--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2557

ไมโครโฟน !!?


โดย.นิธิ เอียวศรีวงศ์

ราคาของไมค์ในห้องประชุมคณะรัฐมนตรีก็น่าสนใจในตัวของมันเอง แต่ผมขออนุญาตไม่พูดถึงเรื่องนี้ เพราะมีคนพูดและแคะไค้ข้อมูลไปได้มากแล้ว

ในความอื้อฉาวเรื่องนี้ มีใครก็ไม่ทราบแปะรูปที่ประชุม ครม.ของประเทศต่างๆ มาเปรียบเทียบกับไทยคือ สหรัฐ, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมนี และญี่ปุ่น ผมเห็นว่าน่าสนใจมาก เพราะภาพห้องประชุมและที่ประชุม ครม.ของประเทศเหล่านี้ สะท้อนความสัมพันธ์ทางสังคม (วัฒนธรรม) ของประเทศต่างๆ เมื่อเปรียบเทียบกับไทย ในขณะเดียวกันความสัมพันธ์ทางสังคมก็สะท้อนการบริหารการเมืองของประเทศเหล่านี้ไปพร้อมกันด้วย ผมอยากจะชวนคุยถึงเรื่องนี้แหละครับ

ที่สะดุดตาอย่างแรกก็คงไมโครโฟนนี่แหละ เพราะไม่มีที่ประชุม ครม.ที่ไหนเขาใช้ไมโครโฟนเลย

อาจแก้ตัวได้ว่า ก็แน่ละสิ เขาไม่ได้ประชุม ครม.กันด้วยจำนวนคนเข้าร่วมมากมายเหมือนไทย แม้แต่ห้องประชุมก็ใหญ่กว่ากันมาก หากไม่มีไมค์จะพูดให้ได้ยินทั่วถึงกันอย่างไร เรื่องนี้จริงอย่างปฏิเสธไม่ได้เลย และที่ประชุม ครม.ไทยก็ได้ใช้ไมค์มานานแล้ว เพราะองค์ประชุมมหึมานี่แหละครับ นอกจาก ครม.แล้ว ยังมีข้าราชการประจำอีกจำนวนหนึ่ง นับตั้งแต่เลขาธิการ ครม. เลขาธิการนายกฯ ไปจนถึงเลขาฯสภาพัฒน์ และหน่วยราชการที่มีเรื่องเกี่ยวข้องตามวาระการประชุม ซึ่งต้องมานั่งรออยู่ข้างนอก และถูกเรียกเข้าไปเมื่อถึงวาระของตน

โดยสรุปก็คือ การบริหารราชการในขั้นรายละเอียดนั้นแยกออกจาก ครม.ไทยไม่ได้ ในขณะที่ ครม.ของประเทศอื่นประชุมกันในระดับนโยบาย ไม่ใช่รายละเอียด ยิ่งไปกว่านี้ การกระจายอำนาจอย่างกว้างขวาง และลึกไกลในการบริหารของประเทศเหล่านี้ ยังทำให้เรื่องอีกเป็นอันมากไม่เข้าสู่ที่ประชุม ครม. ไม่แต่เพียงเพราะเหตุดังนั้นเท่านั้น ที่ทำให้ข้าราชการประจำต้องเข้ามาให้ข้อมูลแก่ ครม.ไทย ผมคิดว่ายังมีอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจกว่าวิธีการบริหารเสียอีก

ข้อมูลอะไรก็ตามที่ข้าราชการประจำต้องเสนอต่อ ครม. ก็อาจเสนอเป็นลายลักษณ์อักษรได้ทั้งนั้น แต่ในเมืองไทยทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะหากเป็นลายลักษณ์อักษร ก็มีโอกาสจะกลายเป็นสาธารณะ ครม.ไทยไม่ได้บริหารประเทศด้วยข้อมูลสาธารณะ แต่บริหารด้วยข้อมูลส่วนตัวตามเส้นตามสายของตน เรื่องเหล่านี้ต้องเสนอด้วยวาจาแก่ ครม.เท่านั้น คนไทยส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องทราบ ที่หน้าห้องประชุม ครม.ไทย ยังเต็มไปด้วยเลขานุการ ครม. ซึ่งไม่ได้มานั่งรอนายเท่านั้น แต่จะเป็นตัวเชื่อมให้แก่เส้นสายต่างๆ ของนาย และคอยส่งโน้ตเล็กๆ (ที่ขยำทิ้งได้ง่าย) แก่นายซึ่งนั่งประชุมอยู่ในห้องได้ตลอดเวลา

ห้องประชุม ครม.ไทยจึงต้องใหญ่ เพราะเป็นทางผ่านอันมหึมาของข้อมูลข่าวสารของคนที่ไม่ใช่ ครม. อันเป็นผลต่อมติ ครม.อยู่ไม่น้อยด้วย

ในแง่นี้ไมโครโฟนจึงเป็นเครื่องประดับที่สำคัญอย่างหนึ่ง กล่าวคือ ข้อมูลข่าวสารและความเห็นที่จะพูดผ่านไมโครโฟนนั้น ส่วนใหญ่ไม่ใช่ข้อมูลข่าวสารที่นำไปสู่การตัดสินใจ แต่ต้องพูดให้ดูดี ส่วนข้อมูลข่าวสารที่มีผลต่อการตัดสินใจ กลับอยู่ในโน้ตเล็กๆ อยู่ในการสนทนานอกห้อง ในวงเหล้าหรือวงหูฉลาม ซึ่งพูดใส่ไมโครโฟนไม่ได้ ด้วยเหตุดังนั้น ต่อสาธารณชน ไมโครโฟนจึงเป็นสัญลักษณ์ของการทำงานของ ครม. ไม่มีไมโครโฟนก็เหมือน ครม.ไม่ทำงาน จะเสียเงินซื้อสักตัวละกี่แสนกี่ล้านก็คุ้ม

เมื่อ ครม.ไทยต้องเสียเวลาไปกับการพิจารณาการบริหารในเชิงรายละเอียด ก็ไม่มีเวลาจะถกกันเรื่องนโยบายอย่างจริงจัง นโยบายเป็นเรื่องที่ประธานหรือนายกรัฐมนตรีแจ้งให้ที่ประชุมทราบผ่านไมโครโฟนด้วย เพื่อให้เป็นที่ทราบทั่วกันในสังคม ผ่านการแถลงข่าวของโฆษกรัฐบาล และด้วยเหตุดังนั้นจึงมุ่งให้ฟังดูดี ไม่ใช่เรื่องที่จะมาถกกัน และอันที่จริงนโยบายของรัฐบาลไทยแต่ละเรื่องก็คลุมเครือเสียจนเอาไปปฏิบัติอย่างไรก็ได้อยู่แล้ว

ห้องประชุม ครม.ซึ่งสะท้อนการบริหารการเมืองของไทยเอง บังคับให้นายกรัฐมนตรีทุกคน เป็นปลัดประเทศทั้งนั้นแหละครับ เป็นมากหรือเป็นน้อยเท่านั้น

อีกด้านหนึ่งที่น่าสนใจในภาพเปรียบเทียบก็คือ ในที่ประชุม ครม.ของคนอื่น มองเห็น "ประธาน" ไม่ค่อยถนัด ญี่ปุ่นใช้โต๊ะกลมไปเลยเพื่อไม่ให้มีประธาน (ที่ชัดเจน) ส่วนของคนอื่นก็ล้อมวงกันบนโต๊ะซึ่งไม่ใหญ่นัก พอพูดและเห็นหน้ากันได้โดยไม่ต้องใช้ระบบอะไรทั้งสิ้น ตรงกันข้ามกับของไทยเลยนะครับ ตั้งโต๊ะยาวเหยียดสองฝั่ง มีด้านที่ปิดโต๊ะสองแถวนี้อยู่ตรงหัวซึ่งเป็นที่นั่งของประธานชัดเจน ปลายสุดอีกข้างหนึ่งเปิดเอาไว้ มีจอยักษ์ติดฝาผนังซึ่งจะฉายอะไรให้ดูก็ได้ตามคำสั่งประธาน

ชัดเจนว่าผู้กำกับการประชุมคือใคร จะพูดเมื่อไร ก็แล้วแต่ท่านจะอนุญาต บรรยากาศทำให้คิดเลยไปว่า จะพูดอะไรก็แล้วแต่คำอนุญาตของท่านด้วยเหมือนกัน

ถ้าดูจากการจัดที่ประชุมแล้ว การประชุม ครม.ไทย คือการเข้าฟังคำสั่งท่านนายกฯ ไม่ใช่สถานที่สำหรับคนเสมอกันจะมาถกเถียงอภิปรายกันในเรื่องที่ทุกคนเห็นว่ามีความสำคัญ ตามปกติแล้ว หากพรรคการเมืองที่ผสมกันจัดตั้งรัฐบาลไม่ประสงค์จะขัดขากันเองแล้ว ก็ถือเป็นทั้งธรรมเนียมและมารยาท ที่รัฐมนตรีจะไม่แทรกแซงกิจการของรัฐมนตรีอื่นซึ่งอยู่ต่างพรรค

คนเดียวที่อาจตั้งข้อสงสัย หรือเสริมต่อข้อเสนอของรัฐมนตรีได้คือนายกรัฐมนตรี ในสมัยที่รัฐบาลมาจากพรรคเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาด หรือมาจากการรัฐประหาร ยิ่งไม่มีใครออกความเห็นมากขึ้นไปอีก เพราะรู้อยู่แล้วว่า ข้อเสนอในที่ประชุม ครม.นั้นได้ผ่านการอนุมัติเห็นชอบจากท่านนายกฯไปแล้ว จะมีแย้งบ้างก็เรื่องเล็กๆ ซึ่งไม่พูดดีกว่าพูด ปล่อยให้ท่านนายกฯแสดงความฉลาดไปคนเดียวดีกว่า (เช่นคุณทักษิณ ชินวัตร ชวนอ่านหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้)

อันที่จริงระบบ ครม.นั้นเป็นระบบที่บังคับให้ทุกคนใน ครม.ต้องรับผิดชอบร่วมกัน มติ ครม.ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้ ก็เพราะเป็นมติ ครม. ไม่ใช่คำสั่งของนายกฯคนเดียว แต่นี่เป็นหลักการที่มองข้ามสถานะผู้ใหญ่และเด็กของวัฒนธรรมไทยไปเสียเลย คนไทยสัมพันธ์กันบนฐานของการกำหนดรู้ว่าใครเป็นผู้ใหญ่ ใครเป็นเด็ก และสองคนนั้นหาได้เท่าเทียมกันไม่ เราทุกคนต่างต้องเป็นผู้ใหญ่ในบางครั้ง และเป็นเด็กในบางครั้ง ตลอดชั่วชีวิตของเรา สถานะเป็นผู้ใหญ่หรือเด็กนี้ไม่ได้บังคับความสัมพันธ์ของเรากับคนอื่นเท่านั้น แต่เป็นกรอบกำกับพฤติกรรมของเราในที่สาธารณะด้วย

ห้องประชุม ครม.ไทยวางสถานะของผู้ใหญ่และเด็กไว้ให้เห็นได้ชัดเจน

ในเวลาประชุมจริงยังมี "เด็ก" จากกระทรวงที่มานั่งหลังท่านรัฐมนตรีแต่ละคนอีกจำนวนหนึ่ง ที่นั่งของเด็กคือต้องไม่ชิดโต๊ะประชุม ลำดับที่ของคนซึ่งนั่งติดโต๊ะประชุมก็ลดทอนกันลงไปตามฐานะที่จัดว่าเป็นผู้ใหญ่หรือเด็กด้วย เช่น รองนายกฯ ย่อมต้องนั่งหัวแถวกว่ารัฐมนตรีกีฬาและการท่องเที่ยว

สถานะตามวัฒนธรรม และบรรยากาศของห้องประชุมกำหนดไว้แล้วว่าใครควรพูดได้แค่ไหน โดยท่านประธานไม่ต้องบอกเลย

ฉะนั้น หาก ครม.ไทยถกกันเรื่องนโยบายเหมือนประเทศอื่นที่ยกมาเปรียบเทียบในภาพ ผมเชื่อว่ารัฐมนตรีแต่ละคนก็จะพูดตามแต่ความสำคัญของนโยบายนั้น นโยบายเล็กรัฐมนตรีเด็กอาจพูด แต่นโยบายใหญ่เป็นเรื่องของผู้ใหญ่พูด เด็กไม่ควรสะเออะ

นโยบายจึงเป็นคำสั่ง ไม่มีความจำเป็นต้องประชุม

นอกห้องประชุม ครม. หน่วยราชการทั้งหลายที่อยากเพิ่มความสำคัญของตนเอง ต่างผลักดันกฎหมายให้ตัวไปสังกัดสำนักนายกฯ เพราะ

นายกฯย่อมเป็นผู้ใหญ่ที่สุดคนเดียวในที่ประชุม ครม. ดังนั้น นายกฯจึงจะเป็นผู้เสนอความเห็นของหน่วยงานตนตามหน้าที่ และไม่มีเด็กคนไหนมาขวางได้

สังกัดสำนักนายกฯเสียอย่าง ก็สบายไปแปดอย่าง

ห้องประชุม ครม.ไทยสะท้อน "ประชาธิปไตยแบบไทย" ได้ชัดเจนที่สุด และนี่เป็นเหตุให้คนไทยจำนวนมากไม่รู้สึกสะดุ้งสะเทือนอะไรกับการที่กองทัพทำรัฐประหารยึดอำนาจบ้านเมือง ก็แค่เปลี่ยนหน้าของคนที่จะมานั่งในห้องประชุม ครม.เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าสังคมไทยได้เดินรุดหน้าไปไกลกว่าที่ประชุม ครม.เสียแล้ว ใครที่จะไปนั่งในห้องประชุม ครม. ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือรัฐประหาร หากไม่เข้าใจข้อนี้ก็ไม่มีวันจะนำเสถียรภาพทางการเมืองมาสู่ประเทศที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงนี้ได้

ที่มา.มติชนออนไลน์
//////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น