--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2557

วิกฤตการณ์หมีขาว !!?


โดย วีรพงษ์ รามางกูร

วิกฤตการณ์การเงินของรัสเซียเป็นข่าวใหญ่อยู่ในขณะนี้ ทั่วโลกกำลังเฝ้ามองดูว่าวิกฤตการณ์ของรัสเซียจะแผ่ขยายวงออกไปยังประเทศอื่น ๆ อย่างไร จะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหรือไม่ จะเหมือนกรณีวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งที่เริ่มต้นขึ้นที่ประเทศไทยแล้วแพร่ขยายไปที่เกาหลีใต้ ไต้หวัน และประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน สถานการณ์ดุลบัญชีเดินสะพัดจะพลิกกลับภายในเวลาอันรวดเร็วเพียง 12 เดือนหรือไม่

กรณีของประเทศไทยเมื่อปี 2540 เกิดขึ้นเพราะประเทศไทยขาดดุลการค้า และขาดดุลบัญชีเดินสะพัดติดต่อกันมาหลายปี ในปีก่อนหน้านั้นประเทศไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดขนาดหนักถึง 8 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ขณะเดียวกัน ทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารกลางมีระดับต่ำกว่าหนี้ที่กู้ยืมมาจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ขณะนั้นประเทศไทยตรึงค่าเงินบาทไว้กับตะกร้าเงิน ซึ่งมีดอลลาร์ในสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 85 ของตะกร้า เมื่อประเทศไทยขาดดุลเรื้อรังมาเป็นเวลานาน ก็ทำให้ค่าเงินบาทที่ตรึงไว้กับค่าเงินในตะกร้า ซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่ เงินดอลลาร์สหรัฐ มีค่าสูงเกินความเป็นจริง

สถานการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุให้กองทุนตรึงมูลค่า หรือ "กองทุนอีแร้ง" รวมหัวกันโจมตีค่าเงินบาทอย่างหนัก แต่ธนาคารกลางของไทยก็เอาเงินทุนสำรองออกสู้จนเกือบหมด มาทราบภายหลังว่าทุนสำรองมีเหลืออยู่เพียง 880 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้นเอง ในที่สุดธนาคารกลางของไทยก็ต้องปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัว เงินบาทจึงตกลงอย่างรวดเร็ว จากที่ตรึงไว้ที่ 25 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ ตกลงไปต่ำสุดที่ 56 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนที่จะกระเตื้องขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 50 บาทต่อดอลลาร์เป็นเวลานาน จึงค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นมา

เมื่อค่าเงินบาทอ่อนลงไปถึง 52 บาทต่อดอลลาร์ การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคเกือบทุกชนิดหยุดลงทันที ยกเว้นพลังงานซึ่งก็มีราคาสูงขึ้นประมาณเท่าตัว ทางการต้องประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยจาก 13 เปอร์เซ็นต์ไปเป็น 15 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เศรษฐกิจหดตัวถึง 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ในปีต่อมา

ในกรณีของรัสเซีย ในช่วงที่ราคาพลังงานมีราคาแพงขึ้น เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่นิยมเรียกกันว่า กลุ่มประเทศ BRICS อันได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และสหภาพแอฟริกาใต้ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงของบรรดาประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีนที่สามารถขยายตัวได้ด้วยอัตรา 2 หลักมาเป็นเวลานาน ทำให้มีการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ในอัตราที่สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน

รัสเซียเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับผลประโยชน์อย่างมหาศาล ในช่วงระยะเวลาที่ราคาพลังงานและโภคภัณฑ์อย่างอื่นมีราคาสูงขึ้น ขณะที่รัสเซียกำลังได้รับผลประโยชน์จากราคาพลังงานที่สูงขึ้น ก็ทำให้รัสเซียทุ่มงบประมาณการลงทุนเกือบทั้งหมดไปกับการสร้างท่อก๊าซธรรมชาติ วางท่อส่งมาขายถึงประเทศจีนในด้านตะวันออก และผ่านยูเครนไปขายถึงยุโรปตะวันตก แต่ละเลยการลงทุนในอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมอื่น ๆ

ในที่สุดมูลค่าการส่งออกจึงกระจุกตัวอยู่ที่ภาคพลังงานแต่เพียงอย่างเดียวกล่าวคือ การส่งออกพลังงานมีสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 70 ของการส่งออกทั้งหมด สินค้าอุปโภคบริโภคอื่น ๆ ทั้งที่เป็นสินค้าอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมรัสเซียต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ แต่ถึงอย่างไรรัสเซียก็ยังสามารถสะสมทุนสำรองระหว่างประเทศไว้ได้เป็นจำนวนกว่า 400,000 เหรียญสหรัฐ

เมื่อราคาน้ำมันและพลังงานอย่างอื่นเพิ่มขึ้นจนถึงระดับสูง เศรษฐกิจของโลกรวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศจีนก็เริ่มชะลอตัวลง ความต้องการนำเข้าพลังงานก็พลอยชะลอตัวลงไปด้วย ราคาน้ำมันและพลังงานอย่างอื่นก็เริ่มอ่อนตัวลง ยิ่งกว่านั้นยังถูกซ้ำเติมมากยิ่งขึ้นโดยสหรัฐอเมริกา ซึ่งเคยเป็นประเทศที่นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ของโลก สามารถผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติใช้ได้เพียงพอในประเทศ จึงทำให้เกิดสถานการณ์กำลังการผลิตสูงกว่าความต้องการใช้ ราคาน้ำมันจึงเริ่มอ่อนตัวตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีนี้เป็นต้นมา และเมื่อที่ประชุมกลุ่มประเทศโอเปกประกาศไม่สามารถลดการผลิตน้ำมันลงเพื่อพยุงราคา ราคาน้ำมันจึงดิ่งลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 60 เหรียญต่อบาร์เรล และมีทีท่าว่าจะลดลงต่ำกว่านั้นอีก

ประเทศที่เป็นผู้ส่งน้ำมันออกทั่วโลก จึงได้รับผลกระทบทางการเงินโดยทั่วไป แต่ที่หนักกว่าเพื่อนเห็นจะเป็นประเทศรัสเซีย

ทันทีที่ราคาน้ำมันลดลงอย่างรวดเร็ว รัสเซียก็เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินทันที เพราะมีการขายเงินรูเบิลอย่างหนัก แม้จะไม่ใช่การถูกโจมตีค่าเงินโดยกองทุนตรึงค่าอย่างประเทศไทยในเดือนพฤษภาคม 2540 แต่ก็มีลักษณะอย่างเดียวกันกล่าวคือ ค่าเงินรูเบิลลดลงอย่างรวดเร็ว จากอัตราแลกเปลี่ยน 32-33 รูเบิลต่อดอลลาร์ ลงไปเป็นประมาณ 40 รูเบิลต่อดอลลาร์ ทางธนาคารกลางรัสเซียได้นำทุนสำรองประมาณ 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐออกมาพยุงค่าเงินรูเบิล แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ค่าเงินรูเบิลยังคงอ่อนค่าต่อไป ทางการจึงหยุดการนำเงินทุนสำรองออกมาพยุงค่าเงินรูเบิล

ในขณะที่เงินตราต่างประเทศยังไหลออก ค่าเงินรูเบิลอ่อนตัวลงไป ธนาคารกลางรัสเซียก็ขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาเรื่อย ๆ เพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อจนอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับ 10.5 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับ 9 เปอร์เซ็นต์

แต่เมื่อราคาน้ำมันยังคงลดลงไปเรื่อย ๆ ในอัตราที่เร็วขึ้น ซึ่ง ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน และหลาย ๆ คนสงสัยว่าเป็นฝีมือของสหรัฐอเมริการ่วมมือกับซาอุดีอาระเบีย ประเทศที่เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในกลุ่มโอเปก เพราะหลังจากรัสเซียได้บุกยึดแหลมไครเมียเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย สหรัฐอเมริกาก็เป็นผู้นำร่วมกับประเทศยุโรป สนับสนุนให้ยูเครนเข้ามาร่วมเป็นสมาชิกในสหภาพยุโรป ซึ่งรัสเซียพยายามขัดขวางทุกวิถีทาง

การถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการค้าจากสหรัฐและยุโรป มีผลทำให้เกิดปัญหาทางด้านการส่งออกอยู่แล้ว เมื่อราคาน้ำมันทรุดลงหนักจนต่ำกว่า 60 เหรียญต่อบาร์เรล และมีทีท่าว่าจะต่ำลงไปอีก ค่าเงินรูเบิลจึงตกดิ่งพสุธาลงไปถึง 80 รูเบิลต่อดอลลาร์

เมื่อค่าเงินรูเบิลอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วอันเป็นผลมาจากความแตกตื่นของตลาด ทางการรัสเซียจึงประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 10.5 ต่อปี เป็นร้อยละ 17 ต่อปี พร้อมกับประกาศให้บริษัทใหญ่ ๆ ที่เป็นรัฐวิสาหกิจเร่งส่งออกให้มากขึ้น พร้อมกับประกาศนโยบายการพัฒนาประเทศในอนาคต ต้องกระจายงบประมาณการลงทุนไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ เพื่อให้โครงสร้างเศรษฐกิจของรัสเซียมีความสมดุลมากกว่านี้ พร้อมกับคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของรัสเซียในปีหน้าคงจะหดตัวถึง 4 เปอร์เซ็นต์

การที่รัสเซียยอมถอยจากการที่เงินทุนไหลออก เมื่อได้เข้าแทรกแซงไปถึง 30,000 ล้านเหรียญแล้วแต่ไม่ได้ผล และปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนไหลลงโดยรักษาทุนสำรองซึ่งยังค่อนข้างแข็งแรงเอาไว้ จึงทำให้สถานการณ์ไม่ลุกลามไปยังประเทศอื่น ๆ เหมือนในกรณีต้มยำกุ้ง แต่สถานการณ์การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของรัสเซียจะพลิกกลับอย่างในกรณีของประเทศไทยหรือไม่ ก็ต้องรอดูกันต่อไป เพราะกรณีของประเทศไทยสินค้าส่งออกของเรากระจายตัวมากกว่าของรัสเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าส่งออกสำคัญ ๆ ที่เป็นสินค้าจากภาคเกษตรกรรม สถานการณ์จึงพลิกกลับโดยเร็ว

แต่กรณีรัสเซียคงต้องใช้เวลาอีกหลายปี

ที่มา.ประชาชาตอธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////

วันจันทร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ฤๅว่า..มังกรจะกลับลำ !!?


โดย ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในขณะที่เศรษฐกิจไทยเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจโลก ซึ่งได้สร้างความเสียหายกับเศรษฐกิจสหรัฐ และเศรษฐกิจยุโรปอย่างมหาศาล "เศรษฐกิจจีน" กลายเป็นที่พึ่งพิงแห่งใหม่ของเศรษฐกิจไทย ดังเห็นได้จากสัดส่วนของการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวของไทยที่อิงกับจีนมากยิ่งขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น จากเดิมการส่งออกของไทยไปยังจีนคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 3 ของการส่งออกรวมของไทย แต่ผ่านไปเพียง 10 กว่าปีสัดส่วนดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 12 จึงอาจกล่าวได้ว่าในช่วงที่ผ่านมาความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจระหว่างไทยและจีนได้สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการไทยเป็นจำนวนมากและสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมานานหลายปี

แต่แล้วในช่วงที่ผ่านมาสถานการณ์กลับตรงกันข้ามในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจเศรษฐกิจจีนกลับเริ่มแผ่วความร้อนแรงและชะลอตัวลงต่อเนื่อง เศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวชะลอลงได้ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยอย่างชัดเจน ดังเห็นได้จากการส่งออกของไทยไปยังจีนในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2557 ได้หดตัวกว่าร้อยละ -5.0 ส่งผลให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลและเกิดคำถามว่า เศรษฐกิจจีนที่ไม่ร้อนแรงดังเช่นก่อนนี้ จะเป็นเพียงปรากฏการณ์ "ชั่วคราว" หรือจะดำรง "คงอยู่" ต่อไปเป็นบรรทัดฐานใหม่ (New Normal) ของเศรษฐกิจจีน และที่สำคัญ ทางการจีนจะสามารถควบคุมสถานการณ์ดังกล่าวได้หรือไม่

เรื่องนี้ทางผู้บริหารระดับสูงของจีนได้ผลัดกันออกมาส่งสัญญาณเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าสถานการณ์ของเศรษฐกิจจีนสามารถควบคุมได้ไม่ว่าจะเป็นการ"ปรับเป้าหมาย"การขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงจากเดิมที่ตลาดได้เคยคาดหวังว่าเศรษฐกิจจีนควรจะ "ขยายตัวสองหลัก" (Double Digit Growth) มาอยู่ที่ร้อยละ 7.5 ต่อปีในปี 2014 และร้อยละ 7.0 ต่อปีในช่วง 10 ปีข้างหน้า หรือการให้สัมภาษณ์ว่าจีนจะเน้นคุณภาพมากกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดย นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ได้ให้ความสำคัญกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจน้อยลง และให้ความสำคัญกับการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของจีนมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านการลดปัญหาคอร์รัปชั่น และปัญหามลพิษ

ทั้งนี้ นายหลี่ เค่อเฉียง เห็นว่าเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจสามารถยืดหยุ่นได้ตราบเท่าที่จีนยังมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างเพียงพอและอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำการที่ทางการจีนได้ตอกย้ำว่าสถานการณ์เศรษฐกิจจีนควบคุมได้นั้นส่งผลให้นักลงทุนได้คลายความกังวลลงไปในระดับหนึ่งโดยตลาดไม่คาดหวังว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนจะร้อนแรงดังเช่นในอดีตและเข้าใจว่าการชะลอการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปัจจุบัน เกิดจากความตั้งใจของทางการจีน เพื่อป้องกันปัญหาฟองสบู่จากการขยายตัวอย่างร้อนแรงเกินไป

สำหรับประเทศไทยเอง ในฐานะประเทศคู่ค้าที่ต้องพึ่งพาอุปสงค์จากจีน ทั้งในด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ก็ดูเหมือนว่าความตั้งใจของทางการจีนที่จะลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่ดี เพราะไทยเองก็คงไม่ต้องการให้จีนขยายตัวอย่างร้อนแรงแต่ไม่ยั่งยืน คือขยายตัวในอัตราที่สูง แต่มีความเสี่ยงที่จะทรุดลงกะทันหัน เพราะแท้จริงแล้วแม้ว่าจีนจะขยายตัวในอัตราปานกลาง ไม่ว่าจะเป็นร้อยละ 8 ร้อยละ 7 หรือร้อยละ 6 ต่อปี ก็ยังจะเป็นประโยชน์ต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอยู่ดี

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดของจีนในไตรมาส 3 ของปี 2014 ซึ่งขยายตัวที่ร้อยละ 7.3 ต่ำกว่าเป้าหมายที่ได้เคยประกาศไว้ ตัวเลขเครื่องชี้เศรษฐกิจสำคัญ เช่น ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนในสินทรัพย์คงทนที่มีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่อง ประกอบกับเหตุการณ์ล่าสุดที่ทางการจีนได้เริ่มส่งสัญญาณกลับลำเชิงนโยบาย โดยธนาคารกลางจีนได้ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะ 1 ปี ทำให้อาจคิดไปได้ว่า การชะลอลงของเศรษฐกิจจีนอาจเร็วและแรงกว่าแผน หรืออาจอยู่นอกเหนือการควบคุมของทางการจีนหรือไม่ จนทำให้ทางการจีนได้กลับลำมากระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง

ดังนั้น ไทยจึงต้องติดตามสถานการณ์ และปรับตัวให้สามารถอยู่รอดได้ภายใต้บรรทัดฐานใหม่ของเศรษฐกิจโลก ซึ่งดูเหมือนว่าจะต้องเผชิญกับการขยายตัวในอัตราต่ำต่อไป เนื่องจากประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ที่ชะลอลง ในขณะที่มีเพียงเศรษฐกิจขนาดเล็กเกิดใหม่ไม่กี่ประเทศที่สามารถเติบโตได้ในอัตราสูง

จากนี้สิ่งที่เราทั้งภาครัฐและเอกชนไทยจำเป็นต้องมาช่วยกันคิดต่อคือจีนจะยังคงเป็นที่พึ่งทางเศรษฐกิจของไทยได้หรือไม่หรือมากน้อยเพียงใดและถ้าหากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นกับจีนจริง ไทยจะยังพอหันไปพึ่งพาใครได้ จะใช่คู่ค้าเก่าแก่อย่างสหรัฐ หรือจะเป็นคู่ค้ามาแรงอย่างเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ที่ในระยะหลังทั้งสัดส่วนการส่งออกและอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกไปประเทศในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วส่อแววว่าจะพอมาเป็น"พลังใหม่"ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปร่วมกันกับไทยหรือจะเป็นประเทศกลุ่มอาเซียน ซึ่งกำลังมุ่งหน้าเข้าสู่การรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจในปีหน้า แต่ก็จะต้องไม่ลืมว่าประเทศเหล่านี้ก็ยังคงมีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับจีนอยู่ค่อนข้างมาก ดังนั้น การมุ่งขยายตลาดการส่งออกไปประเทศใหม่ จึงต้องพิจารณาหาความสมดุลที่พอดีระหว่างตลาดใหม่ที่เติบโตเร็วกับตลาดเก่าที่มั่นคง

หรือว่าท้ายที่สุดแล้วไทยอาจต้องพิจารณาว่าจะหันกลับมาพึ่งพาตนเองเร่งรีบแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศและเร่งรัดการพัฒนาในเชิงคุณภาพโดยเน้นความพอเพียงตามหลักพอประมาณ มีเหตุผลและมีภูมิคุ้มกันในตัวก็เป็นได้

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////

วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2557

เปิดร่างเอ็มโอยูรถไฟไทย-จีน 4แสนล้าน หนองคาย-มาบตาพุด !!?


เปิดรายละเอียดยิบร่างเอ็มโอยูรถไฟไทย-จีน 4 แสนล้าน”หนองคาย-มาบตาพุด”คมนาคมลุ้นสนช.เคาะพรุ่งนี้

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติ(สนช.) จะพิจารณา บันทึกความร่วมมือ (MOU) ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนกับรัฐบาลไทย ภายใต้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทยในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายมาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557

สำหรับสาระสำคัญของร่าง MOU ดังกล่าวมี 7 ข้อ ประกอบด้วย

1.รัฐบาลไทยตกลงให้รัฐบาลจีนเข้ามีส่วนร่วมดำเนินการตามกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565 โดยเฉพาะโครงการรถไฟทางคู่ขนาดมาตรฐาน (Standard Gauge) เส้นทางหนองคาย-โคราช-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุดระยะทางประมาณ 734 กิโลเมตร และเส้นทางแก่งคอย-กรุงเทพฯ ระยะทางประมาณ 133 กิโลเมตร รวมระยะทาง 867 กิโลเมตร  ซึ่งเป็นโครงการทางคู่ขนาดมาตรฐานโครงการแรกของไทย โดยทั้ง 2 ฝ่ายจะใช้ความร่วมมือในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล

2.ในการดำเนินการตามเนื้อหาข้างต้น ทั้ง 2 ฝ่ายมีความเห็นพ้องที่จะใช้หลักการดังนี้

      2.1 ฝ่ายจีนจะรับผิดชอบก่อสร้างและพัฒนาระบบรถไฟเส้นทางดังกล่าว  สำหรับการสนับสนุนเงินลงทุน และการชำระเงินลงทุนจะมีการหารือกันต่อไป

      2.2 ฝ่ายไทยตกลงที่จะให้ฝ่ายจีนเข้ามามีส่วนร่วมในโอกาสแรกที่เป็นไปได้ ในขั้นตอนการเตรียมการของโครงการ รวมถึงการศึกษาความเป็นไปได้ และจะพยายามให้เริ่มการก่อสร้างได้ภายในปี 2559

      2.3 ในการประเมินมูลค่าโครงการ ให้เป็นการหารือระหว่างไทยกับจีน รวมทั้งให้องค์กรที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของ 2 ฝ่ายเป็นผู้ประเมิน 2.4 ทั้ง 2 ฝ่ายจะพิจารณาอย่างรอบคอบเกี่ยวกับรูปแบบความร่วมมือของโครงการ โดยจะหารือกันต่อไปเกี่ยวกับรูปแบบดังกล่าว

3. ให้จัดตั้งคณะกรรมการบริหารร่วมขึ้นใหม่ชุดหนึ่ง เพื่อกำกับดูแลการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ สำหรับไทยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานร่วม สำหรับจีน ให้ผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (National Development and Reform Council) เป็นประธานร่วม

4. ในการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ ให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่ใช้อยู่ในประเทศคู่ภาคี

5. ในกรณีที่สาระสำคัญของบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ ขัดหรือแย้งกับบันทึกความเข้าใจใดๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านรถไฟที่ลงนามระหว่างปี 2554-2556 ให้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้มีผลเหนือกว่า

6. บันทึกความเข้าใจฉบับนี้อาจแก้ไขโดยความเห็นชอบร่วมกันเป็นลายลักษณ์อักษร

7. บันทึกความเข้าใจฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ ณ วันที่ลงนาม และจะมีผลบังคับใช้ 5 ปี นอกจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร 6 เดือนล่วงหน้า ทั้งนี้หากไม่มีการบอกเลิก บันทึกความเข้าใจฉบับนี้จะได้รับการต่ออายุโดยอัตโนมัติอีกครั้งละ 5 ปี

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เคยระบุว่า  หลังจากที่สนช.อนุมัติแล้ว คาดว่าในเดือนธันวาคมนี้คาดว่าไทย-จีน จะสามารถร่วมลงนามใน MOU ได้ และเริ่มทำงานร่วมกันในเดือนมกราคม 2558  ด้วยการสำรวจแนวเส้นทาง ออกแบบ และประเมินราคาให้ชัดเจน จากกรอบที่ตั้งไว้เบื้องต้นประมาณ  4 แสนล้านบาท

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////