--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วิชิต สายตรง ทักษิณ..ยึดเก้าอี้คลังคุมเศรษฐกิจ !!?



เปิดโผ รมต.เศรษฐกิจคนนอก"วิชิต สุรพงษ์ชัย"ผงาดรมว.คลัง จ่อควบรองนายกฯด้านเศรษฐกิจ จับตา "โอฬาร" ถอนตัวขออยู่เบื้องหลังนายกฯ

ความคืบหน้าในการวางตำแหน่งรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย หลังจากได้ข้อสรุปตำแหน่งประธานสภาและรอง 2 คนแล้ว แหล่งข่าวจากแกนนำพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ล่าสุด ตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี (ครม.) บางส่วนเริ่มชัดเจนแล้ว
โดยในส่วนของกระทรวงเศรษฐกิจมีข้อสรุปบางตำแหน่งที่เป็นคนนอกพรรคแล้ว โดยบุคคลที่จะนั่งตำแหน่ง รมว.คลัง คือ ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร (ซีอีโอ) ธนาคารไทยพาณิชย์ ในปัจจุบัน และอาจได้รับการพิจารณาให้ควบรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ ด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการหาตำแหน่งที่เหมาะสมให้ดร.โอฬาร ไชยประวัติ ทีมเศรษฐกิจคนในของพรรค

โดยผู้ที่ดึงนายวิชิต เข้ามา คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นอกจากความรู้ความสามารถ มีบารมีทางการเงินการธนาคารมายาวนาน และมีภาพพจน์ที่ดีไม่มีกระแสต้านแล้ว ดร.วิชิตยังสนิทกับพ.ต.ท.ทักษิณ จน พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภรรยา พ.ต.ท.ทักษิณ ไว้วางใจอย่างมาก
ดร.วิชิต เคยรับตำแหน่ง รมว.คมนาคม ระหว่างปี 2537-2538 ในโควตาพรรคพลังธรรม หนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาลประชาธิปัตย์ในสมัยรัฐบาลชวน 1 โควตาของพรรคพลังธรรม ก่อนจะพ้นจากตำแหน่งเมื่อมีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่

"บัณฑูร"ดูงบฯ-"ธีระชัย"จ่อรมช.คลัง
ขณะที่ นายบัณฑูร สุภัควณิช อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นอีกผู้หนึ่งที่ถูกวางตัวให้อยู่ในกลุ่มรัฐมนตรีเศรษฐกิจ โควตาคนนอก แน่นอนแล้ว โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาว่า จะวางตัวให้นั่ง รมช.คลัง หรือ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยภารกิจหลักที่ทางพรรคต้องการให้นายบัณฑูรดูแล คือ เรื่องงบประมาณโดยตรง ซึ่งที่ผ่านมานายบัณฑูร ได้เข้าร่วมประชุมและทำงานกับทีมเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยมาอย่างต่อเนื่องระยะหนึ่งแล้ว
เช่นเดียวกับนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่กำลังจะครบวาระตำแหน่งในเร็วๆ นี้ ก็ถูกวางตัวเป็น รมช.คลัง แล้ว

"กิตติรัตน์"จ่อรมว.พาณิชย์-"วิรุฬ"รมช.
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ ที่ชัดเจนแล้วว่าจะเข้ารับตำแหน่งในรัฐบาลยิ่งลักษณ์แน่นอน โดยแกนนำพรรคอยู่ระหว่างพิจารณาตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ ให้ ส่วนนายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งเป็นคนใน ถูกวางตัว รมช.พาณิชย์

ยังไม่สรุปตำแหน่ง "โอฬาร"
ส่วน ดร.โอฬาร ไชยประวัติ ซึ่งเป็นแกนนำสำคัญในทีมเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยในช่วงหาเสียงเลือกตั้งนั้น ยังไม่มีข้อสรุป โดยแหล่งข่าวใกล้ชิดนายโอฬาร เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางพรรคยังไม่ได้แจ้งว่าดร.โอฬารจะได้ไปนั่งกระทรวงใด โดยที่ผ่านมาดร.โอฬารได้ทำงาน ในส่วนของนโยบายเศรษฐกิจภาพรวม และไม่เคยแสดงท่าทีว่าอยากเป็นรัฐมนตรีกระทรวงใด และก็ยังไม่ได้แจ้งขอสละสิทธิ์ตำแหน่งรัฐมนตรี

ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงในพรรคเพื่อไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ในการหารือของแกนนำพรรค เบื้องต้นเห็นว่า ดร.โอฬารน่าจะนั่งรองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ ดูแลในภาพรวม เพราะแนวคิดของนายโอฬารบางประเด็นไม่เห็นด้วยกับนโยบายสำคัญด้านเศรษฐกิจของพรรค ที่ใช้ในการหาเสียง จึงอาจมีปัญหาในการทำงาน
จึงมีแกนนำบางส่วนเห็นว่า ดร.โอฬารควรไปนั่ง รมว.ศึกษาธิการ

ขณะเดียวกันก็มีอีกกระแสข่าวระบุว่า ดร.โอฬาร อาจปฏิเสธที่จะรับตำแหน่งในครม.โดยอ้างว่ามีปัญหาด้านสุขภาพ และอาจจะยอมรับเพียงฐานะที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจให้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เท่านั้น และขอทำงานอยู่เบื้องหลัง

"สุชาติ"ลุ้นรองนายกฯ
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ส่วนทีมเศรษฐกิจ ที่เป็นคนในพรรคเพื่อไทยคนอื่นๆ เช่น ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีต รมว.คลัง จะมีตำแหน่งในครม.แน่นอน โดยอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะให้ไปนั่งรองนายกรัฐมนตรี ดูแลเศรษฐกิจในระดับรากหญ้า หรือนั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกรดบี

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
//////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เมื่อ ยิ่งลักษณ์แพ้คดี 100 ล้าน. วันที่ ทักษิณ. กราบบังคมทูล คุณหญิงอ้อ ในบทกุนซือ ชินวัตร.!!?


วันที่นักการเมืองไม่มีอำนาจ ปากกับใจของเขาจะตรงกัน

"วิษณุ เครืองาม" วันพ้นดงการเมือง ปากกา-ใจ ถูกถ่ายทอดเป็นตัวอักษร เห็นภาพ เห็นฉาก และเห็นตัวละคร

เขาเล่าประสบการณ์-ความเกี่ยวพันในการให้บริการทางเนติครั้งสุดท้าย หลังครองเก้าอี้เลขาธิการคณะรัฐมนตรีมา 9 ปี

เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะนักเรียนทุนรุ่นเดียวกัน พูดจาภาษาเดียวกันรู้เรื่อง และในฐานะนายกรัฐมนตรี ขอให้ "วิษณุ" ลาออกจากความเป็นข้าราชการประจำ เหตุเกิดหลังปี 2545 ยุคที่ "พ.ต.ท.ทักษิณ" พ้นพงหนามคดี "ซุกหุ้น"

เขาเล่าว่า "วันหนึ่งมีคดีระหว่างองค์การโทรศัพท์กับบริษัทของคุณทักษิณ ซึ่งคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นซีอีโอ พิพาทกันเป็นเงินนับร้อยล้าน เรื่องต้องส่งให้อนุญาโตตุลาการพิจารณา ทางองค์การตั้ง คุณชัยเกษม นิติสิริ เป็นอนุญาโตตุลาการ บริษัทตั้งอัยการเก่าอีกคนหนึ่ง ทั้งสองคนเลือกผมมาเป็นประธานอนุญาโตฯ แต่ละคนตัดสินใจให้แต่ละฝ่ายชนะ ผมกลายเป็นคนที่ต้องชี้ขาด โดยเห็นด้วยกับฝ่ายองค์การ ให้องค์การชนะสองต่อหนึ่ง"

"...เมื่ออีกหลายปีต่อมา คุณทักษิณมาเป็นนายกฯ มีลูกน้องคุณทักษิณมา ชี้หน้าผมเหมือนกันว่า คนนี้แหละที่ตัดสินให้เราแพ้องค์การโทรศัพท์"

"...วันหนึ่ง คุณทักษิณเรียกผมไปประชุมที่ห้องทำงานนายกฯ บนตึกไทยคู่ฟ้า ตอนนั้นมีประเด็นว่า ถ้าเรื่องของกระทรวงหนึ่งกำลังอยู่ในชั้นอนุญาโตตุลาการแพ้ รัฐบาลจะทำอย่างไร...คุณทักษิณบอกคนในห้องนั้นว่า เลขาฯวิษณุเคยชี้ขาดให้ผมแพ้ต้องจ่ายเงินหรือขาดกำไรไปหลายสิบล้าน แต่เขาทำถูกแล้ว...คุณทักษิณจะพูดจริงหรือพูดเล่น จะชมหรือประชดก็ตาม แต่ผมรู้สึกดีกับคุณทักษิณขึ้นเยอะ"

ในยุคที่ไทยรักไทยเป็นรัฐบาล "วิษณุ" เล่าว่า เขาและครอบครัวได้พบ พ.ต.ท.ทักษิณอีกหลายครั้ง ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า แต่คนที่ทำให้เขาประทับใจและมีอิทธิพลทางความคิดในการเปลี่ยนอาชีพจากข้าราชการมาเป็นนักการเมือง กลับเป็น "คุณหญิงพจมาน"

เขาเล่าว่า ระหว่างที่มีการซักซ้อมกระบวนการจัดตั้งรัฐบาล "วิษณุและครอบครัว" ได้รับโอกาสไปรับประทานอาหารค่ำที่บ้านจันทร์ส่องหล้าหลายครั้ง

"คนที่น่าประทับใจคนหนึ่งคือ คุณหญิงพจมาน ผมได้เห็นการวางตัวที่ดี ไม่พูดเรื่องการเมืองเลย แต่โอภาปราศรัยกับแขกอย่างอ่อนโยน เป็นกันเอง แสดงความเอาใจใส่ในสารทุกข์สุกดิบ เมื่อรู้ว่าภริยาของผมป่วยเป็น โรคไต ต้องเข้ารับการผ่าตัด ก็กุลีกุจอปวารณาตัวว่า จะฝากฝังหมอที่โรงพยาบาลของท่านให้..."

"วิษณุ" มีคอนเน็กชั่นกับคนในตระกูล "ดามาพงศ์" อีกคนที่เป็น "ตัวช่วย" พ.ต.ท.ทักษิณ คือ "พี่ชาย" ของคุณหญิงพจมานที่ชื่อ "บรรณพจน์"

"...คุณชัชวาล อภิบาลศรี และเพื่อนเรียน วปอ.รุ่นเดียวกับผมอีกคนที่ชื่อคุณบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ซึ่งเป็นญาติกับคุณหญิงพจมาน ชวนผมไปรับประทานอาหาร การสนทนาแกล้มอาหารมื้อนั้นเป็นเรื่องสัพเพเหระ หนักเข้าก็เป็นเรื่องการบ้านการเมือง ผมก็ได้ปรารภจุดแข็งจุดอ่อนของนายกฯทักษิณให้คุณบรรณพจน์ฟัง และวิตกว่าคุณทักษิณหลังคดีซุกหุ้นมีความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น ฟังคนน้อยลง"

"...ไหนจะมีเงิน ไหนจะมีสติปัญญา ไหนจะมีพวกพ้องเสียงเชียร์มาก ไหนจะมีเสียงในสภาท่วมท้น ไหนจะหมดชนักปักหลัง คนอย่างนี้ผมเห็นมามากแล้วว่าจะคึกคะนองดุจอินทรชิตที่ได้ฤทธิ์จากพระเป็นเจ้าจนบิดเบือนกายินเหมือนองค์อมรินทร์ทรงคชเอราวัณได้"

"วิษณุ" แนะนำ "ทักษิณ" ผ่าน "บรรณพจน์" พี่ชาย "คุณหญิงพจมาน" ยาวเหยียด

ทั้งเรื่องเกรงว่าเมืองไทยจะเป็นรัฐตำรวจ

ทั้งเรื่องรัฐบาลขาดมือกฎหมาย ต้องใช้บริการคณะกรรมการกฤษฎีกา

พร้อมเสนอชื่อที่ปรึกษากฎหมายราว 10 คน

"บรรณพจน์" ไม่เป็นอันรับประทานอาหาร เพราะต้องจดชื่อและประเด็นที่ "วิษณุแนะ" ลงในกระดาษ

สามวันต่อมา "วิษณุ" ถูกคุณหญิงพจมานเชิญไปพบที่บ้านจันทร์ส่องหล้า มีวาระ "กระดาษ-คำแนะนำ-ชื่อที่ปรึกษา" ที่ "บรรณพจน์" จดมานำเสนอ

"คุณหญิงให้ผมวิจารณ์รัฐบาลให้ฟัง ว่าใครเป็นอย่างไร นายกฯเป็นอย่างไร ปัญหาในการทำงานมีอะไรบ้าง ที่ว่าไม่ค่อยฟังใครเช่นเรื่องอะไร ถ้าไม่ฟังแล้วจะเกิดอะไรขึ้น คณะที่ปรึกษาที่ผมเสนอนั้น ไว้ใจได้ไหม"

จากนั้นผ่านไป 1 เดือน "วิษณุ" เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทที่วังไกลวังวล หัวหิน พร้อมกับ "พ.ต.ท.ทักษิณ" เพื่อถวายรายงานการปฏิรูปราชการ

"ตอนหนึ่งรับสั่งถามอย่างเป็นห่วงว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ของทำเล่น ใครจะดูแล นายกฯกราบบังคมทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้า รับสั่งถามว่า แล้วที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ความยากจน การพัฒนาแหล่งน้ำ ที่ดิน ที่ทำกินซึ่งยืดเยื้อมานานซึ่งทรงเป็นห่วงมาก เป็นภารกิจหลักของรัฐบาล ใครจะดูแล นายกฯกราบบังคมทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้า"

"รับสั่งถามถึงกี่เรื่อง นายกฯก็กราบบังคมทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้า สุดท้ายรับสั่งว่าเรื่องศาสนาก็เป็นเรื่องใหญ่ ละเอียดอ่อน เวลานี้มีปัญหาใคร จะดูแล นายกฯก็กราบบังคมทูลว่าข้าพระพุทธเจ้า"

แต่พอกลับจากเข้าเฝ้าฯ ยังไม่ทัน พ้นประตูวังไกลกังวล "พ.ต.ท.ทักษิณ" พูดกับ "วิษณุ" ว่า

"นี่เป็นเรื่องบ้านเมือง ไม่ใช่เรื่องการ เมือง ที่กราบบังคมทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าน่ะ ผมว่าผมทำไม่ไหวหรอก"

จากนั้นก็ชักชวนให้ "วิษณุ" และบุคคลระดับ "อัครมหาเศรษฐี" เมืองไทยช่วยทำ

"วิษณุ" ถูกชวนเข้าร่วมวงนักธุรกิจชั้นนำที่บางกอกคลับ ถนนสาทร ณ ที่นั้น คนที่รวมตัวรออยู่ก่อนแล้วมีทรัพย์สินรวมกันใกล้ ๆ ยอดงบประมาณประเทศไทย ทั้งคุณชาตรี โสภณพนิช คุณธนินท์ เจียรวนนท์ คุณเจริญ สิริวัฒนภักดี คุณบุญสิทธิ์ โชควัฒนา และคุณสถาพร กวิตานนท์

"พ.ต.ท.ทักษิณ" บอกกับกลุ่มเจ้าสัวว่า "ชวนวิษณุมาช่วยจำข้อเสนอของพวกท่าน"

จากนั้นไม่กี่วัน "วิษณุ" ก็ถูกเชิญจาก "ทักษิณ" ให้เข้าร่วมวงคณะรัฐมนตรี

ภายใต้เงื่อนไขของ "คุณหญิง" ที่ทั้ง "วิษณุและ พ.ต.ท.ทักษิณ" ไม่อาจปฏิเสธ

หมายเหตุ : ข้อมูลจากหนังสือ โลกนี้คือละคร โดยสำนักพิมพ์มติชน
///////////////////////////////////////////////////////////////

วันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ขอโทษ..

คำขอโทษ..ที่หลุดจากปาก ผู้บัญชาการทหารบก..พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา..นำมาซึ่งความรู้สึกที่ดีระหว่างผู้คนหลายฝักหลายฝ่าย..ที่มีความเห็นต่างและมีความคิดแปลก ซึ่งก็เป็นปรกติธรรมดา..ของโลกีย์สถานที่ประกอบกันเป็นโลกใบนี้
อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้สิ่งที่ได้สูญเสียไปแล้วทั้งชีวิตและทรัพย์สิน..ไม่ต้องสูญเสียเพิ่มขึ้นในส่วนที่ยังเป็นชีวิตอยู่และส่วนที่ยังมีอยู่
ภารกิจในการเข้าไปช่วยเหลือกำลังพลที่ประสบเคราะห์กรรมในระหว่างปฏิบัติหน้าที่นั้น..เป็นภารกิจที่หลีกเลี่ยงไม่ได้..เพราะมันเป็นผลโดยตรงกับกำลังใจของผู้เสี่ยงภัย..ที่ไปทำหน้าที่เพื่อชาติและประชาชนโดยรวม
ในกองทัพที่ยิ่งใหญ่และทันสมัยที่สุดในโลก..อย่างสหรัฐอเมริกา..ก็สูญเสียมาแล้วสำหรับภาระหน้าที่เช่นเดียวกัน..เช่นกันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้า

ในสังคมใหญ่อย่างประเทศไทย..จะไม่มีสัดส่วนใดดำรงอยู่โดยเอกเทศ..ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว-หมู่บ้าน-ตำบล-หรือกองทัพ
คำวิพากษ์วิจารณ์จึงเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้..ผู้ได้รับความเสียหายจะต้องอดทนต่อการชี้แจงแสดงเหตุผล..ทำความเข้าใจกับประชาชนและสังคมอันหลากหลาย เพื่อสร้างความรู้แจ้งเห็นจริงให้ปรากฏขึ้นมาให้ได้
มันจึงเป็นหน้าที่เช่นเดียวกับการเข้าไปกอบกู้ช่วยเหลือ..ไม่ว่าจะเป็นผู้บาดเจ็บหรือสูญเสียชีวิต
กองทัพต้องยอมรับในส่วนของความบกพร่อง..มีเหตุผลต่างๆ มากมาย..ที่จะอธิบายได้ถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้น โดยไม่ต้องแสดงอาการโกรธเกรี้ยวหรือยกป้ายเขตทหารห้ามเข้า..ให้เป็นที่ระคายเคือง

สื่อกับนักวิจารณ์..ก็ย่อมมีหน้าที่แตกต่างกันออกไป..แต่ไม่ได้หมายความว่า..จ้องจะทำลายกองทัพ..หรือปรารถนาจะปรักปรำผู้บัญชาการทหารบก
เพราะความจริงก็คือ..ไม่มีใครอยากให้เฮลิคอปเตอร์ตกและมีทหารตาย..
ความจริงก็คือทุกคนเสียใจที่มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น
การแก้ไขต่างหากที่จำเป็นที่สุดในปัจจุบัน บทเรียนต่างหากที่เป็นสมบัติล้ำค่าที่จะ..นำมานำสู่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลง

มันต้องอยู่กันให้ได้อยู่ร่วมกันไปอยู่รวมกันเป็นไทย..ชั่วกัปชั่วกัลป์

โดย.พญาไม้ทูเดย์.บางกอกทูเดย์
//////////////////////////////////////////

ฮือฮากันทั้งรุ่น!!

งานพบปะสังสรรค์ ตท.รุ่น ๑๕ หรือ จปร.รุ่นที่ ๓๑..รุ่นเดียว กับ “พล.ต.ตะวัน เรืองศรี” ผบ.พล.ร.๙ ผู้วายชีพ เพราะ “ฮ.” ตกนั่นปะไร ล่ะคุณ??
เพื่อนร่วมรุ่น บรรจงจับเอาชื่อออก จากงานที่เลี้ยงตามประเพณี ที่โรงแรมพูลแมน ซอยรางน้ำ ศุกร์ที่ ๒๒ กรกฏาฯ..เพื่อนทหารและตำรวจ ได้หยิบเอาชื่อ “ผู้การตะวัน” ออกจากการจับรางวัล
แต่ไฉน, ชื่อที่คัดออกหยิบออก กลับโผล่ขึ้น..จนเพื่อน ๆ ขนลุกกันไปทั้งงาน
อีกอย่าง น่าเป็นความผูกพัน ระหว่าง “พล.ต.ตะวัน เรืองศรี” กับพ้องเพื่อนที่รักใคร่กันมานาน จึงแสดงปาฏิหาริย์ ให้เห็น!!!
นับเป็นความน่ารัก...ที่ดวงวิญญาณ “พล.ต.ตะวัน”ได้มาทัก!...สมัครพรรคพวกได้มีการตื่นเต้น??

-------------------

เป็นความสูญเสียอย่างมหันต์!!
“บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. บอกปัดแก้ต่าง เป็นเพราะ “อากาศปิด” คงจะไม่ได้ ดอกนะท่าน??
อยากกราบเรียนให้รู้เหมือนกัน..ที่ผ่านมา “ฮ.” ของ “สำนักงานตำรวจ” เคยตกร่วงกราว เหมือน “ฮ.เบลล์” ของ “ทหาร” หรือเปล่าหนอ
เหตุที่ความปลอดภัย ของฝ่ายทหาร มีไม่เพียงพอ
ก็น่าจะมาจากการ เปลี่ยนถ่าย “อะไหล่”ไม่ตามสเป็ก..ที่ “ฮ.” ตำรวจบินกันปร๋อ เพราะเขาให้ “การบินไทย” เปลี่ยนน็อตตามชั่วโมงบิน แต่ฝ่ายทหารให้ใครเปลี่ยนเห็น ฮ. ตกกันจัง!!
ฮ.ตกเสียหายไม่เป็นไหร่...แต่ที่มีคนตาย?...โทษแต่อากาศปิด คงไม่ได้กระมัง??

--------------------

ไม่ธรรมดา...ไม่ธรรมดา!!
“บิ๊กอ๊อด” พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ปาร์ตี้ลิสต์อันดับที่ ๒๓ พรรคเพื่อไทย คนนี้น่าจับตา
สัมพันธ์แนบชิดกับ “ ทักษิณ ชินวัตร” มีไม่เท่าไหร่?...แต่เมื่อคราวโอลิมปิกที่จีน “บิ๊กอ๊อด” เป็นผู้พา “นายห้างดูไบ”หนี
โอกาสเกาะลิฟท์แก้ว เป็น “รัฐมนตรีกลาโหม” ก็มี
ยิ่งฐานของน้องรักน้องเลิฟ “พล.อ.อัครเดช ศศิประภา” ประธานใหญ่นวนคร ที่ได้ดูแลนายทหารใหญ่ ๆ มีทั้ง “พล.อ.ชัยณรงค์ หนุนภักดี” , “พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร” รวมอยู่กันครบเซ็ท
ถ้า “บิ๊กอ๊อด” ขึ้นมาเป็นใหญ่...ขุนศึกรุ่นต่างๆ จะไปไหน?..ล้วนอยู่ใต้อาณัติกันเบ็ดเสร็จ

--------------------

ไม่เคยเห็นหัวผู้ใหญ่!!
“อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” คงเป็น “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ที่ไม่เคยเห็นหัวใคร??
ทั้งที่ “สัมพันธ์ ทองสมัคร” หรือ “ท่านหมอผี” ทำคุณเอาไว้พรรคประชาธิปัตย์เอาท่วมท้น ก่อนที่ “อภิสิทธิ์” จะเข้ามาแจ้งเกิดบนถนนการเมือง
ผลักไสไล่ส่ง ให้“ท่านสัมพันธ์” มา ลงสส.ปาร์ตี้ลิสต์ อันดับที่ ๔๘ อย่างไม่ใช่เรื่อง
ขณะเดียวกันใช้กำลังภายใน ผลักดันให้ “บุญยอด สุขถิ่นไทย” ลงปาร์ตี้ลิสต์อันดับที่ ๓๖ ทั้งที่ก่อเรื่องสร้างเหตุ ให้ “ประชาธิปัตย์” ขัดใจกับพรรคอื่น ๆ จนเขาพากันเป็นศัตรู!!
ที่ “อภิสิทธิ์”พาประชาธิปัตย์เจ๊ง...ก็เพราะความอวดเก่ง?...ที่เล็งไม่เห็นหัวผู้ใหญ่เท่าที่รู้

--------------------

“สัมพันธ์สวาท” เห็นที จะต่อติดยาก!!!
บอกได้เลยว่า วันนี้ “ท่านนิพนธ์ พร้อมพันธ์ุ” ปฏิเสธ ที่จะมองหน้า “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หรือ “นายกฯมาร์ค”
เรื่องเกาเหลากินใจระหว่าง “ท่านนิพนธ์” กับ “อภิสิทธิ์” มีอยู่เป็นกอง
แต่เรื่องที่มองกันไม่ติด ..เมื่อ “ท่านนิพนธ์” ฝากฝังให้ “สุธรรม ลิมสุวรรณ” เด็กสร้างเด็กปั้น ลง สส.ปาร์ตี้ลิสต์อันดับ ๕๐ หรือ ต้น ๕๐ แต่ “อภิสิทธิ์” โยกไปลงอันดับที่ ๙๓ โดยไม่แคร์คำขอร้อง
เหมือนกับว่า “พรรคประชาธิปัตย์” มีแต่ “อภิสิทธิ์” ใหญ่คนเดียวเช่นนั้น!!
ก้อชอบทำตัวใหญ่คับพรรค....คนดีๆ จึงพากันตีจาก?...เพราะเขาเซ็ง “มาร์ค”ขึ้นทุกวัน

คอลัมน์:ตอดนิดตอดหน่อย,บางกอกทูเดย์
////////////////////////////////

วันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เยอรมันไฟเขียว แม้ว เข้าประเทศ-ผลประโยชน์มาก่อน !!?

เยอรมันไฟเขียว “แม้ว” เข้าประเทศ-ผลประโยชน์มาก่อน !?

ถ้าข่าวที่อ้างรายงานโดยสื่อเยอรมันระบุว่าทางการเยอรมันโดยกระทรวงการต่างประเทศนั้นได้ประกาศยกเลิกคำสั่งห้าม ทักษิณ ชินวัตร เข้าประเทศมาตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา มันก็สะท้อนให้เห็นภาพหลายอย่างตามมา ทั้งในเรื่องการเมืองและผลประโยชน์ทางธุรกิจระหว่างประเทศ

หลังจากทักษิณ ชินวัตร ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินจำคุกเป็นเวลา 2 ปี ฐานใช้อำนาจโดยมิชอบขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในกรณีซื้อที่ดินผืนงามย่านรัชดาภิเษก โดยเขาหลบหนีไม่ยอมมารับฟังคำพิพากษาดังกล่าว ขณะเดียวกันยังถูกดำเนินคดีในข้อหาทุจริตอีกหลายคดี แต่จำต้องยุติลงชั่วคราวเนื่องจากหลบหนีหมายจับของศาล

จากนั้นทางการไทยก็ได้ยกเลิกหนังสือเดินทางทูต(พาสปอร์ตแดง) และติดตามจับกุมตัวมาดำเนินคดี ขณะเดียวกันมีหลายประเทศในยุโรปรวมทั้งสหรัฐอเมริกาสั่งห้ามเข้าประเทศ โดยเฉพาะ อังกฤษได้อายัดทรัพย์สินของเขารวมทั้งเงินฝากในธนาคารด้วย

สำหรับประเทศเยอรมันนั้นตามรายงานโดยสื่อต่างประเทศระบุว่าได้มีคำสั่งห้าม ทักษิณ เข้าประเทศเมื่อราวปี 2552 และล่าสุดเพิ่งมีรายงานว่าได้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดีหากพิจารณาในรายละเอียดกรณียกเลิกคำสั่งห้ามเข้าประเทศของเยอรมันมันก็มีข้อน่าสังเกตหลายอย่างตามมา และถือว่าเป็นเรื่อง “ไม่ปกติ” อย่างแน่นอน โดยเฉพาะยังเป็นช่วงที่มีคาบเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ทางการเยอรมันนีทำการยึดอายัดเครื่องบินโบอิ้ง 737-400 จากกรณีบริษัทวอเตอร์ บาวน์ คู่กรณีที่ฟ้องเรียกค่าชดใช้จากรัฐบาลไทย จากเรื่องขัดแย้งกันเกี่ยวกับสัมปทานในการก่อสร้างทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่ากรณีที่เกิดขึ้นได้สร้างรอยร้าวต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุครัฐบาลรักษาการของ นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

เพราะหลังจากนั้นก็มีการเชิญเอกอัครราชทูตเยอรมันมาประท้วง และมีแถลงการณ์ตอบโต้จากกระทรวงการต่างประเทศตามมา ซึ่งภาพก็เห็นชัดอยู่แล้วว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลเยอรมันกับ รัฐบาลไทยในปลายยุคของ นายกฯ อภิสิทธิ์ เริ่มไม่ลงรอย

ประกอบกับก่อนหน้านี้หากจำกันได้ก็เคยมีรายงานว่ามีทีมทนายความของ ทักษิณ ชินวัตร เข้าไปเกี่ยวข้องเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอีกด้วย แต่ต่อมาก็มีการปฏิเสธกันอย่างสิ้นเชิงเรื่องจึงเงียบหายไป อย่างไรก็ดีเมื่อล่าสุดมีรายงานข่าวชิ้นใหม่ก็คือ ทางการเยอรมันยกเลิกคำสั่งห้าม ทักษิณ เข้าประเทศ มันก็ย่อมนำมาปะติดปะต่อรวมกันได้ว่าทั้งสองกรณีน่าจะเชื่อมโยงกัน ส่วนจะเชื่อมโยงกันทางไหนก็ต้องมาวิเคราะห์กันทีละประเด็น

ถ้าพิจารณากันแบบรวบรัดตัดความแล้วก็ต้องเริ่มจากความสัมพันธ์ที่เริ่มเสื่อมทรามลงระหว่างรัฐบาลเยอรมันกับรัฐบาล อภิสิทธิ์ ในยุคปลาย เพราะหากย้อนไปฟังคำให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีที่หลุดปากมาว่าที่ผ่านมาบริษัทวอเตอร์บาวน์ พยามยาม “ทำทุกวิถีทาง” เพื่อขอให้รัฐบาลไทย “ชำระหนี้” ให้จงได้ ความหมายก็คือ “วิ่งเต้น” กันทุกวิถีทาง แต่ไม่สำเร็จ

ความหมายต่อมาก็คือ เมื่อวิ่งเต้นกับรัฐบาลหนึ่งไม่สำเร็จ ก็ต้องหาทางวิ่งเต้นกับรัฐบาลใหม่ ซึ่งทางการเยอรมันก็ย่อมรู้ข้อมูลดีอยู่แล้วไม่ต่างจากคนไทยว่าคนที่มีอำนาจและเป็น “เจ้าของ” ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตัวจริงก็คือ ทักษิณ ชินวัตร นั่นเอง มันจึงต้องมีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างประเทศในอนาคตหรือไม่

การเปิดไฟเขียวให้ ทักษิณ เข้าประเทศ มันก็เหมือนเป็นการปูทางไปสู่ความสัมพันธ์ทางด้านอื่นตามมาหรือไม่ เพราะรู้กันอยู่แล้วรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์กำลัง “ตกกระป๋อง” เพราะอย่างที่เข้าใจกันก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศส่วนใหญ่ล้วนตามมาด้วยข้อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ ไม่ใช่อยู่บนพื้นฐาน หรือหลักการทางกฎหมาย หรือความยุติธรรมที่ตายตัวที่มักอ้างบังหน้าแต่อย่างใดไม่

กรณีที่เกิดขึ้นกับ ทักษิณ ที่เกิดขึ้น หากเป็นจริงตามรายงานข่าวต่างประเทศยืนยัน ประกอบกับความบาดหมางในเรื่องการยึดอายัดเครื่องบินโบอิ้ง 737 ที่มีบริษัทวอเตอร์บาวน์ มาเกี่ยวข้องนั้น มันก็สะท้อนให้เห็นว่าทางการเยอรมันได้เปลี่ยนแปลงท่าทีใหม่อย่างชัดเจนแล้ว และที่สำคัญก็คือเป็นการเลือกที่จะต่อรองผลประโยชน์กับรัฐบาลใหม่ที่ชี้นำโดย ทักษิณ ชินวัตร มากกว่า เพราะภาพที่ปรากฏให้เห็นมันจะมองเป็นอย่างอื่นไม่ได้

ขณะเดียวกันมันก็อดคิดไม่ได้เหมือนกันว่า ที่ผ่านมารัฐบาลในยุคของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และภายใต้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่ชื่อ กษิต ภิรมย์ กว่าสองปี ที่ทำหน้าที่ก็ประสบความ “ล้มเหลว” ในทุกเรื่อง และกรณีเยอรมัน ถือว่าเกิดขึ้นล่าสุด !!

ที่มา: ผู้จัดการ
////////////////////////////////

วันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

พล.อ.ไวพจน์ ผ่าทหาร-การเมือง ใช้ประโยชน์-ครอบงำ-ไร้สมดุล..!!?


โดย : ปกรณ์ พึ่งเนตร
ทหาร กองทัพไทย กับการเมืองไทยผูกติดมาตลอด ในหลายรูปแบบ ล่าสุดรัฐประหาร2549 ไล่รัฐบาล ทรท.ไป ปัจจุบันกับรัฐบาลใหม่ พท. จะเป็นเช่นไร

พลวัตการเมืองไทยในห้วงครึ่งทศวรรษมานี้ นับจากการรัฐประหารเที่ยวล่าสุดเมื่อปี 2549 ปฏิเสธไม่ได้ว่า "กองทัพ" เข้ามามีบทบาททางการเมืองสูงมาก และกลายเป็นจุดเปราะบางอันสำคัญของรัฐบาลชุดใหม่ที่นำโดยพรรคเพื่อไทย เพราะเป็นคู่ขัดแย้งกับทหารโดยตรง
ประเด็นที่เกี่ยวกับ "บทบาท" ที่เหมาะควรของทหาร และ"ระยะห่าง" หรือ "ความสัมพันธ์" ระหว่างกองทัพกับรัฐบาลควรเป็นอย่างไร เพื่อขับเคลื่อนการเมืองไทยต่อไปในทิศทางที่เหมาะสมตามระบอบประชาธิปไตยนั้น นับเป็นโจทย์ที่น่าค้นหาคำตอบไม่น้อยทีเดียว

พลเอกไวพจน์ ศรีนวล อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งผ่านงานการเป็นผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานความมั่นคง ทั้งผู้อำนวยการศูนย์รักษาความปลอดภัย(ศรภ.) และผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาให้กับหน่วยงานเดิมของเขา คือสำนักนโยบายและแผนกลาโหม ทั้งยังร่วมกับองค์กรเอกชนต่างประเทศจัดทำยุทธศาสตร์การปฏิรูปกองทัพสำหรับประเทศกำลังพัฒนาด้วย เพ่งมองภาพความเปราะบางนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจ

พลเอกไวพจน์ ชี้ว่า ปัญหากองทัพหรือทหารเข้าไปมีบทบาททางการเมือง เกิดขึ้นกับประเทศกำลังพัฒนาแทบทุกประเทศ ไม่เฉพาะไทย สาเหตุประการหนึ่งเป็นเพราะกองทัพมีทรัพยากรบุคคลมาก จึงช่วยงานพัฒนาในประเทศที่ยังไม่พร้อมได้เป็นอย่างดี ซึ่งถ้าจำกัดบทบาทอยู่เพียงแค่นี้ก็จะไม่มีปัญหาอะไร

แต่สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาใหญ่ก็คือ เมื่อสถานการณ์การเมืองไม่มีเสถียรภาพ ฝ่ายการเมืองเองจึงพยายามใช้ทหารเป็นเครื่องมือ เมื่อเลือกใช้ทหาร ฝ่ายทหารก็ชอบ เพราะได้งบประมาณมากขึ้น แล้วก็แสดงบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ จนบางประเทศกลายเป็นการครอบงำฝ่ายการเมืองไปเลย ซึ่งเป็นสร้างปัญหามากกว่าช่วยแก้ปัญหา

ฉะนั้นทางออกที่ดีที่สุด พล.อ.ไวพจน์ บอกว่า ต้องสร้างสมดุลด้วยการ "ปฏิรูปกองทัพ" หรือ Military Reform ซึ่งสำหรับประเทศไทยก็คิดและทำมานานมากแล้ว แต่ไม่ค่อยมีความคืบหน้า
"สาเหตุที่การปฏิรูปกองทัพทำได้ไม่ค่อยดี เพราะ 1.การเปลี่ยนแปลงกองทัพเป็น Political Issue หรือประเด็นปัญหาทางการเมือง ซึ่งฝ่ายการเมืองต้องเตรียมพร้อมสำหรับการปรับเปลี่ยนด้วย คือต้องมี Political Will หรือเจตจำนงทางการเมืองที่ชัดเจน แน่วแน่ แต่บ้านเราฝ่ายการเมืองไม่เข้มแข็ง กลับใช้กองทัพเป็นเครื่องมือ กองทัพก็เอนจอย (enjoy - สนุกสนาน) เพราะได้อำนาจต่อรองเพิ่ม ทั้งงบประมาณ และสถานะ เนื่องจากกลายเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของการเมืองไปแล้ว เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปจึงไม่คืบหน้าเท่าที่ควร และจะไม่คืบหน้าต่อไปถ้าการเมืองยังไม่เข้มแข็งอยู่แบบนี้"

"2.กระบวนการกำหนดนโยบายยุทธศาสตร์ของกองทัพยังมีลักษณะยึดติดกับกรอบคิดแบบเดิมๆ ตั้งแต่ยุคสงครามเย็น ซึ่งกระบวนการกำหนดนโยบายยุทธศาสตร์ถูกชี้นำโดยประเทศมหาอำนาจ แม้จะยึดผลประโยชน์ชาติ หรือ National Interest แต่ทิศทางยังมีอคติ เพราะอยู่ภายใต้การชี้นำของมหาอำนาจและกลุ่มผลประโยชน์ จึงไม่ตอบสนองต่อผลประโยชน์ชาติแบบเต็มร้อย แต่กลับเป็นไปในลักษณะตอบสนอบเฉพาะกลุ่ม"

ในทัศนะของ พลเอกไวพจน์ เขาให้น้ำหนักไปที่กระบวนการกำหนดนโยบายยุทธศาสตร์เป็นอย่างมาก โดยเห็นว่าเป็นจุดอ่อนทั้งในระดับกองทัพเองและรัฐบาล เขาขยายความว่า ในระดับผู้นำกองทัพหรือนายทหารระดับสูงส่วนใหญ่ที่ผ่านมา แม้ทำให้กองทัพมีการเปลี่ยนแปลงก็จริง แต่เป็นการเปลี่ยนเฉพาะโครงสร้างการบริหารจัดการ ซึ่งถือว่าเป็นจุดอ่อน คือเมื่อเดินตามฝรั่ง ก็จะมุ่งเปลี่ยนแปลงเฉพาะโครงสร้างการบริหารจัดการ ซึ่งเกิดผลน้อย หากจะเปลี่ยนแปลงให้ได้ผลจริงๆ ต้องเปลี่ยนคู่กัน 2 แนวทาง คือ โครงสร้างการบริหารจัดการ และทิศทางการก้าวเดินซึ่งต้องเปลี่ยนด้วย

เมื่อหันไปพิจารณาในระดับการเมืองหรือรัฐบาล จะเห็นว่าฝ่ายการเมืองเองก็ไม่มีกรอบคิดทิศทางที่ชัดเจน ใครขึ้นเป็น รมว.กลาโหม ก็ปรับโครงสร้างนิดหน่อย ซื้ออาวุธนิดหน่อย ก็ถือว่าได้ปฏิรูปกองทัพแล้ว ทั้งๆ ที่เรายังมีจุดอ่อนการปฏิรูปเพื่อทำให้เกิดสมดุลระหว่างกองทัพกับการเมืองอยู่มาก

"นายทหารระดับสูงส่วนใหญ่ในบ้านเรามองแนวคิดแต่ Military Strategy (ยุทธวิธีทางทหาร) คือใช้กำลัง แล้วก็จัดซื้ออาวุธ ถามว่าเดินถูกทางไหม มันก็ถูก แต่ถ้าจะแก้ปัญหาให้ได้ต้องมองให้เหนือกว่าเรื่องยุทธวิธีทางทหาร คือต้องมองไปที่ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง หรือ Security Strategy"

อย่างไรก็ดี พลเอกไวพจน์ ชี้ว่าสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะในประเทศไทย แต่เกิดกับประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ เพราะในประเทศเหล่านั้นประชาชนจะศรัทธากองทัพมาก และกองทัพมีอิทธิพลมาก เมื่อเสนอยุทธศาสตร์อะไรไป ผู้กุมนโยบายด้านความมั่นคงก็ไม่กล้าเปลี่ยนแปลง ปัญหาจึงแก้ไม่ได้เพราะมองเฉพาะยุทธวิธีทางทหาร

"ยกตัวอย่างปัญหากับประเทศเพื่อนบ้าน ถ้ามองแค่กรอบ Military Strategy ก็สั่งให้เอากำลังไปวาง แต่ไม่ได้แก้ไขปัญหาอะไรเลย จุดอ่อนคือกระบวนการกำหนดนโยบายยุทธศาสตร์ไม่ได้รับการพัฒนา ประชาชนไม่สามารถหวังพึ่งกองทัพให้แก้ปัญหาชาติได้ เพราะแก้ได้แค่ระดับยุทธวิธี จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมากองทัพแก้ปัญหาใหญ่ๆ ของชาติไม่ได้เลย รวมทั้งปัญหาภาคใต้ด้วย เพราะมองแต่ยุทธวิธีทางทหาร เมื่อผนวกกับการเมืองก็อ่อนแอ ต้องการใช้ทหารเป็นเครื่องมือ จึงยิ่งไม่กล้าปรับเปลี่ยน ทำให้เจตจำนงทางการเมืองไม่แจ่มชัด ถ้าเป็นอย่างนี้ก็พัฒนาไม่ได้"

พลเอกไวพจน์ เสนอว่า การจะก้าวข้ามปัญหานี้ องค์กรเหนือกองทัพต้องแสดงบทบาทมากขึ้น อาทิ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และฝ่ายการเมือง จะมาใช้กองทัพแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว มิฉะนั้นปัญหาจะทับถม

"ปัญหาของกองทัพกับปัญหาของฝ่ายการเมือง จริงๆ แล้วก็เป็นเรื่องเดียวกัน คือการกำหนดนโยบายยุทธศาตร์ในการแก้ไขปัญหาของประเทศ ไม่สามารถทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชนส่วนใหญ่หรือขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าได้ ปัญหาต่างๆ จึงแก้ไม่ได้อย่างเป็นรูปธรรม ถ้าไม่รีบแก้ตรงจุดที่เป็นต้นเหตุนี้ การก้าวเดินต่อไปจะยิ่งไร้ทิศทาง"

"ที่ผ่านมาสภาพัฒน์ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ยังเอาปัญหาเป็นตัวตั้ง แล้วสร้างการมีส่วนร่วมด้วยการจัดเวทีไปฟังปัญหา จากนั้นก็นำประเด็นที่รับฟังมากำหนดเป็นนโยบาย วิธีการแบบนี้แม้จะถูกต้องแต่ไม่ใช่การแก้ปัญหาระดับชาติ เพราะปัญหามันไม่ได้ง่ายแบบเดิมแล้ว ไม่เหมือนยุคสงครามเย็น เนื่องจากปัญหามีความซับซ้อนสูง ไม่ใช่เรื่อง 1+1 = 2 อีกต่อไป"

"อย่างเช่นการจะสร้างความปรองดอง แล้วบอกว่าคนในชาติมีแต่ความแตกแยก จริงๆ แล้วแตกแยกไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นผลกระทบ ฉะนั้นต้องมองย้อนกลับไปว่าสาเหตุของความแตกแยกเกิดจากอะไร ด้วยเหตุนี้การโฆษณาให้ปรองดองจึงไม่เกิดผลอะไร เพราะต้องเข้าใจและหาวิธีแก้ปัญหาที่แก่น"

"เช่นเดียวกับนโยบายประชานิยมของพรรคการเมือง ประชาชนชอบเพราะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ในระยะสั้น แต่ไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ฉะนั้นจึงใช้วิธีเดิมๆ ต่อไปอีกไม่ได้ เรากำลังจะมีรัฐบาลชุดใหม่ หลังจากนี้ก็จะมีการแถลงนโยบาย และทำแผนปฏิบัติ แต่ถ้ายังเป็นแผนเดิม ทิศทางก็เดิมๆ ก็จะไม่มีทางแก้ปัญหาชาติได้สำเร็จ"

ส่วนการปฏิรูปกองทัพด้วยการปรับลดขนาดลงเพื่อให้มีความคล่องตัวและพัฒนาประสิทธิภาพได้ง่ายขึ้นนั้น พล.อ.ไวพจน์เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เพราะภัยคุกคามในลักษณะที่เป็น Traditional Treat (ภัยคุกคามแบบเก่า) ในยุคสงครามเย็น ได้เปลี่ยนเป็น Nontraditional Treat หรือภัยคุกคามแบบใหม่ไปแล้ว

"การต่อสู้กับภัยคุกคามแบบเดิม คือการรบด้วยกำลังทหาร ใครที่มีกำลังพลมากกว่า อาวุธมากกว่าก็เป็นฝ่ายชนะนั้น ปัจจุบันแทบจะหมดไปแล้ว ทุกวันนี้ทุกประเทศพยายามเป็นมิตรกัน มีการรวมกลุ่มกัน เช่น อาเซียน และมีองค์กรระหว่างประเทศคอยแก้ไขความขัดแย้ง อาทิ องค์การสหประชาชาติ ฉะนั้นโอกาสที่จะเกิดการรบขนาดใหญ่มีน้อยมาก"

"ส่วนภัยคุกคามรูปแบบใหม่มี 4 เรื่องหลัก คือ ยาเสพติด แรงงานข้ามชาติ ภัยพิบัติ และก่อการร้าย จึงต้องถือว่ารูปแบบเปลี่ยนไป การลดกำลังพลของกองทัพลงจึงเป็นเหตุเป็นผล ปัจจุบันเทคโนโลยีมีมากขึ้น สามารถใช้แทนได้ และยังเป็นการป้องปรามทางยุทธศาสตร์ โดยไม่ต้องใช้กำลังด้วย เรื่องแบบนี้เราก็เคยคิดกัน แต่อาจจะละเลยไป"

พลเอกไวพจน์ บอกด้วยว่า ระบบป้องปรามทางยุทธศาสตร์ก็เช่น การพัฒนาเรื่องการรบร่วม แทนการจัดซื้ออาวุธบางประเภท เช่น ปืนเล็ก ซึ่งไม่ได้ตอบสนองอะไรในทางยุทธศาสตร์ ที่สำคัญต้องเข้าใจว่าภัยคุกคามรูปแบบใหม่ทุกเรื่องเกี่ยวข้องกับประชาชน จึงต้องทำงานร่วมกับภาคประชาชนและเอ็นจีโอจึงจะประสบความสำเร็จ

ทั้งหมดนี้คือทิศทางที่ควรจะเป็นของกองทัพในความเห็นของอดีตขุนพลด้านความมั่นคงอย่าง พล.อ.ไวพจน์ แต่การปรับบทบาทจะเป็นจริงได้หรือไม่ ต้องย้อนกลับไปถามฝ่ายการเมืองด้วยว่าเมื่อไรจะเลิกใช้กองทัพเป็นเครื่องมือเสียที!

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ประยุทธ์. ต้องเคลียร์เรื่อง ฮ.ตก ก่อนซื้อล็อตใหม่ 30 ลำ !!?


“ประยุทธ์”ต้องเคลียร์เรื่อง ฮ.ตก ก่อนซื้อล็อตใหม่ 30 ลำ !!

ผ่าประเด็นร้อน

จะเป็นเพราะต้องการพลิกวิกฤตเป็นโอกาสอย่างที่มีความพยายามเปรียบเทียบให้เห็นภาพกรณีที่ ผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มถูกหลายฝ่ายเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบกตกถึง 3 ลำในเวลาไล่เลี่ยกันเพียง 8 วันเท่านั้น และเกิดอุบัติเหตุในภารกิจเดียวกัน ในบริเวณใกล้เคียงกัน

อุบัติเหตุทั้งสามครั้งทำให้มีนายทหารระดับสูงคือ พล.ต.ตะวัน เรื่องศรี ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 9 เสียชีวิต รวมไปถึง นักบิน ช่างเครื่อง ทหารและพลเรือนต้องเสียชีวิตรวมแล้ว 17 ศพ ซึ่งถือว่าเป็นบุคลากรอันทรงคุณค่าจนประเมินไม่ได้

ในครั้งแรกที่เริ่มเกิดอุบัติเหตุกับเครื่องเฮลิคอปเตอร์ประเภท “ฮิวอี้” ทำให้ทหารเสียชีวิตรวม 5 ศพ ก็ค่อนข้างสรุปตรงกันว่าเป็นเพราะสภาพอากาศปิด ไม่อำนวยแม้เศร้าสลดอย่างไรก็พอทำใจยอมรับได้ว่านี่คืออุบัติเหตุเหลือวิสัย แต่ถัดมาก็มาเกิดซ้ำขึ้นอีกกับเฮลิคอปเตอร์ “แบล็กฮอร์ค” ที่ถือว่าทรงประสิทธิภาพที่สุดที่กองทัพบกนำเข้าประจำการ สร้างความสูญเสียอีก 9 ศพ และล่าสุดเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมก็มาเกิดอุบัติเหตุกับเครื่องเฮลิคอปเตอร์ เบลล์ 212 เสียชีวิตอีก 3 ศพ รอดตายราวปาฏิหาริย์ อีก 1 นาย แต่ก็บาดเจ็บสาหัส

หลายคนเริ่มตั้งคำถามว่าสาเหตุมาจากอะไรกันแน่ ทำไมมันถึงได้เกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อนได้ถึงเพียงนี้ แม้หลายคนยอมรับตรงกันว่าภารกิจทั้งกู้ภัยช่วยเหลือในเหตุการณ์ดังกล่าวต่อเนื่องกันมันสุดหิน สุดอันตราย ยากลำบากอยู่ในป่าดงดิบที่บุคคลทั่วไปจะทำได้ก็ตาม แต่ประเด็นก็คือ ต้องสอบสวนหาสาเหตุให้กระจ่าง เพราะเราไม่ต้องการให้ทหาร โดยเฉพาะทหารชั้นผู้น้อย หรือทหารระดับรองลงมาไปเสี่ยง เนื่องจากเป็นความสูญเสียที่ไม่ต้องการให้เกิดขึ้นแบบนี้อีกแล้ว

แม้ว่าในเบื้องต้นจะสรุปค่อนข้างตรงกันว่าสาเหตุน่าจะมาจากอุบัติเหตุ สภาพอากาศเลวร้าย แต่อีกด้านหนึ่งมันก็อดไม่ได้ที่ต้อง “สะกิดเตือน” กันดังๆไปถึงผู้บัญชาหารทหารบก ในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วยงานสั่งสอบสวนให้ละเอียดอีกทางหนึ่งด้วย เพราะจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำซ้อนมันก็เป็นธรรมดาที่ทำให้ทหาร นักบินเกิดความหวดผวากันบ้าง ไม่เว้นแม้แต่คนไทยทั่วไปที่ช็อกและสลดหดหู่จนบอกไม่ถูก

อย่างไรก็ดีแทนที่ ผู้บัญชาการทหารบกจะเปิดใจกว้างยอมรับให้มีการตรวจสอบและสอบสวน หาสาเหตุอย่างเต็มที่เพื่อสร้างความสบายใจกันทุกฝ่าย ที่สำคัญเป็นการสร้างมาตรการรักษาความปลอดภัยให้กับกำลังพลที่ต้องใช้อากาศยานของกองทัพบกปฏิบัติภารกิจ แต่นี่ตรงกันข้ามกลับแสดงอารมณ์เกรี้ยวกราด กล่าวหาว่าคนที่ออกมาวิจารณ์ดังกล่าวมีเจตนาทำให้กองทัพเสียหายไปเสียอีก

อย่างไรก็ดีสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นว่าคำพูดและพฤติกรรมของ ผู้บัญชาการทหารบกคนนี้สวนทางกัน เพราะขณะกล่าวตอบโต้คนที่เรียกร้องให้มีการสอบสวนหาสาเหตุในทุกด้านเพื่อความปลอดภัยของกองกำลังพลนั้น ในทางลับกลับสั่งระงับการบินของเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบกเป็นการชั่วคราว ขณะเดียวกันตัวเองก็ยังไม่กล้าใช้เป็นพาหนะเดินทางไปประกอบภารกิจ ซึ่งปรากฏให้เห็นเป็นตัวอย่างก็คือเมื่อสองสามวันก่อน พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ถึงกับเดินทางโดยรถยนต์ไปร่วมงานศพ นายทหารที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุดังกล่าว ที่จังหวัดกาญจนบุรี

สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นแล้วว่า แม้แต่ตัวเองก็ยังไม่มั่นใจในความปลอดภัย ถึงกับไม่กล้าขึ้นบิน เพราะถ้ามั่นใจก็ต้องแสดง “ภาวะผู้นำ” ปลุกขวัญทหารแบบนี้ ไม่ใช่มาแสดงอาการกราดเกรี้ยวต่อหน้าสื่อ แล้วบอกว่านี่คือการแสดงภาวะผู้นำ ซึ่งถือว่าแปลกพิลึก

นอกจากนี้สิ่งที่ต้องกล่าวถึงก็คือมีการแสดงให้เห็นว่าคิดจะใช้จังหวะแบบนี้เตรียมเสนอของบประมาณในปี 2555 กับรัฐบาลใหม่เพื่อจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ล็อตใหม่จำนวน 30 ลำ ใช้งบประมาณนับหมื่นล้านบาท ซึ่งหากว่ากันด้วยความเป็นธรรมมันก็สมควรตั้งงบซื้อ หรือปรับปรุงกันอย่างขนานใหญ่ แต่คำถามก็คือในฐานะผู้บัญชาการทหารบกจะต้อง “เคลียร์” ทุกข้อสงสัยให้กระจ่างเสียก่อน เพราะถ้าบริสุทธิ์ใจ ก็ไม่เห็นต้องแคร์ ตรงกันข้ามดีเสียอีกที่ทุกฝ่ายมีความกระตือรือร้น เป็นเจ้าของกองทัพ เพราะกองทัพเป็นของประชาชน เป็นหลักการปกติทั่วไปอยู่แล้ว

ดังนั้นหากต้องทำให้ทุกอย่างตรงประเด็นก่อนที่จะไปเรื่องอื่นให้เลยเถิดถึงเรื่องอื่น พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้บัญชาการทหารบกจะต้องสร้างภาวะผู้นำอย่างแท้จริงด้วยการสอบสวนหาข้อเท็จจริงโดยเร็วและโปร่งใส เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย หรือหากเป็นไปได้น่าจะถึงเวลา “สังคายนา” กันภายในกันสักครั้ง เพราะนี่แหละคือการ “พลิกวิกฤตเป็นโอกาสอย่างแท้จริง !!

ที่มา: ผู้จัดการ
*************************

วันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

อภิวันท์.แซงขุนค้อนจ่อซิว ประธานสภา พายัพ.ยันภายใน 10 ส.ค.เห็นหน้า ครม.ครบแน่ !!?

นายพายัพ ชินวัตร ประธานภาคอีสาน พรรคเพื่อไทย กล่าวเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ถึงกรณีที่นายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ระบุว่าหาก ส.ส.ต้องการเป็นรัฐมนตรี จะต้องไปวิ่งเต้นกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในต่างประเทศว่า เรื่องตำแหน่งรัฐมนตรีนั้น บอกได้เลยว่าคนที่ไปวิ่งเต้นไม่ได้เป็นแน่นอน เพราะตอนนี้เรามีหมูอยู่ หากไก่จะวิ่งให้ได้เป็นหมู คงเป็นไปไม่ได้ เพียงแต่หมูที่เรามีอยู่ตอนนี้ ยังเป็นเนื้อสันหรือสามชั้นหรือกระดูกอยู่ เราต้องไปเลือกให้เหมาะสมอีกครั้ง ซึ่งการเสนอชื่อรัฐมนตรีในส่วนของภาคอีสานนั้นมีรูปแบบการเสนอชื่ออยู่ 2 แบบ คือ 1.การเสนอไปแบบยกตะกร้า เพื่อให้พรรคได้มีการคัดเลือก หรือ 2.เสนอไปแบบขนมชิ้นอร่อยๆ 2-3 ชิ้นเพื่อให้พรรคได้ทดลองเลย

นายพายัพกล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าในการจัด ครม.นั้นขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนมากนัก หากผู้สื่อข่าวต้องการรู้ถึงตำแหน่งใน ครม.ทั้งหมดขอให้มาถามตนในวันที่ 10 สิงหาคม เพราะเท่าที่ได้ประเมินระยะเวลา หากเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 1 สิงหาคม ก็น่าจะได้มีการเลือกตัวประธานสภาผู้แทนราษฎรที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่เกินวันที่ 3 สิงหาคม จากนั้นในวันที่ 4-5 สิงหาคม น่าจะเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีได้ หลังจากนั้นก็จะเป็นการจัด ครม. ซึ่งน่าจะเห็นหน้าตา ครม.อย่างชัดเจนไม่เกินช่วงวันที่ 8-10 สิงหาคม

ขณะที่แหล่งข่าวจากแกนนำพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า แกนนำพรรคเพื่อไทย ได้ประเมินระยะเวลาในการเตรียมการจัดตั้งรัฐบาล โดยหลังจากรัฐพิธีเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งน่าจะเป็นวันที่ 1 สิงหาคมแล้ว น่าจะสามารถเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ไม่เกินวันที่ 3-4 สิงหาคม จากนั้นวันที่ 7-8 สิงหาคม น่าจะสามารถเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี จากนั้นก็จะมีความชัดเจนเรื่องคณะรัฐมนตรี

แหล่งข่าวจากแกนนำพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า สำหรับการจัดสรรตำแหน่งต่างๆ ในส่วนของพรรคเพื่อไทยนั้น ล่าสุดเริ่มมีความชัดเจนว่าตำแหน่งในฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 2 คน จะเป็นคนของพรรคเพื่อไทยทั้งหมด โดยตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร จากเดิมที่มีชื่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ส.ส.ขอนแก่น พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายวิทยา บุรณศิริ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคเพื่อไทย เป็นแคนดิเดตนั้น นายวิทยาได้แสดงความจำนงกับแกนนำพรรคเพื่อไทยขอรับตำแหน่งรัฐมนตรีแล้ว ทำให้เหลือเพียงนายสมศักดิ์กับ พ.อ.อภิวันท์ ซึ่งทำให้ พ.อ.อภิวันท์ที่ได้รับแรงสนับสนุนจาก ส.ส.ในพรรคเพื่อไทยมากกว่านายสมศักดิ์แรงขึ้นมาในช่วงโค้งสุดท้าย และกลายเป็นแคนดิเดตอันดับที่ 1 ส่วนนายสมศักดิ์ แม้จะมีประสบการณ์และชื่อเสียงจากการที่เคยดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่มีเสียงคัดค้านจาก ส.ส.จำนวนมาก จึงอาจได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกรดซีแทน

แหล่งข่าวระบุว่า สำหรับตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรนั้น ขณะนี้ยังอยู่ในภาวะฝุ่นตลบ โดยมีชื่อของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ที่มีบทบาทในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรมาตลอดระยะเวลาที่เป็น ส.ส. โดยมีคุณสมบัติเด่นเรื่องความแม่นยำเรื่องข้อบังคับและเกมการเมือง รวมไปถึงนายพีระพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย และนายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ที่แม่นยำเรื่องกฎหมายและข้อบังคับ และเป็นตัวแทน ส.ส.ภาคอีสาน ที่จะมารับโควตาในส่วนของภาคอีสาน

แหล่งข่าวระบุว่า สำหรับความเคลื่อนไหวในการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์นั้น มีความเคลื่อนไหวล่าสุด พบว่ามีชื่อนายฐานิส เทียนทอง ส.ส.สระแก้ว พรรคเพื่อไทย หลานชายนายเสนาะ เทียนทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย มีชื่อแรงเข้ามาแคนดิเดตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แข่งกับนายจารุพงษ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ที่มีรายชื่อแคนดิเดตตำแหน่งนี้เพียงคนเดียวมาตลอด เนื่องจากกระทรวงแรงงาน เคยเป็นกระทรวงในโควตาของพรรคประชาราช ในรัฐบาลพรรคพลังประชาชน โดยมีนางอุไรวรรณ เทียนทอง ภรรยานายเสนาะ เป็นรัฐมนตรี

ที่มา : มติชนออนไลน์
*************************

การกลับมาของผู้สมรู้ร่วมคิดก่อการรัฐประหาร !!?

นายเทพไท เสนพงศ์มีประวัติในเรื่องของการพูดในสิ่งที่น่าอับอาย เมื่อครั้งยังเป็นในโฆษกส่วนตัวของนายมาร์ค อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายเทพไทสร้างความน่าอับอายขายขี้หน้าให้กับให้เจ้านายตนเองมาหลายหน ด้วยการพูดจาโป้ปดและเหยียดเชื้อชาติอย่างโจ่งแจ้ง ปัจจุบัน พรรคของเขาพ่ายแพ้การเลือกตั้งอย่างราบคาบให้กับเพื่อไทยมากกว่าร้อยที่นั่ง ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากเป็นประวัติการณ์ เรายินดีที่จะยอมปล่อยให้นายเทพไทห่างหายไปจากฉากเหตุการณ์นี้และหางานทำใหม่ อย่างไรก็ตาม ไม่ต่างจากพรรคของเขา นายเทพไทเหมือนจะไม่สามารถยอมรับข้อเท็จจริงได้ว่าประเทศไทยหมดความอดทนกับตัวเขาและพรรคพวกของเขาแล้ว แม้ว่าพรรคของเขาพยายามจะเปลี่ยนผลการเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคม (อีกครั้ง) โดยการพยายามหาทางทำให้พรรคเพื่อไทยถูกยุบ โดยปราศจากข้อเท็จจริงทางกฎหมาย ในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นายเทพไทยังมีหน้ามาแนะนำให้คนเสื้อแดง “ยุติบทบาท” และเรียกร้องให้ว่าทีนายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรสนับสนุน “การสลายตัว” ของหมู่บ้านเสื้อแดงซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในภาคอีสาน

ไม่ว่านายเทพไทหรือพรรคประชาธิปัตย์จะพูดอย่างไร แต่คนเสื้อแดงกลับมีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวยิ่งกว่าแต่ก่อน เพราะการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องของคนเสื้อแดงสามารถช่วยให้รัฐบาลใหม่ซึมทราบประเภทอุดมคติที่ชอบด้วยหลักการ ซึ่งมักจะถูกลืมเลือนไปในระหว่างการทำงานทอย่างหนักของการเมืองในรูปแบบรัฐสภา ในขณะเดียวกัน คนเสื้อแดงจำเป็นที่จะต้องตื่นตัวเพื่อต่อต้านความพยายามของกองทัพ ศาลและพรรคประชาธิปัตย์ที่จ้องจะทำลายหรือล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
เป็นที่น่าสังเกตว่า นายเทพไทเรียกคนเสื้อแดงว่าเป็น “มวลชนกดดันนอกสภา” ซึ่งเป็นพลังที่ไม่มีที่ให้ยืนในระบอบประชาธิปไตย ในขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้ยุบพรรคเพื่อไทย แต่พรรคประชาธิปัตย์เอง ก็เข้าร่วมกับกิจกรรมการเมืองนอกสภา ผ่านทางตุลาการที่แทรกแซงกิจการการเมือง ตามที่นายจรัล ดิษฐาอภิชัยได้อธิบายไว้ในบทความล่าสุดของเขาว่า การบังคับใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 แทนที่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี 2540 เป็นไปเพื่อเปิด “ช่องทางประตูหลัง” หลายช่องให้กับกลุ่มอำมาตย์ เพื่อเปลี่ยนและทำลายผลการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย โดยถอดถอนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและยุบพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง ดังนั้น จึงไม่ได้หมายความว่าผู้คบคิดแผนการรัฐประหารกลับบ้านเข้าค่ายทหารและยอมแพ้ แต่พวกเขาเพียงเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อสร้างแผนการที่ซับซ้อนมากขึ้น หาผลประโยชน์จากรัฐธรรมนูญที่มีตำหนิไม่มีความเป็นประชาธิปไตย และใช้การเมืองควบคุมศาลเพื่อแทรกแซงและสอดแทรกกระบวนการทางประชาธิปไตย

ในขณะที่พรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเป็นครั้งที่ห้าติดต่อกัน แต่มันชัดเจนว่าหนทางสู่ประชาธิปไตยยังอีกยาวไกล กลุ่มอำมาตย์ไทยยังคงทีวิธีการหลากหลาย นับตั้งแต่การตั้งข้อหาทางกฎหมายที่มีแรงจูงใจทางการเมืองไปจนถึงการทำรัฐประหารโดยกองทัพเพื่อกำจัดรัฐบาลใหม่ แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะถูกปล่อยให้เป็นรัฐบาลในช่วงระยะเวลาหนึ่งเพื่อทำการปฏิรูปในสิ่งที่จำเป็น แต่การคัดค้านของศาลและการที่กองทัพไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของพลเรือน เป็นไปได้ว่าจะมีการขัดขวางความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เขียนโดยรัฐบาลทหารในปี 2550 การยกเลิกข้อจำกัดของเสรีภาพส่วนบุคคล และสอบสวนการสังหารหมู่ของประชาชนทั้ง 92 รายเมื่อปีที่แล้ว
เมื่อหลายเดือนที่แล้ว เราได้เตือนถึง “ภัยรัฐประหารยุคใหม่” ที่กำลังถักทอขึ้นเพื่อพยายามปกป้องรักษาอำนาจของกลุ่มอำมาตย์ ผ่านทางการข่มขู่และใช้สถาบันรัฐที่สำคัญเป็นเครื่องมือ “ภัยรัฐประหารยุคใหม่”ขัดขวางระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยหลายครั้งก่อนหน้านี้ แม้แต่ภายหลังที่ประชาชนไทยขับไล่เหล่านายพลออกจากอำนาจในปี 2516 และ 2519 กลุ่มอำมาตย์ยังหาทางตะกุยตะกายกลับมา โดยการใช้ความวุ่นวายที่ร้ายแรง (ในยุค70) หรือควบคุมกระบวนการทางการเมือง (ในกลางยุค90) ”ภัยรัฐประหารยุคใหม่” ล่าสุดเกิดขึ้นในปี 2551 โดยการกระทำของกลุ่มพันธมิตรและการไม่กระทำการในหน้าที่ของกองทัพ และทำให้รัฐบาลพรรคพลังประชาชนกลายเป็นอัมพาต รวมถึงวางรากฐานให้กับการสอดแทรกของศาลรัฐธรรมนูญ เกือบสองเดือนก่อนที่พรรคพลังประชาชนจะถูกยุบ อดีตนายรัฐมนตรี นายอนันต์ ปัญญารชุนอธิบายให้เจ้าหน้าที่ทูตสหรัฐอเมริกาฟังถึงสิ่งที่กำลังจะถูกเปิดเผยออกมา โดยสิ่งนั้นจะ “ไม่ใช่รัฐประหารแบบตามที่ประชาคมโลกเข้าใจ”

นี่ไม่ใช่ช่วงเวลาที่จะประกาศว่าภารกิจได้สำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว เหมือนที่สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์อย่างนายเทพไท เสนพงศ์แนะนำ นายเทพไทไม่ใช่สามารถอ้างศีลธรรมสูงส่งในขณะที่เขายังคงทำสิ่งที่เลวร้ายอย่างที่สุด เขาควรจะยอมรับผลการเลือกตั้งและเลิกสร้างความอับอายให้กับตนเองและพรรคของเขา หากประเทศไทยยังไม่บรรลุการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย ซึ่งได้ดำเนินมาเกือบ 80 ปี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะ เราพึงพอใจกับเหตุการณ์อดีตในแต่ละครั้งที่เราก้าวข้ามมามากเกินไป ซึ่งทำให้กลุ่มอำมาตย์ใช้หาผลประโยชน์ด้วยการยึดอำนาจที่พวกเขาถูกบังคับให้สละก่อนหน้านี้กลับมา การเคลื่อนไหวต่อไปเพื่อประชาธิปไตยคือทางเดียวที่คนเสื้อแดงจะการันตีว่า ในที่สุดเราจะได้รับเสรีภาพที่ประชาชนหลายรายได้เสียสละชีวิตเพื่อให้ได้มา แทนที่จะรู้สึกพึงพอใจ นี่คือเวลาที่เราจะพยายามขึ้นเป็นสองเท่าเพื่อทำภารกิจของเราให้สำเร็จลุล่วง

วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

อภิวันท์ลั่นไม่รับตำแหน่งรองปธ.สภา หนุนบิ๊กจิ๋ว-สำเภานั่ง กห.

พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะอดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ให้สัมภาษณ์ถึงการคัดสรรผู้ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรว่า พรรคได้มีมติมอบหมายให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกรัฐมนตรี เป็นผู้คัดเลือก ทั้งนี้ จะมีการพิจารณาจากบุคคลภายในพรรคก่อน และทางกลุ่มนปช.นั้นก็ไม่ได้กดดันหรือเรียกร้องให้ต้องมีส.ส.ในกลุ่ม นปช.เข้าไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี หรือตำแหน่งอื่นๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวแล้วหากพรรคมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งใดก็พร้อมที่จะทำงาน แต่คงจะไม่ใช่ตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเรื่องนี้น่าจะมีความชัดเจนภายใน 3-4 วันนี้

พ.อ.อภิวันท์ ยังกล่าวถึงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมด้วยว่า ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญงานของกองทัพเป็นอย่างดี ทั้งนี้ในพรรคเพื่อไทยก็มีบุคคลหลายคนที่มีความเหมาะสม อาทิ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา และพล.อ.อ.สุเมธ โพธิ์มณี แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารพรรค ส่วนคนนอกซึ่งเคยร่วมรัฐบาลมาแล้วจะมีโอกาสมาดำรงตำแหน่งรมว.กลาโหมหรือไม่นั้น ส่วนตัวแล้วเชื่อว่าเขาคงจะไม่รับตำแหน่ง เพราะแนวนโยบายนั้นแตกต่างกัน แต่ถ้าเป็นคนนอกอย่างพล.อ.สำเภา ชูศรี และพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นั้นถือว่าเหมาะสม

ที่มา.เนชั่น
***********************

สถานทูตเยอรมันประจำประเทศไทย ยืนยัน ไทยต้องชำระค่าชดเชยตามคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการ

สถานทูตเยอรมันประจำประเทศไทย ออกแถลงการณ์ยืนยัน คำตัดสินของศาลเป็นอันสิ้นสุด และจะไม่มีการสืบพยานใดๆอีกที่จะเปลี่ยนแปลงคำตัดสินดังกล่าว วอนประเทศไทยชำระเงินที่ค้างไว้เพื่อคงความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ที่ผ่านมา สถานทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย ออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ ยืนยันคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศที่สั่งให้ประเทศไทยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 36 ล้านยูโร และแสดงความคาดหวังให้ประเทศไทยชำระเงินดังกล่าว เพื่อเป็นการ “ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนเยอรมันและจากประเทศอื่นๆ ในประเทศไทยอีกครั้ง และจะส่งสัญญาณทางบวกสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างเยอรมัน-ไทยต่อไปด้วย”

นอกจากนี้ ในแถลงการณ์ยังชี้แจงเพิ่มเติมว่า กระบวนการตัดสินของอนุญาโตตุลาการที่นิวยอร์ก “เป็นไปเพื่อร้องขอคำตัดสินว่าการบังคับคดีในเรื่องนี้สามารถกระทำในสหรัฐอเมริกาได้หรือไม่เท่านั้น ซึ่งจะไม่มีการสืบพยานใดเพิ่มเติมอีก ที่จะทำให้ประเทศไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามคำตัดสินได้”

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา ศาลลานด์ชูตใกล้เมืองมิวนิค ได้มีคำตัดสินให้ถอนอายัดเครื่องบินพระราชพาหนะโบอิ้ง 737 โดยมีเงื่อนไขคือ ทางการไทยต้องวางหลักทรัพย์ค้ำประกันธนาคารมูลค่า 20 ล้านยูโร อย่างไรก็ตาม กษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ประกาศว่าจะไม่นำเงินประกันไปแลกกับการนำเครื่องบินลำดังกล่าวออกมา ล่าสุด เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์บิลด์ อัม ซอนทากของเยอรมนีรายงานคำพูดของแวร์เนอร์ ชไนเดอร์ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทวอลเตอร์ บาว ซึ่งเป็นคู่พิพาทกับรัฐบาลไทย ว่า “เรากำลังพิจารณาขั้นตอนต่อไปกับกรณีที่เกิดขึ้น รวมถึงการอายัดเครื่องบินลำที่ 2 ของไทยด้วย” ทำให้วานนี้ (25 ก.ค.) ทางรัฐบาลไทย นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกมาปฏิเสธการดำเนินการดังกล่าวจากทางเยอรมัน และกล่าวว่า และไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะอายัดเครื่องบินลำดังกล่าว เพราะเป็นเครื่องบินส่วนพระองค์ ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล และคดีทั้งหมดเป็นเรื่องของบริษัท วอลเตอร์ บาว กับรัฐบาลไทย ซึ่งอัยการสูงสุด (อสส.) กำลังเตรียมยื่นอุทธรณ์ อีกทั้งมีข้อมูลที่จะใช้ดำเนินการทางกฎหมายกับบริษัทนี้ต่อไปด้วย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
แถลงการณ์ของสถานทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย
**************************************

วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ป.ป.ช.ฟ้อง อภิรักษ์ กับพวกทุจริตซื้อรถดับเพลิงกว่า 6 พันล้าน !!?

ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง นายสิทธิโชค ศรีเจริญ ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากคณะกรรมการป้องกันและปรามปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นำสำนวนหลักฐาน 50 กล่อง 15,000 แผ่น ในคดีทจุริตจัดซื้อรถเรือดับเพลิง และอุปกรณ์ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย กทม. มูลค่า 6,600 ล้านบาท ยื่นฟ้อง นายโภคิน พลกุล อดีตรมว.มหาดไทย นายประชา มาลีนนท์ อดีตรมช.มหาดไทย นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรมว.พาณิชย์ พล.ต.ต.อทิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีตผอ.กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. บริษัทเอลลิคอตต์ฯ ประเทศออสเตรเลีย นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีต ผู้ว่ากทม.

เป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต และร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รับรองเอกสารได้กระทำการรับรองเอกสารอันเป็นเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ มาตรา 162 และพรบ.ความผิดว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ปี 2542
โดยขั้นตอนต่อจากนี้ศาลจะเปิดประชุมใหญ่ศาลฎีกา เพื่อเลือกผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน และองค์คณะผู้พิพากษา เพื่อพิจารณาจะรับฟ้องคดีไว้หรือไม่ต่อไป

ที่มา.บางกอกทูเดย์
**************************