โดย. วีรพงษ์ รามางกูร
ปี 2557 ที่ผ่านไป เราได้เรียนรู้อะไรมากมายหลายอย่างสำหรับสังคมไทย ระบบการเมืองไทย ระบบคุณค่าของสังคมไทย ซึ่งบางครั้งเราหลงผิดคิดเอาเองว่า คนไทยหรือสังคมไทยได้พัฒนาไปไกลแล้ว ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม และอื่นๆ
ความจริงแล้วการพัฒนาของประเทศไทยคงจะมีเพียงการพัฒนาทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ในด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม การเมือง วัฒนธรรม ยังคงย่ำอยู่กับที่ แม้ว่าสังคมไทยในขณะนี้เป็นสังคมของคนรุ่นใหม่ เป็นสังคมโลกาภิวัตน์ เป็นสังคมไร้พรมแดน เป็นสังคมที่ข้อมูลข่าวสารหลั่งไหลเข้า-ออกไปมาระหว่างประเทศได้อย่างรวดเร็ว เป็นสังคมที่ให้แสดงออกได้อย่างเปิดเผย ไม่สามารถห้ามการแสดงออกได้เหมือนในอดีต
เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น การชุมนุมของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลชุดที่แล้ว ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2556 และยืดเยื้อมาจนกระทั่งเกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งหัวหน้าคณะรัฐประหารได้ตอบรับแล้วว่าได้เตรียมการมานาน ได้เข้าทำการปกครองแผ่นดินด้วยกฎอัยการศึกมาจนปัจจุบันนี้ ปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ให้บทเรียนหลายอย่าง บอกได้แม้กระทั่งว่า การปฏิวัติรัฐประหารไม่ใช่สิ่งที่ล้าสมัยในสังคมไทย การปกครองโดยรัฐบาลทหารคนไทยยังคงรับได้ ทั้งๆ ที่ระบอบเช่นว่านี้เกือบจะไม่มีในโลกนี้แล้ว
ประการแรก ที่เห็นก็คือความขัดแย้งระหว่างชนชั้น กล่าวคือ ชนชั้นสูงที่มีอำนาจในการล้มล้างรัฐบาลยังคงดำรงความมีอำนาจเช่นว่านั้นอยู่ กลุ่มชนชั้นเหล่านี้แม้จะมีจำนวนน้อยกว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่เป็นผู้กุมอำนาจทางเศรษฐกิจ อยู่กันในเมืองหลวง ในเขตเมืองของจังหวัดต่างๆ มีฐานะทางเศรษฐกิจดี มีการศึกษาสูง ในขณะเดียวกันก็มีจิตสำนึกของการเป็นชนชั้นสูงอยู่อย่างมาก หลายครั้งในระหว่างการชุมนุมได้ประกาศไม่ยอมรับความเท่าเทียมกันทางการเมืองของชนชั้นล่างได้
สังคมคนชั้นสูงจึงมีความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตยน้อยมากการศึกษา ฐานะทางเศรษฐกิจ และอื่นๆ ไม่ได้ช่วยให้เกิดความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยเลย มิหนำซ้ำระดับการศึกษา ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม กลับกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้ความรู้สึกเรื่องชนชั้นในทางลบรุนแรงยิ่งขึ้น
ประการที่สอง สังคมไทยให้ความสำคัญหรือยึดมั่นในระบบน้อยมาก เนื่องจากประชาธิปไตยเป็นระบบของความคิดที่ยึดมั่นในหลักการเรื่องสิทธิเสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะเป็น "นามธรรม" สังคมไทยจึงไม่เข้าใจ ทำให้ถูกบิดเบือนได้ง่าย เพราะความสามารถใช้เหตุใช้ผลของสังคมไทยมีน้อย จะเห็นได้จากการเชื่อข่าวลือโดยไม่มีเหตุผล การปลุกกระแสให้เกิดอารมณ์โกรธเกลียดสามารถทำได้ง่าย และเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ยากที่จะทำให้หายไปได้ สังคมไทยจึงเป็นสังคมที่ยังเป็นเด็ก ยังเป็นสังคมที่ยังไม่โตพอที่จะแยกแยะผลดีผลเสียในเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้
ประการที่สามคนไทยยังไม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงในโลกโลกาภิวัตน์อย่างเพียงพอ ความเป็นประชากรโลกในปัจจุบัน ไม่มีประเทศไหนจะปิดตัวเองอยู่ตามลำพังแบบเดียวกับพม่า หรือประเทศในค่ายคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็นได้
พลังเศรษฐกิจ พลังตลาด การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ มีพลังมหาศาลเกินกว่าประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือกลุ่มประเทศใดกลุ่มประเทศหนึ่งจะขัดขวางหรือทวนกระแสนี้ได้
การที่ประเทศต่างๆ ต้องกลายเป็นส่วนหนึ่งของตลาดโลกในยุคโลกาภิวัตน์ ทำให้เกิด "ประชาคมโลก" หรือ "world community" เมื่อเกิดประชาคมโลก สมาชิกของประชาคมโลกก็ต้องยอมรับและปฏิบัติตามกติกา กฎระเบียบ และคุณค่าทางวัฒนธรรม การเมือง สังคม สิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาคมโลกด้วย
ระบบการปกครองที่สอดคล้องกับความเชื่อของประชาคมโลกในปัจจุบันก็คือสิทธิการปกครองแบบประชาธิปไตยซึ่งมีอยู่ 2 แบบ แบบแรกคือประชาธิปไตยในหมู่ประชาชนตามแบบตะวันตก กับประชาธิปไตยรวมศูนย์ของสมาชิก อันได้แก่ประชาธิปไตยรวมศูนย์ของประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์เดิมเท่านั้น
ประการที่สี่ ประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ในปัจจุบันทางสื่อมวลชน ระหว่างนักวิชาการก็ดี ระหว่างสมาชิกสภาปฏิรูปก็ดี ระหว่างกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญก็ดี แสดงถึงความสับสนทางความคิดของชนชั้นนำของสังคมไทย ด้านหนึ่งก็ไม่เชื่อในระบบความคิดแบบประชาธิปไตยอันได้แก่สิทธิเสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ จะด้วยต้องการรักษาสถานภาพได้เปรียบของตนในวงสังคม หรือความรู้สึกไม่มั่นคงในสถานภาพของตนที่อาจจะถูกท้าทายโดยคนชั้นล่างที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ความรู้สึกเช่นว่านี้ยังไม่ได้ลดน้อยถอยลงไปเลย ยังคุกรุ่นอยู่ตลอดเวลา
ประการที่ห้า ความตื่นตัวของประชาชนระดับรากหญ้า ตลอดครึ่งแรกของปี 2557 แสดงให้เห็นว่ามีสูงขึ้นเป็นอันมากทั้งปริมาณและลักษณะการแสดงออก ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจและกายภาพ การคมนาคม การขนส่ง รวมทั้งระบบสื่อสารมวลชน ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้การรับรู้ข้อมูลข่าวสารเป็นไปอย่างรวดเร็ว
ความจริงดังกล่าวอาจจะขัดแย้งกับสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังการทำรัฐประหารเมื่อวันที่22 พฤษภาคม เพราะทุกอย่างเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย เกินคาด ไม่มีเรื่องต่อต้าน ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากชนชั้นสูงและชนชั้นกลางในเมืองรวมทั้งสื่อมวลชนเป็นส่วนใหญ่
ความเห็นในเรื่องนี้แบ่งออกเป็น2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคิดว่าที่สถานการณ์ทุกอย่างเรียบร้อยสงบเงียบก็เพราะว่าทุกฝ่ายรอให้มีการเลือกตั้ง เพราะเชื่อว่าถ้ามีการเลือกตั้งเมื่อใด ตนก็คงจะชนะการเลือกตั้ง จึงไม่จำเป็นต้องดิ้นรนเรียกร้อง เพราะเสี่ยงกับการถูกปราบปราม เสียเลือดเนื้อ
อีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นฝ่ายที่ถืออำนาจรัฐอยู่ในปัจจุบันก็มีความรู้สึกอย่างเดียวกันกล่าวคือ ถ้ามีการเลือกตั้ง พรรคการเมืองที่ฝ่ายตนไม่ต้องการก็ยังจะชนะการเลือกตั้ง ดังนั้น การคงระบอบการปกครองโดยกฎอัยการศึกก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น แม้ภายหลังการเลือกตั้งแล้วก็ตาม ส่วนจะดำรงอยู่ยั่งยืนหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ประการที่หก เท่าที่สดับตรับฟังในวงสนทนาทั้ง 2 ฝ่าย ฝ่ายที่ถืออำนาจรัฐอยู่ ไม่ว่าจะเป็น สปช. สนช. หรือกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ โจทย์ใหญ่คือจะกำจัดอำนาจของฝ่ายการเมืองหรือพรรคการเมืองที่จะชนะการเลือกตั้งอย่างไร ความคิดเช่นว่านี้จึงทำให้รัฐธรรมนูญที่จะคลอดออกมาไม่เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นไปตามธรรมชาติของการเมืองในระบอบประชาธิปไตยทำให้ตัดสินใจไม่ได้ว่าควรจะร่างอย่างไรแบบไหน ส่วนเมื่อประกาศใช้แล้วจะจีรังยั่งยืนมากน้อยเพียงใด ไม่ใช่ประเด็นในขณะนี้
ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งนั้นเห็นว่า ในขณะนี้ไม่ต้องทำอะไร เหตุการณ์จะพาไปเอง เพราะระบอบการปกครองที่เป็นอยู่จะไม่สามารถรับกับภาวะเศรษฐกิจที่เลวร้ายลง เพราะประเทศไทยจะมีปัญหาในเรื่องการส่งออกมากขึ้นเรื่อยๆ จากการกีดกันการค้าจากประเทศตะวันตก รวมทั้งญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เพราะประเทศไทยมีระบอบการปกครองไม่สอดคล้องกับ "ประชาคมโลก" การกีดกันการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวจะมีผลในปี 2558 นี้ จึงคาดการณ์ได้ว่าเศรษฐกิจของเราในปี 2558 จะเป็นปีที่ย่ำแย่พอๆ หรือมากกว่าปี 2557
ประการที่เจ็ด ความรู้สึกไม่แน่นอน ความรู้สึกหวั่นไหวต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และทางเศรษฐกิจจะมีอยู่ตลอดเวลา การท้าทายอำนาจรัฐจะมีมากขึ้น ความรู้สึกหวั่นไหว ความรู้สึกไม่แน่นอนต่อการเปลี่ยนแปลงไม่น่าจะมีน้อยลงในปี 2558 น่าจะมีมากขึ้นเสียด้วยซ้ำไป แต่ก็ไม่มีใครให้ความสนใจ เพราะสังคมไทยให้ความสนใจเรื่องอนาคตน้อยกว่าปัจจุบันมาก
ปีใหม่ปีนี้ แม้ว่าราคาน้ำมันจะลดลง แม้ว่าภาวะต่างๆ น่าจะลดลง เงินเฟ้อน่าจะลดลง แต่บรรยากาศเหงาๆ ซึมๆ ชอบกล
คงเพราะความวิตกกังวลในความไม่แน่นอน
ที่มา.มติชน
////////////////////////////////////////////////////////