--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2559

อังค์ถัด.ชี้ปีอันตราย แนะยกระดับการค้าภูมิภาค.......!!?


สหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ "อังค์ถัด" ระบุในรายงานการค้าและการพัฒนาประจำปี 2559 เน้นย้ำว่า ภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เป็นปัจจัยฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจโลก และในประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ ดำเนินนโยบายการคลังที่ "เข้มงวด" ทำให้การฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ "อ่อนแอที่สุดในประวัติศาสตร์" พร้อมระบุว่าถึงเวลายกเครื่องนโยบายเศรษฐกิจโลกหลังตกต่ำต่อเนื่องยาวนานถึง 6 ปี

และสถานการณ์เหล่านี้ก็ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาที่ชะลอตัวลงเช่นกัน ทำให้เกิดความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ของอังค์ถัดคาดการณ์ว่า การเติบโตของเศรษฐกิจโลกปีนี้จะต่ำกว่า 2.5% ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับปี 2557 และ 2558 

ขณะที่การค้าโลกเติบโตลดลงเหลือแค่ 1.5% ต่ำกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกอังค์ถัดชี้ว่าหากผู้กำหนดนโยบายไม่สามารถจัดการผลกระทบทางลบจากการปล่อยกลไกตลาดเสรี และหันไปใช้นโยบาย "กีดกันทางการค้า" จะยิ่งทำให้นำไปสู่วงจรแห่งความเลวร้าย ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อทุกคน 

โดยที่อังค์ถัดมองว่า ตลาดในระดับภูมิภาคและการค้าระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน ยังเปิดโอกาสสำหรับการส่งออกใหม่ ๆ แต่ต้องมีการวางกลยุทธ์เชิงนโยบายที่สมดุลเพื่อส่งเสริมตลาดภายในประเทศไปพร้อมกัน

ด้านสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ และคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ยูเอ็นเอสแคป) จัดเวทีการประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยการค้าและการพัฒนาประจำปี 2559 ภายใต้หัวข้อ "การค้าและการลงทุนอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย : เวลาแห่งการปฏิบัติการ" เพื่อร่วมพูดคุยสถานการณ์และทิศทางการยกระดับเศรษฐกิจภูมิภาคภายใต้กรอบ "ข้อตกลงไนโรบี"

นายสมชิต อินทมิต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สปป.ลาว กล่าวว่า ปัจจุบันโลกมีความซับซ้อน และไม่เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม จากเป้าหมายนำพาประเทศพ้นจากสภาวะประเทศที่มีรายได้น้อยภายในปี 2563 ทาง สปป.ลาวจึงมีกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลายประการ ทั้งการกำจัดการทุจริตภาษีนำเข้าและส่งออก เน้นให้เกิดการพัฒนาจากเอกชนมากขึ้น รวมไปถึงการจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติอำนวยความสะดวกทางการค้า และการจัดตั้งเว็บไซต์ www.laotradeportal.gov.la เพื่อให้ศูนย์กลางของผู้นำเข้าและส่งออกสามารถพูดคุยกันได้โดยตรง 

อย่างไรก็ตาม สปป.ลาวมีข้อจำกัดจากที่ไม่มีพรมแดนติดทะเล ดังนั้นจึงเน้นพัฒนาด้านบริการท่องเที่ยว และเปิดรับการลงทุนจากนอกประเทศเป็นสำคัญ ซึ่งปัจจุบันก็มีสายการบินต่างชาติเข้ามาลงทุน เช่น แอร์เอเชียและนกแอร์ ซึ่งจะเป็นหนทางเอาตัวรอดทางเศรษฐกิจ แต่สำคัญที่สุดในการยกระดับเศรษฐกิจก็คือความร่วมมือระดับภูมิภาคและสนับสนุนการเป็นหุ้นส่วนทางการค้า

สอดคล้องกับความเห็นของ นายซิม โสเค็ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประเทศกัมพูชา ที่ว่าความร่วมมือระดับภูมิภาคเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก ขณะเดียวกันกัมพูชาจะเน้นส่งเสริมการลงทุนจากภาคเอกชนมากขึ้น และจะพยายามทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีในระดับทวิภาคี รวมถึงการส่งเสริมการค้าการบริการ ที่ไม่ใช่เพียงบริการด้านท่องเที่ยวเท่านั้น แต่รวมไปถึงภาคการธนาคาร โทรคมนาคม ขนส่งโลจิสติกส์ ที่จะเข้ามาช่วยสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งกัมพูชาก็มีความมุ่งมั่นที่จะพ้นจากการเป็นประเทศที่มีรายได้น้อยภายในปี 2563 เช่นเดียวกัน

ขณะที่ นางซูซาน เอฟ. สโตน ผู้แทนจากยูเอ็นเอสเคป มองว่า ภูมิภาคอาเซียนมีพลังที่จะเพิ่มห่วงโซ่คุณค่า โดยมีปัจจัยหนุนสำคัญคือการกำหนดนโยบายลงทุนที่โปร่งใส และนำเอกชนมาร่วมลงทุนในตลาดโลก และแม้ สปป.ลาวและกัมพูชาจะมีรายได้จากธุรกิจท่องเที่ยวเป็นรายได้หลัก แต่ต้องไม่มองข้ามการพัฒนาด้านไอซีที เพราะจะเป็นตัวช่วยสำคัญในการพัฒนาการค้าและบริการอื่น ๆ ต่อไป

สำหรับไทยในฐานะประเทศที่มีรายได้ปานกลาง นายไพศาล หรูพาณิชย์กิจ รองอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ระบุถึงความช่วยเหลือที่มีต่อประเทศเพื่อนบ้านว่า ไทยสามารถช่วยได้ในด้านความรู้ด้านเทคโนโลยีและโนว์ฮาวที่เหมาะสมกับการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงที่สอดคล้องกับกรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืน เหมาะสมกับการพัฒนาเศรษฐกิจด้านการเกษตรอย่างยิ่ง

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559

กรมพัฒนาฝีมือแรงงานขานรับนโยบายรัฐบาล ชวนผู้ประกอบการกู้เงินไปใช้พัฒนาฝีมือแรงงานใน 7 สาขา...

กรมพัฒนาฝีมือแรงงานขานรับนโยบายรัฐบาล ตีปี๊บชวนผู้ประกอบการกู้เงินไปใช้พัฒนาฝีมือแรงงานใน 7 สาขา ขยายวงเงินกู้เป็น 1 ล้านจากเดิม 3 แสนบาท แถมปลอดดอกเบี้ย 1 ปี

นายกรีฑา สพโชค อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ว่า เพื่อสนับสนุน และส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการ ได้ดำเนินการพัฒนาทักษะของลูกจ้าง ให้สอดคล้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาล ให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งมี ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน จึงเห็นชอบขยายเพดานวงเงินกู้ยืมจากกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยให้ผู้ประกอบการกู้ไปฝึกอบรมฝีมือแรงงาน หรือทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานม จากเดิมไม่เกิน 3 แสนบาทต่อครั้ง เพิ่มเป็นไม่เกิน 1 ล้านบาท นอกจากนั้น ยังลดดอกเบี้ยเงินกู้ยืม เหลือร้อยละศูนย์ จากเดิมร้อยละ 3 ต่อปี แต่มีข้อแม้ว่า ผู้ประกอบการต้องทำสัญญาไม่เกินวันที่ 12 มกราคม 2560 โดยมี กำหนดชำระคืนไม่เกิน 12 เดือน

 สำหรับสาขาอาชีพที่จะดำเนินการฝึกอบรมฝีมือแรงงาน หรือทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานต้องเป็นสาขาอาชีพ ที่จะส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด มาตรา 7 (1) คือ 1.สาขาอาชีพช่างก่อสร้าง 2.สาขาอาชีพช่างอุตสาหการ 3.สาขาอาชีพช่างเครื่องกล 4.สาขาอาชีพช่างไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ 5.สาขาอาชีพช่างอุตสาหกรรมศิลป์ 6.สาขาอาชีพเกษตรอุตสาหกรรม และ 7.สาขาอาชีพภาคบริการ โดยภาคบริการนี้ครอบคลุม ทั้งกิจการโรงแรม ร้านอาหาร และโลจิสติกส์ด้วย

การส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นบทบาทของ กพร. ตามพ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 ซึ่งมีภารกิจสำคัญ 2 ส่วน คือ 1.เก็บเงินสมทบจากสถานประกอบกิจการที่จัดฝึกอบรมพนักงาน/ลูกจ้าง ไม่ถึงร้อยละ 50 ของจำนวนลูกจ้างที่มีอยู่ในแต่ละปีเข้ากองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน และ 2.ให้สถานประกอบกิจการกู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดฝึกอบรมหรือทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานภายในสถานประกอบกิจการนั้น ๆ หรือส่งพนักงาน/ลูกจ้างไปฝึกอบรมกับหน่วยงานภายนอก หรือทดสอบกับศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติที่ได้รับการรับรองจาก กพร.

การฝึกอบรมทักษะและพัฒนาฝีมือแรงงานในสถานประกอบกิจการต่าง ๆ เป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิต ลดต้นทุน ลดการสูญเสียทรัพยากร รวมทั้งทำให้แรงงานมีศักยภาพเพิ่มขึ้น ซึ่งในปีงบประมาณ 2559 กพร. ได้พัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน และ ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ไปจำนวน 243,372 คน สามารถส่งเสริมสถานประกอบกิจการในการพัฒนาทักษะลูกจ้างและนำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนภาษีมากกว่า 8,000 แห่ง สามารถพัฒนากำลังแรงงานได้กว่า 3.3 ล้านคน

ที่มา.สยามรัฐออนไลน์
///////////////////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

สัญญานดีมาอีกหนึ่ง แบงค์โลกขยับจีดีพีไทย 2.5% ....

 คนไทยชักมีความหวัง หลังจากรัฐบาลส่งซิกเศรษฐกิจกำลังจะโตมานาน แต่ก็ยังไม่สนิทใจนัก หนนี้แบงก์โลกเคาะเปรี้ยงกับมือ จีดีพีไทยปีนี้มีแววสดใสให้เห็น

งานนี้นายอูริค ซาเกา ผู้อำนวยการธนาคารโลก ประจำภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ บอกมาว่า ธนาคารโลกได้วิเคราะห์แล้ว เห็นควรปรับคาดการณ์อัตราการเติบโตการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2559 นี้เพิ่มเป็น 2.5% จากเดิมที่คาดว่าจะโตแค่ 2%

ที่ว่าแบบนี้ก็เพราถะว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของไทยใสปิ๊งๆจริงๆ ดีเกินคาดถึง 3.2% และทั้ง 3 ปัจจัยนี้ยังเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก ของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง

ขณะเดียวกัน แบงก์โลกก็มีคาดกการณ์ประเทศอื่นๆในอาเซียนไปด้วย โดยประเทศที่เติบโตมากสุดคือ พม่า 7.8% รองลงมาคือ เวียดนาม 6.2% อินโดนีเซีย 5.1% มาเลเซีย 4.4%

ดูๆจากตัวเลขนี้ นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ประจำประเทศไทยบอกว่าที่ไทยได้ปรับขึ้นจาก 2% เป็น 2.5% ขึ้นมา 0.5% นี้ ถือว่าอัตราการขยายมากสุด แต่ตัวเลขการเติบโตต่ำสุดในอาเซียน ซึ่งสะท้อนได้ว่า เศรษฐกิจไทยเป็นแบบค่อยๆฟื้นอย่างช้าๆ ก็เป็นผลมาจากที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยนั่นเอง

โตช้าแบบสโลว์บัทชัวร์หรือไม่!ให้ระวังความไม่แน่นอนทางการเมือง ที่อาจจะทำให้นโยบายการคลังในครึ่งปีหลัง อาจจะมีประสิทธิภาพลดน้อยถอยลงได้ แล้วก็มีเรื่องเศรษฐกิจจีนที่ยักแย่ยักยันอยู่ เพราะเราผูกกับจีนไว้เยอะ สัดส่วนการค้าขายกับจีนถึง 12% ไปจนถึงเรื่องสินค้าเกษตรที่โตติดลบมานาน สุดท้ายคือภัยธรรมชาติ

ทั้งหมดคือปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวัง แต่ยังมีเรื่องน่าห่วงอีกหนึ่ง คือสังคมสูงวัย “แก่ก่อนรวย” ที่อาจจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในอีก 5 ปีข้างหน้าได้ พบว่าขณะนี้ประชากรวัยทำงานไทยในปี 2583 หรือ 24 ปีข้างหน้า จะลดลงอีก 11% คือจาก 49 ล้านคน เหลือ 40.5 ล้านคน อันนี้ต้องระวัง ต้องเร่งรับมือและปฏิรูปหลายด้าน ทั้งเรื่องบำนาญ การดุแลบสุขภาพ การดูแลในระยะยาว จะทำยังไง เพราะประเทศอื่นๆเจอกันมาเยอะแล้วทั้งสิงคโปร์ ญี่ปุ่น

ขนาดเตรียมตัวมาดียังมีปัญหา แล้วถ้าเราไม่เตรียมตัว จะเกิดอะไรขึ้น ไม่อยากนึกเลยเชียว

ที่มา.สยามธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ทุกข์ที่สุด จะหลุดได้อย่างไร...!!?

อย่ากลัวว่าความทุกข์นั้น จะมีตลอดไป... อย่าคิดว่าไม่มีทางแก้ไข... หนทางที่เร็วที่สุดคือ เปลี่ยนอารมณ์... ท่านใดมีทุกข์ ขอให้มันผ่านไปโดยไวครับ.....

เมื่อเราเกิดมาย่อมได้รับ ทั้งสุขและทุกข์ ปะปนกันไปอยู่แล้ว แต่เมื่อทุกข์ที่สุดเราควรจะทำอย่างไร ปัจจุบันเราได้ยินข่าวเรื่อง การฆ่าตัวตายบ่อยมาก ในชีวิตของความเป็นหมอ ก็เจอคนที่ฆ่าตัวตายบ่อยมาก ทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จ หมอได้พูดได้คุยกับคนเหล่านี้มากมาย คำถามที่น่ารู้ก็คือ...

การฆ่าตัวตายเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ควรกระทำหรือไม่ และเราควรจะทำอย่างไรดี

บทความนี้จะไม่สนใจว่าการกระทำอย่างนั้นจะมีผลในอนาคตอย่างไร ทำลายตนเองจะบาปมากแค่ไหน ต้องเกิดมาฆ่าตัวตายใช้กรรมอีก 500 ชาติจริงหรือ เพราะถ้าบอกไป ต้องใช้ความเชื่อและศรัทธาในตัวศาสนามาพูดคุยกัน แต่ต้องการจะบอกว่า การทำลายตนเอง เป็นสิ่งที่น่าเสียดายนัก เสียดายโอกาสที่จะได้รับสิ่งที่ดีอีกมากที่จะตามมา และเสียดายแทนญาติมิตรที่เกี่ยวข้องที่จะต้องได้รับผลกระทบกายและใจตลอดไป

ในเรื่องความทุกข์ที่สุดนี้ ธรรมะในพระพุทธศาสนาสอนให้เราแก้เรื่องนี้ได้ทันที ด้วยความเข้าใจ ด้วยความรู้ที่เราไตร่ตรองเองได้ และด้วยประสบการณ์ในอดีตของเราทุกคน ในกาลามสูตรพระพุทธเจ้าทรงสอนไม่ให้เชื่อด้วยเหตุ 10 อย่าง เช่นด้วยเหตุผลว่าผู้สอนเป็นครูของเรา และอื่นๆ รวมสิบประการ แต่จะให้เชื่อก็ต่อเมื่อไตร่ตรองรู้ได้ด้วยตนเองจึงเชื่อ การจะไตร่ตรองให้รู้ได้ด้วยตนเอง จะมีได้ก็ต่อเมื่อเรามีประสบการณ์ในเรื่องนั้นมาแล้ว ดังนั้นประสบการณ์ในอดีตจึงเป็นธรรมะที่เราตรึกตรองได้เช่นกัน

เมื่อความทุกข์ที่สุดมาถึง สิ่งที่ควรระลึกถึงมีสองสามอย่างคือ หนึ่ง อย่ากลัวว่าความทุกข์นั้นจะมีตลอดไป เพราะมันจะไม่คงอยู่ตลอดไป เดี๋ยวมันก็จางไป สอง อย่าคิดว่าไม่มีทางแก้ไขให้ดีขึ้นได้ เพราะจะมีทางแก้ไขเสมอ เพียงแต่ตอนนี้ยังนึกไม่ออกเท่านั้น สาม อย่านึกว่าต่อไปนี้เราจะไม่ได้รับสิ่งดีๆ อีก เพราะเมื่อทุกข์ผ่านไป เราจะยังมีความสุข สนุกสนาน ได้อย่างเดิมแน่นอน และสุดท้ายคือ ให้นึกถึงคนข้างหลัง ที่เขาจะต้องเศร้า ได้รับการกระทบกระเทือน จากการกระทำด้วยอารมณ์ของเรา เมื่อทุกข์ที่สุดมาถึงสิ่งที่เราต้องทำทันที ในขณะที่ยังตั้งตัวปรับใจไม่ทันก็คือ รีบหาทางเปลี่ยนอารมณ์ เมื่อเราไปเจอคนอื่นทุกข์สิ่งที่ต้องทำอันดับแรกคือช่วยเปลี่ยนอารมณ์เขาก่อน จากนั้นสติจึงจะตามมา

ความทุกข์ที่มากสุดจะแก้ได้เร็วและง่ายที่สุด ด้วยการเปลี่ยนอารมณ์ ดึงอารมณ์ออกจากสถานการณ์นั้นก่อน อาจง่ายๆ เพียงแค่ทำอะไรที่ชอบ ฟังเพลง ดูหนัง หาของอร่อยกิน ชวนเพื่อนไปเที่ยว ชวนคุยเรื่องอื่น ลืมเรื่องทุกข์ไปชั่วคราวก่อน บางทีก็เบาบางได้เอง ที่สำคัญถ้ามีเพื่อนดี จะเบาบางไปได้มากที่สุด ที่ไม่ควรทำคือดื่มสุรา หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ไม่ควรหันไปดื่มเหล้าเบียร์ เพราะการกินเหล้าก็ดับทุกข์ได้ระดับหนึ่งเท่านั้น แต่จะมีข้อเสียกว่าคือ จะยิ่งโกรธง่าย น้อยใจง่ายและโมโหง่ายกว่าเดิม และไม่มีสติยับยั้งความโกรธ หรืออารมณ์ที่รุนแรงเหล่านั้น เมื่อเปลี่ยนอารมณ์ได้ ใจจะเข็มแข็งมากพอที่จะแก้ในขั้นต่อไป

ขั้นต่อไปคือพยายามตั้งใจใช้สติคิดว่าจะแก้ได้อย่างไร อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล สายไปแค่ไหนแล้วและแก้ได้หรือไม่ ทำให้ดีขึ้นได้หรือไม่ ถ้าแก้ไม่ได้ ขั้นสุดท้ายคือ ทำให้ใจของเรายอมรับสิ่งนั้นให้ ได้ ใจของเราจะยอมรับได้ คิดได้ ปลงตกได้ต้องมีสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ

ท่านพุทธทาสภิกขุ สอนว่า โดยสรุปรวมในธรรมะของพระพุทธเจ้า อาจสรุปเป็นแบบหนึ่งได้ว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น นั่นเป็นเพราะในความเป็นจริง สิ่งทั้งหลายย่อมไม่ได้ดั่งใจเรา มีความไม่เที่ยง แปรเปลี่ยนไปได้ตลอดเวลาด้วยเหตุและปัจจัย จึงไม่สมควรที่จะไปหลงยึดมั่นหมายว่าเป็นเรา เป็นตัวเรา หรือเป็นของของเรา สิ่งทั้งหลายไม่ได้ดั่งใจทั้งนั้น ไม่ว่าเราจะเป็นใคร รวยเพียงใด อำนาจล้นฟ้าขนาดไหน ต่างก็มีความทุกข์ประจำตัวประจำอยู่ทุกคนทั้งสิ้น

เมื่อคนคนหนึ่งประสพอุบัติเหตุขาขาดสองข้าง เขาจะรู้สึกอยากตายไม่อยากอยู่ จะรู้สึกว่าชีวิตนี้ไม่มีอะไรเหลืออีกแล้ว แต่ผ่านไปสักสองปี ไปดูอีกทีกำลังหัวเราะอยู่เพราะดูละคร ส่วนเรื่องขาขาดก็นั่งรถเข็นเอา และก็ชินเสียแล้ว ไม่เสียใจมากเหมือนตอนขาขาดใหม่ๆ บางคนแฟนตายไปเสียใจแทบตายตาม ผ่านไป 3 ปี มีแฟนใหม่แล้ว มีความสุขดีมากเลย ความทุกข์จึงเป็นของไม่เที่ยงเสมอ เช่นเดียวกับความสุข เพียงแต่ว่าตอนทุกข์ ให้ผ่านวันเวลาไปได้ ไม่ด่วนตายไปเสียก่อน เมื่อทุกข์ผ่านไป จะมีสิ่งดีๆ ตามมาได้แน่นอน

และเมื่อมองย้อนไป ความทุกข์เหล่านั้นมันก็เท่านั้นเอง เมื่อเราอ่านมาถึงตอนนี้ ก็ขอให้ลองใช้เวลานี้ นึกถึงอดีตที่มีทั้งทุกข์และสุขของเราดู อดีตนั่นแหละที่จะสอนตัวเราในความจริงแห่งธรรมะ ในกาลามสูตรพระพุทธเจ้าทรงสอนไม่ให้เชื่ออะไรง่ายๆ แต่สอนว่าเมื่อเราพิจารณาได้เอง ว่านี้เป็นสิ่งดีหรือไม่ดีแก่จิตใจจึงค่อยเชื่อ การจะพิจารณาได้อย่างนั้น จะต้องมีประสบการณ์ในความรู้สึก แบบนั้นในอดีตมาก่อน อดีตจึงเป็นธรรมะที่สอนใจได้เป็นอย่างดี

ทุกข์ที่สุดจะเกิดจาก ความยึดมั่นถือมั่นที่สุด สิ่งใดที่เรารักมากยึดมากว่าเป็นตัวเราหรือของเรา สิ่งนั้นถ้าขาดหายไปจะทำให้ทุกข์ถึงที่สุด ถ้าเรารักความสวยงาม เมื่อเสียโฉมจะทุกข์ที่สุด ถ้าเรารักสามีหรือภรรยา เมื่อเขานอกใจ หรือเสียเขาไปจะทุกข์ที่สุด ถ้ารักลูก ลูกหายหรือพิการหรือตายจะทุกข์ที่สุด ถ้ารักยศถาบรรดาศักดิ์เมื่อสูญเสียจะทุกข์ที่สุด ถ้ารักตนเอง เมื่อทราบว่าตนป่วยเป็นมะเร็ง เป็นเอดส์ หรือโรคที่รักษาไม่หายก็จะทุกข์ที่สุด

แต่ถ้าเราไม่มีสิ่งนั้นเลย ก็ไม่มีอะไรจะทุกข์กับสิ่งนั้น ไม่มีลูกก็ไม่ทุกข์กับลูก ไม่มีแฟนก็ไม่มีทุกข์จากแฟน ไม่มีทรัพย์สิน ก็ไม่ทุกข์กับทรัพย์สิน หรือถ้าเรามีแต่ทำใจไว้เสมือนไม่มี หรือทำใจไว้ว่าของที่มีมันไม่เที่ยงย่อมแปรปรวนไป ก็จะทุกข์น้อยลง ยิ่งยึดมั่นได้น้อยลงเท่าไรก็ทุกข์น้อยลงเท่านั้นเป็นสัดส่วนไป เมื่อไม่ยึดมั่นก็ไม่ทุกข์เลย หมายความว่าไม่มีอะไรทำให้ทุกข์ใจได้อีกเลย แต่ความเจ็บปวดยังมีตราบเท่าที่มีสังขารร่างกายอยู่ เพียงแต่ความทุกข์กายอันนั้น จะไม่สามารถมากินใจให้ทุกข์ใจได้เลย

ความทุกข์ที่เกิดขึ้น มักเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้คนคิดจะทำความดี เพราะธรรมชาติของเราจะหลงลืมและเพลินในสุข ซึ่งความสุขส่วนมากที่เราชอบ มักจะตั้งอยู่บนความไม่เที่ยงทั้งสิ้น พระพุทธองค์เห็นข้อนี้จึงสละทุกสิ่งออกบวชแสวงหาธรรมะ แต่อย่างเราๆ มักจะไม่คิดเรื่องนี้จนกว่าจะทุกข์ เสียก่อน เราจึงพบว่าคนจำนวนมาก ได้ประพฤติธรรมะ ได้ทำสิ่งดีๆ แก่ตนและผู้อื่นเพราะประสพกับความทุกข์มาแล้ว ดังนั้นเมื่อมีทุกข์นั่นคือเราได้อยู่ใกล้ธรรมะแล้ว ถ้าผ่านช่วงนี้ไปได้ก็มักจะมีสิ่งดีโอกาสดี และเราเองก็จะดำรงอยู่ในความดีมากขึ้น ความทุกข์และความสุขเป็นของคู่โลกเช่นนี้มาตลอด

เมื่อเราทุกข์หรือพบคนที่ทุกข์ อย่าลืมเปลี่ยนอารมณ์ ตั้งสติหาทางแก้ไข ใช้ความดีเอาชนะสิ่งไม่ดี ทุกข์ย่อมไม่เที่ยง ย่อมผ่านไป เป็นธรรมดา และเราก็มีโอกาสที่จะได้รับสิ่งที่ดี ได้ปรับปรุงตนเป็นคนดีเสมอ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกท่าน

 ขอขอบคุณเจ้าของ คุณหมอจักรแก้ว กัลยาณมิตร
บทความจาก  http://www.rimnam.com

วันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

อวสานพลังงานปัจจุบัน.....!?

โดย. วีรพงษ์ รามางกูร

สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยได้จัดงานเลี้ยงอาหารค่ำ และได้เชิญ โทนี่ เซบา มาเป็นผู้แสดงปาฐกถา ในหัวข้อ “พลังงานสะอาด : ทำไมพลังงานและระบบขนส่งปัจจุบันจะถึงการอวสานราวๆ ปี ค.ศ.2030” หรือ “Clean Disruption : Why Current Energy and Transportation Systems Will Be Obsolete by 2030”

หัวข้อปาฐกถาเป็นหัวข้อที่น่าตื่นเต้นมาก เพราะปี 2030 นั้นอยู่ไม่ไกลจากปัจจุบันแล้ว เหลืออีกเพียง 15 ปีก็จะถึงแล้ว โทนี่ เซบา กล่าวคำพูดนี้ครั้งแรกเมื่อปี 2011

โทนี่ เซบา เป็นนักอนาคตศาสตร์ หรือ Futurist ทำงานวิจัยในเรื่องเกี่ยวกับตลาดพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแนวของตลาดพลังงาน รวมทั้งพลังงานจากแสงอาทิตย์ หรือ Solar energy

จากงานวิจัยตลาดพลังงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นถ่านหิน น้ำมันและแก๊สปิโตรเลียม พลังงานปรมาณู รวมทั้งพลังงานชีวมวล ผลงานวิจัยของเขาสรุปได้ว่าเทคโนโลยีทางด้านพลังงานได้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว จนคาดการณ์ได้ว่าน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ นิวเคลียร์ ถ่านหิน อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องรถยนต์สันดาปภายในที่ใช้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ จะพ้นสมัยไปทั้งหมดราวๆ ค.ศ.2030

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเทคโนโลยีในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ รวมทั้งพลังงานลม ถ้าสามารถตั้งกังหันลมในที่สูงๆ เป็นกิโลเมตร (กม.) ได้ ซึ่งเชื่อมต่อกับความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีในการเก็บรักษาพลังงานที่มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก โดยการใช้สารโพแทสเซียมเพื่อเก็บรักษาความร้อน อัตราการสูญเสียเพียง 1% ในระยะเวลานาน 24 ชั่วโมง (ชม.) สามารถเก็บรักษาความร้อนได้เป็นเวลานานมากขึ้น ทำให้เราสามารถใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้ตลอดเวลา 24 ชม. ไม่ว่าจะเป็นกลางวัน กลางคืน ตอนฝนตก ฟ้ามืดครึ้มจากหมอกเมฆ

การที่มีระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ทำให้เราสามารถส่งไฟฟ้าในขณะที่กำลังผลิตออกไปเป็นจำนวนมากๆ เพื่อใช้ในเวลากลางวัน อีกส่วนหนึ่งเก็บไว้ในเครื่องมือที่ใช้เก็บพลังงานในห้องขนาดใหญ่ที่บรรจุก๊าซโพแทสเซียม ซึ่งสามารถเก็บความร้อนได้ถึง 99% ในเวลา 24 ชม. เพื่อนำออกใช้ในอัตราเดียวกับตอนกลางคืน ตอนฟ้ามืดครึ้มหรือตอนฝนตก

ขณะที่ราคาค่าใช้จ่ายในการสำรวจ การขุดเจาะ รวมทั้งพื้นที่ที่สูญเสียเพื่อใช้ในการขุดเจาะบนพื้นดิน ต้องใช้พื้นที่มากกว่าพื้นที่ในการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ทำให้ราคาพลังงานที่ได้จากถ่านหินก็ดี จากน้ำมันก็ดี จากก๊าซธรรมชาติก็ดี จากอุปกรณ์พลังงานนิวเคลียร์ก็ดี มีราคาแพงขึ้นตามลำดับ

สำหรับพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซกัมมันตภาพรังสีเป็นเชื้อเพลิง ขณะนี้ก็มีราคาแพงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะมีความต้องการใช้ทดแทนพลังงานจากปิโตรเลียมมากขึ้นตามลำดับ ขณะเดียวกันก็มีปัญหาจากแรงต่อต้านการใช้พลังงานปรมาณูมากขึ้น เยอรมนีประกาศเลิกใช้ปรมาณูอย่างเด็ดขาดในอนาคต

เมื่อเกิดอุบัติเหตุจากเหตุแผ่นดินไหว เกิดโศกนาฏกรรมจากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์รั่วที่ฟุคุชิมา ประเทศญี่ปุ่น อันตรายที่เกิดจากการรั่วไหลของสารกัมมันตภาพรังสีที่เมืองเชอร์โนบิล ในประเทศรัสเซีย ทำให้เกิดการต่อต้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์มากขึ้นตามลำดับ รวมทั้งประเทศไทยด้วย การต่อต้านค่อนข้างรุนแรง โอกาสที่จะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์คงเป็นไปไม่ได้ หรือเป็นไปได้ยาก ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์เป็นสัดส่วนที่มากที่สุดเพราะมีราคาถูก กล่าวคือไฟฟ้ากว่าร้อยละ 70 ผลิตจากพลังงานนิวเคลียร์ แต่ก็กำลังจะถูกต่อต้านให้เปลี่ยนเป็นพลังงานอย่างอื่นแทนพลังงานนิวเคลียร์

ในอนาคตอีกไม่นาน ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการเก็บความร้อนไว้ผลิตไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชม. ก็จะต่ำกว่าต้นทุนต่อหน่วยจากการผลิตไฟฟ้าโดยใช้พลังงานปรมาณู โรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานปรมาณูก็ไม่มีเหตุผลที่จะดำรงอยู่ต่อไป จะถูกทดแทนโดยโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ไปในที่สุด เพราะเป็นพลังงานที่สะอาดและราคาถูกกว่า

การที่สหรัฐอเมริกาค้นพบเทคโนโลยีในการเจาะพื้นพิภพ สามารถดูดก๊าซธรรมชาติและน้ำมันขึ้นมาใช้ได้ในราคาถูก ทำให้การสกัดน้ำมันจากหินทรายและหินกาบของแคนาดาราคาลดลงจนไม่คุ้มที่จะผลิตต่อไป ในขณะเดียวกันถ่านหินซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่สกปรกเพราะพ่นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก ขณะนี้ราคาถ่านหินจากเหมืองหลายแห่ง เช่น ที่อินโดนีเซีย เวียดนาม และที่อื่นๆ ไม่มีราคา ถ่านหินมีราคาเพียงเท่ากับค่าขนส่งเท่านั้น และกำลังจะมีราคาต่ำกว่าค่าใช้จ่ายในการผลิต

ซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศที่มีน้ำมันดิบมากที่สุด ประกาศนโยบายจะเสาะหาน้ำมันดิบออกมาขายให้มากที่สุด เพื่อนำเงินมาลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ใช้ผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมรถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้าแทนการใช้น้ำมันมากขึ้น สาเหตุสำคัญที่จะทำให้การใช้พลังงานน้อยลงก็ดี เทคโนโลยีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไร้คนขับได้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว เพราะการพัฒนาแบตเตอรี่ ลิเธียมไอออน หรือ Li-ion ซึ่งสามารถเก็บไฟไว้ในแบตเตอรี่เพื่อให้รถยนต์วิ่งได้ไกลถึง 285 กม. ด้วยความเร็วเท่ากับรถยนต์ปกติ รวมทั้งกำลังทดลองรถยนต์ไร้คนขับ เพื่อให้มีต้นทุนการผลิตที่ราคาถูกลง ซึ่งจะได้ประโยชน์หลายอย่าง เช่น เครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าไม่ยุ่งยากเท่าเครื่องยนต์สันดาปภายใน ค่าบำรุงรักษาจะน้อยลง อะไหล่ที่ต้องเปลี่ยนมีน้อยลง ต่อไปโรงซ่อมรถยนต์ก็จะน้อยลงหรือหมดไป

จากงานวิจัยของโทนี่ เซบา บอกต่อไปว่า ต้นทุนการผลิตพลังงานจากฟอสซิล หรือพลังงานจากถ่านหินน้ำมันและก๊าซมีแต่จะแพงขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะค้นพบเทคโนโลยีในการเจาะลงใต้พื้นพิภพลึกกว่า 10 กม. และอัดน้ำมันลงไปไล่ให้ก๊าซและน้ำมันไหลออกมา นอกจากค่าขุดเจาะจะแพงขึ้นเรื่อยๆ แล้ว การขนส่งลำเลียงน้ำเข้ามาในพื้นที่หลุมขุดเจาะก็มีต้นทุนสูง นอกจากนั้นก๊าซธรรมชาติก็ขนส่งออกไปในสภาพเพื่อการส่งออกไม่ได้ ต้องอัดด้วยความดันสูงให้เป็นของเหลวเพื่อจะขนส่งทางท่อได้ซึ่งก็คือต้นทุนที่สูงขึ้น

ส่วนพลังงานจากแสงอาทิตย์ โดยวิธีตั้งแผงที่เรียกว่า solar photovoltaic หรือ PV จะมีราคาถูกลงเรื่อยๆ อัตราการลดลงของราคาต่อหน่วยของการผลิตไฟฟ้าโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์จะลดลง ไม่ใช่ในอัตราทบต้นและจะลดลงในอัตราเร่งที่เร็ว ดังนั้น ในระยะเวลาไม่เกินปี ค.ศ.2030 พลังงานจากถ่านหินก็ดี จากน้ำมันก็ดี จากก๊าซธรรมชาติก็ดีจะหมดยุคสมัยไป จะมีการลงทุนสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์มากขึ้น และค่าไฟฟ้าก็จะมีราคาลดลงตามลำดับ

แต่อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจจะเกิดขึ้นในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐ ยุโรป ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เพราะค่าใช้จ่ายในการลงทุนในระยะสั้นจะสูงเพื่อผลประโยชน์ในระยะยาว เป็นภาระหนักสำหรับประเทศกำลังพัฒนา เมื่อเทียบกับภาระของประเทศที่พัฒนาแล้วในเงินทุนจำนวนเดียวกันต่อกิโลวัตต์/ชม. ดังนั้นประเทศที่พัฒนาแล้วจะได้ประโยชน์ก่อนในการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ในตลาดพลังงานของโลก

ถ้าการคาดการณ์ของโทนี่ เซบา เป็นจริง แม้ว่าไม่ทั้งหมด ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโครงสร้างของเศรษฐกิจโลก อาจจะเท่าๆ กับการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป ซึ่งเกิดจากการค้นพบเครื่องจักรไอน้ำที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อนรถไฟบนราง การผลิตไฟฟ้าด้วยเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจากพลังไอน้ำ การค้นพบน้ำมัน ทำให้เกิดอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน ในอนาคตจะเกิดโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่สามารถผลิตและมีไฟฟ้าใช้ทั้ง 24 ชม. รถยนต์เปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้า และต่อไปถึงรถยนต์ไร้คนขับ รวมถึงมีอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้มากมายที่มีแบตเตอรี่อายุยาว และอาจจะใช้แสงอาทิตย์หรือแสงไฟฟ้าธรรมดาเป็นพลังงาน ยานอวกาศก็สามารถเดินทางไปไกลๆ ได้โดยใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ โครงสร้างอุตสาหกรรม ระบบการเงินคงเปลี่ยนไปไกล การเมืองระหว่างประเทศก็คงเปลี่ยนไป

ทั้งหมดเป็นเพียงจินตนาการเท่านั้น อย่าเพิ่งเชื่อมากนัก

ที่มา.มติชนออนไลน์
************************************************************

วันอังคารที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2559

เงินหยวน กับ ข่าวลือ.....!!?

โดย : วีรพงษ์ รามางกูร

ตั้งแต่โลกของเรามีการใช้โซเชียลมีเดียการปล่อยข่าวลือที่มักจะเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอนั้น จึงมีความรวดเร็วตามมาด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกที่ข้อมูลข่าวสารมีความสำคัญต่อการซื้อขายล่วงหน้า ที่เป็นการซื้อขายกระดาษกันเท่านั้น ตลาดทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นตลาดสินค้าและบริการ ไม่ว่าจะเป็นตลาดเงินและตลาดทุน ผสมกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสาร ทำให้การซื้อขายล่วงหน้าเป็นไปอย่างรวดเร็ว จึงเกิดเป็นตลาดล่วงหน้าที่มีมูลค่ามหาศาลขึ้น การเคลื่อนไหวของตลาดล่วงหน้านั้นขึ้นอยู่กับข้อมูลข่าวสาร จึงเป็นโอกาสดีสำหรับนักเก็งกำไรที่ไวต่อข้อมูลข่าวสาร เพราะผู้ที่ได้ข่าวสารก่อนคนอื่นในตลาดย่อมจะกระทำการซื้อหรือขายล่วงหน้าได้ก่อนที่ตลาดจริงจะเคลื่อนไหว สามารถทำกำไรได้อย่างมหาศาล หากตนเองสามารถได้ข้อมูลข่าวสารก่อนคนอื่น

ในทางกลับกัน การเก็งกำไรก็ก่อให้เกิดการ "สร้างข่าว" ขึ้นเพื่อ "ปั่นราคา" สินค้าและบริการ หรือตราสารทางการเงินให้ขึ้นหรือลงได้โดยอาศัยความฉับไวของสื่อสมัยใหม่ที่เรียกว่า โซเชียลมีเดีย ข่าวที่ปรากฏในโซเชียลมีเดียมีทั้งข่าวจริง ข่าวเท็จ ข่าวบิดเบือน หรือข่าวจริงเพียงบางส่วน แต่ก็มีผลต่อการเคลื่อนไหวของ "ราคา" ในตลาดได้

ตามปกติถ้าเป็นข่าวเท็จ ข่าวบิดเบือน หรือข่าวที่จริงเป็นบางส่วน ก็เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลจะออกมาแถลงข้อเท็จจริงให้ประชาชนได้ทราบ เช่น ถ้าเป็นข่าวเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ก็เป็นหน้าที่ของธนาคารกลาง หรือหน่วยงานที่ดูแลการเคลื่อนย้ายของเงินทุน ถ้าเป็นเรื่องผลประกอบการของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็เป็นหน้าที่ของตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงาน ก.ล.ต. แล้วแต่กรณีที่จะเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงว่าข่าวลือเช่นว่านั้นเป็นความจริงหรือความเท็จ หรือข่าวบิดเบือน เพื่อให้ผู้ซื้อขายหรือผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับข้อมูลข่าวสารพร้อมกันทั้งตลาด เพื่อป้องกันการปล่อยข่าวลือ ซึ่งมักจะมาพร้อม ๆ กับการสร้างราคาหรือการปั่นราคา เพื่อสร้างกำไรเอาเปรียบผู้อื่นที่ไม่ทราบข้อเท็จจริง และอาจจะหลงเชื่อข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง

ตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เมื่อก่อนนี้ก็รู้สึกจะค่อนข้างเข้มแข็ง จนตลาดหลักทรัพย์ฯของเราได้รับความเชื่อถือจากประชาชนและจากสถาบันทั้งในและต่างประเทศ แต่ระยะหลัง ๆ มีหลายคนตั้งข้อสงสัยและตั้งคำถาม ทั้งที่ออกมาพูดอย่างเปิดเผย และที่ตั้งคำถามอยู่ในใจไม่น้อย ตลาดและสำนักงานอาจจะไม่ทราบ แต่มีคำครหาอยู่ไม่น้อยโดยเฉพาะระยะเวลาที่หุ้นในหมวดสื่อสารมีการขึ้นลงจากข่าวลืออยู่มาก แต่ประชาชนที่เกี่ยวข้องไม่ได้รับทราบอย่างฉับพลันว่า ข่าวลือนั้นเป็นข่าวจริงหรือข่าวเท็จ จนเวลาผ่านไปหลายวันจึงทราบข้อเท็จจริง ซึ่งก็สายไปเสียแล้ว โดยไม่ทราบต้นตอของข่าวลือเหตุการณ์เช่นนี้นอกจากไม่เป็นธรรมกับผู้ถือหุ้นและนักลงทุนที่ซื้อขายในตลาดแล้วยังบั่นทอนความน่าเชื่อถือของตลาดรวมทั้งหน่วยงานที่เป็นผู้กำกับกิจการโทรคมนาคมด้วย เพราะมีผู้ติดตามเป็นจำนวนมากตลอดเวลา

การสร้างข่าวลือเพื่อหาประโยชน์จากการเคลื่อนไหวของตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดการเงิน ซึ่งประกอบด้วยตลาดเงินและตลาดทุนนั้นมีอยู่ทุกประเทศ และสำนักงานที่มีหน้าที่กำกับดูแล หรือที่เรียกรวม ๆ ว่า "Regulator" เท่านั้น แม้แต่ตลาดการเงินระหว่างประเทศก็มีนักเก็งกำไรระดับโลก หรือระดับระหว่างประเทศด้วย แม้ว่าการสร้างราคาระดับโลกจะต้องใช้เงินทุนอย่างมหาศาล แต่ทุกวันนี้โลกเรามีเงินออมจำนวนมหาศาล ซึ่งกลายเป็นเงินทุนจำนวนมหาศาลที่ผู้จัดการเงินออมหรือกองทุนต่าง ๆ จะนำเอาเงินออมหรือเงินทุนเหล่านี้ไปบริหารจัดการหากำไร โดยการลงทุน การเก็งกำไร แล้วก็เลยเถิดไปสร้างข่าวลือเพื่อแสวงหากำไรจากการเคลื่อนไหวของราคาตราสารทางการเงิน เพื่อเงินโบนัสหรือส่วนแบ่งกำไรให้กับผู้จัดการกองทุนต่าง ๆ เหล่านั้น

ในบรรดาตราสารทางการเงิน ตราสารทางการเงินที่กำหนดราคาเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐจะมีจำนวนมากที่สุด ผู้ที่ถือเงินดอลลาร์สหรัฐซึ่งปกติย่อมไม่ถือดอลลาร์เป็นเงินสด เพราะเงินสดไม่ให้ดอกเบี้ยเป็นค่าตอบแทน และยังยุ่งยากในการจัดเก็บแต่จะถือดอลลาร์ในรูปของเงินฝากธนาคาร หรือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ หรือหุ้นกู้ของบริษัทเอกชน หรือสถาบันการเงินของเอกชน โดยมีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจากบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อที่สำคัญ คือ บริษัทมูดีส์ฯ และบริษัท เอส แอนด์ พีฯ เป็นต้น ค่าตอบแทนสูงหรือต่ำ ก็แล้วแต่อันดับความน่าเชื่อถือ

อัตราแลกเปลี่ยนของเงินสกุลต่าง ๆ ก็มักจะเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ และอาจจะขึ้นลงตามภาวะตลาดของเงินตรานั้น ๆ ในกรณีที่ประเทศนั้นใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนเสรีอย่างเช่น ประเทศไทย หากทางการจะทำการแทรกแซงเพื่อรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน ก็นำเอาเงินดอลลาร์ออกมาขายในตลาด เพื่อให้ราคาเงินดอลลาร์อ่อนลงหรือค่าเงินของตนแข็งขึ้น หรือนำเงินสกุลท้องถิ่นมาซื้อดอลลาร์ไปเก็บไว้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ เพื่อให้ค่าเงินดอลลาร์แพงขึ้น หรือทำให้ค่าเงินสกุลของตนมีค่าอ่อนลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์

เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีข่าวลือที่แพร่สะพัดอยู่ 2 ข่าว ซึ่งถ้าใช้สามัญสำนึกง่าย ๆ ก็จะรู้ทันทีว่าเป็นข่าวเท็จ เป็นข่าวปล่อยเพื่อจะโจมตีค่าเงินหยวนของจีนและเงินดอลลาร์ฮ่องกง

ข่าวแรกก็คือ ธนาคารกลางของจีนจะกำหนดค่าเงินหยวนกับทองคำ กับอีกข่าวหนึ่งที่ว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะลดลง 30 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับเงินหยวน เพราะธนาคารกลางหรือธนาคารประชาชนจีนจะทุ่มเงิน 2 ล้านล้านดอลลาร์ออกขายในตลาด

สำหรับข่าวลืออันแรก คือลือว่าจีนจะเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยน จากการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนประจำวัน จากที่เคยกำหนดกับตะกร้าของเงินที่เงินดอลลาร์มีน้ำหนักมากที่สุดมาเป็นการกำหนดค่าเงินหยวนกับทองคำ ซึ่งเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ทั่วโลกไม่มีใครทำได้แล้ว เงินปอนด์สเตอร์ลิง เงินดอลลาร์สหรัฐเคยกำหนดค่าเงินของตนกับทองคำ  ซึ่งเราเรียกระบบอัตราแลกเปลี่ยนอย่างนี้ว่า ระบบ "มาตรฐานทองคำ" ซึ่งมีความยุ่งยากมากหากธนาคารกลางจีนจะรักษาอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินหยวนกับทองคำ แต่ในที่สุดก็ปรากฏข่าวว่าจีนอยากจะเปิดตลาดซื้อขายทองคำที่นครเซี่ยงไฮ้ คงอยากจะแข่งกับตลาดทองคำที่ฮ่องกง แต่คงจะทำไม่สำเร็จหรอก เพราะจีนยังไม่ได้เปิดเสรีทางการเงิน ยังเป็นสมาชิกไอเอ็มเอฟตามมาตรา 14 ยังไม่กล้าหาญเท่ากับประเทศไทยที่เป็นสมาชิกไอเอ็มเอฟตามมาตรา 8 ตั้งนานแล้ว ทั้งหมดจึงเป็นข่าวลือ

ข่าวลือข่าวที่ 2 ก็คือ จีนจะทุ่มเงิน 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐจากทุนสำรอง ซึ่งขณะนี้มีราว ๆ 3.2 ล้านล้านดอลลาร์ จากที่จีนเคยมีทุนสำรองมากถึง 4.0 ล้านล้านดอลลาร์ หรือตราสารหนี้ในรูปดอลลาร์ คำถามที่ต้องถามคนปล่อยข่าวลือก็คือ จีนจะทุ่มดอลลาร์ออกมาซื้ออะไร เพราะถ้าการทุ่มเงินจำนวน 2 ล้านล้านดอลลาร์ไปแลกกับทองคำ ใครจะขายทองคำให้จีน ถ้าจีนทำอย่างนั้นทองคำเมื่อคิดเป็นเงินดอลลาร์ก็จะต้องแพงขึ้นตามกฎของตลาด ไม่ว่าจะเป็นตลาดเงินตราต่างประเทศหรือตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ เพราะทองคำมี 2 สถานะ คือ เป็นเงินตราต่างประเทศ พร้อม ๆ กับเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ เมื่อข่าวนี้แพร่ออกไปก็ไม่เห็นว่าราคาทองคำในตลาดโลกถีบตัวสูงขึ้น แสดงว่าไม่มีใครเชื่อข่าวลืออันนี้ ถ้าทุ่มเงิน 2 ล้านล้านดอลลาร์ออกไปเพื่อซื้อสินค้าอื่น เช่น น้ำมัน ก็จะทุ่มซื้อทำไมเพราะราคาน้ำมันกำลังลง ไม่สมเหตุสมผลเช่นนี้จึงเป็นข่าวลือนั่นเอง

มีอีก 2-3 เรื่องที่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลก็มักจะมีคนไปเสนอรัฐบาลให้เจรจาทำสัญญาการค้าต่างตอบแทน เช่น ทำสัญญากับจีนเอาสินค้าเกษตรแลกกับรถไฟ ทำการค้ากับประเทศอาหรับก็เอาข้าวแลกกับน้ำมัน เป็นต้น การค้าต่างตอบแทนเป็นรูปแบบการค้าของสหภาพโซเวียตกับประเทศคอมมิวนิสต์ด้วยกัน ที่ทั้งคู่ไม่มีเงินดอลลาร์ด้วยกัน ในที่สุดก็ล้มเหลวเพราะสินค้าแต่ละอย่างมีเรื่องคุณภาพ มีเรื่องชนิด เรื่องอื่น ๆ มากมาย หากจะมาตกลงแลกกันก็ไม่รู้จะตั้งราคาแลกเปลี่ยนกันอย่างไร

อีกเรื่องของการค้าโดยการแลกเปลี่ยนที่ฟังดูดีแต่ปฏิบัติไม่ได้เช่นข้าวแลกกับน้ำมันหรืออย่างอื่น นับเป็นการหลีกเลี่ยงกลไกตลาด หรือหลีกเลี่ยงการใช้เงินที่เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน

ข่าวลือต่าง ๆ ในทางการค้าและการเงินในตลาดโลกมักจะมีอยู่เสมอ หากผู้ใดหลงเชื่อก็มักจะตกเป็นเหยื่อ เช่น ต้องจ่ายค่าเดินทาง ค่าโรงแรม ค่าเบี้ยเลี้ยงให้กับผู้ที่ขันอาสาเดินทางไปเจรจา บางทีก็เป็น 10 ล้านบาทโดยเปล่าประโยชน์ แต่ก็เป็นกลอุบายที่ใช้ได้เสมอ เหมือนกับกรณีเก็บทองหนัก 10 บาทแล้วจะขอแลกกับทองหนักบาทเดียวได้

เรื่องอย่างนี้มีอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นระดับประเทศหรือระดับระหว่างประเทศ

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันเสาร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ส่งออก.. ลดฮวบทั่วเอเชีย แห่ปรับโมเดล เศรษฐกิจ พึ่งดีมานด์..ภายใน !!?

ประเทศ ในเอเชียส่วนใหญ่ล้วนพึ่งพาการส่งออกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และตลาดส่งออกสำคัญก็หนีไม่พ้นจีน พี่ใหญ่ของภูมิภาค การชะลอตัวของเศรษฐกิจแดนมังกรจึงส่งผลกระทบอย่างหนัก แม้หลายประเทศจะพยายามปรับเปลี่ยนโครงสร้างด้วยการหันไปพึ่งดีมานด์ภายในประเทศ แต่กลับไม่ประสบผลมากนัก

วอลล์ สตรีต เจอร์นัล ระบุว่า ยอดส่งออกไม่รวมสินค้าน้ำมันในเดือนมกราคมที่ผ่านมาของสิงคโปร์ลดลงอย่าง เหนือความคาดหมายถึง 9.9% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการลดลงเกือบเท่ากับช่วงวิกฤตการเงินโลกเมื่อ 8 ปีก่อน และร่วงมากกว่าเดือนธันวาคมปีกลายที่ติดลบ 7.2%

และถ้าเจาะเฉพาะตัว เลขการส่งออกไปยังจีน คู่ค้าใหญ่อันดับหนึ่งของสิงคโปร์จะพบว่ายอดส่งออกร่วงหนักถึง 25.2% สะท้อนถึงผลกระทบจากเศรษฐกิจขาลงในจีน ที่ปี 2558 มีอัตราการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 25 ปี

สถานการณ์ในสิงคโปร์ไม่ต่างจาก หลายประเทศในเอเชียที่เน้นใช้ "การผลิตเพื่อส่งออก" อาทิ เกาหลีใต้ที่ยอดการส่งออกเดือนที่แล้วติดลบ 18.8% เป็นการลดลงมากที่สุดนับจากสิงหาคม 2552 เช่นเดียวกับอินโดนีเซีย ผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ที่ตัวเลขการส่งสินค้าไปขายต่างประเทศใน เดือนดังกล่าวหดตัว 20.7% แม้แต่อินเดียที่คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับหนึ่งของ โลก การส่งออกเดือนมกราคมก็ลดลง 13.6% เป็นการติดลบเป็นเดือนที่ 14 ติดต่อกัน

ไม่น่าประหลาดใจที่ตัวเลขการส่งออกของหลายประเทศข้างต้น ทรุดหนัก เมื่อหันกลับมาดูการส่งออกและนำเข้าของจีนในเดือนแรกของปี 2559 ที่ลดลง 11.2% และ 18.8% ตามลำดับ เนื่องจากจีนเป็นผู้นำเข้าวัตถุดิบหรือสินค้าขั้นกลางจากทั่วโลกเพื่อนำมา ผลิตเป็นสินค้าขั้นสุดท้าย แล้วส่งออกอีกต่อหนึ่ง หากจีนส่งออกได้น้อยลงก็ย่อมนำเข้าลดลงตามไปด้วย

นอกจากปัญหาเศรษฐกิจจีนแล้ว อีกปัจจัยที่ฉุดการส่งออกในเอเชียคือ กระแสการค้าโลกที่ซบเซาลง ปรากฏการณ์ ดังกล่าวเริ่มต้นจากการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่ชะลอตัว ลุกลามไปสู่สินค้าประเภทอื่น อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในหลายประเทศที่แผ่วลงกดดันให้ผู้บริโภคและภาค ธุรกิจระมัดระวังการใช้จ่าย แม้แต่ในประเทศที่ไม่ได้อาศัยรายได้จากสินค้าโภคภัณฑ์มากนักอย่างอินเดียก็ เริ่มเห็นสัญญาณการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ลดลง

ยิ่งไปกว่านั้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปถูกขับเคลื่อนด้วยภาคบริการภายในประเทศ เหล่านั้น ไม่ใช่การนำเข้าสินค้าจากฝั่งเอเชีย ประเทศตลาดเกิดใหม่ จึงไม่ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวในประเทศตะวันตกมากนัก ในทางตรงข้าม การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐกลับผลักดันให้เงินทุนไหล ออกจากประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น

หลายประเทศในเอเชียพยายามลดการพึ่งพา การส่งออกและหันไปให้ความสำคัญกับการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น เช่น อินโดนีเซียและไทยที่ผลักดันการใช้จ่ายภาครัฐโดยเฉพาะในโครงการ "เมกะโปรเจ็กต์" เพื่อกระตุ้นการเติบโต หรือกรณีของเกาหลีใต้ที่ภาครัฐอัดฉีดมาตรการกระตุ้นแบบเข้มข้นเพื่อฟื้นฟู เศรษฐกิจที่ซบเซาอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของไวรัสเมอร์ส

แต่ปรับ เปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจจากการพึ่งพาดีมานด์ภายนอกมาสู่ดีมานด์ภายในต้อง อาศัยเวลาและเผชิญกับความเจ็บปวดอย่างที่จีนกำลังประสบในขณะนี้ นอกจากนี้ ยังมีอุปสรรคเชิงโครงสร้าง อาทิ สัดส่วนหนี้ต่อครัวเรือนที่สูง กฎหมายที่ปกป้องและให้สิทธิพิเศษแก่รัฐวิสาหกิจ ทำให้ยากจะเกิดการแข่งขันอย่างเสรี ซึ่งจำเป็นต่อการสร้างเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยการบริโภคภายใน บางประเทศอาจไม่สามารถฝ่าฟันอุปสรรคเหล่านี้ได้สำเร็จและต้องล้มแผนกลางคัน

การหันมาพึ่งพาดีมานด์ภายในของหลายประเทศในเอเชียทำให้นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ ว่าจะมีการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมในเร็ว ๆ นี้ เพื่อกระตุ้นการเติบโตและการใช้จ่าย เครดิต สวิสมองว่า ประเทศที่อยู่ในข่าย ได้แก่ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ไทย อินโดนีเซีย อินเดีย และจีน

ส่วนสิงคโปร์ยังไม่มีแผนจะลดการพึ่งการส่งออก แต่ใช้วิธียกระดับสินค้าส่งออกไปสู่การใช้เทคโนโลยีขั้นสูง พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนามากขึ้น  ปรับเปลี่ยนจากโมเดล "Re-export" ที่ใช้มาอย่างยาวนาน

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

พาณิชย์..ขอ งบ 1.5 พันล้านบาท ดันวิสาหกิจชุมชน....!!?

กระทรวงพาณิชย์ เตรียมของบประมาณจากรัฐบาลวงเงินรวม 1,500 ล้านบาท ดันวิสาหกิจชุมชนสู่อี-คอมเมิร์ซและต่อยอดเอสเอ็มอีสู่ตลาดโลก

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การกระทรวงพาณิชย์จะขอใช้งบกลางวงเงิน 1,500 ล้านบาทต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัปดาห์หน้าในการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจจากภายในประเทศผ่านโครงการประชารัฐ 2 ระดับ ได้แก่ 1. Local Economy โดยจะผลักดันกลุ่มวิสาหกิจชุมชนให้ก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการ และขยายตลาดไปสู่อี-คอมเมิร์ซใช้งบประมาณส่วนนี้ 620 ล้านบาท ในการสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตข้าวและมันสำปะหลัง รวมทั้งผลักดันการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) ตลอดจนนำร่อง 10 หมู่บ้านทำมาค้าขาย, เปิด 5 ตลาดกลางครบวงจร และ 3 ศูนย์กระจายสินค้าไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งจะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาล ภาคเอกชน และประชาชนในการสร้างอำนาจต่อรองให้เกษตรกรและผู้ประกอบการไทย ตั้งเป้าให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 และมูลค่าการค้าชายแดนเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ภายใน 1 ปี

ส่วนโครงการที่ 2 ได้แก่ Global Economy เป็นการผลักดันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยสู่ตลาดโลก โดยจะทำการตลาดเชิงลึกแต่ละประเทศ ซึ่งจะมีการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญ ประสานความร่วมมือกับองค์กรเจโทรแห่งญี่ปุ่นและร่วมมือกับมหาวิทยาลัยไทยในการสร้างองค์ความรู้เฉพาะประเทศนั้น ๆ ลักษณะ 1 มหาวิทยาลัย 1 ประเทศในกลุ่ม CLMV นอกจากนี้ ยังจะทำแบรนด์ดิ้งสินค้าไทย ตลอดจนเพิ่มนวัตกรรมเข้าไปในตัวสินค้าและมุ่งเน้นส่งเสริมธุรกิจในภาคบริการมากขึ้น กำหนดเป้าหมายให้มีการขยายมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 และขยายการลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ภายใน 1 ปี รวมทั้งเพิ่มจำนวนเอสเอ็มอีเข้าสู่ตลาดอี-คอมเมิร์ซ 100,000 ราย ภายใน 3 ปี และ 200,000 รายภายใน 5 ปี ใช้งบประมาณส่วนนี้ 860 ล้านบาท โดยทั้ง 2 โครงการดังกล่าวนายกรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////

บริษัทยักษ์ใหญ่มีสะเทือน ครม.ไฟเขียวปรับปรุงพ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า แก้ธุรกิจผูกขาด...!!?

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครม.เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. ....เพื่อปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าให้มีความเป็นอิสระ และปรับปรุงกฎเกณฑ์ให้เกิดการแข่งขันเป็นธรรมและเสมอภาค  โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรีผ่านความเห็นชอบจากครม. จำนวน 7 คน คุณสมบัติอายุ 45-60 ปี วาระดำรงตำแหน่ง 6 ปี ติดต่อไม่เกิน 2 วาระ โดยตั้งขึ้นเป็นสำนักงานในหน่วยงานของรัฐ มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่มีความอิสระ ซึ่งงบประมาณสำหรับการจัดตั้งในปีแรกรัฐบาลจะเป็นผู้สนับสนุน สำหรับปีต่อไปให้ใช้เงินงบประมาณจากค่าจดทะเบียนทางการค้า โดยหักมา 10 % เป็นค่าใช้จ่ายของสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า โดยกำหนดให้รัฐวิสาหกิจทุกประเภทตั้งอยู่ภายใต้การบังคับตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว ยกเว้นมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ รักษาผลประโยชน์ส่วนรวม หรือจัดให้มีสาธารณูปโภค

นอกจากนี้ยังปรับปรุงนิยามของคำว่า “ผู้ประกอบธุรกิจ” ให้ครอบคลุมถึงบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาดทางธุรกิจ และเพิ่มนิยามคำว่า “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนิติบุคคลในเครือเดียวกัน” และ ปรับปรุงนิยามคำว่า ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด โดยให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าเป็นผู้มีอำนาจในการออกประกาศ หลักเกณฑการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด รวมทั้งเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า ปัจจัยสภาพการแข่งขันของตลาด

“การควบรวมกิจการทั้งหลายของบริษัทต่อไปนี้ จะต้องขออนุญาต เช่น ห้างสรรพสินค้า A ขายสินค้าชนิดหนึ่ง ห้างสรรพสินค้า B ก็ขายสินค้าชนิดเดียวกัน วันหนึ่งห้างสรรพสินค้า A B C มารวมกัน อย่างนี้เรียกว่าเริ่มจะมีการผูกขาดทางการตลาดแล้ว โดยจะมีการทบทวนกับผู้ประกอบการธุรกิจทุก ๆ 5 ปี ตามพ.ร.บ.ทบทวนกฎหมาย ว่าลีลา ท่าทางแบบไหนที่เป็นการบ่งชี้ว่ามีอำนาจเหนือตลาดหรือผูกขาด เพราะปัจจุบันต้องยอมรับความเป็นจริงว่าธุรกิจมีชั้นเชิงที่จะสร้างการผูกขาดหลากหลายรูปแบบ”

ทั้งนี้มีข้อคิดเห็นจากสำนักอัยการสูงสุดว่าการให้อำนาจคณะกรรมการ ฯสามารถยกเลิกโทษจำคุกในการควบรวมธุรกิจเพื่อดำเนินการให้เกิดการผูกขาด อาจจะทำให้ก้าวล่วงอำนาจหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรม จึงให้กฤษฎีกาพิจาณาทบทวนอีกครั้งและขอความคิดเห็นจาอภาคเอกชนด้วย

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2558

เงินหยวน เข้าตะกร้าเอสดีอาร์ ......

โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

นับเป็นอีกก้าวหนึ่งที่ระบบเศรษฐกิจการเงินของจีนได้รับการยอมรับจากประชาคมโลก เมื่อคณะกรรมการบริหารของไอเอ็มเอฟ หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ประกาศปรับตะกร้าเงินที่เคยกำหนดค่าเอสดีอาร์ หรือสิทธิถอนเงินพิเศษ "Special Drawing Rights" จากที่เคยมีอยู่เพียง 4 สกุล คือ ดอลลาร์สหรัฐ 41.9 เปอร์เซ็นต์ ยูโร 37.4 เปอร์เซ็นต์ ปอนด์สเตอริง 11.3 เปอร์เซ็นต์ และเยน 9.3 เปอร์เซ็นต์ มาเป็น "ตะกร้าใหม่" ดังนี้ ดอลลาร์ 41.73 เปอร์เซ็นต์ ยูโร 30.93 เปอร์เซ็นต์ หยวน 10.92 เปอร์เซ็นต์ เยน 8.33 เปอร์เซ็นต์ และปอนด์สเตอริง 8.09 เปอร์เซ็นต์ โดยจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 คือปีหน้าเป็นต้นไป

ถ้าจะดูน้ำหนักของเงินสกุลต่าง ๆ ในการคำนวณค่าเอสดีอาร์ จะเห็นว่าน้ำหนักเงินยูโรหายไปมากที่สุด คือลดลง 6.47 เปอร์เซ็นต์ เงินปอนด์สเตอริง 2.94 เปอร์เซ็นต์ เงินเยน 0.97 เปอร์เซ็นต์ น้ำหนักของเงินดอลลาร์ลดลงน้อยที่สุด กล่าวคือลดลงเพียง 0.17 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

การที่ไอเอ็มเอฟยอมรับให้เงินหยวนเข้ามาอยู่ในตะกร้าเงินที่กำหนดค่าเอสดีอาร์นั้นจีนก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและตามกำหนดเวลาหลายข้อ มิฉะนั้น จีนอาจจะเอาเปรียบผู้ที่ถือเงินหยวนที่อยู่นอกประเทศได้โดยการลดค่าเงินของตน

เงื่อนไขที่จีนต้องปฏิบัติส่วนมากก็เป็นเงื่อนไขที่จีนต้องเปิดเสรีทางการเงินมากขึ้นเพื่อลดอุปสรรคในการเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้าออกในประเทศและปล่อยให้ค่าเงินหยวนขึ้นลงตามกลไกตลาดมากยิ่งขึ้น

การปรับน้ำหนักของเงินสกุลหลักที่อยู่ในตะกร้าเงินของไอเอ็มเอฟที่ใช้กำหนดค่าเอสดีอาร์ทำให้เห็นได้ชัดว่าน้ำหนักของกลุ่มประเทศที่ใช้เงินยูโรมีน้ำหนักลดลงค่อนข้างมาก ตามมาด้วยน้ำหนักของประเทศอังกฤษ ไอเอ็มเอฟให้น้ำหนักกับเงินเยนสูงกว่าเงินปอนด์สเตอริงแล้ว

เอสดีอาร์ หรือสิทธิถอนเงินพิเศษ แม้จะไม่ใช่เงินตราที่ใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน หรือเป็นเครื่องมือในการเก็งกำไรในตลาดทุนและตลาดเงินก็ตาม แต่เอสดีอาร์สามารถใช้นับเข้าไปเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศได้ เพราะสิทธิถอนเงินพิเศษสามารถจะเปลี่ยนเป็นเงินตราสกุลอื่น เช่น ดอลลาร์ ยูโร หรือเงินตราสกุลอื่น ที่ใช้ระหนี้ระหว่างประเทศได้ผ่านทางไอเอ็มเอฟ โดยไอเอ็มเอฟทำหน้าที่เป็นคนกลางหาผู้ซื้อและผู้ขาย ทำให้เกิดการซื้อขายได้ เหมือนกับเป็นสิทธิการถอนเงินจากไอเอ็มเอฟ โดยที่ไอเอ็มเอฟไม่มีพันธะว่าจะต้องรับซื้อไว้เอง หรือมีไว้ขายเอง เป็นแต่เพียงคนกลางให้

เอสดีอาร์ แม้จะไม่ใช่เงินตราระหว่างประเทศเหมือนเงินดอลลาร์ เงินเยน หรือเงินปอนด์สเตอริง แต่ก็มีสภาพเข้าใกล้เงินเพราะสามารถใช้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารกลาง มีสภาพคล่องเปลี่ยนเป็นเงินตราสกุลที่ใช้ชำระหนี้ระหว่างประเทศได้ คล้าย ๆ กับทองคำที่ผู้ถือสามารถเปลี่ยนเป็นเงินตราที่ใช้ชำระหนี้ระหว่างประเทศได้ ถ้าต้องการทองคำที่มีตัวตนที่มีค่าในตัวของมันเองก็มีตลาดทองคำระหว่างประเทศ แต่เอสดีอาร์ไม่มี ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ อาจจะซื้อขายเอสดีอาร์ผ่านบัญชีที่ไอเอ็มเอฟได้ ไม่มีธนบัตรหรือตั๋วสัญญาใช้เงิน

ขณะเดียวกันเอสดีอาร์ก็มีลักษณะคล้ายเงิน คือมีดอกเบี้ยให้กับธนาคารกลางที่ถือเอสดีอาร์ ผู้ยืมเอสดีอาร์ก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยกลาง คืออัตราดอกเบี้ยของเงินในตะกร้า โดยถ่วงตามน้ำหนักที่ไอเอ็มเอฟกำหนดไว้นั่นเอง บางคนถือว่าเอสดีอาร์ คือ เงินที่ออกโดยไอเอ็มเอฟก็มี

เอสดีอาร์ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 1969 ซึ่งขณะนั้นสมาชิกของไอเอ็มเอฟยังคงใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่เมื่อเทียบกับทองคำ หรือดอลลาร์สหรัฐ ตามข้อตกลง"เบรตตันวูดส์" หรือที่เรียกกันว่า ระบบเบรตตันวูดส์ "Bretton Woods System" ไอเอ็มเอฟจึงกำหนดให้เอสดีอาร์ มีค่าเท่ากับทองคำที่มีน้ำหนัก 0.888671 กรัม เท่ากับหนึ่งดอลลาร์สหรัฐ

โดยเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกานั้น ธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ ที่ถือเงินดอลลาร์อาจจะนำเงินดอลลาร์มาแลกทองคำบริสุทธิ์ได้ในอัตรา 36 ดอลลาร์ต่อ 1 ทรอยออนซ์ หรือ1 ดอลลาร์ มีค่าเท่ากับทองคำบริสุทธิ์ 0.888671 กรัม

แต่เมื่อสหรัฐอเมริกาทำสงครามในเวียดนาม สหรัฐอเมริกาต้องเพิ่มปริมาณเงินดอลลาร์ โดยการตั้งงบประมาณขาดดุลเพื่อทำสงครามมากมาย ความเชื่อมั่นในค่าเงินดอลลาร์ลดลงอย่างรวดเร็ว ธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ ไม่มีความมั่นใจว่า สหรัฐอเมริกาจะสามารถนำทองคำออกมาจ่ายให้ผู้ต้องการเอาดอลลาร์มาแลกได้ทั้งหมด จึงทยอยกันมาแลกทองมากยิ่งขึ้น ทองจึงไหลออกจากอเมริกามากขึ้นตามลำดับ ในที่สุดสหรัฐก็ต้องประกาศออกจากมาตรฐานทองคำ หรือ "Gold Standard" ไม่ยอมรับดอลลาร์มาแลกทองคำอีกต่อไป

เมื่อสหรัฐอเมริกาประกาศออกจากมาตรฐานทองคำระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่"เบรตตันวูดส์" ก็พังทลายลง พร้อม ๆ กับค่าเงินดอลลาร์ ค่าเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับทองคำก็ดิ่งตัวลงไปเรื่อย ๆ ขณะเดียวกันการเก็งกำไรค่าเงินและราคาทองคำก็เกิดขึ้น ทำให้เกิดความปั่นป่วนกันโดยทั่วไป รวมทั้งค่าเอสดีอาร์ด้วย

ในที่สุดโลกก็พัฒนาระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่สามารถหาความมั่นคงได้พอสมควร แต่ก็มีความยืดหยุ่นสูงด้วย กล่าวคือแทนที่จะตรึงค่าเงินไว้กับเงินดอลลาร์สกุลเดียว ก็หันมาตรึงค่าเงินไว้กับ "ตะกร้าเงิน" หรือ "Basket of Currencies"หรือตะกร้าเงินที่มีหลายสกุล โดยการให้น้ำหนักแก่เงินสกุลต่าง ๆ ไม่เท่ากัน และแตกต่างกันไปแล้วแต่ประเทศ บางประเทศก็ประกาศว่าในตะกร้ามีอะไรบ้าง น้ำหนักเท่าไหร่ บางประเทศก็ไม่ประกาศ ระบบดังกล่าวก็ใช้ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง

สหรัฐอเมริกาก็ต้องประกาศเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน ซึ่งกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินดอลลาร์กับเงินตราสกุลอื่นของโลก การประกาศก็ทำอย่างโปร่งใสมากขึ้น โดยการกำหนดสูตรเป้าหมายทางเศรษฐกิจระหว่างเงินเฟ้อกับการว่างงานให้ชัดเจนขึ้น ขณะนี้ทั่วโลกก็ปฏิบัติอย่างนั้นในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยของแต่ละประเทศ

อย่างไรก็ตาม ไอเอ็มเอฟไม่สามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยของเอสดีอาร์ได้เอง เพราะอัตราดอกเบี้ยที่ผู้กู้ต้องจ่ายและผู้ให้กู้เอสดีอาร์ได้รับ จะเท่ากับดอกเบี้ยของเงินตราสกุลต่าง ๆ ในตะกร้าถ่วงน้ำหนักตามที่ไอเอ็มเอฟกำหนดไว้แล้ว ดังนั้นเมื่อเงินหยวนซึ่งเป็นเงินที่มีอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้สูงกว่าเงินอื่น ๆ ในตะกร้า ก็น่าจะคาดได้ว่าดอกเบี้ยของเอสดีอาร์น่าจะขยับตัวสูงขึ้นด้วย

เมื่อเงินเหริน หมิน หรือ "เงินประชาชน" ของจีน ได้รับการยอมรับนับถือให้เข้าไปอยู่ใน "ตะกร้าเงิน" ที่ใช้เทียบค่าเอสดีอาร์ ตลาดก็คงคาดได้ว่าจีนคงจะทยอยปฏิบัติตามเงื่อนไขพันธสัญญากับไอเอ็มเอฟ ซึ่งคงจะเกี่ยวกับวินัยทางการเงิน ความมั่นใจในค่าเงินหยวนก็น่าจะมีมากขึ้น "ความต้องการเงินหยวน" เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนก็ดี ใช้เพื่อเป็นทุนสำรองก็ดี หรือใช้เพื่อตรึงมูลค่าของสินทรัพย์ต่าง ๆ ก็ดี น่าจะมีมากขึ้น ดังนั้นในระยะยาว จีนคงต้องปล่อยเงินหยวนออกมาในตลาดมากขึ้น มิฉะนั้นแล้ว ค่าเงินหยวนอาจจะแข็งค่าเกินไป จนเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกอย่างสำคัญ อันจะเป็นสาเหตุให้เกิดเศรษฐกิจชะงักงัน

ญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างที่ดี เมื่อเงินเยนได้รับการยอมรับในตลาดโลก ค่าเงินก็แข็งขึ้นอย่างมากและติดต่อกันจนกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการลงทุนและการพัฒนาเศรษฐกิจ อันเป็นเหตุให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นชะงักงันมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 มาจนถึงบัดนี้กว่า 2 ทศวรรษแล้ว เมื่อจีนต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขต่าง ๆ จีนก็คงต้องระมัดระวังในเรื่องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอย่างเคร่งครัดมากยิ่งขึ้น จะปล่อยให้เกิดเงินเฟ้อในอัตราสูงหรือเกิดสภาวะฟองสบู่ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงเกินไปอย่างที่ผ่านมาก็คงจะทำไม่ได้ เพราะสมัยก่อนจีนยังใช้ระบบการเงินที่สามารถควบคุมโดยตรงได้

ผลกระทบโดยตรงอย่างอื่น นอกจากทางจิตวิทยาแล้วคงจะมีไม่มาก เพราะเอสดีอาร์ที่ไอเอ็มเอฟสร้างขึ้นมาเพื่อเสริมทุนสำรองในระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ หรือระบบเบรตตันวูดส์ ก็หมดความจำเป็นไปตั้งแต่ปี 1973 เมื่อระบบเบรตตันวูดส์ล่มสลายไปพร้อม ๆ กับการออกจากมาตรฐานทองคำของเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกา

หลาย ๆ คนยังเชื่อว่า เสถียรภาพทางการเงิน โดยเฉพาะอัตราแลกเปลี่ยนเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการลงทุน การค้นพบเทคโนโลยีใหม่และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลกที่ขยายตัวช้าลง ก็เพราะความไม่มีเสถียรภาพทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ค่าเงินสกุลสำคัญ ๆ ของโลก แต่การจะนำระบบเดิมมาใช้ก็คงเป็นไปไม่ได้เสียแล้ว

การเปลี่ยนตะกร้าเงินของเอสดีอาร์โดยเพิ่มเงินหยวนเข้ามาในตะกร้า ไม่น่าจะเป็นข่าวใหญ่

แต่ระยะนี้ไม่ค่อยมีข่าวเศรษฐกิจก็เลยเป็นข่าวใหญ่

ที่มา:คอลิมน์คนเดินตรอก/ประชาชาติธุรกิจ
๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑

วันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2558

เสือป่วยหนัก.....!!?

โดย.ดร. วีรพงษ์ รามางกูร

ประเทศไทยของเราเมื่อกว่า 10 ปีก่อน เคยได้รับการยกย่องว่าเป็นดาวเด่นของภูมิภาค ไม่ใช่เฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน แต่ของเอเชียตะวันออกทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจที่มีอัตราการขยายตัวที่สูง ผ่านการส่งออกที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วตามกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ อันได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน และเกาหลีใต้ มาอย่างติดๆ จนได้รับการขนานนามว่าเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย ขึ้นหน้าปกนิตยสารชั้นนำของโลก

ทางด้านการเมือง ประเทศไทยในยุคเมื่อ 10 ปีก่อน ก็พัฒนาประชาธิปไตยไปไกลกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือแม้แต่เกาหลีใต้และไต้หวัน

ในด้านสังคม แม้จะมีความขัดแย้งและความไม่สงบในภาคใต้อยู่บ้างในขณะนั้น ก็ไม่รุนแรงอย่างทุกวันนี้ ผู้คนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัญหาทางสังคมความแตกแยกในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา มีน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นอันมาก

การพัฒนาทางเศรษฐกิจก็ดี พัฒนาการทางการเมืองก็ดี การพัฒนาความสงบสุขภายในชาติก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อยมากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค จนได้รับการกล่าวขานจากสื่อมวลชนในต่างประเทศว่า ประเทศไทยควรจะเป็นแบบอย่างในการพัฒนาประเทศ จะมีปัญหาอยู่บ้างก็คงจะเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำในความเป็นอยู่และการกระจายรายได้ ซึ่งเป็นปัญหาสำหรับประเทศกำลังพัฒนาทุกประเทศ เป็นปัญหาที่แก้ไขได้

การพัฒนาการเมืองที่ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ แม้ว่าจะมีการโจมตีว่าการเลือกตั้งจะมีการทุจริตซื้อสิทธิขายเสียงซึ่งเชื่อว่ามีอยู่จริง แต่ก็มีแนวโน้มลดลงไปเรื่อยๆ เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปหลายครั้งและมากขึ้นเรื่อยๆ หลายคนถึงกับ "ฝัน" ว่าประเทศไทยจะสามารถพัฒนาไปเป็นประเทศประชาธิปไตยแบบ 2 พรรคใหญ่ได้เช่นเดียวกับอังกฤษ อเมริกา ซึ่งน่าจะมีประสิทธิภาพเป็นประชาธิปไตยดีกว่าการปกครองที่มีขนาดใหญ่พรรคเด่นเพียงพรรคเดียว เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เป็นต้น

ถ้าระบอบประชาธิปไตยดำรงอยู่ได้ พรรคเด่นพรรคใหญ่ 2 พรรคก็น่าจะผลัดกันเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล มีรัฐบาลที่เข้มแข็ง เพราะประชาชนจะเลือกพรรคมากกว่าเลือกคน จนสามารถมีพรรคการเมืองที่ได้รับความนิยม มีเสียงในสภาเกินกว่ากึ่งหนึ่ง สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เพียงพรรคเดียว เป็นรัฐบาลในระบอบรัฐสภาที่เข้มแข็ง สามารถตัดสินใจในการดำเนินการลงทุนโครงการใหญ่ๆ สามารถพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สาธารณสุข และข้อสำคัญการพัฒนาการเมือง

ที่เชื่อว่าประเทศไทย หากมีระบอบประชาธิปไตยมั่นคงก็จะไม่พัฒนาไปเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบพรรคเดียวแบบประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศก็เพราะว่าคนไทยมีนิสัยเบื่อง่ายชอบการเปลี่ยนแปลงดังนั้นถ้าหากพรรคการเมืองใดได้รับเลือกตั้งให้เป็นรัฐบาลติดต่อกัน 2 สมัยแล้ว โอกาสจะชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 3 น่าจะเป็นไปได้ยาก ยิ่งบอกว่าจะสามารถชนะการเลือกตั้งตลอดกาลยิ่งเป็นไปไม่ได้ ถ้าพรรคฝ่ายค้านและพรรครัฐบาลมีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกัน

แม้ในระยะเริ่มต้น พรรคการเมืองจะมีนายทุนหรือกลุ่มนายทุนเป็นผู้ก่อตั้ง แต่ในที่สุดเมื่อเวลาผ่านไปโดยมีการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง ไม่สะดุดหยุดลงโดยการปฏิวัติรัฐประหาร พรรคการเมืองก็จะกลายเป็นพรรคของมวลชน ที่มวลชนในเขตเลือกตั้งจะมีสิทธิมีเสียง กำหนดให้พรรคส่งคนที่ตนชอบลงในนามของพรรค แบบเดียวกับสหรัฐอเมริกา

ในด้านสิทธิเสรีภาพในการพูด การแสดงออกผ่านทางสื่อมวลชนก็เป็นประเทศเปิดกว้างที่สุด เมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรุงเทพฯยังเป็นศูนย์กลางของสำนักข่าวสำคัญๆ ทั่วโลก มิใช่เฉพาะสำนักข่าวไทยเท่านั้น

ภาพต่างๆ ตามที่กล่าวมานี้ได้มลายหายไปหมดแล้ว กล่าวคือ ในด้านเศรษฐกิจแม้ว่าเศรษฐกิจยังขยายตัวอยู่บ้าง แต่ก็ขยายตัวในอัตราที่ต่ำ ต่ำกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาค เพราะรายรับจากการส่งออกหดตัวแทนที่จะขยายตัว ราคาสินค้าทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตร อุตสาหกรรม พากันลดลงหมด ยังเหลือเพียงจำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนเท่านั้นที่ยังดีอยู่ ที่เศรษฐกิจยังขยายตัวได้บ้างก็เพราะได้อานิสงส์จากการที่ราคาพลังงานและราคาสินค้านำเข้า โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่มีราคาถูกลง แต่การบริโภคและการลงทุนต่างก็ชะลอตัวไปหมด

การชะลอตัวที่เกิดขึ้นอย่างค่อนข้างรุนแรงในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2558 คงจะยืดเยื้อไปถึงปีหน้า เพราะภาวะเศรษฐกิจในยุโรปก็ดี ในญี่ปุ่น จีนและประเทศอื่นๆ ในทวีปเอเชีย ต่างก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะฟื้นตัว

ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังตกต่ำลงอย่างรวดเร็วทั้งในเมืองและในชนบท ความแตกแยกทางการเมืองของคนในชาติก็ไม่เห็นทางจะเยียวยาได้อย่างไร ความเป็นนิติรัฐ การบังคับใช้กฎหมาย การมี 2 มาตรฐานในการใช้กฎหมาย การเลือกปฏิบัติของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาเป็นเวลานานในกระบวนการยุติธรรมและกระบวนการการเมือง ก็เกิดขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ

บรรยากาศความสัมพันธ์กับต่างประเทศที่เคยอยู่ในระดับที่ประเทศต่างๆ เคยชื่นชมเราอย่างมากในช่วง 10 ปีก่อนหน้า มาบัดนี้ความสัมพันธ์ในด้านต่างๆ ก็เปลี่ยนไป ทั้งจากยุโรป อเมริกา ออสเตรเลียและประเทศอื่นๆ ต่างก็ฉวยโอกาสในขณะที่เรามีรัฐบาลทหาร ดำเนินมาตรการตัดสิทธิประโยชน์ทางการค้าและการลงทุน ตั้งเงื่อนไขเรื่องสิทธิการบิน บรรยากาศในการออกข่าวของต่างประเทศก็เปลี่ยนไป กลายเป็นข่าวในทางลบทยอยออกมาอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากมิตรประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาและยุโรป รวมทั้งญี่ปุ่นด้วย จะยังเหลือก็จีนเท่านั้นที่เป็นประเทศใหญ่ ทำให้เราดูเหมือนจะโอนเอียงไปทางจีนมากขึ้น ซึ่งไม่น่าจะให้เป็นไปเช่นนั้น เพราะประเทศไทยดำเนินนโยบายที่ให้ความสำคัญกับมหาอำนาจทุกประเทศเท่าเทียมกัน

ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นนั้น ฝ่ายกองทัพก็ดี ฝ่ายพรรคฝ่ายค้านก็ดี ได้โหมโจมตีรัฐบาลพรรคเพื่อไทยจนเกิดกระแสต่อต้านรัฐบาลที่แล้วและสนับสนุนการปฏิวัติรัฐประหาร เพราะหลายคนเคยเชื่อว่าผู้ที่ถูกโจมตีนั้นไม่สะอาด มีการทุจริต คอร์รัปชั่น แต่เหตุการณ์โครงการราชภักดิ์ก็ดี โครงการจัดซื้อเปียโนของกรุงเทพมหานครก็ดี แม้ว่าจะยังมิได้มีการพิสูจน์แน่ชัดว่ามีความไม่ชอบมาพากล แต่ก็ทำให้ผู้คน "ใจเสีย" เพราะนึกไม่ถึงว่าเรื่องดังกล่าวจะเกิดขึ้นกับกองทัพและพรรคฝ่ายค้านที่ตนเองเคยออกมาสนับสนุนและเชื่อใจ

ความ "ใจเสีย" นั้นได้เพิ่มบรรยากาศของความรู้สึกว่างเปล่า เงียบเหงา พูดไม่ออกบอกไม่ถูก สำหรับข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่ต้องรับรู้จากสังคม แม้ว่าจะไม่ยอมอ่านจากหนังสือพิมพ์กระดาษ ไม่ยอมดูจากโทรทัศน์ ไม่ยอมฟังจากวิทยุ แต่ก็ได้รับจากสื่อออนไลน์ในมือของตัวเองอยู่ดี

การวิเคราะห์การพูดคุยกันด้วยข้อมูลข้อเท็จจริง เหตุผลในวงสนทนา ในวงสังสรรค์กัน จึงทำไม่ได้อย่างสะดวกใจ ด้วยเหตุนี้การสนองตอบของสังคม ไม่ว่าจะเป็นการสัมมนา ปาฐกถา ผ่านสื่อมวลชนจึงเป็นไปอย่างจืดชืด สังคมขณะนี้จึงเป็นสังคมของความ "อึดอัด" ไม่มีการแสดงออก ไม่มีการเปิดเผย ไร้สีสัน ซึ่งอาจจะเป็นเพราะการ "ตรวจสอบตัวเอง" เพราะความเกรงกลัวต่ออำนาจรัฐ หรือจากการข่มขู่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทั้งที่เป็นทหารและตำรวจ

สังคมที่เคยเป็น "สังคมพลเรือน" หรือ "civil society" ก็กลายเป็นสังคมทหาร การใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกเพื่อลดความอึดอัดกดดันก็ทำไม่ได้ ทุกคนต้องอดกลั้น

ประชาชนกลัวรัฐบาลหรือรัฐบาลกลัวประชาชน ใครจะให้คำตอบที่ชัดเจนได้

บรรยากาศที่แปลกขณะนี้ก็ดี ผู้คนวางเฉยกับเหตุการณ์บ้านเมือง การโต้เถียง การเสนอความคิดความเห็นในกิจการบ้านเมืองจะมีทิศทางไปในทางใด ผู้คนให้ความสนใจน้อยลงอย่างมากเมื่อเทียบกับในอดีต

นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือหัวหน้าพรรคการเมืองจะพูดจะทำอะไรก็ไม่มีใครสนใจวิพากษ์วิจารณ์ ไม่มีใครโต้เถียง กลายเป็นสังคมเซื่องซึมหงอยเหงาอย่างที่ประเทศไทยไม่เคยเป็นมาก่อน ทั้งๆ ที่ความมีเหตุผล ความเป็นมาตรฐานเดียว ความเป็นนิติรัฐ ที่ทุกฝ่ายต่างก็เรียกร้องกันนักหนา กลับไร้ซึ่งเสียงของการโต้แย้งกันอย่างสร้างสรรค์ กลายเป็นพูดกันคนละเรื่อง บางคนพูดให้ได้ยินว่าสถานการณ์อย่างนี้จะดำรงอยู่ไม่ได้นาน

จะหงอยเหงากันไปอีกนานแค่ไหนก็ไม่รู้

ที่มา:มติชนรายวัน 10 ธันวาคม 2558
@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ทีม ดร.สมคิด เร่งสปีดฟื้นเศรษฐกิจ หมุนเงินแสนล้าน ขยับฟันเฟืองรากหญ้า !!?

โดย ทีมข่าวเศรษฐกิจ

เข้ามาทำงานแค่สัปดาห์เดียวทีมเศรษฐกิจใหม่ นำโดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เคาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล็อตแรกออกมาเรียบร้อยและเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 1 กันยายนนี้ เน้นกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน 3 เดือนสุดท้ายของปี (ตุลาคม-ธันวาคม 2558) รวม 3 มาตรการ วงเงินรวม 1.1 แสนล้านบาท

งานนี้นายสมคิดมอบให้นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ โชว์ฝีมือเสนอมาตรการอย่างเต็มที่ โดยมีโจทย์สำคัญคือเงินต้องถึงมือชาวบ้านให้เร็วที่สุด เพื่อให้หมุนลงสู่ระบบเศรษฐกิจให้มากที่สุด

- ออก 3 มาตรการกระตุ้น ศก.

จากการหารือครั้งสุดท้ายระหว่างนายสมคิดและทีมงานจากกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่าน มีข้อสรุปเกี่ยวกับ 3 มาตรการ ประกอบด้วย 1.ใช้เงิน 5.9 หมื่นล้านบาทปล่อยกู้ 0% เป็นเวลา 2 ปีให้ชาวบ้านผ่านกองทุนหมู่บ้าน แบ่งการทำงานเป็น 2 ขั้นตอนคือ ให้ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปล่อยกู้ให้กองทุนหมู่บ้านระดับเอและบีที่มีอยู่ 5.9 หมื่นหมู่บ้าน กองทุนละ 1 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 5.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งรัฐจะอุดหนุนดอกเบี้ยให้ใน 2 ปีแรก จากระยะเวลาการกู้ 7 ปี

หลังจากนั้นให้กองทุนหมู่บ้านนำเงินดังกล่าวไปปล่อยกู้ให้ประชาชนในลักษณะปลอดดอกเบี้ยเช่นกัน โดยมีเงื่อนไขการปล่อยกู้คือต้องนำไปประกอบอาชีพ และห้ามนำไปใช้หนี้เดิม (รีไฟแนนซ์) เพื่อให้เงินดังกล่าวถูกนำมาใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจตามวัตถุประสงค์ที่ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่วางไว้ ตรงนี้ใช้เงินจากรัฐน้อยมากแค่ชดเชยดอกเบี้ยปีละ 1,100 ล้านบาทเท่านั้น โดยอัตราการผ่อนชำระของประชาชนต่อเดือนน้อยมาก เนื่องจากมีการขยายระยะเวลาการกู้ออกไป 7 ปี จากเดิม 5 ปี

นายนที ขลิบทอง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ กล่าวถึงการใช้กองทุนหมู่บ้านปล่อยกู้ให้ชาวบ้านว่า มาตรการนี้จะทำให้เงินลงไปถึงประชาชนได้เร็วและสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้โดยตรง ซึ่งในการทำงานกองทุนหมู่บ้านนั้นจะมีระบบติดตามอย่างใกล้ชิด และกองทุนที่ได้รับเงินกู้ครั้งนี้เป็นระดับเอและบี ถือว่าเป็นกองทุนที่มีผลการดำเนินงานค่อนข้างดี ที่ผ่านมากองทุนเหล่านี้ก็ทำดีมาโดยตลอด ดังนั้นกองทุนต้องรักษาชื่อเสียงและผลงานตัวเองไว้ อย่างไรก็ตาม หากกองทุนไหนมีปัญหาจะถูกระงับการเบิกจ่ายเงินทันที และในการปล่อยกู้กองทุนจะมีระบบในการดูแลกันเอง ตรงนี้จะช่วยป้องกันหนี้เสียที่จะเกิดขึ้นได้

- เงินกองทุนฯบาทแรกถึงมือ ปชช.กันยาฯนี้

นายนทีกล่าวต่อว่า หากนโยบายผ่าน ครม. วันที่ 1 กันยายนนี้ จะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ที่มีนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานทันที คาดว่าเงินบาทแรกจะลงไปถึงประชาชนได้ภายในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งขณะนี้มีการเตรียมพร้อมขั้นตอนไว้ส่วนหนึ่งแล้ว

มาตรการกระตุ้นที่ 2 วงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท เป็นของกระทรวงมหาดไทย ที่จะจัดสรรเงินให้เปล่าตำบลละ 5 ล้านบาท จำนวนกว่า 7 พันตำบล เพื่อนำไปจ้างงานในชนบท ตามโครงการที่แต่ละตำบลจะเสนอมาไม่ว่าจะเป็นซ่อม-สร้าง ถนน สระน้ำ โรงเรียน ศูนย์ราชการ โดยงบส่วนนี้สำนักงบประมาณยืนยันว่ามีเงินพร้อมแล้ว ซึ่งนำมาจากงบกลางที่ยังมีอยู่ 5 หมื่นล้านบาท

ส่วนมาตรการที่ 3 คือ เร่งรัดเบิกจ่ายโครงการลงทุนขนาดเล็กวงเงินลงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท ในงบประมาณประจำปี 2559 ให้ได้ภายใน 3 เดือนสุดท้ายของปี 2558 เท่าที่ดูวงเงินอย่างละเอียดพบว่ามีงบอยู่ 1.6 หมื่นล้านบาท การเร่งรัดงบลงทุนขนาดเล็ก เพื่อผลประโยชน์ของผู้รับเหมารายเล็กๆ ที่คาดว่าจะมีการนำเงินดังกล่าวไปจ้างงานหรือใช้จ่ายในพื้นที่

- คลังมั่นใจกระตุ้นศก.ปีนี้โตได้3%

จาก 3 มาตรการที่ออกมากระทรวงการคลังประเมินผลดีต่อเศรษฐกิจถึง 0.4% น่าจะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไทยในปีนี้ โตได้ 3% อย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า การใส่เงินลงไปยังภาคประชาชนเป็นหลักการเศรษฐศาสตร์ทั่วไปว่าประชาชนที่มีรายได้น้อยจะมีพลังในการใช้เงินสูงดังนั้นการใช้กลไกของกองทุนหมู่บ้านและการเร่งใช้งบลงทุนรัฐโดยเฉพาะโครงการขนาดเล็กนั้นจะช่วยทำให้เงินไปถึงประชาชนในต่างจังหวัดได้เร็วขึ้น

เงินที่ถูกใส่มือไปยังประชาชนจะหมุนเข้าระบบเศรษฐกิจอย่างน้อย2 เท่าขึ้นไป หากเม็ดเงินมีขนาดใหญ่พอน่าจะมาช่วยชดเชยผลกระทบจากการส่งออกที่คาดว่าปีนี้จะติดลบ 4% นอกจากมาตรการระยะสั้นจะออกมาแล้ว รัฐบาลมีแผนที่จะกระตุ้นการลงทุนเอกชนและมีมาตรการดูแลเอสเอ็มอีที่จะออกตามมาอีก ดังนั้นน่าจะสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยปีนี้โตได้ 3% ตามเป้าหมายของ สศค.ที่วางไว้

นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวให้ความเห็นต่อมาตรการกระตุ้นระยะสั้นของทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ว่า เป็นการดำเนินการอย่างที่เคยให้ความเห็นไว้ก่อนหน้าว่าภาวะเศรษฐกิจที่กำลังซบเซาในช่วงนี้ควรต้องเร่งอัดฉีดเม็ดเงินไปยังรากหญ้าเพื่อกระตุ้นการบริโภค เพราะเศรษฐกิจในต่างจังหวัดเริ่มมีปัญหาจากราคาผลผลิตเกษตรตกต่ำ ดังนั้นมาตรการของเศรษฐกิจชุดใหม่ที่กำลังออกมาน่าจะทำให้เกิดความกระชุ่มกระชวย ผู้ผลิตที่ไม่กล้าทำสินค้ามาขายจะกล้าตัดสินใจมากขึ้น แต่ต้องติดตามว่าการเบิกจ่ายเม็ดเงินนั้นจะทำได้รวดเร็วตามแผนที่วางไว้ และเงินถึงประชาชนได้ 100% หรือไม่

- ทีดีอาร์ไอเชียร์แต่ให้ระวังหนี้ครัวเรือน

ทั้งนี้การปล่อยกู้ให้ประชาชนผ่านกองทุนหมู่บ้านในลักษณะปลอดดอก2 ปี น่าจะทำให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะสั้นๆ ทำให้คนในต่างจังหวัดมีเงินใช้จ่ายมากขึ้น แต่ต้องติดตามเรื่องภาระหนี้ครัวเรือนที่อาจสูงขึ้น พร้อมทั้งต้องติดตามว่าหลังจาก 2 ปี การจ่ายดอกเบี้ยและจ่ายคืนต้นเงินจะเป็นอย่างไร หากนำเงินไปจับจ่ายหมดจะเอาเงินจากไหนมาใช้หนี้คืน

ส่วนการให้เงินกระทรวงมหาดไทยไปทำโครงการซ่อมสร้าง3.5 หมื่นล้านบาทนั้น ติดใจอยู่นิดเดียวว่าทำไมต้องเป็นมหาดไทย เพราะมองว่าเงินตรงนี้น่าจะนำไปทำประโยชน์ในด้านการบริหารจัดการน้ำ อาทิ กรณีสร้างฝายหรืออ่างเก็บน้ำขนาดเล็กเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม ดังนั้น อยากให้กระทรวงมหาดไทยที่ได้รับเงินไปเปิดใจกว้างคุยประสานกับหน่วยงานที่ทำเรื่องน้ำอยู่แล้วอย่างมูลนิธิปิดทองหลังพระและมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง เพื่อนำเงินที่ได้รับมานั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สำหรับเรื่องการเร่งรัดเบิกจ่ายงบต่ำกว่า 1 ล้านบานนั้น มองว่าเม็ดเงินน้อยไปแค่ 1.6 หมื่นล้านบาท อาจช่วยเศรษฐกิจได้ไม่มาก

นอกจากมาตรการกระตุ้นรากหญ้าแล้วสิ่งที่อยากเห็นทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ทำต่อคือการวางพื้นฐานเศรษฐกิจในระยะยาวทั้งการสานต่อโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของทีมเศรษฐกิจหม่อมอุ๋ย (ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี) รวมถึงการปฏิรูปภาษี ที่นายสมหมาย ภาษี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทำไว้ค่อนข้างดีแล้ว

ก้าวแรกของการทำงานของ "ทีมสมคิด" เริ่มขึ้นแล้ว หลังจากนี้คงต้องติดตามมาตรการระยะ 2 และ 3 ที่จะตามมา ทั้งเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาค ฟื้นโอท็อป ปัดฝุ่นคลัสเตอร์ พัฒนาเอสเอ็มอี สร้างผลประกอบการใหม่ ผลักดันการลงทุนขนาดใหญ่ แม้จะเป็นเรื่องที่เคยได้ยินมานานกว่า 10 ปี แต่เมื่อถูกนำมารีแบรนด์ใหม่อีกรอบก็เป็นเรื่องที่น่าจับตาว่าจะเดินหน้าไปได้ไกลแค่ไหน

มีเสียงกระซิบมาจากเอกชนว่ามาตรการที่เริ่มแย้มๆ ออกมาบ้างแล้วนั้นไม่ใช่เพิ่งมาคิด หรือเพิ่งมาทำ แต่มีการซุ่มทำและถูกนำไปขายแนวคิดทั้งกับภาคเอกชน นักวิชาการ มากว่า 1 เดือนแล้ว รวมถึงมีการนำไปหารือกับกระทรวงมหาดไทยที่คุม อบต. อบจ.ให้เข้ามาร่วมทำงานนี้

แว่วๆ มาว่าทั้งแพคเกจใหญ่จะมีเม็ดเงินหมุนในระบบเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 3-4 แสนล้านบาท น่าจะเพียงพอที่จะพยุงเศรษฐกิจแบบไม่ให้เสียชื่อ "ทีมสมคิด"

หลังจากนี้ เหลือเพียงรอดูผล จะหมู่หรือจ่า

ที่มา : นสพ.มติชน
////////////////////////////////////////////////