--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2560

กสอ.ตีฆ้อง เปิดรับ SMEs ยื่นขอกู้ กองทุน 2หมื่นล้าน ทั่วไทย...

กสอ.ตีฆ้องเปิดรับ SMEs ยื่นขอเงินกู้กองทุน 2 หมื่นล้านทั่วไทย ดอกเบี้ย 1-3% เล็งวงเงินปล่อยกู้ขั้นสูง 10 ล้านบาทต่อราย อนุมัติก้อนแรกปลายเดือน เมษายนนี้

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผย ว่า ขณะนี้ได้ร่วมกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาอัตราดอกเบี้ย การจัดทำขั้นตอนการดำเนินงาน และกำหนดคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่จะเข้าเงื่อนไขการพิจารณาได้รับเงินกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐ หรือกองทุน 20,000 ล้านบาทใกล้จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยล่าสุดมีการหารืออาจคิดอัตราดอกเบี้ย 1-3% จากเดิมที่กำหนดไว้ 1% ระยะชำระคืน 7 ปี ไม่ต้องชำระเงินต้นคืน 3 ปีแรก และจะเริ่มพิจารณาอนุมัติวงเงินก้อนแรกภายในปลายเดือนเมษายนนี้

"วงเงิน 20,000 ล้านบาทไม่ได้มาก หากเทียบกับ SMEs ที่มีอยู่ทั่วประเทศ กำลังพิจารณาว่าจะจัดสรรอย่างไรให้กระจายได้ทั่วถึง เบื้องต้นอาจจะได้รับ 100 ล้านบาทเท่า ๆ กัน จากนั้นจะพิจารณาอีกครั้งสำหรับจังหวัดที่มีผู้ยื่นขอเข้ามามาก เช่น จังหวัดเล็ก SMEs ยื่นขอน้อยได้งบฯไป 100 ล้านบาท ส่วนจังหวัดใหญ่มียื่นขอมามากจะเพิ่มงบฯลงไปอีก 500-1,000 ล้านบาท ส่วนวงเงินที่จะอนุมัติให้แต่ละรายขั้นสูงอาจจะไม่เกิน 10 ล้านบาท"

โดยเบื้องต้นกำหนดคุณสมบัติ คือ SMEs ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ต้องมีศักยภาพในการพัฒนาต่อยอดธุรกิจ เพื่อเพิ่มมูลค่าและรายได้ในอนาคตได้ ซึ่ง SMEs สามารถยื่นขอใช้สิทธิ์รับเงินกองทุนผ่านช่องทาง SME Support Center และศูนย์ช่วยเหลือ SME Recue Center ที่ตั้งอยู่ในอุตสาหกรรมจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดได้ตั้งแต่บัดนี้ และในวันที่ 5 เม.ย.นี้จะร่วมประชุมกับทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ทำการประชาสัมพันธ์ให้สมาชิกรับทราบ

สำหรับขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติวงเงินกองทุนให้ SMEs แต่ละราย จะต้องผ่านคณะอนุกรรมการหลัก 3 ชุด ได้แก่ ชุดที่ 1 คณะอนุกรรมการบริหารกองทุนประจำจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และผู้แทนจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด ประธานหอการค้าจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด ผู้แทนธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) เกษตรจังหวัด เป็นต้น มีอำนาจหน้าที่อนุมัติพิจารณากลั่นกรอง คัดเลือกและวิเคราะห์ศักยภาพของ SMEs ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการบริหารประกาศกำหนดตามนโยบายจังหวัด ทั้งนี้ หาก SMEs รายใดผ่านหลักเกณฑ์การพิจารณาจะถูกส่งต่อไปยังคณะอนุกรรมการฯ ชุดที่ 2

ชุดที่ 2 คณะอนุกรรมการวิเคราะห์การเงิน มีอุตสาหกรรมจังหวัดเป็นประธาน และผู้แทนสถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้งรัฐและเอกชน ผู้แทนชมรมธนาคารจังหวัด เป็นต้น มีหน้าที่พิจารณาวงเงินให้กู้และสรุปผลการวิเคราะห์ทางการเงิน ทั้งนี้ หาก SMEs รายใดผ่านการพิจารณาจะถูกส่งกลับไปยังชุดที่ 1 เพื่ออนุมัติเป็นทางการต่อไป แต่หากรายใดไม่ผ่านการพิจารณาจะถูกส่งต่อไปยังคณะอนุกรรมการชุดที่ 3

ชุดที่ 3 คณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเอสเอ็มอี มีผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคเป็นประธาน และผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนกระทรวงแรงงาน ผู้แทนกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นต้น มีหน้าที่วิเคราะห์ กำหนดรูปแบบและวงเงินที่สมควรอนุมัติในการส่งเสริมและพัฒนา

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
///////////////////////////////////////////////////////////////////

เอสเอ็มอี-นิติบุคคลอ่วม สภาวิชาชีพบัญชีเล็งปรับมาตรฐานใหม่ปี61

เอสเอ็มอีและนิติบุคคลราว 3.2 ล้านรายกระอักสภาวิชาชีพบัญชีเล็งปรับมาตรฐานใหม่ปี 61 สำนักสอบบัญชีเผยเพิ่มต้นทุนให้ผู้ประกอบการเบื้องต้น 2,000 บาทจนถึงหลักหมื่นหลักแสน เอกชนยอมรับแบกภาระเพิ่ม

นายชัยยุทธ อังศุวิทยาหุ้นส่วนสำนักงาน เอ.เอ็ม.ที. แอสโซซิเอท ซึ่งเป็นสำนักสอบบัญชีเปิดเผยกับ ว่าวันที่ 1 มกราคม 2561 สภาวิชาชีพบัญชีจะประกาศให้มีการใช้มาตรฐานบัญชี IFRS for SME ของสากล หรือยกร่างมาตรฐานบัญชีฉบับใหม่ เพื่อบังคับใช้กับนิติบุคคลไทยในกลุ่มของนิติบุคคลที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ซึ่งเป็นกิจการที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียสาธารณะ (NPAE) ต้องจัดทำบัญชีแบบง่ายที่เรียกว่า NPAE Accounting โดยจะยกเลิกมาตรฐานฉบับ NPAE ที่ใช้ในปัจจุบัน

ความจริงตามแผนจะประกาศใช้ภายในปี 2560 แต่เมื่อเรื่องถูกส่งผ่านไปที่คณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) แล้วไม่เห็นด้วยเพราะดูแล้วยังไม่มีความพร้อมทั้งเรื่องของวิธีการ การทำความเข้าใจต่อสาธารณชนจึงให้ชะลอออกไปอีก 1 ปี และจะประกาศใช้ต้นปี 2561 ระหว่างนี้รอลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาหลังจากที่ผ่านสภาวิชาชีพบัญชีและผ่านคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชีหรือกกบ.มาแล้ว”

ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนมาตรฐานบัญชีดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีอยู่แล้วตามข้อมูลกระทรวงพาณิชย์ประมาณ 5 แสนราย รวมถึงบุคคลธรรมดาที่กำลังจะจดทะเบียนก่อตั้งเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)การจัดตั้งนิติบุคคลที่ถือหุ้นคนเดียวพ.ศ. … ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงพาณิชย์เพื่อสนับสนุนและรองรับให้เกิดผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและผู้ประกอบการสตาร์ตอัพ (Startup) ตามนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งยังช่วยลดขั้นตอนของการจดทะเบียน และยังเป็นการป้องกันปัญหาการตั้งผู้ถือหุ้นปลอม หรือนอมินีขึ้น ซึ่งตามเป้าหมายของรัฐบาลคือต้องการให้มีนิติบุคคลเพิ่มขึ้น 2.7 ล้านราย เมื่อรวมทั้ง 2 กลุ่มจะถูกกระทบประมาณ 3.2 ล้านราย

สำหรับค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่ผู้ประกอบการจะต้องเสียในเบื้องต้นต่อราย คาดว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 2,000 บาท แต่เป็นเพียงแค่ใช้จ่ายรายการเดียวที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงของมาตรฐานบัญชีดังกล่าว หากต้องมีการตีความรายการบัญชีมากขึ้น ก็จะต้องมีการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญเข้ามาดำเนินการ ซึ่งค่าใช้จ่ายก็อาจจะเพิ่มขึ้นไปได้ถึงหลักหมื่น หรือหลักแสนก็มีความเป็นไปได้

นายชัยยุทธ กล่าวอีกว่าความแตกต่างของมาตรฐานบัญชีฉบับใหม่ และฉบับเดิมนั้น หากเป็นมาตรฐานเดิมชุด NPAE จะใช้แนวคิด ราคาทุนเดิม (Historical Cost) ซึ่งจะสอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีที่เก็บตามราคาต้นทุนที่เกิดขึ้น แต่มาตรฐานฉบับใหม่ในชุด NPAE จะใช้แนวคิดราคายุติธรรม (Fair Value) โดยจะต้องทำให้มีการปรับมูลค่าบัญชีเป็นราคายุติธรรมทุกสิ้นงวดบัญชีซึ่งในการปรับมูลค่ายุติธรรมดังกล่าว แทบทุกเรื่องจะต้องใช้ดุล พินิจผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่ายในการจัดทำบัญชีเพิ่มขึ้นมาก“ผลที่เกิดขึ้นจากการปรับเปลี่ยนมาตรฐานบัญชีฉบับใหม่นั้น จะทำให้การจัดทำบัญชียุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น ต้องใช้การตีความรายการบัญชีมากขึ้นซึ่งอาจต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญ การตีความจะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเจ้าของบริษัท นักบัญชีและผู้สอบบัญชีอีกทั้งยังทำให้ต้นทุนการทำบัญชีสูงขึ้น และที่สำคัญจะเกิดการจัดรูปแบบโครงสร้างกลุ่มบริษัท เพื่อหลีกเลี่ยงการทำบัญชีที่ซับซ้อนมากๆโดยเป็นการขัดขวางการพัฒนาธุรกิจขนาดเล็กของไทยให้เติบโตขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ และภาครัฐจะได้รับข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง”

นายพัฒนศักดิ์ แสนสมรสกรรมการผู้จัดการ บริษัท พีควอลิตี้แมชชีนพาร์ท จำกัด และอุปนายก สมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย กล่าวให้ความเห็นว่า พอจะทราบเรื่องการปรับมาตรฐานบัญชีฉบับใหม่ที่จะมีการประกาศใช้ดังกล่าวอยู่บ้างโดยเชื่อว่าจะเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายในเรื่องของต้นทุน หรือเพิ่มภาระให้กับผู้ประกอบการอย่างแน่นอน ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้ทางกรมสรรพากร หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องน่าจะต้องเข้ามาช่วยเหลือ หรือสนับสนุนในเรื่องของการสร้างองค์ความรู้ ผ่านการเปิดอบรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือสิทธิ์ในการหักลดหย่อนค่าใช้จ่าย โดยอาจจะทำเป็นรูปแบบขั้นบันไดในช่วง 2-3 ปีแรกยังไม่ต้องเก็บ แต่ไปเก็บหลังจาก5 ปีไปแล้ว

นายปรีชา บุญเวียง ประธานกรรมการ บริษัท เมืองใหม่โครเมี่ยม จำกัด และบริษัทเมืองใหม่ โครเมี่ยมอิเล็คโตร เพรทติ้งจำกัด กล่าวว่า หากต้องมีการเพิ่มรายจ่ายให้กับอุตสาหกรรมก็ต้องถือว่าเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ประกอบการในเรื่องของต้นทุน การนำมาตรฐานบัญชีตามหลักสากลที่ยึดแบบจากยุโรปมาใช้ มองว่าจะต้องคำนึงถึงเรื่องของมาตรฐานรายได้ที่แตกต่างกันด้วย เพราะของยุโรปจะมีรายได้ต่อหน่วยต่อชิ้นที่มากกว่าของเราโดยรายได้ของเอสเอ็มอีไทยค่อนข้างที่จะตํ่า ซึ่งการจะนำรายจ่ายมาเปรียบกันจากรายได้ที่แตกต่างกันมองว่าไม่น่าจะเปรียบเทียบกันได้

ที่มา:จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,250
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ภาคธุรกิจชี้ประกาศใช้ รัฐธรรมนูญ ช่วยฟื้นความเชื่อมั่น...!!?

ภาคธุรกิจชี้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ส่งผลดีความเชื่อมั่น ทิศทางการเมืองชัดเจนตามโรดแมพ ลดความกังวลเรื่องความไม่แน่นอน จับตากระบวนการออกกฎหมายลูก

หลังจากสำนักพระราชวังเผยแพร่หมายกำหนดการพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา ทำให้ทิศทางการเมืองมีความชัดเจนขึ้นจากนี้ไปและลดความกังวลของภาคธุรกิจต่อการเมืองไทย

นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าการประกาศใช้รัฐธรรมนูญจะสร้างความมั่นใจให้กับประเทศไทยมากขึ้น เพราะเป็นการยืนยันว่า รัฐบาลจะเดินหน้าตามโรดแมพที่วางไว้และอยู่ในกรอบเวลาที่กำหนด ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้เงินไหลเข้าตลาดหุ้นไทยได้

การประกาศใช้รัฐธรรมนูญนั้น จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น และการดำเนินการของรัฐบาลเป็นไปตามโรดแมพที่วางไว้ ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่แข็งแกร่งจะช่วยดึงดูดเม็ดเงินเข้ามาลงทุน

ทั้งนี้ ภาวะเงินทุนเคลื่อนย้ายในตลาดหุ้นไทย นับจากต้นปีถึงปัจจุบันต่างชาติซื้อสุทธิ 7.5พันล้านบาท แม้ว่าทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐจะเป็นขาขึ้น แต่ก็ต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน ระหว่างนี้กระแสเงินทุนจะต้องหาผลตอบแทนที่ดี ซึ่งตลาดหุ้นเอเชีย และไทยถือว่า เป็นจุดที่น่าสนใจ หากพิจารณาสถานการณ์การเมือง และเศรษฐกิจในประเทศที่ขยายตัวดีขึ้น จากการประมาณการนักวิเคราะห์หลายสำนักต่างมองว่าจีดีพีปีนี้จะขยายตัวได้ดีกว่าปีก่อน

ส่วนความสามารถการทำกำไรบริษัทจดทะเบียนปีนี้คาดว่าอัตราการเติบโตไม่สูงเท่ากับปี2559 เพราะจากฐานกำไรบริษัทที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งในเรื่องนี้ไม่น่าห่วง สิ่งที่ต้องติดตามคือกำไรบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสที่ 1ปีนี้จะเป็นไปตามที่คาดหมายหรือไม่

ลุ้นเอกชนหันกลับลงทุน

นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า การประกาศใช้รัฐธรรมนูญนั้นเป็นไปตามที่คาดหมาย ซึ่งจะช่วยตอกย้ำว่าการบริหารประเทศของภาครัฐบาลจะเป็นไปตามโรดแมพที่ให้ไว้กับประชาชน และเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นในอีก 1 ปีหลังจากนี้ ระหว่างนี้รัฐบาลก็จะมีเวลาในการปฏิรูปประเทศ และน่าจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับภาคเอกชนที่ยังไม่กล้าลงทุน ให้กลับมาลงทุนอีกครั้ง

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญใหม่ อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยบวกกับตลาดหุ้นไทย เนื่องจากนักลงทุนได้รับทราบอยู่แล้ว ส่วนเงินทุนเคลื่อนย้ายก็จะให้น้ำหนักกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยมากกว่า โดยความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยในปีนี้มองว่า กรอบการเคลื่อนไหวจะไม่มากนัก ซึ่งสถานะของไทยอยู่ระหว่างการปูพื้นฐาน เพื่อสร้างการเติบโตของประเทศในระยะยาว จึงต้องใช้ความอดทน ก่อนที่จะเห็นการเติบโต

สมาคมนักวิเคราะห์คาดอีอีซีเกิดได้เร็ว

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน กล่าวว่า การบังคับใช้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นสัญญาณว่าการดำเนินการของรัฐบาลสิ่งที่ต้องจับตาหลังจากนี้คือการร่างกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้อง 10 ฉบับจะมีความรวดเร็วแค่ไหน

“กระบวนการที่ต้องติดตามหลังจากนี้คือการร่างกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญ ที่มี 10 มาตราจะสามารถทำได้เร็วแค่ไหนในช่วง8เดือน โดยจะมี 4 มาตราที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งหากสามารถผลักดันให้ร่างกฎหมายแล้วเสร็จโดยเร็วก็จะช่วยให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นได้เร็ว”

จากการประเมินระยะเวลาการร่างที่มีกรอบเวลา 8 เดือน เพื่อเข้ากระบวนการต่อไปทำให้คาดว่าการเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นช่วงไตรมาสที่ 3 หรือปลายไตรมาสที่ 4 ของปี2561 ซึ่งยังกินเวลาค่อนข้างมาก ทำให้ในระยะสั้นน่า จะยังไม่มีผลกระทบกับตลาดหุ้นไทยอย่างจริงจัง

อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้รัฐธรรมนูญที่เริ่มขึ้น จะช่วยกระตุ้นการลงทุนของภาครัฐให้มีความรวดเร็ว ช่วงที่ผ่านมาจะเห็นภาครัฐได้ขับเคลื่อนการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในการจัดตั้งโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด ประกอบกับมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งรถไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งกระบวนการหลังจากนี้การอนุมัติโครงการต่างๆ น่าจะมีความรวดเร็วมากขึ้นไปอีก ซึ่งอย่างน้อยเชื่อว่า รัฐบาลน่าจะสามารถเปิดประมูลโครงการลงทุนในแผนได้

การเมืองชัดเจนเดินหน้าเลือกตั้ง

นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า การประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นับเป็นเรื่องที่ดี สะท้อนสถานการณ์ทุกอย่างว่าจะชัดเจนขึ้น และหลังจากนี้รัฐบาลก็ได้เดินตามโรดแมพที่วางไว้ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นตามมาในปีหน้า

ส่วนบางประเด็นที่อาจมีคนกังวลเกี่ยวกับเนื้อหาในรัฐธรรมนูญที่อาจเอื้อต่อการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลจะกระทบต่อสถานการณ์การเมืองภายหลัง ประเด็นนี้มองว่าไม่น่าจะมีอะไรเกิดขึ้น เพราะรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวผ่านการทำประชามติมาเรียบร้อยแล้ว แต่สิ่งที่ต้องติดตามจากนี้คือการออกกฎหมายลูกต่างๆว่าจะใช้ระยะเวลาดำเนินการมากน้อยเพียงใด

“เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญออกมาอย่างชัดเจน สถานการณ์ต่างๆ น่าจะคลี่คลายขึ้น รัฐบาลสามารถทำตามโรดแมพที่ตั้งใจ ย่อมเป็นเรื่องที่ดีกว่าตอนที่ยังไม่ประกาศใช้และสถานการณ์เศรษฐกิจ การเมืองหลังจากนี้ไปคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ธุรกิจของบริษัทยังคงเดินหน้าตามปกติ ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรก็ตาม"

แจงส่งผลดีเศรษฐกิจโดยรวม

นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะส่งผลให้สถานการณ์ทางการเมืองมั่นคงขึ้น เมื่อทุกอย่างชัดเจนขึ้น จะมีผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างชาติ

ทั้งนี้ หากรัฐบาลเดินตามโรดแมพที่วางไว้ มีการเลือกตั้งสิ่งที่ต้องจับตามคือ ความต่อเนื่องของการบริหารงานและนโยบายรัฐบาล การลงทุนต่างๆ ของภาครัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่จะเอื้อต่อการลงทุนของภาคเอกชน

ส่วนจะมีผลต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์หรือไม่ มองว่าภาวะเศรษฐกิจเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบมากกว่า โดยอสังหาฯชะลอตัวตั้งแต่ปลายเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา แต่ขณะนี้เริ่มปรับตัวดีขึ้น ผู้บริโภคเริ่มมีความมั่นใจมากขึ้น

โบรกประเมินเลือกตั้งครึ่งหลังปี61

บล.เคที ซีมิโก้ ระบุว่า การประกาศใช้รัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการ ซึ่งหลังจากนี้ กรธ.จะต้องจัดทำร่างกฎหมายลูก 10 ฉบับ ใน สนช. ภายใน 240 วัน และสนช. มีเวลาพิจารณา 60 วัน และหลังจากนั้นให้มีการจัดเลือกตั้งภายใน 150 วัน หากถ้าใช้เวลาเต็มในทุกขั้นตอน จะทำให้มีการเลือกตั้งหลังจากนี้ 15 เดือน หรือ ราวเดือน ก.ค. 2561

บล.โนมูระพัฒนสิน ระบุว่า ด้านปัจจัยในประเทศ คาดได้รับอานิสงส์บวกจากแรงเก็งหุ้นที่คาดผลประกอบการคาดการณ์ผลประกอบการไตรมาสแรกจะฟื้นตัวดี ผสานกับ ความชัดเจนทางการเมืองที่มากยิ่งขึ้น หลังจาก จะมีพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 วันที่ 6 เม.ย.นี้ ส่งผลบวกต่อกระบวนการเลือกตั้งยังดำเนินตามแผนได้ในช่วงถัดไป กระตุ้นจิตวิทยาเชิงบวกต่อการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงในประเทศเพิ่มเติม

ภาพรวมตลาดหุ้นไทย วานนี้ (4 เม.ย.) ดัชนีหุ้นไทยแกว่งตัว ล่าสุดปิดตลาดที่ระดับ 1,583.82 จุด เพิ่มขึ้น 2.96 จุด เพิ่มขึ้น 0.19% มูลค่าการซื้อขายรวม 3.74 หมื่นล้านบาท

ขณะที่การซื้อขายแยกรายกลุ่มผู้ลงทุน โดยนักลงทุนต่างชาติมียอด 83.46 ล้านบาท ขณะที่ในเดือน มี.ค.ต่างชาติมียอดซื้อสุทธิรวม 3.6 พันล้านบาท

ต่างชาติจับตาปัจจัยน่าห่วงหลังเลือกตั้ง

นายพนม กาญจนเทียมเท่า กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย จำกัด คาดว่า การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กลุ่มนักลงทุนต่างชาติย่อมมองว่าการเลือกตั้งกับรัฐธรรมนูญก็ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ต่างชาติบางกลุ่มก็ยังกังวลอยู่ว่าหลังจากเลือกตั้งแล้ว จะมีสถานการณ์ หรือปัจจัยอื่นๆที่จะเข้ามากดดันอีกหรือไม่

นักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่ยังคงมองการลงทุนในไทยในแง่บวก แต่ยังมีบางส่วนที่อาจมองการเมืองไทยในแง่ลบ หรือกังวลอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นความกังวลเรื่องนักการเมือง ตลอดจนเรื่องคอร์รัปชันต่างๆ ซึ่งในตอนนี้ก็ยังคาดการณ์ทิศทางอนาคตของประเทศไทยได้ยาก และเชื่อว่านักลงทุนบางกลุ่มอาจตัดสินใจชะลอการลงทุน

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////

วันศุกร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2560

คำฉันท์กฤษณาสอนน้อง [กฤษณาสอนน้องคำฉันท์]

ประพันธ์โดย: พระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส

เรื่อง กฤษณาสอนน้อง เป็นวรรณกรรมมุขปาฐะ มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ไม่เคยมีผู้ใดทำการวิเคราะห์ที่มาของวรรณกรรมเรื่องนี้ จนกระทั่งมีการแต่งเป็นหนังสือในรัชกาลที่ 3 และกลายเป็นวรรณคดี คำฉันท์ที่สำคัญเล่มหนึ่งในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นคนแรกที่ทรงวิจารณ์ที่มาของเรื่องนี้อย่างถูกต้องและสรุปได้ในที่สุด ว่านำมาจากเรื่อง มหาภารตะ ของอินเดีย เรื่องเดิมเป็นรูปแบบคำสนทนาระหว่างหญิงสองคนที่เป็นเพื่อนกัน

เรื่อง กฤษณาสอนน้อง เป็นวรรณกรรมประเภทคำฉันท์ เชื่อได้แน่นอนว่ามีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่ต้นฉบับเดิมหายสูญไป ระยะเวลาที่แต่งจะเป็นสมัยอยุธยาตอนต้น หรืออยุธยาตอนปลาย เป็นเรื่องยากที่จะชี้ชัดลงไปได้ ทั้งนี้ด้วยเหตุผลสองประการ คือ

ประการที่หนึ่ง ไม่มีต้นฉบับตัวเขียนสมัยอยุธยาหลงเหลืออยู่เลย

ประการที่สอง เรื่องกฤษณาสอนน้องคำฉันท์นี้มีตกทอดมาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ในรูปแบบของ วรรณกรรมมุขปาฐะ คือท่องจำและถ่ายทอดกันมาด้วยการเล่าปากเปล่า ไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เรื่องที่ท่องจำกันมาจึงผิดเพี้ยนกันไป และหายตกหล่นไปมากต่อมาก จะเอาเนื้อหาสาระที่บริบูรณ์เป็นแก่นสารก็ไม่ได้ ประกอบทั้งภาษาสำนวนที่แต่งก็ไม่ได้อยู่ในขั้นดี กล่าวง่าย ๆ คือ เป็นสำนวนบ้านนอก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรด ทรงพระราชดำริว่าเนื้อเรื่องดี แต่ภาษาไม่ดีพอ น่าจะแต่งใหม่ให้ดีกว่านั้น จึงทรงอาราธนาให้ กวีแก้วแห่งรัตนโกสินทร์ คือ กรมหมื่นนุชิตชิโนรส ศรีสุคตขัตติยวงศ์ ทรงแต่งใหม่ทั้งหมด แต่รักษารูปแบบคำประพันธ์คือคำฉันท์ไว้ตามเดิม

“…พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง
โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี
นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์
สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา
ความดีก็ปรากฏ กิติยศลือชา
ความชั่วก็นินทา ทุรยศยินขจร…”
“…อย่าซอนซอนสรวลเสียงสำเนียงดัง
อย่าระเริงกิริยาเป็นน่าชัง
ถ้ายามพลั้งชนจะชวนสำรวลพลัน
อย่าด่วนดำเนินไคลครรไลแล่น
กรกรีดแหวนแกว่งหัตถาหกหัน
อย่ามุ่งเมิดเดินบาทจะพลาดพลัน
อย่าทัดพันธุ์มาลาเมื่อคลาไคล
อย่าเสยเกศยุรยาตรเมื่อนาถย่าง
จีบพกหกลางขายสำเนียงส่งเสียงได้
สะกิดเพื่อนเยื้อนสรวลสำรวลใน
อย่าทรงสะไบพลางเดินดำเนินลี
อย่ายอหัตถ์ผัดลบกำโบละ
ประทินประนางย่างทางวิถี
อย่านุ่งกรายภูษาเดินจรลี
จะเสื่อมศรีศักดิ์ยุพาไม่ถาวร
อนึ่งอย่าทรงสะไบครองทั้งสองบ่า
เปลือกพระกายินทรีศรีสมร
ถ้าชายสบก็จะสรวลสำรวลอร
เป็นเครื่องร้อนสำรวมหทัยไม่ธำรง…”

ที่มา : http://th.wikisource.org/, http://www.praphansarn.com

วันพุธที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ฟ็อกซ์ฟ้องธนาคารกรุงเทพ2,500ล้าน กรณีไม่จ่ายแบงก์การันตี....

ฟ็อกซ์ เน็ตเวิร์ค กรุ๊ป เอเชีย หรือ ฟ็อกซ์ ประกาศวันนี้ว่าได้ยื่นเรื่องต่อศาล ที่ฮ่องกงและไทย ฟ้องธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กรณีไม่จ่ายแบงก์การันตีสำหรับค่าลิขสิทธ์การออกอากาศรายการของฟ็อกซ์ แทนบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) หรือจีเอ็มเอ็ม และบริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) หรือ ซีทีเอช สองยักษ์ใหญ่ธุรกิจดิจิทัลทีวีที่ยุติการให้บริการไปแล้ว 

ฟ็อกซ์ได้ทำสัญญาให้สิทธิ์ในการออกอากาศรายการต่างๆ แก่จีเอ็มเอ็ม และซีทีเอช ตั้งแต่ปี 2556 โดยทั้งสองบริษัทได้ค้างชำระค่าสิทธิ์การออกอากาศดังกล่าวเป็นมูลค่ากว่า 2,500 ล้านบาท และต้องชำระดอกเบี้ยกรณีจ่ายล่าช้า ซึ่งธนาคารกรุงเทพเป็นผู้ออกแบงก์การันตีเพื่อค้ำประกันการชำระเงินให้กับจีเอ็มเอ็ม และซีทีเอช และตั้งแต่ปี 2558 ธนาคารกรุงเทพ ไม่ได้ทำตามสัญญาเพื่อจ่ายแบงก์การันตีแทน 2 บริษัทดังกล่าวเลย 

ฟ็อกซ์ มีความผูกพันอย่างยาวนานต่ออุตสาหกรรมสื่อในประเทศไทย เรามุ่งมั่นที่จะนำเสนอรายการบันเทิง และรายการกีฬาระดับคุณภาพแก่ผู้ชมชาวไทย” นายซูบิน กานเดเวีย ประธานบริษัท ฟ็อกซ์ เน็ตเวิร์ค กรุ๊ป ประจำภูมิภาพเอเชีย-แปซิฟิก และตะวันออกกลาง กล่าว “เรื่องนี้ทำให้เราผิดหวังเป็นอย่างยิ่งที่ธนาคารที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ของประเทศไทยผิดสัญญาในการจ่ายแบงก์การันตี ซึ่งการผิดสัญญาในครั้งนี้ไม่เพียงจะส่งผลต่อฟ็อกซ์เท่านั้น แต่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อประเทศไทยอยู่ในระดับที่สูง” 

เมื่อ 3 ปีที่แล้วคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เปิดประมูลใบอนุญาตการดำเนินกิจการทีวีดิจิทัล และสร้างรายได้ให้แก่รัฐกว่า 50,000 ล้านบาท โดยมีธนาคารกรุงเทพเป็นผู้ออกแบงก์การันตีรายใหญ่ที่สุดแก่ผู้ให้บริการทีวีดิจิทัลในประเทศไทย โดยออกแบงก์การันตีแก่ผู้ให้บริการจำนวน14 ราย จากทั้งหมด 24 ราย คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 20,000 ล้านบาท หรือราวร้อยละ 41 ของค่าลิขสิทธิ์ทั้งหมด 

อย่างไรก็ตาม ผู้ชนะการประมูลต้องประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากการซื้อขายเวลาโฆษณาชะลอตัว อันเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน อีกทั้งผู้ชมยังคงนิยมรับชมทีวีแบบอนาล็อก และเปลี่ยนมาดูทีวีแบบดิจิทัลในอัตราที่ต่ำอยู่มาก 

การยุติการให้บริการของทีวีดิจิทัลช่องต่างๆ นับเป็นการทดสอบระบบของธนาคารไทย เนื่องจากส่งผลให้บรรดาเจ้าหนี้ขอให้ธนาคารหลักหลายแห่งในประเทศไทยต้องจ่ายแบงก์การันตีแก่คู่สัญญา และผู้ผลิตหลายราย 

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การซื้อเวลาโฆษณาในประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยการซื้อเวลาโฆษณาผ่านช่องทีวีดิจิทัล ถือว่าต่ำมาก โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2559 การซื้อเวลาโฆษณาผ่านทีวีดิจิทัล คิดเป็นมูลค่าราว 9,000 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การซื้อเวลาโฆษณาผ่านทีวีอนาล็อกลดลงร้อยละ 11 คิดเป็นมูลค่าราว 26,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลเนื่องมาจากการบริโภคภายในประเทศที่ลดลง 

“ความน่าเชื่อถือของธนาคาร ถือว่าเป็นทรัพย์สินที่สำคัญที่สุดของการเป็นผู้ให้บริการทางการเงิน แบงก์การันตีที่ออกโดยธนาคารถือว่าเป็นเครื่องมือทางการเงินที่เป็นพื้นฐานต่อทั้งระบบการเงินและการพาณิชย์ของประเทศ ดังนั้น การทำหน้าที่ผู้ค้ำประกันตามสัญญา ถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่ทำให้ผู้ลงทุนเชื่อมั่นต่อธนาคารไทย การเพิกเฉยในการทำหน้าที่ดังกล่าว จึงถือเป็นความเสี่ยงต่อความน่าเชื่อถือของธนาคารกรุงเทพเอง

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
-----------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ไทยย้ำเวทีเอเปก มุ่งร่วมมือทุกเขตเศรษฐกิจ มั่งคั่งที่สมดุลยั่งยืน....

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ช่วงที่ 1 (First Leaders’ Retreat) ภายใต้หัวข้อความท้าทายต่อการค้าเสรีและการลงทุนในบริบทโลกปัจจุบัน ณ ศูนย์การประชุม Lima Convention Center กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู โดยรองนายกรัฐมนตรีรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เข้าร่วมการประชุมที่สำคัญยิ่งครั้งนี้ ซึ่งเป็นการประชุมที่ผู้นำจากเขตเศรษฐกิจที่มีพลวัตรอันโดดเด่น และมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจโลกได้มาร่วมหารือกัน

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอขอบคุณต่อน้ำใจและความปรารถนาดีต่อปวงชนชาวไทย อนึ่งการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้นำมาซึ่งความเศร้าสลดของปวงชนชาวไทยทั้งชาติ ความเห็นใจจากทุกท่านถือเป็นกำลังใจที่สำคัญยิ่ง อย่างไรก็ตาม เห็นว่าการบูรณาการทางเศรษฐกิจนั้นคือหนทางที่นำพาเอเชีย-แปซิฟิกไปสู่ความมั่งคั่งและความมั่นคง ทั้งในแง่เศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้ระบอบการค้าของโลกย่อมต้องมีการปรับให้สอดรับกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วของโลก การรวมตัวกันทุกปีของ 21 เขตเศรษฐกิจเป็นเครื่องบ่งชี้ที่สำคัญถึงความเชื่อมั่นต่อระบอบการค้าพหุภาคี และความมุ่งมั่นที่จะรักษาระบอบดังกล่าว

พล.อ.อ.ประจิน ได้กล่าวถึงประเด็นสำคัญ 2 ประการ คือ 1.การได้รับประโยชน์จากการค้าเสรีและการบูรณาการทางเศรษฐกิจไม่ทั่วถึง โอกาสและการเข้าถึงทรัพยากรจะต้องถูกกระจายอย่างทั่วถึงเพื่อสร้างความมั่งคั่งและการเติบโตอย่างครอบคลุม จะต้องปฏิรูปโครงสร้างทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจจะต้องมีการปรับปรุงเพื่อลดภาระของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยที่มีข้อจำกัดทางด้านเงินทุน ทรัพยากรบุคคล และเวลาในการดำเนินการ อีกทั้งการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จะเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับ SMEs และ ผู้ประกอบการรายใหม่ (Start-Ups) ซึ่งเอเปคจะต้องให้ความสำคัญต่อการเสริมสร้างความสามารถ เนื่องจากยังคงมีความแตกต่างด้านความรู้ ความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีระหว่างประเทศพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนา

2. การบูรณาการด้านเศรษฐกิจในภูมิภาค มีการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกว่า 44 ฉบับ ซึ่งนับเป็นจำนวนกว่าครึ่งหนึ่งของ FTA ที่ได้จัดทำมาทั่วโลก ประเทศไทยสนับสนุนการจัดทำ ความตกลงเขตการค้าเสรีของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (FTAAP) ซึ่งเป็นวาระหลักของเอเปคช่วงหลังปี 2020 อย่างไรก็ตามเราคำนึงว่าเราได้ใช้ประโยชน์จากความตกลงก่อน ๆ ที่เคยจัดทำขึ้นมากน้อยเพียงใด และความตกลงเหล่านี้ตอบสนองความต้องการของสมาชิกอย่างแท้จริงหรือไม่

ทั้งนี้ไทยยืนยันบทบาทในการประสานความต้องการของเขตเศรษฐกิจที่มีความหลากหลายดังที่ไทยได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในเวทีต่าง ๆ รองนายกรัฐมนตรีเห็นว่าจะต้องพิจารณาทิศทางของเอเปคเพื่อกำหนดวิสัยทัศน์หลังปี 2020 ที่สอดคล้องกับบริบทโลกที่เปลี่ยนไป รวมถึงเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเราจะต้องร่วมกันบรรลุในปี 2030 ไทยในฐานะหนึ่งในสมาชิกก่อตั้งเอเปค ขอยืนยันความมุ่งมั่นของไทยในการร่วมมือกับทุกเขตเศรษฐกิจเพื่อบรรลุความมั่งคั่งที่สมดุล ครอบคลุมและยั่งยืน

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
----------------------------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

วีซ่า เผย ความปลอดภัยคือกุญแจหลักใช้จ่ายด้วย Mobile Wallet ในไทย !!!

คนไทยถึงสามในห้า (61 เปอร์เซ็นต์) เชื่อว่าวันหนึ่งระบบการชำระเงินผ่านมือถือ หรือ mobile payment จะมาแทนที่การใช้จ่ายผ่านบัตรและเงินสดในชีวิตประจำวัน

จากผลการสำรวจฉบับล่าสุดของวีซ่า พบว่า คนไทยให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยมากกว่าความสะดวกสบาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการชำระเงินด้วยบัตรแบบไร้สัมผัส (contactless card) หรือ โมบาย วอลเล็ต (mobile wallet) และมีแนวโน้มที่จะเลือกใช้วิธีชำระเงินผ่านระบบไร้สัมผัสมากขึ้นเมื่อพวกเขามั่นใจว่ามีมาตราการรักษาความปลอดภัยอยู่ในระดับที่สูงมากพอ

การศึกษาเรื่องวิธีการชำระเงินแบบไร้สัมผัสและกระเป๋าสตางค์ดิจิตอล (digital wallet) ของวีซ่านั้น พบว่าคนไทยส่วนมาก (82 เปอร์เซ็นต์) เชื่อว่าความปลอดภัยมีความสำคัญมากกว่าความสะดวกสบายเมื่อนึกถึงการชำระเงินผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่หรือระบบไร้สัมผัส[1] ด้วยการเติบโตอันรวดเร็วในด้านเทคโนโลยีทางการเงิน หรือ ฟินเทค (FinTech) ที่ภาครัฐบาลและเอกชนกำลังใช้แนวทางต่างๆ เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคในการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะเมื่อมีการทำธุรกรรมทางเงินผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่

คนไทยใช้เวลาอยู่กับอุปกรณ์เคลื่อนที่ต่างๆอย่างสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตประมาณ 160 นาทีต่อวัน[2] ซึ่งภายในสิ้นปี พ.ศ. 2559 นี้ คาดว่าจะมีจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนประมาณ 20 ล้านคนในประเทศไทยและคาดว่าจะสูงขึ้นถึง 24.5 ล้านคนภายในปี พ.ศ. 2562[3] แม้ว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและการเป็นเจ้าของอุปกรณ์เคลื่อนที่สำหรับคนไทยอยู่ในอัตราที่สูง แต่ความเข้าใจเกี่ยวกับบริการทางการเงินผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ยังค่อยเป็นค่อยไป โดยส่วนหนึ่งเกิดจากผู้บริโภคชาวไทยยังไม่ตระหนักถึงความก้าวหน้าของความปลอดภัยในโลกออนไลน์และเทคโนโลยีเท่าที่ควร

นายสุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “เมื่อดูจากผลสำรวจของเราแล้ว พบว่า ยิ่งระบบการชำระเงินผ่านมือถือมีความปลอดภัยมาก คนไทยก็จะมีความเชื่อมั่นและเต็มใจที่จะชำระเงินผ่านระบบดังกล่าวมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นด้วยระบบความปลอดภัยทางการเงินที่แน่นหนาหลายชั้นของวีซ่า เราจึงมั่นใจว่าเราจะเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มจำนวนการทำธุรกรรมผ่านมือถือในการประเทศไทยได้อย่างแน่นอน”

นอกจากนี้ รายงานการศึกษาที่จัดทำโดย ยูโกฟ (YouGov) ในนามของวีซ่า ถึง ทัศนคติของคนไทย ควบคู่ไปกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง สิงคโปร์และมาเลเซีย ต่อการทำธุรกรรมการเงินผ่านมือถือและระบบไร้สัมผัส (Contactless Payment) ยังพบว่า สิ่งที่คนในกลุ่มประเทศนี้โดยเฉพาะในประเทศไทยยังกลัวมากที่สุดในการชำระเงินด้วย mobile wallet คือ กลัวว่าจะมีการแฮ็คมือถือมากถึง 73 เปอร์เซ็นต์ ถูกขโมยโทรศัพท์มือถือ 65 เปอร์เซ็นต์ และกลัวว่าจะถูกเรียกเก็บเงินจากรายการที่ไม่ต้องการจะจ่ายอีก 63 เปอร์เซ็นต์

“ในจำนวนผู้ทำแบบสอบถามทั้งหมด พบว่า มีเพียง 39 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เลือกพิจารณาการใช้ mobile wallet จากเครือข่ายบุคคลที่สาม ซึ่งในกลุ่มที่พิจารณาใช้นี้ พบว่ากว่า 74 เปอร์เซ็นต์ทราบว่า encrypted token หรือ ‘โทเค็น’ นวัตกรรมรหัสล็อคข้อมูลซึ่งสามารถตัดความเสี่ยงของการโดนโจรกรรมข้อมูลได้” นายสุริพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม

บริการ Visa Token Service (VTS) ถูกออกแบบมาเพื่อให้ลูกค้าวีซ่ามั่นใจได้ว่าการชำระเงินแบบไร้สัมผัส (contactless payment) และบนสมาร์ทโฟนนั้นทั้งปลอดภัยและง่ายต่อการใช้งาน ระบบ VTS นั้นจะใช้รหัส โทเค็น แบบใช้ครั้งเดียวในการชำระเงินแทนข้อมูลของผู้ถือบัตร ฉะนั้นผู้ใช้ mobile wallet จึงสามารถชำระเงินได้โดยไม่จำเป็นต้องเผยรายละเอียดของบัญชีและเลขหน้าบัตร 16 หลัก หรือวันหมดอายุของบัตร เป็นต้น

กระบวนการแปลงข้อมูลแบบให้เป็น โทเค็น นี้เรียกว่า Tokenization ซึ่งจะทำหน้าที่ซ่อนข้อมูลที่สำคัญของผู้บริโภคในระหว่างการทำธุรกรรมการเงินแบบดิจิตอล เมื่ออาชญากรขโมยโทเค็นไปก็ไม่สามรถนำข้อมูลไปใช้ได้จากผลการสำรวจเผยให้เห็นว่าคนไทยประมาณ 55 เปอร์เซ็นต์คุ้นเคยกับรูปแบบการบริการ VTS เป็นอย่างดี ในขณะที่กลุ่มที่รับรู้สูงที่สุดในหมู่คนเหล่านี้ยังคุ้นเคยกับเทคโนโลยีในรูปแบบ mobile wallet อีกด้วย

คนไทยเกือบครึ่ง (46 เปอร์เซ็นต์) เชื่อว่าการชำระเงินผ่านอุปกรณ์พกพานั้นปลอดภัยเทียบเท่ากับการชำระเงินผ่านบัตรโดยตรง และมีแนวโน้มว่าตัวเลขนี้จะสูงขึ้นในอนาคตเพราะคนเริ่มคุ้นเคยกับระบบการชำระเงินผ่าน มือถือที่มีความก้าวหน้าและทันสมัยของวีซ่า

นอกจากนี้คนไทยสามในห้า (61 เปอร์เซ็นต์) เชื่อว่าในวันหนึ่งข้างหน้าพวกเขาไม่จำเป็นต้องพกเงินสดหรือบัตรพลาสติกในการใช้ชีวิตประจำวันอีกต่อไป และจะถูกแทนที่ด้วยการชำระเงินในรูปแบบ mobile wallet ผ่านสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์เคลื่อนที่ของพวกเขา

“เมื่อคนไทยเริ่มคุ้นเคยกับมาตรการรักษาความปลอดภัยด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างนวัตกรรมโทเค็นของวีซ่า เมื่อนั้นพวกเขาจะเริ่มเห็นเรื่องการชำระเงินผ่านโทรศัพท์หรือการชำระเงินแบบไร้สัมผัสเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันของพวกเขามากยิ่งขึ้น”

ที่มา:สยามธุรกิจ
*************************************************

วันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2559

พัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เก็บไข่หลายฟองในตะกร้าหลายใบ ....

โดย อรรถวันท์ เกตุดาว

รัฐบาลประเทศไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ควบคู่ไปกับการสานต่อ "วิถีไทย" อันเป็นความสงบสุขร่มเย็นของปวงชนชาวไทยที่สืบทอดกันมายาวนานทุกยุคทุกสมัย และยังคงดำรงต่อไป

อย่างไรก็ดี การมีความหลากหลายในทางปฏิบัติเพื่อพัฒนาประเทศ ย่อมดีกว่า การมีหนทางเพียงหนทางเดียว เพราะไทยเราถึงแม้จะมีนโยบายดำเนินงานด้านต่าง ๆ ให้ทันกระแสโลก กระนั้นเราก็ยังคงมีวิถีชีวิตแบบไทย ๆ เอาไว้ เพราะนี่คือ "เสน่ห์วิถีไทย" ที่ผู้คนทั่วโลกสืบเสาะแสวงหา เป็นความสงบสุขร่มเย็นแห่งจิตใจ นอกจากนี้แล้วประเทศไทยยังเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก ที่ชนทั่วโลกต่างยอมรับ ซึ่งเป็นที่น่ายินดียิ่งกับการยกย่องในระดับโลกเช่นนี้ แต่เราชาวไทยเองก็ต้องเน้นในเชิงประพฤติปฏิบัติด้วย จึงจะเข้าถึงธรรมที่แท้จริงได้

ธรรมะค้ำจุนโลก มีผลให้จิตใจของประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะเยาวชน เห็นความสำคัญ และธรรมะยังเป็นแกนสำคัญในการหล่อหลอมจิตใจให้เด็กและเยาวชนเติบโตเป็นกำลังของชาติที่มีคุณภาพ การพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมาย จะเป็นผู้นำทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ส่งผลให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี อยู่ดีกินดี มีการศึกษา และสามารถสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับประเทศชาติได้ ความจริงข้อนี้ก็เป็นที่ยอมรับ

การที่รัฐบาลเน้นพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อความเจริญก้าวหน้าของเศรษฐกิจก็จริงอยู่ แต่ต้องพัฒนาไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาชีวิตจิตใจ และการพัฒนาเชิงเกษตรและอุตสาหกรรมด้วย เสมือนการเก็บไข่หลายฟองไว้ในตะกร้าหลายใบ จะทำให้เราเสี่ยงต่อความล้มเหลวน้อยลง

เพราะหากไข่ในตะกร้าใบไหนต้องสูญเสียหรือถูกทำลายไป ก็ยังมีไข่ในตะกร้าใบอื่น ๆ สำรอง ทำให้ส่งผลกระทบกระเทือนได้น้อยลง ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว หากเราทั้งหลายร่วมแรงร่วมใจกันทำเพื่อชาติอย่างแท้จริง

ศาสนาเป็นรากเหง้าแห่งชีวิต ทำให้ชีวิตเติบโตไปในทิศทางที่ดี กำหนดให้สอดคล้องกับนโยบายของชาติได้โดยไม่ต้องมาแบ่งแยกให้เกิดความแปลกแยกทางความคิด เพราะทุกประเด็นมีผลต่อการเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศชาติทั้งสิ้น ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

กำหนดจิตให้เป็นเอกภาพเดียวกัน คือ ความเจริญรุ่งเรืองของชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า 5-6 ปีที่ผ่านมา กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ อำนวยความสะดวกให้เยาวชน โดยมีการสอบเป็นเชิงปฐมภูมิ (Standard Technology Testing) ฯลฯ ประเทศไทยต้องสร้างความเข้มแข็งด้านการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งก็ทำได้พอสมควร มีกองทุนนวัตกรรม (Fund Innovation Policy) เกิดขึ้น ตรงไหนแจ้งเกิดแล้ว โตได้เร็ว มีความพร้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีคุณูปการมากทางด้านผลิตผลทางการเกษตรและอาหาร ทำให้ประเทศไทยมีความคล่องตัวทางด้านอาหาร มี Feasibility ครบวงจร เติบโตจากพื้นฐานที่ดี มีอินฟราสตรักเจอร์ สามารถเนรมิตโดยใช้ของที่มีอยู่ นำไปแจ้งเกิดแล้วต่อยอด ควรที่จะมีการทดลองใหม่ ๆ แล้วนำไปผ่านการทดสอบที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะมีเครือข่ายของมหาวิทยาลัยเพื่อมีส่วนร่วมกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ในการพัฒนาต่อยอดทางด้านนวัตกรรม

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีก็มีความเห็นว่า เรามี 40 ผลงานจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มีนวัตกรรม แต่ยังไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ให้เกิดอย่างเต็มที่ในการพัฒนาประเทศ ดังนั้น ให้ไปทำบัญชีภาครัฐมาดูว่า ซื้อของมากี่มากน้อย และเรามีนวัตกรรมไทยอะไรบ้าง หรือนวัตกรรมอะไรบ้างที่สามารถทำงานร่วมกันกับภาคเอกชนหรือเป็นของเอกชน

ความคิดเห็นของนายกรัฐมนตรีคือทำอย่างไรจะมีนวัตกรรมไทยเอาไปรองรับการเข้าสู่อาเซียนได้ สามารถนำนวัตกรรมไทยไปขยายผลต่อให้ภาครัฐ ซึ่งจะทำให้นวัตกรรมไทยพุ่งปรี๊ดเลย รายละเอียด ขั้นตอน ระเบียบ กฎหมาย รัฐบาลได้ทำให้สอดคล้องและปลดล็อกให้รัฐและเอกชนทำงานร่วมกันได้แล้ว แต่ละชิ้นงานทั้งวงจรชีวิต ตลอดจนถึงการนำไปใช้

ดังนั้น ณ วันนี้เราบ่นว่าเด็กของเราเรียนโดยท่องจำ แต่หากเราเปิดโรงงานให้เด็กของเราเข้าไปทำงานได้ตั้งแต่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยปีสุดท้าย ทำงานทั้งปีในโรงงานเป็นหลัก Mentor นักศึกษาจะรู้สึกว่าเขามีความหมาย

สุดท้ายแล้วเราจะสามารถพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ได้ง่ายขึ้น

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
--------------------------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2559

สัญญานดี เวิลด์แบงค์ ขยับจีดีพีไทย 2.5%






คนไทยชักมีความหวัง หลังจากรัฐบาลส่งซิกเศรษฐกิจกำลังจะโตมานาน แต่ก็ยังไม่สนิทใจนัก หนนี้แบงก์โลกเคาะเปรี้ยงกับมือ จีดีพีไทยปีนี้มีแววสดใสให้เห็น
 ผู้อำนวยการธนาคารโลก ประจำภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ บอกมาว่า ธนาคารโลกได้วิเคราะห์แล้ว เห็นควรปรับคาดการณ์อัตราการเติบโตการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2559 นี้เพิ่มเป็น 2.5% จากเดิมที่คาดว่าจะโตแค่ 2%

ที่ว่าแบบนี้ก็เพราถะว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของไทยใสปิ๊งๆจริงๆ ดีเกินคาดถึง 3.2% และทั้ง 3 ปัจจัยนี้ยังเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก ของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง

ขณะเดียวกัน แบงก์โลกก็มีคาดกการณ์ประเทศอื่นๆในอาเซียนไปด้วย โดยประเทศที่เติบโตมากสุดคือ พม่า 7.8% รองลงมาคือ เวียดนาม 6.2% อินโดนีเซีย 5.1% มาเลเซีย 4.4%

ดูๆจากตัวเลขนี้ นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ประจำประเทศไทยบอกว่าที่ไทยได้ปรับขึ้นจาก 2% เป็น 2.5% ขึ้นมา 0.5% นี้ ถือว่าอัตราการขยายมากสุด แต่ตัวเลขการเติบโตต่ำสุดในอาเซียน ซึ่งสะท้อนได้ว่า เศรษฐกิจไทยเป็นแบบค่อยๆฟื้นอย่างช้าๆ ก็เป็นผลมาจากที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยนั่นเอง

โตช้าแบบสโลว์บัทชัวร์หรือไม่..ให้ระวังความไม่แน่นอนทางการเมือง ที่อาจจะทำให้นโยบายการคลังในครึ่งปีหลัง อาจจะมีประสิทธิภาพลดน้อยถอยลงได้ แล้วก็มีเรื่องเศรษฐกิจจีนที่ยักแย่ยักยันอยู่ เพราะเราผูกกับจีนไว้เยอะ สัดส่วนการค้าขายกับจีนถึง 12% ไปจนถึงเรื่องสินค้าเกษตรที่โตติดลบมานาน สุดท้ายคือภัยธรรมชาติ

ทั้งหมดคือปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวัง แต่ยังมีเรื่องน่าห่วงอีกหนึ่ง คือสังคมสูงวัย “แก่ก่อนรวย” ที่อาจจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในอีก 5 ปีข้างหน้าได้ พบว่าขณะนี้ประชากรวัยทำงานไทยในปี 2583 หรือ 24 ปีข้างหน้า จะลดลงอีก 11% คือจาก 49 ล้านคน เหลือ 40.5 ล้านคน อันนี้ต้องระวัง ต้องเร่งรับมือและปฏิรูปหลายด้าน ทั้งเรื่องบำนาญ การดูแลสุขภาพ การดูแลในระยะยาว จะทำยังไง เพราะประเทศอื่นๆเจอกันมาเยอะแล้วทั้งสิงคโปร์ ญี่ปุ่น

ที่มา.สยามธุรกิจ
-------------------------------------------------------

วันพุธที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2559

เตือนประชาชนดูแลสุขภาพช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง...!!?


ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ กระทรวงสาธารณสุข
โดย. ฐานเศรษฐกิจ

กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนดูแลสุขภาพช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง เน้น 6 โรคสำคัญช่วงฤดูหนาว ชี้หนาวที่แล้วมีผู้ป่วยรวมกว่า 5.2 แสนราย

นายแพทย์เจษฎา  โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง ในหลายพื้นที่สภาพอากาศเริ่มเย็นลงและบางพื้นที่ยังมีฝนตกอยู่ ซึ่งอากาศที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงความชื้นและความหนาวเย็นจะทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี มีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานขึ้น กรมควบคุมโรคจึงขอประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนในการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยจากโรคที่พบบ่อยในฤดูหนาว ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม โรคหัด โรคสุกใส โรคมือ เท้า ปาก และโรคอุจจาระร่วง เฉพาะช่วงฤดูหนาวที่ผ่านมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2558 – กุมภาพันธ์ 2559 มีรายงานผู้ป่วย 6 โรคฤดูหนาวรวม 526,291 ราย เสียชีวิต 141 ราย โดยโรคที่มีความรุนแรงมากที่สุดคือ โรคปอดบวม พบผู้ป่วย 78,628 ราย เสียชีวิต 133 ราย ส่วนโรคไข้หวัดใหญ่พบผู้ป่วย 43,622 ราย เสียชีวิต 1 ราย โรคอุจจาระร่วงพบผู้ป่วย 374,403 ราย เสียชีวิต 7 ราย โรคสุกใสป่วย 38,343 ราย โรคมือ เท้า ปาก ป่วย 14,166 ราย และโรคหัดพบผู้ป่วย 313 ราย

กลุ่มเสี่ยงที่อาจป่วยได้ง่ายในช่วงนี้คือ เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคเรื้อรังประจำตัว ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย เป็นต้น เนื่องจากมีภูมิต้านทานโรคต่ำ จึงติดเชื้อง่ายและอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไป ดังนั้นจึงขอให้ผู้ที่มีความเสี่ยงป่วยง่ายไม่คลุกคลีใกล้ชิดและไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วยที่เป็นหวัด ไอ จาม เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ จาน โดยเฉพาะครอบครัวที่มีเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ขอให้เพิ่มการดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ

สำหรับโรคไข้หวัดใหญ่ จะติดต่อได้ง่ายโดยการหายใจเอาเชื้อที่ฟุ้งกระจายในอากาศ และแพร่กระจายได้กว้างขวางในที่ๆคนอยู่แออัด  หากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ต้องพักผ่อนให้มากๆ หยุดเรียน หยุดทำงาน สวมหน้ากากอนามัย หากไข้ไม่ลดลงภายใน 2 วัน เสี่ยงมีอาการแทรกซ้อนให้รีบไปพบแพทย์ ในกลุ่มเด็กเล็กหากมีอาการไข้สูง หายใจหอบ เด็กเล็กจะซึม ไม่ดูดน้ำ ไม่ดูดนม  หายใจเสียงดัง บางรายหายใจหอบจนชายโครงบุ๋ม

โรคหัด เป็นไข้ออกผื่น ที่มักพบได้บ่อยในช่วงฤดูหนาว พบได้ทุกวัย แต่ที่พบบ่อยคือในเด็กเล็ก และสามารถติดต่อกันได้ง่าย โดยการไอ จาม หรือพูดกันในระยะใกล้ชิด อาการของโรคหัด เริ่มด้วยมีไข้ น้ำมูกไหล ไอ ตาแดง ตาแฉะ และกลัวแสง อาการต่างๆจะมากขึ้นพร้อมกับไข้สูงขึ้น การป้องกันโรคหัด ทำได้โดยการแยกผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นโรคหัด หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย และฉีดวัคซีนป้องกัน

นอกจากนี้ ในช่วงฤดูหนาวมักพบเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วง ซึ่งโรคนี้ติดต่อโดยการดื่มน้ำและกินอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อน อาการจะเริ่มด้วยไข้หวัดก่อนแล้วมีอาการถ่ายเหลว โดยทั่วไปอาการจะไม่รุนแรงแต่อาจทำให้การเจริญเติบโตของเด็กหยุดชะงักไประยะหนึ่ง ด้านโรคมือ เท้า ปาก ส่วนใหญ่พบผู้ป่วยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล สถานรับเลี้ยงเด็ก การติดต่อเกิดจากการได้รับเชื้อที่ปนเปื้อนในจากอุจจาระ หรือฝอยละออง น้ำมูกน้ำลาย น้ำในตุ่มพองหรือแผลของผู้ป่วยเข้าสู่ปาก

การป้องกันการเจ็บป่วยจากโรคต่างๆในฤดูหนาว สามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาทีสัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง ดื่มน้ำสะอาด กินอาหารปรุงสุกใหม่ไม่มีแมลงวันตอม ใช้ช้อนกลางทุกครั้งเมื่อกินอาหารร่วมกับผู้อื่น และหมั่นล้างมือบ่อยๆด้วยน้ำและสบู่หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือเพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อ รวมถึงกินอาหารที่มีประโยชน์และเพิ่มผัก ผลไม้สดจะช่วยเพิ่มภูมิต้านทานโรคได้ และต้องนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง ไม่หักโหมทำงานหามรุ่งหามค่ำเนื่องจากจะทำให้เกิดความอ่อนเพลีย ควรอยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก หลีกเลี่ยงสถานที่มีคนแออัด นอกจากนี้ควรสวมเสื้อผ้าหนาๆหรือสวมเสื้อหลายๆชั้น เพื่อรักษาร่างกายให้อบอุ่น ที่สำคัญหากป่วยแล้วอาการไม่ดีขึ้นให้รีบพบแพทย์ หากประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

ที่มา.นสพ. ฐานเศรษฐกิจ
*******************************************************

วันจันทร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2559

มหาเศรษฐีจีน เตือน..ฟองสบู่ครั้งประวัติศาสตร์...!!?


จากที่เศรษฐกิจจีนอยู่ในภาวะชะลอตัว พร้อม ๆ กับแผนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตด้วยความยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งล่าสุดธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของจีนปีนี้จะเติบโตอยู่ที่ราว 6.7% และลดลงมาที่ 6.5% ในปีหน้า และ 6.3% ในปี 2560

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว "หวัง เจี้ยนหลิง" มหาเศรษฐีอันดับต้น ๆ ของจีน ประธานกลุ่ม "ต้าเหลียนหวันต๋า" ที่ร่ำรวยมาจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่ช่วงหลังได้ขยายการลงทุนไปที่สหรัฐอเมริกา ให้สัมภาษณ์กับ "ซีเอ็นเอ็น" ว่า สถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์จีนในเวลานี้เรียกว่าเป็น "ฟองสบู่ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของจีน" และเกินจะควบคุม โดยสถานการณ์ฟองสบู่หนักขึ้นเรื่อย ๆ

หลังจากปีที่แล้วเกิดวิกฤต "ฟองสบู่ตลาดหุ้นจีนแตก" ทำให้บรรดานักลงทุนรายย่อยเสียหายไปจำนวนมาก และปัจจุบันวิกฤตเศรษฐกิจก็เริ่มหันมาเกิดกับภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน

นายหวังกล่าวว่า "ปัญหาใหญ่ที่สุดของธุรกิจภาคอสังหาฯ คือราคาบ้าน ที่ดินพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในเขตเมืองใหญ่เช่น เซี่ยงไฮ้ แต่ในเมืองเล็กราคากลับร่วงลงเนื่องจากมีบ้านใหม่ขายไม่ออกจำนวนมาก แม้รัฐบาลจะใช้มาตรการทุกอย่าง ทั้งจำกัดการซื้ออสังหาฯ และการปล่อยสินเชื่อ เพื่อชะลอความร้อนแรงแต่ก็ไม่สัมฤทธิผล และยังไม่เห็นทางออกที่ดีสำหรับปัญหานี้"

ทั้งนี้ 6 เดือนแรกของปีนี้ธนาคารจีนมีการปล่อยสินเชื่อตลาดอสังหาริมทรัพย์สูงถึง 24 ล้านล้านหยวน แย่ไปกว่านั้นในช่วงขาลงของเศรษฐกิจ ขณะที่หนี้สาธารณะต่อจีดีพีของประเทศจีนสูงถึง 247%

นี่เป็นปัญหาใหญ่มาของจีนเวลานี้ในเวลาที่เศรษฐกิจจีนเติบโตชะลอตัวและมีหนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่สำนักสถิติแห่งชาติจีนเผยว่าราคาบ้านใน 70 เมืองหลัก ๆ ของจีน ในเดือนสิงหาคมพุ่งขึ้นถึง 9.2% เมื่อเทียบจากปีก่อน นอกจากนี้ ข้อมูลยังระบุว่าราคาบ้านชั้นใน ของเมืองเซี่ยงไฮ้และปักกิ่งเพิ่มขึ้น 31.2% และ 23.5% ตามลำดับ ขณะที่ราคาบ้านเขตนอกเมืองเซียะเหมินและเหอเฟยได้กำไรเพิ่มขึ้นอย่างมากจากราคาที่เพิ่มขึ้นถึง 43.8% และ 40.3% ตามลำดับ หรือในบางเมืองขึ้นสูงถึง 50%

โดยก่อนหน้านี้มหาเศรษฐีรายนี้ออกมาเตือนถึงปัญหาฟองสบู่อสังหาฯ มาก่อนหน้านี้แล้ว ขณะที่กลุ่ม "ต้าเหลียนหวันต๋า" ซึ่งทำธุรกิจอสังหาฯ ประเภทห้างสรรพสินค้าและอาคารสำนักงานทั่วประเทศจีน ที่ผ่านมาก็ได้ค่อย ๆ ปรับลดสัดส่วนการลงทุนในธุรกิจอสังหาฯแล้ว

ปัญหาคือการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนยังไม่ถึงจุดต่ำสุด ถ้าเรายกเลิกมาตรการต่าง ๆ เร็วเกินไป ก็อาจทำให้เศรษฐกิจบอบช้ำต่อไป ดังนั้นเราต้องรอจนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นกลับมาปกติ หมายความเราจะต้องค่อย ๆ ลดหนี้และลดมาตรการกระตุ้นต่าง ๆ"

อย่างไรก็ตาม นายหวังปิดท้ายว่า แม้สถานการณ์จะมีทิศทางดิ่งลง แต่ไม่คิดว่าเศรษฐกิจจีนจะเกิดปัญหา "ฮาร์ดแลนดิ้ง"

สอดคล้องกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ "ไอเอ็มเอฟ" ให้ความเห็นว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจจีนจะช้าลงเรื่อย ๆ แต่จะยังคงสูงเมื่อเทียบกับบรรทัดฐานเศรษฐกิจทั่วโลก การขยายตัวของจีดีพีถูกคาดการณ์ไว้ที่ 6.6% ปีนี้ และ 6.2% ในปี 2560

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
////////////////////////////////////////////////////////////////////////

วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2559

อังค์ถัด.ชี้ปีอันตราย แนะยกระดับการค้าภูมิภาค.......!!?


สหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ "อังค์ถัด" ระบุในรายงานการค้าและการพัฒนาประจำปี 2559 เน้นย้ำว่า ภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เป็นปัจจัยฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจโลก และในประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ ดำเนินนโยบายการคลังที่ "เข้มงวด" ทำให้การฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ "อ่อนแอที่สุดในประวัติศาสตร์" พร้อมระบุว่าถึงเวลายกเครื่องนโยบายเศรษฐกิจโลกหลังตกต่ำต่อเนื่องยาวนานถึง 6 ปี

และสถานการณ์เหล่านี้ก็ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาที่ชะลอตัวลงเช่นกัน ทำให้เกิดความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ของอังค์ถัดคาดการณ์ว่า การเติบโตของเศรษฐกิจโลกปีนี้จะต่ำกว่า 2.5% ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับปี 2557 และ 2558 

ขณะที่การค้าโลกเติบโตลดลงเหลือแค่ 1.5% ต่ำกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกอังค์ถัดชี้ว่าหากผู้กำหนดนโยบายไม่สามารถจัดการผลกระทบทางลบจากการปล่อยกลไกตลาดเสรี และหันไปใช้นโยบาย "กีดกันทางการค้า" จะยิ่งทำให้นำไปสู่วงจรแห่งความเลวร้าย ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อทุกคน 

โดยที่อังค์ถัดมองว่า ตลาดในระดับภูมิภาคและการค้าระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน ยังเปิดโอกาสสำหรับการส่งออกใหม่ ๆ แต่ต้องมีการวางกลยุทธ์เชิงนโยบายที่สมดุลเพื่อส่งเสริมตลาดภายในประเทศไปพร้อมกัน

ด้านสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ และคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ยูเอ็นเอสแคป) จัดเวทีการประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยการค้าและการพัฒนาประจำปี 2559 ภายใต้หัวข้อ "การค้าและการลงทุนอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย : เวลาแห่งการปฏิบัติการ" เพื่อร่วมพูดคุยสถานการณ์และทิศทางการยกระดับเศรษฐกิจภูมิภาคภายใต้กรอบ "ข้อตกลงไนโรบี"

นายสมชิต อินทมิต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สปป.ลาว กล่าวว่า ปัจจุบันโลกมีความซับซ้อน และไม่เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม จากเป้าหมายนำพาประเทศพ้นจากสภาวะประเทศที่มีรายได้น้อยภายในปี 2563 ทาง สปป.ลาวจึงมีกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลายประการ ทั้งการกำจัดการทุจริตภาษีนำเข้าและส่งออก เน้นให้เกิดการพัฒนาจากเอกชนมากขึ้น รวมไปถึงการจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติอำนวยความสะดวกทางการค้า และการจัดตั้งเว็บไซต์ www.laotradeportal.gov.la เพื่อให้ศูนย์กลางของผู้นำเข้าและส่งออกสามารถพูดคุยกันได้โดยตรง 

อย่างไรก็ตาม สปป.ลาวมีข้อจำกัดจากที่ไม่มีพรมแดนติดทะเล ดังนั้นจึงเน้นพัฒนาด้านบริการท่องเที่ยว และเปิดรับการลงทุนจากนอกประเทศเป็นสำคัญ ซึ่งปัจจุบันก็มีสายการบินต่างชาติเข้ามาลงทุน เช่น แอร์เอเชียและนกแอร์ ซึ่งจะเป็นหนทางเอาตัวรอดทางเศรษฐกิจ แต่สำคัญที่สุดในการยกระดับเศรษฐกิจก็คือความร่วมมือระดับภูมิภาคและสนับสนุนการเป็นหุ้นส่วนทางการค้า

สอดคล้องกับความเห็นของ นายซิม โสเค็ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประเทศกัมพูชา ที่ว่าความร่วมมือระดับภูมิภาคเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก ขณะเดียวกันกัมพูชาจะเน้นส่งเสริมการลงทุนจากภาคเอกชนมากขึ้น และจะพยายามทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีในระดับทวิภาคี รวมถึงการส่งเสริมการค้าการบริการ ที่ไม่ใช่เพียงบริการด้านท่องเที่ยวเท่านั้น แต่รวมไปถึงภาคการธนาคาร โทรคมนาคม ขนส่งโลจิสติกส์ ที่จะเข้ามาช่วยสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งกัมพูชาก็มีความมุ่งมั่นที่จะพ้นจากการเป็นประเทศที่มีรายได้น้อยภายในปี 2563 เช่นเดียวกัน

ขณะที่ นางซูซาน เอฟ. สโตน ผู้แทนจากยูเอ็นเอสเคป มองว่า ภูมิภาคอาเซียนมีพลังที่จะเพิ่มห่วงโซ่คุณค่า โดยมีปัจจัยหนุนสำคัญคือการกำหนดนโยบายลงทุนที่โปร่งใส และนำเอกชนมาร่วมลงทุนในตลาดโลก และแม้ สปป.ลาวและกัมพูชาจะมีรายได้จากธุรกิจท่องเที่ยวเป็นรายได้หลัก แต่ต้องไม่มองข้ามการพัฒนาด้านไอซีที เพราะจะเป็นตัวช่วยสำคัญในการพัฒนาการค้าและบริการอื่น ๆ ต่อไป

สำหรับไทยในฐานะประเทศที่มีรายได้ปานกลาง นายไพศาล หรูพาณิชย์กิจ รองอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ระบุถึงความช่วยเหลือที่มีต่อประเทศเพื่อนบ้านว่า ไทยสามารถช่วยได้ในด้านความรู้ด้านเทคโนโลยีและโนว์ฮาวที่เหมาะสมกับการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงที่สอดคล้องกับกรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืน เหมาะสมกับการพัฒนาเศรษฐกิจด้านการเกษตรอย่างยิ่ง

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////