--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2558

เงินหยวน เข้าตะกร้าเอสดีอาร์ ......

โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

นับเป็นอีกก้าวหนึ่งที่ระบบเศรษฐกิจการเงินของจีนได้รับการยอมรับจากประชาคมโลก เมื่อคณะกรรมการบริหารของไอเอ็มเอฟ หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ประกาศปรับตะกร้าเงินที่เคยกำหนดค่าเอสดีอาร์ หรือสิทธิถอนเงินพิเศษ "Special Drawing Rights" จากที่เคยมีอยู่เพียง 4 สกุล คือ ดอลลาร์สหรัฐ 41.9 เปอร์เซ็นต์ ยูโร 37.4 เปอร์เซ็นต์ ปอนด์สเตอริง 11.3 เปอร์เซ็นต์ และเยน 9.3 เปอร์เซ็นต์ มาเป็น "ตะกร้าใหม่" ดังนี้ ดอลลาร์ 41.73 เปอร์เซ็นต์ ยูโร 30.93 เปอร์เซ็นต์ หยวน 10.92 เปอร์เซ็นต์ เยน 8.33 เปอร์เซ็นต์ และปอนด์สเตอริง 8.09 เปอร์เซ็นต์ โดยจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 คือปีหน้าเป็นต้นไป

ถ้าจะดูน้ำหนักของเงินสกุลต่าง ๆ ในการคำนวณค่าเอสดีอาร์ จะเห็นว่าน้ำหนักเงินยูโรหายไปมากที่สุด คือลดลง 6.47 เปอร์เซ็นต์ เงินปอนด์สเตอริง 2.94 เปอร์เซ็นต์ เงินเยน 0.97 เปอร์เซ็นต์ น้ำหนักของเงินดอลลาร์ลดลงน้อยที่สุด กล่าวคือลดลงเพียง 0.17 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

การที่ไอเอ็มเอฟยอมรับให้เงินหยวนเข้ามาอยู่ในตะกร้าเงินที่กำหนดค่าเอสดีอาร์นั้นจีนก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและตามกำหนดเวลาหลายข้อ มิฉะนั้น จีนอาจจะเอาเปรียบผู้ที่ถือเงินหยวนที่อยู่นอกประเทศได้โดยการลดค่าเงินของตน

เงื่อนไขที่จีนต้องปฏิบัติส่วนมากก็เป็นเงื่อนไขที่จีนต้องเปิดเสรีทางการเงินมากขึ้นเพื่อลดอุปสรรคในการเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้าออกในประเทศและปล่อยให้ค่าเงินหยวนขึ้นลงตามกลไกตลาดมากยิ่งขึ้น

การปรับน้ำหนักของเงินสกุลหลักที่อยู่ในตะกร้าเงินของไอเอ็มเอฟที่ใช้กำหนดค่าเอสดีอาร์ทำให้เห็นได้ชัดว่าน้ำหนักของกลุ่มประเทศที่ใช้เงินยูโรมีน้ำหนักลดลงค่อนข้างมาก ตามมาด้วยน้ำหนักของประเทศอังกฤษ ไอเอ็มเอฟให้น้ำหนักกับเงินเยนสูงกว่าเงินปอนด์สเตอริงแล้ว

เอสดีอาร์ หรือสิทธิถอนเงินพิเศษ แม้จะไม่ใช่เงินตราที่ใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน หรือเป็นเครื่องมือในการเก็งกำไรในตลาดทุนและตลาดเงินก็ตาม แต่เอสดีอาร์สามารถใช้นับเข้าไปเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศได้ เพราะสิทธิถอนเงินพิเศษสามารถจะเปลี่ยนเป็นเงินตราสกุลอื่น เช่น ดอลลาร์ ยูโร หรือเงินตราสกุลอื่น ที่ใช้ระหนี้ระหว่างประเทศได้ผ่านทางไอเอ็มเอฟ โดยไอเอ็มเอฟทำหน้าที่เป็นคนกลางหาผู้ซื้อและผู้ขาย ทำให้เกิดการซื้อขายได้ เหมือนกับเป็นสิทธิการถอนเงินจากไอเอ็มเอฟ โดยที่ไอเอ็มเอฟไม่มีพันธะว่าจะต้องรับซื้อไว้เอง หรือมีไว้ขายเอง เป็นแต่เพียงคนกลางให้

เอสดีอาร์ แม้จะไม่ใช่เงินตราระหว่างประเทศเหมือนเงินดอลลาร์ เงินเยน หรือเงินปอนด์สเตอริง แต่ก็มีสภาพเข้าใกล้เงินเพราะสามารถใช้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารกลาง มีสภาพคล่องเปลี่ยนเป็นเงินตราสกุลที่ใช้ชำระหนี้ระหว่างประเทศได้ คล้าย ๆ กับทองคำที่ผู้ถือสามารถเปลี่ยนเป็นเงินตราที่ใช้ชำระหนี้ระหว่างประเทศได้ ถ้าต้องการทองคำที่มีตัวตนที่มีค่าในตัวของมันเองก็มีตลาดทองคำระหว่างประเทศ แต่เอสดีอาร์ไม่มี ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ อาจจะซื้อขายเอสดีอาร์ผ่านบัญชีที่ไอเอ็มเอฟได้ ไม่มีธนบัตรหรือตั๋วสัญญาใช้เงิน

ขณะเดียวกันเอสดีอาร์ก็มีลักษณะคล้ายเงิน คือมีดอกเบี้ยให้กับธนาคารกลางที่ถือเอสดีอาร์ ผู้ยืมเอสดีอาร์ก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยกลาง คืออัตราดอกเบี้ยของเงินในตะกร้า โดยถ่วงตามน้ำหนักที่ไอเอ็มเอฟกำหนดไว้นั่นเอง บางคนถือว่าเอสดีอาร์ คือ เงินที่ออกโดยไอเอ็มเอฟก็มี

เอสดีอาร์ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 1969 ซึ่งขณะนั้นสมาชิกของไอเอ็มเอฟยังคงใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่เมื่อเทียบกับทองคำ หรือดอลลาร์สหรัฐ ตามข้อตกลง"เบรตตันวูดส์" หรือที่เรียกกันว่า ระบบเบรตตันวูดส์ "Bretton Woods System" ไอเอ็มเอฟจึงกำหนดให้เอสดีอาร์ มีค่าเท่ากับทองคำที่มีน้ำหนัก 0.888671 กรัม เท่ากับหนึ่งดอลลาร์สหรัฐ

โดยเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกานั้น ธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ ที่ถือเงินดอลลาร์อาจจะนำเงินดอลลาร์มาแลกทองคำบริสุทธิ์ได้ในอัตรา 36 ดอลลาร์ต่อ 1 ทรอยออนซ์ หรือ1 ดอลลาร์ มีค่าเท่ากับทองคำบริสุทธิ์ 0.888671 กรัม

แต่เมื่อสหรัฐอเมริกาทำสงครามในเวียดนาม สหรัฐอเมริกาต้องเพิ่มปริมาณเงินดอลลาร์ โดยการตั้งงบประมาณขาดดุลเพื่อทำสงครามมากมาย ความเชื่อมั่นในค่าเงินดอลลาร์ลดลงอย่างรวดเร็ว ธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ ไม่มีความมั่นใจว่า สหรัฐอเมริกาจะสามารถนำทองคำออกมาจ่ายให้ผู้ต้องการเอาดอลลาร์มาแลกได้ทั้งหมด จึงทยอยกันมาแลกทองมากยิ่งขึ้น ทองจึงไหลออกจากอเมริกามากขึ้นตามลำดับ ในที่สุดสหรัฐก็ต้องประกาศออกจากมาตรฐานทองคำ หรือ "Gold Standard" ไม่ยอมรับดอลลาร์มาแลกทองคำอีกต่อไป

เมื่อสหรัฐอเมริกาประกาศออกจากมาตรฐานทองคำระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่"เบรตตันวูดส์" ก็พังทลายลง พร้อม ๆ กับค่าเงินดอลลาร์ ค่าเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับทองคำก็ดิ่งตัวลงไปเรื่อย ๆ ขณะเดียวกันการเก็งกำไรค่าเงินและราคาทองคำก็เกิดขึ้น ทำให้เกิดความปั่นป่วนกันโดยทั่วไป รวมทั้งค่าเอสดีอาร์ด้วย

ในที่สุดโลกก็พัฒนาระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่สามารถหาความมั่นคงได้พอสมควร แต่ก็มีความยืดหยุ่นสูงด้วย กล่าวคือแทนที่จะตรึงค่าเงินไว้กับเงินดอลลาร์สกุลเดียว ก็หันมาตรึงค่าเงินไว้กับ "ตะกร้าเงิน" หรือ "Basket of Currencies"หรือตะกร้าเงินที่มีหลายสกุล โดยการให้น้ำหนักแก่เงินสกุลต่าง ๆ ไม่เท่ากัน และแตกต่างกันไปแล้วแต่ประเทศ บางประเทศก็ประกาศว่าในตะกร้ามีอะไรบ้าง น้ำหนักเท่าไหร่ บางประเทศก็ไม่ประกาศ ระบบดังกล่าวก็ใช้ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง

สหรัฐอเมริกาก็ต้องประกาศเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน ซึ่งกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินดอลลาร์กับเงินตราสกุลอื่นของโลก การประกาศก็ทำอย่างโปร่งใสมากขึ้น โดยการกำหนดสูตรเป้าหมายทางเศรษฐกิจระหว่างเงินเฟ้อกับการว่างงานให้ชัดเจนขึ้น ขณะนี้ทั่วโลกก็ปฏิบัติอย่างนั้นในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยของแต่ละประเทศ

อย่างไรก็ตาม ไอเอ็มเอฟไม่สามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยของเอสดีอาร์ได้เอง เพราะอัตราดอกเบี้ยที่ผู้กู้ต้องจ่ายและผู้ให้กู้เอสดีอาร์ได้รับ จะเท่ากับดอกเบี้ยของเงินตราสกุลต่าง ๆ ในตะกร้าถ่วงน้ำหนักตามที่ไอเอ็มเอฟกำหนดไว้แล้ว ดังนั้นเมื่อเงินหยวนซึ่งเป็นเงินที่มีอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้สูงกว่าเงินอื่น ๆ ในตะกร้า ก็น่าจะคาดได้ว่าดอกเบี้ยของเอสดีอาร์น่าจะขยับตัวสูงขึ้นด้วย

เมื่อเงินเหริน หมิน หรือ "เงินประชาชน" ของจีน ได้รับการยอมรับนับถือให้เข้าไปอยู่ใน "ตะกร้าเงิน" ที่ใช้เทียบค่าเอสดีอาร์ ตลาดก็คงคาดได้ว่าจีนคงจะทยอยปฏิบัติตามเงื่อนไขพันธสัญญากับไอเอ็มเอฟ ซึ่งคงจะเกี่ยวกับวินัยทางการเงิน ความมั่นใจในค่าเงินหยวนก็น่าจะมีมากขึ้น "ความต้องการเงินหยวน" เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนก็ดี ใช้เพื่อเป็นทุนสำรองก็ดี หรือใช้เพื่อตรึงมูลค่าของสินทรัพย์ต่าง ๆ ก็ดี น่าจะมีมากขึ้น ดังนั้นในระยะยาว จีนคงต้องปล่อยเงินหยวนออกมาในตลาดมากขึ้น มิฉะนั้นแล้ว ค่าเงินหยวนอาจจะแข็งค่าเกินไป จนเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกอย่างสำคัญ อันจะเป็นสาเหตุให้เกิดเศรษฐกิจชะงักงัน

ญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างที่ดี เมื่อเงินเยนได้รับการยอมรับในตลาดโลก ค่าเงินก็แข็งขึ้นอย่างมากและติดต่อกันจนกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการลงทุนและการพัฒนาเศรษฐกิจ อันเป็นเหตุให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นชะงักงันมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 มาจนถึงบัดนี้กว่า 2 ทศวรรษแล้ว เมื่อจีนต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขต่าง ๆ จีนก็คงต้องระมัดระวังในเรื่องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอย่างเคร่งครัดมากยิ่งขึ้น จะปล่อยให้เกิดเงินเฟ้อในอัตราสูงหรือเกิดสภาวะฟองสบู่ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงเกินไปอย่างที่ผ่านมาก็คงจะทำไม่ได้ เพราะสมัยก่อนจีนยังใช้ระบบการเงินที่สามารถควบคุมโดยตรงได้

ผลกระทบโดยตรงอย่างอื่น นอกจากทางจิตวิทยาแล้วคงจะมีไม่มาก เพราะเอสดีอาร์ที่ไอเอ็มเอฟสร้างขึ้นมาเพื่อเสริมทุนสำรองในระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ หรือระบบเบรตตันวูดส์ ก็หมดความจำเป็นไปตั้งแต่ปี 1973 เมื่อระบบเบรตตันวูดส์ล่มสลายไปพร้อม ๆ กับการออกจากมาตรฐานทองคำของเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกา

หลาย ๆ คนยังเชื่อว่า เสถียรภาพทางการเงิน โดยเฉพาะอัตราแลกเปลี่ยนเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการลงทุน การค้นพบเทคโนโลยีใหม่และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลกที่ขยายตัวช้าลง ก็เพราะความไม่มีเสถียรภาพทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ค่าเงินสกุลสำคัญ ๆ ของโลก แต่การจะนำระบบเดิมมาใช้ก็คงเป็นไปไม่ได้เสียแล้ว

การเปลี่ยนตะกร้าเงินของเอสดีอาร์โดยเพิ่มเงินหยวนเข้ามาในตะกร้า ไม่น่าจะเป็นข่าวใหญ่

แต่ระยะนี้ไม่ค่อยมีข่าวเศรษฐกิจก็เลยเป็นข่าวใหญ่

ที่มา:คอลิมน์คนเดินตรอก/ประชาชาติธุรกิจ
๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑

วันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2558

เสือป่วยหนัก.....!!?

โดย.ดร. วีรพงษ์ รามางกูร

ประเทศไทยของเราเมื่อกว่า 10 ปีก่อน เคยได้รับการยกย่องว่าเป็นดาวเด่นของภูมิภาค ไม่ใช่เฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน แต่ของเอเชียตะวันออกทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจที่มีอัตราการขยายตัวที่สูง ผ่านการส่งออกที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วตามกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ อันได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน และเกาหลีใต้ มาอย่างติดๆ จนได้รับการขนานนามว่าเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย ขึ้นหน้าปกนิตยสารชั้นนำของโลก

ทางด้านการเมือง ประเทศไทยในยุคเมื่อ 10 ปีก่อน ก็พัฒนาประชาธิปไตยไปไกลกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือแม้แต่เกาหลีใต้และไต้หวัน

ในด้านสังคม แม้จะมีความขัดแย้งและความไม่สงบในภาคใต้อยู่บ้างในขณะนั้น ก็ไม่รุนแรงอย่างทุกวันนี้ ผู้คนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัญหาทางสังคมความแตกแยกในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา มีน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นอันมาก

การพัฒนาทางเศรษฐกิจก็ดี พัฒนาการทางการเมืองก็ดี การพัฒนาความสงบสุขภายในชาติก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อยมากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค จนได้รับการกล่าวขานจากสื่อมวลชนในต่างประเทศว่า ประเทศไทยควรจะเป็นแบบอย่างในการพัฒนาประเทศ จะมีปัญหาอยู่บ้างก็คงจะเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำในความเป็นอยู่และการกระจายรายได้ ซึ่งเป็นปัญหาสำหรับประเทศกำลังพัฒนาทุกประเทศ เป็นปัญหาที่แก้ไขได้

การพัฒนาการเมืองที่ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ แม้ว่าจะมีการโจมตีว่าการเลือกตั้งจะมีการทุจริตซื้อสิทธิขายเสียงซึ่งเชื่อว่ามีอยู่จริง แต่ก็มีแนวโน้มลดลงไปเรื่อยๆ เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปหลายครั้งและมากขึ้นเรื่อยๆ หลายคนถึงกับ "ฝัน" ว่าประเทศไทยจะสามารถพัฒนาไปเป็นประเทศประชาธิปไตยแบบ 2 พรรคใหญ่ได้เช่นเดียวกับอังกฤษ อเมริกา ซึ่งน่าจะมีประสิทธิภาพเป็นประชาธิปไตยดีกว่าการปกครองที่มีขนาดใหญ่พรรคเด่นเพียงพรรคเดียว เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เป็นต้น

ถ้าระบอบประชาธิปไตยดำรงอยู่ได้ พรรคเด่นพรรคใหญ่ 2 พรรคก็น่าจะผลัดกันเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล มีรัฐบาลที่เข้มแข็ง เพราะประชาชนจะเลือกพรรคมากกว่าเลือกคน จนสามารถมีพรรคการเมืองที่ได้รับความนิยม มีเสียงในสภาเกินกว่ากึ่งหนึ่ง สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เพียงพรรคเดียว เป็นรัฐบาลในระบอบรัฐสภาที่เข้มแข็ง สามารถตัดสินใจในการดำเนินการลงทุนโครงการใหญ่ๆ สามารถพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สาธารณสุข และข้อสำคัญการพัฒนาการเมือง

ที่เชื่อว่าประเทศไทย หากมีระบอบประชาธิปไตยมั่นคงก็จะไม่พัฒนาไปเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบพรรคเดียวแบบประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศก็เพราะว่าคนไทยมีนิสัยเบื่อง่ายชอบการเปลี่ยนแปลงดังนั้นถ้าหากพรรคการเมืองใดได้รับเลือกตั้งให้เป็นรัฐบาลติดต่อกัน 2 สมัยแล้ว โอกาสจะชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 3 น่าจะเป็นไปได้ยาก ยิ่งบอกว่าจะสามารถชนะการเลือกตั้งตลอดกาลยิ่งเป็นไปไม่ได้ ถ้าพรรคฝ่ายค้านและพรรครัฐบาลมีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกัน

แม้ในระยะเริ่มต้น พรรคการเมืองจะมีนายทุนหรือกลุ่มนายทุนเป็นผู้ก่อตั้ง แต่ในที่สุดเมื่อเวลาผ่านไปโดยมีการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง ไม่สะดุดหยุดลงโดยการปฏิวัติรัฐประหาร พรรคการเมืองก็จะกลายเป็นพรรคของมวลชน ที่มวลชนในเขตเลือกตั้งจะมีสิทธิมีเสียง กำหนดให้พรรคส่งคนที่ตนชอบลงในนามของพรรค แบบเดียวกับสหรัฐอเมริกา

ในด้านสิทธิเสรีภาพในการพูด การแสดงออกผ่านทางสื่อมวลชนก็เป็นประเทศเปิดกว้างที่สุด เมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรุงเทพฯยังเป็นศูนย์กลางของสำนักข่าวสำคัญๆ ทั่วโลก มิใช่เฉพาะสำนักข่าวไทยเท่านั้น

ภาพต่างๆ ตามที่กล่าวมานี้ได้มลายหายไปหมดแล้ว กล่าวคือ ในด้านเศรษฐกิจแม้ว่าเศรษฐกิจยังขยายตัวอยู่บ้าง แต่ก็ขยายตัวในอัตราที่ต่ำ ต่ำกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาค เพราะรายรับจากการส่งออกหดตัวแทนที่จะขยายตัว ราคาสินค้าทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตร อุตสาหกรรม พากันลดลงหมด ยังเหลือเพียงจำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนเท่านั้นที่ยังดีอยู่ ที่เศรษฐกิจยังขยายตัวได้บ้างก็เพราะได้อานิสงส์จากการที่ราคาพลังงานและราคาสินค้านำเข้า โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่มีราคาถูกลง แต่การบริโภคและการลงทุนต่างก็ชะลอตัวไปหมด

การชะลอตัวที่เกิดขึ้นอย่างค่อนข้างรุนแรงในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2558 คงจะยืดเยื้อไปถึงปีหน้า เพราะภาวะเศรษฐกิจในยุโรปก็ดี ในญี่ปุ่น จีนและประเทศอื่นๆ ในทวีปเอเชีย ต่างก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะฟื้นตัว

ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังตกต่ำลงอย่างรวดเร็วทั้งในเมืองและในชนบท ความแตกแยกทางการเมืองของคนในชาติก็ไม่เห็นทางจะเยียวยาได้อย่างไร ความเป็นนิติรัฐ การบังคับใช้กฎหมาย การมี 2 มาตรฐานในการใช้กฎหมาย การเลือกปฏิบัติของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาเป็นเวลานานในกระบวนการยุติธรรมและกระบวนการการเมือง ก็เกิดขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ

บรรยากาศความสัมพันธ์กับต่างประเทศที่เคยอยู่ในระดับที่ประเทศต่างๆ เคยชื่นชมเราอย่างมากในช่วง 10 ปีก่อนหน้า มาบัดนี้ความสัมพันธ์ในด้านต่างๆ ก็เปลี่ยนไป ทั้งจากยุโรป อเมริกา ออสเตรเลียและประเทศอื่นๆ ต่างก็ฉวยโอกาสในขณะที่เรามีรัฐบาลทหาร ดำเนินมาตรการตัดสิทธิประโยชน์ทางการค้าและการลงทุน ตั้งเงื่อนไขเรื่องสิทธิการบิน บรรยากาศในการออกข่าวของต่างประเทศก็เปลี่ยนไป กลายเป็นข่าวในทางลบทยอยออกมาอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากมิตรประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาและยุโรป รวมทั้งญี่ปุ่นด้วย จะยังเหลือก็จีนเท่านั้นที่เป็นประเทศใหญ่ ทำให้เราดูเหมือนจะโอนเอียงไปทางจีนมากขึ้น ซึ่งไม่น่าจะให้เป็นไปเช่นนั้น เพราะประเทศไทยดำเนินนโยบายที่ให้ความสำคัญกับมหาอำนาจทุกประเทศเท่าเทียมกัน

ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นนั้น ฝ่ายกองทัพก็ดี ฝ่ายพรรคฝ่ายค้านก็ดี ได้โหมโจมตีรัฐบาลพรรคเพื่อไทยจนเกิดกระแสต่อต้านรัฐบาลที่แล้วและสนับสนุนการปฏิวัติรัฐประหาร เพราะหลายคนเคยเชื่อว่าผู้ที่ถูกโจมตีนั้นไม่สะอาด มีการทุจริต คอร์รัปชั่น แต่เหตุการณ์โครงการราชภักดิ์ก็ดี โครงการจัดซื้อเปียโนของกรุงเทพมหานครก็ดี แม้ว่าจะยังมิได้มีการพิสูจน์แน่ชัดว่ามีความไม่ชอบมาพากล แต่ก็ทำให้ผู้คน "ใจเสีย" เพราะนึกไม่ถึงว่าเรื่องดังกล่าวจะเกิดขึ้นกับกองทัพและพรรคฝ่ายค้านที่ตนเองเคยออกมาสนับสนุนและเชื่อใจ

ความ "ใจเสีย" นั้นได้เพิ่มบรรยากาศของความรู้สึกว่างเปล่า เงียบเหงา พูดไม่ออกบอกไม่ถูก สำหรับข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่ต้องรับรู้จากสังคม แม้ว่าจะไม่ยอมอ่านจากหนังสือพิมพ์กระดาษ ไม่ยอมดูจากโทรทัศน์ ไม่ยอมฟังจากวิทยุ แต่ก็ได้รับจากสื่อออนไลน์ในมือของตัวเองอยู่ดี

การวิเคราะห์การพูดคุยกันด้วยข้อมูลข้อเท็จจริง เหตุผลในวงสนทนา ในวงสังสรรค์กัน จึงทำไม่ได้อย่างสะดวกใจ ด้วยเหตุนี้การสนองตอบของสังคม ไม่ว่าจะเป็นการสัมมนา ปาฐกถา ผ่านสื่อมวลชนจึงเป็นไปอย่างจืดชืด สังคมขณะนี้จึงเป็นสังคมของความ "อึดอัด" ไม่มีการแสดงออก ไม่มีการเปิดเผย ไร้สีสัน ซึ่งอาจจะเป็นเพราะการ "ตรวจสอบตัวเอง" เพราะความเกรงกลัวต่ออำนาจรัฐ หรือจากการข่มขู่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทั้งที่เป็นทหารและตำรวจ

สังคมที่เคยเป็น "สังคมพลเรือน" หรือ "civil society" ก็กลายเป็นสังคมทหาร การใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกเพื่อลดความอึดอัดกดดันก็ทำไม่ได้ ทุกคนต้องอดกลั้น

ประชาชนกลัวรัฐบาลหรือรัฐบาลกลัวประชาชน ใครจะให้คำตอบที่ชัดเจนได้

บรรยากาศที่แปลกขณะนี้ก็ดี ผู้คนวางเฉยกับเหตุการณ์บ้านเมือง การโต้เถียง การเสนอความคิดความเห็นในกิจการบ้านเมืองจะมีทิศทางไปในทางใด ผู้คนให้ความสนใจน้อยลงอย่างมากเมื่อเทียบกับในอดีต

นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือหัวหน้าพรรคการเมืองจะพูดจะทำอะไรก็ไม่มีใครสนใจวิพากษ์วิจารณ์ ไม่มีใครโต้เถียง กลายเป็นสังคมเซื่องซึมหงอยเหงาอย่างที่ประเทศไทยไม่เคยเป็นมาก่อน ทั้งๆ ที่ความมีเหตุผล ความเป็นมาตรฐานเดียว ความเป็นนิติรัฐ ที่ทุกฝ่ายต่างก็เรียกร้องกันนักหนา กลับไร้ซึ่งเสียงของการโต้แย้งกันอย่างสร้างสรรค์ กลายเป็นพูดกันคนละเรื่อง บางคนพูดให้ได้ยินว่าสถานการณ์อย่างนี้จะดำรงอยู่ไม่ได้นาน

จะหงอยเหงากันไปอีกนานแค่ไหนก็ไม่รู้

ที่มา:มติชนรายวัน 10 ธันวาคม 2558
@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@