โดย เกษียร เตชะพีระ
ผลพวงอย่างหนึ่งของวิกฤตการเมืองไทยรอบ 5 ปีที่ผ่านมาคือ นักคิด นักเขียน นักข่าว นักวิจัย นักวิชาการต่างชาติทั่วโลกหันมาใส่ใจติดตามค้นคว้าศึกษาวิเคราะห์เจาะลึกวิพากษ์วิจารณ์สังคมการเมืองไทยอย่างเข้มข้นถี่ยิบชนิดที่ไม่เคยเป็นมานานนับแต่หลังรัฐประหารของ รสช. เมื่อปี พ.ศ.2534 และการลุกฮือพฤษภาประชาธิปไตยเมื่อปี พ.ศ.2535
เหมือนเมืองไทยถูกจีน แขก ฝรั่ง เกาหลี ญี่ปุ่น นานาชาติช่วยกันจับเปลื้องถนิมพิมพาภรณ์ล่อนจ้อน ยกขึ้นส่องกับแดด พลิกตะแคงกลับตาลปัตรหัวเท้าไปมา พลางหยิบแว่นขยายสอดแยงเพ่งสำรวจตรวจสอบรอบด้านทุกซอกมุมขุมขนรูเหงื่อก็มิปาน
มันย่อมทำให้อีลีตไทยผู้อาจแอบซุกอะไรต่อมิอะไรไว้ตามซอกหลืบลับตาคนนอกจอทีวีหรือบนรางรถไฟฟ้าบีทีเอสก็ได้ใครจะไปรู้ - พากันเสียวไส้พิกล...แหะๆ
ในบรรดาฝรั่งช่างสอดรู้สอดเห็นเหล่านี้ โจชัว เคอร์แลนท์ซิค (Joshua Kurlantzick) ชาวอเมริกันเป็นคนหนึ่งที่น่าสนใจ
หลังจบรัฐศาสตร์จากวิทยาลัย Haverford เขาทำงานเป็นนักเขียนนักข่าวของนิตยสารอเมริกันชื่อดังหลายฉบับ เช่น Time, The New Republic, American Prospect, Mother Jones, Current History เป็นต้น มีผลงานดีเด่นด้านข่าวเอเชียจนได้ทุนศึกษาฝึกอบรมและถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลต่างๆ ก่อนจะผันตัวเองมาเป็นนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญการเมืองและเศรษฐกิจเอเชียอาคเนย์รวมทั้งความสัมพันธ์ของภูมิภาคนี้กับจีน สังกัดสถาบันศึกษาวิจัยนโยบายชั้นนำของสหรัฐต่างๆ เช่น University of Southern California Center on Public Diplomacy, Pacific Council on International Policy, Carnegie Endowment for International Peace และ Council on Foreign Relations
ในปัจจุบันหนังสือของโจชัวที่ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเยล ได้แก่ Charm Offensive : How China s Soft Power Is Transforming the World (ค.ศ.2007)
หลังรัฐประหารของ คปค. เมื่อ 19 กันยายน พ.ศ.2549 เป็นต้นมา โจชัวก็หันมาจับจ้องมองการเมืองไทยและเริ่มผลิตข้อเขียนบทวิเคราะห์ทยอยออกมาต่อเนื่องเป็นชุดทางสื่อสิ่งพิมพ์ เกี่ยวกับรัฐบาลทักษิณ, รัฐประหาร คปค., ขบวนการเสื้อเหลือง, ขบวนการเสื้อแดง, สภาพเศรษฐกิจสังคมและสถาบันหลักต่างๆ ของไทย
ปลายเดือนพฤษภาคมศกนี้ เขาตีพิมพ์บทความชื่อ " Democracy in Danger " (ประชาธิปไตยในอันตราย) ลงพิมพ์ในนิตยสารการเมืองรายเดือนเก่าแก่ของอังกฤษชื่อ Prospect Magazine ฉบับที่ 171 ประจำเดือนมิถุนายน ค.ศ.2010(www.prospectmagazine.co.uk/2010/05/democracy-in-danger/)
ข้อน่าสนใจอยู่ตรงโจชัวเลือกหยิบวิกฤตการเมืองไทยเป็นตัวแบบวิเคราะห์เพื่อชี้ว่าระบอบประชาธิปไตยหลายประเทศของโลกก็กำลังเผชิญอันตรายทำนองเดียวกัน อันเป็นกระแสที่นักรัฐศาสตร์เรียกโดยรวมว่า " Reversal of democracy "(ประชาธิปไตยพลิกกลับ) นับแต่ราวปี ค.ศ.2001 เป็นต้นมา
ดังสังเกตุได้ว่าผู้นำรัฐบาลจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ทยอยกันถูกยึดอำนาจด้วยวิถีทางนอกรัฐธรรมนูญถี่ขึ้นเรื่อยมาเป็นลำดับ เช่น ประธานาธิบดีเอสตราดาของฟิลิปปินส์ (ค.ศ.2001), นายกฯทักษิณของไทยและนายกฯการาเซของฟิจิ (ค.ศ.2006), นายกฯหญิงเบกุม คาลีดา เซีย ของบังกลาเทศ (ค.ศ.2007), ประธานาธิบดีราวาโลมานานาของมาดากัสการ์และประธานาธิบดีเซลายาของฮอนดูรัส (ค.ศ.2009) เป็นต้น
จน Freedom House อันเป็นองค์กร NGO ในอเมริกาที่คอยติดตามสำรวจตรวจสอบออกรายงานรายปีเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพและความเป็นประชาธิปไตยของระบอบการเมืองทั่วโลกแจ้งล่าสุดว่าเสรีภาพในโลกตกต่ำติดต่อกันมา 4 ปีแล้ว (ค.ศ.2006-2009) นับเป็นช่วงโน้มต่ำของเสรีภาพในโลกที่ยาวนานที่สุดในรอบเกือบ 40 ปีที่ Freedom House ทำรายงานสำรวจข้อมูลเรื่องนี้มา (www.freedomhouse. org/template.cfm?page=505)
นับเป็นปรากฏการณ์กระแสทวนสวน คลื่นประชาธิปไตยระลอกที่ 3 ซึ่ง Samuel P. Huntington นักรัฐศาสตร์อเมริกันผู้ล่วงลับ (ค.ศ.1927-2008) ระบุว่าเกิดขึ้นกว้างขวางทั่วโลกนับแต่ปี ค.ศ.1974 เป็นต้นมา ในหนังสือ The Third Wave : Democratization in the Late Twentieth Century (ค.ศ.1991)
-โจชัว เคอร์แลนท์ซิค วิเคราะห์ว่าที่ประชาธิปไตยตกอยู่ในอันตรายปัจจุบันนี้นั้น มูลเหตุเกิดจาก : -
1) ผู้นำจากการเลือกตั้งกลายเป็นอำนาจนิยม (ผมขออนุญาตตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่าแนวนโยบายโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่ทางเศรษฐกิจและแนวนโยบายประชานิยมอันเป็นปฏิกิริยาตอบสนองทางการเมืองของหลายรัฐบาล ต่างก็กดดันให้ฝ่ายบริหารมีลักษณะรวบอำนาจรวมศูนย์ยิ่งขึ้นทั้งคู่-ตามข้อวิเคราะห์ของนักเขียนนักกิจกรรมชาวแคนาดา Naomi Klein และศาสตราจารย์สังคมวิทยาชาวอเมริกัน SaskiaSassen)
2) สถาบันตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหารอ่อนแอ, คอร์รัปชั่นแพร่หลาย (ลองนึกถึงกลุ่มอาการอ่อนเปลี้ยระส่ำระสายของ กกต., วุฒิสภา, สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน, คณะกรรมการ ป.ป.ช. ฯลฯ ตอนปลายรัฐบาลทักษิณก็จะเห็นภาพได้)
3) ความแตกแยกขัดแย้งระหว่างคนชั้นกลางกับคนจน-คนชั้นล่าง
จะเห็นได้ว่านี่เป็นการกลับตาลปัตรสูตรสำเร็จประชาธิปไตยแต่เดิมของรัฐศาสตร์สมัยอาจารย์ปู่ Huntington เลยทีเดียว กล่าวคือ : -
-สูตรประชาธิปไตยเดิมสมัย Samuel Huntington (เผอิญสอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ของประธานคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเดลินิวส์, 12 มิ.ย. 2553 พอดี) :
-เศรษฐกิจเติบโต --> คนชั้นกลางเติบใหญ่เรืองอำนาจ --> ประชาธิปไตย
-ส่วนสูตรประชาธิปไตยในอันตรายของ Joshua Kurlantzick ที่ประมวลสรุปจากกรณีเมืองไทยและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ กลับเป็นเช่นนี้คือ :
-ความไม่มั่นใจอันเกิดจากโลกาภิวัตน์ (เช่น เศรษฐกิจพังทลายช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง) นำไปสู่
--> คนชั้นกลางหันไปเป็นอนุรักษนิยม
--> คนชั้นกลางขัดแย้งกับผู้นำอำนาจนิยมจากการเลือกตั้ง+พันธมิตรชนชั้นล่างของผู้นำนั้น
--> คนชั้นกลางหันไปสนับสนุนวิถีทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตยในการโค่นรัฐบาล
--> ประชาธิปไตยพลิกกลับ หรือเกิดระบอบประชาธิปไตยแบบที่ชนชั้นนำครอบงำ
นั่นหมายความว่า หากคนชั้นกลางกับคนชั้นล่างลงไปแตกแยกขัดแย้งกันเรื่องสิทธิประชาธิปไตยแล้ว ระบบการเมืองอาจพังทลายและประชาธิปไตยพลิกกลับได้
อนึ่ง คำว่า " คนชั้นล่างลงไป " ข้างต้นนี้ กล่าวได้ว่าหมายถึงคนกลุ่มเดียวกับที่ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรียกว่า "คนชั้นกลางระดับล่าง" , หรือที่ทีมวิจัยของ อ.อภิชาต สถิตนิรามัย แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ระบุในขั้นต้นว่าได้แก่ "ลูกจ้างและเกษตรกร มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 17,000 บาท โดยสรุปคือ เสื้อแดงไม่ใช่คนจนแต่จนกว่าเสื้อเหลือง ฐานะทางเศรษฐกิจสังคมของเสื้อเหลืองคือมีงานประจำ มีการศึกษาและฐานะทางสังคมสูงกว่า...รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 31,000 บาท" (www.prachatai3.info/journal/ 2010/06/29973)
หรือถ้าให้ผมเปรียบเทียบ : - ขณะที่สถาบันหลักทั้ง 3 ของคนชั้นกลางระดับบนและกลางได้แก่ 1) ธนาคารพาณิชย์ (แหล่งสินเชื่อเพื่อการลงทุนและการบริโภค), 2) ตลาดหุ้น (แหล่งเสี่ยงแล้วอาจรวยจากการเก็งกำไร) และ 3) ช็อปปิ้ง มอลล์ (แหล่งบริโภคนิยม) - ซึ่งล้วนตกเป็นเป้าโจมตีเผาทำลายระหว่างการชุมนุมของ นปช.ครั้งที่ผ่านมา ทำให้คนชั้นกลางในกรุงโกรธจนควันออกหูนั้น
สถาบันหลักทั้ง 3 ของคนชั้นกลางระดับล่างจะได้แก่ 1) นายทุนเงินกู้นอกระบบ, 2) สลากกินแบ่ง-หวยใต้ดิน และ 3) ตลาดสดแบกะดินกลางแจ้งทั้งหลาย เช่น คลองถม ซึ่งทำหน้าที่คล้ายกันแต่มักอยู่ชายขอบหรือนอกระบบ ถูกทางราชการกำกับควบคุมตามกฎหมายน้อยกว่า ทำให้มาตรฐานต่ำกว่าและในบางแง่ราคา/ดอกเบี้ยแพงกว่าด้วยซ้ำ แต่ก็เข้าถึงได้ง่าย เหมาะสำหรับผู้มีทุนน้อย/รายได้ต่ำกว่านั่นเอง
นี่จึงเป็นเหตุผลให้คนชั้นกลางระดับล่างนิยมชมชอบโครงการของรัฐบาลทักษิณอย่างสินเชื่อเอสเอ็มอี, แปลงสินทรัพย์เป็นทุน, กองทุนหมู่บ้านละล้าน, หวยบนดิน, หวยออนไลน์, 30 บาทรักษาทุกโรค, บ้านเอื้ออาทร, แท็กซี่เอื้ออาทร, คอมพิวเตอร์เอื้ออาทร
และมาตรการประชา (บริโภค) นิยมอื่นๆ ที่ภาครัฐช่วยให้พวกเขาลดรายจ่าย, เพิ่มรายได้ และเอื้อมมือถึงสินค้าบริโภคคงทนทั้งหลายอย่างไม่เคยมีมาก่อน
กล่าวให้ถึงที่สุด เศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ที่ผันผวนไร้เสถียรภาพเป็นรากเหง้าที่มาของสภาพประชาธิปไตยในอันตรายเพราะมันทำให้คนชั้นกลางกลายเป็นอนุรักษนิยมเลิกคิดปฏิรูป เบื่อการเมือง เน้นทำมาหาเงินเอาตัวรอด (โดยเฉพาะหลังวิกฤตเศรษฐกิจการเงิน พ.ศ.2540 เมื่อเทียบกับกระแสการเมืองของคนชั้นกลางสมัยหลัง 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 หรือหลังพฤษภาประชาธิปไตย พ.ศ.2535 ใหม่ๆ)
แบบแผนของประชาธิปไตยพลิกกลับก็คือ : คนชั้นกลางหันไปร่วมมือกับชนชั้นนำเก่าประท้วงต่อต้านผู้นำอำนาจนิยมจากการเลือกตั้ง, ใช้วิธีการไม่ประชาธิปไตยขับโค่นรัฐบาล, สร้างระบอบประชาธิปไตยที่เน้นชนชั้นนำยิ่งขึ้น, เพื่อให้ตัวเองได้กุมอำนาจส่วนใหญ่ไว้ต่อไป
นำไปสู่การที่คนชั้นล่างรวมตัวประท้วงโต้กลับคนชั้นกลางบ้าง (เช่น ม็อบคาราวานคนจนที่จตุจักร-นปก.-นปช. vs. พธม.) เกิดความแตกแยกถาวรทางชนชั้น, พันธมิตรคนชั้นกลาง-คนชั้นล่างที่เป็นฐานค้ำจุนประชาธิปไตยแต่เดิมเสื่อมสลาย, ระบอบประชาธิปไตยจึงพังทลายลงในที่สุดด้วยรัฐประหารของกองทัพ เหล่านี้เป็นเหตุปัจจัยให้คนชั้นกลางกับคนชั้นล่างลงไปหันมาขัดแย้งกันยืดเยื้อเรื้อรัง
แบบแผนทำนองนี้ [ผู้นำจากการเลือกตั้งกลายเป็นอำนาจนิยม-->รัฐประหารในนามเสรีนิยมที่คนชั้นกลางสนับสนุนเพื่อล้มประชาธิปไตย] ซึ่งอาจมีวิถีทางผลลัพธ์พลิกแพลงหลากหลายแตกต่างกันไปบ้าง อาจพบเห็นได้ไม่เพียงในเมืองไทย หากรวมทั้งฟิลิปปินส์, เวเนซุเอลา, ฮอนดูรัส, นิการากัว, รัสเซีย เป็นต้น
ดังนั้น ข้อสรุปสูตรสำเร็จของรัฐศาสตร์ยุคคลื่นประชาธิปไตยระลอก 3 ที่ว่าสร้างคนชั้นกลางแล้ว ระบอบเสรีประชาธิปไตยจะแพร่หลายไปทั่วโลกนั้น จึงถูกโจชัวตั้งข้อสงสัยว่ามันยังจะจริงอยู่ต่อไปอีกหรือไม่? ดังที่นักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนอเมริกันรายหนึ่งบ่นให้เขาฟังว่า : -
"คุณมีพวกคนไทยหัวเสรีนิยมทั้งหลายที่ประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนในที่อย่างพม่า แต่กลับสนับสนุนรัฐประหารในเมืองไทยปี ค.ศ.2006 พวกเขาจะทำทั้งสองอย่างไปด้วยกันได้ยังไง? "
สำหรับหนทางในการกอบกู้ประชาธิปไตยให้พ้นจากอันตรายของความแตกแยกขัดแย้งระหว่างคนชั้นกลาง vs. คนชั้นล่างลงไปนั้น โจชัวเสนอแนะในเบื้องต้นว่า :
-ต้องหาทางฟื้นฟูปลูกสร้างพันธมิตรระหว่างคนชั้นกลางกับคนชั้นล่างลงไปขึ้นมาใหม่บนฐานการยอมรับอำนาจการเมืองของฝ่ายหลังตามหลักประชาธิปไตย (กล่าวคือ เมื่อคนเราเท่ากัน อำนาจย่อมเกิดจากตัวเลข, หนึ่งคนมีหนึ่งเสียง, เสียงข้างมากได้ปกครอง)
-ในขณะเดียวกันก็ใช้ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนเพื่อปกป้องสิทธิของเสียงข้างน้อย, ให้เสียงข้างน้อยมีตัวแทนในการใช้อำนาจด้วย, เพื่อป้องกันระบอบทรราชย์ของเสียงข้างมากที่ผู้มีอำนาจนึกจะล่วงละเมิดสิทธิของเสียงข้างน้อยในนามเสียงข้างมากอย่างไรก็ทำได้
-ส่งเสริมรัฐบาลผสมของตัวแทนคนชั้นล่างลงไปกับคนชั้นกลาง
-สร้างเสริมระบอบรัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรม (ตามหลักเสรีนิยม - รัฐบาลมีอำนาจจำกัดหรือที่เรียกว่า limited government อำนาจของรัฐบาลถูกจำกัดด้วยสิทธิเสรีภาพในร่างกาย ชีวิต ทรัพย์สินของพลเมือง ไม่ใช่ว่ารัฐบาลนึกจะอ้างอำนาจพิเศษมาต้มยำทำแกงพลเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งสีใดสีหนึ่งก็ได้ตามใจชอบ - โดยมีศาลตุลาการอิสระเป็นกรรมการคอยคุมเส้นจำกัดอำนาจรัฐ/ขอบเขตสิทธิพลเมืองนั้นๆ)
ที่มา. มติชนออนไลน์