--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2554

จักรภพ. โผล่พนมเปญ แม่ยกเสื้อแดงห้อมล้อมให้กำลังใจพรึ่บ !!?

ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา บรรยากาศกองเชียร์เสื้อแดงเป็นไปอย่างคึกคัก ก่อนการแข่งขันฟุตบอลกระชับมิตรระหว่างทีมวีไอพีรัฐบาลกัมพูชากับทีมส.ส. และแกนนำเสื้อแดงจากรัฐบาลไทย หรือเรดพีซ จะเริ่มขึ้นในเวลา 15.00 น.ที่สนามกีฬาโอลิมปิก สเตเดียม กรุงพนมเปญเป็นเต็มไปด้วยบรรดาคนเสื้อแดงนับหมื่นคน พร้อมใจสวมเสื้อแดง ขนอุปกรณ์การเชียร์ยกขบวนมาร่วมและชมและเชียร์ฟุตบอลนัดสำคัญ โดยใช้ชื่อ “กองเชียร์หัวใจแดง” ซึ่งรัฐบาลกัมพูชาได้จัดเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยแกนนำและกลุ่มคนเสื้อแดงอย่างเต็มที่

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า เมื่อเวลา 10.00 น. นายจักรภพ เพ็ญแข แกนนำ นปช.ที่อยู่ระหว่างหลบหนีคดีในต่างประเทศ ได้เดินทางมายังโรงแรมคัมโบเดียนา กรุงพนมเปญ ท่ามกลางการต้อนรับของบรรดาแม่ยกเสื้อแดงที่ต่างเข้ามาสวมกอดพร้อมขอถ่ายรูปและขอลายเซ็น โดยนายจักรภพ กล่าวว่า ตนเพิ่งเดินทางมาจากเกาะมาเก๊า ประเทศจีน เพื่อมาที่กัมพูชาและช่วงที่ผ่านมาเดินทางไปหลายที่ไม่ได้อยู่ประเทศใดเป็นหลัก แต่ยังทำงานจัดตั้งทางความคิดเป็นหลักเพราะตนเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงทางความคิดจะต้องค่อยเป็นค่อยไปเพราะหากเปลี่ยนทันทีจะทำให้เกิดอาการที่เรียกว่าสำลักทางความคิด

เมื่อถามว่าคิดจะกลับไทยมาต่อสู้คดีหรือไม่ นายจักรภพ กล่าวว่า ตนเห็นว่าขณะนี้กระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยยังอยู่ในสภาพที่ไว้วางใจไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น แม้อยากจะมาต่อสู้แต่เราก็ต้องถามว่ากระบวนการยุติธรรมเป็นไปอย่างถูกต้องหรือไม่ ตอนนี้ทุกคนมีใจที่อยากจะปรองดองแต่ต้องดูว่า 5 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ตนเข้าใจความรู้สึกว่าทุกคนอยากปรองดองแต่การการปรองดองต้องอยู่บนพื้นฐานอนาคตและประชาธิปไตยที่ไม่ถดถอยด้วย เมื่อถามว่าเห็นด้วยกับการตั้ง คอ.นธ. ขึ้นมาดูแลกระบวนการยุติธรรมและกฎหมายหรือไม่ นายจักรภพ กล่าวว่า ก็ต้องรอดูต่อไป แต่โดยหลักการดีและเห็นด้วย

ที่มา:ข่าวสดออนไลน์
************************************************

ทหารอากาศขาดรัก !!?

แต่ “ทหารอากาศ” เสืออากาศ ยังมีคนเก่งมากส์??
“บิ๊กเฟื่อง” พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ แม่ทัพอากาศ เจ้าพ่อแห่งทุ่งดอนเมือง ผลงานโฉบเฉี่ยว เป็น “เอฟ.๑๖” บินเข้าตาในยุค “พรรคประชาธิปัตย์”เป็นคนตั้ง...
หากเป็นเครื่อง “ซี ๑๓๐ เฮอร์คิวลิส” บินไม่กระฉับ กระเฉง ก็ต้อง “ปลดระวาง”
เหมือนโบราณท่านว่า, แผ่นดินไม่ไร้ใบพุทรา “ผู้มีความสามารถ” ยังมีอีกเป็นตับ!!
ถึง “พล.อ.อ.อิทธิพร”จะเก่งเหมาะสม..แต่สมบัติต้องผลัดกันชม?..อุ้มสมด้วยประการฉะนี้แหละครับ??

++++++++++++++++++++++++++++

“คลอดยากแท้..แท้”!!
โผทหาร ณ. วันที่ ๒๐ กันยายน ยังไม่ผ่านการทำคลอด จากหมอตำแย??
“บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ผู้เป็นจ่าฝูงกองทัพบก จะคัดสรรเพื่อนร่วมรุ่น “ตท. ๑๒” ยกแถวเข้ามายึดแนวหน้า เป็น “๕ เสือ” ช่างมันส์ยกร่อง
ฝ่ายการเมืองของ ขุนศึกหญิงตระกูลหยาง “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อยากหนุน ตท.๑๑ รุ่นพี่ และ ตท.๑๓ รุ่นน้อง เข้ามาสู่ไลน์ ในฐานะ “มันสมอง”
อีกหลายถ้าโตพรวด โตพราด ใหญ่ผงาดเพียงลำพัง..ถือเป็นการ “กระชับพื้นที่”กันกลายๆ
แชร์เก้าอี้แม่ทัพและ๕เสือ ให้รุ่นพี่รุ่นน้อง..มีแต่คนยกย่อง?..ยิ่งมอง..ม้อง..มอง อุ้ย,สบายใจ

+++++++++++++++++++++++++++++

เตะ “ตัดขา” กันนัวเนีย!!
ผลงาน เป็นเครื่องหมายการค้า คุณภาพ “พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี” ไม่มีอะไรเสีย??
แต่ไฉน เต้าหยินบรมครูกฎหมาย “ มีชัย ฤชุพันธ์” จึงออกหน้าคัดค้านไม่เห็นด้วย
ประสิทธิภาพ เยี่ยมยอด ถ้า “บิ๊กพัลลภ” ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี จะมาคุม “กอ.รมน.” ทุกอย่างก็จะไปได้สวย
“ยาเสพติด” ที่ระบาด.. ปัญหา “๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้” ..ที่ระเบิดประชาชนตาย-เจ็บระนาว จะได้ถูกแก้ไข “ตรงจุด”!!
“อาจารย์มีชัย”เจ้าขา... “บิ๊กพัลลภ”ทำงานเข้าตา?..หนุนสักคนเถอะหนา คนนี้เก่งสุด ๆ

++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่ต้องวิ่งผลัด ๔ คูณร้อย!!
ผลงาน “พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง” จเรตำรวจ ที่จะอัพเกรดไปเป็น “รอง ผบ.ตร.” มีเป็นกุรุส มิใช่น้อย??
หากอีก ๖ เดือนข้างหน้า “พล.ต.อ.เพรียวพันธุ์ ดามาพงศ์” ว่าที่ ผบ.ตร. โหนเถาวัลย์ไปเป็นรัฐมนตรี
จ่อคิวเข้ามาเป็น “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่” ส่องกล้อง ..ไม่น่าพ้น “ท่านนี้”
เพราะมีผลงานเป็นที่จับต้องได้ และ “ลูกน้อง” ใต้บังคับบัญชา ต่างรักใคร่ นับถือ!!
เก่งทั้งบู๊และบุ๋น....มีแต่คนหนุน?...ลุ้นกันเยอะ เพราะเชื่อในฝีมือ??

+++++++++++++++++++++++++++++

“กลัว” ประวัติศาสตร์ จะซ้อนรอย!!
ฉะนั้นเมื่อเป็นฉะนี้, อยากจะให้ “ป้องกัน” กันเอาไว้หน่อย??
ยุคแรก ๆ เริ่มต้นเดิมที ที่ “อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร” ก้าวมาเป็นผู้นำประเทศ มีเหตุตูมตามกับเครื่องบินที่จะไปเชียงใหม่
พี่โดนมาแล้ว?.. หวั่นว่าวันเก่า ๆ จะกลับมาอีก โดนกับ “คุณปู” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯหญิงแห่งเมืองไทย
อะไรที่ป้องกัน “ความชัวร์ได้”ก็ต้องพร้อมทำกันเสร็จสรรพ!!
ควรป้องกันให้เต็มความสามารถ..อย่าได้ประมาท?..พลาดแล้ว ไม่คุ้มกัน นะครับ??

คอลัมน์:ตอดนิดตอดหน่อย,บางกอกทูเดย์
************************************************

วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2554

เช็คชื่อ.โผทหาร ล่าสุด "เสถียร. นั่งปลัด กห.!!?

เปิดเบื้องหลัง "เสถียร เพิ่มทองอินทร์" ผงาดจ่อเก้าอี้ปลัดกลาโหม ขณะที่โผทหารลงตัว "ธนะศักดิ์" นั่ง ผบ.สส. "ยุทธศ้ักดิ์" ยอมถอย

บัญชีรายชื่อแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารระดับนายพลประจำปี 2554 ลงตัวแล้ว ภายหลังการประชุมคณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 เมื่อวันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา

ประเด็นสำคัญที่คณะกรรมการ 6 คนซึ่งเปรียบเสมือนบอร์ดสูงสุดในการรแต่งตั้งโยกย้ายของทุกเหล่าทัพนั่งหารือกัน คือปัญหาที่รัฐบาลไม่อนุมัติเปิดตำแหน่งประธานที่ปรึกษากระทรวงกลาโหม อัตราจอมพล ตามที่เสนอไป

ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้คงตำแหน่งนี้ไว้ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อตำแหน่งอื่น จึงให้ พล.อ.คณิต สาพิทักษ์ (ตท.13) ดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษากระทรวงกลาโหมตามเดิม

ส่วนตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.กิตติพงษ์ เกษโกวิท ปลัดกระทรวงที่จะเกษียณอายุราชการวันที่ 30 ก.ย.นี้ ได้เสนอชื่อ พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ (ตท.11) ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพไทย ตามที่เคยเสนอในการประชุมคณะกรรมการฯเมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา โดย พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม ซึ่งนั่งหัวโต๊ะก็เห็นด้วยตามที่ พล.อ.กิตติพงษ์ เสนอ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ได้ขอใช้อำนาจ รมว.กลาโหม เสนอชื่อ พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ (ตท.11) รองปลัดกระทรวงกลาโหม ขึ้นเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม แต่ล่าสุดก็ยินยอมโดยดี

สาเหตุที่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ยอมง่ายๆ เพราะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เรียก พล.อ.ยุทธศักดิ์ เข้าไปพูดคุย และสั่งการให้สนับสนุน พล.อ.เสถียร เนื่องจาก พล.อ.เสถียร ได้รับการผลักดันจาก ส.ส.พรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะสายอีสาน ขณะที่ พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) ก็สนับสนุน พล.อ.เสถียร เนื่องจากไม่ต้องการให้กระทบต่อตำแหน่ง ผบ.สส.ที่ได้เสนอชื่อ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร (ตท.12) เสนาธิการทหาร (เสธ.ทหาร) ขึ้นเป็น ผบ.สส.ไว้แล้ว

และสาเหตุที่พรรคเพื่อไทยให้การสนับสนุน พล.อ.เสถียร ก็เนื่องจาก ดร.ณัฐณิชาช์ เพิ่มทองอินทร์ ภรรยาของ พล.อ.เสถียร เป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลคำขวาง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นหนึ่งในฐานเสียงสำคัญของพรรคเพื่อไทยกระทั่งได้รับการเลือกตั้งเข้ามาถึง 7 ที่นั่ง

สำหรับบัญชีรายชื่อในตำแหน่งอื่นๆ เป็นไปตามเดิม คือ พล.อ.ธนะศักดิ์ ขึ้นมา ผบ.สส. พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ (ตท.13) ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพเรือ ขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.)

ในส่วนกองทัพบก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้เสนอให้ขยับ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เสนาธิการทหารบก (เสธ.ทบ.) ขึ้นดำรงตำแหน่งรอง ผบ.ทบ. และให้ พล.ท.ศิริชัย ดิษฐกุล รองเสธ.ทบ. ขึ้นมาดำรงตำแหน่ง เสธ.ทบ. โดยมี พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน (ตท.12) และ พล.อ.โปฎก บุนนาค (ตท.12) เข้าไลน์ 5 เสือ ดำรงตำแหน่งผู้ช่วย ผบ.ทบ.

ตำแหน่งอื่นๆ ที่น่าสนใจ อาทิ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ (ตท.11)ประธานคณะที่ปรึกษากองบัญชาการกองทัพไทย เป็น ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ (ตท.11) รองปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.ชาตรี ทัตติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกระทรวงกลาโหม เป็น รองปลัดกระทรวงกลาโหม พล.ร.อ.อภิวัฒน์ ศรีวรรธนะ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทร. เป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.อ.ถไมตรี โอรสหงส์ รองเสธ.ทหาร เป็นรองปลัดกลาโหม พล.อ.ภุชงค์ รัตนวรรณ(ตท.10) ผบ.สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ (ผบ.สปท.) เป็นจเรทหารทั่วไป

กองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.) พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร (ตท.12) เสนาธิการทหาร (เสธ.ทหาร) เป็น ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ (ตท.12) เจ้ากรมเสมียนตรา เป็น รองผบ.สส. พล.ร.อ.ยุทธนา ฟักผลงาม (ตท.12 ) ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพเรือ เป็น รองผบ.สส. พล.อ.อ.บุญยฤทธิ์ เกิดสุข (ตท.11)ผช.ผบ.ทอ.เป็น รอง ผบ.สส. พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร (ตท.12)รองเสธ.ทหาร เป็น เสธ.ทหาร พล.อ.อ.สุปรีชา กมลศาสน์ (ตท.10) หน.ฝสธ.ผบ.สส.เป็นประธานคณะที่ปรึกษา บก.ทท.

กองทัพบก พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ (ตท.12) เสธ.ทบ.เป็น รอง ผบ.ทบ. พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน (ตท.11)ที่ปรึกษาพิเศษ ทบ. เป็น ผช.ผบ.ทบ พล.อ.โปฎก บุญนาค(ตท.12) ผบ.หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ เป็น ผช.ผบ.ทบ. พล.ท.ศิริชัย ดิษฐกุล (ตท.13) รองเสธ.ทบ.เป็น เสธ.ทบ. พล.อ.ยุทธศิลป์ โดยชื่นงาม(ตท.11) ผช.ผบ.ทบ. เป็นประธานคณะที่ปรึกษา ทบ. พล.ท.ชลวิชญ์ เพิ่มทรัพย์ (ตท.12) ปลัดบัญชีทหารบก(ปช.ทบ.) เป็น หัวหน้าฝ่ายเสธ.ประจำ ผบช. พล.ท.สิงห์ศึก สิงห์ไพร (ตท.12) เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก (จก.ยศ.)เป็น ที่ปรึกษาพิเศษทบ. (อัตราพลเอก)

พล.ท.ยุวณัฐ สุริยกุล ณ อยุทธยา(ตท.12) ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทบ. เป็นที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบก (อัตราพลเอก) พล.ท.อรุณ สมตน (ตท.14 ) ผช.เสธ.ทบ. ฝขว. เป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทบ.(อัตราพลเอก) พล.ท.ฉัตรชัย สาริกัลยะ (ตท.12) ผช.เสธ.ทบ.ฝกบ.เป็น รองเสธ.ทบ. พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ (ตท.12 ) ผช.เสธ.ทบ.ฝกร. เป็นรองเสธ.ท บ. พล.ต.ศุภรัตน์ พัฒนาวิสุทธิ์ (ตท.12 )รอง ผบ.หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ (รองผบ.นสศ.)เป็น ผบ.นสศ. พล.ต.อุทิศ สุนทร (ตท.14) รองแม่ทัพภาคที่ 1 เป็น แม่ทัพน้อยที่ 1 พล.ต.พิสิทธิ สิทธสาร ผบ.พล.ร.2 รอ.เป็น ผบ.พล.1 รอ. พล.ต.ภาณุวัชร์ นาควงศ์ ผบ.มทบ.11เป็น ผบ.พล.ร.9 พ.อ.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ รอง ผบ.พล.ร.2 รอ. เป็น ผบ.พล.ร.2 รอ.

กองทัพเรือ พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ (ตท.13 )ที่ปรึกษาพิเศษ ทร. ขึ้นเป็น ผบ.ทร. พล.ร.อ.ดำรงศักดิ์ ห้าวเจริญ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทร. เป็น รองผบ.ทร. พล.ร.อ.วีรพล กิจสมบัติ หน.คณะฝสธ.ประจำ ผบช. เป็น ประธานคณะที่ปรึกษา ทร.(อัตราจอมพล) พล.ร.อ.อมรเทพ ณ บางช้าง ผู้ทรงวุฒิพิเศษ เป็น ผช.ผบ.ทร. พล.ร.ท.พลวัฒน์ สิโรดม รอง เสธ.ทร. เป็น เสธ.ทร. พล.ร.ท.ฆนัท ทองพูล ผบ.กองทัพเรือภาค1 เป็น ผบ.กองเรือยุทธการ

กองทัพอากาศ พล.อ.อ.ศรีเชาวน์ จันทร์เรือง (ตท.12)ผช.ผบ.ทอ. เป็น รอง ผบ.ทอ. พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง เสธ.ทอ. (ตท.13)เป็น ผช.ผบ.ทอ. พล.อ.ท.วินัย เปล่งวิทยา (ตท.12) ผบ.ควบคุมการปฏิบัติทางอากาศ(คปอ.) เป็น ผช.ผบ.ทอ. และ พล.อ.ท.เพิ่มเกียรติ ลวณะมาลย์ (ตท.13) รองเสธ.ทอ. เป็น เสธ.ทอ.

ที่มา:กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
///////////////////////////////////////////////////////////////////

ไขปริศนาคลิปนายกฯหลุดฮา !!?



คลิปนายกรัฐมนตรีหลุดขำที่มีหลายคนได้ชม และพลอยจะหัวเราะตามนายกฯไปด้วย เป็นคลิปที่ใครหลายคนได้ดู เกิดความคิดผุดขึ้นมาทันทีว่า นายกรัฐมนตรีหญิง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หัวเราะอะไรขนาดนั้น เธอขำอะไร??

มันมี "คำถาม" อะไรจากสื่อมวลชนที่ทำให้นายกฯปู "หลุดหัวเราะ" ขณะอยู่ในลิฟท์ได้แบบนั้น?

เหตุการณ์ในคลิปเกิดขึ้นเมื่อวันอังคารที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย ซึ่งก่อนจะเกิดเหตุการณ์ขำในลิฟท์ดังกล่าววันนั้นมีประชาชนผู้สนับสนุนนายกฯปูเดินทางมาปักหลักรอให้กำลังใจคราคร่ำกว่า 100 คน รวมไปถึงกองทัพสื่อมวลชนที่ปักหลักรอสัมภาษณ์ประจำวันก็รอกันอยู่ปะปนบริเวณโถงทางเดินข้างล่างของที่ทำการพรรคด้วยเช่นกัน

พลันที่นายกฯปูก้าวเท้าลงจากรถเข้ามาในพรรค บรรดาผู้สนับสนุนแห่แหนกันเข้ารุมล้อมเพื่อจะได้ใกล้ชิดสัมผัสมือพูดคุย แสดงความเป็นห่วงเป็นใยกรี๊ดกร๊าดตามประสา

ส่วนกองทัพสื่อมวลชนก็ยืนออเบียดเสียดปะปนกันไปด้วย นายกฯยิ่งลักษณ์ที่ถูกรุมล้อมยังคงยิ้มแย้มไปตามแบบที่เป็นทุกวัน ค่ะๆคะๆไปตามเรื่อง

ขณะที่ทีมรปภ.นายกฯยังคงทำงานหนักทั้งกันคนให้อยู่ในสเปซที่เหมาะสม เพื่อให้นายกฯเดินไปได้แบบทีละ "ครึ่งก้าว" ผ่านฝูงแฟนคลับมาได้ โดยระหว่างนั้นสื่อมวลชนจำนวนมากก็ไม่คอยท่า เตรียมปฏิบัติหน้าที่รอเสียบไมโครโฟนสัมภาษณ์ด้วยเช่นกัน

กระนั้นนายกฯก็ยังต้องเจอคุณป้าที่เอาทุเรียนทอดมามอบให้นายกฯอีกด่านหนึ่ง !?!

หลังผ่านด่านทุเรียนทอดมาแล้ว สื่อก็พยายามที่จะเข้าไปรุมตามรูปแบบการทำงานที่จะสัมภาษณ์ทั่นผู้นำให้ได้ ซึ่งก็เป็นลักษณะถามไปตอบไป เดินกันไปทีละครึ่งก้าว (เช่นเคย)

จากถามเรื่องน้ำท่วมไล่เรียงมาจนถึงการแต่งตั้งโยกย้าย นายกฯหญิงก็เดิน (ครึ่งก้าว) มาจนถึงหน้าลิฟท์ตัวประจำที่เป็นปราการด่านสุดท้าย คั่นกลางระหว่างนายกฯกับสื่อ ก้าวเข้าลิฟท์เมื่อไหร่เป็นอันจบสิ้น!

ก็ให้เผอิญว่าหลังผ่านการ "ดัน" กันตั้งแต่ทางเดินเข้ามาพรรค เจอแฟนคลับ เจอป้าทุเรียนทอด จนมาเจอนักข่าวหลายสิบชีวิตเข้ามารุมกรูกัน ฝ่ายทีมรปภ. นายกฯก็ยังปฏิบัติหน้าที่ "กัน" คนเพื่อไม่ให้เข้ามาในสเปซเล็กๆประชิดตัวนายกฯจนเกินไป

ขณะกระจอกข่าวปฏิบัติหน้าที่ดันเพื่อถามให้ได้ เพราะนายกฯก็ตอบให้ทีละเล็กละน้อย

ผลคือรปภ.กันไปกันมา จนถึงหน้าลิฟท์เกิดความอลวลอลเวง จนมีกระจอกข่าวสาวนางหนึ่งหลุดรอดวงแขน ทีมรปภ. จนเข้าไปประชิดนายกฯแบบที่กระจอกข่าวก็ยังงงว่าหลุดเข้าไปอยู่ร่วมวงวี.ไอ.พี.ด้วยได้ยังไง เมื่อนายกฯเองเห็นเช่นนั้นจึงขำขึ้นมา

นั่นเป็นที่มาของอาการ "หลุดขำ" ของนายกฯยิ่งลักษณ์

เป็นการหลุดขำใส่สถานการณ์อลเวงหน้าลิฟท์--ลิฟท์ที่เป็นด่านสุดท้ายก่อนจะเข้าสู่ความเป็นส่วนตัวในพรรคเพื่อไทย

 ที่มา.ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
********************************************************

เฉลิม. รับลูก นปช.ร้องเคลียร์ปมดับ 91 ศพ..!!?

"เฉลิม" รับลูก นปช. ร้องเคลียร์ปมดับ 91 ศพ เผยดีเอสไอชี้ดชัด 13 ศพเสื้อแดงฝีมือเจ้าหน้าที่ กางกฎหมายฟ้องเจ้าหน้าที่ได้รับการคุ้มครอง ขู่ฟ่อนักการเมืองคนสั่งการไม่รอด จ่อชง ป.ป.ช.เชือดต่อ ดักคอ "มาร์ค-เทือก" อย่าโวย รบ.ปูกลั่นแกล้ง ...

วันที่ 22 กันยายน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนได้รับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)เกี่ยวกับกรณีที่ญาติพี่น้องเสียชีวิตจากการชุมนุม แต่การดำเนินคดีไม่คืบหน้า ตนจึงได้อธิบายให้ฟังว่า อีกไม่นานจะมีการไต่สวนการตายโดยศาล ซึ่งจะทำให้เรารู้ว่าผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน อย่างไร และใครเป็นคนทำให้ตาย เมื่อศาลไต่สวนเสร็จเรียบร้อย จะส่งเรื่องกลับมาให้อัยการ ก็ต้องส่งเรื่องกลับมาให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีหน้าที่ชันสูตรพลิกศพ หลังจากนั้นสำนวนไต่สวนชันสูตรพลิกศพจะต้องร่วมกับสำนวนการสอบสวนคดีอาญา ซึ่งจะทำให้การสอบสวนทำได้ง่ายขึ้น และเร็วขึ้น รวมทั้งใครก็ปกปิดไม่ได้

ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวต่อว่า เวลาที่ประชาชนร้องทุกข์ ไม่ว่าจะร้องกับกองปราบปราม เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือ ดีเอสไอ ที่ผ่านมารัฐบาลชุดที่แล้วไม่ทำความชัดเจน เพราะถ้าการสอบสวนปรากฏว่า มีนักการเมืองเกี่ยวข้อง ต้องส่งให้ ป.ป.ช.ดำเนินการภายใน 30 วัน เพราะตามขั้นตอนแล้ว เมื่อป.ป.ช.ได้สำนวนการไต่สวนชันสูตรพลิกศพจากศาลมา ก็จะทำงานได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ แต่ที่ผ่านมากลับมีการชันสูตรพลิกศพแบบธรรมดา โดยให้เหตุผลว่าไม่ได้เป็นการตายโดยเจ้าหน้าที่ แต่วันนี้ดีเอสไอยืนยันแล้วว่า กรณีที่ตาย 13 ศพ เป็นการกระทำของเจ้าพนักงาน ซึ่งเข้าข่าย ป.วิอาญา ม. 150 วรรคสาม ซึ่งเท่าที่ตนตรวจสอบในเบื้องต้น ข้าราชการผู้ปฏิบัติหน้าที่จะปลอดภัย เพราะจากประมวลกฎหมายอาญา ม. 62 และม. 70 คุ้มครองเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งตาม ม.70 นั้นหากเจ้าพนักงาน ผู้มีอำนาจสั่งการและผู้รับคำสั่ง เชื่อโดยสุจริตว่าคำสั่งที่เจ้าหนักงานสั่งนั้นเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย เขาก็พ้นผิด อย่างที่บอกว่ามีชายชุดดำ เผาบ้านเผาเมือง มีกองกำลังเจ้าหน้าที่เขาก็เชื่อ อย่างนั้นเจ้าหน้าที่เขาก็ไม่ผิด แต่คนสั่งต้องรับผิดชอบ

เมื่อถามว่า ภายในปีนี้คดี 91 ศพ และ 13 ศพ จะสามารถคลี่คลายและทำให้เกิดความชัดเจนได้หรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ถ้าศาลไต่สวนเร็ว ความชัดเจนก็จะเกิดขึ้นเร็ว และเป็นการไต่สวนเปิดเผย เวลาไต่สวนตนเชื่อว่าห้องพิจารณาคงจะแน่นเอี๊ยด เพราะทุกคนอยากฟัง วันนี้รัฐบาลมาถูกทางแล้ว เมื่อถามว่า นักการเมืองที่สั่งการหากผิดจริงจะต้องรับโทษสถานใด ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ตนยังไม่กล้าพูด ต้องค่อยเป็นค่อยไป แต่ยืนยันว่าถ้ายังให้ตนดูแลงานตรงนี้การกลั่นแกล้ง ใส่ร้าย สร้างพยานหลักฐานเท็จไม่มีเด็ดขาด ตรงไปตรงมา เมื่อถามว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯฝ่ายความมั่นคง จะอ้างว่าเป็นการกลั่นแกล้งล้างแค้นได้หรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ยืนยันว่าไม่ใช่อย่างนั้น เพราะเมื่อไต่สวนในชั้นศาลแล้ว ใครจะไปสั่งศาลได้ ถ้าเป็นในชั้นของตำรวจ คนอาจมองว่าไปสั่งได้ ทั้ง ๆ ที่ความจริงก็สั่งไม่ได้เช่นเดียวกัน ตนกลัวว่า เมื่อพ้นหน้าที่ไปแล้วจะติดคุกตอนแก่ ตนไม่ทำ หลักฐานถึงแค่ไหนก็แค่นั้น

เมื่อถามถึง กรณีที่กระทรวงยุติธรรมเสนอของบประมาณ 8,000 ล้าน เพื่อใช้เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์รุนแรงทางการเมือง และความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า เป็นข้อเสนอของคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่ง ชาติ(คอป.) แต่ทาง พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม บอกว่า ยังไม่มีงบประมาณในส่วนนี้ เมื่อยังไม่มีก็ต้องมาคิดว่าจะต้องทำอย่างไร เพราะการเยียวยาไม่ใช่เฉพาะคนเสื้อแดงเท่านั้น แต่เยียวยาทั้งหมดในภาพรวมทั้งหมดที่ได้รับผลกระทบและไม่ได้รับความเป็นธรรม และได้รับมอบหมายให้นาย ยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯและ รมว.มหาดไทยเป็นประธาน และเท่าที่ทราบเขาก็เริ่มลงมือทำงานแล้ว ส่วนงบ 8,000 ล้านบาท จะเพียงพอหรือไม่ ตนก็ยังไม่รู้ว่าสุดท้ายจะเป็นอย่างไร ขณะเพียงแต่ตั้งกรอบเอาไว้ก่อน.

ที่มา:ไทยรัฐออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2554

การเมือง กินเมือง ทาส-พสุธา แดงทั้งแผ่นดิน..ขยับเข้าใกล้ปชต.เต็มใบ..!!?

กระแสการก่อตั้งหมู่บ้านแดง 80,000 หมู่บ้านทั่วประเทศเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา.. หลังจากการเมืองภาคประชาชนที่ฝักใฝ่ฝ่ายแดงได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในการสนับสนุน “พรรคเพื่อไทย” ให้เข้ามาบริหารประเทศ..กระแสดังกล่าวนับว่าเป็นจุดเริ่มของการสร้างประชาธิปไตยอย่างแท้จริงให้เกิดขึ้นในผืนแผ่นดินแห่งนี้..เมื่อฝ่ายการเมืองจับมืออย่างเหนียวแน่นกับภาคประชาชนได้แล้ว..ในทางกลับกันความสัมพันธ์ดังกล่าวย่อมเป็นการทำลายระบบบางอย่างที่ฝังรากลึกมาอย่างยาว นานหลังมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อครั้ง พ.ศ.2475..

ระบบที่ผูกขาดอำนาจของประเทศไทยอย่าง “ระบบอุปถัมภ์” ผ่านตัวแทนกลุ่มอำมาตย์จะถูกเขี่ยให้พ้นไปจากเส้นทางประชาธิปไตยหลังจากนี้ ร่องรอยการ “ตัดหางปล่อยวัด” กลุ่มผู้มีอำนาจในเครือข่ายอำมาตย์ เริ่มต้นจากการที่ “กองทัพ” ได้กลับตัวกลับใจหันมายืนเคียงข้างประชาชนมากขึ้น..ปรากฏการณ์ที่ “ผบ.เหล่าทัพ” หันหลังให้กับ “บ้านหลายเสา” จึงเป็นบทสะท้อนให้สังคมได้เห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ควรจะเป็น..“มือที่มองไม่เห็น” จะเกิดขึ้นได้ยาก เมื่อประชาชนในยุค 3G สามารถเข้าถึงข้อมูล ข้อเท็จจริงแห่งวงจรอำนาจที่ผ่านมาและการอ่อนแรงลงของ “อำนาจนอกระบบ” ดังกล่าวก็เป็นผลพวงมาจากพลังของประชาชนที่เข้มแข็งขึ้น..

กรณีเหตุการณ์ 14 ตุลา วันมหาวิปโยคเมื่อปี 2516 หรือกรณีการล้อมปราบนิสิต นักศึกษาอย่างโหดเหี้ยมเมื่อ 6 ต.ค.2519 ล้วนถือกำเนิดมาจากการเรียกร้องประชาธิปไตย ทั้งสิ้น..แต่หากพินิจพิเคราะห์สัญลักษณ์ “สีแดง” ในยุคนี้ให้ถ่องแท้..ใช่ว่าสีดังกล่าวจะสื่อ ถึงพวก “ฝ่ายซ้าย” เหมือนเช่นในอดีต..ในทางกลับกัน “มวลชนคนเสื้อแดง” เลือกที่จะใช้สีแดงเพื่อแสดงออกถึงการ เรียกร้อง “ประชาธิปไตย” ที่แท้จริงให้กับบ้านนี้เมืองนี้..วันนี้ทุกคนคงปฏิเสธไม่ได้ว่าประชาธิปไตยบ้านเราเป็นดั่ง “พีระมิดกลับหัว” เพียงแต่ ปชต.เริ่มส่อเค้าที่จะหันหัวมาถูกทาง เพราะขบวนการประชาชนที่เข้มแข็งขึ้นและรู้เท่าทันกลุ่มอำนาจเก่า...

หลังจาก “สีเขียว” ซึ่งเป็นกลุ่มคนบางกลุ่มที่มีสิทธิ์ “ถือปืน” โดยชอบธรรม..เริ่มเข้าใจสภาพความเป็นจริงใน “พลังของประชาชน”ดังนั้น ภาพรวมของ “กองทัพ” หลังจากนี้เป็นต้นไปจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่..หากอำนาจแฝงจากกลุ่มอำมาตย์ล่มสลายลง..ประชาชนคนไทยจะได้สัมผัส “ทหารอาชีพ” อย่างแท้จริง.. เกียรติยศชายชาติทหารไทย..จะกลับมาเป็นที่พึ่งที่หวังให้กับผู้คนภายในชาติอีกครั้งหนึ่ง..หันกลับมามองความอัปยศครั้งล่าสุด..คือ..การทำรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ซึ่ง เป็นการกระทำของกลุ่มอนุรักษนิยมเพียงไม่กี่คน แต่กลับนำพาคนไทยทั้งประเทศกว่า 65 ล้านคน ต้องตกนรกหมกไหม้ตามไปด้วย..

ถามต่อว่า “กองทัพ” เป็นต้นคิดในการยึดอำนาจรัฐด้วยหรือไม่???สำหรับคำตอบของการทำรัฐประหารแต่ละครั้ง..ทุกคนคงจะทราบเหตุผลที่มาที่ไป และผู้ที่อยู่เบื้องหลังการฉีกรัฐธรรมนูญครั้งล่าสุดว่าเกิดจากน้ำมือผู้ใด???การหยิบเอาประเด็น “ล้มล้างสถาบันฯ” ซึ่งเป็นข้ออ้างสุดฮิตเข้ามาสร้างความ ชอบธรรมในการยึดอำนาจ ยังคงจะมีต่อไปเรื่อยๆ หากภาคประชาชนอ่อนแอ และไม่รู้เท่าทันกลุ่มอำมาตย์ต้องมองด้วยตรรกะที่เป็นกลางและเป็นธรรม..รัฐประหารคือตัวบ่อนทำลายประชาธิปไตย..วันนี้สังคมไทยลุกขึ้นต่อต้านการทำรัฐประหารกันอย่างพร้อมเพรียง..และมีทีท่าว่า จะร่วมกันสังคายนาการทำรัฐประหารเมื่อ 19 ก.ย. 49 ที่เป็นผู้ทำคลอดรัฐธรรมนูญ ปี 2550 (รธน.ฉบับ คมช.)

หากเหตุการณ์อัปยศ 19 ก.ย. ไม่ชอบธรรม..“รธน.ปี 50” ผลพวงการยึดอำนาจ ย่อมไม่ชอบธรรมด้วยเช่นกัน..การปลุกกระแสให้มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญ ปี 2550 โดยให้มีการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ที่ภาคประชาชนมีส่วนร่วม กลับเป็นสิ่งที่ “กลุ่มอำนาจดึกดำบรรพ์” ในประเทศแห่งนี้อึดอัดจนอกแทบจะระเบิด..กลุ่มอำมาตย์ที่ใช้ รธน.50 ในการรักษาฐานอำนาจตนเองไว้ในขณะนี้ คงดาหน้าออกมาปกป้อง “เครื่องมือ” ชิ้นนี้ไว้ดังไข่ในหิน..ดังนั้น การต่อกรระหว่างอำมาตย์กับประชาชนยังคงดำเนินต่อไป..แต่การเปลี่ยน แปลงครั้งใหญ่จะเกิดขึ้นหรือไม่??? ขึ้นอยู่กับว่า..กลุ่มคนเสื้อแดงหรือสีเสื้ออื่นๆ ต้องการ ประชาธิปไตยครึ่งใบหรือว่าเต็มใบ?!?!

ที่มา.สยามธุรกิจ
******************************************************

วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2554

กู้กัน.. อย่างนรกแตก !!?

เงินกู้ ๑.๔ ล้านล้านบาท ยุครัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” งาบกันแหลก??
สงสาร,“อดีตนายกฯมาร์ค”เป็นหนังหน้าไฟ
บริษัทที่ปรึกษาการเงิน “ชักค่าต๋ง” ๑.๕ เปอร์เซ็นต์ จากเม็ดเงิน ๑.๔ ล้านล้าน ในการให้คำแนะนำ..และมีบางคน อยู่หลังฉาก?..รวยสะดือปลิ้น อย่าบอกใคร
เงินก้อนนี้, เห็นไปนอนแอ้งแม่ง อยู่ที่ “เกาะคีย์แมน”ดินแดนฟอกเงิน!!!
คน ปชป.รู้ว่าใครกินเงินนี้ไป...จึงสาปแช่งกันใหญ่?..อยากให้ท้องแตก เหลือเกิน??

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ใช้แผน “บันได ๒ ขั้น”!!
ยอมรับ “เสี่ยโย่ง-ยีราฟ” กรณ์ จาติกวณิช อดีตขุนคลัง หัวสมองไบร์ท อยู่เหมือนกัน??
มองข้ามช็อท, ผลักดัน “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” ฉายาพี่มีแต่ให้ ..ก้าวขึ้นเป็นเลขาธิการพรรค
อยู่ในช่วงพรรคเสียฟอร์มแพ้เลือกตั้ง ให้ “ปู” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงไม่อยากทำศึก แตกหัก
นั่นเป็นบันไดก้าวแรก..ที่ทำให้ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ไม่มี “สุเทพ เทือกสุบรรณ” เป็นตัวช่วย...หากบริหารพรรคผิดพลาด คราวนี้ “คุณมาร์ค” ก็ต้องถอนสมอ ออกไป!!!
ไม่มี “เทพเทือก” เป็นเลขาฯ...เก้าอี้หัวหน้า?..ก็ต้องตกลงมา ที่ “เสี่ยกรณ์”ใช่หรือไม่??

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วอร์รูมย่อย ๆ ใน “พรรคประชาธิปัตย์”!!
พากันตำหนิ..และบางรายถึงขั้นกัด “อดีตนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ถึงเลือดสาด??
ที่ออกมาตอแย ให้ “ข้าราชการ” ที่ถูกย้าย พากันแข็งข้อ..ทำให้พรรคหมดท่า
เปรียบไปแล้ว ช่วงนี้เหมือนช่วงเทศกาลเก็บผลไม้...เพราะเป็นช่วงโยกย้าย “ข้าราชการ” จึงเป็นสิทธิ์ชอบธรรม ที่ “รัฐบาลปู” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำได้ ตามกติกา
ไม่สมควรที่ “อภิสิทธิ์” จะออกมาโวยมาวาย...ทั้งนี้เพราะ “บรรหาร ศิลปอาชา”, “เนวิน ชิดชอบ” เตือนแล้วอย่าเพิ่งยุบสภาฯ..ให้โยกย้ายเดือนตุลาฯผ่านไปก่อน ถึงชิงกันยุบเสร็จสรรพ
ฉะนั้น,”อภิสิทธิ์”ไม่ควรล้งเล้ง...ควรจะด่าตัวเอง?..เพราะเล็งการณ์ไกลผิดไงล่ะขอรับ??

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ถ้าคิด “ก้าวข้าม”ความขัดแย้ง!!
เห็นที, “นายกฯปู” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องใช้ยาแรง??
ใครสั่งฆ่า สังหารประชาชน ๙๑ ศพ เจ็บระนาว ๒ พันกว่าคน ต้องลากตัวมาลงโทษ
ไป “ปรองดอง” กับคนใจทมิฬ ฆ่าประชาชนไม่ยั้ง..เป็นเรื่องไม่เกิดประโยชน์
ใครผิดก็ว่ากันตามผิด...ใครไม่ผิดก็ให้อิสระ ทำหน้าที่ได้อย่างเสรี!!
แต่นี่.ปล่อยให้ “ฆาตกร”...ที่สั่งราษฎร?..มาไล่ต้อนรัฐบาล คนเขาจึงไม่แฮปปี้??

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++

“รัฐบาลปู” ทำงานไม่ถึงเดือน!!
แต่ความมือไม่ถึง รัฐมนตรีสาวโสด “กฤษณา สีหลักษณ์” ผู้คุมสื่อ ทำให้รัฐบาลสะเทือน?
ปล่อยให้ “จอมเสี้ยม” พิธีกรข่าวหน้าจอ ล่อรัฐบาลจนเอียง
“นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” จะหลุดพ้นตำแหน่งไร้เก้าอี้ ก่อน ๓ เดือน ๖ เดือน..ก็เพราะฝีมือ “รัฐมนตรีหญิงกฤษณา”..ฉะนั้น, อย่าลอยหน้า มาเถียง
การให้อิสรเสรีภาพ แก่สื่อสารมวลชนทีวี โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ เป็นสิ่งที่ดี..แต่การให้ความเท็จ ให้ข้อมูลอันเป็นการโกหกประชาชน “รัฐมนตรีกฤษณา” นั่งอยู่ได้อย่างไร!!
ท่านอย่ามัวนั่งตัวลีบ...ถ้าไม่มีน้ำยา ก็คลุมปี๊บ?...รีบสละเก้าอี้ ลาออกไป??

คอลัมน์:ตอดนิดตอดหน่อย,บางกอกทูเดย์
///////////////////////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2554

รำลึก ๑๙ กันยา : ศาลไทยกับการประหารประชารัฐ !!?

รำลึก ๑๙ กันยา: ศาลไทยกับการประหารประชารัฐ โดย วีรพัฒน์ ปริยวงศ์

“จะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายทุกประการ”

ถ้อยคำตอนหนึ่งของคำถวายสัตย์ที่ตุลาการไทยต้องปฏิญาณต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เพลงชาติสอนให้เราเชื่อว่าประเทศไทยเป็นประชารัฐ แต่ประชารัฐกลับถูกประหารมาแล้วหลายครั้ง ล่าสุดก็เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ แม้วันนี้ผ่านมาได้ ๕ ปี แต่คราบเลือดและรอยแผลยังมีให้พบเห็นได้ทั่วไป ไม่เว้นแต่ในหน้าของรัฐธรรมนูญและอีกหลายหน้าของราชกิจจานุเบกษา

คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขแดงที่ อม. ๑/๒๕๕๐ (“คดีที่ดินรัชดาฯ”) ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๕ ตอนที่ ๑๒๖ ก
ในหน้าที่ ๘-๙ ศาลฎีกา กล่าวว่า

“เห็นว่า ในการทำรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจการปกครองประเทศในแต่ละครั้งนั้น ผู้ทำการรัฐประหารมีความประสงค์ที่จะยึดอำนาจอธิปไตยที่ใช้ในการปกครองประเทศ ซึ่งก็คือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการ มารวมไว้โดยให้มีผู้ใช้อำนาจดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียวหรือคณะบุคคลคณะเดียวเท่านั้น มิได้มีความประสงค์ที่จะล้มล้างระบบกฎหมายของประเทศทั้งระบบแต่อย่างใด”

“แม้แต่อำนาจตุลาการซึ่งเป็นอำนาจหนึ่งในอำนาจอธิปไตยก็ยังปรากฏเป็นข้อที่รับรู้กันทั่วไปว่าตามปกติผู้ทำการรัฐประหารจะยังคงให้อำนาจตุลาการโดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดีต่อไปได้ คงยึดอำนาจไว้แต่เฉพาะอำนาจนิตบัญญัติและอำนาจบริหารเท่านั้น”

“ในการทำปฏิวัติรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ก็เช่นกัน เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขยึดอำนาจในการปกครองประเทศได้เรียบร้อยแล้ว คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขก็ออกประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓ มีใจความสำคัญว่า ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ สิ้นสุดลง วุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรีและศาลรัฐธรรมนูญ สิ้นสุดลงพร้อมกับรัฐธรรมนูญ”

“ส่วนศาลทั้งหลาย นอกจากศาลรัฐธรรมนูญคงมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามบทกฎหมาย แสดงว่าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขยึดอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารมารวมไว้ที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่วนอำนาจตุลาการยังคงให้ศาลยุติธรรมใช้อำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามบทกฎหมายต่อไป”

(ลงชื่อ นายทองหล่อ โฉมงาม นายสมชาย พงษธา นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย นายสมศักดิ์ เนตรมัย นายวัฒนชัย โชติชูตระกูล นายประพันธ์ ทรัพย์แสง นายพิชิต คำแฝง นายธีระวัฒน์ ภัทรานวัช และนายเกรียงชัย จึงจตุรพิธ องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกา)

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๕/๒๕๕๑ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๕ ตอนที่ ๑๐๗ ก
หน้าที่ ๓๒ และ ๓๕ นายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้แสดงความเห็นส่วนตน ตอนหนึ่งความว่า:
“เห็นว่า ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ เรื่อง การตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐลงวันที่ ๓๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ เป็นคำสั่งของคณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจการปกครองประเทศได้เป็นผลสำเร็จ คณะรัฐประหารจึงเป็นรัฏฐาธิปัตย์ซึ่งมีอำนาจสูงสุด คำสั่งของคณะรัฐประหารดังกล่าว จึงเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับเพื่อประเทศชาติจะตั้งอยู่ได้ในความสงบต่อไป”

“โดยที่เหตุการณ์ก่อนการรัฐประหารบ้านเมืองอยู่ในสภาวะแบ่งแยกเป็นฝักเป็นฝ่าย ประกอบกับมีข้อเท็จจริงที่สนับสนุนให้เห็นถึงการกระทำที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ อันเป็นสาเหตุแห่งการรัฐประหาร คณะรัฐประหารจึงแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบขึ้นมาทำหน้าที่ตรวจสอบการกระทำอันเป็นเหตุการณ์ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติจึงจำต้องให้อำนาจแก่คณะกรรมการตรวจสอบเพื่อให้การดำเนินการตรวจสอบเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ”

“แต่ประการสำคัญยังมีการตรวจสอบถ่วงดุลโดยอัยการสูงสุด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบถ่วงดุลและการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพโดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแล้วแต่กรณี อันเป็นไปตามหลักการแห่งการปกครองโดยกฎหมาย หรือหลักนิติธรรม (Rule of Law) แล้ว”

(ลงชื่อ นายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ)

ในหน้าที่ ๓๘-๓๙ นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้แสดงความเห็นส่วนตน ตอนหนึ่งความว่า:
“เห็นว่า ประเทศไทยถูกคุกคามและบ่อนทำลายให้เสื่อมโทรมด้วยปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐมาโดยตลอด เป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาความยากจนและคุณภาพชีวิตที่ตกต่ำของประชาชนส่วนใหญ่ ทั้งยังขัดขวางและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศในทุกๆ ด้าน ปัญหาดังกล่าวนี้ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยระบบงานยุติธรรมปกติที่ออกแบบมาสำหรับอาชญากรรมสามัญทั่วไปได้ โดยเฉพาะในขั้นตอนสืบสวน สอบสวน ก่อนการพิจารณาคดีของฝ่ายตุลาการ ซึ่งเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ยังไม่มีอิสระและอำนาจเพียงพอที่จะตรวจสอบหรือดำเนินคดีต่อผู้มีฐานะและอำนาจระดับสูงเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

“สภาพปัญหาดังกล่าวทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงขนาดที่อาจกระทบต่อความมั่นคงและความอยู่รอดของประเทศ นับว่าเป็นปัญหาเฉพาะสำหรับประเทศไทยที่จำเป็นต้องมีมาตรการที่เหมาะสมเป็นพิเศษขึ้นเพื่อแก้ไข ซึ่งประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ เรื่อง การตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ ก็เป็นมาตรการหนึ่งที่จำเป็นต้องมี ทั้งนี้เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมของประเทศสามารถทำหน้าที่ได้ตามวัตถุประสงค์ในการตรวจสอบและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศได้จริง”

“ประกาศคณะปฏิรูปฉบับดังกล่าวมุ่งเน้นที่การตรวจสอบในขั้นตอนก่อนการพิจารณาคดีของศาลเท่านั้น มิได้มีเนื้อหาส่วนใดก้าวก่ายหรือแทรกแซงการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลเลยผู้ที่ถูกตรวจสอบและดำเนินคดีตามกฎหมายฉบับนี้ยังคงมีสิทธิต่อสู้คดีในชั้นศาลได้อย่างเต็มที่ทั้งในการตรวจสอบการใช้อำนาจหรือการทุจริตประพฤติมิชอบของบุคคลตามประกาศนี้จะกระทำได้ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยเท่านั้น กระบวนการตรวจสอบในชั้นก่อนฟ้องตามประกาศดังกล่าวจึงมิได้ฝ่าฝืนหรือขัดแย้งต่อหลักนิติธรรม หรือสิทธิมนุษยชนแต่ประการใด…”
(ลงชื่อ นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ)

ในหน้าที่ ๔๔ นายจรูญ อินทจาร ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้แสดงความเห็นส่วนตน ตอนหนึ่งความว่า:
“…การใช้อำนาจอธิปไตยตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการใช้อำนาจของคณะปฏิรูปฯ เช่นกัน ดังนั้น ประกาศคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ ๓๐ จึงมีฐานะ มีศักดิ์และมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมาย”
“เมื่อคณะปฏิรูปฯ เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยในขณะนั้น ใช้อำนาจออกประกาศฉบับนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่าคณะปฏิรูปฯ มีวัตถุประสงค์จะให้มีองค์กรทางบริหารที่มีอำนาจหน้าที่เสริมและผสานการใช้อำนาจซึ่งแบ่งแยกอยู่ใน ๓ องค์กรดังกล่าวมาบูรณาการให้คณะกรรมการตรวจสอบใช้อำนาจหน้าที่ทางบริหารของทั้ง ๓ องค์กรนี้ด้วย เพื่อตรวจสอบและสอบสวนเรื่องที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำการทุจริตต่อประเทศชาติตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ ซึ่งต้องกระทำโดยเร็วและภายในกรอบระยะเวลา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างเหมาะสมกับลักษณะของการกระทำผิดที่มีความร้ายแรงต่อประเทศชาติ”
(ลงชื่อ นายจรูญ อินทจาร ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ)

ในหน้าที่ ๔๘ นายเฉลิมพล เอกอุรุ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้แสดงความเห็นส่วนตน ตอนหนึ่งความว่า:
“เห็นว่าประกาศ คปค. ๓๐ มีสถานะเป็นกฎหมาย เพราะออกโดยผู้ที่เป็นรัฏฐาธิปัตย์อยู่ในขณะนั้น ดังที่ศาลฎีกาเคยพิพากษาไว้ ตามคำพิพากษาฎีกาที่ ๔๕/๒๔๙๖, ๑๖๖๓/๒๕๐๕ และ ๖๔๑๑/๒๕๓๔ และประกาศ คปค. ดังกล่าวย่อมมีสถานะเป็นกฎหมายอยู่ตราบเท่าที่ยังไม่มีกฎหมาย ที่มีศักดิ์เดียวกันมายกเลิก (เทียบเคียงคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๓๔/๒๕๒๓)”

(ลงชื่อ นายเฉลิมพล เอกอุรุ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ)



ในหน้าที่ ๕๓ นายนุรักษ์ มาประณีต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้แสดงความเห็นส่วนตน ตอนหนึ่งความว่า:
“เห็นว่า ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ เรื่อง การตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ซึ่งประกาศ ณ วันที่ ๓๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ ประกาศดังกล่าวเป็นประกาศที่มีสถานะเป็น “กฎหมาย” ระดับพระราชบัญญัติ เพราะการปฏิวัติยึดอำนาจการปกครองประเทศหัวหน้าคณะปฏิวัติหรือหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองประเทศ ข้อความใดที่หัวหน้าคณะปฏิรูปสั่งให้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติก็ต้องถือว่าเป็นกฎหมาย”

(ลงชื่อ นายนุรักษ์ มาประณีต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ)

ในหน้าที่ ๕๖ นายบุญส่ง กุลบุปผา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้แสดงความเห็นส่วนตน ตอนหนึ่งความว่า:
“เห็นว่า ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ (ประกาศ คปค. ฉบับที่ ๓๐) เป็นคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ได้ยึดและได้ควบคุมอำนาจการปกครองประเทศย่อมมีอำนาจสูงสุดในประเทศในฐานะเป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์คือเป็นผู้มีอำนาจตรากฎหมาย บังคับให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย และลงโทษผู้ฝ่าฝืนกฎหมายได้หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการแต่ผู้เดียว ดังนั้นคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองดังกล่าวจึงถือเป็นกฎหมายมีผลใช้บังคับ”

(ลงชื่อ นายบุญส่ง กุลบุปผา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ)



ในหน้าที่ ๕๙-๖๐ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้แสดงความเห็นส่วนตน ตอนหนึ่งความว่า:
“เห็นว่า เมื่อมีบุคคลหรือคณะบุคคลใดเข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศได้สำเร็จ บุคคลนั้นหรือหัวหน้าคณะบุคคลเช่นว่านั้น ไม่ว่าจะเรียกตนเองว่าอะไรย่อมได้ไปซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ และมีอำนาจออกประกาศหรือออกคำสั่งอันมีผลเป็นกฎหมายใช้บังคับแก่ประชาชนได้ ทำนองเดียวกับพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ย่อมมีผลเป็นกฎหมาย ดังนั้น การที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ คปค. ย่อมมีอำนาจในการปกครองประเทศและมีอำนาจออกประกาศ หรือคำสั่งต่าง ๆ ให้มีผลเป็นกฎหมาย หลักเกณฑ์เช่นนี้ยึดถือกันมาจนเป็นปกติประเพณีแล้ว”

(ลงชื่อ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ)

ในหน้าที่ ๖๓-๖๔ นายสุพจน์ ไข่มุกด์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้แสดงความเห็นส่วนตน ตอนหนึ่งความว่า:

“ภายหลังจากการรัฐประหาร พ.ศ. ๒๔๙๐ เรื่อยมา ศาลและนักนิติศาสตร์ไทยให้การยอมรับการทำรัฐประหารที่สำเร็จ โดยวินิจฉัยเสมอมาจนปัจจุบันว่าคณะรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์ คำสั่งของคณะรัฐประหารจึงเป็นกฎหมายและเป็นได้แม้รัฐธรรมนูญ…”
“คณะปฏิรูป ฯ ได้เล็งเห็นปัญหาการทุจริตคอรัปชันในรัฐบาลชุดที่แล้ว จึงได้กระทำการยึดอำนาจ ฯ และเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีความต่อเนื่องและเพื่อดำรงสถานะของรัฐ อำนาจอธิปไตย ตลอดจนการบริหารราชการแผ่นดินมิให้สะดุดหยุดลง เพื่อกฎหมายฉบับเดิมที่อาจถูกยกเลิกตามกฎหมายใหม่ ยังมีผลใช้บังคับต่อไปได้ เป็นการกระทำ เท่าที่จำ เป็น ได้สัดส่วนและไม่กระทบกระเทือนสิทธิและเสรีภาพซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ในขณะนั้น ฉะนั้นจึงเห็นว่าไม่เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพ และไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐”

(ลงชื่อ นายสุพจน์ ไข่มุกด์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ)

ในหน้าที่ ๖๗ นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้แสดงความเห็นส่วนตน ตอนหนึ่งความว่า:
“…ถือว่าประกาศและคำสั่งทั้งหลายข้างต้นเป็นกฎหมายที่ออกโดยรัฏฐาธิปัตย์ ใช้บังคับได้ ตามประเพณีการปกครองและเป็นนิติประเพณีของการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ประชาชนและประเทศไทยยึดถือเป็นหลักในการปกครองประเทศตลอดมา ซึ่งต้องสอดคล้องและอยู่บนพื้นฐานของหลักนิติธรรม ตามที่บัญญัติไว้เป็นหลักการและเหตุผลในคำปรารภของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ ว่า เหตุที่ทำ การยึดอำนาจและประกาศให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเสียนั้นก็โดยปรารถนาจะแก้ไขความเสื่อมศรัทธาในการบริหารราชการแผ่นดิน…”

(ลงชื่อ นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ)
คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขแดงที่ อม. ๙/๒๕๕๒ (“คดีนายยงยุทธ ติยะไพรัช”) ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๕ ตอนที่ ๙๐ ก
นายกีรติ กาญจนรินทร์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ได้แสดงความเห็นแย้ง ความบางส่วนปรากฏว่า
“เห็นว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ศาลเป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตย ซึ่งเป็นของประชาชน…นอกจากนี้ศาลควรมีบทบาทในการพิทักษ์ความชอบด้วยกฎหมายรวมถึงพันธกรณีในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจากการใช้อำนาจโดยมิชอบและพันธกรณีในการปกปักรักษาประชาธิปไตยด้วย”
“การได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยความไม่ยินยอมพร้อมใจจากประชาชนส่วนใหญ่ เท่ากับเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย การปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๓ ย่อมเป็นการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย”

“หากศาลรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้ว เท่ากับศาลไม่ได้รับใช้ประชาชน จากการใช้อำนาจโดยมิชอบและเพิกเฉยต่อการปกปักรักษาประชาธิปไตยดังกล่าวมาข้างต้น ทั้งเป็นการละเลยหลักยุติธรรมตามธรรมชาติที่ว่าบุคคลใดจะรับประโยชน์จากความฉ้อฉลหรือความผิดของตนเองหาได้ไม่ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นวงจรอุบาทว์อยู่ร่ำไป ยิ่งกว่านั้นยังเป็นช่องทางให้บุคคลหรือคณะบุคคลดังกล่าวยืมมือกฎหมายเข้ามาจัดการสิ่งต่างๆ”

“ข้อเท็จจริงเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ปัจจุบันอยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์ นานาอารยะประเทศส่วนใหญ่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งไม่ยอมรับอำนาจที่ได้มาจากการปฏิวัติหรือรัฐประหาร ฉะนั้นเมื่อกาละและเทศะในปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้วจากอดีต ศาลจึงไม่อาจที่จะรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารว่าเป็นรัฎฐาธิปัตย์”

“ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น เมื่อข้อเท็จจริงเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปเช่นกันว่า ผู้ร้องประกอบด้วยคณะกรรมการที่เป็นผลพวงของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.) แต่ คปค. เป็นคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหาร เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๓ จึงเป็นการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตยดังเหตุผลข้างต้น ย่อมไม่อาจถือได้ว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ แม้จะได้รับการนิรโทษกรรมภายหลังก็ตาม หาก่อให้เกิดอำนาจที่จะสั่งการหรือกระทำการใดอย่างรัฏฐาธิปัตย์…”

(ลงชื่อ นายกีรติ กาญจนรินทร์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา)

อ่านความเห็นได้ที่ http://www.supremecourt.or.th/file/criminal/keerati%209-52.pdf
ผู้พิพากษาตุลาการไทยทุกท่านก็ไม่ต่างไปจากท่านกีรติ กาญจนรินทร์ ที่ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณว่า
“จะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายทุกประการ”
แต่ผมอดสงสัยไม่ได้ว่า หากวันหนึ่งประชารัฐถูกประหารอีกครั้ง จะมีผู้พิพากษาและตุลาการไทยกี่ท่านที่พร้อมจะยึดมั่นในคำถวายสัตย์เฉกเช่นที่ท่านกีรติ กาญจนรินทร์ ได้ประกาศไว้?


ที่มา:Siam Intelligence Unit

////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ ลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 !!?

แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ เนื่องในโอกาสครบรอบ ๑ ปีนิติราษฎร์

ประเด็นที่ ๑
การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙


รัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทำลายนิติรัฐ-ประชาธิปไตย และยังเป็นต้นเหตุของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ คณะนิติราษฎร์จึงเสนอให้มีการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ดังต่อไปนี้

๑. ประกาศให้รัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ และการกระทำใดๆที่มุ่งต่อผลในทางกฎหมายของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ตั้งแต่วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ จนถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๙ เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย

๒. ประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ มาตรา ๓๖ และมาตรา ๓๗ เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย

๓. ประกาศให้คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่อาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)

 และคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เป็นผลต่อเนื่องจากรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาคำวินิจฉัยและคำพิพากษาที่เกิดจากการเริ่มกระบวนการโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย

 ๔. ประกาศให้เรื่องที่อยู่ในกระบวนพิจารณาในชั้นเจ้าหน้าที่ และเรื่องที่อยู่ในกระบวนพิจารณาในชั้นศาล ที่เกิดจากการเริ่มเรื่องโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เป็นอันยุติลง

 ๕. การประกาศความเสียเปล่าของบรรดาคำวินิจฉัยและคำพิพากษาตามข้อ ๓ และการยุติลงของกระบวนการตามข้อ

๔ ไม่ใช่เป็นการนิรโทษกรรมหรือการอภัยโทษหรือการล้างมลทินแก่บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด และไม่ใช่เป็นการลบล้างการกระทำทั้งหลายทั้งปวงของผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ดังนั้น หากจะเริ่มดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวใหม่ก็สามารถกระทำไปตามกระบวนการทางกฎหมายปกติได้

 ๖. เพื่อความชอบธรรมทางประชาธิปไตย คณะนิติราษฎร์เสนอให้นำข้อเสนอดังกล่าวข้างต้นไปจัดทำเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมและนำไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติ

ประเด็นที่ ๒
การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒


 ตามที่คณะนิติราษฎร์ได้จัดทำข้อเสนอการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ และนำเสนอสู่สาธารณะตั้งแต่วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๔ แล้วนั้น

 ๑. คณะนิติราษฎร์ยังยืนยันว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ มีปัญหาทั้งในแง่ตัวบทกฎหมาย การบังคับใช้ และอุดมการณ์ และจำเป็นต้องแก้ไข บุคคลที่เกี่ยวข้องไม่ควรปฏิเสธว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ไม่มีปัญหาและไม่จำเป็นต้องแก้ไข ทั้งที่ยังไม่มีการศึกษาและอภิปรายในวงกว้างอย่างจริงจัง

๒. คณะนิติราษฎร์เห็นว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นเรื่องความสมดุลระหว่างความร้ายแรงของการกระทำอันเป็นความผิดกับโทษที่ผู้กระทำความผิดนั้นควรได้รับ จึงไม่เป็นไปตามหลักความพอสมควรแก่เหตุซึ่งได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๙

 ๓. คณะนิติราษฎร์เสนอให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในประเด็นประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ เพื่อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีต่อไปตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พ.ศ.๒๕๕๓ มาตรา ๑๙ (๓)

ประเด็นที่ ๓
กระบวนการยุติธรรมกับผู้ต้องหาหรือจำเลย
และการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายภายหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙


สืบเนื่องจากการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ประเทศไทยต้องตกอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองเรื่อยมา มีการชุมนุมของฝ่ายต่างๆ มีการใช้ความรุนแรง มีผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด และมีผู้ได้รับความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน ดังนั้น เพื่ออำนวยความยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย และเพื่อบรรเทาความเสียหายของประชาชน คณะนิติราษฎร์จึงเสนอให้ดำเนินการดังต่อไปนี้โดยเร่งด่วน และเป็นรูปธรรม

 ๑. คณะนิติราษฎร์ไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายนิรโทษกรรมที่มีเป้าหมายแอบแฝงเพื่อยุติกระบวนการพิสูจน์ความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี สิทธิของผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดโดยมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง หรือมีประเด็นทางการเมืองเป็นองค์ประกอบอย่างมีนัยสำคัญ ต้องได้รับการประกันตามกระบวนการที่ถูกต้องและเป็นธรรม (Due Process) ในลักษณะที่ไม่แตกต่างจากผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในกรณีทั่วไป

 สิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวต้องถูกพิจารณาโดยเคร่งครัดและอย่างเป็นภาวะวิสัย ในขณะที่การเรียกประกันหรือหลักประกันก็ต้องไม่เกินความจำเป็นแก่กรณี ตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๑๐ วรรคท้าย แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งสอดคล้องกับหลักให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ (Presumption of Innocence) และก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ ตามที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๓๙

๒. โดยอาศัยหลักความรับผิดของรัฐ คณะนิติราษฎร์เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาออกมติคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความช่วยเหลือหรือจ่ายค่าทดแทนแก่ผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นภายหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ อย่างไม่เลือกปฏิบัติ โดยอาจแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมารับผิดชอบโดยเฉพาะ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราค่าทดแทน สามารถอาศัยแนวทางตามกฎหมายที่มีอยู่แล้ว

เช่น พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. ๒๕๔๔ หรือพระราชบัญญัติสงเคราะห์ผู้ประสบภัยเนื่องจากการช่วยเหลือราชการ การปฏิบัติงานของชาติหรือการปฏิบัติตามหน้าที่มนุษยธรรม พ.ศ.๒๕๔๓ เป็นต้น และการได้รับค่าทดแทนดังกล่าวไม่เป็นการตัดสิทธิหรือประโยชน์ที่ผู้เสียหายพึงได้ตามกฎหมายอื่น

 ๓. คณะนิติราษฎร์เสนอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติติดตามตรวจสอบการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องหาหรือจำเลย ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยองค์กรต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เพื่อเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๒๘

ประเด็นที่ ๔
การยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐
และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่


รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ เป็นผลพวงต่อเนื่องจากรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ จึงมีปัญหาความชอบธรรมทางประชาธิปไตย แม้ว่ารัฐธรรมนูญดังกล่าวผ่านการออกเสียงประชามติก็ตาม แต่กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ และกระบวนการจัดให้มีการออกเสียงประชามติไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย

๑. คณะนิติราษฎร์เสนอให้คณะรัฐมนตรีเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม “หมวด ๑๖ การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่”

๒. คณะนิติราษฎร์เห็นว่ารัฐธรรมนูญที่จะนำมาใช้เป็นต้นแบบในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ สมควรเป็นพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๘๙ และอาจนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ในส่วนของการประกันสิทธิและเสรีภาพ ตลอดจนโครงสร้างสถาบันการเมืองและองค์กรทางรัฐธรรมนูญเท่าที่สอดคล้องกับพัฒนาการในยุคร่วมสมัยมาเป็นแนวทางในการยกร่าง

 ๓. เพื่อมิให้การรัฐประหารทำลายหลักการอันเป็นรากฐานของนิติรัฐ-ประชาธิปไตยจนหมดสิ้น คณะนิติราษฎร์เสนอให้มีการจัดทำ “คำประกาศว่าด้วยคุณค่าอันเป็นรากฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตย” แม้คำประกาศดังกล่าวจะไม่มีสถานะเป็นกฎหมาย แต่คำประกาศดังกล่าวเป็นวิญญาณของระบอบเสรีประชาธิปไตยที่ไม่มีบุคคลใดหรือไม่มีวิธีใดทำลายหรือทำให้สูญสิ้นไปได้

 ๔. คำประกาศว่าด้วยคุณค่าอันเป็นรากฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตย ยืนยันว่ามนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิอำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย ไม่มีผู้ใดและไม่มีวิธีใดที่จะพรากไปจากราษฎรได้ การปกครองโดยกฎหมายที่ยุติธรรมเป็นคุณค่าพื้นฐานของรัฐ และการแบ่งแยกอำนาจเป็นอุดมการณ์ในการจัดรูปการปกครองที่ต้องธำรงไว้ให้มั่นคงตลอดกาล

 ๕. หลังจากสภาร่างรัฐธรรมนูญให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ให้นำร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวไปออกเสียงประชามติเพื่อให้ความเห็นชอบ

วรเจตน์ ภาคีรัตน์
จันทจิรา เอี่ยมมยุรา
ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล
ธีระ สุธีวรางกูร
สาวตรี สุขศรี
ปิยบุตร แสงกนกกุล
ปูนเทพ ศิรินุพงศ์


คณะนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร
ท่าพระจันทร์, ๑๘ กันยายน ๒๕๕๔


ที่มา:ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
/////////////////////////////////////////////////////////////

5 ปีรัฐประหาร 19 ก.ย.49 ทักษิณ-กองทัพยังไม่วางใจกัน

19 กันยายน 2549 ทักษิณ ชินวัตร อยู่ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ก่อนถูกคมช.นำโดยพลเอกสนธิ บุญยรัตนกลิน ทำรัฐประหาร

ผ่านไป 5 ปี เต็ม 19 กันยายน 2554 ทักษิณ ชินวัตร ก็อยู่ต่างประเทศเช่นกัน คราวนี้อยู่ที่กรุงพนมเปญ กัมพูชา แต่ก็เป็นนายกรัฐมนตรีตัวจริงของประเทศไทย โดยมีน้องสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีนอมินี

ครบรอบ 5 ปี รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 วันนี้ หลายคนก็เห็นชัดว่า ทักษิณ ยังคงมีอำนาจการเมืองเช่นเดิม แม้โดนทั้งรัฐประหาร-ยึดทรัพย์-ถูกศาลฎีกาฯ ตัดสินจำคุกสองปี-ตกเป็นผู้ต้องหาคดีอุจฉกรรจ์อย่างคดีก่อการร้าย

กลับแผ่นดินเกิดไม่ได้
สิ่งที่คนเห็นและประจักษ์ชัดตอนนี้ก็คือ การทำรัฐประหาร แม้หลายคนยังเชื่อว่าอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อกับการเมืองไทย แต่การทำรัฐประหารก็ไม่ใช่การแก้ปัญหาการเมืองที่ถูกต้องและสมควรได้รับการสนับสนุน

รัฐประหาร คมช. จึงเป็นรัฐประหารที่สูญเปล่า นอกจากไม่ได้ทำให้ระบอบทักษิณเสื่อมอำนาจ แต่กลับยิ่งทำให้ทักษิณมีอำนาจการเมืองมากขึ้น

แม้จะไม่ได้เป็นผู้เล่น ทักษิณก็เป็นผู้กำหนดความเป็นไปทุกอย่างของการเมืองไทย

อย่างไรก็ตาม มาวันนี้ ปี 2554 วันที่ยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทยคือผู้กุมอำนาจทุกอย่างในการเมืองไทย แต่ก็จะเห็นได้ว่าแกนนำรัฐบาลทุกคน ก็รู้ตัวดีว่า วันนี้รัฐบาลเพื่อไทย ยังไม่ได้คุมอำนาจการเมืองทุกส่วนแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และยังคงหวาดระแวงว่าฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะกลุ่มที่แกนนำเพื่อไทย และคนเสื้อแดงเรียกว่า “ระบอบอำมาตย์” ยังคงรับไม่ได้กับชัยชนะของพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้ง

เพียงแต่คนในเพื่อไทยมองว่า ฝ่ายอำมาตย์ยังหาจังหวะเหมาะ และวิธีการในการโค่นล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ได้ ครั้นจะใช้วิธีเดิมๆ คือรัฐประหารด้วยกฎหมาย แบบการตัดสินยุบพรรค ก็ทำไม่ได้อีกแล้ว แต่คนในรัฐบาลเพื่อไทย ก็ยังไม่ประมาท

สถานการณ์ในวันนี้ต่างคุมเชิงกันอยู่

ขณะที่ฝ่ายทักษิณ จะใช้วิธีการเดิมๆ คือเข้าไปรุกคืบ แทรกแซงองค์กรอำนาจอื่นๆ ก็ยังไม่กล้า เพราะมีบทเรียนความผิดพลาดจากรัฐบาลทักษิณ ที่พยายามจะเข้าไปรุกคืบคุมอำนาจทุกส่วนแบบเกินพอดี จนถูกโค่นมาแล้ว

สิ่งที่เพื่อไทยและทักษิณ กำลังวางแผนอยู่ในตอนนี้ ก็คือจะทำอย่างไรเพื่อกระชับอำนาจทุกอย่างให้อยู่ในมือตัวเองมากที่สุด โดยไร้แรงต้าน

วิธีการต่างๆ ที่เริ่มออกมาก็พอเห็นแล้ว อาทิเช่น การตรวจสอบกระบวนการยุติธรรม ซึ่งฝ่ายทักษิณพูดมาตลอดว่า เป็นกระบวนการที่ไม่มีความเป็นธรรมและสองมาตรฐาน รัฐบาลจึงรีบใช้โอกาสที่ประชาชนกำลังให้โอกาสยิ่งลักษณ์ ในการบริหารประเทศต้องรีบทบทวนกระบวนการยุติธรรม-กฎหมาย รวมถึงตรวจสอบการมีอยู่และการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระทั้งหมด โดยผ่านการตั้งคณะกรรมการอิสระ ว่าด้วยหลักนิติธรรมแห่งชาติหรือ“คอ.นธ.” ที่มี นายอุกฤษ มงคลนาวิน เป็นประธาน

แม้รัฐบาลและตัวอุกฤษ จะอ้างว่าคอ.นธ. ตั้งขึ้นมาเพื่อให้ไปศึกษาเรื่องปัญหาการใช้กฎหมายต่างๆ รวมถึงไปดูว่าทำอย่างไรให้กระบวนการยุติธรรมมีความเสมอภาค ไม่เป็นสองมาตรฐาน จะไม่เข้าไปแทรกแซงศาลและองค์กรอื่นๆ รวมถึงจะไม่เข้าไปช่วย ทักษิณ ชินวัตรให้พ้นความผิดคดีที่ดินรัชดาฯ
แต่ก็เห็นได้เลยว่า รัฐบาลโดยทักษิณ ชินวัตร ที่อยู่เบื้องหลังการตั้งกรรมการชุดนี้และให้อำนาจผ่านระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักนิติธรรมแห่งชาติ พ.ศ.... มีเจตนาแฝงการเมืองอยู่เบื้องหลังในวันข้างหน้าแน่นอน

เพื่อหวังใช้ผลสรุปของคณะกรรมการชุดนี้ เป็นเครื่องมือในการไปอ้างเพื่อแก้ไขกฎหมายหรือปรับปรุงการทำงานขององค์กรตามกระบวนการยุติธรรม เพื่อตอบสนองการเมืองให้กับรัฐบาลเพื่อไทยรวมถึงทักษิณ และคนเสื้อแดงแน่นอน

แต่ที่ฝ่ายทักษิณ ยังไม่กล้าเปิดหน้าชน หรือเข้าไปจัดระเบียบก็คือ “กองทัพ” เพราะทักษิณรู้ดีว่า ด้วยบุคลิกของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. หากการเมืองเข้าไปแตะเกินเส้นแบ่งเข้าไปในพื้นที่อำนาจของกองทัพ “บิ๊กตู่” ไม่มีทางยอมแน่นอน

ทักษิณ จึงยังปล่อยให้กองทัพที่ทักษิณมองว่า อยู่คนละฝั่งกับตัวเอง และพรรคเพื่อไทยรวมถึงคนเสื้อแดงอยู่กันไปก่อน ตอนนี้ยังไม่เหมาะที่จะเข้าไปทำอะไร เพราะทักษิณเชื่อว่า หากฝ่ายการเมืองไม่เข้าไปทำอะไรกับทหาร พลเอกประยุทธ์ ก็คงไม่โอเวอร์แอ็กชั่น

เวลานี้ ทักษิณกับกองทัพ อยู่ในสภาพ ต่างฝ่ายต่างคุมเชิงกันไป

แม้บางจังหวะรัฐบาลอาจหน้าแตกเสียเครดิตไปบ้าง ที่ผู้นำทหารไม่แสดงท่าทีตอบรับรัฐบาลชุดนี้มากนัก เห็นได้จากวันแถลงยุทธศาสตร์ชาติ-ยุทธศาสตร์ทหาร ของนักศึกษา 5 สถาบันคือ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร, วิทยาลัยเสนาธิการทหาร, วิทยาลัยการทัพบก, วิทยาลัยการทัพเรือ และวิทยาลัยการทัพอากาศ เมื่อ 8 กันยายน ที่ผ่านมา

ฝ่ายรัฐบาลไปกันแบบคณะใหญ่ ทั้ง ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี-เฉลิม อยู่บำรุง -พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก- พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม, พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.คมนาคม

แต่ปรากฏว่า ไร้เงาผบ.เหล่าทัพทุกคน

ทั้งที่การแถลงเรื่องสำคัญๆ ทางด้านความมั่นคงและการทหารแบบนี้ ผู้นำเหล่าทัพ จะปรากฏตัวร่วมงานทุกครั้ง วันดังกล่าว ผบ.เหล่าทัพทุกคนไม่มีใครไปเลย แค่ส่งผู้แทนมาร่วมงานทั้งหมด เช่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ พล.อ.พิเชษฐ์ วิสัยจร ผู้ช่วย ผบ.ทบ. ไปร่วมงาน

ขณะที่ผบ.เหล่าทัพคนอื่น ต่างอ้างว่าติดภารกิจ เช่น พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผบ.ทหารสูงสุด ไปอังกฤษ พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผบ.ทร. ติดภารกิจพิธีย่ำพระสุริย์ศรี ที่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี สำหรับ พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผบ.ทอ. ติดภารกิจเยือนรัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา

หากเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในช่วง รัฐบาลมีปัญหากับกองทัพ ก็พอได้เข้าใจ แต่เมื่อยังไม่มีเหตุอะไรที่เป็นความขัดแย้ง ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพในช่วงดังกล่าว มีกระแสข่าวแค่ว่า ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้ไปร่วมอวยพรวันเกิด พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เสาหลักของผู้นำกองทัพด้วยการอ้างว่า ป๋าเปรม ไม่เปิดบ้าน รวมถึงตอนนั้น รัฐบาลยิ่งลักษณ์แสดงท่าทีจะสร้างสัมพันธ์อันดีทางการทู กับฮุน เซน ที่ก่อนหน้านี้เคยสั่งให้เหตุการณ์ปะทะกันบริเวณชายแดนไทย ในช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทหารกัมพูชา เปิดฉากรบกับทหารไทย จนนำมาซึ่งความสูญเสียของทหารไทยหลายคนใน

ความขัดแย้งแบบตรงๆ ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพยังไม่มี การที่ผู้นำเหล่าทัพไม่ได้ไปร่วมงานการแถลงยุทธศาสตร์ชาติ-ยุทธศาสตร์ทหาร กับยิ่งลักษณ์ จึงถูกจับตาในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป และก็วิเคราะห์กันว่าดูแล้ว การกระชับพื้นที่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลชุดนี้กับผู้นำกองทัพ ยังต้องใช้เวลาอีกนาน

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดปัญหาความไม่ลงตัวกันในเรื่องการทำโผทหาร ของฝ่ายการเมืองคือ พลเอกยุทธศักดิ์ รมว.กลาโหม กับผู้นำเหล่าทัพ กับตำแหน่ง ปลัดกระทรวงกลาโหม จน พล.อ.ยุทธศักดิ์ แก้ปัญหาด้วยการขอให้ยิ่งลักษณ์ นำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อขออนุมัติตำแหน่ง ประธานที่ปรึกษากระทรวงกลาโหม อัตราจอมพล เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว แต่กระบวนการเริ่มจะติดขัด

แถม รมว.กลาโหม ก็แสดงท่าทีขึงขัง ต้องเอาให้ได้กับการดัน พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ รองปลัดกระทรวงกลาโหม ขึ้นเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งไม่ใช่คนที่ผู้นำกองทัพต้องการให้มาทำงานร่วมกัน
ประเด็นนี้เป็นจุดที่แสดงให้เห็นว่า การเดินไปด้วยกันของฝ่ายการเมือง กับกองทัพหากยังมีปัญหาเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ย่อมไม่เป็นผลดีกับรัฐบาลแน่นอน

แต่ระยะอันใกล้นี้คงไม่ถึงขั้นจะมีอะไร ฮึ่มๆ ออกมาจากกองทัพหรอก เพราะเวลาและสถานการณ์ยังไม่เหมาะด้วยประการทั้งปวง เพียงแต่การยื่นมือขอปรองดองกับผู้นำกองทัพจากคนในรัฐบาลชุดนี้ แค่เริ่มก็เห็นแล้วว่า

อีกฝ่ายยังไม่ยอมยื่นมือมาจับด้วย

ที่มา: ผู้จัดการ
************************************************************

วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2554

ดาวอังคาร. ตกสะเก็ด !!?

ขุมข่ายเครือทหาร กำลังอ่อนล้า เพราะ “ดาวอังคาร” หมายถึงทหารเตี้ยลง เบ็ดเสร็จ??
นับจากนี้ไป, ถึงเดือน มกราคม และ กุมภาพันธ์ุ ปีหน้า “ดาวอังคาร” กลับมาโชติช่วง
ทหารในกองทัพของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ผบ.ทบ. “บิ๊กเฟื่อง” พล.อ.อ.ทิทธิพร ศูภวงศ์ ผบ.ทอ. จะเรืองแสง มีอำนาจอย่างใหญ่หลวง
จะก่อเป็น “ก้อนอำนาจก้อนใหญ่”...เหมือนก้อนน้ำมหึมา ที่ซัดหลายจังหวัดจมนิ่ง!!
จับตาดู ๖ เดือนให้ดี...หวังว่าจะไม่มีการกระชับพื้นที่?...ซึ่งขณะนี้หลายคน เป็นห่วงจริงๆ

++++++++++++++++++++++++++++++++++++

๒ สไตล์ ๒ แบบ!!
“นายกฯปู” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โหมทำงานหนัก อย่างสายฟ้าแลบ??
ทุกข์ร้อนประชาชน เกิดที่ไหน “นายกฯปู” ลงช่วยเหลือ ไม่มีขาด
นโยบายจาก “ลดน้ำมัน” มาถึง “รับจำนำข้าวเกวียนละ ๑๕,๐๐๐ บาท, ปริญญาตรีเดือนละ หมื่นห้า, แรงงานวันละ ๓๐๐ บาท
หันดู “อดีตนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ฐานะหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน พรรคประชาธิปัตย์..จ้องเจาะยาง เตะหลอกสับขา เพื่อให้ “รัฐบาลปู” คว่ำเท่านั้น!!
“ยิ่งลักษณ์”ทำงานตัวเป็นเกลียว..แต่ “อภิสิทธิ์”โชว์ความเขี้ยว?..ดีแต่เจี้ยวไปวันๆ??

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

นั่งถ่างขา ๒ เก้าอี้!!
นอกจาก, “บิ๊กอ๊อด” พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา จะเป็น รมว.กลาโหม ท่านยังเปิบพิสดารเป็น “ประธานโอลิมปิกไทย” อีกตำแหน่งในตอนนี้??
อำนาจเป็น “รัฐมนตรี” วันๆ ท่านก็ทำไม่หมด
หรือกลัวเหมือนสมัย ที่เป็น “รัฐมนตรีช่วยกลาโหม” พรรคไทยรักไทย เป็นแค่๖ เดือน ก็ถูกปลด
พอมาเป็น “ผู้ช่วยรัฐมนตรี” ในสมัย “พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ.อยุธยา อดีต รมว.กลาโหม ก็ถูก “บิ๊กบัง” พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เข้ายึดอำนาจเสร็จสรรพ!!
ที่ไม่ทิ้งเก้าอี้ “โอลิมปิกไทย”...หากโดนปลดวันใด?..ยังมีตำแหน่งให้นั่งอยู่ไงล่ะครับ

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

“วางหมาก” กันไว้จม!!
หลังเกษียณ โยกย้ายทหารกลางปี ๕๕ ในเดือนเมษาฯ...พล.อ.ทรงกิตติ จักรบาตร์ ผบ.สูงสุด มั่นใจว่า ตัวเอง จะได้เป็น “รัฐมนตรีว่าการกลาโหม”??
จึงผลักดันให้ “พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์” ประธานที่ปรึกษากองทัพไทย ก้าวขึ้นเป็น “ปลัดกลาโหม” ในฐานะแม่บ้าน
โดยศรีภรรยา “บิ๊กเสถียร” เป็นการ์ดคนเสื้อแดง เมืองอุบลฯ จึงน่าได้ตำแหน่งสำคัญ
ขณะเดียวกัน, “บิ๊กอ๊อด” พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม ใช้กำลังภายใน หนุน “พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์” เด็กสร้าง ก้าวมาเป็น “ปลัดฯ”..แต่ “พล.อ.ทรงกิตติ จักรบาศร์” เกรงว่าอีก ๖ เดือน ถ้ามาเป็น “รมว.กลาโหม” ก็จะทำงานกันไปคนละทิศละทาง!!
กำลังภายในใครจะร้อยแสงเทียน...แต่ขอกราบเรียน?..ตอนนี้ “พล.อ.เสถียร” แรงดีจัง??

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ทหารอีกเรื่อง..ที่ว่ายังมาแรง!!
ก้อ,“บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ยังจะให้ “ตท.รุ่น ๑๒” ใหญ่ยกแผง??
เป็นการขยายปีก “กลุ่มบูรพาพยัคฆ์” และ เพื่อนร่วมรุ่น ให้ก้าวมาเติบโต รับผิดชอบ
แต่ “ฝ่ายการเมือง” มองว่าการทำเช่นนั้น ...เหมือนโดน “ล้อมกรอบ”
ซึ่ง “บ๊กอ๊อด” พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม อย่าปล่อยให้เขา กระตุกหนวดเสือ
“บิ๊กยุทธ์ศักดิ์”ทำทุกอย่างดีพร้อม..ใช้นโยบายประนีประนอม?..แต่ยอมทุกเรื่อง อำนาจท่านจะไม่เหลือ??

คอลัมน์:ตอดนิดตอดหน่อย,บางกอกทูเดย์
//////////////////////////////////////////////////////////////

วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554

นาล่มจมบาดาลวิกฤติซ้อนโอกาสอนาคตจำนำข้าวในมือรัฐ !!?

เป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันมาอย่างต่อเนื่องสำหรับนโยบาย รับจำนำข้าวของ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ที่มีทั้งฝ่ายเห็นด้วย และฝ่ายที่เห็นแย้ง

เด่นชัดที่สุดคือการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจาก “อัมมาร สยามวาลา” นักวิชาการเกียรติคุณทีดีอาร์ไอ ที่ออกมา ทุบโต๊ะกลางวงสาธารณชนว่านี่คือนโยบาย “ดีแต่โม้” และทำไม่ได้จริง นั่นก็เป็นธรรมดา ที่รัฐบาลจะต้องออกมายืนยันประทับตราในนโยบายที่ได้ประกาศออกไปแล้วว่างาน นี้ไม่มีบิดพลิ้วแน่นอน

ก่อนที่ ครม.จะอนุมัติเงินก้อนโต 4 แสนล้านบาท ออกมาเดินหน้าโครงการเพื่อสยบข้อข้องใจทั้งหลายที่ประเดประดัง เข้ามา ต่อไปจากนี้ เหลือแต่เพียงการติดตาม ดูผลลัพธ์สุดท้ายว่าจะลงเอยในรูปแบบใดแต่ที่ตีธงนำตุนคะแนนนิยมจากชาวนา ล่วงหน้าไปก่อนแล้ว คือภาพความรวดเร็ว ในการทำงานที่ไม่มะงุมมะหงาหรา ดังเช่น รัฐบาลที่ผ่านมา

กระนั้น ยังมีคำถามตามมาว่า นโยบาย จำนำข้าวจะนำพาความมั่งคั่งมาสู่มือรากหญ้า อย่างแท้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะในยามที่ผืน นาผืนไร่กำลังอ่วมกับปัญหาน้ำท่วม ส่งผล ให้เกษตรกรในภาคกลางต้องประสบกับปัญหานาล่มกันอย่างถ้วนหน้าในเมื่อเป็นการจำนำหากไม่มีของไป วาง ต่อให้เสนอราคาสูงลิบลิ่วเม็ดเงินเหล่า นั้นก็ไม่สามารถย้อนกลับมาที่ชาวนาได้โดยง่าย ในทางตรงกันข้าม ก็ได้มีข้อคลางแคลงใจซึ่งเป็นปัญหาเดิมจากการจำนำข้าวตามมาอีกว่า งานนี้จะมีการสวมสิทธิ์ทับซ้อนซ้ำรอยเหตุฉาวในอดีตหรือไม่

สรุปคือ เกษตรกรที่ทั้งนาล่มและไม่ ล่ม นายทุนผู้กักตุนข้าวในประเทศไว้ในสต็อกจำนวนมาก หรือข้าวสวมสิทธิ์จากต่างประเทศ ใครจะได้รับผลประโยชน์จาก นโยบายดังกล่าวอย่างแท้จริง

“ปราโมทย์ วานิชานนท์” นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย และกรรมการนโยบายการข้าวแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวผ่าน “สยามธุรกิจ” ว่า นโยบายการรับจำนำข้าวของพรรคเพื่อไทย เป็นปัญหาที่คาดเดาได้ไม่ยากว่าจะเกิดผลเสียตามมาภายหลังอย่าง แน่นอน เพราะนโยบายมีแรงจูงใจให้เกิดการทุจริตมาก เฉพาะผลตอบแทนที่ได้จาก ส่วนต่างก็คุ้มค่าแล้ว คนที่จะได้รับประโยชน์ จากเรื่องนี้ คือ ผู้ที่กำหนดนโยบาย ส่วนช่อง ทางมีมากมายในการทุจริต เพราะอาศัยช่องโหว่ของนโยบายเอง

โดยในเบื้องต้นบรรดากลุ่มผู้ประกอบ การโรงสีข้าว จะทำการรับซื้อข้าวจากชาวนา เพียงตันละ 8,000-9,000 บาท และนำไป กักตุนเพื่อปั่นราคาข้าว ไปขายต่อให้กับรัฐบาลตันละ 15,000 บาท โดยจะมีการ ปลอมแปลงใบประทวน แอบอ้างเป็นชาวนา ซึ่งจะได้รับความเสียหายหลายล้านบาท

สำหรับปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ต้องยอมรับว่ารัฐบาลต้องเร่งช่วย เหลือแม้จะเป็นเพียงบางส่วนของชาวนา คือประมาณ 0.5% เพราะนาส่วนใหญ่เก็บ เกี่ยวไปหมดแล้ว แต่ในส่วนนี้ติดที่ปัญหาเพลี้ย กระโดด จึงทำให้ต้องปลูกล่าช้ากว่าที่อื่น ประกอบกับปีนี้น้ำมาเร็ว และมากกว่าที่คาด ไว้ทำให้กำหนดเวลาการเก็บเกี่ยวเป็นไปได้ ยาก เพราะถ้าข้าวอ่อนไปโรงสีก็จะไม่รับซื้อ

โดยมาตรการที่รัฐบาลจะช่วยเหลือ คือจ่ายเงินชดเชยให้ไร่ล่ะ 2,200 บาทต่อไร่ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ แม้จะเพิ่มขึ้นมาจาก เดิม แต่การลงทุนของชาวนาต้องใช้ไร่ละ 5,000-6,000 บาทต่อไร่ ฉะนั้น ชาวนาจะ ต้องไปกู้เพิ่มอีกอย่างน้อย 2,800 บาทต่อไร่ แต่ปัญหานาล่มชาวนาไม่ได้ขาดทุนเฉพาะ กำไร แม้แต่เงินทุนที่ลงไปก็ไม่เหลือ หากคิดดอกเบี้ยร้อยละ 3 บาท กับเงิน 2,800 บาทต่อไร่ แค่ 10 ไร่ชาวนาก็ตายแล้ว

สังเกตดูสมัยก่อน ชาวนาทำนาในพื้นที่ของตัวเอง แต่สมัยนี้ต้องไปเช่าที่นาตัวเองทำก็เพราะปัญหาแบบนี้เอง เงินมัน ทบไปทบมา ดอกท่วมสุดท้ายที่นาจำนองก็หลุด ซึ่งในความเป็นจริงปัญหานี้หากรัฐบาลจะเข้ามาช่วยเหลือจริงๆ ก็ควรจ่าย ค่าชดเชยให้กับชาวนาตามจริง คือเงินทั้งหมดที่ทุ่มลงไปกับการทำนา โดยคิดเฉลี่ย พื้นที่กับระยะเวลา ก็จะคำนวณได้ค่าตามจริง

นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย ระบุอีกว่า อีกปัญหาคือการนำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ์ เรื่องนี้ก็เป็นอีกปัญหาที่น่าห่วง เพราะเมื่อไม่มี ข้าวเป็นของตัวเอง แต่ยังมีสิทธิ์จำนำ หาก มีพ่อค้า หรือใครมายื่นข้อเสนอให้ก็จำเป็น ต้องรับ อัตราราคาข้าวเปลือกของประเทศ เพื่อนบ้านขณะนี้ หากคิดส่วนต่างจากราคา จำนำข้าวหักลบแล้วยังไงก็คุ้มทุน

ข้าวจากพม่าไม่เกิน 6,000 บาทต่อตัน จากเขมรประมาณ 7,000 บาทต่อตัน เวียดนามอาจจะราคาสูงหน่อย เพราะราคา อยู่ที่ 8,000 บาทต่อตัน แต่หากเทียบกับที่รัฐบาลไทยให้คือ 15,000 บาทต่อตัน หัก ภาษีให้ค่าสิทธิ์กับชาวนาอีกนิดหน่อย อย่างไรกำไรก็ได้เต็มๆ นั่นแสดงถึงแรงจูงใจ ที่เกิดขึ้น และเป็นละครที่ถูกกำหนดบทบาท มาอยู่แล้วไม่ใช่เพิ่งจะเกิดขึ้น

ความจริงปัญหานี้แก้ไขได้ คือการจำนำข้าวจะต้องมีการกำหนดปริมาณข้าว ตามจริงกับจำนวนพื้นที่เพาะปลูก เหมือน สมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ตอนนั้นก็ใช้นโยบายจำนำข้าวเช่นกัน แต่มีการจำกัด ปริมาณข้าว ก็เหมือนสงวนสิทธิ์เฉพาะชาวนา โอกาสจะสวมสิทธิ์จำนำถึงแม้จะมี บ้างแต่ก็น้อย เพราะชาวนาต้องรักษาสิทธิ์ ตัวเอง ถ้าข้าวตัวเองยังเหลือก็ไม่จำเป็นต้อง ไปเอาข้าวของคนอื่นมาจำนำ และรัฐบาล จะให้ราคาสูงเท่าไหร่ก็ได้เพราะถือเป็นการช่วยชาวนาซึ่งมาตรการมันถูกบังคับด้วยปริมาณอยู่แล้ว ต่างจากรัฐบาลชุดนี้ที่รับจำนำในราคาสูง แต่รับจำนำแบบไม่มีปริมาณ เท่าไหร่รับหมด นโยบายมันจึงเกิดช่องโหว่

สำหรับผลกระทบที่จะตามมาในอนาคต นั่นคือกลไกการค้าข้าวในตลาดโลก เพราะเมื่อรัฐบาลต้องแบกรับภาระหนี้ สินจำนวนมาก จึงจำต้องขายข้าวในราคาที่ สูงกว่าราคาตลาดโดยรอบ ทำให้อาจสูญเสีย ลูกค้าหลักที่เคยสั่งซื้อจากไทย และการกู้คืน ลูกค้ากลับมาเป็นเรื่องยาก แม้จะบอกว่าข้าวไทยดีกว่า แต่ด้วยราคาที่แตกต่าง ลูกค้า จะหันไปบริโภคข้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้มากกว่า กลไกที่เราสร้างมากว่า 30 ปีอาจต้องพังลง

แม้จะไม่เป็นบวกต่อนโยบายจำนำข้าว ของ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” สักเท่าไรนัก แต่ก็ถือเป็นความคิดเห็นของคนในวงการข้าว ที่ฝ่ายบริหารต้องเปิดใจรับฟัง เพื่อรวบรวม เป็นฐานข้อมูลในการผลักดันนโยบายจำนำข้าวที่รัฐได้ประกาศในช่วงหาเสียง.. ให้เกิดประโยชน์ครอบคลุมกับทุก ฝ่ายอย่างแท้จริง

ที่มา:สยามธุรกิจ
*************************************************