หมอเหวง โตจิราการนำเอาคลิปของการรวมตัวของฝูงชนอย่างสั้นๆ (flash mob) ในประเทศหนึ่งมาเผยแพร่ มีการแชร์กันกว้างขวาง จนผมได้พบเข้าโดยบังเอิญ จึงลองคลิกเข้าไปดูและฟัง
เป็นการรวมตัวของนักดนตรีและนักร้องในจัตุรัสเล็กๆ แห่งหนึ่ง ซึ่งมีคนเดินไปเดินมา เดินเล่น เด็กวิ่งเล่น สุนัขไล่หยอกล้อกัน แล้วก็มีคนแบกดับเบิลเบสตัวใหญ่ออกมาสีนำ ตามด้วยคนแบกเชลโลออกมาเสริมอีกสองคน บัสซูนอีกคนเดินตามมา ไวโอลินอีกมากเดินตามมาเรื่อยๆ พร้อมกับเครื่องลมและเครื่องทองเหลืองอีกเป็นแถว
เพลงที่เขาเล่นคือท่อนหนึ่งของกระบวนที่ 4 ของซิมโฟนีหมายเลข 9 ของบีโธเฟน ซึ่งรู้จักกันว่าซิมโฟนีเสียงประสาน เพราะในท่อนนี้จะมีเสียงประสานคำร้องซึ่งเอามาจาก "กาพย์แด่ปิติสุข" (An die Freude-Ode to Joy) ของจินตกวีฟรีดริช ชิลเลอร์ อันเป็นท่อนที่รู้จักกันไปทั่วโลก เอามาเป็นทำนองหลักในหนังหลายเรื่อง แปลงเป็นเพลงร็อก ใช้เปิดกีฬาโอลิมปิก เป็นเพลงสัญลักษณ์ของ EC (ประชาคมยุโรป) และ EU สหภาพยุโรปในปัจจุบัน แสดงในวันปีใหม่เป็นร้อยๆ วงทั่วประเทศญี่ปุ่นมาตั้งแต่สมัยสงคราม ถูกเปิดผ่านลำโพงแก่ผู้ประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน
ผมฟังเพลงนี้มาในชีวิตน่าจะเกิน 100 ครั้งแล้ว เล่นโดยวงดนตรีชั้นนำระดับโลกไม่รู้จะกี่วง กำกับโดยวาทยกรเด่นดังหลายต่อหลายคน แต่ไม่มีครั้งไหนเลยที่น้ำตาจะไหลพรากอย่างไม่ยอมหยุดเท่าครั้งนี้ อาจเป็นเพราะภาพปฏิกิริยาของผู้คนในบริเวณที่มีการรวมตัว จากความไม่ค่อยใส่ใจนักกลายเป็นการล้อมวงฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ บดบังเด็กน้อยที่ผู้ใหญ่ถูกมนตร์ของดนตรีสะกดจนลืมนึกถึงไปชั่วขณะ พ่อหนูน้อยจึงต้องปีนเสาไฟข้างถนนขึ้นไปดูและฟัง พร้อมทั้งแสดงท่าเป็นวาทยกรไปพร้อมกัน เมื่อคณะนักร้องที่แทรกอยู่ในฝูงชนเริ่มร้อง ผู้คนซึ่งไม่เคยเรียนร้องเพลงเลยก็เปล่งเสียงตาม หรือบางคนทำปากขมุบขมิบตามเนื้อร้อง
สำนึกที่ท่วมท้นจิตใจขณะนั้น คือพลังของความเป็นมนุษย์ในท่ามกลางเสรีภาพ อย่างที่กุหลาบ สายประดิษฐ์เรียกว่ามนุษยภาพ
อันที่จริง ความเป็นอมตะของ "กาพย์แด่ปิติสุข" ของชิลเลอร์คงไม่เกิดขึ้น หากบีโธเฟนไม่ได้นำมาใช้ในซิมโฟนีหมายเลข 9 ของเขา แม้แต่ตัวชิลเลอร์ในวัยชราเองก็บอกกับเพื่อนว่ากาพย์บทนี้ไม่มีคุณค่าต่อโลก เพราะมันไม่สัมพันธ์กับความเป็นจริง ความหมายตามตัวบทจึงแคบมาก คือความเป็นผองน้องพี่ของเหล่ามวลมนุษย์ ซึ่งอาจเสพย์ความปิติสุขจากธรรมชาติที่พระเจ้าประทานมาได้อย่างดื่มด่ำที่สุด แต่เพราะซิมโฟนีหมายเลข 9 ต่างหาก ที่ทำให้นัยยะอันลึกซึ้งอีกมากมายของกาพย์บทนี้ถูกสร้างเสริมเข้าไปแก่ตัวบท จนมีนัยยะที่ลึกซึ้งเป็นอย่างยิ่ง
เพียงไม่ถึง 10 ปีหลังมรณกรรมของบีโธเฟน นักวิจารณ์เยอรมันก็เริ่มอธิบายแล้วว่า "ปิติสุข" หรือ Freude นั้นที่จริงแล้ว คือ Freiheit (อิสรภาพ-Freedom) เพราะจะทำให้มีความหมายแฝงที่ลึกซึ้งกว่ากันมาก เช่นในท่อนท้ายที่ว่าปิติสุขย่อมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตและเป็นพลังผลักดันของมนุษย์ (ซึ่งมีนัยยะในเชิงศาสนาเพียงอย่างเดียว) หากเข้าใจว่าคือเสรีภาพ (ตามคำที่ผมอยากใช้มากกว่าอิสรภาพ) คือชีวิตและพลังผลักดันให้ชีวิตมีความหมาย กาพย์บทนี้ก็จะจับใจคนสมัยใหม่ (สมัยนั้น) ได้ลึกซึ้งกว่า
เลโอนาร์ด เบิร์นสไตน์ ถึงกับอธิบายแก่ผู้ฟังเลยว่า ชิลเลอร์ต้องการจะให้หมายถึงเสรีภาพนั่นแหละ แต่เนื่องจากมีนัยยะทางการเมืองแรงเกินไปในสมัยที่เขาแต่ง จึงเลี่ยงมาใช้คำว่า ปิติสุข หรือ Freude แทน การตีความและการกำกับซิมโฟนีหมายเลข 9 ของเขา ก็จะเป็นไปตามการตีความเช่นนี้
น้ำตาผมอาจไหลด้วยการตีความตามแนวของเบิร์นสไตน์ก็ได้กระมัง
ท่วงทำนองในกระบวนที่4ของซิมโฟนีหมายเลข9ท่อนนี้ เป็นที่คุ้นเคยแก่คนไทยจำนวนมาก ผมได้ยินคนฮำตามอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะออกมาในรูปซิมโฟนีหรือเพลงร็อก จึงอยากให้กวี (ที่มีศรัทธาต่อเสรีภาพจริงๆ ไม่ใช่ช่างประกอบคำ) ร่วมมือกับนักดนตรี แปล "กาพย์แด่ปิติสุข" (ตามที่บีโธเฟนตัดและต่อไว้) ออกเป็นภาษาไทย (กวีที่ผมนึกถึงคือคุณสุขุม เลาหพูนรังสี ส่วนครูเพลง ผมนึกถึงอาจารย์อติภพ ภัทรเดชไพศาล) เผื่อสักวันหนึ่ง จะมีการรวมตัวของฝูงชนอย่างสั้นๆ ที่นำโดยนักดนตรีในเมืองไทยอย่างนั้นบ้าง ผู้คนจะได้ร้องตามโดยพร้อมเพรียงกัน
บทเพลงที่ทรงพลังนั้น จะได้มีพลังมากขึ้นในสังคมไทย
แต่การรวมตัวของฝูงชนอย่างสั้นๆ เช่นนั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างไร จริงๆ แล้วผมก็ไม่รู้คำตอบเหมือนกัน เพราะแม้ว่าไม่อาจเล่นได้เต็มวง แต่อย่างน้อยก็ต้องมีตัวแทนเสียงเครื่องดนตรีได้ครบพอสมควร จึงไม่ง่ายทั้งการหาคนและการขนย้าย (เช่นกลองทิมพานี กลองเบส เป็นต้น และท่อนนี้ขาดกลองที่ทรงพลังไม่ได้เสียด้วย) การรวมตัวเช่นนั้นจึงจะเกิดขึ้นได้โดยคนที่มีความพร้อมเท่านั้น
บัดนี้ อาจารย์สุกรี เจริญสุขไม่จำเป็นต้องเอาปี๊บคลุมหัวอีกแล้ว เพราะสภามหาวิทยาลัยมหิดลได้ลงมติแล้วว่าอธิการบดีต้องตัดสินใจเลือกเอาตำแหน่งเดียว หากอาจารย์สุกรีซึ่งมีความพร้อมทั้งในด้านนักดนตรีและนักร้อง จะจัดคอนเสิร์ตอย่างสั้นๆ แต่กินใจที่ได้ยินท่อนนี้เล่นในรูปออเคสตราเป็นครั้งแรก จำนวนมากในคนเหล่านั้นจะประทับใจกับเสียง, ท่วงทำนอง, ฮาร์โมนิก, พัฒนาการของเพลงด้วยการแปรเปลี่ยน, ฯลฯ ของดนตรีตะวันตก จนกลายเป็นผู้ฟังหรือผู้เล่นดนตรีคลาสสิกสักวันหนึ่งข้างหน้า
นี่ไม่ใช่ความมุ่งหมายที่อาจารย์สุกรีได้ทุ่มเทความพยายามตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาหรอกหรือ
ระหว่างการแสดงดนตรีในห้องดนตรีเชิญแขกผู้มีเกียรติมาฟังพร้อมกับขายบัตรให้ผู้ที่ชอบดนตรีคลาสสิกตะวันตกกับการนำดนตรีมาเล่นกลางฝูงชนอย่างไหนจะทำให้ประชาชนเข้าถึงดนตรีคลาสสิกตะวันตกได้มากกว่ากัน
ไม่ใช่เข้าถึงเพียงเพราะได้ฟังด้วยแต่เข้าถึงเพราะดนตรีเข้าถึงชีวิตจริงที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่ทั้งด้วยเสียงและภาพของฝูงชนที่ได้ใช้ชีวิตร่วมกันแม้เพียงช่วงสั้นๆแต่อย่างที่เป็นมนุษย์เหมือนกัน ผู้ชาย, ผู้หญิง, คนแก่, เด็ก, คนรวย, คนจน, คนมีอำนาจ, คนไร้อำนาจ ฯลฯ ต่างเกิดสำนึกถึงแก่นแท้ของความเป็นมนุษย์ร่วมกัน อันเป็นสิ่งที่บรรลุได้ในกลิ่นอายของเสรีภาพ แม้เป็นช่วงสั้นๆ ก็ตาม แต่จะเป็นช่วงสั้นๆ ที่ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปชั่วนิรันดร์
และนี่คืออำนาจของศิลปะ ในยามมืดมิด ศิลปะคือดวงดาวที่ส่องประกายเจิดจำรัส ในยามอ่อนล้า ศิลปะคือพลังที่ชุบชูความหวังและความฝันไม่ให้เสื่อมสลาย
ไม่จำเป็นต้องซิมโฟนีหมายเลข 9 เพลงไทยที่เราคุ้นหูก็มีอำนาจไม่ต่างจากกัน เราจะหอบเครื่องปี่พาทย์ไปยังที่สาธารณะซึ่งพลุกพล่านที่ไหนก็ได้ เพื่อสร้างช่วงเวลาสั้นๆ ร่วมกันกับคนอื่น ร้องเพลง "เจ้าหนุ่มสาวเอย เจ้าเคยแล้วหรือยัง" อันมีทำนองที่ใครๆ ก็ร้องตามได้เพราะนำมาจากทำนองเพลงลาวเฉียงในตับพระลอ ซึ่งถูกแปลงเป็นเพลงไทยสมัยปัจจุบันไปหลายครั้งแล้ว
เพลง "แสงดาวแห่งศรัทธา" ของคุณจิตร ภูมิศักดิ์ก็คุ้นหูคนไทย พอที่เริ่มต้นแห่งใด ก็จะมีคนร้องตามได้มากมาย เพื่อสร้างช่วงสั้นๆ แห่งเสรีภาพที่จะตราตรึงใจของคนต่อไปอีกนานเท่านาน
เพลงจากภาพยนตร์ที่ตรึงใจคนทั่วโลกอีกเพลงหนึ่งคือDoyouhearthe people sing? ก็มีทำนองที่คุ้นหูคนไทย (และคุณสุขุม เลาหพูนรังสีได้แปลไว้อย่างดีเลิศแล้ว) หากไม่อาจเปล่งเนื้อร้องได้ ก็อาจใช้การฮัมหรือร้องลัลล้าร่วมกันได้
ในไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีเกมใหม่ที่เลียนแบบไอซ์บัคเกต คือท้าร้องเพลง "บทเพลงของสามัญชน" ลงคลิปและเผยแพร่ บัดนี้มีเพลงที่ร้องโดยผู้รับคำท้าจำนวนมากแล้ว ด้วยลีลาที่แตกต่างกันหลากหลาย
เสรีภาพซึ่งขาดหายไปในพื้นที่สาธารณะทุกประเภท ควรถูกครอบคลุมด้วยศิลปะ ดนตรี จิตรกรรม ประติมากรรม กวีนิพนธ์ ศิลปะจัดวาง ศิลปะอุบัติการณ์ ฯลฯ เพื่อหล่อเลี้ยงความหวังและความฝันของคนไทยสืบไป
นี่คือยามมืดมิดที่ท้าทายศิลปิน หรือผู้ถือดาวอยู่ทั่วท้องฟ้า ท่านอยากสิงสถิตในวิมานของศิลปินแห่งชาติ หรือส่องแสงแก่ผู้คนในความมืด
ที่มา:มติชน
////////////////////////////////////////////