โดย : วีรพงษ์ รามางกูร
ในระยะ 10 กว่าปีที่ผ่านมา จีนกลายเป็นหัวรถจักรเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลกก็ว่าได้ เพราะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและของยุโรปได้พัฒนาขึ้นไปจนไม่สามารถแข่งขันกับประเทศรายได้ปานกลางและประเทศที่เกิดใหม่ได้เพราะค่าแรง ฐานะความเป็นอยู่ สูงเกินกว่าจะรับค่าแรงที่ไม่สามารถดำรงความเป็นอยู่ของความเป็นประเทศที่พัฒนาได้จีนจึงกลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ล่าสุดที่มีความสามารถในการแข่งขันในเวทีการค้าโลกได้โดยอาศัยความที่มีจำนวนประชากรในวัยทำงานสูง ค่าแรงที่แท้จริงจึงต่ำ แรงงานมีคุณภาพ แม้ว่าอินเดียและบราซิล รัสเซีย จะมีลักษณะหลายประการคล้ายคลึงกับจีน แต่ประชากรจีนมีคุณภาพมากกว่า ทั้งเรื่องความขยันขันแข็ง อดทน สู้งานและไวต่อการเรียนรู้ เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนเปลี่ยนนโยบายเปิดเสรีทางด้านเศรษฐกิจ เศรษฐกิจของจีนจึงเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดด ขยายตัวขึ้นในอัตราที่สูงกว่าตัวเลข 2 หลักมาเป็นเวลานานกว่า 2 ทศวรรษ
การที่เศรษฐกิจของจีนขยายตัวในอัตราที่สูงเป็นเวลานาน การจ้างคนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อัตราการว่างงานลดลงอยู่ตลอดเวลา ประกอบกับนโยบายการมีบุตรคนเดียวของพรรคคอมมิวนิสต์จีน รวมทั้งการใช้จ่ายที่สูงขึ้นตามฐานะทางเศรษฐกิจของประชาชน
ขณะเดียวกัน การที่จีน อินเดีย บราซิล รัสเซีย มีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกได้มากขึ้น ก็ยิ่งทำให้สหรัฐอเมริกาและยุโรปขาดดุลการค้าและขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมากขึ้นและเป็นระยะเวลาที่ยาวนานการที่สหรัฐอเมริกาและยุโรปขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นเวลายาวนาน เพราะความสามารถในการแข่งขันต่ำกว่าประเทศเหล่านี้ จึงทำให้อัตราการว่างงานสูงขึ้นเรื่อยๆ
ในที่สุดกำลังซื้อของประเทศเหล่านี้ก็อ่อนตัวลง ซึ่งทำให้ตลาดส่งออกของจีนอ่อนตัวลง อัตราการขยายตัวของการส่งออกของจีนจึงขยายตัวในอัตราที่ช้าลงมาเรื่อยๆ เป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เคยเป็นตัวเลข 2 หลักก็ลดลงมาเรื่อยๆ จนบัดนี้ทางการจีนประกาศเป้าหมายของการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2558 นี้ไว้ที่ 7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็ยังเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงที่สุดในโลกอยู่
แต่อัตราเช่นว่านี้จีนคงจะรักษาไว้ไม่ได้ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเช่นว่าคงจะลดลงเรื่อยๆ
ในขณะที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนลดลงจีนจึงพยายามกระตุ้นการใช้จ่ายในการบริโภคให้มากขึ้นเพื่อเป็นการชดเชย ขณะเดียวกันก็ลดภาษีขาเข้า ส่งเสริมให้มีการนำเข้าสินค้าเพื่ออุปโภคและบริโภคมากขึ้น รวมทั้งสนับสนุนให้คนจีนเดินทางทั้งในประเทศและต่างประเทศมากขึ้น เพื่อลดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและลดความกดดันให้ค่าเงินหยวนแข็งขึ้น
ในขณะที่เศรษฐกิจของจีนขยายตัวในอัตราที่สูงอีกด้านหนึ่งของภาคเศรษฐกิจก็คือภาคการเงิน ตลาดการเงินทั้งตลาดเงินและตลาดทุนก็ขยายตัวในอัตราที่สูง สูงยิ่งกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ตลาดเงินและตลาดทุนอันได้แก่สินเชื่อ ราคาหุ้นและราคาตราสารหนี้ ทั้งของรัฐบาล ของรัฐวิสาหกิจและของเอกชนก็ขยายเพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าจีนจะยังไม่ยอมเปิดเสรีทางการเงิน ทั้งการเคลื่อนย้ายเงินทุนกับต่างประเทศก็ดี การปริวรรตเงินตราต่างประเทศก็ดี รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ธุรกรรมต่างๆ เหล่านี้ยังอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของทางการ แม้ว่าจีนจะเกินดุลมาเป็นเวลานานและได้รับความกดดันจากไอเอ็มเอฟและสหรัฐให้เปิดเสรีทางการเงินและยอมให้ค่าเงินหยวนแข็งขึ้นก็ตามจีนอ้างว่าหากทำเช่นนั้นแล้วเศรษฐกิจจีนก็จะกลายเป็นเศรษฐกิจฟองสบู่ อย่างเดียวกับที่อังกฤษ อิตาลี สเปน ญี่ปุ่น ฮ่องกง เกาหลีใต้ ประเทศไทย และประเทศอื่นๆ เคยประสบมาแล้ว
เศรษฐกิจฟองสบู่มักจะเริ่มจากการเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์ แล้วก็จะลุกลามไปที่ตลาดเงินและตลาดทุน ส่งผลต่อเนื่องไปยังภาคเศรษฐกิจอื่นๆ เงินทุนจากต่างประเทศก็จะไหลเข้ามาเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์ ตลาดหุ้นตลาดพันธบัตรและตลาดตราสารหนี้ปั่นราคากันขึ้นไปแล้วในที่สุดฟองสบู่ก็จะแตก เงินจะไหลออก ค่าเงินตกต่ำ ธุรกิจล้มละลาย กว่าจะฟื้นต้องใช้เวลานานเป็นทศวรรษ กรณีญี่ปุ่นฟองสบู่แตกเมื่อปี 2538 จนบัดนี้ก็ยังไม่ฟื้นตัวกลับไปที่เดิม
จีนจึงระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง เมื่อเศรษฐกิจจีนเริ่มจะเป็นฟองสบู่ เพราะเริ่มมีการเก็งกำไรที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ และลามไปที่ตลาดหุ้น จีนก็รีบดำเนินการตั้งแต่เนิ่นๆ โดยการจำกัดสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ จำกัดการซื้อเพื่อเก็งกำไร ห้ามต่างชาติเข้ามาซื้อ รวมทั้งขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ลดความร้อนแรงลง
ในขณะเดียวกัน ดัชนีราคาหุ้นในตลาดหุ้นทั้ง 3 ตลาดหลักของจีนคือ เซี่ยงไฮ้ ฮ่องกง ปักกิ่ง แม้แต่ตลาดเล็กอย่างเสินเจิ้น ต่างก็ล้วนถีบตัวสูงขึ้นมาโดยตลอด โดยเฉพาะตลาดหุ้นที่ใหญ่ที่สุดของจีนคือตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ กล่าวคือ ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้เคยถีบตัวสูงขึ้นจนถึง 5,166 จุด เมื่อเร็วๆ นี้ และลดลงอย่างรวดเร็วมาอยู่ที่ 3,507 จุดเท่านั้นเอง ส่วนในกรณีของฮ่องกง ดัชนีฮั่งเส็งเคยขึ้นสูงสุด 28,440 ก็ลงมาอยู่ที่ประมาณ 24,350 จุดในขณะนี้
เมื่อจีนเห็นว่าสัญญาณเศรษฐกิจเริ่มเป็นฟองสบู่ โดยกำลังจะลุกลามจากภาคอสังหาริมทรัพย์มาที่ภาคการเงินโดยเฉพาะ ทางการจีนจึงใช้มาตรการสกัดฟองสบู่ที่แรงมาก เมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่เคยประสบกับเหตุการณ์เช่นว่า จนเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงิน
มาตรการที่ทางการจีนใช้สกัดฟองสบู่ทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดหุ้นก็คือ 1) ห้ามมิให้ผู้ใดที่ถือหุ้นบริษัทใดบริษัทหนึ่งเกินกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ของทุนจดทะเบียนขายหุ้นบริษัทนั้นเป็นเวลา 6 เดือน 2) ห้ามผู้ที่มีตำแหน่งบริหารในบริษัทขายหุ้นของบริษัทตนเอง 3) เพิ่มสัดส่วนของเงินฝากต่อสินเชื่อหรือ margin สำหรับพวกที่ขายและซื้อล่วงหน้าหรือ short sell เพื่อลดการเก็งกำไรในการซื้อขายหุ้น 4) เมื่อตลาดมีความร้อนแรงขึ้นถึงจุดหนึ่ง แทนที่จะให้ตลาดหยุดทำการซื้อขายชั่วคราวทั้งตลาด หรือ circuit break แบบที่ทำในประเทศอื่นๆ แต่ใช้วิธีให้หยุดทำการซื้อขายหุ้นบางตัวที่มีการซื้อขายอย่างรุนแรง และ 5) จัดตั้งกองทุนพยุงแบบเดียวกับที่ประเทศไทยเราเคยทำ โดยให้บริษัทนายหน้าซื้อขายหุ้นหรือ brokers ลงขันกัน ขณะเดียวกันทางการก็ได้จัดสภาพคล่องหรือสินเชื่อให้สำหรับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ถือหุ้นเกินกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ของทุนจดทะเบียน รวมทั้งผู้บริหารของบริษัท เจ้าของหุ้น ในการซื้อหุ้นมาเก็บไว้เป็นการลงทุนระยะยาว
มาตรการรุนแรงดังกล่าวย่อมได้รับการวิพากษ์วิจารณ์และต่อต้านจากนักเก็งกำไรโดยเฉพาะพวกกองทุนต่างๆ ในสหรัฐอเมริกาและยุโรป เพราะการคาดการณ์ของนักเก็งกำไรผิดหมด การเคลื่อนย้ายเงินทุนเพื่อเก็งกำไรค่าเงินและราคาหุ้นกลายเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก หรืออาจจะทำไม่ได้ เพราะทางการจีนยังคงควบคุมอยู่ ยังไม่มีการเปิดเสรีทางการเงิน
การที่จีนจะพยายามทำให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินที่ใช้เป็นเงินสกุลของธนาคารกลางต่างๆของโลก เช่นเดียวกับเงินดอลลาร์สหรัฐ เงินยูโรของยุโรป เงินเยนของญี่ปุ่น จึงเป็นไปได้ค่อนข้างยาก เพราะการควบคุมของทางการจีนทำให้กลไกตลาดการเงินของเงินหยวนทำงานไม่ได้ การที่กลไกตลาดทำงานไม่ได้ นักการเงินถือว่าเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง เป็นความเสี่ยงทางการเมืองหรือความเสี่ยงจากนโยบาย ซึ่งตลาดคาดการณ์ไม่ได้ ความหวังที่จีนจะให้เงินของตนเป็น reserve currency จึงเป็นไปได้ยาก เพราะจะทำให้ค่าเงินหยวนและตลาดการเงินผันผวน เป็นอันตรายต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมือง
จีนคงจะดำรงการควบคุมตลาดการเงินต่อไป
ที่มา : นสพ.มติชน
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////