นายนณริฎ พิศลยบุตร นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะยังอยู่ในช่วงซบเซา และยังไม่กลับมาดีขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก โอกาสจะกลับคืนมาได้น่าจะเป็นในช่วงครึ่งปีหลังมากกว่า คือ ไตรมาสที่ 3-4 การฟื้นตัวน่าจะเป็นไปอย่างช้าๆ เพราะราคาสินค้าเกษตรยังตกต่ำและหนี้ครัวเรือนสูง ทำให้การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนส่งสัญญาณชะลอตัว ขณะที่การเบิกจ่ายภาครัฐ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2558 มีการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำที่ใกล้เคียงกับเป้าหมาย แต่รายจ่ายเพื่อการลงทุนยังห่างเป้าพอสมควร จึงเป็นเครื่องจักรที่ยังเดินได้พอสมควร
สำหรับการส่งออก มีเพียงตลาดสหรัฐและตลาดอาเซียนโตสูงขึ้น แต่ตลาดอื่นๆ ยังคงซบเซา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกไปจีนหดตัวลงเยอะ จึงหวังอะไรกับภาคส่งออกในปีนี้ได้ไม่มากนัก ดังนั้น ปัจจัยบวกขณะนี้ที่เห็นได้ชัดคือภาคท่องเที่ยว น่าจะเป็นเครื่องจักรที่ทำงานได้ดีมากที่สุด รัฐบาลจึงควรจะศึกษาวิเคราะห์ จัดระเบียบ ให้เครื่องจักรด้านการท่องเที่ยวทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ การบริหารจัดการภาครัฐในช่วงเศรษฐกิจย่ำแย่ ควรจะพิจารณาในมิติด้านคุณภาพเป็นสำคัญ เน้นการใช้จ่ายอย่างมีคุณภาพ โครงการรายจ่ายเพื่อการลงทุน ควรเน้นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ มากกว่าเน้นการจ่ายเงินออกไปให้มากที่สุด
ส่วนการเปรียบเทียบเศรษฐกิจไทย กับวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ของสหรัฐ คงเป็นได้ยาก เพราะว่ามีบริบทแตกต่างกัน วิกฤตไทยปัจจุบันมีปัญหามากกว่าปัญหาการส่งออก วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ของสหรัฐในครั้งก่อนเป็นวิกฤตของสหรัฐแต่ส่งผลกระทบมาสู่ไทยทางอ้อมผ่านทางการส่งออก คือหัวใจหลักของวิกฤตครั้งนั้น แต่วิกฤตปัจจุบันมีปัญหามากกว่าแค่ปัญหาการส่งออก เพราะว่าวิกฤตคราวนี้ นอกจากจะมีปัญหาด้านการส่งออกแล้ว ยังมีปัญหาทางด้านอุปสงค์ภาคครัวเรือน คือ ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกตกต่ำ และหนี้สาธารณะสูงกว่าสมัยก่อนมาก
สมัยก่อนไทยยังมีอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์กำลังรุ่งเรือง แต่ปัจจุบันทั้งสองอุตสาหกรรมมีอัตราการเจริญเติบโตชะลอลง ทั้งสองส่วนจึงเป็นปัญหาที่ดูเศรษฐกิจไทยน่าจะมีปัญหามากกว่าเดิม
ด้านนักธุรกิจจากภาคเอกชนอย่าง นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานหอการค้าไทย และรองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เชื่อว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยจะกลับมาในครึ่งปีหลัง หากรัฐบาลเร่งจัดการแก้ปัญหาในเรื่องของโครงสร้างสินค้าเกษตร และเร่งให้เกิดการลงทุนในประเทศ ปัจจุบันเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวจากปัญหาสภาพตลาดในต่างประเทศไม่ดี ประกอบกับผลกระทบจากสถานการณ์หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นในระดับสูง เป็นปัญหาสั่งสมเป็นระยะเวลานาน รวมถึงปัญหาด้านภาคการส่งออกชะลอตัวกระทบไปถึงการลงทุนต้องชะลอตามไปด้วย ระยะเวลานี้ก็ต้องช่วยกันประคองราคาสินค้าไม่ให้ขึ้นราคา คาดว่าราคาจะยังไม่ขึ้น เนื่องจากประชาชนยังไม่มีความต้องการซื้อสินค้ามากนัก
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในขณะนี้ไม่ได้ร้ายแรงถึงขั้นวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ เพราะวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐอเมริกาเป็นเรื่องของราคาสินค้าสูงลิบลิ่ว อเมริกามีเรื่องของราคาน้ำมัน ทั้งวิกฤตการเงินเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้าน มาเกี่ยวข้องด้วย ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศสหรัฐ ให้แย่ลง ต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัว ในขณะที่เศรษฐกิจไทยไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น เพียงแค่การส่งออกและการลงทุนชะลอตัว รัฐบาลจึงควรพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งปรับปรุงโครงสร้างสินค้าเกษตร และเร่งการลงทุนให้เห็นผล เกิดการจ้างงาน เพื่อพัฒนาประเทศให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง
นายธำรง ปัญญาสกุลวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์การเมืองนิ่ง หากช่วงครึ่งปีหลังนี้ ภาครัฐสามารถผลักดันงบประมาณและเดินหน้าลงทุนโครงการสาธารณูปโภคต่างๆ ทั้ง รถไฟฟ้าสายสีต่างๆ รถไฟทางคู่ รวมทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ ที่ยังช้าอยู่ออกมาได้ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ค่อยๆ ฟื้นตัวได้ เพราะขณะนี้ไม่ว่าภาคอุตสาหกรรม การเกษตร ยังซบเซา เพราะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ที่ยังไปได้ดีอยู่คือภาคการท่องเที่ยว หากสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจและสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามแผนที่วางไว้ จะให้เกิดความเชื่อมั่นและทำให้เกิดการลงทุน การจ้างงาน เชื่อว่ากำลังซื้อจะเริ่มกลับมา
ส่วนภาคอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจซื้อ เนื่องจากการซื้อที่อยู่อาศัยจำเป็นต้องใช้เงินก้อนใหญ่ ประกอบกับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง สถาบันการเงินมีความเข้มงวดมากขึ้น
นายธำรงกล่าวด้วยว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยขณะนี้ถือว่าอาการหนักที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจโลกชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ถือว่ายังไม่เลวร้ายเท่าปี 2540 วิกฤตต้มยำกุ้ง เพราะสถาบันการเงินยังแข็งแกร่ง ผู้ประกอบการธุรกิจไม่มีหนี้สินเกินตัว ยังไม่มีการปลดคนงาน มองว่าสถานการณ์ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว หลังจากนี้จะเห็นการค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ตาม มองว่าหากจะเปรียบเทียบภาวะเศรษฐกิจไทยขณะนี้กับวิกฤตซับไพรม์ของสหรัฐ หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์นั้น อาจจะเปรียบเทียบกันไม่ได้ เพราะขนาดเศรษฐกิจไทยและสหรัฐมีความแตกต่างกันมาก
นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจตั้งแต่ช่วงหลังสงกรานต์เป็นต้นไปมีแนวโน้มดีขึ้นกว่าช่วงไตรมาสแรกของปี 2558 คาดว่าจะได้รับผลดีจากการบริโภคภายในประเทศ คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัว รวมถึงงบลงทุนจากภาครัฐจะเริ่มไหลเข้าระบบเศรษฐกิจได้มากขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 ของปี 2558 เป็นต้นไป ส่วนการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องจักรสำคัญของเศรษฐกิจไทยในปีนี้เริ่มดีขึ้นชัดเจน เห็นได้จากตัวเลขนักท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์ปีนี้ขยายตัวสูงกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากปีที่แล้วไทยมีปัญหาเรื่องการเมือง สำหรับการส่งออกนั้นคงต้องยอมรับว่าตลาดหลักของไทยมีปัญหาน่าจะทำให้การส่งออกในไตรมาส 2 ยังอยู่ในระดับทรงตัวและดีขึ้นในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ทั้งปีน่าจะอยู่ที่ 0% จากขณะนี้ติดลบ
สิ่งที่ภาคเอกชนต้องการคือให้ภาครัฐดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่ากว่าเพื่อนบ้าน เพราะเอกชนเข้าใจดีในเรื่องของเศรษฐกิจโลก ทำให้ตลาดหลักของการส่งออกมีปัญหา ดังนั้น การจะไปหาตลาดใหม่เพื่อมาทดแทนนั้นต้องใช้เวลาในช่วงนี้หากมีปัญหาค่าเงินมาซ้ำเติมกับปัญหาส่งออกแย่อีก ยิ่งทำให้สินค้าไทยส่งออกได้ยากขึ้น การส่งออกไทยจะมีปัญหามากขึ้น
ส่วนกรณีนายนายอภิสิทธิ์ระบุก่อนหน้านี้ว่าเศรษฐกิจในขณะนี้หนักกว่าวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ นายวัลลภกล่าวว่า ยังมองว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่มีปัญหาเหมือนวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ เพราะขณะนี้เศรษฐกิจมีแนวโน้มที่เริ่มฟื้นตัว ไม่เหมือนกับวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ที่กว่าจะเริ่มฟื้นตัวใช้เวลาหลายปี
ถ้าเทียบกันแล้วไทยใช้เวลาไม่กี่เดือนก็ฟื้นตัวจากสภาวะเมื่อปี 2556-2557 ที่ผ่านมา
ที่มา : นสพ.มติชน
/////////////////////////////////////////////////////////////////////