--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ไอเอ็มเอฟเริ่มสรรหาผู้นำใหม่ !!?

นายโดมินิค สเตราส์ คาห์น อดีตผู้นำไอเอ็มเอฟ ขณะเข้ารับฟังการพิจารณาประกันตัวรอบ 2

ไอเอ็มเอฟเปิดฉากสรรหาตัวผู้นำคนใหม่ขององค์กร หลังโดมินิค สเตราส์ คาห์น ลาออก ขณะศาลสหรัฐให้ประกันตัวอดีตผู้นำไอเอ็มเอฟแล้ว


นายวิลเลียม มูร์เรย์ โฆษกกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เผยวานนี้ (19 พ.ค.)ว่า นายอับเดล ชาคูร์ ชาอาลาน ประธานคณะกรรมการบริหารไอเอ็มเอฟ เริ่มดำเนินการติดต่อกับคณะกรรมการคนอื่นๆ เพื่อหารือถึงกระบวนการสรรหาตัวผู้นำองค์กรคนใหม่แล้ว

ท่าทีดังกล่าว เป็นไปตามถ้อยแถลงก่อนหน้านี้ของนายจอห์น ลิปสกี้ รักษาการณ์ผู้นำไอเอ็มเอฟ ที่ระบุว่า กระบวนการสรรหาเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เมื่อวานนี้ และย้ำว่า เรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบของชาติสมาชิกทุกราย ไม่ได้จำกัดเฉพาะเจ้าหน้าที่ หรือฝ่ายบริหารของไอเอ็มเอฟเท่านั้น


วันเดียวกันนี้ ผู้พิพากษาศาลสูง ของสหรัฐ ได้อนุญาตให้ประกันตัวนายโดมินิค สเตราส์ คาห์น อดีตกรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟ ด้วยวงเงินประกัน 1 ล้านดอลลาร์ พร้อมเงื่อนไขกักบริเวณภายในบ้านพัก ภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่ ที่อพาร์ทเมนท์ส่วนตัวในแมนฮัตตัน

รายงานข่าวระบุว่า นายสเตราส์ คาห์น วัย 62 ปี แสดงอาการโล่งใจ หลังรับฟังคำตัดสิน โดยนอกจากวงเงินประกันดังกล่าวแล้ว นายสเตราส์ คาห์น ยังต้องจ่ายเงินประกันทัณฑ์บนอีก 5 ล้านดอลลาร์


อย่างไรก็ดี นายสเตราส์ คาห์น ไม่ได้รับการประกันตัวในทันที เพราะเจ้าหน้าที่ต้องการเวลาเพื่อทบทวน และอนุมัติแผนจัดการเรื่องความปลอดภัย ที่เกี่ยวข้องกับการกักบริเวณในบ้านพัก

ขณะทนายความของอดีตผู้นำไอเอ็มเอฟ เผยแต่เพียงว่า ภรรยาของนายสเตราส์ คาห์น เป็นผู้เช่าไว้ แต่ไม่ให้รายละเอียดถึงที่ตั้ง


ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

จับผู้บริหารไอเอ็มเอฟ เซ็กซ์ฉาวป่วน ศก.ยุโรป !!?


การจับกุมตัวโดมินิก สเตราส์-คาห์น กรรมการผู้จัดการใหญ่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ในข้อหาล่วงละเมิดทางเพศ และกักขังหน่วงเหนี่ยวพนักงานโรงแรม ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสถาบันระดับโลกอย่างไอเอ็มเอฟเท่านั้น แต่ยังอาจทำให้โปรแกรมการให้เงินช่วยเหลือสมาชิกยูโรโซนที่ ประสบปัญหาหนี้สาธารณะต้องพลิก คว่ำคะมำหงายด้วย

นิวยอร์ก ไทมส์ชี้ว่า ไม่มีทางที่จังหวะเวลาการเข้าจับกุมจะเลวร้ายยิ่งไปกว่านี้อีกแล้ว ในขณะที่กรีซใกล้จะยื่นขอรับความช่วยเหลือที่มากขึ้น เศรษฐกิจไอร์แลนด์ยังไม่ใกล้เคียงกับคำว่าฟื้นตัวจากวิกฤตการธนาคาร เงื่อนไขการให้เงินช่วยเหลือโปรตุเกสเพิ่งสรุปเสร็จสิ้น และเกิดคำถามเรื่องสถานการณ์ของสเปนว่าจะเป็นรายที่ 4 หรือไม่ ส่วนนางแองเจลา เมอร์เกล ผู้นำเยอรมนี ก็กำลังรอฟังความคิดเห็นของสเตราส์-คาห์น ในฐานะหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญของแผนการรับมือวิกฤตหนี้ยุโรป

นายใหญ่แห่งไอเอ็มเอฟคือผู้คัดค้านการยืดอายุนโยบายรัดเข็มขัดในกรีซ เพราะเห็นว่ารังแต่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง โดยเมื่อปีกลายเศรษฐกิจประเทศนี้หดตัว 4% หลังเงื่อนไขการ รับเงินช่วยเหลือระบุให้ลดหนี้สิน ขึ้นภาษี และควบคุมการใช้จ่าย ยานิส วาโรอูฟากิส ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเอเธนส์ มองว่า "รัฐบาลของจอร์จ ปาปันเดรอู วิตกว่า ไอเอ็มเอฟที่ไร้ผู้นำจะนำไปสู่อำนาจต่อรองทางฝั่งของกรีซที่ลดลง สเตราส์-คาห์นแสดงความเห็นอกเห็นใจทางการเอเธนส์มาโดยตลอด และไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มแรงกดดันมากเกินกว่าที่กรีซจะรับไหว"

หลังเข้ารับตำแหน่งที่ไอเอ็มเอฟเมื่อ ปี 2550 เขาได้รับการยกย่องในเรื่อง เพิ่มกลไกการรับมือวิกฤตทางการเงินปรับปรุงธรรมาภิบาล ตลอดจนเพิ่มสัดส่วนการโหวตของชาติกำลัง พัฒนา ส่งผลให้สถาบันดังกล่าวมีอิทธิพลในระดับโลกสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ

ทว่าท่ามกลางผลการทำงาน อันยอดเยี่ยมก็มีรอยด่างแฝงอยู่ วอลล์สตรีต เจอร์นัลระบุว่า ในปี 2551 เขาถูกเจ้าหน้าที่ไอเอ็มเอฟสอบสวนในข้อหาใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ หลังมีความสัมพันธ์กับผู้ใต้บังคับบัญชาหญิง แม้ต่อมาเขาจะพ้นข้อกล่าวหา และกล่าวขอโทษต่อบอร์ดบริหารและเจ้าหน้าที่ขององค์กรแห่งนี้ แต่ก็ถูกคาดโทษว่าทุกฝ่ายจะไม่อยู่เฉย หากมีพฤติกรรมเช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำสอง

เรื่องฉาวโฉ่กับแม่บ้านโรงแรมยังเป็นข่าวดีสำหรับประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาโกซี แห่งฝรั่งเศส ที่เตรียมจะลงเลือกตั้งวาระที่ 2 ในปีหน้า โดยสเตราส์-คาห์นคือตัวเลือกอันดับแรกของพรรค โซเชียลลิสต์ในการส่งลงสมัครรับเลือกตั้งแข่งกับผู้นำแดนน้ำหอมคนปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะยังไม่ได้ประกาศลงสังเวียนอย่างเป็นทางการก็ตาม และจากการสำรวจความนิยมในหมู่ประชาชนพบว่า สเตราส์-คาห์นจะได้รับคะแนนเสียงมาเป็นอันดับหนึ่งที่ 26% ในการโหวตเลือกประธานาธิบดีรอบแรก

จาคส์ แอทเทล อดีตที่ปรึกษาประธานาธิบดีฟรองซัวส์ มิตเตอร์รองด์ ซึ่งมาจากพรรคโซเชียลลิสต์เช่นกัน ให้ความเห็นว่า "ไม่ว่าผลการสอบสวนจะออกมาเช่นไร เขาก็ไม่อาจลงเลือกตั้งประธานาธิบดีได้แล้ว"

ในช่วงทศวรรษ 1990 ระหว่างนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีคลังแดนน้ำหอม นายใหญ่ของไอเอ็มเอฟสร้างชื่อด้วยการปรับ โครงสร้างเศรษฐกิจประเทศให้พร้อมใช้เงินสกุลยูโร และผลักดันการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างแอร์ฟรานซ์ และฟรานซ์เทเลคอม แต่สุดท้ายต้องลาออกจากตำแหน่งเมื่อเจอข้อหาคอร์รัปชั่น ซึ่งเขาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ได้ในที่สุด

ซีเอ็นเอ็นตั้งข้อสังเกตว่า ความเสื่อมเสียที่เกิดกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไอเอ็มเอฟครั้งนี้ อาจสั่นสะเทือน ธรรมเนียมปฏิบัติที่ผู้นำเบอร์ 1 ขององค์กรดังกล่าวจะมาจากฝั่งยุโรปส่วนเบอร์ 2 เป็นโควตาของสหรัฐ โดยอาจมีเสียงเรียกร้องจากชาติกำลังพัฒนาที่มีอิทธิพลและความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นอย่างจีน บราซิล หรืออินเดีย ว่าถึงเวลาแล้วที่คนนอกชาติจี 8 จะขึ้นมากุมบังเหียนสถาบันแห่งนี้บ้าง


ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////////////////////

ดักคอปชป.-กลุ่มอำนาจอย่าโกงผู้หญิงเพื่อชัยชนะ

“ณัฐวุฒิ” ระบุ “ยิ่งลักษณ์” ไม่จำเป็นต้องรับคำท้าดีเบตกับ “อภิสิทธิ์” เพราะ 2 ปีกว่าที่ผ่านมาสงสารประชาชนฟังนายกฯพูดมามากแล้ว ให้แข่งกันเสนอนโยบายดีกว่า ดักคออย่าคิดโกงผู้หญิงเพื่อชนะเลือกตั้ง “ปลอดประสพ” ฟุ้งชนะห่าง 60-70 เสียงแน่ “บุรณัชย์-บุญยอด” จี้พูดให้ชัดเรื่องนิรโทษกรรมล้างผิดให้ “ทักษิณ” ถือเป็นหนึ่งในหลักนิติธรรมที่ประกาศจะทำหรือไม่ ชี้ผู้ประกอบการราชประสงค์ไม่มีวันลืมว่าใครสนับสนุนการเงินเสื้อแดงเผาเมือง


นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ไม่มีความจำเป็นที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคจะต้องรับคำท้าดีเบตกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพราะไม่เกิดประโยชน์กับประชาชน และไม่ใช่ประเพณีการเมืองของไทย แต่ละพรรคมีนโยบายของตัวเองอยู่แล้วที่สามารถสื่อสารกับประชาชนได้โดยตรง


ดีเบตไม่เกิดประโยชน์กับประชาชน


“การดีเบตก็เหมือนการไปทะเลาะกันต่อหน้าประชาชนไม่เกิดประโยชน์ เพราะเรากำลังต้องการความสมานฉันท์” นายปลอดประสพกล่าวและว่า การจัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ลำดับต้นๆเสร็จแล้ว โดยลำดับปลอดภัยของพรรคคือ 1-70 ขณะที่ภาพรวมยังมั่นใจว่าจะชนะพรรคประชาธิปัตย์ 60-70 เสียง และสามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้แน่ แต่อาจเชิญเพื่อนฝูงมาร่วมบ้างเพื่อให้รัฐบาลมีความมั่นคง


“ยิ่งลักษณ์” นำลูกพรรคสมัคร ส.ส.


นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า วันที่ 19 พ.ค. ที่เป็นวันเปิดรับสมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ แกนนำพรรคทุกคนจะเดินทางไปอย่างพร้อมเพรียงรวมถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ด้วย จากนั้นวันที่ 20 พ.ค. จะเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส. ทั้งหมด และตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค. เป็นต้นไปจะเริ่มเดินสายหาเสียงในพื้นที่ต่างๆ


2 ปีกว่า “มาร์ค” พูดมากพอแล้ว


นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กล่าวว่า ที่ผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์โดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์ควรสงสารประชาชน เลิกท้าดีเบตกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพราะช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่านมาเอาแต่พูดจนประชาชนเห็นตัวตนที่แท้จริงของนายอภิสิทธิ์หมดแล้ว จึงอยากให้แข่งกันที่นโยบายและผลงานดีกว่า


ประสบการณ์บริหารเหนือ “มาร์ค”


“น.ส.ยิ่งลักษณ์มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ในการบริหารองค์กรระดับพันล้านหมื่นล้าน กิจการมีความเติบโตก้าวหน้า มิติในการบริหาร น.ส.ยิ่งลักษณ์ถือเป็นอาจารย์ของนายอภิสิทธิ์ได้เลย เพราะนายอภิสิทธิ์ไม่เคยมีตำแหน่งและประสบการณ์บริหารองค์กรใดมาก่อนที่จะบริหารประเทศ สภาพของบ้านเมืองจึงเป็นอย่างที่เห็น”


อย่างโกงผู้หญิงเพื่อชนะเลือกตั้ง


นายณัฐวุฒิกล่าวว่า ถ้าพรรคประชาธิปัตย์เห็นว่านายอภิสิทธิ์เก่งกาจเป็นที่ยอมรับรักใคร่ของประชาชน และน.ส.ยิ่งลักษณไม่มีอะไรจะเปรียบเทียบได้ อยากฝากคำพูดง่ายๆว่า ถ้ามั่นใจขนาดนั้น แน่จริงอย่าโกงผู้หญิงก็แล้วกัน อย่าใช้อำนาจนอกระบบมากดขี่แทรกแซง ถ้าพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเสียงข้างมาก ก็อย่าแทรกแซงการจัดตั้งรัฐบาล


“สมศักดิ์” ชี้ประชาชนมีตัวเลือกเพิ่ม


นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล กรรมการที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า การชู น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรี ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ทางการเมืองไทยที่เสนอผู้หญิงมาท้าชิงตำแหน่ง ถือเป็นความก้าวหน้าในเรื่องสิทธิสตรี และทำให้ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น


ละวางได้บ้านเมืองจึงสงบสุข


ส่วนที่เกรงกันว่าจะเกิดความขัดแย้งขึ้นอีกเพราะเป็นนอมินีและคนในครอบครัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั้น นายสมศักดิ์กล่าวว่า แล้วแต่จะมอง ขนาดนายสมัคร สุนทรเวช ไม่ได้เป็นคนในครอบครัว พ.ต.ท.ทักษิณยังทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นได้


“ถ้าละวางเรื่องส่วนตัวบ้าง บ้านเมืองน่าจะสงบได้ ควรปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการ ประชาชนจะตัดสินใจอย่างไรก็ให้เป็นไปตามนั้น ไม่ใช่ว่าเขาเข้ามาแล้วจะทำอะไรได้ตามอำเภอใจ เพราะมีระบบตรวจสอบอยู่”


“บรรหาร” หนุนชูผู้หญิงเป็นนายกฯ


นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า เมื่อดูคุณสมบัติทางการบริหารของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ถือว่าใช้ได้ แต่เป็นห่วงประสบการณ์ทางการเมือง ส่วนที่ประกาศว่าจะมุ่งแก้ไขไม่แก้แค้นนั้นเป็นเรื่องดี หากทุกฝ่ายไม่แก้แค้นเลยบ้านเมืองก็สงบ


“การชูผู้หญิงเป็นนายกรัฐมนตรีก็เป็นเรื่องดี ซึ่งพรรคชาติไทยพัฒนาในอนาคตก็จะให้เสนอ น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา บุตรสาว เป็นหัวหน้าพรรคด้วยเหมือนกัน”


ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดอย่างไรกับการตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง นายบรรหารกล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่มีการจับขั้ว ต้องหลังเลือกตั้งดูว่าใครได้เท่าไรค่อยมาว่ากัน ส่วนที่เคยพูดว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่ได้เป็นแกนนำตั้งรัฐบาล เป็นเพียงการพูดเผื่อไว้เท่านั้น


“กอร์ปศักดิ์” ถอนตัวสมัคร ส.ส.


นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ประธานคณะทำงานด้านยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ได้ถอนตัวจากการเป็นผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรค เพราะคิดว่าแม้ไม่ได้เป็น ส.ส. ก็ทำงานให้พรรคและประเทศได้ ยืนยันว่าไม่มีความขัดแย้งแต่ต้องการเวลาทำงานให้กับพรรคได้เต็มที่


นายกอร์ปศักดิ์กล่าวว่า หลังจากที่พรรคเพื่อไทยสนุบสนุน น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ทำให้เป็นห่วงเรื่องการล้างผิดให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องอธิบายเรื่องนี้ให้ได้


จี้ “ยิ่งลักษณ์” แจงนิรโทษกรรม


นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ประกาศว่าจะสร้างหลักนิติธรรมเพื่อให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้ อยากจะให้พูดให้ชัดว่าหากได้เป็นรัฐบาลแล้วสิ่งแรกที่จะทำคืออะไร จะออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่ หากทำจะถือว่าเป็นหลักนิติธรรมหรือไม่


นายบุญยอด สุขถิ่นไทย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ประกาศว่าจะมุ่งแก้ไขไม่แก้แค้น เป็นการสร้างภาพให้ประชาชนเห็นว่าเป็นผู้ถูกกระทำ ทั้งที่ทุกคนรู้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณและกลุ่มคนเสื้อแดงเป็นพวกเดียวกัน และร่วมกันกระทำต่อคนอื่น


คนไทยไม่ลืมใครให้เงินเสื้อแดง


“น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ควรใช้คำพูดนี้ ควรไปถามผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมือง เช่น ญาติของทหารที่เสียชีวิต ผู้ค้าราชประสงค์ที่ถูกเผาว่าจะไม่แก้แค้นหรือไม่ คนไทยไม่ใช่คนลืมง่าย เขารู้ว่าใครเป็นผู้สนับสนุนเงินให้กลุ่มคนเสื้อแดงจนถูกอายัดบัญชีเงินฝาก”


นายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า พรรคได้ข้อสรุปส่งผู้สมัคร ส.ส.เขต 181 เขต ส่วน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์กำลังตัดทอนให้เหลือ 125 คน จากที่เสนอตัวมากว่า 200 คน ส่วนการปราศรัยหาเสียงของแกนนำจะเน้นเฉพาะพื้นที่เป้าหมาย 5-6 จังหวัด เช่น สุรินทร์ นครราชสีมา เชียงราย สระบุรี ปทุมธานี ส่วนพื้นที่อื่นให้ผู้สมัครดำเนินการเอง


ที่มา.หนังสือพิมพ์ โลกวันนี้
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

วันพุธที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

บลัฟนิรโทษฯวุ่น ‘มาร์ค’ ฉะเพื่อไทยชูหาเสียง / ‘เติ้ง’ชี้นารีตกม้าขาว

“เพื่อไทย” ยันไม่มีเปิดตัว “ยิ่งลักษณ์” แต่จะไปสมัคร ส.ส.ด้วยตัวเอง “ณัฐวุฒิ” เชลียร์สุดลิ่ม ยกประสบการณ์เป็นอาจารย์อภิสิทธิ์ด้วยซ้ำ! “มาร์ค” เปิดศึกแล้ว บอกประชาชนจำความวุ่นวายปี 51 ได้หรือไม่ “บรรหาร” ทิ้งคำปริศนา บอกปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ 1 อาจไม่ใช่นายกฯ เตือน “นารีตกม้าขาว”

เมื่อวันอังคารยังมีผลพวงกรณีพรรคเพื่อไทย (พท.) มีมติให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) หมายเลข 1 เพื่อชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี โดยนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่าพรรคจะไม่มีการเปิดตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่ในการสมัคร ส.ส.ในวันที่ 19 พ.ค.นี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเดินทางไปด้วย

นายพร้อมพงศ์ยังตอบโต้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ที่ระบุว่าหาก น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นนายกฯ จะเป็นนายกฯ หนังตะลุง ว่า เป็นการพูดดิสเครดิต เปรียบเสมือนผีเจาะปากให้พูด อยากเรียกร้องให้ทุกพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ พูดอย่างสร้างสรรค์ในด้านนโยบายจะดีกว่า

"ไม่มีใครชักใยอยู่เบื้องหลังแน่นอน อย่ามาเล่นการเมืองที่สาดโคลนรายวัน อย่ามาทำเป็นการเมืองน้ำลายจะดีกว่า" นายพร้อมพงศ์กล่าว

นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ประธาน ส.ส.ภาค กทม. กล่าวเช่นกันว่า เป็นการทำในยุคเก่าเต่าล้านปี ซึ่งนายสุเทพไม่ควรนำความรู้สึกที่คร่ำหวอดทางการเมืองมาวิพากษ์วิจารณ์คนรุ่นใหม่ที่อาสาเข้ามาบริหารประเทศ

นายคณวัฒน์ วศินสังวร รองหัวหน้าพรรค พท. ระบุว่า การให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ ถือเป็นมิติใหม่ของการเมืองไทย และการได้ น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นผู้นำ ถือเป็นผลบวกกับพรรคมาก ขวัญกำลังใจทุกคนดีขึ้น และไม่จำเป็นต้องสร้างแบรนด์หรือจุดขายใดๆ แค่เสนอความเป็นตัวตน ความตั้งใจ ความพร้อม ประกอบกับนโยบายพรรคก็เชื่อมั่นว่าจะประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง

ในขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พท. และแกนนำคนเสื้อแดง กล่าวเชิดชู น.ส.ยิ่งลักษณ์เช่นกันว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์มีมิติในการบริหาร ถือว่าเป็นอาจารย์นายอภิสิทธิ์ก็ว่าได้ เพราะนายอภิสิทธิ์ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านธุรกิจมาก่อนเลย และเมื่อบวกกับความรู้และประสบการณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณในฐานะพี่ชาย ก็ยิ่งเป็นการผสมผสานกันที่ลงตัวในการบริหารประเทศไทยได้

"หากเลือกอภิสิทธิ์ที่ไม่มีประสบการณ์ใดๆ มาเป็นนายกฯ สภาพบ้านเมืองก็คงเป็นอย่างที่เห็น หากเลือกยิ่งลักษณ์ ก็จะได้นโยบายทักษิณ แต่ถ้ารักสุเทพและเนวินก็ให้เลือกอภิสิทธิ์” นายณัฐวุฒิกล่าว และว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่จำเป็นดีเบต เพราะเราดีกว่า 2 ปีที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ดีแต่พูด เมื่อลงจากตำแหน่งนายกฯ แล้วยังอยากหาเวทีพูดอีก

ด้านนายอภิสิทธิ์ ที่ได้มาหาเสียงช่วยลูกพรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่ จ.พิษณุโลก กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการแข่งขันเกี่ยวกับนโยบายระหว่าง 2 พรรค รวมถึงการเลือกตัวนายกฯ ว่าประชาชนอยากให้นายอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ เพื่อบริหารงานต่อเนื่องหรืออยากได้ น.ส.ยิ่งลักษณ์

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้หากเปลี่ยนรัฐบาล สิ่งแรกเลยต้องพิจารณาคือจะเป็นเหมือนที่พรรคประชาธิปัตย์ทำหรือไม่ เพราะพรรคเพื่อไทยมีความสนใจเรื่องปัญหาการเมือง เรื่องเสื้อแดง เรื่อง พ.ต.ท.ทักษิณ และเมื่อวันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา พรรคก็พูดว่าหนึ่งในนโยบายที่จะทำนโยบายปรองดองสมานฉันท์ คงต้องมาล้างความผิดต่างๆ

"ถ้าพี่น้องจำได้ บ้านเมืองที่ยุ่งวุ่นวายทั้งหมดตั้งแต่ปี 2551 ก็สาละวนเกี่ยวกับเรื่องนี้จะยกล้างความผิดอย่างไร พ.ต.ท.ทักษิณบอกว่า ถ้าเพื่อไทยเป็นรัฐบาล อีก 6 เดือนจะกลับมา ถามว่ากลับมาก็ต้องออกกฎหมายล้างความผิด บ้านเมืองก็วุ่นวายอีก ถามว่ากว่าจะทำตรงนั้นเสร็จเกี่ยวข้าวไปเสร็จกี่รอบ เป็นเรื่องที่พี่น้องต้องตัดสินใจว่าอนาคตประเทศไทยจะเป็นอย่างไร" นายอภิสิทธิ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่พรรคเพื่อไทยชู น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี โดยมีการโยงคุณสมบัติพิเศษและกระแสของผู้หญิงในการบริหารประเทศจะทำให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องปรับยุทธศาสตร์ใดหรือไม่นั้น

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ประธานคณะทำงานด้านยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ระบุว่าหากได้เป็นนายกฯ จะไม่แก้แค้นแต่แก้ไขว่า ใครแก้แค้นใครต้องอธิบายให้ได้ แต่สิ่งที่เป็นห่วงมากที่สุดคือกระบวนการล้างผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และเหตุใดต้องมาล้างความผิดตั้งแต่วันแรก ทั้งที่วาระประชาชนมากมาย และอาจทำให้เกิดความวุ่นวาย ซึ่งเรื่องนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องอธิบายให้ได้ว่าจะล้างผิดโดยไม่ให้เกิดความวุ่นวายอย่างไร

นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวเช่นกันว่า อยากตั้งข้อสังเกตวิสัยทัศน์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ระบุว่าบ้านเมืองจะเดินหน้าได้ต้องอาศัยหลักนิติธรรม แต่ดูเหมือนจะขัดแย้งกับท่าทีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นลูกน้อง ที่ระบุว่าหากเพื่อไทยเป็นรัฐบาล และ น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นนายกฯ จะมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม โดยที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะได้อานิสงส์ด้วย จึงอยากถามว่ากระบวนการขั้นตอนและความจำเป็นที่ต้องดำเนินการเรื่องนี้ทันทีที่เป็นรัฐบาลนั้นคืออะไร จะมีขั้นตอนออกกฎหมายโดยกระบวนการใด และใช้เวลาเท่าใด

"ขอถามไปยังคุณยิ่งลักษณ์ว่า กระบวนการดังกล่าวขัดกับหลักนิติธรรมหรือไม่” นพ.บุรณัชย์กล่าว และว่า พรรคไม่จำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ในการหาเสียง และเมื่อเพื่อไทยเปิดตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็จะทำให้ประชาชนเข้าใจบทบาทของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ก่อนหน้านี้คลุมเครือว่าเป็นอย่างไร จะทำให้ประชาชนตัดสินใจได้

ส่วนนายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) แสดงความเห็นน่าสนใจว่า การที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นบัญชีรายชื่อเบอร์ 1 จะเป็นแคนดิเดตนายกฯ หรือไม่ตอบไม่ได้ เช่นเดียวกับความเหมาะสมก็ตอบไม่ได้เช่นเดียวกัน เพราะถือเป็นเรื่องของพรรคเพื่อไทยที่จะพิจารณา
“การที่คุณยิ่งลักษณ์ลงปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ 1 ของพรรคเพื่อไทย วันนี้ตอบได้หรือยังว่าจะเป็นนายกฯ หรือเปล่า วันนี้ยังไม่มีใครตอบได้ อาจจะไม่ได้เป็นก็ได้ อาจจะให้คนอื่นเป็นก็ได้ ยังไม่มีใครตอบได้” นายบรรหารกล่าว และว่า ถ้าเป็นนายกฯ ก็เป็นเรื่องดี ในฐานะสุภาพสตรี ถือเป็นมิติใหม่ และในอนาคตอีก 5 ปี จะส่งลูกสาวเป็นหัวหน้าพรรคบ้าง

ถามถึงโอกาสที่ประเทศจะเกิดนารีขี่ม้าขาวหลังการเลือกตั้งครั้งนี้หรือไม่ นายบรรหารตอบว่า นารีขี่ม้าขาวดี แต่อย่าให้นารีตกม้าขาว แต่ถ้าเป็นม้าสีหมอกคงต้องขี่เอง จะให้คนอื่นขี่คงไม่ได้

นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล กรรมการที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค ชทพ.ระบุเช่นกันว่า ทำให้มองเห็นถึงความก้าวหน้าของสังคมไทยอีกระดับ ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจขนาดใหญ่เหมือน พ.ต.ท.ทักษิณ อาจนำระบบทางธุรกิจมาทำกับการเมืองเหมือนสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ส่วนจะเกิดความขัดแย้งขึ้นหรือไม่ เพราะเป็นคนในครอบครัวชินวัตรนั้น ถ้าจะมองเป็นความขัดแย้งมันก็ขัดแย้ง ขนาดนายสมัคร สุนทรเวช เป็นคนนอกครอบครัวชินวัตร ยังถูกกล่าวหาว่าเป็นนอมินี เรื่องแบบนี้อยู่ที่ใจคนมอง
"เชื่อว่าถ้า น.ส.ยิ่งลักษณ์ชนะเลือกตั้งแล้วจะทำอะไรตามอำเภอใจคงทำได้ยาก เพราะวันนี้การเมืองเปลี่ยนไปแล้ว การเมืองภาคประชาชนแข็งแรง อย่าไปกลัวเงาของ พ.ต.ท.ทักษิณ อย่าไปกลัวกับเหตุการณ์ที่ไม่เกิดขึ้น" นายสมศักดิ์กล่าว

พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ กล่าวว่า ต้องให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน ซึ่งหากประเทศจะมีผู้หญิงเป็นผู้นำประเทศไม่ถือว่าเป็นเรื่องแปลก เพราะสิทธิสตรีเท่าเทียมกับผู้ชาย ถือเป็นภาพใหม่ อาจมีอะไรดีๆ ก็ได้ ต้องคอยติดตามดู ส่วนทหารหรือตำรวจคงไม่มีสิทธิ์มาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้เพราะเป็นข้าราชการประจำ

พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก กล่าวเช่นกันว่า กองทัพไม่มีปัญหา เพราะเราเป็นข้าราชการประจำ หากประชาชนเป็นผู้พิจารณาตกลงใจทหารทุกคนทำงานได้อยู่แล้ว ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาลก็ไม่ส่งผลกระทบต่อทหาร เพราะทหารทุกคนทำงานเป็นกลไกของรัฐ เราไม่เคยเลือกที่จะทำงานกับใคร ดังนั้นใครเป็นรัฐบาลก็ไม่มีปัญหา อย่างไรก็ตาม ทหารหวังให้ประเทศชาติเดินไปข้างหน้าตามระบอบประชาธิปไตย ให้ประชาชนไปใช้สิทธิ์และเลือกผู้แทนคนที่ประชาชนคิดว่าสามารถนำพาประเทศไปได้ รวมทั้งสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจและทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย

“เป็นเรื่องที่สังคมโดยรวมที่ทุกคนต้องเคารพการเลือกตั้ง หากเป็นการเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม ผลออกมาอย่างไรทุกคนต้องยอมรับ ถ้าเราไม่เคารพการตัดสินใจของส่วนรวมในสังคมอยู่ที่ไหนก็มีปัญหา” พ.อ.สรรเสริญกล่าวตอบกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้เป็นนายกฯ จะเกิดปัญหาหรือไม่.

ที่มา.ไทยโพสต์
+++++++++++++++++++++++

น้อง‘ประชา’ผวาซ้ำรอยพี่ ขอกำลังตำรวจคุ้มครอง

อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย น้องสาว “ประชา” หวั่นถูกลอบสังหารแบบพี่ชาย ร้องขอกำลังตำรวจตามคุ้มกัน ผบช.ภ.1 เผยภาพกล้องวงจรปิดพบมือปืนใช้รถกระบะสีดำ 2 คันในวันลอบสังหารอดีต ส.ส. ยืนยันคดีมีความคืบหน้าสามารถรวบรวมได้ทั้งพยานบุคคลและพยานวัตถุ ให้คำมั่นคุ้มครองชีวิตพยานทุกคนเต็มที่

ความคืบหน้าคดีลอบยิงนายประชา ประสพดี อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย พล.ต.ต.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง รอง ผบช.ภ.1 ในฐานะหัวหน้าชุดสืบสวน เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่อย่างหนักของพนักงานสอบสวนทำให้ได้ข้อมูลเพิ่มมากขึ้น ทั้งเรื่องพยานบุคคลและวัตถุพยาน โดยภาพจากกล้องวงจรปิดที่สามารถบันทึกภาพเหตุการณ์ได้ชัดเจนว่าคนร้ายใช้รถกระบะสีดำ 2 คันในการก่อเหตุ

“จากการสืบสวนของตำรวจพบว่ามีแนวทางที่สอดคล้องกับข้อมูลที่นายประชาให้มา ซึ่งการทำงานของตำรวจได้พยานหลักฐานที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดีพอสมควร โดยเฉพาะพยานบุคคล ซึ่งเราให้ความคุ้มครองทุกคนเต็มที่”

พล.ต.ต.คำรณวิทย์กล่าวอีกว่า พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) จะร่วมประชุมกับทีมสืบสวนสอบสวน เพื่อรับทราบความคืบหน้าของคดี อย่างไรก็ตาม ขณะนี้นางนฤมล ธารดำรง อดีต ส.ส. สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย น้องสาวของนายประชา ได้ประสานขอกำลังเจ้าหน้าที่ไปรักษาความปลอดภัย ซึ่งได้จัดทีมไปแล้ว ส่วนผู้สมัคร ส.ส. คนอื่นหากมีการร้องขอมาก็พร้อมดำเนินการทันที

ที่มา.หนังสือพิมพ์ โลกวันนี้
**********************************************************************

วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ชนะศึกเพื่อแพ้สงคราม

ถ้าเยอรมันตัดสินใจบุกเกาะอังกฤษ..หลังจากพิชิตแผ่นดินใหญ่ยุโรปไว้ได้อย่างราบคาบใต้ตีนตะขาบกองพลรถถังที่ทรงอำนาจที่สุดในโลก

ประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 อาจจะจบไปในอีกรูแบบหนึ่ง..ซึ่งตรงกันข้ามกับประวัติศาสตร์ปัจจุบัน


ถ้าฮิตเล่อร์..ระงับความจงเกลียดอย่างฝังใจที่มีต่อคอมมิวนิสต์รัสเซีย..เป็นมิตรเหนือศัตรูใจใต้..เยอรมันคงไม่แพ้อย่างย่อยยับและต้องประกาศการยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข..จนต้องแยกแตกเป็น 3 ชาติ2แผ่นดินยาวนานหลายสิบปี

หากกองพลรถถังของ จอมพล รอมเมล..ไม่ถูกสั่งให้รอนแรมไปไกลจนถึงทะเลทรายอิยิปต์..จนไม่สามารถจะส่งกำลังบำรุงไปถึง..รอมเมลจะเป็นแม่ทัพเยอรมันผู้พิชิตเกาะอังกฤษ..ไม่ใช่แม่ทัพที่ต้องฆ่าตัวตายเพราะเพราะจงรักภักดีต่อเยอรมันมากกว่าผู้นำอย่างฮิตเล่อร์

หายนะของเยอรมันความวอดวายของแต่ละเมืองใหญ่..ล้วนมาแต่ความกำเริบในชัยชนะจนขาดการประเมินสถานการณ์..และความจำกัดของพลังนักรบ..

พรรคเพื่อไทยในวันนี้..กำลังจะไม่แตกต่างไปจากเยอรมันในวันชนะศึกยุโรป..โพลทุกโพลที่ยืนยันตรงกันว่าพรรคเพื่อไทย..จะเป็นหมายเลข 1 หลังการเลือกตั้งใหญ่ข้างหน้า..

แทนการปรับทัพบุกลงใต้ข้ามไปตีเอาดินแดนของประชาธิปัตย์..ในยามที่สรรพกำลังยังเข็มแข็งในยามที่ฝ่ายตรงกันข้ามกำลังยวบยาบอ่อนแอ..

พรรคเพื่อไทยกลับย่ามใจ สนุกอยู่กับชัยชนะที่ยังไม่เบ็ดเสร็จ ส่งใครก็ได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี กดขี่ย่ำยีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นชาติ..หมิ่นประมาทความรู้สึกนึกคิดของคนโดยรวม

นั่นก็เท่ากับที่ฮิตเล่อร์...ไม่ข้ามเกาะยึดอังกฤษ..แถมยังส่งรอมเมลผู้พิชิตไปล่มสลายในภูเขาหิมะของรัสเซีย..

เมื่ออังกฤษตั้งตัวได้..เมื่อคนอังกฤษได้นักพูดผู้ยื่งใหญ่..เซอร์ วินสตัน เชอร์ชิล --ขึ้นมาปลุกปลอบเร้าใจ..ส่งครามก็แปลงโฉม...เยอรมันพบกับความปราชัย...อาณาจักรไรท์ที่หวังจะให้เกิดพังพินาศ..

ประวัติศาสตร์มีไว้ให้ศึกษา..รื่นเริงกับชัยชนะในศึกเพื่อไปแพ้ในสงครามข้างหน้า

โดย. พญาไม้ทูเดย์,บางกอกทูเดย์
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

การเมืองก็คือการเมือง ‘บิ๊กจิ๋ว’ยังเป็น บิ๊กจิ๋ว!

ปี่กลองการเมืองขานรับการเลือกตั้งที่จะมาถึง โหมโรงกันอย่างคึกคัก อื้ออึงแล้ว เพราะฉะนั้นฟันธงแบบไม่เกรงใจหมอดู... การเลือกตั้งจะต้องมีแน่ ชัวร์
ขืนใครมาบล็อกไม่ให้มีการเลือกตั้ง เป็นเรื่องวุ่นวายแน่นอนเช่นกัน ส่วนว่าเข้าคูหาแล้ว จะกาเลือกใคร หรือไม่เลือกใคร เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นสีสันที่ทำให้มีลุ้นว่า ใครบ้างราคาคุย และใครกันที่เป็นของจริง
แต่การเมืองเป็นเรื่องกลม ไม่มีมิตรแท้ ไม่มีศัตรูถาวร ยิ่งการสังกัดพรรคด้วยแล้ว เปลี่ยนกันได้แบบไม่ต้องกลัวประชาชนงง ขึ้นอยู่กับว่าเงื่อนไขและข้อต่อรองลงตัวหรือไม่ ถ้าลงตัวก็ไป ไม่ลงตัวก็เดินสายเร่ไปเรื่อยจนกว่าจะลงตัว

นี่คือสีสันการเมืองแบบไทยๆ ที่อะไรก็เกิดขึ้นได้
เพราะฉะนั้นแม้ว่า วันก่อน พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี จะถูกแรงกดดันจนกระทั่งต้องประกาศลาออกจากการเป็นประธานพรรคเพื่อไทย ซึ่งหลายคนวิเคราะห์ว่า นี่คือการอำลาทางการเมืองแบบเบ็ดเสร็จแล้วหรือไม่?

แต่ล่าสุดในวันเกิดของบิ๊กจิ๋ว เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายประภัสร์ จงสงวน ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย นำกระเช้าดอกไม้มาอวยพรวันเกิด พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายรัฐมนตรี เนื่องในวันคล้ายวันเกิดครบ 79 ปี ที่ริเวอร์ไรน์ คอนโดมิเนียม อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี

ที่สำคัญในการมาครั้งนี้ นายสมชายนำกระเช้าดอกไม้มา 2 กระเช้า ซึ่ง 1 ใน 2 กระเช้ามีชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ติดอยู่ด้วย เหมือนเป็นการบอกให้รู้ว่า คนไกลยังคงคิดถึงอยู่ ไม่ได้ห่างหายไปเพราะการลาออกจากพรรคของบิ๊กจิ๋วแต่อย่างใด

แม้นายสมชายจะให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าพบ พล.อ.ชวลิตว่า เป็นการมาอวยพรวันเกิด พล.อ.ชวลิต ไม่ได้มาเชิญเข้าพรรคเพื่อไทย เพราะเรื่องนั้นถือเป็นหน้าที่ของนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เนื่องจากโดยส่วนตัวแล้วไม่มีอำนาจศักยภาพพอ

"ถ้าถามถามใจของผม ผมอยากให้ พล.อ.ชวลิตไปช่วยงานพรรคเพื่อไทย เพราะในพรรคมีนายทหารและตำรวจที่เป็นลูกน้องของ พล.อ.ชวลิตเยอะ หาก พล.อ.ชวลิตกลับไปอยู่กับน้องๆ คงจะอบอุ่น ส่วน พล.อ.ชวลิตจะมาช่วยพรรคเพื่อไทยหาเสียงหรือไม่นั้น ผมคิดว่าใครมาช่วยพรรคหาเสียงถือว่าดี และเป็นไปได้ที่ พล.อ.ชวลิตจะมาช่วยหาเสียง" นายสมชาย กล่าว

สำหรับกระเช้าดอกไม้มีชื่อของ พ.ต.ท.ทักษิณ มีการฝากอวยพรอะไรมาบ้าง นายสมชายกล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้มาอวยพรด้วยตัวเอง จึงฝากกระเช้าดอกไม้มาให้ ส่วนการอวยพรคิดว่าคงสามารถคุยกันได้ เพราะรู้เบอร์โทรศัพท์ก็คุยกันได้

ทั้งนี้ นายสมชายใช้เวลาในการไปพบ พล.อ.ชวลิต 20 นาที จากนั้นนายสมชายให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า ได้อวยพรพลเอกชวลิตให้มีอายุมั่นขวัญยืนและเป็นกำลังใจให้พวกตนต่อไป โดย พล.อ.ชวลิตได้ขอบคุณ โดยไม่มีการคุยเรื่องการทำงานการเมืองร่วมกันอีกครั้ง


"วันนี้เป็นวันเกิดก็ควรมาแสดงความดีใจ โดย พล.อ.ชวลิตมีหน้าตาสดใส สมองเปี่ยมด้วยความสามารถ”
ซึ่งนายสมชายยอมรับว่าระหว่างที่คุยอยู่กับ พล.อ.ชวลิต นั้น พ.ต.ท.ทักษิณได้โทรศัพท์มาอวยพร พล.อ.ชวลิตด้วยตัวเอง

ส่วนจะคุยเรื่องการเมืองกันหรือไม่นั้น ยอมรับว่าไม่ได้ฟังเพราะเป็นเรื่องมารยาท
อย่างไรก็ตามพล.อ.ชวลิตบอกว่าไม่ได้ทอดทิ้งน้องๆ มีอะไรก็ช่วยบอกกล่าว ยืนยันว่าวันนี้ไม่ได้คุยเรื่องการเมือง เพราะเรื่องต่างๆ มันแล้วแต่สถานการณ์ข้างหน้า

“วันนี้สรุปว่ามิตรภาพเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง" นายสมชายระบุ
เป็นบรรยากาศวันเกิดที่กลายเป็นนัยยะทางการเมืองขึ้นมาได้เหมือนกัน เนื่องจากไม่ว่าอย่างไร ต้องยอมรับว่า บารมีของบิ๊กจิ๋ว ยังมีอยู่ทั้งในแวดวงการเมือง และในแวดวงกองทัพ

ซึ่งท่าทีของบิ๊กจิ๋วเองก็น่าคิดไม่ใช่น้อยเช่นกัน เพราะหลังจากนั้นก็ได้มีการพูดถึงการเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเด็นของนายเสนาะ เทียนทอง ว่าได้กลับมาเข้าพรรคเพื่อไทยแล้วใช่หรือไม่
โดยพูดด้วยว่า การที่นายเสนาะมาช่วยงานพรรคเพื่อไทย ถือเป็นเรื่องที่ดี!!!

นั่นแปลได้ว่าลึกๆแล้ว บิ๊กจิ๋วไม่ได้ตัดรอนพรรคเพื่อไทยแบบตัดขาดไม่เหลือใย แต่ยังคงมีความเป็นห่วงเป็นใยผูกพันอยู่ลึกๆด้วยเช่นกัน

ที่สำคัญการที่บิ๊กจิ๋วแสดงท่าทีดังกล่าว อาจจะเป็นไปได้ว่า แรงกดดันในช่วงที่ผ่านมาอาจจะลดลงเพราะการที่กำลังจะมีการเลือกตั้งก็เป็นได้

เพราะในช่วงที่บิ๊กจิ๋วประกาศลาออกจากพรรคเพื่อไทยนั้น มีกระแสข่าวออกมาอย่างหนาหูว่า เป็นเพราะถูกกดดันมาก

ดังนั้นหากแรงกดดันลดลง เพราะสถานการณ์ของประเทศจะต้องเดินหน้าไปสู่การคลี่คลายในเบื้องต้นด้วยการจัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคม

ก็เป็นไปได้ว่านายทหารที่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยมาตลอดชีวิตอย่างบิ๊กจิ๋ว
อาจจะมีการรีเทิร์นมาสร้างเซอร์ไพรส์ให้กับคอการเมืองก็ได้ใครจะรู้
เพราะการเมืองเป็นเรื่องกลมที่อะไรก็เกิดขึ้นได้ แต่ที่สำคัญ “บิ๊กจิ๋ว”ก็คือ “บิ๊กจิ๋ว”ที่ไม่กลัวในการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงโดยไม่ยึดติดใดๆอยู่แล้ว

ฉะนั้น “บิ๊กจิ๋ว”คัมแบ็ก ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้... เพราะวันเกิดปีนี้ บิ๊กจิ๋วยังพูดชัดเจนว่า
“ผมก็ยังห่วงบ้านเมืองอยู่ อะไรที่ช่วยได้ก็ยินดีช่วย”

ที่มา.บางกอกทูเดย์
//////////////////////////////////////////////////////////////////////

พันธมิตรฯ ชี้ "ยิ่งลักษณ์" ชิงนายกฯ เป็นตัวอย่างของการเมืองที่ล้มเหลว จึงต้องโหวตโน

"สุเทพ" เชื่อ "อภิสิทธิ์" ได้เปรียบกว่า "ยิ่งลักษณ์" มาก เพราะได้แสดงความเป็นผู้นำแก้ปัญหาประเทศ รักษาบ้านเมืองให้รอดพ้นมาได้ "ยิ่งลักษณ์" เป็นนายกฯ คงทำงานยากเพราะต้องคอยฟังเสียงโทรศัพท์ทางไกล ส่วน "พันธมิตรฯ" ชี้การโหวตโน คือการทำบุญให้แก่ประเทศ โดยปล่อยให้คนชั่วมาปกครองบ้านเมือง

"ยิ่งลักษณ์" นั่งเบอร์ 1 ปาร์ตี้ลิสต์เพื่อไทย ลั่นไม่แก้แค้น แต่จะแก้ไขปัญหา

เมื่อวานนี้ (16 พ.ค.) ที่ประชุมใหญ่พรรคเพื่อไทยได้ลงมติเอกฉันท์เลือก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของ พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นว่าที่ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 และเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของพรรคเพื่อไทย ภายหลังที่นายวิทยา บุรณศิริ อดีต ส.ส.พระนครศรีอยุธยา เสนอชื่อเพียงผู้เดียว

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ยืนยันความพร้อมในการทำหน้าที่ และชูนโยบายความสามัคคี ปรองดอง และเน้นสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในบ้านเมือง โดยไม่คิดจะแก้แค้น แต่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน และระบุว่าไม่รู้สึกหวั่นไหวกับการโจมตีเรื่องส่วนตัวทางการเมือง พร้อมรับการพิสูจน์ต่อสาธารณะภายใต้กติกาที่เป็นธรรม ส่วนการชูนโยบายนิรโทษกรรมและนำตัว พ.ต.ท.ทักษิณ กลับประเทศนั้นเห็นว่าเป็นเรื่องที่เร็วเกินไป เพราะสิ่งแรกที่ควรทำคือการแก้ไขปัญหาให้กับประเทศชาติ (ข่าวที่เกี่ยวข้อง)

"สุเทพ" ชี้ "ยิ่งลักษณ์" เป็นนายกฯ คงทำงานยาก เพราะต้องคอยฟังเสียงจากโทรศัพท์ทางไกล

เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า เมื่อวานนี้ (16 พ.ค.) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทย จะส่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นแคนดิเดตชิงเก้าอี้นายกฯ ว่า เวลาจะพูดถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องพูดด้วยความระมัดระวังเพราะเป็นสุภาพสตรี แต่ขอบอกว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ก็ขอต้อนรับในฐานะเป็นผู้นำของพรรคการเมือง คู่แข่งขัน และให้ความนับถือจะปฏิบัติต่อเธอในฐานะที่เป็นคู่แข่งขันคนหนึ่ง เขาเชื่อว่าประชาชนไม่ได้พิจารณาที่ความเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย แต่จะพิจารณาว่า ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่เหมาะสมในภาวะบ้านเมืองขณะนี้ ถ้าตรงนี้คิดว่า นายอภิสิทธิ์ได้เปรียบมาก และพรรคประชาธิปัตย์ได้ 10 คะแนนเต็ม เพราะนายอภิสิทธิ์ได้แสดงฝีมือ ความเป็นผู้นำในการเป็นนายกฯแก้ปัญหาของประเทศในช่วงวิกฤตของประเทศ รักษาบ้านเมืองรอดพ้นมาได้ 2 ปีกว่า

"ส่วนคุณยิ่งลักษณ์ ประชาชนคงหลับตาแล้วนึกไม่ค่อยออกว่า ถ้าเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วจะแก้ปัญหาประเทศอย่างไร หรือต้องทำงานไปคอยฟังเสียงโทรศัพท์ทางไกลตลอดเวลาว่าจะวิพากษ์ว่าอย่างไร มันก็เหมือนหนังตะลุง ก็เลยทำงานยาก ทำให้เสียเปรียบมาก มีส่วนที่ได้เปรียบอย่างเดียวคือ พรรคนั้นเงินเยอะ มีวิชาเทพ วิชามาร ชำนาญศึก ขนาดถูกยุบพรรคมาแล้ว 2 หนที่เขาจับได้ ยังมีที่จับไม่ได้อีกนะ ที่จับไม่ได้ก็มีเยอะ ถือเป็นความช่ำชองที่ได้เปรียบ ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นหัวเลี้ยวหัวที่สำคัญของประเทศ ประชาชนที่เลือกตั้งต้องชั่งใจอย่างหนัก" เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ระบุ

ส่วนการที่ พ.ต.ท.ทักษิณประเมินว่า พรรคประชาธิปัตย์จะได้คะแนนน้อยลง เพราะนโยบายพรรค ประชาชนจับต้องไม่ได้นั้น นายสุเทพกล่าวว่า ขอให้เอาสิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณพูดวันนี้แปะติดไว้ข้างฝา ติดไว้คู่กับสิ่งที่เขาพูดไว้เลือกตั้งเสร็จแล้วค่อยมาดูกัน

โฆษกพันธมิตรฯ ชี้เพื่อไทยส่ง "ยิ่งลักษณ์" ชิงนายกฯ เป็นตัวอย่างการเมืองที่ล้มเหลว ต้องโหวตโน

เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ รายงานด้วยว่า นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้กล่าวว่า หากพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้เป็นนายกฯ ประเทศคงจะไม่สงบ และมีความวุ่นวายเหมือนเดิม ยกเว้นเงื่อนไข 3 ประการ คือ หนึ่ง การกลับมาของ นช.ทักษิณนั้นจะต้องเคารพในหลักนิติรัฐนิติธรรม ซึ่งกระบวนการยุติธรรมก็ได้สิ้นสุดไปเรียบร้อยแล้ว สอง ต้องหยุดขบวนการทั้งในพรรคเพื่อไทยและกลุ่มคนเสื้อแดง ที่มีลักษณะการจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และ สาม ต้องหยุดพฤติกรรมการทุจริตคอร์รัปชัน

โฆษกพันธมิตรฯ กล่าวอีกว่า เมื่อมองอีกมุมหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่า พรรคการเมืองไม่ได้เป็นสมบัติของประชาชนอย่างแท้จริง แต่กลายเป็นว่าผู้มีอิทธิพลในพรรคสามารถกำหนดชี้ขาดให้ญาติพี่น้องของตัวเองมาเป็นหัวหน้าพรรคหรือคู่ชิงนายกฯ ได้ นี่คือตัวอย่างของการเมืองที่ล้มเหลว รวมทั้งในฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ที่มีความพยายามโน้มน้าวว่านักการเมืองไม่ได้เลวทุกคนนั้น ก็เป็นเพียงคำกล่าวอ้างของนักการเมืองในระบบที่พยายามปกป้องคนในกลุ่มอาชีพของตัวเองทั้งสิ้น ไม่ต่างจากการยกมือสนับสนุนในการอภิปรายไม่ไว้วางใจทุกครั้ง แม้ว่าบางคนจะถูกชี้มูลโดย ป.ป.ช.ก็ตาม แสดงให้เห็นว่าระบบพรรคการเมืองที่เห็นแก่ประโยชน์ของพวกพ้องนั้น ไม่สามารถที่จะเอื้ออำนวยให้เกิดการปฏิรูประบบคนดีในสภาผู้แทนราษฎรได้ และจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง จึงเป็นสาเหตุที่ประชาชนต้องร่วมมือกันรณรงค์กาในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน เพื่อส่งสัญญาณการปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่

“การโหวตโน คือการไม่ทำบาปทำร้ายประเทศชาติ และยังถือเป็นการทำบุญให้แก่ประเทศ โดยไม่ส่งเสริมพรรคการเมืองข้างใดข้างหนึ่งที่จะนำเสียงของเราไปแอบอ้างในการทำร้ายประเทศ หรือปล่อยให้คนชั่วมาปกครองบ้านเมือง” นายปานเทพกล่าว

นอกจากนี้ นายปานเทพยังกล่าวว่า จะมีการไปรณรงค์โหวตโน ในที่สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 สนามไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง ด้วย


ที่มา.ประชาไท
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

สายล่อฟ้าอักษร ป.ปลา.ปู-ยิ่งลักษณ์

“ผมขอถามตรงไปยัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ และหวังว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะกล้าหาญออกมาตอบคำถามเอง อย่าใช้คนอื่นมาตอบ โดยเฉพาะการที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับนายอนุสรณ์ยิ่งเป็นเรื่องที่ต้องตอบอย่างหนัก อีกทั้งบุตรชายที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์มีตำแหน่งทางการเมือง บุตรชายจะต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินด้วย”

นายบุญยอด สุขถิ่นไทย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวทันที่มีข่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะเป็นผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 ของพรรคเพื่อไทย ซึ่งจะเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และอยากฝากคำถามถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ 2 ข้อว่า

1.ที่ผ่านมา น.ส.ยิ่งลักษณ์เคยให้สัมภาษณ์ไม่สนับสนุนกลุ่มคนเสื้อแดง แต่ระยะหลังกลับให้คนอื่นออกมาพูดแทน จึงอยากถามว่ายังจะให้การสนับสนุนกลุ่มคนเหล่านี้อีกหรือไม่

2.อยากให้ตอบคำถามเกี่ยวกับสามีที่ชื่อ นายอนุสรณ์ อมรฉัตร กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอ็ม ลิ้งค์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) รวมถึงบุตรชายที่ขณะนี้มีอายุ 9 ขวบ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังเป็นประธานกรรมการบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จึงต้องตอบว่าหากได้เป็นนายกฯจะทิ้งหุ้นบริษัทเอกชนทั้ง 2 แห่งหรือไม่ และจะดำเนินชีวิตทางการเมืองอย่างไร

“อภิสิทธิ์” จี้เปิดตัวชัดเจน

ขณะที่นายอภิสิทธิ์กล่าวถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่จะชิงตำแหน่งนายกฯว่า ยังไม่ทราบชัดเจน แต่อยากให้มีความโปร่งใส เพราะเมื่อมีการยุบสภา คนไทยมีสิทธิที่จะรู้ว่าใครจะอาสาตัวเข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศ อีก ทั้งที่บอกว่าการบริหารประเทศสามารถใช้ระบบทางไกล ได้นั้นไม่เป็นจริง และสุดท้ายต้องตอบคำถามว่าถ้าไม่เป็นจริงแล้วจะไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างไร พรรคเพื่อไทยจึงควรเปิดตัวออกมา จะได้มีการตรวจสอบวิสัยทัศน์และเรื่องต่างๆเพื่อให้ความเป็นธรรมกับประชาชน

นายอภิสิทธิ์พูดถึง พ.ต.ท.ทักษิณว่าต้องการเอาชนะพรรคประชาธิปัตย์ให้ได้แน่นอน เพราะมีการเคลื่อนไหวมาหลายปี รวมถึงจะเปลี่ยนแปลงและทำคู่ขนานกันอยู่เรื่อยๆ ซึ่งล่าสุดยังให้กลุ่มคนเสื้อแดงถอดเสื้อแดงออกในช่วงระหว่างการเลือกตั้งด้วย

แต่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายบุญยอดนำเรื่องส่วนตัวมาโจมตีคู่แข่งว่า จะห้ามปรามลูกพรรคไม่ให้นำเรื่องส่วนตัวมาพูด และอย่าเพิ่งวิจารณ์จนกว่าจะมีการเปิดตัวให้ชัดเจนก่อน ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ให้ความนับถือในฐานะคู่ต่อสู้ทางการเมืองเหมือนกัน

ไพร่-อำมาตย์?

การนำเรื่องส่วนตัวมาใช้โจมตีฝ่ายตรงข้ามทาง การเมืองของพรรคประชาธิปัตย์นั้น ก่อนหน้านี้นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็ถูกวิจารณ์ว่ามักให้สัมภาษณ์โดยนำเรื่องส่วนตัวของฝ่ายตรงข้ามมาถากถาง หรือสร้างเรื่องให้ดูหวือหวาและไม่เป็นความจริง อย่างกรณีมีคนปาอุจจาระบ้านนายอภิสิทธิ์ก็ออกมาแถลงข่าวใหญ่โตว่ามีการจ้างวานถึง 10 ล้านบาท แต่ภายหลังมือปาอุจจาระสารภาพว่าเพราะไม่พอใจเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร นายเทพไทจึงได้ฉายาว่า “เทพอุนจิ (ขี้)”

หรือกรณีนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊คถากถางนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน และครอบครัวที่ไปรับประทานอาหารที่ร้านเดียวกันว่า

“ทำให้เราอดนึกขำไม่ได้ว่าคนที่เรียกตัวเองว่าไพร่ก็ไม่ได้ใช้ชีวิตแตกต่างไปจากคนที่เขาเรียกว่าเป็นพวกอำมาตย์สักเท่าใดนัก...”

ทำให้มีการโพสต์ข้อความตอบโต้ระหว่างนายณัฐวุฒิกับนายกรณ์ จนกลายเป็นประเด็นที่สังคมนำมาวิพากษ์ถึงความเหมาะสม และปัญหาชนชั้นในสังคมไทยที่ยังไม่ได้หลุดพ้นจาก “ไพร่-อำมาตย์” แม้นายกรณ์จะออกมาปฏิเสธว่ามิได้ต้องการปลุกปั่นให้สังคมแตกแยก และไม่เคยเห็นว่าสังคมไทยมีความแตกต่างกัน แต่นางวรกร จาติกวณิช ภรรยาของนายกรณ์ ที่โพสต์ข้อความเช่นกันนั้นกลับยิ่งตอกย้ำชัดเจน

“ณ ร้านอาหารในซอยทองหล่อคืนนี้ อำมาตย์และอำมาตย์หญิงแชร์เบียร์ไทย 1 ขวด ส่วนไพร่กับภรรยาดื่มไวน์ราคาแพง และมีพยาบาลตามมาดูแลลูก...”

ในขณะที่นายณัฐวุฒิได้ขอยุติการตอบโต้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวุฒิภาวะที่เหนือกว่า

ยิ่งตียิ่งได้คะแนน

การที่นายสุเทพออกมาเตือนนายบุญยอดเรื่องนำเรื่องส่วนตัวมาเป็นเกมการเมืองนั้นก็เหมือนการตัดไฟแต่ต้นลม เพราะพรรคประชาธิปัตย์เองก็มีข่าวเรื่องครอบครัวและชู้สาวอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะคำถามของนายบุญยอดเรื่องจดทะเบียนสมรสก็เหมือนการแทงใจดำนายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ หรือคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ไปด้วยเช่นกัน

แม้แต่นายสุเทพเองก็มักจะถูกพาดพิงถึงภรรยาในปัจจุบัน ซึ่งนายสุเทพก็ไม่พอใจที่ถูกนำมาเกี่ยวข้องกับการเมือง เพราะรู้ดีว่าต้องการให้เกิดความบาด หมางกับแกนนำบางคนในพรรคประชาธิปัตย์

ที่สำคัญสังคมไทยเป็นสังคมครอบครัวที่มีความเมตตาและเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน ไม่ได้มีการแบ่งแยกชนชั้นระหว่างหญิงและชาย ทั้งยังให้ความเคารพยกย่อง เพศหญิงว่าเปรียบเสมือน “แม่” ผู้มีพระคุณอีกด้วย

ดังนั้น หากพรรคประชาธิปัตย์พยายามใช้เรื่องส่วนตัวโจมตี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งไม่เคยมีบาดแผลทาง การเมืองมาก่อนนอกจากเป็นน้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ แทนที่จะเป็นผลดีกลับยิ่งทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้คะแนนสงสารเพิ่มมากขึ้น และทำให้โอกาสที่ประเทศไทยจะมีนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกเป็นไปได้สูง เหมือนก่อนหน้านี้ที่มีการพูดถึงคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภริยาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่าอาจเล่นการเมืองและจะเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก เช่นเดียวกับคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ซึ่งต้องเว้นวรรคการเมืองเพราะการยุบพรรคไทยรักไทย

คุณสมบัตินายกรัฐมนตรี

เมื่อวันที่ 16 เมษายนที่ผ่านมา นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ เปิดเผยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณที่ประเทศรัสเซีย แต่ไม่ได้บอกรายละเอียดนอกจากคาดว่าน่าจะไปหารือเรื่องทั่วๆไป หรือถือโอกาสรดน้ำดำหัวขอพรจากผู้หลักผู้ใหญ่ตามปรกติ เพราะเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์

แต่เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ซึ่งพรรคเพื่อไทยกำลังมีการแย่งชิงว่าใครจะได้เป็นแคนดิเดตตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีชื่อทั้งนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ และ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก พ.ต.ท.ทักษิณได้ทวิตข้อ ความผ่านทวิตเตอร์ว่า คนที่เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยต้องเป็นนายกฯหากได้เป็นรัฐบาล แต่บังเอิญพรรคสายเลือดไทยรักไทยเป็นพรรคที่ถูกแกล้ง จึงโดนยุบพรรคมาหลายครั้งแล้ว ส่วนพรรคคู่แข่งทำอะไรผิดก็ช่วยกันให้ไม่ผิด เลยต้องสู้กันแบบนี้

เมื่อหลายคนถามว่าถ้าชนะการเลือกตั้งจะเสนอใครเป็นนายกฯ พ.ต.ท.ทักษิณได้ทวิตข้อความถึงคุณสมบัติผู้จะเป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งประชาชนต้องการ 9 ข้อคือ

1.ต้องเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน พูดจาประสานงานกับทุกฝ่ายได้ ไม่ขยันสร้างศัตรู 2.ต้องเป็นคนที่มีเมตตาธรรม 3.ต้องมีจิตใจรักความเป็นธรรม 4.ต้องกล้าเปลี่ยนแปลงแก้ไขในสิ่งที่ผิด 5.ต้องเป็นคนเข้าใจเศรษฐกิจของประชาชนและของภาคธุรกิจ 6.ต้องเป็นผู้มีประสบการณ์บริหารองค์กรขนาดใหญ่ เข้าใจอย่างเดียวแต่ทำไม่เป็นไม่ได้ 7.ต้องเป็นคนที่มีใจรักประชาชน 8.ต้องเป็นผู้รักความเป็นประชาธิปไตย โดยเคารพความสามารถและสติปัญญาของประชาชน และ 9.ต้องเป็นผู้ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ชู “ยิ่งลักษณ์” รวมพลังสู้ ปชป.

คุณสมบัติ 9 ข้อ มี 2 ข้อที่ทำให้ชื่อของ พล.ต.อ.ประชาหลุดไปคือ ประสบการณ์ด้านเศรษฐกิจและการบริหารองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ จึงเหลือแค่นายมิ่งขวัญกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่มีคุณสมบัติดังกล่าว แต่ในทวิตข้อความของ พ.ต.ท.ทักษิณก็อ้างว่าแฟนคลับรายหนึ่งได้ทวิตข้อความถามว่าหลายคนยอมรับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณตอบไปว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์เมื่อจบปริญญาโทจากอเมริกาก็มาทำงานธุรกิจกับตน โดยเริ่มเป็นเซลล์ขายโฆษณาเยลโล่เพจเจสจนโตเป็นประธานบริหารเอไอเอส ซึ่งในทางการเมืองก็เป็นที่รู้กันดีว่าเป็นการส่งสัญญาณชัดเจนแล้วว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะมาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

ที่สำคัญเชื่อว่าหากให้บุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นนายมิ่งขวัญหรือ พล.ต.อ.ประชาก็อาจทำให้ความแตกแยกในพรรคเพื่อไทยมีมากขึ้น เหมือนที่ผ่านมาที่มีความขัดแย้งระหว่างนายมิ่งขวัญกับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง หรือกรณี ร.ต.อ.เฉลิมกับกลุ่มของคุณหญิงสุดารัตน์

ขณะที่นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ว่า การที่ พ.ต.ท.ทักษิณพูดถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ถือเป็นสัญญาณเตือนให้แกนนำในพรรคที่ต้องการจะขึ้นเป็นนายกฯในนามพรรคเพื่อไทยต้องหยุดให้ข่าวได้แล้ว เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณจะเป็นผู้เลือกเฟ้นบุคคลที่เหมาะสมและเห็นชอบ เนื่องจากดูแล ส.ส. และพรรคมาอย่างต่อเนื่อง จึงต้องเตรียมบุคคลที่เลือกไว้ในใจแล้วว่ามีคุณสมบัติที่สามารถ นำพาประเทศให้หลุดพ้นวิบากกรรม แก้ปัญหาปากท้อง และปัญหาเศรษฐกิจได้

จากธุรกิจสู่การเมือง

สำหรับว่าที่หัวหน้าพรรคเพื่อไทยหรือผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 ของพรรคเพื่อไทยคือ น.ส.ยิ่งลักษณ์นั้น มีชื่อเล่นว่า “ปู” ปัจจุบันอายุ 44 ปี เกิดเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2510 เป็นน้องสาวคนสุดท้องในจำนวน 9 คน ของนายเลิศและนางยินดี ชินวัตร สมรสกับนายอนุสรณ์ อมรฉัตร กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอ็ม ลิ้งค์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรชาย 1 คน

ด้านการศึกษาจบปริญญาตรีจากคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเคนทักกีสเตท สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2533 และเข้าทำงานที่บริษัท ชินวัตร ไดเร็กทอรี่ส์ จำกัด เป็นกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส และกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

แต่หลังจากตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ขายหุ้นกลุ่มชินคอร์ปให้แก่เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ ของรัฐบาลสิงคโปร์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ลาออกจากเอไอเอสไปเป็นกรรมการผู้อำนวยการบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ส่วนบทบาททางการเมืองนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้เข้าร่วมกิจกรรมและอยู่เบื้องหลังพรรคเพื่อไทยมาตลอดหลังจาก พ.ต.ท.ทักษิณต้องใช้ชีวิตในต่างประเทศ น.ส.ยิ่งลักษณ์จึงเหมือนตัวแทนของ พ.ต.ท.ทักษิณ และเป็นผู้ดูแลเงินที่ใช้ในกิจการต่างๆของพรรค จึงมีความสนิทสนมกับสมาชิกพรรคเพื่อไทยเป็นอย่างดี

เปรียบเทียบกึ๋น “ปู-มาร์ค”?

แม้ยังไม่มีความชัดเจนว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นคู่ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกับนายอภิสิทธิ์หรือไม่ แต่ก็มีการเตรียมป้ายหาเสียงที่มีรูปของ น.ส.ยิ่งลักษณ์คู่กับผู้สมัครรับเลือกตั้งส่วนหนึ่งไว้แล้ว ในเวทีการเมืองจึงหนีไม่พ้นการเปรียบเทียบความเหมาะสมและคุณสมบัติของ น.ส.ยิ่งลักษณ์กับนายอภิสิทธิ์ ซึ่งในทางการเมืองแม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะอยู่เบื้องหลังมานานพอสมควร แต่ก็ถือเป็นนักการเมืองหน้าใหม่ที่ชั้นเชิงในทางการพูด การอภิปราย การโต้ตอบด้วยคารม เทียบชั้นไม่ได้กับนายอภิสิทธิ์ แต่ในด้านความรู้ความสามารถและการบริหารจัดการทางธุรกิจแล้วถือว่ามีมากกว่านายอภิสิทธิ์แน่นอน

โดยเฉพาะผลงานของนายอภิสิทธิ์ในช่วงที่เป็นรัฐบาล 2 ปีที่ผ่านมาถูกโจมตีว่าล้มเหลวโดยสิ้นเชิง อย่างที่คณะกรรมการนโยบายเพื่อไทยชี้ว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์บริหารล้มเหลวจนบ้านเมืองใกล้ล้มละลายใน 9 ด้านคือ หนี้สาธารณะ การบริหารงบประมาณล้มเหลว ปัญหาค่าครองชีพสูง การทุจริตคอร์รัปชัน ความสามารถในการแข่งขัน การละเมิดสิทธิมนุษยชน ปัญหายาเสพติด ความล้มเหลวด้านการต่างประเทศ และความล้มเหลวด้านการศึกษา

“ฉายา” บ่งบอกผลงาน

อย่างการจัดตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ในค่ายทหารที่ได้ฉายาว่า “รัฐบาลเทพประทาน” ก็บ่งบอกถึงจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ว่าอยู่เคียงข้างประชาชนหรือเผด็จการ ซึ่งเป็นบาดแผลลึกของพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่อาจลบออกไปได้ โดยเฉพาะนักวิชาการและฝ่ายประชาธิปไตยถือว่าเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตยอย่างยิ่ง อีกทั้งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานายอภิสิทธิ์ยังถูกวิจารณ์อย่างมากถึงภาวะผู้นำที่ไม่มีความเด็ดขาดและอ่อนแอ โดยเฉพาะการดำเนินการกับรัฐมนตรีที่มีข่าวการทุจริตคอร์รัปชัน ทั้งที่ประกาศกฎเหล็ก 9 ข้อ แต่กลับขึ้นสนิม จนนักข่าวสายทำเนียบรัฐบาลตั้งฉายาว่า “หล่อหลักลอย” ขณะที่ภาพลักษณ์โดยทั่วไปก็ถูกวิจารณ์ว่า “ดีแต่พูด” หรือ “เก่งแต่สร้างภาพ” เพราะ 2 ปีที่ผ่านมาไม่รู้ว่าเดินสายเปิดงานและปาฐกถามากมายแค่ไหน ส่วนรัฐบาลก็ได้ฉายาว่า “ใครเข้มแข็ง?” ซึ่งสะท้อนถึงการทุจริตคอร์รัปชันในแทบทุกโครงการ

โดยในปีแรกของรัฐบาล นักข่าวสายทำเนียบรัฐ-บาลตั้งฉายาให้ว่า “รัฐบาลรอดฉุกเฉิน” เพราะรอดพ้น ทั้งที่เกิดเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” จนมีคนตายถึง 91 คน และบาดเจ็บเกือบ 2,000 คน และยังรอดจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทั้งที่แทบไม่มีผลงานเศรษฐกิจอะไรที่โดดเด่น ส่วนนายอภิสิทธิ์ได้ฉายา “ซีมาร์คโลชั่น” เพราะไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆได้นอกจากการบรรเทาโรค เหมือนการใช้ซีม่าโลชั่นทาแก้คันเท่านั้น

เพื่อตระกูล “ชินวัตร”

อย่างไรก็ตาม การเข้ามาเล่นการเมืองเต็มตัวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในแง่บวกและลบ โดยเฉพาะคำถามว่าจะทำให้คนในตระกูลชินวัตรกลับมารุ่งเรืองหรือตกต่ำกว่าเดิม เพราะเมื่อเล่นการ เมืองก็ต้องถูกฝ่ายตรงข้ามโจมตี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัวหรือวิสัยทัศน์ อย่างที่พรรคประชาธิปัตย์เดินเกมขณะนี้ ซึ่งต้องพยายามดิสเครดิตตระกูลชินวัตรและพรรคเพื่อไทยทุกรูปแบบ

ขณะที่ในมุมมองของนักวิชาการก็มีความเห็นที่หลากหลาย อย่างเช่น น.ส.สิริพรรณ นกสวน อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า ไม่แปลกใจที่มีกระแสข่าวจากพรรคเพื่อ ไทยว่าจะให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 และจะส่งผลให้พรรคเพื่อไทยเป็นครอบครัวและพรรคชินวัตรทันที ซึ่งที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณก็พยายามปกป้องครอบครัวและคนในตระกูลมาตลอด

“แนวโน้มที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ถูกชูตัวเป็นนายกฯในการเลือกตั้งครั้งนี้ยังเป็นไปได้สูง นั่นหมายความว่าจะเป็นการเปิดศึกสู้กับชนชั้นนำและทหารเต็มที่”

น.ส.สิริพรรณเห็นว่าหลังการเลือกตั้งแนวโน้มที่พรรคเพื่อไทยจะถูกยุบพรรคยังมีสูง เพราะจะมีกระบวนการสกัดกั้นมิให้พรรคเพื่อไทยได้ตั้งรัฐบาลอย่าง เต็มที่ และหากพรรคเพื่อไทยได้ตั้งรัฐบาลก็ต้องเป็น การตั้งรัฐบาลเพียงพรรคเดียว โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งโอกาสจะเกิดวิกฤตการเมืองก็เป็นไปได้สูง การเลือกตั้งครั้งนี้จึงจะมีความวุ่นวายตามมาแน่ไม่ว่าพรรคใดจะชนะเลือกตั้ง แต่หากรอให้อดีตสมาชิกบ้านเลขที่ 111 กลับมา เมื่อถึงเวลานั้นอาจเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองก็ได้

“ยิ่งลักษณ์” สายล่อฟ้า!

ขณะที่นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ แกนนำพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน เคยกล่าวเปรียบเทียบพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ว่า หากดูฐานเดิมกับรูปแบบเลือกตั้งใหม่ จำนวน ส.ส. ที่จะได้คงไม่หนีกันเท่าไร แต่ยอดรวมพรรคเพื่อไทยจะชนะพรรคประชาธิปัตย์แน่นอน โดยพรรคประชาธิปัตย์ได้ระบบเขตเพิ่มขึ้นบวก-ลบไม่เกิน 1-2 คน แต่พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส. มากที่สุดแล้วจะได้ตั้งรัฐบาลหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ทั้งที่พรรคเพื่อไทยมีความชอบธรรมทางการเมืองและมีสิทธิในการจัดตั้งรัฐบาลก็ตาม ซึ่งคนในตระกูลชินวัตรมีบทเรียนสูง จึงรู้ดีว่าอะไรที่ชอบธรรมและชอบด้วยกฎหมาย

“ในประวัติศาสตร์การเมือง พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยได้กลับมาเป็นรัฐบาลเบิ้ลสมัยที่ 2 แต่ประวัติศาสตร์ก็มีไว้ให้ทำลาย ไม่แน่ หรืออาจจะมีเรื่องมนต์ดำ แต่ผมไม่เคยเห็น เคยเห็นแต่มนต์เขมร แต่เราอย่าไปกลัวมัน มันก็ไม่สามารถมาครอบงำเราได้” นายสุวัจน์กล่าวยิ่ง พ.ต.ท.ทักษิณโฟนอินแสดงความมั่นใจว่าจะได้กลับประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายนนี้ การเลือกตั้งครั้งนี้จึงไม่ใช่แค่พรรคใดจะเป็นรัฐบาลเท่านั้น แต่ยังเดิมพันถึงอนาคตของตระกูลชินวัตรทั้งหมดด้วย จึงไม่แปลกที่หลายฝ่ายฟันธงว่าการเลือกตั้งจะไม่สามารถยุติวิกฤตความขัดแย้งได้เช่นเดียวกับกระแสการปฏิวัติรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นข่าวลือ ข่าวลวง ข่าวปล่อย หรือข่าวจริง แต่การออกมาตบเท้าแสดงพลังของกองทัพ รวมถึงการไล่บี้คนเสื้อแดงและปิดสื่อต่างๆ โดยอ้างมาตรา 112 และข้อหาเป็นภัยต่อความมั่นคง ล้วนแยกไม่ออกจากพรรคเพื่อไทยซึ่งอาจถูกยุบพรรคได้ไม่ยาก

แม้ในระบอบประชาธิปไตยถือว่าเสียงของประชาชนคือเสียงสวรรค์ แต่การเมืองไทยวันนี้ประชาชนไม่ใช่เสียงสวรรค์ เพราะต้องฟังเสียงจากสวรรค์จริงๆเท่านั้น

เมื่ออยู่กลางฝนก็อย่ากลัวเปียก...เมื่ออยู่ใต้ฟ้าจงอย่ากลัวฟ้าผ่า เพราะเมื่ออสุนีบาต...สายฟ้าฟาดจะผ่าน “สายล่อฟ้า” ลงสู่ใต้พื้นปฐพี!

ตั้งสติไว้ให้ดี นับแต่นี้ชีวิตจะเปลี่ยนไป กับคำทำนายถึงผู้มีชื่อเล่นอักษรย่อ ป.ปลา “ปู-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ประชาธิปัตย์ (ไม่) อยู่ในภาวการณ์ไหนของความขัดแย้ง !!?

โดย.นักปรัชญาชายขอบ

นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวในการสัมมนาผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ว่า


“สถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ ทำให้นึกไปถึงคำคมของอดีตประธานสภาฯ ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ที่กล่าวว่า "อย่างนี้ก็ยุ่งตายห่ะ" ซึ่งตนคิดว่ามีภาวการณ์อันตราย 7 ข้อ ประกอบด้วย ภาวการณ์แห่งความขัดแย้ง ความแตกแยกเป็นฝ่ายชัดเจน, ภาวการณ์แห่งความมุ่งประโยชน์ของตนและพวกพ้องเป็นสำคัญ, ภาวการณ์แห่งการพยายามเอาชนะทุกรูปแบบ และทำลายกันอย่างรุนแรง, ภาวการณ์ความเชื่อในเรื่องเหตุผลน้อยลง และเชื่อพวกเดียวกัน, ภาวการณ์ที่อยู่ในคำคม "กูไม่กลัวมึง", ภาวการณ์ไม่เคารพกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และภาวการณ์ไม่เคารพสถาบันสูงสุดของประเทศ” (มติชนออนไลน์. 14 พ.ค.2554)


คำถามคือ พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้อยู่ในภาวการณ์ความขัดแย้ง หรือไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของภาวการณ์ความขัดแย้งแบบ“ยุ่งตายห่ะ” 7 ข้อนี้ อะไรบ้าง?


1. ภาวการณ์แห่งความขัดแย้ง ความแตกแยกเป็นฝ่ายชัดเจน หากการเป็นฝ่ายชัดเจนไม่ได้ตัดสินแค่การใช้ “เส้นสี” เป็นเส้นแบ่ง แต่ตัดสินจาก “เส้นแบ่งเชิงอุดมการณ์” ที่ชัดเจนยิ่งคือ อุดมการณ์ประชาธิปไตยภายใต้การกำกับของอำมาตย์หรืออำนาจนอกระบบ กับอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่ยืนยันเสรีภาพและความเสมอภาค ก็ชัดเจนอย่างยิ่งว่าประชาธิปัตย์อยู่ในฝ่ายแรก


เป็นการอยู่ในฝ่ายแรกในบทบาทของ “หัวหอก” เริ่มจากบอยคอตการเลือกตั้ง ชวนพรรคการเมืองอื่นๆ บอยคอตด้วย เสนอมาตรา 7 จัดคนมาชุมนุมร่วมกับพันธมิตร ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร สร้างวาทกรรมขบวนการล้มเจ้า ขบวนการก่อการร้ายเพื่อปราบปรามประชาชนที่ออกมาทวงอำนาจอธิปไตยของตนเองคืน แก้รัฐธรรมนูญให้พรรคตนเองได้เปรียบในการเลือกตั้ง อาศัยบารมีอำมาตย์จนได้ประโยชน์จากระบบสองมาตรฐานทำให้พ้นคดียุบพรรค กล่าวหาฝ่ายตรงข้ามเป็นคอมมิวนิสต์ เผาบ้านเผาเมือง ฯลฯ


ในขณะเดียวกันพรรคประชาธิปัตย์ก็ขัดแย้งกับฝ่ายเดียวกันคือพันธมิตร จนนำไปสู่ความขัดแย้งและการรบกับประเทศเพื่อนบ้าน และการรณรงค์ Vote No ยิ่งทำให้ “ยุ่งตายห่ะ” หนักเข้าไปอีก


2. ภาวการณ์แห่งความมุ่งประโยชน์ของตนและพวกพ้องเป็นสำคัญ โอ้โห...ข้อนี้ เชื่อเลยครับ! อภิสิทธิ์จูบปากกับเนวินตั้งรัฐบาลอำมาตย์อุ้ม ฯลฯ ไม่ได้อยู่ใน “ภาวการแห่งความมุ่งประโยชน์ของตนและพวกพ้องเป็นสำคัญ” แต่อย่างใด


3. ภาวการณ์แห่งการพยายามเอาชนะรูปแบบ และทำลายกันอย่างรุนแรง ผมนี่แม่งโง่บัดซบฉิ๊บหายว่ะที่เสือกไม่เข้าใจว่า การเรียกร้อง การสนับสนุนการทำรัฐประหาร การสลายการชุมนุมที่ทำให้คนตายเกือบร้อยศพ บาดเจ็บร่วมสองพัน ไม่ใช่ “การพยายามเอาชนะทุกรูปแบบและทำลายกันอย่างรุนแรง”


4.ภาวการณ์ความเชื่อในเรื่องเหตุผลน้อยลง และเชื่อพวกเดียวกัน ข้อนี้ผมยอมรับว่าผมโง่จริงๆ อีกแล้วครับท่าน ที่สามารถรู้อย่างชัดแจ้งเพียงว่า “เหตุผล” ของฝ่ายที่ยึดอุดมการณ์ประชาธิปไตยภายใต้กำกับของอำมาตย์หรืออำนาจนอกระบบเป็นเหตุผลที่ไม่ยึดโยงอยู่กับหลักการประชาธิปไตยที่แท้จริง คือหลักเสรีภาพ และหลักความเสมอภาค ฉะนั้น หลักความยุติธรรม (the principle of justice) ของพวกเขาจึงไม่ยึดโยงอยู่กับหลักเสรีภาพและหลักความเสมอภาคด้วย กระบวนการยุติธรรมที่พวกของใช้จึงเป็น “ระบบสองมาตรฐานซ้ำซาก” (หรือ “ไร้มาตรฐาน”?)


ผมเลยอยากถามประสาคนโง่ว่า ฯพณฯ ทั่น จะให้เกล้ากระผมเชื่อ “เหตุผลเอี้ยๆ” อะไรของ ฯพณฯ ทั่นขอรับ (วะ) ฯพณฯ ทั่น ใช้เหตุผล (บนหลักการประชาธิปไตย) อะไรในการปราบปรามประชาชนที่เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ใช้เหตุผลอะไรในการกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามว่าล้มเจ้า เป็นคอมมิวนิสต์ ใช้เหตุผลอะไรในการจับกุมคนเสื้อแดงและขังลืม ฯลฯ


5. ภาวการณ์ที่อยู่ในคำคม "กูไม่กลัวมึง" อ้าวก็พวกมึงไม่เดินตามกติกาประชาธิปไตย ทำรัฐประหาร ปราบปรามประชาชนที่ต่อต้านรัฐประหารเรียกร้องประชาธิปไตย จะให้พวกกูกลัวมึงได้ไงวะ! (พวกมึงมี “ความชอบธรรม” สำหรับให้พวกกูกลัวด้วยหรือวะ?)


6.ภาวการณ์ไม่เคารพกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ว้าว! บอยคอตเลือกตั้ง เสนอมาตรา 7 สลายการชุมนุมด้วยวิธีป่าเถื่อนเวลากลางคืน ใช้สองมาตรฐานซ้ำแล้วซ้ำอีก ฯลฯ เนี่ยนะครับท่านคือ “การเคารพกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม”


7. ภาวการณ์ไม่เคารพสถาบันสูงสุดของประเทศ ถามจริงๆ เถอะ ถามอย่าง “ซีเรียสเลย” นะครับ การเสนอให้ยกเลิก/ปรับปรุงกฎหมายหมิ่นฯ เสนอให้วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบสถาบันได้ หรือข้อเสนอ 8 ข้อ เพื่อปฏิรูปสถานะและอำนาจของสถาบันกษัตริย์ของ อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล (เป็นต้น) กับการอ้างสถาบันทำรัฐประหารและการอ้างสถาบันเป็นเครื่องมือต่อสู้และทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองอย่างที่พวกท่านและพวกเดียวกัน (หรืออดีตพวกเดียวกัน?) ทำมาตลอดน่ะ อย่างไหนกันแน่ที่เป็นการ “ไม่เคารพสถาบันสูงสุดของประเทศ” ที่แท้จริง?


หรือย่างไหนกันแน่ ที่เป็นการทำความเสื่อมเสียแก่สถาบันมากกว่ากัน! ระหว่างวิพากษ์วิจารณ์ด้วยเหตุผล และเสนอทางออกให้สถาบันอยู่ได้อย่างมั่นคงภายใต้ระบบกฎหมายที่เป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ กับการประจบสอพลอสถาบันให้ให้ตนเองและพวกพ้องมีอำนาจรัฐ มีตำแหน่งหน้าที่งานงานก้าวหน้า ฯลฯ อย่างไหนกันแน่ครับ ที่เป็นการเคารพสถาบันที่ควรแก่การยอมรับยกย่องของ “วิญญูชน” มากกว่ากัน


และในที่ประชุมเดียวกันนี้ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ก็กล่าวว่า


"70-80 ปีที่ผ่านมา บ้านเมืองเราก้าวหน้า ไม่ได้ถอยหลัง อย่างที่คนมองว่าประเทศไทยล่าหลังนั้นไม่จริง ใน 10 ประเทศอาเซียน ถามว่าประเทศไทยมีสิทธิเสรีภาพของคนมากที่สุด สื่อประเทศไทยมีเสรีภาพเท่าประเทศไทย ไม่มีหรอก" ทั้งนี้ ประเทศไทยมีความหลากหลายด้านเชื้อชาติ และศาสนา แต่ตอนนี้มีคนในชาติไม่สนใจ ซึ่งไม่ใช่ความผิดของระบบประชาธิปไตย แต่เป็นความคิดของคน เราต้องเชื่อมั่นประชาธิปไตย ซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เราต้องเชื่อและเคารพการตัดสินใจของประชาชน”


สรุป “คำคม” ...ประเทศไทยมีสิทธิเสรีภาพของคนมากที่สุด... สื่อมีเสรีภาพมากกว่าประเทศอื่นๆ... ไม่ใช่ความผิดของระบอบประชาธิปไตย... เราต้องเชื่อและเคารพการตัดสินใจของประชาชน...


555 มีดโกนอาบน้ำผึ้งจริงๆ (แต่โทษทีข้าพเจ้าสงสัยเหลือเกินว่า “ท่านเชื่อคำพูดของตัวเองหรือไม่?” )


สรุป “จบ” ประเทศไทยโชคดีที่มีพรรคการเมืองเก่าแก่ มีความเป็น “สถาบันทางการเมืองสูง” อย่าง “พรรคประชาธิปัตย์” ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่สะอาด อุดมด้วยคนดี คนซื่อสัตย์สุจริต รักประชาธิปไตย เคารพการตัดสินใจของประชาชน


ที่สำคัญเป็นพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวในประเทศนี้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับภาวะความขัดแย้งทางการเมืองแบบ “ยุ่งตายห่ะ” ทั้ง 7 ประการ ดังกล่าวมา !

////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

Social Network กับการเมือง กรณีศึกษา อำมาตย์กินเบียร์ !!?

วิวาทะระหว่างกรณ์ จาติกวณิช และณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา สอดแทรกไปกับข่าวการเลือกตั้งที่แต่ละพรรคต่างเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส. ออกมาเรื่อยๆ
เรื่องเริ่มมาจากนายกรณ์ ในฐานะ รมว. คลัง โพสต์ข้อความผ่าน Facebook ว่ามีคนเล่าให้ฟังว่าไปรับประทานอาหารที่ร้านเดียวกับนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำเสื้อแดง โดยมีข้อความดังนี้
“เมื่อสักครู่ ได้มาทานข้าวกับภรรยาที่ร้านอาหารแถวๆ ทองหล่อ คนที่นั่งอยู่โต๊ะข้างๆบอกว่า ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ กับครอบครัวเพิ่งลุกไปจากโต๊ะที่ผมนั่งอยู่ไม่ถึง 5 นาทีที่ผ่านมานี้เอง ทำให้เราอดนึกขำไม่ได้ว่า คนที่เรียกตัวเองว่า ′ไพร่′ ก็ไม่ได้ใช้ชีวิตแตกต่างไปจากคนที่เขาเรียกว่าเป็นพวก ′อำมาตย์′ สักเท่าใดนัก”
จากนั้นนายณัฐวุฒิก็ตอบโต้ผ่าน Facebook ของตัวเองเช่นกันว่า
“เพราะประเทศนี้มีคนคิดอย่างคุณ การกดขี่จึงดำรงอยู่…ทำไมไพร่มันจะกินข้าวร้านเดียวกับนายทุนไม่ได้…”
เท่านั้นยังไม่พอ เพราะภรรยาของกรณ์ “วรกร จาติกวณิช” ก็โพสต์ข้อความลงใน Facebook ของตัวเองเช่นกัน
“ณ ร้านอาหาร ในซอยทองหล่อคืนนี้ อำมาตย์และอำมาตย์หญิงแชร์เบียร์ไทย 1 ขวด ส่วน “ไพร่กับภรรยา” ดื่มไวน์ราคาแพง และมีพยาบาลตามมาดูแลลูก”
จากนั้นวิวาทะเรื่องชนชั้น ไพร่ vs อำมาตย์ และ เบียร์ vs ไวน์ ก็ปะทุขึ้นราวกับภูเขาไฟระเบิด จากผู้สนับสนุนทั้งสองฝ่าย แน่นอนว่า “พื้นที่” ของวิวาทะเหล่านี้ก็ย่อมเกิดใน Facebook อีกนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นในหน้าของกรณ์ วรกร ณัฐวุฒิ หรือพื้นที่ของผู้ใช้ Facebook แต่ละคนที่สามารถกด “แชร์” ข้อความต้นเรื่องมาบนหน้าวอลล์ของตัวเอง

ปก มติชน สุดสัปดาห์ กรณ์ ณัฐวุฒิ

ที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ วิวาทะครั้งนี้ถูกนำไปเป็นประเด็นข่าวลงในนิตยสารการเมืองอย่าง “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับล่าสุด ซึ่งนำภาพของกรณ์และณัฐวุฒิมาขึ้นปก พร้อมกับพาดหัวว่า “คนชั้นสูงดื่มเบียร์”
ในเล่มยังประกอบด้วยคอลัมน์ “จัดหนัก” ต้อนรับสถานะ Facebook ของนายกรณ์ถึง 3 คอลัมน์ (ซึ่งสามารถอ่านได้จากบนเว็บไซต์ของมติชน) ดังนี้
เมื่อเทียบ “โทน” ของเนื้อหาที่ตีพิมพ์ ก็ต้องบอกว่าเป็นผลเสียต่อคะแนนนิยมของนายกรณ์ไม่น้อย เมื่อพิจารณาจากอิทธิพลของ “มติชนสุดสัปดาห์” ในฐานะนิตยสารวิจารณ์การเมืองที่ขายดีเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ

เราคงยกเรื่องการวิจารณ์เนื้อหาทั้งฝั่งนายกรณ์และณัฐวุฒิให้กับนักเขียนของ “มติชนสุดสัปดาห์” ส่วนประเด็นที่ SIU อยากนำเสนอในวันนี้คือ “พื้นที่” ของวิวาทะทางการเมืองที่เกิดขึ้นบน Social Network ยอดนิยมอย่าง Facebook

กรณี “อำมาตย์กินเบียร์” ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ถ้ามองด้วยกรอบของ “พื้นที่” ทั้งในโลกไซเบอร์สเปซและโลกความเป็นจริง ก็มีประเด็นที่น่าสนใจหลายข้อดังนี้

1) Social Network ในฐานะ “ช่องทางการสื่อสารโดยตรง” ของนักการเมือง
การที่นักการเมืองถกเถียงกันแล้วเป็นข่าวตามหน้าสื่อ เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นมาช้านานในสังคมไทย
เพียงแต่ที่ผ่านมา การถกเถียงของนักการเมืองจะใช้สื่อกลางคือ “การให้สัมภาษณ์” ผ่านสื่อมวลชนแขนงต่างๆ จากนั้นนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามจะตอบโต้ด้วยกระบวนการเดียวกัน ส่วนบรรดา “แฟนคลับ” ก็มีหน้าที่รออ่าน-ชมวิวาทะตามหน้าสื่อ แล้วค่อยวิจารณ์กันเองในภายหลัง

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ คือ นักการเมืองทั้งสองฝ่าย ต่าง “โพสต์ข้อความ” ลงในพื้นที่ Facebook ส่วนตัวของตัวเอง จากนั้นสื่อมวลชนถึงนำมาเล่นเป็นประเด็นข่าวในภายหลัง ส่วน “แฟนคลับ” กลับเป็นผู้ที่เห็นข้อความเหล่านี้ก่อนใคร และสร้างบทสนทนาขึ้นรายล้อมในพื้นที่ Facebook ของนักการเมืองเหล่านั้น
เราปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งกรณ์และณัฐวุฒิ ต่างก็มี “แฟนคลับ” ที่เหนียวแน่นอยู่มาก และการ “โพสต์ข้อความ” ของทั้งคู่ ก็มุ่งเน้นการสื่อสารกับแฟนคลับเป็นหลัก มากกว่าจะสร้างประเด็นให้สื่อกระแสหลักนำไปเล่นเหมือนกับการให้สัมภาษณ์แบบเดิม ๆ (นายกรณ์ในฐานะต้นเรื่อง ก็คงไม่คิดว่าเพียงข้อความสถานะเดียวของตนเอง ถึงกับทำให้มติชนนำไปลงเป็นเรื่องปก)

กรณีที่คล้ายๆ กันเมื่อไม่นานที่ผ่านมา ก็คือ Twitter ของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (@pm_abhisit) ทักไปถึง @thaksinlive อดีตนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในแดนไกลว่า “ขอให้ท่านเห็นดวงตาธรรม” ในวันเด็ก จนเป็นประเด็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ

กรณี “อำมาตย์กินเบียร์” ก็คล้ายๆ กัน เพียงแต่เปลี่ยนจาก Twitter เป็น Facebook และเปลี่ยนคู่สนทนาจากนายกรัฐมนตรีสองคน มาเป็น รมว. คลังกับแกนนำเสื้อแดงเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ด้วยกระแสความนิยมของ Facebook ที่เพิ่มขึ้นสูงมากในรอบ 1-2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ดีกรีของวิวาทะแรงกว่าเดิมหลายเท่า และรูปแบบการสนทนาของ Facebook ที่รวมศูนย์กว่า Twitter ก็ทำให้บรรดาแฟนคลับเข้ามาวิพากษ์กันได้โดยง่ายมากขึ้น

ต่อจากนี้ไป Facebook ของนักการเมืองทั้งหลายจะถูกจับตาอย่างใกล้ชิดจากสื่อมวลชนกระแสหลัก เนื่องเพราะ “ข่าวเด็ด” เริ่มย้ายตัวเองจากปลายไมโครโฟนที่สื่อเคยเป็นคนควบคุมเบ็ดเสร็จ มาเป็น “วอลล์” บน Social Network ที่สื่อได้แต่เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ ดังเช่นประชาชนทั่วไป

2) ความเร็วในการกระจายสารของ Social Network

ลักษณะเฉพาะของ Social Network คือการ “แชร์” ข้อมูลไปให้ “เพื่อน” อ่านต่อ ไม่ว่าจะผ่านปุ่ม Like/Share ใน Facebook หรือวิธีการ Retweet ใน Twitter

เมื่อเจอข้อความที่โดนใจ ธรรมชาติของผู้ใช้ Social Network ก็มักจะแชร์ข้อความหรือรูปภาพไปให้เพื่อนๆ ได้อ่านกัน

ณ เวลาที่เขียนบทความนี้ Facebook ระบุว่ามีผู้ใช้ที่บอกว่า “อาศัยอยู่ในประเทศไทย” (ไม่รวมคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศ และอาจรวมชาวต่างชาติที่อยู่ในไทย) จำนวน 9.3 ล้านคน (ประมาณ 1 ใน 7 ของประชากรทั้งประเทศ)

พฤติกรรมของผู้ใช้ Facebook มักจะติดตามอ่านสถานะและข้อความของเพื่อนๆ ตลอดเวลา ถ้าแอบดูจอมอนิเตอร์ของพนักงานกินเงินเดือนทั่วไป เรามักจะเห็น Facebook ถูกเปิดอยู่บนหน้าจอ (ถ้าไม่โดนบริษัทบล็อคเสียก่อน) นอกจากนี้ยังใช้ Facebook ผ่านทางมือถือเกือบทุกยี่ห้อได้ทุกที่ตลอดเวลา
ตัวเลข 9.3 ล้านคน (และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ) บวกด้วยธรรมชาติของการแชร์ และพฤติกรรมการตามอ่านข้อความตลอดเวลา รวมๆ แล้วเป็น “สื่ออันทรงพลัง” เป็นอย่างยิ่ง

ประเด็นร้อนอย่างวิวาทะของกรณ์กับณัฐวุฒิ, คลิปสงกรานต์ที่สีลม, เรยาและดอกส้มสีทอง สามารถส่งต่อและแพร่กระจายไปยังชนชั้นกลางจำนวนมากได้ในเวลาอันรวดเร็วเป็นหลักนาที หรืออย่างมากก็หลักชั่วโมงเท่านั้น

ถ้าเป็นข่าวลบ ก็รับรองได้ว่านักการเมืองจะโดนรุมอัดเละชนิดตั้งตัวไม่ทัน ในทางกลับกัน ถ้าเป็นข่าวบวก กระแสอาจดีขึ้นผิดหูผิดตาโดยไม่รู้ว่าทำอะไรลงไปด้วยซ้ำ

นักการเมืองที่เคยสร้างปรากฏการณ์ระดับนี้ได้มีเพียง “ทักษิณ” กับบัญชี @thaksinlive ใน Twitter
แต่นั่นต้องไม่ลืมว่าเขาเป็น “ทักษิณ” ผู้ที่ใครๆ ก็สนใจ และเป็นผู้อยู่แดนไกลที่สื่อกระแสหลักไทยเข้าถึงตัวได้ยาก (หรือถ้าเข้าถึงได้ก็อาจจะโดนปลดจากสถานีแบบกรณีของจอม เพชรประดับกับช่อง 11) ทุกข้อความที่ทักษิณโพสต์จึงถูกจับตาจากสื่อ

แต่วิวาทะของนักการเมืองระดับรองๆ ลงมาอย่างกรณ์และณัฐวุฒิ ก็เปิดโอกาสกว้างให้กับนักการเมืองรุ่นใกล้เคียงกัน มาใช้ประโยชน์จาก Social Network กันได้มากขึ้น

ดังนั้นอีกไม่นาน เราคงได้เห็นนักการเมืองที่เข้าใจถึงธรรมชาติของ Social Network อย่างถ่องแท้ และสามารถสร้างประเด็นข่าว (set agenda) ด้วยเพียงข้อความไม่กี่บรรทัดใน Social Network ส่งผลสะเทือนกับเกมการเมืองของประเทศ

3) การเปลี่ยนพื้นที่ไซเบอร์ให้เป็นพื้นที่จริง ด้วย “เทศกาลอาหารไพร่ทองหล่อ”

วิวาทะของกรณ์และณัฐวุฒิ เป็นการเปลี่ยนเหตุการณ์บนโลกจริง (ร้านอาหารที่ซอยทองหล่อ) ที่มีคนอยู่ในเหตุการณ์เพียงหลักสิบ ให้เป็นเหตุการณ์เล่าซ้ำบนโลกไซเบอร์ (เล่าถึงทองหล่อบน Facebook) ที่มีผู้รับรู้จำนวนมหาศาล และผลิตซ้ำได้ตลอดเวลา (เป็นสัปดาห์แล้วกระแสยังไม่หมด)

แต่จุดที่น่าสนใจที่สุดในวิวาทะครั้งนี้ คือการเปลี่ยนวิวาทะบนพื้นที่ไซเบอร์ ให้กลับมาอยู่บนโลกจริงอีกครั้ง ด้วยตัวเชื่อมคือ “ซอยทองหล่อ” ซึ่งมีสถานะเป็นทั้งสถานที่จริง และสถานที่ในข้อความของกรณ์-ณัฐวุฒิ

ผู้ที่เปลี่ยนโลกไซเบอร์กลับมาเป็นโลกจริง ก็คือ “บก. ลายจุด” สมบัติ บุญงามอนงค์ นักกิจกรรมชื่อดังจาก “แกนนอนเสื้อแดง”

บก. ลายจุด กับ "เทศกาลอาหารไพร่" ที่ทองหล่อ (ภาพจากมติชน)

หลังจากข่าววิวาทะ “อำมาตย์กินเบียร์” แพร่กระจายออกไป บก. ลายจุดก็เสนอไอเดีย “ชวนไพร่ไปกินอาหารที่ทองหล่อ” ซึ่งมีภาพลักษณ์เสมอมาว่าเป็นพื้นที่ของคนชั้นสูง (หรือ “อำมาตย์” ถ้าจะใช้คำนิยามของกรณ์)

เท่านั้นยังไม่พอ บก. ลายจุด ยังเสนอว่า “อาหาร” ที่ไพร่ควรไปกินที่ทองหล่อ ไม่ควรเป็นร้านอาหารหรู สถานที่สร้างวิวาทะไซเบอร์ แต่เป็น “อาหารไพร่” อย่างหาบเร่แผงลอย ซึ่งมีผู้ประกอบการที่สนับสนุนเสื้อแดงอาสาไปขายทันทีที่ทราบข่าว

ถือเป็นการ “ท้าทาย” การแบ่งแยกทางชนชั้นอย่างแหลมคมยิ่ง เพราะเป็นการนำ “ไพร่เสื้อแดง” (ตามความหมายของสมบัติ) ไปบุก “พื้นที่อำมาตย์” อย่างซอยทองหล่อ ถือเป็นการแสดงออกสัญลักษณ์ด้วยการใช้พื้นที่อย่างน่าสนใจ

ถึงแม้วันที่จัดงานจริง (14 พ.ค. 54) จะประสบปัญหาฝนตกจนผู้ร่วมงานลดลงก็ตาม (ข่าวจากมติชน) แต่ทีมของ บก.ลายจุด ก็ประสบความสำเร็จในการ “ช่วงชิงพื้นที่” ซอยทองหล่อให้มาเป็น “พื้นที่ที่ไพร่ก็สามารถเข้าถึงได้”

น่าเสียดายว่า วิวาทะเรื่องชนชั้นแบบนี้ ฝ่ายอำมาตย์มีทางเลือกน้อยมากในการตอบโต้ (เพราะถือว่ามีฐานะทางสังคมเพียบพร้อมกว่า) มิฉะนั้นเราอาจได้เห็น “เทศกาลอาหารอำมาตย์” บุกไปยัง “พื้นที่ไพร่ๆ” บ้างเสียแล้ว และจะยิ่งทำให้พัฒนาการของโลกไซเบอร์-โลกจริง น่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีก

ที่มา.Siam Intelligence Unit
/////////////////////////////////////////////////////////////////////

พุทธศาสนากับ ประชาธิปไตยหางด้วน !!?

โดย.สุรพศ ทวีศักดิ์

คำพูดที่ว่า พุทธศาสนาบริสุทธิ์จากการเมือง อยู่เหนือการเมือง ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง อาจเป็นคำพูดที่ถูกต้องหากหมายถึงพุทธศาสนาส่วนที่เป็นสัจธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้คือ “อริยสัจ 4”

แต่หากหมายถึงพุทธศาสนาในความหมายที่ซับซ้อนกว่านั้น เช่น พุทธศาสนาที่มีคำสอนเกี่ยวกับมิติทางสังคมและการเมือง หรือการปรับใช้คำสอนของพุทธศาสนาเพื่อตอบสนองต่อบริบททางสังคม-การเมืองในยุคสมัยต่างๆ หรือพุทธศาสนาเชิงสถาบันที่ประกอบด้วยศาสดา พระสาวก องค์กรสงฆ์ พุทธบริษัท 4 พุทธศาสนาในความหมายที่ซับซ้อนดังกล่าวนี้ไม่เคยเป็นอิสระจากการเมืองอย่างสิ้นเชิง หากแต่มีมิติที่เกี่ยวข้องกับการเมืองเสมอมากบ้างน้อยบ้างตามเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมที่พุทธศาสนาเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ด้วย

ความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับการเมืองในสมัยพุทธกาล ซึ่งบทบาททางศาสนาที่สำคัญในยุคนั้นขึ้นอยู่กับบทบาทของพระศาสดา และบทบาทสำคัญทางการเมืองขึ้นอยู่กับบทบาทของกษัตริย์ หากพระศาสดาและกษัตริย์มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันการเผยแผ่พุทธศาสนาย่อมประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น

แน่นอนว่าความเจริญรุ่งเรืองของพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาลก็อยู่ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวนี้ เพราะพระพุทธเจ้าเป็น “เพื่อนสนิท” กับกษัตริย์ในรัฐมหาอำนาจในชมพูทวีปถึงสองรัฐคือ รัฐมคธกับรัฐโกศล โดยสัมพันธภาพดังกล่าวย่อมส่งผลให้พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองในสองรัฐใหญ่ และรัฐเมืองขึ้นอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง

คำสอนของพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับการเมือง เช่น ทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตร วัชชีธรรมหรืออปริหานิยธรรม เป็นต้น ก็น่าจะเป็นที่รู้จักกันดีตั้งแต่ยุคนี้ แต่มีข้อสังเกตว่ากษัตริย์ที่เคร่งครัดในคุณธรรมของผู้ปกครองตามคำสอนของพุทธศาสนากลับเป็นกษัตริย์ที่อ่อนแอใน “เกมแห่งอำนาจ” ดังเช่นกษัตริย์ที่เป็นเพื่อนสนิทของพระพุทธเจ้าสองพระองค์คือ พระเจ้าพิมพิสาร และพระเจ้าปเสนทิ ต่างก็ถูกโอรสของตนเองทำรัฐประหาร

ต่อมาหลังสมัยพุทธกาล ยุคพระเจ้าอโศกมหาราชถือเป็นยุคแห่งการปรับ “อุดมการณ์ธรรมราชา” ตามคำสอนของพุทธศาสนาเป็นอุดมการณ์แห่งรัฐ ทำให้พระราชามีอำนาจในการปกครองทั้งอาณาจักรและศาสนจักร เช่น พระราชาเป็นแบบอย่างของผู้ปฏิบัติธรรม สอนธรรม มีพระบรมราชโองการให้พระสงฆ์และข้าราชการสอนธรรมเรื่องนั้นเรื่องนี้แก่พสกนิกร อุปถัมภ์บำรุงคณะสงฆ์และมีอำนาจเข้าไปจัดการปัญหาภายในของคณะสงฆ์ เช่นกรณีมีพระปลอม การแตกสามัคคีในวงการสงฆ์ มีการใช้อำนาจของพระราชาลงโทษประหารชีวิตพระสงฆ์จำนวนมาก เป็นต้น [1]

ทว่าในท้ายที่สุดพระเจ้าอโศกมหาราชผู้ซึ่งได้รับยกย่องว่าเป็นแบบอย่างของกษัตริย์ตามคติธรรมราชาของพุทธศาสนาที่โดดเด่นที่สุดในประวัติศาสตร์ ก็สิ้นสุดสถานะแห่งความเป็นกษัตริย์ลงด้วยการรัฐประหารโดยหลานของพระองค์เอง

ในยุคต่อมา เมื่อกษัตริย์ในภูมิภาคอุษาคเนย์หันมานับถือพุทธศาสนาต่างก็ปรารถนาที่จะเป็นธรรมราชาดังพระเจ้าอโศกมาหาราช และกษัตริย์แห่งนครรัฐต่างๆ ในแผ่นดินสยาม นับแต่พ่อขุนรามคำแหงเรื่อยมาถึงยุครัตนโกสินทร์ต่างก็ยืนยัน “ความชอบธรรม” แห่งสถานะความเป็นกษัตริย์โดยอ้างอิง “ทศพิธราชธรรม” เช่นพระเจ้าอโศก

อย่างไรก็ตาม การอ้างอิงทศพิธราชธรรมเพื่อสร้างความชอบธรรมแก่สถานะของกษัตริย์ในแผ่นดินสยาม โดยเฉพาะตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยาที่เริ่มมีการสมมติให้กษัตริย์เป็น “เทวดาบนแผ่นดิน” หรือ “สมมติเทพ” เป็นต้นมานั้น ทำให้เกิดภาวะขัดแย้งในตัวเองอย่างที่เรียกกว่า “หัวมงกุฏท้ายมังกร” อย่างมีนัยสำคัญ

กล่าวคือ กษัตริย์ตามคติพุทธศาสนานั้นไม่ใช่เทพ ไม่ใช่โอรสของเทพ หรือไม่ใช่ผู้ที่พระเจ้าสร้างมาและให้อำนาจศักดิ์สิทธิ์มาปกครองแผ่นดิน หากแต่กษัตริย์ตามคติพุทธคือ “คนธรรมดา” ที่ถูกคนส่วนใหญ่เลือกให้เป็นผู้ปกครอง (เรียกว่า “มหาชนสมมติ”) และให้ค่าตอบแทนในการทำหน้าที่ของผู้ปกครองตามความจำเป็น หรือได้ค่าตอบแทนเพียงเพื่อให้มีชีวิตอยู่แบบพอเพียง [2]

ซึ่งผู้ปกครองที่กินอยู่แบบพอเพียงแล้วทำหน้าที่ปกครองให้ราษฎรมีความสุข พุทธศาสนาเรียกผู้ปกครองเช่นนี้ว่า “ราชา” แปลว่า “ผู้ที่ทำให้ประชาชนรัก” ด้วยการมีคุณธรรมของผู้ปกครองคือ “ทศพิธราชธรรม”

แต่คำว่า “กษัตริย์” ที่แปลว่า “ผู้ยิ่งใหญ่แห่งเขตแดน” หรือผู้เป็นเจ้าที่ดิน ผู้ร่ำรวยที่สุดในแผ่นดิน บวกกับคติแบบเทวสิทธิ์ที่ว่ากษัตริย์เป็นเทพหรือเป็นผู้ที่ได้อำนาจศักดิ์สิทธิมาจากพระเจ้าเพื่อปกครองแผ่นดิน หากมองตามคติของพุทธศาสนาคำว่า “กษัตริย์” ตามคติดังกล่าวเป็นคำที่มีความหมายในทางลบ หรือเป็นคำที่ชาวบ้านตั้งขึ้นเพื่อปรับทุกข์กันว่า “ทำไมคนที่พวกเราเลือกให้ทำงานเพื่อพวกเราซึ่งสมควรอยู่อย่างสมถะเพราะเป็นคนแห่งธรรม จึงกลายเป็นผู้ที่ร่ำรวยที่สุดในแผ่นดินเช่นนี้” [3]

คำที่มีความหมายเชิงบวกตามคติพุทธคือ “ราชา” ซึ่งหมายถึงคนธรรมดาที่ถูกเลือกจากคนส่วนใหญ่ให้มาทำหน้าที่ปกครอง ได้ค่าตอบแทนในการทำหน้าที่เพียงเพื่อดำรงชีวิตอย่างพอเพียง และเป็นที่รักของประชาชนโดยการปฏิบัติตามหลักทศพิธราชธรรม

จะเห็นได้ว่า ปัญหา “หัวมงกุฏท้ายมังกร” ของคติกษัตริย์ในแผ่นดินสยามคือ คติเรื่องกษัตริย์เป็นการผสมผสานระหว่างทฤษฎีเทวสิทธิ์แบบพราหณ์กับคติธรรมราชาแบบพุทธ ผลก็คือ สถานะของกษัตริย์จึงไม่ชัดว่าเป็นโอรสของเทพ (แบบจักรพรรดิญี่ปุ่น ฟาร์โรของอียิปต์ ฯลฯ) หรือเป็นเทพ ทว่าเป็นกึ่งคนกึ่งเทพ ที่เรียกว่า “สมมติเทพ” ส่วนที่เป็นเทพคือส่วนที่เป็นสถานะและอำนาจของกษัตริย์ที่ศักดิ์สิทธิ์แตะต้องหรือล่วงละเมิดมิได้ ส่วนที่เป็นคนคือส่วนที่เป็นบทบาทหน้าที่ของผู้ปกครองที่ถูกคนส่วนใหญ่เลือกให้ทำงานแก่ผู้ใต้ปกครองตามครรลองของทศพิธราชธรรม

ทั้งสองส่วนนี้ขัดแย้งกันโดยพื้นฐาน กล่าวคือ “สาระ” (essence) ของความเป็นเทพเรียกร้องหรือต้องการภาวะ “อภิมนุษย์” ที่อยู่เหนือหรือห้ามการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ แต่สาระของทศพิธราชธรรมเรียกร้องหรือต้องการการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ (เพราะถ้าไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบจะรู้ได้อย่างไรว่ามี หรือปฏิบัติตามหลักทศพิธราชธรรมได้สมบูรณ์หรือบกพร่องหรือไม่)

อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นเพียงความขัดแย้งในเชิงทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ชนชั้นปกครองไทยกลับนำคติเรื่องทศพิธราชธรรมมาสนับสนุนสถานะความเป็นเทพของกษัตริย์ตามคติเทวสิทธิ์แบบพราหฒณ์ได้อย่างลงตัว (นี่อาจเป็นความสามารถพิเศษของชนชั้นปกครองไทย) โดยอ้างอิงคำสอนเรื่องกฎแห่งกรรมและการบำเพ็ญบุญบารมีมารองรับสถานะ “สมมติเทพ” ของกษัตริย์และความแตกต่าง ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นในสังคม ฉะนั้น “จินตภาพสังคมไทยภายใต้ร่มพระบารมี” จึงมีลักษณะเด่นชัดดังที่ ธงชัย วินิจจะกูล อธิบายว่า

“องค์รวมที่เรียกว่าประเทศไทย จึงเต็มไปด้วยหน่วยย่อยๆที่มีบุญบารมีไม่เท่ากัน ไม่ว่าจะพิจารณาหน่วยสังคมใดๆ เช่นครอบครัว ที่ทำงาน หมู่บ้าน ตำบล จังหวัด กระทรวงกรม โรงเรียน บริษัท โรงงาน ฯลฯ ก็จะพบผู้คนที่มีบุญบารมีไม่เท่ากัน และต้องยอมรับความสูงต่ำในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล” [4]

ปัญญาคือ เมื่อสังคมไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2475 จินตภาพสังคมไทยภายใต้ร่มพระบารมี ซึ่งมีสาระสำคัญคือ “การยอมรับความสูงต่ำในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล” โดยอ้างอิงฐานคิดที่นิยาม “ความเป็นมนุษย์สูง-ต่ำตามบุญบารมีที่บำเพ็ญมาแตกต่างกัน” ยังคงเป็นจินตภาพที่ฝังลึกอยู่ในวัฒนธรรมทางความคิดความเชื่อของสังคมไทย

ซึ่งจินตภาพดังกล่าวขัดแย้งอย่างมีนัยสำคัญกับจินตภาพของสังคมประชาธิปไตยที่นิยามความเป็นมนุษย์บนฐานคิดเรื่องเสรีภาพและความเสมอภาค จึงทำให้สังคมประชาธิปไตยแบบไทยๆ มีลักษณะแบบ “หัวมงกุฎท้ายมังกร” คือหัวยังเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขณะที่หางเป็นประชาธิปไตย (เช่นมีการเลือกตั้ง มีเสรีภาพในระดับที่จำกัด)

และโดยลักษณะ “หัวมงกุฏท้ายมังกร” ดังกล่าว บ่อยครั้งก็เกิดปรากฎการณ์ “หัวกินหาง” (และกินกลางตลอดตัว?) ทำให้กลายเป็น “ประชาธิปไตยหางด้วน” อย่างที่เห็นและเป็นอยู่!

อ้างอิง

[1] ดู ส. ศิวรักษ์ (แปลและเรียบเรียง).ความเข้าใจเรื่องพระเจ้าอโศกและอโศกาวทาร.(กรุงเทพฯ: เคล็ดไทย,2552). หน้า 26.
[2] ดู อัคคัญสูตร พระไตรปิฎกเล่มที่ 11
[3] สมภาร พรมทา.นิติปรัชญา.วารสารปัญญา ฉบับที่ 6 (มีนาคม 2554), หน้า 329
[4] ธงชัย วินิจจะกูล.พุทธศาสนา ความสัมพันธ์ทางสังคม ลัทธิประวัติศาสตร์ มรดกจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์.(มติชนออนไลน์ 8 พ.ค.2554)

ที่มา.ประชาไท
/////////////////////////////////////////////////////////////