--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ทักษิณโพสต์ทวิตเตอร์ทำ TV ออนแอร์ 1 พย.


ไอเอ็นเอ็น : พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ โพสต์ข้อความและ รูปภาพลงทวิสเตอร์ โดยระบุว่า”เช้านี้ทีมงานได้มาถ่ายทำเปิดตัวช่องที่ผมเคยสัญญาไว้ รอติดตามชมนะครับ” ซึ่งเป็นรูปภาพดังกล่าว เป็นการการถ่ายทำเพื่อเตรียมจะไปออกใน ทีวี ดาวเทียม ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เคยบอกไว้ว่า จะเปิดถึง 100 ช่อง โดยจะมีช่องที่เกี่ยวกับประเทศไทย 3 ช่อง คือช่องOTOP ช่องการศึกษา และช่องพระราชกรณียกิจ

ด้านนาย นพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า สำหรับ ทีวีดาวเทียม 100 ช่อง จะเริ่มออกอาศใน วันที่ 1 พย. นี้โดยจะเป็นการทยอยทดลองออกอาศไปเรื่อยๆ ซึ่งประชาชนสามารถชมได้ทั่วโลก ขณะที่พ.ต.ท.ทักษิณนั้น ขณะนี้อาศัยอยู่ที่ดูไบ และสุขสบายดี

ธงชัย วินิจจะกุล : อดีตซ้าย-อดีตขวา สามัคคีต้านทุนนิยมและอเมริกา

ฝ่ายขวาแทบทุกคนที่สัมภาษณ์เห็นว่า ภัยที่น่าเป็นห่วงสำหรับประเทศไทยในปัจจุบันคือ ทุนนิยมและสหรัฐอเมริกา แม้แต่ -ผ- ซึ่งต่อต้านคอมมิวนิสต์มาตลอดชีวิต และมองเรื่องความมั่นคงของชาติด้วยแว่นคอมฯ 2 สายมาตลอดก็เห็นว่า ปัจจุบันต้องระวัง CIA แทรกแซง ปั่นหัวกลุ่มต่างๆ ในสังคมไทย จนอาจเป็นภัยต่อความมั่นคง แน่นอนว่าพวกเขาตระหนักดีว่าภัยทุนนิยมและสหรัฐอเมริกาเป็นคนละเรื่องคนละลักษณะกับภัยจากคอมมิวนิสต์

วาทกรรมภัยทุนนิยมของบรรดาฝ่ายขวา แตกต่างจากวาทกรรมต่อต้านทุนนิยมของฝ่ายซ้ายเมื่อ 30 ปีก่อนอย่างเห็นได้ชัดๆง่ายๆ(คือไม่ใช่วาทกรรมแบบเหมาอิสต์) แต่ฝ่ายขวาเหล่านี้พูดภาษาใกล้เคียงมากกับวาทกรรมต่อต้านเสรีนิยมใหม่และโลกาภิวัตน์ของบรรดาปัญญาชนและนักเคลื่อนไหวภาคประชาชนของไทยในปัจจุบัน นั่นคือ ต่อต้านทุนนิยมของ “ฝรั่ง” ตะวันตก

การสัมภาษณ์ทั้งหมดกระทำหลังวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 หลายปี แต่ความเจ็บปวดจากวิกฤตของทุนนิยมคราวนั้นยังคงชัดเจนในความทรงจำของทุกคน ที่สำคัญคือวาทกรรมเกี่ยวกับมูลเหตุของวิกฤต ออกมาในลักษณะชาตินิยมต่อต้านทุนนิยมของ “ฝรั่ง” ตะวันตก คือ เป็นเรื่องของชาติทุนนิยมยักษ์ใหญ่ของฝรั่งตะวันตกที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นหัวโจกทำร้ายชาติทุนนิยมที่กำลังเติบโต ชาติใหญ่รังแกชาติเล็ก วาทกรรมที่แพร่หลายเข้าใจง่ายก็คือทำให้เป็นเรื่องของการสมคบคิดกัน (conspiracy) ระหว่างยักษ์ใหญ่ทางการเงินและการเมืองของโลกไม่กี่คน ระบุตัวลงไปที่จอร์จ โซรอสก็บ่อย คำว่าฉันทามติวอชิงตันก็ถูกเข้าใจง่ายๆว่าหมายถึงการที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมใหม่ของทุนนิยมฝรั่งตะวันตก วางแผนทำลายชาติเล็กๆโลกาภิวัตน์กลายเป็นชื่อของแผนการชั่วร้ายที่ทุนนิยมของฝรั่งตะวันตกใช้ทำร้ายชาติทุนนิยมที่เล็กกว่า วาทกรรมต่อต้านทุนนิยมของฝรั่งตะวันตกจึงไม่ใช่แบบสังคมนิยม แต่เป็นวาทกรรมแบบทุนชาตินิยมเป็นหลัก กระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์จึงเป็นเรื่องของฝรั่งมาย่ำยีไทย “เขา” มากระทำย่ำยี “เรา”

ทั้งซ้ายเก่าและขวาเก่าใช้วาทกรรมแทบไม่ต่างกัน เพราะความคิดเก่าของทั้งสองมีเชื้อมูลให้รับความคิดทุนชาตินิยมได้ง่าย และเพราะพวกเขาในปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของทุนชาตินิยม

การสัมภาษณ์ส่วนใหญ่กระทำในช่วงรัฐบาลทักษิณ ซึ่งถูกมองว่าเป็นตัวแทนของทุนนิยมของฝรั่งตะวันตกที่เลวร้ายดังเรียกว่า “ทุนสามานย์” ในเวลาต่อมา ความไม่พอใจทักษิณกับความไม่พอใจทุนนิยมโลกาภิวัตน์และความไม่พอใจสหรัฐอเมริกาในกระแสโลกป้อนหนุนซึ่งกันและกัน ในบรรดาฝ่ายขวาที่สัมภาษณ์ในช่วงรัฐบาลทักษิณ มีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ชอบรัฐบาลทักษิณ พวกเขาที่เหลือเห็นว่าทักษิณเดินหน้าหนุนทุนนิยมแบบโลกาภิวัตน์ ซึ่งพวกเขาเห็นว่าเป็นแบบที่สหรัฐอเมริกาชาติยักษ์ใหญ่ที่รังแกชาติเล็กๆ ไปทั่วโลกต้องการ จึงไม่น่าไว้ใจรัฐบาลทักษิณ

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เสนอว่าการเปลี่ยนแปลงสำคัญของปัญญาชนฝ่ายซ้ายหลัง 6 ตุลา คือ การคืนดีกับสถาบันกษัตริย์ หากตั้งคำถามว่าทำไมปัญญาชนฝ่ายซ้ายหลัง 6 ตุลาจึงหันไปคืนดีกับสถาบันกษัตริย์เช่นนั้น? สมศักดิ์มักอธิบายในทำนองว่าคนเหล่านั้นความคิดที่ไม่ถูกต้องชัดเจน การเมืองไม่คมชัดพอ ฉวยโอกาส เปลี่ยนสี ฯลฯ ผู้เขียนเห็นว่าการคืนดีกับสถาบันกษัตริย์เป็นส่วนหนึ่ง (ไม่ใช่เหตุ แต่เป็นผล) ของแนวโน้มทางปัญญาที่ทรงพลังกว่าเรื่องสถาบันกษัตริย์ จนสามารถผลักให้ความเห็นต่อสถาบันกษัตริย์เปลี่ยนไปจนไม่เห็นเป็นปัญหาสำคัญเท่าไรนัก ได้แก่ ความเข้าใจของปัญญาชนนักต่อสู้ทางสังคมต่อทุนนิยมโลกาภิวัตน์จากจุดยืนแบบทุนชาตินิยม คือเห็นทุนนิยมโลกาภิวัตน์ว่าเป็นเรื่องของภัยจากฝรั่งตะวันตก การประกาศตนเป็นอริกับทุนนิยมโลกาภิวัตน์ก็เป็นการประกาศต่อสู้กับทุนนิยมของฝรั่งตะวันตก ถือเอาการต่อสู้กับทุนนิยมของฝรั่งตะวันตกเป็นวาระสำคัญที่สุด นี่เป็นวาระการเมืองของทุนชาตินิยม

จุดยืนแบบทุนชาตินิยมทำให้พวกเขาเกลียดกลัวผู้ที่เขาเห็นว่าเป็น “ตัวแทน” ทุนนิยมโลกาภิวัตน์ของ “ฝรั่ง” ตะวันตกอย่างเข้ากระดูก จุดยืนแบบทุนชาตินิยมเช่นกันกลับทำให้พวกเขามองไม่เห็นความอัปลักษณ์และภัยที่มาจากทุนผูกขาดรายใหญ่ที่มีรากลึกกว่ามากในสังคมไทย มีฐานเศรษฐกิจและธุรกิจกว้างขวางมั่นคงกว่าทุนอื่นใดในสังคมไทยเพราะเป็นที่ดิน มีฐานทุนทางสังคมที่ไม่มีใครเทียบได้เพราะผูกกับความศักดิ์สิทธิ์ มีฐานการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมที่แข็งแกร่งด้วยพลังราชการและตุลาการ และแท้ที่จริงแล้วก็เป็นทุนแบบโลกาภิวัตน์เช่นกัน พวกเขามองไม่เห็นเพราะเป็นทุนที่ผูกติดสนิทกับความเป็นไทย

ฝ่ายซ้ายเดิมจบไปนานแล้ว สิ่งที่มาในร่างฝ่ายซ้ายเดิมคือ ปีกหนึ่ง(ซ้าย?)ของทุนชาตินิยม
ด้วยเหตุนี้เอง พวกเขาจึงสามารถร่วมมือกับปีกอื่นๆของทุนชาตินิยมได้ รวมทั้งทุนที่ผูกติดสนิทกับความเป็นไทยและพวกกษัตริย์นิยม ตราบเท่าที่เอาการต่อสู้กับทุนนิยมของฝรั่งตะวันตกเป็นวาระการเมืองสำคัญที่สุดตรงกัน นักคิดฝ่ายประชาชนหลายคนเชื่อว่า สามารถ “ใช้” สถาบันฯ เพื่อต่อสู้กับทุนนิยมโลกาภิวัตน์ของ “ฝรั่ง” ซึ่งเขาเห็นเป็นวาระทางสังคมสำคัญที่สุด

การ “คืนดีฯ” ไม่ใช่เรื่องของคนนั้นและคนนี้เปลี่ยนสี แต่เป็นผลของแนวโน้มทั่วไปทางปัญญาแบบทุนชาตินิยมของพวกฝ่ายซ้ายเดิม อันที่จริงยังมีข้อน่าคิดอีกว่า ลักษณะทุนชาตินิยมก็อาจเป็นเชื้อมูลของความคิดซ้ายของพวกเขาตั้งแต่ยุคเดือนตุลาเช่นกัน หมายความว่าพวกฝ่ายซ้ายเดิมไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิมมากนักอย่างที่คิดกัน ท่าทีต่อสถาบันกษัตริย์อาจหนักหน่วงแต่เอาเข้าจริงไม่เคยเป็นประเด็นมูลฐานของความคิดทางการเมืองของพวกเขาอย่างที่เข้าใจกัน การคืนดีหรือไม่คืนดีจึงไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายสำหรับพวกเขา

ในเวลาเดียวกันฝ่ายขวาเดิมก็จบไปแล้วเช่นกัน สิ่งที่มาในร่างฝ่ายขวาเดิมคือ อีกปีกหนึ่ง(ขวา?)ของทุนชาตินิยม

ถ้าการเปลี่ยนแปลงสำคัญของปัญญาชนฝ่ายซ้ายหลัง 6 ตุลา คือ คืนดีกับสถาบันกษัตริย์ การเปลี่ยนแปลงสำคัญของฝ่ายขวาหลัง 6 ตุลา คือ การหย่าร้าง เอาใจออกห่างจาก “ฝรั่ง” ตะวันตก และไม่ไว้ใจฝรั่งตะวันตกรุนแรงเข้มข้นยิ่งขึ้น หากใช้สายตาประวัติศาสตร์ระยะยาวอาจกล่าวได้ว่า ความไว้ใจฝรั่งตะวันตกในช่วงสงครามเย็นเป็นเพียงประวัติศาสตร์ช่วงสั้นๆเท่านั้น ครั้นจบสงครามเย็น ชนชั้นนำไทยและสังคมไทยก็กลับไปสู่ภาวะคบกับฝรั่งแต่ไม่ไว้ใจฝรั่งดังที่เคยเป็นมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 จนถึงก่อนสงครามเย็น

ถ้าหากท่าทีต่อสถาบันกษัตริย์และท่าทีต่อทุนนิยมของ”ฝรั่ง” ตะวันตก เป็น 2 แกนที่ก่อให้เกิดเส้นแบ่งระหว่างกลุ่มการเมืองต่างๆในการเมืองยุคเดือนตุลาเป็นซ้ายและขวา การเปลี่ยนแปลงของทั้งฝ่ายซ้ายและขวาหลัง 6 ตุลาที่มีต่อทั้ง 2 แกน ทำให้กลุ่มซ้ายและขวาแต่เดิมที่ตกทอดมาจากการเมืองยุคเดือนตุลาจบลงและเกิดการจัดตัวใหม่มาตั้งนานแล้ว หากถือเอาท่าทีต่อทุนนิยมของฝรั่งตะวันตกเป็นเกณฑ์ เส้นแบ่งระหว่างซ้ายกับขวาที่ตกทอดมาจากการเมืองยุคเดือนตุลาจึงสับสนปนเปกันมาระยะใหญ่ๆ แล้ว อาจกล่าวได้ว่าตั้งแต่ประมาณหลังการสิ้นสุดของสงครามเย็นในประเทศและในระดับโลก้ป็นต้นมา การจัดตัวใหม่เริ่มมาตั้งแต่คราววิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 แล้วเป็นอย่างน้อย ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นในวิกฤตการเมืองและรัฐประหารเมื่อปี 2549 ที่ผ่านมา แต่วิกฤตการเมืองต่อต้านทักษิณและรัฐประหาร 2549 เป็นปรากฎการณ์รูปธรรมที่ความเปลี่ยนแปลงของแนวโน้มความคิดแบบใหม่ออกฤทธิ์

อย่างน้อยสิบกว่าปีมาแล้วที่ฝ่ายขวาเดิมและฝ่ายซ้ายเดิมจำนวนมากถือตรงกันว่าการต่อสู้กับทุนนิยมโลกาภิวัตน์ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นหัวโจกเป็นวาระการเมืองสำคัญที่สุด

วันอังคารที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2552

'มาร์ค'เผลอหลุดปรับเล็ก ครม.สุเทพ-ชำนิ โทรทาบ 'สามสี' นั่งรอง นายกฯแทน กอร์ปศักดิ์ ไปเลขาฯนายกฯ

"อภิสิทธิ์"เผลอหลุดปรับเล็ก
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ถึงกระแสข่าวการดึงนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ มาเป็นรองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ แทนนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ที่จะไปรับตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี แทนนายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ ที่ลาออก ว่าเรื่องตำแหน่งรัฐมนตรี ต้องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ส่วนตำแหน่งเลขาธิการนายกฯนั้น จะเป็นการแจ้งเพื่อทราบเฉยๆ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ตำแหน่งรองนายกฯด้านเศรษฐกิจ มีชื่อแคนดิเดตหลายคน เช่น นายไตรรงค์ นายเกียรติ สิทธีอมร ผู้แทนการค้าไทย และนายโพธิพงษ์ ล่ำซำ กรรมการสภาที่ปรึกษา ปชป. ในการประชุมพรรควันที่ 6 ตุลาคม จะมีการหารือเลยหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ทำไมถึงมีหลายชื่อจัง คงจะยังไม่มีการพูดถึงในที่ประชุมพรรค เพราะยังไม่ได้ประชุม กก.บห.พรรค คาดว่า จะมีความชัดเจนในสัปดาห์หน้า เบื้องต้นจะคุยเรื่องเลขาธิการนายกฯก่อน

นายอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์อีกครั้งหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยย้ำว่า สัปดาห์หน้าจะมีความชัดเจนว่า จะมีปรับ ครม.หรือไม่ เมื่อถามว่า ถ้ามีการปรับ ครม.จริงจะมาจากเหตุผลอะไร นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ถ้าจะมีการปรับ ครม.ในขณะนี้ เหตุผลก็คือ มีความจำเป็นที่ต้องเปลี่ยนแปลงตำแหน่งก็ปรับ เมื่อถามว่า หมายความว่า นายกอร์ปศักดิ์จะต้องไปนั่งตำแหน่งเลขาธิการนายกฯใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า "ถ้าคุณกอร์ปศักดิ์มานั่งเลขาธิการนายกฯ ก็ต้องปรับ เพราะจะมีตำแหน่งว่างลง" เมื่อถามว่า แสดงว่าจะเป็นแค่การปรับเล็กไม่ใช่ปรับใหญ่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า "ครับ ขณะนี้ไม่ได้พูดในกรอบเรื่องการปรับใหญ่ครับ"
"กอร์ปศักดิ์"บอกแล้วแต่นายกฯ

ด้านนายกอร์ปศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางไปปฏิบัติราชการที่ประเทศอินเดีย กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีอะไรแน่นอน เพราะต้องผ่านอีกหลายขั้นตอน "ผมได้บอกกับนายกฯไปแล้วว่าแล้วแต่นายกฯ ผมไม่มีปัญหาอยู่แล้ว จะให้ออกจากตำแหน่งโดยไม่มีตำแหน่งเลยก็ได้"

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขาธิการ ปชป.ปฏิเสธถึงบุคคลที่จะมาเป็นเลขาธิการนายกฯ ว่าไม่ทราบจริงๆ ว่าเป็นใคร และยังไม่ได้ปรึกษากับนายกฯ เพราะนายกฯคงต้องใช้เวลาคิดก่อน เนื่องจากตัวเลขาธิการนายกฯ ต้องเป็นคนทำงานใกล้ชิด ไว้เนื้อเชื่อใจกัน และช่วยงานนายกฯได้ นอกจากนี้ ขอยืนยันว่า ขณะนี้ ปชป.ยังไม่คิดเรื่องปรับ ครม.

เมื่อถามว่า การที่ไม่คิดปรับ ครม.แสดงว่ามีแนวโน้มว่านายกอร์ปศักดิ์จะไม่รับตำแหน่งเลขาธิการนายกฯหรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า ไม่ได้พูดอย่างนั้น พูดเพียงแต่ว่าทุกอย่างอยู่ที่นายกฯ เพียงแต่กระบวนการดำเนินการต้องให้ กก.บห.พรรคเห็นชอบด้วย เมื่อถามว่าดูเหมือนว่า รองนายกฯกับนายกฯเห็นไม่ตรงกันเรื่องการปรับ ครม. นายสุเทพกล่าวว่า "เอาอีกแล้วไง.. ผมเห็นตรงกันนายกฯทุกเรื่อง หากนายกฯจะใครเอามาเป็น ผมก็เห็นด้วยทันที ตัวเลขาธิการนายกฯ ถ้าจะให้ผมเดา ก็น่าจะเป็นคนในพรรค แต่ถ้านายกฯจะเอาใครมาเป็นก็ได้ทั้งนั้น"

"สุเทพ-ชำนิ"โทร.ทาบ"ไตรรงค์"
เมื่อถามถึงกรณีมีข่าวว่าไม่สนับสนุนให้นายไตรรงค์เป็นรองนายกฯ นายสุเทพกล่าวว่า "เป็นความไม่จริงทั้งสิ้น ผมสนับสนุนทุกคน เพราะอยู่ในพรรคมาด้วยกัน เห็นฝีไม้ลายมือกันมาว่า แต่ละคนเป็นอย่างไร โดยเฉพาะ ดร.ไตรรงค์คนในพรรคก็ให้ความรักให้ความนับถือ ผมไม่เห็นว่าจะมีปัญหาอะไรกับใครทั้งสิ้น"
นายสุเทพยังกล่าวถึงกระแสข่าวให้การสนับสนุนนายเกียรติ หรือนายโพธิพงษ์มาเป็นรองนายกฯ เพราะเป็นนายทุนพรรคว่า "นายเกียรติไม่เคยเป็นนายทุนพรรค นายโพธิพงษ์ก็ไม่มายุ่งกับการเมืองแล้ว ที่กล่าวหาผมแบบนั้น ก็ไม่จริง ถ้าสมมติเป็นอย่างนั้นจริง ให้ผมเลือก ผมก็เลือก ดร.ไตรรงค์อยู่แล้ว"

ทั้งนี้ มีรายงานข่าวจาก ปชป.ว่า เมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา นายสุเทพ และนายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ รองเลขาธิการ ปชป. ได้โทรศัพท์ทาบทามนายไตรรงค์ ว่ายินดีที่จะเข้านั่งตำแหน่งรองนายกฯแทนนายกอร์ปศักดิ์หรือไม่ ซึ่งนายไตรรงค์ได้ตอบกลับไปว่า หากจะให้ไปนั่งในตำแหน่งรองนายกฯ ก็จะต้องไม่ไปแทรกที่นั่งใคร หรือทำให้ใครเดือดร้อนขอให้ทำประเด็นนี้ให้ชัดเจนก่อน
พรรคร่วมเชียร์"สามสี"รองนายกฯ

นายชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวถึงกระแสข่าวว่านายไตรรงค์จะได้เป็นรองนายกฯด้านเศรษฐกิจ ว่า นายไตรรงค์คุมงบประมาณ คุมการประชุมกรรมาธิการ (กมธ.) งบประมาณได้อย่างดี ทุกคนชมหมด ชี้แจงอะไรได้ฉะฉาน ไม่ซีเรียส มีมุขตลอด จึงถือเป็นบุคคลที่เหมาะสม เท่าที่สังเกต 2-3 ปีที่ผ่านมานายไตรรงค์ดูทั้งหมด คนที่เป็นประธาน กมธ.งบฯตัวจริงแทบไม่ค่อยได้นั่ง

ด้านนายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน (พผ.) กล่าวว่า ถ้านายไตรรงค์มาเป็นรองนายกฯด้านเศรษฐกิจจริงก็ถือเป็นเรื่องที่เหมาะสม เพราะเคยเป็นรัฐมนตรีที่ดูแลด้านเศรษฐกิจมาหลายสมัย แต่ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายกฯ

รพ.บำรุงราษฏร์ปัดข่าวลือ 'สมัคร' ตายแล้ว

มติชน : ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดทั้งวันที่ 6 ตุลาคม ได้เกิดข่าวแพร่สะพัดไปทั่วว่า นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งรักษาอาการป่วยด้วยโรคมะเร็งขั้วตับ ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้ถึงแก่อนิจกรรมแล้วนั้น

นายเคารพ วงศ์ประเสริฐ ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิดเผยว่า นายสมัครยังไม่เสียชีวิต และพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ตัวนายสมัครเอง ไม่อยากเปิดเผยเรื่องการรักษาตัว และคณะแพทย์ยังไม่มีนโยบายเปิดแถลงข่าวเกี่ยวกับการรักษาดังกล่าว

ขณะที่คนใกล้ชิดนายสมัครที่ไปเฝ้าไข้ กล่าวว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา นายสมัครถูกนำตัวออกมาจากห้องไอซียู และยังอยู่ในอาการปกติ ไม่ได้มีอาการอะไรที่รุนแรงอย่างที่เป็นข่าว

สำหรับนายสมัครเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลบำรุงราษฏร์ ระหว่างวันที่ 3 ตุลาคม-3 พฤศจิกายน 2551 เนื่องจากป่วยเป็นโรคมะเร็งขั้วตับ โดยไม่เป็นที่เปิดเผยทางสื่อมวลชนมากนัก ต่อมา นายสมัครเดินทางไปรักษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา กระทั่งกลับมาไทย และพักฟื้นที่บ้านก่อนจะเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล

วันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2552

อภิสิทธิ์กำลังเยาะเย้ยในหลักนิติธรรม

ที่มา – Political Prisoners in Thailand
แปลและเรียบเรียง – แชพเตอร์ ๑๑
โพลิติคอลพรีซันเนอร์อินไทยแลนด์ (พีพีที) ขอเสี่ยงต่อการทำให้ผู้อ่านเบื่อ แต่เราต้องการที่จะย้ำสองสามความเห็นเก่าที่เคยได้ลงไปแล้ว ในแผนการณ์ที่รัฐบาลปัจจุบันจะบังคับใช้ พรบ.ความมั่นคงภายในฯ อย่างพร่ำเพรื่อ

เป็นการปฎิบัติการที่น่าประหลาดใจ ที่สักแต่นำ พรบ.ที่บีบบังคับออกมาประกาศใช้ ไม่น่าเชื่อว่าไม่มีใครแย้งในเรื่องนี้

นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อ้างว่า การประกาศใช้ พรบ.นี้เป็นส่วนหนึ่งของหลักนิติธรรม (The Rule of law) แต่นี่เป็นการใช้ พรบ.ที่รุนแรง ซึ่งรัฐบาลที่มีกองทัพหนุนหลังร่างขี้นมาเอง และนำมาประกาศใช้ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ทางการเมืองของพรรคตัวเอง ด้วยข้ออ้างกลวงๆที่ว่า เพื่อประโยชน์ของทั้งสิทธิมนุษยชน และ หลักนิติธรรม ผลสะท้อนในทางลบของ พรบ.ความมั่นคงภายในฯ ที่มีต่อสิทธิของความเป็นมนุษย์หาอ่านได้จาก ที่นี่

ที่เราต้องย้ำอีกครั้งเนื่องจาก สื่อในทุกวันนี้ออกข่าวเหมือนลอกมาจากของเก่า ที่เราเคยอ่านเมื่อมีการบังคับใช้กฎหมายที่บึบบังคับนี้

จากเนชั่น (วันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๕๒: “ผบ.ทบ.มั่นใจว่า การประชุมสุดยอดจะไม่มีสะดุด“) “เมื่อวานนี้ ผบ.ทบ.แสดงความมั่นใจว่าการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ ๑๕ ที่จะมีขี้นในไม่ช้านี้ จะปราศจากปัญหาใดๆ นอกเสียจากว่าแผนการณ์ที่กลุ่มต่อต้านรัฐบาลคนเสื้อแดงจะทำการประท้วง”

อาจจะเป็นเพราะกลุ่มเสื้อแดงมีแผนการณ์จะชุมนุมที่กรุงเทพต่างหาก ไม่ใช่ที่หัวหิน
แม้ว่าระยะทางจะห่างไกลกันพอสมควร ดูเหมือนจะไม่เป็นที่แยแสจากทางกองทัพซึ่งได้ประโยชน์ทุกครั้งจากการที่งัดเอาพรบ.ความมั่นคงภายในฯ ออกมาใช้ หรือพรรคประชาธิปไตยซึ่งฉวยโอกาสทุกครั้งที่จะหาได้ ในการบังคับใช้ พรบ.ความมั่นคงภายในฯ เพื่อเอามาบีบกลุ่มต่อต้านเสื้อแดงนี้

เหมือนกับการอ่านบทเช่นเดียวกับครั้งที่แล้ว ที่นายบูรนาถ สมุทรักษ์ โฆษกรัฐบาล หนึ่งในแกนนำต่อต้านสิทธิมนุษยชนแห่งพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า “เขารู้สึกว่าเสื้อแดงพยายามที่จะยั่วยุให้เกิดความรุนแรงขี้นในประเทศ” เช่นเคย ไม่เคยมีหลักฐานอ้างอิงใดๆ มีแต่ “รู้สึกว่า” ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเหตุผลที่เพียงพอต่อพรรคที่เรียกตัวเองว่าประชาธิปัตย์

นายบูรนาถจะมีความสุขก็ต่อเมื่อเมื่อ “ทุกพรรคให้การสนับสนุนแผนการณ์ของรัฐบาลในการบังคับใช้ พรบ.ความมั่นคงภายในฯ ที่เพชรบุรีและประจวบคีรีขันธุ์ เพื่อให้แน่ใจว่า การประชุมสุดยอดอาเซียนจะดำเนินไปด้วยความสงบและเรียบร้อย”

ผู้นำพรรคประชาธิปัตย์และกองทัพที่หนุนหลังนั้น ต่างทราบดีว่าแต่ละครั้งที่งัดเอา พรบ.ความมั่นคงภายในฯออกมาบังคับใช้ ครั้งต่อไปจะยิ่งเป็นเรื่องที่ง่ายขี้น การบีบบังคับกลายเป็นเรื่องที่ยอมรับกันไปแล้ว
อภิสิทธิ์ควรมีความละอายใจแก่ตัวเองเวลาพูดถึงหลักนิติธรรม เพราะอภิสิทธิ์ไม่ยอมทำความเข้าใจว่ากฎหมายไม่ได้มีไว้ใช้บีบบังคับ ไม่แน่นะ บางทีอภิสิทธิ์อาจจะยิ่งกว่าเข้าใจก็ได้ เป้าหมายของอภิสิทธิ์อาจต้องการให้มีการบีบบังคับ และเยาะเย้ยความคิดในเรื่องหลักนิติธรรม ซึ่งเป็นปัจจัยในระบอบการปกครองตามแบบประชาธิปไตย

โพลล์ กฟฝ.ระบุประชาชนส่วนใหญ่รับได้ สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์


นายสมบูรณ์ อารยะสกุล รองผู้ว่าการการพัฒนาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ระบุว่า ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศเกี่ยวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เบื้องต้นพบว่า คนส่วนใหญ่ร้อยละ 64 เห็นด้วยกับการก่อสร้าง ร้อยละ 32 ไม่เห็นด้วย

ทั้งนี้ สะท้อนได้ว่า คนส่วนใหญ่เริ่มรับได้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ว่า ไม่ส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่ำ มีความมั่นคงระยะยาว แต่ต้องทำความเข้าใจเพื่อให้สามารถสร้างได้ เพื่อลดภาระที่ประเทศไทยต้องใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าถึงร้อยละ 70 ซึ่งในแผน 15 ปีนั้น จะมีการใช้เชื้อเพลิง ทั้งก๊าซ ถ่านหิน และนิวเคลียร์--

วันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ทีวีไทย'ป่วน'พนง.นับร้อยทำ จม.เปิดผนึกหวั่นสอบคัดเลือกไม่เป็นธรรม-ฝ่ายบริหารแจงปรับกระบวน

การใหม่เปิดสอบบรรจุเป็นพนักงานทีวีไทยป่วน พนักงานนับร้อยกวั่นกระบวนการคัดเลือกไม่เป็นธรรม ทำจดหมายเปิดผนึกถึงคณะกรรมการนโยบาย ฝ่ายบริหารชี้แจง-พร้อมปรัปบรุงวิธีการ เชื่อไม่น่ามีปัญหา

รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะกรรมการบริหารประเภทผู้ทรงคุณวุฒิ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยป(ส.ส.ท.)หรือสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย เปิดเผย"มติชนออนไลน์"เมื่อวันที่ 4 ตุลาคมว่า กรรมการบริหารประเภทผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 3 คน ประกอบด้วย ตน รศ.สมศรี เผ่าอินจันทร์ คณบดีคณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ผศ.ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริหาร ส.ส.ท.เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2552 ที่ผ่านมา เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายของทีวีทีไทยมีนโยบายที่อยากให้ กรรมการบริหาร ทีวีไทยทำงานเต็มเวลาเพื่อเป็นกลไกในการบริหารทีวีไทยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ดังนั้น พวกตนจึงลาออกเพื่อเปิดทางให้มีการแต่งตั้งบุคคลที่สามารถทำงานเต็มเวลาในฐานะกรรมการบริหาร ส.ส.ท.ได้โดยมิได้มีปัญหาในการทำงานแต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรรมการบริหาร ส.ส.ท.มีด้วยกันทั้งหมด 7 คน ประกอบด้วย นายเทพชัย หย่อง ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. เป็นประธานกรรมการบริหาร กรรมการประกอบด้วย รองผู้อำนวยการ ส.ส.ท. 3 คน และกรรมการบริหารประเภทผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ซึ่งทที่ผ่านมา กรรมการประเภทผู้ทรงคุณวุฒิไม่ได้ทำงานเต็มเวลาเนื่องจากมีงานประจำอื่นทำอยู่แล้ว ต่อมาคณะกรรมการนโยบายต้องการเปลี่ยนแปลงให้กรรมการประเภทผู้ทรงคุณวุฒิทำงานเต็มเวลา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายของคณะกรรมการนโยบายจะทำใไห้กรรมการบริหารผู้ทรงคุณวุฒิลาออกแล้ว การที่ที่ ส.ส.ท.ได้ประกาศรับสมัครงานเพื่อสอบคัดเลือกบุคคลบรรจุเข้าเป็นพนักงาน ส.ส.ท.ตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการสำนักต่างๆจนถึงนักข่าวและพนักงานทั่วไปโดยให้พนักงานตามสัญญาจ้างของทีวีไทยซึ่งมีอยู่เกือบ 300 คนสมัครสอบคัดเลือกพร้อมเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกสอบคัดเลือกด้วยได้เกิดปัญหาขึ้นโดยเฉพาะการสอบในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักวิทยุและมัลติมีเดีย ซึ่งปรากฏว่า นายอนุพงษ์ ไชยฤทธิ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักวิทยุและมัลติมีเดีย ทีวีไทยไม่ผ่านคัดเลือก แต่ผู้ผ่านการคัดเลือกเป็นบุคคลภายนอก นายอนุพงษ์เห็นว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงทำหนังสือร้องเรียนต่อผู้อำนวยการ ส.ส.ท.ขอให้มีการไต่สวนและสอบสวนกระบวนการสอบคัดเลือกตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักวิทยุฯ

นายอนุพงษ์ เปิดเผย"มติชนออนไลน์"ว่า เห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการสอบคัดเลือกครั้งนี้ เช่น การทดสอบทั้งในส่วนข้อเจียนและการสัมภาษณ์ไม่มีความเชื่อมโยงเกี่ยวกับคุณสมบัติที่กำหนดเฉพาะตำแหน่ง ขณะที่การสอบสัมภาษณ์มีลักษระพิธีกรรมและคำถามไม่ชัดเจนว่า เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติเแพาะตำแหน่งอย่างไร จึงขอให้มีกระบวนการไต่สวนและสอบสวนกระบวนการสอบสวนการสอบคัดเลือกดังกล่าวโดยกรรมการสอบสวนที่เป็นอิสระจาก ส.ส.ท. เนื่องจากกรรมการสอบสัมภาษณ์ 3 ใน 4 คน เป็นกรรมการบริหารของ ส.ส.ท. จึงเป็นผู้ที่เกียวข้องและมีส่สวนได้ส่วนเสียโดยตรง

นอกจากนั้นขอให้มีการสอบสวนกระบวนการออกข้อสอบและเกณฑ์การให้คะแนนว่า มีส่วนเกี่ยวข้องและยึดโยงกับคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งตามที่ประกาศ รวมถึงการตรวจสอบการใช้ดุลพินิจของผู้ตรวจข้อสอบภาคข้อเขียน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนั้น ยังมีจดหมายเปิดผนึกที่พนักงานทีวีไทยกว่า 120 คนลงชื่อเรียกร้องให้คณะกรรมการนโยบายชี้แจงกรณีการสอบคัดเลือกกรณีนายจีรธวัช สุทธิบงกช พนักงานแผนกกราฟฟิกที่เลื่อรการสอบออกไปเนื่องจากฝ่ายบริหารอ้างว่า มีผู้มาสมัครไม่ครบเกณฑ์ 3 คน ทั้งๆที่ไม่มีการประกาศเงื่อนไขดังกล่าวมาก่อนและกรณีของนายอนุพงษ์ซึ่งพนักงานเกรงว่า จะไม่ได้รับความเป็นธรรมโดยขอให้ชี้แจงภายในวันที่ 24 กันยายน 2552 พร้อมกับแก้ไขเยียวยาความไม่เป็นธรรม จัดให้มีการสอบสวน เปิดเผยข้อมูลการสอบครั้งที่ผ่านมาและปรับปรุงกระบวนการสอบคัดเลือกครั้งต่อไปให้เป็นธรรมกับพนักงาน
กรรมการบริหาร ส.ส.ท.รายหนึ่งเปิดเผยว่า ฝ่ายบริหารได้นำเรื่องดีงกล่าวหารือกับคณะกรรมการบริหารแล้ว ซึ่ง คณะกรรมการบริหารได้ตรวจสอบกระบวนการสอบคัดเลือกแล้ว เห็นว่า ในกระบวนการสอบไม่มีสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ไม่โปร่งใส เพราะคณะกรรมการตรวจข้อเขียนซึ่งเป็นคณะนักวิชาการจากมหาวิทยาลัย ไม่ทราบว่า กระดาษคำตอบเป็นของใคร เพราะรู้แต่หมายเลข แต่ไม่ทราบชื่อ นอกจากนั้นคณะกรรมการสอบสัมภาษณ์ก็เป็นคนละชุดกับคณะกรรมการตรวจข้อสอบโดยไม่ทราบว่า ผู้ที่ผ่านการสอบข้อเขียนได้คะแนนการสอบข้อเขียนเท่าใด แล้วนำคะแนนทั้งสองส่วนมารวมกัน

"ในการสอบข้อเขียน เป็นข้อสอบอัตนัยซึ่งผู้ตรวจต้องใช้ดุลพินิจในการตรวจซึ่งในส่วนนี้ อาจมิได้ให้คำตอบทั้งหมดว่า ผู้สอบมีความสามารถจริงหรือไม่ทั้งหมด และการใช้ดุลพินิจในการตรวจสอบข้อสอบ อาจมีผู้ไม่เห็นด้วยกับการให้คะแนนซึ่งเป็นเรื่องปกติ"กรรมการบริหารรายเดิมกล่าว

กรรมการบริหาร ส.ส.ท.กล่าวว่า จากการตรสวจสอบไม่พบกระบวนการที่ไม่โปร่งใสดังกล่าว คณะกรรมการบริหารจึงยังไม่ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบกระบวนการสอบตามที่นายอนุพงษ์ร้องเรียน อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีพนักงานกว่า 100 คนทำจดหมายเปิดผนึกนั้น หลังจากฝ่ายบริหารได้ชี้แจงและกรรมการบริหารให้ความเห็นให้ปรับปรุงการสอบให้มีภาคปฏิบัติมากขึ้น พนักงานส่วนใหญ่ที่ลงชื่อซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ได้เข้าสอบคัดเลือกมีความมั่นใจและยอมที่จะเข้าสอบคัดเลือกแล้วเชื่อว่า ไม่น่าจะเป็นปัญหา

งัดกฎหมายออกมาบีบบังคับประชาชน จนเคยตัว

วันอาทิตย์ 4 ตุลาคม 2009 — chapter 11
ที่มา – Political Prisoners in Thailand
แปลและเรียบเรียง – แชพเตอร์ ๑๑
โพลิติคอลพรีซันเนอร์อินไทยแลนด์ (พีพีที) ได้เคยลงบทความก่อนหน้านี้ เกี่ยวกับปฎิบัติการบีบคั้นประชาชนจนเป็นเรื่องปกติในประเทศไทย เป็นกระบวนการที่ไม่ลดละ และมีการโต้แย้งเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
บางกอกโพสต์ (วันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๕๒: “รัฐบาลบังคับใช้ พรบ.ความมั่นคงภายในฯ ในระหว่างการประชุมสุดยอด”)
รายงานว่า “รัฐบาลจะประกาศใช้ พรบ.ความมั่นคงภายในฯ ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียนที่เพชรบุรีและประจวบคีรีขันธุ์ ที่จะมีขี้นในวันที่ ๒๓ ตุลาคม – ๒๕ ตุลาคม…” นี่กลายเป็นมาตราฐานการปฎิบัติของรัฐบาลร่วมที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ไปแล้ว เนชั่นได้รายงานว่า “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. กล่าวว่า จะงัด พรบ.ความมั่นคงภายในฯ ออกมาบังคับใช้ในพื้นที่ ๙ ตำบลของ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี และ ๔ ตำบลของ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในระหว่างวันที่ ๑๒ ตุลาคม – ๒๗ ตุลาคม” เขาได้กล่าวต่อว่า เชื่อว่าไม่มีปัญหาใดๆ

เป็นการปฎิบัติการที่น่าประหลาดใจ ที่สักแต่นำ พรบ.บีบบังคับออกมาประกาศใช้ ไม่น่าเชื่อว่าไม่มีใครแย้งในเรื่องนี้

นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อ้างว่า การประกาศใช้ พรบ.นี้เป็นส่วนหนึ่งของหลักนิติธรรม (The Rule of law) แต่นี่เป็นการใช้ พรบ.ที่รุนแรง ที่รัฐบาลที่มีกองทัพหนุนหลังร่างขี้นมาเอง และนำมาประกาศใช้ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ทางการเมืองของพรรคตัวเอง ด้วยข้ออ้างกลวงๆที่ว่า เพื่อประโยชน์ของทั้งสิทธิมนุษยชน และ หลักนิติธรรม ผลสะท้อนในทางลบของ พรบ.ความมั่นคงภายในฯ ที่มีต่อสิทธิของความเป็นมนุษย์หาอ่านได้จาก ที่นี่

สัญญาณเด่นชัดขี้นเมื่อมีการแต่งตั้ง พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รมว.กลาโหม ให้ดูแลความมั่นคงและประกาศบังคับใช้ พรบ.ความมั่นคงภายในฯ ซึ่งรัฐบาลที่มีกองทัพหนุนหลังตาหูตาเหลือกประกาศใช้ในปลายปี ๒๕๕๐ ทหารและตำรวจจะประสานงานกัน เพื่อให้แน่ใจในความปลอดภัยในระหว่างการประชุมของผู้นำอาเซียน

เหลือเชื่อ – จริงๆแล้วไม่น่าเชื่อ เพราะนี่กลายเป็นเรื่องมาตราฐานไปแล้ว – มีการรายงานว่า “พรบ.ความมั่นคงภายในฯ อาจประกาศใช้ในพื้นที่กรุงเทพ ถ้ามีการชุมนุมของผู้ประท้วงเสื้อแดงในเวลาที่มีการประชุมกัน….”

พรบ.ความมั่นคงภายในฯ กลายเป็นกฎหมายที่รัฐบาลงัดออกมาใช้ได้ตามสดวก เพื่อนำมากดดันต่อการประท้วง และการชุมนุมทางการเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่เป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่ต้องการ รัฐบาลแย้งว่าไม่ได้ห้ามการชุมนุม แต่การประกาศ พรบ.ความมั่นคงภายในฯ เพื่อใช้บีบบังคับ ข่มขู่ และควบคุม การใช้ พรบ.แม้จะถูกกฎหมาย แต่ยังเป็นเครื่องมือปราบปรามด้วย เป็นการใช้กฎหมายตามอำเภอใจของตัวเอง ไม่ใช่ตามหลักนิติธรรม ซึ่งไม่สอดคล้องตามหลักประชาธิปไตยใดๆ

วันเสาร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เฉลิมรับเทปกษิตวิจารณ์เขมร ให้ฮุนเซน

ไอเอ็นเอ็น : ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธาน ส.ส. พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ตนเป็นคนดำเนินการ ส่งเทปบันทึกคำพูดของ นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ เมื่อครั้งที่ นายกษิต ขึ้นเวทีกลุ่มพันธมิตรฯ ที่มีการกล่าวพาดพิงถึง สมเด็จฮุนเซน นายกฯกัมพูชา กรณีปราสาทเขาพระวิหาร ด้วยการใช้ถ้อยคำที่รุนแรง โดยยอมรับว่า ตนได้ส่งเทปดังกล่าวให้กับบุตรสาวของสมเด็จฮุนเซน ผ่านทางคนรู้จักของตน ซึ่งส่งผลให้ สมเด็จฮุนเซน เกิดความไม่พอใจและแสดงท่าทีที่แข็งกร้าวกับประเทศไทย ดังนั้นเชื่อว่า ประเทศไทย จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งบริเวณพื้นที่ทับซ้อนเขาพระวิหารกับประเทศกัมพูชาได้

ทั้งนี้ ตนเสนอว่า หากรัฐบาลชุดนี้ ไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ ก็ให้ยุบสภา แล้วให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งหากพรรคเพื่อไทย ชนะการเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศในครั้งหน้าได้นั้น ก็จะให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ แก้ไขปัญหาดังกล่าว เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ มีความสัมพันธ์อันดีกับนายกฯของประเทศกัมพูชา

รัฐบาลตื่นตูม-ใช้ พรบ.มั่นคงฯคุมถกอาเซียน 'ชะอำ-หัวหิน'

มติชน : เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเตรียมความพร้อมจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 15 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 23-25 ตุลาคม ที่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี และ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ รวมถึงผู้บัญชาการเหล่าทัพ เข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง ใช้เวลากว่าชั่วโมง

นายอภิสิทธิ์แถลงผลการประชุมว่า จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาประกาศใช้ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรในวันที่ 6 ตุลาคม ส่วนระยะเวลาต้องขอความเห็นชอบก่อน แต่น่าจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคมเป็นต้นไป โดยจะประกาศใน 2 อำเภอ คือชะอำ และหัวหิน แต่หากมีข่าวว่าจะมีการชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดงค่อยว่ากันอีกที

นายสุเทพกล่าวว่า ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ จะมี พล.อ.ประวิตรเป็นผู้อำนวยการดูแลรับผิดชอบเรื่องความปลอดภัย การบังคับใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯจะห้ามไม่ให้มีการชุมนุมใดๆ รวมถึงจะบูรณาการกำลังทหารและตำรวจเต็มกำลังนับหมื่นนาย เพื่อให้ความมั่นใจได้ว่าจะไม่มีการล้มการประชุมเหมือนเมื่อครั้งที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี อย่างเด็ดขาด เพราะการประชุมคราวนี้มีความหมายและความสำคัญสำหรับประเทศ อีกทั้งนายกรัฐมนตรีจะทำหน้าที่ประธานอาเซียนเป็นครั้งสุดท้ายในการประชุมครั้งนี้ จากนั้นจะเป็นหน้าที่ของประเทศอื่น ดังนั้น ต้องทำให้ดีและสมบูรณ์

รองนายกฯกล่าวอีกว่า ส่วนการควบคุมดูแลพื้นที่ดังกล่าวเป็นเหมือนกับการประชุมสุดยอดอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาที่ จ.ภูเก็ต ไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษ โดยจะไม่ให้กระทบกระเทือนประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน สำหรับเรื่องการบริหารการจราจรนั้น เนื่องจากมีโรงแรมหลายแห่งอยู่ในระยะทางประมาณ 25 กิโลเมตร ที่จัดไว้เป็นที่พักสำหรับผู้นำประเทศ และมีขบวนรถของผู้นำประเทศวิ่งระหว่างโรงแรมกับสถานที่การประชุม จึงจะแบ่งพื้นที่จราจรเป็นถนนเลนพิเศษที่เรียกว่า “อาเซียน เลน” สำหรับขบวนรถของผู้สื่อข่าว รัฐมนตรี และผู้นำประเทศวิ่ง เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน จะทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า กลุ่มคนเสื้อแดงจะเคลื่อนไหวในพื้นที่ กทม.ในช่วงดังกล่าว จะใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯด้วยหรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า ถ้ามีความจำเป็นที่ต้องใช้ใน กทม. ก็คงประกาศใช้ในเขตดุสิตเหมือนเดิม
พล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ประกาศ พ.ร.บ.มั่นคงฯตั้งแต่วันที่ 12-27 ตุลาคม ในพื้นที่ 9 ตำบล ของ อ.ชะอำ และ 4 ตำบล ของ อ.หัวหิน จะใช้กำลังทั้งจากพลเรือน ตำรวจ และทหาร แต่จะใช้กำลังในพื้นที่ให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้สิ้นเปลืองงบประมาณ กองทัพจะเสนอแผนเพื่อเตรียมการรักษาความปลอดภัยเข้าคณะรัฐมนตรีต่อไป และจะมีการตั้งศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย

ด้าน พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า จะให้ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจแห่งชาติ ในฐานะรักษาราชการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ออกโทรทัศน์เพื่อชี้ถึงการประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ ที่ อ.หัวหิน และ อ.ชะอำ อย่างไรก็ตาม ได้ดูรายละเอียดในพื้นที่ทุกจุดแล้วไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ทุกอย่างยังเรียบร้อยดี เบื้องต้นทุกประเทศยังตอบรับเข้าร่วมประชุมครั้งนี้อยู่

วันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ปราสาทพระวิหาร บทเรียนพลาดซ้ำซาก

ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เชื่อมั่นในความเป็นนักเรียนอังกฤษ แต่สุดท้ายไทยก็พลาดเสียปราสาทพระวิหารให้กัมพูชา จนวันนี้หากมองไม่ลึกถึงปมปัญหาและผลประโยชน์ที่แท้จริง... ระวังจะพลาดซ้ำอีก หากรัฐบาลไทยละเลย จนกระทั่งมีการขีดเส้นในแผนที่จากพื้นที่ทับซ้อน เรื่อยลงไปจนถึงในทะเล จะพบความจริงที่น่าตระหนกนั่นคือ เกาะกูดทั้งเกาะอาจจะหายไปจากแผนที่ประเทศไทยเลยก็ได้ทรัพยากรในทะเลจำนวนมหาศาลจะตกเป็นของใครบ้าง
ตราบาป!

ปราสาทพระวิหาร ประกอบด้วยหมู่เทวาลัยและปราสาทหินจำนวนมาก สร้างขึ้นเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 9 ซากปรักหักพังของเทวาลัยที่เหลืออยู่ มีอายุตั้งแต่สมัยเกาะแกร์ ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 10 เชื่อว่าโครงสร้างส่วนใหญ่ของปราสาทสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ถือเป็นโบราณสถานของขอม ที่กลายมาเป็นกรณีพิพาทระหว่างไทย กับ กัมพูชา เรื่อยมาจนทุกวันนี้ทั้งๆที่ผู้ค้นพบปราสาทพระวิหาร คือ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ พระราชโอรสองค์ที่ 11 ใน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงพบเมื่อปี พ.ศ. 2442 ขณะทรงได้รับแต่งตั้งให้เป็น ข้าหลวงต่างพระองค์ เสด็จไปรับราชการที่มณฑลลาวกาว (อีสาน) ในสมัยรัชกาลที่ 5 และได้ทรงจารึกปี ร.ศ. ที่พบเป็นเลขไทย ตามด้วยพระนามไว้ที่บริเวณชะง่อนผาเป้ยตาดี เป็นข้อความว่า “๑๑๘ สรรพสิทธิ”

ต่อมาเมื่อประเทศฝรั่งเศสเข้ายึดครองอินโดจีนได้ทำสนธิสัญญา พ.ศ. 2447 ในการปักปันเขตแดนกับราชอาณาจักรสยาม มาตรา 1 ของสนธิสัญญา ระบุให้ใช้สันปันน้ำเป็นเส้นแบ่งพรมแดน ซึ่งมีผลให้ปราสาทพระวิหารอยู่ในดินแดนไทย แต่พอปี 2451 ฝรั่งเศสได้จัดทำแผนที่ฝ่ายเดียว ส่งมอบให้สยาม 50 ชุด แต่ละชุดมี 11 แผ่นและมีแผ่นหนึ่งคือ “แผ่นดงรัก” ที่ครอบคลุมพื้นที่ปราสาทพระวิหาร และไม่ได้ใช้แนวสันปันน้ำเป็นเส้นแบ่งพรมแดน ทำให้ปราสาทพระวิหารในแผนที่อยู่ในดินแดนของกัมพูชา โดยที่รัฐบาลสยามในขณะนั้นไม่ได้รับรองหรือทักท้วงความถูกต้องของแผนที่ดังกล่าวและกลายเป็นข้อพิพาทที่นำไปสู่การขึ้นศาลโลกในที่สุดเพราะหลังจากที่กัมพูชาได้รับเอกราช เจ้านโรดมสีหนุ กษัตริย์กัมพูชาสละราชสมบัติเข้าสู่การเมือง ได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี และประกาศเรียกร้องให้ไทยคืนปราสาทพระวิหาร และไทยไม่ยอมรับ เจ้านโรดมประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2501และ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2502 เจ้านโรดมสีหนุได้ฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) หรือศาลโลก ให้ไทยคืนปราสาทพระวิหาร ฝ่ายไทยต่อสู้คดีโดยมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช กับคณะรวม 13 คน เป็นทนายฝ่ายไทย ฝ่ายกัมพูชามีนายดีน แอจิสัน เนติบัณฑิตแห่งศาลสูงสุด อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา เป็นหัวหน้าคณะ กับพวกอีกรวม 9 คน

วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2505 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ได้ตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา ด้วยเสียง 9 ต่อ 3ความพ่ายแพ้ในครั้งนั้น ถูกมองว่าส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อมั่นที่สูงจนเกินไปของ ม.ร.ว.เสนีย์ ซึ่งจบมาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ของอังกฤษเพราะไม่ได้มองในประเด็นที่มีนักกฎหมายเมืองไทย ให้แง่คิดว่า ปกติศาลโลก หากไม่มีการเข้าไปรับฟังคดีพร้อมกันทั้ง โจทก์ และ จำเลยแล้ว จะไม่มีคำพิพากษาใดๆ ออกมาได้เลยซึ่งวันนั้นนักกฎหมายธรรมดาๆ ของไทย เห็นว่า หากไทยอยู่นิ่งๆ จะดีกว่า เพราะศาลโลกก็ทำอะไรไม่ได้ มีคำพิพากษาออกมาไม่ได้แต่กลับกลายเป็นถูกถามว่า “คุณจบมาจากไหน รู้หรือไม่ว่าผมจบมาจากอังกฤษ”หรือว่าความเป็นนักเรียนนอกจากอังกฤษจะเพาะบ่มความเชื่อมั่นดันทุรังเกินพอดีมาทุกยุคทุกสมัย จากอดีต จนแม้ในยุคปัจจุบันก็ยังมีบางคนที่เป็นอาการแบบนี้ให้เห็นกัน!!!สุดท้ายไทยจึงต้องพบกับความพ่ายแพ้ในศาลโลกแม้ว่าหลังจากศาลโลกตัดสินแล้ว 20 วัน ดร.ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยในขณะนั้น จะได้มีหนังสือไปยัง นายอูถั่น เลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อประท้วงคำพิพากษาของศาลโลก และสงวนสิทธิที่ประเทศไทยจะเรียกร้องปราสาทพระวิหารกลับคืนในอนาคต รวมทั้งหลังจากนั้นจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จะประกาศก้องว่า จะเอาปราสาทพระวิหารคืนมาให้ได้แต่ว่านับตั้งแต่วันนั้นมาถึงวันนี้ ไม่ได้มีความพยายามอย่างเด่นชัดใดๆ จากผู้นำเหล่าทัพของไทยคนไหนเลยที่จะสานต่อเจตนารมณ์ ทวงคืนปราสาทเขาพระวิหาร

ทั้งๆ ที่หลังจากนั้นไม่นาน กัมพูชาเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นภายในประเทศ จนนำไปสู่เหตุการณ์เขมรแตก ประชาชนกัมพูชา หรือแม้แต่ผู้นำกัมพูชา ล้วนมีการพึ่งพาและพึ่งพิงประเทศไทยในการเป็นฐานอพยพบ้าง ในการขอการสนับสนุนบ้างแต่ไทยก็ไม่เคยใช้จังหวะเวลาที่เหมาะสมในการช่วยเหลือสารพัด มาทวงคืนปราสาทหินแห่งนี้เลยจนกระทั่งประมาณปี พ.ศ. 2536 ที่กัมพูชาถูกเขมรแดงเข้าครอบครอง ในขณะที่เขมรแดงเข้มแข็งขึ้น สมเด็จฯ ฮุน เซน มีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงเกือบ 20 ปีมานี้ จนวันนี้เรียกได้ว่าไม่เหลือภาพนายทหารป่า หรือทหารบ้านนอกอีกแล้ว แต่กลายเป็นผู้นำกัมพูชาที่เขี้ยวรอบตัวอย่างที่ประเทศไทย นายกรัฐมนตรีของไทยที่ชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และบรรดาผู้บัญชาการกองทัพเหล่าทัพต่างๆ ของไทย โดนตอกหน้ากันระนาวอย่างไม่ยี่หระเช่นขณะนี้เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ที่น่าเสียดาย ที่ไทยไม่เพียงสูญเสียโอกาส แต่ ณ วันนี้ยังถูกสบประมาท ราวกับว่ารัฐบาลและเหล่าทัพอ่อนแออย่างมาก จนกัมพูชาไม่มีความเกรงใจใดๆแล้วดังนั้นแทนที่ พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะแกนนำรัฐบาล จะมัวส่งบรรดาคนฝีปากกล้าของพรรค มาเล่นเกมการเมืองรายวันกับคนนั้นคนนี้ไม่รู้จักหยุดจักหย่อนแทนที่นายอภิสิทธิ์ จะมัววุ่นวายกับการแต่งตั้ง ผบ.ตร. คนใหม่ ให้ได้ดังใจ โดยไม่สนใจฟังคำทักท้วง หรือไม่สนใจข้อมูลพิเศษ สัญญาณพิเศษใดๆ เลยเชื่อมั่นเพียงแต่ว่า มีอำนาจตามกฎหมายให้ทำได้ดันทุรังตั้ง พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ ขึ้นไปรักษาราชการแทน ผบ.ตร.และแม้กระทั่งนายเนวิน ชิดชอบ ภูมิใจไทย CEO ผู้ถูกเว้นวรรคทางการเมือง 5 ปี แต่ก็เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกลไกการเมืองแทบทุกเรื่อง และล่าสุดก็กำลังปลื้มอก

ปลื้มใจ ที่ได้รับอนุมัติโครงการเช่ารถเมล์ฝังเพชรราคาโคตรแพงระยับ 6.2 หมื่นล้านบาทมาได้หมาดๆและฝันเฟื่องที่จะยึดครองพื้นที่อีสานไว้ในกำมือให้ได้นั้นควรจะต้องตระหนักถึงปัญหาพื้นที่ปราสาทพระวิหาร เพราะเป็นตะเข็บสำคัญของชายแดนอีสานกับกัมพูชาหากทุกฝ่ายหันมาใช้จิตสำนึกรักชาติ หากว่าพึงมีมาวิเคราะห์ให้ดี จะรู้ว่า ประเด็นพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร ที่กำลังร้อนฉ่าอยู่ในเวลานี้ จริงๆ แล้วมีเงื่อนงำผลประโยชน์ระหว่างประเทศอยู่ด้วยหรือไม่???เป็นเรื่องที่มองให้ลึกๆ แล้วจะเห็นร่องรอยที่โยงไปถึงผลประโยชน์ทรัพยากรธรมชาติจำนวนมหาศาลในทะเลด้วยหรือไม่?หากรัฐบาลไทยละเลย จนกระทั่งมีการขีดเส้นในแผนที่จากพื้นที่ทับซ้อน เรื่อยลงไปจนถึงในทะเล จะพบความจริงที่น่าตระหนกนั่นคือ เกาะกูดทั้งเกาะอาจจะหายไปจากแผนที่ประเทศไทยเลยก็ได้ทรัพยากรในทะเลจำนวนมหาศาลจะตกเป็นของใครบ้างทำไมบริษัทฝรั่งเศสถึงได้รีบเร่งทำสัญญาสำรวจทรัพยากรธรรมชาติในทะเลกับรัฐบาลกัมพูชาการที่หลงเกมการพิพาทว่าเป็นเรื่องของการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก จนถึงขั้นอาศัยแนวร่วมอย่าง ป.ป.ช. ชุดที่ไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ และมีร่องรอยพิรุธทางการเมืองมาโดยตลอด เล่นงานคนไทยด้วยกันเอง อ้างเอาดื้อๆ ว่าผิดสารพัดสุดท้ายจะเข้าทางกัมพูชาและระวัง อนาคตประเทศที่ปัญหาเขตแดนกับไทยจะไม่ได้มีเพียงแค่กัมพูชาผลประโยชน์ในทะเลจำนวนมหาศาล อาจจะทำให้ประเทศฝรั่งเศสเข้ามาร่วมเกมพิพาทนี้ในอนาคตถึงวันนั้น ผลงานนี้จะกลายเป็น “ตราบาป”ของรัฐบาลประชาธิปัตย์และนายอภิสิทธิ์ก็เป็นไปได้

ขึ้นทะเบียนมรดกโลก ปมขัดแย้งจริงหรือ???8 มีนาคม พ.ศ. 2548 กัมพูชาได้เสนอต่อองค์การยูเนสโกให้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกอย่างเป็นทางการ ปี พ.ศ. 2549 วันที่ 30 มกราคม ศูนย์มรดกโลกของยูเนสโกที่ปารีสขอให้กัมพูชายื่นเอกสารใหม่เกี่ยวกับเขตกันชนของปราสาท และมีคำแนะนำให้ร่วมมือกับฝ่ายไทยพ.ศ. 2550 กัมพูชายื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารอีกครั้ง ขณะที่ไทยยื่นบันทึกช่วยจำต่อเอกอัครราชทูตกัมพูชาและเสนอขึ้นทะเบียนร่วม (Transboundary property) แต่คณะกรรมการมรดกโลกสากลมีมติเลื่อนการขึ้นทะเบียนออกไป โดยให้ไทย-กัมพูชาร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด8 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 องค์การยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนตามคำขอของกัมพูชาให้ตัวปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก เฉพาะเพียงตัวปราสาทเท่านั้น โดยผ่านเกณฑ์การพิจารณาข้อ (i) เพียงข้อเดียว

เสื้อแดง'นัดชุมนุม เพื่อขออภัยโทษให้ทักษิณ


แปลและเรียบเรียง – แชพเตอร์ ๑๑
กรุงเทพ – ผู้สนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรประกาศแผนการณ์เมื่อวันพฤหัสว่า จะมีการชุมนุมประท้วงเพื่อกดดันให้รัฐบาลยื่นถวายการขอพระราชทานอภัยโทษ ให้มหาเศรษฐีที่กำลังอยู่ในระหว่างการลี้ภัย นปช.ซึ่งแต่งแดงในการประท้วง จะรวมตัวกันที่สนามหลวงในวันที่ ๑๗ ตุลาคม ก่อนที่จะเดินขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยื่นถวายการขอพระราชทานอภัยโทษ

นปช.กล่าวหารัฐบาลว่า กำลังดองเรื่องการพิจารณาการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ ที่มีคนร่วมลงชื่อถึง ๓,๕๐๐,๐๐๐ คน ว่าถูกกฎหมายหรือไม่

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ หนึ่งในแกนนำ นปช.ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า “รัฐบาลดึงเรื่องเอาไว้ และพยายามจะหยุดไม่ส่งเรื่องการยื่นขออภัยโทษไปยังสำนักพระราชวัง เพื่อขออนุมัติ”

นปช.ได้จัดชุมนุมครั้งใหญ่ถึงห้าครั้งนับตั้งแต่การเข้าปราบปรามของกองทัพในเดือนเมษายน แสดงให้เห็นว่า ทักษิณยังคงมีเดิมพันที่สูงในการเมืองไทย แม้จะอยู่ในระหว่างการลี้ภัยเพื่อเลี่ยงการติดคุก ๒ ปีต่อการไม่ไปปรากฎตัวเพื่อรับข้อหาจากศาล

ทักษิณเผชิญหน้ากับคดีฉ้อราษฎร์เป็นหางว่าว แม้ทักษิณจะยังยืนยันว่า ตัวเองตกเป็นเหยื่อของการถูกโจมตีทางการเมือง จากฝ่ายตรงข้ามของพวกอำมาตย์และกองทัพที่ทรงอำนาจของประเทศไทย
ผู้สนับสนุนชาวชนบทของทักษิณ ซึ่งลงคะแนนเสียงเลือกตั้งอย่างถล่มทลายให้ทักษิณเข้าไปเป็นรัฐบาลถึงสองครั้งซ้อน โดยหวังว่าการขอพระราชทานอภัยโทษต่อองค์กษัตริย์ภูมิพล อดุลยเดชพระชนมายุ ๘๑ พรรษาอันเป็นที่เคารพ จะเป็นการแผ้วทางให้ทักษิณกลับมาสู่การเมืองอีกครั้ง

การประท้วงของ นปช. ได้เพิ่มแรงกดดันไปยังรัฐบาลที่กำลังมีสถานะง่อนแง่น ความไม่แน่ใจต่อสถานการณ์และความกลัวว่าจะเกิดความรุนแรง ได้สร้างความวิตกให้กับนักลงทุน และส่งผลให้มีการลดอันดับเครดิต สำหรับประเทศที่มีสภาพเศรษฐกิจอันดับสองในภาคพื้นเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

ณัฐวุฒิกล่าวว่า “เสื้อแดง” หรือ นปช. จะมีการชุมนุมเล็กในวันที่ ๑๑ ตุลาคม เพื่อเรียกร้องให้อภิสิทธิ์ยุบสภา และให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ ซึ่งกองทัพได้ฉีกทิ้งหลังการทำรัฐประหารในปี ๒๕๔๙ และได้เขียนฉบับใหม่ของตัวเองขี้นมา