--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอาทิตย์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2554

แค่ตลกบนหลังคารถ!

บรรยากาศที่ชายขอบ กลับเข้าสู่อาการงงๆ อันมีผลพวงจากการแก้ปัญหาด้วยการไม่แก้ปัญหา หรือบริหารโดยไม่บริหารตามสไตล์เซียนเขี้ยวการเมืองอย่างพรรคประชาธิปัตย์

แต่สำหรับบรรยากาศการเมืองภาย ในประเทศ ดูเหมือนจะเกิดอาการฝุ่นตลบอยู่พอสมควร ยิ่งสะท้อนภาพผ่านการถกเครียดกว่า 4 ชั่วโมง ในการล็อกตัวเลขจำนวน ส.ส.ที่ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ต้องการให้มี ส.ส.แบบเขต จำนวน 375 คน และ ส.ส.แบบสัดส่วน จำนวน 125

ตรงกันข้าม ในซีกพรรคร่วม รัฐบาลอันมี “บรรหาร ศิลปอาชา”เป็นแกนนำ ดูจะพึงพอใจกับจำนวน ส.ส.แบบเขต 400 คน และ ส.ส.แบบสัดส่วน 100 คน กระนั้น ในการถกเครียดในชั้นกรรมาธิการ ตัวเลขในใจพรรค ประชาธิปัตย์ ก็กลายเป็นตัวเลขที่ถูกเคาะออกมา แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือการลงมติจาก 35 ส.ส.ในคณะกรรมาธิการ มี 17 ชีวิตที่เลือกสูตรของประชาธิปัตย์ และมีอีก 17 ชีวิตเลือกสูตรของซีกพรรคร่วม

สุดท้ายต้องให้ประธานกรรมาธิการเป็นผู้ตัดสิน ก่อนหวยจะมาออกที่อัตราส่วน 375 ต่อ 125แค่เริ่มก็เสียขบวน วาระแก้รัฐธรรมนูญ รอบนี้ มีให้ลุ้นพลิกคว่ำพลิกหงายได้ตลอดเส้นทาง เพราะโดยเนื้อแท้แล้ว พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญรอบนี้สักเท่าไหร่ แต่ที่ยอมถอยให้ก็เพราะจำใจ เพื่อประคับประคอง “รัฐนาวาเทพ ประทาน” ไม่ให้ล่มคาปากอ่าวการเมืองไทย

และในเมื่อประชาธิปัตย์สมยอมด้วยการถอยหนึ่งก้าว แต่พรรคร่วมรัฐบาลกลับ รุกคืบเข้ามาอีก 1 ก้าว มันก็เป็นธรรมดาที่ เซียนเขี้ยวอย่างประชาธิปัตย์ จะใช้เป็นเหตุผลให้หน้าตาของรัฐธรรมนูญจะสามารถ ออกมาได้ทุกหน้า ไม่เว้นแม้กระทั่ง กรณีการกลับไปใช้แบบเดิมตามรัฐธรรมนูญ ปี 50

แม้ “บรรหาร ศิลปอาชา” และ “พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์”จะแสดง ความไม่พอใจ พร้อมทั้งประกาศดังๆ ว่า ในชั้นรัฐสภาสัดส่วนจำนวน ส.ส.จะต้องถูกจูนกลับมาอยู่ที่ 400 ต่อ 100 ว่ากันตามจำนวนมือในชั้นกรรมาธิการ สิ่งที่ 2ผู้เฒ่ามั่นใจนักมั่นใจหนา ก็มีแนวโน้มเป็นไปได้ แต่หากว่ากันตามความเขี้ยวทางการเมืองที่พรรคประชาธิปัตย์เหยียบบ่าตีกินเพื่อนมาโดยตลอด ตัวเลข 375 ต่อ 125 ก็ยังคงเป็นตัวเลขที่มีทางเป็นไปได้มากที่สุดหรือไม่นั้น ก็กลับไปใช้ของเดิมทั้งกระบิ นั่นก็ยิ่งแย่ไปใหญ่และเข้าทางประชาธิปัตย์แบบเต็มๆ นี่ก็คือการบ้านข้อใหญ่ที่พรรคเล็กต้องไปบริหารจำนวนผู้แทน 25 คนที่หายไปเพื่อไม่ให้ไหลไปเข้าทางพรรคใหญ่ อย่างประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย

จะแก้เกมด้วยวิธีการใดไม่มีใครทราบ แต่เสียงที่ดังมาก่อนหน้านั้นว่า อาจจะเล่นกัน แรงถึงขั้นยุบสภาเลือกตั้งใหม่ แม้อาจจะเป็นไปได้แต่หากวัดกันจากฐานคะแนนนิยมของ รัฐบาล บนความโลภของนักการเมืองในเค้ก งบประมาณ 55และอาการคึกคักเป็นพิเศษ ของ “อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร”

มันช่างเป็นเรื่องที่น่าครุ่นคิดอย่างยิ่งว่านักเลือกตั้งที่กำลังเสวยสุขอยู่ในซีกรัฐบาล จะพึงพอใจกับการลงสนามกลับไปเลือกตั้งใหม่ในสถานการณ์อันสุ่มเสี่ยงที่จะ ตกสวรรค์ได้ทุกเมื่อ สิ่งสำคัญต้องไม่ลืมว่า ตลอดห้วงเวลาที่พรรคร่วมกอดรัดฟัดเหวี่ยงกันใน “รัฐบาลเทพประทาน”ตามรายทางที่ดำเนินมาล้วนเต็มไปด้วยอาการทะเลาะเบาะแว้ง แต่นี่มัน ก็ปาเข้าไป 2 ปีแล้ว ประชาธิปัตย์กับพรรค ร่วมก็ยังอยู่ร่วมรัฐบาลกันได้เหมือนไม่มีอะไร เกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น การวิวาทะกันรอบนี้ ที่ดูเหมือนจะรุนแรงลุกลามบานปลาย ในท้าย ที่สุด ก็คงเป็นแค่ตลกบนหลังคารถ แค่โชว์บทบาทในทางการเมืองไปวันๆ ก่อนจะหันมาจูบปากกันอีกครั้งบนกองผลประโยชน์ประเทศไทย..แต่ในส่วนที่ “นายกฯ อภิสิทธิ์”บอกว่ากลางปีนี้จะมีเลือกตั้ง ก็ควรกลับเข้าสู่กระบวนการทบทวนใหม่หมด เพราะที่สุดแล้วคนที่มีอำนาจยุบสภาไม่ได้ชื่อ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”ขอรับครับ..ป๋า!!!

ที่มา.สยามธุรกิจ
**********************************************************************

คิดแบบ "ไข่ไก่"

โดย สรกล อดุลยานนท์

(ที่มา คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 15 มกราคม 2554)
ต้องถือว่าโชคดีที่วันนี้ คุณสมัคร สุนทรเวช ไม่อยู่แล้ว

ไม่เช่นนั้นเราคงได้ยินคำวิจารณ์นโยบายขายไข่ไก่เป็นกิโลกรัมของรัฐบาลชุดนี้อย่างแสบสันต์

เพราะ "สมัคร" เป็นคนเดินตลาด

เขาเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์เดินดินเป็นอย่างดี

ไม่ได้อยู่แต่ในห้องแอร์

แนวคิดเรื่องการขายไข่ไก่ตามน้ำหนักถือเป็นตัวอย่างที่ดียิ่งที่แสดงให้เห็นว่า "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" มองภาพการแก้ปัญหาไม่ครบทุกส่วน

คิดแค่การลดต้นทุนการผลิต คือการแยกไข่ไก่ของเกษตรกร

คิดว่าถ้าขายเป็นกิโลกรัม ก็ไม่ต้องแยกขนาดไข่ไก่

ต้นทุนก็ลดลง

แต่ลืมทำความเข้าใจพฤติกรรมของพ่อค้าและลูกค้าว่าเขาซื้อขายกันอย่างไร

จิตวิทยาการซื้อขายเบื้องต้นเวลาขายของที่ขนาดไม่เท่ากัน

คนจะเลือกไซซ์ใหญ่ก่อนเสมอ

และสุดท้ายไซซ์เล็กก็จะไม่มีคนซื้อ

การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นเรื่องใหญ่มากในเชิงการตลาด

ไม่เชื่อลองถาม "อภิรักษ์ โกษะโยธิน" ที่เคยบริหารเป๊ปซี่ มันฝรั่งเลย์ ทรู แกรมมี่ ฯลฯ มาก่อนดูก็ได้

หรือไม่มั่นใจก็ให้ถาม "กนก วงษ์ตระหง่าน" ที่เคยทำ "โรบินสัน" ก็ได้

ไม่ใช่ว่าผู้บริโภคจะเปลี่ยนพฤติกรรมไม่ได้

เปลี่ยนได้...แต่ยาก

และต้องใช้พลังการขับเคลื่อนมากกว่าแค่การประชุมและสั่งการ

ไม่เช่นนั้นจะเหมือนงบแก้ปัญหาน้ำท่วม

น้ำแห้ง จนหนาว และกำลังจะแล้ง

แต่งบน้ำท่วมยังไปไม่ถึงไหนเลย

การเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตาม เราจะต้องมองภาพรวมให้ครบ

ผู้ผลิต พ่อค้า และผู้บริโภค

ไม่ใช่มองเพียงฝั่งเดียว กดเครื่องคิดเลขเสร็จก็คิดว่าลดต้นทุนการผลิตได้แล้ว

สำเร็จแล้ว

ลืมมองปัญหาแบบคนเดินตลาด และไม่เข้าใจว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคเป็นอย่างไร

ผู้บริโภคนั้นใช่ว่าใครจะสั่งซ้ายหัน-ขวาหันได้

แม่ค้าก็เหมือนกัน เขาจะปรับตามผู้บริโภค

ลูกค้าอยากได้อะไร เขาก็ตอบสนองอย่างนั้น

เรื่องแบบนี้คนที่ไม่เคยเดินตลาดไม่เข้าใจหรอกครับ

คาดว่านโยบายขายไข่ไก่ตามน้ำหนักของรัฐบาล

ไม่เกิน 2 เดือน เรื่องนี้จะเงียบหายไป

ไม่แปลกที่รัฐบาล "อภิสิทธิ์" จะถูกวิจารณ์ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ว่ามองบัญชีด้านเดียว

ดูบัญชีรายจ่าย โดยไม่เคยพูดเรื่อง "รายได้" เลยว่าจะมาจากไหน

นึกถึงคำขวัญวันเด็กของ "อภิสิทธิ์"
"รอบคอบ รู้คิด มีจิตสาธารณะ"
ครับ ถ้าเด็กวันนี้ที่จะต้องใช้หนี้ในวันหน้าคิดคำขวัญเพื่อมอบให้กับรัฐบาลชุดนี้

เขาคงบอกว่า

"รอบคอบบ้าง รู้คิดบ้าง อะไรบ้าง แต่อย่าสร้างหนี้สาธารณะ"

ที่มา.มติชนออนไลน์
-----------------------------------------------------------------------------------------------

ใบตองแห้ง' ออนไลน์: เป้าหมายการเคลื่อนไหว

รุ่นน้องผมที่ไม่ใช่เสื้อแดงแต่เอาใจช่วยการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย (มิกล้าเรียกว่าสองไม่เอา อิอิ) บ่นทันทีที่เจอหน้ากันวันจันทร์ว่า “เสียของ” เพราะมวลชนเสื้อแดงมาชุมนุมกันล้นหลามถึง 3 หมื่นกว่าคน แต่กลับลงเอยด้วยการโฟนอินของทักษิณ

โอเค ผมเข้าใจดีว่ามวลชนเสื้อแดงไม่ได้เจตนาจะมาฟังทักษิณโฟนอิน มีทักษิณหรือไม่มีเขาก็มา ในทางตรงข้าม น่าจะเป็นทักษิณต่างหากที่กลัวตกกระแส จนต้องต่อสายมาโฟนอิน

แต่เรื่องนี้ต้องตำหนิแกนนำ ที่ไม่มีความชัดเจนในแง่เป้าหมายของการเคลื่อนไหว การนำยังไม่เป็นเอกภาพ และยังไร้ทิศทางเช่นเคย แบบใครใคร่พูดพูด ไม่คิดว่าจะได้อานิสงส์ส่งผลดีผลเสียอย่างไร

ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้ปฏิเสธทักษิณ ต้องห้ามยุ่งห้ามเกี่ยว เราไม่อาจปฏิเสธว่าทักษิณเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่ต่างฝ่ายต่างต้องจัดบทบาทที่เหมาะสม ทักษิณควรอยู่ในบทบาทผู้สนับสนุน หรือเดินสายรณรงค์ต่างประเทศ ปล่อยให้เสื้อแดงเคลื่อนไหวอย่างเป็นตัวของตัวเอง ภายใต้เป้าหมายร่วมกัน ถ้ามัวแต่เลอะเทอะปนเปื้อนกันไปมาก็มีแต่ผลลบ

ประเด็นสำคัญที่ต้องพูดคือ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่เรื่องทักษิณไม่ทักษิณ แต่มันเป็นเรื่องที่ขบวนเสื้อแดงยังไม่รู้ว่ากรูมีเป้าหมายอะไร มาชุมนุมเพื่ออะไร รู้แต่ว่านัดกันมาชุมนุม เดือนละ 2 ครั้ง

แน่นอน เราต้องแยกแยะทีละด้าน ในส่วนของมวลชน เราได้เห็นความเข้มแข็ง พร้อมเพรียง “ใจถึง” แบบกรูไม่กลัวเมริง แสดงพลังว่าพร้อมจะสู้กับ “ระบอบอภิสิทธิ์ชน” ถึงที่สุด

แต่ในส่วนของแกนนำ เห็นชัดเจนว่ายังไม่รู้เลยว่าจะนำมวลชนไปทางไหน การเคลื่อนไหวแต่ละครั้งต้องการอะไร และจะนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดอย่างไร

การชุมนุมครั้งหน้า 23 ม.ค.เชื่อได้ว่า มวลชนจะมาอีก และมาเยอะกว่านี้ แต่ถ้ามีความก้าวหน้าแค่ทักษิณโฟนอินในระบบ 3D ก็เสียของ เสียแรง และนานไปจะมีแต่ผลเสียมากกว่าผลดี

หลังการชุมนุมเสื้อแดง วันถัดมาก็มีสมาคมผู้ค้าราชประสงค์ ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลจัดหาพื้นที่ให้ชุมนุม โดยไม่สร้างความเสียหายกับผู้ค้า (ซึ่งมีความ “ก้าวหน้า” อย่างน่าประหลาดใจ รู้จักเร่งรัดให้มี พ.ร.บ.ชุมนุมในพื้นที่สาธารณะ)

ดูข่าวแล้วอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบกับข่าวชาวสระแก้วออกมาคัดค้าน “เครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ” ซึ่งทราบกันดีว่าเป็นสาขาพันธมิตรฯ แปลงร่าง จะไปประท้วงเขมรให้ปล่อย 7 คนไทยและยกเลิก MOU ปี 43

เปล่า ผมไม่ได้บอกว่าอย่ามาม็อบอีกเลย เดี๋ยวคนกรุงคนชั้นกลางเดือดร้อนแล้วจะถูกต่อต้าน แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมันสะท้อนว่า ระบอบอภิสิทธิ์ชนกำลังขี่กระแสรักสงบแบบไทยๆ โดดเดี่ยวทั้งเสื้อแดงและเสื้อเหลืองออกไปอยู่ด้านข้าง

ภายหลังจาก “นวด” กันมา 5 ปีเศษ ระบอบอภิสิทธิ์ชนใช้รัฐประหารตุลาการภิวัตน์ ความไม่เป็นประชาธิปไตยและความยุติธรรม 2 มาตรฐาน รวมทั้ง “ลูกเสือชาวบ้านยุคใหม่” เป็นเครื่องมือ ให้ท้ายยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน ยั่วยุให้เกิดการตอบโต้ด้วยอารมณ์จากเสื้อแดง ยึดอนุสาวรีย์ชัย ยึดราชประสงค์ พันธมิตรตายไปสิบกว่าศพ เสื้อแดงตายไปเกือบแปดสิบ

สุดท้าย ระบอบอภิสิทธิ์ชนก็ฉวยกระแสความเบื่อหน่าย “อยากให้จบๆ เสียที จะได้ทำมาหากิน” ของคนส่วนใหญ่ในสังคมโดยเฉพาะคนกรุงคนชั้นกลาง ถีบหัวส่งทั้ง “การเมืองใหม่ใสสะอาด” ของเสื้อเหลือง และ “ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์” ของเสื้อแดง ให้สังคมไทยจำยอมรับการเมืองเก่าเน่าโคตร และประชาธิปไตยพิกลพิการที่พวกเขามอบให้

คนกรุงคนชั้นกลางจึงไม่แยแสสนใจ ไม่ว่ารัฐบาลนี้จะบริหารงานห่วยแตกไร้ประสิทธิภาพเพียงไร ทุจริตคอรัปชั่นเพียงไร หรือเอาเงินภาษีของตัวเอง (คนชั้นกลางคิดว่าตัวเองจ่ายภาษี คนจนไม่ได้จ่าย) ไปถลุง 7 หมื่นล้านเพื่อตั้งกองพลทหารม้าที่ 3 เพราะพวกเขาคิดเพียงว่าให้บ้านเมืองสงบ แล้วจะได้ทำมาหากิน กรูเอาตัวรอดได้ ไม่ว่ามันจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็น ไม่ว่าจะทุจริตคอรัปชั่นกันอย่างไร กรูก็ทำมาหากินได้ มีความสุขกับการชอปปิ้ง เที่ยวห้าง เที่ยวเมืองปาย กอดเมืองไทย หันไปต่อสู้ดิ้นรนด้วยการส่งลูกกวดวิชา เรียนอินเตอร์ สองภาษา เรียนจบมาถ้าไม่อยากอยู่เมืองไทยก็ไปทำงานเมืองนอก

อ้อ ลืมไป เพื่อไม่ให้รู้สึกว่าตัวเองสามานย์ คนชั้นกลางก็จะท่องคุณธรรมจริยธรรม “รักในหลวง” อ่านหนังสือท่านพุทธทาส ท่านปยุตต์ ท่าน ว.วชิรเมธี เห่อดอกเตอร์ไฮโซที่เขียนหนังสือขายโดยเอาภาษาท่านพุทธทาสท่านปัญญามาแปลงใหม่ให้สวยๆ เห่อสำนักสงฆ์ที่ไปสร้างรีสอร์ทอยู่ในป่า แล้วตอนนี้ก็มีศัพท์ใหม่คือ “จิตสาธารณะ” ช่วยกันทำสังคมรอบตัวให้ดีขึ้น แต่ระบบสังคมช่างหัวมัน

ในสภาพเช่นนี้เราคงไม่ต้องพูดถึงพันธมิตร ซึ่งหมดอนาคตโดยสิ้นเชิงแล้ว พันธมิตรจะมีราคาก็ต่อเมื่อออกมาต่อต้านเสื้อแดง ออกมาด่าทักษิณ ถึงจะเป็นหัวข่าว แต่ถ้าพันธมิตรไล่รัฐบาล ลำเลิกบุญคุณ หรือหันไปเล่นเรื่องเขมร เรื่อง MOU ปี 43 ก็กลายเป็นหมาหัวเน่า กระบอกเสียงของคนชั้นกลางทั้งสื่อ นักวิชาการ ไม่เพียงตีจากแต่ยังทุบหัวเอา (เถ้าแก่เปลวก็ทุบไปเปรี้ยงสองเปรี้ยง เลยโดนด่า “ขายชาติ” อิอิ)

พลังที่จะเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงระบบ จึงเหลือแต่มวลชนเสื้อแดง กับนักคิดนักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งได้กล่าวไปแล้วว่าคนเสื้อแดงหยุดการเติบโตทางปริมาณ แต่ขยายนิวเคลียสจนเข้มข้น นั่นแปลว่า นปช.พร้อมจะระดมมวลชนเป็นแสนๆ มาปิดราชประสงค์อีกเมื่อไหร่ก็ได้ แต่จะเอาชนะ “กระแสสังคม” ได้อย่างไรนี่สิ เป็นปัญหา

ผมไม่ใช่ทั้งนักวิชาการนักทฤษฎีหรือนักเคลื่อนไหว มีคนเก่งกว่าผมเยอะ แต่คนอยู่วงในอาจจะ in จนบังตา จึงต้องเสนอความเห็นจากวงนอก เพื่อให้ช่วยกันขบคิด หาลู่ทาง กำหนดแนวทาง

ในแง่หนึ่ง ฝ่ายประชาธิปไตยอาจจำเป็นต้อง “รอ” ให้ระบอบอภิสิทธิ์ชนเน่าเฟะ เสื่อมทราม ไร้ประสิทธิภาพจนถึงจุดล่มสลาย ไปไม่รอด หรือสังคมเหลืออด โดยใช้การเคลื่อนไหวระหว่างนี้รักษามวลชน หล่อหลอมมวลชน ขยายมวลชนเท่าที่จะทำได้

ในอีกแง่หนึ่ง ฝ่ายประชาธิปไตยก็ต้องแปรการเคลื่อนไหวให้ “แสวงจุดร่วม” กับผู้คนส่วนอื่นๆ ในสังคมให้มากขึ้น พร้อมกับไปการเคลื่อนไหวในประเด็นของตน เช่น การเรียกร้องให้ประกันตัวคนเสื้อแดง การวิพากษ์วิจารณ์ความยุติธรรมสองมาตรฐาน

แสวงจุดร่วมอย่างไร ต้องช่วยกันคิด และกำหนดประเด็นการเคลื่อนไหวในแต่ละครั้ง ให้เชื่อมโยงประโยชน์สาธารณะมากขึ้น

เอ้า สมมติเช่นเวลามาม็อบ คุณก็เพิ่มเนื้อหาโจมตีรัฐบาลเรื่องสินค้าแพง ให้แม่ค้ากล้วยแขก แม่ค้าลูกชิ้นที่เป็นเสื้อแดง สลับกันขึ้นเวทีมาด่าเรื่องราคาน้ำมันปาล์มมั่ง ให้มอเตอร์ไซค์รับจ้างขึ้นมาวิพากษ์นโยบายประชาวิวัฒน์ มันจะเป็นจริงได้ไงในเมื่อตำรวจตั้งด่านรีดไถมอเตอร์ไซค์แทบทุกหัวถนน ยุคทักษิณที่ว่าตำรวจมีอำนาจ ยังไม่เก็บส่วยกันมากขนาดนี้

หรือไม่ก็รู้จักด่า ปตท.มั่ง เรื่องราคาหน้าโรงกลั่น ไม่ใช่ไม่แตะเรื่องนี้เลย จนถูกกล่าวหาอยู่ซ้ำซากว่าทักษิณแอบถือหุ้น ปตท. (ตอนนี้โอกาสดี รสนาหมดมุขแล้ว ไม่ยักออกมาโวย ปตท.อีก) บางครั้งบางโอกาส ก็สามารถเอามาเป็นประเด็นเรียกร้องได้ด้วย

หรือถ้าจะมาม็อบวันที่ 23 คุณก็อาจจะกำหนดประเด็น ทวงคำมั่นรัฐบาลที่ว่าจะรีบแก้รัฐธรรมนูญแล้วยุบสภา เพราะตอนนี้เริ่มมีทีท่าว่า พวก สว.ลากตั้งกำลังจะลาออกก่อนครบวาระ เพื่อให้ตัวเองมีสิทธิ์ได้รับการสรรหาอีก จนอาจทำให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาไม่สามารถพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ นี่เป็นเรื่องน่าเกลียดที่ต้องประณาม เพราะเสวยอำนาจจนอยากงอกราก ทอดทิ้งหน้าที่ เพียงเพื่อให้ตัวเองมีสิทธิลากตั้งอีกครั้ง

อันที่จริงควรจะฉวยโอกาสนี้ เคลื่อนไหวต่อต้าน สว.จากการลากตั้ง ถ้าทำได้ก็ไปให้ถึงการเข้าชื่อแก้รัฐธรรมนูญ ให้ สว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ถ้าไปไม่ถึงอย่างน้อยก็ทำให้การสรรหาโดยตุลาการอำมาตย์ กลายเป็นเรื่องเน่าเหม็นไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน ถามว่าเรื่องนี้มีจุดร่วมกับคนที่ไม่ใช่เสื้อแดงไหม มีสิ เพราะถ้าเลือกตั้ง ก็ได้ สว.เพิ่มทั้งคนกรุงเทพฯ คนอีสาน คนเหนือ คนใต้ และเป็นชัยชนะของ “ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์” ในขั้นหนึ่ง

การคิดประเด็นเคลื่อนไหวให้สอดคล้องกับผลประโยชน์สาธารณะไปพร้อมๆ กัน เป็นภารกิจที่ผู้นำการเคลื่อนไหวต้องใช้สติปัญญามากกว่าการนำเย้วๆ แล้วก็ต้องระดมสมอง มีฐานข้อมูล มีนโยบาย มีแนวคิดทางยุทธศาสตร์ยุทธวิธี ไม่ใช่คิดแต่เอาคนมาให้มากๆ เพราะแม้คนมากจะสามารถ “คุกคาม” หรือ “เขย่า” อภิสิทธิ์ชน แต่ในเชิงคุณภาพยังไม่สามารถนำไปสู่ชัยชนะ

เว้นแต่จะคิดเอาม็อบมาสู้แตกหักแบบครั้งที่แล้วอีก

ผมชื่นชมข้อเขียนล่าสุดของ อ.ใจ “ข้อถกเถียงที่สร้างสรรค์ในขบวนการเสื้อแดง” คือถึงเวลาที่จะต้องถกเถียงกันเพื่อกำหนดแนวทางอย่างมีวุฒิภาวะ กำหนดเป้าหมายอุดมการณ์ปฏิรูปประชาธิปไตยว่าจะทำอย่างไร เสนอให้ชัดเจนว่า ต้องการปฏิรูปประชาธิปไตยอย่างไร ปฏิรูปสถาบัน ปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ศาล และองค์กรอิสระ อย่างไร เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจว่านี่คืออุดมการณ์ที่จะปฏิรูปสังคมไทยไปสู่คุณภาพใหม่ และไม่ “เลยธง” อย่างที่คนบางส่วนเกรงกลัว

เมื่อกำหนดเป้าหมายแล้วก็ต้องกำหนดยุทธศาสตร์ยุทธวิธี ซึ่งถ้ามองว่า “ชัยชนะ” คือการปฏิรูปประชาธิปไตยให้สำเร็จ โดยดึงหลายฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ใช่แค่ชัยชนะของเสื้อแดงหรือพรรคเพื่อไทย ยุทธศาสตร์ก็จะไม่ใช่การแตกหัก แต่ก็ไม่ใช่การประนีประนอม หากเป็นการใช้พล้งมวลชน พลังสาธารณชน ปิดล้อมกดดันไปสู่การเปลี่ยนแปลง

มันอาจจะไม่สะใจเสื้อแดงบางส่วน แต่ก็ต้องคำนึงถึงความเป็นจริงและความเป็นไปได้

ปรับเงินวิทยะฐานะครู- ค่าตอบแทน เข้าสภาเดือนนี้

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิเช้านี้ ว่า รัฐบาลได้สร้างแรงจูงใจให้แก่ครูในด้านต่างๆ โดยขณะนี้ได้เสนอการปรับเงินวิทยฐานะของครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งคาดว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรที่จะเปิดสมัยประชุมในช่วงปลายเดือนมกราคมนี้ได้ โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวจะมีการปรับฐานเงินเดือน ปรับค่าตอบแทนของครู อีกทั้งยังมีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับครูที่ต้องปฏิบัติหน้าที่พิเศษ อาทิ ครูเสี่ยงภัย ครูในพื้นที่ทุรกันดาร การปรับปรุงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตลอดจนการปรับปรุงระบบการประเมินพัฒนาวิชาชีพครู ให้เชื่อมโยงกับความสามารถในการจัดการเรียนการสอน รวมถึงการเร่งรัดจัดตั้งกองทุนพัฒนาครู และการแก้หลักเกณฑ์ประเมินวิทยฐานะที่เน้นเชิงประจักษ์

ที่มา.เนชั่น

คณะครูอุตรดิตถ์ทำบุญตักบาตรเนื่องในวันครู

นายสิทธิชัย หาญสมบัติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ พร้อมด้วยคณะครู อาจารย์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ และคณะครูจากโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา ระดับประถมศึกษา สถาบันการศึกษาสายอาชีพสังกัดกรมอาชีวศึกษา และ สถาบันการศึกษาภาคเอกชนพื้นที่ จังหวัดอุตรดิตถ์ นักศึกษาคณะครุศาสตร์ ร่วมทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง แด่พระสงฆ์จำนวน 99 รูป เนื่องในวันครูแห่งชาติ 16 มกราคม ที่หน้าอาคารภูมิราชภัฎ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์

โดยการทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งพระสงฆ์ของคณะครู เนื่องในวันครูแห่งชาติ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอพระองค์พระเกษมสำราญ ทรง พระเจริญยิ่งยืนนาน และ เพื่อความเป็นสิริมงคลต่อวิชาชีพ พร้อมกันนี้ยังได้ทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับดวงวิญญาณของเพื่อนครูที่ล่วงลับไปแล้ว โดยเฉพาะครูผู้เสียสละเพื่อรำลึกถึงพระคุณ เทพแห่งความรู้ พระระลึกถึงพระคุณครู เพื่อความเป็นสิริมงคล และเสริมปัญญาความรู้วิชาชีพครู

ที่มา.เนชั่น
--------------------------------------------------------

วันเสาร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2554

ครูผู้มีอุดมการณ์ปี 54 ขอผู้ปกครองใส่ใจให้บุตรหลานได้เล่าเรียน

ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า สพฐ. จัดโครงการ “ตามรอยเกียรติยศครูผู้มีอุดมการณ์และจิตวิญญาณครู” ครั้งแรกเมื่อปี 2550 เพื่อยกย่องให้ครูมีความเป็นครูด้วยจิตวิญญาณ ปฏิบัติตนและปฏิบัติงานเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม ผู้ที่ได้รับรางวัลคนแรกคือ ครูจูหลิง ปงกันมูล และ สพฐ. ได้จัดมอบรางวัลดังกล่าวจากนั้นเป็นต้นมา สำหรับการมอบรางวัลในครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 5 ประจำปี 2554 มีผู้ได้รับรางวัล “ยอดครูผู้มีอุดมการณ์” 4 คน จาก 4 ภาค ได้แก่ น.ส.สุพิทยา เตมียกะลิน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสล่าเจียงตอง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน นายศรัทธา ห้องทอง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคลองน้ำใส อ.กาบัง จ.ยะลา นางสิริยุพา ศกุนตะเสถียร ผู้อำนวยการโรงเรียนศึกษานารี กทม. และนางศิริพร หมั่นงาน ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านวังอ้ายคง อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ โดยวันนี้ เลขาธิการ กพฐ. มอบเงินรางวัลให้กับครูทั้ง 4 ราย รายละ 300,000 บาท พร้อมเข็มทองคำเชิดชูเกียรติ และเกียรติบัตร

น.ส.สุพิทยา 1 ใน 4 ยอดครูผู้มีอุดมการณ์ประจำปี 2554 กล่าวว่า รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้รับรางวัล ทำงานครูมา 15 ปี ท่ามกลางความยากลำบาก เนื่องจากโรงเรียนอยู่ห่างไกลเมือง 96 กิโลเมตร มีการเดินทางที่ยากลำบาก ตลอด 15 ปี พักอยู่ในโรงเรียน และจะกลับเข้าเมืองเดือนละ 1-2 ครั้งเท่านั้น ในวัยเด็กครูมีความฝันอยากเป็นนักสังคมสงเคราะห์ แต่เมื่อได้มาเป็นครู ก็เหมือนกับเป็นนักสงเคราะห์เช่นกัน แต่เป็นการสงเคราะห์ด้านความรู้

ครูสุพิทยา กล่าวต่อไปว่า ใช้หลักแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงในการสอนนักเรียนมาตลอดเวลา 15 ปี เท่าที่พูดคุยกับนักเรียน พบว่าแต่ละคนมีความฝัน อยากเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ครู ทหาร เป็นต้น เนื่องจากเห็นตัวอย่างจากสิ่งแวดล้อมข้าง ๆ ตัว ครูสุพิทยา จึงฝากมายังนักเรียนในเมืองให้มีความตั้งใจเรียน จากความพร้อมที่มีมากกว่าเด็กในชนบท และยังฝากพ่อแม่ผู้ปกครองดูแลบุตรหลานให้ได้รับการศึกษา ให้มีความรับผิดชอบ และมุ่งมั่น ครูสุพิทยา จะสนับสนุนให้นักเรียนที่เรียนจบชั้น ป.6 เข้ามาเรียนในเมือง เพื่อจะได้เรียนรู้ชีวิตให้เท่าทันกับสังคมในเมือง ซึ่งเป็นอุดมการณ์ที่ครูใช้เป็นหลักในการสอนนักเรียนตลอดมา

ที่มา.เนชั่น

ด่วน! คนร้ายยิงครูเสียชีวิตกลางเมืองปัตตานีรับวันครู

ใต้ระอุรับวันครู คนร้ายควงปืนจ่อยิงครูโรงเรียนดังเสียชีวิตกลางเมืองปัตตานี เผยเป็นศพที่ 138 ขณะที่จันทร์นี้นายกฯเตรียมลงใต้ร่วมงานเชิดชูครู

สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงตึงเครียดอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดเมื่อเวลา 10.30 น.ที่ผ่านมา (15 ม.ค.) เกิดเหตุคนร้ายมีรถจักรยานยนต์เป็นพาหนะ ใช้อาวุธปืนไม่ทราบขนาดจ่อยิง นายมาโนช ชฎารัตน์ อายุ 38 ปี ครูโรงเรียนเดชะปัตตนยานุกูล อ.เมืองปัตตานี เหตุเกิดบริเวณสามแยกหน้าวัง ต.จะบังติกอ ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี ขณะที่ครูมาโนชกำลังเดินทางไปสอนพิเศษให้กับเด็กๆ ที่โรงเรียนเทศบาล 1

เหตุดังกล่าวทำให้ ครูมาโนช ได้รับบาดเจ็บสาหัส และไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลปัตตานี

ทั้งนี้ เหตุการณ์คนร้ายยิงครูมาโนชจนเสียชีวิต เกิดขึ้นก่อน "วันครู" ซึ่งตรงกับวันที่ 16 ม.ค.ของทุกปีเพียงวันเดียว และในวันจันทร์ที่ 17 ม.ค.ที่จะถึงนี้ องค์กรวิชาชีพครูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เตรียมจัดงาน“วันครู...ร่วมรำลึกคุรุวีรชนชายแดนใต้” ที่ จ.ปัตตานี ด้วย โดยเชิญ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งนายกฯได้ตอบรับเดินทางไปร่วมงานดังกล่าวแล้ว โดยเป็นกิจกรรมเชิดชูวีรชนในวงการการศึกษาของพื้นที่ พร้อมร่วมทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลและรำลึกถึงคุณงามความดีของข้าราชการครูที่ล่วงลับไปจากเหตุการณ์ความไม่สงบตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา รวมทั้งสิ้น 137 ราย

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
------------------------------------------------------------------

พระคุณครู

“ปาเจราจริยาโหนฺติ คุณุตฺตรานุสาสกา ปญฺญาวุฑฺฒิกเร เต เต ทินฺโนวาเท นมามิหํ”

เด็กไทยที่ผ่านการศึกษาตามหลักสูตรจะจำ “บทสวดเคารพครู” เนื่องในวันครูได้ดี ซึ่งวันที่ 16 มกราคมของทุกปีถือเป็น “วันครูแห่งชาติ”

แม้เด็กนักเรียนวันนี้จะเข้าใจความหมาย “วันครู” น้อยลง ขณะที่ “ครู” ก็อาจไม่สนใจกับ “วันครู” เช่นกัน แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าครูในความรู้สึกของคนไทยนั้นเปรียบเสมือนพ่อแม่คนที่ 2 ของลูกหลาน เพราะครูคือผู้อบรมสั่งสอน ถ่ายทอดความรู้ และสร้างภูมิปัญญา เพื่อให้ลูกศิษย์เป็นคนดีและมีความรู้ความสามารถ

ครูจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งกับสังคม แม้วันนี้ครูจะมีความใกล้ชิดกับลูกศิษย์น้อยกว่าในอดีต แต่ครูยังเป็นผู้มีพระคุณอันสูงสุดกับลูกศิษย์ เพราะเป็นผู้ให้ทั้งความรัก ความเมตตา ความห่วงใย และความเสียสละ ไม่ใช่ทำหน้าที่แค่เป็นลูกจ้างหรือข้าราชการที่รับเงินเดือนเป็นค่าตอบแทนไปวันๆ

แม้ครูไทยจะมีปัญหามากมายจนถือว่าอยู่ในขั้น “วิกฤต” แต่ครูส่วนใหญ่ก็ยังทำหน้าที่อย่างไม่ท้อแท้ ทั้งที่ครูประสบปัญหาสารพัด ไม่ใช่แค่เรื่องรายได้ที่ไม่เพียงพอกับภาวะค่าครองชีพเท่านั้น แต่ปัญหาสำคัญคือนโยบายการศึกษาในทุกระดับยังเหมือนยืนตายซาก

เพราะที่ผ่านมาการปฏิรูปการศึกษาเป็นแค่เศษกระดาษหรือนโยบายที่สวยหรู และไม่มีรัฐบาลใดเลยที่สามารถปฏิรูปการศึกษาได้อย่างที่แถลง ระบบการศึกษาไทยจึงวิกฤตมาจนทุกวันนี้ ขณะที่ครูในฐานะผู้สอนและใกล้ชิดที่สุดกับลูกศิษย์ก็ต้องประสบปัญหาทั้งในระบบการศึกษาและระบบการบริหารภายในที่เหมือนหัวมังกุท้ายมังกร

แต่ไม่ว่าระบบการศึกษาจะวิกฤตและมีปัญหาอย่างไร ครูก็ยังเป็นครูที่ต้องให้การอบรมสั่งสอนและถ่ายทอดความรู้ให้แก่ลูกศิษย์เหมือนลูกหลานของตัวเอง

ครูจึงเป็นปูชนียบุคคลที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในทุกสังคม เพราะครูคือบุคคลแรกที่จะสร้างทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ

ครูจึงไม่ได้ให้การศึกษาแค่ด้านวิชาการ แต่ยังต้องมีความเสียสละในการดูแลอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ เพื่อให้ลูกศิษย์ได้แสงสว่างแห่งปัญญาและเป็นคนดีของสังคม

วันที่ 16 มกราคมของทุกปีจึงไม่ใช่แค่เด็กจะต้องระลึกถึงพระคุณของครูเท่านั้น แต่ทุกคนในสังคมควรระลึกถึงพระคุณครูที่ต้องทำงานด้วยความเสียสละ เพื่อทำให้คนในสังคมเป็นคนดีและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ไม่ใช่เก่งแต่โกงหรือเก่งแต่ชั่ว

โดย หนังสือพิมพ์โลกวันนี้รายวัน

**********************************************************************

ขโมยจับโจร! ทุจริตอภิสิทธิ์ชน ในกล่องของขวัญ 9 ชิ้น

แม้จะยังไม่มีใครทราบว่าชะตากรรมของ 7 คนไทย และอนาคตของเส้นแบ่งราชอาณาจักรไทย-กัมพูชา จะไปจบลง ณ ตรงจุดไหน แต่วาระแห่งเกมการเมืองไทย ยังคงดำเนินไปในท้องร่องคูคลองน้ำเน่าอันฟอนเฟะได้อย่างสะอิดสะเอียนหัวใจโดยต่อเนื่อง

คล้อยหลังกันไม่ทันข้ามวัน พลันที่ “นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” กดปุ่มปล่อยคาราวานประชาวิวัฒน์ของขวัญ 9 ข้อ ทีมงานพรรคเพื่อไทยก็ตัดริบบิ้นเปิดตัวหนังสือ “ทุจริต อภิสิทธิ์ชน” ล้อไปกับ เครือข่ายนอกสภาที่ระดมพลเสื้อแดงกว่า 3 หมื่นชีวิตมาชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์

รับกันเป็นฉากๆ ตามประสาการชิง จังหวะเกมเขี้ยวทางการเมือง ประหนึ่งหวังรักษาพื้นที่ข่าวไม่ให้หลุดจากซีนประ เทศไทย หวังผลไกลไปถึงการเลือกตั้งใหญ่ ที่ใกล้เข้ามาทุกขณะจิต..กางโบรชัวร์ดูโรด แมปการเมืองของ 2 คู่กัด จะพบว่า วาระเกทับของขวัญ 9 ชิ้น ของ “นายกฯ อภิสิทธิ์” ประกอบไปด้วย

1.ให้ผู้ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ได้รับสิทธิประโยชน์เจ็บป่วยเสียชีวิต รวมถึงเบี้ยชราภาพ หรือประชาชนจ่ายเงิน 100/150 บาทต่อเดือน จ่าย 70 บาทรัฐสมทบ 30 บาท หรือ จ่าย 100 บาทรัฐสมทบ 50 บาท กรณีหลังจะประกันกรณีชราภาพด้วย

2.การเข้าถึงสินเชื่อเป็นกรณีพิเศษ ให้กับแท็กซี่และหาบเร่แผงลอย ที่เชื่อว่าจะเป็นลูกค้าชั้นดีของสถาบันการเงิน เพราะมีรายได้ชัดเจน

3.ขึ้นทะเบียนมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จัดทำบัตร ให้เบอร์เสื้อวิน จยย. แจกหมวก นิรภัย ปรับปรุงวิน การทำบัตรจะนำไปสู่การพัฒนาสวัสดิการ

4.เพิ่มจุดผ่อนปรนให้หาบเร่แผงลอย หวังลดรายจ่ายนอกระบบและจะจัดโซนการค้าให้เป็นระบบระเบียบ แต่จะไม่กระทบ ผู้ใช้ทางเท้า

5.นำเงินกองทุนน้ำมัน ตรึงราคาก๊าซ แอลพีจี ภาคครัวเรือน ภาคขนส่ง แต่จะเลิก อุดหนุนภาคอุตสาหกรรม

6.ลดการจัดเก็บค่าไฟกับผู้ใช้ต่ำกว่า 90 หน่วยแบบถาวร ไม่ใช้เงินภาษี แต่จะปรับการจัดเก็บค่าธรรมเนียม ใครใช้ไฟฟ้า มากก็จ่ายมาก

7.หาทางลดต้นทุนภาคการเกษตร โดยเฉพาะอาหารสัตว์และพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ปรับรูปแบบไข่ไก่ขายโดยการชั่งกิโล

8.กรณีราคาไข่ไก่ จะนำร่องซื้อขาย เป็นกิโลฯ เพื่อประหยัดค่าคัดแยกได้ถึง 50 สต. โดยเริ่มทดลองในเขตมีนบุรี

และ 9.ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตั้งเป้าลดให้ได้ 20% ใน 6 เดือน เพิ่มกล้องวงจรปิดบุคลากร บูรณาการทำงาน

ในทางคู่ขนาน วาระบลัฟแหลกของ พรรคเพื่อไทยผ่านหนังสือ “ทุจริต อภิสิทธิ์ชน” นั้น ก็ได้รวบรวมข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการทุจริตในโครงการของรัฐโดยแบ่งกลุ่ม ให้ประชาชนได้เห็นภาพดังต่อไปนี้

1.การบริหารราชการแผ่นดินที่เข้าข่ายละเว้นหรือปล่อยให้เกิดการทุจริต คอร์รัปชั่นจนทำให้เกิดความเสียหายต่อเงินงบประมาณแผ่นดิน ประกอบด้วยโครงการจัดซื้อรถ เรือดับเพลิงของกรุงเทพมหานคร โครงการชุมชนพอเพียง ปลากระป๋องเน่า โครงการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ ของกองทัพ และโครงการถนนปลอดฝุ่น

2.การบริหารราชการแผ่นดินที่ พบว่า อาจมีการเอื้อให้เกิดการทุจริต ประ กอบด้วย โครงการประมูลสินค้าการ เกษตร โครงการจัดหาครุภัณฑ์กระทรวงสาธารณสุข โครงการจัดหาครุภัณฑ์กระทรวงศึกษาธิการ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง

3.การบริหารราชการแผ่นดินที่ผู้มีอำนาจอาจใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้ พวกพ้องหรืออาจใช้อำนาจหน้าที่ในการแสวงหาประโยชน์ ประกอบด้วย อัพเกรด การบินไทย ใครๆ ก็อยากได้อภิสิทธิ์ ซื้อเครื่องบินไม่มีเก้าอี้ เที่ยวบินอภิสิทธิ์เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน การแต่งตั้งตำรวจ การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ โครงการรถเข็นกระเป๋าสุวรรณภูมิ โครงการจัดหา ปืนเล็กยาว การออกเอกสารแสดงสิทธิ์ที่ดินบนเขาแพง การสอบเข้าโรงเรียนนาย อำเภอ เอสเอ็มเอส นายกฯ กับความเป็น สองมาตรฐาน การแทรกแซงและการปิดกั้นสื่อ

และ 4.การบริหารราชการแผ่นดินที่ผิดพลาดล้มเหลว ไม่เป็นไปตามนโยบาย หรือไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายหรือไม่คุ้มค่า กับงบประมาณ ประ กอบด้วย โครงการเรียนฟรี 15 ปี ค่าเงิน บาท ราคาน้ำมัน โครงการรถเมล์บีอาร์ที แก้ปัญหายาเสพติด งบประมาณประชา สัมพันธ์ของรัฐบาล งบประมาณการจัดกิจกรรมของรัฐบาล การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ โครงการเช็คช่วยชาติ ปัญหาการแก้หนี้นอกระบบ การประกาศใช้ พ.ร.ก. ในสถานการณ์ฉุกเฉินและการปราบปราม ประชาชน

ที่นำมาเปรียบเทียบแบบยกกระบิ ก็ไม่มีนัยยะแฝงเร้นอะไรมากมาย นอกจากต้องการให้เห็นภาพในทฤษฎีหัวกลับ ที่ครั้งหนึ่ง “รัฐบาลอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร” เคยใช้ประชานิยมกลบเกลื่อนแผลทุจริตคอร์รัปชั่นสีเทา แต่มาวันนี้เปลี่ยนฝั่งมาเป็น “รัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์” เองที่เบี่ยงเบน ข้อกล่าวหาด้วยสารพัดวิธีเดิมๆ และเชื่ออย่างลึกๆ ว่า ไม่ว่าใครก็แล้วแต่ที่เข้ามาเป็นรัฐบาล ก็จะต้องงัดพิมพ์เขียวเหล่านี้ขึ้นมาใช้

เนื่องด้วยรากเหง้าแห่งการทุจริตคอร์รัปชั่น มันได้ถูกยกระดับขึ้นมาในประ เทศไทยอย่างสมบูรณ์แบบ แถมเผอิญยืนอยู่บนตรรกะอันน่าวังเวงหัวใจที่ว่า “คุณจะไม่โกง ในต่อเมื่อคุณไม่มีโอกาสเข้ามาโกง” สรุปคือต่อให้ทั้งรวยล้นฟ้า หล่อรากดิน หรือดีเลิศประเสริฐศรีมาจากแห่ง หนใด คุณก็ยากที่จะยับยั้งชั่งใจได้หากคุณ ได้รับโอกาสเข้ามาดำรงตนในฐานะผู้ทรงเกียรติ

ถ้าไม่เชื่อถาม ท่านบรรหาร คุณเนวิน ฯพณฯ สุวัจน์ หรือแม้กระทั่ง ป๋าเหนาะดูได้ เพราะท่านเหล่านี้ จะเข้าใจและ สันทัดกรณีดังกล่าวเป็นอย่างดีอนิจจา..ประเทศชาติ เข้าคูหาเลือกขโมยมาจับโจร สุดท้ายประชาชน รับกรรม!!!

ที่มา.สยามธุรกิจ
-------------------------------------------------------------

ดินแดนที่ “เกือบไม่มี” เสรีภาพ

วันนี้หนังสือพิมพ์และแหล่งข่าวหลายแห่งพากันกล่าวถึงการจัดอันดับ “เสรีภาพในโลก” ขององค์กร Freedom house ในวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา ประเทศไทยยังคงถูกจัดอยู่ในประเภทของ “ประเทศที่มีเสรีภาพเพียงบางส่วน” โดยอยู่ในประเภทดังกล่าวติดกันเป็นเวลา 4 ปี ส่วนลำดับของสิทธิทางการเมืองและเสรีภาพของพลเรือนยังอยู่ในลำดับเดิมตั้งแต่ปีที่แล้ว องค์กร Freedom House กล่าวอย่างคร่าวๆว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เสรีภาพของพลเรือนลดลงอย่างต่อเนื่องในหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ หากพิจารณาถึงเหตุการณ์ที่เพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้

แม้องค์กร Freedom House จะสังเกตเห็นว่าว่า ความเป็นประชาธิปไตยในประเทศไทยนั้นตกต่ำลง แต่รัฐบาลอภิสิทธิ์ควรจะดีใจที่องค์กร Freedom House ไม่ได้ประนามรัฐบาลรุนแรงกว่านี้ เพราะมันยากที่จะเชื่อว่าเสรีภาพโดยรวมของประเทศไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากจากปีที่แล้ว เพราะมีการใช้พรก.ฉุกเฉินติดต่อกันเป็นเวลาถึง 9เดือน จะเห็นว่ารัฐบาลไทยได้ประโยชน์จากการจัดลับดับที่เต็มไปด้วยอคติขององค์กร Freedom House ที่มีมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น นักรัฐศาสตร์อย่าง Kenneth Bollen ได้แสดงทัศนะว่าองค์กร Freedom House มักจะผ่อนปรนกับเผด็จการที่เป็นมิตรกับรัฐบาลอเมริกามากกว่า เราลองจินตนาการดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับการจัดลำดับเสรีภาพในเวเนซูเอล่าหาก Hugo Chavez สังหารผู้ชุมนุมกว่า 90 รายบนท้องถนนกรุงคาราคัส หรือบิดเบือนการใช้กฎหมายฉุกเฉิน ข้อเท็จจริงคือ ลำดับของสิทธิพลเรือนในเวเนซูเอล่าลดลงอย่างต่อเนื่องในหลายปีที่ผ่านมา แม้ Hugo Chavez ไม่ได้กระทำเรื่องดังกล่าวเลยก็ตาม

นอกจากนี้ ใครก็ตามที่หวังดีกับประเทศไทยอย่างแท้จริงก็ต้องรู้สึกแย่เมื่อต้องทนดูประเทศไทยกำลังจมดิ่งลงสู่หุบเหวภายการนำของรัฐบาลนี้ เพราะการจัดลำดับ “สิทธิทางการเมือง” ในประเทศไทย (ได้คะแนนลำดับ 5) ถูกจัดให้อยู่ในลำดับเดียวกับประเทศอย่างประเทศบูร์กินาฟาโซ, บุรุนดี, สาธารณรัฐแอฟริกากลาง, แกมเบีย, อูกานดา, กินี, อิรัค, โคโซโว, คีร์กีซสถาน, เลบานอน, โมรอคโค, ไนเจอร์, สิงคโปร์, ศรีลังกา, โทโก และเวเนซูเอล่า ในขณะที่คะแนนในเรื่อง “สิทธิพลเรือน” นั้นดีกว่านิดหน่อย (ได้ 4คะแนน) และอยู่ในลำดับเดียวกับประเทศอาร์มาเนีย, บังคลาเทศ, โคลัมเบีย, โคโมรอส, ติเมอร์ตะวันออก, ฟิจิ, กัวเตมาลา, กินี-บิสเซา, ฮอนดูรัส, โคโซโว, ลิเบอร์เลีย, มาดากัสการ์, มาลาวี, มาเลเซีย, มัลดีฟส์, โมรอคโค, เนปาล, นิคาร์รากัวร์, ไนเจอร์, ไนจีเรีย, สิงคโปร์, ศรีลังกา, โทโก, อูกานดา และแซมเบีย

แม้ว่ามาตรฐานของระบอบประชาธิปไตยของไทยจะตกต่ำเป็นเวลาหลายปี แต่การที่ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ลำดับเดียวกับประเทศเหล่านั้นถือเป็นสิ่งที่น่าอับอาย

ประการแรกคือ ประเทศไทยพัฒนาไปไกลกว่าประเทศอื่นที่อยู่ในลำดับเดียวกันในการจัดลำดับสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเรือน ซึ่งยกเว้นประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ที่พัฒนากว่าประเทศไทยในแง่ของความมั่งคั่ง อายุขัยของประชากร และระบบการศึกษาเท่านั้น แต่ทั้งสองประเทศนี้ไม่ได้เป็นประเทศตัวอย่างที่ดีในแง่ของเสรีภาพและระบอบประชาธิปไตยเลย ประเทศอย่างแซมเบีย, แกมเบีย, มาลาวี, กินี,สาธารณรัฐแอฟริกากลาง ,บูร์กินาฟาโซ, ลิเบอร์เลีย, กินี-บิสเซา, บุรันดี และไนเจอร์ถูกจัดให้อยู่ใน 20 ลำดับสุดท้ายของประเทศด้อยพัฒนาที่สุด
ประการที่สอง สถาบันทางประชาธิปไตยในประเทศไทยได้เริ่มพัฒนามายาวนาน โดยประเทศส่วนใหญ่ที่ถูกจัดให้อยู่ในลำดับเดียวกับประเทศไทยนั้นต่างเคยเป็นประเทศในอาณานิคมของตะวันตกมาก่อน และเมื่อไม่นานมานี้มีเหตุการณ์วุ่นวายและสงครามกลางเมืองเกิดขึ้นในบางประเทศเหล่านี้ด้วย ส่งผลให้ประชาชนหลายแสนคนเสียชีวิต เป็นเวลากว่า 8ทศวรรษแล้วที่ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แต่ประเทศไทยยังคงถูกจัดให้อยู่ในลำดับเดียวกันกับประเทศอย่างเลบานอน, ลิเบอร์เลีย, ไนจีเรีย หรือศรีลังกา

ประเทศที่องค์กร Freedom House จัดให้อยู่ในลำดับเดียวในประเทศไทยนั้น อาจมีข้ออ้างที่ฟังขึ้นว่าเหตุใดจึงไม่มีความเป็นประชาธิปไตย แต่ประเทศไทยนั้นหมดข้ออ้างไปนานแล้ว ปัญหาของระเทศไทยไม่ได้อยู่ที่เรื่องความไม่พัฒนาหรือขาดความคุ้นเคยกับประชาธิปไตย แต่อยู่ที่ตัวของผู้นำ กลุ่มอำมาตย์ที่ปกครองประเทศโดยไม่ฟังเสีียงประชาชนมักชอบอ้างว่าตนเองนั้นเป็น “คนดี” และ “มีคุณธรรม” ท้ายที่สุดแล้ว ประเทศไทยสมควรมีรัฐบาลที่ดีเท่ากับประชาชน แต่เป็นที่ชัดเจนว่า หนทางนั้นยังอีกไกล

ที่มา.ประเทศไทย Robert Amsterdam

วันศุกร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2554

ตื่นกันหรือยัง !!!!????????

สายไปเสียแล้ว...สำหรับการจะหันกลับไปเผชิญหน้ากับ...กัมพูชา...ในเรื่องที่ได้กระทำการจับกุม...7 คนไทย...ในข้อหาบุกรุก

เขตแผ่นดินดังกล่าว...ทั้ง 2 ประเทศ...ยังถือว่าเป็นเขตทับซ้อน...คือถือกรรมสิทธิ์ทั้ง 2 ฝ่าย...แต่ให้ประชาชนทั้ง 2 ประเทศไปมาหาสู่กันได้..

แต่หากจะว่ากันในยาวนานย้อนหลังกันเข้าไป...แผ่นดินเหล่านี้เคยเป็นของประเทศไทย...แต่มาเปลี่ยนแปลงไปเพราะแสนยานุภาพของฝรั่งเศส..ที่เข้าเกี่ยวข้องยึดครอง

ในวันที่ประเทศเหล่านี้ได้รับอิสรภาพ..คนไทยที่อยู่ในครอบครองของฝรั่งเศส..ไม่ได้รับการสนับสนุนให้ขอกลับมาเป็นอาณาเขตของไทย และดูเหมือนว่า..รัฐบาลไทยหรือกองทัพไทยในขณะนั้น..ไม่ได้ทำในสิ่งที่ต้องทำ..ที่จะเรียกร้องขอคืนในสิ่งที่ต้องเรียกร้องขอคืน..

ไทยไม่ยอมต่อสู้เพื่อไม่ให้แผ่นดินต้องสูญเสียไป และเมื่อมีโอกาสก็ไม่ได้ต่อสู้เพื่อ
จะเอากลับคืนมา

เราจึงมีคนไทยที่ไปพลัดหลงตกค้างอยู่ในประเทศข้างบ้าน..และทอดทิ้งเขาเหล่านั้นไว้กับแผ่นดินที่บรรพบุรุษไทยได้ล้มตายลงไปเพื่อที่จะได้และครอบครอง
ก็เหมือนกับเวลานี้

กองทัพจะมีอาวุธไปทำไม หากไม่คิดจะทำสงครามเพื่อรักษาไว้ซึ่งแผ่นดินที่ปู่ย่าตายาย..ได้ตายทับถมเพื่อที่จะได้มันมาและรักษามันไว้

จะใช้อีกหลายหมื่นล้าน..สร้างกองพลม้าสงคราม..แค่เอาไว้สวนสนาม..เลี้ยงลาเลี้ยงรับ..แม่ทัพเท่านั้นหรือ..

กองทัพที่ไม่เคยคิดจะรบกับใคร..กองทัพที่ไม่เคยรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ของแผ่นดิน หรือ
รู้เรื่องราวแต่ขลาดที่จะพูดถึงกล่าวถึง..จะสะสมแสนยานุภาพไปทำไม เพราะหากจะมีไว้เพื่อความมั่นคงภายใน..แต่ไพร่ราบพลปืนไม่กี่พันก็ฆ่าคนไทยได้หมดประเทศแล้ว หากอยากจะทำ
ผู้นำที่โง่เขลา ได้กระทำการอย่างโง่เขลาและแก้ปัญหาอย่างโง่เขลา เสียแผ่นดินครั้งแล้วครั้งเล่าให้กับประเทศที่อ่อนแอกว่า แต่แกล้วกล้าเหลือหลายที่จะสาดกระสุนใส่ประชาชนคนมือเปล่า..ที่ร่ำร้องแค่การ
เลือกตั้ง
ตื่นกันหรือยัง!!!..ตื่นกันหรือยัง??????

โดย. พญาไม้ทูเดย์พญาไม้.บางกอกทูเดย?

เสื้อแดง′54

โดย ปราปต์ บุนปาน

(ที่มา คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 13 มกราคม 2553)9 มกราคม 2554 ขณะที่นายกรัฐมนตรีประกาศมอบของขวัญปีใหม่แพคเกจสวยหรูให้แก่ประชาชน

"กลุ่มคนเสื้อแดง" ก็ประเดิมศักราชใหม่ ด้วยการนัดชุมนุมกันที่ถนนราชดำเนิน ก่อนเคลื่อนขบวนไปยังสี่แยกราชประสงค์

ด้วยจำนวนคนเข้าร่วมหลายหมื่นอีกเช่นเคย

(เจ้าหน้าที่รัฐประมาณว่า 3 หมื่น ขณะที่ "สมบัติ บุญงามอนงค์" ทวีตข้อความว่า คนเสื้อแดงไปรวมตัวกัน ณ สี่แยกราชประสงค์ในวันนั้นมากที่สุด นับตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เป็นต้นมา)

ดังนั้น ใครที่พยายามทำนายทายทักว่าในปี 2554 ประเทศไทยจะต้องเผชิญหน้ากับอนาคตแบบไหนบ้าง

จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงที่จะนับรวม "คนเสื้อแดง" เป็นปัจจัยหนึ่งในการทำนายดังกล่าวไปได้พ้น

แต่ก็มีหลายเรื่องที่เราต้องขบคิดเกี่ยวกับ "คนเสื้อแดง" เช่น

เมื่อวันที่ 9 มกราคม "ทักษิณ ชินวัตร" โฟนอินมายังเวทีเสื้อแดงอีกครั้ง หลังจากห่างหายไปนาน

บางคนบอกว่า ณ ตอนนี้ ทักษิณดูจะเป็นฝ่ายเลือกเกาะ "คนเสื้อแดง" ที่มีจำนวนหนาแน่นคงเส้นคงวา

มากกว่าที่คนเสื้อแดงจะเลือกยกทักษิณเป็น "สัญลักษณ์นำสูงสุด" ในการเคลื่อนไหว

อย่างไรก็ตาม เป็นที่แน่นอนว่า "คนเสื้อแดง" ไม่มีทาง "ก้าวข้าม" ให้พ้นไปจากทักษิณได้อย่างสมบูรณ์

เพราะ "คนเสื้อแดง" และทักษิณ รวมทั้งปัญหาของทั้งสองฝ่าย ล้วนมีจุดกำเนิดร่วมกันอยู่

และอย่าว่าแต่ "คนเสื้อแดง" เลย เพราะคนกลุ่มอื่นๆ ในสังคมไทยต่างก็ก้าวข้ามไม่พ้นไปจากอะไรหลายๆ อย่างด้วยกันทั้งนั้น (เช่น ประเด็นชาตินิยม เป็นต้น)

ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่ควรตั้งคำถามก็คือ "คนเสื้อแดง" ในปี 2554 จะจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับทักษิณอย่างไรและแบบไหน

เหมือนกับที่หลายท่านกำลังเรียกร้องให้สังคมการเมืองไทยต้องจัดวางความสัมพันธ์ทางอำนาจของตนเองเสียใหม่นั่นแหละ

ประเด็นต่อมา คือ คนจำนวนไม่น้อยเห็นว่า "แกนนำ นปช.รุ่นใหม่" กำลังใช้กลไกที่เป็น "อาวุธร้ายแรง" ทางกฎหมาย (ซึ่งขบวนการประชาธิปไตยไม่ควรใช้) มาทำลายล้างกลุ่มคนบนอีกฝั่งฟากทางการเมือง

ถ้ามองในเชิงหลักการ "แกนนำ นปช." จึงกำลังทำในสิ่งที่ฝ่ายตรงข้ามของตนเองเคยทำ

และแทนที่จะรณรงค์ให้สังคม "เปิดกว้าง" มากขึ้น พวกเขากลับเลือกใช้วิธีการที่จะทำให้สังคมไทย "เงียบ" ต่อไป

แต่บางคนบอกว่านี่เป็นกลยุทธ์ทางการเมืองของ "แกนนำ นปช."

ปัญหาคือ แกนนำกลุ่มนี้จะเลือกอะไร ระหว่าง "หลักการที่ดี" หรือ "กลยุทธ์ที่ซับซ้อน"

จะเลือกอะไรระหว่างการไปถึง "เป้าหมาย" อย่างอ้อมๆ หรือ การเคลื่อนไหวอย่างถูกต้องทั้งในเชิง "วิธีการ" และ "เป้าหมาย"
ประเด็นสุดท้าย เป็นเรื่องเกี่ยวกับสื่อกระแสหลักและ "คนเสื้อแดง"
2-3 ปีที่ผ่านมา สื่อมีโอกาสมากมายที่จะสัมภาษณ์พูดคุยเจาะลึกเรื่องราวหลากหลายมิติของ "คนเสื้อแดง"

"คนเสื้อแดง" ที่ไม่ใช่แค่ "มวลชน" อันน่าเกลียดน่ากลัว หรือ "มวลชน" จำนวนมากมายมหาศาลอันน่าตื่นตาตื่นใจ

แต่เป็น "ปัจเจกบุคคล" ที่มีปัญหาเบื้องหลังแตกต่างกันไป ทว่าอาจมีจุดยืนบางอย่างร่วมกันอยู่หลวมๆ

น่าเสียดาย ที่สื่อกระแสหลักฉวยโอกาสนั้นไว้ไม่ได้มากนัก
หลังวันที่ 19 พฤษภาคมปีก่อน เป็นต้นมา "คนเสื้อแดง" ถูกผลักให้มีจุดยืนบางประการร่วมกันอย่างหนักแน่นมั่นคงจริงจังยิ่งขึ้น

พวกเขาสร้าง "ไวยากรณ์" ใหม่ๆ มาสื่อสารกันเองในที่ชุมนุมมากขึ้น

ซึ่งทำให้สื่อมวลชนเข้าถึง "ชุดภาษา" เหล่านั้นยากขึ้น

กระทั่งส่งผลให้สังคมไทยคาดเดาอนาคตของตนเองที่ยึดโยงอยู่กับ "คนเสื้อแดง" ได้ลำบากขึ้นตามไปด้วย