--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ความงุนงง !!?

โดย. วีรพงษ์ รามางกูร

ความงุนงงเกิดขึ้นได้เสมอแม้ว่าเหตุการณ์หรือเรื่องราวนั้นเกิดขึ้นแล้วหรือกำลังเกิดขึ้น เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ความงุนงงอาจจะเกิดขึ้นได้เสมอกับบุคคล เป็นประสบการณ์ชีวิต และสังคมใดสังคมหนึ่งก็เกิดความงุนงงขึ้นได้เสมอ

ความงุนงง หรือความประหลาดใจ เกิดขึ้นเพราะปัจจัยอย่างน้อย 2 อย่าง อย่างแรก คือการไม่มีข้อมูลข่าวสาร หรือมีข้อมูลข่าวสารแต่ไม่สมบูรณ์ หรือมีข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จ เป็นข้อมูลข่าวสารที่ไม่จริง ประการที่สอง คือความไม่มี "เหตุผล" หรือความไม่สอดคล้องกับ "ตรรกะ"

บุคคลไม่ว่าจะมีความฉลาดเฉลียวมากน้อยขนาดไหน หรือแม้แต่บุคคลที่เป็นที่ยอมรับว่าเป็นอัจฉริยะ บางครั้งก็เกิดความงุนงงได้ ถ้าตั้งสติไม่ทัน

เคยได้ยินเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งผู้ที่ไปเยี่ยมอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ที่บ้าน เห็นเจ้าของบ้านกำลังเจาะฝาบ้านเป็นสองรู รูหนึ่งเป็นรูเล็ก อีกรูหนึ่งเป็นรูใหญ่ เพื่อนผู้ที่ไปเยี่ยมถามว่าเจาะรู 2 รูนี้ไว้ทำไม ได้ความว่า เจาะไว้ให้แมวผ่านได้ จะได้ไม่ต้องเปิดปิดประตูใหญ่ ทำไมต้องเจาะ 2 รู ได้รับคำตอบว่า รูใหญ่เจาะเอาไว้ให้แมวที่เป็นตัวแม่ออกเพราะเป็นแมวตัวใหญ่ ตอนนี้มันมีลูกก็เลยต้องเจาะรูเล็กไว้ให้ลูกแมวลอดเข้าออกได้ เพื่อนที่ฟังไอน์สไตน์กล่าวก็หัวเราะแล้วก็บอกว่า บางทีอัจฉริยะอย่างไอน์สไตน์ก็เกิดความงุนงงได้เหมือนกัน เพราะลูกแมวตัวเล็กก็ลอดเข้าออกรูใหญ่ที่แม่ของมันใช้ลอดเข้าออกได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเจาะรูเล็กเพื่อลูกแมวโดยเฉพาะก็ได้

ความงุนงงแล้วตัดสินใจ เพราะการขาดข้อมูลข่าวสาร หรือได้รับข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จนั้นเกิดขึ้นได้อยู่เสมอในทุกสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการเมืองและวงการปกครอง ความงุนงงจากเหตุการณ์ในอดีตกับความงุนงงจากเหตุการณ์ปัจจุบันนั้น บางทีก็ทำให้เกิดความงุนงงไปถึงเหตุการณ์ในอนาคต ทั้งที่เป็นอนาคตอันใกล้

สาเหตุที่มีเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแล้วทำให้เกิดความงุนงง เพราะเกิดขึ้นอย่างกะทันหันบ้าง เกิดอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยบ้าง ถึงแม้จะมีคำพังเพยที่กล่าวว่า "มีไฟจึงมีควัน" แต่ปรากฏการณ์หลายอย่าง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงที่เห็นได้ทั่วกันกลับไม่ได้เป็นผู้วางแผนให้เกิดขึ้นมาก่อน ในกรณีอย่างนี้ ความงุนงงก็จะเกิดขึ้นไปทั่ว จะรับเคราะห์ผลดีผลเสียอย่างไร จะใช้ตรรกะอย่างไรก็คิดไม่ออก กับการไม่ลงตัว

แต่หลายเหตุการณ์ที่เกิดก็เป็นไปตามตรรกะ มีควันก็ต้องมีไฟ มีไฟก็ต้องเกิดควัน มีการวางแผนมาก่อนล่วงหน้า มีการแบ่งงานกันทำ งานที่ทำมาแต่ละขั้นตอนก็กำหนดเวลา สถานที่ที่แน่นอน เพื่อให้สอดคล้องกัน มีแผนรุกและแผนรับที่แยบคาย ถ้าการดำเนินงานแต่ละส่วนแต่ละขั้นตอนมีอุปสรรคติดขัด ก็สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแผนให้เดินหน้าต่อไป เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายสุดท้ายของแผนได้

การที่ผู้ดำเนินการตามแผนที่วางไว้ จะทำให้การดำเนินการเพื่อบรรลุถึงเป้าหมายมีโอกาสที่จะล้มเหลวเสียกลางคันน้อยลง โอกาสที่จะบรรลุถึงเป้าหมายขั้นสุดท้ายมีสูงขึ้น ดังนั้น ถ้าฝ่ายตรงกันข้ามหรือผู้สังเกตการณ์สังเกตให้ดี ใช้ข้อมูลข่าวสารเท่าที่มีร่วมกับการใช้ตรรกะก็อาจจะเดาได้ เหตุการณ์จะพัฒนาไปในทางใด

แม้ว่าจะเป็นสังคมที่ขึ้นชื่อว่ามีความโปร่งใส เช่น สหรัฐอเมริกาและยุโรป ความลับลมคมในก็มีอยู่เสมอ เพียงแต่ว่าในสังคมดังกล่าว สื่อมวลชนที่เข้มแข็งจะเป็นผู้ที่สืบเสาะและนำเสนอต่อสาธารณชน แม้ในสถานการณ์สู้รบในภาวะสงคราม เช่น สงครามเวียดนาม กองทัพสหรัฐก็ไม่สามารถปิดบังการกระทำหลายอย่างของตนต่อสาธารณชนของโลกได้ ก็ต้องยอมรับความจริงและต้องถอนตัวออกจากสงครามในที่สุด

ความงุนงงสงสัยจะมีมากขึ้นสำหรับสังคมที่ระบอบการเมืองยังไม่พัฒนา ยังเป็นสังคมที่มีความลับลมคมในอยู่ทั่วไป เป็นสังคมที่อึมครึมไปหมด ฉะนั้นแล้ว "ข่าวลือ" จะมีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดในการสร้างกระแส สร้าง "คุณค่า" ใหม่ให้กับสังคมได้มาก

ในโลกสมัยใหม่ที่เทคโนโลยีสารสนเทศมีความสะดวกและรวดเร็ว การสร้างข่าวร้าย ปล่อยข่าวเท็จ เสพข่าวลือ ให้กลายเป็นกระแสจนผู้คนเชื่อว่าเป็นความจริงเกิดขึ้นได้เสมอ และอาจจะสร้างความเสียหายให้กับบุคคลหรือครอบครัว และแม้แต่สังคมโดยส่วนรวมได้ง่ายๆ การป้องกันสถานการณ์ดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่ทำได้ยากแต่ก็ต้องทำ เพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้เสมอ

เมื่อเกิดความงุนงงขึ้น ทำอย่างไรถึงจะมีกลไกที่สังคมสร้างขึ้นมาเพื่อขจัดความงุนงงเหล่านั้นอย่างทันท่วงที อย่างมีประสิทธิภาพ ความจริงน่าจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สังคมโดยส่วนรวมจะได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแท้จริงและไม่ถูกเบียดเบียน และน่าจะเป็นหน้าที่ของ "รัฐ" เสียด้วยซ้ำ

ถ้า "รัฐ" ไม่ทำหน้าที่อันสำคัญนี้ หรือทำได้แต่ไม่มีประสิทธิภาพ ก็คงจะต้องเป็นหน้าที่ขององค์กรประชาชนที่ไม่ใช่องค์กรรัฐบาล ทำหน้าที่นี้แทน แต่อย่างไรก็ตาม ในบรรดาประเทศที่การพัฒนาทางการเมืองยังต่ำ สิ่งเหล่านี้ก็ยังไม่เกิดขึ้น ดังนั้น บางครั้งองค์กรระหว่างประเทศก็ยังจำเป็นที่จะต้องทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงแทน

บางครั้งปัญหาเกิดขึ้นในทิศทางที่ตรงกันข้าม กล่าวคือ รัฐบาลนั้นกลับไม่ได้รับความเชื่อถือ แม้จะมีข้อมูลข่าวสารมากมายแต่ประชาชนฝ่ายต่อต้านก็ไม่รับฟัง แต่พร้อมที่จะเลือกเชื่อข้อมูลข่าวสารที่ตนพอใจอยากจะเชื่อ สถานการณ์ดังกล่าวเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะแยกประชาชนออกเป็น 2 ฝ่าย เหตุการณ์ดังกล่าวกำลังเกิดขึ้นในประเทศยูเครน ที่ประชาชนแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งต้องการแยกตัวกลับไปรวมกับรัสเซีย เพราะยูเครนเคยร่วมอยู่ในจักรวรรดิรัสเซียมานาน มีคนเชื้อสายรัสเซียอยู่เป็นจำนวนมาก แม้ภาษาที่พูดกันในยูเครนกับภาษารัสเซียก็ใกล้เคียงกันมาก

สิ่งที่น่าจะงุนงงอีกเรื่องหนึ่งก็คือ สังคมของเราได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่า 40 ปีในการสถาปนาระบอบการปกครองที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่โดยย้อนกลับไปที่เดิมได้อย่างสงบเงียบเรียบร้อย เหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นไม่กี่เดือนสถานการณ์ราวกับว่าประเทศไทยกำลังจะแตกออกเป็นเสี่ยงๆ

หลายๆ เรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องพลังงาน โครงการพัฒนาต่างๆ เป็นเรื่องร้อนที่ราวกับว่าถ้าเกิดขึ้นประเทศจะเสียหายล่มสลาย แต่บัดนี้มีการประกาศโครงการที่มีมูลค่ามากกว่าเดิมกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ โดยที่ยังไม่รู้เลยว่าข้างในนั้นมีโครงการอะไรบ้าง ที่งุนงงเพราะบัดนี้เงียบสนิททั้งพรรคฝ่ายค้านและสื่อมวลชน

จะว่าเป็นเรื่องระยะสั้นชั่วคราว เหมือนรัฐธรรมนูญฉบับย่อ หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูป หรือรัฐบาลก็คงไม่ใช่ เพราะโครงการต่างๆ เหล่านี้คือนโยบายทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมมากมายต่างๆ จะมีผลต่อไปในระยะยาว ชั่วลูกชั่วหลาน

ถ้าไม่งุนงงก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร

ที่มา:มติชน
////////////////////////////////////////

วันพุธที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

กับดักสภาพคล่อง ยุโรปและอเมริกา !!?



โดย วีรพงษ์ รามางกูร

บัดนี้เป็นเวลากว่า 6 ปีแล้วที่ธนาคารกลางสหรัฐและยุโรปประกาศใช้นโยบายเพิ่มปริมาณเงินจำนวนมหาศาลเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ เพื่อให้สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจมีปริมาณมากกว่าความต้องการในตลาด ใช้คำศัพท์ที่หรูหราว่าเป็น "นโยบายผ่อนคลายทางปริมาณ" จุดประสงค์ก็เพื่อกระตุ้นความต้องการ ทั้งการบริโภคและการลงทุนในระบบเศรษฐกิจ ไม่ให้มีภาระดอกเบี้ยแพงและภาวะเงินตึงตัวในระบบเศรษฐกิจ ประเทศญี่ปุ่นเองในที่สุดก็ประกาศใช้นโยบายเพิ่มปริมาณเงินเข้ามาในระบบเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน

ช่วงหลังเกิดความกลัวว่าเมื่อเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินยุโรปมีปริมาณเพิ่มถึงจุดหนึ่งแล้ว ความเชื่อมั่นในเรื่องค่าเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินยูโรจะสั่นคลอน

ขณะนี้สัดส่วนของความต้องการเงินสกุลต่างๆ เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการนั้น เงินดอลลาร์สหรัฐก็ยังมีสัดส่วนสูงที่สุด คือประมาณ 82 เปอร์เซ็นต์ แต่เงินเยนของญี่ปุ่นมีสัดส่วนน้อยลง กล่าวคือ มีสัดส่วนเพียง 1.4 เปอร์เซ็นต์ เงินหยวนของจีนกลับมีความสำคัญเพิ่มขึ้นถึง 8.7 เปอร์เซ็นต์ กลายเป็นสกุลสำคัญอันดับที่ 2 ในการเป็นเงินที่ใช้ในการชำระหนี้การค้าระหว่างประเทศ ในขณะที่เงินยูโรมีสัดส่วนในการชำระหนี้เพียงร้อยละ 6.7 เท่านั้น

แต่ถ้ารวมความต้องการถือเงินดอลลาร์ ในฐานะที่เป็นเงินสกุลเดียวที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการเก็งกำไร และความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ แม้จะเป็นประเทศที่มีฐานะเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดกับสหรัฐแล้วก็ตาม เงินดอลลาร์ก็ยังถือได้ว่าเป็นเงินสกุลเดียวที่มีความสำคัญมากที่สุด ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา และคงจะยังมีความสำคัญต่อไปในอนาคตอีกด้วย

การที่ธนาคารกลางของสหรัฐประกาศเพิ่มปริมาณเงินอย่างมหาศาลในระบบโดยหวังว่าจะเป็นการกระตุ้นทั้งการบริโภคและการลงทุน เพราะอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำสุดมาเป็นเวลานาน

เมื่อเวลาผ่านมาถึง 6-7 ปี เศรษฐกิจของสหรัฐเองก็ยังไม่สามารถจะกล่าวว่าได้ฟื้นตัวอย่างยั่งยืน เพียงแต่บางครั้งมีความรู้สึกว่าฟื้นตัวขึ้นบ้าง แล้วก็ฟุบตัวลงไปอีก การขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐอเมริกา แม้จะมีปัญหาน้อยลงบ้าง แต่ก็ยังเป็นปัญหา ยังแก้ไม่ตก

ในบรรดากลุ่มประเทศในยุโรปตะวันตกก็เหมือนกัน ดูจะยิ่งย่ำแย่ยืดเยื้อกว่าสหรัฐเสียอีก อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับที่สูง และดูท่าจะไม่มีทางกระเตื้องขึ้นเลย ในขณะที่อัตราการว่างงานในสหรัฐอเมริกา บางครั้งบางตอนก็มีอาการกระเตื้องขึ้นมาบ้าง แล้วก็กลับฟุบตัวลงอีก

มาตรฐานความเป็นอยู่ของคนอเมริกันนั้น อยู่ในระดับที่สูงที่สุดในโลก รองลงไปก็เห็นจะเป็นยุโรปตะวันตกและญี่ปุ่น เมื่อประเทศกำลังพัฒนา เช่น จีน บราซิล รัสเซีย อินเดีย และแอฟริกาใต้ เปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจให้เสรีมากขึ้น ประเทศพัฒนาเดิมก็สูญเสียความสามารถในการแข่งขันในการผลิตสินค้าและบริการให้

กับภูมิภาคในเอเชียไปจนหมดสิ้นรายได้ของคนอเมริกันส่วนใหญ่จึงอยู่ที่ทรัพย์สินทางปัญญา อาศัยที่อเมริกายังสามารถผูกขาดการเป็นเจ้าของตลาดทุนและตลาดเงินได้อยู่ การระดมทุนก็ดี การเป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการระดมทุนก็ดี ยังอยู่ในมือของบริษัทอเมริกันเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนั้นสหรัฐอเมริกายังเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ นิมิตสิทธิ์ และอื่น ๆ อยู่บ้าง

เมื่ออเมริกาประกาศว่าสามารถใช้เทคโนโลยีของตนเจาะพื้นพิภพลึกลงไปกว่า 10 กม. เพื่อนำเอาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมาใช้ได้ ก็ทำให้เศรษฐกิจของอเมริกากระเตื้องขึ้น ทำให้ราคาหุ้นของบริษัทต่าง ๆ ในสหรัฐกระเตื้องขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่ยั่งยืน

ราคาหุ้นในตลาดสหรัฐจึงขึ้นลงไปตามกระแสข่าวในระยะสั้น มากกว่าจะเป็นการฟื้นตัวอย่างยั่งยืน นับเป็นเวลากว่า 6-7 ปีมาแล้ว เศรษฐกิจของยุโรปก็อยู่ในลักษณะอาการอย่างเดียวกัน

เมื่อทศวรรษที่แล้ว จีน อินเดีย รัสเซีย และบราซิล กลายเป็นกลุ่มประเทศที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง เพราะความสามารถในการแข่งขันที่เหนือกว่ายุโรปและอเมริกา แต่ความสามารถก็ทำให้ฐานะทางการเงินของภูมิภาคอื่น ๆ อ่อนแอลง

การที่สหรัฐอเมริกา ยุโรป รวมทั้งญี่ปุ่น ใช้นโยบายเพิ่มปริมาณเงินจนกลัวว่าจะท่วมตลาด ดึงดอกเบี้ยต่ำลงจนเกือบจะเข้าใกล้ศูนย์ แต่ภาวะเศรษฐกิจทั้งของสหรัฐและยุโรปก็ยังซบเซาซึมอยู่ เป็นเวลานานจนกระทั่งบัดนี้

ที่หลายคนเกรงว่าในระยะยาว นอกจากนโยบายเพิ่มปริมาณเงินของธนาคารกลางสหรัฐจะไม่ได้ผลแล้ว น่าจะมีความเสี่ยงในระยะยาวว่าจะเกิดภาวะเงินเฟ้อ เงินดอลลาร์และเงินยูโรจะกลายเป็นเศษกระดาษ แต่การณ์ก็มิได้เป็นไปอย่างที่นักเศรษฐศาสตร์หลาย ๆ คนเป็นห่วง ค่าเงินดอลลาร์ก็ยังทรงตัวอยู่ได้ แม้จะมีความผันผวนอยู่มากก็ตาม เมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลักอื่นและราคาทองคำ

บัดนี้มีคำวิพากษ์วิจารณ์อย่างค่อนข้างรุนแรงจากธนาคารเพื่อการชำระเงินระหว่างประเทศว่ามาตรการเพิ่มปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ และการตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ใกล้ ๆ ระดับศูนย์เปอร์เซ็นต์ อาจจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาได้บ้างในระยะสั้น แต่เป็นผลเสียในระยะยาว เพราะตลาดการเงินถูกบิดเบือน ทั้งปริมาณเงินและอัตราดอกเบี้ยไม่เป็นไปตามธรรมชาติหรือกลไกตลาด ทำให้ตลาดใช้เงินทุนจากเงินออมของสังคมอย่างไม่มีประสิทธิภาพในการลงทุน จึงเท่ากับเป็นการยืดระยะเวลาของการตกต่ำทางเศรษฐกิจของสหรัฐและยุโรปให้ยาวนานเกินกว่าความจำเป็น

ปัญหาที่ถกเถียงกันอยู่ตลอดมาตั้งแต่สหรัฐอเมริกาและยุโรปประกาศใช้นโยบายเพิ่มปริมาณเงินในระบบ เพื่อนำมาซื้อพันธบัตรของรัฐบาลและของเอกชนที่มีคุณภาพดีกลับคืนไป เริ่มจากเดือนละ 85,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อมาลดลงเหลือเดือนละ 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน และจะหยุดเพิ่มปริมาณเงินดังกล่าวในเดือนตุลาคมปีนี้เป็นต้นไป หลังจากนั้นอัตราดอกเบี้ยอาจจะปรับขึ้นไปอยู่ที่อัตราที่สูงขึ้นแต่ไม่เกิน 1 เปอร์เซ็นต์

ทันทีที่นางเยลเลนประกาศ แทนที่ราคาหุ้นในตลาดสหรัฐจะลดลง ราคาหุ้นกลับดีดสูงขึ้น สร้างความแปลกใจให้กับนักลงทุนในตลาดหุ้นเป็นอันมาก ความเป็นไปได้ว่าตลาดหุ้นของสหรัฐตอบสนองต่อท่าทีของผู้ว่าการธนาคารกลางในระยะสั้น เพราะปฏิกิริยาของนักเก็งกำไรในตลาดหุ้นเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก แต่ในระยะปานกลางและระยะยาว ดัชนีราคาหุ้นก็คงจะปรับตัวลง

ข้อถกเถียงในเรื่องนโยบายคิวอีของสหรัฐ ยังเป็นที่ถกเถียงกันในแง่ทฤษฎีมหเศรษฐศาสตร์ว่า นโยบายการเงินนั้น ไม่น่าจะมีประโยชน์ในการกระตุ้นในภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาให้ฟื้นตัวได้ เป็นแต่เพียงพยุงระบบเศรษฐกิจไม่ให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง แต่ขณะเดียวกันการบิดเบือนตลาดดังกล่าว ทำให้ยืดอายุของการตกต่ำทางเศรษฐกิจให้ยืดยาวออกไปนานกว่าที่ควรจะเป็น

การคาดหวังว่าเศรษฐกิจของสหรัฐยุโรป และญี่ปุ่น จะฟื้นตัวในระยะเวลาอันใกล้นี้ คงจะยังไม่จริง ต้องรอกันต่อไป

ที่มา.ปรชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////

วันศุกร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

9 สิ่งมีชีวิต บางทีอาจจะอาศัยอยู่ ในตัวคุณ !!?

เคยได้ยินหรือไม่ คำกล่าวที่ว่า “เราจะกลืนลูกแมงมุมตัวเล็กๆตอนเราหลับ” คำกล่าวนี้ไม่เป็นจริงอีกต่อไป เรานักวิทยาศาสตร์ค้นพบ 9 สิ่งมีชีวิต ที่อาศัยอยู่ในร่างกายเราจริงๆ เหมียวบอกตามตรงว่า ให้แมงมุมให้ไปอยู่ในร่างกายเราดีกว่า

1. พยาธิตัวตืด – อาศัยอยู่แถวๆทางเดินอาหาร มีหน้าที่เป็นปรสิต



2. ตัวหิด – ไอ่ตัวจิ๋วนี่ฤทธิ์ร้ายแรงมากนะจ๊ะ โดนทีอาจเป็นผื่นแสบคันได้เลย



3. ปีเตอร์ หรือ แมลงสาบ – ระวัง มันจะเข้าไปในหูคุณตอนหลับ!!



4. พยาธิตัวกลม – สุดยอดแห่งความน่ากลัว ดูจากภาพก็สยองละ



5. แมลงหางหนีบ – ถึงแม้ว่ามันจะหาได้ยาก แต่มันก็พร้อมที่จะมุดเข้าไปในรูหูของคุณ




6. แคนดิรู – ผู้ชื่นชอบฉี่เป็นพิเศษ เป็นปรสิตที่อยู่ในน้ำ ใครที่ชอบเล่นน้ำบ่อยก็ระวังมันเลื้อยเข้าไปนะ



7. พยาธิปากขอ – มันคือแวมไพร์ในคราบพยาธินี่เอง แต่ไม่ต้องห่วง เวลาคุณโดนกัดคุณจะไม่ได้กลายเป็นพยาธิหรอกนะ





8. ผีเสื้อกลางคืน – ในความสวยงามย่อมมีอันตรายแฝง เข้าหูทีนี่เอาออกยากมาก



9. หนอนแมลง – ส่วนใหญ่พบในอาหารที่เน่าเสีย ไม่น่าเชื่อว่าจะพบในร่างกายมนุษย์ด้วย



ที่มา viralnova
/////////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

พลิกปูม : พรเพชร วิชิตชลชัย - วิษณุ เครืองาม มือกฎหมายเบื้องหลัง คสช.


พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายาxวิษณุ เครืองามxพรเพชร วิชิตชลชัยxรัฐธรรมนูญชั่วคราวxเนติบริกรxตุลาการxมือกฎหมาย

แหล่งข่าวในแวดวงตุลาการ เล่าว่า นายพรเพชรอยู่ในตระกูลตุลาการ เพราะบิดาก็เป็นผู้พิพากษา

ในการแถลงข่าวเพื่อชี้แจง "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557" ครั้งนี้ หลายคนคงคุ้นหน้าคุ้นตา พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผู้ช่วย ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษา คสช. เจ้าของสมญานาม "เนติบริกร" เป็นอย่างดี

แต่กับนายพรเพชร วิชิตชลชัย ซึ่งนั่งร่วมโต๊ะแถลงความเป็นมาของการจัดทำกฎหมายสูงสุดของประเทศในครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งแรกที่มีการเปิดตัวต่อสาธารณะ จึงทำให้เกิดความกระหายใคร่รู้ว่าผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายผู้นี้เป็นใคร

และที่สำคัญเหตุใดเขาจึงได้รับความไว้วางใจจาก คสช.ให้เป็นหนึ่งในผู้ร่วมจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้ รวมทั้งได้รับมอบหมายให้เป็นหนึ่งในผู้ร่วมชี้แจงเรื่องสำคัญๆ อย่างนี้ต่อสังคม

คลิ๊กเปิดแฟ้มประวัตินายพรเพชร จากเว็บไซต์สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พบประวัติการศึกษา และประวัติการทำงานแล้วบอกได้คำเดียวว่าคุณภาพคับแก้ว

นายพรเพชร จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจาก วชิราวุธวิทยาลัย ส่วนในระดับอุดมศึกษาจบนิติศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนติบัณฑิตไทย ได้รับทุนรัฐบาล (ก.พ.) ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สหรัฐ ต่อมาได้รับการโปรดกล้าฯ เป็นศาสตราจารย์พิเศษ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นอกจากนี้ ยังผ่านการฝึกอบรมได้รับประกาศนียบัตรชั้นสูงวิธีดําเนินคดีแพ่ง และวิธีดําเนินคดีอาญาจากสหรัฐ และประกาศนียบัตรทรัพย์สินทางปัญญา หลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.41) และสถาบันพระปกเกล้า (ปปร.11)

ด้านหน้าที่การงานเขาเริ่มรับราชการตำแหน่งนิติกรตรี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อปี 2516 จากนั้นปี 2519 เป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา ก่อนมาเป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อปี 2521

เริ่มเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำกระทรวงยุติธรรม เมื่อปี 2530 รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลอุทธรณ์ภาค 5

ต่อมาปี 2547เป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา จากนั้นเป็นประธานศาลอุทธรณ์ภาค 4 ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ตามลำดับ ปัจจุบันเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินแทนนายประวิช รัตนเพียร ที่ลาออกไปดำรงตำแหน่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

ทั้งนี้ในช่วงวิกฤตการเมืองปี 2549 สมัยเคยดำรงตำแหน่ง สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่วนหน้าที่การงานในตำแหน่งอื่นๆ นั้นก็ได้รับเลือกให้เป็นกรรมการปรับปรุงกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา รวมทั้งสวมหมวกอาจารย์สอนกฎหมายให้กับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง

ในการทำหน้าที่ผู้พิพากษา เขาเป็นผู้พิพากษาในคดีแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต เอื้อประโยชน์ธุรกิจ ชินคอร์ป ทำให้รัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท เคยเป็นองค์คณะในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีทุจริตกล้ายาง

แหล่งข่าวในแวดวงตุลาการ เล่าว่า นายพรเพชรอยู่ในตระกูลตุลาการ เพราะบิดาก็เป็นผู้พิพากษา ขณะที่ตัวเขาเองรับราชการเป็นผู้พิพากษาจนกระทั่งเกษียณอายุ

ด้วยเหตุที่จบการศึกษาคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงมีความสนิทสนมเป็นพิเศษกับ นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และนายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อดีตอัยการสูงสุด ซึ่งจบนิติศาสตร์ จุฬาฯ เช่นเดียวกัน

แหล่งข่าวคนเดิม เล่าอีกว่า นายพรเพชรเป็นผู้พิพากษาน้ำดี ไม่มีประวัติในทางเสื่อมเสีย จุดเด่นคือมีมนุษยสัมพันธ์ดี ชอบทำกิจกรรม จึงเป็นคนกว้างขวาง รู้จักคนมาก เมื่อครั้งเป็นผู้พิพากษาอาวุโส เคยสมัครเป็นกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในสายที่คัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาแต่ไปไม่ถึงฝั่งฝัน กระทั่งไปจบที่ตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน

อย่างไรก็ดี ในปี 2549 นายพรเพชร เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งเป็นสภาที่จัดตั้งขึ้นหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2549 จึงรู้จักและมีสายสัมพันธ์อันดีกับทหารหลายกลุ่ม กระทั่งได้รับเชิญให้เป็นที่ปรึกษาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ในการรัฐประหารอีกครั้งในปีนี้

สำหรับ นายวิษณุ เครืองาม เจ้าของสมญา "เนติบริกร" ได้รับความไว้วางใจจาก คสช. ให้เป็นหัวหน้าทีมยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 เพราะนอกจากมีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายแล้วยังเป็นที่ไว้วางใจของกลุ่มชนชั้นนำ และมีความสัมพันธ์อันดีกับผู้นำทางการเมืองและนักธุรกิจระดับชาติ

ทบทวนความจำเกี่ยวกับประวัติของนายวิษณุ เริ่มจากการเป็น "โฆษกรัฐบาล" เมื่อปี 2535 ในรัฐบาลยุค พล.อ.สุจินดา คราประยูร เขาวนเวียนอยู่ในตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรีให้กับนายกรัฐมนตรีถึง 7 คนจากทั้งหมด 10 รัฐบาล

ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลสมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายอานันท์ ปันยารชุน พล.อ.สุจินดา คราประยูร นายชวน หลีกภัย นายบรรหาร ศิลปอาชา พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ไม่เพียงแต่ในรัฐบาลในภาวะปกติอย่างเดียว กับช่วงภาวะการปกครองบ้านเมืองไม่ปกติ นายวิษณุก็เป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนในฐานะ "มือกฎหมาย" คู่ใจคณะรัฐประหารมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2534 สมัยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ปี 2549 ยุคคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และกับการรัฐประหารโดย คสช.ในครั้งนี้

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
///////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

คสช.เคาะร่างกฎหมาย 42 ฉบับ..

แก้พ.ร.บ.บีโอไอ-ลงทุนต่างด้าว-ทวงหนี้ ชง สนช.วาระแรกทันที

คสช.พิจารณาร่างกฎหมาย 42 ฉบับวันนี้ พร้อมเสนอ สนช. ในวาระแรก แบ่ง 4 กลุ่ม "แก้คอร์รัปชัน-ปัญหาความเดือดร้อน-เศรษฐกิจ-แรงงาน" พร้อมเตรียมล้างท่อทั้งหมดรวมกว่า 100 ฉบับ ขณะด้านเศรษฐกิจ เตรียมแก้กฎหมายบีไอ -การประกอบธุรกิจต่างด้าว-ทวงหนี้บัตรเครดิต

การประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อบริหารราชการแผ่นดินที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.เป็นประธาน พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม จะนำร่างกฎหมายที่ค้างการพิจารณาอยู่กว่า 42 ฉบับเข้าสู่การพิจารณา

หากที่ประชุมคสช.เห็นชอบ ก็จะส่งร่างกฎหมายให้กับสำนักคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจร่างก่อนจะเตรียมบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่จะจัดตั้งขึ้นตามขั้นตอนตามกฎหมาย โดยการแต่งตั้งสนช.จะดำเนินการภายในเดือนก.ค.นี้ตามโรดแมพที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้

นอกจากร่างกฎหมายดังกล่าวแล้ว สนช.กำหนดจะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ในวันที่ 6 ส.ค.นี้

วานนี้ (21 ก.ค.) พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร เลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยทุกส่วนงานได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานในหลายส่วนงาน

ฝ่ายความมั่นคงได้รายงานการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ ซึ่งได้มีการเปิดศูนย์จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จไปแล้วนั้น ล่าสุดมีแรงงานต่างด้าวมาลงทะเบียนแล้วกว่า 180,000 คน ฝ่ายสังคมจิตวิทยา ได้มีการเตรียมที่จะจัดทำโรดแมพแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยในพื้นที่วิกฤติ

นอกจากนี้ ฝ่ายเศรษฐกิจที่ได้รายงานความคืบหน้าการประชุมของคณะอนุกรรมการส่งเสริมการลงทุนตามแผนงานในปี 2558-2562

ฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่ระบุจะได้เสนอร่างพระราชบัญญัติที่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขจำนวนกว่า 42 ร่างเข้าสู่ที่ประชุมคณะ คสช. ในวันอังคารที่ 22 ก.ค.นี้

ทั้งนี้ส่วนขึ้นตรงหัวหน้า คสช.ที่ได้แจ้งความก้าวหน้าการดำเนินการตามคำสั่ง คสช.ที่ 64/66 ว่าล่าสุดในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานสามารถนำผู้บุกรุกพื้นที่ป่าออกมาได้ 100% ส่วนในพื้นที่ป่าดงใหญ่ ซึ่งเป็นผืนป่าผืนเดียวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยยูเนสโกที่ถูกบุกรุกกว่า 23,000 ไร่ นั้น ล่าสุดเจ้าหน้าที่ได้ใช้มาตรการละมุนละม่อมจนสามารถแก้ไขปัญหาได้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายแล้ว ขณะที่ในส่วนของอุทยานแห่งชาติปางสีดาอยู่ระหว่างดำเนินการ

เคาะร่างก.ม.42ฉบับเข้า สนช.ล็อตแรก

แหล่งข่าวจาก คสช. เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช. โดย พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผู้ช่วย ผบ.ทบ.) ได้ประชุมร่วมกับฝ่ายกฎหมาย และได้มอบนโยบายเกี่ยวกับกฎหมายที่ คสช.มีนโยบายเร่งผลักดัน รวมถึงให้ตรวจสอบร่างกฎหมายที่ค้างการพิจารณาของรัฐสภาชุดที่ผ่านมา เพื่อดูว่ามีร่างกฎหมายใดที่เป็นประโยชน์กับประชาชน สมควรหยิบขึ้นมาเร่งผลักดันบ้าง

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ร่างกฎหมายที่ คสช.ให้ทีมงานเข้าไปพิจารณา มีทั้งสิ้นราว 140 ฉบับ และได้คัดกรองเหลือประมาณ 40-50 ฉบับที่มีความจำเป็นเร่งด่วน น่าจะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทันทีในวาระแรกเมื่อมี สนช. ซึ่งล่าสุดมีการเคาะตัวเลขเหลือ 42 ฉบับ

สั่งกฤษฎีกา-องค์กรอิสระทบทวนร่าง ก.ม.

อย่างไรก็ดี คสช.ยังได้มอบหมายให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปตรวจสอบร่างกฎหมายที่สำคัญที่ยังคั่งค้างหรือเคยศึกษาว่าจะแก้ไขเพิ่มเติมอีกด้วย พร้อมทั้งมอบหมายให้องค์กรอิสระต่างๆ เสนอแก้ไขหรือยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับขอบเขตงานของตนเพิ่มเติม เพื่อประสิทธิภาพในการทำงาน เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นต้น โดยกฎหมายที่องค์กรอิสระเสนอ บางส่วนที่เป็นประเด็นทางการเมือง เช่น ร่างกฎหมายเลือกตั้ง จะถูกส่งไปยังสภาปฏิรูปแห่งชาติก่อน

ขณะที่กฎหมายอีกบางส่วนอาจสอดคล้องกับร่างกฎหมายที่ คสช.จะเร่งผลักดันอยู่แล้ว ก็จะนำมารวมกันเพื่อเสนอต่อสนช.ทันที เช่น ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน เป็นต้น

เปิดร่าง ก.ม.4กลุ่มจ่อเข้าสนช.

สำหรับร่างกฎหมายที่ คสช.จะเร่งผลักดัน รวมกับร่างกฎหมายที่คณะกรรมการกฤษฎีกาไปตรวจสอบเพิ่มเติม แบ่งเป็นกลุ่มๆ อย่างน้อย 4-5 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน เสนอแก้ไขร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542, แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ให้คดีทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐและข้าราชการการเมืองไม่มีอายุความ, แก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และยกร่าง พ.ร.บ.พิสูจน์หลักฐานทางการเงินและบัญชี ซึ่งในส่วนนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะรวมกับกฎหมายฟอกเงินหรือไม่

2.กลุ่มบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน เช่น เสนอให้ยกร่าง พ.ร.บ.ทวงถามหนี้ เพื่อแก้ปัญหาการทวงถามหนี้ที่ไม่เหมาะสม ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างรุนแรง หรือการใช้กำลังประทุษร้าย, ยกร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อจัดระบบการค้ำประกันและการจำนองเสียใหม่ เพื่อแก้ปัญหาเจ้าหนี้ใช้ความได้เปรียบทางเศรษฐกิจบังคับทำสัญญาให้ผู้ค้ำประกันหรือจำนองต้องรับผิดในลักษณะลูกหนี้ชั้นต้นเช่นเดียวกับลูกหนี้ ทั้งที่ฐานะทางกฎหมายของผู้ค้ำประกันกับผู้จำนองต้องเป็นลูกหนี้ลำดับรอง

นอกจากนั้นยังมี ร่าง พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ เพื่อควบคุมงานการให้ใบอนุญาตแก่ภาคเอกชนในเรื่องต่างๆ ด้วยการตั้งศูนย์รับคำขออนุญาต เพื่ออำนวยความสะดวกแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ ลดความซ้ำซ้อน ลดปัญหาการเรียกรับสินบน โดยจะมีการแก้ไข พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ควบคู่กันไป เพื่อควบคุมให้ผู้มีอำนาจต้องพิจารณาคำขอของภาคเอกชนอย่างรวดเร็ว

3.กลุ่มเศรษฐกิจ เช่น เสนอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520, แก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 เป็นต้น และ 4.กลุ่มแรงงาน เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ไทยถูกขึ้นบัญชีค้ามนุษย์ ได้แก่ ยกร่าง พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล เพื่ออนุวัตรตามอนุสัญญาแรงงานทางทะเลที่จะก่อให้เกิดสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบการเดินเรือทางทะเลที่ใช้ธงชาติไทย พร้อมสร้างมาตรฐานคุ้มครองแรงงานในกิจการทางทะเลให้มีมาตรฐานไม่น้อยกว่าการคุ้มครองแรงงานในภาคอื่นๆ ขณะเดียวกัน ยังมี ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อพัฒนาแรงงานที่ทำงานอันเป็นอันตรายต่อสาธารณะด้วย

วางกรอบพิจารณาทุกสัปดาห์

ทั้งนี้ คสช. ได้ใช้แนวทางในการพิจารณาร่างกฎหมาย คือ 1.กฎหมายที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง ซึ่งในกลุ่มนี้จะมีการนำมาพิจารณาและออกเป็นประกาศหรือคำสั่งของคสช.เท่าที่จำเป็น

2.กฎหมายที่ค้างอยู่ในกระบวนการนิติบัญญัติ หมายถึงกฎหมายที่เคยนำเสนอผ่านมติ ครม.และค้างอยู่ในขั้นตอนของกฤษฎีกา หรือการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา โดยได้มีการสั่งการให้ทุกส่วนราชการจัดทำข้อมูลมาอีกครั้งเพื่อพิจารณาความเหมาะสม ประเด็นที่อาจมีการแก้ไข ก่อนที่จะนำขึ้นสู่กระบวนการนิติบัญญัติต่อไป

3.กฎหมายที่อยู่ในส่วนราชการที่เตรียมการยกร่างเสนอ ซึ่งในส่วนนี้ได้มีการขอให้ทุกส่วนราชการได้จัดเตรียมข้อเสนอเหตุผลและความจำเป็นในการออกกฎหมาย หลักการและสาระสำคัญของร่างกฎหมายมาเสนอถึงความจำเป็นอีกครั้ง โดย คสช.จะพิจารณาร่างกฎหมายที่มีความจำทุกสัปดาห์ในการประชุม คสช.เพื่อบริหารราชการผ่านดินเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมก่อนเสนอให้ สนช.พิจารณาเห็นชอบต่อไป

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
///////////////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ปัญญาชนไทยกับความทันสมัย !!?

โดย.นิธิ เอียวศรีวงศ์

ปฏิกิริยาของคนไทยบางพวกต่อการกดดันของ "ฝรั่ง" (สหรัฐ, อียู และออสเตรเลียเป็นสำคัญ) ในทำนองให้ตอบโต้ด้วยการเลิกใช้สินค้าฝรั่ง หรือเลยไปถึงการทำให้ความสัมพันธ์เย็นชาลง ไม่สร้างความแปลกใจอะไรให้ผม เพราะเคยชินเสียแล้วที่จะได้เห็นคนเหล่านี้วิ่งตามเส้นทางของผู้มีอำนาจ และมักวิ่งให้เลยหน้าไปหนึ่งก้าวเสมอ เพราะอยู่ข้างหน้า ท่านจะได้เห็น อยู่ข้างหลังท่านอาจไม่เหลียวไปมองก็ได้

แต่ผมตระหนกและออกจะวิตกเมื่อปัญญาชนชั้นนำบางท่าน ออกมาโจมตีฝรั่งอย่างเมามัน บางท่านในบุคคลเหล่านี้เป็นที่นับถือของผมตลอดมา (และก็ยังนับถืออยู่เหมือนเดิมแม้จนบัดนี้) ไม่ใช่ผมตระหนกที่ฝรั่งถูกโจมตี หรือวิตกว่าฝรั่งจะตกที่นั่งลำบากในเมืองไทย แต่ตระหนกและวิตกแทนคนไทยต่างหาก เพราะเราจะเอาตัวรอดต่อไปในโลกของฝรั่งได้อย่างไร หากความเข้าใจต่อฝรั่งของปัญญาชนชั้นนำตื้นเขินและหยาบเช่นนี้

ที่ผมเรียกว่าโลกของฝรั่งนั้น ที่จริงคือความทันสมัย ไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์ผิวขาว ฝรั่งที่เรารู้จักในรอบร้อยกว่าปีที่ผ่านมานั้น ไม่เหมือนฝรั่งที่เข้ามาในสมัยอยุธยา เพราะฝรั่งรุ่นนี้เป็นตัวแทนของความทันสมัย (modernity) พวก "มัน" เองก็คิดว่าตัวเป็นความทันสมัย คนไทยทั้งชนชั้นนำและสามัญชนก็เข้าใจ (ไม่ว่าอย่างผิดๆ หรืออย่างถูกต้อง) ว่า "มัน" คือความทันสมัย ชนชั้นนำเลือกคบกับฝรั่งไม่ใช่เพราะความจำเป็นอย่างเดียว แต่เพราะอยากได้ความทันสมัยมาครอบครองบ้างต่างหาก (นับตั้งกำปั่นไฟ, ปืนกล, กล้องดูดาว, วิธีคำนวณดาราศาสตร์, การปกครองแบบรวมศูนย์ ฯลฯ)

แต่ความทันสมัยไม่ใช่หอดูดาว หรือเรือนก่ออิฐสองชั้น อย่างที่เราเคยรับจากฝรั่งในสมัยพระนารายณ์ โดยสรุปก็คือความทันสมัยไม่ใช่มีเพียงวัตถุ แต่มีการจัดองค์กรทางสังคม, ทางเศรษฐกิจ และทางการเมือง รวมทั้งความคิดและวิธีคิดที่เปลี่ยนไปจากเดิมด้วย ความทันสมัยเป็นเรื่องการเปลี่ยนรูปทางสังคม (Social Transformation) ไม่ใช่เรื่องวัตถุและวิธีการใหม่ๆ ที่อำนวยอำนาจ, ทรัพย์ และความสะดวกแก่มนุษย์เท่านั้น

และเพราะความทันสมัยไม่ใช่วัตถุเพียงอย่างเดียว การเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมสมัยใหม่ จึงหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องเปลี่ยนส่วนอื่นๆ ที่เป็นนามธรรม เช่นการจัดองค์กรทางเศรษฐกิจ-สังคม, การเมือง, การถ่ายทอดและแสวงหาความรู้, ฯลฯ รวมแม้แต่ระบบคุณค่าก็ถูกกระทบไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะวัตถุกับการจัดองค์กรทางด้านต่างๆ มันแยกออกจากกันไม่ได้

พลานุภาพของปืนไฟในสงครามเกิดขึ้นได้ ก็เพราะการสร้างกำลังยิงที่หนาแน่นและต่อเนื่อง จะทำอย่างนี้ได้ก็ต้องฝึกทหาร จะฝึกทหารได้ก็ต้องมีกองทัพประจำการ จะมีกองทัพประจำการได้ก็ต้องเลิกการควบคุมประชาชนด้วยระบบไพร่ จะเลิกระบบไพร่ได้ ชนชั้นปกครองก็ต้องมีแหล่งรายได้ทางอื่น จะมีรายได้ทางอื่น สังคมก็ต้องเปลี่ยนเข้าสู่เศรษฐกิจที่ผลิตป้อนตลาด ต่อเนื่องเป็นห่วงโซ่ต่อไปอีกมาก จนกระทั่งสังคมไม่คงรูปอย่างเดิมอีกต่อไป อยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ก็มีปืนไฟใช้ จำนวนมากเสียด้วย แต่การจัดองค์กรทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ไม่อนุญาตให้เราใช้ปืนไฟอย่างมีพลานุภาพได้ จึงได้แต่แจกให้ราชองครักษ์ถือในขบวนเสด็จ เพราะไม่ไว้ใจให้คนอื่นถือ เพราะถึงอย่างไรปืนไฟก็เป็นอาวุธร้ายแรง

นี่เป็นปัญหาใหญ่ของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม กล่าวคืออยากได้ความทันสมัยเฉพาะส่วนที่เป็นวัตถุ แต่ไม่อยากได้ส่วนที่เป็นนามธรรมกว่านั้น โดยเฉพาะการจัดองค์กรทางสังคม, การเมืองและเศรษฐกิจวัฒนธรรม ร.5 บอกเจ้านายและขุนนางซึ่งกราบทูลให้เปลี่ยนแปลงการปกครองว่า สยามยังไม่พร้อม การเปลี่ยนไปสู่ระบบปาลีเมนต์มีแต่จะทำให้เกิดความแตกสามัคคี ร.6 ยืนยันอย่างเดียวกัน ซ้ำยังทรงตำหนิการใช้ชีวิตของคนไทย "รุ่นใหม่" ว่าเอาอย่างฝรั่งอย่างมืดบอด (วิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่แสดงลักษณะเสมอภาคชัดเจนเกินไป เช่นในคาบาเรต์ สถานะของแขกอยู่ที่เงินในกระเป๋า ไม่ใช่กำเนิด) ร.7 ทรงตระหนักดีถึงปัญหาของสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม แต่ก็ทรงเห็นว่าสยามยังไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนไปสู่ระบอบปกครองแบบอื่นอยู่นั่นเอง และในที่สุดก็เกิดการอภิวัฒน์

ปัญญาชนของสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม ก็เหมือนปัญญาชนชั้นนำบางท่านในปัจจุบัน คืออยากมีความทันสมัย (หรืออยากเป็นฝรั่ง) ทางวัตถุเท่านั้น แต่พยายามดึงสังคมไว้มิให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ความทันสมัยจริง และไม่ต่างกันอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในที่สุดแล้ว ก็พากันอิงอาศัยอุดมการณ์ชาตินิยมหรือ "ความเป็นไทย" เพื่อหน่วงให้สังคมไทย "ทันสมัย" เฉพาะแต่ด้านวัตถุ

ผมพูดประหนึ่งว่าชาตินิยมกับความเป็นไทยนั้นเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ความจริงแล้วแตกต่างกันมาก ลัทธิชาตินิยมตั้งอยู่บนสมมติฐานว่าพลเมืองทุกคนเท่าเทียมกัน เป็นเจ้าของชาติร่วมกันอย่างเสมอหน้า อิสรภาพของชาติมีความสำคัญไม่แต่เพียงเพราะ"ใครมาเป็นเจ้าเข้าครอง คงจะต้องบังคับขับไส"เท่านั้น แต่เพราะการยึดครองของข้าศึก ย่อมทำลายความเสมอภาคที่เป็นฐานของชาติไป ความรักชาติจึงจะหมายถึงอย่างอื่นไม่ได้นอกจากรักความเสมอภาคของเพื่อนร่วมชาติทุกคน

แต่ความเป็นไทยไม่ได้มีความหมายใกล้เคียงอย่างใดกับชาตินิยมเลย เพราะความเป็นไทยแทบจะประกาศอย่างเปิดเผยว่าเป็นปฏิปักษ์กับความเสมอภาค ความเป็นไทยต้องการรักษาอัตลักษณ์ไทยไว้ให้คงเดิมทุกอย่าง ทั้งส่วนที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม เช่นพื้นที่ 4.6 ต.ร.กม.บนแผนที่ หรือการนั่งพับเพียบ และความเป็นสังคมช่วงชั้นที่เคร่งครัดและค่อนจะขึงตึง ความเป็นไทยจึงเครื่องมือสำคัญในการตรึงโครงสร้างอำนาจ, โครงสร้างผลประโยชน์, โครงสร้างช่วงชั้นทางสังคม, โครงสร้างความสัมพันธ์ ฯลฯ ไว้ให้หยุดนิ่งกับที่ โดยไม่ยอมให้เปลี่ยนแปลงเลย

(ผมควรกล่าวไว้โดยไม่ต้องอ้างฝรั่งให้รำคาญใจว่า อัตลักษณ์เป็นเรื่องสมมติ ทั้งคนอื่นสมมุติให้เราและเราสมมติตัวเองและคนอื่นไปพร้อมกัน แต่อัตลักษณ์เป็นสมมติที่มีพลังกำหนดวิธีคิด วิธีปฏิบัติ และการดำเนินชีวิตของผู้คนอย่างสูง ด้วยเหตุดังนั้น อัตลักษณ์จึงมักถูกสร้างขึ้นเป็นอุดมคติ เพื่อการจัดสรรอำนาจ, โภคทรัพย์ และเกียรติยศในทุกสังคม รวมทั้งสังคมไทย)

ผ่านมาเกินศตวรรษแล้ว ปัญญาชนไทยจำนวนหนึ่งก็ยังง่วนกับการรักษาความเป็นไทยเพื่อต่อต้านความทันสมัย เหมือนกับปัญญาชนเมื่อร้อยปีที่แล้ว

ทั้งนี้ผมไม่ได้หมายความว่า ไม่มีอะไรดีๆ ในอุดมคติความเป็นไทยเอาเสียเลย แต่ต้องเข้าใจด้วยว่า สิ่งที่เราเห็นว่า "ดี" นั้นมีอยู่สองอย่าง หนึ่งคือ "ดี" โดยมีเงื่อนไข เช่นเหมาะกับกาลสมัยหรือความเป็นจริงของสังคมสมัยหนึ่งหรือสถานการณ์หนึ่งๆ กับสองคือ "ดี" อย่างอกาลิโก ดีมาตั้งแต่โบราณและยังดีอยู่แม้ในปัจจุบัน (ในฐานะลูกเจ๊ก ก็ขอยกตัวอย่างเช่นความกตัญญูเป็นต้น)

แต่อย่าลืมสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนนะครับว่า อะไรดีหรืออะไรชั่วนั้น เกิดจากการปรุงแต่งของกิเลสเราเอง จึงไม่มีอะไรดีอย่างเดียวหรืออะไรชั่วอย่างเดียว เพราะดีชั่วล้วนเป็นสังขตธรรม คือเป็นความจริงที่มีเงื่อนไข ดังนั้น จะสืบทอดสิ่งดีๆ เหล่านั้นให้เป็นทางเลือกของสังคมไทยต่อไป จึงต้องคำนึงถึงเงื่อนไขต่างๆ ของสังคม "ทันสมัย" ที่เปลี่ยนไปแล้ว หนึ่งในวิธีที่จะทำอย่างนั้นได้ คือไม่ฟูมฟายกับอะไรที่ถือว่าเป็น"ไทยๆ" แต่ต้องศึกษาจนจับหัวใจของมันได้ คือจับได้ว่าในเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ, สังคม, การเมืองอะไร ที่ทำให้สิ่งนั้นมันดีหรืองดงามหรือเหมาะสม และหนึ่งในปัญญาชนชั้นนำที่ออกมาด่าฝรั่งในตอนนี้ ก็ได้สร้างคุณูปการอย่างใหญ่หลวงในงานวิชาการของท่านไว้แล้ว ด้วยการชี้ให้เห็นเงื่อนไขอันสลับซับซ้อนเบื้องหลังระบบคุณค่าแบบไทยๆ

ผมไม่คิดว่า การเปลี่ยนผ่านทางสังคมเข้าสู่ความ "ทันสมัย" เป็นความดีในตัวเอง ก็เหมือนสังคมประเภทอื่นๆ สังคม "ทันสมัย" ก็มีการเอารัดเอาเปรียบกันระหว่างคนในสังคมเดียวกัน และคนต่างสังคม หรือระหว่างชาติเหมือนกัน (ก็อย่างที่ว่าไม่มีอะไรดีอย่างเดียวหรือเสียอย่างเดียวตามคำสอนของพระพุทธเจ้าไงครับ) เมื่อเราเปลี่ยนเข้าสู่สังคมเกษตรกรรมในสมัยหินใหม่ คนที่หาเลี้ยงชีพด้วยการล่าสัตว์และเก็บของป่าก็เสียเปรียบ จำนวนมากของพวกเขาไม่ต้องการทำเกษตร เพราะชีวิตแบบเดิมทำงานน้อยกว่าและอิ่มกว่า (นักมานุษยวิทยาพิสูจน์เรื่องนี้มาหลายกรณีแล้ว) แต่เงื่อนไขทางการเมือง, สังคม และวัฒนธรรมไม่เอื้ออำนวยให้ล่าสัตว์และเก็บของป่าเป็นหลักอีกต่อไป ในที่สุดจำนวนมากก็ต้องหยุดเคลื่อนย้าย ตั้งภูมิลำเนาถาวรเพื่อปลูกธัญพืช สะดวกแก่รัฐซึ่งมีอำนาจมากขึ้นสามารถเก็บส่วยได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย

ความ "ทันสมัย" ทำให้คนไปมาหาสู่ถึงกันได้กว้างขึ้นไกลขึ้น ในเวลาอันสั้นลงด้วย โอกาสนี้ถูกใช้ไปทั้งในทางดีและไม่ดี เช่นจะเอาเปรียบกันก็เอาเปรียบได้กว้างไกลกว่าเก่ามาก (และลึกลงไปกว่าเก่ามากด้วย) ครอบงำกันก็ง่ายขึ้น จะขุดโคตรอเมริกัน อังกฤษ ฝรั่งเศส หรือออสซี่มาด่าอย่างไรก็ได้ ล้วนเป็นเรื่องจริงทั้งนั้น แต่เราจะหลุดรอดจากการเอารัดเอาเปรียบและการครอบงำจากเขาอย่างไร เอาแต่ด่าแบบถูลู่ถูกังไปแบบนี้ไม่ช่วยอะไร

ผมคิดว่าเราจำเป็นต้องเข้าใจความ "ทันสมัย" ให้ลึกและรอบด้านกว่านี้มากนัก ในขณะที่ต้องสำนึกถึงความบกพร่องของความ "ทันสมัย" ก็ต้องสำนึกถึงพลังใหม่ๆ ที่ความ "ทันสมัย" มอบให้เราด้วย จะใช้ประโยชน์จากความรู้เหล่านี้อย่างไร สิ่งที่ต้องเสียก็ต้องเสีย (เช่นค่าลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร) แต่จะเสียอย่างไรให้คุ้มค่าเป็นเรื่องสำคัญกว่า ในขณะเดียวกันก็อย่าลืมพลังใหม่ๆ ที่ความ "ทันสมัย" มอบให้ด้วย เช่น ประชาธิปไตย เพราะมันเป็นกลวิธีที่สามารถระดมพลังกายและพลังสมองของพลเมืองทุกคนได้อย่างทั่วถึง

ระหว่างประชาธิปไตยกับความเป็นช่วงชั้นที่แข็งโป๊กของไทย ต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเลือกอย่างใดก็มีคนได้กับคนเสียทั้งนั้น ด้วยเหตุดังนั้น วิธีการเลือกจึงควรเปิดให้ทุกฝ่ายสามารถเข้ามาต่อรองอย่างเท่าเทียมกัน และไม่ว่าเสียงส่วนใหญ่จะตัดสินใจอย่างไร การต่อรองอย่างเท่าเทียมยังเปิดโอกาสให้เสียงข้างน้อยได้ต่อรองกระบวนการเปลี่ยนผ่านและแม้แต่ต่อรองการชดเชยต่อความสูญเสียของพวกเขา

ด้วยเหตุดังนั้น เมื่อฝรั่งคัดค้านการทำรัฐประหารในประเทศไทย จึงมีคนเห็นด้วยกับฝรั่งอยู่ไม่น้อย ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเขาเป็น "ขี้ข้า" อเมริกัน พวกเขารู้ดีถึงพิษภัยของฝรั่งหรือความ "ทันสมัย" แต่เขาเลือกที่จะรับฝรั่งในเรื่องที่เขาเห็นว่าสำคัญแก่บ้านเมือง เขาอาจเลือกผิดได้เท่ากับที่ท่านอาจเลือกผิด แต่เราจะรู้ผิดรู้ถูกได้อย่างไร โดยไม่มีเสรีภาพที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างอิสระ

ทั้งหมดที่พูดมานี้ ปัญญาชนชั้นนำที่ผมนับถือก็รู้ ซ้ำรู้ดีกว่าผมด้วยซ้ำ แต่ในฐานะปุถุชนด้วยกัน เราคงถอนอคติออกไปให้หมดไม่ได้ อย่างมากที่ทำกันด้วยความนับถือเหมือนเดิมได้ก็คือ กราบเรียนเตือนให้รู้ตัวว่านั่นคืออคติ

ที่มา:มติชน
------------------------------------------------------

ปิดฉาก คดีไร่ส้ม คณะทำงาน ร่วมฯได้ข้อยุติส่งอัยการ !!?



คณะทำงานร่วม อสส.-ป.ป.ช. มีมติสิ้นสุดคดีไร่ส้ม-สรยุทธ กรณียักยอกเงินโฆษณา อสมท ส่งสำนวนให้ อสส. เป็นผู้ฟ้องคดี หลังสอบปากคำจนท.อสมท 3 รายเสร็จสิ้น – “ภักดี” ยันสำนวนครบถ้วนสมบูรณ์ทุกอย่าง

จากกรณีคณะทำงานร่วมระหว่างอัยการสูงสุด (อสส.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเรียกเจ้าหน้าที่บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ที่เกี่ยวข้องในคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดพนักงาน อสมท, บริษัท ไร่ส้ม จำกัด และนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรชื่อดังกับพวก กรณียักยอกเงินโฆษณาจากบริษัท อสมทฯ กว่า 138 ล้านบาท มาสอบปากคำเพิ่มเติมจำนวน 3 ราย นั้น

(อ่านประกอบ : เผยมติเรียก"จนท.อสมท."สอบปากคำเพิ่ม ก่อนส่งฟ้องคดี “ไร่ส้ม –สรยุทธ”)

กรณีดังกล่าวว่า ในการประชุมคณะทำงานร่วมครั้งล่าสุด ได้สอบสวนเจ้าหน้าที่ อสมท จำนวน 3 รายเสร็จสิ้นแล้ว และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็เห็นด้วยที่จะส่งเรื่องให้กับ อสส. เป็นผู้ฟ้องคดี

ขณะที่นายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. ผู้รับผิดชอบสำนวนคดีนี้ เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศราถึงกรณีดังกล่าวว่า คณะทำงานร่วมฯได้ดำเนินการสอบสวนเจ้าหน้าที่ อสมท เสร็จสิ้นแล้ว และมีความเรียบร้อยครบถ้วนสมบูรณ์ในสำนวนทุกอย่าง ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ส่งเรื่องให้กับ อสส. เป็นผู้ฟ้องคดีดังกล่าวเอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในคดีดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดพนักงาน อสมท, บริษัท ไร่ส้ม จำกัด และนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรชื่อดังกับพวก ในคดียักยอกเงินโฆษณาจากบริษัท อสมทฯ กว่า 138 ล้านบาท ในการร่วมกันผลิตรายการ คุยคุ้ยข่าว

ที่มา.สำนักข่าวอิศรา
----------------------------------

วันอาทิตย์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

รื้อระบบปั้น เอสเอ็มอี เปิดทางโล่งเข้าถึงแหล่งเงินทุน !!?



ปลัดอุตฯ เผยแผนบูรณาการหน่วยงานส่งเสริมเอสเอ็มอีเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า เชื่อช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการรวดเร็วและตรงมากยิ่งขึ้น ด้านภาคธุรกิจขานรับ “กฎหมายหลักประกัน” เชื่อหนุน “เอสเอ็มอี” เข้าถึงแหล่งเงินทุนง่ายขึ้น ขณะที่ตัวแทนผู้ส่งออก-หอการค้าระบุฟื้นเอสเอ็มอีเป็นงานหินของคสช. ระบุความสำเร็จ SMEs มีมากกว่าเงิน

หลังจากที่ประชุมคณะกรรม-การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (บอร์ดเอสเอ็มอี) ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานได้เห็นชอบกำหนดให้การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นวาระแห่งชาติ ด้วยการปรับโครงสร้างการบริหาร จัดการทั้งระบบโดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมเอสเอ็มอีเพิ่มนั้น

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. มอบนโยบายในที่ประชุมบอร์ดเอสเอ็มอีโดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมเอส เอ็มอี เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมหารือกับหน่วยงานต่างๆ ทำแผนการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาศักยภาพเอสเอ็มอีได้อย่างรอบด้าน โดยคาดว่า แผนดังกล่าวจะเสร็จเรียบร้อยภายใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า

นายวิฑูรย์กล่าวว่า การส่งเสริม และสนับสนุนเอสเอ็มอีตอนนี้มีหลายหน่วยงานดำเนินการ จึงเห็นสมควรบูรณาการการให้ความช่วยเหลือให้รวดเร็วและตรงประเด็นที่ภาคเอกชนต้องการ และเห็นผลลัพธ์เป็นรูปธรรมมากที่สุด เช่น การเข้าถึงแหล่งเงินทุน การให้ความช่วยเหลือด้านการเงินเพื่อเพิ่มสภาพคล่องและเงินหมุนเวียน การลงทุนเพื่อขยายกิจการ การตลาดเพื่อหาช่องทางใหม่ๆ และการพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านต่างๆ เป็นต้น

แนวทางการส่งเสริมและสนับ-สนุน จะแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ ภาคการผลิต ภาคการค้า ภาคบริการ และ ภาคเกษตร ซึ่งแต่ละกลุ่มมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันไปโดยจะหารือทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดกรอบส่งเสริมได้ถูกต้องเหมาะสม

ขณะที่นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.) กล่าวในงานเสวนา “กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจจะช่วยให้ไทยเข้มแข็งทางเศรษฐกิจได้จริงหรือ” ว่า กฎหมายฉบับนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ต่อไปในอนาคตเพราะจะทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ สะดวกขึ้น

ปัจจุบันเอสเอ็มอีมีประมาณ 2.7-2.9 ล้านราย มีการจ้างงานรวมกว่า 11 ล้านคน แต่พบว่าสามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อจริงได้เพียง 7-9 แสนรายเท่านั้น ขณะที่เอสเอ็มอีส่วนใหญ่เกือบ 2 ล้านราย ยังเข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้ยาก เพราะติดปัญหาในเรื่องหลักประกันที่นำมาใช้ในการขอสินเชื่อ

“กฎหมายตัวนี้ทำให้ผู้ประกอบการมีหลักประกันที่หลากหลายขึ้นในการนำไปใช้ขอสินเชื่อจากทางธนา-คารพาณิชย์ ซึ่งกฎหมายตัวนี้ช่วยให้ เอสเอ็มอี เหมือนกับมีกองหลักที่แข็งแกร่งขึ้น เพราะมีหลักประกันมาทำให้แบงก์มั่นใจที่จะปล่อยสินเชื่อให้” นายประสารกล่าว

ขณะที่นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย อดีตรองประธานวุฒิสภา กล่าวว่า กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจจะช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้ง่ายขึ้น เพียงแต่ด้วยกฎหมายอย่างเดียวคงไม่ได้ แต่ต้องได้รับการสนับสนุนจากภาคสถาบันการเงินด้วย

อย่างไรก็ตาม มีประเด็นกฎหมายบางข้อที่น่าเป็นห่วงเนื่องเพราะกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเพียงอย่างเดียว แต่ยังให้อำนาจคุ้มครองผู้ปล่อยสินเชื่อด้วย สะท้อนผ่านข้อกฎหมายในบางข้อที่อนุญาตให้ผู้ปล่อยสินเชื่อสามารถยึดเอาทรัพย์สินขายทอดตลาดได้โดยที่ไม่ต้องผ่านกระบวนการฟ้องร้องตามศาล ดังนั้น กฎหมายฉบับนี้จะเกิดประโยชน์ได้ คู่สัญญาต้องมีความเป็นธรรมและมีความเสมอภาคกันในการทำสัญญา

นางสาลินี วังตาล ผู้ช่วย ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจว่า จะส่งผลดีต่อธุรกิจเอสเอ็มอีให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้นจากหลักประกันที่เพิ่มขึ้น ซึ่งหลักประกันในกฎหมายไทยมีอยู่น้อยมาก หากออกกฎหมายฉบับนี้จะทำให้มีหลักประกันเพิ่มขึ้น อาทิ สัญญาเช่า สินค้าคงคลัง รวมถึงสิทธิบัตร เอามาเป็นหลักประกันตามกฎหมาย ได้ จะช่วยให้เอสเอ็มอีที่ใช้หลักประกันครบเต็มวงเงิน แต่ยังมีศักย-ภาพในการเติบโตให้มีเงินทุนเพิ่มขึ้น

“ที่ผ่านมา คสช.ได้เชิญสมาคมธนาคารไทย โดยสมาคมขอให้ดำเนินการในเรื่องนี้เร่งด่วนที่ควรจะทำโดยคนที่ได้รับประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้มากที่สุดคือเอสเอ็มอี เพราะปัจจุบันเวลาจะกู้เงิน ธนาคารต้องเรียกหลักประกันให้เยอะไว้ก่อน” นางสาลินี กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้ทำหน้าที่ ร่างกฎหมายจนแล้วเสร็จ แต่ติดขัดในเรื่องการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เพราะเชื่อมโยงกับหลายฝ่าย ทั้งฝ่ายเจ้าหนี้ ฝ่ายธนาคาร ฝ่ายลูกหนี้ และฝ่ายกรมบังคับคดี

ขณะที่นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า การที่เอสเอ็มอีสามารถนำสินค้าคงคลังมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อขอสินเชื่อได้นั้น น่าจะช่วยให้ธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยเงินกู้ได้สะดวกขึ้น ทำให้การเข้าถึงแหล่งเงินทุนก็น่าจะดีขึ้น จึงเชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้จะมีส่วนช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศไทยได้มาก

ด้านนางเพ็ญทิพย์ พรจะเด็ด นายกสมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย กล่าวว่า สนับสนุนการยกร่างกฎหมายดังกล่าวจะทำให้ธุรกิจรายเล็กที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น ซึ่งเอสเอ็มอี หวังว่าธนาคารพาณิชย์จะช่วยสนับ-สนุนให้เอสเอ็มอีกู้ได้ง่ายขึ้น

ในมุมมองของนักธุรกิจอย่าง ไพบูลย์ พลสุวรรณา ที่ปรึกษาสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศ ไทย มองว่าการแก้ปัญหาเอสเอ็มอีคืองานที่ “โหด” และ “หิน” ที่สุดชิ้นหนึ่งของ คสช. เนื่องจากปัญหาของธุรกิจ SMEs เกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงแรงงาน, คลัง, พาณิชย์ ฯลฯ การประกาศเป็น “วาระแห่งชาติ” เป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่จะทำอย่างไรจึงจะบูรณาการการทำงานทั้งระบบให้เป็นเนื้อเดียวกัน

เขายกตัวอย่างแค่การบริหารจัดการสินเชื่อเรื่องเดียวทุกรัฐบาลยังไม่สามารถแก้ได้ แม้จะมีแคมเปญ ส่งเสริมสินเชื่อออกมานับไม่ถ้วน แต่กลับไม่มีธนาคารใดกล้าปล่อยเงินให้กับ SMEs ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพราะทุกธนาคารมองว่าการปล่อยกู้ให้กับ SMEs มีความเสี่ยงสูง และหากมีการปล่อยกู้จริงดอกเบี้ย ก็แพงกว่าการปล่อยกู้ให้กับธุรกิจขนาดใหญ่ เป็นเหตุให้ SMEs ส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงสินเชื่อ การออกกฎหมาย หลักประกันธุรกิจ เพื่อให้เข้าถึงสินเชื่อ ง่ายขึ้น น่าจะแก้ปัญหาได้ส่วนหนึ่ง

“ผมคงวิจารณ์ไม่ได้ว่าวาระแห่งชาตินี้จะประสบความสำเร็จหรือเปล่า เพราะต้องให้เวลา คสช.ทำงาน แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นโรดแมปที่เป็นรูปธรรมว่าจะแก้ปัญหาของ SMEs อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปล่อยสินเชื่อ การเข้าถึงเทคโนโลยี การช่วยเรื่องการตลาด หรือการเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน โครงการยังค่อนข้างกว้าง ต้องรอดูแผนงานที่จะออกมา” ไพบูลย์ กล่าว

ขณะที่พงษ์ศักดิ์ อัสสกุล อดีตประธานหอการค้าแห่งประเทศไทย แสดงความเห็นว่าหอการค้าเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ให้ความช่วยเหลือธุรกิจ SMEs มาอย่างต่อเนื่อง เพราะสมาชิกส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันหอฯก็ให้ความร่วมมือนำเสนอปัญหาและหาทางออกแก่ คสช. ซึ่งทางรอดของ SMEs ไม่ได้อยู่ที่เงินอย่างเดียว แต่จะทำอย่างไรเมื่อได้เงินมาแล้วจะอยู่รอดอย่างยั่งยืน ซึ่งเจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่ไม่เข้าใจเรื่องการตลาด ไม่รู้จักการปรับตัวเพื่อรับการเปลี่ยนแปลง ทำให้เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งต้องปิดกิจการลง เพราะแข่งขันไม่ได้ โดยหอการค้าฯ จะมีทีมเซอร์เวย์เข้าไปพูดคุยกับเจ้าของกิจการเพื่อทราบปัญหาและช่วยแก้ไข บางธุรกิจต้องการผู้เชี่ยวชาญก็จะจัดหาผู้รู้ในแขนงนั้นๆ ไปช่วยเป็นติวเตอร์ เมื่อ คสช.มีนโยบายยก SMEs เป็นวาระแห่งชาติจึงถือเป็นเรื่องดีที่จะทำงานร่วมกัน

ที่มา.สยามธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////

รัฐเช็กบิล สำนักบัญชีแต่งภาษี สรรพากร ขู่เจอคุก !!?

อธิบดีสรรพากรคนใหม่ ประสงค์ พูนธเนศ เข้มสั่งทั่วประเทศสแกนยิบบริษัทเสียภาษีไม่ถูกต้อง กดดัน สำนักงานบัญชี ช่วยแต่งข้อมูลเสียภาษีต่ำ มีโทษสูงสุดจำคุก 7 ปี ไล่บี้ภาษีทั้งปีไม่ต่ำกว่า 1.8 ล้านล้านบาท เผย 7 เดือนแรกต่ำเป้ากว่า 3 หมื่นล้าน ร่อนหนังสือเชิญสำนักงานบัญชีแจง 30 ก.ค.นี้

แหล่งข่าวจากกรมสรรพากรเปิดเผยว่า หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้งนายประสงค์ พูนธเนศ เป็นอธิบดีกรมสรรพากรคนใหม่ เมื่อวันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา นายประสงค์ได้มีการเรียกประชุมมอบนโยบายผู้บริหาร สรรพากรภาคและสรรพากรพื้นที่ โดยสั่งให้สรรพากรพื้นที่ทุกแห่งเข้าไปสุ่มตรวจบริษัทนิติบุคคลในแต่ละพื้นที่พิจารณาดูแล้วน่าจะเสียภาษีไม่ถูกต้อง โดยให้สรรพากรพื้นที่ส่งรายชื่อมาที่ส่วนกลาง โดยส่วนกลางจะตรวจสอบสำนักงานบัญชีที่ทำบัญชีภาษีให้บริษัทดังกล่าวอย่างเข้มข้น เพราะถือว่ามีความเสี่ยงสูง

โดยสรรพากรจะตั้งสมมติฐานว่าหากมีบริษัทหนึ่งบริษัทใดที่อยู่ในการดูแลของสำนักงานบัญชีแห่งนั้นทำไม่ถูกต้อง ก็เชื่อได้ว่าบริษัทนิติบุคคลอื่น ๆ ที่สำนักงานบัญชีแห่งนั้นทำบัญชีให้ก็น่าจะเกเรด้วย หากพบบริษัทใดทำไม่ถูกต้อง ก็ต้องสมมติฐานว่าผู้ที่ทำบัญชีมีส่วนร่วมทำผิดด้วย วิธีการนี้จะเป็นมาตรการกดดันให้ทุกบริษัทต้องทำบัญชีให้ถูกต้อง" แหล่งข่าวกล่าวและว่า

แม้ว่าสำนักงานบัญชีจะมีสภาวิชาชีพการบัญชีดูแลควบคุมจริยธรรมกันเอง แต่ที่ผ่านมาเมื่อกรมสรรพากรมีการส่งชื่อสำนักงานบัญชีที่ถูกแบล็กลิสต์ไปให้ ทางสภาวิชาชีพก็ไม่ให้ความร่วมมือในการถอดถอนสำนักงานบัญชีนั้น โดยอ้างว่าบัญชีภาษีเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่บัญชีทั้งหมด ดังนั้นสรรพากรก็ต้องใช้มาตรการเข้มงวด

"อธิบดีกำชับทุกพื้นที่ว่า ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ 2557 นี้ ต้องเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บให้เต็มที่ เพื่อไม่ให้รายได้ทั้งปีหลุดเป้าหมายมากเกินไป โดยต้องไม่เกิน 9 หมื่นล้านบาท จากประมาณการจัดเก็บทั้งปีที่ 1.89 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะภาษีนิติบุคคลที่กำลังจะยื่น ภ.ง.ด.51 ในเดือน ส.ค.นี้" แหล่งข่าวกล่าวและว่า

เนื่องจากกรมสรรพากรกังวลว่าการจัดเก็บรายได้ภาษีนิติบุคคลที่จะต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ในช่วงเดือน ส.ค. ซึ่งจะเป็นตัวเลขที่สะท้อนภาพการทำธุรกิจในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2557 (ม.ค.-ส.ค.) จะออกมาต่ำกว่าประมาณการมาก เช่นเดียวกับการเก็บเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ที่สะท้อนผลประกอบการนิติบุคคลรอบครึ่งหลังปี 2556 ที่จัดเก็บต่ำกว่าเป้าถึง 31,348 ล้านบาท หรือ 10% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 3.1% ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการปรับลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 20% บวกกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอ ทำให้ไม่สามารถขยายฐานภาษีเพิ่มขึ้นได้

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สรรพากรจะเชิญสำนักงานบัญชีมาหารือ เพื่อขอความร่วมมือ ว่าทำอย่างไรจะให้บริษัทนิติบุคคลที่สำนักงานบัญชีนั้น ๆ ดูแลอยู่จะเสียภาษีอย่างถูกต้องครบถ้วน เนื่องจากสำนักงานบัญชีถือเป็นคนกลางที่มีสภาวิชาชีพควบคุมอยู่ และแต่ละสำนักงานบัญชีจะมีลูกค้าที่เป็นบริษัทนิติบุคคลอยู่ในมือหลายบริษัท ดังนั้นเชื่อว่ามาตรการนี้จะช่วยให้สามารถตรึงรายได้ปีนี้ให้หลุดเป้าไม่เกิน 9 หมื่นล้านบาทได้

อันดับแรกได้ทำหนังสือเชิญสำนักงานบัญชีในเขตกรุงเทพฯ ที่มีลูกค้าผู้เสียภาษีอยู่ในมือหลาย ๆ บริษัทเข้ามาหารือ ในวันที่ 30 ก.ค.นี้ ส่วนต่างจังหวัดทางสรรพากรภาคจะดำเนินการในลักษณะเดียวกัน โดยสำนักงานบัญชีทั่วประเทศที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์มีมากกว่า 10,000 ราย แต่กรมสรรพากรคงเลือกเชิญรายสำคัญ ๆ ที่มีลูกค้าในมือเยอะ ๆ มาคุยกัน ก็คงทยอยทำทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด

"การเรียกสำนักงานบัญชีมาคุยหนึ่งรายก็จะได้ลูกค้าผู้เสียภาษีอีกหลายราย เพราะเขาเป็นตัวกลาง มีลูกค้าในมือเยอะ ซึ่งถ้าทำไม่ดีเราก็จะแบล็กลิสต์ จริง ๆ ก็เป็นมาตรการที่ทำอยู่แล้ว เพียงแต่ตอนนี้จะเข้มขึ้น" ผู้บริหารกรมสรรพากรกล่าว

ทั้งนี้สำนักงานบัญชีถือว่าเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้บริษัทนิติบุคคลหลบภาษี ซึ่งหากตรวจสอบพบว่าเป็นตัวการในการร่วมกันหลีกเลี่ยงภาษี จะมีโทษจำคุก 3 เดือน สูงสุดถึง 7 ปี

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า การเรียกสำนักงานบัญชีมาหารือนั้น เป็นมาตรการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่จะทำให้ได้เม็ดเงินภาษีเพิ่มขึ้นในช่วงนี้เท่านั้น แต่การแก้ปัญหาระยะยาวจะต้องปรับโครงสร้างภาษีในภาพรวม

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า หลังจากการเปลี่ยนอธิบดีกรมสรรพากรคนใหม่แล้ว คาดว่าหลาย ๆ เรื่องคงต้องมีการทบทวน อาทิ การเพิ่มลดหย่อนค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลอีก 60,000 บาท ตามนโยบายอธิบดีกรมคนก่อนที่อาจจะไม่คุ้มค่า เพราะกรมสรรพากรมีภาระต้องตรวจสอบการยื่นแบบมากขึ้น ขณะเดียวกันยังมีการปรับปรุงการเก็บภาษีคณะบุคคลที่ต้องแก้ไขกฎหมาย รวมถึงการลงทุนระบบการรายงานภาษีซื้อ-ภาษีขาย ที่ยังไม่ค่อยมีความคืบหน้า ก็คงต้องทบทวนเช่นเดียวกัน

ส่วนการปรับโครงสร้างภาษีที่ก่อนหน้านี้ได้เสนอไว้ในโรดแมปต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั้น ยังคงเดินหน้าต่อไปตามแนวทางเดิม

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้นายประสงค์ได้ยกเลิกนโยบายให้ตรวจสอบภาษีผู้ครอบครองรถหรูราคาเกิน 3 ล้านบาท และบ้านราคาแพงตั้งแต่ 40 ล้านบาทขึ้นไป หลังจากที่เข้ารับตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากร โดยระบุว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่อ่อนไหว การเก็บภาษีต้องมองภาพรวม โดยดูตามศักยภาพความสามารถในการเสียภาษี เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมไม่เลือกเฉพาะเจาะจงที่กลุ่มใดเป็นพิเศษ และต้องพิจารณาจากเอกสารข้อเท็จจริงที่มี โดยเจ้าหน้าที่สรรพากรต้องตรวจสอบการเสียภาษีให้ถูกต้อง ไม่ให้มีการสร้างรายจ่ายเทียม

ข้อมูลจากกรมสรรพากรระบุว่า รายได้จากการจัดเก็บภาษีนิติบุคคล จะสูงเป็นอันดับสองรองจากรายได้จากการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) โดยในปีงบประมาณ 2554 มีสัดส่วนรายได้จากการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลอยู่ที่ 37.87% ของรายได้ภาษีทุกประเภท ปี 2555 มีสัดส่วน 33.67% และ ปี 2556 มีสัดส่วน 33.57% โดยในปีงบฯ 2554 มีตัวเลขรายได้จากการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลอยู่ที่ 574,152.10 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนหน้า 46.40% ต่อมาในปีงบประมาณ 2555 ที่มีการลดอัตราภาษีจาก 30% เหลือ 23% จัดเก็บได้ 544,590.66 ล้านบาท หรือลดลงไป 5.15% จากปีก่อนหน้า และปีงบประมาณ 2556 ที่มีการลดอัตราภาษีเหลือ 20% จัดเก็บได้ 592,345.96 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 8.77% จากปีก่อนหน้า

นางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย กรรมการสภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ขณะนี้ทางสภาวิชาชีพฯยังไม่ได้รับหนังสือหรือจดหมายจากกรมสรรพากรให้เข้าร่วมการหารือหรือขอให้ความร่วมมือส่งข้อมูลของนิติบุคคลให้กับสรรพากร อีกทั้งได้สอบถามไปที่สำนักงานบัญชีในสังกัด ต่างยืนยันว่ายังไม่ได้รับหนังสือเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม การส่งข้อมูลของนิติบุคคลที่เป็นลูกค้านั้น ผู้สอบบัญชีสามารถให้ข้อมูลเฉพาะที่เป็นความเห็นที่ลงชื่อไว้ในการแสดงงบดุลบัญชีเท่านั้น และหากจะมีการขอความร่วมมือให้ส่งข้อมูลนอกเหนือจากนี้ ก็ต้องเป็นข้อมูลที่ได้รับความยินยอมจากลูกค้า ซึ่งผู้สอบบัญชีหรือสำนักงานบัญชีจะให้เองไม่ได้ เนื่องจากผิดจรรยาบรรณ นอกจากว่าผู้ขอข้อมูลจะต้องเป็นผู้ที่มีอำนาจตามกฎหมายเท่านั้น

"การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีมีหลายวิธี ส่วนการรับผิดชอบต่อการแสดงงบการเงินก็อาจใช้ได้ แต่อันนี้ก็เป็นเรื่องของฝ่ายบริหารในธุรกิจด้วย เพราะผู้สอบบัญชีก็เข้าไปดูได้ปีละครั้งสำหรับนิติบุคคลทั่วไป ส่วนบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯก็รายไตรมาสเท่านั้น" นางสาวโสภาวดีกล่าว

ด้านนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในการประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ระบุถึงการติดตามและเป็นห่วงต่อการดำเนินนโยบายการคลังที่มีรายจ่ายมากกว่ารายได้ และการใช้เงินนอกงบประมาณมากขึ้น ส่วนหนึ่งก็เพราะเห็นว่าการเพิ่มรายได้ของประเทศไม่ตอบรับกับการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายโดยยกตัวอย่างข้อจำกัดของการเพิ่มรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ฐานภาษีปัจจุบันมีความหลากหลายน้อย และเป็นฐานภาษีจากรายได้มากกว่าฐานจากสินทรัพย์ ซึ่งในยามเศรษฐกิจไม่ดี รายได้ภาษีก็จะลดลง ดังนั้น นอกจากการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี ก็อาจต้องหาวิธีการขยายฐานภาษีด้วย

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

คสช. ออกประกาศ อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ !!?


ช่วงแรก ลดภาษีมูลค่าเพิ่ม จาก 7  %  เหลือ 6.3 %
ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2557 ถึง 30 กันยายน 2558

ช่วงสอง เพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 9  %
ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไป

(ฉบับเต็ม)
คณะรักษาความสงบแห่งชาติออกประกาศฉบับที่ 92/2557

เรื่องการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม  โดยคสช.เห็นสมควรลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อเป็นการผลักดันและกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนมีกำลังในการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภค บริโภค อันจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องเเละมั่นคง จึงให้ลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม

1.ให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฏากรว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มฉบับที่ 549 พ.ศ.2555

2.ให้ลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร และให้คงอัตราการเก็บดังนี้

(1)ร้อยละ 6.3 สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณีซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2558

(2) ร้อยละ 9 สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณี ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไป

3.ให้ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับนี้มีผลบังคับใช้เช่นเดียวกับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในมาตรา80 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ฉบับที่ 30 พ.ศ.2534

4.ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับนี้

5.ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่1 ตุลาคม พ.ศ.2557 เป็นต้นไป

ที่มา.มติชน
//////////////////////////////

สภาวิชาชีพสื่อ ตั้ง กล้านรงค์ จันทิก สอบ ซีพีเอฟ จ่ายเงินบิ๊กสื่อ 19 ราย !!?

2 สภาวิชาชีพสื่อ ออกแถลงการณ์ร่วม ตั้ง "กล้านรงค์ จันทิก" ประธานสอบข้อเท็จจริง "ซีพีเอฟ" จ่ายเงินรายเดือนให้สื่อมวลชนอาวุโสเฉพาะรายรวม 19 ราย ปั้นภาพลักษณ์ทางธุรกิจ





ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ในช่วงเย็นวันที่ 14 ก.ค. ที่ผ่านมา สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้ออกแถลงการณ์ร่วม เรื่อง ข้อกล่าวหาสื่อมวลชนรับเงินบริษัทเอกชนเพื่อปฎิบัติหรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ตามวิชาชีพ

โดยระบุว่า จากกรณีที่ศูนย์ข้อมูล & ข่าวสืบสวนสิทธิพลเมือง (TCIJ) ได้เผยแพร่เอกสาร โดยอ้างว่า เป็นของฝ่ายประชาสัมพันธ์บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทำธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารครบวงจร มีเนื้อหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือของสื่อทั้งระบบ โดยเอกสารบางตอนระบุว่า มีการจ่ายเงินเป็นรายเดือนให้กับสื่อมวลชนอาวุโสเฉพาะรายรวม 19 ราย เป็น “งบพิเศษเพื่อสนับสนุนสื่อมวลชน” ทั้งนี้อาจเป็นการให้ในลักษณะต่างตอบแทน ซึ่งขัดต่อหลักการแห่งวิชาชีพ ที่สื่อมวลชนต้องละเว้นการรับอามิสสินจ้างอันมีค่า หรือผลประโยชน์ใดๆ เพื่อให้กระทำการหรือไม่กระทำการใด อันจะขัดต่อการปฎิบัติหน้าที่เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ ข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้องรอบด้าน

นอกจากนี้เอกสารยังปรากฏข้อความ ที่แสดงถึง การละเมิด “ข้อมูลส่วนบุคคล”ของสื่อมวลชน โดยระบุสถานะการทำงาน สภาพที่พักอาศัย ทัศนคติ วิธีการทำงาน และการใช้ชีวิต ซึ่งไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการทำงานตามปกติ

องค์กรวิชาชีพสื่อ ประกอบด้วย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย มีความกังวลและห่วงใยในเรื่องนี้อย่างยิ่ง ไม่แต่เพียงผลกระทบต่อความเชื่อถือในองค์กรสื่อและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อเท่านั้น หากแต่บริษัทเอกชนที่ถูกกล่าวอ้างถึงก็ได้รับผล กระทบและจำเป็นจะต้องให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ต่อสาธารณชนด้วย

เพื่อให้การพิจารณาเรื่องนี้เป็นไปด้วยความโปร่งใส สุจริต ตรงไปตรงมา สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้ตั้ง “คณะกรรมการอิสระ” ขึ้นมาชุดหนึ่งโดยมีนายกล้านรงค์ จันทิก เป็นประธาน ร่วมกับคณะกรรมการประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ และบุคคลภายนอก เพื่อพิจารณาสอบสวนข้อเท็จจริงให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว และจะได้แถลงต่อสาธารณชนทราบต่อไป

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
14 กรกฎาคม 2557

(ดูแถลงการณ์ฉบับเต็ม)



ที่มา.สำนักข่าวอิศรา

------------------------------------

วันอาทิตย์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

FTA ไทย-อียู !!?

โดย ณกฤช เศวตนันทน์

ข่าวใหญ่ของสัปดาห์นี้คงหนีไม่พ้นการที่คณะรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรป หรือ European Union (EU) ได้แถลงผลการประชุมเกี่ยวกับประเทศไทยในการประชุม ณ กรุงลักเซมเบิร์ก ประเทศเบลเยียม เมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา

โดยมีใจความว่า คณะรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรปเรียกร้องให้ผู้นำทหารของไทยดำเนินการเรื่องที่เร่งด่วนที่สุดในการคืนสู่กระบวนการทางประชาธิปไตย และคืนการปกครองตามหลักรัฐธรรมนูญผ่านทางการเลือกตั้ง และเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทหารปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวทางการเมืองทั้งหมด รวมทั้งหลีกเลี่ยงการจับกุมที่มีเหตุผลมาจากทางการเมือง และยกเลิกการควบคุมสื่อ

ซึ่งภายใต้สถานการณ์ของไทยในปัจจุบัน อียูมีความจำเป็นที่จะต้องระงับการเยือนระหว่างกันอย่างเป็นทางการ และอียูกับประเทศสมาชิกจะไม่ลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็น หุ้นส่วนและความร่วมมือ (Partnership and Cooperation Agreement : PCA) กับประเทศไทย จนกว่าจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านการรัฐประหาร

ซึ่ง PCA นี้เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับการกระชับความสัมพันธ์ทั้งทางการเมืองและธุรกิจกับไทย ประกอบกับประเทศสมาชิกอียูได้เริ่มทบทวนความร่วมมือทางทหารกับประเทศไทยแล้ว ดังนั้นคณะรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรปจึงตัดสินใจที่จะดำเนินการทบทวนความสัมพันธ์กับประเทศไทยเช่นกัน และอาจพิจารณาดำเนินมาตรการอื่น ๆ ตามสถานการณ์ต่อไป

จากผลการประชุมดังกล่าวทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องของไทยหลายท่าน อาทิ นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่แข็งไทย ออกมาแสดงความคิดเห็นที่ตรงกันว่า อียูอาจจะชะลอการเจรจาจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี หรือ FTA ที่อยู่ระหว่างการเจรจากับประเทศไทยจนกว่าไทยจะมีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย

แม้ว่าจะไม่ได้กล่าวไว้โดยตรงในแถลงการณ์ก็ตาม ท้ายที่สุดก็เป็นไปตามที่มีการคาดการณ์กันไว้ เพราะในเวลาต่อมาสำนักข่าว AP รายงานเพิ่มเติมถึงแถลงการณ์ของอียูว่า ได้ยกเลิกการเจรจา FTA กับประเทศไทยทั้งหมด ซึ่งตามกำหนดเดิมจะมีขึ้นในเดือนกรกฎาคมปีนี้

สหภาพยุโรปเป็นกลุ่มประเทศที่มีบทบาทความสำคัญในการสร้างกระแสและทิศทางการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจและสังคมระดับโลก มีประเทศสมาชิกที่ตั้งอยู่ในทวีปยุโรป 28 ประเทศ อาทิ ออสเตรีย เบลเยียม เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ ไอร์แลนด์ อิตาลี สเปน เป็นต้น

การเจรจา FTA ระหว่างประเทศไทยและสหภาพยุโรปเริ่มต้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2556 กำหนดแนวทางเจรจาเป็นแบบ Comprehensive คือรวมเรื่องการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจไว้ในความตกลงฉบับเดียว

ในเบื้องต้นตั้งเป้าการเจรจาให้เสร็จภายใน 2 ปี แบ่งเป็น 7 รอบการเจรจา และได้ดำเนินการเจรจาไปแล้ว 3 รอบ โดยเริ่มเจรจารอบที่ 1 เมื่อวันที่ 27-31 พฤษภาคม 2556 รอบที่ 2 วันที่ 16-20 กันยายน 2556

เนื้อหาในการเจรจาทั้ง 2 รอบ ส่วนใหญ่เป็นการอภิปรายเพื่อทำความเข้าใจในร่าง ข้อ บทที่ทางสหภาพยุโรปเสนอ และประเทศไทยได้เสนอ สำหรับการเจรจารอบที่ 3 ในระหว่างวันที่ 9-13 ธันวาคม 2556 นั้นรัฐบาลไทยได้ประกาศยุบสภาทำให้การเจรจาในรอบที่ 3 เป็นการอภิปรายกันระหว่าง 2 ฝ่ายเพื่อทำความเข้าใจร่วมกันในเชิงเทคนิค โดยไม่เจรจาในเรื่องที่ผูกพันในเชิงนโยบาย

การทำ FTA กับอียูเป็นการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยให้อยู่ในระดับโลก เพราะสามารถช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และขยายตลาดการค้าการลงทุนระหว่างกันได้ รวมถึงดึงดูดการลงทุนเข้าประเทศไทยและขยายการค้าการลงทุนไปยังอียู

ประการสำคัญ เป็นการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทางการค้ากับประเทศคู่ค้าอื่น ๆ โดยไม่ต้องพึ่งพิงสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรของอียู (Generalized System of Preference : GSP) ซึ่งไทยจะถูกตัดสิทธิทั้งหมดในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 และจะมีผลกระทบทำให้สินค้าส่งออกของไทยไม่ได้รับการลดหย่อน หรือยกเว้นภาษีนำเข้า ในอันที่จะเป็นแต้มต่อในการแข่งขัน ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าจากประเทศอื่น ๆ ในตลาดสหภาพยุโรปได้

โดยในปี 2554 สินค้าส่งออกของไทยที่ใช้สิทธิพิเศษ GSP ของสหภาพยุโรปมีมูลค่ากว่า 2.97 แสนล้านบาท สินค้าที่สำคัญ เช่น รถยนต์ เครื่องปรับอากาศ อาหารทะเลสด อาหารแช่แข็ง สับปะรดกระป๋อง ถุงมือยาง และยางรถยนต์ เป็นต้น สินค้าเหล่านี้จะไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าจากเวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ รวมทั้งสินค้าจากประเทศอาณานิคมเดิมของสหภาพยุโรปที่ยังคงได้รับสิทธิพิเศษ GSP

ทำให้ประเทศไทยอาจสูญเสียตลาดส่งออกที่สำคัญ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องทำ FTA กับอียูเพื่อจะทำให้สินค้าส่งออกของไทยทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าเป็นแบบถาวร ทดแทนการได้รับสิทธิพิเศษ GSP ซึ่งเป็นการให้สิทธิชั่วคราว

ดังนั้น เมื่อมีการชะลอการเจรจา FTA ระหว่างประเทศไทยและสหภาพยุโรปเช่นนี้ อาจส่งผลกระทบให้ประเทศไทยลงนาม FTA ช้ากว่าประเทศคู่แข่งอื่น ๆ อย่างน้อย 1 ปี-1 ปีครึ่ง

ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปยังอียูอย่างรุนแรง เนื่องจากตามที่ได้กล่าวข้างต้นว่า ในวันที่ 1 มกราคม 2558 ไทยจะถูกตัดสิทธิพิเศษ GSP ทั้งหมด 100% ทำให้สินค้าจากประเทศไทยสู้คู่แข่งไม่ได้ เพราะคู่แข่งยังได้สิทธิพิเศษอยู่และบางประเทศได้ลงนาม FTA กับอียูไปแล้ว เช่น ประเทศสิงคโปร์ ทำให้มีการประเมินว่าการที่ประเทศไทยถูกตัดสิทธิพิเศษ GSP จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเป็นมูลค่า 84,840.27 ล้านบาท แบ่งเป็นผลกระทบรายสินค้าร้อยละ 3 ผลกระทบจากการถูกแย่งส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่งร้อยละ 95

อย่างไรก็ดี หากประเทศไทยสามารถปฏิรูปประเทศ กับจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้อย่างรวดเร็ว และสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนานาประเทศได้เช่นเดิม

การเจรจา FTA ของไทยกับอียูย่อมดำเนินได้ต่อไป และสามารถสรุปผลการเจรจากับนำไปสู่การลงนามได้ในเร็ววันนี้อย่างแน่นอน

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////////

วันศุกร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

แง้มร่าง รธน.ชั่วคราว 57

โดย : โอภาส บุญล้อม

รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ใกล้คลอดเต็มทีแล้ว เพราะขณะนี้ทีมยกร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวนำโดย นายวิษณุ เครืองาม นักกฎหมายมือฉมัง ได้ส่งร่างให้กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรียบร้อยแล้ว เมื่อที่ประชุม คสช.ให้ความเห็นชอบ หัวหน้า คสช.ก็สามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธยได้ทันที

มีหลายประเด็นที่หลายคนกำลังจับตามอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และสภาปฏิรูปแห่งชาติ ว่าจะออกมารูปแบบใด วิธีการได้มาจะออกแบบไว้เป็นแบบไหน

แต่ประเด็นที่ร้อนกว่านั้นก็คือเรื่องของ "การรักษาความมั่นคง" รัฐธรรมนูญชั่วคราวจะกำหนดไว้อย่างไร โดยเฉพาะเมื่อมี "รัฐบาล" มาบริหารประเทศแล้ว

บทเรียนเคยมีมาแล้วเมื่อครั้งรัฐประหารปี 2549 ที่ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค. นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ทำการยึดอำนาจจากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และในเวลาต่อมา คปค.ซึ่งแปลงร่างเป็น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. ไม่ได้คงอำนาจของตัวเองไว้มากเท่าที่ควร

ทำให้เมื่อมี "รัฐบาล" เข้ามาบริหารประเทศภายใต้การนำของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่มีจุดแข็งและมีความเป็นตัวของตัวเองสูง จึงส่งผลให้ คมช.ไม่สามารถทำอะไรได้ดังใจอีกต่อไป ไม่สามารถสานงานบางอย่างต่อให้สำเร็จได้ การยึดอำนาจของ คมช.ในครั้งนั้น จึงถึงกับ "เสียของ" แทบสูญเปล่า เพราะสุดท้ายฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ก็สามารถฟื้นคืนอำนาจมาได้อีก

ในครั้งนี้ คสช.จึงไม่ยอมให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย นำมาซึ่งข่าวที่ว่าร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวจะมีบทบัญญัติมาตรา 17 ที่ให้ อำนาจ คสช.เหนือรัฐบาล ในเรื่องความมั่นคง โดยมีการลอกแบบมาจาก มาตรา 27 ของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2534 ซึ่งออกมาในสมัยที่ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ

ทั้งนี้มาตรา 27 ของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2534 บัญญัติไว้ว่า "ในกรณีเพื่อป้องกันหรือระงับเหตุที่กระทบความมั่นคง ให้ประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือนายกรัฐมนตรี มีอำนาจสั่งการหรือกระทำการใดๆ ได้"

เมื่อดูตามลายลักษณ์อักษรที่ใช้ว่า ประธาน รสช. "หรือ" นายกฯ โดยไม่ได้ใช้คำว่า "และ" ก็สามารถอธิบายความได้ว่า ในกรณีเกิดเหตุที่กระทบต่อความมั่นคง ประธาน รสช. (ซึ่งหากนำมาปรับใช้กับรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ก็คือ ประธาน คสช. ในปัจจุบัน) มีอำนาจสั่งการหรือกระทำการใดๆ เพื่อป้องกันหรือระงับเหตุที่กระทบต่อความมั่นคงได้เอง แม้ว่าในกรณีนั้นหารือกันแล้วนายกรัฐมนตรีจะไม่เห็นด้วย หรือไม่ต้องปรึกษาหารือกับนายกรัฐมนตรีก็ยังได้

ที่ผ่านมาหากเราไปดูหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2549 ครั้งนั้นจะไม่ได้เป็นแบบนี้ กล่าวคือ แม้จะมี คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ แต่รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2549 มาตรา 34 ระบุเพียงว่า "ในกรณีที่เห็นสมควร ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติหรือนายกรัฐมนตรี อาจขอให้มีการประชุมร่วมกันของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี เพื่อร่วมพิจารณาและแก้ไขปัญหาใดๆ อันเกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อย และความมั่นคงแห่งชาติ รวมตลอดทั้งการปรึกษาหารือเป็นครั้งคราวในเรื่องอื่นใดก็ได้"

หมายความว่า สถานะของ คมช.ไม่ได้เหนือกว่ารัฐบาล ทำได้เพียงเทียบเท่าและปรึกษาหารือร่วมกันเท่านั้น หรือแปลให้ง่ายกว่านั้นคือ อำนาจหลุดจาก คมช. ไปแล้ว ทำให้ถูกมองว่าไม่มีอำนาจที่จะสานต่องานบางอย่างให้สำเร็จได้

สำหรับสาเหตุที่ คสช. ต้องการคงอำนาจด้านความมั่นคงไว้ แม้ว่าจะมีรัฐบาลแล้ว ก็เพื่อต้องการรักษาสถานะความเป็น "รัฏฐาธิปัตย์" ผู้มีอำนาจสูงสุดของตนเองเอาไว้นั่นเอง

เพราะว่าเรื่องความมั่นคงจะไว้ใจใครอื่นไม่ได้ นอกจากต้องทำเอง เพราะว่าในภายภาคหน้าอาจเกิดการชุมนุมประท้วงในวงกว้างหรือก่อจลาจลขึ้นก็ได้...ใครจะรู้

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

เพิ่มบทลงโทษประหาร คดีข่มขืน !!?

คณบดีคณะนิติฯ จุฬาฯ ชี้เพิ่มบทลงโทษประหารคดีข่มขืน แก้ปัญหาปลายเหตุ ไม่ช่วยคุมพฤติกรรมมนุษย์ได้ ย้ำชัดสังคมต้องทบทวน หาสาเหตุแท้จริงเกิดจากอะไร ความไม่ปลอดภัยของสถานที่ ดื่มสุรา ฯลฯ



หลังจากเกิดเหตุกรณีฆ่าข่มขืนเด็กสาววัย13 ปี บนรถไฟก่อนจะโยนทิ้งนอกหน้าต่างจนเกิดกระแสรณรงค์ให้คดีข่มขืนต้องมีบทลงโทษประหารชีวิตเป็นวงกว้างในสังคมออนไลน์ แม้กระทั่งมีการประกาศรวบรวมรายชื่อจากอดีตนางสาวไทยอย่างบุ๋ม ปนัดดา วงษ์ผู้ดีสำหรับผู้ที่เห็นด้วยกับบทลงโทษนี้ หรือจะเป็นการรณรงค์ผ่านเว็บไซต์ Change.org

ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ คณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ว่า บทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามีอยู่แล้ว แต่บางทีอาจจะใช้เวลาในการดำเนินการยาวนานก็เป็นไปตามขั้นตอน ซึ่งหากถามว่า คดีข่มขืนแล้วให้ประหารชีวิตก็ทำได้ ประหารแล้วก็จบกันไป แต่ความเจ็บปวดภายในจิตใจของครอบครัวผู้เสียหายก็ยังคงอยู่ไม่ได้หายตามไปด้วย ดังนั้นบทลงโทษจึงเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ จากกรณีที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้สังคมต้องมาช่วยกันทบทวนว่า แท้จริงแล้วสาเหตุมาจากอะไรความไม่ปลอดภัยของสถานที่ ปัญหาการดื่มสุราของพนักงาน หรือแม้กระทั่งทำไมหน้าต่างรถไฟถึงเปิดได้ เพราะโดยปกติอย่างต่างประเทศถ้ารถไฟวิ่งอยู่จะไม่มีการเปิดหน้าต่างโดยเด็ดขาด

"เมื่อเรามองเห็นสาเหตุที่แท้จริงก็เริ่มมาแก้ ถึงตอนนี้จะมีคนออกมาบอกให้ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยลาออกไป ปัญหาก็ไม่จบและยิ่งไม่ได้รับการแก้ไข"

คณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวอีกว่า การเพิ่มบทลงโทษหรือแก้กฎหมายไม่ได้ช่วยควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ได้ทั้งหมด เราต้องมาหาวิธีป้องกันจากต้นเหตุไม่ใช่ปลายเหตุ ตัวบทกฎหมายเรื่องการประหารมีอยู่แล้ว การบังคับใช้กฎหมายเราไม่ได้อ่อนแอขนาดนั้นเพียงแต่การควบคุมพฤติกรรมของคนในสังคมไม่สามารถกระทำการได้ง่ายๆ ต้องดูบริบทหลายอย่างประกอบกัน

"ทุกวันนี้เราก็เห็นข่าวฆ่าตรกรรมทุกวัน ดังนั้นต้องแก้ปัญหาให้ตรงจุด แก้ที่ปลายเหตุก็ไม่ได้ช่วยลดคดีเหล่านี้ได้ เนื่องจากบางทีเกิดจากพฤติกรรมของคน เช่น แต่งกายไม่เหมาะสม ไม่ระมัดระวังตัว รับพนักงานเข้าทำงานโดยไม่ได้คัดเลือกให้ดี สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราต้องมองและแก้ไข ไม่ใช่จะแก้กันที่กฎหมายเพียงอย่างเดียว"


ขอบคุณภาพจาก news.tlcthai.com

ที่มา.สำนักข่าวอิศรา
/////////////////////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ทนาย อดีดนายกฯยื่นคำร้องโต้แย้งมติ ป.ป.ช.ไม่รับสอบพยานเพิ่มคดีจำนำข้าว..!!?




ที่สำนักงานคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความ ผู้รับมอบอำนาจจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้รับผิดชอบคดีโครงการรับจำนำข้าว ได้เข้ายื่นหนังสือโต้แย้งและคัดค้านมติของคณะกรรมการป.ป.ช.ที่ให้งดการสืบสต็อกข้าวและพยาน 8 ปาก

ซึ่งนายนรวิชญ์ ระบุว่า เพราะการงดการไต่สวนทำให้ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการต่อสู้คดี  โดยมีประเด็นที่ขอโต้แย้งและคัดค้าน4 ประเด็น คือ การงดสืบสต็อกข้าวจำนวน 2.977 ล้านตัน และงดสืบพยาน 3ปากที่เกี่ยวข้องโดยตรง ซึ่งประกอบด้วย ผอ.องค์การคลังสินค้า (อคส.) รักษาการณ์ผอ.อตก.และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านงบประมาณ กรมบัญชีกลาง โดยยืนยันว่า ข้าวจำนวน 2.977ล้านตัน ไม่ได้สูญหาย หรือขาดทางบัญชี ตามหนังสือของกระทรวงการคลังที่มีนางสาวสุภา ปิยะจิตติ เป็นประธาน ไม่ยอมบันทึกจำนวนข้าวสารจำนวน 2.977ล้านตัน ลงในบัญชี และยังมีข้อโต้แย้งของอนุกรรมการปิดบัญชีกับอตก.และอคส. ดังนั้นป.ป.ช.จึงไม่สามารถที่จะยืนยันหรือรับรองจำนวนข้าวสารดังกล่าวได้

นอกจากนี้ การคำนวณค่าเสื่อมราคาของข้าวไม่มีหลักการที่แน่นอน เป็นเพียงการคาดคะเนไม่ใช่ข้อเท็จจริงทำให้การปิดบัญชีคาดเคลื่อนปปช.จึงไม่สมควรที่จะนำตัวเลขการปิดบัญชีเป็นประเด็นข้อกล่าวหา ส่วนเรื่องการประเมินผลขาดทุนตามรายงานของอนุกรรมการปิดบัญชี มีความเห็นต่างจากผอ.สนง.เศรษฐกิจการคลังและยังไม่เป็นที่ยุติอีกทั้งข้าวที่ยังอยู่ในโกงดังกลางยังไม่ได้นำออกมาขายทั้งหมด จึงไม่สามารถประเมินความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวได้ดังนั้นการงดไต่สวนพยานทั้งหมด จึงไม่เป็นธรรมต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์  เพราะทำให้สังคมเชื่อว่ามีการทุจริต ก่อนที่ผลการสอบสวนจะยุติโดยเฉพาะการลงพื้นที่ตรวจสอบโกดังข้าวในขณะนี้
       
ด้านนายวิทยา  อาคมพิทักษ์ รองเลขาธิการปปช. ผู้รับหนังสือ กล่าวว่า ป.ป.ช.ได้ร่วมส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบสต็อกข้าวร่วมกับคสช.โดยให้เจ้าหน้าที่ปปช.ประจำจังหวัดไปร่วมสังเกตการณ์ พบว่ามีข้าวสูญหายและเสื่อมสภาพซึ่งหากโกดังใดมีข้าวสูญหายเกิน 5%จะแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ และอตก. อคส.จะส่งให้คณะกรรมการ ปปท.เอาผิด และหากเป็นข้าราชการระดับ 8 ขึ้นไปคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะดำเนินการตรวจสอบ  ทั้งนี้ ยืนยันการตรวจสอบของคสช.ไม่กระทบต่อสำนวนที่ป.ป.ช.ดำเนินการอยู่เพราะถือเป็นคนละส่วน

ที่มา.นสพ.ฐานเศรษฐกิจ
////////////////////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

52 พื้นที่เสี่ยง ฮุบป่า..!!?

โดย. พิเชษฐ์ ณ นคร
ปล่อยเกียร์ว่างมานาน ป่าไม้ถูกทำลายย่อยยับนับล้านไร่ หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ตามด้วยคำสั่ง 66/2557 เรื่อง เพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร ฯลฯ ต้องเร่งสนองนโยบาย เดินหน้าจัดระเบียบการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่าครั้งใหญ่

นอกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จะมีคำสั่งตั้งศูนย์ป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมอบหมายให้ พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน จเรตำรวจแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์ แล้วอดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โชติ ตราชู ซึ่งเพิ่งถูกโยกไปนั่งเป็นที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ตั้งทีมงานเฉพาะกิจ ศูนย์ประสานงานปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ หรือทีมป่าไม้เดนตาย พุ่งเป้าปราบปรามผู้มีอิทธิพลโดยเฉพาะ

ไม่รวมการปฏิบัติการร่วมบูรณาการทำงานหลายหน่วยงาน และการลุยล่าขบวนการโค่นป่า ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ แบบฉายเดี่ยว ทั้งระดับภาคและจังหวัด โดยมีทหารจากกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย กองกำลังป้องกันชายแดนของกองทัพบก กองทัพเรือ คอยสนับสนุน สถิติการจับกุมผู้บุกรุกพื้นที่ป่า ลักลอบตัดไม้ ลักลอบค้าสัตว์ป่า ทำเหมืองแร่ ที่ปรากฏทางสื่อมากอยู่แล้ว ยิ่งมีถี่ยิบมากขึ้น

ชี้ให้เห็นว่าพื้นที่ป่า อุทยานแห่งชาติ ทั้งบนบกและทางทะเล ถูกบุกรุกทำลายไม่เว้นแต่ละวัน ไม่ต่างไปจากการฮุบที่ดินรัฐประเภทอื่น ๆ อาทิ ที่ราชพัสดุ ที่สงวนหวงห้าม ที่สาธารณประโยชน์ ฯลฯ รัฐบาลหลายยุคหลายสมัย แก้ปัญหาไม่ได้สักที

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชระบุว่า ณ ปี 2552 ประเทศไทยมีพื้นที่คงสภาพเป็นป่าไม้ 107.6 ล้านไร่ หรือ 33.6% ของพื้นที่ประเทศ และข้อมูลภาพรวมการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่า ตั้งแต่ปี 2516 ถึงปี 2552 พบว่าช่วง 36 ปีที่ผ่านมา ป่าไม้ของไทยลดลงทั้งสิ้นกว่า 30 ล้านไร่ หรือลดลงเฉลี่ย 8.6 แสนไร่/ปี

สวนทางกับนโยบายป่าไม้แห่งชาติ และเป้าหมายรัฐบาล โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำหนดยุทธศาสตร์การเติบโตของประเทศให้อยู่ภายใต้นโยบายการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Growth) ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 11 โดยมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้ได้ 128 ล้านไร่ หรือ 40% ของพื้นที่ประเทศ 320 ล้านไร่

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากหน่วยงานรัฐร่วมมือกันผลักดันนโยบายจัดระเบียบบุกรุกป่าให้เกิดผลในทางปฏิบัติ เดินหน้าป้องกันปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายด้านป่าไม้ สัตว์ป่า ทรัพยากรแร่ และมลพิษอย่างจริงจัง ก็น่าจะช่วยลดคดีเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ระดับหนึ่ง แม้ไม่อาจหวังผลเลิศว่าจะสามารถปราบโค่นนายทุน ผู้มีอิทธิพล นักการเมืองที่จ้องฮุบป่าได้อย่างราบคาบ

ตามแผนที่วางไว้ ศูนย์ป้องกันปราบปรามฯ กับศูนย์ย่อย ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามสถานีตำรวจภูธรทั่วประเทศ ดีเดย์ออกสตาร์ตยุทธการพิทักษ์แผ่นดิน ปราบปรามการกระทำผิดเป็นระยะเวลา 1 เดือนเต็ม ตั้งแต่ 18 มิถุนายนถึง 18 กรกฎาคมนี้ ทั้งการกวาดล้างจับกุม ปิดล้อม ตรวจค้นผู้กระทำผิดกฎหมาย การจัดกิจกรรมปลูกป่า บวชป่า ไปจนถึงรณรงค์ปลุกจิตสำนึกในการป้องกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติ

ขณะที่ทีมป่าไม้เดนตายยังน่าห่วง เพราะหลังอดีตปลัดกระทรวงทรัพย์ เจ้าของไอเดียโดนโยกย้าย ถึงวันนี้ก็ยังไม่รู้อนาคตว่าจะได้รับไฟเขียวให้รุกต่อ หรือต้องแยกย้ายกันกลับที่ตั้ง หากเป็นอย่างหลัง ขบวนการตัดไม้ทำลายป่าในพื้นที่เฝ้าระวัง 52 จังหวัด ทั้งเหนือ อีสาน กลาง ใต้ คงเฮกันลั่น

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////