--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

มรดกทางวัฒนธรรมที่จับ (แตะ) ต้องไม่ได้ !!?

ความร้อนแรงยังไม่จบ แม้ (แทบ) จะถูกกลบด้วยกระแสการคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่ดังสนั่นครึกโครมอยู่ในขณะนี้ แต่ ‘ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ พ.ศ. …’ ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 ต.ค.56 ก็ยังคงถูกจับตามองอย่างตามติดเช่นเดียวกัน ก่อนเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาและสภาผู้แทนราษฎรในระยะเวลาอันใกล้นี้
 
หนึ่งในเวทีพูดคุยอย่างถึงเนื้อครั้งล่าสุด ศูนย์สังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย คณะสังคมวิทยาและมานุษวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการ ‘มรดกทางวัฒนธรรมที่จับ (แตะ) ต้องไม่ได้’ เมื่อวันที่ 5 พ.ย.56 เชิญนักวิชาการ ผู้ปฏิบัติงานทางวัฒนธรรม นักกฎหมาย รวมทั้งผู้ที่สนใจในเรื่อง ‘วัฒนธรรมไทย’ มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในเนื้อหาโดยละเอียดมากขึ้น

 
 
 

ทำความรู้จัก อนุสัญญาฯ ยูเนสโก ต้นร่างของกฎหมายไทย?

ดังที่ทราบกันว่า ประเทศไทยได้ขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้มาตั้งแต่ปี 2552 มีมรดกภูมิปัญญาพื้นบ้านขึ้นทะเบียนแล้ว 218 รายการ และการจัดทำ พ.ร.บ.ฉบับนี้ก็เพื่อรองรับพันธกิจในอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ของยูเนสโก (UNESCO) ฉบับปี 2546
 
เพื่อสะท้อนความเข้าใจว่า เนื้อหาตามร่างกฎหมายมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของไทย เป็นไปตามอนุสัญญาฯของยูเนสโกแค่ไหน เพียงไร ก่อนอื่นใดคงต้องไปทำความเข้าใจกับอนุสัญญาฯ ฉบับนี้กันก่อน

 
 
อเล็กซานดรา เดอเนส (Alexandra Denes) นักวิชาการสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าว่า กว่าจะมาเป็นอนุสัญญาดังกล่าวได้ต้องผ่านการถกเถียงมาโดยตลอด นับตั้งแต่ที่มีอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก (The World Heritage Convention) เมื่อปี 2515 (1972) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการขึ้นทะเบียนมรดกโลก แต่ก็มีปัญหาเพราะหัวใจหลักของอนุสัญญานี้เป็นการอนุรักษ์ สร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับโบราณสถาน โบราณวัตถุต่างๆ ที่กำลังเสื่อมโทรม แต่การขึ้นทะเบียนมรดกโลกกลายเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยว และกลายเป็นจุดเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คน
 
ส่วนอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ มีจุดเริ่มต้น เมื่อปี 2516 (1973) จากการวิพากษ์วิจารณ์ว่ายูเนสโกมุ่งเน้นเฉพาะมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้ และมองข้ามมรดกอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นวิถีประเพณีและดนตรี โดยผู้ที่เรียกร้องให้ยูเนสโกหันมาสนใจเรื่องนี้คือรัฐมนตรีของโบลิเวีย เนื่องมาจากพบว่ามีวงดนตรีต่างชาติที่นำเพลงพื้นเมืองของเปรูและโบลิเวียมาแต่งเป็นเพลงชื่อ ‘If I could’ ทำให้มรดกทางวัฒนธรรมถูกแปรรูเป็นสินค้าเพื่อส่งออก
 
ต่อมายูเนสโกทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปกป้องประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิม เมื่อปี 2532 (1989) ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการบันทึกและเก็บข้อมูลโดยหน่วยงานรัฐที่เป็นภาคี ในรูปแบบเชิงวิชาการ ซึ่งทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ใช้การอนุรักษ์หรือปกป้อง เน้นแต่เก็บข้อมูล ขณะที่วิถีชีวิตกำลังจะหายไป และเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่ไม่มีกลไกการบังคับใช้ แทบไม่มีผลอะไรกับประเทศภาคี
 
ในปี 2540 (1997) มีการจัดการประชุมระดับนานาชาติ “World forum on the protection of folklore” ที่ภูเก็ต โดยยูเนสโกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก หรือ ไวโพ (World Intellectual Property Organization: WIPO) แต่ในการประชุมครั้งนี้ทั้ง 2 องค์กรมีแนวทางความคิดที่ต่างกัน
 
ไวโพเน้นว่า ควรมีการป้องกันเรื่องลิขสิทธิ์ของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม โดยสร้างระบบในการขึ้นทะเบียนและคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งก็มีคนคัดค้านว่าสิ่งที่เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ไม่ว่าดนตรี การแสดง หรือพิธีกรรมต่างๆ ไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้ และมันจะทำลายโดยทำให้วัฒนธรรมเหล่านี้หยุดนิ่ง ขณะยูเนสโกเน้นการให้เกียรติ ส่งเสริม สร้างจิตสำนึกในมรดกทางวัฒนธรรมที่ถูกคุกคามโดยกระแสโลกาภิวัตน์
 
การประชุมครั้งต่อมาในปีเดียวกันที่โมร็อกโก มีตัวแทนจากหน่วยงานรัฐและนักวิชาการเข้าร่วมพูดคุยกันถึงการป้องกันพื้นที่ทางวัฒนธรรม Jamaa’ el-fna square ที่ โมร็อกโกซึ่งถูกคุกคามโดยการพัฒนาของเมือง นำไปสู่ปี 2541 (1998) ที่มีการประกาศรายการมรดกวัฒนธรรมบอกเล่าและมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Proclamation of Masterpieces of Oral and Intangible Cultural Heritage of Humanity 2001-2005)
 
อีกทั้ง ในปี 2544 มีประกาศในเรื่องสิทธิความหลากหลายทางวัฒนธรรม (Declaration on Cultural Diversity)
เกิดขึ้น เหล่านี้เป็นก้าวสำคัญของการพัฒนากรอบแนวคิดของอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ปี 2546 (2003)
 
นักวิชาการสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย กล่าวว่า ระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมามีการถกเถียงเพื่อปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ และระหว่างการร่างอนุสัญญาฯ ในช่วงปี 2544-2546 ก็มีการประชุมถกเถียงกันหลายครั้งโดยมีนักมานุษยวิทยา คนทำงานด้านมรดกวัฒนธรรมเข้าร่วม จนได้มีความเห็นที่สอดคล้องกันว่า อนุสัญญาฯ ต้องเน้นบทบาทของเจ้าของวัฒนธรรมและชุมชนเป็นหลัก เพราะเห็นปัญหาจากประกาศ ข้อตกลง รวมทั้งเครื่องมือที่มีอยู่เดิม
 
นอกจากนี้ ในการประชุมมีการถกถียงกันอย่างมากเรื่องการขึ้นทะเบียน เพราะหลายฝ่ายเห็นว่าการขึ้นทะเบียนจะทำให้เกิดเป็นการแข่งขันกันระหว่างรัฐเพื่อแสดงถึงความสวยงามของวัฒนธรรม ไม่ได้เน้นที่ชุมชน แต่ในที่สุดก็ตกลงกันว่าจำเป็นต้องใช้การขึ้นทะเบียน เนื่องจากเห็นความสำเร็จของอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกเพื่อสร้างความตระหนักในมรดกทางวัฒนธรรม จึงอยากใช้การขึ้นทะเบียนต่อไป ซึ่งก็ต้องอาศัยหน่วยงานรัฐเป็นผู้ขึ้นทะเบียน
 
อเล็กซานดรา กล่าวว่า หลักการของอนุสัญญาฯ ของยูเนสโกที่เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน ระบุไว้ทั้งในมาตรา 1 ที่ว่าด้วยวัตถุประสงค์ มาตรา 2 ที่ว่าด้วยคำนิยาม และในมาตรา 15 ซึ่งกล่าวถึงเรื่องนี้โดยตรง อีกทั้งในอนุสัญญาของยูเนสโกไม่ได้ใช้เกณฑ์ในการขึ้นทะเบียนว่าต้องเป็นวัฒนธรรมที่เลอค่า หรือเป็นมาสเตอร์พีซ แต่สิ่งที่เน้นคือความหมาย คุณค่าตามเจ้าของและความเสี่ยงที่จะสูญหายไป
 

แม้บอกว่าเน้นการมีส่วนร่วม ก็ไม่ใช่ไร้ซึ่งปัญหา

อเล็กซานดรา ให้ข้อมูลว่า อนุสัญญาฯ ดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์ โดย ริชาร์ด คูริน ซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดกับการร่างอนุสัญญาฯ ว่า ถึงแม้ในอนุสัญญาฯ จะเน้นให้เจ้าของวัฒนธรรมในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบันทึก ทำวิจัย นำเสนอ สืบทอด หรือโปรโมทจารีตประเพณี วิถีชีวิตของเขาเอง แต่นั่นสร้างความตึงเครียด เนื่องจากบางรัฐบาลสามารถพูดแทนพลเมืองของตัวเองได้ และอาจไม่ยอมมอบอำนาจให้กับชมชนโดยเฉพาะกับชุมชนชายขอบหรือชนกลุ่มน้อย ในบางบริบทไม่มีความหมายเลยเมื่อพูดถึงการมีส่วนร่วมของชุมชน
 
คูริน ระบุด้วยว่า สิ่งสำคัญในอนุสัญญาฯ มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เช่น ดนตรีต่อต้าน ตำนานที่เกี่ยวกับการต่อสู้ หรือความรู้ความทรงจำที่เกี่ยวกับการโยกย้าย การยึดครองดินแดนดั้งเดิม ทั้งหมดนี้อาจถูกมองว่าไม่ควรเป็นส่วนหนึ่งในมรดกของรัฐชาติ เขาย้ำว่ากฎบัตรสิทธิมนุษยชนพยายามป้องกันคนที่เป็นชนกลุ่มน้อยหรือคนชายขอบจากการควบคุมของรัฐ แต่ถ้าอาศัยหน่วยงานรัฐเพื่อขึ้นทะเบียนสุดท้ายก็จะเป็นปัญหาเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน
 
นอกจากนี้ คำถามที่ยังไม่มีคำตอบ คือทำอย่างไรจึงจะมีกระบวนการขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่ชุมชนมีส่วนร่วมได้จริง เพราะการขึ้นทะเบียนโดยนิยามแล้วก็หมายถึงการคัดเลือก เป็นการจัดลำดับระบบการยืนยันความเป็นจริง การร่วมมือและทำงานกับชุมชนกลายเป็นการสร้างรูปแบบและระเบียบในการเลือกมรดกทางวัฒนธรรมที่จะเป็นมรดกของรัฐชาติ ตรงนี้เป็นปัญหาที่ทำให้หลายคนไม่เห็นด้วย
 
ทั้งนี้ เคยมีคนเสนอว่าทำไมไม่รวบรวมมรดกทางวัฒนธรรมทั้งหมด แต่ก็จะเกิดความยุ่งยากและเป็นข้อมูลที่ใหญ่มาก
 

เทียบร่าง พ.ร.บ.มรดกทางวัฒนธรรมฯ ไทย กับอนุสัญญาฯ ยูเนสโก แตกต่างอย่างมีนัยยะ

อเล็กซานดรา กล่าวว่า หากร่างกฎหมายมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของไทยนำเอาอนุสัญญาฯ ยูเนสโกมาเป็นต้นแบบจริงก็น่าสงสัยว่าทำไมจึงไม่มีมาตราที่ว่าด้วยเรื่องบทบาทของชุมชน คำว่า บทบาท สิทธิ หน้าที่ การมีส่วนร่วม แทบไม่มีให้เห็นในเนื้อหา หากการทำร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นขั้นตอนหนึ่งของการเป็นภาคีทำไมจึงไม่มีเรื่องนี้อยู่
 
เมื่อมาดูร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้จะพบว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับเกณฑ์ในการคัดเลือก เช่น ในมาตรา 5 มีการนิยามว่า มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ที่ขึ้นทะเบียน ต้องมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ วิชาการ ศิลปะ คุณค่าทางจิตใจ หรือผลงานควรค่าแก่การรักษาไว้ และมาตรา 22 มีการระบุถึงการพิจารณาขึ้นทะเบียนว่ามีหลักเกณฑ์ในเรื่องความโดดเด่นและคุณค่าเชิงสร้างสรรค์ ทำให้เกิดความสงสัยในหลักเกณฑ์ดังกล่าว
 
เพราะเมื่อกลับไปเทียบกับอนุสัญญาฯ ยูเนสโกจะไม่มีเกณฑ์ในการคัดเลือกเช่นนี้ ดูได้จากมาตรา 2 โดยสิ่งที่สำคัญคือการมองความหมายและคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมในสายตาของเจ้าของไม่ว่าจะเป็นชุมชนหรือบุคคล และอีกคำถามหนึ่งก็คือ ใครเป็นผู้ตัดสินใจ และจะเอาอะไรมาเป็นตัววัดว่ามรดกทางวัฒนธรรมนั้นๆ ดีเด่น หรือมีคุณค่าในเชิงศิลปะหรือประวัติศาสตร์ 
 
นอกจากนี้ อเล็กซานดรา ยังกล่าวถึงมาตรา 19 และ 20 ในร่างกฎหมายของไทยที่พูดถึงคณะกรรมการระดับจังหวัดว่า วิธีการขึ้นทะเบียนค่อนข้างจะซับซ้อน แต่เข้าใจจาก พ.ร.บ.ว่าจังหวัดจะเป็นตัวเชื่อระหว่างชุมชนกับส่วนกลางและกรมส่งเสริมวัฒนธรรม โดยจะต้องขึ้นทะเบียนกับจังหวัดก่อน ซึ่งก็เกิดคำถามว่ามรดกทางวัฒนธรรมที่ข้ามพรมแดนของจังหวัดจะจัดการอย่างไร
 
ตามมาตรา 21 เรื่องการนำเสนอขึ้นทะเบียนมี 2 วิธี คือ มีตัวแทนชุมชนที่สามารถเสนอขึ้นทะเบียนกับทางจังหวัด และจังหวัดเองสามารถเสนอเพื่อขึ้นทะเบียน ซึ่งเมื่อกลับไปดูอนุสัญญาฯ จะพบว่าได้พูดถึงบทบาทของมหาวิทยาลัย เอ็นจีโอ และภาคประชาสังคมด้วย แต่ไม่เห็นในร่างกฎหมายของไทย จึงเกิดคำถามว่าหน่วยงานและองค์กรอื่นๆ จะมีสิทธิ์ในตรงนี้หรือไม่
 
ส่วนมาตรา 34 ที่พูดถึงการให้งบประมาณสำหรับมรดกทางวัฒนธรรมที่ได้รับการคัดเลือกให้ขึ้นทะเบียนแล้ว นักวิชาการสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชียให้ความเห็นว่า การให้งบประมาณสนับสนุนเป็นรางวัลความดีเด่นของวัฒนธรรมอาจนำมาสู่ความขัดแย้งได้ ตรงนี้อาจต้องพิจารณาถึงผลกระทบด้วย   
 
สำหรับมาตราที่มีการพูดถึงมาก อย่างมาตรา 39 ซึ่งระบุถึงการนำมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ซึ่งขึ้นทะเบียนแล้วไปใช้ว่า จะดัดแปลงหรือบิดเบือนให้แตกต่างไปจากสาระสำคัญไม่ได้ เว้นแต่จะระบุถึงแหล่งที่มาและแสดงถึงการประยุกต์หรือสร้างองค์ความรู้ใหม่เพิ่มเติม นี่เป็นอีกมาตราหนึ่งที่ไม่ตรงเลยกับอนุสัญญาฯ ซึ่งไม่พูดถึงของแท้หรือต้นกำเนิด แต่สนับสนุนให้มีนวัตกรรม
 
และมาตรา 40 ที่ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดนำมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ที่ขึ้นทะเบียนแล้วไปเผยแพร่เพื่อวัตถุประสงค์อันมีลักษณะเป็นการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ กระทบกระเทือนต่อศาสนา กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ หรือเป็นไปในทางที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ นี่เป็นมาตราที่สร้างความหวาดกลัว
 
มรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นวัฒนธรรมร่วม (Sharing Culture) อย่างดนตรีหรือตำนานที่มีทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็นกัมพูชาหรือลาว เราจะรู้ได้อย่างไรว่ามันมีผลต่อความมั่นคงของชาติหรือไม่ หรือตัวอย่างตำนานปาจิต-อรพิมที่มีในอีสานใต้รวมทั้งในประเทศลาว จะตีความอย่างไรว่ามรดกทางวัฒนธรรมนี้เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติหรือเปล่า
 

แนะบรรเทาปัญหาการขึ้นทะเบียน ด้วยการเปิดโอกาสชุมชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

อเล็กซานดรา แสดงความคิดเห็นว่า เรื่องการขึ้นทะเบียนจะยังคงเป็นเรื่องที่ขัดแย้งและสร้างปัญหา เพราะอย่างไรก็ตามการขึ้นทะเบียนก็เป็นการคัดเลือก เป็นการให้คุณค่ากับมรดกทางวัฒนธรรมบางอย่าง เนื่องจากเห็นว่าต้องการการสนับสนุนส่งเสริมมากกว่ามรดกทางวัฒนธรรมอื่น อย่างไรก็ตาม
 
“แม้ว่าจะมีปัญหากับกระบวนการขึ้นทะเบียน แต่จะสามารถบรรเทาปัญหานี้ได้หากมีความตั้งใจจริงที่จะให้มีการมีส่วนร่วมของชุมชน ทำความเข้าใจคุณค่าและความหมายของมรดกทางวัฒนธรรมจากมุมมองของเจ้าของจริงๆ แทนที่จะเอาความคิดนามธรรม ไม่ว่าจะเป็นคุณค่าในเชิงวิชาการ หรือคุณค่าในเชิงชาติมานับว่าอะไรควรจะขึ้นทะเบียน” อเล็กซานดรากล่าว 
 
นักวิชาการสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย กล่าวด้วยว่า ควรมีการตระหนักถึงวัฒนธรรมที่เป็น Sharing Culture ที่มีลักษณะข้ามพรมแดน เพราะตอนนี้โครงสร้างทั้งหมดของการขึ้นทะเบียนเป็นลักษณะจังหวัดแล้วขึ้นไปยังส่วนกลางซึ่งไม่ได้สะท้อนชีวิตของมรดกทางวัฒนธรรม
นอกจากนี้ อเล็กซานดรายังแสดงความห่วงใยเรื่องการเรียกร้องให้อ้างอิงจุดกำเนิด (origins) ว่า อาจก่อให้เกิดปัญหา เนื่องจากวิถีชีวิต วัฒนธรรมระบุได้ยากมาก เพราะมีความเปลี่ยนแปลงและมีอิทธิพลซึ่งกันและกันระหว่างกลุ่มคน ซึ่งมาตรการนี้อาจกลายเป็นเครื่องมือที่นำไปสู่การแย่งชิงกันได้ ยกตัวอย่าง กันตรึมโบราณซึ่งอำเภอหนึ่งใน จ.สุรินทร์มีความภาคภูมิใจว่าที่อื่นไม่มีเหมือนเขา
 
หรือกรณีวิถีประเพณี จากการลงพื้นที่ศึกษาเรื่อง ประเพณีสลากย้อมของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวยอง ใน จ.ลำพูน ซึ่งถ้าจะอ้างอิงแหล่งกำเนิดจะเป็นที่ไหน ในท้องถิ่นหรือที่เมืองยองในประเทศพม่า อีกทั้งมีหลายหมู่บ้านที่จัดพิธีนี้หลังมีการฟื้นฟูกลับมากว่า 50 ปี ซึ่งก็มีความเปลี่ยนแปลงมากพอสมควร จึงยากที่จะเน้นความดั้งเดิมได้
 
ดังนั้น เธอจึงคิดว่าไม่ควรมีคำนี้ใน พ.ร.บ.วัฒนธรรมที่มีชีวิต
 
หมายเหตุ: การเสวนาวิชาการ ‘มรดกทางวัฒนธรรมที่จับ (แตะ) ต้องไม่ได้’ จัดที่ห้องประชุมบุญชู โรจนเสถียร ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ 1มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 5 พ.ย.56 ผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย พัทธนันท์ โอษฐ์เจษฎา || ห้องภาพเมืองสุรินทร์, ภาสกร อินทุมาร || คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, ภูมินทร์ บุตรอินทร์ || คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ Alexandra Denes || สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล

ที่มา.ประชาไท
------------------------

วันพุธที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

2 ล้านล้าน บูม ภาคเหนือ มองเศรษฐกิจ 17 จังหวัด ทะลุการค้า 4 ประเทศ !!?

"ภาคเหนือ" อาณาเขตใหญ่อันดับ 2 ของประเทศไทย มีพื้นที่ 93,691 ตร.กม. พรมแดนติดประเทศเมียนมาร์กับ สปป.ลาว ทำให้ตะเข็บชายแดนคึกคักจาก 4 ประตูการค้าสำคัญ "แม่สอด-แม่สาย-เชียงของ-เชียงแสน"

ยิ่งถ้าเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซีในปี 2558 ประเมินว่าการค้าขายยิ่งจะบูมทวีคูณ ปัจจุบันมีประชากรอยู่ที่ 12,176,000 คน รายได้ต่อหัว 68,015 บาท/คน และผลิตภัณฑ์มวลรวมภูมิภาคอยู่ที่ 828,151 ล้านบาท

ถมลงทุน 5 แสนล้าน


ใน พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ภาคเหนือได้รับจัดสรรการลงทุนกว่า 567,997 ล้านบาท ครอบคลุมทางราง ถนน และสถานีขนส่งสินค้า กระจายไปใน 17 จังหวัดคือ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน อุตรดิตถ์ ตาก พิษณุโลก สุโขทัย เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานีโดยมีเมืองศูนย์กลาง 3 แห่งที่เชียงใหม่ นครสวรรค์ พิษณุโลก และ 7 เมืองเศรษฐกิจคู่ขนานคือ ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน กำแพงเพชร สุโขทัย พิจิตร เพชรบูรณ์

ปี57 ลุ้นประมูลทางคู่ 2 สาย

ในด้าน "ระบบราง" โครงการหลัก ๆ มี "รถไฟทางคู่ 3 สาย" ระยะทางรวม 759 กิโลเมตรที่สร้างคู่ไปกับเส้นทางสายเหนือ ต่อเชื่อมจาก "ลพบุรี-ปากน้ำโพ" 148 กิโลเมตร วงเงิน 24,842 ล้านบาท เริ่มประมูลในปี 2557 และจาก "ปากน้ำโพ-เด่นชัย" 285 กิโลเมตร 30,070 ล้านบาท เริ่มประมูลปี 2559

ขณะที่สายใหม่ "เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ" จะเปิดพื้นที่ใหม่ 4 จังหวัดคือ เชียงราย แพร่ ลำปาง พะเยา 326 กิโลเมตร วงเงิน 77,485 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มประมูล

ในปี 2557 มี 26 สถานี อาทิ สถานีเด่นชัย งาว ปงเตา มหาวิทยาลัยพะเยา ป่าแดด ฯลฯ ก่อสร้างบนแนวเขตทาง 50 เมตร เวนคืนที่ดิน 10,000 ไร่

ไฮสปีดเทรนฟู่ฟ่า

สำหรับ "รถไฟความเร็วสูง" ของสายเหนือจาก "กรุงเทพฯ-เชียงใหม่" 745 กิโลเมตร วงเงิน 387,821 ล้านบาท แบ่งก่อสร้าง 2 เฟส ในเฟสแรก "กรุงเทพฯ-พิษณุโลก" 382 กิโลเมตร เตรียมเปิดประมูลไตรมาส 3/2557 วงเงินค่าก่อสร้าง 193,206 ล้านบาท

ส่วนช่วง "พิษณุโลก-เชียงใหม่" มีการปรับแนวใหม่เนื่องจากตัดผ่านเขาหลายแห่งตั้งแต่ จ.อุตรดิตถ์เป็นต้นไป โดยที่ปรึกษาเสนอให้เบี่ยงมาทาง จ.สุโขทัย

แนวเส้นทางคู่ขนานไปกับทางหลวงหมายเลข 12 (พิษณุโลก-สุโขทัย) เข้าสู่ถนนสาย 101 ผ่าน อ.ศรีสำโรง ไปบรรจบกับทางรถไฟสายเดิม จ.ลำปาง เจาะอุโมงค์ทะลุภูเขาช่วงระหว่างเขาขุนตาล-เขาผาเมือง ตัดเข้าลำพูน สิ้นสุดที่เชียงใหม่ มี 5 สถานีคือ "สุโขทัย ศรีสัชนาลัย ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่" จะทำให้ระยะทางสั้นลงจากเดิม 745 กม.เหลือ 669 กม.

เร่งสร้างถนนเชื่อมเออีซี

ด้าน "ถนน" มีโครงการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงระหว่างประเทศ 4 โครงการ ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ พะเยา เชียงราย ตาก ได้แก่ ถนนเลี่ยงเมืองแม่สอด รวมสะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 วงเงิน 1,750 ล้านบาท, ถนน 1021 สายดอกคำใต้-เทิง ตอน 1-2 วงเงิน 4,350 ล้านบาท และสาย 1020 สายเชียงราย-เชียงของ ตอน 4 วงเงิน 720 ล้านบาท

นอกจากนี้มี "ถนน 4 เลน" 10 โครงการ ใน 8 จังหวัด อาทิ สาย 12 หล่มสัก-น้ำหนาว ตอน 2 วงเงิน 1,960 ล้านบาท, สาย 101 สุโขทัย-สวรรคโลก 1,400 ล้านบาท, สาย 118 เชียงใหม่-เชียงราย ตอน 1-4 วงเงิน 4,450 ล้านบาท, สาย 12 ตาก-แม่สอด ตอน 3-4 วงเงิน 2,400 ล้านบาท เป็นต้น

อีกทั้งมีโครงการ "บูรณะทางสายหลักระหว่างภาค" อีก 24 โครงการใน 9 จังหวัด วงเงิน 10,950 ล้านบาท อาทิ ทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ช่วงเถิน-ลำปาง วงเงิน 900 ล้านบาท, ช่วงลำปาง-งาว วงเงิน 1,350 ล้านบาท, ช่วงแม่คำ-แม่สายตอน 1-2 วงเงิน 136 ล้านบาท, ช่วงตาก-พะเยา ตอน 1-2 วงเงิน 1,681 ล้านบาท, ช่วงนครสวรรค์-ตาก ตอน 1-2 วงเงิน 2,850 ล้านบาท ฯลฯ

ผุดโครงข่ายเชื่อมท่"เรือ-ด่านก"รค้า

นอกจากนี้มี "ถนนเชื่อมต่อด่านการค้า" เชื่อมโยงระหว่างไทย-ลาว-จีน โดยก่อสร้างถนน 2-4 ช่องจราจร เชื่อมต่อท่าเทียบเรือเชียงแสน จ.เชียงราย 3 โครงการ วงเงิน 2,773 ล้านบาท มีถนนสายแยกทางหลวง 1098-แยกถนนหมายเลข 1 วงเงิน 1,788 ล้านบาท, ถนนสายเชื่อมวงแหวนตะวันตก 176 ล้านบาท กับถนนสาย 4049-บ้านดอนงาน 808 ล้านบาท

ส่วนที่เหลือเป็นสะพานและอุโมงค์ข้ามทางรถไฟที่ จ.อุตรดิตถ์ รวมถึงสร้างศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าเชียงของ ที่ อ.เวียง จ.เชียงราย รองรับกับสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) เพื่อขนส่งสินค้าผ่านชายแดนไทย-ลาว ในทางยุทธศาสตร์จะเป็นเส้นทางเศรษฐกิจใหม่เชื่อมโยงแนวเหนือ-ใต้ (Noth-South Corridor) รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการค้าจากประเทศจีน อินเดีย ตะวันออกลาง แอฟริกาและยุโรป

สุดท้าย "สถานีขนส่งสินค้า" 5 แห่งในพื้นที่เมืองชายแดนและเมืองหลัก ได้แก่ เชียงราย ตาก เชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ทั้งภายในและระหว่างประเทศให้มีความต่อเนื่องกันมากยิ่งขึ้น

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

สงครามโจรสลัด !!?

โดย.พญาไม้

เมื่อไม่กี่วัน..ในประเทศประชาธิปไตยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก..ประเทศสหรัฐอเมริกา..
ประมุขแห่งแผ่นดิน..ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา..อันดับหนึ่งของผู้มาจากการเลือกตั้งสมัยที่สองของผู้ครอบครองอำนาจสูงสุด

ประธานาธิบดี โอบามา..ต้องแทบจะต้องคุกเข่าต่อหน้าสภา..เพื่อของบประมาณจากสภาไปกู้หน้าไปแก้ไขปัญหาประเทศ

ประธานาธิบดีที่มีอำนาจมากที่สุดในโลก....ประเทศที่เป็นอันดับหนึ่งของโลกทางเศรษฐกิจ..ประธานาธิบดีกับรัฐบาลของเขา...มีหน้าที่เฉพาะที่เป็นหน้าที่..

กว่ารัฐสภาจะผ่านงบประมาณไปให้ประธานาธิบดี..ก็ต้องมีเรื่องต้องถามต้องตอบมากมาย
ในประเทศประชาธิปไตยที่เจริญยิ่งใหญ่..อำนาจในการจับจ่ายใช้งบประมาณ..ไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของผู้ชนะการเลือกตั้ง..

สภาของประชาชนเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ของประชาชนบนผลประโยชน์ของประเทศ
ประชาธิปไตยของเขา..จึงคงทนถาวรและประสบความสำเร็จอย่างสูงในการเสริมสร้างทำให้แผ่นดิน

เจริญก้าวหน้ามีกองทัพยิ่งใหญ่น่าเกรงขาม..สำหรับไว้ต่อกรต่อสู้กับศัตรู..
แต่หันมาดูประเทศไทย..

รัฐบาล คือ เจ้าของงบประมาณทุกบาททุกสตางค์ที่กวาดเก็บมาจากประชาชน..นายกรัฐมนตรีจะใช้งบประมาณอย่างไรก็ได้..ผ่านทางมติคณะรัฐมนตรี..หรือเมื่อคณะรัฐมนตรีมอบให้..

เมื่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคือ...เจ้าของงบประมาณแผ่นดินที่จัดเก็บไปจากประชาชน..ผู้คนทั้งหลายจึงแย่งกันเพื่อจะเป็นเจ้าของงบประมาณแผ่นดิน..หรือสมคบกันเพื่อจะเป็นเจ้าของงบประมาณแผ่นดิน
ในรัฐบาลในพรรคการเมืองมันถึงเต็มไปด้วยพ่อค้าผู้รับเหมา

เพราะเขาเหล่านั้น..หากไม่เข้าไปมีส่วนหรือเป็นรัฐบาล...เขาจะไม่สามารถประกอบกิจการใดๆ ได้..
ประชาธิปไตยของประเทศไทย..จึงเป็นประชาธิปไตยของเหล่าโจรสลัดที่ผลัดกันขึ้นมาปล้นเรือมหา

สมบัติคือกองงบประมาณของแผ่นดินที่กองสุมกันอยู่ใต้โดมตึกไทยคู่ฟ้า..

การเมืองไทยจึงมีสถานะของ..สงครามแย่งชิงมหาสมบัติ..นั่นแหละ..ปัญหาของประเทศไทย

ที่มา.บางกอกทูเดย์
------------------------------

สุดซวย....พ่นพิษ.คนเริ่มมองหาทางเลือกที่ 3 !!?



สุดซอย.. ออกอาการ  สุดซวย... อย่างที่ได้เตือนเอาไว้จริงๆ

เพราะวันนี้ไม่ได้มีแค่บรรดาขาประจำเจ้าเก่าเท่านั้น แต่กำลังบานสะพรั่งขยายวงต่อต้านการนิรโทษกรรมเหมาเข่งออกไปทั่วหมดทุกหัวระแหงแล้ว

คงต้องถามพรรคเพื่อไทยแล้วว่า การที่เปิดฉากแลกแบบล่อนจ้อนหมดเช่นนี้ เป็นการเดิมพันที่เกินเค้ามากเกินไปหรือเปล่า???

จริงๆ การที่ปล่อยให้นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก้มหน้าก้มตาทำงาน ไม่ต่อล้อต่อเถียงทางการเมือง จนอยู่มาได้ครบ 2 ปี แล้ว ถือว่ากำลังเดินมาถูกทาง

และกำลังจะมีเดิมพัน 2 ล้านล้านบาทให้สร้างผลงานอมตะ อภิมหาอลังการงานสร้าง จ่อลุ้นเป็นเดิมพันสำคัญอยู่ ซึ่งหากค่อยๆเล่นไปเรื่อยๆ ครั้งละล้าน 2 ล้าน ก็สามารถเล่นไปได้ 40-50 ปี โดยที่คู่แข่งทางการเมืองจะหมดสภาพไปเอง เพราแพ้ซ้ำซาก

ที่ผ่านมาการที่จะชนะประชาธิปัตย์ในสนามการเมืองไม่ใช่เรื่องยาก เพราะของมันเคยชนะกันมาตลอด หากอนาคตจะชนะไปอีกเรื่อยๆจะแปลกตรงไหน จุดนี้แหละที่ทุกคนไม่เข้าใจ ทำไมพรรคเพื่อไทยอุตริทุ่มเดิมพันชนิดหมดตัวเช่นนี้

ในเกม 2 ปีที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์แทบจะหมดเค้าเล่น กระจองอแงตีรวนไปเรื่อยๆ รือเสา รือพื้น รื้อผนังพังหลังคา เล่นเสงาะแสงะไปตามเรื่อง แบบไม่มีเค้าไม่มีเดินพันจะเอาชนะ

ยิ่งที่ผ่านมาประชาชนเองก็เบื่อหน่ายกับการเล่นการเมืองแบบมวยคู่อาฆาต ที่มุ่งผลประโยชน์ส่วนตัว ไม่ใช่ผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก ทำให้กระแสของประชาธิปัตย์นับตั้งแต่ไปละทิ้งหลักการ โดดขึ้นเป็นรัฐบาลจากผลพวงของการัฐประหาร จึงยิ่งทำให้คนเห็นธาตุแท้มากขึ้น

เกมแบบนี้ เพื่อไทยชนะเห็นๆอยู่แล้ว นายกฯยิ่งลักษณ์ควรสร้างประวัติการณ์เป็นายกหญิงคนแรก แล้วก็เป็นนายกฯที่อยู่ครบเทอม 4 ปีได้ไม่ยาก... แต่พอมาเดิมพันแบบไม่ฉลาดเช่นนี้เลยเสียของอย่างน่าเสียดาย

ทั้งๆที่ต่อให้ชนะก็งั้นๆ

ในขณะที่หากพลาดพลั้งแพ้ ก็มีสิทธิพังครืนได้ง่ายๆ ก็ไม่รู้ว่าถูกใครวางยาให้ทุ่มเค้าเดิมพันแบบมึนๆ จนออกมาในรูปนี้

ที่สำคัญถ้าแพ้เพราะแรงของประชาชนจริงๆ นอกจากจะหมดเดิมพันแล้ว จะไม่ใช่แค่รัฐบาล หรือแค่พรรคเพื่อไทยเท่านั้นที่จะต้องไป แม้แต่ตัวบุคคลก็พลอยเสี่ยงสูงไปด้วย

เพราะหากทำได้ เขากะเล่นกันยกตระกูล ให้อยู่เมืองไทยไม่ได้กันเลยด้วยซ้ำ... ไม่รู้จริงๆหรือ?
ถามจริงๆ มันคุ้มกันหรือไม่กับการเดิมพันเสี่ยงๆครั้งนี้

เดิมพันที่เล่นเอาบรรดากองเชียร์อกสั่นขวัญแขวน เล่นพิเรนทร์แบบนี้ ถามว่า ขณะนี้เดือดร้อนอะไรมากมายนักหรือ จึงต้องเทเค้าจนหมดตัวล่อนจ้อนแบบนี้

ยิ่งถ้าจะเล่นเพื่อความมันของคนชื่อ “ประยุทธ์ ศิริพานิชย์” แล้วเอาลูกเอาหลานของุกคนมาเสี่ยงด้วยแบบนี้ สะใจมากใช่ไหมประยุทธ์!!!

อย่ามาอ้างให้เหม็นขี้ฟันเลยว่า ต้องการสร้างความปรองดอง ต้องการทำเพื่อสมานฉันท์
ใช้สมองส่วนไหนคิดว่า จะสร้างความปรองดองได้บนความขัดแย้ง
ลำพังไม่ได้มีร่างกฎหมายชนวนระเบิดฉบับนี้ คู่อาฆาตขั้วตรงข้ามทางการเมืองก็ถล่มกันเละจนไม่มีทางปรองดองได้ง่ายแล้ว

มามีกฎหมายฉบับวางยา เหมาเข่งเพื่อความสะใจเข้าให้เช่นนี้ ไหนล่ะความปรองดอง
มีแต่จะฆ่ากันตายล่ะไม่ว่า... จะตะบี้ตะบันหลอกลวงผู้คน หลอกลวงสังคมไปทำไมว่าสิ่งที่ทำจะสร้างความปรองดองได้ หลอกได้อย่างเก่งก็แค่หลอกตัวเองไปวันๆเท่านั้นแหละ

แต่ที่น่ากลัวกว่านั้นก็คือ ที่คิดว่าจะได้จารึกว่าเป็นผู้สร้างความปรองดอง จะได้เป็นรัฐมนตรี ระวังจะถูกจารึกในประวัติศาสตร์ว่าเป็นคนที่ทำให้คนไทยลุกขึ้นมาฆ่าฟันกัน... ถึงวันนั้นจะรับผิดชอบไหวหรือ
รับได้หรือกับการที่จะถูกจารึกชื่อนามสกุลในฐานะคนบาป ที่ทำลายความปรองดอง
ใครก็ตามที่คิดเล่นเกมแบบนี้ได้ ต้องถือว่า Stupid สิ้นดีจริงๆ!!!

ฉะนั้นไม่แปลกที่วันนี้ คนส่วนหนึ่งในสังคม แถมทำท่าว่าจะเป็นคนส่วนใหญ่เสียด้วย เริ่มที่จะเบื่อหน่ายสภาพคู่กัดทางการเมือง จนเอือมระอาทั้งพรรคเพื่อไทย และเซ็งสุดๆกับพรรคประชาธิปัตย์ จนขยับมองหาทางเลือกใหม่ ทางออกใหม่กันบ้างแล้ว

กลายเป็นโอกาสทองของพรรคทางเลือกที่ 3 ไปในทันที

หลายคนพูดชัดอะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด ในเมื่อเห็นอยู่แล้วว่า ไม่ว่าจะเลือกเพื่อไทยหรือเลือกประชาธิปัตย์ ใครขึ้นเป็นรัฐบาล ก็ต้องถูกอีกฝ่ายถล่มแน่นอน ซึ่งหากปล่อยให้ฟัดกันไปเรื่อยๆเป็นมวยคู่อาฆาตทางการเมืองเช่นนี้

บาปเคราะห์ก็จะตกอยู่กับประเทศชาติ ตกอยู่กับลูกหลานไทยในอนาคต
แค่ทุกวันนี้การเมืองไม่ได้สำนึกเลยว่า การที่สารพัดผลสำรวจออกมาว่า ประเทศไทยล้าหลัง หรือที่เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม สำรวจว่าการศึกษาของไทยเป็นอันดับที่ 8 ในกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศนั้น การเมืองไม่ได้รู้สึกอับอายบ้างเลยงั้นหรือ?

นักการเมืองเคยสำนึกบ้างหรือไม่ว่า ประเทศไทยนั้นดีทุกอย่าง ไม่ว่าสภาพภูมิอากาศ หรือทรัพยากรธรรมชาติ ที่ไม่ดีมีแค่อย่างเดียยวคือนักการเมืองที่เล่นการเมืองแบบห่วยๆ จนประเทศชาติตกต่ำนั่นแหละ

ทุกวันนี้ที่ประเทศชาติจมปลักติดอยู่ในภาวะวิบัติ ก็เพราะการเมืองอ่อนแอ คิดแบบโง่ว่าผู้คนในประเทศโง่เขลา หลอกลวงให้อยู่กับรูปแบบเดิมๆได้ไม่อยากอย่างนั้นใช่หรือไม่
เชื่อจริงๆหรือว่า ผู้คนมองอะไรไม่เห็นนอกจากเห็นแค่หัวแม่เท้าตนเองใช่มั้ย

ถ้านักการเมืองเก่าๆคิดได้แค่นี้ก็สมควรจะต้องสูญพันธุ์แล้ว เพราะคนรุ่นใหม่ไม่ได้ยอมก้มหน้ารับชะตากรรม โดยมองแค่หัวแม่เท้าอีกต่อไป แต่คนรุ่นใหม่เริ่มกล้าคิดกล้าแสดงออก และกล้าที่จะมีปฏิกริยา
อย่างน้อยที่ออกมาพรึ่บเต็มถนนในเวลานี้ ที่ไม่ใช่พวกหน้าเก่าเจ้าประจำ ก็น่าจะทำให้นัการเมืองสำนึกได้บ้างแล้วว่า

ทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้ว!!!

คนรุ่นใหม่ๆคิดเป็น และจะไม่เลือกอดีตที่ฟัดกันไม่เลิกอีกต่อไปอย่างแน่นอน
หากมีทางเลือกที่ 3 ที่หน้าตาดีๆ ประวัติดีๆ คุณภาพดีๆ ออกมาเป็นทางลเอกให้กับประชาชนแล้ว รับรองได้ว่าทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์นั่นแหละจะหนาว!!!

ซึ่งพรรคทางเลือกที่ 3 อาจจะไม่ต้องมีนโยบายอะไรให้มากมายเหมือนพรรคการเมืองในอดีตเลยก็ได้ เพราะผู้คนเอียนกับนโยบายที่สวยหรู แต่หลอกลวงไปเรื่อยๆ จนผู้คนเอือมระอาและเบื่อหน่ายที่จะฟังกันแล้ว เพราะฟังกันมาตลอด

ขอแค่พรรคทางเลือกที่ 3 มีแค่นโยบายหลักข้อเดียว คือ หากใครคอรัปชั่น ก็ยึดทรัพย์ และติดคุกตลอดชีวิต
แค่ลงโทษนักการเมืองเลวๆอย่างจริงจัง
รับรองได้ว่า พรรคการเมืองที่ยึดนโยบายข้อนี้ชนะชัวร์

ที่มา.บางกอกทูเดย์
/////////////////////////////

คุณคัดค้านนิรโทษกรรมแบบไหน !!?

สัปดาห์นี้ใครๆ ก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ต้องออกมาคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หลายคนตัดสินใจออกมาชุมนุมกับกลุ่มต่างๆ มีไม่น้อยที่แสดงออกผ่านทางโซเชียลมีเดียโดยเปลี่ยนภาพในเฟซบุคขึ้นข้อความ “คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม” บรรยากาศการเมืองในจังหวะนี้ เรียกได้ว่า แม้แต่คนที่คิดต่างกันเรื่องการเมืองตลอดมา ต่างก็หันมาพูดเรื่องเดียวกัน
 
อย่างไรก็ดี ภายใต้การคัดค้านเหมือนกัน ทว่าเหตุผลของแต่ละฝ่ายก็แตกต่างกันอยู่มาก
 
“จุดพีค” ของเรื่องนี้เกิดตอนตีสี่ของวันศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2556 เมื่อสภาผู้แทนราษฎรเร่งผ่านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับที่กรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ด้วยคะแนนเสียง 310 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง โดยที่ส.ส.ฝ่ายค้านพากันวอล์คเอาท์จากที่ประชุม
 
ปัญหาสำคัญของเรื่องอยู่ที่มาตรา 3 ของร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ที่เปลี่ยนแปลงไปจากหลักการที่ให้ไว้ในการประชุมวาระแรก เพราะในวาระแรกสภาผู้แทนฯ รับหลักการร่างกฎหมายที่มีใจความสำคัญว่าจะเป็นกฎหมายที่นิรโทษกรรมให้แก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมือง ทว่า เมื่อร่างผ่านการแก้ไขจากกรรมาธิการ เนื้อหาก็ถูกเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพิ่มเติมการนิรโทษกรรมให้กับบุคคลอีกหลายกลุ่ม ดังที่เรียกกันว่าเป็น พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับ “เหมาเข่ง” 
 
 
ก่อนกรรมาธิการหลังกรรมาธิการ

มาตรา 3 ให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่กระทำการนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใด เพื่อเรียกร้องให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือการชุมนุม การประท้วง หรือการแสดงออกด้วยวิธีการใดๆ อันอาจเป็นการกระทบต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 ไม่เป็นความผิดต่อไป และให้การนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง
 
การกระทำในวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำใดๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจหรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าว
มาตรา 3 ให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่กระทำการนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใด เพื่อเรียกร้องให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือการชุมนุมการประท้วง หรือการแสดงออกด้วยวิธีการใดๆ อันอาจเป็นการกระทบต่อชีวิตร่างกาย อนามัย ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่ หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่19 กันยายน 2549 รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมาที่เกิดขึ้นระหว่างพ.2547 ถึงวันที่10 พฤษภาคม 2554 ไม่เป็นความผิดต่อไปและให้การนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำ 8สิงหาคม .. 2556 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำการในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากวามผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง
การกระทำในตามวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำใดๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจหรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าวผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
 
ร่าง พ.ร.บ.เหมาเข่งจึงนำมาสู่กระแสคัดค้านของมวลชนหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มมีจุดยืนการคัดค้านที่แตกต่างกัน ลองสำรวจตัวคุณเองว่า คุณเชื่อแบบไหน และสอดคล้องกับกลุ่มใด
 
 ค้านนิรโทษกรรมให้ผู้สั่งการฆ่าประชาชน และแกนนำ
แม้ตอนแรกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับที่นายวรชัย เหมะ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เสนอเข้าสู่สภาจะมีวรรคหนึ่งเขียนย้ำว่า การนิรโทษกรรมนี้ “ไม่รวมถึง” การกระทำใดๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจหรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งหมายความว่าจะไม่รวมถึงอดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือทหารผู้มีอำนาจสั่งการในเหตุการณ์สลายการชุมนุม และไม่รวมถึงแกนนำสีเสื้อต่างๆ แต่ปรากฏว่าเนื้อหาส่วนนี้ถูกแก้จากหน้ามือเป็นหลังมือ จากเดิมที่เขียนว่า “ไม่” นิรโทษกรรม ก็แก้ไขเป็น “ให้” นิรโทษกรรม
 
กลุ่มที่คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เพราะไม่เห็นด้วยที่จะนิรโทษกรรมให้ผู้สั่งการให้ล้อมปราบและใช้อาวุธกับประชาชน เช่น กลุ่มวันอาทิตย์สีแดง ซึ่งนำโดย บ.ก.ลายจุด, คณะนิติราษฎร์, บางส่วนของกลุ่มญาติผู้เสียหายฯ จากเหตุการณ์ปี 53, นักศึกษากลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย, เครือข่ายกล้าคิด ซึ่งประกอบด้วยนักกิจกรรมนักศึกษาจาก7 สถาบันการศึกษา ภาคใต้, องค์การนักศึกษาและสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, คณะผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กลุ่มแดงเสรีชนอิสระ (คนเสื้อแดงกลุ่มจากเชียงใหม่-ลำพูน), สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน, ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.), เครือข่ายนักวิชาการรับใช้สังคมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) 
 
ค้านนิรโทษกรรม ไม่เอาทักษิณ
ก่อนหน้านี้ ในสังคมไทยมีข้อเสนอต่อร่างกฎหมายสองแบบ คือร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ และร่าง พ.ร.บ.การปรองดองฯ เนื้อหาสำนวนการเขียนกฎหมายของสองเรื่องค่อนข้างคล้ายคลึงกัน แต่ความต่างของสองเรื่องนี้คือ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เน้นการยกเว้นความผิดให้คนจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ มีลักษณะเหมาเข่งที่ให้นิรโทษกรรมให้ทุกฝ่ายตั้งแต่เริ่มต้นวิกฤติความขัดแย้งทางการเมือง รวมถึงนิรโทษกรรมให้ในคดีทุจริตของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีด้วย ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.การปรองดองฯ ยังไม่เคยถูกสภาหยิบมาพิจารณา
 
เมื่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เข้าสภา แม้ในวาระรับหลักการจะเน้นที่การนิรโทษกรรมให้ประชาชน แต่เมื่อเข้าสู่ชั้นกรรมาธิการแล้ว ได้มีการคัดลอกข้อความจากร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ เข้ามา โดยเขียนว่า "บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ให้พ้นจากความผิดได้"
 
ความหมายของประโยคนี้ ส่งผลให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งถูกดำเนินคดีโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งตั้งขึ้นโดยคณะรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 และต่อมาถูกศาลฎีกาแผนกคดีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินว่ามีความผิดฐานทุจริตคอรัปชั่น พ้นจากความรับผิดไปด้วย
 
กลุ่มที่ออกมาค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ด้วยเหตุผลเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน เช่น องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันประเทศไทย, คณาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งนำโดยอธิการบดี, สภาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, เครือข่าย มอ.รักชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่, กลุ่มรวมพลคนรักชาติ เมืองช้าง จังหวัดสุรินทร์, ม็อบสามเสน ซึ่งนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มที่เกี่ยวข้อง เช่น กลุ่มนักธุรกิจย่านสีลม กลุ่มคนจันท์รักชาติ, กลุ่มแดงเสรีชนอิสระ (คนเสื้อแดงกลุ่มจากเชียงใหม่-ลำพูน), คณะผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เครือข่ายนักวิชาการรับใช้สังคมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา, คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.), คณาจารย์และบุคลากร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย จาก 24 สถาบันการศึกษา
 
 
ค้านนิรโทษทักษิณ ให้ทักษิณกลับมาสู้คดีตามปกติ
นอกจากนี้ ยังมีบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมให้กับบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 แต่มีเหตุผลในรายละเอียดต่างกัน เช่น คณะนิติราษฎร์ เพราะเแม้คณะนิติราษฎร์เคยเสนอไว้ว่า ต้องลบล้างผลหรือมติที่เกิดขึ้นจากองค์กรที่ตั้งขึ้นโดยคณะรัฐประหาร แต่คณะนิติราษฎร์เห็นว่า เรื่องดังกล่าวอยู่ในแนวทางแก้ไขเพื่อลบล้างผลพวงของการรัฐประหารซึ่งต้องแก้เป็นระบบ ไม่ใช่การแต่งเติมมาอยู่ในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ซึ่งเป็นคนละประเด็นกัน ทั้งนี้ กลุ่มที่สนับสนุนแนวคิดนี้ร่วมกับคณะนิติราษฎร์ เช่น ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.)
 
 
 
 
 
 
นิรโทษกรรม อย่าลืมคดี 112 
ช่วงแรกของข้อเสนอเรื่องร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ จะมีข้อถกเถียงที่ตีความกันอย่างมากว่า นิยามของคำว่า ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมืองนั้น จะรวมถึงผู้ต้องหาในคดีมาตรา 112 ว่าด้วยการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ด้วยหรือไม่ สุดท้าย ร่างที่ผ่านออกมานั้น พรรคเพื่อไทยซึ่งมีเสียงข้างมากเล่นบทปลอดภัยไว้ก่อนโดยการพยายามแสดงตัวว่าจะไม่ข้องเกี่ยวกับคดีมาตรา 112 และระบุเอาไว้อย่างชัดเจนในร่างเลยว่า การนิรโทษกรรมครั้งนี้ ไม่รวมถึงคดีมาตรา 112
 
ประเด็นนี้นำมาสู่เสียงค้านของนักเคลื่อนไหวและนักวิชาการจำนวนหนึ่ง เพราะเห็นว่าคดีมาตรา 112 จำนวนมากเป็นผลจากการแสดงออกจากความขัดแย้งทางการเมืองอย่างชัดเจนโดยไม่จำเป็นต้องตีความ กลุ่มที่แสดงท่าทีชัดเจนออกมาคัดค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เพราะเลือกปฏิบัติ ไม่รวมคดีมาตรา 112 เช่น คณะนิติราษฎร์, เครือข่ายกล้าคิด (กลุ่มนักกิจกรรมนักศึกษาจาก7สถาบันการศึกษา ภาคใต้), นักศึกษากลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย 
 
 
ค้านนิรโทษกรรม เสื้อแดงเผาบ้านเผาเมือง
ใจความหลักของการนิรโทษกรรมครั้งนี้ คือการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ชุมนุมไม่ว่าสีเสื้อใด ซึ่งจะส่งผลให้ทั้งผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่มีคดีปิดสนามบิน ประชาชนที่ออกมาชุมนุมทั่วประเทศในปี 2553 และอีกหลายๆ เหตุการณ์ ได้รับอานิสงส์จากการนิรโทษกรรมไปด้วย 
 
แต่ยังมีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่ต้องการเห็นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ มีผลให้นิรโทษกรรมแก่ประชาชนที่ออกมาชุมนุมในเหตุการณ์เมื่อปี 2553 โดยเห็นว่าเป็นพวกเผาบ้านเผาเมือง กลุ่มที่คัดค้านนิรโทษกรรมในลักษณะนี้ ปรากฏให้เห็นได้ในบางส่วนของการปราศรัยที่ม็อบสามเสน, กลุ่มรวมพลคนรักชาติ เมืองช้าง จังหวัดสุรินทร์ รวมถึงบางส่วนของการปราศรัยในม็อบของพรรคประชาธิปัตย์ตามจังหวัดต่างๆ 
 
 
ค้านนิรโทษกรรม เกลียดนักการเมืองในสภา
ด้วยโอกาสของการปฏิบัติหน้าที่กับความอุบาทว์ของเหล่านักการเมืองเสียงข้างมากในสภาอันทรงเกียรติ ที่เร่งผ่านกฎหมายโดยไม่ฟังเสียงประชาชน ส่วนฝ่ายค้านเองก็มีเสียงไม่พอที่จะไปสร้างแรงถ่วงดุลอะไรได้ ผลการปฏิบัติงานครั้งนี้จึงนำมาสู่กระแสลุกฮือของมวลชน ที่ใช้เรื่องการค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ มาเป็นสัญลักษณ์ในการต่อต้านรัฐบาล 
กลุ่มที่มีจุดยืนลักษณะนี้ เช่น กลุ่มนักวิชาการประชาชนหาดใหญ่, แฟตเรดิโอ
 
การแก้ไขเนื้อหาร่างแล้วรวบรัดผ่านกฎหมายอย่างน่าแปลกประหลาดของส.ส.พรรคเพื่อไทยครั้งนี้ สร้างกระแส “คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ” ให้ลุกขึ้นอย่างมีนัยสำคัญบนถนนประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยเกมนี้คนใส่สูทในสภามีประชาชนที่นอนอยู่ในคุกเป็นตัวประกัน น่าหวั่นเป็นอย่างยิ่งว่า กระแสการคัดค้านเกมการเมืองเรื่องนิรโทษกรรมครั้งนี้ จะทำให้การเรียกร้องหาความจริง และการเรียกร้องอิสรภาพของ “นักโทษการเมือง” จำนวนมากอันเป็นสาระสำคัญของเรื่องการนิรโทษกรรม กลายเป็นเสียงที่ริบหรี่ กว่าเสียงใดๆ
 
ที่มา.http://ilaw.or.th/
/////////////////////////////////////////////////////////