสจนต้องรีบขึ้นดอกเบี้ยเร็ว

หรือแม้จะมีการปรับขึ้นอย่างมากก็แค่ 0.50% ซึ่งไม่มีผลอะไรต่อตลาดหุ้นทั่วโลกมากนัก ซึ่งจะน่ากลัวก็ต่อเมื่อระดับดอกเบี้ยเข้าใกล้ระดับ 4% ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกนาน

- ทิศทางดอกเบี้ยของไทยเทียบกับภูมิภาคเป็นอย่างไร

ทิศทางดอกเบี้ยในภูมิภาคอยู่ในช่วงขาลง ไล่ตั้งแต่ประเทศอินเดีย จีนก็ปรับไปรอบหนึ่งแล้ว ซึ่งอาจมีการปรับลดลงอีกรอบเป็นอย่างน้อย เกาหลีใต้ก็คาดว่าจะมีการปรับลงในการประชุมรอบหน้า ส่วนมาเลเซียก็มีโอกาสจะปรับลงเช่นกัน

ผมยังเสียดายโอกาสที่แบงก์ชาติของไทยไม่ได้ลดดอกเบี้ยนโยบายรอบที่แล้ว เพราะเมื่อเกิดภาวะค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในขณะที่เงินเฟ้อต่ำลงมาก ๆ จนจะถึงระดับที่เรียกว่าเงินฝืด หรือดอกเบี้ยที่แท้จริงเกือบติดลบ แบงก์ชาติรู้ดีว่ามีช่องว่างที่ลดดอกเบี้ยได้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจบางส่วน

ในสภาวะที่สภาพคล่องเยอะ หลายประเทศแข่งกันลดค่าเงิน ประเทศไทยคงไม่อยากให้เงินบาทแข็งอยู่สกุลเดียว ซึ่งจะส่งผลให้ภาคส่งออกตายกันหมด เพราะส่งออกของไทยก็ติดลบมา 2 ปีแล้ว ผสมกับตลาดโลกที่ไม่ขยายตัวมากในปีนี้ รวมทั้งการปรับโครงสร้างเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้ายังทำได้ไม่ดีนัก แล้วยังจะยอมให้เงินบาทแข็งอีก ผมคิดว่าเป็นอะไรที่แบงก์ชาติต้องคิดหนักในรอบการประชุม กนง.รอบหน้า

- ทิศทางฟันด์โฟลว์ต่างชาติปีนี้เป็นอย่างไรบ้าง

ช่วงต้นปีที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติอาจเทขายสุทธิออกมาอย่างต่อเนื่อง เพราะกลัวปัจจัยค่าเงินดอลลาร์แข็งค่ามากและภาวะเงินฝืด แต่หลังจากธนาคารกลางยุโรปประกาศทำมาตรการ QE กระแสเงินทุนต่างชาติก็พลิกกลับมาซื้อสุทธิตลาดหุ้นไทยอย่างจริงจังติดต่อหลายวัน ประเมินว่าครึ่งปีแรกทิศทางเงินไหลเข้าต่างชาติในตลาดหุ้นน่าจะเป็นบวกได้ โดยที่ผ่านมาต่างชาติที่กลับเข้ามาซื้อสุทธิส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มลงทุนระยะยาว

แต่ถ้าถามว่าการกลับมาซื้อสุทธิครั้งนี้จะจริงจังแค่ไหนต้องบอกว่านักลงทุนต่างชาติมีทางเลือกค่อนข้างมาก ทั้งตลาดอินเดีย, อินโดนีเซีย และจีน ซึ่งนักลงทุนก็ต้องไปหาตลาดที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าก่อน ทำให้อาจเห็นภาพเงินไหลเข้าตลาดหุ้นไทยไม่ได้มากนักเมื่อเทียบกับประเทศเหล่านี้ แต่ประเทศไทยก็มีโอกาสที่ดี

- ปีนี้ธีมลงทุนของต่างชาติจะเป็นอย่างไร

การลงทุนปีนี้ของต่างชาติจะเปลี่ยนขั้วไปเน้นสินทรัพย์ที่ปันผลดีเหตุผลส่วนหนึ่งมาจากเรื่องผลตอบแทนที่ถูกจำกัดจากมาตรการปั๊มเงิน ซึ่งกดให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมาก จากช่วงแรกที่นักลงทุนแห่ไปลงทุนสินทรัพย์ไม่เสี่ยงหรือไหลเข้าพันธบัตรค่อนข้างเยอะ ซึ่งเมื่ออีซีบีจะเริ่มปั๊มเงินออกมายิ่งกดดันให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลต่ำลงอีก ทำให้นักลงทุนทั่วโลกเริ่มมองหาสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนดี โดยเฉพาะในกลุ่มปันผลดีที่มีความมั่นคง ซึ่งถือว่าตลาดหุ้นไทยค่อนข้างได้เปรียบ เป็นตลาดที่อยู่ในกลุ่มปันผลดีมากติดอันดับ 1 ใน 3 ของภูมิภาค คือ ออสเตรเลีย ไทย และไต้หวัน แตกต่างจากตลาดอินเดีย และอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดที่เน้นการเติบโตมากกว่า และค่าพี/อีค่อนข้างแพง ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มมีนักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนหุ้นไทยที่ปันผลดีหลายตัว

ถือว่าซื้อหุ้นไทยแล้วได้ทั้งปันผลดีและการเติบโตที่ดีด้วย ซึ่งคาดว่ากำไรบริษัทจดทะเบียนไทยปีนี้จะเติบโตมากกว่า 10% จากฐานที่ต่ำในปีที่แล้ว เพราะฉะนั้น ตลาดหุ้นไทยปีนี้ก็ควรต้องเป็นปีที่ดีอีกปีหนึ่ง แม้ปีนี้เศรษฐกิจไทยยังไม่ได้สดใสมากนัก แต่ในแง่ของตลาดหุ้นเชื่อว่ายังมีกระสุนที่ทำให้หุ้นขึ้นต่อไปอีกหลายเม็ด

- ความเสี่ยงของตลาดหุ้นไทยปีนี้คืออะไร

ปีนี้มีอะไรที่ต้องวิเคราะห์มากกว่าปีที่แล้ว เพราะมีปัจจัยที่ทำให้ตลาดผันผวนแรง อาจมีความผันผวนบ้างในเรื่องของกรีซ แต่เชื่อว่าปัญหากรีซก็ยังจะซื้อเวลากันไป แต่มองว่าความเสี่ยงที่หนักในช่วงครึ่งปีแรกคือ ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของรัสเซีย เพราะแม้เศรษฐกิจรัสเซียอาจไม่ได้สำคัญหรือใหญ่กว่าเศรษฐกิจสหรัฐ จีน หรือญี่ปุ่น แต่มีความเสี่ยงด้านจิตวิทยาการลงทุนค่อนข้างมาก หากรัสเซียเริ่มผิดนัดชำระหนี้ช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.นี้จะมีแรงกระตุกอย่างมาก และอาจเกิดผลกระทบรุนแรง หรือมีโอกาสทำให้ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงกว่า 100-120 จุดได้

สำหรับช่วงปลายปีน่าจะเป็นเรื่องของการเมืองภายในประเทศ เพราะการร่างรัฐธรรมนูญเริ่มชัดเจน จากนั้นน่าจะมีคนออกมาประท้วงหรือต่อต้าน ทำให้เป็นประเด็นร้อนขึ้นมาก แต่ก็คาดหวังว่าน่าจะมีความชัดเจนของการเลือกตั้งปีหน้า

นอกจากนี้ภาวะที่ธนาคารกลางทั่วโลกแข่งกันปั๊มเงินออกมา แม้ระยะสั้นจะดีสำหรับตลาดทุน แต่การทำแบบนี้ธนาคารกลางทุกประเทศรู้ดีว่าไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด เพราะไม่มีการปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจ แต่เป็นการ "ซื้อเวลา" เท่านั้น แต่ไม่มีทางเลือก

และนี่จะเป็นความเสี่ยงสำหรับปีหน้า เพราะเป็นช่วงเวลาดอกเบี้ยสหรัฐขึ้นจริงจังต่อเนื่อง ในจังหวะที่คนขาดความเชื่อมั่นในภาวะการปั๊มเงินที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ทำให้หลายคนกลัวว่าปีหน้าเศรษฐกิจโลกจะเผาจริง

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ไม้บรรทัดประชาธิปไตยของสหรัฐ มองอียิปต์ถึงไทย ดอกไม้และก้อนหินจากวอชิงตัน !!?


โดย.มาโนชญ์ อารีย์
ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

หลังจากที่นายแดเนียล  รัสเซล ผู้ช่วยรมต.ต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกได้เดินทางมาไทยและแสดงปาฐกถาที่มีเนื้อหาบางส่วนเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองประชาธิปไตยและเสรีภาพของไทยโดยเฉพาะเรื่องกฎอัยการศึก ซึ่งตามมาด้วยปฏิกิริยาของพลเอกประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่พูดแสดงความเสียใจที่สหรัฐไม่เข้าใจสถานการณ์ไทย อีกทั้งการที่กระทรวงการต่างประเทศเรียกอุปทูตสหรัฐเข้าพบ

ในช่วงแรกๆ ก็หวังกันว่าจะไม่ส่งผลกระทบตามมามากนักในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อาจเพราะมองว่าต่างฝ่ายต่างแสดงออกพอเป็นพิธีแต่บรรยากาศเริ่มอึมครึมเข้าทุกทีๆ และทำท่าจะไม่จบง่ายๆ เพราะมีแรงสะเทือนหนักขึ้นในแง่ความสัมพันธ์เชิงยุทธ์ศาสตร์ที่มีการเมืองโลกเข้ามาเกี่ยวข้องหรือมีกระแสข่าวจากวอชิงตันว่าสหรัฐจะตัดสัมพันธ์ทางทหารกับไทยอย่างเต็มรูปแบบจนกว่าไทยจะกลับสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ในขณะเดียวกันการเยือนไทยของรมว.กลาโหมของจีนระหว่างวันที่ 5-7 กุมภาพันธ์ ทำให้ไทยกับจีนเตรียมยกระดับความสัมพันธ์กันทั้งทางการเมืองเศรษฐกิจ การทหาร นอกจากจีนจะแสดงจุดยืนชัดว่าไม่แทรกแซงการเมืองไทยแล้วยังพร้อมให้ความช่วยเหลือไทยทุกด้านทั้งยังหารือการฝึกซ้อมทางทหารร่วมกันอีกต่างหาก

นาย รัสเซล ถือเป็นผู้แทนระดับสูงของสหรัฐที่มาเยือนไทยครั้งแรกหลังรัฐประหารปาฐกถาของเขามีกระแสตอบรับทั้งบวกและลบ  ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติไปแล้วสำหรับสังคมการเมืองไทยระยะหลัง บางกลุ่มอาจมองว่าสหรัฐเป็นต้นแบบประชาธิปไตยต้องแสดงออกแบบนี้เป็นเรื่องธรรมดาแต่บ้างกลุ่มอาจมองว่าสหรัฐกำลังแทรกแซงการเมืองไทยอย่างไรก็ตามในข้อเขียนนี้จะไม่ขอพูดถึงการเมืองไทยแต่จะเน้นมองที่นโยบายของสหรัฐเป็นหลัก

ดูเหมือนจะเป็นสัจธรรมของโลกหลังสงครามเย็นไปแล้วว่า การพูดถึงประชาธิปไตยและเสรีภาพนั้น พูดที่ไหนก็ดูดี พูดเมื่อไรก็ได้พูดกี่ครั้งก็ถูก  ซึ่งแน่นอนการแสดงออกของนายแดเนียลก็ดูเหมือนจะเป็นการย้ำจุดยืนของสหรัฐในคุณค่าสากลนี้ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าสหรัฐกลับเลือกที่จะพูดในบางที่ และไม่พูดในบางที่ทั้งๆที่อยู่ในบริบทเดียวกัน คำถามคือแล้วอะไรคือมาตรวัดหรือไม้บรรทัดประชาธิปไตยของสหรัฐที่โลกจะเชื่อถือได้  ในที่นี้จะขอประมวลท่าที่สหรัฐหลังการรัฐประหารในอียิปต์และไทยมาเปรียบเทียบพอได้เห็นภาพ

รัฐประหารที่อียิปต์  ดอกไม้จากวอชิงตัน

ในเดือนกรกฎาคม 2556 กองทัพอียิปต์นำโดยนายพลอับดุล ฟัตตาห์ อัล ซีซี ได้ก่อรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของอดีตประธานาธิบดีมูฮัมมัดมุรซี ได้สำเร็จ แต่ดูเหมือนทั่วโลกจะฉงนกับท่าที่ของสหรัฐมากกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอียิปต์เพราะสหรัฐพยายามเลี่ยงที่จะเรียกมันว่ารัฐประหารและยังสานต่อความช่วยเหลือให้กับกองทัพอียิปต์ที่ฉีกรัฐธรรมนูญอีกด้วย เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะกฎหมายสหรัฐกำหนดให้รัฐบาลต้องหยุดให้ความช่วยเหลือต่อประเทศที่มีการรัฐประหารทันทีแต่โอบามาไม่ต้องการตัดสัมพันธ์กับอียิปต์ทำเนียบขาวประกาศว่าคงไม่ส่งผลดีต่อสหรัฐหากระงับความช่วยเหลือต่อพันธมิตรรายสำคัญในภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างอียิปต์(ถ้ามองแบบนี้ไทยอาจไม่ใช่พันธมิตรสำคัญในภูมิภาคอาเซียนเราอาจคิดไปเอง)จึงน่าคิดว่าอะไรสำคัญกว่ากันระหว่าง“ผลดีต่อสหรัฐ” กับ “คุณค่าประชาธิปไตย”

การไม่เรียกสิ่งที่เกิดขึ้นในอียิปต์ว่าเป็นการรัฐประหารจะหมายความได้หรือไม่ว่าสหรัฐยอมรับการจัดการความขัดแย้งด้วยกำลังทหารนายจอห์นแครรี่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯก็เคยหลุดปากมาว่ากองทัพอียิปต์กำลังพยายามที่จะฟื้นฟูระบบประชาธิปไตยด้วยการโค่นล้มนายมุรซี ประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งครั้งแรกในประวัติศาสตร์อียิปต์

แม้สหรัฐจะทำท่าทีระงับการส่งเครื่องบินและยุทโธปกรณ์รวมทั้งเงินสนับสนุนกองทัพอียิปต์260ล้านดอลลาร์เพื่อประท้วงการกวาดล้างผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีมุรซีแต่ท้ายที่สุดนายแครรี่ ก็อนุมัติเฮลิคอปเตอร์อาปาเช่ 10 ลำ เงินช่วยเหลืออีก 650 ล้านดอลลาร์ ให้กับกองทัพอียิปต์และเงินช่วยเหลือรัฐบาลใหม่อียิปต์อีกกว่า 1500 ล้านดอลลาร์

แม้จะมีการจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีขึ้นในเดือนพฤษภาคม2557 แต่ก็เป็นการเลือกตั้งที่มีข้อน่าสังเกตหลายประการเช่นจากโรดแมปเดิมของรัฐบาลเฉพาะกาล กำหนดให้เลือกส.ส. ก่อนแต่ปรากฏว่ามีความรีบเร่งให้มีการเลือกตั้งก่อนกำหนดและให้เลือกประธานาธิบดีก่อน ซึ่งผลก็เป็นไปตามคาดนายพลอับดุลฟัตตาห์ อัลซีซี ซึ่งลาออกจากทหารมาลงสนามเลือกตั้ง ปธน. เอาชนะคู่แข่งคนเดียวของเขาซึ่งเป็นผู้สมัครหัวเอียงซ้ายด้วยคะแนนถล่มทลายกว่าร้อยละ 96 และในการเลือกตั้งครั้งนี้มีคนมาใช้สิทธิเพียงร้อยละ44 ต่ำกว่าการคาดหมายและต่ำกว่าผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งก่อนค่อนข้างมากสหรัฐคงน่าจะเข้าใจถึงความไม่ปกติที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นท่ามกลางการข่มขู่ฝ่ายตรงข้ามการบอยคอตการเลือกตั้งการกวาดล้างกลุ่มภารดรภาพมุสลิมที่เป็นฐานเสียงของมุรซี และการปิดกั้นเสรีภาพทางการเมือง
             
นับจากกองทัพยึดอำนาจจนถึงขณะนี้  กลุ่มภารดรภาพมุสลิมในอียิปต์ตายไปแล้วกว่า 1,400 คน ถูกตัดสินประหารชีวิตหลายร้อยคนด้วยวิธีการพิจารณาผู้ต้องหาเป็นหมู่ ซึ่งเป็นวิธีพิจารณาที่แปลกและแทบไม่มีในโลกสมัยใหม่แล้วรวมไปถึงผู้เห็นต่างทางการเมืองและนักข่าวต่างชาติแต่สหรัฐฯกลับไม่สนใจประเด็นเหล่านี้ในอียิปต์
             
มิเรต มาบรู๊กผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์อิสระฉบับแรกของอียิปต์ และรองผอ.สภาแอตแลนติกถึงกับบอกว่านับจากกองทัพของอัล ซีซี โค่นล้มประธานาธิบดีมุรซี อียิปต์ตกอยู่ในช่วงที่มีการกดขี่มากที่สุดครั้งหนึ่งในรอบ60 ปี

จะเห็นได้ว่านอกจากสหรัฐฯจะไม่กดกดดันกองทัพหรือรัฐบาลของอัลซีซี ในอียิปต์แล้ว ยังให้การสนับสนุนช่วยเหลืออีกต่างหากเสมือนดอกไม้จากวอชิงตัน


รัฐประหารที่ไทย ก้อนหินจาก วอชิงตัน
         
ขณะที่อียิปต์กำลังอยู่ในบรรยากาศของการเลือกตั้งแต่ในไทยกลับมีการรัฐประหารเกิดขึ้นนำโดยพลเอกประยุทธ์จันทร์โอชาในเดือนพฤษภาคม 2557 แต่รัฐประหารครั้งนี้สหรัฐกลับมีท่าทีและจุดยืนที่ย้อนแย้งกับกรณีของอียิปต์
     
หลังรัฐประหารพฤษภา 2557 ปฏิกิริยาของสหรัฐฯคือสั่งทบทวนการช่วยเหลือกองทัพต่อกองทัพ ระงับการช่วยเหลือทางทหาร  ให้นักท่องเที่ยวยกเลิกการเดินทางมาไทยลดอันดับให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีสถานการณ์การค้ามนุษยจากอันดับ2เป็นอันดับ 3 (Tier 3) ซึ่งหมายถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด สหรัฐสั่งตัดงบช่วยเหลือไทยด้านงบประมาณความมั่นคงจำนวน4.7 ล้านดอลลาร์ พิจารณาย้ายสถานที่ฝึกคอปร้าโกลด์ไปออสเตรเลียยังไม่มีการแต่งตั้งทูตสหรัฐประจำประเทศไทย (มีเพียงอุปทูต)
             
นายจอห์นแครรี่ รัฐมนตรีต่างประเทศ (คนเดิม) ของสหรัฐ กล่าว“รู้สึกผิดหวังที่กองทัพไทยตัดสินใจฉีกรัฐธรรมนูญและเข้าควบคุมอำนาจรัฐบาล....ไม่มีเหตุผลใดที่สามารถอ้างความชอบธรรมต่อการก่อรัฐประหารครั้งนี้”
             
จนกระทั่งมาถึงกรณีที่นายรัสเซล เดินทางมาไทยและพบปะแกนนำพรรคการเมืองอย่างนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่ไม่ได้เข้าพบพลเอกประยุทธ์นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช) ที่สำคัญคือการแสดงความเห็นทางการเมืองและกฎอัยการศึกดังที่กล่าวไปแล้วและตามมาด้วยกระแสข่าวว่าสหรัฐจะตัดความสัมพันธ์ทางทหารกับไทยอย่างเต็มรูปแบบจนกว่าไทยจะกลับสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
             
นอกจากนี้หากมองกรณีอื่นๆก็ยังคงพบเห็นความหลายมาตรฐานของสหรัฐฯ ต่อสถานการณ์ประชาธิปไตยในที่อื่นๆ เช่นในตะวันออกกลางก็จะเห็นว่าสหรัฐนิ่งเงียบต่อความไม่เป็นประชาธิปไตยในกลุ่มประเทศพันธมิตรของตนอย่างซาอุดิอาระเบียหรืออียิปต์ในสมัยฮุสนีมุบารักกาตาร์ จอร์แดน ฯลฯ  หรือกรณีปากีสถานในสมัยประธานาธิบดีมุชาร์ราฟที่รัฐประหารยึดอำนาจจากนาวาช ชารีฟ ในปี 2542 และอยู่ในอำนาจมาจนถึงปี2549โดยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐเป็นอย่างดีทั้งทางการทหารและเงินช่วยเหลือมหาศาล

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างจุดยืนของสหรัฐต่อสถานการณ์ประชาธิปไตยและเสรีภาพที่อิงอยู่กับผลประโยชน์และความเป็นพันธมิตรในเชิงยุทธ์ศาสตร์ ไม่ได้ยึดคุณค่าสากลเสมอไป ในกรณีอียิปต์ก็ชัดเจนว่าสหรัฐสนับสนุนฝ่ายใดก็ได้ด้วยวิธีการใดก็ได้ ที่รองรับนโยบายของสหรัฐในตะวันออกกลางและความมั่นคงของอิสราเอล
             
โดยทั่ว ๆ ไปนโยบายสหรัฐในสถานการณ์แบบนี้ มักตั้งอยู่บนฐานของผลประโยชน์แห่งชาติ หรือไม่ก็เป็นการแสดงออกเพื่อย้ำภาวะผู้นำที่ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยและเสรีภาพ (พอเป็นพิธี ไม่หวังผลเพราะไม่มีเรื่องผลประโยชน์เกี่ยวข้องมากนัก) หรือไม่ก็จะนิ่งเฉยหากก่อให้เกิดประโยชน์
             
ประเด็นที่น่าคิดคือการแสดงออกของสหรัฐต่อสถานการณ์ประชาธิปไตยไทยเป็นกรณีไหนกันแน่ถ้าเป็นแบบพอเป็นพิธีก็ไม่น่าจะมีอะไรมากนักตามมาแต่ดูแล้วอาจจะไม่จบง่ายๆหรือถ้าแบบแฝงผลประโยชน์ก็น่าคิดว่าสหรัฐกำลังจะทำอะไรต่อไปจะมีมาตรการอะไรตามมาบ้างความสัมพันธ์จะเป็นอย่างไรแล้วไทยจะต้องวางตัวอย่างไรให้เหมาะสม
             
คงไม่จำเป็นต้องสรุปแล้วว่าไม้บรรทัดประชาธิปไตยของสหรัฐมีรูปร่างหน้าตาอย่างไรแต่ก็คงเป็นข้อถกเถียงต่อไปสำหรับประเทศไทยว่าแล้วเราจะทำอย่างไรได้ในเมื่อเขาเป็นมหาอำนาจเรายังต้องพึงพิงค้าขายกันอยู่

อย่างไรก็ตามเราอาจมีทางเลือกที่นุ่มนวลและการตอบรับอย่างสุภาพต่อกรณีที่สหรัฐหรือนายรัสเซลส่งสัญณาณมาอย่างน้อยด้วยการแสดงความขอบคุณที่ห่วงใย และขอให้ปฏิบัติต่อไทยเหมือนเช่นที่สหรัฐปฏิบัติต่ออียิปต์มาแล้วแทนที่จะตอบโต้ด้วยวิธีที่ทำให้ขุ่นข้องหมองใจกันเปล่าๆซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระยะยาว
             
เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าไม้บรรทัดประชาธิปไตยของสหรัฐมันคดเคี้ยว ถ้าไม่ได้ดอกไม้อย่างน้อยไม่โดนหินปาหัวแตกก็ยังดี

ที่มา.มติชน
//////////////////////////////////////////////////