โดย.อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์
ผู้เขียนทำงานกับ กสทช. ในฐานะ “อนุกรรมการ” ที่เป็นบุคคลภายนอก จำนวน 2 คณะ คือ
- คณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารคลื่นความถี่ย่าน ๒.๑ GHzเพื่อรองรับเทคโนโลยี IMT-2000 หรือ IMT Advanced
- คณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารคลื่นความถี่วิทยุคมนาคม ระบบเซลลูล่า Digital PCN (Personal Communication Network) 1800 MHz
มุมมองทั้งหมดของการประเมินผลการทำงาน กสทช. อยู่ในฐานะ “บุคคลภายนอก” ที่เคยทำงานร่วมกับสำนักงาน กสทช. และมีจุดประสงค์เพื่อแนะแนวทางการทำงานของ กสทช. ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเป็นสำคัญ
กรอบการประเมิน
ผู้เขียนใช้กรอบการประเมินผลงานของ กสทช. โดยอิงกับ
แผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕ – ๒๕๕๙) (
ดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา) ที่ประกาศโดย กสทช. เอง ในแผนการนี้แบ่งภาระงานของ กสทช. ฝั่งโทรคมนาคม ออกเป็นส่วนๆ ทั้งหมด 6 ข้อ (หัวข้อ 3 พันธกิจ ในแผนงาน) ซึ่งผู้เขียนคิดว่าครอบคลุมเพียงพอ และสามารถใช้เป็นกรอบในการประเมิน กสทช. ตามหมวดงานเหล่านี้ได้ ถึงแม้แผนแม่บทกิจการโทรคมนาคมจะเป็นแผนงานในระยะยาว (5 ปี) และใช้ตัวชี้วัดรวมสำหรับแผนงานระยะยาว ซึ่งมีระยะเวลาต่างไปจากการประเมินผลงาน 1 ปีแรก แต่ผู้เขียนประเมินจาก “แนวทาง” เป็นหลักมากกว่ายึดตัวเลขชี้วัดอย่างตายตัว
หมวดงานทั้ง 6 ประเภท ได้แก่
- การอนุญาตและการกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมเพื่อพัฒนาและส่งเสริมการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบกิจการ
- การกำหนดหลักเกณฑ์ แนวทาง และเงื่อนไขการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และการประกอบกิจการ
- การใช้ทรัพยากรโทรคมนาคมให้เป็นไปอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด
- การจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม
- การคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมให้ได้ใช้บริการที่มีคุณภาพ ในราคาที่เป็นธรรม และได้รับความเป็นธรรมในการใช้บริการ
- การเตรียมความพร้อมในกิจการโทรคมนาคมให้สามารถแข่งขันในระดับสากล
และผู้เขียนได้เพิ่มหัวข้อการประเมินที่ 7. เรื่อง “ประสิทธิภาพในการดำเนินงานของ กสทช.” เข้ามาอีกหนึ่งข้อด้วย
1. การแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม
เป้าหมาย-ตัวชี้วัดของ กสทช.
- เพิ่มระดับการแข่งขันของกิจการโทรคมนาคม
- ลดอัตราค่าบริการโทรคมนาคม
ผลงาน 1 ปีแรก
ประเด็นเรื่องระดับการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม
ในแง่ “ระดับการแข่งขัน” ของกิจการโทรคมนาคม ยังมีจำนวนผู้ประกอบการรายใหญ่เพียง 3 รายเท่าเดิม แต่ในประเด็นนี้คงโทษ กสทช. อย่างเดียวไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของทุน โอกาสธุรกิจ และสภาพของตลาดโทรคมนาคมในประเทศไทยเองด้วย ซึ่งด้วยโครงสร้างของตลาดโทรคมนาคมไทย โดยเฉพาะโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้นถือว่าเป็นตลาดที่อิ่มตัว (saturated) มากแล้ว การจะหาผู้เล่นรายใหญ่รายใหม่เข้ามาเป็นเรื่องยากมาก และ กสทช. ควรไปส่งเสริมการแข่งขันในระดับของผู้ให้บริการรายย่อยที่ไม่มีโครงข่ายเอง (MVNO หรือ mobile virtual network operator) มากกว่า
กสทช. มีความพยายามผลักดัน MVNO โดยระบุไว้ในกฎเกณฑ์การประมูลคลื่น 2.1GHz อยู่แล้ว เพียงแต่การประมูลเพิ่งสิ้นสุดและเพิ่งอนุมัติใบอนุญาต ก็ต้องรอดูสถานการณ์ของการแข่งขันในตลาด MVNO ต่อไปในปี 2556
ในการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการเดิม 3 ราย ยังมีมิติอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น
- การใช้สาธารณูปโภคพื้นฐานของโครงข่ายร่วมกัน (infrastructure sharing) ทาง กสทช. มีความพยายามเรื่องนี้โดยออกประกาศแล้ว แต่ในทางปฏิบัติต้องรอดูว่าผู้ประกอบการปฏิบัติตามมากน้อยแค่ไหน และอาจมีข้ออ้างที่นอกเหนือจากในประกาศเพื่อกีดกันคู่แข่งมาใช้สาธารณูปโภคร่วม เช่น ไฟฟ้าไม่พอ เสารับน้ำหนักไม่ได้ ฯลฯ ซึ่งจะเป็นหน้าที่ของ กสทช. ในการเจรจาไกล่เกลี่ยหาข้อยุติต่อไป
- การย้ายเครือข่ายของผู้บริโภคด้วย MNP หรือ mobile number portability (ย้ายค่ายเบอร์เดิม) ถึงแม้จะทำได้จริง แต่ยังมีปัญหาในทางปฏิบัติที่ผู้ให้บริการพยายามกีดกันการย้ายค่ายของลูกค้า ด้วยการจำกัดจำนวนเบอร์ที่สามารถย้ายได้ต่อวัน ซึ่ง กสทช. เองต้องลงมาแก้ไขเรื่องนี้อย่างจริงจัง
อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยยังมีลักษณะพิเศษเรื่อง “สัมปทาน” ระหว่างเอกชนกับรัฐวิสหากิจ 2 ราย ซึ่งมีประเด็นที่น่าจับตา 2 เรื่อง
- ถึงแม้สัญญาระหว่าง CAT กับ TRUE ในกรณี TrueMove H ยังไม่ได้ข้อยุติ (ประเด็นนี้มีองค์กรเกี่ยวข้องหลายองค์กร ไม่ใช่เฉพาะ กสทช. เพียงรายเดียว)
- การสิ้นสุดสัญญาสัมปทานคลื่น 1800MHz ระหว่าง CAT กับ TrueMove และ GSM1800 ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในเรื่องการคืนคลื่น และการเยียวยาผู้บริโภค
ประเด็นเรื่องการลดค่าบริการโทรคมนาคม
- อัตราค่าบริการโทรคมนาคมบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 2G/3G บนคลื่นเดิม แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลง
- กสทช. มีความพยายามลดเพดานราคาของค่าบริการบนคลื่น 2.1GHz แต่ยังไม่เห็นผล เนื่องจากการประมูล-ออกใบอนุญาตเพิ่งได้ข้อยุติ
- บรอดแบนด์แบบมีสาย (ADSL) ยังแข่งกันที่ระดับความเร็ว แต่ไม่ลดราคาขั้นต่ำ 590 บาทต่อเดือนลง ทำให้ยังมีปัญหาเรื่องการเข้าถึง กสทช. ควรลงมากระตุ้นตลาดให้เอกชนจัดแพกเกจบริการที่ราคาถูกลงกว่าเดิม แต่อาจได้ความเร็วไม่สูงนักแทน
2. การออกใบอนุญาต-จัดสรรคลื่นความถี่
เป้าหมาย-ตัวชี้วัดของ กสทช.
- จำนวนผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น บนพื้นฐานของการแข่งขันที่เท่าเทียม
- มีประเภทของบริการโทรคมนาคมที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ มากขึ้น
- มีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคมมากขึ้น
ผลงาน 1 ปีแรก
ประเด็นเรื่องจำนวนผู้ประกอบการ และพื้นฐานการแข่งขันที่เท่าเทียม เขียนไปบางส่วนแล้วในหัวข้อที่ 1. เรื่องระดับการแข่งขัน นอกจากนี้ยังมีเรื่องกฎเกณฑ์การประกอบธุรกิจขององค์กรต่างด้าว ซึ่งมีผลกระทบต่อการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการจากภายนอกประเทศอีกด้วย
ในแง่ “ประเภทของบริการโทรคมนาคมที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ” อาจถือว่าการประมูลคลื่น 2.1GHz สำหรับบริการ 3G พอเป็น “เทคโนโลยีใหม่ๆ” ได้
ในแง่ของการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่มากขึ้น ถือว่าการประมูลคลื่น 2.1GHz เข้าข่ายนี้ ถึงแม้ว่า กสทช. จะประสบปัญหาและกระแสคัดค้านอย่างมากมายระหว่างการประมูล แต่สุดท้ายก็สามารถฝ่าด่านต่างๆ และจัดสรรคลื่นได้สำเร็จ ซึ่งก็ถือเป็นความสำเร็จตามเป้าหมายหนึ่งที่วางแผนไว้
3. การใช้ทรัพยากรโทรคมนาคมอย่างมีประสิทธิภาพ
เป้าหมาย-ตัวชี้วัดของ กสทช.
- ต้นทุนของผู้ประกอบการลดลง
- มีการใช้โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นร่วมกันสำหรับผู้ประกอบกิจการมากขึ้น
- มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการโทรคมนาคม
- มีแผนหรือมาตรการร่วมกับผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม เพื่อรองรับเหตุฉุกเฉินและภัยพิบัติ
ผลงาน 1 ปีแรก
ประเด็นเรื่องต้นทุนของผู้ประกอบการลดลง ถือว่าการออก “ใบอนุญาต” โทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่น 2.1GHz ช่วยให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนลดลง เนื่องจากต้องหักส่วนแบ่งรายได้ส่ง กสทช. น้อยลงกว่าระบบสัญญาสัมปทานเดิมมาก ในแง่นี้ถือว่าประสบความสำเร็จ
ประเด็นเรื่องการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน เขียนไปแล้วในหัวข้อที่ 1.
ประเด็นเรื่องการทำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้งาน
- เราอาจถือว่า 3G เป็นเทคโนโลยีใหม่ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในประเทศไทยได้
- โครงการอื่นๆ ที่ริเริ่มไว้ในสมัย กทช. เช่น Broadband Wireless Access (BWA) ยังไม่เห็นผลงาน
- โครงการที่ควรผลักดันอย่าง Fiber Optics ยังไม่เห็นความชัดเจน
ประเด็นเรื่องแผนรับมือเหตุฉุกเฉิน-ภัยพิบัติ ยังไม่เห็นผลงาน
- โครงการหมายเลขสายด่วนกลางสำหรับเหตุฉุกเฉิน (เหมือน 911 ในต่างประเทศ) ยังไม่มีความคืบหน้า
- แนวคิดการแชร์โครงข่ายโทรศัพท์ในช่วงเกิดภัยพิบัติ ยังไม่เห็นความชัดเจน
- แนวคิดเรื่องคลื่นความถี่สำหรับสาธารณภัย ยังไม่เห็นความชัดเจน
4. บริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง
เป้าหมาย-ตัวชี้วัดของ กสทช. (รอบ 5 ปี)
- มีแผนการบริการ USO (universal service obligation) ภายใน 1 ปี (นับจากแผนแม่บทประกาศใช้ ไม่ใช่นับจากอายุการทำงานของ กสทช.)
- บริการเสียง ครอบคลุม 95% ของประชากร
- บริการอินเทอร์เน็ตความเร็ว 2Mbps ครอบคลุม 80% ของประชากร
ผลงาน 1 ปีแรก
การประเมินผลในเชิงตัวเลขอาจยังทำไม่ได้ในขณะนี้ แต่ในภาพรวมแล้ว กิจกรรมด้าน universal service obligation ของ กสทช. ยังถือว่าอยู่ในเชิงตั้งรับ เน้นการ “ให้ทุน” จากกองทุน USO ที่มีเงินจำนวนมหาศาลเป็นหลัก เช่น การให้เงินสนับสนุนโครงการ Wi-Fi ฟรีของกระทรวงไอซีที มูลค่า 950 ล้านบาท เป็นต้น
การให้ทุนสนับสนุนโครงการ USO เพื่อขยายการเข้าถึงเทคโนโลยีการสื่อสารเป็นเรื่องที่ดี แต่ กสทช. ควรระวังเรื่องยุทธศาสตร์นี้ในระยะยาวว่าจะกลายเป็นเพียง “องค์กรให้ทุน” แหล่งใหม่หรือไม่ และ กสทช. เองน่าจะมีโครงการสนับสนุน USO ในเชิงรุกมากขึ้น นอกเหนือไปจากการให้ทุนองค์กรต่างๆ ที่ดำเนินการอยู่แล้ว
5. การคุ้มครองผู้บริโภค
เป้าหมาย-ตัวชี้วัดของ กสทช.
- จัดทำหลักเกณฑ์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคให้เสร็จภายใน 2 ปี
- จัดทำหลักเกณฑ์การควบคุมคุณภาพบริการประเภทข้อมูลให้เสร็จภายใน 2 ปี
- ปรับปรุงกลไกระงับข้อพิพาทที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
- ผู้บริโภคมีความตระหนักรู้มากขึ้นถึงสิทธิพื้นฐานของผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม
ผลงาน 1 ปีแรก
ตัวชี้วัดในเรื่องแผนกำหนดระยะเวลา 2 ปี จึงประเมินได้ลำบากในขณะนี้ ส่วนการประเมินความตระหนักรู้ของผู้บริโภคก็ทำได้ยากเช่นกัน ในหัวข้อนี้จึงใช้การประเมินจากสถานการณ์ของผู้บริโภคในรอบปีแทน
สถานการณ์ด้านผู้บริโภคในปี 2555 เกิดปัญหาเครือข่ายล่มบ่อยครั้ง (โดยเฉพาะจาก DTAC) ซึ่ง กสทช. เองก็ทำหน้าที่ไม่ได้มากนักนอกจากสั่งปรับตามฐานความผิด ส่วนประเด็นปัญหาด้านผู้บริโภคก็ยังเต็มไปด้วยปัญหาเดิมๆ เช่น SMS ขยะ, คิดเงินผิด, roaming เน็ตรั่วต่างประเทศ, คุณภาพสัญญาณ, การจำกัดจำนวน number portability, บัตรเติมเงินหมดอายุ, ตู้เติมเงินคิดค่าบริการสูง ฯลฯ ในภาพรวมแล้ว กสทช. ยังไม่สามารถนำปัญหาซ้ำซากเหล่านี้แปรเปลี่ยนเป็นการแก้ไขเชิงนโยบายได้เลย ทำให้ปัญหาผู้บริโภคยังเกิดซ้ำซากอยู่ตลอด
ส่วนการรับเรื่องร้องเรียน-ระงับข้อพิพาทก็ยังล่าช้าและเต็มไปด้วยกระบวนการเอกสาร ซึ่งปัญหาด้านผู้บริโภคนี้เป็นสิ่งที่ กสทช. ต้องปรับปรุงอย่างมากในปีหน้า
ข้อมูลเพิ่มเติม ความเคลื่อนไหวของ กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ในเดือนธันวาคม 2555
เว็บไซต์ กสทช. ด้านอาเซียน
6. อาเซียน-ความร่วมมือระหว่างประเทศ
เป้าหมาย-ตัวชี้วัดของ กสทช.
- มีมาตรการรองรับด้านกิจการโทรคมนาคม สำหรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
- พัฒนา ปรับปรุง ออกกฎระเบียบด้านโทรคมนาคมให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ
ผลงาน 1 ปีแรก
ประเด็นด้านกฎระเบียบให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ ผู้เขียนไม่มีข้อมูลด้านนี้ จึงไม่ขอประเมิน
ผู้เขียนมีข้อเสนอ 2 ประการเพื่อยกระดับกิจการโทรคมนาคมของไทยในมิติของอาเซียน ดังนี้
- ปรับปรุงและแก้ไขอุปสรรคของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมอาเซียน ต่อการเข้าทำธุรกิจในประเทศไทย เช่น กฎเกณฑ์ต่างด้าว หรือ เอกสารบนเว็บไซต์ กสทช. ควรมีภาษาอังกฤษกำกับให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
- กสทช. ควรจับมือกับหน่วยงานด้านการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมในอาเซียน ผลักดันค่าบริการโรมมิ่งในอาเซียน (ASEAN Roaming) ให้ถูกลง เพื่อเพิ่มระดับการใช้งานบริการโทรคมนาคมระหว่างการค้าขายในอาเซียน
7. ประสิทธิภาพในการทำงานของ กสทช.
ผู้เขียนขอแบ่งประเด็นออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้
การเข้าถึงประชาชน
- กระบวนการรับฟังความเห็นต่อร่างประกาศ (public hearing) ที่ผ่านมายังมีลักษณะเป็นการ “ทำเพื่อให้ครบกระบวนการของกฎหมาย” มากกว่าการรับฟังความเห็นจริงๆ เพราะ กสทช. ไม่มีกระบวนการรวบรวมข้อมูล เปิดเผย และอธิบายประเด็นว่าจุดไหนรับฟังและแก้ไข-จุดไหนไม่แก้ไข อย่างเปิดเผยและเข้าถึงได้มากนัก การออกประกาศถือเป็นงานสำคัญของ กสทช. และควรให้น้ำหนักกับเรื่องนี้มาก
- กสทช. ยังขาดฐานข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบาย ที่มีความแม่นยำและทันสมัย
- การประชาสัมพันธ์ของ กสทช. ในมิติด้านผู้บริโภคยังน้อยมาก ส่วนใหญ่ยังมีเฉพาะการประชาสัมพันธ์ “ภาพลักษณ์องค์กร” ของ กสทช. เท่านั้น ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากนัก
- เว็บไซต์ กสทช. เอง ก็เข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ยาก ถึงแม้จะมีการปรับปรุงระบบมาแล้ว 1 ครั้ง
งบประมาณ-บุคลากร
- งบประชาสัมพันธ์และการจัดกิจกรรมของ กสทช. มากเกินไปหรือไม่?
- จำนวนบุคลากรของ กสทช. ต่อผลลัพธ์ของงานที่ออกมา มีสัดส่วนมากเกินไปหรือไม่? (เจ้าหน้าที่ประมาณ 1,000 คน ข้อมูลเมื่อสิ้นปี 2554)
- ประสิทธิภาพในการทำงานของเจ้าหน้าที่ มีการประเมินอย่างไร?
- จำนวนคณะอนุกรรมการที่ กสทช. แต่งตั้ง มีมากเกินไปหรือไม่ และมีการเรียกประชุมบ่อยครั้งเพียงใด?
ข้อมูลประกอบ
รายจ่ายของ กสทช. ประจำปี 2555 (นับเดือนมกราคม-พฤศจิกายน) ใช้ตัวเลขโดยประมาณ (ที่มา
กสทช.)
- รายจ่ายบุคลากร 960 ล้านบาท
- รายจ่ายดำเนินงาน 1,416 ล้านบาท
- รายจ่ายสิ่งก่อสร้าง-ครุภัณฑ์ 93 ล้านบาท
- เงินสมทบกองทุนฯ 175 ล้านบาท
- รวม 2,690 ล้านบาท
สรุป
การดำเนินงานของ กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม ในปี 2555 มีความเคลื่อนไหวพอสมควร โดยเฉพาะการประมูลคลื่น 2.1GHz ที่สามารถดำเนินไปได้ลุล่วงตามแผน มีการออกประกาศที่สำคัญในหลายเรื่อง แต่ กสทช. ยังไม่ค่อยมีผลงานในมิติด้านอื่นๆ มากนัก โดยเฉพาะงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคที่เรียกได้ว่า “สอบตก” ในปี 2555 และงานด้าน USO (บริการโทรคมนาคมทั่วถึง) ที่ไม่โดดเด่นอย่างที่ควรจะเป็น
ในภาพรวมแล้ว กสทช. ยังสมควรถูกตั้งคำถามเรื่องประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และงบประมาณที่ใช้ไปตลอดปี โดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์การประมูล 3G และกิจกรรมบางประเภทที่อาจไม่คุ้มค่างบประมาณมากนัก
ข้อเสนอแนะต่อ กสทช.
ข้อเสนอเร่งด่วนสำหรับปี 2556
- กสทช. ต้องรีบเตรียมพร้อมสำหรับปัญหาคลื่น 1.8GHz หมดสัญญาสัมปทานในวันที่ 15 กันยายน 2556
- กสทช. ต้องรีบกำกับดูแลบริการประเภทข้อมูล (data service) ทั้งในแง่ราคาและคุณภาพการให้บริการ ทั้งบนคลื่น 2.1GHz และคลื่นความถี่เดิม
- กสทช. ต้องเร่งแก้ปัญหาด้านผู้บริโภคอย่างเป็นระบบและจริงจัง
- กสทช. ต้องใช้นโยบายเชิงรุกกับโครงการด้าน USO แทนนโยบายเชิงรับอย่างที่ทำอยู่
- ควรเจรจาทำระบบ ASEAN Roaming ที่ราคาถูกทั่วทั้งภูมิภาค
- ปรับปรุงเว็บไซต์ กสทช. ให้ใช้งานได้ง่าย มีข้อมูลทันสมัยตลอดเวลา
ข้อเสนอระยะยาว
- กสทช. ควรจัดทำฐานข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจทางนโยบาย และเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ
- ประเมิน ตรวจสอบ ปรับปรุง ประสิทธิภาพในการทำงานของสำนักงาน กสทช. ให้มีความคล่องตัว รวดเร็ว ฉับไว มากขึ้น
- ใช้งบประมาณกับการประชาสัมพันธ์อย่างชาญฉลาด ไม่เน้นไปที่การจัดกิจกรรมระยะสั้นหรือการซื้อพื้นที่สื่ออย่างที่ทำอยู่ในปัจจุบัน
- ปรับปรุงกระบวนการรับฟังความคิดเห็น (public hearing) ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
เอกสารประกอบการบรรยายจากงานเสวนา
ข่าวที่ปรากฏในหน้าสื่อ
ที่มา.Siam Intelligence.
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////