--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2560

กสอ.ตีฆ้อง เปิดรับ SMEs ยื่นขอกู้ กองทุน 2หมื่นล้าน ทั่วไทย...

กสอ.ตีฆ้องเปิดรับ SMEs ยื่นขอเงินกู้กองทุน 2 หมื่นล้านทั่วไทย ดอกเบี้ย 1-3% เล็งวงเงินปล่อยกู้ขั้นสูง 10 ล้านบาทต่อราย อนุมัติก้อนแรกปลายเดือน เมษายนนี้

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผย ว่า ขณะนี้ได้ร่วมกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาอัตราดอกเบี้ย การจัดทำขั้นตอนการดำเนินงาน และกำหนดคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่จะเข้าเงื่อนไขการพิจารณาได้รับเงินกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐ หรือกองทุน 20,000 ล้านบาทใกล้จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยล่าสุดมีการหารืออาจคิดอัตราดอกเบี้ย 1-3% จากเดิมที่กำหนดไว้ 1% ระยะชำระคืน 7 ปี ไม่ต้องชำระเงินต้นคืน 3 ปีแรก และจะเริ่มพิจารณาอนุมัติวงเงินก้อนแรกภายในปลายเดือนเมษายนนี้

"วงเงิน 20,000 ล้านบาทไม่ได้มาก หากเทียบกับ SMEs ที่มีอยู่ทั่วประเทศ กำลังพิจารณาว่าจะจัดสรรอย่างไรให้กระจายได้ทั่วถึง เบื้องต้นอาจจะได้รับ 100 ล้านบาทเท่า ๆ กัน จากนั้นจะพิจารณาอีกครั้งสำหรับจังหวัดที่มีผู้ยื่นขอเข้ามามาก เช่น จังหวัดเล็ก SMEs ยื่นขอน้อยได้งบฯไป 100 ล้านบาท ส่วนจังหวัดใหญ่มียื่นขอมามากจะเพิ่มงบฯลงไปอีก 500-1,000 ล้านบาท ส่วนวงเงินที่จะอนุมัติให้แต่ละรายขั้นสูงอาจจะไม่เกิน 10 ล้านบาท"

โดยเบื้องต้นกำหนดคุณสมบัติ คือ SMEs ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ต้องมีศักยภาพในการพัฒนาต่อยอดธุรกิจ เพื่อเพิ่มมูลค่าและรายได้ในอนาคตได้ ซึ่ง SMEs สามารถยื่นขอใช้สิทธิ์รับเงินกองทุนผ่านช่องทาง SME Support Center และศูนย์ช่วยเหลือ SME Recue Center ที่ตั้งอยู่ในอุตสาหกรรมจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดได้ตั้งแต่บัดนี้ และในวันที่ 5 เม.ย.นี้จะร่วมประชุมกับทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ทำการประชาสัมพันธ์ให้สมาชิกรับทราบ

สำหรับขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติวงเงินกองทุนให้ SMEs แต่ละราย จะต้องผ่านคณะอนุกรรมการหลัก 3 ชุด ได้แก่ ชุดที่ 1 คณะอนุกรรมการบริหารกองทุนประจำจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และผู้แทนจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด ประธานหอการค้าจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด ผู้แทนธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) เกษตรจังหวัด เป็นต้น มีอำนาจหน้าที่อนุมัติพิจารณากลั่นกรอง คัดเลือกและวิเคราะห์ศักยภาพของ SMEs ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการบริหารประกาศกำหนดตามนโยบายจังหวัด ทั้งนี้ หาก SMEs รายใดผ่านหลักเกณฑ์การพิจารณาจะถูกส่งต่อไปยังคณะอนุกรรมการฯ ชุดที่ 2

ชุดที่ 2 คณะอนุกรรมการวิเคราะห์การเงิน มีอุตสาหกรรมจังหวัดเป็นประธาน และผู้แทนสถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้งรัฐและเอกชน ผู้แทนชมรมธนาคารจังหวัด เป็นต้น มีหน้าที่พิจารณาวงเงินให้กู้และสรุปผลการวิเคราะห์ทางการเงิน ทั้งนี้ หาก SMEs รายใดผ่านการพิจารณาจะถูกส่งกลับไปยังชุดที่ 1 เพื่ออนุมัติเป็นทางการต่อไป แต่หากรายใดไม่ผ่านการพิจารณาจะถูกส่งต่อไปยังคณะอนุกรรมการชุดที่ 3

ชุดที่ 3 คณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเอสเอ็มอี มีผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคเป็นประธาน และผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนกระทรวงแรงงาน ผู้แทนกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นต้น มีหน้าที่วิเคราะห์ กำหนดรูปแบบและวงเงินที่สมควรอนุมัติในการส่งเสริมและพัฒนา

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
///////////////////////////////////////////////////////////////////

เอสเอ็มอี-นิติบุคคลอ่วม สภาวิชาชีพบัญชีเล็งปรับมาตรฐานใหม่ปี61

เอสเอ็มอีและนิติบุคคลราว 3.2 ล้านรายกระอักสภาวิชาชีพบัญชีเล็งปรับมาตรฐานใหม่ปี 61 สำนักสอบบัญชีเผยเพิ่มต้นทุนให้ผู้ประกอบการเบื้องต้น 2,000 บาทจนถึงหลักหมื่นหลักแสน เอกชนยอมรับแบกภาระเพิ่ม

นายชัยยุทธ อังศุวิทยาหุ้นส่วนสำนักงาน เอ.เอ็ม.ที. แอสโซซิเอท ซึ่งเป็นสำนักสอบบัญชีเปิดเผยกับ ว่าวันที่ 1 มกราคม 2561 สภาวิชาชีพบัญชีจะประกาศให้มีการใช้มาตรฐานบัญชี IFRS for SME ของสากล หรือยกร่างมาตรฐานบัญชีฉบับใหม่ เพื่อบังคับใช้กับนิติบุคคลไทยในกลุ่มของนิติบุคคลที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ซึ่งเป็นกิจการที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียสาธารณะ (NPAE) ต้องจัดทำบัญชีแบบง่ายที่เรียกว่า NPAE Accounting โดยจะยกเลิกมาตรฐานฉบับ NPAE ที่ใช้ในปัจจุบัน

ความจริงตามแผนจะประกาศใช้ภายในปี 2560 แต่เมื่อเรื่องถูกส่งผ่านไปที่คณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) แล้วไม่เห็นด้วยเพราะดูแล้วยังไม่มีความพร้อมทั้งเรื่องของวิธีการ การทำความเข้าใจต่อสาธารณชนจึงให้ชะลอออกไปอีก 1 ปี และจะประกาศใช้ต้นปี 2561 ระหว่างนี้รอลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาหลังจากที่ผ่านสภาวิชาชีพบัญชีและผ่านคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชีหรือกกบ.มาแล้ว”

ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนมาตรฐานบัญชีดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีอยู่แล้วตามข้อมูลกระทรวงพาณิชย์ประมาณ 5 แสนราย รวมถึงบุคคลธรรมดาที่กำลังจะจดทะเบียนก่อตั้งเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)การจัดตั้งนิติบุคคลที่ถือหุ้นคนเดียวพ.ศ. … ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงพาณิชย์เพื่อสนับสนุนและรองรับให้เกิดผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและผู้ประกอบการสตาร์ตอัพ (Startup) ตามนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งยังช่วยลดขั้นตอนของการจดทะเบียน และยังเป็นการป้องกันปัญหาการตั้งผู้ถือหุ้นปลอม หรือนอมินีขึ้น ซึ่งตามเป้าหมายของรัฐบาลคือต้องการให้มีนิติบุคคลเพิ่มขึ้น 2.7 ล้านราย เมื่อรวมทั้ง 2 กลุ่มจะถูกกระทบประมาณ 3.2 ล้านราย

สำหรับค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่ผู้ประกอบการจะต้องเสียในเบื้องต้นต่อราย คาดว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 2,000 บาท แต่เป็นเพียงแค่ใช้จ่ายรายการเดียวที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงของมาตรฐานบัญชีดังกล่าว หากต้องมีการตีความรายการบัญชีมากขึ้น ก็จะต้องมีการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญเข้ามาดำเนินการ ซึ่งค่าใช้จ่ายก็อาจจะเพิ่มขึ้นไปได้ถึงหลักหมื่น หรือหลักแสนก็มีความเป็นไปได้

นายชัยยุทธ กล่าวอีกว่าความแตกต่างของมาตรฐานบัญชีฉบับใหม่ และฉบับเดิมนั้น หากเป็นมาตรฐานเดิมชุด NPAE จะใช้แนวคิด ราคาทุนเดิม (Historical Cost) ซึ่งจะสอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีที่เก็บตามราคาต้นทุนที่เกิดขึ้น แต่มาตรฐานฉบับใหม่ในชุด NPAE จะใช้แนวคิดราคายุติธรรม (Fair Value) โดยจะต้องทำให้มีการปรับมูลค่าบัญชีเป็นราคายุติธรรมทุกสิ้นงวดบัญชีซึ่งในการปรับมูลค่ายุติธรรมดังกล่าว แทบทุกเรื่องจะต้องใช้ดุล พินิจผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่ายในการจัดทำบัญชีเพิ่มขึ้นมาก“ผลที่เกิดขึ้นจากการปรับเปลี่ยนมาตรฐานบัญชีฉบับใหม่นั้น จะทำให้การจัดทำบัญชียุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น ต้องใช้การตีความรายการบัญชีมากขึ้นซึ่งอาจต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญ การตีความจะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเจ้าของบริษัท นักบัญชีและผู้สอบบัญชีอีกทั้งยังทำให้ต้นทุนการทำบัญชีสูงขึ้น และที่สำคัญจะเกิดการจัดรูปแบบโครงสร้างกลุ่มบริษัท เพื่อหลีกเลี่ยงการทำบัญชีที่ซับซ้อนมากๆโดยเป็นการขัดขวางการพัฒนาธุรกิจขนาดเล็กของไทยให้เติบโตขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ และภาครัฐจะได้รับข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง”

นายพัฒนศักดิ์ แสนสมรสกรรมการผู้จัดการ บริษัท พีควอลิตี้แมชชีนพาร์ท จำกัด และอุปนายก สมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย กล่าวให้ความเห็นว่า พอจะทราบเรื่องการปรับมาตรฐานบัญชีฉบับใหม่ที่จะมีการประกาศใช้ดังกล่าวอยู่บ้างโดยเชื่อว่าจะเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายในเรื่องของต้นทุน หรือเพิ่มภาระให้กับผู้ประกอบการอย่างแน่นอน ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้ทางกรมสรรพากร หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องน่าจะต้องเข้ามาช่วยเหลือ หรือสนับสนุนในเรื่องของการสร้างองค์ความรู้ ผ่านการเปิดอบรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือสิทธิ์ในการหักลดหย่อนค่าใช้จ่าย โดยอาจจะทำเป็นรูปแบบขั้นบันไดในช่วง 2-3 ปีแรกยังไม่ต้องเก็บ แต่ไปเก็บหลังจาก5 ปีไปแล้ว

นายปรีชา บุญเวียง ประธานกรรมการ บริษัท เมืองใหม่โครเมี่ยม จำกัด และบริษัทเมืองใหม่ โครเมี่ยมอิเล็คโตร เพรทติ้งจำกัด กล่าวว่า หากต้องมีการเพิ่มรายจ่ายให้กับอุตสาหกรรมก็ต้องถือว่าเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ประกอบการในเรื่องของต้นทุน การนำมาตรฐานบัญชีตามหลักสากลที่ยึดแบบจากยุโรปมาใช้ มองว่าจะต้องคำนึงถึงเรื่องของมาตรฐานรายได้ที่แตกต่างกันด้วย เพราะของยุโรปจะมีรายได้ต่อหน่วยต่อชิ้นที่มากกว่าของเราโดยรายได้ของเอสเอ็มอีไทยค่อนข้างที่จะตํ่า ซึ่งการจะนำรายจ่ายมาเปรียบกันจากรายได้ที่แตกต่างกันมองว่าไม่น่าจะเปรียบเทียบกันได้

ที่มา:จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,250
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ภาคธุรกิจชี้ประกาศใช้ รัฐธรรมนูญ ช่วยฟื้นความเชื่อมั่น...!!?

ภาคธุรกิจชี้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ส่งผลดีความเชื่อมั่น ทิศทางการเมืองชัดเจนตามโรดแมพ ลดความกังวลเรื่องความไม่แน่นอน จับตากระบวนการออกกฎหมายลูก

หลังจากสำนักพระราชวังเผยแพร่หมายกำหนดการพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา ทำให้ทิศทางการเมืองมีความชัดเจนขึ้นจากนี้ไปและลดความกังวลของภาคธุรกิจต่อการเมืองไทย

นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าการประกาศใช้รัฐธรรมนูญจะสร้างความมั่นใจให้กับประเทศไทยมากขึ้น เพราะเป็นการยืนยันว่า รัฐบาลจะเดินหน้าตามโรดแมพที่วางไว้และอยู่ในกรอบเวลาที่กำหนด ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้เงินไหลเข้าตลาดหุ้นไทยได้

การประกาศใช้รัฐธรรมนูญนั้น จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น และการดำเนินการของรัฐบาลเป็นไปตามโรดแมพที่วางไว้ ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่แข็งแกร่งจะช่วยดึงดูดเม็ดเงินเข้ามาลงทุน

ทั้งนี้ ภาวะเงินทุนเคลื่อนย้ายในตลาดหุ้นไทย นับจากต้นปีถึงปัจจุบันต่างชาติซื้อสุทธิ 7.5พันล้านบาท แม้ว่าทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐจะเป็นขาขึ้น แต่ก็ต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน ระหว่างนี้กระแสเงินทุนจะต้องหาผลตอบแทนที่ดี ซึ่งตลาดหุ้นเอเชีย และไทยถือว่า เป็นจุดที่น่าสนใจ หากพิจารณาสถานการณ์การเมือง และเศรษฐกิจในประเทศที่ขยายตัวดีขึ้น จากการประมาณการนักวิเคราะห์หลายสำนักต่างมองว่าจีดีพีปีนี้จะขยายตัวได้ดีกว่าปีก่อน

ส่วนความสามารถการทำกำไรบริษัทจดทะเบียนปีนี้คาดว่าอัตราการเติบโตไม่สูงเท่ากับปี2559 เพราะจากฐานกำไรบริษัทที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งในเรื่องนี้ไม่น่าห่วง สิ่งที่ต้องติดตามคือกำไรบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสที่ 1ปีนี้จะเป็นไปตามที่คาดหมายหรือไม่

ลุ้นเอกชนหันกลับลงทุน

นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า การประกาศใช้รัฐธรรมนูญนั้นเป็นไปตามที่คาดหมาย ซึ่งจะช่วยตอกย้ำว่าการบริหารประเทศของภาครัฐบาลจะเป็นไปตามโรดแมพที่ให้ไว้กับประชาชน และเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นในอีก 1 ปีหลังจากนี้ ระหว่างนี้รัฐบาลก็จะมีเวลาในการปฏิรูปประเทศ และน่าจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับภาคเอกชนที่ยังไม่กล้าลงทุน ให้กลับมาลงทุนอีกครั้ง

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญใหม่ อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยบวกกับตลาดหุ้นไทย เนื่องจากนักลงทุนได้รับทราบอยู่แล้ว ส่วนเงินทุนเคลื่อนย้ายก็จะให้น้ำหนักกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยมากกว่า โดยความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยในปีนี้มองว่า กรอบการเคลื่อนไหวจะไม่มากนัก ซึ่งสถานะของไทยอยู่ระหว่างการปูพื้นฐาน เพื่อสร้างการเติบโตของประเทศในระยะยาว จึงต้องใช้ความอดทน ก่อนที่จะเห็นการเติบโต

สมาคมนักวิเคราะห์คาดอีอีซีเกิดได้เร็ว

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน กล่าวว่า การบังคับใช้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นสัญญาณว่าการดำเนินการของรัฐบาลสิ่งที่ต้องจับตาหลังจากนี้คือการร่างกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้อง 10 ฉบับจะมีความรวดเร็วแค่ไหน

“กระบวนการที่ต้องติดตามหลังจากนี้คือการร่างกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญ ที่มี 10 มาตราจะสามารถทำได้เร็วแค่ไหนในช่วง8เดือน โดยจะมี 4 มาตราที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งหากสามารถผลักดันให้ร่างกฎหมายแล้วเสร็จโดยเร็วก็จะช่วยให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นได้เร็ว”

จากการประเมินระยะเวลาการร่างที่มีกรอบเวลา 8 เดือน เพื่อเข้ากระบวนการต่อไปทำให้คาดว่าการเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นช่วงไตรมาสที่ 3 หรือปลายไตรมาสที่ 4 ของปี2561 ซึ่งยังกินเวลาค่อนข้างมาก ทำให้ในระยะสั้นน่า จะยังไม่มีผลกระทบกับตลาดหุ้นไทยอย่างจริงจัง

อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้รัฐธรรมนูญที่เริ่มขึ้น จะช่วยกระตุ้นการลงทุนของภาครัฐให้มีความรวดเร็ว ช่วงที่ผ่านมาจะเห็นภาครัฐได้ขับเคลื่อนการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในการจัดตั้งโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด ประกอบกับมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งรถไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งกระบวนการหลังจากนี้การอนุมัติโครงการต่างๆ น่าจะมีความรวดเร็วมากขึ้นไปอีก ซึ่งอย่างน้อยเชื่อว่า รัฐบาลน่าจะสามารถเปิดประมูลโครงการลงทุนในแผนได้

การเมืองชัดเจนเดินหน้าเลือกตั้ง

นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า การประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นับเป็นเรื่องที่ดี สะท้อนสถานการณ์ทุกอย่างว่าจะชัดเจนขึ้น และหลังจากนี้รัฐบาลก็ได้เดินตามโรดแมพที่วางไว้ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นตามมาในปีหน้า

ส่วนบางประเด็นที่อาจมีคนกังวลเกี่ยวกับเนื้อหาในรัฐธรรมนูญที่อาจเอื้อต่อการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลจะกระทบต่อสถานการณ์การเมืองภายหลัง ประเด็นนี้มองว่าไม่น่าจะมีอะไรเกิดขึ้น เพราะรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวผ่านการทำประชามติมาเรียบร้อยแล้ว แต่สิ่งที่ต้องติดตามจากนี้คือการออกกฎหมายลูกต่างๆว่าจะใช้ระยะเวลาดำเนินการมากน้อยเพียงใด

“เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญออกมาอย่างชัดเจน สถานการณ์ต่างๆ น่าจะคลี่คลายขึ้น รัฐบาลสามารถทำตามโรดแมพที่ตั้งใจ ย่อมเป็นเรื่องที่ดีกว่าตอนที่ยังไม่ประกาศใช้และสถานการณ์เศรษฐกิจ การเมืองหลังจากนี้ไปคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ธุรกิจของบริษัทยังคงเดินหน้าตามปกติ ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรก็ตาม"

แจงส่งผลดีเศรษฐกิจโดยรวม

นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะส่งผลให้สถานการณ์ทางการเมืองมั่นคงขึ้น เมื่อทุกอย่างชัดเจนขึ้น จะมีผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างชาติ

ทั้งนี้ หากรัฐบาลเดินตามโรดแมพที่วางไว้ มีการเลือกตั้งสิ่งที่ต้องจับตามคือ ความต่อเนื่องของการบริหารงานและนโยบายรัฐบาล การลงทุนต่างๆ ของภาครัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่จะเอื้อต่อการลงทุนของภาคเอกชน

ส่วนจะมีผลต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์หรือไม่ มองว่าภาวะเศรษฐกิจเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบมากกว่า โดยอสังหาฯชะลอตัวตั้งแต่ปลายเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา แต่ขณะนี้เริ่มปรับตัวดีขึ้น ผู้บริโภคเริ่มมีความมั่นใจมากขึ้น

โบรกประเมินเลือกตั้งครึ่งหลังปี61

บล.เคที ซีมิโก้ ระบุว่า การประกาศใช้รัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการ ซึ่งหลังจากนี้ กรธ.จะต้องจัดทำร่างกฎหมายลูก 10 ฉบับ ใน สนช. ภายใน 240 วัน และสนช. มีเวลาพิจารณา 60 วัน และหลังจากนั้นให้มีการจัดเลือกตั้งภายใน 150 วัน หากถ้าใช้เวลาเต็มในทุกขั้นตอน จะทำให้มีการเลือกตั้งหลังจากนี้ 15 เดือน หรือ ราวเดือน ก.ค. 2561

บล.โนมูระพัฒนสิน ระบุว่า ด้านปัจจัยในประเทศ คาดได้รับอานิสงส์บวกจากแรงเก็งหุ้นที่คาดผลประกอบการคาดการณ์ผลประกอบการไตรมาสแรกจะฟื้นตัวดี ผสานกับ ความชัดเจนทางการเมืองที่มากยิ่งขึ้น หลังจาก จะมีพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 วันที่ 6 เม.ย.นี้ ส่งผลบวกต่อกระบวนการเลือกตั้งยังดำเนินตามแผนได้ในช่วงถัดไป กระตุ้นจิตวิทยาเชิงบวกต่อการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงในประเทศเพิ่มเติม

ภาพรวมตลาดหุ้นไทย วานนี้ (4 เม.ย.) ดัชนีหุ้นไทยแกว่งตัว ล่าสุดปิดตลาดที่ระดับ 1,583.82 จุด เพิ่มขึ้น 2.96 จุด เพิ่มขึ้น 0.19% มูลค่าการซื้อขายรวม 3.74 หมื่นล้านบาท

ขณะที่การซื้อขายแยกรายกลุ่มผู้ลงทุน โดยนักลงทุนต่างชาติมียอด 83.46 ล้านบาท ขณะที่ในเดือน มี.ค.ต่างชาติมียอดซื้อสุทธิรวม 3.6 พันล้านบาท

ต่างชาติจับตาปัจจัยน่าห่วงหลังเลือกตั้ง

นายพนม กาญจนเทียมเท่า กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย จำกัด คาดว่า การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กลุ่มนักลงทุนต่างชาติย่อมมองว่าการเลือกตั้งกับรัฐธรรมนูญก็ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ต่างชาติบางกลุ่มก็ยังกังวลอยู่ว่าหลังจากเลือกตั้งแล้ว จะมีสถานการณ์ หรือปัจจัยอื่นๆที่จะเข้ามากดดันอีกหรือไม่

นักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่ยังคงมองการลงทุนในไทยในแง่บวก แต่ยังมีบางส่วนที่อาจมองการเมืองไทยในแง่ลบ หรือกังวลอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นความกังวลเรื่องนักการเมือง ตลอดจนเรื่องคอร์รัปชันต่างๆ ซึ่งในตอนนี้ก็ยังคาดการณ์ทิศทางอนาคตของประเทศไทยได้ยาก และเชื่อว่านักลงทุนบางกลุ่มอาจตัดสินใจชะลอการลงทุน

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////